เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: piya2551 ที่ 13 ธ.ค. 12, 05:49



กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: piya2551 ที่ 13 ธ.ค. 12, 05:49
เรียนสอบถามท่านผู้รู้ทุกท่านครับ ผมใคร่อยากทราบที่มาของคำว่า "ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม(ไม่ทราบว่าพิมพ์ถูกหรือเปล่า ว่าคำนี้มีที่มาอย่างไรครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 08:00
"ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม"

อีร้า รอยอินท่านว่าคือนกชนิดหนึ่งคล้ายนกยาง ส่วนอีรมก็คือหอยนางรมนั่นเอง

แปลตามรูปศัพท์คือ ไม่ฟังเสียงนกร้า ไม่รู้ค่าหอยนางรม 

แปลเอาความคือ ไม่ฟังคำเตือน ไม่ฟังเหตุผล

 ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: piya2551 ที่ 13 ธ.ค. 12, 09:32
ขอบพระคุณท่านผู้รู้มากๆนะครับที่มาไขข้อข้องใจ โอกาสหน้าหากมีข้อข้องใจอีกกระผมในฐานะผู้แสวงหาความรู้จะใคร่ขอมาเรียนถามอีกนะครับ


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 09:56
ในสมัยหนึ่งของไทย    ศัพท์ที่มีคำว่า "อี" นำหน้า ไม่ว่าจะด้วยความหมายดั้งเดิมใดๆก็ตาม  ถูกตัดสินว่าหยาบคาย ไม่เหมาะสม  ต้องเปลี่ยนเป็น"นาง "
หอยอีรม จึงกลายเป็นหอยนางรม    อีเลิ้ง (เป็นชื่อตุ่มชนิดหนึ่ง) กลายเป็นนางเลิ้ง   ด้วยประการฉะนี้


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ธ.ค. 12, 10:11
ในสมัยหนึ่งของไทย    ศัพท์ที่มีคำว่า "อี" นำหน้า ไม่ว่าจะด้วยความหมายดั้งเดิมใดๆก็ตาม  ถูกตัดสินว่าหยาบคาย ไม่เหมาะสม  ต้องเปลี่ยนเป็น"นาง "
หอยอีรม จึงกลายเป็นหอยนางรม    อีเลิ้ง (เป็นชื่อตุ่มชนิดหนึ่ง) กลายเป็นนางเลิ้ง   ด้วยประการฉะนี้

อีเลิ้ง ใบใหญ่ขนาดเท่าไรกันหนอ มีหลายขนาดหรือไม่  ???

"ในการพระราชทานเลี้ยงโรงทาน จัดขนมจีน ๑๐๐ กระจาด สิ้นน้ำยา ๒๐ อีเลิ้ง"...  ;D ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ธ.ค. 12, 10:25
อีเลิ้ง ...

“อีเลิ้ง”เป็นคำมาจากภาษามอญหมายถึงภาชนะชนิดหนึ่งปั้นด้วยดินและผ่านการเผาโดยไม่ได้เคลือบผิวคงเห็นเป็นเนื้อดินสีแดง เราสามารถใช้ “อีเลิ้ง” ใส่น้ำหรือของเหลวได้ ลักษณะพิเศษของ “อีเลิ้ง” คือบริเวณปากและก้นจะแคบ แต่ป่องบริเวณช่วงกลาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว “อีเลิ้ง” มักจะเป็นภาชนะขนาดใหญ่ ชาวมอญนิยมใช้ภาชนะชนิดนี้ใส่น้ำเพื่อเก็บไว้สำหรับการอุปโภคและบริโภค ซึ่งเรียกกันว่า “ตุ่มอีเลิ้ง”หรือ“โอ่งอีเลิ้ง” แต่ “อีเลิ้ง” ขนาดเล็กก็มี

ชาวมอญใช้ “อีเลิ้ง” ขนาดเล็กเป็นภาชนะในการหุงหาอาหาร ซึ่งคนทั่วไปเรียกภาชนะชนิดนี้ว่า “หม้ออีเลิ้ง” “อีเลิ้ง” เป็นภาชนะที่มีใช้กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยแล้ว ในพงศาวดารกล่าวว่าบ้านวัดครุฑ เป็นชุมชนชาวมอญที่มีชื่อเสียงในการปั้น “อีเลิ้ง” ซึ่งปัจจุบันบ้านวัดครุฑ เป็นชุมชนอยู่ในคลองสระบัว อำเภอพระศรีอยุธยา จังหวัดพระศรีอยุธยา

ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมช่วงบริเวณที่คลองเปรมประชากรมาบรรจบ ในบริเวณนี้มีชาวรามัญหรือมอญมาตั้งรกรากขายตุ่มดินขนาดใหญ่เรียงรายริมคลอง จนขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีบ่อนการพนันที่ดูแลโดยขุนพัฒน์ นายอากรผู้ผูกภาษีเก็บส่งให้แก่หลวง คนที่มาเล่นการพนันตลอดจนพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกย่านนี้ว่า “บ้านอีเลิ้ง” ตามชื่อตุ่มอีเลิ้ง ต่อมาภายหลังคนทั่วไปเห็นว่าชื่อบ้านอีเลิ้งไม่ค่อยสุภาพ จึงเปลี่ยนเป็น “นางเลิ้ง” และเรียกกันติดปากมาจนปัจจุบัน แต่บางตำนานกล่าวว่าย่าน “บ้านนางเลิ้ง” นั้นมิใช่เป็นชุมชนของชาวรามัญหรือมอญมาแต่ดั้งเดิม แต่ชาวมอญรับ “ตุ่มอีเลิ้ง” มาจากอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี และล่องเรือมาขายที่กรุงเทพฯ และมาจอดเรือเพื่อจำหน่ายตุ่มอีเลิ้ง ซึ่งก็ขายได้เป็นกอบเป็นกำ ชาวมอญจึงมาอพยพตั้งรกรากเพื่อจำหน่ายตุ่มชนิดนี้ที่ย่านดังกล่าวแต่บางตำนานเชื่อว่าชาวรามัญหรือมอญได้ปั้น “ตุ่มอีเลิ้ง” ในบริเวณนั้นเองพร้อมกับจำหน่ายไปด้วย แม้ว่าตำนานที่เล่าขานกันมาทั้งสองทางจะคลาดเคลื่อนผิดกันไปกันบ้าง แต่ได้ข้อสรุปที่ตรงกันคือบริเวณนั้นเป็นย่านที่มีการจำหน่าย “ตุ่มอีเลิ้ง” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ที่มา - http://catadmin.cattelecom.com



กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 10:32
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีไหอีเลิ้งตั้งแสดงอยู่ประปราย แต่ไม่ปรากฏคำอธิบายแต่อย่างใด ภัณฑารักษ์ท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ไหอีเลิ้ง หรือ นางเลิ้ง เป็นโอ่งขนาดใหญ่มาก มีไว้สำหรับเก็บน้ำเพื่อการบริโภคลักษณะพิเศษของโอ่งชนิดนี้ คือ ปากโอ่งจะมีขนาดเล็กและผายออกมา ปัจจุบันตั้งแสดงไว้ที่ ทางด้านซ้ายของหมู่พระวิมาน พระบวรราชวัง หรือบริเวณสนามหญ้า พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย จำนวน ๔ ใบด้วยกัน ด้วยเหตุที่ไม่มีประวัติแน่นอนว่าได้โอ่งเหล่านี้มาอย่างไร ทางพิพิธภัณฑ์จึงมิได้จัดทำคำอธิบายไว้

โอ่งเหล่านี้ สูงประมาณ ๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของส่วนที่กว้างที่สุดยาวประมาณ ๑ เมตร ๑๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปากโอ่งยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร

ข้อมูลจาก  เว็บของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (http://www.culture.go.th/pculture/bangkok1/1_1.html)

 ;D      


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 10:33
ถ้าขนมจีน 100 กระจาด  มีสัดส่วนพอกับน้ำยา 20 ตุ่ม  เท่ากับ 1 ตุ่มต่อ 5 กระจาด   ก็น่าจะเป็นตุ่มขนาดเล็กนะคะ    
เหตุผลอีกอย่างคือเพื่อให้คนแบกเข้าไปในวางในโรงทานได้สะดวก   ก็น่าเป็นตุ่มขนาดเล็กพอหนึ่งคนแบกได้


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 11:49
เป็นที่น่าสังเกตคนไทยดูจะนิยมเรียกชื่อสัตว์, สิ่งของเครื่องใช้, การละเล่น, โรคภัยไข้เจ็บ เป็นเพศหญิง  นอกจาก นกอีร้า และ หอยอีรม ก็มีอีกหลายชื่อ

นก - อีแอ่น, อีกา, อีก๋อย, อีโก้ง, อีแร็ง, อีลุ้ม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม - อีเก้ง, อีเห็น

สิ่งของเครื่องใช้- อีจู้, อีโต้, อีแปะ, อีโปง, อีเลิ้ง

การละเล่น - อีตัก, อีคว่ำอีหงาย

โรคภัยไข้เจ็บ - อีสุกอีใส, อีดำอีแดง

คำเหล่านี้ถูกตัดสินว่าไม่สุภาพเพราะมีคำว่า "อี" นำหน้า การปรับปรุงคำมีอยู่ ๒ วิธีคือไม่เอาคำว่า "อี" ออก ก็เปลี่ยน "อี" เป็น "นาง" แต่อย่างไรก็ตามหลายคำก็ยังใช้ "อี" นำหน้าอยู่ และเริ่มมีคำใหม่ ๆ ที่ใช้ "อี" เช่น อีแต๋น

ปัจจุบันมีการนำเข้า "E" จากเมืองนอกเข้ามา คำไทยหลายคำจึงเริ่มมี "อี" นำเข้า นับตั้งแต่ "อีหรอบ" จนถึง "อีมู และ "อีเมล"

สองคำหลังถ้าเปลี่ยนเป็น "นางมู" และ "นางเมล" คงฟังตลกดี

แหะ แหะ

 ;D



กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 12:02
อ้างถึง
ปัจจุบันมีการนำเข้า "E" จากเมืองนอกเข้ามา คำไทยหลายคำจึงเริ่มมี "อี" นำเข้า นับตั้งแต่ "อีหรอบ" จนถึง "อีมู และ "อีเมล"

สองคำหลังถ้าเปลี่ยนเป็น "นางมู" และ "นางเมล" คงฟังตลกดี

เปลี่ยนได้อีกหลายคำเชียวละค่ะ
e-card  --->  นางการ์ด   
e-market ---> นางมาร์เก็ต   
e-learning ----> นางเลิร์นนิ่ง


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ธ.ค. 12, 14:57
Egypt - อียิปต์  - -  - นางยิปต์  :P


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 15:15
จัดงาน event  ---> จัดงาน นางเว้นท์
วิศวฯ สาขา Electronics ---> วิศวฯ สาขา นางเล็คโทรนิกส์


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 15:46
คู่กับ "อี" คือ "ไอ้"

ในขณะที่เราใช้ "อี" นำหน้าชื่อจริงของสัตว์ สำหรับ "ไอ้" มักใช้นำหน้าชื่อเรียกเล่น ๆ ของสัตว์ เช่น ไอ้จ๋อ, ไอ้ตูบ, ไอ้เข้, ไอ้ทุย

 ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ธ.ค. 12, 16:23
จัดงาน event  ---> จัดงาน นางเว้นท์
วิศวฯ สาขา Electronics ---> วิศวฯ สาขา นางเล็คโทรนิกส์

E.T. the Extra-Terrestrial หรือ อีที - - นางที

อีหรอบเดิม - - นางหรอบเดิม

แสดงว่า แต่งงานมีสามีกันหมดแล้ว ถึงได้ใช้ "นาง"  ;D ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 12, 14:42
วิศวฯ สาขา Electronics ---> วิศวฯ สาขา นางเล็คโทรนิกส์

electronics ท่านรอยอินยืนยันมาว่า "E" ตัวนี้ คนไทยออกเสียงว่า "อิ"

อิเล็กทรอนิกส์ [ทฺรอ] น. วิทยาศาสตร์กายภาพแขนงหนึ่งที่นํามาประยุกต์ใช้กับการศึกษาวงจรไฟฟ้าที่ใช้สารกึ่งตัวนําและอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งควบคุมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนได้. (อ. electronics).

จึงเปลี่ยนสถานะเป็น "นาง" ไม่ได้

อิ อิ

;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 15 ธ.ค. 12, 15:15
 ;D
ebay อีเบย์ ==> นางเบย์   นางอ่าว
ebook  ==> นางบุ๊ค นางหนังสือ


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 12, 16:01
พวกนี้สมรสแล้วทั้งนั้น


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 12, 16:05
วิศวฯ สาขา Electronics ---> วิศวฯ สาขา นางเล็คโทรนิกส์

electronics ท่านรอยอินยืนยันมาว่า "E" ตัวนี้ คนไทยออกเสียงว่า "อิ"

อิเล็กทรอนิกส์ [ทฺรอ] น. วิทยาศาสตร์กายภาพแขนงหนึ่งที่นํามาประยุกต์ใช้กับการศึกษาวงจรไฟฟ้าที่ใช้สารกึ่งตัวนําและอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งควบคุมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนได้. (อ. electronics).

จึงเปลี่ยนสถานะเป็น "นาง" ไม่ได้

อิ อิ

;D


คุณเพ็ญชมพูลองเปิดเข้าไปในเว็บออกเสียง  พิมพ์คำนี้ให้จูลี่ US  ออกเสียงให้ฟัง
จะรู้ว่ารอยอินท่านไม่ยอมให้คำนี้สมรส ต่างหากล่ะคะ  ถ้ายอมก็เป็นนางไปนานแล้ว

http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 18 ธ.ค. 12, 06:41
เดี๋ยวนี้เมื่อกระทำความผิดจะถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง แต่เมื่อก่อนเราบอกกันว่า เข้า"ซังเต"



กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ธ.ค. 12, 07:26
เดี๋ยวนี้เมื่อกระทำความผิดจะถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง แต่เมื่อก่อนเราบอกกันว่า เข้า"ซังเต"



เข้ามุ้งสายบัว...เก๋กว่าครับ ลุงไก่  ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 12, 08:52
สงสัยว่า ไฉนกระทู้นี้จึงเลี้ยวเข้าสู่คุกตะรางได้   ???

เข้าใจว่าคำว่า "คุก" และ "ตะราง" น่าจะเก่ากว่า "ซังเต" เสียอีก

คุก - ตะราง

คุณประเสริฐ เมฆมณี อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เขียนบทความส่งไปให้ราชบัณฑิตยสถานเพื่อตีพิมพ์ลงใน "สารานุกรมไทย" เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนหนึ่งว่า

...เรือนจำในกรุงเทพฯ (ยุคแรก) มีชื่อเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ คุก และ ตะราง

คุกเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป คุกเดิมตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงที่ตั้งกองทหาร ร.พัน ๑ ในปัจจุบัน ภาษาสามัญชนเรียกคุกนี้ว่า "คุกหน้าวัดโพธิ์" และสังกัดกระทรวงนครบาล หลวงพัศดีกลางเป็นหัวหน้าดูแลรับผิดชอบ โดยมีขุนพัศดีขวาและขุนพัศดีซ้ายเป็นผู้ช่วย ส่วนผู้คุมใช้เลขไพร่หลวงยามใน คนใดมาเข้าเวรไม่ได้ ต้องเสียเงินคนละ ๖ บาทสำหรับจ้างผู้คุมแทนตัว เจ้าพนักงานคุกไม่มีเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด ได้ผลประโยชน์จากการใช้แรงงานนักโทษทำงาน และได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่นักโทษต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการรับนักโทษ มีอัตราวางไว้เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงานที่นำความกราบบังคม ทูล ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) ครั้นโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัว เสียให้อีก ๒ ตำลึง (๘ บาท) การกิน การนุ่งห่มของนักโทษ ญาติพี่น้องต้องติดตามมาส่งบ้าง นักโทษทำงานด้วยฝีมือเป็นลำไพ่ของตนบ้าง เช่น การช่างไม้และการจักสาน มิได้จ่ายของหลวงให้เลย

ส่วนตะรางใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่ ๖ เดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย ตะราง กรมท่าช้าง ตะรางกระทรวงวัง ตะรางกระทรวงนครบาล ตะรางกระทรวงนครบาลนี้มีรวมทั้งหมด ๑๒ ตะราง ซึ่งได้แยกไปสังกัดในบังคับบัญชาของกรมพระนครบาล ๔ ตะราง สังกัดกรมพลตระเวน ๔ ตะราง ตะรางต่าง ๆ ที่แยกย้ายไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ กันนี้ก็เพราะการศาลสถิตยุติธรรมในสมัยนั้นแยกย้ายกันสังกัดอยู่ ไม่ได้รวมขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกันเหมือนสมัยนี้

จาก ภาษาไทย ๕ นาที  (http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20090708052836AAwMpDf)

 ;D


กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 12, 09:03
ซังเต

มักพูดเป็นสำนวนว่า "เข้าซังเต" คำนี้ท่านรอยอินไม่ได้เก็บเอาไว้ในพจนานุกรม ทุกวันนี้ก็ยังเห็นใช้สำนวนนี้กันอยู่

คำนี้น่าจะมาจากชื่อคุก La Santé Prison (http://en.wikipedia.org/wiki/La_Sant%C3%A9_Prison) อยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส

(http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2009/12/X8640775/X8640775-5.jpg)

 ;D



กระทู้: ที่มาของคำว่า"ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 12, 15:23
ว่าด้วยคำนำหน้าว่า "อี" ในกฎหมายรัชกาลที่ ๔

กฎหมายคำนำหน้าชื่อ รัชกาลที่ ๔ จากบล็อกของคุณกัมม์ (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=11-04-2007&group=2&gblog=56)

ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆ

มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า คนในพระราชอาณาจักรมิใช่จีนมิใช่ฝรั่ง แขก ญวน พม่า มอญ ซึ่งมาแต่เมืองจีน เมืองฝรั่ง เมืองแขก เมืองญวน เมืองพม่า เมืองมอญ แลมิใช่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ชีพ่อพราหมณ์ หลวงญวน หลวงจีน บาดหลวงฝรั่ง โต๊ะแขก รูปชี แพทย์หมอ แลครูอาจารย์สอนหนังสือก็ดี ยกเสียแต่ข้าราชการที่มีชื่อตามบรรดาศักดิ์ แต่หมื่นขึ้นไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาแลเจ้าพระยาก็ดี แลยกเสียแต่พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ แลเจ้าประเทศราช แลเจ้าซึ่งเป็นบุตรตหลานพี่น้องของเจ้าประเทศราช ตลอดลงไปจนท้าวเพี้ยในเมืองลาว พระยาพระในเมืองเขมรตองกูตวนเจะในเมืองมลายู จ่ากังในพวกกระเหรี่ยงก็ดีแล้ว

ชายสามัญทั้งปวงมีคำนำหน้าชื่ออยู่แต่สองอย่างคือ นายอย่างหนึ่ง อ้ายอย่างหนึ่ง ตั้งแต่นายยามหุ้มแพรมหาดเล็ก แลนายเวรตำรวจ นายม้าจูง นายท้ายช้าง ลงไปจนตัวเลกหมู่ไพร่หลวงสามัญ มิใช่ไพร่หลวงมหันตโทษ แลนักโทษที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ แลขาดบรรดาศักดิ์ก็ดี ไพร่สมกำลัง แลลูกหมู่มิใช่ทาสมิใช่เชลยก็ดี มีคำนำชื่อว่า นาย ทั้งหมด

ตัวแลลูกหมู่ไพร่หลวงมหันตโทษ แลนักโทษที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ แลขาดบรรดาศักดิ์แล้ว แลตัวแลลูกหมู่ ทาส เชลย ทั้งปวงมีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย หญิงเช่นชายที่มีคำนำหน้าชื่อว่าอ้ายทั้งปวงนั้น ย่อมมีคำนำหน้าชื่อว่า อี ทั้งสิ้น

แต่หญิงอื่นจากที่ต้องมีลักษณะจะเรียกว่า อี นั้น ถ้าเป็นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ก็เรียกว่าพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าตามที่ ถ้าต้องโทษถอดจากบรรดาศักดิ์พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าก็เรียกว่า หม่อม บุตรชายหญิงของหม่อมเจ้าก็เรียกว่าหม่อมเหมือนกันกับราชนิกูลที่ไม่มีชื่อตำแหน่ง ทั้งชายหญิงก็เรียกว่า หม่อม

แต่ในกาลทุกวันนี้เจ้าราชนิกูล ผู้หญิงเชื้อพระวงศ์ที่สนิทในพระเจ้าอยู่หัว เขาเรียกกันว่าคุณว่าเจ้าคุณบ้าง ข้างในใช้ชิดพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง มีคำนำหน้าว่าเจ้าจอม ถ้ามีพระองค์เจ้าก็มีคำนำหน้าเพิ่มเข้าว่าเจ้าจอมมารดา จอมเปล่าก็ขาดไป ท่านเจ้าจอมก็เกินไป

เจ้าจอมอยู่งานในแผ่นดินที่ล่วงลับแล้ว ที่สูงอายุแล้วใช้ราชการออกข้างหน้าได้ เรียกว่าเจ้าจอมเถ้าแก่

พนักงานข้างในทั้งปวงที่ไม่ได้เป็นเจ้าแลราชนิกูลเรียกว่า หม่อมพนักงานทั้งสิ้น

หม่อมพนักงานที่สูงอายุแล้วใช้ราชการออกข้าหน้าก็ดี หญิงหม้ายภรรยาข้าราชการที่ผัวถึงอสัญกรรม ถึงแก่กรรมบ้าง ผัวหย่าร้างบ้าง เข้ามารับราชการเช่นนั้นก็ดี บรรดาหญิงสูงอายุที่มิใช่เจ้าจอมเก่า ซึ่งรับราชการเช่นกับเจ้าจอมเฒ่าแก่นั้น เรียกว่าท่านเฒ่าแก่

หญิงมีบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งมีชื่อตามบรรดาศักดิ์ มีคำนำว่าท้าว แต่กาลบัดนี้หญิงที่ไม่มีชื่อตามบรรดาศักดิ์ แต่ว่าราชการแทนท้าวหรือเทียบที่ท้าว ก็มีคำว่า ท้าว หน้าชื่อเดิม ว่าท่านท้าวก็เกินไป

นายโขลนที่เป็นจ่าทนายเรือน ก็มีคำนำหน้าชื่อว่า ทนายเรือน ข้างในใช้ชิดของพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าทั้งปวง ที่มิใช่พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าก็เรียกหม่อมทั้งสิ้น

ภรรยาหลวงข้าราชการที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการที่ถือศักดินาตั้งแต่นา ๑๐๐๐๐ ลงมาจนถึง ๔๐๐ ก็ดี ที่ได้พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ ก็มีคำว่าท่านผู้หญิงว่าท่านนำหน้าชื่อ ที่ไม่ได้พระราชทานเครื่องยศบรรดาศักดิ์ก็ดี เป็นอนุภริยามิใช่ทาสภริยาที่มีบุตรด้วยกันก็ดี หญิงบุตรหลานข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ก็ดี หญิงยังไม่มีผัวก็ดี ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อทั้งสิ้น

ภรรยาข้าราชการที่ต่ำนาน ๔๐๐ ลงมา จนถึงไพร่หลวง ไพร่สมทั้งปวง ยกแต่หญิงมหันตโทษทาสเชลยที่ต้องลักษณะ จะเรียกว่าอีแล้วมีคำนำหน้าชื่อว่าอำแดง

เด็กสามัญที่ยังไม่ได้โกนจุกอายุไม่เกินกว่า ๑๓ ปี ทั้งชายหญิงที่นอกจากจะเรียกว่าอ้ายว่าอีแล้ว จะเรียกว่าหนูนำหน้าชื่อก็ควร

ประกาศมา ณ วันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ หรือวันที่ ๓๗๗๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


หญิงทั่วไปใช้คำนำหน้าว่า "อำแดง" เมื่อทำผิดต้องโทษจึงเปลี่ยนเป็นใช้ว่า "อี"

 :o