เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 16:09



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 16:09
นึกขึ้นได้ว่า นายทหารผ่านศึกสมรภูมิบ้านพร้าวคนหนึ่ง เป็นเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันกับผมขนาดจะตะโกนเรียกกันก็คงได้ ท่านเป็นคนที่น่ารักน่าเคารพมากพบกันทีไรก็โอภาปราศัยด้วยมิตรจิตมิตรใจเสมอ แต่ร้อยวันพันปีผมไม่เคยชวนท่านคุยเรื่องสมรภูมิบ้านพร้าว ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าท่านรบอยู่ตรงนั้นในวันที่ปะทะกันด้วย

วันโน้นท่านคือ ว่าที่ร้อยตรีพร ธนะภูมิ วันนี้ท่านเป็นพลเอกพร ธนภูมิ นายทหารนอกราชการที่คนทั้งหลายยังเรียกท่านว่าเสธฯพร

ผมไปสวัสดีปีใหม่ท่านเสธฯพรที่บ้าน พร้อมทั้งเอากล้องกับเครื่องบันทึกเสียงไปด้วย เพื่อหาข้อมูลอีกกระแสหนึ่งที่ต่างกับที่อ่านมา ท่านใกล้จะ๙๖แล้ว แต่ความจำถือว่ายังดีเยี่ยม การรบที่สมรภูมิบ้านพร้าวยังเป็นความภูมิใจของท่านเสมอ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 16:10
สงสัยจะต้องขอแยกกระทู้ตรงนี้แหละครับ ถ้าท่านยังสนใจจะอ่านกันอยู่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ม.ค. 12, 16:15
ยังเข้ามาอ่านอยู่ครับผม  8)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 17:57
^
^

อ้างถึง
สมรภูมิบนภาคพิ้นดินที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นการรบครั้งเด็ดขาดของกรณีพิพาทนี้ คือสมรภูมิบ้านพร้าว (The battle of Phum Preav) ที่กองพันทหารต่างด้าว III/5 REI  อันเกรียงไกรของฝรั่งเศสต้องมาปราชัยแบบย่อยยับอัประมาณ ทั้งตายทั้งถูกจับเป็นเชลย ขนาดทิ้งธงไชยเฉลิมพลไว้ให้ทหารกองพันทหารราบที่ ๓ของไทยนำไปย้ำชัยชนะจนปฏิเสธไม่ออก(แต่ไม่วายที่จะแต่งเรื่องใหม่ “ตามหลักสงครามจิตวิทยา”แบบไทยๆเหมือนกัน)

 III/5 REI = 5e régiment étranger d'infanterie ครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 12, 19:07
แม้ไม่รู้จักสมรภูมิบ้านพร้าว  ก็เคยได้ยินเรื่องสงครามอินโดจีน
เพื่อไม่ให้เสียชื่อชาวเรือนไทย  พออาจารย์บอกโพยให้ ก็ขอความช่วยเหลือจากอินทรเนตรทันที
อินทรเนตรส่งคำตอบมาให้ ด้วยภาพเหล่านี้ค่ะ

 


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 09:22
มาดึงกระทู้ขึ้น
อยากรู้ว่า บ้านพร้าว อยู่ไหน   ปรากฏว่าชื่อนี้มีอยู่หลายแห่ง เช่นต.บ้านพร้าวที่นครนายก  คลองบ้านพร้าวที่ปทุมธานี อ.พร้าวที่เชียงใหม่
ล้วนแต่ไม่ใช่สมรภูมิบ้านพร้าวทั้งนั้น     ชาวเรือนไทยถ้าไปตามนี้ก็จะไม่เจออะไรเลย
บ้านพร้าวที่ว่า ตามประวัติบอกว่าอยู่ลึกเข้าไปในเขตแดนของกัมพูชาประมาณ ๑๐ กิโลเมตร     ในอดีตเคยเป็นของไทยมาก่อน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 09:41
ไปหามาว่า กองพันทหารต่างด้าวที่ท่าน Navarat.C ให้โพยไว้คืออะไร
คุณวิกกี้ตอบมาว่า
Le 5e régiment étranger d’infanterie, surnommé régiment du Tonkin, est un régiment de la Légion étrangère créé en 1930, sous la Troisième République, et dissous en 2000. Son histoire est marquée par la participation à la Seconde Guerre mondiale et aux conflits d'Indochine et d'Algérie.

ถอดความเป็นไทยว่า
กองพันทหารต่างด้่าวที่ 5 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองพันทหารแห่งตังเกี๋ย  เป็นกอง(หรือกรม?)ทหารต่างด้าวที่ตั้งขึ้นในค.ศ. 1930 ในยุคของสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศส   ยุบเลิกไปเมื่อค.ศ. 2000   ตามประวัติ เคยมีบทบาทปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่สอง และในสงครามอินโดจีนและสงครามในอัลจีเรีย

หมายเหตุ  regiment  แปลได้ตั้งแต่กรมทหารลงไปจนถึงกองทหาร     ท่านเจ้าของกระทู้แปลว่ากองพัน   ดิฉันก็ถือตามนั้นค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 09:43

เรื่องสมรภูมิบ้านพร้าว   ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๘  ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๐  หน้า ๖๘ - ๗๑

คัดมาจากเรื่อง  "วีรกรรมของกองพันทหารราบที่ ๒  กรมทหารราบที่ ๑  มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ ในอดีต"

ลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  พันเอกนิ่ม  ชโยดม ท.ช. ท.ม. ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม  พ.ศ. ๒๘ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๓๑




        กองพันทหารราบที่ ๒  กรมทหารราบที่ ๑  มหาดเล็กรักษาพระองค์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในระหว่างสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส     สมัยนั้นใช้ชื่อว่า  กองพันทหารราบที่ ๓  มีพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธเป็นผู้บังคับกองพัน

ได้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดรักษาดินแดนด้านทิศตะวันออกติดกับประเทศกัมพูชา  ตามแนวหลักเขตแดนที่ ๔๓ ถึง ๔๖   และได้รุก

เข้าไปในเขตอินโดจีนฝรั่งเศส "  ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทยมาก่อน"  ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๓


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ม.ค. 12, 09:45
แฮ่ก...แฮ่ก.....แฮ่ก......แฮ่ก......แฮ่ก.......โฮก......เฮือก (อาการของคนวิ่งตามกระทู้ กว่าจะกระโดดเกาะได้)

บ้านพร้าวอยู่ในเขมรครับ ห่างจากปอยเป็ตที่เปิดบ่อนและเป็นเชฟเฮาส์ของใครบางคน(s)ที่หนีศาล ตามแผนที่นี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ม.ค. 12, 09:49
กระทู้นี้รู้สึกว่าจะมีทัพใหญ่มาหนุนหลายท่าน แต่ละท่านลากปืนใหญ่มาด้วย ผมขอหลีกให้ท่านเคลียร์พื้นที่ให้ก่อนนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 10:06

        ณ  สมรภูมิบ้านพร้าว  ห่างจากดินแดนไทยเข้าไปในประเทศกัมพูชาประมาณ ๑๐ กิโลเมตร

ขุนนิมมานกลยุทธได้รับคำสั่ง  ให้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดยุทธภูมิแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๘๔


        เมื่อนำกำลังไปบ้านพร้าวนั้น   พบร่องรอยค่ายเก่าของทหารต่างชาติในอินโดจีนดัดแปลงเป็นอย่างดีอยู่แล้ว  และไม่มีการต้านทานใด ๆ  

เนื่องจากฝ่ายข้าศึกได้ถอนกำลังออกไปหมด   ปล่อยให้ฝ่ายเราเข้ายึดเพื่อจะทุ่มกำลังเข้าโจมตีทำลายล้างกองพันทหารราบที่ ๓  ที่บ้านพร้าวนี้ทีหลัง


        ผู้บังคับการกองพันเห็นว่าไม่ยึดที่บ้านพร้าว   เนื่องจากฝ่ายข้าศึกรู้เบาะแสแล้ว        และในตอนเย็นหลังจากนำกำลีงเข้ายึดได้ถูก

หน่วยลาดตระเวณของข้าศึกลอบยิง         จากการตรวจภูมิประเทศหน้าแนวแล้ว  เห็นว่าเหมาะสมดีกว่า         จึงขออนุญาตเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งเดิม

ออกไปอีก ๔ กิโลเมตร       ไปตั้งมั่นอยู่ที่ห้วยยางซึ่งเป็นลำห้วยไม่มีน้ำ         ภูมิประเทศคันคูง่ายต่อการดัดแปลงเป็นที่มั่นตั้งรับได้เป็นอย่างดี  

สามารถยิงได้อย่างกว้างขวาง           และกองทหารต่างชาติได้ตัดถนนลำลองขึ้นสายหนึ่ง        จากทางเหนือตรงมายังบ้านพร้าว

ถนนสายนี้เป็นประโยชน์แก่การวางกำลังของฝ่ายเราอย่างดียิ่ง           โดยฝ่ายเราได้วางกำลังเป็นรูปตัวยูหรือรูปปากฉลามคร่อมถนนที่ห้วยยางไว้



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 10:07
เข้ามาเสิฟชาเย็นให้ท่านทั้งสอง   แล้วถอยไปนั่งหลังสุดของห้องอย่างรู้หน้าที่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 10:15
ขอฝากคำถามไว้  ก่อนลงนั่งหลังห้อง
อยากจะรู้ต้นสายปลายเหตุ  ที่มาที่ไปของสมรภูมิลาดพร้าวว่ามันเป็นมาอย่างไร   ก่อนจะละเลงเลือดกันค่ะ 
กองทหารต่าวด้าวของฝรั่งเศสที่ว่านั้น คิดว่าเป็นนายทหารฝรั่งเศสทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชา แต่กำลังทหารเป็นเขมรหรือชาติไหนบ้างคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 10:19

        เป็นศิษย์เรือนไทย  เมื่อท่านเจ้าของเรือนสนใจในเรื่องอะไร  ก็ต้องขันอาสาเต็มกำลังค่ะ

บุตรชายของท่านขุนนิมมาณกลยุทธ  เป็นท่านผู้อาวุโสที่นับถือ  และได้สนทนาในเรื่องนี้หลายครั้งจึงพอจะจำได้

ว่าลงพิมพ์ไว้ที่ใด   ตอนนั้นมีหน้าที่ส่งหนังสือให้ผู้อาวุโสอ่าน     ท่านๆก็ตอบคำถามและเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์แปลก ๆ ให้ฟังเป็นการตอบแทนค่ะ

        ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 10:32


        ความเข้าใจของกองทหารต่างชาติ  เข้าใจว่ากองทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าว  แต่ที่จริงแล้วด้วยการวาง

แผนการยุทธ์อันแยบยลและลึกล้ำของขุนนิมมานกลยุทธได้นำกำลังมาตั้งมั่นที่ห้วยยางเสียแล้ว  ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๘๘

ด้วยความสงบเงียบ      มีวินัยอย่างดีเยี่ยมตามคำสั่งผู้บังคับกองพัน


       ในเช้ามืดของวันที่ ๑๖ มกราคมนั่นเอง  กองทหารต่างชาติได้ทุ่มกำลัง ๑ กรม  มีกำลัง ๓ กองพัน   เข้าตีทำลายกองพันทหารราบที่ ๓  ที่บ้านพร้าว

โดยจัดฐานออกตีที่ห้วยยางเนื่องจากคิดว่าทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าว       และไม่รู้ว่าฝ่ายเราได้เปลี่ยนแผนการยุทธ์เสียแล้ว

กลยุทธ์ของฝ่ายเราได้กำหนดให้ฟังสัญญาณการยิงฉากจากปืนกลของร้อยตรียง  ณ นคร อดีพผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

โดยฟังคำสั่งจากร้อยเอกอัมพร  เสือไพฑูรย์


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 10:43


        ครั้นเมื่อเวลา ๓ นาฬิกาของวันที่ ๑๖ มกราคม       เริ่มได้ยินเสียงยานยนต์ของข้าศึกมาแต่ไกลหลายคัน

แสดงถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายข้าศึก

        จนกระทั่งเวลา ๔ นาฬิกา   กองทหารต่างชาติได้ส่งลาดตระเวณก่างทหารไทยราว ๒๐ เมตร   ตรวจการณ์อยู่ประมาณ ๕ นาที

ฝ่ายเราก็สงบนิ่งอยู่ด้วยความใจเย็นและมีวินัยอันดีเยี่ยม         ถึงแม้สุนัขที่มากับข้าศึกจะวิ่งเข้ามาในแนวทหารไทยและดม

ทหารไทยคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง  แต่ก็ไม่เห่า   ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่เห่า        จากนั้นพลลาดตระเวณนำและสุนัขข้าศึก

จึงได้กลับไป  โดยคิดว่าไม่มีทหารไทยอยู่ที่ห้วยยาง   ทั้งๆที่มีกำลังอยู่ทั้งกองพัน


        อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา  คือเมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา   นาทีระทึกใจก็ได้อุบัติขึ้น



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 10:57


        กรมทหารราบที่ ๕  กองพันที่ ๓  ของกองทหารต่างชาติ  ซึ่งมีประวัติการรบอย่างโชกโชน  และเป็นหน่วยกล้าตายชั้นหนึ่ง 

ที่มีกิตติศัพท์การรบอันเกรียงไกรมาแล้วในอินโดจีน   ได้เคลื่อนกำลังเป็นขบวนตามเส้นทางที่ฝ่ายเราวางกำลังไว้    ปล่อยให้

แนวหน้าของข้าศึกเลยแนวรบไปด้วยความใจเย็น        เมื่อกำลังส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่สังหารแล้ว      สัญญาณการยิง

จากจากปืนกลของร้อยตรียง  ณ นคร จึงได้ระเบิดขึ้น          พร้อมกับเสียงคำรามจากปืนทุกกระบอกของกำลังฝ่ายเราทั้งกองพัน


สู้รบถึงขั้นตะลุมบอนกันด้วยดาบปลายปืนอย่างทรหดจนเวลา ๗ นาฬิกา


เสียงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดและเสียงสั่งการดังลั่นไปทั่วยุทธภูมิ



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 11:07



       ด้วยยุทธวิธีของกองพันทหารราบที่ ๓   ในบังคับบัญชาของพันตรี ขุนนิมมานกลยุทธในครั้งนี้   

สามารถบดขยี้ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตไปประมาณ ๔๐๐ นาย      ถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก

ตัวผู้บังคับกองพันของกองทหารต่างชาติเสียชีวิตในที่รบ



ยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกที่ประดับเหรียญกล้าหาญครัวเดอแกร์ไว้ได้


กองทหารเขมรและทหารญวนที่ติดตามมาอีกสองกองพันแตกกระจัดกระจายไป


นับว่ากองทหารต่างชาติซึ่งผ่านการรบอย่างโชกโชนมาแล้วได้พินาศย่อยยับเกือบหมดทั้งกองพัน

ด้วยพิษสงของทหารไทย


        ฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นายคือ  พลทหารจอน  ปรีพงศ์  และได้รับบาดเจ็บสาหัส ๒ นาย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 11:14


        วีรกรรมอันยิ่งใหญ่  เป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบแก่กำลังพลในหน่วย    นามบรรดาศักดิ์

"นิมมาณกลยุทธ"   อันมีความหมายว่า  "ผู้วางแผนการยุทธ์อันลึกล้ำเลิศ"  ได้รับการอัญเชิญมาเป็นชื่อ

ฐานปฎิบัติการเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่านและกระตุ้นเตือนให้กำลังพลทุกนายได้ประพฤติปฎิบัติตาม

ตัวอย่างอันดีงามเช่นวีรชนในอดีตของหน่วยได้กระทำมาแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 11:22


ธงชัยเฉลิมพล  ประดับเหรียญกล้าหาญ "ครัวเดอแกร์"  และเหรียญมังกรของกองทหารฝรั่งเศส

ยึดได้ในการรบที่บ้านพร้าว  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภออรัญประเทศประมาณ ๒๐ กิโลเมตร  เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๘๔

นำมาจัดแสดงให้ประชาชนชมที่สวนอัมพร  ใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า   


แต่เดิมเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ   ต่อมาได้คืนให้ฝรั่งเศสไปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 11:32


        นายทหาร ร.๑  พัน ๓


ว่าที่ร้อยตรีพร  ธนะภูมิ

ร.อ.ขุนทอง  ไกรจิตติ

พ.ท. นิ่ม  ชโยดม

ร.อ. อัมพร  เสือไพทูรย์

ร.อ.  อุดม  วรรณศิริ

ว่าที่ ร.ต. สำราญ  ขีโรท   

นายดาบทองคำ

ว่าที่ ร.ต.  วัน  ทั่งจั่น

ว่าที่ร้อยตรีไพฑูรย์   ขจรพันธุ์

นายดาบมนัส   สาบุตร

ว่าที่ร.ต. ชลอ  ทัตติ

ร.ท. ยง  ณ นคร

นายดาบชิต

ว่าที่ร.ต.  แฉล้ม  มานิต


(คัดลอกมาโดยสมบูรณ์   ความมีเพียงนี้ค่ะ)



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ม.ค. 12, 14:01
อยากเรียนถามว่า

บทความข้างต้น บันทึกโดยพันเอกนิ่ม ชโยดม ดังที่ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน

หรือ

เป็นบทความที่หนังสือศิลปวัฒนธรรมย่อยมาลงอีกทีหนึ่งครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 14:20


      กองบรรณาธิการถ้าย่อความก็คงต้องให้เครดิตคนทำงานเป็นแน่

แจ้งขอบคุณแล้วบอกว่าจะได้ใช้ประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านต่อไป



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ม.ค. 12, 14:39
ข้อความดังกล่าว มีผู้ลอกมาลงในเวปหลายรายโดยไม่บอกที่มาที่ไป ผมเพิ่งบัดนี้เองทราบว่าต้นตอมาจากหนังสืองานศพของท่าน

ตัวเลขทหารฝรั่งเศสที่ตายในสำนวนนี้บอก๔๐๐คน
แต่บางสำนวน อ้างคำกล่าวของพันตรี ขุนนิมฯเอง บอกท่านประมาณว่าตาย ๔๙ศพ บาดเจ็บ๑๑๐
"ข่าวทหาร" บอกตาย๒๐๐เศษ บาดเจ็บอีกมาก

เอกสารของฝรั่งเศสบอกว่านายทหารยศร้อยโทกับทหารอีก๒๙คนเสียชีวิต ไม่กล่าวถึงผู้บาดเจ็บ

รายละเอียดของการรบก็ว่าไปคนละเรื่อง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ม.ค. 12, 15:23
อ้างถึง
กองพันทหารต่างด้่าวที่ 5 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองพันทหารแห่งตังเกี๋ย เป็นกอง(หรือกรม?)ทหารต่างด้าวที่ตั้งขึ้นในค.ศ. 1930 ในยุคของสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศส ยุบเลิกไปเมื่อค.ศ. 2000 ตามประวัติ เคยมีบทบาทปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่สอง และในสงครามอินโดจีนและสงครามในอัลจีเรีย

หมายเหตุ regiment แปลได้ตั้งแต่กรมทหารลงไปจนถึงกองทหาร ท่านเจ้าของกระทู้แปลว่ากองพัน ดิฉันก็ถือตามนั้นค่ะ

ครับ ผมไม่ใช่ทหาร ตอนแรกก็งงอยู่นาน อันที่จริงก็งงหลายเรื่องจึงเรียบเรียงกระทู้ได้ช้า สงสัยอะไร ก็ต้องเสียเวลาค้นคว้าหาคำตอบเป็นวรรคเป็นเวร

III/5 REI เป็นชื่อย่อของกองพันที่๓ ของกรมทหารต่างด้าวที่๕ครับ

ทหารต่างด้าวนี้ ว่ากันตรงๆก็คือทหารรับจ้างรบที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สนว่าประวัติของแต่ละคนจะเป็นโจร หรือฆาตกรมาจากขุมนรกไหนของโลก จะเชื้อชาติหรือสัญชาติใดไม่เกี่ยงหากทดสอบผ่านการฝึกอันทารุณได้ ดังนั้นทหารในกรมนี้จึงมีทุกสีผิว ฝรั่งเศสขุนเอาไว้ส่งไปรบในบรรดาเมืองขึ้นต่างๆ  ส่วนมากในอัฟริกาที่ทหารฝรั่งเศสประสพผลสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังจากเจ้าของประเทศเดิมอย่างเข้ากระดูกดำ เพราะพวกนี้จะฆ่าพลางปล้นพลาง มารบกับทหารไทยในสมรภูมิเขมรครั้งนี้  พอแพ้ก็ปล้นชาวบ้าน เอาเศษเล็กเศษน้อยไปด้วยไม่ยอมถอยกลับมือเปล่าๆ

ทหารพื้นเมืองที่เกณฑ์มาจากญวนและเขมรไม่เรียกว่าทหารต่างด้าว แต่เรียกว่าทหารพื้นเมือง พวกนี้ไม่มีน้ำยาอะไรเพราะฝรั่งเศสก็ไม่ไว้ใจที่จะให้ใช้อาวุธดีๆ รบกับไทยในช่วงแรกก็เอาแต่แตกพ่ายแทบจะไม่ได้รบ จนรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสต้องสั่งการให้กรมทหารต่างด้าวที่๕ ซึ่งประจำการอยู่ที่ตังเกี๋ยเคลื่อนพลมา กะจะตีโต้ทหารไทยให้กระเจิง

ประมาทนักก็เลยเละเป็นเนื้อบะช่อ

ใจเย็นๆกับผมหน่อยนะครับ สมรภูมิที่บ้านพร้าวนี้ยังมีเรื่องเล่าให้ฟังอีกเยอะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ม.ค. 12, 20:00
มายกมือรายงานตัวก่อนครับ ว่าตามกระทู้เรือธนบุรีทุกวัน วันนี้มาตามเรียนกระทู้นี้ต่อ ธรรมดาชอบนั่งหลบมุมเงียบๆ หลังห้อง  ถ้าครูไม่ถามมิกล้าแสดงตัวครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:02
ขอบพระคุณคุณวันดีที่มาปูเรื่องให้นะครับ
ขอบคุณคุณประกอบด้วย ที่ส่งเสียงให้ทราบว่าชอบ

ผมจะไม่ย้อนกลับไปเรื่องที่ทำไมจึงเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนะครับ เอาเป็นว่ากองทัพบก ได้จัดกองทัพบกสนาม โดยมีพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย กองทัพบูรพา กองทัพอีสาน กองพลผสมปักษ์ใต้ กองพลพายัพ และกองพลผสมกรุงเทพ  

ขอยังไม่พูดถึงกองทัพอื่นๆก่อน ขอเริ่มที่กองทัพบูรพาซึ่งพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี มีทหารในสังกัดดังนี้

กองพลพระนคร ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๑, ที่ ๒ และ ที่ ๓
กองพลลพบุรี ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๔, ๖, ๓๗, ๑ (หนุน), ๒๙ (หนุน) และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๔
กองพลปราจีนบุรี ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๕, ๘, ๔๕, ๓๑ (หนุน) (จัดแบบกองพันอัตราศึก) และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่
กองพลวัฒนานคร ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่
กองพลจันทบุรี ประกอบด้วย กองพันนาวิกโยธินที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, กองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน ๔ ), กองพันทหารปืนใหญ่นาวิกโยธิน, กองทหารช่าง (ทบ.) และ กองทหารสื่อสาร (ทบ.)



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:10
กองทัพบุรพาได้รับมอบภารกิจให้เข้าตีด้านประเทศเขมรตามทิศทางแนวถนนอรัญประเทศ ศรีโสภณ พระตะบองเพื่อมุ่งเข้ายึดกรุงพนมเปญ  บรรจบกับกองทัพอิสานที่จะรุกเข้าทางด้านสุรินทร์ เพื่อยึดเสียมราฐ นครวัต กำปงทม มีเป้าหมายที่พนมเปญเหมือนกัน   จากนั้น ให้ทั้งสองกองทัพกวาดล้างข้าศึกขึ้นไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อบรรจบกับกองพลพายัพที่จะรบจากลาวลงมาทางใต้

แผนปฏิบัติการรบของกองทัพบูรพาคือ ให้กองพลวัฒนานคร ที่ยกมายึดพื้นที่เพื่อป้องกันชายแดนตั้งแต่ต้นเป็นกองหนุน   ให้กองพลพระนครอยู่ทางด้านเหนือ กองพลลพบุรีอยู่ทางใต้ ทำการรุกจากอรัญประเทศ ผ่านด่านปอยเปต สู่ศรีโสภณ และพระตะบอง
ส่วนกองพลจันทบุรี ให้ทำการเข้าตีทางไพลิน ไปบรรจบกับกองพลลพบุรีที่พระตะบอง
กองพลพระนคร ให้ทำการยุทธบรรจบกับกองทัพอิสาน ที่รุกเข้าทางด้านสุรินทร์ สู่เสียมราฐ  มายังศรีโสภณ

แผนที่ข้างล่างนี้ฝรั่งเศสทำไว้ แสดงกำลังทหารทั้งสองฝ่ายในการรบด้านเขมร


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:19
วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔ กองทัพบูรพาก็ดีเดย์  กองพลลพบุรีเป็นหัวหอก เคลื่อนที่ผ่านกองพลวัฒนานครซึ่งกระจายกำลังรักษาชายแดนด้านอรัญประเทศอยู่  เข้าตีข้าศึกที่ด่านปอยเปตซึ่งเป็นแนวหน้าของอินโดจีนฝรั่งเศส  กองพลนี้มีกำลังสามกองพัน ขั้นแรกให้กองพันทหารราบที่ ๖ ภายใต้การบังคับบัญชาของพันตรี หลวงราญปฏิเวทเป็นหน่วยแรกรุกเข้ายังที่ประตูชัยปอยเป็ตซึ่งฝรั่งเศสดัดแปลงที่มั่นและวางกำลังตั้งรับแข็งแรงมาก มีทั้งลวดหนามและดงกับระเบิด พอเห็นทหารไทยบุกเข้าไปฝรั่งเศสก็เผาหญ้าแห้งเป็นเครื่องกีดขวาง การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายเราใช้ความพยายามถึงสองวันกว่าจะสามารถบุกเข้าประชิดขนาดใช้ดาบปลายปืนเข้าตะลุมบอน จนฝรั่งเศสถอดใจ ต้องสั่งถอยปล่อยให้ทหารไทยยึดปอยเปตได้วันที่ ๗ มกราคม แต่เราก็บาดเจ็บล้มตายเยอะ

ในภาพเป็นประตูชัยที่พรมแดนไทยเขมรอรัญประเทศในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่จากทรากที่ถูกทิ้งไว้ปรักหักพังในระหว่างสงครามครั้งนั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:30
ต่อจากนั้นกองพันทหารราบที่ ๘ และกองพันทหารราบที่ ๔ ก็รุกคืบหน้าต่อไปตามแนวถนนปอยเปต-ศรีโสภณ พอได้สักประมาณ ๒๐ ก.ม.ก็ถึงแนวตั้งรับของข้าศึกซึ่งฝรั่งเศสสร้างเป็นพะเนียดคล่อมถนนไว้  ใช้ขอนไม้ทั้งต้นมาวางซ้อนกันไว้เป็นชั้น ๆ ด้านหน้าขึงลวดหนามแขวนกระป๋องไว้เป็นระยะ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ภายในที่มั่นขุดคูสนามเพลาะติดต่อถึงกันโดยตลอด และมีคลังเก็บกระสุนวัตถุระเบิดไว้จำนวนมาก

ทหารราบกองพันที่ ๘ เคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าไปในเวลากลางคืน ประมาณสามชั่วโมงก็มาติดอยู่ที่ลวดหนามหน้าแนวตั้งรับของข้าศึกนี้  แล้วเลยถูกระดมยิงอย่างหนักโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อน เกิดความระส่ำระสายรวนเรไปหมด ผู้บังคับบัญชาจึงต้องรายงานขอกำลังหนุน ได้กองพันทหารราบที่ ๖ มาช่วย เคลื่อนกำลังขึ้นมากว่าจะถึงแนวรบก็ใช้เวลาสามชั่วโมงเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ให้กองพันที่ ๘ พอได้ข่าวกองหนุนกำลังมามีกำลังใจยึดพื้นที่อยู่ได้โดยไม่ถอย  พอถึงแล้วกองพันที่ ๖ ก็เคลื่อนที่เข้าโอบปีกทางด้านซ้ายจนสุดแนวป้องกันแล้วเข้าตีด้านหลัง  พอเห็นทหารไทยรบจริงจังข้าศึกจึงแหวกวงล้อมถอยไป ฝ่ายเราสามารถยึดค่ายพะเนียดได้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ก็เสียกำลังพลของกองพันที่ ๘ ไปในตอนแรกพอสมควร

รูปประกอบ ทหารฝรั่งเศสขณะเตรียมสร้างค่ายรับการบุกของฝ่ายไทยก่อนจะเกิดการรบจริงในเวลาต่อมา




กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:41
ในขณะเดียวกัน กองพลพระนครซึ่งมีกำลังสามกองพัน และอยู่ทางด้านเหนือของกองพลวัฒนานคร ก็ได้เคลื่อนที่จากชายแดน เข้าไปในดินแดนข้าศึกตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม โดยกองพันทหารราบที่ ๑ เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางในภูมิประเทศ พอลึกเข้าไปประมาณ ๓ ก.ม.ก็ได้รับการต้านทานที่บ้านยาง แต่ยิงกันไม่นานก็สามารถยึดได้

ส่วนกองพันทหารราบที่ ๓ อยู่ด้านขวาของกองพันที่ ๑ เคลื่อนที่เข้าไปตามถนนอีกเส้นหนึ่ง ที่อยู่ห่างจากถนนปอยเปต-ศรีโสภณไปทางเหนือประมาณ ๑๒ ก.ม. เมื่อเคลื่อนที่เข้าไปได้ประมาณ ๙ ก.ม.ก็ถึงบ้านพร้าวซึ่งข้าศึกได้วางกำลังตั้งค่ายใหญ่รับไว้ กองพันที่ ๓ เข้าตีตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ถึงวันที่ ๑๑ มกราคม ฝรั่งเศสก็ถอยไปทางศรีโสภณ ปล่อยให้ไทยเข้ายึดค่ายได้แล้วพักกำลังพลอยู่ที่บ้านพร้าวนั้น กับส่งกำลังออกลาดตระเวนต่อไปอีก ๑๐ ก.ม.ก็ไม่พบข้าศึก

หลังจากวันนั้นไปแล้ว ทั้งกองทหารไทยและฝรั่งเศสต่างก็วางกำลังยันกันอยู่ โดยไม่มีการสู้รบใหญ่ เว้นแต่มีการปะทะระหว่างหน่วยลาดตระเวนบ้างเล็กน้อย

ในรูปเป็นบ้านพร้าวในปัจจุบัน เขมรคงเรียกว่าภูมิเพรียะมั้ง ใครทราบว่าออกเสียงยังไงก็ช่วยบอกด้วยนะครับ ดูแล้วไม่ใช่หมู่บ้านใหญ่โตอะไร แต่มีร่องรอยพอจะสันนิฐานว่าเป็นแนวรั้วของค่ายทหารได้บ้าง แต่ผมก็ไม่กล้ายืนยันนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 07:49
ในวันที่ ๑๓ มกราคม พันตรีหลวงนิมมานกลยุทธ ผู้บังคับกองพันที่ ๓ กับคณะได้ออกตรวจภูมิประเทศด้วยตนเองสังเกตเห็นว่าเส้นทางต่อไปในดินแดนข้าศึกนั้น มีการปรับผิวถนนราบเรียบ และพบเครื่องหมายสำหรับปรับการยิงปืนใหญ่ของข้าศึก จึงสันนิฐานว่าฝรั่งเศสได้ยอมถอยออกจากบ้านพร้าวนั้นเป็นกลลวงที่จะตีโต้กลับภายหลัง  โดยได้วางแผนเตรียมการไว้แล้ว ถ้ากองพันตั้งอยู่ที่เดิมน่าจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง

ในเย็นวันนั้นเอง หน่วยลาดตระเวนของข้าศึกก็เข้ามาลอบยิงทหารหน่วยคอยเหตุส่วนหน้าของกองพันแต่ไม่โดนใคร  ผู้บังคับกองพันได้สั่งการไว้แล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ให้ขับไล่ด้วยอาวุธปืนเล็ก ห้ามใช้อาวุธหนักและปืนกลถ้าไม่จำเป็น  เพื่อลวงข้าศึกถึงศักยภาพในการรบของฝ่ายเรา 

การที่ข้าศึกเกิดคันมือยิงเราเข้ามานัดนึงนี้ นี้ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ฝรั่งเศสใกล้จะโจมตีจะเอาที่มั่นคืนแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 08:02
แต่ผู้บังคับกองพันที่ ๓ ก็สั่งประชุมนายทหารบอกว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว ข้าศึกรู้ภูมิประเทศดีและคงกำหนดเป้าหมายไว้หมด ถ้าขืนถูกโจมตีเราจะเสียเปรียบมาก ดังนั้นกองพันที่๓จึงเคลื่อนกำลังทั้งหมดออกจากที่ตั้งในตอนค่ำ เดินเท้าไปทางตะวันออกห่างจากที่เดิมประมาณ ๔ ก.ม.แล้ววางกำลังเรียงรายลงในห้วยแห้งที่หมายตาไว้แล้ว  ลำห้วยนี้ขนานกับถนนที่ข้าศึกได้กรุยทางไว้ทั้งสองข้าง เป็นที่มั่นตามธรรมชาติแนวรูปตัวยู เหมาะสมที่สุดสำหรับจะใช้เป็นพื้นที่สังหาร ทหารทุกคนเข้าที่ วางปืนกลหนักไว้ที่ก้นตัวยู แล้วทั้งกองพันถูกกำชับให้อยู่ด้วยความสงบ  จะยิงพร้อมกันเมื่อได้รับคำสั่ง และให้ยิงตามแผนการยิงเท่านั้น ใครถูกกำหนดให้ยิงไปทางทิศใดก็ให้ยิงไปโดยเฉพาะทิศที่ว่า  ถ้าทำเช่นนี้ในทางทฤษฎีบอกว่าพื้นที่สังหารจะไม่มีจุดอับกระสุนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

ในภาพผมให้คุณกู๋หาตำแหน่งดังกล่าว เห็นตรงนี้แหละครับที่ใกล้เคียงที่ทหารผ่านศึกท่านบรรยายกันไว้ มีสพานข้ามห้วยที่พลเอกพรท่านเคยลงไปซ่อนตัวอยู่ด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 08:06
แก๊งงงงง.....หมดยก

ขอพักยาวครับ

กลับมาคราวหน้าจะกล่าวถึงการเตรียมการบุกเข้ามาละเลงเลือด(ทหารไทย) ก่อนจะเป็นฝ่ายถูกละเลงเสียเอง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 09:52
ข้อความดังกล่าว มีผู้ลอกมาลงในเวปหลายรายโดยไม่บอกที่มาที่ไป ผมเพิ่งบัดนี้เองทราบว่าต้นตอมาจากหนังสืองานศพของท่าน
http://www.tigerarmy.in.th/home/about/war.php


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 10:03
เมื่อวานนี้ บังเอิญพบคุณหมอวิบูล  วิจิตรวาทการ  บุตรชายของคุณหลวงวิจิตรวาทการ  ก็เลยคุยกันเรื่องสงครามอินโดจีน( เป็นหัวข้อประหลาดเอาการในการเริ่มสนทนา  ถ้าคนนอกได้ยิน   แต่คงไม่แปลกในสายตาชาวเรือนไทย)  จึงได้ทราบจากท่านว่าคุณหลวงวิจิตรฯ มีบทบาทสำคัญอยู่ในยุคนั้น   เคยเขียนหนังสือเรื่องสงครามอินโดจีนเอาไว้ด้วย
ไม่ทราบว่าคุณวันดี และคุณนวรัตน มีหนังสือของคุณหลวงไหมคะ   ดิฉันก็ไม่ทันได้ซักรายละเอียดว่าเป็นหนังสือชื่ออะไร   

เผื่อยังไงจะได้พาแยกออกซอย  พาไปแนะนำที่มาของสมรภูมิบ้านพร้าว   ระหว่างเจ้าของกระทู้อินเทอร์มิชชั่นอยู่ตอนนี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 10:11
^
ผมยังไม่เคยเห็นครับ

อ้างถึง
เผื่อยังไงจะได้พาแยกออกซอย  พาไปแนะนำที่มาของสมรภูมิบ้านพร้าว   ระหว่างเจ้าของกระทู้อินเทอร์มิชชั่นอยู่ตอนนี้

เชิญเลยครับ
ผมจะได้ลากิจนานหน่อย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 10:28


ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะที่กรุณาแนะนำ      ไม่คุ้นหูเลยค่ะ

ต้องไปถามเพื่อน ๆ  ที่สะสมหนังสือและเป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่า

ถ้าได้ความอย่างไรจะกลับมาเรียนค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 10:42
ขอบคุณค่ะ   คุณวันดี   ดิฉันเชื่อว่ามีผลงานของคุณหลวงวิจิตรวาทการอีกมาก ที่ไม่ใช่นวนิยาย(ซึ่งพิมพ์ใหม่ยังพอหาอ่านได้)  เป็นงานพวกบันทึก สารคดี หนังสือประวัติศาสตร์ในประเด็นเฉพาะ  บทเลกเชอร์  ฯลฯ ที่พอหมดยุคของท่าน  ก็ไม่มีใครพิมพ์อีก    ถ้าเป็นเล่มใหญ่ๆอาจมีที่หอสมุดแห่งชาติ    แต่ถ้าเป็นเล่มเล็กๆ หรือข้อเขียนที่กระจัดกระจายกันอยู่ในหนังสือเล่มนั้นเล่มนั้นบ้าง คงหาอ่านได้ยากแล้ว
งานของคุณหลวงวิจิตรฯ สะท้อนให้เห็นนโยบายและทิศทางการเมืองในยุคจอมพลป. ได้มากค่ะ   ทำให้เราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสมัยนั้น และมีสาเหตุจากอะไร


เชิญเลยครับ
ผมจะได้ลากิจนานหน่อย

ได้เวลาท่านเจ้าของกระทู้ ปลีกตัวไปตีกอล์ฟ   ทิ้งยามเฝ้ากระทู้ไว้หนึ่งคน  ทำหน้าที่ปั่นกระทู้ไม่ให้ตกจอ  ;)  :)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 14:07
ผมเข้ามาแจ้งให้ทราบว่า ข้อความในกระทู้๓๒ ขาดย่อหน้าสำคัญไปโดยความสะเพร่าของผมเอง
ที่ควรจะเป็นนั้น ข้อความทั้งในกระทู้๓๑และ๓๒ ต้องเป็นดังนี้ (ตัวหนา คือข้อความที่หายไป)


ในวันที่ ๑๓ มกราคม พันตรีหลวงนิมมานกลยุทธ ผู้บังคับกองพันที่ ๓ กับคณะได้ออกตรวจภูมิประเทศด้วยตนเองสังเกตเห็นว่าเส้นทางต่อไปในดินแดนข้าศึกนั้น มีการปรับผิวถนนราบเรียบ และพบเครื่องหมายสำหรับปรับการยิงปืนใหญ่ของข้าศึก จึงสันนิฐานว่าฝรั่งเศสได้ยอมถอยออกจากบ้านพร้าวนั้นเป็นกลลวงที่จะตีโต้กลับภายหลัง  โดยได้วางแผนเตรียมการไว้แล้ว ถ้ากองพันตั้งอยู่ที่เดิมน่าจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง

ในเย็นวันนั้นเอง หน่วยลาดตระเวนของข้าศึกก็เข้ามาลอบยิงทหารหน่วยคอยเหตุส่วนหน้าของกองพันแต่ไม่โดนใคร  ผู้บังคับกองพันได้สั่งการไว้แล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ให้ขับไล่ด้วยอาวุธปืนเล็ก ห้ามใช้อาวุธหนักและปืนกลถ้าไม่จำเป็น  เพื่อลวงข้าศึกถึงศักยภาพในการรบของฝ่ายเรา 

การที่ข้าศึกเกิดคันมือยิงเราเข้ามานัดนึงนี้ นี้ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ฝรั่งเศสใกล้จะโจมตีจะเอาที่มั่นคืนแล้ว


วันรุ่งขึ้น ๑๔ มกราคม หลวงไกรชิงฤทธิ์ผู้บัญชาการกองพลพระนครก็มาตรวจภูมิประเทศ พร้อมกับผู้บังคับกองพันที่ ๓ พันตรีหลวงนิมฯจึงรายงานพร้อมขออนุมัติเคลื่อนกำลังพลออกไปข้างหน้าอีกประมาณ ๔ ก.ม. ผู้บัญชาการกองพลเห็นด้วย แต่เมื่อรายงานขออนุมัติไปทางกองทัพบูรพา กลับถูกสั่งห้ามไม่ให้หน่วยนี้เคลื่อนที่โดยเด็ดขาด เพราะจะผิดแผนที่กองทัพวางไว้

แต่ผู้บังคับกองพันที่ ๓ ก็สั่งประชุมนายทหารบอกว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว ข้าศึกรู้ภูมิประเทศดีและคงกำหนดเป้าหมายไว้หมด ถ้าขืนถูกโจมตีเราจะเสียเปรียบมาก ดังนั้นกองพันที่๓จึงเคลื่อนกำลังทั้งหมดออกจากที่ตั้งในตอนค่ำ เดินเท้าไปทางตะวันออกห่างจากที่เดิมประมาณ ๔ ก.ม.แล้ววางกำลังเรียงรายลงในห้วยแห้งที่หมายตาไว้แล้ว  ลำห้วยนี้ขนานกับถนนที่ข้าศึกได้กรุยทางไว้ทั้งสองข้าง เป็นที่มั่นตามธรรมชาติแนวรูปตัวยู เหมาะสมที่สุดสำหรับจะใช้เป็นพื้นที่สังหาร ทหารทุกคนเข้าที่ วางปืนกลหนักไว้ที่ก้นตัวยู แล้วทั้งกองพันถูกกำชับให้อยู่ด้วยความสงบ  จะยิงพร้อมกันเมื่อได้รับคำสั่ง และให้ยิงตามแผนการยิงเท่านั้น ใครถูกกำหนดให้ยิงไปทางทิศใดก็ให้ยิงไปโดยเฉพาะทิศที่ว่า  ถ้าทำเช่นนี้ในทางทฤษฎีบอกว่าพื้นที่สังหารจะไม่มีจุดอับกระสุนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

ไหนๆก็เข้ามาแล้ว ฝากท่านอาจารย์ใหญ่กรุณาตอบหน่อยครับ ชื่อหลวงไกรชิงฤทธิ์นี้ ผมฟังจากเครื่องบันทึกเสียง พลเอกพรไม่ได้ระบุยศและชื่อสกุลของท่านไว้ด้วย ผมค้นแล้วในพ.ศ.๒๔๗๕  ปรากฏชื่อนายทหารระดับผู้บังคับกองพันชื่อพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พุฒ วินิจฉัยกุล) ถามว่า คือบุคคลเดียวกันใช่หรือไม่ ๙ปีผ่านไป ท่านเลื่อนจากผู้บังคับกองพันมาเป็นผู้บัญชากองพลหรือเปล่า ยศในขณะนั้นคืออะไร

ผมไม่ได้ไปตีกอล์ฟหรอกครับ แต่ค่ำนี้จึงจะมีเวลากลับมาดูกระทู้




กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 15:04

ไหนๆก็เข้ามาแล้ว ฝากท่านอาจารย์ใหญ่กรุณาตอบหน่อยครับ ชื่อหลวงไกรชิงฤทธิ์นี้ ผมฟังจากเครื่องบันทึกเสียง พลเอกพรไม่ได้ระบุยศและชื่อสกุลของท่านไว้ด้วย ผมค้นแล้วในพ.ศ.๒๔๗๕  ปรากฏชื่อนายทหารระดับผู้บังคับกองพันชื่อพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พุฒ วินิจฉัยกุล) ถามว่า คือบุคคลเดียวกันใช่หรือไม่ ๙ปีผ่านไป ท่านเลื่อนจากผู้บังคับกองพันมาเป็นผู้บัญชากองพลหรือเปล่า ยศในขณะนั้นคืออะไร

คนละคนกันค่ะ   

พันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล) เสียชีวิตจากกระสุนของนายตำรวจที่บุกเข้าไปยิงทิ้งในบ้าน ต่อหน้าลูกเมีย  ในการจับกุมกวาดล้างปรปักษ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2482   ส่วนสมรภูมิบ้านพร้าวเกิดในเดือนมกราคม 2484 ค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 15:40
เริ่มเรื่องสงครามอินโดจีน  
ถ้าจะค้นคำนี้ในกูเกิ้ล  พิมพ์คำว่า The French-Thai war  ลงไปนะคะ   อย่าใช้คำว่า Indochina war  เพราะจะเจอเข้าหลายสงคราม ไม่รู้ครั้งไหนเป็นครั้งไหน   เนื่องจากสงครามในอินโดจีนมีหลายครั้งมาก

ถ้าอ่านกระทู้เก่าๆของเรือนไทย ในห้องประวัติศาสตร์   ของท่าน Navarat.C  มีอยู่หลายกระทู้ด้วยกัน   ใครสนใจลองเลือกจากชื่อเจ้าของกระทู้     ก็จะมองเห็นภาพว่าหลังจากรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามได้กวาดล้างฝ่ายอำนาจเก่าหมดไปตั้งแต่พ.ศ. 2482 แล้ว    นโยบายต่อจากนั้นก็คือสร้างไทยให้เป็นมหาอำนาจ      ว่ากันว่ามาจากแนวนิยมทางฝ่ายตะวันตก  จุดประกายขึ้นจากผู้นำดาวรุ่งพุ่งแรง อย่างฮิตเลอร์และมุสโสลินี   ที่รุ่งเรืองกันอยู่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

นโยบายหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้ก็คือการปลุกใจประชาชนด้านชาตินิยม    
ความคิดแนวชาตินิยม  คือจูงใจประชาชนสามัคคีเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียว   เพื่อรวมพลังให้พุ่งไปทางเดียวกันตามผู้นำ      จอมพลป. คิดต่อไปว่า รวมพลังประชาชนในประเทศยังไม่พอ   แต่ควรรวมกำลังจากประเทศใกล้เคียงที่เคยเป็นของไทยด้วย  เพื่อเพิ่มความเป็นมหาอำนาจให้ไทย    และสามารถหยิบยกประเด็นมาก่อความฮึกเหิม เพื่อรวมพลังได้ง่าย
เมื่อจะทำอย่างนี้ก็ต้องข้ามกำแพงแห่งเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ไปเสียก่อน จึงจะได้ผล


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 15:53
ก่อนหน้านโยบายชาตินิยมที่ว่ามานี้       คนไทยเรามักจะมองว่าลาวก็คือประเทศลาว เขมรก็คือประเทศเขมร    ถึงแม้ว่าติดต่อคบหาสมาคมกันมานานหลายร้อยปี   ดีกันบ้าง รบกันบ้าง  แต่ก็ไม่ได้ปะปนเป็นหนึ่งเดียวกัน      แต่เมื่อนโยบายใหม่ก่อตั้งขึ้นมา    ความพยายามจะสร้างสำนึกให้คนไทยเห็นว่าลาวและเขมรไม่ใช่แค่เพื่อนบ้านก็เกิดขึ้น  

แนวคิดเห็นได้จากผลงานของคุณหลวงวิจิตรวาทการ  ผู้เป็นมือขวาของจอมพลป.หลายๆด้าน  โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม    เขมรกับไทยถูกปูพื้นมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ในบทละครประวัติศาสตร์เรื่อง ราชมนู
ในบทละคร พระราชมนู พระเอกของเรื่องซึ่งมีบทบาทเป็นทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวร   ก็มีบทพูดตอนหนึ่งว่า

"เขมรกับไทยก็รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน.....ก็ใครที่ไหนกันเล่า ก็ไทยเราทั้งนั้น เผอิญมาตกอยู่ในถิ่นของขอมโบราณ ก็เลยมีชื่อว่า “เขมร” ไป ซึ่งเขมรเป็นชื่อสมมติแท้ๆ ที่จริงก็ไทยพี่น้องของเราทั้งนั้น”

ถ้าตีความตามนี้  "ขอม" กับ "เขมร" ก็คนละพวกกัน
 “ขอม” หมายถึงคนโบราณเผ่าหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา  ก่อนหน้าที่คนไทยจะอพยพย้ายถิ่นจากเทือกเขาอัลไตเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแหลมทอง
ส่วน“เขมร” นั้นเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง ใช้เรียกคนไทยที่อพยพจากตอนใต้ของจีนเช่นกัน แต่ว่าแยกทางไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนของขอม
สรุปจากพระราชมนูว่า ขอมกับไทย เป็นคนละพวกคนละเหล่า   แต่ว่าเขมรกับไทย เป็นพวกเดียวกัน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 16:03
แนวคิดว่าเขมรกับไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน พบได้อีกครั้งในละครประวัติศาสตร์เรื่อง พ่อขุนผาเมือง ของคุณหลวงวิจิตรฯ เช่นกัน ใน พ.ศ. 2483
เรื่องนี้นางเอกคือนางสิขร เป็นเจ้าหญิงเขมร  มเหสีของพ่อขุนผาเมือง   มีบทพูดตอนหนึ่งว่า
  ควรจะเห็นว่าเขมรก็คือไทย                      เลือดขอมหมดไปเสียนานแล้ว
ขอมโบราณป่านนี้มีแต่ชื่อ                          เขมรคือไทยแท้ทั้งเชื้อแถว
เพราะไทยแตกแยกไปเป็นหลายแนว             ทั้งญวนแกวและเขมรล้วนเป็นไทย
ดูซิ หน้าตาและผิวพรรณ                          เราผิดแผกแปลกกันที่ตรงไหน
นับตั้งหลายหลายร้อยปีที่เลือดไทย              เข้าอยู่ในเลือดเขมรเป็นชาติเดียว
อันที่จริงเขมรไทยชาติทั้งสอง                    ก็คือพี่คือน้องที่ข้องเกี่ยว
ควรผูกมิตรสนิทสนมให้กลมเกลียว              เหมือนพี่น้องท้องเดียวกันโดยแท้
   


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 16:28
ในเมื่อเขมรกับไทยเป็นพี่น้องกัน  แต่ตอนนั้นเขมรตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส    ฝรั่งเศสจึงถูกยกขึ้นมาเป็นผู้ร้าย  มิใช่ว่ามีอำนาจเหนืออย่างเดียว  แต่ชี้ให้เห็นว่า กดขี่ข่มเหงบีบคั้นเอาเปรียบเขมรด้วย
หลวงวิจิตรวาทการได้เปรียบเทียบน้ำในแม่น้ำโขงว่า
"คือน้ำตาของเราชาวไทย พวกเราในฝั่งนี้เป็นอิสสระเสรี แต่พี่น้องเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน"

ในหนังสือเรื่อง Thailand’s Case (พ.ศ. 2484)   หลวงวิจิตรวาทอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ว่า  ชาวกัมพูชา (The Cambodians) กับขะแมร์ หรือขอม (The Khmer) เป็นคนละพวกกัน
ขะแมร์หรือขอมมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล   ชาวขอมอพยพตามชาวอินเดีย (The Indians) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล  เข้ามาในบริเวณที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ตั้งแต่ราวๆ 2,000 ปีก่อน  ขอมและอินเดียผสมผสานวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์นานนับหลายศตวรรษ  กลายมาเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่ที่มีอำนาจปกครองดินแดนส่วนที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน     และเป็นผู้นำวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วย

ต่อมาอีกประมาณ 500 ปี   มีชาวเอเชียอพยพอีกเผ่าหนึ่งเรียกว่าชาวไทย (The Thai) อพยพจากทางใต้ของจีนลงมาในสุวรรณภูมิ (Suvarna Bhumi) หรือแหลมทอง (The Golden Peninsula) ซึ่งขอมแผ่อิทธิพลเข้ามาถึง   เจ้าของถิ่นใหม่รุ่งเรืองขึ้นมาแทนเจ้าของถิ่นเดิม  เกิดจากผสมผสานทางสายเลือดและวัฒนธรรมยาวนานหลายศตวรรษ     ชาวขอมก็ค่อยๆ กลายเป็นไทย แยกกันไม่ออกทั้งรูปร่างหน้าตาและนิสัยใจคอ

ในพุทธศตวรรษที่ 16  หรือประมาณเก้าร้อยปีมาแล้ว  คำว่าขะแมร์หรือขอมก็เลือนหายไป  คำเรียกใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาคือ“กัมพูชา (Cambudju)” มีความหมายว่า “เกิดอยู่ในแผ่นดินทอง”   การเกิดของ “กัมพูชา” หมายถึงจุดสิ้นสุดของเชื้อชาติเขมรเดิม (The old Khmer Race) และเป็นจุดเริ่มต้นของคนกลุ่มใหม่ที่มีเลือดไทยผสมประมาณร้อยละ 90”


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 16:30
หลวงวิจิตรวาทการจึงสรุปว่า  ชาวเขมรก็คือชาวไทย     ประเทศกัมพูชาคือส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยที่ฝรั่งเศสแย่งชิงไปโดยใช้วิธี  “ทารุณโหดร้าย กลับกลอก ตลบตะแลงปราศจากศีลสัตย์ ชั้นต้นก็พยายามฉ้อโกง แต่เมื่อฉ้อโกงไม่สำเร็จก็ปล้นเอาเฉยๆ”

การตอกย้ำตามสื่อและหนังสือต่างๆ และรวมกับการสอนในตำราถึงประวัติความเป็นมาของไทยและขอม  ว่าเป็นพวกเดียวกัน ก่อผลให้เกิดความเข้าใจว่า เขมรและลาวก็เป็นเป็นชาวไทยเช่นเดียวกัน    ด้วยเหตุนี้จะรวมคนและดินแดนมาอยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศไทย   จึงเป็นเรื่องสมควรจะทำ   โดยเฉพาะเมื่อเป็นการปลกแอกจากฝรั่งที่เคยรุกรานไทยมาก่อน  
แนวคิดชาตินิยมแบบนี้ทำให้รัฐบาลจอมพลป. ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องดินแดนคืน    หนุ่มสาวไทยสมัยนั้นรวมทั้งนิสิตนักศึกษาก็เดินขบวนเรียกร้องกับเขาด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 16:47
ดังนั้นถ้าจะย้อนกลับไปต้นกระทู้  ถามว่าทหารไทยเข้าไปทำอะไรที่บ้านพร้าวในเขตของกัมพูชา      ก็คงพอจะมองเห็นคำตอบจากที่มาของเรื่องได้บ้างแล้วนะคะ

ได้บรรยายหน้าม่านมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว   หมดอินเทอร์มิชชั่น  เจ้าของกระทู้ตัวจริงก็จะกลับมาพาท่านผู้อ่านไปละเลงเลือดในสมรภูมิบ้านพร้าวต่อไป   
ขอลาเข้าโรงก่อนค่ะ  ตอบกระทู้เพลินไปหน่อย   ส่งงานไม่ทันแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ม.ค. 12, 17:02

ไหนๆก็เข้ามาแล้ว ฝากท่านอาจารย์ใหญ่กรุณาตอบหน่อยครับ ชื่อหลวงไกรชิงฤทธิ์นี้ ผมฟังจากเครื่องบันทึกเสียง พลเอกพรไม่ได้ระบุยศและชื่อสกุลของท่านไว้ด้วย ผมค้นแล้วในพ.ศ.๒๔๗๕  ปรากฏชื่อนายทหารระดับผู้บังคับกองพันชื่อพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พุฒ วินิจฉัยกุล) ถามว่า คือบุคคลเดียวกันใช่หรือไม่ ๙ปีผ่านไป ท่านเลื่อนจากผู้บังคับกองพันมาเป็นผู้บัญชากองพลหรือเปล่า ยศในขณะนั้นคืออะไร


ให้ นายร้อยเอก กร ชลินทุ เป็น หลวงไกรชิงฤทธิ์ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงกลาโหม ถือศักดินา ๘๐๐

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๖ พ.ศ. ๒๔๗๒)

ส่วนยศในขณะที่คุณหลวงไกรฯ เป็นผู้บัญชาการกองพลพระนครนั้น มียศเป็น "พันโท"

ในช่วงนั้นผู้บัญชาการกองพลในประเทศไทย มียศเป็น "พันโท" ทั้งสิ้น เช่น
พันโท หลวงวีรวัฒนโยธิน (วีระวัฒน์ รักตะจิตรการ) ผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์
พันโท หลวงจำรัสโรมรัน (จำรัส รมยะบุรุษ) ผู้บัญชาการกองพลอุบล

เพราะหน่วยรบขนาดกองพลในกรณีพิพาทอินโดจีน เป็นการรวมหน่วยรบขนาดกองพันเข้าด้วยกัน ไม่ได้เป็นกองพลประจำการอย่างในยุคปัจจุบันนี้
เหล่าผู้บัญชาการกองพลทั้งหลายจึงต่างถูกส่งมาจากส่วนกลาง หรือไม่ก็ตั้งจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกในส่วนภูมิภาค
ดังเช่น นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) ก่อนดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพอีสาน ก็เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓ นครราชสีมามาก่อน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 17:19


ข้อมูลปี ๒๔๗๔

อ้างอิง  พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราช ๒๔๗๔   หน้า ๘๒๐


หลวงไกรชิงฤทธิ์ (กร  ชลินทุ)    นายร้อยเอก

ประจำกรมจเรทหารราบ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 27 ม.ค. 12, 21:26
ขอลงชื่อไว้ก่อนว่าเข้าเรียนคาบนี้นะครับ


ไม่มีความเห็นเสริมอื่นใด เพราะไม่มีพื้นจริงๆ


เอาไว้คุณครูตั้งโจทย์ อาจจะยกมือขอตอบนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 21:48
ปฏิบัติการทางจิตวิทยาของไทยนอกจากที่เล่ามาข้างบนนี้แล้ว  ยังมีเพลงปลุกใจอีกด้วย  หนึ่งในจำนวนนั้นคือ มณฑลบูรพา เป็นเพลงที่กรมโฆษณาการ(หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) เปิดให้ประชาชนฟังทุกเช้า

http://www.youtube.com/watch?v=K3ciD9L6iPc


                 มณฑลบูรพา      เคยได้เป็นของเรา                       

                 เสียมราฐ    พระตะบอง        บ้านพี่เมืองน้องมาช้านาน   แต่ครั้งโบราณก่อนเก่า

                 ไทย . . . ชาติไทยใจเศร้า     เลือดเนื้อเชื้อเผ่าถูกเขายื้อแย่งไป
                                                                                             
                 คอย . . . ไทยเราเฝ้าคอย     แต่กำลังเราน้อยสู้เขาไม่ไหว

                 ร่วมสามสิบปี     ทัพไทยก็มี สมรรถภาพและเข้มแข็งยิ่งใหญ่

                 ทหารภาคบูรพา    ทัพพรหมโยธี        รุกไล่โจมตี   พวกไพรีแตกหนีพ่ายไป
                                                     
                 กองทัพบูรพา    องอาจเก่งกล้า          เทอดเกียรติก้องหล้า     เลือดทหารชาติไทย "


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ม.ค. 12, 22:41
โอ้โหครับ ช่างเป็นไปได้   
นี่ผมได้มาจาก“ประวัติกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์”จากเวปของเขาเองเลยนะท่าน

พ.ศ.๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๒๔ มิ.ย. โดยคณะราษฎร์นั้น เมื่อคณะราษฎร์รวมกำลังที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วเข้ายึดพื้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นได้ส่งกำลังเข้าควบคุมตัวผู้นำประเทศและผู้บังคับบัญชาทหาร ในส่วนของกองพลที่ ๑ (รักษาพระองค์) คณะราษฎร์ได้ควบคุมตัวพระยาเสนาสงคราม (มรว.อี๋ นพวงศ์) ไว้ได้ ณ บ้านพัก บริเวณถนนนครไชยศรี โดยถูกนายทหารยศนายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ยิงได้รับบาดเจ็บไม่สามารถออกมาบัญชาการได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ นายพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พูด วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวานได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ

นายพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พูด วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวานได้จัดกำลังทหารหนึ่งกองร้อยเตรียมต่อสู้ แต่ต่อมาได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลคณะราษฎร์ได้เริ่มการปรับลดกองทัพคงเหลือนายพลไว้ ๒ นาย คือ ปลัดทูลฉลอง (ปลัดกระทรวง) กลาโหม กับ สมุหราชองครักษ์ มีการสั่งการโยกย้ายหน่วยทหารโดยฉับพลัน เกิดความวุ่นวายในกองทัพเป็นอย่างมาก ตำแหน่งนายทหารชั้นยศนายพลเริ่มนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อ ๓๑ ต.ค.๒๔๗๙

อ้างอิง

http://www.rta.mi.th/21100u/title/02-history/02-history.htm

ความจริงผมจำได้เรื่องพันตรีหลวงราญรณกาจได้ ทราบว่าท่านนามสกุลวินิจฉัยกุล แต่ลืมชื่อตัวของท่าน เลยไปนึกว่ามีวินิจฉัยกุลอีกท่านหนึ่งที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 

ขอบคุณคุณอาร์ต๔๗ด้วยครับที่ให้ความกระจ่าง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 12, 23:01
ถ้ามีใครที่เข้ามาอ่าน  สามารถติดต่อกับเวบมาสเตอร์ของเว็บไซต์ที่ว่าได้  ควรจะแจ้งให้ทราบเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง

อย่าว่าแต่อย่างอื่นเลยค่ะ แม้แต่เรียงประโยคก็ยังพิมพ์สับสน    พิมพ์ "โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ " และ "นายพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พูด วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวาน"  ซ้ำกันสองครั้ง
ไม่น่าจะปล่อยข้อมูลของเว็บไซต์ราชการเอาไว้แบบนี้

ข้อความที่ผิด
   พ.ศ.๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๒๔ มิ.ย. โดยคณะราษฎร์นั้น เมื่อคณะราษฎร์รวมกำลังที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วเข้ายึดพื้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นได้ส่งกำลังเข้าควบคุมตัวผู้นำประเทศและผู้บังคับบัญชาทหาร ในส่วนของกองพลที่ ๑ (รักษาพระองค์) คณะราษฎร์ได้ควบคุมตัวพระยาเสนาสงคราม (มรว.อี๋ นพวงศ์) ไว้ได้ ณ บ้านพัก บริเวณถนนนครไชยศรี โดยถูกนายทหารยศนายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ยิงได้รับบาดเจ็บไม่สามารถออกมาบัญชาการได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ นายพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พูด วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวานได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ
นายพันตรีหลวงไกรชิงฤทธิ์ (พูด วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวานได้จัดกำลังทหารหนึ่งกองร้อยเตรียมต่อสู้ แต่ต่อมาได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป

ที่ถูกต้อง

พ.ศ.๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๒๔ มิ.ย. โดยคณะราษฎร์นั้น เมื่อคณะราษฎร์รวมกำลังที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วเข้ายึดพื้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นได้ส่งกำลังเข้าควบคุมตัวผู้นำประเทศและผู้บังคับบัญชาทหาร ในส่วนของกองพลที่ ๑ (รักษาพระองค์) คณะราษฎร์ได้ควบคุมตัวพระยาเสนาสงคราม (มรว.อี๋ นพวงศ์) ไว้ได้ ณ บ้านพัก บริเวณถนนนครไชยศรี โดยถูกนายทหารยศนายร้อยโท ขุนศรีศรากร  ยิงได้รับบาดเจ็บไม่สามารถออกมาบัญชาการได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ
นายพันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)  ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กที่สะพานมัฆวาน  พยายามจัดกำลังทหารหนึ่งกองร้อยเตรียมต่อสู้ แต่ไม่ได้รับอนุมัติจากพันเอกพระยาสุรเดช ผู้บังคับบัญชา  เพราะได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   จึงไม่กล้าทำการโดยพลการ   ทำให้ต้องถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 12, 12:24
เจ้าของกระทู้ยังไม่มา  ขอเวลานอก(ต่อ) ค่ะ

ในช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นในยุโรป    เมื่อเยอรมันที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดรวบรวมแสนยานุภาพขึ้นมาได้อีก     ด้วยการนำของผู้นำใหม่ใจถึงอย่างฮิตเลอร์  ก็บุกโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบ  สำเร็จแล้วก็ขยายสมรภูมิต่อมาทางยุโรปตะวันตก   
ฝรั่งเศสตกที่นั่งลำบาก เพราะเป็นประเทศที่เยอรมันหมายหัวเอาไว้ถัดจากโปแลนด์    จึงไม่อยากเปิดศึกสองด้านทั้งในยุโรปและในเอเชียอาคเนย์ที่ตัวเองมีอาณานิคมอยู่  ก็เลยหันมาขอทำสัญญาไมตรีกับไทย  เพื่อมิให้ไทยก่อศึกเข้าทางหลังบ้าน   
รัฐบาลฝรั่งเศสยื่นขอทำสัญญาดังที่ว่ามายังรัฐบาลไทยในเดือนสิงหาคม 2482 มีเงื่อนไขว่าอินโดจีนฝรั่งเศสจะไม่ถูกรุกรานจากไทย ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังตกหนักกับเยอรมัน  จึงเป็นโอกาสดีของรัฐบาลจอมพลป. ยื่นข้อเจรจากลับไป  ขอปรับปรุงเส้นเขตแดน ให้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนแบ่งระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส

เจรจากันอยู่หลายเดือน จอมพลป.ก็ตกลง   ยอมลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันกับนายปอล เลปิสสิเอร์ (Paul Lepissier) อัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2483    กติกาสัญญาดังกล่าวมีหนังสือแลกเปลี่ยนแนบท้ายซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนอยู่ด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 12, 12:30
สถานการณ์ทางฝรั่งเศสทรุดหนัก  รัฐบาลฝรั่งเศสจำต้องยกธงขาว  ยอมแพ้เยอรมันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483   เยอรมันก็ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของฝรั่งเศสขึ้น เรียกว่ารัฐบาลวิชี (Vichy)  ประกอบด้วยคณะร.ม.ต.ที่ล้วนแต่ประนีประนอมเป็นมิตรกับเยอรมัน      พูดอีกทีคือเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมันนั่นเอง
รัฐบาลไทยไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องภายในของฝรั่งเศส  จะรัฐบาลเดิมหรือรัฐบาลใหม่ก็ถือว่าใช้ได้เท่ากัน   แต่ไทยเร่งรัดให้รัฐบาลวิชีรีบตกลงเรื่องปรับปรุงเขตแดนเสียเร็วๆ  คือยอมแบ่งเส้นเขตแดนใหม่ใช้แม่น้ำโขงเป็นหลัก   คำตอบของรัฐบาลวิชี  คือขอให้กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องให้สัตยาบัน

11 กันยายน 2483 รัฐบาลไทยตอบไปว่าจะเอายังงั้นก็ได้  โดยมีเงื่อนไขว่า

1. ให้เส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงเป็นไปตามหลักฎหมายระหว่างประเทศ โดยถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์
2. ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดทิศใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา ให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซ
3. ในกรณีที่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยภายในอินโดจีน ฝ่ายฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาว และกัมพูชาให้แก่ไทย

ผลก็คือรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลไทย   เพราะมันบวกอะไรเข้ามาทางไทยอีกมาก   ฝรั่งเศสมีแต่เสีย ในสิ่งที่เคยได้ไปแบบง่ายๆในอดีต


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 12, 12:46
เมื่อขอกันดีๆไม่ให้   รัฐบาลไทยก็เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องใช้กำลัง  เพื่อเอาดินแดนที่เคยเป็นของไทยกลับคืนมา      นโยบายต่อไปของจอมพลป. คือปลุกใจให้ประชาชนเห็นดีด้วยกับการทำสงครามซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ  แต่ไม่ได้บอกตรงๆว่าให้ทำสงคราม  หากใช้คำว่า "เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส"  แทน
วิธีเรียกร้องดินแดนคือ คือกระตุ้นให้ประชาชนและนิสิตนักศึกษาออกมาเดินขบวน ทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดใหญ่ๆ   ไม่ใช่เดินอย่างเดียวแต่ร้องเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรฯ พร้อมกันไปด้วย เพื่อแสดงความรักชาติ   เพลงปลุกใจก็เอามาจากเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงละครประวัติศาสตร์นั่นเอง

เมื่อทำให้ประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องได้แล้ว  รัฐบาลก็เผยวิธีออกมาว่า ต่อไปนี้ละนะ   รัฐบาลก็จะตอบสนองประชาชนด้วยการใช้กำลังทหารเข้าจัดการปัญหาเสียที  แทนการเจรจาที่พับฐานไปแล้วเพราะฝรั่งเศสไม่ยอม      
หลวงวิจิตรวาทการไปแสดงปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส  แก่ครูบาอาจารย์และนักเรียนกรมยุทธศึกษาทหารบกในวันที่ 17 ตุลาคม 2483 ด้วยคำพูดปลุกใจทหารว่า

            ประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น เป็นประวัติแห่งการนองเลือด การที่บรรพบุรุษของเราได้ก่อร่างสร้างประเทศเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงพวกเราจนทุกวันนี้ ท่านไม่ได้อาบเหงื่อต่างน้ำ แต่อาบเลือดต่างน้ำ เราฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายมาด้วยเลือด เราดำรงอยู่เป็นไทยจนบัดนี้ได้ก็ด้วยเลือด จึงเป็นที่น่าเชื่อว่าถ้าเราต้องการจะก้าวหน้าเติบใหญ่ต่อไป หรือให้ชาติไทยคงเป็นไทยอยู่นั้น เราก็ต้องใช้เลือดเหมือนกัน ที่กล่าวนี้มิได้มุ่งหมายจะยืนยันว่าเราจะรบหรือเราจะต้องเข้าสงคราม.....แต่เพื่อประโยชน์ในทางเตรียมตัว ข้าพเจ้าใคร่จะขอเชิญชวนเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย โดยฉะเพาะท่านที่นั่งฟังข้าพเจ้าอยู่ในที่นี้ ให้ทำใจเสียแต่บัดนี้ว่าเราต้องรบ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 12, 12:53
          เนื้อหาจากปาฐกถาครั้งนั้น  มีบางตอนระบุชัดเจนว่าการเรียกร้องดินแดนไทยกลับมาไม่ใช่เรื่องของชาตินิยม หรือต้องการความยุติธรรมจากการเสียดินแดนในอดีตอย่างเดียวเท่านั้น    จุดมุ่งหมายใหญ่คือการขยายอาณาเขตของประเทศไทย เพื่อเพิ่มขนาดของประเทศและเพิ่มจำนวนประชากร     เพราะอะไร...ก็เพราะประเทศยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าใดก็มีโอกาสจะก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจมากเท่านั้น

            “เมื่อจะต้องดำเนินการอย่างแตกหักกันแล้ว เราก็จะไม่พูดกันแต่เพียงเขตต์แดนแม่น้ำโขง เราจะไม่พูดกันเพียงแต่ดินแดนฝั่งขวาตรงหน้าหลวงพระบางและปากเซ เราจะต้องพูดกันถึงดินแดนทุกๆ ชิ้นที่เราเสียไปให้แก่ฝรั่งเศส” ทั้งนี้เพื่อนำไทยไปสู่ความเป็นมหาประเทศ     เพราะว่าถ้าเราได้ดินแดนที่เสียไปนั้นคืนมาทั้งหมด นอกจากเราจะได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่ในเวลานี้อีกเท่าตัว และได้จำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นอีกราว 4 ล้านคนแล้ว จะมีผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะสามารถมีดินแดนจดเข้าไปถึงถิ่นไทยอันกว้างขวาง ซึ่งตั้งอยู่เหนือสิบสองจุไทย ที่นั่นมีเลือดเนื้อเชื้อไทยเราอยู่ 24 ล้านคน ซึ่งยังถือตนเป็นไทย พูดภาษาไทย มีชีวิตจิตต์ใจเป็นไทย เราสามารถจะเปิดประตูรับพี่น้อง 24 ล้านคนของเราเข้ามาหาเรา ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะไปรุกรานดินแดนเหล่านั้น เราไม่ต้องการรุกรานใคร ที่ดินของเรามีถมไป เราต้องการแต่จะให้พี่น้องไทยของเราเข้ามาอยู่ร่วมรับความผาสุกด้วยกัน และเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าเราทำสำเร็จ และไม่ช้าเราจะเป็นประเทศที่มีดินแดนราว 900,000 ตารางกิโลเมตร์ และมีพลเมืองไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน เราเป็นมหาประเทศ"        



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 12, 20:46
ถ้าข้างบนนี้คือจุดมุ่งหมายของรัฐบาลจอมพลป.    ก็หมายความว่าไทยประสงค์จะเอาดินแดนที่เคยเป็นของไทยในอดีตคืนกลับมาให้หมด   อาณาเขตของไทยจะกินดินแดนเขมร และลาว  เข้าไปถึงเวียตนามในปัจจุบัน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ม.ค. 12, 07:02
ต่อครับ
ผมพามาดูทางฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง

รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งกรมทหารต่างด้าวที่๕ ขึ้นเมื่อ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๗๓ เพื่อปราบปรามผู้รักชาติที่คอยก่อความไม่สงบในญวนอยู่เนืองๆ  และให้ร่วมกับกองกำลังเสริมที่มีอยู่แล้ว ปกป้องรักษาภูมิภาคตังเกี๋ยหรือส่วนที่เป็นเวียตนามเหนือ  โดยตั้งกองบัญชาการอยู่บริเวณปากแม่น้ำแดงในกรุงฮานอย  ทหารต่างด้าวกรมนี้ก็ปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยได้อย่างหน้าพอใจในระยะแรก จนกระทั่งระยะที่ใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง คนญวนคณะหนึ่งได้จัดตั้งองก์กรลับขึ้นมีเป้าหมายที่จะต่อต้านฝรั่งเศส โดยให้ทหารญวนในกองทัพฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งจับอาวุธลุกฮือขึ้นที่เมืองเยนไบ๋เพื่อหวังจะได้ใจจากทหารญวนอื่นๆ ให้เข้าร่วมต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสที่นับจำนวนแล้วน้อยกว่า  แต่ถูกทหารฝรั่งเศสใช้อาวุธที่เหนือชั้นล้อมปราบอย่างรุนแรง ทำให้ทหารญวนส่วนใหญ่อื่นๆหัวหด ไม่กล้าเอาด้วย กบฏเยนไบ๋ก็เลยพ่ายแพ้ไปในเวลาอันสั้น พวกหัวหน้าทั้งทหารและพลเรือน ถ้าไม่ตายจากการรบพุ่ง ก็ถูกจับไปขังบ้าง ฆ่าทิ้งบ้าง คนญวนเลยยิ่งเกลียดฝรั่งเศสมากขึ้น จนวันหนึ่งก็สามารถชำระแค้นทั้งปวงที่ฝรั่งทำเอาไว้ได้ในสิบ-ยี่สิบปีต่อมา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ม.ค. 12, 07:04
เมื่อญี่ปุ่นต้องการขยายสงครามในจีนมาเปิดแนวรบทางด้านใต้ โดยใช้อ่าวตังเกี๋ยเป็นทางผ่าน เมื่อยกพลขึ้นบกเข้าญวน ทหารฝรั่งเศสก็เข้าต่อต้าน รบกันอยู่๔วันเห็นว่าขืนสู้ต่อไปก็แพ้ญี่ปุ่นอยู่ดี  เพราะสงครามในยุโรปนั้น ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมันอย่างยับเยินถึงกับเสียกรุงปารีสไปแล้ว  รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสจึงเลือกที่จะจงรักภักดีต่อรัฐบาลวิชีเพื่อเอาตัวรอด และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพในญวนได้  สงครามในภูมิภาคนี้จึงยุติลงแต่ยังไม่ทันสิ้นกลิ่นควันปืน กรณีพิพาทกับไทยก็คุกรุ่นข้น  กองทหารฝรั่งเศสก็ปรับกระบวนทัพใหม่เพื่อรับมือกับการบุกของกองทัพไทย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ม.ค. 12, 07:08
ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในส่วนของลาว และในส่วนของภาคพื้นทะเลและชายฝั่งอินโดจีนอื่นๆ จะขอเน้นเฉพาะจุดที่จะดำเนินเข้าสู่หัวข้อเรื่องที่จ่าหน้าไว้

เมื่อประเมินแล้ว ฝรั่งเศสให้น้ำหนักกับการป้องกันเขมรมากกว่าด้านลาว อาจจะเป็นลักษณะของภูมิประเทศด้วย การบุกทะลุทลวงของไทยน่าจะปฏิบัติในเขมรแล้วได้ผลกว่าในลาวที่เต็มไปด้วยป่าเขากว้างใหญ่ไพศาล การป้องกันชายแดนลาวที่ติดกับไทย ฝรั่งเศสจึงส่งหน่วยทหารญวนไปรบโดยมีหน่วยทหารของฝรั่งเศสไปควบคุมอีกทีหนึ่ง เป็นกองกำลังผสมที่ไม่ใหญ่โตนัก  ผมอ่าน“ข่าวทหาร”ของไทย บางเรื่องเห็นแปลกๆว่า พอปะทะกันสักพัก ทหารญวนก็ล่าถอย ทหารฝรั่งเศสก็เลยยิงทหารญวนอีกทีหนึ่ง นึกว่าคุณหลวงคนใดไม่ทราบทำสงครามจิตวิทยา นั่งเทียนเขียนขึ้นกระมัง แต่พอมาเจอเรื่องกบฎเยนไบ๋ว่าฝรั่งเศสไม่ค่อยจะไว้ใจทหารญวน ก็เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีเค้า พอจะเป็นไปได้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ม.ค. 12, 07:09
เขมรนั้น ฝรั่งเศสเชื่อว่าไทยจะต้องบุกจากอรัญประเทศ มุ่งสู่พระตะบองแน่นอน เขมรส่วนนั้นเคยเป็นของไทยมาช้านานและยังมีคนไทยเชื้อสายเขมรอยู่มาก  เวลาอ่าน“ข่าวทหาร”ว่าทหารฝรั่งเศสปล้นฆ่าราษฎรและพระสงฆ์องค์เจ้าระหว่างมารบเที่ยวนี้ หรือเอาพระพุทธรูปมาตั้งเป็นเป้าซ้อมปืน  ก็เห็นว่าพอจะเป็นไปได้เช่นกัน พวกทหารต่างด้าวนี้พอเห็นว่าถ้ารบแพ้แล้ว ดินแดนส่วนนี้ไทยจะได้ไป ก็เลยถือโอกาสปล้นสดมภ์หาอะไรติดตัวไปเป็นโบนัส ดีกว่ากลับบ้านมือเปล่า


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ม.ค. 12, 07:12
เพื่อป้องกันเขมร ฝรั่งเศสแบ่งกำลังเป็น๙ทัพ เอาทหารฝรั่งเศสแท้ๆและทหารต่างด้าว พร้อมด้วยสรรพาวุธที่ดีที่สุดไว้๒ทัพ ตั้งชื่อตามชื่อย่อของนายทหารที่เป็นผู้บัญชาการ คือกองกำลังผสมเจ(J) กองกำลังผสมเอ็น(N) นอกนั้นตั้งชื่อตามเมืองที่ไปตั้งอยู่ คือ ปากเซ (Paksé District) สตรึงเตรง (Stung Treng District)  กำปงธม (Komphong Thom District) กระลัญ (Kralanh District) และส่วนชายฝั่งด้านใต้ (Southern Coastal Sector)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 06:12
กองกำลังของฝรั่งเศสทั้ง๙ทัพดังกล่าวข้างต้น มีนายพล เดอ ฮองดิเช (General de Rendiger) ผู้บัญชาการภาคโคชินจีน-กัมพูชา(Division Cochinchine-Cambodge)  เป็นแม่ทัพ
 
ในบรรดาทหารทั้ง๙หน่วย กองกำลังผสมเจ ( Groupement J ) ซึ่งพันเอก แจโคมี่ (Commander : Colonel Jacomy) เป็นผู้บัญชาการนั้น ถือหมัดเด็ดที่ฝรั่งเศสกะจะน๊อคกองทัพบูรพา เพราะได้รวมกองพันอันมีชื่อเสียงราวกับพระเอกของกรมทหารต่างด้าวไว้ด้วย แล้วยังพรั่งพร้อมด้วยกองกำลังสนับสนุนมากมาย ผมจะขอแจกแจงเฉพาะหน่วยนี้เท่านั้น หน่วยอื่นๆจะไม่เอามารกกระทู้

กองพันทหารราบสี่กองพัน ได้แก่
กองพันที่๓ กรมทหารต่างด้าวที่๕  ผบ.พันตรี เบลโล่ก
III/5e REI (Régiment Etranger d'Infanterie - Foreign Infantry Regiment)
Commander : Major Belloc

กองพันที่๓ กรมทหารราบอาณานิคมที่๑๑  ผบ.พันตรี โฟโล
III/11e RIC (Régiment d'Infanterie Coloniale - Colonial Infantry Regiment) Commander :
Major Faulot

กองพันที่๒ กรมผสมทหารราบอาณานิคมที่๑๖  ผบ.พันตรี เฟรเมอเร
II/16e RMIC (Régiment Mixte d'Infanterie Coloniale - Colonial Infantry Regiment)
 Commander : Major Rémery

กองพันที่๔ กรมทหารราบผสมอาณานิคมที่๑๙  ผบ.พันตรี เกเลเนค
IV/19e RMIC (Régiment Mixte d'Infanterie Coloniale - Mixed Colonial Infantry Regiment)
Commander : Major Quelennec

อาวุธประจำกองพันก็มีปืนยิงเร็วประจำกายของทหาร ปืนกลเบาประจำกองร้อย และปืนครก



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 06:13
หน่วยสนับสนุนการรบ

Détachement Motorisé de Cochinchine (DMC - Cochinchina Motorised Detachment)
Commander : Captain Aguesse
หน่วยยานยนต์แห่งโคชินจีน  ผบ.หน่วย ร้อยเอกอาเกสส์ ยุทโธปกรณ์  จักรยานยนต์ รถถังแบบRenault  FT17  รถรบแบบ Laffly-White AM50


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 06:15
I/5e RAC (Régiment d'Artillerie Coloniale - Colonial Artillery Regiment)
Commander : Major Belletrude
Two 75mm Mle 1897 field gun batteries (motorised)
กองพันที่๑ กรมทหารปืนใหญ่อาณานิคมที่๕ ผบ. พันตรีเบลทรูด อาวุธปืนใหญ่สนามแบบ Mle 1897 ๗๕มม.เคลื่อนที่เร็ว ๒ กองร้อย

II/5e RAC (Régiment d'Artillerie Coloniale - Colonial Artillery Regiment)
Commander : Major Michel
Two 105mm Mle 1928 mountain gun battery,
two 75mm Mle 1928 mountain gun batteries
กองพันที่๒ กรมทหารปืนใหญ่อาณานิคมที่๕  ผบ. พันตรีมิเชล อาวุธ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ Mle 1928 ๗๕มม. ๒ กองร้อย และปืนใหญ่ภูเขาแบบ Mle 1928 ๑๐๕มม. ๒ กองร้อย

Regimental AA platoon/11e RIC
Commander : Lieutenant de Pins  20mm Oerlikon AA guns on trucks
หมู่ปืนต่อสู้อากาศยาน กรมทหารราบอาณานิคมที่๑๑  ผบ. ร้อยตรีเดอแปนส์ รถปืนกลปตอ.๒๐มม.


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 06:18
Engineer Company (2 platoons)
Commander : Cambon
กองร้อยทหารช่าง ๒หมู่ ผบ. กัมบง

ชื่อนายทหารฝรั่งเศสทั้งหมดนี้ ผมสะกดภาษาไทยจากการฟังด้วยหูไทยๆของผม ถ้าคุณโซเดี๊ยก๒๘จะฟังแหม่งๆแล้วข้ามฟากมาช่วยแก้ไข ก็จะยินดีมากครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 12, 15:01
มาปั่นเรตติ้ง
 :)
AA gun อีกรูปหนึ่ง มีคำบรรยายใต้ภาพว่าเป็นปืนต่อสู้อากาศยาน

Royal thai army AA gun ready to shoot down Vichy french aircraft during the Franco-Thai War january 1941


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 16:54
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของไทย น่าจะเอาไว้คุ้มครองเมืองต่างๆในประเทศ คงมิได้ใช้ในการบุกเขมรน่ะครับ

ทหารฝรั่งเศสทัพที่กล่าวไปแล้วนี้วางกำลังไว้ที่ปอยเป็ต เพื่อควบคุมทางหลวงที่เชื่อมจากชายแดนไทย ผ่านศรีโสภณ พระตะบอง และพนมเปญ ที่ผมเรียกว่าทางหลวงก็เรียกไปตามความสำคัญของมัน แต่ความจริงแล้วแม้สภาพปัจจุบัน ถนนนี้ก็ยังไม่ได้ลาดยางดังที่เห็นในภาพข้างล่างเพราะรัฐบาลเขมรยังไม่มีสตางค์ ดังนั้น ถนนสมัยโน้นจึงน่าจะดีกว่าทางเกวียนนิดนึง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 17:02
บนเส้นทางสายนี้ประมาณ๒๐กิโลเมตรจากปอยเป็ต เรื่องเล่าโดยพ.ท.ชาญ กิตติกูลที่คุณเจียวต้ายกำลังคัดมาลงที่พันทิปเรียกจุดนี้ว่า“โพธ์สามต้น” ฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายแบบโบราณขึ้นโดยใช้ไม้ที่โค่นจากป่ามาทำเพนียด แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ก็โดนทหารไทยเข้าโจมตีเสียก่อนดังที่ผมกล่าวไปแล้ว
 
ผมเข้าใจว่าทหารฝรั่งเศสในค่ายนี้ถอนมาจากที่ตั้งค่ายชั่วคราวอยู่ที่บ้านยาง และบ้านพร้าว   เหตุที่ได้ไปตั้งอยู่ที่นั่นเพราะเป็นช่องทางยุทธศาสตร์ ใกล้กับช่องโนนหมากมุ่นของไทย ตอนเขมรแตกในสมัยที่เวียตนามส่งทัพมาตีเขมรแดง ราษฎรเขมรก็หนีตายอพยพมาอาศัยแผ่นดินไทยโดยข้ามพรมแดนผ่านช่องโนนหมากมุ่นนี่แหละ ทหารเวียตนามที่ตามตีเข้ามาเกิดปะทะกับทหารไทยก่อนถูกขับไล่ออกไป  ยังปรากฏเป็นยุทธการโนนหมากมุ่นมีชื่อเสียงอยู่  ดังนั้นบ้านยางและบ้านพร้าวทางฝั่งเขมรตรงกันข้ามจึงมีความสำคัญที่ฝรั่งเศสทราบดีจึงไปตั้งค่ายทหารไว้  เมื่อไทยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจากสนามบินที่วัฒนานคร ไปโจมตีขบวนยานยนต์ทหารฝรั่งเศสที่กำลังถอยจากปอยเป็ต นักบินบันทึกรายงานว่า ได้โจมตีที่ตั้งปืนใหญ่ และค่ายทหารที่สวายจิกด้วย

ผมดูแผนที่แล้ว คำว่าค่ายที่สวายจิกดังกล่าวน่าจะเป็นค่ายที่บ้านยางและบ้านพร้าวนี่เอง และนั่นคงเป็นเหตุผลให้ทหารฝรั่งเศสทิ้งค่าย แต่ไม่วายวางกลไว้ด้วยการติดเป้าเล็งปืนใหญ่ไว้ กะว่าถ้าทหารไทยเข้ามายึดเมื่อไหร่จะได้ถล่มให้พินาศ โชคดี พันตรีขุมนิมฯท่านขยันและรอบคอบ จึงสามารถตรวจพบเป้าดังกล่าวได้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 17:17
พอเสียค่ายโพธิ์สามต้น(เขมร) ฝรั่งเศสก็ไปรวมพลที่ศรีโสภณเพื่อปรับทัพ ทั้งสองฝ่ายพักฟื้นกำลังพลสองสามวันฝรั่งเศสก็พร้อมที่จะบุกตอบโต้ทหารไทยเอาคืนจากที่แพ้กราวรูดบ้าง ฝ่ายเสธฯประชุมกันแล้วก็เลือกเป้าให้โจมตีที่บ้านยางและบ้านพร้าวหลังจากสายรายงานว่าทหารไทยเข้าไปยึดครองพื้นที่ในค่ายแล้วตามแผน  หากชนะที่นั่นได้ ฝรั่งเศสก็จะบุกต่อเข้าไทย ผ่านช่องเนินหมากมุ่นเข้าโจมตีอรัญประเทศเลย

กองกำลังผสมเจ ภายใต้การบัญชาการของพันเอกแจโคมี่  ออกคำสั่งให้แบ่งกำลังออกเป็นสองกลุ่ม(Subgroup) กลุ่มเซ ให้พันเอกแคดูดัล(Colonel Cadoudal)เป็นผู้บังคับการ ภารกิจคือโจมตีบ้านยาง (Yeang Dang Khum) กองพันหลักที่จะเข้าตีคือทหารราบอาณานิคม  II/16 RMIC และ  IV/19 RMIC ซึ่งนักการทหารของฝรั่งเศสเองประเมินว่าเป็นกองทหารที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ขวัญกำลังใจต่ำ(เพราะอาจจะเพิ่งรอดตายจากกระสุนของไทยมาหยกๆ)

กองร้อย III/11 RICซึ่งมีปืนกลหนักติดตั้งบนรถ ได้รับคำสั่งให้เข้าไปตั้งระหว่างทิศใต้ของบ้านยางและทิศเหนือของบ้านพร้าว หน่วยปืนใหญ่ และรถรบให้พร้อมอยู่ในที่ตั้ง รอฟังคำสั่ง ส่วนตัวพันเอกแจโคมี่เอง รับบทสำคัญโดยจะนำกองพันทหารต่างด้าวที่ดีที่สุดคือ III/5 REI เข้าตีบ้านพร้าวทางด้านตะวันออก กะจะเป็นพระเอกในศึกแก้แค้นทหารไทยครั้งนี้

ตกกลางคืนของวันที่๑๕มกราคม หลังทหารอิ่มท้องกับอาหารเย็นแล้ว พันเอกแจโคมี่ก็สั่งเคลื่อนทัพ ล่วงเข้าวันที่๑๖ ประมาณตีสาม เสียงเครื่องยนต์ของรถทหารฝรั่งเศสก็แว่วเข้าหูทหารไทยที่นอนรออยู่ในลำห้วยแห้ง ปลุกประสาททุกส่วนให้ตื่นตัวขึ้นทันที


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ม.ค. 12, 20:41
กำลังตื่นเต้นเลยครับ   นักเรียนขยับตัวรออ่านต่อไปกันเป็นแถวๆ แล้ว ที่ง่วงหาวเศร้าซึม ตอนนี้ตื่นตัวหมด กำลังรอลุ้นว่าฝรั่งเศสจะโดนซุ่มโ๖มตีแบบไหน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 12, 23:41
ใจเย็นๆนะครับคุณประกอบ

ทหารไทยน่ะพร้อมที่จะลงมือแล้ว แต่ผมสิ....ยังไม่พร้อม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 08:09
ว่าที่ร้อยตรีถนอม โพธ์ทองนาค ผบ.หมวดในกองร้อยที่๒ เขียนเล่าเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสเคลื่อนพลเข้ามาโจมตีในคืนนั้นว่า
“ขบวนรถบรรทุกทหารเข้ามาจอดห่างจากที่พวกเราซุ่มอยู่ประมาณสักห้าร้อยเมตรเห็นจะได้ คืนนั้นก็มืดมากจนเราแทบจะไม่เห็นพวกมัน พวกทหารถูกขนมาด้วยรถพ่วง พอรถจอดสนิทก็โดดลงมาเข้าแถวรอคำสั่ง”

ประมาณตีสี่ กองลาดตระเวนส่วนหน้าของฝรั่งเศสก็เคลื่อนที่เข้ามาตามถนน และเดินข้ามสะพานที่ว่าที่ร้อยตรีพร ธนะภูมิและทหารในหมวดซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ ทุกคนแทบจะไม่กล้าหายใจกลัวว่าพวกฝรั่งเศสจะได้ยิน
 
“พวกมันข้ามสะพานไปได้สักพักก็หยุด แล้วเจ้าคนนำหน้าก็หันหลังพาพวกมันเดินข้ามสะพานกลับไป….ไหนนะ..ไม่มี ไม่มีหมา”

คือผมอ่านสำนวนที่ฝรั่งเศสเขียนรายงานว่า กองลาดตระเวนของฝรั่งเศสพาหมามาด้วยสองตัว ความจริงเข้ามาใกล้จุดที่ทหารของท่านขุนนิมฯซุ่มตัวอยู่แค่ไม่ถึงยี่สิบเมตร หมาก็วิ่งไปทำจมูกฟุตฟิตอยู่ใกล้ๆกับทหารไทย “แต่หมาพันธุ์พื้นเมืองทั้งคู่ก็ล้มเหลวที่จะเห่า(Failed to bark)หรือแสดงอาการผิดปกติ”  ฟังสำนวนคล้ายจะบอกว่าหมาพื้นเมือง(หน้าตาดังภาพข้างล่าง)ไม่ฉลาด(เท่าหมาฝรั่ง) แต่ครั้นถามท่านเสธฯพร ท่านยืนยันว่าไม่มีหมา คืนนั้นพวกทหารฝรั่งเศสเดินข้ามหัวท่านไปท่านมองลอดช่องใต้สะพานขึ้นมาเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง

เรื่องนี้ผมเชื่อท่านพร ก็ฝรั่งเศสมันมากลางดึกเพราะหวังจะโจมตีไม่ให้ฝ่ายไทยรู้ตัว ขืนเอาหมาขแมร์มาด้วย เกิดมันเห็นใบตองแห้งแล้วเห่าโบ๊งเบ๊งขึ้นมา ทหารไทยได้ยินเข้าก็คงจะเสียการใหญ่ไปเลย เออนะ..ถ้ามันบอกว่ามันจูงอัลเซเชี่ยนเข้ามาอย่างในรูปก็จะพอยอมเชื่อหรอก  หมาเขมรมันก็เหมาะกับหน่วยลาดตระเวนของเขมรเท่านั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 08:44
หัวหน้ากองลาดตระเวนคงไปรายงานให้นายทราบว่าทุกอย่างเป็นปกติดี ทหารไทยคงหลับปุ๋ยอยู่ในค่าย  ดังนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมาพันตรี เบลโล่ก ก็สั่งการให้ทหารกองพันที่๓ กรมทหารต่างด้าวที่๕  เคลื่อนพลเข้าโจมตีบ้านพร้าวตามแผนร่วมที่กระทำพร้อมกองผสมเซที่จะเข้าตีบ้านยาง(ผมอยากจะเขียนว่าซีจริงๆ เพราะคำว่าเซมันเหมือนทหารกองนี้เพิ่งจะเมาแปร๋ออกจากโอเกะ  แต่เดี๋ยวกูรูภาษาฝรั่งเศสจะประท้วงว่าผมปล่อยไก่ ก็เลย เอ้า..เซก็เซ)

คงจะเป็นความประมาทด้วย ก็รู้ดีเกินไปว่ายังต้องเดินอีกตั้ง๔กิโลเมตรจึงจะถึงที่ตั้งค่าย นี่ยังมืดอยู่มีเวลาอีกเยอะแยะ นายคงจะสั่งโจมตีตอนฟ้าแจ้ง ให้เห็นตัวกันก่อนจะได้ไม่ยิงกันเองอยู่แล้ว ทั้งหมดจึงเดินแถวกันมาอย่างสบายๆ พูดคุยกันไปด้วยแถมบางคนสูบบุหรี่ นายก็ไม่ว่า อารมณ์คล้ายๆกำลังออกไปซ้อมรบกันดังในภาพ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 10:52
ทหารไทยมองเห็นเงาตะคุ่มๆของกองระวังหน้าฝรั่งเศสเดินล่วงพ้นแนวรับของทหารไทยเข้ามา นิ้วของทุกคนก็แตะไกปืนโดยอัตโนมัต เสียงปืนที่ดังเปาะแปะมาจากทิศเหนือ บ่งบอกว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่บ้านยางแล้ว แต่ด้วยวินัยที่ดีเยี่ยม ไม่มีใครปอดลอยเผลอทำปืนลั่นโป้งป้างให้ข้าศึกรู้ตัว จนในที่สุดแถวตอนเรียงสามของฝรั่งเศสก็เข้ามาอยู่กลางกระหนาบของฝ่ายตั้งรับที่ซุ่มกำลังอยู่ในคูน้ำแห้ง 
แม้จะอยู่กลางพื้นที่สังหารแล้วทหารฝรั่งเศสยังหารู้ตัวไม่ จนกองระวังหน้าเดินเข้าไปเกือบจะถึงรังปืนกลหนักที่ถูกจัดให้ต้อนรับขับสู้ เห็นว่าจะให้ใกล้กว่านี้อีกไม่ได้แล้ว ปืนกลหนักกระบอกแรกของร้อยตรียง ณ นครก็ลั่นไกปล่อยกระสุนตับแรกออกไป เป็นสัญญาณให้ปืนทุกกระบอกของทหารไทยส่งเสียงกึกก้องไปทั่วสมรภูมิ

ท่านเสธฯพรเล่าว่า เสียงปืนที่ดังหูดับตับไหม้ในเวลากลางคืนมันช่างน่ากลัวเสียจริงๆ กระสุนที่แหวกอากาศมันดังเควี้ยวคว้าวเข้ามาใกล้ๆ ท่านต้องปลุกใจตนเองเรียกพ่อท่านดังๆว่าพ่อๆอย่าไปไหน อยู่กับผมที่นี่ ที่คูนี่ มือก็ยิงไปตามแผน ผู้บังคับบัญชากำหนดให้หมวดที่ท่านคุมอยู่ยิงไปทางซ้าย ท่านก็ยิงไปยังเป้าหมายเฉพาะทางซ้าย ไม่วอกแวกไปยิงทางอื่น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 11:45
พอถูกระดมยิงพวกทหารต่างด้าวที่บาดเจ็บสาหัสล้มตายก็กองอยู่กับที่ พวกที่เหลือก็วิ่งหนีตายอย่างสุดกำลัง โหวกเหวกอลหม่านไปทั่ว จับความได้แต่เสียงที่ตะโกนว่า “ศรีโสภณ ศรีโสภณ” ทหารไทยก็วิ่งขึ้นจากที่มั่นไล่ติดตามตี แต่ก็ไม่กล้าไปเร็วนักเพราะยังไม่สว่างดี ไม่รู้ว่าจะมีของแข็งอะไรเป็นกับดักอยู่ข้างหน้า
 
หน่วยของเสธฯพรตามเจอนายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งขี่ม้าสะเปะสะปะอยู่ก็เข้าล้อม  ท่านสั่งหยุดแล้วให้ลงจากหลังม้าเดี๋ยวนี้เป็นภาษาอังกฤษ นายทหารคนนั้นก็ยอมเชื่อฟังแต่โดยดีไม่คิดต่อสู้ พอลงมาจึงเห็นว่าบาดเจ็บถูกยิงที่สีข้าง ท่านก็ให้ทหารคุมตัวไป ส่วนม้าที่จับได้ผูกอานหนังสวยมาก ท่านถอดเก็บไว้ แต่ต่อมานายทหารระดับบิ๊กเห็นเข้าก็ขอไป ท่านพยายามนึกชื่อจะบอกผมแต่นึกไม่ออก “ใครน๊า ที่คุมรถไฟอยู่ด้วยน่ะ..ดูสิ จำไม่ได้เสียแล้ว เขาเล่นม้าแข่งอยู่ด้วย เห็นอานฝรั่งเศสทำอย่างดีก็เลยขอเอาไป”

ผมกลับมาใช้อินทรเนตรส่องดู บัดเดี๋ยวเดียวก็ได้ชื่อ ท่านผู้อ่านอยากทราบไหมครับว่าเป็นท่านใด ถ้าอยากทราบก็ลองทำอย่างผม ไม่ยากที่จะได้คำตอบ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 13:35
เหตุการณ์ตอนที่ทหารไทยยึดธงไชยเฉลิมพลของกองพันทหารต่างด้าว III/5e REI ของฝรั่งเศสพร้อมเหรียญกล้าหาญครัวซ์ เดอ แกร์ (Croix de guerre) ก็อยู่ในช่วงนี้
 
เมื่อเห็นเพื่อนล้มตายและถูกทหารไทยตามยิงไปติดๆ ทหารต่างด้าวอันลือชื่อก็ถอดใจ ทิ้งอาวุธหนีเอาตัวรอด ที่ยังถืออยู่ในมือพอเห็นทหารไทยเข้าก็โยนปืนทิ้งหันหลังแจวอ้าว เสธฯพรท่านบอกว่า เราก็ไม่ได้ยิงตาม คงปล่อยให้มันวิ่งหนีและไม่ได้คิดจะวิ่งตามไปจับเป็นเชลยด้วย นอกจากพวกที่ยอมมอบตัว
 
เหตุการณ์ตอนที่ยึดได้ธงไชยเฉลิมพลของฝรั่งเศสมาท่านก็อยู่ ณ ตรงที่เกิดเหตุด้วย พอตามไล่พ้นแนวไม้มาก็ประจัญกับทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง พอเห็นเราเข้าเท่านั้นก็ตกใจทิ้งปืนชูมือหรา มีคนหนึ่งยังถือถุงยาวๆอยู่ทหารไทยก็เข้าไปกระชากมา เขาก็ยอมปล่อยมือโดยดี ทหารไทยได้มาแล้วก็โบกมือไล่ให้วิ่งหนีไปทั้งหมด พอดึงออกมาจากถุงจึงรู้ว่าเป็นธงไชยเฉลิมพล
 
“ปกติไม่มีใครเขาเอาธงไชยเฉลิมพลมาออกรบ เพราะปะเหมาะเคราะห์ร้ายถูกข้าศึกยึดไป มันก็จะเสียหายถึงเกียรติภูมิของชาติไปด้วย แต่นี่พวกฝรั่งเศสเห็นว่าคงจะชนะแน่ถึงพาธงไชยเฉลิมพลมาด้วย คงกะจะเอาไว้ฉลองชัยชนะ”

ที่เขียนกันว่าธงดังกล่าวนี้ ทหารไทยพบว่าตกอยู่หน้าแนวรบประมาณยี่สิบเมตร ผู้ถือธงคงจะเสียชีวิตไปแล้ว และทหารฝรั่งเศสมีการพยายามแก้สถานการณ์เพื่อช่วงชิงธงนี้กลับคืนไปให้ได้นั้น ท่านบอกว่า “ไม่จริงหรอกครับ เรากระชากมาจากมือมันเลย ตอนนั้นพวกมันไม่คิดจะสู้แล้ว คิดแต่จะหนีอย่างเดียว”
พอทหารไทยเอาธงนี้ไปให้พวกเชลยที่จับมาได้ดู พวกนั้นเห็นเข้าถึงกับออกอาการเซ็ง บางคนถึงกับร้องไห้สงสารเพื่อนที่มาตายหมู่ครั้งนี้

ธงที่ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดและท่านแม่ทัพกองทัพบูรพากำลังยืนชื่นชมอยู่ และรัฐบาลไทยเอารูปออกประจานฝรั่งเศสไปทั่วโลกนั้น เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละประมาณ ๙๐ เซนติเมตร พื้นสีเทาอ่อน มีขลิบโดยรอบ ด้านหนึ่ง มีรูปหน้าเสือ อีกด้านหนึ่งเป็นอักษร บอกนามหน่วย มีเหรียญครัวซ์ เดอ แกร์ กับเหรียญตรามังกร และเหรียญอื่น ประดับอยู่ที่ยอดเสาธง รวม ๓ เหรียญ
เสธฯพรท่านบอกว่า ธงอยู่ในถุง ไม่มีเสา เหรียญอะไรที่ว่าก็ไม่เคยเห็น ท่านก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าในรูปนั้น เขาเอามาจากไหน

อย่างไรก็ตาม จะจริงไม่จริงประการใดฝรั่งเศสก็คงไม่กล้าโวยว่าเราจัดฉากแต้มสีใส่ไข่ซะมากเกิน แค่นี้ก็อายจะแย่ขืนเถียงไม่จบจะยิ่งเหอวะหวะ นักประวัติศาสตร์สงครามของฝรั่งเศสไม่มีใครยอมเขียนเรื่องการที่ฝ่ายเราได้ธงไชยเฉลิมพลของเขามานี้เลย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ซะเฉยๆ

หลังสงครามโลกยุติแล้ว ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะ ไทยกำลังถูกจัดว่าเป็นฝ่ายแพ้ ฝรั่งเศสก็ขอเจรจาขอให้ไทยคืนธงดังกล่าวให้เพื่อแสดงความเป็นมิตร จะได้เลิกเป็นศัตรูกันเสียที เราก็คืนให้ไปด้วยความเข้าใจเป็นอันดีถึงหัวอกทหารของเขา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 18:05
นับตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกระเบิดจนเงียบสงบลงในยกแรกนับเวลาแล้วไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่การรบวันนั้นยังไม่ยุติ
เหตุการณ์ทางบ้านยางที่เสียงปืนดังขึ้นก่อนหน้านั้น พันตรีวุฒิ วีระบุตรผู้บังคับบัญชากองทัพทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ในที่มั่น คิดว่าเป็นแค่กลลวงของฝรั่งเศสว่าจะเข้าตีแต่ความจริงแล้วจะตีบ้านพร้าว เพราะยังยิงกันแค่เปาะแปะ พอได้ยินเสียงปืนดังขึ้นปานโลกาพินาศทางทิศใต้ เสียงปืนของฝ่ายบุกก็เงียบไป  ทหารไทยที่บ้านยางรอแล้วรออีกไม่เห็นมีใครบุกเข้าโจมตีจริงๆ  ก็จะบุกอะไรได้เล่า กองกำลังผสมเซ ชื่อมันก็ไม่เป็นมงคลอยู่แล้ว บรรดาทหารพื้นเมืองญวนเขมรพอได้ยินเสียงปืนของไทยหนักแน่นเขย่าประสาทเข้าเท่านั้น ก็รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง รู้กลางๆว่าเผ่นดีกว่า นายทหารฝรั่งเศสเห็นลูกน้องวิ่งก็วิ่งตามบ้าง ในที่สุดก็ตะโกน ซีโส่โพ้น  ซีโส่โพ้น ให้ไปเจอกันที่ศรีโสภณเลย

ทหารราบน่ะวิ่งป่าราบไปหมดแล้ว เหลือแต่ทหารปืนใหญ่กับทหารรถถัง ทหารปืนใหญ่ได้รับคำสั่งจากผู้การเบลโล่คให้ยิงได้(แล้วโว้ย)ก็ยิงสุ่มไป พอให้มีเสียงเข้าไว้ แต่ไม่เข้าเป้า ยิงถูกเหมือนกันแหละแต่ถูกต้นไม้ในป่า เสธฯพรแม้ในพ.ศ.นี้ท่านยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฝรั่งเศสมีการยิงปืนใหญ่มาด้วย ท่านบอกว่า ไม่มี้-ไม่มี มีแต่ปืนใหญ่ไทยที่ยิงขับไล่ทหารฝรั่งเศสไป กระสุนตกห่างๆแนวหน้าของไทยไปเยอะ

เอกสารฝรั่งเศสเองยอมรับว่าการยิงปืนใหญ่ของฝรั่งเศสสะเปะสะปะ แต่กองร้อยปืนใหญ่ของไทย ภายใต้การบังคับบัญชาของร้อยตรีรักพงษ์ มานิตย์ได้ยิงถล่มจุดที่ตั้งหน่วยDMC ของร้อยเอกอาเกสส์ โดนรถถังและรถรบพังไป๓คัน

ตอนสาย รถถังแบบ ๗๖( Vickers 6ton)ของไทยสองคัน ควบคุมโดยร้อยเอกสนิท หงส์ประสงค์ ผู้บังคับกองร้อยเป็นผบ.นำมาเอง อีกคันหนึ่งสิบโทคนึงเป็นผบ. ก็ควบตะบึงจากปอยเป็ตเข้ามาในสมรภูมิเจอหมู่ปืนเล็กของร้อยตรีไพฑูรย์ ขจรพานิชที่ซุ่มอยู่ในป่าเข้า นึกว่าเป็นทหารพื้นเมืองของฝรั่งเศสเลยยิงทักทายไปชุดหนึ่ง ดีแต่ว่าทหารไทยจำรถถังฝ่ายเดียวกันได้แล้วส่งสัญญาณให้ทราบ โศกนาฎกรรมจึงไม่เกิดขึ้นเหมือนเรื่องในทะเล


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 18:44
รถถังสองคันนี้ได้ปะทะกับข้าศึกสมใจ กองทหารต่างด้าวหมวดหนึ่งที่ยังไม่ได้หนีโดยสิ้นเชิง และกำลังอยู่ระหว่างพยายามสนธิกำลังเข้าตีโต้ทหารไทยบ้าง แต่เคราะห์ร้ายที่เจอกับไอ้แอ็ดไทยเข้า  ร้อยตรี กีย์ เดอ โคร เปโฮนาล (Lieutenant Guy de Cros-Peronard)ผู้บังคับหมวดโดนรถถังคันไหนไม่ทราบยิงเสียชีวิตในที่รบ ทหารฝรั่งเศสที่เหลือก็ต้องอาราธนาหลวงพ่อโกยให้ช่วยให้วิ่งเร็วที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
 
ภาพข้างล่างเขียนโดยจิตรกร หลุยส์  โฆเละ (Louis Rollet) เป็นเหตุการณ์ที่ร้อยตรี กีย์ เดอ โคร เปโฮนาลโดนสะเก็ดระเบิดจากกระสุนสังหารของรถถังไทย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 22:17
เอกสารที่ผมแปลมาบอกต่อว่า พอถึงตอนนี้ฝรั่งเศสก็เคลื่อนปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด๒๕มม.มายิงกับรถถังไทย หลังจากนั้นพอจับทางได้ ก็ระดมยิงปืนใหญ่สนามขนาด๗๕มม.มาที่รถถังด้วย  ร้อยตรีไพฑูรย์จึงได้รับคำสั่งให้นำหมวดปืนเล็กยาวไปสนับสนุนรถถัง “เราตามไปสัก๒๐๐เมตรก็พบว่ารถถังคันหนึ่งติดอยู่ในคู เครื่องยังไม่ดับ พวกเราก็ช่วยกันใช้พลั่วสนามขุดแต่งตลิ่งให้ลาดเพื่อให้รถถังถอยหลังขึ้นมาได้ ตลอดเวลาที่ปฏิบัติการอยู่นี้ รถถังอีกคันหนึ่งก็ช่วยยิงคุ้มครอง ส่งกระสุนไปที่ข้าศึกตลอดเวลา”

ผมไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าว ไทยเป็นผู้เขียนหรือฝรั่งเศสเขียน แล้วมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษอีกที แต่ยังงงอยู่ว่าถ้ารถถังดวลกับปืนใหญ่ ทหารราบถือปืนเล็กยาวจะไปคุ้มครองอะไรได้อย่างไร

เสธ.พรท่านพูดเรื่องนี้ไปอีกแนวนึงเลย ท่านว่าตอนที่รถถังมานั้นก็สายมากแล้ว ทหารราบกองพัน๓กำลังตรวจตราพื้นที่ที่ปะทะ  ร้อยเอกที่เป็นผู้บังคับกองร้อยนำมาคันเดียว วิ่งตะบึงลงไปในคูทั้งๆที่มีสะพานอยู่ก็ไม่ข้าม คงคิดว่าจะปีนขึ้นได้ แต่พอหัวทิ่มลงไป ตีนตะขาบก็ลอยไม่ติดดิน จะเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องทิ้งไว้อย่างนั้น ตอนบ่ายจึงเอารถลากมาผูกสลิงแล้วดึงขึ้นมา ผมร้องว่าอ้าว แล้วที่บอกว่าทหารราบไปช่วยขุดตลิ่งให้ถอยขึ้นมา และมีรถถังอีกคันช่วยคุ้มกันละครับ
ท่านบอกนิ่มๆว่า ไม่เห็นมี – ไม่มี

รูปประกอบไม่ใช่เหตุการณ์จริงนะครับ เอามาลงพอให้เกิดภาพพจน์


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 22:20
พอเขียนถึงภาพประกอบ เลยนึกถึงคุณประกอบ

คุณประกอบยังอยู่มั้ยคร้าบ ไปหลบกระสุนลูกหลงอยู่ที่ไหนหรือปล่าว ว  ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ม.ค. 12, 23:02
เงียบไปกันหมดเลยน๊า


เรื่องรถถังไทยนี้ มีหลายสำนวน นี่เป็นสำนวนของพ.สมานคุรุกรรม เขียนไว้นานแล้ว ลองอ่านดูครับ

เวลาประมาณ ๑๒๐๐ ฝ่ายฝรั่งเศสส่งรถถัง จำนวน ๕ คัน มาสนับสนุนการเข้าตีของทหารราบ และยิงลูกระเบิดใส่ฝ่ายเรา ฝ่ายเราส่งรถถัง แบบ ๗๖ จำนวน ๒ คัน ไปเมื่อเวลา ประมาณ ๑๔๐๐ รถถังสองคันนี้มาจากกรมรถรบ พ.ต.สนิท หงส์ประสงค์ ผู้บังคับกองร้อย นำมาเอง ได้บุกเข้าปฏิบัติการในแนวข้าศึกอย่าง รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด โดยไม่มีทหารราบติดตามไป ใช้เพียงการยิง และการเคลื่อนที่ของรถถัง แต่ก็ทำให้ทหารข้าศึกเสียขวัญแตกกระเจิงไป
และเมื่อเวลาประมาณ ๑๗๐๐ ทหารฝ่ายฝรั่งเศสก็ถอยออกไปหมด การรบก็ยุติ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: babyblue ที่ 01 ก.พ. 12, 02:31
อ่านแล้วสนุกมากๆค่ะ จากมุงเฉยๆ ต้องรีบสมัครเข้ามาให้กำลังใจค่ะ ;D


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ก.พ. 12, 03:18
พอเขียนถึงภาพประกอบ เลยนึกถึงคุณประกอบ

คุณประกอบยังอยู่มั้ยคร้าบ ไปหลบกระสุนลูกหลงอยู่ที่ไหนหรือปล่าว ว  ว

อยู่คร๊าบๆๆๆๆ   วันนึงเข้ามาเช็ค 3-4 รอบเป็นอย่างน้อยครับ ไม่หนีไปไหนง่ายๆ แน่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 06:28
ขอบคุณท่านผู้สนับสนุนรายการที่ให้กำลังใจมานะครับ
ถ้าปราศจากผู้สนใจแล้ว ผมก็ไม่รู้จะไปค้นคว้ามาเขียนทำไม

นึกว่าคนสมัยนี้เขาจะไม่สนใจประวัติศาสตร์กันไปหมดแล้ว หรือเขาเบื่อเรื่องรบราฆ่าฟัน เรื่องอาวุธและสงครามก็ไม่รู้
ขอพักรำพึงรำพันกับตัวเองสักยกนึง

เดี๋ยวจะกลับมาต่อตอนหลังจากควันปืนจางครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 11:46
มีอีกข้อความทำนองเดียวกันปรากฎอยู่ในกระแสอินเทอเนตว่า  มีรถถังของเรา๓คันพังไปจากการรบครั้งนี้ ลองอ่านดูเล่นๆนะครับ

ตอนแรกฝรั่งเศสยังไม่มีปืนต่อสู้รถถัง แต่พอรบลึกๆเข้าไปก็เจอปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง 25มม. ทำให้รถถังวิกเกอร์เราพังไป 3คัน(รวมที่โดนปืน 75มม.ด้วย) การตั้งรับฝรั่งเศสขุดสนามเพลาะไว้แต่ก็ต้านกองทัพไทยไม่ได้

และ

Vickers Mk. E (6ตัน)ที่หลายประเทศเลือกใช้…..เราใช้ในสงครามอินโดจีนยิงรถถังฝรั่งเศส
เรอโนลรุ่นติดปืน20ม.มคันเมื่อกี้พัง แต่ก็โดนปืนต่อสู้รถถังฝรั่งเศส25มม.2กระบอก และปืนใหญ่75มม.1กระบอก(ดั๊นเอามายิงรถถัง) ยิงพังไป3คัน

ข้างบนนี้คนไทยคงเอามาจากข้อมูลชั้นต้นที่ฝรั่งเศสเขียนขึ้น  ผมถอดความได้ดังนี้ครับ

กองกำลังของ พ.อ.แจโคมี่ พร้อมกับ RC 1 เริ่มการโจมตีที่บ้านยาง กองกำลังจู่โจมประกอบด้วยหนึ่งกองพันทหารราบต่างด้าว(ยุโรป) และสองกองพันของ'ทหารราบผสม'(ยุโรปและอินโดจีน) ป่าที่รกทึบทำให้ลำบากในการหวังผลจากปืนใหญ่ เครื่องบินฝรั่งเศสนั้นเคยปรากฎโฉม ปล่อยให้ท้องฟ้าเป็นของกองทัพอากาศไทย และการสื่อสารทางวิทยุก็ย่ำแย่ ต้องส่งคำสั่งภาษาฝรั่งเศสโดยใช้รหัสมอร์ส  จึงอาจจะอธิบายได้ว่าทำไมคนไทยมักจะทราบความเคลื่อนไหวของทหารฝ่ายเราเสมอ พวกเขาปราชัยอย่างสมบูรณ์แบบต่อผู้ตั้งรับเมื่อคนไทยจู่โจมกองพันของกรมทหารต่างด้าวที่ห้าในบ้านพร้าว  และถูกตามตีอย่างหนักจากรถถังของคนไทย แต่พอนำปืน 25mm สองกระบอกและปืนใหญ่ 75mmอีกกระบอกหนึ่งมายิงต่อสู้ และได้รถรบของกรมทหารราบอาณานิคมที่ 11 เสริมแนวรับ ทำให้รถถังไทยสามคันถูกทำลาย ส่วนพวกที่เหลือตัดสินใจที่จะล่าถอย

ผมไม่ทราบว่าฝรั่งเศสเอาเรื่องยิงรถถังของไทยสามคันพังมาจากไหน เพราะกองร้อยรถถังของเราที่ปอยเป็ตมีรถไอ้แอ็ดอยู่แค่สองคัน
ส่วนข้อมูลที่เป็นทางการของไทยที่ฝรั่งชาติอื่นนำไปแปลไว้ คือกำลังฝ่ายไทย มีรถไอ้แอ็ดประจำการอยู่เพียงสองคันเช่นกัน



Thai

1st Guards Infantry Battalion Regular
- HQ (Maj. Wutthi Wirabut + 5 fig)
- 1st Inf. Coy (8 fig.)
- 2nd Inf. Coy (8 fig.)
- 3rd Inf. Coy (8 fig.)
- Support Coy (8 fig + 47mm/81mm Infantry Gun, 81mm mortar, 2 MMG)

3rd Infantry Battalion Regular
- HQ (Maj. Nim Chayodom + 5 fig)
- 1st Inf. Coy (8 fig.)
- 2nd Inf. Coy (8 fig.)
- 3rd Inf. Coy (8 fig.)
- Support Coy (8 fig + 47mm/81mm Infantry Gun, 81mm mortar, 2 MMG)

TURN 6
Medium Tank Squadron (Capt. Sanit) Regular
- 2 Vickers E Mk B Tanks


TURN 10+ (optional)
9th Infantry Battalion Regular
- HQ (Maj. Khun Saritratchayothin + 5 fig)
- 1st Inf. Coy (8 fig.)
- 2nd Inf. Coy (8 fig.)
- 3rd Inf. Coy (8 fig.)
- Support Coy (8 fig + 50mm Krupp Mountain Gun, 81mm mortar, 2 MMG

ถ้าจะให้ผมเดาให้เนียนหน่อย รถถังทั้งคู่อาจจะวิ่งจากปอยเป็ตมาเจอหน่วยของร้อยตรี กีย์ เดอ โคร เปโฮนาลเข้า หลังจากทำลายแล้วจึงแยกทางกันบุก คันหนึ่งก็ไปทาง อีกคันหนึ่งผบ.กองร้อยวิ่งมาทางบ้านพร้าวแล้วไปตกคูน้ำแห้งดังที่เสธ.พรท่านเห็น  ส่วนคันที่ท่านไม่เห็นอาจจะวิ่งไปชนลูกปืนใหญ่ของฝรั่งเศสก็ได้ แต่มีคนเห็น๓คน ฝรั่งจึงนับว่ามีรถถังไทย๓คันถูกทำลาย

รูปที่เอามาลงข้างล่างไม่ใช่เหตุการณ์วันนั้นนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 13:27
Body Count
สงครามจบ ก็ต้องนับศพทหาร


หลังจากเอาเลือดทหารต่างด้าวฝรั่งเศสละเลงแผ่นดินเขมร(ที่ตอนนั้นเราอ้างว่าเป็นแผ่นดินของเรา)แล้ว  ถึงคราวที่จะต้องรายงานผลงาน

พอกระสุนนัดแรกของปืนกลหนักระเบิด ทหารฝรั่งเศสก็วิ่งแข่งกันหนีหายไปในความมืดกันหมด คงไม่มีใครยืนท้าทายกระสุนอยู่นิ่งๆแม้วินาทีเดียว  จริงๆแล้วแผล็บเดียวบนลานสังหารก็ไม่เหลือเป้าให้ยิงอีก ทหารไทยต้องวิ่งตามไปยิงขับไล่จนฟ้าสว่างจึงได้กลับมานับศพ ส่วนรถถังสองคันที่มาตอนสายก็คงจบภาระกิจก่อนเที่ยง เวลาที่เหลือเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสใช้ในการลำเลียงศพเพื่อนที่ลากมาได้และผู้บาดเจ็บใส่รถ สำหรับคนที่เดินได้ก็เดินกลับไปศรีโสภณ เป็นอันว่าจบวันมหาวินาศอันยาวนานเพียงแค่นั้น

ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิต และศพทหารที่นับได้บนลานสังหารมีผู้เขียนไว้หลากหลาย เชิญอ่านดูเองครับ
.
.
.
ด้วยยุทธวิธีของกองพันที่ 3 ในบังคับบัญชาของ พันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ ในครั้งนี้ฝ่ายเราสามารถบดขยี้ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตไปประมาณ 400 นาย และถูกจับเป็นเชลยอีกจำนวนมาก ตัวผู้บังคับกองพันของทหารต่างชาติเสียชีวิตในที่รบ นอกจากนี้ยังสามารถยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึก ซึ่งประดับเหรียญกล้าหาญครัวเตอร์แกไว้ได้ กองทหารเขมรและทหารญวนที่ติดตามมาอีก 2 กองพัน ได้แตกกระจัดกระจายไป นับว่ากองทหารต่างชาติซึ่งผ่านการรบที่โชกโชนแล้ว ต้องพินาศย่อยยับเกือบหมดทั้งกองพัน สำหรับฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ 1 นาย คือ พลทหาร จอน ปรีพงศ์ และได้รับบาดเจ็บอีก 2 นาย
.
.
.
รุ่งขึ้น ในวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๐๕๐๐ น. กองพันทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาหน้าแนวห้วยยางในพื้นที่สังหาร ทหารไทยจึงได้ยิงด้วยอาวุธทุกชนิดอย่างหนักทำให้ข้าศึกเสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณ ๒๐๐ คน ผู้บังคับหน่วยของข้าศึกตายในที่รบ และจับเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีทหารฝรั่งเศส ๕ นาย และสามารถยึดธงชัยเฉลิมพล ซึ่งประดับเหรียญกล้าหาญ ครัวซ์ เดอ แกร์ ของฝรั่งเศสได้
.
.
.
เมื่อถึงเวลา ๐๕.๐๐ น.กองพันที่ ๓ ของกรมทหารราบต่างด้าวที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายชั้นหนึ่ง มีกิตติศัพท์อันเกรียงไกรมาแล้ว ในหลายสมรภูมิอินโดจีนฝรั่งเศส ก็เคลื่อนขบวนเข้ามาในเขตแผนการยิงของไทย เป็นแถวตอนเรียงสามเดินตามสบาย เพราะยังอยู่ห่างจากบ้านพร้าวอีกตั้ง ๔ ก.ม. เสียงปืนกลนำสัญญาณก็ดังปะทุขึ้น และตลอดความยาวของแถวตอนเรียงสามทหารข้าศึกอยู่ในแผนการยิงอย่างถี่ยิบของทหารไทย ที่ส่งกระสุนปืนเล็กยาว ปืนกลเบา ปืนกลหนัก ที่สาดกระสุนเหล็กเข้าบดขยี้จนละลายไปหมดทั้งกองพัน มีการยิงต่อสู้ประปราย จนเวลา ๐๘.๐๐ น. ผู้บังคับกองร้อยได้เข้าไปเก็บเชลยที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ของกองร้อยได้เชลยศึก ๗ คน ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยลาดตระเวนข้างหน้าขบวนตอนเรียงสาม ทั้งหมดนี้ได้หลบอยู่หลังต้นไม้ที่ล้มกลางลำห้วยแห้ง กับทหารอีก ๕ คน รวมเป็น ๑๒ คน

และยึดได้ธงชัยเฉลิมพลที่มีเหรียญกล้าหาญดรัวซ์เดอแกรร์ติดอยู่ ได้ยุทโธปกรณ์หนักคือ ปืนกลหนัก ๑ กระบอก ปืนกลเบา ๕ กระบอก กระสุนและปืนเล็กประจำกายมาก แต่เครื่องยิงระเบิดไม่มี ผู้บังคับกองพันที่ ๓ กรมทหารราบต่างด้าวที่ ๕ คือ พันตรี เรเมอรี่ ตายในที่รบ ค้นได้บัตรประจำตัว นอกนั้นได้เอกสารเกี่ยวกับการรบอีกด้วย

การสูญเสียของทหารฝรั่งเศส นับศพในบริเวณสู้รบ ๕๐ ศพ ถูกจับเป็นเชลย ๒๐ คน ที่เหลือหลบหนีไปขณะยังไม่สว่าง ทั้งบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ หลักฐานทางฝ่ายฝรั่งเศส ตาย ๑๑๐ บาดเจ็บ ๒๕๐ สูญหาย ๕๘ ถูกจับ ๒๑ คน
ฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นาย บาดเจ็บสาหัส ๒ นาย
.
.
.
The Thais suffered two wounded and one dead (Private Jon Priphong). Of the French, Major Khun Nimmankolnlayuth estimated that they suffered some 49 dead and 110 wounded(พันตรีขุนนิมมาณกลยุทธได้ประมาณว่าฝรั่งเศสตาย๔๙ คน บาดเจ็บ๑๑๐).  Twenty soldiers were captured by the Thais, including Adjutant-Chef Francis Krausz, who would be killed during the Japanese takeover of Indochina in March 1945.
.
.
.
On the night of 15/16 January the Vichy spearhead (four battalions, each from a different regiment) and supporting tanks and guns moved into position to mount their counter-offensive; it was launched from northwest of Sisophon against the left flank of the Siamese advance on the morning of the 16th. The Siamese were alert, the attack was uncoordinated and poorly executed, and the battle did not go as the Vichy commanders had planned. Siamese aircraft controlled the skies and their tanks were well-handled in counterattacks which were only stopped by Vichy 75mm AA guns. By the end of the afternoon the Vichy attackers had withdrawn.
While the attack did not gain its objectives, Vichy claimed to have inflicted some 800 Siamese casualties against only 120 of its own. (รัฐบาลวีชี่อ้างว่าได้ลงโทษไทย ทำให้บาดเจ็บล้มตายไป๘๐๐คนเทียบกับฝ่ายฝรั่งเศสเพียง๑๒๐)Those claims seem exaggerated, but the Siamese advance came to a halt.  

ศพทหารยังมั่วกันถึงขนาดนี้ แต่ก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่ฝรั่งเศสมั่วว่า การรบครั้งนี้เป็นการแสดงวีรกรรมอันกล้าหาญยิ่งของกองพันที่๓กรมทหารต่างด้าวที่๕ ที่สามารถต่อสู้ยันทัพของผู้รุกรานไว้ได้ถึง๘ชั่วโมง ถึงกับให้เหรียญกล้าหาญครัวซ์เดอแกร์อันใหม่ ไปติดธง(ผืนใหม่)เป็นการแก้เขิน

อย่าไปคิดมากครับ รัฐบาลไทยก็ทำเช่นเดียวกันในการอ้างชัยชนะที่เกาะช้าง เพราะสามารถไล่ศัตรูกลับไปบ้านได้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 13:40
ท่านเคยเห็นรูปนี้ไหมครับ ผมได้มาทางอินเทอเน็ต

เสธฯพรเพ่งพินิจชั่วครู่  ผมไม่เคยเห็น มันตายกันเยอะนะครับ Body Countเกือบยี่สิบ 

อ้าว ไหนว่าเป็นร้อย ขุนนิมฯเองนับได้๔๙  ผมท้วง

อืออ…๑๙ ศพนะ ที่นับได้วันนั้น แต่ของเราไม่มีใครตายสักคน

แล้วพลฯจอนล่ะครับ  เห็นว่าตายไปคนนึง

ฮื้อ…แค่บาดเจ็บไม่ใช่เร้อ

หรือว่าไปตายโรงพยาบาล

บาดเจ็บน่ะ  แต่ไม่มาก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 13:46
รัฐบาลวีซี่มอบเหรียญกล้าหาญครัวซ์เดอแกร์ พร้อมใบประกาศกิตติคุณให้ III/5e Régiment Etranger d'Infanterie ผู้แพ้

ท่านใดแปลภาษาฝรั่งเศสได้กรุณาช่วยหน่อยเถิดครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 14:09
ขอลองดูค่ะ ผิดถูกอย่างไรคงมีคนมาแก้ไขให้เอง
สี่บรรทัดแรก เป็นคำประกาศเกียรติคุณจากพลตรี Mordant ผูับัญชาการสูงสุดของกองทัพฝรั่งเศสแห่งอินโดจีน   ที่มอบให้กองพันทหารต่างด้าว(ที่ว่านี่แหละค่ะ)

เนื้อหาคำประกาศคือ

กองพันทหารต่างด้าวใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับกองพันเบลโล่ค ได้แสดงคุณสมบัติอันห้าวหาญและวิญญาณนักสู้เป็นอย่างดี  เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941  ณ สมรภูมิบ้านพร้าว   เมื่อถูกโจมตีด้วยข้าศึก ที่มีกำลังเหนือกว่าหลายเท่า  พร้อมด้วยอาวุธหนักและรถถัง   โดยยืนหยัดต่อสู้อยู่ได้นานกว่าแปดชั่วโมง     หลังจากการต่อสู้อย่างดุเดือด ก็สามารถยันข้าศึกไว้ได้สำเร็จ  แสดงให้ประจักษ์ถึงศักดิ์ศรีสมเกียรติยศในการรบ   ด้วยเหตุนี้จึงสมควรได้รับเหรียญกล้าหาญ ชั้นดาราทอง
 


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 14:38
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูมากครับ

เนื้อหาคงไม่ผิด
แต่ผมสงสัยว่าผู้พันเบลโล่คจะทำหน้าอย่างไรเวลาเอาธงผืนใหม่ไปให้นายติดเหรียญ

อย่างนี้เองที่กองทัพฝรั่งเศสจะถูกชาติฝรั่งอื่นๆดูถูกอยู่เสมอว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ พอรบเดี่ยวทีไรมักจะชนะไม่เป็น แต่ชอบวางตัวอยู่ในกลุ่มผู้พิชิตเสมอ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 15:00
ในคำประกาศเกียรติคุณเหรียญกล้าหาญของฝรั่งเศส ได้อ้างตอนหนึ่งว่า กำลังรบของไทยเหนือกว่าฝรั่งเศสหลายเท่าตัว     ดิฉันไม่ทราบว่าที่บ้านพร้าว จำนวนทหารของเรามากกว่าเขาแค่ไหน  แต่ไปเจอในวิกิ เปรียบเทียบกำลังกองทัพของไทยกับฝรั่งเศส(คงจะหมายถึงยอดรวมทั้งหมด)ตามนี้

ไทย
กำลังพล 60,000 นาย    
• รถถัง 134 คัน
• เครื่องบินรบ 140 ลำ
• เรือรบ 18 ลำ

ฝรั่งเศส
• กำลังพล 50,000 นาย
• รถถัง 20 คัน
• เครื่องบินรบ 100 ลำ
• เรือรบจำนวนหนึ่ง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 15:44
ตารางเปรียบเทียบ กองกำลังผ่ายฝรั่งเศสและไทย ในการรบที่สมรภูมิบ้านพร้าวครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 16:01
ขอบคุณค่ะ
ผลต่อจากนั้น คือชัยชนะที่คนไทยทั้งประเทศคงจะยินดีปรีดากันมาก?


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ก.พ. 12, 17:31
มารายงานตัวครับ วันนี้เข้ามานี่รอบสองแล้ว

กองทัพฝรั่งเศสนี่ตั้งแต่หลังยุคนโปเลียนแล้ว  ดูเหมือนชื่อเสียง กิตติศัพท์ด้านการรบแทบจะไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือเผยแพร่ในวงกว้างเลย
อย่างสงครามโลกครั้งแรก ทหารฝรั่งเศสมีบทบาทมาก แต่ในเอกสาร นิยาย หนัง หรือหนังสือเกี่ยวกับสงคราม ทั้งนิยาย ทั้งตำรา  บทบาทของทหารฝรั่งเศสเหมือนจะหายไป  หรือมีบทบาทแค่เป็นตัวประกอบ มีแต่เรื่องราวของทหารอังกฤษ เยอรมัน หรืออเมริกันที่เข้ามาตอนหลังให้อ่านหรือรับรู้มากกว่า

ยิ่งสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องของทหารโปแลนด์ยังมีให้รับรู้มากกว่าทหารฝรั่งเศสมากๆ เลย แปลกใจจริงๆ ที่มีชื่อเสียงกลับเป็นพวกหน่วยใต้ดินฝรั่งเศสมากกว่า แต่บทบาทของกองทัพนี่แทบไม่ปรากฏ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 17:44
เท่าที่ดูบทบาทของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็ตกเป็นฝ่ายรับ  มากกว่ารุก   ประเทศสะบักสะบอมจากเยอรมัน
เมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบในเดือนกันยายน ปี 1939 (พ.ศ. 2482)  นอกจากอังกฤษแล้ว ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่ประกาศสงครามกับเยอมันทันที  
จากนั้น เยอรมันก็โจมตีฝรั่งเศสอย่างไม่ครั่นคร้ามคำประกาศสงครามแม้แต่น้อย    ผ่านมาแค่ถึง  22 มิถุนายน พ.ศ. 2483  19 รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยอมแพ้ราบคาบ   ทั้งชุดโดนปลดออก  เยอรมันตั้งรัฐบาลวิชี ขึ้นเป็นรัฐบาลหุ่น แล้วยึดประเทศไว้ในอำนาจจนถึงพ.ศ. 2487


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 17:46
แต่ว่าท้ายๆสงครามโลก  เยอรมันที่เคยฮึกเหิมกลับล้า อ่อนแรงลง  ฝ่ายพันธมิตรที่มีอเมริกาเข้าร่วมรบด้วยกลับเป็นฝ่ายมีชัย  โดยเฉพาะในวันที่ 6 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันD-Day. กองทัพพันธมิตรยกพลขึ้้นฝรั่งที่นอร์มังดีได้สำเร็จ  แล้วรุกเรื่อยมาจากฝรั่งเศสมุ่งหน้าไปเยอรมัน    จนยกพลเข้าครองทางใต้ของฝรั่งเศสได้    เยอรมันกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ผลจากสงครามโลก  ฝรั่งเศสเสียทหารไปราว 350,000 คนในการรบ  และจำนวนประชากรเกือบห้าแสนคนเสียชีวิตไปด้วยเหตุต่างๆจากสงคราม

ทางอินโดจีน  ดวงฝรั่งเศสก็ไม่ได้ดีไปกว่าดวงทางยุโรปเท่าไรนัก   ดวงไทยดีกว่า ตรงได้ครอบครองอินโดจีนมาส่วนหนึ่ง 
แต่...พอสิ้นสุดสงคราม   ดวงก็พลิกผันกันทั้งสองฝ่ายอีกละค่ะ

รอเจ้าของกระทู้มาเล่าดีกว่า  ดิฉันแค่มาอินเทอร์มิชชั่นเท่านั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 21:30
เชิญทุกท่านเลยครับ กระทู้มาในแนวที่ควรแล้ว เราอภิปรายกันบ้างคงจะสนุกสนานขึ้น ผมว่าไปคนเดียวชักจะเปลี่ยวเอกา นั่งฟังท่านว่าน่าจะดี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 12, 21:46
พลเอกพร ท่านเล่าอะไรอีกบ้างไหมคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.พ. 12, 21:49
ขอเวลาเอาเทปมาฟังอีกทีนึงครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 02 ก.พ. 12, 00:52
มาลงชื่อไว้ก่อนครับ ว่ายังคงตามอ่านอยู่เสมอ

ตามที่คุณครูผู้บรรยาย เชื้อเชิญให้อภิปราย

ผมขออนุญาตอีกสักสองวันนะครับ
ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ ตอบไม่สะดวกเพราะไม่มีหนังสืออ้างอิงในมือเลยครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.พ. 12, 07:55
เสธฯพรเริ่มต้นเล่าว่า ท่านโชคดี จบมาสดๆยังเป็นว่าที่ร้อยตรีอยู่เลยแต่ได้เป็นรักษาราชการผู้บังคับกองร้อย ทั้งที่ตำแหน่งนี้อย่างต่ำต้องเป็นยศร้อยโท อันที่จริงผู้บังคับกองร้อยเขาก็มีอยู่แล้ว ชื่อร้อยโทบุญนำ ตังครัตน์  แต่ผู้บัญชาการกองพล หลวงไกรชิงฤทธิ์ท่านบอกขุนนิมฯผู้บังคับกองพันว่า งานธุรการในกองพลพระนครที่ต้องไปเบิกไปรับของ งานส่งกำลังบำรุงมันยุ่งยากพอสมควร หมวดพรเพิ่งจบมาใหม่ๆทำไม่ได้หรอก ให้หมวดบุญนำเขาอยู่ทำหน้าที่ที่ว่าดีกว่า หมวดพรคุมฝึกทหารในกองร้อยอยู่แล้ว เอาเขานำหมวดไปรบแทนก็แล้วกัน ท่านจึงเป็นคนแรกและคนเดียวในประวัติศสาตร์กองทัพบกที่ได้บังคับบัญชากองร้อยทั้งเป็นยศว่าที่ร้อยตรี

ข้างล่างที่ผมเอามาให้ดูชัดๆนั้น รูปบนที่มีกรอบท่านติดไว้ในห้องของท่าน ผมขออนุญาตถ่ายมาแต่แสงไม่พอพร่าไปหน่อยเลยต้องคัดรูปจากเน็ตมาเสริม เสธฯพรปฏิเสธจะที่รับภาพ”ละเลงเลือด”ซึ่งผมอัดขยายไปให้ แม้ท่านเองเพิ่งจะได้เห็น กล่าวว่าท่านมีภาพนี้ภาพเดียวพอแล้ว ท่านนั่งใกล้กับ ร้อยเอกขุนทอง ไกรจิตติ ผ.บ. ร้อย๔ ผู้แต่แรกก็เข้าใจว่าเป็นท่านขุนอะไรสักอย่าง กว่าจะมีคนบอกว่าขุนทองเป็นชื่อที่คนยืมนกมาใช้ ไม่ใช่บรรดาศักด์ คนนั่งกลางคือพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ์ (นิ่ม ชโยดม) ผ.บ. พัน  ถัดไปร้อยเอกอัมพร เสือไพฑูรย์ ผ.บ. ร้อย๒ คนดังอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้สั่งยิงกระสุนนัดแรกและคุมหมวดตามไปยึดธงไชยเฉลิมพลของข้าศึกได้ คนสุดท้ายที่นั่งอยู่คือร้อยเอก อุดม วรรณศิริ ผ.บ.ร้อย๑  ส่วนข้างหลังเป็นพวกนายดาบ ท่านรู้จักคนเดียวคือนายดาบชิต ลูกน้องผู้ช่วยคุมทหารในกองร้อย
“..อายุมากแล้ว ผมก็ให้ความเคารพท่าน”


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.พ. 12, 08:12
หลังการรบยุติลง ขุนนิมฯท่านโดนเล่นงานว่าปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่ง “มีคนในกองบัญชาการต่อว่ามากมาย บางคนก็บอกว่าต้องลงโทษ ต้องอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่หลวงไกรฯท่านไม่ เพราะว่าท่านก็ชอบ”

พันโท หลวงไกรชิงฤทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลพระนครท่านเห็นด้วยแต่แรกว่า ถ้าข้าศึกกำลังมากมายข้ามห้วยมาได้ ร.พัน๓ของเราก็คงแหลกไปแล้ว พวกที่โกรธคือพวกเสนาธิการที่อยู่หน่วยเหนือขึ้นไป

“ถ้าแพ้ พวกเราคงต้องโดนลงโทษรุนแรงแน่ แต่นี่ข้าศึกก็ตายมากมาย ยึดรถถังมาได้ตั้ง๖คัน  
ความจริงมันก็ถูกของเขา ถ้าเราทิ้งทีมั่นเดิมที่เขาวางไว้แล้วไปพลาดท่าเสียบ้านพร้าว แนวรับของเราที่เชื่อม บ้านยาง โพธิ์สามต้น ไปทางศรีโสภณคงแตก”

พอทางกรุงเทพทราบข่าว พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็รีบเดินทางมาติดเหรียญกล้าหาญให้แก่ธงไชยเฉลิมพลของร.พัน๓ และติดเหรียญชัยสมรภูมิให้กับทหารในกองพันทุกคน

เสียงตำหนิก็เลยเงียบไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.พ. 12, 08:31
รถถังที่ว่า ฝรั่งเศสทิ้งไว้ให้ทหารไทยยึดง่ายๆ   ดูหุ่นแล้ว สงสัยจะวิ่งช้ากว่าคนขับที่ห้อยหลวงพ่อโกย

รัฐบาลทหารของไทยเอามาจอดให้ประชาชนชมที่ "....อาไรน๊า..ใกล้ๆกับพระที่นั่งอนันต์น่ะ"

"พระตำหนักสวนกุหลาบ" ผมช่วยท่านนึก คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นภาพพระตำหนักอยู่เบื่องหลังแถวรถถังเหล่านี้

"ไม่ใช่  ไม่ใช่ อีกสวนนึง"

"สวนอัมพร?"

"สวนอัมพร"


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ก.พ. 12, 18:22
ชนะข้าศึกอย่างเด็ดขาดแล้ว ขนาดนั้นขุนนิมฯท่านยังจะโดนเล่นงานเอาอีกหรือครับนี่

คนไทยนี่ เรื่องอิจฉาริษยา  ปัดแข้งปัดขากันนี่ เป็นมาแต่โบราณจริงๆ แม้วันนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นเลย
ก็ทำได้แต่บ่นๆ ไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 12, 22:30
ในการรบไม่ว่าแบบไหน ชัยชนะคือเป้าหมาย    ส่วนแผนย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ตามสถานการณ์ที่อาจฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อใดก็ได้    
ถ้าหากว่าพลเอกพร ทำตามคำสั่งเปี๊ยบ  แล้วเกิดแพ้ฝ่ายฝรั่งเศสขึ้นมา พลอยให้ที่มั่นอื่นๆล้มเป็นโดมิโนกันหมด   อะไรจะเสียหายกว่ากัน
เมื่อชนะแล้วถูกเล่นงานด้วยข้อหาเล็กว่าฝ่าฝืนคำสั่ง ก็น่าเห็นใจท่าน   ก็ยังดีที่คุณหลวงไกรฯ ไม่เอออกห่อหมกสั่งลงโทษทหารที่รบชนะมาหยกๆ

สงครามอินโดจีนนับเป็นสงครามขยายดินแดนครั้งแรกของไทยในรอบ...เท่าไรล่ะ...100 ปีได้ไหมคะ     ไม่รู้ว่าจำผิดหรือเปล่าว่าเรารบขยายดินแดนกันในสมัยรัชกาลที่ 3  ด้วยฝีมือแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา    ในรัชกาลที่ 4  และ 5  ไม่มี   แถมในรัชกาลที่ 5  สยามตกเป็นฝ่ายถูกรุกรานจนต้องเฉือนดินแดนให้เขาไป  


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 12, 22:31
เพิ่งมีสมัยรัฐบาลจอมพลป. ที่ไทยเริ่มนโยบายรุกกลับไปบ้าง     เพราะฝรั่งเศสกำลังซวนเซจากสงคราม    ถือว่านโยบายการทหารของเราฮึกเหิมเอาการในสมัยนั้น    ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายล้วนๆของจอมพลป. ผู้ศึกษาวิชาการทหารมาก่อน หรือว่าเป็นชั้นเชิงด้านการต่างประเทศของคุณหลวงวิจิตรวาทการ  ที่คิดว่าจังหวะนี้ดีที่สุดแล้วที่จะเอาคืนจากเจ้าอาณานิคมที่เคยทำกับเรา 
ในเมื่อไม่แน่ใจ  ก็เลยขอยกความดีให้ท่านทั้งสองอย่างละครึ่ง เท่าๆกัน  ก็แล้วกัน

อีกเรื่องหนึ่ง   อ่านพบจากปวศ.ที่ฝรั่งบันทึกไว้ ว่าก่อนหน้านี้จอมพลป. ผูกมิตรกับญี่ปุ่นเพราะเล็งเห็นว่าเป็นมหาอำนาจในเอเชีย   ถึงขั้นส่งทูตไปญี่ปุ่นเพื่อขอความร่วมมือหากว่าไทยจะทำศึกกับฝรั่งเศส      แต่ผลการเจรจาไม่ค่อยจะดีเท่าไร   เพราะเมื่อยื่นข้อเสนอไปแบบนี้ก็ต้องหมูไปไก่มา   มีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้าง  ไม่มีทางให้กันฟรีๆ    เมื่อญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอขอเข้ามาใช้เส้นทางบกและเมืองท่าของไทยเป็นทางผ่าน เพื่อเปิดศึกกับทัพอังกฤษในมาเลย์เซีย    ไทยไม่ยอม  ญี่ปุ่นก็เลยรั้งรอไว้ไม่โดดเข้ามาถือหางไทยเต็มตัว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: N.S. ที่ 03 ก.พ. 12, 11:36
นักเรียนใหม่ ตัวเล็กๆคนนึงมาแอบเกาะประตูห้องเรียนแต่เช้าแล้วค่ะ อาจารย์..  :-[


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.พ. 12, 21:35

ยินดีต้อนรับคุณN.S.ครับ
เข้ามานั่งข้างในแล้วร่วมอภิปรายได้เลยครับ
อย่าเกาะประตูนาน เดี๋ยวประตูของเขาจะพังไป

ขออนุญาตท่านอาจารย์ใหญ่

อ้างถึง
ในการรบไม่ว่าแบบไหน ชัยชนะคือเป้าหมาย ส่วนแผนย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ตามสถานการณ์ที่อาจฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
ถ้าหากว่าพลเอกพร ทำตามคำสั่งเปี๊ยบ แล้วเกิดแพ้ฝ่ายฝรั่งเศสขึ้นมา พลอยให้ที่มั่นอื่นๆล้มเป็นโดมิโนกันหมด อะไรจะเสียหายกว่ากัน

พลเอกพร ตอนนั้นท่านเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ยศต่ำสุดในระดับสัญญาบัตรคือว่าที่ร้อยตรี อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านขุนนิมฯ ท่านก็ทำตามคำสั่งท่านขุนนิมเปี๊ยบ หาที่บกพร่องมิได้ การแพ้หรือชนะ เป็นความรับผิด-รับชอบของผู้บังคับบัญชา ท่านเป็นเพียงหางแถว  จะถูก จะผิดก็แค่เลขท้ายสองตัว

ทหารนั้นถือวินัยอย่างเคร่งครัด คำสั่งผู้บังคับบัญชานั้น ไม่มีสิทธิ์วิจัยวิจารณ์ว่าผิดหรือถูก ควรหรือมิควร ต้องปฏิบัติตามสถานเดียวจะหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะในระหว่างศึกสงคราม ผู้ใดละเมิด กฏอัยการศึกระบุโทษสูงสุดไว้ถึงประหารชีวิต

เรื่องคำสั่งต้องเป็นคำสั่งนี้  ทหารมักยกเรื่องในพงศาวดารนี้เป็นอุทาหรณ์

“…..มีพระราชโองการตรัสปรึกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดอ่านล่อลวงเป็นหลายครั้ง ยังมิหนำซ้ำกลับแข็งเมืองต่อรบอีกเล่า แลจะละพระยาแสนหลวงไว้นั้นมิได้ จำจะยกพยุหโยธาทหารไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ จะเห็นเป็นประการใด

ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำรินั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสให้จัดกองทัพพลฉกรรจ์สี่หมื่น ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ปืนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิวให้พร้อมไว้

แลดำรัสให้หานายปานผู้น้องเจ้าพระยาโกษาธิบดีอันถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งรับอาสาออกไปได้ราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสนั้น เข้ามาเฝ้าแล้วก็มีพรราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้นายปานเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แลทรงพระกรุณาดำรัสว่า

“ ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น ชำนิชำนาญในการอันเป็นแม่ทัพ แลบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชาย ไปตีเมืองเชียงใหม่ยังจะได้หรือมิได้ “

เจ้าพระยาโกษาปานจึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอลองศึกดูก่อน แลจะขอรับพระราชทานพระราชอาญาสิทธิ์เหมือนพระโองการนั้น ถ้าแลเห็นจะทำสงครามได้แล้ว ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าถวายให้จงได้ “

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ชอบพระทัยในถ้อยคำเจ้าพระยาโกษากราบทูลนั้น ทรงพระโสมนัสดำรัสสรรเสริญสติปัญญาเป็นอันมาก แลทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงดาบต้นอันทรงอยู่นั้น ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์

แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น แล้วดำรัสอนุญาตว่า ท่านจงไปลองศึกดูตามความปรารถนาเถิด

เจ้าพระยาโกษาจึ่งรับพระราชทานพระแสงดาบแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาออกมายังศาลาลูกขุนใน จึ่งสั่งมหาดไทยกลาโหม ให้แจกพระราชกำหนดข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งหลาย ฝ่ายทหาร พลเรือน กะเกณฑ์พลสามพัน ให้ยกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พะเนียดโดยกว้างสามเส้น โดยยาวสามเส้นสิบวา

แลให้ตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายเอาปลายปักลงให้สิ้น ขุดมูลดินเป็นสนามเพลาะ ปักขวากหนามตามธรรมเนียมพร้อมเสร็จ ให้สำเร็จแต่วันพรุ่งรุ่งแล้วสามนาฬิกา ถ้าแลเราไปเลียบค่าย หน้าที่ผู้ใดไม่สำเร็จในเพลานั้น ก็จะลงโทษแก่ผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต

เจ้าพระยาจักรี กลาโหม แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลาย ได้แจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ต่างคนต่างเร่งกะเกณฑ์กันทุกหมู่ทุกกรมในวันนั้น ได้พลมาสามพันแล้วก็ให้ไปตัดไม้ไผ่อันจะมาทำเป็นเสาค่ายนั้นคนละสองท่อน แล้วก็ยกขึ้นไปยังที่ใกล้พะเนียด แบ่งปันหน้าที่กันตั้งค่ายแต่ในเพลากลางคืน

วันนั้นทุกหมู่ทุกกรม แลปักเสาเอาปลายลงดินเอาต้นขึ้นสิ้น ชิดกันเป็นถ่องแถวแต่เบื้องบน เบื้องล่างนั้นห่างกันไปเป็นอันมาก แลกระทำการทั้งปวง พอรุ่งก็สำเร็จ

ในขณะนั้นขุนหมื่นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง เห็นเชิงค่ายทั้งหลายห่างกันนักจึ่งปักกลับเอาต้นลงดิน แทรกเข้าเสาหนึ่งในระหว่างอันห่างนั้น แล้วว่าแต่ก่อนเขาทำมาดังนี้ แลซึ่งเอาปลายปัก ลงดินนี้ มิเคยเห็นทำมาแต่ก่อน

จึ่งเจ้าพระยาโกษาก็สั่งแก่เจ้าพนักงานทั้งหลาย ให้ตระเตรียมราชพาหนะแลเครื่องขัตติยราชาบริโภคทั้งปวง ไว้รับโดยทางชลมารค สถลมารค พร้อมเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าแล้วเพลาสามนาฬิกา เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น

ครั้นได้ศุภฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ ดุริยางคดนตรีสนั่นกาหลกึกก้องกลองชนะ โครมครื้นเพียงพื้นนทีธารจะทำลาย ให้ขยายพยุหยาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามขบวน แห่แหนแน่นไปโดยชลมารค ตราบเท่าถึงที่ประทับตำบลเพนียด

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง สถิตยังพลับพลาอันเป็นที่ราชาอาสน์เดียรดาษด้วยท้าวพระยาทั้งปวง แวดล้อมโดยซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วก็ขึ้นขี่ช้างพระที่นั่ง บรมราชคชาธารสารตัวประเสริฐ เพริดพร้อมด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงชัย ดูไสวไพโรจน์ด้วยท้าวพระยาเสนาบดี พริยโยธาหารแห่เป็นขนัด โดยขบวนบรมราชพยุหยาตราสถลมารค เลียบค่ายไป

จึ่งเห็นไม้เสาลำหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามาแล้วจึ่งถามว่า ท่านกระทำดั่งนี้จริงหรือ

เจ้าหน้าที่กราบเรียนว่าจริง เจ้าพระยาโกษาจึ่งว่า

“ ตัวท่านละเมิดมิได้ทำตามพระราชโองการแห่งเรา โทษท่านถึงตาย “

แล้วก็ให้ประหารชีวิตเสีย แลให้ตัดเอาศรีษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น แล้วก็คืนลงสู่เรือพระที่นั่งกลับเข้ามายังพระราชวัง

เจ้าพระยาโกษาทำครั้งนั้นเพื่อให้คนทั้งหลายเข็ดขาม คร้ามอำนาจอาญาสิทธิ์ขาด ในราชการงานสงครามครั้งนั้น

ครั้นมาถึงพระราชวังก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถวายพระราชโองการอาญาสิทธิ์ และพระแสงดาบคืนเสีย แล้วก็กราบทูลแถลงการทั้งปวงซึ่งไปลองศึกนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ

แล้วบังคมทูลพระกรุณาขออาสาไปตีเอาเมืองเชียงใหม่มาทูลถวาย

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงโสมนัสดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพหลวง แลให้พระยาวิชิตภักดีเป็นยกกระบัตร พระยาสุรินทรภักดีเป็นเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปแนกองหน้า พระยาสุรสงครามเป็นกองหลัง ถือพลช้างม้าพลานิกรเดินเท้าทั้งหลาย ยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่…….”


เรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาของท่านขุนนิมฯนั้น  หากถามทหารคนใดว่าผิดวินัยไหม  ร้อยทั้งร้อย ไม่เฉพาะพลเอกพรก็ต้องบอกว่าผิด  จะว่าว่าถูกไปไม่ได้  ขุนนิมฯเองท่านก็ยอมรับ

แต่ถามว่าท่านทำถูกไหม ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่าทำถูก เสธฯพรท่านก็บอกว่าขืนอยู่ที่เดิมละก็ตายแน่ๆ

ผมเห็นว่า ขุนนิมฯท่านมีความเสียสละอย่างใหญ่หลวง การตัดสินใจของท่าน ถ้าพลาด หากไม่ตายเพราะลูกปืนของข้าศึกก็อาจตายด้วยลูกปืนที่พระธรรมนูญทหารจัดให้
หากชนะหรือเสมอ ความผิดของท่าน ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้บังคับบัญชา


บังเอิญโชคเข้าข้าง ชัยชนะของท่านใหญ่หลวงเสียจนความผิดทางวินัยกลายป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 12, 22:21
    หลักการทหารที่ท่านนวรัตนยกมา  ทำให้ทหารไทยตกอยู่ในชะตาค่อนข้างหนัก    อย่างสงครามคราวนี้ ถึงชนะก็ผิดวินัย หวุดหวิดจะเอาตัวไม่รอด     ไม่ต้องพูดว่าถ้าแพ้ฝรั่ง   หรือเสมอตัว เช่นฝรั่งเศสถอยไปทัน    ท่านขุนและว่าที่ร้อยตรีพรจะไปจบอนาคตลงตรงไหน
    ส่วนทหารฝรั่งเศส ดูๆแล้วน่าจะโชคดีกว่าของเรา     ขนาดแพ้ยังได้เหรียญกล้าหาญ    มีคำประกาศเกียรติคุณเสียด้วย
    หรือฝรั่งเศสถือว่า ทหารเขาถึงแพ้ก็ไม่ได้ทำผิดวินัย?


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 12, 22:34
     ระหว่างรออภิปรายจากนักเรียนหลังชั้นบ้าง ข้างประตูบ้าง  ;)  ดิฉันขอคั่นเวลาด้วยนโยบายขยายดินแดนของรัฐบาลสมัยนั้น  ว่านอกจากรบเชิงรุก  รัฐบาลจอมพลป. ยังวางนโยบายที่ทันสมัยล้ำหน้ากว่านโยบายประชาคมอาเซียนในสมัยนี้   ด้วยการจูงใจให้ประชาชนในอินโดจีนฝรั่งเศสอพยพเสรีเข้ามาในประเทศไทย  คือไม่ต้องมีพาสปอร์ตวีซ่า  อยากมาก็มาอาศัยในเมืองไทยได้เลย

     นโยบายเรื่องนี้ทำกันเต็มรูปแบบทางราชการ ไม่ใช่แค่ออกปากโฆษณาประชาสัมพันธ์  เห็นได้จากในปี 2483 กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง เรื่องยกเว้นค่าธรรมเนียมและการปฏิบัติตามระเบียบการเข้าเมืองแก่ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในสิบสองจุไท หัวพัน หลวงพระบาง เวียงจัน สะหวันนะเขต จำปาสัก และกัมพูชา   และให้ช่วยเหลือแก่ผู้อพยพ  


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 12, 22:34
           ตามมาด้วยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 44/2483 ว่า 
              ดินแดนอันได้ชื่อว่าแคว้นสิบสองจุไทย หัวพันทั้งห้าทั้งหก แคว้นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ท่าแขก สุวรรณเขตต์ จำปาศักดิ์ และกัมพูชา เป็นราชอาณาจักรของไทยมาแต่เดิม โดยได้รวมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศไทย และอยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยมาช้านานนับร้อยๆ ปี.....มีเลือดเนื้อเป็นชนชาติไทยและมีจิตใจรักอิสรเสรีอย่างพี่น้องของเขาในประเทศไทย.....กระทรวงมหาดไทยจึงถือว่า.....เป็นบุคคลเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทยโดยบริบูรณ์

         ส่วนทางประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ก็ทำกันเข้มแข็ง   ด้วยการเปิดวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาเขมรและเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน 2483 ออกอากาศเชิญชวนประชาชนในอินโดจีนฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นชาวลาว เขมร และเวียดนามให้อพยพเข้ามาในประเทศไทย ไม่เช่นนั้น  ก็ให้ต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน
         รัฐบาลยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันช่วยเหลือ “พี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและกรุงกัมพูชา”โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้ว  ให้ต้อนรับคนเหล่านั้นเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินด้วยดี  


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.พ. 12, 22:50
ขอแทรกนิดเดียวครับ

เรื่องที่ฝรั่งเศสให้เหรียญกล้าหาญแก่กองทหารของตนที่พ่ายแพ้นั้น ผมมองหลายแง่หลายมุม

ถ้าท่านยังจำกันได้ วันรุ่งขึ้นจากที่ทหารไทยได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่นั้นเอง เป็นวันที่๑๗ มกราคม เกิดยุทธนาวีขึ้นที่เกาะช้างซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างชัยชนะ ในตอนค่ำวิทยุไซ่ง่อนรายงานผลการรบ ระบุว่าได้ทำลายเรือรบเราไปหลายลำ ทหารเรือไทยตายนับร้อย แต่ลงท้ายทำนองว่า ขอสดุดีน้ำใจในการสู้รบของทหารไทย ที่ต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญในการรบครั้งนี้

ฟังสำเนียงแล้ว เหมือนเขาแดกดันพวกเดียวกันอย่างไรชอบกล ก็พี่แกไม่คิดจะสู้เลยเอาแต่จะหนีท่าเดียว

รัฐบาลไทยให้เหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานประจำเรือธนบุรีและผู้บังคับการเรือผู้วายชนม์  ฝรั่งเศสก็ต้องให้เหรียญกล้าหาญแก่กองพันที่๓กรมทหารต่างด้าวที่๕บ้าง เป็นเรื่องที่จะไม่ให้กองเชียรผิดหวัง

ทั้งหมดเป็นเรื่องจิตวิทยาทั้งนั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ก.พ. 12, 23:13
แห่ะๆ ท่านอาจารย์บอกให้นักเรียนหลังห้องบ้าง ข้างประตูบ้างช่วยอภิปราย  เพื่อไม่ให้เงียบเหงา ขอแสดงความเห็นบ้างนิดหน่อยครับ

ผมว่าที่ท่านขุนฯแกไม่ได้ไปยึดบ้านพร้าวตามคำสั่ง  แต่ไปซุ่มโจมตีแทนนั้น น่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธการศึกมากกว่าการจงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชานะครับ
เพราะแม้จะได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปยึดที่นี่ จุดนี้ แตในฐานะผู้ปฏิบัติการ ถ้าท่านเห็นว่าการไปตั้งมั่นทีอื่นปลอดภัยกว่า หรือมองเห็นสถานการณ์  ปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธตามความเหมาะสม แบบนี้ไม่น่าเป็นการขัดคำสั่งแต่อย่างใด
ถ้าผู้ปฏิบัติตาม หรือผู้นำหน่วย ไม่รู้จักพลิกแพลง ทำตามคำสั่งอย่างเดียวเป๊ะๆ แบบนั้นมีหวังละลายทั้งหน่วย

นายพลหรือผู้นำหน่วยเก่งๆ มักจะมีชื่อเสียงในเรื่องการมีวิสัยทัศน์  มองภาพรวมสถานการณ์จากข่าวสารที่จำกัดได้แม่น  ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสถานการณ์ มากกว่าพวกบื้อๆ ยึดตามตำราหรือคำสั่งเป๊ะๆ แต่ผู้นำหน่วยแบบหลังมักจะมีมากกว่า

ดังนั้น ถ้ามีใครไม่พอใจ หาว่าขัดคำสั่ง ผมมองว่าผู้นั้นออกจะยึดติดตัวหนังสือมากไป หรือน่าจะมาจากการอิจฉาริษยามากกว่า จึงหาช่องทางเล่นงานหรือตำหนิ เพราะแทนที่จะดูผลงาน กลับดูแต่กระบวนการทำงาน ว่ายึดตามคำสั่งหรือตำราหรือไม่
แต่จริงๆ แล้ว แม้ปัจจุบัน เราก็ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่แบบนี้ไม่น้อย(บ่นอีกแล้ว)

ส่วนเรื่องการมอบเหรียญกล้าหาญของทางฝรั่งเศส   น่าจะเป็นนโยบายเรียกขวัญกำลังใจและโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าครับ เพราะตอนนั้นสงครามยังไม่จบ โอกาสที่มวลชนของแต่ละฝ่ายจะรู้ข่าวสารที่เป็นจริงของฝ่ายตรงข้ามมีน้อย แถมข่าวสารที่ได้รับก็ไม่รู้จริงหรือไม่ ขวัญกำลังใจจึงสำคัญ
ดังนั้นแม้จะแพ้ยับเยิน  แต่ละฝ่ายย่อมไม่ยอมรับ  จึงต้องมีการมอบเหรียญตกรางวัลกันตามธรรมเนียม  จนสงครามหรือความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจบแล้ว นักประวัติศาสตร์ตัวจริงจึงจะพอหาข้อมูลจริงมาเปิดเผยกันได้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.พ. 12, 06:00

คือว่า มันมีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนแผนก่อนหน้า แล้วไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ก็ผ่าฝืนกระทำน่ะครับ  ตรงนี้แหละที่โดนตำหนิ   อย่างไรก็ตามการสื่อสารสมัยโน้นมันแย่มาก เรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆกว่าจะรู้อะไรเป็นอะไร คงใช้ต้องใช้เวลาบ้าง

พอดีวิกโน้น คุณเจียวต้ายกำลังฉายเรื่อง “เรื่องเล่าจากสงครามอินโดจีน” ซึ่งเขียนโดย พ.ท.ชาญ กิตติกูล อดีตนายทหารสื่อสารผ่านศึกในกองทัพบูรพา ประจำการอยู่ที่อรัญประเทศ  ตอนที่เขายิงกันน่าประหลาดที่อยู่แค่นั้น แต่เรื่องที่ท่านฟังเขามาเล่าแล้วนำมาเขียนต่อให้คนทั่วไปอ่าน  กลับกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไปเลย

ลองอ่านดูครับ

สาเหตุที่ทหารไทยจับเชลยได้นั้น เรื่องยาวสักนิด ขอได้โปรดทนอ่านต่อไป

การรบในตอนกลางช่วงเวลาที่เริ่มปะทะ จนกระทั่งพักรบ ทหารไทยรุกคืบหน้ายึดพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นจนมาถึงบริเวณที่พวกเราเรียกกัน ว่า “โพธิ์สามต้น” ( อยู่ในแดนเขมรครับ ไม่ใช่ฝั่งธนบุรี) ณ ที่นั้นทหารไทยมาพบค่ายกล ที่ฝ่าย เสธ.ของข้าศึกทำขึ้น ต้องหยุดชงักอยู่นานกว่าจะผ่านไปได้

ค่ายกลที่ว่านั้น ไม่ใช่ค่ายกลแบบพงศาวดารจีนหรอกครับ แต่เป็นค่ายกลแบบที่คนไทยเรียกว่าเพนียด แบบที่จังหวัดอยุธยาทำขึ้นในสมัยจอมพล ป.เป็นผู้นำ เพื่อแสดงการคล้องช้างแบบโบราณนั่นเอง ธรรมดาเพนียดเขาต้องทำทึบทั้งสี่ด้าน แต่ข้าศึกทำไว้เพียงด้านหน้ายาวประมาณ ๔ เส้น ด้านข้างติดถนนสายพระตะบอง – ปอยเปต ทำไว้ไม่เกินหนึ่งเส้น ทหารไทยก็รุกเข้าไปถึงเสียก่อน

ลักษณะของเพนียด ใช้เสาในป่านั่นแหละ แต่เป็นไม้เนื้อแข็ง โตขนาดสามกำยาวประมาร ๓-๔ เมตร ฝังดินเรียงกันเป็นนิ้วมือ เจาะช่องไว้กว้างไม่เกิน ๖ นิ้วไว้เป็นระยะ ๆ ช่องนี้ใช้สอดปากกระบอกปืนยิงทหารไทย โดยอาศัยเสาเป็นเกราะกำบังกระสุนของทหารไทย กว่าฝ่ายเราจะผ่านเพนียดไปได้ ต้องใช้กำลังโอบล้อมเข้าด้านข้างและด้านหลัง ต้องเสียเลือดเนื้อกันบ้างละ รบกันนี่นาจะไม่ให้ตายได้อย่างไร

บริเวณหน้าเพนียดข้าศึกถางป่าสาบเสือเสียเตียน ปล่อยไว้แต่ต้นไม้เล็ก ๆ เท่านั้น ณ สนามรบแห่งนี้ผมเข้าไปเที่ยวเมื่อหยุดยิง ยังพบศพทหารข้าศึกถูกฝังอยู่หลายศพ บางศพใครเอาเอาหัวกระโหลกมาเสียบไว้ก็ไม่รู้ กลิ่นศพยังมี ถึงกับต้องอุดจมูกเวลาเข้าใกล้ ภายในเพนียดพบร่องรอยการต่อสู้อย่างโชกโชน รอยเลือดยังแห้งกรังอยู่ตามพื้น

พอเพนียดถูกตีแตก ข้าศึกคงเจ็บขั้วหัวใจ จึงสั่งกองพันทหารเสือของเขามาจากไซ่ง่อน ทหารกองนี้เป็นทหารรับจ้างมีชนเกือบทุกชาติสังกัดเป็นทหาร กิตติศัพท์การรบของทหารกองนี้ดังเหมือนพลุแตก จนได้เหรียญกัวเดอร์แกส์แขวนธงประจำกอง แต่พอมาพบทหารไทยที่ข้าศึกเห็นเป็นช้างป่า ถึงกับลงทุนสร้างพะเนียดจะเอาไว้ต้อนก็ต้องแตกยับ ถูกจับได้ ถูกฆ่าร้อยกว่า ทั้งนี้เพราะการดูถูกทหารไทยนั่นเอง

จะว่าทหารไทยเก่งก็ไม่แน่ จะว่าไม่เก่งก็ไม่ถูก คนไทยมีเลือดประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่พูดกันว่า ลงเลือดเข้าตาละก็สู้ยับ อาศัยการข่าวหรือแนวที่ ๕เราดี ฝ่ายเราจึงรู้ถึงการเดินทางของทหารรับจ้าง และเตรียมถลุงไว้อย่างงดงาม และข้าศึกก็ถูกเป่าหูมาแล้วว่า ทหารไทยไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องกลัว นั่นเองความประมาทจึงเกิดขึ้น เดินลอยชายร้องเพลงมุ่งหน้าไปที่หนองน้ำ เพื่อจะอาบน้ำและพักค้างคืน หารู้ไม่ว่าเดินเข้าไปสู่คีม ซึ่งฝ่ายเราวางกำลังยิงไว้อย่างดียิ่ง โดยมีอาวุธปืนกลเป็นหลัก และเสริมปีกด้วยรถถัง

พอทหารรับจ้างส่วนหน้าเดินไปเจอปากกระบอกปืนเข้า ก็ผงะจะถอยหลัง บางคนออกทางข้างก็ไปจ๊ะเอ๋กับปากกระบอกปืนด้านหลังเช่นกัน ผลสุดท้ายทุกคนเฮโลจะย้อนกลับ แต่ไม่ทันการเพราะถูกรถถังเข้าปิดปากถุงเสียแล้ว การปะทะจึงเข้าขั้นตลุมบอน ระหว่างเหล็กกับเนื้อคน ผมเห็นจะไม่ต้องอธิบายละเอียดว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายยับเยิน ทหารรับจ้างจนตรอกถึงกับปีนขึ้นบนรถถัง พยายามหาทางจะเอาระเบิดหย่อนลงในตัวรถ แต่ถูกกระบอกปืนตีตก แล้วก็ถูกสายพานของรถเหยียบย่ำเหลวเละ ไอ้เรื่องไม่ตายคงไม่ต้องพูดถึง

สองฝ่ายต่างเสียเลือดเนื้อ ฝ่ายไทยคงไม่กี่คน แต่ฝ่ายตรงข้ามถึงกับต้องระดมคนงานไปขุดหลุมขนาดใหญ่ ทำการฝังอยู่จนค่ำจึงเสร็จ ขบวนรถบรรทุกเชลยวิ่งมาถึงหน้ากองทัพบูรพา มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของกองทัพเป็นผู้ถือธงประจำกองพันที่จับได้ ท่ามกลางการต้อนรับ จากท่านแม่ทัพและฝ่ายต่าง ๆ แล้วเอาเชลยไปขังไว้ที่โรงรถดังกล่าวมาแล้ว

ดูเถิดครับ ท่านว่าทหารต่างด้าวฝรั่งเศสโดนทหารท่านขุนนิมฯยิงตายยับเยิน ขณะกำลังเดินลอยชายไปหนองน้ำเพื่อจะอาบน้ำ นี่ทหารสื่อสารนะเนี่ย  คุณเจียวต้ายเอาเรื่องที่ท่านเขียนมาลงได้๘ตอนแล้ว สำหรับตอนที่ผมตัดมาลงนี้เป็นตอนที่๖ กล่าวถึงเรื่องเชลยศึก ขาประจำเรือนไทยลองเข้าไปอ่านดู พ.ท.ชาญ กิตติกูล ท่านเขียนตามที่ท่านรู้ ก็น่าจะเขียนหลังเหตุการณ์นานพอสมควร แปลกที่ยังรู้ความจริงเพียงแค่นี้ แต่ก็อ่านสนุกดีครับ

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K11640522/K11640522.html

เดี๋ยว(แปลว่าฉากต่อไปนะครับ ไม่ใช่อีก๑๐นาทีข้างหน้า) ผมจะเอาเรื่องเชลยศึกมาเล่าต่อ รัฐบาลไทยว่าไปคนละทางกับพ.ท.ชาญ กิตติกูลเลย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 12, 09:18
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจคนทำหนังประวัติศาสตร์  เพราะเวอร์ชั่นจากข้อมูลในอดีต ไม่ว่าเรื่องไหน มีหลายเวอร์ชั่น   แต่เวลาลงมือทำ ต้องเลือกทำเวอร์ชั่นเดียว  ก็ยากอยู่เหมือนกันว่าจะเอาเรื่องไหนแบบไหน
บางทีเรื่องที่มีข้อมูลเชื่อถือได้ ก็ค่อนข้างจืด    ที่สนุกสนานออกรสออกชาติ  ก็ไม่ค่อยจะแน่ใจว่าตรงตามข้อเท็จจริงหรือเปล่า   หนักกว่านี้ึคือบางครั้งข้อมูลออกมาชนกันดังสนั่น  ราวกับช้างประสานงา   ก็ยิ่งทำให้งงสนิทว่าอย่างไหนกันแน่
คนเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ตกที่นั่งเดียวกันกับคนทำหนังละค่ะ

เรื่องสงครามอินโดจีน  เกิดมาเจ็ดสิบกว่าปีนี้เอง    ไม่ถึงร้อย   คนที่ทันเห็นเหตุการณ์ก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน   ข้อมูลยังหลากหลาย    ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ย้อนหลังไปร้อยๆปี ว่าข้อมูลจะชนกัน  หรือต่างกันขนาดไหน

ปั่นเรตติ้งเสร็จแล้วก็ถอยไปนั่งอยู่หลังห้อง  ใกล้ๆท่านอื่น  รอชมฉากต่อไปค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 ก.พ. 12, 16:14
ผมก็ติดตามทั้งกระทู้นี้ทั้งของคุณเจียวต้ายที่ Pantip ด้วย

ความเห็นส่วนตัว ผมว่าพวกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพวกเหตุการณ์สงคราม  เอกสารที่น่าจะตรงกับความเป็นจริงที่สุด น่าจะมาจากระดับผู้บังคับบัญชาเป็นคนเขียน เช่นพวกรายงานสรุปการยุทธ สรุปยุทธวิธี
หรือเป็นรายงานที่เขียนตอนหลังโดยนักประวัติศาสตร์จากการสอบถามเหตุการณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย หลายๆ ระดับ

ส่วนเรื่องเล่าที่มาจากบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์  มักจะให้รายละเอียด เห็นภาพ ตื่นเต้นอ่านสนุก แต่เพราะกรอบในการรับรู้ที่จำกัด และบทบาทเกี่ยวข้องที่จำกัดของแต่ละบุคคล จึงไม่อาจครอบคลุมภาพรวมสถานการณ์ทั้งหมด
ยกเว้นผู้เขียนจะไปสัมภาษณ์ หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจและถ่ายทอดภาพรวมทั้งหมดมาได้

ยิ่งถ้าผู้เล่าเป็นระดับพลทหาร หรือชั้นประทวนที่ต้องรับคำสั่ง มุมมองภาพรวมจะยิ่งจำกัดมาก เพราะคงแต่หน้าที่รับคำสั่ง ไม่ใช่ตัดสินใจ 
แถมตอนหลังเมื่อมาคุยๆ กัน ก็คุยกันแต่กับระดับปฏิบัติการเหมือนกัน เช่นไปถามเพื่อนนายสิบที่ทำการรบ ว่าเป็นไงบ้าง ก็จะได้แต่ภาพที่ระดับนายสิบด้วยกันเข้าใจ แต่ไม่ได้รับรู้เหตุผลในการตัดสินใจของหน่วยเหนือขึ้นไป
ดังนั้นความรับรู้ความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงครับ  ยิ่งถ้าผู้เล่า เอามาเขียนหรือเล่าจากความทรงจำหลังจากระยะเวลาผ่านไปนานๆ เหตุการณ์ที่จำได้ก็มักจะเป็นเหตุการเฉพาะหรือพิเศษ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ มากกว่า
และอาจหลงลืมเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ไป หรืออาจจะลำดับเวลาของเหตุการณ์ผิด  หรือนำสองเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกัน มารวมเป็นเหตุการณ์เดียวกัน

อย่างของ พ.ท. ชาญ ตอนสงครามท่านเป็นนายสิบ ท่านจะเล่าได้เฉพาะส่วนที่ท่านเกี่ยวข้อง ส่วนที่ระดับ ผบ. เค้าตัดสินใจกัน ท่านคงไม่ทราบมาก แถมบางเหตุการณ์ท่านก็ฟังมาจากเพื่อนทหารด้วยกัน ซึ่งคงไม่ใช่ระดับท่านขุนฯ ผบ. โอกาสที่ท่านจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็น่าจะมีสูงครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 12, 17:26
       ย้อนความหลัง
       ไทยเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส 5 ครั้ง   
       ครั้งที่  1   ปี พ.ศ.  2410   เสียส่วนใหญ่ของประเทศเขมรและเกาะ 6 เกาะ  ประมาณเนื้อที่  124,000  ตารางกิโลเมตร
       ครั้งที่  2   ปี พ.ศ.  2431    เสียแคว้นสิบสองจุไทย     ประมาณเนื้อที่   87.000  ต.ร.ก.
       ครั้งที่  3   ปี พ.ศ.  2436   เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง      ประมาณเนื้อที่   243,000 ต.ร.ก.
       ครั้งที่  4   ปี พ.ศ.  2446   เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขง      ประมาณเนื้อทีื    62,500  ต.ร.ก.
       ครั้งที่  5   ปี พ.ศ.  2449   เสียจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ  เนื้อที่ประมาณ  51,000  ต.ร.ก.

       จากเว็บสารานุกรมไทย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.พ. 12, 22:21
เรื่องเล่าต่อๆกันมาเนื่องในการรบระหว่างทหารไทยกับฝรั่งเศสนี้ ผมนึกขึ้นมาได้ ครั้งอยู่ชั้นมัธยมต้น คุณครูสอนประวัติศาสตร์ไทยเล่าในห้องเรียนว่า ครั้งหนึ่งทหารฝรั่งเศสจะเข้าโจมตีทหารไทย นายทหารประชุมกันบอกว่า คนไทยไปเรียนวิชาทหารมาจากฝรั่งเศสทั้งนั้น คงจะตั้งรับตามตำราอยู่หลังแนวป่า ใช้ป่าเป็นแนวกำบัง  ฉะนั้นปืนใหญ่ทุกกระบอกให้ระดมยิงไปหลังแนวป่า ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาทหารไทยท่านนั้นไม่เคยเรียนตำราฝรั่งเศส จึงพากองทหารมาซุ่มอยู่หน้าแนวป่าเพราะจะได้เห็นข้าศึกชัดดี ฝรั่งเศสระดมยิงปืนใหญ่ไปหลายตับ คิดว่าทหารไทยคงจะยับเยินไปแล้ว จึงสั่งทหารราบให้บุกเข้ามาอย่างชะล่าใจ เลยโดนเรายิงตายเกลื่อนกลาด ที่เหลือยอมให้จับเป็นเชลยนับสิบคน

มาอ้อในตอนนี้เอง ที่คุณครูเล่าให้ฟังนั้น ก็เป็นอีกเวอชั่นหนึ่งของสมรภูมิบ้านพร้าวนั่นเอง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 07:18
เมื่อกองทัพบูรพาของไทยมีชัยชนะต่อทหารฝรั่งเศส โดยกองพันทหารราบที่๓ของกองพลพระนครทำลายกองพันที่๓กรมทหารต่างด้าวที่๕ลงอย่างสิ้นเชิง กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ออก“ข่าวทหาร”ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบเป็นระยะๆ โดยข่าวแรกออกในวันที่๑๖ มกราคม อันเป็นวันที่ปะทะกันดังนี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 07:18
.


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 07:35
วันที่๑๗ มกราคม ๒๔๘๔


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 08:38
วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๔

“ข่าวทหาร”วันนี้ผมได้ความรู้ใหม่ว่ามีการพบศพพันตรี เรเมอรี่(ออกเสียงอย่างอังกฤษ)ในสนามรบด้วย เป็นคนเดียวกับที่ผมให้ข้อมูลไปแล้วคือ พันตรี เฟรเมอเร (Major Rémery ออกเสียงอย่างฝรั่งเศส) ผบ.กองพันที่๒ กรมผสมทหารราบอาณานิคมที่๑๖  II/16e RMIC (Régiment Mixte d'Infanterie Coloniale - Colonial Infantry Regiment)

นั่นแปลว่าในเช้าวันนั้น ทหารฝรั่งเศสทั้งสามกองพันได้เดินทัพเข้าตีบ้านพร้าวพร้อมกัน และเสียผู้บังคับกองพันไปคนหนึ่ง นักประวัติศาสตร์การทหารของฝรั่งเศสไม่ยอมแอะเรื่องนี้เลย ทุกวันนี้ญาติของนายทหารที่เสียชีวิตในวันนั้นบางคนยังโพส์ตข้อความในอินเทอเน็ต ขอข้อมูลจากผู้ที่อาจรู้เห็นอยู่เลย ที่ผมเจอมีสองราย

Lieutenant Guy Francois Adolf de Cros Peronard belonged to the Foreign Legions 5th regiment and was killed in action in 16/01/1941.

และ

Capitaine CHALVIDAN, CO of the 11e Compagnie. He was French by nationality
My Capitaine Chalvidan was killed in action against the Thai Army in Cambodia in 1941. He was a company commander in the 5e R.E.I. (5th Foreign Legion Infantry Regiment) at the time of his death

และในข่าวนั้นก็ทำให้ได้ทราบเช่นกันว่า พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเอาใจเชลยศึกเหล่านี้มาก อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเป็นอดีตนักเรียนนายทหารเก่าฝรั่งเศส หรือทราบอยู่แก่ใจว่า อีกไม่นานไทยกับฝรั่งเศสก็จะเลิกเป็นศัตรูกัน การสั่งอาหารจากโรงแรม๕ดาว ซึ่งมีแห่งเดียวในขณะนั้นมาเลี้ยงเชลยย่อมไม่ธรรมดา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 08:54
วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๔

ข่าววันนี้ถ้าอ่านแล้วเชื่อ ก็จะเห็นว่าเชลยฝรั่งเศสเชื่องแล้ว เพราะการดูแลอย่างดีของไทย ถึงกับยอมแบไต๋เบื้องหลังกองทัพฝรั่งเศสให้ไทยทราบ ทำให้คิดฝันกันไปเองว่า “นับว่าไทยเรามีชัยไปขั้นหนึ่งอย่างงามแล้ว”


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 09:00
แต่ถ้าอ่านเรื่องของเชลยศึกที่เขียนเล่าโดย พ.ท.ชาญ กิตติกูลตอนนี้แล้วเชื่อว่าจริง ก็จะเห็นว่า การที่หลวงพิบูลยอมลงทุนเอาอกเอาใจพวกเชลยฝรั่งเศสนั้น ไร้ผลโดยสิ้นเชิง เชลยเหล่านี้น่าจะเอาไปขังคุกขี้ไก่ที่พวกฝรั่งเศสทำไว้ที่จันทบุรีสมัยรัชกาลที่๕มากกว่า

รุ่งขึ้นอีกสองวัน ทหารไทยจับเชลยศึกได้ ๑๘ คนบรรดาเชลยเหล่านั้นเป็น กองพันทหารรับจ้าง กองพันที่ ๕ มีสมยาว่า กองพันทหารเสือ จับได้ทั้งคนทั้งธงไชยประจำกองพัน เอาเชลยมาขังไว้ในโรงรถตรงข้ามกับบ้านพักที่ผมตั้งสถานีวิทยุอยู่ ผมเองใจไม่ดีกลัวพวกเชลยจะแหกที่ขังออกมาอาละวาด แต่คลอดคืนไม่ยักกะมีใครกล้าแหกออกมา ถ้าจะกลัวเสือ เพราะล่ามขู่ไว้ว่า ที่อรัญญประเทศนี้เสือชุม

รุ่งเช้าจึงพาตัวขึ้นรถไฟส่งเข้ากรุงเทพ เชลยทั้งหมดถูกนำไปกักกันไว้ที่สวนสัตว์เขาดินวนา พอสงครามสงบเชลยเหล่านั้นถูกนำไปขังต่อ ที่กองรักษาการณ์ค่ายจักรพงษ์ จนมีการแลกเปลี่ยนเชลยจึงส่งกลับไปยังไซ่ง่อน

ระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่ค่ายจักรพงษ์ เชลยเหล่านี้หัวแข็ง พยายามฝ่าฝืนระเบียบอยู่เสมอ ผู้บังคับกองรักษาการณ์ตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง ถึงกับมีการลงโทษทางอ้อม

วิธีหัวแข็งของเชลยทำแปลก ๆ เช่น พยายามถ่ายรดกางเกงตัวเอง แล้วขออนุญาตไปซักที่บ่อน้ำ โดยให้ทหารคุมไป พยายามหาทางหนีแต่หนีไม่ได้ เพราะผู้บังคับกองรักษาการมักจะคุมไปเสียเอง

ตอนเช้าถึงเวลาชักธง เราขอร้องให้พวกเขาอยู่เฉย ๆ พี่แกไม่ยอม พอเป่าแตรชักธง พี่แกพยายามแหกปากร้องเพลง บางทีก็วิ่งเข้าวิ่งออก ระหว่างห้องนอนกับสนามเดินเล่น ก่อกวนมันเสียอย่างนั้นแหละ ใครจะทำไม

พอถึงคราวทหารสื่อสารเข้ากองรักษาการณ์ เราได้รับคำเตือนเรื่องเชลยก่อกวนมาแล้ว บังเอิญผู้กองรักษาการณ์พูดภาษาฝรั่งเศสได้ด้วย จึงเจอดี พอชักธงลงตอนเย็น เชลยแหกปากร้องเพลงพร้อม ๆ กัน ยกเว้นร้อยเอกผู้มีอายุคนหนึ่งไม่ได้ร่วมด้วย

พอรุ่งเช้าผู้กองรักษาการณ์สั่งทหารคนหนึ่งเข้าไปในค่ายกักกัน เทน้ำทิ้งเสียทุกโอ่ง จนเย็นจึงยอมให้เชลยญวนหัวล้านคนหนึ่งไปหาบน้ำได้ นั่นแหละเชลยจึงเลิกก่อกวน

เชลยบางคนนิสัยดี ร้อยเอกผู้มีอายุนั้นคนหนึ่งละ แกร้องขอเครื่องมือขุดดิน ขอพันธุ์ไม้ดอก ได้มาแล้วตะแกก็ขุดดินทั้งวันแล้วปลูกต้นดอกไม้จนงาม ทำเป็นแปลงสวย แล้วขอหญ้ามาปลูกเป็นรูปพระอาทิตย์มีดาวล้อม ซึ่งเป็นเครื่องหมายของศาสนาอิสลาม พวกเราจึงทราบว่าแกนับถืออิสลาม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 09:02
ใครก็ตามที่เขียนข่าวแถลงให้กองบัญชาการทหารสูงสุด   น่าจะผ่านวิชาการเขียนระดับสูงและวิชาจิตวิทยามาแล้ว   เพราะเขียนได้มีสีสัน  ส่งเสริมขวัญกำลังใจของทหารกับประชาชนได้เยี่ยม      รู้วิธีเขียนแบ่งข่าวได้ออกเป็น 2 ส่วน
- รายงานข้อเท็จจริง   (ประโยคสีดำ)
-ไม่ลืมบวกกับคำขยายที่เกริกไกรเข้าไปด้วย เพื่อมีผลต่อความรู้สึกของประชาชน มากกว่ารายงานข่าวอย่างธรรมดา (ประโยคสีแดง)
    -  (ค.ห. ๑๒๑) วันนี้เป็นวันที่กองพลพระนครทำการรบ มีชัยอย่างใหญ่หลวง
    -  (ค.ห. ๑๒๑) ตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายล้มตายไปเป็นอันมาก

    -  (ค.ห. ๑๒๑) ฝ่ายเราได้รับรายงานว่า ด้วยคุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองตลอดมา   ยังไม่ปรากฏอันตรายประการใด
    -  (ค.ห. ๑๒๑) นิมนต์พระครูไปแสดงพระธรรม...ทราบซึ้งถึงความอนุเคราะห์อย่างใหญ่ของรัฐบาลไทยที่ได้กอบกู้อิสรภาพแก่พวกเขา

     ส่วนในค.ห. ๑๒๒  อ่านแล้วประชาชนน่าจะรู้สึกยินดีกับเชลยศึกฝรั่งเศสมาก    เหมือนทหารไทยมาช่วยให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ ไม่อดอยากอย่างเก่าแท้ๆเชียว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 09:08
ชนกันกลางอากาศกับค.ห. ๑๒๕

หมดกัน 
ถ้าพ.ท.ชาญ เขียนเรื่องนี้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๔   ท่านคงทำให้ประชาชนที่กำลังฟังคำแถลงทางวิทยุกระจายเสียง ด้วยความเพลิดเพลินจำเริญใจ   ตกวิมานลงมาดังแอ้ก !


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 15:25
ครับ เค้ามั่วกันดีจัง  ดังนั้น นี่คืออีกคำถามหนึ่งที่ผมถามท่านเสธฯพร


“เอ..เวลาเขาบันทึกเหตุการณ์ต่างๆนี่  มีใครมาถามท่านบ้างไหมครับ”

“เค้าไม่ถาม”

“อ้าว แล้วงั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเลยใช่ไหมครับ”

เสธฯพร ท่านไม่ยอมตอบผมตรงๆ
“ พวกประวัติศาสตร์ของ(กรม)ยุทธการนี่…ผมว่า..ใช้ไม่ได้
 ...ผมไม่ได้ถูกถามเรื่องร.พัน๓หรอก แต่เรื่องรบบนพอร์คช๊อปนี่ เราพูดอะไรๆ เค้าไม่เชื่อ”

“บนพอร์คช๊อป? แปลว่าอะไรหรือครับ??”

“ที่เกาหลีไง สมรภูมิที่มีชื่อเสียงมากมาย…”

“อ๋อ ๆ ครับๆๆ”


โปรดอย่ามาถามผมนะครับว่าผมอ๋อ ๆ ครับๆอะไร เรื่องเป็นยังไง ผมไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 16:06
ครับ เค้ามั่วกันดีจัง  ดังนั้น นี่คืออีกคำถามหนึ่งที่ผมถามท่านเสธฯพร

“เอ..เวลาเขาบันทึกเหตุการณ์ต่างๆนี่  มีใครมาถามท่านบ้างไหมครับ”

“เค้าไม่ถาม”

“อ้าว แล้วงั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเลยใช่ไหมครับ”

เสธฯพร ท่านไม่ยอมตอบผมตรงๆ
“ พวกประวัติศาสตร์ของ(กรม)ยุทธการนี่…ผมว่า..ใช้ไม่ได้
 ...ผมไม่ได้ถูกถามเรื่องร.พัน๓หรอก แต่เรื่องรบบนพอร์คช๊อปนี่ เราพูดอะไรๆ เค้าไม่เชื่อ”

“บนพอร์คช๊อป? แปลว่าอะไรหรือครับ??”

“ที่เกาหลีไง สมรภูมิที่มีชื่อเสียงมากมาย…”

“อ๋อ ๆ ครับๆๆ”


โปรดอย่ามาถามผมนะครับว่าผมอ๋อ ๆ ครับๆอะไร เรื่องเป็นยังไง ผมไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด

ก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่    ท่านใดอยากได้คำตอบลองพิมพ์คำว่า Pork Chop Hill, Korea ลงในกูเกิ้ล ก็ได้นะคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 16:12
^
ขอบคุณครับ

หรือจะแถมคำว่า Thai พ่วงท้ายไปด้วยก็จะยิ่งชัด



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 16:23
พอพ่วงท้ายด้วย Thai เลยหาเว็บภาษาไทยเจอ  

วันที่ 25 มิถุนายนเมื่อปี 2493 การรบอย่างรุนแรงของกำลังพลของสหประชาชาติเริ่มขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี การรบอันโหดร้ายนี้จะกินเวลาอันยาวนานไปอีก 3 ปี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ในจำนวนทหารกว่า 1 ล้าน 2 แสนคนของสหประชาชาติ มีทหารไทยจำนวน 6,326 คนเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติในนามของกรมผสมที่ 21 ซึ่งไทยเป็นประเทศในเอเชียประเทศแรกที่ให้คำมั่นในการส่งกำลังทหารเข้าสู่การรบนี้

มีคำกล่าวว่า ทหารไทยในสงครามเกาหลีนั้น ต่อสู้กับข้าศึกเสมือนหนึ่งปกป้องบ้านเมืองตนเอง โดยเฉพาะการรบครั้งสำคัญที่เนินเขาพอร์คช็อปซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ทหารไทยตั้งรับการเข้าตีของกำลังฝ่ายข้าศึกถึง 5 ครั้ง แต่กำลังจำนวนมหาศาลของข้าศึกก็ไม่สามารถทำให้ทหารไทยร่นถอยได้

ผ่านไป 60 ปี แม้ว่าสงครามเกาหลีจะยังไม่สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ แต่วีรกรรมและความกล้าหาญของทหารไทยในครั้งนั้นก็ทำให้เกียรติยศของกองทัพไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จนได้รับการขนานนามจากพลเอก เจมส์ เอ แวน ฟลีท ผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 ของสหรัฐว่าเป็นพยัคฆ์น้อยหรือ Little Tiger ซึ่งหมายถึงทหารร่างเล็กที่สู้เหมือนเสือ

ในจำนวนทหารทั้งหมดทุกผลัดของไทย มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 136 นาย และผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก วาระโอกาสครบรอบ 60 ปีของสงครามเกาหลีในครั้งนี้สมาชิกและทีมงาน ThaiArmedForce.com ขอแสดงการรำลึกถึงทหารไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทหารไทยไปปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเกาหลีทุกคนในความเสียสละและกล้าหาญ ที่ทำให้ประเทศไทยและเกียรติภูมิของกองทัพไทยถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์นี้ของโลก

http://www.thaiarmedforce.com/taf-article/48-skyman/148-60-year-of-korean-war.html


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ก.พ. 12, 16:35
ท่านอาจารย์จะไม่ต่อความยาวสาวความยืดจริงๆ หรือครับ  :-\  เหล่านักเรียนตอนนี้ข้ามทะเลไปรอถึงเกาหลีกันแล้ว

ประวัติศาสตร์แบบทั่วๆ ไปที่หาอ่านได้เรื่องเนินพอร์คช๊อป มันก็มีแต่ภาพรวม แถมไอ้อ๋อๆ นี่คืออะไร แล้วพวกประวัติศาสตร์ของกรมไม่ยอมเชื่ออะไร
นักเรียนหูผึ่งกันหมด  ตอนนี้ไปรอพร้อมที่เกาหลีแล้วครับ 8)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 16:40
เรียนท่านอาจารย์
ตอนนี้ตื่นกันหมดทั้งห้องแล้วค่ะ   ถือพาสปอร์ตประทับวีซ่าเกาหลี มาเข้าคิวรอกันอยู่เป็นแถว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 17:02
แหะ แหะ .... เอื๊อก

พ๋มก็เพิ่งจะรู้ว่ามีพอร์คช๊อปที่ไม่ได้หมายความถึงอาหารยอดนิยมของฝรั่งมังค่าเค้า ก็ตอนที่เสธฯพรท่านเฉลยในวันนั้นน่ั่นแหละขอรับ

ท่านเล่าอะไรมาต่อจากนั้น ผมก็ได้แต่อ้อๆครับๆ เพราะไม่มีภูมิหลังเอาเลย
พอดีได้เวลา เห็นว่ารบกวนท่านผู้เฒ่านานแล้ว เกรงใจ ผมก็เลยลากลับ

ใครที่มีวีซ่าเกาหลีก็ถือไว้ก่อนนะครับ ยังมีเวลาอีกตั้ง๖เดือนจึงจะหมดอายุ
ผมยังไม่ได้ตัดสินใจกรอกบัตรจะไปด้วยเลย

ยังเพลินอยู่แถวชายแดนเขมรนี่แหละ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 17:57
สรุปผลงานทางด้านการทหารของไทยในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสตรงนี้เสียหน่อยก็แล้วกันครับ

หลังจากการรบครั้งสำคํญที่สมรภูมิบ้านพร้าว และสมรภูมิทางทะเลที่เกาะช้างแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็เนือยๆไปเพราะญี่ปุ่นเห็นว่าเด็กๆชกกันพอหอมปากหอมคอแล้ว แยกดีกว่าเดี๋ยวฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะพิการไป เสียแผนของญี่ปุ่นที่จะหาพันธมิตรช่วยร่วมรบเพื่อครอบครองเอเซียแทนฝรั่งพอดี

ใกล้จะหยุดยิงอย่างเป็นทางการ ข่าวทหารก็แถลงออกมาดังนี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 18:02
๑๒ กุมภาพันธุ์ ๒๔๘๔


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 20:15

หลังจากการรบครั้งสำคํญที่สมรภูมิบ้านพร้าว และสมรภูมิทางทะเลที่เกาะช้างแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็เนือยๆไปเพราะญี่ปุ่นเห็นว่าเด็กๆชกกันพอหอมปากหอมคอแล้ว แยกดีกว่าเดี๋ยวฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะพิการไป เสียแผนของญี่ปุ่นที่จะหาพันธมิตรช่วยร่วมรบเพื่อครอบครองเอเซียแทนฝรั่งพอดี

เหตุผลตรงนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ  เพราะดูตามรูปการณ์แล้ว ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบฝรั่งเศสทุกประตู     ทำไมญี่ปุ่นถึงมาไกล่เกลี่ย
แต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม  ผลการไกล่เกลี่ยก็คือไทยได้ดินแดนกลับคืนมา  
เรียกว่าชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 20:41
หลังจากพิมพ์ข้างบนนี้ไปแล้ว  ก็นึกได้ว่าเป็นไปได้ไหม อีกประการหนึ่ง   นอกจากญี่ปุ่นจะสงวนพันธมิตรอย่างไทยไว้ไม่ให้บอบช้ำกับการทำสงครามกับฝรั่งเศส    ก็อาจมีเหตุผลอีกอย่าง คือญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ไทยขยายดินแดนได้มากกว่านี้อีก     จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศใหญ่ในเอเชียอาคเนย์    
ต่อไปภายหน้า  ญี่ปุ่นขยายอำนาจมาทางนี้เมื่อใด  ก็จะเคี้ยวยากขึ้นกว่าเก่า     จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลม   ให้ไทยแลนด์เอาดินแดนไปแค่นี้แหละ พอแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 12, 22:17
ขออนุญาตตอบ

ประเทศที่ผลิตอาวุธไม่เป็น (ไม่นับหอก ดาบ ปืนคาบศิลา พญาตานี) ไม่มีทางเป็นเจ้าอาณานิคมได้หรอกครับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาณานิคมน้อยๆหรือยิ่งใหญ่ระดับมหาอำนาจ

เหตุที่ไทยรบชนะฝรั่งเศส ต้องสังเกตุด้วยว่านักประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง จะแยกแยะเรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส หรือมิฉะนั้นก็จะเรียกว่ารัฐบาลวีชี่  เขาไม่ถือว่าใช่ฝรั่งเศส(ที่เคยเป็นประเทศมหาอำนาจ)แท้ๆ

ญี่ปุ่นนั้น ก่อนสงครามจะขายอาวุธทันสมัยให้ไทยถูกๆ หลังจากที่อเมริกาและยุโรปทำท่าไม่อยากจะขายให้ คงเป็นด้วยหวังว่าวันหนึ่งจะได้ไทยเป็นพวก เอาอาวุธญี่ปุ่นไปช่วยขับไล่ฝรั่งออกจากดินแดนที่ญี่ปุ่นหวังจะได้ครอบครองแหล่งทรัพยากรแทน โดยเฉพาะฝรั่งเศสในอินโดจีน

บังเอิญฝรั่งเศสแพ้เยอรมันในสงครามภาคพื้นยุโรปเร็วเกินไป อินโดจีนฝรั่งเศสขาดน้ำเลี้ยง ญี่ปุ่นจึงบีบเข้าเป็นพันธมิตรได้ง่ายๆ โดยรบกันเพียงสี่ห้าวันหลังการยกพลขึ้นบก ฝรั่งเศสก็ยอมเปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพในญวนทางเหนือเพื่อจะบุกจีนได้ ความจำเป็นที่จะยืมมือไทยช่วยผ่อนแรงบ้างก็หมดไป เมื่อไทยหาข้ออ้างขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศส โดยส่งทูตไปทั้งโตเกียวและเบอร์ลินเพื่อขออนุญาตทะเลาะกับฝรั่งเศสวีชี่ ทั้งสองชาติเห็นใจยอมเปิดไฟเขียวให้โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่บุกเกินพื้นที่ที่เคยเป็นของไทยมาก่อนเท่านั้น  ส่วนอื่นๆห้ามแตะ หลวงพิบูลฯจึงกล้าที่จะบุกข้ามพรมแดนไปรบฝรั่งเศส

ส่วนเหตุผลที่ว่า ไทยกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบฝรั่งเศสทุกประตู ทำไมญี่ปุ่นถึงมาไกล่เกลี่ย

เหตุการณ์ที่เกิดติดๆกันในวันที่๑๖ มกราคม ซึ่งทัพบกฝรั่งเศสแตกพ่ายยับเยิน และวันที่๑๗ ซึ่งไทยเสียเรือรบชั้นเยี่ยมไปถึง๓ลำ ไม่นับที่ผ่านมาตั้งแต่รบกัน เครื่องบินของกองทัพอากาศทั้งสองฝ่ายที่ยิงกันตกเป็นว่าเล่น คลังเชื้อเพลิงเกือบหมดแล้ว และคลังแสงที่กระสุนก็เกือบเกลี้ยง ญี่ปุ่นคำนวณแล้วเห็นว่า พันธมิตรน้อยๆทั้งสองบอบช้ำเต็มที สมควรจะหยุดได้แล้ว  เมื่อมหาอำนาจบอกให้หยุด ทั้งไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสไม่มีใครกล้าหือ การประชุมตกลงทำสัญญาสงบศึกที่โตเกียว ญี่ปุ่นก็เป็นฝ่ายนั่งฟัง ให้ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน จะเอาโน่นเอานี่ไปก่อน พอยันกันเหนื่อยหาที่ยุติไม่ได้ญี่ปุ่นถึงจะทุบโต๊ะว่างั้นเอาอย่างนั้นอย่างนี้  ให้ไทยได้ดินแดนคืน แต่ก็ต้องจ่ายเงินมหาศาลให้ฝรั่งเศสเป็นค่าชดเชย(พร้อมกำไร)สำหรับสิ่งก่อสร้างต่างๆที่ได้ลงทุนไปแล้วในดินแดนที่จะยกให้ไทย  พวกฝรั่งเศสในอินโดจีนกำลังขาดเงินหิวโหยอยู่แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงอันเป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างก็นำไปอ้างกับประชาชนของตนได้ว่าเป็นชัยชนะ

หลังสงครามโลกสงบ ไทยก็ต้องคืนดินแดนให้เขาไป แต่เงินเขาไม่ยักคืนมา

แต่ก็ช่างเถอะ เพราะหากไทยยังคงครอบครองดินแดน ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือแผ่นดินของเขมรและลาวอยู่ไม่ยอมปล่อย  เราคงได้ประสพชะตากรรมเหมือนฝรั่งเศสที่พยายามจะกลับเข้าไปครอบครองอินโดจีนอีก  ชัยชนะของกองทัพญวนที่ติดอาวุธให้โดยจีนแดง ขับไล่บดขยี่กองทัพฝรั่งเศสทุกที่มั่น สุดท้ายก็สมรภูมิเบียนเดียนฟูที่ทหารต่างด้าวละลายไปจริงๆหลายกรม ทหารตายและบาดเจ็บหลายพันคน กรมที่๕ ที่เคยแพ้ไทย เจออาวุธรัสเซียที่จีนมอบให้ญวนแบบไม่อั้นยกนี้เข้า ถึงกับละลายไปจริงๆ คือรัฐบาลฝรั่งเศสยุบกรมทิ้งไปเลย

สมัยหลังสงครามโลกเป็นต้นมา ทหารชาติเอเซียไม่มีใครด้อยกว่าใคร แม้แต่ฝรั่งก็เถอะ ขอให้มีอาวุธเท่าเทียมพอสู้กันได้ก็พอ กองทัพของใครมีผู้อุปถัมภ์ที่ดี จะให้รบกับใครก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นการรบเพื่อป้องกันมาตุภูมิด้วยแล้ว ขวัญกำลังใจจะเหนือผู้รุกรานมาก และขวัญกำลังใจนี้แหละคือพลังที่จะทำให้ชนะผู้รุกรานได้อย่างเด็ดขาด
 
ขนาดไทยคืนดินแดนเขาไปแล้ว เรายังต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้านต่างฝ่ายต่างลัทธิ ทั้งรบในบ้านเขาและบ้านเรา ดีแต่ว่าตอนหลังเราพูดกับจีนรู้เรื่อง แล้วบังเอิญพี่เบิ้มค่ายคอมมิวนิสต์ รัสเซียกับจีนเกิดแตกคอกัน ไทยจึงรอดจากหายนะมาได้ อเมริกันมหามิตรตอนนั้นน่ะหรือ เผ่นกลับบ้านไปนานแล้ว



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 22:18
ไปเจอฝรั่งนั่งวิเคราะห์บทบาทของญี่ปุ่นที่เข้ามายุติสงครามอินโดจีน   เอามาลงให้อ่านเฉยๆ    ตั้งแต่อ่านที่ท่านนวรัตนนำหลักฐานจากหลายๆด้านมาเปรียบกันแล้วก็ไม่ขอฟันธงเรื่องอะไรทั้งนั้นละค่ะ

ฝรั่งเขาบอกว่า กรณีพิพาทอินโดจีนจบลงในปลายเดือนมกราคมด้วยฝีมือญี่ปุ่นที่ตัดสินใจว่าสงครามตรงนี้น่าจะจบได้แล้ว  เพราะมองว่าตอนนี้ไทยเริ่มหมดแรงแล้ว  คืบหน้าต่อไปไม่ไหว   ญี่ปุ่นก็เลยยื่นมือเข้ามาระงับข้อพิพาท  ด้วยกำปั้นที่ใหญ่กว่า  ใครๆก็ต้องฟัง
ผลการไกล่เกลี่ยคือญี่ปุ่นตกลงให้ประเทศไทยได้ครอบครองเฉพาะดินแดนที่รบชนะมาได้   แต่ก็ถูกบังคับให้จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐบาลวิชีด้วย

ข้อตกลงที่จะหยุดยิง ญี่ปุ่นก็เป็นผู้กำหนดอีกน่ะแหละ    ถึงตรงนี้ก็ดูออกกันแล้วว่าผู้ที่กำปั้นใหญ่ที่สุดในเอเชียคือใคร   ญี่ปุ่นยังต้องการรุกคืบผ่านไทยไปมาเลย์เซียและพม่าอีกด้วย     โดยมีไทยเป็นทางผ่าน
พอมาถึงตรงนี้  จอมพลป. ก็เริ่มไม่ไว้ใจญี่ปุ่นขึ้นมาแล้ว  จึงแอบติดต่อลับๆกับอเมริกาและอังกฤษเพื่อขอความช่วยเหลือ  จะเรียกว่าเหยียบเรือสองแคมก็น่าจะได้
จากนั้นเป็นยังไงก็หาอ่านได้จากเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 12, 22:22

สมัยหลังสงครามโลกเป็นต้นมา ทหารชาติเอเซียไม่มีใครด้อยกว่าใคร แม้แต่ฝรั่งก็เถอะ ขอให้มีอาวุธเท่าเทียมพอสู้กันได้ก็พอ กองทัพของใครมีผู้อุปถัมภ์ที่ดี จะให้รบกับใครก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นการรบเพื่อป้องกันมาตุภูมิด้วยแล้ว ขวัญกำลังใจจะเหนือผู้รุกรานมาก และขวัญกำลังใจนี้แหละคือพลังที่จะทำให้ชนะผู้รุกรานได้อย่างเด็ดขาด
 
ขนาดไทยคืนดินแดนเขาไปแล้ว เรายังต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้านต่างฝ่ายต่างลัทธิ ทั้งรบในบ้านเขาและบ้านเรา ดีแต่ว่าตอนหลังเราพูดกับจีนรู้เรื่อง แล้วบังเอิญพี่เบิ้มค่ายคอมมิวนิสต์ รัสเซียกับจีนเกิดแตกคอกัน ไทยจึงรอดจากหายนะมาได้ อเมริกันมหามิตรตอนนั้นน่ะหรือ เผ่นกลับบ้านไปนานแล้ว
นึกถึงสงครามเวียตนามขึ้นมาทันทีเลยค่ะ   อเมริกาส่งทหารมาตายเสียนับไม่ถ้วน  แพ้เวียตกง     


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 13:07
ไปสำรวจชัยชนะของกองทัพไทย ในสงครามอินโดจีน  ได้ผลมาตามนี้ค่ะ
-กองพลพายัพ ยึดได้แคว้นหลวงพระบาง ฝั่งขวาห้วยทราย ตรงข้ามเชียงแสน มีเมืองปากลาย หงสา และเชียงฮ่อน
-กองทัพอิสาน กองพลอุบลยึดได้แคว้นนครจัมปาศักดิ์   กองพลสุรินทร์ ยึดได้เมืองสำโรงจงกัล ทางจังหวัดเสียมราฐ
-กองทัพบูรพา ยึดได้พื้นที่ทางทิศตะวันตกของศรีโสภณ กองพลจันทบุรี ยึดได้บ้านกุบเรียง และบ้านห้วยเขมร ทางด้านทิศตะวันตกของบ่อไพลิน และพระตะบอง
- กองทัพเรือ ยุทธนาวีเกาะช้าง สามารถกันเรือรบฝรั่งเศสไม่ให้บุกเข้ามาถึงอ่าวไทยได้
- กองทัพอากาศ ไปทิ้งระเบิดทำลายสถานที่สำคัญทางทหาร ในอินโดจีนอีกหลายแห่ง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 13:11
ผลการเจรจา   ฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย  มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบองกันอย่างโอ่อ่าเอิกเกริก
ประเทศไทยได้ดินแดนคืนมาประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร  จัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม นครจัมปาศักดิ์ และลานช้าง   แต่ก็อย่างที่ท่านนวรัตนบอกไว้ข้างบนนี้   เราไม่ใช่ว่าจะได้มาฟรีๆ   แต่ถ้อยทีถ้อยตอบแทนกัน คือเอาดินแดนมาก็ต้องจ่ายเงินรัฐบาลฝรั่งเศสไป   ของฟรีไม่มีในโลกอยู่แล้ง
เงินนี้ ฝ่ายไทยเรียกว่าเงินทดแทนค่าก่อสร้างทางรถไฟของอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเงิน 6 ล้านเปียสตร์อินโดจีน  ผ่อนจ่าย 6 ปี   หลังจากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการปักปันดินแดนขึ้น ประกอบด้วยฝ่ายไทย   ฝ่ายฝรั่งเศส   และฝ่ายญี่ปุ่น   โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นเป็นประธานกรรมการ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 13:15
            ไทยได้รับดินแดนกลับคืนมารวมประมาณ 69,000 ตารางกิโลเมตร  จัดตั้งเป็นอำเภอและจังหวัด มีชื่อหลายชื่อตั้งเป็นอนุสรณ์แก่บุคคลสำคัญในสมัยนั้น    คือ อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอสินธุสงครามชัย อำเภอวรรณไวทยากร อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอหาญสงคราม และจังหวัดพิบูลสงคราม
            หลายชื่อก็คุ้นๆกันอยู่
            ส่วนจังหวัดที่มาจากชื่อเมืองเขมรและลาวเดิมก็คือ
            1. เมืองเสียมราฐ (เขมร) ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม  ปกครองอำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอวารีแสน และอำเภอจอมกระสานต์
            2. เมืองพระตะบอง (เขมร) ยกขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง ปกครองอำเภอเมืองพระตระบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี อำเภอไพลิน อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย
            3. นครจัมปาศักดิ์ (ลาว อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกขึ้นเป็นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประกอบด้วยอำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์ อำเภอวรรณไวทยากร อำเภอธาราบริวัติ อำเภอมโนไพร และอำเภอโพนทอง
            4. หลวงพระบาง (ลาว อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกขึ้นเป็นจังหวัดลานช้าง ประกอบด้วยอำเภอสะมาบุรี อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอแก่นท้าว อำเภอเชียงฮ่อน และอำเภอหาญสงคราม
            ส่วนเส้นเขตแดน  ใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน บรรดาเกาะที่อยู่ฝั่งขวาของเส้นเขตแดน (ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง) เป็นของไทย ยกเว้นเกาะโขง และเกาะโดน ไทยและฝรั่งเศสปกครองร่วมกัน

            สมัยนั้น อาณาเขตของไทยก็แผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาล    แต่ว่าอยู่ได้ไม่นาน    ตามลักษณะของสมบัติผลัดกันชม   โปรดอดใจรอท่านอาจารย์เจ้าของกระทู้มาเลกเชอร์บทต่อไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 17:10
ในภาพคือชาวเขมรส่วนหนึ่งที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  เหมือนกันทุกครั้งที่มีการยิงกันไม่ว่าในอดีต และอนาคต หลังๆนี้ไทยพยายามผลักดันกลับไป  แต่สมัยนั้น รัฐบาลหลวงพิบูลอ้าแขนไว้เกทับฝรั่งเศส โดยพยายามอธิบายทำนองว่าราษฎรอินโดจีนเหล่านี้ อพยพหนีการกดขี่ของฝรั่งเศสมาเป็นราษฎรไทย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:18
กระทู้มาถึงบทสุดท้ายแล้ว ผมยังมีภาพหลังเหตุการณ์ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าวมาให้ชมอีกนิดหน่อย

ในภาพนี้ ทหารไทยในสมรภูมิกำลังอัญเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสา โดยมีราษฎรส่วนหนึ่งร่วมด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:21
ค่ายของทหารไทย

ค่ายของฝรั่งเศสก็ประมาณนี้แหละครับ ไม่ได้หรูหรากว่ากันหรอก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:27
พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรี เดินทางไปแสดงความชื่นชมในชัยชนะครั้งสำคัญ ในภาพพลตรี หลวงพรหมโยธี เพื่อนซี้มารับที่สถานีรถไฟอร้ญประเทศ มีการตาเบ๊ะพึ่บพั่บรายงานตัวตามธรรมเนียมในฐานะแม่ทัพกองทัพบูรพา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:46
ผบ.สูงสุดได้เดินทางไปปอยเป็ตเพื่อชมทรากสงครามที่นั่น ในรูปท่านยืนสังเกตุการณ์บนที่สูงเพื่อฟังการบรรยายเหตุการณ์รบที่นั่น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:49
หลังจากนั้น ก็ชมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดมาได้จากข้าศึก ก่อนที่จะสั่งให้ส่งไปกรุงเทพเพื่อเปิดนิทรรศการให้คนไทยดู


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:53
ภาพสุดคลาสสิกที่ฝรั่งเศสไม่ยอมตีพิมพ์

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม กำลังยืนชมธงชัยเฉลิมพลของกองทหารต่างด้าว III/5 REI ที่ ร.พัน ๓ ยึดได้ โดยขวามือมีพันเอก หลวงสวัสดิรณรงค์ (สวัสดิ์ ดาระสวัสดิ์)  และซ้าย นาวาเอก หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล) นายทหารติดตาม ร่วมอยู่ด้วยในรูป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 19:56
ประดับเหรียญชัยสมรภูมิให้แม่ทัพ กองทัพบูรพา พลตรี หลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 20:01
ประดับเหรียญชัยสมรภูมิให้ผบ.ร.พัน ๓ พันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ(นิ่ม ชโยดม)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 20:03
เหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญกล้าหาญ และเหรียญช่วยราชการที่รัฐบาลทำขึ้นแจกในสงครามอินโดจีน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 20:06
ผบ.สูงสุดทักทายทหารที่ได้ร่วมรบ ในระหว่างการไปเยือนกองทัพบูรพาครั้งนี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 20:23
ภาพทั้งหมดในกระทู้นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมค้นคว้าหามาได้ ที่เหลือยังพอจะเขียนได้อีกสักเรื่องหนึ่ง แต่ขัดสนด้วยเวลาที่ผู้เขียนต้องทำกิจธุระอย่างอื่นบ้าง จะหมกมุ่นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบการงานไม่อากูล จะเข้าลักษณะฝักไฝ่อบายมุขไป

ดังนั้น ขอให้ท่านโปรดอดใจรอ "ตลุยสงครามอินโดจีนไปกับภาพ" อันเป็นบทสรุปตั้งแต่ต้นจนจบของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งกระนั้น

ตอนนี้ ผมขออนุญาตพักรบ และผบ.ท่านอนุญาตแล้วด้วย ไม่เกินปีนึงหรอกครับ แล้วผมจะกลับมา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 20:39
อาจารย์ปิดคอร์ส ออกจากห้องเรียนไปเฉยเลย 
ขอโหวตนักเรียน ทั้งหน้าชั้นหลังชั้น   ว่าจะทำยังไงกันดีคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.พ. 12, 20:47
เปล่าครับ  ไม่ได้ปิด

เชิญอภิปรายกันต่อเลยครับ ผมพักรบเฉยๆ ถ้าโดนพาดพิงถึงจะเข้ามาขอใช้สิทธิ์


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 21:09
เด็กๆ...
ท่านเปิดไฟเขียวให้ใช้สิทธิ์พาดพิงแล้วนะคะ

อาจารย์ลงนั่งพักเสียแล้ว   ตอนนี้ก็ไม่เหลืออะไรมาก   ดิฉันได้แต่เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าให้ฟัง ก่อนนักเรียนจะย่องออกจากชั้นไปกันหมด

แน่นอนว่าไทยยินดีปรีดากับการได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนมา   ชนิดที่ฝรั่งเศสยินยอมทำสัญญากันเป็นทางการ     รัฐบาลไทยประกาศให้หยุดราชการในวันที่ 12 มีนาคม 2484   ยกธงชาติไทยประดับเสาคู่กับธงชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกมีกำหนด 3 วัน กับได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484
ส่วนในดินแดนที่เคยเป็นของเขมร         ไทยก็ทำพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484   มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดน



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 21:30
     ความชื่นชมโสมนัสของประชาชนไทย  ส่งผลดีให้นายกรัฐมนตรีของไทยยิ่งกว่าผู้ใดทั้งสิ้นในครั้งนั้น    เห็นได้จากยศในขณะนั้นของจอมพล ป  คือนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม   แต่เมื่อกลายมาขวัญใจประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ด้วยผลงานที่รบชนะฝรั่งเศส ได้ดินแดนคืนมามากมายมหาศาล    เลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็เสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้เลื่อนยศพลตรีหลวงพิบูลสงคราม รวดเดียวเป็นพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก
     คณะผู้สำเร็จราชการ ก็เปิดไฟเขียวอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น   มิหนำซ้ำ  ยังให้มากกว่าที่ขอมาอีกด้วย   เห็นได้จากสำนักพระราชวังได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ในการที่ พลตรี ป พิบูลสงครามได้กระทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ   รัฐบาลได้ขอปูนบำเหน็จด้วยการขอพระราชทานยศให้เป็นพลเอก   พิจารณาแล้วว่าไม่น่าจะเป็นการเหมาะสมที่จะเลื่อนยศให้ตามที่เสนอมา ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม  จึงได้ถวายพระราชบังคมกราบทูลยศ จอมพล ให้แก่พลตรี ป พิบูลสงครามเพื่อเป็นเกียรติยศและตัวอย่างที่ดีงามของคนไทยสืบไป
   สรุปว่าขอเป็นพลเอก ท่านไม่ให้  แต่ท่านให้ยศที่ไม่ได้ขอ  คือก้าวจากพลตรีขึ้นเป็นจอมพลโดยไม่ต้องผ่านพลโทและพลเอก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 06 ก.พ. 12, 21:42
ขอแทรกอาจารย์เทาสักแว๊บนะครับ  ;D

ลองๆ ค้นราชกิจจานุเบกษาดู พบข้อสังเกตอะไรหลายๆ อย่างจะลองนำมาอภิปรายในที่นี้ครับ

1. ในรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิของกองพันทหารราบที่ ๓ (ซึ่งคงได้รับทั้งกองพัน)
ไม่มีรายชื่อของผู้ที่มียศ "นายดาบ" เลย ทั้งที่ในรูปถ่ายของคณะนายทหารกองพันทหารราบที่ ๓ มีชื่อนายดาบถึง ๒ คน  ???

2. นายทหารยศ "ว่าที่นายร้อยตรี" ในสงครามครั้งนี้ คือนักเรียนนายร้อยทหารบก (ชั้นปีที่ ๔ หรือ ๓ ก็ไม่แน่ใจนัก)
ที่ไม่จบการศึกษาเพราะต้องออกมาทำสงครามก่อนทั้งรุ่น
(ว่าที่นายร้อยตรี เปรม ติณณสูลานนท์ ก็ร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย โดยอยู่ในสังกัดกรมรถรบ)

3. เรื่องพลทหารที่เสียชีวิต ซึ่งระบุว่าชื่อ "จอน ปรีพงษ์" นั้น
หากไม่เสียชีวิตก็คงได้รับพระราชทานเหรียยชัยสมรภูมิเช่นเพื่อนๆ ทหาร
แต่ในราชกิจจานุเบกษานั้น มีพลทหารชื่อ "จอน จ้อนจิตรคล่อง" เพียงคนเดียว
เช่นนั้นคงจะเสียชีวิตในสนามรบจริงๆ (คงตรวจสอบรายชื่อได้จากฐานอนุสาวรีย์ชันสมรภูมิ)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 22:02
      ชัยชนะในสงครามอินโดจีน ก่อให้เกิดอนุสรณ์สถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพ คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ   สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาท   พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
       หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส

        ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป พีระศรี

        ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้ มีทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 คน ทหารเรือ 41 คน ทหารอากาศ 13 คน และตำรวจสนาม 12 คน จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 22:30
ภาพจากโอเคเนชั่น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 12, 09:31
ขอบคุณคุณ art47 ที่เข้ามาร่วมอภิปรายนะครับ ส่วนความเห็นเชิงคำถามนั้น ผมค้นข้อมูลมาขยายได้ดังนี้

จากกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศสครั้งนี้  ได้มีแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๒๕ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔ ณ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔ ให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ แก่หน่วยทหารดังนี้

กองทัพด้านบูรพา
 
กองพันทหารราบที่ ๓ ตั้งในกรุงเทพฯ
กองพันที่ ๖ กรมทหารราบที่ ๖ ตั้งที่จังหวัดลพบุรี
กองพันทหารราบที่ ๘ ตั้งในจังหวัดลพบุรี

กองทัพด้านอิสาน

กองพันทหารราบที่ ๒๑ ตั้งที่จังหวัดอุดรธานี

แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ตามราชกิจจา ฯเล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๓ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ หน้า ๒๓๓๓ แจ้งความณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทาน๔๑ นาย เป็นกองทัพบก ๑๕ นาย ตำรวจสนาม ๑ นาย กองทัพอากาศ ๒๕ นาย ดังมียศนามต่อไปนี้

กองทัพบก

นายพันตรี สุรินทร์ ปั้นดี
นายพันตรี สนิท หงษ์ประสงค์
นายร้อยโท ไชโย กระสิณ
จ่านายสิบเอก กิมไล้ แซ่เตียว
จ่านายสิบเอก คล้อย วงษ์สถิน
จ่านายสิบเอก โพล้ง กลัดตลาด
จ่านายสิบเอก ขุนทอง ขาวสุขา
นายสิบตรี ยงค์ สุขแสง
นายสิบตรี สำเภา สมประสงค์
นักเรียนนายสิบ จำนงค์ แฉล้มสุข
นักเรียนนายสิบ คณง รงค์กระจ่าง
พลทหาร สมัคร์ เนียวกูล
พลทหาร ยม สืบกุศล
พลทหาร อรุณ กลิ่นบัวแก้ว
พลทหาร เต็ก ขจรเวช

ตำรวจสนาม
นายร้อยตำรวจตรี หนู ไชยบุรี

กองทัพอากาศ

นายนาวาอากาศเอก ขุนรณนภากาศ (ฟื้น ฤทธาคนี)
นายนาวาอากาศตรี หม่อมราชวงศ์เสนาะ ลดาวัลย์
นายนาวาอากาศตรี หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร
นายเรืออากาศเอก ประสงค์ สุขชีวะ
นายเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร
นายเรืออากาศเอก มานพ สุริยะ
นายเรืออากาศเอก ไชย สุนทรสิงห์
นายเรืออากาศโท ทองใบ พันธุ์สบาย
นายเรืออากาศโท ผัน สุวรรณรักษ์
นายเรืออากาศตรี สว่าง พัดทอง
นายเรืออากาศตรี สังวาลย์ วรทรัพย์
นายเรืออากาศตรี สำราญ โกมลวิภาค
นายเรืออากาศตรี จรูญ กฤษณราช
นายเรืออากาศตรี แวว จันทรศร
พันจ่าอากาศเอก ศักดิ์ อินปุระ
พันจ่าอากาศเอก รังสรรค์ อ่อนรักษา
พันจ่าอากาศเอก ทองคำ เปล่งขำ
พันจ่าอากาศเอก สายบัว มดิศร
พันจ่าอากาศโท บุญเยี่ยม ปั้นสุขสวัสดิ์
พันจ่าอากาศโท เกฒา สินธุวรรณะ
พันจ่าอากาศตรี ลออ จาตกานนท์
จ่าอากาศเอก สง่า ว่องชิงชัย
จ่าอากาศเอก ประยูร สุกุมลจันทร์
จ่าอากาศโท จาด อ่ำละออ

แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ตามราชกิจจา ฯเล่ม ๕๘ ตอนที่ ๖๑ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ หน้า ๒๘๑๐ แจ้งความ ณ วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติแก่เรือรบ ๑ ลำ คือ ร.ล.ธนบุรี และทหารเรือ ๑๘ นาย ดังนี้

เรือรบ
ร.ล.ธนบุรี

ทหารประจำ ร.ล.ธนบุรี

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธุ์ (พร้อม วีรพันธุ์)
นายเรือเอก เฉลิม สถิรถาวร
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จัมปาสุต
พันจ่าเอก ทองอยู่ เงี้ยวพ่าย
พันจ่าเอก เอี้ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก นวล เสียงบุญ
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่ล้ง อาจสาคร
พันจ่าเอก เพื่อน สุดสงวน
พันจ่าเอก ชุน แซ่ฉั่ว
พันจ่าเอก เอ่ง แซ่ลิ้ม

ทหารประจำ ร.ล.สงขลา

จ่าเอก นาค เจริญสุข
จ่าเอก วงศ์ ชุ่มใจ

ทหารประจำ ร.ล.ขลบุรี

พันจ่าเอก ป๋อไล้ แซ่เฮง
จ่าตรี ชาญ ทองคำ


ไม่พบชื่อพลทหารชื่อ "จอน จ้อนจิตรคล่อง" หรือ “จอน ปรีพงษ์" เลย

ตอนคุยกับเสธฯพร เมื่อผมเอ่ยถึงพลฯจอน ท่านทำหน้างงๆเหมือนจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้ และพยายามจะนึกชื่อทหารของร.พัน ๓ ที่บาดเจ็บเล็กน้อย แต่ตอนนั้นท่านนึกไม่ออก บอกแต่ว่าไม่มีใครตาย


ส่วนที่ว่าไม่เห็นมีนายทหารยศนายดาบเลย ยศนายดาบทางทหารได้เปลี่ยนไปเรียกเป็นทางการว่า “จ่านายสิบเอก” ครับ นายดาบสมัยต่อมาจึงมีแต่ยศตำรวจ

ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โรงเรียนนายร้อยทหารบกเดิมที่เรียกใหม่หลังปฏิวัติ๒๔๗๕ว่าโรงเรียนเท็คนิคทหารบก ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านั้น ตามหลักสูตรกำหนดไว้๕ปี แต่ในเฉพาะปีที่เกิดสงครามกับฝรั่งเศสนี้ นักเรียนที่ผ่านปี ๓ แล้ว(แบบพลเอกเปรม) ก็ให้ออกมารับราชการเป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวดตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย ติดยศว่าที่ร้อยตรีได้เลย ส่วนว่าที่ร้อยตรีได้ที่ได้บังคับกองร้อยเห็นจะมีแต่พลเอกพร ธนะภูมิคนเดียว เพราะท่านกำลังจะจบปีนั้นพอดีขาดไม่กี่เดือน ความรู้ความสามารถก็ไม่หย่อนกว่านายทหารเท่าใดแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 12, 11:05

2. นายทหารยศ "ว่าที่นายร้อยตรี" ในสงครามครั้งนี้ คือนักเรียนนายร้อยทหารบก (ชั้นปีที่ ๔ หรือ ๓ ก็ไม่แน่ใจนัก)
ที่ไม่จบการศึกษาเพราะต้องออกมาทำสงครามก่อนทั้งรุ่น
(ว่าที่นายร้อยตรี เปรม ติณณสูลานนท์ ก็ร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย โดยอยู่ในสังกัดกรมรถรบ)


เกิดสนใจ ว่านอกจากว่าที่นายร้อยตรีเปรม  ยังมีนายทหารรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ ที่ต่อมามีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นชื่อคุ้นหน้ากันในราชการและการเมืองบ้างหรือไม่      ฝากคุณ art47 ช่วยสำรวจหน่อยนะคะ
ดิฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเพื่อนร่วมรุ่นของท่านพลเอกเปรม มีใครอีกบ้าง ที่ไปรบในสงครามอินโดจีนด้วยกัน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 12, 21:38
บันทึกของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

       ก้าวแรกของชีวิตนายทหารสำหรับผู้สำเร็จโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบกรุ่นที่๕ หลักสูตรพิเศษรวมทั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรียกได้ว่ามีความพิเศษสมกับชื่อหลักสูตร กล่าวคือ ทันทีที่เรียนจบก็ถูกส่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิสงครามอินโดจีน (กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส) อีกทั้งได้รับมอบกระบี่ด้วยพิธีการที่ไม่เหมือนรุ่นอื่นๆ
 
     “นักเรียนนายร้อยรุ่นผมเป็นรุ่นเดียวที่ออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่ยัง ติดตัว “ร” อยู่ คือยังมีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ ตั้งแต่วันที่๓ มกราคม ๒๔๘๔ โรงเรียนนายร้อยจัดพวกผม ๑๗ คนให้มาสังกัดกรมรถรบ ตอนนั้นเราก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับหมวด แล้ว และมีทหารในบังคับบัญชาแล้ว ทหารเป็นทหารกองหนุนทั้งหมด เพราะทางราชการเรียกระดมกองหนุนเข้ามา นอกจากผู้บังคับหมู่ ๒ คน และรองผู้บังคับหมวดอีกคนหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นทหารประจำการและตัวเรา เพราะฉะนั้นผมยังแต่งเครื่องแบบนักเรียนนายร้อย แต่เป็นผู้บังคับหมวดแล้ว...  แม้เวลาตอนไปสงครามอินโดจีน ผมก็ยังเป็นนักเรียนนายร้อยที่นำหมวดไปสงคราม อินโดจีน หลังจากนั้นอีก  ๑๗  วัน  ถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรี”


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 12, 21:40
    รุ่นรับกระบี่แบบสนาม       
  “ผมไม่ได้รับพระราชทานกระบี่หรือได้ติดดาวเหมือนอย่างนายทหารสมัยนี้ แต่ผมไปติดดาวอยู่ที่ปอยเปตในเขมร     ผมไปติดดาวอยู่ต่างประเทศ เพราะว่าได้รับคำสั่งให้ไปอยู่ที่ปอยเปตแล้ว ผู้บังคับการกรมท่านก็เรียกไปติดดาว     วิธีรับกระบี่ของผมก็คือว่า กระบี่ก็ไม่มี พอกลับไปที่หมวด หมวดก็อยู่ในสนามอยู่ในป่า    จ่ากองร้อยซึ่งผมยังจำชื่อได้ชื่อว่าจ่าบรรจง เอากระบี่มาโยนโครมแล้วบอกว่าหมวดเอาไปคนละเล่ม ตอนนั้นผมอยู่กัน ๓ คน คนหนึ่งก็คือ พลเอกสมศักดิ์  ปัญจมานนท์ นี่เอง พวกเราก็มาหยิบกันคนละเล่ม จึงนับว่าเป็นการออกเป็นนายทหารที่พิสดารที่สุดก็ว่าได้ เรียกว่าเป็นการรับ กระบี่ “แบบสนาม”

  “พวกผมไม่มีโอกาสได้เที่ยวเตร่ หรอก เพราะอยู่แต่ในสนามอยู่ในปอยเปต.. ที่แปลกที่สุดก็คือว่า  เรานึกว่าทหารทั่วๆ ไปจะมีระเบียบวินัยเหมือนกับนักเรียนนายร้อย แต่ที่จริงทหารกองหนุนเหล่านี้อายุมากกว่าผมทุกคน  ผมจบการศึกษาตอนนั้นอายุแค่ ๒๑ ปี ส่วนทหารกองหนุนก็ราว ๆ ๒๕ – ๒๖ ปีตัวโต ๆ น่ากลัวมาก บางคนเข้ามาก็เมาแล้ว  เราก็ไม่ค่อยได้เคยปกครองคนมา  ก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันจะไหวหรือ  แต่พวกเขาก็ดี ให้ความร่วมมือดีแล้วก็อยู่กันได้

       “ที่น่าจะพูดถึงอีกประการหนึ่งคือ  เราไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องการส่งกำลังบำรุงกันมากนัก ... ในเรื่องของยุทธการ เราเชี่ยวชาญพอสมควร  เพราะได้ศึกษามาจากระบบของฝรั่งเศส  แต่ในเรื่องของการส่งกำลังบำรุงก็ดี หรือการทดแทนกำลังพลก็ดี เราไม่ค่อยได้ ทำกันเท่าใดนัก เราจึงได้ประสบการณ์จากสงครามอินโดจีนนี้มากทีเดียว    บังเอิญโชคดีที่ว่าสงครามอินโดจีนนี่ใช้เวลาน้อย ผมคิดว่าเราจึงไม่ค่อยมีปัญหา... นอกจากนั้น  เรื่องของระบบการติดต่อสื่อสารเรามีไม่มากไม่เพียงพอ    สมัยผมยังใช้ธงสัญญาณกันอยู่ ใช้ไฟสัญญาณกันอยู่ รวมทั้งใช้การเคาะโทรเลขด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ใช้กันแล้ว   เลิกไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เราได้ปรับกองทัพของเราให้ทันสมัยพอสมควร  แต่ขวัญของคนช่วยกันได้มาก    คนที่เราผ่านไปตั้งแต่กรุงเทพถึงอรัญประเทศ เราเคลื่อนย้ายทางรถไฟ      ระหว่างทางเราได้รับการต้อนรับอย่างดี  เมื่อเราลงรถไฟที่อรัญประเทศก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นกัน ทำให้พวกเรามีกำลังใจกันมาก  เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรามีขวัญและกำลังใจดี..”

 


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 08 ก.พ. 12, 00:28

2. นายทหารยศ "ว่าที่นายร้อยตรี" ในสงครามครั้งนี้ คือนักเรียนนายร้อยทหารบก (ชั้นปีที่ ๔ หรือ ๓ ก็ไม่แน่ใจนัก)
ที่ไม่จบการศึกษาเพราะต้องออกมาทำสงครามก่อนทั้งรุ่น
(ว่าที่นายร้อยตรี เปรม ติณณสูลานนท์ ก็ร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย โดยอยู่ในสังกัดกรมรถรบ)


เกิดสนใจ ว่านอกจากว่าที่นายร้อยตรีเปรม  ยังมีนายทหารรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ ที่ต่อมามีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นชื่อคุ้นหน้ากันในราชการและการเมืองบ้างหรือไม่      ฝากคุณ art47 ช่วยสำรวจหน่อยนะคะ
ดิฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเพื่อนร่วมรุ่นของท่านพลเอกเปรม มีใครอีกบ้าง ที่ไปรบในสงครามอินโดจีนด้วยกัน

เมื่อเจ้าเรือนไหว้วานมา กระผมในฐานะผู้อาศัยย่อมต้องปฏิบัติตามขอรับ  ;D

แต่ขอเวลาสักหน่อยนะขอรับ เพราะลองตรวจสอบดูแล้วยังมีข้อก้ำกึ่งอยู่บ้าง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 12, 10:37
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
จากบันทึกข้างบน  ได้ชื่อเพื่อนร่วมรุ่นมาคนหนึ่งแล้ว คือพลเอกสมศักดิ์  ปัญจมานนท์
แต่คิดว่า พลเอกในวงการเมืองและกองทัพบก ในยุคพลเอกเปรมเป็นนายกฯ ที่เคยไปสงครามอินโดจีนมาด้วยกันยังมีอีก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 12, 13:19
พลเอกสิทธิ์ จิรโรจน์อีกท่านหนึ่งครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 12, 14:53
^


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 08 ก.พ. 12, 23:01
ก่อนอื่นต้องขอกล่าวก่อนว่า
นายทหารยศ "ว่าที่นายร้อยตรี" ที่ออกสงครามอินโดจีนนั้น เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกจำนวน ๒ รุ่น
คือนักเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปีที ๔ และนักเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปีที่ ๕

ซึ่งความแตกต่างที่สามารถทำให้รู้ได้ว่าใครอยู่ชั้นไหนก็คือ การพระราชทานยศทหาร ซึ่งประกาศมา ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น
มีนายทหารยศ "ว่าที่นายร้อยตรี" เกือบ ๓๐๐ คน ที่ได้รับพระราชทานยศสัญญาบัตรสูงขึ้น

แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานยศจาก "ว่าที่นายร้อยตรี" เลื่อนขึ้นเป็น "นายร้อยโท" เลย ไม่ต้องผ่านยศ "นายร้อยตรี"
จึงสันนิษฐานว่านายทหารจำพวกนี้คือนักเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปีที่ ๕ ซึ่งกำลังจะจบการศึกษาแล้ว
หลายคนก็เป็นที่รู้จักภายหลังในเกือบอีก ๔๐ ปีต่อมา เช่น

1. ว่าที่นายร้อยตรี สมจิตร์ ชมะนันทน์ (พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)
2. ว่าที่นายร้อยตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
3. ว่าที่นายร้อยตรี พร ธนะภูมิ (พลเอก พร ธนะภูมิ)
4. ว่าที่นายร้อยตรี ฉลาด หิรัญศิริ (พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ)
5. ว่าที่นายร้อยตรี สมบุญ ชุณหะวัณ (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ)
6. ว่าที่นายร้อยตรี สมหมาย ณ นคร (พลเอก เสริม ณ นคร)
7. ว่าที่นายร้อยตรี วัฒนเพิ่ม บุนนาค (พลตำรวจตรี โชติพัฒน์ บุนนาค)
8. ว่าที่นายร้อยตรี เฉลิมศรี จารุวัสตร์ (พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 12, 20:36
^


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 12, 20:58
สงครามอินโดจีนเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม   นอกจากทำให้สถานภาพนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมั่นคงขึ้นมากมายแล้ว   ก็ยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และภูมิศาสตร์หน้าใหม่ให้ประเทศไทย จากเนื้อที่ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ที่เอากลับคืนมาได้
แต่ประชาชนไทยชื่นชมกับชัยชนะอยู่ไม่กี่เดือน  ในเดือนธันวาคม 2484  นั้นเอง   ญี่ปุ่นก็ยกทัพเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อใช้เป็นทางผ่านไปสู่ประเทศใกล้เคียง     รัฐบาลจอมพลป. ตกลงประนีประนอมเป็นมิตรกับญี่ปุ่น  เพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อประชาชน    แต่เท่านั้นยังไม่พอ  รัฐบาลก้าวต่อไปถึงขั้นประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งรวมอังกฤษและฝรั่งเศส  ทำให้ไทยก้าวเข้าไปเป็นฝ่ายญี่ปุ่นเต็มตัว ในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกในปี 2488    พันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ   ประเทศไทยก็ตกอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามตามญี่ปุ่นไปด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 12, 21:06
เคราะห์ของไทยยังไม่ร้ายเกินไป   ในสงครามโลก เกิดขบวนเสรีไทยในต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ยอมรับมติของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายญี่ปุ่น      ขบวนเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศนี้เองที่กลายเป็นผลดีต่อประเทศ เมื่อสหรัฐอเมริกาถือข้างขบวนการเสรีไทย ว่าทำงานเป็นฝ่ายเดียวกับพันธมิตร  ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกตัดสินว่าเป็นประเทศแพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็ตาม ไทยก็ต้องชดเชยกับทางพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส   เรื่องของอังกฤษขอข้ามไปก่อนเพราะไม่เกี่ยวกับกระทู้  ส่วนฝรั่งเศสนั้นก็อย่างที่พวกเราคงเดาได้  คือรัฐบาลไทยต้องยอมคืนดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ยึดมาได้  ให้ฝรั่งเศสเอากลับไปทั้งหมด
สงครามอินโดจีนหรือกรณีพิพาทอินโดจีนก็จบลงเพียงแค่นี้    


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.พ. 12, 10:36
วันนี้ผมไปหาเสธฯพรท่านอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะไปคุยต่อเรื่องสมรภูมิพอร์คช็อป ไปๆมาๆเลยได้เรื่องอื่นๆมาด้วย

เอาเรื่องโรงเรียนนายร้อยสมัยท่านก่อนนะครับ

สมัยนั้นเรียกโรงเรียนนายร้อยทหารบก หลักสูตร๓ปี สำเร็จการศึกษาได้เป็นร้อยตรี ต่อมาได้เปิดหลักสูตรนายร้อยเทฆนิคขึ้น สอนวิชาเฉพาะ ทหารยานเกราะ ทหารช่าง ทหารปืนใหญ่ ฯลฯ ขึ้น คัดเอาผู้ที่สอบเข้าที่๑ถึงที่๖๐ไปแยกเหล่าเรียน  หลักสูตร๓ปีเช่นกัน

พลเอกเปรม ความจริงแล้ว รุ่นเดียวกันกับท่าน แต่สอบได้ต่ำกว่าที่๖๐จึงแยกไปเป็นนักเรียนนายร้อยเทฆนิค พลเอกพร สอบได้ที่๗๖ จึงเป็นนักเรียนนายร้อยธรรมดา เรียนวิชาทหารราบ
รุ่นของท่านและพลเอกเปรม เมื่อเรียนมาได้ประมาณ๒ปีครึ่ง เกิดสงครามอินโดจีน นักเรียนนายร้อยที่กำลังเรียนอยู่ปี๒และปี๓จึงได้รับการบรรจุให้เป็นนายทหาร ติดยศว่าที่ร้อยตรีทั้งหมด

ท่านเอ่ยถึง พลเอกสายหยุด เกิดผล ว่าเรียนน้อยที่สุดคือ ปีครึ่ง ก็ได้เป็นนายทหารแล้ว
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ฯ พวกนี้ก่อนท่าน๑ปี พลเอกฉลาด หิรัญศิริ หลังท่าน๑ปี ที่เอ่ยถึงนี้ คนดังในทางการเมืองทั้งนั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 12, 11:42
นักเรียนนายร้อยเรียน ๓ ปี  จบ    ถ้างั้นพวกนี้ต้องเรียนเตรียมทหารมาก่อน ๒ ปี หรือจบม. ๘ คะ
พลเอกเปรมเล่าว่าท่านเรียนจบอายุ ๒๑  งั้นท่านก็ต้องเข้านายร้อยเทฆนิค เมื่ออายุ ๑๘ ปี หรืออย่างมากก็ ๑๙  อายุเท่าคนจบปริญญาตรีสมัยนี้

อ้างถึง
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ฯ พวกนี้ก่อนท่าน๑ปี พลเอกฉลาด หิรัญศิริ หลังท่าน๑ปี ที่เอ่ยถึงนี้ คนดังในทางการเมืองทั้งนั้น
งั้นสามท่านนี้ก็ไม่ใช่เพื่อนร่วมรุ่นของพลเอกเปรม  แต่ว่าได้ "ว่าที่นายร้อยตรี" และเลื่อนเป็น "นายร้อยโท" พร้อมกัน

ป.ล. นอกเรื่องหน่อย  สังเกตว่า คำว่า technique  สมัยนั้นถอดตัว ch  เป็น ฆ    สมัยนี้เป็น ค  คงจะเปลี่ยนตั้งแต่วัธนธัมทางภาษาของจอมพลป.  ที่ไม่มี ฆ ระฆังละมัง?


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.พ. 12, 12:49
สมัยนั้นไม่มีโรงเรียนเตรียมทหารครับ โรงเรียนนายร้อยสมัยร.๖ มีตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม จบแล้วติดยศเลย

สมัย ร.๗ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของราชการ จึงยุบนักเรียนนายร้อยชั้นประถม เหลือแต่ชั้นมัธยม  ต่อมามีการสอบคัดเพื่อไปเป็นนักเรียนนายร้อยเทฆนิค(ผมก็สะกดไปอย่างเขา ตามอักขระวิธีสมัยโน้น)

ช่วงหลังสงครามโลกเพื่อเป็นการประหยัดรายจ่าย  จึงเปิดแค่โรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ โรงเรียนเตรียมนายเรืออากาศ รับผู้ที่จบชั้นมัธยม ๖ จากโรงเรียนสามัญเช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมจุฬาที่กลายมาเป็นเตรียมอุดมศึกษา ส่วนทหารก็เรียนอีก๒ปีแล้วเข้าโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ เหล่าใครเหล่ามันไปเลย

นานเข้า เมื่อแข่งกิฬากันคราวใด โรงเรียนทั้งสามจะเล่นกันแบบจะฆ่ากันเพื่อชัยชนะ นัยว่าเป็นการรักษาศักดิ์ศรี กองเชียรก็บุกข้ามฝ่ายไปตีรันฟันแทงเหมือนทำสงครามป้อมค่ายประชิด ประชาชนคนดูหัวร้างข้างแตกเวลาเขาทำยุทธเวหาด้วยการขว้างขวดและกระป๋องเข้าใส่กัน

พอโดนคนด่าหนักๆเข้าว่าไม่มีปํญญาแก้ไขปัญหา ทหารระดับผู้ใหญ่จึงยุบโรงเรียนเตรียมทั้งหมดมาตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร อยู่หัวมุมถนนวิทยุต่อกับสาทร เพิ่มตำรวจเข้ามาด้วยรวมเป็นสี่เหล่า ทหารตำรวจสมัยนี้จึงพูดกันง่ายเพราะเริ่มต้นเป็นเพื่อนกันมาแล้วตั้งแต่ยังตัดผมเกรียน

ถือว่าแก้ปัญหาได้ดีครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ก.พ. 12, 13:41


อ้างถึง
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ฯ พวกนี้ก่อนท่าน๑ปี พลเอกฉลาด หิรัญศิริ หลังท่าน๑ปี ที่เอ่ยถึงนี้ คนดังในทางการเมืองทั้งนั้น
งั้นสามท่านนี้ก็ไม่ใช่เพื่อนร่วมรุ่นของพลเอกเปรม  แต่ว่าได้ "ว่าที่นายร้อยตรี" และเลื่อนเป็น "นายร้อยโท" พร้อมกัน


พลเอก เปรม ท่านได้เลื่อนยศจาก "ว่าที่นายร้อยตรี" ขึ้นเป็น "นายร้อยตรี"
เช่นเดียวกับ

พลเอก สายหยุด เกิดผล
พลตรี ถวิล อยู่เย็น
 ;D

โดยปกติแล้วการตรวจสอบว่าใครเป็นนายทหารร่วมรุ่นเดียวกันบ้างของผม จะตรวจสอบจากราชกิจจานุเบกษาประจำปีนั้นๆ ในหัวข้อ "พระราชทานยศทหาร"
ปีอื่นๆ ย่อมไม่มีปัญหาอะไร เพราะจบแล้วรับราชการปีหนึ่งก็ติดยศนายร้อยตรีเลย
แต่นายร้อยรุ่นที่จบสงครามอินโดจีนนี้สับสนจริงๆ มีว่าที่นายร้อยตรีติดยศเลื่อนขึ้นตั้งเกือบ ๒๐๐-๓๐๐ คน
แถมบางคนติดยศ "นายร้อยโท" อีกต่างหาก สับสนอยู่ชั่วครู่ชั่วคราวใหญ่

นี่ถ้าหากมีหนังสือทำเนียบนายร้อยทหารบก ของกองทัพบกแล้วไซร้ จักง่ายขึ้นกว่านี้มาก  :D


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 12, 17:22
อ่านแล้วก็มึนๆอยู่เหมือนกัน
พลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกยศ  ก่อนพลเอกเปรม ๑ รุ่น  จากว่าที่ร้อยตรีได้เป็นนายร้อยโทเลย
พลเอกพร   รุ่นเดียวกับพลเอกเปรม ก็พาสชั้น จากว่าที่ร้อยตรีเป็นนายร้อยโท
พลเอกฉลาด   หลังพลเอกเปรม ๑ รุ่น  ก็พาสชั้นจากว่าที่ร้อยตรีเป็นนายร้อยโทเหมือนกัน
แต่พลเอกเปรม ที่อยู่รุ่นตรงกลาง และรุ่นเดียวกับพลเอกพร   เลื่อนจากว่าที่ร้อยตรีเป็นนายร้อยตรี (ตามระเบียบ)  ??? ??? ???


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.พ. 12, 18:16
คนอื่นไม่ทราบนะครับ แต่พลเอกพรท่านบอกว่าหลังจากการรบกับฝรั่งเศสจบลงประมาณ๖เดือน ท่านก็ได้เลื่อนยศจากว่าที่ร้อยตรีเป็นร้อยตรี ไม่ได้เอ่ยว่าในรุ่นของท่าน หรือหลังท่าน ใครแซงหน้าขึ้นไปเป็นร้อยโท

ส่วนท่านเกรียงศักดิ์นั้น อาวุโสกว่าท่านพร ยศพันตรีเท่ากันแต่ได้เป็นผบ.พันในการรบที่พอร์คช๊อป ส่วนเสธฯพรเป็นรอง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 12, 21:21
ถ้าโชคดี  คุณ art47คงจะค้นเจอหลักฐานว่านายทหารใหญ่ๆข้างบนนี้เป็นรุ่นไหนกันบ้าง   ได้หายสงสัยกันเสียทีค่ะ

ขอแยกซอยไปหน่อย  เพื่อยืดกระทู้  :)
ผลติดตามมาจากสงครามอินโดจีน ซึ่งยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ปราสาทพระวิหาร หรือเมื่อก่อนเรียกว่าเขาพระวิหาร

เดิม  ปราสาทหรือเขาพระวิหารแห่งนี้อยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ    เมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปที่นี่ ทรงเรียกชื่อโบราณสถานนี้ว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมา เรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ทรงจารึกพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า "118 สรรพสิทธิ"  ตัวเลขหมายถึงปีร.ศ. นั้น

ในรัชกาลที่ 5  เมื่อสยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส   ฝรั่งเศสก็เข้ามาปกครองเขมรเต็มตัว  เมื่อเขียนแผนที่แบ่งเขตแดนกันกับสยาม  แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำในตอนนั้น  เขียนให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา    รัฐบาลสยามก็จำต้องยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำโดยไม่อาจทักท้วงได้   แต่ตามสภาพภูมิศาสตร์ ทางขึ้นเขาพระวิหารนั้นอยู่ทางฝั่งไทย  คนไทยก็ขึ้นไปยังปราสาทเขาพระวิหารโดยง่าย  


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 12, 21:22
เมื่อ พ.ศ.2483  กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นโบราณสถานของไทย

พ.ศ.2484   ผลจากสงครามอินโดจีน  ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกลับคืนมาเป็นของไทย เขาพระวิหารก็กลับมาเป็นสมบัติของไทยเต็มตัว
แต่พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพ.ศ. 2488   ไทยก็จำต้องคืนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกลับไปให้ฝรั่งเศส      ฝรั่งเศสและเขมรจึงไม่ยอมให้ไทยมีอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหาร และประท้วงไทยไม่ให้ส่งคนไปรักษาเขาพระวิหาร

เมื่อเขมรเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส  เขมรก็ยืนกรานว่าเขาพระวิหาร(ปราสาทพระวิหาร) เป็นของเขมร   จนพ.ศ. 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ซึ่งมีฝรั่งเศสสนับสนุน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลโลกชี้ขาดว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของเขมร

วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง บริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่

เรื่องก็ยังยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.พ. 12, 21:58
มาดูการสวนสนามฉลองชัยชนะของไทยกันครับ

http://www.youtube.com/watch?v=V3fp8im-CxQ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 12, 06:32
กำลังพลทั้ง ๔ เหล่า


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 12, 06:34
ยานยนต์ ปืนใหญ่ และรถหุ้มเกราะทั้งหลาย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 12, 06:43
ดินแคนที่ได้คืนมาสี่ห้าปี แล้วก็ต้องคืนไป และในที่สุดก็ตกเป็นของภูมิบุตรเจ้าของเดิม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 12, 20:21
เพลงแบคกราวน์ในค.ห. 184  คือเพลง เดิน
คำร้อง: พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ

เดิน เดิน เดิน อย่ายอมแพ้ใคร ชาติไทยต้องเดิน
เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังก้าวหน้า เราต้องพากันเดิน
เดิน เดิน เดิน อย่าท้อทางไกล ขอให้ไทยเจริญ
มาเพื่อนไทย มาร่วมน้ำใจ สมานฉันท์
ไปตายดาบหน้า เพื่อนไทยจงมาให้พร้อมเพรียงกัน
พบหนามเราจะฝ่า พบป่าเราจะฟัน พบแม่น้ำขวางกั้น เราจะว่ายข้ามไป
เดิน เดิน เดิน (ซ้ำ)
ไชโย ไชยะ ให้ไทยชะนะ ตลอดปลอดภัย ไชโย ไชโย (ซ้ำ)

ใครขวางทางเดิน เราจักต้องเชิญเขาหลีกทางไป
พบเสือเราจะสู้ พบศัตรู เราจะฆ่า พบอะไรขวางหน้า เราจะฝ่าฟันไป
เดิน เดิน เดิน อย่ายอมแพ้ใคร ชาติไทยต้องเดิน
เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังก้าวหน้า เราต้องพากันเดิน
เดิน เดิน เดิน อย่าท้อทางไกล ขอให้ไทยเจริญ

เป็นเพลงประกอบละคร เรื่องน่านเจ้า หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ก.พ. 12, 23:34
นักเรียนหลังห้องมาส่งเสียงบอกคุณครูทุกๆ ท่านว่ายังคงติดตามต่อไม่ได้หลบไปไหนนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 12, 21:00
แวะไปกินโอเลี้ยงแก้คอแห้ง ก่อนจะกลับมาดึงหนังสติ๊ก เพื่อยืดกระทู้ไว้อีก

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากว่าเราไม่เสียดินแดนคืนกลับไปให้ฝรั่งเศสนี้  ป่านนี้สองฟากฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไร  ฝั่งซ้ายจะยังอยู่กับไทยไหม?

เปิดอินทรเนตรมองหาคำตอบ   แม้ว่าคำถามนี้ไม่มีใครยืนยันได้ เพราะมันไม่มีวันได้เกิดขึ้นจริง  แต่เราก็พอจะคาดคะเนได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จบลง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดินแดนที่เรียกกันว่า "อินโดจีนของฝรั่งเศส" หรือ Indochine française ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Union Indochinoise

อาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 แห่ง คือเวียตนาม  ลาว และเขมร ล้วนแล้วแต่มีกลายเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดเลือดโชกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น  เพราะต่างก็ดิ้นรนไม่ยอมที่จะอยู่เฉยๆ ในอำนาจของฝรั่งเศส  หากแต่แสวงหาอิสรภาพมาให้ประเทศจนได้

เริ่มจากเวียตนาม
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา  เมื่อญี่ปุ่นมีเข้ายึดครองประเทศต่างๆในเอเชียอาคเนย์  เวียดนามได้แยกตัวเป็นอิสระแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน     ขบวนการเวียดมินห์เข้าร่วมมือฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่น    เมี่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม  ผู้นำคือโฮจิมินห์จึงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2488
หลังจากที่จักรพรรดิเบาได๋สละราชสมบัติ โฮจิมินห์ก็ตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ  เปลี่ยนแปลงระบอบเป็นแบบสาธารณรัฐ    ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมปล่อยมือจากเวียตนามจนแล้วจนรอด   โดยมีอังกฤษหนุนหลัง ขบวนการเวียดมินห์ได้จับอาวุธต่อสู้ ขับไล่ฝรั่งเศสอยู่อีก 9 ปี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 12, 21:10
ศึกที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเวียตนาม คือยุทธการเดียนเบียนฟู ที่เวียตมินห์มีชัยชนะ  ได้ละเลงเลือดฝรั่งเศสในสมรภูมิกันขนานใหญ่   ในพ.ศ. 2497   จนในที่สุด ฝรั่งเศสกับเวียดนามก็ได้ทำสัญญาสงบศึกที่กรุงเจนีวา เรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา

อนุสัญญาเจนีวา คือการล่มสลายของอินโดจีนของฝรั่งเศส  เพราะในข้อตกลงหลักๆคือ
๑ ให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นรุ้งที่ 17 เหนือ ซึ่งผ่านเมืองกวางตรี ตามแนวแม่น้ำเบนไฮ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
๒ ให้เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ซึ่งเคยรวมเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แยกออกเป็นรัฐอิสระ พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส

การแบ่งเวียตนามเป็น 2 ส่วนนี้เอง ก่อให้เกิดสงครามละเลงเลือดครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง    ได้แก่สงครามเวียตนาม  ซึ่งพวกเราหลายคนในเรือนไทยคงจะทันรู้เห็นกัน   เพราะเป็นที่กำเนิดของความคึกคักที่อู่ตะเภา ตาคลี  ในกรุงเทพก็ถนนเพชรบุรีตัดใหม่    เมื่อทหารอเมริกันใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพและที่พักผ่อน
ในสงครามเวียตนาม  เลือดของคนประเทศที่ถูกนำมาละเลง  ไม่ยักใช่ฝรั่งเศส   แต่กลับเป็นสหรัฐอเมริกา    ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมัยนั้นก็เอาชีวิตไปทิ้งเสียหลายคน     ผู้ที่รอดมาได้น่าจะเกษียณกันไปหมดแล้วในปี 2555  นี้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 12, 22:02
ทีนี้   ออกจากเวียตนาม ถือวีซ่าเข้าลาวกันบ้าง  ย้อนอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะที่ไทยยังปลื้มกับชัยชนะในกรณีพิพาทอินโดจีน

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เจอกองทัพญี่ปุ่นรุกเข้ายึดครองเหมือนกัน  แต่ลาวก็ไม่ยอมให้ยึดครองได้ง่ายๆ  เกิดขบวนการลาวอิสระเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราชลาว     พอญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม มีลางมาให้เห็นว่าไปไม่รอดแน่  ขบวนการนี้ก็ประกาศให้ประเทศลาวเป็นประเทศเอกราช  ชื่อว่า "ราชอาณาจักรลาว"

สงครามโลกจบลงด้วยการที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้อย่างรู้ๆกัน  ฝรั่งเศสในฐานะประเทศพันธมิตรผู้ชนะสงครามก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ไม่หมูเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว    เพราะเวียดมินห์ฮึดสู้ขึ้นมาไม่ยอมแพ้   อำนาจฝรั่งเศสก็ถูกสั่นคลอนอย่างชนิดไม่อาจจะกลับคืนมาได้อีก    ยังผลให้อำนาจเหนือลาวก็พลอยคลอนแคลนไปด้วย  จนถึงขั้นยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี พ.ศ. 2492 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเดิม และได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 12, 22:26
ออกจากลาว มาดูเขมรบ้าง

เขมรหรือประเทศกัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับลาว   ในตอนนั้น กัมพูชามีกษัตริย์ปกครอง โดยได้รับความเห็นชอบจากฝรั่งเศส คือเจ้านโรดมสีหนุ ที่คนไทยรู้จักกันดี    เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศก็ไม่ได้ทำอะไรกับกษัตริย์เขมร  เจ้าสีหนุยังนั่งบัลลังก์ตลอดช่วงสงคราม    
หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม  ฝรั่งเศสก็กลับมามีอำนาจเหนือกัมพูชาเหมือนเดิม  แต่สงครามกับเวียตมินห์ทำให้ฝรั่งเศสเริ่มป้อแป้ลงมาก   กัมพูชาเห็นเป็นโอกาสดีก็ฮึดสู้ฝรั่งเศสขึ้นมา แบบเดียวกับลาว    เจ้าสีหนุจึงประกาศยุบสภา ประกาศใช้กฎอัยการศึก และปกครองกัมพูชาโดยตรง  ไม่ยอมอยู่ใต้ฝรั่งเศสอีก

เจ้าสีหนุพยายามเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสจนสำเร็จ  เพราะฝรั่งเศสเสียเปรียบในสงครามเดียนเบียนฟู  ไม่ประสงค์จะเปิดศึกในอินโดจีนขึ้นมากับลาวและเขมร    ฝรั่งเศสจึงยอมให้เอกราชแก่กัมพูชาตามคำเรียกร้องของเจ้าสีหนุ
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 กัมพูชาได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวาพร้อม ๆ กับลาว และเวียดนาม

จึงคิดว่าต่อให้ไทยได้ปกครองดินแดนอินโดจีนบางส่วนจากชัยชนะในกรณีพิพาทอินโดจีน  ก็เห็นทีจะไม่ราบรื่นกับเจ้าของเดิมคือลาวกับเขมร   ทั้งสองประเทศนี้ นอกจากเรียกร้องเอกราชแล้ว  ก็คงจะเรียกร้องดินแดนกลับไปเป็นของเขาด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 12, 16:40
อนุสรณ์จากกรณีพิพาทอินโดจีนหรือสงครามอินโดจีน นอกเหนือจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว   ก็ยังมีเพลงปลุกใจของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการอีกหลายเพลง 
พยายามหาเนื้อเพลง แต่ไม่ได้ครบ  ได้มาท่อนเดียวคือเพลง  "ข้ามโขง"  ขึ้นต้นว่า ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย....
ทำนองซาบซึ้งสะเทือนใจ   คุณหลวงท่านนำมาจากเพลง Swanee River เพลงพื้นบ้านของอเมริกา
อยากให้ฟังกัน  แต่หาในยูทูปยังไม่เจอค่ะ   

ผลสืบเนื่องจากเพลงนี้ นำไปสู่สินค้าตัวหนึ่งของไทยที่ใครๆก็รู้จักชื่อจนทุกวันนี้  แม้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ยินชื่อสงครามอินโดจีนแล้วก็ตาม
นั่นก็คือ แม่โขง ยอดสุราของไทย  ถือกำเนิดเมื่อพ.ศ. 2484
ตามประวัติ เล่าว่า ชื่อแม่โขงได้รับแรงจูงใจจากเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ  ชื่อว่า "ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย" และ "โขงสองฝั่งเหมือน ฝั่งเดียวกัน" เมื่อประเทศไทยเรียกร้องดินแดนที่ฝรั่งเศสเอาไปผนวกเข้ากับประเทศในอาณานิคมของตนคืน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 18 ก.พ. 12, 22:52
แม้จะเข้าห้องช้าแต่ก็ตั้งใจเรียนจนทันครับ ;D


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 07:27
ขอบคุณที่แจ้งให้ทราบครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 21 ก.พ. 12, 15:25
วีรกรรมทหารเรือมีแล้ว ทหารบกมีแล้ว ยังขาดของกองทัพอากาศ ช่วงสงครามอินโดจีนนะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.พ. 12, 18:16
ยังมีคนอยากอ่านอีกเหรอครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 12, 21:16
นักเรียนหลังห้อง  ช่วยกันยกมือหน่อยซิคะ

เอารูปเครื่องบินมาเซิฟๆก่อนค่ะ  เขาบอกว่าเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ 10 (บข.10) หรือ Hawk III
มีรายละเอียดว่า
ประเภท        เครื่องบินขับไล่ปีกสองชั้น ที่นั่งเดี่ยว
                 ความเร็วสูงสุด 248 ไมล์ / ชม.
                 พิสัยบิน 577 ไมล์ / ชม.
                 เพดานบิน 29,700 ฟุต
                 อาวุธ ปืนวิคเกอร์ 8 มม. จำนวน 2 กระบอก ยิงลอดวงใบพัด
                 ติดระเบิด 50 กก. ใต้ปีกข้างละ 2 ลูก หรือ ระเบิดขนาด 250 กก. ใต้ลำตัว 1 ลูก
                ประจำการในกองทัพอากาศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2478 – 2492     
                 
- เป็นเครื่องบินขับไล่หลักของกองทัพอากาศไทยในช่วงสงครามอินโดจีน
- มีฉายาว่า “ฟ้าคำรน” เนื่องจากเสียงของเครื่องยนต์     
- เป็นเครื่องบินขับไล่แบบแรกของกองทัพอากาศไทยที่ถูกนำเข้าประจำการเป็นจำนวนมาก ทั้งจัดซื้อและสร้างขึ้นเอง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 ก.พ. 12, 04:17
ยังอยู่ครับ ไม่ไปไหน ไม่เบื่อด้วย

จริงๆ จำได้ว่าวีรกรรมของทางทัพฟ้าเราในสงครามอินโดจีนก็มีไม่น้อยนะครับ คาบเกี่ยวไปถึงช่วงสงครามโลกเลย
ที่ดีๆ ก็มี ที่พลาดพลั้งเช่นทิ้งระเบิดใส่พวกเดียวกันก็พอมีบ้าง

รอท่านอาจารย์มาต่อครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 23 ก.พ. 12, 14:17
เอามาเสริม เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ ๒ (บ.ท.๒)  บริพัตร
ออกแบบและสร้างโดยคนไทยในปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดย น.ท.หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ (อดีต ผบ.ทอ.)
เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น โครงสร้างทำด้วยด้วยท่อภูราลูแมงและไม้ บุผ้า ใช้เครื่องยนต์จูปิเตอร์ขนาด 400-600 แรงม้า 1 เครื่อง(เครดิต Skyforce ห้องหว้ากอ พันทิป)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 14:52
^
เครื่องบินแบบข้างบนนี้ไม่มีโอกาสได้เข้าสมรภูมิหรอกครับ

สร้างมาแล้ว บินไปอวดธงที่อินเดีย๓เครื่อง รอดกลับมาเครื่องเดียว
ปรับปรุงแล้ว บินไปอวดอินโดจีนฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็หายจ้อย เหลือไว้ประดับพิพิธภัณฑ์ทหารอากาศ๑เครื่องที่เห็นในภาพ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 23 ก.พ. 12, 21:04
นักเรียนที่ดีต้องรู้จักขวนขวาย
เครื่องบินแบบบริพัตร ไปเยือนประเทศอินเดีย
เมื่อไทยสามารถสร้างเครื่องบินแบบบริพัตร ซึ่งเป็นเครื่องบินที่นับว่าดีเด่นในสมัยนั้นได้เอง ท่านเจ้าคุณเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยานในระยะนั้น จึงมีความคิดเห็นว่า ควรจะมีการส่งเครื่องบินไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่เกียรติของประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
เมื่อเดือน พศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๒ อุปทูตอังกฤษ มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศนำคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ขอเชิญรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ส่งเครื่งบินทหารไปเยี่ยมประเทศอินเดียเป็นทางราชการ กระทรวงการต่างประเทศจึงส่งเรื่องให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาให้ความเห็น กระทรวงกลาโหมตกลงรับคำเชิญและเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้กรมอากาศยานดำเนินการตลอด คือเลือกสรรเครื่องบิน กำหนดตัวบุคคลที่จะไป วัน เวลา เส้นทาง แล้วรายงานให้ทราบ
กรมอากาศยานตกลงส่งเครื่องบินแบบบริพัตร จำนวน ๓ เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ออกแบบสร้างเองจากโรงงานกรมอากาศยาน กำหนดถึงกรุงเดลี ใน ๑ มกราคม ๒๔๗๒ โดยบินออกจากดอนเมืองและลงพักเป็นระยะ ๆ ดังนี้ ดอนเมือง - ย่างกุ้ง - อัคยับ - กัลกัตตา - อัลละฮาบัด - เดลี
      เครื่องที่ ๑   มีนายร้อยเอก จ่าง นิตินันทน์ ต่อมาเป็น นายพันตรี หลวงแสนพลเทพ เป็นนักบิน นายพันโท หลวงเนรมิตรไพชยนต์ เป็นผู้โดยสาร
      เครื่องที่ ๒   มีนายร้อยเอก กฤษณ์ บูรณะสัมฤทธิ์ ต่อมาเป็น นายพันตรี หลวงอัมพรไพศาล เป็นนักบิน และนายสิบเอก สีนวล มากพานิช ช่างเครื่องเป็นผู้โดยสาร
      เครื่องที่ ๓   มีนายร้อยโท กิ่ง ผลานุสนธิ์ ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก หลวงล่าฟ้าเริงรณ เป็นนักบิน และนายสิบตรี ชื่น เมฆพยม ช่างเครื่องเป็นผู้โดยสาร
นอกจากนักบินและช่างเครื่องแล้ว ทางราชการได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อช่วยเหลือทางพื้นดินด้วย มีร้อยเอง หลวงถกลนภากาศ ( มนต์ สิงหเสนี ) เป็นผู้ควบคุมนำชิ้นส่วนอะไหล่ไปไว้ตามตำบลต่าง ๆ ที่เครื่องบินจะลงพักระหว่างทาง คณะนี้ออกเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังปีนังในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๒ แล้วโดยสารเรือต่อไปยัง ย่างกุ้ง อัคยับ กัลกัตตา แล้วเดินทางโดยรถไปอัลละฮาบัด และเดลี ในราววันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๒
พิธีส่งเครื่องบิน

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๗๒ ก่อนกำหนดวันออกเดินทาง ได้มีการประกอบพิธีตามประเพณี นายพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสด็จมาประทับเป็นประธาน เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗ รูป เจริญพระพุทธมนต์ที่สโมสรนายทหาร ดอนเมือง ซึ่งจัดขึ้นป็นโรงพิธี เสร็จแล้วเสนาบดีฯ และพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ประทับแรมและพักแรมอยู่ที่นี่ เพื่อส่งเครื่องบินซึ่งจะออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้น
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๗๒ เวลาเช้าก่อน ๐๗.๐๐ นาฬิกา ได้ประชุมพร้อมกันที่สนามหน้าโรงซ่อมหมายเลข ๖ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมที่จะออกเดินทางได้แล้ว ผู้แทนรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะไปเจริญสันถวไมตรียังเดลี ได้เรียงตัวเข้าไปนมัสการพระสงฆ์ รับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ แล้เข้าถวายคำนับเสนาบดี รับการทรงเจิมหน้า แล้วแยกย้ายกันไปประจำเครื่องบิน
เวลา ๐๗.๐๐ นาฬิกาตรง นายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ ให้สัญญาณปล่อยเครื่องบิน นักบินทั้งสามเร่งเครื่องยนต์บังคับเครื่องขึ้นสู่อากาศ ท่ามกลางเสียงสวดชัยมงคลกถาของพระสงฆ์ และเสียงไชโยโห่ร้องของผู้มาส่ง
อุบัติเหตุ

ครั้นเวลา ๑๐.๔๕ นาฬิกา ของวันออกเดินทางนั้นเอง เครื่องบินตามทั้งสามเครื่องกลับมาลงที่สนามบินดอนเมือง รายงานว่าเครื่องนำประสบอุบัติเหตุ เครื่องยนต์ขัดข้องต้องร่อนลงในป่า เข้าใจว่าเป็นจังกวัดอุทัยธานี แต่ไม่เห็นเหตุกาณ์ทางพื้นดิน เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าทิบ
นายพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งยังประทับอยู่ที่กรมอากาศยาน โปรดให้โทรเลขถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดตาก ขอให้ช่วยค้นหาเครื่องบินและนักบินซึ่งประสบอุบัติเหตุและให้นำแพทย์ไปด้วยเพื่อช่วยเหลือนักบินและผู้โดยสาร
ครั้นเช้าวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๒ ได้รับข่าวทางโทรเลขว่า นายร้อยเอก จ่าง นิตินันทน์ ปลอดภัยเดินบุกป่าจากที่เครื่องบินตกไปพักอยู่ที่บ้านหนองกี่ ท้องที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พระยาศรีมหาเกษตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ออกเดินทางไปค้นหาได้พบเข้า ส่วนนายพันโท หลวงเนรมิตรไพชยนต์ เครื่องบินหักบีบทับลำตัวท่อนบนถึงแก่กรรมทันที จึงจัดการนำศพไปไว้ที่จังหวัดอุทัยธานี เครื่องบินลำนั้นลหักอยู่ในป่าทึบดงหนองเงียก ตำบลพลวงสองนาง อำเภอทัพทัน ห่างจากเขาลำพยนประมาณ ๖ กิโลเมตร
การเดินทาง

การเดินทางครั้งหลังเป็นไปตามระยะทางและวันเวลาที่กำหนดไว้ แต่ได้เกิดมีเหตุที่น่าเสียใจอยู่บ้างคือ ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๒ ขณะที่เครื่องบินทั้งสองบินเข้าสู่เขตเมืองอัลละฮาบัด มองเห็นสนามบินที่จะลงอยู่แล้ว เครื่องของ ร.ท.กิ่ง ผลานสนธิ์ เกิดขัดข้องต้องลงบนชายหาดแม่น้ำคงคา ซึ่งได้ทราบในภายหลังว่าท่อทางเดินของน้ำมันรัวจนเบ็นซินหมด เครื่องบินได้รับความเสียหายไม่สามารถจะซ่อมให้ใช้การได้ทันความประสงค์ จึงส่งกลับทางเรือ หัวหน้าผู้ควบคุมและนักบินบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองอัลละฮาบัด ส่วนอีกเครื่อลงสนามบินได้เรียบร้อย
 :-\


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 21:19
เยี่ยม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 ก.พ. 12, 03:49
แห่ะๆ  นักเรียบนเหลวไหลอย่างเรา รอคุณครูป้อนอย่างเดียว ไม่ไหว ไม่ไหว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 07:30
แหะๆเหมือนกัน  มีนักเรียนเหลวไหลยังดีกว่าไม่มีนักเรียนครับ เห็นอยู่สองสามคน ไม่ไหว ไม่ไหว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 12:48
นักเรียนที่แอบอยู่ยังไม่โชว์ตัว   ขอโชว์รูปเครื่องบินก่อนนะคะ  
ไม่แน่ใจว่าลำนี้ใช้งานสมัยอินโดจีนหรือไม่  หน้าตาทันสมัยมาก  มีคำอธิบายว่า เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลาง แบบ ๔๑ มาร์ติน ๑๓๙ ดับเบิ้ลยู (ท. ๓) Martin
จากเว็บช่างกลนนทบุรี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 14:56
อาจารย์ใหญ่ท่านอุตส่ห์มาช่วยลุ้น ต้องให้กำลังใจท่านหน่อยด้วยรูปเจ้ามาร์ติน เครื่องทิ้งระเบิดขนาดกลางของกองทัพอากาศไทยแท้ๆ ดูธงชาติที่แพนหางได้ รูปนี้ถ่ายโดยอเมริกันเจ้าของเครื่องเมื่อมาตรวจสอบสภาพหลังส่งมอบที่ดอนเมือง

เครื่องฝูงนี้เองที่หลวงพิบูลอยากได้อีกสักฝูงหนึ่ง แต่พี่กันซักว่าน้องจะเอาอาวุธยาวเยอะแยะไปถล่มใคร ไหน ช่วยตอบพี่หน่อย หลวงพิบูลตอบได้แต่แบ๊ะๆ แล้วหันไปซื้อเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดแบบนากาจิมาของญี่ปุ่นแทน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:14
ได้โอกาสปั่นกระทู้
เครื่องบินที่อเมริกาไม่ยอมขายให้  จอมพลป. ซื้อจากญี่ปุ่นเอาไปใช้ในสงครามอินโดจีนใช่ไหมคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 10:30
เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลาง มาร์ติน นี้ ไทยซื้อมาได้๑ฝูงจำนวน๖เครื่อง  เข้าประจำการในพ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งปีนั้นควันสงครามเริ่มกรุ่นขึ้นแล้ว ฮิตเลอร์ประกาศฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายแล้วเข้าผนวกออสเตรีย สถาปนาอาณาจักรไรซ์ที่๓ ส่วนในเอเซียนั้น กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าทำสงครามกับจีนเต็มรูปแบบ

บรรยากาศสงครามอวลมาถึงสยาม ซึ่งกำลังเทหน้าตักซื้ออาวุธทุกชนิดมาเสริมให้แก่๓ทัพ ความจริงตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะไปบุกใคร นอกจากคิดจะพยายามรักษาความเป็นกลางของตนเองหากเกิดสงคราม ทางใต้และตะวันตกคืออังกฤษ ทางตะวันออกคือฝรั่งเศส ที่กำลังพยายามจะแทรกเข้ามาคือญี่ปุ่น ซึ่งยินดีขายอาวุธให้ในราคามหามิตร อเมริกายังไม่ใช่มหาอำนาจแถบนี้แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าสยามคิดอย่างไร 

เมื่อไทยขอซื้อเครื่องบินทิ้งระเบิดอีกสักฝูงนึง บอกว่าจะเอาไว้ป้องกันตนเอง อเมริกาก็ตอบว่า ถ้าอย่างงั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด เอาขนาดเครื่องบินขับไล่ก็พอ  แล้วไม่ขายให้ซะงั้น ไทยก็หันไปซื้อจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้อยู่ว่าคุณภาพรองลงมา ญี่ปุ่นก็จัดให้เต็มที่เพราะเห็นแล้วว่าโอกาสที่จะขัดแย้งกันถึงกับใช้กำลังเข้าตัดสินนั้น ไทยคงมีกับฝรั่งก่อนญี่ปุ่น ถ้ารบกันจริงทั้งสองฝ่ายก็ต้องบอบช้ำทั้งคู่ ญึ่ปุ่นก็จะได้ประโยชน์โดยปริยายเมื่อพร้อมจะเปิดสงครามเข้ามาในแนวนี้

กรณีย์พิพาทอินโดจีนไม่ใช่สิ่งนอกเหนือความคิดของทุกฝ่าย แต่ผิดแผนญี่ปุ่นไปนิดนึงที่ฝรั่งเศสถอดใจยอมอ่อนน้อมให้โดยดีก่อนหน้าที่หลวงพิบูลคิดจะบุกทวงดินแดนคืน ญี่ปุ่นจึงไม่อยากให้ไทยและฝรั่งเศสห้ำหั่นกันจนเละเทะ เพราะกะจะบีบใช้กองทัพของทั้งสองฝ่ายให้ไปรบกับจีน(เพื่อญี่ปุ่น)ในภายหน้า





กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 20:10
อ้างถึง
กรณีย์พิพาทอินโดจีนไม่ใช่สิ่งนอกเหนือความคิดของทุกฝ่าย แต่ผิดแผนญี่ปุ่นไปนิดนึงที่ฝรั่งเศสถอดใจยอมอ่อนน้อมให้โดยดีก่อนหน้าที่หลวงพิบูลคิดจะบุกทวงดินแดนคืน ญี่ปุ่นจึงไม่อยากให้ไทยและฝรั่งเศสห้ำหั่นกันจนเละเทะ เพราะกะจะบีบใช้กองทัพของทั้งสองฝ่ายให้ไปรบกับจีน(เพื่อญี่ปุ่น)ในภายหน้า

นับเป็นโชคดีของหลวงพิบูล ที่ประกาศสงครามอินโดจีนในช่วงที่ฝรั่งเศสยังไม่พร้อมจะทำศึกในอินโดจีนเต็มรูปแบบ    หรือว่าเป็นการคำนวณล่วงหน้าอย่างดีแล้วว่ายังไงฝรั่งเศสก็ไม่พร้อมแน่ๆ   ถ้าไม่เปิดศึกตอนนี้จะไปเปิดตอนไหนก็คงไม่เหมาะเท่า   ได้ชัยชนะแล้วยังได้ใจประชาชนอีกด้วย

เครื่องบินขับไล่ทั้งฝูง คงจะได้ใช้งานกันในสงครามให้คุ้มกับที่ซื้อมานะคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 20:38
อ้างถึง
เครื่องบินขับไล่ทั้งฝูง คงจะได้ใช้งานกันในสงครามให้คุ้มกับที่ซื้อมานะคะ

ท่านอาจารย์ล่อเข้าลึกไปทุกทีแล้ว เดี๋ยวผมก็ต้องเขียนทั้งเรื่องเท่านั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Siwawuth ที่ 26 ก.พ. 12, 05:00
เข้ามานั่งฟัง พร้อมกับมีคำถามครับ

อาวุธเบาของหมู่รบ ทั้งของไทยและกองพลต่างด้าว มีอะไรบ้างหรือครับ?


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 08:45
คุณนี่มาจากพันทิป ที่ว่าจะเขียนการ์ตูนเรื่องสมรภูมิบ้านพร้าวใช่ไหมครับ

ขอเวลาหน่อยผมจะค้นให้

แต่ลองเอาฝีไม้ลายมือที่เขียนมาอวดเป็นหนังตัวอย่างสักหน่อยจะได้หรือไม่นะครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 10:25
อ้างถึง
เครื่องบินขับไล่ทั้งฝูง คงจะได้ใช้งานกันในสงครามให้คุ้มกับที่ซื้อมานะคะ

ท่านอาจารย์ล่อเข้าลึกไปทุกทีแล้ว เดี๋ยวผมก็ต้องเขียนทั้งเรื่องเท่านั้น

เรือนไทยมีโปรโมชั่นพิเศษตลอดกาลค่ะ 


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 10:58
^
^
โอ้ยโย๋
อย่าเพิ่งนะครับ ได้โปรดเถิด

เดี๋ยวรอเรื่องอาวุธเบาของคุณศิวาวุธก่อน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 11:31
เรื่องอาวุธเบาที่ึคุณศิวาวุธถามมา   ก็แยกเป็นอีกกระทู้่ได้นี่คะ   ก่อนกระทู้เครื่องบินขับไล่ไงคะ
แต่ถ้าไม่แยก  จะรวมเรื่องอาวุธเบาไว้ในกระทู้ละเลงเลือดฯ   ดิฉันก็จะรอจนกว่าจะจบ  แล้วค่อยแยกกระทู้ใหม่

ไม่รีบร้อนค่ะ ตามสบาย  เลือกแบบไหนก็ได้    ตามแต่เจ้าของกระทู้จะสะดวก
ขอเสิฟน้ำชากาแฟล่วงหน้าก่อนนะคะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 15:34
http://cgi2.nhk.or.jp/shogenarchives/jpnews/movie.cgi?das_id=D0001300422_00000&seg_number=004

เอาภาพยนต์ข่าวมาซื้อเวลา

ถ่ายทำระหว่างนายทหารญี่ปุ่นไปตรวจแนวรบของฝรั่งเศสและไทยระหว่างการหยุดยิงชั่วคราวมาให้ชม ช่วงหนึ่งท่านจะได้เห็นประตูชัยที่ปอยเปตที่เป็นที่มั่นฝ่ายฝรั่งเศสที่ถูกไทยถล่มยับเยิน

ท่านกูเกินได้แปลภาษาญี่ปุ่นที่บรรยายประกอบไว้เป็นภาษาไทยแนวถนัดของท่านตามที่ผมคัดมาแสดงไว้นี้ ผู้ใดเชี่ยวชาญภาษาไทยของท่านกูเกิน จะแปลให้พอดีๆที่คนทั่วไปจะอ่านรู้เรื่องได้ก็โปรดช่วยด้วย

การต่อสู้รุนแรงมากที่สุดที่อยู่ใกล้ชายแดนข้อพิพาทที่ดิน Shisofon เครื่องหมาย, ฝรั่งเศส, Tai สวมบุกอากาศทหารและปลอกกระสุนทั้งบ้านเผาต้นไม้สูญเสียใบของพวกเขากิจการของสงครามแสดงบาร์เรล (หายนะ) Santander
สายของ พล. ต. Sumida หยุดสงครามเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ที่ 5 กุมภาพันธ์เพื่อลาดตระเวนพื้นที่นี้มาเป็นเวลานานเพื่อประชุมผู้บัญชาการแนวหน้าของกองทัพที่นี่และต้องล่าถอย Beshi 10km ร่วมกัน ให้ที่ประชุมเกี่ยวกับข้อตกลงการปฏิบัติงาน
กองทัพทั้งสองจะเผชิญหน้ากันทั่ว 100m จาก 50m (ทารกในครรภ์) และยังคงประสาทมากและยังคงระมัดระวังอย่างเข้มงวด
ทันทีหลังจากที่หยุดยิงและชาวที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่แสดงที่ยังคงรูปแบบ, อาทิตย์เขตร้อนที่รุนแรงและหายไฟในถิ่นทุรกันดารอ้างว้าง นี่คือการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่โดยการระเบิดของกองทัพอากาศ Tae-25kg บุคคลที่ทำขบวนแห่ของเจ้าหน้าที่ด้านหน้าสายและทหารได้กลับดวงอาทิตย์ขึ้นควรสังเกตประเทศไทย
เกี่ยวกับเส้นขอบของความผิดปกติของกัมพูชาหมอกเป่าของสงครามในลักษณะนี้ไฟแห่งความสงบเป็นครั้งแรกที่เข้าชมเราเร่งของกรณีที่จะมีมติ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 16:18
อ่านแล้ว  ขอแสดงความนับถือด้วยภาพข้างล่าง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 16:35
ในช่วงเวลาที่ท่านเจ้าของกระทู้ไปแต่งองค์ทรงเครื่องอยู่หลังโรง   ดิฉันขอคั่นรายการหน้าม่านไปพลางๆก่อน จนกว่าท่านจะกลับมาพร้อมกับคำตอบให้คุณ siwawuth

วันนี้ไปค้นหนังสือ   แล้วก็เป็นอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆคือเล่มที่หาก็ไม่เจอ   กลับไปเจอเล่มที่ไม่ได้หา     และมักจะเป็นว่า เล่มที่เจอโดยบังเอิญ นั้นก็มีข้อมูลที่ตรงกับกระทู้ใดกระทู้หนึ่งในเรือนไทยเข้าพอดี
เล่มที่ว่านี้  เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีหลวงเสนียุทธกาจ (ม.ล.จวง เสนีวงศ์)    ในคำไว้อาลัยท่านผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้บังคับกองร้อยนักเรียนนายดาบ   มีนักเรียนนายดาบรุ่น พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านหนึ่ง  เล่าถึงชีวิตนักเรียนนายดาบ และเหตุการณ์สมัยนายดาบออกรบในสงครามอินโดจีนไว้ยาวเหยียด ๔๐ กว่าหน้า
ท่านผู้เล่าชื่อพ.อ. แสง จุละจาริตต์  เป็นอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

พ.อ. แสงท่านมีความจำยอดเยี่ยมมาก   หรือไม่ก็เขียนบันทึกเอาไว้ละเอียดลออ   ในหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้  ท่านจำได้ขนาดได้ยินเสียงอีเก้งร้องในคืนที่ไทยถล่มทหารฝรั่งเศส

ขอลอกมาให้อ่านค่ะ

๑๕ ม.ค. ๒๔๘๔   ร.พัน ๓  คงยึดอยู่ในลำห้วยแห้งอย่างสงบและมีวินัย    มีการทบทวนให้มีการรออย่างสงบเงียบ   และมีวินัยอย่างกวดขัน   ได้มีเสียงอีเก้งร้องในทุ่งหญ้าระหว่างเวลา ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น.    แสดงว่าตกใจ มีผู้คนเข้าไปในบริเวณหากินของอีเก้ง     ดึกขึ้นไปมีเสียงรถยนต์จำนวนมาก  ไกลๆ ทางทิศตะวันออกด้านศรีโสภณ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 16:48
วันที่ ๑๖ ม.ค. ๒๔๘๔  เวลา ๐๔.๐๐ น.   ได้มีเสียงปืนยิงโต้ตอบกันดังมาจากบ้านยาง   แม้จะไกลประมาณ ๔ กม.เศษก็ตาม   แสดงว่าฝ่ายข้าศึกกำลังเข้าตี ร.พัน ๑   ซึ่งตั้งรับอยู่ที่บ้านยาง(เป็นการโจมตีเพื่อพรางความมุ่งหมาย)  พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ์ จึงนึกถึงการยิงของร. พัน ๓ ที่เตรียมไว้ยิ่งขึ้น    ผบ.ร.พัน ๓ จึงโทรศัพท์สั่งทุกหน่วยเพื่อเน้นให้แน่นแฟ้น     เตรียมตัวทำการยิงตามแผนการยิงให้ปฏิบัติเป็นไปตามคำสั่งสัญญาณปืนกล    นำโดยเคร่งครัด   จะยิงตามลำพังไม่ได้
ผบ.ร.พัน ๓    ให้หลักการแก่พลปืนกลยิงนำ  (ร.ต.ยง ณ นคร) ว่าการยิงให้ยิงต่อแถวทหารส่วนมากที่เข้ามาในเขตกำหนด      สำหรับหน่วยลาดตระเวนข้าศึกกำลังต่ำกว่า ๑๐ คนลงไป   ไม่ให้ยิง  ให้ปล่อยไป

ระหว่างนั้นทหารประจำแนวฝ่ายเราได้ยินเสียงข้าศึกปลุกกันตื่นจากการนอน    ห่างจากเราไปประมาณ ๒๐๐ เมตร    และจากนั้นก็มีทหารข้าศึกอีก ๓ คน  กับสุนัขพื้นเมือง ๒ ตัว  ๑๕ ม.   คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงายค้างฟ้า   และเห็นได้ไกล    ทหารไทยในแนวเห็นข้าศึกสามคน    แต่คนสงบนิ่งตลอดแนว   ทหารลาตตระเวนฝ่ายข้าศึกไม่ได้เดินจากทางลำลองไปที่ห้วงยาง(ห้วยธรรมชาติ)  เป็นแต่ยืน และเดินมองๆ เรื่อยไป    สุนัข ๒ ตัว  ของข้าศึกได้วิ่งมาถึงแนวทหารไทย    และวิ่งดมทหารไทยคนโน้นคนนี้บ้าง  แต่ไม่เห่า     การลาดตระเวนของข้าศึกเข้ามาในแนวตั้งรับประมาณ ๑๕ นาที   ก็กลับออกไป   คงจะไปรายงานว่าไม่มีทหารไทยที่ห้วยยาง  ทั้งๆมีกำลังทหารไทยอยู่ทั้งกองพัน
 

หมา ๒ ตัวนั่นพันธุ์ไหนหนอ   ขนาดเป็นสุนัขสงคราม เจอข้าศึกแปลกกลิ่นยังไม่เห่าสักแอะ   เลี้ยงเสียขนมปังฝรั่งเศสจริงๆ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 17:00
จากนั้นเวลา ๐๕.๐๐ น. กรมทหารราบต่างด้าวที่ ๕  กองพันที่ ๓ (Regiment Legion Etrangere  Infantterie) เป็นหน่วยกล้าตายชั้น ๑  มีกิตติศัพท์การรบอันเกรียงไกรมาแล้วในหลายสมรภูมิ   ในอินโดจีนฝรั่งเศส    ก็เคลื่อนขบวนเข้าไปในแผนการยิงของฝ่ายไทย    เป็นแถวตอนเรียงสาม   เดินตามสบาย   เพราะถือว่ายังอยู่ไกลจากบ้านพร้าวอีกตั้ง ๔ ก.ม.
เวลา ๐๕.๐๐ น.เศษเล็กน้อย      เสียงปืนกลนำเป็นสัญญาณก็ปะทุขึ้น   และตลอดความยาวของแถวตอนเรียงสาม   ทหารข้าศึกก็อยู่ในแผนการยิงอย่างถี่ยิบของทหาร ร.พัน ๓   ที่ส่งกระสุนปืนเล็กยาว  ปืนกลเบา  ปืนกลหนัก  ที่สาดกระสุนเหล็กเข้าบดขยี้จนละลายไปหมดทั้งกองพัน    มีการยิงต่อสู้ประปราย    จนเวลา ๐๗.๐๐ น.   ผู้บังคับกองร้อยที่ ๒   ได้เข้าเก็บเชลยศึกที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ของกองร้อย   ได้เชลยศึก ๗ คน  ทำหน้าที่หมู่ลาดตระเวณข้างหน้าขบวนตอนเรียงสาม   ชุด ๗ คนนี้ ได้หลบอยู่หลังต้นไม้ที่ล้มขวาง     ลำห้วยแห้งที่ตัดกับทางลำลอง  กับทหารอีก ๕ คน  รวม ๑๒ คน  ยึดธงชัยเฉลิมพลที่มีเหรียญกล้าหาญครัวซ์เดอแกรร์ติดอยู่     มียุทโธปกรณ์หนักคือ ปืนกลหนัก ๑ กระบอก  ปืนกลเบา ๕ กระบอก  กระสุนและปืนเล็กประจำกายมาก  แต่เครื่องยิงระเบิดไม่มี    ผู้บังคับกองพันที่ ๓  กรมทหารราบต่างด้าวฝรั่งเศส ๕ พ.ต.เรเมอรี่ตายในที่รบ(ค้นได้จากบัตรประจำตัว)  นอกจากนั้นได้เอกสารเกี่ยวกับการรบ ฯลฯ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 17:10
การสูญเสียของทหารฝรั่งเศส ผบ.ร.พัน ๓ สั่งการนับศพบริเวณสู้รบได้ ๕๐ ศพ  ถูกจับเป็นเชลย ๒๐  ที่เหลือหลบหนีไปขณะยังไม่สว่าง   หนีไปได้มีทั้งบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ     หลักฐานฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑๑๐   บาดเจ็บ ๒๕๐ สูญหาย ๕๘ ถูกจับ ๒๑   ต่อมาผบ.ร.พัน ๓ ได้สอบถามนายเนตเจ้าของนาที่ฝรั่งเศสใช้เป็นที่รวมพลอยู่หลังบริเวณสมรภูมิรบกันไปทางศรีโสภณ ประมาณ ๒-๓ ก.ม.  ได้ความว่าหลังรบกันแล้ว   มีรถยนต์บรรทุกทหารบาดเจ็บสาหัสไปรับการพยาบาลที่นั้นประมาณ ๑๐ คันเศษ   ทหารตายก็ขนใส่รถไปด้วย
ทำให้กองหนุนของฝรั่งเศสที่รอคำสั่งจะต้องเข้าตีต่อเนื่องที่บ้านพร้าว   และพักอยู่ที่นั้นอีก ๓ กองพัน   ได้เห็นรถยนต์บรรทุกทหารตาย บาดเจ็บสาหัส ไม่สาหัส  มากมายเป็นที่น่ากลัวน่าหวาดเสียว   ต่างก็ใจเสียไปตามกัน     พวกที่อยู่ใกล้ๆนั้นก็ร้องขึ้นว่า ทหารไทยมาแล้ว   และแยกจากพวกเดินหนีไปทางศรีโสภณ   นำอาวุธประจำตัวไปด้วย    พวกที่เหลือส่วนมากเป็นทหารพื้นเมืองที่อยู่ใกล้ๆกัน    ก็ร้องบอกกัน   และทั้งสามกองพันก็พร้อมใจกันเดินมุ่งหน้าไปศรีโสภณ    นายทหารนายสิบผู้บังคับบัญชาของทหารก็เลยวิ่งตามไปอีก    และร้องบอกว่าศรีโสภณ  ศรีโสภณๆๆ   เพื่อให้ลูกน้องวิ่งไป และจะมีที่พักข้างหน้า

ทั้งหมดนี้เป็นการบอกเล่าของนายเนต  เจ้าของนา แก่พันตรีขุนนิมมานกลยุทธ์  และผบ.ร.พัน ๓  ท่านได้บันทึกไว้ด้วยลายมือท่านเอง
พวกเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นาย คือ พลทหารจวน ปรีพงศ์  และบาดเจ็บสาหัส ๒ นาย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 17:27
กว่าดิฉันจะเจอข้อเขียนของพ.อ.แสง จุละจาริตต์  กระทู้ก็วิ่งเลยไป 219  ค.ห. รวม 15 หน้ากระทู้แล้ว   ความจริงเรื่องนี้ควรจะอยู่ในหน้าแรกของกระทู้   ท่านที่ตามอ่านกรุณาย้อนกลับไปหน้าแรกก็จะปะติดปะต่อกันได้ 
รายละเอียดเกือบไม่ต่างจากบันทึกของพ.อ.นิ่ม ชโยดม แต่มีเพิ่มอะไรขึ้นบ้าง   เช่นเรื่องทหารฝรั่งเศสหนีอ้าวกลับไปศรีโสภณตามคำให้การของนายเนตเจ้าของนาแถวนั้น    แต่พวกนี้ก็ยังได้ครัวซ์เดอแกรร์มาบำรุงขวัญปลอบใจจากรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่ดี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Siwawuth ที่ 26 ก.พ. 12, 18:14
แต่ลองเอาฝีไม้ลายมือที่เขียนมาอวดเป็นหนังตัวอย่างสักหน่อยจะได้หรือไม่นะครับ


ตามนี้เลยครับ
http://upic.me/i/bz/pic868.png

ปล. เพิ่งเข้ามาใหม่ อาจจะยังไม่รู้วิธีปฏิบัติตนในเว็บนี้ ต้องขออภัย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:23
อ้างถึง
รายละเอียดเกือบไม่ต่างจากบันทึกของพ.อ.นิ่ม ชโยดม แต่มีเพิ่มอะไรขึ้นบ้าง   เช่นเรื่องทหารฝรั่งเศสหนีอ้าวกลับไปศรีโสภณตามคำให้การของนายเนตเจ้าของนาแถวนั้น

ผมเคยเห็นเรื่องตามสำนวนนี้แล้ว และเอามากลั่นกรองเทียบเคียงกับสำนวนอื่นๆ รวมทั้งฝ่ายฝรั่งเศสด้วย โดยให้น้ำหนักไปที่ปากคำของพลเอกพรฯ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ย้อนกลับไปอ่านก็ยังคงสอดคล้องกันอยู่ อะไรที่ต่างกัน เช่นมีหมามาดมกลิ่นหรือไม่มี ผมก็ใส่ไว้ทั้งสองสำนวน เรื่องทหารฝรั่งเศสวิ่งแข่งกันหนีอ้าวไปศรีโสภณก็มี

อ้างถึง
นับตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกระเบิดจนเงียบสงบลงในยกแรกนับเวลาแล้วไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่การรบวันนั้นยังไม่ยุติ
เหตุการณ์ทางบ้านยางที่เสียงปืนดังขึ้นก่อนหน้านั้น พันตรีวุฒิ วีระบุตรผู้บังคับบัญชากองทัพทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ในที่มั่น คิดว่าเป็นแค่กลลวงของฝรั่งเศสว่าจะเข้าตีแต่ความจริงแล้วจะตีบ้านพร้าว เพราะยังยิงกันแค่เปาะแปะ พอได้ยินเสียงปืนดังขึ้นปานโลกาพินาศทางทิศใต้ เสียงปืนของฝ่ายบุกก็เงียบไป  ทหารไทยที่บ้านยางรอแล้วรออีกไม่เห็นมีใครบุกเข้าโจมตีจริงๆ  ก็จะบุกอะไรได้เล่า กองกำลังผสมเซ ชื่อมันก็ไม่เป็นมงคลอยู่แล้ว บรรดาทหารพื้นเมืองญวนเขมรพอได้ยินเสียงปืนของไทยหนักแน่นเขย่าประสาทเข้าเท่านั้น ก็รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง รู้กลางๆว่าเผ่นดีกว่า นายทหารฝรั่งเศสเห็นลูกน้องวิ่งก็วิ่งตามบ้าง ในที่สุดก็ตะโกน ซีโส่โพ้น  ซีโส่โพ้น ให้ไปเจอกันที่ศรีโสภณเลย

ส่วนการบ้านของคุณศิวาวุธ ผมจะเริ่มทยอยส่งครับ
ขอบคุณที่ส่งฝีไม้ลายมือมาให้ดู

เดี่ยวนี้ถ้าหน้าตาไม่ออกไปทางเกาหลีหรือญี่ปุ่น คงไม่ได้แสดงทั้งหนัง ทั้งละคร รวมไปถึงหนังสือการ์ตูนด้วยนิ




กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:25
ปืนเล็กที่เข้าประจำการในเมืองไทยสมัยช่วงก่อนสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสเท่าที่ผมหาได้มีดังนี้

ปืนพก

แบบ ปพ. ๔๔ ก. หรือปืน FN/Browning M1900 ผลิตโดยบริษัท FN ประเทศเบลเยียม .ใช้กระสุน 7.62x17 mm. SR (.32 ACP)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:31
แบบ ปพ. ๔๔ ข. หรือปืน Browning M1910 ผลิตโดยบริษัท FN ประเทศเบลเยียม .ใช้กระสุน 7.62x17 mm. SR (.32 ACP)  ระยะหวังผล 15-25 ม. ระยะยิงไกลสุด 50 เมตร


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:32
แบบ ปพ.๗๙  หรือปืน Colt .38 Super ผลิตโดยบริษัท Colt  USA ใช้กระสุนขนาด .38 Super


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:34
แบบ ปพ.๘๐  หรือปืน Star Model ผลิตโดยบริษัท Star Bonifacio Echeverria S.A. ประเทศ Spain ใช้กระสุนขนาด 9x19mm.  Parabellum ระยะหวังผล 50 ม. ระยะยิงไกลสุด 1,000 ม. ความจุ 9 นัด  

ปืนชนิดนี้ไทยได้ทำสัญญาสั่งซื้อเครื่องจักรทั้งสายการผลิตแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๘ กะว่าจะมาทำเองภายใต้สิทธิบัตร แต่โรงงานยังไม่ทันเสร็จก็เกิดสงครามกลางเมืองในเสปญ บริษัทคู่สัญญาถูกถล่มราบเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ก.พ. 12, 20:36
ในฐานะนักเรียนเหลวไหล รอป้อน  ทุกข้อมูลของท่านอาจารย์ไม่มีคำว่าช้าไปหรอกครับ

พูดถึงเรื่องเครื่องบินทิ้งระเบิดมาร์ติน  หลายปีก่อนเคยซื้อหนังสือเก่าที่ผู้เขียนเคยเป็นพลปืนหลังเครื่องบินทิ้งระเบิดไทย
ท่านเล่าตั้งแต่การเปิด ร.ร. พลปืนหลัง ไปสมัครเรียน การเรียน และการปฏิบัติหน้าที่ จนถึงอุบัติเหตุที่ทำให้เราต้องเสียทั้งเครื่องบินและนักบินหลายหน
แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงสงครามอินโดจีนหรือช่วงสงครามโลกที่เราไปยันกับจีนแถวเชียงตุง  น่าเสียดายว่าตอนนี้อยู่ ตปท ไม่อาจเป้นนักเรียนดีไปค้นหาหนังสือเล่มนี้มาได้ครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:39
จำชื่อคนเขียนได้ไหมครับ
พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์หรือเปล่า ผมกำลังหาหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน จำได้แน่ๆว่าท่านดังมาจากเจ้ามาร์ตินนี้แหละ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:43
มีปืนพกอีกหลายแบบที่ทางราชการทหารสั่งเข้ามาแต่ผมหาไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนเรียกชื่อระหัสแบบไทยหรือไม่ แต่ก็สั่งเข้ามาจำนวนไม่มากนัก จึงอาจจะไม่ใช่ปืนที่นำเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศสครั้งนี้โดยตรง

เช่น
Mauser C-96 “Broomhandle” ปืนเยอรมัน หรือคนไทยให้ฉายาว่าเมาเซอร์ต่อด้าม คือตัวมันแท้ๆเป็นปืนพก แต่ถ้าเอาด้ามมาต่อก็ประทับบ่ายิงได้เลย แม่นยำขึ้นมาก ตำรวจไทยสมัยหนึ่งถ้าไม่มีเมาเซอร์ต่อด้ามประดับเอว ก็ไปรำจราจรห้ามรถดีกว่า


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:47
Nambu Bottlenecked หรือ นัมบุคอขวด เป็นปืนพกของญี่ปุ่นที่ลอกแบบลูเกอร์ปืนเยอรมันแบบซื้อสิทธิบัตร  สยามสั่งเข้ามาใช้ก่อนสงครามฝรั่งเศสเพียง๕๐๐กระบอก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:51
ปืนพกเอาเท่านั้นก็พอนะครับ

ต่อไปเป็นปืนเล็กยาว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:53
แบบ ปลย. ๖๖ หรือปืนพระรามหก สมัยรัชกาลที๖  ในปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ได้มีการสั่งซื้อปืนอาริซากะ (Arisaka) ซึ่งเป็นปืน Mauser M1923 ของเยอรมันแต่ผลิตโดยญี่ปุ่นเข้ามา โดยสยามขอให้ปรับเปลี่ยนกระสุนจากขนาด 8x50 มม.เป็นขนาด 8x52 มม.(หรือที่ฝรั่งวงการปืนจะเรียกว่า 8x52 mm. R Siam Mauser Type 66 เพราะใช้อยู่ประเทศเดียว) ซึ่งเป็นกระสุนแบบหัวแหลม เพื่อไม่ให้ปืนติดขัดง่ายเวลาป้อนกระสุนเข้ารังเพลิง


ปืนพระราม๖นี้อยู่ยงคงกระพันมาก กองทัพใช้เป็นปืนหลักในสงครามอินโดจีน เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่๒  ผมเรียนร.ด.ปี๑ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๗ ครูฝึกทหารยังเอาปืนแบบนี้มาให้ฝึกหัดอยู่เลย หลังปลดประจำการ(ไม่ทราบเมื่อไหร่) คงมีการประมูลขายออกมาและไปดังในตลาดปืนสะสมของอเมริกาพอดู


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 20:57
แบบปลย. 45/66 และปลส. 47/66  เป็นปืนเล็กยาวที่ซื้อมาก่อนหน้านี้มีชื่อว่า ปลย.45 และปลส. 47  ได้ถุกนำมาคว้านรังเพลิงเพื่อใช้กับกระสุน8x52 mm. R Siam Mauser Type 66 แบบใหม่นี้ด้วย จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 21:22
ปืนกลเบา

แบบ ปกบ.66  หรือปืนเมดเสน Madsen light machine gun 7.92m.m. เป็นปืนชั้นดีของเดนมาร์กที่ใช้กันแพร่หลายทั่วดลกเหมือนกัน อัตราการยิง 450 นัดต่อนาที ซองกระสุนบรรจุ 25 30 40 นัด


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 21:26
ปืนกลหนัก
 
ปกน. แบบ66 หรือปืนกล Browning M1917 ผลิตโดยบริษัท Colt ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้กระสุนขนาด .30-06 Springfield (7.62x63 mm.) ระบบปฏิบัติการแบบ Recoil operated automatic อัตราการยิง 450 นัด/นาที ระบายความร้อนด้วยน้ำ บรรจุกระสุนด้วยสายกระสุนผ้าใบ 250 นัด


สยามสั่งเข้ามาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๖๖ และได้นำออกมาใช้ฆ่ากันเองสมัยกบฏบวรเดชในปีพ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้งนึงครับ แล้วก็เก็บไว้ต่อ จนได้ใช้รบกับฝรั่งเศสเหมือนกัน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 21:29
ปกน.แบบ77  เป็นปืนกลหนักสร้างโดยบริษัท Vickers Armstrong ประเทศอังกฤษ ใช้กระสุนขนาด .303 British (7.7x56 mm.)อัตราการยิง 450-600 นัด/นาที ระบายความร้อนด้วยน้ำ บรรจุกระสุนด้วยสายกระสุนผ้าใบ 250 นัด กองทัพบกสั่งเข้ามาใช้ในราชการเมื่อปีพ.ศ. 2477 ได้ใช้ในช่วงสงครามอินโดจีนพอดี และเป็นพระเอกในสมรภูมิบ้านพร้าว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 21:32
หมดของฝ่ายไทย

ผมจะหยุดเผื่อจะมีใครซักถาม ก่อนจะไปทางฝั่งฝรั่งเศสต่อครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 ก.พ. 12, 00:20
จำชื่อคนเขียนได้ไหมครับ
พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์หรือเปล่า ผมกำลังหาหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน จำได้แน่ๆว่าท่านดังมาจากเจ้ามาร์ตินนี้แหละ

ไม่ใช่เสธ.ทวีครับ  จำชื่อไม่ได้ เพราะหลายปีแล้ว แต่คนเขียนเป็นแค่พลปืนหลังครับ เป็นชั้นประทวนเท่านั้น และถ้าจำไม่ผิด ร.ร. พลปืนหลังจะมีเปิดเรียนแค่รุ่นเดียวด้วยครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 06:25
อืมม์ ครับๆ นึกออกแล้ว



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 06:58
เห็นมีคำว่า(สมรภูมิ)บ้านพร้าวอยู่ในเรื่องด้วย เลยเอามาลงไว้เป็นเครื่องเคียงของแถม
.
.
.


ป้าเล็ก:
ความทรงจำบางเรื่องเกี่ยวกับ " ล้อต๊อก " ศิลปินแห่งชาติ
โดย พล.อ.ท. ศรีศักดิ์ สุจริตธรรม

   เมื่อครั้งสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสอุบัติขึ้นระหว่างวันที่ ๖ - ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
รวมเวลา ๒๒ วันนั้น ผู้เขียนเพิ่งเรียนจบหลักสูตรจากโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศมาใหม่ๆ
และได้ถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวดบินที่ ๓ ฝูงบินตรวจการณ์ที่ ๖๖ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมี เรืออากาศเอก
ละเอิบ ปิ่นสุวรรณ ( พลอากาศตรี ) เป็นผู้บังคับฝูง และมีนาวาอากาศตรีหาญ กฤษณะสมิต เป็นผู้บังคับ
กองบินน้อยที่ ๕

   ในคราวนั้นฝูงบินของเราได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นกับกองบินผสมภาคบูรพามีที่ตั้งอยู่ ณ สนามบินดงพระราม
จังหวัดปราจีนบุรี ในความบังคับบัญชาของนาวาอากาศโท หลวงเชิดวุฒากาส ( พลอากาศโท ) กองบินผสม
ภาคบูพานี้มีหน้าที่ป้องกันทางอากาศด้านตะวันออกของประเทศ และสนับสนุนการเข้าตีของกำลังกองทัพ
บูรพา ซึ่งมี พันเอก หลวงพรหมโยธี ( พลเอก ) เป็นแม่ทัพด้านบูรพา มีหน้าที่เข้าตีและยึดดินแดนคืนทางด้าน
ตะวันออกของประเทศ โดยรุกไล่เข้าตีกำลังทหารของฝรั่งเศสในอินโดจีน ซึ่งประกอบด้วยทหารแขกมอรอคโค
ไนจีเรีย และทหารพื้นเมืองชาวกัมพูชาและเวียดนาม บังคับบัญชาโดยนายทหารฝรั่งเศสทั้งสิ้น รวมทั้งกำลัง
ทางอากาศมีเครื่องบินขับไล่แบบโมรานประมาณ ๙ เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบปอร์เต้ เครื่องบินขนส่ง
และเครื่องบินตรวจการณ์อีกจำนวนหนึ่ง

  กำลังทางทหารของฝรั่งเศสในอินโดจีนครั้งนั้นมีจำนวนจำกัด ขาดทั้งกำลังทางอาวุธยุทโธปกรณ์ และขาด
ทั้งการส่งกำลังบำรุงที่จำเป็น รวมทั้งกำลังหนุนจากประเทศแม่ เหตุเพราะพ่ายแพ้แก่กองทัพอันเกรียงไกรของ
เยอรมันในยุโรป จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบให้กับกองกำลังทหารไทย และต้องยอมคืนดินแดนบางส่วนให้กับ
ฝ่ายไทย ในที่สุดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสก็สิ้นสุดลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย

   ในตอนนั้น กำลังทหารของกองบัญชาการภาคทักษิณของญี่ปุ่นได้เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ เข้าสู่เกาะไหหลำ
และซาเหมาของจีน เมืองฮานอย ไฮฟอง และไซง่อนของอินโดจีนตามลำดับ รวบรวมกำลังเพื่อประสงค์
จะเข้ายึดประเทศไทยและประเทศมลายูของอังกฤษในวันเวลาเดียวกัน คือวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ อันเป็น
วันเริ่มต้นของสงครามมหาเอเซียบูรพา

   ๖ มกราคม ๒๔๘๔ ฝูงบินของเราได้เข้าที่ตั้งที่สนามบินดงพระรามเป็นที่เรียบร้อย หน้าที่ของผู้เขียนคือ
ทำหน้าที่นักบินลาดตระเวนตรวจการณ์ในพื้นที่ของข้าศึกในจังหวัดพระตะบอง ศรีโสภณ มงคลบุรี
ตั้งแต่อรัญประเทศ ลึกเข้าไปในประเทศกัมพูชา บินคุ้มครองขบวนลำเลียงทั้งทางรถไฟรถยนต์ของกำลัง
ภาคพื้นดินสู่แนวหน้า ที่หมายหลักคือสถานีรถไฟอรัญประเทศ ฝึกทบทวนนายทหารนักบิน และทหาร
ภาคพื้นดินที่ถูกระดมเข้าประจำการในระหว่างกรณีพิพาทครั้งนี้อีกด้วย

  ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเป็นนักบินเพิ่งจบมาใหม่ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ดีพอ แต่เมื่อมารับภาระรับผิดชอบในการฝึก
ทบทวนนักบินที่ถูกระดมเข้าประจำการใหม่ ๕ - ๖ คนก็ไม่เป็นปัญหาหนักอกนัก เพราะเขาเหล่านั้นเป็นนักบิน
มานาน มีฝีมือ ความชำนิชำนาญในทางการบินและมีชั่วโมงบินสูงกว่าผู้เขียนมากมาย เพียงแต่ใช้เวลา
แนะนำทบทวนให้คุ้นเคย โดยนำขึ้นฝึกบิน ๒ - ๓ เที่ยวก็เป็นอันใช้ได้ เช่นเดีนวกับทหารภาคพื้นดินที่ถูกระดมเข้ามา
ซึ่งพวกเขาเพิ่งจะปลดประจำการได้เพียงปีสองปี ใช้เวลาฝึกทบทวนแนะนำให้ใช้อาวุธในการรบเพียงอาทิตย์เดียว
ก็ใช้ทำการรบได้แล้ว

  ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักกับ พลทหารสวง ทรัพย์สำรวย ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศิลปินแห่งชาติ และดารา
ตลกชื่อดังแห่งฟ้าเมืองไทยในนาม " เสี่ยล้อต๊อก " พลฯ สวงถูกระดมเข้ามาในสังกัดกำลังภาคพื้นดินกองบิน
ผสมภาคบูรพา เขาเคยเป็นทหารกองประจำการ สังกัดกองบินน้อยที่ ๒ ดอนเมืองและปลดประจำการเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๓ ตอนนั้นเขาอายุแก่กว่าผู้เขียน ๒ - ๓ ปี

   สำหรับพลฯ สวง ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า " ล้อต๊อก " ถูกบรรจุครั้งแรกให้ประจำหมู่ปืนกลหนัก ป้องกันสนามบิน
ตั้งอยู่ท้ายสนามบินติดกับหมวดกสิกรรม ของกองร้อยสัมภาระของมณฑลทหารบกปราจีนบุรี ที่นี่มีการเลี้ยงหมู - ไก่
และทำสวนครัวด้วย

  คืนหนึ่งดึกมากแล้ว ราวตี ๓ เห็นจะได้ มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดถึงจังหวัดปราจีนบุรี เข้าใจว่า
เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดปอร์เต้เพียงลำเดียว ได้ทิ้งลูกระเบิดลงในบริเวณค่ายทหารดงพระรามอย่างสะเปะสะปะ
ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก ได้รับการต่อต้านขัดขวางจากหมู่ปืนกลหนักพอประมาณ แต่ก็ไม่ได้ถูกยิง
เสียหายแต่อย่างใด เพราะบินอยู่ในระยะสูงมาก การทิ้งระเบิดกลางคืนครั้งนี้เป็นครั้งแรก และได้มีผลทาง
ทำลายขวัญและกำลังใจพอสมควร เครื่องบินข้าศึกกลับไปเมื่อเกือบค่อนรุ่ง

  ตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น ล้อต๊อกมาหาผู้เขียนสะกิดให้ไปกินลาบหมูที่ตายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก
ในคืนที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ล้อต๊อกได้ผูกไมตรีทำความรู้จักกับผู้เขียน ซึ่งตอบรับเชิญไปในงานเลี้ยง
อย่างกันเองทันที ตามความรู้สึกของผู้เขียนเห็นว่าการที่ล้อต๊อกมาเชิญผู้เขียนซึ่งเป็นนายทหารและเป็น
ผู้บังคับบัญชาไปกินเลี้ยงอาจจะเป็นเพราะอยากจะคุ้นเคยและอาจจะให้ผู้เขียนจ่ายค่าเหล้าบุหรี่ก็เป็นได้
เพราะฝ่ายเลี้ยงมีลาบและต้มยำหมูเป็นอาหารและกับแกล้มอันโอชะอยู่แล้ว งานเลี้ยงวันนั้นจบลงไม่ดึกนัก
แต่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักล้อต๊อกดีขึ้นพอสมควร เพราะว่าต่อๆ มาไม่ว่าจะมีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาโจมตี
ทิ้งระเบิดหรือไม่ก็ตาม ล้อต๊อกก็หาทางจำหน่ายหมูของแผนกกสิกรรมทหารบกเป็นลาบ ผัดเผ็ด และต้มแกง
ให้ผู้เขียนได้กินอยู่เนืองๆ

  ล้อต๊อกเป็นคนมีแววศิลปินและนักแสดง สามารถทำให้ผู้คนหัวเราะขบขันในคำพูด ท่าทาง การแสดงได้
ตลอดเวลา จนถึงกับบางครั้งสามารถเล่นลิเกแสดงคนเดียว ทั้งร้อง ทั้งรำ และทำเสียงดนตรีได้ทุกรูปแบบ
ใช่แต่เท่านั้น ล้อต๊อกยังสามารถเล่นกีฬาได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล ตะกร้อ และมวย และเล่นได้
ดีเสียด้วย ผู้เขียนมาทราบภายหลังว่า ก่อนเป็นทหาร ล้อต๊อกเคยขึ้นชกมวยบนสังเวียน โดยใช้ชื่อว่า " สวง สรงโซดา "
และได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่ง

  ต่อมา ล้อต๊อกได้ย้ายเข้ามาอยู่เป็นทหารเดินหนังสือในกองบังคับการกองบินผสมภาคบูรพา ซึ่งที่นี่เองที่ทุกครั้ง
เมื่อนักบินและผู้ทำการในอากาศที่กลับมาจากปฏิบัติภารกิจการรบประจำวัน จะต้องมารายงานผลการปฏิบัติ
การรบต่อผู้บังคับการหน่วยบินโดยละเอียดทุกขั้นตอน เช่นได้ไปโจมตีทิ้งระเบิดสนามบิน ที่ตั้งหน่วยทหาร
ขบวนลำเลียง และสะพาน ที่จุดนั้น เมืองนี้ ได้รับความเสียหาบ เกิดไฟลุกไหม้เป็นต้น การรายงานการรบทุกครั้ง
จะไม่พ้นสายตาของล้อต๊อกกับพวกทหารรับใช้เดินหนังสืออีก ๓ - ๔ คน ซึ่งจะคอยเงี่ยหูฟังอยู่อย่างตั้งใจ
พอตกตอนเย็นพวกเขาเหล่านี้ ( ยกเว้นผู้ถูกเวรยาม ) จะรีบแต่งตัวไปเที่ยวตลาดในเมือง จุดหลักก็คือแม่ค้าขาย
อ้อยขวั้นหน้าแฉล้ม ซึ่งสนใจในพวกเขา เพราะมีรายได้ดีใช้จ่ายเงินมือเติบ กระเป๋าหนัก มีการเหมาอ้อยขวั้น
เป็นตู้ๆ แล้วยังให้ข่าวการรบที่น่าตื่นเต้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง โดยพวกเขาเหล่านี้จะมาสนทนาและโม้
ให้พวกแม่ค้าอ้อยขวั้นและผู้มาร่วมฟังถึงผลการรบที่พวกนักบินได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อตอนเช้า
วันนั้นโดยละเอียด ตามที่ได้แอบได้ยินมา

  " อั๊วได้ไปโจมตีทิ้งระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำที่เมืองศรีโสภณ..." พลทหารฉุน พูดขึ้นในตอนหนึ่ง

  " เฮ้ย - ฉุน อั๊วสิถึงจะแน่..." ล้อต๊อกสอดขึ้นทันควัน " อั๊วเป็นปืนหลังของผู้ฝูงเฉลิมเกรียติ ( จอมพลอากาศ
เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ) อั๊วซัดกับฝูงโมรานไปหลายชุดจนแตกฝูงกระจุยกระจายที่บ้านพร้าว...."

  ( ความจริง เรืออากาศเอกเฉลิมเกียรติขึ้นบินกับเครื่องฮ็อว์ค ๒ ขาแข็งซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยว
มีนักบินคนเดียว ไม่มีพลปืนหลัง )

  หลังจากโม้ให้พวกแม่ค้าอ้อยขวั้นกับพวกฟังอย่างสนุก เมื่อถึงเวลา ๒ ทุ่ม วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ก็จะออกอากาศกระจายข่าวการรบประจำวันไปทั้วประเทศ ตรงกันกับที่พวกล้อต๊อกมาโม้เอาไว้ไม่มีผิดเพี้ยน
เล่นเอาพวกแม่ค้าผู้รับฟังเชื่ออย่างสนิทใจ ว่าพวกเขาเป็นนักบินที่ไปปฏิบัติการรบมาจริงๆ

  ยังไม่จบเพียงแค่นั้น บางครั้งผู้เขียนได้มีโอกาสตรวจของขวัญและจดหมาย ซึ่งบรรดาพ่อแม่ญาติพี่น้อง
หรือลูกเมียคนรักเขียนมาถึงคนเหล่านั้น ในทำนองหวังดีและห่วงใยว่า " ลูกรัก...พี่...น้อง...อย่าบินผาดโผน
ให้มากนัก จะเป็นอันตราย..." ทำให้นึกปลงอนิจจัง และรู้สึกขำขันอยู่ในใจความเป็นคนช่างคุยของล้อต๊อก
และพรรคพวกไม่ได้

   หลังจากสงครามกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศสสิ้นสุดลงแล้ว ล้อต๊อกได้เข้าสู่วงการบันเทิง โดยเข้าร่วม
สังกัดกองดุริยางค์และกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ซึ่งมี นาวาอากาศตรี ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร ( พลอากาศตรี )
เป็นหัวหน้า ท่านผู้นี้ต่อมาได้สร้างคณะละคร " ศิวารมย์ " อันมีชื่อเสียงและได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง " บ้านไร่นาเรา "
ที่มีเรืออกาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ( พลอากาศเอก ) เป็นพระเอก นอกจากนั้นยังได้สร้างดาวตลกชื่อดังอีกหลาย
คนเช่น ล้อต๊อก, จิ๋ว ดอกจิก , สมพงษ์ พงษ์มิตร , พูลสวัสดิ์ ธีมากร รวมทั้งได้สร้างพระเอกนักร้องและดาวร้าย
ขึ้นอีกหลายคน สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ , ทักษิณ แจ่มผล , และถวัลย์ วรวิบูลย์ เป็นต้น

   เมื่อผู้เขียนย้ายเข้ามาประจำอยู่ดอนเมือง ล้อต๊อกก็ยังไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ ที่บ้านพักนายทหารของผู้เขียน
ซึ่งอยู่คนเดียว ( โสดชั่วคราว ) บางครั้งก็มาพร้อมกันหลายๆ คน และพักค้างคืนก็มี โดยนอนกับพื้นข้างเตียง
ในห้องนอนของผู้เขียน เมื่อมาแล้วก็กินข้าวดื่มเหล้า และร้องรำทำเพลงแสดงตลกกันไปตามประสาคนโสด
ระหว่างสงคราม ( สงครามมหาเอเซียบูรพา ) สุรสิทธิ์เป็นนักเรียนจ่าอากาศหลังทักษิณรุ่นหนึ่ง ทั้งสองเคยเป็น
ลูกศิษย์ของผู้เขียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ ส่วนล้อต๊อกมาจากทหารกองประจำการ แต่มีอายุและอาวุโสกว่าทั้งสองคนนี้

   อยู่มาวันหนึ่ง ทั้ง ๓ คน คือ ล้อต๊อก ทักษิณ และสุรสิทธิ์มาเยี่ยมผู้เขียนเช่นเคย หลังจากกินเหล้ากันไปพักหนึ่ง
เข้าใจจะเป็นทักษิษและสุรสิทธิ์พูดอะไรเกินเลย ทำนองประมาทล้อต็อกว่าเป็นคนคร่ำครึไม่โดดเด่นทันสมัย
และไม่ได้รับความนิยม สู้พวกเขาไม่ได้ การพูดครั้งนั้นทำให้ล้อต๊อกโกรธมาก และชี้หน้าต่อว่า แถมสั่งสอน
ทักษิณและสุรสิทธิ์ทันที ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ดี ตราบเท่าทุกวันนี้

   " เฮ้ย ไอ้สิทธิ์ ไอ้สิน มึงอย่าทะนงตัวนัก มึงถือว่าเป็นพระเอกและดาวร้ายชื่อดัง อีกหน่อยพวกมึงอายุ ๔๐ - ๕๐
ขอถามว่า ยังจะมี " ม " ตัวไหนมาจ้างพวกมึงไปเป็นพระเอกและผู้ร้ายส่วนกูสิวะ จะเป็นดาวตลกได้ตลอดชีวิต...
มึงคอยดูกู ชั่วชีวิตนี้บั้นปลายของชีวิตกูจะต้องได้เป็นศิลปินแห่งชาติให้จงได้..."

   การปะทะคารมและคำพูดของล้อต๊อกในคืนวันนั้น ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร เพราะต่อจากนั้นมา สุรสิทธิ์
โด่งดังสุดขีด เป็นนักร้องมีชื่อ และพระเอกสุดยอด หนังดังในเวลานั้นคือเรื่อง " สุภาพบุรุษเสือไทย " ของคุณแท้
ประกาศวุฒิสาร นักสร้างและผู้อำนวยการมีชื่อ แล้วก็ค่อยๆ โรยราลงไปตามอายุ และเสียชีวิตไปในที่สุดเมื่ออายุ
เพิ่ง ๕๐ ปีต้นๆ ส่วนทักษิณดังในฐานะดาวร้ายคับจอที่ไม่มีตัวจับอยู่พักหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ลาโรงไปทำสวนทำไร่
อยู่จังหวัดลำปาง และถูกยิงเสียชีวิตในฐานะดาวร้ายจริงๆ เมื่อายุเกือบ ๖๐ ปี ส่วนล้อต๊อกก็ยังคงเป็นดาวตลก
ชื่อดังต่อมา อายุยิ่งมากก็ยิ่งได้รับความนิยมนับถือจากดารารุ่นน้องๆ ลูกๆ หลานๆ ในฐานะบรมครูอย่างทั่วหน้า
และประชาชนคนดูก็ให้ความนิยมชมชอบไม่น้อยหน้ากัน ในฐานะดาวตลกบรมครูแห่งฟ้าเมืองไทย

  ล้อต๊อกได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง เมื่ออายุ ๗๐ ปีเศษ สมกับที่เคยลั่นวาจาไว้
ต่อหน้าผู้เขียนคราวปะทะคารมกับทักษิณแจ่มผล และสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีเศษมาแล้ว
ล้อต๊อกเพิ่งถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๐ ปีเศษ

   นี่คือส่วนหนึ่งของความทรงจำของผู้เขียนเกี่ยวกับ " ล้อต๊อก " จ่าอากาศตรี สวง ทรัพย์สำรวย ศิลปินแห่งชาติ
และดาวตลกเอกแห่งฟ้าเมืองไทย
 


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:13
ระหว่างที่ผมทำการบ้านให้คุณศิวาวุธเอาภาพที่ถุกต้องไปเขียนการ์ตูน ท่องเน็ทหาข้อมูลไปทั้งเวปของไทยและของฝรั่ง ที่ล่าช้าเพราะเกิดความงุนงงสงสัยตลอดไม่อาจสรุปได้ เวปฝรั่งบางเวปก็เขียนละเอียดว่าไทยซื้อปืนของบริษัทไหนไป รุ่นอะไร เมื่อไหร่ แต่หาข้อมูลฝ่ายไทยไม่ได้

วันนี้ผมไปธุระที่ตลาดไม้แถวบางโพ เลยตั้งใจเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธทหารที่ริมคลองบางซื่อ เผื่อจะได้อะไรดีๆมาฝากขาประจำของกระทู้นี้
สรุปว่า ไทยซื้อปืนต่างๆมาเยอะ แต่จำนวนไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่มีระห้สภาษาไทย นอกจากที่นำมาประจำการเป็นอาวุธหลักเท่านั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:20
ป้ายเขาอ่านว่า พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธ ยินดีต้อนรับ

ผมโทรศัพท์ตามเบอร์ที่ให้ไว้ในเวปแต่โทรกี่ครั้งๆก็ไม่มีคนรับ แต่พอเข้าไปทุกคนก็ต้อนรับดีครับ เอากุญแจไปเปิดประตูอาคารให้ผมเข้าไปดู แม้จะไปคนเดียวก็ตาม

ในห้องโถงที่ก้าวเข้าไปนั้น มีปืนแต่ละแบบทั้งปืนเล็กปืนใหญ่ เยอะมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕มาเลยทีเดียว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:24
นี่เป็นปืนกลเบา แบบ ปกบ.66  หรือปืนเมดเสน ผู้ผลิตเดียวกันแต่คนละรุ่น นี่จึงทำให้รูปในเวปไม่เหมือนกัน เล่นเอาผมงงไปหมด ความจริงกองทัพบกมีใช้ทั้งคู่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:28
ปกน.แบบ77  เป็นปืนกลหนักสร้างโดยบริษัท Vickers Armstrong ประเทศอังกฤษ

สังเกตุที่มือจับนะครับ รุ่นนี้มือจับคู่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:33
เยอะไปหมด ขาตั้งไม่เหมือนกันสักอัน นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมดูรูปในเวปแล้วงง ไปดูของจริงยิ่งงงหนัก หลายกระบอกไม่มีป้ายบอกข้อมูลอะไรเลย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:35
ปกน. แบบ66 หรือปืนกล Browning M1917



กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:45
พอถ่ายถึงตรงนี้ มีนายทหารหญิงเดินมาบอกยิ้มๆว่า เขาห้ามถ่ายรูปค่ะ

ผมก็ร้องว่าอ้าว แล้วจะจำได้อย่างไรเล่าครับ

แต่ผมก็เป็นคนว่าง่าย ไม่ให้ถ่ายก็เลิกถ่าย ที่ถ่ายไปเธอไม่ติดใจก็ดีถมไปแล้ว ผมเดินดูครบรอบเธอก็บอกให้ไปดูปืนเล็กชั้นบน ผมก็ขึ้นไปดู ไม่มีใครเฝ้าก็จริงแต่ก็ขอถ่ายมาให้ท่านเห็นบรรยากาศเพียงรูปเดียว

คนรักของประเภทนี้คงดูได้ทั้งวัน แต่ผมดูไปหน่อยเดียวก็ชักจะตาลาย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:47
ก่อนออกมา จ่าที่เฝ้าอยู่เอาแผ่นพับมาให้ ผมก็รับมาเป็นของฝากท่านทั้งหลายอีกนั่นแหละ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:48
หน้าใน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:50
หน้าหลัง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 22:54
คุณศิวาวุธน่าจะไปดูเองนะครับ ถ้าอยากถ่ายรูป ลองทำหนังสือถึงท่านเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราวท่านอาจจะให้

ก็มันไม่น่าจะเป็นความลับอะไร แต่ถ้าไม่ปรามๆไว้บ้าง เดี๋ยวน้องหนูจะไปโพสต์ท่าเอานิ้วจิ้มแก้มกับปืนกระบอกโน้นกระบอกนี้วุ่นไปหมด บางกระบอกเขาเอาพวงมาลัยแขวนไว้ก็มี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Siwawuth ที่ 28 ก.พ. 12, 03:00
คุณศิวาวุธน่าจะไปดูเองนะครับ ถ้าอยากถ่ายรูป ลองทำหนังสือถึงท่านเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราวท่านอาจจะให้

ก็มันไม่น่าจะเป็นความลับอะไร แต่ถ้าไม่ปรามๆไว้บ้าง เดี๋ยวน้องหนูจะไปโพสต์ท่าเอานิ้วจิ้มแก้มกับปืนกระบอกโน้นกระบอกนี้วุ่นไปหมด บางกระบอกเขาเอาพวงมาลัยแขวนไว้ก็มี

ขอบคุณมากครับ แต่บ้านผมอยู่หาดใหญ่ เลยไม่ค่อยสะดวกที่จะไปซักเท่าไหร่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 09:13
พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธคงจะจัดทำขึ้นมาก่อนโลกมีอินเทอร์เน็ต   คำอธิบายประกอบอาวุธชนิดต่างๆ  จึงมีเท่าที่จะมีเอกสารประกอบ    ถ้าหากว่ามีอินทรเนตรช่วยค้นหาให้  บรรยายได้มากกว่านี้ และมีไกด์ที่รู้เรื่องดีคอยต้อนรับ  เวลาครูพานักเรียนไปชม คงจะสนุกมาก   
พิพิธภัณฑ์จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ก็เพราะมีผู้นำชมที่อธิบายให้เห็นภาพเหตุการณ์จากของที่นำมาตั้งโชว์ไว้   ถ้าให้คนดูเข้าไปเดินดูอยู่ฝ่ายเดียวคงจะหงอยๆไปหน่อย     ถ้าคนดูรู้จักของพวกนั้นก็ยังพอสนุกได้บ้าง   ถ้าไม่ค่อยรู้อยู่แล้ว ก็แทบจะหลับกลางห้องไปเลย

นึกถึงพิพิธภัณฑ์อาวุธที่ออสเตรียที่ไปดูมาเมื่อเดือนกันยายน ปีก่อน     นอกจากอาวุธสารพัดชนิดตั้งแต่ยุคกลางจนสงครามโลกครั้งที่สอง   คุณไกด์แกเก่งมาก อธิบายฉาดฉาน  จะซักจะถามอะไรเขาก็รีบตอบเต็มอกเต็มใจ   ถ่ายรูปได้ไม่มีใครว่า
ของพรรค์นี้สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น   เห็นอาวุธที่ทหารยุโรปแบกกันมาตั้งแต่ยุคกลาง  เมื่อก่อนเห็นในรูปก็ไม่รู้สึกอะไรนัก  ไปเห็นของจริงเข้าแทบจะร้องโอ้ก(ตั้งใจสะกดไม้โทนะคะ คุณเพ็ญ)   เพราะดูด้วยตาก็รู้ว่ามันหนักเหลือเกิน   ปืนยาวกระบอกหนึ่ง ดูหนักราวแบกครกหินสัก ๑๐ ลูกพร้อมกัน     ทหารที่ออกรบต้องแบกปืนเดินไปไม่รู้กี่ไมล์ ไหล่น่าจะทรุดก่อนถึงสนามรบ  นี่ยังไม่รวมหมวกเหล็ก ชุดเครื่องแบบ รองเท้าบู๊ต  ที่หนาและหนักเหมือนแบกกระสอบอีก ๑ ใบไปด้วย

ดิฉันเสียดายแทนคุณศิวาวุธ ที่น้ำเสียงคุณดูไม่สนใจพิพิธภัณฑ์ที่คุณนวรัตนอุตส่าห์แวะไปเก็บรูปมาฝาก พร้อมคำอธิบายในแต่ละรูป  ทั้งๆท่านเองก็ไม่ได้มีโครงการจะผลิตงานอะไรขึ้นมาเหมือนคุณ      ขอเล่าเป็นเกร็ดความรู้อย่างหนึ่งว่าคนที่เป็นนักเขียน ไม่ว่าเขียนสารคดี  นิยาย หรือการ์ตูน   ถ้าเขาจะเขียนเรื่องราวที่อิงจากเรื่องจริง   ต้องค้นคว้าและไปสัมผัสของจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  แม้แต่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยก็อย่ามองข้าม    เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ    ไม่ใช่ว่าใช้แต่จินตนาการ  ถามคนอื่น หรือหารูปจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น    ถ้างานคุณไม่มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่นๆ   คุณจะอยู่ในวงการไม่ได้นาน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 17:54
คุณครูมาแล้ว

คุณศิวาวุธก็ยังไม่ต้องออกจากห้องไปไหน ท่านอาจารย์ท่านสอนด้วยความเมตตา ควรขอบพระคุณท่าน ไม่ต้องน้อยใจ



เดี๋ยวปืนฝรั่งเศสจะมาแล้ว จะได้เอาไปเขียนแบบไม่มั่วๆ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Siwawuth ที่ 28 ก.พ. 12, 18:59
พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธคงจะจัดทำขึ้นมาก่อนโลกมีอินเทอร์เน็ต   คำอธิบายประกอบอาวุธชนิดต่างๆ  จึงมีเท่าที่จะมีเอกสารประกอบ    ถ้าหากว่ามีอินทรเนตรช่วยค้นหาให้  บรรยายได้มากกว่านี้ และมีไกด์ที่รู้เรื่องดีคอยต้อนรับ  เวลาครูพานักเรียนไปชม คงจะสนุกมาก  
พิพิธภัณฑ์จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ก็เพราะมีผู้นำชมที่อธิบายให้เห็นภาพเหตุการณ์จากของที่นำมาตั้งโชว์ไว้   ถ้าให้คนดูเข้าไปเดินดูอยู่ฝ่ายเดียวคงจะหงอยๆไปหน่อย     ถ้าคนดูรู้จักของพวกนั้นก็ยังพอสนุกได้บ้าง   ถ้าไม่ค่อยรู้อยู่แล้ว ก็แทบจะหลับกลางห้องไปเลย

นึกถึงพิพิธภัณฑ์อาวุธที่ออสเตรียที่ไปดูมาเมื่อเดือนกันยายน ปีก่อน     นอกจากอาวุธสารพัดชนิดตั้งแต่ยุคกลางจนสงครามโลกครั้งที่สอง   คุณไกด์แกเก่งมาก อธิบายฉาดฉาน  จะซักจะถามอะไรเขาก็รีบตอบเต็มอกเต็มใจ   ถ่ายรูปได้ไม่มีใครว่า
ของพรรค์นี้สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น   เห็นอาวุธที่ทหารยุโรปแบกกันมาตั้งแต่ยุคกลาง  เมื่อก่อนเห็นในรูปก็ไม่รู้สึกอะไรนัก  ไปเห็นของจริงเข้าแทบจะร้องโอ้ก(ตั้งใจสะกดไม้โทนะคะ คุณเพ็ญ)   เพราะดูด้วยตาก็รู้ว่ามันหนักเหลือเกิน   ปืนยาวกระบอกหนึ่ง ดูหนักราวแบกครกหินสัก ๑๐ ลูกพร้อมกัน     ทหารที่ออกรบต้องแบกปืนเดินไปไม่รู้กี่ไมล์ ไหล่น่าจะทรุดก่อนถึงสนามรบ  นี่ยังไม่รวมหมวกเหล็ก ชุดเครื่องแบบ รองเท้าบู๊ต  ที่หนาและหนักเหมือนแบกกระสอบอีก ๑ ใบไปด้วย

ดิฉันเสียดายแทนคุณศิวาวุธ ที่น้ำเสียงคุณดูไม่สนใจพิพิธภัณฑ์ที่คุณนวรัตนอุตส่าห์แวะไปเก็บรูปมาฝาก พร้อมคำอธิบายในแต่ละรูป  ทั้งๆท่านเองก็ไม่ได้มีโครงการจะผลิตงานอะไรขึ้นมาเหมือนคุณ      ขอเล่าเป็นเกร็ดความรู้อย่างหนึ่งว่าคนที่เป็นนักเขียน ไม่ว่าเขียนสารคดี  นิยาย หรือการ์ตูน   ถ้าเขาจะเขียนเรื่องราวที่อิงจากเรื่องจริง   ต้องค้นคว้าและไปสัมผัสของจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  แม้แต่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยก็อย่ามองข้าม    เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ    ไม่ใช่ว่าใช้แต่จินตนาการ  ถามคนอื่น หรือหารูปจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น    ถ้างานคุณไม่มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่นๆ   คุณจะอยู่ในวงการไม่ได้นาน

ขอบคุณที่อบกครับ แต่...

อันที่จริงสถานที่แบบนั้นผมอยากไปใจจะขาด เป็นไปได้จะอยู่ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่โอกาสหลายๆอย่างทำให้ผมไปไม่ได้ ถ้ามีโอกาสจริงๆผมก็อยากไปเหมือนกัน

ผมศึกษาด้านนี้มา อาจจะไม่มากเท่าคนอื่นๆ แต่ผมก็ชอบวิชาการด้านนี้พอๆกับการวาดการ์ตูนที่ผมรักครับ

งานที่วาดออกมา ผมต้องนั่งหา เก็บลายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางทีอาจจะนานกว่าเวลาที่ผมวาดซะอีก

ดังนั้น เมื่อคุณพูดแบบนี้ ผมเลยไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ ผมพยายามในสิ่งที่ผมชอบ แต่ก็โดนแบบนี้ บอกตรงๆ ผมน้อยใจครับ

ปล. ผมพูดและเรียบเรียงคำไม่ค่อยเก่ง ขอภัยถ้ามีใครไม่พอใจกับคำพูดของผม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 20:22
น้อยใจแล้วได้อะไรครับ ควรขอบพระคุณท่าน ท่านอาจารย์ท่านสอนด้วยความเมตตา


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 20:33
อาวุธเบามาตรฐานของฝ่ายไทยในสมรภูมิอินโดจีนต้องจบเพียงเท่านี้  คราวนี้หันมาดูฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง

ปืนพก

Mle 1935  คนสวิสออกแบบ ฝรั่งเศสผลิต ใช้กระสุน 7.65mm Longue   บรรจุ 8 นัด


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 20:37
MAB Model D pistol ใช้กระสุน 7.65mm Longue  7.65x17mm Browning SR บรรจุ 9 นัด


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 21:07
ปืนเล็กยาว

ปืนแบบMAS-36  ถือเป็นอาวุธหลักของทหารราบฝรั่งเศสและทหารอาณานิคมญวนทุกแนวรบ ปืนนี้อยู่ยงคงกระพันจนสิ้นสุดสงครามโลก แล้วฝรั่งเศสก็เอามาปราบคนเวียตนามที่ลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราช ทว่าหนนี้มิได้เหมือนคราวที่ผ่านมาในอดีต ก่อนจีนจะเข้าไปติดอาวุธให้ญวนนั้น เสรีไทยทางอิสานก็เอาอาวุธทันสมัยที่อเมริกันมอบให้ส่งต่อให้เวียตนาม ผ่านลุงโฮ หรือโฮจิมินจนตั้งทหารได้๑กองพัน เรียกว่ากองพันสยาม ทำการต่อสู้กับฝรั่งเศสร่วมกับทหารอาณานิคมแปรพักตร์ หลังการรบครั้งสุดท้ายที่เบียนเดียนฟู ทหารฝรั่งเศสแพ้ย่อยยับ กรมทหารต่างด้าวที่รบกับไทยแล้วแพ้แต่ได้เหรียญกล้าหาญนั้น ประจานฝรั่งเศสอีก คราวนี้ถูกญวนสลายเรียบร้อยขนาดถุกยุบกรมออกจากสารบบไปเลย

ปืนMAS-36ถูกฝรั่งเศสทิ้งให้ตกอยู่ในมือทหารญวนเป็นจำนวนมาก เวียตนามเหนือใช้ปืนนี้ติดอาวุธให้หน่วยแทรกซึมเข้าไปปลดปล่อยเวียตนามใต้ จนอเมริกันทนไม่ได้ ต้องเข้าไปรับหน้าเสื่อแทนฝรั่งเศสที่ถอยหนีกลับบ้านไปหมดแล้ว ต่อมา อเมริกันก็บีบให้ไทยส่งทหารไปร่วมรบในสมรภูมิเวียตนามด้วย

ที่เล่ามายืดยาวเพราะที่พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธมีปืนMAS-36นี้เก็บไว้หลายกระบอก มีป้ายบอกว่าเป็นปืนที่ทหารไทยยึดได้จากเชลยเวียตกงครั้งไปรบในสงครามเวียตนามครั้งกระโน้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 21:29
ปืนกลมือ

MAS-38  ผลิตโดยบริษัทเดียวกับปืนเล็กยาวที่กล่าวไปแล้ว ปืนกลเป็นปืนประจำกายของนายทหาร ฝรั่งเศสได้นำปืนนี้มาใช้ในสงครามอินโดจีนตลอด


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 21:32
ดังนั้น เมื่อคุณพูดแบบนี้ ผมเลยไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ ผมพยายามในสิ่งที่ผมชอบ แต่ก็โดนแบบนี้ บอกตรงๆ ผมน้อยใจครับ

Bitter pills may have sweet effect.

หวานเป็นลม ขมเป็นยา

 ;)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 21:50
ปืนกลเบา

แบบ FM-24/29 ปืนแบบนี้แหละครับที่ถุกนำไปที่สมรภูมิบ้านพร้าวด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 22:03
ปืนกลหนัก

แบบ Hotchkiss M1914 ทหารฝรั่งเศสคงไม่ได้แบกไปตีบ้านพร้าวเพราะหนักเกินไปครับ ปืนแบบนี้เหมาะจะตั้งป้องกันที่มั่น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 22:08
เจ้าของการบ้านยังอยู่หรือไปแล้วก็ไม่ทราบ ผมจะบอกว่าถ้าจะเน้นแค่การรบที่สมรภูมิบ้านพร้าว ปืนเล็กของทั้งสองฝ่ายที่ผมหามาให้ก็คงจะครบแล้วครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 ก.พ. 12, 22:25
ชอบโรงเรียนนี้ตรงที่ครูเป็นฝ่ายทำการบ้านนี่แหละครับ  เป็นนักเรียนขี้เกียจเรียนที่นี่สบายจริงๆ ;D
ต้องขอบพระคุณคุณครูทุกท่าน  และนักเรียนชั้นเยี่ยมที่มาให้ความรู้จริงๆ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 22:41
อ้าว จะไปอีกคนแล้วหรือครับนี่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Siwawuth ที่ 29 ก.พ. 12, 01:17
ยังอยู่ครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล

รู้สึกว่าผมจะทำให้คนที่นี่ไม่พอใจ ผมไม่มารบกวนที่นี่อีกแล้วครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ก.พ. 12, 04:34
อ้าว คุณ Siwawuth จะน้อยใจหนีไปไหนหละครับ ถูกครูดุนิดเดียว

ผมหนะ ถูกท่านอาจารย์เทาชมพูลบ post ไว้ยังเคยเลย แต่ไม่มีเข็ดครับ  เรามาหาความรู้ จะมีตัวตนมากไม่ได้ครับ  คิดแต่มุมของเรามันไม่พอ
ผู้ใหญ่เตือนเราก็ต้องรับฟัง  ท่านไม่ได้ต่อว่าอะไรเราหรอก ท่านเห็นว่าอาจารย์นวรัตน(ลืมไปแล้วว่าของท่านแบบมีหรือไม่มีการันต์)อุตส่าห์ไปแวะพิพิธภัณฑ์ ถ่ายรูปมาด้วย แต่เหมือนเราดูเฉยๆ ท่านก็เลยสอนครับ
แค่ท่านตักเตือนเรา เพราะบางครั้งเราเผลอแสดงออกไปเหมือนกับไม่ได้ใส่ใจหรือกระตือรือร้นมากพอเท่านั้นเองครับ
ที่นี่ยังดี ครูดุแต่ไม่ตีนะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 06:09
ปล่อยวางเถอะครับ

อะไรมันมา เดี๋ยวมันก็ไป ตามเหตุของมัน เป็นสัจธรรมนำไปพิจารณาได้ทุกเรื่อง


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 06:12
ก่อนจะจบกระทู้นี้ ผมนึกขึ้นมาได้ว่าท่านอาจารย์เทาชมพูได้พาท่านผู้อ่านเข้าซอยหลวงวิจิตรวาทการไปลึกเหมือนกัน แต่ยังไม่สุดซอย  เรื่องสงครามอินโดจีนนี้จะไม่กล่าวถึงท่านผู้นี้เลยคงไม่ได้ เพราะท่านเป็นกุนซือฝ่ายบุ๋นในกับหลวงพิบูลสงครามในการสร้างประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยให้ใหญ่ยิ่ง เหมือนอาณาจักร์ไร้ซ์ที่สามของฮิตเลอร์  ผมจะพาท่านผู้อ่านไปดูก้นซอยเป็นการปิดฉากกระทู้นี้

เสร็จกิจสงคราม นายทหารแม่ทัพนายกองได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นยศกันทั่วหน้า  พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านก็สมควรจะได้มั่ง แต่เหล่าลูกน้องผู้รู้ใจได้ “จัดให้” นาย เลื่อนทีเดียวจากพลตรีขึ้นมาเป็นจอมพลเลย
ต่อจากนั้นก็มีการสร้างภาพ “ท่านผู้นำ” ขึ้นไปกระทบไหล่ฮิตเลอร์ที่กำลังดังสุดๆในโลกขณะนั้นด้วยโดยใช้เหล่ากุนซือฝ่ายบุ๋นนี้แหละ เป็นผู้คิดและดำเนินการ  แม้ท่านจอมพลเองจะเขินๆในทีแรก แต่มีผู้เห็นท่านเป็นเทพยดาหนักเข้าท่านเลยคิดว่าท่านเป็นจริงๆเหมือนกัน  งานปั้นจอมพลป.ขึ้นเป็นเทวดาตัวเป็นๆนี้ ผมได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่าเป็นฝีมือของหลวงวิจิตรวาทการ

ก็สำเร็จผลตามมุ่งหมายแหละครับ ฝรั่งมังค่าก็บรรยายภาพข้างล่างว่าจอมพลป.พยายามเลียนแบบฮิตเลอร์ทุกอย่าง  ทั้งๆที่ดูเหมือนว่า ท่านกำลังโบกมือให้แฟนๆเฉยๆ

ผมจะเขียนถึงหลวงวิจิตรด้วยสำนวนภาษาของตัวเองก็จะถูกตั้งคำถามว่า “ใส่ไข่รึเปล่า”  ดังนั้นจึงขอนำบางตอนจาก“พลิกแผ่นดิน” โดยคุณประจวบ อัมพะเศวตมาปิดรายการแทนดีกว่า


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 12:11
คุณศิวาวุธในฐานะสมาชิก ยังมีสิทธิ์จะเข้ามาถามและอ่านในเรือนไทยได้เสมอค่ะ  ดิฉันไม่ได้ลบสมาชิกภาพ   ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ด้านความรู้ของคุณเอง    
ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่อายุ 20  แต่จะต้องไปอีกไกล  คุณจะต้องเรียนรู้อีกมากในเส้นทางของคุณ
ไม่ต้องรับฟังดิฉันก็ได้   แต่โปรดเชื่อพระพุทธวัจนะด้วย

โสวจสฺสตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ฟังเหตุผล นี้เป็นมงคลสูงสุด

เอตาทิสานิ กตฺวาน   สพฺพตฺถมปราชิตา
สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติ   ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ
เทพและมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความผาสุกสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คือมงคลสูงสุดของเทพและมนุษย์เหล่านั้น.


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 12:15

ต่อจากนั้นก็มีการสร้างภาพ “ท่านผู้นำ” ขึ้นไปกระทบไหล่ฮิตเลอร์ที่กำลังดังสุดๆในโลกขณะนั้นด้วยโดยใช้เหล่ากุนซือฝ่ายบุ๋นนี้แหละ เป็นผู้คิดและดำเนินการ  แม้ท่านจอมพลเองจะเขินๆในทีแรก แต่มีผู้เห็นท่านเป็นเทพยดาหนักเข้าท่านเลยคิดว่าท่านเป็นจริงๆเหมือนกัน  งานปั้นจอมพลป.ขึ้นเป็นเทวดาตัวเป็นๆนี้ ผมได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่าเป็นฝีมือของหลวงวิจิตรวาทการ

ก็สำเร็จผลตามมุ่งหมายแหละครับ ฝรั่งมังค่าก็บรรยายภาพข้างล่างว่าจอมพลป.พยายามเลียนแบบฮิตเลอร์ทุกอย่าง  ทั้งๆที่ดูเหมือนว่า ท่านกำลังโบกมือให้แฟนๆเฉยๆ

ในหนังสือ เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ ท่านผู้ประพันธ์ก็กล่าวถึงความนิยมฮิตเลอร์ที่กลายมาเป็น "เทรนด์" ใหม่ไปทั่วโลกเหมือนกัน    เขาเป็นผู้พลิกฟื้นความเกรียงไกรของเยอรมนีที่ป้อแป้จากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ให้กลายเป็นอาณาจักรไรซ์ที่ ๓ ขึ้นมาได้เหมือนเนรมิต   
ก็พอจะเข้าใจได้ว่า หลังจากจอมพลป. กวาดล้างอำนาจเก่า(ซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะหาญขึ้นมาต่อกร) เรียบราบไปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒  ท่านก็หวังว่าไทยและผู้นำไทยจะรุ่งโรจน์ขึ้นมาได้แบบเดียวกัน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 13:05
ท่านผู้เขียนเรื่องข้างบนนิยามฮิตเลอร์ว่าเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้สวมมงกุฏ

จอมพลป. หลังสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสก็ไม่มีใครเทียบรัศมีท่านได้ ประวัติศาสตร์ได้บอกให้เราทราบว่า ท่านได้กลายเป็น "กษัตริย์ที่ไม่ได้สวมมงกุฏ"ของไทยแทนองค์พระผู้ทรงมงกุฏ ที่ผู้อ้างประชาธิปไตยอัญเชิญลงมาจากที่ทรงสถิตย์ แล้วนำตนขึ้นไปเถลิงแทน

เมืองไทยรุ่งโรจน์มาได้แค่ไหน อย่างไร สุดแต่คนจะตีความกันไป ประวัติศาสตร์ตอนนี้กำลังทำท่าจะเวียนๆมาอีกรอบ เดี๋ยวนี้ตัวท่านผู้อ่านเองก็ยังอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ที่คนในอนาคตจะกล่าวถึง

ก็ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าเขาจะสรุปถึงเหตุการณ์ที่เราๆท่านๆเห็นตำตากันเช่นใด ภาพข่าวเดียวกัน พอออกทีวีคนบรรยายยังว่าไปคนละเรื่องแบบขาวกับดำ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 13:31
^

"ผู้ใดมีอำนาจวาศนา          ธรรมดาหาอะไรก็หาได้
กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้    ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ
ใครหมัดย่อมต้องถ่อมกายายอบ     ต้องคอยหมอบคอยกราบราบเทียวเหนอ
คอยระแวงแขยงอยู่ละเออ    มิได้กล้าเผยอขึ้นตึงตัง
มีอำนาจวาศนาวาจาสิทธิ์    พูดสิ่งใดไม่ผิดเพราะฤทธิ์ขลัง
ถึงพูดผิดกำหมัดซัดลงปัง    กลายเป็นพูดถูกจังไปทั้งเพ
กำหมัดเล็กลูกเด็กก็เถียงได้    จะส่งเสียงเถียงไปไม่ไหวเหว
ต้องขอยืมหมัดโตไว้โบ๊เบ๊    เดินโอ้เอ้วางปึ่งให้ถึงดี"

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 16:37
ถูกต้องคร้าบ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 12:49
ก่อนจะจบกระทู้นี้ และเชิญท่านที่สนใจไปนั่งล้อมวงสนทนากันต่อในกระทู้หน้า  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่อจากสงครามอินโดจีน  ดิฉันขอเล่าส่งท้ายจากบันทึกของพ.อ.แสง จุละจาริตต์  เพื่อให้เข้าใจถึงบรรยากาศในสมัยนั้นได้ชัดเจนขึ้นนะคะ

พ.อ. แสงท่านเล่าว่า  แม้สงครามอินโดจีนจบลงด้วยชัยชนะทางฝ่ายไทย  ได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมา    แต่บรรยากาศยินดีปรีดาก็อาจจะเกิดแต่ทางด้านประชาชนผู้ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเป็นส่วนใหญ่     ส่วนทางทหาร ยังตระหนักถึงความตึงเครียดที่ก่อตัวหนักหนาขึ้นยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
เพราะขณะนั้น แสนยานุภาพของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ทหารไทยประมาทมิได้เลย    ผู้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดย่อมรู้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่อันตรายคับขันเพียงใด     เพราะญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐาน บก.ทัพเรือ  ทัพอากาศ  ในอินโดจีนฝรั่งเศส    เป็นขั้นตอนก้าวกระโดดมุ่งเข้าครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเบ็ดเสร็จ  โดยฝีมือกองทัพเกรียงไกรของจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:00
นายดาบหนุ่มน้อยอย่างพ.อ.แสง จุละจาริตต์    รวมทั้งนายดาบกองหนุนอื่นๆ  กับทุกรุ่นที่ถูกระดมไปสนามรบในสงครามอินโดจีน  ไม่ได้รับการปลดปล่อย    แต่กลับถูกฝึกเพิ่มเติมและบรรจุเข้าอัตรากำลังประจำการของหน่วยกองพันต่างๆ   ตามแผนรับสถานการณ์รุกราน  ที่กองทัพประเทศไทยในตอนนั้นตระหนักถึงภัยคุกคามนี้ดี   แม้ยังไม่กระโตกกระตากให้ประชาชนรู้ก็ตาม

ในตอนนั้น  ประเทศเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ  กำลังเกิดอาการง่อยเปลี้ยเสียขาอยู่กับสงครามในยุโรป ที่เยอรมันบุกหนัก ซ้ำเป็นฝ่ายมีชัยตลอด      ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงต้องปล่อยอินโดจีนออกจากอำนาจ   ให้ตั้งแผนรับศึกและช่วยเหลือตัวเองกันไปตามยะถากรรม  
ประเทศพี่เบิ้มประเทศเดียวที่ยังเหลืออยู่ และฮึ่มๆคุมเชิงอยู่ทางแปซิฟิคก็คือสหรัฐอเมริกา     ซึ่งเป็นประเทศที่ยังไม่บอบช้ำ เพราะสงครามไม่ได้ข้ามทะเลจากแอตแลนติคมาถึงวอชิงตันหรือนิวยอร์ค    ทางตะวันออกของประเทศมีมหาสมุทรแปซิฟิคคั่นอยู่   เครื่องบินรบบินไม่ถึงคาลิฟอร์เนีย

ขอเชิญไปต่อที่กระทู้นี้ค่ะ
เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.new#new)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 10:07
เรื่องการรบที่สมรภูมิบ้านพร้าวของกองพันทหารราบที่ ๓ มีอีกสำนวน เขียนโดย พล.อ.ไพฑูรย์   ขจรพันธุ์ พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ไม่ทราบว่ามีข้อมูลนี้หรือเปล่าครับ ?
ถ้าไม่มี ผมจะนำมาพิมพ์เพื่อเสริมเหตุการณ์ด้วย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 12, 10:33
ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้ค่ะ
สนใจ อยากทราบว่าท่านบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ขอบคุณคุณ Thammarat ล่วงหน้าค่ะ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 11:30
หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พล.อ.ไพฑูรย์   ขจรพันธุ์ วันเสาร์ ที่ ๒๕ เม.ย. ๕๒ ได้รับจากงานสัปดาห์หนังสือ ฯ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อ ๑๙ ต.ค. ๕๔
มีบันทึกเกี่ยวกับการรบของกองพันทหารราบที่ ๓ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานส่วนหนึ่งของผู้บันทึก และมุมมองของท่าน ผมขอคัดลอกมาตามหนังสือดังนี้ (มีตัดทอนบางส่วน และใช้คำย่อ เพื่อให้พิมพ์เร็วขึ้น)

กรณีพิพาทอินโดจีน
นักเรียนนายร้อยรุ่นข้าพเจ้าซึ่งเข้ารับการศึกษาปีที่ ๑ เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๐ กำหนดจบการศึกษาออกรับราชการเป็นนายทหารใน ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๓ แต่เนื่องจากได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น คือ ประเทศเยอรมัน ได้ประกาศสงคราม และเคลื่อนกำลังเข้ายึดประเทศโปแลนด์ เมื่อ ๑ กันยายน ๒๔๘๒
ดังนั้น เราจึงได้ข่าวว่าทางการดำริจะให้พวกเราออกรับราชการ เป็นนายทหารสัญญาบัตรมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๔๘๒ แล้ว โดยทางโรงเรียนนายร้อยได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ พวกเราต้องเร่งศึกษา และฝึกยุทธวิธีเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะมีการเร่งงรัดกวดขันการฝึกแก้ปัญหาทางยุทธวิธีในตอนเย็นทุกวัน แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์ยังไม่มีอะไรรุนแรงกระทบกระเทือนต่อประเทศไทยมากนัก  จึงให้คงศึกษาไปตามปกติจนจบการศึกษาออกรับราชการใน ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๓ ตามเดิม


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 11:49
ก่อนจะออกรับราชการ ตามธรรมดาจะให้นักเรียนเลือกเหล่า และหน่วยที่จะไปอยู่ได้ตามผลการสอบและความสมัครใจดังเช่นรุ่นพี่ ๆ
แต่สำหรับรุ่นนี้ ทางการกำลังปรับแผนการบรรจุกำลังเพื่อรับสถานการณ์ ดังนั้นเดิมที่จะให้เลือกได้สี่เหล่า คือ ทหารอากาศ (นักบิน) ทหารม้า ทหารราบ และเหล่าพลาธิการ
พวกเราจึงต้องผิดหวัง เพราะมีคำสั่งให้บรรจุนักเรียนรุ่นนี้ในเหล่า ทหารราบ ทั้งหมด คือ บรรจุเป็น สำรองราชการ บก.แผนกที่ ๑ กรมจเรทหารบก ที่ ลพบุรี (ปัจจุบันคือศูนย์การทหารราบ จว.ประจวบคีรีขันธ์) ทั้ง ๒๙ นาย
และแต่งตั้งยศเป็นว่าที่นายร้อยตรี คำสั่งทหาร ที่ ๔๕ / ๑๖๙๐ ลง ๒๘ เม.ย.๒๔๘๓ รับพระราชทานเงินเดือนชั้น ๒๖ เดือนละ ๘๐ บาท

สำหรับนักเรียนนายเรือ พร  ยั่งยืน แต่งตั้งยศเป็นว่าที่นายเรือตรี เข้าประจำกรมนาวิกโยธินทหารเรือ ที่สัตหีบ
ส่วนพวกตำรวจทั้ง ๑๐ นาย แต่งตั้งเป็นนายร้อยตำรวจตรี และบรรจุเป็นรองสารวัตรประจำสถานีต่าง ๆ ในกรุงเทพ

พวกเราทั้ง ๒๙ นาย เดินทางไปรายงานตัวที่แผนกที่ ๑ กรมจเรทหารบก ลพบุรีพร้อมกันเพื่อรับการอบรมพิเศษ หลักสูตรอาวุธหนัก กำหนด ๑ เดือน แต่ไม่จบหลักสูตรเกิดความจำเป็นต้องส่งตัวเข้าประจำกรมกอง เพราะเมื่อ ๑๐ พ.ค. ๒๔๘๓ เยอรมันเริ่มรุกใหญ่ทางแนวรบด้านตะวันตก จึงมีคำสั่งบรรจุเข้าประจำกรมกองต่าง ๆ
ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้บังคับหมวดกองพันทหารราบที่ ๗ (ร.พัน.๗) บางซื่อ กทม. มารายงานตัวเมื่อ ๒๓ พ.ค. ๒๔๘๓ ผู้บังคับกองพันชื่อ พ.ท.หลวงพิฆาตปรปักษ์ รองผบ.พัน.ชื่อ พ.ต.ขุนบำเพ็ญเสนีย์
ข้าพเจ้ารับการบรรจุในกองร้อยที่ ๒ ผบ.ร้อย.ชื่อ ร.อ.ประวัติ  ชุษณโยธิน ผบ.ร้อย.มอบภารกิจให้รับผิดชอบทหารเก่า มี ร.ต.นธิ   แย้มสกุล นักเรียนนายร้อยรุ่นพี่ รับผิดชอบทหารใหม่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 12:12
เดือน กรกฎาคม ทางการได้เรียกทหารกองหนุน รุ่นปราบกบฎ (พ.ศ.๒๔๗๖) เข้ารับการฝึกหลักสูตร ๔๕ วัน เพื่อเสริมกำลัง ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ฝึกทหารรุ่นนี้
ในระยะนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองด้านอินโดจีนฝรั่งเศสเริ่มตึงเครียด ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวดในกองพันทหารราบที่ ๓ ที่ พญาไท กทม. รวมเวลาที่อยู่ ร.พัน.๗ เป็นเวลา ๕ เดือน

วันที่ ๒๐ ต.ค. ๒๔๘๓ รายงานตัวเข้าสังกัด ร.พัน.๓ ซึ่งมี พ.ท.หลวงไกรชิงฤทธิ์ เป็น ผบ.พัน. พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ (นิ่ม   ชโยดม) เป็นรองผบ.พัน.
ข้าพเจ้าบรรจุในร้อย.๒ ซึ่ง ร.อ.อัมพร   เสือไพฑูรย์ เป็น ผบ.ร้อย. มีนายทหารรุ่นเดียวกันได้บรรจุมาก่อนแล้ว อยู่ร้อย. ๑ คือ ว่าที่ร.ต.สำราญ   ขีโรธ
ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ฝึกทหารกองหนุนหลักสูตร ๔๕ วันอีกรุ่นหนึ่งเพื่อเสริมกำลังใน ร้อย. ๑ และ ๒ และขยายกำลัง ร้อย.๓


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 12:43
วันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง กองบัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วย
๒๕ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง พ.อ.หลวงวิชิตสงคราม เป็นเสนาธิการทหารบก
ตั้งกองทัพบูรพา โดย พ.อ.หลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ ๑ ด้านบูรพา, ตั้งกองทัพอีสาน โดย พ.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ ๒ ด้านอีสาน
ตั้งกองพลพระนคร ขึ้นตรงต่อกองทัพบูรพา โดย พ.ท.หลวงไกรชิงฤทธิ์ เป็น ผบ.พล. และ พ.ต.เติม   กนิษฐานนท์ เป็นรอง ผบ.พล.
กองพลพระนคร ประกอบร้วย ร.พัน.๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ , ร.พัน.๓ และ ร.พัน.๙ เป็นกำลังรบหลัก มี กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ (ป.พัน.๑) , กองร้อยทหารช่าง และกองร้อยรถถังสนับสนุน
สำหรับ ร.พัน.๓ นั้น พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ ได้เลื่อนเป็น ผบ.พัน. สำหรับร้อย.๑, ร้อย. ๒ และร้อย.๔ คงเดิม
ส่วนร้อย. ๓ เอานายทหารใหม่ รุ่นหลังข้าพเจ้า ๑ รุ่น คือ ว่าที่ ร.ต.พร   ธนภูมิ มารักษาการผบ.ร้อย.

ในขณะนั้นแต่ละกองร้อยมีนายทหารคือ ผบ.ร้อย. ๑ นาย และ ผบ.หมวด ๑ นาย
ร้อย.๑ ร.อ.อุดม   วรรณศิริ
ร้อย. ๒ มี ร.อ.อัมพร    เสือไพฑูรย์ เป็น ผบ.ร้อย. และข้าพเจ้า ว่าที่ ร.ต.ไพบูลย์   ขจรพันธุ์ เป็น ผบ.หมวด
ร้อย.๓ มี ว่าที่ร.ต.พร ธนภูมิ คนเดียว รักษาการ ผบ.ร้อย.
ร้อย.๔ มี ร.อ.ขุนทอง   ไกรจิตติ เป็น ผบ.ร้อย. และ ร.ต.ยง   ณ นคร เป็น ผบ.หมวด


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 12:57
ภายในกองพลพระนครนั้น มีนายทหารรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าอยู่ด้วยกองพันละ ๑ นาย คือ
ร.พัน.๑ ฯ มี ร.ต.สมจิตร   ชมะนันทน์
ร.พัน.๙ มี ว่าที่ ร.ต.ยนต์   วรรณรักษ์ ส่วนที่ ร.พัน.๓ มีว่าที่ ร.ต.สำราญ   ขีโรธ และข้าพเจ้า
ต่อมาในต้นเดือนธ.ค. ๒๔๘๓ ได้บรรจุนายดาบมาประจำหมวดต่าง ๆ ภายในกองร้อยที่ยังขาดอยู่จนครบ
ในร้อย. ๒ ที่ข้าพเจ้าประจำอยู่ มีข้าพเจ้าเป็น ผบ.หมวด ๑, นายดาบทรวง  ฯ เป็น ผบ.หมวด ๒ และนายดาบคำปั้น  ฯ เป็น ผบ.หมวด ๓

วันที่ ๑๒ ธ.ค. ๒๔๘๓ ร.พัน.๓ กองพลพระนคร เคลื่อนย้ายทางรถไฟจากสถานีมักกะสันไปลงรถที่สถานีอรัญประเทศ แล้วลำเลียงต่อโดยรถยนต์ไปเข้าที่ตั้ง บ้านโนนหมากหมุ่น และบ้านโคกสูง
เข้าพักแรม ๑ คืน วันรุ่งขึ้นก็แยกย้ายเข้าประจำหลักเขตแดน โดยมี ๒ กองร้อยในแนวหน้า ร้อย.๑ อยู่หลักเขตที่ ๔๕ - ๔๖
ร้อย.๒ หมวด ๑ คือหมวดข้าพเจ้า เข้าที่ตั้งหลัก ๔๔ ซึ่งเป็นแหลมยื่นออกไปข้างหน้า ภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ใหญ่เล็กประปราย แต่เป็นป่าหญ้าคาและดงสาบเสือขึ้นอยู่ทั่วไป
มีทางคนเดินจากบ้านยางในเขตเขมรมาผ่านหลัก ๔๔ เข้าไปยังบ้านโนนหมากหมุ่น และบ้านโคกสูง เป็นทางหนีภาษี ซึ่งมีมานานแล้ว
มีลำธารเล็ก ๆ และมีเส้นทางอยู่หลายทาง แต่ป่าหญ้าคาและป่าสาบเสือขึ้นปกคลุม จนยากที่จะมองเห็น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 13:12
ในตอนเช้า ต้องออกสำรวจเส้นทางทุกวัน เพื่อปรับวางกำลังและที่ตั้งอาวุธให้สอดคล้องกับข้าศึกที่จะเข้ามาสู่ที่ตั้งของเราได้
ถ้าเราวางกำลังไม่ดี อาจจะถูกโอบหลัง หรือถูกล้อมได้ง่าย, สำรวจครั้งไร ก็พบเส้นทางใหม่อยู่เรื่อย
ที่หลัก ๔๔ นี้ หมวดของข้าพเจ้าปะทะกับข้าศึก ๒ ครั้ง เป็นกำลังข้าศึกที่ออกมาลาดตระเวนหาข่าว กำลังไม่เกิน ๑ หมวด

ครั้งแรก ปะทะกันในขณะที่วางกำลังเฝ้าอยู่ที่หลัก ๔๔ เป็นการปะทะครั้งแรกในชีวิตทหารของข้าพเจ้า และทหารในหมวดด้วย
พอเห็นตัวกันไว ๆ ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจ ลั่นกระสุนออกไปโดยไม่ต้องสั่งยิงกันประมาณ ๒๐นาที ข้าศึกก็ถอนตัวกลับ
ผลคือไม่ได้อะไรเลย ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย
ครั้งที่ ๒ ห่างจากครั้งแรก ๕ วัน ฝ่ายเราวางกำลังหน้าหลัก ๔๔ ประมาณ ๕๐๐ เมตร ข้าศึกมาลาดตระเวน คาดว่าเราอยู่ที่เดิม จึงถูกยิงตาย ๒ คน ถูกจับ ๒ คน เพราะถูกยิงบาดเจ็บ
เป็นทหารต่างด้าวของฝรั่งเศสผิวดำ ชาติเซเนกัล

หลังจากนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับไปรวมกับกองร้อย กองพัน เพื่อขึ้นแนวทางด้านหลัก ๔๕ - ๔๖ เลยเข้าไปยึดบ้านพร้าว
ส่วนด้านหลัก ๔๓ - ๔๔ ให้ ร.พัน.๑ ฯ ขึ้นรับมอบ และเตรียมเข้ายึด บ้านยาง ในเขตข้าศึกต่อไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 22 มี.ค. 12, 13:35
ในวันแรกเดินทางผ่านหลักกม. ๕๕ - ๕๖ เข้ายึดบ้านพร้าวไว้ได้เมื่อเวลาประมาณ ๑๔๐๐ น. โดยไม่ได้ปะทะกับข้าศึกเลย กำลังทหารทั้งกองพันได้วางรายรอบหมู่บ้านเป็นรูปวงกลมที่ขณะนั้นเป็นหมู่บ้านร้าง
ราษฎรอพยพออกไปทั้งหมด
กำลังส่วนหน้าที่เข้ายึดบ้านพร้าวเป็นกำลังรบแท้ ๆ ไม่มีส่วนช่วยรบสนับสนุนเลย ทหารมีแต่ข้าวกับไข่เค็มในหม้อที่บรรจุไว้ในเป้สะพายหลังเป็นอาหารมื้อเย็นเท่านั้น
นายทหารมีแต่ตัวกับเป้หลังและปืนพก ส่วนเตียงสนาม เครื่องนอน และหีบเครื่องแต่งกายยังมาไม่ถึง
ในคืนนั้น ข้าพเจ้าและทหารต้องนอนในชุดสนามที่โคนต้นไม้ ใช้กระติกน้ำเป็นหมอนหนุนหัว เนื่องจากเป็นที่กลางแจ้ง ลมโกรกในปลายเดือนธันวาคม ทำให้หนาวจนนอนขดเป็นตัวกลม ๆ
จะสุมไฟก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นที่สังเกตของข้าศึก ข้าพเจ้านอนไม่หลับทั้งคืน


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 12, 16:58
เพิ่งจะเข้าเน็ทได้ในเย็นวันนี้ ขอบอกเพียงว่ากำลังสนุกเลยครับ ในหนังสือมีรูปประกอบบ้างหรือเปล่า อย่างน้อยรูปผู้เขียนก็ยังดี

ขอบคุณมากครับ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 09:20
มีแต่รูปของผู้เขียนครับ ไม่มีรูปของกองพันในการรบเลย

รุ่งขึ้น กินข้าวเช้าประมาณ ๐๕๐๐ น. ครั้นประมาณ ๐๖๐๐ น. ผบ.พัน.สั่งเคลื่อนย้ายกำลัง
เราต้องออกเดินทางไปช่วยกองพลลพบุรีที่ถูกข้าศึกโอบล้อมอยู่ในขณะนั้นการเดินทางอาศัยทางเกวียนเป็นแต่เครื่องชี้ทิศทาง
เราต้องเดินในป่าโปร่งและป่าละเมาะสองข้างทางเกวียนนั้น โดยแยกเป็นสองกองร้อยในแนวหน้า และหมวดตามกันภายในกองร้อย
การเดินทางลำบากบางครั้งสะดุดเถาวัลย์หกล้มอยู่บ่อย ๆ เป็นการเดินที่เร่งรีบไม่ได้หยุดเลย

เวลาประมาณ ๑๒๐๐ น. เราก็ออกจากป่าสู่ที่ราบโล่ง ดูเตียนสุดลูกหูลูกตา ทุ่งอย่างนี้เรียกว่า ทุ่งตาเสด แต่ไม่ใช่ทุ่งหญ้าธรรมดา
เป็นหญ้าเพ็กสูงท่วมหัว ถ้าไม่ใช่เนินดินดัดแปลงแล้ว ปืนกลจะตั้งยิงไม่ได้เลยชักรู้สึกทอดอาลัย เพราะถ้ามีการยิงต่อสู้กันแล้ว
เราจะตกเป็นเหยื่อของข้าศึกที่ได้ดัดแปลงภูมิประเทศไว้อย่างดี อย่างไม่มีทางสู้ เช่นเดียวกับที่กองพลลพบุรีโดนมาแล้ว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 09:35
ในขณะที่หิวจนตาลายและวิตกกังวลอยู่นั้น ก็พอดีได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับไปพักที่บ้านพร้าวได้ เพราะข้าศึกทราบว่าเรามาโอบหลัง จึงถอยหนีไปแล้ว
เราเดินทางกลับรู้สึกมาได้เร็วมาก ขาไปเดินในรกในพง ลาดตระเวนไปด้วยใช้เวลา ๖ ชั่วโมง
ขากลับเดินมาตามทางเกวียน เราถึงบ้านพร้าวและกินอาหารกลางวันเวลาประมาณ ๑๕๐๐ น.

วันนี้เอง เวลาประมาณ ๑๗๓๐ น. ปรากฎว่าข้าศึกส่วนหนึ่ง กำลังไม่เกิน ๑ หมวดเข้ามาลาดตระเวนหาข่าว จึงเกิดการยิงกัน
ผบ.พัน.สั่งเข้าประจำแนว ยิงตอบโต้กันประมาณ ๒๐ นาที ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก อากาศมืดลงมองไม่เห็นตัวกัน
แต่ฝ่ายเราก็ไม่กล้าย้ายที่ตั้งหรือดำเนินกลยุทธใด ๆ ทั้งในขณะนั้นก็ไม่ทราบว่ามีข้าศึกเท่าใด นอกจากกำลังที่เผชิญหน้าอยู่แล้วยังมีในทิศทางอื่นหรือไม่
ฝนก็ตกหนักลงมาทุกที พวกเราต้องนอนจมโคลนอยู่อย่างนั้นเอง จนหยุดตกเวลา ๒๐๐๐ น. และได้รับคำสั่งให้ถอนตัวเข้าที่พักได้
เมื่อลุกขึ้นเปียกโชกไปทั้งตัว กลับถึงที่พัก ปรากฎว่าหีบสนามลอยอยู่ในน้ำท่วมเหนือพื้นดินตั้ง ๒๐ ซ.ม. วันนั้นต้องกินข้าวกันเวลา ๒๑๐๐ น. และกินกันมืด ๆ
โดยไม่กล้าจุดไฟเลย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 10:10
เวลา ๐๕๐๐ วันรุ่งขึ้น ผบ.พัน.สั่งให้กองพันออกเดินทางไปตามถนนดินซึ่งฝรั่งเศสตัดไว้อย่างดี รถยนต์วิ่งได้สะดวกระหว่างบ้านพร้าว กับบ้านเตยเสียม
หรือบ้านทับไทย (คือตำบลที่ในสมัยโบราณ กองทัพไทยเคยมาพักอยู่ที่ตรงนี้)
เมื่อถึงลำธารแห้งเล็ก ๆ แห่งหนึ่งติดกับถนน นับว่าเป็นชัยภูมิที่ดี เพราะอาศัยพรางตัวทหารในลำธารได้ในความกำบังของต้นไม้ในป่าโปร่ง
ขณะนั้นเวลาประมาณ ๑๗๐๐ น. ผบ.พัน.จึงให้ยึดภูมิประเทศ ร้อย.๑ ด้านซ้ายมือ
เมื่อหันหน้าไปยังข้าศึกลำธารเฉียงจากซ้ายไปทางขวามือ ร้อย. ๑ จึงอยู่เยื้องไปทางหลังเล็กน้อย
ส่วนร้อย.๒ วางกำลังในลำธารทางขวามือของถนน และอย่างเช่นเคย หมวด ๑ ของข้าพเจ้าอยู่ข้างหน้า ส่วนหมวด ๒ หมวด ๓ อยู่ข้างหลังลงไปตามลำดับ

เมื่อวางกำลังเสร็จแล้วก็ไม่ต้องดัดแปลงอะไรมาก เพราะขอบลำธารเป็นที่กำบังกระสุนอย่างดี เพียงถากถางทางยิงบ้างเล็กน้อย
และเตรียมการยิงเวลากลางคืน พร้อมทั้งวางยามข้างหน้าและทางข้างก็เสร็จเรียบร้อย พักผ่อนได้เมื่อเวลาประมาณ ๒๐๐๐ น.

ต่อจากนั้นผ่านไป ๑ คืน กับอีก ๑ วันในตอนเย็นเราก็ได้ยินเสียงการต่อสู้ทางด้านซ้ายของกองพัน
นั่นคือ ร.พัน.๑ ฯ ซึ่งขึ้นผลัดเปลี่ยนหมวดของข้าพเจ้าที่หลัก ๔๔ได้เคลื่อนที่ปะทะกับข้าศึกที่บ้านยาง
มีการยิงกันเป็นระยะ ๆ เราต่างเข้าประจำแนวเตรียมพร้อม พอตกค่ำเสียงปืนก็เงียบไป


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 10:27
(ข้อมูลต่อมาในหนังสือ ฯ พิมพ์ว่า "ประมาณ ๑๔๐๐ น. จำวันไม่ได้ ประมาณ ๑๐ - ๑๕ มกราคม ๒๔๘๔" น่าจะพิมพ์ผิด เพราะเป็นเวลากลางวัน
ผมขอเปลี่ยนเวลาเป็นกลางคืน และระบุวันที่ ๑๖ มกราคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์รบที่มีชื่อเสียงครั้งนี้)

ประมาณ ๐๒๐๐ น. วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๔ พวกเราตื่นเพราะได้ยินเสียงการยิงกันอีก ทางด้าน ร.พัน.๑ ฯ
และทางเราก็ได้ยินเสียงคนเดินคุยกัน เสียงม้า (ม้าต่าง) ร้องดังมาทางถนนจากบ้านเตยเสียมตรงมาที่กองพันของเราวางอยู่
เราจึงอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะรับเหตุการณ์อยู่แล้ว
ประมาณ ๐๒๓๐ น. มีทหารส่วนหน้าของข้าศึกเดินผ่านหน้าหมวดของข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ากระซิบสั่งทหารไว้แล้ว ไม่ให้ยิงปืนจนกว่าข้าพเจ้าจะเริ่มยิง
จึงปล่อยให้ข้าศึกเลยเข้าไปถึงหน้ารังปืนกลหนักของ ร้อย. ๔ และบางคนได้เลยรังปืนกลไปบ้าง จนถึงหน้าหมวดอาวุธ ปร. ของกองพันแล้ว
ร.ต.ยง   ณ นคร จึงสั่งเริ่มยิง เมื่อทางร้อย. ๔ ยิง หมวดข้าพเจ้าก็เริ่มยิง เลยมีการยิงจากฝ่ายเราตลอดแนว

หมายเหตุ ม้าต่าง คือม้าที่บรรทุกสัมภาระ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 11:04
ข้าศึกตรงหน้าเราจึงถูกปืนกลกวาดล้มเป็นใบไม้ร่วงโดยไม่ทันรู้ตัว เข้าใจว่ากำลังส่วนนี้ของข้าศึก ๑ กองพันถูกทำลายลงสามในสี่ส่วน และตอนบ่ายวันนั้นเราจับได้ธงไชยเฉลิมพลของกองพันทหารต่างด้าวซึ่งเป็นกองพันที่ดีที่สุดของฝรั่งเศส

ทราบภายหลังว่าข้าศึกใช้กำลัง ๑ กรมโดย ๒ กองพันทหารราบญวนเขมรทางด้าน ร.พัน.๑ ฯ
และใช้กำลัง ๑ กองพันทหารต่างด้าวทางด้าน ร.พัน.๓ โดยตั้งใจจะเข้าตีเราในเวลารุ่งสว่าง คิดว่าเรามีกำลังเพียง ๑ กองร้อย รออยู่ที่บ้านพร้าว
ไม่ทราบว่าเราได้ขยับแนวมาอยู่ข้างหน้าบ้านพร้าวแล้ว

การรบในครั้งนี้ ทำให้ ร.พัน.๓ ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญติดที่ธงไชยเฉลิมพลในนามของกองพัน
ไม่มีนายทหาร นายสิบ พลทหารคนใดได้รับรางวัลพิเศษแต่อย่างใดไม่


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 22:56
เมื่อเสร็จสิ้นการรบในวันนั้นแล้ว มีทหารในหมวดข้าพเจ้าถูกยิงตาย ๑ คน ส่วนอีก ๒ คนบาดเจ็บ โดยกระสุนปืนเฉียดนัยน์ตา
ทำให้ตาบอดไปข้างหนึ่ง อีกคนกระสุนถูกกระบังหมวก สะท้อนเฉี่ยวเอาใบหูแหว่งไปข้าง
ส่วนทหารในหมวดอื่นและกองร้อยอื่น ไม่มีใครเป็นอันตรายเลย

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ ไทยรับข้อเสนอของญี่ปุ่นเพื่อยุติสงคราม ในระหว่างการเจรจา ร.พัน.๓ เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้ง หมู่บ้านเตยเสียม
เพื่อเตรียมการรุกต่อไปยังศรีโสภณ
วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ เริ่มพักรบ มีกำหนด ๑๕ วัน และพักรบเรื่อยมา
ในระหว่างหยุดพักรบไม่มีอะไรทำ ทหารจะมั่วสุมเล่นการพนัน ผบ.พัน.จึงสั่งให้ต้อนจับสัตว์ป่า มีเก้ง กวาง เป็นต้นส่งไปไว้ที่เขาดินวนา
และในตอนปลายกุมภาพันธ์ ร.พัน.๓ กลับมาพักที่ อ.อรัญประเทศ เพื่อเตรียมกลับกรุงเทพ
เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ จึงเป็นหน่วยขัดตาทัพไว้ก่อน จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ก็เดินทางกลับที่ตั้งปกติ พญาไท กทม.


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 24 มี.ค. 12, 23:42
มีบันทึกถึงรถถังที่เข้ามาร่วมเหตุการณ์ด้วย แต่ออกไปในทางที่ไม่ได้เป็นการยกย่องเหมือนท่านอื่น ๆ ดังนี้

ในตอนบ่ายประมาณ ๑๔๓๐ น. หลังจากที่ข้าศึกได้สงบการยิงไปหมดแล้ว ได้มีรถถังจากกองพลพระนครขึ้นมา ๒ คัน
นำโดยร้อยเอกคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เมื่อขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ลงตรวจภูมิประเทศขับออกไปแนวหน้าเลยได้ออกไปยิงข้าศึกที่ยังหลงเหลืออยู่
แล้วหลงทิศทางกลับมายิงทหารฝ่ายเรา จนเกือบจะทับรังปืนกลหนักของฝ่ายเรา
กว่าจะติดต่อกันได้ก็เล่นเอาทหารอลหม่านทั่วทั้งแนวหน้า เมื่อใช้ธงผูกผ้าเช็ดหน้าสีขาวโบกและเคาะข้างรถจึงได้ทราบ
ฝ่ายพลขับลงมาข้างล่าง พูดคุยว่าออกไปพบข้าศึกถูกยิงบาดเจ็บนอนอยู่ยกมือยอมแพ้ ก็เลยทับไป

เสร็จแล้วก็กลับขึ้นรถถังออกไปไล่ยิงข้าศึกอีก ในที่สุด วิ่งไปตกคูทางปลายของลำธารที่ฝ่ายเรายึดอยู่
ผบ.ร้อย.๒ จึงสั่งให้หมวด ๒ และหมวด ๓ ขึ้นต่อปีกหมวด ๑ และยืดแนวออกไปคุ้มครองรถถัง
โดยไล่ยิงข้าศึกที่ขึ้นมาปีนอยู่บนรถถังเมื่อตกและติดคูเอียงอยู่นั้น แก้ไขเอาพลประจำรถถังนั้นกับนายสิบอีกนายออกมาได้

ต่อมาภายหลังพลประจำรถถังได้รับเหรียญกล้าหาญ


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 25 มี.ค. 12, 00:15
มีเรื่องราวเพียงเท่านี้ครับ บันทึกต่อจากนี้ของผู้เขียน เป็นการรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒

อีกประเด็นที่ผมสนใจ คือเรื่องของรถถังเรโนลของฝรั่งเศส ๖ คัน นำมาแสดงที่สวนอัมพร ตามอ้างถึงในความคิดเห็นที่ ๑๐๓
และภาพในความคิดเห็นที่ ๑๐๔
อ้างถึง
“ถ้าแพ้ พวกเราคงต้องโดนลงโทษรุนแรงแน่ แต่นี่ข้าศึกก็ตายมากมาย ยึดรถถังมาได้ตั้ง ๖ คัน  
ความจริงมันก็ถูกของเขา ถ้าเราทิ้งทีมั่นเดิมที่เขาวางไว้แล้วไปพลาดท่าเสียบ้านพร้าว แนวรับของเราที่เชื่อม บ้านยาง โพธิ์สามต้น ไปทางศรีโสภณคงแตก”

ข้อมูลของผม รถถังนี้ไม่ได้ถูกยึดโดย ร.พัน.๓ ที่บ้านพร้าว แต่ยึดได้ในปลายเดือนมกราคม เป็นห้วงสงบศึกชั่วคราว จำนวน ๕ คัน
โดยกองพันทหารราบที่ ๕ หรือ ร.พัน.๕ หน่วยจากหาดใหญ่ จว.สงขลา มีบันทึกการรบของหน่วย และ ผบ.ร้อย.ในเหตุการณ์ บันทึกไว้อยู่ ๒ สำนวน
หลักฐานอีกชิ้นคือรายงาน / สรุปข่าวของกองบัญชาการทหารสูงสุด จะแจ้งว่ายึดได้เมื่อใด

อีกทั้งผมก็เคยตามหาเจ้ารถถังทั้ง ๕ คันนี้ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนบ้าง ก็พบจำนวน ๒ คัน เชื่อได้ว่าเป็นรถถังที่กล่าวถึง เพราะไทยไม่ได้ซื้อรถประเภทนี้มาใช้ในกองทัพ
คันแรก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ กทม. ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นพิพิธภัณฑ์
คันที่ ๒ ศูนย์การทหารม้า สระบุรี นำมาปรนนิบัติบำรุง - ซ่อมแซม ยังวิ่งได้อยู่ และเก็บที่ศูนย์การทหารม้า
ลองตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องดีไหมครับ ?


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 25 มี.ค. 12, 00:36
อีกความเห็นที่อยากให้แก้ไข คือความคิดเห็นที่ ๑๗๘ เกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมทหาร เหตุผลการตั้งโรงเรียนความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น
อ้างถึง
พอโดนคนด่าหนักๆเข้าว่าไม่มีปํญญาแก้ไขปัญหา ทหารระดับผู้ใหญ่จึงยุบโรงเรียนเตรียมทั้งหมดมาตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร


นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ ๑ กระทั่งครูบาอาจารย์ยุคนั้นก็ยังมีชีวิตอยู่หลายท่าน (อายุ๗๐ ขึ้นไป) ถ้าได้อ่านคงจะออกมาปฏิเสธกัน
และเล่าความจริงได้, ประวัติจอมพลถนอม   กิตติขจร ก็มีกล่าวถึงเหตุผลการรวมโรงเรียนเตรียม ฯ เหล่าต่าง ๆ เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร

แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ทราบความจริง มาอ่านก็อาจจะเชื่อข้อความนี้ จึงขอให้แก้ไขด้วยครับ  :)


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มี.ค. 12, 08:24
ขอบคุณครับคุณธรรมรัตน์

นี่ก็เป็นอีกสำนวนหนึ่งของผู้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันแต่รู้เห็นต่างกัน รายละเอียดของพล.อ.ไพฑูรย์ ขจรพันธุ์ ต่างกับพล.อ.พร ธนะภูมิ ก็ตรงเรื่องเวลาปะทะ ซึ่งน่าจะเป็นใกล้สว่างมากกว่าจะเริ่มต้นกลางดึกแล้วไปจบเอาบ่าย ส่วนเรื่องการมาการไปของรถถังแม้คล้ายกันแต่ก็ไม่เหมือน แล้วผมก็เพิ่งทราบว่าทหารประจำรถถังได้เหรียญกล้าหาญด้วย
 
ส่วนรถถังเรโนลต์ของฝรั่งเศสเป็นรถถังเบา ถ้าคุณธรรมรัตน์มีบันทึกหลักฐานการยึดมาได้ จะเอามาขยายความให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมด้วยก็คงจะดี ปัจจุบันอย่างนัอยรถเชลยชุดนี้ยังมีเหลืออยู่คันหนึ่งที่ศูนย์กลางทหารม้าสระบุรี วันดีคืนดีท่านก็เอาออกมาวิ่งสวนสนามอวดตัว

เช่นเดียวกับเหตุผลการตั้งโรงเรียนเตรียมทหารอย่างเป็นทางการ จะย่อความหรือจะถ่ายสำเนามาลงไว้ก็ได้ครับ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่ต้องการทราบข้อเท็จจริง  แต่ประโยคที่ผมนำมาเขียนก็เป็นเรื่องที่คนร่วมสมัยเขาเมาท์กันหลังไมค์ ความก็ตามนั้นไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอาเอง เมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้วมีงานเลี้ยงฉลองอายุ๗รอบให้ผู้อาวุโสที่เคารพรักของวงการรักบี้ มีนักรักบี้ในอดีตอายุหกสิบปีขึ้นไปทุกวงการไปกันมาก พลตำรวจเอกซึ่งนั่งร่วมโต๊ะกับผมยังเล่าให้เฮฮา เรื่องพลเอกคนที่นั่งโต๊ะวีไอพีท่านเล่นมวยไทยแถมรักบี้ในการแข่งขันระหว่างเหล่าครั้งหนึ่ง  แล้วทำให้กองเชียรทั้งสองฝ่ายบนอัฒจรรย์เกิดวุ่นวายจนแทบจะต้องยุติการแข่งขันในวันนั้น


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 12, 10:20
ภายในกองพลพระนครนั้น มีนายทหารรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าอยู่ด้วยกองพันละ ๑ นาย คือ
ร.พัน.๑ ฯ มี ร.ต.สมจิตร   ชมะนันทน์
ร.ต.สมจิตร   ชมะนันทน์ ----> พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์  อดีตนายกรัฐมนตรี


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 25 มี.ค. 12, 12:08
เรื่องการยึดรถถังของฝรั่งเศสได้ ของร.พัน.๕ ผมจะนำมาพิมพ์ให้อ่านกันนะครับ
เรื่องของผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญของไทย สามารถตรวจสอบได้ตามเอกสารนี้
http://dop.rta.mi.th/dp_04/ak1.doc (http://dop.rta.mi.th/dp_04/ak1.doc)
และเหตุการณ์ของรถถังได้เหรียญกล้าหาญ ก็ต้องนำความคิดเห็นของคุณ NAVARAT เองมาตอบ

ความคิดเห็นที่ ๗๘
อ้างถึง
ตอนสาย รถถังแบบ ๗๖( Vickers 6ton)ของไทยสองคัน ควบคุมโดยร้อยเอกสนิท หงส์ประสงค์  ผู้บังคับกองร้อยเป็นผบ.นำมาเอง อีกคันหนึ่งสิบโทคนึงเป็นผบ. ก็ควบตะบึงจากปอยเป็ตเข้ามาในสมรภูมิเจอหมู่ปืนเล็กของร้อยตรีไพฑูรย์ ขจรพานิชที่ซุ่มอยู่ในป่าเข้า นึกว่าเป็นทหารพื้นเมืองของฝรั่งเศสเลยยิงทักทายไปชุดหนึ่ง

และความคิดเห็นที่ ๑๖๔
อ้างถึง
แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญกล้าหาญ  ตามราชกิจจา ฯเล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๓ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ หน้า ๒๓๓๓ แจ้งความณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทาน๔๑ นาย เป็นกองทัพบก ๑๕ นาย ตำรวจสนาม ๑ นาย กองทัพอากาศ ๒๕ นาย ดังมียศนามต่อไปนี้
กองทัพบก
นายพันตรี สุรินทร์ ปั้นดี
นายพันตรี สนิท หงษ์ประสงค์
นายร้อยโท ไชโย กระสิณ
จ่านายสิบเอก กิมไล้ แซ่เตียว
จ่านายสิบเอก คล้อย วงษ์สถิน
จ่านายสิบเอก โพล้ง กลัดตลาด
จ่านายสิบเอก ขุนทอง ขาวสุขา
นายสิบตรี ยงค์ สุขแสง
นายสิบตรี สำเภา สมประสงค์
นักเรียนนายสิบ จำนงค์ แฉล้มสุข
นักเรียนนายสิบ คณง รงค์กระจ่าง
พลทหาร สมัคร์ เนียวกูล
พลทหาร ยม สืบกุศล
พลทหาร อรุณ กลิ่นบัวแก้ว
พลทหาร เต็ก ขจรเวช


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มี.ค. 12, 16:54
ไปเจอมา เลยเอามาให้ดูกันเฉยๆ


http://www.virus-studios.com/forum/showthread.php?5390-(%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1)%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94(%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%AA)%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7.....


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 12, 20:24
^
ลอกและตัดตอนเก่งมาก
ขาดไปอย่างเดียวคือชื่อของคุณ NAVARAT.C ผู้เขียนตัวจริงเท่านั้น
ถ้าหากว่าเจ้าของเว็บยังแวะเข้ามาอ่านอยู่   ดิฉันก็ขออย่างเดียวคือขอให้ลงที่มาของบทความว่า จาก NAVARAT.C  เว็บ www.reurnthai.com


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 12, 06:18
ลงที่อยู่นี้น่าจะหาง่ายกว่า

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4942.0

 ;D


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 04 ต.ค. 12, 20:50
บันทึกการรบของกองพันทหารราบที่ ๕ ในการยึดรถถังฝรั่งเศสได้ จำนวน ๕ คัน

เขียนโดย พ.อ.เดชา   กาลบุตร (ชื่อเดิม ลำดวน  กาลบุตร) ในหนังสือที่ระลึก รุ่น ๒๔๗๘ รับราชการครบ ๓๐ ปี ๑ เม.ย. ๒๕๐๘

" สงครามอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าเป็น ผู้บังคับกองร้อย ร.พัน.๕ ร้อย.๑ (กองร้อยที่ ๑ กองพันทหารราบที่ ๕ ) ที่ตั้ง ค่ายคอหงษ์ หาดใหญ่ สงขลา สังกัดกองพลวัฒนา
เคลื่อนที่จากหาดใหญ่โดยทางรถไฟมาสมทบเป็นกองหนุน ณ คลองลึก อรัญประเทศ
เมื่อเข้าที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว ประมาณ ๑๕ วัน ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่ไปที่ ต.บ้านกูบ ด่านปอยเปต ประมาณ ๑๐ วัน ให้เคลื่อนที่ไปต่อปีกขวา บ้านตะคองเคร่า
อยู่ประมาณ ๗ วัน ได้รับคำสั่งให ร.พัน.๕ ร้อย.๑ เคลื่อนที่ไปยึดบ้านโขมพัด และสำโรงทางปีกซ้าย ใน ก.พ.๒๔๘๔ เวลา ๐๓๐๐ และให้ยึดได้ก่อน ๐๖๐๐


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 04 ต.ค. 12, 20:59
ข้าพเจ้าเป็น ผบ.ร้อยผสม มีกำลังทหารราบ ๒ กองร้อย ทหารม้า ๑ หมวด ทหารสื่อสาร ๑ หมู่ ปืนกลหนัก ๑ หมวด และรถถัง ๑ หมวด
ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด และได้เข้ายึดตำบลทั้งสองนี้ตามเวลา
ภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง เดือนมืด การเคลื่อนที่ลำบาก แต่ทหารทุก ๆ คนได้ปฏิบัติตนอย่างกล้าหาญ
เมื่อไปถึงตำบลนี้แล้ว ได้วางกำลังเป็นหน้ากระดาน ยึดพื้นที่ได้ทั้งสองตำบลอย่างเหนียวแน่น
ข้าพเจ้าได้วางกำลังทหาร ทหารราบ ๒ กองร้อยอยู่กลาง
หมวดรถถัง และปืนกลหนักอยู่ปีกขวา สำหรับปืนกลหนักปิดช่องทางเคลื่อนที่ของข้าศึก ส่วนหมวดทหารม้าต่อปีกซ้าย ข้าพเจ้าอยู่กับหมวดปืนกลหนัก


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 04 ต.ค. 12, 21:10
ในตอนเช้า ฟ้าสาง เวลาประมาณ ๐๗๐๐ น. รถถังข้าศึก มีกำลังรถถัง ๕ คันเคลื่อนที่มาทางด้านขวาจะเข้ายึดช่องแคบที่ข้าพเจ้าตั้งหมวดปืนกลหนักอยู่
ช่องทางนี้เป็นทางเกวียน รถถังข้าศึกได้เคลื่อนที่เข้ามาในระยะประชิด โดยที่ข้าพเจ้ายังไม่สั่งยิง
รถถังคันแรกได้เคลื่อนที่หลวมตัวเข้ามา ข้าพเจ้าจึงได้สั่งยิง และได้ตลุมบอน
รถถังคันแรกได้ยิงกราด แต่ทหารของข้าพเจ้าได้เข้ายึดรถถังคันแรก
ในขณะเดียวกัน ทหารของข้าพเจ้าได้ขึ้นไปอยู่บนรถถังของข้าศึก และบังคับด้วยพานท้ายปืน พลขับตาย
และ รถถังคันที่ ๒ ที่ตามเข้าม ยกธงขาว และทั้ง ๕ คันหยุด ทหารของข้าพเจ้าได้ล้อมรถถังทั้ง ๕ คันไว้ และบังคับให้รถถังทั้ง ๕ คันเคลื่อนที่เข้ามาในเขต
จึงบังคับให้พลประจำรถถังออกมาจากรถถัง ใช้ผ้าพันแข้งปิดตา และมัดมือไขว้หลังผูกติดกับต้นไม้ไว้


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 04 ต.ค. 12, 21:20
ขณะเดียวกันนี้เอง มีทหารม้า ๑ หมวด ได้เคลื่อนที่เข้ามาเพื่อช่วยเหลือรถถังข้าศึก แต่ขณะวิ่งตลุมบอนเข้ามานี้เอง
ปืนกลหนักและปืนรถถังได้ทำการยิงทหารม้าหมวดนั้นล้มตายไปประมาณ ๕ ตัว และข้าศึกได้เสียชีวิตไป ๕ คน
ส่วนที่เหลือได้ถอยกลับออกไป ขณะเดียวกันนี้เสียงปืนฝ่ายเราได้ดังขึ้นตลอดแนว ทำการยิงกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วจึงหยุดยิง
และทางด้านขวา ทหารม้าของข้าศึกได้เข้าตลุมบอนอีก จึงเพิ่มกำลังมาอีก ๑ หมวด
ปรากฏว่าข้าศึกได้ล่าถอยกลับไป ข้าพเจ้าจึงให้สัญญาณหยุดยิงตลอดแนว
แต่ข้าศึกทางด้านซ้ายได้ยิงมาประปราย ข้าพเจ้าหยุดยิง ไม่ได้โดต้ตอบ ข้าศึกก็หยุดยิงด้วย
ต่อมาข้าพเจ้าจึงได้ไปตรวจแนว ปรากฏมีทหารของข้าพเจ้าถูกกระสุนของข้าศึก ยิงถูกของลับขาดไป ๑ คน นอกนั้นปลอดภัย


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Thammarat ที่ 04 ต.ค. 12, 21:37
ต่อมาเวลา ๐๘๐๐ ข้าพเจ้าให้พลนำสารติดต่อไปยังกองพันซึ่งอยู่ห่างจากข้าพเจ้าประมาณ ๑๐ ก.ม. เพื่อขอกำลังเพิ่มเติมและแจ้งเหตุ
ประมาณ ๑๐๐๐ ได้รับกำลังเพิ่มเติมจากทางด้านขวา
ในระหว่างเวลาที่กล่าวนี้ มีทหารม้าข้าศึก รถถังข้าศึกและรถยนต์หุ้มเกราะข้าศึกได้มาลาดตระเวน และยิงอยู่ประปราย
แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ยิงตอบ จนถึงเวลา ๑๐๐๐ ส่วนของกองพลจึงได้เคลื่อนที่มาถึงบริเวณที่ข้าพเจ้ายึดอยู่
ข้าพเจ้าจึงได้มอบรถถังจำนวน ๕ คัน ให้แก่กองพลรับไป
กองพลได้นำรถถัง ๕ คันนี้พร้อมด้วยเชลยศึกจำนวน ๑๑ คน ร้อยโททหารฝรั่งเศส ๑ คน นอกนั้นเป็นนายสิบเขมร
ในวันนั้นข้าพเจ้าและทหารในบังคับบัญชารับประทานอาหารเช้าเวลา ๑๔๐๐ น. เพราะหน่วยพลา ฯ หาที่ตั้งไม่ถูก
ต่อมาอีก ๑๐ วัน รถถัง ๕ คันนี้ ก็ได้นำส่งกรุงเทพ ฯ มีขบวนรับกันอย่างเอิกเกริกที่หัวลำโพง มีผู้ได้เหรียญกล้าหาญหลายคนเพราะยึดรถถัง
แต่ข้าพเจ้าและผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีผู้ใดได้ ข้าพเจ้าอยู่ประจำที่ตำบลนี้จนกระทั่งการไกล่เกลี่ยได้เสร็จสิ้นไป
จนกระทั่งได้เคลื่อนที่กลับคอหงษ์ หาดใหญ่"


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 21:53
ขอบคุณคุณธรรมรัตน์เป็นอย่างยิ่งครับ ที่ไม่ลืมจะนำข้อมูลดีๆอย่างนี้มาเติมให้

ทำให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ในการรบครั้งนี้มีผู้เสนอหน้ากับนายจนได้รับเหรียญกล้าหายหลายคน ในขณะที่ผู้กล้าหาญตัวจริงถูกเบียดไปอยู่หลังแถว


กระทู้: ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
เริ่มกระทู้โดย: Nithi Kanisthanon ที่ 07 ธ.ค. 13, 12:32
วันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง กองบัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วย
๒๕ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง พ.อ.หลวงวิชิตสงคราม เป็นเสนาธิการทหารบก
ตั้งกองทัพบูรพา โดย พ.อ.หลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ ๑ ด้านบูรพา, ตั้งกองทัพอีสาน โดย พ.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ ๒ ด้านอีสาน
ตั้งกองพลพระนคร ขึ้นตรงต่อกองทัพบูรพา โดย พ.ท.หลวงไกรชิงฤทธิ์ เป็น ผบ.พล. และ พ.ต.เติม   กนิษฐานนท์ เป็นรอง ผบ.พล.
กองพลพระนคร ประกอบร้วย ร.พัน.๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ , ร.พัน.๓ และ ร.พัน.๙ เป็นกำลังรบหลัก มี กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ (ป.พัน.๑) , กองร้อยทหารช่าง และกองร้อยรถถังสนับสนุน
สำหรับ ร.พัน.๓ นั้น พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ ได้เลื่อนเป็น ผบ.พัน. สำหรับร้อย.๑, ร้อย. ๒ และร้อย.๔ คงเดิม
ส่วนร้อย. ๓ เอานายทหารใหม่ รุ่นหลังข้าพเจ้า ๑ รุ่น คือ ว่าที่ ร.ต.พร   ธนภูมิ มารักษาการผบ.ร้อย.

ในขณะนั้นแต่ละกองร้อยมีนายทหารคือ ผบ.ร้อย. ๑ นาย และ ผบ.หมวด ๑ นาย
ร้อย.๑ ร.อ.อุดม   วรรณศิริ
ร้อย. ๒ มี ร.อ.อัมพร    เสือไพฑูรย์ เป็น ผบ.ร้อย. และข้าพเจ้า ว่าที่ ร.ต.ไพบูลย์   ขจรพันธุ์ เป็น ผบ.หมวด
ร้อย.๓ มี ว่าที่ร.ต.พร ธนภูมิ คนเดียว รักษาการ ผบ.ร้อย.
ร้อย.๔ มี ร.อ.ขุนทอง   ไกรจิตติ เป็น ผบ.ร้อย. และ ร.ต.ยง   ณ นคร เป็น ผบ.หมวด

ภาพ  พ.ต. เติม กนิษฐานนท์ รอง ผบ.พล กองพลพระนคร ในรูปประดับเหรียญชัยสมรภูมิด้วย