เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: นิลกังขา ที่ 05 ม.ค. 04, 12:40



กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 05 ม.ค. 04, 12:40
 สวัสดีปีใหม่ครับ

เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปหาของขวัญชิ้นหนึ่งให้แก่คุณเทาชมพู เป็นหนังสือเก่ามากเล่มหนึ่ง เพราะผมได้ยินปรารภว่าอยากจะอ่านอีก หลังจากได้เคยอ่านมาแล้วในสมัยเป็นสาวๆ (แม้ว่าในขณะนี้ผมก็ยังเห็นว่าคุณเทาชมพูยังเป็นสาวอยู่ดีนั่นเองก็ตาม)

หนังสือนั้นชื่อ ยุคกลางในยุโรป-นิทานพระเจ้าชาลมาญ พระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ นมส. เจ้านายนักเขียนสำคัญยิ่งพระองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องที่เสด็จในกรมพระองค์นั้นทรงนิพนธ์ในช่วงปลายพระชนมชีพ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ของพระองค์ ชื่อ ประมวญวัน ตอนนั้นเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา และถ้าว่าตามคำของ พ. ณ ประมวญมารค ทายาทของท่าน นิทานพระเจ้าชาลมาญนี้ก็เป็นหนึ่งในสองเรื่องของ "นิทาน นมส." ที่ดีที่สุดเป็นชั้นยอดของนิทาน นมส. (อีกเรื่องหนึ่งคือ นิทานเวตาล)

นิทานเวตาลดีและดังเพียงไรไม่จำเป็นต้องกล่าว นักเลงหนังสือเมืองไทยรู้จักกันดี แต่นิทานพระเจ้าชาลมาญที่ถือกันว่าเป็นระดับเดียวกับนิทานเวตาล ในสมัยหลังๆ กลับตกอับลับลี้อยู่หลายปี ไม่เป็นที่รู้จักเท่านิทานเวตาล เผอิญผมได้มีโอกาสอ่านนิทานพระเจ้าชาลมาญฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ซึ่งรวมเล่มพิมพ์กับนิทานเวตาลเป็นหนังสือเล่มเดียว พิมพ์ราวๆ ปี 2490 เศษๆ เมื่อผมได้อ่านนั้นกระดาษก็เหลืองกรอบเกือบจะป่นอยู่แล้ว แถมไม่ได้อ่านในเมืองไทย เป็นหนังสืออยู่ในห้องสมุดของที่ทำงานเก่าผมที่เมืองสวิสโน่น เมื่อคุณเทาชมพูปรารภขึ้นผมก็จำได้ และเมื่อมีโอกาสแวะไปเที่ยวพักร้อนที่สวิสสี่ห้าวันก็เลยขออนุญาตเขา ยืมเอากลับมาถ่ายเอกสารส่งไปให้

ระหว่างหยุดปีใหม่ คุณเทาชมพูได้อ่านแล้วก็ยุผมให้มาตั้งกระทู้ในเรือนไทย เพื่อให้นิทานนี้ไม่สูญ ผมเองเคยทำหน้าที่ออกแขกเบิกโรงมาหลายเรื่องแล้วในเรือนไทย ดังนั้นก็เลยขอมาตั้งกระทู้นี้ ตามบัญชาผู้ดูแลเว็บเรือนไทย ดังปรากฏอยู่นี้ ผมมาตั้งให้แล้วนะครับ แต่ขอเชิญคุณเทาชมพูเป็นคนรับภาระเล่าเรื่องนะครับ เรื่องชุดนิทานชาลมาญนี่ถ้าจะเล่ากันจริงๆ ก้เห็นจะได้ไปถึงปีใหม่ปีหน้า หรืออย่างน้อยก็ไปได้ถึงสงกรานต์ปีนี้สบายๆ

ตามประวัติศาสตร์ พระเจ้าชาลมาญราชาธิราชเดิมเป็นกษัตริย์ชนเผ่าแฟรงค์ (ซึ่งเป็นเผ่าอนารยชนเผ่าหนึ่งในยุโรปหลังสมัยที่จักรวรรดิโรมันล่มสลายไปแล้วและเป็นบรรพชนสายหนึ่งของพวกฝรั่งเศสและเยอรมันต่อมา) ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 800 พระเจ้าชาลมาญทรงได้รับสถาปนาจากสันตะปาปา ณ กรุงโรมให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์แรก จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นคนละอันกับจักรวรรดิโรมันโบราณเดิม ยืมเอาชื่อมา (แต่ก็ปกครองอาณาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน) มีข้อแตกต่างสำคัญที่สุดก็คือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ อิงอยู่กับพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกอย่างแนบแน่น (ขณะนั้นยังไม่มีนิกายโปรเตสแตนท์) ในขณะที่เราคงจะจำได้ว่าตามคริสตประวัตินั้น จักรวรรดิโรมันเดิมไม่ได้ใยดีอะไรกับคริสตศาสนาเท่าไหร่ แม้องค์พระเยซูเจ้าเองก็ทรงถูกจับตรึงกางเขนโดยที่ผู้สำเร็จราชการโรมันไม่ได้ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องห้ามปราม หรือออกจะเกือบๆ เห็นดีเห็นงามตามพวกยิวไปด้วยซ้ำ เมือพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว พวกคริสเตียนยุคแรกก็ยังถูกจักรพรรดิโรมัน (ตอนช่วงที่อาณาจักรโรมันเองใกล้จะล่มสลาย) จับไปทรมานต่างๆ นานาอีกเป็นอันมาก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างอย่างมากจากจักรวรรดิฝรั่งที่ยืมชื่อมาในสมัยหลัง

ชาลมาญ หรือ "มหาชาร์ลส" ในความหมายว่าชาร์ลสผู้ยิ่งใหญ่ (ไม่ได้ตั้งใจจะให้แปลว่าทรงเป็นเปรียญในพุทธศาสนาครับ) นั้นเป็นราชันแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่า "อันศักดิ์สิทธิ์" ก็คือ โดยได้รับพระพรจากศาสนจักรคริสเตียน และทรงมีหน้าที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกผู้คุ้มครองศาสนาคริสต์ ในหน้าที่นี้ พระเจ้าชาลมาญก็จำเป็นต้องชุบเลี้ยงขุนศึกนายทหารเป็นอันมาก ทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองพระศาสนาคือศาสนาคริสต์ และทำให้เกิดธรรมเนียมประเพณีเรื่องอัศวิน knights ขึ้นมา เราท่านในเมืองไทยสมัยนี้อาจจะรู้จักอัศวินคณะของพระเจ้าอาร์เธอร์แห่งอังกฤษ อันเรียกว่าอัศวินโต๊ะกลม (ที่เรียกว่าโต๊ะกลมนั้น นิทานว่าก็เพราะพระเจ้าอาร์เธอร์ไม่ทรงต้องการให้มีหัวโต๊ะ คือถือว่าสมาชิกแห่งคณะอัศวินโต๊ะกลมทุกคนรวมทั้งพระองค์เองด้วย มีฐานะเป็นเพื่อนตายเท่าเทียมเสมอกันหมด)

นิทานเรื่องอัศวินแห่งพระเจ้าอาร์เธอร์นั้นค่อนข้างจะมีชื่อเสียง แต่ในวงวรรณกรรมของฝรั่งนั้น คณะอัศวินของพระเจ้าชาลมาญก็มีเกียรติเกริกไกรไม่น้อยไปกว่าคณะอัศวินโต๊ะกลมเช่นกัน อย่างไรก็ดีในเมืองไทยเราดูเหมือนจะยังไม่มีใครแปลนิทานชุดนี้ออกแพร่หลายนัก นมส. จึงทรงจับแปลนิทานชุดนี้ออกสู่สายตาผู้อ่านชาวไทย เป็นนิยายยาวยืดลงในประมวญวันอยู่นาน (และผมประมาณว่าถ้าจะเอาทยอยลงเล่าใหม่ในที่นี้ก็คงจะได้อีกนาน) แต่ผมรับรองว่าสนุกครับ

มีข้อที่ผมจะขออนุญาตซักซ้อมความเข้าใจกันเสียก่อนจะเริ่มนิทาน สำหรับเพื่อนร่วมเรือนไทยที่อาจถือศาสนาและมีเชื้อชาติต่างๆกันว่า นิทานชุดนี้ ประการแรก เป็นแค่นิทาน ประการที่สอง เป็นนิทานที่ฝรั่งแต่งในสมัยที่ฝรั่งยังมากไปด้วยอคติต่อคนต่างชาติศาสนา และวิทยาการในเมืองฝรั่งเองก็ยังไม่ได้เจริญขึ้นมาสักเท่าไหร่ ในทัศนคติแคบๆ ของฝรั่งขณะนั้น เมื่อจำเป็นจะต้องเล่านิทานให้มีตัวผู้ร้ายก็ต้องตั้งให้ใครสักคนหนึ่งหรือพวกหนึ่งรับบทเป็นผู้ร้าย เมื่อภูมิหลังในประวัติศาสตร์เดิมมีเค้ามูลอยู่ว่ามีการรบพุ่งกันระหว่างพระเจ้าชาลมาญ (องค์จริงในประวัติศาสตร์) กับราชาของประเทศมุสลิมอยู่บ้าง กับทั้งหน้าที่พระเจ้าชาลมาญก็ต้องพิทักษ์คริสตศาสนาด้วย นิทานก็จับเค้าตรงนี้ไปขยาย จึงกลายเป็นว่าผู้ร้ายในเรื่องจำเป็นต้องเป็นแขกซึ่งฝรั่งสมัยนั้นเรียกว่า สาระเซ็น (Saracens) ไปหมด และดูเหมือนจะถือด้วยว่าอะไรที่ไม่ใช่ฝรั่งคริสเตียนแล้วต้องเป็นสาระเซ็น นิทานจึงจับเอาเมืองอินเดีย จีน อาระเบีย แอฟริกา ไปตีขลุมผสมกันเป็นเมืองสาระเซ็นทั้งหมด ถ้าฝรั่งสมัยนั้นรู้จักเมืองไทยก็คงจะเหมาเอาเมืองไทยไปเป็นเมืองสาระเซ็นเมืองหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องอะไรเลย แม้แต่เดนมาร์กในสมัยที่ยังไม่ได้รับคริสตศาสนา ยังเป็นดินแดนที่นับถือลัทธิที่ฝรั่งเรียกว่า Pagan นั้น ในนิทานชุดนี้ก็ยังแต่งให้เป็นพวกสาระเซ็น ดังนั้นขอให้ผู้อ่านผู้ฟังนิทานทำใจว่า นิทานก็คือนิทานสนุกๆ เท่านั้น และให้อภัยความเขลาและอคติอันคับแคบและเชยๆ ของฝรั่งโบราณผู้เล่านิทานด้วยเถิด

อันที่จริง มีหลักฐานในประวัติศาสตร์จริงๆ ว่าในสมัยของชาลมาญราชาธิราชนั้นได้รบกับท้าวพญาเชื้อชาติศาสนามุสลิมบ้างก็จริง แต่ก็ได้คบเป็นไมตรีกับกษัตตริย์มุสลิมด้วยเช่นกัน มีการส่งบรรณาการกับพระเจ้ากาหลิบในตะวันออกกลางด้วย

เมื่อแขกได้เบิกโรงมานานมากขนาดนี้แล้ว ก็ขอเชิญลิเก (ฝรั่ง) ลงโรงได้ เชิญคุณเทาชมพูเล่าเรื่องนิทานชาลมาญ ดำเนินความตามที่ นมส. ทรงแปลจากหนังสือนิทานฝรั่งต่อไปครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 05 ม.ค. 04, 13:41
 ขอแก้ตัวผมเองนิดครับ

เมื่อผมบอกว่าชาลมาญราชาธิราชทรงเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นผมพูดหลวมๆ ไปหน่อย พระเจ้าชาลมาญเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่คริสตศาสนจักรได้สถาปนาขึ้นยุคหลัง คือยุคที่ยืมชื่อจักรวรรดิโรมันของเก่าและตำแหน่งมาสวมให้ราชันผู้มิได้มีเชื้อชาติเป็นโรมันมาแต่เดิม (ชาลมาญทรงมีกำเนิดเป็นชนเผ่าแฟรงก์ ซึ่งถ้าจะถือจริงๆ ตามมาตรฐานของโรมันเดิมก็ต้องถือว่าเป็นอนารยชนพวกหนึ่้ง ตามพระประวัติว่าตรัสภาษาลาตินได้ไม่มากนัก แม้จะทรงพยายามศึกษาลาตินเมื่อทรงเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม แต่ในที่สุดก็ทรงยอมแพ้ ต้องกลับไปทรงใช้ภาษาเยอรมันโบราณอันเป็นภาษาของพระองค์มาแต่เดิม)

แต่ถ้าเราจะถือว่า จักรวรรดิโรมัน "อันศักดิ์สิทธิ์" นั้น ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วยการอำนวยพรของคริสตศาสนจักรแล้ว ก็กล่าวได้ว่าในช่วงยุคปลายของอาณาจักรโรมันอันดั้งเดิมก็ได้กลายเป็นจักรวรรดิโรมัน "อันศักดิ์สิทธิ์" แล้ว คือหลังจากที่จักรวรรดิโรมันได้กดขี่ข่มเหงคริสตชนยุคแรกอยู่พักหนึ่ง ซึ่งก็หลายชั่วรัชกาลเหมือนกัน แทนที่คริสตศาสนาจะถูกปราบราบลงไปได้ก็กลับยิ่งขยายตัวมากขึ้น ในที่สุดอิทธิพลของศาสนาคริสต์ก็ครอบคลุมอาณาจักรโรมันได้ และพระจักรพรรดิโรมันองค์แรกที่เปลี่ยนศาสนามายอมรับนับถือศาสนาคริสต์ก็คือ พระเจ้าคอนสแตนติน ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนที่ชาลมาญจะทรงได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ยุคหลัง) ราวๆ สี่ห้าร้อยปี ดังนั้นในตอนปลายสมัยของจักรวรรดิโรมันดั้งเดิมนั่นเองโรมก็ได้รับนับถือคริสตศาสนาแล้ว แต่หลังสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินมาได้ไม่นาน มหาอาณาจักรโรมันที่เคยยิ่งยงก็ล่มสลาย ชื่อของพระเจ้าคอนสแตนตินยังปรากฏอยู่ในชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือ "กรุงโรมตะวันออก" ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นกรุงอิสตันบูลในตุรกีเดี๋ยวนี้ เมื่อมหาอาณาจักรโรมันอันเดิมล่ม ยุโรปก็ตกสู่ความระส่ำระสายแตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากมายอยู่หลายร้อยปี จนกระทั่งชาลมาญทรงรวบรวมดินแดนต่างๆ ในยุโรปขึ้นเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และศาสนจักรโดยสันตปาปา ณ กรุงโรมจึงได้ทำพิธีสวมมงกุฏใ้ห้ชาลมาญเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งในวันคริสต์มาส ค.ศ. 800 ที่กรุงโรม ตามที่เล่ามาแล้ว

เรื่องที่กษัตริย์ชาวแฟรงก์ได้รับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิโรมัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นชาวโรมันนั้น อาจจะฟังดูเหมือนแปลก แต่ที่จริงก็ไม่ได้แปลกมาก ฝรั่งสมัยนั้นนับถืออารยธรรมโรมันว่าเป็นครูของตนแหล่งหนึ่ง ดังนั้นใครที่เป็นใหญ่ขึ้นมาก็ไม่รังเกียจที่จะขออาศัยเป็นโรมันสักหน่อยเถอะ เทียบกับประเทศในเอเชียอาคเนย์เรานี้หลายประเทศที่นับถืออินเดียเป็นครู ผู้มีอำนาจของประเทศแถวนี้ก็ตั้งตัวเองและเมืองของตัวเป็นเจ้านาย หรือวีรบุรุษของเมืองในนิทาน หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็นเทวดาแขกอินเดียกันไปตามๆ กัน กรุงศรีอยุธยาของพระรามจึงมาอยู่ที่เมืองไทย และพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ทรงรับพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี สืบมาหลายพระองค์ ในอินโดนีเซียก็มีเมืองอโยธยากฤต อันกลายมาเป็นชื่อย็อกยาการ์ตา ยิ่งกษัตริย์เขมรยิ่งกลายเป็นพระผู้เป็นเจ้าของอินเดียไปก็มากมายหลายพระองค์ ทั้งนี้โดยที่ยังทรงเป็นกษัตริย์ไทย เป็นชวา เป็นเขมรอยู่นั่นเอง หาได้เป็นชาวอินเดียไม่  

ขอเชิญนิทานออกโรงครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 04, 09:44
 คุณนกข.ก็ได้ออกแขกพร้อมรำเบิกโรงมา ๒ ความเห็นซ้อนแล้ว  
ถึงควรแก่เวลาดิฉันจะเล่าเรื่องที่เคยอ่านในอดีต ด้วยสำนวนตัวเองในปัจจุบันเสียที

ขอเกริ่นสักหน่อยว่า เรื่องราวของพระเจ้าชาลมาญ ที่จะเล่าต่อไปนี้  น.ม.ส. ทรงแปลและเรียบเรียงขึ้นจากหนังสือ Legends of Chalemagne ของขาวอเมริกันชื่อ Thomas  Bulfinch  (1796-1867)
บุลฟินช์ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ  เขาทำงานเป็นเสมียนธนาคารอยู่ที่บอสตัน แต่ด้วยใจรักเรื่องหนังสือ พอเลิกงาน ก็กลับเข้าห้องพัก  รวบรวมวรรณคดีคลาสสิคของยุโรป   มาเล่าใหม่เป็นเรื่องง่ายๆสนุกสนานให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้อ่าน
ไม่หลับฟุบคาโต๊ะเรียนอย่างนักศึกษาที่ถูกบังคับให้อ่านเล่มเต็ม
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทำนองเดียวกับพระเจ้าอาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมของอังกฤษ      มีกลิ่นอายบรรยากาศของยุคกลางอยู่เต็มที่    

ถ้าพูดถึงสนุกก็คิดว่าจะไม่น้อยหน้า Lord of the Rings

เรื่องแรกที่จะเล่าเป็นชีวิตยอดอัศวินแห่งราชสำนักของพระเจ้าชาลมาญ  คนฝรั่งเศสถือว่าดังไม่แพ้เซอร์ลานสล็อตของอังกฤษ    
เขามีชื่อต่างๆเรียกกันไปได้แล้วแต่ชาติไหนจะเอาไปแต่ง   อังกฤษเรียก Roland  หรือโรลันด์  ฝรั่งเศสเรียกอย่างเดียวกัน ออกเสียงว่า โรลองด์  อิตาเลียนเรียก Olando น.ม.ส. ทรงเรียกว่าโอลันโด  
ในนี้ก็เลยเรียกโอลันโดตามท่านค่ะ

มีเรื่องราวเกี่ยวกับโอลันโดหรือโรลองด์ที่พวกเรียนวรรณคดีฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯต้องเรียน
คือ Chanson de Roland แปลเป็นอังกฤษว่า The Song of Roland

เปิดฉาก
เรื่องนี้ถ้าเป็นหนัง  ก็เปิดฉากแรกขึ้นที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในอิตาลี ชื่อ "สูตริ" (Sutri) ปกติแทบไม่มีอะไรน่าสนใจ  
แต่เวลานั้นคึกคักเพราะมีกระบวนทัพมาตั้งพลับพลาพักแรม
เจ้าของพลับพลาเป็นชายวัยกลางคนร่างใหญ่มีสง่า   กำลังรอกลุ่มพ่อครัวยกอาหารเย็นมาให้  
ได้ยินเสียงเอะอะชุลมุนภายนอกก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น  ทหารก็เข้ามารายงานว่า อาหารดีๆที่เตรียมเอาไว้พร้อมจะยกมาตั้งโต๊ะถูกมือดีบุกเข้ามาแย่งเอาไปดื้อๆ    และที่ประหลาดกว่านี้คือพวกพ่อครัวซึ่งเป็นทหารชายฉกรรจ์สู้ไม่ไหว ไล่จับก็ไม่ทัน
ทั้งที่หัวขโมยก็เป็นแค่เด็กหนุ่มคนเดียว   แต่ว่าแข็งแรงปราดเปรียวไม่น่าเชื่อ    ทหารทั้งกลุ่มเอาไม่อยู่

ชายร่างใหญ่มีสง่าราศีผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่น คือพระเจ้าชาลมาญมหาราชของฝรั่งเศสนี่เอง  
กำลังจะเดินทางไปโรมเพื่อเข้าพิธีจักรพรรดิราชาภิเษกจากสันตปาปา เป็นจักพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่คุณนกข.เล่าไว้ข้างบนนี้
พอเห็นเหตุประหลาด หวนนึกถึงพระสุบินขึ้นมาได้ว่า จะพบพระญาติสนิท  ก็โปรดให้อัศวิน ๓ คนสะกดรอยไล่ตามหัวขโมยไปถึงถ้ำ(grotto)ที่เด็กหนุ่มอาศัยอยู่  

เด็กหนุ่มก็ไม่ยักกลัว ฉวยกระบองออกมาตั้งท่าจะสู้ให้เห็นฤทธิ์
พอดีมีหญิงวัยกลางคนบุคลิกสง่างามกว่าหญิงชาวบ้านทั่วไป  ออกจากถ้ำมาห้ามการสู้กันเสียก่อน  
นางเผยตัวเองกับแม่ทัพนายกองทั้งสามว่านางไม่ใช่ใครอื่น  แต่เป็นเจ้าหญิงเบอร์ธา   พระขนิษฐาของชาลมาญนั่นเอง   อัศวินทั้งสามก็รีบคุกเข่าลงคารวะเจ้านาย

เจ้าหญิงเบอร์ธาเมื่อตอนสาว ทำผิดประเพณี  ลอบรักกับอัศวินผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ จึงถูกขับออกจากประเทศฝรั่งเศส   ซัดเซพเนจรไปคลอดบุตรในถ้ำ ใช้ชีวิตตกยากด้วยกันสองแม่ลูก

ส่วนพ่อ ประสงค์จะได้เกียรติยศคืน ก็อำลาเมียและลูกเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นๆ หวังว่าจะสบช่องทางได้คืนสู่ความมีหน้ามีตา   แล้วหายไปไหนไม่รู้  
จนลูกชายโตเป็นเด็กหนุ่มก็ไม่ยักกลับมา( แล้วรู้สึกว่าจะไม่ได้กลับมาอีกตลอดเรื่อง  คงไปตายเสียที่ไหนสักแห่ง)

เมื่ออัศวินทั้งสามพาแม่ลูกกลับมาเฝ้ากษัตริย์   พระเจ้าชาลมาญก็โปรดอภัยให้พระน้องนางอย่างเต็มพระทัย  
รับแม่ลูกมาอยู่ในพระอุปถัมภ์  อยู่สุขสบายอย่างที่ควรเป็น

ตามธรรมเนียมพระเอกที่มักจะมีกำเนิดแปลกๆ ไม่ค่อยจะปกติราบรื่นอย่างตัวละครชั้นรองๆ   และยังมี"พรจากสวรรค์" ให้เก่งเกินมนุษย์มาแต่เกิด   ในนี้คือมีกำลังกายแข็งแรง คงกระพันชาตรียิงแทงไม่เข้า(เว้นแต่ตรงส้นเท้า
(คงเป็นอิทธิพลจากมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์-อคิลลิส ทหารเอกฝ่ายทรอยก็เป็นแบบนี้)
โอลันโดก็เข้าข่ายนี้เป๊ะ    กลายเป็นยอดทหารของพระเจ้าลุง  
ถึงแม้ว่าพระองค์มีอัศวินแห่งราชสำนักอยู่อีกจำนวนมาก รวมกันเรียกว่า Paladin และมีเด่นๆอยู่ ๑๒ คน  แต่คนดังที่สุดก็คือโอลันโดอยู่ดี

เรื่องราวของโอลันโดยืดยาว เพราะมีกวีคนนั้นคนนี้เอาไปแต่งไว้เป็นจำนวนมาก  เป็นการผจญภัยหลายๆเรื่องด้วยกัน    ไม่ค่อยจะติดต่อกันเท่าไร  
ต้องมาปะติดปะต่อกันทีหลังว่าเป็นการผจญภัยสมัยที่โอลันโดรับราชการอยู่ในสำนักของชาลมาญ  เจอเรื่องตื่นเต้นนับไม่ถ้วน  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 04, 10:05
 ตามขนบของการแต่งวรรณคดียุคกลาง  จะมีอะไรคล้ายๆสูตรก็ว่าได้ค่ะ  
คือถ้าเอาเรื่องมากางแบบแผนที่
จะเห็นได้ว่ามันประกอบด้วยตัวเอกยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้น      
จากจุดนั้นก็ลากเป็นเส้นเหมือนหนทาง
ไปจนบรรจบกับจุดหมายปลายทางตรงปลายเรื่อง  

ขนบการแต่งก็คือ  โยนปมปัญหาเข้าไปที่จุดเริ่มต้น  ให้ตื่นเต้น  
ปมปัญหานี้จะผลักดันตัวเอกให้เคลื่อนที่ไปตามเส้นนั้นแหละเพื่อจะไปที่จุดปลายทางอันเป็นการคลี่คลายปัญหาจากจุดเริ่ม  
ระหว่างเส้นทางนั้นคนแต่งก็จะโยนเหตุการณ์เข้าไปได้อีกไม่มีข้อจำกัด  
หาตัวละครใหม่ๆเข้ามาตัดขวางเส้นทางนั้นอยู่เรื่อยๆ   พระเอกต้องฝ่าฟันไปทีละจุดจนกระทั่งรอดมาถึงปลายทาง  
เรื่องก็จบลงได้สำเร็จ
อะไรที่โยนเข้าไประหว่างเส้นทางของเรื่อง สามารถโยนได้ไม่มีข้อจำกัด     ไม่ต้องต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกันนักก็ทำได้  
เมื่อเหตุการณ์หนึ่งจบลงก็ใส่เหตุการณ์ใหม่ต่อเข้าไปได้ทันที  
ตัวละครรองๆตัวหนึ่งเข้ามาบทบาทสำคัญแล้วหมดบทไปทันทีกลางเรื่อง  
หลีกทางให้ตัวใหม่โผล่เข้ามาแทนบ้างก็ทำได้  
มีพระเอกนางเอกเป็นตัวเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นเรื่อง
ขนบการแต่งแบบนี้  ทำนองเดียวกับการแต่งเรื่องกำลังภายใน  ของโกวเล้งน่ะค่ะ  เปรียบเทียบแบบนี้คงพอนึกออก

เดินคุยออกซอยแยกไปพอสมควร ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องสั้นๆที่น.ม.ส. ทรงเล่าไว้ก่อนดีกว่า เป็นการผจญภัยตอนหนึ่งของโอลันโด
ชื่อ
โอลันโดรบยักษ์

ยักษ์ในที่นี้ในเรื่องบอกว่ามาจากโปรตุเกศ  ชื่อเฟอเรกัส   นอกจากตัวมหึมาแบบยักษ์ทั่วไป แล้วยังหนังหนาสุดเหนียวเหมือนยางรถแทรกเตอร์ ยิงแทงไม่เข้า    
เวลาต่อสู้ไม่ต้องใช้อาวุธ  ใช้มือจับศัตรูหนีบรักแร้พาไป  ศัตรูก็หมดทางสู้
การหนีบรักแร้แบบนี้  ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑
ก็มีอยู่ตอนหนึ่ง  คือสุครีพเสียทีกุมภกรรณ  ถูกหนีบรักแร้เอาตัวไป
แต่ทหารทางฝ่ายพระรามตามไปแก้เอาตัวคืนมาทันเสียก่อน

กลับมาสู่เรื่องอีกที
ตอนรบกัน  โอลันโดต้องใช้ความไวหลบไปหลีกมาราวกับหนุมานกลับมาเกิด  
จะปล้ำกันซึ่งๆหน้าแบบซูโม่ไม่ได้       ไล่ฟันยักษ์ทีไรก็ฟันไม่เข้า   ยักษ์ก็ไล่จับหวิดๆจะได้แต่ไม่ทัน    
ผลัดกันจับผลัดกันแทงโดยไม่มีใครได้อะไรขึ้นมา จนกระทั่งยักษ์เหนื่อยอ่อน ตามประสาคนน้ำหนักมากซึ่งคงจะอุ้ยอ้ายเหนื่อยง่ายกว่าคนน้ำหนักเบา  
ก็ชวนหยุดพักชั่วคราว  แล้วยักษ์ก็พักเหนื่อยลงนอนหลับ    
โอลันโดไม่หลับก็นั่งเฉยๆรออยู่

ตามมารยาทของอัศวินยุคกลาง   เขายึดถือธรรมเนียมประพฤติด้านจริยธรรมกันเคร่งครัดหลายอย่าง
เช่นไม่ใช้เล่ห์กระเท่ในการต่อสู้     ไม่ลอบทำร้าย  ไม่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือเสียเปรียบ   ต้องสู้กันตรงๆด้วยฝีมือ  
ถ้าหากว่าขงเบ้งถูกจับตัวมาให้รบในยุคกลางคงจะเรียกหาแอสไพริน หรือไม่ก็ขอตัวกลับไปทำไร่ไถนาบนเทือกเขาโงลั่งกั๋งตามเดิม
เพราะอุบายทุกชนิดที่ขงเบ้งเก่งนักหนาเป็นของต้องห้ามทั้งหมด

ยักษ์หลับสนิท   โอลันโดก็ไม่ฉวยโอกาสทำร้าย  ตามมารยาทที่ว่ามา  และดีกว่านั้นอีกคือเห็นอีกฝ่ายนอนหงายราบกับพื้นกลัวคอจะเคล็ด  
โอลันโดก็ค่อยๆยกหินนุ่มๆ (หินอะไรก็ไม่รู้ค่ะ)สอดเข้าไปให้หนุนแทนหมอน   ยักษ์ก็เลยหลับเต็มอิ่มแสนสบาย
จนตื่นขึ้นมา  สบายขึ้นมาก  เห็นโอลันโดช่วยหาหินมาให้หนุนหัว  ยักษ์ก็เห็นน้ำใจจึงเริ่มชวนคุย แบบเลิกเป็นอริกันชั่วคราว    พูดไปพูดมา คุยโวมากไปหน่อย  
เผลอหลุดปากออกมาว่าทั้งเนื้อทั้งตัวคงกระพันไม่มีตรงไหนแทงเข้าเว้นแต่หว่างกลางอก    แต่ถึงบอกก็ไม่กลัวเพราะไม่เคยมีศัตรูแทงได้สักคน
พอเริ่มรบกันอีก  โอลันโดหมายตากลางอกยักษ์  
ในเมื่อโอลันโดชำนาญดาบไม่มีผู้เสมอเหมือน ก็เลยแทงกลางอกได้สำเร็จ
ยักษ์ล้มลงตาย  โอลันโดเลยชนะยักษ์  ถือว่าเป็นชัยชนะที่ขาวสะอาด
พระเจ้าชาลมาญถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของยอดทหารของพระองค์


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 04, 10:11

ภาพประกอบของโอลันโดกับเฟอรากัสค่ะ
สังเกตว่าในเรื่องบอกว่าเฟอรากัสเป็นชาวโปรตุเกส
ภาพประกอบให้เฟอรากัสโพกผ้าเป็นแขก
แบ่งแยกให้เห็นชัดว่าไม่ใช่คริสเตียน  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ม.ค. 04, 10:46
 กาโฮ้ ฮัดช่ะ แขกออกแขกแล้ว ยี่เกลงโรงแล้ว แต่ขอโผล่มาแจมอีกครับ

ตามประวัติศาสตร์ (จริง นอกนิทาน) นั้น ยุโรปในสมัยก่อนพระเจ้าชาลมาญขึ้นไปนิดหนึ่งมิได้เป็นดินแดนของฝรั่งทั้งหมด มีชนมุสลิมที่ข้ามมาแต่แอฟริกาเหนือเข้ามายึดได้ดินแดนที่เป็นสเปนเดี๋ยวนี้ ครองอำนาจอยู่ได้นานพักใหญ่ทีเดียว และได้สร้างความเจริญทางวิทยาการและวัฒนธรรมให้แก่ยุโรปสมัยนั้นไม่น้อย (ในขณะนั้นอารยธรรมโรมันล่มสลายไปแล้ว ฝรั่งเองจึงมีอารยธรรมด้อยกว่าอารยธรรมอาหรับ) ฝรั่งเรียกแขกเหล่านี้ว่า พวกมัวร์ หรือแขกมัวร์ เราๆ ท่านๆ ที่เคยไปสเปน (ผมไม่เคยไปครับ) อาจจะยังสังเกตร่องรอยอารยธรรมอิสลามได้ในสถาปัตยกรรมสเปน เช่นที่คอร์โดบา เคยเป็นเมืองที่อิสลามเคยรุ่งเรืองมาก่อน ในภาษาสเปนและแม้แต่ภาษาอังกฤษก็มีศัพท์ที่รับมารจากภาษาอารบิกหลายคำ แม้แต่เลขที่ฝรั่งเรียกว่าเลขอารบิก คือ 1 2 3 ... (ไม่ใช่เลขโรมัน คือ I II III IV...) ที่ฝรั่งใช้อยู่เดี๋ยวนี้ก็มีชื่อบอกอยู่แล้วว่ารับมาจากอาหรับ

ตามประวัติศาสตร์ ฝรั่งเพิ่งจะตีแขกมัวร์ออกไปหมดจากทวีปยุโรปตะวันตก คือออกไปพ้นประเทศสเปน ดูเหมือนจะหลังยุคพระเจ้าชาลมาญเสียอีกครับ ในฝรั่งเศสแคว้นของชาลมาญเองก็เคยมีเจ้าแขกมาตั้งครองอำนาจ แต่ราชาฝรั่งองค์หนึ่งคือท้าว Pepin ทรงรบขับไล่ทัพมุสลิมออกไปพ้นจากฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่ก่อนชาลมาญทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้า Pepin ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนทงเป็นพระบิดาของชาลมาญ

ในเมื่อเฟอรากัส ยักษ์ตนนั้นเป็นยักษ์โปรตุเกส เพื่อนบ้านของสเปน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนมุสลิม จะเกณฑ์ให้แกเป็นสาระเซ็นด้วย ก็คงจะพอได้ครับ

มีข้อสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับต้นฉบับเดิมของ "ยุคกลางในยุโรป" คือว่า นมส. ทรงแปลเรื่องนั้น ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่า อัศวิน ใช้ในภาษาไทย เมื่อทรงแปลนิทานมาถึงตอนที่พูดถึงขุนทหารชาญอาชาขี่ม้าสวมเกราะ ซึ่งได้รับสิทธิให้ถืออาวุธได้ในยุคกลางยุโรป ที่อังกฤษเรียก ไนต์ ฝรั่งเศสเรียก เชอวาลิเยร์ เยอรมันเรียก ริตเตอร์... คือที่ไทยเราสมัยนี้เรียก อัศวิน นั้น ท่านก็ทรงคิดศัพท์ใหม่ในภาษาไทยประทาน เรียกว่า "นายม้า" แต่ในเวลาต่อมามีผู้ใช้คำว่า "อัศวิน" ในความหมายนี้ คำว่านายม้าก็เลยหายๆ ไป อัศวิน มีความหมายเกี่ยวๆ กับม้า (อัศว) อยู่ ตรงตามความหมายในภาษาฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งเรียกนักรบบนหลังม้านี้ โดยโยงกลับไปถึงคำว่า cheval ในภาษาลาตินแปลว่าม้า แต่แท้ที่จริงคำนี้เดิมไม่ได้แปลว่านายทหารขี่ม้า แต่เป็นชื่อเทพฮินดู คือพระอัศวิน จะมีประวัติยังไงผมก็ลืมแล้ว แต่จำได้ว่าเกี่ยวๆ กับม้าอยู่ด้วยเหมือนกัน

ผมจำได้เลาๆ ว่า ไอแซก อาซิมอฟเคยเขียนบทความบอกว่า คำว่า Knight และ Knave ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากรากคำเดียวกัน เดิมแปลว่าเด็กชาย ซึ่งถ้าจะแปลให้ตรงความในภาษาไทย (ที่จริงภาษาแขก) ก็เห็นจะต้องเรียกว่ากุลบุตร หรือบุตรหลานผู้มีตระกูล แต่ต่อมาคำว่า Knight มีเกียรติสูงส่งกว่าคำว่า Knave เป็นอันมาก ในภาษาร่วมตระกูลติวตันนิกกับอังกฤษ คือเยอรมันนั้นเรียกเสียว่า ริตเตอร์ ซึ่งแปลว่าผู้ขี่ (Rider) ก็คือขี่ม้า ส่วนในภาษายุโรปตระกูลโรมานซ์ คือพวกภาษาฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน โปรตุเกส อันเป็นภาษาคนละตระกูลกับอังกฤษนี้ ต่างเรียกอัศวินโดยโยงกับไปหาคำลาตินว่าม้าทั้งสิ้น


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 06 ม.ค. 04, 12:57
 คุยกันแค่สองคนคงไม่น่าสนุก ขออนุญาตแจมด้วยคนนะครับ

ขอแย้งคุณครูที่ว่าในยุคดังกล่าว เป็นยุคที่มีขนบ มีกติกาสุภาพบุรุษนั้น เป็นเพียงอิทธิพลของกวีและนักเขียนในยุคเรอเนซอง ต่อเนื่องมาถึงวิคตอเรีย ที่มองโลกยุคโบราณด้วยสายตาโรแมนติก เป็นหญ้าอีกด้านของกำแพงที่เขียวกว่าเสมอ  (ฮัดช้า! คุยเรื่องฝรั่งต้องใช้สำนวนฝรั่ง ถึงจะเท่นะจ๊ะจะบอกให้)

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นยุคที่ป่าเถื่อน ทารุณ ใช้ความรุนแรงเป็นปกติ  ซึ่งเพิ่งจะเริ่มสะท้อนให้เห็นในนิยายและภาพยนต์ในชั้นหลังๆ เช่น Pillars of the World หรือภาพยนต์เกี่ยวกับโจน ออฟ อาร์ค


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ม.ค. 04, 15:54
 ยินดีที่คุณถาวภักดิ์เข้ามาร่วมวงคุยด้วยครับ

ต่อข้อแย้งของคุณถาวภักดิ์ ผมขอแสดงความเห็นบ้างดังนี้ คือ ในประการแรก (ทำยังกับผมเป็นคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน -) ในประการที่หนึ่งนั้น ผมเห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์ทุกประการที่ว่า ตามข้อเท็จจริงนั้นฝรั่งสมัยนั้นยังป่าเถื่อนอยู่เอามากๆ เพราะอารยธรรมโรมันสิ้นแสงไปเสียแล้ว คริสตศาสนาก็ยังเพิ่งจะลงหลักปักฐานในยุโรปได้หมาดๆ ยังไม่ได้ลงรากลึกในใจคน ดังนั้นถ้าฝรั่งจะยังป่าเถื่อนอยู่ก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ดี ในประการที่สอง นิทานเหล่านี้เป็นนิทานครับ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือบันทึกสภาพข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง แต่เป็นเรื่องแต่ง ดังนั้นถ้าไม่ต้องตรงกับความจริงบ้างก็เห็นจะต้องโทษจินตนาการของจินตกวี ซึ่งได้รับยกเว้นให้มี poetic license มานานแล้ว แต่ ในประการทีีสาม ผมกำลังจะโยงว่า กวีผู้แต่งนิทานไม่ได้แค่จะบิดข้อเท็จจริงเล่นสนุกๆ (อ้อ ผมขอแย้งด้วยว่านิทานเหล่านี้ที่พูดถึงจริยาและกฏกติกามารยาทของอัศวิน "ตามที่ควรจะเป็น" นั้น มีมานานแล้วก่อนยุคเรอเนสซองซ์ครับ เผลอๆ ก็จะมีมาตั้งแต่ในสมัยยุคกลางเองด้วย) กวี ซึ่งบางทีก็เป็นพระนักบวช เพราะสมัยนั้นมีแต่พระที่จะรู้หนังสือ จงใจเขียนนิทานเรื่องมาตรฐานจริยวัตรความประพฤติของอัศวินที่ควรจะเป็น โดยสมมติเป็นอุดมคติว่า อัศวินที่ดีควรจะเป็นยังงี้ๆๆ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าอัศวินตัวจริงนั่นไม่ได้ถือกติกายังงี้ไปทุกข้อทุกคนหรอก ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะใช้นิทานเหล่านี้นั่นแหละ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการพยายามควบคุมความประพฤติของอัศวินนั่นเอง

สรุปได้ว่า ผมเห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์ว่าอัศวินยุคกลางหลายคนยังดิบเถื่อนอยู่มากในโลกของความจริง แต่ผมกำลังจะโต้ว่า เพราะฝรั่งยังเถื่อนนั่นแหละครับ ทำให้นิทานเกี่ยวกับอัศวินฝรั่งต้องให้ภาพอัศวินในอุดมคติไว้ เป็นเกณฑ์ความประพฤตติที่ควรจะพยายามลองทำตาม อย่างน้อยให้แกหายเถื่อนลงได้หน่อยก็ยังดี

แล้วถ้าอ่านเรื่องนิทานไปจริงๆ ก็จะเห็นว่า แม้ในนิทานอัศวินเหล่านั้นเอง ก็มีการเล่าถึงความประพฤติของอัศวินหลายคนที่เป็นพาล ไม่ตรงกับจริยวัตรของอัศวินที่ดีที่ควรเป็นเท่าไร เปิดโอกาสให้อัศวินดี (ซึ่งมักเป็นพระเอก) มีข้ออ้างในการมาปราบอัศวินอันธพาลเหล่านั้น นี่ก็สะท้อนข้อเท็จจริงในโลกสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีตำรวจ โรงศาลก็ยังไม่เป็นระบบเป็นเรื่องเป็นราว คำว่าความมั่นคงของมนุษย์หรอว่าสิทธิส่วนบุคคลไม่มีใครรู้จัก ประชาชนจำเป็นต้องรอพระบารมีเจ้านายหรือการบำเพ็ญประโยชน์จากอัศวินพเนจร (ที่ดี) ในการแก้ปัญหา เพราะไม่มีช่องทางจะร้องเรียนอะไรได้

อาจจะเหมือนกับคำว่า


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ม.ค. 04, 15:58
 ขอออภัยครับ มือไวไปหน่อย

กติกาความเป็นผู้ดีหรือสุภาพบุรุษนักรบที่สมมติว่าอัศวินควรจะมีนั้น (เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า chivalry) อาจจะเหมือนกับคำว่า "ชายชาติทหาร" ซึ่งเมื่อเราได้ยินเข้า ก็เกิดภาพในใจเราขึ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งทหารที่ดีๆ ก็คงจะมีที่ตรงกับภาพนั้นบ้างเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าไม่ทุกคน ทหารที่ไม่ได้เป็นชายชาติทหารก็คงจะมีด้วยเหมือนกันครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 07 ม.ค. 04, 00:42
 สวัสดีครับท่านทั้งหลาย
อยากจะบอกว่ากระทู้นี้ถูกใจผมมากเลยทีเดียวเพราะหนังสือเล่มนี้บังเอิญว่าผมเคยอ่านตอนเด็กๆ จำได้ว่าต้องไปเฝ้าดูและลุงที่พักฟื้นอยู่ เลยไปขุดคุ้ยกองหนังสือเก่าๆของลุงมาจนเจอเล่มนี้ แล้วก็อ่านด้วยความสนุก ยังจำบทที่เรียกว่า โอลันโดคลั่งได้อยุ่เลยครับ  ในเรื่องมีนายม้าคนนึงชื่อ โรนัลโด ด้วยใช่ไหมครับ
นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่อง โรมานซ์ ไม่แพ้เรื่องกษัตริย์อาร์เธอร์เลยครับ ฉากสุดท้ายของโอลันโดนั้นเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ตอนผมไปเที่ยวที่เมืองต่างๆในยุโรปที่ยังมีปราสาทยุคกลางเหลืออยู่ อย่างเช่นเมือง Bruegge ในเบลเยี่ยม ผมนึกถึงนิยายเรื่องนี้ตลอดเลยครับ
คุณ นกข. ครับ เปแปง ตัวเตี้ย เป็นพ่อของชาร์ลมาญครับ เขามีสมญาว่า Pepin the Short
อันนี้ผมรู้มาจากหนังสือต่วยตูนพิเศษน่ะครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 07 ม.ค. 04, 01:33
 มาอ่านแล้วแต่ยังไม่จบค่ะ  เพราะโรงเรียนเพิ่งเปิด  เลยกลับไปยุ่งตัวเป็นเกลียวเหมือนเคย  ขอบคุณคุณนิลกังขาและคุณเทาชมพูเป็นอย่างมากเลยค่ะ  ยุคนี้เป็นสมัยที่ชอบมากด้วยค่ะ

เคยเถียงกับหลายๆคนว่า  คำว่า  "ฝรั่ง"  ไม่ใช่มาจากชื่อประเทศฝรั่งเศส(ซึ่งสืบสายมาจากพวกแฟร้งใช่มั้ยคะ)  แต่เราได้มาจากแขกซึ่งค้าขาย ทำสงครามกับ "ฝรั่ง" มาก่อนคนไทยจะรู้จักพวกฝรั่งเศสอีก  และได้คำนี้มาจากแขกอีกที  ดูเหมือนแขกอาหรับจะมีคำว่า farengie รึไงเนี่ยค่ะ  ไม่แน่ใจกับการสะกด  แต่อ่านว่า ฟาเรงงี่  (ที่คนเขียนเรื่องสตาร์เทรคเอาไปใช้เรียกพวกเอเลี่ยนตัวโกงเผ่าหนึ่ง)  คุณเทาชมพูหรือคุณนิลกังขาเคยได้ยินมาแบบนี้บ้างมั้ยคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 04, 08:35
 คุณพวงร้อย  ที่มาของชื่อ "ฝรั่ง"  นักภาษายังถกเถียงกันว่ามาจากไหน   ฝรั่งเศส  อาหรับ อินเดีย และโปรตุเกส ซึ่งล้วนมาค้าขายในอยุธยา   รอให้คุณนกข.มาแถลงเองนะคะ

คุณ paganini    เชิญลงนั่งร่วมวงคุยค่ะ      คุณก็คงสนุกเหมือนดิฉันตอนอ่านพระนิพนธ์ครั้งแรก   มารื้อฟื้นขึ้นมาอีกที ก็คิดว่าสนุกมากขึ้นไปอีก

เรื่องนี้ น.ม.ส. ไม่ได้เล่าว่าทรงแปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือของใคร   แต่ดิฉันไปค้นในเน็ต   เจอว่ามาจากThomas Bulfinch
สนใจหาอ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่ค่ะ
 http://www.bulfinch.org/

อัศวินรินัลโด เป็นหนึ่งใน paladins มีชื่อเสียงในราชสำนัก  ที่มีการผจญภัยยาวเหยียดไม่แพ้โอลันโดเหมือนกัน  
จะค่อยๆเล่าความต่อไปเรื่อยๆ  แบบกินอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ

ยอดอัศวินทั้ง 12 คนของชาลมาญ รวมเรียกกันว่า  Peers  
Peers พวกนี้จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า paladins   หมายถึงชาวราชสำนัก เข้านอกออกในเป็นประจำ
  ไม่ใช่ราชสำนักแบบมหาดเล็กเด็กชา  แต่เป็นชาวราชสำนักระดับสำคัญ  ขั้น" ราชสหาย" ของพระเจ้าแผ่นดิน
เวลาทำศึก  ราชสหายเหล่านี้ก็ห้อมล้อมพระเจ้าแผ่นดินออกศึก  หรือไม่ก็โปรดให้เป็นแม่ทัพคุมทหารไปรบ แทนพระองค์
ถ้าหากว่าเป็นอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  paladins ของไทยคือสมุหนายก สมุหกลาโหม และจตุสดมภ์วังหลวงและวังหน้า  ล้วนเจ้าพระยาและพระยาดังๆทั้งนั้น
ในรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาพระคลัง(หน) นี่ peer ของ paladins อย่างไม่มีข้อสงสัย  
เจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ที่มาของชื่อสกุลบุนนาค นี่ก็ใช่เลย
เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ยอดทหารในรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงเรียกว่า พี่บดินทร์   จัดเข้า paladin ขั้น peer เช่นกันค่ะ
ขอตัวไปรวบรวมรายชื่อ peers ของชาลมาญก่อนนะคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 07 ม.ค. 04, 10:52
 เรื่องคำว่าฝรั่ง ในภาษาไทย มาจากไหนนั้น มีคนถกเถียงกันไว้มาก ใจผมค่อนข้างเอนไปเชื่อคำว่า ฟะเรงงี่ ซึ่งดูเหมือนเป็นภาษาเปอร์เซียหรืออาหรับอะไรสักอย่าง เพราะไทยเราติดต่อกับอาหรับเปอร์เซียมาก่อนฝรั่ง รับคำในภาษาแถวๆ นั้นมาไม่น้อย เช่น กุหลาบ องุ่น นี่ภาษาแขกทั้งนั้น แถมฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาเมืองไทยสมัยอยุธยาก็ไม่ใช่ฝรั่งเศส เป็นโปรตุเกศ (ชาติเดียวกับยักษ์เฟอรากัส) ถ้าไทยเราเจอฝรั่งเศสก่อนก็น่าจะเป็นไปได้ว่าเราจะเรียกคนผิวขาวทั้งหมดว่าฝรั่งด้วย แต่ในเมื่อเราเจอโปรตุเกสก่อน ข้อสันนิษฐานนี้ก็ตกไป (ไม่เช่นนั้นเราก็ควรจะเรียกคนผิวขาวในภาษาไทยว่าพุทธิเกศ หรืออะไรทำนองนั้นไปหมด แต่เราไม่ได้เรียก เพราะเรารับคำของพ่อค้้าแขกที่เรียกคนจำพวกนี้ว่าอีกอย่างหนึ่ง คือว่าฝรั่ง เสียก่อนแล้ว)

ในการใช้ภาษาปัจจุบัน ในภาษาลาว คำว่า ฝรั่ง หมายถึงชาติฝรั่งเศสโดยเฉพาะครับ จากชื่อประเทศเขานั่นแหละ FRANCE ไม่หมายถึงฝรั่งทั้งหลายที่ผิวขาวทั่วไป

แต่ชื่อประเทศฝรั่งเศส France เอง ฝรั่งเขาได้จากชื่อชนเผ่าแฟรงก์ อันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 07 ม.ค. 04, 11:04
 ขอกลับไปที่นิทานตามเดิม

ใครรู้สึกเหมือนผมมั่งครับว่า โอลันโดหลานหลวงพระเจ้าชาลมาญนี่ ตอนเปิดตัวกับพระเจ้าลุง มีเค้าคล้ายๆ นิทานไทยเรื่องนางสิบสอง (พระรถ-เมรี) จังเลย?

นางสิบสองเป็นพี่น้องสิบสองคน เป็นชายาพระรถสิทธิ์ทั้งหมด ภายหลังพระรถสิทธิ์ได้นางที่สิบสามมาเป็นชายาอีกคน นางที่สิบสามนี่เป็นนางยักษ์แปลง ได้ใช้อุบายจนพระรถสิทธิ์ขับไล่นางทั้งสิบสองไปตกระกำลำบาก ถูกควักตา และต้องไปอาศัยอยู่ในถ้ำ แต่นางสิบสองคนสุดท้องมีท้องกับพระรถสิทธิ์แล้ว ต่ิอมาคลอดบุตรเป็นพระรถเสนซึ่งเป็นพระเอก เมื่อโตขึ้น พระรถเสนมีฝีมือในการตีไก่ ได้ออกไปตีไก่พนันกับชาวบ้านชนะเป็นประจำ โดยขอพนันเป็นของกินหาเลี้ยงแม่และป้ามา จนในวันหนึ่งก็ไ้ด้ไปตีไก่ชนพนันกับไก่ชนหลวงของพระราชา คือพระรถสิทธิื์ผู้เป็นพ่อนั่นเอง พ่อลูกก็เลยได้รู้จักกันด้วยวิธีนี้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พระเอกฝรั่งต้องลงแรงใช้กำลังตัวเองไปแย่งอาหารมาเลี้ยงแม่ แต่พระเอกไทยเก่งกว่า ใช้ไก่ไปชนแทน แถมเลี้ยงได้ทั้งแม่ทั้งป้าอีกสิบเอ็ดคนด้วย


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 07 ม.ค. 04, 16:00
 ขอย้อนกลับมาคุยเรื่องความป่าเถื่อนของฝรั่งต่ออีกหน่อยนะครับ

จากข้อมูลต่างๆที่สะสมเข้าหัวมา ทำให้ผมเข้าใจว่ายุโรปยุคกลาง คือ นับตั้งแต่การล่มสลายของโรม มาจนถึงยุคเรอเนซอง เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของพวกฝรั่ง(ยุโรปตะวันตก+เหนือ) ทั้งด้านศิลปวิทยาการ ไปจนถึงศีลธรรมจริยธรรม ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกกลาง หรือชาวมุสลิมที่บรรลุสู่ความเจริญสูงสุดในทุกๆด้านจนเป็นที่ริษยาของเหล่าฝรั่งชาวยุโรปและเป็นสาเหตุสำคัญของสงครามครูเสด

ในขณะเดียวกันชาวยุโรปตะวันตกก็ถูกชาวเผ่ามงโกลปู้ยี่ปู้ยำมาอย่างต่อเนื่อง จนหลายๆประเทศในปัจจุบันมีพลเมืองหน้าตาเป็นฝรั่งผสมเจ็กอยู่ดาษดื่น

พวกฝรั่งได้เพียรพยายามกลบเกลื่อนปมด้อยส่วนนี้ด้วยข้ออ้างต่างๆนานามาเป็นเวลานานนับพันปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวฝรั่งที่จะคอยสร้างเรื่องต่างๆขึ้นมาให้บรรพบุรุษของตนในยุคนั้นดูดีที่สุด

ยิ่งกว่านั้นชาวกรีกชาวโรมันที่เราถูกพวกฝรั่งเป่าหูมาตลอดว่าเป็นฝรั่ง(ยุโรปตะวันตก+เหนือ)นั้น  แท้ที่จริงแล้วผมคิดว่าน่าจะมีสายเลือดที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวตะวันออกกลางเสียยิ่งกว่า  สมัยที่กองทัพสปาต้าถูกบดขยี้ด้วยทัพเปอร์เซียจนแทบบสูญพันธุ์  พวกฝรั่งยังอยู่ในยุคหินอยู่เลย


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 04, 16:57
 นักประวัติศาสตร์ขนานนามยุคกลาง อีกชื่อว่า ยุคมืด Dark Ages มืดในที่นี้คือมืดจากศิลปวิทยาการ    ไม่ใช่มืดทางด้านศีลธรรม    
แต่ถ้ามองว่าศิลปวิทยาการเป็นเครื่องแสดงออกของปัญญาที่ไม่ถูกปิดกั้น  เมื่อปัญญาไม่ถูกปิดกั้นก็ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาพอจะสร้างสรรค์อะไรดีๆได้  
ยุคมืดก็น่าจะมีความอับเฉาทางอะไรดีๆอยู่มาก แต่ไม่ถึงกับว่าไม่มีเสียเลย

อย่างน้อย แนวคิดเรื่อง chivalry ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในยุคมืด  ทำให้เกิดศัพท์เกี่ยวกับอัศวินขึ้นอีกหลายศัพท์อย่าง knight templar  
ซึ่งเป็นอัศวินที่คอยช่วยเหลือผู้เดินทางจาริกแสวงบุญชาวคริสเตียน ให้พ้นจากอันตราย   โดยไม่คิดค่าจ้างอะไร

ยุคกลางเป็นยุคของสงครามยืดเยื้อนับร้อยปี ที่ชื่อว่าสงครามครูเสด   แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพระเจ้าชาลมาญ     เป็นการรบชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ระหว่างคริสเตียนกับสาระเซ็น    ดูเหมือนจะเป็นเยรูซาเลมนี่ละค่ะ

สาเหตุอีกอย่างคือผลประโยชน์  เพราะพวกคริสเตียนอยากจะใช้เส้นทางตะวันออกกลางเป็นเส้นทางเครื่องเทศ  ซึ่งเป็นของมีราคาของยุโรป  แต่สาระเซ็นขวางทางอยู่

กษัตริย์และเจ้าชายต่างๆไปร่วมรบกันเยอะแยะ   ถือว่าได้บุญ เป็น "สงครามศักดิ์สิทธิ์"
บางองค์ก็แทบจะทิ้งประเทศไปเลย อย่างพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์  ทิ้งให้เจ้าชายจอห์นน้องชายครองแทน  กดขี่ข่มเหงชาวบ้านก่อความเดือดร้อนแก่อาณาจักรมากมาย  
โรบินฮู้ดเป็นขุนนางผู้ดีคนหนึ่งที่ทนไม่ไหว ต้องกลายเป็นโจรปล้นคนรวยให้คนจน

สงครามครูเสดรบกันนานมาก เปลืองชีวิตผู้คนไปมากมายก่ายกอง  เกิดตำนานขึ้นก็หลายเรื่อง   ผลสุดท้ายก็เลิกรบกันไปโดยคริสเตียนล่าถอยไปไม่รบอีก
แต่ผลพลอยได้จากสงครามคือคริสเตียนได้รับวิทยาการหลายอย่างไปจากฝ่ายตรงข้าม  ซึ่งเจริญกว่ายุโรปในตอนนั้น  

พอยุโรปเกิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือเรอเนสซองส์ขึ้นมา ก็ก้าวลิ่วๆไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม  ทิ้งชีวิตในยุคมืดเอาไว้แบบไม่เห็นฝุ่น และไม่ย้อนกลับไปอีกเลย


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 07 ม.ค. 04, 17:30
 ผมเห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์อยู่มากครับ ในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะผมเจอฝรั่งอวดดีมาก็ไม่น้อยในชีวิตผม

แต่ผมก็ยังสนุกกับการอ่านนิยายอัศวินฝรั่งอยู่ดี โดยถือว่าอ่านเอารสทางวรรณกรรม (หรือพูดภาษาธรรมดาๆ ว่า อ่านนิทานเอาสนุกน่ะ)

ดังนั้น ผผมจึงได้ขอให้ท่านผู้อ่านนิทานชาลมาญจงทำใจไว้ 2 ประการ อย่างที่ผมเรียนแล้วตอนเปิดเรื่องข้างบน ว่า หนึ่ง นิทานชุดนี้ก็เป็นแค่นิทานเท่านั้น คือเป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่พงศาวดาร สอง ฝรั่งคนแต่งนิทานนั้น แกมีอคติ แกใจแคบ แกเขลา แกมั่ว แกรู้อะไรผิดๆ เชื่ออะไรผิดๆ เยอะแยะไป  แต่ถ้าจะอ่านนิทานโกหกของแกแล้วก็จงทำใจอภัยความเขลาและความเชยของฝรั่งคนเล่านิทาน และเอารสความสนุกของนิทานของแก อย่าถือสาอะไรมาก

เช่นเดียวกับที่เราอ่านสุนทรภู่เขียนเรื่องพระอภัยมณีได้อย่างสนุกสนาน และต้องนับถือในจินตนาการอันบรรเจิดของท่าน ซึ่งเป็นรสแปลกใหม่กว่าวรรณคดี จักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นของไทยก่อนนั้นทั้งสิ้น เพราะภูมิศาสตร์สุนทรภู่มีทั้งเมืองฝรั่ง ลังกา ชวา มักกะสัน แขก จีน ฯลฯ ตัวละครก็เชื้อชาติต่างๆ ธรรมเนียมต่างๆ น่าตื่นใจ แต่สุนทรภู่ก็มีข้อจำกัดในความรู้ของท่าน บางข้อก็ไม่ตรงกับที่เรารู้ภายหลัง แต่ก็ต้องชมท่านแล้วว่าแค่นั้นก็นับว่ารู้มากกว่าคนไทยร่วมสมัยเดียวกันเยอะ หรือบางที ต่อให้ท่านรู้ว่าเรื่องจริงเป็นยังไง ท่านก็อาจถือว่า ขอเอามาแต่เค้าเท่านั้นก็ได้ เพราะเรื่องจริงคงไม่สนุกเท่าเค้าผสมจินตนาการ

เมื่อพูดถึงสุนทรภู่ เผอิญมีข้อสังเกตของ น.ม.ส. อยู่ว่า "เจ้าลมาน" ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น เป็นไปได้ไหมว่ามาแต่ชื่อชาลมาญ สุนทรภู่อาจได้รู้เรื่องของชาลมาญราชาธิราชแล้วตัดแต่ชื่อเอามาเป็นชื่อของราชายักษ์มักกะสัน พันธมิตรของนางละเวงในการตีกรุงผลึกของพระอภัยก็ได้ แต่ข้อนี้ น.ม.ส. ก็ว่าท่านไม่ทรงมีหลักฐานยืนยัน เป็นแต่ทรงสันนิษฐาน เพราะเสียงชื่อทั้ง 2 ใกล้กันเท่านั้น


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 08 ม.ค. 04, 10:25
 ไบเบิ้ลซึ่งมีผู้ยกย่องจำนวนมากว่าเป็นบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ ก็กล่าวถึงจักรวรรดิ์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดอยู่สองอาณาจักร คือ บาบิโลนและอียิปต์ ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปเอเซียกับอัฟริกา

อเล็กซานเดรียที่ได้รับการย่องย่องว่าเป็นขุมความรู้แห่งโลกตะวันตกโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็ตั้งอยู่ในอียิปต์

อารยธรรมกรีกและโรมันในคาบสมุทรเมดิเตอเรเนียนซึ่งรุ่งเรืองขึ้นภายหลังสองจักรวรรดิ์นี้ตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นชัยภูมิของตาอยู่ที่สามารถฉกฉวยผลประโยชน์ได้ทุกกรณีจากตาอินกะตานา น่าเชื่อว่าความเจริญของกรีกและโรมันเป็นผลพวงแห่งความสัมพันธ์ของสองจักรวรรดิ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการสงครามหรือการค้า  ในขณะที่ยุโรปยังเป็นบ้านป่าแดนเถื่อน อยู่นอกสายตา ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึง

หลังจากโรมันรุ่งเรืองแล้ว  จึงขยายอำนาจ ขยายเขตแสวงหาผลประโยชน์ขึ้นไปทางเหนือ  จับชาวป่ามาเป็นทาส มาเป็นนางบำเรอบ้างเพราะน่าตาแปลกๆดี มีแบบผมแดงจากเกาะอังกฤษ ผมสีน้ำตาลจากพวกกอธ์ และผมสีทองจากพวกไวกิ้งและแฟร้ง  พวกผู้ชายก็ตัวโตใหญ่ เลยจับเอาไปสู้กันเองให้คนดูบ้าง  เอาไปสู้กับสิงโตบ้าง เป็นที่สนุกสนาน พนันขันต่อกันเหมือนบ่อนไก่บ้านเรา

ตราบเมื่อชาวป่าทางเหนือได้อยู่ใกล้ชิดบำเรอชาวโรมันมาอย่างต่อเนื่องนับพันปี จึงค่อยๆซึมซับความรู้  รู้จักภาษาเขียนและวิทยาการชั้นสูงต่างๆ  ทำตัวเลียนแบบเจ้านายเก่า  พัฒนาขึ้นเป็นเมืองเป็นอาณาจักร เป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อยๆ  ครั้นเจริญได้พอควรก็อายกำพืดเดิม  พยายามกลบเกลื่อนปมด้อยด้วยการย้ายโคตรตระกูลจากไก่ชนมาเป็นชาวโรมันและชาวกรีก  แม้ต้นราชวงค์โรมานอฟของรัสเซียที่อยู่ไกลถึงมอสโคว์ก็ยังพยายามนับญาติกับซีซาร์ให้ได้  ใครที่ยังมีอะไรแพลมให้เห็นว่าสืบเชื้อสายจากไก่ชนอยู่ เช่นการถือผี สวดมนต์แบบท้องถิ่นโบราณ ก็กล่าวโทษว่าเป็นแม่มด เป็นพวกนอกรีต จับเผาทิ้งไปปีละหลายๆกอง  จนวิทยาการพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาจจะพอมีกับเขาบ้างสูญหายไปหมด

ที่เป็นผลร้ายอย่างน่าเสียดายที่สุด จากวัฒนธรรมการเลียนแบบชาวโรมันของพวกยุโรป คือ การอ้างศาสนา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจ เผาทำลายวิทยาการความก้าวหน้าในสาขาวิชาต่างๆ หรือกระทั่งจับผู้ทรงความรู้ขังลืมหรือฆ่าทิ้ง เป็นเหตุให้ความเจริญของชาวยุโรปต้องชะงักงันอยู่นับพันปี  จนค่อยๆเริ่มฉลาดขึ้น ตื่นจากความฝันที่ต้องการเป็นชาวโรมัน รู้จักสลัดแอกของโรมันแคธอลิก ตั้งโปรแตสแตนท์ของตัวเองขึ้นมา เป็นนิมิตหมายรุ่งอรุณของยุคฟื้นฟูอย่างแท้จริง

คำว่ายุคกลาง หรือยุคมืดนี้ เป็นคำเรียกที่ไม่สู้ตรงความจริงเท่าใด เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแต่งตั้งโคตรตระกูลของตนเองให้สามารถนับเนื่องว่าชาวกรีกและโรมันเป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรปแทนชาวป่าที่ถูกจับมาเลี้ยงเหมือนไก่ชน ไปจนถึงมีการตีมั่ว ตู่เอาดื้อๆว่าราชวงค์และชนชั้นสูงของอียิปต์โบราณเป็นอารยันผิวขาว

ที่ถูกควรเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคเริ่มพัฒนา หรือปฐมยุคแห่งความเป็นมนุษย์ของชาวยุโรปมากกว่า จึงจะตรงต่อความเป็นจริง


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 04, 10:30
 หลังจากโรลันด์เข้าเป็นอัศวินในราชสำนักพระเจ้าชาลมาญแล้ว   ก็มีของชั้นดีประจำตัวอยู่ ๔ อย่างตามแบบนักรบ  คืออย่างแรกมีม้าชั้นดียอดเยี่ยมประจำตัวชื่อ บริกลิอาโดโร      เอาไว้เวลาออกศึกหรือไปไหนมาไหน  อย่างที่สองมีดาบชั้นดีวิเศษยิ่งกว่าม้าเสียอีก ชื่อ ดูรินดานา เป็นดาบโบราณตกทอดมาจากเฮคเตอร์  ยอดวีรบุรุษของกรุงทรอย   มีหอกที่แทงทะลุเกราะอัศวินด้วยกันได้//
       เมื่อโรลันด์สิ้นชีพแล้ว   ดาบยังอยู่จนบัดนี้   กล่าวว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในฝรั่งเศส   ส่วนหอกอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในอิตาลี//
   ของประจำตัวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเขาทำด้วยงาช้าง  สำหรับเป่าเรียก มีชื่อว่าเขาโอลิแฟนต์    เวลาเป่าได้ยินไปถึง ๒๐ ไมล์//
   เขาโอลิแฟนต์มีบทบาทอีกครั้งในวาระสุดท้ายของโรลันด์ ที่นำมาเป็นบทกวีเรื่อง Chanson de Roland  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 ม.ค. 04, 12:11



ชื่อสมบัติวิเศษประจำตัวโรลันด์ในตอนนี้ เนื่องจากบุลฟินช์เอาเรื่องมาจากฉบับอิตาเลียน จึงเป็นภาษาอิตาเลียนครับ



บริกลิอาโดโร ซึ่งเป็นชื่อม้าคู่ใจนั้น น.ม.ส. ทรงเล่าไว้ว่า แปลว่า บังเหียนทอง คำว่า -โดโร ที่ต่อท้ายนั้น เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ทองหรือทำด้วยทอง เทียบฝรั่งเศส คือ d'or



ผมเคยไปเที่ยวเมืองลูกาโนในแถบสวิสอิตาเลียน เดินเล่นอยู่ริมทะเลสาบ เจอร้านอาหารเยอะแยะ มีร้านหนึ่ง ขายซีฟู้ด ชื่อ concho doro ผมก็บอกเพื่อนที่ไปด้วยกับว่า นั่นแน่ ร้านนี้ คือร้านพระสังข์ของเราในเรื่องสังข์ทองนั่นเอง (แต่สงสัยว่าคนสวิสอิตาเลียนจะไม่เคยได้ยินนิทานเรื่องสังข์ทองของเรา) คอนโชโดโร แปลว่า หอยสังข์ทองคำ



ในเรื่องแฮรี่พอตเตอร์ บ้านคณะหนึ่งในโรงเรียนพ่อมดคือคณะของแฮรี่ ชื่อกริฟฟินดอร์ ถ้าจะแปลก็ได้ความว่า กริฟฟินทองคำ ตัวกริฟฟินเป็นสัตว์ประหลาดในนิยายฝรั่งชนิดหนึ่ง ซึ่งในนิทานชุดนี้ต่อไปข้างหน้าก็จะมีกล่าวถึงเหมือนกันครับ



ดาบวิเศษดูรินดานา นั้นก็ตามธรรมเนียมนิทานฝรั่ง (หรือแม้แต่นิทานไทย) ที่อัศวินในนิทานต้องมีอาวุธวิเศษ เช่นพระแสงดาบเอ็กซคาลิเบอร์ของพระเจ้าอาร์เธอร์ ในเรื่องนิทานชุดนี้ต่อไปจะมีการกล่าวถึงพระแสงดาบยอร์เยอซ์ของพระเจ้าชาลมาญเอง และดาบคอร์ตานา ของอัศวินอีกคนหนึ่ง ล้วน (ว่ากันว่า) เป็นดาบวิเศษด้วยกันทั้งสิ้น ทำนองดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนของเรา ซึ่งถ้าย้ายภูมิประเทศของนิทานไปอยู่เมืองจีน นิทานทางโน้นก็มีเหมือนกัน ส่วนมากในนิยายจีนจะเป็นกระบี่วิเศษ เช่น กระบี่เล่มหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ที่ทหารเอกของโจโฉคนหนึ่งได้ถือ โจโฉรักทหารเอกคนนี้มาก มอบกระบี่คมกล้าให้เล่มหนึ่ง ชื่อกีเทนเกี้ยม ซึ่ง "ถ้าจะฟันเหล็กก็ดุจหนึ่งว่าฟันหยวก" ตามสำนวนแปลของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)



ก่อนที่คุณถาวภักดิ์จะหมั่นใส้ฝรั่งเข้าอีก ผมก็ต้องรีบบอกเสียก่อนว่า นี่คือนิทานครับ นิทานโกหกน่ะจ้ะ เรากำลังคุยกันเรื่องวรรณคดีฝรั่ง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์จริง ข้อที่อัศวินยุคหลังในยุโรปพยายามตะเกียกตะกายจะนับญาติให้ได้กับวีรบุรุษโบราณสมัยกรีกโรมัน และสงครามกรุงทรอย ซึ่งก่อนยุคของอัศวินเหล่านี้ขึ้นไปหลายร้อยปีนั้น ก็เป็นจินตนาการของนักเล่านิทาน และการพยายามลากการสืบวงศ์พงศาวลีให้โยงกันให้จงได้กับวีรบุรุษหรือราชากรีกเหล่านั้นเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า การสืบวงศ์ที่ว่ามานี้เป็นการประดิษฐ์ขึ้น แต่ไม่ใช่ของแปลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่ใช่แต่ฝรั่งที่เป็นอย่างนี้ ผมได้กล่าวแล้วว่าขอมก็เป็น กษัตริย์ขอมที่สร้างตำนานใส่พระองค์เองและราชตระกูล โยงกลับไปถึงเทวดาฮินดูก็มีอยู่เหมือนกัน



เพื่อเอาใจคุณถาวภักดิ์ ที่รู้สึกจะสนใจในด้านประวัติศาสตร์มากกว่าด้านตำนานหรือวรรณกรรม ผมขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นต้นเค้าของตำนานดาบวิเศษฝรั่งว่า เรื่องของเรื่องนั้นคือความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการถลุงโลหะในสมัยกรีกนั่นเอง สมัยกรีกโบราณนั้น ดาบหรืออาวุธหรือโล่หรือเกราะอะไรก็ตาม ทำด้วยเหล็กธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นดาบก็ทื่อได้ง่าย แล้วเนื้อเหล็กก็ไม่ค่อยเหนียว ออกจะเปราะ แต่ต่อมาก็มีพวกกรีกเผ่าหนึ่ง (กรีกมีหลายเผ่าครับ) ถ้าผมจำไม่ผิด คือพวกดอริก แต่อาจเป็นพวกอื่นก็ได้ เอาเป็นว่ากรีกเผ่า x ก็แล้วกัน (ถ้าอยากรู้จริงๆ จะพยายามค้นมาให้ครับ) ที่คิดวิธีการถลุงแร่เหล็กทำเหล็กกล้า (steel) ได้ก่อนเพื่อน ดาบที่ทำจากโลหะเหล็กกล้านี้ แข็งแกร่งกว่า คมกว่า เนื้อเหนียวกว่า ดาบอื่นในสมัยโน้น พอประดาบกันเข้ากับพวกอื่นดาบของคนอื่นก็หักสะบั้นไป เอาดาบเหล็กกล้าฟันผ่าลงไปบนหมวกเกราะเหล็ก (ธรรมดา) ถ้าฟันจังๆ และเกราะนั้นบางหน่อยหรือขึ้นสนิมแล้วก็เป็นอันว่าต้า่นไม่ได้ ฟันเข้าหัวแบะไปตามกัน จึงร่ำลือกันไปว่าดาบเหล่านี้เป็นดาบวิเศษ เทคโนโลยีนี้ไม่เป็นที่เปิดเผยทั่วไป ดังนั้นดาบเหล็กกล้าดีๆ จึงหายากกว่าดาบเหล็กธรรมดา ผมไม่แปลกใจที่ในสมัยที่วิทยาการของยุโรปตกต่ำลง เรื่องของดาบเหล็กกล้าจะถูกเสริมเติมต่อกลายเป็นตำนานดาบวิเศษอภินิหารไป ทั้งๆ ที่เดิม เป็นเรื่องของเทคโนโลยี่การถลุงโลหะเท่านั้นเอง



สูตรผสมโลหะของดาบไทยเรา ที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ (ของจริง ไม่ใช่นิทาน) ก็คือเหล็กน้ำพี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ัวดาบมีความคมและแข็งแกร่ง ส่วนอื่นๆ เช่นพิธีกรรมคาถาต่างๆ อย่างที่นิทาน เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงตอนขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้นนั้น ก็เป็นเรื่องของความเชื่อประกอบที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ แต่อย่างน้อยคงช่วยทำให้ขวัญกำลังใจเจ้าของดาบดีขึ้นอย่างหนึ่งละ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 ม.ค. 04, 14:09
 ไปค้นเ้ว็บเรื่องประวัติเทคนิคถลุงเหล็กและเหล็กกล้า หรือที่เรียกว่า carbon steel ได้ความว่า เหล็กนั้นไม่ใช่ธาตุที่มีอยู่อิสระในธรรมชาติ สินแร่เหล็กเป็นสารประกอบของเหล็กกับธาตุอื่น จำเป็นต้องถลุงหรือสะกัดออกมา (ผมไม่ใช่นักโลหวิทยาครับ ถ้าใช้ศัพท์ผิดก็ขออภัย) แต่เหล็กธรรมดาหรือ iron นั้นมนุษย์ถลุงออกมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ก่อน ต่อมาจึงรู้จักการทำเหล็กกล้า หรือ steel โดยมีการทำยังไงก็ไม่รู้ จนด้วยเกล้าสำหรับผมที่เรียนมาทางรัฐศาสตร์ แต่สรุปว่า ทำให้อนุภาคของคาร์บอน ซึ่งได้จากถ่าน เข้าไปประสมกับเหล็ก และมีการให้ความร้อนที่สูงขึ้นกว่าที่เคยทำได้ มีเตาหลอมชนิดใหม่กว่าที่เคยมี มีสูบลม ...อะไรทำนองนั้น (บอกแล้วว่าจนด้วยเกล้าครับ) ผลที่ออกมาคือเหล็กกล้าที่คมและเหนียวกว่าเหล็กธรรมดา เทคนิคการถลุงหรือหลอมเหล็กกล้านี้ พวกกรีกก็ไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ได้มาจากมนุษย์ชนชาติแรกๆ ที่ค้นพบวิธีการทำเหล็กกล้า คือชุมชนที่อยู่ทางตะวันออกใกล้ (Near East) โดยเฉพาะก็แถวๆ อียิปต์ อีกทีหนึ่ง ในสมัยกรีกโบราณก่อนที่จะรู้จักเหล็กกล้า ทหารส่วนมากก็ใช้อาวุธและเกราะเหล็กธรรมดากัน หรือไม่ก็เป็นบรอนซ์ ซึ่งเข้าใจว่าภาษาไทยจะเรียกว่าสัมฤทธิ์

ออกนอกนิทานมาไกล ขอเชิญกลับไปฟังนิทานกันต่อครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 08 ม.ค. 04, 14:27
 ขอบพระคุณคุณหลวงนิลครับที่อุตสาห์เอาใจ  ผมก็หาเรื่องเสวนาไปเรื่อยแหละครับ    เผอิญยังสนุกกับประเด็นไก่ชน เลยว่าของผมไปเรื่อยๆ  แค้นฝรั่งมานานแล้วที่เอาอารยธรรมโบราณที่สืบทอดมาเป็นพันๆปีของเราไปยกให้มอญให้พม่าให้เขมรหมด  จนเหมือนคนไทยเป็นตัวตุ๊ดตู่เกิดจากรูไม้ไผ่

ในความเห็นของผม ตำนานและนิทานพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามดูหมิ่น  ในเชิงวรรณกรรมที่นำมาผูกเป็นร้อยกรองหรือแม้แต่ร้อยแก้วที่สละสลวยด้วยสำนวนภาษาก็มีคุณค่ามากมายในตนเองอย่างไม่ต้องสาธยาย  และยังมีแง่มุมของประวัติศาสตร์โบราณคดีที่อาจเป็นลายแทงสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ในส่วนวิชาตีดาบของไทย ผมเข้าใจว่าคงแบ่งเป็นสองระดับ  คือระดับแม่ทัพนายกองซึ่งต้องมีความคมกล้าและคงทนเป็นยอดดาบต่างจากระดับพลทหารทั่วไป  ด้วยการรบในยุคโบราณต้องเข้าถึงตัว  ผู้ที่มีฝีมือเข้มแข็ง ตะลุยไปทางใดข้าศึกก็แตกเป็นช่อง ย่อมจะเป็นความดีความชอบเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งเป็นนาย  ซึ่งก็ยังคงต้องทำหน้าที่ให้เกิดความระส่ำระสายในกระบวนทัพของข้าศึกอยู่  หากมีดาบที่แข็งแรง คมกล้ากว่า ก็ย่อมจะยิ่งได้เปรียบ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเข้าตากรรมการ ยิ่งได้รับการปูนบำเหน็จยิ่งๆขึ้นไป  เคล็ดวิชาตีดาบย่อมต้องเป็นที่หวงแหนปิดบังกัน  ซึ่งก็เป็นผลเสียทำให้วิชาดีๆสาบสูญไปบ้าง  และทำให้ทหารทั้งกองทัพไม่ได้ใช้อาวุธที่มีมาตรฐานสูงเป็นการทั่วไป

ครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เกิดกบฏทหารรับจ้างชาวญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทางฝ่ายไทยมากอย่างเทียบกันไม่ติดเพราะดาบซามูไรทั่วไปในยุคนั้นตีขึ้นด้วยเทคโนโลยี่การตีดาบที่บรรลุความสุดยอดแล้ว ในขณะที่วิชาตีดาบของไทยคงสาบสูญไปมากแล้ว อันมีเหตุจากการผลัดแผ่นดินเลี่ยนราชวงค์มาหลายรอบ  ซึ่งเปลี่ยนที่ก็ต้องปราบเสี้ยนหนามกันเป็นกองโตๆทุกครั้ง  คนดีมีวิชาจึงค่อยๆร่อยหรอลงจนอยุธยาต้องล่มสลาย  

เมื่อไม่นานมานี่ก็ได้ฟังมาว่า  ที่พระยาพิชัยดาบหักนั้นเป็นเพราะท่านออกไปนอกค่ายในเวลากลางคืนโดยไม่ได้เอาดาบไปด้วย ครั้นเช้ามาข้าศึกเข้าตี  จำเป็นต้องคว้าดาบลูกน้องแถวนั้นเข้าปะทะ ถึงเป็นเหตุให้ดาบหัก


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 04, 08:11
 ได้แนะนำตัวโอลันโด ทหารเอกของพระเจ้าชาลมาญไปแล้ว   ถึงตอนนี้จึงขอแนะนำอัศวินคนอื่นๆที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดอัศวินบ้าง    เพราะต่อไปทุกคนที่กล่าวนี้ก็จะมีเรื่องราวยาวยืดพัวพันต่อเนื่องกันไปตลอด

อัศวินคนที่สอง ต่อจากโอลันโด  ชื่อเรอนาร์ด ออกเสียงแบบฝรั่งเศส  อังกฤษเรียกเรโนลด์ (Reynold)   และอิตาเลียนเรียกว่า รินัลโด  มีการผจญภัยยาวเหยียดในตำนาน   มีชื่อเสียงรองลงมาจากโอลันโด

คนอื่นๆก็คือ
นาโม   เป็นพระราชาแห่งบาวาเรียที่มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าชาลมาญ
โอเกียร์ หรือ โอกิเยร์   ชาวเดนมาร์กซึ่งเคยนับถือศาสนาอื่นมาก่อนแต่เปลี่ยนใจมาเป็นคริสเตียน    ต่อมามารับสวามิภักดิ์กับพระเจ้าชาลมาญ  ราชการได้เป็นอัศวินสำคัญคนหนึ่ง    
แต่ต่อมาขัดพระราชโองการจึงถูกเนรเทศไปจากเมืองหลวง     เมื่อสิ้นรัชกาล โอเกียร์ก็ไม่สมัครใจจะภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่      
กลายเป็นหัวหน้าชาวเหนือนอกกฎหมายคุมพลเข้าปล้นสะดมบ้านเมืองต่างๆในอำนาจของฝรั่งเศส
อัสโตโฟ( หรืออัสตอล์ฟ  ตามภาษาอังกฤษ)     เป็นอัศวินรูปหล่อแต่ฝีมือค่อนข้างเป็นรองกว่าคนอื่นๆ   ใจดี  ชอบสนุกสนานบันเทิง     อัสโตโฟ มีของวิเศษสองอย่างคือสมุดวิเศษบอกทาง   ถ้าอยากไปไหนสมุดก็บอกทิศทางและระยะทางให้อย่างถูกต้องทำให้เดินทางได้สะดวกสบายไม่หลงทาง  (สมัยนี้ก็เรียกว่าแผนที่)    อีกอย่างคือเขาวิเศษ เป่าแล้วทำให้ศัตรูระย่อเกรงกลัวไม่กล้าสู้
ราชสหายอีกคนหนึ่งไม่ใช่นักรบแต่เป็นมายากรหรือผู้วิเศษชื่อ มาลากิกี้ (Malagigi)  เป็นมนุษย์แต่เทพธิดานำไปเลี้ยงไว้ อบรมสั่งสอนจนมีมนต์คาถาแปลงร่างและรู้เวทมนตร์ต่างๆ

ทีนี้ ก็ขอคุยถึงรินัลโดก่อน


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 04, 08:16
 ในแคว้น ดอร์โดนา (หรือฝรั่งเศสเรียกว่า ดอร์ดอญ Dordogne )พระราชาผู้ครองแคว้นทรงพระนามว่า ท้าวอัยมอน     ทรงมีพระชายาเป็นเจ้าหญิงฝรั่งเศสชื่อเอยา  เป็นพระน้องนางองค์หนึ่งของพระเจ้าชาลมาญ

ครอบครัวของท้าวอัยมอนและพระนางเอยาอยู่กันมาด้วยความสมบูรณ์พูนสุขดีแบบครอบครัวเศรษฐีผู้ดีมีตระกูล      มีลูกชาย ๔ คนและลูกสาว ๑ คน   ลูกชายคนโตชื่อรินัลโด  
น้องชายอีกสามคนชื่ออะไรอย่าไปจำเลยเพราะค่อนข้างยาว จำลำบากและไม่ค่อยจะมีบทบาทอะไรในตำนาน  ส่วนน้องสาวชื่อบราดามันเต (Bradamante)
ชื่อตัวนางคนนี้  น.ม.ส. ทรงถอดอักษรโรมันกลับเป็นสันสกฤตว่านางพรตมันติ์  
แต่พรตมันติ์ฟังแล้วราวกับชื่อพระเอกคนใดคนหนึ่งในมหาภารตะหรือรามายณะ  จึงขอเรียกนางว่าบราดามันเต
นางเป็นตัวเอกคนหนึ่งในตำนานของพระเจ้าชาลมาญ

ในเมื่อพ่อแม่ใหญ่โตและมีเงินทอง    ลูกๆก็มีอภิสิทธิ์จะไฮโซมากกว่าลูกชาวบ้านเป็นธรรมดา    รินัลโดและน้องชายสามคนจึงถูกวางเส้นทางให้ไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าลุงเมื่อโตเป็นหนุ่ม

รินัลโดอายุน้อยกว่าโอลันโดผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องหลายปี  พอย่างเข้ารุ่นหนุ่ม โอลันโดก็เป็นอัศวินแม่ทัพเอก รบชนะพวกสาระเซ็น  สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วอาณาจักรเสียแล้ว  สร้างความใฝ่ฝันให้หนุ่มน้อยอย่างรินัลโดใคร่จะเจริญรอยตามญาติของตนบ้าง

ก็ยังดีอยู่หรอกที่รินัลโดไม่ใช่เด็กเกเรเสเพล ก่อความหนักใจให้พ่อแม่   แต่ถ้าจะถือว่าเป็นเด็กนิสัยดีงามเรียบร้อยก็ไม่ใช่เลย   ถ้าดูนิสัยจากพฤติกรรมก็เห็นจะเรียกได้ว่าเด็กลุย      
เพราะเมื่อใฝ่ฝันแล้วก็ไม่ได้นั่งกระดิกเท้ารอบุญหล่นทับอยู่ในปราสาทเฉยๆเหมือนลูกเศรษฐีอื่นๆ    แต่ว่าออกจากบ้าน เดินทางท่องเที่ยวไปในชนบทใกล้ๆปารีส  เพื่อว่าจะหาช่องทางสร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้

 วันหนึ่งผ่านไปใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่งเห็นม้างามผูกอยู่ใต้ต้น แต่งครบเครื่องม้า  พร้อมด้วยเสื้อเกราะครบชุดวางอยู่   รินัลโดก็เลยหยิบเสื้อเกราะทั้งชุดมาสวม แล้วขึ้นหลังม้าตัวนั้น   โดยไม่สนใจว่าใครเป็นเจ้าของ
แต่ไม่หยิบดาบมาด้วย เพราะตอนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินนั้น  รินัลโดตั้งสัตย์ว่าจะไม่มีดาบคู่มือ  จนกว่าจะมีชัยชนะ ชิงดาบมาจากอัศวินฝีมือฉกาจคนใดคนหนึ่งได้เสียก่อนนั่นแหละถึงจะเอามาเป็นดาบคู่มือ  
ฟังคำปฏิญาณของเด็กหนุ่มแล้วก็รู้สึกว่านายคนนี้จะหัวโจกเอาการอยู่

รินัลโดควบม้าเข้าไปในป่าอาร์เดน  ไม่ทันไรก็เจอผู้เฒ่าเดินกะย่องกะแย่งมา  เจอหน้ากันผู้เฒ่าก็เล่าให้ฟังว่าในป่ามีม้าวิเศษอยู่ตัวหนึ่งชื่อเบยาร์ด เป็นม้างามไม่มีใครสู้  แต่ดุร้ายนัก  
เดิมเป็นม้าทรงของยอดนักรบชื่อพระเจ้าอมาดิส แห่ง กอล  เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว    อมาดิสสิ้นพระชนม์ชีพตามอายุขัยแต่ม้าทรงถูกสาปให้ยังอยู่
จนมีคนดีมีฝีมือมีเชื้อสายของพระเจ้าอมาดิสมาปราบ    จึงจะกลายเป็นม้าวิเศษของนายใหม่ต่อไป  
วิธีจะปราบได้ก็คือต้องทำให้มันล้มลงไปคลุกฝุ่น แล้วมันก็จะยอมแพ้

พอฟัง  ต่อมเอาชนะของรินัลโดก็ถูกกระตุ้นให้ทำงานทันที     ตรงรี่เข้าป่าไปค้นหาม้า   แต่ไม่ทันเจอม้าก็ไปเจออัศวินสาระเซ็นเข้าคนหนึ่ง
ชื่อ อิโซเลียร์ (Isolier) ที่กำลังมุ่งหน้ามาจะปราบม้าเอาเป็นของตัวเหมือนกัน  

 ตามธรรมเนียมเมื่อใจตรงกันแบบนี้  อัศวินทั้งสองก็ควบม้าเข้าปะทะกันแบบjoust ใครดีใครอยู่     รินัลโดแทงด้วยทวนกระแทกอีกฝ่ายตกม้าลงไปสลบ  
แต่ก็ไม่ซ้ำเติม ตามมารยาทของอัศวิน  รอจนอีกฝ่ายฟื้นเสียก่อนเข้าค่อยปะทะกันใหม่  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 09 ม.ค. 04, 08:56
 แจมครับ

ดาบวิเศษของโอลันโด หรือโรลันด์ นั้น อิตาเลียนว่าชื่อดาบดูรินดานา หรือดูรานดานา (Durindana/ Durandana) ตำนานฉบับฝรั่งเศสว่าชื่อดาบ Durandal/Durindal ถ้าจะให้ผมเดาความหมาย สงสัยจะแปลว่าดาบ "ยอดทรหด" หรือเนื้อเหล็กแข็งเหนียวแกร่ง ไม่ทื่อได้ง่าย ไม่หักง่าย และไม่แพ้ใครง่ายๆ อันนี้ผมเดาเอาเองเทียบคำว่า Enduring ในภาษาอังกฤษ ใครทราบภาษาอิตาเลียนหรือฝรั่งเศส ช่วยสงเคราะห์ด้วย ดาบนี้ ว่ากันว่า(หรือโม้กันว่า) เดิมเป็นดาบคู่มือของเจ้าชายเฮคเตอร์แห่งสมัยสงครามกรุงทรอย ก่อนสมัยของชาลมาญขึ้นไปหลายร้อยปี ตกทอดกันมายังไงจนถึงโรลันด์ได้ นิทานก็ไม่ได้บรรยายไว้ละเอียดเหมือนกัน

ท้าวนาโมแห่งกรุงบาวาเรีย (ต้นตระกูลสโมสรฟุตบอลบาเยิร์น-มึนเช่น ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเกมฟุตบอลเกิดขึ้นในโลก) ราชสหายองค์หนึ่งของชาลมาญนั้น ภาษาอิตาเลียนว่า Namo ซึ่งทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ เพราะอ่านแล้วนึกถึงคำนมัสการพระ (นโม ตัสสะ ฯ) อยู่ร่ำไป ขนาดเซิร์จเว็บดูหาเรื่องของพระเจ้า Namo พระองค์นี้ ยังได้เว็บพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูในภาษาอังกฤษติดมาเพียบ เพราะใช้คีย์เวิร์ดว่า นโม นี่แหละ ค้นไปค้นมาจึงเจอว่า ท้าวนาโมทรงมีอีกชื่อเรียกว่า Nami ภาษาไหนก็ไม่ทราบครับ แต่ถ้าจะแปลงเป็นไทยว่า เนมิราช ก็จะไปซ้ำเข้า่กับเรื่องนิทานชาดกพระเจ้าสิบชาติอีก และอีกชื่อว่า Nayme ซึ่งผมคิดว่าใกล้กับชื่อจริงภาษาเยอรมันที่สุด น่าจะออกเสียงทำนอง เนม (วัทอิสฮีสเนม? ฮิสเนมอีสเนม...)

แฮ่ะๆ ตลกฝืดครับ

อ้อ เมื่อผมบอกว่าคำว่าอัศวินภาษาฝรั่งต่างๆ มาจากละตินว่า Cheval แปลว่าม้านั้นผมเผลอไปนิดหรือใจเร็วไปนิดครับ ความจริง cheval เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่าม้า แต่ฝรั่งเศสก็รับมาจากละตินอีกที ว่า caballus แปลว่าม้าเหมือนกัน


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 04, 09:14
 คุณนกข.ช่วยเล่าเรื่อง joust และ tournament ประกอบด้วยดีไหมคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ม.ค. 04, 10:14
 มาป่วนหน่อยครับ อดใจไม่ไหวเห็นชื่อดาบ Excaliber ทีไร คันหัวใจทุกที

เพราะผมจะพาลแปลว่า "without ability" ทุกครั้งไปน่ะสิครับ

กลัวว่าแปลตามสำนวนกำลังภายในพระแสงดาบของกษัตริย์อาเธอร์ จะกลายเป็น พระแสงดาบ"บ่มิไก๊" ไปน่ะสิครับ  

สงสัยต้องวานผู้รู้ในที่นี้ช่วยแถลงไขถึงความหมายที่แท้จริงของชื่อดาบนี้หน่อยนะครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 09 ม.ค. 04, 10:28
 ครับผม ขอเวลาหน่อยครับ

ดาบดูรินดานาหรือดูรันดานา มีเค้าว่าอาจจะได้ชื่อมาจากภาษาละตินคำว่า durus แปลว่า hard นั่นคือถ้าเป็นไปตามที่ผมเดา ดาบนี้ก็ชื่อ "แกร่ง" นั่นเอง

Joust หรือที่ น.ม.ส. ทรงผูกศัพท์ล้อคำในภาษาไทยไว้ว่า "การประลองยุสต์" ล้อคำว่าประลองยุทธ นั้นเป็นวิธีประลองกันหรือดวลกันของอัศวินโบราณดังที่เราอาจจะเคยเห็นในหนัง คือ ต่างฝ่ายต่างสวมเกราะเข้าเต็มที่ รวมทั้งม้าบางทีก็ใส่เกราะด้วย ถอยห่างกันได้ระยะพอสมควร มือกุมหอกหรือทวนยาว แล้วก็ควบม้าตรงลิ่วเข้าหากัน โผนเข้าปะทะกันเต็มแรง จอมยุสต์ - เอ๊ยจอมยุทธ - ฝ่ายไหนพละกำลังดี ชั้นเชิงบังคับม้าดีและม้าคู่ขาเป็นม้าดี รวมทั้งชั้นเชิงทวนหลบหลีกรุกไล่ดี ก็ยังนั่งอยู่บนหลังม้าได้ อีกฝ่ายหนึ่งถ้าแพ้แรงปะทะหรือแพ้ฝีมือก็ตกม้าไปตามระเบียบ จุสต์นี่เคยได้ยินฝรั่งอ่านออกเสียงว่า เจ๊าสต์ เหมือนกัน (เข้าใจว่าไม่เกี่ยวกับคำว่า เจ๊ากันไป ในภาษาไทย) มีกติกามารยาทในการเจ๊าสต์หรือจุสต์หรือยุสต์หรือเย้า... พอสมควร แล้วจะหามาเล่าครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 09 ม.ค. 04, 11:32
 คุณเทาชมพูพูดถึงราชสหายของพระเจ้าชาลมาญเอาไว้ ตามตำนานกล่าวว่ามี 12 คน แต่เท่าที่ปรากฏชื่อก็ดูเหมือนมีจำนวนหลายโหล เลยไม่ทราบแน่ว่าจริงๆ มีเท่าไร

รายชื่อราชสหายเท่าที่ค้นมาได้ นอกจากที่คุณเทาชมพูให้ชื่อมาแล้ว ยังมีชื่อที่จะขอถอดเป็นภาษาไทยให้อ่านได้ง่ายๆ หน่อยดังต่อไปนี้ คือ เอลอรี ซึ่งมีเรื่องว่าเคยได้เป็นผู้เชิญธงศึกประจำพระองค์พระเจ้าชาลมาญ ชื่อธงโอริแฟลม ตำแหน่งอัศวินเชิญธงนี้ แสดงว่าคงจะเป็นคนสนิทใกล้ชิดพระเจ้าชาลมาญไม่น้อย ถ้าเทียบตำแหน่งของทหารเรือไทยเดี๋ยวนี้ คำว่า “นายธง” เช่น นายธงผู้บัญชาการทหารเรือ ก็แปลตรงกับตำแหน่ง “นายทหารคนสนิท” ของกองทัพบก แต่การเชิญธงอออกศึกของเอลอรีนั้นครั้งหนึ่งมีเหตุปรากฏอยู่ในนิทานเกี่ยวกับพระเอกหรืออัศวินอีกคนหนึ่ง คือ โอเกียร์ ซึ่งจะต้องขอให้อดใจรอไว้อ่านนิทานต่อไป เอลอรีมีพี่ชายชื่อวิลเลียม เป็นราชสหายเช่นเดียวกัน

ยังมีคาโน ราชสหายซึ่งพระเจ้าชาลมาญไว้วางพระทัยเพราะทรงหลงคำสอพลอของคาโน โดยไม่ทรงทราบว่าคาโนมีใจทุจริตคิดทรยศอยู่ตลอดเวลา รับบทเป็นตัวผู้ร้ายตัวหนึ่งในตำนาน

มีโอลิเวอร์ เพื่อนร่วมตายของโรลันด์ และมีเรื่องปรากฏอยู่ในนิทานตั้งแต่ยังเด็กอยู่ด้วยกันจนถึงวาระสุดท้ายของทั้งคู่ โอลิเวอร์เป็นญาติ คือเป็นหลานของท้าวเกอรินหรือเกอแรง ซึ่งก็เป็นราชสหายอยู่ด้วย มีรินัลโดหรือเรย์โนลด์และน้องชายอีกสามคนแห่งปราสาทภูเขาขาวหรือ Montalban มีฟลอริสมาต อัศวินหนุ่มอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีเรื่องในนิทานชุดนี้อีกเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีใครต่อใครอีกมาก รวมกันแล้วเกิน 1 โหล หลายคนก็ไม่ปรากฏชื่อในเรื่องนิทานที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เลย จึงไม่ขอกล่าวชื่อนะครับ

หนังสือที่ผมค้นมา บอกว่า Paladins นั้น แปลว่าผู้เกี่ยวข้องหรือพักอาศัยอยู่ในพระราชวัง (วัง มาจากคำละตินว่า Palatium ซึ่งต่อมาเป็น Palace ในภาษาอังกฤษ) ครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 04, 11:43

เอาภาพ joust มาให้ดูกันค่ะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 09 ม.ค. 04, 20:46
 คำถามของคุณ CrazyHOrse ทำำให้ผมต้องหัวเราะครับ สงสัยเราจะเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน เพราะผมก็เคยแกล้งแยกศัพท์แปล delight ว่า ดับไฟ defence ว่า รื้อรั้ว เหมือนกัน เพราะ de- ตามตำราแปลว่าเอาออกไป delight ก๊อแปลว่าเอาแสงออกไป มืดตื๋อน่ะซิ แล้ว defence ก็ต้องแปลว่ารื้อรั้วออกไป...

ชื่อดาบ excaliber นั้น โดยไม่ได้เช็คตำรา ผมคิดว่าไม่น่าจะแปลว่า "บ่มิไก๊" เพราะว่า ex- แปลว่า out /from/ beyond/ extra ก็น่าจะได้ด้วย ดังนั้น น่าจะแปลว่า ความสามารถอันยิ่ง มากกว่าแปลว่า ไร้ความสามาถ ครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: บัวดิน ที่ 09 ม.ค. 04, 23:20

เข้ามาอ่านด้วยคนนะคะ  

อดขำเรื่องการแปลคำว่า delight กับdefence ไม่ได้ สมมติว่ามีการแปลอย่างนั้นจริงๆ คงตลกน่าดูชม  

รู้สึกว่าคำว่าม้าจากภาษาที่มีรากละตินอยู่นี่จะออกมาคล้ายๆ กันหมดเลยนะคะ
ภาษาสเปน = caballo
ภาษาอิตาเลี่ยน = cavallo
ภาษาโปรตุเกส = cavalo


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ม.ค. 04, 01:27
 แอบไป webster.com มาแล้ว
ปรากฎว่าต้องสะกดว่า Excalibur ครับ ใช้ตัว u ครับ
แล้วไป...  

แต่ยังไม่รู้ที่มาของชื่ออยู่ดีครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 04, 08:02


   ไปเจอความหมายของดาบ Excalibur เข้าในเว็บหนึ่งแต่ไม่ใช่เว็บความรู้  เป็นเว็บขายเครื่องประดับ ซึ่งเขาทำจี้เงินรูปดาบ  เป็นสินค้า

เขาให้คำอธิบายไว้ว่า

Excalibur, meaning 'cut steel', was the sacred sword believed to possess the power to protect King Arthur from wounding so long as he wore it together with its silver scabbard. Excalibur is also thought to be very similar to the 'Sword of Rhydderch the Generous' named 'Dyrnwyn' as spoken of in the ancient Welsh Triads and the Mabinogion.



แต่ว่าดิฉันแยกศัพท์ละติน ไม่เป็น   จึงไม่แน่ใจว่า excalibur แปลว่า cut steel ยังไง

เดาว่า ex หมายถึง out /from/ beyond   คือ เอาออกมา  พรากจาก หรือ cut   อย่างคุณนกข.ว่า   และ calibur คงแปลว่า steel หรือเหล็ก  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 ม.ค. 04, 16:03
 เป็นไปได้ว่าชื่อดาบนี้ไม่ใช่ภาษาละตินเสียด้วยซ้ำครับ อาจจะเป็นภาษาอื่นที่เกี่ยวกับชนเผ่าโบราณที่เคยครองอังกฤษ

เอามาฝากคุณบัวดินครับ คำว่้า อัศวิน อังกฤษเรียก knight เยอรมันเรียก ritter(= rider ผู้ขี่ (ม้า) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง) แต่พวกภาษาตระกูลลาตินคือ ฝรั่งเศสจะเรียกอัศวินว่า chevalier  สเปนเรียก caballero อิตาเลียนเรียก cavaliere โปรตุเกสเรียก cavaleiro เห็นได้ว่ารากศัพท์เดียวกันหมด มาจาก caballus แปลว่า ม้า แม้อังกฤษเองจะไม่เรียกอัศวินโดยอิงคำว่า caballus เพาะเรียกว่า knight เสียแล้ว แต่พอพูดถึงเหล่าทหารม้าในกองทัพ ซึ่งปัจจุบันนี้รวมทหารรถถังและยานเกราะด้วย (เช่นป๋าเปรมและคุณมนุญกฤต รูปขจร) อังกฤษก็ยังเรียกว่า cavalry อยู่ดี มาจากรากศัพท์เดียวกันนั้นเอง

ตัว v กับ b นั้น บางทีก็เพี้ยนเสียงกันได้ ไม่เฉพาะแต่ฝรั่ง ทางตะวันออกเรานี้ ในภาษาบาลีสันสกฤต ว ก็แผลงเป็น พ และกลับกันได้เช่นกัน (วิเศษ-พิเศษ, วิธี-พิธี, วิตถาร-พิสดาร ฯลฯ) หรือภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นแกจะออกเสียงตัว V ไม่ได้เลย ออกเป็น b หมด เลขเจ็ด (seven) อย่างยอดมนุษย์อุลตร้าเซเว่น พี่แกก็ออกเสียงเซบุ้ง หรือห้าง 7-11 แกก็จะเรียก เซบุ้ง-อิเรบุ้ง เป็นต้น

คำว่า เชอวาลีเยร์ ที่แปลว่าอัศวินในภาษาฝรั่งเศสนั้น ทำให้เราเข้าใจว่า ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาถึงสยามสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อว่า เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ นั้น ก็คือแกมียศเป็นอัศวิน


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 ม.ค. 04, 16:28
 เซอร์เครซี่ฮอร์ส ข้าพเจ้าพบข้อความอันท่านต้องประสงค์แล้ว

พระแสงดาบเอ็กซคาลิเบอร์ของพระเจ้าอาร์เธอร์นั้น ได้ชื่อมาจากภาษาละตินที่วิบัติหรือกร่อนไปแล้ว ไม่ใช่ละตินบริสุทธ์หรือที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ละติน และสะกดก็ต่างๆ กันไป เช่น Excalibur / Excalibar / Caliburn เป็นต้น แต่มาจากวลีหนึ่งในภาษาละตินที่บอกที่มาของดาบนี้อย่างชัดเจน  คือ Ex cal[ce] liber[atus] แปลว่า (ดาบที่) ได้รับการปลดปล่อยออกมาจากศิลา

Ex ในที่นี้แปลว่า ออกจาก/ ออกมาจาก cal ในที่นี้แปลว่า ก้อนหิน (คงรวมทั้งหินปูนเกาะฟัน และฟันเองซึ่งเป็นธาตุ "แคลเซี่ยม" ด้วย) liber กร่อนมาจากคำว่าปล่อยให้เป็นอิสระ คือมาจากรากเดียวกับ liberty แต่ที่สะกดเป็น bur นั้นผมคงอธิบายได้อย่างเดียวว่าเป็นละตินวิบัติ

ผมเพิ่งทราบคำแปลของชื่อดาบแล้วก็แจ่มแจ้งสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของนิยายอัศวินโต๊ะกลมจะต้องจำได้ว่า อาร์เธอร์ เพนดรากอน ก่อนจะขึ้นครองราชย์นั้น ได้พิสูจน์สิทธิของพระองค์ในการขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษ ด้วยการดึงดาบที่ปักตรึงแน่นอยู่บนฐานศิลาออกมาได้ ตำนานนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ เอ็กซคาลิเบอร์

หมายเหตุ ยุคของพระเจ้าอาร์เธ่อร์แห่งอังกฤษนั้น ถ้าจะเทียบกันแล้วก็อยู่ก่อนยุคของพระเจ้าชาลมาญ และตำนานของพระเจ้าอาร์เธ่อร์นั้นมีความเป็นนิยายอยู่สูงกว่าตำนานชาลมาญมาก อย่างน้อยชาลมาญและอัศวินของพระองค์หลายคนก็มีเค้าคนที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ ถึงจะมีการตีไข่ใส่สีเป็นนิยายบ้างก็เถอะ แต่พระเจ้าอาร์เธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมของพระองค์นั้นหาร่องรอยในประวัติศาสตร์แท้ๆ ยากเต็มที จนผมเคยสงสัยว่าแท้จริงแล้วอังกฤษเคยมีกษัตริย์ชื่ออาร์เธอร์จริงหรือเปล่าด้วยซ้ำ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 ม.ค. 04, 16:45
 เรื่องการเสี่ยงทายถอนดาบเพื่อขึ้นครองบัลลังก์นี่ทำให้ผมฟุ้งซ่านต่อไปไกล ขอเลี้ยวออกนอกเรื่องก่อนนะครับแล้วค่อยกลับไปหาอัศวินรินัลโดต่อ

ในเมืองไทยเราคงมีคนเคยเห็นพิธีการเสี่ยงทายยกพระ หรืออุ้มพระ พระที่ว่านี่เป็นพระพุทธรูปองค์ไม่ได้โตเลย ประดิษฐานบนฐาน ดูก็ธรรมดาๆ  แต่น่าแปลก เวลาพิธีกรวงปาหี่ป่าวประกาศให้เข้าไปลองอุ้มพระเสี่ยงบารมีดู บางทีคนตัวโตแข็งแรงดึงพระเท่าไรก็ไม่ขึ้น แต่คนตัวเล็กๆ หรือเด็กหรือผู้หญิงกลับยกพระขึ้นจากฐานได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นเรื่องอภินิหารที่จะต้องทำบุญเสียเงินสะเดาะเคราะห์เพิ่มบุญบารมีหรืออะไรต่ออะไรไปตามระเบียบ

ผมได้ทราบว่าที่จริงพระพุทธรูปนั่นทำด้วยโลหะ และมีแม่เหล็กไฟฟ้่าอยู่ที่ฐาน มีสวิทช์ซ่อนเสียดิบดี พอมีคนมายกเสี่ยงทายก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของวิกที่จะเหยียบสวิทช์ให้พระหนักอึ้งยกไม่ขึ้น (ที่จริงถูกแม่เหล็กดูด) หรือเบาหวิวยกลอยได้สบาย ได้ตามใจชอบ อาศัยวาทศิลป์ประกอบหน่อยก็ดูดทรัพย์ข้ามกระเป๋ามาอยู่ในกระเป๋าเจ้าของวงปาหี่ได้อย่างเรียบร้อยเหนาะๆ เป็นวิธีหากินแบบหนึ่ง

เลยชักจะสงสัยซะแล้วว่า ที่ว่าเจ้าชายอาร์เธอร์ดึงดาบ (เหล็ก) ออกจากหินได้นี่ อีตาเมอร์ลินแกเล่นกลปาหี่อะไรตบตาอัศวินคนอื่นๆ หรือเปล่าหนอ???

ฟุ้งซ่านไปเรื่อยครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 10 ม.ค. 04, 17:31
 เรียนเลดี้เทาชมพูและท่านอัศวินอื่นๆครับ ผมว่ากระทู้นี้ต้องยกให้เซอร์ นีลคองก้า เป็นพระเอกล่ะครับ ท่านสำแดงเดชวรยุทธ์ทางด้านนิรุกติศาสตร์ได้อย่างน่าประทับใจโดยเฉพาะ Excalibur นี่แหละครับ
จริงๆผมติดตามอ่านตลอดนะแต่ไม่ได้แสดงตัวมัวแต่หลบดูท่านทั้งหลายคุยกัน เรื่องเมอร์ลินนี่ผมเห็นด้วยนะ เพราะเขาคงตั้งโจทย์ว่าจะให้อาร์เธอร์เป็นกษัตริย์แต่เนื่องจาก ยังหนุ่มแก่ความอยู่มากดังนั้นจึงต้องการบารมีและความยำเกรง วิธีที่ง่ายที่สุดคือสร้างความ "ศักดิ์สิทธิ์" หรือว่าสร้าง "ลิขิตสวรรค์" ขึ้นมา
ท่านหลวงวิจิตรก็เคยเขียนไว้ ในทำนองว่าความศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมจะมีผมต่อการปกครองด้วย
ทำให้โยงไปถึงรัชสมัยพระเจ้าตาก ที่อาจารย์ นิธิกล่าวว่าเจ้าตากไม่ได้คงพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักไว้จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ราชบัลลังก์ต้องล้มเร็วกว่าที่ควร
โอ้ย นอกเรื่องไปไกลเหมือนกัน


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 ม.ค. 04, 17:47
 เรื่องเอ็กซคาลิเบอร์ยุ่งกว่าที่ผมคิดแฮะ ต้องโทษท่านเซอร์เครซีฮอร์ส ที่มากระตุ้นต่อมอยากรู้ของผม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตำนานพระเจ้าอาร์เธอร์นั้นเป็นตำนานมากกว่าพงศาวดาร แถมคนแต่งก็มีหลายคน และแหล่งของแรงบันดาลใจที่หลงพลัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตำนานนั้นก็มีหลายแหล่ง ดังนั้นถ้ามันจะมั่วๆ อยู่บ้างก็เป็นธรรมชาติของตำนานครับ

มีคนที่ค้นคว้าตำนานอาเธอร์บอกไว้ว่า ดาบเอ็กซคาลิเบอร์นั้น ตามเรื่องไม่ใช่ดาบที่อาร์เธอร์ดึงขึ้นจากก้อนหิน ดาบนั้นพระเจ้าอาร์เธอร์ใช้เป็นพระแสงคู่มือได้สักพักก็ทำหักในศึกครั้งหนึ่ง ทำให้เทวีแห่งทะเลสาบต้องเอาดาบเล่มใหม่มาถวายแทน คือดาบวิเศษเอ็กซคาลิเบอร์ และตำนานว่า ในศึกสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอาร์เธ่อร์ก็รับสังให้อัศวินของพระองค์คนหนึ่งเอาดาบไปโยนทิ้งคืนลงไปในทะเลสาบตามเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นชื่อเอ็กซคาลิเบอร์ก็จะแปลว่าดึงออกจากหินไม่ได้ และมีคนแปลไว้เหมือนที่คุณเทาชมพูค้นมาได้ คือแปลว่า cut steel แต่คนที่เขาค้นคว้ากันจริงๆ บอกว่าชื่อนี้เผลอๆ ก็จะไม่ได้เป็นภาษาลาตินเอาเลยด้วย แต่เป็นภาษาเทือกๆ ภาษาเวลช์ หรือไอริชโบราณ หรือ celtic หรืออะไรทำนองนั้น เขาให้ชื่อในภาษาโบราณอ่านไม่ออกเหล่านี้มาด้วย ซึ่งผมไม่ขอลอกมาในที่นี้ และหมดปัญญาจะเดาว่า ในภาษาประหลาดๆ เหล่านี้คำไหนแปลว่า ตัด คำไหนแปลว่า เหล็ก

เป็นไปได้ว่าชื่อภาษาถิ่นเหล่านี้ มาถูก "จับบวช" กลายเป็น "เอ็กซคาลิเบอร์" ทีหลัง และปรับลากให้เข้ากับตำนานดึงดาบจากหิน ผมเดาว่า โดยฝรั่งยุคหลังที่มีความรู้ละตินและไม่รู้รากเดิมของภาษาถิ่น เช่นเดียวกับที่ชื่อพื้นถิ่นของไทยเราถูกลากเข้าความเป็นภาษาบาลีบ้าง ไทยกลางบ้าง จนความหมายเดิมของชื่อสูญไปก็มี

อย่างไรก็ดีก็มีคนเถียงว่า ตำนานบางฉบับพูดถึงดาบเอ็กซคาลิเบอร์ที่ดึงออกจากหินจริงๆ ส่วนเรื่องนิทานเทวีทะเลสาบเอาดาบมาถวายนั้นอาจจะเติมลงไปในตำนานทีหลัง คือยังยืนยันอยู่ว่า ดาบคู่พระหัตถ์อาร์เธอร์นั้นคือดาบเล่มเดียวกับที่พระองค์ดึงขึ้นจากหินแท้ๆ ที่ว่าได้ดาบเล่มที่สองมาจากเทวีทะเลสาบนั้นเป็นการแต่งเติม (ผมว่า ที่จริงมันก็ตำนาน แปลว่านิทานโกหก ตั้งแต่ต้นแหละครับทั้งสองเรื่อง)

เอาอะไรมากกับตำนานเล่าครับ มันก็มั่วๆ ไม่ค่อยตรงกันอย่างนี้แล นี่ยังไม่ได้พูดถึงที่เขาเถียงกันว่าอาร์เธอร์มีตัวจริงรึเปล่า เป็นกษัตริย์หรือเป็นแค่ขุนพล และ ฯลฯ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 04, 19:03
 เมื่ออัศวินสาระเซ็นฟื้นคืนสติขึ้นมา ทำท่าจะเข้าสู้กันอีกกับรินัลโด  ก็พอดีมีชาวนาผ่านมา ร้องบอกว่าอย่าเพิ่งปะทะกันเลยเพราะว่าม้าเบยาร์ดอยู่ใกล้ๆนี่เอง   ถ้าจะปราบมันให้ลงก็ต้องสองแรงช่วยกัน
ทั้งชาวนาและผู้เฒ่า ที่จริงคือคนเดียวกัน  เป็นร่างจำแลงของมาลากิกี้นั่นเองแปลงตัวมา    

มาลากิกี้อีกเหมือนกันที่เอาชุดเกราะและม้าศึกไปไว้ใต้ต้นไม้ให้รินัลโดได้สวมใส่
เมื่ออัศวินทั้งสองได้ยินชาวนาร้องบอก  ก็ตกลงเลิกสู้  ผูกมิตรกัน  แล้วพากันเข้าไปในป่า  ไม่ทันไรก็เห็นม้าเบยาร์ดจึงแอบซุ่มดูอยู่ในป่า   นึกชื่นชมความสง่าและความแข็งแกร่งของม้างาม

เบยาร์ดเป็นม้าสีแดง  มีด่างรูปดาวสีขาวที่หน้าผาก    เท้าหลังก็สีขาว รูปทรงเพรียวงามแข็งแกร่งด้วยมัดกล้าม  ขาเรียวได้ส่วน มีขนคอหนาปกคลุมเหนือลำคอโค้งแข็งแกร่ง  
มันควบตรงมาที่ป่าอย่างอิสระเสรีไม่เกรงกลัวใคร   ไม่ว่าเห็นอะไรขวางกั้นไม่ว่าก้อนหินหรือพุ่มไม้ มันก็ไม่หลีกหลบ  
พอเห็นไอโซเลียร์  ม้าเบยาร์ดก็กระโจนเข้าใส่  ไอโซเลียร์รับด้วยหอก ก็ถูกมันชนจนหอกหักสะบั้น   อัศวินหลบทัน  ม้าวิ่งเลยไปแล้วกลับตัวห้อตะบึงเข้าใส่อีก  
ถึงตอนนี้ไอโซเลียร์รู้แล้วว่าคงจับเป็นมันไม่ได้แน่ๆ ก็ชักดาบออกมาสู้เพื่อป้องกันชีวิตตัวเอง
ไอโซเลียร์ฟันถูกดาวบนหน้าผาก  แต่ไม่ระคายผิว      อัศวินนึกว่าตัวเองคงฟันเบาไป หารู้ไม่ว่าม้าเบยาร์ดอยู่ยงคงกระพัน อาวุธฟันแทงไม่เข้า    ก็เลยฟันซ้ำลงไปเต็มเหนี่ยว
แรงของอัศวินกระแทกม้าแรงจนมันชะงักไปครู่หนึ่ง แต่พอตั้งตัวได้มันก็โผนเข้าใส่ โขกเต็มแรง  ถูกไอโซเลียร์ลงไปนอนกลิ้ง ขาดใจตายตรงนั้นเอง

รินัลโดเห็นเพื่อนตายไปต่อหน้าต่อตาก็กระโดดเข้าใส่ม้า  ชกปากมันเต็มแรงจนเลือดออกมาชุ่มกำปั้น    ม้าหันหลังมารวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ไล่งับรินัลโด  
รินัลโดชกมันอีกที   มันก็เตะกลับมาด้วยกำลังมหาศาลปานถล่มภูเขา    แต่รินัลโดคอยหลบหลีกไม่ให้ม้าเตะหรือโขกได้  ไม่งั้นต้องถึงที่ตายเป็นแน่

ครั้งหนึ่งรินัลโดก้าวพลาด   ถูกม้าเตะแรงลงไปแทบสลบหมดสติ ม้าเตะซ้ำแต่เผอิญพลาด รินัลโดกลิ้ง  หลบทัน ไม่งั้นคงเอาชีวิตมาทิ้งเสียในตอนนั้นแล้ว     สู้กันอุตลุดอยู่อีกพักใหญ่ ขาม้าเผอิญไปเกี่ยวกับกิ่งโอ๊คเข้า    รินัลโดได้ที  ก็โถมเข้ากอดปล้ำม้าเหวี่ยงมันลงนอนกลิ้งกับพื้นได้สำเร็จ

พอลงไปนอนกลิ้ง  ม้าเบยาร์ดก็หลุดพ้นคำสาป  กลายเป็นม้าเชื่อง  ลุกขึ้นยืนนิ่ง มีสง่าผ่าเผยให้เจ้าของใหม่ตบหัวลูบหางด้วยความเต็มใจ  รินัลโดดีใจสุดขีดรีบปลดบังเหียนและอานจากม้าตัวเดิมมาสวมให้เบยาร์ด     แล้วขี่เบยาร์ดกลับเข้าวังของพระเจ้าชาลมาญ  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 04, 19:07
 รินัลโดไต่ระดับขึ้นสู่ความเป็นยอดอัศวินของพระเจ้าชาลมาญ     ถ้าไม่นับโอลันโดรุ่นพี่เสียคนหนึ่งก็มีใครแกล้วกล้ามีชื่อเสียงเท่า
แต่อย่างที่บอกแล้วว่านิสัยของรินัลโดเป็นพวกหัวโจก     แทนที่จะอยู่ว่านอนสอนง่ายอย่างอัศวินชั้นดีคนอื่นๆที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานสนองพระเดชพระคุณไปตามหน้าที่      ก็กลับออกฤทธิ์ออกเดชให้พระเจ้าชาลมาญพิโรธอยู่หลายครั้ง   แล้วยังมีศัตรูคอยยุยงให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นไปอีก     วันหนึ่งพระเจ้าชาลมาญอดรนทนไม่ไหวก็เนรเทศรินัลโดออกจากราชสำนัก
รินัลโดหมดท่า รู้ว่าตัวเองคงไม่อาจกลับมามีหน้ามีตาได้เหมือนเดิม  ก็เลยพาน้องชายทั้งสามออกจากฝรั่งเศสบ่ายหน้าไปพึ่งสเปน  เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าไอโว ราชาสาระเซ็น    
ทียังงี้ละก็  รินัลโดทำตัวดี  อาจจะเป็นเพราะหมดฤทธิ์เดชไม่กล้าเฮี้ยวอีก   ก็รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีฝีมือแกล้วกล้า  เป็นที่โปรดปรานมาก
พระราชาสาระเซ็นตอบแทนความดีด้วยการพระราชทานดินแดนแห่งหนึ่งตรงชายเขตฝรั่งเศสกับสเปนให้เป็นสิทธิ์ขาด  พร้อมทั้งยกดินแดนใกล้เคียงให้ขึ้นอยู่ในอำนาจของรินัลโด   แล้วทรงส่งคนงานมาสร้างปราสาทให้อยู่     แถวนั้นมีหินอ่อนมาก  ปราสาทของรินัลโดสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวล้วนตั้งอยู่บนชะง่อนผาหินอ่อนสีขาว  ดูไกลๆสุกสว่างราวกับดวงดาว    รินัลโดตั้งชื่อปราสาทว่าปราสาทมอนทัลบัน แปลว่าเขาขาว   รินัลโดจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของรินัลโดแห่งมอนทัลบัน

รินับโดกลายเป็นที่นิยมเลื่อมใสของอัศวินเฮ้วๆ ที่ถูกขับไล่มาแบบเดียวกัน  ก็เลยพากันมาเป็นลูกน้องอีก กลุ่มใหญ่  ชาวบ้านนิยมความแกล้วกล้าของรินัลโดก็พากันมาอ่อนน้อมยอมเป็นคนในบังคับของรินัลโด  ส่งส่วยให้พอเป็นค่าเลี้ยงดูเจ้านาย   แต่พรรคพวกของรินัลโดมีมาก   ส่วยมีน้อย  พรรคพวกบางคนไม่พอกิน อยากได้มากกว่านี้ ประกอบกับนิสัยพาลเกเรอยู่แล้วก็พากันไปแย่งชิงปล้นสะดมชาวบ้านเอาง่ายๆ จนมอลทัลบันได้ชื่อว่าเป็นซ่องโจรใหญ่

พระเจ้าชาลมาญพิโรธรินัลโดอยู่ไม่นานก็หายพิโรธ   มีหมายมาตามให้กลับไปราชสำนักตามเดิม  รินัลโดก็กลับไปสวามิภักดิ์เจ้านายเก่า   ทำหน้าที่แม่ทัพไปรบกับสาระเซ็น  ออกสงครามดังๆอยู่หลายครั้ง  จนเป็นราชสหายสำคัญของพระเจ้าชาลมาญ
เรื่องยืดยาวที่จะเล่าต่อไปเป็นเหตุการณ์ตอนรินัลโดอยู่ในราชสำนัก  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ม.ค. 04, 02:20
 จาก webster.com นะครับ
One entry found for Excalibur.
Main Entry: Ex·cal·i·bur
Pronunciation: ek-'ska-l&-b&r
Function: noun
Etymology: Middle English Excalaber, from Old French Escalibor, from Medieval Latin Caliburnus
: the sword of King Arthur

ผมไม่มีความรู้ทั้ง Middle English, Old French และ Medieval Latin แต่ดูจากราก Latin แล้ว ไม่มี prefix-ex อยู่เลย

โอ... มึน ครับ

ตอนนี้ผมชัดจะโน้มเอียงที่จะเชื่อเรื่อง"จับบวช"แล้วครับ ค้นทั่ว www ไม่มีวี่แววเลย ส่วนมากจะแปล(จริงๆแล้วไม่อยากใช้คำว่า"แปล"เลย) ว่า King Arthur's Sword

โอ๊ะ โอ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 12 ม.ค. 04, 10:23
ดูความเห็นต่างๆในกระทู้นี้แล้วนึกขำ  เห็นภาพพระฤาษี(เทาชมพู)กำลังเล็กเชอร์ให้ฝูงสานุศิษย์ฟัง  ที่ยุกยิกอยู่ไม่สุข นอกจากจะด้วยกิริยาอาการแล้ว  ยังลากหัวข้อที่พระอาจารย์กำลังสาธยายอยู่ให้เป๋ไปซ้ายทีขวาที

แต่ก็ต้องชมพระฤาษีที่มีขันติและสมาธิเป็นเยี่ยม ปล่อยให้ฝูงลิงลากเข้าซอยไปพักเดียว  เดี๋ยวๆก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ดึงกลับมาได้ทุกที

ว่าแล้วก็ขอดึงเข้าอีกซอยไปตามประสา

เรื่องของกษัตริย์อาเธอร์ดูจะได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนอยู่จริง  หรืออย่างน้อยก็มีผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้เรื่องนี้มีเค้าโครงจากเรื่องจริง  ได้มีความพยายามค้นคว้ากันมากเพื่อพิสูจน์แบบลากๆไปให้มีจริง  ซึ่งดูเหมือนจะมีผู้ให้ความยอมรับพอควรว่าในประมาณศตวรรษที่5-6 มีผู้นำท้องถิ่นชื่อว่าอาเธอร์จริง  แต่ก็เพียงเท่านั้น  แม้จะมีการค้นพบและระบุว่าที่นั่นที่นี่เป็นคาเมลอตบ้าง เป็นที่ฝังพระศพกษัตริย์อาเธอร์หรือพระนางกินเนียเวียบ้าง  ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ลากๆไปทั้งสิ้น

มีผู้สันนิษฐานว่า แต่เดิมเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์คงเป็นเพียงนิยายปะรำปะราที่เล่าขานต่อๆกันมา  จนถึงประมาณศตวรรษที่12 ซึ่งชาวพื้นเมืองเริ่มรู้จักภาษาเขียนกันอย่างแตกฉานและแพร่หลายพอสมควรแล้ว  จึงมีการเขียนเรื่องของกษัตริย์อาเธอร์ขึ้นตามจินตนาการในยุคนั้นอย่างโรแมนติก


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 04, 11:23


   แล้วคุณถาวภักดิ์จะเป็นระดับเจ้าเมืองขีดขิน หรือว่าลูกพระพายล่ะคะ?



ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นสองตำนานควบกันไปแล้ว   คือตำนานพระเจ้าชาลมาญและตำนานพระเจ้าอาเธอร์

ถ้าคุยกันรู้เรื่องดี  จะควบสองเป็น"ทูอินวัน" ก็ไม่ผิดกติกาใดๆหรอกค่ะ  เชิญตามสบาย

ยิ่งดีใหญ่ เรือนไทยจะได้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม



เรื่องดาบเอกซคาลิเบอร์ที่คุณอาชาคลั่งยังติดใจอยู่ ทำให้ดิฉันกินได้แต่นอนไม่หลับ ต้องลุกไปค้นหาเกร็ดรายละเอียดมาให้อีก

ก็เจออีกเวบที่แปล excalibur ให้ความหมายว่า cut steel หรือ"ฟันเหล็กให้ขาดได้ง่ายดายประดุจฟันหยวก(กล้วย)" จริงๆด้วย



เนื้อความก็ทำนองเดียวกันกับเซอร์นิลคองก้าเล่าเกริ่นไว้แล้ว
 http://www.mystical-www.co.uk/arthuriana2z/e.htm#EX



Excalibur

Meaning 'Cut Steel'. Aka 'Excalibor', 'Caledfwlch', 'Caledvwlch', 'Caliburnus', 'Caliburn'.

'Geoffrey of Monmouth' was the first to name Arthur's sword 'Caliburn'



Excalibur is often wrongly described as being 'the sword in the stone', the sword which Arthur is said to have pulled from an anvil in London.

The sword from the stone was Arthur's first sword, reputed to have been broken in a battle, a sword that indicated Arthur had the right to be king, whereas Excalibur in legend is known to have been his second sword.

Excalibur was believed to possess the power to protect Arthur from wounding so long as he wore it together with its silver scabbard.

When Arthur received Excalibur, he is told according to legend that the two must never be parted. 'Morgan le Fay'  stole the sword and gave it to her lover 'Accolon of Gaul' , and threw the scabbard into the lake.

The sword was recovered but the scabbard remained lost, leaving Arthur vulnerable in battle against mortal and immortal.



The first sword was reputed to have been broken in a battle.





'And onward Arthur paced, with hand

On Caliburn's resistless brand.'

In the writer 'Malory's'  story this sword is given to 'Arthur', and is known to be his second sword, given to him by the 'Lady of the Lake'



It has been suggested that the idea for providing Arthur of legend with a magical sword may have been influenced by the ancient Irish 'Caladbolg' sword which was described in legend as being to consume all that lay in its path.



This sword was reputed to have been made by 'Wayland'

Excalibur is also thought to be very similar to the 'Sword of Rhydderch the Generous' named 'Dyrnwyn' as spoken of in the ancient Welsh Triads and the Mabinogion.

This was known to be one of the 'Thirteen Treasures of Britain' .This sword was revered for being of the Otherworld, and for being able to completely burst into flames, but it was said that it could only be used by someone of noble birth.  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 04, 15:44
 คุณนิลกังขายังไม่มาเล่าต่อ    ตกลงกันว่าเธอจะเล่าเรื่องโอลันโดกับเพื่อนรักชื่อโอลิเวอร์
แล้วถึงจะต่อด้วยตอนยาวยืดเป็นมหากาพย์ กินเวลาอีกนานกว่าจะจบ
ตอนนี้ดิฉันก็เลยขอสลับฉากด้วยเกร็ดย่อยๆ  เป็นโชว์หน้าม่านไปพลางๆก่อน

พักเรื่องดาบเอกซ์คาลิเบอร์เอาไว้ก่อน      ดิฉันมีรูปดาบมีชื่อเสียงอีกเล่มมาให้ดูกันพลางๆ
คงจำได้ว่ารินัลโดเคยปฏิญาณไว้ว่า จะไม่มีดาบประจำตัวจนกว่าจะชิงดาบของอัศวินมีชื่อคนไหนมาได้เสียก่อน
พูดอีกทีคือต้องชนะคนดังแล้วยึดดาบมาได้นั่นแหละ

ในเรื่องไม่พบว่าริลโดไปชนะใครถึงแย่งดาบคนนั้นมาได้  แต่คุณนกข.ไปค้นมาได้ความว่าอัศวินของเรามีดาบประจำตัวกับเขาเหมือนกัน
ชื่อ Floberge หรือ Flamberge บ้างก็ว่าชื่อ Fusberta

ดิฉันไปค้นหารูปดาบ Flamberge มาได้  อีกสองชื่อยังหาภาพไม่ได้
ดาบ ฟลัมเบิร์จ   หรือฟลัมแบร์จ ไม่รู้ออกเสียงอย่างไหน   ดูหน้าตาค่อนข้างประหลาด
คือตัวดาบหยักเป็นเกลียว
ดูบางรูป  นึกว่ากริช  ทำให้นึกถึงกริชอิเหนาไปโน่น
แต่บางรูปก็เป็นดาบ รูปร่างเป็นเกลียวคล้ายสว่าน    มีด้ามแบบดาบ
ดูแล้วฉงนว่าถ้าตัวดาบมันเป็นเกลียวแบบนี้  จะฟันใครเข้า  เพราะไม่มีคม
หรือว่าจะต้องมีมอเตอร์วิเศษซ่อนอยู่ในด้ามดาบ  พอใช้ ก็กดมอเตอร์ให้ดาบหมุนแบบสว่านไฟฟ้า
ถ้างั้นก็เจาะเกราะคู่ต่อสู้ทะลุเป็นรู   ได้ง่าย  เหมือนใช้สว่านไฟฟ้าเจาะเหล็ก


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 04, 15:55
 รูปนี้คือดาบฟลัมเบิร์จอีกแบบหนึ่ง   หยักคล้ายกริช


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 13 ม.ค. 04, 16:02
 แปลกน่าสนใจมากครับ

ตามประวัติกระเส็นกระสายที่ผมไปค้นเจอในตำนานเรื่องอื่น ดาบเล่มนี้ว่ากันว่าเคยเป็นของขุนพลใหญ่ฝ่ายสาระเซ็น ชื่อ Anthnor แต่ตกมาถึงรินัลโดได้อย่างไรไม่ปรากฏรายละเอียด จะว่าแกไปทำศึกชิงดาบมาก็หาเรื่องเล่าไม่เจอ น่าสนใจมากที่หน้าตาดาบไพล่ไปเหมือนกริชชวามลายู ซึ่งจะถือว่า - หรือเดาว่า - เป็นเพราะอิทธิพลสาระเซ็นได้รึเปล่าก็ไม่รู้ (เท่าที่ผมนึกออก ดาบนักรบอาหรับหรืออิสลามในยุคที่รบกับฝรั่งทั้งในสมัยชาลมาญและในสมัยสงครามครูเสด หลังยุคของชาลมาญ นั้น ดูเหมือนจะเป็นดาบวงโค้งที่เรียกว่า Schimitar เสียเป็นส่วนมาก กริชนั้นถ้าจะมีใช้ก็คงอยู่แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมไม่เคยทราบว่ามีไปถึงเมืองอาหรับด้วย แต่อาจจะไปถึงก็ได้ครับ)

แต่ด้ามดาบรูปคล้ายๆ โกร่งกระบี่ฝรั่ง?

มีคำอธิบายอีกทางหนึ่งถ้าคุณเทาชมพูกลัวว่าดาบหยักเป็นเกลียวนี้จะไม่มีคม คือว่า อาจเป็นได้ที่รอยหยักๆ นั่นเป็นฝักดาบครับ ใบดาบอยู่ข้างใน ในรูปเห็นเหมือนกับว่าชักอวดคมอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้เป็นการเดาเอาทั้งสิ้น

เรื่องโอลิเวอร์กับโรลันด์ ขอเวลาเดี๋ยวหนึ่งครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 13 ม.ค. 04, 16:16
 เมื่อผมโพสต์ความเห็นนั้นผมเพิ่งเห็นดาบโฟลแบร์จไปรูปเดียว แต่พอเห็นรูปที่สองแล้ว ยิ่งเห็นว่าเหมือนกริชมากขึ้นไปอีก และเป็นอันเห็นได้ชัดว่าใบดาบเองก็มีลักษณะเป็นคดกริช ไม่ใช่แต่ฝักดาบอย่างที่ผมเดาเมื่อเห็นรูปแรก

หน้าตาเข้าเค้าว่าอาจเป็นศิลปะแขกจริงๆ ตามที่นิทานว่าเดิมเป็นของฝ่ายสาระเซ็นครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 04, 16:32
 ดิฉันมีดาบฟลัมเบิร์จแบบที่ 3 มาให้ดูอีกค่ะ  มันจะเป็นกริชชวามลายูในสายตาฝรั่งรึเปล่าก็ไม่ทราบ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 04, 16:41
 ดาบวงโค้งแบบที่นักรบสาระเซ็นใช้กัน  ที่คุณนกข.เอ่ยถึงข้างบน คือแบบนี้ค่ะ
ใครเป็นแฟนหนังซินแบดคงจะได้ว่าซินแบดก็ใช้เหมือนกัน  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 04, 16:46
 ดิฉันมีรูปดาบฟลัมเบิร์จ อีกรูปหนึ่งมาให้ดู
เห็นอันนี้แล้วไม่ต้องสงสัย  เรียกว่า กริช แน่ๆ
แต่อาจจะเป็นภาพในยุคหลัง ที่ฝรั่งรู้จักกริชแล้ว

กริชจัดเป็นดาบสั้นแบบหนึ่ง  น่าจะใช้เหน็บเป็นอาวุธติดตัว มากกว่าดาบยาวที่ใช้ฟัน พร้อมกับโล่

ก็ไม่รู้ว่า พ่อเจ้าประคุณรินัลโด แกใช้ดาบสั้นหรือดาบยาวในการรบ  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ม.ค. 04, 10:54
 เรื่องโอลิเวอร์กับโรลันด์มาแล้วนะครับ
คงจำได้ว่า สมัยยังเด็กโรลันด์เป็นลูกผู้ดีตกยาก อาศัยอยู่ในถ้ำที่เมืองซูตริ กับแม่ซึ่งเคยดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นถึงเจ้าหญิงเพราะเป็นพระน้องนางเธอของพระเจ้าชาลมาญเอง แต่ได้ทำผิดประเพณีไปลอบรักกับพ่อของโรลันด์ จนต้องหลบออกจากราชสำนักหอบหิ้วลูกชายมาอยู่ในถ้ำที่หัวเมืองบ้านนอกแห่งนี้แต่ลำพัง//

   (ส่วนอัศวินผู้เป็นพ่อของโรลันด์นั้น ออกเดินทางผจญภัยเพื่อแสวงหาเกียรติศักดิ์ต่อ แล้วเลยไม่ได้กลับมาหาสองแม่ลูกอีกเลย)//

   เมื่อเล็กๆ โรลันด์เป็นเด็กมีสง่าราศี มีพละกำลังมาก จนเด็กอื่นที่เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันในแถบนั้นยอมลงให้เกือบหมด แม้ว่าฐานะทางบ้าน (หรือ “ทางถ้ำ”) ของโรลันด์จะยากจนกว่าเด็กอื่นๆ ก็ตาม ในบรรดาเพื่อนเหล่านั้น โรลันด์สนิทเป็นพิเศษกับเด็กอีกคนหนึ่ง คือโอลิเวอร์ (Oliver ฝรั่งเศสเรียกว่าโอลิวิเอร์ Olivier) ซึ่งมีมาดเด่นเป็นจ่าฝูงไม่แพ้โรลันด์ เพราะโอลิเวอร์ก็เป็นเด็กสกุลสูงเหมือนกัน คือเป็นลูกของเจ้าเมืองนั้นนั่นเอง//

   ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม เพื่อนทั้งสองก็แยกย้ายกันไป โรลันด์ได้เข้ารับราชการในราชสำนักพระเจ้าลุง คือพระเจ้าชาลมาญ ดังเรื่องที่เล่ามาแล้ว และได้ออกศึกหลายครั้งในฐานะอัศวินราชสหาย//

   จนกระทั่งมาถึงราชการสงครามครั้งหนึ่ง คือเมื่อดยุกเกอแรง (Guerin de Montglave) หรือเกอริน เจ้าแห่งกรุงเวียนน์ (ชื่อเหมือนกรุงเวียนนาในออสเตรียปัจจุบันนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเมืองเดียวกันหรือไม่) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่งขึ้นกับพระจักรพรรดิชาลมาญ เกิดตั้งแข็งเมืองขึ้น พระเจ้าชาลมาญจึงทรงยกทัพหลวงไปปราบกบฏ โรลันด์ก็ไปทัพด้วย ทัพฝรั่งเศสตีได้ดินแดนของเจ้ากรุงเวียนน์โดยรอบจนถึงกำแพงกรุงเวียนน์ แล้วก็ยกทัพเข้าตั้งล้อมเมืองไว้//


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ม.ค. 04, 10:57
 ดยุกเกอรินแม้จะเป็นชายชาตินักรบ แต่ก็อายุมากแล้ว ต้องอาศัยกำลังบุตรชาย 4 คน กับหลานปู่ 2 คน ช่วยในการทำศึก ลูกหลานทั้ง 6 ของ ดยุกเกอรินเป็นอัศวินมีฝีมือห้าวหาญเข้มแข็งมาก//

   ทัพพระเจ้าชาลมาญล้อมกรุงเวียนน์อยู่ถึง 2 เดือนก็ยังตีไม่ได้ ก็พอดีทรงได้ข่าวว่า พระราชามาซิลิอุสแห่งสเปน (สมัยนั้นสเปนยังอยู่ใต้อำนาจพวกมัวร์อันเป็นสาระเซ็นพวกหนึ่ง ดังที่ได้เล่ามาแล้ว) ยกทัพตีเข้าไปในแดนฝรั่งเศสจนยึดได้หัวเมืองภาคใต้ของฝรั่งเศสแล้ว ไม่มีใครจะต้านทานได้ เพราะทัพหลวงฝรั่งเศสมัวมาติดศึกที่กรุงเวียนน์อยู่//

   เมื่อทรงทราบข่าวศึกสเปน พระเจ้าชาลมาญก็ทรงเรียกประชุมสภาสงครามหารือกัน นายทัพนายกองทั้งหลายก็ทูลว่า ขณะนี้ทัพหลวงกำลังรบติดพันอยู่กับกรุงเวียนน์อยู่ และฝีมือทหารกรุงเวียนน์ก็เข้มแข็ง ถ้าถอยทัพกลับจะไปต่อรบกับทัพสเปน ทัพกรุงเวียนน์ก็คงจะออกตามตี จะกลายเป็นศึก 2 ด้าน ดังนั้นควรตกลงเจรจาหาทางยุติศึกกับกรุงเวียนน์โดยไม่ต้องเปลืองชีวิตไพร่พลและเวลาดีกว่า//

   วิธียุติศึกนั้นก็คือ แจ้งไปยังกรุงเวียนน์ว่า ให้ตัดสินการรบโดยจับสลากเสี่ยงเลือกทหารเอกคนหนึ่งของแต่ละฝ่ายออกมาสู้กันตัวต่อตัว ทหารเอกฝ่ายไหนมีชัยก็ให้ถือว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงบันดาลให้เห็นว่าทัพฝ่ายนั้นชนะ//

   พระเจ้าชาลมาญทรงโปรดให้เป็นไปตามนั้น และดยุกเกอรินเมื่อได้รับแจ้งก็เต็มใจที่จะรับคำท้า เพราะได้รบป้องกันกรุงมานาน รี้พลฝ่ายกรุงเวียนน์ก็อ่อนกำลังลงไปมากเหมือนกัน//

   การเลือกทหารเอกผู้แทนของทั้งสองฝ่ายใช้วิธีเสี่ยงทายโดยเขียนชื่อลงในหมวกเกราะจับฉลากขึ้นมา ในส่วนของกรุงเวียนน์ แม้เจ้าเมืองจะชราภาพแล้วก็ไม่ยอมละหน้าที่นักรบ จึงมีชื่อเจ็ดชื่ออยู่ในหมวกเกราะคือ ตัว ดยุกเกอรินเอง บุตรชายทั้งสี่ และหลานปู่ทั้งสอง ชื่อที่จับฉลากขึ้นมาได้จากหมวกเกราะเพื่อไปรบป้องกันศักดิ์แห่งวงศ์สกุลและมาตุภูมิ เป็นหลานปู่คนหนึ่งของดยุกเกอริน ไม่ใช่ใครอื่น คือ โอลิเวอร์นั่นเอง//

   ส่วนทางค่ายหลวงของพระเจ้าชาลมาญ ผู้แทนทัพฝรั่งเศสที่เสี่ยงทายเลือกขึ้นมาได้เพื่อไปประลองกับฝ่ายเวียนน์ ป้องกันพระบรมเดชานุภาพแห่งพระจักรพรรดิฝรั่งเศส ก็คือ อัศวินโรลันด์ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ทราบว่าคู่ประลองของตนเป็นใคร//

   ครั้นถึงวันนัดประลองยุทธ อัศวินทั้งสองก็แต่งกายสวมหมวกเกราะปิดหน้า เครื่องรบพร้อม ขี่ม้าไปยังสนามประลองตามที่ตกลงไว้ ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในแม่น้ำโรน กองทัพทั้งสองฝ่ายต่างก็เรียงรายกันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำคอยดูการต่อสู้//

   ทั้งสองอัศวินต่างกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้ารบเพื่อแสดงฝีมือ ฝ่ายหนึ่งเพื่อถิ่นฐานบ้านเมืองของตนและเพื่อเกียรติศักดิ์ของตระกูล อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อประกอบราชการสนองพระคุณพระเจ้าจักรพรรดิของตน ไม่มีใครตระหนักว่าใบหน้าภายใต้หมวกเกราะนั้น แท้จริงคือ เพื่อนเล่นในอดีตของตนนั่นเอง//

ขยักไว้แค่นี้ก่อน โปรดติดตามตอนต่อไป.... ฮะแอ้ม-


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ม.ค. 04, 11:29
 ตามธรรมเนียมเรือนไทย ซึ่งจำเป็นต้องคุยกันเถลไถลออกนอกเรื่องบ่อยๆ ผมจะขอพักนิทานไว้ตรงนี้สักประเดี๋ยวก่อน ให้เพื่อนรักทั้งสองเตรียมตัวเข้าห้ำหั่นกันเองไปพลางๆ//

   ระหว่างนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมเนียมการตัดสินแพ้ชนะด้วยการแต่งทหารเอกออกมารบกันตัวต่อตัว โดยไม่ให้ต้องเดือดร้อนถึงกองทัพส่วนใหญ่หรือประชาชนของแต่ละฝ่ายนั้น มีมานานแล้วทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก ทั้งในประวัติศาสตร์และโบราณคดี จนวรรณคดีไทยเก่าๆ มีคำเรียกการประลองเช่นนี้ว่า “ธรรมยุทธ” หมายถึงการประลองอย่างเที่ยงธรรม คล้ายๆ กับที่ฝรั่งบอกว่า ผลแพ้ชนะให้พระผู้เป็นเจ้าตัดสิน//

   ธรรมยุทธอาจมิใช่เป็นการประลองฝีมือรบเสมอไปก็ได้ เช่นในเรื่องสังข์ทอง เมื่อศึกมาประชิดติดเวียงชัยของท้าวสามล ทัพข้าศึกก็แจ้งเข้าไปในเมืองว่า “มิใช่จะณรงค์สงคราม ให้พระยาสามลคนดี มาประลองตีคลีกันกลางสนาม จะได้เป็นเกียรติยศปรากฏนาม ให้ชีพราหมณ์ราชครูดูเป็นกลาง”//

   รอบแรกท้าวสามลส่งหกเขยออกไปแข่งเล่นกีฬาขี่ม้าตีคลี (ตรงกับที่สมัยนี้เรียกว่า โปโล Polo) ก่อน แล้วก็แพ้ จึงจำเป็นต้องให้เขยคนเล็กคือเจ้าเงาะ ซึ่งก็คือพระสังข์ทอง ออกตีคลี ชนะกู้บ้านเมืองไว้ได้ในที่สุด//

   ในราชาธิราช มีตอนหนึ่งที่กองทัพจีนมาล้อมเมืองพม่า และพระเจ้ากรุงจีนยื่นคำขาดให้พม่าแต่งทหารเอกคนหนึ่งออกไปต่อรบกันตัวต่อตัวกับทหารเอกจีน ชื่อกามะนี ครั้งนั้นพม่าหาคนดีมีฝีมือออกไปรบเกือบไม่ได้ จนกระทั่งมาได้สมิงพระรามทหารเอกมอญ ซึ่งถูกจับติดคุกอยู่ในเมืองพม่า รับอาสาออกรบกับกามะนี ในที่สุดสมิงพระรามชนะ ฆ่าทหารเอกจีนลงได้//

   (ไม่ต้องสงสัยว่านิทานเรื่องราชาธิราชนี้ มอญแต่ง ไม่ใช่พม่าแน่นอน)//

   การดวลกันตัวต่อตัวเพื่อศักดิ์ศรีทหารกล้าเช่นนี้ ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในพงศาวดารไทย ก็คือการกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาของฝ่ายพม่า ซึ่งปรากฏเรื่องอยู่ทั้งในประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย//


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ม.ค. 04, 11:32
 เรื่องยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์อาจจะยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์บ้าง โดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาเทียบเคียงกับพงศาวดารพม่า (ผมได้ยินมาว่าหลักฐานฝ่ายพม่าบางแหล่งบอกว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะถูกปืน ไม่ได้ขาดคอช้าง) แต่ในที่นี้ผมขอเล่าตามเรื่องใน เตลงพ่าย ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีก็แล้วกันครับ

ในการศึกครั้งนั้นช้างทรงของพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถพระอนุชา พาสองพระองค์พลัดจากทัพไทยเข้าไปอยู่กลางทัพหลวงพม่า เผชิญพักตร์กับองค์จอมทัพฝ่ายพม่าเลยทีเดียว//

    ครั้งนั้นจะเรียกว่าคับขันก็ได้ เพราะหากฝ่ายพม่าจะใช้กำลังพลเข้าล้อมจับเป็นเชลย ทหารพม่าล้นหลามรอบด้านขนาดนั้น เพียงจตุลังคบาทหรือทหารประจำเท้าช้างฝ่ายไทยหยิบมือหนึ่ง ไม่มีทางที่จะต่อสู้ต้านทานได้แน่//

    แต่พระนเรศวรก็ทรงคุมพระสติได้มั่น ไสช้างทรงตรงเข้าไปหาพระมหาอุปราชา แล้วก็ตรัสเชิญชวนหรือท้าดวลตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาโดยการกระทำยุทธหัตถี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรบอย่างไว้ฝีมือชายชาติทหารของทางตะวันออก พอๆ กับ Jousting ของอัศวินทางตะวันตก ต่างกันแต่รบบนหลังช้างมิใช่หลังม้า//

   พระมหาอุปราชทรงได้ยินคำท้าเชิญชวนให้ประลองฝีมือกันเพื่อไว้เกียรติกษัตริย์ชาตินักรบสืบไปภายหน้าเช่นนั้น ก็เกิดขัตติยะมานะ เข้าชนช้างกับพระนเรศวรกันสองพระองค์ และนายทหารเอกฝ่ายพม่าอีกผู้หนึ่งก็ไสช้างเข้าชนช้างกับพระเอกาทศรถอีกคู่หนึ่ง มิได้รับสั่งให้ทหารพม่าเข้าล้อมจับพระนเรศวร และผลการกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น เราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว//


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 14 ม.ค. 04, 12:50
 เย้ คุณหลวงนิลพาเข้าแพร่งโปรดอีกแล้ว โดดตามน้ำซะเลย

ผมมั่นใจว่ายุทธหัตถีเกิดขึ้นจริง เพราะมีหลักฐานยืนยันทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างคล้องจองกัน

พงศาวดารได้กล่าวถึงสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วมายับยั้งขอบิณฑบาตรโทษตายของเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จในราชการทัพครั้งนั้นไม่ทัน  โดยกล่าวอ้างเปรียบเทียบเหตุการณ์ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบรรลุพระโพธิญาณ ที่ต้องเผชิญกับกองทัพมหาศาลพระยามาราธิราชและเหล่าเสนามารอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังพระองค์เดียวและทรงบรรลุมงคลชัยอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้โลกได้เป็นพยานรู้เห็นเป็นอัศจรรย์ในพระบรมเดชานุภาพแห่งบารมีทั้ง 30 ทัศ  ด้วยสำนวนภาษาอันงดงามจับใจ  ในขณะที่บทต้นของพระคาถาพาหุฯแปดบทก็กล่าวถึงพระมหาชัยมงคลอันยิ่งใหญ่นี้ และทั้งพระคาถาก็ถูกรจนาเป็นบาลีคำฉันท์อย่างสละสลวยงดงามไม่แพ้กัน  เชื่อกันว่าพระคาถาพาหุฯนี้ถูกรจนาขึ้นโดยสมเด็จพระพนรัตน์ถวายเป็นมงคลชัยแด่สมเด็จพระนเรศวรเป็นการเฉพาะ

ยิ่งไปกว่านั้นสำนวนที่ใช้ลงท้ายพระคาถาว่า ชย มงฺคลานิ ก็ยังพ้องกับชื่อวัดใหญ่ชัยมงคลที่ถูกสร้างขึ้นดังเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของมหายุทธครั้งนั้น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเก่าแก่ของพระคาถาพาหุฯ คือการที่เหล่าพระสงฆ์ลังกา สยามวงศ์ล้วนรู้จักและสามารถสวดพระคาถาได้อย่างคล่องปาก แสดงถึงความเก่าแก่ของการสืบทอดพระคาถาที่สามารถนับย้อนไปได้ก่อนยุคเจ้าคุณพระอุบาลีเป็นเวลานานจนพระคาถาเป็นที่นิยมแพร่หลายแล้วในยุคดังกล่าว  จนถูกนำสอนเป็นศาสนพิธีของสยามวงศ์

อย่างเป็นทางการมานานแล้วที่ราชการไทยยอมรับว่ายุทธหัตถีเกิดขึ้นจริง และประกาศเอาวันที่พระมหาอุปราชแห่งหงสาวดีขาดคอช้างนั่นแหละเป็นวันกองทัพไทยเรื่อยมาจนทุกวันนี้  ขำพวกผู้ช่วยทูตทหารของพม่าที่ต้องเข้าร่วมงานฉลองวันกองทัพไทย ณ สถานทูตไทยในประเทศต่างๆอยู่ทุกปี เมื่อรู้ความจริงว่าต้องชูแก้วดื่มฉลองให้กับการตายและพ่ายแพ้อย่างยับเยินของอดีตรัชทายาทของประเทศตัวเอง  ถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  ต้องรวมหัวกันแก้ประวัติศาสตร์ว่าถูกปืนตายเอง ไม่งั้นกลืนเหล้าในวันกองทัพไทยไม่ค่อยลง

ไหนๆก็เข้าแพร่ง เข้าซอยมาไกลแล้ว  เลี้ยวไปต่อด้วยดาบฟ้าฟื้นซะเลย ดีไหมครับคุณหลวง  จะได้เข้าบรรยากาศชายชาติทหารแห่งกรุงศรีฯ

ถ้าพระฤาษีจะให้พร  ก็ต้องเลือกเป็นลูกพระพายละครับ  ท่านเจ้าเมืองขีดขินคนแรกท่านอายุสั้นไปหน่อย  เพิ่งได้เมีย(ชู้)คนเดียวก็ซี้ซะแล้ว  แถมชาวบ้านยังนินทาว่าเมียท่านพิการมีนมโตข้างเดียวอีก  สู้ลูกพระพายไม่ได้ มีเมียเพียบเลย ถูกใจโก๋มาก อิ อิ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ม.ค. 04, 12:58
 ขอบคุณผู้อาวุโสถาวภักดิ์ครับ

เรื่องยุทธหัตถียังคุยได้อีกยาวครับ แต่เมื่อผมได้ทิ้งให้โรลันด์กับโอลิเวอร์ยืนม้าคอยจะรบกันอยู่บนเกาะกลางน้ำนานป่านนี้แล้ว ก็จะขอออกจากเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ย้อนกลับไปยัง ยุโรปสมัยชาลมาญต่อไป (แล้วเดี๋ยวค่อยไุถลกลับมาคุยเรื่องกรุงศรีฯ ต่อ)  

    พอได้รับสัญญาณ อัศวินทั้งสองก็กุมหอกกระตุ้นม้าโผนเข้าหากันตามแบบ joust ทันที หอกทั้งสองเล่มปะทะกันโดยแรงหักสะบั้นลงไปพร้อมกันทั้งคู่ แต่คนขี่ก็เลี้ยงตัวอยู่ได้ ไม่ตกม้าทั้งสองคน ทั้งสองจึงกระโดดลงจากหลังม้าคู่ขา ชักดาบโจนเข้าสู้กันอีก ต่างก็เชี่ยวชาญเชิงดาบมีฝีมือเสมอกัน//

     อัศวินทั้งสองต่อยุทธแย้งแทงฟันกันอยู่นานกว่า 2 ชั่วโมงก็ยังไม่เห็นผลแพ้ชนะกัน ยังไม่มีฝ่ายไหนมีท่าว่าจะหย่อนกำลัง และไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำในเชิงฝีมือแก่กัน มีครั้งหนึ่งโรลันด์ได้ช่อง ก็แทงเต็มแรงด้วยดาบดูรินดานา โอลิเวอร์ยกโล่ขึ้นรับไว้ทัน และถือโอกาสขณะนั้นฟันกลางตัวโรลันด์เต็มเหนี่ยว//

   ดาบดูรินดานาของโรลันด์คมกล้ายิ่งนัก ผ่าฝานลึกเข้าไปในโล่ของโอลิเวอร์ติดตรึงแน่นจนชักไม่ออก  ส่วนดาบของโอลิเวอร์นั้นไม่ได้เป็นดาบวิเศษเหมือนของโรลันด์ เมื่อโรลันด์เอี้ยวหลบเอาเกราะอกเข้ากระแทกปะทะคมดาบ ดาบก็หัก จึงเป็นอันว่าทั้งสองฝ่ายสิ้นอาวุธหรือใช้อาวุธไม่ได้ลงไปพร้อมกัน แต่ก็ยังเอาชนะแก่กันไม่ได้//

    สองคนทิ้งโล่ โดดเข้าชิงชัยในเชิงมวยปล้ำบ้าง แต่การต่อสู้ด้วยมือเปล่าในขณะที่แต่งเครื่องใส่เกราะอยู่นั้นทำอะไรกันไม่ได้ ทั้งสองจึงปล้ำถอดหมวกเกราะของคู่ต่อสู้ เพื่อที่จะทำร้ายกันที่หัว ที่หน้า หรือที่คอได้ต่อไป//

   หมวกเกราะของแต่ละฝ่ายถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระชากหลุดออกได้พร้อมกัน ทันใดนั้นต่างก็เห็นหน้าคู่รบที่ได้ตะลุมบอนกันมาตลอดเวลาหลายชั่วโมง ต่างจำกันได้ก็หยุดตะลึงด้วยกันทั้งคู่//

   อีกอึดใจหนึ่งโรลันด์ก็ตะโกนขึ้นว่า “ข้าแพ้แล้ว” โอลิเวอร์ก็ร้องขึ้นพร้อมกันว่า “ข้าเป็นฝ่ายแพ้” แล้วก็เข้าสวมกอดกันแน่น//

   ทหารสองฝ่ายที่เฝ้าดูการประลองอย่างตื่นเต้นมาตลอดตอนนี้ชักจะงงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นอัศวินทั้งสองคนจูงมือกัน ต่างคนต่างร้องประกาศว่าตนเป็นฝ่ายแพ้ เป็นอันแน่ใจได้อย่างหนึ่งสำหรับคนดู (แม้จะยังงงๆ อยู่) ว่า การต่อสู้ได้จบลงแล้ว แม้จะไม่รู้แน่ว่าจบลงยังไงก็ตาม//

   อัศวินอื่นๆ ทั้งสองฝ่ายต่างข้ามน้ำเข้าไปที่เกาะ ห้อมล้อมเข้าไปสรรเสริญว่า อัศวินทั้งสองได้ต่อสู้กันอย่างกล้าหาญและสุดฝีมือทัดเทียมกัน ไม่มีใครแพ้ชนะ ต่างก็เห็นพ้องว่าต้องนับว่าการต่อสู้ครั้งนี้เสมอกัน//

   ถึงแม้อาจจะมีคนเห็นเป็นอย่างอื่นบ้าง ก็ไม่มีใครกล้าคัดค้านเมื่ออัศวินโอเกียร์ชาวเดนมาร์กลุกขึ้นประกาศว่า โรลันด์กับโอลิเวอร์ฝีมือดีเท่ากัน ถือว่าสู้เสมอกัน ใครไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของโอเกียร์นี้ก็จงมาสู้กันตัวต่อตัวกับโอเกียร์เถิด ในเมื่อไม่มีใครโต้แย้งก็เป็นอันว่าตัดสินไปตามนั้น//

   หลังจากนั้นกองทัพทั้งสองฝ่ายก็ตกลงสงบศึกชั่วคราวกัน 4 วัน ในระหว่างสี่วันนั้น ท้าวเนมหรือนาโมทางฝ่ายชาลมาญ และโอลิเวอร์ทางฝ่ายเกอรินก็ทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพ ช่วยกันเจรจาว่ากล่าวให้ทั้งสองเมืองกลับสมานไมตรีกัน โดยที่สามารถชี้ได้เต็มปากว่า ถ้าจะถือตามผลการรบระหว่างสองทหารเอก ก็คงจะไม่ใช่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่จะให้กองทัพทั้งสองชิงชัยกันต่อไปเป็นแน่//

   พระเจ้าชาลมาญและดยุกเกอรินต่างก็เห็นชอบ สงครามครั้งนั้นจึงเป็นอันเลิกแล้วต่อกันไป พระเจ้าชาลมาญก็รับสั่งให้ทัพฝรั่งเศสเคลื่อนพลกลับไปรบทัพสเปน ทัพกรุงเวียนน์รวมทั้งดยุกเกอรินและลูกหลาน ก็เข้าร่วมกับทัพฝรั่งเศสตามเสด็จไปช่วยรบกับทัพพระเจ้ามาซิลิอุสด้วย เจ้ากรุงสเปนพอทราบข่าวก็รีบยกทัพถอยหนีกลับไป//   

   เรื่องนี้เห็นจะพอเรียกแบบไทยๆ ได้ว่า ศึก “เกือบพิฆาตเพื่อนรักจวนตักษัย” ยังดีที่รู้ตัวกันก่อนเลยไม่ทันได้ฆ่ากันเอง//


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: บัวดิน ที่ 14 ม.ค. 04, 18:26
 กำลังอ่านอย่างเมามัน  แต่ว่าแหม...ต้องขอถามหน่อยนะคะคุณนิลกังขา  ว่า...ในเมื่อดาบของโรลันด์นั้นเป็นดาบวิเศษ  ทำไมถึงดึงออกจากเกราะของโอลิวิเอร์ไม่ได้ล่ะค่ะ? ขนาดดาบวิเศษอย่าง Excalibur ที่สร้างความฮือฮามาในกระทู้ก่อนๆ นั่น  ยังสามารถปักเข้าไปในหิน  แล้วก็ดึงออกมาได้ อันนี้เป็นแค่เสื้อเกราะเอง... แต่ไม่แน่ใจว่าเสือเกราะแต่ก่อนนั้นมันหนาบางแค่ไหน  ช่วยอธิบายหน่อยนะคะ

อ้อ...อีกอย่างหนึ่ง  การต่อสู้สมัยก่อนเขามีโล่ห์ป้องกันในมืออีกข้างหนึ่งด้วยใช่ไหมค่ะ  อยากให้เล่าเรื่องโลห์หน่อยค่ะ  ว่ามันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน  จำได้เลาๆ ว่าโลห์ของแต่ละตระกูลใน British Isles นั้นจะมีตราประจำตรกูลด้วยใช่หรือเปล่าคะ? ของนักรบประเทศอื่นๆ มีหรือเปล่าคะ?  

กรุณาช่วยเคาะสนิมในหัวดิฉันออกด้วยค่ะ  เคาะเองมันไม่ถนัด !


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 04, 10:02
 ระหว่างรอคุณนกข.เข้ามาตอบ  ดิฉันก็ขอคั่นโปรแกรมด้วยภาพโล่ชนิดต่างๆ( สะกดว่า โล่  ไม่มี ห์ )ค่ะ
โล่ เมื่อก่อนใช้คู่กับดาบ    ฝรั่งและไทยมีเหมือนกัน   ดาบเอาไว้ฟัน  โล่เอาไว้ยกรับ ป้องกันอาวุธ ตอนอีกฝ่ายฟันตอบมา
ของไทยเรามีโล่ชนิดต่างๆเรียกว่า ดั้ง และเขน  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 04, 11:08

นี่ก็โล่ที่กลายไปเป็นตรา เสียแล้ว


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 04, 15:44
 เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องยืดยาวเกือบจะเท่ารามเกียรติ์   เป็นเรื่องที่ชุมนุมตัวละครสำคัญๆที่สุดของพระเจ้าชาลมาญ

เนื้อเรื่องยืดยาวเป็นมหากาพย์นี้   ไม่ว่าของกรีกอย่าง ”อีเลียด”ของกวีโอเมอร์    “รามายณะ”ของอินเดีย  “ รามเกียรติ์” และ “อิเหนา”ของไทย   มักมีข้อใหญ่ใจความตรงกันในข้อหนึ่ง
คือ มีนักรบผู้แกล้วกล้ามาชุมนุมกันจำนวนมาก  แบ่งเป็นปรปักษ์  เข้าห้ำหั่นกันด้วยการยุทธเพื่อชิงนาง     โดยมีหญิงงามหนึ่งเดียวอยู่ตรงกลาง  
นางเป็นต้นเหตุวิบัติในชะตากรรมของเหล่านักรบพวกนั้น

พระเจ้าชาลมาญกับเหล่าอัศวินได้ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน  เริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม   เป็นช่วงงานเทศกาลใหญ่ทางคริสต์ศาสนา
ราชสำนักกำลังคึกคักกับงานใหญ่โตเอิกเกริก    ราชสหายล้วนมาเฝ้าพระเจ้าชาลมาญกันพร้อมหน้า  เช่นท้าวกรันโดนิโอจากสเปน  เฟอโรชาวสาระเซ็นแต่ว่ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าชาลมาญ     ดยุคนาโม ผู้เป็นที่ยกย่องนับถือแห่งราชสำนักรองจากพระราชา
 โอลันโดและรินัลโดอัศวินเอกแห่งราชสำนัก  อัสตอลโฟ อัศวินรูปหล่อชาวอังกฤษ  มาลากิกี้ผู้ขมังเวทย์    และกาโนแห่งมากานซา จอมประจบสอพลอที่พระเจ้าชาลมาญโปรดปราน  หาทรงทราบไม่ว่าบุคคลนี้คิดคดทรยศกับพระองค์อยู่ทุกขณะจิต


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 04, 16:00
 ฉับพลันก็มีขบวนคนแปลกหน้า  เข้ามาท้องพระโรง ทำให้ทุกคนเหลียวไปมองเป็นตาเดียวกัน
  คือยักษ์มหึมาสี่ตน  ห้อมล้อมเป็นองครักษ์นางงามผู้หาหญิงใดเปรียบปานมิได้คนหนึ่ง    มีอัศวินอีกคนหนึ่งติดตามมาคล้ายผู้พิทักษ์ประจำตัวนาง
นางผู้นี้ถ้าจะยืมคำชมโฉมนางบุษบามาบรรยาย ก็จะไม่เกินจริง
   อันนางโฉมยงองค์นี้
   เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า
   นวลละอองผ่องพักตร์โสภา
   ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน
   พระเจ้าชาลมาญ  และข้าราชการสำนักทั้งหลายก็ตกตะลึง งงงวยไปกับโฉมนางจนลืมตัวกันทุกคน
นางงามหยุดอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าชาลมาญ   ถวายคำนับอย่างแช่มช้อย  แม้แต่ผู้ที่หัวใจหินที่สุดก็ยังหวั่นไหว     แล้วนางก็กล่าวคำกราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำสละสลวย ตระเตรียมมาแล้วอย่างดี
ข้าแต่พระองค์ทรงชัย......ทั่วด้าวแดนไกล........ระบือลือเลื่องพระนาม
แม้ดินแดนสุดเขตคาม......อาณาจักรนาม....."คาเธ่ย์"รู้จักราชา
ข้าเจ้าหญิงแอนเจลิกา......พร้อมด้วยเชษฐา........อัศวินผู้มาด้วยกัน
เดินทางมาเฝ้าราชันย์.......หวังบังคมคัล.......และท้าประลองกีฬา
โรมรันระหว่างพี่ข้า.........และชายผู้กล้า.....   แห่งราชสำนักท้าวไท
หากอัศวินผู้ใด..........แพ้พ่ายปราชัย..........   จักตกเป็นเชลยบัดดล
ถ้าชนะโปรดได้ยินยล........พี่ข้าอวยผล.......มอบข้าเป็นบริจาริกา
ขอเชิญพวกท่านออกมา....สู่สนามกีฬา........   ณ ลานชายป่าใกล้กรุง
เก้านาฬิกาวันพรุ่ง........ขอได้โปรดผดุง......   ศักดิ์ศรีระหว่างสองเรา"

ชื่อของนางงามตัวเอก ฝรั่งเขียนว่า Angelica   หมายถึงนางที่งามประหนึ่งเทพธิดา      น.ม.ส. ทรงแปลงเป็นสำเนียงไทยๆ ว่าอัญชลิกา    
ในเรื่องนางบอกว่าเป็นเจ้าหญิงมาจากอาณาจักรคาเธ่ย์  ซึ่งเป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกอาณาจักรจีน
 กวีฝรั่งโบราณผู้แต่งเรื่องตอนนี้ คงได้ยินชื่อประเทศตะวันออกอย่างมากก็จีนกับอินเดีย   และคงไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไรด้วย     ในตอนจบของเรื่องจึงกลับไประบุว่านางแอนเจลิกามาจากอินเดีย

      นางแอนเจลิกากล่าวจบก็คุกเข่าลงรอฟังพระราชโองการ     เปิดโอกาสให้ชายทั้งหมดได้พิศโฉมนางได้เต็มตา  เพื่อจะยิ่งงวยงงหลงใหลหนักเข้าไปอีก

       โอลันโดเองพอได้ยินว่าใครก็ตามที่ประลองยุทธชนะพี่ชายแล้วจะได้เจ้าหญิงเป็นรางวัล ก็แทบจะยับยั้งใจไว้ไม่อยู่   ร่ำๆจะเผ่นเข้าไปรับคำท้าเสียเดี๋ยวนั้น        
ชายทุกคนในห้องนั้นก็คึกคักกระวนกระวายไปตามๆกันจะเข้าประลองยุทธชิงนาง   ไม่เว้นแม้แต่ท้าวนาโมผู้ชรา  หรือแม้แต่พระเจ้าชาลมาญเองก็ทรงขยับๆจะเข้าสู้เองเสียอีกองค์

ทุกคนจ้องนางไม่กระพริบตา      ยกเว้นผู้วิเศษมาลากิกี้ หยั่งรู้ด้วยญาณว่านางงามแปลกหน้าผู้นี้ไม่ได้พูดความจริง  ก็คิดจะสืบหาข้อเท็จจริงและปราบนางเสียให้ราบคาบที่บังอาจเข้ามาลูบคมถึงราชสำนัก

พระเจ้าชาลมาญเพลินชมโฉมนาง ก็พยายามหน่วงเหนี่ยวนางเอาไว้ให้มีโอกาสได้ชมนานๆที่สุดเท่าที่จะทำได้   ด้วยการซักโน่นถามนี่ต่อไปอีกนาน  นางก็ตอบได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด

เมื่อถามจนไม่รู้จะถามอะไรอีกต่อไปแล้ว     พระเจ้าชาลมาญก็ทรงตอบตกลงให้ประลองยุทธกันได้ตามเงื่อนไขของนาง    นางแอนเจลิกากับพี่ชายก็ทูลลาออกจากท้องพระโรงไป  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 19 ม.ค. 04, 16:46
 รายงานตัวเข้าประจำที่ครับ

ระเบียบวาระที่ 1 แก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง

ผมพิมพ์ผิดไปหน่อยว่าเรื่องธรรมยุทธ มีอยู่ทั้งในประวัติศาสตร์และ "โบราณคดี" (คห. ที่ 53) ตั้งใจจะเขียนว่า วรรณคดี ครับ

ผมอ้างพระราชนิพนธ์ สังข์ทอง ผิดไปหน่อย ที่ถูกต้อง "ให้พระยาสามนต์คนดี มาตีคลีพนันกันกลางสนาม..." อ้อ ผมเรียนมาว่าพ่อตาพระสังข์ชื่อสามล พ่อตัวพระสังข์ชื่อยศวิมล แต่เพิ่งทราบว่าจริงๆ แล้ว ร.2 ท่านแต่งให้ชื่อ สามนต์ครับ ทำไมในหนังสือเรียนจึงเป็นสามลก็ไม่ทราบได้ หรือชื่อ ยศวิมล จะจูง สามนต์ ให้กลายเป็น สามล ไปก็ไม่รู้?

ระเบียบวาระ 2 คุยกับเพื่อนร่วมห้องเรียน

ตอบคุณบัวดิน โล่ พจนานุกรมว่าไม่ต้องใส่ ห์ ครับ นมส. ท่านทรงอธิบายว่า ถ้าเขียน โล่ห์ จะกลายเป็นว่าโล่ต้องทำด้วยโลหะเสมอ แต่ที่จริงโล่ทำด้วยอย่างอื่นก็ได้ (เช่นหนังสัตว์) คำถามของคุณบัวดิน ตอบยากเป็นบ้า มีทางเดียวที่จะรู้ได้คือจุดธูปถามกวีฝรั่งที่เล่าเรื่องนี้ ซึ่งตายไปหลายร้อยปีแล้ว ว่าทำไมดาบวิเศษดูรินดานาฟันผ่าโล่ (ไม่ได้ผ่าเสื้อเกราะครับ) เข้าไปได้ครึ่งโล่ แล้วก็ติดแหง็ก- อยู่แค่นั้น น่าจะฝานโล่ผ่าเป็นสองเสี่ยงได้เลยถ้าวิเศษจริง โดยที่กวีคนแต่งเรื่องตายไปซะแล้ว ผมก็เลยต้องเดาว่า ถ้าดาบวิเศษมันวิเศษเกินไป โอลันโดหรือโรลันด์ก็ต้องชนะ ฆ่าเพื่อนรักแต่เด็กจนได้โดยไม่รู้กัน เรื่องก็จะไม่แฮปปี้เอนดิ้ง จึงต้องลดความวิเศษลงชั่วคราว ให้ติดกับโล่ของโอลิเวอร์จะได้ใช้ไม่ได้ต้องทิ้งอาวุธเข้าปล้ำกัน ส่วนทำไมดาบวิเศษถึงวิเศษน้อยลงได้นั้น ถ้าไม่โยนไปที่คนแต่ง ผมก็ต้องโยนไปที่พระเจ้า อย่าลืมว่าการรบคราวนี้ นิทานว่าเป็นการธรรมยุทธเสี่ยงทาย แพ้ชนะัให้พระเจ้าตัดสิน พระเจ้าคงไม่ทรงประสงค์ให้โรลันด์ชนะโอลิเวอร์ เลยบันดาลให้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าซะอย่างบันดาลได้ทั้งนั้นครับในจักรวาลของพระองค์

เรื่องอาร์เธอร์ชักดาบจากหินนั้น คนแต่งเขากำหนดเงื่อนไขไว้อีกอย่างนี่ครับ ก็ชักออกได้ เป็นคนแต่งซะอย่าง แต่งได้ทุกอย่างในนิทานของตัวครับ

เรื่องโล่ที่กลายเป็นตราตระกูลไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเล่าก็เล่าได้ยาวครับ สนุก มีวิชาศึกษาเรื่องนี้เฉพาะเลย มีตำราเป็นเล่มๆ

เอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนิทานของเรามาฝากหน่อยหนึ่งก่อน ตราประจำตัวโรลันด์หรือโอลันโดนั้นเป็นโล่ที่แบ่งเป็นสี่ส่วน สีขาวสองส่วน สีแดงสองส่วนวางสลับทะแยงกัน ว่ากันว่าสมัยโอลันโดเป็นเด็กอยู่ถ้ำนั้น ยากจนมากจนแทบไม่มีผ้านุ่ง แต่เนื่องจากเป็นหัวโจกของเด็กแถวนั้น เด็กๆ รัก วันหนึ่งลุกสมุนในแก๊งค์เด็ก 4 คน ก็เอาผ้ามาให้ 4 ชิ้น แต่ไม่ได้นัดกันต่างคนต่างเอามาก็เลยได้สีแดงสองชิ้นสีขาวสองชิ้น ถ้าตัดออกมาเป็นเสื้อคงตลกพิลึก แต่โอลันโดก็ชอบและขอบใจในน้ำใจ ต่อมาจึงใช้ลักษณะสีสลับแบบนี้เป็นเครื่องหมายประจำตัวเมื่อเป็นอัศวิน  

ตอบผู้อาวุโสถาวภักดิ์ กำลังจะถึงวันที่ 25 ม.ค. วันกองทัพไทย อีกแล้วครับ มีคนตั้งประเด็น (คุณสุจิตต์ วงศ์เทศคนหนึ่งละ) ว่า ที่จริงคำนวณจริงๆ แล้ว วันที่พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น คือ 18 ม.ค. ต่างหากไม่ใช่ 25 ม.ค. คุณถาวภักดิ์ไม่ตั้งกระทู้เรื่องนี้หรือครับ? ผมจะไปแจม

ระเบียบวาระ 3 จูงประเด็นนิทานของคุณเทาชมพูออกนอกเรื่อง
(ตามเคย)

ยังค้นไม่เสร็จครับ แต่ตั้งใจว่าจะมาแจมหรือชวนคุยเข้าซอยเรื่องคาเธ่ย์ (ซึ่งไม่ใช่โรงหนัง) อันเป็นเมืองจีนของอันเจลิกากงจู่ ในความนึกฝันของนักฝันฝรั่ง ไม่ใช่เมืองจีนจริง เดี๋ยวจะมาคุยต่อครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: บัวดิน ที่ 19 ม.ค. 04, 18:06
ขอบระคุณอาจารย์เทาชมพูกับอาจารย์นกข.มากค่ะ  ภาษาไทยขึ้นสนิมเกือบหมดแล้วค่ะ  บางทีนึกแทบแย่  ก็ยังนึกไม่ออกว่าเขียนยังไง  ไม่ได้ฝึกฝนหรือใช้มันบ่อยเข้า  ประกอบกับความจำถดถอย  ก็เลยเริ่มลงคูค่ะ  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 ม.ค. 04, 13:36
 มาต่อครับ ชักใบให้เรือเสียเรื่องคาเธ่ย์

ก่อนอื่น ตำนานต่างๆ เกี่ยวกับชาลมาญนั้น คงจะได้เล่ากันมาตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่หรือหลังสิ้นพระชนม์ไม่นาน คือราวๆ ค.ศ. 800 เศษ หรือ 1200 ปีมาแล้ว แต่เพิ่งได้มีการรวบรวม เรียบเรียงและร้อยกรองขึ้นเป็นตำนานเรื่องใหญ่โดยจินตกวีอิตาเลียนหลายคนในคริสตศตวรรษที่ 15

ในการแต่งตำนานขึ้นมาใหม่ประมาณ 300 ปีหลังจากที่บุคคลในตำนานนั้นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ฝรั่งผู้แต่งก็อาศัยเค้ามูลในประวัติศาสตร์จริงบ้าง นิทานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นที่ตกทอดมาบ้าง หยิบเอาพล็อตมาจากนิทานหรือตำนานอื่นๆ เช่น เทพนิยายกรีกโรมันมาใส่บ้าง เอาเค้าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่เป็นคนละยุคสมัยกับสมัยชาลมาญ รวมทั้งความรู้หรือมุมมองเกี่ยวกับภูมิศาสตร์โลกในสมัยของกวีผู้แต่งเองมาผสมเข้าบ้าง และจินตนาการเอาเองหรือแต่งเพิ่มขึ้นเองให้สนุกสนานเข้าไปอีกบ้าง

กลายเป็น ”ยำใหญ่ใส่สารพัด”
 
เรื่องชื่อของอาณาจักรจีนในนิทานชุดนี้ก็เหมือนกัน ชื่อ คาเธ่ย์ นี้เป็นชื่อเก่าโบราณที่ฝรั่งเคยใช้เรียกเมืองจีน (ตกมาถึงเมืองไทยสมัยปัจจุบัน เคยเป็นชื่อโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ โรงหนึ่ง แต่ในสมัยที่ยังเปิดกิจการอยู่นั้นไม่ได้ฉายหนังจีน ไพล่ไปฉายแต่หนังอินเดียเป็นประจำ จะว่าเป็นเพราะเจ้าของโรงหนังหลงนับเอาเมืองจีนกับอินเดียเป็นเมืองเดียวกันเหมือนฝรั่งโบราณก็คงไม่ใช่ เพราะวิชาภูมิศาสตร์ในเมืองไทยสมัยนี้ เจริญกว่ายุคกลางเมืองฝรั่งแทบไม่เห็นฝุ่น คงเป็นแต่เหตุบังเอิญมากกว่า)

ตามประวัติศาสตร์นั้น แม้ว่าฝรั่งจะรู้จักติดต่อกับจีนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยชาลมาญ โดยพวกโรมันเคยติดต่อค้าขายกับจีนตามเส้นทางที่เรียกว่า ทางสายไหม (Silk Road) แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เรียกว่าคาเธ่ย์ ดูเหมือนจะเรียกว่า Sinica (ภาษาอังกฤาคำคุณศัพท์ที่เป็น prefix คำว่า Sino- ยังแปลว่า เกี่ยวกับจีน อยู่จนเดี๋ยวนี้)

ชื่อ คาเธ่ย์ (Cathay หรือภาษาละตินว่า Cataya) นี้เพิ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากในหมู่ฝรั่งก็เมื่อ ชื่อ มาร์โค โปโล ได้เขียนหนังสือบันทึกการเดินทางของเขาตามเส้นทางสายไหมจากอิตาลีไปถึงดินแดนคาเธ่ย์ และได้เข้ารับราชการกับพระจักรพรรดิจีน คือพระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวน
 
สมัยของมาร์โค โปโล อยู่ก่อนสมัยของบรรดากวีอิตาเลียนผู้ร้อยกรองเรื่องตำนานชาลมาญประมาณเกือบ 200 ปี และประมาณช่วงเดียวกับสมัยกรุงสุโขทัยของเรา

บันทึกของมาร์โคโปโลให้ภาพของคาเธ่ย์ว่าเป็นดินแดนแสนไกลที่เจริญรุ่งเรือง มีวัฒนธรรมสูง และร่ำรวยมั่งมีมาก  ฝรั่งสมัยนั้น (ที่ไม่ใช่พ่อค้าหรือนักเดินทาง) อ่านเรื่องของมาร์โคโปโลเหมือนอ่านนิทาน เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงคาเธ่ย์อยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร ยิ่งเล่ากันต่อๆ ไปคาเธ่ย์ก็ยิ่งกลายเป็นเมืองมหัศจรรย์ยิ่งขึ้นทุกที

ที่จริงนั้น “คาเธ่ย์” ไม่ใช่ชื่อภาษาจีนเลยแม้แต่น้อย ถ้าไปถามถึงเมือง  คาเธ่ย์กับคนจีนในสมัยนั้น (หรือแม้แต่คนจีนบางคนในสมัยนี้) ผู้ถูกถามก็อาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงเมืองจีนของตัวเองก็ได้ สมัยผมอยู่เมืองจีนเคยสงสัยมากว่ามันแปลว่าอะไรคาเ๋ธ่ย์นี่ ก็มีคนจีนลากสำเนียงเข้าหาภาษาจีน บอกผมว่ามันมาจากคำว่า กั๋วไท่ กั๋วไท่ (แปลทำนองว่าประเทศมั่งคั่ง) ฝรั่งออกเสียงกลายเป็นคาเธ่ย์ แต่เมื่อได้ค้นที่ฝรั่งเขาค้นคว้าไว้เองว่าทำไมเขาจึงเคยเรียกเมืองจีนว่าคาเธ่ย์ จึงได้รู้ว่าชื่อนี้แท้จริงเป็นภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในเอเชียตะวันออกเผ่าหนึ่ง ชื่อชนเผ่า Kitan ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าหนึ่งญาติๆ กับชาวมองโกล พูดภาษาคล้ายกัน (ภาษาจีนกลางเรียกเผ่านี้ว่า ฉีตาน - ขอตัวช่วยด้วยครับว่าออกเสียงถูกรึเปล่า)


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 ม.ค. 04, 13:43
 ชาว Kitan เป็นเผ่าหนึ่งที่จีนเห็นว่าเป็นเผ่าอนารยชน “นอกกำแพงใหญ่” แต่ในสมัยที่จีนอ่อนแอ ชนชาตินี้ก็เคยมีอำนาจมากจนรุกเข้าไปในเมืองจีนได้หลายครั้ง จนถึงกับเคยตั้งราชวงศ์ได้ในเขตตอนเหนือของจีน เรียกว่า ราชวงศ์เหลียวหรืออาณาจักรเหลียว

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า ต่อมาเผ่าป่าเถื่อน (ในสายตาจีน) อีกพวกหนึ่ง คือพวกมองโกล ก็เริ่มรวมตัวเป็นปึกแผ่น และแผ่อำนาจออกไปเหนือเผ่าอื่นๆ ตั้งแต่สมัยของเจงกีสข่านก่อน แล้วต่อมาในสมัยของหลานคนหนึ่งของเจงกีสข่าน คือกุบไลข่าน มองโกลก็แข็งกล้าขึ้น จนเข้ายึดอาณาจักรจีนไว้ได้ทั้งหมด สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้น จักรพรรดิจีนที่มาร์โค โปโลกล่าวถึงจึงไม่ได้มีเชื้อสายเป็นจีนแท้ แต่เป็นมองโกล

ในการแผ่อำนาจนี้ พวกมองโกลก็ได้ปราบปรามชนเผ่า Kitan ไปเสียจนแทบจะสูญพันธุ์ แต่ฝรั่งก็รู้จักดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองจีนในชื่อ คาเธ่ย์ เสียก่อนหน้านั้นแล้ว และเพราะฝรั่งเดินทางมาถึงจีนผ่านเอเชียกลางมาจากทางตะวันตก เจอะเมืองฉีตานก่อน จึงเรียกชื่อดินแดนแถวนี้เลยไปถึงเมืองจีนว่า คาเธ่ย์ ทั้งหมด ตามชื่ออาณาจักร Kitan ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อสมัยต่อมาจีนได้ตกอยู่ใต้อำนาจของมองโกล

สำหรับฝรั่งคงจะเห็นว่ามองโกลก็ไม่ต่างจากชาว Kitan เท่าไหร่ อันที่จริงฝรั่งสมัยนั้นก็คงเห็นว่า คนจีน มองโกล ตาด (ฝรั่งเรียกว่า Tatar) หรือกลุ่มชนอื่นๆ แถบนั้น ก็หน้าเหลืองๆ ตาตี่ๆ เหมือนกัน แยกไม่ออก

แม้แต่ในภาษาฝรั่งรัสเซียปัจจุบัน ก็ยังเรียกชื่อประเทศจีนว่า Kitai อันเป็นคำที่มีรากเดียวกับคำว่า Kitan และ Cathay มาจนบัดนี้

สำหรับกวีฝรั่งผู้เล่านิทานชาลมาญนั้น ทั้งเมืองจีน (หรือคาเธ่ย์) และอินเดียต่างก็เป็นดินแดนในจินตนาการอยู่แสนไกลนอกฟ้าป่าหิมพานต์ และเป็นดินแดนประหลาดและ (ลือกันว่า) ร่ำรวยมหาศาลพอๆ กัน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทองคำและของดีของแปลกหายากในเมืองฝรั่ง เช่นเครื่องเทศและผ้าไหม  กวีก็เลยถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเสียเลย

ความร่ำรวยของเมืองในนิทานทั้งสองเมืองนี้กระตุ้นจินตนาการของฝรั่งมาหลายร้อยปี คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเองเมื่อพยายามจะเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางตะวันตกในปี ค.ศ. 1492  เพราะเชื่อว่าโลกกลมนั้น ก็เพราะอยากรวย คืออยากจะบุกเบิกเส้นทางค้าขายกับอินเดียสายใหม่ ความเชื่อของโคลัมบัสถูกต้องที่ว่าโลกกลม ดังนั้นถ้าเดินทางออกจากยุโรปไปทางตะวันตก ในที่สุดก็จะวนไปถึงอินเดียที่อยู่ทางตะวันออกได้

แต่โคลัมบัสไม่รู้ว่าก่อนจะถึงเอเชีย มีดินแดนอีกทวีปหนึ่งขวางอยู่ จึงเปะปะไปชนเอาอเมริกาเข้าทั้งทวีป แล้วก็ยังหลงเรียกชนพื้นเมืองที่พบในทวีปอเมริกาว่าอินเดียนแดง เพราะนึกว่าตัวเองไปถึงอินเดียแล้ว     คงพอเทียบได้กับฝรั่งนักเดินทาง (ทางบก) สมัยก่อนโคลัมบัส ที่เรียกทั้งเมืองจีนและเมือง Kitan ที่ขวางหน้าอยู่ รวมไปเป็นเมืองเดียวกันว่า คาเธ่ย์
   
ในที่นี้ก็ขอให้ถือว่า อาณาจักรคาเธ่ย์นี้เป็นเมืองจีนในนิทาน ซึ่งอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ใช่เมืองจีนจริงๆ (ในฉบับที่ทรงแปลไว้เป็นภาษาไทยเมื่อ 60 ปีมาแล้ว นมส. ทรงแปลคำว่าคาเธ่ย์ว่า “กงจีน” คือชื่อเมืองจีนที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทย เช่นเรื่องตาม่องล่าย นางยมโดย ไม่ใช่กรุงจีนหรือเมืองจีนตามที่มีอยู่จริง)


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 04, 11:41
 เล่าเรื่องต่อค่ะ
การล่วงรู้ของมาลากิกี้ ถูกเผงทีเดียว     แอนเจลิกากับพี่ชายผู้อ้างชื่อว่า “ อูเบอร์โต” หรือ "อูแบร์โต" มีชื่อจริงว่า"อาร์กาเลีย" เป็นราชโอรสธิดาของ"พระเจ้ากงจีน"  ชื่อพระเจ้ากาลาฟรอน
พระเจ้ากงจีนเป็นพวกนอกคริสต์ศาสนา  ครองความเป็นใหญ่อยู่ทางอีกฝั่งหนึ่งของทวีป      ทรงวางแผนล้ำลึกหวังทำลายล้างพระเจ้าชาลมาญมหาราช ด้วยการบั่นทอนเด็ดแขนขาเสียให้หมดเสี้ยนหนาม
 ไม่อาจมีพลังไว้ทะนุบำรุงคริสตศาสนาให้เข้มแข็งได้อีก     แขนขาที่ว่านี่ก็คือบรรดาอัศวินฝีมือดีทั้งหลาย

เจ้าหญิงแอนเจลิกาโฉมงาม  เป็นตัวล่อแมงเม่าหนุ่มๆทั้งหลายให้บินเข้ากองไฟ     ส่วนกองไฟก็คืออาวุธวิเศษของเจ้าชายอาร์กาเลีย เป็นหอก(หรือทวน) วิเศษ  
มีฤทธิ์ตรงที่ว่าแม้แตะโดนใครเข้านิดเดียวไม่ต้องถึงแทง  แค่สัมผัส ศัตรูก็หมดเรี่ยวแรงหงายหลังล้มผลึ่ง ตกม้าลงไปปราชัย

นอกจากนี้ เจ้าชายยังมีม้าวิเศษ ที่ควบขับได้เร็วยิ่งกว่าลมพัด      ของวิเศษอย่างที่สามคือแหวน ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันคาถาอาคมมนตราได้ทุกชนิด   และถ้าหากว่าอมเข้าในปากก็จะล่องหนหายตัวได้ไม่มีใครเห็น

แผนของพระเจ้ากาลาฟรอนคือเมื่อล่ออัศวินทั้งหลายให้เข้าประลองยุทธ       หอกวิเศษก็จะทำให้อัศวินพระเจ้าชาลมาญตกม้าพ่ายแพ้ไปหมด ต้องตกเป็นทาสของเจ้าชายจีน
   ส่วนความงามของแอนเจลิกาเป็นเครื่องล่อให้หนุ่มๆ คลั่งไคล้ลืมตัว  ไม่กลัวตาย ไม่ทันยั้งคิด  คนไหนแพ้ก็แพ้ไป   คนใหม่ก็ฮึกเหิมว่าตัวเก่งกว่า  พากันบินเป็นแมงเม่ามาเข้ากองไฟจนไม่มีเหลือ  
   ส่วนแหวนก็จะทำให้นางหายตัวหลบหนีกลับอาณาจักรได้อย่างง่ายดาย

กลับมาดูว่าแผนใหญ่โตลึกล้ำนี้  มาลากิกี้จะแก้ไขได้หรือไม่  


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 22 ม.ค. 04, 12:20
 เจ้ากงจีน... เอ๊ย พระเจ้ากรุงจีนที่กวีฝรั่งเรียกว่า กาลาฟรอนฮ่องเต้ เนี่ย ผมมีความรู้สึกว่าอาจจะมาจากคำว่า คอลีฟะ หรือที่ไทยเรียกว่ากาหลิบ คือตำแหน่่งประมุขทางศาสนาและทางอาณาจักรของชุมชนมุสลิม นั่นคือ ฝรั่งเอาจีนกับแขกมาปนกัน แต่นี่เป็นการเดาเอาเองของผมครับ ไม่รับรองว่าเป็นยังงั้นจริงหรือเปล่า

ที่เดาเอายังงี้ เพราะผมนึกไม่ออกเลยว่ามีคำภาษาจีนที่แปลมาเป็นกาลาฟรอนได้ยังไง แต่ก็นั่นแหละ ลงว่าฮ่องเต้จีนมีไทจือชื่ออาร์เกเลียและมีกงจู่ชื่อแอนเจลิกาได้แล้ว จะชื่อประหลาดพิสดารว่ากาลาฟรอนหรืออะไรก็คงได้แหละ จะเอาอะไรมากกับนิทานฝรั่งเล่าครับ

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ของวิเศษหลายอย่างในนิทานนี้มาจากดินแดนตะวันออกซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นแดนลึกลับมหัศจรรย์ และหลายอย่างเลยมาจากพวกสาระเซ็น เช่นอาวุธคู่มือของอัศวินฝรั่งหลายคนก็ว่ากันว่าชิงมาจากอัศวินสาระเซ็นได้ หรือหอกวิเศษ แหวนวิเศษและม้าวิเศษของเมืองจีนเป็นต้น ให้ผมเดา ก็ต้องตีความว่า เป็นผลมาจากการที่สมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ (จริง) อารยธรรมฝรั่งเองตกต่ำลงไป และต้องอาศัยเรียนรู้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าจากพวกอาหรับ ซึ่งวิทยาการบางอย่างที่อาหรับเรียนไว้แล้วถ่ายทอดให้ฝรั่งอีกทีนั้น ก็เป็นวิชาที่อาหรับเองได้จากกรีกโรมันในสมัยที่ฝรั่งยังไม่เสื่อมนั่นเอง แต่บางอย่างก็เป็นวิทยาการที่นักปราชญ์อาหรับคิดขึ้นได้

ตกมาถึงยุคกลางในยุโรป ในสายตาฝรั่งที่ด้อยวิทยาการกว่า เทคนิคที่อาหรับใช้บางอย่างก็เหมือนเป็นของวิเศษ จึงมีเรื่องหลายตอนที่ของวิเศษมาจากตะวันออก (แต่พ่อมดฝรั่งก็มีของวิเศษของตัวเองอยู่เหมือนกัน)

ดาบวิเศษของรินัลโดนั้นว่ากันว่าอัศวินฝรั่งคนหนึ่ง (เป็นรินัลโดเองหรือมาลากีกี้ผมก็ไม่แน่ใจ ตำนานแย้งกันเอง) แย่งมาได้จากนายทัพสาระเซ็นชื่อ แอนธ์นอร์ และหน้าตาก็ดูเป็นดาบแขก เกร็ดนิทานนี้ ผสมกับประวัติศาสตร์จริงว่าเทคนิคการถลุงโลหะให้ได้เหล็กกล้านั้น มนุษยชาติคิดขึ้นได้ก่อนเพื่อนแถวๆ อียิปต์ ทำให้ผมคิดอะไรเตลิดไปได้ไกลว่า เผลอๆ อาจมีความจริงหลงอยู่ในนิทานก็ได้

ผมไปค้นเจออีกแห่งหนึ่งด้วยว่า รินัลโดยังมีหมวกเกราะวิเศษทองคำอีกใบหนึ่ง เป็นหมวกที่สวมแล้วจะไม่มีใครเอาชนะได้ (น่าเอามาลองใส่ประลองกับหอกวิเศษของอาร์เกเลียนิ...) หมวกนี้เดิมเป็นหมวกวิเศษของแมมบริโน ซึ่งเป็นราชาสาระเซ็นอีกองค์หนึ่ง รินัลโดไปแย่งมาได้ยังไงก็ยังค้นเรื่องไม่เจอ แต่คำว่าหมวกวิเศษของแมมบริโนนั้นมาโผล่ในวรรณกรรมล้อเลียนเสียดเย้ยสมัยหลัง คือเรื่องดอนกีโฮเต้ ของเซรบันเตส

ตัวดอนกิโฮเต้ตัวเอกของเรื่อง แกอ่านนิทานเรื่องอัศวินยุคกลางมากไปหน่อย จนลุกขึ้นมาทำตัวเป็นอัศวินพเนจรในสมัยที่เขาเลิกมีอัศวินกันนานแล้ว วันหนึ่งขี่ม้าไปดีๆ ก็เจอช่างตัดผมคนหนึ่งเอาอ่างทองเหลืองสำหรับโกนหนวด ซึ่งเป็นบริขารจำเป็นสำหรับอาชีพรับจ้างตัดผมของแก ครอบหัวกันแดดเดินสวนมา อัศวินกีโฮเต้ก็ร้องว่า - อ้าฮา- นั่นหมวกวิเศษของแมมบริโนนี่ เอามาเดี๋ยวนี้ - แล้วก็กระตุ้นม้าวิ่งเข้าชาร์จกัลบกโชคร้ายคนนั้น ซึ่งพอเห็นอัศวินสติเฟื่องของเราทำท่าจะเอาจริงก็ตาเหลือก โยนอ่างโกนหนวดของแกให้แล้ววิ่งหนีไม่คิดชีวิต อัศวินของเราจึงสวมหมวกวิเศษ (คืออ่างโกนหนวด) อย่างโก้เก๋ เดินทางผจญภัยไปตลอดทาง

เรื่องดอนกีโฮเต้อัศวินหลงยุคก็สนุก ถ้าจะเล่าก็ยาว แต่เรากลับไปหาเรื่องดอน เอ๊ย มาลากีกี้ต่อก่อนดีกว่าครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 04, 13:20
 ในคืนนั้นเอง  มาลากิกี้ก็ลอบมาถึงกระโจมในป่านอกเมือง   เห็นยักษ์ทั้งสี่  อยู่เวรยามแวดล้อมอารักขา
แต่ยักษ์ทั้งสี่ไม่อาจเห็นผู้วิเศษ  ใช้ล่องหนกำบังตัวมิให้ใครเห็น  

มาลากิกี้เปิดคัมภีร์ของตน  อ่านมนตร์ร่ายออกไป     ยักษ์ทั้งสี่ก็ง่วงหงุบหงับหลับสนิทเป็นตาย
ก็ชักดาบออกมาถือ เดินผ่านอย่างสะดวกเข้าไปในกระโจม     สาวเท้าเข้าถึงข้างกายแอนเจลิกา  ตั้งใจจะฟาดฟันนางเสียให้ตาย ได้หมดเรื่องไป

แต่นางนั้นงามในยามตื่นอย่างไร  ยามหลับก็งามเลอเลิศไม่น้อยหน้ากัน    ทั้งดูอ่อนแอไร้เรี่ยวแรงจะป้องกันตัวเอง    ทำให้มาลากิกี้ผู้ได้รับการอบรมมาอย่างอัศวิน ชะงัก   ไม่อาจจะใจโหดเหี้ยมพอประหารนางได้อย่างเลือดเย็น

   มาลากิกี้หารู้ไม่ว่า แอนเจลิกาไม่ได้หลับใหลไร้สติเป็นตายคนอื่นๆ  เพราะแหวนที่นางสวมอยู่ป้องกันเวทมนต์ต่างๆได้     นางแค่นอนหลับอย่างธรรมดา    พอมีเสียงกุกกักข้างกาย  นางก็ตกใจตื่นขึ้น

   พอเห็นคนร้าย นางก็หวีดร้อง  ถลาไปปลุกพี่ชาย   อำนาจของแหวนทำให้พี่ชายรู้สึกตัวขึ้นมา  จับตัวมาลากิกี้ไว้   แย่งคัมภีร์มาได้  

   พอคัมภีร์หลุดจากมือ    มาลากิกี้ก็หมดฤทธิ์   พี่น้องก็อ่านคาถาเรียกฝูงภูตพรายเข้ามาแล้วช่วยกันแบกผู้วิเศษเหาะละลิ่วไปส่งพระเจ้ากาลาฟรอนที่กรุงอัลบรัคคา  
มาลากิกี้ก็ถูกจองจำขังไว้แน่นหนาในคุกใต้ทะเล


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 23 ม.ค. 04, 18:19
 วู้... ท่านเซอร์ท่านเลดี้ทั้งหลาย หลับกันหมดแล้วหรือครับ

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า นิทานฝรั่งตอนนี้คล้ายๆ โขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนไมยราพณ์สะกดทัพแฮะ คือค่ายกลางป่าของตัวละครฝ่ายหนึ่ง (ถ้าเป็นรามเกียรติ์ก็คือพลับพลาพระราม) ถูกตัวละครอีกฝ่ายลอบบุกเข้าไปได้ แม้ฝ่ายแรกจะระวังป้องกันอย่างแข็งขัน (ในรามเกียรติ์ฝ่ายที่ระวังป้องกันเป็นลิง ในนิทานชาลมาญ เป็นยักษ์ ยักษ์จีนด้วยอีกต่างหาก) เพราะฝ่ายที่ลักลอบเข้าไปใช้มนต์หรือยาสะกดให้หลับหมดทั้งพลับพลา

ต่างกันแต่ว่าขุนยักษ์ไมยราพณ์ทำมิชชั่นอิมพอสสิเบิลของตนสำเร็จ ลักองค์พระรามลงไปขังไว้ใต้บาดาลได้ จนหนุมานต้องตามลงไปช่วย แต่มาลากีกี้ทำงานไม่สำเร็จ ใจอ่อนเสียก่อน ตัวเองเลยถูกจับไปขังไว้ใต้ทะเลจีนแทน


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 23 ม.ค. 04, 18:25
 เรื่องที่คุณบัวดินถามไว้เรื่องโล่ ซึ่งกลายเป็นตราประจำตระกูลขุนนางอังกฤษนั้น มีเรื่องยาวมากๆ เป็นวิชาที่ศึกษากันได้วิชาหนึ่งทีเดียว มีตำราหลายเล่ม (คุณบัวดินอาจเสิร์จได้ในเว็บ โดยใช้คำว่า Heraldry หรือ Coat of arms)

นอกจากอังกฤษ ฝรั่งหลายชาติก็มีคล้ายกันครับ ถ้าคุณบัวดินสนใจ ผมอาจจะเอาไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่ แต่ตอนนี้ตาลาย ข้อมูลแยะครับ ขอตั้งตัวก่อนครับ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 04, 17:08
ขอหยุดพักเรื่องไว้แค่นี้ก่อนละค่ะ
เห็นทีจะต้องรอฤกษ์งามยามดี แล้วค่อยกลับมาเล่าอีกครั้ง


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 22 ก.พ. 04, 05:41
 ขอติงนิดนึงนะคะ ความเห็นที่11

เจ้าพระยาบดิทรเดชานั้น รัชกาลที่๓ เรียกท่านว่า "พี่สิงห์" ค่ะ
เพราะท่านมีนามว่าสิงห์

แล้วคำว่า บดินทรเดชา เองก็มาจากคำว่า เจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็น
พระนามของรัชกาลที่๓เอง ก่อนทรงขึ้นครองราชย์ ชึ่งถึงแม้ใน
สมัยนี้ก็คงถือเป็นเกียรติสูงสุดของผู้ได้รับนะคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 04, 08:47
 เคยอ่านพบในหนังสือเกี่ยวกับรัชกาลที่ 3  อย่างของคุณจุลลดา  ภักดีภูมินทร์ และเล่มอื่นๆ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเรียกเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า "พี่บดินทร์" ค่ะ ไม่ใช่" พี่สิงห์" ซึ่งเป็นนามเดิม

ที่ดิฉันไม่รู้สึกแปลกในชื่อ "พี่บดินทร์" เพราะการเรียกบุคคลด้วยชื่อย่อจากราชทินนาม แทนนามเดิม  หรือบวกนามเดิมไว้ข้างท้าย
เป็นการเรียกด้วยความยกย่อง ในตำแหน่งความสำคัญของบุคคลนั้น   ไม่ใช่การเรียกชื่อกันในสมาชิกครอบครัวเดียวกัน
และเหตุผลอีกอย่างคือชื่อเดิมของคนไทยเป็นชื่อง่ายๆ ซ้ำกันมาก    ผิดกับราชทินนามซึ่งซ้ำกันน้อยกว่า  พอเอ่ยแบบนี้ก็จะเข้าใจกันได้ง่ายกว่าว่าหมายถึงใคร
อย่างชื่อ "สุนทรภู่" ไงคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 16 มิ.ย. 06, 19:28
 ขุดกระทู้เก่าครับผม


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 19:36
จะเล่ารึไงคะ
.


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: พุดซ้อน ที่ 17 มิ.ย. 06, 11:45
 สนุกจังค่ะ เคยได้ยินชื่อพระเจ้าชาลมาญมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ติดใจอะไร จนได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ ชอบมากเลยค่ะ

จะรออ่านต่อนะคะ


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 06, 11:50
 พิมพ์เป็นเล่มแล้วค่ะ   ลองไปดูที่ศูนย์หนังสือจุฬานะคะ
เอ จะโดนข้อหาโฆษณาไหมเนี่ย


กระทู้: "ยุคกลางในยุโรป - นิทานพระเจ้าชาลมาญ"
เริ่มกระทู้โดย: พุดซ้อน ที่ 19 มิ.ย. 06, 10:11
 ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู
:)