เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:10



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:10
ภาพสัตว์หิมพานต์ส่วนใหญ่ เราจะพบได้ในภาพเขียนจากสมุดข่อยทั้งแบบเขียนสีและเขียนแบบขาวดำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามพระอุโบสถ วัดวาอารามและลวดลายแกะสลักไม้ ลวดลายปูนปั้นต่างๆ รวมทั้งลายรดน้ำบนตู้ลายทองต่างแม้งกระทั่งบนบานโบสถ์ วิหาร เป็นที่เชื่อได้ว่า ภาพสัตว์หิมพานต์เกิดมีมาแล้วก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังหลักฐานที่มีเรื่องราวปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่องไตรภูมิพระร่วง การที่ได้ชื่อว่าภาพสัตว์หิมพานต์ก็เพราะว่า คนไทยในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า มีสถานที่อนห่างไกลที่เป็นที่อยู่ของผู้มีคุณวิเศษต่างๆมนุษย์ธรรมดายากที่จะไปถึง ช่างศิลปะของไทยจึงได้เกิดความบันดาลใจ คิดดัดแปลงไปต่างๆผูกเป็นลวดลายอ่อนช้อยงดงามตามเอกลักษณ์ของไทย ขั้นแรกก็คงทำจากจินตนาการแล้วต่อมาก็ประดิษฐ์ให้รูปร่างแปลกประหลาดออกไปตามต้องการ โดยนำหัวสัตว์บกมาต่อกับสัตว์น้ำบ้าง สัตว์ปีกมาต่อกับสัตว์บกบ้างและให้ชื่อต่างๆกันไปดังที่เห็นในภาพ ภาพสัตว์หิมพานต์ชุดนี้เป็นภาพจากสมุดไทยดำ เป็นภาพร่างของการผูกหุ่นรูปสัตว์เข้ากระบวนแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านายบางพระองค์ ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่3 จึงมีรูปมณฑปสำหรับวางผ้าไตรสำหรับเป็นเครื่องไทยทานถวายพระประกอบอยู่ในรูปด้วย(รูปประกอบเกริ่นนำ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ผนังด้านหน้าพระประธาน ซึ่งวาดภาพป่าหิมพานต์ไว้ได้อย่างงดงามหาทีใดเปรียบ)และกระทู้นี้แม้ภาพประกอบจะเป็นขาวดำแต่อยากให้ผู้เข้ามาชมที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานเขียนสี งานปั้น งานแกะไม้ งานลายรดน้ำฯเข้ามาโพสต์ภาพอวดกัน เพื่อให้กระทู้นี้เป็นกระทู้รวมภาพสัตว์หิมพานต์ที่ดีกระทู้1ในเว็ปเลยครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:19
1.แรด(ระมาด)
            คำว่า “ระมาด” ในภาษาเขมรแปลว่าแรด ระมาดเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ มาจากสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริง แต่อาจจะเพี้ยนไปบ้าง เพราะระมาด หรือแรดเป็นสัตว์ ป่าหายาก ศิลปินไทยในสมัยโบราณไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว ระมาดหน้าตาเป็นอย่างไร จึงได้แต่วาดตามคำอธิบาย ระมาดที่ปรากฎในศิลปะไทยจึงดูคล้ายกับตัวสมเสร็จ ซึ่งมีจมูกเป็นงวงสั้นๆ ดูน่าจะเป็นพันธุ์ Malayan Tapir ที่มีอยู่ในเขตตะวันตกของประเทศไทย ตามประวัติศาสตร์แล้วคนไทยในกรุงเทพฯ มีโอกาส ได้เห็นแรดตัวจริงก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าเมืองน่านส่ง ลูกแรดถวายตัวหนึ่ง จากนั้นรูปแรดที่ในตำรา สัตว์หิมพานต์ก็ถูกยกเลิกไป ไม่เขียนแบบสมเสร็จอีก นอกจากนี้ ระมาดยังเป็นพาหนะทรงของพระอัคนี เทพเจ้าแห่งไฟ ของศาสนาฮินดูด้วย


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:30
2.ม้าผ่าน
       ม้าเป็นสัตว์ที่อยู่คู่มนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล ม้ามีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการทำงานหรือแม้กระทั่งการสงคราม นั่นกระมังที่ทำให้มีการวาดรูปม้า หรือมีเรื่องเล่าของม้าในเกือบทุกอารยธรรม สัตว์ประเภทม้าในตำนานหิมพานต์ก็มีไม่น้อยทีเดียว ถ้าเล่าก็จะเป็นเรื่องยาว น่าจะหาข้อมูลเอาได้ไม่ยากนัก จึงไม่ขอกล่าวถึง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:35
3.ช้างเผือกเขียว
ตำนานเกี่ยวกับช้างเผือกมีอยู่คู่คนไทยมาช้านาน ในตำนานพุทธประวัติ กล่าวว่าช้างเผือกนั้นคือสัญลักษณ์แห่งความรู้ และ การเกิด คืนก่อนวันประสูติของพระพุทธเจ้า พระมารดาของพระองค์ทรงสุบิณท์ ถึงช้างเผือก มอบดอกบัวให้พระนาง ดอกบัวอันหมายถึงความบริสุทธิ์และความรู้  ตำนานไตรภูมิ มีบทหนึ่งกล่าวถึงช้างเผือกว่า:" มหาราชมีครบซึ่งสิ่ง ๗ ประการ ภริยาที่สมบูรณ์ ขุมสมบัติคณานับ ผู้ปรึกษาแผ่นดินที่ดี ม้าที่วิ่งเร็ว กฎการปกครองที่ดี แก้วแหวนอันเป็นสิ่งสำคัญ และช้างเผือกที่สง่างาม"  เชื่อกันว่าช้างเผือกมีอิทธฤทธิ์เหนือช้างสามัญ ว่ากันว่ามีพลังดุจเทพแห่งสงคราม สำหรับกษัตริย์ของ ประเทศไทยและพม่าแล้ว การได้ครอบครองช้างเผือก เป็นอะไรที่สำคัญยิ่ง องค์ใดที่มีช้างเผือกหลายตัว จะเป็นกษัตริย์ ที่เกรียงไกร และจะนำพาบ้านเมืองสู่ความรุ่งโรจน์ หากช้างเผือกสิ้น ก็เป็นลางบแกเหตุเภทถัยแก่ ตัวกษัตริย์และแผ่นดินที่ปกครอง ราชันย์ในยุคก่อนจึงมุ่งมั่นที่จะได้ช้างเผือกมาอยู่ในความครอบครอง องค์ใดมีมากตัวก็สามารถให้ราชาเมืองอื่นเป็นของขวัญ เพื่อความเป็นมิตร ในบางคราก็มีการก่อสงครามแย่งชิงช้างเผือกก็มี  ในประเทศไทย ช้างเผือกเคยเป็นสัญลักษณของประเทศ เพราะเชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้ศักดิ์สิทธิ์ แม้ปัจจุบันความเชื่อนี้ก็คงอยู่ ในรูป เรียกว่าช้างเผือกเขียว จะยกตัวอย่างจากตำราดูช้างมีช้างตระกูลอัคนิพงศ์ ช้างศุภลักษณ์ชื่อ”เทพคีรี”ตามตำราว่าไว้ดังนี้
”ช้างหนึ่งทรงนามลักขณา สมบูรรณกายา ประเสริติพร้อมดูดี
 มีนามชื่อเทพคีรี กายนั้นดังศรี ภูเขาอันเขียวสดใส
 เป็นช้างมงคลฦาไกร ควรคู่แต่ไท ธิราชเจ้าธรณี"
จริงๆแล้วช้างสีเขียวในตำราช้างยังมีอีกมากมาย แต่ขอเอ่ยไว้แต่เพียงเท่านี้


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:38
4.ครุฑ
ครุฑ เป็นสัตว์หิมพานต์ ในเทพนิยายที่เราค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอตามที่ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นหน้าธนาคาร ห้างร้านบางแห่ง บนธนบัตร บนเรือพระที่นั่ง ฯลฯ โดยเฉพาะในสถานที่หรือทรัพย์สินทางราชการ วรรณกรรมหลายเรื่องก็มีการกล่าวถึงครุฑ เช่น เรื่องอุณรุท แต่ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็คือครุฑในเรื่องกากี อย่างไรก็ตาม  แม้คนส่วนใหญ่จะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับครุฑมาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าคงมีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยทราบประวัติของครุฑ ดังนั้น  กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องของ “ครุฑ” จากส่วนหนึ่งในสารานุกรมของเสฐียรโกเศศ ปราชญ์เอกของไทยมาเล่าให้ฟัง ดังนี้
            ครุฑ เป็นพญานกที่มีรูปครึ่งมนุษย์ ครึ่งนกอินทรี  เป็นเทพพาหนะของพระวิษณุ เป็นโอรสของพระกัศยปมุนี และนางวินตา  พระกัศยปมุนีเป็นฤษีที่มีอำนาจมากตนหนึ่ง  นอกจากนางวินตาแล้ว ก็ยังมีนางกัทรู ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาเป็นภริยาอีกคน  โดยนางกัทรูได้ขอพรจากสามีให้มีลูกจำนวนมาก และต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอลูกเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา  ต่อมานางได้คลอดลูกออกมาเป็นไข่สองฟอง คือ อรุณ และครุฑ  ซึ่งต่อมาอรุณได้ไปเป็นสารถีของสุริยเทพ   ส่วนครุฑเมื่อแรกเกิดว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ  เวลาขยับปีกทีใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย  รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ  ครั้งหนึ่งนางกัทรูและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทร โดยว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี  นางวินตาทายว่าม้าสีขาว แต่นางกัทรูทายว่าสีดำ   ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรูใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสและถูกขังอยู่ในแดนบาดาลถึงห้าร้อยปี  ทำให้ครุฑและนาคต่างก็ไม่ถูกกันนับแต่นั้น    ครั้นต่อมาครุฑได้ทราบความจริงถึงอุบายของนางกัทรู  แต่เพื่อช่วยแม่ให้เป็นอิสระ ครุฑจึงได้ทำความตกลงกับพวกพญานาคที่ต้องการเป็นอมตะว่าจะไปนำน้ำอมฤตที่อยู่กับพระจันทร์มาให้  ครั้นแล้วก็บินไปสวรรค์ คว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก  แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา และเกิดต่อสู้กันขึ้น แต่ทวยเทพทั้งหมดแพ้ครุฑ  ยกเว้นพระวิษณุเท่านั้นที่ไม่แพ้ แต่ก็แย่ไปเหมือนกัน  ดังนั้นต่างจึงทำความตกลงหย่าศึก  โดยพระวิษณุหรือพระนารายณ์สัญญาว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะ  และให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์  ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าขอเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า  นี่เองจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดครุฑจึงเป็นพาหนะของพระวิษณุ ส่วนหม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส  และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง  เมื่อครุฑเอาน้ำอมฤตไปให้นาคก็วางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคล ใช้ประพรมน้ำมนต์  ส่วนงูเมื่อเห็นน้ำอมฤตบนหญ้าคาก็ไปเลียกิน ด้วยความไม่ระวัง จึงถูกคมหญ้าคาบาดกลางเป็นทางยาว งูจึงมีลิ้นแตกเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้)   ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดีปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ  ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน และยิ่งเพิ่มความเป็นศัตรูกับครุฑยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ดี มีเรื่องเล่าต่อมาว่า จากการที่พระอินทร์ได้ให้พรครุฑ จับนาคเป็นอาหารได้นั้น ทำให้พญานาควาสุกรีเกรงว่านาคจะสูญพันธุ์ จึงตกลงจะส่งนาคไปให้ครุฑกินที่ชายหาด วันหนึ่งถึงคราวของนาคหนุ่มชื่อสังขจูทะ จะต้องไปเป็นเหยื่อ แม่ก็ตามมาด้วยความรักและอาลัย ขอรัองอย่างไรก็ไม่ยอมกลับ  วิทยาธรตนหนึ่งชื่อว่า ชีมูตวาหน เป็นผู้มีใจบุญสุนทานตัดแล้วซึ่งโลกีย์วิสัย ได้มาพบ ก็สอบถามได้ความแล้ว จึงเสนอตัวเองปลอมเป็นนาคให้ครุฑกินแทน ปรากฏว่าขณะที่ครุฑกำลังกินนาคปลอม แทนที่จะแสดงความเจ็บปวด ชีมูตวาหนกลับแสดงความปลื้มใจจนครุฑผิดสังเกตว่าต้องผิดตัวแน่   แต่สอบถามก็ไม่ยอมรับ ขณะนั้นเองนาคสังขจูทะก็ได้มาแสดงตัว ว่าตนคือเหยื่อของครุฑ เมื่อทราบความจริง ครุฑก็เกิดความสำนึกบาป และซาบซึ้งในความเสียสละของชีมูตวาหน    จึงวิ่งเข้าไปในกองไฟหมายจะฆ่าตัวตายเพื่อชำระบาป แต่ชีมูตวาหนได้ร้องห้าม  และว่าหากจะหยุดทำบาปก็ให้เลิกกินนาคเป็นอาหารต่อไป  ครุฑก็เชื่อและได้เหาะไปนำน้ำอมฤตมาประพรมกระดูกนาคที่ตนเคยจิกกินมาแต่กาลก่อน  จนนาคทั้งหมดได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่
            ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา  โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฎายุ  ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ ๑๕๐ โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น กาศยปิ และเวนไตย อันเป็นชื่อสืบมาจากกัศยปและวินตา บิดามารดา สุบรรณ หมายถึง ผู้มีปีกอันงาม ครุตมาน เจ้าแห่งนก  สิตามัน มีหน้าสีขาว รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย มีกายสีทอง  คคเนศวร เจ้าแห่งอากาศ  ขเคศวร  ผู้เป็นใหญ่แห่งนก  นาคนาศนะ ศัตรูแห่งนาค  สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์  เป็นต้น
            นอกจากตำนานข้างต้นแล้ว ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอีกหลายอย่าง  โดยเฉพาะการถือว่าครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์  ดังนั้น  ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์  จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์  ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น  ซึ่งจากการที่เราใช้ “ตราครุฑ” เป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล  ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆไปด้วย  เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ  ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า “ธงมหาราช” เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔  ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ ๓ ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค  เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค   และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน
            นอกเหนือจากการที่ “ตราครุฑ” ปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว   ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย  โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้  แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย  ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน ปัจจุบันการขอพระราชทานตราตั้งนี้ต้องยื่นคำขอต่อสำนักพระราชวัง  เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  ซึ่งตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล  สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานฯตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:40
5.นกเทศ
อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่านกกระจอกเทศ แต่ก็ไม่มีที่ยืนยันเพราะในรูปไม่มีส่วนใดคล้ายนกกระจอกเทศแต่อย่างใด มีแต่หน้าเป็นนกปากอย่างครุฑ มีหางอย่างไก่ มีสีหงชาด(แดงอ่อน)น่าจะเกิดจากจินตนาการของศิลปินผู้สร้างเป็นแน่


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:42
6.นกอินทรี
นกอินทรีหรือ Eagle เป็นนกขนาดใหญ่ที่มีอยู่จริงอยู่ในโลกปัจจุบันแต่ในป่าหิมพานต์ แตกต่างจากนกอินทรีในความจริงโดยสิ้นเชิง ตามจินตนาการของช่าง นกอินทรีในป่าหิมพานต์ มีสีเขียวอ่อนมีปีกและหางสีหงดิน(น้ำตาลอ่อน)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 21:49
7.นกหัสดิน(นกหัสดี ,นกหัสดีลิงค์)
     เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยายว่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ รูปตัวส่วนใหญ่เป็นนก เว้นแต่จงอยปากเป็นงวงอย่าง งวงช้าง ชื่อนกหัสดีลิงค์ไม่ค่อยปรากฎในเทวนิยาย คนส่วนมากทราบเรื่องนกขนาดใหญ่ในนิยายก็มี เช่น หงส์ พญาครุฑ นกหัสดิน สำหรับนกหัสดินบ้างก็ว่า รูปร้างเป็นนกทั้งตัว ใหญ่โต ขนาดโฉบเฉี่ยวเอาช้างในป่าไปกินเป็นอาหารได้ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับนกหัสดีลิงค์นกที่มีจงอยปากเป็นงวงช้างนี้(แต่ในรูปนี้มีงวงเป็นช้าง)ถ้าเป็นนกหัสดีลิงค์ ปรากฏในภาษาบาลีว่า หัตดีลิงค์สกุโณ (หัตดี คือ ช้าง ลิงค์ แปลว่า เพศ สกุโณ แปลว่า นก) ในภาษาสันสกฤต คือ หัสดิน ลิงคะ แปลอย่างเดียวกัน ไทยเลือกใช้คำว่า หัสดีลิงค์ แปลกที่คำนี้ไม่มีในปทานุกรม กรมตำรากระทรวงธรรมการ พิมพ์ พ.ศ.2470 ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 และ พ.ศ.2525 ค้นคว้าต่อไปพบในอักขราภิธานศรันท์ ของหมอปรัดเล พิมพ์ พ.ศ.2416 หน้า 328 และพบในปทานุกรม บาลีไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2513 หน้า 867 หรือแม้ในบาลีสยามอภิธานของนาคะประทีป เรียบเรียงไว้ พ.ศ.2465 ก็มีปรากฏคำนี้อยู่ แสดงว่าคนไทยเรารู้จักคำนี้มานาน พจนานุกรมภาคอีสาน - ภาคกลาง ฉบับปฏิธาน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส) ก็รักษาคำนี้ไว้ ชาวอีสานรุ่นเก่า รู้จักนกหัสดีลิงค์ โดยเหตุที่งานศพเจ้านายผู้ใหญ่ พระเถระผู้ใหญ่ หรืองานศพท่านผู้มีวาสนาบารมีสูงยิ่ง มักจัดงานศพโดยสร้างรูปนกหัสดีลิงค์ มีพิธีบวงสรวงก่อนสร้างรูปนก นกนั้นขนาดใหญ่ รองรับหีบศพได้ นิยมสร้างในวัดใกล้บ้านผู้ตาย จัดหาช่างและวัสดุเครื่องสังเวยให้พร้อม เพียงแต่เริ่มสร้าง ก็เป็นที่สนใจของคนทั่วไป นกนั้นสร้างแบบมีชีวิต เช่น หันศีรษะได้ งวงม้วนได้ ตากระพริบ หูกระดิก มีเสียงร้องได้ด้วย หลังนกมีที่ว่างพอสำหรับพระภิกษุนั่งอ่านคัมภีร์หน้าศพไปด้วย พิธีต้องจัดกระบวนญาตินุ่งขาวห่มขาวตามหลังศพ มีฆ้องดนตรีธงต่างๆ ถ้ามีเครื่องยศของผู้ตาย ก็ต้องเข้าขบวนด้วย
          เนื่องจากศพแต่ละงานมีฐานะต่างกัน บางงานกำหนดเผาที่วัด บางงานกำหนดเผาที่ทุ่งกลางเมือง การนำศพเคลื่อนจากที่ตั้งกระบวนไปยังที่เมรุ เขานิยมใช้ตะเฆ่รองรับฐานของนกหัสดีลิงค์ มีเชือก  3 สายผูกที่ฐานล่างของนกให้ญาติและชาวบ้านชักลากไป ถ้าเป็นศพเจ้าเมืองหรือศพพระเถระผู้ใหญ่สมัยเก่า เขาเล่ากันว่า คนทั้งเมืองมาช่วยกันลากศพนั้นๆผช้าๆ งานใหญ่ๆ เช่นนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ โรงทาน น้ำกินน้ำใช้ ต้องบริบูรณ์ตลอดงาน ครั้นศพถึงเมรุ ผู้เข้าพิธีในงานจัดกำลังไว้ยกนกหัสดีลิงค์ที่บรรจุหีบศพเข้าเทียบในเมรุ วัตถุประสงค์ในการทำนกหัสดีลิงค์ คือ นกใหญ่เช่นนั้น มีฤทธิ์กำลังมาก แสดงว่าผู้ตายมีบุญบารมีมาก จึงอยู่บนหลังนกนั้นได้ และเมื่อจะทำฌาปนกิจ ต้องมีพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เสียก่อนประชุมเพลิง ลำดับงานอย่างเช่น เมื่อศพเทียบเมรุแล้ว สวดอภิธรรม มีสมโภชน์ศพตามกำลังของเจ้าภาพและญาติ จนกระทั่วถึงกำหนดวันประชุมเพลิง เจ้าพิธีจัดเครืองบวงสรวงเชิญผู้ที่กำหนดตัวเป็นผู้ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ผู้จะฆ่านก ต้องฟ้อนรำตรงไปที่ตัวนก รำไปรอบตัวนก 3 รอบ แล้วใช้ศรยิงไปที่ยังตัวนก เขาสมมุติกันแล้วว่า จะเสียบลูกศรเข้าไปจุดใดของนก ทำเครื่องหมายไว้ พอลูกศรเสียบตัวนก คนที่เตรียมไว้ภายในตัวนก จะเทสีแดงออกมาจากรอยลูกศร คนภายในตัวนกจะส่งเสียงร้อง แล้วการเคลื่อนไหวของนกจะช้าลงจนหยุดนิ่ง คือ นกตายไปแล้ว ในท้องนกเขาเตรียมฟืนไว้แล้ว เจ้าพิธีเลื่อนหีบศพลงชิดกองฟืน ทอดผ้าบังสุกุล แล้วประชุมเพลิงตามอย่างงานทั่วไป
ขอพักไว้แค่นี้ก่อน เมื่อวานไข้ขึ้น วันนี้ก็ไม่ค่อยสบายตัวทั้งวัน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 พ.ย. 09, 23:20
กำลังหยุดอยู่ที่สัตว์ปีกพอดีเลย เลยเอาภาพนี้มาลงเพิ่มเติมตามเจตนารมย์ของพี่ยีนส์ที่อยากรวบรวมภาพสัตว์หิมพานต์ไว้ในกระทู้นี้
เป็นรูปจำหลักไม้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นรูปสัตว์ปีกชนิดหนึ่งแต่ปนเปกับสัตว์อื่นหลายชนิด แต่ด้วยเพราะความจำสั้น
จำไม่ได้ว่าเขาเขียนอธิบายไว้ว่าอะไรต้องขออภัยด้วยครับ 


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 พ.ย. 09, 23:37
ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ละเอียดๆด้วยครับ และขอให้หายไวๆ รักษาสุขภาพด้วยครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 23:40
รูปของน้องเนเป็นม้าผสมนกเรียก อัสดรวิหค เป็นม้าผสมที่เกิดจากม้าและนก ร่างกายเป็นม้ามีสีเหลืองเป็นสีพื้น ส่วนหัวเป็นนก มีขนคอเป็นสีส้มแดง ปีกมีสีแดงชาด กีบและหางมีสีดำ อัสดรวิหคสามารถ เหาะเหินเดินอากาศได้เพราะ ปีกที่มีพละกำลังมหาศาล เช่นเดียวกับม้าผสมประเภทมีปีกเช่น ม้าปีกและดุรงค์ปักษิณ อัสดรวิหคเป็นสัตว์ที่กิน ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร อาหารหลักของอัสดรวิหคได้แก่ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ตัวเล็กๆ และ เมล็ดพืช


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 23:43
รูปที่2ของน้องเน นกเทศหรือนกอินทรี 2นกนี้คล้ายกันมาก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 16 พ.ย. 09, 23:51
8.หงส์
            เป็นนกในป่าหิมพานต์ มีเสียงไพเราะ ผิดกับหงส์หรือ swan ของฝรั่งซึ่งเป็นสัตว์ปีกที่อยู่ในน้ำ ขนมีสีขาวหรือสีดำ และไม่มีเสียง หงส์ของไทยซึ่งได้คติความเชื่อมาจากเทพปกรณัมอินเดีย ว่าเป็นพาหนะของพระพรหม เป็นนกที่มีรูปงาม มีศักดิ์สูง มักถือตัว ไม่คบหาปะปนกับนกอื่น หงส์จึงมักนำมาใช้เปรียบเทียบชั้นของบุคคลที่มีชาติกำเนิดและมีศักดิ์สูง ซึ่งต้องรักษาเกียรติของตนไว้ไม่ทำให้มัวหมอง รูปหงส์นิยมทำเป็นประติมากรรมประดับพุทธศาสนสถาน เช่น ประดับหน้าบัน ประดับหัวเสา ทำแท้ทวย ทำเป็นราวเทียน หรือ ทำเป็นเรือ เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ส่วนจีนก็มีนกทิพย์ เรียกในสำเนียงแต้จิ๋วคล้ายกันว่า หง มีลักษณะแตกต่างจากหงส์ของอินเดีย ฝรั่งแปล หง ของจีนว่า phoenix หงเป็นนกที่มีลักษณะคล้ายพญาลอ ตามรูปที่นิยมวาดเป็นรูปครึ่งนกยูงครึ่งพญาลอ มีสีสลับกันเป็นห้าสี หงเป็นเครื่องหมายของพระราชินีของจีน ส่วน phoenix เป็นนกในนิยายของฝรั่ง อาศัยอยู่ในทะเลทรายอาหรับ มีอายุยืน ๕-๖ ศตวรรษ แล้วจะเผาตัวเองไหม้เป็นเถ้าถ่าน และเถ้านั้นจะกลับกลายเป็นนก phoenix หนุ่มตัวใหม่ซึ่งจะมีอายุยืนต่อไปอีก ๕-๖ ศตวรรษ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 00:09
9.อัปสรสีหะ
           มักเขียนเป็นรูปมนุษย์ผู้หญิงครึ่งบนช่วงล่างเป็นกวาง เป็นจินตนาการของช่างอีกอย่างหนึ่ง เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระพี่นางฯที่ผ่านมาก็มีการทำอัปสรสีหะประกอบพระเมรุด้วยแถมยังทำใส่นาฬิกหน้าฝรั่งเสียด้วยจนถูกเรียกว่าลูกครึ่ง

         




กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 00:16
10.นกทัณฑิมา
            เป็นนกที่มีหัวเป็นนก ตัวเป็นครุฑ มีไม้เท้าหรือกระบอง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า “นกทัณฑิมาเป็นนกในพวกสัตว์หิมพานต์ รูปเป็นครุฑ ถือกระบอง” ไทยจัดเป็นสัตว์ในนิยาย ภาพจิตรกรรมที่วาดรูปนกทัณฑิมาเป็นรูปนกที่มีมือที่ปลายปีกเหมือนครุฑ แต่มีหัวและหน้าเป็นนก เนื่องจากเป็นนกที่มีอาวุธติดตัว จึงได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ที่คอยคุ้มกันอันตราย เช่น เมื่อทำลายเสื้อ ก็ให้หมายความว่า นกทัณฑิมาจะคุ้มครองผู้ที่สวมใส่ให้พ้นอันตราย เป็นต้น ในภาษาบาลีมีกล่าวถึงชื่อนกทัณฑมานวก แต่เพียงว่าเป็นนกตัวเล็กนิดเดียว ปากยาวดุจไม้เท้า เที่ยวจดจ้องหาปลาอยู่ตามหนองบัว


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:14
11 นกการวิก
           นกการวิก หรือ นกกรวิก จะหมายถึง นกสองประเภท ประเภทแรกเป็นนกในนิยาย เชื่อว่าเป็นนกชนิดเดียวกับนกวายุภักษ์ในป่าหิมพานต์ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากบนเขาชื่อเขากรวิก ซึ่งล้อมรอบเขาพระสุเมรุชั้นที่ 3 บินได้สูงเหนือ เมฆ มีเสียงร้องที่ไพเราะ
อีกประเภทหนึ่งเป็นนกชนิดที่มีตัวตนจริง ๆ มีชื่อเรียกว่า ปักษาสวรรค์ (Birds of paradise) หรือนกการเวก จัดอยู่ในวงศ์ Paradisaeidae มีจำนวนทั้งหมด 43 ชนิด ลำตัวค่อนข้าง อ้วนป้อมมีขนาดเท่านกเอี้ยงจนถึงอีกา ความยาวลำตัวรวมทั้งหาง 12.5- 100 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อนในที่ราบต่ำจนถึงยอดเขา พบมี จำนวนชนิดมากที่สุดบนเกาะนิวกินีและมีอีกไม่กี่ชนิดในหมู่เกาะโมลุกกัส และบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
           นกการเวกมีทั้งชนิดที่กินผลไม้ ใบไม้และน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหารและชนิดที่กินแมลงและสัตว์เล็กๆ อื่นๆเป็นอาหาร พฤติกรรมการ ผสมพันธุ์ วางไข่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด พวกที่อยู่เป็นคู่จะช่วยกันทำรังและดูแลลูกในรัง ส่วนพวกที่นกตัวผู้มีขนสีสวยกว่านกตัวเมียมาก มักมีนกตัวเมียหลายตัว และนกตัวเมียเป็นผู้ดูแลลูกนกแต่เพียงตัวเดียว รังของนกการเวกก็แตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดเช่นเดียวกัน สร้างรังเป็นรูป ถ้วยด้วยใบไม้ ใบเฟิร์น กิ่งไม้ และเถาวัลย์บนง่ามไม้หรือในโพรงไม้ วางไข่ สีครีม สีเทา หรือสีชมพู และมีจุดประสีน้ำตาลแดง ครั้งละ 1-3 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 17-21 วัน ลูกนกจะอยู่ในรังนาน 17-30 วัน นกการเวก ตัวผู้จะโตเต็มที่เมื่อมีอายุได้ 4-7 ปี
             เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีของนกการเวกคือความหลากหลายในการแสดงพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของนกตัวผู้ เพื่อให้นกตัวเมียตกลงปลงใจจับคู่ อยู่ด้วย บางชนิดใช้การเกาะอยู่กับที่แล้วห้อยหัวลงพร้อมทั้งแพนขนปีกและ ขนหางที่ยาวกว่าปกติออก แล้วกระพือหรือสั่นไปมาพร้อมกับส่งเสียงร้อง ไปด้วย บางชนิดลงไปกางปีกและหางบนพื้นดิน
             ในอดีตนกการเวกถูกล่าเพื่อเอาขนที่สวยงามไปใช้เป็นเครื่อง ประดับหมวกในทวีปยุโรป ปัจจุบันได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด ยกเว้น การล่าด้วยอาวุธโบราณของชาวพื้นเมืองเพื่อเอาขนไปประดับร่างกายใน การทำพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้น เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ยังคงมีการลักลอบ ล่านกการเวกแล้วสตัฟฟ์ส่งออกขายอยู่เนืองๆ นอกจากนี้พื้นที่ป่าที่อาศัยก็ลด ปริมาณลงไปอีกด้วย เนื่องจากการขยายพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เมือง



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:18
12.เหมราช
ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เหมราชเป็นสัตว์ผสมที่มีร่างเป็นสิงห์ส่วนหัวเป็นเหม เหมเป็นสัตว์ในวรรณคดีไทยชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามีลักษณะเหมือนหงส์ (ห่าน) แต่ในบางรูป ก็วาดเหมเหมือนสัตว์ตระกูลจระเข้





กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:21
13.ทักทอ
           ทักทอเป็นสัตว์ประหลาดอีกชนิดแห่งโลกหิมพานต์ มีกายท่อนล่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นช้าง ผู้อ่านมักสับสนกับคชสีห์ เพราะทั้งคู่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จุดต่างของสัตว์ทั้งสองคือ ทักทอมีเครา และผมตั้งไปข้างหน้า


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:25
14.โตพิน
           โตพิน หรือโต มีลักษณะคล้ายสิงห์แต่ส่วนหัวมีเขา ๒ เขา ว่ากันว่าชื่อ โตพินนี้ได้มาจากชื่อสัตว์ในตำนานของประเทศลาว


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:37
15.สิงหะ
           เข้าใจว่าหมายถึงสิงห์,สิงโตหรือราชสีห์นั่นเอง ตามตำราว่ามีกายสีม่วงอ่อน
ที่จัดเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ คงเป็นเพราะสิงห์เป็นสัตว์ที่ดูสง่า และน่าเกรงขาม สิงห์ในตำนานหิมพานต์สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ ชนิดหลักๆ คือ ราชสีห์ และ สิงห์ผสม ราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังสูง ราชสีห์มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ และ ติณสีหะ ส่วนสิงห์ผสมนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกติสิงห์ผสมคือสัตว์ประสมที่มีลักษณะของ ราชสีห์กับสัตว์ประเภทอื่นซึ่งจะมีระบุในรูปต่อๆไป


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:40
16.สกุณไกรสร
                 สกุณไกรสรมีผิวกายเป็นสีน้ำตาล(หงดิน) ส่วนหัวเป็นเหมือนนก ส่วนตัวเป็นสิงห์ยังมีสัตว์อีกชนิดในป่าหิมพานต์ที่คล้ายคลึงกับ สกุณไกรสร นั่นก็คือ ไกรสรปักษา ข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ทั้ง ๒ ชนิดคือ สกุณไกรสรไม่มีปีกเหมือนไกรสรปักษา



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:43
17.กาฬสีหะ
                 กาฬสีหะ เป็น ๑ ใน ๔ ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ นอกจากนี้ยังเป็นราชสีห์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น กาฬสีหะมีกายดำสนิท และใหญ่ราวโคหนุ่ม (คำว่า "กาฬ" แปลว่าดำ)
              ถึงแม้กาฬสีหะจะกินเฉพาะพืช แต่ก็ใช่ว่าจะมีกำลังวังชา ด้อยไปกว่าราชสีห์ชนิดอื่น ราชสีห์ทุกชนิดมีเสียงคำราม อันทรงพลัง ในตำนานกล่าวว่าเพียงเสียงคำรามของราชสีห์ก็สามาารถทำให้ สัตว์อื่น เจ็บได้


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:47
18.เกษรสีหะ
                เกสรสีหะ,เกสรสิงห์ หรือกาสรสิงห์ เป็นสิงห์ืี่มีส่วนผสม ระหว่างราชสีห์ กับสัตว์ประเภทวัวควาย เกษรสิงหะมีผิวกายสีเทาแบบนกเขา ร่างเป็นแบบสิงห์ แต่มีเท้าเป็นกีบเหมือนเท้าควาย


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:53
19.คชสีหะ
               คชสีหะหรือคชสีห์ เป็นสิงห์ผสมที่มีกายเป็นสิงห์ และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวว่าคชสีห์มีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม คชสีห์มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต์อีกชนิดหนึ่งชื่อทักทอ



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:57
20.ติณณสีหะ
             ติณสีหะตามตำราฉบับนี้ว่ามีกายสีเขียวอ่อนแต่บางตำราว่ามีกายสีแดง เป็นราชสีห์อีกชนิดที่กินแต่พืชเป็นอาหาร ลักษณะเด่นอีกอย่างของ ติณสีหะคือมีเท้าเป็นกีบแบบม้า


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 16:59
21.บัณฑุราชสีห์
               บัณฑุราชสีห์ เป็น ๑ ใน ๔ ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ บัณฑุราชสีห์มีผิวกายสีเหลืองและ เป็นสัตว์กินเนื้อ บัณฑุราชสีห์จัดได้ว่าเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่  สัตว์ที่ถูกล่ามีตั้งแต่สัตว์ประเภทกวาง ควาย ช้าง หรือแม้แต่มนุษย์ ในเอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับป่าหิมพานต์ระบุว่า มี ร่างกาย เหมือนสีใบไม้เหลืองและใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 17:02
22.ไกรสรราชสีห์
                  ในตำนานพระเวสันดร มีตอนหนึ่งกล่าวถึงไกรสรราชสีห์ ในเรื่องบรรยายว่าเป็นสัตว์ทรงพลัง กายเป็นสิงห์ มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บเป็น สีแดงดั่งผ้ารัตนกัมพล
                 ไกรสรราชสีห์เป็น ๑ ใน ๔ ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ ในตำนานกล่าวว่าไกรสรราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังแรงกล้า กายสีขาว เป็นนักล่าชั้นเยี่ยมและกินสัตว์ใหญ่น้่อยเป็นอาหาร


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 17:07
23.โลโต
          โลโต มีร่างกายเป็นสิงห์สีน้ำตาล(หงดิน) ลักษณะเด่นคือมีเท้าแบบกรงเล็บ ชื่อโลโต เป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลก ไม่ทราบว่าจริงๆแล้วแปลว่าอะไร แต่ในภาษาจีนคำว่า โลโต แปลว่าอูฐ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 17:37
24.กิเลน
              กิเลนเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ได้รับมาจาก ประเทศจีน เช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิดในจีน กิเลนตัวผู้กับตัวเมีย มีชื่อเรียก ไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีชื่อเรียกว่า "กิ" ส่วนตัวเมียเรียกว่า "เลน" โดยทั่วไปเรียกโดยรวมว่า กิเลน
             ในตำนานจีน กิเลนมีหัวเป็นมังกร มีเขาเดียว (เขาแบบกวาง) มีร่างกายแบบกวาง แต่ผิวปกคลุมไปด้วยเกล็ด หางเหมือนหางวัว และมีกีบเหมือนม้า สัตว์วิเศษนี้ประกอบไปด้วบเบญจธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ กล่าวกันว่า กิเลนมีชีวิตยืนยาวหลายพันปี  บางตำนานก็กล่่่าวว่า ตัวผู้เท่านั้นที่มีเขา บ้างก็ว่ามีหลายเขา แทนที่จะเป็นเขาเดี่ยว กิเลนเป็นสัตว์นำโชค และเป็นหนึ่งในสี่ สัตว์วิเศษของจีน สัตว์วิเศษอีก ๓ ชนิดของจีนคือ นกหงส์ มังกร และ เต่า
             ตำนานเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้มีอยู่ในประเทศอื่นด้วยเช่น ประเทศญี่ปุ่น และ เกาหลี ในญี่ปุ่น เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า คิริน ตามเวปไซต์ www.pantheon.org คิรินคือม้าเขาเดี่ยวของญี่ปุ่น เป็นสัตว์เทวะที่ปราบปรามความชั่ว คอยปกป้องคนดี และมอบความโชคดี ให้คนเหล่านั้น การได้เห็นคิริน นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล
            ในไทยเองก็มีรูปกิเลนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และมีรูปลักษณ์ต่างออกไป โดยมี ๓ แบบคือ กิเลนจีน กิเลนไทย และ กิเลนปีก
           ตำราฉบับนี้น่าจะเป็นกิเลนไทย แม้ว่ากิเลนจะได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน วัดหลายแห่ง ในไทยก็มี กิเลนเช่นกัน แบบฉบับของกิเลนไทย แตกต่างจากแบบจีนบ้าง โดยปกติแล้ว กิเลนไทยมีเขา ๒ เขา มีเครา และมีกีบคู่ ต่างจากแบบดั้งเดิมของจีน
 


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 17:43
25.งายไส
          งายไส เป็นสัตว์ผสมชนิดหนึ่งในป่าหิมพานต์ ชื่อ งายไสนั้น เป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลก ที่มาของ ชื่อนี้ยังไม่ทราบว่ามาจาก ไหนและแปลว่าอะไร แต่ในตำนานได้บรรยายว่า งายไส มีลักษณะผสมระหว่างสิงห์กับม้า โดยมีหัวเป็นสิงห์ มีเขาบนหน้าผาก ๒ ข้าง บ้างก็เชื่อว่างายไสมีหัวเป็น กิเลน มีลักษณะแบบม้าจากช่วงคอลงมา มีสีเขียวคราม เป็นสีพื้น งายไสเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร
         สัตว์ที่ งายไส ล่าเป็นเหยื่อ มีตั้งแต่สัตว์เล็กจนไปถึงสัตว์ใหญ่ บางครั้งก็ล่ามนุษย์เป็นอาหาร คนส่วนใหญ่มักจำ งายไส สลับกับ ดุรงค์ไกรสร เพราะสัตว์ทั้ง ๒ ประเภทมีร่างเป็นม้าและมีส่วนหัว เป็นสัตว์ประเภทสิงห์ จะต่างก็เพียงแต่หัวของดุรงค์ไกรสรไม่มีเขา   


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 17:50
26.สิงโตจีน
              สิงโตจี็นเป็นสัตว์ที่ไทยเราได้มาจากประเทศจีน สิงโตจีนโดยปกติ จะมีขนปกคลุมยาวต่างจากสิงห์ชนิด อื่น ในประเทศไทย ท่านสามารถพบสิงโตจีนได้ทั่วไปตามวัดวาอาราม หรือ แม้กระทั่งศาลเจ้่าจีนเกือบทุกแห่ง ในตำรานี้ตัวเป็นสิงโต หน้าและหัวแบบสิงโตจีน ลายขนไหล่แบบลายจีนlสีตัวพื้นเหลือง   



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:00
27.อสุรวายุภักษ์
                 อสุรวายุภักษ์ ครึ่งนกยักษ์ครึ่งนกอินทรีย์ ลำตัวท่อนบนเป็นยักษ์ ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎน้ำเต้า มีกาบรับบัวแวง แต่ในตำรานี้เขียนเป็นมงกุฎยอดชัย ท่อนล่างเป็นนกอินทรีย์ พื้นกายสีน้ำเงินบางตำราว่าสีเขียว ในขบวนแห่เรือทางชลมารค มีเรื่อชื่อ อสุรวายุภักษ์ จัดเป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือกระบวนเขียนลายทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และมีการซ่อมแซมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฎอยู่ทุกครั้งที่มีการเห่เรือ



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:17
28.มัจฉานุ
               มัจฉานุ เป็นลูกของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา เนื่องจากเป็นลูกของ หนุมานจึงได้มีร่างกายเป็นลิง แต่มีหางเป็นปลาเช่นเดียวกับ นางสุพรรณมัจฉา แต่เมื่อนางสุพรรณมัจฉา ได้คลอด มัจฉานุด้วยการสำรอกออกมาแล้ว เกรงว่าทศกัณฑ์จะรู้ว่าเป็นลูกตน จึงได้นำ มัจฉานุไปทิ้งไว้ที่หาดริมทะเล หลังจากนั้น ไมยราพณ์ ซึ้งเป็นเจ้าเมืองบาดาลได้เดินทางมาพบและเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งภายหลัง หนุมานที่ได้ตามติด ไมยราพณ์ซึ่งลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล จึงได้พบกับมัจฉานุซึ่งทำหน้าที่เฝ้าด่านสระบัวอยู่ทั้ง 2 จึงได้ต่อสู้กัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้เสียที จึงได้ถามมัจฉานุว่าเป็นลูกใครพ่อแม่ชื่ออะไร เมื่อได้ยินคำตอบของมัจฉานุหนุมานก็ดีใจมากเมื่อได้พบลูกของตนบอกว่าตนเป็นพ่อแต่มัจฉานุหาเชื่อไม่ จนต้องเหาะขึ้นไปหาวเป็นดาวเป็นเดือนจึงเชื่อเพราะแม่บอกไว้ เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาครั้งที่ 2 และศึกกรุงมลิวัน มัจฉานุจึงได้รับแต่งตั้งเป็น พญาหนุราช ครองกรุงมลิวัน การที่ช่างรวมมัจฉานุอยู่ในประเภทของสัตว์หิมพานต์นั้น คงเพราะเป็นสัตว์ผสมของลิงกับปลาอันเกิดจากจินตนาการนั่นเอง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:27
29.ดุรงคไกรสร
                  ดุรงคไกรสรหรือดุรงค์ไกรสร มีลักษณะคล้ายกับ โตเทพอัสดร กล่าวคือทั้งคู่ เป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงห์กับม้า ตามตำนาน ดุรงค์ไกรสรมีกายเป็นม้าสีแดง มีหางสีดำ กีบสีดำเหมือนม้า ส่วนหัวเป็นสิงห์ที่มีลักษณะสง่า ชื่อ “ดุรงค์ไกรสร” มาจากคำบาลีโบราณ ๒ คำคือ “ดุรงค์” ซึ่งคือสายพันธุ์หนึ่งของม้า และคำว่า “ไกรสร” ซึ่งก็คือสิงห์นั่นเอง  ดุรงค์ไกรสรเป็็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร อาหารที่กิน ก็คือสัตว์นานาชนิดในป่าหิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นกวาง หรือวัวควาย ลักษณะเด่นของดุรงค์ไกรสรคือ สามารถวิ่งได้เร็วดุจม้าและ มีความแข็งแรงอย่างสิงห์


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:30
 30.อัสดรวิหค
                  อัสดรวิหค เป็นม้าผสมที่เกิดจากม้าและนก ร่างกายเป็นม้ามีสีเหลืองเป็นสีพื้น ส่วนหัวเป็นนก มีขนคอเป็นสีส้มแดง ปีกมีสีแดงชาด กีบและหางมีสีดำ อัสดรวิหคสามารถ เหาะเหินเดินอากาศได้เพราะ ปีกที่มีพละกำลังมหาศาล เช่นเดียวกับม้าผสมประเภทมีปีกเช่น ม้าปีกและดุรงค์ปักษิณ อัสดรวิหคเป็นสัตว์ที่กิน ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร อาหารหลักของอัสดรวิหคได้แก่ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ตัวเล็กๆ และ เมล็ดพืช


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:38
31.สินธพกุญชร
                   มีกายเป็นม้าสีเขียว แต่ส่วนหัวกลับเป็นช้าง อย่างคชสีห์ เรียกง่ายๆว่า ม้าหัวช้าง  ตัวเป็นม้า ขาและหางเป็นม้า หัวเป็นคชสีห์ พื้นกายสี เขียวอ่อน ปทัดหลัง-หาง-กีบ ดำ   



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:43
32.ไกรสรจำแลง
                  ไกรสรจำแลงมีหัวแบบมังกร และมีร่างเป็นราชสีห์ (สิงโต) จิตรกรบางท่านเรียกไกรสรจำแลงว่า "ไกรสรมังกร" ซึ่งมีความหมาย ตรงตัวว่ามังกรสิงห์


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 18:51
33.อสุรปักษา
                 อสุรปักษา ครึ่งยักษ์ครึ่งนกบางทีว่าเป็นไก่ตัวผู้ ลำตัวท่อนบนเป็นยักษ์ ปากอ้าตากลม สวมมงกุฎหางไก่ ท่อนล่างเป็นนก(ไก่) มีปีกและหางเป็นนก(ไก่) พื้นกายสีเขียว ปีกและหางแดง สามารถบินได้เร็ว กินสัตว์และมนุษย์เป็นอาหารอย่างยักษ์



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:03
34.เทพนรสิงห์
                   เทพนรสิงห์หรือนรสีห์มีลักษณะเป็นมนุษย์ผู้ชายผสมกวางคือ บางส่วนเป็นมนุษย์ บางส่วนเป็นกวางหรือเนื้อทรายคือมีเท้าเป็นกีบอย่างอัปสรสีหะ ในประเทศไทยก็มีรูปของอัปสรสีหะ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่พอจะดูลักษณะได้ใกล้เคียงกับเทพนรสิงห์(เป็นคนละอย่างกับนรสิงห์ที่เป็นพระนารายณ์อวตาร ถ้าดูแต่ชื่ออาจสับสนได้)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:34
35.เทพกินนร
             เทพกินนรหรือกินนร คล้ายกับ กินรี  คือเป็นสัตว์หิมพานต์จำพวกหนึ่งที่รูปลักษณะครึ่งคนครึ่งนก เพียงแต่กินนรจะเป็นมนุษย์ผู้ชาย กินรีจะเป็นมนุษย์ผู้หญิง มีถิ่นอาศัยแถบเชิงเขาไกลลาศ...ต้นกำเนิดที่แท้จริงเป็นมาอย่างไรนั้น ยังไม่พบตำราไหนกล่าวไว้ชัดเจน..แต่ในเทวะประวัติของพระพุธ(เทวดานพเคราะห์)กล่าวไว้ว่า  เมื่อท้าวอิลราชประพาสป่าแล้วหลงเข้าไปในเขตหวงห้ามของพระศิวะนั้น..ท้าวอิลราช และบริวารถูกสาปให้แปลงเพศเป็นหญิงทั้งหมด ต่อมานางอิลา คือ ท้าวอิลราชถูกสาป และบริวารที่มาเล่นน้ำอยู่ใกล้อาศรมของพระพุธ ... พระพุธเห็นนางเข้าก็ชอบ รับนางเป็นชายา และเสกให้บริวารของนางกลายเป็น กินรี โดยบอกว่าจะหาผลาหารให้กิน และจะหากิมบุรุษให้เป็นสามี ... แสดงว่า กิมบุรุษ หรือ กินนร และกินรี มีต้นกำเนิดมาจากการเสกของพระพุธ
                 ในหนังสือของ  พี.ธอมัส กล่าวว่า..ที่เชิงเขาเมรุเป็นที่อยู่ของคนธรรพ์ กินนร และนักสิทธิ์..และว่าคนธรรพ์กับกินนรเป็นเชื้อสายเดียวกันในภัลลาติชาดก  กล่าวว่า..กินนรมีอายุ ๑,๐๐๐ ปี และธรรมดากินนรนั้นย่อมกลัวน้ำเป็นที่สุด ... ซึ่งน่าจะขัดแย้งกับอุปนิสัยกินนรในเรื่องพระสุธน..เพราะนางมโนห์รา  ชอบไปเล่นน้ำที่สระกลางป่าหิมพานต์ จึงถูกพานบุญดักจับตัวได้..และในกัลลาติชาดก ยังได้แปลงพวกกินนรออกเป็น ๗ ประเภท คือ
-  เทวกินนร - เป็นพวกเทพกินนร ครึ่งเทวดาครึ่งนก(รูปตามตำราน่าจะหมายถึงพวกนี้)
- จันทกินนรา - จากนิทานชาดก เรื่องจันทกินรี มีรูปกายเป็นคน แต่มีปีก
- ทุมกินนรา - น่าจะเป็นพวกอาศัยอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้
- ทัณฑมาณกินนรา - ชนิดนี้น่าจะมีอะไรคล้ายๆ นกทัณฑิมา ซึ่งเป็นนกปากยาวดุจไม้เท้าอยู่บนใบบัว
- โกนตกินนรา - เดาไม่ถูกว่ากินนรที่มีลักษณะใด
- สกุณกินนรา - น่าจะเป็นกินนรที่มีร่างท่อนบนเป็นคนท่อนร่างเป็นนกคล้ายกับเทพกินนรแต่จะมีส่วนนก    มากกว่า
- กัณณปาวรุณกินนรา – เดาลักษณะไม่ถูกว่าน่าจะเป็นแบบใด
              ในจำนวน ๗ ประเภทนี้ ไทยเราคุ้นเคยก็คงจะเป็นพวก เทวกินนร ตามความเชื่อในวรรณคดีไทย พวกกินนรมีหลายแบบหลายลักษณะ เช่น เรื่องลักษณวงศ์ของสุนทรภู่... พระลักษณวงศ์ก็ได้นางกินรี ห้าพี่น้องที่อาศัยอยู่ในถ้ำเป็นชายา และในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์..เป็นพวกที่ตั้งบ้านเมืองหลักแหล่ง..ตอนสมุทรโฆษได้พระขรรค์วิเศษ  ได้พานางพินทุมวดีเหาะไปเที่ยวป่าหิมพานต์ จนถึงเมืองกินนรในเชิงเขาไกรลาศ...
ในวรรณคดีไทย ซึ่งไม่ค่อยพูดถึงกินรี ( เพศชาย )ที่เราเรียกว่ากินนร จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นอย่างเทวดาฝรั่ง”คิวปิด”น่าจะจัดได้ว่าเป็นเทพกินนรได้เหมือนกัน



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:41
36.มยุรเวนไตย
                 ลำตัวเป็นครุฑ หน้าและหัวเป็นนกยูง แขนและขาเป็นครุฑ หางเป็นนกยูง พื้นกายสีครามอ่อน ปีกหางสีหงชาด(แดงอ่อน)



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:45
37.สีหะคักคา
                 สีหะคักคาหรือ สิงหคักคา มีกายเป็นเกล็ดสีม่วงเข้ม(แก่) แม้จะมีส่วนหัวและตัวเป็นสิงห์ กลับมีเท้าเหมือนช้าง ช้างก็ช่างจินตนาการจนดูเป็นพิลึก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:51
38.สิงหรามังกร
                           สิงหรามังกรหรือสีหรามังกร สิงห์ชนิดนี้มีหัวเป็นมังกร มีร่างเป็นสิงห์สีน้ำตาล(หงดิน)ที่ตัวมีลายวนทักษิณาวรรต คนทั่วไปมักจำสิงหรามังกรสับสนกับไกรสรจำแลงที่เป็นครึ่งมังกรครึ่งสิงห์คล้ายกัน
     


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 19:55
39.กิเลนจีน
                ในตำนานจีน กิเลนมีหัวเป็นมังกร มีเขาเดียว (เขาแบบกวาง) มีร่างกายแบบกวาง แต่ผิวปกคลุมไปด้วยเกล็ด หางเหมือนหางวัว และมีกีบเหมือนม้า สัตว์วิเศษนี้ประกอบไปด้วบเบญจธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ กล่าวกันว่า กิเลนมีชีวิตยืนยาวหลายพันปี
                พจนานุกรมจีน อธิบายกิเลนต่างออกไป ว่า กิเลนมีหัวเหมือนสุนัข แต่มีกายเป็นกวาง หางเป็นวัว กีบเหมือนม้า มีขนแผงคอหลากสี ขนใต้ท้องมีสีเหลือง มีสีกาย ๕ สี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว และ ดำ ตัวผู้มีเขา ๑ เขา ส่วนตัวเมียไร้เขา กิเลนสามารถเดินบนผิวน้ำได้
                มีเรื่องเล่าว่า สมัยราชวงศ์เมง ชาวจีนได้เห็นยีราฟเป็นครั้งแรก-ราวปี พ.ศ. ๑๙๕๗ จิตรกรจีนได้วาดภาพยีราฟไว้และเขียนกำกับชื่อภาพว่า กิเลน อาจเป็นเพราะยีราฟมีรูปร่างแปลก แถมยังมี เขาอ่อนเหมือนกวางบางชนิด



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 17 พ.ย. 09, 20:20
40.กิหมี
             ไม่มีที่ใดกล่าวถึงกิหมีเลยเท่าที่สืบค้น เท่าที่พิจารณาจากรูป เป็นสัตว์ผสมระหว่างกิเลนอย่างจีนกับสิงห์คือตัวมีลาย วนทักษิณาวรรตอย่างราชสีห์ หัวเป็นกิเลนจีน แต่อุ้งเท้างุ้มดูคล้ายหมีและเหมือนอุ้งเท้าของสิงหรามังกร คือเล็บงุ้มเข้า มูลเหตุใดจึงเรียกว่ากิหมีคงต้องสืบค้นกันต่อไป หากท่านใดทราบจะช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
              จบตัวที่40ขอพักก่อนครับ ปวดตาเหลืออีก 36ตัว ใครมีรูปสัตว์ตัวใดจะนำมาแทรกประกอบเรียนเชิญครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 11:53
41.ม้ารีศ
              ม้ารีศหรือมารีศเป็นลูกของนางกากนาสูร มีพี่น้องร่อมอุทรเดียวกัน คือสวาหุ เป็นยักษ์ที่ได้ชื่อว่ากลัวพระรามมาก เพราะเมื่อ ครั้งสู้รบกับพระราม พระลักษมณ์ เพื่อแก้แค้นแทนแม่ที่ ถูกพระรามแผลงศรจนตาย แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เมื่อเห็นสวาหุพี่ชายต้องศรพระรามตาย อารามตกใจแล เห็นพระรามมีสี่กร จึงเหาะหนีไป แต่กระนั้นก็ยังถูกทศกัณฐ์ บังคับให้แปลงเป็นกวางทองไปล่อนางสีดาออกมาจากอาศรม นางสีดาเมือเห็นกวางทองก็ทูลขอให้พระรามจับให้ พอจับได้ พระรามก็รู้ทันทีว่าเป็นมารีศจึงแผลงศรต้องกายมารีศ แม้มารีศจะเจ็บแทบขาดใจก็ยัง ทำเสียงเป็นพระราม ร้องหลอกให้พระลักษมณ์ตามมาดู ทศกัณฐ์จึงลัก นางสีดาไปโดยง่าย จากนั้นมารีศก็ขาดใจตาย ในรูปเขียนร่างกายช่วงบนเป็นยักษ์มงกุฎกระหนกช่วงล่างเป็นกวางกางเป็นอย่างราชสีห์ถือกระบองยักษ์ดูพิสดารยังไงอยู่


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 11:58
42.อัสดรเหรา
                อัสดรเหราเป็นสัตว์ผสมระหว่างสัตว์ตระกูลม้าและเหรา ในตำรากล่าวว่ามีผิวกายสีม่วงอ่อน สัตว์ตระกูลเหรานั้น บางทีก็วาดเหมือนจระเข้ บ้างก็วาดออกมาเหมือนมังกร


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:07
43.โตเทพสิงหะ
               น่าจะเป็นตัวเดียวกับโตเทพสิงฆนัต เป็นสัตว์ตระกูลสิงห์ มี กายสีน้ำตาล ชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาจากคำว่า โต และ สิงฆนัต ทั้งสองคำ มีความหมาย พ้องกันคือ แปลว่าสิงโต แต่ถ้าพิจารณาจากรูปแล้วสัตว์ชนิดนี้น่าจะเป็นสิงโตจีนผสมกับมังกรอย่างจีนเพราะมีเขาอย่างมังกรหน้าผสมทั้งสิงโตจีนและมังกร ช่างได้จินตนาการจยเกืดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่งดงามยิ่งนัก



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:14
44.สุบรรณเหรา
                   ตัวเป็นนกแบบครุฑ หัวเป็นเหรา แข้งขาเป็นสิงห์ ขนหางเป็นนก พื้นกายสีม่วงหรือเขียวอ่อน บางตำราว่าเป็นการผสมระหว่างครุฑกับนาค ซึ่งเป็นสัตว์ไม่ถูกกัน กลายเป็นเรื่องประหลาดไป แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกหิมพานต์



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:20
45.นาคาปักษิณ
                    นาคาปักษิณหรือนาคปักษิณเป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก คือเอาส่วนหัวของ "นาค" มาผสมกับส่วนตัวของ "ปักษิณ" ซึ่งแปลตามตัวว่า สัตว์มีปีก ก็คือนกนั่นเอง "นาค" มีความหมายหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงงูใหญ่ในนิยาย ซึ่งเรามักเรียกกันว่า "พญานาค" พญานาคตามทัศนะของจินตกวีและช่างเขียนเป็นงูใหญ่ประเภทมีหงอนและเครา ตามนิยายโบราณมักจะกล่าวถึงพวกนาคมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เสมอ เรื่องของพญานาคมีที่มาเป็นสองทาง คือทางลัทธิพราหมณ์กับทางพุทธศาสนา พญานาคทางลัทธิพราหมณ์ออกจะถือกันว่าเป็นเทวดาแท้ ๆ เช่น พญาอนันตนาคราช และท้าววิรุฬปักษ์ (ดูหนังสือ "เทวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย") ว่าถึงที่อยู่ของพวกนาค ก็มีทั้งที่อยู่บนบกและอยู่ในน้ำ อย่างพญาวาสุกรี ที่อยู่เมืองบาดาลก็ไม่ใช่ในน้ำ เป็นเมืองที่อยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปอีกชั้นหนึ่ง นาคทางคัมภีร์พุทธศาสนามักอยู่ในโลกมนุษย์เรานี้ อยู่ในโพรงบ้าง ในถ้ำบนบกบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อย่างพญานาคชื่อภูริทัต ในมหานิบาตชาดก ก็อยู่บนบก แต่ตามเรื่องไทย ๆ เราว่า พญานาคอยู่ในน้ำกันมาก นาคพิภพที่ว่าอยู่ใต้ดินนั้น มีกล่าวในไตรภูมิพระร่วงว่า "แต่แผ่นดินดันเราอยู่นี้ลงไปเถิงนาคพิภพ อันชื่อว่าติรัจฉานภูมินั้น โดยลึกได้โยชน์ ๑ แล ผิจะนับด้วยวาได้ ๘๐๐ วาแล" นาคปักษิณ หัวเป็นนาค มีหงอน ส่วนท่อนหางเป็นแบบหางหงส์ เพื่อให้รับกับส่วนหัว


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:27
46.กบิลปักษา
                   กบิลปักษา กะบิลปักษา หรือ พานรปักษา มาจาก พานรหรือวานร แปลว่า ลิง และ ปักษา แปลว่า นก รวม หมายความว่า ครึ่งลิงครึ่งนก ในภาพไม่ใช่ภาพลิงธรรมดา แต่เป็นลิงใหญ่ทรงเครื่อง เพื่อเล่นลวดลายได้ และโดยเหตุที่ลิงชอบผลไม้ ช่างจึงให้ถือต้นไม้มีผล(บางตำราว่าถือมะม่วงและชมพู่ )ทำให้น่าดูยิ่งขึ้น ที่พิเศษก็คือในบางตำราถือว่า ทั้งลิงทั้งนกต่างก็มีหาง ผู้เขียนภาพเสียดายหางลิงไม่กล้า ตัด ก็เลยทำให้มีทั้งสองอย่าง เมื่อหางลิงตวัดขึ้น หางนก หรือหางไก่ก็ห้อยลง แต่ในตำราฉบับนี้มีหางเป็นอย่างนกหรือไก่และมีปีกอย่างนก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:44
47.ไกรสรนาคา
                   ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ ไกรสรนาคาเป็นสิงห์ผสมที่มีส่วนประกอบของนาคด้วย หางเหมือนสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ตัวมีลักษณะคล้ายสิงห์ แต่มีเกล็ดแข็งปกคลุมทั่วกาย


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:51
48.เหมราอัศดร
                 เหมราอัสดรมีรูปกายเป็นม้า ส่วนหัวเป็นเหม ตัวเหมนั้น บางที่ก็วาดออกมาเป็นแบบนกหงส์ บางที่ก็วาดออกมา ปากเหมือนสัตว์ประเภทจระเข้ ตามรูปนั้นส่วนหัวที่เป็นเหมนั้นก็คือหงส์อย่างไทยนั่นเอง อย่าจำสับสนกับสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่ชื่อกลับกันเรียกว่าอัสดรเหราเพราะตัวเป็นม้าเหมือนกันแต่หัวไม่เหมือนกัน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:55
49.สินธพนที
                สินธพนทีหรือสินธพนัทธี เป็นสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลสาป คำว่าสินธพนัทธีหมายถึงม้าแม่ น้ำ โดยรากศัพท์แล้วมาจาก คำว่าสินธพ หมายถึง ม้า พันธุ์ดีจากบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญ สายหนึ่งในประเทศอินเดีย ส่วนคำว่า “นที” มีความ หมายตามตัวว่าน้ำ ม้าสินธพนี้มีกำลังและฤทธิ์เดชมาก สามารถวิ่งไปบน ใบบัวได้ โดยที่ใบบัวไม่สั่นแม้แต่น้อย คำว่า “สินธุ” เองเป็นชื่อเมืองโบราณในอินเดียด้วย คาดว่าเมืองสินธุก็คือ รัฐสินธุในปัจจุบันนั่นเอง เหตุที่ ใช้ชื่อเมืองนี้คงเป็นเพราะเมืองนี้ มีชื่อเสียงทางม้า ม้าดีจึงมีชื่อว่า สินธพ สินธพนัทธี มีตัวเป็นม้า หางเป็นปลา พื้นสีขาว ครีบและหางมีสีแดงชาด


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 12:58
50.วารีกุญชร
               คนทั่วไป มักจำวารีกุญชรสลับกับกุญชรวารี เพราะสัตว์หิมพานต์ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีรากศัพท์มาจากคำ บาลี ๒ คำที่เหมือนกัน เพียงแต่คำเรียงลำดับสลับกัน เท่านั้น รากศัพท์ทั้ง ๒ ที่กล่าวถึงคือคำว่า “วารี” มีความหมายตามตัวว่าน้ำ โดยปกติจะใช้แทนน้ำทะเล และคำว่า “กุญชร” ซึ่งแปลว่าช้าง สัตว์ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นสัตว์ประสม ระหว่างช้างกับปลา เราสามารถแยกแยะระหว่าง วารีกุญชรและกุญชรวารีได้ค่อนข้างง่าย โดยที่วารีกุญชรนั้นมีร่างกายเกือบทั้ง ตัวเป็นช้าง จะมีก็แต่อวัยวะบางส่วนที่กลายมาจาก สัตว์ประเภทปลาเช่น ครีบบนแผ่นหลัง ครีบเท้า และครีบหาง ส่วนกุญชรวารีนั้น มีช่วงตัวท่อนแรกเป็นช้าง ช่วงหลัง เป็นปลา กล่าวคือกุญชรวารี มีเท้าเพียง ๒ ข้าง ลำตัวและหางเป็นปลาหมด สัตว์ทั้ง ๒ มีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเล สามารถว่ายและดำ น้ำได้ดีเยี่ยม



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:03
51.กิเลนปีก
              กิเลนปีกดูแปลกตากว่ากิเลนอีก ๒ ชนิด โดยกิเลนปีก ไม่มีเขาแม้แต่เขาเดียว แต่มีปีกคล้ายนก ๑ คู่ อีกอย่างที่ผิดแผกไป ก็คือเท้าที่เป็นกรงเล็บ ไม่เหมือนเท้าแบบกีบเหมือนกิเลนอีก ๒ ชนิด


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:10
52.เสือปีก
               ลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นนกยูง หัวเป็นเสือ ลำตัวมีลายเสือโคร่ง พื้นกายเหลือง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:21
53.หงส์จีน
             คล้ายไก่ฟ้ามีขนคอเป็นพวง ขนหางยาว  พื้นกายสีหงเสน

               แต่ถ้าพูดถึงหงส์อย่างของจีนนั้น หงส์ของจีน ถือเป็นสัตว์ในเทพนิยายที่มีลักษณะแปลกประหลาดมาก เป็นนกที่มีคุณลักษณะเหนือธรรมชาติ เพราะแม้จะมีรูปร่างเป็นนกแต่เป็นนกที่พิเศษสุด เนื่องจากเอาลักษณะบางอย่างมาจาก นกเหยี่ยว นกอินทรี ไก่ฟ้า นกยูง นกตะกรุม นกกระสา นกกระยางขาวใหญ่ และนกอื่นๆ อันล้วนเป็นนักชั้นยอด เป็นนกวิเศษเหนือนกทั้งปวง เป็นราชาแห่งนก มีสีสันสวยงาม เป็นหนึ่งตามจินตนาการและความเชื่อของคนจีน

       หงส์เป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์ที่คนจีนมีความปีติชื่นชอบมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีรูปร่างสวยงาม สะโอดสะอง มีความอ่อนหวาน มีบุคลิกสีสันคล้ายผู้หญิง มีความสุภาพเป็นผู้ดี ชาวจีนเรียกว่า "เฟิ่งหวง" หงส์เป็นดั่งเทพเจ้าสามารถหยั่งรู้ความสุข ความทุกข์ ความวุ่นวายในโลกมนุษย์ได้ หงส์จึงมักจะมาปรากฏตัวต่อเมื่อบ้านเมืองสงบสุข แผ่นดินมีคนดีมาเกิด

       ตามความเชื่อเรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำทิศของคนจีน หงส์เป็นสัตว์ที่มีหน้าที่ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นสัญลักษณ์แห่งฤกษ์งามยามดีในวิถีชีวิตของคนจีน จึงกลายเป็นปกติสามัญที่จะได้พบรูปหงส์ในงานศิลปะจีนและในงานหัตถกรรมทั่วไป และมีคำกล่าวอวยพรที่ได้ยินอยู่เสมอ เช่น "ขอเทพเจ้ามังกรและเทพหงส์อำนวยพรให้ท่านจงโชคดี"

       ตามหลักฮวงจุ้ย หงส์เป็นนกที่มีความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ 1 ใน 4 ชนิดที่ถูกกำหนดให้ดูแลรักษาทิศใหญ่ของโลก กล่าวคือ หงศ์สีแดงเข้มอยู่ประจำทิศใต้ มังกรสีฟ้าสดหรือสีน้ำเงินอยู่ประจำทิศตะวันออก เสือขาวอยู่ประจำทิศตะวันตก และเต่าดำหรืองูดำอยู่ประจำทิศเหนือ
คุณลักษณะของหงส์
กล่าวกันว่า หงส์ เป็นนกที่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาจากนกที่มีความสำคัญหลายชนิดด้วยกัน คือ

หัว ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากไก่ฟ้า

หงอน ได้มากจากนกเป็ดหงส์

จงอยปาก ได้มาจากนกนางแอ่น

หลัง ได้มาจากเต่า

หาง ได้มาจากสัตว์จำพวกปลา
            ซึ่งนับว่าแปลกมากที่ได้แบบอย่างมาจากสัตว์น้ำด้วย มิใช่เอามาจากสัตว์ปีกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม โดยมากเราก็จะเห็นหงส์มีส่วนประกอบของนกยูง และไก่ฟ้าหางยาวอยู่เป็นอันมาก ดังจะพบว่ามีจำนวนหลายสี และเป็นมันเลื่อมสวยงามตลอดทั้งตัว ขนส่วนหางมี 12 เส้น และขนหางแต่ละขนมี 5 สี คือ แดง ม่วง เขียว เหลือง และขาว บางตำราจึงได้แบ่งนกหงส์ออกเป็น 5 ชนิด คือ ชนิดขนแดง ขนสีม่วง ขนสีเขียว ขนสีเหลือ และขนสีขาว และชนิดสีขาวเรียกกันโดยทั่วไปว่า ห่านฟ้า

       ชาวจีนเรียกหงส์ว่าเฟิ่งหวง เป็นนกที่มีความสูงราว 5 ศอก หากดูด้านหน้าคล้ายกับห่านป่า มองด้านหลังคล้ายกับกิเลนหรือสัตว์ผสมลูกครึ่ง ส่วนคอดูคล้ายกับงูคือกลมเรียวยาว มองหางคล้ายกับหางปลา ขนดูคล้ายเกล็ดมังกร ส่วนหลังดูคล้ายเสือ เหนียงคอดูคล้ายนกนางแอ่น ลำคอและจงอยปากคล้ายไก่ตัวผู้

       หงส์ตามปกติจะหากินอยู่บนภูเขาในป่าไกลโพ้น เรียกกันว่า "เขาแดง" คล้ายในป่าหิมพานต์ไม่มีใครไปถึง เป็นนกที่ไม่กินแมลงที่มีชีวิต ไม่จิกกินต้นไม้อ่อนที่ยังเขียวสดอยู่ จะกินอาหารเพียงแต่เมล็ดดอกต้นไผ่เท่านั้น และกินน้ำหวานที่เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ มีเสียงร้อยคล้ายกับเสียงสวรรค์อันแปลกประหลาด บ้างว่าคล้ายเสียงขลุ่ย ไม่อยู่เป็นกลุ่มหรือเป็นฝูง ไม่บินเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ อาศัยอยู่แต่เพียงบนต้นไม้ซึ่งมีชื่อว่า ต้นหวู-ถุง ซึ่งแวดล้อมตกแต่งด้วยดอกไม้รูปคล้ายกระดิ่ง ใบใหญ่ ใบมันจะงอกแตกโตเร็วและร่วงในฤดูในไม้ร่วง ออกผลแพร่พันธุ์ในช่วงทำขนมไหว้พระจันทร์ หรือเทศกลางกลางฤดูใบไม้ร่วงเดือน 8

       หงส์เป็นนกที่สามารถหยั่งรู้ความเป็นไปในโลกล่วงหน้า จนกระทั่งเมื่อยามใดบ้านเมืองมีสันติสุขอย่างแท้จริง หงส์จึงจะออกมาปรากฏตัวให้เห็นในเส้นทางที่ไม่มีใครรู้ร่องรอย และขณะเมื่อหงส์บินออกมานั้นจะมีบรรดานกต่างๆ บินตามมาเป็นขบวนเป็นฝูงใหญ่ยาวมาก หงส์มีความเมตตากรุณาคล้ายกิบกิเลน ไม่เคยเจ็บป่วยเป็นอันตรายใดๆ ยกเว้นแต่งูที่มีพิษอาจทำอันตรายได้

       หงส์มีอายุยืนยาวประมาณ 500 ปี จากนั้นก็จะบินตรงไปยังดวงอาทิตย์เพื่อให้ความร้อนแผดเผาร่างกายเป็นเถ้าถ่าย เป็นการบูชายันต์ตนเอง หงส์หนุ่มสาวเมื่อเกิดมาได้ 3 วัน มันก็จะบินจากไปอาศัยอยู่ที่อื่นเป็นอิสระโดดเดี่ยว จนกว่าจะมีอายุได้ 500 ปี จึงสิ้นอายุขัย ด้วยเหตุนี้นกหงส์จึงถือว่าเป็นผลิตผลจากดวงอาทิตย์และไฟ
ความหมายสิริมงคลของหงส์
หงส์ของจีนเป็นสัญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์และความอบอุ่นสำหรับฤดูร้อนและฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ และเป็นเครื่องหมายที่คุณงามความดี ตามนิทานเล่าว่า หงส์มาปรากฏตัวในครั้งที่นักปราชญ์ขงจื๊อเกิดพอดี หงส์ได้กลายเป็นส่วนร่วมของการทำพิธีเคารพบูชาระหว่างสมัยราชวงศ์ฮั่น และการกล่าวอ้างการมาเยือนของหงส์เกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อการที่จะป่าวประกาศว่าการปกครองแผ่นดินในแต่ละรัชกาลนั้นประผลสำเร็จด้วยดี จึงมีคำกล่าวเกี่ยวกับหงส์หลายสำนวน เช่น

หงส์สำแดงฤทธิ์เหมือนผู้นำมาซึ่งการเกิดอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์

หงส์จะลงสู่พื้นดินเพียงแต่เมื่อมีบางสิ่งที่แวดล้อมอยู่นั้นมีค่าพอ

หงส์นำมาซึ่งความมั่งคั่งโภคทรัพย์

เมื่อหงส์ปรากฏโลกจะยินดีต่อสันติภาพอันยิ่งใหญ่ และสะดวกสบาย

สัญลักษณ์ลักทธิเต๋า คือ สัญลักษณ์หงส์เก้าตัวสำหรับทำลายล้างความสกปรก

สัญลักษณ์งานมงคลสมรสหงส์คู่มังกร

      มีการจัดคู่สัตว์ที่แน่นอนตามรูปแบบสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลในวัฒนธรรมจีนที่สำคัญที่สุดกว่าอะไรทั้งหมด คือ คู่ของมังกรกับหงส์พร้อมด้วยไข่มุก ซึ่งจะเห็นบ่อยครั้งในบัตรเชิญแต่งงาน สิ่งสำคัญอย่างแท้จริงในสัญลักษณ์หงส์กับมังกรคือ "หงส์คู่มังกรขอให้มีโชคลาภสถาพร"

      สาเหตุที่ใช้หงส์คู่มังกรในพิธีแต่งงานของชาวจีน คือ มังกรเป็นภาพสมมติให้เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายผู้มีพลังอำนาจ ขณะที่หงส์เป็นตันแทนแห่งเพศหญิง อันถือเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ในการจับคู่เปรียบเทียบที่ได้จากหงส์และมังกรมี 5 ประการ คือ

มังกร (ด้านซ้าย) หงส์ (ด้านขวา)

ความรู้หรือความฉลาด ความงดงาม นิ่มนวล

ประสบการณ์ เป็นธรรมชาติ

การฝึกหัด มีเหตุผล

ความสุขุม ความสามารถทางเสี่ยงโชค

ความอดทน มีชีวิตอันควรเคารพ






กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:28
54.สางแปรง
                สางแปรงมีกายเป็นสีเหลือง และมีเท้าเป็นแบบกรงเล็บ คำโบราณไทยให้ความหมายของคำว่า "สาง" ไว้หลายแบบ บ้างก็แปลว่าเสือ บ้างก็แปลว่าช้าง มีรูปหล่อสำริดของตัวสางแปรงนี้ตั้งอยู่รอบกำแพงแก้วพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)ท่าเตียน ไปหาดูได้


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:34
 55.คชปักษา
                เป็นลักษณะของนกผสม มีตัวและแขนคล้ายครุฑ  ท่อนล่างเป็นนกคล้ายหงส์ หางเป็นกนก มีจมูกเป็นงวงและงาเหมือนช้าง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:39
56.สกุณเหรา
              ตัวเป็นนก หัวเป็นมังกร มีเขา หางกระหนก ขาและเท้าเหมือนครุฑ พื้นกายสีหงดิน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:46
57.มังกรวิหค
                มังกรวิหคเป็นสัตว์๔ ขา ที่มีลักษณะของ มังกร นก และวัว ผสมกัน ส่วนหัวมีลักษณะของมังกร ส่วนตัวเป็นวัว มีสีม่วง มีปีกและหางเหมือนนก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:50
58.สิงหพานร
                  สิงหพานรมีขนกายสีแดง ช่วงบนมีลักษณะเป็นวานรหรือลิง ส่วนช่วงล่างและหางมีลักษณะของสิงห์ แต่ช่วงเท้ากลับมี ลักษณะเหมือนอุ้งเท้าลิง พื้นกายสีหงชาด


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 13:55
59.มยุรคนธรรพ์
                 มยุรคนธรรพ์ มีหัวและตัวเป็นคนธรรพ์ ขาและหางเป็นนกยูง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 14:01
60.ไกรสรปักษา
                   ไกรสรปักษา เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนก. ตามรูปโบราณ ไกรสรปักษามีกายสีเขียวอ่อน หัวเป็นเหมือนพญาอินทรี ตัวเป็นดั่งราชสีห์แต่มีเกล็ดคลุม นอกจากนั้นยังมีปีกเหมือนนกอีกด้วย
ขอพักก่อนเหลืออีก17ตัว


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: ฉันรักบางกอก ที่ 18 พ.ย. 09, 14:32
สุดยอดแห่งจินตนาการ ขอบพระคุณสำหรับภาพ และความรู้เช่นเคย

หายไวๆเหมือนกันคะ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:07
61.ไก่เสฉวน
              ตัวเป็นนกคล้ายไก่ฟ้า หัวมีหงอน สร้อยขนหางยาว พื้นกายสีจันแก่


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:08
62.สินธุปักษี   
                 ตัวเป็นนกอย่างครุฑ เท้าสิงห์ มีหางและครีบเป็นปลา พื้นกายสีน้ำเงิน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:09
63.ไก่ฮกเกี้ยน
                  ตัวเป็นนก มีสร้อยหางเป็นครึ่งนกครึ่งปลา หัวเป็นนก  พื้นกายสีหงชาด


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:13
รูป61กับ62อีกที


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:15
หวัดดีจ๊ะน้องแพร หายนานแล้ว แต่ยังจนอยู่ ค้าขายเงียบเหงามากๆ

64.ไก่ตั้งเกี๋ย
                    ครึ่งไก่ครึ่งนก ตัวเป็นไก่ มีขนสร้อยคอเป็นพวง สร้อยหางเป็นนก ปลายหางยาว   
 พื้นกายสีเหลืองอ่อน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:16
65.พานรมฤค
                 พานี, วานร แปลว่า ลิง เหมือนกัน คือในบาลีและสันสกฤตใช้ว่า วานร ไทยเรามาแผลง ว เป็น พ จึงเป็นพานร ถ้าเป็นหัวหน้าลิงก็ใช้ว่า พานรินทร์ คือ พญาลิง ในรูปก็เป็นพญาลิง(องคต) ไม่ใช่ลิงธรรมดา พานรมฤค เป็นสัตว์ประเภทเดียวกันกับเทพนรสิงห์, นรสีห์ คือท่อนล่างเป็นสัตว์ประเภทมีกีบ คำว่า "มฤค" มีความหมายกว้าง คือหมายถึงสัตว์ป่า มีกวาง อีเก้ง เป็นต้น ถ้าเป็นตัวเมีย ก็ใช้ว่า มฤคี แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น มฤคราช, มฤคินทร์, มฤเคนทร์ ก็หมายถึง ราชสีห์ กลาย เป็นสัตว์ร้ายมีอำนาจขึ้นมาทันที ไม่ดูขลาดเหมือนกวาง เหมือนอีเก้ง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:17
66.ดุรงคปักษิณ
                 ตามตำราดุรงคปักษิณหรือดุรงค์ปักษิณ คือม้าที่มีปีกและหางเหมือนนก มีกายสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนขนคอ กีบและหางมีสีดำสนิท คำว่าดุรงค์ไกรสรมาจากคำ ๒ คำคือ ดุรงค์ ซึ่งคือหนึ่งในสี่สายพันธุ์ม้าและ ปักษิณ ที่แปลว่านก
                สัตว์หิมพานต์อีกชนิดที่เหมือนสัตว์ชนิดนี้คือ ม้าปีก ทั้งคู่คล้ายกันมากจะต่างก็เพียงแต่ม้าปีก มีหางดุจดั่งม้าทั่วไป หาใช่หางแบบนกไม่


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:18
67.กรินทปักษา
                          กรินทปักษาหรือ กรินทร์ปักษา หรือช้างบินมีผิวกายที่ดำสนิท ส่วนปีกและหางเป็นอย่างนกและมีสีแดงชาด ปีกและ หางช่วยให้กรินทร์ปักษาสามารถบินได้อย่างคล่อง แคล่วและรวดเร็ว นอกจากส่วนปีกและหางแล้ว กรินทร์ปักษามีลักษณะ ที่ไม่ต่างจากช้างทั่วไปนัก โดยมีงาคู่หนึ่งเอาไว้ใช้ใน การปกป้องตัว และหักกิ่งไม้หรือพืชผัก ส่วนงวงมีไว้หยิบจับสิ่งของ ดื่มน้ำ ดมกลิ่นและทำให้เกิดเสียงร้อง คาดว่ากรินทร์ปักษาเมื่อโตเต็มที่ จะมีช่วงตัวยาวประ- มาณ ๓.๓ เมตร (๑๑ ฟุต) และหนักประมาณ ๕.๔ ไม่รู้ใครคำนวนไว้เหมือนกันแต่จะดูใหญ่กว่าช้างปัจจุบันพอประมาณ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:19
68. มังกรสกุณณี
                      เป็นสัตวผสมระหว่างมังกรอย่างจีนกับนก โดยมีส่วนหัวเป็นมังกรมีปีกและหางอย่างนก ขาเป็นกรงเล็บอย่างมังกร


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:20
69.โตเทพอัสดร
                  โตเทพอัสดร เป็นสัตว์หิมพานต์แบบผสมระหว่างสิงโตกับม้า มีลักษณะทั่วไปเหมือนดุรงค์ไกรสร กล่าวคือมีหัวเป็นสิงโต และมีร่างเป็นม้า แต่เมื่อพิจารณาลึกๆแล้วมีความแตกต่างจาก ดุรงค์ไกรสร โดยโตเทพอัสดรมีร่างกายเป็นม้าสีแสด หางและกีบสีแดงชาด หัวเป็นสิงโต คอ หลังและขนสร้อยคอสีเขียว คำว่า “อัสดร” มาจากภาษาสันสกฤต “อสฺสตร” หมายถึง ม้าดี หรือสัตว์ผสมที่เกิดจากพ่อที่เป็นลา และแม่ที่เป็นม้า โตเทพอัสดรเป็นสัตว์ล่าเนื้อเป็นอาหารเช่นเดียวกับ ดุรงค์ไกรสร สัตว์ที่เป็นเหยื่อของโตเทพอัสดรมีตั้งแต่ สัตว์เล็กสัตว์น้อย จนไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่ ในป่าหิมพานต์เช่นกวาง วัว ควาย


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:23
70.ทิชากรจัตุบท
                    ทิชากรจตุบทเป็นสิงห์ที่มีลักษณะของนก คำว่า จตุบท มาจากคำว่า จตุแปลว่า๔ และคำว่า บท มาจากคำว่า บาท ซึ่งหมายถึง เท้า ส่วนคำว่า ทิชากรแปลว่านก ในตำราบรรยายว่าสัตว์ชนิดนี้มีกายสีเขียวอ่อน ส่วนหางมีสีเหลือง


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:24
71.พยัคฆไกรสีห์
                               พยัคฆไกรสีห์หรือพยัคฆ์ไกรสรมีส่วนผสมระหว่างสิงห์กับเสือ ส่วนหัวมีลักษณะเหมือนเสือลายพาดกลอน หรือเสือเบงกอล ส่วนตัวเป็นแบบสิงโต ตามจริงแล้วในโลกมนุษย์ ก์็มีสัตว์ที่มี ลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ "Liger-ไลเกอร์" (สัตว์ลูกผสมที่มีพ่อเป็นสิงโต และมีแม่เป็นเสือ) หรือ "Tigon-ไทกอน" สัตว์ลูกผสมที่มีพ่อเป็นเสือ และมีแม่เป็นสิงโต)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:25
72.สีหคาวี
               สิงหคาวีมีลักษณะคล้สายกับ ไกรสรคาวี ทั้งคู่เป็นสัตว์ผสมที่มีหัวเป็น วัว และมีตัวเป็น สิงห์ แต่จะต่างกันที่หางคือถ้าเป็นสีหะคาวีหางจะเป็นสิงห์ ไกรสรคาวีมักเขียนหางเป็นอย่างม้า


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:26
73.พยัคฆเวนไตย
                            พยัคฆเวนไตย มีลักษณะผสมของเสือ ครุฑ และหงส์ โดยมีศรีษะเป็นเสือ ร่างกายเป็นครุฑ(เวนไตย)และมีหางอย่างหงษ์ไทย พื้นกายสีเหลืองแก่ ปีกและหางสีเขียว


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:28
74.กุมภีนิมิต
เป็นสัตว์ผสมระหว่างเทวดาผู้ชายกับจระเข้มีลักษณะตัวเป็นเทพ ท่อนล่างเป็นจระเข้
มีหางอย่างจระเข้ มือถือดาบ พื้นกายสีขาว หางและเท้าสีม่วงแก่


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:28
75.ไกรเทพปักษี
ลักษณะตัวเป็นเทวดาผู้ชาย มีปีกและหางเหมือนนกปีกจะติดอยู่ตรงสะโพก มีขนบริเวณข้อมือจนถึงข้อศอก
รวมทั้งบริเวณขาด้วย พื้นเหลืองตัวขาว ปีกและหางสีหงษ์ชาด(หงชาด)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:43
76.สีหสุบรรณ
                 เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ครุฑ โดยมีศรีษะเป็นสิงห์ส่วนร่างกายทั้งหมดเป็นครุฑ ส่วนของหางเป็นอย่างหงษ์ไทย พื้นกายสีหงชาด ปีกและครีบสีเขียว หางสีทอง
                 
                 จบแล้วครับ สมุดภาพชุดนี้ผมสแกนจากหนังสือสมุดภาพสัตว์หิมพานต์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2525 คงจะหายากเต็มทน เลยเห็นสมควรเอามาเผยแพร่ ส่วนข้อมูลประกอบนั้นมีที่มาจากหลายที่แต่ที่มีหลายละเอียดครบถ้วนน่าจะเป็นเว็ป http://www.himmapan.com ต้องขออนุญาตมาณ.ที่นี้ด้วย ส่วนท่านที่ต้องการอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์มากขึ้น ก็แนะนำให้ไปหาหนังสือ สัตว์นิยาย และสัตว์หิมพานต์ ของ ส.พลายน้อยอ่านประกอบก็จะสนุกมากขึ้น สัตว์หิมพานต์ในหนังสือเล่มนี้มีแค่76ภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีสัตว์หิมพานต์อันนอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้อีกอยู่มาก หากใครมีรูปมีข้อมูลจะนำมาเสนอให้กระทู้สมบูรณใช้อ้างอิงได้ก็จะขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:47
เอ้ เครื่องท่านอื่นเป็นเหมือนผมมั๊ยครับที่รูปไม่ขึ้น ขอเพิ่มเติมรูปที่73-74อีกทีครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 18 พ.ย. 09, 15:48
อ้อ รู้แหละพอคลิกที่รูปมันก็ขึ้น โทษทีครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 21 พ.ย. 09, 13:44
กระทู้นี้ไม่ค่อยมีใครสนใจเลย ไม่เป็นไร คงเพราะรูปเป็นขาวดำ จะทยอยเอารูปสัตว์หิมพานต์แต่ละวัดที่เป็นภาพสีมาลงไปเรื่อยๆแล้วกัน เริ่มจากครุฑวัดกำแพงบางจาก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 21 พ.ย. 09, 14:05
เหล่าสรรพสัตว์มาฟังเทศนาพระพุทธเจ้า วัดทองธรรมชาติ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 พ.ย. 09, 18:00
เอาภาพมาแจมครับ ...  ;D


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 พ.ย. 09, 18:01
นิดหน่อยนะครับ ที่ผมไม่ค่อยมีสัตว์หิมพานต์ที่แปลกๆ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 พ.ย. 09, 18:02
...


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 12:27
กินรีที่วัดชมภูเวก


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 12:33
กินรีและนกอรหัน ที่วัดดุสิดาราม


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 12:37
กินนีและกินนรวัดดุสิดารามคู่นี้น่าจะจัดเป็นคู่งามที่สุดในสกุลช่างร.1เลยครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 12:49
เห็นข่าวลักลอบตัดเศียรพระแทบทุกวัน นี่แหละครับปัญหาของชาติที่ขาดการดูแลศาสนสถาน ศิลปะสมบัติสถานต่างๆเหล่านี้ถึงถูกไอ้พวกใจบาปหยาบช้ามันขโมย ที่เอาไปไม่ได้ก็ทำลาย ขอสาบแช่งให้พวกมันวิบัติฉิบหายอย่าได้ตายดีดังที่มันทำกับองค์พระปฏิมา จุดนี้นี่เองที่ทำให้ชมรมฯของเราบางครั้งเดินทางไปชมศาสนสถานต่างๆไม่ได้รับความสะดวกเพราะกลัวว่าพวกเราจะเป็นเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งก็ต้องเข้าใจพระท่าน แล้วทำความเข้าใจกับท่านไป


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 12:57
ภาพเมื่อกี้ลืมบอกว่าครุฑที่วัดบางยี่ขัน ส่วนรูปนี้สิงห์ที่วัดโบส์ถสามเสน


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 19:00
เอาอีกแล้วข่าวตอนเย็ย ไอ้พวกโจรกรรมพระพุทธรูปเอาไปอีก6องค์ที่อ.ภาขี ช่วงนีทำไมมันถี่ผิดปกติ สงสัยต้องมีคนอย่างขุนเดชเกิดขึ้นซะแล้วมั้ง
นกอรหันที่วัดประดู่ทรงธรรม


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 19:05
พญาช้างเผือก ที่วิหารพระนอนวัดโพธิ์


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 23 พ.ย. 09, 19:07
นกหัสดีลิงค์


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ย. 09, 03:10
เข้ามาออกตัวว่าสนใจครับ คุณยีนส์
แต่ผมถ่ายรูปไม่เป็นอ่ะครับ
ที่ผ่านมาก็ได้แต่ระรัวชัตเตอร์ไปเรื่อยเปื่อย
เลยไม่ค่อยมีภาพมาให้ชมกันครับ แหะๆ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: kai-u ที่ 08 ธ.ค. 09, 17:51
สวัสดีครับคุณ jean1966 :)

ผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ จิด-ตระ-ธานี www.jitdrathanee.com และทำระเบียง "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" www.jitdrathanee.com/Learning เพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ การเรียนวาดลายไทยด้วยตนเองบนอินเทอร์เน็ต

ตอนนี้ผมกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำหนังสือรวมภาพวาดลายเส้นของผม ชุด "สัตว์หิมพานต์" เห็นคุณมี scan ภาพในหนังสือจากสมุดไทยดำ ซึ่งเป็นต้นฉบับไว้ ผมก็เลยสนใจ หากคุณไม่รังเกียจ ผมอยากจะขอภาพที่คุณ scan ไว้ มาใช้สำหรับอ้างอิงในหนังสือ ซึ่งเป็นภาพวาดลายเส้นที่ผมวาดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่จะอ้างอิงว่า มีที่มาจากภาพเก่าโบราณ โดยจะพิมพ์เป็นรูปเทียบเคียงไว้

โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือจะมอบให้กับ "ชมรมพระพุทธศาสนา โรงเรียนประถมวิษานนท์" (อยู่ย่านบางกะปิ)
เพื่อรวมเป็นกองทุนสำหรับทำประโยชน์กับชมรมต่อไป เบื้องต้น ชมรมได้อบรมการวาดรูป และผนวกการสอนศีลธรรมและจริยธรรมในพระพุทธศาสนา ให้กับเด็กๆ และเยาวชนในละแวกชุมชนใกล้เคียงรอบโรงเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

**แต่ภาพที่ใช้สำหรับทำงานสิ่งพิมพ์ ต้องมีรายละเอียดสูงพอสมควร (ผมเองไม่มีหนังสือเล่มนี้ แต่เคยถ่ายเอกสารเก็บไว้ จากที่เคยไปค้นหาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งก็ไม่ค่อยคมชัดเท่าที่ควร) ไม่ทราบว่าคุณ jean1966 ได้สแกนไว้ที่ 300 dpi หรือไม่ครับ แต่ถ้ามีอยู่ก็จะเป็นการดีมาก เพราะเหมาะกับการทำสิ่งพิมพ์

รบกวนคุณ jean1966 ช่วยติดต่อผมกลับมาด้วยนะครับ โดยดูที่อยู่อีเมลได้จากลิงค์นี้ http://jitdrathanee.com/Learning/khru/index.php
ผมรู้จักเว็บนี้จากผู้เข้าชมเว็บของผมคนหนึ่ง คือคุณ aj juve ซึ่งได้ส่งภาพถ่ายชุดลายรดน้ำวัดเซิงหวาย ของคุณ virain (โดยคุณ aj juve ได้ขออนุญาตจากเจ้าของภาพแล้ว) เพื่อนำมาลงใน "เปิดกรุ ครูช่าง" เพื่อช่วยกันเผยแพร่ ผลงานจิตรกรรมไทยของบรมครูช่างแต่โบราณ กันต่อไปครับ

ขอบคุณครับ
จิด-ตระ-ธานี (พ่อไก่อู)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 08 ธ.ค. 09, 20:51
คุณไก่อูนี่จบเพาะช่าง จิตรกรรมไทยรึเปล่าครับ ถ้าใช่อาจจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาครับ แต่ที่สแกนไว้มันแค่200dpiเท่านั้นครับ แล้วสมุดภาพเล่มนี้มันจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ผมว่า ถ้าคุณไก่อูเอาไปจัดพิมพ์ก็ต้องอ้างอิงถึงเค้านะครับ แต่ถ้าให้ดี น่าจะไปขอถ่ายต้นฉบับที่หอจดหมายเหตุดีมั๊ยครับ ต้นฉบับอยู่ที่นั่นเลย


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: kai-u ที่ 08 ธ.ค. 09, 21:42
สวัสดีอีกครั้งครับคุณ jean1966 :)

ผมจบเอกศิลปะไทยจาก ว.ช่างศิลป ครับ และไปต่อ ป.ตรี "เอกจิตรกรรมไทย" ที่ คณะศิลปกรรม คลอง 6 ปทุมธานี (ซึ่งปัจจุบันได้แยกตัวจากเพาะช่างแล้ว เพราะเท่าที่ทราบทางเพาะช่าง (ตรงสวนกุหลาบ) ได้เปิด ป.ตรี เองแล้ว)

ขอบคุณคุณ jean1966 มากครับที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพ แต่ผมเห็นว่า ภาพที่คุณ jean1966 สแกนไว้ ก็มีความคมชัดเพียงพอแล้วครับ เพราะผมจะเอามาลงเป็นไกด์ในหนังสือว่า..ภาพที่ผมวาดชิ้นนั้นๆ มีที่มาจากภาพวาดโบราณภาพนี้ๆ คงจะใช้ขนาดไม่โตมากนักครับ (แบบย่อ) แต่ขอความละเอียดสูงหน่อยเท่านั้นเองครับ คิดว่าคงไม่ต้องทำเรื่องขอไปที่หอจดหมายเหตุครับ (ตามเหตุผลดังกล่าว) แต่ถ้าจะพิมพ์ภาพขนาด A4 (แบบเต็มๆ ภาพ) อาจจำเป็นต้องไปขอถ่ายใหม่จากหอจดหมายเหตุนะครับ

ผมเพิ่งเจอเว็บนี้ เห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับคนรักลายไทย เดี๋ยวผมจะเพิ่มลิงค์ให้ที่ "เปิดกรุ ครูช่าง" ด้วยนะครับ

ส่วนภาพที่คุณ scan ไว้ ขนาด 200 dpi ผมสามารถจะไปดาวน์โหลดได้ทางไหนครับ?
หรือรบกวนคุณ jean1966 ส่งทางอีเมลถึงผมโดยตรงได้ครับ...

และรบกวนขอชื่อคุณ jean1966 เพื่อขอบคุณในหน้า "อ้างอิง" จาก... (บรรณานุกรม ท้ายหนังสือ) ที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพชุดนี้ให้ด้วยนะครับ

จิด-ตระ-ธานี (พ่อไก่อู)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ธ.ค. 09, 00:59
สวัสดีครับพี่ยีนส์ พักนี้ไม่ค่อยได้ติดต่อกันเลยนะครับ สบายดีหรือเปล่า
ล่าสุดไปวัดปราสาทมาครับ ซึ่งกำลังทำการบูรณะปรับสภาพภายนอกอยู่
ที่สุดไม่รู้ว่าจะทำการบูรณะในทิศทางไหน โดยส่วนตัวแล้วชอบวัดนี้มากๆครับ

สวัสดีคุณพ่อไก่อูด้วยนะครับ



กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: kai-u ที่ 09 ธ.ค. 09, 21:41
สวัสดีคุณ virain เช่นกันครับ  :)
ขอบคุณที่อนุญาตให้นำภาพชุด "ลาดรดน้ำวัดเซิงหวาย" ไปเผยแพร่ต่อใน "เปิดกรุ ครูช่าง" วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี นะครับ ;D

ขอชื่นชมคุณทั้งสองนะครับ (และสมาชิกชมรมท่านอื่นๆ ด้วย) ที่โพสภาพหายากงามๆ มาให้ได้ชมกัน บางรูปผมยังไม่เคยเห็นเลยนะ!  :-[

จิด-ตระ-ธานี (พ่อไก่อู)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ธ.ค. 09, 23:17
ครับผม คุณkai-u ที่เข้ามาเป็นกำลังใจ ยังไงผมจะเข้าไปเยี่ยมที่เว็บไซต์นะครับ
หวังว่าผมคงได้รับความรู้เพิ่มเติมจากคุณkai-uด้วยครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: kai-u ที่ 09 ธ.ค. 09, 23:44
สวัสดีครับคุณ virain

โอ้วยังเรียนอยู่เลย หน้าตาก็ละอ่อน ผมคงเป็นน้าหรืออาของคุณได้แล้วนะเนี่ย.... :P
ผมเพิ่งเข้ามาพบเว็บนี้ และก็ได้ดูรูปภาพที่โพสกันในหลายๆ กระทู้ เห็นว่ามีประโยชน์และน่าศึกษามากๆ สำหรับผู้รักศิลปะไทย

เห็นว่ามีดำริ...อยากจะทำเว็บกลางเป็นที่เก็บภาพของชมรมฯ กัน "ผมยินดีจะทำให้นะครับ" ขอรายละเอียดหน่อยก็แล้วกัน เพราะผมก็ทำเว็บเองอยู่แล้ว

และตอนนี้เปิดระเบียง "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" และก็เพิ่งเปิดคอลัมน์ใหม่ "เปิดกรุ ครูช่าง" ด้วย จริงๆ มันตรงกับเว็บนี้เปี๊ย..เลยนะ

ยังไงๆ ก็ลองปรึกษากับพี่ยีนประธานชมรมดู ก็แล้วกันนะครับ ว่าจะให้ผมช่วยเหลืออะไรได้อย่างไรบ้าง

ยินดีครับ... ;D

จิด-ตระ-ธานี (พ่อไก่อู)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 14 ธ.ค. 09, 16:59
ครับคุณkai-u ยินดีที่ได้รู้จักครับ

เรื่องเว็บเห็นทีต้องให้พี่ยีนส์เป็นคนตัดสินใจนะครับ แต่ตอนนี้สงสัยพี่เขาจะยุ่งๆอยู่
คงต้องให้พี่เขาว่าอีกทีหนึ่ง

ผมได้เข้าไปจิต-ตระ-ธานีมาแล้วก็รู้สึกชอบนะครับ ดีมากๆที่มีการเผยแพร่งานศิลปะไทยแบบนี้

ขอบคุณครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: ajjuve ที่ 15 ธ.ค. 09, 14:23
อาจารย์ไก่อู่ สมัครด้วย  ผมที่โพสรูปในเว็บนะครับ


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: kai-u ที่ 20 ธ.ค. 09, 23:55
สวัสดีอีกครั้งครับ

ผมได้ลงผลงานของน้องๆ ทั้งสองใน "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" และ "เปิดกรุ ครูช่าง" แล้วครับ ;D

พี่ยีนส์สนใจเรื่องทำเว็บครับ ได้คุยกันทางเมล์แล้ว เดี๋ยวถ้ามีโอกาสได้นัดพบกัน คงได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ :-[

พ่อไก่อู (จิด-ตระ-ธานี)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: zatanman ที่ 18 มี.ค. 14, 21:18
รบกวนถามชื่อสัตว์หิมพานต์หน่อยครับ
1. ตัวนี้ ชื่อ เหรา หรือเปล่า

(http://image.free.in.th/v/2013/ic/140318085501.jpg)

2. คล้ายๆกับ ไกรสรปักษา แต่ในรูปไม่มีเกล็ด

(http://image.free.in.th/v/2013/in/140318085557.jpg)

3.
(http://image.free.in.th/v/2013/io/140318085633.jpg)

4.
(http://image.free.in.th/v/2013/in/140318085748.jpg)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 08:47
รบกวนถามชื่อสัตว์หิมพานต์หน่อยครับ
1. ตัวนี้ ชื่อ เหรา หรือเปล่า


(http://image.free.in.th/v/2013/ic/140318085501.jpg)

คุณซาตานสามารถเข้าไปสำรวจหน้าตาของสัตว์หิมพานต์ได้ตามที่อยู่ข้างล่าง

สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

http://www.finearts.go.th/olddata/files/himmapan.pdf

หน้าตาเจ้าตัวข้างบนคล้ายกับ "ไกรสรนาคา"

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=31083;image)

ไกรสรนาคา ตัวเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดทั้งตัว พื้นเป็นสีน้ำเงินอ่อน

ตัวของคุณซาตานอาจเป็นไกรสรนาคา สปีชีส์ใหม่ก็ได้ เพราะมีหางเป็นพวงไม่เหมือนต้นฉบับ  ;D


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 08:53
ส่วนตัวเหรา มีลักษณะเหมือนนาค มีสี่ขาเหมือนมังกร

ในภาพคือตัวที่อยู่ข้างล่าง ตรงขอบบ่อน้ำ  ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=31087;image)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 11:05
2. คล้ายๆกับ ไกรสรปักษา แต่ในรูปไม่มีเกล็ด

(http://image.free.in.th/v/2013/in/140318085557.jpg)

คงเป็นอีกพันธุ์หนึ่งของ ไกรสรปักษา  ;D

ไกรสรปักษา ตัวแบบสิงห์ มีเกล็ด หัวและปีกเป็นนก สีตองอ่อน

ภาพฝีมือ คุณดาดาแห่งพันทิป (http://2g.pantip.com/cafe/gallery/topic/G11976762/G11976762.html#6)


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 11:27
ไกรสรปักษาของคุณซาตานน่าจะเป็นพันธุ์ที่มาจากหิมพานต์ของกรีก ที่นั่นเรียกว่า กริฟฟอน หรือ กริฟฟิน ต้นฉบับจะมีลักษณะเหมือนไกรสรปักษา เพียงแต่ขาคู่หน้าเป็นขานกอินทรี (ภาพซ้าย) แต่บางทีมีขาเป็นสิงโตทั้ง ๔ ขา (ภาพขวา) ก็เรียกว่า กริฟฟอน หรือ หรือ กริฟฟิน เหมือนกัน  ;D


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 11:53
3.

(http://image.free.in.th/v/2013/io/140318085633.jpg)

พันธุ์เดียวกับ สกุณเหรา แต่ไม่มีเขา  ;D


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 14, 11:56
4.

(http://image.free.in.th/v/2013/in/140318085748.jpg)

กิเลนปีก  ;D


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: zatanman ที่ 20 มี.ค. 14, 20:53
ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพูมากครับ
สำหรับสัตว์หิมพานต์ เวลาต้องการทราบชื่อผมก็ใช้วิธีไล่ดู แล้วเปรียบเทียบกับรูปร่างเอา ส่วนใหญ่ตรงสมุดภาพและเข้าใจได้ดี
แต่ก็มีสัตว์บางรูปคล้าย และไม่ตรงกันบ้าง เช่น ตัวอย่างที่ได้เรียนถามไป
ตัวที่ 1 คล้ายไกรสรนาคา (แต่หางเป็นพู) ตัวที่ 2 ไกรสรปักษา (แต่ลำตัวไม่เป็นเกล็ด)
ตัวที่ 3 คล้ายสกุณเหรา (แต่ไม่มีเขา)

(http://image.free.in.th/v/2013/ig/140320080634.jpg)

(http://image.free.in.th/v/2013/iv/140320080734.jpg)
กบิลปักษา ตำแหน่งปีก ไม่เหมือนกัน

เรียนถามหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกเล็กหน่อย
จริงๆแล้วลักษณะที่แตกต่างกันเล็กๆน้อยๆนี้ มันพอจะมีเหตุผลหรือสมมติฐานหรือเปล่า เช่น
มันเป็นศิลปะที่จิตรกร สามารถใส่เพิ่ม /ลด ตกแต่งให้สวยงามได้ เพราะเป็นสัตว์จากจินตนาการ
โดยไม่ให้หลุดเกินตัวต้นแบบมาก ถือเป็นเรื่องปกติ

หรือเกิดจากตำราภาพมีหลายตำรา ทำให้สัตว์ชื่อเดียวกัน อาจจะมีลักษณะต่างกันบ้าง

หรือเกิดจากสมุดภาพพื้นฐานเดียวกัน แต่เวลาช่างคัดลอกภาพ ลืมใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ลืมใส่เขา

ขอบคุณครับ
 


กระทู้: สมุดภาพสัตว์หิมพานต์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 14, 09:39
เรียนถามหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกเล็กหน่อย
จริงๆแล้วลักษณะที่แตกต่างกันเล็กๆน้อยๆนี้ มันพอจะมีเหตุผลหรือสมมติฐานหรือเปล่า เช่น
มันเป็นศิลปะที่จิตรกร สามารถใส่เพิ่ม /ลด ตกแต่งให้สวยงามได้ เพราะเป็นสัตว์จากจินตนาการ
โดยไม่ให้หลุดเกินตัวต้นแบบมาก ถือเป็นเรื่องปกติ

หรือเกิดจากตำราภาพมีหลายตำรา ทำให้สัตว์ชื่อเดียวกัน อาจจะมีลักษณะต่างกันบ้าง

หรือเกิดจากสมุดภาพพื้นฐานเดียวกัน แต่เวลาช่างคัดลอกภาพ ลืมใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ลืมใส่เขา

มีตัวอย่าง สกุณไกรสร ให้พิจารณา ตามตำราบอกว่า ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นนก ไม่มีปีก พื้นสีหงดิน

(http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2012/06/D12223804/D12223804-180.jpg)

รูปข้างบนมีทั้งมีปีกและไม่มีปีก

ช่างปั้นย่อมทราบแน่ ๆ ว่าตำราเขาว่าไว้อย่างไร แต่จินตนาการของช่างปั้นแท้ ๆ ทำให้สกุณไกรสรมีปีกขึ้นมาได้ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ   ;D