เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 61537 โรคโบราณของไทย
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 11:00

           เมื่อวานนี้ ๑ ก.พ. ๕๓ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเรื่อง Decameron และ โรคห่ายุคพระเจ้าอู่ทอง
ใน นสพ.มติชน

              กล่าว(อีก)ว่า "โรคห่า"นั้น ไม่ใช่อหิวาตกโรคอย่างที่เข้าใจ หากเป็นกาฬโรค ที่แพร่ระบาดมาจากเมืองจีน
โดยหนูที่มากับเรือสำเภา

              "ถ้าพิจารณาปรากฏการณ์ของโลกแล้ว จะพบว่าช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หรือหลัง พ.ศ. 1800)
เกิดโรคระบาดที่ประเทศจีน แล้วกลายเป็นกาฬโรคระบาดไปทั่วโลก เพราะหนูเป็นพาหะอาศัยไปกับสำเภาบรรทุกสินค้า
เอากาฬโรคไปแพร่ตามเมืองท่าต่างๆ ที่เรือแวะจอดด้วย
               มีหลักฐานว่ากาฬโรคจากเมืองจีนระบาดไปถึงตะวันออกกลางและยุโรป ระหว่าง พ.ศ. 1890-1893
เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายนับล้านๆคน จนยุโรปเกือบร้าง"       (ศิลปวัฒนธรรม,ปีที่ 8 ฉบับที่ 12, ตุลาคม 2530)

             Decameron (ภาษา Greek แปลว่า "ten days"). เป็นหนังสือรวมเรื่องเล่าประเภท
"ตาเถร-ยายชี" (ตลก-อีโรติก) แต่งโดยนักเขียนชาวอิตาลีนาม Giovanni Boccaccio ใน ปี 1350 ถึง 1353
(พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๘๙๖) ในช่วงการระบาดของกาฬโรค เพื่อความบันเทิงบรรเทาความโศกจากโรคภัยและความตาย
    
               มีผู้แปลเป็นไทยและให้ชื่อว่า บันเทิงทศวาร (ร้อยเรื่องเล่าสิบวันโดยสุภาพสตรี ๗ นาง และสุภาพบุรุษ ๓ นาย)
พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2460 เป็นฉบับเดียวที่แปลอย่างละเอียด แต่พิมพ์ออกมาเพียงสิ้นปฐมวาร หรือสิบนิยายเท่านั้น
แล้วก็เงียบหายไป ต่อมามีนักเขียนรุ่นใหญ่คือ ยาขอบ เอาไปแปลเป็นเรื่องไทยๆ ให้ชื่อว่า กามเทวะนิยาย

http://nongpangbook.tarad.com/product.detail_268271_th_1608291#

หมายเเหตุ - ข้อมูลจากเว็บข้างต้นบอกว่าแต่งในช่วง 1348 - 1358 แต่จากเว็บสากลอื่นๆ คงเป็น 1350 - 1353

               อาจารย์ คุณวันดี คุณเพ็ญ คุณหลวง และท่านอื่นๆ เคยเห็นเล่มปี พ.ศ. ๒๔๖๐  ไหมครับ และใครเป็นคนแปล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 11:06

ดิฉันก็อยากรู้เหมือนกันว่า  บันเทิงทศวาร ฉบับแปลของโรงพิมพ์ไท พิมพ์พ.ศ. 2460   ระบุชื่อผู้แปลไว้หรือเปล่า
เคยอ่านที่ยาขอบแปลไว้  แต่ไม่เคยอ่านของนาคะประทีป
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12604



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 11:44

ความจริง ห่า ไม่ใช้ชื่อโรค แต่เป็นชื่อ ผี ชนิดหนึ่ง ที่มีอำนาจทำให้คนตายได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก อย่างที่เราเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ผีห่าซาตาน

ดังนั้น โรคห่า จึงอาจหมายถึงโรคใดก็ได้ที่ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยโบราณก็อาจเป็น กาฬโรค ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง อย่างที่สุจิตต์ วงษ์เทศสันนิษฐาน หรืออาจจะเป็นอหิวาตกโรค อย่างสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๗๓ ครั้งนั้นเรียกว่า ห่าปีระกา มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก

ในจดหมายเหตุเล่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นว่า

คนตายทั้งชายหญิงศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาเดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ด้วยอาเกียรณไปด้วยซากศพ

โรคที่มีโอกาสเป็นโรคห่าที่น่าจับตามองในปัจจุบัน น่าจะได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะกลายพันธุ์จนรุนแรงและระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างที่นักวิทยาศาสตร์กลัว ๆ กันอยู่

ระวังตัวกันไว้ให้ดี

 ตกใจ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 12:49

ไปถามตู้หนังสือของวงการหนังสือเก่ามาค่ะ

ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไม่มีชื่อผู้แปล
ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ลง นาคะประทีป   ค่ะ

ต้องไปหารายละเอียดในหนังสือเรื่องโรงพิมพ์ที่คุณลุงสมบัติเขียนไว้
ดึกๆ จะมาตรวจให้อีกทีนะคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 14:31

ขอบคุณครับ

       เคยดูหนังเรื่อง Decameron (1971) ของผกก. ผู้อื้อฉาวชาวอิตาลี  Pasolini
สมัยนั้นก็คงนับว่าแรง แต่ยุคนี้ดูแล้วขำๆ เชยๆ ครับ

       ในละครทีวีเรื่อง สะใภ้จ้าว (ผลงานของคุณสุภาว์ เทวกุลในนามปากกา รจนา) ตอนจบมีนิยาย
เรื่องนี้โผล่มาด้วย ประมาณว่าในคืนแต่งงานคุณชายพระเอกมอบหนังสือเรื่อง Decameron ให้นางเอก  อายจัง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 14:34

อืมม์    มีโรคโบราณแล้ว  ถ้าจะให้ครบกระบวน น่าจะมีขุนนางหมอโบราณมาประกอบด้วย  คงต้องฝากคุณเพ็ญชมพูกับคุณวันดี ช่วยกรุณาหาข้อมูลมานำเสนอเสียแล้ว ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12604



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 15:35

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า

ในเดือน ๔ ปีจอนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรพระโรคโบราณมานานแล้ว ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ(๖) สิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ๘ เดือน ๑๘ วัน โปรดให้ทำการพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานได้จัดการทำพระเมรุอยู่

พระโรคโบราณในที่นี้คงหมายถึงโรคเรื้อรัง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Chronic disease คือเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการหรือต้องรักษาติดต่อกันนาน เป็นแรมเดือนแรมปีหรือตลอดชีวิต

มีโรคโบราณ ก็ต้องมีโรคปัจจุบัน ก็คือ โรคเฉียบพลัน ภาษาอังกฤษว่า Acute disease เป็นโรคที่เกิดขึ้นเร็ว เป็นอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ถ้าไม่ตายก็หาย

อย่างในเรื่อง "ตั้งฮั่น" คือพงศาวดารก่อนหน้าสามก๊ก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยองค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พานิช จัดพิมพ์จำหน่าย  กล่าวถึงพระเจ้าเปงเต้ว่าสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัจจุบัน

ครั้น ณ ปีเถาะเดือนหก อองมังเห็นขุนนางเมืองหลวงราบคาบเป็นปกติแล้ว จึงแต่งหนังสือรับสั่งจูเอ๋งฮ่องเต้ ใจความว่าพระเจ้าเปงเต้ผู้รักษาเมืองหลวง สติปัญญาโฉดเขลาไม่เอาธุรกิจการแผ่นดิน เสวยแต่สุราเมาเหลือกำลังบังเกิดโรคปัจจุบัน อาเจียนพระโลหิตสิ้นพระชนม์แล้ว

โรคโบราณ-โรคปัจจุบัน มีความหมายในสมัยโบราณ ก็ด้วยประการฉะนี้แล

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:22

ท้าวแสนปม

          สาส์นของพระชินเสนส่งถึงนางอุษา - พระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

     ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย        กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ                  ทำไฉนจะพ้นไฟราญ

      เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ         เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล
สู้กรากกรำลำบากยากนาน            ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป

     ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม       จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย                  ฤาจะใฝ่ต้องชาวปัถพิน
     โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต          จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดล้าดังฟ้าดิน               จะได้สมดังจินต์ฉันใด


          โรคท้าวแสนปม นี้ทางการแพทย์หมายถึงโรค Neurofibromatosis


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:25

          จากบทความ ข้อคิดจากเรื่องท้าวแสนปม โดย พ.ญ.ปรียา กุลละวณิชย์ และ น.พ.ประวิตร พิศาลบุตร
กล่าวถึงโรคนี้ว่า เป็นโรคพันธุกรรมมี ๒ ชนิด

ชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่พบบ่อย และมีอาการปรากฏให้เห็น เช่น    ปานสีกาแฟใส่นม, ก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง,
               กระที่รักแร้ หรือขาหนีบ, เนื้องอกเส้นประสาทตา หรือม่านตา, มีความผิดปกติของกระดูก  และ
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
 
ชนิดที่ 2 ไม่มีอาการทางผิวหนัง วินิจฉัยโรคจากการพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

           โดยทั่วไป โรคท้าวแสนปม น่าจะหมายถึงชนิดแรก ซึ่งอาจพบตุ่มเนื้องอกได้ถึง 9 พันตุ่ม

           ในกรณีของโรคพันธุกรรมที่ถ่ายทอดด้วยลักษณะเด่น เช่น โรคท้าวแสนปมนี้  เมื่อพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค
ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรค ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรคุมกำเนิด
           ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมหลายรายปฏิเสธการคุมกำเนิด และโทษว่า ที่เกิดมาผิดปกตินั้นเป็นเรื่องของกรรมเก่า
ในทางพุทธศาสนานั้น พระไตรปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เคยแสดงความเห็นว่า โรคพันธุกรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า
และการคุมกำเนิด ในกรณีนี้
          "หากพิจารณาดูแล้วเกิดประโยชน์มากกว่า มันก็กลายเป็นดีไป อย่าไปทำให้คนเขาต้องรับทุกข์โดยใช่เหตุ"

         ดังนั้น การได้รับคำปรึกษาทางพันธุกรรมอย่างถูกต้อง การคุมกำเนิดในรายที่จำเป็น ความเข้าใจว่า โรคพันธุกรรม
ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า และความเข้าใจว่า โรคพันธุกรรมไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะช่วยให้ไม่เกิดข่าวน่าเศร้าใจ
ดังเช่น พบผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม ที่ชาวบ้านรังเกียจ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:27

ท้าวแสนปมเองไม่ได้เป็นโรคท้าวแสนปม

        รัชกาลที่ 6 ทรงสันนิษฐานว่า ท้าวแสนปมน่าจะเป็นพระชินเสน พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ทรงเชื่อว่า
        ที่มีปุ่มปมตามเนื้อตัวนั้น เกิดขึ้นเพราะใช้ฝุ่น และเขม่าทาให้เปรอะเปื้อน และเอารงแต้มให้ดูประหนึ่งว่า
เป็นปุ่มปม นับเป็นอุบาย ลอบดูตัวธิดากษัตริย์ต่างเมืองที่ตนหมายปอง แต่พระราชบิดาของทั้ง 2 ผิดใจกันอยู่

        นับว่า ข้อสันนิษฐานของพระองค์สอดคล้องกับหลักการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทราบว่า โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
แบบลักษณะเด่น ดังนั้นหากท้าวแสนปมเป็นโรคนี้ ก็น่าจะมีตำนานบันทึกว่า ลูกหลานที่สืบต่อมามีปุ่มปมตามร่างกายเช่นกัน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:30

         ภาพยนตร์เรื่อง The Elephant Man (1980) เล่าเรื่องชีวิตขมขื่นของ Joseph Merrick (1862 – 1890)
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ที่มีอาการมากจนรูปร่างผิดปกติกลายเป็น "ตัวประหลาด"

          นักค้นคว้าบางคนเชื่อว่า ความพิการของเขานอกจากจะเป็นผลมาจากโรคท้าวแสนปมแล้วเขายังน่าจะมีอาการของ
Proteus syndrome - โรคที่ผิวหนังและกระดูกเติบโตผิดปกติ - ร่วมด้วย แต่หลักฐานทางการศึกษา DNA ของเขา
ไม่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้

          ร้องกรองแต่งโดย Isaac Watts (English hymnwriter 1674- 1748)  ที่ Merrick ใช้ลงท้ายจดหมายของเขา

"Tis true my form is something odd,

But blaming me is blaming God.

Could I create myself anew,

I would not fail in pleasing you.

If I could reach from pole to pole,

Or grasp the ocean with a span,

I would be measured by the soul,

The mind's the standard of the man."


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:59

เคยอ่านพบชื่อโรค "ลมปัจจุบัน"  คนป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ    น่าจะหมายถึงอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
ส่วนโรค "คชราช" อ่านพบว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เคยประชวรด้วยโรคบุรุษ (หมายถึงกามโรค) และกลายเป็น "คชราช" หรือ "คชราด"  หมายถึงคุดทะราด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 10:59

โรคกลาก มีราชาศัพท์ว่า ดวงเดือน    ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12604



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 15:10

คำถามแรกที่เจ้าพระยาพระคลังถามหมอบรัดเลเมื่อพบกันก็คือ รักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะสมัยนั้นคนไทยเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษกันมาก  ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่โบราณ  ทางภาคใต้เรียกว่า ไข้น้ำ ภาคเหนือเรียกว่า เป็นตุ่มหรือตุ่มสุก เพราะเมื่อเป็นจะมีเม็ดเล็ก ๆ หรือตุ่มเกิดขึ้นดาษตามตัวเต็มไปหมด จึงได้เรียกว่าตุ่มและฝีดาษ  ในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์

ก่อนที่หมอบรัดเลจะมาถึงเมืองไทย ท่านและภรรยาได้เสียบุตรชายอายุเพียง ๘ ชั่วโมงไป ๑ คน  และเมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้วต้องเสียบุตรสาวแฮเรียต (Harriet) อายุเพียง ๘ เดือนด้วยไข้ทรพิษไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งหมอก็หมดปัญญาที่จะรักษา  ฉะนั้นการถามของเจ้าพระยาพระคลังและประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงทำให้หมอต้องศึกษาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ตามบันทึกของหมอบรัดเลกล่าวว่า วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นวันแรกที่ได้เริ่มปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โดยวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ ๑๕ คน  ถ้าหากว่าการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จดีแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการออกฝีดาษกันทุก ๆ ปีนั้นมาก  หมอบรัดเลได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง หารือเรื่องปลูกฝีกันไข้ทรพิษ  เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย และกล่าวว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง จะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก  ถ้าหมอคิดการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จ ท่านยินดีจะอนุญาตให้หมอบรัดเลเรียกเอาขวัญข้าวจากคนที่ได้ปลูกฝีขึ้นแล้วคนละ ๑ บาท

http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=83&page=4



หมอบรัดเลเขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อ ตำราปลูกฝีให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้

ธระพิศม์ = ทรพิษ = smallpox

http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/2719/nlt-rarebook-artculture-00025.pdf?sequence=1




บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 03 ก.พ. 10, 16:59

              โรคโบราณในหน้าประวัติศาสตร์อีกโรคหนึ่งคือ โรคเรื้อน (กุฏฐัง,ขี้ทูด,หูหนาตาโต,หูหนาตาเล่อ - Leprosy)

           เป็นโรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย - Mycobacterium leprae (ซึ่งมีเชื้อวัณโรคเป็นสมาชิกร่วม species)
ทำให้เกิดอาการที่ผิวหนัง เส้นประสาทส่วนปลาย และเยื่อบุ - mucosa ของทางเดินหายใจ
        
           โรคเรื้อนนี้อาจมีมาตั้งแต่ 50,000 ปีก่อน ตอนมนุษย์เริ่มอพยพออกจากทวีปแอฟริกา
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์สู่ทวีปอื่น

               ในตำรา Sushruta Samhita ของอินเดียซึ่งอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล
ได้บันทึกถึงโรคเรื้อนและการรักษาไว้และ เชื่อว่า
               ต่อมาโรคเรื้อนแพร่จากอินเดียโดยกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนำเข้ายุโรป
ประมาณ 400 ปี ก่อนคริสตกาล            
               นอกจากนี้ยังมีการพบกระโหลกและฟันอายุประมาณ 4,000 ปี ที่มีลักษณะของความเสื่อม
ดังที่พบในคนเป็นโรคเรื้อนที่อินเดียด้วย นับเป็นการค้นพบ case โรคเรื้อนที่เก่าแก่ที่สุด          
        
               ในตำนานศากยวงศ์ - โกลิยวงศ์ กล่าวถึงโรคนี้ไว้ ความว่า

             หลังจากที่พระโอรสธิดาของพระเจ้าโอกกากราชออกไปสร้างเมืองใหม่ แล้วเสกสมรสกันเอง
ในหมู่พี่น้องเป็นต้นกำเนิดศากยวงศ์แล้วนั้น
             ต่อมาพระภคินีองค์โต(ซึ่งมิได้เสกสมรสกับน้อง แต่ถูกตั้งให้อยู่ในฐานะพระมารดาของน้องๆ) ประชวร
เป็นโรคเรื้อน บรรดาพระภาดา(น้องชาย) จึงหาที่อยู่ใหม่ให้และม่มีใครกล้าไปติดต่ออีก

             ใกล้กันที่เมืองพาราณสี พระเจ้ารามพระราชาก็ประชวรด้วยโรคเรื้อน จึงตัดสินใจยกราชสมบัติให้
พระราชโอรสองค์โตแล้วเสด็จออกไปอยู่ป่าตามลำพัง พระองค์เสด็จไปพบต้นโกละ(กระเบา) มีโพรงกว้าง
ให้อาศัยอยู่ แล้วต่อมาได้พบกับพระธิดาองค์โต จึงได้ช่วยเหลือและรักษาจนหายจากโรคเรื้อน
             เมื่อพระโอรสองค์โตของพระเจ้ารามทราบว่าพระบิดาหายประชวร จึงอัญเชิญกลับเมือง แต่ทรงปฏิเสธ
และขอให้พระโอรสนำต้นโกละที่ประทับอยู่มาสร้างเมืองให้พระองค์อยู่กับครอบครัวใหม่และตั้งชื่อเมืองว่า เมืองโกละ
             ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเทวทหะ ส่วนคำว่าโกละ ได้กลายมาเป็นชื่อวงศ์ตระกูล คือ โกลิยวงศ์

กระเบา      ชื่อไม้ต้นขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Hydnocarpus วงศ์ Flacourtiaceae เช่น
              กระเบาใหญ่ หรือ กระเบาน้ำ (H. anthelminthica Pierre ex Laness.)  
              เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลกลม เปลือกแข็ง มีขนสีน้ำตาล ขนาดเท่าผลส้มโอขนาดย่อม
              เนื้อในเป็นแป้งสีเหลืองอ่อน ๆ  กินได้ เมล็ดมีน้ำมัน เคยใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน 


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง