เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 69090 นิราศสุพรรณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 31 ก.ค. 07, 18:22

"เป็น" กับ "เปน" ออกเสียงไม่เหมือนกันนะคะ    อย่างในคำว่า "เป็น "กับ "สเปน" ออกเสียงกันคนละอย่างเลยเชียว
ดิฉันรู้ว่า คำว่า "เป็น" เมื่อก่อนสะกดว่า "เปน" แต่ไม่รู้ว่าคนโบราณออกเสียงยาวหรือสั้น
ถ้าออกเสียงว่า "เปน "ก็ไม่ควรสะกด "เป็น" แต่ถ้าออกเสียงว่า "เป็น " อย่างเดี๋ยวนี้ออกเสียง เขาก็สะกดถูกแล้ว
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 31 ก.ค. 07, 18:39

ไม้ไต่คู้ใช้กำกับให้ออกเสียงสั้น

เปน ถ้าอ่านตามรูปก็ต้องเสียงยาวล่ะครับ แต่ก็น่าคิดว่าเขียน เปน ตามความนิยมและความสะดวก (ขี้เกียจใส่ไม้ไต่คู้) หรือว่าเมื่อก่อนคำนี้เคยออกเสียงยาวจริงๆ

อย่าง ข้าว นี่ผมไม่สงสัยเลยครับว่าคำเก่าต้องเป็น เข้า เสียงสั้นแน่นอน นายอะไรที่คุณ pipat พูดถึงแกคงจะมีความคิดว่าไหนๆก็ออกเสียงยาวเป็น ข้าว ไปแล้ว ก็น่าจะเขียนตามการออกเสียงไปเลย

ไม่แปลกที่แกจะต้องโดนคนด่าบ้างพอมันๆ แต่ผมขอไม่ร่วมวงด่าครับ เห็นใจ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 01:39

เอ่อผมคิดว่าเป็น    คือ สระ เอะ+แม่กน
ส่วนคำว่า    เปน    คือ สระ เอ + แม่กน  หรือผมคิดผิดเนี่ย  แต่เวลาอ่านคุณครูให้ออกเสียงสั้นกว่าเสีย เอ นะครับ  มีคำบางคำที่ออกเสียงตามคำเขียนไม่ได้  เห็นทั่วไปออกเสียง  น้ำ   เป็น น้าม   ทุกที   ทั้งๆที่น่าจะออกเสียงว่า  นั้ม  แต่ถ้าออกแบบนี้คงฟังพิลึก
วัดหมูที่พูดถึงคงหมายถึง  วัดคอกหมู  ที่อยู่  ใกล้ๆโบ๊เบ๊  ใช่ไหมครับ  คลองนี้ใช่ไม๊ครับที่เรียกคลองมหานาค  ที่ลัดออกไปคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดขึ้นสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ 
ผมแวะมาดูบทวิเคราะห์นิราศสุพรรณคำโคลง  ของท่านอาจารย์เทาชมภู  กับ คุณพิพัฒน์  มีประเด็นเยอะและน่าฉงนกว่านิราศเมืองพริบพรีเสียอีก  คงจะทำใจลำบากแบบท่านอาจารย์เทาชมภูว่าล่ะครับ  ถ้าพระคุณเจ้าเล่นมาแต่งโคลงรำพันแต่เรื่องกามารมณ์แบบนี้  น่าจะเป็นคำสอนหรือให้แง่คิดมากกว่า  ไม่น่าจะเป็นพระภิกษุแต่งครับ  แต่ก็ไม่เคยอ่านพบเลยว่าท่านมหากวีจะบวชหลายหน  จะเป็นช่วงไหนล่ะครับที่มาแต่งโคลงนิราศเรื่องนี้  เพราะถ้าไม่เป็นพระภิกษุ  ก็คงต้องขัดกับประวัติศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนมาว่า  แต่งเมื่อตอนจำอยู่ที่วัดเทพธิดาราม
พอดีเจอรูปคลองมหานาคสมัยก่อนครับเลยเอามาให้ชมเล่น........... ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 09:51

เปน = สระเอ +แม่กน  คือ สระเสียงยาว บวก ตัวสะกด  ต้องออกเสียงเป็นเสียงยาว ค่ะ  ไม่ใช่เสียงสั้น
ถ้าเป็นอย่างที่คุณ Bana ว่ามา ครูของคุณก็สอนผิด
ลองเทียบดูนะคะ    เอะ + แม่กง    =  เอ็ง     (เอ็งกับข้า)
                           เอง+ แม่กง    =  เอง      (กันเอง)
ออกเสียงคนละอย่างเลย
ไม่งั้นเขาจะมีสระเสียงสั้นกับยาวไว้จำแนกความแตกต่างกันทำไม
น้ำ   ที่ออกเสียงยาว เป็นน้าม   สังเกตว่า ไม่ได้สะกดตั้งแต่แรกว่า นั้ม   ทำให้คิดว่า
น้ำที่สะกดด้วย  สระ อำ   เดิมคงไม่ได้ออกเสียงสั้น   
ถ้าเราจะดูว่าคำว่า น้ำ เดิมออกเสียงแบบไหน เห็นจะต้องไปค้นดูจากภาษาท้องถิ่น ซึ่งยังเหลือร่องรอยการออกเสียงแบบเดิมอยู่ ว่ามีการออกเสียงคำนี้อย่างไร
เอาละค่ะ พลัดออกเส้นทางนิราศสุพรรณมาสู่ภาษาศาสตร์กันยาวหลายค.ห.แล้ว เดี๋ยวหาเส้นทางกลับไปเจอ
ดิฉันจะกลับสู่เส้นทางละค่ะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 10:19

วัดนั้นละครับคุณ Bana
เป็นวัดที่ลี้ลับและเล็กกระจ้อยร่อย จนยากจะเชื่อว่าท่านสุนทรภู่เคยมาจำพรรษา
มีรูปมาอวดบ้างไหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 14:46

แกะรอยประวัติส่วนตัวของกวีเจ้าของนิราศสุพรรณ ต่อ
สังเกตว่า  บอกไว้ในหลายโคลงถึงตัวเอง ว่าไม่ใช่ชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา  แต่เป็นขุนนางระดับไม่เบาในแผ่นดินก่อน  ขนาดมีที่ดินหลวงพระราชทานให้อยู่  ก็น่าจะรวมความว่ามีบ้านหลวงด้วย
ที่ดินนั้นอยู่ที่ท่าช้าง นอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง  ต้องเป็นขุนนางวังหลวง   มีทั้งบ้านหลวง  และภรรยาอยู่ในบ้านด้วยกัน
มาถึงแผ่นดินนี้บ้านก็ไม่มีแล้ว   ภรรยาก็ไม่อยู่ด้วยกันอีก

ท่าช้างหว่างค่ายล้อม                        แหล่งสถาน
ครั้งพระโกศโปรดประทาน                  ที่ให้
เคยอยู่คู่สำราญ                                ร่วมเหย้า เจ้าเอย
เห็นแต่ที่มิได้                                   พบน้องครองสงวนฯ
 
ซ้ำตอนเด็กก็เป็นเด็กชาววังหลังอีกด้วย  เรียกว่าเป็นชาววัง อยู่มา ๒ วังทีเดียว ตั้งแต่ยังเล็กมาจนหนุ่ม และเป็นผู้ใหญ่
วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า                          เจ้าเอย           
เคยอยู่ชูชื่นเชย                                 ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย                                  ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า                            คลาศแคล้วแล้วหนอฯ
ข้อความตอนนี้ตรงกับพระวินิจฉัยประวัติสุนทรภู่ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   มีทางคิด ๒ ทาง
คือ
๑) ทรงตรวจสอบประวัติจากที่พระยาปริยัติธรรมธาดารวบรวมไว้ก่อน   แล้วเห็นว่ารับกับที่เจ้าของโคลงบอกไว้    จึงทรงเชื่อว่านิราศสุพรรณเป็นฝีมือแต่งของสุนทรภู่
หรือ
๒) ทรงเจอนิราศสุพรรณก่อน   ยังไม่รู้ว่าใครแต่ง แต่เมื่อจับความที่ผู้แต่งเล่าถึงตัวเอง  ก็ไปตรงกับประวัติของสุนทรภู่ที่พระยาปริยัติฯรวบรวมไว้บางส่วน
จึงทรงสรุปว่านิราศสุพรรณเป็นผลงานของสุนทรภู่
จะเป็นข้อไหนก็ตาม    ก็มีหลักฐานอีกสองสามอย่าง ที่จะเล่ากันต่อไป

ข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างก็คือ  ดิฉันไม่คิดว่าเจ้าของนิราศสุพรรณจะ"กุ"เรื่องเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมา     ถ้าไม่ได้เป็นอะไรอย่างที่คุยไว้ เช่นไม่เคยเป็นขุนนาง ไม่เคยมีที่ดินพระราชทานให้ปลูกบ้าน  ไม่เคยเลิกกับเมียที่ชื่อแม่จัน   
ก็คงไม่ประหลาดพอจะบรรยายเป็นคุ้งเป็นแคว  ในเรื่องไม่จริง  เพราะมันไม่ได้อะไรขึ้นมา
จะหลอกใครก็ไม่ได้ เพราะนิราศเรื่องนี้ ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อสวมรอยแอบอ้างเป็นสินค้าก๊อปแบรนด์เนมสุนทรภู่   
สมัยรัชกาลที่ ๓ ยังไม่มีสินค้าก๊อป  มีแต่เลียนแบบที่เราเรียกว่า เดินตามรอยครู อย่างนายมีแต่งตามรูปแบบกลอนสุภาพของสุนทรภู่ ก็ยึดเพียงรูปแบบ
แต่ถ้านายมีเล่าประวัติตัวแกเอง  แกก็เล่าตามประวัติแก  แกย่อมไม่เอาประวัติสุนทรภู่มาแต่งว่าเป็นของแก

นิราศสุพรรณ จะแต่งโดยใครก็ตาม  แต่เรื่องนี้เล่าชีวิตของผู้แต่งตามข้อเท็จจริง    ไม่ได้ปั้นน้ำเป็นตัว   เพราะไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น
ส่วนแต่งเมื่อเป็นพระ หรือเป็นฆราวาส  เดี๋ยวค่อยๆแกะรอยกันต่อไปค่ะ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 19:30

ลืมถามไป คุณพพ.มีความเห็นว่ายังไงบ้างคะ?

มาพูดถึงความผูกพันระหว่าง "วัง" กับกวี    ในนิราศ  กวีเคยอยู่วังหลังมาก่อนตั้งแต่ยังเยาว์ บอกไว้ถึง ๒ บทโคลงด้วยกัน
แต่ไม่มีการเอ่ยถึงเจ้าของวัง   ไม่ถวายพระพร  ไม่แสดงความโศกเศร้าอาลัย   ทั้งที่ก็บอกไว้ว่าอยู่ยาวนานตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม  เคยมีเมียก็ในวังหลังนี่แหละ
ก็ต้องเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๑๐ ปี
แต่กวีไม่เอ่ยถึงกรมพระราชวังหลัง และไม่เอ่ยถึงเจ้านายวังหลังที่ย่อมจะเป็นเจ้านายองค์แรก
เป็นได้ว่านิราศเรื่องนี้  แต่งเมื่อ
๑) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข วังหลัง สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว
๒) เจ้านายที่เคยชุบเลี้ยงก็สิ้นพระชนม์ไปนานแล้วอีกเหมือนกัน
๓) หรือ กวีไม่มีความผูกพันกับเจ้านายวังหลัง   
ผิดกับเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์  ในรัชกาลก่อนและรัชกาลปัจจุบัน ที่เอ่ยถึงด้วยความยกย่อง
ตั้งข้อสังเกตว่า กวีผู้เขียนนิราศเมืองเพชร และนิราศสุพรรณ ไม่มีน้ำเสียงน้อยอกน้อยใจแอบแฝงอยู่บ้าง เมื่อกล่าวถึงรัชกาลที่ ๓ เลย
กลับแสดงความเต็มอกเต็มใจ ถวายพระพรถึง ๑ โคลงเต็มๆเท่ากับแสดงความอาลัยในรัชกาลที่ ๒
     อีกองค์มงกุฎเกล้า             เชากรุง
สืบกษัตริย์ขัตติยบำรุง             รอบแคว้น
ถวายพระอนิสงส์ผดุง              พระเดชเฟื่อง กระเดื่องเอย
สิ่งโศกโรคเรื่องแค้น               ขจัดพ่ายวายเขนฯ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 01 ส.ค. 07, 20:26

กำลังสนุก อาจารย์ถอดความได้แจ่มแจ้งดีจริงๆ
ช่วยให้เห็นบทกวีเป็นสามมิติ

ขอฟังก่อนครับ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 00:44

ก็ถูกแล้วนี่ครับท่านอาจารย์ 
เป็น  คือ  เอะ+กน
เปน  คือ  เอ+กน
ผมเห็นด้วยกับคุณพิพัฒน์ครับ  ท่านอาจารย์ละเอียดอ่อนในทุกอณูของบทกวี  มันทำให้เราเห็นภาพได้ชัด   ชัดมากกว่าที่คนออกจะแข็งกระด้างแบบผมจะมองเห็นในหลายๆเหลี่ยมมุม  เพลินครับและได้เห็นมุมมองใหม่ๆไปด้วย

รูปวัดสิตารามเก่าๆพอหาได้แค่นี้ล่ะครับ  สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๔๐ เดิมชื่อ "วัดคอกหมู" เพราะทางราชการได้ต้อนหมูมารวมไว้ ณ ที่แห่งนี้ โดยกั้นเป็นคอก ๆ จำนวนมาก ต่อมาพระมหาสมณเจ้ากรมวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเปลี่ยนนามเป็น "วัดสิตาราม"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 09:07

ส่วนคำว่า    เปน    คือ สระ เอ + แม่กน  หรือผมคิดผิดเนี่ย  แต่เวลาอ่านคุณครูให้ออกเสียงสั้นกว่าเสีย เอ นะครับ 
หมายความว่าคุณครูออกเสียงผิดค่ะ  เปน  ออกเสียงสั้นกว่า เอ คือ เอะ ไม่ได้ ต้องออกเสียงยาว ถ้าออกเสียงตามตัวสะกด
แต่ถ้าสะกดอย่าง ออกเสียงอีกอย่างนี่ ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ตรงตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว  จะคิดจะแหวกหลักเกณฑ์ออกไป ทำยังไงก็ได้ทั้งนั้น
ดิฉันอ่านที่คุณเขียนมาผิดหรือเปล่าไม่ทราบ   แต่คุณเขียนมาแบบนี้ก็ตีความอย่างนี้ละค่ะ

กลับมาเรื่องผู้แต่งนิราศสุพรรณกับเจ้านาย
ในกรณีที่เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้ อย่างที่เราเชื่อกันมา    ก็คงจะเชื่อต่อไปถึงตำนานว่าด้วยเรื่องขัดแย้งระหว่างสุนทรภู่กับรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เรื่องท้วงกันเรื่องกลอนสังข์ทองหน้าพระที่นั่ง
จนเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่ก็ต้องบวช หลบหนีราชภัย บ้านช่องก็ถูกยึดหมด
จึงอาจจะมีคนเข้าใจว่า ในนิราศสุพรรณหรือเรื่องไหนๆก็ตาม   ถ้าสุนทรภู่เอ่ยถึงร. ๓ อย่างเคารพนบนอบ ก็เป็นเรื่องธรรมดา   
ขืนแต่งหนังสือแล้วไม่เอ่ยถึงสิ อาจจะไม่สบพระราชอัธยาศัย  โดนกริ้วหนัก คราวนี้หัวขาดก็ได้
ทั้งหมดนี้ มูลเหตุมาจากเราเชื่อตำนานนี้    แต่ถ้าตัดเรื่องตำนานออกไป เหมือนไม่เคยรู้มาก่อน   
ดูจากตัวนิราศล้วนๆ  และบวกพื้นหลังทางประวัติศาสตร์อีกหน่อย  จะได้คำตอบแตกต่างกันออกไปอีกทาง
๑) ดิฉันดูจากนิสัยกวีผู้แต่งนิราศสุพรรณ ตามที่แสดงออกในโคลงต่างๆ    ดูท่านจะเป็นคนที่เอาอารมณ์ตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางก่อน แล้วเอาสถานที่ต่างๆที่เห็น มาโยงเข้ากับอารมณ์ส่วนตัวอีกที
เรื่องราวของสถานที่นั้นเป็นไง ถ้าไม่เกี่ยวกับความผูกพันส่วนตัวแล้วไม่สนใจเอ่ยถึงเลย
ผ่านวัดสระเกศ   โยงเข้ากับศพแม่ที่บรรจุอยู่ที่นั่น จบ
พูดถึงศาลาท่าน้ำวัดไหนไม่รู้   เคยมาเล่นซักส้าวกับสาว
ผ่านวัดแจ้ง เคยจีบแม่นกน้อย เคยส่งเพลงยาวให้
ทั้งๆวัดสระเกศและวัดแจ้งก็เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์    ท่านก็น่าจะจำได้ดีกว่าพวกเราที่อยู่รุ่นหลังมาร่วม ๒๐๐ ปีเสียอีก     ว่าควรมีอะไรให้เอ่ยถึงบ้าง
นายมีผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง ขนาดผ่านวังหลัง ซึ่งเป็นวังร้างแล้วในตอนนั้น  ตัวเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย  ยังอุตส่าห์รำลึกถึงเจ้านายวังหลังสามพระองค์ที่เคยเป็นนักรบเอกมาก่อน
ถึงวังหลังเป็นวังสงัดเงียบ                เย็นยะเยียบโรยรานิจจาเอ๋ย
แต่ก่อนเปรื่องเฟื่องฟ้าสง่าเงย            พระคุณเคยปกเกล้าชาวบุรี
สามพระองค์ทรงชำนาญในการศึก       ออกสะอึกราญรบไม่หลบหนี
แต่ครั้งพวกพม่ามาราวี                       พระต้อนตีแตกยับอัปรา
ทุกวันนี้มีแต่พระนามเปล่า                   พระผ่านเกล้านิพพานนานหนักหนา
เสียดายองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา           ชลนานองเนตรสังเวชวัง

นายมีเห็นวังร้างโรยรา ก็ถึงกับน้ำตาตก   แต่กวีของเราผู้เคยอยู่วังหลังมาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม   ไม่ได้รู้สึกอะไรกับวังเลย   แต่ไปรู้สึกกับสาวชาววังที่เคยครองคู่กัน   
ก็สะท้อนว่า ท่านกวีของเรานั้นจะแต่งอะไรลงในนิราศ   โฟกัสลงไปที่อารมณ์ส่วนตัว ไม่ใช่อารมณ์ส่วนรวมอย่างนายมีผู้เป็นศิษย์สุนทรภู่
ถ้าหากว่าไม่มีอารมณ์ผูกพันส่วนตัวกับสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ   ท่านเว้นไปเฉยๆ หรือเอ่ยถึงสักคำสองคำ ตามมารยาทก็ย่อมไม่มีใครว่าได้       
แต่นี่ท่านสรรเสริญพระเกียรติเต็มปากเต็มคำ   ก็น่าจะแสดงได้ว่า ผู้แต่งไม่มีอารมณ์ในทางลบ  ไม่ว่าน้อยอกน้อยใจ  กลัวเกรง   จำใจกับพระเจ้าแผ่นดิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 09:33

๒) เมื่อให้เหตุผลถึงตรงนี้  อาจมีคนค้านว่า เขียนนิราศ ถ้าผ่านวัด ไม่ให้นึกถึงความหลังแล้วจะให้นึกถึงอะไรล่ะ
โอ๊ย เยอะแยะ
ยิ่งถ้าคนแต่งเป็นพระ  ผ่านวัดนั้นวัดนี้ที่เคยอยู่มาก่อน   ยิ่งมีเรื่องให้นึกออกถมเถ เพราะวัดในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมประเพณีการดำเนินชีวิตของไทย   ผ่านวัดสระเกศนึกถึงทอดกฐิน ทอดผ้าป่า   ผ่านวัดแจ้งนึกถึงงานเข้าพรรษา งานแข่งเรือ   ผ่านวัดนั้นนึกถึงสงกรานต์ วัดนี้นึกถึง...มีทั้ง ๑๒ เดือนนั่นแหละที่จะนึกถึงได้  แต่งแทบไม่ไหวเสียอีก
ไม่เห็นจะต้องนึกถึงแต่สาว ที่เคยจีบกันมาในวัด      ออกจะล่อแหลมต่อสภาวะภิกขุเสียด้วยซ้ำ
นอกจากท่านจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ส่วนตัว มากกว่าจะไปแคร์เรื่องชาวบ้านอย่างคนอื่นแต่ง
ถ้าท่านไม่มีความรู้สึกดีๆต่อร.๓   ท่านคงไม่เขียนถึงอย่างเต็มปากเต็มคำ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 09:52

มาสมัครเป็นลูกหาบครับ
ถอดความและตีความได้แจ่มแจ้งจริงๆ ขอวันทางามๆสามครา

ผมเองนั้น ออกจะ"เกลียด" กวีท่านที่แต่งนิราศสุพรรณนี้เสียด้วยซ้ำ
เคยเรียนอาจารย์ไว้ว่า นิสัยแกไม่เหมือนท่านสุนทรฯ โดยเฉพาะเรื่องการแทรกคติและคำสอน
กว่าจะเจอก็โน่น...ควายลากเกียนหรืออะไรนั่น นานจนลืม
แถมยังเป็นคำสอนที่แห้งแล้งด้วย

แต่ประเด็น self centre นี่ อาจารย์ชี้ได้แดงแจ๋เลยครับ เป็นปมที่น่าสางต่อ
รอฟังตอนต่อไป....อย่างหิวกระหาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 10:18

กินยาเข้าไปอีก ๑ กำมือก่อนกลับมาอีกครั้ง  ตามคำเรียกร้อง
๓) ใครก็ตามที่เชื่อว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กริ้วสุนทรภู่ต่อเนื่องมาจากแผ่นดินก่อน จนริบบ้านช่องของหลวงคืน   ตัวท่านกวีเองก็ตกยาก ต้องบวชหนีภัยหัวซุกหัวซุน
อาจจะลืมไปว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงชังน้ำหน้าขุนนางคนหนึ่งถึงขนาดนั้น   ทั้งวังย่อมไม่มีใครกล้าข้องแวะกับแกเป็นแน่
แต่แกก็ได้เป็นอาจารย์ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าถึง ๓ พระองค์    เจ้าฟ้านั้นก็ไม่ใช่ใคร น้องเล็กๆของพระเจ้าแผ่นดิน โดยตรง   
เมื่อบวชก็ได้อยู่วัดใหญ่ๆ อย่างวัดเทพธิดา ที่ทรงสร้างให้พระราชธิดาพระองค์โปรดด้วยซ้ำ   เคยอยู่วัดโพธิ์ของกรมสมเด็จพระปรมาฯ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่
แสดงว่าเป็นพระที่โอ่อ่าเอาการรูปหนึ่ง  สมศักดิ์ศรีว่าเป็นขุนนางมาก่อน
ถ้าจะมีเรื่องต้องระเหเร่ร่อนออกนอกวัด ก็น่าจะมาจากมูลเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นพระ
ไม่ใช่ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงตามราวี    เพราะถ้าเป็นข้อขัดแย้งกันขนาดนั้น  กวีน่าจะไม่ได้เข้าบวชในวัดเสียแต่แรก
ถ้าบวชก็ไปแอบอยู่ในวัดคอกหมูจนสิ้นรัชกาล  เห็นจะเป็นไปได้มากกว่า
๔) โดยพระนิสัยของสมเด็จพระนั่งเกล้า  ตามหลักฐานที่บันทึกกันมาอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เล่าลือ
เป็นผู้ที่โปรดเรื่องทะนุบำรุงศาสนา อย่างที่นายมีบรรยายไว้ว่า "ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด"     มีน้ำพระทัยนอบน้อมต่อภิกษุ  จะเล่นตะกร้อหรือทำอะไรห่ามๆในวัดบ้างก็ไม่ทรงถือสา    ขอแต่อย่าถึงขั้นปาราชิก
ในเมื่อบุคคลหนึ่งเป็นผู้ยึดถือศาสนาแน่นแฟ้นขนาดนี้ เรื่องจะตามอาฆาตเล่นงานขุนนางของสมเด็จพระราชบิดาให้บอบช้ำตกระกำลำบากเจียนตาย เห็นจะขัดแย้งกับพระนิสัยแน่นอน
พระนิสัยนั้นไม่ยึดถือเรื่องส่วนตัวเท่าการแผ่นดินอยู่แล้ว  ดูจาก"เงินถุงแดง" ก็เห็นชัด   ขนาดสมาชิกราชสกุลรัชกาลที่ ๓ เคยประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า สายรัชกาลนี้จนที่สุดในบรรดาราชสกุลจักรีทั้งหมด  เพราะต้นสายสกุลท่านยกมรดกให้แผ่นดิน ไม่ให้ลูกหลาน
เพราะฉะนั้นจะใส่พระทัยอะไรกับขุนนางเล็กๆคนหนึ่งที่เผอิญเป็นอาลักษณ์ของพระราชบิดา เคยหมอบเฝ้าบันทึกขีดๆเขียนๆใกล้ชิดเวลาทรงกลอนมาก่อน
จบแผ่นดินที่สอง  การกวีที่เฟื่องฟูก็ฟุบลง    ขุนนางก็ตกงาน   ออกบวช บ้านก็ตกทอดต่อไปเป็นของคนอื่นเป็นธรรมดา  เพราะพระราชทานให้เฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นของสืบมรดกกันได้
ส่วนเรื่องจารึกวัดพระเชตุพนที่ไม่มีสุนทรภู่ไปมีส่วนเขียนกับเขาด้วย      ไม่ว่าเป็นเพราะมัวไปอยู่หัวเมืองหรืออะไรก็ตาม
มันก็มีเหตุผลชัดๆว่า จารึกเหล่านั้นเขียนเพื่อเป็นวิชาการ รวบรวมความรู้  เป็นบทเรียนให้ศึกษา     ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก 
ผลงานเรื่องแต่งของสุนทรภู่นอกจากกาพย์พระไชยสุริยาแล้ว  ออกแนวเรื่องบันเทิง ไม่สอดคล้องกับตำรับตำรา
แม้แต่พระไชยสุริยา ก็อดไม่ได้ ที่จะ ขึ้นกดบทอัศจรรย์...เอาไปจารึกที่วัดโพธิ์ไหวหรือคะ
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้  จึงมองไม่เห็นความขัดแย้งใดๆระหว่างสมเด็จพระนั่งเกล้าฯกับสุนทรภู่ สะท้อนออกมาในนิราศสุพรรณ หรือเรื่องอื่น
ถ้ามีก็มีในเรื่องเล่านอกหนังสือ   จริงเท็จไม่รู้  รู้แต่ว่าในหนังสือ ไม่มีร่องรอยให้แกะได้เลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 11:07

เมื่อคืนนี้ผมเปิด Google Earth นั่งไล่เส้นทางนิราศสุพรรณตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงบางช่วงจะงงๆอยู่บ้างแต่ก็สนุกสนานดีมากครับ
เรื่องกวีนิราศสุพรรณเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ตอนนี้มีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจแล้ว
รอความเห็นของอาจารย์ก่อนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 11:45

ทำแผนที่มาฝากกันบ้างสิคะ อยากเห็น ได้เห็นภาพชัดขึ้น
ดิฉันยังไม่มีคำตอบเลยค่ะว่ากวีเป็นพระหรือชาวบ้านขณะแต่งเรื่องนี้  ตามแกะรอยไปเรื่อยๆ ยังไม่ตกลงปลงใจว่าเป็นอย่างไหนกันแน่  กลัวตัวเองลำเอียง
คุณอาชาฯได้คำตอบก่อนหน้าแล้ว  วิ่งเข้าเส้นชัยไปก่อน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง