เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เด็กชายน้อย ที่ 10 พ.ค. 13, 03:51



กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เด็กชายน้อย ที่ 10 พ.ค. 13, 03:51
ตอนเด็กผมคิดว่าคือหน้าฝน แต่พอโตขึ้นก็รู้ว่า คือใบไม้ผลิ
ส่วนหน้าฝนก็คือ วัสสานฤดู
แต่ก็มีบางคนบอกว่า วสันต์ ตามบาลีสันสกฤต คือใบไม้ผลิ  ตามไทย คือ ฝน

ผมเริ่ม งง แล้วว่าอะไรกันแน่ครับ??


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ค. 13, 07:00
ตามนี้เลยครับ

วสันตฤดู-วัสสานฤดู


          การแบ่งฤดูในปีหนึ่ง ๆ ของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิอากาศ อาจแบ่งเป็น ๒ ฤดู ๓ ฤดู ๔ ฤดู หรือ ๖ ฤดู ก็ได้


          ประเทศไทยแบ่งฤดูออกเป็น ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว หากจะเรียกชื่อฤดูเหล่านี้ด้วยคำบาลีสันสกฤต ก็จะเรียกได้ว่า คิมหันตฤดู (อ่านว่า คิม-หัน-ตะ-รึ-ดู) คือ ฤดูร้อน.  เหมันตฤดู (อ่านว่า เห-มัน-ตะ-รึ-ดู) คือ ฤดูหนาว. ส่วนฤดูฝน มีผู้เรียกว่า วสันตฤดู (อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-รึ-ดู) ซึ่งไม่ถูกต้องตามรูปศัพท์. เพราะ วสันตฤดู แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นฤดูของประเทศอินเดียทางภาคเหนือซึ่งแบ่งออกเป็น   ๖ ฤดู


         ชื่อ ฤดูฝน ในภาษาบาลีใช้ว่า วัสสาน (อ่านว่า วัด-สา-นะ) ดังนั้นถ้าจะเรียกฤดูฝนให้ถูกตามรูปศัพท์ ต้องใช้ว่า วัสสานฤดู (อ่านว่า วัด-สา-นะ-รึ-ดู)


ที่มา :  บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ค. 13, 07:04
สำหรับการใช้คำว่า " วัสสานฤดู" เราก็เคยมีใช้กันอย่างเป็นทางการ เช่น ในคราวเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ก็ใช้คำว่า  วัสสานฤดู


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ค. 13, 07:07
แต่การเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ใช้คำว่า วสัตนฤดู และ เหมะฤดู  ::)


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ค. 13, 07:12
ฤดูผันแปร ประพันธ์โดยพระเจ้าบรมวงษ์เธอพระองค์เจ้าจรูญโรจเรืองศรี

โทษของฤดูแปรไปนั้น คิมหะฤดู คือเดือน ๔ เดือน ๕เดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เปนระหว่างฤดูร้อนอากาศ
ร้อนรักษากายมนุษย์อยู่ สัมผัศแลธาตุของมนุษย์ได้กระทบความร้อนเปนธรรมดา ก็มีอากาศฝนอากาศหนาว
เจือมา


วัสสานะฤดู คือ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เปนระหว่างฤดูฝน อากาศเย็น
รักษากายมนุษย์อยู่ สัมผัศแลธาตุของมนุษย์ได้กระทบความเย็นเปนธรรมดา ก็มีอากาศร้อนอากาศหนาว
เจือมา

เหมันตฤดู คือ เดือน ๑๒ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เปนระหว่างฤดูหนาว อากาศหนาว
รักษากายมนุษย์อยู่ สัมผัศแลธาตุของมนุษย์ได้กระทบความหนาวเปนธรรมดา ก็มีอากาศฝนอากาศร้อน
เจือมา เพราะเหตุดั่งนี้ จึ่งว่าฤดูแปรไป มักให้มนุษย์มีความไข้เจ็บด้วยสัมผัศแลธาตุไม่เสมอ


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 13, 08:52
ส่วนฤดูฝน มีผู้เรียกว่า วสันตฤดู (อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-รึ-ดู) ซึ่งไม่ถูกต้องตามรูปศัพท์. เพราะ วสันตฤดู แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นฤดูของประเทศอินเดียทางภาคเหนือซึ่งแบ่งออกเป็น   ๖ ฤดู


         ชื่อ ฤดูฝน ในภาษาบาลีใช้ว่า วัสสาน (อ่านว่า วัด-สา-นะ) ดังนั้นถ้าจะเรียกฤดูฝนให้ถูกตามรูปศัพท์ ต้องใช้ว่า วัสสานฤดู (อ่านว่า วัด-สา-นะ-รึ-ดู)


ที่มา :  บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

ภาษาเป็นเพียงข้อตกลงในสังคมว่าคำเรียกนั้น ๆ หมายถึงสิ่งนั้น ๆ มีหลายคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งมีความหมายเดิมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไทยเรารับมาใช้ความหมายกลายเป็นอย่างอื่น ซึ่งอาจตรงข้ามกันทีเดียว ที่นึกออกตอนนี้คือคำว่า "อาวุโส"

อาวุโส “ผู้มีอายุ” เป็นคำเรียก หรือทักทาย ที่ภิกษุผู้แก่พรรษาใช้ร้องเรียกภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า (ภิกษุผู้ใหญ่ร้องเรียกภิกษุผู้น้อย) หรือภิกษุร้องเรียกคฤหัสถ์ คู่กับคำ ภนฺเต ซึ่งภิกษุผู้อ่อนกว่าใช้ร้องเรียกภิกษุผู้แก่กว่า หรือคฤหัสถ์ร้องเรียกภิกษุ; ในภาษาไทย มักใช้เพี้ยนไปในทางตรงข้าม หมายถึง เก่ากว่า หรือแก่กว่าในวงงาน กิจการ หรือความเป็นสมาชิก

จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D2%C7%D8%E2%CA&original=1)

คำว่า "อาวุโส" นี้ ท่านรอยอินก็ยอมรับความหมายที่คนไทยใช้กันอยู่ โดยอธิบายความหมายเดิมอยู่ในวงเล็บ

อาวุโส ว. ที่มีอายุแก่กว่าหรือมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่าเป็นต้น เช่น ข้าราชการอาวุโส ครูอาวุโส ศิลปินอาวุโส. น. ความมีอายุมากกว่า หรือมีประสบการณ์ในอาชีพมากกว่าเป็นต้น เช่น เขามีอาวุโสในการทำงาน ผู้มีอาวุโสทางการเมือง. (ป. อาวุโส เป็นคํา อาลปนะ คือ คําที่พระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่าเรียกพระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่า หรือเป็นคำที่พระใช้เรียกคฤหัสถ์, คู่กับ ภันเต ซึ่งเป็นคําที่พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่าเรียกพระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่า หรือเป็นคำที่คฤหัสถ์ใช้เรียกพระสงฆ์).

ส่วนคำว่า "วสันต, วสันต์" ท่านรอยอินอธิบายไว้ว่า

วสันต, วสันต์ [วะสันตะ, วะสัน] น. ฤดูใบไม้ผลิในคำว่า ฤดูวสันต์, วสันตฤดู ก็ว่า. (ป., ส.).

หากจะเพิ่มความหมายต่อท้ายว่า ในภาษาไทยหมายถึง "ฤดูฝน" ด้วย ก็น่าจะดีไม่น้อย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ค. 13, 09:31
พระลิขิตในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ว่า

พิธีฝนเริ่มต้น         วันพุธ
ตั้งแรกเทียนไชยจุด  สวดร้อง
กว้างวาลึกศอกขุด    หลุมพิ ธีนา
ปลาช่อนเผือกเสือกท้อง   อยู่หน้าพระดิน

รูปท้าวจัตุโลกตั้ง      สี่ทิศ
กลางพระอินทร์สถิต  สั่งใช้
ชี้หัตถ์ปัจฉิมทิศ       บังคับ
วัสสวลาหกให้         หอบน้ำปรายฝน


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 13, 10:47
ตัวอย่างคำที่มาจากบาลีสันสกฤต เมื่อไทยเรามาแล้วความหมายเปลี่ยนไป อีกคำหนึ่งคือ "วาสนา"

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D2%CA%B9%D2&original=1) ว่า

วาสนา อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น

ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี

ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ

แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบายกับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลก ๆ ต่าง ๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้

จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา;

ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ


คำว่า "วาสนา" นี้ ท่านรอยอินท่านอธิบายเพียงแต่ความหมายในภาษาไทย หาได้อธิบายความหมายในภาษาเดิมไม่

วาสนา [วาดสะหฺนา] น. บุญบารมี, กุศลที่ทําให้ได้รับลาภยศ, เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง, มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก. (ป., ส.).

"อาวุโส และ วาสนา" ในภาษาไทยมีความหมายเฉพาะแตกต่างกับความหมายในภาษาเดิม และเป็นที่ยอมรับจากท่านรอยอินฉันใด 

คำว่า "วสันต์" ก็น่าจะได้รับโอกาสบ้างฉันนั้น

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เป็นหนึ่ง ที่ 20 พ.ค. 13, 15:35
ู^
^
อาวุโส  ในภาษาไทย  แตกต่างจากภาษาเดิมจริงครับ ในการเรียนภาษาบาลี ผู้น้อยจะเรียกผู้ใหญ่ว่า ภนฺเต  แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยว่า  อาวุุโส  แปลว่า ท่านผู้มีอายุ


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 23, 10:35
สุขสันต์วัสสานฤดู ;D


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 พ.ค. 23, 15:01
เดาว่า  อาจเพราะ วสันต กับ วัสสาน มีเสียงใกล้เคียงกันจนนำมาใช้สลับกัน
                     โดยเฉพาะ พระสงฆ์ท่านเรียกฤดูฝนตามบาลีว่า วสฺสาโนตุ (วสฺสาน+อุตุ)
เมื่อประกาศฤดูฝน ท่านก็จะสวดว่า "อยํ วสฺสาโนตุ" (นี้ เป็นฤดูฝน)


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 23, 15:16
หวังว่าจะคลายร้อนลงได้หน่อยนะคะ


กระทู้: วสันตฤดู คือ ฤดูฝน หรือ ใบไม้ผลิ กันแน่ครับ??
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 23, 16:35
คำบาลีที่หมายถึง ฝน หรือ ฤดูฝน หรือ ปี นอกจาก วสฺสาน-วัสสานะ แล้ว ยังมีอีกคำคือ วสฺส-วัสสะ (คำนี้สันสกฤตว่า วรฺษ-วรรษ หรือ พรรษ, พรรษา)

ที่น่าสนใจคือคำว่า "วัสสะ" พ้องกับคำว่า "หวัด" (โรคที่มักมาในหน้าฝน) ในภาษาไทย จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ น่าสนใจพิจารณา