เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 10:59



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 10:59


        จาก  หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์
สัญญา  ธรรมศักดิ์ - ท่านผู้หญิง พงา  ธรรมศักดิ์  เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๕
ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลา อิสริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาส

พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดพิมพ์

มีหนังสือเล่มอื่นอีกสองเล่มที่แจกในงาน  แต่เล่มของพุทธสมาคมมีรายละเอียดเรื่องประวัติของ
ศาสตาจารย์สัญญา  และต้นตระกูล ละอียดกว่าเล่มอื่นๆ

เนื่องจากเก็บหนังสือชุดนี้ไว้เป็นพิเศษ  มิได้รวมกับหนังสืออนุสรณ์ทั่วไป  จึงไม่ได้เห็นเป็นเวลานาน
เมื่อจัดห้องสมุดใหม่  โดยเลื่อนตู้หนังสือกลางห้อง ๖ ตู้ไปมา  จึงพบหนังสือชุดนี้   นั่งอ่านซ้ำอยู่สองวัน
รู้สึกอยากนำมาฝากเรือนไทย  เพราะเป็นหนังสือที่น่าอ่าน  เรียบง่าย   เพื่อน ๆ คงชอบ



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 11:15


กาลกำเนิด

          "ผมเกิดเมื่อวันที่ ๕  เมษายน  ๒๔๕๐

           คุณพ่อผมเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งของแผ่นดิน  ชื่อเดิม  นายทองดี  ธรรมศักดิ์      นามสกุลเพิ่งได้รับพระราชทาน ทีหลัง     

ภายหลังท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น  พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี  ศรีสัตยาาวัตตา  พิริยพาหะ

ส่วนคุณแม่ชื่อ คุณหญิงชื้น        พี่ชายคนโตคือ นายบรรจง  ธรรมศักดิ์     พี่สาวคนรองคือ นางชุม  วิทยากิจ  หรือ ฉวี  โปตระนันท์

ตอนเด็กๆนั้นไม่ลำบากนักเพราะเป็นลูกอธิบดีศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ           บ้านเดิมอยู่หลังวัดอรุณราชวราราม

ซึ่งเป็นบ้านของปู่คือ หลวงศักดิ์โยธาบาล


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 11:21


แผนผังต้นตระกูล(แสดงในหน้า ๑๔) 


แสดงว่า  คุณปู่ หลวงศักดิ์โยธาบาล (เร่ว)  เป็นบุตรของ จมื่นมณเทียรพิทักษ์ (เสือ)

คุณตาคือ นายทอง  สถิตย์ทอง    คุณยายคือ   นางแก้วสถิตย์ทอง


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 11:44


ครั้งเสียพ่อ

        ผมเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนทวีธาภิเศก  อายุ ๖ ขวบ      แล้วจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

พออายุได้ ๑๑ ปี   พ่อก็ตายลงโดยเป็นไข้อินฟลูเอนซาและปอดบวม   ที่เริ่มระบาดในกรุงเทพฯ     

ตอนนั้นไข้นี้ยังไม่มีวิธีรักษา        พ่อเจ็บอยู่ไม่กี่วันก็ตาย


        ใคร ๆ ก็พูดว่าพ่อผมเป็นคนซื่อสัตย์       ท่านเป็นลูกศิษย์ของกรมหลวงราชบุรีรุ่นแรก (เนติบัณฑิต ร.ศ. ๑๑๖)

ตอนนั้นถ้าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ต้องมีที่อยู่สมหน้าสมตาแก่ฐานะของตัว   ไม่อย่างนั้นก็เป็นที่เสื่อมเสียแก่

พระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน          แต่พวกที่มีมรดกพกสถานอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร   พ่อผมไม่มี     ปู่ผมก็เป็น

ข้าหลวงกินแต่เงินเดือน    ขอประทานโทษผมขอเล่าอย่างตรง ๆ ผมยากจน        เป็นนักเรียนอัสสัมชัญยากจน

มาตั้งแต่พ่อเสีย

        ก่อนจะเสียชีวิต    พ่อกินเงินเดือนสูงมากในขณะนั้น  คือ  ๑,๓๕๐ บาท   นับว่าเงินเดือนสูงอยู่       แต่ท่านเคราะห์ร้าย

ท่านเป็นหนี้เขาเพราะการสร้างบ้าน  ต้องส่งชำระหนี้เวลาพ่อเจ็บ      ผมยังรู้สึกจำได้ว่า  แม้แต่ค่าหมอ   แม่ยังหาลำบากมารักษาพ่อ



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 13:44


        พอพ่อตาย   ฐานะผมก็ลดลงเลย  แทนที่จะเป็นลูกพระยา  นั่งรถยนต์ไปโรงเรียนอัสสัมชัญ  รถยนต์มีคนขับเป็นแขก 

เมื่อก่อนนี้ต้องใส่หมวกแขก  กลายเป็นต้องเดินไปโรงเรียน   คือ  ผมอยู่อย่างโบราณไปโรงเรียนก็เดินไป 

 ย่ำไปตั้งแต่สี่พระยาทั้งย่ำไปและย่ำกลับ   สมัยก่อนชีวิตมันช้ากว่านี้


        เมื่อพ่อตาย   แม่ไม่มีรายได้  ได้แต่ค่าเช่าสวน ค่าเช่านานิดหน่อย   แล้วบำนาญตกทอดก็ไม่มี     จนในที่สุดแม่ต้องขายบ้าน

บ้านที่มีอยู่ใหญ่โตเกินไปเลยต้องขายไปหมด   เป็นหนี้พระคลังข้างที่   คือพ่อไปยืมเงินมาปลูกบ้าน


        สมัยโบราณท่านสอนให้นับถือพระมหากษัตริย์   และนับถือพระอีก   ทั่งให้นับถือปู่ย่าตายาย  และวัฒนธรรมที่ดี

พี่ชายผมคือนายบรรจง  ธรรมศักดิ์  เรียนหนังสือเก่งมาก  ที่ ๑ ตลอดมา   จบอัสสัมชัญแล้วทำงานรถไฟ  แล้วได้ทุนกรมรถไฟ

ไปเรียนที่อเมริกา  แม่หวังพึ่งมาก   พออายุเข้า ๒๕ ก็ตายที่ฟิลาเดลเฟีย  เขาเป็นที.บี.ตาย   สมัยนั้นรักษายากมาก   ตอนนั้นผมอายุ ๑๓ ปี



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 14:04


เดินตามพ่อ


        จนกระทั่งเรียนจบอัสสัมชัญ   แม่เอามาฝากที่กระทรวงยุติธรรม   ฝากท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. สุทัศน์) เสนาบดี

ได้เงินเดือน ๓๘ บาท เป็นนักเรียนล่าม       ตอนนั้นได้ลืมหน้าอ้าปากได้หน่อย  เพราะมีเงินเดือน  แต่ต้องกินอยู่กับแม่....ที่เป็นตัวเป็นตนมาได้ก็เพราะแม่


        เหตุที่เลือกวิชากฎหมาย  เพราะว่าบิดาเป็นนักกฎหมายโดยเป็นเนติบัณฑิตไทยรุ่นแรก     เป็นลูกศิษย์ของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ   ท่านได้ดำเนิน

ชีวิตเกี่ยวกับกฎหมายมาตลอด   ตั้งแต่พ่อ  เพื่อนของพ่อ  ลูกศิษย์ของพ่อ  หนังสือของพ่อ          เหล่านี้ทำให้ผมเกิดความเลื่อมใส   อยากเป็นผู้พิพากษา


        เป็นเนติบะณฑิตปี ๒๔๗๑    รุ่งขึ้นต้นปี  กระทรวงยุติธรรมประกาศว่ามีทุนหลวงอยู่ ๓ ทุน  ให้ไปเรียนที่อังกฤษ  ฝรั่งเศส  และเยอรมัน

ปีนั้นผมเขเ้าสอบโดยไม่ได้บอกแม่   พอแม่รู้ก็ร้องไห้  บอกว่าบรรจงไปตายคนหนึ่งแล้ว  สัญญาจะไปตายตามกันอีก       แม่ไปบนเจ้าพ่อหลักเมือง 

ขอไม่ให้ผมสอบได้   ปรากฎว่าผมสอบตก.....   หลังจากนั้นไม่กี่เดือนมีการสอบทุนรพี         ผมก็ไปกราบแม่     บอกแม่ว่าต่อไปข้างหน้าชีวิตของพวกผม

ใครไม่ได้ไปเมืองนอก  ชีวิตก็จะล้าหลังเขาครับแม่         ถ้าไปเมืองนอกชีวิตจึงจะทันเพื่อน         ถึงจะเป็นอธิบดีศาลได้อย่างพ่อ

แม่ก็ร้องไห้อีก        ปรากฎว่าผมมาที่ ๑  ในจำนวน ๖๒ คนที่สอบ


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 12, 22:12


นักเรียนทุนรพี

        ทุนรพีเป็นทุนที่ลูกศิษย์ในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์รวบรวมกันในวันพระราชทานเพลิงศพท่าน    โดยรวมรวมเงินเดือน

ของแต่ละคนเต็มเงินเดือนที่ได้    เจ้าพระยามหิธรอุทิศให้หมดเต็มเงินเดือน    คัดเลือกนักเรียนที่เป็นเนติบัณฑิต

แล้วก็สอบกฎหมายและแข่งขันภาษาอังกฤษอีกด้วย   แล้วก็ไปเรียนเฉพาะประเทศอังกฤษ

        ผู้สอบได้ทุนนี้มี  ท่านประมูล  สุวรรณศร (หลวงประสาทศุภนิติ) เป็นคนแรก      ผมเป็นคนที่สอง   คนที่สามคือ คุณวัฒนา  อิสรภักดี

        ทุนรพีเก็บดอกเบี้ยให้เป็นค่าใช้จ่าย  ค่าเรียน  มันก็ได้น้อย  เพราะเหตุว่าดอกเบี้ยตอนนั้นถูก       เขาบอกให้เราใช้จ่ายปีละ ๓๐๐ ปอนด์

โดยที่นักเรียนทุนหลวงท่านให้ปีละ ๔๕๐ ปอนด์        ผมไปอยู่บ้านที่อังกฤษก็จำต้องประหยัดทุกวิถีทาง


ไปเมืองนอก

        วันไป  แม่ไปส่งที่ท่าเรือบอเนียว   เมื่อก่อนนี้ไม่ได้ไปเรือบิน   ไปเรือกำปั่นลงเรือที่ท่าบอเนียว   ผมลงเรือ   ตอนเรือแล่นออก   

แม่นั่งอยู่กับพี่สาวพี่เขยบนฝั่ง....  เห็นแม่เช็ดน้ำตา    ทีแรกผมก็คิดถึงอยู่เหมือนกัน  เพราะไปไกลมาก     แต่พอเรือออกไปแล้วสบาย ๆ เล่นแบดมินตัน

ฝรั่งมังค่าสนุกใหญ่เลย       เรือที่โดยสารไปนั้นชื่อเรืออเมริกา   เป็นเรือของบริษัทอีสเอเชียติก         เป็นเรือบรรทุกทั้งคนโดยสารและสินค้า

        ตอนที่เดินทางไปนั้น   แม่ยังให้สตางค์ไปด้วยนะ   คือแม่ให้ติดตัวไปเผื่อเวลายากลำบากในอังกฤษ    ให้เท่าไรรู้หรือเปล่า   ๖ ปอนด์.....

สมัยนั้นปอนด์ละ ๖ บาท



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 26 ม.ค. 12, 00:59
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงยกย่องอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ว่า " เป็นผู้ที่หาความชั่วไม่พบเลยในตัวท่าน"

เข้าใจว่า ดิฉันจะ "เคยมี เคยอ่าน" หนังสือเล่มเดียวกันนี้เมื่อหลายปีก่อน ซื้อจากร้าน Se-Edค่ะ
อ่านจบแล้วก็รีบส่งต่อไปให้คนไทยในต่างแดน แต่โชคร้าย มีเหตุให้หนังสือใหม่ ๆ เล่มนี้ สูญหายไประหว่างทาง
เสียดายมากๆๆๆๆ ยังคิดถึงไม่หาย

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ท่านต้องเป็นนายกรัฐมนตรีและถูกวิจารณ์มาก แต่หนังสือทำให้ดิฉันนับถือท่านมากทีเดียว

จะตามอ่านสาระดี ๆ ที่คุณวันดีนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะคะ


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 07:29


เรียนคุณร่วมฤดี

        ชุ่มชื่นใจเมื่อได้อ่านหนังสือดี ๆ    และปิติที่เรื่องที่เลือกมาเป็นที่ต้องใจของเพื่อน ๆ ใน เรือนไทย

ยังมีหนังสืออนุสรณ์อีกสองสามเล่มที่จัดว่าเป็นหนังสือที่หายาก  เป็นที่ต้องการของคนที่รู้คุณค่า

ที่จะทะยอยนำมาลงต่อไป       หนังสือแปลเรื่องหนึ่งที่ตามหาอยู่นานมากก็ได้มาแล้วอย่างไม่คาดฝัน

หนังสือกึ่งพงศาวดารของท่านผู้ใหญ่ในราชสำนักรัชกาลที่ ๖  ก็ได้มาแล้วเพราะมิตรอุปการะ     หนังสือของ

ท่านผู้หญิงคนเก่งของประเทศเรา   นักสะสมก็อนุญาตให้อ่าน  ทำให้ประวัติการพิมพ์แจ่มชัดขึ้น

ขอบคุณที่แวะมาคุย        พวกเราบ่นถึงคุณเสมอ



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 08:44


        เมื่อผมไปเมืองนอกอายุ ๒๒   ยังจำเหตุการณ์อันหนึ่งได้      ขาไปผมไปเรือบริษัทอีสต์เอเชียติค   แต่ก่อนไม่มีเรือบิน   

มีเขาก็ไม่ให้เรานั่ง   ไปเรือตั้ง ๓ อาทิตย์กว่าจะถึง      ผมจำได้ว่าคืนหนึ่งผมนอนไม่หลับ   ผมไปเดินอยู่บนดาดฟ้าเรือคนเดียว

กี่สิบเที่ยวก็ไม่ทราบ   กลับไปกลับมา         ในตอนนั้นเกิดมีความรู้สึกนึกคิดอย่างรุนแรงขึ้นว่า    การที่เมืองไทยเขาส่งเราไปเรียน

เมืองนอกเสียอัฐเสียเงินเสียทองไปหนักหนา       นี่เรากลับมาจะต้องทำอะไรสักอย่าง   เรากลับมาจะต้องไล่ฝรั่งศาลกงศุลไปให้หมด


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 08:54



        ตอนนี้ท่านนักศึกษารุ่นใหม่อาจจะยังไม่ทราบว่าสมัยนั้นเรายังมีสนธิสัญญาทางไมตรีที่ไม่เป็นธรรม   ยังมีศาลกงศุล

และสิทธิถอนคดีอยู่        คือถ้าหากว่าศาลเราพิจารณาคดีไม่พอใจพระเดชพระคุณคือกงศุลหรือทูต    เขาก็อาจถอนคดี

ไปชำระที่ศาลเขาได้       ไอ้นี้มันเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างเหลือเกิน   เพราะฉะนั้น  ผมจึงไปเดินหลายสิบเที่ยว   ตั้งเป้าว่า

จะกลับมาไล่ศาลกงศุลให้หมด   จะมาช่วยเขาไล่ไปให้หมด    ทีนี้ผมจะเรียนช้าไปหรืออย่างไรก็ไม่รู้   กลับมาเขาก็เลิกกันไปแล้ว


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 06:15


        เมื่อเรียนที่อังกฤษ   ใคร ๆ เขาได้ ๔๕๐ ปอนด์   ผมได้ ๓๐๐ ปอนด์    จนเพื่อนแซวว่าทำไมมันกลับเรียนเก่งก็ไม่รู้

ผมก็บอกว่าที่อุตส่าห์เรียนจบก็เพราะมีทุนน้อย   แล้วเวลาหน้าหนาวหิมะมันตก   ผมไม่มีสตางค์ซื้อโอเวอร์โคทได้เพราะแพง 

ตัวละตั้ง ๖ - ๘  กินนี   ผมก็ไปยืมคุณพจน์  สารสินบ้าง   คุณหลวงดิษฐการภักดีบ้าง  เพราะท่านเป็นข้าราชการสถานทูต

มีเงินมากกว่าผม


        อยู่ที่นั้นไม่เห็นน้อยเนื้อต่ำใจ    รู้สึกว่าเราเป็นนักเรียนจน   เราต้องบากบั่นเล่าเรียนเร็ว ๆ   กลับไปเลี้ยงแม่ดีกว่า   

เรื่องจะเที่ยวไม่มี  ทำไม่ได้  สตางค์ไม่มี   เลยทำให้เรียนดี   หลักสูตรเขา ๓ ปี  จึงจะได้เป็นเนติบัณฑิต   ผมได้ในสองปี ๓ เดือน   

แต่เขาไม่ยอมให้ผมเป็นเนติฯ   รอให้ผมกินข้าวกับเขาให้ครบ ๓ ปีเสียก่อน   เรียกว่าบาร์ดินเนอร์      เนติบัณฑิตสภาทราบแล้ว

ท่านกรรมการลงมติให้รางวัลผม ๖๐ ปอนด์   อนุญาตให้ขากลับแวะท่องเที่ยวยุโรปได้


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 07:34


ผู้มีบทบาทในการทำงานครั้งแรก


        ข้าพเจ้าระลึกถึงบุญคุณของเจ้าคุณอรรถกฤตนิรุตติ์​(ชม  เพ็ญชาติ) มิรู้หาย  ที่ท่านเป็นศิษย์ของบิดาข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว

ที่มิได้ทอดทิ้งแม่หม่าย  และลูกเล็ก ๆ ของอาจารย์ผู้ที่อ่อนแอ  ว้าเหว่  และยากจน  เพราะร่มโพธิ์ที่เคยอาศัยอยู่

แต่ร่มเดียวแท้ ๆ ล้มลงไปด้วยมัจจุราช เมื่อข้าพเจ้ามีอายุเพิ่ง ๑๑ ปี         ท่านเจ้าคุณอรรถกฤษ​ฯ เป็นผู้เดียวที่หมั่นมาเยี่ยมเยียน

ถามทุกข์สุข    และให้กำลังใจตลอดมา      จนข้าพเจ้าไต่เต้าขึ้นมาเป็นตัวตนถึงเพียงนี้ 



ก่อร่างสร้างตัว

        เมื่อผมเป็นเด็กกับเมื่อหนุ่ม ๆ  ชีวิตผมต้องประหยัดกับจนด้วย        ได้เงินเดือนใช้เพียงเล็กน้อย ๕๐๐ - ๖๐๐ บาท

แม่มีค่าเช่านาปีหนึ่ง ๑,๓๐๐ บาท  ได้ค่าเช่าสวนอีกนิดหน่อย ๕๐๐ - ๖๐๐ บาท         กลับมาจากนอกเงินเดือนผมได้ ๒๐๐ บาท 

ผมให้แม่เดือนละ ๕๐  บาท       แต่งงานแล้วยังบอกภรรยาว่าเราสองคนใช้เดือนละ ๑๕๐ บาทก็ยินดี

        ตอนเป็นผู้พิพากษาแล้ว  เงินเดือน ๒๐๐ บาท  แล้วก็ขึ้นไปตามลำดับ ๒๔๐ - ๒๖๐ - ๒๘๐  แล้วก็ ๓๐๐      ผมก็ยังมีเงิน

เก็บด้วยนะครับ       แล้วก็ถึงช่วงที่ผมหาซื้อที่ดินเพื่อให้แม่หลบภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในซอยภิรมย์ภักดี         ท่านเจ้าคุณ

ภิรมย์ภักดีเจ้าของที่ดินนี้  เป็นเพื่อนเจ้าคุณอรรถกฤตนิรุตติ์  พ่อตาผม

        สมัยนั้นที่ดินในบริเวณนี้ยังเป็นท้องนาล้วน ๆ         ส่วนท่านเจ้าคุณภิรมย์ภักดีพ่อคุณประจวบ  รู้จักกับพ่อตาผมดี

ท่านเจ้าคุณเรียกผมไปถามว่า  มีเงินอยู่เท่าไหร่   ผมก็บอกว่าคุณลุงครับ   เงินเดือนผมก็เก็บจริง ๆ ได้ ๔,๐๐๐  บาท

เท่ากับ ๕๐ ชั่ง    แต่ผมจะซื้อที่ได้ ๒,๐๐๐ บาทเท่านั้น   เพราะอีก ๒,๐๐๐ บาท  ต้องปลูกบ้านให้แม่อยู่


        เจ้าคุณภิรมย์ภักดีถามว่า   จะเอาที่เท่าไหร่  ขนาดไหน    ผมบอกไม่รู้ครับ       คุณลุงครับขอติดถนนซอยภิรมย์เส้นหนึ่งก็พอ

ส่วนที่ลึกเข้าไปก็แล้วแต่เนื้อที่ของคุณลุง   ท่านเมตตาตกลง       เลยได้ที่กว้าง ๒๐ วา  ลึกเข้าไป ๓๘ วา   รวมแล้วเกือบสองไร่

นี่เป็นความสัตย์จริง       ผมซื้อที่อยู่ด้วยเงินเดือนแท้ ๆ  ที่รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวท่านให้      ไม่ได้ไปฉ้อไปโกงใครเขาที่ไหน

เป็นอันว่าที่บ้านเรือนผมที่ลูกหลานผมอยู่เวลานี้   ราคาตกตารางวาละ ๒ บาท ๘๐ สตางค์   เดี๋ยวนี้แขกมาขอซื้อตารางวาละ ๒ แสนแล้วครับ             



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 08:13


สงคราม

        พี่สาวผมชื่อ  พี่ฉวี  สมรสกับหลวงชุมวิทยากิจ (ชุ่ม  โปตระนันท์) เป็นอาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

แต่งงานแล้วแยกบ้านไปอยู่ที่ทองหล่อ    ช่วงสงครามนั้นซัฟเฟ่อร์ที่สุด   เพราะบ้านที่อยู่สี่พระยาอยู่ในย่านที่ถูกบอมบ์

จึงได้มาซื้อที่ดินที่ซอยภิรมย์       ในซอยนี้ไม่มีหลุมหลบภัย   ต้องขุดกันเอง   แต่พอหวอมาก็เอาแม่ลงไม่ได้แล้ว  แม่ป่วย   

ผมมาอยู่ปี ๒๔๘๕     กว่าสงครามจะสงบก็ปี ๒๔๘๘


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 08:28


สูญเสียแม่

        ในระหว่างที่หนีบอมบ์อยู่นั้น   แม่ผมก็บอกว่าไม่ไหวแล้วลูก  พาแม่ไปตายที่ท้องนาดีกว่า     เรามีนาอยู่ที่ลำลูกกา

๒๐๐ ไร่  เป็นของพ่อผมมาแต่เดิม      ผมก็พาแม่ไปทางเรือ     เถ้าแก่ยู่เคียงที่เขาก่อสร้างบ้านผมบอกว่า   

ที่บ้านซอยภิรมย์ผมนี้มีคูน้ำ  พอเป็นเส้นทางออกแสนแสบได้        เขาจะเตรียมเรือที่มีประทุนมาให้  จอดอยู่ข้างบ้านเรา 

ใส่เปลหามคุณแม่ลงเรือนอนไป   คนของผมแจวเรือไปถึงท้องนาลำลูกกาซึ่งมีคนทำนากันอยู่   เขาปลูกกระต๊อบอยู่กันเป็นหลังเล็ก ๆ

พื้นที่นอนเป็นฟากไม้ไผ่  หลังคาจากฝาเป็นฟาก          ผมพาคุณแม่ไปที่กระต๊อบหลังหนึงที่ นายแป้น  ก้อนนาก ลูกนาของพ่อปลูกขึ้นใหม่

ค้างอยู่คืนหนึ่ง    ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว   มีหน้าที่ราชการ  ขาดงานไม่ได้          ผมต้องเดินทางกลับมานั่ง

เรือจ้างจากลำลูกกามาทางคลองสามวาผ่านเมืองมีน        มาขึ้นที่ปลายซอยพร้อมพงษ์  เดินมาคนเดียวถึงบ้านสามสี่ทุ่ม




กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 15:30


        แม่ไปอยู่ได้ ๗ วัน  ท่านเหนื่อยมากเลยถึงแก่กรรม        ผมไปทันท่านก่อนสิ้นลม

รู้สึกปลงอนิจจังว่า   แม่ผมซึ่งเป็นคุณหญิงต้องไปนอนตายที่กระต๊อบหลังคาจาก   มันเป็นภาพอันประเสริฐ

ให้เห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า     ถึงเวลาเข้าหีบ  ชาวนาก็ไปตามสัปเหร่อที่วัดคลอง ๗ ที่ใกล้ ๆ นั้น  มาทำ

ความสะอาดศพแม่ผม      ผมนั่งฟังเขาตอกหีบศพ   นั่งนิ่ง   นี่ถ้าไม่มีสงคราม  แม่เราก็เป็นคุณหญิง

เป็นภรรยาเจ้าคุณอธิบดีศาล    ก็อาจจะขอพระราชทานของหลวงให้  ส่งกรมสนมพลเรือนนุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อนอกมาจัดการศพแม่ผมก็ได้

แต่ผลสุดท้ายผมก็เอาศพท่านไว้ที่คลอง ๗ นั้นปีกว่า     จนปี ๒๔๘๘  สงครามสงบลง     ผมถึงเอาเรือไปรับศพแม่มาเผาที่วัดมกุฎ



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 12, 17:08


        ต่อมากระทรวงก็ให้ผมเข้ามารับราชการในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา      ซึ่งเป็นการทำงานด้านค้นคว้ากฎหมาย

ช่วยเหลือผู้พิพากษาศาลฎีกา    อยู่ภายใต้การฝึกปรือของท่านอาจารย์เสนีย์ ปราโมช   ท่านเป็นผู้ช่วย   ผมเป็นผู้ช่วยของท่าน

อีกทีหนึ่ง       เป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยอยู่นานถึง ๑๓ ปี     นานมากจึงได้เป็นผู้ช่วยจริงๆเมื่ออาจารย์เสนีย์บ้ายไปอยู่ศาลอุทธรณ์

ต่อจากนั้นก็ไปเป็นข้าหลวงยุติธรรมภาค ๔ ที่เชียงใหม่        มีหน้าที่ดูแลศาลยุติธรรม ๑๔ จังหวัดภาคเหนืออยู่ไม่นานนัก

สองปีก็มาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมอยู่ ๕ ปี      ก็ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาตามลำดับ      ปี ๒๕๐๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อยู่ ๑ ปี


       ๒๕๐๖  โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นประธานศาลฎีกา  เป็นอยู่ ๔ ปี  ถึงปี ๒๕๑๐ ก็เกษียณอายุ ๖๐ ปีพอดี        ปี ๒๕๑๐ - ๑๑   

ในหลวงโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี   ปีเดียวกันนั้นก็เป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ ๓ ปี  รัฐบาลก็

ขอให้เป็นอธิการบดีและองคมนตรีอยู่ด้วย    อันนี้ก็เป็นไปตามแบบแผนไม่ได้ขัดอะไร   เป็นอธิการบดีอยู่จนวันมหาวิปโยค ๒๕๑๖   วันที่ ๑๔ ตุลาคม

ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ    ก็ต้องขาดจากองคมนตรีอีกระยะหนึ่ง  ก็ต้องออกจากตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ด้วย   

เพราะมาทำงานการเมืองแล้วก็ไม่ควรอยู่ฝ่ายประจำต่อไป         เป็นนายกอยู่ ๑ ปี ๔ เดือน   ก็กราบถวายบังคมลาออก

โปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีใหม่       และในปี ๒๕๑๘  วันเฉลิม  ก็โปรดเกล้าฯ   ให้เป็นประธานองคมนตรีสืบต่อมาจนทุกวันนี้"



(ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา  ธรรมศักดิ์  ถึงแก่อนิจกรรม  เมื่อวันที่ ๖  มกราคม  ๒๕๔๕  ขณะดำรงตำแห่งองคมนตรี)






กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 12, 06:06


ประวัติท่านผู้หญิงพงา   ธรรมศักดิ์


เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๕๕ ที่จังหวัดพังงา    เป็นธิดาคนโตของพระยาอรรถกฤตนิรุตต์(ชม  เพ็ญชาติ)  กับคุณหญิงแม้น

ขณะนั้นบิดาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล "เมืองพังงา"


น้องมี ๓ คนคือ

๑.   นางประชุม  ชัยรัตน์  สมรสกับนายจินดา  ชัยรัตน์

๒.   นางอาภรณ์  บุญโสภณ   สมรสกับ นายวินัย  บุญโสภณ

๓.   รองศาสตราจารย์นายแพทย์เสริมศักดิ์  เพ็ญชาติ  สมรสกับ น.ส. โดโรธี  ครูซ


สมรสกับ ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา  ธรรมศักดิ์  เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๗๗      มีบุตร ๒ คนคือ


๑.    นายชาติศักดิ์   ธรรมศักดิ์    สมรสกับ น.ส. วิไลพร  คุณจักร์
       เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กลาง

๒.    นายแพทย์จักรธรรม   ธรรมศักดิ์   สมรสกับน.ส. สาคร  ศรีสวัสดิ์
       ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕  ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข


ศึกษาชั้นมูลประถม และ ประถมศกษา ณ โรงเรียนเสาวภา และ โรงเรียนราชินี

จบการศึกษาชั้นมัธยม ๖  จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓    ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนการเรือนอีกประมาณปีเศษ


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 12, 06:20


        ท่านผู้หญิงพงา  ได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะจากคุณตา  คุณยาย  และคุณป้าสาวโสด ๒ คนในกรุงเทพ ฯ

จนอายุได้ ๑๐ ปี   เพราะบิดาได้โยกย้ายไปรับราชการต่างจังหวัด  มารดาและน้องสาวได้ติดตามไป

เมื่อครอบครัวได้ย้ายกลับมากรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙  และพำนักที่บ้านของบรรพบุรุษใน "ชุมชนคนไทย"  ของ

"ชุมชนวัดกัลยา  ท่านผู้หญิงจึงถูกคืนตัวให้บิดามารดาใน พ.ศ. ๒๔๖๕   หลังจากการพยายามขอคืนตัวอยู่หลายปี


       ท่านผู้หญิงได้รับการเลี้ยงดูอบรมจากคุณยายและคุณป้าอย่างอบอุ่น    คุณยายตักบาตรวันละ ๑๐๐ รูปทุกวัน

และเปิดโรงทานให้คนจนทุกวัน




กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 12, 06:37


หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ ศ. สัญญา และ ท่านผู้หญิง พงา  ธรรมศักดิ์ ในหน้า ๒๓ลงไว้ว่า


     "ก่อนการสมรสกับศาตราจารย์สัญญา  ธรรมศักดิ์ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี       ท่านผู้หญิงใช้เวลานานถึง ๕ ปีกว่า  รอคอยท่านสัญญา

(ระหว่างการสู่ขอ  และการสมรส)"  ใช้เวลาดูแลบ้าน  บิดามารดา  ย่า  ป้า และน้องเล็ก ๆ


        ท่านผู้หญิงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔   สิรีอายุได้ ๘๗ ปี

ท่านใช้ชีวิตคู่ร่วมทุกข์สุขกับสามีเป็นเวลาถึง  ๖๗ ปี   และครอบครัวทั้งสองฝ่ายมีความสนิทสนมผูกพันกันมาเกิน ๘๐ ปี


ท่านประพฤติสัมมาปฎิบัติมาตลอดชีวิตอันยาวนาน      อยู่อย่างเงียบ ๆ  โดยมิได้เข้าไปยุ่งในการงานของสามีเลย

เป็นปูชนียบุคคลของครอบครัว  พี่น้อง  และญาติมิตร



กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: ritti018 ที่ 28 ม.ค. 12, 12:30
ขออนุญาต คุณwandee แก้ไขนิดนึงนะครับ

ผมว่า อายุของท่านผู้หญิงพงา ขณะถึงแก่อนิจกรรม น่าจะ 89 ปี มากกว่า 87 นะครับ(2455-2544)

ด้วยความเคารพ

...............


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 12, 14:22

หนังสืออ้างอิงลงรายละเอียดว่า

ท่านผู้หญิงสิริอายุ ๘๗ ปี ๕๐  วันค่ะ


        ในการย่อประวัติท่านผู้ใหญ่  ดิฉันสื่อความหมายที่สำคัญ ว่า ท่านเป็นใคร  สายสกุลมาจากไหน

ญาติพี่น้องและบุตรธิดาได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศอย่างไร     คู่สมรสเป็นใคร   มีความสำคัญต่อประเทศอย่างไร

มิได้อาลัยแต่ท่านที่ยศศักดิ์หรือเป็นฐานะอันสูงแต่สังคมไม่รู้จักค่ะ

        ชีวิตส่วนตัวของบางท่านที่เป็นที่รู้จักดี เพราะเป็นข่าวลงในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเปิดเผย    ดิฉันก็ไม่เคยจะก้าวล่วงล้ำ

หนังสืออ้างอิงนั้นมีอยู่มากมาย   ถ้าเป็นสกุลใหญ่เราก็จะรู้ได้ว่า พ่อของทวดท่านเป็นถึงเจ้าพระยา   ทวดเป็นพระยา

ปู่ยังเป็นพระยา   แสดงว่าตระกูลได้รับราชการมาเป็นหลายชั่วคน

       ความสนใจของดิฉันอยู่ที่ชีวิตเรียบง่ายของบุคคลที่ยิ่งใหญ่     การที่ท่านผู้หญิงอยู่กับคุณยายที่ทำบุญตักบาตรทุกวัน  และตั้งโรงทานด้วย

น่าสนใจนะคะ   เป็นการหล่อหลอมบุคคลิกภาพอย่างธรรมชาติทีเดียว    การที่คุณพ่อคุณแม่ของท่านพยายามขอตัวท่านกลับไปเลี้ยงดูพร้อมน้องๆ

เป็นเรื่องที่ประทับใจมากค่ะ             รายละเอียดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการอ่านมากค่ะ     ใจของคนที่รับรู้จะอ่อนโยน  นึกถึงรายละเอียดได้เอง

โดยไม่ต้องเล่า


        ที่  ศาสตราจารย์สัญญา  เดินหลายรอบในเรือเดินสมุทรตั้งใจจะกลับมารับใช้บ้านเมืองแก้ไขเรื่องศาลกงศุล     เป็นความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว

ขนาดไหน   ที่ไม่จำเป็นต้องบรรยายให้กระเทือนใจ   เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้สงบ  อยู่อย่างสงบ  และจากไปอย่างสงบค่ะ


       ขอบคุณที่สนใจเรื่องประวัติบุคคล       เพราะเราก็ได้สนทนากันหลายวาระแล้ว  ในเรือนไทยและในพันทิป

       


กระทู้: อัตชีวประวัติ ศาสตาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ม.ค. 12, 08:57
ขออนุญาต คุณwandee แก้ไขนิดนึงนะครับ

ผมว่า อายุของท่านผู้หญิงพงา ขณะถึงแก่อนิจกรรม น่าจะ 89 ปี มากกว่า 87 นะครับ(2455-2544)

ด้วยความเคารพ

...............

การคำนวณอายุผู้วายชนม์จากการเอาปีเกิดตั้งลบด้วยปีที่วายชนม์นั้น
ทำให้อายุผู้วายชนม์คลาดเคลื่อนได้มาก  ยิ่งถ้าไปดูสมัยก่อนการนับปีนับเป็นปีย่าง
คือเมื่อเกิดปีใด ปีนั้นก็นับว่า ๑ ขวบ อย่างท่านผู้หญิงพงา ก็นับว่าอายุ ๑ ขวบตั้งแต่ปี ๒๔๕๕
ถ้านับอย่างนี้ (ตามคติโบราณ) ท่านผู้หญิงพงา จะอายุ ๙๐ ปี เมื่อถึงแก่อนิจกรรม
การนับอย่างนี้จะทำให้สับสน  โบราณท่านก็มีวิธีอายุให้ตรงตามความเป็นจริงด้วย
คือนับกันเป็นวัน  อย่างนี้จะได้อายุกันตามจริง  ไม่ขาดไม่เกิน