เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 14, 22:35



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 14, 22:35
สวัสดีครับ
หลังจากเงียบหายไปเสียหลายเดือน วันนี้ขอกลับเข้ามารายงานตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ
สาเหตุที่อยู่ดีๆก็เงียบไปนั้น ก็ด้วยมีหลายเรื่องเกิดขึ้นผสมผสานกันในช่วงเวลาเดียวกัน อุปกรณ์และระบบสำหรับการสื่อสารที่รวนเป็นเรื่องแรก ตามมาด้วยสุขภาพกาย แล้วก็ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางสังคม

ส่วนสาเหตุที่ตะแล็บแก็ปเข้ามาในวันนี้ ก็เพราะเห็นว่า ถึงเวลาที่จะต้องมาขยายความรู้จักและความเข้าใจในเรื่องแผ่นดินไหวให้ละเอียดมากขึ้น
ผ่านมาเกือบจะ 3 อาทิตย์แล้วที่ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งคิดว่าคงมีผู้คนที่อยากจะได้รู้อะไรๆมากขึ้นกว่าข้อมูลข่าวสารที่ปรากฎอยู่ในสื่อต่างๆ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 14, 22:54
ขอเกริ่นนำเล็กน้อยก่อนที่จะเข้าเรื่องนะครับ

เหตุการ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายช่วงเดือนนี้ มีจำนวนการเกิดรวมๆกันแล้วใกล้จำนวนพันครั้งหรือถึงพันครั้งเข้าไปแล้ว เกิดทุกวัน วันละหลายๆครั้ง ทั้งกลางวันและกลางคืน มีจุดกำเนิดอยู่ไม่ลึกจากผิวดิน (น้อยกว่า 10 กม.) พบเป็นกลุ่มกระจายอยู่บริเวณรอยต่อ อ.พาน อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เมือง จ.เชียงราย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่รุนแรงนัก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 14, 23:11
ผมไปเชียงรายในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้พอดี ตั้งแต่การเกิดครั้งแรก แล้วนอนอยู่กับมันต่อมาอีกเกือบ 2 อาทิตย์ และที่มากไปกว่านั้นก็คือ พักอยู่ในพื้นที่ใกล้กลุ่มจุดกำเนิดของมัน (ในระยะทางตรงประมาณ 10 +/- กม.)

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งหลังจากการเกิดครั้งแรก ผมก็ได้ไปสำรวจดูความเสียหายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านใกล้ที่พัก แล้วก็ได้ขยายพื้นที่สำรวจกว้างขึ้นไปในวันหลังๆ หลังจากที่มันเขย่าต่อมาอีกหลายร้อยครั้ง

ก็คิดว่าได้เห็นอะไรต่อมิอะไรมากพอที่จะนำมาเล่าเป็นประสพการณ์และความรู้สู่กันฟัง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 14, 23:43
โดยการศึกษาและอาชีพ   ความสนใจและถนัดทางวิชาการเฉพาะทางของผม ทำให้ผมต้องเรียน ต้องรู้ เรื่องของแผ่นดินไหวในมุมทางวิชาการหรือวิทยาการสาขาอื่นๆต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ก็เพื่อนำข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมาประมวลใช้ในการทำความเข้าใจถึงเรื่องราวทางธรณีวิทยาของพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะย้อนกลับไปกลับมา คือ เอาผลที่เกิดขึ้นไปขยายความรู้และความเข้าใจถึงต้นเหตุ เอาต้นเหตุไปขยายความรู้และความเข้าใจผลที่เกิดตามมาอย่างต่อเนื่อง ผลสุดท้ายที่อยากจะได้รับก็สุดแท้แต่ว่าจะเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับเรื่องอะไร ซึ่งได้ทั้งเพื่อทางวิชาการและเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

เรื่องที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ จะขอเขียนออกไปทางวิชาการ แล้วก็จะมีภาษาอังกฤษปนอยู่ ซึ่งเป็นคำปรกติที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน (แต่ในความหมายทางเทคนิค) ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 28 พ.ค. 14, 02:36
รีบเข้ามาฟังครับ เพราะไม่ว่าเฉพาะทางหรือไม่เฉพาะ ทุกกระทู้ของท่านnaitangแม้ลีลาจะต่างจากอาจารย์NAVARAT.C แต่ก็ลื่นไหลเห็นภาพตามเข้าใจแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะงวดนี้ของจริงประสพการณ์ตรง นักเรียนทั้งหลายพลาดไม่ได้ ท่านลงจากเรือนไปนานจนคิดถึง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 28 พ.ค. 14, 03:13
รีบเข้ามา ล้างหูน้อมรับฟัง ด้วยความสนใจอย่างยิ่งครับ
และ
ดีใจที่ท่านเจ้าของกระทู้ กลับมาเยือนเรือนไทยอีกครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 พ.ค. 14, 06:38
ขอฟังด้วยคนค่ะ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ค. 14, 06:39
ดีใจที่กลับมาครบทุกองค์ประกอบครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 พ.ค. 14, 08:48
ดีใจที่ได้เห็นคุณตั้งกลับมาเรือนไทยอีกหน  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 14, 08:58
มาต้อนรับคุณตั้ง กลับสู่เรือนไทยค่ะ  พร้อมกับน้ำชาแก้คอแห้ง   
แฟนๆมานั่งแถวหน้ากันสลอนแล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 พ.ค. 14, 09:53
          รออ่านเรื่องราวเรื่องเล่าจากคุณตั้ง



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 14, 21:07
ขอบพระคุณทุกๆท่านครับ สำหรับการต้อนรับด้วยความอบอุ่น

ขอเกริ่นต่ออีกนิดหน่อยว่า ถึงผมจะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้มามากกว่าปรกติ และได้มีโอกาศทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวของไทยพอสมควร ผมก็อยากจะขอเรียนว่า ผมมิใช่ผู้รอบรู้ในศาสตร์เรื่องแผ่นดินไหว (Seismology) มากพอที่จะถูกจัดเป็นนักวิชาการแผ่นดินไหว (Seismologist) ผมเพียงมีความรู้และความเข้าใจเพียงพอที่จะผูกเป็นภาพในองค์รวมแบบหลวมๆของเหตุการณ์นั้นๆเท่านั้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 14, 21:57
เมื่อเราได้รับข่าวสารว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น เรามักจะเห็นภาพและเข้าใจในความหมายที่หมายถึงแผ่นดินเกิดอาการสั่นสะเทือน และอาคารบ้านเรือนเกิดอาการโยกไหวไปมา ทำให้เกิดผลที่ไม่พึงปราถนาติดตามมา คือ ความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต และรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบนผิวดินและภูมิประเทศ ขยายต่อไปถึงการเกิดซึนามิตามชายฝั่งทะเล
 
สำหรับผมนั้น แผ่นดินไหวเป็นอาการเคลื่อนไหวของ earth materials และ man made materials ที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนที่ผ่านไป ซึ่งลักษณะและรูปแบบของอาการเคลื่อนไหวนั้นๆขึ้นอยู่กับลักษณะของคลื่น ความรุนแรง และความเข้มข้นของคลื่นที่วิ่งผ่านไป (ซึ่งคลื่นนั้นๆก็คือรูปแบบของพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากจุดต้นกำเนิดของเหตุการณ์ _ จุด focus)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 14, 22:32
แวะออกข้างทางแป็บนึงครับ

ดูๆไปแล้ว คลื่น (wave) ต่างๆที่เรารู้จักกัน  ซึ่งมีทั้งที่มีต้นกำเนิดต่างกัน (เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า_electromagnetic wave  คลื่นแผ่นดินไหว_seismic wave) และมีทั้งที่มีต้นกำเนิดเดียวกันแต่จัดแบ่งความถี่ออกเป็นช่วงๆ แล้วเรียกมันในชื่ออื่นๆต่างกันออกไป (เช่น short wave, ultraviolet, sound wave, white light, x-ray)
 
คลื่นทั้งหลายเหล่านั้น ต่างก็เป็นตัวการสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งต่างๆที่ประกอบกันเป็นโลกของเรา ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นสิ่งไม่มีชีวิต และในทางที่เป็นการทำลายและที่เป็นการสร้างสรรค์



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 14, 23:07
ต้นตอที่ปล่อยพลังงานออกไปในรูปของคลื่นแผ่นดินไหวนั้น มีอยู่ 3 แบบ คือ
    - พลังสะสมที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนระนาบที่หินใต้พิภพเคลื่อนที่ผ่านกัน (fault plane) ถูกปล่อยออกไป   เหมือนกับเราพยายามเลื่อนไม้กระดานสองแผ่นที่วางทับกันไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งจะพบว่าความไม่เรียบของผิวกระดาน จะทำให้ไม้ทั้งสองแผ่นเคลื่อนที่ผ่านกันลำบาก สะดุดติดเป็นช่วงๆ ซึ่งทุกครั้งเมื่อหลุดจากการสะดุดกัน จะรู้สึกว่ามีการกระชุ่นเกิดขึ้น พลังที่รู้สึกได้จากการกระชุ่นนี้ก็คือพลังงานที่ถูกปล่อยออกไป
   -พลังจากการเคลื่อนที่ของหินละลาย (magma) ใต้ภูเขาไฟ และแรงระเบิดของภูเขาไฟ
   -จากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดนิวเคลียร์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 14, 06:18
^
กระชุ่น

          มีคำในภาษาไทยอยู่คำหนึ่ง ซึ่งมีผู้นำมาใช้ในการเขียนลงในหนังสือพิมพ์ คล้าย ๆ กับว่าเป็นสำนวนใหม่ เพราะในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ต่างก็มิได้เก็บไว้ แม้ในปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็มิได้เก็บไว้เช่นกัน นั่นคือคำว่า “กระชุ่น”  เช่น กระชุ่นแถลง มีผู้เคยถามว่าคำนี้หมายความว่ากระไร บางคนคิดว่าคงเป็นศัพท์ที่นักหนังสือพิมพ์ได้บัญญัติขึ้นใช้เอง เพราะในปัจจุบันมีคำใหม่ ๆ ที่เราเรียกว่า คำสแลง เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น คำว่า “ทอม-ดี้” ที่กำลังใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในหนังสือประเภทนิตยสารรายคาบ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน และรายสะดวก แม้แต่วารสารทางการเมืองก็ยังได้นำเรื่อง “ทอม-ดี้” มาลงเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์อยู่มาก

          แม้ว่าคำว่า “กระชุ่น” จะไม่มีอยู่ทั้งในปทานุกรม ฉบับกรมตำราและในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่กลับปรากฏว่าคำนี้ได้มีอยู่ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับภ์” ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์มากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว โดยท่านได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “อาการที่เดิร เอาตีนดุนเข้า, หฤๅเอามือดุนกระทั่งเข้าให้เขารู้ตัว.” ซึ่งนับว่าแปลกมาก แสดงว่าศัพท์นี้ได้ตายหรือสลบไสลมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึงปัจจุบันก็ประมาณ ๕๐ ปี เพิ่งจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ แม้ในพจนานุกรม จะมิได้เก็บไว้ แต่เมื่ออ่านแล้วก็พอเดาได้ ว่าหมายความอย่างไร

          คำในภาษาไทยเรายังมีอยู่อีกมากมายที่ในปัจจุบันแทบไม่มีใครทราบ ถ้าหากเราจะขุดค้นเอาคำต่าง ๆ เหล่านี้มา “ปัดฝุ่น” ใช้กันใหม่ ก็คงจะดี คำใดที่พอจะเข้ากันได้ ก็เอามาใช้เลย แทนที่จะต้องไปเสียเวลาขบคิดสร้างคำใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งบางทีคิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีใครยอมใช้ เสียเวลาเปล่า ๆ ทั้งยังจะเป็นการลด “ช่องว่าง” ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อีกด้วย

          หนังสือที่จะนำมาประกอบการพิจารณา ก็คือ หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของ หมอปรัดเล ที่องค์การค้าคุรุสภาได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ราคาเพียงเล่มละ ๑๒๐ บาทเท่านั้น ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังจะมีเหลืออยู่บ้างหรือไม่ อีกเล่มหนึ่ง ก็คือ ปทานุกรม ฉบับกรมตำรากระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ เล่มนี้คงหาไม่ได้แล้ว หากองค์การค้าคุรุสภาจะจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อวงการภาษาไทยมากทีเดียว นอกจากนั้นบรรดาศิลาจารึก หนังสือวรรณคดีไทยสมัยก่อน ๆ ตลอดจนหนังสือกฎหมายโบราณทั้งหลาย เช่น กฎหมายตราสามดวง ก็น่าจะได้รวบรวมศัพท์ต่าง ๆ นำมาพิจารณาใช้ให้เหมาะสมต่อไป คงจักเป็นประโยชน์มากทีเดียว.

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๗๙.

อ้างถึง
ซึ่งทุกครั้งเมื่อหลุดจากการสะดุดกัน จะรู้สึกว่ามีการกระชุ่นเกิดขึ้น พลังที่รู้สึกได้จากการกระชุ่นนี้ก็คือพลังงานที่ถูกปล่อยออกไป

ทำท่าจะเข้าใจ พออ่านคำแปลของท่านราชบัณฑิตแล้ว เลยงงเป็น๒เท่า ???


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ค. 14, 08:34
         แม้ว่าคำว่า “กระชุ่น” จะไม่มีอยู่ทั้งในปทานุกรม ฉบับกรมตำราและในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่กลับปรากฏว่าคำนี้ได้มีอยู่ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับภ์” ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์มากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว โดยท่านได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “อาการที่เดิร เอาตีนดุนเข้า, หฤๅเอามือดุนกระทั่งเข้าให้เขารู้ตัว.” ซึ่งนับว่าแปลกมาก แสดงว่าศัพท์นี้ได้ตายหรือสลบไสลมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึงปัจจุบันก็ประมาณ ๕๐ ปี เพิ่งจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ แม้ในพจนานุกรม จะมิได้เก็บไว้ แต่เมื่ออ่านแล้วก็พอเดาได้ ว่าหมายความอย่างไร

ความหมายเดียวกับ "กระตุ้น" นั่นแล

กระตุ้น ใช้มือหรือสิ่งใด ๆ กระแทกเบา ๆ ให้รู้ตัว  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 14, 18:46
ตกลงคุณตั้งตั้งใจจะบอกว่าแรงกระทำจนหลุดจากการสะดุดกันนี้ เบาๆหรือว่าแรงพอดูครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 14, 22:05
อืม์ ตกกะใจหมดเลย

ไม่ยักรู้ว่า คำว่า "กระชุ่น" นี้เป็นคำโบราณที่ไม่มีใครเขาใช้กันแล้ว แถมยังไม่ปรากฎอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกด้วย
แถมคุณเพ็ญชมพูยังว่าเป็นความหมายเดียวกับ "กระตุ้น" นั่นแล

ผมก็เลยเข้าร่วมวง เป็นงง ตามไปด้วย

ผมใช้คำนี้กับคนในพื้นที่ๆผมเข้าไปทำงานสำรวจตั้งแต่แรกเข้าทำงาน ก็เข้าใจในความหมายซึ่งกันและกันที่ตรงกันดี   (พื้นที่ที่ผมใช้คำนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มภาคกลาง) เป็นคำที่ออกจะใช้บ่อยเสียด้วย เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ต้องใช้คำนี้ในการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหากันบ่อย คือ รถติดหล่ม เรือเกยตื้นในแม่น้ำ แพเกยตื้นในห้วย
 
ความหมายที่เข้าใจตรงกัน คือ พยายามกระเสือกกระสน ค่อยๆด้นไป ค่อยๆขยับกระดึ๊บๆไปข้างหน้า จะด้วยการโยกซ้ายที ขวาที หน้าบ้าง หลังบ้าง ฯลฯ อย่างไรก็ได้  คือ ออกแรงเป็นจังหวะ เป็นชุดๆ ในลักษณะของ pulse   เป็นแรงเสริมแบบวูบมา   

"เอ้า  ฮุยเลฮุย เอ้า..."  เอ้าที่หนึ่งก็เป็นการกระชุ่นครั้งหนึ่ง 
ภาษาเหนือดูจะตรงกับคำว่า "ยู้"   




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 14, 22:26
ตกลงคุณตั้งตั้งใจจะบอกว่าแรงกระทำจนหลุดจากการสะดุดกันนี้ เบาๆหรือว่าแรงพอดูครับ

ตั้งใจจะบอกว่า เมื่อมันสะดุดกันนั้น แรงที่มาดันให้มันเคลื่อนที่ผ่านกันก็ยังมีอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นแรงที่สะสมกันเพิ่มขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ  จนในที่สุดแรงที่มาสะสมกันนั้นก็มีกำลังมากพอที่จะผลักให้หลุดจากออกจากการสะดุดกัน  เมื่อหลุดแล้วก็จะมีแรงส่วนเกินในทันที  เกิดเป็น pulse ของแรงที่เป็นส่วนเกินกระจายออกไปในรูปของคลื่น ซึ่งคลื่นที่ว่านี้จะกระจายไปไกลเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณมากน้อยของแรงที่มันสะสมอยู่

ซึ่งปริมาณมากน้อยของแรงที่สะสมอยู่นั้น ก็คือ พลังงานของแผ่นดินไหวนั้นๆ ครับผม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 14, 23:14
กลับไปที่เรื่องของคลื่นต่อครับ

คลื่นแผ่นดินไหว (seismic wave) มีอยู่ 4 ชนิด คือ P-wave, S-wave, Rayleigh wave, และ Love wave

P-wave เป็นคลื่นที่วิ่งผ่านของแข็ง ไม่วิ่งผ่านของเหลว  ลักษณะการเดินทางของคลื่นก็คล้ายกับการที่เท้าของเรารับรู้ว่ามีคนกำลังทุบพื้นปูนอยู่ด้านล่าของอาคาร  มีลักษณะเป็นการกระเทือน มิใช่ลักษณะของการแกว่งไกว  คลื่นนี้จะอ่อนกำลังลงหากยิ่งวิ่งผ่านพื้นที่ๆมีความแข็งน้อย

S-wave เป็นคลื่นที่วิ่งผ่านของเหลวและของที่อ่อนนุ่ม  ลักษณการเดินทางของคลื่นก็คล้ายกันคลื่นที่กระจายออกจากจุดที่เราโยนก้อนหินลงในน้ำ ยิ่งคลื่นเคลื่อนที่ไปไกลจากแหล่งกำเนิดมากเท่าใด มันก็จะยิ่งขยายตัวเป็นช่วงคลื่นที่ยาวขึ้น (long wave length) และความสูงของคลื่นก็จะยิ่งลดลง (low wave height หรือ amplitude wave)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 14, 23:36
Rayleight wave เป็นคลื่นที่พอจะเทียบได้กับอาการโคลงไปมาของเรือในขณะแล่นโต้คลื่นในทะเล

Love wave เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่แกว่งไปมาในแนวราบ พบในพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน - ดินแข็งวางทับสลับกัน 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 14, 23:42
รู้จักคลื่นแผ่นดินไหวเป็นพื้นฐานพอสังเขป ก็เพื่อจะได้ไปต่อในเรื่องของความพินาศ ความเสียหายต่างๆ

ต่อวันพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 14, 07:07
อ้างถึง
แม้ว่าคำว่า “กระชุ่น” จะไม่มีอยู่ทั้งในปทานุกรม ฉบับกรมตำราและในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่กลับปรากฏว่าคำนี้ได้มีอยู่ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับภ์” ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์มากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว โดยท่านได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “อาการที่เดิร เอาตีนดุนเข้า, หฤๅเอามือดุนกระทั่งเข้าให้เขารู้ตัว.” ซึ่งนับว่าแปลกมาก แสดงว่าศัพท์นี้ได้ตายหรือสลบไสลมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึงปัจจุบันก็ประมาณ ๕๐ ปี เพิ่งจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ แม้ในพจนานุกรม จะมิได้เก็บไว้ แต่เมื่ออ่านแล้วก็พอเดาได้ ว่าหมายความอย่างไร

อ้างถึง
ความหมายเดียวกับ "กระตุ้น" นั่นแล

กระตุ้น ใช้มือหรือสิ่งใด ๆ กระแทกเบา ๆ ให้รู้ตัว   

อ้างถึง
ผมใช้คำนี้กับคนในพื้นที่ๆผมเข้าไปทำงานสำรวจตั้งแต่แรกเข้าทำงาน ก็เข้าใจในความหมายซึ่งกันและกันที่ตรงกันดี   (พื้นที่ที่ผมใช้คำนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มภาคกลาง) เป็นคำที่ออกจะใช้บ่อยเสียด้วย เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ต้องใช้คำนี้ในการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหากันบ่อย คือ รถติดหล่ม เรือเกยตื้นในแม่น้ำ แพเกยตื้นในห้วย
 
ความหมายที่เข้าใจตรงกัน คือ พยายามกระเสือกกระสน ค่อยๆด้นไป ค่อยๆขยับกระดึ๊บๆไปข้างหน้า จะด้วยการโยกซ้ายที ขวาที หน้าบ้าง หลังบ้าง ฯลฯ อย่างไรก็ได้  คือ ออกแรงเป็นจังหวะ เป็นชุดๆ ในลักษณะของ pulse   เป็นแรงเสริมแบบวูบมา   

"เอ้า  ฮุยเลฮุย เอ้า..."  เอ้าที่หนึ่งก็เป็นการกระชุ่นครั้งหนึ่ง 
ภาษาเหนือดูจะตรงกับคำว่า "ยู้" 


ตกลงว่าข้อสอบภาษาไทย"จงแปลคำศัพท์"คำนี้ ท่านราชบัณฑิตสอบตก หรือท่านคุณตั้งสอบตก

ล้อเล่นน่ะครับ เดี๋ยวคุณตั้งจะต๊กกะใจอีก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 14, 07:14
Rayleight wave เป็นคลื่นที่พอจะเทียบได้กับอาการโคลงไปมาของเรือในขณะแล่นโต้คลื่นในทะเล

ศัพท์นี้พอจะเข้าใจว่ามาจากชื่อคนผู้นิยามลักษณาการแผ่นดินไหวแบบนี้

Love wave เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่แกว่งไปมาในแนวราบ พบในพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน - ดินแข็งวางทับสลับกัน

แต่ศัพท์นี้ คุณตั้งบอกได้ไหมครับว่า มาจากคนชื่อนายเลิฟ หรือมาจากกริยาอาการของคำว่าLove



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 14, 08:24
Rayleight wave เป็นคลื่นที่พอจะเทียบได้กับอาการโคลงไปมาของเรือในขณะแล่นโต้คลื่นในทะเล

ศัพท์นี้พอจะเข้าใจว่ามาจากชื่อคนผู้นิยามลักษณาการแผ่นดินไหวแบบนี้

คลื่นเรย์ลีได้นามตาม John William Strutt  (http://en.wikipedia.org/wiki/John_William_Strutt,_3rd_Baron_Rayleigh) หรือ 3rd Baron Rayleigh นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ (คนทางซ้ายตามรูปข้างล่าง)

Love wave เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่แกว่งไปมาในแนวราบ พบในพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน - ดินแข็งวางทับสลับกัน

แต่ศัพท์นี้ คุณตั้งบอกได้ไหมครับว่า มาจากคนชื่อนายเลิฟ หรือมาจากกริยาอาการของคำว่าLove

คลื่นเลิฟได้นามตามนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Augustus Edward Hough Love  (http://en.wikipedia.org/wiki/Augustus_Edward_Hough_Love) หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า  A. E. H. Love (คนทางขวาตามรูปข้างล่าง)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 14, 19:15

ความหมายที่เข้าใจตรงกัน คือ พยายามกระเสือกกระสน ค่อยๆด้นไป ค่อยๆขยับกระดึ๊บๆไปข้างหน้า จะด้วยการโยกซ้ายที ขวาที หน้าบ้าง หลังบ้าง ฯลฯ อย่างไรก็ได้  คือ ออกแรงเป็นจังหวะ เป็นชุดๆ ในลักษณะของ pulse   เป็นแรงเสริมแบบวูบมา   

"เอ้า  ฮุยเลฮุย เอ้า..."  เอ้าที่หนึ่งก็เป็นการกระชุ่นครั้งหนึ่ง 
ภาษาเหนือดูจะตรงกับคำว่า "ยู้"   

คำว่ากระชุ่น ถ้าคุณตั้งพูดเป็นภาษาอังกฤษ  จะใช้คำว่าอะไรคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 14, 19:40
คุณเพ็ญชมพูได้ตอบแบบตรงๆไปแล้วนะครับว่า ชื่อของคลื่นทั้งสองนั้นตั้งตามชื่อของผู้ที่ค้นพบลักษณะของคลื่นทั้งสองนั้นๆ

แต่ผมได้เห็นอารมภ์ขันที่ลึกซึ้งของคุณ Navarat C. ที่แฝงอยู่ในขัอปุจฉา-วิสัจฉนาทั้งสองนั้น เพราะผมดันไปสาธยายว่า คลื่นชนิดนี้พบในพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน-ดินแข็งวางตัวทับสลับกัน    ซึ่งเป็นเหตุทำให้ผมต้องไปค้นหาต่อไปว่า (ในความคิดของสมองขี้เลื่อยของผม) ทำไมจึงมีการใช้นามสกุล Love ซึ่งเป็นคำกริยา แทนที่จะเป็นคำนามตามวิสัยปรกติของคนอังกฤษ   ทำให้ผมมโน (ใช้ศัพท์ทันสมัยเสียหน่อย) แบบโมเมต่อไปว่าอาจจะเป็นคำสะกดเขียนที่ให้อ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงกับคำในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเพี้ยนไปตามกาลเวลา (คิดเช่นนี้ได้ไงก็ไม่รู้ อาจจะเพราะได้สัมผัสอะไรลึกๆเมื่อครั้งทำงานประจำการอยู่ในย่านนั้น)

ศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสมีคำว่า louvre  (คำเดียวกับชื่อพิพิธภัณฑ์นั่นแหละครับ) หมายถึงบานเกล็ดของบานประตูหน้าต่างทั้งหลาย  

อ้าว การเปิดๆ-ปิดๆบานเกล็ด มันก็เกิดไปให้ภาพคล้ายกับการเคลื่อนตัวของคลื่น แล้วก็ดันไปให้ภาพของคำว่า make.......เสียอีกด้วย ในภาพรวมๆเลยถูกปุจฉาว่าเป็นอาการหรือเป็นนาม

ไปกันใหญ่แล้วครับ   เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน
คลื่น Rayleigh นั้น เสมือนหนึ่งคนเดินโยกไปเยกมา  ส่วนคลื่น Love นั้น เสมือนคนขี้เมาเดินเป๋ไปเป๋มา  
  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 14, 21:56
คำว่ากระชุ่น ถ้าคุณตั้งพูดเป็นภาษาอังกฤษ  จะใช้คำว่าอะไรคะ

หากจะให้นึกออกในทันทีในสถานการณ์นั้น ผมจะนึกถึงวลีว่า  "give me a (series of) punch" หรือ "keep rocking" หรือ " ไม่ก็ "rock me a cradle"

ก็คงจะไม่ตรง แต่ก็คงพอจะได้เห็นภาพของกระทำที่จะสนองตอบกับวลีเหล่านี้  ซึ่งผมคิดว่าคงจะได้การกระทำตามลักษณะของคำว่ากระชุ่นที่ผมหมายถึง

ขออนุญาตส่อรู้ไปสักหน่อยนึงว่า  ผมว่าคำแปลไทย-อังกฤษ-อังกฤษ-ไทยนั้น  มีมากมายหลายคำที่ให้ความหมายไม่ตรงกับความเข้าใจของคนในอีกภาษาหนึ่ง เช่น คำว่า mercy  นั้น ฝรั่งมีแต่การขอความเมตตา ของไทยเรามีทั้งให้ความเมตตาและมีทั้งการขอความเมตตา ก็คงจะขึ้นอยู่กับความคิดทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย   

ในภาษาไทยก็มี เช่นคำว่า แป้ และ ก๊าน  ในภาษาเหนือ คำว่า "ก๊าน" ตรงกับคำว่า แพ้ และคำว่า "แป้" หมายถึง ชนะ แต่เวลาใช้ในประโยคสนทนากัน จะไม่ใช้ในลักษณะว่า ผมชนะคุณ _ ฮา (ผม) แป้ (ชนะ) คิง (คุณ) _  แต่จะใช้ในรูปว่า คุณแพ้ผม _ คิงก๊านฮา _ หรือในอีกรูปหนึ่ง คือ คุณไม่ชนะผม _ คิงบ่อ (หรือบะ) แป้ฮา

ขออภัยครับ จะกลายเป็นเรื่องภาษาศาสตร์เข้าไปแล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 14, 22:27
ขอบคุณค่ะคุณตั้ง
อ้างถึง
หากจะให้นึกออกในทันทีในสถานการณ์นั้น ผมจะนึกถึงวลีว่า  "give me a (series of) punch" หรือ "keep rocking" หรือ " ไม่ก็ "rock me a cradle"
ถ้าเป็น punch ละก็  กระชุ่นต้องใช้แรงมากแน่ๆ  มากกว่า  push  หรือ push forward


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 พ.ค. 14, 07:45
ตกลงLove wave ของอาจารย์ฝรั่งคนนั้นก็คงสู้ของไทยไม่ได้ ด้วยว่าเป็นคลื่นที่เคลื่อนที่แกว่งไปมาในแนวราบดังคุณตั้งว่า
ส่วนแผ่นดินไหว Love waveแบบๆไทย อาจเกิดปฏิกิริยาจากการกระซุ่นไปทั่วทั้งดินฟ้ามหานทีได้ ดังกวีท่านพรรณาไว้บทหนึ่งดังนี้


ดุจพายุพรายพัดสะบัดโบก
ปฐพีโยกไหวสนั่นสั่นแดนสรวง
วายุหมุนหนุนพัดเป็นลมงวง
ทะเลหลวงครื้นครั่นสั่นปฐพี


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 พ.ค. 14, 10:40
พูดถึงเรื่อง "คลื่นรัก" ในวรรณคดีไทย นึกถึงบทเรียน "แม่กด" ในเรื่อง "กาพย์พระไชยสุริยา" ของท่านอาจารย์สุนทรภู่

ขึ้นกดบทอัศจรรย์                  เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง
นกหกตกรังรวง                     สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง
แดนดินถิ่นมนุษย์                  เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง              โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน
บ้านช่องคลองเล็กใหญ่             บ้างตื่นไฟตกใจโจน
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน            ลุกโลดโผนโดนกันเอง
พิณพาทย์ระนาดฆ้อง              ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง
ระฆังดังวังเวง                       โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง
ขุนนางต่างลุกวิ่ง                   ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง
พัลวันดันตึงตัง                     พลั้งพลัดตกหกคะเมน
พระสงฆ์ลงจากกุฏิ                 วิ่งอุตลุตฉุดมือเณร
หลวงชีหนีหลวงเถร                ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน
พวกวัดพลัดเข้าบ้าน              ล้านต่อล้านซานเซโดน
ต้นไม้ไกวเอนโอน                  ลิงค่างโจนโผนหกหัน


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 14, 10:44
^
^
^
ค.ห. 15-31 !!!

ตั้งแต่คำว่า "กระชุ่น" ในค.ห. 14 คำเดียวนะเนี่ย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 31 พ.ค. 14, 14:52
ขอบคุณคุณตั้งที่เข้ามาเล่าเรื่องแผ่นดินไหวที่เชียงรายให้ฟัง ทั้งๆที่เหน็ดเหนื่อยมามาก
ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ

แผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนี้ดูจะยืดเยื้อ เพราะยังมีแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องอีกยาวนาน
วันนี้(31/5/57) ยังมีแรงสะเทือนอยู่ไหมคะ

มีคำถามเล็กน้อย นะคะ

1. จุดที่แผ่นดินไหว ครั้งนี้เป็นรอยเลื่อนเก่าหรือใหม่คะ เคยมีบันทึกรอยเลื่อนนี้มาก่อนหรือไม่

2. บริเวณนี้เคยมีแผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่คะ

3. ความรุนแรงในระดับนี้หรือใกล้เคียงเคยมีมาก่อนหรือไม่คะ

4. จริงหรือไม่ที่มีข่าวว่า จะส่งผลถึงคลื่นในทะเลได้จนอาจเกิดสึนามิที่รุนแรงกว่าที่เคยเกิดในเมืองไทยได้


วันหลังมาแลกเปลี่ยนเรื่องภาษาถิ่นต่างๆกันบ้างก็สนุกดีนะคะ
ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้ทำพจนานุกรมภาษาลานนาไว้แล้ว น่าจะช่วยอธิบายได้
แต่ตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้ตัว ไม่งั้นจะหยิบมาเปิดดู

เรื่องของภาษาถิ่นเป็นเรื่องที่นักอักษรศาสตร์ ให้การยอมรับว่าเป็นที่มาของภาษากลางด้วย
ในลักษณะคำยืม เราก็ใช้กันมาจนลืม นึกว่าเป็นภาษาของเราไปเลย  ส่วนที่ไม่ได้นำมาใช้
แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นเขายังใช้กันอยู่ เราก็ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้เกียรติเจ้าของภาษา
เหมือนที่อยากให้เขา พยายามเรียนรู้ภาษาของเราด้วยทั้งนี้ก็เพื่อไมตรีอันดีต่อกัน





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 14, 21:01
ขอบคุณครับ คุณพวงแก้ว

ก็กะว่าจะเล่าครอบคลุมเรื่องราวที่อยากจะทราบทั้งหมดนั้นอยู่แล้วครับ จะค่อยๆขยายต่อเนื่องออกมานะครับ

สำหรับเรื่องภาษานั้น เป็นความสนใจของผมอยู่แล้ว สักวันหนึ่งคงจะต้องมีกระทู้ก่อนที่จะลืมไปหมด (ตอนนี้ก็ลืมไปมากแล้วครับ)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 14, 22:00
ผมปูพื้นเรื่องคลื่นมาก็เพราะว่า คลื่นนั้นมันเป็นตัวเล่าเรื่องราวของแผ่นดินไหวในหลายๆมิติ (ตั้งใจว่าจะใช้คำว่า "หลายๆ aspect" แต่นึกคำไทยที่เหมาะสมไม่ออก เลยเลือกใช้คำว่ามิติ)

ต่อเรื่องคลื่นอีกหน่อยนึงครับ
ผมได้กล่าวถึงคลื่นยาวและคลื่นสั้นมาแล้ว ซึ่งชื่อของมันเป็นการบอกล่าวถึงระยะห่างระหว่างคลื่นแต่ละลูก   ในอีกทางหนึ่ง เราก็สามารถบอกกล่าวได้ในลักษณะของ unit (จำนวนลูกคลื่นต่อระยะเวลาหนึ่ง) ซึ่งมีคำเรียกลักษณะโดยนามว่า ความถี่ (frequency)  พวกคลื่นยาวก็เรียกว่าเป็นพวกความถี่ต่ำ (low frequency) และพวกคลื่นสั้นก็เรียกว่าพวกความถี่สูง (high frequency)

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของความสูงของยอดคลื่น (amplitude) อีกด้วย  พวกคลื่นที่มี amplitude สูงคือพวกที่มีพลัง (energy)มากกว่าพวกคลื่นที่มี amplitude ที่ต่ำกว่า พร้อมๆไปกับการเป็นพวกที่มีอิทธิฤทธิ์ (ability) ในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า อีกทั้งมีระดับของความรุนแรง (intensity) ที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือขนาด (magnitude) ของพลังที่สร้างให้เกิดคลื่นนั้นๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 14, 22:35
ให้ครบเครื่องเรื่องคลื่นสำหรับข้อสนเทศของกระทู้นี้อีกนิดเดียวครับ

ความเร็วในการเดินทางของคลื่นนั้น ขึ้นอยู่กับตัวกลางที่มันเดินทางผ่านไป ตัวอย่างที่แสดงนี้เป็นเพียงให้เห็นภาพโดยประมาณ
   - คลื่น tsunami เดินทางในมหาสมุทรด้วยความเร็วประมาณ 800 กม. ต่อ ชม.
   - คลื่นแผ่นดินไหว P-wave เดินทางผ่านชั้นหินแข็ง (solid rock)ด้วยความเร็วประมาณ 28,000 กม.ต่อ ชม. (8 กม./วินาที)
   - คลื่นแผ่นดินไหว S-wave เดินทางผ่านชั้นดินอ่อน (ีืnon consolidated strata) ด้วยความเร็วประมาณครึ่งหนึ่งของคลื่น P-wave
   - สำหรับคลื่น R กับ L wave นั้น ตามมาที่หลัง





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 14, 22:52
มาดูลักษณะของความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวกัน

ที่เราเห็นภาพกันทั่วไปนั้น พอจะแบ่งออกได้เป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้
  - อาคารพังทลายราบ
  - อาคารทรุดเอียงไปทิศใดทิศหนึ่ง ล้ม
  - แต่ละชั้นของอาคารยุบทับกันเป็นขนมชั้น
  - ถนนปริ แยก ทรุด
  - ดินถล่ม

แล้วก็มีภาพไฟใหม้ มีภาพรางรถไฟคด มีภาพแสดงอาคารบางอาคารก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในพื้นที่ซากปรักหักพัง ฯลฯ
 
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 มิ.ย. 14, 11:44
คำว่า "มิติ" น่าจะเข้าใจได้ง่าย สำหรับคลื่นที่คุณตั้งอธิบายคะ

น่าแปลกใจที่ คลื่นที่ผ่านชั้นหินแข็งกลับมีความเร็วมากที่สุด ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้เรียนมาอย่างดิฉัน
จะเข้าใจในทางตรงข้าม  ว่าการถ่ายเทแรงน่าจะผ่านสิ่งที่อ่อนกว่าได้ มากกว่า....

ฉะนั้นต้องมารอฟังต่อค่ะ..........  ขอบคุณค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 14, 22:02
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในตอนเย็นของวันที่ 5 พ.ค. 2557 นั้น ผมอยู่ทีบ้านโป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เป็นบ้านชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐโบกปูน เดิมนั้นเป็นบ้านไม้ ใช้เสาปูนหล่อ ใต้ถุนสูงประมาณ 3 เมตร   

อาการแผ่นดินไหวครั้งแรกนั้น คือ บ้านโยกไปมาราวๆสักครึ่งนาทีเห็นจะได้ ก็ไม่ได้ตกใจอะไร เดินออกมานอกบ้าน ส่วนภรรยาผมนั้นนอนดูทีวีอยู่เฉยๆจนผมต้องตะโกนเรียกให้ออกมาจากบ้าน ก็เดาเอาว่่าน่าจะเป็นขนาดในระดับ 5 +/- ริกเตอร์  พอหยุดไหวก็เข้าไปสำรวจดูว่ามีอะไรเสียหายบ้าง ปรากฎว่าที่ชั้นบนมีกรอบรูปล้ม แต่ไม่ตกลงมาจากชั้นวาง พระพุทธรูปบนหิ้งก็ไม่ล้ม แต่ขยับออกจากฐานและหมุนเล็กน้อย ส่วนที่ชั้นล่างนั้นไม่มีอะไรตกจากชั้นเลย และก็ไม่มีอะไรล้มด้วย  ไม่นานนัก ก็มี aftershock ตามมา แล้วก็ตาม แล้วก็ตามมาาาาาาาาาาาา ทั้งคืน แล้วก็ทุกคืน ส่วนในเวลากลางวันนั้นไม่ค่อยมีการไหวสะเทือน แต่พอเข้าช่วงเย็น แดดล่มลมตก ก็จะเริ่มเกิดอีก 

จากสภาพดังที่เล่ามา ผมก็เดาเอาจากความรู้และข้อมูลเก่าๆที่ยังไม่ลืมและเลือนหายไป ผนวกกับข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นที่ได้รับจากชาวบ้านในหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 1.5 กม. สรุปได้ในเบื้องแรก ดังนี้ คือ จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว (epicenter) ครั้งนี้คงจะอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่อยู่มากนัก แลจุดกำเนิดคงจะต้องอยู่ตื้นอีกด้วย (ลึกไม่เกิน 10 กม.) 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 14, 22:20
ได้รู้ว่าชาวบ้านกลัวที่จะอยู่ในบ้านกัน ก็เลยขนที่นอนหมอนมุ้งมานอนอยู่บนถนนในหมู่บ้าน ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บใดๆเลย ผมก็รู้สึกดีใจ

มันเกิดมากครั้งเสียจนผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่ามันจะเป็น aftershock   ยิ่งพอได้รับรู้ข้อมูลตำแหน่ง ขนาด และจำนวนครั้ง เลยทำให้เกิดกังวลอยู่ในใจว่า เอ หรือว่ามันจะเป็นการเตือนก่อนจะเกิดลูกใหญ่ตามมาอีกลูกหนึ่ง

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มิ.ย. 14, 07:59
ถามต่อได้อ๊ะยัง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มิ.ย. 14, 08:04
ต้องซีเครียดหน่อย

แสดงว่าบ้านของคุณตั้งคงไม่มีความเสียหาย แล้วบ้านอื่นๆในละแวกข้างเคียงมีเสียหายบ้างไหมครับ ทำไมอาคารวัดวาต่างๆที่มีข่าวว่าเสียหายนั้น อยู่ไกลจากศูนย์กลางออกไปอีก กลับเกิดความเสียหายมาก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 02 มิ.ย. 14, 12:26
มีคำถามในใจคล้ายคุณNAVARAT.C ถามพอดีค่ะ

เคยได้ยินคำอธิบายตอนเกิดคลื่นสึนามิว่า ถ้าเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จะเกิดแรงกระเพื่อม
เป็นวงแผ่กว้างออกไป จุดที่ใกล้ศูนย์กลางน้ำจะยกตัวสูงน้อยกว่าวงที่ไกลออกไปเป็นลำดับ
ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่าคะ

แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในชั้นดิน กับ ในน้ำเหมือนกันไหมคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 14, 19:25
คิดอยู่แล้วว่าจะต้องมีข้อสงสัยในทำนองเดียวกันกับที่คุณ NAVARAT.C ได้หยิบยกขึ้นมา ซึ่งได้แก่ความแตกต่างในลักษณะความเสียหายที่ไม่เหมือนกันในพื้นที่ต่างๆกัน รวมทั้งในหลายๆกรณีว่า ทำไมในที่ห่างไกลจาก epicenter จึงได้เกิดความเสียหายรุนแรงมาก

ครับ คำอธิบายเกือบทั้งหมดมันไปเกี่ยวกับคลื่นแผ่นดินไหวนั่นเอง ผมจึงได้เริ่มเรื่องที่เรื่องของคลื่น สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆนั้นจะมีตามมาและพอจะแทรกอธิบายได้ไม่ยากนัก อาทิ เรื่องของความลึกของจุดกำเนิด (focus หรือ foci) กลไกในการสร้างพลังสะสม (mechanism) ลักษณะทางธรณีวิทยา (หิน การวางตัวของหินต่างชนิด ต่างอายุ ต่างคุณสมบัติ) แล้วก็เรื่องของพลังและรูปแบบที่ทำให้เปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง (tectonics)  รวมไปถึงการออกแบบและการก่อสร้างอาคารต่างๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 02 มิ.ย. 14, 19:55
aftershock  ทำไมเกิดตอนกลางคืนครับ
 ตามมาหาความรู้อยู่ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 14, 21:17
ตอบคุณ puyum ก่อนเลยครับว่า  aftershock เกิดได้ทุกเวลาครับ ไม่จำกัดเฉพาะกลางวันหรือกลางคืน

เป็นเหตุบังเอิญเฉพาะในคราวนี้ที่มันชอบเกิดช่วงเย็นๆ   แถวๆห้าหกโมงเย็น แล้วก็ช่วงแถวๆเที่ยงคืน อีกช่วงหนึ่งก็แถวๆตีสามตีสี่
สาเหตุส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่ามันชอบเกิดตอนกลางคืนนั้น ก็เพราะในช่วงกลางวันเรามักจะอยู่นอกบ้าน แต่หากอยู่บนพื้นคอนกรีต บางทีก็รู้สึกได้หากให้ความสนใจ หรือใจจดใจจ่ออยู่กับมัน (เฝ้าระแวง)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 14, 22:08
เข้าประเด็นของคุณ NAVARAT.C ครับ

ความเสียหายเท่าที่ผมได้ไปสำรวจดูแบบฉาบฉวยและได้เห็นมากับตานะครับ ผมว่ามีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนน้อยมากและระดับของความเสียหายเกือบทั้งอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง กล่าวได้ว่าสมควรแก่เหตุ (จะค่อยๆขยายความต่อไปครับ) เมื่อเทียบกับปริมาณของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในตำบลต่างๆและเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวระดับขนาดนี้
   
ข่าวก็คือข่าวละครับ ข่าวที่แพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ดูแล้วน่ากลัว ดูแล้วทำให้คิดได้อย่างเดียวว่าจะต้องเกิดความเสียหายในวงกว้าง  ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าถ่ายภาพออกข่าวเฉพาะอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง ไม่เล่าเรื่องเหตุการณ์และสภาพการณ์ในภาพรวม (holistic approach) แถมยังเพิ่มระดับของความไม่สบายใจหรือให้ภาพของความน่ากลัวเข้าไปอีก ด้วยการรายงานจำนวนครั้งของ aftershock  ทั้งๆที่มี aftershock เป็นจำนวนมากที่ประชาชนอาจไม่ได้สัมผ้สรับรู้เลย (หรือสัมผัสรับรู้ได้เป็นบางพื้นที่) เพียงแต่มันตรวจจับได้ด้วยเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismograph)   
ผมนอนอยู่กับมันเกือบ 2 สัปดาห์ ใกล้แหล่งกำเนิดของมัน บางครั้งก็แทบจะนอนอยู่เหนือหัวมันเลย ยังประมาณจำนวนครั้งที่รับรู้ได้สัก 150+ครั้งกระมัง แต่ฟังข้อมูลจากกรมอุตุฯผ่านทางสื่อ เขาว่ากันในระดับใกล้ 1000 ครั้งเลยทีเดียว 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 14, 23:07
ตอบคุณ NAVARAT.C ก่อน   แบบสั้นๆและออกไปทางหลักการ แล้วค่อยอธิบายลงลึกนะครับ

คลื่นแผ่นดินไหวที่ออกจากจุดกำเนิดจะมีความถี่สูง (ช่วงคลื่นสั้น)และมียอดคลื่นสูง (high amplitude) ยิ่งไกลออกไปและยิ่งผ่านตัวกลาง (หิน) ต่างชนิด ต่างคุณสมบัติ ต่างความหนาแน่นของเนื้อหิน   ความถี่ก็จะลดลง (ช่วงคลื่นยาวขึ้น) และความสูงของยอดคลื่นก็ลดลง
 
เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ใกล้ๆจุดกำเนิด การสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะออกไปในทางขึ้นลง เหมือนเขย่าขวดน้ำ ความเสียหายและลักษณะการพังของสิ่งก่อสร้างจึงมักจะเป็นลักษณะของเสาระเบิดและพื้นยุบตัวมาทับกัน      กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นดังที่เห็นตามภาพในกรณีหลังคาวัดนั้น ก็เพราะเหตุการกระพือของกระเบื้องมุงหลังคา ทำให้กระเบื้องมุงหลังคาหลุดไหลลื่นลงมา เห็นมีหลายวัดมากเลยทีเดียว รวมทั้งตามอาคารที่ก่อสร้างตามนิยมสมัยใหม่ที่ใช้หลังคาทรงมุมค่อนข้างสูง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มิ.ย. 14, 05:54
อ้างถึง
การสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะออกไปในทางขึ้นลง เหมือนเขย่าขวดน้ำ

เราก็คงรู้สึกแบบหนูตัวนี้มั๊ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 14, 09:12
เข้าประเด็นของคุณ NAVARAT.C ครับ

ความเสียหายเท่าที่ผมได้ไปสำรวจดูแบบฉาบฉวยและได้เห็นมากับตานะครับ ผมว่ามีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนน้อยมากและระดับของความเสียหายเกือบทั้งอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง กล่าวได้ว่าสมควรแก่เหตุ (จะค่อยๆขยายความต่อไปครับ) เมื่อเทียบกับปริมาณของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในตำบลต่างๆและเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวระดับขนาดนี้
   
ข่าวก็คือข่าวละครับ ข่าวที่แพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ดูแล้วน่ากลัว ดูแล้วทำให้คิดได้อย่างเดียวว่าจะต้องเกิดความเสียหายในวงกว้าง  ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าถ่ายภาพออกข่าวเฉพาะอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 14, 09:14
 :o


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 14, 09:20
ระหว่างพิมพ์ กำลังดูข่าวไปพร้อมๆกันค่ะ     แรงสั่นสะเทือนจากเชียงรายมาถึงลำปาง   ทำให้หลังคาวัดม่อนคีรีชัยถล่ม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 14, 09:42
แรงสั่นสะเทือนแบบไหนทำให้เศียรพระหลุดจากองค์ได้คะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 14, 19:06
อ้างถึง
การสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะออกไปในทางขึ้นลง เหมือนเขย่าขวดน้ำ
เราก็คงรู้สึกแบบหนูตัวนี้มั๊ง

โดยนัยก็เป็นในลักษณะนี้ แต่จะขึ้นลงไม่สูงโดยนัยดังนี้แน่นอน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 มิ.ย. 14, 08:25
งั้นเปลี่ยนใหม่เป็นนัยนี้ โดยนัยจะลักษณะสั่นๆกระมัง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 มิ.ย. 14, 08:32
มิน่า คุณตั้งจึงทนอยู่ได้แม้จะมี after shock เป็นร้อยๆครั้ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 18:19
มิน่า คุณตั้งจึงทนอยู่ได้แม้จะมี after shock เป็นร้อยๆครั้ง

ก็ดังภาพนั่นแหละครับ แต่สั่นเป็นช่วงสั้นๆ

แท้จริงแล้วมีอาการไหวอยู่ 2 ลักษณะ คือ
     ลักษณะแรก คล้ายกับการนั่งรถแล่นอยู่บนถนนเรียบๆ จู่ๆก็วิ่งทับร่องถนนเสียงดังตึ้ง (มีเสียงจริงๆนะครับ) 
    และลักษณะที่สอง คล้ายกับนั่งอยู่ในรถแล้ว มีคนมาผลักรถให้โยกไปมา

ก่อนจะเกิดการเขย่าทั้งสองลักษณะนี้ จะได้ยินเสียงนำมาต่อเนื่องจนเกิดการเขย่าแล้วเสียงก็หายไป (แล้วค่อยขยายความเรื่องเสียงนะครับ)
ทั้งนี้ จะเกิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ หรือจะเกิดทั้งสองอย่างก็ได้ ซึ่ง..จะต้องเกิดเสียงตึงก่อนจึงตามมาด้วยการไหว หากเกิดไหวก่อนแล้วมีเสียงตามมา สงสัยว่าจะต้องรีบโกยโดยเร็วสุดๆออกไปอยู่ในที่โล่งๆนอกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 18:29
คงนึกภาพออกนะครับว่านอนอยู่กับมันแล้วจะรู้สึกเช่นใด

มันก็หลับครับ แต่ประสาทรับรู้มันไม่ปิดสนิท พอหูได้ยินเสียงแว่วมาเหมือนเสียงพายุค่อยๆพัดเคลื่อนเข้ามาหาเรา  ใจก็จะลุ้นในทันทีเลยวา จะออกเป็นเสียงตึ้ง หรือจะออกเป็นโยกไปมา แล้วก็ต้องลุ้นว่ามีเสียงอะไรตามต่อมาหรือไม่ จะต้องรีบกระโดดออกจากเตียงแล้วออกไปนอกบ้านหรือไม่ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 19:05
สำหรับภาพตามที่ อ.เทาชมพูได้กรุณาเอื้อเฟื้อนั้น

ผมจะขอข้ามภาพความเสียหายอื่นๆไปที่ภาพความเสียหายกับพระพุทธรูปก่อนนะครับ

พระพุทธรูปนี้ ชาวบ้านเขาเรียกว่า พระเจ้าทันใจ มีการสร้างแพร่หลายอยู่หลายวัดเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงพรรษาที่แล้ว
ที่เรียกว่าพระเจ้าทันใจก็เพราะว่า เป็นพระที่สร้างให้เสร็จในเวลาอันสั้นมากๆ ด้วยการสามัคคีช่วยกันคนละไม้คนละมือ     เมื่อพรรษาที่แล้วมีสร้างอยู่หลายวัดในย่านพื้นที่นั้น โดยชาวบ้านมีศรัทธากันว่าจะช่วยสร้างพระ (พระเจ้าทันใจ) ให้เสร็จภายในวันเดียว  อย่างไรก็ตาม ก็มีการเทปูนหล่อช่วงฐานหรือช่วงล่างขององค์พระรอไว้ ในวันพิธีจริงก็จะช่วยกันผสมปูน ช่วยกันขนไปเทในแบบ ฯลฯ

ด้วยกระบวนการสร้างดังที่เล่ามานี้ จะเห็นได้ว่า ความแข็งแรงขององค์พระก็คงจะไม่ได้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานทางวิศวกรรมอันพึงมี 

ผมจะขอตอบคำถามของอาจารย์ด้วยการเปรียบเทียบว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีทั้งแรงกระแทกขึ้นลงแล้วแถมด้วยการโยกไปมาอีกด้วย ก็คล้ายกับเราจับไหล่คนที่กำลังนั่งอยู่เขย่าไปมา ลักษณะอาการหัวสั่นหัวคลอนก็จะเกิดขึ้น  ในกรณีพระเจ้าทันใจองค์นี้ ที่เศียรหักหลุดลงมาก็เพราะการเขย่าในลักษณะดังกล่าวและเพราะคุณภาพของการก่อสร้างไม่ถึงระดับ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กหรือปูน ครับผม
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 14, 20:21
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีทั้งแรงกระแทกขึ้นลงแล้วแถมด้วยการโยกไปมาอีกด้วย ก็คล้ายกับเราจับไหล่คนที่กำลังนั่งอยู่เขย่าไปมา ลักษณะอาการหัวสั่นหัวคลอนก็จะเกิดขึ้น  ในกรณีพระเจ้าทันใจองค์นี้ ที่เศียรหักหลุดลงมาก็เพราะการเขย่าในลักษณะดังกล่าวและเพราะคุณภาพของการก่อสร้างไม่ถึงระดับ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กหรือปูน ครับผม

เปรียบเทียบเห็นภาพชัดเจนมากค่ะคุณตั้ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 21:16
ขอบพระคุณครับ

เขียนเรื่องนี้ยากเอาการอยู่เหมือนกันครับ เมื่อคืนก็ต้องคิดว่าจะตอบจะเขียนอย่างไรดี สุดท้ายคิดไม่ตกและต้องยอมแพ้ เลยเข้านอนดีกว่า   
ก็เพราะมันสามารถอธิบายได้ในหลายๆมุม บนหลากฐานทางวิชาการ   ตั้งหลักอธิบายไม่ดี ไม่ชัดเจน มีแต่จะนำพาทั้งข้อปุจฉาและวิสัจฉนาเข้าไปสู่ความสับสนที่อธิบายขยายความยากขึ้นเรื่อยๆ 

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 14, 21:50
เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวเรือนไทยถามดีไหมคะ ว่าเขาอยากรู้อะไรเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เชียงราย
คุณตั้งจะได้จับทิศทางได้ง่ายขึ้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 14, 21:57
ส่วนดิฉัน จะขอถามว่าแผนที่นี้หมายความว่าอะไรคะ
เขาบรรยายว่า
Earthquakes in Thailand
Thailand sits on the Eurasian tectonic plate, which is flanked by the Indo-Australian and Pacific plates. While the country is located in a region that is relatively safe from earthquakes, but historical records show that the area has previously been affected by a number of tremors.

หมายความว่าประเทศไทยปลอดภัยจากการเป็นจุดเกิดของแผ่นดินไหว    เราได้รับเพียงแค่แรงสั่นสะเทือนจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวนอกเขตประเทศใช่ไหมคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 มิ.ย. 14, 22:00
อ้างถึง
มีแต่จะนำพาทั้งข้อปุจฉาและวิสัจฉนาเข้าไปสู่ความสับสนที่อธิบายขยายความยากขึ้นเรื่อยๆ 

สงสัยผมจะเป็นตัวการสร้างความสับสนให้คุณตั้ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 22:39
อ้างถึง
มีแต่จะนำพาทั้งข้อปุจฉาและวิสัจฉนาเข้าไปสู่ความสับสนที่อธิบายขยายความยากขึ้นเรื่อยๆ 
สงสัยผมจะเป็นตัวการสร้างความสับสนให้คุณตั้ง

เปล่าเลยครับ

ผมเองที่สับสน เพราะความคิดยังอยู่บนทางสองแพร่ง คือ จะเล่าประสพการณ์ที่พบมา+คำอธิบายทางวิชาการ  หรือ จะเล่าเรื่องทั้งองคาพยพของแผ่นดินไหว+เหตุการณ์ที่เชียงราย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 มิ.ย. 14, 22:44
อ้างถึง
เปล่าเลยครับ
รอดตัวไป


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 มิ.ย. 14, 22:47
งั้นก็เล่าประสพการณ์ที่พบมา+คำอธิบายทางวิชาการ + ทั้งองคาพยพของแผ่นดินไหว+เหตุการณ์ที่เชียงรายเลยก็แล้วกัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 22:59
เขียนเกี่ยวกับภาพบ้านพังแล้ว แล้วก็อีก คห.หนึ่ง ส่งตามกันไป ปรากฎว่า มันไปมั่วกันอีท่าใหนไม่รู้กลายเป็นหายไปเลย
พรุ่งนี้ค่อยตอบ อ.เทาชมพู นะครับ

เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวเรือนไทยถามดีไหมคะ ว่าเขาอยากรู้อะไรเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เชียงราย
คุณตั้งจะได้จับทิศทางได้ง่ายขึ้น

ก็ดีครับ แล้วค่อยๆขยายวงให้ครอบคลุมความรู้ทางวิชาการไปเรื่อยๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 14, 23:05
งั้นก็เล่าประสพการณ์ที่พบมา+คำอธิบายทางวิชาการ + ทั้งองคาพยพของแผ่นดินไหว+เหตุการณ์ที่เชียงรายเลยก็แล้วกัน

ช่วยผมอธิบายด้วย นะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 08:48
คุณตั้งครับ

ผมไม่มีความรู้เรื่องแผ่นดินไหวจริงๆ นอกจากประสบการณ์ครั้งปี๒๕๑๘ จำได้ว่ากำลังนั่งประชุมอยู่ในออฟฟิศแบบที่เป็นบ้านสองชั้นในกรุงเทพนี่แหละ อยู่ๆรู้สึกว่าโลกมันโยกโยนแกว่งไปแกว่งมา ขณะนั้นผมคิดว่าคงโหมงานหนักไปหน่อยจนนอนไม่พอกระมัง จึงบอกที่ประชุมว่า ผมรู้สึกไม่สบายหัวหมุนไปหมด อาจารย์ของผมที่นั่งอยู่ด้วยกันบอกว่าท่านก็เป็น นั่งตลึงกันอยู่สองสามวินาทีพอตั้งสติได้เห็นม่านมันแกว่งอาจารย์ก็ร้องว่า แผ่นดินไหว ทุกคนก็เผ่นแน่บออกมาที่สนามหน้าบ้าน ทันเห็นน้ำในสระว่ายน้ำกำลังกระฉอกออกมานอกสระ สักอึดใจเดียวทุกอย่างก็กลับสู่ปกติ ไม่มีAFTER SHOCK หรือมีเราก็ไม่ทราบ ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องแผ่นดินไหวทั้งสิ้น จำได้อย่างเดียวร่ำเรียนในคณะสถาปัตยกรรมมา ได้ยินแต่คำบอกเล่าว่า กรุงเทพไม่เคยมีแผ่นดินไหว เหมือนกับใครก็ไม่รู้ที่บอกว่า เมืองไทยเราโชคดีหรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้ม ภัยร้ายแรงอย่างซึนามิไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่มิได้ขยายความว่าเพราะทุกครั้งที่เกิด ไม่มีใครรอดมาบันทึกเหตุการณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เลย

แผ่นดินไหวรู้สึกได้ในกรุงเทพครั้งนั้น สร้างความหวั่นไหวให้กับคนมากกว่าสิ่งก่อสร้าง เวลาที่เกิดเหตุนั้น ผู้ที่อยู่บนตึกสูงวิ่งแข่งกันลงมาอยู่บนถนนหมดหลายวันกว่าจะยอมกลับไปนั่งทำงานครบ ต่อมาวิศวกรใหญ่ได้ออกโทรทัศน์อธิบายว่า ชั้นดินของกรุงเทพเป็นดินอ่อนลึกลงไปสิบสี่เมตรจึงจะเป็นดินดาน ชั้นดินอ่อนนี่แหละที่ทำหน้าที่ซึมซับพลังงานที่เขย่าโลกไปหมด ทำให้ตึกรามบ้านเรือนในกรุงเทพไม่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้มีการแก้ข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้วิศวกรคำนวณค่าความปลอดภัยเผื่อสำหรับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นด้วยเวลาออกแบบ

ผมมีประสบการณ์อีกครั้งในขณะที่นอนดูทีวีอยู่ในโรงแรมที่ญี่ปุ่น อยู่ๆกำลังจะหลับอยู่แล้วก็รู้สึกว่าตึกมันสะเทือนเหมือนอยู่ในรถที่วิ่งบนถนนโรยกรวดขรุขระ สักหนึ่งหรือสองวินาทีเท่านั้น นึกๆว่าตนเองฝันไปหรือเปล่าพอดีเห็นสายม่านมันยังแกว่งอยู่ ก็รู้ว่าแผ่นดินไหว แต่ทีวีก็ไม่ได้ขึ้นข่าวด่วนอะไร มองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นผู้คนเดินไปมาเป็นปกติ ผมก็ล้มตัวลงนอนต่อ ตอนเช้าเล่าให้คนญี่ปุ่นฟัง เขาบอกว่าแผ่นดินไหวขนาดนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสนใจ

ผมจึงได้รู้ว่า MOVEMENTของแผ่นดินไหวนั้นไม่เหมือนกัน แต่จะมีกี่ชนิดก็ไม่ค่อยจะสนใจ เพิ่งจะมาอ่านอีกครั้งก็เพราะแผ่นดินไหวในเชียงรายคราวนี้มาแนวแปลก มีAFER SHOCK เป็นพันๆครั้ง โครงสร้างอาคารไม่ค่อยจะเสียหายแต่กระเบื้องหลังคาหลุดจากตะขอมาก แสดงว่าจังหวะการสั่นสะเทือนจะคล้ายกับที่ผมเจอที่ญี่ปุ่นแต่รุนแรงกว่า

คุณตั้งอรรถาธิบายต่อเลยครับ ผมจะเข้ามาแจมพอไม่ให้เหงาเท่านั้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มิ.ย. 14, 12:00
ต่อมาวิศวกรใหญ่ได้ออกโทรทัศน์อธิบายว่า ชั้นดินของกรุงเทพเป็นดินอ่อนลึกลงไปสิบสี่เมตรจึงจะเป็นดินดาน ชั้นดินอ่อนนี่แหละที่ทำหน้าที่ซึมซับพลังงานที่เขย่าโลกไปหมด ทำให้ตึกรามบ้านเรือนในกรุงเทพไม่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้มีการแก้ข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้วิศวกรคำนวณค่าความปลอดภัยเผื่อสำหรับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นด้วยเวลาออกแบบ

กรุงเทพเป็นดินอ่อน แต่ดินอ่อนไม่ปกป้องตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพ แต่กลับจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงในบริเวณไม่ไกลนักเช่นแถวกาญจนบุรีเป็นต้น  รายละเอียดของเรื่องนี้อยู่ใน คำบรรยายของผู้เชียวชาญเรื่องแผ่นดินไหว  (http://www.manager.co.th/science/viewnews.aspx?newsID=9550000048942) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตครั้งล่าสุด

รศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มีความตื่นตัวในเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทั้งในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕ นั้น อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการสั่นไหวอย่างรุนแรง
      
เหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อน หรือดินเลน เมื่อถูกกระตุ้น จึงขยายการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า  แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อ ๒๖ ธ.ค.๔๑ ที่เกาะสุมาตรา มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกล ๑,๒๐๐ กิโลเมตร หรือแผ่นดินไหวในจีนที่อยู่ไกลออกไปถึง ๒,๖๐๐ กิโลเมตร ก็พบว่า มีการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ แต่ รศ.ดร.อมร กล่าวว่า แม้อาคารสูงจะสั่นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถล่มเสมอไป ส่วนหนึ่งเพราะอาคารสูงมักได้รับการออกแบบให้รองรับแรงลมระดับหนึ่งอยู่แล้ว
      
อย่างไรก็ดี ตึกสูงในกรุงเทพฯ ยังคงมีความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่ดี โดย รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คลื่นสั่นสะเทือนจากพื้นดินมีความรุนแรงมากกว่าแรงลมอยู่มาก และแม้กรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่สภาพดินก็ขยายความรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า โดยเฉพาะความถี่ต่ำ ๆ จากแผ่นดินไหวจะถูกขยายความรุนแรงโดยอาคารสูงที่มีการโยกอย่างช้า ๆ หรือมีความถี่ธรรมชาติที่ตรงกับคลื่นแผ่นดินไหว จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น
      
ทางด้าน รศ.ดร.อมร ได้เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเหมือนกรุงเม็กซิโกซิตี ของเม็กซิโก เนื่องจากมี ๓ ปัจจัยคล้ายกัน คือ ๑.ไม่มีรอยเลื่อนอยู่ใต้เมือง ๒.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ ๓.อาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อปี ๒๕๒๘ เกิดแผ่นดินไหว ๘.๕ ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี ออกไป ๓๕๐ กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารต่าง ๆ ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า ๑๐,๐๐๐ คน

      
(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley18.png)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 14, 12:33
อ้างถึง
จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น

คำว่า "กำทอน" จะฮิทเท่า "กระชุ่น" ไหมหนอ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มิ.ย. 14, 13:03
คำว่า "กำทอน" ยังคงฮิตอยู่ในหมู่นักฟิสิกส์ แต่ไม่ฮิตในหมู่นักภาษา จำได้ว่าสมัยเรียนวิชาฟิสิกส์ก็เคยได้ยินคำนี้ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า "resonance"  

อาจารย์ชนินทร์ วิศวินธานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน เขียนถึงคำนี้ไว้ในบทความ "resonance - เรโซแนนซ์ และ anti-resonance - แอนติเรโซแนนซ์" (http://www.engsub.eng.chula.ac.th/newsletter/index.php?q=book/export/html/304) ดังนี้

“resonance” เป็นศัพท์วิชาการที่มีใช้ในหลายสาขาวิชา และมีคนถามผมกันมากว่า ศัพท์บัญญัติสำหรับศัพท์คำนี้คืออะไร ขอเล่าย้อนไปว่าสมัยที่ผมเรียนวิชาฟิสิกส์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐) ใช้หนังสือแบบเรียนของ สสวท. เขาใช้ศัพท์ภาษาไทยว่า “กำทอน”

ต่อมาอีก ๒ ปี ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ ๑ ผมเคยเห็นในตำรารุ่นเก่าของภาควิชาฟิสิกส์ (จุฬาฯ) ใช้ว่า “อภินาท” แล้วคำตรงข้าม คือ anti-resonance ใช้ว่า “ปฏิยาภินาท” (ปฏิ + อภินาท) ซึ่งในขณะนั้น ผมยังไม่มีพื้นความรู้ด้านภาษาดีพอที่จะเข้าใจถึงที่มาที่ไปหรือความเชื่อโยงระหว่างศัพท์ภาษาอังกฤษกับศัพท์ภาษาไทย

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยใคร่อยากทราบที่มาที่ไปเหมือนกันใช่ไหมครับ

ก่อนอื่น ทั้งคำว่า “กำทอน” และ “อภินาท” ที่พูดถึงนี้ ปรากฏอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับเสียง

ผมเคยได้ยินอาจารย์อาวุโสในราชบัณฑิตยสถานพูดถึงคำคำนี้ว่า มีศัพท์ทั่วไปคำว่า “กำธร” หมายถึง สะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นหวั่นไหว จึงมีนักวิชาการรุ่นก่อน ๆ อาจจะเลี่ยงไปใช้คำอื่นให้เพี้ยนไปจากศัพท์ปรกติเล็กน้อย คือ “กำทอน” นัยว่าจะได้ดูเป็นศัพท์วิชาการ ไม่ใช่ศัพท์ชาวบ้าน เหมือนกับตัวอย่างคำอื่น ๆ เท่าที่นึกได้ ก็เช่น สมบูรณ์-สัมบูรณ์

ส่วนคำว่า “อภินาท” ก็มาจากคำว่า “อภิ” (มาก, ยิ่ง) รวมกับคำว่า “นาท” (เสียงดัง) รวมความแล้วก็หมายถึงเสียงดังมาก หรือเสียงสนั่น ก็อาจจะตรงกับนัยของปรากฏการณ์เรโซแนนซ์ทางเสียง (acoustic resonance) ตามเนื้อหาในแบบเรียนระดับมัธยมศึกษาอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม กรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานเห็นว่า ถ้าจะใช้คำว่า “กำทอน” ควรจะสะกดให้ถูกต้องตรงตามพจนานุกรมเป็น “กำธร”

และเนื่องจากปรากฏการณ์ resonance นั้น มีความหมายหลายอย่าง เช่น

resonance ในทางเคมี หมายถึง ภาวะที่โมเลกุลชนิดหนึ่ง ๆ สามารถเขียนสูตรโครงสร้างได้มากกว่า ๑ แบบ ตัวอย่างที่เราอาจจะคุ้นเคยกันดีก็เช่น เบนซีน (C6H6) หรือ โอโซน (O3) เป็นต้น

resonance ในทางแสง หมายถึง ภาวะที่แสงที่เดินทางกลับไปกลับมาหลาย ๆ รอบในโพรงแสง (optical cavity) จนมีความอยู่ตัว แล้วถูกปลดปล่อยออกจากโพรงแสงนั้นเป็นแสงอาพันธ์ ซึ่งก็หมายถึงแสงเลเซอร์นั่นเอง

resonance ในทางไฟฟ้า หมายถึง ภาวะที่อิมพีแดนซ์เชิงความจุและอิมพีแดนซ์เชิงความเหนี่ยวนำในวงจรหักล้างกันพอดี ทำให้มีกระแสไฟฟ้าในวงจรไหลเป็นปริมาณมากที่สุด

resonance ในทางกลศาสตร์ หมายถึง ภาวะที่ระบบเกิดการสั่นหรือตอบสนองอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ เมื่อระบบนั้นถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยภายนอกที่มีความถี่ตรงกับความถี่ธรรมชาติค่าหนึ่งของระบบ ตัวอย่างเช่น ชิงช้าที่ถูกไกวถูกจังหวะ หรือสะพานทาโคม่าในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สั่นอย่างรุนแรงจนพังทลายเหตุเนื่องจากกระแสลม เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า “resonance” ในตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ไม่เกี่ยวข้องกับเสียงดังสนั่นแต่อย่างใดเลย ดังนั้น หากจะใช้คำว่า “กำธร” หรือ “อภินาท” สำหรับ resonance ในความหมายอื่น ๆ จึงไม่เหมาะ

ราชบัณฑิตยสถานจึงมีมติใช้ศัพท์บัญญัติว่า “เรโซแนนซ์” ซึ่งใช้ครอบคลุมได้ทุกสาขาวิชา ส่วนคำตรงข้ามก็ใช้ศัพท์บัญญัติว่า “แอนติเรโซแนนซ์”

(ให้เลิกใช้คำว่า “กำทอน” หรือ “อภินาท” ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านลองค้นหาคำทั้งสองคำนี้ใน Google ดู ก็จะพบว่ายังมีบทบรรยายหรือแบบเรียนของสถาบันหลายแห่ง ยังคงใช้คำ ๒ คำนี้อยู่ เช่น จะพบมีการใช้ว่า “อภินาทในวงจร RLC” ซึ่งไม่ควรใช้อีกต่อไป)

อนึ่ง สำหรับเรโซแนนซ์ในทางกลศาสตร์ ก็มีศัพท์บัญญัติแบบคำไทยแท้ให้เลือกใช้ได้อีกคำหนึ่งว่า “การสั่นพ้อง” (การสั่นอย่างรุนแรงเมื่อความถี่ของสิ่งกระตุ้น‘พ้อง’กับ (ตรงกับ) ความถี่ธรรมชาติค่าหนึ่งของระบบ) และสำหรับเรโซแนนซ์ทางเสียง ก็สามารถใช้คำว่า “กำธร” ได้ ถือเป็นศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการเช่นกัน


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley04.png)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 16:57
อะฮ้า กำทอน รู้จักกำทอนมาตั้งแต่เข้าถาปัดปีหนึ่ง บัดนี้เพิ่งจะรู้ว่ากำทอนแปลว่ากระไร

ในบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นเกือบร้อยคนนั้น ปรากฏหนุ่มหน้าเหี่ยวคนหนึ่งชื่อ นายกำทอน นามสกุลศุขเกษม เพื่อนๆต่างถามว่าชื่อกำทอนนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เจ้าตัวบอกก็ไม่รู้เหมือนกัน เอ้า..ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เอาฉายาไปว่า กำทอนนอนกำทวนก็แล้วกัน นายกำทอนก็ไม่ว่ากระไร

ถ้านายกำทอนเข้ามาในกระทู้นี้ก็พึงรู้ คุณเพ็ญชมพูได้แปลความหมายชื่อของเพื่อนให้แล้ว พิลึกกึกกือเชียวนะเออ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 17:12
อ้างถึง
กรุงเทพเป็นดินอ่อน แต่ดินอ่อนไม่ปกป้องตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพ แต่กลับจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงในบริเวณไม่ไกลนักเช่นแถวกาญจนบุรีเป็นต้น  รายละเอียดของเรื่องนี้อยู่ใน คำบรรยายของผู้เชียวชาญเรื่องแผ่นดินไหว  หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตครั้งล่าสุด

รศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มีความตื่นตัวในเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทั้งในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕ นั้น อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการสั่นไหวอย่างรุนแรง
       
เหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อน หรือดินเลน เมื่อถูกกระตุ้น จึงขยายการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า  แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อ ๒๖ ธ.ค.๔๑ ที่เกาะสุมาตรา มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกล ๑,๒๐๐ กิโลเมตร หรือแผ่นดินไหวในจีนที่อยู่ไกลออกไปถึง ๒,๖๐๐ กิโลเมตร ก็พบว่า มีการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ แต่ รศ.ดร.อมร กล่าวว่า แม้อาคารสูงจะสั่นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถล่มเสมอไป ส่วนหนึ่งเพราะอาคารสูงมักได้รับการออกแบบให้รองรับแรงลมระดับหนึ่งอยู่แล้ว
       
อย่างไรก็ดี ตึกสูงในกรุงเทพฯ ยังคงมีความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่ดี โดย รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คลื่นสั่นสะเทือนจากพื้นดินมีความรุนแรงมากกว่าแรงลมอยู่มาก และแม้กรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่สภาพดินก็ขยายความรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า โดยเฉพาะความถี่ต่ำ ๆ จากแผ่นดินไหวจะถูกขยายความรุนแรงโดยอาคารสูงที่มีการโยกอย่างช้า ๆ หรือมีความถี่ธรรมชาติที่ตรงกับคลื่นแผ่นดินไหว จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น
       
ทางด้าน รศ.ดร.อมร ได้เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเหมือนกรุงเม็กซิโกซิตี ของเม็กซิโก เนื่องจากมี ๓ ปัจจัยคล้ายกัน คือ ๑.ไม่มีรอยเลื่อนอยู่ใต้เมือง ๒.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ ๓.อาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อปี ๒๕๒๘ เกิดแผ่นดินไหว ๘.๕ ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี ออกไป ๓๕๐ กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารต่าง ๆ ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า ๑๐,๐๐๐ คน

ใช่ ๆ ๆ ใช่แล้วครับ ผมก็เคยผ่านตาคำแถลงนี้มาเช่นกัน ฟังแล้วยังสับสนว่า ไหง๋วิศวกรจึงอธิบายคุณสมบัติของดินเลนที่กรุงเทพตั้งอยู่ไปในทางตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง สมัย ๒๕๑๘ ศาตราจารย์ดอกเตอร์ท่านหนึ่งก็ว่าไปอย่าง อีกสี่สิบปี รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์อีกท่านก็ว่าไปอย่าง รอคุณตั้งมาวิพากษ์ดีกว่าว่าอะไรเป็นอะไร

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า แผ่นดินไหวที่กรุงเทพในปี๒๕๑๘นั้น มีความรุนแรงมาก ขนาดอยู่บ้านติดดินยังรู้สึกว่าแผ่นดินโยกเยกได้ถึงขนาดนั้น แต่ประหลาดที่ความเสียหายกับตึกสูงเกือบจะไม่มี นอกจากผนังกระจกขนาดใหญ่ของตึกโชคชัยสุขุมวิทจะแตก แต่ไม่ถึงกับหลุดร่อนลงมาให้หวาดเสียว
ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว
       



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มิ.ย. 14, 19:15
ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว

วันนั้นมีแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต แผ่นดินไหวครั้งนั้นและทุก ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งครั้งล่าสุดที่เชียงราย แม้นไม่ได้เกิดที่กรุงเทพแต่ก็สามารถรู้สึกได้ที่ตึกสูงในกรุงเทพ  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 19:32
คุณเพ็ญอยู่บนตึกสูงในวันเหล่านั้น และรู้สึกได้ด้วยตนเองหรือครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มิ.ย. 14, 20:34
ความรู้บางอย่างอาจหาได้จากการอ่านแลสอบถาม ไม่เคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสักครั้งหนึ่ง แต่ข้อมูลที่กล่าวนั้นอ่านจากรายงานทางหน้าหนังสือพิมพ์ และมีครั้งหนึ่งได้รับฟังจากพี่ชายซึ่งอยู่คอนโดชานกรุงเทพ เล่าว่าเมื่อครั้งมีแผ่นดินไหวและสึนามิทางใต้ น้ำในสระที่อยู่ชั้นบน ๆ ของคอนโดกระฉอกจนล้นขอบสระเชียว

มีคลิปการสาธิตของอาจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เรื่องผลของแผ่นดินไหวต่อตึกสูงขนาดต่าง ๆ กัน

 (http://www.youtube.com/watch?v=m70YPW_Q6ws#ws)

อธิบายได้ว่า การสั่นของตึกสูง กลาง และต่ำมีช่วงคลื่นต่างกัน หากเกิดแผ่นดินไหวห่างไกลจากกรุงเทพ ความสั่นสะเทือนที่มาถึงจะมีช่วงคลื่นยาวซึ่งมี "ความสั่นพ้อง" กับช่วงคลื่นการสั่นของตึกสูง ทำให้คนบนตึกสูงรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้ แต่หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่กรุงเทพ ความสั่นสะเทือนจะมีคลืนสั้นคือมี "ความสั่นพ้อง" กับช่วงคลื่นของการสั่นของตึกเตี้ย ๆ ในกรณีนี้ตึกสูงจะไม่รู้สึกอะไร แต่ตึกเตี้ยอาจจะพังลงมาได้  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 20:58
อ้างถึง
ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว
อ้างถึง
เพ็ญชมพู
วันนั้นมีแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต แผ่นดินไหวครั้งนั้นและทุก ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งครั้งล่าสุดที่เชียงราย แม้นไม่ได้เกิดที่กรุงเทพแต่ก็สามารถรู้สึกได้ที่ตึกสูงในกรุงเทพ
อ้างถึง
คุณเพ็ญอยู่บนตึกสูงในวันเหล่านั้น และรู้สึกได้ด้วยตนเองหรือครับ
อ้างถึง
เพ็ญชมพู
ความรู้บางอย่างอาจหาได้จากการอ่านแลสอบถาม ไม่เคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสักครั้งหนึ่ง

โอเค ก็อยากจะรู้แค่เนี๊ยะ

แล้วจากความรู้ที่หาได้จากการอ่านแลสอบถาม มีไหมครับที่เปรียบเทียบการสั่นของอาคารสูงและเตี้ยที่เกิดขึ้นในปี๒๕๑๘และปีอื่นๆที่อ้างถึง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 05 มิ.ย. 14, 21:13
อ้างถึง
จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น

คำว่า "กำทอน" จะฮิทเท่า "กระชุ่น" ไหมหนอ
กำทอน เป็นชื่อเพื่อนนิสิตของอาจารย์NAVARAT.Cที่เกิดตอนจอมพลป. ปฏิรูปภาษาไทย อาจารย์เคยบอกว่าเห็นชื่อเพี่อนแล้วเห็นการเก็บค่าโดยสารบนรถประจำทาง
พอเห็นคำ กำทอน เลยนึกถึงอาจารย์NAVARATด้วย
ออกนอกเชียงรายไปนิดนึงครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 14, 21:30
ใช่ครับอาจารย์หมอ กำทอนคนเดียวกันกับที่เคยเล่า ไม่แน่ใจว่าเพื่อนจะพอใจความหมายที่แปลว่า"การสั่นพ้อง"เท่ากับฉายาที่เพื่อนตั้งให้หรือเปล่า

เอ๋...ความจริงการสั่นพ้องน่าจะแปลว่ากระซุ่นได้ด้วย
หรืออีกนัยหนึ่ง กำทอนก็น่าจะแปลว่ากระซุ่นได้เช่นกัน

เอ้า ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 14, 21:52
ชักสนุกแล้วครับ  กำลังไปสู่ภาคความรู้เรื่อง กำทอน หรือ สั่นพ้อง (ศัพท์ใหม่สำหรับผม ไม่เคยรู้จักคำนี้เลย ใช้แต่คำว่า resonance)

คงจะพอเห็นแล้วนะครับว่า เรื่องของ resonance ก็เป็นอีกหนึ่งของคำอธิบายถึงกระบวนการทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว  ซึ่งเป็นเรื่องทางวิชาการวิศวกรรมของพวกวิศวกร   ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ผนวกกับข้อมูลและความรู้จักตัวตนของแหล่งกำเนิดและลักษณะของแผ่นดินไหวในภูมิภาคนั้นๆ  เป็นทั้งคำอธิบายว่า ทำไม ในพื้นที่เดียวกัน ตึกเตี้ยกว่าจึงพังแต่ตึกสูงกว่ากลับไม่เป็นอะไร  และเป็นเหตุผลว่า ทำไม สถาปนิกและวิศวกรของญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศจึงกล้าและตัดสินใจสร้างตึกที่สูงมากๆไปสู่ระดับมากกว่าห้าหกสิบชั้น แทนที่จะสร้างในระดับสิบยี่สิบชั้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 14, 23:20
เอ๋...ความจริงการสั่นพ้องน่าจะแปลว่ากระซุ่นได้ด้วย
หรืออีกนัยหนึ่ง กำทอนก็น่าจะแปลว่ากระซุ่นได้เช่นกัน

เห็นด้วยนะครับ    resonance เป็นอาการที่เกิดจากการแทรกเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสอดคล้องกับ movement ที่มีอยู่เดิม ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มขนาดของ movement นั้นๆ
     
ลองมโน ตามภาพนี้นะครับ เปลเด็กอ่อนที่แขนอยู่ เมื่อจะไกวเปล เราจะค่อยๆผลักให้มันเคลื่อนที่ เราจะไม่ผลักมันมากจนเกินไป  ซึ่งจะไปทำให้เปลนั้นแกว่งไปมา (เด็กเวียนหัวตายเลย)  เปลที่มันไกวไปมาได้อย่างนุ่มนวลนั้น คือ อาการที่เปลนั้นเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติในสภาพและองคาพยพของมัน เรียกสภาพนี้กันว่า natural frequency ของมัน (frequency = จำนวนรอบของคลื่นใน 1 วินาที หรือ จะกล่าวในอีกมุมหนึ่งก็ได้ คือ natural period  __period = ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการเคลื่อนตัวของคลื่นครบหนึ่งรอบ)    เชือกที่ห้อยเปลยาวหรือสั้นต่างกัน ก็จะมี natural frequency ต่างกัน
คราวนี้เมื่อเราต้องการจะไกวเปลให้แรงขึ้น เราก็จะต้องใส่แรงผลักหรือดึงเพิ่มเข้าไป เราก็จะต้องรอจังหวะการผลักหรือดึงให้สอดคล้องกันการแกว่งไกวของมัน จะใส่แรงมากไปก็ไม่ได้ เพราะมันจะไปทำให้เปลนั้นแกว่งไปมาอย่างไร้ทิศทาง (period เปลี่ยนไป) จะใส่แรงน้อยไปมันก็ไม่ช่วยอะไรเลย แถมหากหากไม่ได้จังหวะตาม ก็จะกลายเป็นการขวางการแกว่งไกวของเปลนั้น

การเข้าไปแทรกที่สอดคล้องกับ movement ของเปลเด็กอ่อนนี้ ก็คือการกระทำที่ resonance     ในความเห็นของผมนะ ความหมายจะตรงกับคำว่า "กระชุ่น" มากกที่สุด

ต่ออีกนิดครับ คลื่นแผ่นดินไหวที่วิ่งผ่านอาคารสิ่งก่อสร้างนั้น หาก resonance กับ natural frequency ของตัวอาคาร มันก็จะไปเพิ่ม amplitude ของ natural frequency ซึ่งจะส่งผลให้วงรอบของคลื่นใช้เวลายาวขึ้น  natural period ของอาคารก็จะเปลี่ยนไป  อาคารซึ่งไหวโอนเอนได้อย่างจำกัด ก็จะเกิดความเสียหายในระดับต่างๆ และถึงกับพังลงได้

จาก กำทอน ไปเป็น กำธร ไปเป็น สั่นพ้อง กำลังลงไปเป็น กระชุ่น แล้ว ฮิๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 14, 19:03
ท่าน NAVARAT.C บอกว่าให้ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อย

ครับผม เลยต้องขอต่อเรื่องต่อไปจาก resonance

ตกลงนะครับว่า  resonance มีความหมายตรงกับคำว่า กระชุ่น  ซึ่งก็คือ การแทรกเข้าไปช่วยเสริม (enhance) ช่วยเพิ่มหรือช่วยขยายการเคลื่่อนไหวต่างๆอย่างสอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนไหวนั้นๆ
กลับไปที่การผลักเปลเด็กให้แกว่งไกวมากขึ้น    เราก็ใส่แรงเข้าไปอย่างสอดคล้องกับการแกว่ง ซึ่งก็เท่ากับไปเพิ่ม amplitude   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มิ.ย. 14, 19:19
อ้า..ขออภัยขอรับท่านนายตั้ง

ที่ผมบอกให้ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อยน่ะ ผมบอกท่านอื่นน่ะครับ
ส่วนท่านนายตั้งนั้น ขอให้หมั่นลากเข้า เดี๋ยวจะไกลชื่อกระทู้จนออกทะเลกู่ไม่กลับ

แต่เรื่องกระซุ่นกับกำทอนที่ท่านนายตั้งกำลังกล่าวอยู่นี่ ถือว่ายังใกล้เชียงรายพอได้ครับ ส่วนผมจะเงียบๆไว้ไม่เข้าไปเติมความทั้งๆที่คันมือเหลือกำลัง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 14, 19:57
ครับผม เลยต้องขอต่อเรื่องต่อไปจาก resonance

ตกลงนะครับว่า  resonance มีความหมายตรงกับคำว่า กระชุ่น  ซึ่งก็คือ การแทรกเข้าไปช่วยเสริม (enhance) ช่วยเพิ่มหรือช่วยขยายการเคลื่่อนไหวต่างๆอย่างสอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนไหวนั้นๆ
กลับไปที่การผลักเปลเด็กให้แกว่งไกวมากขึ้น    เราก็จะต้องใส่แรงเข้าไปอย่างสอดคล้องกับการแกว่ง ซึ่งก็เท่ากับไปเพิ่ม amplitude ซึ่งก็คือการใส่หรือเพิ่มอัตราเร่งเข้าไป (ซึ่งในทางวิศวกรรมเขาใช้อัตราเร่งเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก แรง g = 32 ฟุตต่อวินาทีต่อวินาที หรือ 981 ซม.ต่อวินาทีต่อวินาที เป็นฐานสำหรับการคำนวณต่างๆ) 
ในอีกรูปหนึ่ง ก็คือ การทำให้ระยะทางของการแกว่งไกวของเปลระหว่างจุดสูงสุดของด้านหนึ่งกับอีกด้านหนึ่งมีระยะทางที่ยาวมากขึ้น ซึ่งก็คือการเคลื่อนที่ๆเปลี่ยนไปจากเดิม (displacement)   
กลับไปที่ภาพของอาคารที่สร้างอยู่บนพื้นดิน    ในสภาพปรกติ อาคารก็จะเคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวใดๆของพื้นดิน  แต่หากอยู่ดีๆก็มีคลื่นแผ่นดินไหวผ่านมา ทำให้พื้นดินเคลื่อนที่แบบกระชากไปสัก 2-3 ซม. อาคารที่ตั้งอยู่นั้นจะตั้งอยู่ได้หรือไม่  ก็่เหมือนกับสภาพที่เกิดขึ้นกับการที่คนยืนอยู่แล้วถูกเตะรวบที่ข้อเท้า จะล้มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง อาทิ แรงที่ถูกเตะ เตะแล้วเท้าเขาขยับไปแค่ใหน น้ำหนักของคนที่ถูกเตะ ความสูงของคนที่ถูกเตะ คนที่ถูกเตะยื่นตรงทื่อๆ หรือเมื่อถูกเตะแล้วมีการโค้งงอตัวเพื่อปรับสมดุลย์ให้สามารถทรงตัวยืนอยู่ต่อไปได้ ฯลฯ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 14, 21:30
...ส่วนผมจะเงียบๆไว้ไม่เข้าไปเติมความทั้งๆที่คันมือเหลือกำลัง

เรียนเชิญเข้าร่วมวงเสวนาด้วยความยินดีครับ แจมได้ทุกเวลาครับ อันที่จริงแล้วมีเรื่องที่จะต้องพึ่งพาความรู้ทางวิชาชีพของท่านช่วยอรรถาธิบายเพื่อความกระจ่างและเป็นข้อมูลสำหรับสาธารณะชนครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 14, 22:07
วกกลับไปที่ภาพใน คห.51

ในภาพนี้มีบ้านพังอยู่บ้านเดียว พังแบบแตกกระจายอีกด้วย (shattered) บ้านเรือนรอบๆดูจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย ดูจากภาพแล้ว เห็นได้ว่าเป็นบ้านที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
หากถ่ายภาพเฉพาะบ้านนี้โดยไม่มีฉากของอาคารบ้านเรือนรอบๆประกอบ ก็จะได้ภาพที่สื่อความหมายไปว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริงๆ และหากเป็นภาพที่มีฉากประกอบเป็นเพียงอาคารบ้านเรือนเพียงหลังหรือสองหลัง มันก็อาจจะสื่อความหมายไปได้ในอีกมุมหนึ่ง  พอเห็นภาพในมุมกว้างก็ให้ความหมายไปในอีกมุมหนึ่ง

ครับ ข้อเท็จจริงบางอย่างที่ผมได้พบมาจากการไปสำรวจหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว ผนวกกับข้อมูลประสพการณ์ที่ได้รับรู้และเห็นด้วยตาตนเอง เป็นดังนี้ครับ  (และจะใช้ภาพนี้เพื่อประกอบข้อสนเทศต่างๆ)




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 14, 22:41
ถึงแม้ว่าบ้านจะออกแบบโดย สถาปนึก (มิใช่สถาปนิกนะครับ) และทำการก่อสร้างโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า สล่า (ช่าง) ที่มีประสพกาณ์ในการสร้างบ้านมาหลายหลังแล้วก็ตาม
ประเด็นของเรื่อง เป็นเรื่องของคุณภาพของงานอันพึงได้รับนั้น ยังได้รับมาในลักษณะที่ไม่คู่ควรกับค่าใช้จ่ายและราคาที่จ่ายเงินออกไป  อาคารบางหลังจึงได้รับความเสียหายในขณะที่อาคารที่ในอีกรั้วหนึ่งที่ติดกันยังอยู่ในสภาพที่ดี


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 14, 23:05
ยกภาพในค.ห. 51 มาไว้ที่นี่ค่ะ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5986.0;attach=48706;image)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 07 มิ.ย. 14, 11:26
หลังจากแผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนี้ เคยเห็นในทีวี มีผู้รู้เรื่องก่อสร้างบอกว่า
การสร้างอาคาร(ขนาด3-4 ชั้น)ต่อไปให้เสริมเหล็กตรงโคนเสาให้ถี่ขึ้น
จะช่วยได้จริงๆไหมคะ คงต้องรบกวนคุณNAVARAT.C ช่วยให้ความรู้หน่อยค่ะ
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มิ.ย. 14, 12:49
ผมประกาศไปแล้วว่าไม่มีความรู้เรื่องแผ่นดินไหวจริงๆ เพราะเป็นสถาปนิกแผนโบราณ ตอนที่ร่ำเรียนวิชาในคณะสถาปัตยกรรมสมัยนั้น ได้ยินแต่ว่า กรุงเทพไม่เคยมีแผ่นดินไหว ถึงเมืองอื่นๆจะมีบ้างก็ไม่รุนแรง เราจึงไม่ค่อยจะได้สนใจเพราะวิศวกรทำหน้าที่นี้อยู่แล้วในการร่วมออกแบบ

คำถามของอาจารย์พวงแก้วเรื่องการเสริมเหล็กเพิ่มตามจุดอ่อนต่างๆของอาคารเพื่อให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวนั้น ผมจะไปค้นในเน็ทมาแปะก็ได้ แต่ก็คงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่สำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ช่าง ผมจึงขอแนะนำอย่างนี้ครับ เมื่อไรที่ท่านจะลงทุนสร้างอาคารคอนกรีต ขอให้ปรึกษาวิศวกรจริงๆให้ช่วยออกแบบเสริมเหล็กให้ เท่านี้ก็เพียงพอไม่ต้องกังวล อย่าไปใช้บริการเหมาจ่ายของพวกอ.บ.ต.ที่เสนอจะออกแบบและผ่านการอนุญาตก่อสร้างให้เสร็จสรรพนะครับ

ส่วนอาคารสร้างด้วยไม้ที่พวกสล่าทำกันมาแต่โบราณกาลนั้น ก็ไว้ใจในภูมิปัญญาของพวกเขาได้ครับ นอกจากเรือนที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆลงทุนไม่มาก ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างตามที่ท่านนายตั้งกล่าวไปแล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 14, 21:31
ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู ครับ ทีได้ย้ายภาพมาลงไว้ใกล้ๆกับหน้าต่างที่กำลังเสวนากัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้สังเกตเห็นได้ในภาพนี้ (ถ้าวิเคราะห์ภาพและลักษณะของบ้านที่จะสร้างถูกต้องนะครับ) คือ น่าจะเป็นลักษณะของบ้าน 2 ชั้น ที่ชั้นบนคงยังไม่ได้ก่อผนังหรือก่อขึ้นเป็นบางส่วน จะสังเกตเห็นว่าไม่ปรากฎว่ามีเศษของเสาใดๆเหลือตั้งอยู่เลย รวมทั้งไม่เห็นคานของพื้นชั้น 2 และคานเชื่อมหัวเสาของชั้นบน (ไม่รู้ชื่อตามศัพท์ทางสถาปัตยกรรมครับ)

คราวนี้ก็พอจะขยายความต่อไปได้แล้วในประเด็นที่ผมได้กล่าวไว้แล้วว่า คุณภาพของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับมานั้นไม่คู่ควรกับค่าใช้จ่ายและราคาที่จ่ายเงินออกไป


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มิ.ย. 14, 21:46
ขยายดูชัดๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มิ.ย. 14, 21:52
ผมอ่านไม่ออกจริงๆว่าอาคารนี้คืออะไร ยังสร้างไม่เสร็จแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้หรือเปล่า แล้วกองเหล็กเส้นที่พังทลายอยู่รอบๆอาคารนั้นเดิมเป็นอะไร

มีภาพอาคารเดียวกันนี้ในมุมมองอื่นไหมครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 14, 22:16
ขยายภาพในเรื่องคุณภาพกับราคา

ผมได้รับฟังจากบุคคลหนึ่งที่กำลังกังวลกับเรื่องที่พำนักถูกแผ่นดินไหวเขย่าวันละหลายครั้ง เขาเล่าว่า "ได้คุยกับช่างที่เป็นผู้ลงมือในการสร้างบ้าน จึงได้ทราบว่า ราคาของงานที่เขาได้รับทำนั้นเป็นเพียงประมาณหนึ่งในสามของราคาที่คิดคำนวณตามแบบ"
ลองคิดดูตามที่ อ.NAVARAT.C เตือนไว้ใน คห.ที่ 92 ก็แล้วกันในเรื่องของการใช้บริการเหมาจ่ายว่าจะน่ากลัวเพียงใด

ครับ ในความเป็นจริงนั้น สถาปนึกก็ไปจำแบบของบ้านอื่นๆมาผสมผสานกัน สล่าทั้งหลายก็อาศัยการจดจำข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ เช่น เสาปูนหน้า 8 จะต้องใช้เหล็กเส้นเบอร์อะไร (ผมแทบจะไม่เห็นการใช้เหล็กข้ออ้อยเลย) และแทนที่จะจำตามหลักเกณฑ์ที่พอจะเป็นมาตรฐานทางวิศวกรรม ก็กลายเป็นจำตามหลักที่สอนกันมาว่าเป็นมาตรฐาน ซึ่งก็ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่แล้ว แล้วตัวเองก็ลดลงไปอีกเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น

ก็เป็นในลักษณะเช่นนี้กับทุกอย่าง ทั้งเหล็กโครงหลังคา (ไม่ว่าจะพื้นที่เล็กหรือใหญ่) ทั้งปูนหล่อเสา หล่อคาน เทพื้น ฯลฯ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 14, 22:24
ไม่รู้ว่าสถานที่เดียวกันหรือเปล่า แต่หามาได้ใกล้เคียงที่สุดแค่นี้ค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 14, 22:39
หลังจากแผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนี้ เคยเห็นในทีวี มีผู้รู้เรื่องก่อสร้างบอกว่า
การสร้างอาคาร(ขนาด3-4 ชั้น)ต่อไปให้เสริมเหล็กตรงโคนเสาให้ถี่ขึ้น
จะช่วยได้จริงๆไหมคะ คงต้องรบกวนคุณNAVARAT.C ช่วยให้ความรู้หน่อยค่ะ
ขอบคุณค่ะ

การเสริมเหล็กตรงโคนเสาให้ถี่ขึ้นนั้น    หากเป็นการเสริมเหล็กเส้นในแนวตั้งที่โคนเสา ก็คงจะไม่ใช่กระมัง ควรจะเป็นการเสริมเหล็กปลอก หรือข้อรัดให้มีระยะถี่ยิ่งขึ้นมากกว่า  ภาพของเสาทางด่วนลอยฟ้าหรือเสาตึกหักล้มซึ่งเห็นร่องรอยอยู่ที่บริเวณโคนเสานั้น มันเป็นเสาที่ระเบิดแล้วล้มครับ เป็นเพราะการกระแทกขึ้นลง คล้ายกับเราแบกของอยู่แล้วทำสก็อตจั้ม

โดยหลักการแล้ว อาคารทนแผ่นดินไหวนั้นจะต้องสร้างให้แข็งทื่อดังภูผามากกว่าที่จะสร้างให้แกว่งได้ดั่งไม้เรียวครับ ซึ่งคำอธิบายคงจะยากสักนิดหนึ่ง มันเป็นไปตามหลักที่ผมได้ขยายความในเรื่อง resonance ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 14, 22:41
ไม่รู้ว่าสถานที่เดียวกันหรือเปล่า แต่หามาได้ใกล้เคียงที่สุดแค่นี้ค่ะ

ที่เดียวกันครับ
ผมเดาถูก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 14, 22:53
ภาพทั้ง 3 ภาพนี้ มีรายละเอียดพอที่ผมจะขยายความไปได้อีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งจะทำให้คลายข้อสงสัยได้ในหลายประเด็น แล้วก็จะทำให้พอเข้าใจถึงจิตใจและความนึกคิดต่างๆของคนที่ต้องนอนอยู่กับแผ่นดินไหว อยู่กับ aftershock นับพันครั้ง ทุกวัน ทั้งวัน ไม่ว่าเวลากลางวันหรือตอนนอน 

ขอบคุณสำหรับภาพเหล่านี้ครับ

ขอขยายความพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 06:54
อ้างถึง
การเสริมเหล็กตรงโคนเสาให้ถี่ขึ้นนั้น    หากเป็นการเสริมเหล็กเส้นในแนวตั้งที่โคนเสา ก็คงจะไม่ใช่กระมัง ควรจะเป็นการเสริมเหล็กปลอก หรือข้อรัดให้มีระยะถี่ยิ่งขึ้นมากกว่า 

ตามนี้เลยครับ
 
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4346:2-4&catid=249:2014-02-03-07-51-16&Itemid=370 (http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4346:2-4&catid=249:2014-02-03-07-51-16&Itemid=370)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 07:16
อ้างถึง
โดยหลักการแล้ว อาคารทนแผ่นดินไหวนั้นจะต้องสร้างให้แข็งทื่อดังภูผามากกว่าที่จะสร้างให้แกว่งได้ดั่งไม้เรียวครับ ซึ่งคำอธิบายคงจะยากสักนิดหนึ่ง มันเป็นไปตามหลักที่ผมได้ขยายความในเรื่อง resonance ครับ

ผมเคยไปเที่ยวชมนิทรรศการงานก่อสร้างในญี่ปุ่นครั้งหนึ่งเมื่อสักสามสิบกว่าปีมาแล้ว เห็นเขาทำอาคารจำลอง เป็นตึกสูงกว่ายี่สิบชั้นที่มีพื้นแต่ละชั้นวางซ้อนกันอยู่ด้วยล้อและรางเหล็ก ในสภาวะปกติทั้งอาคารก็จะนิ่งๆอยู่ แต่เมื่อถูกกระทำด้วยแรงสั่นแบบแผ่นดินไหว พื้นแต่ละชั้นจะเคลื่อนตัวโดยอิสระบนล้อและราง อาคารจะแกว่งไปมาตามความแรงและเวลา ถ้านานพอ อาคารจะแกว่งเหมือนตึกเต้นฮูล่าฮูปเลย
 
มาค้นหาโดยอินทรเนตรในพ.ศ.นี้ หาปรากฏมีไม่ แต่จะพอมีร่องรอยจากรูปที่หามาได้นี้


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 07:21
ภาพแรกเป็นวิธีก่อสร้างดังที่ท่านนายตั้งว่า เป็น Basic earthquake resistant

ภาพที่สอง คือที่ผมว่า เป็น Vibration control

ส่วนภาพที่สาม คือวิธีการที่ทำกันโดยกว้างขวางทั้งญี่ปุ่นและอเมริกันทางฝั่งแคลิโฟเนีย คือ Base-isolation หรือวิธีทำฐานโดด
วิธีนี้จะสร้างอาคารข้างบนให้แข็งแรง แต่ในช่วงตอม่อแทนที่จะถ่ายน้ำหนักลงเสา ตอม่อและฐานรากตามปกติ จะตัดตอนให้ผ่านอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวตัวได้ตามแรงสั่นเวลาเกิดแผ่นดินไหว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 07:25
ตึกในอเมริกา


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 07:28
ภาพนี้เอามาฝากผู้ที่มีพื้นฐานพอจะเข้าใจได้เองเท่านั้น และขออนุญาตไม่อธิบายเพราะภูมิไม่ถึง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 07:30
ลองดูการทำงานของการก่อสร้างวิธีนี้

Earthquake Protective Foundation - base isolation video (http://www.youtube.com/watch?v=ChaqMDc4ces#)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 08:42


อ้างถึง
อ้างจาก: เทาชมพู
ไม่รู้ว่าสถานที่เดียวกันหรือเปล่า แต่หามาได้ใกล้เคียงที่สุดแค่นี้ค่ะ
อ้างถึง
ข้อความโดย: naitang
ที่เดียวกันครับ
ผมเดาถูก

ขอบคุณครับ จากภาพ ดูจากเหล็กนั่งร้านที่พังลงมา บอกได้ว่าตึกนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ตึกดูเก่ามาก อาจถูกระงับการก่อสร้างในอดีตที่ผ่านมาแต่ยังต่อสู่คดีอยู่ จึงยังไม่ได้ทำการรื้อทิ้ง แต่ที่ผมยังสงสัยอยู่คือ ดูเหมือนว่าจะมีคนเข้าไปใช้อาคารนี้ จะไปพักอาศัยหรือเก็บของด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ดี การที่อาคารหลังนี้พังลงมาหลังเกิดแผ่นดินไหวก็สมควรแก่เหตุอยู่แล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 08 มิ.ย. 14, 11:48
 "การเสริมเหล็กตรงโคนเสาให้ถี่ขึ้นนั้น    หากเป็นการเสริมเหล็กเส้นในแนวตั้งที่โคนเสา ก็คงจะไม่ใช่กระมัง ควรจะเป็นการเสริมเหล็กปลอก หรือข้อรัดให้มีระยะถี่ยิ่งขึ้นมากกว่า  "

 ขอบคุณคุณตั้งที่ช่วยอธิบายคะ เคยได้ยินมาเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่มีความรู้จึงถาม เพื่อไว้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น.... ขอบคุณในความกรุณาค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มิ.ย. 14, 15:15
NAVARAT.C ความคิดเห็นที่ 101
อ้างจาก
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4346:2-4&catid=249:2014-02-03-07-51-16&Itemid=370 (http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4346:2-4&catid=249:2014-02-03-07-51-16&Itemid=370)
 
ขอแนะนำกฎ 4 ข้อ สำหรับการก่อสร้างเสาบ้านปูนในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว ดังนี้

1.เสาของบ้านปูนที่มีความสูง 2 ชั้นควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 20-25 ซม. และขนาดไม่น้อยกว่า 30-35 ซม. สำหรับความสูง 3 ชั้น
2.เหล็กแกนในเสาต้องไม่น้อยกว่า 4 เส้น หากใช้ 6 เส้นหรือ 8 เส้นจะดีมาก และขนาดของเหล็กแกนต้องไม่เล็กกว่า 12 มม. หากใช้เหล็ก 16 มม. ได้ยิ่งดี เพื่อให้เหล็กไม่คดงอได้ง่ายเมื่อคอนกรีตกะเทาะหลุดออก
3.เหล็กปลอก สำหรับบ้าน 2 ชั้นควรใช้ไม่น้อยกว่า 6 มม. พันรอบเหล็กแกนเสาให้มีระยะเรียงไม่เกิน 7.5 ซม. ส่วนบ้าน 3 ชั้นควรใช้เหล็กปลอกไม่น้อยกว่า 9 มม. พันรอบเหล็กแกนให้มีระยะเรียงไม่เกิน 7.5 ซม. ตำแหน่งที่พันเหล็กปลอกถี่นี้ให้วัด 50 ซม. จากปลายบนและปลายล่างของเสา ส่วนตรงกลางเสาให้ใช้ระยะเรียงเหล็กปลอกเป็นสองเท่าหรือ 15 ซม. ได้
4.เสาตอม่อ หรือเสาใต้ถุนบ้าน ควรมีขนาดใหญ่กว่าเสาชั้นบนด้านละ 5 ซม. และควรเสริมเหล็กปลอกให้ถี่ตามข้อ 3 ตลอดความสูงเสา


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 14, 21:10
ขอบคุณท่าน NAVARAT.C มากๆครับ สำหรับข้อมูลต่างๆ

ตึกสูงทนแผ่นดินไหวที่ได้ออกแบบและสร้างในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการพัฒนาไปใช้การใส่ตุ้มน้ำหนัก (pendulum) กลางตัวอาคาร และโชคอัพ (shock absorber) ที่ขอบตัวอาคาร  ผมคิดว่าเป็นอีกความก้าวหน้าหนึ่งนอกเหนือไปจากการใช้ isolation base

ในเมืองไทยเราก็มีการออกแบบใช้ระบบ isolation base เหมือนกันนะครับ   ผมคิดว่ามีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้นอีกด้วย    ครับ...อยู่ในพุทธมณฑล บริเวณสังเวชนียสถาน 4 ตำบล    คือ ฐานที่รองรับหินพระธรรมจักรครับ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 14, 22:20
ภาพระยะใกล้ของ อ.เทาชมพู ใน คห.ที่ 97  ได้ทำให้ผมบรรยายสิ่งที่ได้พบเห็นมาง่ายขึ้นมากเลยครับ ขอบพระคุณจริงๆ

เรื่องแรก   ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ในภาคเหนือตอนบนที่มีผู้คนทำการเกษตรและอยู่กันเป็นชุมขนกระจัดกระจายอยู่นั้น โดยรวมๆแล้วเป็นพื้นที่ราบ (ความลาดชันต่ำ) ที่อยู่ในร่องระหว่างทิวเขา (ridge and valley terrain) หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ในแอ่งล้อมรอบด้วยภูเขา (intermontane basin)

สำหรับพื่นที่ราบในร่องระหว่างทิวเขานั้น ตะกอนดินทรายที่มาทับถมกันอยู่นั้น เป็นตะกอนที่ไหลกลิ้งลงมาจากไหล่เขา (เรียกตะกอนนี้ว่า eluvial depossits หรือ eluvium) ไม่ได้ผ่านกระบวนการพัดพาโดยน้ำไหล จึงไม่มีการคัดแยกขนาด (sorting)ที่ดี เป็นตะกอนดินทรายที่ทับถมกันหนาไม่มาก เนื้อค่อนข้างหยาบและขนาดของเนื้อตะกอนคละขนาดกัน (poor sorted)  ผิวดินที่ปิดผิวหน้าค่อนข้างบาง ชั้นตะกอนลักษณะนี้รับน้ำหนักที่กดทับลงมาได้ดี

ผลจากสภาพทางธรณีวิทยาเช่นนี้ ทำให้อาคารบ้านเรือนในภาคเหนือเกือบจะไม่มีการใช้เสาเข็มเลย วิธีการที่ทำสืบต่อเนื่องกันมาก็คือ ขุดหลุมลึกประมาณ 1 - 2 เมตร เทหินหรือกรวดลงไปเพื่อให้สามารถเกลี่ยปรับระดับได้ ผูกเหล็กแล้วหล่อเสาตอหม้อขึ้นมา ทำคานคอดิน...ฯลฯ  บางบ้านก็ใช้เสาตีนเป็ดหล่อสำเร็จ (เป็นเสาบ้านไปเลย) วางตั้งบนตะแกรงเหล็ก (wire mesh) แล้วเทปูนกลบตีนเป็ดเลย ทำคานคอดิน...ฯลฯ

ข้อชวนสงสัยก็คือ เมื่อกระบวนคิดและกระบวนทำมันก็เหมือนๆกัน เหตุไฉนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว บางบ้านก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ บางบ้านก็พอจะมีบ้าง แต่บางบ้านกลับเสียหายมาก





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 14, 22:55
สิ่งที่ผมเห็นมาและพอจะเป็นคำตอบข้อสงสัย คือ แม้จะเป็นการก่อสร้างที่ใช้วัสดุเหมือนกัน เทคนิคเดียวกัน  แต่ก็มีความต่าง (ค่อนข้างมาก) ในเชิงของความละเอียดและความใส่ใจในการสร้างชิ้นงานแต่ละชิ้น อาทิ
   -เทปูนแล้วไม่ใช้ไม้แทงไล่ฟองอากาศ ซึ่งทำให้คอนกรีตของเสาและคานต่างๆไม่จับตัวกันแน่น ความแข็งแรงของเสาหรือคานจึงมีน้อยมาก
   -การใช้เสาสำเร็จแทนเสาหล่อ   เสาพวกนี้เกือบจะไม่มีความแข็งแรงใดๆเลย
   -ฐานของตีนเสามีขนาดเล็กและบาง    เมื่อถูกแผ่นดินไหวเขย่าขึ้นลง น้ำหนักของตัวบ้านที่ถ่ายลงมาที่เสาแต่ละเสาไม่เท่ากัน (ด้วยสาเหตุต่างๆ) ได้ทำให้เสาทรุด และทรุดไม่เท่ากัน (เหมือนคนตอกตะปู) ส่งผลให้ทรงโครงสร้างของบ้านบูดเบี้ยวไป


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 14, 09:34
ดิฉันไปหารูปบ้านที่พังจากแผ่นดินไหวมาให้ดูอีก     หลายหลังส่วนหลังคาพังทลายลงมา   ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเสารับน้ำหนักไม่ได้ หรือเกิดจากอะไรอื่นนะคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 14, 09:36
ส่วนโรงแรมนี้   เสาน่าจะรับน้ำหนักได้อยู่ แต่ว่าผนังแตกร้าวหมด


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 14, 20:31
กำลังจะต่อไปในเรื่องความเสียหายลักษณะตามภาพที่ อ.เทาชมพู ได้กรุณาค้นหานำมาโพสต์ 
ขอบพระคุณครับ
แต่จะขอต่อเรื่องเดิมให้จบก่อนนะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 14, 21:25
ภาพใน คห.97 โดยเฉพาะ 2 ภาพแรก ได้แสดงให้เห็นว่าอาคารได้ทรุดจมลงไปในดิน ซึ่งคงจะเกิดจากเสาตอหม้อด้านหนึ่งทรุดตัวจมลงไปในดิน  การพังลงของบ้านก็เกิดจากสาเหตุนี้ส่วนหนึ่ง
 
อีกส่วนหนึ่ง  ก็ขอให้สังเกตในภาพ ดูที่ปลายเสาของชั้นสองทั้งหมดทุกต้น จะไม่เห็นมีคานเชื่อมหัวเสา และหลังคาก็หลุดยกทั้งโครงและทั้งกระเบื้องมุงหลังคา กล่าวได้ว่ายกกระบิออกไปเลย (ตามภาพที่ 3)   

ที่ผมได้เห็นได้สัมผัสกับบ้านที่กำลังก่อสร้างหลายหลังในพื้นที่ พบว่า บ้านที่ก่อสร้างในสมัยปัจจุบันนี้ จะไม่มีการทำคานเชื่อมหัวเสา แต่จะใช้เหล็กตัว c วางพาดหัวเสาและเชื่อมติดกับเหล็กแกนของเสา จะเรียกว่าเชื่อมแบบดีแข็งแรงแน่นหนา ก็คงไม่ใช่เลย ผมเห็นว่าเป็นการแต้มให้เหล็กติดกันมากกว่าเป็นการเชื่อม แถมส่วนมากยังเชื่อมกับเหล็กแกนเพียงสองเส้น เชื่อมกับเหล็กแกนเส้นเดียวก็เคยเห็นครับ  แล้วใช้เหล็กที่เชื่อมต่อระหว่างหัวเสานี้เป็นฐานสำหรับโครงหลังคา  ผมไม่มีความรู้ทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ก็เข้าใจว่าก็คงเป็นวิธีการที่ทำได้หากวัสดุทั้งหลายเป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดทางวิศวกรรม รวมทั้งการเชื่อมที่เป็นการเชื่อมจริงๆ มิใช่การแต้มให้เหล็กติดกัน

ลองนึกดูนะครับว่า บ้านยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ชั้นสองมีแต่เสาโด่เด่ ผนังก็ยังไม่มีการก่อ (ซึ่งจะไปช่วยให้เกิดเป็นทรงกล่องที่มีความแข็งแรง) แล้วมีหลังคาวางครอบทับหัวเสา อีกทั้งยังเป็นหลังคาประเภทใช้กระเบื้องหนักมุงอีกด้วย แผ่นดินไหวมาเขย่านิดเดียว ก็เหมือนชาวบ้านเดินเทินถาดใส่ของหนักๆไว้บนหัวแล้วถูกเขย่าตัว ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องล้มระเนระนาดกันไป
   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 14, 21:52
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้พบเห็นมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับคาน เอ็น และทับหลัง ซึ่งพอจะทราบมาว่า ตามปรกติแล้ว การก่อสร้างที่ดีมีฝีมือนั้น บริเวณวงกบหน้าต่างและประตูจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นคานรองรับ มีเอ็นกระหนาบข้าง และมีทับหลังไว้รับน้ำหนักผนังด้านบนกรอบหน้าต่างหรือประตู

ผมเรียกชื่อถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เดี๋ยวท่านสถาปนิกก็จะมาช่วยแก้ไขและขยายความให้เอง

ทั้งสามอย่างนี้มีส่วนช่วยให้ผนังบ้านมีความแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย แต่ก็จะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  บ้านชาวบ้านทั้งหลายก็มีทั้งแบบที่มีหรือไม่มีโครงสร้างนี้  ที่ผมเห็นมาจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ก็พบว่า พวกบ้านที่ไม่มีโครงนี้จะได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างตามขนาดพื้นที่ของผนัง ซึ่งมีทั้งพัง โป่ง และโย้เป็นลอนคลื่น แต่พวกบ้านที่มีโครงสร้างนี้เกือบจะไม่ได้รับผลกระทบใดเลย

หากจะลองเพ่งดูในภาพระยะใกล้ของ คห.97 จะเห็นว่าเป็นบ้านที่ผนังบ้านไม่มีโครงสร้างนี้ที่บริเวณหน้าต่าง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 14, 22:36
อ้างถึง
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้พบเห็นมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับคาน เอ็น และทับหลัง ซึ่งพอจะทราบมาว่า ตามปรกติแล้ว การก่อสร้างที่ดีมีฝีมือนั้น บริเวณวงกบหน้าต่างและประตูจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นคานรองรับ มีเอ็นกระหนาบข้าง และมีทับหลังไว้รับน้ำหนักผนังด้านบนกรอบหน้าต่างหรือประตู

ผมเรียกชื่อถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เดี๋ยวท่านสถาปนิกก็จะมาช่วยแก้ไขและขยายความให้เอง
เอ็นและทับหลังเป็นคำเรียกย่อของ เสาเอ็นและคานทับหลัง ซึ่งอาคารก่ออิฐฉาบปูนที่สร้างตามมาตรฐานทั้งหลายพึงมีในตำแหน่งต่างๆดังรูปที่ผมนำมาแสดง

ส่วนอาคารที่ไปลดมาตรฐานลงเพื่อหวังทุ่นค่าก่อสร้าง แถมยังก่อสร้างไม่เสร็จ เมื่อพังลงในสถานการณ์วิกฤตอย่างนี้ก็มิพึงต้องข้องใจแต่ประการใด

ผมอยากจะคอยอ่านต่อว่ามีอาคารร่วมสมัยใดบ้างที่สร้างโดยใช้ค่าความปลอดภัย(safty factor)จากแผ่นดินไหวตามมาตรฐานที่วิศวกรรมสถานกำหนด แล้วยังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวคราวนี้บ้าง ถ้าไม่มีก็น่ายินดี แต่ถ้ามี ก็เห็นจะต้องเพิ่มค่าความปลอดภัยขึ้นอีก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 14, 22:44
เชิญท่านนายตั้งต่อครับ

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 14, 22:47
สำหรับลักษณะความเสียหายตามภาพใน คห.113 โดยเฉพาะในภาพบนสองภาพนั้น เป็นลักษณะของความเสียหายที่ผมได้พบเห็นค่อนข้างมาก ทั้งในระดับเล็กน้อย จนถึงระดับพังลงมา

เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในส่วนที่เป็นมุขบันไดขึ้นบ้าน ซึ่งส่วนที่เป็นหลังคา เสาค้ำหลังคา ลูกกรงและราวบันได เกือบทั้งหมดเป็นการสร้างเสริมคล้ายกับลักษณะของการต่อเติมเชื่อมต่อกับตัวอาคารหลัก

เรื่องแรก คือ บันไดขึ้นบ้านหรือขึ้นศาลาตามวัดต่างๆ  ชาวบ้านนิยมใช้ลูกกรงบันไดเป็นเครื่องดินเผาเคลือบ แล้วใช้ปูนหล่อราวบันไดอย่างหนาทับลงไป (ดังภาพด้านขวาบน) แถมประดับด้วยกระเบื้องปูพื้นบ้านอีกชั้นหนึ่ง
ดังที่ได้เล่าไว้แต่ตอนต้นว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ใกล้จุดกำเนิดแผ่นดินไหว ดังนั้นจะได้รับผลกระทบจากคลื่นแผ่นดินไหวลักษณะความถี่สูงและการเขย่าจะเป็นลักษณะกระแทกขึ้นลง  
ผลก็คือ ได้เห็นความเสียหายหลายๆแห่งในลักษณะด้านบนของตัวลูกกรงที่อยู่ใต้ราวบันไดแตกค่อนข้างเป็นชิ้นเล็ก ตัวลูกกรงที่ต่ำลงมาจะเป็นลักษณะแตกร้าวแต่ไม่หลุดออกเป็นชิ้นๆ    ตัวราวบันไดยังคงอยู่ มีแต่ส่วนกระเบื้องเคลือบที่ปูทับไว้ร่อนหลุดออกมา  ครับ ก็คล้ายกับเอาคนมายืนเป็นแถวแล้วเอาไม้กระดานมาวางบนหัว แล้วยกไม้กระดานขึ้นมานิดเดียวแล้วปล่อย ก็จะมีแต่หัวแตกกันแต่คอไม่หัก    


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 14, 22:56
ให้ความกระจ่างได้รวดเร็วทันใจดีจัง ขอบคุณมากครับ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 10 มิ.ย. 14, 11:28
เช้าวันนี้ (10 มิย. 57) มีข่าวแผ่นดินไหวที่เชียงรายอีกแล้ว
เห็นใจชาวเชียงรายที่ต้องหวาดผวากับภัยนี้ แก้ไขก็ไม่ได้

มนุษย์เข้าใจวิทยาศาสตร์ ยุคหนึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ แต่ความโลภและแข่งกันรวย ก็เลยทำลายโลกมากกว่าประโยชน์ที่ได้


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 14, 21:28
ครับ ชาวเชียงรายก็นอนเสียวกันๆไปทุกคืนละครับ
เท่าที่ผมได้สอบถามไป เขาก็ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้น เมื่อไรจะหยุดก็ไม่รู้ ซึ่งผมแปลความได้ว่า ก็พอจะคุ้นเคยกับมันแล้วแต่ก็ยังรู้สึกยั่นๆอยู่

อันที่จริงแล้ว ข้อมูลที่ผมเคยทราบเมื่อครั้งยังทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องของแผ่นดินไหวกับประเทศไทยแถวๆปี พ.ศ.2520-2530 ปรากฎว่าในภาคเหนือของไทยนั้น มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเดือนละหลายๆสิบครั้ง (ข้อมูลจากเครื่องตรวจจับ seismograph) แต่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่คนอาจไม่รู้สึกได้ (หากไม่สังเกตจริงๆ)    เกิดอยู่ในแอ่งต่างๆซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดและอำเภอในภาคเหนือตอนบน 

ผมยังจำได้ถึงสภาพความกลัวของผมเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเด็กชาย อยู่บ้านไม้สองชั้นในเขตเวียงเชียงราย ก็น่ากลัวนะครับ โดยเฉพาะเมื่อได้ยินเสียงสั่นแกรก (rattle)ของกระจกที่ใส่อยู่ในวงกบเหนือบานหน้าต่างบ้าน   โดยเฉพาะหากเป็นตอนกลางคืนกำลังหลับสบาย แล้วต้องตกใจตื่นด้วยเสียงรัวแกรกของกระจก นอนตัวแข็งทื่อเลยครับ กระดิกไม่ได้เลย จะเรียกว่าเป็นความกลัว ผมก็ว่าไม่ใช่นะ พอมันหยุดไปก็ลุกเดินได้ หรือขยับตัวพลิกนอนต่อไปได้ มันเป็นลักษณะของอาการช๊อคกับเสียงที่เร้าใจ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 14, 22:46
ผมเข้าใจสภาพจิตใจและความรู้สึกของคนที่พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงถูกเขย่าด้วยแผ่นดินไหวอยู่ในขณะนี้ดี  เข้าใจในสภาพจิตของเด็กนักเรียนที่ต้องไปโรงเรียน ไปเรียนในอาคารที่มีร่องรอยของความเสียหาย ตามผนังบ้าง ตามรอยต่อระหว่าคานกับหัวเสาของพื้นอาคารเรียน

ผมได้ไปเห็นความเสียหายของโรงเรียนบางแห่ง ของบ้านหลายหลังของเด็กนักเรียนต่างๆ สภาพที่เขาต้องออกมานอนอยู่บนถนนหน้าบ้าน และยังต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน 
กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ จะไปที่ใหนก็ไม่พ้นจากการต้องเห็นและรับรู้สัมผัสกับแผ่นดินไหวที่จะมาเมื่อไรก็ได้อย่างไม่หยุดหย่อน ขณะเรียนก็ต้องหยุดเรียนรีบออกไปอยู่นอกห้อง รีบลงบันไดไปชั้นล่าง กลับมาบ้านก็เจออีก นอนหลับก็ไม่สนิทใจ     สภาพจิตใจจะเป็นเช่นใดหนอ?

เหตุผลลึกๆของผมที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ก็หวังให้เป็นช่องทางหนึ่งเพื่อกระจายความเข้าใจแบบง่ายๆ แบบชาวบ้าน ในเรื่องของแผ่นดินไหว
 
ผมมีความรู้สึกที่แย่มากๆกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ของสถาบัน หน่วยงานวิชาการ องค์กรทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติ และสื่อต่างๆ ทั้งในเชิงของ action, knowledge, mitigation, preparedness, response, salvation ฯลฯ    เห็นแต่แห่กันไปดู ไปดูใ้ห้เห็นเป็นขวัญตา ถ่ายภาพเอามาเผยแพร่ วุ่นอยู่กับตัวเลขและจำนวนอะไรต่อมิอะไรต่างๆ   เป็นเรื่องของ materials ทั้งนั้น ไม่เห็นมีด้าน human touch บ้างเลย  น่าสงสารชาวบ้านที่มีผู้รู้ต่างแห่กันไปดู ไปพบ ไปสอบถาม แต่ชาวบ้านก็ยังคงไม่รู้ว่าแล้วจะกลับเข้าไปนอนในบ้านได้หรือยัง ความเสียหายลักษณะใดอันตราย แบบใดไม่อันตราย แบบใดต้องซ่อมอย่างไร....ฯลฯ

แล้วแผ่นดินไหวมันก็ยังไม่หยุด ไม่เห็นมีใครว่าอะไรต่อไป  ไม่มีแม้กระทั่งจะบอกว่าควรจะชะลอการซ่อมส่วนใหน ควรจะซ่อมเพื่อประทังส่วนใหนก่อน เห็นมีแต่รีบขอให้แจ้งความเสียหายโดยเร็ว เพื่อจะได้จัดเงิน จัดของมาให้ซ่อม ก็มารวดเร็วดีเหมือนกัน  แต่ปัญหามันไปอยู่ที่ว่า มันถูกเขย่าทุกวันๆละหลายครั้ง สิ่งก่อสร้างทั้งหลายมันก็ทนไม่ไหว คลอนกันทั้งนั้นแหละ ช่วงแรกๆก็อาจจะยังดูแข็งแรงดี เขย่าไปทุกวันที่ว่าดูไม่มีปัญหาหรือมีอยู่นิดเดียว มันก็ขยายออกไป   ไอ้ที่ซ่อมแล้วแต่แรกจะอยู่หรือจะไปอีกก็ไม่รู้

ขออภัยที่บ่นมากไปหน่อยครับ    อย่างน้อยผมก็ได้ทำหน้าที่อันพึงทำตามอาชีพและความรู้ที่มี ช่วยชาวบ้านในเชิงของ human touch ทำให้คนในหมู่บ้านของพื้นที่ๆผมอยู่ กลับเข้าบ้าน รู้สึกสบายใจ เข้าใจอะไรในบางเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างบ้านแปงเฮือน สามารถดูความเสียหายที่เป็นอันตรายได้ และพร้อมที่จะผจญเหตุการณ์และอยู่กับมัน     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 14, 23:10
กลับไปที่เรื่องในภาพ คห.113 ครับ

ลองสังเกตดูบริเวณรอยต่อเชื่อมระหว่างโครงหลังคาของมุขกับตัวบ้านในภาพบนซ้าย จะเห็นว่ามีเป็นการเชื่อมโดยการยึดแปะไว้ด้วยตะปู เกือบทั้งหมดที่ผมเห็นก็ทำด้วยวิธีการในลักษณะนี้ หากเป็นการต่อกับผนังปูน ก็เห็นใช้เหล็กหรือไม้ของโครงหลังคาฝังเข้าไปในผนังดื้อๆก็มี  โดยสภาพในองค์รวมก็เสมือนกับการต่อเชื่อมแบบหลวมๆของสิ่งก่อสร้างสองหน่วย   เมื่อผนวกเข้ากับเสาสองต้นที่ค้ำหลังคาส่วนที่ยื่นออกมานอกตัวบ้าน ที่โดยแนวคิดของชาวบ้านแล้ว เสาสองต้นนี้ก็มีหน้าที่เพียงค้ำหลังคา จึงเป็นเสาเปลือยตั้งโด่เด่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวโยกไปช้ายทีขวาที มันก็ล้ม หลังคาก็ทรุดลงมา บ้างก็เลยไปดึงเอามุขพังลงมาทั้งหมด

ความเสียหายที่มีรายงานโดยใช้คำว่าบ้านพังนั้น เป็นลักษณะการพังแบบนี้อยู่มากโขเลยทีเดียวเลยครับ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 11 มิ.ย. 14, 02:47
ที่คุณตั้งเล่ามาคงหมายถึงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นมานานแล้วตลอดเวลา (ไม่เคยรู้มาก่อนจริงๆครับ เพราะไม่เคยเป็นข่าว เพิ่งทราบจากที่อ่านในกระทู้นี้) เพิ่ง 6.3 ครั้งนี้เอง ดูจากรอย น่าจะเป็นแผ่นดินแยกเสียด้วยซ้ำ เกิดขึ้นเมื่อไร อาจเสียชีวิต หรือหนีเอาชีวิตรอดได้ ก็หมดเนื้อหมดตัว

ผมคิดเอาตามประสาคนที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ว่า แผ่นดินไหวเบาๆ ประจำที่ภาคเหนือ ไม่เคยเป็นข่าว ไม่เป็นอันตรายมาเป็นร้อยๆปี ทุกวันนี้ มนุษย์ไปดูดเอาแก๊ส น้ำมันจากใต้ดินจ.กำแพงเพชรบริเวณใกล้ๆกัน ในทะเลอีก ทำให้ใต้ธรณีเสียสมดุล อาการไหวเบาๆ เลยกลายเป็นแผ่นดินแยกอย่างที่เกิดขึ้น ร้ายแรงมากๆเข้า กลายเป็นแผ่นดินถล่มซึ่งคงไม่มีผู้รอดชีวิต

ทราบมาว่า เกาะประเทศญี่ปุ่นก็แผ่นดินไหว อาคารบ้านเรือนสั่นสะเทือนเป็นประจำทุกวัน วันละหน 2 หน แต่ไม่เคยมีข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมขุดแก๊สหรือน้ำมันในทะเล ทะเลที่อื่นมี ทะเลแปซิฟิคแถวนั้นก็น่าจะมีบ้าง ที่เกิดซึนามิหลายปีก่อน หรือเป็นผลกระทบจากอุตสาหกรรมขุดเจาะแก๊ส น้ำมันในทะเลก็ไม่ทราบ ถึงขุดเจาะที่อื่นก็อาจส่งผลกระทบไปถึงได้


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มิ.ย. 14, 08:45
อ้างถึง
ผมมีความรู้สึกที่แย่มากๆกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ของสถาบัน หน่วยงานวิชาการ องค์กรทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติ และสื่อต่างๆ ทั้งในเชิงของ action, knowledge, mitigation, preparedness, response, salvation ฯลฯ    เห็นแต่แห่กันไปดู ไปดูใ้ห้เห็นเป็นขวัญตา ถ่ายภาพเอามาเผยแพร่ วุ่นอยู่กับตัวเลขและจำนวนอะไรต่อมิอะไรต่างๆ   เป็นเรื่องของ materials ทั้งนั้น ไม่เห็นมีด้าน human touch บ้างเลย  น่าสงสารชาวบ้านที่มีผู้รู้ต่างแห่กันไปดู ไปพบ ไปสอบถาม แต่ชาวบ้านก็ยังคงไม่รู้ว่าแล้วจะกลับเข้าไปนอนในบ้านได้หรือยัง ความเสียหายลักษณะใดอันตราย แบบใดไม่อันตราย แบบใดต้องซ่อมอย่างไร....ฯลฯ

แล้วแผ่นดินไหวมันก็ยังไม่หยุด ไม่เห็นมีใครว่าอะไรต่อไป  ไม่มีแม้กระทั่งจะบอกว่าควรจะชะลอการซ่อมส่วนใหน ควรจะซ่อมเพื่อประทังส่วนใหนก่อน เห็นมีแต่รีบขอให้แจ้งความเสียหายโดยเร็ว เพื่อจะได้จัดเงิน จัดของมาให้ซ่อม ก็มารวดเร็วดีเหมือนกัน  แต่ปัญหามันไปอยู่ที่ว่า มันถูกเขย่าทุกวันๆละหลายครั้ง สิ่งก่อสร้างทั้งหลายมันก็ทนไม่ไหว คลอนกันทั้งนั้นแหละ ช่วงแรกๆก็อาจจะยังดูแข็งแรงดี เขย่าไปทุกวันที่ว่าดูไม่มีปัญหาหรือมีอยู่นิดเดียว มันก็ขยายออกไป   ไอ้ที่ซ่อมแล้วแต่แรกจะอยู่หรือจะไปอีกก็ไม่รู้
อึมม์...ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนมีฐานมาจากความไม่รู้ ลองผิดลองถูก จนกระทั่งได้มาซึ่งองค์ความรู้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นด้วยว่าจะต้องจริงแท้แน่นอน ถ้าไม่ใช่ ก็ลองผิดลองถูกกันต่อ
อ้างถึง
ขออภัยที่บ่นมากไปหน่อยครับ
ท่านคุณตั้ง คงได้บ่นอีกนาน
อ้างถึง
อย่างน้อยผมก็ได้ทำหน้าที่อันพึงทำตามอาชีพและความรู้ที่มี ช่วยชาวบ้านในเชิงของ human touch ทำให้คนในหมู่บ้านของพื้นที่ๆผมอยู่ กลับเข้าบ้าน รู้สึกสบายใจ เข้าใจอะไรในบางเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างบ้านแปงเฮือน สามารถดูความเสียหายที่เป็นอันตรายได้ และพร้อมที่จะผจญเหตุการณ์และอยู่กับมัน
อนุโมทนาสาธุด้วยครับ
อะไรก็ไม่สำคัญเท่าใจ คนเรานั้นถ้าใจไม่เสีย ชีวิตก็เริ่มต้นต่อได้ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เราอยู่ร่วมกับมันไป
สัจธรรมนี้ผมทราบว่าท่านคุณตั้งตระหนักดีอยู่ อะไรที่ร้ายๆกว่านี้ ท่านก็ผ่านมากับใจตนเองแล้ว  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มิ.ย. 14, 08:55
เช้าวันนี้ (10 มิย. 57) มีข่าวแผ่นดินไหวที่เชียงรายอีกแล้ว
เห็นใจชาวเชียงรายที่ต้องหวาดผวากับภัยนี้ แก้ไขก็ไม่ได้
ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็มีอาฟเตอร์ช็อกเกือบทุกวัน เมื่อวานก็เกิดขึ้น ๒ ครั้งความแรง ๒.๐ และ ๓.๓ ตามมาตราริกเตอร์ วันนี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นตอนตีสองกว่า ๆ ความแรง ๒.๔

คุณ scarlet สามารถติดตามรายงานแผ่นดินไหวได้หลายแห่ง เว็บของกรมอุตุฯ  (http://www.tmd.go.th/earthquake_report.php) ก็น่าสนใจดี  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มิ.ย. 14, 08:59
หลบให้คุณเพ็ญก่อน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มิ.ย. 14, 09:01
ความแรงตั้งแต่ ๒.๙ ลงมา คนทั่วไปจะไม่รู้สึก หากตั้งแต่ ๓.๐ ขึ้นไปจะรู้สึกได้  

ข้อมูลมาตราริกเตอร์จาก คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C) ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มิ.ย. 14, 09:07
หลบให้คุณเพ็ญก่อน

ขออภัย เหตุเพราะข้อมูลต่อเนื่อง

เรียนเชิญคุณนวรัตนต่อ  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มิ.ย. 14, 09:29
ผมเพียงอยากจะเข้ามาเพิ่มเรื่อง"ความไม่รู้"ต่อว่า คนที่ไหนจะไปน่าเชื่อถือกว่าคนบ้านเดียวกัน

นักวิชาการจากถิ่นอื่นมาบอกว่าโฮ้ยเสียหายแค่นี้ ปลอดภัยๆ หมู่เฮากลับเข้าไปอยู่ในบ้านได้เลย แต่หมู่คิงก็รีบกลับจะไปให้ทันเที่ยวบิน กับนักวิชาการที่เอิ้นภาษาเดียวกัน มีบ้านนอนอยู่แถวนั้นด้วย เปิ้นว่าปลอดภัยแล้วไม่ได้ขี้จุ๊ไปลี้ภัยอยู่ที่ไหน อยู่กินกันที่นั่นทั้งครอบครัวนั่นแหละ น่าเชื่อถือกว่าเยอะ

ถึง after shock ลูกที่ ๑๕๗๗ จะมีขนาด ๗.๒ ริกเตอร์ บ้านทั้งหมู่จะถล่มลงมาจริงๆ ก็คงไม่มีชาวบ้านโทษท่านคุณตั้งอยู่ดี


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 11 มิ.ย. 14, 14:32
เช้าวันนี้ (10 มิย. 57) มีข่าวแผ่นดินไหวที่เชียงรายอีกแล้ว
เห็นใจชาวเชียงรายที่ต้องหวาดผวากับภัยนี้ แก้ไขก็ไม่ได้
ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็มีอาฟเตอร์ช็อกเกือบทุกวัน เมื่อวานก็เกิดขึ้น ๒ ครั้งความแรง ๒.๐ และ ๓.๓ ตามมาตราริกเตอร์ วันนี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นตอนตีสองกว่า ๆ ความแรง ๒.๔

คุณ scarlet สามารถติดตามรายงานแผ่นดินไหวได้หลายแห่ง เว็บของกรมอุตุฯ  (http://www.tmd.go.th/earthquake_report.php) ก็น่าสนใจดี  ;D

ความจริงผมลืมไปแล้วว่า กรุงเทพมหานครเคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อนชี้ให้ดูยอดตึกดุสิตธานีมีอาการเคลื่อนไหว (น่าจะครั้งที่ยังเรียนหนังสือ แต่ไม่แน่ใจ) และก็รู้สึกว่า ไม่กี่ปีมานี้ก็มีแผ่นดินไหวอีกในกรุงเทพ มาอ่านกระทู้นี้ จึงนึกได้

ไม่กี่ปีมานี่ ก็มีคำทำนายอีกว่า ประเทศไทยจะถูกน้ำท่วมหมดตั้งแต่ภาคใต้จนถึงกรุงเทพ เหลือแต่ภาคอีสานกับภาคเหนือ เป็นแผนการนายทุนจะบอกขายที่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ก็ลองพิจารณากันดู


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 14, 21:25
ขอต่อเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกหน่อยก่อนนะครับ

นอกจากลักษณะความเสียหายตามภาพที่ อ.เทาชมพู ได้นำมาลงแล้ว ก็มีในลักษณะของ
   - รั้วบ้านที่เป็นบล็อกปูนก่อ - ล้มหรือเอียงเป็นแถบ 
   - บล็อกปูนที่ก่อเป็นผนังบ้านช่วงบน (สองสามแถวบน) ที่ไม่มีคานทับหลังหล่อปิดทับไว้ - พังลงมา
   - ที่เห็นค่อนข้างมาก คือ ปูนบริเวณรอยต่อระหว่างหัวเสาตอหม้อกับคานที่รองรับพื้นอาคารแตก ส่อสภาพของการแยกออกจากกัน ไม่เป็นเนื้อเดียวกันอีกต่อไป    ผมเห็นภาพคล้ายกับภาพพื้นอาคารกระเพื่อมขึ้นลงไปกดหรือกระแทกหัวเสา
   - และที่เห็นมากที่สุด คือ รอยปริแยกเป็นเส้นตรงบริเวณรอยต่อระหว่างเสากับผนัง  วันแรกๆก็ยังไม่เห็นชัด สัก 7 วันต่อมา อะฮ้า..ชัดเจนเลย แถมเป็นรอยกว้างมากขึ้นอีกด้วย

ลักษณะของความเสียหายดังที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ต่างไปจากที่คาดไว้   จัดว่าเป็นความเสียหายปรกติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 14, 22:09
ลักษณะความเสียหายที่ผมคาดไม่ถึงเลย คือ มันมีรอยปริแตกของเสาไม้ที่ค้ำหลังคาบ้าน  เรื่องนี้ได้เห็นที่บ้านของตนเอง
   
ผมซื้อบ้านชาวบ้านเพื่อเอาไม้มาสร้างบ้านของตนเอง ผมไม่รู้ว่าเป็นไม้อะไร แต่ไม่ใช่ไม้สักหรือไม้มีค่าอื่นใดแน่นอน บ้านนี้คงเก่าพอดูเลยทีเดียว เพราะไม้แห้งสนิทไม่มียางแล้ว
 
ในช่วงแรกๆของแผ่นดินไหว ผมไม่เห็นมีความผิดปรกติใดๆในบ้านเลย จนผ่านไปได้สัก 10 วัน และได้ถูกเขย่าทุกวัน  ผมก็สำรวจดูใหม่ อะฮะ...ได้เห็นรอยปริเข้าไปในเนื่อไม้เป็นร่องยาวแต่ไม่ลึกมากที่เสาต้นหนึ่ง ทำท่าจะแตกออกเป็นกาบ (exfoliation)    ก็เลยได้เป็นความรู้ใหม่ว่า บ้านไม้ที่ว่ามันย้วยไปมาได้มากกว่าบ้านปูน และทนแผ่นดินไหวได้ดีนั้น มันก็สามารถจะพังได้เพราะเสาแตกได้เหมือนกัน

ก็เลยบอกชาวบ้านไปว่า ให้ระวังด้วยนะ ตอนแผ่นดินไหวครั้งแรกนั้น เราไม่เห็นว่าบ้านมันพัง เราไม่เห็นความเสียหายชัดเจน เราก็นึกว่าบ้านมีความแข็งแรงพอ แต่ถ้าถูกเขย่าบ่อยเข้าเป็นร้อยๆครั้ง อะไรๆมันก็ต้องหลวมคลอน มันก็อาจจะพังได้ ต้องหมั่นสำรวจดูและด้วยความละเอียดพอประมาณเลยทีเดียว      บอกเขาว่า ขนาดผู้ร้ายใจอมหิต ปากแข็ง ถูกตำรวจจับเขย่า (ไม่ใช่เข่านะ) ไม่เท่าไร ยังต้องยอมรับสารภาพ นับประสาอะไรกับบ้านเราที่ถูกเขย่าอยู่ทุกๆวัน มันจะทนได้สักเท่าไร ยิ่งสร้างมาอย่างไม่ได้อิงมาตรฐานทางวิศวกรรม แล้วก็ยังไม่ได้คุณภาพสมกับราคาสุดท้ายที่เราได้จ่ายออกไป (หลังจากที่ถูกกิน ถูกโกงกันมาแล้วหลายขั้นตอน) มันทนอยู่ได้ขนาดนี้ก็นับว่าดีเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน    ผล..ก็หัวเราะ ยิ้ม ฮากันไปตามเรื่อง  แล้วก็...
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 14, 22:43
แล้วก็เลยเล่าถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ได้ถ่ายทอดกันมา (เท่าที่ตนเองอวดรู้) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ดูเหมือนจะเริ่มเลือนรางเมื่อเริ่มเข้าสู่ทศวรรษที่สองของกึ่งพุทธกาล และดูเหมือนจะหายไปเลยเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา 

บอกเขาว่า ยังจำได้ใหม สมัยเด็กๆนั้น บ้านทางเหนือจะมีหลังคาที่ค่อนข้างมีความลาดเอียงน้อย ไม่เหมือนกับทรงหลังคาในปัจจุบัน    ทั้งอดีตและปัจจุบันนั้น เราก็ใช้กระเบื้องมุงหลังคาเหมือนกัน สมัยก่อนก็เป็นกระเบื้องปูนทรงสี่เหลี่ยมที่มีขออยู่ที่มุม ปัจจุบันก็เป็นกระเบื้องเคลือบที่มีขอเกี่ยวเหมือนกัน  น้ำหนักก็ไม่ต่างกันมากหรอก
     
แผ่นดินไหวในภาคเหนือนั้นมีอยู่ตลอด นานแสนนานมาแล้ว  ทำไมในสมัยก่อนจึงเกือบจะไม่มีเรื่องของกระเบื้องหลังคากระพือแล้วร่วงหล่นลงมา แม้กระทั่งในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ก็ดูเหมือนจะมีแต่พวกอาคารที่ใช้กระเบื้องแบบใหม่ที่ได้รับความเสียหาย

คำตอบก็คือ ความลาดเอียงของหลังคา และความยาวของตะขอของกระเบื้อง 

ต่อพรุ่งนี้ครับ
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 14, 10:03
รออ่านเรื่องแผ่นดินไหวของคุณตั้ง

คิดว่า "พรุ่งนี้" คงอีกไม่นาน  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 14, 10:07
 ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 14, 21:56
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง ก็เพราะไปเจอข่าวนี้ค่ะ
http://hilight.kapook.com/view/104115 (http://hilight.kapook.com/view/104115)

ดิฉันเพิ่งเคยได้ยินชื่อหมอปลายจากข่าวนี้ ในวันนี้เอง     ไม่ได้ต้องการจะเข้ามาถามคุณตั้งหรือสมาชิกเรือนไทยว่าเธอเป็นใคร ทำอะไรอยู่ที่ไหน  เพราะไม่ได้อยากรู้เกี่ยวกับตัวเธอ
แต่ในเมื่อเธอให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่มีผลต่อความเชื่อของคนจำนวนมาก   ก็เลยอยากจะถามนักธรณีวิทยาอย่างคุณตั้ง หรือท่านอื่นๆที่สามารถตอบได้  ว่า ถ้อยคำข้างล่างนี้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่

1    "ที่ปลายทำนายไว้ช่วงแรกก็เกิดคลื่นแรง พายุพัดเข้าชายฝั่ง บ้านเรือนเสียหายบ้าง ถ้าอ่านจากคำนายแล้วตีความนะคะ ปลายไม่ได้บอกว่าสึนามิจะเกิด 15 หรือ 17 มิถุนายน แต่ปลายบอกว่าให้ระวัง 15 และ 17 และอีกช่วงหนึ่งก็คือ 20-25 มิถุนายน ซึ่งปลายไม่แน่ใจว่า เดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคมที่จะเกิดขึ้นอีกรอบหนึ่ง เหตุมันเกิดมาว่าเกิดขึ้นเพราะมรสุม พร้อมแผ่นดินแยก แผ่นดินไหว มีหรือคะที่จะไม่เกิดสึนามิ ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์นะคะ"

2    ที่บอกว่าด้ามขวานหายไปมันรุนแรงมากนะ ?

      “เหตุที่ท่านบอกคือรอยเลื่อนใหญ่และขยายขึ้น จนทำให้ไปเกิดอีกที่หนึ่งคือที่อ่าวไทย เกิด 2 ฝั่งพร้อมกัน น้ำทั้ง 2 ฝั่งตีกัน อันนี้คือสิ่งที่เห็น เสียงกระซิบจะบอกว่า สึนามิ จะเกิดขึ้นมาเพราะรอยเลื่อนและแผ่นดินไหว ปลายเคยฝันก่อนที่จะเกิดสึนามิครั้งแรก ประกอบกับปลายทำพิธีแล้วเขาก็บอกว่าจะเกิดขึ้นเหมือนเดิม แต่เยอะกว่าเดิม" 

    เธอบอกว่าเหตุการณ์จะเกิดไม่เกินเดือนกรกฎาคม    เอาเป็นว่ารอดูถึง 31 ก.ค.กันดีกว่าค่ะ    ถ้าไม่มีอะไรจะเข้ามาโพสในนี้อีกที



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 14, 09:47
นึกถึงเด็กชายปลาบู่

ลองเทียบชื่อ "ปลาย" กัล "ปลาบู่" (http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000163600) มีอักษรคล้าย ๆ กันอยู่นา คิดว่าคำทำนายลงท้ายก็คล้ายกัน  

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม16.png)  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 14, 13:18
รอจน 31 ก.ค.แล้วจะมากด LIKE ให้นะคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 มิ.ย. 14, 18:41
เพิ่มเติมหมอปลายครับ

หมอปลาย ณวรชา พินิจโภคากร หมอดูจิตสัมผัสชื่อดัง ร่ำไห้กลางรายการคนดังนั่งเคลียร์ เตือนหลีกเลี่ยงการไปใกล้ชายทะเลและขอให้ฟังคำทำนายจากยมบาล
อ่านต่อได้ที่

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd016VTVNalF4TWc9PQ%3D%3D&sectionid (http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd016VTVNalF4TWc9PQ%3D%3D&sectionid)

 ;D  ;D  ;D  ;D  ;D

ไว้ถ้าผมจบเอกได้เมื่อไหร่ ว่าจะเปิดสำนักหมอดูมั่ง  มีดีกรีหรูๆ จะได้ดูทรงภูมิ ไว้เปิดสำนักแล้วรบกวนท่านอาจารย์เทาฯและซายาทั้งหลายช่วยมาเป็นหน้าม้าให้ผมด้วยนะคร้าบบบบบ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 14, 18:59
พลอากาศเอกศาสตราจารย์นายแพทย์ดอกเตอร์หม่อมราชวงศ์ประกอบเทพ บุนนาคชุมสายหัสดินชุมพลอิศรางกูร ณ อยุธยานครลำปางเชียงใหม่มหาสารคามระนอง (คุณชายประกอบเทพ) รน. รฟท. พรบ. มศว. กอ.รส. คสช.

ดีกรียาวหลายฟุตแล้วยังไม่พออีกหรือคะ คุณชายประกอบเทพ

คำว่า "หมอ"ที่ประกอบชื่อปลาย  คงหมายถึงหมอดู  ไม่ได้หมายความว่าเธอเคยเรียนวิชาแพทย์มาก่อน
แต่ฟังๆแล้วมันก็เพิ่มความขลังได้ดีกว่าชื่อปลายเฉยๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 14, 22:30
ต้องขออภัยอย่างมาก..ก..ก ครับ    วันพรุ่งนี้ของผมมันนานมากเกินไปหน่อย

ก็ด้วยว่า มันมีอาการฟิวขาดเข้ามากวน ทำให้คิดและเขียนได้ไม่สัมพันธ์กันเท่าที่ควร   คิดไป..คิดไป..แล้วกลายเป็นฝัน เป็นจินตนาการต่อเนื่อง ผันไปสู่เรื่องอื่นๆที่โยงกัน แล้วก็ล่องลอยไปเรื่อยๆในจินตนาการนั้น ไปสู่สภาวะสัปหงก   
ตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุ จะเป็นเพราะอายุ เพราะยา เพราะอิ่มอาหาร ...? หรืออย่างไร  คิดเลยเถิดไปเองว่าจะเข้าไปสู่อาการ sleep attack หรือเปล่า  (คือ หลับป๊อกไปได้ง่ายๆ เช่น ในระหว่างวงสนทนา กำลังรับประทานอาหาร ฯลฯ)

ครับ ก็เลยต้องหยุด ลองแก้ด้วยการนอนอย่างยาวในตอนกลางคืน สำหรับกลางวัน รู้สึกเมื่อใดก็นอนเมื่อนั้น   แล้วก็ทำตนให้เป็นคนพวก perfectionist คือ จับต้องปรับแต่งให้สรรพสิ่งทั้งหลายที่เห็น ให้มันมีความสมบูรณ์อย่างไม่มีที่ติ (อย่างน้อยก็ในสายตาของเรา)  ก็เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา
ก็ได้ผลพอได้ครับ อาการก็ดีขึ้น
แล้วก็เป็นจังหวะพอดีที่ อ.เทาชมพู และ อ.เพ็ญชมพู เข้ามาแคะกระทู้นี้ แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวที่ Aleutian Arc ในอลาสก้า
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 14, 22:40
 ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 14, 23:28
เอาเรื่องข้อกังขาของ อ.เทาชมพู ใน คห.139 มาเป็นจุดเริ่มของการเดินเรื่องแผ่นดินไหวต่อไปนะครับ
(ผมยังไม่ลืมที่จะให้ความเห็นกับภาพของ อ.เทาชมพู ใน คห.ที่ 113 ในภาพที่เหลือครับ)

ภัยพิบัติจากธรรมชาติ (natural disaster) ซึ่งเกิดจาก ดิน น้ำ ลม และไฟ นั้น จากการประมวลขัอมูลทั่วโลก ได้พบกันว่า ที่รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตเป็นประจำทุกปี ได้แก่  ดินถล่ม (landslide)  น้ำท่วม (floods) ลมพายุชนิดต่างๆ และไฟป่า  ภัยดังกล่าวเหล่านี้ เราพอจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างล่วงหน้า บางสถานะการณ์ก็คาดได้แม่นยำ ทั้งในด้านของเวลาและสถานที่ๆมันจะเกิด  ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงขนาดแม่นจับวาง (precise) แต่ก็มีความแม่นยำ (accuracy)   แทบจะกล่าวได้ว่าไม่พลาดก็แล้วกัน
  
แต่ที่รุนแรงมากและเดาได้ยากว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อใด และจะกระทบเป็นวงกว้างมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นพวกธรณีพิบัติภัย (geologic hazards) เช่น แผ่นดินไหว (earthquake) ภูเขาไฟระเบิด (volcanic eruption) ซึนามิ (tsunami) หลุมยุบ (sink hole) และพวกถล่มทลายไหลมาเป็นลำธารทั้งหลาย_mass movements (debris flow, mud flow) เป็นต้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 14, 08:15
ดีใจที่คุณตั้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

"พรุ่งนี้" ไม่นานเท่าใดดอก  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 14, 19:02
ขอบพระคุณมากครับ สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่าน Guru ทุกๆท่านครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 14, 19:35
ู^


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 14, 19:52
กลับมาต่อเรื่อง "การคาดเดา" ล่วงหน้าเกี่ยวกับการเกิดของเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย

ครับ   ในบริบทของกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นบนของโลกใบนี้ นั้น อาจกล่าวได้บนหลักความจริงว่า  ทั้งกระบวนการตั้งแต่เหตุจนถึงผล ทั้งหลายเหล่านั้นต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและให้ผลซ้ำๆกันตลอดมาตลอดช่วงกาลทางธรณ๊วิทยาของโลกเรา    กล่าวได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ในบริบทของ Uniformitarianism  (หรือ Law of Uniformitarianism) แปลง่ายๆ ก็คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

ส่วนความเข้มข้น (intensity, degree, etc.)  ผลที่เกิดขึ้น (deformation, effects, changes, etc.) พื้นที่หรือบริเวณที่เกิด (area, spatial distribution, etc.) และเวลาหรือช่วงเวลาที่เกิด (time frame, eruption, etc.)  เหล่านี้นั้น ก็จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบรอบตัวต่างๆ  



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 14, 21:30
จิ้มๆแพร๊บเดียว

หลับไปอีกแล้วเหรอ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 18:00
ใกล้เคียง  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 19:07
เขียนไปเขียนมา เหมือนขี่ม้าเลียบค่าย  แท้จริงแล้วก็เพียงความพยายามจะทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องราวของมัน

ครับ  โดยความเป็นจริงแล้ว   กระบวนการเกิด การดับ และการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เป็นอยู่ในธรรมชาตินั้น เป็นระบบเปิด (open system) มิใช่ระบบปิดแบบตรงไปตรงมา (close system)    กล่าวอย่างง่ายๆโดยนัยเปรียบเทียบ ก็คือ ในธรรมชาตินั้น ผล (consequence) ที่ได้รับเหมือนกัน มิได้หมายความว่าจะต้องเกิดมาจากต้นเหตุ (origin)เดียวกัน และต้นเหตุเดียวกันก็มิได้หมายความว่าจะต้องส่งให้เกิดผลเหมือนกัน  เพราะว่า ที่แต่ละจุดต้นกำเนิดแต่ละจุดนั้น ต่างก็มีลักษณะขององค์ประกอบเป็นของตนเอง ต่างก็มีสภาพแวดล้อมเฉพาะของตนเอง และแต่ละองค์ประกอบและแต่ละสภาพแวดล้อมเหล่านั้นต่างก็มีตัวแปรผัน (variables) ที่ต่างกันในแง่มุมต่างๆ

ปรัชญามากไปหน่อยครับ    แต่นี่เป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพธรณีวิทยาถูกปลูกฝังมา   จึงเป็นเรื่องที่ปรกติมากๆที่คนในวิชาชีพนี้จะไม่วินิจฉัยในเรื่องใดๆแบบฟันธง จะมีแต่คำว่า "น่าจะ"  "คิดว่า"  ฯลฯ แม้ว่าคำอธิบายเรื่องราวทั้งหมดเหล่านั้นจะตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลและผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 14, 19:35
อย่าเพิ่งหลับไปอีกนะเพื่อน ลืมตาไว้ ๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 20:10
(ด้วยภาพที่ผมได้บรรยายออกไปนี้ ธรณีวิทยาจึงยังคงเป็นสาขาวิชาหรือศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียนจบใม่ง่ายในระดับ post grad.)

ครับ คงเป็นคำอธิบายข้อปุจฉาของ อ.เทาชมพู ใน คห.139 ในแง่มุมทางวิชาการ   คือ ผมพยายามจะกล่าวว่า ผู้ใดก็สามารถจะคาดเดาได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติ และก็เพราะมันอยู่ในกฎเกณฑ์ของ Uniformitarianism  

ส่วนในอีกแง่มุมหนึ่งในเรื่องของช่วงเวลา   เรื่องนี้เป็นการเดา ซึ่งอาจตั้งอยู่บนฐานของ mundane astrology (เป็นโหราศาสตร์แขนงหนึ่ง ผมไม่ทราบคำแปลครับ) หรือ เป็นการคาดการณ์ตามหลักวิชาสถิติ ที่เรียกว่า โอกาสที่จะเกิดเหมือนเดิมซ้ำอีก_return period_(ผมไม่ทราบศัพท์บัญญัติทางวิชาการ)  




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 20:11
เอาไม้จิ้มฟันถ่างไว้แล้วครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 14, 20:31
ถ่างไว้ดีแล้วนะครับ ผมจะได้รออ่าน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 22:11
ทบทวนหน่อยครับ

    ได้กลาวถึงมาแล้วแต่ต้นว่า แผ่นดินไหวเป็นลักษณะอาการที่แสดงออกสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวผ่านไปของคลื่นแผ่นดินไหว
คำบรรยายอาการของภาษาไทยเรา ดูจะมีแต่คำว่า สั่น หรือ สั่นสะเทือน แต่ในภาษาอังกฤษนั้นมีหลายคำ ซึ่งแต่ละคำให้ความหมายลึกๆที่แสดงถึงความรู้สึกต่างๆ (เช่น tremor, shake, jolt, rattle, vibrate, rock เป็นต้น) ซึ่งคำเหล่านี้นั้นพอที่จะนำมาใช้สำหรับการประเมินภาพในเบื้องแรกของเหตุการณ์และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

   ต้นกำเนิดของคลื่นแผ่นดินไหวนั้น ก็ได้กล่าวถึงมาแล้วว่า จัดได้เป็น 3 พวก โดยสรุปง่ายๆก็คือ จากการเคลื่อนตัวของหินผ่านกันบนระนาบรอยเลื่อน (fault plane)   จากการเคลื่อนตัวของหินละลายของภูเขาไฟและภูเขาไฟระเบิด   และจากการกระทำของมนุษย์



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 14, 23:07
การกระทำของมนุษย์โดยทั่วไป (เช่น งานระเบิดทางวิศวกรรม) ทำให้เกิดคลื่นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง และคลื่นไม่กระจายไปไกล อย่างไรก็ตาม คลื่นจากแหล่งกำเนิดในลักษณะดังกล่าวนี้ก็สามารถจะตรวจจับได้โดยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในสถานีที่อยู่ใกล้หรือไกลก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตั้งกำลังขยายการรับสัญญาณคลื่นของเครื่องตรวจวัด

แต่ก็มีการกระทำที่ทำให้เกิดคลื่นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่กระจายไปไกล ซึ่งได้แก่การทดลองระเบิดปรมาณูใต้ดิน   คลื่นแผ่นดินไหวจากการทดลองระเบิดนี้สามารถตรวจจับได้โดยสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั่วโลก
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ได้มีการตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ใช้เครื่องตรวจมาตรฐานเดียวกัน ตั้งเป็นโครงข่ายเรียกว่า WWSSN (World-Wide Standardized-Seismographs Network) วัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ใช้ในการตรวจจับว่ามีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ใหนบ้างในโลกนี้   ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย แต่ก็ยังคงมีการใช้ระบบการตรวจวัดคลื่นแแผ่นดินไหวในการเฝ้าระวังและตรวจจับว่ามีการละเมิดสนธิสัญญาห้ามทดลองระเบิดนิวเคลียร์โดยองค์กร CTBTO  (The Comprehensive Nuclear-Test-Band Treat Organization)

อาจจะเริ่มมีข้อสงสัยแล้วว่า แล้วเขาจะแยกออกได้อย่างไรว่าคลื่นแผ่นดินไหวนั้นๆเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือ เป็นเรื่องที่มนุษย์ทำขึ้น
แยกออกครับ แต่ต้องใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งแท้จริงแล้วใช้ข้อมูลจากเพียงไม่กี๋สถานี แต่ต้องที่ตั้งกระจายอยู่ในซีกโลกต่างๆ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 07:55
เดี๋ยวจะค่อยๆแกะอ่านะค้าบ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 14, 10:47
หัก&ร้าวอีกแล้ว...พระธาตุจอมหมอกแก้วศักดิ์สิทธิ์กับพิษแผ่นดินไหว

http://www.oknation.net/blog/cradm/2014/06/25/entry-1 (http://www.oknation.net/blog/cradm/2014/06/25/entry-1)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 10:58
อ้างถึง
คำบรรยายอาการของภาษาไทยเรา ดูจะมีแต่คำว่า สั่น หรือ สั่นสะเทือน แต่ในภาษาอังกฤษนั้นมีหลายคำ ซึ่งแต่ละคำให้ความหมายลึกๆที่แสดงถึงความรู้สึกต่างๆ (เช่น Tremor, shake, jolt, rattle, vibrate, rock เป็นต้น)

ผมพยายามเข้าเวปภาษาอังกฤษดูกว่าคำจัดความของการสั่นแต่ละอย่างตามคำศัพท์ที่อ้างอิงนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้เรื่อง นักอักษรศาสตร์หรือนักภาษาศาสตร์จะลองบ้างไหมครับ ไม่ต้องคำแปลตรงตัวแต่เป็นคำอธิบายก็ได้ หรือท่านนายตั้งหากสะดวกจะขยายความเอง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:11
อา ร ร ร์..... ได้rockมาหนึ่งคำ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:13
นี่เป็นอาการของแผ่นดินไหวน้อยๆ พอสบายๆ ตรงกับคำศัพท์ใดหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:19
นี่แบบshakeพอได้ไหม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:41
นี่ก็สั่นเหมือนกัน น่าจะประมาณ2ริกเตอร์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:44
หลังแผ่นดินไหวที่บ้านท่านนายตั้ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 13:48
เชิญต่อนะครับ เรื่องสาระหนักๆอย่างนี้นานๆจะมีคนมาให่วิทยาทาน เห็นท่านผู้เขียนเอาไม้จิ้มฟันถ่างตาก็จะพลอยทำให้ผู้อ่านง่วงไปด้วย ลูกคู่ต้องออกมาช่วยเสริมหน้าม่านหน่อย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 14, 16:23
เชียงรายเจอแผ่นดินไหวที่อ.แม่ลาวขนาด3.8เมื่อตอนตี1และตอนตี4ขนาด2.5รู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหว สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวรายงานว่า เช้าวันนี้ (27 มิถุนายน 2557) เมื่อเวลา 01.00 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่....... อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/1izBIcO (http://bit.ly/1izBIcO)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 19:12
ท่าน N.C หาภาพมาประกอบได้เข้าท่าเลยทีเดียวครับ

rock เป็นอาการในลักษณะของการ กระชากไปมา ใกล้เคียงกับอาการคล้ายกับภาพใน คห. 163 แต่จะเป็นการกระชากไปมาที่ช้ากว่ามาก คล้ายกับภาพของพ่อครัวอาหารฝรั่งที่กำลังขยับกระทะเพื่อไม่ให้อาหารคิดกระทะในขณะทอดหรือผัด

ภาพใน คห.164 เป็นลักษณะอาการของการแกว่งไปมา ไปตรงกับคำว่า vibration  เป็นการโยกไปโยนมาที่ค่อนข้างจะมีความนุ่มนวลและมีวงรอบ (จะบอกว่าเป็นลักษณะของ sine wave ก็เกรงว่าจะต้องขยายความอีก..แหะๆ) คล้ายกับการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกานั่นแหละ

ภาพใน คห.165 ตรงเผงกับอาการของคำว่า shake คือ กระชากไปมาในหลายทิศทาง

เอาละครับ  สอบผ่านสบายๆ
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 19:16
ยังขาดภาพของลักษณะ tremor, rattle และ jolt อยู่ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 19:42
อ้อ  ภาพใน คห.168 น่าจะใกล้เคียงกับลักษณะอาการของคำว่า jolt  คือ ผลักในทันใดให้โงนเงนไปมา ครับ

ทำให้นึกไปไกล...ถึงความวิลิศมาหราของภาษาไทย   
     โยก ก็มีความหมายนึง พอเพิ่ม ข เข้าไปเป็น โขยก ก็ไปในอีกความหมายนึง
     เพิ่ม เยก หลังความว่า โยก ก็ให้ในอีกความหมายนึง แล้วก็พอเพิ่ม ข เข้าไปเป็น เขยก ก็เป็นอีกความหมายนึง
     แถมเอาสองคำมารวมกันเป็น โยกเยก ก็ให้อีกความหมายนึง พอเป็น โขยกเขยก ก็ไปอีกเรื่องนึงไปเลย

เคยสังเกตอยู่ว่า คำในภาษาไทยที่มีสระ เ เป็นตัวสะกดนำหน้า จะมีความหมายไปในทางไม่ค่อยจะดีอยู่มากคำเลยทีเดียว


อ้าว  ไปไกลกว่าเรื่องแผ่นดินไหวเสียหลายลี้แล้ว กลับเข้าเรื่องดีกว่านะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 22:18
ติดค้างอยู่ที่ว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคลื่นแผ่นดินไหวที่กำเนิดจากธรรมชาติหรือจากฝีมือของมนุษย์

คำตอบ คือ จุดกำเนิดมันตื้น อยู่ใกล้ผิวดินมาก มันเป็นลักษณะคลื่นความถี่สูง และมันเป็นคลื่นที่กระจายออกไปรอบตัวจากการระเบิดของลูกระเบิด เป็นแรงที่เบ่งออกไปรอบทิศจากจุดระเบิด
ในภาพง่ายๆก็คือ เป็นแรงที่ไปดัน (compress) ให้ผิวโลกโป่งขึ้น   ทำให้ลักษณะของเส้นกราฟที่ขยับครั้งแรก (first kick หรือ first motion) บนแผ่นกราฟของเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่มีสถานีวัดตั้งกระจายอยู่ทั่วโลกนั้น เหมือนกันหมด คือเป็นในลักษณะของการผลัก (push) ให้เครื่องวัดเคลื่อนที่ มิใช่การดึง (dilate) ให้เครื่องวัดเคลื่อนที่

ใจเย็นๆนะครับ รู้ว่ายังงงๆอยู่  แล้วก็จะค่อยๆเข้าใจไปเองเมื่อเรื่องราวต่างๆมันผูกพันกันมากขึ้น

แผ่นดินไหวธรรมชาติที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตนั้น จะเป็นพวกที่มีทั้งแรงที่ดันออกไปจุดกำเนิดและแรงที่ดึงเข้ามาหาจุดกำเนิด  พอจะเห็นภาพลางๆใหมครับว่า มันย่อมมีความต่างของผลกระทบ ระหว่างการผลัก กับ การดึง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 23:03
อ้างถึง
ยังขาดภาพของลักษณะ tremor, rattle และ jolt อยู่ครับ

เอาtremorไปก่อน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 23:04
rattle


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 14, 23:05
jolt


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 23:07
ภูเขาไฟระเบิดนั้น เกิดจากการที่หินหนืด (magma) เคลื่อนตัวออกจากเบ้าหลอม (magma chamber)ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน ค่อยๆเคลื่อนสูงขึ้นสู่ผิวโลกด้วยการละลายหินที่อยู่รอบข้าง ทำให้เกิดเป็นช่องทางเดินของ magma ที่ร้อนและเหลว (อุณหภูมิระหว่าง 1300 -1400 องศาเซลเซียส) ส่วนประกอบดั้งเดิมของหินหนืดซึ่งเริ่มต้นละลายที่ระดับลึกมากๆนั้น จะมีองค์ประกอบของธาตุแมกนีเซียมและเหล็กในปริมาณสูง เมื่อค่อยๆเคลื่อนตัวตื้นขึ้นมาด้วยการละลายหิน ก็ทำให้ได้ธาตุอลูมินัมและซิลิกาเพิ่มเข้ามาในมวลหินหนืด ทำให้มีความหนืดน้อยลง ไหลได้ง่ายขึ้น พอถึงระดับใกล้ผิวโลกจริงๆก็ผนวกน้ำเข้าไปอีก เหลวมากขึ้นไปอีก คราวนี้ก็เลยได้โอกาสพ่นพวกของเหลวออกมา มีทั้งไอน้ำ ควัน เศษหิน และในที่สุดก็หินหลอมเหลว (lava)   ในหลายกรณีก็ไม่มีการระเบิด มีแต่การไหลออกมาของลาวา

การเคลื่อนที่ของหินหนืดใต้ดินลึกๆนี้ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนได้ หากคนรับรู้การสั่นนั้นได้ ก็เรียกว่า tremor  แต่ส่วนมากจะรับรู้ได้ด้วยเครื่องวัดแผ่นดินไหว เลยเรียกว่า seismic activity

นักธรณีฯสายวิชาการแผ่นดินไหว เขาจะวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวจากเครื่องที่เอาไปตั้งไว้ในพื้นที่ภูเขาไฟเหล่านั้น เพื่อทราบว่ามวลหินหนืดได้เดินทางจากไหนไปไหน อยู่ลึกหรือตื้นเพียงใด อยู่ใกล้ปากกล่องภูเขาไฟเพียงใดแล้ว เมื่อผนวกกับข้อมูลที่มันปลดปล่อยกาซบางชนิดออกมา ก็ทำให้สามารถคาดได้ว่าควรจะอพยพหนีหรือยัง ความเสียหายต่อชีวิตอันเนื่องมาจากภูเขาไฟระเบิดจึงมีค่อนข้างจะน้อยมาก ทั้งๆที่เป็นประเภทภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 14, 23:16
tremor น่าจะตรงกับคำว่า กระเทือน   แบบบ้านกระเทือนเมื่อรถสิบล้อวิ่งผ่าน

ภาพลักษณะของ jolt เข้าท่าแฮะ

แต่ rattle นั้น   อืม์...ก็ใช่อยู่นะ เพราะเสียงจาก rattle นี้ ส่วนมากก็ทำให้ตื่นกลัวจนขนหัวลุกได้

ครับผม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 14, 21:48
ผ่านต้นเหตุของแผ่นดินไหวมาแล้ว 2 อย่าง คราวนี้ก็มาถึงต้นเหตุสำคัญที่มักสร้างให้เกิดความเสียหายอย่างจริงจัง  แต่ก่อนจะเข้าไปสู่เรื่องที่ค่อนข้างจะมีความโยงใยถึงกันและกันไปหมดนี้ จะขอนำพาออกไปให้เห็นภาพพอสังเขป (ภาพหยาบๆจริงๆ) ของโลกที่ไม่เคยอยู่นิ่ง เพื่อปูทางและเป็นองค์ประกอบไปสู่ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ดังนี้ครับ

    เปลือกโลกส่วนที่เป็นผิวโลก (earth crust) ของเราในบริเวณที่เป็นแผ่นดินของทวีปต่างๆนั้น มีความหนาประมาณ 30 กม. สำหรับในบริเวณที่เป็นมหาสมุทร มีความหนาประมาณ 8 กม.(ลึกจากพื้นหินท้องมหาสมุทรลงไป)
    หินที่ประกอบกันเป็นผิวโลกในส่วนที่เป็นแผ่นดินจะมีมวลที่เบามากกว่าหินที่วางตัวรองเป็นพื้นอยู่ก้นมหาสมุทร 
    เปลือกโลกส่วนที่เป็นผิวโลกนี้มีสภาพทางกายภาพเป็นของแข็ง แต่เมื่อพ้นขีดความลึกที่ประมาณ 30 กม.ลงไป วัสดุจะมีสภาพออกไปทางของนิ่ม (plastic หรือ ductile materials)  ซึ่งพอเทียบเคียงได้กับชิ้นพลาสติกที่เราสามารถดัดไปมาได้ แต่บางบริเวณก็มีสภาพเป็นของไหล (fluid) ซึ่งพอจะเทียบได้กับลักษณะของลาวาจากภูเขาไฟ หรือดินโคลน
    ชั้นหินไหลได้นี้มีความหนาประมาณ 400 กม. (upper mantle หรือ asthenosphere) เมื่อลึกลงไปกว่าชั้นนี้ ก็จะกลายเป็นชั้นหินแข็งอีกจนถึงที่ความลึกประมาณ 2,900 กม. (lower mantle) เราเรียกรวมทั้งสองชั้นนี้ว่าชั้น mantle   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 14, 22:32
ชั้น asthenoshere นี้เองแหละคือตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในชั้นผิวโลก     เนื่องจากตัวของมันนั้น มีทั้งที่มีสภาพเป็นของนิ่มก็มี ของไหลก็มี และของเหลวก็มี    บริเวณใดที่มีความร้อนสูง ก็จะไปสร้างให้เกิดกระบวนการ convection current เป็นสายพานที่ดึงให้ผิวโลกที่วางทับอยู่ให้ค่อยๆแยกออกจากกัน  เริ่มต้นจากทำให้ผิวโลกในบริเวณนั้นๆบางลง จนในที่สุดก็ปริ แยกออกจากกัน คล้ายกับที่เราพยายามดึงขนมชั้นให้ขาดออกจากกัน

    รอยปริที่เกิดขึ้นนี้ มีลักษณะเป็นริ้วเป็นแนวที่ตั้งฉากกับแรงที่ดึงมัน  ในธรรมชาติ ก็คือ fault ที่ศัพท์บัญญัติเรียกว่า รอยเลื่อน นั่นเอง
    เมื่อแยกออกจากกัน ตัวหินละลายก็จะผุดขึ้นมาระหว่างผิวโลกสองฝั่งที่ถูกดึงแยกออกไป  เกิดเป็นทิวเป็นแนวของหินละลายที่ทะลักออกมาตรงกลาง เหมือนกับน้ำประปาที่ผุดขึ้นมาตามรอยแตกของถนนเมื่อเวลาเกิดท่อประปาแตก
    เมื่อถูกดึงจนบางลง ระดับต่ำลง น้ำทะเลก็เข้า นานเข้ามากๆก็เห็นมหาสมุทร
    กรณีที่เล่าทั้งหมดมานี้ อยู่ในเรื่องของแรงที่ทำให้เกิดการขยาย (extension)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 14, 23:09
มหาสมุทรแอตแลนติค ก็เกิดจากเหตุการนี้และครับ  เป็นมหาสมุทรที่มีอายุประมาณ 80 ล้านปี มีภูเขาใต้น้ำเป็นทิวยาวอยู่ประมาณกึ่งกลางมหาสมุทร เรียกกันว่า mid-oceanic ridge (ในกรณีนี้เรียกว่า mid-Atlantic Ridge) ซึ่งก็คือแนวที่หินลาวาที่ไหลทะลักออกแล้วไหลไปทั้งสองฟากๆ ไปเป็นพื้นท้องมหาสมุทรใหม่ มหาสมุทรก็ขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ ผลักให้แผ่นดินสองฟากห่างกันไปเรื่อยๆ  จำได้ว่ามีอัตราการขยายตัวประมาณ 6 ซม.ต่อปี 
บางส่วนของทิวเขาใต้น้ำก็โผล่ขึ้นมา เป็นประเทศ Iceland      ส่วนที่อยู่ใต้น้ำก็ออยู่ลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 2 กม.
สองฝั่งของมหาสมุทรก็จะมีสภาพเป็นหน้าผา เนื่องจากถูกผลักให้ขาดออาจากกัน กลายเป็นทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ชายฝัั่ง Galway ใน Ireland 

ใกล้ชายฝั่งทั้งสองฝั่งก็จะมีส่วนของแผ่นดินราบจมอยู่ใต้น้ำ ที่เรียกว่า continental shelf อาจจะมีอยู่หลายระดับ  เป็นเขตน้ำที่ค่อนข้างตื้น ทำประมงได้ดีมาก ในยุคแรกๆนั้นประเทศที่มีชายทะเลลักษณะนี้ก็จะหวงพื้นที่กัน และใช้คำว่า เขตใหล่ทวีป    ต่อมาเทคโนโลยีดีขึ้น ทำประมงในน้ำลึกขึ้น แถมมีเครื่องบ่งชี้ว่าน่าจะอุดมไปด้วยน้ำมันและแร่ธาตุ ก็เลยหันไปใช้คำว่า เขตเศรษฐกิจนอกชายฝั่ง (EEZ_Exclusive Economic Zone) กลายเป็นเขต 200 ไมล์ทะเลไป

มหาสมุทรแอตแลนติคนั้น ยิ่งไกลฝั่งก็ยิ่งลึก ต่างกับแปซิฟิก ที่ลึกมากใกล้ชายฝั่ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 14, 19:43
ภาพของการกระบวนการเกิดของมหาสมุทรแอตแลนติคที่เล่ามานี้ ก็คือกระบวนการแยกห่างออกจากกัน (rifting)     ซึ่งก็มีพวกที่เริ่มเกิดมาแล้ว แล้วก็หยุดไป เหลือให้เห็นแต่ซาก เช่น พื้นที่ในทวีปอัฟริกาที่เรียกว่า East African Rift Valley

เมื่อเกิดการ rifting และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็หมายความว่าจะต้องมีพื้นท้องมหาสมุทรเกิดขึ้นใหม่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ  ซึ่งวัสดุก็ต้องมาจากการไหลออกมาของลาวาไปทั้งสองด้านของ mid-oceanic ridge นั่นเอง    จึงเรียกภาพนี้ว่า sea floor spreading     เท่ากับมีการเกิดใหม่ของผิวเปลือกทั้งสองด้านตลอดแนว mid-oceanic ridge    เป็นลักษณะของการกำเนิดแผ่นเปลือกโลกใหม่ที่เเขามีแรียกกันว่า เป็นแบบ divergent

เอาละครับ จากภาพที่เล่ามาทั้งหมด แสดงว่าทุกอย่างยัของงไม่หยุดนิ่ง คือ ยังเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า ยัง active อยู่ (ศัพท์บัญญัติใช้คำว่า มีพลัง)  ก็หมายความว่า รอยเลื่อน (หรือ fault) ที่เห็นอยู่ในระบบ ก็เป็นแบบมีพลัง    ซึ่งหากเป็นไปตามความรู้และความเชื่อแบบตรงไปตรงมาของคนที่มีระบบคิดแบบระบบ close system ก็หมายความว่ามันมีโอกาสสร้างให้เกิดแผ่นดินไหวที่สร้างให้เกิดความเสียหายได้ รวมทั้งมีโอกาสทำให้เกิดคลื่น tsunami ได้ด้วย  ชิมิ ชิมิ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 14, 19:15
ก่อนจะไปต่อ ขอย้อนกลับไปที่คำว่า rift   เพราะว่า คงจะมีหลายท่านที่ได้อ่านศึกษาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในเปลือกโลก และพบคำว่า rift บ้าง  drift บ้าง
   
rift มีความหมายในทางรูปแบบที่เกิดขึ้น คือ เกิดการแยกตัวออกจากกัน
drift มีความหมายในทางกระบวนการที่กระทำอย่างต่อเนื่อง คือ การดึงแยกออกไปเรื่อยๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 14, 20:28
เอาละครับ  ในมหาสมุทรแอตแลนติค มี tsunami ใหม

คำตอบ คือ มีครับ (แบบเหนียมๆ)    ซึ่งมีน้อยครั้งมาก  ก็มีอย่างน้อยก็ 2-3 ครั้ง ที่สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก  ครั้งหนึ่งก็เกิดในช่วงประมาณกลางศตวรรษที่ 18  จากเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งทะเลปอร์ตุเกตุ  ซึ่งเชื่อว่ามาจากการขยับเขยื้อนของผิวโลกในพื้นที่ของรอยเลื่อนที่เกิดมาจากกระบวนการดึงแยกผิวโลกที่กล่าวมาแล้ว  ซึ่งก็คือ ในลักษณะที่แผ่นดินด้านหนึ่ง _ฝั่งนอกชายฝั่ง_off shore side_ทรุดตัวลงไปตามระนาบรอยเลื่อน (fault plane)  (คล้ายกับภาพของถนนที่บริเวณใหล่เขาทรุดตัวลงเป็นกระบิ_slumping)
 สถาปนิก
อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากจำไม่ผิด ก็คิดว่าเป็นในช่วงเวลาประมาณการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่นในปี 1923 ที่ทำให้โตเกียวราบพณาสูร ยกเว้นแต่โรงแรมอิมพีเรียลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวและซุึ่งออกแบบโดย Frank Lloyd Wright  (สถาปนิกชื่อดังที่ท่านนวรัตน์น่าจะได้รับอิทธิพลทางแนวคิดบางประการ) tsunami ในครั้งนั้น พบได้ตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา  แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เกิดจากเหตุการณ์ตะกอนดินหินทรายใต้พื้นท้องทะเลถล่ม (submarine landslide) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการกระตุ้นของแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ (tremor) ที่เกิดอยู่ตามปรกติ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 14, 20:40
รวมทั้งมีโอกาสทำให้เกิดคลื่น tsunami ได้ด้วย  ชิมิ ชิมิ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 14, 20:58
เผ่นดีกว่า


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 14, 22:25
ต่ออีกนิดนึง เรื่อง sub-marine landslide

ตามภาพของท้องทะเลที่ได้บรรยาย    ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ใหล่ทวีปนั้นก็ย่อมมีตะกอนดินทรายไปกองทับถมอยู่เป็นธรรดา และก็จะมีกองทับถมกันไปจนถึงขอบใหล่ทวีป ก่อนที่พื้นท้องทะเลจะเปลี่ยนเป็นหน้าผาชัน (continantal slope) ลงไปสู่พื้นท้องมหาสมุทรส่วนลึก (abysal plain)   ไอ้ส่วนที่กองอยู่ตรงขอบหน้าผานี้แหละที่จะไหลถล่มทลายลงไปสู่ก้นทะเล และดึงเอาตะกอนส่วนอื่นๆตามลงไปด้วย  เกิดเป็นเหตุการณ์ sub-marine landslide

ขยายต่อไปอีกนิดนึง เพื่อให้เห็นภาพอย่างหยาบๆในอีกเรื่องหนึ่งว่า   ตรงบริเวณรอยต่อของใหล่ทวีปนี้เอง ที่น้ำเย็นจากในท้องมหาสมุทรพบกับน้ำที่อุ่นกว่าในใหล่ทวีป  สร้างสรรพอาหารขึ้นมา ทำให้มีแพลงตอนมาก สร้างห่วงโซ่อาหารที่สำคัญหมุนเวียนไม่รู้จบ  ครับ ปลาที่แพงๆ ที่ว่าเนื้ออร่อยๆกันนั้น ก็จับได้กันในพื้นที่ลักษณะอย่างนี้แหละ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 14, 22:56
ดูไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกันเลย ระหว่างการถล่มทะลายของตะกอนดินทรายในท้องทะเล

เกี่ยวครับ จะเป็นโดยตรงเสียด้วย  อธิบายอย่างง่ายๆว่า กองตะกอนจำนวนมหาศาลที่ไหลลงไปสุูท้องมหาสมุทรนึ้ ทำให้พื้นท้องทะเลถูกขุดออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการยุบตัวของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว (ในบริเวณที่เกิดการถล่มของตะกอน)  น้ำจะต้องปรับระดับใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคลื่นกระจายออกไป เป็นคลื่น tsunami

เมื่อครั้งเกิด tsunami ครั้งประวัติศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียที่กระทบชายฝั่งด้านทะเลอันดามันของไทยนั้น จุดเริ่มต้นของคลื่นก็คือ การที่พื้นท้องทะเลมีการเคลื่อนตัว (ยกตัว/ทรุดตัว) ตามระนาบรอยเลื่อน ในลักษณะข้างหนึ่งสูงอีกข้างหนึ่งต่ำ ซึ่งก็คือ การส่งผลให้ระดับน้ำที่อยู่เหนือท้องทะเลที่ยกตัว/ทรุดทั้งสองด้านเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

มาถึงตรงนี้ ก็กลายเป็นว่า tsunami นั้น ไม่ได้เกิดจากการไหวของแผ่นดิน แต่เกิดจากผลของการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน ซึ่งการเคลื่อนตัวของแผ่นดินนั้นเป็นตัวการทำให้เกิดแผ่นดินไหว  ชักมึนอีกแล้วล่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 14, 18:47
มีคำว่า tsunami แล้ว ก็เลยทำให้นึกถึงคลื่นอีก 2 ชนิดที่ทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินหรือชีวิตในพื้นที่ชายทะเลไม่แพ้กัน คือ tidal wave และ storm surge

tidal wave ก็คือคลื่นทะเลตามปรกติที่เกิดในช่วงที่ระดับน้ำทะเลสูงและต่ำ ซึ่งก็คือ คลื่นในระดับน้ำที่ขึ้นและที่ลงในอิทธิพลของดวงจันทร์ (เมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง)

หากเราไปเดินในพื้นที่ชายทะเล เราจะเห็นว่า ที่บริเวณรอยต่อของพื้นที่ราบด้านในของแผ่นดินกับส่วนที่เป็นชายหาดจะมีสภาพเป็นตะพัก โดยตะพักส่วนพื้นที่ต่ำ (ส่วนที่เป็นชายหาด) ก็จะประกอบด้วยทรายและไม่มีต้นพืช หรือมีพืชอยู่บ้าง (เช่น ต้นผักบุ้งทะเล ที่เอาใบมันมาขยำในน้ำจืดแล้วชะโลมแก้ปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณที่ถูกแมงกระพรุนไฟ)  ส่วนตะพักที่เป็นที่ราบส่วนที่สูงกว่านั้นจะพบว่ามีพืชคลุมดิน  ตะพักนี้เรียกว่า berm      เมื่อเดินลงชายหาดต่อไปก็จะพบอีกตะพักหนึ่ง เป็นอีก berm หนึ่ง แล้วจึงเป็นชายหาดราบลงสู่ทะเล

ตะพักด้านใกล้น้ำทะเลเกิดจากการกัดเซาะช่วงระดับน้ำทะเลต่ำสุด  ตะพักอีกอันหนึ่งที่อยู่ที่ระดับสูงกว่าเกิดจากการกัดเซาะในช่วงที่มีระดับน้ำทะเลสูงสุด  ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในระดับความรุนแรงมากน้อยต่างกันไปในแต่ละปี  ความเสียหายที่สำคัญก็คือ ชายหาดถูกกัดเซาะลึกเข้าไป  เช่น ชายทะเลบริเวณชายหาดชะอำ ที่ถนนเลียบชายหาดถูกกัดเซาะออกไป





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 14, 19:01
tidal wave ในอีกลักษณะพื้นที่หนึ่ง คือ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นทะเลโคลน (mud flat) เช่น บริเวณปากอ่าวระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง  ซึ่งในช่วงที่น้ำทะเลมีระดับต่ำ ก็จะมีแต่เพียงน้ำเอ่อท่วมพื้นที่โคลน  แต่ในช่วงที่น้ำทะเลมีระดับสูง ก็จะมีคลื่นระลอกใหญ่ๆซัดให้เห็น
พอเพียงเท่านี้นะครับ มากกว่านี้ไปจะกลายเป็นการเล่าเรื่องการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเล (shoreline erosion) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของไทยเราในปัจจุบันนี้  ที่พบแทบจะตลอดชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทย 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 14, 19:34
เรื่องของ storm surge นั้น   โดยพื้นเรื่องอย่างง่ายๆของเรื่องราว ก็คือ ในพื้นที่ที่เกิดพายุนั้น จะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ระดับน้ำในทะเลในบริเวณนั้นยกตัวสูงขึ้น  ดังนั้น ในพื้นที่ชายทะเลที่มีระดับพื้นดินไม่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากนัก เมื่อระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น ถูกลมพายุพัดผ่าน ทำให้เกิดคลื่นสูง พัดเข้าหาฝั่ง ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมและคลื่นลมแรง กระหน่ำอาคารบ้านเรือนให้เกิดความเสียหาย
 

เล่าไว้เป็นกระษัยว่า ได้พบกันว่า อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป 1 องศา C (โลกร้อน) นั้น จะทำให้แนวปะทะของอากาศร้อนและเย็นเคลื่อนที่ไปได้ไกลถึงประมาณ 700  กม.  โดยสรุปก็คือ พายุจะไปเกิดในทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่งมากขึ้น  ซึ่งทำให้สังคมอนุรักษ์นิยมของโลกหันไปให้ความสนใจกับเรื่องปัญหาของเมืองในที่ราบชายฝั่งทะเล ที่จะถูกน้ำเอ่อท่วมและเมืองจมน้ำ (inundate coastal area)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 14, 22:22
กลับเข้ามาต่อเรื่องแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวในพื้นที่ครอบคลุมมหาสมุทรแอตแลนติคนั้น เกิดขึ้นมากที่สุดเป็นแนวแคบๆตลอดแนวสันเขากลางมหาสมุทร เป็นแบบขนาดเล็กประมาณ 2-3 +/- ริกเตอร์ และมีจุดกำเนิดอยู่ตื้นมาก ที่จริงแล้วเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น tremor แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นความรู้สึกของคน รู้ได้ก็เพราะเครื่องมือมันตรวจวัดได้ ก็เลยเรียกกันว่ามี seismic activity (เป็นการกล่าวถึงในภาพกว้าง)  และเรียกว่า earthquake เมื่อกล่าวถึงในลักษณะการผนวกขนาดการเกิดของมันเข้าไป   แผ่นดินไหวตามแนวที่ว่านี้เป็นความสั่นสะเทือนที่เกิดมาจากการเคลื่อนตัว หรือการไหลผุดขึ้นมาของหินหลอมละลาย

คราวนี้ลองนึกถึงผลส้ม แล้วลองเอาปากกาขีดที่ผิวให้เป็นเส้นในแนวบน-ล่าง  (ลองคิดสิว่า เส้นนี้เป็นเส้นตรงหรือไม่ น่าคิดนะครับ)  และหากเกิดมีลาวาผุดขึ้นมาแล้วไหลออกไปทั้งสองข้างของเส้นตรงนี้บนผิวส้มลูกกลมๆนี้   

กำลังคิดว่าจะอธิบายอย่างไรกับบรรดาเส้นและระนาบบนผิวทรงกลม

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน จะบอกว่ามันเกิด transform fault  ในแนวที่ตั้งฉากกับแนวเส้นที่เราลากเส้นไว้บนผิวส้ม

ขอพักแก้งงก่อนครับ





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 14, 19:34
ก็ยังหาคำอธิบายแบบง่ายๆไม่ได้ ที่เกี่ยวกับเส้นและระนาบทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนผิวและภายในในวัตถุทรงกลมทั้งหลาย   

เอาแบบเรียนลัดดีกว่านะครับ    ลองไปหาดูแผนที่ภูมิประเทศโลกที่แสดงพื้นที่ใต้ท้องมหาสมุทรต่างๆ  จะเห็นว่ามีแนวทิวเขาใต้น้ำอยู่แถวๆพื้นที่กลางมหาสมุทร (ทุกมหาสมุทร) แล้วก็จะเห็นมีร่องหรือแนวขวางตัดเกือบจะตั้งฉากกับทิวเขาเหล่านั้น ร่องของแนวเหล่านั้น คือ ร่องของรอยเลื่อนที่เรียกว่า transform fault    ซึ่งเป็นเรื่องในบริบทของแนวที่มวลวัตถุสองฝั่งเคลื่อนที่ผ่านกัน   

ในทะเลนั้น transform fault ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเหมือนกัน ก็หมือนกับการฉาบปูน ที่จะต้องมีการสะดุดบ้างเป็นธรรมดา แต่สภาพของที่เกิดเหตุในพื้นที่ท้องทะเลเกือบทั้งหมด อยู่ในลักษณะที่เป็นหินชนิดเดียวกันเคลื่อนที่ผ่านกัน (หิน basalt) และระนาบที่เคลื่อนที่ผ่านกันนั้น ก็เป็นระนาบแบบที่เกือบจะตั้งตรง (คล้ายผนังกำแพง) แรงที่ทำให้มันเคลื่อนที่ผ่านกันก็เป็นแต่เพียงแรงผลักไปในทิศทางเดียวกัน (อยู่ในฝั่งเดียวกันของทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทร) ก็๋จึงคล้ายกับกับการวิ่งแข่งกัน วิ่งแซงกัน การเกิดการสะดุดติดแล้วหลุดออกจากกัน ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหว จึงไม่รุนแรงนัก 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 14, 21:20
เจ้า transform fault นี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีพิษภัยในย่านมหาสมุทรแอตแลนติคมากนัก แต่แท้จริงแล้วในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกกลับไปอีกเรื่องนึงเลย มันนี่แหละเป็นตัวสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆ สร้างความเสียหายได้ครั้งละมากๆ 

สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในภูมิภาคที่ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับมหาสมุทรแอตแลนติคนี้ ผมจะไม่ขยายความต่อไปนะครับ  เพราะว่ามันแทบจะเป็นเรื่องในอีกบริบท (context) และในอีกชุดของเรื่องราว (regime) ที่แตกต่างไปจากเรื่องของเราในภูมิภาคแปซิฟิก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 14, 21:39
ขอพักแก้งงก่อนครับ
หายงงเมื่อไหร่จะไปสอบเทียบเอาอีกซักปริญญานึง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 14, 21:55
ไม่ยากหรอกครับ  ธรรมะซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติในรูปของนามธรรมยังเรียนและเข้าใจได้  เรื่องที่เล่ามานี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติเหมือนกันและก็เป็นเรื่องในรูปของรูปธรรมเสียมากด้วย จะเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายกว่าเยอะเลย 

ใช่ใหมครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 14, 22:20
อย่างที่ได้กล่าวมาแต่ต้นว่า ในกระทู้นี้จะมีภาษาอังกฤษมากหน่อย  ต้องขออภัยจริงๆครับ   กรุณาอย่าไปคิดว่าผมอยากอวดความรู้ภาษาอังกฤษเลยนะครับ 

ลองดูคำว่า transform fault นี้ซิครับ ทั้งสองคำนี้เมื่อใช้แยกกันมีความหมายไปคนละเรื่องเลย แต่เมื่อเอามารวมกันแล้วกลับกลายเป็นคำเรียกหรือคำศัพท์เฉพาะไปเลย      อ่านต่อๆไปก็คิดว่าคงจะได้เห็นคำว่า เช่น up-down fault, reverse fault, thrust fault, under thrust fault, over thrust fault, strike-slip fault ฯลฯ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 14, 22:27
เชิญท่านนายตั้งให้ความรู้ต่อนะครับ ผมเห็นว่ายากแต่ก็พยายามตามอ่านตามศึกษา บางทีก็งงบ้างว่วงบ้าง ขออย่าได้ถือสาเลยครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 14, 23:05
มาดูเรื่องราวทางมหาสมุทรแปซิฟิกกันบ้าง  ซึ่งผมจะขอให้ข้อมูล/ข้อเท็จจริงบางประการเสียก่อนนะครับ คือ กิจกรรมในธรรมชาติของโลกที่เกิดอยู่ หมุนเวียนอยู่ชั่วนาตาปี ย้อนหลังกลับไปได้หลายสิบ หลายร้อยล้านปี ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผิวโลกในส่วนที่เป็นแผ่นดิน หรือต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ค่อนข้างจะเร็วและรุนแรงนั้น อาทิ แผ่นดินไหว พายุต่างๆ ภูเขาไฟ รอยเลื่อนมีพลังต่างๆ ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม เหล่านี้ เกือบทั้งหมดจะเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ไกลเกินกว่าประมาณ 700 กม.จากชายฝั่งทะเล และก็ในความลึกไม่เกินประมาณนี้อีกด้วย  
 
ในพื้นที่ลึกเข้าไปกว่าประมาณ 700 กม.นี้มักจะเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งหากอยู่ในบางช่วงของละติจูดก็อาจมีสภาพเป็นทะเลทราย หรือก็อาจมีสภาพเป็นพื้นที่ชุมน้ำ (wet land)






กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 14, 20:16
แล้วก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้วหมู่เกาะฮาวาย  แถวฟิจิ (กลุ่มหมู่เกาะ Tonga Kermadec)   New Zealand  อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น Aleutian  range ฯลฯ จึงมีภูเขาไฟและแผ่นดินไหว ทั้งๆที่เป็นเกาะ

ครับ มีสาเหตุและต่างก็อยู่ในชุดของเรื่องราว (regime) ที่ต่างกัน

สำหรับหมู่เกาะฮาวาย    เป็นหมู่เกาะภูเขาไฟ เกิดมาจากการปะทุของภูเขาไปประเภทที่เรียกว่า shield volcano คือ เป็นทรงหมวกกุยเล้ย เป็นประเภทไม่ปะทุในลักษณะที่รุนแรง และเป็นประเภทที่มีแต่ลาวาไหลออกมาแบบต่อเนื่อง
 
เรื่องของเรื่องเป็นดังนี้  ตำแหน่งของเกาะฮาวายนั้น ตั้งอยู่เหนือบริเวณที่เรียกว่า hot spot ของเปลือกโลก ซึ่งคือ ณ.ตำแหน่งที่อยู่เหนือบริเวณที่มีหินหลอมละลาย (magma) ในชั้น upper mantle (ชั้น Asthenosphere) จึงมีการปะทุผุดออกมาไหลออกมาของหินละลายอย่างต่อเนื่อง    พื้นที่ที่เป็นแผ่นดินของเกาะฮาวายมีการขยายเพิ่มขึ้นไปทางประมาณทิศใต้อย่างต่อเนื่องทุกๆปีครับ   

คราวนี้ค่อยๆคิดนะครับ คือ บริเวณตำแหน่งในชั้น asthenosphere ที่มีหินละลายและพร้อมจะปะทุขึ้นมานั้น อยู่ที่เดิม แต่แผ่นเลือกโลกที่เกิดใหม่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ  ทำให้ตำแหน่งใดๆบนผิวโลกเคลื่อนที่ไปด้วย (คล้ายกับการเอาแผ่นกระดาษลนเหนือเปลวเทียนแล้วค่อยๆขยับไปเรื่อยๆ)  เลยทำให้ตำแหน่งของจุดปะทุของหินละลายออกมาถึงผิวโลกเคลื่อนที่ตาม เกาะฮาวายจึงขยายตัวแบบเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 14, 20:53

อ้างถึง
สำหรับหมู่เกาะฮาวาย    เป็นหมู่เกาะภูเขาไฟ เกิดมาจากการปะทุของภูเขาไปประเภทที่เรียกว่า shield volcano คือ เป็นทรงหมวกกุยเล้ย เป็นประเภทไม่ปะทุในลักษณะที่รุนแรง และเป็นประเภทที่มีแต่ลาวาไหลออกมาแบบต่อเนื่อง
 
เรื่องของเรื่องเป็นดังนี้  ตำแหน่งของเกาะฮาวายนั้น ตั้งอยู่เหนือบริเวณที่เรียกว่า hot spot ของเปลือกโลก ซึ่งคือ ณ.ตำแหน่งที่อยู่เหนือบริเวณที่มีหินหลอมละลาย (magma) ในชั้น upper mantle (ชั้น Asthenosphere) จึงมีการปะทุผุดออกมาไหลออกมาของหินละลายอย่างต่อเนื่อง    พื้นที่ที่เป็นแผ่นดินของเกาะฮาวายมีการขยายเพิ่มขึ้นไปทางประมาณทิศใต้อย่างต่อเนื่องทุกๆปีครับ   

เคยไปเห็นมากับตาอย่างนี้ที่ Big Island of Hawaii ครับ

Lava Enters the Pacific Ocean in Hawaii (http://www.youtube.com/watch?v=scGvM_VoPwk#)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 14, 22:44
ดีจังครับที่ได้เห็นของจริง  ผมยังไม่เคยได้ไปเห็นเลย    เคยไปแวะพักที่ฮาวายตอนไปเรียนต่อ 40 ปีมาแล้ว ช่วงนั้นวงวิชาการเพิ่งจะเริ่มประมวลข้อมูลได้เพียงพอที่จะสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมีจริง และการเปลี่ยนแปลงต่างๆบนผิวโลกที่เราได้เห็นอยู่นั้น ล้วนมาจากผลของการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก 

ตอนเรียนอยู่ ก็เป็นช่วงที่มีแต่การค้นพบอะไรต่อมิอะไรใหม่ๆทั้งในวงวิชาการของอเมริกาและอังกฤษ  เกิดเป็นทฤษฎี Plate Tectonic อย่างเต็มตัว แล้วกลายเป็นทฤษฎีที่ครอบคลุม (governing theory) และใช้อธิบาย ไขข้อข้องใจทั้งหลาย รวมทั้งสามารถใช้ในการกำหนดพื้นที่ในการแสวงหาทรัพยากรธรณีในพื้นที่ต่างๆในโลกได้อย่างค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 14, 22:10
สำหรับภูเขาไฟในที่อื่นๆ (ที่มิใช่หมู่เกาะฮาวาย) ที่ได้ยกตัวอย่างกล่าวถึงนั้น ล้วนแต่เกิดอยู่ในตำแหน่งเหนือบริเวณที่มีแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่เข้าหากัน โดยแผ่นหนึ่ง (พื้นท้องทะเล_oceanic floor) มุดตัวลวไปใต้อีกแผ่นหนึ่ง (แผ่นดิน_earth crust)   ซึ่งการเกิดการมุดตัวกันในลักษณะนี้เรียกว่า subduction zone   

     แต่หากเป็นไปในทางกลับกัน กลายเป็นแผ่นพื้นท้องทะเลเกยขึ้นไปบนแผ่นแผ่นดิน  ก็จะเรียกว่า obduction zone   และหากเป็นกรณีเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่เข้าชนกันอย่างยับเยิน กลายเป็นภูเขา เช่น หิมาลัย ก็เรียกว่า collision zone 
   
ทั้งนี้ พื้นที่ (zone) ที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ ก็คือ เรื่องของบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่น (ซึ่งเคลื่อนในทิศทางที่สวนกัน) มาอยู่ร่วมกัน เลยเรียกลักษณะแบบนี้ในภาพรวมๆว่า  convergent plate boundary   




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 14, 22:36
เป็นอันว่า ขณะนี้เราได้เห็นความสัมพันธ์ของแผ่นเปลือกโลกที่มีระหว่างกันใน 3 รูปแบบ คือ
 
     1). อยู่ติดกันในพื้นที่ๆมีการสร้างเปลือกโลกขึ้นมาใหม่ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ตามแนวทิวเขาใต้น้ำพื้นท้องมหาสมุทรต่างๆ    เรียกลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้ว่า divergent plate boundary 
 
     2). อยู่กันในลักษณะชนกัน มุดกัน เกยกัน   ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างแแผ่นดินกับมหาสมุทร    เรียกลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้ว่า convergent plate boundary

     3). อยู่กันแบบเคลื่อนที่ผ่านกันไปเรื่อยๆ คล้ายกับการสวนกันของบันใดเลื่อนขาขึ้นและขาลง    เรียกลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้ว่า transform fault plate boundary

     



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 14, 20:05
ขยับไปต่ออีกนิดนึง   ก็สรุปได้อีกเหมือนกันว่า ที่บริเวณแผ่นเปลือกโลกสองสามแผ่นมาอยู่ร่วมกัน นอกจากจะมีภูเขาไฟเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็มีแผ่นดินไหวเกิดร่วมอยู่อีกด้วย

อืม์ แล้วตามแนวแผ่นเปลือกโลกเกิดใหม่ (divergent zone) มีภูเขาไฟเกิดด้วยหรือ ?
   
คำตอบ คือ จะว่ามีในลักษณะที่เป็นภูเขาไฟปะทุ พ่นหิน พ่นแกส พ่นเถ้าถ่านออกมา ก็มี (เช่น เกาะ Iceland)    แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นแบบมีลาวาไหลผุดออกมาและเกิดอยู่ใต้น้ำที่ก้นท้องมหาสมุทร (คือ ทิวภูเขาใต้ท้องมหาสมุทร_mid-oceanic ridge)  ซึ่งเหล่าภูเขาใต้ท้องน้ำเหล่านี้ก็เกิดจากหินลาวาที่ไหลออกมาแล้วเย็นตัว เกิดเป็นภูเขาแล้วก็ยังเคลื่อนที่ห่างออกจากแนว mid-oceanic ridge อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

ภูเขาใต้น้ำเหล่านี้สูงนะครับ บางยอดก็เขาเกิดมาอยู่เรี่ยกับผิวน้ำ จนเหล่าลูกหลานของปะการังบางชนิดที่ลอยฟ่องอยู่ในมหาสมุทรเห็นว่าเหมาะสม (ด้วยคลื่นลมดี ออกซิเจนดี อาหารดี แดดดี ฯลฯ) ก็เลยลงจอดฝังตัวสร้างอาณานิคมให้ใหญ่โต กลายเป็นเกาะปะการังอยู่กลางมหาสมุทร ที่หลายคนใฝ่ฝันจะไปใช้ชีวิตโรแมนติดแบบโบินสัน ครูโซ  เกาะเหล่านี้ตั้งอยู่บนยอดภูเขาใต้น้ำและเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งตลอดเวลา น้ำก็ลึกมากขึ้นตลอดเวลาเมื่อเข้าใกล้ฝั่งมากขึ้น ปะการังก็พยายามอยู่รอดด้วยการพอกตัวให้สูงขึ้นเพื่อจะได้อยู่ใกล้ผิวน้ำที่มีแสงแดด เพื่อเก็บกินอาหารพวกแพลงตอนที่ใช้แสงแดดในการสังเคราะห์อาหารและดำรงชีพ (พวก phytoplankton) 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 14, 20:57
นั่งแอบจดเลกเชอร์อยู่หลังสุดของห้องค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 14, 21:58
ขอบพระคุณครับ ที่ยังไม่ผลอยหลับไป 

รู้ว่าเป็นวิชาการมาก หนักไปหน่อย แต่ก็น่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีประโยชน์อยู่มากโข อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ในเชิงของกระบวนการในธรรมชาติที่ดำเนินมานานเป็นหลายสิบหลายร้อยล้านปีแล้ว แล้วก็ยังจะดำเนินอยู่ต่อไป
 
ผมเล่ามาในมุมที่เยิ่นเย้อ ได้พยายามโยงใยและยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อทำให้ง่าย ก็เพื่อลดความสลับซับซ้อนที่จะต้องอธิบายเรื่องที่เกี่ยวพันหลายๆเรื่อง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 14, 07:49
ท่านคุณตั้งอย่าเพิ่งเบื่ออย่าเพิ่งง่วงนะครับ เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครเขียนกันเพราะมันยาก สืบต่อไว้หน่อย แต่มันต้องมีสมาชิกบางคนในห้องนี้เข้าใจได้ลึกซึ้ง แม้จะสองสามคนในร้อยก็คุ้มแล้ว

คนรุ่นหลังเรานี่แหละที่จะต่อยอดวิชาการยากๆอย่างนี้ให้บรรลุประโยชน์จริง วันหนึ่งคลื่นลูกหลังอย่างพวกเขาจะทำนายการเกิดของแผ่นดินไหว ซึนามิ หรือพิบัติภัยอื่นๆได้ เป็นคุณอนันต์ต่อมนุษยโลก

ที่ผมเข้ามากวนๆสลับฉากบ้างก็พอเป็นสีสันนะครับ ไม่ได้กะจะเหวง แต่ถ้าเห็นว่าผิดนโยบายจะประกาศเรียกผมไปปรับความเข้าใจก็ได้ ผมยินดีปรองดอง :-X


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 14, 19:21
คุณ NC. ครับ  ขอบคุณมากๆครับ

เป็นกำลังใจอย่างดีเยี่ยมเลยครับ  แทรกเข้ามาก็ได้ช่วยทำให้ผมได้ปิ๊งว่าจะเขียน จะเดินเรื่องต่อไปอย่างไร   

เคยสอนหนังสือในระดับ post grad. ในศาสตร์ของสิ่งแวดล้อมมานานพอควร ก็เลยพอจะมีประสพการณ์กับความเงียบในชั้นเรียน ซึ่งพบว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากความสนใจที่ผู้ฟังได้รับคำอธิบายในข้อกังขาต่างๆให้กระจ่างขึ้น และความเข้าใจกำลังเดินทางไปสู่บางอ้อ   แต่หลายครั้งก็เห็นอาการหลับ ซึ่งก็เพราะเป็นตัวเราเองที่บอกเล่าเรื่องราวแบบไม่ได้เรื่องเอาเลย หรือไม่ก็เข้าไปอยู่ในระดับฝอยลิงหลับ

ก็พยายามจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในวัตถุทรงกลม (โลก) ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากควา่มพร้อมและความเหมาะเจาะในหลายๆมิติ   เช่นในเรื่องของรูปทรง (กว้าง ยาว หนา...ฯลฯ)     ในเรื่องของมวล_mass (ความหนาแน่น ส่วนประกอบ ฯลฯ)    ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม (environment, condition ...ฯลฯ)      + เวลา อาทิ ระยะเวลาหมักหมมตัว (resident time) จังหวะเวลาที่จะเกิด (time of occurrence)        +ตัวแปรที่เปิดแบบไม่จำกัดเพราะเป็น open system      และแถมด้วยเหตุ หรือผลกระทบจากการกระทำจากนอกโลกหรือสื่งที่มาจากนอกโลก  (extraterrestrial impact)

ครับ ก็พยายามจะอธิบายเรื่องราวและความสัมพันธ์ต่างๆให้ง่ายโดยแปลงไปสู่ระบบ 2 มิติ คือ บนแกน x แกน y   เลยต้องเยิ่นเย้อหน่อย ก็ขออภัยด้วยครับ

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 14, 22:07
มีเรื่องของภูเขาไฟแล้ว   ก็มาถึงเรื่องของแผ่นดินไหว

ครับ ก่อนจะลงไปในเรื่องของแผ่นดินไหวในบรเวณพื้นที่ขอบของแผ่นเปลือกโลก  ก็จะขอขยายความเรื่องแผ่นดินไหวในอีกรูปหนึ่ง คือ   
     - แผ่นดินไหวขนาดไม่เกินประมาณ 3-4 ริกเตอร์ นั้น    เกิดอยู่ทุกวันทัวโลกและเป็นจำนวนมากในแต่ละวันเสียอีกด้วย  บริเวณที่เกิดมากที่สุดก็คือ ตามแนวทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทรที่เรียกว่า mid-oceanic ridge นั่นแหละ     แผ่นดินไหวขนาดนี้มันเป็นเรื่องปรกติเสียจนไม่จำเป็นที่จะต้องหยิบออกมาเป็นข่าวหรือเผยแพร่เลย เว้นแต่มันจะส่งผลให้เกิดความตระหนกตกใจกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  และเกือบจะทั้งหมดของมันก็เป็นพวกที่ไม่ทำให้เกิด tsunami (ในขนาดที่เราต้องรู้สึกสยองกับมัน)  ความลึกของจุดกำเนิดของแผ่นดินไหวในท้องมหาสมุทรเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะอยู่ตื้น (น้อยกว่า 30 กม. และมักจะอยู่แถวๆ 10 +/- กม.)
 
ดูเงื่อนไขจะครบและท่องเป็นสูตรได้เลยว่าหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในทะเลแล้ว ก็อาจจะเกิด tsunami ตามมา  ซึ่งก็มีความจริงอยู่บางส่วน แต่เกือบทั้งหมดแล้วจะไม่เป็นไปตามสูตรนี้     คลื่นน้ำเกิดได้จากการเขย่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระเพื่อมและการยกตัวของระดัดน้ำที่อยู่ห่างไกลออกไปบ้าง

ต่อพรุ่งนี้นะครับ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 14, 21:48
เมื่อคืนที่ผ่านมา  เกิดอาการเงิบขณะกำลังพยายามประมวลเรื่องว่าจะขยับเขียนต่อไปอย่างไรดี  เกิดเป็นจินตนาการ แล้วก็กลายเป็นเรื่องราวแบบล่องลอยไปสู่ฝัน แล้วหัวก็ผงกป๊อก  ไปไม่รอดแน่เลยต้องหยุดเขียนครับ  ขออภัยจริงๆ

ต่อครับ
เอาเรื่อง tsunami ก่อน

การสั่นสะเทือนตามแนวทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทรนั้น ย่อมทำให้เกิดน้ำกระเพื่อมเป็นระลอกคลื่นได้  แต่คงจะต้องสั่นอย่างแรงมากๆๆๆๆ..ล่ะครับ จึงจะทำให้เกิด tsunami ลูกใหญ่ๆเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งได้      ที่จริงแล้วดูเหมือนจะไม่เคยมีแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณ divergent plate boundary ที่ทำให้เกิดคลื่น tsunami ในขนาดที่จัดเป็นพิบัติภัยเลย  ซึ่งหากมันทำให้เกิดขึ้นได้ขนาดนั้นละก็ ก็คงจะมีการออกประกาศให้ระวังคลื่น tsunami กันตลอดทั้งวัน  ทุกๆวัน และตลอดทั้งปีทุกๆปี  เนื่องจากแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณ divergent plate boundary ในทุกมหาสมุทรนี้ นับจำนวนได้เป็นหลักหมื่นๆครั้งต่อปี   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 14, 22:36
เอาละครับ   คราวนี้หากจะเหมาเอาว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเลหรือมหาสมุทรแล้วย่อมทำให้เกิดระลอกคลื่น และคลื่นนั้นก็คือคลื่น tsunami   จะให้ว่าถูกก็ได้ครับ     แต่ลองพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลื่น ดังนี้

คลื่นน้ำที่เราเห็นทั้งหลายนั้นเป็น sine wave  คือ เป็นคลื่นที่มีรูปทรงเป็นลักษณะตัว S     คลื่นในทะเล  คลื่นในมหาสมุทร หรือในพื้นที่แอ่งน้ำทั้งหลายนั้น เกิดจากการที่ลมพัดผ่านผิวน้ำนั้นๆ  ลมที่พัดผ่านผิวน้ำนั้นๆ ยิ่งเป็นลมแรงและยิ่งพัดผ่านผิวน้ำเป็นระยะทางยิ่งไกลมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ หรือคลื่นสูงมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเป็นทะเลเปิด (open sea) ยิ่งมีคลื่นใหญ่   ดังนั้น ทะเลฝั่งอันดามันของเราจึงมีคลื่นใหญ่กว่าทะเลฝั่งอ่าวไทย 

คราวนี้ ลมที่พัดผ่านผิวน้ำนั้น แม้ว่ามันจะพัดไปในทิศทางเดียวกัน มันก็ยังมีแบบพัดแรงบ้างค่อยบ้าง พัดกระโชกก็มี และบางทีก็ยังมีแบบพัดเป๋ไปในทิศทางอื่นๆ    ดังที่บอกกล่าวมาแล้วว่า ลมทำให้เกิดคลื่น  ดังนั้น ในคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่งนั้น ใน 1 ตัว S มันก็จะมีตัว s เล็กๆขี่มาด้วยอีกหลายๆตัว   
เมื่อไปเที่ยวทะเลก็ลองนั่งดูคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งซิครับ เรามักจะเห็นภาพของคลื่นใหญ่บ้างเล็กบ้างคละกันไปมา  บางครั้งก็มีคลื่นขนาดค่อนข้างใหญ่ซัดลึกเข้ามาในชายหาด    เหตุการณ์ของชายหาดสุรินทร์ใน จ.ภูเก็ต ที่อยู่ดีๆก็มีคลื่นใหญ่ซัดเข้ามาม้วนเอาคนออกไป สาเหตุก็คือเรื่องนี้แหละครับ
เล่ามาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะบอกว่าแยก ไม่ออกหรอกครับว่าคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งนั้นเป็นคลื่น tsunami ที่เกิดจากแผ่นดินไหวตามแนวทิวเขาใต้ท้องทะเล หรือ เป็นคลื่นที่เกิดจากลม   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 14, 22:54
แล้วจริงๆแล้ว เราพอจะแยกระหว่างคลื่นจากลม กับ คลื่น tsunami ขนาดเล็กๆ (ในระดับคลื่นสูงซัก 10 ซม.) ได้ใหม    ก็พอได้ครับ 
 
tsunami เป็นประเภทคลื่นยาว (long wavelength) ดังนั้น ก่อนที่หัวคลื่นจะโถมฟัดชายหาด  ระดับน้ำทะเลจะลดถอยลงไปอย่างผิดปรกติ จากนั้นน้ำจึงจะเอ่อทะลักเข้ามาบนชายฝั่ง    แต่กระนั้นก็ตาม หากเป็น tsunami ขนาดเล็กๆ ก็ไม่รู้หรอกครับ ยกเว้นแต่จะไปสังเกตดูระดับน้ำในคูคลองที่มีระดับน้ำเชื่อมต่อกับน้ำทะเล (น้ำขึ้น/น้ำลง)


ผมจะขอพักเรื่องราวไว้ตรงนี้ประมาณ 7 วันครับ  จะไปต่างจังหวัดครับ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 14, 22:27
กลับมาแล้วครับ 
ไปนอนอยู่กับแผ่นดินไหวมาอีกครับ
ไปครั้งนี้ ได้สัมผัสแบบเบาๆ พอรู้สึกได้ว่าเหมือนยืนอยู่บนยางในรถยนต์ที่พองลมไว้  บางครั้งก็มีเสียงเบาๆจากการโยกคลอนของโครงหลังคา หรือกรอบประตูหน้าต่างมาประกอบความรู้สึก  อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกถึงความเข้มข้นเหมือนครั้งแรกๆ

ผมใช้คำว่า "ความเข้มข้น" ในเรื่องราวที่เขียนนี้เพื่อบรรยายสัมผัสทางความรู้สึก   ทั้งนี้ ในทางวิชาการนั้น นอกจากคำว่า "ขนาด" ที่เราคุ้นหูแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่สำคัญมาก คือ "ความรุนแรง" ซึ่งเป็นสัมผัสทางผลที่เกิดขึ้นที่สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเรา ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เราเกือบจะไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงเลย   
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น การรายงานข่าวสารและความสนใจของผู้คนมักจะไปติดอยู่กับคำว่า "ขนาด"  ซึ่งแม้จะมีการบรรยายความเสียหายผนวกเข้าไปในเเบื่องต้นด้วยแล้วก็ตาม  ฝ่ายผู้รับข่าวสารก็มักจะมีจินตนาการถึงความเสียหายต่อไปตามความรู้สึกที่พ่วงกับตัวเลขของขนาด

ขนาด หรือ magnitude เป็นการบอกถึงระดับของพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา (เพื่อทำให้เกิดการไหวของแผ่นดินในแต่ละครั้งนั้นๆ)   เป็นการจัดระดับแบบ log scale ฐาน 10  (เช่น ขนาด 4 richter ก็จะมีความแรงมากกว่าขนาด 3 อยู่ 10 เท่า)     

ความรุนแรง (หรือ ความเข้มข้น)  หรือ intensity นั้น เป็นการบอกถึงระดับของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การไหวของแผ่นดินครั้งนั้นๆ

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 14, 14:46
มีวิธีวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวของไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ จากจดหมายหลวงอุดมสมบัติ มานำเสนอ  ;D


คุณชาญณรงค์ เที่ยงธรรม แห่งศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ม.หาดใหญ่ เขียนบทวิจารณ์ในเว็บโฟกัสปักษ์ใต้ ไว้ว่า

บางเรื่องอ่านแล้วก็รู้สึกสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวขวัญอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรื่องแผ่นดินไหว (ปรากฏในจดหมายฉบับที่ ๓ เขียนในจุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) หลวงอุดมสมบัติบันทึกเล่าไว้ว่า ..เพลาคืนนี้แผ่นดินไหวนักหนาทีเดียว ไหวมากกว่าครั้งก่อนจนคนซวนเซตั้งตัวไม่ตรงเลย ทรงทอดดิ่งทอดพระเนตรดูเห็นโยนไกวไปข้างเหนือมาข้างใต้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไหวครั้งนี้ไหวมาก เจ้าคุณหาบนออกมาจากเรือนซวนออกมาทีเดียว ออกมาเห็นอัจกลับที่แขวนไว้ไกวโยนลอดตะวันไป ทรงตรัสว่า เป็นไรจึงไม่ทอดดิ่งดูบ้างเล่า.. จากความที่ปรากฏ ทำให้เราทราบว่า ใน พ.ศ.๒๓๘๑ (เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ) นั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมาก (วิเคราะห์จากคำพูดฟังเหมือนว่าการทอดดิ่งเพื่อสังเกตการแกว่งไกวนั้น อาจจะเป็นวิธีหรือเป็นธรรมเนียมวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในยุคสมัยนั้นกระมัง)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 14, 19:05
ขอบพระคุณครับสำหรับข้อมูล

ข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีจุดกำเนิดอยู่ภายในเขตประเทศไทย หรือที่อยู่นอกเขตแต่รู้สึกการไหวได้ในไทย   เท่าที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุต่างๆ และรวมทั้งที่มีบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของ NOAA (National Oceanographic and Atmospheric Administration) และ USGS (United States Geological Survey) นั้น ได้เคยมีการค้นคว้าและรวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลโดย ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ปรมาจารย์ของไทยทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง    ผมเคยมีและใช้ข้อมูลนี้ และเข้าใจว่าน่าจะยังคงมีเก็บไว้อยู่ที่กรมทรัพยากรธรณีและที่กรมอุตุนิยมวิทยา

ข้อมูลรุ่นเก๋าเหล่านี้ ต่างก็ได้บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในรูปของ intensity (จะแปลว่า ระดับความเข้มข้น ระดับความรุนแรง ระดับของการสัมผัสรับรู้  หรือระดับความเสียหาย อย่างไรก็ได้) อาทิ น้ำในแม่น้ำกระฉอก บ้านเรือนโยกไหว มีเสียงดังครืนๆ ฯลฯ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 14, 19:46
สำหรับข้อมูลเรื่องการทอดดิ่งที่คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาให้มานั้น  จะขอต่อความดังนี้ครับ

หลักการพื้นฐานในการสร้างเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว (Seismograph) ก็คือ การห้อยลูกตุ้มที่มีน้ำหนักมากๆและมีปากกาโผล่มาที่ก้นของลูกตุ้มนั้น เอากระดาษวางและยึดไว้กับพื้นดิน ให้อยู่ใต้ปลายปากกาเพื่อจะได้บันทึกการแกว่งไกวของลูกต้มนั้น (เมื่อเกิดแผ่นดินไหว)    ซึ่งโดยเนื้อในของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆกลับเป็นผลของเรื่องในหลักของเรื่องแรงเฉื่อย (moment of inertia) คือ ตัวลูกตุ้มมิได้แกว่งไกว ตัวกระดาษต่างหากล่ะที่เคลื่อนที่

ครับ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ก็เป็นธรรมดาที่เราก็จะเห็นหลอดไฟหรือโคมไฟที่ห้อยลงมาจากเพดานแกว่งไปมา (เพราะมีน้ำหนักน้อย)

แต่หากชุดหลอดไฟหรือโคมไฟที่ห้อยลงมานั้นมีน้ำหนักมากสักหน่อย เมื่อเห็นการแกว่งเกิดขึ้น ก็จะเป็นสองเรื่องผสมกัน คือ หลอดไฟนั้นห้อยแขวนเกือบนิ่งอยู่กับที่ แต่เพราะบ้านโยกไปมา เลยเห็นเป็นภาพสองภาพบวกกัน ทำให้เห็นไปว่าหลอดไฟนั้นแกว่ง      กรณีการสังเกตลูกดิ่งที่ทอดห้อยลงไปนั้นคงจะเป็นในลักษณะนี้




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 14, 20:01
มาถึง ณ.เวลานี้ เราก็ได้พบกับ 2 วิธีการที่จะบอกเล่าถึงลักษณะของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น คือ
      - บอกด้วยขนาดของพลังที่ปลดปล่อยออกมา ณ.บริเวณจุดกำเนิด     และ
      - บอกด้วยลักษณะอาการของความรุนแรงของการไหวที่เกิดขึ้น ณ.สถานที่ต่างๆที่รับรู้การไหวสะเทือนของแผ่นดินครั้งนั้นๆ

ครับ ก็มาสู่คำ 2 คำ ซึ่งใช้เป็นคำเรียกมาตรของการวัดลักษณะและอาการทั้งสองที่ได้กล่าวมา  คำแรกคือ magnitude (สำหรับเรื่องแรก) ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำแปลว่า "ขนาด"     และคำที่สองคือ intensity (สำหรับเรื่องที่สอง) ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำแปลว่า "ความรุนแรง"

อย่างง่ายๆ ก็คือ magnitude เป็นเรื่องของการวัดที่ต้นตอแหล่งกำเนิด (ความรุนแรงด้านเหตุ)   ในขณะที่ intensity เป็นเรื่องของการวัดด้านผลกระทบที่ได้รับ (ความรุนแรงด้านผล)   
 
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงที่ต้นตอครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดผลกระทบ (ความเสียหาย) ณ.สถานที่ต่างๆ (โดยรอบออกไป) ไม่เท่ากัน ขึ้นกับความตื้นลึก ความใกล้ไกล รูปแบบและลักษณะของการกำเนิด สภาพและลักษณะของพื้นดินฐานราก ตัวอาคาร โครงสร้างของอาคารและคุณภาพของการก่อสร้าง ทิศทางการวางตัวของอาคาร ฯลฯ .......... สารพัดเรื่องที่เป็นองค์ประกอบ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 14, 22:03
มาตรวัดขนาดที่เรารู้จักกันดีและใช้กันในสากลนั้น ได้แก่ Richter Scale  ซึ่งได้พัฒนาไปมากจากแต่เดิมเมื่อเริ่มสร้าง

สำหรับมาตรวัดความรุนแรงนั้น ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คงจะมีแต่นักวิชาการเท่านั้นที่รู้เรื่อง (แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังนิยมที่จะให้ความสนใจไปในเรื่องของขนาดมากกว่าเรื่องของความรุนแรง)   มาตรนี้แต่ดังเดิมที่นิยมกันก็มีอยู่ 2 มาตร คือ Modified Mercalli Scale (MM scale) และ Rossi Forel Scale   
สำหรับญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากเขาอยู่ในพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวตลอดเวลาและมีความเสี่ยงค่อนต่อความสูญเสียใดๆค่อนข้างมาก จึงมีการพัฒนามาตรวัดเป็นของตนเองขึ้นมา เป็นมาตรวัดความรุนแรง เรียกว่า JMA Seismic Intensity Scale (JMA = Japan Meteorological Agency)  ซึ่งมาตรนี้ ไต้หวัน ก็ยอมรับนำไปใช้ด้วย 

ข้อมูลระดับของความรุนแรง ณ.สถานที่ต่างๆที่อ้างอิงอยู่กับมาตรวัด intensity นี้ คือข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้ชี้นำและนำพาไปสู่การจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งจะถูกประมวลจัดทำเป็นแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสำหรับใช้ในหน่วยงานที่ทำงานด้านงานสารธารณะต่างๆต่อไป 

เอาไว้ค่อยๆเล่าครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 14, 23:06
ผมมีเรื่องให้หวนคิดอยู่ในใจเสมอเมื่อกล่าวถึง Richter scale และ MM scale

ครับ  .....แผ่นดินไหวระดับ 6 ริกเตอร์ ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ว่าแรงนั้น ตามมโนก็น่าจะต้องสร้างความเสียหายได้มากในพื้นที่ใกล้จุดกำเนิด แต่ในความเป็นจริงนั้น มันอาจจะเพียงมีบ้างไม่รุนแรง แต่กลับไปรุนแรงมากในที่ๆห่างออกไป ....จุดกำเนิดอยู่ตื้น ก็ส่งผลรุนแรงมาก อยู่ลึกมากก็ส่งผลรุนแรงน้อยหรือไม่มีเลย   ....ขึ้นอยู่กับองคาพยพของแรงที่สร้างให้เกิดรอยเลื่อนชุดนั้นๆ (ว่าเป็น wrench tectonic  เป็น compressional tectonic   เป็น synthetic หรือ antithetic regime ....)  โอ้ สารพัดเรื่องเลยทีเดียว

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ข้อมูลริกเตอร์และตำแหน่งกำเนิดนั้นจะออกสู่สาธารณะเร็วมากๆ แต่มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย   ในขณะที่ข้อมูลที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกๆเรื่อง ในทุกๆด้าน คือ ระดับของความเสียหาย   จะบอกด้วยมาตรอะไรก็ได้ จะเป็นการบรรยายลักษณะเนื้อในของความเสียหายของแต่ละพื้นที่ก็ได้ (เสาบ้านล้ม เสาบ้านหัก ตึกล้ม ตึกทรุด ฯลฯ) ข้อมูลดังกลาวนี้แม้เพียงจากพื้นที่เดียว ก็ยังเพียงพอที่จะคาดเดาความอัตราความเสียหายที่จะพบในพื้นที่อื่นๆได้   รายงานที่บอกแต่เพียงว่าเกิดความเสียหาย อาคารบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้นั้น ไม่เพียงพอ (รู้แต่ด้านปริมาณแต่ไม่รู้ด้านคุณภาพ)

ก็จะพยายามค่อยๆเล่าให้ฟังนะครับ เล่าเป็นแบบการ์ตูนก็จะเข้าใจได้ง่าย ครับ

     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 14, 18:20
เรื่อยเฉื่อยไปทางด้านผลกระทบจากการไหวของแผ่นดินมากโขแล้ว ก็พอดีพบช่องที่จะย้อนกลับไปเรื่องทางด้านต้นตอสาเหตุที่ค้างไว้

แต่ก่อนจะวกกลับไป จะขอทิ้งท้ายไว้นิดนึงเพื่อขยายเรื่องมาตรของความรุนแรงให้พอเห็นภาพ และเพื่อจะได้กลับมาต่อได้เมื่อได้ดำเนินเรื่องต่อๆไป

มาตรของความรุนแรงนั้น เป็นการบรรยายลักษณะของความรู้สึกของคน ลักษณะของการเคลื่อนของสิ่งของ และลักษณะของความเสียหายของถาวรวัตถุต่างๆ  ซึ่งแต่ละมาตรนั้นมีจำนวนระดับที่ต่างกัน  อาทิ

            - ของ MM scale นั้นมี 12 ระดับ (และใช้ตัวเลขแบบโรมัน)  เช่น ระดับ VI เป็นแผ่นดินไหวในระดับแรง (strong) รู้สึกได้ทั้งคนที่อยู่ในอาคารและนอกอาคาร สิ่งของหล่นจากชั้นที่เก็บ โต๊ะเก้าอี้เคลื่อนที่ คนแตกตื่นวิ่งหนีออกนอกสิ่งก๋สร้าง รู้สึกมึนงง (โคลงเคลง) อาคารที่ก่อสร้างไม่ดีอาจพังหรือได้รับความเสียหาย เป็นต้น

            - ของ Rossi Forrel เป็นมาตรที่สร้างก่อน MM scale มี 10 ระดับ (และใช้ตัวเลขโรมันเหมือนกัน) เช่น ระดับ VI จัดเป็นแผ่นดินไหวระดับค่อนข้างแรง (Fairy strong) คนที่นอนหลับรู้สึกและตื่นนอน คนวิ่งออกนอกที่พักอาศัย โคมไฟที่้ห้อยแกว่งไกว เป็นต้น

            - ของ JMA scale  มี 7 ระดับ (ใช้ตัวเลขอาราบิค) เป็นการพัฒนามาตรโดยผสมผสานระหว่างขนาด (magnitude) กับผล (แยกก้น) ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ สิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติ และรวมถึงอัตราเร่งของแผ่นดิน ( peak ground acceleration force _ วิศวกรใช้เป็นฐานในออกแบบโครงสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ) เช่น ระดับ 6  คนรู้สึกยืนไม่ได้ เสาไฟฟ้าโยกไปมา สาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย อัตราเร่งของแผ่นดินที่ประมาณ 2.50 - 3.15 m/sec2  เป็นต้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 14, 19:35
กลับไปที่เรื่องราวในพื้นที่ต้นตอของการไหวของแผ่นดินครับ

ผมไปหยุดเรื่องไว้ที่เรื่องของ tsunami    ก็จะขอต่อเรื่องนี้เพื่อนำพาการเดินเรื่องไปสู่เรื่องอื่นต่อไป

โดยสรุปก็ได้ความว่า tsunami เป็นคลื่นยาว (long wavelength)  มีโอกาสเกิดได้จากการสั่นสะเทือน (หรือการไหวของแผ่นดิน ณ. บริเวณจุดกำเนิด) ซึ่งตามปรกติแล้ว คลื่นที่เกิดจากกรณีการสั่นสะเทือนนี้ ไม่ใช่ประเภทที่จะสร้างความหายนะอย่างมากมายและรุนแรง

ลองนึกดูถึงการเขย่ากะละมังใส่น้ำนะครับ การเขย่านั้นมันอยู่ในเรื่องของความถี่สูง (เช่นเดียวกับแผ่นดินไหว) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดคลื่นน้ำที่มีความถี่สูงไปด้วย แทบจะไม่สร้างให้เกิดเป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาวแบบของคลื่นที่เป็๋นคลื่น tsunami ที่เรากลัวกัน     ความถี่สูงเป็นพวกคลื่นที่มีช่วงคลื่นสั้น     บางทีพวกคลื่นที่เกิดจากลมแรงหรือพายุในทะเลเปิดนั้นยังอาจจะสร้างความกลัวและความเสียหายได้น่ากลัวกว่าคลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้พื้นท้องทะเลที่เกิดขึ้นนับเป็นหลายหมื่นครั้งต่อปี 

คลื่น tsunami ประเภทที่สร้างให้เกิดความเสียหายนั้น  จะต้องเกิดจากการขยับเขยื้อนของรอยเรื่องแบบกระชากอย่างแรง และจะต้องยังผลให้เกิดการเหลื่อมล้ำ (displacement) อย่างมาก (ที่ผิดไปจากสภาพเดิมของหินที่อยู่ตรงกันข้ามคนละฝั่งของรอยเลื่อนนั้น) ดังเช่น กรณีของเหตุการณ์ tsunami ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2547 ในมหาสมุทรอินเดียนั้น เกิดจากการ displacement ในลักษณะของการเกิดการยกตัว-ทรุดตัวของหินสองฝั่งรอยเลื่อน อันยังผลให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชันหลายสิบฟุตอยู่ใต้ท้องทะเลในบัดดลในทันทีทันได  ยังผลให้มวลน้ำและระดับน้ำที่ผิวน้ำเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องปรับตัวปรับระดับในมันที เกิดเป็นสภาพคล้ายน้ำตก เป็นการสร้างให้น้ำกระเพื่อมเกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่วิ่งอยู่ใต้น้ำด้วยความเร็วประมาณ 800 กม.ต่อชม.   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 14, 19:44
ครับ    tsunami เป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาว มีความสูงของคลื่นซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ  เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง น้ำตื้นขึ้น ท้องคลื่นก็จะแตะพื้นและถูกยกขึ้นไปตามระดับของพื้นทะเล ยอดคลื่นก็จะสูงขึ้น จนเห็นเป็นหน้าผาน้ำ   ด้วยความที่เป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาว เราจึงเห็นระดับน้ำบริเวณชายหาดลดลง กลายเป็นชายหาดแห้งๆช่วงระยะสั้นๆ ก่อนที่จะเห็นหน้าผาน้ำถล่มทลายเข้ามา

ทราบแล้วเช่นนี้  ก็ต้องมีความสังเกตหน่อยนะครับว่า เมื่อใดที่น้ำมันถูกดึงลงไปจากชายหาดไกลมากขึ้น ก็ให้รู้ไว้ได้เลยว่าคลื่นที่จะซัดกลับมาต่อจากนั้นในเวลาอันน้อยนิดนั้น จะเป็นคลื่นที่ใหญ่กว่าปรกติ และอาจจะม้วนลากเราลงไปในทะเลได้ง่ายๆ     หลักการสำคัญของการหนี tsunami จึงคือการวิ่งขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว

ผมได้เห็นพื้นที่ชายทะเลบางแห่ง (ที่อาจจะเสี่ยงต่อคลื่น tsunami)  เห็นแล้วก็เกิดความกลัว คือ ป้ายบอกทิศทางให้วิ่งหนีไปหาที่สูงนั้น ต้องวิ่งไปตามชายหาดเพื่อไปยังช่องทางขึ้นที่สูง คงไม่ทันแน่ๆเลยครับ  ไปเที่ยวชายทะเลกันก็ดูๆหน่อยนะครับ   ฝั่งอ่าวไทยคงไม่ต้องไปกังวลอะไร  มีแต่ฝั่งอันดามันที่เป็นด้านทะเลเปิดนั้น คงจะต้องระลึกอยู่ในใจเสมอ      


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 14, 19:12
ขออภัยที่หายไปสองสามวันครับ  นั่งคิดและวาดฝันเรื่องราวว่าจะเล่าไปอย่างไร เพื่อให้เรื่องมันง่าย ก็เลยเงิบ กลายเป็นงีบ แล้วก็ติดลมไปสองสามคืนเลยทีเดียว

จากโครงสร้างแบบชายฝั่งทะเลของมหาสมุทรแอตแลนติค  ซึ่งเป็นลักษณะของการกระทำของแรงในลักษณะการผลัก หรือการกางแขนกางขาดันให้กว้างออกไปเรื่อยๆ    ก็มาถึงเรื่องราวของการที่แผ่นดินต่อต้านแล้วฮึดสู้  ก็เลยทำให้เกิดลักษณะของชายฝั่งทะเลแบบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังผลให้ฝ่ายพื้นท้องมหาสมุทรต้องมุดตัวลงไปอยู่ข้างใต้ (ในทำนองเดียวกัน (relatively) ที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเกยอยู่ข้างบน) ซึ่งเรียกลักษณะของสภาพที่เกิดขึ้นนี้ว่า Subduction zone  นี่เป็นรูปแบบหนึ่ง 

ในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือไม่ยอมก้มหัวให้แก่กัน เลยทำให้เกิดชนกันจนย่น กองเป็นภูเขาเลากา ซึ่งเรียกลักษณะของสภาพที่เกิดขึ้นนี้ว่า Collision zone เช่น เทือกเขาหิมาลัย-แอลพ์ (Alpine-Himalayan mountain range)   

แต่หากกลับทางกัน เมื่อชนกันแล้วเกิดกลับกลายเป็นว่าฝ่ายพื้นท้องมหาสมุทรเกิดเกยขึ้นมาทับอยู่บนแผ่นดิน ก็เกืดเป็นสภาพที่เรียกว่า Obduction zone    เทือกเขาร็อกกี้ตอนเหนือที่ต่อเข้าไปในแคนาดาจนถึงอลาสก้าตอนใต้ เช่น Klamath range เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้

สุดท้าย หากสองฝั่งไม่ปะทะกันโดยตรง แต่ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนที่เสียดสีผ่านกัน สภาพดังกล่าวนี้เรียกว่า  Transform fault zone เช่น San Andreas Fault ที่มีแนวพาดผ่านมาตั้งแต่รัฐตอนเหนือของรัฐ Vancouver ของแคนาดา ผ่าน San Fransisco ผ่าน Los Angeles ลงไป   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 14, 13:07
เข้ามาส่งเสียงว่านั่งอยู่หลังห้องนะคะ คุณตั้ง
จะถามอะไรก็ยังนึกไม่ออก  ขอจดเลกเชอร์ไปพลางๆก่อนละกัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 14, 22:56
ขอบพระคุณครับ

ผมยังคิดถึงภาคปัจฉิมบทอยู่ว่าจะเป็นภาพใด  จะเป็นแบบมีคำถามมากมาย ?  จะเป็นแบบ อ้าวจบแล้วเหรอ ?   จะเป็นแบบย่องเงียบแยกย้ายกันไป ?    แต๋โดยเนื้อแท้ของความตั้งใจแล้ว คือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ออกไปให้มากที่สุด

เมื่อครั้งเรียนหนังสือในเรื่องนี้นั้น ยังไม่มี textbook  ใดๆในเรื่องเหล่านี้เลย  ความรู้ทั้งหลายยังกระจัดกระจายอยู่ใน journal  แถมยังเป็น seminar course อีกด้วย   
Prof. ต่างๆบอกว่า ในวงวิชาการจริงๆนั้น  การจะก้าวทันและการที่ยังคงประสงค์จะเรียกตนเองว่าเป็นนักวิชาการในสายนั้นๆ นั้น จำเป็นต้องติดตามอ่านเรื่องราวจาก journal เป็นประจำ จากหลายๆสำนัก หลายๆกลุ่ม   และให้รู้ด้วยว่า ความรู้ที่อยู่ใน textbook ต่างๆนั้น คือความรู้ที่อยู่ใน journal เมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น  เหตุผลสำคัญคือ กว่าจะประมวลเรื่องและเขียนออกมาเป็นเล่มได้นั้น จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี จะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี ในการจัดพิมพ์ ยกร่าง ตรวจทาน ขออนุญาติในเรื่องสิทธิต่างๆ ฯลฯ

ผมได้จดจำและได้นำมาใช้ได้เพียงระยะประมาณ 15 ปีหลังจากจบ จากนั้นก็ค่อยๆห่างจากการอ่านเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจึงรู้ว่าอ่าน journal แล้วตามไม่ทันเรื่องที่เขาทำกัน วิจัยกัน ค้นพบกัน แถมพ่วงด้วยเข้าใจเรื่องน้อยลงๆไปทุกทีๆ ในที่สุดก็ไปอยู่แถวหลัง 
 
ด้วยพื้นข้อคิดที่ได้รับมาจาก Prof. นี้  ตั้งแต่จบมา ผมเลยตั้งใจเป็นฝ่ายให้ ถ่ายทอดออกไป ไม่กั๊กไว้ ก็เพื่อผล 2 ประการ คือ เพื่อให้ตนเองจะได้ไปอ่านไปศึกษาเพิ่มเติม จะได้มีความรู้นำหน้าหนึ่งก้าวอยู่เสมอตลอดเวลา และเพื่อเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นหลัง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปย้อนศึกษาเพื่อสั่งสมความรู้ คนรุ่นหลังจะต้องเก่งกว่าผม เขาต้องรู้มากกว่าผม       

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 14, 23:28
ย้อนกลับไปที่เรื่องของแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าหากันจนเกิดการชนกันบ้าง เกยกันบ้าง มุดกันบ้าง เหล่านี้แหละที่เรียกกันว่า plate tectonics หรือ ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่   

คำว่า tectonic นั้น มีความหมายในเชิงของ กลุ่มของโครงสร้าง (หรือกลุ่มของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น)

เรื่องจากนี้ไป ผมจะพยายามจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นเรื่องของ subduction zone เกือบทั้งหมด อันเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชายฝั่งรอบมหาสมุทรนี้ถูกขนานนามว่า วงแหวนแห่งไฟ (The ring of fire) 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 14, 22:31
เริ่มกันด้วยของกระบวนการเกิดแบบมหาสมุทรแอตแลนติค (ดังที่ได้เล่ามาแล้ว)  คือ มีแผ่นดินแยกตัวออกจากกัน โดยมีหินลาวา (lava) ที่มาจากหินหลอมละลาย (magma) ใต้ผิวโลก ไหลออกมาเข้ามาแทนที่ช่วงว่างระหว่างแผ่นดินทั้งสองฝั่ง 

สรุปว่า ในกรณีดังกล่าวมานี้ เรามีแผ่นเปลือกโลกอยู่ 2 แผ่น แต่ละแผ่นมีชุดหินที่เป็นส่วนของแผ่นดินและก็มีชุดหินที่เป็นส่วนของพื้นท้องมหาสมุทร  ทั้งสองแผ่นเปลือกโลกนี้มีความสัมพันธ์กันตามแนวทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทรซึ่งมีหินลาวาผุดออกมา เป็นลักษณะของ divergent plate boundary
     
เนื่องจากหินที่เป็นองค์ประกอบของส่วนที่เป็นแผ่นดินนั้น มีความถ่วงจำเพาะที่ประมาณ 2.7+/-  ในขณะที่หินของพื้นท้องทะเลมีความถ่วงจะเพาะประมาณ 3.0+/-

หลายเงิบแล้วครับ เลยต้องขอพัก ไปต่อกันในวันพรุ่งนี้นะครับ

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 14, 20:05
มาต่อกันครับ

ความถ่วงจำเพาะ (ถ.พ.) ที่ต่างกันนี้หมายความว่า หินในส่วนที่เป็นองค์ประกอบของพื้นท้องมหาสมุทรย่อมมีมวลที่แน่นกว่าและหนักกว่า เมื่อนำมาเทียบกันในปริมาตรเท่ากันกับหินในส่วนที่เป็นองค์ประกอบของแผ่นดิน  ซึ่งก็คือ หินของท้องมหาสมุทรเป็นหินลาวาที่เย็นตัวแล้ว (หิน Basalt) ในขณะที่หินในแผ่นดินเป็นกลุ่มหินที่คละกันทั้งหินอัคนี (Igneous rocks) หินตะกอน (Sedimentary rocks) และหินแปร (metamorphic rocks)    ผมจะไม่อธิบายต่อนะครับว่าทำไม ถ.พ. จึงต่างกัน เพราะจะต้องใช้วิชาเคมีมาอธิบาย  (อาจจะกลายเป็นต้องไปเล่าเรื่องในวิชาเคมีอีกด้วย)   เอาเป็นว่าของที่มี ถ.พ.ต่ำกว่าย่อมอยู่เหนือของที่มี ถ.พ.สูงกว่า   ดังเช่น เมื่อรินน้ำหวานแดงเข้มข้นลงในแก้วมีน้ำ มันก็จะจมลงไปอยู่ที่ก้นแก้ว

เอาละครับ เมื่อหินของท้องทะเลได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขยายพื้นที่ของท้องทะเลออกไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ด้วย ถ.พ.ที่สูงกว่า ก็เกิดการจมตัวลงไปและไปมุดอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน  ซึ่งเรียกพื้นที่ๆเกิดสภาพการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ว่า subduction zone


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 14, 19:39
กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเล่าว่า แล้วเกิดอะไรขึ้น หรือ แล้วรู้ได้อย่างไร

เอาเป็นว่าไปในเรื่อง แล้วเกิดอะไรขึ้น ก่อนนะครับ

ลองนึกถึงเครื่องออกกำลังกายแบบเดินบนสายพาน   หากเราเอาไม้กระดาน (เสมือนว่าเป็นเปลือกโลกส่วนแผ่นดิน) ไปวางพาดทับไว้บนสานพาน (เสมือนว่าเป็นพื้นท้องมหาสมุทร) ที่ด้านหัวเครื่อง    อนุมาณเอาว่าเป็นภาพบริเวณก้นทะเลตรงรอยต่อชายฝั่งแผ่นดินกับมหาสมุทรนะครับ   สิ่งที่เราจะเห็นและสัมผัสได้ คือ
     - เกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นไม้ และมีการเกิดการสะดุดจนแผ่นไม้กระดอนสูงขึ้นมาเป็นบางครั้ง   ก็เสมือนหนึ่งกับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งก็จะมีแบบขนาดเล็กมากกว่าหลายเท่าของแบบขนาดใหญ่   ในครั้งที่ไม้กระดานกระดอนขึ้นมานั้น ก็คือภาพของตัวการที่ทำให้เกิด tsunami ซึ่งจะเป็นคลื่นใหญ่หรือเล็กเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับแรงและ displacement ที่เกิดจากการสะบัดหรือการกระชา่กในครั้งนั้นๆ
   
ครับ เป็นภาพให้ดูง่ายๆที่สุดเท่านั้นนะครับ เล่าต่อๆไปก็คงจะเห็นว่ามีอะไรที่สลับซับซ้อนอีกมากมาย

ณ ขณะนี้ เอาเป็นว่า รู้ว่าแผ่นดินไหวเกิดแน่   เกิดขนาดเล็กๆบ่อยๆ (earthquake swamp) แน่  มีทั้งรับรู้ได้โดยเครื่องมือหรือรู้สึกได้ด้วยตนเอง   ไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อใด ?   ไม่รู้ว่าจะเกิดแรงขนาดใหน ?   ไม่รู้ว่าจะเกิดที่ใหน ?  ไม่รู้ว่าจะทำให้เกิด tsunami หรือไม่?  แล้วก็อีกไม่รู้มากมาย    มีแต่ ???????????  และก็มีแต่เดา (มีเหตุผลพอเพียงหรือไม่มีเหตุผลใดๆ) หรือเพียงรู้สึกว่าน่าจะ.... 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 14, 11:17
จะว่าเป็นการเดาสุ่มเอาในทุกเรื่องก็ไม่เชิงทีเดียวครับ  แทนที่จะเป็นการเดาแบบมโน   ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็ประมวลองค์ความรู้ที่เกี่ยวพันทั้งมวล (holistic approach)  ทำการแปรการเดาให้เป็นการคาดการณ์ที่มีเหตุผลสนับสนุนในระดับที่รับได้ว่าเชื่อถือได้  คือ ดูทั้งประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ พงศาวดาร เรื่องเล่าถ่ายทอด ฯลฯ เท่าที่มีการบันทึกโดยคน    แล้วก็ไปดูหลักฐานเท่าที่จะหาพบหรือที่บันทึกโดยกระบวนการทางธรรมชาติ ทั้งสิ่งไม่มีชีวิต (เช่น ข้อมูลที่ถูกบันทึกโดยกระบวนการทางธรณ๊วิทยา ฯลฯ) และข้อมูลที่ปรากฎในสิ่งมีชีวิต (เช่น เปลือกหอย ปะการัง การหักล้มของต้นไม้ ฯลฯ)  ทั้งหลายเหล่านี้ก็คือข้อมูลที่ได้มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต (empirical approach)

เพื่อจะคาดการณ์ต่อไปว่าแล้วจะเกิดเหตอีกเมื่อใด คราวนี้ก็ต้องไปใช้ความรู้และข้อมูลในทางทฤษฎี การทดลอง การจำลอง ฯลฯ รวมๆก็คือ ข้อมูล theoretical approach  เช่น วงรอบของเหตุการณ์ (return period)  สิ่งบ่งชี้ก่อนเกิดเหตุการณ์ (อาทิ การผุดออกมาของแกสจากใต้ดิน_in situ gas leak) ฯลฯ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 14, 11:56
ภาพรวมโดยสรุปในขณะนี้ ก็คือ มีแนวแผ่นดินไหวแถวๆกลางมหาสมุทร แล้วก็มีแนวแผ่นดินไหวแถบชายฝั่งทะเลที่มี subduction zone

เมื่อแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรเคลื่อนที่มุดต่ำลงไปใต้ผืนแผ่นดินเรื่อยๆ เกิดการเสียดสีอย่างแรงในบริเวณที่ครูดกัน ก็เกิดความร้อนสูงมากพอที่จะละลายหินในบริเวณที่เสียดสีกันให้หลอมละลาย ซึ่งหินละลายนี้ก็จะค่อยๆแทรกตัวขึ้นมา จนถึงจุดที่พอเหมาะ ก็จะปะทุกลายเป็นภูเขาไฟ (มีทั้งแบบระเบิดเถ้าถ่านออกมาและแบบลาวาไหลออกมา)  ครับก็กลายเป็นเกาะและสถานที่ที่เราชอบไปเที่ยวกัน เช่น เกาะญี่ปุ่น ทิวเกาะของคาบสมุทร aleutian ของอลาสก้า (aleutean arc)  หมู่เกาะตองก้า ฟิจิ  และอีกหลายๆเกาะปะการังต่างๆที่สร้างนิคมอยู่บนยอดภูเขาไฟใต้น้ำ

เกาะภูเขาไฟที่เห็นเป็นทิวอยู่นอกชายฝั่งเหล่านี้ เรียกกันว่า island arc    อาจจะสงสัยว่าทำไมจึงใช้คำว่า arc ซึ่งหมายถึงส่วนของวงกลม  ก็เพราะว่า โลกมันกลม และเส้นตรงบนทรงกลมนั้น สำหรับในแผนที่ที่ใช้ระบบ Transverse Mercator Projection ที่ๆนิยมใช้กันนั้นจะแสดงเป็นเส้นโค้ง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 14, 12:08
island arc เป็นคำเรียกลักษณะทางกายภาพมาแต่เดิม ซึ่งในภายหลังพบว่ามีความสัมพันธ์กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทฤษฎีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่   

ในทางวิชาการแล้ว จะเรียกกันว่า volcanic arc เพราะมันเป็นเรื่องของภูเขาไฟ  ทั้งนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาพเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งเสมอไปอีกด้วย แต่สำหรับพวกที่ยังชีวิตอยู่เราจะพบว่าอยู่ใกล้ชายฝั่งเสมอ (ไกลไม่เกินประมาณ 700 กม.)  ส่วนที่มันตายไปนั้นจะไปพบอยู่ที่ตรงใหนในแผ่นดินก็ได้ครับ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 14, 21:18
ภาษาปะกิตเต็มไปหมดเลยนะครับ  ขออภัยจริงๆ  หลายคำที่แทนด้วยภาษาไทยแล้วอาจจะอ่านแล้วตลกๆ เช่น คำว่า มีชีวิต และ ที่ตายไปแล้ว ซึ่งตรงกับคำว่า active และ inactive

ถึงตรงนี้  ก็สรุปได้อีกว่า ในพื้นที่ของ subduction zone นอกจากจะมีแผ่นดินไหวแล้ว ยังมีภูเขาไฟเกิดร่วมอีกด้วย     

แต่การเกิดแผ่นดินไหวนั้นไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่นี้เสมอไปครับ มีเป็นจำนวนมากพอสมควรเหมือนกันที่เกิดอยู่ในใจกลางทวีป เช่น ในแคนาดา ในอินเดีย ซึ่งเรียกกันว่า intracratonic earthquake   แผ่นดินไหวพวกนี้ เช่น ในตอนกลางของอินเดีย ซึ่งเกิดเป็นแนวขวางในทิศประมาณตะวันออกตะวันตก ก็พอจะบอกแบบเดาๆได้อย่างเลาๆว่า อาจจะกำลังมีการสะสมพลัง ซึ่งจะไปเริ่มกระบวนการบิแผ่นดินให้หักแล้วดันไปกองร่วมกับเทือกเขาหิมาลัยในภายหน้าโน้น.....


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 14, 12:03
เขียน backup เรื่องทางวิชาการไม่ทันเลย  ตอนนี้เกิดมีในยุนนานอีกแล้ว มีทั้งการเสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายมากมาย

เว้นไปเอาเรื่องสดๆร้อนๆในจีนก่อนนะครับ  สั้นๆพอเห็นภาพแล้วค่อยขยายความทีหลัง

เริ่มต้นก็คงมีปัญหาถามว่า แล้วที่ผมบอกไปว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในแผ่นดินในระยะไม่เกินประมาณ 700 กม.จากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น แต่ในครั้งนี้ห่างจากชายฝั่งมากเลย  ???

ครับ ข้อมูลจากการศึกษาทิศทางของสนามแม่เหล็กโลกโบราณ (Paleomagnetic) โดยนักธรณีวิทยาอาวุโสคนไทย อายุใกล้ 80 แล้ว เป็นวิทยานิพนธ์ปรัญญาเอก ที่บรรดานักแสวงหาทรัพยากรพลังงานชาวต่างชาติผู้เข้ามาแสวงหาในพื้นที่ในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทุกสำนักจะต้องอ่าน   บ่งชี้ให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยนั้นเดิมอยู่ติดกับออสเตรเลียในลักษณะด้านขวานชี้ขึ้นไปในทิศเหนือ ในขณะที่แผ่นเปลือกโลก Australian Plate เคลื่อนที่ออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แผ่นดินส่วนที่เป็นแหลมไทยทั้งหมดก็ฉีกตัวออก เคลื่อนไปทางเหนือโดยค่อยๆหมุนกลับหัวกลับหาง แล้วก็ไปชนกับแผ่นดินส่วนที่เป็นจีนตอนใต้และเวียดนาม  บรรดาแนวทิวเขา แม่น้ำ และรอยเลื่อนที่ปรากฎในพื้นที่ย่านฮานอย ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (แม่น้ำแดงของเวียดนาม ก็ไหลอยู่ในร่องรอยเลื่อน) ซึ่งต่อเนื่องผ่านเข้าไปตอนเหนือของลาวและรอยต่อของพม่ากับลาว เข้าไปในยุนนานของจีน ก็เป็นแนวที่ปะทะกันโดยประมาณของสองแผ่นดิน   กิจกรรมการชนและการหมุนนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็เกิดความร้อนมากพอที่จะทำให้เกิดหินหลอมละลายเช่นกัน จึงพบบรรดาหินที่เกิดมาจากหินหลอมลายในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเป็นหย่อมๆ     

สภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่ในอนุภูมิภาคนี้จึงเป็นลักษณะของแผ่นดินชนกัน (collision) เหมือนกัน แต่ในลักษณะขนาดเล็ก (micro plate) ด้วยสภาพของแรงที่สะสมอยู่จากการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ี้นี้ จึงมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น     

ครับเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ในอีกระบบโครงสร้างหนึ่งที่เรียกว่า wrench tectonic  ซึ่งก็พบอยู่ในเมืองไทยของเราเหมือนกัน 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 14, 18:39
เรื่องแผ่นดินไหวในจีนนี้ คงจะต้องรอดูภาพถ่ายในแง่มุมต่างๆให้มากกว่านี้เสียก่อน จึงจะพอถกแถลงในเรื่องต่างๆได้ต่อไปโดยไม่เป็นการเดามากไปจนเกินควร 

สำหรับ ณ.ขณะนี้ ภาพความเสียหายบางส่วนเท่าที่ผมเห็นนั้น ดูจะหนักไปในลักษณะผลจากการผลัก/กระชาก (มากว่าที่จะเป็นผลในทางกระแทกขึ้น/ลง) ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกในบริเวณพื้นที่นั้นที่อยู่ในระบบ (regime) wrench tectinic ดังที่ผมเล่าไว้


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 14, 19:20
กลับมาต่อเรื่องของ plate tectonic ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิกต่อนะครับ

เราไปถึงจุดที่ว่า มีแผ่นเปลือกโลกที่เป็นพื้นท้องทะเล ทำการมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกที่เป็นแผ่นดิน เป็นผลทำให้เกิดแผ่นดินไหว และเกิดภูเขาไฟ เกิดเป็นแนวเกาะ ดังเช่นเกาะญี่ปุ่น

ครับ ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า ในพื้นที่ประมาณกลางมหาสมุทรมีแนวของหินหลอมละลาย (ลาวา) ผุดขึ้นมาและมีแผ่นดินไหวเกิดร่วมอยู่ด้วยในทุกๆวันทุกๆเวลาตลอดระยะเวลานานมากมาแล้ว  (มหาสมุทรแปซิฟิกมีอายุประมาณ 170+ ล้านปี)  ซึ่งดูจะเป็นเรื่องปรกติที่เรียบง่ายและนุ่มนวลในภาพรวมระยะยาว  ทว่าในสภาพจริงนั้น ในบางครั้งก็เกิดเป็นการปะทุขึ้นมาใต้ท้องทะเลจนกลายเป็นภูเขาไฟใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆเคลื่อนที่ห่างออกมาจากแนวกลางมหาสมุทร (ตามกลไกสายพาน_conveyor belt) ไปในทิศทางเข้าหาฝั่ง (เพื่อตามกันไปมุดลงใต้แผ่นดินที่บริเวณ subduction zone)

ภูเขาใต้น้ำเหล่านี้ หากมียอดสูงเรี่ยผิวน้ำ ก็จะมีปะการังไปสร้างนิคม จนเป็นเกาะประการังอันสวยงาม เช่น ที่เรียกว่า atoll (เป็นวงกลมรอบอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ)  หรือบางจุดก็กลายเป็นกลุ่มของหินโสโครกไป
 
    ก็มีข้อเท็จจริงที่เป็นความรู้สึกที่สวนทางกัน คือ จริงๆแล้ว บริเวณน้ำทะเลลึกที่สุดนั้นจะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ลึกหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว เช่น Mariana trench นั้นลึกในระดับประมาณ 8 กม. ในขณะที่จะตื้นลงเมื่อเข้าใกล้กลางมหาสมุทร ระดับประมาณ 2-4 กม. 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 14, 19:45
นอกเรื่องนิดนึงนะครับ

ภูเขาใต้น้ำที่ได้เอ่ยถึงนั้น เนื่องจากเป็นภูเขาหินที่เย็นตัวมาจากลาวา ซึ่งเป็นหินที่มีแร่ที่มีปริมาณของธาตุโลหะในองค์ประกอบสูง จึงยังผลให้เกิดการเบี่ยงเบนของเส้นแรงแม่เหล็กโลก ทั้งในลักษณะนำเข้าหาตัวและผลักออกไป ทำให้เป็นสถานที่นัดพบหรือเป็นจุดอ้างอิงสำหรับเส้นทางการเดินทางของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรหลากหลายเผ่าพันธ์ุเลยทีเดียว





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 14, 18:25
ยังไปไม่ได้ไกลมากเท่าใด ก็มีข่าวเกิดแผ่นดินไหวในพม่าอีก แล้วก็มีข้อสนเทศแสดงความกังวลและให้ระวังรอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ในประเทศไทย ว่าอาจจะขยับเขยื้อนทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้

ก็คงจะมีคำถามว่าแล้วจะเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือเปล่า  ตอบยากครับ มันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันในหลายลักษณะและหลายระดับความเข้มช้น  บางเรื่องก็ทางตรง บางเรื่องก็ทางอ้อม บางเรื่องก็เป็นผลกระทบแบบกระชั้นชิด บางเรื่องก็อยู่ปลายทางห่างไกล 

แผ่นดินไหวในพื้นที่ทิวเขาทางด้านตะวันตกของที่ราบตอนกลางพม่า เกิดมาจากเหตุที่แผ่นทวีปอินเดียชนกับแผ่นทวีปยูเรเซีย (ไทยตั้งอยู่บนแผ่นทวีปนี้) ทำให้เกิดเป็นทิวเขาสลับทับซ้อนกันเป็นแนวต่อเนื่องเข้าไปสู่ระบบทิวเขาหิมาลัย-แอลป์ (Himalayan-Alpine Mountain Chain)

ส่วนที่เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนบนผืนแผ่นดินส่วนต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ลึกขึ้นไปในเขตเขตบังคลาเทศ-พม่าและอินเดียตอนบน มีชื่อเรียกกันว่า Arakan Yoma mountain range   สำหรับส่วนล่างของทิวเขานี้ จะหายไปเมื่อเข้าสู่เขตทะเลแล้วจะไปโผล่อีกครั้งเป็นแนวหมู่เกาะที่เรียกว่า Nicobar Islands  ที่เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของ tsunami ครั้งร้ายแรงในมหาสมุทรอินเดีย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 14, 18:39
ไปต่อเรื่องทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกกันก่อน แล้วค่อยกลับมาเรื่องทางมหาสมุทรอินเดียนะครับ ภาพทางแปซิฟิกจะช่วยทำให้เห็นภาพทางมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายเข้า



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 14, 18:22
สรุปเสียหน่อยในขั้นนี้อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อแผ่นมหาสมุทรเคลื่อนที่มุดแผ่นเปลือกโลก
   - เกิดการติดขัด พอหลุดก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
   - เกิดการเสียดสี ทำให้เกิดความร้อนจนทำให้หินละลายทะลุทะลวงขึ้นมาเป็นภูเขาไฟ

แนวเส้นที่แผ่นทั้งสองพบกันใต้ทะเลในบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรนี้ จะมีลักษณะเป็นร่องหุบเขาลึกมาก เรียกกันว่า trench ซึ่งแต่ละ trench ที่สำคัญก็มีชื่อเรียกเฉพาะตัว เช่น Mariana trench (มีความลึกมากที่สุดในโลก ประมาณ 8 กม.) Japan trench  Java trench และ Philippines trench เป็นต้น 

ที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้นเรื่องนั้น ก็เป็นภาพโครงร่างง่ายๆที่บริเวณพื้นผิวด้านบนของแผ่นเปลือกโลก   แล้วแผ่นเปลือกโลกล่ะ จะหนามากน้อยเพียงใด   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 14, 19:36
ก็มีนักวิชาการ 2 คน คนหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น อีกคนเป็นคนอเมริกัน ต่างคนต่างทำการศึกษาวิจัย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจุดเกิด (epicenter) กับจุดกำเนิด (foci) ของแผ่นดินไหว พบว่า ยิ่งลึกเข้ามาในแผ่นดิน จุดกำเนิดแผ่นดินไหวจะยิ่งอยู่ลึก และมี 2 ระดับความลึกที่เกิดในลักษณะคู่ขนานกัน ในพื้นที่ของกลุ่มจุดเกิดเดียวกัน     

เอาภาพง่ายๆยังงี้ดีกว่าครับ  เหมือนกับเราเอากระดาษสีขาวรีมหนึ่ง (สมมุติเป็นแผ่นเปลือกโลกที่เป็นพื้นท้องมหาสมุทร) ดันให้มันมุดแทรกเข้าไปใต้กระดาษสีฟ้าอีกรีมหนึ่ง (สมมุติว่าเป็นแผ่นเปลือกโลกส่วนที่เป็นแผ่นดิน)   จุดกำเนิดแผ่นดินไหวจะพบอยู่ที่บริเวณส่วนบน (ตามระนาบสัมผัสระหว่างกระดาษทั้งสองรีม) และพบในบริเวณส่วนล่างของกระดาษรีมสีขาว   แผ่นดินไหวทั้งสองระดับนี้ บ่งชี้ถึงความหนาของแผ่นเปลือกโลก บอกเราว่าแล้วมันเคลื่อนที่ลึกเข้าไปเขตของแผ่นดินเพียงใด บอกเราว่ามันหักมันงอมันโค้งเป็นรูปใด บอกเราถึงมุมที่มันมุดตัวลงไป บอกเราว่ามันอยู่ลึกลงไปใต้ดินมากเพียงใด ฯลฯ 

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 14, 18:43
วันนี้เป็น วันแม่ แห่งชาติ  เลยจะขอออกนอกเรื่องไปสักแว๊บหนึ่งในบางทัศนะของผม
 
ไทยเราดูจะเป็นชาติเดียวในโลกที่นับถือและยกย่อง แม่ มากที่สุด และในหลากหลายฐานะอีกด้วย  ซึ่งมีหลักฐานปรากฎเป็นคำนำหน้าอยู่ในคำภาษาไทยอย่างมากมาย อาทิ
   - ในลักษณะผู้สร้าง ก็มีอาทิ แม่ (ที่ให้กำเนิดคน) แม่คะนิ้ง (น้ำค้างเป็นน้ำแข็ง) ฯลฯ
   - ในลักษณะผู้ให้การอุปการะเลี้่ยงดู ก็มีอาทิ ชื่อของแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ส่วนของแม่น้ำยังไม่เริ่มสร้างที่ราบจนผู้คนสามารถเข้าอยู่อาศัยทำมาหากินเลี้ยงชีพยังชีวิตสร้างบ้านแปงเมืองได้ ส่วนของแม่น้ำสายนั้นก็จะยังไม่ใช้คำว่า แม่ นำหน้า แต่จะเรียกด้วยคำอื่น (เช่น ห้วย แคว ลำ) ฯลฯ
   - ในลักษณะผู้ครอบครอง อาทิ แม่พระธรณี แม่พระโพสพ และ ชื่อเรียกสถานที่ต่างๆ (เช่น แม่นาจร แม่จริม แม่กา) ฯลฯ
   - ในลักษณะผู้กำหนด เช่น ที่ใช้เรียกตัวสะกดในคำภาษาไทย (แม่กด แม่กก แม่กน ฯลฯ)
   - ในลักษณะเป็นผู้ที่ยอมรับกันทั่วไป เช่น บรรดาชื่อของน้ำพริกทั้งหลาย ฯลฯ
   - ในลักษณะผู้มีพระคุณ เช่น แม่นม แม่เลี้ยง (แต่จะดีหรือไม่ดีนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
   - ในลักษณะผู้มีอำนาจ เช่น เจ้าแม่ทั้งหลาย ฯลฯ   
      ฯลฯ 

แล้วก็เอามาใช้ในคำสบถ คำอุทาน คำด่าทอ และคำหวานทั้งหลาย เช่น แม่เจ้าโว้ย  แม่มึงซิ  แม่น้องนาง เหล่านี้เป็นต้น

คำพูดฝรั่งที่ใช้คำว่า แม่ ที่ผนวกเข้ามาเพื่อแสดงความหมายในเชิงขององค์รวมนั้น ที่นึกได้ในขณะนี้ คือ คำว่า mother nature     คำนำหน้าที่ใช้เรียกแม่ชีบางระดับในศาสนาคริสต์    คำว่า mother knows how    แล้วก็ที่ใช้นำหน้าเรียกชื่อบรรดาแม่ลูกดกทั้งหลาย (ทั้งคนและสัตว์)

ผู้ชายย่อมยากที่จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งในจิตใจของบุคคลที่เป็นแม่  ในสภาพแวดล้อมปรกติแม่ก็ดูจะเป็นเหมือนคนปรกติทั่วไป แต่ในสภาพไม่ปรกติ ความเป็นแม่จะปรากฎออกมาในอีกรูปลักษณะหนึ่งของการกระทำ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 14, 18:42
กลับมาต่อเรื่องของเราครับ

ผมทิ้งท้ายไว้ว่า แล้วแผ่นเปลือกโลกหนามากน้อยเพียงใด

แผ่นเปลือกโลกที่เป็นแผ่นดินจะหนาในระดับประมาณ 30+ กม.  สำหรับที่เป็นพื้นท้องมหาสมุทรนั้น หากอยู่ในพื้นที่บริเวณแนวภูเขาใต้น้ำกลางมหาสมุทร จะมีความหนาประมาณ 8+/- กม. แต่หากเป็นพื้นที่บริเวณที่มุดตัวลงไปใต้แผ่นดิน ก็หนาถึง 100+ กม.เลยทีเดียว

เมื่อสองแผ่นเคลื่อนที่เข้าหากันแล้วเกิดมุดกันขึ้น แล้วมันจะมุดลึกลงไปเพียงใด

คำอธิบายก็คือ เปลือกโลกเรานั้นมี 2 ชั้น คือชั้นที่เป็นหินแข็ง (Lithosphere) วางทับอยู่บนชั้นที่เป็นหินไหล (Asthenosphere)

ดังนั้นเมื่อมันมุดลงไปผ่านพ้นชั้น lithosphere มันก็จะเลื่อนไหลได้ไม่ยากในชั้น asthenosphere 

ถึงตรงนี้ก็อาจจะเกิดข้อกังขาว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหวล่ะ

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 14, 19:24
ต่อไปอีกสักนิดเสียก่อนครับ

มาถึงตรงนี้ คงจะต้องมโนกันหน่อยนะครับ

เริ่มด้วยความเป็นจริงเรื่องแรก     เมื่อเราเอากระดาษทั้งรีมที่แกะซองออกแล้วมาจับหัวและท้ายดันให้มันโก่งนูนขึ้น (folding)  เราจะเห็นว่ากระดาษที่อยู่ในรีมนั้น เมื่อเรามองไปในทิศทางตามสันของโค้งกระดาษรีมนั้น กระดาษทุกแผ่นที่วางทับกันจะเคลื่อนที่สวนทางกัน (relative movement) ในลักษณะที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ 

เราจะเห็นด้านซ้ายของรีมกระดาษจะมี relative movement อย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าจะเราจะยืนอยู่บนกระดาษแผ่นล่างหรือแผ่นบนก็ตาม เราก็จะเห็นว่ากระดาษอีกแผ่นหนึ่งแผ่นบนเคลื่อนที่ไปทางขวา (dextral movement)   ในทำนองเดียวกัน หากเป็นด้านขวาของรีมกระดาษ ก็จะมี relative movement อีกอย่างหนึ่ง คือ จะเห็นกระดาษอีกแผ่นหนึ่งเคลื่อนไปทางซ้าย (senistral movement)   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 14, 18:46
เอาเรื่อง relative movement ขึ้นมาเพื่อทำให้เห็นภาพของลักษณะการเคลื่อนไหวแบบตามเข็มนาฬิกาและแบบทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งจะโยงไปหาอีกเรื่องหนึ่ง คือ

เมื่อสองแผ่นท้องมหาสมุทรชนกับแผ่นดินชนกันแล้วเกิดการมุดหรือเกยกัน แล้วก็ยังเคลื่อนตัวสวนกันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะได้ภาพคล้ายกับการเอากระดานสองแผ่นมาวางทับซ้อนกันแล้วดันให้มันเลื่อนสวนทางกัน

ข้อมูลแผ่นดินไหว (ซึ่งจะได้ขยายความต่อไป) ได้บอกว่าชั้นพื้นท้องมหาสมุทรนั้น มุดลึกเข้าไปใต้แผ่นดินได้หลายร้อย กม.เลยทีเดียว และเป็นการมุดและเคลื่อนที่เลื่อนไปในชั้นหินที่เป็นของไหล (ชั้น asthenosphere) ซึ่งอยู่ในเขตระดับลึกลงไปตั้งแต่ประมาณ 300 กม.ลงไปจนถึงระดับประมาณ 700 กม.

ก็คือ แผ่นหินพื้นท้องมหาสมุทรที่มีความหนาประมาณ 100 กม.นั้น จะมุดดิ่งลงไปใต้แผ่นทวีปที่เป็นแผ่นดินลงไปที่ระดับประมาณ 300 กม.    แล้วก็เคลื่อนที่ไปพร้อมกับละลายสลายตัวไป (melting) ในชั้น asthenosphere


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 14, 19:30
สำหรับมุมที่แผ่นพื้นท้องมหาสมุทรมุดตัวลงไปนั้น ก็จะอยู่ในกรอบประมาณ 30 - 60 องศา  ซึ่งสอดคล้องกับ____

ต้องออกมานอกเรื่องอีกเล็กน้อย  ครับ ท่านทั้งหลายคงจะเคยเห็นภาพผนังตึกแตกร้าวเป็นแนวทะแยงที่ทำมุมประมาณ 45 องศากับตัวเสา ซึ่งเกิดจากการทรุดของเสาอีกต้นหนึ่งที่เป็นโครงของผนังผืนนั้น     
ภาพรอยร้าวในมุม 45 องศานี้ เราก็จะเห็นได้เหมือนกันในอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งจะเห็นได้ที่ 2 จุด คือ
    - ที่ผนังอาคาร ซึ่งแสดงถึงอาการที่เสาหรือฐานรากของเสาแต่ละต้นนั้นทรุดลงไปไม่เท่ากัน 
    - กับเห็นได้ในตัวเสาเองที่บริเวณรอยต่อของเสา (หรือหัวเสา) ที่รองรับคานของชั้นบนที่วางทับอยู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่เสาต้นนั้นๆแสดงอาการรับน้ำหนักที่กดทับลงมาเกินกำลังของตน

การสำรวจเพื่อประเมินความเสียหายของสิ่งก่อสร้างต่างๆภายหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น โดยเฉพาะการดูว่าโครงสร้างของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้นๆอยู่ในสภาพที่ล่อแหลมต่อการเกิดอันตรายหรือไม่ ก็ดูจากรอยแตกที่เฉียงทำมุมในลักษณะดังกล่าวมานี้ป็นหลัก แล้วไอ้ที่มันจะพังน่ะ มิใช่เกิดจากผลของการไหวในครั้งแรก มันเกิดจาก after shock ต่างหาก  ยึ่งมี after shock แบบนับครั้งไม่ถ้วนก็ดูจะยิ่งน่ากลัวมากขึ้นไปอีก  โธ่ ก็คนร่างกายสมบูรณ์ จับมันเขย่าสัก 100 ครั้งมันก็ยังแย่แล้ว คนป่วยน่ะ เขย่าไม่กี่ครั้งมันก็ตายแล้ว

ก็จะไม่อธิบายให้มากความต่อนะครับ    หากลองพิจารณาดูรอยแตกที่เล่ามาให้ละเอียดลงไปสักเล็กน้อย ก็จะเห็นว่ามันมีร่องรอยเป็นเส้นที่ทำท่าว่าจะเป็นรอยแตกจริงๆ ซึ่งรอยนี้จะทำมุมประมาณ 15 องศากับรอยแตกหลัก  ดังนั้น โดยองค์รวม มุมของรอยแตกร้าวจริงๆก็จะอยู่ที่ประมาณ 30 - 60 องศา     

มุมที่แผ่นพื้นท้องมหาสมุทรมุดตัวลงไปก็อยู่ใระหว่างประมาณ 30 - 60 องศาเหมือนกัน 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 14, 18:19
ก็คงพอจะเห็นภาพได้บ้างแล้วว่า จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวในภาพกว้างๆนั้น พวกที่จัดว่าตื้นจะอยู่ใกล้ๆขอบของแผ่นทวีป และพวกที่จัดว่าลึกนั้นจะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน

นั่นเป็นภาพหนึ่ง   อีกภาพหนึ่ง ก็คือ เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกที่เป็นพื้นท้องทะเลนั้นก็มีความแข็ง มันจึงสามารถดันลึกเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกที่เป็นแผ่นดินในชั้นหินไหล asthenosphere ได้   ดังนั้น จุดเกิดของแผ่นดินไหวจึงอยู่ที่บริเวณผิวทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นเปลือกโลกที่มุดลงไปเกือบจะเท่านั้น

เมื่อเอาสองภาพมารวมกัน ก็จะพบว่า ณ พื้นที่ในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ระดับไปทางตื้นกลุ่มหนึ่ง กับไปในทางลึกอีกกลุ่มหนึ่ง    ข้อมูลนี้เองที่ทำให้เราได้รู้ความหนาของแผ่นเปลือกโลกที่เป็นท้องทะเลที่กำลังมุดตัวลงไป ทำให้รู้มุมที่มันมุดลงไป ทำให้รู้ว่ามันมุดไปได้ลึกมากน้อยเพียงใด ทำให้รู้ว่ามันมุดไปไกลเพียงใด และในเรื่องอื่นๆที่อาจจะต้องกล่าวถึงต่อไป


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 14, 18:45
ก็ด้วยข้อมูลที่รู้ว่า แผ่นเปลือกโลกส่วนที่เป็นแผ่นดินจะหนาประมาณ 30 กม. แผ่นเปลือกโลกที่มุดอยู่จะหนาประมาณ 100 กม. แล้วก็รู้มุมที่มันมุด แล้วก็มีข้อมูลว่าจุดเกิดแผ่นดินไหวลึกๆที่เกิดขึ้นลึกเข้าไปในแผ่นดินนั้น มักจะอยู่ลึกในระดับที่มากกว่า 300+ กม.

ด้วยพื้นของเหตุผลนี้ จึงมีการจัดแบ่งกลุ่มของแผ่นดินไหวขึ้นมา
ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น จึงมักรายงานความลึกของจุดกำเนิดในเบื้องแรกว่า
   อยู่ตื้น = ลึกไม่เกินกว่า 70 กม.(shallow focus EQ)       
   ลึกปานกลาง = ระหว่าง 70 - 300 กม. (intermediate focus EQ)       
   และระดับลึก = ลึกมากกว่า 300 กม.ลงไป (deep EQ หรือ deep seated EQ)





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 14, 18:52
แผ่นดินไหวนี้บอกเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับโลกของเรา

ข้อมูลแรกๆสุดที่เราต้องการนำมาใช้ในโครงการสำรวจดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ต่าง ก็คือ คลื่นแผ่นดินไหว และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์แรกๆสุดที่มีการนำไปวางไว้ก็คือเครื่องวัดแผ่นดินไหว (seismograph)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 14, 19:18
ค่อยๆเล่าเรื่องแบบคลานมา ก็เพื่อให้ได้มีโอกาสย่อยข้อมูล เกิดเป็นภาพต่างๆขึ้นมา 

ถึงตอนนี้ก็คงพอจะทำให้ได้ทราบแล้วว่า  เมื่อได้รับข่าวว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม  เราก็พอจะประเมินความรุนแรงและความเสียหายในเบื้องต้นได้     รู้ว่าว่าเราไม่สามารถใช้ข้อมูลขนาด (magnitude) ได้เพียงอย่างเดียว   เราต้องรู้ความลึกของจุดกำเนิด (focus) อีกด้วย   นอกจากนั้นก็ต้องรู้ตำแหน่ง รู้ภูมิศาสตร์สังคม (social geography) ก็คือรู้จักพื้นที่ คน วัฒนธรรม ฯลฯ จึงจะประเมินอะไรต่อมิอะไรได้อย่างค่อนข้างจะใกล้เคียง  (จะทำเรื่อง Mitigation ให้ได้ผล ก็ต้องรู้เรื่องเหล่านี้แหละครับ  หากมีโอกาสก็จะชแว๊บไปสักเล็กน้อย  ;D)
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 14, 18:33
ขออนุญาตหายหน้าไปถึงสิ้นเดือนครับ

ในช่วงนี้ แผ่นดินไหวที่เชียงรายก็ยังคงไหวอยู่เช่นเดิม ชาวบ้านก็เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น ความตระหนกตกใจต่างๆก็เบาบางลงมากๆแล้ว ถึงระดับที่อาจจะกล่าวได้ว่าพอจะนอนอยู่กับมันได้แล้วครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 14, 18:58
ชาวเรือนไทยจะรอจนคุณตั้งกลับมาค่ะ    ตอนนี้ แผ่นดินไหวไม่ค่อยเป็นข่าวแล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 21:20
แผ่นดินไหวขนาด 6.0   ที่ Napa,California  ไม่กี่วันมานี้เอง

Magnitude 6.0 EARTHQUAKE moment in California, USA | 08 - 24 - 2014 (http://www.youtube.com/watch?v=CBGTWY6DGwc#ws)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 21:22
Earthquake inside Napa Pet Food Express store 8/24/14 (http://www.youtube.com/watch?v=tO_o9kcgkeg#)


Worst earthquake in 25 years rocks California (http://www.youtube.com/watch?v=GfLfR-J8tzQ#ws)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 14, 20:02
หนีแผ่นดินไหวไม่ทันเลยครับ  เกิดกระจายทั่วไปหมด รวมทั้งภูเขาไฟหลายแห่งก็จ่อจะแสดงการพ่นควันหรือพ่นไฟพร้อมกันไปด้วย  ยังไงก็ตาม ก็จะขอเดินเรื่องตามที่วางไว้ต่อไปก่อนนะครับ

ถึงขั้นนี้ เราได้รู้แล้วว่า  โลกเรานั้นมีเปลือกโลกเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา จากการผุดขึ้นมาแล้วแผ่ขยายออกไปของหินละลายพื้นท้องมหาสมุทร   ซึ่งการแผ่ขยายนั้นออกไปในทิศทางเข้าหาแผ่นดิน ทำให้เกิดแรงดันกันมหาศาลที่บริเวณรอยต่อของแผ่นดิน (ทวีป) กับพื้นท้องมหาสมุทร 

จะอธิบายต่อไปแบบใช้มโนนะครับ

เอากระดาษรีมทั้งรีมแล้วทำเครื่องหมายส่วนที่เป็นฐานด้านล่างและส่วนที่เป็นด้านบน แล้วเอามาดันกับหนังสือ textbook (เล่มหนาและใหญ่หน่อย) บนโต๊ะ  กระดาษทั้งรีมเป็นตัวแทนของแผ่นดินซึ่งมีความถ่วงจำเพาะเบากว่า หนังสือเป็นตัวแทนของแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรซึ่งมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่า เราจะเห็นว่ากระดาษรีมทั้งรีมนั้นโก่งขึ้น เราเรียกภาพของการโก่งนี้ว่า fold หรือ folding (fyi = for your information คือ โก่งขึ้นในลักษณะโก้งโค้ง เรียกว่า anticline และหากโก่งแบบหงายก็เรียกว่า syncline)    ถ้าเราดันต่อไปอีก กระดาษทั้งรีมก็จะโก่งโย้ไปในทิศทางทับอยู่เหนือหนังสือ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 14, 21:44
คราวนี้เราจะเปลี่ยนวัสดุจากกระดาษที่ fold ไปวางทับอยู่บนหนังสือ ไปเป็นขนมชั้น (ทั้งถาด) ที่วางโค้งอยู่ในรูปทรงเดียวกัน  แล้วก็เปลี่ยนหนังสือไปเป็นขนมข้าวเหนียวแก้ว (ทั้งถาด)

เมื่อเราเอากำปั้นดันใต้ขนมทั้งสองชนิดที่ทับกันอยู่นี้ให้นูนขึ้นมา  เราก็จะเห็นเส้นแนวสันของ fold เปลี่ยนเป็นเส้นโค้งบนผิวที่นูนขึ้นมา  เราจะเห็นแนวรอยยืดของขนมชั้นในแนวประมาณตั้งฉากกับแนวสันของ fold  ซึ่งหากเราดันขนมชั้นต่อไปอีก เราก็จะเห็นรอยปริตามแนวสันของ fold และเห็นฐานของขนมชั้นส่วนหนึ่งจะเคลื่อนที่ทับฐานของขนมอีกส่วนหนึ่ง เป็นแนวระนาบที่วางตัวประมาณขนานกับผิวของขนมข้าวเหนียวแก้ว    พร้อมๆกันนี้ก็จะเห็นขนมชั้นในพื้นที่ตรงกลางเคลื่อนที่ไปไกลกว่าส่วนที่อยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน เกิดเป็นริ้วของแนวประมาณตั้งฉากกับแนวสันของ fold

เล่าให้เกิดมโนเสียยืดยาว หากจะงงไปก็ขออภัยด้วย  ก็เพียงเพื่อจะให้เห็นภาพของการเคลื่อน_movement ต่างๆ ว่า มันมีความสัมพันธุ์กัน (relative movement)อย่างไร  บ้างก็เป็น fold บ้างก็เป็นรอยเลื่อนชื่อต่างๆกัน อาทิ
     - รอยเลื่อนที่เป็นระนาบค่อนข้างราบ ซึ่งในกรณีของภาพมโนนี้ คือระนาบราบตามแนวสันของ fold  เรียกว่า thrust fault
     - รอยเลื่อนที่เกิดตามแนวประมาณตั้งฉากกับแนวสันของ fold  เรียกว่า strike-slip fault
     - รอยเลื่อนที่เกิดจากการฉีกขาดบนพื้นผิว (เนื่องมาจากความแตกต่างของความเร็วของเคลื่อนที่ของขนมขั้นบน/ล่าง ซ้าย/ขวา) มักจะเป็นรอยเลื่อนที่เรียกว่า normal fault
      - นอกจากรอยเลื่อนแล้ว ก็ยังมีความแตกต่างของการเคลื่อนที่ของขนมแต่ละชั้นที่มีคุณสมบัติต่างกันอีกด้วย เรียกรวมๆว่า bedding-plane slip
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 14, 21:54
ค่อยๆคิดตามนะครับ

ก็คงจะพอเห็นและพอจะทราบได้แล้วว่า คู่หูตุนาหงันระหว่าง fault กับ earthquake นั้น มันมีลักษณะเฉพาะตัวของมัน แต่ละตำแหน่งที่มันอยู่นั้น มันสร้างแผ่นดินไหวได้ไม่เหมือนกัน ทั้งในด้านของขนาด ในด้านของความรุนแรง ในด้านของความบ่อย และในด้านของช่วงเว้นระยะ ฯลฯ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 14, 22:10
ทราบกันมาแล้วว่า พื้นที่รอบๆมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นวงแหวนแห่งไฟ  ซึ่งคำว่า Ring of fire นี้ใชักันใน 2 ความหมาย คือ มีความรุนแรงทางธรรมชาติ (ภูเขาไฟและแผ่นดินไหว) ที่มีความรุนแรงเกิดอยู่เป็นวงรอบ (คล้ายตามขอบวงแหวน)   กับ ในอีกความหมายหนึ่งคือ พื้นที่ในวงรอบของมหาสมุทรแห่งนี้ เป็นดงแห่งจุดความร้อน (hot spot)ใต้ผิวโลก อันเป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นที่ทั้งมหาสมุทรไม่นิ่งสงบ มีทั้งเกิดงอกแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรใหม่ มีแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรถูกทำลาย (มุดตัวลงไป)กลางมหาสมุทรก็มี บริเวณชายฝั่งก็มี  มีภูเขาไฟและแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั้งใต้น้ำและขอบชายฝั่งอยู่ตลอดเวลา 

กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ Napa County ใน California นั้น ก็เป็นพื้นที่ๆอยู่ในเขตได้รับผลการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการเคลื่อนไหวของระบบรอยเลื่อน San Andrea  ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่เป็นแบบ transform fault ที่เกิดต่อเนื่ิองจากทะเลเข้ามาพาดผ่านในแผ่นดิน

ทำให้นึกถึง Menlo Park Science Center ใน Mateo County ใน California อยู่ไม่ห่างจาก San Francisco มากนัก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ติดตาม ศึกษา วิจัย ที่สำคัญด้านวิชาการธรณ๊วิทยา โดยเฉพาะเรื่องของแผ่นดินไหวจากกลุ่มรอยเลื่อน San Andrea ศูนย์นี้เป็นแหล่งข้อมูลและวิชาการด้านแผ่นดินไหวที่สำคัญ โครงการสำคัญที่ทำกันมาเป็นเวลานานมากแล้ว คือ การพยากรณ์และความแม่นยำในการเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดไหวให้ได้นานพอที่ผู้คนสามารถหลบไปอยู่ในที่ๆปลอดภัย    ก็เป็นเรื่องในมิติของ mitigation ที่สำคัญมากๆ 





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 14, 22:18
Ring of fire


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 14, 18:45
จากนี้ คงจะต้องมโนมากขึ้นอีกสักหน่อยครับ

เมื่อแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรเคลื่อนที่มุดลงไปใต้แผ่นดินลึกลงไปใน Asthenosphere  ถึงระดับหนึ่งมันก็จะไม่ดำดิ่งลึกลงไปต่อไป เพราะว่าความถ่วงจำเพาะของเนื้อของแผ่นพื้นมหาสมุทรนั้นน้อยกว่าความถ่วงจำเพาะของมวลของ Asthenosphere   มันจึงลอยและเคลื่อนที่อยู่ในระดับราบ แล้วก็ถูกดันเข้าไปใต้แผ่นดินไกลมากขึ้นๆเรื่อยๆ

ผลของการเคลื่อนที่แบบดันและด้นไปเรื่อยๆนี้ ทำให้เกิดผลในสามสภาพ คือ

     1). ในพื้นที่บริเวณที่แผ่นสองแผ่นชนกันแล้วมีการมุดเกยกัน
            - อาจจะเกิดภูเขาไฟเป็นทิว (เนื่องจากการเสียดสีกันจนเกิดความร้อนสูงมากจนหินละลาย) เช่น หมู่เกาะญี่ปุ่น หมู่เกาะ Aleutian ของอลาสก้า
            - อาจจะเกิดกลุ่มทิวเขาสูงชัน (เนื่องจากการดันด้นกัน บีบกันจนโก่งขึ้นมา) เช่น กลุ่มเทือกเขา Klamath ตลอดพื้นที่ทางตะวันตกของแคนาดา
            - อาจจะเกิดเทือกเขาหินแกรนิต / แกรโนไดโอไลต์ (Granite / granodiorite) ที่สูงชันและกว้างขวางเป็นทิวยาวมากๆ (เนื่องจากเกิดการหลอมตัวของหินในแผ่นดินหรือตะกอนจากแผ่นดิน แล้วดันตัวนูนออกมา) เช่น เทือกเขาแอนดีสทั้งหมดในทวีปอเมริกาใต้ 
           
โครงสร้างทางธรณีวิทยาในพื้นที่ดังกล่าวนี้ จัดเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นโดยตรงจากผลของการชนกัน มุดกัน เกยกัน ของแผ่นทวีป  เรียกกันว่าเป็นกลุ่ม Synthetic structures  จัดเป็นกลุ่มที่เกิดด้วยพลังสูง แล้วก็มีพลังสะสมอยู่ในแต่ละตัวเองสูงอีกด้วย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 14, 19:02
granodiorite?


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 14, 19:28
     2). เมื่อแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรดันลึกเข้าไปใต้แผ่นดินเป็นระยะไกล (หลายร้อยกิโลเมตร)  มันก็เกิดสภาพของการชำแระ (หรือ slide) ก้อนเนื้อด้วยมีอทื่อ  กล่าวคือ ในระยะสองสามเซนติเมตรของการแล่เนื้อ มีดก็ยังคงคมดูดีที่จะตัดเนื้อให้ขาดออกเป็นแผ่น พอตัดลึกเข้าไปก็จะเริ่มตัดเนื้อให้ขาดได้ยากมากขึ้น  เราจะเห็นว่าเมื่อมีดแล่ลึกเข้าไป แทนที่มันจะตัดขาดเนื้อโดยเร็ว กลับกลายเป็นว่ามันไปดันเนื้อให้ยืดออกไปจนเราสามารถเห็นรอบุ๋มเป็นแอ่งบนผิวเนื้อได้ชัดเจน (ระหว่างคมมืดกับสันมีด)  

เมื่อเกิดการมุดกันของแผ่นทวีป สภาพเช่นนี้ก็เกิดในธรรมชาติได้เหมือนกัน เราจึงได้เห็นในหลายพื้นที่ของชายขอบทวีป (แผ่นดิน) จะเป็นที่ราบชุ่มฉ่ำที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพเป็นแอ่งระหว่างเทือกด้านในลึกเข้าไปในแผ่นดิน กับ เทือกเขาที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล หรือกับเกาะนอกชายฝั่งที่อยู่เป็นทิว เป็นแนว      พื้นที่เช่นนี้มีความสำคัญในทางภูมิศาสตร์สังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่สำคัญ ก็มีอาทิ ทะเลจีนใต้ ทะเลญี่ปุ่น และรวมทั้งอ่าวไทยด้วย เป็นต้น  

พื้นที่ๆเกิดเป็นแอ่ง (basin) เหล่านี้ เกิดมาจากการยืดตัวของเปลือกโลก  แต่ก็มีหลายกรณีที่กลายเป็นการเริ่มต้นของการขยายตัวออกไปของพื้นท้องทะเล (ในกระบวนวิธีของมหาสมุทรแอตแลนติค) เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของ seafloor spreading เช่นกรณีของทะเลอันดามัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 14, 19:52
ครับอาจารย์ คงเป็นตามภาพนั้น  จริงๆแล้วคงจะจำแนกจากการดูภาพได้ยากมากครับ 

หิน granodiorite นั้นเป็นหินครึ่งทางระหว่างหินแกรนิต กับ หินไดโอไรต์ จำแนกก้นได้ด้วยการดูปริมาณของแร่ประกอบหินว่ามีแร่พวกที่มีธาตุเหล็กและแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบในเนื้อแร่อยู่มากน้อยเพียงใด 

ตัวอย่างของหินแกรนิตที่ชัดเจนมากๆ น่าจะดูได้จากหินที่ปูพื้นถนนในพระบรมมหาราชวัง   ส่วนหินไดโอไรต์นั้นก็ดูได้จากหินที่แกะสลักเป็นยักษ์และสิงห์โตที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าต่างๆ   

อ้อ ในอีกทางหนึ่งครับ ครกหินของเก่าๆที่นำเข้ามาจากจีน ก็เป็นหินไดโอไรต์ทั้งนั้น  ส่วนครกอ่างศิลานั้น ทำมาจากหินไนส์ก็มี (Gneiss) ทำจากหินแกรนิตก็มี แถมทำมาจากแกรนิตสีชมพูก็มีเหมือนกัน   

ความต่างที่สำคัญของครกที่ทำจากหินสองชนิดนี้ คือ หินไดโอไรต์เป็นหินที่มีเนื้อเหนียวมาก ตำน้ำพริกแล้วเกือบจะไม่รู้สึกว่ามีทรายปนทำให้เคี้ยวกรอบแกรบเลย ในขณะที่ครกจากหินอื่นๆเมื่อตำแล้วจะมีกากทรายปนมาด้วย
 

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ก.ย. 14, 21:17
ติดตามอยู่เงียบๆข้างหลังห้องเรียน จนผ่านมาถึง 264คห. ผิดสังเกตว่าภาพประกอบส่วนใหญ่มาจากอ.เทาชมพูแลท่านอื่น ของอ. Nai Tang แทบไม่มีเลย ทั้งที่เป็นเจ้าของกระทู้น่ะครับ ???


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 14, 19:31
ครับผม

เป็นข้อสังเกตที่ถูกต้องครับ 
แต่เดิมก่อนที่จะเปิดกระทู้นี้ก็คิดอยู่ว่า แล้วจะไปหาเอาภาพอะไรมาแทรกบ้าง ซึ่งก็ได้เห็นว่ามันก็ดูจะเป็นภาพที่คุ้นๆกันที่เมื่อใดก็ตามเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ก็จะได้ฟังคำอธิบายและภาพในลักษณะเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพตัดขวางของเปลือกโลก แผนที่ภูมิศาสตร์ทั่วไป แผนที่แสดงความสูงของพื้นพิภพ ฯลฯ 
ปัญหามันมาอยู่ที่ตัวผมเองว่า ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะจัดการกับภาพเหล่านั้นให้ได้ดั่งที่ต้องการเพื่อนำมาแสดงตามประสงค์ โดยไม่ต้องเสียเวลามากมายคลำทางลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ    ก็พอจะเข้าใจตรรกะและ algorithm ของโปรแกรมต่างๆอยู่ครับ แต่ทำให้เร็วดังใจคิดไม่ได้ แถมยังลืมเส้นทางที่ทำได้แล้วเสียอีกด้วย
ก็เลยเห็นว่า สนใจอ่านไป ก็จะมีมโนที่อยากรู้เพิ่มเติมดังจรวด ก็คงจะต้องลงไปท่องเน็ต ซึ่งก็จะเห็นภาพต่างๆเหล่านั้นเอง

อนึ่ง เรื่องทั้งหลายที่เล่ามานี้ เป็นภาพที่เกิดต่อเนื่องเกี่ยวพันและโยงใยกันในทั้งสามมิติ ผนวกกับเรื่องของกรอบเวลา และเรื่องของคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมี  (เป็น Open system)    ผมอธิบายไปเขียนไปบนกระดานดำได้ แต่พอต้องใช้ software แทนมือ เลยไปไม่รอดครับ

ขออภัยท่านผู้สนใจทุกท่านจริงๆครับ
ขอบคุณคุณ Jalito ที่ให้ข้อสังเกต
และขอขอบพระคุณ อ.เทาชมพู เป็นอย่างมาก ที่ได้กรุณาแทรกภาพต่างๆ

ครับผม   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 14, 20:02
ดิฉันอยากหาภาพประกอบมาช่วยคำบรรยายของคุณตั้ง ถ้าเห็นภาพจะได้ดูง่ายขึ้นค่ะ  เพราะคนไม่ได้เรียนธรณีวิทยา ก็นึกไม่ออกว่าหินชนิดไหน หน้าตาเป็นยังไง   จึงเดาสุ่มผิดบ้างถูกบ้าง
คุณตั้งต้องการภาพอะไร ช่วยบอกมาได้ไหมคะ  จะได้เลือกภาพได้ถูก

ตัวอย่างของหินแกรนิตที่ชัดเจนมากๆ น่าจะดูได้จากหินที่ปูพื้นถนนในพระบรมมหาราชวัง   ส่วนหินไดโอไรต์นั้นก็ดูได้จากหินที่แกะสลักเป็นยักษ์และสิงห์โตที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าต่างๆ     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ก.ย. 14, 07:46
ขอบคุณทั้งสองท่านครับ
คือกระทู้ก่อนๆของอาจารย์naitangก็มีภาพแทรกเป็นปรกติ
มากระทู้นี้ท่านไม่ได้แทรกภาพหรือชาร์ตไว้ เลยสงสัย
ทุกกระทู้ของท่านมีสาระน่าติดตามอยู่แล้ว ข้อมูลทางด้านgeo สามารถค้นเสริมจากแหล่งอื่นได้ไม่ยาก หากอยากรู้เพิ่มเติม
ขอบคุณครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 14, 22:57
ที่จริงแล้ว ขอแย้มว่า หลายๆช่วงของกลไก (mechanism) ที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เล่ามานั้น เกือบจะเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในเฉพาะใน journal ทางวิชาการจำเพาะเฉพาะสาขา  เรื่องที่ผมเล่ามาในกระทู้นี้ ผมได้พยายามย่อยลงจนดูคล้ายจะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมากนัก
 
ครับ   ก็ด้วยความเข้าใจในความสัมพันธุ์และการเห็นภาพต่อเนื่องที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ในทุกมิติ แบบ open system นี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติในทั่วโลกอีกมากมายตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา  (เชื้อเพลิงธรรมชาติ แหล่งเพชรอุตสาหกรรม ทองคำ seabed and sub-seabed resources ฯลฯ) แล้วยังเป็นต้นเหตุของเรื่องระหว่างประเทศหลายๆเรื่อง (ความมั่นคง ข้อจำกัด เงื่อนไข กติกา ความตกลง และความขัดแย้งต่างๆ) อาทิ กรณีหมู่เกาะ Spratly  เขตน่านน้ำเศรษฐกิจ   กฏหมายทะเล และแม้กระทั่งชื่อทางภูมิศาสตร์และชื่อสถานที่

เชื่อใหมครับว่า ในคณะเจรจาความเมืองและความตกลงทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และระดับกลุ่ม (plurilateral) ในหลายๆเรื่อง ในหลายๆประเทศและรวมถึงประเทศรอบบ้านเรานี้เอง จึงมักจะมีคนที่เรียนมาหรือเรียนจบทางธรณีวิทยาปรากฎอยู่ในคณะทำงานหรือในคณะเจรจา


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 14, 20:10
ต่อครับ

เป็นอันว่า เมื่อแผ่นพื้นท้องมหาสมุทรมุดตัวลงไปใต้แผ่นดิน ก็ทำให้เกิดทิวเกาะภูเขาไฟ เกิดทะเลระหว่างทิวเกาะกับแผ่นดิน หรือแอ่งระหว่างแผ่นดินชายฝั่งกับผืนแผ่นดินใหญ่ภายใน     อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว  จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเร็วในการมุดตัวสูง หากเป็นความเร็วน้อยก็จะให้อีกภาพหนึ่ง คือ ไม่มีการสร้างแอ่ง จะมีแต่การอัดกันจนโก่งนูนขึ้นมาเป็นเทือกเขาบริเวณชายฝั่งทะเล

ย้อนกลับไปยังภาพที่เกิดขึ้นกรณีมีอัตราการมุดตัวเร็วสูง  นอกจากจะเกิดโครงสร้างทางธรณีฯในพื้นที่ๆที่มุดตัวกัน (เนื่องมาจากแรงดันอัดกัน) ที่เป็น synthetic structures     เกิดการยืดออกของพื้นที่บริเวณชายฝั่งและพื้นที่ด้านใน (เนื่องมาจากแรงดึงยืดออกจากัน)   แล้วก็ยังเกิดโครงสร้างอันเนื่องมาจาก

หยุดเว้นวรรคนิดนึงครับ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 14, 18:14
ต้องขออภัยอีกแล้วครับ เว้นวรรคไปนานหน่อย   ข้อแก้ตัวก็คือ พอกลับมาจะเขียนต่อ net มันก็เกิดไม่อำนวยให้ เลยต้องยกยอดมาครับ

ครับ โครงสร้างในอีกบริเวณหนึ่งที่จะกล่าวถึงนี้ เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่อยู่ใต้แผ่นดินนั้น มันไปดันให้แผ่นดินที่อยู่ลึกเข้าไปไกลจากชายฝั่ง (มากโขอยู่) เกิดการบดอัดกัน ทำให้เกิดโครงสร้างอีกชุดหนึ่งที่ไม่ใด้เกิดจากผลโดยตรงเช่นเดียวที่เกิดในบริเวณแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นมุดกันเกยกัน

เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ   ภาพใหญ่ๆก็เสมือนหนึ่งเราเอาหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้วสัก 100 ฉบับ มาตั้งเรียงกันให้สันพับของหนังสือพิมพ์อยู่ด้านเดียวกัน จากนั้นแบ่งตั้งหนังสือพิมพ์นั้นออกเป็นสองส่วน เอาหนังสือพิมพ์ของแต่ละส่วนมาวางทับซ้อนเรียงกันบนพื้นห้อง เอาทั้งสองส่วน (ด้านปลาย) มาวางชนกันโดยให้ด้านสันผินไปในทิศตรงข้ามกัน  เราก็จะเห็นภาพโครงสร้างแบบ fold (พับของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ) เห็นภาพรอยเลื่อนแบบ thrust fault (ระนาบที่หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับวางทับซ้อนกัน) เราจะเห็นแอ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสองกลุ่มโครงสร้าง (แอ่งระหว่างสันพับของหนังสือพิมพ์ 2 กอง) เราจะเห็นภาพของโครงสร้างทั้งสองฝั่งคล้ายกัน มีเส้นตามแนวสันขนานกัน แต่ระนาบของโครงสร้างเอียงเทไปในทิศต่างกัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 14, 19:02
โครงสร้างด้านที่มีการมุดตัว เรียกกันว่าเป็น synthetic structures (เกิดจากสภาพการบดอัดกัน   เป็น pressure regime)      ส่วนโครงสร้างอีกฝั่งหนึ่งเรียกกันว่า antithetic structures  (ก็เกิดจากการอัดดันกัน   เป็น pressure regime เช่นกัน)       ตรงกลางระหว่างสองชุดโครงสร้างนี้ เกิดเป็นแอ่ง (เกิดจากการดึงให้ยืดออก   เป็น extension regime)

โดยสภาพดังกล่าวนี้ ก็พอจะเดาได้แล้วนะครับว่า เมื่อโครงสร้างเหล่านี้เคลื่อนไหวแล้วทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็จะต่างกัน  แผ่นดินไหวในกลุ่มโครงสร้าง synthetic structure ย่อมมีความรุนแรงกว่ากลุ่ม antithetic structure   และซึ่งแผ่นดินไหวใน extension regime ก็จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเพื่อน 

แต่ก็ต้องดูด้วยว่า จุดกำเนิดนั้นอยู่ลึกหรือตื้น     แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (ตาม Richter scale) แต่อยู่ลึกก็อาจไม่สร้างความเสียหายใดๆในเชิงของ intensity เลย   ต่างกับแผ่นดินไหวขนาดปานกลางหรือเล็กแต่อยู่ตื้น กลับจะสร้างเสียหายที่รุนแรงได้ (ตาม Modified Mercalli Intensity Scale)

สำหรับประเทศไทยเรานั้น อาจจะกล่าวได้ว่า เราอยู่ในพื้นที่ๆมีความเสี่ยงภัยกับแผ่นดินไหวในระดับต่ำ  กระนั้นก็ตามเราก็อยู่ไม่ห่างไกลมากนักจากแนวที่เรียกว่า super earthquake zone ซึ่งอยู่ในพม่า


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 14, 18:04
เราได้ภาพในแนวกว้างๆของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นมุดตัวกันเกยกันแล้วว่ามีภูเขาไฟเกิดขึ้นเป็นทิว (arc)  ทิวภูเขาไฟนี้เกิดได้ทั้งนอกชายฝั่งทะเล (เป็นทิวเกาะ) และเกิดได้บนชายฝั่ง (เช่นกรณีของภูเขาไฟ Mt. St.Helens อยู่ทางใต้ของเมือง Seattle ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ)

ในความเป็นจริงแล้ว ตามแนวมุดกันเกยกันนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีภูเขาไฟเกิดขึ้นเสมอไป  ในกรณีที่ความร้อนไม่มากพอที่จะลายลายหินจนกลายเป็นของเหลวที่ะพ่นออกมา  มันก็มีความร้อนมากพอที่จะทำให้หินอ่อนตัวจนเป็นของไหลได้ จนเกิดการผสมกันของหินชนิดต่างๆ แล้วดันปูดขึ้นมาอยู่ใต้ผิวดิน กลายเป็นเทือกเขาหินแกรนิต-แกรโนไดโอไรต์ ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว

ย้อนเล่ามาก็เพื่อเป็นฐานที่จะอธิบายต่อไปในเรื่องขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหวในอีกความสัมพันธุ์หนึ่งครับ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 14, 18:08
Mt. St.Helens


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 14, 18:52
ย้อนกลับไปเรื่องคลื่นแผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่งว่า มีอยู่ 4 ชนิด คือ  primary wave (P wave หรือ pressure wave)   secondary wave (S wave หรือ shear wave)  Love wave และ Rayleigh wave   สองคลื่นแรกเป็นพวกโยกเยก สองคลื่นหลังเป็นพวกโยกคลึง  เรามักให้ความสนใจกับคลื่นสองชนิดแรก เพราะดูว่ามันเป็นชนิดที่สร้างความเสียหายสุดๆ   แท้จริงแล้ว คลื่นสองชนิดหลังเป็นตัวช่วยเสริมให้เกิดความพินาศอย่างรุนแรง

คลื่น primary wave เป็นคลื่นที่เดินทางด้วยความเร็วมากกว่าคลื่นชนิดอื่นๆ และยิ่งมีความเร็วมากโดยเฉพาะในหินที่มีเนื้อแน่นและเป็นเนื้อเดียวกัน คือ ประมาณ 4000 - 5000 ม./วินาที  แต่เดินทางไปไม่ไกลมากนักเนื่องจากพลังงานถูกดูดซับไปอย่างรวดเร็ว

คลื่น secondary wave เดินทางด้ายความเร็วประมาณครึ่งหนึ่งของคลื่นแรก  ส่วนคลื่นสองชนิดหลังเดินทางด้วยความเร็วน้อยกว่าคลื่น S wave เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เอาเป็นภาพง่ายๆว่า คลื่นแรกมีลักษณะเป็นการกำหมัดต่อยตรงเปรี้ยงไปเลย คลื่นที่สองเป็นหมัดฮุกที่ตามมา ส่วนคลื่นที่สามและสี่เป็นการเตะและเข่า  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 14, 19:17
หากไม่กำยำล่ำสันพอ แล้วจะทนยืนอยู่ได้หรือ ?

เราจึงเห็นสิ่งก่อสรัางที่คำนึงถึงแผ่นดินไหว (แบบธรรมดาๆ) 
    - มีส่วนฐานกว้าง เช่น ความกว้างของส่วนฐานของเขื่อนต่างๆ
    - มีส่วนฐานหยั่งลึกอยู่ในดิน (มีชั้นใต้ดินหลายชั้น)
    - มีผนังบางด้านของอาคารเป็นแผ่นทึบ
    ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 14, 19:47
กลับมายังเรื่องคลื่น เพื่อจะบอกว่า คลื่นใดๆก็ตาม นอกจากมันจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนที่ห่างออกจากจุดแหล่งกำเนิดของมันแล้ว ความมีพลังของมันก็จะลดลง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวกลางนั้นๆที่มันวิ่งผ่านไป  คำศัพท์ที่ใช้กัน คือ attenuation ซึ่งหมายถึงการดูดซับ

โดยภาพรวมๆ ก็คือ
     - คลื่นที่วิ่งผ่านหินที่มีเนื้อเป็นมวลเดียวกัน ย่อมเดินทางไปได้ไกลกว่าและนำพาพลังไปได้ไกลมากกว่า ส่งผลให้เกิดผลกระทบ (หรือความเสียหาย) ใกล้เคียงกันในระยะของรัศมีเดียวกัน (เกิดผลเป็นทรงกลม)        ดังนั้น ในพื้นที่ๆเป็นทิวเกาะภูเขาไฟ หรือที่เป็นทิวเขาหินแกรนิตชายขอบของแผ่นทวีป เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ความสั่นสะเทือนจึงสามารถรับรู้ได้ในระยะทางที่ไกลจากจุดกำเนิดมาก และจะมีระดับความเข้มขัน (ตาม intensity scale) ของความรู้สึกและรู้สัมผัสได้พอๆกันในพื้้นที่ๆอยู่ในระยะของรัศมีเดียวกัน  แต่ความเสียหายเกิดที่เกิดขึ้น (damages) จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับ (susceptibility) ของสรรพสิ่งในพื้นที่นั้นๆ

     - คลื่นที่วิ่งผ่านหินประเภทหินชั้นนั้น ย่อมเดินทางไปไม่ได้ไกลมากนัก เนื่องจากหินแต่ละชั้นต่างก็มีคุณสมบัติต่างกัน คลื่นต้องวิ่งข้ามรอยต่อระหว่างชั้นอีกด้วย พลังของคลื่นจึงดูกดูดซับไปในปริมาณค่อนข้างมากในระยะทางใกล้ๆ        แผ่นดินไหวในพม่าในเขต super earthquake zone จึงไม่มีผลทำความเสียหายให้กับพื้นที่ในไทยมากนัก จะมีก็เมื่อครั้งปี พ.ศ.2088 ?? ที่ทำให้เจดีย์หลวงของ จ.เชียงใหม่หักพังลงมา  ยิ่งในปัจจุบันแล้วการก่อสร้างต่างๆมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงยิ่งมีความน่ากลัวน้อยลง (จากแผ่นดินไหวที่จะเกิดในแนวสองฝั่งของที่ราบกลางประเทศพม่า  เช่น จากรอยเลื่อนสะแกง)

      - คลื่นที่วิ่งผ่านไปตามระนาบของหินแต่ละชั้นที่วางตัวสัมผัสกัน เดินทางและนำพาพลังงานไปได้ค่อนข้างไกลมากกว่าเดินทางในทิศทางทะลุข้ามแต่ละชั้นไป   แผ่นดินไหวที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2526 จึงรู้สึกได้ตามแนวการวางตัวของชั้นหิน (แนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้) มากกว่าที่รู้สึกได้ในพื้นที่แถบอำเภอต่างๆในที่ราบลุ่มภาคกลางที่ติดกับพื้นที่เทือกเขาทางตะวันตกของไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ๆอยู่ในด้านขวางกับแนวชั้นการวางตัวของหิน   น่าสนใจที่ความรู้สึกแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ชาวบ้านในทิวเขาตะนาวศรีรับรู้ความรู้สึกใกล้ๆกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าเทือกเขาตะนาวศรีนี้เป็นมวลหินแกรนิต

      - คลื่นแผ่นดินไหวยิ่งเดินทางไกลออกไปจากแหล่งกำเนิด ก็จะมีสภาพคล้ายกับปลายคลื่นที่เกิดขึ้นห่างจากจุดที่เราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ     ในกรณีที่คลื่นมันเดินทางมาในหินแข็งและมาถึงของแอ่งแล้วต้องเดินทางผ่านดินในแอ่ง คลื่นมันก็จะขยายตัวออกยืดยาวขึ้น อาการที่เกิดขึ้นกับผืนดินในแอ่งจึงคล้ายกับการกระเพื่อมของผิวน้ำ  กรุงเทพฯ (บนพื้นดิน) โดยภาพรวมๆก็จะรู้สึกเช่นนี้เอง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 14, 18:22
เมื่อวานนี้เข้ามาเขียน แต่ได้ลบทิ้งไป เพราะสองจิตสองใจอยู่ว่าจะเข้าไปเรื่องของ wrench tectonic ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง หรือจะไปอีกเรื่องหนึ่งแล้วค่อยวนเข้ามา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นบรรยากาศสะบายๆสักช่วงหนึ่งก่อน

วันนี้ก็ได้ตัดสินใจว่าไปเรื่องสะบายๆเสียก่อน ไม่ต้องมโนมากๆดังเรื่องเล่าที่ผ่านมา

เล่ามาถึงเรื่องของ attenuation ของคลื่นแผ่นดินไหวแล้ว  ก็คงพอจะเห็นเค้าในเรื่องของความเสี่ยงที่จะมีมากน้อยต่างกันไป ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของระยะห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวมากนัก



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 14, 19:43
แต่ก่อนที่จะขยายความต่อไป ขอกลับมาในเรื่องของคำเรียกศัพท์ทางเทคนิคในภาษาไทยสักเล็กน้อย

เราใช้คำว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ในความหมายของคำว่า epicenter    ซึ่งจะต่างกับความหมายที่แท้จริง คือ คำว่า epi = อยู่เหนือ และ คำว่า center = จุดกลาง    คำแปลที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็น พิกัดของจุดกำเนิดแผ่นดินไหว 
 
มีอีก 2 คำ คือคำว่า hazard กับคำว่า risk  ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะให้ความหมายกับคำทั้งสองคำนี้รวมกัน คือ เสี่ยงภัย (risk + hazard)
     
ความหมายของศัพท์คำว่า hazard โดยเนื้อ คือ ความพินาศฉิบหายที่จะเกิดขึ้น  ส่วนคำว่า risk นั้นหมายถึง ความเสี่ยงต่อการเกิดความพินาศฉิบหายนั้นๆ

เล่ามาก็เพียงเพื่อจะบอกว่า เมื่อจะดูและใช้ประโยชน์จากแผนที่ของไทยที่ๆมีชื่อใช้คำว่าเสี่ยงภัยรวมอยู่ด้วยนั้น คงจะต้องพิจารณาดูให้ถ่องแท้เสียก่อนนะครับ   

กระบวนการทำแผนที่เพื่อให้ข้อมูลในลักษณะนี้ จะเริ่มต้นที่การวิเคราะห์ความพินาศฉิบหายที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใด จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด และจากต้นกำเนิดที่พิกัดใดๆ  ซึ่งจะได้เป็น hazard map (ตามธรรมชาติของมัน) จากนั้นจึงจะนำมาจัดทำเป็น risk map (เกี่ยวข้องกับชีวิต) 

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 14, 19:01
มาดูคำว่า hazard

ตัวมันเองมีความหมายเพียงหมายถึง ภัยพิบัติ   แต่ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย (ใช้คำใหนจึงจะถูกต้องครับ) นั้นมีอยู่หลากหลายมากใช่ใหมครับ อาทิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม (ทั้งแบบ flash flood และ inundate) ดินถล่ม (ทั้งแบบ slide และ slump)  โคลนถล่ม (ทั้งแบบ slide, flow หรือ avalanche) หิมะถล่ม (avalanche) ไฟป่า พายุ ฯลฯ    เหล่านี้ถูกจัดเป็นภัยจากธรรมชาติ (natural hazard)

แล้วก็ยังมีภัยพิบัติที่เกิดมาจากผลของการกระทำของมนุษย์ ซึ่งก็คือ บรรดาที่เรียกว่าพังทั้งหลาย เช่น เขื่อนพัง กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าปรมาณู ฯลฯ

ดังนั้น คำว่า hazard จึงต้องมีคำขยายเสมอ ว่าจากเรื่องอะไร

ซึ่งจากแต่ละเรื่องอะไรนั้น มันก็มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน อาทิ
กรณีน้ำท่วมทุกปีในบางพื้นที่ในภาคกลางตอนบนของเรา เราคนกรุงเทพฯก็คิดเอาเองว่า เป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนทุกปีที่เราควรจะต้องเข้าไปแก้ใขให้เขา แต่ในความเป็นจริง น้ำท่วมทุกปี ชาวบ้านย่านนั้นเขาชอบ เพราะจะได้มีวัตุดิบสำหรับมาทำสินค้าขายเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักประจำปี หากปีใหนน้ำไม่ท่วม ในปีนั้นก็จะขาดรายได้และรู้สึกเศรษฐกิจฝืดเคือง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 14, 19:24
กรณีน้ำท่วมในภาคกลางตอนบนของเรานี้ ก็คงเริ่มจะยากแล้วนะครับว่า แล้วจะตัดสินอย่างไร ว่าที่ใดเป็น hazard ที่ใดไม่เป็น

ดูจะต้องมีเงื่อนไขต่อไปว่าที่จะเรียกว่า hazard นั้น สำหรับใคร ??    ก็เห็นจะต้องก้าวไปคำนึงถึงเรื่อง socio-anthopology   เรื่องก็จะยุ่งยากมากเข้าไปอีก แล้วก็ยังมีเรื่องอื่นๆพ่วงเข้ามาอีกมากมาย   ดังนั้น เพียงจะทำแผนที่ๆเรียกว่า hazard map ก็ดูจะใช้เวลามากเสียแล้ว     

hazard map ในเรื่องเดียวกันของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน ก็จะไม่เหมือนกัน  แล้วก็คงจะไม่มีใครผิดใครถูกที่แท้จริงหรอกครับ  แล้วพอเอาข้อมูลมาทำต่อเป็น risk map มันก็มาต่อเรื่องว่า เป็น risk ของใคร  จะเป็น risk ของหน่วยงานที่จะต้องใช้เพื่อกำหนดแผนปฎิบัติการ  หรือเป็น risk ของคนทั่วไปชาวบ้านทั่วไปที่จะต้องให้ความสนใจและพึงระวังเหตุ

ปวดหัวดีครับ เป็นเรื่องประเภทที่ต้องถกกันอย่างคร่ำเครียด ก่อนจะลงมือดำเนินการใดๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 14, 18:44
ที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากนัก หากเรารู้จักและเขาใจตัวภัยนั้นๆอย่างค่อนข้างจะถ่องแท้

เรื่องแรกที่ต้องรู้ให้ได้แน่ๆ ก็คือ ในเมื่อบรรดาแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม ดินถล่ม โคลนถล่ม ฯลฯ เหล่านี้ มันเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นปรกติในธรรมชาติ และในเมื่อผู้คนชาวถิ่นเขาก็รู้ดีว่ามันเกิดขึ้นและคงอยู่ในพื้นที่ที่เขาเลือกที่จะตั้งหลักปักฐานทำมาหากินดำรงชีพอยู่ในพื้นที่นั้นๆ   ก็หมายความว่าเขามีภูมิปัญญาที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติในลักษณะนั้นๆได้อย่างมีความสุขในระดับที่เขารับได้ 

แต่ในมุมมองบนฐานทางวิชาการ เราจะเห็นได้ในทันทีว่าผู้คนในพื้นที่เหล่านั้น อยู่ในพื้นที่ๆมีโอกาสจะประสบกับภัยที่รุนแรงในระดับที่เกิดความเสียหายอย่างหนักหรือสิ้นเชิง และอาจถึงชีวิต (vulnerable to .....แปลไทยไม่ถูกครับ)

สิ่งที่มันฟ้องและให้ข้อมูลกับเรา ก็มีอาทิ ระดับความสูงของใต้ถุนบ้าน+อื่นๆ (เช่น ให้ข้อมูลว่าเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในกรณีน้ำท่วมเป็นปรกติที่ระดับลึก...)        การบากร่องหัวเสาไม้เป็นรูปตัว U เพื่อรองรับคาน แล้วเจาะเป็นรูเพื่อใช้สลักไม้ยึดกัน+อื่นๆ (เช่น ให้ข้อมูลว่าบ้านเขาสามารถรับการโยกไหวของแผ่นดินได้ในระดับ....)       มุมเอียงเทของหลังคาบ้าน+อืี่นๆ (เช่น ให้ข้อมูลว่าบ้านเขาสามารถรับแรงลมและปริมาณฝนได้เพียงใด)  เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งเหล่านี้นั้นก็คือ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตปรกติ (social anthropology)   เมื่อธรรมชาติเกิดความผิดเพี้ยนไปและมีความรุนแรงมากกว่าระดับปรกติ สภาพต่างๆก็จะเปลี่ยนไป ข้ามไปอยู่ในสภาพที่เรียกว่า hazard  ซึ่งเราสามารถทึ่จะจัดแยกเป็นระดับๆของความหายนะได้ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 14, 19:48
คงพอจะเห็นเค้าของความไม่ยากจนเกินไปแล้วนะครับ 

มาดูตัวอย่างเรื่องน้ำกัน 
เราได้ฟังข่าวในช่วงเวลาหนึ่งของทุกๆปีว่า เกิดภัยแล้ง บางปีก็เกิดเกือบจะครบทุกอำเภอและทุกจังหวัด ยกเว้น กทม.และจังหวัดรอบๆเท่านั้นเอง  จนเกิดวลี ภัยแล้งซ้ำซาก     ก็รู้ชื่อว่าที่ใดเกิดซ้ำซาก เกิดกันมาทุกปีจนสามารถที่จะจัดทำเป็นแผนที่มาตรฐานแสดงพื้นที่ภัยแล้งถาวรของไทยได้

แต่เก่าก่อนในยุค พ.ศ.2500 ต้นๆนั้น เราแก้ปัญหาการขาดน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับคนในภาคอีสาน โดยพยายามเจาะน้ำบาดาลให้ใช้ โดยคิดบนมาตรฐานว่า อย่างน้อยทุกคนจะต้องมีน้ำกินน้ำใช้อย่างต่ำ 5 ลิตรต่อคนต่อวัน น่าจะเป็นยุคภัยแล้งจริงๆ  ต่อมาก็เพิ่มขึ้นๆ จนในปัจจุบัน ก็คิดว่าทุกคนจะอยู่อย่างสุขสบายก็เมื่อมีน้ำกินน้ำใช้ประมาณ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน (มาตรฐานโดยประมาณของคนใน กทม.)  ซึ่งก็ทำได้ครอบคลุมพื้นที่มากมายแล้ว  ท่านทั้งหลายก็คงพอจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าเราจะไปนอนที่โรงแรมใดในพื้นที่ใดในภาคอีสาน เราจะมีน้ำใช้ในลักษณะที่ไม่ต่างไปมากนักจากการใช้ของเราใน กทม. ภัยแล้งจริงๆจึงน่าจะหมดไปแล้ว ภัยพิบัติก็ไม่ควรจะมี จะมีก็เพียงช่วงต้องจำกัดการใช้น้ำ

แต่เราก็ยังคงมีภัยแล้งอยู่   มันก็คงไม่ใช่เรื่องในลักษณะของความเป็นภัยพิบัติแบบ hazard แล้วกระมัง  แต่ก่อนนั้นทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง เป็นนาน้ำฟ้า  ต่อมามีระบบชลประทานช่วย จากทำนาได้ปีละครั้ง ก็เปลี่ยนไปเป็นทำนาดำได้ 1 ครั้ง ทำนาหว่านได้ 1 ครั้ง  พอพัฒนาพันธ์ุข้าวได้ดี ชาวนาที่อยู่ในเขตชลประทานก็ทำนาได้ 3 รอบ    ปีใดก็ตามที่น้ำให้เขื่อนเหลือน้อยมาก การทำนาก็จะต้องลดลงเหลือ 2 บ้าง คร้้งเดียวบ้าง  ก็เลยเกิดภัยแล้งในอีกรูปแบบขึ้น คือ ขาดหรือไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ(ที่อยู่ในเขตชลประทาน)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 14, 20:13
ครับ   

ภัยพิบัติหรือพิบัติภัยที่มีเกิดขึ้นแล้วยังผลให้เกิดเป็นความพินาศ น่าจะตรงกับคำว่า hazard     ส่วนภัยพิบัติหรือพิบัตภัยที่เกิดขึ้นในลักษณะเป็นวัฏจักร น่าจะตรงกับคำว่า seasonal threat

ซึ่งทั้งสองลักษณะข้างบนนี้ ก็สามารถนำข้อมูลมาทำเป็นแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อ.... (เช่น กรณีพื้นที่น้ำหลากท่วม ก็อาจเสี่ยงต่อการทำฟาร์มปสุสัตว์ เป็นต้น)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 14, 21:05
ย้อนอ่านก็เลยได้พบการพิมพ์ผิดมากมาย ขออภัยจริงๆครับ  ง่วงไปบ้าง เงิบไปบ้างตามวัยตามสังขารครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 14, 21:43
ในเรื่องของภัยจากแผ่นดินไหวนั้น   ตัวภัยจริงๆก็คือ อาคารบ้านเรือนพังพินาศ สาธารณูปโภคต่างๆใช้การไม่ได้ การคมนาคมการขนส่งต่างๆถูกตัดขาด   เกิดการขาดแคลนที่พักพิงอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งยังผลให้เกิดการเสียชีวิตอันมิควรมากเพิ่มขึ้นไปกว่าการเสียชีวิตอันเนื่องจากอาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างพังทับ

ดังที่เล่ามาแล้วว่า แผ่นดินไหวทุกครั้งมิได้ทำให้เกิดความเสียหาย ขนาดก็มิใช่เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง แต่มันมีเงื่อนไขมากมายที่จะทำให้แผ่นดินไหวในครั้งนั้นๆเกิดมีความเป็นภยันตรายถึงระดับที่เข้าไปอยู่ในข่ายของคำว่า ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย 

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 14, 23:18
เอาตัวอย่างจริงๆเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

ในครั้งนั้น แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 5.9 ริกเตอร์   รู้สึกว่าแรงนะครับ คนใน กทม.ยังรับรู้ได้เลย  แน่นอนว่าทุกคนจะต้องนึกถึงเขื่อนเจ้าศรีนครินทร์บนแม่น้ำแควใหญ่ และเขื่อนวชิราลงกรณ์บนแม่น้ำแควน้อย ที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์

ปรากฏว่า เขื่อนที่สองนี้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ประการหนึ่งก็คือ มีการออกแบบที่ดีให้สามารถรับการเคลื่อนไหวของแผ่นดินไว้ที่ประมาณ 0.1 g. (ความเร็วในการเคลื่อนที่ของแผ่นดินประมาณ 7 - 8 ซม.ต่อวินาที)  เครื่องมือวัดอัตราเร่งที่เขื่อนทั้งสองวัดการเคลื่อนไหวของแผ่นดินได้ประมาณ 0.01 g. (แผ่นดินเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 1 ซม.ต่อวินาที)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุหนึ่งก็เพราะว่า คลื่นแผ่นดินไหวมันวิ่งไปตามแนวการวางตัว (แนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้)ของหินลงมาสู่ที่ราบภาคกลางตอนล่าง กทม.จึงรับรู้สึกได้  แต่ความแรงของคลื่นมันถูกซับไปมากเมื่อมันเคลื่อนที่ไปในทิศทางขวางแนวหิน ชุมชนทางชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก (แถว บ.พุจือ ขอบทุ่งใหญ่นเรศวร) ก็รับรู้สึกไม่แรงเช่นกัน  และแม้กระทั่งที่ บ.นาสวน ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด ก็มีเพียงรอยร้าวในตัวองค์พระปูนในถ้ำองจุเท่านั้น

กทม.เลยดูจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่าพื้นที่ใกล้แผล่งกำเนิด


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 14, 19:30
เล่ามาแบบละเอียดบ้าง ย่อบ้าง ข้ามไปบ้าง ก็เพื่อให้ได้พอจะมีพื้นเพียงพอที่จะพิเคราะห์พิจารณาบรรดาข้อมูลข่าวสารที่มีการแถลงบ้าง มีการให้สัมภาษณ์บ้าง ปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะบ้าง ว่าจะมีสาระใดบ้างที่เราเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้ปรับสภาพของสรรพสิ่งรอบตัวเรา เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับภัยชนิดนี้อย่างมีความสุขตามสถานภาพ

รวบๆสรุปก็แล้วกันว่า risk กับ hazard ไม่ว่าจะลงท้ายด้วยคำว่า area หรือ map นั้นทำขึ้นมาจากหลากหลายกระบวนวิธีการวิเคราะห์และจัดทำ เพื่อสนองหลากหลายผู้ใช้





กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 14, 19:31
กำลังสองจิตสองใจอยู่ว่า จะต่อเรื่องใดดีระว่าง wrench tectonic ซึ่งเป็นต้นเรื่องของแผ่นดินไหวในเขตประเทศเรา หรือจะไปเรื่อง mitigation ซึ่งจะไปเกี่ยวกับวิถีการอยู่ร่วมกับแผ่นดินไหว

สลับไปเรื่อง mitigation ก่อนก็แล้วกันนะครับ ง่ายๆและเบาๆดี


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 14, 20:14
ก่อนจะไปเรื่อง mitigation 

ก็จะขอเพิ่มเติมว่า นักธรณีวิทยาทำแผนที่ seismic risk map   แล้ววิศวกรนำไปทำ seismic hazard map 

seismic hazard map นี้มีเนื้อหา คือ แผนที่แสดงอัตราการเคลื่อนไหวของแผ่นดินในพื้นที่ต่างๆในเขตอาณาของเรา (ในรูปของอัตราเร่ง) เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญ       ใช้เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการออกแบบสิ่งก่อสร้าง (building code) สำหรับแต่ละพื้นที่ที่รับรู้การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 14, 19:33
เรื่องนี้ ในไทยเราก็มีการศึกษาเหมือนกัน  เป็น 1 ใน 5 ของโครงการศึกษาที่คณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติในยุคแรกเริ่มแต่งตั้งได้มีความเห็นว่าควรจะต้องมีการดำเนินการ ซึ่งจะดำเนินการโดยคณะวิศวะฯของจุฬาฯ  คิดว่าป่านนี้น่าจะเสร็จแล้วและถูกนำไปเป็นข้อกำหนดอยู่ข้อกำหนดทางวิศวกรรมสำหรับสิ่งก่อสร้างต่างๆทั่วไทยแล้วด้วย

5 เรื่องนี้ เป็นแนวคิดที่เสนอกันในระหว่างการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ (ประมาณปี 2527-2528) หลังจากที่ได้เกิดแผ่นดินไหวในปี 2526  ผมเป็นผู้เสนอ 2 โครงการ คือ ศึกษา active fault และการจัดทำเอกสารการปฏิบัติตนเบื้องต้นแก่ประชาชนก่อนและหลังแผ่นดินไหว    ส่วนอีกสองเรื่องจำได้ไม่แม่นครับ คิดว่าเรื่องหนึ่งคือการศึกษาระบบคลื่นแผ่นดินไหวของเราที่อาจจะอยู่ในอิทธิพลของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์  โดยใช้เครื่องวัดแผ่นดินไหวแบบ Vertical seismograph ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างเขื่อนเขาแหลมประมาณ 10 เครื่อง (หลังจากการเดี่ยว defend รายงานเรื่องธรณ๊วิทยาบริเวณเขื่อนเขาแหลมของผมกับคณะที่ปรึกษาออสเตรเลียและ กฟผ.)

หลังจาก ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการฯนี้  ผมก็ถูกอันตรธานหายไปจากวงการจนปัจจุบันนี้


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 14, 19:39
ที่เล่ามานั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ mitigation ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่ โอกาสที่จะเกิดเหตุ การอยู่ร่วมกับมันในพื้นที่มีภัย การดำเนินการระหว่างการเกิดเหตุและภายหลังการเกิดเหตุแล้ว    

คำแปลคำว่า mitigation ในภาษาไทย ดูจะมีความหมายจำกัดอยู่ที่ การบรรเทาสาธารณะภัย และค่อนข้างจะหนักไปในทางกระบวนการดำเนินการเมื่อได้เกิดภัยแล้ว   จำได้ว่าเคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในกระทู้เก่าที่เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว   แต่ครั้งนี้ก็จะกล่าวถึงในอีกเรื่องราวหนึ่งครับ







กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: แมวเซา ที่ 08 ต.ค. 14, 09:25
เอาตัวอย่างจริงๆเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ...

กทม.เลยดูจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่าพื้นที่ใกล้แผล่งกำเนิด
ผมเข้าใจผิดมานานว่ากรุงเทพฯอยู่บนพื้นที่อ่อนนุ่มจะลดแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ดีกว่าพื้นที่แข็งๆ
อย่างนี้กรุงเทพฯในอนาคตก็เจอหนักสองเด้ง ทั้งน้ำท่วมแผ่นดินไหวซิครับอาจารย์
 :'(


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 14, 20:21
เพื่อให้เห็นภาพ ลองเอาน้ำใส่ในอ่างน้ำทรงสี่เหลี่ยม แล้วเอาด้ามมีดเคาะที่ขอบอ่างน้ำด้านใดด้านหนึ่ง  สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ น้ำในอ่างจะกระเพื่อมเป็นลูกคลื่น
ลองอีกครั้งหนึ่ง เอาไม้กระดานสักแผ่นมาวางขั้นระหว่างจุดที่เราจะเอาด้ามมีดเคาะอ่าง เมื่อเคาะอ่างน้ำในครั้งนี้ด้วยความแรงเท่าเดิม เราจะเห็นว่าน้ำจะกระเพื่อมเป็นลูกคลื่นน้อยลง

เป็นภาพรวมๆของเรื่องที่เล่ามา    ซึ่งสรุปได้ว่า ในวัสดุที่เป็นของแข็งนั้น     พลังที่ทำให้เกิดคลื่น ได้ผลักให้คลื่นเคลื่อนที่ผ่านแบบกระชากไปมา (P-wave) ซึ่งเรามองไม่เห็นภาพการเคลื่อนที่ของมัน เพราะมันเป็นคลื่นแบบมีความยาวคลื่นสั้นและมีความถี่สูง         เมื่อมันเคลื่อนที่เข้าไปในเขตของเหลวหรือวัสดุที่อ่อน  พลังของคลื่นจะผลักให้คลื่นเคลื่อนที่แบบโย้ไปเย้มา (S-wave)  หรืออีกนัยหนึ่ง คลื่นจะถูกขยายให้มีความยาวคลื่นมากขึ้นและมีความถี่ลดลง ซึ่งเราเห็นได้ในรูปของคลื่นน้ำ

ส่วนที่เอาแผ่นไม้มาวางขั้นไว้นี้น เพื่อแสดงว่า พลังของคลื่นจะถูกดูดซึมไปมากเมื่อคลื่นต้องวิ่งผ่านในทิศทางขวางกับระนาบต่างๆ แต่พอไปถึงตัวกลางที่เป็นของอ่อนกว่า เราก็ยังเห็นภาพการเกิดของคลื่นนั้นได้ คือยังคงมีพลังในการทำลาย แต่เปลี่ยนไปจากการกระชากหรือแบบเตะตัดขา เปลี่ยนไปเป็นแบบผลักให้โยกไปเย้มา  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีอันตรายมากกว่า


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 14, 19:25
สำหรับเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น  ก็ฟังกันแบบเพลินๆไปนะครับ อย่าไปเครียดกับมัน 

ที่กล่าวกันว่า ระดับน้ำทะเลกำลังสูงขึ้น ในอีกไม่กี่ปีมันก็จะท่วมพื้นที่ราบชายทะเลตรงนี้บ้าง ตรงโน้นบ้าง นั้น    ก่อนที่จะเชื่อ ก็ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงสองสามเรื่องคือ  ข้อมูลที่ว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นนั้น เขาพูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในองค์รวมของโลกที่ไม่หยุดนิ่งนี้ (global change) หรือพูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเฉพาะบริเวณหรือภูมิภาค (local change)  ซึ่งทั้งสองการเปลี่ยนแปลงนี้ต่างก็อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาในเชิงของการเปรียบเทียบกัน (comparative relation)   อาทิ   
     ในกรณีเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น เป็นเพราะขนาดของมหาสมุทรลดลง ? หรือ เพิ่มมากขึ้น ? (เนื่องจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เรากำลังคุยกันอยู่ในกระทู้นี้)     หรือ 
     ในกรณีเฉพาะบริเวณหรือภูมิภาค เป็นเพราะว่าแผ่นดินชายฝั่งทรุดตัวลง (subsidence) ?  หรือ เป็นเพราะแผ่นดินชายฝั่งทรุดตัวลง ? (ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้น)
     

สำหรับกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯแบบง่ายๆที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะ แผ่นดินทรุดเนื่องจากสูบน้ำบาดาล ?  เป็นเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ?  เป็นเพราะไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ back swamp ของระบบ flood plain ของแม่น้ำเจ้าพระยา ?  หรือเป็นเพราะการตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานแบบไม่รู้จักธรรมชาติ หรือไม่อยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับระบบของธรรมชาติ (not living in harmony with nature)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: แมวเซา ที่ 12 ต.ค. 14, 12:49
ขอบคุณครับ ผมไม่ห่วงเรี่องน้ำท่วมเพราะแอบชอบนิดๆและอยากหนีไปอยู่ทางเหนือ เลยขอรบกวนถามอีกเรื่องคือเขื่อนแกนดินเหนียวถมหินจะสามารถทนทานแผ่นดินไหวได้ากกว่าเขื่อนคอนกรีตใหมครับ (ต้องไปอยู่ใกล้เขื่อนสิริกิติ์นะครับ  ;D )


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 14, 22:50
ตอบเรื่องเขื่อนครับ

ผมเองมิใช่วิศวกร เพียงแต่ในช่วงของเวลาทำงานมีเรื่องที่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกันงานทางวิศวกรรม   ก็เลยมีความรู้ถูๆไถๆอวดรู้ไปอย่างนั้นเองครับ
 
หลักการพื้นฐานของสร้างเขื่อนกั้นน้ำก็คือ การต้านแรงดันของน้ำในเขื่อน ซึ่งก็มีอยู่สี่แนวทาง คือ ใช้น้ำหนักของตัวเขื่อนขวางกั้น   ใช้ความกว้างใหญ่ของกองวัสดุขวางกั้น  ใช้ผนังและเครื่องค้ำยันช่วยขวางกั้นน้ำ  และใช้วิธีการกระจายแรงดันของน้ำออกไปด้านข้าง   

เขื่อนทุกชนิดจะต้องมีน้ำซึมรั่วออกมา  เพราะเขื่อนจะต้องมีความชื้น (หรือมีความฉ่ำ)ในเนื้อของตัวมันในระดับหนึ่ง  หากเมื่อใดความชื้นในตัวเขื่อนไม่มี ลดลงอย่างต่อเนื่องจนแห้งลง ก็โปรดระวังว่าอาจจะเกิดกรณีเขื่อนพัง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: แมวเซา ที่ 13 ต.ค. 14, 08:38

เขื่อนทุกชนิดจะต้องมีน้ำซึมรั่วออกมา  เพราะเขื่อนจะต้องมีความชื้น (หรือมีความฉ่ำ)ในเนื้อของตัวมันในระดับหนึ่ง  หากเมื่อใดความชื้นในตัวเขื่อนไม่มี ลดลงอย่างต่อเนื่องจนแห้งลง ก็โปรดระวังว่าอาจจะเกิดกรณีเขื่อนพัง

เมื่อ พ.ศ.2538 เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นมาแล้วนะครับ  ที่บริเวณเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำรั่วออกมามาก ไม่ใช่ตัวเขื่อนใหญ่แต่เป็นเขื่อนดินปิดกั้นช่องเขาที่มความยาวหลายกิโลเมตร จนทางเขื่อนใหญ่ต้องรีบปล่อยน้ำอย่างแรงเต็มพิกัด เมืองอุตรดิตถ์อ่วมเลยครับคราวนั้น ชาวบ้านไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านก็โดนน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก  ชาวอุตรดิตถ์ไม่ค่อยไว้ใจทางราชการเลยคราวนั้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 14, 21:15
ผมเคยไปเดินสำรวจในพื้นที่บริเวณที่สร้างเขื่อนดินนี้เมื่อปลายปี 2512 ตอนนั้นเพิ่งเข้าทำงานใหม่ๆ   จำได้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนดินเป็นแนวยาว คล้ายกับการวางแนวกระสอบทรายไม่ให้น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ  แรกเริ่มของการสร้างเขื่อนนี้นั้น มีวัตถุประสงค์ในเรื่องของการชลประทาน ตอนหลังมีการโอนให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กฟผ. เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ก็เลยมีการยกระดับสันเขื่อนสิริกิต์ให้สูงขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องมีการยกระดับเขื่อนดินที่ขอบอ่างนี้ด้วย   ผมคิดว่า การเสริมเขื่อนดินที่ขอบอ่างน้ำให้สูงขึ้นในภายหลังนี้ ทำให้เขื่อนดินนี้ขาดความเป็นเนื้อเดียวกันในมิติต่างๆ  (ตัวดินที่เอามาถมเอง การอัดแน่น อัตราการซึมของน้ำ ฯลฯ) อาจจะเป็นต้นเหตุเล็กๆที่มีผลต่อเนื่องทำให้ตัวคันดินทั้งระบบไม่อยู่ในสภาพอันพึงมีทางวิศวกรรมสำหรับการใช้งานในลักษณะนี้ ก็เลยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ผมยังจำภาพล่องเรือสามฝีพายในน้ำน่านในการไปสำรวจตามลำน้ำได้เลย ขากลับต้องพายทวนน้ำ สามฝีพายยังสู้ชาวบ้านฝีพายเดียวนั่งสามคนไม่ได้เลย มารู้เอาตอนถึงแคมป์แล้วว่า ชาวบ้านเขารู้จักการใช้กระแสน้ำวนให้เป็นประโยชน์  เราเรียนมามีความรู้ท่วมหัวในเรื่อง eddy current เพราะเกี่ยวข้องกับลักษณะการตกตะกอนของน้ำไหล กลับคิดไม่ได้ 
อีกภาพหนึ่ง คือ ถูกปลาปักเป้าของแม่น้ำน่านแชวปเอา พอได้รู้สึกสัมผัสกับการถูกสะกิดด้วยของมีคม แล้วก็ถูกยิงปืนขู่ไล่ให้ออกไปที่อื่น เพราะมีการลักลอบตัดไม้  รวมทั้งมีการแอบใช้ไฟฟ้าชอร์ตปลา


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 14, 19:05
กลับมาต่อเรื่องการลดระดับความเสียหายจากภัยพิบัติ (mitigation)  เรื่องนี้เป็นกระบวนการดำเนินการนะครับ มิใช่เป็นเรื่องกิจกรรมหรือการดำเนินการเฉพาะกิจ     เป็นเรื่องยาว เป็นเรื่องมากเรื่อง และเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับหลากหลายองค์กรและบุคคล

เป้าหมายสูงสุดของของกระบวนการนี้ (สำหรับกรณ๊แผ่นดินไหว) คือ การรักษาชีวิตของประชนพลเมืองให้รอดตายเมื่อเกิดสถานะการณ์ที่เลวร้าย แล้วก็ให้มีชีวิตอยู่รอดต่อๆไป  คือ มิใช่เพียงรอดตาย แต่ต้องอยู่รอดต่อไปจนกว่าสถานะการณ์ที่เลวร้ายนั้นจะลดลงจากระดับฉุกเฉินไปสู่ระดับที่สามารถใช้กลไกตามปรกติได้

mitigation เป็นกระบวนการที่ใช้ กระบวนยุทธที่เรียกว่า Delphi Method    กระบวนยุทธนี้ใช้กันหลากหลายในเรื่องต่างๆทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ตัวเราเองก็อาจจะเคยใช้และดำเนินการเองในบางเรื่องโดยที่เราไม่รู้   ที่จริงแล้ว ดูเหมือนจะประมาณทุกๆ 5 ปี ที่ประเทศในระดับผู้นำด้านการผลิตและเศรษฐกิจโลก จะดำเนินการในเรื่องนี้

ผมเองมิใช่ผู้รู้จริงในเรื่องนี้   แล้วก็คิดว่าหลายท่านสมาชิกรู้มากกว่าผมและรู้ว่าเป็นอย่างไร    ยังไงๆก็ลองหาอ่านเพื่อความเข้าใจในปรัชญาของมันนะครับ
ผมจะไม่ขยายความว่ากระบวนการของเรื่องนี้เป็นอย่างไรนะครับ แต่จะเข้าไปในเรื่องของภาคปฏิบัติและรูปธรรมอื่นๆ  เพื่อที่จะได้นอนอยู่กับแผ่นดินไหวได้อย่างพอจะมีความสุข และไม่กังวลจนเกิดเป็นทุกข์ลึกๆอยู่ในใจ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 14, 19:20
เพื่อให้ครบเครื่อง ก็จะขอเพิ่มเรื่องที่ควรอ่านทำความเข้าใจในอีกเรื่องนึง

ได้กล่าวถึง Delphi method แล้วว่ามีการดำเนินการโดยหลายประเทศ  จุดประสงค์สำคัญก็หนีไม่พ้นเรื่องของ comparative advantage ศัพท์นี้ดูเหมือนจะเป็นของด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ดูจะมีการใช้กันในทุกๆด้าน (ในชื่อต่าง และก็ดูเหมือนว่าเราๆท่านๆทั้งหลายต่างก็จะใช้อยู่โดยไม่รู้ตัวในหลายๆเรื่องเลยทีเดียว    ผมเองก็ไม่ใช่ผู้รู้ที่แท้จริงอีกเช่นกัน   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 14, 19:24
หน้าต่างนี้ ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า

ผมจะหายไป ตจว.  1 สัปดาห์ ครับผม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 14, 18:16
กลับจาก ตจว. มาส่งเสียงต่อครับ



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 14, 18:26
ขอต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 14, 18:49
mitigation เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ  เป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลและข้อคิด (ข้อวิเคราะห์) ทั้งจากที่เคยประสบพบกันมา (Empirical approach)  และจากข้อบ่งชี้ทางทฎษฎี (Theoretical approach) ที่มีการวิเคราห์วิจัยกัน

เราลองมาคิดกันดูตามหลักคิดและการดำเนินการต่างๆ    {ประมาลมาจากเท่าที่ผมได้เคยเรียนรู้จากการสนทนากับผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปและอเมริกา (เมื่อครั้งยังทำงานเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว) และชาวญี่ปุ่น (เมื่อครั้งไปประจำการ)}     ว่าเขาทำกันอย่างไรนะครับ ??    อ้อ...และจากความรู้ที่ได้รับจากปรมาจารย์ที่ได้สั่งสอนผมมาในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อครั้งเรียน ป.ตรี   ทั้งนี้ ผมก็มิใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อีกเช่นเคยนะครับ  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 14, 18:51
ขอบพระคุณครับ อ.เทาชมพู


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 14, 19:07
ดีใจที่ได้เจอกันในกระทู้นะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 14, 19:37
ได้กล่าวแล้วว่าหลักการสำคัญที่สุด คือ ให้ยังคงมีชีวิตและดำรงชีวิตได้ต่อไป  

ก็เลยต้องมาดูว่า แล้วมีสิ่งใดบ้างที่จะทำให้เกิดการตาย    ซึ่งก็จะต้องจำแนกออกเป็น ตายเดี่ยว หรือ ตายหมู่ (ขอใช้ภาษาไทยพื้นฐานนะครับ อาจจะดูไม่ไพเราะไปบ้าง แต่จะให้ภาพที่ชัดและดีกว่า)


แผ่นดินไหวทำให้เกิดความหายนะ (disaster) จากผลโดยตรงของสองเรื่องที่สำคัญ คือ การแตกหักพังทลายของวัตถุ (failure) และการขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ (displacement และ dislocation)  
   ซึ่งยังให้เกิดผล เช่น เขื่อนแตก ท่อน้ำแตก ท่อแกสแตก เสาไฟล้ม สายไฟขาด แผ่นดินถล่ม ฯลฯ  ....(destruction)
   เป็นผลต่อเนื่องไป  เช่น เกิดไฟใหม้ ไฟฟ้าลัดวงจร (ไฟดูด) การคมนาคมและการสื่อสารถูกตัดขาด ฯลฯ (disruption)
   ยังผลต่อไปอีกให้เกิดสภาพความวุ่นวาย ระบบและระเบียบหยุดทำงาน (disorder)
   สุดท้ายก็คือ ความปั่นป่วน มั่วกันไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก (chaos)  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 14, 19:43
ครับผม ท่าน N.C.

คงจะมีเรื่องที่ท่านจะช่วยให้ความกระจ่างได้มากเลยทีเดียว  ครับผม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 14, 12:02
ยินดีที่คุณตั้งกลับมาประจำการในเรือนไทย  ;D

เมื่อวานมีแผ่นดินไหวที่สุมาตรา กระเทือนมาถึงเมืองไทย

http://youtube.com/watch?v=GmhlK-BmWnw#ws (http://youtube.com/watch?v=GmhlK-BmWnw#ws)

ตามความเห็นของคุณตั้ง เกิดอะไรที่ใต้ดินจนทำให้ไส้เดือนต้องอพยพขึ้นมา  ???


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 14, 19:41
ความเห็นของผมเรื่องไส้เดือนโผล่ขึ้นมาต้วมเตี้ยมอยู่บนผิวดิน มีดังนี้ครับ

ข้อเท็จจริงตามข่าวมีอยู่ว่า ไส้เดือนโผล่ขึ้นมาหลังจากที่พื้นที่บริเวณนั้นรับรู้คลื่นแผ่นดินไหวประมาณ 10+ นาที  มีไส้เดือนจำนวนเป็น 10,000+ ตัว พบไส้เดือนเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร  พบไส้เดือนโผล่มาตามรอยแตกของร่องน้ำข้างถนนทางเข้า อบต.

ข้อเท็จจริงทางกายภาพของพื้นที่ๆพอจะทราบ คือ พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มในบริเวณปากอ่าวพังงา

ผมมีข้อสังเกตพื้นๆ ดังนี้ครับ
ไส้เดือนโผล่ขึ้นมาอย่างหนาแน่นในบริเวณพื้นที่เดียว โผล่ขึ้นมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน โผล่ขึ้นมาในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง (การก่อสร้างสถานที่ทำการ อบต.)

แล้วก็ความรู้จากประสบการณ์ตรง ดังนี้
ไส้เดือนชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มชื้น แต่มิใช่ชื้นแฉะในลักษณะของน้ำท่วมขัง       คือ ชอบอยู่ในพื้นดินที่เป็น aerated soil (ไม่แปลและขยายความต่อนะครับ)

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 14, 19:16
ผมประมวลเป็นภาพ...น่าจะ...ได้ว่า

ผืนดินเดิมเป็นที่ราบที่มีตะกอนดินทรายละเอียด (จากแม่น้ำในพื้นที่นั้น) มาตกทับถม (เรียกพื้นที่ราบส่วนปลายสายน้ำจืดกันว่า alluvial fan) ทับอยู่บนตะกอนโคลนบริเวณปากอ่าว (mud flat) ซึ่งตกตะกอนสะสมกันในพื้นที่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยท่วมถึง

เมื่อพื้นที่นี้ได้ถูกคลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนที่ผ่าน ก็อาจทำให้เกิดผลได้หลายอย่าง แต่ที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ คือ ตะกอนดินทรายใต้บริเวณพื้นที่นี้เกิดสภาพที่เรียกว่า liquefaction สืบเนื่องจากยังเป็นชั้นดินโคลนที่อิ่มน้ำ  หรือ จากการปรับการเรียงตัวของเม็ดตะกอน ยังผลทำให้เกิดการปลดปล่อยกาซ (อันไม่พึงปราถนา) ที่กักเก็บอยู่ในรูพรุน_pore space (ช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน) สู่อากาศ

liquefaction เกิดเมื่อโครงสร้างของเม็ดตะกอนเกิดการขยับปรับตัว น้ำหรืออากาศที่อยู่ในรูพรุนของตะกอนก็จะถูกขับออกมา ภาพก็เหมือนกับเราเอาไม้ไปปักบนชายหาดตรงแนวที่น้ำทะเลซัดเข้ามาถึง เมื่อเคาะไม้ ไม้ก็จะค่อยๆๆจมลง และเราก็จะเห็นว่ามีน้ำที่โคนไม้ชุ่มฉ่ำไปเลย     นั่นก็คือ สภาพ aerate ใต้พื้นผิวก็จะหมดไป กลายเป็นฉ่ำน้ำหรือน้ำท่วม     ไส้เดือนก็คงจะไม่อยู่ ต้องหนีขึ้นมาหาอากาศแน่ๆ มิฉะนั้นก็จะจมน้ำตายแบบตัวซีดๆแน่ๆ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 14, 19:27
สำหรับกรณีเกิดการปลดปล่อยกาซอันไม่พึงปราถนานั้น 

ก็คือ การปลดปล่อยกาซ เช่น มีเทน แกสไข่เน่า และคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำเนิดมาจากการผุพังเน่าสลายของพืชและสัตว์ที่สะสมอยู่ในตะกอนดินโคลนในพื้นที่ชายทะเล  ซึ่งกาซเหล่านี้ถูกกักเก็บไว้ในรูพรุนของตะกอนดินทรายทั้งหลาย



 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 14, 19:38
ส่วนเรื่องไส้เดือนยกฝูงกันขึ้นมาเนื่องจากการไหวของแผ่นดินนั้น   ผมเห็นว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินนั้นคงมิใช่สาเหตุ    ก็ยังไม่เคยเห็นไส้เดือนหนีตายจากการสั่นสะเทือนของพื้นดินอันเนื่องมาจากการที่รถบรรทุกวิ่งเข้าไปขนดินในกลางทุ่งต่างๆ หรือใน กทม. หรือในที่ใดๆ
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 14, 09:28
ขอบพระคุณคุณตั้งสำหรับคำตอบ สรุปว่าในกรณีนี้ไส้เดือนอพยพขึ้นมาบนดินเพราะอิทธิพลของแผ่นดินไหวทำให้ชั้นดินที่อยู่อาศัยของไส้เดือนเกิดน้ำท่วม

เท่าที่เคยทราบมาไส้เดือนจะมีการอพยพในหลายกรณีนอกจากที่อยู่อาศัยมีน้ำท่วมแล้ว ภัยแล้งและสภาพอากาศหนาวเย็นก็มีผลต่อไส้เดือนเช่นกัน (รายละเอียดเพิ่มเติมจาก ไทยโพสต์ (http://www.thaipost.net/node/36490))  ;D


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 14, 17:43
ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

ผมเคยแต่พบไส้เดือนหนีหนาว แต่ไม่เคยได้เห็นกรณีไส้เดือนหนีแล้ง    ส่วนกรณีหนีน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่พบบ่อยๆก็คือ หนีขึ้นมาอยู่บนลานหรือถนนคอนกรีต ก่อนที่น้ำจะท่วม แล้วก็ตายเป็นเบือใต้ผิวน้ำที่ท่วมบนคอนกรีตนั่นแหละครับ

ปริมาณไส้เดือนเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของความสมบูรณ์ของผืนดิน เช่นเดียวกันกับปริมาณหิ่งห้อยที่เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของการปราศจากมลภาวะ

บริษัทผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นบริษัทหนึ่ง ได้ใช้การปรากฎตัวและปริมาณของหิ่งห้อย เพื่อแสดงต่อสาธาณะชนว่า เขาจะไม่ทำให้เกิดมลภาวะในพื้นที่ๆเขาไปตั้งโรงงานผลิตเบียร์นั้น แต่เขาจะช่วยทำให้พื้นที่นั้นกลับมีสภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิม (ดิน น้ำ อากาศ) และจะใช้การเพิ่มปริมาณหิ่งห้อยเป็นตัวชี้วัด  ก็ประสบผลสำเร็จ กลายเป็นโครงการและพื้นที่ศึกษาดูงานของนักเรียนเด็กๆทั้งหลาย 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 14, 18:06
กลับมาเรื่อง mitigation ต่อกันครับ

ผมจะไม่เล่าให้เป็นเรื่องยาวแบบมีรายละเอียดประกอบมากมาย  แต่จะขอใช้วิธีเล่าในเชิงของตัวอย่างและหลักคิดว่าเขาทำอะไรกัน อาทิ บนฐานคิดว่า
    สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนฐานเคบแต่สูงจะโงนเงนและพังได้ง่ายกว่าสิ่งก่อสร้างที่มีส่วนฐานกว้างแต่เตี้ย
    เมื่อแผ่นดินขยับจะทำให้ระบบสาธารูปโภคที่ใช้ระบบฝังอยู่ใต้ผิวดินเกิดความเสียหาย
    จำนวนประชาชน ณ พื้นที่ และ ณ เวลาใดๆ กำลังทำอะไรกันอยู่และมีมากน้อยเพียงใด
     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 14, 18:25
คิดอย่างง่ายๆธรรมดาๆ --> แผ่นดินไหวทำให้อาคารบ้านเรือนพังทลายลงมา  เส้นทางการคมนาคมเสียหาย (ถนน รางรถไฟ และแม้แต่เส้นทางน้ำในบางกรณี) สาธารณูปโภคเสียหาย (ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ)  ระบบการสื่อสารเสียหาย  ฯลฯ   

สภาพของพื้นที่นั้นๆในภาพองค์รวม --> ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไร้ระเบียบ สกปรก ขาดปัจจัยสี่ (ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค) มีคนตาย ฯลฯ

เราป้องกันไม่ให้เกิดแผ่นดินไหวไม่ได้ คาดเดาเวลาที่มันจะเกิดและมากระทบกับพื้นที่ใดๆไม่ได้  แถมยังไม่รู้ความรุนแรงของมันและผลที่มันจะทำให้เกิดความเสียหายอีกด้วย

กระบวนคิดที่จะจัดการหรือดำเนินการบนความหมายของคำว่า ป้องกัน จึงคงจะใช้ได้น้อยมาก  ที่จะใช้ได้ดีก็คงจะอยู่ในความหมายของคำว่าบรรเทา และ หลีกเลี่ยง เพื่อที่จะให้ความสูญที่จะเกิดขึ้นแน่ๆนั้นมีน้อยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดและมีการดำเนินการทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการเกิดเหตุ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 14, 19:13
ด้วยพื้นฐานความคิดดังกล่าวมานี้  จึงได้มีการจัดการและการดำเนินการ (มิใช่เฉพาะในเรื่องของแผ่นดินไหวเท่านั้น) ในเรื่องของภัยร้ายแรงอื่นๆอีกด้วย เช่น เรื่องของไฟใหม้ในย่านธุรกิจของเมืองขนาดใหญ่    และใช้กับพื้นที่ๆทีมีความเสี่ยงสูงต่อภัยต่างๆ เช่น เรื่องของภัยจาก avalanche ต่างๆ (อาทิ snow, debris)

ที่จริงแล้ว เราท่านทั้งหลายก็อาจจะได้เคยเห็นการจัดการในเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ไปท่องเที่ยวกันมา อาจจะเคยบ่นเสียด้วยซ้ำไปว่า ไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรกันอยู่    ก็เพียงแต่อาจจะไม่ทราบเหตุผลที่เขาต้องทำเช่นนั้นเท่านั้นเอง

   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 14, 19:39
ถึงตอนนี้ก็อาจจะพอถึงบางอ้อได้บ้างแล้ว

จะขอยกตัวอย่างบางอย่างที่อาจจะนึกไม่ถึงเลย คือ การอนุรักษ์เทคโนโลยีที่เชยและล้าสมัยมากๆ    ก็เพราะมันช่วยให้เกิดการรับทราบ การเข้าถึง และการช่วยเหลือพื้นที่ๆเกิดอุบัติภัยร้ายแรงหลายๆครั้ง   
  ครับ อาทิ ทำไมจึงยังคงต้องมีระบบโทรศัพท์ใช้สายอยู่  ทำไมจึงยังมีการสนับสนุนชมรม HAM Radio และการใช้ Morse code  ทำไมจึงยังคงต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์การสื่อสารด้วยวิทยุระบบ HF ของส่วนราชการสายความมั่นคง    ทั้งหลายทั้งปวงทั้งๆที่เราก้าวเข้ามาในยุค digital จนแทบจะลืมระบบ analog ไปจนหมดสิ้นแล้ว 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 14, 18:43
เมื่อเกิดมีภัยธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องปกติที่บรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายที่เราสร้างขึ้นมา (โดยที่ไม่ตั้งใจคิดและตั้งใจทำให้ดี)  ที่ไม่เป็นมิตร ขวางกระบวนการของธรรมชาติ หรือ ที่ไม่ลู่ไปตามกระบวนการของธรรมชาติอย่างเหมาะสม   ก็มักจะประสบกับหายนะ อันตรธานกลับไปสู่ฐานเดิมก่อนที่จะมีการสร้างสรรขึ้นมา 

เราจึงได้เห็นภาพพื้นฐานจริงๆของความต้องการในปัจจัย 4 มนุษย์ทั้งหลายภายหลังจากการเกิดภัยและความหายนะ

ครับ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดการสนองตอบได้อย่างทันท่วงที หรืออย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์ ในลักษณะที่เป็นมวล (mass) พร้อมๆกัน   มิใช่ในลักษณะของครั้งละหนึ่ง (individual) หรือ ตามคิว (inline)   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 14, 19:10
ก็กระทำได้ในสองสถานะการณ์ คือ ก่อนจะเกิดเหตุ และ หลังการเกิดเหตุ

   ก่อนเกิดเหตุ --  มักจะอยู่ในข่ายของการโน้มน้าว ให้ความรู้ บ่มเพาะสัญชาติญาณการตอบสนองต่อสถานะการณ์ และการบังคับโดยกฏกติกาต่างๆ (สังคม ระเบียบ กฏหมาย ฯลฯ)
   หลังเกิดเหตุ --  มักจะอยู่ในข่ายของความฉับไวและความสามารถในการตอบสนอง ซึ่งมักจะเป็นภาพของการแสดงแสนยานุภาพของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆบนฐานของระบบ digital   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 14, 19:35
แล้วไง ??

ดูง่ายๆ แต่จริงๆแล้ว ก็ยากที่จะทำเหมือนกัน     เพราะเป็นเรื่องของหลายหน่วยงานที่จะต้องเข้ามามีบทบาท  แถมแต่ละหน่วยงานต่างก็แสดงความเป็นมืออาชีพในสายของตน แถมอีกด้วยว่า ต่างวิชาชีพ ต่างสำนักวิชาการ ต่างสถาบัน ต่างหน้าที่ความรับผิดชอบ

ลองดูภาพนี้ก็แล้วกันครับ
    - หน่วยงานดูแลสถานีวัดแผ่นดินไหว เกือบจะทั่วโลกเป็นหน่วยงานในระบบงานทางอุตุนิยมวิทยา 
    - หน่วยงานที่รู้ตื้นลึกหนาบางทางวิชาการของแผ่นดินไหวเป็นหน่วยในระบบงานทางธรณีวิทยา 
    - หน่วยงานที่มีความรู้ทางวิศวกรรมในสร้างความคงทนถาวรให้กับสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นหน่วยงานในระบบวิชาการและองค์กรวิชาชีพ
    - หน่วยงานที่มีอำนาจออกกฎและควบคุมการก่อสร้าง เป็นหน่วยงานในระบบมหาดไทย
    - หน่วยงานทีออกให้ความช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ มีทั้งหน่วยงานในระบบมหาดไทย ตำรวจ ทหาร องค์กรเอกชน และนานาชาติ
    - ฯลฯ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 14, 22:49
ตัวอย่างของการดำเนินการที่เขาทำกัน

คงได้เคยเห็นภาพของโรงเรียนในสหรัฐและยุโรป ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองขนาดเขื่องๆ  ที่จะเป็นลักษณะอาคารชั้นเดียวหลายอาคาร หรือมักจะสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีประตูเข้าอาคารขนาดกว้าง  มีพื้นที่สนามขนาดค่อนใหญ่ ราบเรียบ ที่ได้รับการดูแลอย่างดี  ไม่มีต้นไม้สูง ไม่มีเสาไฟฟ้า ไม่มีสายไฟระโยงระยาง พื้นที่รอบนอกมักจะโล่งและมีถนนรอบ

ครับ  โรงเรียนมีลักษณะกลายๆเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งฝ่ายเมืองสามารถจะเข้าไปจัดการเรื่องอะไรต่างๆได้มากพอสมควร แถมยังออกเป็นระเบียบกลางบังคับใช้ได้ทั่วไปทั่วประเทศอีกด้วย     เมื่อยามเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ เนื่องจากเป็นอาคารเตี้ยและแข็งแรง จึงไม่แทบจะไม่เกิดความเสียหายใดๆเลย  อาคารเรียนจะถูกใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวในทันที (shelter)   สนามที่กว้างและไม่มีสิ่งกีดขวาง สามารถใช้ได้ทั้งเป็นลานลงของเฮลิคอปเตอร์ในงานช่วยชีวิตและส่งสิ่งของ และใช้เป็นสถานที่กางเต็นท์สนามขยายปริมาณการรองรับผู้คนได้อีกพอควร



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 14, 20:46
พื้นที่ๆมีข้อกำหนดที่่เด่นชัดแบบจำเพาะเช่นโรงเรียนนี้ ดูผิวเผินภายนอกแล้ว ก็ดูจะไม่ไช่พื้นที่สำคัญใดๆเลย  แต่หากดูลึกลงไปในตับไตใส้พุงแล้ว จะเห็นว่ามันถูกทำให้เป็นพื้นที่ๆเป็นจุดเชื่อมต่อหรือจุดรวมของระบบสาธารณูปโภค คล้ายกับหัวใจกับเส้นเลือดของตัวเรา  คล้ายๆกับหลักที่ว่า เมื่อหัวใจยังไม่หยุดเต้น ก็จะยังไม่ตาย  ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ระบบหล่อเลี้ยงจะต้องยังคงสามารถดำเนินได้อย่างค่อนข้างจะเป็นปกติ ซึ่งก็คือ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ๆมี lifeline ที่ยืนหยัดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพอเหมาะกับในทุกสถานการณ์ อันได้แก่ โทรศัพท์ น้ำประปา และสายส่งไฟฟ้า   ซึ่งงงงง เขาจะใช้ระบบพื้นๆง่ายๆสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งในภาพรวมๆจะอยู่ในความหมายของคำว่าระบบ analog

ตัวอย่างของสถานที่ในลักษณะนี้ พบได้ทั่วไปตามแนวของรอยเลื่อน San Andreas ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ   

ในญี่ปุ่นก็มีการดำเนินการในหลักการนี้ แต่ในรูปที่ต่างกันออกไปตามสภาพทางกายภาพของระบบสังคม   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 14, 17:27
ญี่ปุ่นก็ใช้โรงเรียนเหมือนกัน แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่โล่งกว้างในพื้นที่เมือง  ญี่ปุ่นจึงใช้ระบบจุดรวมพลย่อยๆ ไม่จำเป็นต้องแห่กันไปรวมพลพร้อมๆกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ (เช่นโรงเรียน) ในช่วงเวลาเดียวกัน  ถ้าสังเกตให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าในเขตพื้นที่แต่ละชุมชน จะมีพื้นที่ว่างเปล่าขนาดเล็กๆ ขนาดก็พอๆกับพื้นที่ที่คนญี่ปุ่นเขาใช้สร้างบ้านกันนั่นแหละครับ และก็มักจะพบอยู่บริเวณจุดตัดของถนนในย่านที่พักอาศัย  จัดทำเป็นสนามออกกำลังบ้าง สนามเด็กเล่นบ้าง

ถ้าประสงค์จะสัมผัสกับภาพดังกล่าวนี้ ก็เพียงเดินออกไปจากสถานีรถไฟในกรุงโตเกียวสถานีใดก็ได้ ใช้เวลาสักสองสามนาทีครับก็จะได้เห็น  (1 นาที่เดินของคนญี่ปุ่น หมายความถึงระยะทางที่ผู้หญิงญี่ปุ่นเดิน ซึ่งจะเท่ากับประมาณ 80 ม.)
 
เท่าที่ผมทราบมานะครับ พื้นที่ว่างดังกล่าวนี้ เป็นพันธกิจอย่างหนึ่งที่ฝ่ายเมืองที่จะพยายามดำเนินการให้ได้มาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมิใช่หมายถึงการเวนคืน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 14, 18:09
สำหรับในแผ่นดินใหญ่ยุโรปนั้น เกือบจะไม่มีแผ่นดินไหวใดๆ จะมีก็อยู่ลึกมากจนรับรู้ได้เพียงว่ามีเกิดขึ้น แต่ก็ช่วงเวลาสั้นมากๆ ไม่นานพอที่เราจะสัมผัสกับความรู้สึกกลัวได้ 
 
แต่หลักคิดในการเตรียมการลดความเสียหายนั้น น่าสนใจมากเลยทีเดียว   ซึ่งผมไม่มีโอกาสได้รับรู้เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าที่ผมได้รับรู้มาจากการถกในโต๊ะกลม เมื่อครั้งไปประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและด้าน mitigation ที่ฟิลิปปินส์หลังการเกิดแผ่นดินไหวปี 2526 ในไทย     เป็นหลักคิดของเรื่อง mitigation ที่ได้มีการดำเนินการในกรุงปารีสสำหรับกรณีการเกิดไฟใหม้
   
ผมฟังแรกๆก็ไม่เห็นภาพว่าทำไมจึงยกตัวอย่างกรุงปารีส จนกระทั่งไปประจำการในยุโรปนั่นแหละครับ จึงถึงบางอ้อ  ท่านที่เคยไปปารีสและเดินท่องๆด้วยตนเอง จะพบว่า ถนนในกรุงปารีสนั้นวุ่นวายมากพอดู เป็นถนนช่วงสั้น แถมแต่ละช่วงก็มีแต่ละชื่อถนนกำกับ  ชื่อถนนก็มักเป็นชื่อคน ครบทั้งชื่อแรก ชื่อกลาง และชื่อสกุล แถมซ้ำกับอีกในแต่ละย่าน ก็ยุ่งยากมากพอที่รถแท็กซี่จะไม่นิยมวิ่งข้ามย่านเลย เพราะหลงแบบบอดใบ้ไปเลย   ที่จริงแล้วสภาพก็ไม่ต่างกันกับในกรุงมิลานของอิตาลีมากนัก ที่บรรดาป้ายบอกชื่อถนนช่วงชุมทางถนนตัดกันนั้น ยังเป็นลักษณะชื่อย่อเข้าไปอีกด้วย ก็ชื่อถนนมันยาวนี่ ก็ต้องย่อมัน     ก็ได้อ่านเรื่องราวและประวัติศาสตร์ต่างๆมาพอควร ผมก็เลยพอเดาออกกับชื่อ common name ทั้งหลายที่ป้ายบอกทางเขาเขียนย่อกัน แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตกเหมือนกันครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 14, 19:44
เรื่องที่เขาคิด ซึ่งเราฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ ดังนี้ครับ

ปารีสเป็นเมืองเก่า
   - มีอาคารบ้านเรือนรุ่นเก่าอยู่มากมาย  เมื่อแรกสร้างแต่ดั้งเดิมนั้น การออกแบบอาคารและผัง (plan) ภายในก็ดูสมบูรณ์แบบเหมาะสมกับสภาพการใช้งานสำหรับในสภาพและช่วงเวลานั้นๆ    อาจกล่าวได้ว่าทุก elements ของแบบที่ออกมามี functions หรือมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างดี    นานต่อมาเมื่อสภาพทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมทางสังคมและสถานะการใช้งานของสถานที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกรณีการที่มีคนจำนวนมากต้องมาอยู่ มาใช้ หรือโคจรเข้าไปปรากฎตัวในพื้นที่นั้นๆ  ก็ย่อมทำให้ elements เดิม และ functions เดิม  ไม่เหมือนเดิม
   - ถนนแคบและเส้นทางสลับซับซ้อน 

ประเด็นที่น่าจะเป็นสถานการณ์ที่สร้างให้เกิดความวิกฤติ โดยสรุป คือ ในวันทำงาน จะมีผู้คนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (เช่น ถนน ห้องโถงในอาคารต่างๆ พื้นที่นั่งพัก สวน ฯลฯ) และอยู่ในที่ทำงาน อยู่ในห้องในที่ทำการ   ซึ่ง.. ณ ช่วงเวลาต่างกันนั้น จำนวนคนก็จะไม่เท่ากัน เช่น ในช่วง ชม.เร่งด่วน คนจะไปอยู่บนถนนและในพาหนะขนส่งมวลชน ช่วงพักกลางวันก็จะไปอยู่ตามร้านอาหาร เหล่านี้เป็นต้น   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 14, 20:05
ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในสถานะกาณ์ และเพื่อการดำเนินการตอบสนองที่เหมาะสม สำหรับการรักษาชีวิตของผู้คนไห้ดีที่สุด ณ สภาพและสถานะการณ์ใดๆ  จึงมีอาทิ

สำหรับการลดระดับของความวิกฤติ (ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดภัย) ที่สามารถจะทำได้ก่อนที่จะเกิดเป็นเหตุการณ์วิกฤติ ก็มีอาทิเช่น
ทำการสำรวจเพื่อให้ประเมินรู้เสียแต่แรกว่า ณ ช่วงเวลาหนี่งใด ที่อาคารหรือสถานที่ใด จะมีผู้คนอยู่มากน้อยเพียงใด

ขอเว้นจังหวะนิดนึงครับ เดี่๋ยวมาต่อใหม่
ระหว่างนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะได้มโนเห็นว่า โอ้ มีเรื่องที่ทำได้เยอะทีเดียว




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 14, 19:27
แว๊บนึงของผมอาจจะนานไปหน่อยนะครับ  ขอต่อเลยนะครับ

ข้อมูลพื้นฐานดังเช่นในเรื่องนี้ จะทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรทั้งก่อนและหลังกันบ้างในภาพของเหตุการณ์ต่างๆ (scenario) เช่น ในภาพของการจราจรที่เคลื่อนตัวไม่ได้  ในภาพของมวลชนเคลื่อนที่หนีแบบไม่รู้ทิศทาง ในภาพของ ณ เหตุการนั้นๆจะต้องเครื่องมืออุปกรณ์และกำลังพลในการเข้าไปช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด และในภาพของระดับความสูญเสียที่แปรผันไปตามระยะเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

ด้วยพื้นคิดเช่นดังกล่าว เราจึงได้เห็นถนนเดินรถทางเดียวในมุมที่เราคิดว่ามันน่าจะกลับทิศทางกัน  ได้เห็นป้ายบอกทางออกฉุกเฉินและทางไปบันไดขึ้นลงในอาคารมากมาย ฯลฯ   
 
ถึงตอนนี้ ท่านทั้งหลายคงมโนไปได้ไกลมากแล้ว ผมคงจะไม่ต้องขยายความต่อ

    ท่าน N.C. เป็นผู้ที่ทราบเรื่องเหล่านี้ดี ซึ่งเป็นข้อที่ต้องคิดคำนึงในการออกแบบอาคารที่มีพื้นที่สาธารณะมากๆตลอดเวลา  ซึ่งก็จะสวนทางกับความต้องการปริมาณพื้นที่ใช้สอยที่ทำเงินให้ได้มากที่สุดสำหรับผู้ลงทุน   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 14, 19:14
สำหรับการเตรียมการของญี่ปุ่นนั้น มีในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมยังไม่เห็นในที่อื่นใดว่าจะมีการดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือเรื่องของการรักษาชีวิตของแต่ละบุคคลให้รอดเมื่อเกิดเหตุก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือใดๆ    ซึ่งในที่อื่นๆเกือบทั้งหมดจะเป็นเพียงการเผยแพร่ให้รับรู้ แต่ที่ญี่ปุ่นไปถึงระดับที่เป็นข้อกำหนดว่าจะต้องทำ และดูเหมือนว่าจะมีโทษอยู่ด้วย  ที่สำคัญมีอาทิ

   - การรายงานต่อเขตเมื่อมีผู้เข้ามาพักพิงอาศัยอยู่ในเขตนั้นๆ (มิใช่ระบบทะเบียนบ้าน เป็นระบบจดทะเบียน เพื่อสิทธิอันพึงมี)
   - แต่ละบ้านจะต้องมีหมวกกันน๊อก (ครบตามจำนวนผู้อยู่อาศัย) มีไฟฉาย มีอาหารแห้ง และมีแผ่นคู่มือคำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ ทั้งหมดนี้จะต้องจัดวางไว้ในสถานที่ๆที่หยิบฉวยได้ง่าย ซึ่งก็คือ มักจะเป็นตู้แขวนเสื้อคลุม เสื้อฝน ร่ม หมวก ฯลฯ บริเวณทางเข้าทางออกบ้าน
   - กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบ ซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ
   - drill exercise __ การซักซ้อมการปฏิบัติต่างๆเมื่อเกิดเหตุและอยู่ในสถานะการณ์ฉุกเฉิน   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 14, 19:30
ในอินโดนีเซีย ก็มีการดำเนินการ  ในลักษณะส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

เรื่องหนึ่งก็คือ การใช้ไม้ตีใขว้เป็นตัว x ระหว่างเสาบ้านไม้ และหากจะก่ออิฐปิดเป็นผนังระหว่างเสาบ้าน  ก็ควรจะใช้ตะแกรงลวด (wire mesh) แผ่นสั้นๆตีกับเสาบ้าน (ซึ่งเป็นไม้) แล้ววางลาดมาบนชั้นอิฐที่ก่อขึ้นมา คือทำให้ไม้กับปูนยึดหรือเชื่อมต่อกันใกล้เคียงกับการเป็นเนื้อเดียวกันต่อเนื่องกัน 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 14, 19:05
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายรัฐของญี่ปุ่นเขาทำ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  คือ

จากข้อมูลและการวิเคราะห์คาดเดาในทางวิชาการสถิติ (return period & maximum likelihood magnitude)  เขาเห็นพ้องกันว่ามีความเป็นไปได้มากๆๆๆ ที่จะต้องเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากรอยเลื่อนของโครงสร้างในกลุ่ม synthetic fault ในช่วงทศวรรษของปี 2000 +  + และ + (?) คือ พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านเหนือและใต้ของกรุงโตเกียว (หลายร้อย กม.)   แม้ว่าจะได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่โดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อ Kobe earthquake เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1995  (ญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อเรียกขานว่า  The Great Hanshin Earthquake) มาแล้วก็ตาม   

ซึ่ง...แล้วก็เกิดจริงๆเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2011 ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากๆ และก็เกิด Tsunami ไปทั่วชายฝั่ง เป็นพื้นที่กว้างขวาง (ญี่ปุ่นตั้งชื่อเรียกขานว่า The Great Tohoku Earthquake)



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 14, 19:32
เขาได้เตรียมการอย่างไรบ้าง ??

หลังจากเกิดเหตุใน ปี 1995  ญี่ป่นได้ทำการศึกษาลงลึกในแทบจะทุกแง่มุมที่สามารถจะคิดได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการมากพอที่จะจัดทำเป็นข้อกำหนดหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านวิศวกรรม   และมากพอที่จะสื่อกับประชาชนทุกๆแง่มุมในเชิงของ mitigation

แล้วได้ทำอะไรบ้าง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 14, 19:24
มากมายหลายเรื่องเลยครับ
 
ผมได้มีโอกาสไปเห็น ไปสัมผัส และเรียนรู้มากมาย ในเข้าไปร่วมใน Petit Forum ของทางราชการญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปฏิบัติการของฝ่ายรัฐของญี่ปุ่นเพื่อการแสดงถึงศักยภาพ หลักคิด หลักนิยม และความก้าวหน้าต่างๆในทุกมิติของญี่ปุ่น

ซึ่งในด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยเฉพาะจากแผ่นดินไหวนี้ เขาได้ดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน (ที่มุ่งเน้นไปถึงระดับปัจเฉกบุคคล ดังที่ได้เล่ามา) ดังนี้ อาทิ

   - การสร้างกำแพง (เขื่อน คันดิน ถนน แบริเออร์ปูน ประตูน้ำ ฯลฯ) สูง 5 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตลอดชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อกัน tsunami (แต่ก็ผิดพลาดนะ)  ซึ่งหากย้อนไปดูภาพของ tsunami ครั้งรุนแรงเมื่อเร็วๆนี้ ก็จะเห็นภาพของน้ำล้นข้ามกำแพงกัน tsunami เหล่านั้น    ซึ่งความสูงของกำแพงระดับนี้ ได้มาจากการคำนวนจากรูปแบบจำลองกรณีของรอยเลื่อนและขนาดของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นต่างๆ

ผมได้เห็นกำแพงลักษณะนี้ แม้กระทั่งในแถบชายทะเลทางใต้ของประเทศ    ก็แปลกดีครับ มีกำแพงปูนสูงขั้นระหว่างพื้นที่ทำนากับหาดทรายของทะเล   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ย. 14, 19:39
   - การสร้าง Simulator จำลองการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Kobe Earthquake   ซึ่งทำทั้งในลักษณะตั้งอยู่ในศูนย์ถ่ายทอดตวามรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว (คือในอาคาร) และในลักษณะของ mobile unit (บนรถ 6 ล้อขนาดเล็ก)

ก็สร้าง simulator ในหลักเดียวกันกับ flight simulator  เพียงแต่แทนที่จะเป็นห้องแบบห้องนักบินที่ปิดมิดชิด ก็เป็นแผ่นพื้นราบที่เปรียบเสมือนพื้นห้องในบ้าน มีฝาผนังหนึ่งหรือสองด้าน คือ จัดให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ของห้องครัว มีเคาท์เตอร์ มีอ่างล้างมือ มีเตาแกสที่มีกาต้มน้ำวางอยู่บนเตาแล้วก็มีถังแกสอยู่ข้างเตา มีโต๊ะเล็กๆพร้อมเก้าอี้ สำหรับนั่งทานอาหารกัน  ที่ผนังก็มีรูปภาพแขวนอยู่




กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 14, 18:46
simulator นี้ เขาให้คนขึ้นไปยืน เพื่อจะได้รับรู้ และสัมผัสกับการไหวสะเทือนของแผ่นดินที่เกิดขึ้นจริง (เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ) เขาใจดีมากพอที่จะให้ลองสองครั้ง โดยครั้งที่สองจะบอกว่า เมื่อรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหว เราจะต้องรีบทำอะไรบ้าง (รีบปิดเตาแกส ปิดวาล์วถังแกส ย่อตัวลง)  เอาเข้าจริงๆ พอเริ่มสั่น เราก็มักจะยืนหยุดนิ่ง พอสั่นมากขึ้น ก็จะย่อตัวลง อยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนตัวไปปิดเตาแกส ปิดถังแกส และเอาหัวมุดใต้โต๊ะ แม้จะเป็นครั้งที่สองแล้วก็ตาม   มันก็เป็นลักษณะของการตอบสนองแบบอัตโนมัติของมนุษย์ต่อสถานการณ์เช่นนี้

การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ มิได้มุ่งประเด็นไปในเรื่องของการฝึกฝน แต่เป็นการกระตุ้นให้เอาข้อมูลที่ได้พบไปฝังอยู่ในต่อมสัญชาติญาณ ไม่ว่าผู้นั้นจะได้ยืนอยู่บนแท่นนั้นหรือไม่ก็ตาม


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 14, 19:25
   - การสร้างและใช้ประโยชน์กับศูนย์ประชาชนประจำ Ku (เขต ตำบล หมู่บ้าน) ให้เต็มตามศักยภาพของสถานที่นั้น
   
ตามเขตต่างๆของญี่ปุ่นจะมีการสร้างศูนย์ประชาชนหรือศูนย์ชุมชน ซึ่งจะมีขนาดและพื้นที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการต่างกันไป   ดูอย่างผิวเผินก็เหมือนกับสถานที่ๆไม่มีชีวิตชีวา  แต่แท้จริงแล้วมันมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา และมิใช่เฉพาะกับคนญี่ปุ่น แต่กับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเขตนั้นด้วย อาทิ สระว่ายน้ำ สนามแบตมินตัน  สอนทำอาหารญี่ปุ่น สอนปักแจกันดอกไม้แบบ Ikebana  สอนภาษา ฯลฯ   เป็นกิจกรรมที่พยายามสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้คนที่พำนักอยู่ในเขตนั้น   สร้างความจำลึกๆให้คิดถึงสถานที่หลบภัย สถานที่พักพิง สถานที่เอาชีวิตรอด   ซึ่งก็คือสถานที่ๆเมื่อเกิดเหตุหรือภัยใดๆแล้วคนจะมารวมกัน มีสาธารณูปโภค มีความช่วยเหลือ มีสาธารณสุข มีการสื่อสารกับภายนอก ฯลฯ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 14, 19:14
   - การดำเนินการด้านการคมนาคม   คงจะมีอยู่หลายเรื่องมากๆ  แต่ที่ผมรู้นั้นมีเรื่องนึง  ที่ได้เห็นเรื่องนึง  กับที่ได้ประสบด้วยตนเองนั้นอีกเรื่องนึง
 
เรื่องแรก  เกี่ยวกับรถไฟ Shinkansen  รถไฟนี้มีความเร็วสูงมาก วิ่งระหว่างเมือง และวิ่งอยู่บนทางยกระดับค่อนข้างมาก  ด้วยความเร็วในระดับ 200+กม.ต่อ ชม.  แผ่นดินไหวสามารถจะทำให้รถไฟตกรางได้โดยง่ายมากๆ  ลองนึกดูภาพของตัวเราเองเดินช้าๆในห้างสรรพสินค้า ถุกกระแทกไปมาก็ไม่หกล้ม แต่หากเรากำลังวิ่ง ชนอะไรเพียงนิดเดียวก็หกล้มได้   

ญี่ปุ่นเขาใช้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่เดินทางของคลื่นแผ่นดินไหวนี้ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็คือ คลื่น P เดินทางเร็วกว่าคลื่น S มาก
   
ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวที่มาจากจุดกำเนิดห่างไปไกลในระยะทางไกลระดับนึง ก็จะมีช่วงเวลาสั้นๆที่สามารถจะใช้ช่วงเวลานี้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อลดระดับของความสูญเสียของชีวิตได้       ฉะนั้น เมื่อเครื่องมือได้รับสัมผัสแรกของคลื่น P ณ พิกัดนั้นๆ  (คลื่น P ให้ความรู้สึกคล้ายกับการทุบประตู ตามมาด้วยคลื่อน S ที่เหมือนกับการเขย่าประตู) ระบบอัตโนมัติ ทั้งจากระบบราง ระบบตัวรถไฟ และระบบสัญญาณ ก็จะไปสั่งการให้รถไฟลดความเร็วและหยุดในระยะทางที่สั้นที่สุด โดยเร็วที่สุด (ในระดับที่ไม่ทำให้ผู้โดยสารได้รับการบาดเจ็บรุนแรง) ก็คือ หยุดรถ Shinkansen อยู่กับที่ ในแทบจะทั้ังระบบการเดินรถเลยทีเดียว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 14, 19:47
การใช้ประโยชน์ของช่วงเวลาของความต่างระหว่างความเร็วของคลื่น P กับคลื่น S นี้ มีการนำไปใช้ในประเทศหนึ่งในละตินอเมริกา   ณ เมืองหนึ่งที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหว (ชายฝั่งทะเล) ประมาณ 500 กม.  ใช้ในรูปของการเตือนภัยว่าต้องหาที่ปลอดภัยจากการพังทลายของอาคารบ้านเรือนต่างๆ 

ผมไม่ได้ติดตามว่าจะได้ผลเป็นหมู่หรือเป็นจ่า

อย่างว่าแหละครับ ก็มีทั้ง pro และ con ตามธรรมชาติของมนุษย์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 14, 19:47
ผมมารู้เรื่องนี้จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถบเมือง Niigata ซึ่งอยู่ด้านชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) ซึ่งเป็น Back arc basin ที่พบในระบบ Subduction zone ที่มีอัตราการมุดตัวค่อนข้างเร็ว

รถไฟ Shinkansen สายนี้มีชื่อว่า Joetsu Shinkansen   ซึ่งตลอดระยะทางของทางรถไฟสายนี้มีตัวจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหว 19 ตัว (หากจำไม่ผิดนะครับ)     ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้น มีขบวนรถไฟอยู่บนรางในช่วงที่ใช้ความเร็วสูงเต็มพิกัด  
ผลครับ   รถไฟหยุด ไม่ตกราง ไม่มีคนบาดเจ็บในระดับสาหัส   แต่กลับไปมีปัญหาว่ารถไฟหยุดในช่วงที่เป็นรางยกระดับ ผู้โดยสารออกจากรถไฟได้ แต่ไม่สามารลงสู่พื้นดินได้ ต้องเดินอยู่บนราง

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 14, 18:40
รถไฟจะหยุดและจะไม่เคลื่อนเข้าสถานี (พร้อมผู้โดยสาร)  จนกว่าจะมีการตรวจสอบความเสียหายที่อาจจะเกิดกับระบบราง (ตลอดทั้งเส้น) และระบบอีเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในระบบการเดินรถ  ก็ใช้เวลานานเป็นวันๆอยู่     เหตุที่ใช้เวลานานหน่อยก็เพราะว่า มันเป็นทางรถไฟยกระดับ ดังนั้น ชุดของโครงเสาที่ยกระดับรางจะต้องได้รับการตรวจสอบด้วย (ซึ่งเป็นแต่ละชุดแยกจากกัน) ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่ตัวเสาของชุดโครงเสา การทรุด การเอียงเท และแนวระดับต่างๆ

ญี่ปุ่นยังใช้เวลาเป็นวันๆ ที่อื่นมิแย่เลยหรือ ?


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 14, 19:05
สำหรับรถไฟฟ้าของระบบขนส่งมวลชนก็จะหยุดเหมือนกัน แต่จะค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจอดที่สถานี เปิดประตูให้คนเข้าออกตู้รถโดยสาร พร้อมๆกับประกาศว่าเกิดอะไรขึ้น  

ผมประสบกับเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง ฟังภาษาไม่ออกหรอกครับ ได้แต่นั่งรอ   ผู้โดยสารนั่งข้างๆเขาบอกจึงได้รู้ ประกาศแรกบอกว่าเกิดอะไรขึ้น    ประกาศที่สองบอกว่ารอระสักระยะ กำลังประเมินสภานการณ์   ประกาศที่สามบอกว่าจะใช้เวลานานและจะหยุดบริการจนกว่าจะตรวจสอบระบบว่ายังใช้ได้ดีและอย่างปลอดภัยหรือไม่ จึงจะเดินรถต่อไปได้ และขอให้ผู้โดยสารได้ออกจากสถานีไปใช้รถเมล์โดยไม่เสียค่าโดยสาร ซึ่งรถเมล์นี้จะไปยังสถานีที่เป็นชุมทางสำคัญของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ใกล้ที่สุด

ผมพบว่าเป็นรถเมล์วิ่งผ่านสถานีที่รถไฟฟ้าหยุดแต่มิใช่เป็นระเมล์ที่วิ่งผ่านสถานีที่จะไปส่งผู้โดยสารเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ (เพราะมีการปรับป้ายสายของรถเมล์นั้นๆ) ก็เป็นการปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อการอำนวยความสดวก และเพื่อลดปัญหาสภาพความสับสนวุ่นวายที่อาจจะจัดการได้ยากมากขึ้น  

ครับเขาเปลี่ยนหรือซ้อนระบบการขนส่งมวลชนจากระบบรางไปเป็นระบบรถเมล์ได้อย่างแทบจะไร้รอยต่อ

ขนาดฟังภาษาไม่ออก ไม่รู้ระบบ mitigation ของเขาเลย ผมยังเสียเวลาเพิ่มไปเพียงประมาณ 45 นาทีเท่านั้น จากแทนที่จะเป็นการใช้รถไฟฟ้า ก็เปลี่ยนเป็นรถเมล์


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 14, 19:32
พูดถึงรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น ก็ทำให้นึกถึงอีกเรื่องนึง 

เคยสังเกตใหมครับว่า ทำใมรถในระบบขนส่งมวลชนของระบบรางของหลายประเทศ  ที่รถหัวขบวนคันแรกจะมีประตูอยู่ที่ด้านหน้า เช่นเดียวกับที่มีอยู่ท้ายสุดของรถคันสุดท้ายของขบวน   

แน่นอนว่า เป็นประตูเชื่อมระหว่างตู้โดยสารเมื่อต้องต่อ/ต้องปลดตู้โดยสาร แต่ก็เป็นการเตรียมการไว้ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย     เพราะว่าประตูด้านข้างของตัวรถทั้งหมดจะมีระดับเท่ากับระดับพื้นของชานชลา หากมีเรื่องสำคัญที่รถต้องหยุดคารางนอกสถานี ผู้โดยสารจะลงจากรถลำบากมาก (ต้องกระโดดลง) เป็นเรื่องลำบากมากๆสำหรับผู้สูงอายุ   แต่การลงทางประตูด้านหน้าหรือท้ายขบวนนั้น ลงได้ง่ายกว่าโดยใช้บันได (บนรถมีกระไดเก็บซ่อนอยู่)   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 14, 20:10
       เพิ่งได้ข่าวว่าเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

       แผ่นดินไหวระดับ 6.8 แมกนิจูดครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของเมืองนางาโนและอีกหลายเมืองโดยรอบ ขณะที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) รายงานว่าแผ่นดินไหวทางภาคกลางของญี่ปุ่นครั้งนี้มีความรุนแรงที่ระดับ 6.2 แมกนิจูด และมีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้ดินเพียงแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น
       
       ด้านสื่อท้องถิ่นในแดนปลาดิบรายงานว่า บริการรถไฟหัวกระสุน “ชินคันเซน” ได้หยุดให้บริการในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
       
       จนถึงขณะนี้ มีรายงานว่าเกิดความเสียหายกับอาคารบ้านเรือนจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ทั่วไปในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปราว 180 กิโลเมตร
       
       ล่าสุดสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า เกิดเหตุดินถล่มที่เป็นผลพวงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ใกล้กับสกีรีสอร์ตแห่งหนึ่งไม่ไกลจากเมืองนางาโน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 14, 18:43
ครับ  เป็นการไหวตามปกติที่ไม่ปกติเท่าใดนัก คือแรงไปหน่อย จนทำให้บ้านพังและเกิดดินถล่ม

ในกรณีที่มีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจนเป็นอันตรายต่อการเข้าอยู่พักอาศัยเช่นนี้   
  หากเกิดขึ้นกับประชนชนจำนวนมาก ฝ่ายรัฐของญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน คือ หาอาคารในพื้นที่ๆเกิดเหตุที่ในทางวิศวกรรมยังมีความแข็งแรงและใช้ประโยชน์ได้ ดัดแปลงเป็นที่พักฉุกเฉินรวม 
  เมื่อสำรวจความเสียหายแล้วเห็นว่า ต้องใช้เวลานานในการเก็บกวดและซ่อมแซม ก็จะไปสร้างห้องพัก (คล้ายห้องแถวชั้นเดียว) ในพื้นที่อื่น แล้วอพยพผู้คนที่สมัครใจเข้าไปอยู่  ห้องพักสนามนี้จะมีไฟ มีน้ำ มีเครื่องปรับอากาศ เย็น/ร้อน มีห้องส้วมห้องน้ำพร้อม มีพื้นที่ใช้สอยเล็กๆด้านหลังบ้านอีกด้วย ในพื้นที่ก็จะมีศูนย์เล็กๆมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ (ในภาพง่ายๆก็คือศูนย์เชื่อมโยงกับโลกภายนอกในทุกๆเรื่อง)   ผมได้มีโอกาสได้เห็น ได้เดินสัมผัสกับผู้คนในศูนย์อพยพเช่นนี้เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งทะเลญี่ปุ่น (ที่ได้เล่าเรื่อง Joetsu)

จัดการได้ดีนะครับ แต่...   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 14, 19:26
แต่ก็ต้อง อื้อม์  ในเรื่องที่ดูดี มันก็มีในอีกมุมหนึ่ง

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวทำงานอยู่ในเมืองกันหมด  ผู้คนอยู่ในค่ายหรือในศุนย์อพยพนี้จึงมีแต่ผู้สูงวัย สูงวัยจนเลยคำว่าคนแก่ ไปเป็นผู้เฒ่าชรา ที่เกือบทั้งหมดมีอายุเข้าใกล้ทางเลข 8 +/-  อยู่กันสองคน มีพื้นที่บ้านเป็นห้องเล็กๆ ไม่รู้จะเดินไปใหนดี หน้าบ้านก็เป็นถนนลาดยาง ด้านหลังมีผืนดินเล็กๆให้พอปลูกอะได้บ้าง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีกิจกรรมใดๆ ได้แต่ดูทีวี เมื่อไรจะกลับบ้านได้ก็ไม่รู้ ที่บ้านเดิมจะต้องไปทำอะไรบ้างก็ไม่รู้

เห็นแล้วก็สงสารครับ   ผมได้เรียนรู้วิธีการทำลูกพลับแห้งก็ที่ค่ายนี้ ถามเขาเพราะเห็นแขวนตากอยู่ ผู้เฒ่าก็ได้เล่าให้ฟังถึงวิธีการ (ผ่านล่ามครับ)   หากท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุน ในช่วงเวลาเหมาะ (คิดว่าในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์) ลองลิ้มรสพลับแห้งที่ตากด้วยลมที่ยังคงความฉ่ำ (เป็นลูกพลับแบบกลม ที่ไม่นิยมกินกัน) ที่ต่างไปจากพลับแห้งของจีนที่แบน แห้ง และแข็ง

หลักคิดของฝ่ายรัฐที่ต้องการแสดงถึงความรับผิดชอบและการให้บริการที่ดี เป็นเหตุทำให้เกิดสภาพดังที่กล่าวถึงนี้ครับ   ก็เนื่องด้วย รัฐใช้เวลาทำการปรับพื้นที่ๆเกิดดินถล่ม ซ่อมถนนให้กลับไปเหมือนเดิม ปรับภูมิทัศน์ต่า่งๆ และช่วยซ่อมแซมบ้าน   ก็คิดดูเอาเองนะครับว่าจะใช้เวลานานเพียงใด ขนาดคนญี่ปุ่นที่ว่าเป็นคนอึดและอดทนก็ยังบ่นก็แล้วกัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 14, 18:58
  - กระบวนการลดความตื่นตระหนก (panic) ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ  การจัดการในเรื่องนี้จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก  ซึ่งในความรู้ความเข้าใจของผมนั้น  อาการตื่นตระหนกของปุถุชนมันเกิดจากความไม่รู้ หรือ การเกิดการมโนจากสภาพการไร้ข้อมูลใดๆ แล้วก็การมโนเกี่ยวกับภัยจากธรรมชาตินี้ มันมักจะเป็นมโนไปในสภาพที่แย่สุดๆ

เขาแก้ด้วยการให้ข้อมูลในทันทีแบบใกล้ real time มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับกรณีเหตุเกิดโดยฉับพลัน เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่จะมีผลกระทบที่ค่อนข้างไปทางร้ายแรงที่ตามมา  แต่ก็มิใช่ให้ข้อมูลแบบพร่ำเพรื่อดังเช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่จับได้เฉพาะเครื่องมือ (ระดับต่ำกว่า 2+ ริกเตอร์) ที่คนปรกติแทบจะไม่สามารถรับรู้การไหวได้เลย



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 14, 19:47
ที่มันยุ่งยากเข้าไปอีกหน่อยนึง คือ ในภัยเรื่องนี้ มีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวพันและต้องรับผิดชอบอยู่หลายหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยก็อยู่ในสังกัดที่มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน และซึ่งก็มีทั้งหน่วยในระดับเขตการปกครองและในระดับประเทศ อาทิ
  การอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีภารกิจด้านการเตือนภัยภัยจากธรรมชาติสำหรับกรณีที่ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง (เครื่องมือวัดแผ่นดินไหวทั้งหลาย แทบจะทั้งโลก อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา ยกเว้นสหัฐฯที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านธรณีวิทยา)
  การป้องกันและบรรเทาภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งมีภาระกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน อยู่ในการดูแลของเมืองหรือมหาดไทย
  งานทางวิชาการเจาะลึกเฉพาะเรื่องเป็นเรื่องๆไป ซึ่งอยู่ในทั้งภาคการศึกษาและภาคราชการ
  ฯลฯ

......เมื่อใดที่ต่างคนต่างก็คิดว่า ฉันแน่ เมื่อนั้นก็.... 
 
ครับ ต่างคนต่างก็เรียนมา รู้มา   ต่างคนต่างก็คิดว่าฉันรู้ดีกว่าแก เพียงอาจจะลืมนึกไปว่า รู้ในเชิงของศาสตร์ หรือ รู้เพราะเกี่ยวข้องด้วย   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 14, 19:03
การลดความตระหนกโดยการสื่อสารสัมพันธ์ด้วยการให้ข้อมูล ยังมีอีก   คือ 

 - การให้ข่าวผ่านทางตัววิ่งแทรกในรายการทีวีในทันที ว่าเกิดที่ใหน พร้อมการคาดการณ์ว่าจะมีระดับน้ำจาก tsunami เอ่อสูงเพียงใด (20, 30, ....ซม.)   ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพขนาดและสถานที่เกิดของแผ่นดินไหว หากอยู่ในเกณฑ์รุนแรงและกระทบพื้นที่ชุมชนสำคัญ ก็จะมีการแทรกเป็นข่าวรายงานสดในทันที    ครับ ทันทีคือทันที คือ ไม่เกิน 30 วินาที      คลื่นแผ่นดินไหววิ่งผ่านบ้านที่ผมอยู่ รีบไปเปิดทีวี ยังแทบจะไม่ทันข่าวตัววิ่งเลยครับ

 - การให้ข่าวผ่านทางวิทยุ  การให้ข่าวผ่านทางจอภาพโฆษณาในระบบการขนส่งมวลชน การบอกผ่านเครื่องกระจายเสียงในพาหนะขนส่งสาธารณะ ฯลฯ มีทั้งนั้นเลยครับ  เป็นข่าวเดียวกัน ออกมาจากที่เดียวกัน  คนอ่านข่าวออกสื่อและให้ข้อมูลเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนเดียวกัน จากนั้นอีกสักพักใหญ่ๆจึงเป็นรายงานของสื่อมวลชนที่เป็นรายงานดิบ ข่าวนี้พอรับฟังได้เก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ต่อไป  แล้วก็จึงตามมาด้วยข่าวทาสี/ใส่ไข่ แต่ไม่ใช่เรื่องโกหกนะครับ เพียงแต่ลงลึกไปในรายละเอียดยิบๆเท่านั้นเอง

แต่ ของดีก็ย่อมต้องมีส่วนที่ไม่ดีปนอยู่ด้วย...


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 14, 19:39
เมื่อรับรู้ข่าวสารเร็ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ความสะดุดของระบบโทรคมนาคม เพราะทุกคนก็จะพยายามติดต่อสอบถามญาติหรือเพื่อนฝูงว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง  ระบบโทรคมนาคมมันรับไม่ไหวครับ (ก็เล่นเปลี่ยนจากลักษณะการใช้งานตามปกติไปเป็น super peak load ในทันที)

ทางแก้ที่ผมมีประสบการณ์ก็คือ รู้เร็วโทรเร็วพูดสั้นๆ เอาแค่ว่าเจ็บหรือไม่เจ็บ   ว่าที่พัก เครื่องนุ่งห่ม พอไหวใหม   ว่าสภาพอาหารการกินพอไหวใหม ก็พอแล้ว   จากนั้น เราฟังข่าวเอา เราก็พอจะประเมินสถานการณ์ความรุนแรงได้ว่าเราควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ช้าไปนิดเดียวก็โทรไม่ติด ติดต่อไม่ได้แล้วครับ เพราะรัฐก็รู้ว่าจะต้องเกิดสภาพเช่นนี้ ดังนั้นเขาจึงพยายามจัดการเปิดช่องให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อออกมาได้มากกว่าที่ผู้ที่อยู่ข้างนอกติดต่อเข้าไป (แถมจัดสลับเป็นช่วงเวลาที่สมควรตามสภาพสถานการณ์อึกด้วย)    แน่นอนว่าผู้ที่อยู่นอกเหตุการณ์จะต้องสอบถามซักรายละเอียดยิบ ซึ่งจะใช้เวลาในการพูดคุยนาน  ต่างกับผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการจะบอกเพียงว่ายังสบายดีอยู่ ไม่ต้องห่วง (อะไรทำนองนี้) แล้วใช้เวลาไปกับความพยายามที่จะจัดการตนเองให้อยู่รอดในช่วงสองสามคืนแรก
   
ครับ เรื่องยังไม่ตายในสองสามวันแรก จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของระบบความช่วยเหลือทั่วๆไป ที่ต้องพยายามรู้สถานการณ์ที่แท้จริง ที่ถูกต้องและเร็วที่สุดแต่ไม่เกิน 24 ชม.  เข้าถึงที่เกิดจุดเกิดเหตุให้ได้เร็วที่สุดแต่ไม่เกิน 48 ชม. และทำระบบความช่วยเหลือในทุกๆด้านให้มีความพร้อมสมบูรณ์ เต็มกำลัง และเต็มรูปแบบมากที่สุดภายใน 72 ชม.


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 14, 19:07
คิดดี เตรียมการดี ก็ยังมีแต่...อีก

โลกในปัจจุบันเป็นโลกของระบบไร้สาย ซึ่งต้องการจุดเชื่อมและจุดกระจายคลื่นที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งก็คือเสาส่งสัญญาณ   หากปรากฏว่าเสาส่งและรับสัญญาณในพื้นที่เกิดพัง (ล้มหรือใช้การไม่ได้เพราะสาเหตุต่างๆ)  การสื่อสารในรูปแบบต่างๆก็จบ ติดต่อกันไม่ได้ 

ทางเลือกหนึ่งก็คือ ใช้ระบบการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม (ไม่ผ่านระบบสถานีจานรับส่ง) เช่น โทรศัพท์ประเภทติดต่อผ่านดาวเทียมโดยตรง แต่คงจะมีคนใช้น้อยมาก เพราะเป็นระบบสำหรับคนที่ทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลปืนเที่ยงจริงๆ

ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ ใช้ระบบการสื่อสารทางสาย ซึ่งมิได้หมายความถึงการใช้โทรศัพท์ระบบสาย หากแต่ใช้ระบบที่สื่อสารโดยผ่านทางสาย เช่น การใช้สายในระบบการส่งไฟแรงสูงไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก็มีการใช้กันภายในของหน่วย (ติดต่อกันระหว่าสถานีย่อยต่างๆ) ที่เป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าอยู่แล้ว    เพราะไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐต้องพยายามจัดส่งลงไปให้ถึงประชาชนทุกครัวเรือน และซึ่งรัฐพยายามจะทำให้เป็นระบบที่เรียกกันว่า Electrical grid    ก็มี แต่ อีกแหละว่า การสร้างระบบ grid ให้คลุมไปถึงพื้นที่ห่างไกล มากๆนี้ มันลงทุนแพงมาก ก็เลยต้องมีการผลิตไฟฟ้าเฉพาะถิ่น ทำให้ไม่มีระบบสายเชื่อมต่อกับโลกภายนอก 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 14, 20:18
ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีก คือ กลับไปใช้ระบบไร้สายเช่นเดิม แต่เป็นระบบดั้งเดิม ซึ่งก็คือวิทยุในระบบ HF  ระบบนี้สามารถส่งได้ไกลมากทั้งระบบเครื่องแบบสถานีรับส่ง (base station)  ระบบแบบเคลื่อนที่ (mobile unit) ที่ทหารเขาแบกเป็นเป้หลัง  ทั้งหมดสามารถใช้ไฟจากหม้อแบตเตอรี หรือถ่านไฟฉาย   เครื่องขนาดกำลังส่งเพียง 5 วัตต์ ก็คุยกันได้ทั่วประเทศไทยสบายๆ    แต่เดิมนั้น ส่วนราชการไทย (หลายๆหน่วย) ในพื้นที่ที่มีการคมนาคมลำบาก จะมีเครื่องรับส่งวิทยุชนิดนี้อยู่ในห้องหนึ่งที่เรียกว่าห้องวิทยุ  ปัจจุบันนี้ผมไม่เห็นแล้วทั้งห้องและเครื่อง 

การสื่อสารด้วยระบบคลื่นชนิดนี้ จัดได้ว่ามีสำคัญมากๆในสถานะการณ์ฉุกเฉิน   มากพอที่เครื่องบินทุกลำในโลกปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเพียงใดก็ตาม ก็จะยังคงต้องมีระบบสื่อสารนี้เป็นมาตรฐานอยู่ในระบบการสื่อสารของเครื่องบินนั้นๆ   

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 14, 18:55
ระบบการสื่อสารสุดท้ายที่มีการใช้กัน ซึ่งเป็นการใช้เพื่อกระจายข่าวและความเป็นจริงของพิบัติภัยไปยังดินแดนใดๆอันไกลโพ้น (ข่าวที่ละเอียดยิบกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัสเซียที่ถูกกระจายออกไปก็ด้วยวิธีนี้) ก็ยังใช้คลื่นวิทยุในย่าน HF อยู่ แต่เป็นการใช้การเคาะแบบสัญญาณโทรเลข ซึ่งก็คือการใช้รหัส Morse code  เช่น did did did da da da did did did  =  SOS     บุคคลที่ต้องทำหน้าที่พนักงานสื่อสาร (ที่มีมาตรฐาน = มาตรฐานของตำแหน่ง) แม้จะไม่ชำนาญหรือรู้รหัส morse ทั้งหมด อย่างน้อยก็จะต้องรู้การเคาะ SOS    นักบิน นักเดินเรือ นักผจญภัย นักสำรวจ รวมทั้งผู้ที่ทำงานเสี่ยง (เช่นในเหมืองใต้ดิน) ฯลฯ ต่างก็จะต้องรู้การเคาะรหัส SOS ไม่ว่าจะถูกอบรมมาหรือเรียนรู้เอง 

การเคาะรหัสช่วยชีวิตพื้นฐาน SOS นี้   จะใช้วัสดุใดเคาะกับวัสดุใดก็ได้ จะใช้แสง (กระจกสะท้อน)ก็ได้ ฯลฯ สารพัดวิธีที่จะคิดออกได้ในสภาพของสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในสถานการณ์นั้นๆ     
 
   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 14, 19:06
ก็เข้ามาถึงระดับแต่ละบุคคล  ซึ่งมีใน 2 รูป คือ เป็นไปอย่างอัตโนมัติโดยการฝึกจนกลายเป็นนิสัย  แล้วก็โดยการอ่านข่าวคราวและเรื่องราวของการรอดชีวิตเมื่อเกิดเหตุ กับการเอาชีวิตรอดหลังจากเหตุเกิด   ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้พอจะเทียบได้กับการบรรจุ application software ลงไปใน ROM  RAM หรือ flash memory

แล้วมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง...


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 14, 19:08
หายไปจากกระทู้เพราะไป ตจว. มาครับ

ย้อนกลับไปอ่านเรื่องที่ผ่านมา   ก็เลยต้องขอทำความกระจ่างของรหัสเคาะ SOS (= Save Our Souls หรือ Save Our Ship) ที่ผมเขียนว่า did did did da da da did did did นั้นเอง

morse code คือ รหัสสัญญาณที่ใช้แทนตัวอักษรในการส่งข้อความข่าวสารหรือการสื่อสารระหว่างจุดที่อยู่ในระยะห่างไกลกัน  โดยใช้การผสมผสานกันของความต่างระหว่างสัญญาณสั้นกับยาว เช่น อักษร A = สั้น แล้ว ยาว (did da) อักษร D = ยาว แล้ว สั้น แล้ว สั้น (da did did) 
ระบบโทรเลขสมัยก่อนนั้น ต้องใช้การส่งข้อความด้วยรหัส morse นี้เอง   นักบินอวกาศทั้งหลายต่างก็ต้องรู้และสามารถใช้รหัสนี้ได้
 
เราจะลองฝึกกดออดของบ้านตัวเองก็ได้นะครับ แบบ did ก็คือแบบพอดัง ติ๊ง กับ แบบ da คือกริ๊งแบบเป็นเสียงกริ๊งเลย

ตัวอักษร S = สั้น แล้ว สั้น แล้ว สั้น (did did did)  ตัวอักษร O = ยาว แล้ว ยาว แล้ว ยาว (da da da)  ดังนั้น SOS จึงเป็น did did did da da da did did did

นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก (HAM Radio) ที่มีการสื่อสารกัน จะมีการใช้ morse code (ในหลายช่วงคลื่นวิทยุ) เป็นหนึ่งในระบบการสื่อสารระหว่างกัน

ท่านที่มีวิทยุหลายแบนด์ (multi band radio) ที่รับคลื่น short wave ได้  ในขณะกำลังหมุนหาคลื่น SW อยู่นั้น ก็น่าจะได้ยินเสียง did เสียง da บ้างเป็นช่วงๆ ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 14, 20:02
มาถึงเรื่องของตัวเราเอง   เมื่อเราอยู่ในจุดที่กำลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้น เราจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง

มนุษย์เรานั้น เมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย และ/หรือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทันหันหรือเฉพาะหน้า  เราจะมีการตอบสนองแบบอัตโนมัติอยู่ใน 3  ลักษณะหลักๆ คือ
  - อยู่นิ่ง ดู ประเมินสถานการณ์ แล้วจึงขยับขยายเคลื่อนที่  จะเรียกว่าถูกคาถา ณ จังงัง ก็ว่าได้
  - รีบออกห่างจากจุดนั้นๆในทันที ด้วยความรวดเร็วอย่างที่สุด  จะเรียกว่า หนีโลด ก็ว่าๆได้
  - รีบหาที่แอบหรือที่หลบให้พ้นจากเหตุการณ์นั้นๆในขณะที่กำลังเกิดเหตุ จะเรียกว่า หลบหาที่กำบัง ก็ว่าได้

ในกรณีแผ่นดินไหวนี้ ความฉิบหายต่างๆ (ขออภัยที่ใช้คำที่ดูไม่สุภาพครับ แต่มันเป็นคำที่ให้ภาพได้ชัดเจนดีครับ) มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่วินาที  ดังนั้น
   - กรณีถูกสะกดจิต ณ จังงัง  เรื่องนี้มีโอกาสถึงเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ง่ายๆ  จำเป็นต้องแก้ไขจริงจัง   
   - กรณีหนีโลด หากไม่ดูตาม้าตาเรือมันก็อันตรายมากๆ  มันก็อาจจะไม่ต่างไปจากสภาพของหนูติดจั่น หรือสภาพของความระส่ำไปหมด
   - กรณีหลบหรือหาที่กำบัง เรื่องนี้ดูดี แต่เป็นเรื่องที่ต้องการความมีสติและความเข้าใจในเรื่องต่างๆ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 14, 19:00
การฝึกตนให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เป็นภัยนั้น ทำได้ทั้งแบบพยายามฝึกใจ และ แบบพยายามฝึกกาย

การฝึกทางใจนั้นก็คล้ายกับการท่องจำในการเรียนหนังสือ ไม่ต่างไปจากการท่องสูตรคูณ ซึ่งที่มันออกมาเป็นอัตโนมัติสำหรับการคิดเลขของเราในชีวิตประจำวันนั้นเอง

สำหรับการฝึกทางกายนั้น คงทำได้ยาก เพราะไม่มีสถานที่ฝึกซ้ำๆซากๆให้เราต้องเสียเวลาไปฝึกกับมัน โดยสภาพก็คล้ายกับการฝึกตำรวจหรือทหารในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบไม่ต้องเสียเวลาไปคิดไปสั่งการ   ครับ ตัวอย่างก็เช่น ทหารหรือตำรวจทั่วโลก การเตะเท้าก้าวแรกที่ออกเดินจะเป็นเท้าซ้ายเสมอ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 14, 20:10
ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ในช่วงเวลาที่แผ่นดินกำลังไหวในระดับที่ค่อนข้างแรง ที่เข้าข่ายทำให้เกิดความหายนะนั้น     หากกำลังยืนอยู่ มักจะตอบสนองด้วยการย่อตัวลงไป  แต่หากกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ ก็มักจะตอบสนองด้วยการพยายามนั่งนิ่ง ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เป็นปรกติของมนุษย์โดยทั่วๆไป 
แต่โดยสภาพ ณ จังงัง (อยู่นิ่งกับที่) เช่นนี้ มันก็คือ การก้าวเข้าไปอยู่ในเขตของความเสี่ยงต่อชิวิตของตนเอง  ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สร้าง (เปิด) ทางรอดให้กับตนเอง

     

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 14, 19:33
ก็เลยมีการพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาอันยาวนานว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้มุดลงไปหลบอยู่ใต้โต๊ะ  ซึ่งโดยนัยก็คือมิให้สิ่งของหรือฝ้าเพดานตกลงมาใส่ตัวจนได้รับบาดเจ็บ  ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกต้องจน ณ ปัจจุบันนี้   เพราะว่าการบาดเจ็บจากกรณีแผ่นดินไหวนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการมีวัสดุสิ่งของจากที่สูงตกใส่ 
  -ก็เลยกลับกลายเป็นว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ในเบื้องแรกสุด ให้แหงนมองฟ้า คือ มองขึ้นเหนือหัวว่ามีอะไรที่กำลังตกหล่นใส่ตัวเรา  กรณีในบ้านก็มีอาทิ ดูของที่วางอยู่บนหลังตู้ ดูรูปภาพที่แขวนอยู่ที่ผนังบ้าน ฯลฯ    กรณีนอกบ้านก็มีอาทิ กระจกจากหน้าต่าง หรือ mosaic จากผนังของอาคาร ฯลฯ 
  -แล้วก็มองไปรอบๆตัวว่าจะไปทางไหนดีที่จะรอด คือ หาเส้นทางไปยังพื้นที่ๆโปร่งโล่งที่มีซากปรักหักพังน้อยที่สุด

พูดง่ายเนาะ แต่ยากที่จะไม่โดนคาถา ณ จังงัง 

ก็มีทางแก้ครับ  คือ รู้เขารู้เราอย่างมีสติ    (อย่างน้อย หากอ่านเรื่องของกระทู้อย่างเข้าใจ ก็น่าจะไปช่วยสร้างระบบการตอบสนองที่เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 14, 19:27
แต่ก่อนนั้น บ้านเรือนร้านค้าทั้งหลาย ส่วนมากจะสร้างด้วยไม้  บรรดาขื่อ คาน แป ตง พื้น ผนัว ฝา ฯลฯ ทั้งหลายก็เป็นไม้ จะยกเว้นก็เฉพาะเสาที่เป็นส่วนฐานรากที่จะเป็นเสาปูน ซึ่งการใช้เสาปูนก็ดูจะมีวัตถุประสงค์หลักเพิ่อกันปลวกและแก้ปัญหาโคนเสาผุ

ที่น่าสนใจก็คือ บ้านไม้รุ่นเก่าๆที่เก๋าจริงๆนั้น  ที่บริเวณจุดเชื่อมต่อของส่วนที่เป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักหรือรับแรงไม่ว่าจะเป็นในแนวตั้งหรือแนวนอน   ณ จุดเชื่อมต่อเหล่านี้ มักจะเป็นการเชื่อมต่อกันด้วยวิธีการร้อยกัน มากกว่าที่จะใช้วิธีประกบกัน  การใช้วิธีการร้อยกันนี้ ทำให้เกือบจะไม่มีทางหลุดแยกออกจากกันได้เลย  ดังนั้น บ้านเรือนรุ่นเก๋าๆจึงเกือบจะไม่เสียหายในลักษณะของ demolish เพราะแผ่นดินไหว แต่จะเสียหายในลักษณะของ displace หรือ dislocation (ขยับผิดที่)

จากการร้อยกันด้วยการใช้สลักยึด ก็พัฒนาไปเป็นการบากไม้ประกบกันแล้วใช้น๊อตร้อยยึด พัฒนาต่อไปจากใช้น๊อตร้อยยึดไปเป็นใช้ตะปู แล้วก็พัฒนาต่อมาอย่างที่เห็นกันในปัจจุบันคือใช้ไม้ตีประกบกันดื้อๆเลย   แม้ว่าโครงสร้างไม้โดยปกติจะให้ตัวได้ดี (โยกไปมาได้มาก) แต่มันก็ขึ้นอยู่กับวิธีสานต่อส่วนที่เป็นโครงสร้าง  บ้านเรือนไม้แต่ละรุ่นหลังๆต่อๆมาจึงรับการไหวของแผ่นดินได้น้อยลงกว่ารุ่นเก่าๆลงมาเรื่อยๆ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 14, 18:15
เข้ามาสู่ยุคของโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีต  ซึ่งแม้ว่าจะดูแข็งแรงบึกบึนดี แต่ก็มีจุดอ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะความเปราะที่มีมากกว่าไม้ แต่จะอย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของอาคารคอนกรีตก็ยังอยู่ที่จุดเชื่อมต่อระหว่างเสา ขื่อ คาน ทั้งหลาย  ก็เลยกลายเป็นว่าเมื่ออาคารเกิดจะต้องพังเพราะการไหวของแผ่นดิน ก็จะพังเพราะเสาหัก (เสาระเบิด) และคานหักกลาง เหลือแต่ส่วนที่อยู่ใกล้ๆหรือติดกับเสาทั้งหลาย 

เมื่อเสาล้มลงจึงมักจะเกิดช่องว่างสามเหลี่ยม กลายเป็นจุดที่พอจะรักษาชีวิตได้   

ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในขณะที่เราอยู่ในอาคารใหญ่ๆทั้งหลาย วิถีทางและโอกาสที่จะรักษาชิวิตให้รอดแบบหนึ่งก็คือรีบไปอยู่ใกล้ๆเสา ที่เหลือก็แล้วแต่ดวงใครดวงมัน   
 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 14, 18:32
โครงสร้างที่เป็นเสา เป็นขื่อ เป็นคานคอนกรีตนั้น เป็นโครงสร้างใหญ่ที่ดูแล้วน่าจะเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของอาคาร  ก็ถูกต้องครับ  แต่ก็ยังมีส่วนอื่นของอาคารที่แข็งแรงและพังยากเช่นกัน (ก็พังเหมือนกัน แต่ยังคงมีสภาพเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่มาก)  ซึ่งได้แก่ ส่วนที่เป็นปล่องลิฟท์  ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักหรือแกนกลางของอาคาร มันมีความแข็งแรงดีแถมยังเป็นส่วนของอาคารที่มีการเคลื่อนไหวแกว่งไกวน้อยที่สุด 

จึงเป็นอีกบริเวณหนึ่งสำหรับการรักษาชีวิตเมื่อเกิดแผ่นดินไหว  แต่ก็อีกแหละครับ ความช่วยเหลืออาจจะเข้าถึงจุดช้าหน่อย จะรอดชีวิตได้ยาวนานสักเพียงใดก็ดวงใครดวงมันอีกนั่นแหละครับ

อันที่จริงแล้ว พื้นที่บริเวณปล่องลิฟท์หรือใกล้ๆ ยังมักจะมีปล่องที่เป็นทางเดินของเส้นเลือดหลักของอาคาร (น้ำดี น้ำเสีย ไฟฟ้า การสื่อสาร) ซึ่งเป็น life line ของอาคารในยามปกติ  แต่มันก็จะผันแปรไปเป็น life line ในยามวิกฤติยิ่งยวดได้เช่นกัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 14, 20:46
ระบบท่อ (ที่อยู่ในปล่อง) ที่เชื่อมต่อระหว่างโลกภายนอก (สภาพแวดล้อมเปิด) กับโลกภายใน (สภาพแวดล้อมปิด)  ไม่ว่าจะเป็นท่อขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ได้เคยช่วยชีวิตคนมามากมาย     

เมื่อเกิดเหตุเหมืองถล่ม อาคารถล่ม อุโมงค์ถล่ม  ท่อทรงกลมซึ่งเป็นทรงที่มีความแข็งแรงและรับแรงได้ดีเหล่านี้ แม้จะได้รับความเสียหายใดๆ ก็ยังใช้เป็นเครื่องส่งสัญญาณด้วยการเคาะได้ จะเคาะเบาหรือเคาะแรง เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็รับรู้ได้ทั้งนั้น เพราะสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยให้ความสนใจก็คือเสียงหรือสัญญาณของการมีชีวิตใต้สิ่งปรักหักพังทั้งหลาย ท่อเหล่านี้ได้กลายเป็นท่อส่งอากาศสำหรับหายใจ ส่งน้ำ ส่งอาหาร ส่งการสื่อสาร (ทางสาย)  และแม้ทั่งตำแหน่งที่อยู่ของผู้รอดชีวิต        ท่อที่ใช้ในเหมืองหรืออุโมงใต้ดินทั้งหลายจึงต้องมีการใช้ท่อโลหะร่วมอยู่ในระบบด้วยเสมอ   ไม่ทราบว่าในระบบอาคารสูงทั้งหลายได้มีการคำนึงถึงบ้างหรือไม่   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 14, 20:09
โครงสร้างเล็กๆในห้องต่างๆของอาคารบ้านเรือนต่างๆที่อาจจะดูไม่มีความสำคัญนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรารอดชีวิตได้พอได้เลยทีเดียว   
ครับ ก็คือ ประตู เมื่อเกิดแผ่นดินไหว อาคารบ้านเรือนทั้งหลังโยกไปโยกมา ส่งผลให้วงกบประตูและหน้าต่างบิดเบี้ยว หากประตูถูกปิดอยู่ เราก็จะเปิดประตูไม่ได้เลย (เนื่องจากตัวบานประตูกับวงกบจะฟิตพอดีกันมาก)  ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เรื่องแรกๆที่ต้องคำนึงถึงคือ รีบไปเปิดประตูง้างไว้พอที่เราจะแทรกตัวออกไปได้สบายๆ 

วงกบประตูและหน้าต่างนั้น ตามปกติก็จะทำด้วยไม้  ในการก่อสร้างแต่เก่าก่อนนั้นมันจะเป็นโครงซ้อนอยู่ในกรอบของคอนกรีตที่เรียกว่า เอ็น (แนวตั้ง) และทับหลัง (แนวนอนด้านบน)   อาคารบ้านเรือนในปัจจุบันนี้พอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่เท่าที่สังเกตเห็นว่าแทบจะเลิกทำกันเลย ไม่มีทั้งเอ็นและทับหลัง  ไม่มีแม้กระทั่งการตอกตะปูตามกรอบวงกบไม้เพื่อช่วยยึดไม้กับปูนให้อยู่ด้วยกันอย่างยึดโยงกันพอสมควร ซึ่งเมื่อเกิดการไหวก็อาจทำให้วงกบหน้าต่างหรือประตูหลุดแยกออกมา   ทางออกที่พอจะพึ่งพาได้ก็เลยอาจจะถูกปิดไป   

เคยสังเกตไหมครับว่า ในภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวทั้งหลายที่เห็นทางสื่อต่างๆนั้น   เราจะยังเห็นช่องประตูหน้าต่างที่เป็นช่องเปิดโล่งอยู่  โครงวงกบประตูหน้าต่างที่ดูไม่น่าจะแข็งแรงเหล่านั้น ดูจะช่วยค้ำยันผนังบ้านหรือผนังห้องให้ยังคงอยู่ มิให้ยุบลงทั้งแผง

เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่อาจจะคิดไม่ถึงนะครับ แต่ก็เป็นเรื่องที่พยายามจะสร้างให้เกิดเป็นการตอบสนองแบบอัตโนมัติ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 14, 19:20
เรื่องที่ต้องสร้างให้ฝังอยู่ในใจเพื่อให้เกิดเป็นการตอบสนองแบบอัตโนมัติ โดยสรุปในขณะนี้ ก็คือ
  - แหงนมองเหนือหัว เพื่อดูของที่จะหล่นใส่
  - ในกรณีอยูในอาคาร ให้ไปยืนอยู่บริเวณเสาของอาคาร  เผื่อจะมีช่องว่างให้รอดในกรณีเกิดอาคารถล่ม
  - รีบไปแง้มประตูเพื่อให้มีช่องทางสำหรับหนีออกจากบ้านหรืออาคาร


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 14, 19:40
ที่ได้กล่าวถึงมา เป็นการเปิดโอกาสให้มีโอกาสรอดชีวิตในเบื้องแรกสุดๆ   

คราวนี้ เมื่อมีโอกาสรอดแต่แรกแล้ว ก็ต้องให้รอดต่อไปในสถานะการณ์ที่ไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม  ซึ่งดูจะมีเรื่องเดียวที่ต้องกระทำ แล้วมันก็เป็นเรื่องแรกสุดๆที่ต้องกระทำเสียอีกด้วย ได้แก่ การปิดเตาแกส     แล้วก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากๆอีกด้วย เพราะว่าหากเกิดแผ่นดินไหว การตอบสนองแรกๆของคนเราก็คือย่อตัวลง แล้วเคลื่อนที่ในระดับต่ำ (ย่อตัว)  บรรดากระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ กาต้มน้ำร้อนๆ หม้อแกงร้อนๆ ที่อยู่บนเตา อาจจะหกตกหล่นใส่ก็ได้   

เราจะเห็นภาพในเกือบจะทุกสถานะการณ์ของเหตุการณ์ภัยพิบัติว่า มีการเกิดไฟใหม้   ซึ่งทั้งหลายก็มักจะสืบเนื่องมาจากเตาแกสประกอบอาหารในอาคารบ้านเรือนนี้เอง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 14, 17:29
รอดต่อไปอีกเรื่องนึง คือ ต้องรอดให้ได้ถึง 72 ชม. (3 วัน)  เพราะว่าการกู้ภัยที่เข้าถึงพื้นที่เร็วที่สุดได้แก่ชาวบ้านกันเอง ต่อมาก็หน่วยกู้ภัยที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ (หากตนเองรอด ไม่เสียหายมากนัก)  ต่อมาก็หน่วยกู้ภัยจากพื้นที่ใกล้เคียง  พวกนี้เกิดขึ้นในกรอบเวลาตั้งแต่เกิดเรื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะช่วยได้ไม่ดีนักและไม่ครอบคลุมทุกชีวิต    ในกรอบ 6 - 12 ชม.ความช่วยเหลือแบบค่อนข้างจะพร้อมสรรพ จะเริ่มมาจากหน่วยงานของรัฐ มีเครื่องจักรกลหนักเข้ามาช่วย มีระบบการแพทย์แลบะระบบการยังชีพเข้ามา    ในกรอบ 24 ชม.ก็จะเริ่มมีการระดมความช่วยเหลือจากทุกสารทิศ แต่กว่าจะเริ่มปฎิบัติการและประสานการทำงานกันได้อย่างเต็มที่ก็อยู่ในกรอบของ 72 ชม.

การเตรียมตัวให้สามารถอยู่รอดได้ถึงระดับนี้ ก็คงพอจะนึกได้นะครับว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง และจะต้องจัดสิ่งของที่จำเป็นสุดๆที่เหมาะสมกับตัวเราอย่างไร รวบรวมเก็บไว้ที่ใหนที่จะคว้าติดตัวได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร  ฯลฯ   

หลักการก็คือ รอดตายแล้ว ก็ต้องสามารถอยู่ให้รอดได้ต่อไปได้อีกสองสามวัน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 14, 17:36
หนีออกจากอาคารแล้ว ก็ต้องรีบไปหาที่โล่งที่กว้างๆในทันทีนะครับ  เพราะความช่วยเหลือต่างๆมันจะมารวมกันอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้ (สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนหย่อม ฯลฯ)  แล้วก็อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า สาธารณูปโภคที่เป็น lifeline นั้น จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไรก็ตาม ก็มักจะใช้พื้นที่ลักษณะเช่นนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของระบบโครงข่าย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 14, 18:25
วันนี้ช่วงเวลาใกล้เที่ยง ก็เกิดแผ่นดินไหวแถว อ.แม่สรวย จ.เชียงราย อีก แต่ชาวบ้านรู้สึกเฉยๆเสียแล้ว ก็ยังคงทำงาน งานที่จัดขึ้นมาก็ดำเนินไปตามปกติเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ก็เพราะสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ รับรู้แล้วว่าการไหวขนาดนี้ไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือน (เพราะได้ผ่านขนาดที่ใหญ่กว่านี้มาแล้ว) และ ได้ทำการปรับปรุงบ้านในเรื่องต่างๆเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ในระดับที่มั่นใจว่ามั่นคงเพียงพอแล้ว 

ก็จัดว่าเป็นการตอบสนองที่ดีของคนในพื้นที่นั้นในแง่มุมที่ไม่ตื่นตระหนกตกใจ (panic) ซึ่งจะไม่ยังผลต่อไปถึงสภาพของความชุลมุนวุ่นวาย (chaos) 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 14, 19:19
มาถึงตรงนี้ ก็คงจะได้เกิดความคิดแล้วว่า  หากเรามีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ๆมีประวัติเกิดแผ่นดินไหว เราควรจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง    ก็แล้วแต่จะคิดกันครับ มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคล อาทิ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องชุดชั้นสูง/ชั้นต่ำ ลักษณะชุมชน การคมนาคม ฯลฯ   

โดยสรุปก็มีเรื่องที่จะต้องทำอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ เตรียมการเพื่อรับเหตุที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องในประเด็นเพื่อลดต้นตอที่จะทำให้ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด     เรื่องที่สอง ได้แก่ ในขณะเกิดเหตุจะทำอย่างไรดี ซึ่งเป็นเรื่องของแผน / เส้นทางการหลบหลีกหนีภัยในขณะที่ภยันตรายกำลังโถมเข้ามา     และเรื่องที่สาม ได้แก่ เมื่อรอดชีวิตจากเหตุภัยแต่แรกแล้ว แล้วจะต้องเตรีมการอย่างไรเพื่อทำให้รอดต่อไปอีกสองสามวันหรือนานกว่านั้น   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 14, 19:33
เรื่องแรก การลดต้นตอที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ หรือกีดขวางทาง   

เป็นเรื่องที่เรากำจัดให้หมดไปไม่ได้ แต่ก็สามารถลดมันลงไปได้มากเลยทีเดียว   ก็เกี่ยวกับตู้และหิ้ง....ลองนึกดูนะครับว่าจะต้องจัดการอย่างไรบ้าง 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 14, 19:10
หายไป ตจว.มา  กลับมาต่อเรื่องของตู้และหิ้งต่อไปครับ

ตู้ที่จะกล่าวถึงนี้คือตู้ที่ไม่ใช่แบบ built in  แต่หมายถึงตู้ทั้งหลังที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
   
ตู้ที่มีความสูงต่ำกว่า (ประมาณ) 1.50 เมตร มักจะมีสัดส่วนความกว้างของฐานพอเหมาะพอดีที่จะไม่ทำให้ตู้ล้มคว่ำลงได้ง่ายๆ ต่างกับตู้ที่มีความสูงมากกว่านี้ที่จะไม่มั่นคงนัก ก็เป็นไปตามหลักธรรมดา ยิ่งสูงก็ยิ่งมีโอกาสล้มได้ง่ายมากขึ้น
   
เรื่องของตู้ที่ไม่สูงนัก อันตรายจะมาจากสิ่งของที่เอาไปวางไว้บนหลังตู้ ซึ่งให้บังเอิญว่า ิส่งของที่มักจะนิยมวางบนหลังตู้มักจะเป็นพวกที่ทำมาจากแก้ว (แถมทรงสูงอีกด้วย เช่นขวดเหล้าและแก้ว) ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มันตกหล่นลงมาและแตกได้ง่ายมากๆ      ก็ควรจะวางให้ลึกๆสักหน่อย แล้วก็ควรจะหลีกเลี่ยงบรรดาสิ่งของที่ทำจากแก้วทั้งหลาย   เครื่องแก้วที่หล่นลงมาแล้วแตกนั้น เศษแก้วมันแตกกระจายได้ดีเป็นวงกว้างมากๆ   วิ่งหนีบนเส้นทางที่โรยด้วยเศษแก้วแตกก็คงจะไม่สนุกใช่ใหมครับ 

เรื่องของตู้สูง เป็นเรื่องของตู้ล้มคว่ำ ซึ่งอาจจะผนวกด้วยสิ่งของบนหลังตู้หล่นลงมาอีกด้วย    ให้บังเอิญว่า สิ่งของที่วางบนหลังตู้สูงเหล่านี้มักจะเป็นของที่ตกแล้วไม่แตกกระจายง่ายๆ (กระเป๋า พระพุทธรูป ฯลฯ)    ความเสี่ยงที่เหลือจึงคือ การล้มของตู้มาขวางทางหนี  ซึ่งการทำให้มันไม่ล้ม  ก็ทำได้ง่ายๆด้วยเพียงการใช้เหล็กฉากสั้นๆยึดส่วนหลังตู้กับฝาผนังเท่านั้นเอง       หากมีโอกาสไปดูร้านเฟอร์นิเจอร์มือสองนำเข้าจากญี่ปุ่น จะเห็นว่าตู้เหล็กสองชั้นที่เป็นแบบวางต่อชั้นกันนั้น เขาจะมีสกรูยึดให้มันติดกัน และด้านหลังตู้จะมีรอยสกรูที่ใช้ขันยึดเหล็กฉากที่จะใช้ยึดติดกับฝาผนัง       


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 14, 19:18
???....บ้าไปแล้วที่จะจะต้องดำเนินการทำในลักษณะนี้เสมอไป     

ไม่หรอกครับ เป็นเรื่องที่พึงกระทำในบางพื้นที่ของไทยเราเท่านั้นเอง   ส่วนจะเป็นพื้นที่ใดบ้างนั้น ค่อยๆตามต่อไปครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 15, 18:16
จากเรื่องของการยึดตู้ให้ติดกับผนัง และการงดหรือเลี่ยงที่จะวางสิ่งของที่ตกแล้วแตกง่ายใว้บนหลังตู้และหิ้ง   ก็มาถึงเรื่องที่อาจจะทำได้ยากสักหน่อย คือ ฝ้าเพดาน 

ฝ้าเพดานทำได้หลายรูปแบบ   สำหรับบ้านของชาวบ้านนั้นมักจะไม่มีการทำกัน  ส่วนบ้านในเมืองนั้นมักจะต้องมีฝ้าเพดานเสมอ ซึ่งมีทั้งแบบตอกยึดแน่นอยู่กับคานหรือขื่อและแบบห้อยแขวนลงมา   ที่จะเป็นอันตรายจริงๆนั้น ได้แก่ฝ้าเพดานที่ใช้แผ่น gypsum board กับโครง T bar ที่แขวนห้อยลงมาด้วยลวด    เมื่อเกิดแผ่นดินไหว โครงสร้างลักษณะดังกล่าวนี้โยกไหวไปมาได้ ซึ่งจะทำให้ตัวแผ่น gypsum หลุดจากกรอบหล่นลงมาได้

ที่ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ให้แหงนมองก็ด้วยเหตุดังเช่นนี้   จะอยู่ในบ้านเรือนใหน อาคารใหนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสรับรู้การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ก็แหงนดูกันให้พอรับรู้กันว่าอะไรเป็นอะไรเสียก่อนก็ดีนะครับ       


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 15, 18:32
คงน่าจะพอสำหรับเรื่องการลดความเสี่ยงที่จะทำอันตรายต่อชีวิต ซึ่งหลักการสำคัญคือ หลุดรอดออกไปให้ได้   

ต่อไปก็เป็นเรื่องของแผนการเอาตัวให้รอดชีวิต  เป็นเรื่องของการคิดล่วงหน้าในเรื่องต่างๆทั้งมวล  ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดนั้นไปเกี่ยวกับเรื่องของทางหนีทีไล่และการสื่อสาร 

เป็นเรื่องไม่ยากครับ เพียงแต่ต้องเพิ่มความเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับสภาพและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้มากขึ้น   อาทิ คำถามเช่น เรารู้จักพื้นที่ในละแวกบ้านเราดีพอแล้วหรือยัง    เช่น ตรอก ซอก ซอยเล็กซอยน้อย ที่จะลัดเลาะไปสู่แหล่งกู้ชีพและยังชีพ (ถนนใหญ่ ตลาด ร้านสดวกซื้อ ฯลฯ)     และคำถามเช่น ในมือถือของเรามีเบอร์โทรฯเลข 4 ตัวกรณีฉุกเฉินครบหรือยัง หรือมีเบอร์เพื่อนหรือญาติในละแวกใกล้ที่พักหรือไม่    อะไรทำนองนี้แหละครับ 

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 15, 18:46
จะอยู่ให้รอดต่อไปอีกสักสองสามวันก็เป็นเรื่องของการเตรียมการยังชีพ ซึ่งก็คือการรวมสิ่งของจำเป็นไว้เป็นถุงเดียวกัน แล้ววางไว้ในที่ๆหยิบฉวยได้ง่าย  โดยเฉพาะการวางแถวๆใกล้ประตูทางออกบ้าน     ผมได้เห็นการเตรียมนี้ในญี่ปุ่นซึ่งทำเป็นลักษณะชุดสำหรับ 2 คน
   
สำหรับผม (ในกรณีในไทย) ก็จะเตรียมขนมเคลือบช๊อคโกแลตที่มีใส้กลาง(chocolate bar) สัก 5 อัน ที่มีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป น้ำเปล่าขวดขนาด ครึ่งลิตร สัก 2 ขวด น้ำอัดลมหวานซาบซ่าสัก 1 กระป๋อง ปลากระป๋องที่เปิดฝาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องเปิดกระป๋องสัก 2 กระป๋อง ไฟฉายกระบอกนึง หมวกผ้าสำหรับกันแดด ครีมฆ่าเชื้อสำหรับทาแผลและพลาสเตอร์ยา  เกลือแร่ชนิดผงสัก 2 ซองสำหรับเมื่อร่างกายเกิดการขาดน้ำ ผ้าปิดปากปิดจมูก แปรงและยาสีฟันเผื่อมีโอกาสได้ใช้ เสื้อยืดคอกลมและผ้าขนหนูผืนเล็ก มีดพับ และผ้าขาวม้า คุณผู้หญิงก็เป็นโสร่ง  (เลยทำให้ผมนึกถึงโสร่งผ้าฝ้ายเนื้อหนาของผู้ชาย ของดีของ จ.ตรัง)   
   
ของหวานๆและน้ำอัดลมนั้น ช่วยให้หายหิวและให้พลังงานแก่ร่างกายได้อย่างเหลือเชื่อเลยครับ   น้ำอัดลมกระป๋องเดียวช่วยให้เกิดความรู้สึกอิ่มรอดไปได้หนึ่งมื้อสบายๆ   

เตรียมเท่านี้ก็น่าจะพอสำหรับเอาตัวให้รอดไปได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมงได้อย่างไม่ยากนัก       


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 15, 19:42
จากนี้ไปก็จะเข้าเรื่องว่า พื้นที่ใดควรจะเตรียมตัวในระดับใด

จะขอกล่าวเสียแต่แรกว่า เรื่องจากนี้ไปจะเป็นความเห็นของผมที่ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการ และบนความรู้และข้อมูลที่ผมได้ทำงานสั่งสมมาบนฐานของกลุ่มศาสตร์ที่เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก (Tectonics)

เกริ่นไว้เล็กน้อยก่อนว่า  ประเทศไทยมิได้ตั้งอยู่ในพื้นที่หน้าด่าน บริเวณที่เป็นแนวที่แผ่นทวีปเคลื่อนที่สัมผัสกัน (subduction zone, obduction zone, collision zone, transform fault zone, divergent zone, convergent zone, spreading zone ฯลฯ)
   
ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ๆเล็กๆที่ล้อมรอบไปด้วยบริเวณที่ได้กล่าวถึงชื่อเหล่านั้น   ซึ่งแรงจากการเคลื่อนที่และลักษณะการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกตามลักษณะดังที่กล่าวมานั้น ได้ส่งแรงเข้ามาถึงในพื้นที่ประเทศไทย ทำให้เกิดการปรับตัวของพื้นที่ เกิดเป็นชุดโครงสร้าง (geologic structures) ในรูปแบบต่างๆกันของแต่ละช่วงกาลเวลา    ซึ่งจะมีชุดโครงสร้างที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวลักษณะต่างๆกันในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 15, 19:13
ย้อนกลับไปดูข้อเท็จริงอีกสักนิดนึง

แผ่นดินไหวที่เกิดในพื้นที่รอยต่อของแผ่นเปลือกโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ระหว่างแผ่นดินกับพื้นท้องมหาสมุทรนั้น จัดได้เป็นกลุ่มของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีอัตราการทำลายล้างสูงมาก คลื่นแผ่นดินไหวกระจายไปได้ไกลมาก (หลายร้อยกิโลเมตร)  ซึ่งในด้านความเสียหายนั้น แม้จะส่อว่าจะเป็นการทำลายล้างที่น่าสะพึงกลัวและกระจายเป็นพื้นที่กว้างมาก แต่จริงๆแล้วมันก็มีพื้นที่ของการทำลายที่จำกัด   

แผ่นดินไหวจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกแบบมุดกันที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นจนเกิด tsunami ขนาดใหญ่ หรือแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิด tsunami ถล่มชายฝั่งของไทยเรา ซึ่งต่างก็จัดว่าเป็นประเภทแหล่งเกิดแผ่นดินไหวที่อันตรายมากๆนั้น ก็มีวงพื้นที่ของการทำลายที่จำกัด  ดังภาพที่เราเห็นทั้งในญี่ปุ่นและในอินโดนีเซียก่อนที่จะเกิดน้ำทะเลทะลักเข้ามาท่วมจนเสียหายหมดนั้น จะเห็นว่าบ้านเรือนต่างๆยังอยู่ในสภาพที่ไม่พังจากการไหวแบบหนักๆ

ดังนั้น เรื่องแรกที่พึงสบายใจก็คือ รายงานแบบทันใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดในที่ต่างๆในโลกเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจใดๆกับมัน ยกเว้นว่าคุณจะมีความต้องการและความรู้ที่จะใช้ข้อมูลนั้นๆเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ  จะยกเว้นก็ในเขตพม่าและลาวเท่านั้นที่อาจส่งผลการไหวเข้ามาในเขตประเทศเราและสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 15, 19:27
แผ่นดินไหวในพม่าและพื้นที่ลาวตอนบนถูกจัดเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดแผ่นดินไหวประเภท super earthquake zone (คือระดับมากกว่า 7 ริกเตอร์)  แท้จริงแล้วมีเกิดในระดับนี้อยู่หลายครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์  แต่ที่กระทบไทยจริงๆก็ดูจะมีบันทึกอยู่เพียงครั้งเดียวที่เกิดในพม่า คือ ในครั้งที่ทำให้เจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่พังลงมา ซึ่งก็พังในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดในพุกาม  (และดูเหมือนจะหักลงไปในทิศทางเดียวกันกับบรรดาเจดีย์ในพุกามอีกด้วย)   



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 15, 18:54
สำหรับพื้นที่ๆต้นกำเนิดแผ่นดินไหวในเขตประเทศไทยเรานั้น  ในภาพกว้างๆแล้ว เกือบจะกล่าวได้ว่า จำกัดอยู่พื้นที่ๆเป็นป่าเขาทางเหนือและทางตะวันตกของประเทศ  สำหรับพื้นที่ภาคกลางและภาคอิสานเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มี ยกเว้นตามแนวชายน้ำโขงที่ไหลเป็นทางตรงในพื้นที่ของ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

....และจากนี้ไป ก็ขอความกรุณาอย่ามโนต่อไปในทางที่เลวร้ายและในทางลบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ไปสร้างความกังวลและความกลัวให้มันเกิดขึ้นมารบกวนหลอกหลอนอยู่ในจิตใจของเรานะครับ....

ใจเย็นๆนะครับ ค่อยๆอ่านไปนะครับ มันไม่ได้มีอะไรเลวร้ายปานนั้นเลย   ผมหยุดชะงักไปก็เพราะเหตุนี้แหละครับ และก็ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นเรื่องที่สร้างสภาวะจิตใจในทาง pessimistic นี้แหละ เลยต้องหยุดคิดเป็นระยะๆว่าจะต้องระวังในการเขียนและเดินเรื่องอย่างไร
   
ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา  พยายามเล่าเรื่องเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ก็เพื่อจะทำให้ได้พอมีความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ลดความหวาดกลัวกับเหตุการณ์ธรรมชาตินี้ อยู่อย่างมีความพร้อม และอยู่อย่างมีความสุขอันพึงมีกับมัน ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 15, 19:16
เมื่อวันที่่ 11 มค. ได้เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขนาด 3.1 ริกเตอร์   ผมไม่ทราบพิกัด แต่คิดว่าน่าจะอยู่ในพื้นที่ตามร่องแม่น้ำแควน้อย  ที่น่าสนใจสำหรับผมไปอยู่ที่ว่า พิกัดนั้นอยู่เหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน ซึ่งจะมีข้อวิเคราะห์และคำอธิบายต่างกัน   แต่ประการสำคัญ อย่าคิดเลยเถิดไปไกลขนาดว่าเขื่อนจะพังหรือไม่

ครับ ก็เกิดเหตุพอดี ก่อนที่ผมจะก้าวเข้าไปในเรื่องของพื้นที่แหล่งต้นกำเนิดแผ่นดินไหวในไทย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 15, 19:37
เริ่มเรื่องให้พอเป็นเชื้อเล็กน้อยครับ 

   พื้นที่ๆมีพุน้ำร้อนในไทย เป็นพื้นที่ๆมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้       ส่วนเรื่องของขนาด (magnitude) และความรุนแรง (intensity) นั้น ค่อยๆมาพิจารณากันครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 15, 19:58
ได้ข้อความข้างล่างนี้ส่งมาทางไลน์   ลงวันที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  น่าจะเป็นตัวอย่างของข่าวลวงที่ทำให้เกิดความวุ่นวายโดยหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้     
คัดลอกมาลงกระทู้ให้คุณตั้งอ่านอีกคนค่ะ   เผื่อจะมีความคิดเห็นบ้าง

***************************

ช่วยกันติดตามข่าว เรื่องปากปล่องภูเขาไฟ แถวหาด วนกร ด่วน ๆ
สังเกตุเหตุแปลก ๆ ในท้องทะเลอ่าวไทยอย่างเดียวแล้ว
พิกัดที่ด้ามขวานหัก
*******************
บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 340-344 บนถนนเพชรเกษม
เป็นพิกัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
ตรงกับบริเวณชายหาดที่ติดทะเลด้านอ่าวไทย
ชื่อว่า "หาดวนกร"

บริเวณนี้อยู่ไม่ไกลจากจุดที่ดาวเทียมค้นพบ
สิ่งที่ตั้งสมมติฐานว่าจะเป็นปากปล่องภูเขาไฟในอนาคตอันใกล้
โดยสังเกตจากเถ้าถ่านลาวาซึ่งถูกพ่นผ่านขึ้นมาตรงจุดนั้น
มันจะเป็นภูเขาไฟขนาดไม่เล็กเลย
ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่อย่างไม่กระพริบ

สิ่งที่จะเป็นเครื่องบอกเหตุว่า.....
ภูเขาไฟลูกนี้ปะทุแน่นอน มีหลายสัญญาณ

1.จะมีปลาและสัตว์ทะเลน้ำลึก พากันตายหมู่ และหนีตายเข้าหาฝั่งเป็นจำนวนมากอย่างผิดสังเกต

2.จะมีแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์กลางการสั่นสะเทือนบริเวณท้องทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลด้านการเกิดพิบัติภัยนี้ต่อประเทศไทยในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดภาคใต้ที่อยู่รายรอบอ่าวไทย สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์.....

3.จะมีสตอร์มเสิร์จ คลื่นสูงในอ่าวไทย แล้วซัดเข้าสู่ชายฝั่งทะเลโดยรอบอ่าวอย่างรุนแรงผิดปกติบ่อยครั้ง นับต่อแต่นี้ไป

4.ถ้าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ก่อนการปะทุของภูเขาไฟ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกลางดึกหลังสองยามไปแล้ว.... และก่อนหน้าวันเวลาที่จะเกิดเหตุร้าย ให้คอยสังเกตปะการังสีน้ำเงิน ที่ช่างเท็คนิกจะส่งมาจากท้องทะเลลึกสู่บริเวณชายหาด ตรงพิกัดที่ระบุไว้ในแผนที่ เพื่อเตือนภัยและยืนยันการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว

ขอทุกท่านจงอย่าประมาท
ผู้คนในท้องที่จงหมั่นตรวจตราเฝ้าสังเกตสัญญาณทั้งสี่
ที่เรากล่าวมาข้างต้นนั้นกันให้รอบคอบไว้
จงอย่าได้กังวลใจ
ก่อนเกิดเหตุร้าย...รุนแรง....จะมีการสื่อสัญญาณเตือนก่อนเสมอ
เอเมน...

ป.วิสุทธิปัญญา
20-08-2014


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 15, 18:22
เห็นคำปิดท้ายของข้อความ ก็ถึงบางอ้อ ทำให้เข้าใจได้ในข้อมูลและเรื่องราวที่กล่าวว่าได้ตั้ง "สมมุติฐานว่าจะเป็นปากปล่องภูเขาไฟในอนาคต..."

ในอ่าวไทยมีมวลน้ำอยู่ 2 วง (ไม่นับวงใน ก.ไก่ ของอ่าวไทยตอนบน)  มวลหนึ่งที่อยู่ติดกับ ก.ไก่ หมุนทวนเข็มนาฬิกา อีกวงหนึ่งอยู่ต่ำลงไปหมุนตามเข็มนาฬิกา  พื้นที่บรรจบของสองมวลน้ำนี้อยู่ในพื้นที่แถวๆ จ.ประจวบฯ   ก็คงเป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยแพลงตอน จึงได้มีฉลามวาฬเข้ามาหาอาหาร เป็นที่สนใจของนักนิยมอนุรักษ์ที่จะไปเฝ้าดูกัน  ฉลามวาฬกินแพลงตอนเป็นอาหาร ตัวขนาดนั้นและปากขนาดนั้นของมัน ก็คงพอจะเดาออกได้ว่า กว่าจะอิ่มได้จะต้องการแพลงตอนในปริมาณเพียงใด   

แพลงตอนเป็นพวกสิ่งมีชีวิตประเภทใช้ชีวิตลอยไปตามมวลน้ำและอยู่ใกล้ผิวน้ำ (pelagic organism)    ไว (ขยายพันธุ์และตาย) ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำ   ปริมาณ หรือจำนวน หรือความหนาแน่นสมบูรณ์ของมัน ณ พื้นที่ใดๆ เกี่ยวพันกับการหมุนเวียนของมวลน้ำในแนวตั้งอีกด้วย (มวลน้ำหมุนระหว่างส่วนลึกกับส่วนตื้น) การหมุนเวียนของมวลน้ำในแนวตั้งนี้ เป็นการนำสิ่งที่จำเป็น (โดยเฉพาะพวกฟอสเฟต) ต่อการดำรงชีพและการเจริญเติบโตของสัตว์ทะเลประเภท pelagic     

ปลาหลากหลายชนิด ต่างก็อยู่ในห่วงโซ่อาหารข้อใดข้อหนึ่ง (ง่ายๆก็คือ ในหลักปลาใหญ่กินปลาเล็ก) 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 15, 18:50
ถ้าอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม แพลงตอนหายไป ปลาต่างๆก็หายไปด้วย   เนื่องจากปลาส่วนมากเป็นพวกสัตว์ที่ไม่หากินใกล้ผืนท้องทะเล (Benthic animals) มันก็จะตามหาแหล่งที่กินที่อาศัยในผืนทะเลอื่นๆต่อไป  มันคงไม่คิดเข้ามาในเขตน้ำตื้นชายฝั่งเพื่อเกยตื้นตายเพราะไม่มีอะไรจะกิน
ในกรณีพื้นทะเลร้อนเพราะมีลาวาไหลออกมา หรือเพราะมี hot spot ที่จะทำให้เกิดภูเขาไฟ   ปลามันคงว่ายออกไปในพื้นที่ทะเลกว้าง คงไม่ยอมร้อนตายเป็นแน่   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 15, 19:24
ภูเขาไฟกับแผ่นดินไหวเป็นของคู่กันแน่ๆ   

ภูเขาไฟ เป็นเรื่องของการระเบิดพ่นหินหลอมละลายสูงออกไปในอากาศ  ได้ของที่ตกลงมาเป็นก้อน (Blocks, Bombs, Debris) เป็นเถ้าถ่าน (Ashes, Pyroclastic materials) เป็นหินที่ลอยน้ำได้ (Pumice) เป็นหินที่เป็นแก้วสีดำ (Obsidian) ฯลฯ   ส่วนที่ไม่ถูกพ่นออกไปก็เป็นหินหลอมเหลวที่ไหลเป็นทาง (Lava flow) ลงสู่พื้นที่ต่ำ
 
แล้วก็มีวิธิการคายเอาหินหลอมละลายหรือลาวาออกมาสู่ผิวโลกในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นการพ่นออกมาแบบภูเขาไฟหรือต้องมีรูปทรงเป็นภูเขาไฟ  เรียกว่า Fissure eruption คือไหลออกมาตามรอยแตกรอยแยกบนผิวโลก คล้ายกับที่เกิดอยู่ใต้ผืนท้องทะเลบริเวณ mid oceanic ridge

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 15, 20:07
หินหลอมละลายเกิดในพื้นที่ๆมีอุณหภูมิมากว่า 1300+ องศา C  เรียกหินหลอมละลายนี้ว่า magma   ด้วยความร้อนของมัน มันก็จะค่อยๆละลายเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หาทางขึ้นไปโผล่ที่ผิวโลก การเคลื่อนตัวของมันนี้ ตรวจจับได้ด้วยเครืองมือตรวจจับแผ่นดินไหว (seismograph) ซึ่งเป็นลักษณะของการสะเทือนแบบสั่นเป็นช่วงๆ เป็นระยะๆ (tremor) และมีตำแหน่งต่อเนื่องกันเป็นเส้นทาง (ก็คือที่แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่มีตำแหน่งเคลื่อนที่ต่อเนื่องกันเป็นเส้นทาง)  มิใช่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ประเภทกระทบเป็นพื้นที่กว้าง

วิธีการหนึ่งของการตรวจว่าภูเขาไฟใกล้ถึงจุดจะระเบิดหรือยัง (ใกล้ผิวดินมากน้อยเพียงใด) ก็ใช้เรื่องของแผ่นดินไหวนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 15, 18:12
สำหรับเรื่อง storm surge นั้น   เป็นปรากฎการณ์ในบริบทของเรื่องของดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นผลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความกดอากาศ

ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติของเรื่องภูเขาไฟและ storm surge นี้ มีความต่างกันของกระบวนการทางธรรมชาติที่ทำให้มันเกิดขึ้น  อาจจะมาเกี่ยวพันกันได้ ก็คงจะต้องเป็นช่วงเวลาหลังจากเกิดการปะทุของภูเขาไฟแล้ว



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 15, 19:12
นึกขึ้นได้ว่า ผู้ที่เขียนเผยแพร่เรื่องภูเขาไปที่ประจวบฯนี้ อาจไปเอาตำแหน่งของ อานัคการากาตัว (Anak Krakatoa) ที่มีการ pin ผิดที่ใน Google Earth  แล้วเอาเรื่องราวพัฒนาการของมันมาบรรยายเสริมเติมแต่งเพิ่มเข้าไป     กองเปลือกมะพร้าวที่ติดไฟอยู่ในแถบนั้นก็ดูจะเข้าบรรยากาศของลาวา ควัน และเถ้าถ่าน ฯลฯ   

     ณ บริเวณที่เป็นภูเขาไฟกะรากะตัว (Krakatoa) ซึ่งได้ระเบิดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีมี่ผ่านมานั้น จัดเป็น hot spot (เบ้าหลอมหิน) ที่สำคัญจุดหนึ่ง เมื่อกะรากะตัวระเบิดไปแล้ว ไม่นานก็มีรุ่นลูกค่อยๆปูดตามขึ้นมาในพื้นที่เดิม ซึ่งมีการตั้งชื่อว่า Anak Krakatoa เหตุการณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่องมาก็คือ  มีผืนหินค่อยๆปูดขึ้นมาจากทะเล ค่อยๆสูงขึ้นๆ จนในปัจจุบันถึงสูงประมาณ 300 เมตร  มันก็พ่นทั้งเถ้าถ่านและปล่อยหินละลายไหลออกมาตลอดเวล   ไม่รู้ว่าอีกนานเพียงใดจึงจะระเบิด (อีกหลายรอยปีแน่นอน) อย่างไรก็ตาม ก็มีการเฝ้าติดตามศึกษาตลอดมา 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 15, 18:34
กลับมาต่อเรื่องพื้นที่แผ่นดินไหวในเขตประเทศไทยที่เราน่าจะพึงให้ความใส่ใจ

กลับไปทบทวนนิดนึง      ต้นตอของแผ่นดินไหวปกติจะจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ พวกที่เกิดจากการขยับปรับตัวของผิวโลก  พวกที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก  และพวกที่เกิดจากผลของการกระทำของมนุษย์

พวกแรก เป็นพวกที่เราอยู่กับมัน เช่นเดียวกันกับคนทั้งโลก   พวกที่สอง เราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ๆเป็นเนื้อตัวของมัน เราอยู่ห่างจากมันพอสมควร แต่ได้รับผลกระทบปลายแถวจากมัน   พวกที่สาม เราคงมีกิจกรรมน้อยมากที่จะไปเกี่ยวข้องกับมัน

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ณ ที่ใดๆในแผ่นดิน คำอธิบายเกือบทั้งหมดมักจะไปเกี่ยวพันกับรอยเลื่อนใดลอยเลื่อนหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมันโยงกันไปหมด และในหลายๆกรณีก็ยังโยงไปถึงผลจากการกระทำของมนุษย์ร่วมด้วย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 15, 19:15
คำว่ารอยเลื่อน หรือ Fault ที่เราได้ยินกันในคำอธิบายหรือในการอ้างถึงบ่อยๆนั้น  จะมีอีกวลีหนึ่งต่อท้ายเข้ามา ได้แก่  ...มีพลัง 

รอยเลื่อนมีพลัง ตรงกับศัพท์ว่า active fault  ซึ่งหมายถึงว่า มันยังมีพลังงานหรือมีการสะสมพลังงานอยู่ตลอดเวลา หากมีมากพอ มันก็พร้อมที่จะเคลื่อนขยับปรับตัว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา  ซึ่งก็ยังมีการจำแนกแบบหยาบๆออกไปอีกว่า เป็นพวกทำลายล้าง (destructive) หรือพวกไหวธรรดาๆ (non-destructive) โดยการย้อนไปดูประวัติและลักษณะความเสียหายที่มันเคยทำๆมา

เมื่อมีการจำแนกรอยเลื่อนที่พลังออกมาได้ ก็ย่อมต้องมีอีกกลุ่มรอยเลื่อนในทางตรงกันข้าม ซึ่งก็คือพวกที่ไม่มีพลัง ซึ่งก็จำแนกออกไปอีกได้ว่า จะเป็นประเภทไม่มีอะไรในกอไผ่อีกแล้ว เรียกกันว่า dead fault (ตายไปแล้ว)    หรือจะเป็นพวกที่มีโอกาศฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้เป็นพักๆ เรียกกันว่า inactive fault  ก็คือไม่แน่ใจว่ามันตายไปแล้วหรือยังไม่ตายจริง เพียงสลบไป จะตื่นมาเมื่อใดก็ไม่ทราบ จึงได้แต่เป็นการเดา (แบบมีหลักวิชาการทางสถิติ) โดยการย้อนกลับไปดูประวัติอาการของมันในอดีต (เท่าที่มีการบันทึกมาจะโดยธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติก็ตาม)  นั่นก็เลยเป็นที่มาของคำว่า "ในรอบ...ปี" (return period)   

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 15, 19:37
เล่ามาถึงตรงนี้ ก็คงพอจะวิเคราะห์และจำแนกได้บ้างแล้วว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้น อะไรควรจะเป็นอย่างไร 
 
ยิ่งมีความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงการมีความรอบรู้สภาพต่างๆในอดีตเพื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน    บรรดาภาพที่ได้จากข้อมูลในอดีตเพื่อการเปรียบเทียบเหล่านั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องรวบรวมเก็บมาทำการประมวลจากเรื่องราวต่างๆในอดีต ซึ่งก็หมายถึงว่า ต้องอ่านเอาความจากเรื่องราวในอดีตในแง่มุมต่างๆ       ครับ จะจรรโลงชีวิตให้มีความสุขก็คงหนีไม่พ้นที่จะรู้และเรียนรู้จากประวัติศาสตร์   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 15, 20:25
ก็เข้ามาถึงจุดที่ว่า รอยเลื่อนทั้งแบบ active กับรอยเลื่อนแบบ inactive ต่างก็ขยับปรับตัวได้  แล้วจะจำแนกมันอย่างไรกันดี

ที่รู้และจำแนกออกได้ตั้งแต่ต้นเลย แน่ๆก็คือ แบบ active นั้นมันมีร่องรอยของการเคลื่อนที่ต่อเนื่องตลอดกระบวนการเปลี่ยนแปลงของผิวโลกหรือของผืนดิน 

ส่วนแบบ inactive นั้น โดยนัยก็คือ รู้อยู่จากหลักฐานหลายอย่างว่า มันยังไม่ตายสนิท  หลายๆปีมันก็จะเคลื่อนหรือขยับตัวครั้งหนึ่ง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 15, 18:38
ก็เข้ามาถึงจุดที่ว่า รอยเลื่อนต่างๆนั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ๆเป็นเทือกเขาและทิวเขา   ซึ่งมันก็เป็นพวกที่สร้างให้เกิดภูมิประเทศอันสวยงาม เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งพื้นที่อยู่อาศัย เป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ

เมื่อรอยเลื่อนเป็นหนึ่งในต้นตอของแผ่นดินไหว (จากเหตุที่แต่ละผืนดินที่อยู่คนละด้านของรอยเลื่อนมันเคลื่อนที่สวนทางกัน)  ซึ่งการไหวของแผ่นดินนั้นก็กระจายออกไปรอบทิศ ใกล้จุดกำเนิดก็แรงหน่อย ไกลจุดกำเนิดก็เบาหน่อย อยู่ในพื้นที่ๆรองรับด้วยหินแข็งก็รู้สึกคล้ายกับถูกเขย่า อยู่ในพื้นทีๆรองรับด้วยดินอ่อนก็รู้สึกคลัายอยู่บนที่นอนยาง  ก็เป็นอันว่า โดยนัยแล้ว จะอยู่ที่ใหนก็มีโอกาสต้องสัมผัสกับแผ่นดินไหวได้ทั้งนั้น    ยิ่งชอบวิวทิวทัศน์ อากาศบริสุทธิ์ และสิ่งแวดล้อมอันสุนทรีย์ ยังไงๆก็ต้องนอนอยู่กับมันไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่นั้นๆเป็นช่วงเวลาสั้นๆหรือยาว




 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 15, 20:19
เมื่อรอยเลื่อนมีเป็นจำนวนมากมาย แต่ละตัวก็มีประวัติการเคลื่อนตัวของตัวเองทั้งในมิติของเวลา และในมิติของปริมาณและคุณภาพ  แล้วเราจะมีความสามารถที่จะไปรู้จักตัวตนของแต่ละรอยเลื่อนได้ครบทั้งหมดหรือ ?    ไม่ง่ายเลย
   
ก็ทำให้มีวิธีการง่ายๆที่จะพิจารณากรณีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวใดๆ ใน 2 วิธีการ คือ จากข้อมูลโดยตรงของรอยเลื่อนใดๆที่ วิเคราะห์โดยนักวิชาการเฉพาะด้าน     และในมิติทางเวลา โดยพื้นฐานของกิจกรรมทางสังคม

ในมิติทางวิชาการนั้น ในความเห็นของผม ก็ต้องรับฟัง เก็บเป็นข้อมูลและความรู้  ส่วนจะเชื่อได้หรือไม่นั้น คงจะต้องพิจาณาแหล่งที่มาของข้อมูล และผู้ที่ออกมาแถลง     กระบวนการทางธรรมชาตินั้นมันเป็นระบบเปิด (open system) เรียนไม่รู้จบครับ

ในมิติทางเวลานั้น น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างให้ตัวเราเกิดความรู้สึกถึงความเชื่อมั่นได้ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าเราพอใจในกรอบเวลาใด เช่น ในรอบ 100 ปี หรือ 500 ปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวบ้างหรือไม่ ขนาดใหนและรุนแรงมากน้อยเพียงใด       

     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 15, 19:01
กรอบเวลานี้  โครงการงานก่อสร้างทางวิศวกรรมทั้งหลายเขาก็ใช้กัน และก็เป็นเรื่องแรกๆที่เข้ามาในความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในรอบ 500,000 ปีที่ผ่านมา จะต้องไม่มีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน หรือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เป็นต้น  จัดเป็นการอนุมานในเบื้องแรกสุดว่า ในกรอบเวลานั้นๆ โครงการก่อสร้างนั้นๆน่าจะมีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่     สำหรับการศึกษาทางสถิติเกี่ยวกับวงรอบของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใดๆนั้น (return period) ไปเกี่ยวข้องในเรื่องของความแข็งแรงทนทาน คือ จะออกแบบให้รับแผ่นดินไหวได้ขนาดใหน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 15, 19:11
ดังนั้น เราจึงสามารถกำหนดเงื่อนไขของความเสี่ยงและความรู้สึกปลอดภัยของเราเองได้ในระดับที่ดีเลยทีเดียว

คำพูดในลักษณะเหล่านี้ จะเกิดขึ้นเอง แล้วเราก็ตัดสินใจเองว่าจะเอาแบบใหน  อาทิ

  - นานๆมันก็เกิดทีนึง
  - สองสามปี (หรือ ...ปี ครั้งนึง)
  - มันก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ก็คงจะไม่แรงไปมากกว่านี้เท่าใดหรอก
  - บ้านเราแข็งแรงพอ รับได้กับขนาดที่ใหญ่กว่านี้
  - คงไม่โชคร้ายขนาดนั้นมั๊ง
  - อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด

  ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 15, 17:15
จะหายหน้าไปสามสี่วันนะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 15, 18:12
วลีที่ได้ยกตัวอย่างมา  นอกจากจะเป็นเรื่องของการปลอบใจตนเองแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงการตัดสินใจว่า ตนเองได้ตกลงปลงใจที่จะเลือกสถานที่พักหรืออยู่อาศัย ณ สถานที่นั้นๆเรียบร้อยไปแล้ว   ซึ่งก็หมายถึงการยอมรับความเสี่ยงในระดับนั้นๆ
     
จะตัดสินใจอย่างใดก็ตามนะครับ ก็ขอให้เพิ่มเรื่องของการลดความเสี่ยงเฉพาะตนหรือหมู่คณะของตนลงไปอีกให้ได้มากที่สุด เช่น การเลือกตำแหน่งของสถานที่อยู่ การทำความรู้จักกับพื้นที่นั้นๆให้ดีเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น     หรือง่ายๆก็คือ อย่าลืมพิจารณาเรื่องของทางหนีทีไล่ให้ดีๆด้วย  จะถูกว่าๆเป็นการคิดในทางลบก็ได้ หรืออาจจะถูกว่าๆคิดมากหรือประสาทก็ได้ ฯลฯ        อย่าสนใจไปเลยครับ  ตำราพิชัยสงครามของท่านซุนวูแต่โบราณกาลกล่าวว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง       


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 15, 18:25
ครับ ก็คือการรอบรู้สถานะการณ์ หรือสิ่งแวดล้อม หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ  ทั้งที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นการสรรสร้างขึ้นมาโดยฝีมือมนุษย์ และที่ความเป็นตัวตนของมนุษย์ (ความคิด จิตใจ หลักคิด หลักนิยม ...)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 15, 18:55
ก็มีอยู่อีก 2 ประโยคที่จะต้องกล่าวถึง คือ earthquake susceptible area กับ earthquake hazard area  ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ มีความหมายต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง แต่ข่าวสารที่ปรากฎอยู่ในสื่อ (ไม่ว่าจะมีต้นทางจากกลุ่มคนทางวิชาการหรือจากกลุ่มคนทางสื่อ) มักจะมีเนื้อหาหรือความมายสื่อไปในทางของเรื่อง hazard (ภัยพิบัติ)   

ในกรณีเรื่องของ susceptible area นั้น เป็นเรื่องของการที่พื้นที่นั้นๆสามารถรับรู้ และเกิดการไหวเมื่อมีคลื่นแผ่นดินไหวผ่านมา (ขนาดใดขนาดหนึ่งและจากต้นตอจุดใดจุดหนึ่ง)
   
ตัวผมเองจัดให้พื้นที่ภาคอีสาน พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเราเป็นพื้นที่ๆเกือบจะไม่สามารถรับรู้การไหวของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ณ ที่ใดๆในโลก แม้กระทั่งที่เกิดในพื้นที่รอบๆประเทศของเรา    ต่างกับพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่เป็นพื้นที่ๆที่สามารถรับรู้และเกิดการไหวของแผ่นดินได้ ซึ่งก็ยังพอจะจำแนกย่อยลงไปได้อีก

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 15, 19:32
จะขออธิบายหลักง่ายๆ ก่อนที่จะแยกย่อยลงไปครับ  คือ
   คลื่นใดๆก็ตาม เมื่อเดินทางผ่านตัวกลางที่วางตัวคล้ายระนาบซ้อนกัน    คลื่นที่มีทิศทางของการเดินทางต้องทะลุผ่านแต่ละตัวกลาง พลังและความเข้มข้นของคลื่นนั้นๆจะลดลงเป็นลำดับอย่างรวดเร็วเมื่อได้วิ่งทะลุผ่านแต่ละชั้นไป    ต่างกับคลื่นที่เดินทางอยู่ในระหว่างชั้นของตัวกลางแต่ละระนาบ ที่คลื่นนั้นๆจะคงรักษาระดับพลังและความเข้มข้นและเดินทางไปได้เป็นระยะทางไกล แต่ก็จะค่อยๆลดลง มากน้อยตามคุณสบัติของตัวกลางนั้นๆ
 

 






กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 15, 19:02
ตามหลักดังกล่าวนี้

พื้นที่บริเวณกลางๆภาคอีสาน ก็จะจัดได้ว่า คงจะไม่รับรู้แผ่นดินไหวจากต้นกำเนิดใดๆ  ยกเว้นเฉพาะพื้นที่ด้านมุมตะวันออกเฉียงเหนือ (แถบบึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) ซึ่งมีโอกาสจะได้รับคลื่นแผ่นดินไหวจากกลุ่มรอยเลื่อนที่พบอยู่ในเวียดนามตอนบนและลาว (รวมทั้งรอยเลื่อนตามแม่น้ำศรีสงคราม) ที่มีแนวและมีความยาวต่อเนื่องเข้าไปในพื้นที่ของจีนตอนใต้



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 15, 19:43
พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ประมาณ อ.ทับสะแก ลงไปจนสุดเขตแดน ก็พอจะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ๆพอจะรู้สึกหรือสัมผัสอาการไหวของแผ่นดินได้    แต่หากจะเป็นกรณีรู้สึกไหวมาก ก็น่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่มาจากจุดกำเนิดในพื้นที่ตามแนวตะเข็บพื้นที่ราบกับทิวเขาด้านตะวันออกของพม่า   ทั้งพื้นที่พอจะจัดได้ว่ามีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยในระดับต่ำ (น่าจะเป็นระดับต่ำมากเสียอีกด้วย) 

ภาคตะวันตกของเรา ตั้งแต่เหนือสุดจนถึงแถวประจวบฯ เป็นพื้นที่ๆมักจะรับรู้แผ่นดินไหวที่เกิดในพม่าได้เสมอ ซึ่งมิใด้เป็นในลักษณะของพื้นที่แบบหย่อมๆ (แบบกว้างคูณยาว) แต่จะเป็นแบบพื้นที่ยาว (strip) ตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้    นอกจากนั้นก็ยังเป็นพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย     ทั้งพื้นที่และโดยเฉพาะที่เป็นพืดเทือกเขาต่อเนื่องจนถึงชายแดน พอจะจัดได้ว่า มีโอกาสสูงมากที่จะได้สัมผัสกับการไหวของแผ่นดินในระดับที่เป็นภัยพิบัติ แต่ก็โชคดีที่มิใช่เป็นพื้นที่เมือง 

พื้นที่ภาคเหนือ สามารถจัดเป็นพื้นที่ๆรับรู้แผ่นดินไหวบ่อยครั้งมากที่สุด จนอาจจะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเป็นประจำ และเกือบทั้งหมดก็จะรับรู้หรือรู้สึกได้แบบมีวงเขตแยกกันเป็นแอ่งๆไป เช่น เฉพาะในพื้นที่ของแอ่ง จ.แพร่, จ.น่าน, จ.เชียงราย, จ.เชียงใหม่, อ.งาว, บ.แม่ตีบ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นแผ่นดินไหวประเภทไม่รุนแรง  ส่วนมากที่เป็นข่าวก็จะอยู่ในระดับแถวๆ 3 ริกเตอร์   แต่ที่ไม่เป็นข่าว (เช่น กรณีเสียงลั่นของหน้าต่างบ้าน หรือของกระจกตู้เก็บของ) นั้นมีอยู่มากจนเป็นความปรกติและความเคยชิน     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 15, 19:12
ยังมีอีกสองสามเรื่องที่อยากจะกล่าวถึง

เรื่องแรก   เคยสังเกตใหมครับว่า บรรดาบ่อน้ำร้อนที่พบในประทศไทยเรานั้น เกือบทั้งหมด (จะว่าทั้งหมดก็ได้) พบอยู่บนพื้นที่ตลิ่งใกล้ๆหรือข้างๆลำห้วยหรือลำน้ำต่างๆ  อาทิ ที่ บ.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, บ.หินดาด (หรือกุยมั่ง) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี,  บ.หาดส้มแป้น อ.เมือง จ.ระนอง, ......ฯลฯ     

ไทยเรามีพุน้ำร้อนอยู่มากกว่า 100 แห่ง ในจังหวัดเหล่านี้ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 15, 20:04
ต่อ..
กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา สตูล   ฯลฯ   ลืมอุทัยธานี ลพบุรี และเพชรบูรณ์

เมื่อเอาตำแหน่งพุน้ำร้อนเหล่านี้มาจุดลงบนแผนที่ ก็จะเห็นว่ามันค่อนข้างจะอยู่กันเป็นทิวใกล้และตามแนวรอยเลื่อนต่างๆที่ทางวิชาการเขาจัดให้เป็นรอยเลื่อนประเภทที่มีพลัง (active fault)

พุน้ำร้อนเหล่านี้ เกิดจากการที่มีน้ำ (จากผิวดิน) ซึมลงไปตามรอยแตกรอยแยกในหิน ลึกลงไปสัมผัสกับบริเวณที่ร้อน น้ำก็จะร้อน แล้วก็จะขยายตัวดันกลับขึ้นมาสู่ผิวดินกลายเป็นพุน้ำร้อน     น้ำเย็นที่ซึมลงไปจนกลายเป็นน้ำร้อนกลับขึ้นมานี้ แสดงถึงความเข้มข้นของแรงที่หินสองฝั่งของระนาบรอยเลื่อน (fault plane) เคลื่อนที่ผ่านกัน   

น้ำที่ซึมลงไปนี้ ช่วยทำหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นตัวหล่อลื่นบนระนาบรอยเลื่อน ช่วยทำให้หินทั้งสองฝั่งเคลื่อนที่ผ่านกันได้ลื่นไหลมากขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่าหินทั้งสองฝั่งของรอยเลื่อนจะไม่สะดุดหยุดชะงักบ้าง   เมื่อการหล่อลื่นไม่เพียงพอหรือสู้แรงความฝืดจากแรงเสียดทานไม่ได้ พอหลุดที่นึงก็เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวเบาๆได้ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 15, 18:36
ขนาดน้ำยังไหลซึมลงไปจนถึงจุดเสียดสีระหว่างหินสองฝั่งที่เคลื่อนที่ผ่านกัน ซึมลงไปถึง ณ จุดที่มีความร้อนมากพอจนทำให้กลายเป็นน้ำร้อนหรือกลายเป็นไอแล้วควบแน่บกลับมาเป็นน้ำร้อนที่พบบนพื้นผิวดิน  ดังนั้น จึงคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเป็นก๊าซมันก็ยิ่งจะซึมผ่านได้อย่างสะดวกและด้วยความรวดเร็ว

ซึ่งผมเห็นว่า กรณีที่มีการกล่าวถึงอาการของสัตว์ที่ผิดปรกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว หรือการใช้ข้อสังเกตอาการของสัตว์เพื่อบอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวนั้น น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของชนิดหรือส่วนผสมของก๊าซที่ผุดออกมาสู่ผิวดินนี้เอง  ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่มักจะกล่าวถึงนั้น มักจะเป็นสัตว์ในตระกูล Arthropods  (สัตว์ลำตัวเป็นปล้อง_แมลง, กิ้งกือ ฯลฯ) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทพวกจมูกยาว (ใช้ทักษะทางกลิ่น)  สัตว์พวกนี้มีสัมผัสทืี่ไวมากก้บส่วนประกอบของอากาศที่ใช้หายใจและใช้หาอาหาร 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 15, 19:34
ย้อนกลับไปพื้นฐาน      การแปรผันของสภาพ Eh (oxidation-reduction), pH (acidity-basicity), temperature, pressure เหล่านี้ ทำให้เกิดผลของสารประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันมากมาย ทั้งในเชิงของการจัดตัวภายในสารประกอบนั้นๆ (unit cell arrangement) สภาพทางกายภาพภายนอก คุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ ความอยู่ยง ความคงทน ฯลฯ   

จุดแปรผันที่เหมาะสมขององค์ประกอบทางเคมีและฟิสิกส์เหล่านี้แหละครับที่เป็นความลับหวงห้ามของบริษัทผลิตสินค้าแทบจะทุกบริษัท

ผมจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปอธิบายเรื่องเหล่านี้ทั้งในเชิงของ physical chemistry และ geochemistry นะครับ   ได้กล่าวถึงก็เพียงเพื่อจะบอกว่า ก็ด้วยการแปรผันของเงื่อนไขเพียงตัวเดียว ก็จะได้ผลที่ต่างกัน    ความต่างที่มี ก็อาทิ น้ำร้อนที่ อ.สันกำแพง มีฟลูออรีนสูงมาก ต่างกับอีกหลายแห่งที่มีสารละลายหินปูนสูง หรือมีกำมะถันสูง หรือมีก๊าซไข่เน่าสูง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 15, 18:51
เอาเป็นว่า หากเกิดความผันแปรมากกว่าขอบเขตหนึ่ง มันก็จะกระตุ้นให้สัตว์กลุ่มหนึ่งเกิดอาการตื่นตัวได้  แท้จริงแล้วก็สัตว์หลายชนิดที่มีประสาทที่ไวต่อการสั่นสะเทือนใดๆ ซึ่งมันก็ใช้โสตสัมผัสนี้ในการช่วยหาอาหาร   มันจึงสามารถรับรู้คลื่นสั่นสะเทือนแม้จะเพียงน้อยนิดเพียงใดที่จะเกิดขึ้นเมื่อหินสองฝั่งระนาบเริ่มจะครูดกันอย่างผิดปรกติก่อนที่จะกระชากหลุดออกจากกันจนเกิดแผ่นดินไหว

อย่าว่าแต่สัตว์เลยครับ  เราเอง เมื่อเห็นฟ้าใสเป็นสีคราม เราก็รู้แล้วว่าอากาศหนาวแน่ๆ หรือเมื่อลมเปลี่ยนทิศ เราก็พอจะรู้หรือคาดได้เหมือนกันว่ากำลังเปลี่ยนฤดู หรือจะเกิดฝนตก หรือจะเกิดพายุลมแรง       เห็นแมลงเม่ามาบินตอมหลอดไฟ เราก็รู้ว่าต้องมีฝนตกที่ใดที่หนึ่งที่ไม่ห่างจากที่เราอยู่มากนัก หรือเมื่อมดเริ่มอพยพขึ้นที่สูง เราก็พอจะรู้แล้วว่าน่าจะมีฝนตกหนักในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ฯลฯ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 15, 19:40
ก็คงมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอีกมาก  หากจะเอาให้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่งก็คงจะต้องเล่าอีกยาวเลยทีเดียว  เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นระบบเปิด มีตัวแปรมากมาย ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนกับ 1+1=2

ผมคิดว่า น่าจะพอแล้วนะครับ รู้พอที่จะทำให้นอนอยู่กับมันได้โดยไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือเป็นกังวลจนเกินควร เอาพอจะรู้ว่า รู้หลบ รู้หลีก เอาตัวรอดได้อย่างไร ก็น่าจะเพียงพอ 



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 15, 19:56
ก่อนจะลาโรง  ก็อยากจะฝากข้อพึงระวังเรื่องนึงครับ

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว มันก็ไม่ต่างไปจากการเขย่าดินทรายที่เอาใส่ไว้ในกะละมัง ซึ่งก็คือ เราจะเห็นฝุ่นผงฟุ้งออกมา
   
ฝุ่นผงหรืออากาศที่ฟุ้งออกมาจากผืนดินในบริเวณที่ถูกเขย่าจากแผ่นดินไหวนั้น แน่นอนว่าจะต้องมีจุลินทรีย์ฟุ้งลอยออกมาด้วย  ที่เคยมีกรณีเกิดขึ้นมา คือ ผู้คนเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายๆกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าเกิดจากจุลินทรีย์ที่ฟุ้งออกมาจากใต้ผืนดินที่ถูกเขย่าโดยแผ่นดินไหวนั่นเอง

ครับผม



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 16 ก.พ. 15, 20:49
ขอบคุณครับอาจารย์naitangที่กรุณาแบ่งปันความรู้
ทุกกระทู้ของท่าน  ท่านก็ว่าไปคนเดียวแต่ต้นจนจบ
ก็เกรงว่าท่านจะว้าเหว่. แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าแจมตรงไหน วุฒิไม่พอ
ติดตามตลอดตั้งแต่เร่ิมจนจบ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 17 ก.พ. 15, 11:02
ขอขอบพระคุณ ที่กรุณานำความรู้จากประสพการณ์ มามอบให้ครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 15, 19:30
ก็ต้องขอตอบขอบคุณกลับไปยังท่าน Jalito ท่าน ninpaat และสมาชิก/ผู้สนใจทุกๆท่าน  ขอบคุณที่ได้ติดตามเรื่องราวต่างๆ แม้ว่าจะดูกระท่อนกระแท่นไปบ้างนะครับ   

ดังที่ได้บอกกล่าวไว้ว่า กระบวนการทางธรรมชาติมันเป็นระบบเปิด (open system) มันจึงมีเรื่องและกระบวนการอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องและเข้ามาร่วมเป็นตัวแปรมากมาย  มันจึงไม่เป็นกฎแบบ rule of thumb แต่มันเป็นแบบ most likely หรือจะว่าเป็นแบบ...ก็มีกฎพื้นนฐานอยู่แต่มีข้อจำกัด เงื่อนไข หรือข้อยกเว้นเยอะแยะไปหมด...ก็ได้  มันจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาทุกแง่มุม (aspect) ของเรื่องต่างๆมาพิจารณา ซึ่งก็คือ การใช้วิธี holistic approach

ผมเริ่มกระทู้นี้ก็เพราะอยากจะเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานทางวิชาการที่ถูกต้องสู่สาธารณะ  ด้วยทราบมาแต่นานแล้วว่า ข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหวที่ออกสู่สาธารณะทางสื่อต่างๆนั้น มันอยู่ในภาพของ pessimistic tone (ให้ภาพออกไปทางน่ากลัว) ส่วนขยายที่เป็นคำอธิบายประกอบ ซึ่งเป็นเชิงวิชาการนั้นถูกละทิ้งไป ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะยากแก่การเข้าใจ      ที่ผมเดินเรื่องของกระทู้นี้ช้าหรือตะกุกตะกักอยู่นั้น ก็เพราะระวังอย่างมากในการให้ข้อมูล เพื่อมิให้เกิดมโนไปในทางที่ไม่ใช่      ผมมีประสพการณ์กับตัวเองเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ทองผาภูมิ กาญจนบุรี (นานมาแล้ว)  ขนาดว่าผมอธิบายให้กับ จนท.ที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยฯสาธารณะ แบบง่ายๆชัดเจนแจ่มแจ๋ว ทบทวนว่าเข้าใจดีแล้วนะ   ก็ยังมิวายทำให้คนแตกตื่นลงมาจากตึกตอนเที่ยงวัน ก็คงเป็นการมโนต่อเนื่องบนฐานของข้อมูลที่ถูกมโนต่อกันเป็นทอดๆ

อีกประการหนึ่ง ก็ร่ำเรียนมาตรงๆ ก็มีคนเก่งกว่าเยอะแยะทั่วไปหมด  พอมีเวทีเรือนไทยให้ผ่องถ่ายความรู้ได้ ก็เลยดีใจที่จะได้ผ่องถ่ายความรู้ที่พอมีให้สาธารณะได้ทราบเรื่องที่ถูกต้องโดยทั่วกัน แก่แล้วจะเก็บไว้อีกทำไม  ก็รู้สึกว่าเขียนยากอยู่เหมือนกันเพราะมีศัพท์ทางเทคนิค มีศัพท์ทางภาษาในอีกความหมายลึกๆ แล้วก็มีคำทางเทคนิคที่อยู่ร่วมคำทางภาษาที่ให้ความหมายในมุมหนึ่ง 

ครับผม     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 04 มี.ค. 15, 16:38
เจ้าของกระทู้เขียนมาเกือบปี เริ่มตั้งแต่ พค ปีที่แล้ว มาจบเอาเดือนกพปีนี้ ดิฉันอ่านบ่ายเดียวจบ

ต้องขอขอบพระคุณท่านเจ้าของกระทู้ที่ให้ความรู้และผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน โดยเฉพาะรูปประกอบหลายรูปที่ทำให้หลุดขำค่ะ

สารภาพว่านานๆเข้ามาเรือนไทยครั้งและไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อ่านกระทู้วิทยาศาสตร์เท่ากับที่จะได้อ่านเรื่องของโกมินทร์กุมาร (เสิร์ชชื่อการ์ตูนที่อ่านสมัยเด็ก พบกระทู้ในเรือนไทย จึงไล่ตามอ่านทีละกระทู้เป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็น) วันนี้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ที่ตอบเพราะว่าท่านเจ้าของกระทู้ชี้แจงรูปไปทีละรูปโดยยังตกหล่นรูปที่ดิฉันเองหาคำตอบไม่ได้ (รูปอื่นๆพอจะตั้งสมมติฐานได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น) คือรูปในความเห็นที่ 50 ค่ะ

ถ้าเจ้าของกระทู้ตอบแล้ว แต่ดิฉันตาลาย (เพราะอ่านกระทู้ข้ามปีในบ่ายเดียว) ต้องขออภัยนะคะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 15, 17:14
รูปที่ 50 ที่คุณจูลินยังมีคำถามอยู่

เข้าประเด็นของคุณ NAVARAT.C ครับ

ความเสียหายเท่าที่ผมได้ไปสำรวจดูแบบฉาบฉวยและได้เห็นมากับตานะครับ ผมว่ามีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนน้อยมากและระดับของความเสียหายเกือบทั้งอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง กล่าวได้ว่าสมควรแก่เหตุ (จะค่อยๆขยายความต่อไปครับ) เมื่อเทียบกับปริมาณของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในตำบลต่างๆและเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวระดับขนาดนี้
   
ข่าวก็คือข่าวละครับ ข่าวที่แพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ดูแล้วน่ากลัว ดูแล้วทำให้คิดได้อย่างเดียวว่าจะต้องเกิดความเสียหายในวงกว้าง  ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าถ่ายภาพออกข่าวเฉพาะอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 15, 18:47
ขอบคุณครับที่ได้ตามอ่าน

ผมรู้แก่ใจอยู่แล้วว่า ผู้อ่านจะต้องมีความรู้สึกว่า เรื่องมันเดินช้าจัง น่าเบื่อ   
ครับ ก็มีทั้งเจตนาและไม่เจตนา
 
ด้านเจตนานั้นก็ด้วยเห็นว่า มันจะช่วยให้เกิดการคิดล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นผลทำให้ได้เห็นกลไกที่น่าจะเป็นหรือไม่น่าจะเป็น   ก็คือ เพื่อการเข้าถึงและความเข้าใจเรื่องของ natural phenomena ในแบบ holistic approach ฯลฯ ก็ถึงบางอ้อเหมือนกันแต่เป็นบางอ้อที่ต่างกัน

สำหรับในด้านไม่เจตนานั้นก็ด้วยเหตุว่า ต้องพยายามสื่อความหมายให้ถูกต้อง มิใช่กำกวมหรือไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลต่อไปกระตุ้นให้เกิดอาการ phobia   ก็เลยต้องตรวจสอบการสื่อเรื่องราวและความหมายของคำทางเทคนิคต่างๆ ทำการปรับประโยคให้สื่อได้อย่างถูกต้อง  เรีื่องก็เลยเดินช้าๆแบบหอยทาก

ก็ขออภัยด้วยครับ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 15, 19:13
ผมใช้คำว่า phobia    ตัวเองยังนึกไม่ออกว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี

ผู้หญิงสวยๆคนหนึ่ง เราก็มีคำอธิบายได้ทั้ง beautiful, pretty, cute, gorgeous ฯลฯ  โดยผิวเผินดูเหมือนๆกัน แต่ลึกๆแล้วไม่เหมือนกันเลย

ในเรื่องที่เขียนมีความหมายของคำว่า pressure ใน context ที่ต่างกัน บ้างก็เป็นเรื่องของความดัน บ้างก็แรงอัด บ้างก็แรงดัน บ้างก็แรงกดดัน ฯลฯ

ครับ ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้ผมเขียนได้ช้า ระวังมากไปหรือเกินพอดีไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้    จะว่าไป ผมก็คงมีอาการ phobia อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์เมื่อครั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง  ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่แบบไม่ครบถ้วนกระบวนความ จนทำให้แตกตื่นกันไปทั้ง กทม. 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 15, 19:58
มาถึงข้อสงสัยเรื่องภาพของถนนพังในรูปที่ 50 ใน คห.ที่ 417

ถนนพังในภาพนี้เป็นลักษณะของการเกิดแบบ slumping มิใช่แบบ sliding   ซึ่งภาษาไทยคงใช้ชื่อเรียกเหมือนๆกัน คือ ดินถล่ม

slumping พบเห็นได้ทั่วๆไปบนถนนสายที่ตัดเลียบไหล่เขา โดยเฉพาะบริเวณโค้งระหว่างร่องเขา (ข้ามห้วย/ร่องน้ำ)  ถนนสายฮอด-แม่สะเรียงก็มี สายแม่มาลัย-แม่ฮ่องสอนก็มี สายร้องกวาง-งาวก็มี ถนนสายดงมะดะ - แม่ขะจาน-ดอยสะเก็ด ในพื้นที่แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็มี ฯลฯ     ลักษณะสำคัญคือ ทรุดลงไปเป็นบั้งๆ เป็นกะบิๆ คล้ายใช้พลั่วค่อยๆแซะกองดินให้ทลายลงไป  มีหรือไม่มีแผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นได้  ก็ซ่อมแซมกันไปจนกว่ามุมของ slope จะอยู่ในกรอบขององศาที่เสถียร (angle of repose)

sliding นั้น เป็นการเกิดแบบตัวเนื้อของมวลวัตถุถล่มไหลคละกันลงไปกองอยู่ในที่ต่ำ เกิดจากการสูญเสีย cohesive force ระหว่าง sediment materials ต่างๆ  เกิดได้ทั้งจากฝนตก (เช่น จนดินกลายเป็นโคลน) แรงเขย่าของผืนดิน (เช่น จากรถหนักกระเด้งกระดอนบนผิวถนนที่ไม่เรียบ) แผ่นดินไหว ฯลฯ     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 15, 20:14
ภาพที่ว่านี้ ผมไม่ทราบว่า ถ่ายมาถนนสายใหน ถ่ายมาเมื่อใด และจะเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวในครั้งนั้นหรือไม่ ?

อนึ่ง slumping นี้ เกิดขึ้นทั่วไปในโลกนะครับ อย่าไปโทษจากสาเหตุว่าสร้างถนนคุณภาพดีหรือไม่ดีแต่เพียงอย่างเดียว มันเป็นงานทางวิศวกรรมที่มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งในเรื่องของสภาพภูมิปรเทศ สภาพทางธรณีฯ วัสดุ ค่าใช้จ่าย ฯลฯ  ในหลายๆกรณีก็ต้องยอมให้มันพังไปจนถึงจุดที่มันเสถียรด้วยตัวมันเอง       

ลองพิจารณาจากเรื่องที่ผมอธิบายไปก็แล้วกันนะครับ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 09 มี.ค. 15, 15:43
ตอนเกิดแผ่นดินไหวเข้าใจว่าเป็นรูปประกอบว่าเป็นผลที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งที่ผ่านมาค่ะ เหมือนเห็นภาพในห้างอะไรสักที่แว้บๆด้วยค่ะ

พอดีว่าไม่ได้ตามข่าวค่ะ ต้องขอความเห็นจากผู้รู้ท่านอื่นๆค่ะ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 15, 19:26
ในวันและเวลาที่เกิดแผ่นดินไหว  ผมอยู่ในพื้นที่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวไม่เกิน 20 กม. ใกล้ทั้งถนนหลวงสายหลัก กรุงเทพฯ-เชียงราย และก็ใกล้ถนนสายเชื่อมระหว่างเชียงราย-แม่สรวย-เวียงป่าเป้า-เชียงใหม่อีกด้วย  หลังเกิดเหตุก็ไปตระเวณดูความเสียหายตามหมู่บ้าน เสียแต่ว่าไม่ได้ไปตามถนนหลวงสายเชียงราย-เชียงใหม่ เนื่องจากไม่ได้ยินชาวบ้านกล่าวถึงเรื่องของถนนพังในลักษณะที่น่ากลัวหรือแบบตกใจ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อผมได้เห็นหอแท้งค์น้ำประปาสูง 20-30 เมตรยังอยู่ดี ก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของถนนเป็นพิเศษ   
ก็เป็นเรื่องที่จะเกิดมี slump ในบางจุดได้ในเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเนื่องจากผลของความชุ่มฉ่ำจากน้ำ หรือจากการสั่นสะเทือน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามใหล่เขาอยู่หลายช่วง แถมก็ยังเป็นถนนที่สร้างเสร็จใหม่ๆไม่นานนักก่อนเกิดแผ่นดินไหว

เมื่อครั้งเครื่องบินของอิโดนีเซียตกเมื่อไม่นานมานี้ เพียงสองสามวันก็มีภาพเครื่องบินจมอยู่ใต้น้ำเห็นส่วนหัวชัดเจน ในขณะที่ข่าวสารทางราชการต่อเนื่องมาอีกหลายๆวันยังบอกว่ายังไม่พบซากเครื่องบิน    ครับ ข้อมูลข่าวสารของโลกในปัจจุบันที่ผสมผสานกันระหว่าง real กับ virtual


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 10 มี.ค. 15, 13:51
วันที่เกิดแผ่นดินไหวจำได้ว่าอยู่ชั้นหนึ่งของตึก 4 ชั้นของจังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกได้ยินเสียงดังและพื้นสะเทือนอย่างที่ได้อ่าน ตลอดเวลาที่อยู่เชียงใหม่คือช่วง 2528-2535 และตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รู้สึกถึงแผ่นดินไหวหลายครั้งแต่ไม่รู้สึกว่าครั้งไหนจะแรงเท่าครั้งที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งหนึ่งขับรถอยู่บนถนน หลายคนพูดว่าแผ่นดินไหวแรงมาก แต่เราไม่รู้สึกว่าแผ่นดินไหวเลยด้วยซ้ำไป

สมัยนี้การแต่งรูปก็มากมาย การลงโพสต์นู่นนี่นั่นจริงบ้างเท็จบ้างก็เยอะ ส่วนใหญ่เริ่มมาจากการที่ไม่มีตัวตนแท้จริงบนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดความกล้าอยากทำอะไรก็ทำ จากนั้นผู้ที่ไม่มีความรู้และขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก็ส่งข้อมูลต่อ คนหลายคนที่ขาดการพิจารณาก็จะได้ความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆไปจากโลกออนไลน์ค่ะ 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 15, 08:52
25 มี.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 05.32 น.สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ตรวจพบแผ่นดินไหว นอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกของภูเก็ต วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 3.8 ริกเตอร์ ลึกจากระดับผิวดิน 23 กิโลเมตร บริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง ผู้อาศัยอยู่ในอาคารสามารถรับรู้และรู้สึกสั่นไหว เบื้องต้นไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

ด้าน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งทิศตะวันออกของภูเก็ต ห่างจากภูเก็ตประมาณ 13 กิโลเมตร รับรู้แรงสั่นไหว ใน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา

http://www.naewna.com/local/150806 (http://www.naewna.com/local/150806)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 15, 13:59
http://www.youtube.com/watch?v=u16iq_Umxis#t=11 (http://www.youtube.com/watch?v=u16iq_Umxis#t=11)

เกิดในประเทศบราซิลค่ะ ไม่ใช่ไทยหรือเพื่อนบ้าน


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 15, 19:16
เชิญอ่านต่อได้ที่กระทู้นี้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6278.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6278.0)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 15, 19:46
สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จัดได้ว่ารุนแรงมาก แต่จะเป็นการเกิดตามวงรอบทางสถิติ (return period) หรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ

สำหรับตัวผมนั้น มีความสนใจอยู่ประการหนึ่ง คือ สิ่งก่อสร้างทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในเนปาลที่พังลงมาจากการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้นั้น จากข้อมูลและจากภาพที่ผมได้เห็น ส่อไปในทิศทางว่า ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างในช่วง ศตวรรษที่ 19 ซึ่งหมายถึงในช่วงของยุค ค.ศ. 1800 +++      ซึ่งหมายความว่า บนพื้นฐานทางภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วนั้น เนปาลไม่เคยประสพพบแผ่นดินไหวในระดับนี้มาก่อนเป็นเวลานานมาก นานมาก..ก...จริงๆ   สิ่งก่อสร้างต่างๆจึงเป็นแบบก่ออิฐโบกปูนโดยไม่มีโครงสร้างรับแรงใดๆสำหรับการโยก การโย้ และการกระแทก (ดังเช่นสถาปัตยกรรมของถิ่นอื่นใดในย่านเอเซียอาคเนย์)
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาพในพื้นที่ๆได้รับความเสียหาย เรายังเห็นมีอาคารสมัยใหม่สูงหลายชั้นที่ยังคงสามารถยืนตระหง่านอยู่ได้ บางอาคารก็พังพาบลงมาทับกันเหมือนขนมชั้น   ซึ่งทั้งหมดดูจะให้ข้อมูลในสามแนว คือ อาคารเหล่านั้นมีการออกแบบและมีการก่อสร้างกันแผ่นดินไหว  หรือ อาคารเหล่านั้นก็มีการสร้างกันตามวิถีทางธุรกิจปรกติ แต่ที่มันไม่พังก็เพราะว่าคุณภาพของการก่อสร้างดี  หรือ การที่สิ่งก่อสร้างหนึ่งใดไม่มีความเสียหายหรือมีความเสียหายต่างๆกัน ก็อาจสืบเนื่องมาจากทิศทางการเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหว   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 15, 20:49
แรงที่ดันให้แผ่นเปลือกโลกทั้งสองนี้มุดกันเกยกันนั้นมีมากมายมหาศาล  เมื่อดันกันจนโก่งจนงอแล้ว ก็แน่นอนว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่งมันก็ย่อมต้องเกิดการแตกหัก

แผ่นดินไหวในเนปาลครั้งนี้ ผมเห็นว่า ได้แสดงถึงจุดแตกหักนั้น  ทั้งนี้ พอจะเดาได้จากภาพ (เท่าที่พอจะมีให้ดู) ของสภาพการกองของวัสดุที่ยุบพังพาบลงมา สภาพของกองวัสดุที่คล้ายกับการกระชากให้ตกลงไปกองรวมกัน ณ จุดหนึ่ง และลักษณะการพังของกลุ่มอาคารลักษณะยาวที่วางตัวขนานกันแนวทิศทางหนึ่ง   ก็เป็นการเดานะครับ    การศึกษาที่เรียกว่า First motion study (หรือ Fault plane solution หรือ first kick)  ของเส้นปากกาเส้นแรกที่บันทึกลงบนแผ่นกราฟของเครื่องวัดแผ่นดินไหวของระบบ WWSSN (World-Wide Standard Seiamographic Network) ที่ ณ ขณะนี้น่าจะทราบผลแล้ว น่าจะช่วยเป็นคำตอบให้ได้อย่างดี


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 18, 15:08
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อถามคุณตั้ง และท่านอื่นๆ  ว่าข่าวนี้หมายถึงอะไร
รอยเลื่อนผิดปกติ คืออะไรคะ

https://www.youtube.com/watch?v=wl0oGcq0ctE


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 18, 18:19
ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติที่จัดว่าอยู่ในประเภทรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินมากๆนั้น อยูในเรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งสิ้น ที่จัดเป็นพิบัติภัยทางธรณีฯเกือบทั้งหมดจะเกี่ยวกับเรื่องของดินและน้ำ ซึ่งทั้งสองเป็นภัยพิบัติที่มักจะทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่สูงมากทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพในแต่ละครั้ง ความเสียหายที่มีสถิติของการเกิดขึ้นและมีความรุนแรงในระดับต้นๆเลยก็คือ ดินถล่ม (landslide) น้ำท่วม (flooding) แผ่นดินไหว (earthquake) หลุมยุบ (sinkhole collapse) น้ำเอ่อท่วม (inundated) ...

ก็มีเพียงแผ่นดินไหวอยู่เรื่องเดียวที่เกือบจะคาดเดาไม่ได้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นที่ใหน เมื่อใด จะรุนแรงเพียงใด จะมีผลกระทบรุนแรงและแผ่ไปกว้างไกลเพียงใด   เรื่องของแผ่นดินไหวกับ infrastructures บางอย่าง จึงเป็นเรื่องของข่าวสารที่มีความอ่อนไหวมากๆ (sensitive) ไม่ว่ามันจะเป็นข่าวสารในทางบวกหรือในทางลบ มันก็เป็นเรื่องที่นำพาให้จิตใจของเราต้องนำเอาความคิดในทางลบมาถกในใจด้วยเสมอ     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 18, 18:26
ตอนนี้ที่แน่ๆ คือเพชรบุรีประกาศเตือนภัยน้ำท่วม จากการระบายน้ำในเขื่อนแล้วค่ะ

https://news.thaipbs.or.th/content/273780


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 18, 18:31
https://www.sanook.com/news/7434146/

หวั่นน้ำท่วมเพชรบุรี ผู้ว่าฯ ส่งหนังสือด่วนถึง ผบ.ทร. ขอเรือยนต์เร่งผลักดันน้ำ

มื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ (4 ส.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำเขื่อนแก่งกระจานมีน้ำ 689.974 ล้านลูกบาศก์เมตร จากจำนวนจุน้ำสูงสุด 710 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 97.18% ซึ่งมากกว่าเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีน้ำ 674.42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 94.99% และในวันนี้เขื่อนแก่งกระจานได้ปล่อยน้ำออกท้ายเขื่อนในอัตรา 108.91 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แต่สถานการณ์ยังไม่วิกฤต เนื่องจากเขื่อนเพชรปล่อยน้ำออกท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 66.80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำจึงยังไม่ล้นตลิ่ง และที่ริมแม่น้ำเพชรบุรีหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำได้ชักธงเหลือง ซึ่งหมายถึงอยู่ในระยะเฝ้าระวัง

ขณะเดียวกันวันนี้ นายสมเกียรติ์ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยนายปรีชา สุขกล่ำ รักษาการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี โดยไปรับฟังสรุปสถานการณ์และการเตรียมการรับสถานการณ์ที่ห้องประชุมชั้น 3 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปดูปริมาณน้ำที่เขื่อนแก่งกระจาน

นอกจากนี้ มีรายงานว่าวานนี้ (3 ส.ค. 61) นายฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการทหารเรือ ขอรับการสนับสนุนเรือยนต์ผลักดันน้ำ และกำลังพล เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นใน จ.เพชรบุรี แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยหวั่นซ้ำรอยปีที่ผ่านมา


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 18, 18:41
ข่าวสารเรื่องนี้   ผมคิดว่ามันมีสองสามเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งได้เกิดมีการสื่อสารขึ้นมาในช่วงระยะเวลาเดียวกันคือ เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลจากกรมทรัพย์ฯ  เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนในเชิงของความภัยของเขื่อน ซึ่งจะผันแปรไปตามปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไหลเข้าเขื่อนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 18, 19:13
ขอขยายความตามความรู้ที่พอจะมี หรือจำเป็นจะต้องมี (เพื่อประกอบในการทำงานทางวิชาการด้านธรณีฯที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเขื่อน)

ส่วนเปราะบางที่สุดของเขื่อนก็คือสันเขื่อน เราจะเห็นสันเขื่อนส่วนมากจะมีความกว้างขนาดประมาณถนนสองถึงสามเลน ก็ลองนึกดูภาพน้ำที่ไหลหลากท่วมถนนที่เราใช้สัญจรกันตามปกตินะครับ ยังทำให้ถนนขาดได้ สันเขื่อนก็ไม่ต่างกันนัก  เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลบ่าข้ามสันเขื่อน ก็เลยต้องทำทางน้ำให้ไหลออกเพื่อตัดตอน ที่เราเรียกว่า spill way ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณน้ำที่จะระบายได้ ซึ่งตามปกติก็จะไม่ระบายน้ำในปริมาณที่มากไปกว่าปริมาณน้ำที่ไหลสูงสุดของแม่น้ำที่สร้างเขื่อนกั้นไว้ ก็คือพยายามมิให้เกินกว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่เคยเป็นไปตามธรรมชาติที่ผ่านๆมา ก็หมายความว่าที่อดีตน้ำเคยท่วมเช่นใดก็จะพยายามไม่ปล่อยน้ำให้ท่วมต่างไปจากเคยมีในอดีตมากนัก     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 18, 20:04
ก็เข้ามาในอีกเรื่องหนึ่ง   เขื่อนนั้นมีหลายแบบ  แบ่งแบบง่ายๆก็มี 3 แบบ คือในลักษณะใช้ค้ำยันตั้งแผงขวางแม่น้ำ ใช้น้ำหนักของกองหินดินทรายกองขวางแม่น้ำ   และการทำแบบโค้งเอาสองข้างไปยันไว้ที่ไหล่เขาทั้งสองข้าง (เขื่อนขนาดใหญ่นิยมทำกันแบบนี้) 

เขื่อนแบบโค้งนี้ก็มีการทำกันทั้งแบบใช้คอนกรีต แบบหินทิ้งโดยมีแกนดินเหนียว หรือแบบดาดหน้าด้วยคอนกรีต

เขื่อนแบบมีแกนดินเหนียวนี้ เป็นที่นิยมสร้างกันเพราะมีความยืดหยุ่นสูง คือคล้ายคันธนู จะโก่งไปมามากน้อยตามปริมาณน้ำที่อยู่หลังเขื่อน แต่ตัวแกนดินจะต้องมีความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ มากไปก็จะคล้ายโคน แห้งไปก็เหมือนดินแห้งๆ จะต้องรักษาความชุ่มชื้นให้พอเหมาะคล้ายกับดินเหนียวที่เราใช้อุดน้ำตามร่องหรือรูรั่วต่างๆ  น้ำในเขื่อนขึ้นเร็วไปก็ไม่ดี เพราะดินยังชุ่มน้ำไม่ทัน....   

ครับ..ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับช่วงเวลาและระยะเวลาของการกักน้ำและการปล่อยน้ำให้มีความพอเหมาะเพื่อรักษาประสิทธิภาพของเขื่อน   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 18, 19:02
เมื่อมีฝ่ายคิดที่จะสร้างเขื่อน ก็จะมีฝ่ายที่ต่อต้าน  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วไปในโลก ซึ่งประเด็นที่นำขึ้นมาถกเถียงกันเกือบทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในสื่อจะอยู่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องทางนิเวศน์วิทยาที่เกิดมาจากการเข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือรบกวนระบบตามปกติของธรรมชาติ   เรื่องอื่นๆก็เช่น ด้านเศรษกิจ ด้านวิศวกรรม ด้านธรณีวิทยา และด้าน Earth science อื่นๆ.... เรื่องเหล่านี้มักจะไม่ปรากฎเป็นข่าวสาธาณะ ด้วยอาจจะเป็นเรื่องทางวิชาการลึกๆและถกเถียงกันอยู่เฉพาะในวงแคบๆ

เรื่องทางธรณีวิทยาที่มักจะกล่าวถึงมักจะเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างเขื่อนคล่อมรอยเลื่อน เรื่องของฐานราก และเรื่องของแผ่นดินไหว ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในสนาม รายงานทางวิชาการ และสถิติต่างๆ ฯลฯ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 18, 20:04
เรื่องสร้างเขื่อนคล่อมรอยเลื่อน  เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องตกใจกัน และก็น่าที่จะคิดได้เช่นนั้น เพราะว่าเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหลายจะสร้างขวางแม่น้ำในช่วงที่แม่น้ำไหลตรงผ่านช่องเขาแคบๆ  ซึ่งรับรู้กันว่า บรรดาเส้นตรงที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศหรือบนแผนที่ภูมิประเทศเหล่านั้นเป็นแนวของรอยเลื่อน แล้วก็คิดว่ามันจะต้องมีโอกาสที่รอยเลื่อนจะเคลื่อนตัวจนเกิดแผ่นดินไหวที่ตรงนั้น   

เรื่องนี้มีทั้งถูกและไม่ถูก  บรรดาเส้นตรงเหล่านี้ปรากฎให้เห็นจากหลายสาเหตุ เรียกรวมกันว่า lineament   หากจะเป็นรอยเลื่อนก็ยังต้องยังต้องรู้ต่อไปอีกว่ามันเกิดมาได้อย่างไร (ภายใต้ภาวะแรงดัน แรงดึง หรือแรงเฉือน) มันมีความยาวและมีระนาบลึกลงไปใต้ดินมากน้อยเพียงใด มันมีอายุและมีประวัติการเคลื่อนตัวอย่างไร หมดพลังไปแล้ว (inactive)หรือยังคงมีพลังอยู่ (active) หรือหยุดการเคลื่อนตัวมานานแล้วมากน้อยเพียงใด 

เรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลทางธรณีวิทยาที่นำไปพิจารณาในการออกแบบเขื่อน ซึ่งเขื่อนเองก็ให้ความความสำคัญอย่างสูงตั้งแต่ออกแบบจนสร้างเสร็จ และก็ยังติดตั้งเครื่องมือใว้ที่เขื่อนเพื่อติดตามตรวจสอบตลอด

 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 18, 20:25
เอาเป็นว่า  ที่เขื่อนเจ้าเณรบนแม่น้ำแควใหญ่และเขื่อนเขาแหลมบนแม่น้ำแควน้อยนั้น มีการติดตั้งเครื่อง accelerometer เพื่อวัดแรง (อัตราเร่ง) จากแผ่นดินไหวในภูมิภาคนั้นที่มากระทำต่อตัวเขื่อน ซึ่งเท่าที่มีแผ่นดินไหวเกิดในไทยและในพม่าในช่วงระยะเวลาที่การสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว ไม่ปรากฎว่ามีผลกระทบต้องมีความกังวลต่อตัวเขื่อนเลย   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 18, 20:18
สำหรับแผ่นดินไหวที่มีการพูดถึงว่า มีเกิดเพิ่มมากครั้งขึ้นในพม่าและเกี่ยวโยงกับรอยเลื่อน Sagan (ที่วางตัวเป็นแนวยาวตามขอบชายเขาทางตะวันตกของที่ราบของพม่า) ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจจะทำให้บางรอยเลื่อนในประเทศไทยขยับตัวและเกิดแผ่นดินไหว หรือแผ่นดินไหวที่เกิดในพม่าอาจจะยังผลให้เกิดความเสียหายในไทยได้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้   ทั้งนี้ ขนาดของความรุนแรงของแผ่นดินไหวในไทยจะอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยกว่าที่เกิดขึ้นรอบๆเพื่อนบ้านเรา  ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมากหรือน้อยเช่นใด จะไปขึ้นอยู่กับเรื่องในด้านคุณภาพ (การออกแบบ โครงสร้าง การคำนวนทางวิศวกรรม ด้านวัสดุ และผู้ทำการก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง)  สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหลายจึงมีการออกแบบที่ต้องผนวกงานทางวิศวกรรมในเรื่องของความคงทนต่อการสั่นสะเทือน การขยับโยกเยกของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ (แผ่นดินไหว ลม...) 

   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 18, 21:06
เมื่อมีการเอาเรื่องแผ่นดินไหวมากล่าวคู่กับเรื่องเขื่อน  ก็คงจะทำให้ทุกคนจินตนาการไปในเรื่องเขื่อนอาจจะแตกเนื่องจากแผ่นดินไหว  ผมนึกไม่ออกว่ามีการบันทึกเรื่องแผ่นดินไหวทำให้เขื่อนแตกบ้างมากน้อยเพียงใด ที่แน่ๆมีที่ญี่ปุ่นอยู่ครั้งหนึ่ง ที่อื่นๆก็เป็นแต่เพียงเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณเฉพาะจุดหรือกับอุปกรณ์ต่างๆ

ผมเห็นว่า เรื่องของดินถล่มในพื้นที่อ่างเก็บน้ำน่าจะเป็นประเด็นที่ควรจะให้ความสนใจมากกว่า เพราะมันเกิดขึ้นได้เนื่องจากความฉ่ำของน้ำในดินที่อยู่ตามพื้นที่ลาดเอียง(ไหล่เขา)ต่างๆ  ฉ่ำน้ำมากไปดินก็ไหลเองได้ แต่หากได้แรงช่วยจากแผ่นดินไหวก็เกิดได้เร็วกว่ากำหนด  แท้จริงแล้วมันก็เป็นเหตุการปกติที่มีอยู่เรื่อยๆในช่วงอายุต้นๆของเขื่อน แต่ในปริมาณน้อย  แต่หาก slide ในภายหลังในปริมาณมาก มันก็จะลงไปแทนที่น้ำ ดันให้น้ำมีระดับสูงขึ้น ขยับต่อเนื่องเคลื่อนไปเป็นคลื่นดั่ง tsunami น้อยๆ แล้วก็กระฉอกข้ามสันเขื่อนไป  กลายเป็นเรื่องของน้ำท่วมฉับพลันไป (flash flood)    เพียงแต่คลื่นแผ่นดินไหว ที่เกืดหรือจะเกิดในบ้านเรา ด้วยตัวมันเองก็คงจะมีแรงไม่มากพอที่จะทำให้น้ำในเขื่อนกระเพื่อมจนกระฉอกข้ามสันเขื่อนได้อย่างง่ายๆ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 18, 18:49
ขอพ่วงไปเรื่องเขื่อนแตกใน สปป.ลาว หน่อยนึง

เท่าที่ผมพอจับความได้จากสื่อต่างๆ  ก็พอจะสรุปได้ว่า เขื่อนที่แตกนั้นเป็นเขื่อนประเภทที่เรียกว่า Saddle Dam  ซึ่งในความเข้าใจง่ายๆก็คือทำเพื่อยกระดับขอบอ่างน้ำในบางบริเวณที่มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำที่น่าจะกักเก็บได้โดยเขื่อนหลัก  เขื่อนแบบนี้สามารถช่วยเขื่อนหลักให้สามารถกัดเก็บน้ำได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้อีกมากในกรณีที่มีวัตถุประสงค์ในเรื่องปริมาณน้ำเพื่อการใช้สอย หรือเพื่อการยกระดับน้ำในอ่างให้สูงขึ้นเพื่อจะได้ head มากขึ้นสำหรับใช้ในการปั่นไฟ หรือทำเพื่อวัตถุประสงค์ทั้งสองเรื่อง 

ในเมืองไทยก็มีเขื่อนประเภทนี้เหมือนกัน อยู่แข็งแรงทนทานผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปีแล้ว


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 18, 19:16
ครับก็พอจะแชร์ความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเรื่องของเขื่อนได้บ้าง    ด้วยได้เคยสำรวจทางธรณีฯ ถกกันเองในทางวิชาการในพื้นที่ๆจะสร้างเขื่อนก่อนที่จะลงมือสร้างจริง ส่งต่อข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญ ได้ดูได้เห็นกระบวนการสร้าง ได้เห็นปัญหาและการแก้ไข รวมทั้งร่วมถกและชี้แจงในเรื่องสำคัญๆบางเรื่องพอควร ก็มี เขื่อนท่าปลา เขื่อนเจ้าเณร เขื่อนเขาแหลม เขื่อนท่าทุ่งนา     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 18, 19:29
กำลังเตรียมจะขยายความเรื่องของรอยเลื่อนและแผ่นดินไหวด้วยภาพแบบง่ายๆ เพื่อความเข้าใจลงไปถึงแก่น ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นสาธารณะประโยชน์สำหรับคนทั่วไป


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 18, 17:51
https://mgronline.com/around/detail/9610000082751

ด่วน!! USGS ประกาศ เกิด "แผ่นดินไหวลอมบ็อก" ความแรง 6.3 วันนี้ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 18, 15:19
แผ่นดินไหว 8.2 ใกล้หมู่เกาะฟิจิ มีการเตือนสึนามิ ยังไม่ทราบความเสียหาย

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1357481

ตอนนี้ในไลน์แชร์กันว่อน ตามเนื้อหาข้างล่างนี้ค่ะ
ก็รู้ละว่าอะไรที่ส่งทางไลน์โดยไม่มีที่มาชัดเจน เชื่อไม่ค่อยได้   แต่ก็อยากฟังผู้รู้ชี้แจงอีกที

แผ่นดินไหวใหญ่ที่ ฟิจิระดับ 8.2 ลึก 563 กม.เมื่อเช้าตามเวลาบ้านเรา มีคนทำนายว่าเป็นการไหวที่แรงสุดของระดับความลึกที่สุดที่เคยเห็น เลยทำนายว่า ภายใน 1 - 7 นอกจากนี้ จะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ไปทั่วทั้งโลก และต้องระวังเรื่อง สึนามิด้วย

ดัชซินบอกว่า พลังงานไม่สูญหายไปไหน
แผ่นดินไหว 8.2 ริตเตอร์ ลึก 560 กม.ที่ฟิจิในเวลา 7.19 น.ของเช้าวันนี้
มันคือแผ่นดินไหวที่ใหญ่และลึกที่สุดของการเกิดแผ่นดินไหวในระดับนี้
เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อดูรัศมีของวงกลมบ่งบอกถึงอาณาบริเวณพื้นที่จะได้รับผลกระทบ
จะเห็นได้ว่าครอบคลุมโลกทั้งใบ

ดังนั้นในอีก 1-7 วันข้างหน้า สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด
1.แผ่นดินไหวระดับ 8.2+1.1=9.3 ริตเตอร์ ในบริเวณใกล้เคียง

2.แผ่นดินไหวไปทั่วโลก
ด้วยแรงดันที่จะขึ้นมากระทบกับแผ่นเปลือกโลกทะลุออกมาตามรอยแยกที่ง่ายต่อการปลดปล่อยพลังงานโดยจะเริ่มวิ่งตามเส้นสีแดงออกมาทางซ้ายมือมุ่งหน้าไปอินโดนีเซียทะลุไปถึงยุโรปหรืออกมาตามลูกศรคู่สีแดงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปอเมริกาใต้หรือขึ้นเหนือไปญี่ปุ่น อลาสก้า ตีลงมาหาชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ

3.จะมีผลกระทบรุนแรงกับภูเขาไฟทั่วโลก

จะเกิดขึ้นอย่างใดอย่าวหนึ่ง หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมด ตอนนี้คงยังบอกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหม่ ที่แน่ๆก็คือนิวซีแลนด์เจอไปแล้ว 3 ครั้ง 6.0 5.7 และ 5.0ในวันนี้
มีการไม่รายงาน และสุดท้ายก็ยอมรายงานให้แล้วว่า เมืองไครซ์เชิร์ช นิวซีแลนด์เจอ 5.0. (ที่นี่มีวัดพุทธสามัคคีของหลวงพ่อวัดนาคปรกท่านไปสร้างไว้ อ.อำไพ เพิ่งจะชวนนบพ์ไปช่วยงานสอนกรรมฐานเดือนพย.นี้
นบพ์ได้ตอบท่านไปว่า"เกรงว่าจะไม่เหลือให้ได้ไป" ท่านก็ งง งง กับคำตอบ วันนี้อาจจะเริ่มเข้าใจสิ่งที่นบพ์พูดไป

ดังนั้นขอให้ช่วยกันแจ้งเตือน และส่งข่าวนี้ไปให้กับผู้ที่อยู่อาศัยตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก ที่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง เช่นตามแนววงแหวนไฟ ให้ได้รับรู้รับทราบกันด้วย
https://youtu.be/DmNnhJN9mks


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 18, 18:50
เพิ่งไปอ่านพบว่ามีการแชร์เรื่องดังกล่าว ซึ่งอ่านแล้วดูแปลกๆ เลยย้อนไปสืบค้นต้นตอที่เป็นภาษาอังกฤษและอื่นๆ ก็ได้พบว่าเป็นบทความการวิเคราะห์ที่ปรากฎอยู่ในสื่อที่ชื่อว่า Dutchsinse  ซึ่งนิยมเขียนข้อวิเคราะห์เชิงวิชาการที่เกี่ยวกับโลก (earth science)  ซึ่งข้อเขียนเหล่านั้นมักจะถูกตอบโต้โดยนักวิชาการสายนั้นๆว่า เป็นข่าวสารที่ไม่เป็นเรื่องจริง (fake news) และถูกจัดว่าเป็นข่าวสารทางวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience)


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 18, 20:29
เพื่อความสบายใจ  ขออธิบายดังนี้ก่อนครับ

แผ่นดินไหวขนาดไม่ใหญ่ที่อยู่ไม่ลึกจากผิวโลกมีอันตรายมากกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกๆใต้ผิวโลก

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นใต้เกาะฟิจิในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกมุดตัวลงไปข้างใต้แผ่นออสเตรเลีย  ซึ่งนักวิชาการในสาขาเรื่องการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก (Plate tectonic) เรียกบริเวณนี้กันว่า Tonga Kermadec arc หรือ Tonga Kermadec system ซึ่งมีแนวต่อขึ้นไปทางเหนือผ่านหน้าทิวเกาะญี่ปุ่น และลงใต้ผ่านฝั่งตะวันออกของนิวซีแลนด์  จัดเป็นพื้นที่ๆเป็นครูแห่งความรู้เกี่ยวกับระบบกลไกต่างๆของ Plate tectonic  (จุดที่เกิดแผ่นดินไหวลึกในระดับนี้แสดงถึงบริเวณที่เป็นระนาบด้านล่างของแผ่นแปซิฟิก)     


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 18, 19:27
ขยายความแบบสังเขปได้ดังนี้ ครับ

เมื่อเอาโลกกลมๆของเรามาผ่าดู จะพบว่ามันแยกออกเป็นชั้นๆ ส่วนในสุดเรียกว่า Core (ด้วยคลื่นแผ่นดินไหวที่เดินทางผ่านส่วนในของโลก ทำให้เรารู้ว่ามันแบ่งออกสองชั้น)   มีส่วนกลางหุ้มอยู่รอบๆ core เรียกว่า Mantle (คลื่นแผ่นดินไหวบอกว่ามันแยกออกเป็นสองชั้นอีกเช่นกัน)  แล้วก็มีส่วนที่หุ้มอยู่รอบๆชั้น mantle จนถึงเปลือกโลก  ส่วนนี้แยกย่อยออกเป็นส่วนผิวนอกสุดที่เรียกว่าเปลือกโลก (Earth Crust) หนาประมาณ 10-30 กม.+/-  ลึกลงไปใต้ผิวเปลือกโลกจะเป็นชั้นของแข็งหนาประมาณ 150 กม. (เรียกว่า Lithosphere) ซึ่งเป็นชั้นที่เสมือนลอยตัวอยู่บนชั้นของไหล (ที่เรียกว่า Asthenosphere) ซึ่งมีความหนาประมาณ 500 กม.   

บวกลบโดยรวมๆแล้ว ความลึกจากผิวโลกลงไปถึงส่วนล่างสุดของชั้นของไหลก็จะประมาณ 700+/- กม. ซึ่งเป็นบริเวณส่วนหนึ่งในกระบวนการทางธรรมชาติต่างๆที่ยังให้เกิดผลทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีกระทบต่อสิ่งมีชีวิต (Biosphere)ต่างๆบนผิวโลก


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 18, 20:22
ที่เรารู้กันว่า เปลือกโลกมันแยกออกเป็นแผ่นๆและก็มีการเคลื่อนตัวไปมาเหล่านั้น  ในข้อเท็จจริงแล้วแผ่นเปลือกโลกที่ว่าเหล่านั้นมันมิใช่ส่วนผิวของเปลือกโลกที่มีความหนาประมาณ 10 - 30+/- กม.เท่านั้น แต่มันคือแผ่นที่รวม Lithosphere เข้าไปด้วย ก็หมายความว่าแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวไปมานั้นมันหนาประมาณ 200 กม.

เมื่อมันมาชนกันมันก็เกิดทางเลือกได้ไม่กี่ทาง ทางหนึ่งก็คือเกยกัน เกิดแผ่นหนึ่งมุดลงไปอีกแผ่นหนึ่งเกยขึ้นมา ที่เรียกกันว่า subduction   
อีกทางหนึ่งก็คือการยันกันจนสูงโก่งขึ้นมา ที่เรียกกันว่า collision    และอีกทางหนึ่งก็คือเคลื่อนที่เบียดกันไป ที่เรียกว่า transform fault 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 18, 20:48
ในกรณีที่มันมาชนกันแล้วเกิดการเกยกัน  แผ่นที่มุดลงไปก็จะต้องมุดต่ำลงไปในพื้นที่ๆเป็นของไหลที่เรียกว่า Asthenosphere  แต่จะดำดิ่งลึกข้ามเข้าไปในเชตของชั้น Mantle ไม่ได้ (คงจะไม่ต้องขยายความต่อว่าเพราะเหตุใด)  ดังนั้นเมื่อมันมุดลงไปถึงระดับนี้ มันก็จะไถลต่อไปตามแนวพื้นที่รอยต่อระหว่างชั้น Asthenosphere กับชั้น Mantle

ก็ลองนึกภาพกรณีที่เราเอากระดาษพิมพ์ทั้งรีม  เมื่อเราจับปลายด้านหนึ่งไว้ ปลายยอีกด้านหนึ่งมันก็จะห้อยลงมา เมื่อเราค่อยๆเอาปลายที่ห้อยนั้นมาวางลงบนที่ราบ เราก็จะเห็นภาพหน้าตัดของกระดาษทั้งรีมคล้ายทรงตัวอักษร s ยืด   ส่วนที่ผิวของรีมกระดาษด้านบนจะงออัดเข้าหากันแน่น ส่วนด้านล่างจะโค้งยืดออก   ในกรณีของแผ่นเปลือกโลกที่เป็นหิน ก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดรอยปริและรอยแตกในบริเวณที่งอและที่โค้งยืด การแตกปริเหล่านั้นก็คือต้นตอของแผ่นดินไหวนั่นเอง   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 18, 19:10
เมื่อเอาพิกัด 3 มิติ ของจุดกำเนิดของแผ่นดินใหวที่อยู่ลึกๆมาถ่ายลงบนแผนที่ ก็ได้พบว่าในพื้นที่เดียวกันนั้นจะมีจุดกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ 2 ระดับ จึงทำให้ได้รู้ว่าตัวแผ่นเปลือกโลกที่มุดอยู่ใต้เปลือกโลกนั้นมันหนามากน้อยเพียงใด มันเคลื่ีอนตัวอยย่างไร มันแตกหักหรือไม่ และมุดไปไกลถึงใหนก่อนที่มันจะละลายไปรวมเป็นเนื้อเดียวกับ Asthenosphere 

แผ่นดินไหวในระดับลึกดังกล่าวนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแผ่นดินไหวประเภทระดับลึก คือมีความลึกมากกว่าประมาณ 300+/- กม.ขึ้นไป เป็นพวกที่เกือบจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใดๆเลย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 18, 20:05
มาถึงแผ่นดินไหวที่มีจุดกำเนิดที่มีความลึกระดับกลาง คือลึกมากกว่าประมาณ 30 กม.ไปจนถึงประมาณ 300 กม. แผ่นดินไหวในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะเกิดจากบริเวณที่มีการการเสียดสีกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่กำลังมุดลงไปกับอีกแผ่นหนึ่งที่เกยอยู่ด้านบน ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อฃีวิตและทรัพย์สินจะแปรผันไปตามความสัมพันธ์ระหว่างขนาดและความลึก 

อีกความเสียหายหนึ่งจะเกิดมาจากเรื่องของการประทุและการปล่อยเถ้าถ่านของภูเขาไฟ ซึ่งค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในทิวเกาะที่ลงท้ายชื่อว่า Arc   สาเหตุก็มาจากการที่การเสียดสีของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นทำให้เกิดความร้อนมากมายจนเกิดหินละลายพ่นออกมาเป็นภูเขาไฟ


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 18, 18:42
ก็มาถึงแผ่นดินไหวระดับตื้น คือลึกไม่เกินประมาณ 30 กม. 

แผ่นดินไหวในกลุ่มนี้เกิดในพื้นที่ส่วนที่เป็นส่วนผิวของเปลือกโลก เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นปริมาณมากที่สุด และยังผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด แต่โชคดีที่ส่วนมากจะไปเกิดตามแนวทิวเขาใต้น้ำของมหาสมุทร (mid oceanic ridge) ซึ่งเป็นแนวที่หินหลอมละลายได้ผุดขึ้นมาจากใต้ผิวโลก สร้างเป็นเปลือกโลกใหม่ใต้ท้องทะเล ซึ่งในกรณีของมหาสมุทรแปซิฟิกก็จะเป็นการทดแทนเปลือกโลกเก่าที่มุดหายลงไป ส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกก็จะเป็นเพิ่มพื้นที่ของมหาสมุทร   

ความต่างนี้เองที่ทำให้แผ่นดินไหวตามชายขอบของมหาสมุทรแปซิฟิกจึงมีมาก เพราะมีการเสียดสีกันของแผ่นเปลือกโลก  ส่วนตามชายยขอบของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นเกือบจะไม่มีแผ่นแผ่นดินใดๆเลย เพราะเกือบจะไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆของเปลือกโลกเลย


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 18, 19:38
ขออภัยครับ  ขอแก้ประโยคก่อนสุดท้าย  จะต้องเป็นว่า "ส่วนตามชายขอบของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นเกือบจะไม่มี เพราะเกือบจะไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆของเปลือกโลกเลย"

 :-[



กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 18, 19:39
นอกจากแผ่นดินไหวจะเกิดจากผลของการมุด-เกยกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกแล้ว (มิติในทางแกนตั้ง_แกน Z) ก็ยังเกิดได้จากการเสียดสีกันในแนวนอน (มิติในทางแกนนอน_แกน X,Y) ซึ่งระนาบหรือแนวของการเคลื่อนตัวเสียดสีกันในแนวนี้มีความยาวได้ในหลักร้อยและหลักพัน กม. (เรียกกันว่า Transform fault)  เมื่อมีการเคลื่อนตัวผ่านกันก็ย่อมต้องมีการสะดุดและเกิดการกระชุ่นเมื่อหลุดออกจากกัน กลายเป็นแผ่นดินไหว  


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 18, 17:57
เพื่อให้ได้ภาพรวมๆของลักษณะที่จะเกิดขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ผ่านกัน 

หาซื้อขนมชั้นโดยให้แม่ค้าตัดเป็นก้อนขนาดประมาณถาดขนมหม้อแกงเมืองเพชร  เอาวางผึ่งลมให้ผิวหน้าแห้งกระด้าง หรือจะใส่ในตู้เย็นก็ได้  เราก็พอจะได้ตัุวแทนที่คล้ายๆกับแผ่นเปลือกโลกที่มีผิวหน้าแข็ง (เสมือน crust) มีส่วนใต้ๆลงไปค่อยๆนิ่มมากขึ้น (เสมือน lithosphere ต่อด้วย asthenosphere นิ่มๆ)   

เมื่อเราเอามีดมาตัดเพื่อแบ่งออกเป็นสองส่วน  ก็จะรู้สึกได้ว่า ส่วนผิวชั้นแรกนั้นกรีดลงไปได้ง่าย แต่เมื่อเฉือนลึกลงไป การกรีดตัดก็จะไม่ไหลลื่นเหมือนกับชั้นแรกๆ   


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 18, 18:40
คราวนี้ก็มาถึงการทำให้สองชิ้นนั้นมันเคลื่อนที่สวนทางกัน 

ก็จะได้เห็นและได้รู้สึกจากสัมผัสของมือเราที่ใช้ดุนขนมชั้นสองส่วนนั้นค่อยๆให้มันเคลื่อนที่สวนทางกัน คือ ส่วนผิวชั้นแรกนั้นเราจะเห็นว่ามันเคลื่อนที่ผ่านกันแบบง่ายๆ จะรู้สึกว่าที่ชั้นใต้ๆลงไปนั้นจะเคลื่อนผ่านกันแบบมีการสะดุดกันเล็กๆน้อยๆ และส่วนชั้นใต้ๆนั้นจะยังรู้สึกติดกันเหมือนกับยังไม่ได้มีการตัดด้วยมีด แล้วก็จะรู้สึกว่าเราจะต้องใช้แรงดุนมากขึ้นจึงจะขาดออกจากกัน ขาดแยกออกจากกันแล้วก็ยังไม่ขาดจริงก็ยังติดอยู่เป็นจังหวะๆ

หากสังเกตแบบละเอียดหน่อย ก็จะเห็นว่าผิวหน้าและชั้นของขนมชั้นจะเป็นลอนลูกคลื่น ซึ่งที่เกิดในธรรมชาติใช้ศัพท์ทางวิชาการว่า fold (แปลไทยว่า พับ) ในบริเวณที่มีลักษณะคล้ายทรงหงายมือเรียกว่า ประทุนหงาย (Syncline) และที่เป็นลักษณะทรงคว่ำมือเรียกว่า ประทุนคว่ำ (Anticline)     แล้วก็อาจจะสังเกตเห็นริ้วหรือรอยแตกแบบมีระบบบนผิวบนของขนมชั้น 


กระทู้: นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 18, 19:02
ขยายเรื่องมาเสียยืดยาว ก็เพียงจะให้เห็นว่าเปลือกโลกที่มีความหนาประมาณ 30 +/-กม.นี้ มีตำแหน่งที่มีโอกาสจะเป็นต้นกำเนิดของแผ่นดินไหวได้มากมายหลายจุดที่มีลักษณะจำเพาะ