เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 07, 11:22



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 07, 11:22
                        ยาใจยาจก           

คำร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล       ทำนอง  ครูเอื้อ สุนทรสนาน


               เมื่อได้อยู่กับชู้ชื่น                ต้องกล้ำกลืนเพราะความจน

สู้บากบั่นกันสองคน                             ยังไม่พ้นความจนได้

               ต่างก็อยู่ไม่รู้ห่าง                 ไม่จืดจางไปทางใด

ต่างก็อยู่คู่หัวใจ                                  ฝากรักไปจนวันตาย

               ปรองดองกันสองคน              ดิ้นรนจวบจนชีพสลาย

ทนไปไม่เว้นวาย                                ฟ้าดินสลายมิคลายแคลงไป 

               จะไม่ให้ใครเขาหมิ่น             กัดเกลือกินจนสิ้นใจ

ฝากสวาทฝากรักไป                             ไม่ร้างไกลใจแน่นอน


ร้องโดย  คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 07, 11:33

             อ่านข่าวการจากไปของศิลปินแห่งชาติ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี หลังจากที่ "ยาใจยาจก" ของท่าน
(ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติเช่นกัน) เพิ่งจะล่วงหน้าไปก่อนเมื่อเดือนที่แล้ว เสียงเพลงที่ดังขึ้นมาในความคำนึง
จึงไม่อาจเป็นเพลงอื่นใดได้ นอกจากเพลงนี้ที่ครูเพลงประพันธ์ให้เป็นเพลงแห่งชีวิตคู่ของท่านทั้งสอง
 
                  ข่าวกล่าวว่า คุณเพ็ญศรี ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ท่านไม่ทราบว่าคุณสุวัฒน์ได้จากไปแล้ว
แต่คืนก่อนที่ท่านจะเสีย ท่านบอกกับคนดูแลว่า คุณสุวัฒน์ได้มาชวนท่านไปที่ศาลาแห่งหนึ่ง 

                  คุณเพ็ญศรี ฝากผลงานเพลงที่ท่านร้องด้วยเสียงใสๆ สูงๆ ไว้มากมายหลายเพลง เป็นเพลงที่ไพเราะ
ติดหู ชวนฟัง มากกว่าชวนร้อง เพราะเสียงสูง และร้องให้ไพเราะ(เช่นท่าน)ได้ยาก
                   ผลงานเพลงเอกของท่าน ทั้งเมื่อครั้งอยู่วงสุนทราภรณ์ และหลังจากออกจากวงแล้ว ได้แก่ 
                   คนึงครวญ คำรำพัน หาดสงขลา หงส์เหิน ฝากรัก สัญญาที่เธอลืม ศกุนตลา วิหคเหินลม
ม่านไทรย้อย หนามชีวิต คนจะรักกัน บางปะกง   ฯลฯ           
   
                  ในขณะที่ได้ฟังเสียงของคุณเพ็ญศรี ก็ได้มีโอกาสดูผลงานของคุณสุวัฒน์ทางหน้าจอโทรทัศน์
ไทยทีวีช่องสี่ บางขุนพรหม ที่ท่านได้เขียนบทละครฝากไว้หลายเรื่อง ที่โดดเด่นจำได้ดีก็คือ เรื่อง ลูกทาส
และ ขุนศึกมหาราช

               งานเขียนของท่านที่ได้มีโอกาสอ่าน เป็นผลงานเบาๆ ที่ท่านเขียนในยามที่บรรยากาศบ้านเมืองมืดหม่น
จนกระทั่งถึงช่วงที่ฟ้าเปิดมีแสงส่องจึงได้มีโอกาสอ่านผลงานที่ประทับใจที่สุด คือ พิราบแดง

                      ขอแสดงความรำลึก อาลัยต่อการจากไปของท่าน และขออุทิศส่วนกุศลที่เคยได้กระทำไว้ในอดีต
แด่ท่านทั้งสองด้วย 
         

       


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: tante-marz ที่ 15 พ.ค. 07, 13:15

ชื่นชอบผลงานของท่านมากค่ะ...ฟังไม่เคบเบื่อเลย..ขอให้ดวงวิญญาณของท่านสู่สุขคติ.


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 พ.ค. 07, 13:49
แสงดาวแห่งศรัทธา
คำร้อง/ทำนอง: จิตร ภูมิศักดิ์
ขับร้อง: เพ็ญศรี พุ่มชูศรี

ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง..........

http://i.domaindlx.com/bvrs/song/thai/mp3ss17d.swf



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 07, 15:28

        ถ้าจำไม่ผิดคุณเพ็ญศรีเคยร้องเพลงนี้สดๆ บนเวทีที่ธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงได้ร้องบันทึกเสียง
ลงในอัลบั้ม สายทิพย์ 
            รู้สึกดีใจ และชื่นชมผู้ที่คัดเลือกเพลงเพื่อชีวิตที่แสนไพเราะนี้มาให้ท่านบันทึกฝากเสียงเพลงไว้
เป็นการจับคู่ทางเพลงที่สวยงาม และ
            ขอบคุณ คุณ tante-marz สำหรับภาพ และคุณ CHO สำหรับเสียง ครับ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 พ.ค. 07, 10:38

       วันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเว็บผู้จัดการ อ่านบทความรำลึกถึงคุณเพ็ญศรี และหลากหลายความเห็น
ที่แสดงไว้ รู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่าท่านเป็นที่รัก อาลัยของใครต่อใครมากมาย

           ที่เว็บมีเพลงให้ฟังด้วย เป็นเพลง ใต้ร่มมะลุลี จากเรื่องจุฬาตรีคูณ นิยายจาก
ปลายปากกาของ พนมเทียน  เป็นเพลงอำลา อาลัยรักของเจ้าชายขัตติยะ และ เจ้าหญิงอาภัสรา
เมื่อเจ้าหญิงต้องไปอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอริยวรรตพี่ชายของตน(เจ้าชายขัตติยะ)
           เสียงของท่านร้องคู่กับคุณวินัย จุลบุษปะ (นักร้องชายคุณภาพ ผู้ล่วงลับไปก่อนแล้ว) ได้ไพเราะ
และเศร้าสะเทือนอารมณ์มาก

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000055060&CommentPage=1&#Comment
             

           


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 พ.ค. 07, 10:25

           ช่วงนี้ ผู้อาวุโส ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมหลายท่าน ได้จากไปในเวลาไล่เลี่ยกัน
สร้างความรู้สึกอาลัยแก่ผู้ยังอยู่หลัง

        ได้มีโอกาสอ่านคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก เรื่องความหมายของการไว้อาลัยแล้ว
คิดว่ามีประโยชน์มาก จึงขอนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ ท่านใดที่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ได้รับฟังโดยเต็ม
หรือมีความเห็นเช่นไร  โปรดให้ความเห็นเพิ่มเติม

          การแสดงธรรมกถา โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อไว้อาลัยแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข
ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา


         " คำว่า 'ไว้อาลัย' นี้ ตามความหมายในพจนานุกรม เป็นเรื่องของการแสดงความระลึกถึงด้วย
ความเสียดาย ห่วงใย ผูกพัน และอีกความหมายหนึ่ง  'อาลัย' นั้นแปลว่า ที่พัก ที่อยู่ เช่นในคำว่า
หิมาลัย ก็แปลว่า ที่อยู่ของหิมะ คือภูเขาที่เป็นดินแดนของหิมะ หรือคำว่า ชลาลัย แปลว่า ที่อยู่ของน้ำ
ก็อาจหมายถึงทะเล เป็นต้น

       แต่ถ้ามอง นึกดูไปแล้ว ความหมายทั้งสองนี้ก็อันเดียวกัน ความหมายหนึ่งเป็นความหมายนามธรรม
อีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายทางรูปธรรม
           อาลัยที่แปลว่าห่วงใย ผูกพัน หรือระลึกถึงด้วยความเสียดายนั้น เป็นความหมายทางนามธรรม
แต่อาลัย ในความหมายที่ว่า ที่อยู่ ที่พัก เป็นความหมายทางรูปธรรมชัดเจน
           ถ้ามองกว้างออกไป หรือแปลให้กว้างอย่างในภาษาพระ ก็ต้องบอกว่าอาลัยคือ ที่ติดที่ข้อง ที่ขัง
ที่ค้าง ที่พัก ที่อยู่ ที่อาศัย
       ทีนี้ความหมายในรูปธรรมนั้น พอโยงมาทางใจก็คือว่า เวลาเรามีอะไรอยู่ ติดค้างในใจ ก็กลายเป็น
อาลัยขึ้นมา สิ่งนั้นมันค้างอยู่ในใจ ก็กลายเป็นความปรารถนา ใจเราก็เลยเป็นที่ค้าง ที่ขัง ที่อยู่ของสิ่งนั้น
ที่เราใฝ่หา
         อย่างที่เราอาลัยบุคคลท่านนั้น ยังค้างอยู่ในในใจเรา เราก็ระลึกถึงด้วยความห่วง ด้วยความปรารถนา
ด้วยความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นความอาลัยไป

         ...การอาลัยในแง่ว่าระลึกถึงด้วยความเสียดายนี้ เป็นแง่หนึ่งที่ใช้กันทั่วไป เราลองมามองว่า
เรามีทางไหมที่จะทำให้การไว้อาลัยนี้ มีความหมายที่ดีขึ้นกว่าเดิม มิฉะนั้นแล้ว พิธีไว้อาลัยก็เป็นเพียง
มาพบกัน แล้วก็แสดงเพียงความระลึกถึงหรือคิดถึงผู้ล่วงลับ แล้วก็จากไป เงียบหายกันไป

         ...ท่านผู้หญิงพูนศุขท่านเป็นผู้ใหญ่ ทำตัวเป็นแบบอย่าง และถือคติที่พระพุทธเจ้าหรือสาวก
ชั้นผู้ใหญ่ว่าไว้ คือ "คำนึงถึงหมู่ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง" มีใจอนุเคราะห์หรือหวังดี หวังประโยชน์
แก่คนรุ่นหลัง ถือเป็น "ทิศานุคติ"

         ...ทิศานุคติ มาจากคำว่า ทิศ และ อนุคติ ซึ่ง อนุคติ แปลว่า ดำเนินตาม ส่วน ทิศ แปลว่า มองเห็น
การเดินตามคนที่มองเห็น
             สังคมนี้มีความยกย่องเชิดชูคนดีหรือไม่ ซึ่งถ้าเชื่อมโยงต่อไปก็คือการเชิดชูธรรมะนั่นเอง
คุณธรรมความดีที่วันนี้จะยกมาเป็นอุทาหรณ์ก็คือความเข้มแข็ง
              เข้มแข็งในทางธรรมะ คือการรักษาความดี รักษาธรรมแล้วก็จะเข้ากับพุทธภาษิตที่ว่า
              ธรรมนั้นแล รักษาผู้ประพฤติธรรม "

         ซึ่งประโยคที่ว่า 'ธรรมนั้นแล รักษาผู้ประพฤติธรรม' ก็เป็นประโยคเดียวกันกับที่ท่านผู้หญิงพูนศุข
พนมยงค์ ใช้เป็นหลักชีวิต ซึ่งท่านเคยถ่ายทอดไว้ในนิตยสาร 'สาวิกา' และ รายการ 'นี่แหละ...ชีวิต' ว่า
         "มีคนเคยบอกว่า ฉันชื่อไม่สมตัว ไม่สุขเหมือนชื่อ เพราะฉันขาดความสุข...ฉันผ่านมาแล้วทุกอย่าง
ที่มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็เพราะ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม...ธรรมะสอนให้ฉันปลงอนิจจัง"

       


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ย. 07, 16:03

         วันนี้ คอลัมน์ที่อ่านประจำทุกวันอาทิตย์ในนสพ. มติชน เขียนเรื่อง คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี 
กับช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญผ่านขวากหนามชีวิต
           คิดว่า บางท่านอาจจะสนใจอ่านเรื่องราวชีวิตเพื่อเป็นคติข้อคิด (มิได้มีความประสงค์ที่จะเสนอ
แนวคิดขัดแย้งทางการเมือง ครับ)   

หนามชีวิต... ที่เผด็จการลิขิต ของเพ็ญศรี พุ่มชูศรี

คอลัมน์ CD-D มีอดีต

 
          "ป้าโจ๊ว" หรือคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นนักร้องสตรีที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยในศตวรรษที่ 20...
ในระหว่างปี พ.ศ.2501-2503 ป้าโจ๊วและคุณสุวัฒน์ วรดิลก สิ้นอิสระภาพด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้ป้ายสีคุณสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งหาญมาสมัคร ส.ส. แข่ง ....
         
         ในสมัยของเผด็จการทหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งป้าโจ๊วและคุณสุวัฒน์สิ้นอิสรภาพ มีความนิยมป้ายสีใครๆ ซึ่งไม่ใช่
พวกของผู้มีอำนาจว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ด้วยเป็นยุคสงครามเย็นที่ใครๆ กำลังหวาดคอมมิวนิสต์
          ตรงกันข้าม 20 กว่าปีก่อนหน้านั้น ในสมัยที่คณะทหารและพลเรือนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใครถูกหาว่าเป็น "พวกเจ้า"
คือพวกพระเจ้าอยู่หัว ก็จะถูกจับตามอง หรือถูกจำคุก เหล่าข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงๆ ที่ต้องออกจากประเทศไทย ไปอาศัย
แผ่นดินอื่นอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก....

            ในช่วงชีวิตที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาร่วมสองปี ป้าโจ๊วมีหน้าที่ร้องเพลงให้บรรดาเพื่อนๆ ร่วมเรือนจำฟัง ทุกครั้งที่
ทางการจัดงานเช่นงานฉลองปีใหม่ หรือสงกรานต์ และป้าโจ๊วมักจะเลือกร้องเพลง "วิหคเหินลม"

         "แสนสุขสมนั่งชมวิหก อยากเป็นนกเหลือเกิน นกหนอนกเจ้าหกเจ้าเหิน ทั้งวันนกเจ้าคงเพลิน เหินลอยละลิ่วล่องลม…"

         ท่วงทำนองอันพรายพริ้งของ "วิหคเหินลม" นั้นประพันธ์โดยครูสมาน กาญจนะผลิน ผู้ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ตั้งแต่ พ.ศ.2531 ส่วนคำร้องอันแจ่มใสราวกับแต่ละคำเกาะไปบนปีกของวิหคที่กำลังเหินลม เป็นฝีมือของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
ป้าโจ๊วบันทึกแผ่นเพลงนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2494 หรือกว่า 50 ปีมาแล้ว คนไทยสมัยนั้นร้องตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง
            เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะที่ไร้อิสรภาพ เพลงวิหคเหินลมนั้นจับใจนัก เพราะเนื้อร้องตรงกับใจ ด้วยอยาก…เหินลอยละลิ่วล่องลม
ไปสู่อิสระภาพข้างนอก
             เชื่อว่าคนฟังซึ่งถูกขังร่วมอยู่กับป้าโจ๊ว คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันแทบทุกคน

             ในช่วงชีวิตการทำงานอันยาวนาน ในฐานะของศิลปิน ชื่อเสียงของป้าโจ๊วไม่ตก คุณภาพของศิลปินมีอยู่เต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็น
การทำงานบนเวที ร้องกระจายเสียงทางวิทยุ ออกโทรทัศน์ หรือแสดงสดในคลับ
          เคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า ครั้งหนึ่งมีการยิงกันในไนต์คลับ ป้าโจ๊วซึ่งกำลังร้องเพลงอยู่ไม่ได้หยุดร้อง เพียงสุ้มเสียงเครือไปนิดเดียว
ในแวบแรกเพราะตกใจ

           ป้าโจ๊วมีวินัยในการทำงาน ไม่ว่าในสถานการณ์อย่างไร ความสุขของคนฟังดูจะเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในหัวใจของศิลปินขนานแท้
แม้เมื่อยามที่ตนเองเปี่ยมด้วยความทุกข์ หรือความเหนื่อยล้า ก็เก็บงำซ่อนไว้ แล้วทำหน้าที่ต่อไปอย่างดีที่สุด ราวกับว่าเต็มใจก้มหน้าก้มตา
ใช้พรสวรรค์สร้างสุขให้ผู้ฟัง ตามคำสั่งของสวรรค์ผู้ให้มา
 


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ย. 07, 16:07
           เมื่อถูกจำขังอยู่สองปีเศษ ป้าโจ๊วก็ได้รับอิสรภาพ วันที่ออกจากเรือนจำในปี พ.ศ.2503 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว
เจ้าของคณะละครวิทยุรับตัวป้าโจ๊วไปบันทึกแผ่นเสียงเพลง "หนามชีวิต" ในทันที

           "เกิดมาขื่นขมระทมอุรา…ตรมน้ำตา…ตรมน้ำตาโศกาทุกวัน จะสุขอย่างไรกันนั่น…สุขเพียงในฝันหรือไร…"

            เล่ากันว่าทีแรกป้าโจ๊วร้องเพลงและร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ก็ข่มอารมณ์ร้องไปได้ไม่มีที่ติ
สตางค์ที่รับจากการร้องเพลง ก็ได้ไปเป็นค่าอาหารส่งให้สามีซึ่งยังอยู่ในเรือนจำ
           ละครวิทยุเรื่อง "หนามชีวิต" ประสบความสำเร็จอย่างสูง คนติดกันทั้งเมือง ต้องเพิ่มความยาวจาก 60 ตอนเป็น 99 ตอน
           ทุกคนในวงการยอมรับว่า เพลงมีส่วนทำให้ละครดังอย่างเหลือเชื่อ ในครั้งที่โทรทัศน์ยังเป็นเพียงความบันเทิงของคนมีเงิน
คุณป้าคุณน้าทั้งเมืองไทยในแถบถิ่นที่การส่งกระจายเสียงไปถึง แทบจะเอาแป้งเปียกติดหูไว้กับวิทยุเมื่อถึงเวลาละครจะมา เพื่อไม่ให้พลาด
ฟังเพลงสีโศกสวยอย่างหนามชีวิต และบทละครอันสุดเศร้า (สำหรับคุณหลานๆ ที่อ่านคอลัมน์นี้ จะต้องบอกไว้ด้วยว่า สมัยโน้นกาวยังไม่เป็น
ที่นิยมเพราะต้องเสียเงินซื้อ คนส่วนใหญ่ใช้แป้งเปียกแทนกาว เพราะสามารถทำได้เองจากแป้งมันที่นำมาลงให้ผ้าแข็ง)

         ในช่วงชีวิตต่อๆ มา อดีตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างป้าโจ๊ว ได้รับรางวัลพระราชทานครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งแผ่นเสียงทองคำ
และดาราทองนักร้องดีเด่น
            รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ.2534 ด้วย ......

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent02020950&day=2007-09-02&sectionid=0105

     


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ย. 07, 16:16
                               หนามชีวิต

เกิดมาขื่นขม ระทม อุรา
ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา โศกาทุกวัน
จะสุขอย่างไร จะสุขอย่างไร กันนั่น
สุขเพียง ในฝัน หรือไร

เปรียบดังชีวิต นั้นมีขวากหนาม
ทรมาน ทรกรรม ทรกรรม ฉันจนช้ำใจ
กว่าเราจะตาย กว่าเราจะตาย มิรู้เมื่อไหร่
โอ้ไฉน ชีวิตคอยเป็นนายเรา

มีแต่น้ำตา มาปลอบหัวใจ
ให้คลาย ความช้ำ ทุกค่ำเช้า
เหมือนหนามชีวิต กรีดใจ เป็นเป้า
ให้เราอับเฉา ระทม

หวั่นไหวว่าขวากหนาม ชีวิตเอย
ควรพิเปรย ความรักเอย ความรักเอย มิเคยภิรมย์
สุขเพียง ชั่วคืน ชื่นเพียง ชั่วคราว ร้าวราน เหลือข่ม
โศรกตรม แทบล้ม ประดาตายเอย
 
คำร้อง-ทำนอง ครูไพบูลย์ บุตรขัน


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 07, 21:39
ถ้าคุณ Sila อยากฟังเสียงป้าโจ๊ว   ไปที่เว็บนี้ค่ะ มีเพลงของท่านเปิดให้ฟังบ่อยๆ
จะขอเพลงก็ได้     มีเพลงเก่าแก่ที่ยังไพเราะกินใจ     บางเพลงดิฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย

http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/RADIO/


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ก.ย. 07, 10:29

       ขอบคุณครับ อาจารย์ 

       ได้อาศัยเว็บคนรักสุนทราภรณ์เป็นที่ค้นเนื้อเพลง และข้อมูล ตลอดจนติดตามข่าวคราวนักร้องเก่าๆ ที่มักเป็นข่าวการจากไปของท่าน
ก่อนคุณเพ็ญศรีก็เป็นคุณศรีสุดาที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลวชิระเป็นเวลานานก่อนจะจากไปในที่สุด


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ต.ค. 07, 11:41
        จากคห. เดิมแสดงข้อมูลเพลงหนามชีวิต ที่ค้นได้ว่าเป็นผลงานของครูไพบูลย์ บุตรขัน

        วันนี้ ได้ข้อมูลใหม่จาก  http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000119937

ว่าเป็นผลงาน    คำร้อง - ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ทำนอง - ครูสมาน กาญจนะผลิน ครับ

         ไพลิน รุ้งรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน เขียนเล่าถึงเบื้องหลัง เพลงหนามชีวิต ว่า
       
        “...คุณเพ็ญศรี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลหุโทษ เช้าวันที่ 12 มกราคม 2504 ภายหลังการจองจำครั้งที่สอง เป็นเวลาสองปีเศษ
ดูเหมือนว่า ชีวิตคุณเพ็ญศรีจะมีงานรออยู่นับแต่นาทีแรกที่ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ
       
        เพราะ คุณถาวร สุวรรณ และ คุณปรีชา พิบูลย์เวช สองนักจัดรายการวิทยุ เจ้าของละคร สุปรีดา ขับรถไปรอเธออยู่หน้าเรือนจำ
รับคุณเพ็ญศรี ไปอัดเสียงที่ช่อง 4 บางขุนพรหมทันที เพื่อที่จะอัด เพลงหนามชีวิต ที่ คุณชาลี อินทรวิจิตร และ คุณสมาน กาญจนะผลิน
แต่งเนื้อร้องและทำนอง เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบละคร เรื่องหนามชีวิต
       
        คุณเพ็ญศรี ไม่ได้แสดงอาการแปลกใจอะไร เธอขึ้นรถไปกับชายหนุ่มทั้งสองอย่างสงบ เมื่อไปถึง ก็มีการตระเตรียมต่อเพลงฝึกซ้อมกัน
เธอสามารถทำได้อย่างเยือกเย็น ราวกับไม่ได้เพิ่งออกมาจากเรือนจำ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้
       
       เรื่องหนามชีวิต เป็นบทประพันธ์ละครวิทยุเรื่องแรก ของ ถาวร สุวรรณ ซึ่งว่าด้วยชีวิตของครอบครัวคนจน ที่มีชีวิตขื่นขมเกินพรรณนาโดยมีนางเอกเป็นตัวชูโรง
เพลงหนามชีวิต ได้รับการแต่งขึ้น เพื่อใช้เป็นเพลงนำและประกอบละครเรื่องนี้
       
        ผู้แต่ง ซึ่งรักและสนิทกับคุณเพ็ญศรี รู้ดีในขณะแต่งว่า เพลงนี้ แต่งขึ้นเพื่อให้คุณเพ็ญศรี ผู้มีชีวิตขมขื่นไม่ต่างจากนางเอก เขาจึงบรรจงใส่อารมณ์ทั้งหมด
ลงไปอย่างสุดฝีมือ
       
        คุณเพ็ญศรี รักษาระดับความมั่นคงของจิตใจไว้ได้ อย่างงดงามน่าชมเชย
       
        “เกิดมาขื่นขม ระทมอุรา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา โศกาทุกวัน...”
       
        ทันทีที่เริ่มอัดเสียงจริง และคุณเพ็ญศรี เริ่มเปล่งเสียงออกมานั้น สะกดคนทั้งห้องให้เงียบกริบ มนต์เสน่ห์จากเสียงอันเต็มไปด้วยอารมณ์ของเธอ
ยังตรึงทุกคนได้เหมือนเดิม
       
        “จะสุขอย่างไร จะสุขอย่างไร กันนั่น...”
       
        ดูเหมือนว่า น้ำเสียงของเธอจะเครือลงกว่าเดิมเล็กน้อย ทันใดนั้น เธอก็ร้องไห้ออกมาโฮลั่น ทุกคนในห้องอัดเงียบกริบ คุณเพ็ญศรี ก้มลงจนตัวงอ
ความเข้มแข็งเยือกเย็นที่เห็นอยู่ภายนอกอ่อนรูปลงมาเป็นน้ำตาทะลักทลาย
       
        นานกว่าเธอจะหยุดน้ำตาแห่งความขื่นขม ตลอดระยะเวลาสามสี่ปีได้
       
        ไม่มีใครสักคน ในห้องอัดเสียงกล้าทำอะไร ทุกคนรู้ดีว่า เธอสมควรแก่การร้องไห้ และที่จริงจะยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำไป
        ละครหนามชีวิต ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ทุกวัน จันทร์ ถึง ศุกร์ กลายเป็นละครยอดนิยม มีคนฟังทั่วทุกหัวระแหง
       
        เสียง เพลงหนามชีวิต ของ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สะท้านสะเทือน เข้าไปในจิตใจของคนไทยทุกบ้านทุกเรือน ละครที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะออกอากาศ ทั้งหมด 60 ตอน
ต้องขยายออกเป็น 95 ตอนจนได้
       
        เมื่อย้อนถามถึงอดีตของ หนามชีวิต คุณเพ็ญศรี ตอบสั้นๆว่า
       
        “ร้องไห้โฮเลย ตอนนั้น มันนึกถึง คุณวัฒน์...”
       
        ไม่มีน้ำตาพระจันทร์สำหรับการสงสารตัวเองแม้สักหยด เพราะอุทิศให้เขาไปแล้ว”


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 07, 11:38
เสียงของคุณเพ็ญศรี เยือกเย็นและเศร้าสร้อย  เป็นเอกลักษณ์    เพลงของเธอก็มีแนวไปในทางนี้  ไม่เคยเป็นเพลงรื่นเริงสนุกสนาน
อย่างดีที่สุดก็เป็นเพลงนิ่มๆ อ่อนหวาน อย่างเพลง "หงส์เหิร"

คุณเพ็ญศรีร้องเพลงของมัณฑนา โมรากุลได้  แต่ให้อารมณ์ต่างกัน   คุณมัณฑนาเยือกเย็นแต่ไม่เศร้า  เป็นความเย็นที่ลึกและบาดใจ
อย่างเพลง สนต้องลม    ดิฉันรู้สึกว่าหาใครร้องชนิดสัมผัสลมเย็นต้นฤดูหนาวอย่างเธอร้องไม่ได้จนบัดนี้

ลมพัดโชยพลิ้วมา เยือกเย็นอุราพาให้ชื่น
ลมเย็นระรื่น ชุ่มชื่นรื่นฤทัย
ดูสนเป็นแถวทิว แลละลิ่วงามวิไล
ต้องลมพัดไกว กิ่งใบไกวอ่อนโยน


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ต.ค. 07, 15:43
       ครับ, เพลงสนต้องลม จากเสียงคุณรวงทอง ฟังไม่เย็นเท่าคุณมัณฑนา

         ค้นไป ค้นมา ปีนี้ครบ ๗ รอบอายุคุณมัณฑนา ในเดือนมีนาคม อ.เจตนาเขียนถึงดังนี้ ครับ

                                     84 ปี มัณฑนา โมรากุล
เจตนา นาควัชระ

          มัณฑนา โมรากุล นักร้องแนวหน้าของวงดนตรีกรมโฆษณาการ (หรือที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์) จะมีอายุครบ 84 ปี
ในวันที่ 30 มีนาคม 2550
          แม้ว่าเธอจะเลิกร้องเพลงไปเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว แต่เพลงที่เธอร้องก็จัดได้ว่าเป็นเพลงอมตะ เราคงจะต้องยกย่องทั้งผู้แต่งเพลง และ
ทั้งผู้ตีความ คือ ผู้ร้องในยุคนั้น ว่าเป็นผู้ที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในทางศิลปะขึ้นมาได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
          เพลงไทยสากลเป็นประเภทของศิลปะที่หลอมรวมอัจฉริยภาพในด้านคีตศิลป์ทั้งของไทยและของตะวันตกเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างแนบสนิท
ศิลปินรุ่นบุกเบิกใช้เวลาประมาณเพียง 20 ปี ก็สามารถนำศิลปะประเภทใหม่ขึ้นสู่สภาพที่เรียกว่าวุฒิภาวะได้ เพลงไทยสากลสามารถสะท้อนอารมณ์
ความรู้สึกและความคิดของคนไทยได้อย่างดีเยี่ยม

       นักแต่งเพลงและนักดนตรีรุ่นบุกเบิกโดยเฉพาะกลุ่มของเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิกตะวันตกมาอย่างดีมาก
และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้ดนตรีไทยอย่างลึกซึ้งด้วยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บันทึกเพลงไทยเดิมลงเป็นโน้ตสากล กล่าวได้ว่า
เพลงไทยสากล (หรืออีกนัยหนึ่งเพลงไทยแนวตะวันตก) เป็นการตื่นตัวขึ้นรับโอกาสใหม่ที่มากับดนตรีตะวันตก และสามารถใช้ศักยภาพของวัฒนธรรมทั้งสอง
ได้อย่างเต็มที่ นับเป็นโชคมหาศาลที่เทคโนโลยีการอัดเสียงได้พัฒนาขึ้นมาถึงขั้นที่สามารถสร้างพยานหลักฐานให้ปรากฏชัดถึงความสามารถอันยอดเยี่ยม
ของศิลปินเหล่านี้ไว้ได้

       ถ้าไม่มี มัณฑนา โมรากุล เพลงไทยสากลจะพัฒนาขึ้นมาได้ถึงขั้นที่เป็นศิลปะอันยอดเยี่ยมได้ละหรือ คำถามในแนวนี้เป็นการสดุดีมัณฑนา โมรากุล
เกินกว่าเหตุหรือไม่
       แต่หลักฐานก็มีปรากฏชัดว่านักแตงเพลงระดับบรมครูของเรา อาทิ เอื้อ สุนทรสนาน นารถ ถาวรบุตร และเวส สุนทรจามร อาจจะได้มอบงานที่ดีที่สุดที่พวกท่าน
ได้เคยสร้างขึ้นมาให้แก่มัณฑนา โมรากุล นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์คำร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก้ว อัจฉริยะกุล และ สุรัฐ พุกกะเวส ก็สามารถตอบสนองข้อเรียกร้อง
ของผู้แต่งทำนองได้อย่างดียิ่งเช่นกันด้วยวรรณศิลป์ที่ลุ่มลึกและหลากหลาย
       กระบวนการหลอมรวมคีตศิลป์ให้เข้ากับวรรณศิลป์ดูจะถึงขั้นที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ เป็นต้นแบบที่คนรุ่นหลังจำนวนหนึ่งพยายามจะเอาเป็นตัวอย่าง
แต่ก็มีคนรุ่นหลังอีกจำพวกหนึ่งที่คงจะเบือนหน้าหนี เพราะเกลียดวรรณคดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กล่าวได้ว่า นักร้องให้แรงบันดาลใจแก่นักแต่งเพลง และ
ในขณะเดียวกันนักแต่งเพลงก็ให้เพลงที่ท้าทายความสามารถของนักร้องอย่างเต็มเปี่ยมเช่นกัน

       ผู้สันทัดกรณีมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เพลงของมัณฑนา โมรากุล ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ร้องยาก และเป็นปัญหาสำหรับนักร้องรุ่นหลัง
ถ้ามุ่งลอกแบบมัณฑนาก็เท่ากับเป็นการทำอัตวินิบาตกรรม ถ้าพยายามจะตีความใหม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ช่างคิดพินิจพิเคราะห์ และในขณะเดียวกันมีความสามารถ
ในการขับร้องสูงมาก
       รายการแสดงดนตรีเพื่อเป็นเกียรติแก่มัณฑนา โมรากุล ในวาระอายุครบ 7 รอบ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรนั้น เป็นเพียงแค่
การแสดงความสวามิภักดิ์ของผู้ที่รักและบูชาคุณมัณฑนา แต่คงจะเรียกว่าเป็นการแสดงสาธารณะ (public concert) ได้ไม่เต็มปากนัก ยกเว้นนักร้องที่โดดเด่น
เพียง 1 หรือ 2 คน ดูจะเป็นเรื่องของลูกๆหลานๆที่มาฉลองอายุของผู้อาวุโสมากกว่า

       งานของคุณมัณฑนาเป็นงานที่เราไม่ควรตั้งไว้บนหิ้ง และก็มิใช่งานที่ควรจะนำมาลอกแบบ แต่น่าจะเป็นงานตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า
ครั้งหนึ่งมีนักร้องคนหนึ่งที่โชคดีมากที่มีนักแต่งเพลงกลุ่มหนึ่งสร้างงานที่ดีที่สุดขึ้นมาท้าทายเธอ จากการวิจัยที่คณะนักวิชาการในโครงการ
"การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย" (ด้วยการสนับสนุนของสกว.) ได้เสนอเอาไว้ในหนังสือ เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล (2547)
เป็นที่แน่ชัดว่า พรสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียวคงมิอาจจะหนุนเนื่องให้มัณฑนา โมรากุล ขึ้นมาถึงระดับที่เรารู้จักกันได้

       เธอเป็นศิลปินที่ใฝ่รู้ พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และได้รับคำชมจากนักดนตรีรุ่นพี่ว่าเรียนรู้ได้เร็วมาก นอกจากนั้น เธอก็เป็น "นักวิจัย"ในรูปแบบหนึ่ง
คือทดลองหาแนวทางในการขับร้องด้วยตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวงานได้อย่างดีเลิศ วิเคราะห์ทั้งเนื้อร้องและทำนองให้ถ่องแท้
ก่อนที่จะนำมาร้อง
       เธอเป็นศิลปินผู้ตีความที่มีความเข้าใจทั้งในธรรมชาติของคีตศิลป์ และธรรมชาติของมนุษย์ทั้งในทางกว้างและทางลึก เพลงที่เธอขับร้องไว้จึงมีความหลากหลาย
มากในด้านเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก
        ในรายการแสดงดนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม เธอได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า แม้แต่เพลงปลุกใจที่เธอได้รับมอบหมายให้ร้อง (ซึ่งจากจุดยืนของปัจจุบันเราอาจจะมองว่า
เป็นเพลงเชิดชูผู้นำแบบโฆษณาชวนเชื่อ) เธอก็เต็มใจร้องอย่างสุดความสามารถ ไม่ได้หมายความว่าเธอสยบกับทรราช แต่เป็นเรื่องของศิลปินคนหนึ่งซึ่งหน้าที่กับความพึงใจ
ส่วนตนหลอมรวมกันเข้าเป็นเอกภาพได้ในทุกเมื่อ ถ้าจะหันไปพิจารณาเพลงรักที่โศกสลด ก็คงจะหานักร้องที่หยั่งลึกลงไปจนถึงก้นบึ้งของชีวิตมนุษย์ เช่น มัณฑนา โมรากุล
ได้ยากนัก สำหรับอารมณ์ขันที่มากับคีตศิลป์นั้นเล่า มัณฑนาก็ตอบสนองได้อย่างไร้ปัญหา แม้จะให้ร้องนำในเพลงของคนขี้เมา ก็ร้องได้อย่างไม่เคอะเขิน จะให้ร้องเพลง
สะท้อนความสะเทิ้นเขินอายของสาวแรกรุ่นก็ร้องได้เช่นกัน
        คุณูปการที่มีต่อวงการเพลงของมัณฑนา โมรากุล ยากที่จะพรรณนาได้หมดสิ้น นอกจากนี้ เธอก็ยังมีเมตตาต่อนักร้องรุ่นหลัง เธอชมเชยนักร้องบางคน
ที่ร้องฉีกแนวออกไปจากแบบอย่างของเธอเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เธอเข้าใจดีว่าคีตศิลป์จะอยู่ได้ก็ด้วยการตีความใหม่

        ถ้าประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผ่านเลยไปกับกาลเวลา ประวัติศาสตร์ที่ฝากฝังตัวไว้กับงานศิลปะคือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ภาพของคุณมัณฑนาที่นั่งอยู่บนเวที
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2550 เป็นภาพที่ชวนประทับใจยิ่ง (ประวัติศาสตร์ยังอยู่กับเราให้เห็นเป็นรูปธรรม)
พวกเราตั้งความหวังเอาไว้ว่า เราจะมาชุมนุมกันอีกเพื่อฉลองอายุครบ 90 ปีของคุณมัณฑนา โมรากุล จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ที่แน่นอนก็คือ
ผลงานของเธอจะดำรงอยู่ต่อไปกับประวัติศาสตร์ของคีตศิลป์ไทย

----------------------

กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) (วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2550)


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 07, 19:01
เพลงที่คุณรวงทองร้องได้ดีที่สุด  ยังไม่เห็นใครร้องได้จับใจเท่าเธอ คือ "รักบังใบ"  ที่ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม "บังใบ"  น่าจะเป็นเพลงแรกของเธอด้วยซ้ำ   
คนแต่งเนื้อที่แต่งได้เพราะมากๆคือคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ แต่งเนื้อเพลงนี้เข้ากับท่วงทำนองได้เนียนสนิททีเดียว
ใครชอบเพลงลูกกรุงรุ่นเก่า  ฟังเพลงนี้ตอนใกล้ค่ำ จะได้อารมณ์จากเพลงเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะคำว่า "น้ำตาตกตามตะวัน" เป็นภาษาภาพที่กระชับ แต่ได้ใจความกว้างและลึก ครบถ้วน


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ต.ค. 07, 10:16

        คุณรวงทอง เคยจัดรายการ เสียงทิพย์จากรวงทอง ทางช่อง ๗ สนามเป้า เมื่อนานมากแล้ว ครับ
ครั้งหนึ่งในรายการ มีการแสดงละครย้อนชีวิตตัวคุณรวงทองก่อนที่จะมาเป็นนักร้องศิษย์ครูเอื้อ และ
คุณรวงทองเคยให้สัมภาษณ์เล่าประวัติชีวิตตัวเอง 
         คุณรวงทองเล่าว่า ที่บ้านไม่มีวิทยุ จึงต้องอาศัยฟังเพลงวงสุนทราภรณ์จากเสียงวิทยุข้างบ้าน
เมื่อคุณรวงทองจะจดเนื้อร้องแต่ด้วยความขัดสน ไม่มีกระดาษ จึงต้องตัดกระดาษจากถุงปูนมาจดเนื้อเพลง
เมื่อคุณรวงทองเติบโตมีฐานะดีขึ้น จึงชอบสะสมกระดาษ การ์ด สวยงามไว้มากมาย
        เพลงรักบังใบ จำได้ว่า คุณรวงทองโดนเคี่ยว ซ้อมร้องอยู่หลายเที่ยวก่อนที่ครูเอื้อจะให้ออกงาน ครับ

        ค้นพบ ว่าปีนี้คุณรวงทองมีอายุ ๗๐ ปี จากบทความจาก อ.เจตนา อีกแล้ว ครับ

                            70 ปี รวงทอง ทองลั่นธม

เจตนา นาควัชระ

              รวงทอง ทองลั่นธม ศิลปินแห่งชาติ จะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 เธอปรารภไว้หลายครั้งแล้วว่าอยากจะเกษียณตัวเอง
จากความเป็นนักร้องเสียที แต่ก็คงจะใจไม่แข็งพอ ก็จะให้ใจแข็งได้อย่างไร ในเมื่อผู้ฟังจำนวนไม่น้อย (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกแฟนคลับของเธอ)
ยังยืนยันว่า เธอยังร้องเพลงได้ และในการร้องของเธอนั้น ยิ่งร้องก็ยิ่งไปได้ลึก เพลงที่เธอเคยร้องอัดแผ่นไว้เมื่อ 40 ปีก่อนนั้น บัดนี้เธอก็ยังคงร้องได้
ร้องไม่เหมือนเมื่อก่อน เป็นการร้องที่บ่งบอกว่าการแสวงหาตัวตนของเธอเองเป็นกระบวนการที่ยังไม่จบสิ้น กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านก็คงจะว่าเป็นว่า
 "ยิ่งแก่ ยิ่งเก่ง" แม้ว่าลักษณะบางประการจะชี้ให้เห็นถึงวัยที่ล่วงเลยอย่างเลี่ยงไม่ได้

          ศิลปินไทยจำนวนมากไม่ว่าจะอยู่ในสาขาใด มีปัญหาเรื่องการปรับตัวขึ้นสู่วุฒิภาวะ หลายคนย่ำอยู่กับที่ กินบุญเก่า หาทางออกจากวังวนของ
ความสำเร็จในอดีตไม่ได้ นักวิชาการที่เฝ้าศึกษางานของศิลปินบางคนอย่างต่อเนื่อง จำต้องฝืนใจลงความเห็นว่า ท่านเหล่านั้นตาย (ในทางศิลปะ) เสียแล้ว
ตั้งแต่อายุ 40-50 ปี และก็หาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ง่ายที่สุด (เพราะเป็นคำตอบที่มาจากปัจจัยภายนอก) ก็คือ "เมรัยพิฆาต"
(และบางคนก็ตายจริงๆ ในทางกายภาพ) แต่นั่นเป็นเรื่องของสุภาพบุรุษเสียเป็นส่วนใหญ่ และสุภาพสตรีในหมู่ศิลปินที่ก้าวไปข้างหน้าอีกไม่ได้เล่า เป็นเพราะอะไร
         ในหมู่นักร้องที่คงพอมองเห็นกันอยู่บ้าง บางคนหลงเสน่ห์ตัวเอง พุ่งความสนใจไปในจุดที่เป็นเสน่ห์ซึ่งดึงดูดผู้ฟังได้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มาบัดนี้
ก็ยิ่งสะดุดหยุด ณ จุดเหล่านั้น ถ้าทอดเสียงหวานและผู้คนชมว่าหวาน ยิ่งวัยล่วงเลยมาก็จงใจทอดให้หวานยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวัยและสังขารไม่อำนวย ความหวานนั้น
จึงกลายเป็นน้ำผึ้งขม
         
          เมื่อหันหลับมาพิจารณากรณีของรวงทอง เธอมีความสามารถที่น่ายกย่องอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ความสามารถในการเฝ้าพิจารณาตัวเอง ในการวิเคราะห์ตนเอง
และในการที่จะแสวงหาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ในบางกรณีเธออาจจะใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะค้นพบตัวเอง (ดังที่ผมได้เคยกล่าวเอาไว้ในบทวิจารณ์ชื่อ
"เมื่อวัยวุฒิกับวุฒิภาวะมาบรรจบกัน : รายการรวงทองมินิมาราธอนที่โรงละครแห่งชาติ" [สกุลไทย ปีที่ 49 ฉบับที่ 2544 : 22 ก.ค. 46 ตีพิมพ์ซ้ำใน
จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์ 2548 : หน้า 93-98] )
        ศิลปินระดับแนวหน้าจะพึ่งพรสวรรค์แต่ถ่ายเดียวมิได้ รวงทองรู้จักใช้ปัญญาในการปรับการสร้างผลงานของตนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ท่าทางบนเวทีของเธอนั้น
เป็นท่าของดาราอย่างแน่นอน แต่กรณีของเธอมิใช่ดาราที่หลงตัวเอง เธอยังฝึกร้องเพลงอยู่ทุกวัน ร้องไปก็หาทางใหม่ไป ไม่พอใจกับสิ่งที่เคยทำมาแล้ว
ไม่พอใจกับระดับที่ไปถึงแล้ว ความทะเยอทะยานของรวงทองในวันนี้ที่จะร้องเพลงให้ดีกว่ารวงทองเมื่อวันวาน คือวิสัยของศิลปินที่รุ่นน้องรุ่นหลานน่าจะถือ
เป็นแบบอย่าง
          ผมไม่ต้องการจะทำให้บทความนี้กลายเป็นอาศิรวาทไป ความจริงมีอยู่ว่า มีอยู่ช่วงหนึ่ง (นานถึง 14 ปี) ในชีวิตศิลปินของเธอ ที่มาตรฐานของเธอ
ตกต่ำลงไป แทบจะกล่าวได้ว่าร้องไม่ออก ร้องช้าลง ความแม่นยำของระดับเสียงไม่มั่นคง ความจริงเธอป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง แต่ก็โชคดีที่หาสาเหตุพบ
และรักษาให้หายขาดได้

           รวงทองมีโชคดีอีกหลายประการ ซึ่งเธอไม่เคยปฏิเสธความโชคดีเหล่านั้น นั่นก็คือเธอเป็นศิษย์ที่มีครู และในกรณีของครูเอื้อ สุนทรสนานนั้น
เธออาจใกล้ชิดกว่านักร้องคนอื่น เพราะยินดีฝากตัวเข้าไปเป็น "เด็กในบ้าน" เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของครู และครูก็ถ่ายทอดวิชาการร้องเพลงให้
ในระบบที่เราอาจเรียกว่าระบบทิศาปาโมกข์
           และสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือครูย่อมได้แรงดลใจจากศิษย์คนนี้ และพวกเราที่ชื่นชอบเพลงไทยสากลก็เลยได้รับอานิสงส์จากครูและศิษย์คู่นี้
นั่นคือเพลงอมตะจำนวนหนึ่งที่ครูเอื้อแต่งขึ้นให้รวงทองเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสุดยอดของเพลงไทยสากล และก็เป็นโชคดีอีกเช่นกันที่ผู้ประพันธ์คำร้อง
ระดับแนวหน้าหลายท่าน อาทิ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล สร้างเนื้อร้องที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์เสริมเข้ามาอีกแรงหนึ่ง ผมไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อเพลงเหล่านี้ที่เรารู้จักกันดี

         


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ต.ค. 07, 10:39

        ถ้าจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ในเรื่องของนักแต่งเพลงและนักร้อง"ส่องทางให้แก่กัน"แล้วละก็ รวงทองนับว่าโชคดีอีกนั่นแหละ
ที่ได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงชั้นครูอีกหลายท่าน หลังจากที่ได้ลาออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปเผชิญโลกภายนอกที่ท้าทาย และ
ก็นับเป็นโชคอันมหาศาลที่ในยุคหลังกึ่งพุทธกาล วงการดนตรีของไทยยังมีนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมอยู่อีกหลายท่าน (ถ้ารวงทองเกิดช้าไป 40 ปี
เธอคงจะต้องเผชิญกับทะเลทรายแห่งคีตศิลป์ไทยเป็นแน่) เพลงเหล่านั้นยังอยู่กับเรามาจนทุกวันนี้ อาทิ "แรมพิศวาท" ของพยงค์ มุกดา
"รอยมลทิน" ของ "พรพิรุณ" "แน่หรือคุณขา" ของ สมาน กาญจนผลิน และ "แม้แต่ทะเลยังระทม" ของ สง่า อารัมภีร สรุปได้ว่ารวงทองมีประสบการณ์
ในเรื่องขององค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางมาก เธอเป็นหนึ่งในเสาหลักของเพลงไทยสากลในฐานะประเภทของศิลปะ (artistic genre)

       รวงทองเป็นศิลปินผู้ตีความ (interpretative artist) ที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ในกรณีที่เธอนำเพลงที่นักร้องรุ่นพี่ เช่น มัณฑนา โมรากุล
(ผู้ซึ่งเธอเคารพนับถือ) มาตีความใหม่ เธอแสดงความคารวะต่อนักร้องต้นแบบด้วยแนวคิดใหม่ที่น่าทึ่ง
         จะขอยกตัวอย่างเพลง "วังบัวบาน" มัณฑนา โมรากุล ร้องได้จับใจเรา เพราะเธอสามารถชักพาเราให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ระทมของบัวบาน
รวงทอง ทองลั่นธม เสนอทิศทางที่เป็นของเธอเอง ซึ่งปรากฏชัดในการแสดงที่โรงแรมตรัง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 เธอแสดงบทบาทของผู้เล่าเรื่อง
ของผู้สังเกตการณ์ซึ่งชี้ให้เห็นความสง่างามของโศกนาฏกรรมของสาวชื่อบัวบาน ที่มิได้ตายอย่างคนไร้ค่า แต่ดิน น้ำ ลม ฟ้ารวมแรงกันสร้าง "สุสานเทวีผู้มีความช้ำ"
โดยที่เราถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสักขีพยานนั้นด้วย

         ด้วยประสบการณ์ที่ลุ่มลึกและกว้างขวาง รวงทองตัดสินใจที่จะสร้างคุณูปการในมิติใหม่ ด้วยการทำหน้าที่สอนการขับร้องให้แก่นักร้องรุ่นหลัง ทั้งที่
เป็นนักร้องอาชีพและนักร้องสมัครเล่น ศิษย์ของรวงทองที่ออกแสดงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 สะท้อนทิศทางของ "สำนักรวงทอง ทองลั่นธม" ได้อย่างชัดเจน
         เธอน่าจะเป็นครูที่ถ่ายทอดความรู้และความชำนาญได้ดี มิใช่ด้วยการร้องให้ลูกศิษย์ฟังเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่ด้วยการอธิบายที่แจ่มชัด
รวงทองเป็นผู้ที่ใช้ภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถอธิบายอารมณ์ความรู้สึกด้วยภาษาที่ไพเราะและเป็นเหตุเป็นผล ถ้าท่านไม่เชื่อผมโปรดลองอ่านบทอภิปรายของเธอ
ในการสัมมนา "มัณฑนาวิชาการ" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ (ตีพิมพ์ในหนังสือ เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล 2547 : หน้า 175-181)

       อาจเป็นครั้งแรกในวงการเพลงไทยสากลที่จะมีการจัด "ชั้นเรียนตัวอย่าง" (master class) เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาและการแสดงดนตรีในรายการ
รวงทองส่องทางศิลป์ ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2550 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ผู้คนเริ่มเรียกเธอว่า "อาจารย์รวงทอง" สำหรับผู้อาวุโส วิทยาทานคือ
การสร้างบุญกุศลที่ดีที่สุด

-----------------------------------

ตีพิมพ์ใน : กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) (วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2550)
     


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 13 ต.ค. 07, 11:01
คุณศิลาค่ะ  ยังมีอีกไหม  มาได้เรื่อย ๆ เลยนะคะ  ได้ทราบปลาย ๆ ข่าวว่า คุณสุเทพ วงศ์คำแหง ป่วย  ได้แต่ภาวนาให้เธอหายป่วยนะคะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 07, 11:14
ดร.เจตนาเขียนบทความเรื่องคุณรวงทองได้ถูกใจ  แม้ว่าหลายประโยคดิฉันจะต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที  แต่ภาษาวิชาการก็มักจะต้องแปลกันอยู่แล้ว
อ้างถึง
เป็นการร้องที่บ่งบอกว่าการแสวงหาตัวตนของเธอเองเป็นกระบวนการที่ยังไม่จบสิ้น กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านก็คงจะว่าเป็นว่า
 "ยิ่งแก่ ยิ่งเก่ง
"

ศิลปินถ้าหยุดนิ่งอยู่ในวันวาน ก็คือขุดหลุมฝังตัวเองได้เลย

ขอพูดเลยไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังเพลงของศิลปินผู้ขับร้อง    นอกจากผู้แต่งทำนองแล้วก็คือผู้แต่งเนื้อ    อย่างหลังนี้ดิฉันชอบลีลาของครูแก้ว อัจฉริยกุลมากที่สุด    เป็นนักแต่งเพลงที่ถึงขั้น "กวี"  ลองอ่านที่ท่านตีความโคลงของศรีปราชญ์มาเป็นเพลง"พรานล่อเนื้อ"   พอดีลงตัวเต็มร้อย    แก้ไขเพียงคำเดียวก็จะบกพร่องหรือเกินจำเป็น
นอกจากครูแก้ว ที่ต้องยกนิ้วให้ก็คือคุณสุรัฐ พุกกะเวส คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์   ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร  ครูชาลี อินทรวิจิตร
นึกออกแค่นี้ค่ะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ต.ค. 07, 12:10
        ยินดีครับคุณ pakun, ถ้ามีเรื่องราวน่าสนใจจะนำมาแปะอีก
คุณ pakun เข้าเว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์ที่อาจารย์แนะนำดู จะได้ค้นเนื้อร้องและอ่านกระทู้ บทความเกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ครับ

        ชื่นชมยกย่องครูแก้ว มากๆ ครับ ตอนเด็กๆ เคยได้ฟังละครวิทยุคณะแก้วฟ้า ที่ท่านเขียนบทและเล่นเป็นตัวประกอบด้วย
โตขึ้นมาถึงได้ทราบว่า ท่านคือผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงที่มีคุณค่ามากมายของวงสุนทราภรณ์ ท่านยังเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวชีวิต
ผู้คนที่สนุกมาก เคยอ่านเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก น่าเสียดายที่หนังสือไม่อยู่แล้ว ชื่อหนังสือ ประมาณว่า  ชีวิตหลังเที่ยงคืน ครับ

เคยนำโคลงของศรีปราชญ์ไปโพสท์ในความเห็นของเพลง พรานล่อเนื้อ ที่เว็บด้วยครับ

           
เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้        เรียมเหงา

ดูดุจนายพรานเขา       ล่อเนื้อ

จะยิงก็ยิงเอา            อกพี่ ราแม่

เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ       เงือดแล้วราถอย
 

               พรานล่อเนื้อ

      เจ้ายักคิ้วให้พี่
เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์
ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม
อกเรียมก็ตรมตรมเพราะคมตาเจ้า

เรียมพะวักพะวง
เรียมคิดทะนงแล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อเงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา
ยั่วใจให้เมาเมาแล้วยิงนั่นแล

**น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง
หากเจ้าหมายยิงก็ยิงซิแม่
ยิงอกเรียมสักแผล
เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ

เรียมเจ็บช้ำอุรา
เจ้าเงื้อเจ้าง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด
เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป
เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 07, 12:33
เพลงที่ครูแก้วแต่งจากโคลงของศรีปราชญ์ ใน"ตำนานศรีปราชญ์" มี ๓ เพลง
คือพรานล่อเนื้อ   ยูงกระสันเมฆ   เพลงที่ ๓ นึกไม่ออกในตอนนี้ว่าเพลงอะไร
คุณศิลานึกออกไหมคะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ต.ค. 07, 12:59
       การบ้านอาจารย์ คือเพลง นวลปรางนางหมอง หรือเปล่าครับ  ที่ได้บันดาลใจจากโคลงในตำนานศรีปราชญ์
เคยได้ชมจากเทปรายการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ยุคหลังครูเอื้อ ครั้งหนึ่งจัดเป็นรายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดี ครับ

       อันใดย้ำแก้มแม่     หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย       ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย           ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ            ชอกเนื้อเรียมสงวน

     
               นวลปรางนางหมอง

นวลปรางนางดูช้ำ
ใครทำให้หมอง
รัญจวนในนวลน้อง
ฉันมองเศร้าใจ

ปรางนางเคยนวล ยวนเย้าฤดี
เสื่อมสิ้นราศีเศร้าไป
พี่มองแก้มนาง หมางดวงใจ
หมองใดไฉนเล่า

เสียดายปรางทองต้องตรม
ใครลอบชมแล้วฤาเจ้า
โถใครคงชมข่มเอา
เหลือจะเศร้าร้าวรัญจวน

เหลือบจะไต่ฤาริ้นไรแกล้งทำ
หรือพรายย้ำคนลอบทำกล้ำกวน
โถทำเสียจนสิ้นนวล
เรียมสู้สงวน ช้ำนวลตรมใจ

นวลปรางนางหมอง
พี่หวังปองต้องหมองไหม้
ปรางทองหมองลงไป
พี่พลอยหม่นหมองดวงใจ
พี่สุดแสนจะหมองไหม้

เหลือบจะไต่ฤาริ้นไรแกล้งทำ
หรือพรายย้ำคนลอบทำกล้ำกวน
โถทำเสียจนสิ้นนวล
เรียมสู้สงวน ช้ำนวลตรมใจ

นวลปรางนางหมอง
พี่หวังปองต้องหมองไหม้
ปรางทองหมองลงไป
พี่พลอยหม่นหมองดวงใจ
พี่สุดแสนจะมองได้
โอ้ใจ จะขาด แล้ว เอย...

                   


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 07, 13:21
รายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดี เสียดายไม่ได้ดู
มีเพลงหนึ่ง ชื่อ "คนธรรพ์กับพิณทิพย์"  น่าจะมาจากละครเวที มากกว่าวรรณคดี
แต่เนื้อร้องฝีมือครูแก้ว กินใจจริงๆ  ตีความถึงเสน่ห์และความอาภัพของศิลปินได้แตก

เพลงนี้ได้ยินมาว่าร้องยากมาก    ต้องขึ้นเสียงสูง ทั้งฝ่ายชายและหญิง
เคยได้ยินคุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวาร้องในรายการสุนทราภรณ์  เสียงนุ่มและร้องได้ฟิลลิ่งดีกว่าคุณวินัย

ใช่แล้วค่ะ  นวลปรางนางหมอง  ขอบคุณ :D


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 07, 22:09
ดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีกครั้ง   ตอนนี้ ฟังเพลงของคุณเพ็ญศรีจากซีดีอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของเธอ
เสียงของคุณเพ็ญศรีเยือกเย็นและเศร้าโดยธรรมชาติ   ร้องเพลงเศร้าๆเหงาๆ จะเหมาะมาก อย่างเพลง กุสุมาอธิษฐาน  แต่เวลาร้องเพลงสุข ในเพลง ยิ้มคือความสุข  ฟังยังไงก็ไม่รื่นเริง
น้ำเสียงเธออ่อนโยน  สงบเสงี่ยม    ส่วนคุณมัณฑนา กังวานมีสง่า ไพเราะกันคนละแบบ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 07, 10:23
        ได้อ่านคอลัมนิสต์ในวงการเล่าเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพคุณเพ็ญศรี รพีพร ว่ามีหนังสือและซีดีเพลงมอบให้
ผู้ร่วมงานมากมายครับ แล้วก็บ่นว่าตอนนี้วงการหนังสือเก่ามีการจ้างคนเข้าไปเวียนเทียนรับหนังสือเพื่อนำมาขายต่อ เพราะเก็งว่า
จะขายได้ราคาสูง

           ผู้อาวุโสที่ทำงานที่ชอบเพลงเก่าและคบหากับรุ่นเดียวกันที่อยู่ในแวดวงเคยเล่าให้ฟังครับ ว่าตอนที่หลวงสุขุมนัยประดิษฐ
แต่งเพลง คนึงครวญ ออกมานั้นคุณมัณฑนาไม่อยากร้อง(คงเป็นที่ท่วงทำนอง) คุณเพ็ญศรีเลยได้ร้องเพลงนี้แทน ในขณะที่
คุณมัณฑนาได้ร้องเพลงเอกอีกเพลงหนึ่งของหลวงสุขุมฯ คือเพลง สิ้นรักสิ้นสุข ที่ท่วงทำนองเศร้า ช้า ไพเราะมาก
คุณเพ็ญศรีเอ่ยประมาณว่า อยากร้องจนน้ำลายหก ครับ

         


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 07, 10:34
        นึกขึ้นมาได้อีกหนึ่งเพลงจากรายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดีครับ 

ยากยิ่งสิ่งเดียว

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล         ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน       
 
       จะเรียนจะร่ำจะทำอะไรไม่ลำบาก
ยอดยากอยู่อย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
คำครูสุนทรภู่กล่าวพาดพิง
ฉันไม่ท้วงติงเพราะว่าสมจริงยิ่งสิ่งใด

     ยิ่งตรองยิ่งเห็นเป็นเรื่องหนักใจให้อาวรณ์

     แม่กงแม่กนจวบจนกบเกยเคยเรียนร่ำ
บากบั่นหมั่นท่องจำตามคำสอน
เรียนกันถึงโคลงดั้นกาพย์ฉันท์กลอน
ทุกบททุกตอนฉันไม่ร้าวรอนไม่อับจน

       แต่เรียนเรื่องรักหนักในกมลจนปัญญา

       ได้ยินครูเอื้อร้องไว้เท่านี้ แต่จากเว็บคนรักสุนทราภรณ์มีเนื้อร้องต่อไปอีก และบอกว่า

เพลงนี้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย เรื่อง "พระอภัยมณี" ตอนที่ 45 "นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร" ที่ว่า

"...หน่อกษัตริย์หัสไชยอยู่ในรถ          ทุกข์ระทดถึงพี่น้องสองสมร
เคยพูดเล่นเจรจาให้อาวรณ์                มาจำจรจากน้องทั้งสององค์
โอ้จนจิตคิดไฉนจะได้นุช                  เห็นยากสุดที่จะสมอารมณ์ประสงค์
เฝ้ากอดจูบลูกคลำพระธำมรงค์            คิดถึงองค์อาลัยด้วยไกลกัน
เคยพูดพลอดกอดพี่เป็นที่รัก              ไม่รู้จักรังเกียจคิดเดียจฉันท์
นึกจะเกี้ยวเจียวเมื่อไปอยู่ใกล้กัน          กลับหวนหันไปเสียได้เจียวใจคอ
นึงคะนึงถึงที่เขาเป็นเจ้าชู้                  จะเรียนรู้ไว้อย่างไรที่ไหนหนอ
ผู้หญิงรักลักลอบมาชอบพอ               แม้พบหมอเหมือนเช่นนั้นขยันจริง

จะเรียนร่ำทำอะไรไม่ลำบาก               มันยอดยากอย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
ถึงยามดึกนึกนอนแนบหมอนอิง            เรไรหริ่งเรื่อยริมหิมวา

เสียงจังหรีดแว่ววับตรับสำเหนียก           ว่าร้องเรียกนึงสงสารร้องขานจ๋า
จนรู้สึกนึกสะอื้นกลืนน้ำตา                  ตามประสามิตรจิตมิตรใจ..." 
 


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 07, 10:40
แต่ดูเนื้อร้องท่อนที่ว่า แม่กงแม่กนจวบจนกบเกย  แล้วคาดว่าครูแก้วอาจจะได้บันดาลใจจาก  นิราศวัดเจ้าฟ้าด้วยครับ

         ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก            แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย                       ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย                        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง                      มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 07, 10:57
ดิฉันจำประวัติครูแก้วได้รางๆว่า มีเชื้อชาติกรีกทางฝ่ายบิดา  ส่วนการเรียนไม่รู้ว่าเรียนร.ร.ไหนในกรุงเทพ
แต่ลองอ่านเนื้อเพลงแล้ว เชื่อว่าครูแก้วน่าจะอ่านวรรณคดีไทยแตกฉาน   จำรายละเอียดเอามาผสมผสานใส่ในเนื้อได้เหมาะเจาะ   ยิ่งสัมผัสของเพลง  บอกให้รู้เลยว่ารู้จักหลักฉันทลักษณ์กลอนอย่างขึ้นใจ  เนื้อเพลงครูแก้ว เป็นเนื้อร้องที่เข้าขั้นกวีนิพนธ์

งานพระราชทานเพลิงศพคนดังๆ   มักจะมีผู้หูไวจมูกไวมาปะปนแอบแฝงคอยยกหนังสืออนุสรณ์ออกไปเป็นตั้งๆ  แล้วเราก็จะไปเจอภายหลังในร้านหนังสือเก่า  ขายราคาแพงมาก
งานพระราชทานเพลิงศพคุณรพีพรและคุณเพ็ญศรีมีหนังสือที่ระลึกและซีดีเพลง ใส่กล่อง ทำสวยงามมากค่ะ โชคดีที่ได้มา ไม่ต้องไปซื้อในราคาแพงลิบ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 07, 14:46
        ครับ จำได้ว่าท่านมีเชื้อสายชาวตะวันตก ประวัติของท่านหาจากกูเกิ้ลมีน้อยนิดและเป็นประวัติเหมือนๆ กัน
จากเว็บคนรักสุนทราภรณ์      http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/template/readtext.asp?HID=125

        ครูแก้วเป็นบุตรชายคนโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน บิดาชื่อนายใหญ่ อัจฉริยะกุล ( หรือ นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส ) เป็นชาวกรีก
มารดาชื่อ นางล้วน อัจฉริยะกุล ( เหรียญสุวรรณ )
       ครูแก้ว ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนครูสว่าง ใกล้ถนนสี่พระยา จากนั้นได้ย้ายไปเข้าโรงเรียนเยนเฮส์เมมโมเรียล เป็นโรงเรียนมิชชันนารี
ที่มีชื่อมากในสมัยนั้น เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว
        ครูแก้วได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนของชาวอังกฤษ คือ โรงเรียนเซ็นต์ปีเตอร์ และย้ายมาศึกษาต่อจนจบมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
จนได้รับดิโพลมาหรือประกาศนียบัตรจากโรงเรียน ซึ่งในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริการับรองและสามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาได้ทันที
โดยไม่ต้องผ่านคอลเลจ ครูแก้วจึงคิดที่จะไปศึกษาต่อ แต่บิดาของท่านไม่อนุญาตให้ไปเพราะขณะนั้นกำลังป่วยอยู่
        ครูแก้วจึงไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ แต่เข้าไม่ได้เพราะตรวจสายตาตก บิดาอยากให้เรียนต่อที่จุฬาฯ แต่ครูแก้วเรียนที่ธรรมศาสตร์
โดยเลือกศึกษาวิชากฎหมาย

        และจากเว็บนี้ได้อ่านเรื่องครูเอื้อ " เด็กชายละออหม้อแตก "  อีกครั้งหนึ่ง เดิมเป็นตอนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตหลังเที่ยงคืน ของครูแก้ว และ
ต่อมาได้นำมาลงหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครูเอื้อ
       
http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/template/readtext.asp?HID=213
 


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ต.ค. 07, 15:23
แต่ละเพลงที่ยกมา ไพเราะมากค่ะ..
อีกท่านหนึ่งที่เขียนเนื้อได้กวีมาก ก็คุณทวีปวรค่ะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 07, 18:17
ดึงกระทู้ขึ้นมาอีก  เพราะคุณทวีปวร
เปิดซีดีเพลง "ศกุนตลา" ที่คุณเพ็ญศรีขับร้อง คุณทวีปวรเขียนเนื้อเพลง
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/     
ศกุน ตลา                             นางฟ้าแมกฟ้า ฤา ไฉน           
เดินดิน นางเดียว เปลี่ยวใจ     นางไม้ แมกไม้ มิได้ ปาน         
น้ำค้าง ค้าง กลีบกุหลาบอ่อน   คือเนตรบังอรหยาดหวาน         
โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตน์ ชัช วาล       เพลิงบุญอรุณกาลผ่านทรวงศกุนตลา                  นางฟ้าแมกฟ้าจากสรวง
คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง      คือทรวงนางสะท้อนถอนใจยอดมณีศรีศิลป์ปิ่นสวรรค์        หล่อหลอมจอมขวัญผ่องใส
คือแก้วแพร้วพร่างกระจ่างใจ   อาบไออมฤตนิจนิรันดร์...

คำที่พิมพ์ตัวแดง  ดิฉันยังแปลไม่ออกจนบัดนี้ว่าคุณทวีปวรหมายถึงอะไร โดยเฉพาะ
เพลิงบุญอรุณกาลผ่านทรวง

คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง      คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ
นางต้องถอนใจแรงมากทีเดียว จนทรวงไหวกระเพื่อมเหมือนคลื่นในทะเล

คำว่า หล่อหลอม ใช้ในความหมายว่าอะไร
คุณศิลาหรือท่านอื่นๆพอจะอธิบายได้บ้างไหมคะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 07, 06:54
นั่งอยู่หลังห้องเรียน  ตั้งใจฟังคุณเทาชมพู




หล่อหลอมจอมขวัญผ่องใส    อาจจะหมายความว่านางได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีให้เป็นคนแจ่มใส  มีจิตใจบริสุทธิ์

ตามความเข้าใจ  โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด   แล้วจะไปถอนใจทีกระเทือนยังคลื่นสมุทรเชียวหรือคะ




ิ์


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 พ.ย. 07, 08:46
ศกุนตลา
สวยเหมือนนางฟ้าจากสวรรค์
...
ยามนางหายใจ
กวีจิตใจปั่นป่วนไหวหวั่นราวโดนคลื่นมหาสมุทรซัด
ศกุนตลา
สูงส่งดังยอดเพชรที่งาม
เจียระไน(หล่อหลอม)จนใสบริสุทธิ์
ส่องประกายกระจ่าง
อาบไออมฤตตลอดกาล..


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 07, 09:18
สวัสดีค่ะคุณกุ้งแห้งเยอรมัน


สองเนตรงามกว่ามฤคิน  กับ  น้ำค้าง ค้างกลีบกุหลาบอ่่อน  คือเนตรบังอรหยาดหวาน

กุหลาบอ่่อน หมายความว่ากุหลาบตูมใช่ไหมคะ   คิดแล้วข้องจิตไม่รู้วายค่ะว่าไปรับน้ำค้างได้อย่างไร


งามโอษฐดังใบไม้อ่อน   กับ   โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตน์ชัชวาล   
ใบไม้อ่อนแรกผลิ ยังม้วนตัวอยู่   ค่อยๆคลี่บาน  กับ  ริมฝีปากของแอนจลีนา โจลี 


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 พ.ย. 07, 09:36
    สวัสดีทุกท่าน ครับ

    คิดว่า   ตรงหล่อหลอม คือ นางงามผ่องใสเหมือนใช้แก้วมณีชั้นเลิศมาหล่อหลอมปั้นนางขึ้นมา

    และ ตรงเพลิงบุญ คือ  ผลบุญแรงดังไฟที่สว่างเหมือนแสงยามเช้าได้สุมผ่านทรวงนาง  ทำให้ทรวงนางเต็มเอิบอิ่ม
ยามถอนใจทรวงจึงเคลื่อนเหมือนกับคลื่นในมหาสมุทร ครับ

   


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 พ.ย. 07, 09:59
        เคยได้ฟังคุณเพ็ญศรีร้องเพลงนี้สดทางทีวี ตอนแต่งเสร็จใหม่ๆ  ครูเอื้อใส่ทำนองจากคำร้องของคุณทวีปวร น้องชายคุณรพีพร

        ตอนนั้นคุณเพ็ญศรี ซึ่งออกจากวงสุนทราภรณ์แล้วเปิดไนท์คลับชื่อนี้ ดูเหมือนอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ครับ

        ความงามของนางจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ 

               ดูผิวสินวลละอองอ่อน               มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น

        สองเนตรงามกว่ามฤคิน                     นางนี้เป็นปิ่นโลกา

        งามโอษฐดังใบไม้อ่อน                     งามกรดังลายเลขา

        งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า                      งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 พ.ย. 07, 10:41
สวัสดีค่ะคุณกุ้งแห้งเยอรมัน
สองเนตรงามกว่ามฤคิน  กับ  น้ำค้าง ค้างกลีบกุหลาบอ่่อน  คือเนตรบังอรหยาดหวาน
กุหลาบอ่่อน หมายความว่ากุหลาบตูมใช่ไหมคะ   คิดแล้วข้องจิตไม่รู้วายค่ะว่าไปรับน้ำค้างได้อย่างไร
งามโอษฐดังใบไม้อ่อน   กับ   โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตน์ชัชวาล   
ใบไม้อ่อนแรกผลิ ยังม้วนตัวอยู่   ค่อยๆคลี่บาน  กับ  ริมฝีปากของแอนจลีนา โจลี 

สวัสดีค่ะคุณwandee หลับตาคิดถึงตาหวานสวยๆของผู้หญิง คงจะประมาณเพชรา แล้วนึกถึงกุหลาบกลีบบาง อ่อนค่ะ น้ำค้างบริสุทธิ์ ใส
โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตน์ชัชวาล ดิฉันว่าคุณทวีปเป็นนักกลอนที่ชอบเล่นสัมผัสในพราวพราย ปากอิ่มๆเฉยๆคงไม่เพราะ เลยต้องพริ้มรัตน์ชัชวาล... หะรูหะรามาก รุ่มรวยสัมผัสเหลือเกิน แปลแต่ละคำคงคิดหนัก..ค่ะ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 07, 11:26
อ่านคำอธิบายของคุณกุ้งแห้ง และของคุณ SILA   ชอบมากค่ะ     

ไม่มีศกุนตลาในมือค่ะ  อ่านจากเว็บ

โฉมเฉลา  นงเยาว์ยั่วยวนเสน่หา
กามเทพแผลงศรบุษบา
ต้องอุราเรียมไหม้ดังไฟกัลป์
ยามพี่แรกเห็นอนงค์นาง
พี่เหมือนกวางต้องศรแทบอาสัญ
ยืนนิ่งพินิจพิศพรรณ
เลอสรรรูปเรี่ยมเอี่ยมอุไร

แหม...ทั้งสวยทั้งน่าเสน่หา



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 07, 15:27
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน....อาจารย์สอนภาษาไทยของดิฉันเคยแปลให้ฟังว่า ใบไม้อ่อนบางชนิดเป็นสีแดงเรื่อๆอมชมพู  ก่อนจะแก่กลายเป็นเขียว  อย่างใบมะม่วง   
ปากของศกุนตลาเป็นสีแดงเรื่อตามธรรมชาติ  เทียบได้กับใบไม้อ่อนแบบนั้น
ส่วนปากบานเพราะฉีดฟอร์มาลีน...เอ๊ะ ไม่ใช่   นั่นเขาฉีดตอนตาย    คือฉีดอะไรสักอย่างเข้าไปจนกว้างบานกระจาย  อย่างดารา  ฮือฮือ ไม่ใช่ปากศกุนตลาค่ะ

น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน  เป็นแบบรูปนี้ได้ไหมคะ คุณวันดี


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 07, 16:01
ศกุนตลาของคุณทวีปวรเป็น
นึกภาพดวงตาของศกุนตลา กลมแจ๋ว ใสหวาน  เหมือนน้ำค้างบนกลีบกุหลาบ
ปากอิ่ม น่าจะแดงจัดสะดุดตา
แต่หายใจเหมือนคลื่นนี่ยังนึกภาพไม่ออก นอกจากว่าหุ่นของเธอจะอวบท่อนบนมาก

ขอบคุณที่เข้ามาแจมค่ะ คึกคักทันตาเห็น



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 พ.ย. 07, 17:15
ภาพ ศกุนตลา ฝีมือครูเหม เวชกร จากหนังสือ ภาพนางงามวรรณคดีครับ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 07, 10:36
ขอบคุณค่ะคุณศิลา ที่นำภาพวาดอาจารย์เหมมาให้ชมกัน
ดิฉันรู้สึกว่า นางแบบที่โพสท่าศกุนตลา  เห็นทีจะโพสแบบนางแบบฝรั่งนะคะ
ท่ายกแขนขึ้นข้างหนึ่งแบบนี้  คุ้นๆตา


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 พ.ย. 07, 14:20
เครื่องแต่งตัวละครได้กำหนดไว้ให้ ศกุนตลา ในตอนต้นแต่งขาวล้วน
กระบังหน้าและเครื่องแต่งดอกไม้สดล้วน  ช้องเกล้ามวย
ตอนกลาง แต่งเครื่องนางเอก ใส่มงกุฏกบัตริย์ตรี
ตอนปลายนุ่งขาวห่มขาว เครื่องแต่งผมเป็นดอกไม้ขาว ช้องถักเปีย


ผ้าขาวขลิบแดงนั้น  จัดไว้ให้พระกัณวะดาบส
ผ้านุ่งห้อยชายโจงชาย  เสื้อแขนสั้น  ผ้าห่มเฉียงบ่า
ชำาผ้าขาวขลิบแดง  แต่งดอกไม้ขาว
ไม่ผัดหน้า  ติดหนวด เคราหงอกขาว
ถือพัดใบตาลด้ามตรงสั้นๆ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 14 พ.ย. 07, 22:07
ภาพของเหม เวชกร มีอิทธิพลกับผม และคนรุ่นผมครับ
ส่วนเพลงไทย ผมจำได้แต่ชุดจุุฬาตรีคูณ ยังเคยถามสาวๆเลยว่า มะลุลีคืออะไร :-\ :-\


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 07, 22:22
อีกเพลงที่คุณเพ็ญศรีร้องได้ไพเราะมาก คือเพลง ดวงใจ  จากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง "ท้าวแสนปม"  ครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นคนแต่งทำนอง  มีการดัดแปลงคำบ้างเล็กน้อยในตอนท้าย  แต่ก็ไม่ได้ทำให้ไพเราะน้อยลง

โอ้ว่าดวงใจอยู่ไกลลิบ                   เหลือจะหยิบมาชมภิรมย์สันต์
เหมือนดวงดาววาววาวอยู่ไกลครัน   ชิดสวรรค์สุดเอื้อมมาเชยชม
เสียแรงชื่ออุษานารี                      ไยไม่มีเทวามาอุ้มสม
ปล่อยให้นั่งฟูมฟกอกตรม               ร้อนระบมจิตใจดังไฟราน
อ้าองค์เทวาสุรารักษ์                     ทรงฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหาศาล
ช่วยดลใจให้ชู้คู่ชีวานต์                  เสียวซ่านเสน่หามาไวไว


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 พ.ย. 07, 11:48
      เพลงนี้ ตรงคำร้อง เสียแรงชื่ออุษานารี  ไยไม่มีเทวามาอุ้มสม  ทำให้มีบางเว็บเข้าใจว่า
เป็นเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์

       อีกหนึ่งเพลงไพเราะจากท้าวแสนปม คือเพลง สาส์นรัก เป็นเสียงคุณมัณฑนา โมรากุล ครับ

ในลักษณ์นี้ว่าน่าประหลาด            เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา                   หรือจะกล้าแต่เพียงวาที

เห็นแก้วแวววับที่จับจิต                ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี           อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ

อันของสูงแม้ปองต้องจิต              ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ               หรือแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม

ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง          คงชวดดวงบุปผาชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม                จึงได้ออมอบกลิ่นสุมาลี

       


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 07, 20:37
ชอบเพลงนี้ค่ะคุณศิลา  อ่านเนื้อเพลงนี้ทีไร   อดคิดไม่ได้ว่าผู้หญิงในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖  เป็นสาวมั่นเอาการ
เขียนสาส์นแบบนี้ ทั้งท้าทายทั้งเฉียบคม ไม่เอาแต่ประหม่าอาย    ในขณะเดียวกันก็ทดสอบฝ่ายชายไปด้วย
ว่าเก่งจริงไหม   
ถ้าหนุ่มคนนั้นไม่ใช่หนุ่มมั่น   เกิดแข้งขาสั่นกลัวทหารยาม  เห็นทีจะอดหัวโตลูกเดียว

เพลงจากวรรณคดี มีเพลงไหนอีกบ้างนะคะ นึกไม่ออกตอนนี้
จำได้แต่ว่าเนื้อเพลงยุคก่อนนั้น หลายเพลงงดงามด้วยวรรณศิลป์   ฟังแล้วเกิดจินตนาการได้กว้างไกล


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 07, 15:26
       เคยลองค้นเพลงจากวรรณคดีแล้วเก็บไว้อยู่บ้าง ครับ

         ข้อความจากท้าวแสนปมก่อนที่นางจะตอบเป็นสาส์นรัก

       ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย         กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ                      ทำไฉนจะพ้นไฟราญ
เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ                 เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล
สู้กรำลำบากยากนาน                    ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป
ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม              จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย                    หรือจะใฝ่ในชาวปัถพิน
โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต                 จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดหล้าดังฟ้าดิน                จะได้สมดังจินต์ฉันใด

          ครับ นางเอกมั่นมาก ชวนให้นึกถึงนางเอกที่ฉลาดและเก่งมากอีกนางหนึ่งในพระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ คือ
ปอร์เชีย จากเวนิส วาณิช ที่มี ๓ เพลงไทยนำบทพระราชนิพนธ์มาใส่ทำนอง
 


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 07, 16:44
           ตอน ปอร์เชียเลือกคู่ โดยให้ชายเลือกหีบสามใบ เป็นเพลง ความรัก ใส่ทำนองโดย ครูสง่า อารัมภีร์

        ความเอยความรัก               เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางวางหัวใจ           หรือเริ่มในสมองตรองจงดี
แรกเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง               อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระตี          ผู้ใดมีคำตอบ.ขอบใจเอย

       ตอบเอยตอบถ้อย                เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย 
ตาประสบตารักสมัคไซร้                เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน 
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัค                 เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน          ร้องรำพรรณสงสารรักหนักหนาเอย

       ในหนังสือเป็น เวนิสวานิช



กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 07, 18:23
         ตอน  ปอร์เชียว่าความ

         อันว่าความกรุณาปรานี            จะมีใครบังคับก็หาไม่ 
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ              จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ                แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น                 เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา


        เป็นเพลงนักเรียนพยาบาล  แต่งเนื้อร้องเพิ่มโดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม  ทำนอง โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน

        อันความกรุณาปรานี                   จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ                  จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

        ข้อความนี้องค์พระธีรราชเจ้า            พระโปรดเกล้าประทานให้ใจถวิล
ใช้คุณค่ากรุณาไว้อาจิณ                        ดั่งวารินทร์จากฟ้าสู่สากล

        อันพวกเราเหล่านักเรียนพยาบาล       ปณิธานอนุกูลเพิ่มพูนผล
เรียนวิชากรุณาช่วยปวงชน                     ผู้เจ็บไข้ได้พ้นทรมาน
แม้โรคร้ายจะแพร่พิษถึงปลิดชีพ               จะยึดหลักดวงประทีปคือสงสาร
ยอมเหนื่อยยากตรากตรำใจสำราญ             อุทิศงานเพื่อคนไข้ทั้งใจกาย

       คุณมัณฑนา โมรากุล ร้องนำหมู่ ครับ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 07, 18:47
        และ    ตอนท้ายเรื่อง ลอเร็นโซกล่าวถึงคนไร้ดนตรีการ 
เป็นเพลง ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ ใส่ทำนองโดย ครูสง่า อารัมภีร์
 
ชนใดที่ไม่มีดนตรีการ               ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ        เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก             มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี 
และดวงใจย่อมดำสกปรก           ราวนรก ชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้            เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 19 พ.ย. 07, 20:18
ติดอันดับความหวานแห่งปีนะครับ กระทู้ี้นี้ ;)


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 07, 20:41
เห็นด้วยค่ะ   ไม่ต้องเติมน้ำตาลก็ยังได้


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 พ.ย. 07, 06:51
พูดถึงคุณมัณฑนา..
ชอบเพลง สายลมครวญค่ะ
ยิ่งลมหนาวโชยมา ฟังเพลงนี้แล้ว...ได้อารมณ์ ขนาดหลานชายวัยหนุ่มฟังไปด้วยในรถยังบอกเลยว่า ใครร้องครับ อา..เพราะมาก ขอเนื้อค่ะ คุณsila


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 พ.ย. 07, 10:24
      จากบ้านคนรักสุนทราภรณ์ ครับ

                           สายลมครวญ 
 
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เวส สุนทรจามร       
 
          ฟังเสียงเยือกเย็นไม่เห็นอะไร          ฟังเสียงแต่ไกลฟังคล้ายเสียงลม
ทอดใจถอนอ่อนอารมณ์                         ฟังแล้วตรอมตรมเมื่อยามสายลมคร่ำครวญ
         ลมเอ๋ยอย่าครวญจงหวนกลับมา         ช่วยพัดช่วยพานำรักชื่นชวน
สายลมครวญคร่ำเหมือนคำเธอครวญ             หัวใจรัญจวนเมื่อเธอร้องครวญไกลไกล

เสียงแว่วแผ่วเบาเบาแสนเศร้าจับใจ               เออหนอกระไรเธออยู่ไหนฉันยังใฝ่รำพัน

          ฟังเสียงคร่ำครวญลมหวนผ่านมา        ใยหนอไม่พากลิ่นรักฝากฉัน
ได้แต่ชะเง้อฟังเสียงเธอนั่น                       เลยเพ้อรำพันเสียงนั้นคือเธอเรียกหา
        ลมพัดผ่านพลิ้ววาบหวิวหัวใจ              พอพัดผ่านไปไม่พัดกลับมา
เงียบใจเหงาเศร้าอุรา                              ใจฉันระอาช่วยพาฉันไปกับลม
        ลมเอ๋ยอย่าครวญจงหวนกลับมา           ช่วยพัดช่วยพานำรักรื่นรมย์
ทุกวันเคยชื่นทุกคืนเคยชม                        ฝืนใจให้ข่มเมื่อลมพัดเชยเลยไป

หลงคู่อยู่คนเดียวแสนเปล่าเปลี่ยวใจ               เออหนอกระไรลมผ่านไปฉันยังใฝ่รำพัน

        ลมเอ๋ยช่วยนำคำรักให้เธอ                  ว่าฉันละเมอยังเพ้อทุกวัน
ลมผ่านเลยไปไม่รับคำมั่น                          ใจฉันหวิวหวั่นไม่เห็นใจกันบ้างเลย 

          เหมือนกับหลายๆ คนครับ ชอบตอนคุณมัณฑนาครวญว่า  เสียงแว่วแผ่วเบา กับ เออหนอกระไร
มีอีกสายลมที่ไพเราะมากเช่นกัน ครับ

                          สายลมว่าว 
 
คำร้อง ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์
ทำนอง ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์       
 
 
        โอ้สายลมว่าว             เมื่อยามร้อนเร่าเจ้าเคยพัดโบยพัดโชยให้ชื่นใจ
ลมเอยเมื่อไหร่                    เจ้าจึงพัดให้หทัยสำราญผ่านฉิวโชยมา
       ร้อนใจไกลจากเธอ ละเมอคอยเรื่อยมา
ร้อนรนในอุรา หวังลมพัดพาให้คลายร้อนทอนความเศร้า
       ลมเอ๋ยลมว่าว              จิตใจร้อนผ่าว เจ้าจงพัดมาอย่าช้าลมเอย
       โอ้สายลมว่าว              เมื่อยามร้อนเร่าเจ้าเคยพัดโบยพัดโชยให้ชื่นเชย
เฉื่อยฉิวรำเพย                    ข้าวอนขอเอ่ย เจ้าเคยพัดเย็นไม่เว้นวายมา
 
บันทึกเกร็ดเพลงว่า
         เพลง "สายลมว่าว" เป็นเพลงที่ดิฉันรัก และรู้สึกว่า ตัวเองร้องได้สมบูรณ์มาก ตอนที่ร้องเพลงนี้ได้เตรียมตัวลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์แล้ว
กำลังตกแต่งร้านตัดผมตัดเสื้อที่นางเลิ้งชื่อว่า ร้านมัณฑนา ดิฉันร้องเพลงนี้พร้อม ๆ กับเพลงชื่อ "เงาแห่งความหลัง" ซึ่งวินัยร้องคู่ได้ไพเราะถูกใจมาก
บันทึกเสียงไว้ปี 2493 
และ
         เพลงที่มัณฑนาบันทึกเสียงไว้ก่อนที่จะออกจากราชการ หรือก่อนจะออกจากวงสุนทราภรณ์มีหลายเพลง ปรากฏว่าทุกเพลงจะร้องได้ดีมาก
เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่มัณฑนาไม่ค่อยได้ไปร้องงานกลางคืน เพราะเตรียมตัวไปเปิดร้านเสริมสวย และเตรียมตัวเป็นแม่บ้าน เนื่องจากได้ตัดสินใจ
แต่งงานกับนายบุญยงค์ เกียรติวงศ์ นักธุรกิจที่เป็นเพื่อนกับวินัย จุลละบุษปะ  (เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล)
             


กระทู้: ยาใจ ยาจก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 พ.ย. 07, 12:45
ขอบคุณคุณsilaในน้ำใจและเกร็ดที่แถมมา นึกเพลงสายลมว่าวไม่ออกค่ะ