เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: luanglek ที่ 01 ม.ค. 11, 23:52



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ม.ค. 11, 23:52
เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช  ๒๕๕๔
ผมใคร่ขอเชิญท่านที่มีความรู้วรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์
มาทดสอบความรู้ด้วยการตอบคำถาม ๑๐๐ ข้อ
เพื่อค้นหาสุดยอดแฟนพันธุ์แท้รามเกียรติ์ประจำเว็บเรือนไทย

ใครที่คิดว่า เป็นมือฉมังเรื่องรามเกียรติ์ เชิญถือฉมวกออกมาเตรียมไว้ได้เลย
 ;D



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ม.ค. 11, 00:01
ขึ้นปีใหม่ไม่ทันข้ามวัน
คุณหลวงก็มีอะไรมาให้เล่นอีกแล้ว

เอ้า... ผมมีแต่มีดสั้น ไม่มีฉมวก จะลองพยายามคลำๆ แทงดูแล้วกันครับ
(แฟนพันธุ์ทางคงเกินเอื้อม เป็นได้แต่แฟนพันธุ์ทาง) ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ม.ค. 11, 00:31
กรอบกติกา

๑.คำถามมีจำนวน ๑๐๐ ข้อ  แต่ละข้อมีความยากง่ายปะปนกัน
ใครตอบถูกต้องได้จำนวนข้อมากที่สุด จะเป็นผู้ได้รับการยกย่องว่า
"เป็นแฟนพันธุ์แท้ประจำเว็บเรือนไทย"

๒.ผู้ที่ตอบคำถามได้ถูกต้องครบถ้วน ละเอียด แจ่มแจ้ง
ตามที่คำถามระบุ  และตอบได้ก่อนคนอื่น  ถือว่าผู้นั้นได้คะแนนข้อนั้นไป
ผู้ใดตอบถูกภายหลังไม่มีคะแนน ฉะนั้นต้องตอบได้ถูกครบถ้วนและเร็วด้วย

๓.ในกรณีที่ผู้ตอบตอบคำถามยังไม่ชัดเจน  ผมจะขอให้อธิบาย
ถ้าอธิบายได้แจ่มแจ้ง  ก็จะได้คะแนนข้อนั้นไป  แต่ถ้าอธิบายไม่ได้
และมีผู้อื่นมาอธิบายได้  ผู้ที่อธิบายได้ได้คะแนนข้อนั้นไป

๔.คำถามครอบคลุมเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นวรรณคดี
ยังรวมตลอดไปถึงรามเกียรติ์ที่เป็นการแสดงมหรสพต่างๆ  และงานศิลปะด้วย

๕.รามเกียรติ์ที่ใช้ตั้งคำถาม  จะใช้รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เป็นหลัก
และใช้รามเกียรติ์ฉบับอื่นประกอบร่วมด้วยตามสมควร   
นอกจากนี้ก็อาจจะมีพาดพิงไปถึงรามายณะสัก ๒-๓ คำถาม

๖.ทุกคำถาม  ผู้ตอบสามารถเปิดหนังสือ  รื้อเอกสาร  ค้นในอินเทอร์เน็ต
หรือแม้แต่โทรศัพท์ถามผู้อื่น มาตอบได้
(แต่ห้ามส่งข้อความหรือโทร.มาถามผมหลังไมค์เป็นอันขาด)

 8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ม.ค. 11, 00:43
ขึ้นปีใหม่ไม่ทันข้ามวัน
คุณหลวงก็มีอะไรมาให้เล่นอีกแล้ว

เอ้า... ผมมีแต่มีดสั้น ไม่มีฉมวก จะลองพยายามคลำๆ แทงดูแล้วกันครับ
(แฟนพันธุ์แท้คงเกินเอื้อม เป็นได้แต่แฟนพันธุ์ทาง) ;D

อย่าถ่อมตนสิครับ  มีดสั้นนี่แหละแทงแม่นๆ ก็ได้แผลฉกรรจ์เหมือนกัน ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ม.ค. 11, 00:59
ขอโหมโรงด้วยคำพากย์เบิกหน้าพระ
เป็นไหว้ครู เอาฤกษ์เอาชัยก่อน
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ข้าไหว้พระบาทสามองค์
อิศวรผู้ทรง
อุสุภราชฤทธิรอน
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ข้าไหว้พระนารายณ์สี่กร
ทรงครุฑเขจร
ประจญอรินเรืองณรงค์
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ข้าไหว้จัตุรพักตร์ผู้ทรง
มหาสุวรรณหงส์
มหิทธิฤทธิลือนาม
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

สามองค์ทรงภพทั้งสาม
สามโลกเข็ดขาม
ขยดขยาดลือขจร
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

เรืองเดชเรืองเวทเรืองพร
ปราบฟ้าดินดอน
พระเดชก็จบจักรวาฬ
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ไหว้พรหมบรมราชอาจารย์
สาปสารพันการ
เครื่องเล่นในโลกโลกา
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

กลางวันโขนละครโสภา
หุ่นเห็นแจ่มตา
ประดับด้วยเครื่องเรืองไร
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ราตรีอัคคีแจ่มใส
หนังส่องแสงไฟ
จึงเห็นวิจิตรลวดลาย
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

หวังประสาทราษฎรทั้งหลาย
ชมชื่นสบาย
สมบูรณ์พิพัฒน์สถาพร
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

เร่งเร็วเอาเทียนติดปลายศร
อ่านเวทขอพร
ศรีศรีสวัสดิสมพอง
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

พลดห่ขานโห่ทั้งผอง
พิณพาทย์ตะโพนกลอง
ดูเล่นให้สุขสำราญ
(ปะตุ๊บปะติงปะตุ๊บปะติงทั่งทั่งติง  เพ้ย!)

ไหว้เท่านี้พอเป็นพิธี 
คำถามจะเริ่มลงตั้งแต่วันอังคารที่ ๔ มกราคมนี้
เชิญท่านผู้สนใจลับอาวุธรอได้เลย
 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 05:07


สวัสดีปีใหม่ค่ะ   

ฉมวกรึ   คุณพระ...เอ๊ย...คุณหลวงเล็ก

ย่อมได้     ตะวันขึ้นแล้วจะไปผูกเชือกมะนิลากับด้ามฉมวก

โอมพระสุริยงพงศ์นารายณ์     ข้าพเจ้าจักเข้าร่วมล่าชาลวันด้วยแน่นอน

ขอถามผู้จะตั้งคำถามว่า(ถามจริง ๆปน ๆ วัตถุประสงค์อื่นด้วยนะคะ) ว่า การกระหมวดหญ้าไว้เป็นพยาน

ตามที่

     เมื่อนั้น                                  ทศเศียรสุริวงศ์เป็นใหญ่
จึงแก้กระทู้ทูลไป                            เมื่อพบนางในพนาวา
ไม่มีผู้คนบ้านเมือง                          กันดารท่าทางกลางป่า
ข้าได้สำคัญสัญญา                          กระหมวดหญ้าเข้าไว้เป็นพยาน
มั่นคงสุจริตพระอัยกา                       ข้ามิได้มุสากล่าวสาร
มาดมิสมคำให้การ                          ขอประทานถวายชีวิต

มาจากธรรมเนียมเก่าปานใด  ที่ไหน  ใครเริ่มใช้กันบ้าง 

(วรรณกรรมสมัยธนบุรี  เล่ม ๑   กรมศิลปากรพิมพ์  ๒๕๓๙  หน้า ๖๖)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ม.ค. 11, 09:07
คำถามนี้ ผู้ถามต้องการมาลองภูมิเป็นแน่แท้

ก็ตอบตามตรงว่า  เคยเรียนในวิชาลูกเสือลูกตะเข้ว่า
ในการเดินทางไกลนั้น  ผู้กำกับอาจจะทำเครื่องหมายต่างๆ
ให้ลูกเสือคอยสังเกตข้างทางว่าต้องเดินตรงหรือเลี้ยวซ้าย-ขวาอย่างไร
การกระหมวดหญ้าเป็นปมไว้ก็เป็นเครื่องหมายบอกทิศทางอย่างหนึ่ง
(แต่จำไม่ได้แล้วว่า กระหมวดหญ้า เป็น เครื่องหมายที่แปลว่าอะไร)

ส่วนการกระหมวดหญ้านั้น คงมีมาแต่บรรพกาล
ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักใช้ไฟนุ่งผ้าทำขวานหินล่าสัตว์
แต่ที่ใช้อ้างเป็นพยานในกฎหมายนั้น
ยังไม่เคยได้ยินว่ามีในกฎหมายโบราณพระอัยการใดกล่าวไว้

เพราะกฎหมายโบราณอย่างกฎหมายลักษณะพยานในกฎหมายตราสามดวง
เท่าที่อ่านและพอจำได้บ้างนั้น  ดูโบราณท่านเน้นเรื่องพยานบุคคลมากกว่า
ส่วนหลักฐานนั้น  ท่านไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน  
จึงคิดว่าท่านให้น้ำหนักพยานหญ้ากระหมวดน้อยกว่าพยานบุคคล

ฉะนั้นที่ถามว่า การกระหมวดหญ้าใช้เป็นพยานในคดีความ
มาจากธรรมเนียมเก่าปานใด  ที่ไหน  ใครเริ่มใช้กันบ้าง  
ตอบว่า  ไม่ทราบว่าเก่าปานใด  แต่หลักฐานเก่าสุดคือรามเกียรติ์ พระเจ้ากรุงธนบุรี
ส่วนจะได้เคยใช้จริงบ้างที่ไหนก็เห็นจะต้องตอบว่า  
ไม่ทราบ  ตายักษ์สิบหัวดูจะเป็นคนริเริ่มใช้คนแรกกระมัง

ถ้าผู้ใดผ่านไปมาแถวนี้พอทราบที่มาที่ไปตามที่คุณวันดีถาม
กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลทิ่มแทงมาบ้างก็จะยินดียิ่งนัก 8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ม.ค. 11, 09:39
คำถามชิมลางให้ลองตอบดูกันก่อน ๑ คำถาม

คุณทราบหรือไม่ว่า  หนุมานมีน้องชายต่างมารดา ๑ คน
และหนุมานกับน้องชายคนนั้นเคยพบกันด้วยแต่ไม่ใช่ในรามเกียรติ์
คำถาม  น้องชายต่างมารดาของหนุมานมีชื่อว่าอะไร
มีมารดาชื่ออะไร  และเขาทั้งสองพบกันในวรรณคดีเรื่องอะไร ตอนใด ???


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ม.ค. 11, 10:25
คุณหลวงให้ชิม ผมเลยชิมทันที

น้องต่างมารดาของหนุมานคือภีมะ หรือภีมเสน พ่อคือพระพาย แม่คือนางกุนตี มเหสีของท้าวปาณฑุ
พบกันในเรื่องมหาภารตะยุทธ ในตอนอาทิบรรพ (บรรพแห่งการเริ่มต้น)
มีเนื้อความว่า หนุมานในฐานะพี่ต้องการจะสั่งสอนภีมะไม่ให้ทนงตัวมากเกินไป
จึงแปลงกายเป็นลิงแก่ ใช้หางปิดทางที่ภีมะเดินผ่านในป่า ภีมะแม้จะมีแรงมหาศาลแต่ก็สู้ลิงแก่ไม่ได้
จึงยอมแพ้ หนุมานสำแดงตน แล้วสั่งสอนภีมะให้ประพฤติตนเป็นคนดี ไม่ทนงตน มีสัมมาคารวะ
ก่อนแสดงอิทธิฤทธิ์ตามที่ภีมะขอร้อง แล้วจากไป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 10:39
คำถามชิมลางสาดฤาท่านผู้เจริญ


ภีมะค่ะ  เพราะฤาษีปาณฑุไม่สามารถนอนกับภรรยาได้เนื่องจากโดนสาปเพราะไปยิงกวางคู่หนึ่งที่กำลังคลอเคลียกัน  

นางกุนตีก็จำเป็นต้องหาผู้ช่วยเหลือ  พระพายก็แวะมาประทานโอรสให้องค์หนึ่ง

วันหนึ่งหนุมานก็แปลงร่างเป็นลิงแก่วางหางปิดทางภีมะไว้ในมหาภารตะยุทธ  อิอิ  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป

ท่านผู้ถามก็ทราบอยู้แล้ว

แหมชิมลาง(สาด)เปรี้ยวไปนิด  ยังไม่ฉ่ำ



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 10:42


คุณหลวงเล็ก!!!

    ไม่ได้เห็นคำตอบของท่านข้างบนเลยนะจะบอกให้   จะว่าตอบทีหลังหรือ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 08:18
นี่แค่คำถามชิมลางคำถามเดียว  ผู้เข้าแข่งขันยังแย่งกันชิมขนาดนี้
ถ้าแข่งจริง  ไม่เล่นกันฝุ่นตลบไปทั้งเรือนหรือนี่

ขอปรบมือให้ทั้งคุณ art47 ในฐานะผู้ตอบถูกต้องคนแรก
และคุณวันดีที่ตอบได้ในเวลาคล้อยหลังกันเล็กน้อย
(แน่นอนผมเชื่อว่าคุณวันดีตอบเองจริงๆ)


เมื่อเป็นดังนี้  ผมจึงจำเป็นต้องเพิ่มกติกาอีกบางข้อ

๗.ผมจะตั้งคำถามครั้งละ ๒-๕ ข้อ  โดยอาจจะตั้งทุกวันหรือวันเว้นวัน
โดยกำหนดเวลาลงคำถามในกระทู้ในเวลา ๐๙.๐๐  -  ๑๐.๐๐ น.
ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ทำให้ท่านผู้เข้าแข่งขันต้องเฝ้ารอตอบคำถามทั้งวัน
จนไม่เป็นอันทำงานการอย่างอื่น (แล้วอาจจะพาลโทษผมว่า
ทำให้เสียเวลาคอยได้)

๘.ผู้ตอบคำถามไม่ว่าคำถามข้อใด   ต้องลอกคำถามมาลงเมื่อจะตอบทุกครั้ง
ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการตรวจคำตอบ (ขี้เกียจเลื่อนดูไปมา  อันจะทำให้ปวดหัวตาลาย)

๙.เมื่อมีคนตอบคำถามข้อใดถูก  ผมจะประกาศยกคำถามข้อนั้นให้คนที่ตอบได้คนแรก
ตัวอย่างเช่น  
คำถามข้อชิมลาง  เป็นของคุณart47
เป็นการสะสมคะแนนของผู้แข่งขัน  ใครเก็บได้มากข้อที่สุด  
ก็เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้รามเกียรติ์ไป

๑๐.การแข่งขันแบ่งออกเป็น ๓ รอบ  ในรอบแรกนี้  มี ๓๐ คำถาม
ส่วนรอบต่อไปอาจจะมีคำถามมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
โดยพิจารณาจากการแข่งขันรอบแรกเป็นหลัก


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 08:19
สหายที่เหน็บมีดสั้น  โปรดอย่าสะดุดฝูงชนแล้วหกล้มมาทางนี้

อย่าลืมว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกันนะคะ

ในสงคราม  ทุกสิ่งทุกอย่างยุติธรรม



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ม.ค. 11, 08:27
มาแล้วๆๆๆๆ

เริ่มกันแต่เช้าเลย
ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก :D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 08:58


ราม...ราม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 09:43
เริ่มการแข่งขัน ;D


คำถามข้อที่ ๑. ถ้าเอ่ยถึงประติมากรรมที่เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์แล้ว 
หลายคนคงนึกถึงประติมากรรมรูปปั้นยักษ์ที่ประตูทางเข้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม   
คำถามคือ   รูปปั้นยักษ์ที่ประตูทางเข้าในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน   มีทั้งหมดกี่ตน     
จงบอกชื่อ  ลักษณะรูปร่าง สี เครื่องแต่งกายของยักษ์แต่ละตน   
พร้อมจับคู่และบอกตำแหน่งประตูที่ยักษ์แต่ละคู่ยืน    ยังไม่หมดเท่านั้น   
จงเล่าด้วยว่า ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ ๕ 
มีเจ้านายพระองค์ใดบ้างที่ทรงรับหน้าที่บูรณะและสร้างรูปปั้นยักษ์
(ตอบให้ครบนะครับ)


คำถามข้อที่ ๒. จงดูภาพแล้วตอบคำถามต่อไปนี้ 
ภาพจิตรกรรมนี้เป็นเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด   จงเล่าเรื่อง   
ภาพจิตรกรรมนี้อยู่ในห้องลำดับที่เท่าใดในพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
ใครเป็นผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ห้องนี้    โคลงรามเกียรติ์ห้องนี้ยาวกี่บท
ใครเป็นผู้เขียนภาพนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓   
และใครเป็นผู้มาเขียนซ่อมในปี พ.ศ. ๒๕๑๙



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 10:02
ภาพจิตรกรรมนี้เป็นเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด   จงเล่าเรื่อง  
ภาพจิตรกรรมนี้อยู่ในห้องลำดับที่เท่าใดในพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ใครเป็นผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ห้องนี้    โคลงรามเกียรติ์ห้องนี้ยาวกี่บท
ใครเป็นผู้เขียนภาพนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓  
และใครเป็นผู้มาเขียนซ่อมในปี พ.ศ. ๒๕๑๙


ห้อง ๑๑๕  อัศกรรณมาลาแตกตัวมากมาย

อัศกรรณมาลา หรือ อัศกรรณมาลาสูร   เป็นสัมพันธมิตรของทศกัณฐ์  ครองกรุงดุรัม
หน้าม่วงแก่สองชั้น  เจ็ดหน้า
นำทศคิรีวันและทศคิรีธรลูกทศกัณฐ์ที่เกิดด้วยช้างพังไปเลี้ยง  
เมื่อทราบว่าบุตรบุตรธรรมทั้งสองตายด้วยข้าศึก  ก็ยกทัพไปรบกับพระราม
มีฤทธิ์คือเมื่อตัวขาดออกจากกัน  ก็กลายเป็นสองคน  และขาดจากสองคนเป็นสี่คน แปดคน  จนถึงพัน ตามพรพระอิศวร
ซึ่งลงท้ายว่าถ้าใครตัดหัวขาดแล้วกวาดลงน้ำคงคาเสีย  จึ่งจะตาย   พระรามจึงแผลงศรพรหมมาสตร์ไปตัดหัวอัศกรรณทั้งพัน  
แล้วเกิดลมกรดพัดหอบร่างไปทิ้งที่แม่คงคา

ผู้เขียน ในปี ๒๔๗๓ คือ ร.ต. เขมี  ตาละลักษณ์
ผู้ซ่อมใน ๒๕๑๙ คือ พ.ต.ท. อำพัน  ศิรสงเคราะห์

โคลงมี     ๒๘    บท
ผู้แต่งคือ  ขุนท่องสื่อคนเก่า


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ม.ค. 11, 10:07
สหายชาวปากน้ำ

ทิ้งข้อแรกไว้ด้วยเถิด ใกล้จะเสร็จแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 10:26
สมบูรณ์หรือยังคะ

เดี๋ยวต้องไปตรวจ หนังสือเก่าสยามประเภท เล่ม ๕    ที่สหายจะนำมาตอน ๑๑๐๐ น.


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ม.ค. 11, 10:41

คำถามข้อที่ ๑. ถ้าเอ่ยถึงประติมากรรมที่เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์แล้ว 
หลายคนคงนึกถึงประติมากรรมรูปปั้นยักษ์ที่ประตูทางเข้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม   
คำถามคือ   รูปปั้นยักษ์ที่ประตูทางเข้าในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน   มีทั้งหมดกี่ตน     
จงบอกชื่อ  ลักษณะรูปร่าง สี เครื่องแต่งกายของยักษ์แต่ละตน   
พร้อมจับคู่และบอกตำแหน่งประตูที่ยักษ์แต่ละคู่ยืน    ยังไม่หมดเท่านั้น   
จงเล่าด้วยว่า ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ ๕ 
มีเจ้านายพระองค์ใดบ้างที่ทรงรับหน้าที่บูรณะและสร้างรูปปั้นยักษ์
(ตอบให้ครบนะครับ)



คำตอบ
ยักษ์ที่ประตูทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามมี 12 ตน 6 คู่

คู่แรก สุริยาภพ กายสีแดงชาด สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ สวมแหวนทอง ๑ วง บุตรท้าวจักรวรรดิ แห่งกรุงมลิวัน
กับ อิทรชิต กายสีเขียว ปากขบตาโพลง เขี้ยวคุด ชฎายอดกาบไผ่ บุตรทศกัณฐ์ แห่งกรุงลงกา
ประตูด้านทิศตะวันออก (ประตูเกยเสด็จหน้า)

คู่สอง มังกรกัณฑ์ กายสีเขียว ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎยอดนาค บุตรพญาขร พญายักษ์แห่งโรมคัล
กับ วิรุฬหก กายสีขาบหรือสีน้ำเงินแก่ นัยน์ตาเหมือนจระเข้ ปากแสยะตาโพลง สวมมงกุฎยอดนาค พญารากษส แห่งมหาอันธกาลนคร
ประตูหน้าพระอุโบสถ

คู่สาม ทศคิรีธร กายสีหงดิน หรือสีหม้อใหม่ ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎกาบไผ่ ปลายจมูกเป็นงวงช้าง บุตรทศกัณฐ์กับนางช้าง
กับ ทศคิรีวัน กายสีเขียว ปลายจมูกเป็นงวงช้าง บุตรทศกัณฐ์ พี่น้องฝาแฝดกับทศคิรีธร
ประตูทิศใต้หลังพระอุโบสถ ติดกับประตูที่ผ่านเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นกลาง

คู่สี่ จักรวรรดิ พญายักษ์ผู้ครองกรุงมลิวัน กายสีขาว ๔ เศียร สวมมงกุฎยอดหางไก่ สวมแหวนประดับนิ้วก้อยขวาหนึ่งวง
กับ อัศวมารา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอัศวกรรณมาราสูร กายสีม่วงแก่ เศียร ๒ ชั้นสวมมงกุฎยอดหางไก่ สวมแหวนประดับ ๒ วง พญายักษ์ครองเมืองดุรัม
ประตูพระฤษีด้านหลังพระอุโบสถ

คู่ห้า ทศกัณฐ์ หรือพญาราพณ์ กายสีเขียว ใบหน้ามี ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า และมีหน้าเล็กๆ ตรงท้ายทอยอีก ๓ หน้า ชั้นที่ ๒ เป็นหน้าเล็กๆ ๔ หน้า เรียง ๔ ด้าน ชั้นที่ ๓ เป็นหน้าพรหมด้านหน้า และหน้ายักษ์ด้านหลัง ทุกหน้าจะมีลักษณะ ปากแสยะตาโพลง สวมมงกุฎยอดชัย พญายักษ์เจ้ากรุงลงกา
กับ สหัสเดชะ กายสีขาว ปากแสยะโพลง สวมมงกุฎยอดชัย ใบหน้ามีสีขาว และเรียงหน้าเป็น ๔-๕ ชั้น ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า และหน้าเล็กๆ เรียงกัน ตรงท้ายทอยด้านหลัง ๓ หน้า ส่วนชั้นที่ ๒ ๓ และ ๔ ทำเป็นหน้าเล็กๆ เรียงลดหลั่นกันไป ชั้นสุดท้ายหน้าพรหม พญารากษส ครองเมืองปางตาล
ประตูหลังพระศรีรัตนเจดีย์

คู่หก มัยราพณ์ กายสีม่วงอ่อน ๑ พักตร์ ๒ กร ใบหน้า และลำตัวมีสีม่วงอ่อน ปากขบจระเข้ มงกุฎหางไก่ พญายักษ์ครองเมืองบาดาล
กับ วิรุฬจำบัง กายสีมอหมึก หรือสีขาวเจือดำ ๑ พักตร์ ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎหางไก่ พญายักษ์ครองเมืองจารึก
ประตูหลังพระศรีรัตนเจดีย์

ส่วนเจ้านายที่ปฏิสังขรณ์และบูรณะในคราวฉลองพระนครครอบ 100 ปีนั้น มีปรากฏคือ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร (กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร (กรมพระนราธิปประพันธพงศ์)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ (กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ม.ค. 11, 10:53
เพิ่มเติม คำตอบข้อ 2 ของคุณวันดีครับ

โคลงรามเกียรติ์ในห้องนี้มีสี่แผ่น จารึกบนหินอ่อนติดอยู่ตรงเสาระเบียงคดครับ

ส่วนผู้วาดภาพเมื่อครั้งฉลองกรุง 150 ปี นั้น คือนายร้อยตรี เขมี ตาละลักษณ์ อยู่กรมยุทธศึกษาทหารบก (ข้อมูลปี 2469)
เป็นบุตรคนที่สาม ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ) กับคุณหญิงวาด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 11:00
โอ้โฮ  :o  ฝุ่นตลบทีเดียว
ผู้แข่งขันห้อกันสุดฤทธิ์จริงๆ 

ผมให้เวลาคุณ art47 แก้ไขตัวสะกดและชื่อยักษ์ให้ถูกต้องก่อน
เดี๋ยวบ่ายๆ จะมาตรวจคำตอบ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 11:01

เพิ่มเติมแบบนี้  คำนับรับไว้ด้วยความนับถือ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ม.ค. 11, 11:07
อินทรชิต

มังกรกัณฐ

วิรูฬหก


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 11:36
จากคำถามข้อที่ ๒ ผมขอซักผู้ตอบคำถามข้อนั้นต่อดังนี้

รูปปั้นยักษ์ในวัดพระแก้วสร้างด้วยคติอะไร 
และมีลักษณะแตกต่างจากรูปปั้นยักษ์ที่อื่นๆ อย่างไร



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 12:47
ขออภัย ขอแก้ไขเป็น

จากคำถามข้อที่ ผมขอซักผู้ตอบคำถามข้อนั้นต่อดังนี้

รูปปั้นยักษ์ในวัดพระแก้วสร้างด้วยคติอะไร 
และมีลักษณะแตกต่างจากรูปปั้นยักษ์ที่อื่นๆ อย่างไร


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ม.ค. 11, 13:56
คุณวันดีตอบคำถามข้อที่ ๒. ถูกครบถ้วน

คำถามข้อที่ ๒. เป็นของคุณวันดี

ส่วนคุณอาร์ต ซึ่งตอบข้อที่ ๑  และผมขอซักต่อ
หากไม่มาตอบก่อนตะวันตกดินวันนี้  และหากมีผู้อื่นมาตอบได้
ผมจะยกประโยชน์แก่ผู้ที่มาตอบได้ภายหลังนะครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ม.ค. 11, 15:47
จากคำถามซักไซ้ของคุณหลวง กระผมขอตอบตามความรู้ (และความเดา) ว่า

1. รูปปั้นยักษ์ในวัดพระแก้วสร้างด้วยคติเรื่องทวารบาล  ที่เชื่อกันว่ายักษ์จะทำหน้าที่ช่วยปกป้องรักษา ขับไล่ภูติผี ความชั่วร้ายต่างๆ และปกป้อง
พระพุทธศาสนา โดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ มียักษ์สองตนชื่อ สาตาเศียร กับ เหมวัตสิง
ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในกลุ่มภูเขาตอนเหนือแม่น้ำคงคา ได้นำบริวารยักษ์มาเข้าเฝ้า และสนทนาข้อปัญหาธรรมต่างๆ ในที่สุดได้เกิดศรัทธายอมนอบน้อม
เป็นข้าพระพุทธองค์ ดังนั้นจึงมีคติการสร้างรูปยักษ์เฝ้าวัด ขณะเดียวกันอีกความหมายหนึ่ง รูปปั้นยักษ์ยังอาจหมายถึงท้าวกุเวร ผู้เป็นหัวหน้าของยักษ์
ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสี่ของจตุโลกบาลผู้ปกป้องดูแลโลกและทิศทั้งสี่อีกด้วย

2. ลักษณะที่แตกต่างของยักษ์วัดพระแก้วกับยักษ์ที่อื่นนั้นคือ ยักษ์วัดพระแก้วหันหน้าเข้าวัด ส่วนยักษ์วัดอื่นเช่นที่วัดอรุณหันหน้าออกนอกพระอุโบสถ

ปล. ขอเพิ่มเติมคำตอบของตัวเองครับ
1. ยักษ์วัดพระแก้วทำขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 3
2. ตำแหน่งที่ยักษ์แต่ละคู่ยืนเฝ้านั้นมีชื่อประตูดังนี้
คู่แรก สุริยาภพ และ อินทรชิต เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า)
คู่สอง มังกรกัณฐ์ และ วิรูฬหก เฝ้าประตูหน้าวัว
คู่สาม ทศคีรีธร และ ทศคีรีวัน เฝ้าประตูพระศรีรัตนศาสดา
คู่สี่ ทศกัณฐ์ และ สหัสเดชะ เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หลัง)
คู่ห้า ไมยราพณ์ และ วิรุญจำบัง เฝ้าประตูสนามไชย
คู่หก จักรวรรดิ และ อัศกรรณมารา เฝ้าประตูพระฤๅษี (หมอชีวกโกมารภัจจ์)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 09:05
คำถามข้อที่ ๑. เป็นของคุณart47

มีผู้ร้องเรียนว่า   คำถาม ๒ ข้อแรก  ยากเหลือเกิน
อ้าว  ก็บอกแล้วว่า คำถามสำหรับแฟนพันธุ์แท้
ถามง่ายๆ ก็ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้สิครับ   แต่เมื่อร้องเรียนมา
เราก็รับฟัง  และจะพยายามตั้งคำถามให้ง่ายขึ้น


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 09:07

ไม่ได้ร้องเรียนค่ะ    บ่นดัง ๆ เท่านั้น




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 09:25
คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง   
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

คำถามข้อที่ ๔. มนุษย์ที่กลายเป็นอมนุษย์ในเรื่องรามเกียรติ์ หมายถึงใคร 
โปรดเล่าเรื่องประกอบด้วย

คำถามข้อที่ ๕. โขนมีกี่ประเภท   แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร

คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)

ลุยได้เลย  วันนี้ลดระดับความยากลงเล็กน้อย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 10:37
คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง   
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

ขอตอบค่ะ  ;D
ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมด 11 คน (ใช้คำว่าคนหรือตน ค่ะ)
ทั้งหมดเป็น โอรสและธิดา ของท้าวลัสเตียน (ซึ่งเป็นบุตรของท้าวจตุรพักตร์และนางมลิกา)
1.กุเรปัน  มารดาชื่อ ศรีสุนันทา
2.ทัพนาสูร มารดาชื่อ  จิตรมาลี
3.อัศธาดา มารดาชื่อ สุวรรณมาลัย
4.มารัน มารดาชื่อ วรประไภ
5.ทศกัณฐ์ มารดาชื่อ รัชฏา
6. กุมภกรรณ มารดาชื่อ รัชฏา
7. พิเภก มารดาชื่อ รัชฏา
8.พญาขร มารดาชื่อ รัชฏา
9.ทูษณ์ มารดาชื่อ รัชฏา
10.ตรีเศียร  มารดาชื่อ รัชฏา
11.สำมนักขา มารดาชื่อ รัชฏา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 10:45
อ้างถึง
1.กุเรปัน  มารดาชื่อ ศรีสุนันทา

รามเกียรติ์ครับ ไม่ใช่  อิเหนา ดาหลัง
ผมจะตรวจคำตอบก็ต่อเมื่อคุณตอบครบทุกคำถามในข้อนั้น


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 10:48
คำถามข้อที่ ๕. โขนมีกี่ประเภท   แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร

ตอบแล้วครับ

โขนแบ่งออกได้เป็น  5  ประเภท  คือ

1.  โขนกลางแปลง  เป็นการแสดงกลางสนามอย่างหนังใหญ่  สร้างอาคารเป็นพลับพลาข้างหนึ่ง  เป็นป่าข้างหนึ่ง  ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์และเจรจา  มีคนพากย์หลายคน  มีปี่พาทย์  2  วง  ตั้งอยู่บนร้านสูงเพื่อให้เห็นการแสดง  การแต่งกายนำเครื่องแบบกษัตริย์มาใช้ตามฐานะของตัวละคร

2.  โขนนั่งราว  เกิดขึ้นโดยเอาตัวอย่างโขนกลางแปลง  ฉากหลังทำเป็นรูปนูนเช่นป่าเขา  พลับพลา  ปลูกร้านสูงเพื่อตั้งวงปี่พาทย์  ทั้งหัวโรงท้ายโรง  ตัวละครจะออกมาเต้นบนโรง  ซึ่งโรงโขนปลูกพอดีสายตาคนดู  มีการวางราวจากคนดูทั้งสองข้างบนโรง  เพื่อให้ตัวละครนั่ง  มีคนพากย์เหมือนโขนกลางแปลงทุกประการ

3.  โขนโรงใน  เป็นการแสดงที่ผสมผสานการแสดงทั้ง  2  ประเภท  คือ  โขนกับละครใน โดยดำเนินเรื่องโดยบทร้องและมีคนพากย์เมื่อเจรจา  มีการเพิ่มเตียงที่ใช้ในการแสดงอีกหนึ่งตัว  ตัวพระรามและพระลักษณ์ให้ผู้หญิงแสดงได้  ถึงแม้อย่างไรก็ยังคงยึดรูปแบบเดิมไว้คือมีคนร้องและเจรจาแทน

4.  โขนหน้าจอ  มีวิวัฒนาการมาจากหนังใหญ่  กล่าวคือ  หนังใหญ่ต้องอาศัยเงา จึงหาวิธีโดยการปิดทองบนตัวหนังแล้วเชิด  โดยมากจะเป็นชุดระบำ  ต่อมามีการนำตัวละครรำสลับกับตัวหนังหรือรำพร้อมกับตัวหนังจนเป็นที่นิยม ภายหลังเหลือแต่ตัวละครอย่างเดียว  มีการดำเนินเรื่องอย่างโขนโรงใน  มีฉากเหมือนโขนนั่งราว

5.  โขนฉาก  เป็นโขนที่แสดงบนเวที นิยมทำฉากตามเนื้อเรื่อง เช่นแสดงตอนศึกพรหมาตร์ก็ทำฉากหลังเป็นฟ้า แสดงตอนไมยราพย์สะกดทัพก็ทำเป็นหนุมานอมพลับพลา แต่การดำเนินเรื่องนั้นตามแบบโขนโรงใน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 10:48
   

คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

หลาน    ๑๑
กุเปรัน
เทพนาสูร หรือ ทัพนาสูร
อัศธาดา
มารัน
ทศกัณฐ์
กุมภกรรณ
พิเภก
ทูต  มีลูกคือ วิรุญจำบัง
ขร  ลูกคือมังกรกัณฐ์ กับ แสงอาทิตย์
ตรีเศียร  มีลูก  ตรีเมฆ
สำมะนักขา  มีลูก  กุมภกาศ  วรณีสูร  กับอดูลปีศาจ

เหลน   ๑๐๒๐
สุพรรณมัจฉา      มีลูก  มัจฉานุ
ทศคิรีธร
ทศคิรีวัน
สหัสกุมาร  ๑๐๐๐ ตัว
สิบรถ   ๑๐ ตัว
บรรลัยกัลป์
อินทรชิต           ลูก ๒   ยามลิวัน  กันยุเวก
สีดา                ลูก ๒  พระบุตรหรือมงกุฎ และ พระลบ
ไพนาสุริยวงศ์
วิรุญจำบัง    ลูกชื่อวิรุณมุข
เบญกาย     ลูกชื่อ  อสุรผัด





ลื่อ  ๑๑        มัจฉานุ  ยามลิวัน กันยุเวก  พระมงกุฎ พระลบ  อสุรผัด  มังกรกัณฐ์  แสงอาทิตย์
                 กุมภกาศ  วรณีสูร  อดูลปีศาจ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 10:51
แก้ให้สหาย

กุเรปัน เปลี่ยนเป็น กุเปรัน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 10:57
ขอบพระคุณค่ะคุณart47 ที่แก้ไขให้มันชินมือค่ะ  ท้าวกุเรปัน ...

ตอบต่อนะค่ะ
คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

ท้าวจตุรพักตร์มีเหลนทั้งหมด 1014 คนค่ะ
1. สีดา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
2. อินทรชิต เดิมชื่อ รณพักตร์ บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
3. บรรลัยกัลป์ บิดาคือ ทศกัณฐ์
4. ทศคีรีวัน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
5. ทศคีรีธร บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
6. สุพรรณมัจฉา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางปลา
7. เบญจกาย บิดามารดา คือ พิเภก และ นางตรีชฏา
8. มังกรกัณท์ บิดา คือ  พญาขร
9. แสงอาทิตย์ บิดาคือ พญาขร
10. วิรุณจำบัง บิดาคือ ทูษณ์
11. ตรีเมฆ บิดาคือ ตรีเศียร
12. กุมภกาศ มารดาคือ นางสำมนักขา
13. วรณีสูร มารดาคือ นางสำมนักขา
14. อดูล ปีศาจ มารดาคือ นางสำมนักขา
15. สหัสกุมาร  1000 ตน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางสนม 1000 ตน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 11:13
ตอบต่อค่ะ
คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง   
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

ท้าวจตุรพักตร์มีลื่อทั้งหมด 7 คนค่ะ
1. พระมงกุฎ บิดามารดา คือ พระราม และ นางสีดา
2. พระลบ มารดา คือ นางสีดา (พระฤษีชุบขึ้นให้เป็นลูกนางสีดา)
3. ยามลิวัน บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
4. กันยุเวก บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
5. มัจฉานุ บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางสุพรรณมัจฉา
6. อสุรผัด บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางเบณจกาย
7. วิรุณมุข บิดา คือ  วิรุณจำบัง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 11:19
สรุปคำตอบของหนู ให้ตรวจง่ายๆ ค่ะ  ;D

คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมด 11 คน (ใช้คำว่าคนหรือตน ค่ะ)
ทั้งหมดเป็น โอรสและธิดา ของท้าวลัสเตียน (ซึ่งเป็นบุตรของท้าวจตุรพักตร์และนางมลิกา)
1.กุเปรัน มารดาชื่อ ศรีสุนันทา
2.ทัพนาสูร มารดาชื่อ  จิตรมาลี
3.อัศธาดา มารดาชื่อ สุวรรณมาลัย
4.มารัน มารดาชื่อ วรประไภ
5.ทศกัณฐ์ มารดาชื่อ รัชฏา
6. กุมภกรรณ มารดาชื่อ รัชฏา
7. พิเภก มารดาชื่อ รัชฏา
8.พญาขร มารดาชื่อ รัชฏา
9.ทูษณ์ มารดาชื่อ รัชฏา
10.ตรีเศียร  มารดาชื่อ รัชฏา
11.สำมนักขา มารดาชื่อ รัชฏา

มีเหลนทั้งหมด 1015 คนค่ะ
1. สีดา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
2. อินทรชิต เดิมชื่อ รณพักตร์ บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
3. บรรลัยกัลป์ บิดาคือ ทศกัณฐ์
4. ทศคีรีวัน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
5. ทศคีรีธร บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
6. สุพรรณมัจฉา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางปลา
7. เบญจกาย บิดามารดา คือ พิเภก และ นางตรีชฏา
8. มังกรกัณท์ บิดา คือ  พญาขร
9. แสงอาทิตย์ บิดาคือ พญาขร
10. วิรุณจำบัง บิดาคือ ทูษณ์
11. ตรีเมฆ บิดาคือ ตรีเศียร
12. กุมภกาศ มารดาคือ นางสำมนักขา
13. วรณีสูร มารดาคือ นางสำมนักขา
14. อดูล ปีศาจ มารดาคือ นางสำมนักขา
15. ทศพิน(ไพนาสุริยวงศ์) บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
16. สหัสกุมาร  1000 ตน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางสนม 1000 ตน
(ข้อ 15 และข้อ 16 แก้ไขเพิ่มเติมจากคำตอบเดิมค่ะ)

มีลื่อทั้งหมด 7 คนค่ะ
1. พระมงกุฎ บิดามารดา คือ พระราม และ นางสีดา
2. พระลบ มารดา คือ นางสีดา (พระฤษีชุบขึ้นให้เป็นลูกนางสีดา)
3. ยามลิวัน บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
4. กันยุเวก บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
5. มัจฉานุ บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางสุพรรณมัจฉา
6. อสุรผัด บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางเบณจกาย
7. วิรุณมุข บิดา คือ  วิรุณจำบัง
 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 11:41
คำถามข้อที่ ๔. มนุษย์ที่กลายเป็นอมนุษย์ในเรื่องรามเกียรติ์ หมายถึงใคร
โปรดเล่าเรื่องประกอบด้วย

วิราธ คนธรรพ์  เป็นรากษสอยู่ในป่า ทัณฑก  ลอบสังวาสกับนางฟ้ารัมภา 
โดนสาป

ได้พรจากพระพรหมที่จะไม่ตายด้วยคมอาวุธ
ได้ชี้ทางให้พระราม
พระรามเหยียบวิราธแล้วแล้วให้พระลักษณ์ฝังทั้งเป็น


ท้าวนฤคถูกสาปเป็นเหี้ยเพราะพราหมณ์ไปเฝ้าแล้วปล่อยให้คอย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 11:52
ท่าทางผู้เข้าแข่งขันจะชื่นชอบการสำรวจสำมะโนครัวและการทำสาแหรกตระกูลเป็นพิเศษ ;D
เอาไว้บ่ายๆ จะมาตรวจคำตอบครับ

สำหรับผู้ตอบคำถามข้อที่ ๕.  ผมขอซักถามต่อ ดังนี้

๑.โขนกลางแปลง  ใช้วงปี่พาทย์เครื่องเท่าไร ในการบรรเลง  
และใช้เครื่องดนตรีอะไรในการเคาะให้จังหวะแก่นักแสดง

๒.โขนนั่งราว  มีวิธีการแสดงเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งเรียกว่า โขนนอนโรง
มีความหมายว่าอย่างไร

๓.โขนหน้าจอ ใช้วงปี่พาทย์ กี่วงในการบรรเลง

๔.โขนอย่างกรมศิลปากรแสดง จัดเป็นโขนประเภทใด

๕.โขนฉาก  เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลใด  ใครเป็นผู้คิดเล่นโขนฉากเป็นคนแรก



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 11:57
คำถามข้อที่ ๔. มนุษย์ที่กลายเป็นอมนุษย์ในเรื่องรามเกียรติ์ หมายถึงใคร
โปรดเล่าเรื่องประกอบด้วย

วิราธ คนธรรพ์  เป็นรากษสอยู่ในป่า ทัณฑก  ลอบสังวาสกับนางฟ้ารัมภา 
โดนสาป

ได้พรจากพระพรหมที่จะไม่ตายด้วยคมอาวุธ
ได้ชี้ทางให้พระราม
พระรามเหยียบวิราธแล้วแล้วให้พระลักษณ์ฝังทั้งเป็น


ท้าวนฤคถูกสาปเป็นเหี้ยเพราะพราหมณ์ไปเฝ้าแล้วปล่อยให้คอย

เรื่องวิราธนั้น ไม่ถูกครับ  กำเนิดไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นอมนุษย์กึ่งเทวดา
ส่วนท้าวนฤคถูกสาปเป็นเหี้ยนั้น  เดี๋ยวขอตรวจดูก่อน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 12:06

ถ้าคุณหลวงเล็กไม่มีตำราท้าวนฤค         ตำราก็น้อยไป  ฮ่ะ ๆ ๆ(สงสัยจะได้หัวเราะครั้งเดียวณ ที่นี้)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 12:16
1. โขนกลางแปลง ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าในการบรรเลง คือ ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง
และให้ตะโพนเป็นเครื่องให้จังหวะแก่นักแสดง

2. โขนนั่งราว หรือ โขนโรงนอก ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โขนนอนโรง เหตุที่เรียกว่า โขนนอนโรง ก็เพราะว่าตามประเพณีการแสดงโขนนั่งราวนี้ ในตอนบ่าย ก่อนจะถึงวันแสดง ๑ วัน ปี่พาทย์ทั้ง ๒ วงจะโหมโรง และในระหว่างที่โหมโรงนั้น เมื่อบรรเลงมาถึงเพลงกราว ในผู้แสดงโขนที่เป็นตัวรากษส (บริวารของพิราพ) จะออกมากระทุ้งเส้า (พลองยาวๆ) ตามจังหวะกลองที่ตามโรง พอจบเพลงโหมโรง ก็จะปล่อยตัวแสดง ซึ่งเป็นการแสดงโขนตอนพิราพเที่ยวป่า จนถึงพระราม นางสีดา และพระลักษณ์ หลงเข้าไปในสวนพวาทองของพิราพ แล้วก็เลิกแสดง ผู้แสดงโขนทุกคน ต้องนอนเฝ้าโรงโขนคืนหนึ่ง (นี่เองที่เป็นเหตุ ให้โขนนั่งราวต้องมีหลังคากันแดดกันฝน) วันรุ่งขึ้นจึงแสดงโขน ตามชุดที่ได้กำหนดไว้ต่อไป การที่ผู้แสดงโขนต้องนอนเฝ้าโรงโขนตลอดคืน จึงเป็นเหตุให้ มีผู้เรียกการแสดงโขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก เพิ่มขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งว่า โขนนอนโรง

3. วงปี่พาทย์ประกอบการแสดง มีเพียงวงเดียว แต่เดิมตั้งอยู่บนเวที ที่ต่ำกว่าเวทีโขน ทางด้านหน้าโรงโขน ผู้บรรเลงหันหน้าเข้าหาตัวแสดง ต่อมาภายหลังวงปี่พาทย์มาตั้งอยู่ทางด้านหลังจอ ผู้บรรเลงหันหน้าออกมาทางหน้าโรง

4. ในปัจจุบันนี้กรมศิลปากรนิยมจัดการแสดงประเภท โขนฉาก

5. โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้คิดประดิษฐ์ทำคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 12:40
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


คุณสุวรรณ    อุณรุทร้อยเรื่อง

ว่าพลางนางแปลงกายา                                          เมื่อนั้น
เป็นองค์สุดาเยาวมาลย์                                          อินทรชิตสิทธืศักดิ์ยักษีี
                                                                    ครั้นได้พิชัยนาที
                                                                    อสุรีนิมิตกายา


รี้พลให้กลายเป็นโยธา
ไอยราแปลงเป็นคชสาน                                          สั่งให้การุณราชกุมภัณฑ์
                                                                     เป็นเอราวัณตัวกล้า

พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ
พระพรหมมานแปลงเป็นท้าวธาดา                               ประกาศิตสั่งโยธี
                                                                     บรรดาซึ่งจำแลงแปลงเพศ
                                                                     เป็นเทเวศนางอัปสรศรี
                                                                     ให้ประโคมดุริยางค์ดนตรี
                                                                     มโหรีขับรำระบำบัน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 13:40
เรื่องท้าวนฤคถูกสาปเป็นเหี้ย อยู่ในรามายณะ
แต่ในที่นี้เราเน้น ขอย้ำว่า เน้นเฉพาะรามเกียรติ์
(เปิดหาแทบแย่  อย่าคิดมาหลอกกันเลย)


คำถามข้อที่ ๕. เป็นของคุณart47


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 13:51
สำหรับผู้ตอบคำถาม ข้อที่ ๖. 
ที่ตอบว่า คุณสุวรรณ แต่งบทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง
เลียนอย่างบทอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ในรามเกียรติ์
พร้อมยกตัวอย่างมาแสดงนั้น   ยังไม่ถูกต้อง
เพราะในบทละครของคุณสุวรรณยังเอ่ยชื่ออินทรชิตอยู่

แท้จริง มีวรรณคดีเรื่องอื่นของกวีคนอื่นที่แต่งเลียนอย่าง
โดยไม่ได้เอ่ยชื่ออินทรชิตเลย  ใบ้ให้เพิ่มเติมว่า 
กวีคนนั้นเป็นผู้ชายมีบ้านเกิดอยู่ฝั่งธนบุรี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 14:04
ใครอ่ะ ??? บ้านอยู่ฝั่งธน

ผู้ชายคนนั้นเป็นใคร เค้าคือใคร

สุนทรภู่เหรอ เห็นว่าเกิดอยู่วังหลัง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 14:05
ธรรมดาอ่านหนังสือก็อ่านหลายเล่มค่ะ


   
คำถามข้อที่ ๔. มนุษย์ที่กลายเป็นอมนุษย์ในเรื่องรามเกียรติ์ หมายถึงใคร
โปรดเล่าเรื่องประกอบด้วย

พาลี เดิมชื่อกากาศ  โอรสพระอินทร์  และสุครีพ  โอรสพระอาทิตย์  เกิดเป็นมนุษย์แต่โดนสาป  แม่เดียวกันคือ นางอัจนา

ลูกสาวคนโตชื่อ สวาหะ

ผัวนางอัจนาคือ ฤาษีโคดม

พระอินทร์คิดสร้างทหารให้พระนารายณ์อวตารจึงลงไปพิศวาสยอดหฤทัยนางอัจนา หรือ กาลอัจนาผู้เกิดความกระสันรัญจวนยั่วยวนด้วยรสรัก  เกิดลูกชายมา  ตัวสีเขียว

พระอาทิตย์รู้ว่านางกาลอัจนา เกิดความเสน่หาอาวรณ์  เลยสนอง need    เกิดลูกมาอีกคน  รูปร่างเหมือนองค์สุริยัน

วันหนึ่งพระโคดมอุ้มลูกพระอาทิตย์  ให้ลูกพระอินทร์ขี่หลัง  มือซ้ายจูงนางสวาหะมา        นางสวาหะก็บ่นมาเรื่อยว่าทีลูกตัวให้เดิน

ลูกคนอื่นทั้งอุ้มแล้วให้ขี่

พระฤาษีเลยซักไซ้

ที่จริงนางสวาหะก็ไม่ได้พูดอะไรมาก  บอกเพียงว่า  พระมารดาเป็นสุขเกษมศรี  ด้วยสองชายสองครั้งในกุฎี  แสดงว่านางสวาหะช่างสังเกตดี

พระฤาษีเกรงโลกจะเยาะเย้ย  เลยอธิษฐาน ว่าถ้าเป็นลูกจริงให้ว่ายน้ำกลับมา ถ้าเป็นลูกคนอื่นก็ให้กลายเป็นลิงไป(ใจร้ายมาก) แล้วก็เหวี่ยงเด็กน้อยสามคนลงน้ำไป

นางสวาหะว่ายน้ำกลับมาได้  โตพอรู้เรื่องแล้วนี่นา

เด็กผู้ชายก็ว่ายข้ามกลายเป็นลิงไป

พระโคดมกลับมาก็ต่อว่า เมีย  และสาบให้เป็นหินให้จมอยู่ในมหาสมุทรจนกว่าพระรามจะมาจองถนนไปลงกา

นางอัจนาก็สาปลูกสาวฐานเป็นหนอนบ่อนไส้  ไม่รู้คุณที่เลี้ยงมา  ให้ไปอ้าปากยืนตีนเดียว  กินลมอยู่ในป่าเชิงเขาจักรวาล  มีลูกแล้วก็ถึงจะสิ้นบาป

พระอินทร์กับพระอาทิตย์ลงมาสร้างราชธานีขีดขินให้โอรสอยู่ครองคอยท่าพระราม   สอนเวทวิทยาให้ด้วย

พี่ชายและน้องชาย  รักกันดี

นางสวาหะ เมื่อพระพายนำกำลังพระอศวรมาซัดใส่ปาก  ก็เกิดลูกคือ หนุมาน  นางได้ให้นม(ตอนนี้เดินสองขาแล้ว)  กอดจูบลูกแล้วครวญว่า

ดวงชีวีแม่สุดเสน่หา
สงสารเจ้าที่เกิดมา
อนาถาไร้ญาติเข็ญใจ

เล่าเผื่อๆ ไว้   เพราะอาจได้คะแนนแถม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 14:08

ราม...ราม       ครูแจ้งก็อยู่ฝั่งธน      ต้นฉบับไม่ให้คุณหลวงเล็กดูแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 14:11
คำถามข้อที่ ๔. เป็นของคุณวันดี

ผมกำลังมึนกับการตรวจจำนวนหลานเหลนลื่อท้าวจตุรพักตร์ของคุณวันดีและคุณ: D : D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 14:15

ราม...ราม       ครูแจ้งก็อยู่ฝั่งธน      ต้นฉบับไม่ให้คุณหลวงเล็กดูแล้ว

ครูแจ้งแห่งถนนอาจารย์แถววัดระฆังฯ ที่ชอบแซวหม่อมเป็ดสวรรค์นั่นรึ
ไม่เกี่ยวกันเลยกับคำถามนี้   กวีที่มีบ้านเกิดอยู่ฝังธนบุรี  คงมีไม่ถึงร้อยคนหรอกครับ
เชิญหาตามสบาย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 05 ม.ค. 11, 15:23
สนุกที่สุดเชียวค่ะ กระทู้นี้ ทั้งคำถามและคำตอบ มันส์...พะย่ะค่ะ

...สาแหรก...รามเกียรติ์...ทำเอา...สาแหรกบุนนาคจะชิดซ้าย

ขอบคุณแฟนพันธุ์แท้ค่ะ ช่วยให้หายงงในรามเกียรติไปเยอะว่า

ใครเป็นลูกใคร พี่น้องกับใคร ตัวสีอะไร มีฤทธานุภาพอย่างไร 555


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 15:32

คุณร่วมฤดีคะ   คุณหลวงเล็กมีเป้าหมายว่าจะถามคำถาม ๑๐๐ ข้อ       ดิฉันว่าทุ่งกุรุเกษตรนี้คงเป็นที่พักเสียแล้ว

ลงมาเล่นคนละปุ๊บละปั๊บซิคะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 15:38
ใครจะไปทุ่งกุรุเกษตร?

ผมไม่ไปนะ เดี๋ยวไม่ได้กลับ

2 วันก็แย่แล้ว ถ้าอยู่ครบ 7 วัน ท่าทางแร้งกาคงไม่ได้รับประทานซากเป็นแน่


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 11, 15:52
นักรบที่รัก   แค่ ๑๐๐ ข้อเอง

นี่ก็เพิ่งเริ่มศึก  อย่าออกอาการท้อถอยสิครับ
หนทางพิสูจน์ม้า  ปัญหารามเกียรติ์พิสูจน์แฟนพันธุ์แท้

ไม่ต้องไปถึงทุ่งกุรุเกษตรหรอกครับ
เอาแค่ทุ่งลาดหญ้านี่ก็พอ  ขนาดยังไม่ถึง ๑๐ ข้อ
สหายส่งข้อความมาตัดพ้อว่า  สงสัยเลือดจะท่วมท้องช้างเสียแล้ว
ถ้าเล่นครบ ๑๐๐ คำถาม  เลือดคงท่วมฟ้าแน่
(เปรียบอะไรกันน่ากลัว  นี่ยังไม่ได้เอายากสุดมาเล่นเลยนะเนี่ย) ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ม.ค. 11, 15:56
อ่านรามเกียรติ์เสียอิ่ม


อ่า...ติต่างว่าคุณหลวงเล็กจะได้เลื่อนเป็นพระ  เร็วๆนี้  ในฐานะผู้คุ้นเคย   ท่านน่าจะได้บรรดาศักดิ์อะไร

เสนอ

พระกร้าวฤทธิไกร

พระแกล้วเศิกกล้าราวี

พระกาจฤทธิไกรดังไฟกรด

     เชิญ......


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 16:09
พูดถึงทุ่งกุรุเกษตร หนูดีดีเลยหาภาพมาประกอบให้กระทู้ คึกคัก มีสีสันขึ้นค่ะ
เป็นภาพ กฤษณะ กับ อรชุน เป่าสังข์เป็นสัญญาณเริ่มการศึกในวันแรก... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 05 ม.ค. 11, 16:16
อันนี้เหมาะค่ะ คุณวันดี ""พระกาจฤทธิไกรดังไฟกรด""

ดิฉันเป็นได้แค่ ชาวทุ่งเกษตรบางเขน ไม่เคยไปทุ่ง กุรุเกษตรค่ะ

เสียดายไม่มีหนังสือเป็นอาวุธ จึงไม่สามารถร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรดาขุนศึกในที่นี้ได้ค่ะ

ขออาสาตีกลองศึกบนประตูเมืองและหอรบชมขุนศึกท่านโรมรันพันตูสนุกกว่า

คุณ D:D:มีรูปสวยมาเช่นเคย สุดยอด....

สังเกตุรถศึกในรูป ช่างเหมือนพวกกรีกโรมันเสียจริง ๆ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ม.ค. 11, 16:33
คำถามข้อที่ ๓. ท่าน luanglek ยังตรวจไม่เสร็จ หนูดีดี ขอ เพิ่มเติมแก้ไขคำตอบได้ไหมคะ

จากที่ตอบว่า มีเหลนทั้งหมด 1015 คน  ขอบวกเพิ่ม อีก 10 คน เป็น 1025 คนค่ะ
ที่เพิ่มมาคือ สิบรถ ซึ่งเป็นโอรส 10 ตน ของ ทศกัณฐ์ กับนางสนม สิบตนค่ะ

สรุปคำตอบของหนู ให้ตรวจง่ายๆ ค่ะ  ;D

คำถามข้อที่ ๓. ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  
มีเหลนทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง  และมีลื่อทั้งหมดเท่าไร  ใครบ้าง

ท้าวจตุรพักตร์มีหลานทั้งหมด 11 คน (ใช้คำว่าคนหรือตน ค่ะ)
ทั้งหมดเป็น โอรสและธิดา ของท้าวลัสเตียน (ซึ่งเป็นบุตรของท้าวจตุรพักตร์และนางมลิกา)
1.กุเปรัน มารดาชื่อ ศรีสุนันทา
2.ทัพนาสูร มารดาชื่อ  จิตรมาลี
3.อัศธาดา มารดาชื่อ สุวรรณมาลัย
4.มารัน มารดาชื่อ วรประไภ
5.ทศกัณฐ์ มารดาชื่อ รัชฏา
6. กุมภกรรณ มารดาชื่อ รัชฏา
7. พิเภก มารดาชื่อ รัชฏา
8.พญาขร มารดาชื่อ รัชฏา
9.ทูษณ์ มารดาชื่อ รัชฏา
10.ตรีเศียร  มารดาชื่อ รัชฏา
11.สำมนักขา มารดาชื่อ รัชฏา

มีเหลนทั้งหมด 1015  คนค่ะ <---แก้เป็น 1025 คน ค่ะ
1. สีดา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
2. อินทรชิต เดิมชื่อ รณพักตร์ บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
3. บรรลัยกัลป์ บิดาคือ ทศกัณฐ์
4. ทศคีรีวัน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
5. ทศคีรีธร บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางช้างพัง
6. สุพรรณมัจฉา บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางปลา
7. เบญจกาย บิดามารดา คือ พิเภก และ นางตรีชฏา
8. มังกรกัณท์ บิดา คือ  พญาขร
9. แสงอาทิตย์ บิดาคือ พญาขร
10. วิรุณจำบัง บิดาคือ ทูษณ์
11. ตรีเมฆ บิดาคือ ตรีเศียร
12. กุมภกาศ มารดาคือ นางสำมนักขา
13. วรณีสูร มารดาคือ นางสำมนักขา
14. อดูล ปีศาจ มารดาคือ นางสำมนักขา
15. ทศพิน(ไพนาสุริยวงศ์) บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางมณโฑ
16. สหัสกุมาร  1000 ตน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และ นางสนม 1000 ตน
17. สิบรถ 10 ตน บิดามารดา คือ ทศกัณฐ์ และนางสนม 10 ตน

มีลื่อทั้งหมด 7 คนค่ะ
1. พระมงกุฎ บิดามารดา คือ พระราม และ นางสีดา
2. พระลบ มารดา คือ นางสีดา (พระฤษีชุบขึ้นให้เป็นลูกนางสีดา)
3. ยามลิวัน บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
4. กันยุเวก บิดามารดา คือ อินทรชิต  และ นางสุวรรณกันยุมา
5. มัจฉานุ บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางสุพรรณมัจฉา
6. อสุรผัด บิดามารดา คือ  หนุมาน และนางเบณจกาย
7. วิรุณมุข บิดา คือ  วิรุณจำบัง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 05 ม.ค. 11, 16:40
คุณหลวงน่าจะย้ายมารับราชการที่ตำแหน่งหัวหมู่ทะลวงฟันนะครับ


...ฟันไม่เลือกเลย...ตายยกเรือน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 08:26
คุณสองยิ้มเข้ามาแก้ไขคำตอบจนถูกต้อง
ในการแข่งขันนี้ ผมถือเกณฑ์ ถูกต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก  
จากนั้นจึงพิจารณาเวลาว่าใครที่มาตอบถูกต้องคนแรก

ฉะนั้นข้อนี้จึงยกประโยชน์ให้คุณสองยิ้มไป

คำถามข้อที่ ๓.  เป็นของคุณ: D : D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 08:36
คุณหลวงน่าจะย้ายมารับราชการที่ตำแหน่งหัวหมู่ทะลวงฟันนะครับ


...ฟันไม่เลือกเลย...ตายยกเรือน

ในสนามรบ  ทหารทุกคนต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติและต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่
หากย่อหย่อน อ่อนข้อ หรือทำเหยาะแหยะ  ถ้าไม่ถูกข้าศึกฟันล้มกลิ้งกลางสนามรบ
ก็คงถูกพิจารณาความไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ด้วยพระอัยการกบฏศึกเท่านั้น
ฉะนั้น   ผมจึงได้วงเล็บไว้ที่ชื่อกระทู้ว่า  (สำหรับแฟนพันธุ์แท้)  ไงละครับ

มีคนแอบแซวผมว่า  คุณหลวงไม่ใช่หัวหมู่ทะลวงฟันหรอก
คุณหลวงเหมาะจะเป็นเพชฌฆาตมากกว่า   8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 09:01
คำถามที่ยังค้างอยู่

คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน    
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


คำถามใหม่ ๔ ข้อ


คำถามข้อที่ ๗.  จงอ่านกลอนต่อไปนี้  แล้วตอบคำถาม
“อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร
จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ
ให้สมที่มันสาธารณ์”
คำถาม  กลอนที่ยกมาข้างต้นใครพูด    
“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึงใคร    
และเนื้อเรื่องตอนนี้เป็นอย่างไร จงเล่ามาพอสังเขป

คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ  
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ  
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร  
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)  
และใครเป็นคนวาด

คำถามข้อที่ ๙.  มีราชทินนามขุนนางอะไรบ้าง  
ที่มีคำว่า “ราม”  ปรากฏอยู่ในราชทินนาม
นอกจากราชทินนาม “รามราฆพ” ของเจ้าพระยารามราฆพแล้ว  
จงบอกมา ๒๐ ราชทินนาม  
พร้อมระบุสังกัดของราชทินนามนั้นว่าอยู่กรมกระทรวงอะไร
กับระบุที่มาของข้อมูลด้วย


คำถามข้อที่ ๑๐.  จงดูภาพแล้วตอบคำถามต่อไปนี้  
ภาพนี้คือตัวละครชื่ออะไร  
ปรากฏในเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด  
จงเล่าเนื้อเรื่องมาให้เต็มความสามารถ




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 09:08
เพิ่มเติมเล็กน้อย

เพิ่มเป็นการตอบแทนผู้เข้าแข่งขันที่ร่วมตอบคำถาม
มาจนถึงคำถามข้อที่ ๑๐
ผมจึงขอให้ท่านแรกที่เข้ามาตอบคำถามวันนี้
ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ ๑ ข้อถามผม
เป็นการเอาคืน

ทั้งนี้คนถามต้องรู้คำตอบที่ถูกต้องของคำถามที่ตั้งด้วย ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 09:24
 ;D ถึงจะตอบเป็นคนแรกของวันนี้ แต่ก็มิบังอาจตั้งคำถาม ค่ะ...
ขอสละสิทธิ์การตั้งคำถามให้ท่านถัดไปนะคะ....
(แค่ตอบคำถามก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้วค่ะ)

คำถามข้อที่ ๗.  จงอ่านกลอนต่อไปนี้  แล้วตอบคำถาม
“อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร
จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ
ให้สมที่มันสาธารณ์”
คำถาม  กลอนที่ยกมาข้างต้นใครพูด     
“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึงใคร   
และเนื้อเรื่องตอนนี้เป็นอย่างไร จงเล่ามาพอสังเขป

ขอตอบว่า กลอนที่ยกมาข้างต้น ผู้พูดคือ พระราม ค่ะ

“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึง นางสีดา ค่ะ

เนื้อเรื่องตอนนี้คือ ตอนที่ เสร็จศึกแล้ว และนางสีดาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้ว
และกลับไปใช้ชีวิตร่วมกันที่เมืองอโยธาอย่างมีความสุข จนกระทั่งนางสีดาตั้งครรภ์
นางอดุลยักษีที่เคียดแค้นนางสีดาได้ปลอมตัวมาเป็นนางกำนัล
และได้ขอให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พอวาดเสร็จ นางอดุลก็เข้าสิงทำให้รูปลบไม่ออก
พระรามมาเห็นรูปภาพเข้าก็พิโรธมาก หาว่านางสีดายังรักภักดีทศกัณฐ์
จึงสั่งพระลักษมณ์ให้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์กลับปล่อยนางหนีไป
แล้วฆ่าควักหัวใจกวางนำไปถวายพระรามแทน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 06 ม.ค. 11, 09:32
คำถามข้อที่ ๙.  มีราชทินนามขุนนางอะไรบ้าง  
ที่มีคำว่า “ราม”  ปรากฏอยู่ในราชทินนาม
นอกจากราชทินนาม “รามราฆพ” ของเจ้าพระยารามราฆพแล้ว  
จงบอกมา ๒๐ ราชทินนาม  
พร้อมระบุสังกัดของราชทินนามนั้นว่าอยู่กรมกระทรวงอะไร
กับระบุที่มาของข้อมูลด้วย

พระยารามจัตุรงค์      จางวางอาสาหกเหล่า กระทรวงกลาโหม
พระยารามกำแหง      เจ้ากรมอาสาขวา กระทรวงกลาโหม
พระยารามรณรงค์สงคราม     เจ้าเมืองกำแพงเพชร
พระยาเพชรรัตนสงครามรามภักดี     เจ้าเมืองเพชรบูรณ์
พระยากำแหงสงครามรามภักดี       เจ้าเมืองนครราชสีมา
พระยาพระราม        เจ้ากรมดั้งทองขวา กระทรวงกลาโหม
หลวงรามรณภพ      ปลัดกรมบก กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง กระทรวงกลาโหม
ขุนรามโยธี            ปลัดกรมทวนทองขวา กระทรวงกลาโหม
ขุนรามฤทธิไกร       ปลัดซ้าย กรมอาสาจามขวา กระทรวงกลาโหม
ขุนรามเดช           ปลัดซ้าย กรมอาสาจามซ้าย กระทรวงกลาโหม
ขุนรามสรเดช      ปลัดทูลฉลองกรมอาสาซ้าย กระทรวงกลาโหม
(ที่มา-พระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง)

พระครูพิรามราชสุภาวดี   กรมลูกขุน
พระกำแพงรามภักดี        สมุหพระคชบาลขวา
หลวงรามรักษา            ปลัดกรมขวา กรมล้อมพระราชวังขวา
ขุนรามรณฤทธิ์                ปลัดกรมบก กรมอาสาวิเศษซ้าย
ขุนรามอัศดร              ปลัดกรมม้าแซงในซ้าย
(ที่มา-พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน)

ขุนรามภรตศาสตร์          กรมมหรศพ กระทรวงวัง
พระยารามราชภักดี         กระทรวงมหาดไทย
พระรามอินทรา             กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย
(ที่มา-ราชกิจจานุเบกษา)
พระรามเดโช             กระทรวงมหาดไทย (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 09:59
;D ถึงจะตอบเป็นคนแรกของวันนี้ แต่ก็มิบังอาจตั้งคำถาม ค่ะ...
ขอสละสิทธิ์การตั้งคำถามให้ท่านถัดไปนะคะ....
(แค่ตอบคำถามก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้วค่ะ)

คำถามข้อที่ ๗.  จงอ่านกลอนต่อไปนี้  แล้วตอบคำถาม
“อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร
จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ
ให้สมที่มันสาธารณ์”
คำถาม  กลอนที่ยกมาข้างต้นใครพูด     
“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึงใคร   
และเนื้อเรื่องตอนนี้เป็นอย่างไร จงเล่ามาพอสังเขป

ขอตอบว่า กลอนที่ยกมาข้างต้น ผู้พูดคือ พระราม ค่ะ

“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึง นางสีดา ค่ะ

เนื้อเรื่องตอนนี้คือ ตอนที่ เสร็จศึกแล้ว และนางสีดาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้ว
และกลับไปใช้ชีวิตร่วมกันที่เมืองอโยธาอย่างมีความสุข จนกระทั่งนางสีดาตั้งครรภ์
นางอดุลยักษีที่เคียดแค้นนางสีดาได้ปลอมตัวมาเป็นนางกำนัล
และได้ขอให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พอวาดเสร็จ นางอดุลก็เข้าสิงทำให้รูปลบไม่ออก
พระรามมาเห็นรูปภาพเข้าก็พิโรธมาก หาว่านางสีดายังรักภักดีทศกัณฐ์
จึงสั่งพระลักษมณ์ให้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์กลับปล่อยนางหนีไป
แล้วฆ่าควักหัวใจกวางนำไปถวายพระรามแทน

คุณ: D : D ตอบผิดครับ  คุณตกหลุมพรางในคำถามของผมแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 10:07
คำตอบคำถามข้อที่ ๙. ของคุณ art47

อ้างถึง
พระครูพิรามราชสุภาวดี   กรมลูกขุน

ราชทินนามนี้  "พิราม" ไม่ใช่ "ราม"  ตัดออก

อ้างถึง
ขุนรามภรตศาสตร์          กรมมหรศพ กระทรวงวัง
พระยารามราชภักดี         กระทรวงมหาดไทย
พระรามอินทรา             กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย
(ที่มา-ราชกิจจานุเบกษา)

กรุณาระบุเล่ม/ปี/หน้าด้วย  เพราะระบุเพียงชื่อราชกิจจานุเบกษากว้างเกินไป
และขอให้ระบุราชทินนามเพิ่มมาอีก ๑๐ ราชทินนาม 
เป็นการลงโทษที่ตอบพลาดไป ๑ ราชทินนาม (ระบุสังกัดและแหล่งข้อมูลด้วย)

ไม่เช่นนั้น ผมคงจะยกให้คุณได้ข้อนี้ไปไม่ได้ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 06 ม.ค. 11, 10:12
ใจร้ายจัง :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 10:22
แป่วววว...!!!! ..ตอบอย่างมั่นใจ..
หนูดีดีรับประทานแห้วแต่เช้าเลยค่ะ... :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 06 ม.ค. 11, 10:46
เอาอีกครั้ง

ที่คุณหลวงให้ไปหาจากราชกิจจานุเบกษา
พระยารามราชภักดี   กระทรวงมหาดไทย   เล่ม   48    หน้า   3018
พระรามอินทรา   กรมตำรวจ       เล่ม   48    หน้า   3021
กับเปลี่ยนขุนรามภรตศาสตร์ออก เพราะหาไม่เจอ เป็น พระวิสูตรสงครามรามภักดี   เจ้าเมืองท่าทอง
(ที่มา-ประวัติอำเภอกาญจนดิษฐ์)

อันใหม่อีก 10 ชื่อ
ที่มาจากราชกิจจานุเบกษา
พระยารามราชเดช   กระทรวงมหาดไทย    เล่ม   28   หน้า   975
หลวงรามฤทธิรงค์   กระทรวงมหาดไทย    เล่ม   28    หน้า   982
พระวิเศษสงครามรามภักดี  กระทรวงกลาโหม    เล่ม   28    หน้า   1008
สมิงรามสิทธิ์   กระทรวงทหารเรือ    เล่ม   28    หน้า   1013

ที่มาจากพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน
หลวงรามพิชัย         เจ้ากรมล้อมพระราชวังซ้าย

ที่มาจากพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง
พระสุนทรสงครามรามพิชัย      เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
พระยาไกรเพชรรัตน์สงครามรามภักดี      เจ้าเมืองนครสวรรค์
พระยาเกษตรสงครามรามราชแสนยาธิบดี   เจ้าเมืองสวรรคโลก

ที่มาจากจดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรณหิศฯ
หลวงรามสิทธิศร      ยกกระบัตรเมืองลพบุรี
ขุนรามเภรี         ปลัดกรมกลองชนะ

หวังว่าจะเรียบร้อย
เหนื่อย.... :(

ปล. พักรบวันหนึ่ง ติดธุระร้อนครับ
พรุ่งนี้เย็นๆ คงจะได้มาแก้ปัญหาต่อ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 11:10
คำถามข้อที่ ๙. เป็นของคุณ art47

คำถามที่ดูง่าย  แต่แท้จริงคือค่ายกลที่ลวงคนตอบให้ติดกับ

วันนี้จึงมีคนติดกับจนร้องไห้ไป ๒ คน
หลุดไปได้แล้ว ๑ คน  8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 11:24
คำตอบนี้ จะได้รับประทานแห้วอีกหรือเปล่าหนอ... ;D

คำถามข้อที่ ๑๐.  จงดูภาพแล้วตอบคำถามต่อไปนี้  
ภาพนี้คือตัวละครชื่ออะไร  
ปรากฏในเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด  
จงเล่าเนื้อเรื่องมาให้เต็มความสามารถ

- ตัวละครยักษ์ ถือศร หนูดีดี ขอตอบว่า อินทรชิต ค่ะ

อินทรชิต เป็นยักษ์มีกายสีเขียว เป็นโอรสของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ
เดิมชื่อรณพักตร์  เมื่อสามารถรบชนะพระอินทร์ได้
ทศกัณฐ์พอใจมากจึงเปลี่ยนชื่อให้ว่า อินทรชิต
อินทรชิตมีชายาชื่อ สุวรรณกันยุมา  มีโอรส ๒ องค์ คือ ยามลิวันและกันยุเวก
มีศรนาคบาศ ศรพรหมาสตร์ และศรวิษณุปาฌัมเป็นอาวุธ  
ทั้งยังสามารถแปลงกายเป็นพระอินทร์ได้อีกด้วย  
พระพรหมเคยประทานพรให้ว่า เวลาจะตายต้องตายบนอากาศ
และอย่าให้ศีรษะขาดตกถึงพื้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก  
ต้องใช้พานแว่นฟ้าของพระพรหมมารองรับ โลดจึงจะปลอดภัย  
ดังนั้น เมื่อพระลักษมณ์จะแผลงศรไปตัดคออินทรชิต จึงตรัสสั่งให้องคตเอาพานแว่นฟ้ามาคอยรับ

- ปรากฏในเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอน ศึกอินทรชิต

- จงเล่าเนื้อเรื่องมาให้เต็มความสามารถ.....
...(ต่อจากตอนศึกกุมภกรรณ)
ทศกัณฐ์ทราบว่ากุมภกรรณน้องรักถูกพระรามฆ่าตายแล้วจึงนึกถึงอินทรชิต
ซึ่งเคยได้รับศรสามเล่มจากพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามอีกทั้งยังเคยรบชนะพระอินทร์มาแล้ว
จึงให้นางกำนัลเชิญอินทรชิตมา แล้วแจ้งความให้ทราบว่าขอให้ออกไปรบกับฝ่ายพระราม
อินทรชิตรับคำและได้จัดทัพใหญ่ออกไปตั้งมั่นที่สมรภูมิเชิงเขาจักรวาลเพื่อคอยดูกำลังของ
ฝ่ายพระรามที่จะออกมาต่อสู้กัน
พิเภกทูลพระรามว่าผู้ที่เป็นแม่ทัพยกมาในวันนี้คืออินทรชิตเป็นโอรสของทศกัณฐ์มีฤทธิ์มาก
สมควรให้พระลักษณ์ยกทัพออกไปต่อสู้กับ อินทรชิต การสู้รบทั้งวันไม่ปรากฎผลแพ้ชนะ
จนกระทั่งพลบค่ำต่างฝ่ายต่างยกทัพกลับพลับพลา
อินทรชิตได้มารายงานให้ทศกัณฐ์ทราบและจะขอไปชุบศรนาคบาศมีกำหนดเจ็ดวัน
ระหว่างนั้นขอให้ส่งผู้อื่นไปขัดตาทัพก่อน

ระหว่างที่อินทรชิตได้ไปทำพิธีเป็นเวลาสามวันทศกัณฐ์ได้ส่งมังกรกัณฐ์เจ้าเมืองโรมคัล
ลูกพญาขรมาขัดตาทัพวันรุ่งขึ้นจนกว่าอินทรชิตจะทำพิธีเสร็จ
พิเภกทูลพระรามว่าพระรามควรออกไปสู้รบด้วยพระองค์เองในวันนี้
ในที่สุดพระรามยิงศรพรหมมาสตร์ไปตัดเศียรของมังกรกัณฐ์ขาดจากกาย
ต่อมาพระรามจึงถามพิเภกว่าเหตุใดวันนี้ อินทรชิตจึงไม่ออกมารบ
พิเภกจึงทูลว่าบัดนี้อินทรชิตไปซ่อนตัวในโพรงไม้โรทัน
เพื่อทำพิธีชุบศรนาคบาศอยู่ที่เขาอากาศ ขณะนี้นาคกำลังคายพิษใส่ศร
หากครบเจ็ดวันศรจะมีพิษร้ายแรง สามารถเอาชนะได้ทั้งสามโลก
คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกบาดาล
ฉะนั้นต้องทำลายพิธี และจำเพาะจะต้องเป็นหมีกัดต้นโรทันเท่านั้น

ชามพูวาช(เมื่อชาติก่อนเป็นหมีคอยรับใช้พระอิศวร)จึงขออาสาไปทำลายพิธี
พระรามจึงยินดีเป็นยิ่งนักและอนุญาต ชามพูวราชจึงเหาะไปยังเขาอากาศ
แล้วร่ายเวทมนตร์กลายร่างเป็นหมีใหญ่ กระโจนขึ้นกัดต้นไม้โรทันหักสะบั้นลงมา
ท้องฟ้าก็มืดด้วยควัน เหล่านาคพากันตกใจนึกว่าครุฑจึงพากันเลื้อยหนีแทรกลงดินหายไปหมด
อินทรชิตโกรธมากตามหมีจะฆ่า แต่ชามพูวราชกลายเป็นลิงหนีไป

เมื่อพิธีถูกทำลาย อินทรชิตตัดสินใจไม่กลับลงกาแต่ตามไปยังสนามรบ
พบวิรูญมุขลูกของวิรูญจำบังซึ่งทศกัณฐ์ส่งมาขัดทัพภายหลังจากที่มังกรกัณฐ์ถูกฆ่าตาย
อินทรชิตจึงขอเวลาหนึ่งชั่วโมงในการทำพิธีปลุกนาคบาศอยู่บนรถแล้วให้วิรุญมุขไปสู้รบก่อน
ซึ่งวิรุญมุขมีเวทมนตร์กล้าหาญ กำบังกายหายตัวได้ขี่ม้าถือหอกสุรกานต์เข้าแทงฟันพวกลิงล้มตายเป็นจำนวนมาก

พิเภกแนะนำให้พระลักษณ์แผลงศรเป็นข่ายไปรัดตัววิรุญมุขไว้
พระลักษณ์จึงแผลงศรพาลจันทร์ไป ปรากฎว่า วิรุญมุขถูกข่ายเพชรรัดไว้จนถึงกับนอนกลิ้งอยู่บนพื้นดิน
เมื่อถูกจับได้พระลักษณ์จึงถามว่าอินทรชิตอยู่ที่ใด วิรุญมุขตอบว่าอยู่บนรถ
พระลักษณ์จึงสั่งให้เอาตัววิรุญมุขไปตระเวนหน้าทัพ สักหน้าเฆี่ยนตี
และตระเวนมาถึงหน้าทัพยักษ์แล้วปล่อยตัวไป
วิรุญมุขจึงตรงไปหา อินทรชิตกราบที่เท้าแล้วร้องไห้พร้อมเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้ฟัง
อินทรชิตซึ่งอ่านเวทไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงโกรธมาก จึงคิดแผนให้ วิรุญมุขแปลงเป็นอินทรชิต
ออกไปสู้รบกับพระลักษณ์ ส่วนตนจะแอบอยู่ในกลีบเมฆแล้วแผลงศรนาคบาศมากมาย
เข้าพ่นพิษและมัดกองทัพวานรจนหมดสิ้น กองทัพ

พระรามตามมา สมทบทีหลังก็ตกใจที่เห็นทหารวานรต้องศรนาคบาศนอนเกลื่อนกลาด
พระลักษณ์ก็โดนมัดตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงยอดอก
พิเภกจึงแนะนำว่าให้พระรามยิงศรพลายวาตเรียกพญาสุบรรณราชซึ่งเป็นพญาครุฑ
เหาะลงมาช่วยไล่จิกตีนาคแตกหนีกระจัดกระจายแทรกแผ่นดินหนีไปจนหมด
เหล่าทัพวานรและพระลักษณ์จึงฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
ฝ่ายสารัณทูตกองคอยเหตุของกรุงลงกาเห็นพญาครุฑมาไล่พวกนาคหนีไป
พระลักษณ์ที่ต้องศรนาคบาศก็ฟื้นขึ้นมาได้ จึงรีบเข้ามาทูลทศกัณฐ์
ทศกัณฐ์จึงรีบตามอินทรชิตมาแล้วเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้ฟัง
อินทรชิตจึงขอลาทศกัณฐ์ไปทำพิธีชุบศรพรหมมาสตร์ของพระอิศวรมีกำหนดสามวันจะกลับมา
ระหว่างนั้นขอให้ทศกัณฐ์ส่งหัวหน้ายักษ์ไปขัดตาทัพไว้
แล้วอินทรชิตก็ลาไปตั้งโรงพิธีบริเวณใต้ต้นกร่าง ริมหาดมณีมรกต ใกล้ทะเลสีทันดร อยู่ในหว่างเขายุคนธร
 
ในระหว่างที่อินทรชิตกำลังทำพิธีชุบศรพรหมมาสตร์ ทศกัณฐ์ได้ส่งกำปั่นออกรบ
ซึ่งมาต่อสู้กับหนุมานเป็นทัพหน้าของกองทัพ พระลักษณ์ และในที่สุดกำปั่นก็ตาย
ทศกัณฐ์ทราบเรื่องก็ตกใจจนลืมเรื่องที่อินทรชิตสั่งไว้ว่าไม่ให้ผู้ใดมารบกวนระหว่างทำพิธี
จึงส่งไวยกาสูรไปบอกข่าวการตายของกำปั่นให้แก่อินทรชิตทราบ
และขอให้ อินทรชิตกลับมาสู้กับพระรามต่อไป
ฝ่ายอินทรชิตเมื่อทราบเรื่องกำปั่นตายก็รู้สึกโกรธและเสียใจมาก
จึงจัดการเสริมกำลังให้ศรพรหมมาสตร์โดยให้จูงแพะดำและโคดำมาผูกไว้ตรงหน้า
แล้วอินทรชิตร่ายเวทครบพันจบก็จับฝูงสัตว์ที่มัดไว้ฆ่าตายหมด
แล้วเอาถาดทองรองรับโลหิตให้ศรพรหมมาสตร์สูบกินด้วยฤทธิ์เป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากนั้นอินทรชิตจึงสั่งรุทกาลคนสนิทว่าตนจะใช้เล่ห์กลอุบายแปลงกายเป็นพระอินทร์
ให้ยักษ์ชื่อการุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ สารถีที่ขับรถแปลงเป็นควาญท้ายช้าง
ส่วนพวกทหารยักษ์ทุกตนให้แปลงเป็นเทพบุตรถืออาวุธกับให้หมู่ประโคมดนตรีแปลงเป็นนางฟ้า
จับระบำรำเต้นเล่นไปหน้าช้างเอราวัณ
ฝ่ายพระลักษณ์เห็นพระอินทร์กับเทพบุตรนางฟ้าลอยมาในอากาศจึงถามว่าพระอินทร์เสด็จมาทำไม
หนุมานตอบว่า ไม่เคยเห็นมาก่อน และอาจเป็นเล่ห์อุบายของพวกยักษ์ขอเตือนพระลักษณ์
ให้ระวังพระองค์ให้จงดี แต่พระลักษณ์กลับตะลึงเพ่งมองดูพระอินทร์และบริวารแปลงอย่างเพลิดเพลิน
โดยมิได้ระวังพระองค์
ฝ่ายอินทรชิตเห็นพระลักษณ์และพวกลิงเคลิบเคลิ้มจึงแผลงศรพรหมมาสตร์ลงมาที่กองทัพของพระลักษณ์
เหล่าพลลิงทั้งหลายตายกลาดเกลื่อน หนุมานเห็นดังนั้นจึงเหาะขึ้นฟ้าเอาเท้าเหยียบงาช้างเอราวัณแปลง
มือซ้ายหักคอช้าง มือขวาชิงศรจากอินทรชิต อินทรชิตจึงใช้คันศรหวดถูกหนุมานกระเด็นไปกับคอช้าง
สลบอยู่บนพื้นดิน แล้วอินทรชิตก็แปลงกายกลับเป็นยักษ์ดังเดิมแล้วสั่ง
สารัญทูตว่า ถ้าพระรามมาเยี่ยมน้องแล้วสลบไปขอให้รีบมารายงาน
แล้วตนก็ยกทัพกลับกรุงลงกามารายงานให้ทศกัณฐ์ทราบ ทศกัณฐ์ดีใจมากและกล่าวชมเชยอินทรชิต

ฝ่ายพระรามเห็นพลบค่ำแล้วทัพพระลักษณ์ยังไม่กลับมาอีกทั้งได้ยินเสียงโห่ร้องของพวกยักษ์จากสนามรบ
พระราม ชมพูพาน และพิเภกจึงเดินทางไปยังสนามรบแล้วพบพระลักษณ์ต้องศรพรหมมาสตร์นอนสลบอยู่กับพื้นดิน
หนุมานตายติดหัวช้าง เหล่าวานรตายเกลื่อนกลาด ก็ทรงกันแสงด้วยความเสียใจจนสลบไป
สารัณทูตกองคอยเหตุเห็นดังนั้นจึงรีบนำความไปทูลทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์สั่งนางตรีชาดา
นำนางสีดาขึ้นบุษบกแก้วจากสวนขวัญเพื่อนำไปเยี่ยมดูศพพระราม พระลักษณ์ที่สนามรบ
เมื่อบุษบกแก้วไปถึงสนามรบก็ร่อนลงจากฟ้าสู่ผืนดิน ทั้งสองนางเดินลงจากบุษบกเห็นหนุมานนอนตายทับหัวช้าง
แล้วต่อมาก็เห็นพระรามนอนกอดองค์พระลักษณ์ ซบอยู่กับผืนดิน
นางสีดาจึงตรงเข้าไปกอดพระบาทของพระรามและร่ำไห้ นางตรีชาดาจึงปลอบว่า
อันบุษบกนี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์เปรียบดั่งจักรแก้วมีฤทธิ์ขององค์จักรพรรดิเป็นที่เสี่ยงทายสำคัญ
หากหญิงเป็นม่ายแม้ขี่ก็ไม่พาจรขึ้นเวหา นางสีดาจึงเดินไปที่บุษบกแก้วแล้วอธิษฐานว่า
หากพระรามสิ้นชีพขอให้บุษบกแก้วอย่าพาข้าขึ้นไปบนชั้นฟ้าได้
เมื่อขึ้นปรากฏว่าบุษบกแก้วก็เลื่อนลอยขึ้นชั้นฟ้าอย่างรวดเร็ว

ภายหลังที่นางสีดาและตรีชาดาได้มาเยี่ยมพระรามและพระลักษณ์ที่สนามรบแล้วนั่งบุษบกแก้วกลับไปแล้ว
พิเภกซึ่งพระรามใช้ให้ไปเก็บผลไม้ในป่าเพื่อเอามาเลี้ยงพวกลิงทหารกลับมาถึงค่าย
ทราบจากทหารลิงว่าพระรามไปตามพระลักษณ์ที่สนามรบแล้วยังไม่กลับมา
พิเภกจึงตรงไปยังสนามรบทันที พบหนุมานนอนทับช้างแต่แน่ใจว่ายังไม่ตาย
จึงเป่ามนตร์แล้วพ่นเข้าไปในปากหนุมานจึงฟื้นขึ้นมา
หนุมานจึงเล่าเรื่องที่สู้รบกับอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์มาให้พิเภกฟัง
แล้วจึงเดินตามหาพระราม พระลักษณ์ เมื่อพบก็นวดเฟ้นพระรามจนฟื้นแล้วได้สติคืนมา
พระรามถามพิเภกว่าจะแก้ไขการณ์นี้อย่างไรดี
พิเภกทูลว่า ยาสำหรับแก้ศรพรหมมาสตร์ตนนั้นไม่รู้แน่ชัดแต่ขอให้ถามชมพูพาน
ซึ่งพระอิศวรเคยใช้ให้ไปตรวจสรรพยาทั้งสี่ทวีป

ชมพูพานทูลพระรามว่ายาแก้นี้มีที่เขาอาวุธ แต่ที่นั่นมีจักรกรดพัดอยู่ไม่หยุดสักเวลา
ใครเข้าไปก็จะตายด้วยจักรกรดนั้น แต่พระอิศวรสั่งการไว้ว่า
ถ้าพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม แล้วพระลักษณ์ต้องศรยักษ์
ให้ใช้หนุมานลูกพระพายไปที่เขาอาวุธเพื่อเก็บยามารักษาพระลักษณ์
โดยที่ต้องยกทั้งภูเขามาแล้วเหาะอยู่เหนือลมเพื่อให้ลมพัดเอาละอองยาโชยมา
โดนเหล่าทหารวานรและพระลักษณ์ แล้วก็ฟื้นตื่นขึ้นมา
พระรามดีใจที่พระลักษณ์ตื่นขึ้นมาจึงพากันยกทัพกลับค่ายที่เขามรกต

ภายหลังที่สารัณทูต กองคอยเหตุฝ่ายกรุงลงกาได้มารายงานให้ทราบว่า
พระลักษณ์และทหารลิงได้ฟื้นคนชีพจากศรพรหมมาสตร์ของอินทรชิต และยกทัพกลับไปแล้ว
อินทรชิตจึงคิดอุบายเอาสุขาจารซึ่งต้องโทษหนีทัพสมัยศึกกุมภกรรณและต้องโทษถูกจำคุกตลอดชีวิต
มาแปลงเป็นนางสีดา และให้นั่งท้ายรถไปสู่สนามรบ แล้วตัดศีรษะนางสีดาปลอมให้แก่ฝ่ายพระราม
จากนั้น หลอกว่าจะยกทัพไปรบเมืองอยุธยา แต่ความจริงย้อนกลับมาทำพิธีกุมภนิยาที่เขาจักรวาล
และถ้าพระราม พระลักษณ์ไม่เลิกทัพกลับไปก็จะกลับมาสู้รบกันใหม่

เมื่อพระลักษณ์เห็นนางสีดาแปลงถูกตัดศีรษะก็ร้องไห้สงสารนาง สีดา
แล้วสั่งให้เลิกทัพกลับมายังพลับพลามารายงานให้พระรามทราบ
พระรามจึงถามพิเภกว่าที่พระลักษณ์กล่าวว่านางสีดาสิ้นชีวิตแล้วมีความจริงประการใด

พิเภกจับยามดูแล้วทูลว่า เหล่านี้เป็นแผนของอินทรชิต ผู้ที่สิ้นชีวิตคือชายนักโทษแปลงมา
องค์นางสีดายังอยู่ดี พระรามดีใจที่นางสีดายังอยู่ดี จึงให้หนุมานและองคตไปดูศพที่สมรภูมิ
ก็ปรากฎว่าเป็นจริงตามที่พิเภกทำนาย

วันรุ่งขึ้นพระรามถามพิเภกว่าที่อินทรชิตจะยกทัพไปกรุงอโยธยาจริงหรือไม่
พิเภกบอกว่าไม่ใช่แต่อินทรชิตไปทำพิธีกุมภนิยาของท้าวธาดาพรหมในดงไม้ไผ่ที่เนินเขาจักรวาล
และหากครบเจ็ดวันตามตำราฆ่าอย่างไรก็จะไม่ตาย เห็นควรให้พระลักษณ์ยกทัพ
ไปทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต และมอบศรสามเล่มให้ไปด้วยคือ
ศรอัคนิวาต ศรพลายวาต และศรพรหมมาสตร์ รวมทั้งวันนี้เป็นวันที่อินทรชิตชะตาขาดด้วย

ฝ่ายอินทรชิตซึ่งกำลังทำพิธีกุมภนิยาอยู่ที่เนินเขาจักรวาลนั่งอยู่เหนือบัลลังก์อาสน์  
สั่งให้ทหารโหมกองไฟ 108 กองให้ครบเจ็ดวันเจ็ดคืน แล้วอินทรชิตก็จุดเทียน ธูป
บูชาพระเวทและจับศรสามเล่ม คือ วิษณุปาณัม นาคบาศ และพรหมมาสตร์ ขึ้นพาดตัก
หลังจากนั้นก็หลับตาสำรวมใจร่ายพระเวทไป

เมื่อพระลักษณ์ยกทัพมาถึงเขาจักรวาลเห็นอินทรชิตกำลังนั่งทำพิธีจึงจับศรพรหมมาสตร์แผลงไปทำลายพิธี
แล้วเหล่าทหารลิงก็เข้ารบสู้โรมรันกับทหารยักษ์ ทั้งสองต่างแรกศรกันและกันอยู่เป็นเวลานาน
ในที่สุดอินทรชิตรู้ว่าขืนสู้รบต่อไปตนต้องตายแน่จึงคิดหนีกลับกรุงลงกา
เพื่อลาพ่อแม่และนางสุวรรณกันยุมาผู้เป็นเมีย แล้วจึงยกทัพกลับมาสู้รบอีกต่อไปเป็นครั้งสุดท้าย
แล้วอินทรชิตก็ขว้างจักรเมฆสูรขว้างไปปิดแสงอาทิตย์ ทำให้ท้องฟ้ามืดมิดไปทั่วแล้วเหาะหนีกลับกรุงลงกา

อินทรชิตกลับมาเล่าให้นางมณโฑผู้เป็นมารดาทราบเรื่อง นางมณโฑเห็นลูกกายบอบช้ำ
เลือดไหลโทรมกายก็เศร้าโศกเสียใจ นึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อครั้งที่นางรับใช้พระอุมาเทวี
มเหสีพระอิศวรนั้นให้นางได้รับพรน้ำนมในถันเป็นน้ำทิพย์ เมื่อดื่มจะชุบชีวิตได้
นางจึงให้อินทรชิตดูดดื่มนม อินทรชิตก็ฟื้นกายหายเป็นปกติ
นางมณโฑไปขอให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาเสีย ทศกัณฐ์ไม่ยอมคืนและยังโมโหนางอย่างมาก
จากนั้นอินทรชิตก็ลาแม่ ลาพ่อ ลาเมียเพื่อออกรบครั้งสุดท้าย
พระลักษณ์ยิงด้วยศรตัดคอขาด องคตนำพานแว่นฟ้าที่ขอมาจากพระพรหม
รองศีรษะเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์ จากนั้นพระรามก็แผลงศรเผาศีรษะนั้นเสีย

ทศกัณฐ์ไปยังสนามรบอุ้มศพอินทรชิตวางเหนือบัลลังก์รถทรง แล้วเลิกทัพกลับคืนเข้าลงกา
เมื่อมาถึงวังก็อุ้มขึ้นมหาปราสาท นางมณโฑและนางสุวรรณกันยุมา ออกมารับศพก็ร้องไห้เศร้าโศก
ทศกัณฐ์โกรธกริ้วคิดจะฆ่านางสีดาแต่เสนาผู้ใหญ่ห้ามไว้จนได้สติ
หลังจากนั้นทศกัณฐ์ก็เอาศพของอินทรชิตไปเผายังยอดเขานิลกาลา...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 11:58
คุณสองยิ้ม  ตอบคำถามข้อที่ ๑๐. มายาวพิสดารมาก
ช่างมีความอุตสาหะค้นดีแท้

แต่ขออภัยที่ต้องพูดทำร้ายจิตใจผู้ตอบว่า

คุณ: D : D ตอบผิดครับ  

ภาพนี้ไม่ใช่อินทรชิต  อินทรชิตไม่แต่งกายอย่างนี้ (สังเกตให้ดี)
ใบ้ให้นิดหนึ่งก็ได้ว่า  เป็นตัวละครในตอนต้นๆ เรื่องรามเกียรติ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 12:23
โฮ โฮ !!!  :'(   วันนี้ หนูดีดี กินแห้ว อิ่มเลยค่ะ...
แต่ก็ได้ความรู้เพิ่มในเรื่องของอินทรชิต...สนุกดีค่ะ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ม.ค. 11, 12:28
คำถามข้อที่ ๑๐.  จงดูภาพแล้วตอบคำถามต่อไปนี้  
ภาพนี้คือตัวละครชื่ออะไร  
ปรากฏในเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด  
จงเล่าเนื้อเรื่องมาให้เต็มความสามารถ


ท้าววิรุฬหก

ปากแสยะ  ตาโพลง   ทรงมงกุฎนาค
เครื่องประดับด้วยนาคอันทีพิษ

มีวิมานอยู่ใต้ดินระหว่างเขาตรีกูฎ  เมืองชื่อมหาอันธการ

ไปเฝ้าพระอิศวรเป็นประจำ  ปีหนึ่ง ๗ ครั้ง  วันนั้นพระอิศวรยังไม่เสด็จออกยังทรงบรรทม

วิรุฬหนึกว่าเสด็จออกแล้ว  ก็หมอบกราบด้วยใจภักดีไปทุกขั้นบันได

ตุ๊กแกขำเห็นพญายักษ์ทำหัวกระดุบ ๆ  ร้องตุ๊กแกขึ้นมาทุกทีล้อเลียน  แถมยักคิ้วหลิ่วตาด้วย(คิ้วตุ๊กแกอยู่ตรงไหนใครรู้บ้างเจ้าข้าเอ๋ย)

วิรุฬหกเดือดาลมองดูไม่เห็นพระอิศวรก็ถอดสังวาลนาคอันมีฤทธิ์ขว้างตุ๊กแก

มีการระเบิด  เสียงดัง  ตุ๊กแกละเอียดสละชีพไป

ไกรลาศทรุด

ตอนนี้ทศกัณฐ์เป็นผู้ยกขึ้นจึงได้นางมณโฑไปเป็นเมีย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 13:18
ขออภัยคุณวันดีที่ผมต้องตอบหักหาญน้ำใจว่า

คุณวันดีตอบผิดครับ 

ภาพนี้ไม่ใช่ บรรลัยกัลป์ ครับ 
และเรื่องบรรลัยกัลป์ก็ไม่ได้อยู่ตอนต้นๆ เรื่องรามเกียรติ์
แต่เป็นตอนปลายเรื่อง

ที่คุณจับจุดสังเกตนาคที่เป็นเครื่องประดับนั้นถูกทางแล้ว

ผมจะใบ้เพิ่มอีกว่า  "สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง"



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 13:22
คำถามที่ ๑๐. จากภาพจะเห็นจุดเด่นคือสังวาลย์นาค คือ วิรุฬหก

วิรุฬหกครองเมืองมหาอันธการ อยู่ใต้พื้นดินระหว่างเขาตรีกูฏ แต่ด้วยใจภักดี ต่อพระอิศวร จึงเดินทางไปเฝ้าที่เขาไกรลาสปีละ ๗ ครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่วิรุฬหกสำคัญผิด คิดว่าพระอิศวรประทับอยู่ข้างบน จึงถวายบังคมไปทุกขั้นบันได และถูกตุ๊กแก บนยอดเขาตัวหนึ่งร้องล้อเลียน

ด้วยความโกรธ วิรุฬหกจึงถอดสังวาลนาคฟาดใส่ กระทั่งตุ๊กแกแหลกละเอียด ก่อนจะรีบรุดกลับไปยังกรุงบาดาลที่พำนัก และปล่อยให้เขาไกรลาสเอียงทรุด จากฤทธิ์ความโกรธนั้น ต่อมาทศกัณฐ์จึงเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ให้คืนสู่สภาวะปกติ ด้วยการผลักเขากระทั่งตั้งตรงดังเดิม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 13:24
คำถามข้อที่ ๑๐.  เป็นของคุณ siamese ครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ม.ค. 11, 13:35
ยอมรับว่าคุณไซมีสตอบถูกค่ะ   ไม่ข้องใจอะไรเลย

แต่เมื่อดิฉันโพสครั้งที่สองเพื่อแก้ไขโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกอยู่ในกระทู้     ไม่เห็นทั้งจขกท และคุณไซมีส


แล้วเรื่องเวลาจะนับกันอย่างไร

การแก้นั้นจะให้แก้กันกี่ครั้ง  

ขอเสนอให้แก้ภายในกระทู้เท่านั้น  ถ้าเกินเวลาก็ให้ผ่านไป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 13:38
ยอมรับว่าคุณไซมีสตอบถูกค่ะ

แต่เมื่อดิฉันโพส  ไม่เห็นทั้งจขกท และคุณไซมีส


แล้วเรื่องเวลาจะนับกันอย่างไร

การแก้นั้นจะให้แก้กันกี่ครั้ง 

ขอเสนอให้แก้ภายในกระทู้เท่านั้น  ถ้าเกินเวลาก็ให้ผ่านไป

มะงุงมะงาหลา ตั้งแต่เช้าแล้วครับ คำตอบยาก ค้นคว้านาน จึงมิได้เผยตัว แต่ก็เห็นด้วยน่าจะมีการจัดระบบ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ม.ค. 11, 13:42

เพิ่งเข้ามาค่ะเพราะไปทำสวนมา

ดีใจที่มีคนมาเล่นกันหลายคน

ภูมิใจกับทุกท่านค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 13:49
ยินดีด้วยกับทุกท่านค่ะ..;D
ในรอบนี้ ยังเหลือคำถาม ข้อ ๖. ข้อ ๗. และข้อ ๘. รอท่านผู้กล้าอยู่ค่ะ...
หนูดีดี ขอนั่งแทะแห้วเชียร์ติดขอบเวทีค่ะ ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 13:58
ยอมรับว่าคุณไซมีสตอบถูกค่ะ   ไม่ข้องใจอะไรเลย

แต่เมื่อดิฉันโพสครั้งที่สองเพื่อแก้ไขโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกอยู่ในกระทู้     ไม่เห็นทั้งจขกท และคุณไซมีส


แล้วเรื่องเวลาจะนับกันอย่างไร

การแก้นั้นจะให้แก้กันกี่ครั้ง  

ขอเสนอให้แก้ภายในกระทู้เท่านั้น  ถ้าเกินเวลาก็ให้ผ่านไป

เมื่อโพสต์ข้อความใดแล้ว  ถึงจะกลับมาแก้ไขอีกกี่ครั้ง  
เวลาก็ยังเป็นเวลาครั้งที่โพสต์ข้อความนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

กรณีแก้ไขข้อความที่โพสต์ไปแล้ว หากเกินเวลาที่แก้ไขได้  
เจ้าของความเห็นต้องโพสต์ใหม่เป็นธรรมดา
ซึ่งผมตรวจดูแล้ว  คนคนเดียวตอบหลายคำตอบ
ตอบไม่ครบคำถามในข้อนั้น  ผมจะไม่พิจารณาคำตอบ
จนกว่าจะตอบครบในความเห็นเดียว
หากตอบครบทุกคำถามในข้อนั้นแต่ตอบผิด  
ผมจะพิจารณาคำตอบถัดไปที่ตอบครบ ไม่ว่าจะเป็นของคนเดิมหรือไม่ก็ตาม
ถ้าตอบถูกครบถ้วนก็ได้คะแนนไปทั้งข้อ
ตอบผิดคำถามเดียวในข้อ  ก็ไม่ยกคะแนนให้
(และอาจจะมีการลงโทษเพิ่มอย่างที่คุณอาร์ท47 โดนมาแล้ว)

ทั้งนี้ หากเป็นการสะกดผิดสะกดพลาดเล็กน้อยที่พออนุโลมได้
คือสื่อความหมายที่ต้องการได้ และผมคนตรวจเข้าใจความได้
ก็จะยกประโยชน์ให้ผู้ตอบไป ไม่ต้องแก้ไข

ส่วนท่านผู้ใดคิดว่า  ควรจัดระบบให้ดีกว่านี้
ขอเชิญเสนอความเห็นมาได้ ยินดีรับฟังและแก้ไขกติกา
ถ้าเห็นว่าเข้าท่าเข้าที


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 14:04
อ้างถึง
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)

ผมเคยใบ้ให้ไปแล้วว่า

กวีคนนั้นเป็นผู้ชายมีบ้านเกิดอยู่ฝั่งธนบุรี

จะใบ้เพิ่มว่า  แต่งเป็นกลอน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 14:08
ถามว่า ในคำถามที่คุณหลวงเล็กตั้งขึ้นมานั้น เช่น ภาพจิตรกรรมที่เมืองโบราณ ในข้อเดียวมีหลายคำถามในข้อเดียวกัน มีเกณฑ์อย่างไร บางคนอาจตอบได้เพียงคำถามเดียว และเมื่อผู้มาภายหลังก็นำคำตอบนั้นไปต่อยอดเพื่อได้คะแนนโดยทั้งหมด แบบนี้จะดีหรือ หรือว่าคุณหลวงเล็กจะซอยคะแนนออกไป 0.5 และ 0.5 หากมีการถามคำถามสองคำถาม

ดังเช่นการถามราชทินนาม หากมีคำตอบอยู่ 20 รายการ มีคนสามารถตอบได้ถึง 18 รายการ + ไม่รู้ 2 รายการ กับบางคน ไม่รู้ 18 รายการ + รู้ 2 รายการ แล้วมาตอบคำถาม บุคคลที่สองก็คว้าคะแนนไปอย่างง่ายดาย จริงไหม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 14:15
จากคำถามที่ ๗ อีทรลักษณ์ ขอตอบว่า "นางไกยเกษี" นางค่อม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 14:25
ผมก็อยากจะซอยคะแนนให้ในแต่ละข้อเหมือนกัน
แต่ผมไม่อยากให้คะแนนกระจัดกระจาย จึงได้ยกคะแนนเป็นข้อ
คือต้องตอบให้ถูกทุกคำถามในข้อนั้น  

แต่ถ้าเห็นว่า  การซอยให้คะแนนจะเป็นคุณแก่ผู้ตอบคำถาม
ผมก็ยินดีจะแก้ไขกติกาให้  โดยคิดคะแนนซอยแต่ละคำถามในข้อนั้นๆ
ในตอบถูกคำถามไหน  จะให้คะแนน ๑ คะแนน
แต่ถ้าในคำตอบมีข้อมูลที่ผิด  ผมจะไม่ให้คะแนน
แต่จะใจดีบอกว่าผิดตรงไหน

เช่นตัวอย่างนี้ เป็นต้น

อ้างถึง
จากคำถามที่ ๗ อีทรลักษณ์ ขอตอบว่า "นางไกยเกษี" นางค่อม

อย่างนี้  ตอบถูกแล้ว  แต่ให้ข้อมูลผิดมาด้วย  จำใจให้ผิด

แต่ในคำถาม ๑๐ ข้อแรก  ผมขอให้ใช้กติกาเดิมไปก่อน
ต่อเมื่อเริ่มคำถามข้อที่ ๑๑ เป็นต้นไปจะใช้กติกาซอยคะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 14:48
จากคำถามที่ ๗ ขอตอบใหม่ว่า อีทรลักษณ์ ขอตอบว่า "นางค่อม"

เป็นนางกำนัลของ นางไกยเกษี ตามเรื่องของอินเดียกล่าวว่า ชื่อ นางมนกรา เพราะคำว่า กุจจี นั้น ภาษาอินเดียแปลว่า ค่อม แต่ทางไทยเรียกเป็นชื่อว่า นางกุจจี เป็นผู้ที่มีบทบาทในเรื่องรามเกียรติ์มาก เพราะเป็นผู้ที่ทำให้ พระราม และ นางสีดา ต้องเดินป่า จนกระทั่งพบกับ ทศกัณฐ์
 


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 14:52
และคำตอบข้อที่ ๗ "นางไกยเกษี"

เป็นบุตรีของ ท้าวไกยเกษ ซึ่งได้ยกนางให้แก่ ท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา นางไกยเกษีได้กินข้าวทิพย์ที่ ฤาษีกไลโกฏ ทำพิธีหุงขึ้นเพื่อขอบุตรให้กับท้าวทศรถ นางจึงตั้งครรภ์ และให้กำเนิดโอรสนามว่า พระพรต

ครั้งหนึ่งนางได้ตามท้าวทศรถไปออกรบกับ ปฑูตทันตยักษ์ ที่มารุกรานสวรรค์ รถรบของท้าวทศรถถูกศรข้าศึกจนเพลาล้อหัก นางจึงแสดงความภักดีโดยการใช้แขนของนางสอดเป็นเพลาล้อรถ ทำให้ท้าวทศรถสามารถเอาชนะศึกได้ ท้าวทศรถจึงประทานพรว่าไม่ว่านางจะขอสิ่งใดจะยกให้ทั้งสิ้น แต่นางก็ยังไม่ได้ขอในสิ่งใด

เมื่อนั้น  จึ่งโฉมนางไกยเกษี
เห็นเพลารถแก้วมณี  ต้องศรอสุรีหักไป
จึงตั้งสัตย์เดชะข้าซื่อตรง  ต่อองค์อภัสดาหาหมิ่นไม่
จะเอากรแทนเพลารถชัย  อย่าให้อันตรายชีวี

จนเมื่อ พระราม โอรสพระองค์โตของท้าวทศรถ ได้อภิเษกกับ นางสีดา พระธิดาบุญธรรมของ ท้าวชนก และกำลังจะได้รับมอบราชสมบัติต่อจากท้าวทศรถ นางกุจจีค่อม ซึ่งเป็นนางรับใช้ของนางไกษเกษีได้มายุให้นางทวงขอพรจากท้าวทศรถให้ยกราชสมบัติให้แก่พระพรต แล้วให้พระรามออกบวชเป็นฤาอยู่ในป่าเป็นเวลา 14 ปี จึงค่อยกลับมาสืบราชสมบัติต่อไป

ท้าวทศรถพิโรธมาก จนเกือบสังหารนางไกยเกษี แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธคำมั่นที่ให้ไว้ได้ จึงต้องยอมทำตาม หลังจากนั้นท้าวทศรถก็เสียพระทัยจนล้มป่วยลง และสิ้นพระชนม์ในวันที่พระรามเดินทางเข้าป่าไปนั่นเอง ก่อนสิ้นใจท้าวทศรถได้สั่งห้ามนางไกยเกษีและพระพรตมาร่วมเผาพระศพของพระองค์

เมื่อพระพรตทราบเรื่องราวที่นางไกยเกษีไปทวงสัญญาดังกล่าวกับท้าวทศรถจนเป็นเหตุให้พระองค์สิ้นพระชนม์ ก็โกรธจนเกือบประหารนางไกยเกษี พระพรตรีบเข้าป่าไปตามพระรามกลับมาครองราชย์ แต่พระรามก็ไม่ยอมกลับ ยังยืนยันที่จะอยู่ป่า 14 ปี ตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 15:02
คำถามข้อที่ ๗.  จงอ่านกลอนต่อไปนี้  แล้วตอบคำถาม
“อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร
จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ
ให้สมที่มันสาธารณ์”
คำถาม  กลอนที่ยกมาข้างต้นใครพูด     
“อีทรลักษณ์” ในกลอนนี้หมายถึงใคร   
และเนื้อเรื่องตอนนี้เป็นอย่างไร จงเล่ามาพอสังเขป

คุณsiamese กรุณาสรุปคำตอบตามคำถามอีกทีเพื่อความสะดวกในการตรวจ
และขอให้ยึดรามเกียรติ์เป็นหลักในการตอบครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ม.ค. 11, 15:16
งง ด้วยคน

คุณไซมีสตอบถูกแล้วไง

น้อยหรืออีไกยเกษี      ใจมันกาลีริษยา
จะแกล้งผลาญชีวา      ให้กูมรณาไม่อาลัย

ก็พูดอยู่ด้วยกันสองคนผัวเมีย


กลับตรึกไปถึงความสัตย์    ยิ่งเคืองขัดเร่าร้อนด้วยเพลิงผลาญ
ฆ่าเสียก็จะเสียปฎิญาณ      จำจะพจมานโดยดี

แถมเรียก  สุดสวาท        นุชนาฎ     มิ่งมารศรี        ดวงชีวี      ทรามวัย        เทวี      แก้วตา

นางค่อมอยู่เบื้องหลังนี่นา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 15:20
ตอบด้วยสิจ๊ะ ว่าใครพูด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ม.ค. 11, 15:24
คุณไซมีส  ตอบเร็ว 


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 15:25
ตอบด้วยสิจ๊ะ ว่าใครพูด

นางค่อมพูดกับนางไกยเกษี   ครับ ตอนที่นางค่อมได้ไปยุยงนางไกยเกษีให้ทูลขอราชสมบัติกรุงอโยธยาให้กับพระพรต


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 11, 15:29
ผมอยากให้คะแนนคุณ siamese ใจจะขาด

ลองพิจารณาดูว่า  ถ้านางค่อมกุจจีพูดอย่างนี้กับนางไกยเกษี

“อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร
จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ
ให้สมที่มันสาธารณ์”

นางค่อมแกมีชีวิตรอดไปถึงได้สมน้ำหน้าพระรามตอนถูกเนรเทศไปอยู่ป่าไหม

ผมให้เวลาแก้ตัวอีกที  คะแนนน่ะใส่พานรอถวายแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ม.ค. 11, 15:32
ต้องเป็น ท้าวทศรถ เป็นผู้พูดกับนางไกยเกษี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ม.ค. 11, 16:12
มาลุ้นท่าน siamese ค่ะ  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 06 ม.ค. 11, 18:22
แต่ละท่าน หัวกะทิทั้งนั้นครับ ขอนับถือ

ขอตอบคำถาม ข้อที่ ๖ นะครับ
ที่ถามว่า

คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)

ขอตอบว่า

๑. กวีผู้นั้นคือ คุณสุวรรณ

๒. ในผลงาน "อุณรุทร้อยเรื่อง" ตอน "บทจัดทัพ-เคลื่อนทัพ"

๓. บทกลอนที่แต่งเลียนแบบ มีดังนี้

"...เมื่อนั้น กุมภกรรฐ์คำนับรับบรรหาร
กับพระคาวีปรีชาชาญ รับสั่งแล้วคลานออกมา
เกณฑ์หมู่จตุรงค์องอาจ พรหมทัตธิราชเป็นกองหน้า
ปีกซ้ายชุณรัตน์ราชา ปีกขวาอินทรชิตฤทธิรงค์
กองหลวงล้วนสันทัดจัดเจน กะเกณฑ์ให้พระสุวรรณหงษ์
คุมพวกพหลรณรงค์ แล้วโบกธงสัญญาคลาไคล ฯ ๔ คำ ฯ กราว

ออกจากขีดขินธานี ปัถพีเลื่อนหลั่นหวั่นไหว
เร่งทัพขับพหลพลไกร เข้าในเหมันต์ทันที ฯ ๒ คำ ฯ เชิด..."

แต่คงจะผิด เพราะคุณสุวรรณเป็นผู้หญิงครับ (ฮา)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 08:17
เมื่อวานเกิดเหตุขัดข้องในระหว่างการโพสต์ข้อความ
อันเป็นเรื่องระบบอินเทอร์เน็ทด้วย   


คำถามข้อที่ ๗.เป็นของคุณ siamese ครับ


ส่วนของคุณเทพกร  ตอบคำถามที่ ๖ มานั้น  ผิดหมดครับ
ขอแสดงความเสียใจด้วย :P




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 08:34
คำถามที่ยังค้างอยู่

คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ 
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ 
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร   
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง) 
และใครเป็นคนวาด

เล่นมา ๑๐ คำถาม  มีความเห็น  ๑๐๐  ความเห็น  และยังคงต่อไปอีกยาว
เพราะยังมีคำถามที่ยังไม่มีคนตอบถูกอีก ๒ ข้อ

ตั้งแต่คำถามข้อที่ ๑๑ เป็นต้นไป  ผมจะเปลี่ยนวิธีการส่งคำตอบใหม่
เพื่อป้องการลอกและแก้ไขคำตอบ ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจให้คะแนน
เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด

ผมจึงขอให้ผู้แข่งขันส่งคำตอบมาเป็นข้อความหลังไมค์ถึงผม
โดยให้ลอกคำถามข้อนั้นๆ ลงมาด้วย  เมื่อผมตรวจคำตอบของผู้ใดแล้ว
ผมจะส่งข้อความกลับไปให้  ว่าตอบถูกหรือผิด  ผิดตรงใด
พร้อมกับบอกให้ผู้นั้นโพสต์ลง 
โดยผมจะให้ใส่เวลาที่ผู้นั้นส่งคำตอบมาให้ผมตรวจลงไปด้วย

ทั้งนี้ถ้าผู้ใด ตอบลงมาโดยไม่ส่งข้อความคำตอบหลังไมค์ให้ผมตรวจก่อน
ถือว่า  การตอบของผู้นั้นเป็นโมฆะ   
ไม่ทราบว่า  จะมีผู้ใดคัดค้านวิธีการนี้หรือไม่


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 08:39
เมื่อวานเกิดเหตุขัดข้องในระหว่างการโพสต์ข้อความ
อันเป็นเรื่องระบบอินเทอร์เน็ทด้วย   


คำถามข้อที่ ๗.เป็นของคุณ siamese ครับ


ส่วนของคุณเทพกร  ตอบคำถามที่ ๖ มานั้น  ผิดหมดครับ
ขอแสดงความเสียใจด้วย :P




เย้ๆๆๆ   ;D


"ผมจึงขอให้ผู้แข่งขันส่งคำตอบมาเป็นข้อความหลังไมค์ถึงผม
โดยให้ลอกคำถามข้อนั้นๆ ลงมาด้วย  เมื่อผมตรวจคำตอบของผู้ใดแล้ว
ผมจะส่งข้อความกลับไปให้  ว่าตอบถูกหรือผิด  ผิดตรงใด
พร้อมกับบอกให้ผู้นั้นโพสต์ลง 
โดยผมจะให้ใส่เวลาที่ผู้นั้นส่งคำตอบมาให้ผมตรวจลงไปด้วย

ทั้งนี้ถ้าผู้ใด ตอบลงมาโดยไม่ส่งข้อความคำตอบหลังไมค์ให้ผมตรวจก่อน
ถือว่า  การตอบของผู้นั้นเป็นโมฆะ   
ไม่ทราบว่า  จะมีผู้ใดคัดค้านวิธีการนี้หรือไม่"

แบบนี้มันก็ดีไปอีกแบบ แต่กลัวว่าจะพากันลงหลังไมค์ หน้าบ้านกลัวจะเงียบเหงาหรือเปล่านี่ เดี่ยวไม่สนุก




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 08:58
อ้างถึง
แบบนี้มันก็ดีไปอีกแบบ แต่กลัวว่าจะพากันลงหลังไมค์ หน้าบ้านกลัวจะเงียบเหงาหรือเปล่านี่ เดี่ยวไม่สนุก

ถ้าเกรงว่าจะเหงา  ผมจะให้ใช้วิธีการส่งคำตอบหลังไมค์เป็นบางข้อ
โดยจะวงเล็บไว้ท้ายคำถามข้อนั้นๆ ว่า (ส่งคำตอบหลังไมค์ให้ตรวจก่อน)

ส่วนข้อใดไม่มีข้อความวงเล็บไว้ท้ายคำถาม  ให้ตอบได้เลย
ทั้งนี้ถ้าคำถามใด ที่มีคนตอบถูกแล้ว  คนต่อไปตอบซ้ำอีก ถึงถูกก็จะไม่ให้คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 09:21
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ  
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ  
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร  
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)  
และใครเป็นคนวาด
+++
ขอตอบนำไว้ก่อนคือ

อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ( พ.ศ.2462 -2529) ฝากผลงานไว้กับเมืองโบราณไว้มากมาย คือ ภาพจิตรกรรมชุด "นารายณ์สิบปาง" ในพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 09:41


สงสัยว่าคนบางคนที่หายหน้าไป  จะไปเมืิองโบราณแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 ม.ค. 11, 09:42
จัดทำสรุปมาให้ค่ะ
มานั่งเกาะขอบจอเชียร์ค่ะ... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 09:44
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ  
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ  
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร  
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)  
และใครเป็นคนวาด
+++
ขอตอบนำไว้ก่อนคือ

อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ( พ.ศ.2462 -2529) ฝากผลงานไว้กับเมืองโบราณไว้มากมาย คือ ภาพจิตรกรรมชุด "นารายณ์สิบปาง" ในพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท


ตอบถูก ๑ คำถาม ได้ ๑/๔ คะแนน ;D

สงสัยว่าคนบางคนที่หายหน้าไป  จะไปเมืิองโบราณแล้ว

กำลังสงสัยเหมือนกัน  อะไร จะลงทุนปานนั้น
นี่ถ้าถามเรื่องรามายณะ  ไม่ต้องแห่ไปอินเดียเพื่อหาคำตอบกันหรือ :o


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 09:51
สำหรับผู้ที่รอคำถามใหม่ ตั้งแต่ข้อที่ ๑๑ เป็นต้นไป
วันนี้งดตั้งคำถาม ๑ วันเพื่อให้พักผ่อนสมอง
และถ้าใครยังสนุกอยู่ ขอเชิญแก้คำถามที่ค้างไว้ให้ได้ก่อน

คำถามใหม่จะเริ่มตั้งอีกครั้ง ในเช้าวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และเตรียมตัวปวดศีรษะโดยทั่วหน้ากัน

อ้อ  อย่าลืมนะครับ  ใครก็ได้ตั้งคำถามรามเกียรติ์ ๑ ข้อถามผมด้วย ;D



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 09:52
มาเล่นนี่ก็กำไรอยู่      ได้ญาติมา ๒ คน    


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 ม.ค. 11, 09:57
ปรับปรุงคะแนนค่ะ...
เฉือนกันแค่ จุดเองค่ะ... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 10:02
โห ลงทุนไปเมืองโบราณเลยหรือครับ คุณวันดี ....ใครหนอ ช่างน่ารักปานนี้ ต้องปรมมือให้อย่างแรง

คุณหลวงเล็ก คะแนนซอยย่อยเริ่มตั้งแต่ข้อ ๑๑ เป็นต้นไปมิใช่หรือ ? และอยากแทคทีม แบ่งคะแนให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มจะทำได้ไหม ?

ในเมื่อถามเรื่องภาพรามเกียรติ์ที่เมืองโบราณ ภาพทั้งสองเป็นฝีมือของอาจารย์สนั่นแล้วไซร้ แล้วภาพที่ ๓ ที่ผมนำมาให้ชมนี้ละครับ  ;D ก็เป็นเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ละก็ คุณหลวงเล็กย่อมต้องทราบว่าภาพนี้อยู่มุมในของเมืองโบราณ หากไม่ทราบจะจองตั๋วไปเที่ยวเมืองโบราณด้วยกันทั้งแก๊งค์เลยดีไหม  ;)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 10:53
โห ลงทุนไปเมืองโบราณเลยหรือครับ คุณวันดี ....ใครหนอ ช่างน่ารักปานนี้ ต้องปรมมือให้อย่างแรง

คุณหลวงเล็ก คะแนนซอยย่อยเริ่มตั้งแต่ข้อ ๑๑ เป็นต้นไปมิใช่หรือ ? และอยากแทคทีม แบ่งคะแนให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มจะทำได้ไหม ?

ในเมื่อถามเรื่องภาพรามเกียรติ์ที่เมืองโบราณ ภาพทั้งสองเป็นฝีมือของอาจารย์สนั่นแล้วไซร้ แล้วภาพที่ ๓ ที่ผมนำมาให้ชมนี้ละครับ  ;D ก็เป็นเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ละก็ คุณหลวงเล็กย่อมต้องทราบว่าภาพนี้อยู่มุมในของเมืองโบราณ หากไม่ทราบจะจองตั๋วไปเที่ยวเมืองโบราณด้วยกันทั้งแก๊งค์เลยดีไหม  ;)

ผมเห็นคุณมีมานะพยายามที่จะค้นคว้าข้อมูลมาตอบ
เลยซอยคะแนนให้  แต่ถ้าสามารถตอบถูกได้ทั้งหมดในข้อนั้น
ผมก็จะยินดีมาก  เพราะได้ยกคำถามข้อนั้นใส่พานให้ไปเลย

ผมขอใบ้เพิ่มเติมว่า  ที่เอ่ยชื่อภาพจิตรกรรมชุด "นารายณ์สิบปาง" ในพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท
คุณมาถูกทางแล้ว   คงเหลือตอบตอนทั้ง ๒ ให้ถูก 
และขอปรับคะแนนให้เป็น  ๒/๔ คะแนนครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 10:56
เรื่องการหารูปใครจะสู้คุณไซมีส

การข่าวไปเมืองโบราณนั้น   ประเมินการข้อมูลระดับ ก.   ผู้เคยให้ข่าวมาแล้ว  ใกล้ชิดแหล่งข่าว   เชื่อถือได้     แต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน
ประเมินจากคำรำพัน


ดูรูปแล้วก็ตรม   ยักษ์น่าจะเป็น อสูรเพตรา  แต่ลิงไม่ใช่องคต



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 ม.ค. 11, 11:14
ปรับปรุงคะแนน ท่าน siamese ตามที่ท่าน luanglek ให้ค่ะ

..จองตั๋วไปเที่ยวเมืองโบราณด้วยกันทั้งแก๊งค์ เมื่อไหรดีค่ะ หนูดีดี จองเลย 1 ที่ค่ะ.. ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 11:35
ขอบคุณ คุณดีดี ที่เป็น Score Keeper ให้ครับ ยังไงก็ร่วมหาคำตอบด้วยกันนะครับ

นอกจากภาพลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ด้านบนแล้ว ที่เมืองโบราณยังมีบานไม้แกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ด้วยนะครับ งดงามไม่น้อย แต่นั่นไม่ใช่คำตอบ  ;)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 ม.ค. 11, 14:21
แล้วก็มี สวนรามเกียรติ์ ด้วยค่ะ นี่ก็ไม่ใช่คำตอบเหมือนกัน  ;D

หนูดีดี คงเป็นได้แค่แฟนพันธุ์ทางน่ะค่ะ...
รามเกียรติ์ เคยอ่านนานมากแล้วค่ะ อ่านแบบอ่านเอาเรื่อง ความรู้ก็เลยกระท่อนกระแท่น..
แต่ก็จะพยายามค่ะ...สู้ สู้..


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 14:38
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


เสี่ยง

สุนทรภู่   ลักษณวงศ์  ตอนลักษณวงศ์พานางสุวรรณอำพาหนีท้าววิรุญมาศ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 14:41
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ 
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ 
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร 
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง) 
และใครเป็นคนวาด
+++
ขอตอบนำไว้ก่อนคือ

อาจารย์ สนั่น ศิลากรณ์ ( พ.ศ.2462 -2529) ฝากผลงานไว้กับเมืองโบราณไว้มากมาย คือ ภาพจิตรกรรมชุด "นารายณ์สิบปาง" ในพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท


ขอตอบต่อเพื่อเก็บคะแนนใต้ถุนร้าน
ภาพหนึ่งคือทรพากับทรพี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 14:59
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


เสี่ยง

สุนทรภู่   ลักษณวงศ์  ตอนลักษณวงศ์พานางสุวรรณอำพาหนีท้าววิรุญมาศ

ตอบถูกครึ่งหนึ่งแล้ว  แต่ชื่อตอนยังไม่ถูก  และขอให้ยกกลอนมาให้ดูหน่อย
ตอนนี้ให้ได้  ๒/๔  คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 15:05
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ 
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ 
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร 
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง) 
และใครเป็นคนวาด
+++
ขอตอบนำไว้ก่อนคือ

อาจารย์ สนั่น ศิลากรณ์ ( พ.ศ.2462 -2529) ฝากผลงานไว้กับเมืองโบราณไว้มากมาย คือ ภาพจิตรกรรมชุด "นารายณ์สิบปาง" ในพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท


ขอตอบต่อเพื่อเก็บคะแนนใต้ถุนร้าน
ภาพหนึ่งคือทรพากับทรพี

ยังไม่ใช่  เสี่ยงดวงอีก เผื่ออาจจะถูก ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 ม.ค. 11, 15:16
คะแนนสูสีกันมากค่ะ ตื่นเต้น!!!


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 15:30


อุแว้ก!     สงสัยสหายไกด์เป็นอัลไซเมอร์


ลักษณวงศ์ใช้กลอนเปิดพระโกศแทนไม่ได้หรือ

สหายมีลักษณะวงศ์ที่บ้าน  แต่ยังกลับไม่ถึงนี่นา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 15:35
เข้ามาลุ้นคุณวันดี เรื่องลักษณะวงศ์ครับ

ขอตอบเพิ่มเติมภาพเขียนในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทว่า เป็นภาพ "พระนารายณ์เกษียณสมุทร"


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 15:37
๘    เสี่ยง   

นรสิงห์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 15:46


คุณไซมีส       

       รอไปอาทิตย์หน้าก็ได้นี่นา       ถามอะไรก็ไม่รู้ ลึกซึ้งเหมือนน้ำใจคน

สหายส่งเสียงมาว่าทำไมไม่ถามว่า หนุมานเป็นอมุษย์ประเภทใด   ทำไมพระลักษณ์ถึงมีปัญหาทางสายตา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ม.ค. 11, 15:56
อ้อ  อย่าลืมนะครับ  ใครก็ได้ตั้งคำถามรามเกียรติ์ ๑ ข้อถามผมด้วย ;D


ได้ไอเดียจากคุณวันดี

ขอถามว่า ทำไมหนุมานจึงเกิดมาเป็นลิง ทั้ง ๆ ที่ ตามรามเกียรติ์ของไทยบอกชัด ๆ ว่า แม่เป็นมนุษย์ชื่อ "สวาหะ"(ลูกของนางกาลอัจนากับฤๅษีโคดม)  ส่วนพ่อยังงง ๆ อยู่ว่าเป็นพระอิศวรหรือพระพายกันแน่ แล้วไยลูกเกิดมาเป็นลิงได้  จริงอยู่ที่น้าของหนุมานคือ "พาลี" และ "สุครีพ" ก็เป็นลิง แต่ทั้งสองเคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่ภายหลังต้องคำสาปของฤๅษีโคดมให้กลายเป็นลิง

อนุญาตให้พาดพิงไปถึงรามายณะได้

 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 16:03
เข้ามาลุ้นคุณวันดี เรื่องลักษณะวงศ์ครับ

ขอตอบเพิ่มเติมภาพเขียนในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทว่า เป็นภาพ "พระนารายณ์เกษียณสมุทร"

๘    เสี่ยง   

นรสิงห์

ไปกันใหญ่เลย  เอาเป็นว่า  ขึ้นวันทำการค่อยทายกันใหม่ดีกว่า ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 11, 16:04
อ้อ  อย่าลืมนะครับ  ใครก็ได้ตั้งคำถามรามเกียรติ์ ๑ ข้อถามผมด้วย ;D


ได้ไอเดียจากคุณวันดี


ขอถามว่า ทำไมหนุมานจึงเกิดมาเป็นลิง ทั้ง ๆ ที่ ตามรามเกียรติ์ของไทยบอกชัด ๆ ว่า แม่เป็นมนุษย์ชื่อ "สวาหะ"(ลูกของนางกาลอัจนากับฤาษีโคดม)  ส่วนพ่อยังงง ๆ อยู่ว่าเป็นพระอิศวรหรือพระพายกันแน่ แล้วไยลูกเกิดมาเป็นลิงได้  จริงอยู่ที่น้าของหนุมานคือ "พาลี" และ "สุครีพ" ก็เป็นลิง แต่ทั้งสองเคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่ภายหลังต้องคำสาปของฤาษีโคดมให้กลายเป็นลิง

อนุญาตให้พาดพิงไปถึงรามายณะได้

 ;D

เป็นคำถามที่ดี   จะเอาไปขบเล่นวันสุดสัปดาห์นี้
เพราะอยู่บ้านคนเดียว  ไม่มีคนคุยด้วย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 16:26
ฝากไว้ให้ชมนะคุณหลวงเล็ก และสมาชิกผู้ร่วมสนุก
http://www.youtube.com/watch?v=uqDm07Sgw6A

ช่วยดูวินาที 3.07 ตอนพระนารายณ์เหยียบอกนนทุก ท่านคงแปลงร่างไม่หมดกระมังครับ พระถันจึงได้ออกมาขนาดนั้น  :-[


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 16:52

สหาย

       จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วก็มีภาพนี้    ท่าคืนร่าง

(ดูหน้า ๒๑   เล่มสีเขียวของ นิดดา  หงษ์วิวัฒน์) 


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 07 ม.ค. 11, 19:06
แอบย่องมาอ่าน
ร่วมลุ้น ร่วมเชียร์
การค้นหา สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ รามเกียรติ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 20:44
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)
และใครเป็นคนวาด


นารายณ์อวตาร          และ              พระนารายณ์ในปางรามจันทราสวตาร
ขณะที่พระรามแผลงศรพรหมมาตย์ปักอกทศกัณฐ์  หนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจ
ทศกัณฐ์ล้มลงในสมรภูมิ
(คอมโพสิชั่นสวยเหมือนฝัน  และทศกัณฐ์ใช้สองมือขวาและหนึ่งมือซ้ายจับงาช้างที่พระอิศวรขว้างไปปักอก
และสาบให้ติดอยู่จนกว่าจะตาย  ต่อมาได้ขอให้พระวิษณุกรรมมาเลื่อยให้พอดีอกแล้วทำเครื่องประดับปิดไว้
ที่ปักอกที่เลื่อนหลุด  

มืออีกสองจับเศียรไว้
มืออีกสองอยู่ในท่าผงะ   มืออีกข้างจับลูกศรไว้   มือที่เหลือยันพื้น      ร่างล้มไปในลักษณะคว่ำหน้าแล้วบิดกายขึ้นแบบหัวใจวาย)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 ม.ค. 11, 20:48
โอ้โห.... ไม่อยู่วันสองวันนี่ สงครามดุเดือดเลือนนองเชียว
กลิ่นดินปืนและคาวเลือด เสียงโหยหวนของผู้บาดเจ็บ และซากศพอยู่ทั่วทุกหนแห่ง (น่ากลัวมาก....)

มีใครบาดเจ็บบ้างไหม เดี๋ยวจะตามเสนารักษ์มาให้

....สหายที่รัก ข้าพเจ้าเจอสิ่งที่ค้นหาแล้ว... รอสักครู่เด้อ...กำลังจะตอบ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 ม.ค. 11, 21:01
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)

สหายชาวปากน้ำ เกริ่นนำไว้แล้วว่าเป็นท่านสุนทรภู่ จากเรื่องลักษณวงศ์

เกล้ากระผมตอบเพิ่มต่อว่า เป็นตอนลักษณวงศ์รบกับวิรุญมาศ

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า....หลังจากลักษณวงศ์พานางสุวรรณอำภาผู้มารดาหนีออกมาจากเมืองของวิรุณมาศแล้ว
ลักษณวงศ์ก็ท้ารบกับวิรุณมาศ พอสงครามเริ่มขึ้น ฝ่ายพลยักษ์เกิดเพลี่ยงพล้ำ วิรุณมาศจึงเกิดปัญหาคิดกลศึกถอยทัพเข้าในกลีบเมฆ
ให้ลักษณวงศ์ได้ใจว่าชนะ แล้ว....



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 ม.ค. 11, 21:07
จะกล่าวถึงโยธาพญามาร      อลหม่านเลิกทัพไปลับตา
มาพบองค์ทรงฤทธิ์วิรุณมาศ      ก็เกลื่อนกลาดอยู่ในกลีบพระเวหา
เจ้ากรุงมารตรัสการแก่เสนา      จะคิดฆ่าไพรินให้สิ้นปราณ
กูจะแกล้งแปลงกายเป็นโกสีย์      ขุนเสนีจงนิมิตเป็นคชสาร
พลกุมภัณฑ์นั้นแปลงเป็นบริวาร      พนักงานขับรำระบำกราย
ทั้งหน้าหลังสั่งกันให้พร้อมจิต      แม้นสมคิดวางศรประหารสาย
เห็นจะดีมีชัยด้วยง่ายดาย      จงแปลงกายเสียให้ทั่วทุกตัวตน
ขุนอำมาตย์รับราชบรรหาร      ก็จัดการกองทัพอยู่สับสน
ข้างหน้าช้างให้มีนางระบำกล      เข้าระคนกับเทเวศถวายกร
ทั้งสองข้างดุริยางคพิณพาทย์      เทวราชฤทธิรงค์องค์อักษร
ต่างตนต่างนิมิตด้วยฤทธิรอน      เป็นรูปเทพอักษรกัลยา
แล้วมนตรีมีฤทธิ์นิมิตพลัน      เป็นช้างเอราวัณอันเลขา
ทั้งสามเศียรสามหางสำอางตา      อลังการ์เครื่องประดับมณีดี
เหมือนช้างทรงองค์ท้าวหัสเนตร      งามวิเศษใหญ่ยิ่งคิรีศรี
ในลำงาคชสารประมาณมี      สระโบกขรณีในงางอน
ในสระศรีมีบัวขึ้นเจ็ดดอก      ดอกหนึ่งออกเจ็ดกลีบทรงเกสร
กลีบหนึ่งมีนางฟ้าพะงางอน      ร่ายรำฟ้อนอยู่ในกลีบทั้งเจ็ดองค์
องค์หนึ่งบริวารประมาณเจ็ด      ก็พร้อมเสร็จสุดงามตามประสงค์
วิรุญมาศขุนมารชาญณรงค์      ก็แปลงองค์เหมือนอมรินทรา
ถือเทพธำมรงค์ทรงสังข์         ขึ้นนั่งหลังคชสารด้วยหรรษา
สะพรั่งพร้อมล้อมล้วนแต่เทวา      สาวสวรรค์กัลยาประคองเคียง
ก็ยกทัพกลับเกลื่อนมากลางเมฆ      ฟังวิเวกแตรสังข์ประดังเสียง
ดุริยางค์วังเวงเพลงจำเรียง      สอดสำเนียงขับร้องบำเรออินทร์
ถึงที่รบพบองค์พระทรงศักดิ์      พญายักษ์สมจิตคิดถวิล
ให้เทวาบริวารประสานพิณ      จับระบำรำบินอยู่เบื้องบน ฯ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 21:30

ทำไมมีสามหางเล่าเจ้าข้าเอ๋ย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 ม.ค. 11, 21:37
เปรียบเทียบกับบทอินทรชิตแปลงกายของรามเกียรติ์

จึ่งสั่งรุทกาลผู้ร่วมใจ      เราจะไปชิงชัยด้วยไพรี
โดยเล่ห์กลศึกอุบาย      จะแปลงกายเป็นท้าวโกสีย์
อันหมู่พหลโยธี      ล้วนมีศักดาวราฤทธิ์
ให้เป็นคนธรรพ์วิทยา      เทวาสุรารักษ์นักสิทธิ์
อันการุญราชผู้ร่วมคิด      จงนิมิตเป็นเอราวัณ
เหล่าหนึ่งแปลงกายเป็นนางฟ้อน   ให้เหมือนอัปสรสาวสวรรค์
ดีดสีขับรำระบำบัน      พร้อมกันไปหน้าคชาธาร ฯ
.................................
ให้การุญราชกุมภัณฑ์      เป็นเอราวัณตัวกล้า
สามสิบสามเศียรอลงการ์   เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน
งาหนึ่งเจ็ดสระโกสุม      สระหนึ่งมีปทุมเกสร
เจ็ดกอชูก้านอรชร      กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา
ดวงหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช      กลิ่นรสซาบซ่านนาสา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา      เจ็ดนางกัลยายุพาพาล
แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร      รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน
นางหนึ่งล้วนมีบริวาร      เจ็ดองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ
เผือกผ่องพึงพิศอำไพ      เหมือนช้างเจ้าตรัยตรึงสวรรค์
มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์      พรายพรรณล้วนแก้วมณี ฯ
อันนายสารถีที่ขับรถ      เป็นเทวัญท้ายคชสารศรี
เหล่าหมู่ประโคมดนตรี      ให้แปลงอินทรีย์เป็นนางฟ้า
สำหรับระบำรำเต้น      เล่นไปหน้าคชสารกล้า
ฝ่ายหมู่อสุรโยธา      แปลงเป็นเทวาสุราฤทธิ์
บ้างเป็นคนธรรพคนธรรพ์   ซ้อนซับแน่นนันต์อกนิษฐ์
กองหน้านั้นให้นิรมิต      แต่พื้นพวกพิทยาธร
ล้วนถือซึ่งสรรพสาตรา      ปืนยากำซาบธนูศร
...............................
เมื่อนั้น         อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี
ครั้นได้พิชัยนาที      อสุรีนิมิตกายา ฯ
เหมือนองค์สมเด็จสหัสนัยน์   ลงมาจากตรัยตรึงสา
................................
บ้างตีรำมะนาท้าทับ      ร้องรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน
ดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน      จำเรียงเสียงหวานโอดพัน ฯ
บ้างจับระบำรำร่อน      ฟ้อนกรายย้ายเป็นเพลงสวรรค์
นวยนาดวาดกรเวียนวัน      บิดผันล่อเลี้ยวไปมา
แทรกเปลี่ยนเวียนวงดั่งกงจักร   เยื้องยักร่ายรำทำท่า
กระหวัดกรเป็นหงส์ลีลา      ฉวยยุดฉุดคร่ากันวุ่นไป
งามดั่งเทเวศร์กับอัปศร      คมค้อนป้องปัดกวัดไขว่
ใส่จริตให้หลงงงไป      ที่ในเล่ห์กลอสุรี ฯ

แต่อนิจจา... สงครามครั้งนี้ของทั้งสองเรื่องจบไม่เหมือนกัน
ฝ่ายรามเกียรติ์ เพราะพระลักษณ์และพลลิงมัวแต่ตะลึงงงงัน จึง "ต้องหอกดาบ ปืนยากำซาบธนูศร ตายกลาดดาษดิ้นทั้งดินดอน"
เหลือแต่หนุมานผู้เดียวทั้งระวังตัวอยู่จึงไม่เป็นอะไร (แต่สุดท้ายก็สลบเพราะถูกอินทรชิตฟาดศรใส่)

ส่วนฝ่ายลักษณวงศ์ แม้ลักษณวงศ์จะหลงใหลงได้ปลื้มกับขบวนของพระอินทร์ แต่เพราะความฉลาดของกัณฐัศว์ที่เห็นเขี้ยวของเทวดา
จึงบอกลักษณวงศ์ได้ทันท่วงทีไม่ให้ซ้ำรอยพระลักษณ์ พระเอกของเราจึงแผลงศรต้องท้าววิรุญมาศกระเด็นตกหลังช้างหล่นลงกลางภูเขาตาย

...เอวังด้วยประการฉะนี้ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ม.ค. 11, 21:58

ขยันมาก  รับไป ๑/๔  คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 22:18
คุณ art47 สุดยอดมากขอบำเรอด้วย ขบวนชมช้างเอราวัณ ห้อยพุ่จามรีอันงามงด ให้สำราญใจ ก่อนจะเจอคุณหลวงเล็ก (หลวงเหล็ก) ในวันทำการ
http://www.youtube.com/watch?v=b9axmXtX62U


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 22:22
ฉากรบ ที่ขบวนเหล่ายักษ์แปลงเป็นนางฟ้า นางสวรรค์ ร่ายรำเพื่อให้ทัพพระรามหลงลืม

http://www.youtube.com/watch?v=DdTdWbu36x8&feature=related


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ม.ค. 11, 12:24


         เชิญชม     http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2908.0     จากชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ม.ค. 11, 12:53


       นี่พวกเราต้องมาทำศึกกันจนถึงฤดูฝนกระนั้นฤา         อาทิตย์ละ ๑๐ คำถาม   อีก ๙  อาทิตย์โดยประมาณ

หรืออาจจะนานกว่านั้นอีก         

        คุณหลวงเหล็ก aka เล็กที่นับถือก็ได้รับเกียรติเป็นจุดรวมของความสามัคคีไปแล้ว


       สหายทั้งปวงที่ยืนม้ายืนช้างอยู่นอกสมรภูมิ  จะช้าอยู่ไย   เชิญออกมาสำแดงฝีมือ   ต่อไปคงไม่มีศึกใหญ่เยี่ยงนี้อีกช้านาน

       อย่าให้เสียวันเสียเดือนไปเลย(สำนวนครูเหม)



(aka =  as known as)


สหายแถวนี้กระซิบช้างกัน



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 11, 14:56
สะกดรอยตามคุณอาร์ต

คุณชลอ ช่วยบำรุงเขียนไว้ในบทความเรื่อง ช-ช้าง อึ๊บอั๊บฤดูร้อน จาก ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗  

              ช้างในหนังสือวรรณคดี ไม่มีตัวไหนใหญ่และพิลึกกึกกือเท่าช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ลองมาพิจารณางานของท่านมหากวีเอก สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) จากเรื่องลักษณวงศ์ตอน วิรุณมาศต้องศรตาย ซึ่งมีคำกลอนดังนี้

                        แล้วมนตรีมีฤทธิ์นิมิตพลัน
                เป็นเอราวัณอันเลขา
                ทั้งสามเศียรสามหางสำอางตา
                อลังการ์เครื่องประดับมณีดี
                        เหมือนช้างทรงองค์ท้าวสหัสเนตร
                งามวิเศษใหญ่ยิ่งกีรีศรี
                ในลำงาคชสารประมาณมี
                สระโบกขรณีในงางอน
                        ในสระศรีมีบัวขึ้นเจ็ดดอก
                ดอกหนึ่งออกเจ็ดกลีบทรงเกสร
                กลีบหนึ่งมีนางฟ้าพงางอน
                ร่ายรำฟ้อนอยู่ในกลีบทั้งเจ็ดองค์
    
            ลองพิจารณาบทพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทละครตอนอินทรชิตแปลง
    
                        อินทรชิตบิดเบือนกายิน
                เหมือนองค์อมรินทร์
                ทรงคชเอราวัณ
                        ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน
                เผือกผ่องผิวพรรณ
                สีสังข์สะอาดโอฬาร์
                        สามสิบสามเศียรโสภา
                เศียรหนึ่งเจ็ดงา
                ดังเพชรรัตน์รูจี
                        งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี
                สระหนึ่งย่อมมี
                เจ็ดกออุบลบันดาล
                        กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์
                ดอกหนึ่งเบ่งบาน
                มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
                        กลีบหนึ่งมีเทพธิดา
                เจ็ดองค์โสภา
                แน่งน้อยลำเพานงพาล
                        นางหนึ่งย่อมมีบริวาร
                อีกเจ็ดเยาวมาลย์
                ล้วนรูปนิรมิตมายา
                        จับระบำรำร่ายส่ายหา
                ชำเลืองหางตา
                ทำทีดังเทพอัปสร
                        มีวิมานแก้วงามบวร
                ทุกเกศกุญชร
                ดังเวไชยันต์อมรินทร์

                    ช้างเอราวัณที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนิพนธ์ จะแตกต่างไปจากท่านสุนทรภู่บ้างในรายละเอียด แต่เนื้อหาไม่แตกต่างกันเลย ทั้งราชกวี และกวี ต่างเอาแบบอย่างมาจากไหน จากเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ใช่หรือไม่ ลองพิจารณากันดู

                        ให้การุณราชกุมภัณฑ์
                เป็นเอราวัณตัวกล้า
                สามสิบสามเศียรอลงการ์
                เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน
                        งาหนึ่งเจ็ดสระโกสุม
                เศียรหนึ่งมีประทุมเกสร
                เจ็ดกอชูก้านอรชร
                กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา
                        ดวงหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช
                กลิ่นรสซาบซ่านนาสา
                กลีบหนึ่งมีเทพธิดา
                เจ็ดนางกัลยายุพาพาล
                        แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร
                รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน
                นางหนึ่งล้วนมีบริวาร
                เจ็ดองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ
                        เผือกผ่องพึงพิศอำไพ
                เหมือนช้างเจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์
                มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์
                พรายพรรณล้วนแก้วมณี

            จากสามเศียร  เป็นสามสิบเศียร และสามสิบสามเศียร ตามลำดับ นี่เป็นเรื่องของช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างของพระอินทร์เหมือนกัน ที่กล่าวมาแต่ต้นว่า รัชกาลที่ ๒ และท่านสุนทรภู่ คัดลอกมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑ คาดว่าคงจะไม่ถูกต้อง  เพราะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเรื่องช้างเอราวัณมาก่อนเรื่องลักษณวงศ์ และรามเกียรติ์




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 11, 15:00
           ช้างเอราวัณ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นช้างปลอมแปลงทั้งสิ้น (รามเกียรติ์ อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ จำเป็นต้องให้พหลพลโยธาแปลงเป็นอราวัณด้วย) หวนมาดูช้างเอราวัณตัวจริงกันบ้างดังนี้

            "อันว่า ในเมืองฟ้าโพ้นบ่มีสัตว์เดรัจฉาน ตัวน้อยก็ดีตัวใหญ่ก็ดีหาบ่มิได้ เทียรย่อมเทพยดาสิ้นไส้ แลว่ายังมีเทพยดาองค์หนึ่งชื่อ ไอยราพัณเทวบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีทีเสด็จไปเหล้นแห่งใดๆก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเหล้นจิงไอยราพัณเทพบุตร ก็นฤมิตตัวเป็นช้างเผือกตัวหนึ่งใหญ่นัก โดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัว หัวน้อยๆอยู่ ๒ หัว อยู่ ๒ ข้างนอกหัวทั้งหลายนั้น แลว่า หัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวนั้นถัดเข้าไปทั้งสองข้างแล หัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปกว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา แร่งเข้าไปก็แร่งใหญ่ถัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวใหญ่อันที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลาย ชื่อสุทัศน์ เป็นพระที่นั่งพระอินทร์ โดยกว้างได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา (ฉบับพระมหาจันทร์ว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐) เหนือหัวนั้นแล มีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา และมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีธง (ทั้งหลายแลธง) แก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ธงฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนา ดั่งเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์  แลมีแท่นนอนอยู่ในนั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสนาหมอนใหญ่ หมอนน้อยหมอนอิงค์ องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา และประดับด้วยแก้วถนิมอาภรณ์ทั้งหลาย แล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้นหัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ ธ ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวแลมีงา ๗ อัน แลงาอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานั้นมีสระได้ ๗ สระ สระแลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอ กอบัวแลกอนั้นมีดอกแล ๗ ดอก ดอกแลอันนั้นมีกลีบ ๗ อัน กลีบแลอันแลอันนั้นมีนางฟ้ายืนรำระบำบัพพะแล ๗ คน นางแลคนแลคนนั้นมีสาวใช้ได้ ๗ คน โสดช้าง ๓๓ หัวนั้น ๒๓๑ งา และสระนั้นได้ ๑,๖๑๗ สระ แลกอบัวนั้นได้ ๑๑,๓๑๙ กอ แลดอกบัวนั้นได้ ๗๙,๒๓๓ ดอก แลกลีบดอกบัวนั้นไส้ได้ ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ แลนางฟ้ารำระบำนั้นได้ ๓,๘๘๒,๔๑๗ นาง แลสาวใช้นางระบำนั้นได้ ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ คน แลมีอยู่ในงาช้างไอยราพัณ แลมีสถานที่แห่งหนึ่งโดยกว้างได้ ๕๐ โยชน์ เป็นที่อยู่แห่งนางระบำและบริวารของนางทั้งหลายนั้นด้วย"

           ทั้งหมดนั้นเป็นลักษณะของช้างไอยราพัณ หรือ เอราวัณ ซึ่งเราๆต่างทราบดีว่าเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ใหญ้โตมโหฬารขนาดไหน ความทั้งหมดนั้นอยู่ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา ที่พญาลิไททรงนิพนธ์ขึ้นในสมัยสุโขทัย

            เพราะหนังสือเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในสมัยสุโขทัยนั้นเอง จึงเป็นแบบฉบับและมีอิทธิพลต่อราชกวีและกวีรุ่นหลัง เอาแบบอย่าง เช่นในเรื่องรามเกียรติ์ และลักษณวงศ์ ดังกล่าวมาแล้ว

http://onknow.blogspot.com/2010/03/blog-post_2197.html
           


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 08 ม.ค. 11, 22:32
สหายร่วมยุทธจักรให้เสี่ยงเทียนทายดู

คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)
และใครเป็นคนวาด


คำถามนี้ คุณsiamese นำว่าผลงานนี้เป็นของอาจารย์สนั่น ศิลากร เขียนที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
ส่วนคุณวันดี ตอบแล้วว่า หนึ่งในภาพนั้นคือปางรามาวตาร พระนารายณ์แปลงเป็นพระรามปราบทศกัณฐ์ (ซึ่งผมเชื่อว่าถูกต้อง)

คำตอบของผมจึงเหลือเพียงอีกภาพหนึ่ง ..... คือภาพพระนารายณ์แปลงเป็นหมูป่าเขี้ยวเพชรกำลังไล่ขวิดหิรัญยักษ์ที่หนีบแผ่นดินอยู่ใต้รักแร้
จนหิรัญยักษ์ล้มลุกคลุกคลาน (ในน้ำ ???) ถือเป็นปางที่ 1 ของนารายณ์ 10 ปาง มีชื่อว่า "วราหาวตาร"


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ม.ค. 11, 23:00

อ่านมาจากหนังสือ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท   ของ ศรีศักดิ์  วัลลิโภดม  และ มานิต  วัลลิโภดม
สำนักพิมพ์โบราณ  ๒๕๓๘  หน้า ๑๑๐ ค่ะ

แสดงไว้รูปเดียวค่ะ

ยังมีเวลาให้...เสี่ยงได้อีกวันกว่า


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 11, 00:33
คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)
และใครเป็นคนวาด
+++

ขอตอบเพิ่มเติมภาพจิตรกรรมฝาผนัง (หมดปัญหาที่จะหาคำตอบแล้ว) ได้มาภาพนี้คือ พระนารายณ์บรรทมสินธ์ เปรียบเทียบภาพในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว มาเปรียบเทียบกันเลย ก็มีอยู่เหมือนกันทั้งสองภาพ

เพียงแต่ถือคติและการวาดภาพศิลปะต่างกัน ซึ่งพระพรหมเกิดจากพระนาภีพระนารายณ์และปรากฎในรามเกียรติ์ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า พระองค์นำมาเป็นต้นเรื่องกำเนิดวงศ์พระรามในรามเกียรติ์โดยกวีตั้งใจตัดพระพรหมออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นอโนมาตันแทน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ม.ค. 11, 19:51

คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)
และใครเป็นคนวาด
+++

เสนอ  ปรศุรามาวตาร  ซึ่งปรศุนั้นคือรามสูรนั่นเอง 
เรื่องอธิบายนั้นมีอยู่ในหน้า ๔๒๐ - ๔๓๐  จบตรงเทวดาและนางฟ้ามามุง
บทละครรามเกียรติ์ เล่ม ๑  พิมพ์ ​๒๕๑๔  และ

บ่อเกิดรามเกียรติ์ ๒๕๑๓  พิมพ์ครั้งที่ ๙    พระราชนิพนธ์ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  หน้า ๔๗ - ๕๕



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 08:38
คำถามข้อที่ ๖. เป็นของคุณart47 ไปโดยพลัน

นับว่าอุตสาหะมาก  อยากจะให้คะแนนสักอักโขภิณีหนึ่ง
แต่เกรงว่าท่านผู้เข้าแข่งขันคนอื่นจะเขม่นเข่นเขี้ยวใส่ ;D



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 08:48
คำถามข้อที่ ๖. มีกวีคนหนึ่งเกิดประทับใจบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณห้อมล้อมด้วยไพร่พลยักษ์
ที่แปลงกายเป็นเทพยดาออกรบ   จึงได้นำมาแต่งเลียนอย่างไว้ในผลงานของตน   
คำถามคือ  กวีคนดังกล่าวคือใคร   และได้แต่งเลียนอย่างบทละครเรื่องรามเกียรติ์
ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ไว้ในผลงานเรื่องอะไร  ตอนอะไร
(ถ้ายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นได้จะยอดเยี่ยมมาก)


เสี่ยง

สุนทรภู่   ลักษณวงศ์  ตอนลักษณวงศ์พานางสุวรรณอำพาหนีท้าววิรุญมาศ

ตอบถูกครึ่งหนึ่งแล้ว  แต่ชื่อตอนยังไม่ถูก  และขอให้ยกกลอนมาให้ดูหน่อย
ตอนนี้ให้ได้  ๒/๔  คะแนน


คุณหลวงเล็กช่วยกรุณาตัดสินอีกทีว่าคะแนนในข้อ ๖ จะแบ่งให้คุณวันดี และ คุณอาร์ต คนละเท่าไร

 ???



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 08:52
อ้อๆ  ลืมไปเพราะกระทู้มาล่วงมาหลายหน้า
ไม่ได้ย้อนไปดูตอนต้น

คำถามข้อที่ ๖.คุณอาร์ต  ต้องได้  ๑/๒ คะแนน
ส่วนคุณวันดี  ได้ ๑/๒ คะแนน ครับ

ขออภัย รบมาหลายวันชักเมาเลือด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 08:57
ส่วนคุณวันดีตอบข้อ ๘. ว่า
ภาพที่เมืองโบราณบางปู ในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทนั้น
มีภาพรามเกียรติ์ ๒ ภาพ

ภาพหนึ่งคือภาพ  "ขณะที่พระรามแผลงศรพรหมมาตย์ปักอกทศกัณฐ์  
หนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจทศกัณฐ์ล้มลงในสมรภูมิ
(คอมโพสิชั่นสวยเหมือนฝัน  และทศกัณฐ์ใช้สองมือขวา
และหนึ่งมือซ้ายจับงาช้างที่พระอิศวรขว้างไปปักอก
และสาบให้ติดอยู่จนกว่าจะตาย  ต่อมาได้ขอให้พระวิษณุกรรม
มาเลื่อยให้พอดีอกแล้วทำเครื่องประดับปิดไว้
ที่ปักอกที่เลื่อนหลุด   มืออีกสองจับเศียรไว้
มืออีกสองอยู่ในท่าผงะ   มืออีกข้างจับลูกศรไว้  
มือที่เหลือยันพื้น      ร่างล้มไปในลักษณะคว่ำหน้าแล้วบิดกายขึ้นแบบหัวใจวาย)

คุณวันดีตอบถูก ๑ ภาพ  ได้ ๑/๔ คะแนน
ส่วนคนอื่นที่ตอบมา  ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เรื่องพระราม
แม้จะเป็นอวตารที่ปรากฏในรามเกียรติ์แต่ไม่ใช่เรื่องพระราม
ผมจึงให้ถูกไปไม่ได้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 09:05


แวะมาแจ้งว่า  คุณไซมีสไปควบคุมมหกรรมแห่งหนึ่งอยู่   

คงตามนายพลแมคอาเธอร์(I shall return)  มาหลัง ๑๗๐๐  น.



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 09:10


ขอบคุณคุณเพ็ญที่ช่วยถามจขกทให้

ในยามยากใครเป็นมิตรก็รู้ได้ในครั้งนี้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 09:17
มาสรุปคะแนนค่ะ... ;D

สรุปข้อที่ ๘. ค่ะ
ท่าน siamese ตอบถูก 2 คำถามคือ
- ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง) = พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท
- ใครเป็นคนวาด                              = อาจารย์สนั่น ศิลากร
ท่านอาจารย์ Wandee ตอบถูก 1 คำถามคือ
- เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไร                = พระรามแผลงศรพรหมมาตย์ปักอกทศกัณฐ์....

ยังเหลืออีก ๑ ภาพ เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไร [๑/๔ คะแนน (๐.๒๕ คะแนน)] ค่ะ
ผู้กล้าท่านใดจะได้ไปเอ่ย!!!  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ม.ค. 11, 09:24

ส่วนคนอื่นที่ตอบมา  ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เรื่องพระราม
แม้จะเป็นอวตารที่ปรากฏในรามเกียรติ์แต่ไม่ใช่เรื่องพระราม
ผมจึงให้ถูกไปไม่ได้


งงงวย... งงงวย... งงงวย

ผมเพิ่งรู้ว่าคุณหลวงไม่เอาภาคอวตารนะเนี่ย :'(

แย่เลยเรา :'(



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 09:27

ปรศุราม เท่งทึงเพราะใครเล่า


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 09:46
อ้อ  อย่าลืมนะครับ  ใครก็ได้ตั้งคำถามรามเกียรติ์ ๑ ข้อถามผมด้วย ;D


ได้ไอเดียจากคุณวันดี


ขอถามว่า ทำไมหนุมานจึงเกิดมาเป็นลิง ทั้ง ๆ ที่ ตามรามเกียรติ์ของไทยบอกชัด ๆ ว่า แม่เป็นมนุษย์ชื่อ "สวาหะ"(ลูกของนางกาลอัจนากับฤาษีโคดม)  ส่วนพ่อยังงง ๆ อยู่ว่าเป็นพระอิศวรหรือพระพายกันแน่ แล้วไยลูกเกิดมาเป็นลิงได้  จริงอยู่ที่น้าของหนุมานคือ "พาลี" และ "สุครีพ" ก็เป็นลิง แต่ทั้งสองเคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่ภายหลังต้องคำสาปของฤาษีโคดมให้กลายเป็นลิง

อนุญาตให้พาดพิงไปถึงรามายณะได้

 ;D

เป็นคำถามที่ดี   จะเอาไปขบเล่นวันสุดสัปดาห์นี้
เพราะอยู่บ้านคนเดียว  ไม่มีคนคุยด้วย

ตอบคำถามคุณเพ็ญฯ ก่อนเริ่มศึกคำรบใหม่

ทำไมหนุมานเกิดเป็นลิง  ทั้งที่แม่เป็นมนุษย์และพ่อเป็นเทวดา
เรื่องนี้  ขอเล่าย้อนไปที่ต้นกำเนิดลิงและยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์
ครั้งหนึ่งมีฤาษีตนหนึ่งทำธนูจากไม้ไผ่ไปถวายพระอิศวร
พระอิศวรทรงลองง้างธนูนั้น  ธนูนั้นไม่อาจทานพระกำลังได้
ก็หักออกเป็นสองท่อน   ท่อนโคนนั้นกลายเป็นลิง
ท่อนปลายนั้นกลายเป็นยักษ์  ยักษืและลิงนั้นได้เป็นต้นกำเนิดลิงยักษ์ในรามเกียรติ์
และพระอิศวรได้ทรงทำนายไว้ว่า  ต่อไปลิงจะฆ่ายักษ์

กลับมาที่เรื่องนางกาลอัจนาสาปนางสวาหะ
ในโทษฐานที่บอกพระฤาษีโคดมว่า  ลูกชายสองคนไม่ใช่ลูกของฤาษี
แต่เป็นลูกชู้  จึงถูกฤาษีสาปให้กลายเป็นวานรเข้าป่าไป
ส่วนนางกาลอัจนาถูกพระฤาษีโคดมสาปให้กลายเป็นหิน
รอพระรามมาขนไปถมเป็นถนนข้ามไปลงกา  จึงจะพ้นคำสาป

นางกาลอัจนาจึงสาปลูกสาวว่า  ในฐานที่ปากไม่ดี
ขอให้เจ้าสวาหะไปยืนตีนเดียวอ้าปากกินลมที่เชิงเขาจักรวาล
ต่อเมื่อนางสวาหะคลอดลูกเป็นวานร  ย้ำ คลอดลูกเป็นวานร  
นางสวาหะจึงพ้นคำสาปของมารดา  
ตรงนี้  คงเป็นเพราะนางกาลอัจนาโกรธที่นางสวาหะ
เป็นเหตุทำให้ลูกชายสองคนของนางเป็นลิงไป  
จึงให้นางสวาหะมีลูกเป็นลิงบ้าง  เป็นการแก้แค้นกัน

นอกจากนี้ในคำของพระอิศวรที่มีโองการให้พระพายเอาอาวุธและกำลังกาย
ไปซัดเข้าปากนางสวาหะก็บอกชัดเจนว่า  
"ไปซัดเข้าปากสวาหะ  จะเกิดบุตรเป็นกระบี่ศรี"
ก็ทรงประกาศิตไว้อย่างนี้  หนุมานจะเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร
เพราะถ้าเกิดเป็นมนุษย์  แม่ก็ไม่พ้นคำสาป
แถมจะไปเข้าอยู่กับน้าทั้งสองก็ไม่เข้าพวก
และนี่เองก็ทำให้บรรดาเทวดาทั้งปวงที่ลงมาเกิด
เพื่อช่วยพระรามรบกับยักษ์ต้องเกิดเป็นลิงไปด้วย

เรื่องนี้จะโทษใคร  ใครคนแรกทำให้เป็นลิงก็ต้องโทษคนนั้น

ผมตอบเท่านี้  โดยไม่อ้างรามายณะ  เพราะเห็นว่าเรื่องรามเกียรติ์ไทยพออ้างอิงแล้ว
อันที่จริง มีเรื่องพระรามบางสำนวน  ว่า  พระรามแอบไปมีอะไรกับลิงเข้า
เลยได้ลูกเป็นลิงขาวชื่อ หนุมาน  ทหารเอกที่มาช่วยรบภายหลัง
ช่างสนุกดีแท้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 09:49
ราม...ราม  เพิ่งเห็นว่าคุณดีดี เรียกว่าอาจารย์       โปรดเรียกวันดีเฉย ๆ ค่ะ

ยากไร้ชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ   มีสมบัติเพียงหนังสือไม่กี่ตัน..เอ้ยเล่มเองค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 09:51

ปรศุราม เท่งทึงเพราะใครเล่า

ก็ในภาพที่วาดนี้เขาไม่ได้วาดภาพปรศุรามถูกพระรามฆ่าเสียหน่อย
จะให้ถูกไปได้ฉันใด

และตามเรื่องปรศุราม  ไม่ได้ถูกพระรามฆ่า
แต่พระรามตรัสถามว่า  ระหว่างตบะฌานที่ปรศุรามได้บำเพ็ญมาแล้ว
กับมรรคผลที่ได้ต่อไปข้างหน้า  ปรศุรามจะเลือกเอาอย่างไหน

ปรศุรามเลือกมรรคผลที่จะได้ต่อไป  
พระรามจึงทำลายตบะฌานของปรศุรามที่ได้มาแล้วหมด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 10:11
เท่งทึงไม่ได้แปลว่าถูกฆ่านี่

แปลว่าหมดสิ้นเดินต๊อกๆ  หรือนอนหลับต่างหาก


   
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 19:51
   ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่ ๒ ภาพ
อยากทราบว่า  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง ๒ ภาพนั้น
เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไรกับตอนอะไร
ภาพดังกล่าวอยู่ที่ไหน (ระบุชื่อสิ่งก่อสร้าง)
และใครเป็นคนวาด
+++

เสนอ  ปรศุรามาวตาร  ซึ่งปรศุนั้นคือรามสูรนั่นเอง
เรื่องอธิบายนั้นมีอยู่ในหน้า ๔๒๐ - ๔๓๐  จบตรงเทวดาและนางฟ้ามามุง
บทละครรามเกียรติ์ เล่ม ๑  พิมพ์ ​๒๕๑๔  และ

บ่อเกิดรามเกียรติ์ ๒๕๑๓  พิมพ์ครั้งที่ ๙    พระราชนิพนธ์ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  หน้า ๔๗ - ๕๕


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 10:13
ท่านทั้งหลายที่ได้สมัครใจมาเข้ารบในกระทู้รามเกียรติ์นี้

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว   ผมในฐานะเจ้าของกระทู้นี้
และเป็นตำบลกระสุนตกไปอีกหลายเพลาจนกว่าจะหมดคำถาม ๑๐๐ ข้อ
ขอเชิญ คุณวันดี คุณอาร์ท47 คุณสองยิ้ม คุณเพ็ญฯ คุณไซมิส
และท่านอื่นๆ ที่เยี่ยมๆ มองๆ เข้ามาอ่านเข้ามาลุ้นในกระทู้นี้
ได้ตบเท้าเข้ามาเริ่มรบกับคำถามใหม่  
งวดนี้ขอให้เตรียมสรรพาวุธยุทโปกรณ์และตำราพิชัยสงครามมาให้พร้อมพรั่ง
เพราะการรบจะเริ่มดุเดือดยิ่งขึ้น  ที่ผ่านเป็นเพียงออเดิร์ฟเท่านั้น

ส่วนท่านผู้ใดที่เข้ามาอ่านและสนใจกระทู้นี้  
เรามีความยินดีที่เชื้อเชิญท่านสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเรือนไทย
เพื่อเข้าร่วมรบกระทำยุทธศิลปะสำแดงให้เห็นประจักษ์ตา
ใครจะรู้ว่า  มวยข้างนอกอาจจะมีชั้นเชิงลวดลายไม่ธรรมดาก็ได้
อย่าได้ประมาทไปเชียว  

คำถาม ข้อที่  ๑๑. -  ๒๐. จะเริ่ม ณ บัดนี้ 8)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 10:15
เท่งทึงไม่ได้แปลว่าถูกฆ่านี่

แปลว่าหมดสิ้นเดินต๊อกๆ  หรือนอนหลับต่างหาก



แล้วเขาวาดภาพตอนนั้นไว้หรือเปล่า
ถ้ามีก็เอายืนยัน   จะได้ให้คะแนนสักสองสามโกฏิคะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 10:20
คุณหลวงจะกรุณาบอกได้ไหมว่ารูปอะไร  เท่านั้นเอง

เรื่องคาใจเพราะข้อมูลหาไม่ได้    อยากรู้  ไม่ได้เถียงว่าตนเองถูก


ไม่อยากจะถ่วงเวลาของกระทู้ 

มวยช้างไม่มีหรอก  มีแต่ช้างเตะตะกร้อ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ม.ค. 11, 10:30


งวดนี้ขอให้เตรียมสรรพาวุธยุทโปกรณ์และตำราพิชัยสงครามมาให้พร้อมพรั่ง
เพราะการรบจะเริ่มดุเดือดยิ่งขึ้น  ที่ผ่านเป็นเพียงออเดิร์ฟเท่านั้น


ออเดิร์ฟคุณหลวงนี่ทานยากนัก ทำไมแต่ละอย่างถึงติดคออยู่บ่อยๆ เล่า ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 10:31
คำถามข้อที่  ๑๑.

จงเรียงกลอนบทสระสรงทรงเครื่องต่อไปนี้ให้ถูกต้อง
พร้อมกับตอบคำถามว่า  บทสระสรงทรงเครื่องนี้เป็นบทของตัวละครใด
ในเรื่องรามเกียรติ์  และตัวละครดังกล่าวกำลังแต่งองค์ทรงเครื่อง
จะไปไหน

มงกุฎเพชรรุ้งร่วงฉานฉาย
พระอนุชาจับหอกยืนยัน
สอดใส่สร้อยสนสะอิ้งแก้ว
กุมภัณฑ์กวัดแกว่งไปมา

พาหุรัดรักร้อยทับทิมพราย
ต่างทรงสนับเพลาเชิงงอน
สำหับรณยุทธ์ทุกมือมั่น
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ

ชายไหวชายแครงเครือหงส์
สองกษัตริย์ชำระสระสนาน
อุทุมพรภูษาท้องพัน
กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ

สุคนธาธารทิพย์เกสร
ต่างทรงทับทรวงสังวาลวัลย์
รัดองค์วาวแววเฟื่องห้อย
ตาบทิศกุดั่นประดับพลอย

ฉลององค์เกราะเพชรทับทิมคั่น
กรรเจียกจรเนาวรัตน์จำหลักลาย
ทองกรแก้วฉลุฉลักลอย
พระเชษฐากรายหัตถ์ทั้งสองพัน

ฯ ๑๐ คำ ฯ

ข้อนี้  ๑๒ คะแนน  เรียงกลอน  ๑๐ คะแนน  ตอบคำถาม อีก ๒ คะแนน
ทั้งนี้  ขอให้ส่งคำตอบหลังไมค์มาให้ตรวจก่อน  
(ป้องกันการลอกคำตอบ) ให้เวลาส่งคำตอบถึง ๑๑.๐๐ น.


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 10:43
เรื่องนี้จะโทษใคร  ใครคนแรกทำให้เป็นลิงก็ต้องโทษคนนั้น
ผมตอบเท่านี้  โดยไม่อ้างรามายณะ  เพราะเห็นว่าเรื่องรามเกียรติ์ไทยพออ้างอิงแล้ว
อันที่จริง มีเรื่องพระรามบางสำนวน  ว่า  พระรามแอบไปมีอะไรกับลิงเข้า
เลยได้ลูกเป็นลิงขาวชื่อ หนุมาน  ทหารเอกที่มาช่วยรบภายหลัง
ช่างสนุกดีแท้

สาธุ

ในเรื่องรามายณะของฤๅษีวาลมีกิ กล่าวถึงกำเนิดของหนุมานว่าเป็นลูกของวานรตัวเมียชื่อ "อัจนา" แท้จริงแล้วนางอัจนาเดิมเป็นนางอัปสรอยู่บนสวรรค์แต่ต้องคำสาปให้ลงมาเกิดเป็นวานรบนโลกมนุษย์ จะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อให้กำเนิดองค์อวตารของพระอิศวร  สามีของนางอัจนาเป็นวานรชื่อ "เกสรี" มีกำลังมากจนสามารถฆ่าช้างได้

วันหนึ่งขณะที่นางอัจนากำลังสวดอ้อนวอนขอให้พระอิศวรอวตารลงมาเกิดกับนาง ก็บังเกิดลมหอบเอาว่าวซึ่งเกี่ยวเอาขนมศักดิ์สิทธิ์ซึ่งท้าวทศรถ กษัตริย์กรุงอโยธา(ผู้เป็นพระบิดาของพระราม พระลักษณ์) ได้จากการทำพิธีขอบุตร  พระพายนำขนมนั้นมาใส่ในมือของนางอัจนา เมื่อนางกินขนมนั้นเข้าไป ก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดเป็นหนุมาน

กำเนิดหนุมานตามเรื่องรามายณะ ให้คำตอบได้ว่าทำไมหนุมานจึงเกิดมาเป็นลิง หนุมานเป็นอวตารของพระอิศวร เป็นลูกลิงชื่อนางอัจนา พ่อชื่อพระพาย และมีพ่อเลี้ยงเป็นลิงชื่อเกสรี

ส่วนเวอร์ชั่นที่ว่าพระรามเป็นพ่อหนุมานเห็นจะเป็น พระลักพระลาม  (http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=781&Itemid=59) ของลาว

ประวัติรามเกียรติ์และประวัติหนุมานในรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ
http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/snamcn/Phatchalin_Jeennoon/Chapter2.pdf

 ;D



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 11:11


งวดนี้ขอให้เตรียมสรรพาวุธยุทโปกรณ์และตำราพิชัยสงครามมาให้พร้อมพรั่ง
เพราะการรบจะเริ่มดุเดือดยิ่งขึ้น  ที่ผ่านเป็นเพียงออเดิร์ฟเท่านั้น


ออเดิร์ฟคุณหลวงนี่ทานยากนัก ทำไมแต่ละอย่างถึงติดคออยู่บ่อยๆ เล่า ;D

เพราะผมไม่อาจมองข้ามมาตรฐานความรู้ความสามารถ
ของท่านผู้เข้าแข่งขันได้  จึงจำเป็นต้องตั้งคำถามทรมานใจผู้ตอบ

ไม่เป็นไรหรอกครับ  ถ้าตอบได้ก็นับว่าเป็นผู้รู้
เพราะได้ค้นคลังแสงมาตอบเต็มอัตรา
(ระวังคลังแสงระเบิดใส่ก็แล้วกัน)
แต่ถึงตอบไม่ได้ก็จงภูมิใจว่า  ท่านได้ขวนขวายถึงที่สุดแล้ว
ถึงตอบคำถามไม่ได้  แต่ท่านก็ได้รู้เรื่องอื่นๆ ไม่น้อย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 11:44
คำถามข้อที่ ๑๒.  ฤาษีในเรื่องรามเกียรติ์ ร. ๑
มี ๓๕ ตน แต่ละตนมีชื่ออะไรบ้าง  แต่ละตนมีบทบาทสำคัญอย่างไร
และมีฤาษีตนใดบ้างที่ไปปรากฏชื่ออยู่ในโคลงฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์

ข้อนี้ คะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน
ตอบผิด ๑ แห่ง  ตัด ๑ คะแนน

ข้อนี้ส่งคำตอบหลังไมค์ก่อน  ๑๔.๐๐  น.


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 11:55
ได้รับคำสั่งให้โพสได้

สหัสเดชะเจ้าเมืองปางตาลกับมูลพลัมแต่งตัวในเมืองลงกาจะไปรบ



สองกษัตริย์ชำระสระสนาน
สุคนธาธารทิพย์เกสร
ต่างทรงสนับเพลาเชิงงอน
อุทุมพรภูษาท้องพัน
ชายไหวชายแครงเครือหงส์
ฉลององค์เกราะเพชรทับทิมคั่น
ต่างทรงทับทรวงสังวาลวัลย์
ตาบทิพย์กุดั่นประดับพลอย
สอดใส่สร้อยสนสะอิ้งแก้ว
รัดองค์วาวแววเฟื่องห้อย
ทองกรแก้วฉลุฉลักลอย
พาหุรัดรักร้อยทับทิมพราย
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ
มงกุฎเพชรรุ้งร่วงเดือนฉาย
กรรเจียกจอนนวรัตน์จำหลักลาย
พระเชษฐากรายหัตถ์ทั้งสองพัน
กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ
สำหรับรณยุทธ์ทุกมือมั่น
พระอนุชาจับหอกยืนยัน
กุมภัณฑ์กวัดแกว่งไปมา ฯ

ส่งมา 10-1-2554  11.10
  


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 12:10
คุณวันดี  ได้ไป ๑๑ คะแนน
เรียงกลอนถูกต้อง   ตอบชื่อตัวละครถูก
แต่ว่าแต่งตัวไปไหนยังตอบไม่ถูก ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 12:37
โพสต่อก็ไม่นับ    พิลึก


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 13:14
โพสต่อก็ไม่นับ    พิลึก

ก็ยังไม่ถูก  จะให้ใส่คะแนนอย่างไร


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 13:55
ตอบเรื่องสหัสเดชะ ต่อ
« ส่งให้: luanglek เมื่อ: วันนี้ เวลา 11:14 »



เป็นคำตอบที่ติดต่อกัน     ไม่ไห้ห้ามโพสสามครั้งมิใช่หรือท่านผู้เจริญ  ไม่ใช่การแก้ด้วย


ตอนนั้นสหัสเดชะยังไม่รู้ว่าจะไปรบกับใคร  ต่อมาจึงรู้ว่าลักษมณ์ราม
Wandee





   
ตอบ:
« ส่งให้: luanglek เมื่อ: วันนี้ เวลา 11:24 »
   
มูลพลัมเป็นน้องชายของสหัสเดชะ

สหัสเดชะมี พันพักตร์  หน้า ๕​ชั้น  ทรงมงกุฎชัย

มีอาวุธวิเศษคือกระบองต้นชี้ตายปลายชี้เป็น

รบกันจริงๆ  หนุมานหลอกเอากระบองไปหัก ใช้หางจับสหัสเดชะให้ทหารลิงเยาะเย้ย

แล้วตัดคอ



มูลพลัมเป็นอุปราชเมืองปางตาล  กายสีเขียว  ๔ พักตร์  สวมกระบังหน้า
ถูกศรพลายวาตของพระลักษฒณ์       หักยอดเขาสู้เพราะหมดอาวุธ
พระลักษมณ์แผลงศรไปถูกอก   มูลพลัมล้มลงตายทันที




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 14:32
บทสระสรงนี้เป็นบทที่สหัสเดชะกับมูลพลัมแต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมเดินทางไปเมืองลงกา
ตามที่ทศกัณฐ์ได้ส่งทูตมาแจ้งข่าวให้ไปช่วยรบ

ไม่ใช่บทสระสรงเพื่อเตรียมตัวออกรบกับพระราม  นี่เพิ่งเตรียมจะเดินทางออกไปเมืองลงกาเท่านั้น


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 14:32
สหายผู้มีอาชีพในนาฎะดนตรี     ได้ติดตามกระทู้ตลอดมา

ขออภัยยังไม่มีเวลาเล่า  ตอนที่ท่านต่อสายมานั้น   ดิฉันกำลังโพส

เรียนท่านทั้งปวงว่า มีผู้คนหลายอาชีพและวัย  ติดตามกระทู้   ดิฉันก็บรรยายตามที่เห็นควร



อ่านมากๆ    อ่านติดกันค่ะ  ไม่ได้แก้ตัวหรอกค่ะ   คะแนนเดียวพอมีเสียสละได้   

จนบัดนี้ก็ยังไม่เข้าใจยุทธวิธีของ จขกท 


           




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 14:36

ได้รับอนุญาตให้โพสได้


   
ตอบ:
« ส่งให้: Wandee เมื่อ: วันนี้ เวลา 13:47 »
   ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง ตอบตอบ ลบข้อความนี้ลบทิ้ง
อ้างจาก: Wandee ที่ วันนี้ เวลา 13:44



ผู้สำเร็จ  ๓๓        ทศกัณฐ์ แปลง อีก ๓


รายชื่อมีขัดแย้งบ้าง  ขอยึด สมญาภิธานรามเกียรติ์ ของนาคะประทีปเป็นหลัก

อจนคาวี                                                                  x    รายชื่อ อยู่วัดโพธิ     
ยุคอัคร
ทหะ
ยาคะ                                                                      x

โรมสิงห์หรือมหาโรมสิงห์                                                x
วตันตระ หรือ อตันตา                                                    x
วชิระ                                                                       x
วิสุทัสสี หรือวิสูตรหรือวิสุทธสี

โคดม

กไลโกฎ                                                                    x
ภารัทวาช
วัชอัคคี
วสิษฐ์                                                                       x
สวามิตร

สุทรรศน์                                                                    x
สุไข
อังคต หรือ อรรคต                                                         x
สรภ้งค์                                                                      x

สุธามันตัง

อังคต  อยู่ขีดขิน

นารท                                                                        x
โคบุตร                                                                       x
กาล                                                                          x

สุเมธ                                                                         x
อมเรศ
ปรเมศ                                                                       x

ทิสภัย

คาวิน
สุขวัฒน์                                                                        x

โควินทร์                                                                       x

วัชมฤค                                                                        x

ชฎิล                                                                           x
นารท(หนุมานพบ)

สุธรรม
สิทธิโคดม
กาล (ทศกัณฑ์แปลงที่เขาคันธมาทน์)                                                                           


(ฤาษีดัดตัวแก้ลมปะกัง  โคลงบทที่ ๓๐ คือ กาลชฎิล
 ฤาษีที่ดัดตัวแก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย  ลมเท้าเหน็บ  ลมมือเหน็บ โคลงบทที่ ๓๒ คือ กาลสิทธิ์)
ส่งมาตอบ  10-1-2554  13.44 น.


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 14:38




อ้างจาก: Wandee ที่ วันนี้ เวลา 14:22


บทบาท 

สร้างอยุธยา     
ในชมพูทวีป  ณ ป่าทวราวดี   พระดาบสบำเพ็ญพรตเป็นแสนปี  กรุงที่สร้างใหม่อยู่ในบริเวณนั้น
อจนคาวี ยุคอัคร  ทหะ     ยาคะ


ชุบมณโฑ   ฤาษี ๔ ตน  บำเพ็ญพรตอยู่ สามหมื่นปี  โคนม ๕๐๐ หยดน้ำนใไว้ในอ่างทุกเช้า
พระฤาษีให้ทานกบ(ดีที่เป็นกบ  ไม่ได้เป็นสัตว์ประเภทคล้ายคลึงกัน)  นางกบได้ช่วยชีวิตพระฤาษีจากพิษของนาค
พระฤาษีจึงชุบกบเป็นสาวสวยอนาคตดี(น่าจะอยู่งานพระอิศวร ใช่หรือไม่หนอ)

โรมสิงห์ หรือมหาโรมสิงห์
วตันตระ หรือ อตันตา
วชิระ
วิสุทัสสี หรือวิสูตน หรือ วิสุทธสี


ชุบกาลอัจนา
โคดม   ชุบนางเพื่อสร้างบุตร  กลัวตกนรกปุตตะ


หุงข้าวทิพย์   ที่จริงท่านภาวนา  เทวดาส่งข้าวทิพย์มาให้(ต้องการตำราฤาไม่)
กไลโกฎ
ภารัทวาช
วัชอัคคี
วสิษฐ์
สวามิตร


พระรามพบเมื่อเดินดง
สุทรรศน์สุไข  หรือ  ศุกไขดาบสินี
อังคต  หรือ อรรคต
สรภังค์

ผู้วิเศษอยู่มิถิลา
สุธามันตัง

ผู้วิเศษอยู่ขีดขิน
อังคต

ผู้วิเศษอยู่ลงกา
นารท
โคบุตร
กาล

ผู้วิเศษอยู่เขาตรีกูฎ
สุเมธ
อมเรศ
ปรเมศ

ผู้วิเศษอยู่เขามรกต
ทิสภัย

ผู้วิเศษอยู่เขาไกรลาส
คาวิน
สุขวัฒน์

ผู้วิเศษอยู่แดนไกยเกษ
โควินท์

ผู้วิเศษอยู่ป่ากาลวาต

หนุมานพบเมื่อไปถวายแหวน
ชฎิล
นารท

ทศกัณฐ์แปลง
สุธรรม  เมื่อไปลักนางสีดา
สิทธิโคดม  เมื่อไปหาพระรามในค่าย
กาล  เมื่ออยู่ภูเขาคันธมาทน์

ส่งมา ๑๐-๑-๒๕๕๔  ๑๔.๒๒ น.

โอเค  ตอบถูกหมด เอาไปเลย  ๕๐ คะแนน
โพสต์ได้   



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ม.ค. 11, 14:55

สงสัยว่าจะเหลือแต่ข้าพเจ้าฤาไฉน   

ไม่ได้ยินเสียงสะอึกอั้นกลั้นน้ำตาเลย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 15:05
ดูเหมือนวันนี้คำถามจะกลืนง่าย  คุณวันดีเลยฟาดคนเดียวไม่แบ่งใคร

อย่ากระนั้นเลย  เนื่องจากวันรุ่งพรุ่งนี้  เจ้าของกระทู้ต้องไปทำภารกิจนอกสถานที่
จึงอาจจะไม่ได้ตั้งกระทู้และเฝ้าดูกระทู้ทั้งวัน  

ฉะนั้นจะขอตั้งกระทู้ง่ายๆ  ไว้ล่วงหน้า  สัก  ๒ ข้อ ดังนี้

คำถามข้อที่  ๑๓.  ในปี ร.ศ. ๑๒๘ มีการเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม
ในครั้งนั้น  ได้มีการจัดแสดงโขนสมัครเล่นด้วย  
คำถามคือ  ในการแสดงโขนครั้งนั้น  มีใครแสดงบ้าง และแต่ละคนแสดงบทบาทใด
ข้อนี้  ๔๐  คะแนน  ตอบผิดหักที่ละ ๑ คะแนน
หากตอบไม่ครบ  จะพิจารณาดูว่า  ตอบถูกกี่ส่วน  ให้คะแนนเป็นส่วนๆ ไป

ข้อนี้ตอบหน้าไมค์ไปได้เลย


คำถามข้อที่ ๑๔.  ในบรรดาเพลงตับและลูกบทไทยมีเพลงตับท้องเรื่องรามเกียรติ์
อยู่ ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ

คำถามคือ  เพลงตับท้องเรื่องรามเกียรติ์ ๔ ตอน ๕ เพลงตับ นั้นมีตอนอะไรบ้าง
ใครเป็นคนแต่ง  แต่งใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง


ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบผิดหักที่ละ ๑ คะแนน
หากตอบไม่ครบ  จะพิจารณาดูว่า  ตอบถูกกี่ส่วน  ให้คะแนนเป็นส่วนๆ ไป

ข้อนี้ตอบหน้าไมค์ไปได้เลย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 15:20
คำถามข้อที่ ๑๔.  ในบรรดาเพลงตับและลูกบทไทยมีเพลงตับท้องเรื่องรามเกียรติ์ อยู่ ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ

คำถามคือ  เพลงตับท้องเรื่องรามเกียรติ์ ๔ ตอน ๕ เพลงตับ นั้นมีตอนอะไรบ้าง
ใครเป็นคนแต่ง  แต่งใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง

ตอบค่ะ
- เพลงตับ ตอนนางลอย มี 2 ตอน ตอน บั้นต้น(ตับใหญ่) และ บั้นปลาย(ตับเล็ก)
แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
บรรเลงครั้งแรกในโอกาสเมื่อ ครั้งที่เคานต์ออฟตุรินแห่งอิตตาลีเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ  กรุงเทพฯ  
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาเทเวศร์  ทูลขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงช่วยอำนวยการจัด  พระองค์ท่านก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอยขึ้น  
ฝึกซ้อมนักดนตรีของกรมมหรสพสมทบกับของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เอง  ร่วมกันบรรเลง  ณ  พระที่นั่งจกรีมหาปราสาท  
เมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๔๑
- เพลงตับ ตอน ศึกพรหมาสตร์ แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
-เพลงตับตอน มาคบาศ  แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เพลงตับ ตอนอินทรชิตแผลงศรพรหมมาศ แต่งโดย อาจารย์พริ้ง ดนตรีรส
- เพลงตับ ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศ แต่งโดย ครูพริ้ง ดนตรีรส



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 16:11
คำถามข้อที่  ๑๓.  ในปี ร.ศ. ๑๒๘ มีการเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม
ในครั้งนั้น  ได้มีการจัดแสดงโขนสมัครเล่นด้วย 
คำถามคือ  ในการแสดงโขนครั้งนั้น  มีใครแสดงบ้าง และแต่ละคนแสดงบทบาทใด

ตอบค่ะ
- นายกุหลาบ โกสุม เป็นตัวทศกัณฐ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 16:12
ขออภัยคุณ ๒ ยิ้ม  ผมลืมบอกไปว่า  เพลงตับในโจทย์นี้
เป็นเพลงตับที่แต่งไม่เกินรัชกาลที่ ๗ ครับ

ฉะนั้น ที่ตอบมา

ตอบค่ะ
- เพลงตับ ตอนนางลอย มี 2 ตอน ตอน บั้นต้น(ตับใหญ่) และ บั้นปลาย(ตับเล็ก)
แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
บรรเลงครั้งแรกในโอกาสเมื่อ ครั้งที่เคานต์ออฟตุรินแห่งอิตตาลีเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ  กรุงเทพฯ  
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาเทเวศร์  ทูลขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงช่วยอำนวยการจัด  พระองค์ท่านก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอยขึ้น  
ฝึกซ้อมนักดนตรีของกรมมหรสพสมทบกับของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เอง  ร่วมกันบรรเลง  ณ  พระที่นั่งจกรีมหาปราสาท  
เมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๔๑
- เพลงตับ ตอน ศึกพรหมาสตร์ แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
-เพลงตับตอน มาคบาศ  แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เพลงตับ ตอนอินทรชิตแผลงศรพรหมมาศ แต่งโดย อาจารย์พริ้ง ดนตรีรส
- เพลงตับ ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศ แต่งโดย ครูพริ้ง ดนตรีรส



 ๒ เพลงตับ ท้ายนั้น ผมไม่นับครับ  ตอนนี้คุณสองยิ้ม ได้ มาแล้ว ๓ ตอน  ๔ เพลงตับครับ
ยังขาดอยู่ ๑ ตอน ๑ เพลงตับครับ  ที่สำคัญคือ ยังไม่ได้บอกว่า
เพลงตับเหล่านั้นประกอบด้วยเพลงลูกบทอะไรบ้าง

ตอนนี้ ผมให้คะแนนคุณสองยิ้ม ได้  ๑๐ คะแนน  


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ม.ค. 11, 16:16
คำถามข้อที่  ๑๓.  ในปี ร.ศ. ๑๒๘ มีการเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม
ในครั้งนั้น  ได้มีการจัดแสดงโขนสมัครเล่นด้วย 
คำถามคือ  ในการแสดงโขนครั้งนั้น  มีใครแสดงบ้าง และแต่ละคนแสดงบทบาทใด

ตอบค่ะ
- นายกุหลาบ โกสุม เป็นตัวทศกัณฐ์

ให้คะแนนด้วยความยินดียิ่ง  ๐  คะแนน  ผิดครับ
ตอนนั้นนายกุหลาบ  โกสุม น่าจะยังไม่ได้ฉายแววในราชสำนักครับ
เลยไม่ปรากฏชื่อในสูจิบัตรโขนสมัครเล่นในปีดังกล่าว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 16:20
ตอบข้อ ๑๓

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำโขนในพระองค์ออกแสดงช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายครั้ง เช่น แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๒ แสดงตอนรามสูรชิงแก้วกับพิธีกุมภนิยา (หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล, ๒๕๒๓ – ๔๘๐)

ในสูจิบัตรที่พิมพ์แจกผู้เข้าชมได้มีรายชื่อผู้แสดงครบถ้วน เช่น

หม่อมหลวงเฟื้อ แสดงเป็นพระอรชุน 

นายประณีต แสดงเป็นรามสูรตัวรบ 

นายประเสริฐ แสดงเป็นนางเมขลา  

http://fda.bpi.ac.th/View/nk_1.html


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 16:47
ตอบคำถามข้อที่ ๑๔.  ต่อค่ะ (เก็บเล็กผสมน้อยค่ะ)
แต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง

เพลงตับ นางลอย ประกอบด้วย
- เพลงตับนางลอยบั้นต้นหรือตับใหญ่ ประกอบด้วยสร้อยเพลงท่องย่อน
เขมรปากท่อ สมิงทองมอญ ลมพัดชายเขา แขกลพบุรี กบเต้น จำปาทองเทศ
ฉุยฉายแม่ศรี คลื่นกระทบฝั่ง ลีลากระทุ่ม โอ้ชาตรี ปีนตลิ่ง จีนขิมเล็ก และเชิดฉิ่ง
-เพลงตับนางลอยบั้นปลายหรือตับเล็ก ประกอบด้วยเพลงยานี เชิดฉิ่ง แขกต่อยหม้อ
โล้ ช้าปี่ หรุ่ม ร่าย เต่าเห่ ตะลุ่มโปง โอ้ปี่โลมนอกขวัญอ่อน กล่อมพระยา
พราหมณ์เก็บหัวแหวน บรเทศ และเชิดนอก ค่ะ  ;D

เพลงตับ ตอน ศึกพรหมาสตร์ แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
แสดงที่พระที่นั่งจักรี ในการต้อนรับมิสเตอร์ดูแมร์ผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศส  
ซึ่งมาจากอินโดจีน  เมื่อวันที่  17  เมษายน  พ.ศ.2442
ตับพรหมาสตร์ ประกอบด้วย เพลงกราวนอก ทะแยกลองโยน กระบอก แขกอาหวัง สร้อยสน
เพลงเร็ว-ช้า แมลงวันทอง แห่เฉิดฉิ่ง เชิดกลอง ร่ายรุด กราวนำ มอญรำดาบ พม่ากราวรำ ช้างประสานงา

เพลงตับ ตอน นาคบาศ  แต่งโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เตรียมไว้รับพระเจ้าเฮนรีแห่งปรัสเซีย (เยอรมัน) ในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2442


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 17:45
ตอบคำถามข้อที่ ๑๔.  ต่อค่ะ (เก็บเล็กผสมน้อยอีกแล้วค่ะ)


ยังขาดอยู่ ๑ ตอน ๑ เพลงตับครับ


เพลงตับ ตอนนารายณ์ปราบนนทก ค่ะ
ประกอบด้วยเพลงชมตลาด แม่บท โคมเวียน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 ม.ค. 11, 18:16
ตอบคำถามข้อที่ ๑๔.  ต่อค่ะ (เก็บเล็กผสมน้อยอีกแล้วค่ะ)

เพลงตับ นาคบาศ  ประกอบด้วยโหมโรง กราวใน ช้าหวน นกจาก
กระบี่ลีลา แมลงวันทอง ปฐม มอญโยนดาบ ลงสรง ตุ้งติ้งแพรญวน (อาจร้องร้องโทน)
พม่าประเดิมเสภา สุดใจ (อาจร้องสร้อยสนตัด ) เทพทอง สาริกาแก้ว
นาคราชเลิกพังพาน (อาจร้องชาตรีตะลุง ) ขว้างขวาน (อาจร้องเขมรสุดใจ ) เชิดฉิ่ง กราวรำ
พิโรธ ตวงพระธาตุ แขกเข้ารีต  (อาจร้องหนีเสือ) ทยอยญวน ตะนาว (อาจร้องกบเต้น)
ร้องร่าย (อาจร้องเหรา) แขกไทร (อาจร้องตุ๊กตาแกว่งฉลาก) ร้องเชิด ร้องแผละ ลมพัดชายเขา
มูล่ง
 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 11, 19:53
แวะมาติดตาม กลับจากมหรสพแล้ว เห็นคุณวันดี สุดยอดมากมาย ตามมาด้วยคุณดีดี ส่วนคุณหลวงเล็ก มีการตอบผิดติดลบด้วย  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ม.ค. 11, 19:59
ไม่เหลืออะไรเลย
ช่างไม่เหลืออะไร (ให้ตอบ) เลย.... :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 08:28
ตอบข้อ ๑๓

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำโขนในพระองค์ออกแสดงช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายครั้ง เช่น แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๒ แสดงตอนรามสูรชิงแก้วกับพิธีกุมภนิยา (หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล, ๒๕๒๓ – ๔๘๐)

ในสูจิบัตรที่พิมพ์แจกผู้เข้าชมได้มีรายชื่อผู้แสดงครบถ้วน เช่น

หม่อมหลวงเฟื้อ แสดงเป็นพระอรชุน 

นายประณีต แสดงเป็นรามสูรตัวรบ 

นายประเสริฐ แสดงเป็นนางเมขลา  

http://fda.bpi.ac.th/View/nk_1.html

คุณเพ็ญชมพูตอบถูก ๓ คน  เอาไป  ๖ คะแนนครับ
ขอขยายข้อมูลจากที่คุณเพ็ญตอบดังนี้
๑ หม่อมหลวงเฟื้อ เป็นบุตรพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ลม้าย พึ่งบุญ)
๒ นายประณีต  เป็นบุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุนนาค) 
ต่อมาได้เป็นจมื่นเทพสิรินทร์
๓ นายประเสริฐ  เป็นบุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุนนาค)
ต่อมาได้เป็นนายสุดจำลอง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 08:48
สงสัยคุณสองยิ้มจะเป็นศิลปินจากกรมศิลปากรปลอมตัวมาตอบคำถาม
ตอบได้น่าตะลึงตะไลเหลือเกิน 

มีรายละเอียดชื่อเพลงลูกบทในแต่ละเพลงตับที่ไม่ตรงกันกับตำราของผมบ้าง
เข้าใจว่า  คงมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มในยุคหลังๆ จึงทำให้ต่างจากต้นฉบับเดิมบางส่วน

ตามตำราของผมว่า

ตับนางลอยบั้นต้น (ตับใหญ่)  ประกอบด้วย  เพลงสร้อยเพลง  ทองย่อน  เขมรปากท่อ
สมิงทองมอญ  ลมพัดชายเขา  แขกลพบุรี  กบเต้น  จำปาทองเทศ  ฉุยฉาย  แม่ศรี
คลื่นกระทบฝั่ง  และลีลากระทุ่ม

ตับนางลอยบั้นปลาย (ตับเล็ก)  ประกอบด้วย  เพลงยานี  เชิดฉิ่ง  แขกต่อยหม้อ  โล้
ช้าปี่  หรุ่ม  ร่าย  เต่าเห่  เร็ว-ลา  ตะลุ่มโปง  โอ้ปี่  โลมนอก  ขวัญอ่อน  กล่อมพญา
พราหมณ์เก็บหัวแหวน  บรเทศ  เชิดนอก

ตับพรหมาสตร์  ประกอบด้วย  เพลงมอญรำดาบ  รื้อร่ายศัพท์ไท  ช้างประสานงา
ฝรั่งเร็ว  ตระนิมิต  ชมตลาด  กราวนอก  ทะแยกลองโยน  กระบอก  แขกอะหวัง
สร้อยสน  กล่อมช้าง  แมลงวันทอง  เห่เชิดฉิ่ง  ร่ายรุด  ลิงโลด  ลิงลาน  และกราวรำ

ตับนาคบาศ  ประกอบด้วย  เพลงช้าปี่  หรุ่ม  กระบี่ลีลา  กระบอกทอง  ปฐม
โยนดาบ  กราวนอก  ตุ้งติ้ง  พม่า  สร้อยสนตัด  สุโขทัย  สาลิกา  ชาตรี 
นาคราช  สุดใจ  เชิดฉิ่ง  กราวรำ  ตะลุง  ตวงพระธาตุ  หนีเสือ  ทยอยญวน
เชิดฉิ่ง  กบเต้น  เหรา  ตุ๊กตา  เชิดฉิ่ง  แผละ  ลมพัดชายเขา  และสารถี



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 08:54
ตอบคำถามข้อที่ ๑๔.  ต่อค่ะ (เก็บเล็กผสมน้อยอีกแล้วค่ะ)


ยังขาดอยู่ ๑ ตอน ๑ เพลงตับครับ


เพลงตับ ตอนนารายณ์ปราบนนทก ค่ะ
ประกอบด้วยเพลงชมตลาด แม่บท โคมเวียน

เพลงตับ ตอนนารายณ์ปราบนนทก  ถูกต้องครับ
แต่ว่าใครแต่ง  และเล่นครั้งแรกในโอกาสใด

ส่วนเพลงลูกบทที่ประกอบอยู่ในเพลงตับนี้
คุณสองยิ้ม ตอบว่า ประกอบด้วยเพลงชมตลาด แม่บท โคมเวียน
แต่ตามตำราของผมมีเพลงลูกบทอยุ่ในตับเพลงนี้  ๒๐  เพลงครับ

ตอนนี้ผมให้คะแนนคุณสองยิ้มก่อน  ๒๕  คะแนน
ถ้าสามารถไขส่วนที่เหลือได้  ผมยินดีให้เต็ม  ๓๐ คะแนน ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 08:56
ไม่เหลืออะไรเลย
ช่างไม่เหลืออะไร (ให้ตอบ) เลย.... :'(

รอเดี๋ยว  เดี๋ยวคุณหลวงเล็กจัดหนักให้ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 09:09
คำถามข้อที่ ๑๕  จงต่อโคลงเรื่องรามเกียรติ์บทต่อไปนี้ให้จบบท

" พอสามยามย่ำฆ้อง    คนหลับ
.....................     ........
....................      ........
....................      ..........."

แล้วตอบคำถามดังนี้
๑)โคลงข้างต้นกล่าวถึงเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด?
๒)โคลงดังกล่าวจารึกไว้อยู่ที่ใด?
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์ได้เลย



คำถามข้อที่  ๑๖  ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่ตัวละครสองฝ่าย
ยกทัพรบกัน  มักจะปรากฏคำคำหนึ่งให้เห็นอยู่บ่อยๆ  คำคำนั้นคือ
คำว่า  "ทศโยธา"  ซึ่งนอกจากจะพบในบทละครรามเกียรติ์แล้ว
ยังปรากฏในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ด้วย  แต่โดยความหมายที่ใช้นั้น
มุ่งความหมายเอาเพียง "กองทัพจำนวนมาก" เท่านั้น
ไม่ได้มุ่งเอาความหมายว่า  "ทัพทั้งสิบ"  แต่อย่างใด 

คำถามคือ   คำว่า  "ทศโยธา"  นี้มีประวัติของคำเป็นมาอย่างไร 
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน   ตอบหน้าไมค์ได้เลย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ม.ค. 11, 09:38
วันนี้ขอรับคะแนนบ้างครับ ;D

คำถามข้อที่ ๑๕  จงต่อโคลงเรื่องรามเกียรติ์บทต่อไปนี้ให้จบบท

" พอสามยามย่ำฆ้อง    คนหลับ
.....................     ........
....................      ........
....................      ..........."

แล้วตอบคำถามดังนี้
๑)โคลงข้างต้นกล่าวถึงเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด?
๒)โคลงดังกล่าวจารึกไว้อยู่ที่ใด?

คำตอบ

จารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ แผ่นที่ ๒๘
"พอสามยามค่ำฆ้อง   คนหลับ
ขึ้นผูกพระสอกับ   กิ่งไม้
หนุมานมุ่งมองขยับ   คอยอยู่
พอโสดรองรับได้   ตัดผ้าวางลง ฯ"

เป็นจารึกบรรยายภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางสีดาจะผูกคอตาย แต่หนุมานมาช่วยแก้ทัน
อยู่ที่พนักรอบพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 09:44
ตอบได้ดั่งใจอย่างนี้   จะหวงคะแนนไว้ก็ใช่ที่

คำถามข้อที่ ๑๕   คุณart47 รับไปเต็ม ๑๐ คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 09:56
สรุปคะแนนช่วงที่2 ข้อ 11-20 ค่ะ  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 10:12
ขอบคุณคุณสกอร์บอร์ด เอ๊ย  คุณสองยิ้ม  ที่มาสรุปคะแนนให้นะครับ
 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 10:18
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

ข้อนี้  ตอบหน้าไมค์  มูลค่า  ๑๐  คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ม.ค. 11, 10:41
พระนารายณ์ทรงปืน...

พูดแล้วชอบนึกถึงว่าเป็นพระเครื่องกรุวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี อยู่ร่ำไปซินา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 10:44
พระนารายณ์ทรงปืน...

พูดแล้วชอบนึกถึงว่าเป็นพระเครื่องกรุวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี อยู่ร่ำไปซินา

นั่น  พระร่วงหลังรางปืน ราคาสูงมากนะครับ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 10:48
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

++

หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยชาวต่างประเทศครับ เพื่อหล่อไว้ประดับที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 10:58
 คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

ตอบค่ะ (จะได้ไข่อีกหรือเปล่าหนอ!)
ประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
อยู่ที่ พระรามราชนิเวศน์ หรือที่เรียกว่าพระราชวังบ้านปืน จ.เพชรบุรี (เดิมชื่อ พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท) ค่ะ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืน ขึ้นค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 11:29
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

ตอบค่ะ (จะได้ไข่อีกหรือเปล่าหนอ!)
ประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
อยู่ที่ พระรามราชนิเวศน์ หรือที่เรียกว่าพระราชวังบ้านปืน จ.เพชรบุรี (เดิมชื่อ พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท) ค่ะ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืน ขึ้นค่ะ


...พระองค์(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อ
รูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง
(ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)...

จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C

คุณสองยิ้ม  เอาคำถามมาตอบผม
ผมคงจะให้คะแนนเป็นอื่นไปไม่ได้หรอกครับ
นอกจาก 0 ตัวโตๆ อย่างนี้
(ทีแรกว่าจะลบคะแนนที่ได้จากข้ออื่นด้วย  แต่เกรงว่าจะใจร้ายเกินไป) ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 11:38
คุณ luanglek คะ ที่ว่า
"คุณสองยิ้ม  เอาคำถามมาตอบผม"
หมายถึงอะไรคะ

คำถามถามว่า....
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

หนูตอบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืน ขึ้นค่ะ
 แล้วหนูเอาคำถามมาตอบตรงไหนคะ  งงค่ะ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 11:43
คุณ luanglek คะ ที่ว่า
"คุณสองยิ้ม  เอาคำถามมาตอบผม"
หมายถึงอะไรคะ

คำถามถามว่า....
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

หนูตอบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืน ขึ้นค่ะ
 แล้วหนูเอาคำถามมาตอบตรงไหนคะ  งงค่ะ...

คนสร้างในที่นี้  หมายถึงศิลปินผู้ปั้นประติมากรรมครับ ไม่ใช่คนหล่อประติมากรรม
ขอโทษทีคำถามอาจจะไม่กระจ่างพอ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 11:48
คำถามข้อที่  ๑๗  ถ้าพูดถึงประติมากรรมพระราม  หลายคนอาจจะนึกถึง
ประติมากรรมสำริดพระรามโก่งธนู  หรือที่เรียกกันว่า  พระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด

++

หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยชาวต่างประเทศครับ เพื่อหล่อไว้ประดับที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี

เอาไป ๓ คะแนน  ขออภัย  เพิ่งเห็นคำตอบคุณไซมีส


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 11:51
คุณ luanglek ไม่ผิดหรอกค่ะ หนูดีดีรู้น้อยไปหน่อย ค่ะ  
คุณ luanglek อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ  ;D

เดาใหม่ละกัน
นายคาร์ล ดอห์ริง และดร.ไบเยอร์ ชาวเยอรมนี ค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 13:06
นายคาร์ล ดือริง  ดูจะเป็นสถาปนิก  มากกว่าประติมากรนะครับ

ยังไม่ถูกครับ  ใบ้ให้อีกนิดว่าเป็นชาวอิตาลี
(อ้อ  ห้ามตอบว่าอาจารย์ศิลป์นะครับ  ผิดแน่นอน)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 13:13
คำถามข้อที่ ๑๘  สถานที่แห่งใดในประเทศไทย
ที่มีภาพจิตรกรรม "ภาพจับ" ของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 
จำนวน  ๖๒  ภาพ

ข้อนี้  ๕ คะแนน  ตอบได้ที่หน้าไมค์

คำถามข้อนี้ เป็นคำถามข้อสุดท้ายประจำวันนี้
รู้สึกไม่ค่อยสบาย    พรุ่งนี้อาจจะต้องงดตั้งคำถาม ๑ วัน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 13:16
ขอลองตอบว่า นายคาร์โล อัลเลกรี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 13:23
ขอลองตอบว่า นายคาร์โล อัลเลกรี

ขอลองตรวจให้คะแนน (จริง) ผิดครับ ยังไม่ใช่ครับ

ใจคอจะไม่ตอบกันบ้างหรือว่า
ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้น
อยู่ที่ไหน :(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 13:27
งั้นลองอีกสองคนเป็นอะไรไป คือนายโนวีและโดนาเรลลี

และ "ภาพจับ" อยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 13:48
ถ้าไม่ถูกก็อยู่ที่ “หอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” วัดโพธิ์ครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 14:22
คำถามข้อที่ ๑๘  สถานที่แห่งใดในประเทศไทย
ที่มีภาพจิตรกรรม "ภาพจับ" ของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 
จำนวน  ๖๒  ภาพ

ตอบค่ะ  ;D
วัดโพบางโอ

ขอให้ คุณluanglek หายไวๆ นะคะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 14:28
งั้นลองอีกสองคนเป็นอะไรไป คือนายโนวีและโดนาเรลลี

และ "ภาพจับ" อยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม

ชื่อฝรั่งคนที่ ๒ ขอใหม่อีกทีได้ไหมครับ  ลองสะกดเป็นตัวโรมัน ถ้าได้ชื่อด้วยจะดีมาก
ส่วนคำตอบข้อที่ ๑๘ ไม่ถูกครับ

ถ้าไม่ถูกก็อยู่ที่ “หอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” วัดโพธิ์ครับ

แล้วก็ถูกจนได้  คำถามข้อที่ ๑๘  คุณsiamese ได้ ๕ คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 14:30
คำถามข้อที่ ๑๘  สถานที่แห่งใดในประเทศไทย
ที่มีภาพจิตรกรรม "ภาพจับ" ของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 
จำนวน  ๖๒  ภาพ

ตอบค่ะ  ;D
วัดโพบางโอ

ขอให้ คุณluanglek หายไวๆ นะคะ

เสียใจครับ คุณสองยิ้มตอบผิด
ช้าไปแล้วครับ  คุณsiamese ตอบถูกไปแล้วครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 11, 14:50
สรุปคะแนนค่ะ  ;D

ยังเหลืออีก หนึ่งข้อ ที่ยังไม่มีใครตอบนะคะ ยกมาให้ดูเผื่อมองข้ามไปค่ะ

คำถามข้อที่  ๑๖  ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่ตัวละครสองฝ่าย
ยกทัพรบกัน  มักจะปรากฏคำคำหนึ่งให้เห็นอยู่บ่อยๆ  คำคำนั้นคือ
คำว่า  "ทศโยธา"  ซึ่งนอกจากจะพบในบทละครรามเกียรติ์แล้ว
ยังปรากฏในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ด้วย  แต่โดยความหมายที่ใช้นั้น
มุ่งความหมายเอาเพียง "กองทัพจำนวนมาก" เท่านั้น
ไม่ได้มุ่งเอาความหมายว่า  "ทัพทั้งสิบ"  แต่อย่างใด 

คำถามคือ   คำว่า  "ทศโยธา"  นี้มีประวัติของคำเป็นมาอย่างไร 
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน   ตอบหน้าไมค์ได้เลย



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 11, 14:57
คำถามข้อที่ ๑๘  สถานที่แห่งใดในประเทศไทย
ที่มีภาพจิตรกรรม "ภาพจับ" ของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 
จำนวน  ๖๒  ภาพ

ใน หนังสือหอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส : แหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาและภูมิปัญญาไทยในวัดโพธิ์  (http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1133) บอกว่าผนังเบื้องล่างหอไตรฯมีภาพจับรามเกียรติ์ทั้งสี่ด้านนับได้ ๖๔ ภาพ

คุณหลวงช่วยอธิบายจำนวนที่ไม่ตรงกันที

 ???


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ม.ค. 11, 15:25
คุณหลวงเล็ก

พระนารายณ์ทรงปืนมีอยู่อีกแห่งที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ???


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 15:32
คุณหลวงเล็ก

พระนารายณ์ทรงปืนมีอยู่อีกแห่งที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ???

เรียนคุณอาท สหายหลังไมค์ถามว่า กลับมาจากเก็บสวนส้มแล้วหรือ  ;D

พระนารายณ์ทรงปืนที่วัดเบญจมพิตร เป็นภาพจิตรกรรมนะครับไม่ใช่เทวรูปประติมากรรม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 15:44
คำถามข้อที่ ๑๘  สถานที่แห่งใดในประเทศไทย
ที่มีภาพจิตรกรรม "ภาพจับ" ของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 
จำนวน  ๖๒  ภาพ

ใน หนังสือหอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส : แหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาและภูมิปัญญาไทยในวัดโพธิ์  (http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1133) บอกว่าผนังเบื้องล่างหอไตรฯมีภาพจับรามเกียรติ์ทั้งสี่ด้านนับได้ ๖๔ ภาพ

คุณหลวงช่วยอธิบายจำนวนที่ไม่ตรงกันที

 ???


อืมม์  สงสัยวันนี้พิษไข้จะแรง เลยพิมพ์ผิดหลายครั้ง
ที่ถูกคือ ๖๔  ภาพ   แต่ถึงโจทย์จะมีน้อยกว่า ๒ ภาพ
ก็ไม่เป็นปัญหาในการตอบ 
เพราะไม่มีที่ใดมีภาพจับที่มีจำนวนใกล้เคียงแห่งนี้
คุณเพ็ญชมพู สบายใจได้

และไหนๆ คุณเพ็ญฯ ก็ได้ท้วงติงแล้ว
ผมขอถามสักหน่อยว่า  ภาพจับที่หอไตรกรมสมเด็จพระปรมาฯ
มีความแตกต่างจากภาพจับแห่งอื่นอย่างไร

ผู้อื่นที่ผมไม่ได้เอ่ยชื่อ  สามารถแย่งยื้อฉุดชิงวิ่งราวตอบได้
ไม่สงวนสิทธิ์   แต่ไม่มีคะแนนให้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 11, 15:48
คุณหลวงเล็ก

พระนารายณ์ทรงปืนมีอยู่อีกแห่งที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ???

คุณหลวงเล็ก

พระนารายณ์ทรงปืนมีอยู่อีกแห่งที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ???

เรียนคุณอาท สหายหลังไมค์ถามว่า กลับมาจากเก็บสวนส้มแล้วหรือ  ;D

พระนารายณ์ทรงปืนที่วัดเบญจมพิตร เป็นภาพจิตรกรรมนะครับไม่ใช่เทวรูปประติมากรรม


ผมคงไม่ต้องตรวจคำตอบคุณอาร์ท   สหายร่วมรบจัดการให้เรียบร้อยแล้ว

พยายามอีกหน่อยนะครับ  ใบ้ให้นิดหนึ่ง  อีกชิ้น อยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละครับ
ช่วยได้เยอะเลยเนี่ย ;D

พรุ่งนี้ จะตั้งอีก ๒ คำถาม  ก็จะครบ ๑๐ คำถามของสัปดาห์นี้
และขอให้เตรียมตั้งคำถามถามผม ๑ คำถามด้วย
โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว  น้ำมูกไหลย้อยท่วมที่นั่งทำงานแล้ว  ใครก็ได้ช่วยที :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 11, 16:21


พยายามอีกหน่อยนะครับ  ใบ้ให้นิดหนึ่ง  อีกชิ้น อยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละครับ
ช่วยได้เยอะเลยเนี่ย ;D


[/quote]


ตั้งอยู่ในสังกัดหน่วยงานราชการใช่หรือไม่ วานบอก


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 11, 21:21


ทำราวกับนางพันธุรัต  แจ้งว่าจะไปป่า ๗ วัน  แต่รุดกลับมา



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 11, 23:40
คำถามข้อที่  ๑๖  ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่ตัวละครสองฝ่าย
ยกทัพรบกัน  มักจะปรากฏคำคำหนึ่งให้เห็นอยู่บ่อยๆ  คำคำนั้นคือ
คำว่า  "ทศโยธา"  ซึ่งนอกจากจะพบในบทละครรามเกียรติ์แล้ว
ยังปรากฏในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ด้วย  แต่โดยความหมายที่ใช้นั้น
มุ่งความหมายเอาเพียง "กองทัพจำนวนมาก" เท่านั้น
ไม่ได้มุ่งเอาความหมายว่า  "ทัพทั้งสิบ"  แต่อย่างใด



ทศโยธา  คือทหารเอก ๑๐ คน ของพระเจ้าทุษฐคามินีอภัย   ปรากฎในคัมภีร์มหาวงศ์  หรือตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐาน
พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

อ่านมาจากบทความของ ศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา  เหล่าสุนทร  ในหนังสือวารสารไทย  Thai Journal

เรียนขออนุญาตคัดลอกเพื่อประโยชน์ของการศึกษา ดังนี้



"เรื่อง ทศโยธา  ความหมายและที่มา

เป็นวรรณคดีสำคัญที่เป็นที่มาของวรรณคดีไทย  คือ คัมภีร์มหาวงศ์  หรือตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

แต่งเป็นคาถาบาลี  แบ่งเป็น ๖ ตอน

ตอนแรกมีความสำคัญที่สุด  เป็นพงศาวดารตั้งแต่เจ้าวิชัยซึ่งถูกเนรเทศไปตั้งบ้านเมืองที่ลังกาทวีป   ประวัติของศาสนาตั้งแต่พระพุทธเจ้าดับขันปรินิพพาน  
พระสงฆ์ทำการสังคยานา ๓ ครั้ง  แล้วพระมหินทเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป  เมื่อครั้งพระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นต้นมา  
จนถึงแผ่นดินพระเจ้ามหาเสนเมื่อ พ.ศ. ๘๐๔


คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยมานานแล้ว  ตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ในสมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระยาธรรมปรีชา(แก้ว)
เรียบเรียงเป็นภาษาไทยใน พ.ศ. ๒๓๓๙

คำว่า ทศโยธา  ปรากฎอยู่ในปริเฉทที่ ๒๕  ว่าด้วยสงครามระหว่างพระเจ้าเอฬาระ  กษัตริย์ทมิฬที่แย่งราชสมบัติในเมืองอนุราชบุรี  
ไปจากพระเจ้ากากวรรณดิศ  พระราชบิดาของ คามินีอไภยราชกุมาร  ต่อมารู้จักกันในชื่อของทุษฐคามินีอไภย     ผู้มีบุญมาแต่เกิด
พระบิดาคาดหวังว่าจะสามารถชิงราชบัลลังก์คืนมาจากพวกทมิฬ


วิธีกู้ชาติคือเตรียมทหารที่แกล้วกล้า ๑๐ คนไว้ให้พระโอรส  และเรียกว่า ทศโยธา  ประกอบด้วย

สันธิมิตตะ   มีกำลังมหาศาลเท่ากับช้าง ๑๐ ช้างสาร  ตอนเด็กๆสามารถลากลูกหินบดที่เป็นเครื่องพันธนาการตนไปถึงประตูบ้าน  
สุรนิมมิละ   มีกำลังเท่า ๑๐ ช้างสาร
มหาโสณะ  มีพลังเข้าแข็งสามารถถอนต้นตาลได้  แข็งแรงเท่าช้าง ๑๐ เชือก
โคทยิมพระ  ตำ่เตี้ย  มีกำลังถึง ๑๐ ช้างสาร
โรหนาไภยะภรณะ   มีกำลังตั้งแต่เด็กสามารถยกก้อนหินใหญ่ที่ผู้ใหญ่ ๕ คนยกไม่ขึ้น  อาวุธคือกระบองใหญ่ ที่เจ้าของใช้ฟันต้นตาลกับต้นมะพร้าวให้ล้มได้ทันที
ภรณะ     ตอนเด็กๆ เตะกระต่ายขาดสองท่อน  ท่อนหนึ่งปลิวไปในอากาศ
เวฬุสุมนะ   ชื่อมาจากมิตรของพ่อ  เวฬุแปลว่าหวาย และสุมน แปลว่ามะลิ  เชี่ยวชาญการขี่ม้า  ขณะที่ควบจะเห็นม้าเป็นสีเดียว
บัญชเทวะ   เท้าเป็นกระจอก  มีกำลังมหาศาล  สามารถจับกระบือขึ้นกวัดแกว่งและฟาดจรแหลกได้
ปุสสเทวะ   เชี่ยวชาญการยิงธนู  ยิงเกวียนที่บรรจุทรายไว้เต็มคันให้ทะลุได้  ยิงหนังกระบือที่ซ้อนไว้ ๑๐๐ ชั้นให้ทะลุได้  ยิงกระดานไม้ประดู่หนา ๘ นิ้ว  
              กระดานไม้มะเดื่อหนา ๑๖ นิ้ว  แผ่นเหล็กหนา ๒นิ้ว     แผ่นทองแดงหนา ๔ นิ้วให้ทะลุได้  เรียนจากบิดา
ลหิยวสภะ   รูปโฉมงามเหมือนต้นมะรุม  มีกำลังมหาศาล  สามารถแบกก้อนหินที่ต้องใช้คน ๑๐ แยกได้

บุคคลทั้งสิบ  หรือ ทศโยธา  เป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าทุษฐคามินีอไภยในการทำสงครมกับพวกทมิฬที่มีพระเจ้าเอฬาระเป็นประธาน

ในที่สุดพระเจ้าทุษฐคามินีอไภยมีชัย      ใช้พระแสงโตมรแทงพระเจ้าเอฬารรายสิ้นพระชนม์

ราชสมบัติก็ตกเป้นของพระองค์"




       ถ้าได้รับคะแนนในข้อนี้  อยากทราบว่าจะได้เท่าใด      ด้วยความเคารพรักคุณหลวงในการตั้งคำถาม  ถ้าคุณหลวงอนุญาตยินยอมพร้อมใจ    ไม่ขอรับคะแนน  

เพราะการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือก็หาเอกสารอ่านได้ง่ายดายกว่าผู้อื่น  ไม่สมควรเพราะได้เปรียบอยู่บ้าง

เรื่องนี้เคยอ่านมานานแล้ว  แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้

การเข้ามาตอบปัญหาก็เพื่อสร้างความสามัคคี    ซ้อมปัญญาความคิดของตนเอง

เมื่อวานก็ทำคอมพิวเตอร์อั้นไป ๒๔ ชั่วโมงเพราะพยายามจะจับคู่พระฤาษี


ยินดีต่อสู้ต่อไป   ตามฝีมือตนเอง      


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ม.ค. 11, 23:54
เพิ่งรู้ว่า "ทศโยธา" เดินทางมาไกลจากเมืองลังกา

นึกว่ากำเนิดเกิดแถวย่านนี้เสียอีก ???

นายทัพเขมรที่มากวาดต้อนชาวเราแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศนั้นก็ออกนามว่า "พระทศโยธา"
ของเราก็มี "พระยาทศโยธา" ในทำเนียบข้าราชการ (แต่จำไม่ได้ว่าของวังหน้าหรือวังหลวง)
ที่เคยคุมกองทัพพร้อมพระยาราชประสิทธิ์ ออกไปตั้งที่ปากน้ำพังงา คราวพม่าตีเมืองถลาง เมื่อต้นรัชกาลที่ 2


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 12 ม.ค. 11, 07:27
ขอลองตอบข้อ ๑๗ นะคะ

 ตอบว่า  Alfonso TONARELLI

ขอให้คุณหลวงหายไวๆ นะคะ  ดื่มน้ำเยอะ ๆ ล้างมือบ่อย ๆ อาจช่วยได้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 07:44
จงพร้อมสรรพ์จัดทัพโยธายุทธ  เข้าโรมรุดมุดตีมิถอยหนี
ถือตำราเข้าอาสาคุณวันดี ทัพนี้ทัพหน้ามิปราชัย

อีกรุ่นหนุ่มสยามตามกระหนาบ จัดส่งภาพเล่าเรื่องตามวิสัย
อีกหนุ่มอาร์ตแสนขยันเข้าชิงชัย คุณเพ็ญฯไซร์คอยประชิตติดตามมา

อีกหนึ่งตรึงไว้ซึ่งเกียรติยศ ให้ปรากฎทั่วหล้าทั้งทิศา
จัดลำดับสะกอร์ คีปเปอร์มา มิได้ช้าคุณดีดีนี่นี่เอง

จึ่งพร้อมกันนั่งวงเข้าประชิต สู้ความคิดหลวงเล็กจิตอาสา
จัดให้หนักศต quiz รีบบอกมา อย่าให้ช้าหลีกหนีให้ห่างไกล

คุณกะออมย่องย่องเข้ามาถึง จัดที่นั่งชั้นหนึ่งอย่างดีหนา
รีบไปหยิบรามเกียรติ์เล่มหนึ่งมา อย่าเสียท่าช้าใยเร็วโดยพลัน

ข้อไหนยากเราจักเร่งถอยหนี  จะตามตีข้อง่ายให้อาสัญ
คุณหลวงเล็กต้องเฉลยร่วมช่วยกัน คะแนนนั้นมิสำคัญเท่าที่ใจ




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 08:26
ถ้าได้รับคะแนนในข้อนี้  อยากทราบว่าจะได้เท่าใด  
ด้วยความเคารพรักคุณหลวงในการตั้งคำถาม
ถ้าคุณหลวงอนุญาตยินยอมพร้อมใจ    ไม่ขอรับคะแนน  

เพราะการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือก็หาเอกสารอ่านได้ง่ายดายกว่าผู้อื่น
ไม่สมควรเพราะได้เปรียบอยู่บ้าง

เรื่องนี้เคยอ่านมานานแล้ว  แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้

การเข้ามาตอบปัญหาก็เพื่อสร้างความสามัคคี    
ซ้อมปัญญาความคิดของตนเอง

เมื่อวานก็ทำคอมพิวเตอร์อั้นไป ๒๔ ชั่วโมงเพราะพยายามจะจับคู่พระฤาษี
ยินดีต่อสู้ต่อไป   ตามฝีมือตนเอง      

ผมต้องให้คะแนนแก่คุณวันดีตามสัจวาจาที่ได้ลั่นไว้  คือ ๒๐ คะแนน
แม้ว่าคุณจะไปคัดของใครมาก็ตาม   แต่นั่นเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เข้ามาอ่าน
จะได้ทราบข้อมูลและทำให้อ่านรามเกียรติ์รู้เรื่องมากยิ่งขึ้น

ถ้าคุณวันดีไม่มาตอบเอาไว้  ก็ไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาตอบ
อันที่จริงนอกจากในมหาวงศ์แล้ว  ยังสามารถอ่านเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย
ที่เกี่ยวกับเรื่องทศโยธาได้ในหนังสือ รสวาหินี ได้ด้วย  แต่ในหนังสือนั้น
จะมีทัพงอกมาอีก ๑ ทัพ เป็น ๑๑ ทัพ

นี่ขนาดคอมพ์ขัดข้องไป ๘ ชั่วยาม  ยังควบม้าไล่ตามตีทันได้
อย่างนี้จะให้ออมฝีมือได้อย่างไร  ถ้ายอมให้ก็เห็นจะเป็นการหมิ่นประมาทแก่กันเกินไป



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 08:32
ขอลองตอบข้อ ๑๗ นะคะ

 ตอบว่า  Alfonso TONARELLI

ขอให้คุณหลวงหายไวๆ นะคะ  ดื่มน้ำเยอะ ๆ ล้างมือบ่อย ๆ อาจช่วยได้

คุณกะออมตอบถูก  เอาไป  ๓ คะแนน
และขอบคุณที่เป็นห่วงสุขภาพผม  
เป็นธรรมดาล่ะครับ  กรำศึกรอบด้านอย่างนี้คนเดียว
เหนื่อยจะแย่   แต่ก็ละทิ้งกลางคันมิได้  

พยายามอีกหน่อยนะครับ  ใบ้ให้นิดหนึ่ง  อีกชิ้น อยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละครับ
ช่วยได้เยอะเลยเนี่ย ;D


ตั้งอยู่ในสังกัดหน่วยงานราชการใช่หรือไม่ วานบอก

ใช่ครับ อยู่ในพื้นที่ราชการ(โดยตรงเชียวแหละ พ่อคุณ)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 08:39

ลงเรือแป๊ะ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 08:44
อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย ???

(อ๋ายเอตุ  อ๋ออะอัย  อั๊ดอะอูกเอยอู้ดไอ้อั๊ดอะอั๊บ  เอาๆ เอาอ่อยอ๊ะ อิอิ ;D)

อืมไอ  อ้ออี๊  อิบ  อะแอน  ออบอ้าไอค์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 08:54
อ๋านอ้าบอิ๋บอ๋าย  :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 09:16
คำถามข้อที่ ๒๐.  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงตั้งราชทินนามพระราชทานแก่จำอวด (ตลกโขน)
คนพากย์และเจรจา   คนรักษาคลังเครื่องโขน  และผู้รักษาโรงโขน  หลายราชทินนาม
ถามว่า  ราชทินนามที่ทรงตั้งพระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องในด้านโขนละครตามข้างต้น
มีอะไรบ้าง  (บอกมาให้ครบ)  พร้อมยกตัวอย่างผู้ที่เคยได้รับราชทินนามเหล่านนั้นมา  ๑๐ ชื่อ
(ถ้าบอกมาผิด  จะตัดคะแนน ที่ละ ๑/๒ คะแนน)  ข้อนี้ให้ ๔๐ คะแนน
ตอบหน้าไมค์ ก่อน  ๑๒.๐๐ น.


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 11, 09:22
อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย ???

(อ๋ายเอตุ  อ๋ออะอัย  อั๊ดอะอูกเอยอู้ดไอ้อั๊ดอะอั๊บ  เอาๆ เอาอ่อยอ๊ะ อิอิ ;D)

อืมไอ  อ้ออี๊  อิบ  อะแอน  ออบอ้าไอค์

คำถามข้อที่สิบเก้า ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
..........ให้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย  ???

(หมายเหตุ ขออภัย คัดจมูกเลยพูดไม่ชัดน่ะครับ เดา ๆ เอาหน่อยนะ อิอิ  ;D)

ลืมไป  ข้อนี้ สิบ คะแนน ตอบหน้าไมค์


คำถามยังแแปลยากเลย

 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 09:30
คำถามข้อที่ ๒๐.  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงตั้งราชทินนามพระราชทานแก่จำอวด (ตลกโขน)
คนพากย์และเจรจา   คนรักษาคลังเครื่องโขน  และผู้รักษาโรงโขน  หลายราชทินนาม
ถามว่า  ราชทินนามที่ทรงตั้งพระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องในด้านโขนละครตามข้างต้น
มีอะไรบ้าง  (บอกมาให้ครบ)  พร้อมยกตัวอย่างผู้ที่เคยได้รับราชทินนามเหล่านนั้นมา  ๑๐ ชื่อ
(ถ้าบอกมาผิด  จะตัดคะแนน ที่ละ ๑/๒ คะแนน)  ข้อนี้ให้ ๔๐ คะแนน
ตอบหน้าไมค์ ก่อน  ๑๒.๐๐ น.

ราชทินนามบรรดาศักดิ์ของนักพากย์และเจรจาโขน   เดิมมี  1  ชื่อ  คือ  พจนาเสนาะ  ทรงบัญญัติเพิ่มอีก  4  ชื่อ  คือ  ไพเราะพจมาน  ขานฉันทวากย์  พากย์ฉันทวัจน์ และชัดเจรจา

ด้านจำอวดที่ได้รับพระราชทานทินนาม มีดังนี้


ราชนนทิการ สำราญมิตรมุข สนุกชวนเริง บันเทิงชวนหัว


เพิ่มเติมครับ

ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง  ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน  เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ  ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ม.ค. 11, 09:34
คำถามข้อที่ ๒๐.  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงตั้งราชทินนามพระราชทานแก่จำอวด (ตลกโขน)
คนพากย์และเจรจา   คนรักษาคลังเครื่องโขน  และผู้รักษาโรงโขน  หลายราชทินนาม
ถามว่า  ราชทินนามที่ทรงตั้งพระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องในด้านโขนละครตามข้างต้น
มีอะไรบ้าง  (บอกมาให้ครบ)  พร้อมยกตัวอย่างผู้ที่เคยได้รับราชทินนามเหล่านนั้นมา  ๑๐ ชื่อ
(ถ้าบอกมาผิด  จะตัดคะแนน ที่ละ ๑/๒ คะแนน)  ข้อนี้ให้ ๔๐ คะแนน

คุณไซมีสเอาคนพากย์ไปแล้ว ผมคงต้องเอาของตัวจำอวด

ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข
สนุกชวนเริง   บรรเทิงชวนหัว



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 09:44
คำถามข้อที่ ๒๐.  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงตั้งราชทินนามพระราชทานแก่จำอวด (ตลกโขน)
คนพากย์และเจรจา   คนรักษาคลังเครื่องโขน  และผู้รักษาโรงโขน  หลายราชทินนาม
ถามว่า  ราชทินนามที่ทรงตั้งพระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องในด้านโขนละครตามข้างต้น
มีอะไรบ้าง  (บอกมาให้ครบ)  พร้อมยกตัวอย่างผู้ที่เคยได้รับราชทินนามเหล่านนั้นมา  ๑๐ ชื่อ




 อ่านมาจาก  หนังสือ อนุสรณ์  ศุกรหัศน์  เสวกโท  จมื่นมานิตย์นเรศ  ๒๕๑๑


พากย์และเจรจา
หมื่นพจนาเสนาะ          เหว่า  โกกิลวาที และ  ถึก  รัตนเกศ

หมื่นไพเราะพจมาน        พยอม  วิเศษสมิต และ  อาบ  สุนทรสนาน

หมื่นขานฉันทวากย์        รอด ........

หมื่นพากย์ฉันทวัจน์   เปียก  อุยยานงาม

หมื่นชัดเจรจา


         คลังเครื่องโขน

พระยาอารักษ์นัฎกาภรณ์     ผล ผลวัฒนะ
หลวง  อาทรนัฏภูษิต   จันทร์   จินตะกะเวส
ขุน  วิจิตรนัฏภูษา   ปาน  ฉันทัษเฐียร



                ผู้รักษาโรงโขน
พระบริรักษ์นาฎกาคาร        พิน  พินทุวัฒนะ   กับ  ม.ล.  ต่อ  พนมวัน

ขุน บริบาลนาฎศาลา          เกิด  วัชรเสวี

(รักษาตัวสะกดของต้นฉบับ  ซึ่งแตกต่างจากเอกสารด้านล่างเล็กน้อย)





อ่านมาจาก  ศิลปละคอนรำ หรือคู่มือนาฎศิลปไทย  เรียบเรียงโดย  ธนิต  อยู่โพธิ์

ขุนประหาสบดี   (สำริด  เนตรประหาส)
หมื่นราชนนทิการ  (จันทร์  ประหาส)

พันสำราญสมิตมุข  (แจ่ม  ภาตประหาส)
ขุน สำราญสมิตมุข  (อ๊อด  ตามประหาส)

ขุนสนุกชวนเริง(หวอ  เรียงเนตร)
หมื่นบรรเทิงชวนหัว  (เบี้ยว  วัชระประหาส  เคยเป็น พันสนุกชวนเริงมาก่อน)

หมื่นช่วยสำเริงสรวล(สุข ไชยวรรณ)
หมื่นชวนสำเริงสราญ(แฉ่ง  โชตินัฎ)

ขุน สมานประหาสกิจ (แคล้ว  วัชโรบล)
หมื่น สมิตประหาสกร(เจิม  นาคมาลัย  ต่อมาเป็นหมื่นขับคำหวาน  เพราะไปขับเสภา)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 09:53
ตัวอย่าง นายอ๊อด รัตนประหาส เป็น พันสำราญสมิตสุข ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

ตั้งนายเลี่ยม สุนทรประหาส เป็น หมื่นสนุกชวนเริง ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๓๐๐ ไร่


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 10:54
อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย ฮืม


ราม  ราม  ราม         เราไม่เป็นหวัด



ในคัมภีร์พระเวท  มีเรื่องราวที่เรียกว่า  อิติหาส  เป็นเรื่องราวปรัมปราที่เล่าสืบเนื่องกันมายาวนาน  อิติหาสเป็นรากฐานแห่งมหากาพย์ยิ่งใหญ่รามายณะและมหาภารตะ


มหาฤาษีวาลมีกิ  ได้รจนา เรื่อง รามายณะ เป็นฉันท์ได้  ๒๔๐๐๐ โศลก  แบ่งเป็น ๗ กัณฑ์  เป็นเรื่องราวของพระรามและนางสีดา
ที่ออกเดินป่า  และพระรามได้ปราบเหล่าร้ายจนหมดสิ้น

แพร่หลายเข้ามาใน ชวา  มาลายู และไทย



รามเกียรติ์  ฉบับภาษาไทยมีหลายสำนวน  คือ

บทพากย์ครั้งกรุงเก่า   มีนามผู้แต่งบ้าง  ไม่มีบ้าง  พิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ วชิรญาณ ตอนที่ ๑๑๒   ๑๑๖   ๑๑๗  และ ๑๑๙ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ - ๑๒๓

บทละครครั้งกรุงเก่า

บทละครพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี

"                    "    ในรัชกาลที่ ๑

"                    "    ในรัชกาลที่ ๒

"                    "    ในรัชกาลที่ ๔   ตอนพระรามเดินดง

"                    "    ในรัชกาลที่ ๖


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 11:02
โอ๊โอ๋ อุนอันอี เอ่งอังเอย อุนอ๋วงเอ๊ก อ๋ายอัยอั๋ยแอ้ว อีบอัยอื้ออาอินเอย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 11:12
โอ๊โอ๋ อุนอันอี เอ่งอังเอย อุนอ๋วงเอ๊ก อ๋ายอัยอั๋ยแอ้ว อีบอัยอื้ออาอินเอย

มีแซวๆ  เดี๋ยวตัดคะแนนออกครึ่งหนึ่ง  เป็นการลงโทษ 8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 11:15
 :-X


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 11:16
อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย ???

(อ๋ายเอตุ  อ๋ออะอัย  อั๊ดอะอูกเอยอู้ดไอ้อั๊ดอะอั๊บ  เอาๆ เอาอ่อยอ๊ะ อิอิ ;D)

อืมไอ  อ้ออี๊  อิบ  อะแอน  ออบอ้าไอค์

คำถามข้อที่สิบเก้า ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
..........ให้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย  ???

(หมายเหตุ ขออภัย คัดจมูกเลยพูดไม่ชัดน่ะครับ เดา ๆ เอาหน่อยนะ อิอิ  ;D)

ลืมไป  ข้อนี้ สิบ คะแนน ตอบหน้าไมค์


คำถามยังแแปลยากเลย

 ;D


คุณเพ็ญฯ ถอดคำถามภาษาเทพเป็นภาษามนุษย์ได้เกือบหมด
นับว่าเป็นนักแปลที่ยอดมาก ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ม.ค. 11, 11:26
วันนี้ไม่ได้ออกทัพหน้ากรำศึกกับคุณหลวงอย่างท่านทั้งหลาย

ขอเป็นกองเกียกกาย กับยกกระบัตร อยู่ที่ค่ายหลวงดีกว่า :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 12 ม.ค. 11, 11:28
อ้างถึง
อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย ฮืม


ราม  ราม  ราม         เราไม่เป็นหวัด

เจ้าข้าเอ๋ย คุณหมอ CVT อยู่ที่ไหนคะ ช่วยกรุณาฉีดยาแก้ไข้หวัดนกใส่กระทู้นี้ด่วนเจ้าข้า คุณ Wandee เธอเอามาแพร่ระบาดไปถึงคุณ Siamese
อ้างถึง
โอ๊โอ๋ อุนอันอี เอ่งอังเอย อุนอ๋วงเอ๊ก อ๋ายอัยอั๋ยแอ้ว อีบอัยอื้ออาอินเอย

ตอนนี้คนตามอ่านต้องเอา Mask มาใส่ก่อนเข้ากระทู้เสียแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 11:32


คุณร่วมฤดีไปเมืองโบราณแล้วกลับมากระซิบช้าง หน่อยค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 11:50
วันนี้ไม่ได้ออกทัพหน้ากรำศึกกับคุณหลวงอย่างท่านทั้งหลาย

ขอเป็นกองเกียกกาย กับยกกระบัตร อยู่ที่ค่ายหลวงดีกว่า :P

ดีจัง  มีการสับเปลี่ยนหน้าที่ออกรบและพักกันได้ด้วย
ผมเอง  ขนาดป่วย  ยังต้องออกบัญชาการรบเองตลอด
เดี๋ยวจะแอบส่งกองเสือป่าแมวเซาไปลอบตีกองลำเลียงเสบียงซะหน่อย
โทษฐาน "อู้"  (ถ้าเป็นสมัยก่อน  เห็นต้องวางโทษหนักตามอัยการกบฏศึก)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 12:02

ราชทินนามบรรดาศักดิ์ของนักพากย์และเจรจาโขน   เดิมมี  1  ชื่อ  
คือ  พจนาเสนาะ  ทรงบัญญัติเพิ่มอีก  4  ชื่อ  คือ  ไพเราะพจมาน  ขานฉันทวากย์  พากย์ฉันทวัจน์ และชัดเจรจา

ด้านจำอวดที่ได้รับพระราชทานทินนาม มีดังนี้


ราชนนทิการ สำราญมิตรมุข สนุกชวนเริง บันเทิงชวนหัว


เพิ่มเติมครับ

ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   
รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง 
ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน 
เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ 
ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว

ตรวจแล้ว  ให้ ๑๐ คะแนน  อันอื่นที่แถมมา  บวกคะแนนอีก ๓ คะแนน เป็น ๑๓ คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 12 ม.ค. 11, 12:26
มาปรับปรุงคะแนนค่ะ... ;D

ยังเหลือข้อที่ ๑๙ นะคะ
(ภาษาเทพ)อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย
(ภาษามนุษย์)คำถามข้อที่สิบเก้า ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย   ??? 


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 14:18

 อ่านมาจาก  หนังสือ อนุสรณ์  ศุกรหัศน์  เสวกโท  จมื่นมานิตย์นเรศ  ๒๕๑๑


พากย์และเจรจา
หมื่นพจนาเสนาะ          เหว่า  โกกิลวาที และ  ถึก  รัตนเกศ
หมื่นไพเราะพจมาน        พยอม  วิเศษสมิต และ  อาบ  สุนทรสนาน
หมื่นขานฉันทวากย์        รอด ........
หมื่นพากย์ฉันทวัจน์        เปียก  อุยยานงาม
หมื่นชัดเจรจา


คลังเครื่องโขน
พระยาอารักษ์นัฎกาภรณ์     ผล ผลวัฒนะ
หลวง  อาทรนัฏภูษิต        จันทร์   จินตะกะเวส
ขุน  วิจิตรนัฏภูษา ปาน  ฉันทัษเฐียร         (ที่ถูกต้องเป็น  พิจิตรนัฏภูษา)



ผู้รักษาโรงโขน
พระบริรักษ์นาฎกาคาร        พิน  พินทุวัฒนะ   กับ  ม.ล.  ต่อ  พนมวัน
ขุน บริบาลนาฎศาลา          เกิด  วัชรเสวี
(รักษาตัวสะกดของต้นฉบับ  ซึ่งแตกต่างจากเอกสารด้านล่างเล็กน้อย)

อ่านมาจาก  ศิลปละคอนรำ หรือคู่มือนาฎศิลปไทย  เรียบเรียงโดย  ธนิต  อยู่โพธิ์

ขุนประหาสบดี   (สำริด  เนตรประหาส)
หมื่นราชนนทิการ  (จันทร์  ประหาส)

พันสำราญสมิตมุข  (แจ่ม  ภาตประหาส)
ขุน สำราญสมิตมุข  (อ๊อด  ตามประหาส)

ขุนสนุกชวนเริง(หวอ  เรียงเนตร)
หมื่นบรรเทิงชวนหัว  (เบี้ยว  วัชระประหาส  เคยเป็น พันสนุกชวนเริงมาก่อน)

หมื่นช่วยสำเริงสรวล(สุข ไชยวรรณ)
หมื่นชวนสำเริงสราญ(แฉ่ง  โชตินัฎ)

ขุน สมานประหาสกิจ (แคล้ว  วัชโรบล)
หมื่น สมิตประหาสกร(เจิม  นาคมาลัย  ต่อมาเป็นหมื่นขับคำหวาน  เพราะไปขับเสภา)

ตรวจแล้ว  ให้คะแนน  ๔๐  คะแนน  แม้จะมีที่ผิดแห่งหนึ่ง 
แต่เพราะอ้างอิงหนักแน่นจึงหักลบที่เสียคะแนนไปได้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 14:37
ตัวอย่าง นายอ๊อด รัตนประหาส เป็น พันสำราญสมิตสุข ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

ตั้งนายเลี่ยม สุนทรประหาส เป็น หมื่นสนุกชวนเริง ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๓๐๐ ไร่

ผมตรวจแล้ว  ต้องการถามผู้ตอบว่า
แต่งตั้งเมื่อไร  และอ้างอิงจากเอกสารใด
(ถ้าตอบมั่วหรือตอบผิด  จะหักคะแนนที่ได้ไปแล้ว ๒ คะแนน)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 15:10
ตอนนี้ผมตั้งคำถาม มาครบ ๒๐ ข้อ
ตามที่ตกลงไว้  อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันตั้งคำถามถามผมได้ ๑ ข้อ

หากไม่มีใครตั้งคำถาม  ผมจะตั้งคำถามเพิ่มอีก ๒ ข้อ
โดยจะนับเป็นข้อ ๒๐.๑  และข้อ ๒๐.๒


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 15:12
ตัวอย่าง นายอ๊อด รัตนประหาส เป็น พันสำราญสมิตสุข ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

ตั้งนายเลี่ยม สุนทรประหาส เป็น หมื่นสนุกชวนเริง ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๓๐๐ ไร่

ผมตรวจแล้ว  ต้องการถามผู้ตอบว่า
แต่งตั้งเมื่อไร  และอ้างอิงจากเอกสารใด
(ถ้าตอบมั่วหรือตอบผิด  จะหักคะแนนที่ได้ไปแล้ว ๒ คะแนน)

โอวมาก๊อด มีคำตอบให้หนักแน่น ก็สมควรมีคะแนนโบนัสให้ด้วยนะครับ  ;D

๑. นายอ๊อด รัตนประหาส เป็น พันสำราญสมิตสุข ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่ กรมมหรสพได้ออกประทวนตราตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๖๑ และได้แจ้งความมา ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๖๑
คัดจากราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๖๑ เล่ม ๓๕ หน้า ๘๘๖

๒.ตั้งนายเลี่ยม สุนทรประหาส เป็น หมื่นสนุกชวนเริง ตำแหน่งจำอวดกรมโขนหลวง ถือศักดินา ๓๐๐ ไร่ กรมมหรสพได้ออกประทวนตราตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๖๒ และได้แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๖๒
คัดจากราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๒๙๐๘



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 15:18
คุณ siamese  ส่งคำตอบมาให้ตรวจ  ตรวจแล้วถูกต้อง
ให้คะแนน  อีก ๕ คะแนน  รวมกับของเดิมที่ได้เป็น ๑๘ คะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 15:20


อ่า...คุณพระ  คะแนนข้อ ๑๙   ท่านลืมไปแล้วหรือ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 15:27
ตอนนี้ผมตั้งคำถาม มาครบ ๒๐ ข้อ
ตามที่ตกลงไว้  อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันตั้งคำถามถามผมได้ ๑ ข้อ

หากไม่มีใครตั้งคำถาม  ผมจะตั้งคำถามเพิ่มอีก ๒ ข้อ
โดยจะนับเป็นข้อ ๒๐.๑  และข้อ ๒๐.๒

กระผมความรู้กระท่อนกระแท่น แต่ก็เทียบไม่ได้ความคุณหลวงเล็กที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ดังนั้นจะขอตั้งคำถามสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของรามเกียรติ์สักหน่อยว่า ในประเทศไทยนี้มีบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑,๒,๔,๕ และ ๖ เป็นต้นมานั้น อันว่ารามเกียรติ์ที่ไทยรับเอามานั้นมีรากกำเนิดมาจากที่ใด ซึ่งมีทั้งชวา ทั้งเขมรเป็นต้น และบทพระราชนิพนธ์ที่นำมานิพนธ์นั้น สมัยรัชกาลที่เท่าไร มีต้นกำเนิดผิดจากกลุ่มครับ หากยกแผนผังได้ยิ่งจะเป็นประโยชน์ได้ยิ่งดี ครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 15:37
คุณหลวงก็พอจ้ะ  คุณพระ  ผมไม่อาจเอื้อม   เพราะยังไม่ได้ขึ้นระวาง

ที่คุณวันดีตอบ ข้อ ๑๙ มา  ยังไม่สามารถพิจารณาให้คะแนนได้
เพราะยังไม่ใช่คำตอบที่ผมต้องการ

โปรดอ่านคำถามอีกครั้งหนึ่ง

(ภาษาเทพ)อำอ๋ามอ้ออี้อิบเอ้า  อ๋ามอ้า  ใอเอ็นอู้อำอามอะเอียรติ์อ๋องไอยไอแอ่งเอ็นอะโอกอาอ๋าอั๋นอะอิต
อานอิ๊นอั้นใอ๊อื่ออ้าอะไอ   แอ๊ะใอเอ็นอนแอเอ็นอาอ๋าไอย

(ภาษามนุษย์)คำถามข้อที่สิบเก้า ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย    



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 11, 15:54

เจ้าค่ะ   


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 11, 15:56

กระผมความรู้กระท่อนกระแท่น แต่ก็เทียบไม่ได้ความคุณหลวงเล็กที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ดังนั้นจะขอตั้งคำถามสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของรามเกียรติ์สักหน่อยว่า ในประเทศไทยนี้มีบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑,๒,๔,๕ และ ๖ เป็นต้นมานั้น อันว่ารามเกียรติ์ที่ไทยรับเอามานั้นมีรากกำเนิดมาจากที่ใด ซึ่งมีทั้งชวา ทั้งเขมรเป็นต้น และบทพระราชนิพนธ์ที่นำมานิพนธ์นั้น สมัยรัชกาลที่เท่าไร มีต้นกำเนิดผิดจากกลุ่มครับ หากยกแผนผังได้ยิ่งจะเป็นประโยชน์ได้ยิ่งดี ครับ

เป็นคำถามที่ลึกและกว้างไพศาลปานห้วงนทีสีทันดรที่พญาครุฑอุ้มกากีบินผ่าน
ท่านผู้ถามก็ถ่อมตนเหลือเกินว่า รู้น้อยรู้กระท่อนกระแท่น  แต่แหม  ชัดลูกธนูมายังกับฝนแสนห่า

รามเกียรติ์ไทยนั้น  เน้นเฉพาะที่เป็นพระราชนิพนธ์  ต้นกำเนิดเดิม  คงต้องอ้างเอารามายณะเป็นหลักก่อน
เนื่องจากเป็นเรื่องพระรามกระแสหลัก  ซึ่งได้แตกลูกแตกสาขาไปทั่ว  แน่นอนว่ารามเกียรติ์ไทย
ไม่ได้รับมาเฉพาะรามายณะเท่านั้น  แต่ยังมีเรื่องพระรามสำนวนอื่น  เช่น  รามายณะของทมิฬ
และรามายณะท้องถิ่นอื่นๆ  ที่มาประกอบกวนกลั่นเป็นรามายณะไทย  

เรื่องพระรามของชวานั้น  เคยอ่านมาเหมือนกัน  ดูไม่ค่อยส่งอิทธิพลกับรามเกียรติ์ไทยเท่าใดนัก
ในเขมร  ในสมัยเขมรโบราณ  ซึ่งดูนิยมสันสกฤตมาก  คงจะยึดเรื่องรามายณะเป็นหลัก
ดังมีจารึกเขมรบางหลัก  กล่าวถึงการสวดอ่านรามายณะตามเทวาลัยต่างๆ  
ส่วนเรื่องรามายณะท้องถิ่นของเขมรโบราณนั้น ไม่มีบันทึกเหลือมาให้พิจารณา

ส่วนรามเกรติ์ ของเขมรสมัยหลัง  ก็ไม่ครบบริบูรณ์  ตอนต้นเคยอ่านแล้ว  ไม่สู้ต่างจากของไทยเท่าใด
ยิ่งตอนปลาย ใครที่เคยอ่านจะร้องอ๋อเลยว่า  แปลไปจากไทยสมัยรัชกาลที่ ๑  เทียบได้แบบวรรคต่อวรรค

รามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๑-๒-๔-๕ จะเป็นรามเกียรติ์สำนวนแนวเดียวกัน  เป็นรามเกียรติ์ไทย
มีแต่รามเกียรติ์รัชกาลที่ ๖ ที่เป็นรามายณะ  เพราะทรงแปลและแปลงจากหนังสือฝรั่งมา
ทั้งนี้เพราะการที่ได้รับอิทธิพลการศึกษาภารตวิทยามาจากตะวันตกมาก  

ผมตอบย่อๆ เท่านี้ก่อน  เพราะเอกสารอยุ่ไกลตัว  พรุ่งนี้จะมาตอบใหม่


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ม.ค. 11, 16:09

กระผมความรู้กระท่อนกระแท่น แต่ก็เทียบไม่ได้ความคุณหลวงเล็กที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ดังนั้นจะขอตั้งคำถามสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของรามเกียรติ์สักหน่อยว่า ในประเทศไทยนี้มีบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑,๒,๔,๕ และ ๖ เป็นต้นมานั้น อันว่ารามเกียรติ์ที่ไทยรับเอามานั้นมีรากกำเนิดมาจากที่ใด ซึ่งมีทั้งชวา ทั้งเขมรเป็นต้น และบทพระราชนิพนธ์ที่นำมานิพนธ์นั้น สมัยรัชกาลที่เท่าไร มีต้นกำเนิดผิดจากกลุ่มครับ หากยกแผนผังได้ยิ่งจะเป็นประโยชน์ได้ยิ่งดี ครับ

เป็นคำถามที่ลึกและกว้างไพศาลปานห้วงนทีสีทันดรที่พญาครุฑอุ้มกากีบินผ่าน
ท่านผู้ถามก็ถ่อมตนเหลือเกินว่า รู้น้อยรู้กระท่อนกระแท่น  แต่แหม  ชัดลูกธนูมายังกับฝนแสนห่า

รามเกียรติ์ไทยนั้น  เน้นเฉพาะที่เป็นพระราชนิพนธ์  ต้นกำเนิดเดิม  คงต้องอ้างเอารามายณะเป็นหลักก่อน
เนื่องจากเป็นเรื่องพระรามกระแสหลัก  ซึ่งได้แตกลูกแตกสาขาไปทั่ว  แน่นอนว่ารามเกียรติ์ไทย
ไม่ได้รับมาเฉพาะรามายณะเท่านั้น  แต่ยังมีเรื่องพระรามสำนวนอื่น  เช่น  รามายณะของทมิฬ
และรามายณะท้องถิ่นอื่นๆ  ที่มาประกอบกวนกลั่นเป็นรามายณะไทย  

เรื่องพระรามของชวานั้น  เคยอ่านมาเหมือนกัน  ดูไม่ค่อยส่งอิทธิพลกับรามเกียรติ์ไทยเท่าใดนัก
ในเขมร  ในสมัยเขมรโบราณ  ซึ่งดูนิยมสันสกฤตมาก  คงจะยึดเรื่องรามายณะเป็นหลัก
ดังมีจารึกเขมรบางหลัก  กล่าวถึงการสวดอ่านรามายณะตามเทวาลัยต่างๆ  
ส่วนเรื่องรามายณะท้องถิ่นของเขมรโบราณนั้น ไม่มีบันทึกเหลือมาให้พิจารณา

ส่วนรามเกรติ์ ของเขมรสมัยหลัง  ก็ไม่ครบบริบูรณ์  ตอนต้นเคยอ่านแล้ว  ไม่สู้ต่างจากของไทยเท่าใด
ยิ่งตอนปลาย ใครที่เคยอ่านจะร้องอ๋อเลยว่า  แปลไปจากไทยสมัยรัชกาลที่ ๑  เทียบได้แบบวรรคต่อวรรค

รามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๑-๒-๔-๕ จะเป็นรามเกียรติ์สำนวนแนวเดียวกัน  เป็นรามเกียรติ์ไทย
มีแต่รามเกียรติ์รัชกาลที่ ๖ ที่เป็นรามายณะ  เพราะทรงแปลและแปลงจากหนังสือฝรั่งมา
ทั้งนี้เพราะการที่ได้รับอิทธิพลการศึกษาภารตวิทยามาจากตะวันตกมาก  

ผมตอบย่อๆ เท่านี้ก่อน  เพราะเอกสารอยุ่ไกลตัว  พรุ่งนี้จะมาตอบใหม่


มีปราชญ์แห่งแผ่นดินสยาม ได้ประกาศทำผังภูมิที่มาของรามเกียรติ์ไว้อย่างกระจ่างแจ้ง จะรอคุณหลวงพรุ่งนี้  ซึ่งว่าต้นกำเนิดแห่งนิยายเหล่านี้เปรียบเสมือนสายน้ำจากหิมาลัย ไหลแตกเหล่า แตกกอ เป็นสายธารต่างๆ ขอให้คุณหลวงหาเอกสารให้พบครับ



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 12 ม.ค. 11, 17:06
เก็บภาพหวานระหว่าง พระรามกะสีดา มาฝากให้ดูกันเพลินๆ ระหว่างการพักรบ เอ๋ย การพักผ่อน ของเหล่าจอมยุทธ์ผู้กล้าค่ะ  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 08:28
มีปราชญ์แห่งแผ่นดินสยาม ได้ประกาศทำผังภูมิที่มาของรามเกียรติ์ไว้อย่างกระจ่างแจ้ง จะรอคุณหลวงพรุ่งนี้  ซึ่งว่าต้นกำเนิดแห่งนิยายเหล่านี้เปรียบเสมือนสายน้ำจากหิมาลัย ไหลแตกเหล่า แตกกอ เป็นสายธารต่างๆ ขอให้คุณหลวงหาเอกสารให้พบครับ

ขออภัย  ยังหาหนังสือที่ต้องการไม่เจอครับ 
จะรื้อกรุมากก็เกรงหนังสือทับเอาอีก 
เพิ่งโดนหนังสือล้มใส่เมื่อไม่กี่วันก่อน
ฉะนั้น ขอผลัดไปสัก ๗ วัน แล้วจะมาตอบให้ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ม.ค. 11, 08:38
ระหว่างที่รอคุณหลวงเล็กหาหนังสืออยู่

ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง อุปกรณ์รามเกียรติ์  (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C) ไปพลาง ๆ

 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 09:20
มีปราชญ์แห่งแผ่นดินสยาม ได้ประกาศทำผังภูมิที่มาของรามเกียรติ์ไว้อย่างกระจ่างแจ้ง จะรอคุณหลวงพรุ่งนี้  ซึ่งว่าต้นกำเนิดแห่งนิยายเหล่านี้เปรียบเสมือนสายน้ำจากหิมาลัย ไหลแตกเหล่า แตกกอ เป็นสายธารต่างๆ ขอให้คุณหลวงหาเอกสารให้พบครับ

ขออภัย  ยังหาหนังสือที่ต้องการไม่เจอครับ 
จะรื้อกรุมากก็เกรงหนังสือทับเอาอีก 
เพิ่งโดนหนังสือล้มใส่เมื่อไม่กี่วันก่อน
ฉะนั้น ขอผลัดไปสัก ๗ วัน แล้วจะมาตอบให้ ;D


ระหว่างรอคุณหลวงเล็กตั้งคำถาม ก็แต่งภาพให้พลางๆ เป็นเชิงว่า เรื่องหาเอกสารมาอธิบายให้พวกเราฟัง นั้น...จิ๊บๆ ใช่ไหม คุณหลวง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 09:22

ว่าจะตะโกนบอกคุณหลวงว่า เล่มสีนวล ๆ มีตรา อยู่บนซ้าย    เผอิญนึกขึ้นมาได้ว่าคนถามน่ะเป็นสหายกัน

เลยขออภัยคุณไซมีส  โดยแจกข่าวว่า  เมื่อวาน  ช้าราชการหนุ่มน้อยผมดกปกไหล่ผู้หนึ่ง   ได้หอบหนังสือกลับบ้านไปสองสามเล่ม



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 09:42

คุยหน้าม่าน  ตัวเอกยังไม่ออก

เมื่อคืนค้นหาหนังสือ  ไปเจอเล่มหนึ่ง  ชื่อ  ประชุมเรื่องพระราม
เสฐียรโกเศศ และ  นาคะประทีป  รวบรวม

เป็นหนังสืออนุสรณ์ มหาอำมาตย์ตรี  พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ  ในงานพระราชทานเพลิงศพ  ในปี ๒๔๗๔

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ลหุโทษ  ตำบลมหาไชย  จังหวัดพระนคร

สนุกมากค่ะ

ถ้ามีเวลาก็อยากจะคัดมาฝาก



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 09:56
มหาอำมาตย์ตรี พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ (แช่ม โรจนประดิษฐ์ 2413-2473) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 10:01

ว่าจะตะโกนบอกคุณหลวงว่า เล่มสีนวล ๆ มีตรา อยู่บนซ้าย    เผอิญนึกขึ้นมาได้ว่าคนถามน่ะเป็นสหายกัน

เลยขออภัยคุณไซมีส  โดยแจกข่าวว่า  เมื่อวาน  ช้าราชการหนุ่มน้อยผมดกปกไหล่ผู้หนึ่ง   ได้หอบหนังสือกลับบ้านไปสองสามเล่ม



ชะรอยทีน้าวันดีเกิดนึกคึก           เปิดผนึกบอกหนังสือไปตามหลัง
จึ่งรีบแจ้งยังคุณหลวงโดยเร็วพลัน อย่ากระนั้นเจ็ดวันอย่าช้ากาล

จึ่งโทรถามทราบกันเมื่อคืนวาน     หนุ่มสยามได้เล่าขานตามวิสัย
หนังสือนั้นหนังสือดีอยู่ที่ใด         จงรีบไปค้นคว้ามาอย่าแชเชือน

ให้รีบรุดหยุดดูภายในเรือน          อยากย้ำเตือนหน้าตาออกทางเหลือง
ออกเมฆลายสายฟ้านภาเดือน      คงไม่เคลื่อนจากนี้เป็นแน่แท้
 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 10:13
เนื่องจากสัปดาห์นี้  คำถามข้อที่ ๑๑.- ๒๐. ได้ตั้งแล้วยังมีเวลาเหลืออยู่อีก ๒ วัน
ก่อนที่หมดวันทำการ  เพื่อไม่ให้กระทู้ทิ้งช่วงระยะการประมือนานเกินไป
อันจะทำให้ผู้เข้าร่วมรบเกิดอาการประมาทหรือวางเฉยต่อการข้อหาข้อมูลมาต่อสู้ได้
ผมจึงยินดีที่จะตั้งค่ายกลใหม่ให้ท่านทั้งหลายได้ทดสอบปัญญาอีก ๒- ๕ ข้อ
เริ่ม  ณ บัดเดี๋ยวนี้ ;D


คำถามข้อที่  ๒๑.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาเข้าถาม

สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร  ???  จงอธิบายให้ละเอียด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบได้ที่หน้าไมค์



คำถามข้อที่  ๒๒.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรส่งเข้าประกวด
ถ้านาย ก  อยากจะตั้งคณะละครหรือโขนรับจ้างแสดงทั่วราชอาณาจักรสยาม ในสมัย ร,ศ, ๑๑๓
เขาอยากทราบกฎเกณฑ์และอัตราการเก็บอากรมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๕
ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง  พร้อมอ้างอิงเอกสารหลักฐานประกอบ
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์



คำถามข้อที่  ๒๓.  คำถามนี้  นายแพทย์ท่านหนึ่งส่งมาให้ถาม
พระลักษมณ์ต้องอาวุธศัตรูกี่ครั้ง  จงเล่าเหตุการณ์และอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธแต่ละครั้ง
ว่ามีรายละเอียดอย่างไร  พร้อมด้วยยาและขั้นตอนวิธีรักษาพยาบาลประกอบด้วย
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน   ตอบหน้าไมค์อีกแล้วครับท่าน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 10:15

     ถ้าพวกเราออกชื่อหนังสือ รามเกียรติ์  ไปเรื่อย ๆ         คุณหลวงท่านก็จะนึกว่าเรามี หรือ อ่านแล้ว

ท่านก็จะไม่ถามเราในเรื่องในนั้นไง        


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 10:18

     ถ้าพวกเราออกชื่อหนังสือ รามเกียรติ์  ไปเรื่อย ๆ         คุณหลวงท่านก็จะนึกว่าเรามี หรือ อ่านแล้ว

ท่านก็จะไม่ถามเราในเรื่องในนั้นไง        

หึหึ   ช่างคิดแยบยลดีนักหนา   ก็ไม่แน่หรอก 
นี่เพิ่งไปค้นได้มาอีก ๒ เล่มเมื่อเช้ามืด 
กำลังคิดอยู่ว่าจะเอามาตั้งคำถามดีไหม   8)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 10:26
คุณหลวงช่างมีเกลอเยอะแท้ๆ
เกลอต่างกระทรวงยังอุตส่าห์ส่งคำถามเข้าประกวดเวทีนี้ ;D

คำถามข้อที่  ๒๑.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาเข้าถาม

สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร    จงอธิบายให้ละเอียด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบได้ที่หน้าไมค์

จักตอบคำถามของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน (ไม่รู้ว่าประจำอยู่ที่บางกระบือหรือปากเกร็ด)

สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคือ
อุปราชเมืองลงกา นามกุมภกรรณ ทำพิธีทดน้ำ โดยการนอนขวางแม่น้ำมิให้ไหลไปทางกองทัพของพระราม หวังให้ไพร่พลวานรน้อยใหญ่ทั้งปวงอดน้ำตาย

วิธีการจัดการปัญหา คือ
ส่งหนุมานไปหาทางทำลายพิธี โดยแปลงกายเป็นเหยี่ยว หาตัวนางกำนัลของกุมภกรรณที่มีหน้าที่ส่งดอกไม้แล้วฆ่าเสียไหนึ่งคน ปลอมตัวเป็นนางนั้น
ลอบเข้าไปถึงพิธีมณฑล แล้วกลับรูปดังเดิมเพื่อต่อสู้กับกุมภกรรณ จนอุปราชเมืองลงกาเสียทีเหาะหนีกลับไป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 10:34
คำถามข้อที่  ๒๑.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาเข้าถาม

สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร    จงอธิบายให้ละเอียด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบได้ที่หน้าไมค์

+++

เรื่องนี้ต้องดูตัวอย่างจากกุมภกรรณทดน้ำ

"หลังจากกุมภกรรณเข้าใจว่าพระลักษมณ์สิ้นชีพด้วยหอกโมกขศักดิ์ของตน กลับไปแจ้งแก่ ทศกัณฐ์ ต่อมากองคอยเหตุของทศกัณฐ์กลับไปรายงานว่าพระลักษมณ์ฟื้นขึ้นได้ กุมภกรรณแค้นใจยิ่งนัก รู้ว่าพิเภกช่วยแก้กลจึงทูลลาไปทำพิธีทดน้ำมิให้ไหลไปทางพลับพลาพระราม หวังให้ไพร่พล อดน้ำตาย
       พิเภกจับยามรู้ความ จึงทูลแนะให้พระรามส่งหนุมานไปหาทางทำลายพิธีอีก หนุมานรับอุบายแปลงกายเป็นเหยี่ยว ไปเที่ยวหาตัวนางกำนัลของกุมภกรรณที่มีหน้าที่ส่งดอกไม้ฆ่าเสีย แล้วปลอมเป็นนางนั้นลอบเข้าไปถึงพิธีมณฑลแล้วจึงกลับรูปดังเดิมเข้าต่อสู้กัน กุมภกรรณเสียทีเหาะหนีกลับไป
       รุ่งขึ้นกุมภกรรณคุมพลออกรบกับพระรามถูกศรพรหมาสตร์ต้องอกล้มลง ก่อนสิ้นชีพแลเห็นพระรามเป็นองค์นารายณ์สำนึกผิดทูลขออภัยสั่งเสียพิเภกด้วยดี พระรามก็ทรงอโหสิให้ "

ถ้าหากเป็นการดำเนินการชลประทานอย่างเป็นระบบนั้น ต้องดำเนินการให้รู้จักการใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้ประโยชน์ของน้ำให้มากที่สุด
แม้ว่าจะมีการดำเนินการชลประทานบริหารงานเรื่องนำน้ำ ขุดคลองจากอยุธยา อ่างทอง และที่ราบลุ่มภาคกลางในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยนายช่างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ดำเนินการขุดคลองทุ่งรังสิต และการบริหารงานประปา ขุดน้ำเพื่อให้เข้าคลองเปรมประชากร เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย แต่ด้วยจำนวนประชากรปัจจุบันนี้มีมากเกิน จึงต้องมีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ หรือ ก่อสร้างขุดบ่อไว้ให้มีน้ำใช้ ตลอดจนโครงการแก้มลิง เพื่อกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง และน้ำท่วมเพื่อหน่วงน้ำในหน้าฝน อีกทั้งต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำ

ดังพระราชเสานีย์ "พระเจ้าอยู่หัวจะเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ"


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 10:43
ทั้งคุณsiamese และคุณart47  ตอบมานั้น
ทางเจ้าหน้ากรมชลประทานแจ้งให้ทราบว่า
ตอบมาดังนี้  ให้ไปคนละ  ๑๐  คะแนนพอ
เนื่องจากยังตอบไม่ครบ
(อ่ะ  สงสัยล่ะสิ   ไม่มีไกด์ไลน์อะไรให้ด้วย  เปิดหาดูเอาเอง) :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 10:50
คำถามข้อที่  ๒๓.  คำถามนี้  นายแพทย์ท่านหนึ่งส่งมาให้ถาม
พระลักษมณ์ต้องอาวุธศัตรูกี่ครั้ง  จงเล่าเหตุการณ์และอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธแต่ละครั้ง
ว่ามีรายละเอียดอย่างไร  พร้อมด้วยยาและขั้นตอนวิธีรักษาพยาบาลประกอบด้วย
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน   ตอบหน้าไมค์อีกแล้วครับท่าน

+++

๑. ศึกครั้งที่ ๑ กับอินทรชิต พระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ มัดพร้อมกับพระราม อาการบาดเจ็บคงอึดอัดเล็กน้อย ถึงปานกลาง แก้ไขด้วยพญาครุฑบินมาจิกนาค จึงรอด

๒. ครั้งนี้รบกับทศกัณฐ์ ครั้งที่ ๑ ถูกหอกกบิลพัสดุ์ บาดเจ็บสาหัส บาดแผลไม่ฉกัรรฐ์มากนัก แก้โดยพระรามถอนออกได้

๓. รบครั้งนี้กับอินทรชิตครั้งที่ ๒ ถูกศรพรหมมาศ บาดเจ็บสาหัส เกือบเข้าไอซียูไม่ทัน เนื่องจากพระอาทิตย์จวนฉายแสง ต้องแก้โดยหมุนมานแบกเขาสรรพยา พอได้กลิ่นยา ก็ฟื้นกันหมด

๔. ครั้งนี้รบกับอินทรชิต ครั้งที่ ๓ ต้องศรอาคเนย์ เจ็บชิวๆ พันแผลหาย ไม่ต้องรักษามาก

๕. ทศกัณฐ์รบ ครั้งที่ ๒ ถูกหอกทศกัณฐ์ อาการปางตาย แต่เดชะบุญพระรามมาถอนออกได้
แต่อนิจจาบาดแผลลึกเกิน ทำให้เกิดอาการสลบไม่ยอมฟื้น ต้องช่วยให้หนุมานแบกเขาสรรพยา มาแก้อีกจึ่งได้กลิ่นยาฟื้น

สรุปได้ ๕ ครั้งครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 10:55
พลาดท่าเสียรู้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานไปแล้วครั้งหนึ่ง หวังว่าคงไม่พลาดท่ากับคนจากกรมพระอุเทนอีกนะ :-[

คำถามข้อที่  ๒๒.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรส่งเข้าประกวด
ถ้านาย ก  อยากจะตั้งคณะละครหรือโขนรับจ้างแสดงทั่วราชอาณาจักรสยาม ในสมัย ร,ศ, ๑๑๓
เขาอยากทราบกฎเกณฑ์และอัตราการเก็บอากรมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๕
ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง  พร้อมอ้างอิงเอกสารหลักฐานประกอบ
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

ถ้านาย ก. อยากจะเป็นนายโรง ต้องไปศึกษาอัตราการเก็บภาษีโขนละคร พ.ศ. 2402 ในสมัยรัชกาลที่ 4
(ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องละครอิเหนา)

ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน
เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 20 บาท
เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 16 บาท
เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 12 บาท
ละครเล่นเรื่องละครนอก
ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 3 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวัน 1 ภาษี 2 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นคืน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 1 บาท 50 สตางค์
ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์

ละครหลวง และละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

โขน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป เล่นคืน 1 ภาษี 2 บาท 50 สตางค์
ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
เพลง เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
แคน มอญรำ ทวายรำ เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
กลองยาว เล่นวัน 1 ภาษี 12 สตางค์ครึ่ง
หุ่นไทย เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังไทย เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์
งิ้ว เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
หุ่นจีน เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังจีน เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 มีการออกประกาศแก้ไขภาษีโขนละคร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม รศ. 111 (พ.ศ. 2435)
ซึ่งในครั้งนี้เปลี่ยนการเรียก "ภาษีโขนละคร" มาเป็น "อากรมหรสพ" แทน
และยังเพิ่มเติมการเล่นต่างๆ ในชั้นหลังอีกเช่น
ละครชาตรี ที่เล่นเทียมละครนอก      ภาษีวันละ 4 บาท
หนังตะลุง                                  ภาษีคืนละ 50 สตางค์
สักวา                                       ภาษีคืนละ 1 บาท
เสภา                                        ภาษีคืนละ 50 สตางค์
ลิเก                                          ภาษีคืนละ 2 บาท
ปี่พาทย์ มโหรี กลองแขกเครื่องใหญ่  ภาษีวันละ 1 บาท
ปี่พาทย์ มโหรี กลองแขกเครื่องเล็ก   ภาษีวันละ 50 สตางค์
จำอวดสวดศพ                             ภาษีคืนละ 8 บาท

(อ้างอิงจากแหล่งเดียวกัน เพราะหาในราชกิจจานุเบกษาแล้วไม่เจอ)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 ม.ค. 11, 11:07
โอ!!  ไม่ถึง 10 นาที คำถามถูกตอบหมดแล้ว เก่งกันจริงๆ   ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 11:08
ทั้งคุณsiamese และคุณart47  ตอบมานั้น
ทางเจ้าหน้ากรมชลประทานแจ้งให้ทราบว่า
ตอบมาดังนี้  ให้ไปคนละ  ๑๐  คะแนนพอ
เนื่องจากยังตอบไม่ครบ
(อ่ะ  สงสัยล่ะสิ   ไม่มีไกด์ไลน์อะไรให้ด้วย  เปิดหาดูเอาเอง) :P


หนุมานดำลงไปใต้น้ำชักตรีเพชรทิ่มแทงกุมภกรรณ จึงทำลายพิธีทดน้ำได้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 11:22

คำถามข้อที่  ๒๓.  คำถามนี้  นายแพทย์ท่านหนึ่งส่งมาให้ถาม
พระลักษมณ์ต้องอาวุธศัตรูกี่ครั้ง  จงเล่าเหตุการณ์และอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธแต่ละครั้ง
ว่ามีรายละเอียดอย่างไร  พร้อมด้วยยาและขั้นตอนวิธีรักษาพยาบาลประกอบด้วย


โดนหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณที่อก  ปักแน่น
ล้มลงสลบ
หอกปักแน่น ดึงไม่หลุด
รักษาด้วยสังกรณีตรีชะวาเกิดที่ยอดเขาสรรพยา     ก่อนอาทิตย์ขึ้น
น้ำกระสายคือน้ำจากมหาปัญจนทีในอยุธยา
แบ่งทุกส่วนเท่ากัน  พิเภกเป็นผู้ปรุงยา     แล้วบด   ใช้เป็นยาทา
ในการทานี้พิเภกได้เสกเป่าด้วย
ฟื้น



ต้องศรนาคบาศ  ซึ่งเป็นพิษของนาค
นาคพ่นพิษเป็นวงกว้าง และรัดตัวพระลักษณ์ไว้
พิเภกแนะนำพระรามให้แผลงศรพลายวาตไปหาพระยาครุฑ  มาคาบศรนาคไปเสีย
พอพรระยาสุบรรณ(ครุฑ)มาถึงก็จิกนาค      นาคก็ตกใจเพราะความกล้ว(ครุฑกินนาค)ดำดินหนีไป
เมื่อศรนาคบาศหลุดและได้ละอองน้ำค้าง
พระลักษณ์และไพร่พล ฟื้น



ต้องศรพรหมาสตร์
ซึ่งเป็นลูกศรจำนวนมาก  ถูกพระลักษณ์และไพร่พล  ล้มลงกับพื้นดิน  ไม่ได้สติ
ชมพูพานเป็นคนบอกยารักษาเพราะเคยตรวจยาให้พระศุลี
พอหนุมานไปถึงจักรกรดก็หยุด
หนุมานชลอเขาอาวุธที่มีจักรกรดพัดอยู่ไม่หยุดที่บริสุทธ์ไม่อาจวางลงในทะเล    จึงพาเขาไปทางทิศอุดรให้ลมชวยกลิ่นมาต้ององค์


ต้องหอกมูลพลัม
หนุมานถอนหอก และร่ายเวท ๗ คาบ เป่าลงตรงหอก
ฟื้น

ถูกหอกกบิลพัท
หนุมานไปเก็บสังกรณีกับต้นตู่ตัวตรีชวาที่ภูเขาสัญชีพในทวีปอุดร  และมูลนิลสดของ โคอุสุภราชของพระศุลี
ศิลาบดอยู่ในบาดาล  ลูกบดทศกัณฐ์ทำเป็นเขนยแก้วหนุนหัว
บดส่วนตามตำรา  น้ำกระสายคือน้ำท่ีสะอาดเย็นไม่มีผง
ฟื้น





กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 11:33
ทั้งคุณsiamese และคุณart47  ตอบมานั้น
ทางเจ้าหน้ากรมชลประทานแจ้งให้ทราบว่า
ตอบมาดังนี้  ให้ไปคนละ  ๑๐  คะแนนพอ
เนื่องจากยังตอบไม่ครบ
(อ่ะ  สงสัยล่ะสิ   ไม่มีไกด์ไลน์อะไรให้ด้วย  เปิดหาดูเอาเอง) :P


เอาใหม่... เริ่มแต่ต้น

หลังจากที่กุมภกรรณรู้ว่าพระลักกษมณ์ฟื้นจากฤทธิ์ของหอกโมกขศักดิ์แล้ว ก็โกรธพิเภกว่าเป็นผู้บอกกลแก้ไข จึงคิดอุบายทดน้ำเหนือกองทัพพระราม เพื่อข้าศึกจะได้อดน้ำตาย แต่ไม่ให้ทศกัณฐ์บอกใครให้ปิดเป็นความลับทางราชการ จากนั้นสั่งนางคันธมาลีกับนางกำนัลอีกสี่คนเก็บดอกไม้ไปบูชาตนเองที่ริมฝั่งแม่น้ำกำหนดเจ็ดวันเจ็ดคืน แล้วจึงเหาะไปแม่น้ำซึ่งไหลไปทางเขามรกตอันเป็นที่ตั้งทัพของพระราม กุมภกรรณนั่งแท่นศิลาใต้ต้นตร่างใหญ่ งึมงำๆ ท่องมนต์จนตัวโต ก็ลงไปนอนจมในท้องน้ำพร้อมบริกรรมคาถาไม่ให้ใครเห็น เหตุนั้นทำให้แม่น้ำจึงแห้งลงจนพื้นดินทราย พลวานรทั้งหลายไม่สามารถอาบกินได้ตามปกติ

ความทราบถึงพระรามจึงถามพิเภก ฝ่ายขุนโหรจับยามสามตาแล้วรู้ว่าเป็นแผนกุมภกรรณที่จะทดน้ำ ซึ่งเมื่อครบเจ็ดวันแล้วฝ่ายตนก็จะตายหมดสิ้นทั้งกองทัพ จึงให้หนุมานไปทำลายพิธีนี้ ขุนกระบี่ก็ไป แต่ด้วยไม่รู้ว่ากุมภกรรณอยู่ไหน เลยปลอมเป็นนางกำนัลไปที่วังของกุมภกรรณหลอกถามจนได้ความ ก็แปลงเป็นเหยี่ยวบินมาพบนางคันธมาลีและพวกที่กำลังเก็บดอกไม้อยู่ หนุมานคิดแผนจัดการนางกำนัลไปหนึ่งแล้วปลอมกายเข้าแทน อาศัยเดินไปกับพวกนางคันธมาลีจนถึงพิธีมณฑล ก็เห็นมีน้ำวนอยู่จึงรู้ว่ากุมภกรรณอยู่ตรงนั้น เลยกลางร่ายใหญ่โตดำน้ำลงไปรบกับอุปราชเมืองลงกา ฝ่ายกุมภกรรณโดนแทงเลยเหาะหนีกลับเมืองไป พญาวานรจึงทำลายพิธีนี้สำเร็จตามที่ได้รับหมอบหมาย...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 11:38
นึกว่าท่านนายกองทั้งหลายจะปล่อยให้เสือป่าแมวเซาของคุณหลวงตีตัดกองลำเลียงได้เสียอีก ;D

อุตส่าห์หนีมาเป็นกองเกียกกายแล้ว ยังไม่พ้นต้องทำศึก
นี่ถ้าแพ้ล่ะก็ ท่าทางจะโดนฟันคอริบเรือนแน่ทีเดียว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 11:46
สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร  ฮืม  จงอธิบายให้ละเอียด


น้ำที่ไหลไปเขามรกต  ถูกกุมภกรรณไปทดน้ำทางเหนือน้ำ  ปิดทางน้ำไหลลง

กุมภกรรณได้แปลงร่างให้สูงใหญ่เท่าภูเขา  ลงกั้นทางอยู่ใต้น้ำ  มองไม่เห็นจากด้านบน
หรือบริเวณใกล้เคียง       บริกรรมไปด้วย  คือหายใจน่ะ
กุมภกรรณถึงจะตัวใหญ่และนอนได้นานแสนนาน  แต่ก็ต้องหายใจ
ที่ปิดไม่หมดนี้ก็คงมีน้ำไหลบ้างเล็กน้อย  แต่คงกระจายไป จนแห้งผากในที่สุด
น้ำแห้งหมด กองทัพลิงไม่มีอาบกิน

หนุมานได้แปลงร่างเป็นนางกำนัลเก็บดอกไม้เพื่อลวงถามว่ากุมภกรรณอยู่ที่ไหน
ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า  ที่ตั้งของการทดน้ำรู้กันระหว่าง นางคันธมาลีกับสี่นางกำนัลที่เก็บดอกไม้
หนุมานแปลงเป็นเหยี่ยว บินไปดูรอบๆ
จับนางคนหนึ่งไปไปขยี้ในท้องฟ้าแล้วแปลงตัวเป็นนางนั้น  กลับมาร่วมกลุ่ม
นางอีก ๔ คนไม่สงสัย    ตอนบ่ายก็พากันยกพานดอกไม้ไปร่วมบูชา

หนุมานตามไปในกลุ่ม  สังเกตเห็นที่น้ำไม่ไหลวน  จึงแปลงตัวโตเท่าภูเขา  แหวกน้ำลงไป  
ต่อสู้กุมภกรรณด้วยตรีเพขร  โดยการเหยียบเข่า ดึงหัวลง

เมื่อเขื่อนหาย  คือว่า ยุบคืนตัวไปในตอนนี้น้ำก็ไหลแล้ว
กุมภกรรณหนีเข้านครไม่อยากตายในมือลิง



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 11:48

ริบเรือนไม่เท่าไร    ริบสวนส้มที่บางมด ยอมไม่ได้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 12:03

ริบเรือนไม่เท่าไร    ริบสวนส้มที่บางมด ยอมไม่ได้

อืมม์  นั่นเป็นจุดหัวใจสำคัญทางยุทธศาสตร์
สายรายงานมาว่า  ถ้าถุกยึดได้จะทำให้คู่ต่อสู้บางคนเดือดร้อนมาก ถึงมากที่สุด
ริบเรือน ริบสวนก็เท่านั้น  ผมถนัดกวาดต้อนเชลยมากกว่า
บางทีก็หาเชลยเข้าพวกปักสะดึงด้วย ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 12:12

ริบเรือนไม่เท่าไร    ริบสวนส้มที่บางมด ยอมไม่ได้

อืมม์  นั่นเป็นจุดหัวใจสำคัญทางยุทธศาสตร์
สายรายงานมาว่า  ถ้าถุกยึดได้จะทำให้คู่ต่อสู้บางคนเดือดร้อนมาก ถึงมากที่สุด
ริบเรือน ริบสวนก็เท่านั้น  ผมถนัดกวาดต้อนเชลยมากกว่า
บางทีก็หาเชลยเข้าพวกปักสะดึงด้วย ;D

จะขึ้นสะดึง ปักดิ้นละคร แข่งกระนั้นหรือ :o


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 12:35
คำถามข้อที่ ๒๓  คุณวันดีตอบได้วิตถารมาก  เอาไปเต็มที่ ๓๐ คะแนน
คุณsiamese ตอบมาอย่างย่อๆ เอาไป ๑๐ คะแนน
(เนื่องจากนายแพทย์ผู้ให้คำถามบอกว่า
สาเหตุ อาการ  ตัวยาและวิธีการรักษาไม่ละเอียด
จึงไม่อาจจะเจียดคะแนนให้ได้ทั้งหมด)

ส่วนคำถาม ข้อที่ ๒๑. คุณวันดีได้ไป ๑๐ คะแนน
ส่วนอีกสองท่านที่ตอบเพิ่มเติมมา  ไม่มีผลให้เพิ่มคะแนนได้
(เจ้าหน้าที่กรมชลฯ ฝากบอกมาว่า
นี่แสดงให้เห็นว่า  ผู้เข้าร่วมทำศึกอ่านตำราพิชัยสงครามเล่มหลักไม่ครบ
จึงตอบได้เฉพาะในระดับน้ำผิวดินเท่านั้น)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 12:51
พลาดท่าเสียรู้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานไปแล้วครั้งหนึ่ง หวังว่าคงไม่พลาดท่ากับคนจากกรมพระอุเทนอีกนะ :-[

คำถามข้อที่  ๒๒.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรส่งเข้าประกวด
ถ้านาย ก  อยากจะตั้งคณะละครหรือโขนรับจ้างแสดงทั่วราชอาณาจักรสยาม ในสมัย ร,ศ, ๑๑๓
เขาอยากทราบกฎเกณฑ์และอัตราการเก็บอากรมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๕
ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง  พร้อมอ้างอิงเอกสารหลักฐานประกอบ
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

ถ้านาย ก. อยากจะเป็นนายโรง ต้องไปศึกษาอัตราการเก็บภาษีโขนละคร พ.ศ. 2402 ในสมัยรัชกาลที่ 4
(ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องละครอิเหนา)

ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน
เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 20 บาท
เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 16 บาท
เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 12 บาท
ละครเล่นเรื่องละครนอก
ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 3 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวัน 1 ภาษี 2 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นคืน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 1 บาท 50 สตางค์
ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์

ละครหลวง และละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

โขน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป เล่นคืน 1 ภาษี 2 บาท 50 สตางค์
ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
เพลง เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
แคน มอญรำ ทวายรำ เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
กลองยาว เล่นวัน 1 ภาษี 12 สตางค์ครึ่ง
หุ่นไทย เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังไทย เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์
งิ้ว เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
หุ่นจีน เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังจีน เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 มีการออกประกาศแก้ไขภาษีโขนละคร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม รศ. 111 (พ.ศ. 2435)
ซึ่งในครั้งนี้เปลี่ยนการเรียก "ภาษีโขนละคร" มาเป็น "อากรมหรสพ" แทน
และยังเพิ่มเติมการเล่นต่างๆ ในชั้นหลังอีกเช่น
ละครชาตรี ที่เล่นเทียมละครนอก      ภาษีวันละ 4 บาท
หนังตะลุง                                  ภาษีคืนละ 50 สตางค์
สักวา                                       ภาษีคืนละ 1 บาท
เสภา                                        ภาษีคืนละ 50 สตางค์
ลิเก                                          ภาษีคืนละ 2 บาท
ปี่พาทย์ มโหรี กลองแขกเครื่องใหญ่  ภาษีวันละ 1 บาท
ปี่พาทย์ มโหรี กลองแขกเครื่องเล็ก   ภาษีวันละ 50 สตางค์
จำอวดสวดศพ                             ภาษีคืนละ 8 บาท

(อ้างอิงจากแหล่งเดียวกัน เพราะหาในราชกิจจานุเบกษาแล้วไม่เจอ)

โถ  พ่อคุณ  พ่ออุตส่าห์คัดสำเนามาตอบตามหนังสือเป๊ะๆ เทียว
ไอ้ที่ไม่ได้ถามก็ลอกเอามาให้ด้วย  (แต่เสียใจว่า  ไม่สามารถให้คะแนนได้)
ส่วนที่ถามก็ตอบมาไม่ครบไม่ละเอียด  จึงให้ได้ ๔ คะแนน
สงสัยใจไปอยู่ที่สวนส้ม  (กลัวถูกริบกระมัง ;D ;D ;D)
เรียกขวัญกลับมาสู่กายเถิด  ช่วงนี้ยังไม่มีฤกษ์ไปยึดสวนส้มดอก
กะว่าไปเล็งๆ ยึดแถวเอราวัณก่อน :D
ถ้าตอบไม่ได้  อาจจะต้องมีการริบ LL.B. แทนกระมัง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 12:53

ริบเรือนไม่เท่าไร    ริบสวนส้มที่บางมด ยอมไม่ได้

อืมม์  นั่นเป็นจุดหัวใจสำคัญทางยุทธศาสตร์
สายรายงานมาว่า  ถ้าถุกยึดได้จะทำให้คู่ต่อสู้บางคนเดือดร้อนมาก ถึงมากที่สุด
ริบเรือน ริบสวนก็เท่านั้น  ผมถนัดกวาดต้อนเชลยมากกว่า
บางทีก็หาเชลยเข้าพวกปักสะดึงด้วย ;D

เกรงว่าสายของคุณหลวงคงยังมิทราบ

เชลยที่คุณหลวงหมายตาไว้ให้ปักสะดึงขึงผ้านั้น ตอนนี้ถูกกองเกียกกายกวาดต้อนจากสวนส้มเข้าอาศัยในเมืองแล้ว
หากคุณหลวงต้องการจริง คงต้องปีนกำแพงระเนียดยึดเมืองเสียให้ได้ก่อน :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 12:58

เกรงว่าสายของคุณหลวงคงยังมิทราบ

เชลยที่คุณหลวงหมายตาไว้ให้ปักสะดึงขึงผ้านั้น ตอนนี้ถูกกองเกียกกายกวาดต้อนจากสวนส้มเข้าอาศัยในเมืองแล้ว
หากคุณหลวงต้องการจริง คงต้องปีนกำแพงระเนียดยึดเมืองเสียให้ได้ก่อน :P

ถนอมไว้ปานไข่ในหิน  ไม่เป็นไร  ไม่เอาก็ได้  ไปเกณฑ์แถวๆ ปากน้ำมาก็ได้
ได้ข่าวว่าขยันดี ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 13:14
แก้ตัวจากคำถามฝากมาของคนกรมพระอุเทน ;D

ตามพระราชบัญญัติอากรมหรสพ ร.ศ. 111
1. นาย ก. ต้องได้รับอาชญาบัตรจากเจ้าพนักงานออกอาชญาบัตรเสียก่อน มิฉะนั้นจะเล่นมหรสพทั้งปวงมิได้ (มาตรา 3)
2. อาชญาบัตรจะออกโดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สามารถออกอาชญาบัตรได้ทั่วพระราชอาณาเขต (มาตรา 4)
3. นาย ก. ต้องไปขอรับอาชญาบัตรจากเจ้าพนักงาน และจ่ายเงินภาษีอากรตามตารางพิกัด เมื่อจ่ายแล้วถือว่าเรียบร้อย (มาตรา 5)
4. ถ้านาย ก. เล่นมหรสพโดยไม่มีอาชญาบัตร จะถูกปรับ 300 บาท (มาตรา 6)

พิกัดเงินค่าอาชญาบัตรเล่นมหรสพ (ตามมาตรา 5)
โขนเจรจา                 วันหนึ่ง 4 บาท คืนหนึ่ง 4 บาท ทั้งวันทั้งคืน 4 บาท
ละครเรื่องรามเกียรติ์      วันหนึ่ง 20 บาท คืนหนึ่ง 20 บาท ทั้งวันทั้งคืน 20 บาท
ละครเรื่องอิเหนา     วันหนึ่ง 16 บาท คืนหนึ่ง 16 บาท ทั้งวันทั้งคืน 16 บาท
ละครเรื่องอนิรุทธ      วันหนึ่ง 12 บาท คืนหนึ่ง 12 บาท ทั้งวันทั้งคืน 12 บาท
ละครเหมาเรื่องเบ็ดเตล็ด วันหนึ่ง 1 บาท คืนหนึ่ง 1 บาท ทั้งวันทั้งคืน 1 บาท 50 สตางค์
...และอื่นๆ อีกมากมายตามตารางท้ายพระราชบัญญัติ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 13:24
แก้ตัวจากคำถามฝากมาของคนกรมพระอุเทน ;D

ตามพระราชบัญญัติอากรมหรสพ ร.ศ. 111
1. นาย ก. ต้องได้รับอาชญาบัตรจากเจ้าพนักงานออกอาชญาบัตรเสียก่อน มิฉะนั้นจะเล่นมหรสพทั้งปวงมิได้ (มาตรา 3)
2. อาชญาบัตรจะออกโดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สามารถออกอาชญาบัตรได้ทั่วพระราชอาณาเขต (มาตรา 4)
3. นาย ก. ต้องไปขอรับอาชญาบัตรจากเจ้าพนักงาน และจ่ายเงินภาษีอากรตามตารางพิกัด เมื่อจ่ายแล้วถือว่าเรียบร้อย (มาตรา 5)
4. ถ้านาย ก. เล่นมหรสพโดยไม่มีอาชญาบัตร จะถูกปรับ 300 บาท (มาตรา 6)

พิกัดเงินค่าอาชญาบัตรเล่นมหรสพ (ตามมาตรา 5)
โขนเจรจา                 วันหนึ่ง 4 บาท คืนหนึ่ง 4 บาท ทั้งวันทั้งคืน 4 บาท
ละครเรื่องรามเกียรติ์      วันหนึ่ง 20 บาท คืนหนึ่ง 20 บาท ทั้งวันทั้งคืน 20 บาท
ละครเรื่องอิเหนา     วันหนึ่ง 16 บาท คืนหนึ่ง 16 บาท ทั้งวันทั้งคืน 16 บาท
ละครเรื่องอนิรุทธ      วันหนึ่ง 12 บาท คืนหนึ่ง 12 บาท ทั้งวันทั้งคืน 12 บาท
ละครเหมาเรื่องเบ็ดเตล็ด วันหนึ่ง 1 บาท คืนหนึ่ง 1 บาท ทั้งวันทั้งคืน 1 บาท 50 สตางค์
...และอื่นๆ อีกมากมายตามตารางท้ายพระราชบัญญัติ
 

แนบเอกสารมาด้วยซิ จะเพิ่มคะแนนให้
แต่เดี๋ยวก่อน  จงตอบคำถามต่อไปนี้ด้วย

๑.เจ้าพนักงานออกอาชญาบัตร  หมายถึงใคร?
๒.เงินค่าปรับ ไม่เกิน ๓๐๐ บาท เมื่อปรับแล้วเอาไปไหน?


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 13:31
จัดให้หนักเลยคุณ Art47 เนี่ยจัดปักเสาพร้อมแล้ว ผู้คนมาแล้ว รอแต่อาญาบัตร

ภาพโรงมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 13:33
เอกสารอ้างอิงเอามาจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 10 หน้า 71 เรื่อง "พระราชบัญญัติอากรมหรสพ รัตนโกสินทร์ศก 111"

และจงตอบคำถามต่อไปนี้ด้วย
๑.เจ้าพนักงานออกอาชญาบัตร  หมายถึงใคร?
เจ้าพนักงานออกอาชญาบัตร หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ประกอบการค้าขายหรือกระทำการต่างๆ
ตามที่พระราชบัญญัติได้ให้อำนาจไว้ เช่น กรณีของอากรมหรสพ คือเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร

๒.เงินค่าปรับ ไม่เกิน ๓๐๐ บาท เมื่อปรับแล้วเอาไปไหน?
เงินค่าปรับนั้น ถ้าปรับในเขตแขวงที่มิได้ตั้งนายอากรไว้ ก็ให้เงินปรับไหมตกเป็นพินัยหลวงทั้งหมด
แต่ถ้าเขตนั้นมีนายอากร เงินปรับไหมก็จะเป็นของนายอากรครึ่งหนึ่ง พินัยของหลวงครึ่งหนึ่ง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 13:35

การทดสอบฝีมือ ณ ที่นี้ต้องสอบพิไชยสงครามด้วยฤา

ครูผู้ดุเดือดเลือดสาดของข้าพเจ้า     ได้สั่งว่า  จงสอบพอผ่านเหมือนศิษย์ผู้พี่ เสมา ช่างเหล็กเถิด

งำประกายไว้บ้างเพราะมูลนายจะชัง     และที่สำคัญจะมาแอบแฝงลอบยืมตำราทั้งปวงที่ท่านได้ประสิทธิ์ประสาทไว้

ชะ ชะ  พิชัยสงครามฉบับหลัก



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 14:01
เอกสารอ้างอิงเอามาจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 10 หน้า 71 เรื่อง "พระราชบัญญัติอากรมหรสพ รัตนโกสินทร์ศก 111"

และจงตอบคำถามต่อไปนี้ด้วย
๑.เจ้าพนักงานออกอาชญาบัตร  หมายถึงใคร?
เจ้าพนักงานออกอาชญาบัตร หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ประกอบการค้าขายหรือกระทำการต่างๆ
ตามที่พระราชบัญญัติได้ให้อำนาจไว้ เช่น กรณีของอากรมหรสพ คือเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร


กฎหมายท่านระบุไว้มิใช่หรือว่า ได้แก่ใครบ้าง
ผมอยากได้ หน้า ๗๓ มาลงด้วย  คะแนนเต็มผมจัดลงพานรอไว้แล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 14:10
เรียบร้อยแล้วกระมั้งขอรับ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 14:36
คำถามข้อที่  ๒๒.  คุณอาร์ท ๔๗  ตอบได้ ตอบโดน  เอาไป ๒๐ คะแนน
โฮ่ย  เหนื่อยนิ

แล้วคำถามที่เหลือนี่ ไม่มีผู้ใดจะสมัครใจมาตอบบ้างหรือ
ข้อที่ ๒๑.  ยังขาดอีก ๑ กรณี  อยู่ในรามเกียรติ์นั่นแหละ
น้ำ ไม่ได้มีแต่น้ำในแม่น้ำลำคลองนะครับ  

ข้อที่ ๑๙.   ยังไม่คนตอบถูก

คุณสองยิ้ม กรุณาเป็นธุระช่วยรวมคะแนน
กับช่วยรวบรวมคำถามที่ยังไม่มีคนตอบถูกให้หน่อยนะครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 11, 14:46
ในโอกาสที่กระทู้นี้เดินทางมาถึง ๓๐๐ ความเห็นในวันนี้

ผมใคร่ขอสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากท่านผู้เข้าท้ารบ
และท่านผู้เข้ามาสังเกตการณ์ศึก  
ใครมีคำชม และคำแนะนำอะไรเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง
เชิญโพสต์ลงมาได้เลยนะครับ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 15:17

แล้วคำถามที่เหลือนี่ ไม่มีผู้ใดจะสมัครใจมาตอบบ้างหรือ
ข้อที่ ๒๑.  ยังขาดอีก ๑ กรณี  อยู่ในรามเกียรติ์นั่นแหละ
น้ำ ไม่ได้มีแต่น้ำในแม่น้ำลำคลองนะครับ  


ครั้นถึงฟากฝั่งชลาลัย   ซึ่งไหลไปมรกตสิงขร
มีต้นตร่างใหญ่ริมสาคร กิ่งใบอรชรจำเริญตา
ร่มรื่นพื้นราบดั่งหน้าแว่น ใต้ต้นมีแท่นแผ่นผา
ขึ้นนั่งลงบัลลังด์ศิลา  หลับตาอ่านเวทสำรวมใจ
บัดเดี๋ยวกลับกายกลายเพศ  เท่าบรมพรหเมศสูงใหญ่
อสุรีย่างเยื้องคลาไคล  ลงไปยังท้องธารา
ทอดองค์นอนขวางกลางน้ำ  บริกรรมพระเวทคาถา
จมอยู่ในท้องพระคงคา  มิได้เห็นกายาอสุรี
น้ำท้นวนวังไม่หลั่งไหล  ไปหน้าพับพลาชัยศรี
เดชะด้วยฤทธิ์พิธี  วารีแห้งสิ้นจนดินทราย


กลอนบทนี้ไม่ได้ช่วยเลย ... น้ำไหลไปเขามรกต น้ำมาจากไหน ?


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 15:35
ได้ความว่า "แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองพระราม ชื่อ แม่น้ำโคธาวลี"

http://www.youtube.com/watch?v=2Z89XIUmOAw


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 ม.ค. 11, 16:06
สำหรับคำถามที่ยังไม่มีผู้ตอบถูก นะคะ  ;D

คำถามข้อที่ ๘.  ที่เมืองโบราณ  บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
: คำตอบยังไม่ครบ ยังเหลืออีก ๑ ภาพ เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนอะไร

คำถามข้อที่  ๑๓.  ในปี ร.ศ. ๑๒๘ มีการเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม
ในครั้งนั้น  ได้มีการจัดแสดงโขนสมัครเล่นด้วย  
คำถามคือ  ในการแสดงโขนครั้งนั้น  มีใครแสดงบ้าง และแต่ละคนแสดงบทบาทใด
มีผู้ตอบแล้ว คือ
๑.หม่อมหลวงเฟื้อ แสดงเป็นพระอรชุน  
๒.นายประณีต แสดงเป็นรามสูรตัวรบ  
๓.นายประเสริฐ แสดงเป็นนางเมขลา
: คำตอบยังไม่ครบ

คำถามข้อที่ ๑๔.  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์มี ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ
คำถามคือ มีตอนอะไรบ้าง ใครเป็นคนแต่ง ใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง
: คำตอบยังไม่ครบ
เพลงตับตอนนารายณ์ปราบนนทก ใครแต่ง และเล่นครั้งแรกในโอกาสใด และเพลงลูกบทที่ประกอบอยู่ในเพลงตับนี้มีอะไรบ้าง

คำถามข้อที่  ๑๗   ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า  (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ท่านทราบหรือไม่ว่า  ยังมีประติมากรรมที่คล้ายกันนี้อีก ๑ ชิ้น
ถามว่า  ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบันอยู่ที่ใด
สันนิษฐานว่า  ใครเป็นคนสร้างประติมากรรมทั้ง ๒ ชิ้น และสร้างในสมัยใด
: คำตอบยังไม่ครบ ประติมากรรมพระนารายณ์ทรงปืนอีกชิ้นอยู่ที่ไหน

คำถามข้อที่ ๑๙ ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย
: ยังไม่มีผู้ตอบถูก

คำถามข้อที่  ๒๑.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาเข้าถาม
สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร    จงอธิบายให้ละเอียด
: คำตอบยังไม่ครบ ยังขาดอีก ๑ กรณี

คำถามแถม (ข้อนี้ถามเฉยๆ ไม่มีคะแนน)
ภาพจับที่หอไตรกรมสมเด็จพระปรมาฯ มีความแตกต่างจากภาพจับแห่งอื่นอย่างไร
: ยังไม่มีผู้ตอบ

ที่สรุปมาถ้าไม่ถูกช่วยทักท้วงด้วยนะคะ... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 17:05
ข้อที่ ๒๑.  ยังขาดอีก ๑ กรณี  อยู่ในรามเกียรติ์นั่นแหละ
น้ำ ไม่ได้มีแต่น้ำในแม่น้ำลำคลองนะครับ 

ขอเสนออีก 1 กรณี

"น้ำบ่อน้อย"

จับความแต่หนุมานถูกอินทรชิตจับ ทศกัณฐ์ก็สั่งให้ประหารหนุมาน แต่เหล่าเพชฌฆาตทำเยี่ยงไรบุตรพระพายก็หาเป็นอันตรายไม่ ทั้งแทงด้วยหลาวแหลน ทั้งตีด้วยกระบอง ทั้งเอาค้อนเหล็กตี ทั้งฟันด้วยขวาน ทั้งตำใส่ครกเหล็ก ทั้งให้ช้างแทง อะไรต่อมิอะไร ทศกัณฐ์คงเซ็ง เลยถามว่าทำไหมถึงตายยากตายเย็นขนาดนี้ หนุมานก็คิดแผนได้ จึงภิปรายว่า ใช้ไฟเผาสิตายแน่นอน เจ้ากรุงลงกาชอบใจสั่งทหารเอาสำลีกับผ้าชุบน้ำมันพันรอบกายหนุมานแล้วจุดไฟเผา พอไฟโหมขึ้นหนุมานก็วิ่งเข้าปราสาทราชวัง โรงม้าโรงช้าง บ้านเรือน จนไฟไหม้ทั่วทั้งกรุงลงกา
ฝ่ายหนุมานชาญสมรหลังเผากรุงลงกาแล้ว จะดับไฟตัวเอง ก็แต่ปลายหางยังไม่ดับ ทำอย่างไรก็ไม่ดับ เลยแจ้นไปหาพระฤาษีนารถมุนี ขอให้ช่วยดับไฟด้วย
พระนารถก็แสนจะใจดี หัวเราะร่าร่าแล้วตอบว่า

"เอ็งเป็นทหารพระจักรกฤษณ์
เพลิงนิดเท่านี้ไม่ดับได้
น้ำในบ่อน้อยจะไว้ไย
เหตุใดไม่ดับอัคคี"

เท่านั้นหนุมานก็คิดได้ เอาหางใส่ในอมไว้ในปาก ดับไฟได้สำเร็จ... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 20:00
อยู่ว่างๆ เลยนั่งทำหุ่นโขน พร้อมโรงโขน นำมาให้ชม มีหุ่นรามเกียรติ์ชื่อใดบ้าง ก็ส่องกันเองละกัน ข้อนี้อยากให้ 500 คะแนน ;D ;D ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 20:12
ยามค่ำคืนย่อมจะต้องพักรบ (เพราะแม่ทัพฝ่ายข้างโน้นไม่สามารถทำศึกได้)

แต่เพราะว่างจัดเลยเล่นสนุกกับนายกองไซมีสดีกว่า ;D

เท่าที่เห็น ก็มี พระราม หนุมาน นิลพัท สุครีพ ที่เหลือส่องไม่ถึง ไกลเกินเอื้อม
ข้างบนมีเทวดา (หรือนางฟ้า?) ร่ายรำ และหนึ่งในนั้น...ไม่มีศีรษะ!!!

ข้อนี้เต็ม 500 คะแนน ขอแค่ 100 คะแนน พอแล้วครับ
(ถ้าคุณหลวงแกนับข้อนี้ด้วย ผมคงชนะเลิศเป็นที่หนึ่ง 55555)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 20:22
ยามค่ำคืนย่อมจะต้องพักรบ (เพราะแม่ทัพฝ่ายข้างโน้นไม่สามารถทำศึกได้)

แต่เพราะว่างจัดเลยเล่นสนุกกับนายกองไซมีสดีกว่า ;D

เท่าที่เห็น ก็มี พระราม หนุมาน นิลพัท สุครีพ ที่เหลือส่องไม่ถึง ไกลเกินเอื้อม
ข้างบนมีเทวดา (หรือนางฟ้า?) ร่ายรำ และหนึ่งในนั้น...ไม่มีศีรษะ!!!

ข้อนี้เต็ม 500 คะแนน ขอแค่ 100 คะแนน พอแล้วครับ
(ถ้าคุณหลวงแกนับข้อนี้ด้วย ผมคงชนะเลิศเป็นที่หนึ่ง 55555)

ตอบผิดติดลบได้นะ  ;D  :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ม.ค. 11, 20:36
แนะๆๆๆ

ท่าทางคุณไซมีสจะติดนิสัยคุณหลวงแล้ว :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 21:31
คำถามข้อที่ ๑๙ ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย
: ยังไม่มีผู้ตอบถูก



Dr. Satya  Vrat  Shashi
ทั้งหมดค้นจากวิกิพีเดีย
โปรดอ่านเพิ่มเติม   http://en.wikipedia.org/wiki/Satya_Vrat_Shastri
เล่มสีแดง

หนังสือชื่อ        Sri Rama-kirti - mahakavyan    มหากาพย์รามเกียรติ์




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 21:34
ช่วยแปะภาพให้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 11, 21:39

ขอบคุณค่ะ    ท่านนายกอง  ที่มีขบวนฟ้อน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ม.ค. 11, 21:53

คำถามแถม (ข้อนี้ถามเฉยๆ ไม่มีคะแนน)
ภาพจับที่หอไตรกรมสมเด็จพระปรมาฯ มีความแตกต่างจากภาพจับแห่งอื่นอย่างไร
++++

ภาพจับที่หอไตรนี้ เป็นการถอดรหัสภาพจิตรกรรมต่างๆ  ด้วยการสอบเทียบภาพจับกับเรื่องรามเกียรติ์  สอบเทียบภาพดาวกับตำราดาว และสอบเทียบภาพสัตว์ (ช้าง ม้า วัว เขาวัว และแมว) กับตำราโบราณต่างๆ  และในส่วนของภาพจับได้แสดงภาพจับทั้ง ๖๔ ภาพ (ภาพจริงในหอไตรแบ่งเป็นช่องๆ มีขนาดราว ๓๒ x ๓๔ เซนติเมตร) พร้อมถอดรหัสว่าเป็นภาพใครกับใคร อยู่ในตอนใดของเรื่อง แม้บางภาพจะยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มาก


ตอบถูกแบบนี้ ขอให้คะแนนด้วย  ;D ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 05:47
ขอคุยกับคุณไซมีสผู้มีดนตรีในหัวใจ  
  

       หนังสือที่ท่านถล่ม...เอ้ยถาม  คุณหลวง    ดิฉันเจอแล้ว ๑ เล่ม    อยู่ในชุดที่สหายแบกมาฝาก

จึงต้องเล่าว่าหนังสือดีๆ  พิมพ์หลายครั้ง

ฉบับที่วางอยู่ข้างๆนี้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ  ผู้ทรงนิพนธ์
ณ  พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗
ปกสีขาว   ความเก่าของกระดาษเริ่มแสดงแล้ว




หนังสือที่สนุกอีกเล่มหนึ่ง คือ  ศิลปละคอนรำ หรือ คู่มือนาฎศิลปไทย    เรียนเรียงโดย ธนิต  อยู่โพธ์
ปกสีชมพูกุหลาบโรย  


เรื่องละคอนรำสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   น่าอ่านมาก  โดยเฉพาะ ตอน  นาฎศิลปินรุ่นใหญ่  ซึ่งมี

แย้มอิเหนา   ธิดาพระยาไกรเพชรรัตนสงครามภักดีพิริยพาหะ  เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒
เอี่ยม บุษบา  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าว่า   "เป็นบุตรสาว  (ของ) บิดาไม่มีบรรดาศักดิ์  แต่นางเอกคนนี้เล่าลือมากว่าดีไม่มีตัวสู้"

อิ่ม ย่าหรัน    ธิดาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน ไกรฤกษ์) และคุณหญิงนก   ท่านอิ่มเป็นคนที่ชักจูงพระมงคลรัตน์(ช่วง ไกรฤกษ์)ให้ถวายธิดาชื่อชุ่ม
ปราง  เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒   ในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นท้าววรจันทร์

มาลัย  ต่อมาเป็นท้าววรจันทร์.............
น้อย  สุหรานากง  ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ(ฉิม)

ลูกอิน และ ทองดี       น้องสาวของเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ในรัชกาลที่ ๒(เห็นมาน้อยไปค่ะ  ไม่ทราบว่าเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์มีน้อง)
น้อย จรกา  ต่อมาเป็นครูละคอนหลวงในรัชกาลที่ ๔

ยังมีความอีก ๒ หน้าเต็ม


เมื่อหนีทัพได้ก็จะคัดลอกมาฝากท่านทั้งปวง 

ชอหลบ ๆ ใต้ต้นโรทันก่อนนะคะ(ต้นอะไรก็ไม่รู้?)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 07:24
^
^
ระวังหมีด้วยนะครับ


เหนโรทันติ์เทิดเงื้อม..เวหา หนแฮ
ทอดกิ่งก้านสาขา.........ชอุ่มคลุ้ม
หยาดเหมุทกธา...........ราหยัด ใบนอ
อายอบกระหลบกลุ้ม....เฃตรแคว้นแดนพนอม ฯ

ต้นเติบสิบหมื่นอ้อม..โดยนิยม
เพรงปล่องช่องชวนชม..ใหญ่กว้าง
รรื่นเรียบเปรียบบรม.....พิมานมาศ สรวงฤๅ
ทวยเทพยสิ่งสู่สร้าง......ศุขแม้นเมืองสวรรค์ ฯ

ภูมภาคย์พฤษล่งล้วน..ศิลาลาย ลาศแฮ
มอม่วงขาวขาบพราย....พร่างพร้อย
ลำลหานท่อธารสาย.....สลิลหลั่ง ลงนา
ตกแต่ยอดไศลย้อย.....เยี่ยงแม้นพิรุณโรย ฯ

เงาไม้ร่มครึ้มทั่ว..มณฑล
ภูตโขมดเริงคำรณ.......กู่ก้อง
เยนยะเยือกขุมขน.......สยองทั่ว กายนา
ยินแต่เรไรร้อง............เรื่อยเร้ารงมไพร ฯ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 08:10
กองเกียกกายมาส่งกำลังบำรุงให้นายกองวันดี

ละครสมัยรัชกาลที่ 2 มีมากมายหลายท่าน
บางคนก็ได้เป็นถึงเจ้าจอมมารดา เช่น เจ้าจอมมารดาแย้ม (อิเหนา) เจ้าจอมมารดาอัมพา เจ้าจอมมารดาน้อย (สุหรานากง)
บางคนก็ได้เป็นครูละครในรัชกาลต่อๆ มา เช่น น้อย (จรกา) จาด (ส่าลำ) ขำ (เงาะ) อิ่ม (ย่าหรัน) พัน (อินทรชิต) ภู่ (หนุมาน) องุ่น (สีดา)
บางคนก็มีคุณวิเศษมากกว่าคนอื่น เช่น มาลัย (ย่าหรัน) บางครั้งก็เล่นเป็นพระสังข์ ได้เป็นท้าววรจันทร์ในรัชกาลที่ 4 แล้วเลื่อนเป็นท้าววรคณานันต์ ในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้อำนวยการละครหลวงมาทั้ง 2 รัชกาล

ปล. คุณช่วง ไกรฤกษ์ เป็นพระ หรือหลวง มงคลรัตน์ กันแน่ เพราะในหนังสืองานศพของบุตรชาย (พระยาราชสัมภารากร) ระบุว่าเป็นหลวงมงคลรัตน์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 08:39
คำถามข้อที่ ๑๙ ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย
: ยังไม่มีผู้ตอบถูก



Dr. Satya  Vrat  Shashi
ทั้งหมดค้นจากวิกิพีเดีย
โปรดอ่านเพิ่มเติม   http://en.wikipedia.org/wiki/Satya_Vrat_Shastri
เล่มสีแดง

หนังสือชื่อ        Sri Rama-kirti - mahakavyan    มหากาพย์รามเกียรติ์




คุณวันดีตอบถูก ๒ ประเด็น  เอาไป ๖ คะแนน  เหลือแต่ชื่อคนแปลเป็นภาษาไทย

ส่วนคุณอาร์ทที่เพียรตอบข้อที่ ๒๑ มาอีก ๑ กรณีนั้น  ยังไม่ถูกครับ
ไอ้ผมจะใบ้เพิ่มก็เกรงว่า  จะดูเป็นการหมิ่นประมาทความสามารถของผู้เข้าแข่งขันไป
พยายามกันอีกนิดนะครับ 

ส่วนข้อแถมถามเรื่องภาพจับที่หอไตรกรมสมเด็จพระปรมาฯ มีความแตกต่างจากภาพจับแห่งอื่นอย่างไร
ที่คุณsiamese ตอบมานั้น  กว้างไปครับ ยังไม่ตรงจุด

ผมเฉลยเลยละกัน  ภาพจับที่หอไตรกรมสมเด็จพระปรมาฯ มีทั้งภาพจับยักษ์กับพระ
ยักษ์กับลิง  ลิงกับลิง  และพระกับพระ   ซึ่งหลายภาพไม่สามารถระบุได้ว่า
เป็นภาพจับตัวละครคู่ใดในรามเกียรติ์  คงได้แต่อนุมานเอาจากลักษณะภาพตัวละคร
ว่าใกล้เคียงตัวละครตัวใดในรามเกียรติ์   บางคู่เป็นการวาดจับคู่เอาตามจินตนาการของช่าง
ไม่ใช่ภาพจับที่เป็นไปตามเรื่องรามเกียรติ์   


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 08:39

       เมื่อเช้านี้ก่อนออกจากบ้าน   ได้ยินเสียงนกเอี้ยงตีกันเสียงสนั่น

สงสัยวันนี้ต้องมีเรื่อง


อ่านตำราพิไชยสงครามเล่มสีน้ำเงินแล้ว  การจัดทัพในหลายโอกาส  เกียกกายอยู่หน้าข้าพเจ้า


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 08:50
ต้องขอบคุณคุณสองยิ้มที่กรุณามารวมคะแนนสรุปให้
และยังรวบรวมคำถามที่ยังค้างให้ด้วย   

วันนี้ ขอตั้งคำถามอีก  ๒  ข้อ  ดังนี้


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา

ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 09:00
ส่วนคุณอาร์ทที่เพียรตอบข้อที่ ๒๑ มาอีก ๑ กรณีนั้น  ยังไม่ถูกครับ
ไอ้ผมจะใบ้เพิ่มก็เกรงว่า  จะดูเป็นการหมิ่นประมาทความสามารถของผู้เข้าแข่งขันไป
พยายามกันอีกนิดนะครับ  

เอ้า ขอเสนออีก 1 กรณี

มาจะกล่าวบทไป ถึงเมืองโรมพัตที่เกิดเหตุฝนแล้งนานถึงสามปี จนหมู่ประชาได้ความทุกข์เวทนานัก ท้าวโรมพัตก็ไม่มีความสำราญใจ จะทำอย่างไรฝนก็ไม่ตก จนมีนายพรานคนหนึ่งมาแจ้งความแก่ท้าวโรมพัตว่า ในป่าสาละวัน มีฤาษีหน้าเนื้อตนหนึ่งนามว่า กไลโกฏ เป็นบุตรอิสีสิงฆมุนี มาทำการบำเพ็ญพรตในป่ามาสามปี ด้วยฌานอันแกร่งกล้าทำให้ฝนฟ้าไม่ตก พอท้าวโรมพัตได้ฟังก็หาวิธีล้างตะบะของกไลโกฏฤาษีให้ได้ เลยเรียกพระธิดานามนางอรุณวดีให้ไปเป็นผู้ทำลาย นางอรุณวดีจึงตามนายวันจรกพรานป่าไปถึงตำหนักกไลโกฏฤาษี แล้วเข้าไปนั่งลงตรงหน้า
ฝ่ายพระกไลโกฏฤาษีด้วยความที่อ่อนต่อโลก ไม่เคยเห็นสตรีจึงมีความสงสัยพึงพิจารณาชม ก็เห็นเขาติดอกอยู่ที่หน้าอก พร้อมคิดว่าสัตว์ใดหนอเขาถึงงอกบนหน้าอกได้ นางอรุณวดีก็ยั่วยวนให้พระฤาษีจับ พระกไลโกฏฤาษีไม่รู้ทันเลยพลาดท่าจับต้องกายสตรีไป ทันใดนั้น... ตบะที่เพียรรักษาบำเพ็ญมาก็แตกดับ แต่พระฤาษีหน้าเนื้อก็หารู้ตัวไม่ จนนางอรุณวดีเฉยว่าตนเองเป็นธิดาของท้าวโรมพัตมา แล้วเชิญพระฤาษีเข้าเมืองไปโปรดประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข พระฤาษีเห็นผิดท่าแล้วก็ปล่อยเลยตามเลยยอมเข้าเมืองมากับนางอรุณวดี แล้ว
"ฝนสวรรค์ลั่นฟ้าห่าใหญ่
ฝูงสัตว์มัจฉาก็ดีใจ
ห้วยหนองนองไปด้วยธารา
.......................
หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า
ต่างคนยินดีปรีดา"

เหนื่อยแล้วนะ... ถูกเถอะคุณหลวง :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 09:07
ส่วนคุณอาร์ทที่เพียรตอบข้อที่ ๒๑ มาอีก ๑ กรณีนั้น  ยังไม่ถูกครับ
ไอ้ผมจะใบ้เพิ่มก็เกรงว่า  จะดูเป็นการหมิ่นประมาทความสามารถของผู้เข้าแข่งขันไป
พยายามกันอีกนิดนะครับ 

เอ้า ขอเสนออีก 1 กรณี

มาจะกล่าวบทไป ถึงเมืองโรมพัตที่เกิดเหตุฝนแล้งนานถึงสามปี จนหมู่ประชาได้ความทุกข์เวทนานัก ท้าวโรมพัตก็ไม่มีความสำราญใจ จะทำอย่างไรฝนก็ไม่ตก จนมีนายพรานคนหนึ่งมาแจ้งความแก่ท้าวโรมพัตว่า ในป่าสาละวัน มีฤาษีหน้าเนื้อตนหนึ่งนามว่า กไลโกฏ เป็นบุตรอิสีสิงฆมุนี มาทำการบำเพ็ญพรตในป่ามาสามปี ด้วยฌานอันแกร่งกล้าทำให้ฝนฟ้าไม่ตก พอท้าวโรมพัตได้ฟังก็หาวิธีล้างตะบะของกไลโกฏฤาษีให้ได้ เลยเรียกพระธิดานามนางอรุณวดีให้ไปเป็นผู้ทำลาย นางอรุณวดีจึงตามนายวันจรกพรานป่าไปถึงตำหนักกไลโกฏฤาษี แล้วเข้าไปนั่งลงตรงหน้า
ฝ่ายพระกไลโกฏฤาษีด้วยความที่อ่อนต่อโลก ไม่เคยเห็นสตรีจึงมีความสงสัยพึงพิจารณาชม ก็เห็นเขาติดอกอยู่ที่หน้าอก พร้อมคิดว่าสัตว์ใดหนอเขาถึงงอกบนหน้าอกได้ นางอรุณวดีก็ยั่วยวนให้พระฤาษีจับ พระกไลโกฏฤาษีไม่รู้ทันเลยพลาดท่าจับต้องกายสตรีไป ทันใดนั้น... ตบะที่เพียรรักษาบำเพ็ญมาก็แตกดับ แต่พระฤาษีหน้าเนื้อก็หารู้ตัวไม่ จนนางอรุณวดีเฉยว่าตนเองเป็นธิดาของท้าวโรมพัตมา แล้วเชิญพระฤาษีเข้าเมืองไปโปรดประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข พระฤาษีเห็นผิดท่าแล้วก็ปล่อยเลยตามเลยยอมเข้าเมืองมากับนางอรุณวดี แล้ว
"ฝนสวรรค์ลั่นฟ้าห่าใหญ่
ฝูงสัตว์มัจฉาก็ดีใจ
ห้วยหนองนองไปด้วยธารา
.......................
หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า
ต่างคนยินดีปรีดา"

เหนื่อยแล้วนะ... ถูกเถอะคุณหลวง :'(

ถ้าอ่านรามเกียรติ์มาย่อมต้องเจอ
เวลาที่อสูรอยากได้พรจากพระเป็นเจ้า
จะต้องบำเพ็ญตบะฌานหรือบำเพ็ญทุกรกิริยา
นานหลายปีกว่าพระเป็นจะพอพระทัย
ปรากฏพระองค์ลงมาประทานพรให้
ทั้งนี้ เพราะพระเป็นเจ้าทรงเห็นความเพียรความตั้งใจของอสูรตนนั้น

คุณอาร์ทเป็นผู้บำเพ็ญเพียรมาเป็นที่พอใจแล้ว
ผมจึงให้คะแนนอีก ๑๐ คะแนนทีเหลือ ในข้อที่ ๒๑.
จริงๆ เรื่องฝนแล้งจนทำให้ฝนตก  เป็นเรื่องน่าคิดอีกมาก
เพราะดันไปพ้องกับเรื่องที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 09:16

คำถามข้อที่  ๒๑.  คำถามนี้  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาเข้าถาม
สาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคคืออะไร
และมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร    จงอธิบายให้ละเอียด
: คำตอบยังไม่ครบ ยังขาดอีก ๑ กรณี


ที่เมืองโรมพัตตัน  ฝนแล้งไปสามปี เนื่องจากฤาษีกไลโกฎ  จำศีลอยู่ในป่าสาลวันเขตป่าของเมือง
 
ตบะกิจการฌาญกวดขัน
สร้างพรตอดจิตเป็นนิรันทร์

บิดาของพระฤาษีสั่งว่าสัตว์ที่มีเขาที่อกอย่าไปยุ่งด้วยนะ  จะแพ้ภัย

ท้าวโรมพัตบวงสรวงโดยปลูกศาลกลางพระนคร
ได้เจิมรูปเทวดาด้วยเครื่องหอม  จุดธูปเทียนโปรยดอกไม้

กระทำดั่งนี้อยู่ ๗ เดือน ๗ วัน

พรานป่ามากราบทูลว่านักพรตบำเพ็ญภาวนา

ท้าวโรมพัตก็คิดล้างพิธี  โดยส่งสตรีไปประโลมใจ  ให้เสียฌาน

จึงเรียกพระธิดาชื่ออรุณวดีมา  บอกให้ออกป้่ไปทำลายการเจริญภวนาของกไลยโกฐดาบส

นางอรุณวดีรับคำ
เพราะอยากเป็นเจ้าหญิงต่อไป  ถ้าพระบิดาช่วยแก้ปัญหาให้พลเมืองไม่ได้  ก็คงโดนไล่ออก
และอยากพิสูจน์ความมีเสน่ห์ของตนเองด้วยแน่นอน
เช้าต่อมา  นางอรุณวดีก็อาบน้ำแต่งตัวออกไปสึกพระมุนี

กไลยโกฐไม่เคยเห็นผู้หญิง ก็ลูบคลำดูว่าเป็นสัตว์ประเภทใด  ทำไมมีเขาที่อก

นางอรุณวดีก็เข้าใกล้ชิดนวดฟั้น   ท่าทางจะนวดต้นขา    ขยำต้น..แขน

ธรรมชาติก็เป็นไปตามธรรมชาติ

เสียกิจพิธี  เกิดคะนองฝน  ฟ้าเปรี้ยง  น้ำท่วม

แก้ปัญหาประชาชนขาดน้ำไปได้

นางก็ชวนพระมุนีเข้าเมืองไปทำฝนอีก

กไลยโกฐนี้หน้าเป็นเนื้อทราย  กายเป็นคน

ท้าวโรมพัตก็เรียนพระดาบสว่าเมืองฝนไม่ตกตั้งสามปีแล้วนะ  

ฤาษีบอกว่าทำไมไม่ไปบอกเล่า

พระฤาษีก็มีความสุขสนุกสนาน  พิธีกรรมเก่าๆก็ทำเป็นลืม

อะไรใหม่ๆที่ยังไม่คุ้นเคยก็หาความชำนาญเรื่อยไป  ทุกเวลาด้วยซี  กลอนบอกไว้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 09:17
วันนี้ ขอตั้งคำถามอีก  ๒  ข้อ  ดังนี้

คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด  
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา

ข้อละ ๕ คะแนน  
๑) ดุ้ง  
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด


ขอ "กก" แล้วกันครับ

หลังนางพระรามเจอลูกแล้ว พิเภกก็ทูลให้เดินดงอีกหนึ่งปี พระรามจึงเข้าป่าพร้อมพระลักษมณ์ และทหารกล้า จนหลงเข้าไปในอุทยานของท้าวอุณาราช ท้าวอุณาราชก็โกรธจึงยกทัพไปรบกับพระราม สู้รบกันจนถูกศรพรหมาศตร์ที่อก แต่พอท้าวอุณาราชลูบศรที่ปักอยู่เจ็ดครั้ง ศรพราหมาศตร์ก็หลุดออกทันที
ฝ่ายพระโคศภฤาษีนั่งเทียนรู้ว่าพระรามฆ่าท้าวอุณาราชไม่ได้ ก็เหาะมาบอกวิธีให้ว่าต้องถอนเอาต้น "กก" แผลงเป็นศรไปปักอกยักษ์ ตรึงไว้กับแผ่นศิลา พระรามพอรู้ความก็ถอนต้นกกมา แล้วแผลงไปหาท้าวอุณาราชทันที... ศรนั้นต้องอกพญายักษ์ตกลงในถ้ำริมสวนขวัญ ติดกับแผ่นศิลาใหญ่ พร้อมคำสาปของพระรามว่า ให้เกิดไก่แก้ว และยักษ์ถือค้อนเหล็กอยู่รักษาท้าวอุณาราชนี้ไว้ หากวันใดศรกกขยับแม้แต่นิดเดียว ไก่แก้วนั้นจะขันทันที แล้วยักษ์ที่ถือค้อนก็จะเอาค้อนตีให้แน่นดังเดิม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 09:22
คุณวันดีตอบข้อที่ ๒๑.เพิ่มมา  เอาไป ๑๐ คะแนน
จริงๆ ข้อที่ ๒๑.  นี่ง่ายมาก   แต่กลายเป็นคำถามยืดเยื้อไปได้แฮะ
วันหลังต้องให้เจ้าหน้าที่ชลฯ ตั้งคำถามอีก


คุณอาร์ทเล่าเรื่องต้นกกมา  เอาไป ๕ คะแนน ;D

และคนต่อไปห้ามเรื่องต้นกกซ้ำอีก ใครเอาตอบอีก ตัดคะแนน


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 09:24
คำถามข้อที่ ๑๙ ถามว่า ใครเป็นผู้นำรามเกียรติ์ของไทยไปแต่งเป็นโศลกภาษาสันสกฤต
งานชิ้นนั้นใช้ชื่อว่าอะไร  และใครเป็นคนแปลเป็นภาษาไทย
: ยังไม่มีผู้ตอบถูก



Dr. Satya  Vrat  Shashi
ทั้งหมดค้นจากวิกิพีเดีย
โปรดอ่านเพิ่มเติม   http://en.wikipedia.org/wiki/Satya_Vrat_Shastri
เล่มสีแดง

หนังสือชื่อ        Sri Rama-kirti - mahakavyan    มหากาพย์รามเกียรติ์




คุณวันดีตอบถูก ๒ ประเด็น  เอาไป ๖ คะแนน  เหลือแต่ชื่อคนแปลเป็นภาษาไทย


คำตอบที่เหลือที่คุณหลวงเล็กต้องการ

ดร.จำลอง สารพัดนึก  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B8%81)

จาก มหากาพย์รามเกียรติ์ (http://www.dra.go.th/elibrary/bookdetail.php?bookid=43)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 ม.ค. 11, 09:28
คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด  
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน

 หนูดีดี ขอเรื่อง "สักหน้า" ค่ะ
...พิเภกทำนายฝันว่าทศกัณฐ์จะแพ้สงครามและถูกฆ่าตาย  ควรจะสะเดาะเคราะห์เสีย  
โดยคืนนางสีดาไปให้แก่พระราม  ทศกัณฐ์โกรธจึงขับพิเภกออกไปเสียจากลงกา  
เมื่อพิเภกออกจากลงกาแล้วก็สมัครเข้าไปเป็นพวกพระรามและขอดูฤทธิ์ของพวกลิง  
พระรามจึงสั่งให้พวกลิงประลองฤทธิ์ให้พิเภกดู  สุกรสารแปลงเป็นลิงเข้าประปนกับไพร่พล  
พิเภกจึงรู้จึงบอกให้หนุมานจับตัวนำไปถวายพระราม  พระรามสั่งให้เฆี่ยนและสักหน้าปล่อยตัวไป  
สุกรสารกลับไปหาทศกัณฑ์  ทศกัณฐ์รู้จึงคิดหาอุบายให้นางเบญจกายปลอมตัวเป็นนางสีดาตายลอยน้ำไปให้พระรามเห็น... ;D

เรื่อง "สักหน้า" มีอีกตอนค่ะ
...ตอนที่ปล่อยม้าอุปการแล้วให้หนุมานตามไป พระมงกุฏและพระลพจับม้ามาขี่เล่น หนุมานเลยเข้าสู้รบด้วยแต่หนุมานแพ้ถูก พระมงกุฏและพระลพ จับ"สักหน้า" มัดด้วยเถาวัลย์แล้วสาปให้ใครแก้ไม่หลุด นอกจากพระราม แล้วปล่อยตัวไป... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 09:34
ต้องขอบคุณคุณสองยิ้มที่กรุณามารวมคะแนนสรุปให้
และยังรวบรวมคำถามที่ยังค้างให้ด้วย   

วันนี้ ขอตั้งคำถามอีก  ๒  ข้อ  ดังนี้


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา

ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด



ขอจัดข้อ ๕ เรื่องปลิง หนุมานเข้าพบฤษีนารท ซึ่งหนุมานได้ลองฤทธิ์ซึ่งในที่สุดแพ้แก่พระฤษี และไปรบกับนางอากาศตะไล ดังกลอนดังนี้
เข้าฌานเพ่งจิตรแผ้ว..บริสุทธิ์
ดาลพรุฌตกรุต..................กบี่ร้อง
ข้าหนาวนั่งคู้คุด..................คางสั่น
กายยอบหมอบครางก้อง......ท่านให้ไฟผิง ฯ

ฝนหยุดลิงหลับแล้ว....นารท
สู่สระธารกรจรด.................เศกขว้าง
เปนปลิงสั่งกำหนด..............เสรจกลับ กุฎินา
สวาตื่นไปสระล้าง...............ภักตรก้มอมชล ฯ

ธารกรชัลลุกเข้า.........เกาะคาง ลิงแฮ
สองหัดถ์รั้งปลิงพลาง...........วุ่นว้า
มาถึงกุฎิกบี่คราง.................ดาบศ สรวลฮา
ท่านปลดปลิงชี้หน้า..............นี่ไม้ธารกร ฯ

ลิงหลาบสารภาพน้อม...รับผิด
กรานกราบลานักสิทธิ...........ลิ่วฟ้า
สู่หระดีทิศ.........................เดชกเดื่อง
เสียงสนั่นลั่นหล้า.................มุ่งเมื้อนิลไศล ฯ



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 09:45
คุณเพ็ญฯ เอาไป ๔ คะแนน  เป็นไปได้น่าจะทำลิงก์ไปที่เว็บที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ด้วย

คุณหนูดีดีตอบเรื่องสักหน้ามา  โดยเอาตอนจับสุกรสารมานั้น ผมให้ ๕ คะแนน
แต่ข้อ สักหน้า นี้ ยังมีอีก  ถ้าใครเอามาตอบได้ก็จะให้คะแนนเหมือนกัน

คุณไซมิส  ตอบเรื่องปลิงมา  เอาไป ๕ คะแนน 
จริงๆ จะตัดคะแนนด้วย  เพราะไม่เล่าด้วยสำนวนตัวเอง
แต่เห็นว่าอุตส่าห์พิมพิมพ์มายาวจึงอนุโลมให้

คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 09:48
ตอบเป็นข้อที่สอง เรื่องคำว่า "สนิม" ปรากฎในตอนกุมภกรรณลับหอกโมกขศักดิ์

อันตัวกุมภกรรณนั้นมีหอกอยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งฝากไว้กับปู่ของตน หอกนั้นมีนามว่าหอกโมกขศักดิ์ หอกนี้ มีอันตรายอยู่หลายแสน หากไม่ได้ใช้นานๆ อันตรายจะลดลง แต่ถ้าใช้ฆ่าฟันไปเรื่อยๆ จะทำให้พลังนั้นยังคงเดิม แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้หอกเล่มนี้มานาน หอกจึงขึ้นสนิม จึ่งต้องตั้งพิธีทำการล้างและกระทำพิธีลับหอกให้คมดังเดิมที่ริมแม่น้ำสีทันดร เชิงเขาพระสุเมรุ


ปจักษกิตยจิตรแม่นแท้..พลันทูล
ฉลองว่ากุมภกรรฐยูร.....ยาตรย้าย
สู่เฃาสุเมรุมูล..............ลับโมก ขศักดิ์เฮย
ผิว์เสรจสี่คมร้าย...........ฤทธิ์ล้ำฦๅสรวง ฯ

พระสดับโดยถี่ถ้อย..ทวนซัก โหรเฮย
อาวุธหอกขุนยักษ........เล่มนี้
ดังฤๅจะเสื่อมศัก..........ดาเดช ลงนอ
เห็นเลศเหตุใดชี้...........ช่องมล้างสาตรมาร ฯ

ทราบเกล้ากระหม่อมด้วย..กุมภกรรฐ
สะอาดนักรักษสุคันธ....รศฟุ้ง
อบรมลูบไล้สรร...........พางค์อยู่ เสมอแฮ
สบสิ่งโสโครกคลุ้ม.......คลื่นไส้เริดหนี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 09:53
คำถามข้อที่ ๒๕.  คำถามนี้นางรำท่านหนึ่งส่งมา

ในการประกอบพิธีไหว้ครูและรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
และครอบครูองค์พระพิราพ ณ โรงละครพระที่นั่งอัมพรสถานเมื่อ 2506
และ ณศาลาดุสิดาลัย  2527  มีหัวโขนหัวใดบ้าง
ที่เจ้าพนักงานได้เชิญออกมาเข้าในมณฑลพิธีดังกล่าว
จงตอบแยกปี ๑๐ คะแนน  


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 ม.ค. 11, 09:53
คุณ luanglek ค่ะ
หนูดีดี ตอบ "สักหน้า" มา 2 ตอนค่ะ (ไปแก้ไขเพิ่มหลังจากส่งข้อความมาแล้วน่ะค่ะ)
อีกตอนเป็นตอนที่หนุมานถูก พระมงกุฏและพระลพ "สักหน้า" ตอนที่ปล่อยม้าอุปการค่ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 09:57
คุณเพ็ญฯ เอาไป ๔ คะแนน  เป็นไปได้น่าจะทำลิงก์ไปที่เว็บที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ด้วย


คำตอบที่เหลือที่คุณหลวงเล็กต้องการ

ดร.จำลอง สารพัดนึก  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B8%81)

จาก มหากาพย์รามเกียรติ์ (http://www.dra.go.th/elibrary/bookdetail.php?bookid=43)

ให้ลิ้งก์ไว้แล้วในตัวหนังสือสีฟ้า

ดร.จำลอง สารพัดนึก
http://th.wikipedia.org/wiki/จำลอง_สารพัดนึก (http://th.wikipedia.org/wiki/จำลอง_สารพัดนึก)

มหากาพย์รามเกียรติ์
http://www.dra.go.th/elibrary/bookdetail.php?bookid=43

 ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 09:58
คุณไซมิสตอบ ข้อ สนิมมา ให้อีก ๕ คะแนน (คุณตอบครบ ๒ ข้อแล้ว งดตอบข้อนี้)

คุณหนูดีดี  ตอบข้อสักหน้ามาเพิ่ม ให้อีก ๕ คะแนน  เป็น ๑๐ คะแนน
แต่ยังสามารถตอบข้ออื่นได้อีก  ๑ ข้อ

คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด  
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน  
๑) ดุ้ง  
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด

ขอบคุณคุณเพ็ญฯ ที่ส่งลิงก์มาให้


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 ม.ค. 11, 10:01
คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด  
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน

หนูดีดี ขอคำว่า "กะลา" อีกคำค่ะ
...ตอนที่หนุมานเผากรุงลงกาแล้ว ทศกัณฐ์จึงสร้างเมืองใหม่
วันหนึ่งได้ฝันไปว่า มีพระยาแร้งขาวบินมาจากทิศตะวันออกถึงหน้าพระลาน
แร้งสีดำบินจากทิศตะวันตก เกิดตีกัน แร้งดำตายกลายเป็นยักษ์
มีหญิงหนึ่งวิ่งมาจุดไฟ จนน้ำมันแห้งไส้มอด แต่ไฟกลับลุกไหม้"กะลา"ลามมายังมือ
มีพิษร้อนไปทั่วร่างกาย จึงขอให้พิเภกทำนายฝัน พิเภกทำนายว่า "กะลา"ได้แก่กรุงลงกา
เชื้อไส้ได้แก่ทศกัณฐ์ น้ำมันคือพระญาติพระวงศ์ เพลิงได้แก่นางสีดา
หญิงที่จุดไฟคือนางสำมนักขา แร้งขาวคือพระราม แร้งดำคือทศกัณฐ์  
และทศกัณฐ์จะได้รบกับพระราม กรุงลงกาจะเดือดร้อนไปทั่ว
ทศกัณฐ์ ได้ฟังก็กลัวว่าจะตายก่อนที่จะได้นางสีดาเป็นเมีย จึงให้พิเภกช่วยสะเดาะเคราะห์ให้
พิเภกจึงให้ทศกัณฐ์ ตั้งมั่นอยู่ในศีลในสัตย์ และควรจะส่งนางสีดาคืนพระราม
ทศกัณฐ์ โกรธมาก จึงขับไล่พิเภกออกจากลงกา... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 10:06
คำถามข้อที่ ๒๕.  คำถามนี้นางรำท่านหนึ่งส่งมา

ในการประกอบพิธีไหว้ครูและรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
และครอบครูองค์พระพิราพ ณ โรงละครพระที่นั่งอัมพรสถานเมื่อ 2506
และ ณศาลาดุสิดาลัย  2527  มีหัวโขนหัวใดบ้าง
ที่เจ้าพนักงานได้เชิญออกมาเข้าในมณฑลพิธีดังกล่าว
จงตอบแยกปี ๑๐ คะแนน  

พิธีการไหว้ครูเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เจ้าหน้าที่ได้อัญเชิญ เศรียรพระพรตฤาษี ๑ พระพิราบ ๑ และเทริด ๑


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 10:12
สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เห็นจะเป็นครั้งแรกที่โปรดให้รำเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งได้เชิญเศียร "พระพิราพ" ในการไหว้ครูดังกล่าว

จากการไหว้ครูโขนจะเชิญเสด็จเทพเจ้าตามที่ได้เชิญเพลงอัญเชิญเทพและครูดังนี

กล่าวอัญเชิญเทวดาแต่ละองค์แล้วเรียกเพลงดังนี้ -ตระสันนิบาต อัญเชิญพระอิศวร
                                       -ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์  อัญเชิญพระนารายณ์
                                       -เสมอข้ามสมุทร  อัญเชิญพระพรหม
                                       -ตระพระคเณศ  อัญเชิญพระคเณศ
                                       -โคมเวียนและกลม อัญเชิญเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย
    ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวอัญเชิญบูรพาจารย์ เรียกเพลง -ตระฤษีกไลโกฎ อัญเชิญพระฤษีกไลโกฎ
                                            -ดำเนินพราหมณ์ อัญเชิญครูฤษีทุกๆองค์
    ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวไหว้ครู เรียกเพลง  -เพลงช้าเพลงเร็วเพลงลา อัญเชิญครูพระ นาง วานร
                                   -เสมอสามลาและเสมอมาร  อัญเชิญครูยักษ์
   ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวไหว้พระพิราพ ศิษย์ทุกคนกล่าวตาม เรียกเพลง -เพลงตระประทานพร อัญเชิญพระพิราพ
                                                          -องค์พระพิราพ(พระพิราพเต็มองค์)คือการเสด็จมาของพระพิราพ

ดังนั้น จึงมีเศียรพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระคเณศ พระพรตฤาษี พระปัขญศิขร พระพิราพ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 11:31
คุณดีดี ตอบเรื่อง กะลามา ได้ ๕ คะแนน รวมเป็น ๑๕ คะแนน

ส่วนไซมิสที่ตอบเรื่องพิธีครอบครูโขน-ละคร และรำเพลงหน้าพาทย์พระพิราพมา
ผมให้ได้ตอนนี้ ๓ คะแนน  ยังได้ข้อมูลที่ต้องการไม่พอครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 12:32
คุณหลวงเล็ก

ผมมีภาพการรำหน้าพาทย์ เพลงพระพิราพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นาฏศิลปินโขนฝ่ายยักษ์ของกรมศิลปากรรวม ๗ คน เข้ารับการต่อกระบวนรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ดังมีภาพปรากฏ ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามว่า ในการครั้งนั้นได้อัญเชิญเศียรเทพองค์ใดบ้าง ซึ่งอย่างในภาพด้านหลังอัญเชิญพระพุทธรูปตั้งเครื่อง ด้านหน้าเป็นเหล่าเศียรเทพ ฝ่ายยักษ์ และเบื้องขวาจัดของเหล่าฤาษีและพระพิฆเณศ

๑.  หัวโขนพระอิศวร  
๒.  หัวโขนพระนารายณ์  
๓.  หัวโขนพระพหม  
๔.  หัวโขนพระอินทร์  
๕.  หัวโขนพระพิฆเนศ  
๖.  หัวโขนพระวิสสุกรรม
๗.  หัวโขนพระปรคนธรรพ  
๘.  หัวโขนพระปัญจสีขร  
๙.  หัวโขนพระพิราพ  
๑๐.  หัวโขนพระฤษีกไลโกฎ พรภรตฤษี พระฤษีตาวัว พระฤษีตาไฟ
๑๑. เทริด

ส่วนหัวโขนฝ่ายยักษ์ และฝ่ายลิง  จะแยกจากกันโดยวางซ้ายและขวา พร้อมยอดชฎาพระ ชฎานาง เทริด

ยักษ์ก็อัญเชิญโครตวงศ์ทศกัณฐ์มาทั้งหมด ส่วนทางฝ่ายพระ ก็พระราม พระลักษณ์ ส่วนฝ่ายลิงก็ หนุมานและเหล่าเสนา และ ๑๘ มงกุฎ ร่วมกันทั้งหมด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 13:37
ตอบเหวี่ยงแห เพิ่มเติม บรรดาเศียรเทพ หัวโขนที่ช่างไทยได้ประดิษฐ์ทำไว้ มีดังนี้ ย่อมต้องนำเข้าพิธีไม่ขาดไม่เกิน

หัวโขนพงศ์นารายณ์
พระสัตรุด พระลักษณ์ พระราม พระพรต ท้าวทศรถ

หัวโขน พรหมพงศ์ และอสูรพงศ์
อินทรชิต อากาศตะไล อัศธาดา อัศกรรณมาราสูร อสูรวายุภักษ์ อสุรพักตร์ (อสุรพรหม)
อนุราช (อุณาราช) เหรันต์ (เหรันตทูต) หิรันตยักษ์ แสงอาทิตย์ สุริยาภพ สำมนักขาสีทอง
สำมนักขา สัทธาสูร สัตลุง สหัสสเดชะ สวาหุ ศุกสารณ์ (สุกรสาร) ไวยตาล วิรุฬหก
วิรุญจำบัง ลัสเตียน รามสูร ไมยราพณ์ มูลพลัม มาลีวราช มารีศ มารัน มังกรกัณฐ์
มโหธร มหายมยักษ์ มหาบาลเทพาสูร ไพจิตราสูร พิราพ พิเภก เปาวนาสูร ผีเสื้อสมุทร
ปโรต ปทูตทันต์ บรรลัยจักร บรรลัยกัลป์ นนยุพักตร์ นนทุก นนทยักษ์ ทูษณ์ (ทูต)
ท้าวสหบดี ทัพนาสูร ทศศีรีวัน ทศศีรีธร ทศพิน  ทศกัณฐ์หน้าพระอินทร์ ทศกัณฐ์หน้าทอง
ตรีเศียร ตรีเมฆ ตรีปักกัน ตรีบุรัม ชิวหา จักรวรรดิ์ ขร กุมภกาศ กุมภกรรณ กุเปรัน
การุณราช กากนาสูร

มเหศวรพงศ์
อิศวร พิฆเณศวร พระอินทร์ พระอาทิตย์ พระอังคาร พระอัคนี
พระเสาร์ พระวิศณุกรรม พระราหู พระมาตุลี พระพุธ พระจันทร์

ฤาษีฤาษี ฤาษีภรตมุนี ฤาษีโคดม ฤาษีกไลโกฎ

วานรพงศ์
อสุรผัด องคต หนุมาน สุรเสน สุรกานต์ สุครีพ สัตพลี (ศตพล) ไวยบุตร
วิสันตราวี วิมล (พิมลพานร) มาลุนทเกสร มายูร มัจฉานุ นิลเอก นิลราช
นิลพัท นิลปาสัน นิลนนท์ นิลขัน ท้าวมหาชมพู ไชยยามพวาน ชามพูวราช
ชมพูพาน โกมุท เกสรทมาลา เกยูร กุมิตัน กากาศ

คนธรรพ์
ประโคนธรรพ ท้าวคนธรรพ์นุราช

อื่นๆ
พญาสุบรรณ พญานกสัมพาที พญานกสดายุ นรสิงห์ ช้างเอราวัณ
กวางทอง วราหะ (หมู)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 ม.ค. 11, 16:12
คุณ luanglek หายไปเลย สงสัยจะไม่สบาย พักผ่อนเยอะๆ หายไวๆ นะคะ... ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 17:11
คุณ luanglek หายไปเลย สงสัยจะไม่สบาย พักผ่อนเยอะๆ หายไวๆ นะคะ... ;D

ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ   ที่หายไปห้วงเพลาหนึ่งนั้น
เพราะอยู่ในระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ครับ

คุณไซมิสจะจับปลาหมดบ่อในข้อนี้จริงๆ ถึงได้ลงทุนมากขนาดนี้
เดี๋ยวผมขอเวลาตรวจก่อน   เยอะจริงๆ  (ที่ไม่ใช่นี่  ตัดคะแนนได้ไหม ;D)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 19:00
คุณ luanglek หายไปเลย สงสัยจะไม่สบาย พักผ่อนเยอะๆ หายไวๆ นะคะ... ;D

ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ   ที่หายไปห้วงเพลาหนึ่งนั้น
เพราะอยู่ในระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ครับ

คุณไซมิสจะจับปลาหมดบ่อในข้อนี้จริงๆ ถึงได้ลงทุนมากขนาดนี้
เดี๋ยวผมขอเวลาตรวจก่อน   เยอะจริงๆ  (ที่ไม่ใช่นี่  ตัดคะแนนได้ไหม ;D)



อันความกรุณา ปราณี   จักมีใครบังคับ ก็หาไม่
หลั่งมาเอง  เหมือนฝน  อันชื่นใจ
จากฟากฟ้า สุราลัย สู่แดนดิน :D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 19:04
"น้ำเย็นฝูงปลา ก็อาศัย   ปักษาพึ่งไม้ ใบหนา
ป่ากว้างย่อมมี มฤคา       พากันมาอยู่ สำนัก
จงแผ่เดชา วรายศ ให้ปรากฎ     เกียรติไป ทั้งไตรจักร
แก่ฉันนายสยาม จึงคึกนัก       คุณหลวงนะจงจำไว้ดี"


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 19:10


กำลังดื่มทิกวนอิมในถ้วยประจำตระกูล  สำลักเลยจ้ะ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 21:13
อันความกรุณาปรานี   
แม้เรามีก็หาให้ทั่วไม่
พินิจดูผู้รับให้ถูกใจ   
กรุณาจึงมิไร้ประโยชน์คุณ

อันชื่อเสียงเกียรติยศของภายนอก 
อย่ามาหลอกเรานี้ศีรษะหมุน
ขอรักษามาตรฐานความการุณย์
ให้เหมือนขุนสิงขรอันแข็งแรง 8)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 21:24

คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด



ของผมเหลืออีกข้อก่อนครบโควต้า ขอเสนอ "ฟ้าผ่า (ดังเปรี้ยงปร้าง.. เปรี้ยๆ)"

จักกล่าวถึงสหัสเดชะและมูลพลัมยกทัพไปช่วยเจ้ากรุงลงกา พอสามยักษ์เจอหน้าทักถามทุกข์สุขและเลี้ยงข้าวปลาอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็ต่างยกทัพออกไปรบกับพระราม โดยมีทศกัณฐ์รั้งทัพหลัง แต่มีเหตุนิมิตใหญ่ ด้วยเกิด "ฟ้าผ่า" กลางวันแสกๆ ถูกงอนรถทรงของทศกัณฐ์ ฝ่ายสหัสเดชะคิดในใจว่าถ้าทศกัณฐ์ไปสงครามคราวนี้ด้วยคงตายแน่ๆ จึงบอกให้กลับเมืองก่อนเถิด ทศกัณฐ์ก็ยอมถอยทัพกลับเข้ากรุงลงกา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 21:27
ในการพิธีไหว้ครูโขนละครและต่อท่ารำพระพิราพ ปี ๒๕๐๖
เชิญศีรษะโขนต่อไปนี้ออกตั้งในมณฑลพิธี

เทพ  พระอิศวร  พระนารายณ์  พระพรหม  พระอินทร์   พระคเณศวร พระปัญจสิขร  พระวิสสุกรรม
มนุษย์  พระราม  พระลักษมณ์  พระพรต  พระสัตรุด   (เทริด  มงกุฎพระ  มงกุฎกษัตริย์  รัดเกล้ายอด  รัดเกล้าเปลว)
ยักษ์   พระพิราพป่า ๓ ศีรษะ  พระพิราพทรงเครื่อง   ทศกัณฐ์หน้าทอง  ทสกัณฐ์หน้าเขียว  ทศกัณฐ์แปลงเป็นพระอินทร์
         กุมภกรรณ หน้าทอง   พิเภก  รามสูร  อินทรชิต  ไมยราพ   มารีจ  กากนาสูร  สำมนักขา  นนทุก  สหัสเดชะ
         มูลพลัม  สัทธาสูร  สวาหุ  มังกรกัณฐ์  และแสงอาทิตย์

วานร   พาลี  สุครีพ  ชามพูวราช  ชมพูพาน  ชมพูหน้าหมี  หนุมาน  หนุมานทรงเครื่อง  องคต  นิลพัท  นิลนนท์

ยกมาแต่ที่เป็นตัวละครในรามเกียรตฺไทย ชื่อไหนไม่ขีด ไม่ใช่ตัวละครในรามเกียรติ์  จริงๆ มีหัวโขนสัตว์อีก แต่เอาสังเขปเท่านี้พอ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 21:30
คุณอาร์ทเอาไปอีก ๕ คะแนนเป็น  ๑๐ คะแนน


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 21:44
ส่วนพิธีในปี ๒๕๒๗  เชิญศีรษะโขนออกตั้งในมณฑลพิธีดังนี้

พระอิศวร พระนารายณ์  พระพรหม  ช้างเอราวัณ  ฤาษีกไลโกฏ  
พระวิสสุกรรม  พระอินทร์ พระพิราพทรงเครื่อง  รามสูร
องคต  พระลักษมณ์ พระราม  ทัศกัณฐ์หน้าทอง ทศกัณฐ์หน้าเขียว
สหัสเดชะ  ท้าวจักรวรรดิ  ทศกัณฐ์แปลงเป็นพระอินทร์  
หนุมานหน้ามุก  หนุมานทรงเครื่อง  สุครีพ  พาลี  ชามภูวราช
กุมภกรรณ  พิเภก  อินทรชิต  มังกรกัณฐ์  สัตพลี  นิลพัท
ชมพูพาน  ชมพูหน้าหมี  แสงอาทิตย์  สำมนักขา หน้าทอง
เปาวนาสูร  มโหทร   นิลนนท์  พญาครุฑ

คัดจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายรงภักดี
(เจียร  จารุจรณ)  เมื่อปี ๒๕๓๑


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 21:59
^
^
คะแนนๆๆๆ ได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่ง ซึ้งตากับ เศียรช้างเอราวัณมาก เป็นของเก่า ใหญ่เขื่อง งดงามมาก


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 22:08
ผมขอให้คะแนน  ๘ คะแนน   ๒ คะแนนที่หายไป
เพราะหักลบที่ขาดและที่เกินมาอย่างพินิจและกรุณาแล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 22:24
ขอบคุณครับ

มอบภาพหุ่นหลวงวังหน้าให้ชมในความงาม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 22:29
คุณอาร์ทเอาไปอีก ๕ คะแนนเป็น  ๑๐ คะแนน


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด


แหม อุเหม่...อยากจะตอบข้อ ๘ เสียกระไร แต่ด้วยท่านห้ามไว้ ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 22:30
หุ่นหลวงดูภายนอกสวยงามดี ประณีตมาก  
ยิ่งข้างในด้วยแล้ว  กลไกที่ใช้ชักให้หุ่นเคลื่อนไหวยิ่งพิสดารมาก
แถมหุ่นก็ตัวใหญ่พอๆ กับเด็กๆ เลย  ชักต้องคนเชิดหลายคน
น้ำหนักก็คงจะไม่น้อย   การแสดงหุ่นหลวงด้วยหุ่นละครขนาดเล็ก
และหุ่นกระบอกที่น้ำหนักเบา เชิดง่าย ไม่ซับซ้อน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 22:31
คุณอาร์ทเอาไปอีก ๕ คะแนนเป็น  ๑๐ คะแนน


คำถามข้อที่  ๒๔.  จงเล่าเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตอน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำและข้อความต่อไปนี้
ข้อนี้ให้เลือกทำได้ ๑ หรือ ๒ ข้อ  ห้ามทำหมด 
ใครสะเออะอวดทำมาหมดจะหักคะแนนตามข้อที่ทำเกินมา
ข้อละ ๕ คะแนน 
๑) ดุ้ง   
๒) สนิม
๓) สักหน้า
๔) ฟ้าผ่า
๕) ปลิง
๖) กะลา
๗) กก
๘) ปลูกผิด


แหม อุเหม่...อยากจะตอบข้อ ๘ เสียกระไร แต่ด้วยท่านห้ามไว้ ...

ตอบมาก็ได้ครับ  จะได้คะแนน -๕ คะแนน ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 22:51
เอ...คุณหลวง...สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระระเบียงรอบพระเจดีย์ ๓ องค์นั้นมีการวาดภาพรามเกียรติ์หรือไม่หรอ?


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 22:59
เท่าที่อ่านเอกสารมา  ยังไม่พบในที่ใดกล่าว
อาจจะมีกล่าวไว้ แต่ผมอาจจะจำไม่ได้

แต่คิดว่าไม่น่าจะมีการวาดภาพรามเกียรติ์ที่พระระเบียงนั้น
เพราะพระระเบียงนั้นมีพระพุทธรูปประดิษฐานมิใช่หรือ
ถ้าจะวาดคงวาดภาพอย่างอื่นที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา

ที่มาวาดภาพรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระแก้ว
อาจจะเป็นอิทธิพลภาพแกะสลักที่นครวัดก็เป็นได้กระมัง
อันนี้เดา  แต่ที่แน่ๆ  ยักษ์ที่วัดพระแก้ว
เป็นยักษ์ที่ทำหน้าที่รักษาคุ้มครองพระแก้วมรกตตามตำนานพระแก้ว
ไม่ใช่ยักษ์ที่มีหน้าที่ป้องกันอันตรายเข้ามาสู่เขตพุทธสถานอย่างที่อื่นๆ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 23:03
เนื่องจากต้องการทราบถึงคติการวาดภาพที่พระระเบียง ว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงได้เค้าหรือแบบอย่างมาได้อย่างไร


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 23:07
คุณหลวง ขอทิ้งทวนสักเล่มเถิด คิดเสียว่าเอาบุญให้แก่ผู้ด้อยความรู้อย่างกระผม

ทำไมรัชกาลที่ 5 ถึงดำริให้แต่งโคลงรามเกียรติ์พระระเบียงวัดพระแก้วครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 23:22
คุณหลวง ขอทิ้งทวนสักเล่มเถิด คิดเสียว่าเอาบุญให้แก่ผู้ด้อยความรู้อย่างกระผม

ทำไมรัชกาลที่ 5 ถึงดำริให้แต่งโคลงรามเกียรติ์พระระเบียงวัดพระแก้วครับ

ระหว่างรอคุณหลวงเล็กมาตอบ ผมนึกขึ้นได้มาข้อหนึ่งคือ เมื่อคราวซ่อมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อฉลองให้ทันการพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในพ.ศ. ๒๔๒๕ นั้น ทรงกะเกณฑ์บรรดาเจ้าฟ้าและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ร่วมใจ แบ่งงานกันเป็นส่วนๆให้จัดการรับผิดชอบซ่อมแซม ปฐิสังขรณ์บูรณะให้งดงามและดีดังเดิม

ในส่วนตัวคิดว่า หากว่าผนังมีแต่ภาพ ก็คงพากันตีความผิด หรือ ดูแล้วไม่รู้ที่มาที่ไป ซึ่งการจารึกความรู้ประดับบนแผ่นหินก็มีตัวอย่าง ที่วัดพระเชตุพนเป็นหลัก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์และร่วมกับเจ้านายแต่งกลอนประดับไว้ เพื่อให้ได้รับความรู้ทั้งอักษะ และจินตะไปพร้อมๆกัน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 11, 23:25
เนื่องจากต้องการทราบถึงคติการวาดภาพที่พระระเบียง ว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงได้เค้าหรือแบบอย่างมาได้อย่างไร

อธิบายยาก  เพราะไม่มีอะไรยืนยันพระราชดำรินั้นได้ชัดเจนว่ามีพระราชดำริประการใด
ผมเองไม่แน่ใจว่า ภาพจิตรกรรมที่วัดพระแก้วนี้วาดในรัชกาลใดแน่ รัชกาลที่ ๑ ? หรือรัชกาลที่ ๓?
ต้องไปดูในจดหมายเหตุการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ประกอบ

แต่ถ้าให้อธิบายตามความเข้าใจ   คงต้องอิงกับเรื่อง
พระมหากษัตริย์เป็นหลัก  เพราะพระรามเป็นกษัตริย์ตามคติไทยด้วยเหมือนกัน
อีกทั้งเรื่องพระรามก็เป็นนิยายประจำราชสำนักมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา
การวาดเรื่องพระรามในวัดพุทธแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา  
แต่อาจจะหมายถึงกษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้กระมัง

จะว่าไปแล้ว รัชกาลที่ ๑ ทรงเห็นว่าเรื่องพระรามเป็นนิยายไสย  ไม่มีแก่นสาร
ถึงจะทรงพระราชนิพนธ์ไว้ หรือวาดภาพไว้ ก็เพื่อรักษาเรื่องรามเกียรติ์
ให้สมบูรณ์เพื่อลูกหลานภายหลังจะได้รู้จักเรื่อง  อันนี้เป็นพระบรมราโชบาย
ที่จะฟื้นฟูวิทยาการความรู้ต่างๆ ที่ขาดหายไปในระหว่างสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา
สืบต่อจากสมัยธนบุรีที่ได้เริ่มทำไว้บ้างบางส่วน ให้สมบูรณ์  เนื่องสภาพบ้านเมือง
เป็นปึกแผ่นมากขึ้น  แม้จะมีศึกสงครามก็เป็นหัวเมืองห่างไกลจากพระนคร
และมีน้อยลงมาก (ดูกลอนเพลงยาวท้ายเรื่องบทละครรามเกียรติ์)

อธิบายอย่างนี้  คงพอฟังได้กระมัง  ใครมีความรู้ดีกว่านี้เชิญเกทับบลัฟกันได้
ไม่ว่ากัน  ยินดีเสียด้วยสิ :D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 23:25
ถ่ายภาพแผ่นที่ ๑ มาให้ชม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ม.ค. 11, 23:33
เนื่องจากต้องการทราบถึงคติการวาดภาพที่พระระเบียง ว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงได้เค้าหรือแบบอย่างมาได้อย่างไร

ผมเองไม่แน่ใจว่า ภาพจิตรกรรมที่วัดพระแก้วนี้วาดในรัชกาลใดแน่ รัชกาลที่ ๑ ? หรือรัชกาลที่ ๓?
ต้องไปดูในจดหมายเหตุการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ประกอบ


อธิบายความเพิ่มเติมจากจดหมายเหตุซ่อมวัดพระแก้ว สมัยรัชกาลที่ ๓ เขียนไว้ว่า "เขียนใหม่ทั้งหมด" ย่อมหมายถึงของเดิมมีอยู่แล้ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 23:36
ผมเองไม่แน่ใจว่า ภาพจิตรกรรมที่วัดพระแก้วนี้วาดในรัชกาลใดแน่ รัชกาลที่ ๑ ? หรือรัชกาลที่ ๓?
ต้องไปดูในจดหมายเหตุการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ประกอบ


ผมเคยเห็นสมุดไทยที่วาดภาพร่างก่อนการเขียนภาพรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่เหมือนกัน รู้สึกจะเป็นรูปปราสาทมีต้นไม้ พร้อมพลวานร

เรื่องจดหมายเหตุปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในรัชกาลที่ 3 นั้น ก็ได้ความว่าจะจารึกลงในศิลาเหมือนของวัดพระเชตุพน แต่ไม่ได้ทำ
ความก็ไม่ครบถ้วน มีพรรณาเพียงพระอุโบสถเท่านั้นเอง (แต่รายละเอียดดีมากๆ บอกกระทั่งว่าตั้งเครื่องประดับอะไร เขียนภาพอะไรตรงไหน)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 00:03
คุณหลวง ขอทิ้งทวนสักเล่มเถิด คิดเสียว่าเอาบุญให้แก่ผู้ด้อยความรู้อย่างกระผม

ทำไมรัชกาลที่ 5 ถึงดำริให้แต่งโคลงรามเกียรติ์พระระเบียงวัดพระแก้วครับ

ตอนแรก   ยังบอกว่ามีแต่มีดสั้น  เดี๋ยวพัฒนามามีทวนเล่มโตทิ้งกันแล้วครับท่าน
(ย้อนไปดู ค.ห.ที่ ๒)

ข้อนี้ต้องตอบยาว ขอไปตอบมื้ออื่นนะครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 06:55
ทำไมรัชกาลที่ 5 ถึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้แต่งโคลงรามเกียรติ์พระระเบียงวัดพระแก้วครับ


ขอตอบย้อนไปถึงคำถามคุณไซมิสด้วยว่า  การที่รัชกาลที่ ๑ มีพระราชดำริให้วาดภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์
ที่พระระเบียงวัดพระแก้วนั้น   คงเป็นเพราะพื้นที่ผนังพระระเบียงวัดพระแก้วยาวมาก  ถ้าจะเลือกเขียนภาพ
อะไรที่ผนังแล้ว  คงต้องพิจารณาความยาวของเรื่องให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย   ถ้าเลือกที่ยาวไม่มากพอ
ก็จะวาดได้ไม่เต็มตลอดพื้นที่พระระเบียง   และอาจจะต้องวาดภาพให้มีรายละเอียดใหญ่มากขึ้น
ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของจิตรกรรมไทย   จิตรกรรมไทยวาดภาพละเอียด เล็ก จึงต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ
ไม่เหมือนภาพจิตรกรรมฝรั่งที่ใหญ่  ต้องยืนดูห่างๆ ภาพจะได้เห็นทั่ว


เมื่อพิจารณาเรื่องที่น่าจะนำมาวาดที่พระระเบียงวัดพระแก้วให้ตลอดความยาวนั้น
พระพุทธประวัติ  ชาดก ประวัติพระสาวก   หรือตำนานพุทธศาสนา 
เรื่องเหล่านี้เหมาะที่อยู่ในพระอุโบสถมากกว่า  เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
พระระเบียงถือว่าเป็นพื้นที่ภายนอก  ไม่จำเป็นต้องวาดภาพที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ได้

ก็มาพิจารณาวรรณคดี   วรรณคดีไทยที่มีเนื้อเรื่องยาวมากๆ มีไม่กี่เรื่อง (นับเฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๑)
ถ้าเอาเฉพาะเรื่องเอก คือ รามเกียรติ์  อิเหนา  ดาหลัง  ขุนช้างขุนแผน อุณรุท
ขุนช้างขุนแผน ดูไม่เหมาะที่จะวาดที่ผนังพระระเบียง  เพราะเรื่องสั้นไป  และเป็นเรื่องชาวบ้าน
อิเหนากับดาหลังก็เป็นนิยายที่เพิ่งจะแพร่หลายในสยามมาไม่นานนัก  และไม่ใช่เรื่องที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก
รามเกียรติ์ที่แหละเหมาะสุด  เพราะเรื่องยาวมาก  เป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมานาน  มีอิทธิพลกับคนไทยมาก
และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์  เพราะพระรามก็เป็นหนึ่งกษัตริย์ในอุดมคติของไทยมาช้านาน
อุณรุท  เรื่องนี้ถึงจะแพร่หลาย  แต่ยังไม่เท่ารามเกียรติ์ แถมเนื้อเรื่องไม่สู้ยาวนัก

เรื่องรามเกียรติ์มีรายละเอียดเหตุการณ์มาก  เมื่อแบ่งห้องหรือตอนสำหรับวาดแล้วก็คงยาวพอดีเรื่อง
ถ้าจะพิจารณาดูอีก  ก็จะเห็นได้ว่า  วัดพระแก้วนั้น  ในพระอุโบสถเป็นเรื่องพุทธศาสนาล้วน
มีเรื่องพระมหากษัตริย์แทรกปะปนอยู่บ้าง   แต่ภายนอกนี้เป็นเรื่องพระมหากษัตริย์ล้วนๆ เกือบทั้งหมดทีเดียว

เมื่อจิตรกรรมแล้ว จากการชมมหรสพต่างๆ  ที่จะเลือกเอาบางตอนของรามเกียรติ์มาแสดงเท่านั้น
เนื้อเรื่องหลายส่วน มหรสพไม่นิยมเอามาแสดงหรือ เอาแสดงน้อย  ทำให้คนรู้จักรามเกียรติ์ไม่ตลอดเรื่อง
แม้จะมีการพิมพ์รามเกียรติ์ในสมัยต่อมา  (ครูสมิทพิมพ์ก่อนเป็นคนแรก   
โดยเอาฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาพิมพ์)  ก็ใช่ว่าจะแพร่หลายเสียเมื่อไร
และคงหาคนหอบรามเกียรติ์ไปเปิดพลางเดินดูจิตรกรรมไปด้วยได้ยาก  เพราะไม่สะดวก

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕  อาจจะทรงพระราชดำริว่า  เมื่อภาพรามเกียรติ์แล้ว
ก็น่าจะมีเรื่องย่อๆ พอให้คนดูภาพแล้วไม่เข้าใจเรื่องหรือจำไม่ได้ตลอดมาอ่านเพื่อจะได้เข้าใจภาพห้องนั้นๆ
แต่ครั้นจะเขียนเป็นร้อยแก้วความเรียงติดไว้  ก็ดูไม่มีฝีมือ  ควรจะแต่งเป็นคำร้อยกรองสั้นๆ
สรุปความเล่าเรื่องแต่ละตอนไว้  ในสมัยนั้นเจ้านายและข้าราชการที่มีฝีมือด้านกวีนิพนธ์ก็มีมากอยู่
เพราะเป็นสมัยที่บ้านเมืองเจริญมากแล้ว   และอาจจะทรงระลึกถึงสมัยที่รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมวัดพระเชตุพน  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขุนนางต่างๆ ช่วยกันแต่ง
กาพย์โคลงกลอน  ชำระตำรับตำราอันเป็นประโยชน์แล้วมาจารึกลงแผ่นศิลาประดับไว้รอบวัดพระเชตุพน
เพื่อเป็นพุทธบูชาประการหนึ่ง  และเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจศึกษาเอาความรู้ประการหนึ่ง

รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระราชดำริให้จารึกโคลงรามเกียรติ์ติดที่พระระเบียงนั้น  เพื่อเป็นพุทธบูชา
เพื่อเป็นการประกวดฝีมือ  และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้ชมภาพจิตรกรรมจะได้ทราบเรื่องเมื่อมาชม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 07:23
รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้แต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกลงแผ่นศิลาประดับพระระเบียง
อยู่ในระยะเวลาที่กำลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วให้เสร็จทันการสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี
ในปี ๒๔๒๕  (ถ้าสนใจ  ไปหาหนังสืองานศพท้าววรคณานันท์ (หม่อมราชวงศ์แป้ม  มาลากุล) มาอ่าน
หรือหนังสือจดหมายเหตุการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อตอนฉลองพระนคร ๒๐๐ ปี ก็ได้)

การบูรณะวัดพระแก้วครั้งนั้น  เป็นการทำต่อเนื่องจากที่รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงทำไว้ 
แต่ยังค้างอยู่และสิ้นรัชกาลเสียก่อน  และช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทำการบูรณะต่อบ้าง
แต่ยังไม่แล้ว   ด้วยยังมีงานอีกมากที่ยังไม่ได้เริ่มทำ  ครั้นพอรัชกาลที่ ๕ ผ่านพระราชพิธี
บรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๑๖ แล้ว  ได้มีพระราชดำริให้เร่งงานบูรณธต่อเติมวัดพระแก้ว
ขนานใหญ่  โดยระดมเจ้านายข้าราชบริพารมาช่วยกันทำการ  งานจึงลุล่วงไปด้วยความเร็ว


คำถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์


คำถามข้อที่  ๒๘.  แม่น้ำคงคาลงมาสู่พื้นโลกมนุษย์ได้อย่างไร? 
จงเล่าสาเหตุและตำนานนั้นอย่างละเอียด  พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไร
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


คำถามข้อที่  ๒๙.  ทำไมคนไทยจึงรู้จักและนิยมเรื่องรามเกียรติ์อันมีต้นเค้ามาจากรามายณะ
มากกว่าเรื่องมหาภารตะ  จงอธิบายและตัวอย่างประกอบ
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


คำถามข้อที่  ๓๐.  มีตัวละครใดบ้างที่หนุมานและเหล่าวานรได้ช่วยปลดคำสาปให้
จงเล่าเรื่องทีละตัวละคร  พร้องบอกเหตุที่ถูกสาป และวิธีการแก้คำสาป
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 08:22
คำถามข้อที่  ๒๘.  แม่น้ำคงคาลงมาสู่พื้นโลกมนุษย์ได้อย่างไร? 
จงเล่าสาเหตุและตำนานนั้นอย่างละเอียด  พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไร
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
++

ตำนานนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ตำนาน แต่ก็สรุปรวมได้ไปทางเดียวกันคือ น้ำมาจากพระแม่คงคา ไหลผ่านพระเกศาแห่งองค์พระศิวะ แล้วค่อยๆไหลรินสู่พื้นโลก ดังตำนานดังนี้

คัมภีร์ภควัตปุราณะและมหากาพย์มหาภารตะเล่าว่า ครั้งหนึ่งกษัตริย์สาคร ซึ่งมีโอรสหกหมื่นองค์
(จากชายาองค์ที่สอง) และพระราชโอรสหนึ่งองค์จากอัครมเหสี ได้ประกอบพิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ)
เพื่อสร้างมงคลและประกาศบุญญาภินิหาร แต่พระอินทร์ทรงเกรงว่ากษัตริย์สาครจะมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าพระองค์
จึงทรงขโมยม้าไปผูกไว้ที่อาศรมฤๅษีกบิล

โอรสของกษัตริย์สาครเสด็จออกติดตามหาม้า พบว่าอยู่ที่อาศรมของฤๅษี จึงเข้าไปด่าว่าและทำร้าย
ฤๅษีกบิลโกรธ สาปให้ไฟเผาโอรสทั้งหมดจนกลายเป็นขี้เถ้า

กษัตริย์สาครส่งหลานชื่ออังศุมัต (Amsumat) ออกตามหาโอรสและม้าอุปการจนพบ ฤาษีได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น
และอนุญาตให้นำม้ากลับไปพร้อมกับบอกวิธีที่จะทำให้เหล่าโอรสทั้งหมดไปสู่สวรรค์
คือต้องให้แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (คงคา) ไหลมาชำระเถ้าถ่านอัฐิของโอรสเหล่านั้น

เหล่ากษัตริย์ในตระกูลท้าวสาครได้เริ่มพิธีสวดอ้อนวอน จนถึงรุ่นหลานของอังศุมัต นามว่า ท้าวภคีรส
(Bhagirath) พระองค์ทรงบำเพ็ญอย่างหนัก จนพระนางคงคาทรงยินยอมลงมายังโลก
และการนี้ต้องหาผู้รองรับกระแสน้ำไว้ก่อน เพราะหากกระแสน้ำตกมายังโลกโดยตรงจะทำให้แผ่นดินสลาย

ท้าวภคีรสจึงทรงสวดอ้อนวอนพระศิวะขอให้ทรงช่วยรองรับ พระศิวะก็ทรงยินยอม
โดยให้พระแม่คงคาไหลลงมายังชฎามกุฏ และเวียนอยู่ในมุ่นมวยพระเกศาของพระองค์เพื่อลดความรุนแรงลงก่อน
จากนั้นจึงทรงปล่อยให้ไหลสู่พื้นโลก

ในที่สุด ท้าวภคีรสก็นำพระแม่คงคาไปชำระล้างพระอัฐิบรรพบุรุษของพระองค์ได้สำเร็จ

ตำนานบางเล่มของอินเดียเล่าถึงเรื่องราวการเสด็จลงมาจากสวรรค์ของพระนางคงคาแปลกออกไปว่า

ครั้งหนึ่ง มีอสูรซึ่งชอบกลั่นแกล้งรบกวนฤาษีที่กำลังปฏิบัติกิจพิธี
และเมื่อถูกขับไล่ก็จะหลบหนีลงไปอยู่ในมหาสมุทร แล้วย้อนมากลั่นแกล้งอีกในเวลากลางคืน เหล่าฤาษีอคัสตยะ
(Agastya) ช่วยเหลือ

พระอคัสตยะใช้วิธีกลืนมหาสมุทรเข้าไปทั้งหมด (รวมถึงอสูรเหล่านั้นด้วย)
แต่วิธีดังกล่าวทำให้น้ำเหือดแห้ง ผู้คนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
จึงไปอ้อนวอนมุนีภคีรสให้ช่วยแม่น้ำสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์

พระมุนีก็ยินยอม โดยปฏิบัติโยคะบูชาขอพรต่อพระพรหมเป็นเวลานับพันปี
จนพระพรหมทรงพอพระทัยในการบำเพ็ญเพียรของภคีรส จึงพากันไปเฝ้าพระศิวะขอให้ทรงช่วยเหลือ
เนื่องจากปล่อยกระแสน้ำตกลงมาบนโลกโดยตรง พลังและน้ำหนักอันมหาศาลก็จะทำให้โลกเกิดภัยพิบัติ

พระศิวะจึงทรงยินยอมให้พระนางคงคาไหลลงมาสู่มุ่นมวยพระเกศาของพระองค์ก่อน แล้วปล่อยลงมาสู่พื้นโลก
เพื่อให้เป็นที่ชำระล้างบาปบรรเทาความเจ็บปวด อำนวยโชคและความสำเร็จ

พระศิวะในภาคคงคามูรติ; มีสี่กร ทรงถือขวาน กวางเผ่น
และอีกสองกรทรงทำท่าประทานอภัยและวิตรรกะ (แสดงการสั่งสอน) ยืนเหยียดพระบาทขวาตรง งอพระบาทซ้ายเล็กน้อย
บางครั้งอาจประทับร่วมกับพระนางปารวตี โดยพระศิวะทรงใช้พระกรซ้ายหน้าตระกองกอด
และพระหัตถ์ขวาเชยพระหนุของพระนางปารวตี

สำหรับพระหัตถ์ขวาด้านหลังทรงถือขวานที่ยกขึ้นระดับมุ่นมวยพระเกศาอันเป็นที่สถิตของพระแม่คงคา
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือกวางเผ่น

พระนางปารวตีทรงถือดอกไม้ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย พระกรขวาแนบลำพระองค์

นอกจากนี้ ด้านซ้ายยังมีรูปท้าวภคีรสรวมอยู่ในกลุ่มของฤาษี ผู้บูชาพระศิวะด้วย

คัดมาจากหนังสือ - ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู
โดย - อรุณศักดิ์ กิ่งมณี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 08:35
คุณไซมีสนี่เร็วจริงๆ

รวดเร็ว ทันใจ ฉับไว ยอดเยี่ยม ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 08:38
คำถามข้อที่  ๓๐.  มีตัวละครใดบ้างที่หนุมานและเหล่าวานรได้ช่วยปลดคำสาปให้
จงเล่าเรื่องทีละตัวละคร  พร้องบอกเหตุที่ถูกสาป และวิธีการแก้คำสาป
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์



ปักหลั่น  เดิมเป็นเทวดารับใช้ของพระอืศวร  ทำชู้กับนางฟ้าชื่อเกสรมาลาถูกสาปให้เฝ้าสระพันตา
สระนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่  สัตว์ใดหลงเข้ามาในอาณาเขต  ปักหลั่นมีสิทธิ์ที่จะจับกินได้   เมื่อพบทหารพระนารายณ์ลูบกายจะพ้นสาบ
เมื่อเจอองคต  จะจับกิน  องคตชักพระขรรค์ไล่ฟัน  ปักหลั่นกลัวร้องขอชีวิตและเล่าประวัดให้ฟัง  องคตก็เอามือลูบหลัง   ยักษ์ก็พ้นคำสาบ
กลายเป็นเทวดาเหาะไปยังฟากฟ้า



นางบุษมาลี
เป็นอัปสร  ได้ชักสื่อท้าวตาวันเจ้าเมืองมายันให้ได้กับอัปสรชื่อรัมภา  พระอิศวรกริ้ว  ฆ่าท้าวตาวันแล้วปล่อยให้เมืองมายันร้าง
สาปให้นางบุษมาลีไปอยู่คนเดียวที่มายัน สามหมื่นปี
จนกว่าจะพบทหารพระราม  และบอกทางไปลงกาแล้วจึงจะพ้นสาบ
หนุมานไปถวายแหวนเจอนางก่อน      นางบอกทางให้
หนุมานแอ้มนางเสีย(ได้นางเป็นเมีย)
แล้วส่งนางขึ้นสวรรค์



สัมพาที
พญานกสีแดงชาต  พี่นกสดายุ
เมื่ออยู่ที่เขาอัศกรรณกับน้อง  สดายุยังไม่รู้ความ
วันหนึ่งสดายุเห็นดวงอาทิตย์อุทัยคิดว่าเป็นผลไม้สุกลอยอยู่  บินถลาขึ้นไปจับจิกรถทรง
พระอาทิตย์กริ้ว เปล่งแสงร้อนจัดยิ่งขึ้น  
สัมพาทีขึ้นไปบังน้อง  ถูกความร้อนจัด  ขนหลุดหมด  พระอาทิตย์สาบซำ้ว่าไม่ให้ขนขึ้นอีกเลย
ให้อยู่ที่ถ้ำเหมติวัน  ต่อเมื่อทหารพระรามผ่านมาจะไปถวายแหวนที่ลงกา  พักอยู่ที่เขาเหมติวันโห่ขึ้นสามลา  
จึงพ้นสาบ  ขนก็งอกงามตามเดิม
หนุมานก็จัดการตามประสงค์


นางวานริน
นางฟ้าผู้มีหน้าที่ตามประทีป ณ ท้องพระโรงพระอิศวร  ครั้นไฟดับ  พระอิศวรเรียกตัว  นางมิได้ไปจุดเพราะมัวคุยกับเพื่อนเสีย
พระอิศวรสาบให้ไปอยู่ที่เขาอังกาศหรืออากาศคีรี  มีกำหนดจนทหารพระราผ่านมา  นางได้บอกทางแล้วจึงพ้นสาป




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 08:59
คำถามข้อที่  ๒๙.  ทำไมคนไทยจึงรู้จักและนิยมเรื่องรามเกียรติ์อันมีต้นเค้ามาจากรามายณะ
มากกว่าเรื่องมหาภารตะ  จงอธิบายและตัวอย่างประกอบ
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

ไทยนำมาแต่งเป็นบทละคอน
เป็นพระราชนิยม  คนจึงเห็นสอดคล้อง
คนดูเรียงลำดับได้  เข้าใจเพราะมีท่าร่ายรำมาอธิบาย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 09:33
คำถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


พระนามและนามที่จารึกไว้ท้ายโคลง


กากนาสูร                                 หลวงฤทธิ์พลไชย
กุมภกรรณ                                ขุนพิสนทสังฆกิจ
ภุมิตัน                                     พระเทพกวี
เกสรทมาลา                               พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
โกมุท                                      พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
จักรวรรดิ                                  พระยาราชวรานุกูล
ชมพู                                       ขุนภักดีอาษา
ชมพูพาน                                  พระยาราชวรานุกูล
ชามพูพานวราช                          ขุนภักดีอาษา
ชิวหา                                     ขุนโอวาทวรกิจ
ไชยยามพวาน                           พระเทพกวี
ตรีเศียร                                  กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
ทศกัณฐ์                                  พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ทศคิรีธร, ทศคีรีธร                      พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
นิลขัน                                     ขุนวิสูตรเสนี
นิลนนท์                                   หมื่นพากย์โวหาร

นิลปานัน                                  พระยาศรีสิงหเทพ
นิลปาสัน                                  ขุนวิสูตรเสนี
นิลพัท                                     ขุนศรีราชอักษร
นิลราช                                    พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
นิลเอก                                    พระยาศรีสิงหเทพ

เบญกาย                                  หมื่นพากย์โวหาร(เริก)
ผีเสื้อสมุทร                               หมื่นพากย์โวหาร
พาลี                                       กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ
พิเภก                                     นายทัด  กุเรเตอร์
พิราพ                                     พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย)
มังกรกัณฐ์                                พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร


มัจฉานุ                                    กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
มัยราพณ์, มายูร                         หลวงอินทรอาวุธ
มารัน, มารีศ                             พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

มาลุนทเกสร                              พระองค์เจ้าโสณบัณพิต
วายุพักตร์                                 สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์

วิมล                                        ขุนมหาสิทธิโวหาร
วิรุญจำบัง                                 หลวงบรรหารอรรถคดี
วิรูปักษ์                                    พระองค์เจ้าดิศวรราชกุมาร
วิสันตราวี                                 กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

ไวยบุตร                                   ขุนพิสนทสังฆกิจ
สดายุ                                      พระยาราชสัมภารากร
สกัสสเชะ                                  พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
สัตพลี                                     หลวงอินทรอาวุธ
สำมนักขา                                 ขุนมหาสิทธิวหาร

สุครีพ                                      กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ
สุพรรณมัจฉา                             ขุนพิสนท์สังฆกิจ
สุรกานต์                                  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
สุรเสน                                     ขุนวิสูตรเสนี
สุริยาภพ                                  พระยาศรีสิงหเทพ


แสงอาทิตย์                               หลวงอินทรอาษา
หนุมาน                                    หลวงบรรหารอัตถคดี
องคต                                      ขุนวิจิตรวรสาตร
อสุรผัด                                    กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
อัศกรรณมาราสูร                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
อัศธาดา                                   นายทัดกุเรเตอร์
อากาศประลัย                             พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต
อินทรชิต                                   พระยาศรีสิงหเทพ

สมญาภิธาน       นาคะประทีป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 09:34
ถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
+++++
(ข้อนี้ไม่น่าจะให้ ๓๐ คะแนน น่าจะให้มากกว่านี้)

กลุ่มที่ ๑

พระศรีสุนทรโวหาร  แผ่นที่ ๑-๑๒ บทที่ ๑-๘๔ จำนวน ๘๔ บท
หลวงฤทธิพลไชย แผ่นที่ ๑๓ – ๒๐ บทที่ ๘๕ – ๑๔๐ จำนวน ๕๖ บท
พระยาสุนทรนุรักษ แผ่นที่ ๒๑ – ๓๒ บทที่ ๑๔๑ – ๒๔๔ จำนวน ๑๐๔ บท
ขุนท่องสื่อคนเก่า แผ่นที่ ๓๓ – ๓๖ บทที่ ๒๔๖ – ๒๕๒ จำนวน ๗ บท
ขุนโอวาทวรกิจ แผ่นที่ ๓๗ – ๔๔ บทที่ ๒๕๓ – ๓๐๒ จำนวน ๕๐ บท
หมื่นนิพนธ์ไพเราะห์ แผ่นที่ ๔๕ – ๕๒ บทที่ ๓๕๗ – ๓๖๓ จำนวน ๗ บท
ขุนมหาสิทธิโวหาร แผ่นที่ ๕๓ – ๖๔ บทที่ ๓๖๔ – ๔๔๘ จำนวน ๘๕ บท
นายเสถียรรักษา แผ่นที่ ๖๕ – ๖๘ บทที่ ๔๔๙ – ๔๖๗ จำนวน ๑๙ บท
พระเทพกระวี แผ่นที่ ๖๙ – ๗๖ บทที่ ๔๗๗ – ๕๓๒ จำนวน ๕๖ บท
พระเจ้าราชวรวงษเธอพระองค์เจ้าบุตรี แผ่นที่ ๗๗ – ๘๐ บทที่ ๕๓๓ – ๕๖๐ จำนวน ๒๘ บท
นายโตเปรียญ แผ่นที่ ๘๑ – ๘๔ บทที่ ๕๖๑ – ๕๘๘ จำนวน ๒๘ บท
หม่อมเจ้าชายดำ แผ่นที่ ๘๕ – ๘๘ บทที่ ๕๘๙ – ๖๑๖ จำนวน ๒๘ บท
จมื่นทิพยเสนา แผ่นที่ ๘๙ – ๙๒ บทที่ ๖๑๗ – ๖๔๔ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร แผ่นที่ ๙๓ – ๑๐๐ บทที่ ๖๔๕ – ๖๙๙ จำนวน ๕๖ บท
ขุนวิจิตรวรสาสน์ แผ่นที่ ๑๐๑ – ๑๐๔ บทที่ ๗๐๑ – ๗๒๘ จำนวน ๒๘ บท
หลวงภาษีวิเสศ แผ่นที่ ๑๐๕ – ๑๐๘ บทที่ ๗๒๙ – ๗๕๖ จำนวน ๒๘ บท
นายเสถียรรักษา แผ่นที่ ๑๐๙ – ๑๑๖ บทที่ ๗๕๗ – ๘๑๒ จำนวน ๕๖ บท
นายทัดกุเรเตอร์ แผ่นที่ ๑๑๗ – ๑๒๔ บทที่ ๘๑๓– ๘๖๘ จำนวน ๕๖ บท
หม่อมราชวงษวิน แผ่นที่ ๑๒๕ – ๑๓๒ บทที่ ๘๖๙– ๙๒๔ จำนวน ๕๖ บท
พระยาศรีสิงหเทพ แผ่นที่ ๑๓๓ – ๑๔๘ บทที่ ๙๒๕– ๑๐๓๖ จำนวน ๑๑๒ บท
ขุนพิสนท์สังฆกิจ แผ่นที่ ๑๔๙ – ๑๕๖ บทที่ ๑๐๓๗– ๑๐๙๒ จำนวน ๕๖ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค แผ่นที่ ๑๕๗ – ๑๖๔ บทที่ ๑๐๙๓– ๑๑๔๘ จำนวน ๕๖ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าจิตรเจริญ แผ่นที่ ๑๖๕ – ๑๗๒ บทที่ ๑๑๔๙– ๑๒๐๔ จำนวน ๕๖ บท
นายเริกหมื่นพากยโวหาร แผ่นที่ ๑๗๓ – ๑๘๐ บทที่ ๑๒๐๕ – ๑๒๖๐ จำนวน ๕๖ บท
พระยาราชสัมภารากร แผ่นที่ ๑๘๑ – ๑๘๘ บทที่ ๑๒๖๑ – ๑๓๑๖ จำนวน ๕๖ บท
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช แผ่นที่ ๑๘๙ – ๑๙๒ บทที่ ๑๓๑๗  – ๑๓๔๔ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม แผ่นที่ ๑๙๓ – ๒๐๐ บทที่ ๑๓๔๕  – ๑๔๐๐ จำนวน ๕๖ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แผ่นที่ ๒๐๑ – ๒๐๔ บทที่ ๑๔๐๑  – ๑๔๒๘ จำนวน ๒๘ บท
พระยาราชสัมภารากร แผ่นที่ ๒๐๕ – ๒๒๐ บทที่ ๑๔๒๙  – ๑๕๔๐ จำนวน ๑๑๒ บท
หม่อมเจ้าอลังการ แผ่นที่ ๒๒๑ – ๒๓๒ บทที่ ๑๕๔๑  – ๑๖๒๔ จำนวน ๘๔ บท   
พระยาราชวรานุกูล แผ่นที่ ๒๓๓ – ๒๔๔ บทที่ ๑๖๒๕  – ๑๗๐๘ จำนวน ๘๔ บท
ขุนปฎิภาณพิจิตร แผ่นที่ ๒๔๕ – ๒๔๘ บทที่ ๑๗๐๙  – ๑๗๓๖ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ แผ่นที่ ๒๔๙ – ๒๕๖ บทที่ ๑๗๓๗  – ๑๗๙๒ จำนวน ๕๖ บท
หลวงอินทรอาวุธ แผ่นที่ ๒๕๗ – ๒๖๔ บทที่ ๑๗๓๗  – ๑๘๔๘ จำนวน ๑๑๒ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ แผ่นที่ ๒๖๕ – ๒๖๘ บทที่ ๑๘๔๙  – ๑๘๗๖ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ แผ่นที่ ๒๖๙ – ๒๗๖ บทที่ ๑๘๗๗  – ๑๙๓๒ จำนวน ๕๖ บท
ขุนวิสุทธากร แผ่นที่ ๒๗๗ – ๒๙๒ บทที่ ๑๙๓๓  – ๒๐๔๔ จำนวน ๑๑๒ บท   
สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ แผ่นที่ ๒๙๓ – ๓๐๔ บทที่ ๒๐๔๕  – ๒๑๒๘ จำนวน ๘๔ บท
ขุนวิสูตรเสนี แผ่นที่ ๓๐๕ – ๓๑๒ บทที่ ๒๑๒๙  – ๒๑๘๔ จำนวน ๕๖ บท
ขุนพินิจจัย แผ่นที่ ๓๑๓ – ๓๒๐ บทที่ ๒๑๘๕  – ๒๒๔๐ จำนวน ๘๔ บท


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 09:49
คำถามข้อที่  ๒๘.  แม่น้ำคงคาลงมาสู่พื้นโลกมนุษย์ได้อย่างไร?  
จงเล่าสาเหตุและตำนานนั้นอย่างละเอียด  พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไรข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
++

ตำนานนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ตำนาน แต่ก็สรุปรวมได้ไปทางเดียวกันคือ น้ำมาจากพระแม่คงคา ไหลผ่านพระเกศาแห่งองค์พระศิวะ แล้วค่อยๆไหลรินสู่พื้นโลก ดังตำนานดังนี้

คัมภีร์ภควัตปุราณะและมหากาพย์มหาภารตะเล่าว่า ครั้งหนึ่งกษัตริย์สาคร ซึ่งมีโอรสหกหมื่นองค์
(จากชายาองค์ที่สอง) และพระราชโอรสหนึ่งองค์จากอัครมเหสี ได้ประกอบพิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ)
เพื่อสร้างมงคลและประกาศบุญญาภินิหาร แต่พระอินทร์ทรงเกรงว่ากษัตริย์สาครจะมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าพระองค์
จึงทรงขโมยม้าไปผูกไว้ที่อาศรมฤๅษีกบิล

โอรสของกษัตริย์สาครเสด็จออกติดตามหาม้า พบว่าอยู่ที่อาศรมของฤๅษี จึงเข้าไปด่าว่าและทำร้าย
ฤๅษีกบิลโกรธ สาปให้ไฟเผาโอรสทั้งหมดจนกลายเป็นขี้เถ้า

กษัตริย์สาครส่งหลานชื่ออังศุมัต (Amsumat) ออกตามหาโอรสและม้าอุปการจนพบ ฤาษีได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น
และอนุญาตให้นำม้ากลับไปพร้อมกับบอกวิธีที่จะทำให้เหล่าโอรสทั้งหมดไปสู่สวรรค์
คือต้องให้แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (คงคา) ไหลมาชำระเถ้าถ่านอัฐิของโอรสเหล่านั้น

เหล่ากษัตริย์ในตระกูลท้าวสาครได้เริ่มพิธีสวดอ้อนวอน จนถึงรุ่นหลานของอังศุมัต นามว่า ท้าวภคีรส
(Bhagirath) พระองค์ทรงบำเพ็ญอย่างหนัก จนพระนางคงคาทรงยินยอมลงมายังโลก
และการนี้ต้องหาผู้รองรับกระแสน้ำไว้ก่อน เพราะหากกระแสน้ำตกมายังโลกโดยตรงจะทำให้แผ่นดินสลาย

ท้าวภคีรสจึงทรงสวดอ้อนวอนพระศิวะขอให้ทรงช่วยรองรับ พระศิวะก็ทรงยินยอม
โดยให้พระแม่คงคาไหลลงมายังชฎามกุฏ และเวียนอยู่ในมุ่นมวยพระเกศาของพระองค์เพื่อลดความรุนแรงลงก่อน
จากนั้นจึงทรงปล่อยให้ไหลสู่พื้นโลก

ในที่สุด ท้าวภคีรสก็นำพระแม่คงคาไปชำระล้างพระอัฐิบรรพบุรุษของพระองค์ได้สำเร็จ

ตำนานบางเล่มของอินเดียเล่าถึงเรื่องราวการเสด็จลงมาจากสวรรค์ของพระนางคงคาแปลกออกไปว่า

ครั้งหนึ่ง มีอสูรซึ่งชอบกลั่นแกล้งรบกวนฤาษีที่กำลังปฏิบัติกิจพิธี
และเมื่อถูกขับไล่ก็จะหลบหนีลงไปอยู่ในมหาสมุทร แล้วย้อนมากลั่นแกล้งอีกในเวลากลางคืน เหล่าฤาษีอคัสตยะ
(Agastya) ช่วยเหลือ

พระอคัสตยะใช้วิธีกลืนมหาสมุทรเข้าไปทั้งหมด (รวมถึงอสูรเหล่านั้นด้วย)
แต่วิธีดังกล่าวทำให้น้ำเหือดแห้ง ผู้คนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
จึงไปอ้อนวอนมุนีภคีรสให้ช่วยแม่น้ำสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์

พระมุนีก็ยินยอม โดยปฏิบัติโยคะบูชาขอพรต่อพระพรหมเป็นเวลานับพันปี
จนพระพรหมทรงพอพระทัยในการบำเพ็ญเพียรของภคีรส จึงพากันไปเฝ้าพระศิวะขอให้ทรงช่วยเหลือ
เนื่องจากปล่อยกระแสน้ำตกลงมาบนโลกโดยตรง พลังและน้ำหนักอันมหาศาลก็จะทำให้โลกเกิดภัยพิบัติ

พระศิวะจึงทรงยินยอมให้พระนางคงคาไหลลงมาสู่มุ่นมวยพระเกศาของพระองค์ก่อน แล้วปล่อยลงมาสู่พื้นโลก
เพื่อให้เป็นที่ชำระล้างบาปบรรเทาความเจ็บปวด อำนวยโชคและความสำเร็จ

พระศิวะในภาคคงคามูรติ; มีสี่กร ทรงถือขวาน กวางเผ่น
และอีกสองกรทรงทำท่าประทานอภัยและวิตรรกะ (แสดงการสั่งสอน) ยืนเหยียดพระบาทขวาตรง งอพระบาทซ้ายเล็กน้อย
บางครั้งอาจประทับร่วมกับพระนางปารวตี โดยพระศิวะทรงใช้พระกรซ้ายหน้าตระกองกอด
และพระหัตถ์ขวาเชยพระหนุของพระนางปารวตี

สำหรับพระหัตถ์ขวาด้านหลังทรงถือขวานที่ยกขึ้นระดับมุ่นมวยพระเกศาอันเป็นที่สถิตของพระแม่คงคา
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือกวางเผ่น

พระนางปารวตีทรงถือดอกไม้ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย พระกรขวาแนบลำพระองค์

นอกจากนี้ ด้านซ้ายยังมีรูปท้าวภคีรสรวมอยู่ในกลุ่มของฤาษี ผู้บูชาพระศิวะด้วย

คัดมาจากหนังสือ - ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู
โดย - อรุณศักดิ์ กิ่งมณี

คุณไซมิสตอบมานั้น  ละเอียดดี
แต่ชื่อบางชื่อ เอกสารทีอ้างนั้นเขียนไม่ถูก
กษัตริย์สาคร ที่ถูกคือ  ท้าวสัคร  
เมื่อพระคงคาได้เกิดเพราะท้าวสัคร จึงได้ชื่อ สาคร

ท้าวภคีรส  ที่ถูกต้อง  ท้าวภคีรถ
เมื่อพระคงคาได้เกิดเพราะท้าวภคีรถ จึงได้ชื่อ ภคีรถี

เรื่องฤษีกบิล  หรือฤษีตาไฟนั้น
เป็นเพราะโอรสท้าวสัครขุดแผ่นดินอย่างบ้าคลั่ง
หาม้าอุปการที่พระอินทร์ขโมยไป
พระเป็นเจ้าเกรงว่าโอรสท้าวสัครจะขุดแผ่นดินวินาสหมด
จึงให้พระวิษณุไปห้าม  
พระวิษณุจึงแปลงเป็นฤษีไปว่อนตัวอยุ่ในแผ่นดิน
โอรสท้าวสัครขุดมาเจอก็จะรุมทำร้าย
ฤษีกบิลจึงเอาไฟจากตาเผาโอรสท้าวสัครกลายเป็นกระดูกหมด
ไม่มีเอกสารอ้างอิง เพราะอ่านแล้วจำได้เอง

ที่คุณไซมิสยังไม่ได้ตอบว้าตำนานนี้เกี่ยวกับพระรามอย่างไรนะครับ

ตอนนี้เอาไปก่อน  ๗ คะแนน  (หักที่เขียนชื่อผิดด้วย)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 09:52
คำถามข้อที่  ๒๘.  แม่น้ำคงคาลงมาสู่พื้นโลกมนุษย์ได้อย่างไร?
จงเล่าสาเหตุและตำนานนั้นอย่างละเอียด  พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไร
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


ท้าวสัครมีนางเกศินี  มีลูกชื่อ อสะมัญชะ  อสะมัญชะมีลูกชื่อ อังศุมาน  นางสุมดีมีลูก หกหมื่นองค์เลี้ยงไว้ในออบแช่น้ำมันเนยตั้งแต่ประสูติออกมาเป็นน้ำเต้่า
ทำพิธีอัศวเมธที่หว่างเขาวินธัยกับหิมพาน     พระอินทรจำแลงเป็นรากษสมาลักม้า
ท้าวสัครสั่งให้โอรสหกหมื่นออกค้นหา       พระกุมารก็ขุดโลกเสียพรุน      พระนารายณ์แปลงเป็นพระกบิลคอยอยู่  มีม้าอยู่ใกล้ๆ
พระกุมารก็เข้าไปพยายามจะต่อสู้ซึ่งไม่น่าจะเป็นความผิดอะไร  พระกบิลแผลงฤทธิเผาพระกุมารหมด
พระอังศุมานไปตาม  ไม่มีน้ำพอจะรด  เมื่อตายด้วยพระกบิล  ควรใช้น้ำมหาคงคามาล้างบาป

ท้าวสัคร  ท้าวอังศุมาน  ท้าวทิลิป   ท้าวภคีรถ   ได้บำเพ็ญภาวนาต่อกันมาหลายชั่วตนเพื่อเชิญพระคงคาให้เสด็จ

พระพรหมเสด็จ    
ภคีรถราชฤษีทูลขอให้พระคงคาล้างอังคารพระสาครกุมารทั้งหกหมื่นและขอพระโอรสด้วย
พระพรหมประทานพรแต่เตือนให้ขอพระอิศวรรับพระคงคาเมื่อลงมาจากสวรรค์  ไม่เช่นนั้นโลกจะพินาศ

ท้าวภคีรถบำเพ็ญตบะต่อไปจนพระอิศวรโปรด  รับว่าจะช่วย
เมื่อพระคงคาเสด็จมา  พระอิศวรก็นับไว้ด้วยพระเกศา(จึงทรงนามว่าควคาธร)
พระคงคาเข้าไปไหลวนระหว่างพระเกศา  จนท้าวภคีรสไปทูลขอให้ปล่อย

จึงปล่อยพระคงคาให้ไหลไปทางสระวินทุ  แยกออกเป็น ๗ สาขา  ไปทางบูรพาทิศ ๓ สาขา
กับแม่น้ำจักษุ ๑  แม่น้ำสีดา ๑  พระสินธุ ๑  รวมสาททางไหลไปทางปรัศจิม

สายกลางที่เรียกว่าพระคงคามหานที ไหลตามรอยรถที่นั่งท้าวภคีรส
ฤษีชีพราหมณ์ ประชาชน เทวดาต้องสาป  ได้ผลบุญไปตามกัน

ไหลผ่านมณฑลพิธีของพระชหุณดาบส  ท่านโกรธกลืนพระคงคาไว้  เทวดาช่วยกันอ้อนวอน  พระดาบสจึงปล่อย
ให้ไหลออกทางหู  พระคงคาจึงชื่อชานหวี คือบุตรีพระชหุณ

น้ำก็ไหลไปจนที่อังคารพระสาครกุมารทั้หกหมื่นกองอยู่  ได้ขึ้นสวรรค์

เกี่ยวข้องอย่างไร
เมื่อจองถนนพระสาคีช่วยให้เสด็จถึงลงกาโดยสะดวกเพราะบรรพบุรุษของพระรามมีบุญคุณต่อพระสาครเหมือนผู้ให้กำเนิด


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 09:53
ชุดที่ ๒

พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ แผ่นที่ ๓๒๑ – ๓๒๔ บทที่ ๒๒๔๑  – ๒๒๖๘ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษกรมหลวงภาณุพันธุวงษวรเดช แผ่นที่ ๓๒๕ – ๓๒๘  บทที่ ๒๒๖๙  – ๒๒๙๖ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าศรีโสภณ แผ่นที่ ๓๒๙ – ๓๓๖  บทที่ ๒๒๙๗  – ๒๓๕๒ จำนวน ๕๖ บท
หม่อมเจ้าสวัสดิ์ แผ่นที่ ๓๓๗ – ๓๔๔  บทที่ ๒๓๕๓  – ๒๔๐๗ จำนวน ๕๖ บท
นายแช่มนักเรียน แผ่นที่ ๓๔๕ – ๓๔๗  บทที่ ๒๔๐๙  – ๒๔๓๖ จำนวน ๒๘ บท
หลวงอินทรโกษา แผ่นที่ ๓๔๙  –๓๕๖ บทที่ ๒๔๕๑ – ๒๔๙๒ จำนวน ๔๒ บท
พระราชนิพนธ์ แผ่นที่ ๓๕๗-๓๖๐ บทที่ ๒๔๙๓ – ๒๕๒๐ จำนวน ๗๔ บท
พระพินิตพินัย แผ่นที่ ๓๖๑ – ๓๗๒ บทที่ ๒๕๒๑- ๒๖๐๔ จำนวน ๘๔ บท
พระราชนิพนธ์ แผ่นที่ ๓๗๓ – ๓๗๖ บทที่ ๒๖๐๕- ๒๖๓๒ จำนวน ๒๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร แผ่นที่ ๓๗๗ – ๓๘๔ บทที่ ๒๖๓๓ – ๒๖๘๘ จำนวน ๕๖ บท


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 09:58
คุณวันดี ตอบข้อ ๓๐ ได้ครบถ้วนดีมาก
เอาไป ๒๐ คะแนน

ส่วนข้อ  ๒๙ ตอบน้อยไป  ไม่มีตัวอย่างประกอบคำอธิบาย
ให้ตามเนื้อผ้า  ๓ คะแนน

ส่วนที่ใครบางคนตัดพ้อว่า  
(ข้อนี้ไม่น่าจะให้ ๓๐ คะแนน น่าจะให้มากกว่านี้)

เปิดหนังสือลอกมาลงขนาดนี้ยังเอาคะแนนให้มากขนาดไหน
อย่านึกว่าผมไม่รู้นะ   นี่ก็ถืออยู่ในมือตั้ง ๒-๓ เล่ม
คะแนนเท่านี้พอแล้ว  ถ้าให้มากกว่านี้  จะดูเหลื่อมล้ำมากไป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 10:07
คำถามข้อที่  ๒๘.  แม่น้ำคงคาลงมาสู่พื้นโลกมนุษย์ได้อย่างไร?
จงเล่าสาเหตุและตำนานนั้นอย่างละเอียด  พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไร
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

ท้าวสัคร  ท้าวอังศุมาน  ท้าวทิลิป   ท้าวภคีรถ   ได้บำเพ็ญภาวนาต่อกันมาหสยชั่วตน

พระพรหมเสด็จ    
ภคีรถราชฤษีทูลขอให้พระคงคาล้างอังคารพระสาครกุมารทั้งหกหมื่นและขอพระโอรสด้วย
พระพรหมประทานพรแต่เตือนให้ขอพระอิศวรรับพระคงคาเมื่อลงมาจากสวรรค์  ไม่เช่นนั้นโลกจะพินาศ

ท้าวภคีรถบำเพ็ญตบะต่อไปจนพระอิศวรโปรด  รับว่าจะช่วย
เมื่อพระคงคาเสด็จมา  พระอิศวรก็นับไว้ด้วยพระเกศา(จึงทรงนามว่าควคาธร)
พระคงคาเข้าไปไหลวนระหว่างพระเกศา  จนท้าวภคีรสไปทูลขอให้ปล่อย

จึงปล่อยพระคงคาให้ไหลไปทางสระวินทุ  แยกออกเป็น ๗ สาขา  ไปทางบูรพาทิศ ๓ สาขา
กับแม่น้ำจักษุ ๑  แม่น้ำสีดา ๑  พระสินธุ ๑  รวมสาททางไหลไปทางปรัศจิม

สายกลางที่เรียกว่าพระคงคามหานที ไหลตามรอยรถที่นั่งท้าวภคีรสฤษีชีพราหมณ์ ประชาชน เทวดาต้องสาป  ได้ผลบุญไปตามกัน

ไหลผ่านมณฑลพิธีของพระชหุณดาบส   ท่านโกรธกลืนพระคงคาไว้  เทวดาช่วยกันอ้อนวอน  พระดาบสจึงปล่อย
ให้ไหลออกทางหู  พระคงคาจึงชื่อชานหวร คือบุตรีพระชหุณ

น้ำก็ไหลไปจนที่อังคารพระสาครกุมารทั้หกหมื่นกองอยู่  ได้ขึ้นสวรรค์

พร้อมบอกด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องพระรามอย่างไร
เอาไป ๗ คะแนนก่อน ที่ขีดเส้นใต้เขียนชื่อผิด  ต้องหักคะแนน


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 10:09

คำถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


ตอบว่า (ตอนที่ 1)

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)                                     ห้องที่ 1-3                       จำนวน 84 บท
หลวงฤทธิพลชัย                                                                 ห้องที่ 4,5,114                 จำนวน 84 บท
พระยาสุนทรนุรักษ์ (เผื่อน พรหมปิณฑะ) (พระยาพระราชโยธา)               ห้องที่ 6-8,153                   จำนวน 112 บท
ขุนท่องเสื่อคนเก่า (ช่วง ไกรฤกษ์) (หลวงมงคลรัตน์)                          ห้องที่ 9,115-117,171,177      จำนวน 168 บท
ขุนโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) (พระยาโอวาทวรกิจ)                      ห้องที่  10,11                        จำนวน 56 บท
หมื่นนิพนธ์ไพเราะ                                                              ห้องที่ 12,13                        จำนวน 56 บท
ขุนมหาสิทธิโวหาร (พ่วง อาจารยางกูร) (หลวงมหาสิทธิโวหาร)                ห้องที่ 14-16                    จำนวน 84 บท
นายเสถียรรักษา (ศิริ เอมะศิริ) (พระยามนูศาสตร์บัญชา)                      ห้องที่ 17,28,29                   จำนวน 84 บท
พระเทพกวี                                                                      ห้องที่ 18,19                                     จำนวน 56 บท
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา)   ห้องที่ 20,110,111             จำนวน 84 บท
นายโต เปรียญ (ขุนปรีชานุสาสน์)                                                    ห้องที่ 21,125,126              จำนวน 84 บท
หม่อมเจ้าชายดำ นพวงศ์                                                         ห้องที่ 22                                จำนวน 28 บท
จมื่นทิพยเสนา (เจริญ เศวตนันทน์) (พระยาอภิชิตชาญยุทธ)                     ห้องที่ 23                              จำนวน 28 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์)        ห้องที่  24,25    จำนวน 56 บท
ขุนวิจิตรวรสาสน์ (แกล้ว โอวาทสาร)                                         ห้องที่ 26,154                             จำนวน 56 บท
หลวงภาษีวิเศษ (เต๊า)                                                                            ห้องที่ 27,112        จำนวน 56 บท
นายทัด (ศิริสัมพันธ์) กุเรเตอร์ (พระยาสโมสรสรรพการ)                                      ห้องที่ 30,31,118       จำนวน 84 บท
หม่อมราชวงศ์วิน                                                                               ห้องที่ 32,33            จำนวน 56 บท
พระยาศรีสหเทพ (หรุ่น ศรีเพ็ญ)                                                             ห้องที่ 34-37,109       จำนวน 140 บท
ขุนพิสนฑ์สังฆกิจ                                                                             ห้องที่ 38,39,140,141                 จำนวน 112 บท



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 10:10
ไม่เคยอ้อนวอนขอคะแนนที่ไม่ได้ทำ      ไม่ต่อว่า  แต่อาฆาตไว้ดังๆ

เจอกันชาตินี้ชาติเดียว



งานหนังสือปีนี้จะไปกับชมรมนักสะสม



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 10:15
ไม่เคยอ้อนวอนขอคะแนนที่ไม่ได้ทำ      ไม่ต่อว่า  แต่อาฆาตไว้ดังๆ

เจอกันชาตินี้ชาติเดียว



ความอาฆาตพยาบาทอย่างนี้  ย่อมผูกคนคนนั้น
ให้วนเวียนมาเจอกันกับเขาไปอีกนานหลายกัปกัลป์พุทธันดร 555
ไม่เป็นไร  แผ่เมตตาแล้ว  คงจะพบเจอกันน้อยชาติลงบ้าง ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 10:16
ชุดที่ ๓

พระวงษเธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ แผ่นที่ ๓๘๕ – ๓๙๖ บทที่ ๒๖๘๙ – ๒๗๘๑ จำนวน ๙๓ บท
พระเจ้าราชวงษเธอกรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ แผ่นที่ ๓๙๗ – ๔๐๔ บทที่ ๒๗๗๓-๒๘๒๘ จำนวน ๕๖ บท

พระราชนิพนธ์ แผ่นที่ ๔๐๕ – ๔๒๘ บทที่ ๒๘๒๙-๒๙๙๖ จำนวน ๑๖๘ บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร แผ่นที่ ๔๒๙ – ๔๓๒ บทที่ ๒๙๙๗-๓๐๒๔ จำนวน ๒๘ บท
พระยาศรีสิงหเทพ แผ่นที่ ๔๓๓ – ๔๓๖ บทที่ ๓๐๒๕-๓๐๕๒ จำนวน ๒๘ บท

พระเจ้าราชวรวงษเธอพระองค์เจ้าบุตรี แผ่นที่ ๔๓๗ – ๔๔๔ บทที่ ๓๐๕๓-๓๑๐๘ จำนวน ๕๖ บท
หลวงภาษีวิเศศ แผ่นที่ ๔๔๕ – ๔๔๘ บทที่ ๓๑๐๙-๓๑๓๖ จำนวน ๒๘ บท
พระครูอภัยสังฆกิจจานุกร แผ่นที่ ๔๔๙ –๔๕๒  บทที่ ๓๑๓๗-๓๑๖๔ จำนวน ๒๘ บท
หลวงฤทธิพลไชย แผ่นที่ ๔๕๓ – ๔๕๖ บทที่ ๓๑๖๕ – ๓๑๙๒ จำนวน ๒๘ บท
ขุนท่องสื่อคนเก่า แผ่นที่ ๔๕๗ – ๔๖๘ บทที่ ๓๑๖๕- ๓๒๔๘ จำนวน ๘๔ บท
กุเรเตอร์ทัด แผ่นที่ ๔๖๙ – ๔๗๒ บทที่ ๓๒๗๗-๓๓๐๔ จำนวน ๒๘ บท
พระพิบูลย์ไอยสวรรค์ แผ่นที่ ๔๗๓ – ๔๗๖ บทที่ ๓๓๐๕-๓๓๓๒ จำนวน ๒๘ บท
พระมหาคำเปรียญ แผ่นที่ ๔๗๗ – ๔๘๘ บทที่ ๓๓๓๓-๓๔๑๖ จำนวน ๘๔ บท
หลวงอินทรอาวุธ แผ่นที่ ๔๘๙ – ๔๙๖ บทที่ ๓๔๑๗-๓๔๗๒ จำนวน ๕๖ บท


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 10:19
คุณอาร์ตเก่ง  ประสาทอาวุธหอกแก้วนิลกาลแดงสลัวเพทายให้



สงครามครั้งนี้ทำไมยืดเยื้อมาวันอาทิตย์

ปล่อยข่าวลือว่าป่วย



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 10:22
คุณอาร์ตเก่ง  ประสาทอาวุธหอกแก้วนิลกาลแดงสลัวเพทายให้



สงครามครั้งนี้ทำไมยืดเยื้อมาวันอาทิตย์

ปล่อยข่าวลือว่าป่วย



สมองกับนิ้วมือยังใช้การได้ดี 
(แพทย์ให้ใบยืนยันการตรวจมา)
กลศึกนั้นลึกล้ำ   ประมาทนิดเดียว
ก็เสียกำลังไพร่พล  แถมต้องปรับขบวนรบใหม่
รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งขนะร้อยครั้ง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 10:22
คุณอาร์ตเก่ง  ประสาทอาวุธหอกแก้วนิลกาลแดงสลัวเพทายให้



สงครามครั้งนี้ทำไมยืดเยื้อมาวันอาทิตย์

ปล่อยข่าวลือว่าป่วย

+++

ใช่ๆๆ แบบนี้เราต้องร่วม Joint Venture ร่วมค้ากันถล่ม 5555


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 10:26
ตอบ (ตอนที่ 2)

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ)      ห้องที่ 40,41   จำนวน 56 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์)   ห้องที่ 42,43   จำนวน 56 บท
นายฤกษ์ หมื่นพากยโวหาร (หลวงจักรปราณี (ฤกษ์))               ห้องที่ 44,45,138,139จำนวน 112 บท   
พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์)                  ห้องที่ 46,47,52-55   จำนวน 168 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิสรอุดมเดช (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมลวงอดิสรอุดมเดช)      ห้องที่ 48      จำนวน 28 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรหมมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมลวงประจักษ์ศิลปาคม)      ห้องที่ 49,50   จำนวน 56 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)      ห้องที่ 51,161   จำนวน 56 บท
หม่อมเจ้าอลังการ ประภากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ)                         ห้องที่ 56-58   จำนวน 84 บท
พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธุ์) (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช)            ห้องที่ 59-61   จำนวน 84 บท
ขุนปฎิภาณพิจิตร (หรุ่น)                        ห้องที่ 62      จำนวน 28 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววะวงศ์วโรปการ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)   ห้องที่ 62,64   จำนวน 56 บท
หลวงอินทรอาวุธ                        ห้องที่ 65,66,123,124จำนวน 112 บท   
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)      ห้องที่ 67,169   จำนวน 56 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)      ห้องที่ 68,69   จำนวน 56 บท
ขุนวิสุทธากร (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) (พระยาอิศรพันธุ์โสภณ)            ห้องที่ 70-73,159,160 จำนวน 168 บท
กรมพระบำราบปรปักษ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์)         ห้องที่ 74-76   จำนวน 84 บท
ขุนวิสูตรเสนี (จาง)                        ห้องที่ 77,78,142   จำนวน 84 บท
ขุนพินิจจัย (อยู่) (หลวงภิรมย์โกษา)                  ห้องที่ 79,80,135,136,178 จำนวน 140 บท   
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์)      ห้องที่ 81      จำนวน 28 บท
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงภาณุพันธุวงศวรเดช (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ)      ห้องที่ 82      จำนวน 28 บท
พระเจ้าศรีโสภณ (?)                                                                                   ห้องที่ 83,84   จำนวน 56 บท
หม่อมเจ้าสวัสดิ์                        ห้องที่ 85,86   จำนวน 56 บท
นายแช่ม (บุนนาค) นักเรียน (พระยาประชากิจกรจักร)               ห้องที่ 87      จำนวน 28 บท
หลวงอินทรโกษา (เฉื่อย สุรนันทน์)                     ห้องที่ 88,89   จำนวน 56 บท
พระราชนิพนธ์                        ห้องที่ 90,94,102-107 จำนวน 224 บท
พระพินิตพินัย (ปาน) (พระอุบาลคุณูปมาจารย์)                  ห้องที่ 91-93   จำนวน 84 บท
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร)         ห้องที่ 95,96,108   จำนวน 84 บท
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์)         ห้องที่ 97-99   จำนวน 84 บท
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทร์ไพศาลโสภณ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ)   ห้องที่ 100,101   จำนวน 56 บท
พระครูอภัยสังฆกิจจานุกร                     ห้องที่ 113      จำนวน 28 บท
พระพิบูลย์ไอสวรรย์ (นิล)                     ห้องที่ 119,173   จำนวน 56 บท
พระมหาคำ เปรียญ (พระญาณสมโพธิ)                  ห้องที่ 120-122   จำนวน 84 บท
พระปลัดสิง                           ห้องที่ 127-129   จำนวน 84 บท
พระพหลพลพยุหเสนา (กลาง สุจริตจันทร์) (พระยาวจีสัตยารักษ์)            ห้องที่ 130,131    จำนวน 56 บท
พระครูพิเชต                        ห้องที่ 132-134   จำนวน 84 บท
หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันท์ (หม่อมเจ้าทัด เสนีย์วงศ์) (สมเด็จพระพุฒาจารย์)                   ห้องที่ 137      จำนวน 28 บท
นายสิงโต มหาดเล็ก                        ห้องที่ 143      จำนวน 28 บท
นายประภาษามณเฑียร (ยัง) (พระยาบำรุงราชฐาน)               ห้องที่ 144,145   จำนวน 56 บท
หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) (พระภิรมย์ราชา)                  ห้องที่ 146,147,175,176 จำนวน 112 บท
ขุนภักดีอาสา (นก) (พระอมรสินธพ)                  ห้องที่ 148-150   จำนวน 84 บท
พระวิสูตรเสนี                        ห้องที่ 151,152   จำนวน 56 บท
พระสาธุศีลสังวร (กล่อม) (พระสุวรรณวิมลศรี)                  ห้องที่ 155,156   จำนวน 56 บท
หม่อมราชวงศ์พระเจริญ (หม่อมราชวงศ์เจริญ อิศรางกูร) (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)         ห้องที่ 157,158   จำนวน 56 บท
นายจิตร เสมียนมิวเซียม                        ห้องที่ 162      จำนวน 28 บท
หม่อมเจ้าภุชงค์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์)               ห้องที่ 163,164   จำนวน 56 บท
พระธรรมกิติ (แจ้ง)                        ห้องที่ 165-167   จำนวน 84 บท
หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา                        ห้องที่ 168      จำนวน 28 บท
ขุนหลวงพระไกรศรี                        ห้องที่ 170      จำนวน 28 บท
หม่อมเจ้าพระประภากรบวรวิสุทธวงศ์ (หม่อมเจ้าประภากร มาลากุล)            ห้องที่ 172,174   จำนวน 56 บท


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 11, 10:27
มาเถิดสหาย  คำถามยังเหลือเป็นกระบุงยุ้งฉาง
นี่ก็ตั้งรบคนเดียวมาตั้งแต่ต้น  จะกี่คนก็ปรี่เข้ามาเถิด

อ้อ  บอกไว้ก่อนว่า  พิมพ์ผิดตรงไหน
คนตรวจจะตัดคะแนนด้วย 


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 10:31
เปิดหนังสือลอกมาลงขนาดนี้ยังเอาคะแนนให้มากขนาดไหน
อย่านึกว่าผมไม่รู้นะ   นี่ก็ถืออยู่ในมือตั้ง ๒-๓ เล่ม
คะแนนเท่านี้พอแล้ว  ถ้าให้มากกว่านี้  จะดูเหลื่อมล้ำมากไป

มิอยากตัดพ้อแลต่อว่า อันตำรามีอยู่ทุกหนแห่ง
คว้าได้เป็นคว้ามาสำแดง มิได้แจ้งเจื้อยแจ้วอย่างขุนทอง
อ่านคำถามขนลุกสะดุ้งหยอง ตัวละครมากมายขยายเหลือ
จึ่งต้องอ้างตามเนื้อผ้ามิให้เฝือ ด้วยทาเกลือมากไปนั้นไม่งาม  :'(


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 10:33
หน้า ๒๔    บ่อเกิดรามเกียรติ์  ๒๕๑๓   สะกดแบบนี้ชหุน เหนือตัว น มีอะไรก็ไม่รู้ ม้วน ๆ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 10:38
ข้อ ๒๖ คงต้องยกให้ ขุนหมู่ทะลวงฟัน หนุ่ม Art47 นำหน้าไปก่อน มาไวกว่ามาก เราจักไปส่องบนเชิงเทินก่อนว่าจะมาไม้ไหนอีก

(ขอหลบไปซดยาหอม ไม่ไหวๆๆ ตาลายไปหมดกับการนับจำนวนบท)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 10:53
คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์
+++

๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 11:01
คำถามข้อที่  ๒๙.  ทำไมคนไทยจึงรู้จักและนิยมเรื่องรามเกียรติ์อันมีต้นเค้ามาจากรามายณะ
มากกว่าเรื่องมหาภารตะ  จงอธิบายและตัวอย่างประกอบ
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

ไทยนำมาแต่งเป็นบทละคอน  
แสดงเป็นระยะยาวนาน  ตัวละคอนถ่ายทอดท่ารำ

เป็นพระราชนิยม ของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ คนจึงเห็นสอดคล้อง
เพราะใครเล่าจะไม่เห็นงามตามเสด็จ

บทกวีเป็นภาษาเรียบง่ายแต่ให้อรรถรสลึกซึ้งทุกแง่มุมทั้งบทรัก โศก โกรธ  สะเทือนใจ
ทศกัณฑ์เมื่อขอหัวใจคืนจากหนุมานนั้น  แสดงธรรมชาติของการต้องการมีชีวิตอยู่

ภาษากระชับ   สวยงาม  กินใจ
ไมยราพณ์ด่าพิเภก      พิเภกตอบว่า ข้ามันจน


คนดูเรียงลำดับได้  เข้าใจเพราะมีท่าร่ายรำมาอธิบาย
ทศกัณฐ์เมื่อศิลปินชั้นครูสวมบท ก็ สวมบทจนหน้ายักษ์มียิ้ม  ระเรี่ย  มีโกรธาราวร่างจะใหญ่โตขึ้น

ความนิยมได้แพร่ไปถึงดนตรี และการละเล่นอื่นๆ  เป็นการสร้างศิลปมาสนับสนุนศิลป
หนังใหญ่    หุ่น    

สร้างงานและรายได้ให้ประชาชนในการแสดง  สร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ

ยกฐานะสตรีที่เป็นห้ามให้มีงานทำโดยฝึกร่ายรำ  เรียกว่าใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

สะท้อนหลักการปกครองที่ยุติธรรม  มีกฎหมายที่ยังไม่มีการเขียนไว้  เช่นตามท้าวมาลีวราชมาตัดสิน

สร้างและสนับสนุนงานจิตรกรรม    สร้างศิลปินให้เป็นเกียรติของประเทศ  

ศิลปินอุทิศฝีมือบูชาคติธรรมที่ผู้ปกครองต้องรักษาไว้

จินตนาการในการอ่านและชม  สร้างความรักและหวงแหนศิลปะไทย  ที่เราคนไทยต้องร่วมกันรักษา ศึกษา และอนุรักษ์

(น่าจะพอทนแล้วนา)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 11:11
คำถามข้อที่  ๒๙.  ทำไมคนไทยจึงรู้จักและนิยมเรื่องรามเกียรติ์อันมีต้นเค้ามาจากรามายณะ
มากกว่าเรื่องมหาภารตะ  จงอธิบายและตัวอย่างประกอบ
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
+++
อยากลองตอบดูว่า เป็นเพราะลักษณะเนื้อหา "ถูกจริต" กับนิสัยชาวสยาม มีเนื้อเรื่องที่ชาวสยามจำง่าย เช่น ลูกเล่นการต่อสู้ต่างๆ หรือ กระบวนการหาความรัก การผิดหวังในความรัก และได้เล่นเป็นบทละครตัวหนังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งลักษณะเนื้อหาเป็นอย่างพระนารายณ์อวตารลงมา เพื่อสยบเหล่ามารร้าย จึงเข้ากับคติอย่างไทยได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับเรื่องมหาภาระ เรื่องราวยืดไปจึงไม่นิยม

เพิ่มเติม

และเป็นที่นิยมด้วยเพราะว่า รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ต่างไปจากรามายณะ ตรงที่ทรงให้เนื้อเรื่องไปเชื่อมเข้าได้กับนิทานที่มีชาวสยามรู้จักกันมาอยู่ก่อนแล้ว คือ เกร็ดเรื่องนนทก และเรื่องรามสูร เมขลา ทำให้เกิดเป็นบทละคร จัดเล่นตอนได้เยอะขึ้น จุดนี้น่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้รามเกียรติ์เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 11:18

คำถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์


เอาใหม่ ทำให้เรียบร้อย ;D

                           
รายชื่อผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์            

ห้องที่ 1-3 จำนวน 84 บท                                 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ห้องที่ 4,5,114 จำนวน 84 บท                          หลวงฤทธิพลชัย (บัว จันทรวณิก) (พระราชเดชภักดี)
ห้องที่ 6-8,153 จำนวน 112 บท                        พระยาสุนทรนุรักษ์ (เผื่อน พรหมปิณฑะ) (พระยาพระราชโยธา)
ห้องที่ 9,115-117,171,177 จำนวน 168 บท      ขุนท่องเสื่อคนเก่า (ช่วง ไกรฤกษ์) (หลวงมงคลรัตน์)
ห้องที่  10,11 จำนวน 56 บท                       ขุนโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) (พระยาโอวาทวรกิจ)
ห้องที่ 12,13 จำนวน 56 บท                        หมื่นนิพนธ์ไพเราะ
ห้องที่ 14-16 จำนวน 84 บท                        ขุนมหาสิทธิโวหาร (พ่วง อาจารยางกูร) (หลวงมหาสิทธิโวหาร)
ห้องที่ 17,28,29 จำนวน 84 บท                    นายเสถียรรักษา (ศิริ เอมะศิริ) (พระยามนูศาสตร์บัญชา)
ห้องที่ 18,19 จำนวน 56 บท                        พระเทพกวี (นิ่ม)
ห้องที่ 20,110,111 จำนวน 84 บท                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา)
ห้องที่ 21,125,126 จำนวน 84 บท                 นายโต เปรียญ (ขุนปรีชานุสาสน์)
ห้องที่ 22 จำนวน 28 บท                            หม่อมเจ้าชายดำ นพวงศ์
ห้องที่ 23 จำนวน 28 บท                            จมื่นทิพยเสนา (เจริญ เศวตนันทน์) (พระยาอภิชิตชาญยุทธ)
ห้องที่  24,25 จำนวน 56 บท                       พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์)
ห้องที่ 26,154 จำนวน 56 บท                         ขุนวิจิตรวรสาสน์ (แกล้ว โอวาทสาร)
ห้องที่ 27,112 จำนวน 56 บท                      หลวงภาษีวิเศษ (เต๊า)
ห้องที่ 30,31,118 จำนวน 84 บท                   นายทัด (ศิริสัมพันธ์) กุเรเตอร์ (พระยาสโมสรสรรพการ)
ห้องที่ 32,33 จำนวน 56 บท                      หม่อมราชวงศ์วิน อิศรางกูร (หลวงราชพงศ์ภักดี)
ห้องที่ 34-37,109 จำนวน 140 บท               พระยาศรีสหเทพ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) (พระยามหาอำมาตย์)
ห้องที่ 38,39,140,141 จำนวน 112 บท          ขุนพิสนฑ์สังฆกิจ
ห้องที่ 40,41 จำนวน 56 บท                        พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ)
ห้องที่ 42,43 จำนวน 56 บท                     พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์)
ห้องที่ 44,45,138,139 จำนวน 112 บท        หมื่นพากยโวหาร (ฤกษ์) (หลวงจักรปราณี)  
ห้องที่ 46,47,52-55 จำนวน 168 บท            พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์)
ห้องที่ 48 จำนวน 28 บท                          พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิสรอุดมเดช (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมลวงอดิสรอุดมเดช)
ห้องที่ 49,50 จำนวน 56 บท                      พระเจ้าน้องยาเธอ กรหมมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมลวงประจักษ์ศิลปาคม)
ห้องที่ 51,161 จำนวน 56 บท                    พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ห้องที่ 56-58 จำนวน 84 บท                    หม่อมเจ้าอลังการ ประภากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ)
ห้องที่ 59-61 จำนวน 84 บท                    พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธุ์) (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช)
ห้องที่ 62 จำนวน 28 บท                        ขุนปฎิภาณพิจิตร (หรุ่น)
ห้องที่ 62,64 จำนวน 56 บท                     พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววะวงศ์วโรปการ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)
ห้องที่ 65,66,123,124 จำนวน 112 บท        หลวงอินทรอาวุธ  
ห้องที่ 67,169 จำนวน 56 บท                     พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)
ห้องที่ 68,69 จำนวน 56 บท                     พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)
ห้องที่ 70-73,159,160 จำนวน 168 บท         ขุนวิสุทธากร (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) (พระยาอิศรพันธุ์โสภณ)
ห้องที่ 74-76 จำนวน 84 บท                       กรมพระบำราบปรปักษ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์)
ห้องที่ 77,78,142 จำนวน 84 บท                 ขุนวิสูตรเสนี (จาง)
ห้องที่ 79,80,135,136,178 จำนวน 140 บท    ขุนพินิจจัย (อยู่) (หลวงภิรมย์โกษา)          
ห้องที่ 81 จำนวน 28 บท                          พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์)
ห้องที่ 82 จำนวน 28 บท                          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงภาณุพันธุวงศวรเดช (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ)
ห้องที่ 83,84 จำนวน 56 บท                   หม่อมเจ้าศรีโสภณ
ห้องที่ 85,86 จำนวน 56 บท                       หม่อมเจ้าสวัสดิ์
ห้องที่ 87 จำนวน 28 บท                         นายแช่ม (บุนนาค) นักเรียน (พระยาประชากิจกรจักร)
ห้องที่ 88,89 จำนวน 56 บท                    หลวงอินทรโกษา (เฉื่อย สุรนันทน์)
ห้องที่ 90,94,102-107 จำนวน 224 บท       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ห้องที่ 91-93   จำนวน 84 บท                  พระพินิตพินัย (ปาน) (พระอุบาลคุณูปมาจารย์)
ห้องที่ 95,96,108 จำนวน 84 บท              พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร)
ห้องที่ 97-99 จำนวน 84 บท                   พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์)
ห้องที่ 100,101 จำนวน 56 บท                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทร์ไพศาลโสภณ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ)
ห้องที่ 113 จำนวน 28 บท                     พระครูอภัยสังฆกิจจานุกร
ห้องที่ 119,173 จำนวน 56 บท                พระพิบูลย์ไอสวรรย์ (นิล)
ห้องที่ 120-122 จำนวน 84 บท                พระมหาคำ เปรียญ (พระญาณสมโพธิ)
ห้องที่ 127-129 จำนวน 84 บท                 พระปลัดสิง
ห้องที่ 130,131 จำนวน 56 บท                 พระพหลพลพยุหเสนา (กลาง สุจริตจันทร์) (พระยาวจีสัตยารักษ์)
ห้องที่ 132-134 จำนวน 84 บท                  พระครูพิเชต
ห้องที่ 137 จำนวน 28 บท                       หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันท์ (หม่อมเจ้าทัด เสนีย์วงศ์) (สมเด็จพระพุฒาจารย์)
ห้องที่ 143 จำนวน 28 บท                        นายสิงโต มหาดเล็ก
ห้องที่ 144,145 จำนวน 56 บท                   นายประภาษามณเฑียร (ยัง) (พระยาบำรุงราชฐาน)
ห้องที่ 146,147,175,176 จำนวน 112 บท      หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด สามะสุทธิ) (พระภิรมย์ราชา)
ห้องที่ 148-150 จำนวน 84 บท                  ขุนภักดีอาสา (นก) (พระอมรสินธพ)
ห้องที่ 151,152 จำนวน 56 บท                   พระวิสูตรเสนี
ห้องที่ 155,156 จำนวน 56 บท                พระสาธุศีลสังวร (กล่อม) (พระสุวรรณวิมลศรี)
ห้องที่ 157,158 จำนวน 56 บท                   หม่อมราชวงศ์พระเจริญ (หม่อมราชวงศ์เจริญ อิศรางกูร) (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)
ห้องที่ 162 จำนวน 28 บท                         นายจิตร เสมียนมิวเซียม
ห้องที่ 163,164 จำนวน 56 บท                   หม่อมเจ้าภุชงค์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
ห้องที่ 165-167 จำนวน 84 บท                  พระธรรมกิติ (แจ้ง)
ห้องที่ 168 จำนวน 28 บท                       หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา
ห้องที่ 170 จำนวน 28 บท                     ขุนหลวงพระไกรศรี
ห้องที่ 172,174 จำนวน 56 บท                 หม่อมเจ้าพระประภากรบวรวิสุทธวงศ์ (หม่อมเจ้าประภากร มาลากุล)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 11:24
คุณวันดี ..สงสัยคุณหลวง หายไปซ่อนในก้านบัวกระมัง ..แบบนี้จับมาทำ ต้มสายบัวปลาทูเสียให้นิ่มดีใหม...ว่าไงละคุณอาท 47


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 11:37
คิดสั้นไปแล้วมั๊ง

ท่านสั่งเสียไว้แล้ว  ว่าถ้าท่านจะหายหน้าไป  ใครอยากเล่นอะไรก็เล่นนี่นา
มิน่าสั่งไว้

บ่นไว้ว่าอยากไปไหว้นางรำ..เอ้ย...ศาลที่คุณไซมีสเป็นดอน


ท่านอาจไปจตุจักร  แต่ คิดว่าไปท่าช้างมากกว่า
ท่านว่าจะต้องไปหาหนังสือเก่าโบราณของแม่ยายผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

คิดหรือว่าจะหาได้  หนังสือเก่าน่ะไม่เดินจนรองเท้าสึก  วาสนาไม่มีเป็นไม่เจอ


ป่านนี้ตกน้ำตกท่าป๋อมแป๋มไปแล้ว
เรื่องชนอ่างกะปิไม่มีวันเกิดขึ้น     ท่านเดินสง่ามากแบบนโปเลียนไง


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 11:44
คำถามข้อที่  ๓๐.  มีตัวละครใดบ้างที่หนุมานและเหล่าวานรได้ช่วยปลดคำสาปให้
จงเล่าเรื่องทีละตัวละคร  พร้องบอกเหตุที่ถูกสาป และวิธีการแก้คำสาป
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
++
ยักษ์ปักหลั่น เดิมเป็นเทวดารับใช้พระอิศวร ต่อมาเป็นชู้กับนางฟ้าชื่อเกสรมาลา พระอิศวรจึงสาปให้เป็นยักษ์ชื่อปักหลั่นอยู่เฝ้าสระโบกขรณี เมื่อใดทหารพระรามได้มาลูบหลังจึงจะพ้นคำสาป คราวที่หนุมาน องคต และชมพูพานไปถวายแหวนให้นางสีดาที่กรุงลงกา ได้พบกับยักษ์ปักหลั่นระหว่างทาง ยักษ์ปักหลั่นรบแพ้องคต องคตจึงไต่ถามเรื่องราว เมื่อทราบความก็ลูบหลังยักษ์ให้พ้นคำสาป กลับเป็นเทวดาได้ดังเดิม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 11:48
ศึกกุมภัณฑ์นุราช
ยักษ์อีกตนหนึ่งชื่อกุมภัณฑ์นุราช ที่ต้องคำสาปพระอิศวรให้มาอยู่ถ้ำสุรกานต์ ออกมาจากถ้ำพบพระรามพระลักษมณ์และหนุมาน ก็คิดจะจับกิน    หนุมานเข้าต่อสู้ กุมภัณฑ์นุราชถามว่าสองคนนั้นเป็นใคร เมื่อรู้ว่าเป็นพระรามก็ตกใจมาก ขอโทษหนุมาน    หนุมานพาไปพบพระราม พระรามประทานอภัยให้พ้นคำสาป


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 11:50
คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์


๑.    พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)        

เห็นในกูเกิ้ลเหมือนกันนี่


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 11:51
เอ... นโปเลียนตัวไม่สูงนะครับ.. แต่หากเปรียบอาวุธกันแล้วสองท่านนี้คงพอสูสีกัน ฝีมือเชิงชั้นสู้รบอยู่ในขั้นตำนาน :o

เราก็ไม่รู้เล่นอะไรกันดี จะมาล่อข้างเดียวกันก็ใช่ที่
มาบำเพ็ญพรตถือศีลภาวนากันเถอะ จะได้มีฌานแก่กล้าไปสู้กับคุณหลวง
(อย่าลืมขอพรพระอิศวรด้วย เอาแบบว่ามีปัญหาหยั่งรู้ปัญหาทุกข้อ ชนิดถามมาตอบได้ทันที)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 11:55


ข้าพเจ้าขอลาไปกินอาหารเบาๆราคาถูก ที่เพียงพอรักษาชีวิตน้อย ๆ  ไว้ดูคุณ อาร์ต เติบโตเป็นซุปตา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 11:56
โอม..บันดาลท่านท้าวมหาพรหม  บันดาลดลให้คุณหลวงนั้นหายดี


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 12:14
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านน่าจะเป็นประธานคณะกรรมการ (แม่กอง)

ส่วนกรรมการนั้นคงต้องเป็นกวีมีชื่อเสียงหรือผู้ชำนาญในทางด้านอักษรศาสตร์ในสมัยนั้น
(มีความรู้ความสามารถพอที่จะดูว่าคำนั้นไม่เพราะ คำไหนไม่เหมาะ คำไหนสมควรจะแก้)
แต่จะเป็นใครบ้างนั้น แหะๆๆๆๆ... มิเจอเลย จะหาที่ไหนได้บ้างหนอ ???
สงกะสัยต้องเพิ่งหอจดหมายเหตุแล้วมั้ง ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ม.ค. 11, 14:41
คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์
+++

๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ม.ค. 11, 14:58
วันนี้   ไม่มีคำถามเพิ่มเติม   เนื่องจากเจ้าของกระทู้อยู่ในระหว่างพักฟื้น
จากอาการเสียงเป็นเทพ (อาจจะมีคนแซวว่า  เสียงอย่างกับคุณหลวงที่อายุสัก ๗๐-๘๐ ปี) ๒-๓ วัน
ตอนนี้มีเวลาว่างเล็กน้อย  จึงขอตรวจการบ้านผู้เข้าแข่งขันก่อน

ส่วนท่านที่ติดตามการแข่งขัน  ผมขอแจ้งให้ทราบว่า
เนื่องจากได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า  รอบที่ ๑ นี้
ผมจะประลองฝีมือผู้เข้าแข่งขัน ด้วยคำถาม ๓๐ ข้อ
ซึ่งนี่ก็ครบ ๓๐ ข้อตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว  

ในรอบต่อไป  ตั้งแต่คำถามข้อที่ ๓๑ - ๖๐  
ผู้เขียนจะขอตั้งกระทู้ใหม่  กระทู้ ๑ นี้จะได้ไม่ยาวเกินไป

อย่างไรก็ดี  ยังมีคำถามบางข้อ หรือบางคำถามที่ยังไม่มีคนตอบถูก
ถ้าผู้ใดจะตอบก็ขอให้ตอบในกระทู้นี้  อย่าเอาไปตอบอีกกระทู้เด็ดขาด
เพราะเดี๋ยวจะปะปนปั่นป่วนม่วนหลาย

เมื่อคำถามมาครบ ๓๐ ข้อ  ต้องมีคนตั้งคำถาม ถามผม ๑ ข้อ
ตามที่ได้ตกลงกันไว้  ก็ขอให้ใครก็ได้มาตั้งคำถามครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ม.ค. 11, 15:12
คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์
+++

๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์


๑.    พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)        

เห็นในกูเกิ้ลเหมือนกันนี่

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านน่าจะเป็นประธานคณะกรรมการ (แม่กอง)

ส่วนกรรมการนั้นคงต้องเป็นกวีมีชื่อเสียงหรือผู้ชำนาญในทางด้านอักษรศาสตร์ในสมัยนั้น
(มีความรู้ความสามารถพอที่จะดูว่าคำนั้นไม่เพราะ คำไหนไม่เหมาะ คำไหนสมควรจะแก้)
แต่จะเป็นใครบ้างนั้น แหะๆๆๆๆ... มิเจอเลย จะหาที่ไหนได้บ้างหนอ ???
สงกะสัยต้องเพิ่งหอจดหมายเหตุแล้วมั้ง ;D

คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์
+++

๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ไม่ใช่ประธานกรรมการ และกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
ทุกคนที่ตอบมา "ผิด" (จัดให้ตัวใหญ่เบิ้มเป็นพิเศษ)

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ในขณะนั้นยังเป็นพระศรีสุนทรโวหาร
เป็นแต่ผู้ประสานงานรับ-ส่ง-แจกจ่าย-รวบรวมเอกสารร่างโคลงรามเกียรติ์ที่คณะกรรมการทุกคนตรวจ
ฉะนั้นจะนับท่านเป้นกรรมการไม่ได้

ส่วนที่ใครบางคน ตอบมาว่า  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
และ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
เป็นกรรมการนั้น
ก็ขอบอกว่า  ผิด อีกเช่นกัน  
ไม่ปรากฏพระนามเจ้านายทั้งสองพระองค์ในรายชื่อคณะกรรมการที่ทรงแต่งตั้งเลย :P :P :P :P :P


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 ม.ค. 11, 15:43
สีแดงคือข้อที่คำตอบยังไม่ครบค่ะ...


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ม.ค. 11, 15:45
ส่วนคำถามข้อที่  ๒๖.  ในการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการแต่งโคลงรามเกียรติ์จารึกลงแผ่นศิลา
ประดับที่พระระเบียงในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเจ้านายและข้าราชบริพารคนใดบ้างที่ได้แต่งโคลงดังกล่าว
ใครแต่งโคลงห้องใดบ้าง  กี่บท  จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๓๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์

มีผู้เข้าแข่งขันตอบมายาวเหยียดเป็นวานั้น  
หากตรวจในคอมพ์  เห็นจะเป็นการทรมานสายตามาก
จึงต้องพรินท์ ไปตรวจข้างนอก   ขอใช้เวลาตรวจนานสักหน่อย ::)




กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ม.ค. 11, 16:21
"จงเร่งนำยานี้ไป   ส่งให้หลวงเล็กอาสา
  หวังให้รีบฟื้นกลับมา   อย่าช้าจงนำเร็วพลัน
  ยานี้ยาดีผีบอก    ฉลากบอกกรอกแล้วไม่หมัน
  จงดื่มเข้าไปเร็วพลัน  ข้ามวันข้ามคืนไม่ดี

  เอะอะวางท่าให้ข้อผิด   ค้นคิดสืบค้นเร็วรี่
  ข้อยากข้อง่ายงามที     แบบนี้ต้องให้รางวัล"


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 04:18

เรียน  ดอน ไซมีส  ที่นับถือ

        เมื่อแรกแวะมาอ่านกลอน    ข้าพเจ้าได้ร่ายโศลกสรรเสริญความกล้าหาญของท่านในหัวใจ

ต่อมาได้กลับมาอ่านอีก  จึงทราบว่าตนเองอ่านแล้วตาลายเพิ่มคำลงไป

จาก  ...กรอกแล้วไม่หมัน.....    เป็น  ....กรอกแล้วไม่เป็นหมัน........

ขออภัยต่อท่านไว้ ณ ที่นี้

       นึกแล้วว่าท่านไม่กล้า....


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 18 ม.ค. 11, 07:21
ตอบคำถามข้อ ๒๗ ท่านหนึ่งนั้นน่าจะเป็น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ม.ค. 11, 08:37
ตอบคำถามข้อ ๒๗ ท่านหนึ่งนั้นน่าจะเป็น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
ทรงเป็นผู้ชี้ขาดในกรณีที่มีบางจุดที่กรรมการหาข้อสรุปในการตรวจไม่ได้
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) จะนำความไปกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
เพื่อขอประทานพระวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดและได้ข้อยุติ
จึงไม่นับพระองค์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ม.ค. 11, 08:51
คำถามข้อที่  ๓๐.  มีตัวละครใดบ้างที่หนุมานและเหล่าวานรได้ช่วยปลดคำสาปให้
จงเล่าเรื่องทีละตัวละคร  พร้องบอกเหตุที่ถูกสาป และวิธีการแก้คำสาป
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์
++
ยักษ์ปักหลั่น เดิมเป็นเทวดารับใช้พระอิศวร ต่อมาเป็นชู้กับนางฟ้าชื่อเกสรมาลา พระอิศวรจึงสาปให้เป็นยักษ์ชื่อปักหลั่นอยู่เฝ้าสระโบกขรณี เมื่อใดทหารพระรามได้มาลูบหลังจึงจะพ้นคำสาป คราวที่หนุมาน องคต และชมพูพานไปถวายแหวนให้นางสีดาที่กรุงลงกา ได้พบกับยักษ์ปักหลั่นระหว่างทาง ยักษ์ปักหลั่นรบแพ้องคต องคตจึงไต่ถามเรื่องราว เมื่อทราบความก็ลูบหลังยักษ์ให้พ้นคำสาป กลับเป็นเทวดาได้ดังเดิม

ศึกกุมภัณฑ์นุราช
ยักษ์อีกตนหนึ่งชื่อกุมภัณฑ์นุราช ที่ต้องคำสาปพระอิศวรให้มาอยู่ถ้ำสุรกานต์ ออกมาจากถ้ำพบพระรามพระลักษมณ์และหนุมาน ก็คิดจะจับกิน    หนุมานเข้าต่อสู้ กุมภัณฑ์นุราชถามว่าสองคนนั้นเป็นใคร เมื่อรู้ว่าเป็นพระรามก็ตกใจมาก ขอโทษหนุมาน    หนุมานพาไปพบพระราม พระรามประทานอภัยให้พ้นคำสาป

ลืมตรวจให้คะแนน ขออภัย  (เดี๋ยวเจ้าตัวจะน้อยใจได้ป
ตอบมา ๒ ตัวอย่างเอาไป ๑๐ คะแนน   ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 18 ม.ค. 11, 14:46
ระหว่างที่จอมยุทธ์ทั้งหลายกำลังพักผ่อน....
มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสำปะซิว ที่กำลังเป็นข่าว มาให้ชมกันค่ะ..
(เกี่ยวกับรามเกียรติ์ ไหมเนี่ย...ฮิฮิ)


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 ม.ค. 11, 14:53
ท่าทางจิตรกรคงติดการ์ตูนแมวหุ่นยนต์เป็นแน่ ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 18 ม.ค. 11, 15:10
ไม่แน่นะคะ ในอีก 100 ปีข้างหน้า อาจมีแฟนพันธุ์แท้นำมาทายเพื่อตีความภาพกันว่า...
ท่านโดรา..เคยนั่ง Time Machine มาเยือนสยามในอดีตกาลหรือไม่...ฮิฮิ  ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 15:21


เรียกด้วยได้ไหมเมื่อท่านแม่ทัพปรากฎ

ข้าพเจ้าจะเล่น กุมภกรรณล้มขอน  แล้วนา

ต่อจากนี้   ว่าจะไปคุยเรื่องเจ้าสัวเงินที่บ้านพระอาทิตย์


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ม.ค. 11, 15:37
คำถามข้อที่  ๒๗.  ใครบ้างที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
จงบอกชื่อยศในขณะนั้นและชื่อยศในกาลต่อมาที่ได้รับครั้งหลังสุด
ข้อนี้  ๒๐  คะแนน  ตอบที่หน้าไมค์

เฉลย  ด้วยเอกสารดังนี้

ประกาศ
พระบรมราชโองการ
เรื่อง  ตั้งผู้ตรวจแก้โคลงรามเกียรติ์
         ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นพิชิตปรีชากร  รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า  โคลงรามเกียรติ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์และพระราชวงศานุวงศ์  ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่งร้อยเรื่องเรียบเรียงขึ้นครั้งนี้เป็นของสำคัญในรัชกาล   ด้วยตั้งพระราชหฤทัยจะให้เป็นของบูชาถาวรในพระพุทธศาสนาไปสิ้นกาลนาน  จึงมีพระบรมราชโองการ ให้จัดผู้ที่มีสติปัญญามั่นคงและเฉลียวฉลาดชำนาญในลักษณะกาพย์กลอนต่างๆ  ตั้งให้เป็นผู้ตรวจผู้สอบดัดแปลงแก้ไขโคลงห้องรามเกียรติ์ให้ไพเราะถูกถ้วน   สมควรเป็นของสำคัญเครื่องหมายพระเกียรติยศสำหรับแผ่นดินสืบไปช้านาน  อย่าให้เป็นที่นักปราชญ์ในภายหน้าติเตียนได้และกองตรวจกองสอบแก้ไขนั้น   พระเทพกวี ๑  พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ๑  พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ๑  ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑  เป็นกองตรวจสอบอักขรอักษร  และศัพท์สัมผัสและคณะให้ถูกถ้วนตามบูราณคติ  ทั้ง๔ นี้เป็นกองหนึ่ง   พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ๑  พระยาราชสัมภารากร ๑  ขุนวิสุทธากร ๑  ขุนวิสูตรเสนี ๑  พระครูสมุหวรคณิศร ๑  เป็นผู้ตรวจสอบเนื้อความและถ้อยคำให้ไพเราะถูกต้องสมควรแก่ทางราชการ  ทั้ง ๕ นี้ เป็นกองหนึ่ง  ให้พระศรีสุนทรโวหารเป็นผู้รับรวบรวมทั้งสองหน้าที่   ถ้าและมีการขัดขวางในข้อใดประการใด  ให้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ทรงตัดสินเป็นเด็ดขาด  และการที่จะกระทำนั้น  คือให้พระศรีสุนทรโวหาร เจ้าพนักงานส่งร่างโคลงที่จะตรวจนั้น  ให้เจ้าพนักงานพิมพ์ตีพิมพ์เป็น ๑๒ ฉบับ  แล้วให้จ่ายแจกให้กองตรวจทั้งปวงไป  เป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เรียงไปวันละฉบับต่อๆ ไป  ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ๐ ตราจงถ้วนถี่ให้ถูกต้องโดยละเอียด  ถ้าเห็นคำใดบทใดวิปลาสคลาดเคลื่อนเห็นควรแก้ไขประการใดให้แก้ตกแต้ม  และชี้แจงความเห็นมาในใบร่างที่แก้นั้นจงชัดเจน   อย่าให้เป็นแต่สักว่าได้ตรวจแล้วเป็นอันขาด  ถ้าและการในหน้าที่ใดเกิดผิดขึ้นแห่งใด  จะโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจในใบร่างแก้นั้น   ถ้าผู้ใดมิได้ติเตียนและแก้ไข  ฤาเป็นแต่ติใบแก้ฤาแก้ผิดๆ ถูกๆ ไปประการใด  ผู้นั้นจะต้องรับผิดในการที่ผิดนั้นทุกๆ ราย  ให้ผู้ตรวจทั้งปวงรีบเร่งทำการให้แล้วโดยเร็วให้ทันกำหนด  คือเมื่อได้รับใบร่างฉบับที่ ๑  แล้ว   ให้รีบตรวจเสียให้แล้วในวันเดียวนั้น  รุ่งขึ้นจะรับฉบับที่ ๒  ก็ให้ได้ส่งฉบับที่ ๑ ให้แก่เจ้าพนักงานผู้รวบรวม  เมื่อจะรับฉบับที่ ๓ ก็ให้ได้ส่งที่ ๒ ผลัดเปลี่ยนกันดังนี้เสมอไปอย่าให้ชักช้าได้  ถ้าและท่านผู้ใดตรวจไม่ทันกำหนด  ก็อย่าให้รอคอยผู้นั้นให้เสียเวลาเลย   ให้ฟังเอาเป็นขาด  ไม่ได้ฉลองพระเดชพระคุณตรวจในใบที่ช้านั้นทีเดียว   อนึ่ง เมื่อพระศรีสุนทรโวหารได้รับใบแก้ทั้งปวงพร้อมแล้วเมื่อใด  ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจงทุกๆ ความเห็นนั้น  การควรจะตกลงได้สถานใดก็จะทรงตัดสินตามชอบตามควรนั้น  ให้เจ้าพนักงานทั้งปวงผู้ต้องเกณฑ์กระทำการให้ถูกต้องตามที่ว่ามานี้จงทุกประการ.
หมายมา ณ วัน ค่ำปีมะเส็ง ตรีศก (๑๔) ศักราช  ๑๒๔๓


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ม.ค. 11, 16:01
แจ่มแจ้งแล้วครับ  ;D ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 16:10
เมื่อคำถามมาครบ ๓๐ ข้อ  ต้องมีคนตั้งคำถาม ถามผม ๑ ข้อ
ตามที่ได้ตกลงกันไว้  ก็ขอให้ใครก็ได้มาตั้งคำถามครับ

ไม่ทราบว่าอยู่ในกติกาของคุณหลวงเล็กหรือเปล่า

ขออนุญาตถามเรื่องรามายณะ ในความเห็นของคุณหลวง แต่งก่อนหรือหลังสมัยพุทธกาล

 ;D



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 ม.ค. 11, 17:36
คณะกรรมการทุกท่านต่างมีชื่อเสียงด้านกวีหรือด้านหนังสือในรัชกาลนั้น
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ใครๆ ก็รู้ว่าทรงสามารถด้านกวีขนาดไหน
ขุนวิสุทธากร ขุนวิสูตรเสนี ต่างแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริตร่วมกับกวีอีกหลายท่าน
พระยาราชสัมภารากร เป็นผู้รจนาโคลงนิราศระยะทางเมืองเชียงใหม่

แต่ทำไมเจ้าคุณศรีสุนทร (น้อย) ไม่ได้เป็นกรรมการ เป็นแค่พนักงานรับส่ง (และเว็บส่วนใหญ่ก็ผิดพลาดในข้อนี้)
ส่วนบุตรชาย (ขุนมหาสิทธิ์ฯ) กลับได้เป็นกรรมการ ???

พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ อีกพระองค์ ไม่เคยได้ยินว่าทรงสามารถทางด้านกวีเลย
ทำไมถึงทรงได้เป็นกรรมการ ???

แล้วพระครูสมุหวรคณิศร (ตามตำแหน่งน่าเป็นที่พระปลัดของสมเด็จพระสังฆราช)
ก็ไม่ปรากฏในรายชื่อผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ หรือท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ภายหลัง
และใช้สมณศักดิ์ภายหลังนั้นเป็นนามที่จารึกลงในโคลง ???

เป็นเพียงข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ ครับ ใครสามารถทำให้ผมกระจ่างแจ้งในข้อสงสัยนี้ได้บ้าง ;D


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ม.ค. 11, 08:28
สมาชิกสั่งข่าวมาพร้อมลั่นกลองรบ ระวังเงียบนิ่ง เดี๋ยวจะมาแบบทอร์นาโด

http://www.youtube.com/watch?v=9HZDB0li84Q


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 11, 08:29
คณะกรรมการทุกท่านต่างมีชื่อเสียงด้านกวีหรือด้านหนังสือในรัชกาลนั้น
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ใครๆ ก็รู้ว่าทรงสามารถด้านกวีขนาดไหน
ขุนวิสุทธากร ขุนวิสูตรเสนี ต่างแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริตร่วมกับกวีอีกหลายท่าน
พระยาราชสัมภารากร เป็นผู้รจนาโคลงนิราศระยะทางเมืองเชียงใหม่

แต่ทำไมเจ้าคุณศรีสุนทร (น้อย) ไม่ได้เป็นกรรมการ เป็นแค่พนักงานรับส่ง (และเว็บส่วนใหญ่ก็ผิดพลาดในข้อนี้)
ส่วนบุตรชาย (ขุนมหาสิทธิ์ฯ) กลับได้เป็นกรรมการ ???


พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ อีกพระองค์ ไม่เคยได้ยินว่าทรงสามารถทางด้านกวีเลย
ทำไมถึงทรงได้เป็นกรรมการ ???


แล้วพระครูสมุหวรคณิศร (ตามตำแหน่งน่าเป็นที่พระปลัดของสมเด็จพระสังฆราช)
ก็ไม่ปรากฏในรายชื่อผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ หรือท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ภายหลัง
และใช้สมณศักดิ์ภายหลังนั้นเป็นนามที่จารึกลงในโคลง ???

เป็นเพียงข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ ครับ ใครสามารถทำให้ผมกระจ่างแจ้งในข้อสงสัยนี้ได้บ้าง ;D

ขอตอบเป็นรายประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ ๑  ทำไมเจ้าคุณศรีสุนทร (น้อย) ไม่ได้เป็นกรรมการ
เป็นแค่พนักงานรับส่ง (และเว็บส่วนใหญ่ก็ผิดพลาดในข้อนี้)
ส่วนบุตรชาย (ขุนมหาสิทธิ์ฯ) กลับได้เป็นกรรมการ ???

ตรงนี้  ผมขอตั้งคำถามถามผู้สงสัยกลับว่า  คุณทราบหรือไม่ว่า
ในขณะนั้น  เจ้าคุณศรีสุนทรโวหารมีหน้าที่ราชการมากเพียงไร
ถ้าไม่ทราบ  ผมจะเล่าให้ฟังอย่างย่อๆ ดังนี้
เจ้าคุณศรีสุนทรโวหาร นอกจากจะมีหน้าที่เจ้ากรมในกรมพระอาลักษณ์
อันเป็นหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือและหนังสือราชการทั้งปวงแล้ว
ท่านยังต้องดูแลกิจการโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังเป็นอีกภาระหนึ่ง
มาตั้งแต่ปี ๒๔๑๒

ภาระต่อมา คือ หน้าที่ครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็ก
ในพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี ๒๔๑๓

ภาระต่อไป  คือ มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหลวง
ในพระบรมมหาราชวัง  และมีหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร
แก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการในโรงเรียนหลวง
พร้อมกันนั้นยังได้แต่งแบบเรียนภาษาไทยต่างๆ ด้วย

ปี ๒๔๑๘ ท่านได้รับตำแหน่ง เจ้ากรมพระอาลักษณ์แทนพระยาศรีสุนทรโวหาร(ฟัก)
ที่ถึงแก่อนิจกรรม  

นอกจากนี้ท่านยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
และเป็นเลขานุการของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาด้วย
ตั้งมีหน้าที่ในการเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาประชุม
ตามที่มีพระบรมราชโองการ

ท่านเจ้าคุณยังมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดการโรงเรียนที่สวนนันทอุทยาน
เป็นกรรมการสอบไล่หนังสือไทยชั้นสูง  เป้นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ
เป็นกรรมการจัดพิมพืพระไตรปิฎก  

ฉะนั้น แค่งานประจำของท่านก็นับว่ามากพอดูแล้ว  โดยเฉพาะงานเลขานุการนั้น
เป็นงานราชการสำคัญที่ท่านมีบทบาทมาก  และงานที่กรมพระอาลักษณ์ก็มีไม่น้อย

งานตรวจโคลงรามเกียรติ์นั้นเป็นงานเร่งมาก  เพราะจวนเจียนจะใกล้พระราชพิธีสมโภชพระนครแล้ว
ทั้งโคลงนั้นมีหลายห้อง  กว่าจะตรวจครบหมดแล้วคัดขึ้นถวายและนำไปจารึกแผ่นหินได้
ย่อมกินเวลาหลายเดือน   จากหมายจะเห็นได้ว่า  เป็นงานที่เร่งกันทำมาก
ท่านเจ้าคุณเองก็รับหน้าที่แต่งอยู่แล้ว  จะให้มาตรวจด้วยเห็นจะเหนื่อยเกินตัว
อีกทั้งท่านก็อายุมาก งานก็มาก ในหลวงคงทรงเห็นการณ์ดังนี้ จึงให้ท่านเป็นผู้ประสานงานแทน
(ซึ่งไม่ได้เบากว่าการเป็นกรรมการตรวจเลย)

การที่ลูกชายท่านได้เป็นกรรมการตรวจก็เหมาะอยู่
เพราะขุนมหาสิทธิโวหาร (ห่วง) ก็มีความสามารถทางกวีเหมือนบิดา



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 11, 08:48
ประเด็นที่ ๒  พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ อีกพระองค์
ไม่เคยได้ยินว่าทรงสามารถทางด้านกวีเลย
ทำไมถึงทรงได้เป็นกรรมการ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงพระปรีชาด้านหนังสืออยู่ไม่น้อย
คุณคงเคยอ่านหนังสือดรุโณวาท และข่าวคอร์ต  เจ้านายที่เป็นพระราชโอรส
ในรัชกาลที่ ๔ ทรงศึกษาอักขรสมัยเชี่ยวชาญทุกพระองค์   
การจะทรงมีชื่อเสียงในทางกวีนิพนธ์หรือไม่นั้น  คุณพิจารณาจากอะไร
ถ้าพิจารณาจากชื่อเสียงในปัจจุบัน ก็คงจะไม่ได้  เพราะสมัยนั้นกับสมัยนี้ต่างกัน
สมัยก่อนการสื่อสารมีน้อย  การพิมพ์ยังอยู่ในวงแคบๆ
การเผยแพร่ผลงานของใครสักคนต้องอาศัยความสามารถเป็นที่ประจักษ์เอง
พระองค์เจ้าเกษมสันต์ฯ ทรงเป็นเจ้านายที่ทรงเชี่ยวชาญด้านหนังสือ   
ถ้าเป็นคนเล่นหนังสือเก่าจะทราบดีว่า ได้โปรดให้พิมพ์หนังสือเก่าๆ ดีๆ หลายเรื่อง
สำหรับประทานในโอกาสต่างๆ

และถ้าไปอ่านในคำประกาศโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ เมื่อ ปี ๒๔๒๖
ก็จักทราบว่า  ได้ทรงรับราชการในกิจการโรงพิมพ์ของหลวงมาก่อน
และยังได้ทรงรับหน้าที่เป็นผู้จารึกโคลงรามเกียรติ์ลงแผ่นศิลาสำหรับประดับ
เสาพระระเบียงวัดพระแก้วด้วย  การที่ได้เป็นกรรมการตรวจโคลงด้วยพระองค์หนึ่งก็เหมาะอยู่
เพราะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งการตรวจและการจารึกลงแผ่นศิลา


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 11, 09:26
ประเด็นที่ ๓ พระครูสมุหวรคณิศร (ตามตำแหน่งน่าเป็นที่พระปลัดของสมเด็จพระสังฆราช)
ก็ไม่ปรากฏในรายชื่อผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ หรือท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ภายหลัง
และใช้สมณศักดิ์ภายหลังนั้นเป็นนามที่จารึกลงในโคลง

การเลือกใครมาดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
เป็นเป็นไปโดยพระบรมราชวินิจฉัยของในหลวงรัชกาลที่ ๕
คนที่ทรงเลือกมา  ย่อมต้องมีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์แล้ว
เพราะการตรวจโคลงรามเกียรติ์ตามที่เนื้อความในหมายรับสั่งนั้น
ก็บ่งชี้ชัดเจนอยู่ว่า  ต้องรีบทำให้ทันการณ์ชักช้าอยู่ไม่ได้
การตรวจเป็นอย่างวันต่อวัน   เพราะโคลงมีหลายห้อง
ถ้าไม่ใช่ผู้ที่รู้เรื่องนั้น ๆ ต่อให้มาทำก็คงฉลองพระเดชพระคุณไม่ทันการ
และจะยิ่งล่าช้าลงไปอีก   ส่วนเรื่องชื่อเสียงนั้น
ผมได้ตอบไปแล้ว   ว่าเอาความรับรู้ของคนปัจจุบันไปพิจารณาไม่ได้
คนรุ่นเราอาจจะไม่รู้จักท่าน  แต่สมัยก่อนท่านอาจจะได้มีชื่อพอสมควร


ตอนนี้ผมยังไม่สามารถตามได้ว่า พระครูสมุหวรคณิศร ที่เป็นกรรมการตรวจโคลงรามเกียรติ์
เป็นใคร  มีประวัติอย่างไร  ได้เลื่อนสมณศักดิ์อีกหรือไม่   แต่เท่าที่ทราบในตอนนี้
ตำแหน่งพระครูสมุหวรคณิศร เป็นตำแหน่งปกครองสำคัญในหนกลาง
และเข้าใจว่า พระครูสมุหวรคณิศร ที่เป็นกรรมการคงจะมีความรู้หนังสือไม่น้อย
น่าจะเป็นพระเปรียญและเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมด้วย


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 15:46
เมื่อคำถามมาครบ ๓๐ ข้อ  ต้องมีคนตั้งคำถาม ถามผม ๑ ข้อ
ตามที่ได้ตกลงกันไว้  ก็ขอให้ใครก็ได้มาตั้งคำถามครับ

ไม่ทราบว่าอยู่ในกติกาของคุณหลวงเล็กหรือเปล่า

ขออนุญาตถามเรื่องรามายณะ ในความเห็นของคุณหลวง แต่งก่อนหรือหลังสมัยพุทธกาล

 ;D



หากคุณหลวงเล็กว่างจากปริศนารามเกียรติ์ภาค ๒ แล้ว

กรุณาพิจารณาคำถามนี้ด้วย

 ::)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 ม.ค. 11, 18:26
คำถามข้อที่ ๑๔.  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์มี ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ
คำถามคือ มีตอนอะไรบ้าง ใครเป็นคนแต่ง ใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง
: คำตอบยังไม่ครบ
เพลงตับตอนนารายณ์ปราบนนทุก ใครแต่ง และเล่นครั้งแรกในโอกาสใด และเพลงลูกบทที่ประกอบอยู่ในเพลงตับนี้มีอะไรบ้าง

เพลงตับพระนารายณ์ปราบนนทุก
แต่งขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
เพื่อใช้แสดงในการต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินโดจีน พ.ศ. 2469
เพลงลูกบท
1. เพลงพระทอง
2. เพลงเบ้าหลุด
3. เพลงสมิงทองมอญ
4. เพลงแขกบรเทศ
5. เพลงสระสม
6. เพลงนาคราช
7. เพลงเหาะ
8. เพลงสีนวล
9. เพลงเทพทอง
10. เพลงชมโฉม
11. เพลงโอ้โลม
12. เพลงลมพัดชายเขา
13. เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า
14. เพลงเขนง
15. เพลงชมตลาด
16. เพลงกระบอกทอง
17. ร้องร่าย
18. เพลงแขกต่อยหม้อ
19. ร้องร่าย
20. เพลงนางนาค


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ม.ค. 11, 18:34
^
เยี่ยมมากครับ


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 11, 15:24
เฉลย

คำถามข้อที่  ๑๓.  ในปี ร.ศ. ๑๒๘ มีการเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม
ในครั้งนั้น  ได้มีการจัดแสดงโขนสมัครเล่นด้วย 
คำถามคือ  ในการแสดงโขนครั้งนั้น  มีใครแสดงบ้าง และแต่ละคนแสดงบทบาทใด

๑.หม่อมเจ้าชัชชวลิต  (เกษมสันต์) ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์
(พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)  แสดงบท พระ (พระราม)

๒.หม่อมเจ้าแววจักร  (จักรพันธ์) ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ
แสดงบท พระ  (พระราม)

๓.หม่อมราชวงศ์โป๊ะ (มาลากุล) ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์
(ต่อมาเป็น พระยาชาติเดชอุดม)  แสดงบท  พิเภก

๔.หม่อมราชวงศ์มานพ (เกษมสันต์) ในหม่อมเจ้าทัศโนภาศ  (เกษมสันต์)
ต่อมาเป็น นายขรรค์ หุ้มแพร  แสดงบท  เขน (วานร)

๕.หม่อมหลวงเฟื้อ (พึ่งบุญ) บุตรพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ลม้าย  พึ่งบุญ)
ต่อมาเป็น พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ  แสดงบท  พระอรชุน

๖.หม่อมหลวงฟื้น (พึ่งบุญ) บุตรพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ลม้าย  พึ่งบุญ)
ต่อมาเป็น พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา  แสดงบท  พระลักษมณ์

๗.หม่อมหลวงอุรา (คเนจร) บุตรหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)
ต่อมาเป็น พระยานเรนทรราชา  แสดงบท  องคต

๘.นายคลาย (บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ (เทศ บุนนาค)
ต่อมาเป็น หลวงวิสูตรอัศดร  แสดงบท  หนุมาน

๙.นายพราว (บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์)
ต่อมาเป็น จมื่นทรงสุรกิจ  แสดงบท  เขน (วานร)

๑๐.นายเฉิด (บุนนาค) บุตรนายพันตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตน์สงคราม (แฉ่  บุนนาค)
แสดงบท  ลิงเล็ก

๑๑.นายสุนทร (สาลักษณ์) บุตรพระยาศรีภูริปรีชา 
(กมล  สาลักษณ์  ต่อมาเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร)
ต่อมาเป็น พระสุนทรวาจนา  แสดงบท  เสนายักษ์

๑๒.นายประณีต (บุนนาค) บุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
ต่อมาเป็น จมื่นเทพสิรินทร์  แสดงบท  รามสูร  ตัวรบ

๑๓.นายประสิทธิ์ (บุนนาค) บุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
ต่อมาเป็น จ่าแกว่นประกอบการ  แสดงบท  เสนายักษ์

๑๔.นายประเสริฐ (บุนนาค) บุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
ต่อมาเป็น  นายสุดจำลอง  แสดงบท  นาง

๑๕.นายประดิษฐ์ (บุนนาค) บุตรพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
แสดงบท  เขน  (วานร)

๑๖.นายอู๊ด (สุจริตกุล) บุตรพระยารัตนโกษา (เล็ก  สุจริตกุล)
ต่อมาเป็น พระยาสุจริตธำรง  แสดงบท  วานรสิบแปดมงกุฎ

๑๗.นายสมบุญ (ศิรินธร) บุตรพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์
ต่อมาเป็น พระสนิทราชการ  แสดงบท  เขน (วานร)

๑๘.นายโถ  (สุจริตกุล) บุตรพระอรรถการประสิทธิ์
(ปลื้ม  สุจริตกุล ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี)
ต่อมาเป็น พระยาอุดมราชภักดี  แสดงบท  อินทรชิต

๑๙.นายใช้ (อัศวรักษ์) บุตรหลวงธุรการกำจัด (เทียม  อัศวรักษ์)
ต่อมาเป็น  พระยาราชอักษร  แสดงบท  จำอวด

๒๐.นายเล็ก  (สุเรนทรานนท์) บุตรนายพันตรี หลวงสรสิทธิยานุการ
ต่อมาเป็น หมื่นทรงพลหาญ  แสดงบท  วานรสิบแปดมงกุฎ

๒๑.นายโชน (บุนนาค) บุตรนายสรรพวิไชย (เชน บุนนาค)
แสดงบท  วานรสิบแปดมงกุฎ

๒๒.นายทองแล่ง (สุวรรณภารต)  บุตรขุนนัฏกานุรักษ์
(ทองดี  สุวรรณภารต ต่อมาเป็นพระยานัฏกานุรักษ์)
ต่อมาเป็น หลวงไพจิตรนันทการ  แสดงบท  นาง

ผู้แสดงโขนเหล่านี้เป็นบุตรข้าราชการที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖
เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด้จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
ผู้ฝึกสอนการแสดง คือ ขุนระบำภาษา (ครูยักษ์)  ขุนนัฏกานุรักษ์ (ครูพระและครูนาง)
และขุนพำนักนัจนิกร (ครูวานร)



กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 25 ม.ค. 11, 08:36
ขอแก้ไข

คำถามข้อที่ ๑๔.  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์มี ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ
คำถามคือ มีตอนอะไรบ้าง ใครเป็นคนแต่ง ใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง
: คำตอบยังไม่ครบ
เพลงตับตอนนารายณ์ปราบนนทุก ใครแต่ง และเล่นครั้งแรกในโอกาสใด และเพลงลูกบทที่ประกอบอยู่ในเพลงตับนี้มีอะไรบ้าง

เพลงตับพระนารายณ์ปราบนนทุก
แต่งขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
เพื่อใช้แสดงในการต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินโดจีน พ.ศ. 2469

ขอเปลี่ยนผู้แต่งเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครับ
อย่างอื่นคงเดิม


กระทู้: ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้) ๑
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ม.ค. 11, 08:54
คำถามข้อที่ ๑๔.  เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์มี ๔ ตอน  รวม ๕  เพลงตับ
คำถามคือ มีตอนอะไรบ้าง ใครเป็นคนแต่ง ใช้บรรเลงครั้งแรกในโอกาสใด  และแต่ละเพลงตับมีเพลงลูกบทอะไรบ้าง
: คำตอบยังไม่ครบ
เพลงตับตอนนารายณ์ปราบนนทุก ใครแต่ง และเล่นครั้งแรกในโอกาสใด และเพลงลูกบทที่ประกอบอยู่ในเพลงตับนี้มีอะไรบ้าง

เพลงตับพระนารายณ์ปราบนนทุก
แต่งขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
เพื่อใช้แสดงในการต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินโดจีน พ.ศ. 2469
เพลงลูกบท
1. เพลงพระทอง
2. เพลงเบ้าหลุด
3. เพลงสมิงทองมอญ
4. เพลงแขกบรเทศ
5. เพลงสระสม
6. เพลงนาคราช
7. เพลงเหาะ
8. เพลงสีนวล
9. เพลงเทพทอง
10. เพลงชมโฉม
11. เพลงโอ้โลม
12. เพลงลมพัดชายเขา
13. เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า
14. เพลงเขนง
15. เพลงชมตลาด
16. เพลงกระบอกทอง
17. ร้องร่าย
18. เพลงแขกต่อยหม้อ
19. ร้องร่าย
20. เพลงนางนาค

ขอแก้ไข

เพลงตับพระนารายณ์ปราบนนทุก
แต่งขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
เพื่อใช้แสดงในการต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินโดจีน พ.ศ. 2469

ขอเปลี่ยนผู้แต่งเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครับ
อย่างอื่นคงเดิม

ถูกต้อง เอาไป ๑๐ คะแนน ตรงผู้แต่งผมสงสัยอยู่
เพราะเอกสารที่ถือบอกว่าเป็นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
แต่เข้าใจว่าน่าจะผิดพลาดอะไรเป็นแน่ 
คนแต่งน่าจะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ มากกว่า
นี่ตรวจไปเอกสารก่อน  เพราะยังหาที่สอบไม่ได้