เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:16



กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:16

นี่คือวัฒนธรรมจีน  ที่เราเห็นโดยทั่วไปจากรูปลักษณะภายนอก


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:28

ตรงนี้ถ่ายจากด้านหน้าครับ  จากทางทิศตะวันออก  ใกล้ๆ ที่เขาจุดประทัดกัน  และเป็นตำแหน่งหัวมังกรที่กำลังจะสร้างขึ้นมาภายหลัง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:34

ถัดจากสถาปัตยกรรมจีน   จะเป็นวัฒนธรรมไทย  คือศาลาแบบไทยถูกครอบไว้  เป็นของเก่าที่ยังเก็บรักษาเอาไว้ คนที่ไม่สังเกตอาจจะไม่เคยเห็นก็ได้


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:36
 เอาใหม่  วัฒนธรรมไทย  อย่าให้แพ้เขา ต้องเยอะเท่ากัน  เอาข้างบนให้มันชัดๆ  แต่ไม่รู้รูปออกมาจะชัดอย่างใจต้องการรึเปล่า


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:40

เอ  รูปหายไปได้ยังไง  ไม่ยอม เอาอีก  กว่าจะโหลดได้แต่ละตอน  เหนื่อยเชียว  คนรอใจแทบขาด


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:46

แล้วก็  ของสำคัญที่สุด  คือ รูปเทพารักษ์ประจำเมือง  คนสุพรรณเรียกติดปากว่า “เจ้าพ่อหลักเมือง”   ซึ่งเป็นพระนารายณ์สี่กร ประทับยืน ๒ องค์คู่  สวมหมวกแขก (Feg)  บางท่านเรียกว่าหมวกเตอร์ก  บางท่านก็เรียกว่าหมวกทรงกระบอก   แกะสลักด้วยหินสีเขียว  ติดผนัง  เป็นศิลปะบายน (ก่อนนครวัด)    มีอายุราวปี พ.ศ.๑๑๘๕-๑๒๕๐  ไม่บอกก็รู้ว่าเป็นวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู  ซึ่งผ่านมาทางขอม  เรียกรวมๆ กันว่า  ขอม-พราหมณ์-ฮินดู  ก็แล้วกันครับ

แต่ในหนังสือต่างๆ ของท้องถิ่น หรือของจังหวัด หรือของการท่องเที่ยวฯ หรือ อ.ส.ท.  หรือนิตยสารท่องเที่ยวต่างๆ  จะเขียนรูปเทพารักษ์หลักเมืองนี้สับสนกันโดยตลอด  บ้างว่าเป็นพระศิวะ-พระอิศวร  พระอวโลกิเตศวร  แม้เอกสารของกรมศิลป์บางฉบับก็เรียกอย่างนี้  ฟังหูไว้หูบ้างก็แล้วกัน  รวมทั้งที่ผมจะเล่าต่อๆ ไปด้วย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:47

ใกล้เข้ามาอีกนิด  ชิดเข้ามาอีกหน่อย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:51

ชิดเข้ามาเต็มที่แล้วนะ  จะเห็นสี่กรชัดๆ ไหมเนี่ยะ

ต้องลดรูปให้เล็กลง  เลยไม่ค่อยชัดแจ๋วเหมือนที่ถ่ายมา
รอให้โพสต์ครบร้อยครั้งก่อน  คราวนี้จะได้ขี่ยานพาหนะเหาะเหิรเดินอากาศอย่างชาวบ้านท่านอื่นซะที  คงโพสต์รูปได้ใหญ่กว่าเดิมแล้วแหละ  หวังอย่างนั้นนะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 15:55

นี่  ลองลักดูดของที่อื่นดูซิ  คงชัดแจ๋วนะ
เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวสุพรรณและชาวเมืองใกล้เคียงกันมากครับ  เลยถูกปิดทองซะเต็มไปหมด  สังเกตลักษณะดั้งเดิมแทบไม่ได้เลย  และช่วงที่เราไป  บ่ายจัดแล้ว  แสงสีอาจจะเข้าไม่ดี  หรือไม่มือก็สั่นจากถ่ายรูปที่วัดบางอ้อยช้าง บางกรวย เมืองนนท์มาเมื่อตอนเช้า


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 16:02

จะขอคุยไว้ก่อนเลยครับ  กระทู้นี้ของผมค่อนข้างยาวเป็นพิเศษเลยครับ
อาจเรียกได้ว่า  เป็นการรวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  ทั้งในอดีตและปัจจุบันแทบทั้งหมดเลยครับ  แต่ขอออกตัวไว้ก่อนครับว่า  “เท่าที่พอหยิบฉวยได้ในขณะนี้”  เพราะมีเอกสารอยู่กับตัวเป็นหนังสือเพียงแค่ราว ๒๐-๓๐ เล่ม  เอกสารการท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีราว ๒๐ กว่าฉบับ  นิตยสาร อ.ส.ท. และอื่นๆ อีก  เป็นหนังสือเก่าเก็บ  ไม่สามารถไปค้นหาที่ห้องสมุดที่ไหนได้อีกเลย  เพราะไม่มีที่จะให้ไป

หากท่านผู้ใดมาเยี่ยม  แล้วมีข้อมูลในเอกสารหรือหนังสือต่างๆ  หรือภาพเพิ่มเติม   ที่ผมจะร้องขอเป็นระยะๆ ได้  แล้วมาร่วมนำเสนอด้วย  จะเป็นพระคุณยิ่งครับ  ผมจะเน้นนนน ขอให้หนักๆ เลยครับ

ภาพนี้ถ่ายจากข้างในประตูหน้าใน คหพต.๑  ถัดเข้ามาอีกชั้นหนึ่งครับ  ตรงโต๊ะที่มีผ้าแดงคลุมด้านหน้านั้นเป็นโต๊ะตั้งเครื่องเซ่นสังเวยครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 16:04
 ผมแบ่งการศึกษาค้นคว้าเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
- สมัยปัจจุบัน
- ในทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเสด็จประพาสเมืองสุพรรณ
- ในทางโบราณคดี
- ในทางวรรณคดี
- เรื่องเล่า  รวมทั้งบันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น

ไม่รู้ว่าจะแบ่งถูกต้องตรงใจท่าน  หรือตามหลักวิชาการรึเปล่า  แต่ขอแบ่งตามหลักวิชาผมก็แล้วกันครับ  แต่ตอนเสนออาจรวมผสมปนเปกันไปบ้างตามลำดับเหตุการณ์


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 03 ส.ค. 06, 16:15
 ขอเอ่ยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ  พอเป็นน้ำจิ้มก่อน

ปีนี้เป็นปีอะไรของเขาไม่รู้  มีงานพิเศษของศาลเจ้าฯ  จะมีการทิ้งกระจาดใหญ่ ๒ รอบๆ แรก ต้นสิงหาคมนี้เอง
รอบที่ ๒ ต้นกันยา  ถามคนรู้บอกว่าเพราะปีนี้มีเดือน ๗ สองหน  เป็นอธิกมาสจีน  เดือน ๗ เป็นเดือนผี  จึงต้องจัดพิธีทิ้งกระจาดฟ้า หรือกระจาดใหญ่ ๒ หนตามไปด้วย

แต่ถามผู้รู้บางท่านบอกว่าไม่เกี่ยวกันหรอก  ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อจัดกันเอง  และเทวรูปบางองค์ที่เขานำมาประกอบพิธีทิ้งกระจาดที่มีอยู่เยอะก็จัดเซ่นสังเวยกันผิดเพี้ยนไปบ้าง  ป้ายงานกระจาดบางอย่างที่เป็นภาษาจีนก็เขียนผิดเพี้ยนไปด้วยอีก  ใครรู้เรื่องเหล่านี้  และรู้วัฒนธรรมจีนดี  ลองไปสังเกตดูสักหน่อยครับ

อ่านในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนสิงหาคมนี้  มีรายละเอียดเกี่ยวกับสารทจีน  และงานทิ้งกระจาดเป็นอย่างดี  เขียนโดย อ.ถาวร สิกขโกศล  แล้วก็คุณเศรษฐพงษ์  จงสงวน  ดีมากเลยครับ

ปกติทุกปีจะมีทิ้งกระจาดใหญ่ก่อน  แล้วทิ้งกระจาดดินตามมาภายหลัง  ก็แค่เพียงอย่างละรอบ

ใกล้งานทิ้งกระจาดสุพรรณกันแล้ว  หาโอกาสแวะชมและกราบไหว้องค์เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณกันได้นะครับ

......................

แน่ะ แน่ะ แน๊ะ แน๊ะ แน๊ แน๊  พอตอบครบ ๕๓-๕๓ ความคิดเห็นแล้ว  ท่านก็ส่งเจ้าแมว Garfield มาทำความยุ่งเหยิงให้ซะแล้วซี  ไม่เป็นไร  ชอบทั้งนั้นแหละ  แมวน้อยคอยรัก  อิ๊อิ๊อิ๊

ขอบคุณมากครับท่านเวปมาสเตอร์

แล้วเมื่อไรจะส่งภาพหญ่ายหญ่ายสัก 50-60 KB ได้เล่าครับ  ตอนนี้ภาพตี๊ดเดียว  ไม่สมศักดิ์ศรีกับวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่แบบ Three-in-One อย่างนี้เลย  ออดอ้อนซะไม่มี


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ส.ค. 06, 16:41
 ภาพขนาดใหญ่ต้องรอหน่อยครับ คุณNickyNick เพราะไม่ใช่ว่าจะโพสต์กันได้หมดทุกคน
เข้ามาถึงกระทู้นี้ก็วิ่งไปไวยิ่งกว่าติดจรวดซะแล้ว ต้องขอโทษด้วยนะครับ ที่ผมยังไม่ว่างพอจะตามอ่านให้ทัน
(หรือถ้าอยากให้ทัน คุณNickyNick พิมพ์ให้ช้ากว่านี้ได้ก็จะเรียกได้ว่าเป็นการกรุณาแก่ผมเป็นอันมาก)
ยังไง ถ้ามีข้อมูลตรงไหนอยากให้ช่วยค้น (และผมพอจะค้นได้) ก็จะพยายามค้นหามาให้แล้วกันนะครับ



ปล. หลังๆมานี่ไม่ค่อยได้เข้าอินเตอร์เนตเท่าไหร่ ถ้าคุณNickyNick กลัวจะคอยนาน หาทางส่งข้อความมาทางอื่นก็ได้นะครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 03 ส.ค. 06, 18:48
 ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นบ้างครับ

เจ้าพ่อหลักเมืองที่คุณนิกยกมานั้น เป็นพระนารายณ์สวมกิรีฏมกุฏจริง แต่คิดว่าไม่ใช่ศิลปะบายนครับ พระนารายณ์ในศิลปะบายนแทบไม่ปรากฏเลย เพราะสมัยนี้นับถือศาสนาพุทธมหายาน และที่แน่ๆคือไม่ได้สวมหมวกทรง กระบอก และศิลปะบายนก็เป็นศิลปะที่รุ่งเรืองหลังสมัยนครวัดในพุทธศตวรรษที่ 18 ครับ

แต่พระนารายณ์ทั้งสององค์มีลักษณะที่เก่าแก่กว่านั้นมากครับ ก็อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 อย่างที่คุณนิก บอก คงจะโดนซ่อมเสียหลายทีแต่ก็ยังคงเค้าโครงเดิมอยู่

คิดว่าสมัยนั้นสุพรรณบุรีอยู่เสียทางตะวันตก อาณาจักรเขมรเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-13 เพิ่งจะเริ่มเติบโต ไม่มีทางที่จะส่งอิทธิพลข้ามเขตประเทศไทยมาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้าพูดถึงอิทธิพล อินเดียใต้แถบเมืองมามัลปุรัมหรือกาญจีปุรัมดูจะเข้าเค้ามากกว่า แต่คนไทยก็ฉลาดมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดีกว่าของเดิมเสียอีก

ผมไม่แน่ใจว่ารูปทั้งสองของเก่าเป็นภาพสลักนูนสูงหรือไม่ แต่คิดว่าคงจะเป็นการซ่อมภายหลัง การนุ่งผ้าสั้นนั้นเป็นของเก่า แต่การมีชายผ้ายาวด้านหลังไม่เคยปรากฏมาก่อน และเห็นได้ชัดว่าเป็นของพื้นบ้านซ่อม เพราะพระวิษณุจตุรภุชที่ร่วมสมัยกันกับ “เจ้าพ่อหลักเมือง” เหล่านี้ มักเป็นประติมากรรมลอยตัวเสียมากครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 03 ส.ค. 06, 18:51
 คุณนิกโพสเก่งจังเลยครับ ผมอยากโพสได้เก่งๆบ้างจัง เผื่อจะได้เปลี่ยนฮีโร่เร็วๆบ้าง แต่ก็กลัวว่าเขาจะอ่านกันไม่ทันน่ะครับ เลยยับยั้งเอาไว้ก่อน


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 08:14
 คุณติบอ  ไม่ต้องขอโทษขอโพยนักหรอก  เอาไว้วันหน้าวันหลังติดตามให้ไวๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน  จะได้ยกโทษให้

เรื่องโพสต์ภาพใหญ่ๆ  ก็บ่นไปตามเรื่องตามราว  อยู่ที่ไหนก็ย่อมมีกฎเกณฑ์ของที่นั่นอยู่แล้ว  ไม่ต้องการภิสิทธิ์ใดๆ หรอก  แล้วเขาก็คงให้ไม่ได้ด้วย  รู้ทั้งรู้  เราก็ต้องพยายามขวนขวายให้ได้ด้วยตัวของเราเอง  แต่พอจบกระทู้นี้  จะได้ขี่ Spiderman หยั่งกะกุรุกุลาเซี๊ยะที  ชัวร์อยู่แล้ว

กระทู้นี้ติดจรวดแน่ๆ เพราะคุ้นเคยกับโพสต์ที่บอร์ดอื่น  ต้องให้ไวๆ ไม่งั้นกระทู้ตกหายป๋อม  แต่ที่นี่บางกระทู้เป็นเดือน  ไม่ยอมเคลื่อนไปไหนซักที  เปิดอ่านทุกวัน  วนเวียนอยู่แค่วัดสองวัด  คงจะเมื่อยขานะ เลยนั่งพักยาว  เอ้อ  กระทู้ตามรอยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำไง  ของใครเอ่ย

ใครอ่านทันไม่ทันไม่รู้ใจคน  เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ  เหนื่อยก็หยุดก็เท่านั้น  มัวแต่เห็นใจเขาแล้วกระทู้เราเงียบ  ก็ไม่สนุก

ว่าแต่ว่าคุณติบอแวะมาเยี่ยมเยือนกระทู้นี้  อย่าขี่รถถังมาอย่างกับบางกระทู้ละกัน  กลัว


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 08:27
 จะแสดงความคิดเห็นก็ได้เลย  ไม่ต้องขออนุญาตหรอกครับคุณกุรุกุลาน้อย

ได้อีกศัพท์หนึ่งแล้วซี  "พระนารายณ์สวมกิรีฏมกุฏ"  เป็นสี่แล้วนะสำหรับชื่อเรียกของหมวกทรงนี้ในภาษาไทย

แล้วอย่างที่บอก  อย่าไปเชื่อผมมาก  ผมไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะของเขมรเลยครับ  หรือแม้แต่ของไทยก็คงกล่าวได้อย่างนี้เช่นกัน  แต่รักที่จะนำมาเสนอ  หากท่านเห็นผิดเพี้ยน  ก็ให้นึกถึง "กาลามสูตร"  เข้าไว้ครับ  ต่อไปจะอนุญาตทุกท่านเข้ามาร่วมคิดเห็นโดยไม่ต้องขอนุญาตซ้ำอีกเลย  แหะ แหะ  แต่อย่าถามผมมากนะครับ  ผมอธิบายไม่ค่อยถูก  หากไม่มีข้อมูล  ถ้าไม่แน่ใจ  จะตามท่านกุรุกุลาน้อย  ผู้มีตาทิพย์มาอธิบายให้ฟัง

ฟังๆ ท่านกุรุกุลาอธิบาย  ดูเหมือนจะเป็นคุณครูบาอาจารย์  เพราะตามเก็บรายละเอียดได้ดีเหลือเกิน  ต่อไปจะเรียกกุรุกุลาน้อยไม่ได้เสียแล้วซี

ตอนต่อๆ ไป (อีกหลายวัน)  ก็จะถึงคิวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิลปะขอมที่เกี่ยวกับเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณองค์นี้ครับ  มีเกี่ยวกับอินเดียด้วยแหละ  บอกแล้วไง  คิวมีอีกยาว  ทั้งติบอกับกุรุกุลา  เตรียมหาหนังสือ ๒ เล่มที่เกี่ยวกับศิลปะขอม - กับศิลปะอินเดียของท่านหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล  เตรียมไว้ด้วยนะครับ  ทราบว่าในนั้นมีรูปสวยๆ  ซึ่งผมค้นหาขณะนี้เดือนนี้ได้ไม่ทัน  ใช้กล้องดิจิตอลถ่าย  ไวดีครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 10:23

เอ้า  เป็นความรู้เพิ่มเติมอีก ๒ หน่อยครับ  พอเรียกน้ำย่อย

หน่อยแรก ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ  ตั้งอยู่ติดด้านเหนือของแนวคลองเชื่อมระหว่าง แม่น้ำสุพรรณ(ท่าจีน) ทางตะวันออก กับแม่น้ำท่าว้าทางตะวันตก (เป็นที่ตั้งของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่)  ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสมาแล้ว  คลองนี้อยู่ติดด้านทิศใต้ของตัวศาล

ปากคลองเปิดสู่แม่น้ำท่าจีน  บริเวณนั้นเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า เพนียดคล้องช้าง  ชักงงกันอีกแล้วใช่ไหม  ไม่นึกว่าจะมีคำนี้ที่เมืองสุพรรณ?  แล้วจะอธิบายเพิ่มเป็นระยะๆ ครับ

......................

ในรูป  แนวคลองนี้อยู่ตรงสีส้มๆ ที่ถนนข้างหน้านี้ไง  ถ่ายรูปจากประตูทางเข้าถนนไร่ฝ้าย  ออกไปทางทิศเหนือ  ตอนนี้เขาฝังท่อไว้  ทางตะวันออกคลองตันบางส่วน  ทางตะวันตกคลองยังใช้ได้  ตัดผ่านคูเมืองโบราณต่อไปเรื่อยๆ แยกแขนงอีกเยอะแยะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 11:10

หน่อยที่ ๒  ตัวศาลเจ้าพ่อฯ ตั้งอยู่บนแนวของคูเมือง - กำแพงเมืองโบราณสุพรรณสมัยสุพรรณภูมิ  ซึ่งคร่อมสองฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ  ตามรูปนี้  แนวถนนไร่ฝ้าย + เกาะกลางถนน ก็คือแนวคูเมืองเดิม  ถ่ายจากข้างหลังคือจากตัวศาลเจ้าฯ  

คูเมืองกำแพงเมืองสมัยแรกนี้  เป็นแต่เสาระเนียดคันดิน  ยังไม่เจริญเหมือนของจีนที่อยู่ในสมัยเดียวกัน

แนวคูเมืองโบราณสมัยต่อมา  ยังสับสนว่าเป็นสมัยแน่  อ่านจากท่านนักวิชาการแต่ละท่านแล้วมาประมวลกันไม่ถูก  คือ  จะเป็นสมัยอู่ทองตอนปลายหรืออาจจะเป็นสมัยอยุธยา  สมัยขุนหลวงพะงั่วก็ได้  
เขารื้อด้านตะวันออกออกหมด  แล้วขยายด้านตะวันตกออกไปอีก ขนานกับคูเมืองของเดิม
จึงอยู่ถัดออกไปทางตะวันตกอีก ๓-๔๐๐ เมตร

การรื้อนี้  เดาว่าน่าจะอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ ๒๐๙๑-๒๑๑๑)

   

คูเมืองสมัยหลังนี้  เหลืออยู่แค่ฟากตะวันตกเท่านั้น  เป็นคูเมือง ๒ ชั้น ชั้นในมีกำแพงอิฐ   มีหอโทน (รวม ๖ หอ)  คนสุพรรณเรียกกันว่า "ป้อมปราการ" การเสริมอิฐสมบูรณ์สมัยพระมหาจักรพรรดิ์   กล่าวกันว่า  นับจากนี้ไป  พม่าก็นำแบบอย่างไปทำตามที่บ้านเมืองของเขา

หากจะเล่าถึงเรื่องคูเมืองโบราณสุพรรณบุรี  จะต้องตั้งเป็นกระทู้ใหญ่ๆ  อีกทีหลังเลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 11:37

เอารูปมาให้ดูกันให้เห็นจะจะเลย

ลอกมาจากหนังสือ
สุพรรณบุรีเมืองโบราณ  เอกสารเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี  โดย นวลพรรณ ยิ้มยวน  รร.กรรณสูตศึกษาลัย สุพรรณบุรี ๒๕๔๓  เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

นี่เป็นแนวกำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรีสมัยหลังสุด  ที่ปรากฏในสมัยอยุธยา  มีคูเมือง  ล้อมรอบด้วยกำแพงเมือง ๒ ชั้น  ชั้นในก่อเป็นกำแพงอิฐ  ยังมีเหลือจนถึงปัจจุบัน

มีหอโทนที่คนสุพรรณเรียกกันติดปากง่ายๆ ว่า "ป้อม" หรือ "ป้อมปราการ"  รวม ๖ ป้อมด้วยกัน

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ตรงกลาง  กลางคูเมืองรุ่นเก่าแก่เลยแหละ  ตามแนวสีส้มที่วาดพาดผ่านป้อมบนสุดกับล่างสุดนี่เอง  แต่เอามาให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนนะครับ คูเมืองเก่ายังตามคร่อมไปอีก ๒ ฝั่งแม่น้ำ

ถนนไร่ฝ้ายก็ตรงปลายลูกศรที่ชี้ไว้  แยกที่ด้านใต้จากถนนมาลัยแมน  ตรงจุดแยกมาลัยแมนก็คือเสาใหญ่ๆ ลวดลายมังกรจีนดังรูปใน คหพต.๑๘   เสาใหญ่นี้เมื่อก่อนเป็นเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมนะครับ  ดูน่าเกลี๊ยด  โชคดีที่ไม่ได้ถ่ายเก็บเอาไว้


หมายเลข 1 คือ เจดีย์วัดกุฎีสงฆ์
หมายเลข 2 คือ เจดีย์วัดเขาใหญ่

เดี๋ยวคนแก่จะมาเล่าให้ฟังต่อ  ชักเคลิ้มแล้วใช่มั้ย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 11:59
 ทางทิศเหนือของเพนียดคล้องช้าง  จะเป็นวัดกุฎีสงฆ์  ซึ่งปัจจุบันมีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่ทิศเหนือ-ตะวันตกของสะพานข้ามแม่น้ำถนนมาลัยแมน

ทิศใต้ของเพเนียด  จะเป็นวัดเขา หรือวัดเขาใหญ่ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน

สอบถามคนเฒ่าคนแก่บอกว่าเขาเรียกอย่างนี้กันมานานแล้วล่ะ  ไม่รู้ว่าเคยเป็นที่คล้องช้างรึเปล่า  ตรงใกล้ปากแม่น้ำบอกว่าเมื่อก่อนมีเสาไม้ใหญ่ๆ เยอะแยะปักอยู่กลางคลอง  หรือกลางเพนียดนี่แหละ   เท็จจริงเป็นอย่างไรไม่รู้  ไม่เคยเห็นเอง   เอากันว่าเป็นตำนานก็แล้วกัน

เดี๋ยวพูดผิดไปจะเสียคน  อย่างเช่น  “คอกช้างดิน”  ที่เมืองโบราณอู่ทอง ของกรมศิลปากรท่าน   ตอนหลังอาจารย์ศรีศักร  วัลลิโภดม  มาพินิจพิจารณาดู  กลายเป็น “บาราย”  ไปซะฉิบ


แต่ที่พอจะบอกได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือว่า  คลองสายนี้มีความสำคัญแต่โบราณ  หน้าน้ำก็จะใช้เป็นทางคมนาคม  หน้าแล้งก็จะแห้ง  กลายเป็นทางช้างหรือทางคนเดินนี่แหละครับ  สมัยนี้กรุงเทพฯ เลยเอาเป็นตัวอย่างมั่ง  หน้าแล้งเป็นถนน  หน้าฝนก็กลายเป็นคลอง  เฮ้อ  เรียนประวัติศาสตร์  นำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้ดีอย่างนี้นี่เอง

อ้อ   คนสุพรรณเรียกทางแบบนี้ว่า “กอก”  นะครับ

................

หมายเลข
1 คือเจดีย์วัดกุฎีสงฆ์
2 คือ เจดีย์วัดเขาใหญ่  อ้อ เพิ่งถล่มลงมาเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง  เสียดาย  แต่ไม่รู้จะทำยังไง
3 คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  ตัวศาลหลักอยู่ตรงหมายเลขนั้นเลย
4 คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  วัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณแต่โบราณ  เขียนตัวใหญ่  เพราะวัดใหญ่จริงๆ  คร่อมสองฟากถนนตะวันออกตะวันตกเลยทีเดียว   แต่เหตุไฉนรอแล้วรอเล่าท่านก็ไม่ยอมให้เป็นพระอารามหลวงซะที  เขาต้องใช้เส้นกันรึเปล่าก็ไม่รู้
5 คือ วัดประตูสาร  สมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเรียกวัดประตูศาล  อาจหมายถึงประตูสู่ศาลหลักเมือง  เพราะต้องพายเรือจากตรงนี้ด้วย  สมัยนี้แล้วก็อาจจะสมัยเก่าๆ แต่โบราณ  เขาเรียกประตูสาร  ก็ตรงกับความหมายของเพนียดคล้องช้าง  เป็นประตูดักช้างสาร  ว่ากันไป

เส้นทางสายสีชมพู  คือแนวคลองจากแม่น้ำสุพรรณที่ปากเพนียดคล้องช้าง  ผ่ากลางคูเมืองสมัยอยุธยา  แล้วต่อจากนั้นก็แตกแขนงอีกมากมาย  ใครอยากรู้มาถามได้


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 12:05

อ้าว  รูปไม่ขึ้น  เทคนิคไม่ดี  ต้องย่อให้เล็กลงอีกหน่อย
ลองใหม่นะครับ
นี่เป็นภาพที่อธิบายความข้างบนนะครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 12:15
 เดี๋ยวจะหาว่าโม้  คูเมืองอะไรช่างมีหลายยุคเหลือเกิน  ไม่เคยพบเจอที่ไหน  แต่มีครับ  ที่นี่  ที่สุพรรณ  เรามีอะไรหลายๆ อย่างให้ท่านดู  แล้วก็ศึกษา  ประวัติศาสตร์เมืองนี้ขาดคนดูแลศึกษามานานเหลือเกิน  เพราะที่นี่แต่ก่อนไม่มีหน่วยงานหลักๆ อยู่  ไม่มีมหาวิทยาลัยที่พอจะช่วยศึกษากันอย่างล้ำลึก

ผู้มีใจรักอยากจะศึกษา  แต่ไม่ได้มีความรู้แตกฉาน  พอเอ่ยอะไรออกมาเพี้ยนนิดหน่อย  ก็โดนท่านดุ  นี่ผมยังกลัวเลยครับ

เพิ่งจะมาเริ่มเป็นล่ำเป็นสันกันเมื่อไม่กี่ปีนี่เองครับ  ที่กำเนิดสาขาของสำนักโบราณฯ ขึ้นมาที่สุพรรณ  ที่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติขึ้นมา  ที่มีหอจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้นมา  ที่มีโรงละครแห่งชาติขึ้นมา  ที่มีหอสมุดแห่งชาติขึ้นมา

หากท่านไม่เริ่มศึกษาที่เมืองสุพรรณต้นเรื่องของสำนักงานของท่านแล้ว  จะมีใครมาศึกษากันเล่าครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 13:22

กลัวไม่เชื่อ เลยเอาแผนที่มาให้ดู ขอก็อปมาจากกรมแผนที่ทหาร ราคาเท่าไรไม่บอกกันหรอก เสียเงินไปกับเรื่องเหล่านี้หลายพันหลายหมื่น ลูกเมียอดน้อยใจเล็กๆ ไม่ได้ บอกแล้วไง ทนเอา เลือกเองนี่ ไม่มีใครบังคับ อยู่กันจนตายไปคนใดคนหนึ่ง

ถ่ายเมื่อ 13 JAN 53 แปลเป็นไทยก็วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ ครับ

ดูให้ดี ตอนนั้นยังไม่มีถนนมาลัยแมน ตรงนี้สำคัญมาก จะชี้แล้วก็จะอธิบายอะไรให้ดูอีกทีหลัง

กรอบสีส้มๆ แดงๆ คร่อมสองฟากแม่น้ำสุพรรณ คือ กำแพงเมืองคูเมืองสมัยสุพรรณภูมิครับ
หมายเลข
1 คือคลองน้ำเชี่ยว
2 คือคลองเพนียดคล้องช้าง คนสุพรรณสมัยก่อนเรียกว่า "คลองตลาด" ที่เรียกอย่างนี้เพราะคนตลาดข้ามฟากแล้วก็มาสักการะศาลเจ้าพ่อตามคลองนี้แหละ มาจากคำว่า คลองของคนตลาดรึเปล่าไม่รู้
3 คือคลองวัดป่าเลไลยก์ ขุดสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ช่วงที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) มาบูรณะวิหารและองค์หลวงพ่อโตวัดป่าไงครับ ขุดคลองเพื่อจะนำท่อนซุงมาจากแม่น้ำเข้ามายังวัดได้ ต่อมาก็เป็นคลองที่คนพายเรือกันเข้ามาชมงานประจำปี ตอนนี้คลองเหลือตี๊ดเดียวครับ ที่ดินมีค่า ใครๆ ก็อยากได้ แม้จะเป็นของหลวงก็เหอะ
4 คือวัดป่าเลไลยก์ครับ เขียนใหญ่ ก็เพราะเป็นวัดใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีครับ เรียกเต็มๆ ว่าวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
5 คือถนนป่าเลไลยก์ครับ เชื่อมระหว่างวัดประตูสารกับวัดป่าฯ คนจากตลาดข้ามฟากก็ใช้ถนนนี้ด้วย ไปสักการะหลวงพ่อโตตอนหน้าแล้ง แต่ปัจจุบันถนนนี้สั้นเหลือตี๊ดเดียวเหมือนกัน เหลือแค่จากวัดประตูสารถึงแนวปากทางศาลเจ้าพ่อฯ แค่นั้น ให้พอเป็นตำนานอันรุ่งเรืองครั้งอดีต เพราะมีถนนของนายปุย มาลัยแมนมาทับทีหลัง เลยจากศาลเจ้าพ่อไปถึงวัดป่าเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนมาลัยแมนไปด้วย
5 ริมแม่น้ำสุพรรณเหนือสุดของภาพ เพี้ยนใหญ่แล้ว พิมพ์ซ้ำ ขี้เกียจแก้แล้ว เป็นวัดหน่อพุทธางกูรครับ มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓ หากอยากฟังผมเล่าเรื่องนี้อีก ผมสืบค้นสายตระกูลคนวาดได้หมดจนถึงปัจจุบันเลยครับ ตรงนี้อยู่ตำบลพิหารแดง ชนเขตแดนกับตำบลรั้วใหญ่ คนสุพรรณเก่าๆ เรียกวัดขามหน่อ หรือวัดมะขามหน่อ
6 คือวัดพระลอยครับ เริ่มต้นเขตตำบลรั้วใหญ่ เพราะกำแพงเมืองใหญ่ครับ เลยตั้งชื่อว่ารั้วใหญ่ สมัยก่อนมีชื่อเยอะแยะ เช่นค่ายเก่า วัดนี้มีอุทยานมัจฉา เช่นเดียวกับวัดพระนอนที่อยู่เหนือวัดหน่อฯ ขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง
7 คือวัดสารภีครับ มีรูปปั้นช้างเอราวัณสามเศียรแข่งกับที่ปากน้ำ สมุทรปราการด้วยแหละ เลยไปทางตะวันตกของวัด เป็นวัดร้างชื่อวัดพระอินทร์ (แล้วก็วัดน้อยอีก ติดกันเลย) ตำนานว่าเป็นวัดเดียวกัน เพียงแต่แม่น้ำงอกออกไปทางตะวันออก วัดร้างแถวนี้เลยห่างแม่น้ำไปไกลๆ ทั้งนั้น วัดใหม่ๆ มาอยู่ริมน้ำแทน บอกแล้วไง ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผลของตัวมันเอง
8 คือวัดแค ที่ผมเล่าไว้ในกระทู้หลวงตากัน ทองมี ในเวปหนึ่งไงครับ
9 คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอกอันเลื่องชื่อ
10 คือวัดประตูสารทางเหนือ กับวัดตะไกรทางใต้
คั่นกลางแยกเหนือใต้ด้วยคลองวัดป่า
11 คือวัดพระรูป มีกรุพระขุนแผนอันเลื่องชื่อ แข่งกับวัดบ้านกร่างศรีประจันต์
12 คือโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ตั้งอยู่บนวัดร้าง ๒ วัด คือวัดพริกด้านเหนือ วัดชุมนุมสงฆ์ ด้านใต้ อ้อ ตรงวัดป่าที่ติดๆ กันนั้นเดิมชื่อวัดลานมะขวิด แล้วก็มีวัดโคกกระต่ายอยู่ประจันหน้ากับวัดชุมนุมสงฆ์ด้วย

หากจะเล่าเรื่องวัดร้างแถบนี้ เฉพาะรอบๆ กำแพงเมืองรัศมีไม่เกิน ๑ กิโลเมตร มีเป็นร้อยๆ วัดเลยครับ แต่ละวัดก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป

กุรุกุลาน้อย มึนไหมครับ เห็นว่าชอบ เลยเล่าให้ฟังเป็นกระสายยยยย หากอยากรู้วัดไหนแถวนี้ บอกมา จะคุยเป็นฉากๆ เลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 13:30

ส่งรูปให้ดูใหม่  ขยายหน่อย  เดี๋ยวหาว่าลากเส้นมั่ว
ดูแนวคลอง แนวถนน แนววัด กันให้ดี  เห็นชัดอย่างที่ผมบอกแล้วใช่ไหมครับ
แล้วแนวคูเมืองสมัยสุพรรณภูมิ  เห็นมั้ยครับ  ชัดแจ๋วเลย
เปลี่ยนรูปใหม่  ไม่ให้ซ้ำ  ของเขามีเยอะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 15:10
 ......... เมื่อประมาณ ๓๐ -๔๐ ปี (พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๘๕)  อาณาบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมีต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง  เส้นทางเปลี่ยวเพราะมีสุมทุมพุ่มไม้มาก  ผู้ประสงค์จะไปนมัสการเจ้าพ่อต้องเดินไปตามถนนนางพิม  ข้ามเรือจ้างที่ท่าวัดประตูสาร  แล้วเดินไปตามทางขรุขระ  ถ้าเป็นฤดูฝนเฉอะแฉะมาก  พวกมิจฉาชีพคอยฉกชิงวิ่งราวอยู่เนืองๆ  เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลาก  น้ำเข้าทุ่งเจิ่งนองไปทั่ว  เลี้ยงต้นข้าวในนาให้เจริญงอกงาม  รอบๆ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองล้อมรอบไปด้วยนาข้าว  ระดับน้ำในแม่น้ำในทุ่งมีระดับน้ำเสมอกัน  เวลาเย็นชาวตลาดพายเรือบดเล็กๆ หรือบางทีก็เช่าเรือจ้างแบบสำปั้นพายเข้าทางหน้าวัดประตูสาร  ลัดเลาะไปตามเพนียดคล้องช้างสมัยโบราณ (หลังอู่มิตรบำรุง) เข้าไปถึงศาลเจ้าพ่อ  รับประทานอาหารกัน  และพายเรือเล่นหน้าศาลเจ้าพ่อ  บ้างก็กระโดดน้ำเล่นเป็นที่สนุกครึกครื้น  เป็นเช่นนั้นตลอดมาทุกๆ ปี

พอย่างเข้า พ.ศ.๒๕๐๕  ได้ตัดถนนมาลัยแมนจากนครปฐม  ผ่านอำเภออู่ทองเฉือนเพนียดคล้องช้างออกไปครึ่งหนึ่ง  จึงทำให้เพนียดคล้องช้างเสื่อมสภาพไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ปัจจุบันยังมีร่องรอยเหลือยู่บ้างเพียงเล็กน้อย  ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อถนนมาลัยแมนตัดผ่านเพนียดคล้องช้าง  จึงทำให้ทางเข้าศาลเจ้าพ่อทางน้ำถูกตัดขาด  แต่มีถนนตัดต่อจากถนนมาลัยแมนเข้าสู่ตัวศาล  สะดวกสบายกว่ากันมาก  การพายเรือเข้าสู่ศาลเจ้าพ่อจึงเลิกไป ..........

ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุพรรณบุรี ๒๕๒๘
(ตอนนี้เขียนโดยลุงมนัส โอภากุล  คุณพ่อของอี๊ดแอ๊ดคาราบาว)

..................

ใครอยากรู้เรื่องเพนียดคล้องช้างเมืองสุพรรณที่ละเอียดๆ ไปคุยกับท่านได้ครับ  ท่านมักจะว่างตอนบ่ายอ่อนๆ  และต้องพักผ่อนตอนบ่ายแก่ๆ  หาเวลาสะดวกช่วงนั้นคุยกับท่าน  ท่านถือเป็นปราชญ์คนหนึ่งของเมืองสุพรรณเลยครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 15:24

อ้าว  ทำไปทำมาจากแมวการ์ฟิลด์  ไหงกลายเป็นเครื่องบินกระดาษพับซะแล้ว  เมื่อตะกี้เพิ่งคุยกวนๆ ยวนโมโหกับเจ้าแมวน้อยคอยแกล้งมนุษย์อยู่ดีๆ  ไหงเปลี่ยนให้มาคุยกับเครื่องบินกระดาษไปได้  แล้วใครจะมาคอยพยักหน้าหงึกๆ เหมือนเจ้าแมวตัวนั้นเล่า

จากเนื้อเรื่องบรรยายสภาพภูมิทัศน์รอบศาลเจ้าพ่อฯ สมัยก่อน  คงจะเห็นทั้งตอนน้ำแห้ง และตอนน้ำหลากเป็นอย่างดีนะครับ  ว่าชาวบ้านชาวช่องเขาไปกราบไหว้สักการะกันอย่างไรบ้าง

แต่ลุงมนัสท่านเล่าจากความทรงจำ  ขอแก้ไขนิดหน่อยเรื่องปีพอศอ  ท่านบอกว่าถนนมาลัยแมนตัดผ่านพะเนียดเมื่อปี ๒๕๐๕  แต่ความจริงก่อนหน้านั้นหลายปีครับ  ภาพที่นำมาโชว์นี้เป็นแผนที่ถ่ายทางอากาศเมื่อ 12 DEC 53  ซึ่งก็คือวันที่ ๑๒ เดือนธันวาคม  พ.ศ.๒๔๙๖  ปีเดียวกับกลุ่มภาพที่ผมมาโชว์ให้ดูข้างบนๆๆๆ ทุกภาพเลย  อันเดิมถ่ายตอนต้นปี  แต่อันนี้ถ่ายปลายปี  ความคมชัดของภาพปลายปีดีกว่าเมื่อถ่ายตอนต้นปีเยอะครับ

สังเกตดูให้ดีครับ  ถนนมาลัยแมนตัดผ่านแถวนี้ในปี ๒๔๙๖  สะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณตรงเจดีย์วัดกุฎีสงฆ์ที่ผมวงสีแดงไว้ยังไม่ได้ทำเลยครับ  แล้วถนนฝั่งตรงข้ามต่อจากสะพาน  ตรงที่ผ่านไปยังวัดโพธิ์คลาน - โรงเรียนอนุบาลฯ - วัดแจ้ง (ร้าง) - วัดโลกา (ร้าง) - สี่แยกแขวงการทางยังไม่มีเช่นกันครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 15:39
 แล้วด้วยความสนใจใคร่รู้  หรืออยากรู้อยากเห็นโดยไม่มีที่สิ้นสุด  เก๊าะเลยไปค้นดูว่าสะพานแห่งนี้สร้างเมื่อไรกันแน่

เจอที่หนังสือรายงานประจำปี  กรมทางหลวงแผ่นดิน  ๒๔๙๘  หน้า "ฉ" ฉิ่ง  บอกว่า

".... ส่วนการก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่ซึ่งเป็นงานเหมา  แต่มีเจ้าหน้าที่ของกองสะพานแห่งกรมทางหลวงแผ่นดินคอยควบคุมดูแลการก่อสร้าง  ให้เป็นไปตามแผนผังและสัญญานั้น  มีจำนวน ๒๐ แห่ง คือ ..

๑. สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง  ในทางหลวงแผ่นดินสายฉะเชิงเทรา - พนัสนิคม - ชลบุรี
.........
.........
๑๔. สะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณบุรี  ในทางหลวงแผ่นดินสายนครปฐม - อู่ทอง - สุพรรณบุรี
๑๕. สะพานข้ามลำพันตำลึง  ในทางหลวงแผ่นดินสายนครปฐม - อู่ทอง - สุพรรณบุรี (ตอนอู่ยาแยกเข้า จ.ว.สุพรรณบุรี)
๒๐. ..........

เฮ้อ  โล่งอก  สนองตอบต่อความอยากรู้  ตกลงสร้างเสร็จปี ๒๔๙๘ ครับ  แต่ลงรากปักเข็มก็น่าจะเป็นตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ เป็นอย่างช้า


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 15:54
 ลอกแล้วต้องลอกให้หมด  หน้า “ฌ” กะเฌอ  บอกเพิ่มอีก  เมื่อกี้ไม่เห็น  บอกว่า
“...... ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ นี้  ได้ก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ๑๕ สะพาน  รวมความยาวทั้งสิ้น ๒,๓๑๗.๙๐ เมตร  และรวมค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๓,๔๔๑,๘๑๙.๔๒ บาท (สามสิบสามล้านสี่แสนสี่หมื่นหนึ่งพันแปดร้อยสิบเก้าบาทสี่สิบสองสตางค์) คือ :-
๑. สะพานข้ามแม่น้ำยม ......
๒. ....
๔. สะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณบุรี  ที่ ก.ม.๑๐๓+๘๘๒  ในทางหลวงแผ่นดินสายนครปฐม – สุพรรณบุรี (ตอนอู่ยา – แยกเข้าจังหวัดสุพรรณบุรี)  เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 16.85 + 20.00 + 22.00 + 20.00 + 16.96 + 12.22 + 12.11 เมตร   รวมยาวทั้งสิ้น  ๑๒๐.๑๔ เมตร  ทางจราจรกว้าง ๗.๐๐ เมตร  มีทางเดินเท้า ๒ ข้าง  กว้างข้างละ ๐.๗๐ เมตร  มีเสาตอม่อรองรับสะพาน ๘ ตับ  รับน้ำหนักรถบรรทุกขนาดหนัก ๑๒ ตัน  ได้ ๔ คัน   ได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๙๗  ทำการแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๘  โดยบริษัทไทยเจริญกิจสถาปัตย์ จำกัด  เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง  รวมค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น  ๑,๘๕๕.๐๐ .- บาท (หนึ่งล้านแปดแสนห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) .......”

.......................

เห็นมั้ยครับ  ผมรักอะไรชอบอะไร ต้องเกาะติด  ใครอยากจ้างไปสำรวจอะไรบอกได้เลยครับ  หากถูกใจ  ไม่คิดเงินหรอก  ฟรีฟรี


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 12:49
 มีคนบอกว่า  ผมโพสต์เรื่องอย่างไม่สงสารคนอ่านบ้างเลย  รอๆ กันมั่งซีพี่  ไม่ได้เห็นแก่ตัวอะไรหรอก  พอดีหัวกำลังไป  ไม่งั้นเดี๋ยวสมองตันแล้วจะมาว่ากันไม่ได้อีกนะ

ผมขออนุญาตไปเรื่อยๆ นะครับ  ชอบเพลงพี่แจ้  เรื่อยๆ มาเรียงๆ

ต่อกันเลยนะครับ  เมื่อคืนไปค้นหาอ่านหนังสือเพิ่มเติม  ที่เก็บๆ ไว้ทั้งนั้นแหละ  ครบ ๒๐ เล่มตามที่คุยรึยังล่ะ  กว่าแล้วมั้ง  แล้วก็ที่ยังไม่ได้มาโชว์อีกเยอะ

ตอนนี้เอาเกี่ยวกับเกร็ดเรื่องเพนียดคล้องช้างมาต่อหน่อยละกัน  มีอีก ๒ สำนวนครับ

ตรงนี้ลอกมาจาก "ตามรอยสุนทรภู่ ในนิราศสุพรรณ" ของ นวลพรรณ ยิ้มยวน,  ๒๕๒๖


........ มีผู้รู้สันนิษฐานว่าตรงหน้าวัดประตูสารมีท่าน้ำลาดลงกว้างใหญ่   เป็นดินทราย  หน้าแล้งน้ำตื้นเดินข้ามได้  ตรงที่ตั้งวัดนี้คงจะเป็นช่องทางนำช้างหลวงลงอาบน้ำ  เพราะเหนือน้ำขึ้นไปมีแอ่งลึกข้างโคกใหญ่ว่า  เคยเป็นคอกช้างเรียกคอกช้างดินมาก่อน  ประกอบกับท่าน้ำตรงคอกช้างติดกับท่าสิบเบี้ยมีตลิ่งสูงไม่เหมาะสมกับการนำช้างลง  จึงสนับสนุนกับคำสันนิษฐานดังกล่าว


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 12:59
 แล้วนี่ก็อีกสำนวนหนึ่ง
จาก  “ประวัติวัดประตูสาร”  เอกสารโรเนียว  โดย  พระบุญช่วย ปวฑฺฒโน (ศรีโมรา) รองเจ้าอาวาสขณะนั้น

........ พื้นที่เหนือวัดประตูสารขึ้นไปประมาณ ๑๐๐ เมตรเศษ  ที่ตรงนั้นเป็นคู   สืบมาจากผู้ใหญ่บอกว่า  ที่ตรงนั้นเป็นเพนียดคล้องแต่โบราณกาล  คาดว่าเป็นเพนียดคล้องช้างสมัยอู่ทอง  จนล่วงเข้ามาอยู่สมัยอยุธยา  เมื่อควาญช้างไปไล่ต้อนช้างจากป่าสูงมาเข้าเพนียด  ควาญช้างจะค่อยๆ คัดเลือกเอาช้างที่มีลักษณะดีไว้ใช้งาน  หรือเพื่อเป็นช้างศึกต่อไป   ต่อมาควาญช้างก็พยายามเอาช้างป่าออกมาฝึกทีละตัวสองตัวใกล้ๆ กับบริเวณคอกช้าง  ก็คือที่วัดประตูสารนั่นเอง  บางทีก็เอาช้างไปลงอาบน้ำที่ท่าวัด  เพราะมีชายตลิ่ง  ส่วนบริเวณที่เพนียดคล้องช้างหรือเหนือขึ้นไปชายตลิ่งสูงชัน  ไม่เหมาที่เอาช้างไปลงน้ำได้  ดังนั้นจึงเอาช้างมาลงน้ำที่ท่าวัดประตูสาร  อันเป็นประตูของช้างนั่นเอง...............


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 13:16
 ขอเพิ่มเติมอีกสักหน่อยครับ

มีความสำคัญ  ไม่อยากละเลยไป  เมื่อคืนกลับไปนึกๆ ดู  จำได้ว่ายังมีอีกคลองหนึ่งด้วยครับ

ในคหพต.๒๓  ตรงข้อ ๒ คลองเพนียดคล้องช้าง  คนสุพรรณสมัยก่อนเรียก "คลองตลาด"  แต่พอเกือบๆ ถึงวัดผึ้ง (ร้าง) มีคลองอีกคลองหนึ่งมารวมกันตรงนี้ที่เขาเรียกกันว่าคลองวัดผึ้ง  แล้วถึงได้ผ่านต่อไปยังศาลเจ้าพ่อฯ  บางทีคนก็เรียกคลองหน้าศาลเจ้าพ่อฯ ว่า "คลองวัดผึ้ง"  ด้วยครับ  เรียกกันยาวไปจนถึงวัดป่าด้วยเลยแหละ

คลองนี้แยกจากแม่น้ำสุพรรณใต้เพนียดคล้องช้าง  ก็คือแยกระหว่างวัดเขาใหญ่ (ร้าง) ทางเหนือ กับวัดประตูสารทางใต้  ใช้ได้เฉพาะหน้าน้ำเท่านั้น  พอหน้าแล้งก็เป็นทางเดินธรรมด๊าธรรมดาไป

วัดเขาใหญ่ (ร้าง)  เป็นถิ่นฐานบ้านเดิมของขุนศรีวิชัย (พ่อขุนช้าง) ที่เป็นนายกรมช้างนอกในวรรณคดีนั่นแหละครับ  เห็นมั้ยครับ  วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน  ใช้ฉากสมจริง  น่านับถือ

และก็สมจริงอีกอย่าง  ที่ท่านเป็นคนรวย เพราะเขตแดนของผู้ดีเก่าเมืองสุพรรณ  ก็อยู่ตรงวัดประตูสารนี่เอง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 13:53
 ค้นมาให้อ่านเพิ่มเติมกัน  ว่ารอบข้างของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมีความสำคัญกันขนาดไหน


....... ถัดขึ้นไปทางเหนือเป็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  คู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี  สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอู่ทองตอนปลาย  มีการบูรณะโดยกษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง สุพรรณภูมิ มาตลอด  ถัดขึ้นไปเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  กึ่งกลางของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  เป็นพระราชวังกษัตริย์สมัยอู่ทอง  ซึ่งนายจรินทร์ กาญจโนมัย  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  มีดำริจะฟื้นฟูโบราณสถานนี้ขึ้นใหม่  แต่ท่านเสียชีวิตไปก่อน.....

"ตามรอยสุนทรภู่ ในนิราศสุพรรณ" ของ นวลพรรณ ยิ้มยวน  ๒๕๒๖


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 17:12

เอาแผนที่มาโชว์กันอีกหน่อยครับ
ดีใจจัง  ให้เราใส่ภาพได้ตั้ง ๕๐ กิโลไบต์ต์ต์แย้ว

เอ แต่ทำไมของรักของโปรดที่ท่านให้เรา  เดี๋ยวเป็นแมวการ์ฟิลด์  เดี๋ยวเป็นเครื่องบินเด็กเล่น  แต่ก็ยังดี  แสดงว่าเราเริ่มมีความสำคัญแล้วล่ะ

แผนที่ทางอากาศของเมืองสุพรรณที่เคยถ่ายไว้  มีเพียง ๔ ครั้งเองครับ ดังนี้
๑. ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๖ (รูปใน คหพต.๒๓,๒๔)
๒. ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๖ (รูปใน คหพต.๒๖)
๓. ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘  ตอนที่ทำ สปก. ไงครับ (รูปใน คหพต.๒๑)
๔. ถ่ายเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗

สำหรับรูปที่เอามาโชว์นี้  ถ่ายเมื่อครั้งสุดท้ายปี ๒๕๓๗ ครับ  เห็นมั้ย  เมืองสุพรรณมีถนนหนทางยิบไปหมด  ใครขับรถผ่านไปผ่านมาก็อิจฉา  แก้วน้ำตั้งมาบนรถก็ไม่กระฉอกเลยสักนิด

แต่ที่สำคัญ  แนวคูเมืองสมัยเก่าที่เขาบอกว่าเป็นสมัยสุพรรณภูมิหรืออู่ทองเนี่ยะแหละ  ที่คร่อมสองฟากฝั่งแม่น้ำ  หายวับเลย  ไม่มีเค้าโครงเดิมให้เห็นแม้แต่น้อยนิด  บ้านเรือนเข้ามาปลูกแทนที่เต็มไปหมด  ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  รู้แต่ว่าเป็นแอ่งๆ ยาวๆ น้ำขังเฉอะแฉะ  ทั้งผักตบผักปอด  ทั้งบอนขึ้นเต็มลำราง

เราพอมาเห็นภาพถ่ายทางอากาศอย่างนี้เข้า  เลยคุยเป็นช่องไปเลย  เป็นยุคโลกาภิวัตรครับ  จะเสียดมเสียดายก็ไม่ได้  เขาจะรำคาญว่าเป็นคนขวางโลก  อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด  ห้ามความเจริญของบ้านเมืองไม่ได้


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ส.ค. 06, 17:30

เอาภาพสวยๆ มาโชว์อีกสักภาพ แต่พอย่อแล้วเลยไม่สวยเท่าใดเลย

A คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  ตรงปลายจริงๆ คือตัวศาลครับ

B คือ บ้านยะมะรัชโช  เป็นบ้านเกิดของท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ครับ  บ้านหลังนี้เคยเป็นที่ประทับของ ๒ รัชกาลมาแล้ว  คือ ร.๕ เมื่อเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณทั้งสองครั้ง  และ ร.๖ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ ครับ  ดูจากรูปจะเห็นได้ว่า  ฝั่งตรงข้ามบ้านของท่าน  เป็นแนวคูเมืองที่มาเปิดลงสู่แม่น้ำสุพรรณทางใต้เลยครับ (ส่วนแนวคูเมืองที่เปิดลงสู่แม่น้ำสุพรรณทางตอนเหนืออยู่ที่วัดแค  แต่ตอนนี้มีบ้านชาวบ้านและคุ้มขุนแผนของจังหวัดฯ ปลูกทับคูเดิมแล้วครับ)

C คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช  ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  ที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้ริเริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๖๙ ในอาณาเขตที่ติดกับบ้านเดิมของท่าน  และอยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ (ร้าง)


ภาพจากหนังสือ  "แผนแม่บท โครงการบูรณะและอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี"    โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี  ๒๕๓๙


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 07 ส.ค. 06, 08:56
 ทำไมที่นี่ถึงได้เงียบเหงาอย่างนี้นะ
ทั้งเวป  แล้วก็ทั้งตัวศาลเจ้าพ่อเลย  ต่างฝ่ายต่างปลีกวิเวกกันจัง


พูดถึงลักษณะโดยทั่วไปเกี่ยวกับที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมืองสุพรรณไปแล้ว  พูดถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องบางส่วนไปบ้างแล้ว  แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดนัก  จะมีรายละเอียดอีกเยอะครับ  ไม่รู้กระทู้นี้จะยาวเป็นเดือนรึเปล่า  ขนาดรีบๆ เร่งๆ ไม่คอยใครแล้วนะ

คราวนี้จะมาคุยเกี่ยวกับคติที่เกี่ยวข้องกับศาลเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบ้าง  ว่ามีความสำคัญอย่างไร  และมีเรื่องราวในอดีตเป็นอย่างไร

......................

หนังสือ "เมืองสุพรรณ  บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕"  โดย วารุณี โอสถารมย์  สนพ.ม.ธรรมศาสตร์ ๒๕๔๗  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"......สัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของความศรัทธาร่วมกันของชาวเมือง  คือ ศาลหลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์  ศาสนสถานทั้งสองแห่งนี้  ได้มีบทบาทแทนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  วัดศูนย์กลางของเมืองในอดีตสมัยอยุธยา......"

เห็นมั้ยครับ  ขนาดวัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งเป็นวัดสำคัญของเมือง  และเป็นสัญลักษณ์ของเมือง  ยังถูกแทนที่ด้วยวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณเลยครับ

ซึ่งพิจารณาดูแล้วก็เห็นจริงด้วย  เพราะตอนนี้คนสุพรรณกล่าวถึงวัดพระธาตุ  (คนสุพรรณเรียกกันอย่างนี้ครับ) ในเรื่องความนับถือ ความเชื่อถือ หรือความศักดิ์สิทธิ์กันน้อยมาก  หากจะไปบนบานศาลกล่าว  ก็ต้องไปยังสถานที่ทั้งสองแห่งที่เอ่ยนามมา  น้อยมากที่จะหลงมาบนกันที่วัดนี้

รวมทั้งวัดนี้ก็มีความตกต่ำมาโดยตลอดแม้ในแง่ของการอนุรักษ์จากกรมศิลปากร  ที่เข้ามาร่วมในภายหลัง  ซึ่งช้ามากๆ  แล้วพอซ่อมแซมองค์พระปรางค์แล้ว  ไม่รู้ว่ายอดนพศูลเดิมซึ่งมีความสวยงามมากหายไปทางไหนแล้ว  มีแทนด้วยของใหม่ซึ่งตอนแรกๆ ก็หักๆ งอๆ  แล้วไม่กี่ปีก็ต้องใส่ของใหม่อีกแทน  เฮ้อ  กรมศิลป์หนอกรมศิลป์  ทำไมไม่ยอมบูรณะให้ดีๆ บ้างเลย

ในส่วนของการเชิดชูให้เป็นพระอารามหลวง  กรมศาสนาท่านก็ไม่ยอมซักกะที   ซึ่งตอนนั้นมีหลักเกณฑ์มากมายว่าวัดจะต้องทำอย่างงั้นอย่างงี้ให้ได้ก่อน  ถึงจะมีสิทธิ์ขอหรือสิทธิ์ได้เป็น  ซึ่งมันก็เป็นการตั้งแง่มุมที่มากไป  และเกินกำลังของวัดกับชุมชนรอบข้างด้วย  ทั้งบอกว่าวัดจะต้องสร้างกุฎิสร้างอะไรต่อมิอะไรให้เสร็จเรียบร้อยดีเสียก่อน  ไม่งั้นเหมือนจะเป็นการอาจเอื้อม  แล้วจะให้ซ่อมแซมพวกเจดีย์ต่างๆ ด้วย  แหม  เดี๋ยวซ่อมผิดไปท่านก็มาว่าอีก  ท่านมีความรู้ดีๆ มีหลักดีๆ ทำไมไม่ลงมาทำซะเองก่อนที่ใครจะมาทำให้เละไปก่อนซะล่ะ

ท่านตั้งหลักเกณฑ์ของท่านอย่างนี้  เหมือนกับไม่อยากจะให้  แล้วทำไมบางวัดดูไม่เห็นมีความสำคัญแต่อย่างใด  ทำไมถึงได้ง่ายๆ ก็ไม่รู้  ใครไม่รู้จริงหรือรู้ไม่ชัดอย่างผม  ก็เข้าใจว่าเส้นใหญ่  จริงป่าว


ท่านติบอขอรับ  วันนี้ผมขี่รถถังมาเองเลยนะ  เจ้าแมวน้อยการ์ฟิลด์เพื่อนยากหัวเราะก๊ากเลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 07 ส.ค. 06, 09:04
 ขออภัยด้วยครับ
เมื่อวานไม่ว่างเข้ามาต่อความยาวสาวความยืดเลย
วันนี้ก็ไม่ว่าง  แต่แวบมาอ่านนิดหนึ่ง  แล้วก็จะรีบปิดแล้ว

หากท่านนักวิชาการหรือผู้สนใจท่านใดแวะเวียนเข้ามาอ่าน
แล้วเกิดติดใจหรือสงสัยประการใด  ชี้แนะได้ครับ
หรือจะลงนามเยี่ยมไว้สักนิด  จะทำความอบอุ่นใจให้กับข้าพเจ้ามาเป็นอย่างยิ่ง


พรุ่งนี้เจอกันใหม่ครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 07 ส.ค. 06, 10:57
 โอย....เร็วจังเลยค่ะ คุณนิค  


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 08:52
 รวดเร็วซีครับ  วัยรุ่นมันร้อน  ร้อนวิชานะครับ  อย่างอื่นเย็น  ต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ แล้วก็ท่องคาถาไว้ให้ดีๆ  ใจเย็นๆ ไว้พรรคพวก

ขอบ่นไปเรื่อยๆ ตามประสาผมก็แล้วกัน  เห็นตอนนี้กำลังฮ้อทเรื่องความขัดแย้ง  น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดกันด้วยนา  ลองไตร่ตรองกันให้รอบคอบดูดิ  พอโมโหใจสั่นหรือใจจะขาดก็ให้นับหนึ่งถึงร้อย  ถ้ายังร้อนอยู่ก็เพิ่มไปจนถึงพัน  ถึงพันแล้วยังรุ่มร้อนอยู่ก็เพิ่มจนถึงหมื่นเลยเอา  ผมไม่ว่าอะไรท่านหรอก

คิดว่าทุกคนคงจะเจอกันบ้างแล้วล่ะ  ความเห็น  ความรู้สึก  จนเกิดเป็นความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ กัน  มากบ้างน้อยบ้าง   ผมก็เคยเจอครับ  แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจหรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  หรือเพราะความหนุ่มคะนองของเราก็แล้วแต่  แฮ่ะ แฮ่ะ ฉายหนังซ้ำ หนุ่มคะนอง   พอเคลียร์ปัญหาคาใจกันจบสิ้นแล้ว  ก็ต้องแล้วกันไป  เราก็ยินดีที่สิ่งเหล่านั้นจบลงด้วยดี   แล้วบ้านที่พวกเรามาพักพิงแห่งนี้ก็สงบร่มเย็นเหมือนเดิม

ผมรักชอบที่จะอ่านแล้วก็ร่วมมือกันเสนอความรู้ในรูปแบบต่างๆ ครับ  พูดให้ถูกก็คือ  ผมถือว่ามาร่วมแชร์ประสบการณ์  เพราะหากแชร์ความรู้คงสู้ใครในนี้ไม่ได้หรอกครับ   อย่างกับในหลายกระทู้   ผมไม่มีความรู้เลยแม้แต่นิดเดียว   แต่เหมือนเป็นความท้าทายครับ    บางทีการมาแสดงความคิดเห็นในนี้เหมือนถือว่ามาช่วย จขกท. พิมพ์ส่งงานละกัน  มีอะไรก็ตักเตือนกันได้  พูดจริงๆ นะ  จะบอกให้

ผมเคย sms คุยกับเพื่อนรักท่านหนึ่งในนี้ว่า   พวกเราหลายคนในนี้โตกันแล้ว  เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว  วุฒิภาวะก็มีพอสมควร   หลายคนมีตำแหน่งหน้าที่การงานกันก็ดีพอสมควร  อย่าไปถกเถียงอย่างไม่สร้างสรรค์เลย  มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  แล้วก็จะมัวหมองกันทั้งสองฝ่าย  ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก   เสียเวลาและความรู้สึกเปล่าๆ  

ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก   คนเรามีอารมณ์กันทุกคนครับ  แต่หากเริ่มมีสติตั้งแต่ต้น  ก็ถือได้ว่าท่านเป็นผู้ชนะ   อย่างน้อยก็ชนะใจตนเองครับ   สู้เอาเวลาที่ถกเถียงกันนี้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่า

ผมแอบอ่านและแอบปลื้มหลายท่านในนี้มากเลยครับ   แต่จะขออนุญาตเอ่ยนามสักคน   ท่านคงไม่ว่ากระไร   เพราะตอนหลังหายหน้าหายตาไป   ผมยังรอคุณโพธิ์ฯ เข้ามาร่วมพูดคุยเสนอแนะกันในนี้อีกคน  และอีกครั้งด้วยครับ   ท่านมีรูปสวยๆ มาอวดเสมอ   แม้ผมจะไม่มีความรู้เรื่องที่ท่านได้คุยกันเลย   แต่ผมชอบดูรูปครับ  ผมเป็นโรคแพ้ความสวย   นานเท่าไรก็จะรอครับคุณพี่   แต่ตอนมา  อย่าขี่รถถังมาละกัน

อ้าววววว  ผมพูดอะไรผิดไปป่าว  ผมมีอารมณ์สนุกเสมอครับ  อย่าถือสาหาความอะไรเลย  ที่แซวคุณโพธิ์ฯ ว่าขี่รถถัง  กรุณาอย่าตีความไปในทางอื่นนะครับ

เป๊ง  ระฆังตีหมดยกแล้ว   ท่านต้องหยุดกันแล้วนะ  ไม่อย่างงั้นกรรมการคนนี้จะแจกใบเหลืองนะครับ  แจกฟรีๆ ไม่ยั้งมือด้วย  ใครได้ถึงสองใบ  เรียบร้อย




ในที่สุด  เรือนไทยของเราก็กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง  ไชโยๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 10:05
 ต่อจาก คหพต.๓๕ ครับ
เกี่ยวกับคติที่เกี่ยวข้องกับศาลเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณในอดีต  ตอนนี้จะกล่าวเกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณ  หมายถึงเจ้านายพระมหากษัตริย์กับพระราชวงศ์นะครับ  ไม่ใช่เจ้า  ที่เป็น  เจ้าที่เจ้าทาง

หนังสือที่รวบรวมได้ฮิตที่สุดก็เป็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพครับ


.... เรื่องศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณบุรีนั้น  หม่อมฉันจะทูลได้ถึงเป็นเรื่องตำนานด้วยเคยเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันด้วยมาก  แต่ยังไม่เคยเขียนลงเป็นหนังสือ  จึงจะเลยทูลบรรเลงเรื่องมาแต่ต้น  เมื่อ ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕)  หม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อขึ้นปีใหม่พอถึงเดือนตุลาคม   ในปีนั้นก็ไปตรวจหัวเมืองเหนือ  ขากลับหมายจะขึ้นเดินบกที่เมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณแล้วกลับกรุงเทพฯ  จึงสั่งให้เรือไปคอยรับที่เมืองสุพรรณ  ครั้นกลับลงมาถึงเมืองอ่างทองเวลานั้นพระยาอ่างทอง  (ชื่อเถียนหรือชื่อไรสงสัยอยู่  แต่เคยเป็นหลวงนายฤทธิ์อยู่นาน  คุ้นกับหม่อมฉันมาแต่เด็ก) ......

สาส์นสมเด็จ  กรมดำรงฯ ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๑๑ มี.ค. ๗๙

....................

ตรงนี้เราหาอ่านได้ทั่วไปจากนิทานโบราณคดี  เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 10:44
 แล้วสมเด็จกรมนริศฯ ก็ตอบในสาส์นสมเด็จ ล.๑๑ ลว.๒๐ มี.ค. ๗๙ บางตอนเกี่ยวกับพระยาอ่างทองว่า

"..... พระยาอ่างทองที่ตรัสถึง  ถ้าผิดชื่อเถียรก็เห็นจะเป็นเขียน  เป็นพ่อกลีบพี่เลี้ยงผู้หญิงของเกล้ากระหม่อมเอง ....."


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 11:09
 คัดลอกตัดตอนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคตินี้มาให้อ่านกันครับ  จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นอ่านกันที่อื่น

นิทานที่ ๔  เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

มีคติโบราณถือกันมาแต่ก่อนว่าห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี  จะห้ามมาแต่เมื่อใด  ห้ามเพราะเหตุใด  ถ้าเจ้านายขืนเสด็จไป  จะเป็นอย่างไร  สืบสวนก็ไม่ได้ความเป็นหลักฐาน  เป็นแต่อ้างกันต่างๆ ว่า   เพราะเทพารักษ์หลักเมืองไม่ชอบเจ้า  เกรงจะทำอันตรายบ้าง  ว่ามีอะไรเป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณ  เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริตบ้าง  แต่เมื่อมีคติโบราณห้ามอยู่อย่างนั้น  เจ้านายก็ไม่เสด็จไปเมืองสุพรรณ  เพราะไม่อยากฝ่าฝืนคติโบราณหรือไม่กล้าทูลลา   ด้วยเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่พระราชทานอนุญาตให้ไป   อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ไหนได้เคยเสด็จไปเมืองสุพรรณ  จนมาตกเป็นหน้าที่ของฉันที่จะเป็นผู้เพิงถอนคตินั้น  ดูก็ประหลาดอยู่

เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ในปีนั้นฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ  ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก  สวรรคโลก  สุโขทัย  เมืองตาก  แล้วกลับลงมาทางเมืองกำแพงเพชร  มาประจบทางขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์  แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง  หยุดพักอยู่ ๒ วัน   สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะ  กับคนหาบหามสิ่งของเพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี  เวลานั้นพระยาอินทรวิชิต (เถียร)  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง  แกได้รับราชการในกรมมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๔  เคยอุ้มฉันมาเมื่อยังเป็นเด็ก  จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมือง  แต่สังเกตดูแกไม่เต็มใจจะให้ฉันไปเมืองสุพรรณ ........

........... แต่แกไม่นิ่ง  ออกจากฉันแกไปหาพระยาวรพุทธิโภคัย  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชการที่ไปกับฉันไปถามว่า  "นี่ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ  ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม"  พระยาวรพุทธิฯ ก็เห็นจะออกตกใจ  มาบอกฉันตามคำที่พระยาอ่างทองว่า  ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้กลับไปถามพระยาอ่างทองว่า  ห้ามเพราะเหตุใดแกรู้หรือไม่  พระยาอ่างทองบอกมาว่า  "เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย  ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดภัยอันตราย" ...............

............. เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย  ฉันคิดว่าเทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้  จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน  ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น  ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี  ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่  เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่า  เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม  รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมือง  ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน  คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก  ไม่เห็นว่าน่าวิตกอย่างไร  พระยาอ่างทองจนถ้อยคำสำนวนก็ไม่ขัดขวางต่อไป .......


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 11:22
 นิทานโบราณคดี  เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ  ต่อ

ตอนนี้เกี่ยวกับความเชื่อของคนสุพรรณในเรื่องเจ้าเรื่องผีในทัศนะของกรมดำรงฯ เมื่อสมัยนั้น  แล้วก็พอจะเกี่ยวข้องกับเรื่องศาลเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบ้างครับ

...... เมืองสุพรรณเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในทางโบราณคดี  แต่จะรอเรื่องนั้นไว้พรรณนาในนิทานเรื่องอื่น  จะพรรณนาว่าแต่ด้วยของบางอย่างอันมีที่เมืองสุพรรณแปลกกับบรรดาเมืองอื่นๆ บรรดาได้เคยเห็นมาแต่ก่อน  คืออย่างหนึ่งมีศาลเจ้ามากกว่าที่ไหนๆ หมด  จะไปทางไหนๆ ในบริเวณเมือง  เป็นแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสายตา  เป็นศาลขนาดย่อมๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี  ทำแต่ด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี  ล้วนมีผ้าแดงหรือผ้าสีชมพูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย  สังเกตเพียงตรงที่จวนเจ้าเมือง  มีศาลเจ้ารายรอบถึง ๔ ศาล   อาการส่อว่าชาวเมืองสุพรรณเห็นจะกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาช้านาน   ที่เรียกว่าเจ้าผีนั้นต่างกับเทพารักษ์   บอกอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ   เทพารักษ์ คือ เทวดาที่บุญพามาอยู่ประจำพิทักษ์รักษาอาณาเขตแห่งใดแห่งหนึงให้อยู่เย็นเป็นสุข   แต่เจ้าผีนั้นคือมนุษย์ที่สิ้นชีพไปแล้ว  ผลกรรมทำให้ต้องท่องเที่ยวเป็นผีอยู่ยังไม่สามารถไปถือกำเนิดใหม่ได้  ถ้าผีไม่ชอบใจใครก็อาจจะทำร้ายให้เดือดร้อนรำคาญ  เพราะฉะนั้นคนจึงกลัวผี  ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็ต้องเอาใจผี  เช่น ปลูกศาลให้สำนักและเซ่นวักเรียกว่า  "เจ้า"  มิให้ผีเบียดเบียน  บางทีที่กล่าวกันว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีดุร้าย  จะเกิดแต่ชาวสุพรรณเอาคติเจ้าผีไปปนกับเทพารักษ์ก็เป็นได้ ......


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 14:51
 นิทานโบราณคดี  เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ  ต่อ

..... ตั้งแต่ฉันไปถึงเมืองสุพรรณครั้งนั้นแล้ว  เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ  แม้ตัวฉันเองต่อมาก็ชอบไปเมืองสุพรรณ  ได้ไปอีกหลายครั้ง  เมื่อรัชกาลที่ ๕ ฉันได้รับราชการเป็นตำแหน่งผู้จัดการเสด็จประพาสมาแต่ยังเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ  เมื่อมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้บังคับบัญชาการตามหัวเมืองหน้าที่นั้นก็ยิ่งสำคัญขึ้น  เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงใคร่จะทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่  ต้องคิดหาที่เสด็จประพาสถวายทุกปี  ปีหนึ่งฉันกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี  กล่าวว่า  "ฉันก็นึกอยากไป  แต่ว่าไม่บ้านะ"  ฉันกราบทูลว่า  "ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว  ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้"  ทรงพระสรวลตรัสว่า "ไปซิ" ......

....... ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว  ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ  เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว   จึงเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเสีย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 14:55
 ยังมีอีกบางสำนวนนะครับ  คติเรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปสุพรรณ  ขอเวลาหน่อย

คราวนี้เป็นสำนวนชาวบ้านแล้วล่ะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 15:34
 เอ  ใครมาบุ๊คมาร์คชื่อเรา  ตีเส้นไว้ซะด้วย  ที่ ๔๔  ที่เดียวด้วย  อย่าคิดมากเลยน่า

ประสบการณ์จวนครบร้อยแล้ว  ทางเวปมาสเตอร์คงเตรียมของเล่นอะไรใหม่ๆ ไว้ให้แล้วล่ะ

ร้องเพลงรอก่อน


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 08:32
 คราวนี้มาชมสำนวนชาวบ้านบ้างครับ

จาก "สุพรรณบุรีเมืองโบราณ  เอกสารเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี"  โดย นวลพรรณ ยิ้มยวน  รร.กรรณสูตศึกษาลัย สุพรรณบุรี, ๒๕๔๓

......... นอกจากนี้ยังปรากฏในตำนานท้องถิ่นว่า  ผู้มีศักดิ์คนหนึ่งได้อธิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองสุพรรณว่า  ถ้ากู้บ้านกู้เมืองได้  จะยกเมืองสุพรรณบุรีเป็นราชธานี  ท่านผู้นั้นได้เลยไปพักค้างคืนที่วัดเซิงหวายนี้ (นามเดิมของวัดกุฎีทองเมืองสุพรรณ – NickyNick)  กลางคืนนอนกรนเสียงไพเราะเหมือนเสียงดนตรี  เจ้าอาวาสวัดทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์  ท่านผู้นั้นจึงบอกว่าถ้าเป็นจริงจะนำเสลี่ยงทองคำมาให้  และสร้างกุฎีทองคำให้  ปรากฏว่าท่านผู้นั้นได้เป็นกษัตริย์จริง  ด้วยความไม่เหมาะสมบางประการจึงใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองสุพรรณบุรีโกรธ  โดยเฉพาะพระวิษณุที่ศาลหลักเมืองขว้างจักรไปกรุงศรีอยุธยาหมายสังหาร   แต่จักรได้ปะทะกับต้นไม้ที่วัดหนึ่งเป็นรอยบากไปทั้งต้น  ต่อมาจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดกงจักร (อยู่เหนือวัดกุฎีทองประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตรแค่นั้น – NickyNick)  ซึ่งเป็นที่มาของคติที่ห้ามเจ้าไม่ให้มาเมืองสุพรรณบุรีอีกเหตุผลหนึ่ง

................

หากเป็นอย่างที่กล่าว  แสดงว่าศาลเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณแห่งนี้  น่าจะมีมาแต่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาอีกด้วยนะครับ  แต่ว่าตำแหน่งต้องแตกต่างจากตรงนี้นิดหน่อย  เพราะตำแหน่งของปัจจุบัน  ในอดีตเป็นท้องร่องคูเมืองเชียวแหละ

ก็เป็นเรื่องของตำนานครับ  แล้วการที่ท่านขว้างจักรไปกรุงศรีอยุธยา  แล้วไปติดที่วัดกงจักรในปัจจุบัน  แสดงว่าฝีมือท่านคงไม่แม่นเท่าไร  แล้วก็เล็งผิดทิศด้วย  จากศาลเจ้าพ่อฯ ไปกรุงศรีอยุธยาต้องเล็งไปทางตะวันออก  แต่นี่ท่านกลับขว้างมาทางใต้  หรืออาจเป็นกลวิธีในการขว้างจักรก็ได้  ต้องขว้างเอียงๆ ให้มันแฉลบๆ  อิอิอิ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 08:53

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สักหน่อย  จะเป็นนักวิชาการกะเค้าซะทีต้องแสดงหลักฐาน  ให้แม่นยำ  ไม่งั้นจะว่ามั่ว

ดูตามรูปนี้นะครับ
1 คือศาลเจ้าพ่อฯ  เดิมก็ตำบลรั้วใหญ่  แต่ปัจจุบันทางเทศบาลขอดูดไปเป็นส่วนหนึ่งของตำบลท่าพี่เลี้ยงซะแล้ว  ตั้งแต่ขยายเขตเทศบาลรอบ ๒ พ.ศ.๒๕๐๙ ครับ
2 คือวัดกงจักร ตำบลรั้วใหญ่
3 คือวัดกุฎีทอง ตำบลรั้วใหญ่
4 คือแนวขว้างจักรไปอยุธยา  จากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  ให้คิดไว้ว่าแต่เดิมศาลอยู่ตรงนี้ก่อนนะครับ
5 คือแนวที่จักรมาบากเอาต้นไม้ที่วัดกงจักรครับ  ดูตรงนี้แล้วแสดงว่าท่านฝีมือไม่ถึง  หรือว่าแต่เดิมศาลเจ้าพ่อหรือองค์เทพารักษ์หลักเมืองท่านอาจสถิตอยู่ทางตะวันตกของวัดกงจักรก็ได้นะครับ  เอ น่าสนใจ  นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายน่าจะลองหาข้อมูลดูนะครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 11:50
 ต่อไปก็เป็นคติที่นำมาสู่ประเพณีทิ้งกระจาดในปัจจุบัน

ประเพณีทิ้งกระจาดในประเทศไทย  เท่าที่ทราบตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๓ ที่
๑. วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ
๒. วัดพนัญเชิง อยุธยา  ทั้งสองที่แรกนี้มีหลวงพ่อโต "ซำปอกง" เป็นประธานในพระวิหาร
๓. งานทิ้งกระจาดประจำปีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มูลนิธิป่อเต็กตึ้งเขาจัดกันที่เยาวราช  จะเป็นงานประจำปีรึเปล่า

แต่ที่จังหวัดสุพรรณขณะนี้จัดเป็นงานใหญ่ที่สุดของประเทศเชียวครับ  รวมแล้วจัดนานเกือบเดือน  แต่เฉพาะปีนี้ขยายเป็นเกือบ ๒ เดือนเลยครับ  เหตุผลเป็นเพราะอะไร  เชิญหาอ่านกันได้เอง  หรือสอบถามกันได้เองเลยครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:40
 สวัสดีครับคุณNickyNick คุณกุรุกุลา คุณติบอ และ คุณ Tuka007
ไม่ได้แวะมานานเลย เจอกระทู้นี้ คิดว่าเป็นกระทู้ที่ดีอีกกระทู้หนึ่ง ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ
เหมาะกับผมตั้งใจจะโพส "เที่ยวชมพุทธสถานสุพรรณภูมิ : ตอนที่ ๒ เมืองสุพรรณ" พอดี
เลยขออนุญาติท่านเจ้าของกระทู้ ฝากรวมกันไปเลย ถือเสียว่าให้ท่านเจ้าของบ้าน
พาเที่ยวคงจะดีกว่า คงจะไม่ว่ากันนาครับ อีกอย่างไม่อยากขับรถถังเข้าเมืองครับ

แม่น้ำสุพรรณ ? เห็นยอดพระปรางค์วัดมหาธาตุอยู่ลิบๆ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:42

มะขามยักษ์ วัดแค
เล่าเรื่องวัดแคให้ฟังบ้างเน้อ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:46

เจดีย์เหลี่ยม วัดมรกต (วัดสมรโกฐ ?) โบราณสถาน? อยู่กลางสนามกีฬาของคนสุพรรณ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:50

พระพุทธไสยาสน์ วัดพระรูป
ถ้าท่านมีโอกาสแวะไปนมัสการกันสักครั้งครับ
พุทธศิลปอู่ทองก็งามไม่แพ้พุทธศิลปสุโขทัย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:53

พระเจดีย์เหลี่ยม วัดพระรูป ยังปรากฏลายปูนปั้นประดับอยู่บ้าง
ผมสันนิษฐานว่าจะเป็นภาพตอนประสูติ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:55

พระเจดีย์ลังกา วัดกุฏีสงฆ์


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:57

ริมน้ำ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 02:58

ใบเสมา วัดไชนาวาส ที่ อ.ประยูร เคยกล่าวถึง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 03:01

รูปประติมากรรมนูนต่ำ ในพระปรางค์วัดมหาธาตุ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 03:03

มหาธาตุ สุพรรณ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 03:04

วัดมหาธาตุ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 03:05

วัดมหาธาตุ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 10 ส.ค. 06, 03:06

วัดช่องลม
ฝากคุณ NickyNick พาชมทีครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 08:37
 เช้านี้มาเปิดอ่าน  ตะลึงครับ  ไม่อยากเชื่อเลยว่าที่บ่นๆ พึมพำเชิญท่านเข้ามาคุย  จะได้ผลปานฉะนี้  ยังไงก็ยินดีที่ท่านเข้ามาร่วม  เป็นเกียรติกับผมมากเลยครับ

แต่ก็ขอออกตัวก่อนว่า  หากจะนำเที่ยวสุพรรณ  คงจะยืดยาวเกินไป  เพราะยังเหลือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอีกตั้งมากมาย  กะจะไม่ให้เกิน ๒๐๐ คหพต. ครับ  เดี๋ยวตอนหลังโหลดช้าไป  ท่านจะเบื่อ  แล้วเวปมาสเตอร์จะพลอยถูกใครว่าไปด้วยครับ

ขอเชิญท่านนำชมภาค ๒ ของพุทธสถานสุพรรณภูมิ   ตามกำหนดการที่เตรียมไว้ได้เลยครับ  แล้วผมจะขออนุญาตร่วมด้วยช่วยกันเป็นครั้งคราวไป  เพราะหากผมนำชมเอง  อาจมีอคติบางอย่าง  เดี๋ยวจะกลายเป็นนำชมแต่เรื่องที่ผมสนใจ  แต่เรื่องที่ไม่รู้เรื่อง  จะอุบไว้  คนอ่านจะเสียประโยชน์ครับ

แล้วก็เมืองสุพรรณมีรถถังผ่านบ่อยครับ  เขาเคลื่อนย้ายระหว่างกองทัพภาคทางตะวันออก กับตะวันตกบ่อยๆ  เมืองสุพรรณอยู่กลางก็เลยต้องผ่านตรงนี้  โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินกับเพื่อนบ้าน  หรือศึกภายในก็แล้วแต่  อย่างเช่นระหว่างเมืองกาญจน์  กับเมืองสระบุรีหรือโคราช

อย่างผมก็อยู่ตรงกลาง  อาจมีรถถังฝ่ายนั้นบ้างฝ่ายนี้บ้างมาปะกันที่สมรภูมินี้เป็นครั้งคราว  แต่โชคดีที่แผ่นดินยังไม่สึกหรอ

เอ้อ  แต่ว่า  เขาเอารถถังขึ้นบนรถบรรทุกครับ  ไม่ได้ขับเองโดยตรง  บางคราวผ่านมากันเป็นร้อยคันก็มี


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 08:56
 อะฮ้า  ได้ขี่ Spiderman เล่นกับเขาแล้ว  พอเริ่มที่ประสบการณ์ ๑๐๑ ครั้ง  เราศักดิ์ศรีเท่ากันแล้วนะท่านกุรุกุลาน้อย  บ๊ายบายเจ้าแมวตัวป่วนตัวซน Garfield ชักเริ่มรำคาญเธอบ้างแล้วเหมือนกัน แล้วก็ลาทีเครื่องบินกระดาษพับ  พูดคุยด้วยก็ไม่ได้  ไร้ความรู้สึก  เดี๋ยวหากเกิน ๑๕๐-๒๐๐ ประสบการณ์  ผมขอรถถังก็แล้วกันนะท่านเวปมาสเตอร์  คุณอ๊อฟใช่ป่าว  คงใช่นะ  เห็นแวบมาสงบศึกทุกคราว

ภาพที่ท่านนำมาให้ชม  สวยมากครับ  ผมยังไม่เคยมีเป็นของตัวเองเลยจนถึงบัดนี้  นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ขอย้ำเรียนเชิญคุณโพธิ์ประทับช้างนำเสนอภาคต่อไปของท่านตามประสงค์เดิมครับ

ภาพเหล่านี้  เป็นภาพใหม่  ซึ่งเป็นภาพหลังการบูรณะซ่อมแซมแล้ว  โบราณสถานเหล่านี้ผมเห็นมาแต่เล็ก  แต่ก็ไม่เคยฉุกใจคิดจะถ่ายภาพเก็บไว้เลย  แล้วตอนนั้นยังเด็กอยู่ด้วย  ไม่มีกล้อง  ตอนมีกล้องแรกเมื่อราว ๒๐ ปีก่อน  ก็มัวแต่หลงระเริงถ่ายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง  ก็มันยังวัยรุ่น ซิ จะบอกให้  จึงไม่มีภาพเก่าเป็นสมบัติของตน  ตอนนี้เลยดูดแต่ภาพเก่าจากแหล่งอื่นมาร่วมด้วยช่วยกัน  แล้วก็ให้พวกท่านได้ชมกันด้วยครับ

ตอนนี้คลังรูปเก่าที่ผมเห็นเยอะหน่อยก็อยู่ที่คุณลุงมนัส โอภากุลครับ  ท่านเป็นพ่อของอี๊ดแอ๊ดคาราบาว  อายุตอนนี้ก็ ๙๓ ปีแล้ว  แต่ยังมีความทรงจำเป็นเลิศ  เคยมีโอกาสได้ดูภาพจากอัลบั้มเก่าของท่าน  มีเจดีย์ต่างๆ ของเขตเมืองสุพรรณมากมาย  แล้วก็ถือว่ายังบริสุทธิ์ด้วยครับสำหรับตอนนั้น  เพราะยังไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยปัจจุบันเลย  รวมทั้งยังไม่มีการพังทลายของเจดีย์บางองค์เลยครับ

บางวัด  ผมเคยไปเที่ยวเล่นซุกซนตามประสาเด็ก  เช่น วัดพระอินทร์  กับวัดน้อย  วัดร้างทั้งคู่  อยู่ติดกันทางฟากตะวันตกตอนเหนือของเมืองโบราณ  รั้ววัดติดกันเลย   ตอนนั้นยังมีพระพุทธรูปแตกหักกองเกะกะรอบองค์พระเจดีย์เต็มไปหมด  ยังมีทั้งเศียรที่หลุดหล่นลงมา  หรือเหลือแต่องค์โดยปราศจากเศียรก็เยอะแยะ   ในเจดีย์เป็นโพรงทะลุหน้าหลัง  ยังเล่นโป้งแปะกันเลย  แต่ตอนหลังพอกรมศิลปากรบูรณะแล้วได้มีโอกาสไปดู  ยังนึกจำภาพเดิมได้ติดตา  แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับภาพที่เห็นปัจจุบันหลังการบูรณะได้เลย  หรือผมจะตาไม่ถึง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 09:15
 ภาพที่ท่านไปเที่ยว  อาจถือได้ว่าเป็น Tourist Interest  ขอใช้ภาคภาษาอังกฤษตามคุณ Japonica บ้างคงไม่เป็นไร   ผมยังไม่ได้ฝึกปรือด้านภาษาอย่างช่ำชอง  บางทีใช้คำไทยไม่ถูกต้อง  ก็ขอใช้อังกฤษแทรกแซงบ้าง  รึว่า  ใช้ปะกิตแล้วยังผิดอีก  โอววว ผิดซ้ำซาก  อย่าว่ากันเด้อ

ท่านอาจมีภาพอื่นๆ อีกเยอะ  แต่ขอเดาและวิจารณ์ตามที่เห็นภาพก็แล้วกัน  ยังมีโบราณสถานที่ยังแทรกอยู่กลางชุมชน  กลางป่ากลางทุ่งอีกมาก  บางที่ก็ยากที่จะขับรถเข้าไปชมได้ง่ายๆ  หรือบางทีก็เข้าไม่ถูก  ขนาดผมอยู่ที่นั่นมาตั้งนาน (แต่ไม่ถึงบัดนี้?) ยังเข้าไปไม่ถูก  หรือก็เข้าไปดูไม่หวาดไม่ไหวเลย  บางที่เหลือแต่ซากอิฐ  บางที่ก็ไม่เหลือสภาพเก่าให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว  กลายสภาพเป็นบ้านคน  สถานที่ราชการ  หรือแผ้วถางกลายเป็นไร่เป็นนาไปเรียบร้อยแล้ว

หากท่านมีเวลาได้อยู่เมืองสุพรรณนานๆ หลายวัน  คงจะได้ภาพโบราณสถานตามต้องการเกือบครบ  นี่พูดถึงเฉพาะภายในเขตรอบๆ เมืองเก่าในระยะเพียง ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้นนะครับ  ไม่อาจเอื้อมออกนอกเขตนี้  หรือนอกเขตอำเภอเลยครับ  เพราะยังเหลือให้ศึกษาอีกมากมายมหาศาลครับ

แต่ว่าท่านอาจต้องมีคู่มือดีๆ สักหน่อยหนึ่ง  หรือมีผู้ชี้แนะที่ดีเพิ่มเติม  เพราะขณะนี้แม้แต่คนพื้นที่ที่ไม่ได้สนใจก็อาจรู้ไม่ชัดเจน  หรือรู้แต่เฉพาะที่เป็นบริเวณรอบบ้านของตนเองเท่านั้น  เพราะคนเก่าคนแก่ท่านก็ต้องทำงานทำไร่ทำนาครับ  โอกาสที่จะมาศึกษาอย่างละเอียดเป็นแบบเป็นแผนอย่างผู้ที่ร่ำเรียนในห้องเรียนก็คงไม่มีครับ

เมื่อท่านเปิดสมรภูมิสุพรรณภูมิภาคเมืองสุพรรณ  ผมก็จะมีโอกาสได้รู้จักท่านและผลงานของท่านมากขึ้นครับ  ยินดีเป็นอย่างยิ่ง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 09:58

เชิงเทียนพระราชทานครับ แต่ก็ไม่ทราบว่าพระราชทานมาในโอกาสใด คงต้องไปค้นอีกหลายๆที


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 10:00
 ภาพใน คหพต. ๔๙   ท่านถ่ายจากทางเหนือของแม่น้ำสุพรรณมองมาทางใต้  ทางขวามือซึ่งเป็นด้านตะวันตกของแม่น้ำเป็นโรงสีใต้วัดแค (ยังไม่ใช่โรงสีวัดพระธาตุที่อยู่เหนือเจดีย์วัดกุฎีสงฆ์ติดสะพานข้ามแม่น้ำ)  แล้วไกลออกไปเป็นพระปรางค์วัดพระธาตุ  แม่น้ำสุพรรณตอนที่ผ่านเมืองสุพรรณจะเป็นแม่น้ำแคบๆ ครับบ  ท่านคงไม่แน่ใจจึงได้ Question mark ไว้  ซึ่งเมื่อดูจากอดีตแล้ว  แม่น้ำอื่นที่มีความสำคัญและขนาดกว้างใหญ่กว่าจะอยู่ทางตะวันตกออกไป  และมีร่องรอยของชุมชนโบราณตั้งอยู่ยังมีอีกเยอะ

หากท่านมีแผนที่ทางอากาศ  โดยเฉพาะเมื่อถ่ายครั้ง ธ.ค.๙๖ กับปี ๒๕๑๘ เปรียบเทียบกัน  ท่านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำชัดเจนเลยครับ  เช่น  

๑. บึงบ้านโพธิ์ – แม่น้ำพันตำลึง – บึงไผ่แขก  แต่เดิมเป็นแม่น้ำเดียวกัน  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนทิศทางเดิน  จึงกลายเป็นแม่น้ำแยกออกจากกัน  แล้วก็เมื่อก่อนมีขนาดใหญ่มากด้วยครับ
๒. แม่น้ำด้วน – แม่น้ำท่าคอย – แม่น้ำท่าว้า  เป็นแม่น้ำเดียวกัน  แต่เรียกต่างกันตามตำแหน่งหรือตามปากชาวบ้าน  แยกจากแม่น้ำสุพรรณที่เขตอำเภอสามชุกตอนเหนือเมืองไปอีกเกือบ ๔๐ กม. แถวบ้านท่าระกำ  แต่ต้นน้ำราว ๒-๓ กม.ที่แยกกันมันหายกลายเป็นบ้าน-ท้องไร่-ท้องนาหมดแล้ว  ต้นน้ำจึงเรียก "แม่น้ำด้วน" ครับ  ตรงนี้ก็มีแหล่งอารยธรรมมากครับ  แล้วก็บางส่วนสาขาของแม่น้ำนี้ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำจระเข้สามพันด้วยครับ
๓. แม่น้ำจระเข้สามพัน อ.อู่ทอง  พวกเราได้ยินชื่อกันมานานนมแล้ว  จะมีสาขาแยกไปเป็นรางกอก  ถึงอำเภอท่าม่วง กาญจนบุรีเลย  แล้วบางส่วนก็ต่อเนื่องกันไปถึงโบราณสถานพงตึกเลยทีเดียว  อารยธรรมแถวนี้บางส่วนจึงมีความต่อเนื่องกัน  เพราะแม่น้ำเป็นสายใยแห่งความรักนี่เอง  แต่ต่อมาเมื่อความรักหักสะบั้น  อาจเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน  หรือถูกการถมแม่น้ำเพื่อการยุทธวิธีในสงคราม   เขาไม่อยากให้มา  น้ำก็ไม่อยากมา  ถมบ่อยหลายครั้งเข้า  ก็เลยเปลี่ยนทางเดินถาวรไปซะเลย  น้อยใจเป็นเหมือนกัน

เมืองสุพรรณ  กับเมืองกาญจน์  สมัยก่อนจึงไปมาหาสู่กันด้วยแม่น้ำเหล่านี้  และต้องสู้ศึกสงครามที่มาจากทางด้านตะวันตกโดยตลอดประวัติศาสตร์  เราจึงมีความรักกันจนถึงปัจจุบัน  เพราะใกล้กันนี่เอง  จึงผูกพันกันมาก  สำเนียงก็เป็นแบบเดียวกันด้วย  ถือว่าเป็นสำเนียงหลวงในอดีตเลยนะจ๊ะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 10:01
 โอ๊ะ ผมโก๊ะซะแล้วล่ะครับ คุณนิก กำลังอ่านกระทู้คุณเพลิน ๆ จะกลับไปต่อกระทู้ซางตาครู้สของผมบ้างก็ดันมาโพสเอาในกระทู้คุณนิก ต้องขอโทษอย่างสูงครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 10:21
 คหพต.๖๕  กุรุกุลาน้อย  ทำเป็นงงอีกแล้ว  จะแก้แค้นพี่รึไงที่ก่งก๊งใส่เรื่องศาลเจ้าพ่อสุพรรณเข้าไปในกระทู้ซางตาครู้สของท่าน

คหพต.๕๐  เรื่องวัดแค  ผมเคยเล่าไว้ในเวปหนึ่งแล้ว  แต่เป็นเกร็ดบางอย่าง เกี่ยวกับการเสด็จประพาสต้นของร.๕ ที่ไม่เคยมีบันทึกไว้ในเอกสารระดับประเทศฉบับใดเลย

หากอยากรู้จักผมมากขึ้น  เชิญเข้าไปอ่านในนี้ได้  ขอโฆษณาไว้ตรงนี้หน่อยหนึ่งครับ  คงไม่ว่ากระไร  เพราะต่อไปอีกไม่นานกระทู้นั้นก็จะตกหายป๋อมไปแล้ว  แล้วก็ต่อไปหากมีอะไรที่จะคุยยาวๆ เป็นเดือน  จะเปลี่ยนมาคุยที่เวปวิชาการก็แล้วกัน  หากเรายังดูแลกระทู้ของเราดี  กระทู้เราก็ไม่มีวันตก  อิอิอิ  เป็นความรู้ใหม่ในนี้เลยครับ

 http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K4550674/K4550674.html

ส่วนที่มีอีกมากมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดนี้  จะรอร่วมแจมกับท่านครับ

คหพต.๕๕  ถ้าจะให้เดา  ท่านคงจะถ่ายจากคุ้มขุนแผน-มะขามยักษ์วัดแค ตรงท่าน้ำมองลงไปทางใต้  ทิศทางเดียวกันกับรูป ๕๐  แต่มีอีกมุมหนึ่งที่คล้ายคลึงกับตรงนี้  แต่เดิมเป็นสวนอาหารขวัญจิต (ศรีประจันต์) ในเขตอำเภอเมือง  แต่ถ่ายจากฟากตะวันออกขึ้นเหนือไปยังโรงสีตรงข้ามวัดพระลอยครับ  แต่ผมจำปล่องโรงสีมาเทียบเคียงไม่ได้  เพราะไม่ได้ผ่านไปนานเนแล้ว  จึงขอเดาเป็นคำตอบสุดท้ายว่า  คำตอบแรก  ที่ถ่ายจากวัดแคลงใต้  ถูกต้องนะคร้าบบบบบ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 10:26
 คหพต.๕๑  วัดมรกต-วัดมรกฎ หรือวัดอมรโกฐ  แต่ก็เป็นไปในทำนองนี้  เขียนและเรียกกันหลายชื่อ  อยู่ทางใต้ของตัวเมือง  และนอกเขตคูเมืองเก่า   เคยคุยกับพรรคพวกบอกว่า เจดีย์หลักวัดนี้เดิมเป็นปรางค์????  ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับวัดพระธาตุได้เลยทีเดียว   ดูจากแผนที่ทางอากาศของเก่าก็  ใช่เลย  เจดีย์และบริวารรอบข้างใหญ่โตมโหฬารจริงๆ  แต่ปัจจุบันชื่อเสียงกลับแทบไม่มีใครรู้จัก  และอยู่ภายในอาณาเขตของสนามกีฬาโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี  (เป็นสนามกีฬาสาขาครับ  ไม่ใช่ตั้งในเขตโรงเรียน)

ยังมีวัดมรกตอีกแห่งหนึ่ง  เป็นวัดร้างเช่นกัน  อยู่ทางตอนเหนือของเมืองสุพรรณ ใต้วัดพระลอยลงมาหน่อยหนึ่งครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 10:37
 คหพต.๕๒ กับ ๕๓  ภายในเขตวัดพระรูป  มีรวมวัดร้างเข้าไปด้วยอีกวัดหนึ่งคือ วัดพลายชุมพล  อยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขตวัดพระรูป ถนนขุนช้าง

ได้ถูกเกรดออกเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๘  เกรดเจดีย์เกลี้ยงหมดเลย  เป็นยังงี้เยอะครับ  หลายสิบวัดที่หมดไปเพราะการพัฒนา   ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่ครับ  เขาเอาดินกับซากอิฐวัดพลายชุมพลไปถมทำเป็นศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี  ฝั่งตะวันออกเหนือวัดไทรย์ ตำบลท่าระหัดครับ

ถ้าใครจะไปค้นหาพระพิมพ์ขุนแผนเก่าๆ หากหาภายในเขตวัดพระรูปไม่ได้  ก็ไปกระเทาะปูนกระเทาะดินในศูนย์เยาวชน  อาจมีเหลือสักองค์สององค์ครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 10:57
 คหพต.๖๑ วัดช่องลม  วัดนี้ปัจจุบันถูกรวบไว้ในเขตวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรีครับ
วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณ  เคยมีบุตรชายคนโตของลุงมนัส  โอภากุลเป็นผู้อำนวยการ  แต่เกษียณไปเกือบ ๑๐ ปีแล้วครับ  ในสถานศึกษาแห่งนี้  รวมวัดร้างเข้าไปอย่างน้อย ๓ วัด คือ

- วัดละคร  อยู่ทางเหนือสุดของวิทยาลัยฯ และตะวันออก  ติดกับถนนขุนช้าง  เนื้อที่ที่เหลือท้ายสุดคือ ๑๓-๒-๐ ไร่ (อ่าน ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๐ ตารางวา)  มีเจดีย์เหลืออยู่ ๑ องค์
- วัดโหน่งเหน่ง  อยู่ใต้จากวัดละครลงมา  ติดกับถนนขุนช้างเช่นกัน  เนื้อที่จำไม่ได้  รู้สึกว่าตอนนี้จะกลายเป็นเขตบ้านพักอาจารย์  มีเจดีย์เหลืออยู่ ๑ องค์  ส่วนวิหาร ๑ หลังถูกรื้อไปหมดแล้ว

-   วัดช่องลม  อยู่ถัดมาทางตะวันตก  แนวเดียวกับวัดโหน่งเหน่ง  มีพระอุโบสถ  พระพุทธรูป  เนื้อที่ที่เหลือท้ายสุดคือ  ๗-๒-๕๓ ไร่

วัดร้างแถวนี้มากมายครับ  ต่อเนื่องมาตั้งแต่จาก .... หากนับตั้งแต่วัดพระธาตุลงมา – วัดตลาดเก่า – วัดไผ่ล้อม - วัดผึ้ง – วัดกุฎีสงฆ์ – วัดเขาใหญ่ – วัดประตูสาร - วัดตะไกร (จาก คหพต.๒๓ ครับ) แล้วก็วัดในกลุ่มวิทยาลัยเทคนิคทั้งสาม – วัดปากคลองแสงจันทร์ - กลุ่มวัดพระรูป – วัดมอญ  เยอะแยะไปหมด  จำแทบไม่หวาดไม่ไหว  นี่เฉพาะฝั่งตะวันตกลงมาแค่ไม่ถึงกิโลแม้วนะครับ

จะเล่าให้ฟัง  ด้านทิศตะวันตกสุดของวิทยาลัยเทคนิค  จะรวบเอาแอ่งลำรางสำคัญในอดีต  นั่นก็คือ แนวคูเมืองเก่าสุพรรณบุรียุคแรก  ที่ยัง question ว่าจะเป็นสุพรรณภูมิ หรืออู่ทองตอนปลายกันแน่  เป็นแนวคูเมืองที่ต่อลงมาจากศาลเจ้าพ่อฯ  ถึงขอบตะวันตกของวิทยาลัยเทคนิค  ไล่ลงมาถึงขอบวัดพระรูปเช่นกัน  และวัดที่กล่าวถึงข้างบน  ก็อยู่เฉพาะในเขตคูเมืองเก่านี้เท่านั้น  ยังไม่ออกไปจนสุดกำแพงเมืองยุคใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลย  ชักมันแล้วมั้ยครับท่าน


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 11:05
 คหพต.๕๔  เจดีย์วัดกุฎีสงฆ์  ในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนอยุธยา ของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ  น.๓๐๖  ท่านบอกว่าชื่อ  "วัดเจดีย์โซ้ง"  ท่านคงฟังจากปากชาวบ้านมาเพี้ยนนิดหน่อย  เพราะคงไม่ชินกับสำเนียงหลวงของเมืองสุพรรณ  อยู่ติดแม่น้ำสุพรรณครับ  อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำและติดเชิงสะพานถนนมาลัยแมนด้านเหนือเลยครับ  แนวเส้นรุ้งเดียวกันกับวัดพระธาตุครับ

อาจารย์ น. เล่าว่า  เหลือแต่เจดีย์แปดเหลี่ยม  บัลลังก์แปดเหลี่ยมทรงเตี้ย  ไม่สูงชะลูดเหมือนวัดพระรูป  เข้าใจว่าจะเป็นของสมัยอยุธยาตอนต้น  หรือรุ่นหลังกว่าวัดพระรูปเล็กน้อย  เพราะไม่มีซุ้มไว้พระที่ข้างเจดีย์

คุณโพธิ์ฯ บอกว่าเป็นเจดีย์ลังกา  ผมไม่มีความรู้เหล่านี้หรอกครับ  เรื่องถาปัด-ศิลปะ พวกนี้  เพียงแต่เอามาขยายความเพื่อไม่ให้มันสูญหายไป  อย่างน้อยก็ช่วยแก้คำผิดในหนังสือของอาจารย์ น. ได้สักข้อหนึ่งครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 11:26
 คหพต.๕๖ วัดไชนาวาส  ของอาจารย์ น. หน้าเดียวกันกับข้างบน  ก็กล่าวถึงวัดนี้  วัดนี้เป็นวัดกลางเมืองทางด้านเหนือ  ชาวบ้านแต่เดิมเรียกวัดชายนา  คู่กับอีกวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางใต้เมืองเรียกว่าวัดชายทุ่ง

รอบวัดไชนาวาสก็มีวัดร้างอีกมากมายเช่นกันครับ  แต่บางวัดก็เหลือเพียงซากเจดีย์  บางวัดก็หล่นป๋อมตกแม่น้ำไปแล้ว  เพราะแม่น้ำแถวนี้ฝั่งตะวันออกจะถูกกัดเซาะ  โบสถ์วิหารหายไปทั้งหลังก็หลายวัด  ส่วนฟากตะวันตกฝั่งวัดประตูสารวัดพระรูป  แม่น้ำจะงอกออกมา  ก็อย่างกับหยินหยางไง  มีฝ่ายบู๊ก็ต้องมีบุ๋น  มีแข็งก็ต้องมีอ่อน  มีด้านพังก็ต้องมีด้านงอกมาคู่กัน  ถึงจะสมดุลย์


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 11:32
 คหพต.๕๗-๖๐  วัดนี้ชาวบ้านสุพรรณเรียกกันว่า "วัดพระธาตุ" ครับ  ผมเคยเขียนไว้นิดหน่อยในกระทู้เตรียมทหารในเวปหนึ่งครับ  คคห.๓๖   ลองไปอ่านดูเผื่อจะได้รู้จักตัวตนกันมากกว่านี้  

ขออนุญาตคุณอ๊อฟนำมาโฆษณาด้วยนะครับ  อย่าลบทิ้งเลย   เพราะเดี๋ยวกระทู้นั้นก็จะตกแล้ว  ผมเข้ามาในนี้เดือนกว่าๆ ถูกลบไปหลาย คห.แล้ว  แต่เรื่องโฆษณานี้ยังไม่โดน  เอ้า  ลองดูกำลังหน่อย

 http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K4531620/K4531620.html  


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ส.ค. 06, 11:43

ที่ผมเอ่ยไว้ใน คหพต.๓๕  แล้ว  เกี่ยวกับยอดนภศูลเดิมซึ่งมีความสวยงามมากหายไปทางไหนแล้ว มีแทนด้วยของใหม่ซึ่งตอนแรกๆ ก็หักๆ งอๆ แล้วไม่กี่ปีก็ต้องใส่ของใหม่อีกแทน เฮ้อ กรมศิลป์หนอกรมศิลป์

ภาพที่ท่านนำมาให้ดูใน คหพต.๕๘  เป็นยอดนภศูลยอดที่สามในชีวิตของผมครับ
- ยอดแรกเป็นของเก่า  ไม่รู้เก่าแค่ไหน  มีฉัตรตั้งอยู่ข้างบนยอดสุด  มีความอ่อนช้อยสวยสดงดงามเหลือเกิน  พอบูรณะรอบนั้นแล้ว  ไม่รู้หายไปไหน  บางท่านบอกว่าก็ยังอยู่ในวัดนั่นแหละ  ผมขอดูดภาพจากที่อื่นมาให้ดูนะครับ
- ยอดที่สอง  หลังจากบูรณะแล้ว  เอามาใส่ได้ไม่ถึงปีมั้ง  แง่งๆ ก็หลุดออกมาชั้นหนึ่ง  ไม่รู้จะเรียกอะไรถูก เลยเอาเป็นแง่งซะเลย   เหลือเป็นแง่งไม่สมบูรณ์น่าเกลียดชะมัด  แล้วก็โงนเงนเหมือนคนพิการอยู่ข้างบน  จะซ่อมแต่ละทีน่าจะตั้งใจหน่อยนะท่าน
- ยอดที่สาม  เป็นยอดปัจจุบันที่ท่านนำมาให้ดูนะครับ  ดูแล้วสภาพดีกว่ารอบสองหน่อย  แต่ฉัตรหายไปไหนไม่รู้แล้วครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 11 ส.ค. 06, 08:09
 เฮ้อ  เหนื่อยเหมือนกัน  ทำไงได้  คุณโพธิ์ฯ ท่านเข้ามาเยี่ยมเยือนแล้ว  ต้องต้อนรับให้สมเกียรติ  จะได้ไม่มีอะไรติดค้างคาใจ  ทั้งผมและเขา

ที่บอกว่าติดค้างคาใจ  หมายถึงอยากให้ท่านได้รับรู้สิ่งที่อยู่ในใจผมอันเนื่องมาจากภาพประกอบนั้นนะครับ  เลยอธิบายจากประสบการณ์ตรงให้ฟังซะเยิ่นเย้อยืดยาว  ความถูกผิดอีกเรื่องหนึ่งนะท่าน  อย่าเชื่อตามผมไปหมดซะทุกอย่าง  หากไม่มีใครเข้ามาชี้แนะ  ผมก็จะไปของผมเรื่อยๆ อย่างนี้แหละครับ

พี่แจ้ดนุพลบอกว่า
เรื่อยๆ มาเรียงๆ  นกบินเฉียงกันทั้งหมู่
ตัวเดียวมาไร้คู่  เหมือนพี่อยู่เพียงเอกา

วันนั้นอยู่คนเดียวโดดโดด  แบบปูพงษ์สิทธิ์  คำภีร์
วันนี้ก็ยังไร้คู่  เหมือนพี่แจ้เลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 11 ส.ค. 06, 15:37
 ยังมีเรื่องต่ออีกเยอะครับ  ไม่รู้ว่า ๒๐๐ คหพต.จะอยู่รึเปล่า
แต่ตอนนี้รอท่านอ่านให้ทันก่อน  เห็นใจกันครับ
ต้องเสกคาถากันหน่อย  อย่างที่เชิญคุณโพธิ์วันนั้น ไม่นึกว่าจะได้ผลปานฉะนี้

คุณโพธิ์คงจะมีภาพ unseen เยอะ  ยังไงผมจะรอชมผลงานท่านในกระทู้โน้นนนน นะครับ

คุยอะไรก่อนดี  เอ้า  เอาใจคุณโพธิ์ฯ เพื่อนใหม่  กับคุณกุรุกุลาเพื่อนรักหน่อยครับ  น่าจะเป็นของชอบของโปรดของท่านทั้งคู่  เอาเรื่องจิตรกรรมฝาผนังก็แล้วกัน  ในจังหวัดสุพรรณบุรีมีภาพจิตรกรรมหลายที่เชียวแหละ  แต่ไม่ได้เก่าแก่อะไรนักหรอก  สืบขึ้นไปเก่าสุดก็เพียงสมัยรัชกาลที่ ๓ เท่านั้น  ความที่มีวัดเยอะ  ภาพก็เลยเยอะตาม  ลองตามมาเที่ยวดูครับ  เห็นหลายๆ ที่เทียบกัน  เป็นกำไรชีวิตนะครับ


แต่มีแปลกอยู่ที่หนึ่ง  ไม่ได้เป็นวัด  แต่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซะด้วย  อันนี้เป็น UNSEEN จริง  ซึ่งทั้งคุณโพธิ์และคุณกุรุกุลาคงไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้ว  เพราะเขาลบไปซะหลายปีแล้วละครับ

อยากรู้ป่าวว่าคือที่ไหน  เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่รอบห้องโถงภายในองค์พระเจดีย์อนุสรณ์ดอนเจดีย์ครับ  เขียนโดย "ครูเหม เวชกร"  มีหลายภาพต่อเนื่องกัน  จำไม่ได้ว่าเป็นภาพอะไรบ้าง  ตอนนั้นก็ไม่คิดอยากจะถ่ายเก็บไว้  ใครมีเอามาให้ชมหน่อยก็ดีครับ

เขาคงจะเห็นว่าเก่า  ก็เลยลบซะเกลี้ยง  ไม่ได้คิดถึงคุณค่ากันเลย  แล้วก็วาดเป็นของใหม่  แบบใหม่  ใหม่ทุกอย่าง  ทำนองว่า  "ของเก่าลบทิ้ง  เพราะไม่ปิ๊งกับเรา"  ทำใหม่ๆ กันเมื่อราว ๑๐ ปีมานี้เอง

สงสารครูเหมที่ต้องทนทรมานปีนขึ้นไปวาดตอนช่วงนั้นครับ  ลูกหลานไม่เห็นความสำคัญใดๆ เลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 11 ส.ค. 06, 21:36
 ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟัง จะตามอ่านไปเรื่อยๆ ครับ

เรื่อง "เที่ยวชมพุทธสถานสุพรรณภูมิ : ตอนที่ ๒ เมืองสุพรรณ"  ผมฝากคุณ NickkyNick เนื่องจากผมไม่ค่อยมีเวลาครับ
ขอเป็นผู้อ่านอย่างเดียว อีกอย่างผมมีกระทู้ "อยุธยาภิรมย์"
ค้างอยู่ จะได้หาข้อมูลใหม่มาฝากกันบ้างครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ส.ค. 06, 23:24
 ภาพของคุณโพธิ์ สวยจริงๆค่ะ

....................

เหนื่อยมากเลยค่ะคุณนิค...เผลอแป๊บเดียว ไม่เข้ามาอ่าน คุณนิคไปไกลมาก กว่าจะตามมาทัน เล่นเอาหอบแฮ่กๆเลยค่ะ...


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: Louvorian ที่ 11 ส.ค. 06, 23:36
 คุณนิค อ่านได้ความรู้ดีมากๆเลย ขอขอบคุณนี่แนะนำมาให้อ่าน
ตลกเรื่องข้วางจักรน่ะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 12 ส.ค. 06, 11:40
 แนะนำเพื่อนใหม่เข้ามาแล้ว  ได้ผลครับ  สวัสดีตรงนี้อีกทีครับคุณ Louvorian  ยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่  ทางเวปคงจะเมตตาผมนะครับ  แล้วจะเชิญเพื่อนเข้ามาอีกเยอะๆ  ถือเสียว่าให้ผมมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์กลายๆ ก็แล้วกัน  เรื่องขว้างจักร  ผมนึกขึ้นมาได้ตอนนั้น  ก็เพ้อเจ้อไป  ก็ดูขัดกับหลักความจริง  เลยต้องท้วงกันหน่อย

คุณโพธิ์ครับ  ภาพสวยจริงๆ อย่างที่หลายคนบอก  ทั้งบอกตรงนี้  แล้วก็บอกผ่านทาง sms ครับ  หากจะรอผมตั้งกระทู้เที่ยวสุพรรณต่อเนื่องอีก  คงอีกนานหน่อย  เพราะตอนนี้ความจริงอยากตั้งกระทู้ "เมาเมา" ก่อน  ให้กระทู้นี้ใกล้จะวายก่อน  เดี๋ยวจะกลายเป็นจับปลาหลายมือ  ไม่ดีซักกะอย่าง  เมื่อถึงเวลานั้นก็มา "เมา" กันหน่อยนะพวก  ทุกท่านเลย  รวมทั้งคุณ Louvorian ด้วย  คงมีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้จากต่างแดนมาบ้างพอสมควร  อาจเป็นที่เดียวกับที่ผมเคยตะลุยมาอย่างโชกโชนก็ได้  เดาเอานะ  อิอิ

คุณ tuka007  คนสวยคนงามแห่งเมืองเพชรครับ  ยินดีอย่างยิ่งที่มาร่วมเหนื่อยกับผม  ผมโพสต์ไปเหนื่อยไปเหมือนกัน  ถึงว่า  กระทู้นี้คนแก่ๆ เลยไม่อยากเข้ามาร่วม  คงกลัวหัวใจจะวาย  มีแต่พวกหนุ่มๆ สาวๆ เอ๊าะๆ อย่างพวกเรา  ท่านส่งสัญญาณเตือนแล้ว  ผมก็จะรอก่อนครับ  จะเติมวันละ ๑-๒ คหพต. ให้กระทู้ยังเหนียวตรงหน้าแรกก่อน  แล้วก็  กระทู้เมืองเพชรของท่านก็งดงามดีจัง  ยังงี้ต้องแวะไปเยี่ยมญาติที่นั่นบ่อยๆ  หาของฟรีกินไงล่ะ  แล้วก็เยี่ยมเพื่อนๆ ที่ไต่ต่องแต่งกันบนเขาวังด้วย  ไม่เจอกันนาน  คงยังอยู่ดีมีสุข


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 13 ส.ค. 06, 09:14
 เฮ้อ  ถอนใจซักที
เมื่อคืนลุ้น AF 3 แทบแย่  ไม่นึกเลยว่าจะเล่นกันยังงี้
เห็นว่าน้องตุ้ยร้องเพลงแน่นที่สุด  ไหงต้องออกจากบ้าน
มาเฉลยว่าได้ออกไปเที่ยวฮ่องกง ๓ วันพร้อมกับคุณแม่ด้วย  โล่งอก

ใครจะอยู่ใครจะออกมันห้ามกันไม่ได้หรอก  แต่มาหยอกกันแบบนี้  ไม่ไหว  สงสารคนแก่  หัวใจจะวาย

แล้วตอนสัมภาษณ์คุณแม่ตอนท้าย  บอกว่า  เราคนจน  มาถึงแค่นี้ก็บุญโขแล้ว  คนจนต้องเห็นใจคนจนด้วยกันครับ

อ้อ  แล้วตอนถ่ายให้เห็นคุณแม่ของนักร้องแต่ละคน  เหมือนจะรุ่นราวคราวเดียวกับเราเลยเน๊าะ

เด๊วจะมาต่อเรื่องศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณให้เป็นเรื่องเป็นราวซะที  พักหนึ่งครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 ส.ค. 06, 12:22
 โห คุณtukaน่าอิจฉานะครับนั่น ผมน่ะอ่านอย่างเดียวก็ไม่ทันแล้วครับ ตาลายลายตา ขอเวลาว่างๆตอนปิดเทอมดีกว่าครับเกิดมาโชคร้ายหาเวลาว่างได้ยากเหลือเกิน



ปล. อยากไปเพชรบุรีอ่ะครับ อิอิ

ปล.2 มันเกี่ยวกับกระทู้มั้ยเนี่ยะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 13 ส.ค. 06, 14:02
 เอ  ใครมาก่งก๊งในกระทู้เราอีกแน่ะ  ติบอเอง  ยังไม่ตื่นรึไงพวก  จะชมตู้ก้าก็ต้องไปกระทู้เมืองเพชรโน่น  นี่มาสุพรรณแล้วก็ต้องชมคนสุพรรณซิ  ช่วงนี้เชื้อโก๊ะเชื้อก๊งแรงดี

ไปเที่ยวงานวัดเบญจฯ เป็นไงบ้าง  คนเยอะไหม  เที่ยวบ่อยๆ แล้วมีตังค์กินหนมป่าว

มาต่อเรื่องของเรากันบ้าง
ขอขยายความต่อจาก คหพต.๔๖-๔๗ ที่เกี่ยวกับคติการห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณครับ

เมื่อวันก่อนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
คุณพัฒน์  บุณยรัตพันธุ์  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (ระหว่าง ๗ ส.ค.๒๕๐๐ – ๑๓ ม.ค. ๒๕๐๙) ได้กล่าวถึงคติการห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณไว้อย่างเป็นเหตุเป็นผลน่าฟังว่า

"......... ซึ่งได้ชื่อว่า  เป็นจังหวัดที่  "ปกครองยาก"  เพราะคนดื้อ  และขี้ระแวง  ทั้งตอนนั้นการไปมาลำบากมาก มีถนนสายเดียวจากกรุงเทพฯ ต้องไปทางจังหวัดนครปฐม  ผ่านอำเภอกำแพงแสน  และอำเภออู่ทองถึงจะถึงตัวเมืองสุพรรณบุรี  แต่โบราณจนถึงกับห้าม "เจ้า"  ไม่ให้มาเมืองสุพรรณ (ผมกลัวพม่ามาดักจับเอาตัวไป  มากกว่าสาเหตุอย่างอื่น) ......."

(อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  นายถวิล  วัฏฏานนท์  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี  เมื่อ ๑๔ มิ.ย. ๔๐ อายุ ๘๕ ปี)


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 13 ส.ค. 06, 14:08
 รวบรวมหลักฐานที่ห้ามเจ้านายมาเมืองสุพรรณครบหมดแล้ว  ตกหล่นอยู่ตรงไหน ใครทราบ  บอกได้เด้อ

คราวนี้มาพูดความเชื่ออีกเรื่องหนึ่งบ้าง

ความเชื่อเกี่ยวกับเสาหลักเมือง   ที่จะต้องมีพิธีฝังคนทั้งเป็นในหลุมหลักเมือง  เป็นเรื่องเล่าที่มีมานานแล้ว  และเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่เขาฝังคนเป็นๆ แบบนี้ที่พวกเราได้อ่านกันมากก็ใน “พม่าเสียเมือง” ของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ที่บรรยายซะหยดย้อย  ที่ได้ฝังคนเป็นๆ ถึง ๕๒ คน  ในการสร้างประตูกำแพงเมืองมัณฑเลย์คราวนั้น

แล้วของไทยก็มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาบ้างเหมือนกัน  แต่แทบไม่มีหลักฐานยืนยัน  คนที่จะเอามาฝังก็ต้องมีระบุสเป็ก  เช่น ต้องชื่อ อิน จัน มั่น คง  หรือคนมีท้อง  ชื่ออื่นไม่ได้เชียว  หากเป็นสมัยปัจจุบันถูกฟ้องแน่นอน  หาว่าล็อกสเป็ก

แต่มีอยู่ที่หนึ่งที่มีหลักฐาน  คือการฝังหลักเมืองของเมืองถลาง  เขาได้เขียนเล่าลงในหนังสือว่า  ได้ฝังผู้หญิงท้องแก่ประมาณ ๘ เดือน  ชื่อว่านางนาคลงไปด้วย  ทำให้พิธีการฝังหลักเมืองเสร็จเรียบร้อยลงด้วยดี  ดีของใครไม่รู้  แต่ไม่ใช่ของนางนาคกับลูกในท้องแน่นอน

สำหรับที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ  เราไม่มีเสาหลักเมือง  มีแต่เทพารักษ์หลักเมือง  ดังนั้นคงจะไม่มีเรื่องราวน่าสยดสยองเช่นนี้เกิดขึ้นที่เมืองสุพรรณเป็นแน่


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 13 ส.ค. 06, 17:01
 ต่อ  เกี่ยวกับคติความเชื่อ  เป็นรอบสุดท้ายแล้ว  พอกันที  เดี๋ยวเบื่อกัน  แล้วจะเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นมั่ง

....... ในฐานะเทพผู้คุ้มครองความสมดุลของเมืองให้ความมั่นคง  ปลอดภัยและอยู่ดีมีสุขแก่ชาวเมือง  ก่อนที่จะถูกชาวจีนเมืองนี้เข้ามาหล่อหลอมรวมเข้ากับคติความเชื่อ "ปูนเถ้าก๋ง" ในวัฒนธรรมจีน  กลุ่มชาวจีนเมืองนี้ยังได้ขยายประเพณีความเชื่อนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองสุพรรณ  กำหนดประเพณีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรือ  "ปูนเถ้าก๋ง"  ขึ้นเป็นการประจำปีในทุกวันที่ ๑๘ เดือน ๗ หลังวันสารทจีนตามปฏิทินจีน  เรียกว่า งานทิ้งกระจาด  เป็นคติพุทธมหายาน  ถือเป็นการเจริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว  มีการน้ำเครื่องอุป-บริโภคแจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากจน  ชาวเมืองสุพรรณได้ปฏิบัติประเพณีนี้อย่างต่อเนื่องนับแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน .........

หนังสือ "เมืองสุพรรณ  บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕"  โดย วารุณี โอสถารมย์  สนพ. ม.ธรรมศาสตร์ ๒๕๔๗

.....................

และแล้ว  ขณะนี้  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  ก็ถูกหล่อหลอมเข้าเป็นของวัฒนธรรมจีนแต่เพียงผู้เดียวไปเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 15 ส.ค. 06, 08:27
 คราวนี้มาเข้าเรื่องประวัติขององค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบ้าง  ว่ามีที่มาอย่างไร  ก็มีเล่ากันหลายกระแส  เป็นตำนานทั้งนั้นครับ

"...... ตามประวัติว่าเจ้าพ่อหลักเมืองลอยมาติดตลิ่ง  ชาวบ้านมาชักลากเท่าใดก็ไม่ยอมขึ้น  ต้องทำพิธีบวงสรวง  จึงอัญเชิญขึ้นมาแล้วสร้างศาลเจ้าเล็กๆ ให้ประดิษฐาน  ........  พระวิษณุทั้งสององค์คงประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงริมตลิ่งนั้นเอง   กาลเวลาผ่านไปนับร้อยพันปี  ศาลที่ประดิษฐานชำรุดทรุดโทรม  จึงพังหล่นลงไปริมตลิ่งจมน้ำมานานอีกนับเป็นร้อยๆ ปี   กว่าจะมีผู้พบในระยะหลังนี้ ......"

จากหนังสือ  "ประวัติหลวงพ่อโตวัดจำปา"  อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี   นายมนัส โอภากุล


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 15 ส.ค. 06, 10:48
 สวัสดีครับ คุณนิก มานั่งอ่านต่อครับ เดี๋ยวจะหาว่าหายไปไหนนาน


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 15 ส.ค. 06, 12:33
 ยินดีครับ  อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง   เปิดเข้ามาแล้ว  ไม่ให้เสียเวลาโหลดเปล่า   ทักทายกันบ้างอย่างงี้   ชื่นใจครับ
ตอนนี้เราศักดิ์ศรีเท่ากันแล้วนะ  กุรุกุลาน้อย   ๑๓๖ ประสบการณ์เท่ากันแย้ว  ยังขี่ Spiderman มั่ง   บีบลูกโป่งสวรรค์เล่นมั่ง  เพลินไป  ขอล้ำหน้าซักกะหน่อยนะ  อิอิอิ

อันนี้เป็นอีกตำนานหนึ่งครับ

"....... สำหรับประวัติความเป็นมาขององค์เจ้าพ่อหลักเมือง  คนเก่าแก่เล่าให้ฟังว่า  ท่านลอยน้ำมาพักที่ริมตลิ่งวัดพระนอน  ชาวบ้านอธิษฐานอัญเชิญ   ท่านก็ไม่ยอมขึ้น (ใช้แรงคนยกไม่ไหว)   ลอยมาถึงตลิ่งวัดกุฎีสงฆ์  ชาวบ้านก็ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าเล็กๆ ริมตลิ่ง   กาลเวลาผ่านไปเป็นร้อยๆ ปี  ศาลชำรุดทรุดโทรมพังหล่นไปจากตลิ่งจมน้ำ  ต่อมาอีกนานนับร้อยปีจนมีผู้พบในระยะหลัง   และเปลี่ยนศาลใหม่มาอยู่ในที่ปัจจุบันซึ่งอยู่ริมคลองผ่านไปลาดตานวล  ถึงลำน้ำท่าว้าได้ในอดีต ........."

จาก สุพรรณบุรีเมืองโบราณฯ  โดย นวลพรรณ ยิ้มยวน  ๒๕๔๓


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 16 ส.ค. 06, 09:24
 ระหว่างรอเด็กๆ สอบกลางเทอมเสร็จก่อน  จะได้มีสมาธิมีแก่จิตแก่ใจเข้ามาร่วมเสนอแนะและพูดคุย  ตอนนี้ข้าพเจ้าขอบรรเลงไปพลางๆ   เพราะไม่ค่อยมีห่วงเท่าใด  สอบมิดเทอมเสร็จแล้วเหมือนกัน  แต่เสร็จตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว  หากพูดหลักวิชาการเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทองไปคนเดียว  แล้วมีอะไรผิดเพี้ยนไปเขาคงจะไม่อยากเตือน  เพราะถ้าเรื่องมันเนิ่นนานผ่านหลาย คหพต. เสียแล้ว  เด็กๆ คงนึกว่าปล่อยๆ เขามั่วไปบ้างก็ไม่น่าจะมีอะไร  ให้เขามีความสุขในบั้นปลายของชีวิตซะมั่ง  ถือว่าได้บุญเหมือนกัน

จะรอแล้วรอเล่า  เฝ้าแต่รอ  แล้วไม่มีอะไรคืบหน้า  คนเปิดอ่านจะเสียประโยชน์  แค่โหลดก็ใช้เวลานานโข  อ้อ  เพื่อนๆ ในเมกา  บ่นว่าโหลดซะเครื่องแฮ้งก์เลย  ไม่รู้ว่าเวปไซด์นี้มีของดีอะไร  บอกมั่งดิ  คุณอ๊อฟ

ตอนนี้เลยเอาเรื่องในวรรณคดี  หรือพวกบทประพันธ์ต่างๆ ในอดีตที่เกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณมากล่าวถึงบ้าง  นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการเสด็จประพาสสุพรรณของกรมดำรง  หรือการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหรอกนะครับ  ค้นไปค้นมา  หายากเหลือเกิน  เจอแค่สำนวนเดียวเท่านั้น  เป็นนิราศสุพรรณของเสมียนมีครั้งรัชกาลที่ ๓

สำหรับของสุนทรภู่ที่แจวเรือทวนน้ำขึ้นมาหาแร่แปรธาตุในเขตเมืองสุพรรณ  และทำให้เกิดโคลงนิราศสุพรรณ  มาก่อนเสมียนมีไม่นาน  แต่ไม่ได้กล่าวถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้เลย  แต่เพื่อให้เข้าใจอดีตของเมืองสุพรรณรวมไปด้วย  ก็จะอิงจาก ๒ แหล่งนี้แหละครับ  เอามาคุยขัดตาทัพกันก่อน  แต่กว่าจะพ้นทัพนี้ได้  คงใช้เวลาสักสองวัน  เร่งๆ หน่อยพี่


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 16 ส.ค. 06, 10:32
 โคลงนิราศสุพรรณ  แต่งเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๘๔  คุณเทพ สุนทรศารทูล  ท่านบอกไว้เช่นนั้น  แล้วก็ขอลอกความมาเป็นฉากๆ เลยครับ

ท่านเดินทางทางเรือแจวถึงเมืองสุพรรณตอนเย็น  หลังจากออกจากกรุงมาได้ ๑ วันครึ่ง  ถึงเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๓๘๔ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู

"ตะวันเย็นเห็นหาดหน้า   ท่ามี
เมืองสุพรรณบุรี                 รกร้าง
ศาลตั้งฝั่งนที                    ที่หาด  ลาดแฮ
โรงเล่าเขาต้มค้าง              ขอบคุ้งหุงสุรา"


โคลงบทนี้กินใจคนสุพรรณมาก จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้เลยครับ

คืนนั้นท่านและคณะก็
"นอนค้างข้างคุ้งถัด วัดตะไกร"
ตรงวัดประตูสารในปัจจุบัน  ตามที่ผมเขียนไว้ในแผนที่แล้วครับ

แล้วตอนเช้าท่านก็เดินตัดป่าตัดทุ่งตรงไปยังวัดป่าเลไลยก์ครับ

".... ครั้นรุ่งมุ่งเดินไพร  พรั่งพร้อม
ไหว้พระป่าเลไลย์            ร่มรื่น ชื่นเอย
ริมรอบขอบเขื่อนล้อม       สะล่างไม้ไพรพนม"



ขากลับจากวัด  บท ๑๕๑

"เย็นรอนอ่อนเกศก้ม  กราบลา
จากวัดตัดตรงมา            แม่น้ำ
ค้างคืนตื่นเช้าคลา          คลาดเคลื่อน เรือเอย
ติดแก่งแข็งข้อค้ำ          ขัดข้องต้องเข็น"


ท่านสุนทรภู่  ท่านเคยจำพรรษาที่วัดในอำเภอสองพี่น้องด้วย  ตามหนังสือสาส์นสมเด็จ  ส่วนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้  ท่านคงคุ้นเคยกับเมืองสุพรรณพอสมควรครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 16 ส.ค. 06, 12:30
 ภาควิเคราะห์
สุนทรภู่   ท่านไปนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์  ขณะนั้นยังเป็นวัดร้างนามว่า "วัดลานมะขวิด" อยู่  แต่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อ   ท่านเดินเท้าเข้าป่าพร้อมด้วยคณะของท่านทั้งหมด

ตอนนั้นคลองป่าเลไลยก์ก็คงจะยังไม่มี  เพราะคลองนี้ขุดปลายสมัยรัชกาลที่ ๓  หรือต้น ๔  เพื่อเป็นทางลำเลียงท่อนซุงมาซ่อมแซมพระและวิหารพระป่าเลไลยก์  ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึงว่ามีคณะของเจ้าพระยานิกรบดินทร์มากระทำภารกิจใดๆ เลย

ถึงตอนนี้  ก็รู้แล้วว่าท่านไม่ได้เดินทางผ่านเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ เพราะตำแหน่งอยู่เหนือเส้นทางเดินผ่านราวสัก ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เป็นป่ารกยังงั้น  บางทีแค่ ๕๐ เมตรก็มองไม่เห็นแล้ว


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 16 ส.ค. 06, 14:44
 อีกสำนวนหนึ่ง   คือนิราศสุพรรณ ของเสมียนมี  หรือหมื่นพรหมสมพัตสร (มี)
คุณเทพ  สุนทรศารทูล  ท่านได้สืบค้นว่านามสกุล มีระเสน
เสมียนมีต้องเดินทางไปเก็บอากรที่เมืองสุพรรณ  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗  คือหลังสุนทรภู่เพียง ๓ ปี
เป็นโอกาสให้ท่านแต่งนิราศสุพรรณขึ้นครั้งนั้น

ท่านผู้นี้ก็เป็นลูกศิษย์สุนทรภู่เช่นกัน

จะขอคัดลอกตอนที่ท่านมาถึงสุพรรณ  แล้วก็ไปไหว้ศาลเจ้าพ่อฯ เลยครับ


ครั้นเย็นค่ำย่ำแสงพระสุริยา    ทัศนานั่งดูเมืองสุพรรณ

ดูโรยร่วงแรมร้างน่าสังเวช            ดังประเทศแถวป่าพนาสัณฑ์
พฤกษาชาติแทรกแซมขึ้นแกมกัน  อเนกนันต์เล็กใหญ่ไม้นานา

คืนวันนั้นจันทร์เพ็งเปล่งประเทือง   ดาราเรืองเรียงรายพรายเวหา
ไปไหว้เจ้าหลักเมืองเรืองศักดา      ตั้งบูชาบัตรพลีพลีกรรม

น้อมคำนับอภิวาทประกาศว่า   ขอเทวาช่วยชุบอุปถัมภ์
อย่าให้ขาดทุนรอนอากรนำ     ทั้งทางน้ำทางบกอย่าปกบัง

ใครบังไร่ไว้ไหนช่วยไปจับ    เอาค่าปรับให้สมอารมณ์หวัง
ขอให้เรือลูกค้ามาประดัง      จะเก็บทั้งค่าตลาดอย่าขาดทุน

ครั้นไหว้แล้วกลับมานิทราหลับ      จนเดือนลับลำเนาภูเขาขุน
เจ้าหลักเมืองเรืองศักดาช่วยการุณ  มาค้ำจุนจิตนั้นให้ฝันไป

ว่าย่านางนาวานั้นมาบอก  กำไรออกมั่นคงอย่าสงสัย
บอกว่าเรือที่ขี่นั้นมีชัย     ได้กำไรค้าขายมาหลายคราว

ให้แลเห็นรูปร่างของนางไม้       งามวิไลแลละมุนพึ่งรุ่นสาว
อร่ามเรืองเครื่องประดับดูวับวาว  พอฟ้าขาวหายวับไปกับตา

ประจักษ์จำความฝันไว้มั่นแม่น  ให้สุดแสนสมมาดปรารถนา
สังเกตดูฤกษ์ยามตามเวลา       ต้องตำราความฝันขยันดี


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 16 ส.ค. 06, 16:00
 คำอธิบาย

"เสมียนมี"  ท่านไปไหว้ศาลหลักเมืองเย็นแล้ว  กลับก็มืด  อธิษฐานบนบานศาลกล่าวไปตามเรื่อง  ท่านเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีอากร  ก็ต้องขอให้เก็บเงินได้ครบถ้วน  แล้วก็ต้องเยอะๆ ด้วย

ไอ้เรายังวัยรุ่น  หากจะไปอธิษฐาน  ก็ขอให้เป็นหนุ่มรูปงาม  จะได้มีคนมารักมาชอบเยอะๆ

มืดค่ำท่านก็กลับมานอน   คงจะนอนในเรือ  หรือว่าบ้านพักของใครก็ไม่รู้  น่าจะนอนหลับสบาย  เพราะท่านฝันดีตลอดคืน  เป็นเรื่องเป็นกลอนไปโม๊ด  ใครฝันได้เรื่องได้ราวอย่างงี้  เล่าให้ฟังมั่งก็ได้นะครับ

ท่านมาไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อวันมาถึงสุพรรณวันแรก  แล้วท่านก็ทำหน้าที่ของท่านไปเรื่อยๆ  จนขึ้นไปเก็บภาษีอากรทางอำเภอข้างเหนือจนเสร็จ  ล่องกลับมาเมืองสุพรรณอีกทีถึงได้แวะไปนมัสการวัดป่าเลไลยก์  ถึงได้มีกลอนบรรยายขากลับเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อโตและสภาพวัดป่าได้อย่างจับจิตจับใจคนสุพรรณ (อีกครั้ง) จนถึงทุกวันนี้  ท่านคงจะหาอ่านกันได้ครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 10:04
 เอ  หัวเรื่องบอกว่ามีตอบ ๙๗  ไหงตรงนี้เหลือ ๙๔ ได้ เพราะไยเล่า  ใครโดนเซ็นเซอร์ก็ม่ายรู้  ม่ายอยากคิดมาก  ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมพูดคุยทั้ง ๓ คหพต.ที่หายไป  อย่างกับบทกวีใบไม้ที่หายไปของคุณจิรนันท์  พิตรปรีชาเลยนะครับ

เรื่องโคลงกลอนหรือพวกวรรณคดีก็จบลงแล้วอย่างรวดเร็ว  ไม่อยากพูดมาก เพราะไม่เก่ง  ตอนต่อไปนี้จะขอเอาเรื่องเกี่ยวกับองค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณมากล่าว  ก็ไม่เก่งเหมือนกัน  แต่อยากเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้อ่านเองด้วยภายหลัง  เลยต้องทนเหนื่อยหน่อย

จะกล่าวว่ารูปทรงรูปร่างเป็นอย่างไร  มีคติความเชื่อใดๆ บ้าง  มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นยังไง

คุณกุรุกุลา  เตรียมข้อมูลไว้นะครับ  จะร้องขอ  อ้อ  ว่างๆ เอารูปศิลปะคล้ายๆ กันกับองค์พระนารายณ์สี่กรของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณนี้มาแบ่งกันชมบ้างนะครับ  เขาว่ามีทรงแบบนี้อีกหลายที่  ผมไม่มีแหล่งข้อมูลขณะนี้เลย

ขอเวลาเตรียมข้อมูลอีกนิ้ดดดด


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 11:28
 แอ่นแอ๊น  เริ่มเลยครับ  เกี่ยวกับ องค์ เทพารักษ์หลักเมือง

...... ต้องขี่ม้าราว ๘ ชั่วโมงจึงจะถึงเมืองสุพรรณ   วันรุ่งขึ้นหม่อมฉันไปทำพลีกรรมที่ศาลเจ้าหลักเมือง  ตัวศาลรูปร่างอย่างไทยทำด้วยไม้มุงกระเบื้อง  สร้างไว้บนโคกอันหนึ่ง  ในศาลมีเทวรูปศิลา ๒ องค์  เป็นรูปพระวิษณุแบบเก่ามาก  คืออย่างที่เหมือนใส่หมวกเติ๊กตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ ก็มี   แต่รูปพระวิษณุที่ศาลหลักสุพรรณจำหลักเป็นอย่าง Pas relief ติดอยู่กับแผ่นศิลาข้างหลังสูงสักราว ๓ ศอก  

(สาส์นสมเด็จ  กรมดำรงฯ ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๑๑ มี.ค. ๗๙)

แล้วเราก็ทราบว่า  ผู้ที่เรียกว่าหมวกเติ๊ก  หรือหมวกเตอร์ก  เป็นท่านแรกคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 11:32
 สมเด็จกรมนริศก็ได้ตอบกลับมาว่า

........... เรื่องศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณบุรีก็ดีอีก   เทวรูปที่ตรัสเล่าประทานนั้นเข้าใจดี  เป็นเทวรูปฝีมืออินเดียเก่า  ทำแขนขางามไม่เป็นไม้กระบอกและฉลักที่เป็นรูปนูน ๒-๓ หลังติดพื้นแผ่นศิลานั้น  เขาทำสำหรับประดิษฐานบรรจุในช่องคูหา   เราจะทำศาลาถวายควรต้องทำผนังหลังต้นรุ้งเป็นคูหาบรรจุเทวรูปเข้าไว้   ให้ต้องตามเจตนาเดิมของผู้ทำเทวรูป......  

(สาส์นสมเด็จ  กรมนริศฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๒๐ มี.ค. ๗๙)


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 14:03
 ทั้งสองพระองค์ก็ได้ตรัสถามตอบเกี่ยวกับเรื่ององค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี  กันอีกหลายครั้ง  จะขอคัดลอกมาให้อ่านกันเรื่อยๆ นะครับ

"....... เทวรูปที่หลักเมืองสุพรรณนั้น  เหมือนกับที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานเพียงทำทรง "หมวกเติ๊ก"  แทนชฎา  แต่มิใช่เป็น Fine Art  อย่างที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน  ดูฝีมืออยู่ข้างจะหยาบด้วยซ้ำไป   ที่หม่อมฉันทูลขนาดสูงสัก ๓ ศอกนั้นก็เห็นจะเกินไป  จะสูงเพียงสัก ๒ ศอก  ถ้ามีเศษก็ไม่มากนัก  รูปพระวิษณุเช่นนั้นมีที่เมืองสุพรรณถึง ๓ องค์  อยู่ที่ศาลหลักเมืองสุพรรณ ๒ องค์  อีกองค์หนึ่งอยู่ที่  "ท่าพระยาจักร"  อันเป็นท่าเรือของเมืองอู่ทอง   ครั้งแรก  เห็นเทวรูปวางหงายอยู่กับแผ่นดิน  แต่คนในท้องถิ่นก็บูชาอยู่แล้ว  หม่อมฉันแนะนำให้เขาทำศาลและยกเทวรูปขึ้นตั้งเข้าใจว่ายังเป็นศาลอยู่จนทุกวันนี้  ข้อที่มีเทวรูปอย่างเดียวกันอยู่ที่ศาลหลักเมือง ๒ องค์   ทิ้งอยู่ที่ท่าน้ำเมืองอู่ทององค์ ๑  ชวนให้เห็นว่าเทวรูปที่ศาลหลักเมืองจะย้ายเอามาจากที่อื่น   จึงมี "ซ้อนขึ้น"  เป็น ๒ องค์   องค์ที่เมืองอู่ทองก็คงคิดจะย้ายเอามาเมืองสุพรรณ  แต่เมื่อเอาลงมาถึงท่า  จะมีเหตุขัดข้องอย่างใดเกิดขึ้นเลยงด  เทวรูปจึงวางค้างอยู่ที่ท่าดังหม่อมฉันไปเห็นเมื่อครั้งแรก   ที่จะทำศาลาหลักเมืองสุพรรณใหม่นั้น   หม่อมฉันคิดเกรงอยู่อย่างเดียวแต่เงินทุนจะไม่พอทำให้ดีได้ดังพระดำริ .......

(สาส์นสมเด็จ  กรมดำรงฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๒๕ มี.ค.๗๙)

.......................

ที่กล่าวมานี้บางส่วนก็เป็นข้อสันนิษฐานของพระองค์ท่าน  ในขณะที่ประทับลี้ภัยอยู่ ณ บ้านซินนามอน  ปีนัง  ซึ่งพระองค์คงจะใช้แต่ความทรงจำเขียนไว้

ปัจจุบัน  คงมีการศึกษากันมากขึ้น  และหาข้อมูลกันได้ง่ายกว่าเดิมมาก  หากใครทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็ช่วยนำมาลงไว้ได้นะครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 14:12
 เกี่ยวกับเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก  หรือหมวกเติ๊ก  ดังสมเด็จกรมดำรงท่านทรงอธิบายไว้นั้น  ในสุพรรณพบ ๓ องค์  อยู่ที่ศาลหลักเมือง ๒ องค์  อีกองค์หนึ่งอยู่ที่ท่าพระยาจักร  ก็คือตัวอำเภออู่ทองในปัจจุบันครับ  สมเด็จฯ ท่านได้เคยเขียนเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีของพระองค์อีกที่หนึ่งด้วยว่า

นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ  ตอนเรื่องเมืองอู่ทอง
........ ใช่แต่เท่านั้น  แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา  ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎ อยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง  ซึ่งคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์  ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ..........


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 14:24
 ...........  เทวรูปสามองค์ซึ่งตรัสเล่าถึง   จะอย่างไรก็เชื่อว่าคงเป็นของทำมาจากอินเดีย   เริ่มแรกคงจะเอาประดิษฐานไว้ในที่สามแห่ง  แต่แล้วจะโยกย้ายไปที่ไหนบ้างกี่ครั้งกี่คราวไม่มีทางจะสันนิษฐานได้ .....


(สมเด็จกรมนริศฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว. ๓ เม.ย. ๘๐  จากหัวหิน)


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 17 ส.ค. 06, 16:16
 ก่อนกลับบ้านวันนี้  ขอยกเอาข้อความจากเอกสารฉบับหนึ่งมาอ้าง  เกี่ยวกับพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก  หรือหมวกแขก  ว่าเป็นอย่างไร  มีเจอที่ไหนบ้าง  เผื่อคุณกุรุกุลาผ่านมาเยี่ยม  จะได้ร่วมด้วยช่วยกันอธิบายให้ฟัง


........ เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เป็นเทวรูปสลักด้วยหินศิลาสีเขียวติดกับผนัง  มี ๒ องค์  ในรูปพระวิษณุ  หรือพระนารายณ์สี่กร  สวมหมวกทรงกระบอก

สำหรับประติมากรรมพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก  รุ่นแรกพบที่เมืองตะกั่วป่า  พังงา  และเมืองศรีเทพ  เพชรบูรณ์  แต่อยู่ในรูปลอยตัว  ต่างกับเทวรูปหินของอินเดียที่มักเป็นรูปนูนจากผนัง  ประติมากรรมสวมหมวกทรงกระบอกเก่าแก่ที่สุด  เป็นรูปนูนจากผนังของกษัตริย์ปัลละวงศ์  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒  ที่เมืองมัลลปุรัมในอินเดียตอนใต้  ซึ่งราชวงศ์นี้ครองอยู่ราว พ.ศ.๗๐๐-๑๔๐๐   ไมเคิล ไรท์  กล่าวว่า  คำว่า "ปัลลวะ"  มาจาก Pahlai  ในภาษาอิหร่านมีนิทานว่าบรรพบุรุษของปัลลวะ  คือชาวอิหร่านที่เข้ามาครั้งมหาภารตยุทธ์  ได้นางนาคเป็นภรรยา  ต่อมาได้ครองอินเดียใต้  กษัตริย์ราชวงศ์นี้จึงนิยมสวมมุงกุฎทรงกระบอกแบบชาวอิหร่าน   ไทยอู่ทองติดต่อกับปัลลวะมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี  ใช้ตัวหนังสือของปัลลวะในรูปของภาษาเขียน (บาลี สันสกฤต และมอญโบราณ)  ประติมากรรมพระนารายณ์คงเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒  โดยเป็นรูปเทวเคารพของชาวอินเดียที่เข้าติดต่อค้าขาย   ไทยอู่ทองที่นับถือศาสนาพราหมณ์ก็คงจะรับเป็นรูปเคารพไปด้วย

ต่อมาถึง พ.ศ.๑๓๐๐  มงกุฎทรงกระบอกก็หายไป  กลายเป็นทรงมงกุฎอย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย   ในสมัยหลังๆ เช่น รูปสลักหินนูนต่ำพระนารายณ์ทรงเครื่อง  ทรงมงกุฎพบที่เมืองกาญจิปุรัมในอินเดียใต้   ซึ่งไมเคิล ไรท์ ลงความเห็นว่า  เทวรูปทวาราวดีในประเทศไทย  ควรจะเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.๘๐๐-๑๐๐  ไม่ใช่ ๑๑๐๐-๑๒๐๐ ดังที่กำหนด   เพราะเท่าที่พบก็แลดูสวยงามเหมือนผ่านพัฒนาการมาช้านาน

(จาก "สุพรรณบุรีเมืองโบราณฯ"  โดย นวลพรรณ ยิ้มยวน, ๒๕๔๓)

....................

อ้อ ลืมไป  ไม่ใช่คุณกุรุกุลาคนเดียวนะครับ  คุณโพธิ์ประทับใจของผมด้วย  มีรูปอะไรดีๆ เชิญมาแบ่งกันดูมั่ง  ขอบพระคุณอย่างสูง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 18 ส.ค. 06, 16:46
 ได้พยายามค้นหาด้วยความลำบาก  เพราะไม่ได้อยู่ใกล้ข้อมูลที่จะหยิบยืมใครได้เลย  ร้องเรียกหลายรอบแล้วก็ไม่มีผู้เมตตา  แต่ก็ไปเจอหนังสือที่มี แล้วก็เก็บไว้แต่เดิมด้วย  ค้นซ้ำค้นซาก  ก็เจอ  อิอิ  โชคดีครับ

จะค้นอะไรเหรอ  ก็เกี่ยวกับองค์เทวรูปที่กล่าวถึงนี่แหละครับ  มีกล่าวไว้หลายแห่งว่าในสุพรรณมีอยู่ ๓ องค์พี่น้องกัน  เจอในหนังสือ  สรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี  ประจำปี ๒๕๔๕

ตรงนี้กล่าวถึง เจ้าพ่อพระยาจักร ก่อนว่า  เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองอู่ทอง  เป็นเทวรูปที่ถือจักรอยู่ในมือ  ทำด้วยหินสี่เหลี่ยม  กว้างประมาณ ๑ เมตร  สูง ๑.๕ เมตร หนา ๓๐ ซม.  เป็นรูปสลักนูนนารายณ์สี่กร  อยู่ในท่ายืน  สวมหมวกคล้ายฤาษี  หัตถ์ขวาบนทรงจักร  หัตถ์ซ้ายบนทรงกริช  หัตถ์ขวาล่างอยู่ในท่าท้าวสะเอว  เทวรูปนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ  ไม่มีผู้ใดทราบประวัติแน่นอน  เมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อน  อยู่ในตลาดท่าพระยาจักร  และย้ายจากที่เดิมมาทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐ เมตรในปัจจุบัน  ประดิษฐานอยู่ที่ศาล  ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำจระเข้สามพัน

อีกองค์หนึ่งคือ  เจ้าพ่อจักรนารายณ์  ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญดาราม (วัดเขาพระ) ใกล้ที่ว่าการอำเภออู่ทองปัจจุบัน

ความศักดิ์สิทธิ์
๑. เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสด็จมาตรวจราชการผ่านเมืองอู่ทอง  และแวะพักแรมที่ดอนพลับพลา  อำเภออู่ทอง  พระองค์มิได้ไปแสดงความคารวะ  ม้าที่นั่งจึงพยศ  ต่อมาพระองค์เสด็จคารวะจึงหายอาการ
๒. เมื่อคราวไฟไหม้ที่ตลาดเก่า  พอวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าที่ท่อนแขนของเจ้าพ่อมีรอยไหม้

...........................

แต่อ่านจากที่สมเด็จกรมดำรงฯ ท่านนิพนธ์ไว้ทั้งในนิทานโบราณคดี  และสาส์นสมเด็จ  ก็ไม่มีปรากฎเรื่องม้าพยศ  หรือว่ายังอ่านไม่เจอ  ใครรู้จริงบอกบ้างนะครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 19 ส.ค. 06, 09:31
 สวัสดีครับคุณนิก อยากเห็นภาพเจ้าพ่อพระยาจักรกับเจ้าพ่อจักรนารายณ์ พอจะมีรูปอนุเคราะห์ไหมครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 19 ส.ค. 06, 09:52
 คัดลอกจากที่เดียวกันอีกนั่นแหละ  บอกเพิ่มเติมอีกดังนี้

เทวรูปชุดนี้มี ๓ องค์พี่น้อง  รูปร่างลักษณะเหมือนกันคือ
๑. องค์ใหญ่  เจ้าพ่อหลักเมือง  อยู่ที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
๒. องค์กลาง  เจ้าพ่อพระยาจักร  อยู่ที่ตลาดท่าพระ  อำเภออู่ทอง
๓. องค์เล็ก  เจ้าพ่อจักรนารายณ์  อยู่ที่วัดเขาพระ อำเภออู่ทอง

คหพต.๑๐๒  บอกว่ามี ๓ องค์พี่น้อง  แต่สององค์อยู่ที่เมืองสุพรรณ  อีกองค์อยู่ที่อู่ทอง  แต่ข้อมูลใหม่บอกดังข้างบนนี้  ผมก็ต้องเชื่อของใหม่แหละ  เพียงแต่ว่า  องค์ใหญ่ท่านเป็นคู่แฝดครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 19 ส.ค. 06, 18:11

หารูปไม่ค่อยได้ครับ  ต้องนั่งเครื่องไปหาที่สุพรรณแบบรีบเร่ง  ได้มารูปหนึ่ง  เป็นภาพถ่ายเอกสารที่เก็บไว้นานแล้ว
เป็นรูปน้องสุดท้องของเทวรูปศักดิ์สิทธิ์สามพี่น้องของเมืองสุพรรณครับ  ขณะนี้ท่านอยู่ที่วัดเขาพระ อ.อู่ทอง

กุรุกุลาพอจะพิจารณารายละเอียดเห็นไหมครับ

ส่วนองค์กลางที่ศาลริมน้ำจระเข้สามพัน  ตลาดท่าพระฯ อู่ทอง  หารูปมาโชว์บ่ได้   แฟนๆ คนไหนอยู่อู่ทองฝากถ่ายรูปมาให้ดูบ้างเด้อ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 21 ส.ค. 06, 11:51
 พยายามไปหารูปหลายที่  หารูปเจ้าพ่อพระยาจักรไม่ได้เลยจริงๆ
เจ้าพ่อจักรนารายณ์ก็อย่างภาพข้างบน  ไม่รู้ว่าศิลปะจะเหมือนกับองค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณมั้ย  ใครตาดีช่วยสังเกตหน่อยดิ


หากใครไปอู่ทอง  องค์เจ้าพ่อทั้งสององค์อยู่กลางตลาดอู่ทองเลยครับ  ห่างกันไม่มาก  จะถึงกิโลเปล่าก็ไม่รู้  แล้วก็ตั้งอยู่ในสถานที่เคารพที่คนเข้าไปกราบนมัสการได้ง่ายๆ  เหตุไฉนไม่เห็นมีภาพเผยแพร่กันเลย  งงงง


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 22 ส.ค. 06, 08:53
 พอดีช่วงนี้ได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุกอยู่  เป็นอำเภอตอนเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี  ท่านศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องคุ้มครองภัยจากไฟไหม้  ว่างๆ เชิญแวะไปเยี่ยมกระทู้ตลาดร้อยปีสามชุกของอาจารย์เทาชมพูได้ครับ

กล่าวด้วยว่าองค์เจ้าพ่อก็เป็นเทวรูปเหมือนกัน  ก็เป็นวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ฮินดู  แต่อายุน้อยกว่า  จะหารูปมาโชว์ก็ไม่มี


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: Louvorian ที่ 23 ส.ค. 06, 06:37
 เอารูปมาฝาก เป็นรูปเจ้าพ่อพระกาฬ จากเมืองลพบุรี
เป็นเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ประดิษฐานอยู่ที่กลางเมืองลพบุรีปัจจุปัน
น่าจะเป็นศิลปะบายน เพราะตัวศาลเดิมเป็นปราสาทศิลาแลงปัจจุปันเหลือแต่ฐาน
ตัวปราสาทได้พังหายไปแล้ว


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 23 ส.ค. 06, 15:01
 รูปไม่ออก  สงสัยคุณ Louvorian ใส่รูปใหญ่เกินพิกัดไป  เวปไม่ยอม  สมาชิกรายใหม่ที่ยังโพสต์ไม่มาก  เขาจะยอมให้ส่งภาพได้ไม่เกิน ๔๐ กิโลไบต์ครับ  กว่านิดหน่อยก็ไม่ได้
ถ้าโพสต์เยอะๆ ได้สัก ๕๐-๖๐-๗๐ reply เขาถึงจะยอมให้ถึง ๕๐
แล้วจะรอครับ

ระหว่างรอ  ก็ขอนำพระนิพนธ์โต้ตอบในสาส์นสมเด็จของทั้งสองพระองค์มาลงต่อ  เกี่ยวกับองค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณแหละครับ  ต่อจาก คหพต.๑๐๓ ครับ

....... คราวนี้จะกราบทูลถึงเทวรูปซึ่งมีอยู่ที่ศาลนั้น   เขาว่ามีสององค์เป็นเทวรูปจำหลักด้วยศิลามีพนังหลังตั้งพิงไว้ในศาล   รู้ได้ว่าเป็นของเอาแต่ที่อื่น   รูปมีพนังหลังชนิดนั้นเขาทำสำหรับฝังเข้าไปในคูหาที่เจาะผนังเข้าไป   ว่ากันว่าองค์หนึ่งเป็นรูปพระนารายณ์  อีกองค์หนึ่งเป็นรูปพระหลักเมือง  แต่จะเป็นไปไม่ได้  เพราะหลักเมืองต้องเป็นเสาหลัก  ไม่เป็นเทวรูป  พระพรหมพิจิตรว่าจะดูให้รู้ว่าเป็นรูปอะไรก็ไม่ได้  ด้วยคนเอาทองเปลวปิดทับถมเข้าไว้เสียท่วมทึบ  รู้ได้แต่ว่าที่เป็นมีสี่กรทั้งสององค์........

(สาส์นสมเด็จ  กรมนริศฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔   ลว.๑๘ ก.ย. ๘๐)


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: Louvorian ที่ 23 ส.ค. 06, 21:35

เมื่อคืนรีบโพส ลืมดูขนาดไปหน่อย

เอารูปมาฝาก เป็นรูปเจ้าพ่อพระกาฬ จากเมืองลพบุรี
เป็นเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ประดิษฐานอยู่ที่กลางเมืองลพบุรีปัจจุปัน
น่าจะเป็นศิลปะบายน เพราะตัวศาลเดิมเป็นปราสาทศิลาแลงก่อเป็นทรงสูงสอบขึ้นไป
ปัจจุปันเหลือแต่ฐาน น่าจะคล้ายๆกับปราสาทปักษีจำกรง ที่เมืองเสียมเรียบ แต่ปัจจุปัน
ตัวปราสาทได้พังหายไปแล้ว บางข้อมูลอาจจะกล่าวว่าเป็นเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเทวรูปพระวิษณุ(พระนารายณ์)มากกว่าเพราะมีการพบทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุิ์บนศาลเดิมด้วย(ปัจจุปันจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี)

ตัวศาลที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่สมัยจอมพลแปลก ด้านบนที่สมควรจะเป็นตัวปราสาทนั้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาได้มีการสร้างอาคารก่ออิฐไว้แต่ปัจจุบันเหลือผนังอยู่2-3ด้าน สามารถไต่บันไดขึ้นไปชมได้ และยังปรากฎมีซากเท้าเทวรูปศิลปะร่วมสมัยเมืองพระนครอยู่ด้านบนด้วย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: Louvorian ที่ 23 ส.ค. 06, 21:44
 ด้านขวามือขององค์เทวรูปเจ้าพ่อพระกาฬ หรือซ้ายเมือเรา(ในรูป)ปรากฎมีรูปแกะสลักนูนสูงพระวิษณุที่น่าจะเคบเป็นกลีบขนุนประดับองค์ปราสาทเดิมปรากฎอยู่ แต่ในรูปเป็นองค์จำลอง ของจริงนั้นตั้งแสดงอยู่ในอาคารที่กล่าวไว้ข้างต้น

และยังปรากฎกลีบขนุน2ใบที่อาคารแสดงศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑสถานฯพระนคร กทม จัดแสดง กลีบขนุน รูปเทวะสตรีประทับยืนค่อกันถือดอกบัวในพระหัถต์ และกลีบขนุนรูปพระพรหม รายละเอียดกล่าวว่าพบที่ศาลสูงเมืองลพบุรีเช่นกัน
น่าจะเป็นที่กระจ่างแล้วว่า เทวสถานแห่งนี้เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย (พระวิษนุเป็นใหญ่) และสนับสนุนให้รูปเคารพที่ศาลพระกาฬปัจจุบันน่าจะเป็นเทวรูปพระวิษณุมากกว่า รูปอื่นใด


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 24 ส.ค. 06, 12:46
 จาก คหพต.๑๑๒  จะเป็นความรู้ว่า  เทวรูปมีพนังหลังแบบที่ขององค์เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ  เขาออกแบบสำหรับฝังเข้าไปในคูหาที่เจาะผนังเข้าไป  ไม่ได้ตั้งไว้ธรรมดาแบบที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป

ขอบพระคุณมากครับ  คุณ Louvorian สำหรับรูปเจ้าพ่อศาลพระกาฬ  หากเป็นศิลปะแบบบายน  ก็เป็นสมัยหลังจากขององค์เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ

ใครมีความรู้เรื่องเจ้าพ่อศาลพระกาฬ  หรือที่อื่นๆ ด้วย  เพิ่มเติมได้ครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 ส.ค. 06, 08:30
 ต่อจาก ๑๑๒ ครับ

..... เรื่องซ่อมศาลหลักเมืองสุพรรณนั้น  หม่อมฉันเห็นชอบด้วยดังทรงพระดำริ  เทวรูปนั้นทูลยืนยันได้ว่ารูปพระวิษณุทั้ง ๒ รูป  เพราะหม่อมฉันได้พิจารณาแล้ว   หม่อมฉันมีวินิจฉัยที่จะทูลในเรื่องหลักเมืองต่อไปอีกหน่อย   คือ ในประกาศพระราชพิธีที่หลักเมืองในรัชกาลที่ ๔ เรียก  หลักเมืองในภาษามคธว่า  "โตรณ"  หม่อมฉันเคยได้ยินแปลศัพท์โตรณอีกอย่างหนึ่งว่า เสาไต้ (ประทีป)  แต่หลักเมืองเมืองเชียงใหม่เขาเรียกว่า "หลักอินทขีล"  เมื่อหม่อมฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ไปได้หลักเมืองศรีเทพลงมา (อยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณบัดนี้)   มีจารึกอักษรคฤนถ์แตกเสียมาก   แต่ยังเหลือคำว่า "ขีลํ" ปรากฏอยู่  หม่อมฉันค้นดูในอภิธานภาษาบาลีของอาจาร์จิลเดอ  แปลศัพท์  Tora man ว่าซุ้มประตู  Gateway   แปลศัพท์ Khi Lo ว่า Pin   หรือ Stake คือหลัก  ดังนี้ขอให้ทรงพิจารณาดู ..........

(สาส์นสมเด็จ - กรมดำรงฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔ ลว.๒๓ ก.ย. ๘๐)


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กัลปพฤกษ์ ที่ 25 ส.ค. 06, 12:32
 ขออนุญาตสมัครเข้าเป็นสมาชิกกระทู้ว่าด้วยเรื่องเมืองสุพรรณ..ด้วยคนค่ะ
ในฐานะผู้อ่านและผู้ดู   ขอชื่นชมบทความให้ความรู้ของคุณ Nicky จากศาลหลักเมือง เรือย ๆ มาถึงภาพสวยมาก ๆ ของคุณโพธิ์ฯค่ะ ..พอเห็นภาพแล้วอยากให้ท่านผู้รู้เข้ามา Post ประวัติของสถานที่นั้น ๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบต่อการให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านด้วยค่ะ  ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ส.ค. 06, 11:04
 ขอบพระคุณมากครับคุณ กัลปพฤกษ์
ผมพยายามเขียนต่อเนื่องให้เป็นระบบมาเรื่อยๆ ครับ
ถึงตอนนี้ก็เกี่ยวข้องกับองค์เทพารักษ์หลักเมือง
แล้วต่อไปก็จะเป็นเกี่ยวกับลักษณะวิวัฒนาการของตัวอาคารสถานที่  ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วครับ

คุณ โพธิ์ประทับช้าง ก็ได้นำภาพสวยๆ ทางด้านโบราณสถาน-วัตถุของเมืองสุพรรณมาร่วมด้วย
ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชมสำหรับทุกท่านเป็นอย่างยิ่งด้วยครับ
ก็ยินดีที่คุณกัลปพฤกษ์ได้พบเห็นช้างเผือกเชือกนี้เหมือนกับพวกเราหลายท่าน
แต่ตอนนี้ท่านคงจะมีธุระยุ่งจึงไม่สามารถเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นได้แม้ในกระทู้ของท่านเอง

แต่เนื่องจากเรื่องศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณเป็นเรื่องที่อยู่ในวงจำกัด  ผู้สนใจทั่วประเทศอาจมีจำนวนน้อย ยิ่งในเรือนไทยยิ่งมีจำนวนน้อยแทบจะนับตัวได้  หรือไม่มีเลยก็ว่าได้  และเวลาซึ่งเป็นสิ่งชักนำให้เข้ามาร่วมพูดคุยก็เป็นสิ่งสำคัญของแต่ละท่าน  รวมความแล้วคนยิ่งเข้ามาน้อยใหญ่  แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะกระทู้นี้เท่านั้นครับ  แต่ที่เห็นก็เป็นในหลายๆ กระทู้ด้วย  จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ  หรือน่าน้อยใจอะไรทั้งสิ้น

อีกประการหนึ่ง  ขณะนี้ผมมีแหล่งพำนักอยู่ไกลกับสถานที่แห่งนี้อย่างลิบลับ  ไม่มีความสามารถรวบรวมความรู้ระดับชาวบ้านที่เขียนสั่งสมกันมาได้เพิ่มเติมจากที่มีอยู่  รวมทั้งไม่มีแหล่งข้อมูลใกล้เคียงอื่นเพิ่มเติมอีกเลยนอกจากบารมีที่เคยสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี  ความตั้งใจที่จะทำให้สมบูรณ์พร้อมแต่แรกก็เลยมีอันตัองพับไป  เหลือแต่ความตั้งใจจริงในการรวบรวมเสนอข้อมูลที่พอมีให้ดีที่สุดครับ

ก็จะนำลงเรื่อยๆ จนกว่าภาระนี้จะเสร็จสิ้นครับ
เป็นความตั้งใจจริงแต่แรกอยู่แล้ว  เพื่อเสนอเรื่องให้ครอบคลุมอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ขอบคุณมากครับคุณกัลปพฤกษ์


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 26 ส.ค. 06, 14:49
 ยังติดตามอยู่ตลอดนะคะ คุณนิค ((ว่าแต่ว่า คุณนิค พิมพ์เร็วจังค่ะ ไม่เข้ามาอ่านหลายวันกว่าจะตามทันเหนื่อยเลย))      


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ส.ค. 06, 15:08
 ขอบคุณครับ
ความจริงไม่เหนื่อยอะไรหรอก  เรื่องพิมพ์  ง่ายๆ  เป็นงานเสมียนที่เราเป็นโปรเฟสชั่นน้อลอยู่แล้ว


ขณะนี้มีปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ยังค้างคาใจอยู่

ยังหาขนาดความกว้างยาวสูงขององค์เจ้าพ่อหลักเมืองจริงๆ ไม่ได้เลย  ค้นจากที่ไหนก็ไม่เจอทั้งสิ้น  จะไปวัดขนาดที่องค์ท่านเอง  ก็กลัวคนจะหาว่าเพี้ยน  เฮ้ออออ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ส.ค. 06, 17:01
 ขอเรียนอธิบายให้ทราบคร่าวๆ อีกครั้งครับ  ว่ากระทู้นี้ได้รวบรวมอะไรไว้แล้วบ้าง  เพื่อผู้ที่เพิ่งมาติดตามอ่านจะได้เข้าใจกันง่ายขึ้น

เดี๋ยวจะหาว่าโม้  ที่คุยไว้ว่าทำอย่างเป็นระบบ  

- ความหมายของ ๓ วัฒนธรรม  มีอะไรบ้าง  (คหพต.๑-๙, ๑๓, ๑๖)
- ตำแหน่งที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  ดูเปรียบเทียบกับแผนที่ทางอากาศ  และบรรยากาศในอดีต
- ความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอื่นๆ เช่น สถานที่สำคัญ วัดร้าง เพนียดคล้องช้าง  คูเมืองโบราณในแต่ละยุคสมัย  (สองหัวข้อนี้ปะปนกันใน ๑๗-๓๕)
- คติที่เกี่ยวข้องกับองค์เจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน  คืองานประเพณีทิ้งกระจาด  (๑๑, ๔๘)
- คติโบราณห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณ  (๓๙-๔๗, ๘๔)
- ภาพที่คุณโพธิ์ประทับช้างนำมาร่วม  เป็นภาพสวยงามมาก  มากถึงมากที่สุด  ใครเห็นใครอดชมไม่ได้  ประกอบกับคำอธิบายเพิ่มเติมของผม  (๔๙-๘๑)
- ความเชื่อเรื่องเสาหลักเมือง (๘๕-๘๖)
- ความเชื่อเรื่องที่มาขององค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณ  (๘๗-๘๙)
- วรรณคดีที่เกี่ยวข้อง  โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่  และนิราศสุพรรณของเสมียนมี  (๙๐-๙๘)
- ลักษณะขององค์เทพารักษ์หลักเมือง  รวมทั้งภาพเพิ่มเติมของคุณ Louvorian (๑๓, ๑๖, ๙๙-๑๑๖)

ตอนต่อไปจะเกี่ยวกับลักษณะของตัวอาคารสถานที่  จากอดีตที่ผ่านมา  ถึงปัจจุบัน  แล้วก็ถึงอนาคตด้วย
เท่าที่พอจะรวบรวมได้ครับ  ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายแล้วล่ะ  ทนๆ กันหน่อย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 28 ส.ค. 06, 19:33
 ไม่ได้เข้าวิชาการมาน้านนานครับ เพราะงานยุ่ง มาดูอีกทีคุณนิกต่อกระทู้เสียจนผมอ่านไม่ทัน ตอนนี้ก็มาเก็บอ่านต่อครับ

เมื่อวานก่อนผมไปสุพรรณมาครับ ไปอู่ทอง ตอนเขาให้กินข้าวในตลาดผมก็แอบแวบไปชมเจ้าพ่อพระยาจักรมา ได้ถ่ายรูปมาด้วย คงไม่ต้องกวนคุณนิกแล้วครับ ไปคราวนี้เหมือนในเสภาเลยที่ว่า

บิณฑบาตกาญจน์บุรีศรีสุพรรณ
จะพบขวัญตาพี่ให้จงได้
จำจะเขียนเพลงยาวติดเอาไป
สมคะเนก็จะให้เสียทีเดียว

คือไปดูทั้งสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรีได้ภายในวันเดียว กลับมาเหนื่อยไข้ขึ้นเลยครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 28 ส.ค. 06, 19:36

คราวนี้ขออนุญาตคุณนิกลงภาพเจ้าพ่อพระยาจักรแล้วกันครับ ผมยังไม่ได้ค้นข้อมูลมาก แต่เท่าที่ดูๆ เป็นเทวรูปพระวิษณุที่เก่าแก่องค์หนึ่งในประเทศไทยเลยทีเดียว คิดว่าน่าจะอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 ก่อนหรือร่วมสมัยกับทวาราวดีตอนต้น ตอนนี้ยังถือสังข์อยู่ที่โสณีอยู่


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 29 ส.ค. 06, 03:53
 ขอบคุณครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 29 ส.ค. 06, 11:44
 ยินดีต้อนรับคุณโพธิ์ประทับช้างเข้าสู่อารยธรรมของเมืองสุพรรณอีกครั้งครับ
แต่.... มาดึกจัง  ไม่ทันเจอะเจอหน้าตากันเลย  คิดถึงเหมือนกัน


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 29 ส.ค. 06, 12:33
 ทิ้งช่วงนาน  เดี๋ยวกุรุกุลามาอ่านก่อนเกิดน้อยใจ  ต้องใช้เวลาคิดเวลาพิมพ์ก่อนครับ  ไม่ค่อยจะว่างซะด้วย  เอาให้ยาวๆ แล้วก็ซาบซึ้ง

กุรุกุลามาเมื่อไร  เป็นได้ชื่นใจเมื่อนั้น  มาทั้งบทกลอน  ไม่รู้ขุดมาจากไหน  ช่างไพเราะเพราะพริ้งกินใจคนสุพรรณเสียเหลือเกิน  แล้วก็ได้รูปมาให้ชมกันด้วย  แวบมาเยือนเมืองสุพรรณเมื่อไรไม่บอก  จะได้ต้อนรับซะให้เข็ด

เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมเลยครับที่ได้เห็นองค์เจ้าพ่อพระยาจักร  แม้จะเป็นเพียงภาพถ่ายก็ตาม  ว่าแต่ว่าได้กินข้าวกลางวันรึเปล่า  เพราะคนอื่นกิน  แต่เธอไปตามถ่ายรูปไม่รู้จักหยุดจักหย่อน  ตั้งใจศึกษาหาความรู้ดีจัง  แต่คงไม่ถึงกับปีนหลังคาไปเก็บภาพเหมือนกับพี่โพธิ์ประทับใจนะครับ  น่านับถือกันทุกคน

คุณกุรุกุลาได้ไปถ่ายรูปเจ้าพ่อจักรนารายณ์ด้วยรึเปล่าครับ
อยู่ที่วัดเขาพระฯ  ไปทางตะวันตกของหอนาฬิกากลางเมืองอู่ทองหน่อยหนึ่ง  แต่ถ้าเดินไปก็ไกลสักสี่ห้าร้อยเมตรได้  เพราะอย่างรูปใน คห.๑๐๘ ไม่ค่อยชัด

โชคยังดีที่เทวรูปทั้งสี่องค์ของเมืองสุพรรณ  ไม่ได้ถูกหอบหิ้วมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกรุงเทพฯ ครับ
เป็นเรื่องที่ผิดคาดเช่นกัน  เพราะปกติสิ่งดีๆ งามๆ ของแต่ละจังหวัดจะถูกอาราธนามาเก็บไว้ ณ ศูนย์กลางของประเทศแห่งนั้นกันหมด

ฝากผู้เชี่ยวชาญพิจารณาดูด้วยนะครับว่า  สี่องค์นี้ (ใน ๑๐๘ น้ององค์เล็กกับ ๑๒๓ พี่คนกลาง  ส่วนพี่ใหญ่เป็นแฝดอยู่ที่เมืองสุพรรณ)  อยู่ร่วมสมัยกันได้รึเปล่าครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 29 ส.ค. 06, 14:07

มีงานวิจัยที่น่าสนใจมาก ทำการศึกษา
ชุมชนในลุ่มแม่น้ำท่าจีน ตอบข้อสงสัยที่ว่า
ทำไมสองฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ปากคลองมะขามเฒ่า
จนถึงปากอ่าว ทำไมจึงมีโรงสีร้าง ตลาดร้าง
กับ ศาลเจ้าจีน มากมาย แล้วจะหามาฝากกันครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 29 ส.ค. 06, 16:07
 หากอาจารย์เทาชมพูไปเที่ยวสามชุกอีกรอบ  ขอความกรุณาฝากถ่ายรูปเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุกมาเผื่อบ้างนะครับ  เพราะเป็นเทวรูปพระนารายณ์สี่กรเหมือนกัน  แต่เขาว่ามีอายุในช่วงปี พ.ศ.๑๘๐๐   ส่วนของเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ  มีอายุราวปี พ.ศ.๑๑๘๕-๑๒๕๐ ครับ

วันนี้มาแนวขอครับ
ขอทั้งจากเด็ก  และก็ผู้ใหญ่
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 31 ส.ค. 06, 11:02
 ขอบคุณครับคุณโพธิ์ฯ ถ่ายรูปที่ท่าน้ำท่าวัดแคเมืองสุพรรณใช่ไหมครับ  มุมจากเหนือลงใต้  ตรงท่านั้นมีคุ้มขุนแผน  ปลูกบนกลางคูเมืองโบราณสุพรรณเลยครับ  เป็นปากคูเมืองที่จะไหลออกสู่แม่น้ำสุพรรณทางตอนเหนือ  เขาถมจนมองดูไม่ออกแล้วว่าเป็นคูเมือง  แต่ดูตามแนวของภาพถ่ายทางอากาศก็จะรู้ได้ทันที

คูเมืองตรงนี้ขาดตอนเมื่อปี ๒๕๐๔ ครับ  แล้วก็ต่อไม่ติดเลยจนถึงบัดนี้  ตอนนั้นเริ่มทำถนนทางเข้ามายังวัดแคและวัดต่างๆ ริมแม่น้ำนี้  ถนนยาวประมาณ ๗ กม.ครับ  

ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำของวัดแค  มีโรงสีอยู่แห่งหนึ่ง  เหนือขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง
ใต้วัดแคลงไปฝั่งเดียวกัน  มีโรงสีอีกแห่งหนึ่ง  ดังภาพที่เห็นนี่แหละครับ  แล้วใต้ลงไปก็จะมีอีกแห่งหนึ่ง

รวมสองฝั่งแม่น้ำราวเกือบกิโลเมตร นับจากสะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณขึ้นมาทางเหนือ  มีโรงสีรวม ๔ แห่ง  แต่โชคดีที่ยังไม่ร้างเลยครับ  เหตุสำคัญเพราะสุพรรณเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประเทศ

อยากรู้จัง  งานวิจัยที่ศึกษาดังที่อ้างไว้  ว่างเมื่อไรมาแทรกได้เมื่อนั้น
วัยรุ่นใจร้อน  อิอิ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 31 ส.ค. 06, 20:55
 * สวัสดีครับคุณนิค ผมติดภาระกิจอีกโขเลย
หากเสร็จเมื่อไหร่ จะค้นเรื่อง "ลุ่มท่าจีน" มาฝากกัน
ผมเห็นว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุโณปการอย่างสูง ทำให้เข้าใจ
สุพรรณบุรีรวมถึงชุมชนตลอดลุ่มน้ำตั้งแต่ต้นกำเนิด
จนถึงปากอ่าวได้อย่างกระจ่างชัด อีกอย่างก็ถือว่าคุณ
เป็นเพื่อนใหม่ เช่นเดียวกับคุณ Japonica

* เมื่อคืน คุณ คุณพี่ บ่นมาทาง sms ประสงค์จะได้รูปภาพ
เจ้าจอม และ เจ้าจอมมารดา ผมเลยจัดโพสไปให้ ๑ ชุด
เท่าที่พอจะมีอยู่ในคอมพิวเตอร์

* คุณ คุณพี่ ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนสมาชิกอีกท่านหนึ่งในบอร์ด
แต่ก่อนเคยแวะมาสนทนาทักทายด้วยเสมอ พักหลังหายไป
เนื่องจากเกิดเหตุพิพาทกับ ๒ บุคคล ซึ่งเป็น Honoured Member
ซึ่งผมก็เคยพบพานกับการสำแดงปาฎิหาริย์ของหนึ่ง
ในสองนั้นมาแล้ว ต่อเนี่องจากความไม่มีมารยาทของบุคคลนั้น
ซึ่งผมประสบมา และได้นำมากล่าวถึงในที่นี้ ท้ายที่สุดก็เกิดเหตุ
กับคุณ Japonica กลายเป็นเรื่องเป็นราว และกระทู้ใหม่ทุกกระทู้
ของคุณ Japonica ที่ตอบผมก็ถูกลบไปในที่สุด

* ผมเป็นพุทธ ทุกๆ วัน มีโอกาสดีๆ ที่จะนำธรรมมาใช้เสมอ
เลยอยากจะขอร้องท่านทั้ง ๒ ฝ่าย ลองทบทวน เปิดใจ ให้อภัย
และ เริ่มต้นใหม่ กับ ปัญหาที่เกิดขึ้น ลองพิจารณาดูเกิดครับ

อีกประการสำคัญ เหตุที่ไปลบกระทู้คุณ Japonica ในกระทู้
"อยุธยาภิรมย์" ของผมนั้น ผมเห็นว่าไม่สมควร เพราะไม่รู้ว่า
การตัดสินนั้น มาจากใคร ? และ นำมาตรฐานอะไรมาตัดสิน ?
หากสมกับเหตุ แลสากับการกระทำ และควรแก่กาลเทศะแล้ว
ก็ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากคุณไปลบข้อความที่สุภาพอย่างไม่สมควร
ก็ย่อมเท่ากับว่า "ทุบหม้อข้าวของเว็บเอง" แล้วยังเป็น "กรรม"
เพราะไปปิดกั้นความรู้ของสมาชิกท่านอื่นๆ ที่สมควรจะได้รับรู้ "กรรม" นี้
จะตกแก่เว็บ จะไม่เจริญก้าวหน้าและเงียบเหงา หากท่านได้อ่าน
ขอให้ท่านอ่านอย่างมีสติและเป็นกลาง โดยแยกแยะเรื่องส่วนตัว
ให้ออกจากเรื่องส่วนรวม โดยไม่นำมาเกี่ยวข้องกัน เมื่อท่านได้อ่านแล้ว
ไม่ต้องชี้แจงก็ได้ แต่ขอให้นำไปแก้ไขปรับปรุง จะขอบคุณมากครับ
ผมยังเชื่อว่าเว็บนี้ไม่ได้ทำให้คนแค่ ๒-๓ ใช้ แต่มีจุดมุ่งหมายให้เป็น
เว็บสาธารณะ  การทำอะไรจึงควรใช้หลักยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
กับสมาชิกทุกๆ คน ให้สมกับเป็นเว็บที่ได้รับรางวัล "เว็บไซท์ส่งเสริมการเรียนรู้ดีเด่น"

ถ้าเป็นการรบกวนคุณนิค ที่นำกระทู้นี้มาโพสไว้ ผมขออภัยอย่างสูงครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 01 ก.ย. 06, 09:50
ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นการรบกวนเลยครับ  คุณโพธิ์ฯ
การแสดงออกในเวปวิชาการของพวกเรา  ส่วนใหญ่ก็เพื่อความรู้กันทั้งนั้นแหละครับ  เป็นเป้าหมายหลัก  แต่ระหว่างทางอาจมีอุปสรรคบ้าง  ขัดคอขัดใจกันบ้าง  โชกเลือดบ้าง  ถือเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็แล้วกันครับ  เพราะอย่างน้อยเราก็ยังไม่ได้มีปัญหาโดยตรงต่อหน้าต่อตากัน

เรื่องอุปนิสัยใจคอของคน  เป็นเรื่องที่จะบอกกล่าวและแก้ไขในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้ครับ  ผมเป็นคนอย่างนี้มาเป็นเวลา ..... น๊านนาน...  คุณโพธิ์ฯ ก็เป็นคนอย่างนี้มา .... คงไม่นานเท่าไร   เพื่อนคุณโพธิ์ฯ ที่นาม JP ก็คงน๊านนาน.....  พอๆ กับผมมั้ง  จะให้ผมเป็นผมคนใหม่  หรือเธอเป็นคนใหม่  คงทำไม่ได้ชั่วข้ามวันข้ามคืน  แต่หากเราเข้ามาสู่สังคม  เราก็ต้องคอยระมัดระวังตัวเอง  หรือเรียกว่ามีสติ  ไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งบาดหมางกับใครอย่างขั้นวิกฤต  โดยเฉพาะสังคมออนไลน์อย่างนี้  เราไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าใครเป็นใคร  ใครเล็กใครใหญ่แค่ไหน  รู้ได้เฉพาะความคิดความอ่านของเขาเท่านั้น

ความที่เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร  เราก็คงไม่ต้องสนใจตัวตนของคนที่มาโพสต์เรื่องราวในเวป  สนแต่สิ่งที่เขานำมาเสนอแค่นั้น   แต่หากท่านหรือใครเปิดตัวให้เป็นที่รู้กันแล้วว่า  ตนเป็นใคร  ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องสนใจในตัวตนกันบ้าง  นี่คือความเป็นจริงของโลกมนุษย์ครับ  ต้องเกิด bias ขึ้นมาบ้างไม่ว่าผู้นั้นจะศึกษาธรรมะถึงขั้นไหน

ผมมีความเห็นในทางส่วนตัวว่า  หากพวกเราที่ขัดแย้งกัน  ได้มาพบปะพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง  หรือต่อหน้าต่อตา  อาจมีความรู้สึกแตกต่างจากที่ขัดแย้งหน้าจอคอมอย่างนี้ก็ได้มั้งครับ  เรื่องร้ายกลับกลายเป็นดีก็มีตัวอย่างให้เห็นกันมาก

คิดเสียว่าอย่างน้อยเราก็เคยคุ้นเคยกันในเวปพอสมควรก่อนความขัดแย้งจะบังเกิด  หรือบางคนอาจเคยเจอะเจอหน้าตากันแล้วด้วยก็ได้  การปรับความเข้าใจกันอีกสักครั้ง  คงไม่เป็นเรื่องที่ยากเย็นนัก





ให้เรื่องภารกิจสำคัญของคุณโพธิ์ฯ ลุล่วงไปบ้าง  หรือปลอดโปร่งโล่งใจจากทุกอย่างแล้ว  ค่อยนำเรื่องราวของงานวิจัยนั้นมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง  ที่ผมบ่นๆ เรื่องวัยรุ่นใจร้อน  อย่าถือเป็นสาระใดๆ เลย

เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณโพธิ์ฯ รับผมเป็นเพื่อนใหม่ด้วยอีกคนหนึ่งครับ


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 01 ก.ย. 06, 10:54
 อ้าว  ลืมไป  นึกขึ้นได้
ตอนนี้คุณโพธิ์ฯ กำลังเนื้อหอม  งานคงยุ่งมาก

ให้ภารกิจสำคัญของคุณโพธิ์ฯ ลุล่วงไปบ้าง หรือปลอดโปร่งโล่งใจจากทุกอย่างแล้ว ค่อยนำเรื่องราวของงานวิจัยนั้นมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง ที่ผมบ่นๆ เรื่องวัยรุ่นใจร้อน อย่าถือเป็นสาระใดๆ เลย


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ต.ค. 06, 15:54
เรื่องราวต่อเนื่อง อยู่ที่กระทู้นี้ครับ
 ครูพาเที่ยว : เข้าเมืองสุพรรณบุรี และไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  


กระทู้: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 10 ต.ค. 06, 15:54
เรื่องราวต่อเนื่อง อยู่ที่กระทู้นี้ครับ
 ครูพาเที่ยว : เข้าเมืองสุพรรณบุรี และไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง