เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 09:47



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 09:47
พงศาวดารไทยสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเอ่ยถึงพระยาราชาเศรษฐีและเมืองพุทไธมาศอยู่หลายครั้ง โดยนัยยะนั้นดูเหมือนว่าราชาเศรษฐีจะเป็นราชทินนามสำหรับตัวเจ้าเมืองพุทไธมาศโดยเฉพาะเลยทีเดียว แต่ใช่เช่นนั้นจริงหรือ?


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 09:57
พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เรียบเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเอ่ยถึงพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศครั้งแรกดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯ ไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป  เห็นว่าความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้ศุภอักษรไป ให้พระยาราชาเศรษฐียกพลทหารเข้ามาช่วยกันรบพะม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีจึงจะเป็นความชอบแก่พระยาราชาเศรษฐีสืบไป นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วย  จึงรับสั่งให้แต่งศุภอักษรออกไปเมืองพุทไธมาศ


เมื่อผมรวบรวมข้อมูลใส่กระทู้พระเจ้าญาลอง อ่านตอนนี้ผ่านไปโดยไม่ทันได้คิดว่าทำไมกรุงศรีอยุธยาต้องแต่งศุภอักษรไปถึงเมืองพุทไธมาศด้วย เมืองพุทไธมาศมีสถานะเช่นใดกันแน่?


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:14
พงศาวดารเขมร (อ้างจากในประชุมพงศาวดารเป็นหลักนะครับ) เรียกเมืองพุทไธมาศว่าบันทายมาศ แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกรุงธนบุรี กับพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศแล้วได้ความดังนี้

พงศาวดารเขมร
ลุศักราช ๑๑๓๒ ศกขาลนักษัตร สมเด็จพระโสทัตผู้เปนใหญ่ในเมืองเปียมคิดตามอำเภอใจด้วยความโลภเจตนาเหมือนตักกะแตนเข้าดับเพลิงละเลิงใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรังยกเปนกองทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่เมืองจันทบุรี จึงพวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ แม่ทัพแม่กองสมเด็จพระโสทัตหนีกระจัดกระจายถอยทัพกลับมาเมืองเปียม เมื่อศักราช ๑๑๓๓ ศกเถาะนักษัตร พระเจ้าตากคิดจัดเกณฑ์ไพร่พลให้เจ้าพระยายมราชเปนแม่ทัพใหญ่ ยกมาถึงเมืองบางคางตามทางบก ถึงเมืองนครวัดปัตบองเข้ามาถึงเมืองโพธิสัตว

ฝ่ายพระเจ้าตากจึงจัดทัพเรือจัดเครื่องสำหรับศึก ใช้สำเภาเภตรานาวาใหญ่น้อย     นำสมเด็จพระรามมาถึงเมืองเปียม     มารบไล่พระโสทัตหนีกระจัดกระจายไปอยู่เมืองตึกเขมา

พงศาวดารกรุงธนบุรี
วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ( พ.ศ. ๒๓๑๔ ) เพลาเช้าโมง ๕ บาทได้พิชัยฤกษ์ เสด็จลงพระที่นั่งสำเภาทอง ยกทัพหลวงออกจากเมืองธนบุรีไปทางปากน้ำเจ้าพระยาเรือรบ ๒๐๐ ลำ เรือสำเภา ๑๐๐ ลำ พลทหารไทยจีนฝรั่งเป็นคน ๑๕๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง เดชะพระบรมโพธิสมภารคลื่นลมร้ายในพระมหาสมุทรก็บันดาลสงบเป็นปกติ เสด็จไป ๕ เวนประทับปากน้ำจันทบูร จึงให้พระยาโกษาเป็นแม่ทัพยกไปตีตะโพงโสมและกองกุก แล้วเสด็จไป ๖ เวน วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ เถิงปากน้ำพุทไธมาศ สถิตณตึกจีนฟากตะวันตกเฉียงใต้ จึงได้มีหนังสือพระยาพิชัยไอศวรรย์กองทัพหน้า ให้ญวนมีชื่อซึ่งจับได้มานั้นถือเข้าไปเถิงพระยาราชาเศรษฐี ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวยกกองทัพบกทัพเรือมานี้ พระราชประสงค์จะเศกพระองค์รามราชาให้ครองกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ยเจ้าเสสังแลข้าหลวงชาวกรุงซึ่งไปอยู่เมืองใดๆ จงสิ้น  ถ้าและพระยาราชาเศรษฐีมิได้ภักดีด้วยเห็นว่าต้านทานได้ ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ ถ้าเห็นว่าจะสู้มิได้ ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่ ให้ออกมากราบถวายบังคม เราจะช่วยทำนุบำรุง เถิงว่าแก่แล้วมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาถวายบังคมจงฉับพลัน ถ้าช้าอยู่จะทรงพระพิโรธฆ่าเสียให้สิ้น พระยาราชาเศรษฐีจึงให้หนังสือตอบออกมาว่า ซึ่งให้หนังสือมาเถิงข้าพเจ้า ๆ ขอบใจนัก จะหาขุนนางมาปฤกษาให้พร้อมกันก่อน ถ้าประนอมพร้อมกันแล้วจึงจะบอกไปให้แจ้ง และพระยาราชาเศรษฐีก็มิได้ให้ผู้ใดออกมาบอก จึงดำรัสสั่งกรมอาจารย์ให้จัดกันที่แกล้วหาญเข้าปล้นเมืองทั้งนายไพร่ ๑๑๑ คน จึงให้เกณฑ์ทหาร ๒๔๐๐ เข้าสมทบแล้วพระราชทานฤกษ์แลอุบายให้ปล้นในเพลา ๒ ยามนั้น ก็ปีนกำแพงเข้าไปได้ จุดเพลิงขึ้นสว่างรุ่งเรือง ได้ยุทธนาการรบกันกับญวนซึ่งอยู่ในเมืองนั้นช้านาน แลนายทัพนายกองรี้พลทั้งปวงซึ่งตั้งค่ายรายล้อมอยู่นั้น จะบุกรุกเข้าไปช่วยก็มิได้ ด้วยญวนยังรักษาหน้าที่ยิงรบ  อยู่ ไพร่พลทั้งปวงก็อิดโรยลง เดชะบรมโพธิสมภารบันดาลดลจิตต์ โยธาทหารทั้งปวงให้สำคัญว่าเสด็จไป ก็มีน้ำใจองอาจแกล้วหาญยิ่งนัก ตีกระโจมเข้าไปทั้งบกทั้งเรือ จีนญวนซึ่งรักษาหน้าที่ก็แตกหนีไป พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์    เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้าก็เข้าเมืองได้ และพระยาราชาเศรษฐีลงเรือหนีไปได้


เหตการณ์เดียวกัน เมืองพุทไธมาศเขมรเรียกเมืองเปียม พระยาราชาเศรษฐีเขมรว่าสมเด็จพระโสทัต ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พงศาวดารเขมรยังมีการเอ่ยถึงเมืองบันทายมาศอยู่ด้วย สนุกล่ะสิครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:15
ประทานโทษนะคะ  เมืองบันทัยมาศ  นี่อยู่ตรงไหนคะ

มีข้อมูลเรื่องพระยาราชาเศรษฐี(เจียม)  จากหนังสือพระราชประวัติ พระเจ้าตาก(สิน)  พิมพ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘

ข้อมูลนี้ได้รับการคัดลอกต่อ ๆ มามาก    เช่นพระวรกายของพระเจ้าตากสินเป็นพุทธจัตุรัศกาย

ข้อมูลบอกว่า   พระยาราชาเศรษฐี ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองบันทัยมาศ

พิจารณาอยู่ประมาณเจ็ดปีแล้วค่ะ   ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้

โปรดถือว่าแวะมาคุยกัน

ถ้าสนใจจะคัดลอกมาให้เพื่อช่วยพิจารณาความเป็นไปได้


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:16
ตามทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาว่า

เมืองพุทไธมาศ เป็นเมืองที่ขึ้นแก่เมืองกรัง ซึ่งเป็นเมืองเอก
เจ้าเมืองเมืองกรัง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิศณุโลก
เจ้าเมืองเมืองพุทไธมาศ  มีบรรดาศักดิ์เป็น  พระยาราชาเศรษฐี
ทั้งเมืองกรังและเมืองพุทไธมาศ  ต่างก็เป็นเมืองส่วยขึ้นแก่พระยายมราช

เมืองที่ขึ้นกับเมืองกรัง  มีดังนี้

๑.เมืองกำโปด หรือเมืองกำปอด พระยาเสนานุชิต เป็นเจ้าเมือง
๒.เมืองพุทไธมาศ
๓.เมืองกพงโสม หรือ กำปงโสม  พระยาธิเบศร์สงคราม เป็นเจ้าเมือง
๔.เมืองบาทีทางเรือ
๕.เมืองบาทีทางบก
๖.เมืองไพรกะบาด  พระยาไชยโยธา เป็นเจ้าเมือง
๗.เมืองคองบาศรี
๘.เมืองเปี่ยมสุทัศ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:29
ข้อมูลเพิ่มเติมให้คุณม้าและสมาชิกท่านอื่นช่วยกันทราบว่า มีผู้วิจัยเอกสารที่รายงานถึงพระเจ้าเฉียนหลง จดหมายเหตุต้นฉบับเก็บไว้ที่พระราชวังหลวง กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีผู้วิจัยได้ค้นคว้าเฉพาะช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ดังนี้

เมืองพุทไธมาศ = เมืองบันทายมาศ = ฮาเตียน = เหอเซียน

ในสมัยเริ่มต้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น เมืองพุทไธมาศนั้นมีผู้ว่าราชการ ซึ่ง จีนเรียกว่า "โหม ซื่อหลิง" ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเชื้อสายกษัตริย์อยุธยาให้ทำการขึ้นครองราชย์ต่อหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา โดยคิดการใหญ่ต้องการยกพระนัดดาแห่งกษัตริย์อยุธยาที่หนีไปอาศัยที่เมืองพุทไธมาศขึ้นแทน มีพระนามเรียกอย่างจีนว่า "เจ้าจุ้ย"


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:29
พงศาวดารเขมรในประชุมพงศาวดาร มีบัญชีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่างๆ ในปี จศ. ๑๑๕๖ ด้วย

ปรากฏชื่อ พระยาราชาเศรษฐี เป็นเจ้ากรมลูกค้า ในขณะที่ เจ้าเมืองบันทายมาศ กลับเป็นพระยาโยธาธิบดี ครับ

หากข้อมูลนี้ถูกต้อง ก็อยู่หลังเหตุการณ์สมัยกรุงธนบุรีเพียง ๒๐-๓๐ ปีเท่านั้นเอง ผมไม่แน่ใจว่าตำแหน่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าใดครับ คุณหลวงเล็กพอจะบอกช่วงเวลาที่รวบรวมทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาได้ไหมครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:41
โดยความเข้าใจโดยทั่วไป เมืองพุทไธมาศหรือบันทายมาศคือเมืองเดียวกับเมืองห่าเตียนของเวียดนาม

เมืองห่าเตียน (Hà Tiên) นี้ หนังสือเก่าของไทยเห็นเรียกว่า ฮาเตียนบ้าง ฮ่าเตียนบ้าง เขียนอย่างจีนว่า 河仙 (จีนกลางว่า เหอเซียน) แปลว่าแม่น้ำเซียน คือเซียนแบบอมตะนะครับ น่าสังเกตว่าการเรียงคำเป็นอย่างในภาษาเวียดนาม ชื่อเป็นชื่อญวนครับ (ถ้าจีนต้องสลับคำกัน เป็นเซียนเหอ)

เมืองเดียวกันนี้ ยังมีชื่อจีนอีกชื่อหนึ่งคือ 港口 (กั๋งโข่ว) แปลว่าปากท่า (อ่าว) ในขณะที่ชื่อ เปียม ที่ปรากฏในพงศาวดารเขมรแปลว่า ปากน้ำ (หมายรวมถึงปากน้ำที่แม่น้ำสายหนึ่งไหลมาออกอีกสายหนึ่งได้ อย่างเช่นปากน้ำแม่เบี้ยของเรา)

แต่ถ้ารวบเปียมเข้าเป็นเมืองเดียวกับบันทายมาศ ก็จะไม่สามารถอธิบายว่าทำไมพงศาวดารเขมรถึงพูดถึงเปียมกับบันทายมาศเป็นคนละเมืองได้ครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:00
ปัจจุบันเมืองห่าเตียนอยู่ในประเทศเวียดนาม เป็นเมืองปากแม่น้ำ อยู่ในอ่าวไทย ตรงริมพรมแดนเขมร ข้อมูลของคุณ Wandee สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ผมเกรงว่าตัวพระยาราชาเศรษฐีจะยิ่งใหญ่กว่า "ผู้สำเร็จราชการ" มากนักครับ

พระยาราชาเศรษฐีที่มีบทบาทเกือบตลอดสมัยกรุงธนบุรี มีชื่อเป็นทางการ (字) ว่า 鄚士麟 (จีนกลางว่า ม่อซื่อหลิน คือ โหม ซื่อหลิง ที่คุณ siamese กล่าวถึงครับ) แต่มีชื่อตัวว่า 鄚天賜 (ม่อเทียนชื่อ) เรียกอย่างเวียดนามว่า Mạc Thiên Tứ (หมักเทียนตื๊อ) ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตไว้ในกระทู้พระเจ้าญาลอง (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3585.15)ว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อองเชียงสือที่พงศาวดารไทยจับเอามาสวมให้พระเจ้าญาลองแบบผิดฝาผิดตัว

และพระยาราชาเศรษฐีคนนี้แหละครับที่พงศาวดารเขมรเรียกว่าสมเด็จพระโสทัต ดูจากชื่อแล้วต้องใหญ่โตไม่น้อยกว่าสมเด็จฮุนเซ็นสักเท่าใด ;D


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:02
แปะแผนที่ให้คุณวันดี


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:07
พงศาวดารเขมร เปิดตัวสมเด็จพระโสทัตไว้อย่างน่าตื่นใจดังนี้

ศักราช ๑๑๑๖ สัมฤทธิศกแล้วจึงตั้งพระนามอนักองค์ตนผู้เปนพระราชนัตโตเรียกว่าสมเด็จพระอุไทยราชาเหมือนพระนามสมเด็จพระบวรราชบิดา แล้วพระองค์ให้ตั้งสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์เปนพระมหาอุปราช ลุศักราช ๑๑๑๗  ศกกุนนักษัตร สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาพระองค์ทรงราชย์ได้ ๗ ปี พระชัณษาได้ ๔๖ปี พระองค์ทรงพระประชวรสุรคตดับพระชนม์ ลุเลิกพระศพเสร็จแล้ว จึงพระมหาสังฆราชพระราชครูปุโรหิตกับบรรดามุขมนตรีคิดพร้อมกัน     ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระรามาธิบดี ๆ พระองค์ครองราชย์เมื่อศักราช ๑๑๑๘ ศกชวดนักษัตร ลุศักราช ๑๑๑๙ ศกฉลูนักษัตร จึงสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ผู้เปนพระมหาอุปราชให้มาลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา

ฝ่ายพระวรอันษาทอย พระเสนหาอันชิตตน พาพระองค์หนีไปในเพลากลางคืน เดินทางบกไปเมืองเปียม

ฝ่ายพระสัตรีอันชิตอวง พาพระแม่นางกับหญิงพระสนมลงเรือหนีไปถึงเมืองตระนมเสก แปลว่าบ้านนกแก้วจับ ครั้งนั้นสมเด็จพระโสทัตอยู่เมืองเปียม มีความยินดีรับเอาสมเด็จพระอุไทยราชาไปถึงเมืองเปียม แล้วสมเด็จพระอุไทยราชาขอเอาสมเด็จพระโสทัตเปนพระบิดาเลี้ยง จึงสมเด็จพระโสทัตใช้พระยาโกษาลำ พระยาโนเศรษฐีดอกับพระยศ เปนแม่ทัพครองไพร่พลยกมาถึง รบได้เมืองตรัง เมืองบันทายมาศ เมืองไพรกะบาด เมืองนครสับติน เมืองบาที  เมืองสำโรงทอง ตลอดเข้าไปถึงสู้รบกับทัพสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ซึ่งเสด็จสถิตย์อยู่เมืองบันทายเพ็ชร์


สมเด็จนักพระโสทัตเป็นใคร? ถึงมีบุญคุณกับสมเด็จพระอุไทยราชา แต่ถึงกับยกเป็นบิดาเลี้ยงเชียวหรือ? และการที่สมเด็จพระอุไทยราชาไปขอความช่วยเหลือ และก็ได้ความช่วยเหลืออย่างท่วมท้นเช่นนี้ เห็นได้ว่าสมเด็จพระโสทัตนี่ไม่ใช่ขุนนางธรรมดาแน่ๆครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:22
ผมเคยสงสัยว่าชื่อ สมเด็จพระโสทัต นี้อาจเป็นชื่อที่สมเด็จพระอุไทยราชาพระราชทานให้หมักเทียนตื๊อหลังจากทำความชอบครั้งนั้นแล้ว แต่ผิดถนัดครับ มีหลักฐานสำคัญคือหนังสือเจริญสัมพันธไมตรีที่หมักเทียนตื๊อส่งไปยังโชกุนโตคุกาวาในปี ค.ศ. ๑๗๔๒ (ราว จ.ศ.๑๑๐๔)  อ้างตนเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีพระนามว่านักสมเด็จพระโสทัต (Neak Somdec Preah Sotoat)

เรื่องอ้างตนว่าเป็นเจ้ากรุงกัมพูชานั้น เห็นได้ชัดว่าลักไก่ แต่ก็แสดงนัยยะว่าสมเด็จพระโสทัตผู้นี้มีอิสระที่จะดำเนินกิจกรรมทางการทูตได้ด้วยตนเอง เรียกโก้ๆว่าเป็นรัฐอิสระ เอกสารจีนในยุคนั้นเรียกว่าเป็น 港口国 (กั๋งโข่วกว๋อ) ถ้านับว่า 港口 มีความหมายตรงกับ เปียมแล้ว ก็เห็นจะแปลเป็นไทยได้อย่างโก้ๆว่า ราชอาณาจักรเปียม หรืออย่างขี้หมูขี้หมาก็ต้องเป็น รัฐเปียม ล่ะครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:47
บริเวณดินแดนในประเวียดนามปัจจุบัน  ตรงปากแม่น้ำโขงนั้น  แต่เดิมเป็นเขตรเขมรปกครอง
เรียกกันว่า แขมร์โกรม  หรือเขตรเขมรนอก  นัยว่าเป็นเมืองท่าที่อุดมสมบูรณ์มาก
ชาวจีนไปตั้งถิ่นฐานทำการค้าขายตรงนี้มาก  เพราะอยู่ในเส้นทางการค้าจากจีนญี่ปุ่นมาอุษาคเนย์
และบริเวณนั้นก็ทำนาได้ข้าวดีเสียด้วย  เพราะมีดินดีจากแม่น้ำโขง 
แต่ว่าน้ำท่วมบ่อย และเป็นเขตที่มักจะโดนพายุเข้าประจำ

บริเวณดังกล่าว  เคยเป็นพื้นที่ปัญหาพิพาทกันระหว่างสยามและญวนในสมัยรัชกาลที่ ๓
เรื่องนี้ ไปอ่านอานามสยามยุทธ ของ ก.ศ.ร.รวบรวมพิมพ์ จะได้ดีกว่า
เนื่องจากเจ้าเขมรแบ่งฝักฝ่ายไปขึ้นกับญวนบ้าง กับสยามบ้าง  ทำให้มีปัญหา
เรื่องดินแดน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องการแย่งราชสมบัติของเจ้าในเมืองเขมรเองด้วย


ต่อมาบริเวณดังกล่าว  ก็ตกเป็นของเวียดนาม  และได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองที่ภาษาเขมร
ให้เป็นภาษาเวียดนาม   คนจีนที่อยู่แถบนั้น ได้อพยพย้ายเข้ามากับกองทัพ
เจ้าคุณบดินทรเดชาสมัยรัชกาลที่ ๓  มาอยู่เมืองสยาม  และเป็นต้นสกุลหลายๆ สกุล
เช่นเวชชาชีวะ  เป็นต้น  นอกจากนี้ก็พวกญวนที่นับถือคริสต์ซึ่งได้มาอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่
กับพวกสยามเชื้อสายโปรตุเกส  พวกญวนพุทธที่เข้ามาก็มีมากที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามคราวนั้น

ในรายละเอียด  ขอไปหาข้อมูลก่อน  พูดไปเรื่อยเดี๋ยวผิด


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 11:52
หมักเทียนตื๊อ (ที่พงศาวดารไทยเรียกว่าพระยาราชาเศรษฐีญวน) ผู้นี้ มีบิดาเป็นชาวจีนชื่อ 鄚玖 (ม่อจิ่ว) เป็นชาว 雷州 (เหลยโจว) มณฑลกวางตุ้ง เรียกชื่ออย่างเวียดนามว่า Mạc Cửu (ออกเสียงอย่างยากส์ส์ส์ว่า หมักกื๋ว)

ตามประวัติ ม่อจิ่วเป็นพวกต่อต้านราชวงศ์ชิง เมื่อพวกแมนจูแผ่อำนาจลงมาปราบปรามกองกำลังสุดท้ายของชาวฮั่นที่เกาะไต้หวันได้สำหรับ แม่ทัพฝ่ายฮั่นหลายคนยกกองกำลังเข้าสวามิภักดิ์ราชสำนักเหงวียนที่กว๋างนาม และเป็นกำลังสำคัญในการแผ่อำนาจลงใต้ของพวกก๊กเหงวียน แต่เมื่อพิจารณาว่าม่อจิ่วเกิดในปี ค.ศ.1655 และอ้างเหตุเกาะกระแสต่อต้านราชวงศ์ชิงอพยพมาที่เขมรในปี 1671 ถ้าไม่ใช่เป็นผู้รักชาติที่หัวก้าวหน้าเกินวัยไปมากแล้วก็เห็นจะเป็นราคาคุยเสียมากกว่าล่ะครับ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลังจากเดินทางแสวงโชคไปในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ม่อจิ่วตั้งตัวได้ที่เขมร โดยเฉพาะเป็นผู้ก่อตั้งเมืองห่าเตียน โดยมีจุดแข็งที่เป็นเมืองท่าปลอดภาษี และยังเปิดบ่อนการพนันให้พวกชาวเรือได้มาสนุกกัน ทำให้เมืองนี้รุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าม่อจิ่วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ออกญา" จากกษัตริย์เขมร ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสงสัยกันอยู่ว่าม่อจิ่วได้เป็นออกญาจริงหรือไม่

ผมสงสัยว่าม่อจิ่วน่าจะได้เป็นออกญาราชาเศรษฐี หรือพระยาราชาเศรษฐีในพงศาวดารไทย


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 มิ.ย. 11, 12:54
มีบางคนสงสัยว่า  ก็ในสมัยธนบุรี  พระยาราชาเศรษฐีคนหนึ่งก็ตั้งบ้านเรือน
เป็นหัวหน้าในชุมชนชาวจีน  ตรงบริเวณที่ที่ตั้งพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน
(ในสมัยรัชกาลที่ ๑  โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปตั้งที่สำเพ็ง)

แล้วทำไมจึงได้มีพระยาราชาเศรษฐีไปเป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศที่เมืองเขมรได้
หรือจะมีพระยาราชาเศรษฐีสองคน

พระยาราชาเศรษฐีที่อยู่กรุงเทพฯ ฝั่งพระนครนั้น  
เป็นขุนนางที่พระเจ้าแผ่นดินไทยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ส่วนพระยาราชาเศรษฐีที่เป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศ
เป็นขุนนางที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ถึงแม้ว่าในช่วงนั้น  เขมรจะอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม
แต่ก็มีอำนาจในการบริหารราชการบ้านเมืองดุจอาณาจักรอิสระ
คือ สามารถแต่งตั้งข้าราชการของตนให้มีบรรดาศักดิ์ได้
สามารถเก็บภาษีในแผ่นดินของตนได้  ออกกฎหมายต่างๆ
เพื่อใช้บังคับคนในแผ่นดินตนได้

และถ้าสังเกตให้ดี  บรรดาศักดิ์ข้าราชการเขมร
มีหลายบรรดาศักดิ์ที่ตรงกับบรรดาศักดิ์ข้าราชการไทย
ฉะนั้นบางทีอ่านเอกสารเก่าแล้สวอาจจะงงว่า
ข้าราชการบรรดาศักดิ์เดียวกันทำไมเดี๋ยวอยู่เมืองไทย
เดี๋ยวไปอยู่เมืองเขมร  ก็ขอให้เข้าใจว่า
ข้าราชการสยามกับเขมรมีบรรดาศักดิ์เหมือนกันนั่นเอง

อ้างถึง
เมื่อผมรวบรวมข้อมูลใส่กระทู้พระเจ้าญาลอง
อ่านตอนนี้ผ่านไปโดยไม่ทันได้คิดว่าทำไมกรุงศรีอยุธยา
ต้องแต่งศุภอักษรไปถึงเมืองพุทไธมาศด้วย
เมืองพุทไธมาศมีสถานะเช่นใดกันแน่?

อย่างที่ว่าไปแล้วว่า  ช่วงนั้น เขมรเป็นประเทศราชสยาม
แต่มีอิสระในการปกครองในดินแดนตนเองอย่างรัฐปกติ
การติดต่อระหว่างกับเจ้าเมืองเขมรจึงต้องติดต่อในฐานะ
ผู้ปกครองประเทศราช   จึงต้องใช้ว่า  ศุภอักษร  
เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่  เจ้าลำปาง  เจ้าน่าน  เจ้าเวียงจันทน์
เจ้าจำปาศักดิ์   เจ้าหลวงพระบาง  เมื่อสยามจะติดต่อราชการอะไร
จะต้องแต่งศุภอักษรไปถึง  และเขาจะแต่งศุภอักษรส่งมา
ถ้าเป็นหัวเมืองในปกครองสยามเอง  หนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าเมือง
เรียกว่าใบบอก   ถ้าเป็นหนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าที่เป็นรัฐอิสระเหมือนกัน
เรียกว่า พระราชสาส์น


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 09 มิ.ย. 11, 13:18
ในสมัยธนบุรี มีพระยาราชาเศรษฐี สองคนค่ะ
ที่เรียกกันเป็นภาษาปากว่า  ราชาเศรษฐี ญวน  และ ราชาเศรษฐี จีน
คนแรก คือ เจ้าเมืองพุทไธมาศ  คนนี้มีเรื่องราวราวกับนิยาย
ต้องกลับไปรื้อเอกสาร อ่านผ่าน ๆ มานานแล้ว จำได้ว่ามีคดียักยอกเพชร อะไรทำนองนี้

อีกคนหนึ่ง คือ ราชาเศรษฐี จีน ที่รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ย้ายไปปลูกสร้างบ้านอยู่ที่สำเพ็ง


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มิ.ย. 11, 15:41
สวัสดีค่ะคุณกะออม

ราชาเศรษฐี ฉบับของดิฉันก็ยาวหยียดเลยค่ะ

จีนเจียม  เป็นเศรษฐีจีนเมืองตราด  มีเรือสำเภาจีน ๖ ลำ
ต่อมายอมอ่อนน้อมกับพระเจ้าตากสิน
ถวายเรือ  ถวายเงิน  ถวายเสบียง  ถวายบุตรหญิงชื่ิอเงิน และบุตรชายชื่อทอง

โปรดฯให้เป็นพระพิพิธโภคากร ปลัดจีนเมืองตราด  พระราชท่านให้ทำภาษีหลายอย่างในเมืองตราดและจันทบุรี

ต่อมาเลื่อนเป็นพระพิพิธโภคากร  ผู้ว่าราชการเมืองตราด(ยังไว้ผมเปีย)

ต่อมาได้เป็นพระยาราชาเศรษฐี   สำเร็จราชการเมืองบันทัยมาศ

สามารถพูดญวนและเขมรได้ด้วย


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มิ.ย. 11, 17:46
ถูกต้องแล้วครับ ในความรับรู้ของฝั่งไทย มีพระยาราชาเศรษฐีสองคนในเวลานั้นจริง

พระยาราชาเศรษฐีคนแรก เราเรียกพระยาราชาเศรษฐีญวน ก็คือสมเด็จพระโสทัต หมักเทียนตื๊อ ผู้ครองเมืองเปียม เมื่อพระเจ้าตากทรงยึดเมืองพุทไธมาศได้ หมักเทียนตื๊อหนีไป พระองค์จึงทรงให้พระยาพิพิธเป็นพระยาราชาเศรษฐีแทน ทางเราเรียกว่าพระยาราชาเศรษฐีจีน

พระยาราชาเศรษฐีจีนครองเมืองอยู่ได้ไม่นานพระยาราชาเศรษฐีญวนก็กลับมายึดเมืองคืนไปได้ พระเจ้าตากทรงเห็นว่าเมืองนี้รักษาได้ยาก จึงให้พระยาราชาเศรษฐีจีนกลับคืนมา แต่ผมไม่เห็นว่าโปรดให้กลับเป็นพระยาพิพิธแต่อย่างใด ดังนั้นในเวลานั้นจึงมีพระยาราชาเศรษฐีสองคน จนกระทั่งปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หมักเทียนตื๊อหนีภัยพวกไตเซินมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แล้วถูกประหาร (หลักฐานต่างประเทศว่าถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย) ในเวลาต่อมา จึงมีพระยาราชาเศรษฐี 2 คนจริงๆครับ อย่างน้อยก็ในความรับรู้ของฝ่ายไทยนี่แหละ

แต่พระยาราชาเศรษฐีสองคนนี้จะเรียกว่าเป็นขุนนางเขมรขุนนางไทยอย่างไรผมว่ายังสับสนอยู่ครับ ถ้าง่ายขนาดนั้นคงไม่ต้องยกขึ้นมาคุยกันกระมัง โปรดติดตามต่อไป  ;D

อย่างที่ว่าไปแล้วว่า  ช่วงนั้น เขมรเป็นประเทศราชสยาม
แต่มีอิสระในการปกครองในดินแดนตนเองอย่างรัฐปกติ
การติดต่อระหว่างกับเจ้าเมืองเขมรจึงต้องติดต่อในฐานะ
ผู้ปกครองประเทศราช   จึงต้องใช้ว่า  ศุภอักษร 
เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่  เจ้าลำปาง  เจ้าน่าน  เจ้าเวียงจันทน์
เจ้าจำปาศักดิ์   เจ้าหลวงพระบาง  เมื่อสยามจะติดต่อราชการอะไร
จะต้องแต่งศุภอักษรไปถึง  และเขาจะแต่งศุภอักษรส่งมา
ถ้าเป็นหัวเมืองในปกครองสยามเอง  หนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าเมือง
เรียกว่าใบบอก   ถ้าเป็นหนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าที่เป็นรัฐอิสระเหมือนกัน
เรียกว่า พระราชสาส์น

เรื่องนั้นเข้าใจดีครับ แต่ประเด็นของผมอยู่ที่ว่า คนที่ติดต่อด้วยนั้นไม่ใช่เจ้าเขมรสิครับ แต่เป็น "พระยาราชาเศรษฐี" ซึ่งว่ากันตามทำเนียบขุนนางเขมร เป็นแค่เจ้ากรมลูกค้า ดังนั้นเมื่อหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐีเป็น "ศุภอักษร" ก็แสดงว่าพระยาราชาเศรษฐีคนนี้มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชครับ ไม่ใช่ขุนนางเขมร


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 00:08
พื้นที่แถมสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เรียกว่าขแมร์กรอมนั้น ญวนก๊กเหงวียน (กว๋างนาม) เริ่มเข้าครอบครองมาตั้งแต่รัชกาลพระไชยเชษฐาที่ ๒ โดยในปี ค.ศ.๑๖๒๐ เหงวียนฟุกเงวียนเจ้ากว๋างนามถวายธิดาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าไชยเชษฐาที่ ๒ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. ๑๖๒๓ กษัตริย์เขมรยกเมืองไพรนคร (คือยาดิ่ง ไซ่ง่อน หรือโฮจิมินห์ ซิตี้ในปัจจุบัน) ให้ก๊กเหงวียน (เป็นการตอบแทน)

เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น สงครามกลางเมืองเวียดนามระหว่างก๊กเหงวียนกับก๊กจิ่งก็เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.๑๖๒๗ ทำให้ก๊กเหงวียนระงับการขยายอำนาจลงใต้ไปหลายสิบปีกว่าจะสงบศึกกับฝ่ายก๊กจิ่งทางเหนือได้

เมื่อสงบศึกกันนั้นประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่พวกขุนศึกชาวจีนที่ต่อต้านการยึดครองของราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้อย่างเบ็ดเสร็จ ขุขศึกหลายคนนำกองทัพเรือเข้าสวามิภักดิ์กับก๊กเหงวียน กองทัพจีนพวกนี้แหละครับที่เป็นกำลังหลักในการรุกลงใต้ของญวน โดยพวกเหงวียนให้กองทัพจีนลงมาตั้งเมืองบริวารรอบ ๆ ยาดิ่ง ประชากรเป็นจีนปนญวนเสียมาก หากอ่านพงศาวดารช่วงเวลานี้เป็นต้นมา จะเห็นว่าแม่ทัพจีนของพวกญวนมีบทบาทมากในการแทรกแซงการเมืองภายในเขมรครับ

ในขณะที่พวกญวนขยายอำนาจอยู่แถบยาดิ่ง เวลาใกล้เคียงกันนั้นม่อจิ่วมาลงหลักปักฐานที่ห่าเตียน พงศาวดารญวนฉบับหนึ่งบอกว่า ในปี ค.ศ. ๑๖๗๙ (ราว จ.ศ. ๑๐๔๑) ไทยส่งกองทัพเข้าไปยึดครองเขมรและเปียม ม่อจิ่วถูกจับตัวมาไว้ที่สมุทรสาคร และอาศัยช่วงชุลมุนช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์หนีกลับมาอยู่ที่เปียม เรื่องนี้ไม่มีปรากฏในพงศาวดารไทย (ซึ่งมีรายละเอียดเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลานั้นน้อยอยู่แล้ว) แต่ปรากฏร่องรอยในพงศาวดารเขมรว่ามีปัญหาเรื่องการเมืองในเขมร (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ซ้ำซากเรื่องเจ้าเขมรฝ่ายอิงญวนกับฝ่ายอิงสยาม) และไทยส่งทหารเข้าไป

หากเรื่องที่กล่าวมานี้เป็นจริง แสดงว่าม่อจิ่วเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่เปียมระหว่าง ค.ศ. ๑๖๗๑ - ๑๖๗๙ ครับ

นอกจากเมืองเปียมหรือห่าเตียนแล้ว ม่อจิ่วยังขยายอำนาจออกไปตั้งเมืองอื่นๆอีก ๖ เมือง ได้แก่
- 富国 คือเกาะฟูก๊วก ในเวียดนาม
- 陇棋 คือเมือง Kep ในเขมร
- 芹渤 คือเมือง Kampot ในเขมร
- 云壤港 คือ Phsar Ream ในเขมร
- 沥架 คือเมือง Rạch Giá ในเวียดนาม
- 哥毛 คือเมือง Ca Mau ในเวียดนาม (เขมาในชื่อเขมร)

ดูในภาพจะเห็นได้ว่าปริมณฑลอำนาจของม่อจิ่วนั้นครอบคลุมขแมร์โกรมในฝั่งอ่าวไทยไว้ได้ทั้งหมด พื้นที่นี้แหละครับ ที่เรียกว่าเป็นราชอาณาจักรเปียม


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 14:07
จะด้วยเพราะเหตุการณ์นี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ ม่อจิ่วเริ่มมองเห็นว่าเขมรนั้นอ่อนแอเกินกว่าที่จะคุ้มหัวได้อีกต่อไป ผนวกกับการมีพันธมิตรขุนศึกจีนที่มาสวามิภักดิ์ญวนมาตั้งเมืองอยู่ไม่ไกลกันนัก ม่อจิ่วจึงหันไปสวามิภักดิ์เจ้าก๊กเหงวียนแห่งกว๋างนาม ถึงกับเดินทางไปเข้าเฝ้าเหงวียนฟุกจูเจ้ากว๋างนามในปี ค.ศ. ๑๗๐๘

ม่อจิ่วมีบุตรชายหญิงอย่างละคนโดยเกิดจากภรรยาชาวญวน บุตรหญิงแต่งงานดองกับขุนศึกจีนผู้หนึ่ง บุตรชายซึ่งเกิดในปี ค.ศ. ๑๗๐๐ คือหมักเทียนตื๊อ ซึ่งขึ้นเป็นเจ้าครองเปียมในปี ค.ศ. ๑๗๓๖ หลังจากมรณกรรมของม่อจิ่วครับ หมักเทียนตื๊อผู้นี้แหละครับที่เป็นพระยาราชาเศรษฐีในประวัติศาสตร์ไทย

wiki เวียดนามให้ข้อมูลปีเกิดของหมักเทียนตื๊อต่างไปจากแหล่งข้อมูลอื่น โดยระบุว่าเกิดในปี ๑๗๑๘ ซึ่งถ้าเป็นจริงหมักเทียนตื๊อก็จะขึ้นครองเมืองเปียมตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี และก็จะเกิดเมื่อบิดาวัยปาเข้าไป ๖๓ ปีแล้ว ซึ่งถ้าหมักเทียนตื๊อเกิดปี ๑๗๐๐ ก็จะขึ้นครองเปียมด้วยวัย ๓๖ ปี กำลังห้าว และเกิดเมื่อบิดาอายุ ๔๕

ผมคิดว่าข้อมูลเรื่องหมักเทียนตื๊อเกิดปี ๑๗๐๐ นั้นน่าเชื่อถือกว่า เพราะเมื่อสมเด็จพระอุไทยราชาหนีไปขอความช่วยเหลือ และยกหมักเทียนตื๊อเป็นบิดาเลี้ยงนั้นเป็นปี ค.ศ.๑๗๕๖ ถ้าหมักเทียนตื๊อเกิด ๑๗๑๘ ก็จะอายุแค่ ๓๘ ครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 14:43
ปีที่หมักเทียนตื๊อขึ้นครองเมืองเปียม ค.ศ. ๑๗๓๖ ตรงกับช่วงต้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ น่าสังเกตว่าคนที่ทางไทยเราเรียกว่าพระยาราชาเศรษฐีญวนคนนี้ มีบิดาเป็นจีน มารดานั้นยังน่าสงสัยว่าเป็นญวนแท้, ลูกครึ่งจีนญวน หรือเผลอๆอาจจะเป็นลูกจีนในญวนด้วยซ้ำ อย่างน้อยที่สุดหมักเทียนตื๊อก็เป็นจีนเข้าไปไม่น้อยกว่าครึ่งตัวแล้ว

นอกเหนือจากนั้น หมักเทียนตื๊อยังได้รับการศึกษาอย่างจีน จนได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตคนหนึ่ง มีรสนิยมชมชอบกวีกานท์ ถึงกับเชื้อเชิญเหล่าบัณฑิตชาวกวางตุ้งให้มาเยือนห่าเตียนเพื่อแต่งบทกวีชมความสวยงามของเมืองห่าเตียน เรื่งนี้ผมเห็นว่าหมักเทียนตื๊อมีความเป็นพ่อค้าไม่น้อยไปกว่ากวีแน่ๆ เพราะบัณฑิตกวางตุ้งพวกนี้เมื่อกลับบ้านไปก็เอาผลงานไปเผยแพร่ จุดกระแสความนิยมแต่งบทกวีชมทัศนียภาพห่าเตียน ว่ากันว่าบทกวีไม่น้อยที่แต่งในเวลานั้นแต่งโดยบัณฑิตที่ไม่เคยมาเห็นด้วยตาตนเองด้วยซ้ำไปครับ ส่วนตัวหมักเทียนตื๊อเอง ถึงกับออกหนังสือรวมบทกวีของตนในชื่อ Minh Bac Di Du ในปี ๑๗๓๗ แต่บางกระแสก็ว่าหมักเทียนตื๊อเป็นแค่บรรณาธิการ เป็นคนคัดเลือกบทกวีเอามาขัดเกลารวมเล่มเท่านั้น จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่พูดได้เต็มปากคือหมักเทียนตื๊อเป็นผู้สนใจการกวีไม่มากก็น้อยล่ะครับ

เราไม่รู้ว่าหมักเทียนตื๊อเอาชื่อสมเด็จพระโสทัตมาจากไหน แต่ชื่อแบบนี้ น่าจะได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์เขมร อย่างช้าที่สุดก็เมื่อคราวส่งพระราชสาส์นไปถึงโชกุนโตคุกาวาในปี ๑๗๔๒ เมื่อพิจารณาว่าสมเด็จพระศรีธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งครองราชย์ครั้งที่ ๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๓๗ - ๑๗๔๗ เป็นฝ่านอิงไทยแล้ว เห็นได้ว่าชื่อนี้น่าจะได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จนักพระสัตถาซึ่งเป็นฝ่ายอิงญวน ซึ่งถ้าไม่ได้รับพระราชทานชื่อนี้มาระหว่าง ค.ศ.๑๗๓๖-๑๗๓๗ แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าชื่อนี้ได้มาตั้งแต่คราวม่อจิ่วเป็นเจ้าครองเมืองเปียมแล้วครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 15:00
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าสถานะของเปียมในวันที่หมักเทียนตื๊อขึ้นเป็นเจ้าเมืองในปี ค.ศ.๑๗๓๖ (หรืออย่างน้อยก็ ๑๗๓๗ เมื่อเจ้าเขมรอิงไทยได้ครองอำนาจในเขมร) เจ้าครองเมืองเปียมใช้นามว่าสมเด็จพระโสทัต ชื่อพระยาราชาเศรษฐีนั้นไม่ใช่ชื่อที่ตั้งเองแน่ๆ ผมเชื่อว่าเป็นชื่อของม่อจิ่วที่ได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์เขมรเมื่อครั้งยังเป็นเจ้ากรมลูกค้าอยู่ ซึ่งเมื่อตั้งเมืองเปียม สร้างฐานอำนาจเป็นปึกแผ่นแล้ว จึงได้ชื่อสมเด็จพระโสทัตมา ซึ่งอาจเป็นตำแหน่งที่นักพระสัตถาพระราชทานให้หมักเทียนตื๊อในคราวขึ้นเป็นเจ้าเมืองเปียมก็เป็นได้ เพราะฝ่ายเจ้าเหงวียนกว๋างนามเองก็พระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางระดับสูงให้หมักเทียนตื๊อในคราวเดียวกันนั้น

เมื่อสมเด็จพระศรีธรรมราชาที่ ๒ ชิงอำนาจจากสมเด็จพระสัตถาได้ สมเด็จพระสัตถาลี้ภัยไปเมืองญวน เหตุการณ์ที่สมเด็จพระโสทัตส่งพระราชสาส์นไปถึงโชกุนโตคุกาวาอ้างตนเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีก็เกิดขึ้นในรัชกาบสมเด็จพระศรีธรรมราชาที่ ๒ นี่เอง แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับอำนาจของสมเด็จพระศรีธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าเขมรอิงไทยครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 15:09
แล้วที่ฝ่ายไทยว่าพระยาราชาเศรษฐีเป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศนั้นมาจากไหน?

ปัจจุบันชื่อบันทายมาศนั้นยังอยู่ ดูจากแผนที่ข้างล่างนี้คือส่วนที่ล้อมรอบด้วยเส้นสีแดง

แนวด้านใต้ของเส้นสีแดงนั้นเป็นแนวแม่น้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำโขงไปออกทะเลที่ห่าเตียน เป็นพรมแดนระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศไทยในปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าเมืองพุทไธมาศน่าจะเป็นเมืองริมแม่น้ำ อยู่ลึกจากปากอ่าวเข้าไป ไม่ใช่ตรงที่ตั้งเมืองห่าเตียนของม่อจิ่ว หลายครั้งที่พงศาวดารไทยเรียกห่าเตียนว่าเป็นเมืองปากน้ำพุทไธมาศ ชี้ให้เห็นว่าเมืองเก่าที่คนไทยรู้จักมาก่อนคือเมืองพุทไธมาศ ซึ่งเมื่อม่อจิ่วตั้งเมืองห่าเตียนที่เปียม พุทไธมาศจึงลดความสำคัญลง และอาจเป็นพื้นที่ในอาณัติของเปียมด้วยซ้ำไป ไทยเราจึงเรียกเปียมในฐานะเมืองท่าที่มาทดแทนพุทไธมาศด้วยชื่อเดิมคือพุทไธมาศ ในขณะที่พงศาวดารเขมรซึ่งรู้จักพื้นที่ดีกว่ายังแยกสองเมืองนี้ออกจากกันครับ

เราจึงได้มีพระยาราชาเศรษฐีที่ไม่ได้เป็นพระยาราชาเศรษฐี ครองเมืองพุทไธมาศซึ่งก็ไม่ใช่พุทไธมาศเช่นเดียวกัน


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:09
รบกวนคุณม้า ดูแผนที่ สยาม - อันนัม ให้ทีครับ เมืองฮาเตียน ใช้ชื่อว่าอะไร  ???


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:19
Kankhao ครับ ผมทราบว่าฝรั่งบางชาติเรียกเมืองนี้ว่า Cancao แต่เพิ่งเคยเห็นที่เขียนว่า Kankhao ก็รูปนี้แหละครับ  ;D


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:28
ขอบคุณครับคุณม้า .. เข้าไปหยิบแผนที่สยาม สมัยช่วงอยุธยา เห็นที่ตั้งเมือง Carol ควรจะเป็นเมืองฮาเตียนหรือไม่ครับ ถ้าใช่เมืองนี้ก็คงสำคัญมากว่า 600 ปีได้ เพราะปรากฎในแผนที่โบราณเกือบทุกฉบับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:30
แผนที่ฝรั่งรุ่นแรก น่าจะช่วงก่อนพระไชยราชาธิราช อยุธยา


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:37
ขอย้อนกลับไปที่ม่อจิ่วสักเล็กน้อยนะครับ

พงศาวดารไทยไม่เคยเอ่ยถึงม่อจิ่วโดยตรง แต่มีตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันดังนี้

พงศาวดารอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ
ณปีมะเส็งศักราช ๑๐๗๓ (พ.ศ. ๒๒๕๔ ) นั้น นักเสด็จกรุงกัมพูชาธิบดีนามชื่อพระธรรมราชาวังกะดาน กับนักพระแก้วฟ้าสะจอกเป็นอริกัน นักพระแก้วฟ้าไปคบหาญวนมาเป็นกำลัง นักเสด็จกับนักพระองค์ทองแตกหนี พาครอบครัวอพยพเข้ามาพึ่งพระราชสมภารทรงพระกรุณาโปรดให้ไปปลูกตำหนักแลเรือนให้อยู่ณวัดค้างคาว และทรงพระกรุณาสั่งให้เจ้าพระยาจักรีบ้านโรงฆ้องเป็นแม่ทัพ  ยกเกณฑ์ไพร่หลวง ๑๐,๐๐๐ ยกไปกระทำกรุงกัมพูชาธิบดี ให้          พระยาโกษาขึ้นเป็นแม่ทัพเรือ เกณฑ์ไพร่หลวง ๑๐,๐๐๐ ยกไปทางชเล ถึงปากน้ำพุทไธมาศ

ฝ่ายข้างญวนก็ยกทัพเรือมาปะทะกันที่ปากน้ำพุทไธมาศ ทัพญวนตีทัพพระยาโกษาจีนแตกพ่ายมา ฝ่ายทัพบกเจ้าพระยาจักรีบ้านโรงห้องยกไป ทัพหน้าได้ตีกับเขมร ๆ แตก เจ้าพระยาจักรีจึ่งแต่งคนเข้าไปว่ากล่าวกับนักพระแก้วฟ้า ๆ  ออกยอมถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เจ้าพระยาจักรีก็เลิกทัพกลับกรุง ฯ แลพระยาโกษาจีนซึ่งแตกญวนมานั้น ทรงพระกรุณาสั่งให้ใช้ปืนลูกกระสุนดินประสิว

ระยะเวลานั้น เป็นที่แน่นอนว่าทัพญวนที่มาปะทะที่ปากน้ำพุทไธมาศ ต้องเป็นทัพของม่อจิ่วแน่นอน ส่วนพระยาโกษาจีน คนนี้คนเดียวกับเรื่องอ๋องเฮงฉ่วนครับ

เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องญวนยกมาช่วยเขมร(อิงญวน) อย่างที่ผมเคยเข้าใจก่อนจะมาค้นเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะม่อจิ่วเจ้าเมืองเปียมปากน้ำพุทไธมาศเป็น(นอมินี)ญวนในความรับรู้ของคนไทยสมัยนั้นอยู่แล้วครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 16:55
ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งในแผนที่คือตรงไหนแน่นะครับ เต็มไปด้วยชื่อที่ไม่คุ้นตา Terrana?

เป็นไปได้ว่าอาจเป็น Ca Mau เมืองเขมาเดิมในชื่อเขมรครับ



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มิ.ย. 11, 19:53
เมืองฮาเตียนในปัจจุบันนี้ เจริญมากครับ เป็นเมืองใหญ่


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 11, 23:40
เมืองห่าเตียนเป็นเมืองชายแดนริมฝั่งทะเล กุญแจสำคัญที่ทำให้เมืองนี้เจริญขึ้นนั้นมาจากการขุดของวิ้งเตเชื่อมห่าเตียนกับเจิวด๊ก(โจฏก) ซึ่งทำให้ห่าเตียนกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของเวียดนามครับ

กลับไปที่หมักเทียนตื๊อ หลังขึ้นครองเมืองเปียมแทนบิดาไม่กี่ปี ค.ศ.๑๗๔๒ ก็ส่งทูตไปญี่ปุ่นอย่างที่ผมได้กล่าวถึงมาก่อนแล้ว เป้าหมายสำคัญคือการค้าครับ จุดแข็งของห่าเตียนคือเป็นเมืองท่าเกือบสุดอ่าวไทยที่เป็นเมืองท่าเสรี ไม่มีการผูกขาดสินค้า ถึงแม้ว่าความหลากหลายของสินค้าอาจจะไม่มากเท่าอยุธยา แต่ก็เป็นสถานีแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญครับ

ถึงปี ค.ศ.๑๗๕๗ เกิดการชิงอำนาจกันในเขมร (อีกแล้ว) นักองค์ตน (สมเด็จพระอุไทยราชา) หนีไปพึ่งสมเด็จพระโสทัตหมักเทียนตื๊อที่เปียม ยกให้หมักเทียนตื๊อเป็นพระบิดา หมักเทียนตื๊อก็สนองคุณโดยการประสานกับญวนสนับสนุนนักองค์ตนขึ้นเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชาครองแผ่นดินเขมร ส่วนญวนก็ได้สิทธิ์ในการปกครองดินแดน Bassac (เมืองปาสัก ซึ่งปัจจุบันคือ Soc Trang), Tra Vinh, Sa Dec (คือ Dong Thap), Chau doc (คือ An Giang)

ถ้ารวมพื้นที่ๆญวนเข้ามายึดครองก่อนหน้านี้คือ My Tho และ Vinh Long ตั้งแต่ปี 1732 รวมกับพื้นที่ของราชอาณาจักรเปียมซึ่งถือเป็นประเทศราชของญวนก๊กเหงวียนกว๋างนามแล้ว ก็เท่ากับว่าถึงตอนนี้ ญวนยึดพื้นที่ขแมร์กรอมเบ็ดเสร็จเลยครับ

ปัจจุบันเรื่องนี้ฝ่ายเวียดนามอ้างว่าพวกญวนเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ในขณะที่เขมรก็ท้วงว่าญวนมาขับยึดพื้นที่ของเขมร แต่ผมเห็นว่าพื้นที่นี้มีชาวเขมรอยู่ก่อนแน่นอน แต่ประชากรเบาบาง ญวนส่งขุนศึกจีนสวามิภักดิ์เข้ามายึดครอง แล้วอพยพคนญวนเข้ามาเติมจนกลืนคนเขมรพื้นเมืองไปได้ครับ



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มิ.ย. 11, 05:32
 ข้อมูลแน่น เนื้อหาน่าสนใจมากครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆหลายเรื่อง


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มิ.ย. 11, 22:08
จดหมายเหตุบันทึกพระเจ้ากรุงธนบุรีไปรบที่เมืองพุทไธมาศรายวัน กล่าว่า เมื่อพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองคนเก่าหนีไปแล้วโปรดให้พระยาพิพิธรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองแทน


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มิ.ย. 11, 22:13
พระยาราชาเศรษฐี คนเก่ามีบุตรสาวอยุ่ ๒ คน ได้ถูกจมื่นศรีเสาวรักษ์ หลวงมหามนตรี นำมาทูลเกล้าถวาย และมีรับสั่งว่า บรรดาซึ่งได้ญวนผู้หญิงไว้ ให้เอามาทูลเกล้าฯ ถวายให้สิ้น ถ้าเป็นลูกหลานวงศ์วานพระยาราชาเศรษฐี จะเอาไว้เป็นหลวง นอกนั้นจะพระราชทานให้แก่ผู้ได้

และกองทัพอาศัยที่วังราชาเศรษฐี


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 มิ.ย. 11, 15:51
ขอบพระคุณที่ติดตามครับคุณ Navarat.C

จดหมายรายวันทัพนี้มีประเด็นน่าสนใจแฝงอยู่เยอะครับคุณ siamese ผมจะชี้ให้ดูเมื่อถึงเวลาครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 11, 23:27
กลับไปที่เหตุการณ์ชิงอำนาจในเขมรซึ่งทำให้พระอุไทยราชาหนีไปพึ่งสมเด็จพระโสทัตที่เปียม พงศาวดารเขมรบันทึกไว้ดังนี้

ลุศักราช ๑๑๑๗ ศกกุนนักษัตร สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาพระองค์ทรงราชย์ได้ ๗ ปี พระชัณษาได้ ๔๖ปี  พระองค์ทรงพระประชวรสุรคตดับพระชนม์ ลุเลิกพระศพเสร็จแล้ว จึงพระมหาสังฆราชพระราชครูปุโรหิตกับบรรดามุขมนตรีคิดพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระรามาธิบดี ๆ พระองค์ครองราชย์เมื่อศักราช ๑๑๑๘ ศกชวดนักษัตร

ลุศักราช ๑๑๑๙ ศกฉลูนักษัตรจึงสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ผู้เปนพระมหาอุปราช ให้มาลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา ฝ่ายพระวรอันษาทอย พระเสนหาอันชิตตน พาพระองค์หนีไปในเพลากลางคืน เดินทางบกไปเมืองเปียม

ฝ่ายพระสัตรีอันชิตอวง พาพระแม่นางกับหญิงพระสนมลงเรือหนีไปถึงเมืองตระนมเสก แปลว่าบ้านนกแก้วจับ ครั้งนั้นสมเด็จพระโสทัตอยู่เมืองเปียม มีความยินดีรับเอาสมเด็จพระอุไทยราชาไปถึงเมืองเปียม แล้วสมเด็จพระอุไทยราชาขอเอาสมเด็จพระโสทัตเปนพระบิดาเลี้ยง จึงสมเด็จพระโสทัตใช้พระยาโกษาลำ พระยาโนเศรษฐีดอกับพระยศ เปนแม่ทัพครองไพร่พลยกมาถึง รบได้เมืองตรัง เมืองบันทายมาศ เมืองไพรกะบาด เมืองนครสับติน เมืองบาที  เมืองสำโรงทอง ตลอดเข้าไปถึงสู้รบกับทัพสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ซึ่งเสด็จสถิตย์อยู่เมืองบันทายเพ็ชร์

ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชา ลาสมเด็จพระโสทัตคิดเลิกไพร่พลสกลโยธายาตราออกจากเมืองเปียม ตามกองทัพมาต่อภายหลัง ถึงเมืองกระพงกระสังลงเรือพระที่นั่งเปนการเร็ว มาพบกับทัพพระสัตรีอันชิตอวง นำเสด็จกลับขึ้นมาตามแม่น้ำเปียมมัจรุก ตีขึ้นมาตามลำแม่น้ำเปียมมัจรุก บรรดาชาวนาชาวไร่ก็ตีได้เปนอันมาก ตีไปถึงบ้านแพรก บ้านอำเปิ่น บ้านตึกวิน บ้านอันลงสาร ได้มาเปนเมืองขึ้นทุกตำบล ยกทัพมาถึงพนมเพ็ญ


น่าสังเกตว่ากองทัพสมเด็จพระโสทัตจากเปียม ยกไปตีได้หลายเมืองรวมทั้งบันทายมาศนะครับ

เมืองตรังเมืองไพรกะบาดและนครสับตินอยู่ที่ไหนผมยังหาไม่เจอ เมืองบาทีอยู่ใต้พนมเปญลงมาเล็กน้อย เมืองสำโรงทองอยู่อุดงใกล้กับบันทายเพ็ชร์

เมืองมัจรุกเข้าใจว่าเป็นเมืองเดียวกับเจิวด๊ก(โจดก)เลยนะครับ เดิมแม่น้ำตรงเมืองเปียมไหลคดเคี้ยวลงมาจากเจิวด๊ก ก็คือแม่น้ำเปียมมัจรุกนี้แหละครับ มีอีกชื่อหนึ่งคือคลองขาม ต่อมาปลายรัชกาลพระเจ้ายาลองจึงทรงให้ขุดคลองวิ้งเต๊ตัดตรงลงมาและลึกพอที่จะใช้ลำเลียงสินค้าและกองทัพได้สะดวก เป็นคลองยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งกลายมาเป็นพรมแดนระหว่างเขมรและเวียดนามในปัจจุบันครับ



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 มิ.ย. 11, 14:13
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ พงศาวดารฝ่ายญวนระบุว่าหมักเทียนตื๊อกระทำการนี้ได้สำเร็จโดยส่งข่าวไปยังเจ้าก๊กเหงวียนกว๋างนาม ซึ่งได้ให้เจ้าเมืองยาดิ่งส่งทหารมาช่วยหมักเทียนตื๊อทำการครั้งนี้จนช่วยให้พระอุไทยราชาขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร ทรงพระนามว่าพระนารายณ์ราชาธิราชในปี จ.ศ.๑๑๒๐ (พ.ศ.๒๓๐๑) ส่วนพระรามราชานักองค์โนนซึ่งเป็นฝ่ายอิงไทยนั้นโดนจับขังไว้ แต่ต่อมาถูกช่วยออกมาโดนขุนนางเขมรคนหนึ่งและพาหนีไปอยู่อยุธยา

ในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงเวลาที่พม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ นั้น มีความเกี่ยวข้องกับพระยาราชาเศรษฐีดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป

เรื่องนี้ฟังดูค่อนข้างจะแปลกทีเดียว เพราะเวลานั้นกษัตริย์เขมรก็ยังเป็นพระนารายณ์ราชาซึ่งอิงญวนอยู่ และพระรามราชานักองค์โนนผู้เป็นศัตรูราชบัลลังค์ของพระนารายณ์ราชาก็น่าจะยังอยู่ในอยุธยาด้วยซ้ำ เป็นไปได้หรือว่าอยุธยาจะขอความช่วยเหลือจากห่าเตียน แถมยังได้รับความช่วยเหลือตามที่ร้องขอเสียด้วย แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม

หลักฐานทางฝ่ายจีนบอกว่า พ่อค้าจีนชื่อเฉินเหวินเปียวเข้ามาถึงปากอ่าวไทยราวเดินเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๐๙ ไม่สามารถเข้าไปที่อยุธยาได้เนื่องจากมีเรือสลัดขนาดใหญ่คุมพื้นที่อยู่จำนวนมาก ตามรายงานของเฉิน มีเรือไทยห้าลำที่หนีไปที่ฮาเตียนหลังจากโดนปล้นยึดเอาสินค้าทั้งหมดไปแล้ว

เรื่องนี้ถือสอดคล้องกับเรื่องในพงศาวดารไทย แสดงให้เห็นว่าเวลานั้นพม่าคุมปากอ่าวไทยไว้ได้ และไทยก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับห่าเตียน แสดงว่าถึงแม้ผลประโยชน์ในพื้นที่เขมรจะขัดกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อยุธยาถูกรบกวนโดยพม่า อยุธยาคงต้องปล่อยวางผลประโยชน์ในเขมรก่อน นอกจากนี้หลักฐานทางจีนยังระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ อยุธยาส่งกองเรือบรรณาการไปยังจีนถึง ๓ ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าการจะผ่านห่าเตียนไปเฉยๆโดยที่เป็นศัตรูกันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ในช่วงเวลานั้นอยุธยา(จำต้อง)ยอมรับอำนาจของญวนเหนือเขมร และความสัมพันธ์ของอยุธยากับญวน(และห่าเตียน)อยู่ในระดับปกติ ซึ่งแน่นอนว่าห่าเตียนในฐานะเมืองท่าเสรีย่อมต้องพึ่งพาการค้าจากทางอยุธยาด้วย การให้ความช่วยเหลือในระดับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นไปได้ครับ

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับห่าเตียนในเวลาดังกล่าว

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๐ หลังกรุงแตกได้สองเดือน เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงปฏิเสธข้อเสนอของอุปราชแห่งอวิ๋นกุ้ย(หมายถึงอวิ๋นหนาน(ที่เราเรียกยูนนาน)-กุ้ยโจว)ที่จะให้อยุธยาส่งกองทัพเข้าไปโจมตีพม่า โดยเฉียนหลงทรงสั่งให้อุปราชแห่งเหลียงกว่างส่งพระราชสาส์นไปแจ้งอยุธยาให้จับตัวกษัตริย์พม่าไว้หากพบว่า(เมื่อจีนตีพม่าแตกแล้ว)หลบหนีมาในดินแดนไทย โดยในเวลานั้น จีนยังไม่รู้ว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว

ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๓๑๐ อุปราชแห่งเหลียงกว่างรายงานถึงฮ่องเต้ว่า ได้สอบถามไต้ก๋งแซ่หยางและล่ามแซ่หวัง ชาวจีนประจำเรือราชทูตอยุธยา ได้ความว่าจะสามารถส่งพระราชสาส์นไปยังราชสำนักอยุธยาได้โดยผ่านม่อซื่อหลินผู้ครองห่าเตียน หรือปู่หลาน (คือเจ้าขรัวหลาน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองจันทบูร โดยหยางและหวังยังแจ้งว่าเมื่อพวกเขานำเรือเดินทางจากกั๋งโข่ว(คือเปียม) มายังกวางเจานั้น ได้ข่าวว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว

เนื่องจากเรื่องกรุงแตกนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่ยืนยัน อุปราชแห่งเหลียงกว่างจึงส่งคนไปยังห่าเตียนเพื่อส่งพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีอยุธยา และถือโอกาสยืนยันข่าวคราวของอยุธยาด้วย โดยข่าวสารเรื่องกรุงแตกนั้นทางจีนได้รับรู้รายละเอียดเกือบทั้งหมดผ่านทางห่าเตียนครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 มิ.ย. 11, 15:46
พงศาวดารทางญวนนั้นว่าไปคนละเรื่องเลย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๐๙ หมักเทียนตื๊อส่งสาส์นไปที่ยาดิ่งเพื่อขอกำลังเสริมจากกว๋างนามมาช่วยป้องหันห่าเตียน เนื่องจากได้ข่าวมาว่าอยุธยากำลังเตรียมการจะรุกรานห่าเตียน

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๐๙ ยาดิ่งส่งแม่ทัพสามคนคุมกองเรือ ๒๐ ลำ พร้อมทหาร ๑๐๐๐ คนมายังห่าเตียน

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๐๙ กองเรือจากยาดิ่งมาถึงห่าเตียน


เวลาดังกล่าวนั้นเป็นที่แน่นอนว่าหมักเทียนตื๊อต้องรู้อยู่แล้วว่าอยุธยากำลังรับศึกพม่าอยู่ เป็นไปได้ว่าหมักเทียนตื๊อจะขอกำลังมาเตรียมรับศึกพม่ามากกว่า จะมีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากนี้ได้ไหม?


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 11, 10:03
1767 ก่อนขึ้นปีใหม่ไทย (ยังเป็น พ.ศ.๒๓๐๙) พระยาตากตีฝ่าวงล้อมออกจากอยุธยา เดือนมีนาคม พระยาตากสะสมตั้งทัพอยู่ที่ระยอง ให้แต่งหนังสือถึงพระยาราชาเศรษฐีที่ครองเมืองพุทไธมาศให้ส่งกำลังมาช่วยตีพม่า ดังความในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯ ไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป เห็นว่าความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้ศุภอักษรไป ให้พระยาราชาเศรษฐียกพลทหารเข้ามาช่วยกันรบพะม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี จึงจะเป็นความชอบแก่พระยาราชาเศรษฐีสืบไป นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วย จึงรับสั่งให้แต่งศุภอักษรออกไปเมืองพุทไธมาศ

1767 ก่อนกรุงแตกเพียงสองวัน ทูตจากพระยาตากก็ไปถึงพุทไธมาศ และกลับมาถึงระยองเมื่อกรุงแตกได้เกือบจะครบเดือนพอดี

ครั้นณวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๔ พระพิชัยแลนายบุญมีไปถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ จึงนำเอาศุภอักษรกับฉลองพระองค์อย่างฝรั่งขึ้นไปพระราชทาน พระยาราชาเศรษฐี แล้วเจรจาตามมีรับสั่งไปนั้นทุกประการ พระยาราชาเศรษฐีมีความยินดีนักจึงว่า ระดูนี้จะเข้าไปขัดด้วยลมจะมิทัน ต่อเดือน ๘-๙-๑๐ จึงจะยกพลทหารเข้าไปช่วยราชการให้จงได้

ครั้นณวันอาทิตย์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ราชทูตนำศุภอักษรตอบกับเครื่องราชบรรณาการมาถึงปากน้ำระยอง  นายบุญมีจึงนำองไกเสิ้ง  จีนทหารกับราชบรรณาการเข้ากราบทูลณค่าย  

ช่วงเวลาเดียวกับที่ทูตจากพระยาตากไปขอความช่วยเหลือจากหมักเทียนตื๊อ หลักฐานทางญวนบันทึกว่า

หมักเทียนตื๊อ ส่งสาส์นถึงเจ้าก๊กเหงวียนกว๋างนาม ร้องขอให้ถอนกำลังญวนที่ส่งมาช่วยป้องกันเมืองกลับออกไปเนื่องจากปลอดจากภัยคุกคามจากอยุธยาแล้ว โดยเจตนาก็คือเพื่อให้ห่าเตียนเป็นอิสระจากกว๋างนาม และทางกว๋างนามก็ยินยอมถอนทหารแต่โดยดี

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าห่าเตียนถึงจะฝักใฝ่ญวน แต่ก็เป็นเมืองอิสระ ซึ่งทางญวนเองก็ไว้ใจ (และเกรงใจด้วย?) นอกจากนี้หมักเทียนตื๊อเองก็น่าจะมีแผนการณ์อะไรบางอย่างอยู่ในใจเหมือนกัน เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมักเทียนตื๊อก็เริ่มขยายอำนาจ ส่งกองกำลังเข้ายึดครองเกาะต่างๆในอ่าวไทย เช่นเกาะกง, เกาะกูด. เกาะคราม เป็นต้น


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 11, 11:44
การขยายอำนาจปราบปรามเกาะต่างๆในอ่าวไทยของหมักเทียนตื๊อนั้น มองอีกแง่หนึ่งก็คือการปิดช่องว่างจากสภาพสูญญากาศและอาจรวมถึงการป้องกันต้นเองหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารยาดิ่งของทางเวียดนามบันทึกไว้ว่าในเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน พ.ศ.๒๓๑๐ หมักเทียนตื๊อปราบปรามชุมนุมโจรสลัดที่คอยปล้นเรือสินค้าและจับผู้คนในละแวกเกาะกงโดยลอบโจมตีค่ายของพวกโจรสลัดกลางดึก โจรสลัดตัวนายถูกยิงตาย ในขณะที่พวกลูกน้องหนีกระจัดกระจายหายไป เรื่องนี้เป็นการลงมือหลังจากหมักเทียนตื๊อได้ข่าวมาในทางลับว่าพวกโจรสลัดกลุ่มนี้กำลังวางแผนเตรียมจะเข้าโจมตีห่าเตียน



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 11, 17:08
เดือนธันวาคม ปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้าศรีสังข์พระโอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หนีไปยังเมืองเขมร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ มีจดหมายฝรั่งเศสองฉบับ (คือจดหมายมองซิเออร์คอร์ถึงมองซิเออร์ดารากอง และจดหมายมองซิเออร์อาโตด์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ) ที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ พอจะสรุปความที่เกี่ยวข้องมาได้ดังนี้

เมื่อพม่าเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา เจ้าศรีสังข์พระโอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เสด็จเล็ดลอดหนีข้าศึกไปได้ เสด็จดั้นด้นอยู่ตามป่าได้ประมาณ ๓ เดือน ครั้นพม่ายกกลับไหปแล้วจึงเสด็จไปยังบางกอก แล้วเสด็จต่อไปบางปลาสร้อย ระหว่างนั้นพระยาตากคิดจะเอาราชสมบัติ ทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์เสด็จไปที่บางปลาสร้อยจึงได้จัดเรือให้ออกไปจับตัวเจ้าศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี แต่มีพวกเข้ารีตคนหนึ่ง ช่วยพาลงเรือเล็กรอนแรมไปถึงเมืองฮอนดัต (คือ Hòn Đất ห่อนเดิ๊ด อยู่ทางตะวันออกของห่าเตียนราว ๓๐ กม.) พวกบาดหลวงฝรั่งเศสเกรงภัยจากเจ้าเมืองคันเคา (มาจากชื่อจีนของเมืองเปียม คือ กั๋งโข่ว) จึงไม่ยอมพบ แต่ให้คนเข้ารีตคนนั้นส่งพาเจ้าศรีสังข์ต่อไปถึงเมืองเขมรในวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงรับตัวไว้ดูแลอย่างดี แต่เจ้าศรีสังข์วิตกว่าจะไม่สามารถออกไปจากกรุงเขมรได้อีก ในขณะที่ทางคันเคา พระยาตากอยู่ที่จันทบูรทราบข่าวว่าเจ้าศรีสังข์หนีมาอยู่ที่ฮอนดัต จึงมีจดหมายมาถึงเจ้าเมืองคันเคาพร้อมกับส่งของดีๆมาให้ โดยเฉพาะปืนใหญ่แบบยุโรป ๒ กระบอก โดยสัญญาว่าจะให้อีกหลายกระบอกเมื่อเอาตัวเจ้าศรีสังข์มาส่งให้ เจ้าเมืองคันเคาจึงให้คนออกไปค้นหาตัวเจ้าศรีสังข์ เมื่อเจ้าเมืองทราบว่าเจ้าศรีสังข์ไปอยู่เขมร โดยผ่านบ้านเมืองของตนไปโดยตนหารู้ด้วยไม่ จึงคิดเอาตัวเจ้าศรีสังข์กลับมา โดยจับเอาบาดหลวงมาขังคุกไว้ แล้วทั้งหว่านล้อมแกมบังคับ จนบาดหลวงอาโตด์ต้องไปยังเมืองเขมรเพื่อเกลี้ยกล่อมให้เจ้าศรีสังข์มายังคันเคา แต่เมื่อบาดหลวงอาโตด์ไปพบเจ้าศรีสังข์ที่เมืองเขมร เจ้าศรีสังข์ไม่ยอมกลับมาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเจ้าเมืองคันเคาจะจับพระองค์ส่งให้แก่พระยาตากเป็นแน่ โดยทรงรับสั่งว่า "การที่พระยาตากได้ส่งของดีๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับซื้อศีร์ษะข้าพเจ้าเท่านั้น"


เห็นได้ว่า เจ้ากรุงเขมร สมเด็จพระนารายณ์ราชา ถึงแม้ว่าพระองค์จะเคยรับเสือเฒ่าหมักเทียนตื๊อเป็นพระบิดาบุญธรรมแล้ว แต่ก็มิได้อยู่ใต้อาณัติของหมักเทียนตื๊อแต่อย่างใด หมักเทียนตื๊อจึงไม่สามารถเอาตัวเจ้าศรีสังข์ไปจากเขมรได้ครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 มิ.ย. 11, 11:19
จากเรื่องของบาดหลวงฝรั่งเศสนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหมักเทียนตื๊อต้องการตัวเจ้าศรีสังข์แน่นอน แต่จะเพื่อส่งตัวให้กับพระยาตากตาม "ข่าวลือ" ที่พวกบาดหลวงฝรั่งเศสได้รับมาจริงหรือ?

ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องราวเมื่อครั้งพระยาตากตั้งทัพอยู่ที่ระยอง แล้วส่งสาส์นไปขอให้หมักเทียนตื๊อส่งกำลังมาช่วยรบ เรื่องเกิดในเดือนสี่ดือนห้า ปี พ.ศ.๒๓๑๐ หมักเทียนตื๊อผัดผ่อนว่าจะยกมาช่วยเดือนแปดเก้าสิบ แต่ถึงเดือนเจ็ดพระยาตากตีเมืองจันทบูรได้ เจ้าขรัวหลานเจ้าเมืองจันบูรพาครอบครัวลงเรือหนีไป "พุทไธมาศ" ซึ่งเท่ากับว่าหมักเทียนตื๊อรับตัวศัตรูพระเจ้าตากไว้ ในขณะที่เรื่องกองทัพของหมักเทียนตื๊อที่ว่าจะส่งมาช่วยนั้น พงศาวดารไทยไม่พูดถึง

หนังสือประวัติตระกูลหมัก (เขียนปี ค.ศ.๑๘๑๘) บอกว่าปลายปี ค.ศ.๑๗๖๗ (ค.ศ. ๒๓๑๐) หมักเทียนตื๊อให้ลูกเขยนำกองเรือ ๑๐๐ ลำลอบเข้าไปที่ปากน้ำเมืองบางกอกแล้วพยายามลวงพระเจ้าตาก (ซึ่งเวลานั้นมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีแล้ว) ให้ไปขึ้นเรือเพื่อปรึกษาข้อราชการ แต่แผนนี้รั่ว เพราะพระเจ้าตากส่งสายลับแฝงตัวเข้าไปอยู่ในบ้านของตระกูลหมัก พระองค์จึงไม่ไปขึ้นเรือ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อรออยู่ถึงสิบวัน จนในคืนหนึ่ง ไต้ฝุ่นเข้า เรือถูกทำลายไปถึง ๔๐ ลำ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อต้องล่าถอยไป แต่ไปถึงเพียงบางปลาสร้อยก็ป่วยตาย

ยังมีรายงานของ Jacques Corre (คือมองซิเออร์คอร์ในประชุมพงศาวดารภาค ๓๙) บอกว่าลูกเขยของหมักเทียนตื๊อแสร้งทำเป็นจะส่งข้าวเข้าไปยังบางกอกแต่เจนตาที่แท้จริงคือจะจับตัวพระเจ้าตาก แต่พระเจ้าตากทรงรู้ทันเล่ห์กลจึงเข้าปล้นเรือและฆ่าฟันพวกทหารของลูกเขยหมักเทียนตื๊อ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อตายระหว่างเดินทางกลับ รายงานฉบับนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๖๙ โดยไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อใด

Chen Chingho นักวิชาการชาวไต้หวัน พบว่าจารึกหลุมศพของลูกเขยหมักเทียนตื๊อผู้นี้ทำขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๖๗ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติตระกูลหมัก

เห็นได้ว่าข้อมูลจากสองแหล่งกล่าวถึงเรื่องราวที่ใกล้เคียงกันมาก น่าเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปี ๒๓๑๐ และน่าสังเกตด้วยว่าเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศที่กล่าวว่าหมักเทียนตื๊อเคยส่งเรือขนเสบียงอาหารมาช่วยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าล้อมอยู่ แต่มาถึงปากน้ำก็โดนพม่าตีแตก น่าสงสัยว่าเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเหตุการณ์เดียวกับเรื่องของตระกูลหมักและบาดหลวงฝรั่งเศส เพราะความในพงศาวดารกรุงธนบุรีตอนนี้มีต้นไม่มีปลายอย่างไรพิกล

ที่แน่ๆคือ ถึงช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ความสัมพันธ์ของหมักเทียนตื๊อและพระเจ้าตากไม่น่าจะอยู่ในสภาพปกติ หากไม่ได้เป็นศัตรูกันโดยชัดแจ้ง อย่างน้อยต้องมีความระแวงซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อย เรื่องของเจ้าศรีสังข์นั้นจึงน่าสงสัยว่าความประสงค์ของหมักเทียนตื๊อที่ต้องการจะเอาตัวเจ้าศรีสังข์มาไว้ที่เมืองห่าเตียนอาจจะไม่ได้เป็นเพราะพระเจ้าตากร้องขออย่างที่พวกบาดหลวงฝรั่งเศสลือกัน


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 11, 15:17
เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๓๑๑ Li Shiyao อุปราชเหลียงกว่างส่ง Zhen Rui มาสืบสวนเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาที่ห่าเตียน Zhen Rui กลับไปถึงกวางเจาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๒ เขียนรายงานเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ภายในราชสำนักอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ร่ายยาวไปถึงเหตุการณ์ในพม่าซึ่งนำมาถึงการบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา จนถึงเหตุการณ์กรุงแตก พระยาตากตั้งตนเป็นใหญ่ ไปจนถึงประวัติกรมหมื่นเทพพิพิธ และเหตุการณ์พระเจ้าตากปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายและสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ

นอกจากนี้ Zhen Rui ยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าจุ้ยพระโอรสในเจ้าฟ้าอภัยที่หนีไปอาศัยหมักเทียนตื๊อที่ห่าเตียนหลังกรุงแตกด้วย โดย Zhen Rui ระบุว่าเจ้าจุ้ยต้องการความช่วยเหลือจากพระจักรพรรดิ์จีนเพื่อกลับไปครองอำนาจที่อยุธยา

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของ Zhen Rui คือการสอบสวนความเป็นมาของคนเถื่อนที่มาโจมตีอยุธยา แต่กลับได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดว่า คนเถื่อนที่มารุกรานอยุธยานั้นไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพม่าที่กำลังขัดแย้งกับจีนอยู่ในเวลานั้นด้วย ดังนั้นเมื่อราชสำนักจีนได้ข้อมูลนี้ไปประกอบจากกระแสข่าวว่า "พม่า" ตีกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นพม่าคนละ "เผ่า" กับพวกที่รบกับจีนอยู่ทางตอนเหนือ


ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๑๑ พระเจ้าตากทรงส่งพระราชสาส์นผ่านพ่อค้าจีนไปยังพระจักรพรรดิ์จีน พระราชสาส์นที่ไปถึงในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นมีความโดยสรุปว่า กรุงศรีอยุธยาถูกพวกพม่าล้อมอยู่ถึงสามปี เมื่อหมดหนทาง พระเจ้าแผ่นดินจึงส่งพระองค์ (ในพระราชสาส์นเรียกว่า "เจ้าพระยากำแพงเพชร") ไปยังจันทบูรเพื่อรวบรวมกำลังทหาร เมื่อกลับมาถึงนั้น พบว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายลงเสียแล้ว พระองค์จึงได้ขับไล่พวกพม่าออกไป และพยายามสืบหาตัวรัชทายาทของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน แต่ประสบความล้มเหลว จึงได้ปราบปรามชุมนุมต่างๆ และขอให้พระจักรพรรดิ์ทรงได้รับรองอำนาจของพระองค์ด้วย

เมื่อเรื่องนี้ไปถึงราชสำนักจีน พระจักรพรรดิ์ทรงปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจ ซึ่งการที่ราชสำนักจีนปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจของพระเจ้าตากส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหมักเทียนตื๊อซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอุปราชเหลียงกว่าง และพยายามเดินเรื่องขัดขวาง โดยมีเจตนาจะร่วมเล่นเกมชิงอำนาจในสยามด้วย โดยอาศัยเจ้าจุยในมือ และยังพยายามเอาตัวเจ้าศรีสังข์จากเขมรดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:08
พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับจันพันทนุมาศว่า

ณวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ข้อราชการเมืองกัมพูชาธิบดีเมืองปากน้ำพุทไธมาศบอกเข้ามา จึงทรงพระกรุณาให้พระกรมท่าไปทำค่ายปากน้ำพระประแดง, ท่าจีน, แม่กลอง

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ (ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่) ย้อนไปถึงช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่บาดหลวงฝรั่งเศสไปเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีสังข์ที่เขมร ย้ำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์และหว่างไทยกับกัมพูชาและ "เมืองปากน้ำพุทไธมาศ" ในเวลานั้นอยู่ในสภาพตึงเครียดมากอยู่แล้วครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 มิ.ย. 11, 10:07
* ข่าวศึกใน คคห. ก่อนหน้านี้ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุระยะเวลาต่างกัน คือบอกว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และยังระบุว่าข่าวศึกนั้นสงบไป ไม่มีกองทัพมาจริง

ในปี พ.ศ.๒๓๑๒ พงศาวดารข้างญวนบันทึกไว้ว่ามีจีนแต้จิ๋วผู้หนึ่งแซ่ Tran (จีนกลางว่าเฉิน แต่จิ๋วว่าตั้ง) ซ่องสุมกำลังอยู่ที่เขาบั๊กหม่า (ม้าขาว อยู่ละแวกเมืองแกบทางตะวันตกของห่าเตียน) วางแผนจะเข้าโจมตีเมืองห่าเตียน แต่ข่าวรั่วออกมาเสียก่อนจึงถูกหมักเทียนตื๊อส่งทหารไปซุ่มโจมตีจนแตกไป ตัว Tran เองหนีไปอาศัยอยู่ที่จันทบูร

Chen Chingho บอกว่าเหตุการณ์นี้มีพระเจ้าตากอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาคือหมักเทียนตื๊อส่งทัพเข้ามาโจมตีจันทบูร และทุ่งใหญ่ (คือตราด) เปิดศึกกับไทยแบบซึ่งหน้าเป็นครั้งแรก

พงศาวดารเขมร
ลุศักราช ๑๑๓๒ ศกขาลนักษัตร สมเด็จพระโสทัตผู้เปนใหญ่ในเมืองเปียม คิดตามอำเภอใจด้วยความโลภเจตนา เหมือนตักกะแตนเข้าดับเพลิงละเลิงใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรังยกเปนกองทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่เมืองจันทบุรี จึงพวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ แม่ทัพแม่กองสมเด็จพระโสทัตหนีกระจัดกระจายถอยทัพกลับมาเมืองเปียม


พงศาวดารข้างญวนว่า หมักเทียนตื๊อส่ง Tran Hau หลานชาย (ลูกของน้องสาวหมักเทียนตื๊อ) นำทัพบก ๕๐๐๐๐ คน โจมตีจันทบูร เจ้าเมืองจันทบูร (ชื่อ Tran Lai) นำกำลังทหาร ๓๐๐๐ คน เข้ารบกับทัพญวน แต่พ่ายแพ้เพราะกำลังน้อยกว่ามาก ตัวเจ้าเมืองจันทบูรต้องถอยทัพไปตั้งค่ายไว้ ไม่กล้าเข้ารบอีก Tran Hau ยึดเมืองจันทบูรอยู่ได้สองเดือนเกิดโรคระบาด ทหารล้มตายวันละมากๆ หมักเทียนตื๊อจึงเรียกทัพ Tran Hau กลับ มีทหารที่รอดกลับถึงห่าเตียนเพียงหมื่นคนเศษ พระเจ้าตากทรงทราบว่าทหารห่าเตียนถอยทัพ จึงส่งกองทัพมาตามตี แต่ก็ต้องถอยกลับไปเมื่อพบว่าห่าเตียนมีการป้องกันที่เข้มแข็ง

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ โดยว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา (คือ ร.๑ และกรมพระราชวังบวรฯ) นำทัพไปตีเขมร โดยให้นำนัพพระรามราชาไปในทัพด้วย แต่ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากพระอุไทยราชาเอาทัพญวนมาช่วยชิงพุทไธเพชรจากสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ย้อนหลังไปสิบกว่าปีแล้ว มีรายละเอียดการรบความดังนี้

ฝ่ายกองทัพซึ่งยกไปกัมพุชประเทศนั้น ทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชายกจากเมืองนครราชสีมาไปตีเมืองเสียมราบได้ ทัพพระยาโกษาสายยกจากเมืองปราจีนไปตีได้เมืองปัตบองตั้งอยู่ที่นั้น และนักพระองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชายกกองทัพเรือมาทางทะเลสาบ จะมาตีเมืองเสียมราบคืน พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาจัดแจงได้เรือที่เมืองเสียมราบ ยกทัพเรือออกรบกับทัพเขมรในทะเลสาบ ได้สู้รบกันหลายเพลา พอได้ข่าวเลื่องลือออกไปว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช บัดนี้ทิวงคตเสียแล้ว พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาก็ตกใจเกรงแผ่นดินจะเกิดจลาจลขึ้นอีก เลิกทัพกลับมา


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 มิ.ย. 11, 23:33
ในขณะที่การใช้กำลังทหารเปิดฉากรุกใส่สยามของหมักเทียนตื๊อล้มเหลว สถานการณ์ทางการทูตก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเลย ผลจากการที่พระเจ้าตากสามารถปราบชุมนุมต่างๆในไทยได้อย่างราบคาบทำให้ราชสำนักจีนเปลี่ยนท่าทีต่อพระเจ้าตาก เนื่องจากเห็นว่าพระองค์คือผู้ที่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินสยามไว้ได้

ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากความเห็นของ "พระเจ้าเฉียนหลง" ด้วย  เพราะทรงมีพระราชสาส์นถึงผู้ว่าราชการกวางตุ้งมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า "ทางไทยไม่อาจหาองค์รัชทายาทได้ และอำนาจที่แท้จริงก็ตกอยู่กับเจิ้งเจา..." เพราะฉะนั้นจึนก็ควรเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชุมนุมของพระเจ้าตากสินเสีย  จีนก็ไม่ต้องการไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์วุ่นวายในไทย
(การเมืองไทยสมัยกรุงธนบุรี - นิธิ เอียวศรีวงศ์)

ด้วยเหตุนี้อุปราชเหลียงกว่างที่เคยสนับสนุนหมักเทียนตื๊อจึงต้องเปลี่ยนท่าทีตามไปด้วย


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 มิ.ย. 11, 12:54
เดือน ๑๑ พ.ศ.๒๓๑๔ เสร็จศึกภายใน พระเจ้าตากยกทัพตีเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมร ทรงให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพบกไปเมืองเขมร พระองค์นำทัพเรือไปตีพุทไธมาศ

บันทึกตระกูลหมักบอกว่า
เดือนแปด ปี Tan Mao (กันยายน-ตุลาคม พ.ศ.๒๓๑๔) ห่าเตียนได้ข่าวว่าพระยาตากกษัตริย์สยามเตรียมกำลังจะรุกรานห่าเตียน หมักเทียนตื๊อส่งข่าวด่วนไปยังยาดิ่งเพื่อขอกำลังเสริม แต่ Khoi Khoa Hau และ Mien Truong Hau แม่ทัพญวน ตอบมาว่า เมื่อพวกเขาส่งทหารมาในปีก่อนหน้านี้โดยข้อมูลผิดๆจากทางห่าเตียน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย พวกเขาจึงต้องถอยทัพกลับไป ดังนั้นควรจะรอให้มีทัพสยามมาจริงๆก่อนจะดีกว่า


เป็นอันว่าทางยาดิ่ง (ไซ่ง่อน) ปฏิเสธที่จะยกทัพมาทันที เนื่องจากเกรงจะมาเสียเที่ยวอีกเหมือนคราวที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นคราวที่พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชายกมาตีเขมร แต่ต้องถอยทัพกลับก่อนเนื่องจากมีข่าวลือว่าพระเจ้าตากสวรรคตที่เมืองนคร

จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ว่าพระยาพิชัยไอศวรรย์แม่ทัพหน้ามีจดหมายโต้ตอบกับพระยาราชาเศรษฐีความดังนี้

(ความขาด) ... มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษกณกรุงกัมพูชาธิบดี ... (ความขาด) ... ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุง ฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น    ถ้าแลพระยาราชาเศรษฐีเห็นว่าจะต้านทานสู้รบได้ ให้แต่งป้อมต้ายค่ายคูไว้จงสรรพ ถ้าเห็นจะสู้มิได้ ยังทรงพระกรุณาโปรดพระยาราชาเศรษฐีอยู่ ให้ออกมาถวายบังคม     เราจะช่วย เถิงว่าแก่แล้วจะมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาโดยฉับพลัน ถ้าช้าจะทรงพระวิโรธให้ฆ่าเสียให้สิ้น

ครั้นญวนมีชื่อถือหนังสือเข้าไปเถิงแล้ว พระยาราชาเศรษฐีให้หนังสือตอบออกมา เป็นใจความว่า ซึ่งให้หนังสือมาเถิง ฯ ข้า ฯ ขอบใจนักหนา จะหามาปรึกษาให้พร้อมกันก่อน ถ้าปรึกษาประนอมพร้อมกันแล้ว จึงจะบอกมาให้แจ้งต่อเมื่อภายหลัง

จึงมีหนังสือตอบเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เล่าเป็นใจความว่า ถ้าพระยาราชาเศรษฐีจะปรึกษา ก็ให้เร่งปรึกษาแต่ในเพลาค่ำวันนี้ ถ้าช้าอยู่ทัพหลวงจะมาเถิงจะเกิดยุทธนาการมากไป พระยาราชาเศรษฐีก็ยังมิได้บอกหนังสืออกให้แจ้งมามิได้

ที่พระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อไม่ตอบ เห็นจะพยายามถ่วงเวลารอกำลังเสริมจากทางญวนครับ

เมื่อทัพไทยไปถึงพุทไธมาศจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรีบันทึกไว้ดังนี้

ในวันนั้นสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ไป  ตั้งค่ายสะกัดอยู่ณเชิงเขาฝ่ายทิศตะวันออก  พระยาพิชัยไอศวรรย์   แลเรือรบอาษาหกเหล่า  กองหน้านั้นให้ดากันรบอยู่ท้ายกอะหน้าเมืองฝ่ายตะวันออก

วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ( ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๔ ) เพลาเช้าโมงเศษ ทรงพระอุตสาหะเสด็จ ฯ ไปด้วยพระบาท ยืนอยู่ฟากตะวันออกตรงป้อมหน้าเมือง สั่งเจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษาตรัสชี้พระหัตถ์ไปให้ทำค่ายน้ำ ๒ ฟากไว้ หว่างกลางกว้างประมาณ ๑๐ เส้น จะได้ให้เรือรบซึ่งปืนหน้าเรือกินดินชั่งหนึ่ง คอยรบจับเอาอ้ายเหล่าร้ายซึ่งจะหนีออกไปนั้น ในทันใดนั้น เจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษา พาตัวอ้ายมา ญวน ซึ่งหนีออกมาสวามิภักดิ์ เข้ามาเป็นข้าใต้ละออง ฯ มีคำอ้ายมาญวนกราบทูลพระกรุณาว่า จีนบุนเส็งหนีไปแล้ว ราชาเศรษฐีก็คิดอ่านจะหนีไป ครั้นจะเชื่อถ้อยคำอ้ายมา ญวนนั้นยังมิได้ จึงทรงพระกรุณาให้จำไว้ จึงสั่งว่าถ้าอ้ายมาญวนจะเข้าไปรับครัวนั้น ให้ลงพระราชอาชญา แล้วมัดมือไพล่หลังเข้าไป ถ้าพาครัวมาได้ เห็นว่ามันสวามิภักดิ์จริง ตัวมันให้ทำราชการ ถ้าสัมฤทธิ์ราชการแล้ว เถิงจะเป็นใหญ่อยู่ในเมืองพุทไธมาศก็จะให้    

อนึ่งมีรับสั่งให้หมื่นฤทธิ์อาคเนไปดูคลื่นลมแลเรือรบญวนซึ่งอยู่หน้าเมืองนั้น จะระส่ำระสายอยู่เป็นประการใด แลหมื่นฤทธิ์อาคเนมิได้ไปโดยพระราชดำริ ไปเผาเรือนใกล้ค่ายอ้ายเหล่าร้าย แล้วยิงปืนหน้าเรือเข้าไปให้ผิดด้วยรับสั่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงวิโรธจึงตรัสปริภาษนาด่าหมื่นฤทธิ์อาคเนว่า อ้ายข้านอกเจ้า ถ้าอ้ายเหล่าร้ายมันตั้งค่ายสูงจะให้หักค่ายเข้าไป ถ้าเข้าไปมิได้ จะบั่นศีรษะเสีย

อนึ่งเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จอยู่ณพระตำหนักตึก ให้หาทหารแลกรมอาจารย์ขึ้นมาเฝ้า จึงตรัสถามว่า ใครอาจสามารถจะหักค่ายเข้าไปได้ในเพลาคืนวันนี้ ถ้าเห็นจะได้ก็ให้ว่าได้ ถ้ามิได้ก็ว่ามิได้ ถ้าเห็นจะได้ เข้าไปหักค่ายมิได้ กลับคืนออก จะตัดศีรษะเสีย ถ้าเข้าไปได้สัมฤทธิราชการจะปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด เมื่อตรัสประภาษนั้นต่อหน้าข้าหลวงผู้ใหญ่น้อยเฝ้าอยู่พร้อมกัน ทหารกองใน นาย ๑๑ ไพร่ ๑๐๐ เป็น ๑๑๑ คน รับอาษาหักค่าย พระญาณประสิทธิ ๑ ไพร่ ๕ เป็น ๖ คน ขุนเอกประเสริฐ ๑ ไพร่ ๘ เป็น ๙ คน หมวดขุนณรงค์ ไพร่ ๑๐ คน พระสารสุธรรมแลหลวงชน ทั้งนายไพร่ ๑๐ คน อาจารย์จันทร์แลขุนวิชิตทั้งนายไพร่  ๒๕  คน นายโพแลขุนรามทั้งนายไพร่ ๑๓ คน หลวงเพ็ชรสงคราม ๑ ไพร่ ๙ คน พระสุธรรมา ๑ ไพร่  ๒๗ คน แลผู้มีชื่อ ๑๑๑ คน รับอาษาเข้าปล้นค่ายให้ได้ในเพลากลางคืน ถ้าแลหักเข้ามิได้ยอมถวายชีวิต จึงทรงพระกรุณาให้เกณฑ์กองทัพฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ทัพบกทัพเรือ ให้ได้ ๒๔๐๐ พระราชทานสุราแล้วสั่งให้ยกเข้าไปสมทบกองอาทมาท ให้เข้าปล้นค่ายในเพลา ๒ ยาม

อนึ่งให้หาพระมหาเทพเข้ามาเฝ้าจึงตรัสถามว่าจะให้ถือดาบ ๒ มือ ว่ายน้ำเข้าหน้าค่าย ฟันเข้าไปจะได้หรือมิได้ จึงรับสั่งว่าสติปัญญาน้อย ถ้าทรงพระกรุณาเห็นว่าจะเข้าไปได้อยู่แล้ว ถวายบังคมลาเข้าไปตามรับสั่ง ถ้าแลเข้าไปแล้วมิได้กลับออกมา ก็หาชีวิตมิได้ ถ้าเข้าไปแล้วมีชัยชนะ ก็จะได้กลับออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป จึงตรัสประภาษสรรเสริญว่าน้ำใจองอาจมั่นคงนัก จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงต้นองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้อยู่รักษาพระองค์

อนึ่งเพลา ๒ ยามเศษ พวกอาทมาท ๑๑๑ คน แลข้าทูลละอองฯ ฝ่ายทหารพลเรือน ๒๔๐๐ เข้าหักค่าย ตามทรงพระกรุณาพระราชทานฤกษ์ให้ ครั้นหักค่ายเข้าไปได้แล้ว     จุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นอันมาก แต่รบกันอยู่ในเมืองนั้นช้านาน ทหารซึ่งอยู่รักษาค่ายประชินั้นจะเข้าช่วยก็มิได้ ด้วยคนรักษาที่นั้นยังยิงรบกัน ... (ความขาด) ... โยธาทหารก็ยิ่งโรยลง เดชะด้วยอานุภาพพระบารมี ให้ดลจิตต์โยธาทหารทั้งปวง ทัพบกก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาบก ทัพเรือก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาทางชลมารค โยธาทหารทั้งปวงก็มีน้ำใจองอาจแกล้วหาญ ทัพเรือทัพบกนั้นก็ตีกระโจมหักค่ายเข้าไป

พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรีศก (๑๗ พฤศจิกายน) เพลาเช้ายังมิได้บาท หักค่ายเข้าไป ไพร่พลเมืองแตกกระจัดกระจายหนีไป พระยาราชาเศรษฐีหนีลงเรือไปได้ จึงทรงพระกรุณาหาเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือมาถามว่า ญวนลงเรือหนีไปได้มิยิงปืนด้วยอันใด จึงกราบทูลว่า เรือรบจมื่นไวยขวางหน้าอยู่ จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ สืบถาม จมื่นไวยรับสมคำเจ้าพระยาจักรี จึงให้ลงพระราชอาชญาคนละ ๓๐ จึงกราบทูลพระกรุณาขออาษาตีกรุงกัมพูชาธิบดีทูลเกล้า ฯ ถวายทำราชการแก้ตัว

วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ครั้นถึงเพลาเช้าโมงเศษจึงเสด็จพระดำเนินเข้ามาอยู่วังราชาเศรษฐี


เหตุการณ์เมืองห่าเตียนแตกนั้นพงศาวดารยาดิ่งมีความว่า

วันที่ ๓ เดือน ๑๐ (เป็นวันจีน ตรงกับ ๙ พฤศจิกายน ๒๓๑๔) ทหารสยามรุกเข้ามาและปิดล้อมป้อมห่าเตียน (ซึ่งเป็นกำแพงไม้ล้อมไว้สามด้าน) ในเวลานั้น ในป้อมมีทหารเพียงเล็กน้อย พวกเขาป้องกันป้อมเอาไว้ และส่งข่าวด่วนไปยัง Long Ho Doanh เพื่อแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน โชคร้ายที่ทหารสยามยึด To Chau และระดมยิงป้อมจากที่นั่น

คืนวันที่ ๑๐ เดือน ๑๐ (๑๖ พฤศจิกายน) คลังดินระเบิดที่เขา Ngo Ho เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ในป้อมวุ่นวายเป็นอย่างมาก

คืนวันที่ ๑๓ (คือ ๑๙ พฤศจิกายน ในขณะที่จดหมายเหตุรายวันทัพของไทยบอกว่าเป็นวันที่ ๑๘ เหลื่อมกันอยู่วันหนึ่ง) ทหารสยามแทรกซึมเข้ามาในป้อมได้ทางประตูหลังซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำซึ่งเป็นด้านที่ไม่มีกำแพง และวางเพลิงเผาอาคารบ้านเรือน ทัพสยามหักเข้ามาในป้อมได้ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายไปทั่ว ถึงแม้ว่า Ton Duc Hau (หมักเทียนตื๊อ) ยังคงบัญชาการทหารและเร่งเร้าให้รุกรบอยู่ คนในป้อมโดน (สถานการณ์) บังคับให้ต้องหนี ในเวลาหนึ่งนาฬิกากลางดึกนั้น ป้อมก็แตก แม่ทัพ Doi Nghiep ช่วยพา (หมักเทียนตื๊อ) หนีลงเรือไปยังแม่น้ำ Giang Thanh (แม่น้ำขาม) Mac Tu Hoang, Mac Tu Thuong และ Mac Tu Lac นำทหารเรือฝ่าวงล้อมมุ่งหน้าไปยัง Kien Giang (Rach Gia)

ส่วนบันทึกตระกูลหมักมีความว่า

ในปี Tan Mao (พ.ศ. ๒๓๑๔) Trinh Tan (เป็นคำอ่านทับศัพท์ชื่อจีน เจิ้งซิน - คือพระเจ้าตาก) พิชิตนครศรีธรรมราชได้ เหล่าทหารของพระองค์มีจิตใจฮึกเหิมและแข็งแกร่งขึ้น พระองค์นำทัพมายังห่าเตียน ข่าวนี้ถูกส่งไปยัง Ngo Doanh (กองทัพกว๋างนาม) เพื่อขอกำลังเสริมมายังห่าเตียน แต่พวกเขาไม่ส่งกำลังเสริมมาให้ การศึกกับจันทบูรทำให้ชาวเมืองห่าเตียนล้มตายลงไปมาก จำนานทหารที่ป้องกันป้อมห่าเตียนก็ลดลงไปด้วย แต่หมักเทียนตื๊อก็ได้ตระเตรียมเสบียงอาหารและอาวุธไว้ในป้อม พร้อมทั้งกองทหารมากกว่าหนึ่งพันคน

กองทัพสยามล้อมป้อมเอาไว้เป็นสามแนว Cong (คือหมักเทียนตื๊อ) ให้เจ้าชาย Dung บัญชาการปีกซ้าย เจ้าชาย Thuong บัญชาการเรือรบเพื่อป้องกันป้อม เจ้าชาย Dung ระดมยิงปืนและปืนใหญ่ทเพื่อยันศัตรูให้ไม่สามารถเข้ามาในป้อมได้ พวกเขาผเชิญหน้ากันอยู่มากกว่าสิบวัน ถึงแม้ว่าทหารสยามจะมีมากกว่าทหารห่าเตียนถึงสิบเท่า แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยเกินไป (ที่จะเอาชนะได้)

ทหารห่าเตือนอ่อนล้ามาก แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการจะหนีออกไปจากป้อม และตกลงใจที่จะยอมตายในการศึก ทหารสยามแทรกซึมเข้ามาได้ในตอนกลางคืน คลังดินปืนของห่าเตียนเกิดระเบิดขึ้น ทหารสยามฉวยโอกาสนี้จู่โจมเข้ามาที่ป้อม Cong (หมักเทียนตื๊อ) นำทัพเข้าฆ่าฟันข้าศึกด้วยตัวเอง พวกเขายับยั้งข้าศึกได้เพียงเล็กน้อย เมื่อข้าศึกยิงปืนใหญ่แบบตะวันตกเข้ามา และทำให้ทหารห่าเตียนบาดเจ็บไปหลายคน

ในเวลานั้น Cong ได้ทราบว่าทหารข้าศึกสามารถเข้ามาในป้อมได้ทางด้านที่ไม่มีการป้องกัน ท่านจึงพยายามจะกลับไปยังป้อม เมื่อถึงรุ่งเช้า พวกเขาถูกล้อมอยู่ภายใต้การระดมยิงของศัตรู Cong สั่งการให้ลูกน้องปิดประตูและเตรียมตัวตาย

Huu Bo แม่ทัพที่บัญชาการปีกขวา ขอให้ Cong หนี แต่ Cong ไม่รับฟังคำแนะนำนี้ Huu Bo จึงลวงให้ Cong ขึ้นไปรอบนเรือรบระหว่างที่เขารวบรวมพลเพื่อเตรียมจะต่อสู้อีก Cong จึงขึ้นไปบนเรือ และ Huu Bo ก็สั่งให้ทหารเรือออกเรือหนีไป Chau Doc ทันที

เนื่องจากห่าเตียนอยู่ริมฝั่งทะเล ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถหนีรอดไปได้โดยไม่อาศัยเรือ สมาชิกในครอบครัวของ Cong มากกว่าสิบคนและประชาชนอีกจำนวนมากจึงต้องจมน้ำตาย โชคยังดีที่ เจ้าชาย Tu Hoang, Tu Thuong และ Tu Dungสมารถขึ้นไปบนเรือรบและต้องต่อสู้กับเรือรบของสยามมากกว่าสิบลำจึงหนีไปยังสถานที่ซึ่งทัพของกว๋างนามตั้งอยู่ได้


จากภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่าโตเจานั้นเป็นพื้นที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำหน้าเมืองห่าเตียน ชื่อนี้ตรงกับชื่อจีนว่าซูโจวครับ ทัพสยามตั้งค่ายอยู่ที่นี่ และตรงนี้ก็คือที่ๆในจดหมายเหตุรายวันทัพฯบันทึกว่าพระเจ้าตากทรงออกไปตรวจการณ์วางแผนการรบด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่าหลังถูกล้อมอยู่หลายวัน หมักเทียนตื๊อก็เสียเมืองห่าเตียนให้แก่พระเจ้าตาก ตัวหมักเทียนตื๊อลงเรือหนีขึ้นไปตามลำแม่น้ำ มุ่งหน้าสู่โจดก ในขณะที่บุตรชายสามคนลงเรือหนีออกทะเลไปที่เมือง Rach Gia (แหร็กย้า) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของห่าเตียนซึ่งเป็นถิ่นของพวกก๊กเหงวียนกว๋างนามครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 มิ.ย. 11, 15:54
เว็บ baidu.com ของจีนบรรยายภูมิสถานของเมืองห่าเตียนไว้ดังนี้

หลังเมืองอิงผิงซาน (平山 ญวนว่าเขา Binh San)
ตั้งประจัญหน้ากับซูโจว (苏州 To Chau โตเจา)
เบื้องใต้คือทะเล
เบื้องหน้ามีแม่น้ำ
กำแพงดินล้อมสามด้าน (เข้าใจว่าด้านหน้าที่ติดแม่น้ำไม่มีกำแพง เพราะเป็นท่าเรือ)
จากหาด 阳 (เข้าใจว่าหมายถึงหาดริมแม่น้ำหน้าเมือง) ถึงประตูหลังระยะทาง 152.5 จ้าง (จ้างหนึ่งเท่ากับสิบเชียะ หนึ่งเชียะราวหนึ่งฟุต 152.5 จ้างก็เกือบ 460 เมตร )
จากประตูซ้ายถึงประตูขวาระยะทาง 52 จ้าง (เกือบ 160 เมตร)
กำแพงเมืองสูง 4 เชียะ (แค่ 1.2 เมตร เตี้ยมาก กำแพงไม้น่าจะปักอยู่บนกำแพงดินนี้อีกที)
คูเมืองลึก 10 เชียะ (ราว 3 เมตร ไม่แน่ใจว่าหมายถึงความลึกของแม่น้ำหน้าเมือง หรือว่ามีคูเมืองอยู่นอกกำแพงทั้งสามด้านอีกชั้นหนึ่ง)
ตรงกลางเป็นป้อมปราการ
สี่ด้านแปดทิศตั้งค่ายล้อมไว้


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 มิ.ย. 11, 17:00
เมื่อเมืองห่าเตียนแตก จดหมายเหตุรายวันทัพฯ มีความน่าสนใจหลายประการ

อนึ่งจมื่นศรีเสารักษ์หลวงมหามนตรี ได้บุตรีพระยาราชาเศรษฐี ๒ คน นำมาทูลเกล้า ฯ ถวาย

อนึ่งมีรับสั่งโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า บันดาข้าทูลละอองฝ่ายทหารพลเรือนบันดาซึ่งได้ญวนผู้หญิงไว้ ให้เอามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้สิ้น ถ้าเป็นลูกหลานวงศ์วานพระยาราชาเศรษฐีจะเอาไว้เป็นหลวง นอกนั้นจะพระราชทานให้แก่ผู้ได้   

อนึ่งเมื่อเพลาเพลิงสงบลง ไทยบ่าวพระยาพิพิธคนหนึ่งนำบุตรีพระยาราชาเศรษฐีผู้หนึ่งมาทูลเกล้า ฯ ถวาย สั่งถามว่าเป็นไฉนจึงเอาไว้เป็นเมีย จึงให้การว่าจีนมีชื่อมิได้รู้จักหน้าพาหนีไฟมา ชิงไว้ได้ จึงตรัสถามว่า จะนำจีนซึ่งพามาจะได้หรือมิได้ ให้การมิได้ จึงให้ลงพระราชอาชญาโบย ๑๐๐ แล้วให้ผูกคอพระยาพิพิธผู้นาย ให้นำตัวจีนซึ่งพามานั้นก็มิได้ จึงสั่งให้ลงพระราชอาชญาจำไว้ บันดานายทัพนายกองจีนทั้งปวงก็มิได้เนื้อความหามิได้

ครั้นรุ่งขึ้นวันอังคาร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนถามยกหนึ่ง ก็ยังมิได้เนื้อความ จึงสั่งให้พระยาจันทบูร เป็นตระลาการถามให้ได้เนื้อความ ถ้ามิได้จะตัดศีรษะเสีย พระยาจันทบูรไปสืบได้จีนซึ่งพาไปไว้นั้นมาทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นสัจแล้วให้ตัดศีรษะเสีย แลไทยบ่าวพระยาพิพิธนั้นทรงพระกรุณาให้ออกจากโทษ จึงตรัสประภาษว่า ถ้าจะมิเอาโทษบัดนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างไป จะทำสงครามสืบไปเบื้องหน้า ได้บ้านเมืองแล้ว ลูกเจ้านายก็จะเอาไว้เป็นอาณาประโยชน์แก่ตัวเอง

เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองห่าเตียนเสร็จ ยกทัพเสด็จตามตัวหมักเทียนตื๊อ

ครั้นรุ่งณวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑ ค่ำ เสด็จ ฯ ไปถึงบ้านนักอาริมน้ำ เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ประทับเรือพระที่นั่งหน้าบ้านเขมรผู้ใหญ่นายบ้านลงมาเฝ้า จึงตรัสถามถึงเล่าเหียว่ายกหนีมาทางนี้หรือประการใด กราบทูลพระกรุณาว่า  เล่าเหียยกทัพไปจากนี้ได้ ๔ วันเห็นว่าทัพหน้าจะตามทัน เพลาวานนี้ได้ยินเสียงปืนมาถึงนี่ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานธงพระราชโองการให้ แล้วเสด็จ ฯ ไปประทับแรมอยู่ณบ้านแหลมเวนหนึ่ง   

เล่าเหีย เห็นจะเป็นคำจีนแต้จิ๋วว่า เหล่าเฮีย คือ ผู้อาวุโสครับ

จนเมื่อเสร็จศึก เสด็จกลับกรุงธนบุรีแล้ว ยังทรงพระราชทาน "ญวนข้างใน" ให้ข้าราชการหลายท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าพระยาทั้งสิ้น

วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก พระราชทานญวนข้างในให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยามหามนเทียร ให้โขลนนำไปพระราชทานถึงเรือน

แม้เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระจดหมายเหตุรายวันทัพนี้ ยังได้ทรงหมายเหตุไว้ตรงความที่เรียกที่อยู่ของหมักเทียนตื๊อในเมืองห่าเตียนว่า "พระราชวัง" ไว้ดังนี้

หมายเอาจวนพระยาราชาเศรษฐี ดูเหมือนจะยกเมืองพุทไธมาศเป็นชั้นเมืองพระยาสามนตราช


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ค. 11, 14:57
วันก่อนเปิดจดหมายเหตุกรมหลวงนรินเทวี เจอชื่อ เจ้านำก๊กเล่าเอี๋ย ทำให้นึกขึ้นได้ว่าฟังดูคล้ายกับเล่าเหีย เล่าเหียอาจจะมาจากคำนี้ได้อยู่เหมือนกันครับ

เล่าเอี๋ย ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าคือ 老爷 จีนกลางว่า เหล่าเอี๋ย (หรืเอเหล่าเหย หรือเหล่าเหยีย แล้วแต่หูจะฟัง) แต้จิ๋วว่า เหล่าเอี๊ย ที่โดยทั่วไปหมายถึงเทพเจ้า คือเทพเจ้าอย่างที่อยู่ในศาลเจ้านะครับ และก็เป็นคำเดียวกับคำว่า เหลาเหย่ ที่น่าจะเรีกยได้ว่าเป็นคำไทยที่มาจากภาษาจีนอีกคำหนึ่งด้วย

อีกคำหนึ่งในจดหมายเหตุรายวันทัพคือ หูเอีย ซึ่งก็อาจเป็น 护爷 ได้

คงต้องขอความอนุเคราะห์ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนด้วยครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ค. 11, 15:09
เหตุการณ์หลังจากพระเจ้าตากตีได้เมืองพุทไธมาศแล้ว พงศาวดารฝั่งไทยบอกว่า พระเจ้าตากทรงนำทัพขึ้นไปพบกับทัพบกของเจ้าพระยาจักรีที่พนมเปญ สถาปนาพระรามราชาให้ปกครองเขมร ส่วนพระอุไทยราชานั้นหนีไปเมืองบาพนมแล้วหนีต่อไปอาศัยพวกญวน พระเจ้าตากทรงให้เคลื่อนทัพกลับมาที่พุทไธมาศ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงธนบุรี

หลังจากนั้นพระยาราชาเศรษฐีญวนยกทัพมาชิงเมืองพุทไธมาศคืนไปได้ พระยาราชาเศรษฐีจีนหนีไปรวบรวมกำลังที่กำปอดแล้วยกไปตีเมืองพุทไธมาศคืนมาได้ แต่ในที่สุดแล้วพระเจ้าตากทรงให้พระยาราชาเศรษฐีจีนทิ้งเมืองพุทไธมาศเสียด้วยเหตุว่ารักษาไว้ได้ยาก

เรื่องของเมืองพุทไธมาศมาปรากฏอีกครั้งในเหตุการณ์ที่พวกไตเซินยกมาตีเมืองพุทไธมาศ พระยาราชาเศรษฐีญวนซึ่งตอนนั้นครองเมืองอยู่ต้องหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี

ส่วนเรื่องเกี่ยวแก่กิจการฟากเขมรมาปรากฏอีกครั้งหลังจากนั้น คือในช่วงปลายรัชกาลเกิดความวุ่นวายในเขมร พระรามราชาถูกสำเร็จโทษ พระเจ้าตากจึงทรงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีระงับความวุ่นวายในเมืองเขมร ทั้งให้สถาปนาเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นครองเขมรด้วย

แต่พงศาวดารทางเขมรและญวนให้ข้อมูลที่แตกต่างไปครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 14:37
การศึกษาเรื่องหมักเทียนตื๊อกับห่าเตียนนั้น โดยมากอ้างอิงอยู่กับงานสองชิ้นคือ

1. ผลงานทางวิชาการเรื่อง Mac Thien Tu and Phraya Taksin ที่ Chen Chingho นักวิลาการชาวไต้หวันเสนอในการประชุมทางวิชาการ IAHA ครั้งที่ ๗ ที่กรุงเทพฯ 1977 (หนังสือ การเมืองไทยสมัยกรุงธนบุรี ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้อ้างถึงในเหรือเกี่ยวกับหมักเทียนตื๊ออยู่หลายส่วน แต่ถอดเสียงเป็น มักเทียนดู)

2. Ha Tien or Bantaey Meas in the Time of the Fall of Ayutthaya โดย Yumio Sakurai และ Takako Kitagawa เสนอใน IAHA ครั้งที่ ๑๔ ที่โตเกียว 1994 ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ From Japan to Arabia: Ayutthaya's Maritime Relations with Asia จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ครับ

ผมใช้ข้อมูลจากงานชิ้นหลังนี้เป็นหลักโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับทางจีนและเวียดนาม แต่บางส่วนอาจตีความต่างกันบ้างครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 16:06
เนื่องจากเอกสารฝั่งไทย มีจดหมายเหตุรายวันทัพในคราวไปตีเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมรซึ่งเป็นหลักฐานที่หนักแน่นกว่าหลักฐานอื่นๆ หลักฐานฝั่งญวนและเขมรซึ่งมีเรื่องราวมากกว่า โดยเฉพาะหลักฐานฝ่ายญวนนั้นระบุวันเวลาคลาดเคลื่อนไปจากฝ่ายไทยมาก เรื่องราวก็เรียงลำดับเวลาสับสน ดังนั้นผมจึงเรียงลำดับเรื่องราวใหม่ตามความเข้าใจส่วนตัวนะครับ ผิดถูกอย่างไรขอให้อย่าลืมว่า ท่านไม่ได้กำลังอ่านงานวิชาการอยู่นะครับ

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ จดหมายมองซิเออร์คอร์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่ ๒๖ เดือนมกราคม  ค.ศ. ๑๗๗๒ (พ.ศ. ๒๓๑๔) มีความว่า

เมื่อวันที่ ๓ เดือนพฤศจิกายน ปีกลายนี้ (๒๓๑๔) พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จยกทัพไปรบกับเจ้าเมืองคันเคา ทัพไทยและทัพญวนได้สู้รบกันสามวัน ทัพไทยก็ได้เข้าไปยึดเมืองค้นเคาได้ ไทยได้ฆ่าญวนเสียหมดสิ้น เว้นแต่พวกเข้ารีดมิได้ถูกฆ่า เพราะพวกนี้ได้เข้าไปแอบอยู่ในวัดเข้ารีด ไทยได้ฆ่าผู้คนทำลายบ้านเรือนทั่วไปหมด พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ทหารเข้าปล้นบ้านเมืองมีกำหนด ๓ วัน และพระเจ้ากรุงสยามจึงได้เก็บริบทรัพย์สมบัติในเมืองนั้นทั้งหมด สิ่งใดที่จะเอาไปไม่ได้ก็ได้รับสั่งที่จะเอาไฟเผาและทำลายเสีย แต่เผอิญผู้ที่จะเอาไฟไปเผาบ้านเรือนนั้นได้ตายในไฟนั้นเอง ไฟได้ไหม้บ้านเมืองแต่แถบเดียวเท่านั้นหาได้ไหม้ทั้งหมดไม่ ฝ่ายเจ้าเมืองกับบุตรนั้นหนีไปได้ คน ๑ หนีทางบก คน ๑ หนีทางน้ำ ภายหลังเจ้าเมืองคันเคาได้มีจดหมายมากราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานพระราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่บ้านเมืองอย่างเดิม พระเจ้ากรุงสยามก็โปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าเมืองคันเคาได้กลับเข้ามาอยู่ตามเดิม


เมืองคันเคานี้มาจากชื่อจีนของห่าเตียนคือ กั๋งโข่ว ดังที่ผมเคยได้บอกไว้แล้วว่าแปลว่าปากน้ำ แต่เรื่องราวที่กล่าวถึงนี้น่าสงสัย หากตีความว่าหมักเทียนตื๊อส่งทูตมาเจรจาขอเมืองคืนก็น่าจะเป็นตอนที่พระเจ้าตากทรงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีจีนคืนกลับมายังกรุง แต่ผมสงสัยว่าน่าจะหมายถึงตอนที่หมักเทียนตื๊อกลับมายึดเมืองห่าเตียนคืนได้ในครั้งแรกเสียมากกว่า เพราะช่วงเวลาค่อนข้างจะใกล้กันมากเกินไป และยังขัดกับเหตุการณ์อื่นๆดังจะเอ่ยถึงต่อไป

ทั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๑๔ นั้น กำลังเสริมจากญวนนั้นมาถึงเขมรและพุทไธมาศแล้ว

ข้อมูลทางญวนประกอบกับเขมรสรุปความได้ว่า ญวนส่งกำลังหนุนมาสามทาง ทัพหนึ่งมาตามลำแม่น้ำโขง ทัพหนึ่งมาทางทะเล อีกทัพหนึ่งเข้ามาทางปาสัก ทัพทางปาสักนั้นเหลวเพราะแม่ทัพเกิดป่วย ทัพที่มาทางทะเลว่าถูกไทยตีแตกไป ผมสงสัยว่าอาจเป็นทัพที่ยกมาตีเมืองห่าเตียนได้แต่ครองอยู่ได้ไม่กี่วันแล้วพระยาราชาเศรษฐีจีนรวบรวมกำลังจากกำปอดมาตีคืนไปได้ ในขณะที่ทัพที่มาตามลำน้ำโขงนั้นไปถึงออกญายมราชทอย(เขมร) มาตีทัพไทย ชิงพื้นที่แถบพนมเปญคืนกลับไปได้ ทำให้พระรามราชาต้องถอยลงมาตั้งที่กำปอด

เหตุการณ์เหล่านี้ทางญวนว่าเป็นเรื่องการตีทัพพระเจ้าตากจนต้องถอยลงมาที่ห่าเตียนและกลับไปยังกรุงธนบุรีในที่สุด แต่ผมอ่านจดหมายเหตุรายวันทัพฯแล้วไม่เห็นวี่แววของเหตุการณ์เหล่านี้เลย น่าจะเป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าตากกลับมาจากห่าเตียนแล้ว

เมื่อญวนช่วยเขมร (ก๊กพระอุไทยราชา) ยึดพนมเปญคืนได้แล้ว พระอุไทยราชาจึงได้กลับมาเป็นกษัตริย์เขมรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สถานการณ์ต่างจากเดิมสองประการ
1. ครัวเขมรถูกกวาดต้อนไปกรุงธนบุรีจำนวนมากราว 20,000 คน ยังมีที่เจ็บที่ตายในระหว่างสงครามอีก ทำให้ประชากรเขมรเบาบางลงไปมาก
2. พระรามราชายังตั้งเป็นกษัตริย์เขมรอีกพระองค์หนึ่งปกครองอยู่แถบกำปอด

กำลังที่ญวนส่งมานั้น ทางญวนอ้างว่ามีเป็นแสน แต่เห็นจะเป็นราคาคุยเสียมากกว่า เพราะถ้ามีมากขนาดนั้นอย่าว่าแต่จะตามมาถึงกรุงธนบุรีเลย อาจตีไปถึงอังวะด้วยซ้ำไป เชื่อว่ามีกำลังจำกัดมาก จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับพระรามราชาที่พงศาวดารเขมรว่ามีทหารไทยคุ้มกันอยู่เพียง 500 คนได้ สถานการณ์ในเขมรนั้นจึงยันกันอยู่ในสภาพที่มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์แบ่งกันครองเหนือใต้ ฝ่ายหนึ่งมีไทยเป็นพี่เลี้ยง อีกฝ่ายนั้นก็มีญวนแบ็คอัพอยู่

เพียงหนึ่งปีผ่านไป เรื่องราวก็กลับพลิกผัน พระอุไทยราชาหันมาอ่อนน้อมข้างไทยโดยส่งนักองค์แก้วมาเป็นองค์ประกันในปี พ.ศ.๒๓๑๕ และยังส่งมารดาและบุตรภรรยาตามมาในปีถัดไป และในที่สุดก็ทรงสละราชบัลลังก์ให้พระรามราชา ลดพระองค์ลงมาเป็นเพียงพระมหาอุปโยราชใน พ.ศ.๒๓๑๘ เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวพันกับสถานการณ์ในเวียดนาม เพราะพวกกบฏไตเซินเริ่มกล้าแข็ง สามารถตีเมืองสำคัญในกว๋างนามได้

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางญวนก็ให้หมักเทียนตื๊อเดินนโยบายทางการทูต อ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากเพื่อขอเมืองคืน

ในเดือนก.พ./มี.ค. 1773 (ยังเป็น พ.ศ.๒๓๑๕) พระเจ้ากว๋างนามทรงมีบัญชาให้หมักเทียนตื๊อส่งทูตไปยังสยามเพื่อเจรจาสงบศึกระหว่างสองประเทศ แต่จุดประสงค์หลักคือการเข้าไปสืบสถานการณ์ในสยาม หมักเทียนตื๊อส่ง Mac Tu ไปสยามพร้อมทั้งเครื่องบรรณาการและศุภอักษร พระเจ้าตากทรงต้อนรับคณะทูตเป็นอย่างดี และยังทรงส่งตัวภรรยาคนที่สี่และบุตรีวัยสีปีของหมักเทียนตื๊อคืนให้ด้วย พร้อมทั้งทรงพระราชทานเมืองห่าเตียนคืนให้ตระกูลหมัก และเรียกตัวพระยาราชาเศรษฐีกลับคืนมายังกรุงธนบุรี

หากประกอบกับเรื่องราวในเขมรแล้ว เป็นไปได้ว่าปัญหาจากกบฏไตเซินทำให้ญวนพยายามจะลดภาระทางเมืองเขมรและห่าเตียนลง โดยการเจรจาสงบศึก ซึ่งจบลงโดยการแบ่งเขมรเป็นสองส่วน แล้วขอเมืองห่าเตียนคืน เพื่อควบคุมเส้นทางที่ทางไทยสามารถใช้ส่งทัพเรือไปยังพนมเปญได้เร็วที่สุด

ข้อมูลจากทางญวนระบุว่าหมักเทียนตื๊อไม่ได้กลับมาครองเมืองห่าเตียน แต่ส่งบุตรชายมาครอง ในขณะที่ตัวเองตั้งอยู่ที่ Can Tho ช่วยพวกเหงวียนทำศึกกับพวกไตเซิน


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 16:27
การที่พระอุไทยราชาเวนพระราชสมบัติให้พระรามรามชานั้น พงศาวดารเขมรอ้างว่าทรงเห็นว่าบ้านเมืองไม่สงบเพราะพระรามราชาต้องการราชสมบัติ จึงทรงเวนให้ แต่ถ้าเรื่องนี้จริง คงไม่ต้องทรงทำศึกสายเลือดมาหลายยกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าการที่ญวนอ่อนกำลัง ทำให้ไทยเดินเกมบีบให้พระอุไทยราชาจำยอม "ถอย" อีกก้าวหนึ่ง

สิ่งที่สนับสนุนสมมติฐานนี้คือเมื่อพระรามราชาขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีก็ตั้งแข็งเมืองแก่ญวนทันที โดยทรงปฏิเสธที่จะส่งไพร่พลและเสบียงไปช่วยญวนรบกับพวกไตเซิน พี่ใหญ่ญวนจึงต้องส่งทัพมากำหราบ แต่ญวนในวันที่ศึกไตเซินรุมเร้านั้นไม่มีกำลังพอที่จะเอาชนะเขมรได้ ต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด

ถึงปี พ.ศ.๒๓๒๐ พงศาวดารเขมรว่าขุนนางยุให้พระมหาอุปราชเขมร (ซึ่งว่าเป็นพระอนุชาของพระอุไทยราชา) ลอบฆ่าสมเด็จพระรามราชา แต่ไม่ได้ลงมือพระรามราชาทรงจัดให้เสียก่อน ในขณะที่พระมหาอุปโยราชพระอุไทยราชาก็เหมือนนัดกันมาป่วยตายในปีเดียวกัน


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 17:10
ในเวลาเดียวกันนั้นหมักเทียนตื๊อตั้งอยู่ที่ Can Tho พยายามช่วยก๊กเหงวียนรบกับพวกไตเซิน แต่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๓๒๐ หมักเทียนตื๊อพยายามจะช่วยเจ้ากว๋างนามหนีไปเมืองกวางตุ้ง โดยส่งเจ้ากว๋างนามไป Long Xuyen (แถบเมืองเขมา) ในขณะที่หมักเทียนตื๊อไปรอเรือที่จะมารับอยู่ที่ Kien Giang (Rach Gia) แต่ถึงเดือนตุลาคม พวกไตเซินเข้าตีเมือง Long Xuyen เจ้ากว๋างนามถูกพวกไตเซินจับไปยาดิ่ง และถูกสำเร็จโทษที่นั่น

หลังจาก Long Xuyen แตก พวกไตเซินส่งทูตมาเจรจาให้หมักเทียนตื๊อยอมแพ้ หมักเทียนตื๊อปฏิเสธและหนีไปยังเกาะฟู้ก๊วก หมักเทียนตื๊อได้ข่าวเมือง Long Xuyen แตกจากที่นี่ ดูเหมือนว่าอนาคตของก๊กเหงวียนกว๋างนามนั้นมืดมน ในขณะที่การรุกไล่ของพวกไตเซินนั้นใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ หมักเทียนตื๊อจึงตัดสินใจเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในราวเดือน ธ.ค. หรือ ม.ค. พ.ศ.๒๓๒๐



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 17:59
ตัดกลับไปที่เขมร

พ.ศ.๒๓๒๑ พระเจ้าตากทรงให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีลาว ทรงให้สมเด็จพระรามราชาเกณฑ์คนเกณฑ์เสบียงจากกำพงธมและกำปงสวายไปสนับสนุน ชาวเขมรที่ถูกเกณฑ์ไปหนีทัพ ถูกตามจับ จนเกิดความวุ่นวาย ด้วยสาเหตุใดพงศาวดารเขมรฉบับประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ไม่ได้บอกไว้ แต่จบลงด้วยการที่พระยามนตรีเสนหาโสถูกประหาร พระยาแสนข้างฟ้าเปียงถูกเฆี่ยนแล้วถอดยศ พระยาเดโชแทนรอดคดีไปได้

หลังเกตุการณ์นี้ พระยาเดโชแทน และพระยาแสนข้างฟ้าเปียงกวาดครัวหนี สมเด็จพระรามราชาจึงให้ฟ้าทะละหะมูยกจากเมืองปาสักไปสกัดพระยาเดโชแทนและพระยาแสนข้างฟ้าเปียงที่กำพงสวาย แต่เจ้าฟ้าทะละหะมูกลับไปเข้าข้างพระยาเดโชแทนและพระยาแสนข้างฟ้าเปียง สมเด็จพระรามราชาจึงยกทัพตีไปถึงกำพงธม พระยาวิบุลซูที่บันทายเพชรจึงให้พระยาเทพอรชุนหลงไปขอความช่วยเหลือจากญวน ขอกำลังญวนกับทัพพระยาอธิกวงศาสวดเจ้าเมืองปาสักยกขึ้นมาพนมเปญ แล้วพระยาวิบุลซูก็ไปบันทายเพชรเชิญราชบุตรพระมหาอุปโยราชพระอุไทยราชาชื่อนักองค์เองชันษา ๗ ปี และฆ่าพระราชบุตรสมเด็จพระรามราชา ๔ พระองค์

พระรามราชาอยู่กำพงธม ทราบว่ามีทัพญวนมาจึงถอยกลับมาถึงกำพงชะนังเจอทัพญวนที่แพรกบาพัง(แพรกฝรั่ง) สู้แพ้ต้องหนีขึ้นบกไปอยู่พนมจำแรง

ถึงเดือนสิบ ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ สมเด็จพระรามราชาถูกญวนจับได้ และสำเร็จโทษที่บึงขยอง

ฟ้าทะละหะมูตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ให้พระยาศรีอธิกอันษาปกพ่อเลี้ยงนักองค์เองเป็นพระยาวัง พระยาวิบุลซูเป็นกลาโหม พระยาแสนข้างฟ้าเปียงเป็นพระยาจักรี ยกนักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร

พระเจ้าตากทรงให้นักองค์แก้วไปตามตัวพระยายมราชแบนซึ่งเป็นขุนนางเก่าของพระรามราชาที่ยังรอดอยู่เข้ามายังกรุงธนบุรี เจ้าฟ้าทะละหะมูกับพระยากลาโหมซูทราบเรื่องก็ส่งพระยายมราชแบนเข้ามา พระเจ้าตากทรงกริ้วพระยายมราชแบน ทรงให้จำคุกไว้

รุ่งปีถัดมา พ.ศ.๒๓๒๓ เจ้าฟ้าทะละหะมูกับพระยากลาโหมซู ถวายนักองค์เมนและนักองค์อี นัยว่าเพื่อแสดงความอ่อนน้อม



กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 18:25
ฝ่ายญวนว่า

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๒๓ เหงวียนฟุกอ๊างที่จะเป็นพระเจ้ายาลองในอนาคตส่งทูตมาที่กรุงธนบุรี ในเวลาเดียวกันนั้น เรือสยามถูกปล้นโดยพวกญวนในน่านน้ำห่าเตียน พระเจ้าตากทรงกริ้วมาก ให้เอาทูตจำไว้ในคุก ในเวลาเดียวกัน นักองค์แก้วกลับจากเขมรพร้อมกับจดหมายลับจากเหงวียนฟุกอ๊างที่จะส่งไปยังเจ้า Tong That Xuan (เข้าใจว่าไทยคือองเชียงชุนในเอกสารไทย) เกี่ยวกับเรื่องแผนการทรยศพระเจ้าตากและยึดกรุงธนบุรี

๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๒๓ พระเจ้าตากทรงให้จับตัวหมักเทียนตื๊อและครอบครัว หมักเทียนตื๊อฆ่าตัวตาย
๒๐ พฤศจิกายน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ถูกประหาร ๓๕ คน รวมทั้งองเชียงชุน บุตรชาย และหลานชายของหมักเทียนตื๊ออีกหลายคน ทั้งนี้ทางญวนว่า ขุนนางกลาโหม (ไม่ทราบว่าใคร) สงสารบุตรชายและหลานชายของหมักเทียนตื๊อที่ยังเป็นเด็กอยู่ จึงส่งตัวออกไปนอกพระราชอาณาจักร

หลังเหตุการณ์นี้พระเจ้าตากจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกไปตีเขมรจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของไทยเอง

ปฐมเหตุนั้น แน่นอนว่ามีมาตั้งแต่เรื่องฟ้าทะละหะมูสำเร็จโทษสมเด็จพระรามราชาซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรที่ไทยหนุนหลังอยู่ โดยในการครั้งนั้น ฟ้าทะละหะมูได้กำลังสนับสนุนจากญวน (โดยโด๊ถ่างเญิน แม่ทัพคนเก่งของเหงวียนฟุกอ๊าง) เมื่อประกอบกับปัญหาซ้ำซ้อนอีกสองสามเรื่อง พวกเหงวียนตอนนั้นก็อยู่ในสภาพร่อแร่ ถอยมาตั้งอยู่แถบห่าเตียนซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นที่มั่นสุดท้ายในขณะนั้น เรือสยามที่โดนปล้นอาจเป็นเรื่องคุมกันไม่ติด พลาดพลั้งไปทำเข้า ทำให้ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ในขณะที่ บางกระแสว่าจดหมายลับที่นักองค์แก้วจับได้นั้นเป็นจดหมายปลอมจากพวกไตเซิน  ผลสุดท้าย เสือเฒ่าหมักเทียนตื๊อที่อยู่ในกรุงธนบุรีจึงต้องพบจุดจบอย่างน่าสังเวชเช่นนี้เองครับ


กระทู้: พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 22:34
หลังจาก ร.๑ ขึ้นครองราชย์ พระองค์ให้นำลูกหลานตระกูลหมักกลับมาที่กรุงเทพฯ หลักฐานญวนบางแหล่งบอกว่าพวกนี้กลายเป็นผู้ติดตามของเหงวียนฟุกอ๊าง (องเชียงสือ) ระหว่างที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ร.๑ ในกรุงเทพฯ

เมื่อเหงวียนฟุกอ๊างกลับไปที่เวียดนาม ลูกหลานหมักเทียนตื๊อได้กลับไปครองห่าเตียนดังเดิม ให้ห่าเตียนเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า ขึ้นแก่ญวนและสยามพร้อมๆกัน ดังข้อมูลจากเว็บ baidu.com ดังนี้

- Mac Tu Sinh (หมักตื๋อซิง 鄚子泩) บุตรคนที่ ๔ (จากทั้งหมด ๖ คน) ของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1784-1788
- Mac Cong Binh (鄚公柄) เป็นบุตรของ Mac Tu Hoang บุตรชายคนโตของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1789-1792
- Mac Tu Diem (鄚子添) บุตรชายคนที่ ๖ ของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1800-1809
ในปี 1809 ห่าเตียนหมดสภาพรัฐอิสระ ราชวงศ์เหงวียนส่งขุนนางมาปกครองเป็นเจ้าเมืองห่าเตียนโดยตรง
- พระเจ้ายาลองให้ Mac Cong Du (鄚公榆) บุตรของ Mac Tu Hoang ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1816-1829 แต่มีขุนนางจากส่วนกลางกำกับด้วย (น่าจะคล้ายกับล้านนาช่วง ร.๕ ปรับปรุงการปกครอง) ไม่ได้เป็นรัฐอิสระอยู่ดี
- Mac Cong Tai (鄚公材) บุตรของ Mac Tu Hoang ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1830-1833

wiki บอกว่า Mac Tu Sinh ถูกเลี้ยงดูมาในสยาม และมีภรรยาเป็นชาวสยาม

Sakurai และ Kitagawa ให้ข้อมูลแตกต่างจาก baidu บางส่วนคือ
- Mac Tu Sinh ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียน
- Mac Cong Binh ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมือง Long Xuyen (น่าจะใหญ่กว่าห่าเตียน?)
- Mac Tu Diem ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียน เขาไปสยามเมื่อปี 1808 (เพื่ออะไร?)
- Mac Cong Du เป็นบุตร Mac Tu Hoang ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียนแทนบิดาในปี 1808 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้าเมืองห่าเตียนในปี 1816
- Mac Cong Tai เป็นน้องชายของ Mac Cong Du ได้เป็น เจ้าภาษีห่าเตียนในปี 1830
ทั้งนี้เมื่อเลแวนโคยก่อการกบฎต่อพระเจ้ามินมาง Cong Du และ Cong Tai สนับสนุนเลแวนโคย และในที่สุดเมื่อพระเจ้ามินมางปราบกบฎได้ ทั้งสองคนก็ถูกจับขังคุกไว้และตายในคุกทั้งคู่ บุตรของ Cong Tai คนหนึ่งหนีไปสยาม อีกคนหนึ่งหายสาปสูญไปในเทือกเขาแถบเหงะอาน

ปี 1808-1809 นี้น่าสนใจ ตรงกับเหตุการณ์ที่ ร.๑ เสด็จสวรรคต และพระเจ้ายาลองส่งทูตมาถวายบังคมพระบรมศพ และมีพระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งมาจากพระเจ้ายาลอง กล่าวโทษเจ้าเมืองบันทายมาศว่าเป็นคนไม่ดีหลายประการ พระเจ้ายาลองจึงตั้งคนใหม่แทน พร้อมทั้งขอเมืองบันทายมาศคืนจากสยาม เป็นไปได้ว่า Tu Diem คนนี้อาจจะเป็นฝ่ายนิยมสยามก็เป็นได้ครับ

ขอจบเรื่องราวของหมักเทียนตื๊อและห่าเตียนแต่เพียงเท่านี้

โดยระหว่างการอ่านเรื่องของหมักเทียนตื๊อและห่าเตียน มีเรื่องชวนคิดอยู่ 2 ประการคือ
1. เรื่องของเจ้าขรัวเหลียน
2. เรื่องพระนามจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรี และ "ความเป็นจีน" ของพระองค์

อาจได้เปิดเป็นกระทู้สั้นๆเร็วๆนี้ครับ