เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 07:03



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 07:03

     มาเดินตามตรอก ตามถนนใน พ.ศ. ๒๔๒๖  กันไหมคะ

จะได้ทราบว่าใครอยู่แถวไหน  ลูกใคร  ทำมาหากินอะไร

เลือกมาตามที่พอจะรู้จักมูลนาย  หรือที่เราว่ารู้จักหน้าค่าชื่อ  พงศ์เผ่าเหล่ากอเป็นไฉน ประมาณนั้นนะคะ


อ่านมาจาก  สารบัญชีส่วนที่ ๒  คือราษฎรในจังหวัด ถนน และตรอก  ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ

เวลานั้นเป็นปีที่ ๑๔ ของรัชกาลที่ ๕

ถ้าเรตติ้งดี   เรื่องนี้ยืดได้นานแสนนานเชียวค่ะ

การทำสารบัญชีนี้  ละเอียดรอบคอบมากอยู่เพราะถ้าเป็นสตรี  ก็จะมีสถานภาพสมรสต่อท้ายให้ด้วยว่า ม่าย

สำหรับการเล่าก็จะเดินไปตามถนนก่อน  เรียกว่าหาตัวบุคคลที่น่าสนใจ  อาชีพ  ถนนไหนมีคนอาชีพอะไรบ้าง  ลักษณะบ้านเรือนเป็นอย่างไร

เรือนเครื่องผูก  เครื่องสับ  ฝาขัดแตะ  ตึก  ใครเป็นเจ้าของร้านโรงเหล่านี้

เป็นเรื่องของราษฎรแท้ ๆ



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 07:52

ถนนข้างพระราชวังบวรข้างโบสวัดมหาทาตุ   กรุงเทพฯ       รักษาตัวสะกดเดิมนะคะ

คนแถวนี้ก็ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับพระราชวังบวรเป็นส่วนใหญ่




เลขที่ ๑    นายวัน  หมื่นราวีปริปักษ์  ทหาร
             ขึ้นพระยาจำนงค์สรไกร   
             ศาลาตึกโรงงาน


เลขที่ นั้นคือเลขที่ไปรษณีย์


เลขที่ ๒    นายมาก  บุตรนายเกษ
             อยู่ตึก         อยู่ตึก       ห้องม้าคอยเพลิงซ้าย

เลขที่ ๔   นายทับ  บุตรนายทอง  ขึ้นพระยาเขื่อนขันธ์    อยู่ตึก
            ห้องม้าคอยเพลิงขวา

เลขที่ ๕   อำแดงเจียม  บุตรนายมาก    ขึ้นเจ้าคุณชนนี   ทำราชการ
            เรือนฝาขัดแตะ

เลขที่ ๑๓ ลุดเตน์แนนด์   ใย     ขึ้นพระยานรรัตน์
           เรือนฝากระแชงอ่อน
           (เจ้าคุณท่านต่อมาว่าการตำรวจนำ้   ออกตรวจผู้ร้ายตามท้องน้ำ  เก็บเรือที่ลอยมา
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดท่านมาก     บางทีทรงสั่งให้ท่านทาสีตึก  จะออกสีประหลาดๆที่เจ้านายฝ่ายในบ่น
            พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า  สีมันนอ ๆ (นรรัตน์) อย่างนั้นแหละ)

            ข้อความในวงเล็บ  ดิฉันเขียนขึ้นเองนะคะ  ใครลอกต่อไม่รับผิดชอบค่ะ  เพราะเก็บความมาจากหนังสือหลายเล่ม





ถนนข้างวัดอะนงคาราม

ข้าราชการผู้น้อบแทบทั้งถนน  ขึ้นกับเจ้าคุณทหาร  เจ้าคุณกรมท่า พระยานานา   

พระยามนตรี   หลวงสุริน  เทพพลู 

สมเด็จเจ้าพระยา   เจ้าคุณภู   พระยาประภา   เจ้าคุณราด   

เจ้าคุณพิไชยอินตรำ   กรมหลวงจักร   

หลวงลักษมนา    เจ้าคุณอำมาตย์


สถานที่อยู่มี เรือนแตะ   บ้านตึก(มีหลายหลัง)   เรือนฝาจาก(มีสามสี่หลัง)  เรือนฝากระดาน


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 08:39

ถนนขวางวัดบวรนิเวศ

มีช่างทำทอง  ๔  คน

ช่างเหล็ก   ๑  คน




ถนนคลองผดุงกรุงเกษม

มี บาญชี  ๑๒๔   รายการ

มีโรงแถวให้เช่าของพระยารัตนโกษา  ๘  โรง

มีเรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับเป็นส่วนใหญ่

อำแดงนัด  บุตรนายสุด    ขึ้นทูลกระหม่อมแก้ว
เรือนเครื่องผูก

นายซา  บุตรนายกิน   ขึ้นพระยาปริยัติธรรมธาดา 
ขายของต่าง ๆ
เรือนเครื่องผูก

(คุ้นนาม ทูลกระหม่อมแก้ว  และพระยาปริยัติธรรมธาดา  เลยนำมาฝากด้วยความชำนาญ)



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 09:16

ถนนคลองผดุงกรุงเกษมต่อวัดแก้วฟ้า

มีเรือน   ๒๖๗  หลัง        มีชาวจีนอาศัยและทำการค้า


อำแดงคง   โสด   ขายแป้งน้ำมัน

อาชีพขายข้าวสารมากหน้าหลายตาหลายสิบราย

อำแดงปุก   ม่าย  ขายแจว   ขายเปล
เรือนแพ  ฝากระดาน

คุณแม่อ่วม  ม่าย  ขายไม้ไผ่
เรือนแพ   ไม้กระดาน

อาชีพทำหนังฟอกขาย  มี ๑ ราย

จีนฉาย  แซ่ตัน  ขึ้นในพระองค์เจ้าสาย       เป็นอินทะเนีย


นายบิน  ฝรั่งมหาดเล็กวังหน้า   บ้านตึก


อาชีพเขียนหวย  มี ๑ ราย

ขายข้าวเปลือก  มี ๑ ราย

ทำเข่งปลาทูขาย  ๑ ราย

หมอฮี้อยู่บ้านเลขที่  ๑๙   จะเป็นหมอเทียนฮี้หรือไม่หนอ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 15:43
ถนนคลองสาน

จีนหงวน  บุตรจีนต๋งตั้งโรงบ่อน

มีขายสุรา ๒ หลัง

นอกนั้นรับราชการ


ถนนเจริญกรุงชั้นในพระนคร

ทำราชการทหารหลายราย  อยู่กรมรักษาพระองค์ทองปราย  หลายรายขึ้นพระยานรรัตน์

มิศเตอร์ เบนจี้  ฝรั่งเยอรมัน  ขึ้นอเมริกัน
เป็นเสมียนบอกคำโทรเลขอยู่ตึกแถว

จ่าโผนวิ่งชิงไชย  ขึ้นกรมตำรวจนอกซ้าย  เช่าตึกหลวง

มีโรงสุรา ๔ - ๕​

เย็บจากขาย  ๑ ราย

เย็บเสื้อหลายราย

หม่อมเจ้าหญองละม่อม  ในกรมขุนสถิตสถาพร  รับจ้างเย็บของต่าง ๆ

รับจ้างซักเสื้อ  ๑  ราย

ตั้งโรงรถให้เช่า  ๑  ราย


นักอ่านหนังสือเก่ากวาดดวงตาที่แจ่มใสไปเจอ

นายลำภู  ขุนสวัสดี    ขึ้นนายอ่ำมหามนตรี
นอกราชการ  หมอความ   เช่าตึกหลวง
(จำคดีพระนางเรือล่มได้ไหมคะ)



ถนนเจริญกรุงชั้นใน

มีจับกัง  ๑  ราย

อำแดงจันหมาย   ตั้งร้านเขียนหวย

จีนแดงบุตรจีนกลาง   ทำแขวงหวย

นาย กคร   สารวัตมหาดเล็กพระราชวังบวร   ช่างตัดผม
เช่าตึกหลวง

ขายหนังสือพิมพ์  รายหนึ่ง

นายเกษบุตรนายเทษ  ขึ้นพระยามณเฑียร  ช่างเครื่องละคร

มีช่างเย็บเกือก  ๔ ราย   ช่างเย็บผ้าขายผ้า  หลายราย


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 16:02
ถนนเจริญกรุงชั้นนอก

มิศ  ระบินโรเต   นายโปลิศ ขึ้นพระยาอินทรา
(สมัยโน้น  มิศเตอร์ ระบิน  โรเต  ชาติอะไรเอ่ย.....)

ม.ร.ว. มะลิในหม่อมเจ้านราเทเวศ วังหลัง

มีโรงฝิ่น  สามโรงค่ะ

จีนฮวยซิม  แซ่ล้อ  ไส้หู้ แคะหู    เช่าโรงเจ้านิลฝาขัดแตะ
(เรื่องไส้หู้นี้  คุณคึกฤทธิ์ เขียนไว้ละเอียดไว้ซูสีไทเฮา  ว่าหญิงมาจากตะกูลนี้ยกขึ้นไม่ได้)
ในบาญชีนี้  ต่อมาเห็นลงอาชีพไส้หู้ไว้หลายครั้ง   ดูจะทำงานอย่างอื่นไปแล้ว)


บ้านเลขที่  ๒๔๑  นายกลิ่น  บุตรขุนสีสุรินในกรมมหาดไทย        นายโรงคนชั่ว
เรือนฝากระดานมุงกระเบื้อง

กฎหมายเก่าเรียกว่า  หญิงรับจ้างเพื่อการชำเรา

หม่อมเจ้าปรีดามีโรงเรือนหลายหลังให้เช่า


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 22 ก.ย. 10, 16:10
กราบเรียนคุณวันดีด้วยความเคารพ ขอถนนสระปทุมสักหน่อยเถิดครับ แก๊งค์ลูกน้ำเดินหาบ้านนายชวดตรังมาเป็นเดือนแล้วครับ ยังหาไม่เจอ บ้านนายปิแอร์ โอร์ต ที่ปรึกษากฎหมายในรัชการที่5 คนสนิทของพระยาอภัยราชา (โรลังค์ ยัสแมงค์)ก็ได้ครับ ได้ข้อมูลของคุณวันดีเริ่มเห็นแสงสว่างรำไรๆแล้วครับ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 10, 16:25
คุณณัฐดลยังเกาะติดไม่ปล่อย   ดิฉันก็อยากได้เช่นกันค่ะ

อ้างถึง
บ้านเลขที่  ๒๔๑  นายกลิ่น  บุตรขุนสีสุรินในกรมมหาดไทย        นายโรงคนชั่ว
เรือนฝากระดานมุงกระเบื้อง
กิจการของปาป้าซัง กลิ่น  คงจะไปได้ดี   แกมีเรือนฝากระดานมุงกระเบื้อง  มีหน้ามีตากว่าขุนนางบางคนเสียอีก


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 16:37
อุ๊ยตาย!    ไม่ชอบยุงเลย  ยุงลาย  และลูกยุง  เลยค่ะ
หลังจาก ถนนเจริญกรุงชั้นนอกจะเรียกรถม้าไปดูให้นะคะ
สงสัยมีแต่ป่ากระมังตอนนั้น
กำลังฝอยเรื่อง ปี ๑๒๔๕  หรือ พ.ศ. ๒๔๒๖ นะคะ


กำลังนับบ้าน  พระมหาเทพ  มีให้เช่าตั้ง ๑๒ หลัง  ปลูกเป็นโรงแตะทั้งสิ้น



อาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกเริมมาแถวนี้แล้วค่ะ  หวิด ๆ  ๑๐ หลัง

เจ้าของโรงเลี้ยงหญิงคนชั่ว มี  นายเสน  หมื่นอารีบริรักษ์

จีนง่วนสุน  แซ่ลิ้ม

จีนซัม  แซ่เฮง

นายเซง   บุตรจีนสุก

จีนแป้น  แซ่อึ้ง

นายอ่วม  ขึ้นสมเด็จเจ้าพระยา

จีนลิ้ม  แซ่เล้า

ขุนกำจัดไภยรินรุ่น

นายทองเสมียนพระไกรศรี  เช่าโรงฝาน่าถังของเจ้านายอยู่   บ้านเลขที่  ๓๐๙

เลขที่  ๓๐๒   จีนแฮนเฉง  ขายก๊วยเตี๋ยว       ทั้งถนนมีรายเดียวนะคะ

เลขที่ ๓๔๒  จีนเฮง  แซ่ชัว  ขายเครื่องเกาเหลา   เช่าโรงแตะพระยาอินทรา


สมัยหลังสงครามโลก (สงวนสิทธิที่จะไม่ยอมบอกว่าครั้งไหน)  ตามผู้ปกครองไปซื้อเครื่องเกาเหลา
ที่บางลำภู  มีลูกชิ้นสด  ลูกชิ้นทอด  เต้าหู้สด  เต้าหู้ยัดไส้ด้วยหมูสับเหนียวๆปรุงด้วยไข่ขาว และ  ขยำด้วยมือ  
ยังจำได้ว่าอร่อยเหลือล้ำ    เรื่องนี้จะว่าเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเล่า  ก็เกี่ยวได้  อิอิ



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 17:16

เรียนคุณ Natadol


       เนื่องด้วย เล่มสองไม่มีชื่อขุนนางฝรั่ง    จึงกลับไปหาเล่ม ๑

โชคดีเป็นอันมากที่เล่ม ๑ ยังอยู่  เพราะ นักแปลหนุ่มน้อยแต่ตัวโตเชยชมการเข้าหน้าอยู่เมื่อคืนเอง(ราคาประมาณ ๔๐ บาท)

แต่ในเล่ม ๑ นั้น  ท่านผุ้พิมพ์ คือ คุณ อ้วนแห่ง ต้นฉบับ  พิมพ์ไว้ตามต้นฉบับที่ได้มา     ไม่มีข้อมูลที่ทางชมรมลูกน้ำต้องการ

จึงขอแสดงความเสียใจเล็กน้อยพอเป็นพิธี

หวิดเผลอบอกไปว่า คุณอ้วนอาจจะไม่ลืมถ่ายเอกสาร เล่ม ๓ ให้ดิฉันก็เป็นได้

ถ้าคุณอ้วนลืม  ก็หมายความว่า  หมูจะไม่พรากจากสถานเป็นแน่   คุณอ้วนนั้นท่านเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าท่านจำได้ท่านก็คงไม่ลืม

และท่านก็คงไม่อยากได้อะไรตอบแทนจากสาวน้อยผู้อ่อนแอ คือดิฉันเป็นแน่

เมื่อดิฉันได้สารบาญชีเล่ม ๓ แล้ว(คงเป็นคนที่ ๑๐๗)  ดิฉันก็จะบุกโจมตีคุณหลวงเล็กทันทีที่มีโอกาส


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ก.ย. 10, 17:25

เมื่อดิฉันได้สารบาญชีเล่ม ๓ แล้ว(คงเป็นคนที่ ๑๐๗)  ดิฉันก็จะบุกโจมตีคุณหลวงเล็กทันทีที่มีโอกาส


นี่มาแบบจอมยุทธกำลังภายใน   
โอเค  จะได้หลบทัน    8)


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ย. 10, 19:10
เป็นการสำรวจพื้นที่เลขที่บ้าน เพื่อเตรียมสำหรับกิจการงานไปรณีย์ ของสมเด็จวังบูรพา ใช่หรือไม่


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ย. 10, 19:51

     ถูกกก..ต้..ม   เอ๊ย! ถูกต้อง  ค่ะ


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3174.0


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 22 ก.ย. 10, 20:19
เจ้าพนักงานโทรเลข
เจ้ากรม พระโทรเลขธุรการี (พุ่ม) 
ปลัดกรม หลวงชะวะกิจบัญชา (ว่าง) มิศเตอร์ไอกอฟ ว่าการแทน
สมุห์บาญชี ขุนวาทีเลขา (ว่าง) มิศเตอร์ ฮันเตอร์ว่าการแทน
สารวัด ขุนนิกรประกาศ (ว่าง) มิศเตอร์ เบอร์ไคล์ วิลลิก ว่าการแทน
นายช่างกลใหญ่ ขุนวิจิตรกลการ (ว่าง) มิศเตอร์ ฟริศจี ว่าการแทน
นายช่างสร้างสายใหญ่ ขุนชำนาญชะวะสูตร (เลี้ยง)
ผู้ช่วยเจ้ากรม นายเนียมมหาดเล็ก
อาจารย์นักเรียน มองซิเออ ยุรดอง ตำแหน่งนี้ผมเดาว่าเป็นครู (Trainer) ซึ่งสอนวิชาเกี่ยวกับการโทรคมนาคมให้เจ้าหน้าที่ในกรมไปรสนีย์ฯ ดูจากชื่อแล้วเป็นชาวฝรั่งเศสแน่นอน
ผู้ช่วยนายช่างกลใหญ่ นายทองดี
รองนายช่างสร้างสาย นายบุญ นายขำ นายเชิด จีนบุญ นายอู่ นายโท้
ผู้ใช้เครื่องใหญ่ ออฟฟิศที่ ๑ นายรอง
ผู้ใช้เครื่องใหญ่ ออฟฟิศที่ ๒ มิศเตอร์ ไอกอฟ
                                      เครื่องใหญ่นั้น ผมเดาว่าต้องเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากๆ โดยเฉพาะผู้ใช้เครื่องใหญ่ ออฟฟิศแห่งที่ ๒ นั้น ฟังชื่อแล้วเดาว่าเป็นชาวเยอรมันแน่นอน มาถึงตรงนี้เราก็ได้ยินชื่อข้าราชการกรมไปรสนีย์แลโทรเลขที่มีทั้งชาว อังกฤษ ชาวฝรั่งเศส และชาวเยอรมัน
 
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง (เป็นผู้ใช้เครื่องโทรเลขในแต่ละหัวเมืองเป็นแน่แท้)
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง นครเชียงใหม่ นายเกต
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ตากบูรี จีนฮุดเบ๋ง
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง นครสวรรค์ มิศเตอร์ ปิกินแปก
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ลพบูรี จีนกิมหงวน
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง กรุงเก่า นายแซม (กรุงเก่านี่ผมไม่ทราบว่าใช่อยุธยาหรือไม่)
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง พระตบอง มิศเตอร์ วอกเกอร์
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ศรีโสภณ จีนบุญไซร
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง กระบินทรบูรี นายจัน
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง สมุทปราการ มิศเตอร์แฟรงฟอต
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องที่เรือน ตะเกียงปากน้ำ มิศเตอร์เบราน์
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ฉเชิงเทรา นายคล้าย
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องที่พระปฐมเจดีย์ นายแช่ม
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง กาญจนบูรี จีนกิมเฮง
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ราชบูรี นายชวด
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง กำเนิดนพคุณ มิศเตอร์แซกสตอฟ
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง (ว่าง)
นายโรงโทรเลข ประจำใช้เครื่องหัวเมือง ประจำเมือง จันทรบูรี นายชม
 


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 22 ก.ย. 10, 20:23
หานายเบนจี้ไม่พบครับว่าอยู่แผนกไหน รู้แค่ว่าถนนเจริญกรุงน่าจะอยู่ประมาณคลองโอ่งอ่างแถวๆไปรษณียาคารที่ถูกทุบทิ้งไปครับ ???


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.ย. 10, 10:09
ถนนเจริญกรุงชั้นนอกพระนคร

เดินชมธรรมชาติมาอย่างรวดเร็ว

แถวนี้มีจีนเลี้ยงเป็ดหลายราย  มีการทำเตาอั้งโล่  มีรายหนึ่งขายกวยจั๊บ(น่าจะน้ำข้นเพราะน้ำใสซื้อกินคงไม่อิ่ม)

หาบของเร่ขาย  หาบน้ำปลาขาย   ขายใบชา  เลี้ยงหมูมีน้อยราย เพราะกลิ่นคงไม่น่าพิสมัย

หลายคนเช่าโรงแตะอยู่ไม่ปรากฏอาชีพ

เลขที่ ๕๑๘  จีนอากร  กิมเสง  แซ่อื้อ  เป็นเจ้าภาษีไข่เป็ด   เช่าโรงแตะนายพุ่ม

นายหลุย  ฝรั่งพุทเกษ  มี โรงแตะตั้ง ๕ โรงให้เช่า  แต่ว่างเสียตั้ง ๓ โรง
จีนหวง  แซ่เจียว  ทำแตงเมหลอดขาย

คิดอยากกินแตงเมหลอด  ไม่ทราบ    เคยเห็นแต่แขกขาย


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.ย. 10, 18:52


๗๔๔    เจะสมันแขก   เป็นเสมียนกัปตันเอม  รับจ้างขับรถ

๗๗๑  จีนเฮง  แซ่โห   ผูกปี้   ทำขนมปังขาย   เช่าตึกสมเด็จเจ้าพระยา

๗๙๙  คุณหนูเจต   บุตรท่านจางวางเมืองสมุทสงคราม  ไม่ค้าขาย
        เช่าตึกมิศหลุย

มิศหลุยมีตึกให้คุณหนูเจต  เช่า   

ให้ แสดอิมัม  แขกขายของต่าง ๆร่วมธงกงสุลอังกฤษเช่า     

คนเช่าเรือนปั้นหยาฝากระดาน คือ มิษเตอแมนดา  ชาติโปรตุเกศ

อะยีตะสะแขกร่วมธงกงสุลฮอแลนดา  ไม่ค้าขาย  เช่าตึก

ไรตยับแขก  ร่วมธงกงสุลอังกฤษเป็นเสมียนสรั่งเดน  เช่าตึก


มิศเตอร์ซีแคฮำ  ชาติอเมริกัน  เป็นครูสอนหนังสืออังกฤษ  เช่าเรือนปั้นหยา พระยาอำมาตย์

กัปตันหิด  ชาติอังกฤษ   อยู่เรือนปั้นหยาฝากระดาน



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.ย. 10, 21:17
มิศเตอร์ฮิกกินส์   ชาติอเมริกัน  อยู่ตึก

เลขที่   ๘๕๙   ซีการิม  แขก  รับจ้่างขับรถ  ร่วมธงกงสุลอังกฤษ
รับจ้างขับรถเช่าโรงกระดานแขก  เชกอิสไมเมริกัน  (แหะ ๆ...เชกคงชาติเมริกันกระนั้นหรือ)

ต๊าย!  อกนางแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก
เลขที่  ๘๕๔   กงซุลอังกฤษ  อยู่ตึก

๘๕๖   มิศเตอเฮนริกชาติอังกฤษ  เช่าเรือนแตะหมอฮอตจันเซิม  ชาติอะเมริกัน
(ชอบการจดชื่อฝรั่งของคนไทยมาก ถึงมากที่สุด  เป็นเสน่ห์ต่อการอ่านเป็นที่ยิ่ง)

เฮนริก(คนนี้มั๊ง   ใช่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ)   
ยังเช่าโรงฝากระดานแขกอิสะไมเมริกัน  ให้ลูกจ้างขับรถอยู่โรงกระดาน  เลขที่ ๘๕๘

จีนกิม  แซ่โหง  รับจ้างเป็นกุก(กุ๊ก)  เช่าโรงแตะ อิสะไมเมริกัน

มิศเตอเยมุเลอ  ชาติฮอลันดา  อยู่เรือนปั้นหยาฝากระดาน


มิศเตอร์ ลอร์ยู  กงสุลฝรั่งเศสที่สอง  อยู่เรือนปั้นหยาฝากระดาน

อ่านว่า  อิสะไมเมริกันยังมีโรงแตะให้ฝรี่งเช่าอีกหลายหลัง

เรือนปั้นหยาฝากระดาน  ของเจ้าคุณกรมท่าที่ เลขที่ ๘๗๕   ไม่มีคนเช่า

มิศเตอทิม  ชาติอังกฤษเช่าโรงแตะแขกอิสะไมมะริกัน

มิศเตอบลุม  ชาติอังกฤษ อยู่เรือนปั้นหยาฝากระดาน

มิศเตอร์เรนา  ชาติโปรตุเกศ ขายของต่าง ๆ อยู่ในเรือนปั้นหยาฝากระดาน

มิศเตอร์แอมวัดซิน   เช่าเรือนปั้นหยามิศเตอร์คาฤ

มิศเตอร์กาลุด (สงสัยจะเป็นคาลอส) ชาติอังกฤษ  เที่ยวซื้องัวขาย
เช่าโรงแตะอำแดงหยอก

มิศเตอร์ ซังสิดโต  ร่วมธงกงสุลโปรตุเกศ
เช่าเรือนปั้นหยามิศเตอกำปู

มิศเตอร์ฬอเรนเซม  ชาติเยอระมัน
ขายเหล้า  อยู่เรือนปั้นหยาฝากระดาน



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 23 ก.ย. 10, 22:44
เรียนคุณวันดี ครับ ถนนเจริญกรุงชั้นนอกพระนคร เป็นไปได้ไหมครับว่าคือถนนสี่พระยาที่มีชาวยุโรปอยู่กันเยอะ ลองไปค้นในหนังสือประชุมพงศาวดารปลายสมัยรัชกาลที่4 ทราบว่า วัดแก้วฟ้าคลองผดุงกรุงเกษมทางวัดต้องย้ายวัดเพราะมีชาวต่างชาติมาอยู่กันมากไม่สะดวกต่อการทำวัตรทางรัชกาลที่4จึงโปรดเล้าให้ทำการย้ายวัดมาอยู่ที่เป็นวัดแก้วแจ่มฟ้าในปัจจุบัน ส่วนที่ดินวัดที่รื้อถอนได้กลายเป็นตึกฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงค์ของชาวอังกฤษ และหมอเทียนฮี้(ต้นตระกูลสารสิน)ก็ทำงานอยู่แถวๆนี้ด้วย...


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.ย. 10, 23:30
ถนนเจริญกรุงนอก มีบ้านให้เบอร์อยู่  ๑๔๒๒  หลัง

มีฝรั่งชื่อประหลาด ๆ อยู่อีก ๒๐ - ๓๐ ราย  ยกประโยชน์ให้เจ้าพนักงานผู้ทำบาญชีก็แล้วกันนะคะ



ฉลุย(เดินมาอย่างรวดเร็ว) มาถึง ถนนเชิงตะพานหันตก
พระองต์ใหญ่ยิ่งมีตึกอยู่แถวนี้  ๖  ห้อง
ท่านที่ยังไม่ทราบเรื่องพระองค์ใหญ่ยิ่ง   โปรดไปต่อแถวที่กระทู้ล่าสุดของคุณหลวงเล็ก  อิอิ



ถนนตีทองข้างวัดสุทัศ
มีช่างทองคำเปลวหลายราย
ท่านที่สามารถเดินทางไปสู่อดีตโปรดใส่ใจแผนที่สักหน่อย



ถนนตะพานถ่าน
เลขที่ ๑๙       หมอฮี้ วิสิตติงเซอเยอน   ขึ้นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ

แถวนี้มีท่านขุนหลายคนค่ะ

เลขที่ ๑๑  เจ้ากรม ษร      ชังทหารใน(?)  ขึ้นกรมกลาโหม
เรือนฝากระดาน

เลขที่ ๑๗     ฉางข้าวท่านผู้หญิงเป้า   มุงกระเบื้อง
(วิญญูชนย่อมอ่านออกว่า  ฉางข้าวมุงกระเบื้อง)

อ่าว...บ้านท่านอยู่เลขที่ ๒๑  เรือนฝากระดาน

๒๓   คุณหมิวอยู่ตึก

๒๖   คุณเขียน  บุตรเจ้าพระยาสุริวงษ์ไวยวัด(สะกดอย่างนี้จริง ๆ ค่ะ)
อยู่ตึก

๒๗   วัดพิไชยญาติ




ถนนตลาดน้อย
แถบนี้ชาวจีนทั้งผอง
เลขที่ ๒๗   จีนหมินฟัดเตียน  แซ่โห   เช่าโรงพระยาโชฎีกเล่นงิ้ว



ถนนตลาดหน้าวัดอนงค์
โชคดีชมัดไม่รู้จักสักคน  เจ้าของที่ดินพอจะได้ยินชื่ออยู่บ้าง



ถนนตลาดพลู
อา...ไม่รู้จักเลย


มีนายอแลน  เสมียนหลงมาคนหนึ่ง



ถนนตลาดหลังบ้านเจ้าพระยาภาณุวงษ์
เอ่อ...นับบ้านเช่าของท่านเจ้าคุณก่อนค่ะ   อ้อ..มีหลังเดียว
แต่มีผู้ทำราชการกับท่านหลายคน

มีนายคล้าย บุตรนายโหมด  ขึ้นคุณพระนายไวย  โรงตึก

มิศฟัก  ชาติเยียรมัน  ขายเครื่องแก้ว



ถนนตึกขาว
มีแขก  สัปเยกต์อังกฤษทั้งนั้นเลยค่ะ
ขายผ้า  ผ้าลาย  สาระบับ   ขายตะเกียง   ขายหมวก  ตะปูควง
ขายกระจก   ขายน้ำหอม


ตึกแถวหน้าวัดสัมพันธวงษ  มี ๒๔ หลัง
เป็นของพระยาโชฎึกไป  ๑๓ หลัง  เป็นของเจ้าคุณทหาร  ๑๐ หลัง

อ่านนวนิยายของคุณศุภร  จำได้ว่า นางเอกเรียกนางรองว่า  อ้อ  พระยาโชฎึกก๊กกระเป๋าถ่าง
สารภาพว่าไม่ได้อ่านมาหลาย....(อะแฮ้ม ๆ) ปีแล้ว
ทำไมจำเรื่องคนเฉือนคมได้ก็ไม่ทราบ
ถ้าไม่ได้หัดมาบ้างก็คงอยู่แถวนี้ไม่ไหว



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.ย. 10, 23:34

เยส  ออไร้ท์ (ภาษาสามเกลอ)

เพิ่งนึกออกว่าไม่มีใครนำ  สารสินสวามิภักดิ์มาแจกดิฉันเลย  อยากอ่านแล้วนะ


ดิฉันเล็งหมอฮี้ไว้ได้ ๒ ครั้งแล้วไงคะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 00:01

ขอบคุณ คุณ natadol  ที่แวะมาคุยค่ะ

       สมัยหนึ่ง ดิฉันเข้าใจเอาเองเพราะไปได้ยินผู้ใหญ่กระซิบกระซาบกัน  ว่า มี โสเภณีอยู่แถวสพานถ่าน

ดิฉันก็ทำเป็นไม่ได้ยิน  เพราะอยากหลบไปอ่านหนังสือ  เลยต้องทำหน้าว่า ไม่ได้ยินได้เห็นหรือแว่วอะไรทั้งสิ้น

ต่อมาอ่านหนังสือ  พบว่าสะพานถ่าน  มีการส่งถ่านมาขายจริงๆ   เป็นถ่านที่เผามาจากไม้ทราก(ไม้เนื้อแข็งที่ยืนต้นตาย)

ใช้เผาทอง  เพราะควันน้อยและให้ความร้อนสม่ำเสมอ


     คุณครูตีดาบถามดิฉันว่า  ใช้ถ่านอะไรตีดาบจ๊ะ

     ใช้ไม้ไผ่จ้ะ..เอ๊ย!!  เจ้าค่ะ

     เพิ่งนึกขึ้นมาออกว่ายังไม่ได้ถามคุณครูเรื่องพิธีกุมารทองเลย

ว่ามีรายละเอียดผูกมัดพี่กุมารทองนานกี่ปี     เรื่องเหล่านี้เราจะสุมหัวคุยกันที่ร้านหนังสือเก่าค่ะตอนดึก ๆ

นั่งกันอัดเต็มร้าน  ก้มหน้าเลือกหนังสือกันทุกคน  ยกเว้นสาวน้อยวันดี(เพราะดูมาล่วงหน้าสองอาทิตย์แล้ว)

ไม่กลัวผี  หรือกลัวโจรปล้นเลยค่ะ

     เวลาคุณครูคุย  ไม่มีใครกล้าขัดเลยค่ะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 07:46

ราชทินนาม แปลกตา

ในถนนตลาดวัดอรุณ   เลขที่ ๑๓  หมื่นสีไพโรด(คงจะเป็นไพโรจน์)  บุตรหมื่นพังบาดาน
ตำรวจ   อยู่ตึก

พังบาดาน   ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 08:03

ถนนตึกแถวพระยาไพบูลย์   มี ๖๒  ครัวเรือน

อาชีพขายเป็ดไก่    ๑๓  ราย

ขายไก่   ๓     ราย          ขายเป็ด   ๑  ราย

ขายปลาสด   ๓  ราย   ขายปลานึ่ง   ๑  ราย   ขายหมึก  ๑  ราย


ขายปูทเล   ๒  ราย    ขายเผือก   ๒  ราย


ขายปลาเค็ม  ๑๑   ราย        ขายปลากุเรา  ๑  ราย

และอาหารต่าง ๆ  เช่น  สมอดอง  ชา  สุรา  เต้าหู้   วุ้นเส้น



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 08:39

ถนนตึกใหม่ริมวัดอนง     มี  ๗๐  หลังคาเรือน

ขายขวดจารไน(อยากได้มาแก้เหงาสักใบ   ขวดพูดมากก็ปิดจุกเสีย)     ๔   ราย

ขายเพชรพลอย   หลายราย  ไม่ได้นับค่ะเพราะชีวิตในอดีตจนปัจจุบันไม่เกี่ยวกับเพชรพลอย

อิซัน  บุตรพิซัน  ขึ้นอังกฤษ   ขายขนมปัง

มีขายผ้าหลายราย   ขายฝิ่นหลายราย

เลขที่ ๔๙   มะฮัมมัด  บุตรมักะเซิม  ขึ้นกงสุลอังกฤษ  ขายอัตลัด  ของต่าง ๆ   บ้านตึก
หมายความว่า  มะฮัมมัดขายผ้า อัตลัด  หรือคะ

เลขที่ ๕๖  อัปะราเฮม  บุตรอีสุพย์   ขึ้นกงสุลอังกฤษ   ขายอินทะผาลำ



ถนนบำรุงเมือง   มีบ้านเรือน ๔๐๐ หลัง

มีบ้านขุนนาง คือ

๓๔๗   บ้านพระยาโยธาเทพ
๓๔๘   บ้านจมื่นวิจิตร
๓๔๙   บ้านพระยารัตนโกษา

มีตึกของเจ้าคุณ มหินทร์  ๑๒ หลัง  ว่างเป็นส่วนมาก  ค่าเช่าคงสูง
ขายผ้าแพรไหม  ด้ายย้อมคราม   คนส่วนมากมีเจ้านาย
อาชีพต่าง ๆ กัน


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 ก.ย. 10, 11:34
แอบเลาะริมรั้วตามอาจารย์วันดีไปเที่ยวด้วยครับ เมื่อก่อนผมใช้วิธีการเข้าไปเปิดอ่านราชกิจานุเบกษา ก็พบข้อมูลตำแหน่งของวังและบ้านขุนนาง ประชาชนว่าอยู่แถบไหน แต่ไม่มีการระบุถึงบ้านเลขที่

ในหนังสือท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม ๑ ของ พลตำรวจตรี พีระพงศ์ ดามาพงศ์ คุณหมอท่านได้นำแผนที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดทำโดยกรมแผนที่ทหารบก ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖) มาประกอบในเล่ม เพื่อสืบหาสถานที่ต่างๆ ที่คุณ ป. อินทปาลิต บรรยายไว้ในหนังสือชุดสามเกลอ

หากท่านใดมีหนังสือเล่มนี้ ก็อาจจะพอใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดตำแหน่งบ้านต่างๆ ได้บ้างนะครับ

ผมไปพบแผนที่กรุงเทพมหานคร จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900 จากเวป www.angkor.com จึงขอถือโอกาสนำมาลงไว้ด้วยครับ






กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 15:10
สวัสดีค่ะ  คุณลุงไก่

      
       ดิฉันเป็นสมาขิกอันเหนียวแน่น ของ สามเกลอ  ย้ำคำว่า เหนียว นะคะ   แต่ดิฉันไม่ได้

เก็บสามเกลอเลยเนื่องจากเป็นหนังสือเก่าขายดีหนึ่งในสองของตลาดหนังสือเมืองไทย

สาเหตุที่ดิฉันตามหา สารบาญชี มาอ่านเพราะดิฉันตามหา อาจารย์  ทัด ค่ะ

ท่านเป็นคนที่ทำพจนานุกรมอักขราภิธานศรับท์  ที่หน้าปกเขียนว่า   By Bradley  1873

ก็จริงที่บรัดเลจ้าง อาจารย์ทัด ให้คัดแปล     บรัดเลก็เป็นผู้พิมพ์   ไม่ได้ใส่ภาษาอังกฤษ หรือ ลาติน หรืออบิสซิเนีย อะไร

พวกเราก็น่าจะหาตัว อาจารย์ทัด ให้เจอ   ประวัติของท่านก็ค่อย ๆ ประสมประเสขึ้นมาให้ได้

ดิฉันจดเรื่อง  คนชื่อทัดไว้มากทีเดียวนะคะ  กะว่า ในปี  ๒๔๑๖  ที่พิมพ์หนังสือ อักขราภิธานศรับท์  

ท่านคงอยู่ในวัยไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีโดยประมาณ  และความเป็นไปได้ที่ท่านจะสูงวัยมากกว่านั้นก็มีอีก

ยังมีทฤษฎีเกี่ยวกับ อาจารย์ทัดอีกมากค่ะ    และรายชื่อคนชื่อทัด  ของดิฉันก็ครึกครื้น ออกไปทุกที

ไม่เป็นไรค่ะ   เพราะคนที่ไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้ก็มีอีกมากประมาณใบปีบในฤดูใบไม้ร่วง

ดิฉันเรียก อักขราภิธานศรับท์  ว่า พจนานุกรมครูทัด  มานานแล้วค่ะ   และระหว่างตามหา  ครูทัด  หรืออาจารย์ทัด

ดิฉันก็เจออะไรต่อมิอะไรที่เป็นความรู้  ความบันเทิงอีกมาก  เพราะประวัติชาวบ้านนั้น  เราไม่ค่อยจะทราบกัน

ท่านผู้หลักผู้ใหญ่บางคนที่ได้ฟังเหตุผลของดิฉัน  ก็ชื่นชมยินดี  เพราะพวกท่านก็เหยียบขอบวงของการเป็น "ของเก่า" แล้ว


       โลกของหนังสือเก่าเป็นโลกที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล  เพราะเรามีหลักฐาน  คือ สิ่งพิมพ์

เอกสารหายากนั้น  ถ้าค้น  ก็จะเจอค่ะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 16:01

มาต่อกันที่ถนนบางขุนพรม


เลขที่ ๑   นายจัน  เป็นจางวาง   อยู่ในพระองค์ศรี
ตั้งโรงขายข้าวแกง

เลขที่ ๔   นายสุด  บุตรหลวงอักษร  ขึ้นกรมพระกลาโหมวังหน้า
ขายข้าวแกง

เลขที่ ๒๑   นายพินเป็นมหาดเล็ก  อยู่เรือนฝาจาก  เป็นช่างเขียน

เลขที่ ๒๓   นายพ่วง  บุตรหลวงสุวรรณภักดี  อยู่เรือนฝาสำหรวจ
ทำ ทัพพี ขาย

แปลกแฮะ...คนแถวนี้ขายทัพพีกันหลายราย  มีอำแดงเล็ก  บุตรนายแสง  ม่าย   อำแดงแย้ม  ม่าย
นายเล็กบุตรนายแสง   

นายทิม บุตรนายทับ  ขายตุ๊กตา

จริง ๆ นั่นแหละค่ะ  แถวนี้ขายทัพพี
เลขที่ ๒๒   นายวัด เป็นจางวางอยู่ในกรมพระ   ขายทัพพีเหมือนกัน
เรือนฝาแตะ

เลขที่ ๓๑  นายแสบุตรนายเอี่ยม  เป็นนักเลงปลาเข็ม
อยู่เรือนฝากระดาน

บุคคลที่น่าสนใจ  อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของสาวน้อย วันดี  ตือ

เลขที่ ๔๓  อำแองพัน   บุตรนายทัน
ทอผ้าหางกระรอกขาย
เรือนฝาจาก

และ

นายเพ็ช  เป็นที่หมื่นสิทวิชา  วังหน้า  รับจ้างจานหนังสือเรือนฝาจาก

นอกจากนี้ยังมี ขุน ในกรมแสง  ๑ ราย   หลวงในกรมมหาดไทย  ๑ ราย   ขุนอินขึ้นเจ้าคุณทหาร ๑ ราย



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.ย. 10, 16:19

ถนนบางรักษ์

มีบ้านอยู่  ๓๔  หลัง
เป็นบ้านเช่าของเจ้าคุณกรมท่า  ๗ หลัง

เป็นบ้านเช่าของ จมื่นราขนาคา  ๒๔ หลัง
ท่านจมื่นก็พักอยู่แถวนี้  ที่เลขที่ ๑๒   คงเป็นถิ่นเดิมของท่าน
และหารายได้งอกเงย

ที่เลขที่ ๔  มิศเตอ เอตเอมุลเลค   ชาตืเยรมาร
เช่าตึกเจ้ากรมท่า

ดิฉันชอบชื่อที่ไทยอ่านชื่อฝรั่งมากค่ะ  เป็นเอกลักษณ์อันแสดงเสรีภาพ
เห็นที่แห่งหนึ่ง  มีการคุยว่า  รำคาญทำไมไม่พูดเขียนให้ชัดไปเลยนะ
นักอ่านหนังสือเก่ารู้สึกจักจี้หัวใจเป็นกำลัง

ขอตอบตามประสาเหลนจีนปลูกข้าวว่า  "พ่อเอ๊ย..แม่เอ๊ย   ลิ้นมันแข็งจ้ะ"


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ก.ย. 10, 16:43

มีถนนบางสแก   มีบ้าน ๘ หลัง



ถนนบ้านขมิ้น

เลขที่ ๙      นายพลอยบุตรนายทอง ขึ้นพระองค์เนาวรัตน์
ช่างพระ    เรือนฝากระดาน


เลขที่ ๖   พระชนะดารา  ขึ้นกรมมหาดไทย   เรือนฝากระดาน
(ราชทินนาม  แปลกหู)



ถนนขมิ้น   มีขมิ้นขายจริงๆค่ะ      ทั้งถนน ๒๐๕  ครัวเรือน

เลขที่ ๒๔   อำแดงตาด  ช่างตัดกระจกขาย
เรือนฝากระแชงอ่อน

เลขที่ ๓๙   นายปลอดบุตรนายไผ่    จ้างตำโรงขมิ้น
โรงแตะ

เลขที่ ๔๓   นายเมฒ  บุตรขุนภักดี      ขายขมิ่น
เรือนฝากระดาน

มี พิณพาทเสภา  ๑ ราย
ขายขมิ้นดินสอพอง อีก ๒ ราย
ขายขมิ้นอีก  ๒  ราย
ขายแป้งนวล  ๑ ราย
ขายหมี่  ๓  ราย
ขายตุ๊กตา  ๑ ราย
ขายเหล้าหลายราย  ขายเหล้าฝรั่งเหล้า จีน  ๑  ราย
ขายยาดอง  ๑ ราย
ทอสายคำภีร์ขาย  ๑  ราย
ทอผ้า  ๑  ราย
ขายฟืม   ๓ ราย
ขายน้ำตาลทรายแดง  เครื่องแกงร้อน
ขายผ้าแพรผ้าลายผ้าขาว    ๒ ราย
รับจ้างเป็นโปลิต   ๒ ราย
ขายเหล้า  ขายขนมปัง  ๑ ราย
จดหวยมีมากราย
มีคนบ้า  ๑  ราย    แสดงว่าการจดรอบคอบมาก
มีหม่อมเจ้า  มีคุณพระ  คุณหลวง




ถนนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

หมื่นชาญณรงค์  อยู่ตึกแถว

นายเซิงบิดาจำไม่ได้(ต้องจดด้วยหรือคุณพนักงาน)

บ๋อยสมเด็นเจ้าพระยา
ปี่พาทย์สมเด็จเจ้าพระยา
ครูปี่พาทย์ สมเด็จ ฯ
ทนายสมเด็จ
นายคร้าม  บิดาจำไม่ได้
มีนักเลงไพ่ขึ้นพระสรรพวิไช

เลขที่ ๑๔  สมเด็จเจ้าพระยา  ตึกของท่านเอง

เลขที่ ๒๙  เจ้าคุณกลาโหม  ตึกของท่านเอง

นายคำ บุตรนายทิบ  ขึ้นท่านผู้หญิง อิม  (อื๊อ?   ไม่รู้จัก)

เลขที่ ๔๖    คุณจ่ายงสนิท  ตึกของท่านเอง 
นี่คือคุณสนิทที่เดิมเป็นคุณจ่ายง



ถนนบ้านเจ้าพระยาภาณุวงษมหาโยธา

เลขที่ ๑   เจ้าคุณกรมท่า ตึกของท่านเอง

เลขที่ ๒  พระนายไวย   ตึกของท่านเอง

เลขที่ ๓   พระยาบำเรอภัก  ตึกของท่านเอง



เวลานี้เดินทางมาถึงหน้า ๒๒๔  แล้ว   เห็นว่าควรกับเวลา  จึงขอลาไปอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ อีก

หนังสือมีถึง ๔๕๕ หน้า

ถ้า คุณอ้วนธงชัยใจดี  ก็จะได้โรเนียวเล่ม ๓  มาอ่านต่อไป
นักอ่านจะรอคอยบุญพาสนาอยู่ไม่ได้  ต้องออกไปประสานงานวิ่งเต้น  เพื่อให้สิ่งที่มีค่ามา
แล้วแบ่งให้สหายนิสัยดี ๆ  ดูบ้าง  ถ้ามีข้อมูลที่แปลกตา





กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 ก.ย. 10, 22:33
อาจารย์ทัดที่คุณวันดีตามหาตัวอยู่นั้น น่าจะเป็นท่านเดียวกับ "นายทัดเปรียญ" ผู้แต่งบทดอกสร้อยสุภาษิต
"แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา ร้องเรียกเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู ..."
ที่คนรุ่นเก่าเคยร้องท่องกันตอนโรงเรียนเลิกก่อนกลับบ้าน หรือเปล่าครับ

อ้างถึง - แบบสอนอ่านจินตกระวีนิพนธ์ หนังสือดอกสร้อยสุภาษิต
กรมราชบัณฑิต พิมพ์ครั้งที่ ๔ ร.ศ. ๑๓๐





กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ก.ย. 10, 23:19

คำว่าเปรียญ  ไม่น่าจะถูกตัดออกด้วยประการใด ๆนะคะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: XT ที่ 26 ก.ย. 10, 12:15

ถนนข้างพระราชวังบวรข้างโบสวัดมหาทาตุ   กรุงเทพฯ       รักษาตัวสะกดเดิมนะคะ

คนแถวนี้ก็ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับพระราชวังบวรเป็นส่วนใหญ่


หวัดดีค่ะ  อาจารย์วันดี พอได้อ่านกระทู้นี้แล้วทำให้รู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังย้อนเวลาไปในอดีตจริงๆ เลยค่ะ  แต่ก็เลยอยากทราบเพิ่มเติมน่ะค่ะว่าถนนข้างโบสวัดมหาทาตุที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น  และถ้าเราเดินเลยไปทางหลังวัดมหาทาตุล่ะคะ (ถนนมหาราช) ก็มีตึกแถวเหมือนกัน ตรงแถวนั้นสมัยก่อนเป็นของใคร และผู้คนแถวนั้นประกอบอาชีพอะไรกันบ้างคะ

 


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ก.ย. 10, 13:03

สวัสดีค่ะคุณ XT   

ที่กรมไปรษณีย์จดไว้  นอกจากถนนข้างพระราชวังบวรข้างโบสถ์วัดมหาทาตุ  มีบ้านเรือน ๑๗ หลัง

เป็น จ.ศ. ๑๒๔๕  หรือ พ.. ๒๔๒๖  มี

ถนนข้างวัดอะนงคาราม         ถนนขวางวัดบวรนิเวศ       ถนนข้ามโรงหุ่นเก่าวัดอะรุณ ที่มีบ้าน ๑๒๔  หลังคาเรือน

เลยไปถนนคลองผดุงกรุงกระเสม  ต่อวัดแก้วฟ้า


       อ่านแล้วก็คิดอะไรๆไปได้หลายอย่าง       ดิฉันอาจจะคุ้นกับชื่อ หรือราชทินนามในสมัยโน้นบ้าง   อ่านพบแล้วก็

รู้สึกสงบว่า  ท่านมีตัวตนนะ   มีโรงให้เช่าด้วย     ลูกขุนนางก็ค้าขายกันบ้าง


       จีนผูกปี้ก็มาก    คนที่อาศัยร่มธงต่างชาติก็มีไม่น้อย

        มีร้านแขกรายหนึ่ง  ขายลูกไม้ทองค่ะ          ดิฉันอ่านกลับไปกลับมา  จึงเข้าใจว่าผ้าลูกไม้สีทองจากเมืองแขก

       แปลกน่าคิดต่อไปได้อีกมากนะคะ


       กรุณาอย่าเรียกว่าอาจารย์เลยค่ะ   เราทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นมิตรกัน  ดิฉันชอบอ่านเรื่องเก่าหนังสือโบราณ

ยิ่งอ่านก็คิดได้ว่าขุนนางระดับสูงที่รับราชการและเจ้านายของเรา  ได้พยายามปกป้องบ้านเมืองอย่างเต็มปัญญาความสามารถ

ลูกจีนมาบวชหกเจ็ดปี  ถ้าเก่งสึกออกมาเป็นคุณหลวงเลยนะคะ


       คุณหลวงเล็กแจ้งกับดิฉันว่าท่านจะเล่าเรื่องพระยา ๕๐ คนเร็วๆนี้       ดิฉันก็จ้องจะหาราชทินนามแปลก ๆ มาขัดขาท่าน

ยังมีอะไรที่พวกเราทุกคนยังหาอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ และความรู้ได้อีกมากค่ะ


ขอประทานโทษที่ตอบได้เท่าที่เอกสารจดไว้ค่ะ



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: XT ที่ 27 ก.ย. 10, 16:14
ต้องขอบพระคุณ ท่านอาจารย์วันดีอีกครั้งหนึ่งนะคะ  และต้องขออนุญาตเรียกท่านอาจารย์แบบนี้ต่อไปนะคะ  เพราะจากประสบการณ์และความรู้ รวมไปถึงการถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านได้รู้สึกคล้อยตามในเรื่องต่างๆ นั้น  ดิฉันรู้สึกชื่นชมและประทับใจมากค่ะ  เนื่องจากมีความชอบเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตนะคะ  ตอนที่อ่านหนังสือ "เกิดวังปารุสก์" จบ มีความรู้สึกว่าตัวเองตัวใหญ่มาก (ความรู้คับแก้ว) แต่พอเข้ามาในเว็บเรือนไทยแล้วดิฉัน รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะตอม ไปเลยค่ะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 14 ต.ค. 10, 20:19
ขอกล่าวถึงอาจารย์ทัด อีกสักหน่อย เนื่องจากวันนี้ได้พบข้อความที่เอ่ยถึง "ครูทัด" จาก "สาส์นสมเด็จ" ในหนังสือ "เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ" ฉบับสำนักพิมพฺวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๒

ในหนังสือโต้ตอบจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๖๐ (หน้า ๒๕-๒๙) ชื่อเรื่อง "ครูเสภา ครูปี่พาทย์" กล่าวถึงครูเสภาครูปี่พาทย์ ๓ ท่าน คือ ครูทองอยู่ ครูแจ้ง และครูมีแขก ความตอนหนึ่งว่า

"ในรัชกาลที่ ๔ เจ้านายหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมพระเทเวศร์ กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้น ทรงรวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมีคนนี้ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระประดิษฐไพเราะ ตำแหน่งจางวางกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระราชวังบวรฯ พระประดิษฐ์ (มี) คนนี้อยูมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ยังได้เป็นครูหัดมโหรีในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรที่ในพระบรมมหาราชวัง

ยังมีครูปี่พาทย์ผู้มีชื่อเสียงร่ำลือมากมาจนทุกวันนี้อีกคนหนึ่ง ชื่อ ครูทัด เป็นคนแรกคิดทำเพลงสามชั้น มีเพลง "เทพบรรทม" "ภิรมย์สุรางค์" "เทพนิมิต" เป็นต้น เข้าใจว่าเป็นคนแก่กว่าพระประดิษฐ์ (มี) และคนชั้นหลังลงมาคิดเพลงสามชั้นตาม ควรจะมีชื่อในคำไหว้ครูด้วย แต่ทำไมจึงไม่มี เป็นน่าสงสัยหนัก

พระประดิษฐไพเราะ (ตาด) ว่าดูเหมือนเป็นแต่คนซอ ตีปี่พาทย์ไม่ได้ แต่หากมีปัญญาฉลาดรู้ทางปี่พาทย์แต่งให้คนตี คิดดูไม่มีใครเทียมถึง เห็นจะเป็นเพราะไม่ได้ไปตีปี่พาทย์รับเสภาเอง พวกเสภาจึงไม่รู้จักยกขึ้นว่าไหว้"

ก็เพียงว่ามี "ครูทัด" ซึ่งน่าจะเป็นคนยุครัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ และน่าจะมีชีวิตอยู่มาถึงสมัยรชกาลที่ ๔ เพิ่มมาให้คุณวันดี (ท่านขอร้องไม่ให้เรียกว่าอาจารย์) ได้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกท่านหนึ่งน่ะครับ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 10, 21:11

       คุณหลวงเล็กแจ้งกับดิฉันว่าท่านจะเล่าเรื่องพระยา ๕๐ คนเร็วๆนี้       ดิฉันก็จ้องจะหาราชทินนามแปลก ๆ มาขัดขาท่าน
       ยังมีอะไรที่พวกเราทุกคนยังหาอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ และความรู้ได้อีกมากค่ะ

        มาจองเก้าอี้แถวหน้า   งานเริ่มห้าโมงเย็น ขอจองที่นั่งตั้งแต่แปดโมงเช้าค่ะ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ต.ค. 10, 21:27
     โอ  ขอบคุณคุณลุงไก่ค่ะ

เป็นกำลังใจเหลือเกิน   เป็นพระคุณด้วย    กำลังใจคือความปรารถนาดีที่มีต่อกัน  เห็นดีเห็นงาม

สนับสนุน  เก็บของมาฝาก

       หวังว่าวันหนึ่งดิฉันคงจะดั้นด้นหาครูทัดมาจนได้    ความหวังแม้แต่นิดเดียวก็จะตามไป

เพื่อน ๆ ของดิฉันเป็นนักสะสม หรือเจ้าของร้านหนังสือมือสอง       ต่างคนต่างมีเป้าหมายของ

การสะสมค้นคว้่าของตน  บางทีก็อาจจะดูแปลก หรือ ตลก  หรือเป็นไปแทบไม่ได้ของคนนอกกลุ่ม

แต่พวกเขารวมตัวกันได้  เข้มแข็ง   ต่างเดินไปตามทางของพวกเขา

ดิฉันยืนอยู่ข้างนอก   ตอนแรกก็ขำค่ะ     ชิชะชิชะ  จะหาเล่มแรกหรือ    จ้างให้เถอะ  ไม่มีวันหรอก

นานไป  เดือนแล้วก็เดือนเล่า   ปีแล้วก็ปีเล่า   เพื่อนๆก็ยังเดินตามความฝันของพวกเขาอย่างมั่นคง

       เรียนว่ารู้สึกขอบคุณอย่างแท้จริง

 


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ต.ค. 10, 07:57

       คุณหลวงเล็กแจ้งกับดิฉันว่าท่านจะเล่าเรื่องพระยา ๕๐ คนเร็วๆนี้       ดิฉันก็จ้องจะหาราชทินนามแปลก ๆ มาขัดขาท่าน
       ยังมีอะไรที่พวกเราทุกคนยังหาอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ และความรู้ได้อีกมากค่ะ

        มาจองเก้าอี้แถวหน้า   งานเริ่มห้าโมงเย็น ขอจองที่นั่งตั้งแต่แปดโมงเช้าค่ะ

งานเข้าแล้วล่ะคุณวันดี   อย่าให้แขกผู้มีเกียรติแห่งเรือนไทยต้องนั่งรอนานเลย  มีอะไรคมๆ ก็เอามาแสดงเสีย 

ส่วนเรื่องพระยา ๕๐ คน ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล 
คาดว่าอาจจะใช้เวลาอีกสักระยะคงจะลงให้ทัศนาและวิพากษ์กันได้   
ทั้งนี้เพราะพระยาที่รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หาประวัติยากนักหนา


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 10, 08:16
งานเข้าแล้วล่ะคุณวันดี   อย่าให้แขกผู้มีเกียรติแห่งเรือนไทยต้องนั่งรอนานเลย  มีอะไรคมๆ ก็เอามาแสดงเสีย 

ส่วนเรื่องพระยา ๕๐ คน ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล 
คาดว่าอาจจะใช้เวลาอีกสักระยะคงจะลงให้ทัศนาและวิพากษ์กันได้   
ทั้งนี้เพราะพระยาที่รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หาประวัติยากนักหนา


รอบของคุณหลวงเล็ก  ดิฉันขอจองบัตรล่วงหน้า ๓ เดือน


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 15 ต.ค. 10, 13:55
เมื่อหลายปีก่อน เคยค้นข้อมูลเกี่ยวกับหมอบรัดเลย์
ได้พบหนังสือบันทึกรายวันของหมอบรัดเลย์ที่หอสมุดธรรมศาสตร์
เป็นไดอารี่ตลอดช่วงเวลาที่หมอบรัดเลย์อยู่เมืองไทย
เล่มหนาทีเดียว
อาจจะได้เขียนถึงครูทัดไว้บ้างก็ได้นะคะ

เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายสำเนาหนังสือเล่มนี้จากธรรมศาสตร์
แต่คิดว่าหนังสือยังคงอยู่ที่หอสมุด


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 10, 17:39

ขอบคุณ คุณกะออม ที่มีน้ำใจใสสะอาด

พอมีหนังสือต้นฉบับของบรัดเลอยู่บ้าง

ส่วนมากจะไม่มีปกหน้าค่ะ

สยาม เรบพอสิทตอรี ก็สนุกมากค่ะ  บันทึกของมิชชันนารีก็น่าอ่าน

พวกเราไม่ค่อยได้ค้นข้อมูลกันเท่าไร  น่าเสียดายเป็นอันมาก



กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 07 พ.ย. 10, 21:48
    โอ  ขอบคุณคุณลุงไก่ค่ะ

เป็นกำลังใจเหลือเกิน   เป็นพระคุณด้วย    กำลังใจคือความปรารถนาดีที่มีต่อกัน  เห็นดีเห็นงาม

สนับสนุน  เก็บของมาฝาก

       หวังว่าวันหนึ่งดิฉันคงจะดั้นด้นหาครูทัดมาจนได้    ความหวังแม้แต่นิดเดียวก็จะตามไป

เพื่อน ๆ ของดิฉันเป็นนักสะสม หรือเจ้าของร้านหนังสือมือสอง       ต่างคนต่างมีเป้าหมายของ

การสะสมค้นคว้่าของตน  บางทีก็อาจจะดูแปลก หรือ ตลก  หรือเป็นไปแทบไม่ได้ของคนนอกกลุ่ม

แต่พวกเขารวมตัวกันได้  เข้มแข็ง   ต่างเดินไปตามทางของพวกเขา

ดิฉันยืนอยู่ข้างนอก   ตอนแรกก็ขำค่ะ     ชิชะชิชะ  จะหาเล่มแรกหรือ    จ้างให้เถอะ  ไม่มีวันหรอก

นานไป  เดือนแล้วก็เดือนเล่า   ปีแล้วก็ปีเล่า   เพื่อนๆก็ยังเดินตามความฝันของพวกเขาอย่างมั่นคง

       เรียนว่ารู้สึกขอบคุณอย่างแท้จริง

 


มีข้อมูลเพิ่มเติมของครูทัดมาฝากคุณวันดีครับ ตามสันนิษฐานของผม ท่านมหาทัดน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็เลยหาในเวปไปเรื่อยๆ จนมาพบเวปนี้เข้า กล่าวถึงพระมหาทัด วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) มึความตอนหนึ่งว่า

 "การศึกษาสมัย พระเทพโมลี(กลิ่น) ครองวัดราชสิทธาราม

          การศึกษาด้านพระปริยัติธรรม พระบาลีมูลกัจจายน์ พระเทพโมลี(กลิ่น) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์ผู้ช่วยคือ พระปิฏกโกศลเถร(แก้ว) ๑ พระมหาทัด ๑ พระมหาเกิด ๑

         ด้านการศึกษาพระวิปัสสนาธุระมี พระครูวินัยธรรมกัน สัทธิวิหาริกของสมเด็จพระญาณสังวร(สุก)เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มหาทัด ๑เป็นผู้ช่วย เมื่อพระครูวินัยธรรมกัน มรณะภาพลงแล้ว พระญาณสังวรเถร(ด้วง) รับหน้าที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์ผู้ช่วยคือ พระอาจารย์คำ พระครูศีลวิสุทธิ์(รุ่ง) พระครูศีลสมาจารย์(บุญ) พระปลัดมี พระปลัดเมฆ "

พิจารณาจากปี พ.ศ. ที่พระเทพโมลีครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพลับ ท่านมหาทัดน่าจะเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตอนปลาย รายละเอียดอื่น เรียนคุณวันดีอ่านจากเวปนี้ครับ

http://www.oocities.com/weera2548/Ajan/intro_khin.htm

ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ด้วยครับ ...





กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 10, 03:18


       ขอบพระคุณในน้ำใจคุณลุงไก่ค่ะ


ครูทัด  คงเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔  เพราะเป็นคนทันสมัยไปทำงานกับฝรั่งได้เป็นนานสองนาน

ท่านคงไม่ได้เป็นเปรียญ เพราะไม่มีคำว่า เปรียญตามมา

ถ้าท่านเป็นเปรียญสูง ๆ  หรือเป็นนาคหลวง  สึกออกมารับราชการก็ฟาดเบาะ ๆ ยศ คุณหลวงค่ะ


       เรา(คณะพรรค)ไม่หมดความหวังเป็นอันขาด       เรามีความหวังเต็มเปี่ยม

และยุยงส่งเสริมกันและกันอยู่เสมอ         

       


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 พ.ย. 10, 10:54


       ขอบพระคุณในน้ำใจคุณลุงไก่ค่ะ


ครูทัด  คงเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔  เพราะเป็นคนทันสมัยไปทำงานกับฝรั่งได้เป็นนานสองนาน

ท่านคงไม่ได้เป็นเปรียญ เพราะไม่มีคำว่า เปรียญตามมา

ถ้าท่านเป็นเปรียญสูง ๆ  หรือเป็นนาคหลวง  สึกออกมารับราชการก็ฟาดเบาะ ๆ ยศ คุณหลวงค่ะ


       เรา(คณะพรรค)ไม่หมดความหวังเป็นอันขาด       เรามีความหวังเต็มเปี่ยม

และยุยงส่งเสริมกันและกันอยู่เสมอ          

      


"นายทัด กุเรตอร์"
ผมเข้าไปเดินเล่นที่วิกิซอร์ซ http://th.wikisource.org/wiki ในเรื่องโคลงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ห้อง ๒๙-๓๑ มีหมายเหตุไว้ว่า นายทัด กุเรเตอร์ แต่ง

ในหนังสือ "กลอนกล" ของ รศ. วันเนาว์ ยูเด็น ฉบับพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ ยกตัวอย่างของกลบทตอนหนึ่งในจารึกวัดพระเชตุพน หมายเหตุว่า นายทัดมหาดเล็ก แต่ง

ผมเริ่มต้นที่คำว่า นายทัด กุเรเตอร์ โดยกูเกิ้ล มาพบในวรรคหนึ่งของเวปปัญญาไทย http://www.panyathai.or.th หัวข้อโบราณคดี ขออนุญาตคัดลอกข้อความตอนหนึ่งมาลงไว้ ดังนี้
 
   "ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดคดีนายรัสต์มานน์ ลักลอบตัดพระกรพระเศียรพระศิวะไปเยอรมัน เมื่อตามกลับมาได้ โปรดฯ ให้รวบรวมศิลปวัตถุหัวเมืองมาไว้ในกรุงเทพฯ ทรงจัดตั้งหอมิวเซียมขึ้นที่พระที่นั่งสหทัยสมาคม (หอคอเดเดีย) ตั้งภัณฑรักษ์ (ผู้ดูแลกิจการพิพิธภัณฑ์) คือนายทัด ศิริสัมพันธ์ (พลโท พระยาสโมสรสรรพการ) ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงได้ตั้งกรมพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทรงเป็นอธิบดี ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดฯให้ตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อศึกษาเรื่องราวเก่า ๆ และใช้เอกสารเป็นหลักในการค้นคว้า แต่ไม่มีการสืบทอดแนวการศึกษา โดยใช้หลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานดังที่เคยทำกันมาในรัชกาลก่อน "

ติดตามเรื่องราวของนายทัด สิริสัมพันธ์ คือนายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ จากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เรื่องราชินิกูล-ราชินิกุล-ราชนิกุล
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2172&stissueid=2535&stcolcatid=2&stauthorid=13
ความตอนหนึ่งว่า   "ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ หมายถึงพระญาติวงศ์ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ มิใช่พระอัครมเหสี ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ที่มีผู้สืบสายสกุลเป็นที่รู้จักกันดี คือ สายพระยาพัทลุง (ทองขาว) สามีของท่านปล้อง น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัย และสายสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ สืบมาจาก ท่านสาด น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัยเช่นกัน หากแต่คนละมารดากับพระชนนีเพ็ง ผู้เป็นชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย  
นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้สืบสกุล โดยทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า เกี่ยวข้องเนื่องกับสมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ที่นับว่าเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ก็ด้วยเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ ท่านเป็นหลานสาวแท้ๆ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย"

และจากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์เรื่อง "ศิริ ใช้อย่างไทย"
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stauthorid=13&stcolcatid=2&stcolumnid=3562&stissueid=2623
ความตอนหนึ่งว่า "ทีนี้ นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ ผู้ขอพระราชทานนามสกุล คือ พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด)
เมื่อสืบสาวขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) และบรรดาพี่น้องวงศาคณาญาติให้ใช้ร่วมกันว่า ‘ศิริสัมพันธ์"
เนื่องด้วยพระยาสโมสรฯ (ทัด) เป็นบุตรชายของพระยาไกรโกษา (สองเมือง),
พระยาไกรโกษา (สองเมือง) เป็นบุตรชายของพระนนทบุรี (ม่วง),
พระนนทบุรี (ม่วง) เป็นบุตรชายของท่านสาด,
ท่านสาด เป็นน้องนางของพระชนนีเพ็ง และพระชนนีเพ็ง คือ พระชนนีแห่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓
และ เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั้น ก็เป็นหลาน (ป้า) แท้ๆในสมเด็จพระศรีสุลาลัย และเป็นหลานยายน้อยของท่านสาด
ผู้สืบสกุลลงมาจาก ท่านสาด จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองด้วย  สมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) ถึงสองชั้น คือทางสมเด็จพระศรีสุลาลัย ๑ และทางเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๑
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล อันมีความหมายถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในสมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั่นเอง

และจาก http://www.yimwhan.com/board ความตอนหนึ่งว่า ๒๖.วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ ถ.สนามบินน้ำ ม.๕ ต.บางกระสอ อ.เมือง นนทบุรี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๐ เดิมชื่อ “วัดแจ้ง” ต่อมาพลโทพระยาสโมสรสรรพการ(ทัด) ศิริสัมพันธ์ ได้มาบูรณะใหม่หมด จึงไดชื่อว่า “วัดแจ้งศิริสัมพันธ์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ เจ้าอาวาส พระครูสุนทรจริยาภิวัฒน์ (ฐิตญาโณ ประจวบ มุตตาฟา)

และจาก http://www.oocities.com/colosseum/bench/6511 เรื่องพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) "คูเรเตอร์" คนแรกของประเทศไทย

ผมย่อยเรื่องและนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกันไม่ค่อยจะได้ความนัก จึงนำเรียนด้วยข้อมูลดิบให้คุณวันดีพิจารณาและสรุปความครับ อย่าให้คะแนนรายงานของผมจนตกนะครับ หกเต็มสิบคะแนนก็ยังดี

ขอเพิ่มเติมอีกหน่อยเกี่ยวกับท่าน จาก http://www.engrdept.com/tahanchangling/tahanchang1.htm ข้อความตอนหนึ่งว่า  “ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯให้คัดเลือกบรรดาพลทหารมหาดเล็กที่เป็นช่าง จัดตั้งกองทหารอินยิเนีย โปรดเกล้าฯให้พระมหาโยธา(นกแก้ว คชเสนี)แต่เมื่อยังเป็นนายนกแก้ว ทหารมหาดเล็กนั้นเป็นหลวงสโมสรพลการ ผู้บังคับกอง มียศทหารเป็นนายร้อยโท....ทหารมหาดเล็กคือ นายพลโท พระสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธุ์)เป็นนายสิบนำทางเรียกว่า ไปโอเนียร์ซายันต์ 1 ...พลทหาร 60 สำหรับกระทำการช่างในกรมนี้ ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดหอคองคอเดีย(คือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังสมัยนี้ : ผู้เขียน)ทหารช่างพวกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ทำการแต่เฉพาะวิชาการทหารในกระบวนยุทธวิธี สรรพการช่างเบ็ดเตล็ดสำหรับกรมก็ได้กระทำทั้งสิ้น เช่น เครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ และอาภรณ์เบ็ดเสร็จที่ควรกระทำได้ มีการแก้ไขอาวุธ และทำหมวก ทำเข็มขัด คันชีพ เป็นต้น... ”

หนังสืออักขราภิธานศรับท์ พิมพ์เมื่อ ปี ค.ศ. ๑๘๗๖ เทียบได้กับ พ.ศ. ๒๔๑๖ ... ต้องลำดับปีกันพอสมควร คิดว่าผมคงไม่ปล่อยไก่จนพาคุณวันดีเข้าป่าหลงทางไปนะครับ


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 11:54


ถ้าคุณลุงไก่เห็นดิฉันตอนเข้าวงการหนังสือเก่าเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว

ลองนึกถึงพัดลมโบราณที่หันซ้ายหันขวา  คอยฟังคนคุยกัน

เปรี้ยวปากมากแต่พูดอะไรไม่ออกสักคำ

ศาสตร์ของหนังสือเก่าหายากในเมืองไทยเป็นเรื่องลึกลับค่ะ

เราเริ่มกันมาตั้งแต่ มิชชันนารีเข้ามาในสยาม  พจนานุกรมต่าง ๆ

ทุกวันนี้ก็ยังตามหากันไม่สิ้นสุด

ไมตรีของคุณลุงไก่ดิฉันน้อมรับด้วยความขอบพระคุณ


คุณลุงรู้จักอาภรณ์สภาคารไหมคะ  เป็นร้านเครื่องเงินและเครื่องทองของหลวง

เป็นของสกุล ศิริสัมพันธ์   ฝีมือระดับสากล


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ย. 10, 12:38
ประวัติพิศดารของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)
นั้นน่าอ่านมาก และหาอ่านยาก   ;)


กระทู้: ก้อก ๆ มาทำไม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 12:45


ผู้ชายสกุลนี้หล่อ  โกนหนวดโกนเคราเป็นปื้นสีน้ำเงินจาง ๆ เลย

หมายความว่ามีรอยสีน้ำเงินที่คางและริมฝีปากนะคะ

ไม่ใช่โกนเคราแล้วหน้าดำ  นั่นชั่นบ้อเหมา