เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 22:08



กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 22:08
สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5

โดยตีความจากกลอนที่ว่า
"ถึงเขมาอารามอร่ามทอง พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืนฯ
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา"

แปลความว่า สุนทรภู่เคยตามเสด็จพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตแล้ว
มาผูกโบสถ์ และได้ชมพระพิมพ์ที่ประดับผนังอีกด้วย
ความที่ยกมาเป็นหมุดเวลาดอกใหญ่ บอกวันเวลาที่แน่ชัด แต่ไม่มีคนเห็นเลย....


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 22:20
ตำราเดิมบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่มาฉลองวัดคือรัชกาลที่ 2
แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เป็นอีกอย่างหนึ่ง
(ดูประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 หมายเลข 320) ดังนี้
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงรับบูรณะวัดนี้ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แต่กว่าจะสำเร็จได้ฉลองวัด
ก็ตกเข้าปีที่ 4 ในรัชกาลที่ 3 ตรงกับปีชวด สัมฤทธิศก 1190 หรือ พ.ศ. 2371

จะต้องมีคนค้านว่า ก็พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงเสด็จมาที่วัดนี้ตั้ง 2 ครั้ง
คือเมื่อเริ่มก่อราก และเมื่อยกเครื่องบน
สุนทรภู่ได้ตามเสด็จ ....มิได้หรืออย่างไร

ตอบว่า มิได้ ถ้าตามเสด็จคราวนั้น จะไม่มีโบสถ์ให้ชม และไม่มีพระพิมพ์ริมผนังด้วย
เพราะการก่อราก จะยังไม่มีอาคาร
การยกเครื่องบน จะยังไม่ตกแต่งผนัง
และทั้งสองครั้ง เป็นการก่อสร้างที่กำลังดำเนินการ ไม่มีใครไปอวดชื่นชมอะไรได้ทั้งนั้น

การที่สุนทรภุ๋ ได้ตามเสด็จงานผูกโบสถ์ จึงเกิดได้สองครั้ง
ครั้งแรกในปี 2371 เมื่อวัดสร้างเสร็จ มีงานฉลอง
ถ้าเป็นครั้งนั้น สุนทรภู่ก็ตามเสด็จรัชกาลที่ 3 ซึ่งในวันที่แต่งนิราศภูเขาทอง
กลายเป็นพระบรมโกศไปเสียแล้ว

แต่ผมไม่คิดว่า กวีอย่างสุนทรภู่จะได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 3 มิใช่ว่าเพราะทรงกริ้ว
ผมไม่เชื่อตำนานเรื่องนั้นอยู่แล้ว
แต่เป็นเพราะรัชกาลที่ 3 ทรงชวนสมเด็จฯ ให้เปลี่ยนมาบูรณะวัดไกล้วัง คือวัดหงษ์ฯ แทน
เรื่องอะไรจะส่งเสริมวัดนอกเมือง
และพระจอมเกล้าก็ทรงเล่าเป็นทำนองไม่เห็นด้วยที่ทรงละการบูรณะวัดเขมา
ทรงปฏิญานว่า หากได้ดี จะบูรณะวัดเขมาให้งดงามให้จงได้

จึงมั่นใจว่า สุนทรภู่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 มาในการฉลองพระอุโบสถ ตอนปลายรัชกาล
และวันนี้ ทรงสวรรคตแล้ว ....แปลว่า สุนทรภู่อยู่มาถึงรัชกาลที่ 5 ครับ

เชิญค้านครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 12:20
ยังค้านไม่ออกค่ะ   
แต่ขอจุดประเด็นเรื่องกาลเวลา ในกลอนบทนี้  มันมีทั้งอดีตและปัจจุบัน

๑)"ถึงเขมาอารามอร่ามทอง พึ่งฉลองเลิกงาน เมื่อวานซืนฯ
เป็นปัจจุบัน (ของกวี)
คือวัดนี้มีงานฉลอง เพิ่งเลิกเมื่อวานซืน  จะเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือ ๔ ก็ตาม
แต่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันของคนแต่งนิราศภูเขาทอง
เดินทางไปภูเขาทอง ผ่านวัดที่งานเพิ่งเลิกหมาดๆ  บอกให้รู้ว่าวัดเขมาในตอนนั้น บูรณะเสร็จงดงามแล้ว อร่ามด้วยลายทอง   ต้องเป็นวัดที่มีโบสถ์หรูหรามาก
งานฉลองนี่ฉลองอะไรไม่รู้  ฉลองวัดที่สร้างเสร็จ หรืองานฉลองประจำปี เป็นได้สองทาง
คำว่าอร่ามทอง ชวนให้คิดว่าวัดนี้น่าจะบูรณะเสร็จใหม่  ไม่นานนัก สีสันยังสวยสดอยู่

๒)โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น  
ย้อนรำลึกความหลัง น่าจะนานมากแล้ว ไม่ใช่แค่สามสี่ปี  เพราะมีคำว่า"ปางหลัง"  บอกบ่งถึงระยะเวลายาวนานจนยุคที่เอ่ยถึงกลายเป็นอดีตจบไปแล้ว  ไม่ใช่ยุคปัจจุบัน
อย่างน้อยก็คนละรัชกาล  หรือสองรัชกาล   

๓)ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา"
ถ้าหากว่าการชมพระพิมพ์ริมผนัง จำนวนแปดหมื่นสี่พัน ที่ว่านี่เป็น ปัจจุบัน  ล่ะคะ
เป็นไปได้ไหม


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 17:43
กวีต้องเคยเห็นวัดนี้ หลายครั้ง
๑)เมื่อมาผูกโบสถ์  ตอนนั้นยังไม่มีพระพิมพ์ (ตามที่คุณพพ.บอก)
๒) มาเห็นอีกครั้ง  เมื่อพระพิมพ์ถูกนำมาประดับผนังแล้ว   
๓) ตอนเดินทางผ่านมา  เห็นอีกครั้ง ถึงออกปากว่า ยังอยู่คงทนดี  ไม่ชำรุดเสียหาย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ส.ค. 07, 21:08
ข้อนี้ผมก็เห็นเหมือนอ.เทาชมพูครับ

เป็นเรื่องการแบ่งวรรคตอน คงจะสรุปไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 21:31
โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด    ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย  
ในนิราศเมืองเพชร   ที่เราพูดกันในกระทู้ว่า แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๔ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์เพียงไม่กี่ปี    หนูพัดลูกชายกวีเป็นหนุ่มพอจะมีเมียได้แล้ว แต่ยังไม่มี
ถ้านิราศภูเขาทองแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๕ จะปีไหนก็แล้วแต่     หนูพัดอายุเท่าไรแล้วล่ะคะ
เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑   ห่างจากพ.ศ. ๒๓๗๔ ถึง  ๓๔ ปี
ถ้าหนูพัดอายุประมาณ ๑๘-๒๐ ในนิราศเมืองเพชร   ตอนนั่งปัดยุงให้หลวงพ่อ  ก็อายุ ๕๒-๕๔   เข้าไปแล้ว    น่าจะเป็นฝ่ายมีลูกชายวัยหนุ่มใหญ่ มานั่งปัดยุงให้มากกว่า

ถ้าคุณพพ.ยืนกรานว่าคนแต่งนิราศเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่ ก็กลับมาลงที่คำถามว่า สมัยโน้นบรรดากวีที่แต่งกลอน  นิยมมีลูกชื่อหนูพัดกันเสียจริง หรือไง
ตั้งชื่อลูกว่าพัดซ้ำกัน อาจบอกได้ว่าคนสมัยนั้นชื่อซ้ำกันเยอะ
แต่คุณพ่อเล่นตั้งชื่อเล่นของคุณลูกชายพัด ว่าหนูพัด เหมือนกันนี่แปลกมาก เพราะไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะเรียกลูกโดยมีคำนำหน้าว่า"หนู"    ซ้ำหนูนั้นก็เป็นหนุ่มแล้วด้วย ก็ยังเรียกอยู่อีก


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ส.ค. 07, 02:41
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า                            พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี                         ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง                              แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว                                  ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ                                ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด                                    ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง                                อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี                                  ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมาฯ

ยังไงก็นิราศเรื่องนี้ท่านรำพันถึงล้นเกล้า รัชกาลที่ ๒ แน่นอนครับ  ตั้งแต่ต้นเรื่องหรือกลอนที่ยกมานี่ก็ใช่  เพราะตามประวัติของสามโคกก็กล่าวว่า  รัชกาลที่ ๒ ประพาสเมืองสามโคก  รษฎรได้นำบัวมาถวายเป็นจำนวนมาก  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า  เมืองประทุมธานี

ถึงเขมาอารามอร่ามทอง                                  พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืนฯ

อันนี้ไม่แน่ชัดครับว่าฉลองอะไร  งานฉลองที่วัดถือเป็นปกติครับ  ส่วนเขมาอารามอร่ามทอง  กลอนน่ะครับก็ต้องสวยวิจิตรเป็นธรรมดา  แล้ววัดนี้เป็นวัดหลวงแต่สมัยกรุงศรีฯด้วย  ก็ต้องสวยงามกว่าวัดราษฎร์ธรรมดาอยู่แล้ว 

โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ                      มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน                              ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง                                เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา

แปลทื่อๆเลยนะครับ  เมื่อแต่ก่อนครั้งสมเด็จฯมาผูกพัทธสีมา  ก็เคยตามเสด็จมาทำบุญด้วย  ได้ชมพระพิมพ์ที่ผนัง  แต่ครั้งนี้ไม่ได้มางานฉลองที่วัดนี้  เพราะตัวเองไม่มีวาสนา

ผูกโบสถ์   ผมถามผู้พอรู้ที่นอนข้างๆผม(อีกแล้ว)  เธอบอกผมว่า  หมายถึงการผูกพัทธสีมา  เป็นสังฆกรรมด้วย  นิยมทำกันหลังจากสร้างอุโบสถเสร็จ  หรือทำการรื้อและปฏิสังขรณ์ใหญ่เสร็จอาจทำให้นิมิตที่แสดงเขตเคลื่อน  เลยต้องทำการกำหนดเขตใหม่หรือผูกพัทธสีมาใหม่ อืม... อันนี้น่าคิด  เพราะตามประวัติจริงๆ  มีงานใหญ่ๆเพียงสองครั้ง  ใน พ.ศ. ๒๓๗๑  ครั้งหนึ่ง (ซึ่งรัชกาลที่ ๒ สวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗)  อีกครั้งก็ใน พ.ศ.๒๔๐๖  คุณพิพัฒน์ทำให้ผมต้องปวดเฮดอีกแล้ว ถ้ามีการฉลองที่ไม่ใช่ทั้งสองครั้งนี้ก็ไม่แน่ชัดครับ เพราะหาหลักฐานการเสด็จของรัชกาลที่ ๒ เพื่อผูกพัทธสีมา ไม่เจอครับ  แต่ถ้าตามเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔  ก็คงต้องเป็นไปตามที่คุณพิพัฒน์ว่าล่ะครับ......... ??? 

ขออนุญาตไปหายาพารามาทานก่อนนะครับ  ว่างๆจะลองหาหลักฐานอื่นมาดูไปด้วย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 03:08
น่าเห็นใจคุณบานา ที่บ้านผมมีแต่ใบบัวบก คงไม่เหมาะจะส่งไปช่วย ฮ่าฮ่าฮ่า

ไม่เชื่อผม ก็เสนอให้เชื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเล่าต้นสายปลายเหตุไว้ ผมจะย่อมาดังนี้
มีผู้ไปทูลพระราชมารดาท่าน ว่าวัดเขมาทรุดโทรม ต้องผู้มีบุญจึงจะบูรณะสำเร็จ
สมเด็จจึงให้เจ้าฟ้ามงกุฏ ไปขอออกมาจากบัญชีกฐินวังหน้า เพราะเป็นเขตรับผิดชอบ
แล้วท่านกับเจ้าฟ้ามงกุฏก็ช่วยกันดูแล พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 และกรมพระราชวังบวร มาร่วมบุญด้วย ถึงเสด็จช่วยสองครั้ง
คือเมือขุดราก และเมื่อยกเครื่องบน

ตรงนี้ ไม่มีทางคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากบอกว่า การก่อสร้างกำลังโกลาหลอยู่ทีเดียว
กวี หากได้ตามเสด็จ ก็คงอยู่ห่างๆ มีแต่เจ้านายที่ทรงประกอบพระราชพิธี...ซี่ง
ยังไม่มีฝาผนังแน่ๆ

ปรากฏว่า แม้จนสิ้นรัชกาลแล้ว งานก็ยังไม่ลุล่วง
รัชกาลที่สามท่านคิดอย่างไรไม่ทราบ ทรงชวนสมเด็จฯให้มาบูรณะวัดหงษ์แทน ท่านจะออกค่าอะไรที่แพงๆ ให้
ให้สมเด็จรับแต่งานก่ออิฐถือปูนก็พอ สมเด็จคงจะทรงเกรงพระทัย ก็ยอมตาม
แต่เจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งวันนั้นเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่เอาด้วย ขอไม่ยุ่ง และปฏิญานว่า ถ้ามีโอกาส จะบูรณะวัดนี้ต่อ ให้งดงามให้จงได้
ข้อนี้แสดงว่า เมื่อทำพิธีฉลองวัดในปี 2371 จึงน่าจะหมายความว่า การปฏิสังขรณ์มาถึงสิบกว่าปี เสร็จสิ้นลง (เสียที)
แต่วัดจะอร่ามทองหรือไม่ ผมคิดตามพระราชนิพนธ์แล้ว คิดว่าคงไม่
เป็นอันจบบทบาทของวัดเขมาที่ยังไม่อร่ามทองครั้งรัชกาลที่ 2 และ 3 แต่เพียงเท่านี้

ผ่านไปถึงสามสิบกว่าปี ตก 2409 พระจอมเกล้าฯ จึงทรงดำริจะปฏิสังขรณ์วัดเขมาอีกครั้ง
ครั้งนี้ ทำจนอร่ามทองแน่ๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ท่านจะอ่านกลอนแบบเว้นวรรค ข้ามเวลา หรือยกข้างหลังมาไว้หน้า พลิกแพลงอย่างไร
ก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินที่มา"ผูกโบสถ์" ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างวัด
ไม่ใช่รัชกาลที่ 2 ไม่ใช่รัชกาลที่ 3
เหลือให้ลือกก็รัชกาลที่ 4

งานนี้มัดมือชกครับ
ท่านหนีไปใหนไม่พ้น ต้องบอกว่าสุนทรภู่อยู่มาจนทันเห็นรัชกาลที่ 4 เสด็จมาผูกโบสถ์วัดเขมาอารามอร่ามทอง
เมื่อปี(ราว) 2410 และวันที่เขียนกลอนท่อนนี้ ทรงสวรรคตไปแล้ว
เว้นแต่ท่านจะบอกว่า กวีที่แต่งนิราศภูเขาทองชื่อเพี้ยง หรือชื่อผู้ อะไรประมาณนั้น
ไม่ใช่สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล

เรื่องนี้ผมยังมีลูกแถมอีกชุดใหญ่
แต่เห็นว่าท่านทั้งหลายคงหนักใจเกินกว่าจะรับอะไรที่แปลกใหม่ได้อีกแล้ว จึงเสนอเพียงเรื่องเดียว

หรือว่าจะรับประเด็นเพิ่มอีกครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ส.ค. 07, 02:45
ครับแค่นี้ก็แย่แล้วล่ะครับท่าน  อันนี้ชัดเจนครับล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  เสด็จครั้งใหญ่และญัตติเป็นแบบธรรมยุติกนิกายด้วย  และเป็นผู้พระราชทานนามวัดจากวัดเขมา  เป็นเขมาภิรตาราม  ถ้าเป็นตอนนี้จริงๆ  ถ้าเป็นท่านสุนทรตามเสด็จฯล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ในครั้งนั้น  ก็ต้องอายุยืนมากล่ะครับถึงจะมาพร่ำเพ้อว่า

โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ                      มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น

เพราะก็ต้องเป็นรัชกาลต่อมา  (พาราอีกสองเม็ด)   หรือจะไม่ใช่สุนทรภู่แต่งจริงๆ  อันนี้ผมกำลังเอียงซ้ายครับท่านอาจารย์เทาชมภู  เอนมาทางท่านพิพัฒน์เต็มๆเลย....... 8)


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 09:59
เอาพาราอีกหนึ่งขวดมาแบ่งกันกินค่ะ

ถ้าหากว่านิราศภูเขาทองแต่งในรัชกาลที่ ๓ จะลงตัวตามประวัติที่รู้กันมามากที่สุด  ว่าสุนทรภู่ย้อนรำลึกถึงรัชกาลที่ ๒
แต่ถ้าแต่งในรัชกาลที่ ๔  ท่านจะต้องย้อนรำลึกถอยไปอย่างน้อยก็ ๒๖ ปี  ถ้าหากว่าปีนิราศภูเขาทองไม่ใช่ปีแรกในรัชกาลที่ ๔ ก็ต้องบวกตัวเลขจาก ๒๖ เข้าไปอีก
ปาเข้าไปสามสิบปี หรือกว่า
ยังมีแรงเดินทางไปโน่นมานี่อีกหรือ    คุณหนูพัดก็ช่างกระไร ไม่เห็นใจคุณพ่อ เอาแต่นั่งปัดยุงกันอยู่สองคนพ่อลูก 
คนหนึ่งก็หง่อม อีกคนก็วัยกลางคน

จึงขอหักคอคุณพพ. เอาดื้อๆว่า
นิราศภูเขาทองแต่งในรัชกาลที่ ๓  นี่แหละ    ปีใดปีหนึ่งใน ๒๖ ปีเศษของการครองราชย์
วัดเขมา จะต้องผูกโบสถ์กันเรียบร้อยแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๒    พระพิมพ์ก็ขึ้นประดับบนผนังเสร็จแล้วตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒
มาเห็นอีกทีหลายปีหลังจากนั้น  สภาพยังดีอยู่    วัดมีการฉลองประจำปีหรืออะไรสักอย่าง   แต่ว่าไม่ใช่เพิ่งจะทำเสร็จ   ทำเสร็จนานแล้ว  บูรณะงดงามอร่ามทองแล้ว
กวีจึงออกปากชมตามนี้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 15:51
ส่วนตัวกระผมเองนั้น...เห็นจะต้องขอสตริ๊กนิน
มิใช่เพราะถูกอาจารย์หักคอ

แต่เป็นเพราะอาจารย์หักพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 ที่ทรงยืนยันว่าวัดนี้สร้างเสร็จ 2371
นี่หมายถึงที่พระราชมารดาทรงสร้างนะครับ
หาได้ทรงเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 เสด็จมา"ผูกโบสถ์"
(ขอกระซิบย้ำว่า ทรงระบุ...เมื่อ"ขุดราก" และเมื่อ"แรกยกตัวไม้เครื่องบน"....จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไปครั๊บ)

ผมเองยังความรู้น้อย
เมื่อเจอคำว่า ขุดราก กับคำว่ายกเครื่องบน ก็ไม่กล้าเอาไปเหมาเป็นคำว่าผูกโบสถ์
เพราะเท่าที่เคยเป็นช่างปูนมา
สามอย่างนี้ เป็นลำดับกันไป มิใช่หลงจ้งล่ำซัมเป็นตีเหมาได้

ส่วนการอ่านกลอนถอยหลัง เอาเรื่องพระพิมพ์ที่อยู่เพรสเซ่นเท๊นส์
ถอยไปเป็นพาสต์เท๊นส์ แล้วเอาเลขแปดหมื่นสี่พัน มาหลอกให้งง
อันนั้นผมว่า เป็นเพราะฤทธิ์ยา อาจจะแรงไปหน่อยทำให้ก่งก๊งคร๊าบบบ.......

หึหึ .....หัวเราะแบบคอหัก


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 21:30
ถ้าจะให้เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ ๕ ให้ได้  ตามหลักฐานการผูกโบสถ์    ต้องลำดับใหม่
แบบนี้หรือเปล่าคะ
๑) สุนทรภู่ไม่ได้เป็นหนุ่มในรัชกาลที่ ๑   เกิดอย่างเร็วก็ตอนปลายรัชกาล
๒) สุนทรภู่ไม่ได้เป็นกวีเอกในรัชกาลที่ ๒ เพราะยังเยาว์อยู่  โตไม่ทันรับราชการ
๓) สุนทรภู่เพิ่งมาเติบโตเป็นหนุ่มและหนุ่มใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 
๔) สุนทรภู่มารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔
๕) พระเจ้าแผ่นดินที่สุนทรภู่คร่ำครวญถึงนักหนา คือรัชกาลที่ ๔ หรือไม่ก็สมเด็จพระปิ่นเกล้า
๖) มาถึงต้นรัชกาลที่ ๕ สุนทรภู่ไปบวช  ออกเดินทางไปตจว. กับลูกชายที่ยังเด็กอยู่ 
เพราะฉะนั้นเรื่องเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในรัชกาลที่ ๑ ก็ดี    เรื่องแต่งกลอนรามเกียรติ์ต่อให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าก็ดี   เรื่องหักหน้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่าด้วยกลอนในละครสังข์ทองก็ดี    เรื่องตกอับตอนสิ้นรัชกาลที่ ๒  เรื่องบวชหนีราชภัยในรัชกาลที่ ๓   เรื่องเป็นครูเจ้าฟ้าอาภรณ์   ฯลฯ
พวกนี้ต้องยกเครื่องใหม่หมด


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 22:10
งั้นเอาใหม่
ถ้าหากว่ายึดตามดวงชะตาสุนทรภู่ ที่สมเด็จกรมฯดำรงฯ ทรงได้มาจากตำราดวงชาตา
บอกว่าสุนทรภู่เกิด 26 มิย. 2329  จากโหรนิรนาม  ที่รวบรวมผูกดวงชะตาไว้
สิ้นรัชกาลที่ 1   2352   สุนทรภู่อายุ 23 ปี กำลังหนุ่มแน่น
เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2   เป็นกวีเอก จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2367
สุนทรภู่อายุ 38 ปี
เริ่มรัชกาลที่ ๓   สุนทรภู่ออกบวช  จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2393 อายุ 64 ปี ถ้าเป็นข้าราชการยุคนี้ก็เกษียณแล้ว 4 ปี
เริ่มรัชกาลที่ 4   สุนทรภู่กลับเข้ารับราชการ  นานเท่าไรไม่ทราบ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4  พ.ศ. 2411  สุนทรภู่อายุ 82 ปี
วัดเขมาสวยงามอร่ามทองในพ.ศ. 2409 เมื่อท่านภู่อายุ 80 ปี
ท่านกวีมาลงเรือไปภูเขาทอง ปีไหนไม่ทราบ  แต่คุณพพ.บอกว่ารัชกาลที่ 5 ก็ต้องอายุ 82 พลัส เข้าไปอีก
หนูพัดไม่ต่ำกว่า 50 เศษ

ดิฉันเชื่อว่าคุณพพ.จะตอบว่า ไม่เชื่อดวงที่ผูกนั่นว่าเป็นดวงของสุนทรภู่
ขอพาราอีกขวดดีไหม


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 22:15
ระหว่างที่คอเกือบหัก เพราะถูกหักคอ สติเลอะเลือน
ท่านกวีเอกมาเข้าร่าง บ่นงึมงัมว่า....

แม่หนูเทาชมภู....เธอน่ะ ถ้าเก่งเลขอีกเรื่องเดียว เห็นจะเป็นนักพงศาวดารตัวเอ้ได้
ฉันจะเล่าเรื่องฉันให้ฟัง

ฉันบอกไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทแล้ว ว่าฉันน่ะ.....อาลักษณ์
พระเจ้าอยู่หัวบรมกวีเห็นฉันมีแวว ก็เลยพระราชทานทูนกระหม่อมเจ้าฟ้าอาภรณ์ ให้ฉันสอนหนังสือ
นั่นน่ะปีเกือบสุดท้ายของรัชกาลแล้วละ เจ้าฟ้าท่านแปดชันษา
ยังไม่ทันเรียนได้เท่าไร พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ปุปปับเหลือเกิน
ในวังหลวงเปลี่ยนระเบียบพิธีใหม่หมด คนเก่าถูกถอดเพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่
ท่านเชิญพระราชมารดาให้ทรงดูแลฝ่ายใน

ฉันมิใช่ข้าหลวงเดิม ก็เลยตกงาน ฉันก็ถือโอกาสบวชเสียเลย ก็มันจะเข้าเบญจเพศอยู่แล้ว
มัวแต่หัวหกก้นขวิด เล่นเพลงยาวจนชื่อเสียงระบือลือเลื่องไปถึงเมืองนคร เขมรและลาว
ก็ที่ฉันต่อเรื่องรามเกียรติถวายคราวนั้นน่ะ ทรงโปรดนักเชียว
ได้รับพระราชทานรางวัลหนักอยู่ นี่ถ้าทรงพระชนม์อยู่ละก้อ ฉันคงจะรุ่งกว่านี้มากมายนัก

ว่าแล้วก็ขอเคี้ยวหมากสักคำก่อนนะ แม่หนู....ง่วม ง่วม ง่วมง่วม....

ฉันไปพึ่งบุญกรมหมื่นชิโนรสท่าน เพราะทรงเอ็นดูที่ฉันเป็นพวกเล่นหนังสือ
โชคดีที่ทูนกระหม่อมฟ้าอาภรณ์โสกันตร์ แล้วต้องออกวัง
ได้รับพระราชทานวังที่ถนนหน้าพระลาน ที่ทุกวันนี้พวกเธอชอบไปมั่วสุมประชุมเรื่องการช่างนั่นแหละ
เจ้าฟ้ากุณฑล พระราชมารดา ท่านก็เลยยกครอกออกมาด้วยกันหมด

ทรงคิดถึงข้าเก่า
ก็เลยมาสั่งให้ฉันไปสอนหนังสือทูนกระหม่อมฟ้ากลางและฟ้าปิ๋ว
วาสนาจึงส่งให้ฉันมีภัตตาหารไม่ขัดสน ....
อ้าว นั่นนั่งฟังจนหลับไปเจียวรึ....บอกแล้วว่าอย่าไปกินยาฝรั่ง

มันยันเอาน่ะสิ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 23:28
แม้....ใจร้อนอีกเล่านั่น
คนสมัยนี้ ชอบเร่งรีบ ทำประวัติฉันหกเลอะเทอะหมด

ฉันสอนทูนกระหม่อมฟ้ากลางอยู่ได้สองปี ตั้งแต่ปีฉลูเอกศก จนเข้าปีเถาะ 2374 พ้ากลางท่านได้โสกันตร์
ฉันก็หมดหน้าที่ กราบถวายบังคมลาไปตระเวณหัวเมืองเสียหลายปี
เพราะติดกิเลสโลภ อยากร่ำรวย มีคนมาให้ปริศนาลายแทงฉันหลายใบ
โอย....ฉันออกตระเวณหัวเมืองงวดนี้ หลายปีอยู่ ยังดีที่ได้รับพระราชทานเงินค่าสอนมาหลายชั่งอยู่
เป็นทุนให้หาเรือ เข้าของอาหาร ไปด้วยกันกับลูกๆ ทั้งหนูพัด หนูตาบ
อ้อ ยังมีหนูกลั่นหลานพระยาสุนทรเสนา ที่บ้านอยูตรงวัดเลียบไง พ่อมันปู่มันตายกระทันหัน
ย่ากับอาไม่เลี้ยง ได้มาอาศัยนับถือฉันเป็นพ่อบุญธรรม
เด็กๆพวกนี้เก่ง ว่ากลอนแตกมาตั้งแต่เด็ก ขี้เล่น ชอบหยอกล้อสาวๆ กำลังหนุ่มคะนอง ฉันเลยจับบวชเณรเสีย
ไม่อยากให้ห้าวนัก

ไอ้ลายแทงนั่นก้อ แสนทุเรศ เหลวเป๋วไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำฉันขาดทุนป่นปี้
ต้องคอตกมาเข้ากรุง ยังดีนะที่ได้อาศัยท่านผู้ใหญ่ อยู่วิหารที่วัดเลียบ แต่อยู่ไม่เป็นสุขหรอก คนเรา ยามจนใครๆก็รังเกียจ
พวกที่เคยมาขอฉันแต่งเพลงยาว บางคนก็ช่วยเหลือบ้าง บางคนก็น้ำใจจืด
เฮ้อ...อนิจจังไม่เที่ยง
ฉันน่ะ อยากจะสึกออกไปหางานการทำ ก็โชคร้ายสิ้นดี เจ้านายมาสิ้นกระทันหัน
เจ้าฟ้ากุณฑลไง ท่านยังสาวอยู่แท้ๆ ปุปปับก็สิ้น นกกาไม่ได้อาศัย ฟ้าอาภรณ์ฟ้ากลาง ท่านก็ยังเด็ก
ฉันก็ไม่กล้าบากหน้าไปพึ่งท่านอีก

โชคดีจริงๆ ที่เจ้านายพระองค์หนึ่ง  เธออย่ารู้เลยว่าพระองค์ใหน
ท่านฝากฝังฉันไปอยู่วัดใหม่ ตรงป้อมมหากาลไงเล่า ที่พระเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานพระองค์เจ้าหญิงวิลาส
ทำเสียงามเลิศ หมู่กฏีเป็นสัดเป็นส่วน ต้องถือว่าบุญพาวาสนาส่ง ได้ฉันทองหยิบฝอยทองพอไม่ให้อดอยากปากแห้ง
อยู่วัดนี้แค่สองปีปลาย ถึงปีขาล 2385 ฉันก็ต้องสึก
เป็นคราวเคราะห์หนักทีเดียว ฉันตรวจดวงชะตาแล้ว ไม่สึกเห็นจะไม่ได้
ยังดีที่เจ้านายใหม่ของฉัน ท่านยอมรับฉันไปอยู่ด้วย เจ้าฟ้าน้อยอย่างไรเล่า
พวกเธอรู้จักใหม ท่านน่ะชอบคนมีวิชา ฉันก็ได้ไปเป็นข้าของท่าน คู่กับตามี ครูดนตรีนั่นแหละ
ท่านอยู่วังเดิม เลี้ยงคนไว้แยะ วังท่านก็มีคนไปมามากมาย พวกฝรั่งมังค่า ท่านก็กว้างขวางอยู่
ฉันก็เลยได้เก็บเล็กประสมน้อยพวกนิยายแปลกๆ ยังได้เรื่องเล่าทะเลนอกทางฝั่งบังกล่า...สนุกอย่าบอกใครเลย

ฉันมาโชคดีมหาศาลเมื่อสิ้นแผ่นดินปลาย ....โอ้ ท่านไม่โปรด ท่านให้เรียกว่าแผ่นดินที่สาม
พอสิ้นแผ่นดิน ท่านฟ้าน้อยก็ได้อุปราชาภิเษกเป็นพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินที่สอง
ตามแบบที่พระนเรศวรเป็นเจ้า ตั้งน้องท่านสมัยกรุงศรีอยุธยาไง

ฟ้าน้อย เอ้ย ....พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็เลยโปรดฯ ตั้งฉันเป็นจางวางกรมพระอาลักษณ์ คู่กับตาฟักของวังหลวง
โปรดให้ฉันเข้าเฝ้าไกล้ชิด ฟ้าน้อยท่านห้าวนัก ชอบเล่นเพลงยาว
ท่านเคยเกี้ยวแม่บุษบาแข่งกันจนแม่นางทิ้งวังหลวงมาอยู่กับท่าน เสียดายที่แม่นี่กล้านัก ไม่พอใจขึ้นมา หนีกลับวังหลวงก็ทำได้

ฉันอยู่กับท่าน ก็ได้อาศัยแต่งนิยายหาลำไพ่ เพราะท่านไม่ห้าม ชอบเสียอีก
ฉันก็ได้อาศัยหนังสือหนังหาของท่าน ดูรูปฟังเรื่อง เก็บเอามาแต่งเรื่องพระอภัยมณี เคยได้ยินไหมเล่า เรื่องนี้น่ะ
ฉันแต่งจนแทบจะหมดมุกทีเดียว ใครๆก็ชอบ ท่านเพงยังมาขอไปทำละคอนชายจริงหญิงแท้
ที่โรงละคอนของท่านใต้ท่าเตียนไง

นึกว่าจะอยู่สบาย จู่ๆ เจ้านายก็เสด้จสู่สวรรค์ จากนั้นแค่สองปี พระเจ้าแผ่นดิน พระจอมเกล้า ก็สวรรคตตามไปอีก
ที่ท่านไปส่องกล้องดูคราสที่หัววานไง คราวนั้นป่วยหนักกันทั้งวัง
ฉันก็เลยต้องบวชอีก อุทิศถวายท่าน นี่ก็ว่าจะไปบูชาพระสถูปที่ภูเขาทอง ยุธยา

แม่เทาชมภูจะไปกับฉันใหมเล่า หนูอายุเท่าไรน่ะนั่น...อ๋อ รุ่นราวคราวเดียวกะหนูพัดหนูตาบ
แล้วแต่งกลอนได้ใหม...แต่อย่ามาแต่งเลียนแบบฉันนา
ทั้งพระนครนี่ เอาแต่ลอกทางกลอนของฉัน จนบางทีจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นใคร....โอยเหนื่อย
ถ้าไม่เพราะรักเจ้านาย เห็นจะไม่ถ่อสังขารไปกรุงเก่าดอก ปีนี้ก็เจ็ดสิบเข้าไปแล้ว


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 ส.ค. 07, 00:22
อิอิ....ไหงมาเจอหลวงตาได้วันนี้   ถ้าเป็นเยี่ยงนี้แปลว่าหลวงตาบวชสองครั้งสิขอรับ  ถ้าเป็นเยี่ยงนี้ก็เข้าเค้ากับประวัติวัดเขมาภิรตาราม  แล้วหลวงตาละสังขารตอนไหนล่ะขอรับ  หลังจากไปภูเขาทองแล้วหลวงตาได้ไปแต่งอะไรอีกหรือเปล่า  และถ้าหลวงตาอายุ ๗๐ ในปีที่ไปภูเขาทอง  ก็แปลว่าหลวงตามิได้เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙  อย่างที่เค้าว่ากันละสินะ  อันนี้ต้องวานคุณโยมเทาชมภู เรียบเรียงประวัติหลวงตาใหม่แล้วล่ะขอรับ........... ;D


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 09:06
หลวงตาแก่แต่ใจยังสะรุ่นอยู่เจ้าค่ะ ท่านประสก Bana   
ดูเอาเถอะ   อายุตั้งเท่าไหร่แล้ว  ยังอุตส่าห์พายเรือไปทัวร์ภูเขาทอง  ไปกันแค่สองคนกับลูกชายวัยสี่สิบ 
หลวงตาแจ้งอายุแต่ไม่ได้ส่งใบสำมะโนครัวมาให้    อิฉันก็ต้องเดาสุ่มทำทะเบียนประวัติใหม่เองนะเจ้าคะ
ผิดถูกประการใด โปรดจิกได้อีกครั้งตามอัธยาศัย

หลวงตาบอกว่าอายุ 70 เมื่อบวชถวายเป็นพระราชกุศลเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จสวรรคต พ.ศ. 2411  แต่หลวงตาไปทัวร์ภูเขาทองเดือนไหนปีไหนไม่แจ้ง
เอาเป็นว่าอาจจะปี 2411  หรือ 2412 อย่างช้าสุด   บวชแบบนี้เขาไม่บวชกันนานนัก
ก็แสดงว่าหลวงตาเกิดประมาณ พ.ศ. 2341 หรือ 2342  เอาปี 2341 แล้วกัน ง่ายๆ  อยู่ในปลายรัชกาลที่ 1

สิ้นรัชกาลที่ 1  พ.ศ. 2352   หลวงตาก็อายุ 11 ขวบ ยังไม่ทันโกนจุก อดเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ อย่างในประวัติ  เพราะโตไม่ทัน
ไปเที่ยวเมืองแกลงหาพ่อก็ยังไม่ทัน   เพราะในนิราศเมืองแกลงบอกว่า ท่านเจ้าอาวาสบวชมา 20 ปี   ก่อนหนูภู่ตั้งเกิด 9 ปี   

หลวงตาเข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2  เมื่อไรไม่แจ้ง  แต่เมื่อสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2367  หลวงตาต้องอายุ 26 ปีเท่านั้น
งั้นแปลว่าต้องเป็นกวีเอกในช่วงอายุน้อยมาก 
ถ้าเป็นสมัยนี้ หลวงตาน่าจะวัยเฉียดๆพวกนักเรียนเหรียญทองแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิค นะเจ้าคะ
รัชกาลนี้หนูพัดน่าจะเกิดแล้ว เพราะรัชกาลที่ ๒ ท่านพระราชทานบ้านหลวงให้แถวท่าช้าง แสดงว่าหลวงตามีครอบครัวแล้ว   
ถ้าตัวคนเดียว คงไม่พระราชทานบ้าน  ให้อยู่กับพ่อแม่  ยังไม่ต้องแยกบ้าน

เริ่มรัชกาลที่ ๓   หลวงตาออกบวช  จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2393 อายุ 52 ปี ยังกระชุ่มกระชวยทำงานได้
เริ่มรัชกาลที่ 4   หลวงตารับราชการ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4  พ.ศ. 2411  หลวงตาอายุ 70 ปี
วัดเขมาสวยงามอร่ามทองในพ.ศ. 2409 เมื่อท่านภู่อายุ 68 ปี

ที่จริงตำแหน่งพระศรีสุนทรโวหาร เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้า   อย่างหลวงตาบอก
ถ้าจะบวชถวายพระราชกุศล  หลวงตาบวชถวายทูลกระหม่อมฟ้าน้อย ที่เสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2408 เสียมิดีกว่ารึเจ้าคะ  เพราะเป็นเจ้านายโดยตรง
จริงละเจ้าค่ะ ตามธรรมเนียมเมื่อสิ้นวังหน้า ขุนนางวังหน้าก็ต้องย้ายมาสังกัดวังหลวง จนกว่าจะมีวังหน้าพระองค์ใหม่
หลวงตาย้ายมาสังกัดวังหลวงได้ 3 ปี  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็เสด็จสวรรคต
ตอน 3 ปีสุดท้ายในรัชกาล  ไม่ทราบว่าโปรดเกล้าให้คุณพระศรีสุนทรโวหารเข้าเฝ้าใกล้ชิด  เรื่องใดบ้าง   
ทรงแต่งบทกวีนิพนธ์บ้างหรือไม่เจ้าคะ   อิฉันรู้เล็กน้อย แต่ว่าทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องดาราศาสตร์  เรื่องการต่างประเทศ แต่เรื่องวรรณคดี ยังไม่ทราบเจ้าค่ะ
แต่หลวงตาน่าจะเป็นที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาก   พอเสด็จสวรรคต หลวงตาถึงกับบวชถวายอีกครั้ง

อิฉันก็ชอบทัวร์    แต่ให้สีกานั่งเรือ    ทัวร์ไปกับพระกับเณร  เห็นทีจะเสี่ยงกับปาราชิกนะเจ้าคะ   ไม่ใช่แค่ปาจิตตีย์   
ถึงหลวงตาแก่แล้ว   ส่วนเณรหนูพัดก็ลดอายุจากสี่สิบฝ่าๆลงไปเป็นสิบขวบได้ก็เถอะ   
อีกอย่าง อิฉันเกิดในรัชกาลที ๙ หลังหนูพัด ๗ รัชกาล คนละวัยกันเจ้าค่ะ
ป.ล.   ถ้าหนูพัดกับหนูกลั่นบวชเณรทุกครั้งที่ไปหลวงตา     เวลาเจอสาวๆในนิราศวัดเจ้าฟ้า เมืองเพชร พระแท่นดงรัง  ก็จีบเขาไปหมดทั้งๆเป็นเณรน่ะหรือเจ้าคะ  โห


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 09:34
นิราศวัดเจ้าฟ้าน่ะ หนูพัดมันแต่งตอนกำลังแก่กล้าวิชา ปีนั้นเจ้าฟ้ากุณฑลเพิ่งสิ้น
หนูพัดเป็นเณรอยู่ อันที่จริงต้องสึกแล้ว แต่ฉันให้บวชถวายต่อไปอีกหน่อยเพื่อถวายพระราชกุศล

จะบอกอะไรให้ฟัง ฉันน่ะได้ถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัวจอมกวีแค่ครั้งเดียวแหละ
ทรงติดเรื่องนางสีดาผูกคอ ว่ายืดยาดเหลือเกิน นางจะตายจริงๆ กลางเวทีเสียละมากกว่า
ฉันได้โอกาส ก็แต่งถวายเข้าไป
ทรงโปรดนัก ถึงได้เป็นพระอาจารย์ถวายหนังสือเจ้าฟ้าอาภรณ์ไง
เรื่องบ้านพระราชทานนี่ฉันไม่รู้เรื่องด้วยนา ใครเอาไปลืออีกหล่ะ
ลือกันได้ลือกันดี ว่าฉันไปแต่งนิราศเมืองเพชร นิราศเมืองสุพรรณ....ไม่มี๊ เคยแต่ไปไม่เคยแต่ง
ฉันแช่งเอาไว้ท้ายนิราศพระปธม พวกเธอไม่เคยอ่านรึ
พวกปลอมชื่อ ปลอมเรื่อง...เฮ้อ คนมีชื่อก็อย่างนี้แหละ
แต่บางคนเขาก็ไม่ได้ปลอมนะ พรรคพวกกัน ว่ากลอนกันประจำ
เขานับถือเขาก็เอาทางกลอนฉันไปเล่นบ้าง สนุกดีออก

ตอนสิ้นพระปิ่นเกล้าน่ะ ฉันก็หมายใจอยากจะบวชถวายอยู่หรอก แต่ยุ่งจริงเชียว
พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ฉันไปช่วยตาฟัก งานการมากมาย
ครั้งนั้นเอกสารต้องทำมากเหลือเกิน แค่สัญญาบัตรตาตั้ง... เอ้ยตราตั้ง ราชทินนามที่ทรงใหม่
มากมายไม่ได้หยุดเลยสักวัน พวกเธอไม่เคยอ่านบาญชีท้ายพระราชพงศาวดารของท่านขำหรือไง
ชื่อพวกนั้นน่ะ พวกเราต้องรับมาทำเอกสารต่อ แล้วพระราชหัตถเลขา ประกาศ หมายรับสั่ง
โอ๊ย....พวกเราทั้งกรมอาลักษณ์ เขียนกันจนหมึกแทบจะหมดท้องพระคลัง

ล่าสุดก็ทรงโปรดให้ฉันแต่งเสภาพระราชพงศาวดารถวาย
คงกลัวฉันจะแต่งนิยายขี้ปดสยดสยองจนเพลิน ได้อ่านหรือยังเล่า แต่งยากอยู่นาเรื่องนี้น่ะ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 11:31
อ้าว หลวงตาเพิ่งมาแต่งนิยายขี้ปดสยดสยอน ชื่อ "พระอภัยมณี" เอาตอนรัชกาลที่ 4 นี่เองรึเจ้าคะ
อิฉันนึกว่าแต่งในรัชกาลที่ 3 เสียอีก  เห็นในประวัติว่าอยู่วัดเทพธิดา ปี 2383-5
เห็นกล่าวไว้ในรำพันพิลาป ถึงพระอภัยมณีศรีสุวรรณแล้วในตอนนั้น
งั้นหลวงตาก็ต้องบวชอยู่วัดเทพธิดาในรัชกาลที่ 4 ก่อนเสด็จสวรรคตสิเจ้าคะ   

ที่ว่าแต่งถวายรัชกาลที่ 2 เฉพาะตอนนางสีดาผูกคอตาย
ลืมตอนรถทรงทศกัณฐ์เสียแล้วหรือเจ้าคะ

อิฉันเชื่อว่าหลวงตาน่าจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 เป็นประจำนะเจ้าคะ    เห็นพระองค์ท่านจนคุ้นเชียวละ
ท่าทางหลวงตาก็ไม่ค่อยจะกลัวเกรงพระองค์ท่านด้วย   ราวกับรู้ตัวว่าเป็นอาลักษณ์คนโปรด
ถึงกับเอาท่านมาเขียนล้อไว้ในกำเนิดพลายงาม

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา                        เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน   แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก           นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมพระภาษราชกิจที่คิดไว้                        กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา

พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงละครนอก   ก็มีอยู่พระองค์เดียวเท่านั้นแหละ และไม่ใช่รัชกาลที่ 4

คนเราถ้าไม่สนิทสนมกัน ไม่กล้าแซวกันหรอกเจ้าค่ะ  ถ้าอีกฝ่ายเป็นผู้ยิ่งใหญ่   ถ้าแซวท่านก็ต้องรู้ใจว่าแซวแบบนี้ ท่านอารมณ์ดี ไม่โกรธ     
โกรธสมัยนั้นถึงหัวขาด     ไม่ใช่แค่ถูกด่า
ต่อให้เก็บมาแซวตอนเสด็จสวรรคตไปนานแล้ว ก็ต้องแน่ใจว่าใครอ่านแล้วไม่ไปกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อมาให้กริ้ว


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 11:49
ตอนนี้ท่านภู่กลับสวรรค์ชั้นเทพกวีไปแล้ว ผมต้องโม้เองแระ

รำพันพิลาปแต่งถึงวัดเทพธิดาน่ะถูกต้อง แต่ไม่ได้แต่งที่วัดเทพธิดารครับ
มาแต่งที่แพหน้าวังเดิม หรือบางทีจะมาแต่งที่วังหน้าด้วยซ้ำไป
ในกลอนมีกล่าวถึงจิ้งเหลนไฟ ถึงพวกหัศเกน
ของพวกนี้ ตอนปีขาลสงสารวัด ชาวบางกอกยังไม่รู้จักกันครับ
แล้วตอนสามพราหมณ์ชมตลาด ไปเห็นสนามหน้าจักรวรรดิ ที่หัดพล
สมัยรัชกาลที่สาม การหัดทหารแบบตะวันตก ทำที่บ้านท่านช่วง มารัชกาลที่ 4 ท่านให้โยกมาอยู่ใต้ท่านเพง ลูกเลี้ยงท่าน
จึงมา"หัดพล" ที่สนามหน้าจักรวรรดิคร๊าบบบ.....

ส่วนท่อนชมราชรถนั่น ท่านสุนทรบอกเองหรือครับ ว่าท่านแต่ง
คนที่บอกว่าท่านเป็นผู้แต่งท่อนนี้ใช่ใหม ที่บอกว่าพระกลดหักทองขวางกางกั้นสามเณรพระองค์เจ้า
มีคนลือกันมากเรื่องกลอนปลาร้าปลาแจ่วก็เป็นท่านภู่ กลอนปาฝาบ้านก็ท่านภู่ แม้แต่กลอนบัตรสนเท่ห์ก็ท่านภู่
ขอแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อสักหน่อยเถิดครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 12:03
รำพันพิลาปแต่งถึงวัดเทพธิดาน่ะถูกต้อง แต่ไม่ได้แต่งที่วัดเทพธิดารครับ
มาแต่งที่แพหน้าวังเดิม หรือบางทีจะมาแต่งที่วังหน้าด้วยซ้ำไป

ได้โอกาสหักคออีกครั้ง

แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด            ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์
เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน              เจริญพรภาวนาตามบาลี
ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ                 ให้สุขสิ้นดินฟ้าทุกราศี
เงียบสงัดวัดวาในราตรี                     เสียงเป็ดผีหวี่หวีดจังหรีดเรียง

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย      อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน       เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

ถ้าคุณพิพัฒน์เคยบวชตอนหนุ่มๆ   นานหลายปีก่อน   ปัจจุบัน มีครอบครัวมีลูกแล้ว
ย้อนระลึกถึงสมัยยังบวช     คงไม่แถลงในหนังสือว่าว่า "พระพิพัฒน์" เป็นผู้แต่งเรื่องนี้  แทน "นายพิพัฒน์"หรอกนะคะ

ยกมาเบาะๆก่อน   




กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 12:13
คอไม่หักเลยหลานเอ๋ย...พระภู่บอก
ก็ท่านแต่งเล่าเรื่องสมัยอยู่วัด บวชเป็นพระนี่นา
จะให้ท่านเรียกตัวละคอนคนนั้นว่านายภู่ที่เคยเป็นพระภู่หรือ

การที่ท่านเรียกตัวเองเป็นเป็นบุคคลที่สาม ก็แสดงว่า ท่านแยกแยะได้เหมาะเจาะอยู่นะครับ
เป็นกลเม็ดการประพันธ์ขั้นสูงทีเดียว
เทคนิคนี้ พระจอมเกล้าใช้เสมอครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 12:21
ไม่เห็นด้วยเรื่องแซวพระเจ้าแผ่นดินครับ
ถ้ากลอนพระพันวษาทรงกลอนละคอนนอกหมายถึงรัชกาลที่ 2 จริง ก็ต้องแต่งหลังพระองค์มานานมากๆ
เห็นมีแต่ศรีธนญชัยเท่านั้นแหละครับ ที่มีเรื่องไร้สาระอย่างนี้
ไม่มีใครในแผ่นดิน จะกล้าสนิทสนมพระเจ้าแผ่นดินถึงแสดงออกอย่างนั้นได้
แล้วถ้าปมนี้เป็นจริง เราก็หาคนจริงๆจากในขุนช้างขุนแผนได้หมดทั้งรัชกาลเลย
เรียกว่าประวัติศาสตร์แฝงนัยยะในขุนช้างขุนแผน
ทรงละคอนนอกก็เป็นของจริง
ขุนแผนติดคุกก็เป็นของจริง
ถ้างั้นนางวันทองนี่ใครดีครับ ขุนช้างอีก...แนวนี้ต้องให้แดนบราวน์เขารับเหมาไปละครับ

ผมขออ่านแค่ผิวๆ แบบพิวพิ่วประถมสี่ ก็พอไหวครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 07, 17:04
เรื่องวัดเขมาผมยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะสำนวนกวีมีพลิกมีแพลง บางทีต้องแบ่งวรรคตอนให้เหมาะๆถึงจะแปลได้ตรงเจตนากวี

แต่มีกลอนอยู่ตอนหนึ่งดังนี้

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า       พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี     ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ          ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด             ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง          อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี           ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมา


นิมนต์หลวงตาลงองค์ชี้แจงอีกสักครั้งเถิดขอรับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 17:49
แหม่....หนูเครซี่แกล้งเซอะ ระวังจะเซอะจริงๆ

ใจฉันน่ะ คิดถึงแต่เจ้าฟ้าน้อย เพราะท่านขุดฉันขึ้นมาชุบเลี้ยง ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เพราะท่าน
จริงอยู่ เจ้านายเดิมของฉันคือสมเด็จองค์อัปษร เจ้าฟ้ากุณฑล แต่ทรงจากไปเร็วเหลือเกิน น่าเวทนานัก
ทูนกระหม่อมทั้งสามก็ยังเด็ก จะรักษาพระองค์เองให้ยั่งยืนก็ยังยาก
จะมาดูแลข้าเก่าอย่างฉัน เห็นจะเป็นไปไม่ได้

ฟ้าน้อยท่านโปรดกวีกานต์อยู่แล้ว เมื่อท่านเป็นใหญ่ ได้รับโปรดเกล้าเป็นแม่ทัพ ได้ครองวังเดิม
ท่านจึงเมตตากวีเร่ร่อนอย่างฉัน ให้นอนที่แพหน้าวัง เรียกหาเข้าเฝ้าตลอดไม่ถือพระองค์
แม้แต่ทรงอุปราชาภิเษกแล้ว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองแล้ว ก็ยังโปรดเกล้า ตั้งฉันเป็นขุนนางผู้ใหญ่
คนเราน่ะนะ ได้เจ้านายดี ก็เหมือนเลือกเกิดใหม่ได้
ฉันก็เลยแต่งสวัสดิรักษาถวายพระองค์ยอร์ช วัตชิงตันแทนดอกไม้ธูปเทียน
เมื่อสิ้นท่าน ฉันเหมือนตามืด อกแตกเป็นเสี่ยงๆ อนิจจาเอ๋ย คนแก่ต้องมาทำงานพระเมรุส่งเจ้านายอีกแล้ว

ตอนที่เรือแล่นมาถึงปทุม ฉันเห็นบัวก็นึกถึงพระองค์ท่าน อยากจะส่งขึ้นสวรรค์ไปบูชา
ประโยคแรกก็บอกโต้งๆแล้วว่า "ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า"
หนูเครซี่ไปหาถี .....ว่าในบ้านเมืองเรา ปิ่นเกล้าหมายถึงอะไร

แต่ใจฉันมันชอบเปรียบความ ฉันก็นึกได้ว่าเมืองปทุมนี้น่ะ ได้ชื่อพระราชทานเหมือนกะฉันเลย
จะไม่เหมือนก็ตรงที่ชื่อเมืองยังคงอยู่ แม้ผู้ตั้งจะลับโลกไปแล้ว
อนาถใจที่ตัวฉัน พอฟ้าน้อยท่านกลับสู่สวรรค์ นามที่ท่านตั้งฉัน ก็หมดสิ้นไปด้วย
หนูคงไม่รู้กระมัง ว่าเจ้านายสิ้นพระชนม์น่ะ ข้าทาสบริวารกระสานซ่านกระเซ็นอย่างไร
"สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ" ฉันน่ะถึงออกจากราชการเลยทีเดียว
เพราะตำแหน่งต่างๆประจำพระราชวังบวร เป็นของตั้งจำเพาะพระปิ่นเกล้า สิ้นท่านก็สิ้นนาม
พระองค์ยอร์ช แม้จะได้รับยกย่อง ก็เป็นแต่พระองค์เจ้าวังหน้า
หามีตำแหน่งอันใดในทำเนียบไม่ จะมีหรือไม่ในภายภาคหน้าก็ไม่มีใครกล้าเดา
แต่ตำแหน่งคุณพระจางวางของฉันน่ะนะ วูบเดียวก็สิ้นตามพระปิ่นเกล้าท่าน ไปแล้วไปลับ

สมมติว่าฉันเป็นขุนสุนทรในรัชกาลที่สองนะ สิ้นแผ่นดิน นามฉันก็ไม่สิ้นดอก
เพียงแต่จะอยู่ในหรือนอกราชการเท่านั้น ที่ใหนจะเขียนกลอนผูกมัดอย่างคำข้างบนได้
หนูอ่านกลอนยังไงหือ ถึงไม่เข้าใจ
แล้วถ้ายังคิดว่านามสุนทรโวหารฉันได้มาแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ฉันก็ยังได้นามนี้มาอีกหลังรัชกาลท่าน จริงใหม
อ้างอย่างในกลอนไม่ได้เด็ดขาด สิ้นไม่สิ้น ต้องเข้าใจให้แจ่มแจ้ง
คนที่รู้เรื่องได้หัวร่อฟันหัก ว่าอาลักษณ์เลื่องชื่อ เปรียบเปรยผิด อายไปถึงชาติหน้าทีเดียว

เอาอย่างนี้ หนูเครซี่...ค่อยๆ อ่านตามฉันนะ
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
ท่อนนี้ฉันคิดถึงเจ้านาย เจ้านายฉันในวันนั้นชื่อพระปิ่นเกล้า เข้าใจใหม
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัวตรงนี้ ฉันวางคำไว้เป็นบทตั้ง เพราะอยากจะส่งไปเปรียบกับคำต่อไปว่า

โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
นี่ไง เข้าใจไม่เข้าใจ ฉันเอานามเมืองมาเทียบนามฉัน
เอาการพระราชทานมาเทียบกับของฉัน
แต่ของฉันมันไม่เที่ยง
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ          ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 18:10
มาช่วยคุณอาชาผยองหักคอใครบางคนอีกที

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า       พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี     ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

หลวงตาเจ้าขา  มันเป็นไปไม่ได้เลยที่กลอนบทนี้จะหมายถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
๑) คือมันไม่มีตอนไหนเลยที่แสดงถึงความเกี่ยวโยงระหว่างเมืองสามโคกกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
๒) สุนทรภู่ท่านไม่ได้บอกว่าเห็นบัวแล้วนึกอยากส่งไปบูชาเจ้านายบนสวรรค์นะเจ้าคะ
ท่านบอกว่า ถึงสามโคกแล้วนึกถึงพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้ทรงปกครองกรุงเทพให้เจริญ
พระปิ่นเกล้าฯท่านไม่เคยบำรุงกรุงเทพ   ท่านเลี่ยงห่างจากการบริหารบ้านเมืองด้วยซ้ำ   ไม่ให้พี่ท่านระแวงแคลงใจ   
๓) พระเจ้าแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสามโคก โดยตรง คือรัชกาลที่ ๒ ผู้ประทานชื่อเมืองเสียใหม่  ว่าปทุมธานี
ข้าเก่าของท่านก็เล่าถึงพระเกียรติคุณเอาไว้ประกอบ
ถ้าไปคิดถึงพระปิ่นเกล้า  ก็เหมือนขึ้นต้นประธานประโยคไว้เฉยๆ  ไม่มีกริยาและกรรมในประโยค

นอกจากนี้  หลวงตาลืมนิราศหนองคายแล้วหรือ  ว่าเขาเอ่ยถึงหลวงสุนทรโวหารเอาไว้    หลวงสุนทรฯนะเจ้าคะ  ที่หลวงตาเคยเป็น ก่อนจะได้เป็นพระศรีสุนทรโวหาร

หลวงตาน่ะดังมาก่อนตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ แล้ว  พอสิ้นรัชกาลที่ ๒
"สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร           ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม"
ไงเจ้าคะ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 18:52
หนูเทาชมภูต้องมานั่งข้างหนูเครซี่แล้วตั้งใจฟังอีกทีนะต๊ะ

บางอย่างคำกลอนมันไม่ต้องบอก แค่ส่งนัยยะไปถึงก้อพอ
เมืองสามโคก เขาได้ดีเพราะเขามีบัว
คนไทยเห็นบัว จะให้นึกถึงอะไรล่ะจ๊ะ นึกถึงฝอร์ดรึไง....555

ฉันไม่ได้อยากจะพูดถึงสามโคกดอก ถ้ามีแต่บัว แต่ฉันมันพวกแก่พงศาวดาร
รู้มาว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 (ที่มีคนชอบตู่ว่าซี้กับฉัน) พระราชทานพระนาม
ฉันเองก็นามพระราชทานเหมือนกัน เอามาเข้าคู่กัน อย่างฉันน่ะ จะเล่นความเปรียบ ก็ต้องหลายชั้นหน่อย
ถ้าหนูคิดว่าสุนทรนี่เป็นนามพระราชทานมาแต่รัชกาลที่ 2
ฉันก็อ้างไม่ได้ว่าชื่อสูญ เพราะชื่อฉันไม่สูญ แม้สิ้นรัชกาลแล้ว
แล้วฉันเองก็ออกจะเลือนๆ เรื่องแผ่นดินที่ 2 แล้วล่ะ เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 45 ปี
กลิ่นอะไรจะติดทนนานถึงขนาดนั้น

อีตาทิมอะไรนั่น มันเด็กรุ่นหลัง เอ่ยถึงฉันไว้อย่างไรล่ะ ว่ามาถี
ฉันว่าในเพลงยาวถวายโอวาทก็บอกไว้แล้วนา ว่าเป็นแค่อาลักษณ์ ไม่ได้มีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นขุนเป็นหลวงอะไร
ในกรมอาลักษณ์น่ะ มีเก่งๆ หนุ่มๆ อย่างฉันมากมาย แต่ฉันน่ะมันถนัดทางเพลงยาว ก็เลยมีชื่อเลื่องลือ

โอ้...เหนื่อยวุ้ย ปลอมเป็นคนแก่


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 20:15
"ว่ากันว่า แม้แต่เทวดาก็ขืนใจคนหัวดื้อไม่ได้"
                                  นิทานเวตาล
                                       พระนิพนธ์ น.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์


"สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ        พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร"

ถ้าไม่ได้มีราชทินนามแล้วจะให้หมายถึงอะไรล่ะเจ้าคะ หลวงตา    อาลักษณ์เป็นคุณหลวง เป็นขุน  มีทั้งนั้น  หลวงลิขิตปรีชางี้  ขุนพจนาพิจิตรงี้
ในนิราศหนองคาย จำได้เลาๆว่าเอ่ยราชทินนาม หลวงสุนทรโวหารไว้ค่ะ ทำให้มาเชื่อกันทีหลังว่าสุนทรภู่ได้เป็นหลวงแล้วในปลายรัชกาลที่  ๒ ก่อนจะไปถวายตัวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
สุนทรภู่เอ่ยถึง สามสาร เมื่อพูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน  ในผลงานชิ้นหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องไหน    สามสาร หรือช้างเผือกสามเชือก  มีในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่รัชกาลที่ ๔


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 20:17
สามสารแปลว่าช้างสามชนิดครับ
ตามตำราว่าไว้ ต้องไปค้นมาอีกทีครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 07, 21:40
มีกลอนตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองที่อาจใช้เป็นเบาะแสในการกำหนดอายุได้ครับ
มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง             คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
หากสามารถสอบได้ว่าผู้รั้งกรุงเก่าคนไหนที่เคยเป็นไวยก็คงใช้เป็นหลักฐานได้ค่อนข้างหนักแน่นครับ
น่าคิดว่าผู้รั้งกรุงเก่าที่เคยเป็นไวยนี้น่าจะเป็นไวยในบทนี้ด้วย

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง              คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย           แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
ถ้าทั้งสองไวยเป็นไวยเดียวกันจริง ก็เห็นได้ว่ากวีคงจะสนิทกับผู้รั้งกรุงเก่าผู้นี้ไม่น้อย ตำแหน่งจมื่นไวยวรนารถเป็นตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก หากกวีคบหาสนิทสนมและหมอบกราบอยู่ข้างกันก็น่าจะเป็นคนวัยใกล้เคียงกัน ไม่รู้ว่าพอจะชี้อะไรได้บ้างหรือไม่นะครับ

หากยึดตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง ผู้รั้งกรุงเก่าสมัยร.๓ คือพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งท่านว่าเป็นพระนายไวยสมัยร.๒

แต่ถ้าสุนทรภู่ไปกรุงเก่าต้นรัชสมัย ร.๕ ผู้รั้งผู้นี้ก็คงเป็นพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร)

ก็ไม่รู้ว่าท่านช่วงจะเคยเป็นไวยมาก่อนหรือเปล่านะครับ

อีกอย่าง ไม่รู้ว่าท่านจะอายุราว ๗๐ พอๆกับท่านภู่ของคุณพิพัฒน์ในช่วงเวลานั้นหรือเปล่า

แต่ผมเดาว่าท่านช่วงน่าจะหนุ่มกว่านั้นแยะครับ เพราะเจ้าจอมมารดาแสง ลูกสาวท่าน เพิ่งจะถวายตัว อายุยังไม่ถึง ๑๘ เลย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 22:17
ถ้าสุนทรภู่อาลัยพระปิ่น พระจมื่นไวยก็ต้องเป็นของทางฝ่ายวังหน้า
พระจอมเกล้าโปรดให้พระอนุชามีตำแหน่งข้าราชการเลียนแบบวังหลวงทุกอย่าง
ผมยังหาทำเนียบนามวังหน้าไม่เจอ
จะได้รู้ว่าไวยของวังหน้า มีหรือไม่


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 07, 22:22
กลับไปคุ้ยกระทู้เก่าในเรือนไทยเรานี้เอง อ.เทาชมพูเคยยกบทกลอนเฉลิมพระเกียรติของท่านเผือกมาให้อ่าน ที่กระทู้สามแผ่นดิน

อันวัดวาอาวาสประหลาดสร้าง
ยักย้ายหลายอย่างโบสถ์วิหาร
ช่อฟ้าหางหงส์ทรงบุราณ
ไม่ทนทานว่ามักจะหักพัง

พระอารามนามราชโอรส
หน้าบันชั้นลดลายฝรั่ง
กระเบื้องเคลือบสอดสีมีพนัง
เป็นอย่างนอกออกปลั่งปลาบปลิว

ลางหลังตั้งวงเป็นทรงเก๋ง
จีนสำเพ็งพวกแซ่แต้จิ๋ว
วิชาช่างจ้างทำเป็นแถวทิว
แจกติ้วให้ตั๋วตั้งครัวเลี้ยง

ทางกลอนคุ้นๆไหมครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 22:36
ทำเนียบนามขุนนางวังหน้า  ไม่มีหัวหมื่นมหาดเล็กที่ขึ้นต้นว่า "ไวย" ค่ะ
นี่ตอบจากความจำ
จมื่นไวยวรนารถ กับศรีสรรักษ์ เป็นตำแหน่งวังหลวง
แต่จะค้นหนังสือมาให้อีกที

ทางกลอนของพระยาไชยวิชิต  คล้ายๆกลอนบทละครสมัยรัชกาลที่ 2  ไม่ใช่กลอนสุภาพของสุนทรภู่

       พระยาไชยวิชิต                             สุนทรภู่
ลางหลัง/ตั้งวง/เป็นทรงเก๋ง         ทวยหาญ/โห่ร้อง/ก้องกัมปนาท
จีนสำเพ็ง/พวกแซ่/แต้จิ๋ว            สุธาวาส/ไหวหวั่น/ลั่นเลื่อน
วิชาช่าง/จ้างทำ/เป็นแถวทิว         บดบัง/สุริยัน/ตะวันเดือน
แจกติ้ว/ให้ตั๋ว/ตั้งครัวเลี้ยง           คลาดเคลื่อน/จัตุรงค์/ตรงมา


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 07, 10:18
เจอหนังสือทำเนียมนามขุนนางวังหน้าแล้วค่ะ   

กรมอาลักษณ์
พระสุนทรโวหาร              จางวาง                ศักดินา 2500
หลวงลิขิตปรีชา               เจ้ากรม                ศักดินา 1500
ขุนสาราบรรจง                ปลัดกรมขวา          ศักดินา   800
ขุนจำนงสุนทร                ปลัดกรมซ้าย          ศักดินา   500

อ้าว เพิ่งรู้ว่าหลวงตาเป็นจางวางกรมอาลักษณ์ ไม่ใช่เจ้ากรม   สูงกว่าเจ้ากรมอีกนะคะ
ที่เพิ่งเห็นก็คือ  บรรดาศักดิ์หลวงสุนทรโวหารที่ระบุไว้ในนิราศหนองคาย เชื่อกันว่าเป็นสุนทรภู่  นั้นสังกัดกรมราชบัณฑิตย์ของวังหน้า  ไม่ใช่วังหลวง
แต่ก็เป็นได้ว่า  ในรัชกาลที่ 2   เมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์แล้ว  ขุนนางวังหน้าก็โอนไปสังกัดวังหลวงตามกฎหมาย  จนสิ้นรัชกาล
ถ้าหากว่าสุนทรภู่ได้เป็นหลวงสุนทรโวหาร  ก็น่าจะเป็นหลังปีที่กรมพระราชวังบวรฯสิ้นพระชนม์แล้ว

ทีนี้มาดูว่า กรมมหาดเล็กวังหน้า มีใครบ้าง
กรมมหาดเล็ก
พระยาบำเรอบริรักษ์          จางวาง                ศักดินา   1000
พระสุนทรานุกิจ                ปลัดจางวาง          ศักดินา   500

ระดับหัวหมื่นมหาดเล็กในวังหน้า  มี
เวรชิดภูบาล
จมื่นมหาดเล็ก                ศักดินา   500

เวรชาญภูเบศร์
จมื่นเด็กชาย                  ศักดินา   500

เวรเสน่ห์รักษา
จมื่นมหาสนิท                ศักดินา   500

เวรมหาใจภักดิ์
จมื่นจิตรเสน่ห์                ศักดินา   500

จมื่นไวยวรนารถ  อยู่วังหลวงค่ะ  ไม่มีจมื่นไวยวังหน้า


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 11:49
เอ.....ตาก็ว่าเคยบอกหลายหนแล้วนา...ว่าตาน่ะเป็นจางวางกรมในพระบวรราชวัง
พวกหนูก็ไม่มีประวัติตาที่คุณพระปริยัติเธอเก็บเล็กประสมน้อยเอาไว้
ในนั้นเขาเล่าว่า
ตาน่ะเป็นจางวางที่ไม่หยิ่ง ไม่เหมือนจาวางของกรมสมเด็จพระปรมาฯ...ขานั้นเจ้ายศเจ้าอย่างจนคนเขาลือ
พ่อเทพฯ ที่มายัดเยียดนามสกุลให้ตานั่นเขาก็ป่าวประกาศเรื่องตาเป็นจางวางออกโครมๆ

เห็นรึยัง ว่าฟ้าน้อยท่านเมตตายิ่งใหญ่เพียงใด
แล้วจะไม่ให้ตาอาลัยท่านอย่างในนิราศภูเขาทองละหรือ
แล้วเจ้านายน่ะ...เขาห้ามแสว เอ่อ หรือแซวหว่า...ช่างเถิดภาษากระเหรี่ยงตาไม่คุ้น
จ้วงจาบเจ้านายมันอกตัญญู โบราณห้ามขาด รู้ไหม
ยิ่งหากว่าเป็นเจ้าเหนือหัวที่ทรงพระราชทานยศฐาบรรดาศักดิ์ให้
ใครอื่นอาจจะทำ แต่สุนทรภู่ไม่ทำ ....เขาใจใหม

พวกหนูๆ นี่ก้อ ชอบเชื่อแต่คำลือ ไม่ยอมเชื่อคำจริง....เฮ้อ
กุ้มจาย....กุ้มจาย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 07, 15:51
อ้าว  ถ้างั้นกำเนิดพลายงามก็แปลว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่ง
หรือแปลว่า
คนแต่งไม่เคยเป็นขุนนางในรัชกาลที่ ๒ กันแน่ล่ะเจ้าคะ หลวงตา


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 16:47
ประวัติของฉาน
มีพิรุธมากมายขนาดนี้ .....พวกหนูๆ ยังจะเชื่อ ไอ้ที่เขาเขียนกันอีกหรือจ๊ะ
มีตรงใหนล่ะ ที่พะยี่ห้อสุนทรภู่ไว้ในคุ้นช้างคุ้นแผน

พระราชนิพนธ์ทั้งหลายตั้งแต่รามเกียรติลงมา ช่วยกันแต่งถวายตั้งหลายสิบฝีปาก
ทำไฉน จึงมีชื่อฉานอยู่หน่อเดียว ว่าแต่งท่อนโน้น ท่อนนี้
พวกหนูไม่สงสัยบ้างละหรือ

ถ้าจะแต่งประวัติฉาน ให้มันเข้าท่าสมเป็นยุคพาราเวบวิถีละก้อ
ช่วยถอนสะเก็ด ฝอย สากเสี้ยนออกจากชีวิตด้วยเทอะ...จะขอบพระเดชพระคุณนัก
ฉานน่ะไม่เคยอ่อนข้อแก่ผู้ใดในเรื่องหนังสือ
แต่ม่ายอยากเอาฝีปากคนอื่นมาเป็นของตัว

ทำบาญขีงานหดสั้นไปกว่าจริง ยังไม่น่าเกลียดเท่าตู่เอาของชาวบ้านมาเป็นของตัวน่ะนา....

(ฮ่า ฮ่า ฮ่า....หัวร่อแบบไม่เมาเหล้าแต่เมารัก)


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 07, 17:14
มิน่าล่ะ
ขอคัดลอกพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาให้หลวงตาอ่านนะเจ้าคะ
จาก" อธิบายบทเสภา เล่ม ๒"
ตอนที่ ๒๔  กำเนิดพลายงาม   
ตอนนี้ถ้าใครเคยสังเกตกลอนสุนทรภู่จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด  ว่าเป็นของสุนทรภู่แต่ง   จะเป็นสำนวนผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด   
ถ้ายิ่งสังเกตกระบวนกลอนในตอนนี้  จะเห็นได้อีกชั้นหนึ่งว่า  สุนทรภู่ประจงแต่งกลอนตลอดทั้งตอน  โดยจะไม่ให้แพ้ของผู้อื่น   
ดูเหมือนจะกล่าวได้ว่า   สำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่างๆ  ไว้ จะเป็นเรื่องพระอภัยมณีก็ตาม   เรื่องลักษณวงศ์หรือเรื่องอะไรๆก็ตาม
ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้
*****************
ขอยกตัวอย่างกลอน
แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก               คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน       จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
***************
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น       แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์   โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 17:30
ท่านนักอ่านทั้งหลาย
ประโยคนี้ ถ้าไม่พะยี่ห้อว่าใครเป็นเจ้าของข้อความ ท่านจะเชื่อใหมเล่า....

"ดูเหมือนจะกล่าวได้ว่า สำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่างๆ  ไว้
จะเป็นเรื่องพระอภัยมณีก็ตาม เรื่องลักษณวงศ์ หรือเรื่องอะไรๆก็ตาม
ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้"

ตื่นๆๆๆๆๆ
ได้เวลาอ่านหนังสือใหม่แล้ว ถอดแว่นสมเด็จฯ ออกด้วยนะหนู
อ่านด้วยใจอันเปรื่องปราดของหนูๆ เองนั่นแหละ

เฮ้อ...ฉานละกลุ้มใจจริ้ง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 ส.ค. 07, 23:35
อิอิ.....เข้ามาในนี้ดันมาเห็นหลวงตาเมารักซะแล้ว 

ผมเชื่อนะว่าในยุคกวีรุ่งโรจน์  จอมกวีในยุคนั้นต้องมีไม่น้อยเชียว  แบบว่าอาจจะคล้าย อาร์เอส  แกรมมี่ เบเกอรี่ ฯลฯ  แบเป็นสำนักต่างๆ  หรืออยู่วังต่างๆที่เจ้านายทั้งหลายก็คงต้องหามาประดับบารมี  เหมือนกับที่เที่ยวหายอดฝีมือดนตรีมาประดับตัวนั่นล่ะครับ 
แต่ผมเชื่อที่สุดเลยนะครับ  ส่งที่ศิลปินไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็ตาม  ไม่มีวันที่จะยอมเลียนแบบหรือเอาทางผู้อื่นมาเป็นของตนเอง(ยกเว้นสำนักเดียวกัน)  ไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม  ต่างก็ต้องมีลายมือของตัวเองทั้งนั้น  อันนี้เรียกทิฏฐิศิลปินก็ว่าได้  ต่างคนก็มักเอาทางของตนมาประชันหรือโชว์  โดยให้เด่นหรือเหนือผู้อื่นในทางของตน  ลองศึกษาดูได้ครับในศิลปะทุกแขนง  เหมือนรูปวาด  ของโกแกง  ปิคาสโซ่  อ.จักรพันธ์ อ.ปรีชา  จะชัดเจนครับ 

และนี่ก็เป็นอีกอย่างครับที่เป็นลักษณะเด่นของท่านมหากวี  นอกจากจินตนาการแล้ว  ทางของท่านท่านจะรักษารูปแบบ  แบบไปอยู่ตรงไหนก็จะบอกยี่ห้อว่าเป็นท่าน  แม้แต่คำที่นิยมใช้  แต่นี่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกครับที่จะฟันธง

ตอนนี้เหลืออยู่ว่าตำนานหลวงตา  กับแนววิเคาะห์ของท่านสีกาเทาชมภู  เวลาของใครจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด  แต่เท่าที่ทราบตามประวัติโดยรวม  ยุคทองของกวีคือสมัยรัชกาลที่สองครับ  อันนี้ยากจะหักล้าง  เพราะผลงานมากมายที่เกิดในยุคนี้เป็นข้อยืนยัน ................. >:(


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 09:23
ที่เคยเรียนมา รัชกาลที่ ๒ เป็นยุคทองของวรรณคดี(เก่า)  ส่วนรัชกาลที่ ๖ เป็นยุคทองของวรรณคดี(ใหม่)ที่รับอิทธิพลจากตะวันตกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เห็นด้วยกับคุณ Bana ค่ะ
แต่มองแยกเป็น ๒ ทาง
ถ้าแต่งร่วม เช่นอิเหนา รามเกียรติ์  พวกนี้กวีทั้งหลายแต่งตาม"ทาง" ของเรื่อง หรือตามพระราชนิยม
แต่ถ้าแต่งส่วนตัวละก็  ตาม"ทาง"ของตัวเอง
แม้แต่นายมีเอง  ถึงเดินรอยตาม"ทาง"สุนทรภู่  แต่ถ้าอ่านละเอียดลงไปจริงๆ ความเป็นนายมีก็ยังอยู่ในตัว
นายมี เป็นคนเรียบๆ ประณีตบรรจง  แต่ว่าไร้อารมณ์ผูกพันกับสิ่งใดมากมาย เรียกว่าตาดูหูฟังอะไรก็พรรณนาตามนั้น   อ่านแล้วให้อารมณ์สบายๆ เหมือนกินอาหารอ่อนๆอย่างซุป  กลืนง่าย อร่อยดี แต่ไม่ติดลิ้น

อันว่าเจ็บเจ็บแผลพอแก้หาย             ถ้าเจ็บกายแล้วชีวาจะอาสัญ
แต่เจ็บแค้นนี่แลแสนจะเจ็บครัน          สุดจะกลั้นสุดจะกลืนฝืนอารมณ์
อ่านแล้วเห็นแต่คำว่าเจ็บ  แต่ไม่รู้สึกว่าเจ็บมากแค่ไหน

แต่สุนทรภู่ เป็นอาหารสำรับ  มีแกงเผ็ด แกงจืด น้ำพริกผักจิ้ม  ยำ และของหวาน  ครบชุดครบทุกรส 
อารมณ์แสดงออกชัด  ไม่ใช่แค่อารมณ์รักหรือโศก แต่มีความอหังการ์ของกวีเต็มตัว  ขนาดด่ายังเพราะเลยค่ะ


หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ           ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ           พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชรฯ
   
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง                 แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชาฯ
   



กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ส.ค. 07, 09:44
ตามที่ผมไม่ได้เรียนมา
คิดว่าครั้งรัชกาลที่สองเป็นยุคทองของกวีพระราชสำนัก
ปัจเจกบุคคลมาสำแดงตัวเอาในรัชกาลที่สาม
อาจจะเป็นเพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ส่งเสริมกวีนิพนธ์เข้มแข็งเหมือนรัชกาลก่อน
จึงเปิดโอกาสให้กวีนอกราชสำนักเจริญก้าวหน้า เพราะยุคนั้นคนเก่งยังเต็มพระนคร

ในเมื่อไม่มีศูนย์รวมอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ก็ต้องมาเก่งข้างนอกครับ
พูดมายาวก็เพื่อจะยืนยันว่า บทประพันธ์ชนิดที่บอกว่าฉันแต่ง ไม่น่าจะมีในรัชกาลที่หนึ่งที่สอง
เว้นแต่คนสำคัญแต่ง....กระมัง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 07, 11:55
ทางกลอนของสุนทรภู่ นอกจากจะมีอุดมคติว่าเป็นกลอนแปดใช้สัมผัสในสองคู่แล้ว ยังมีเรื่องเสียงเข้ามาเกี่ยวด้วยนะครับ

ส่วนที่เห็นได้ชัด และอธิบายได้ง่ายก็คือเสียงท้ายวรรค ซึ่งใช้ดังนี้
วรรคสดับ - ใช้ได้ทุกเสียงยกเว้นเสียงสามัญ
วรรครับ - เสียงจัตวา
วรรครอง - เสียงสามัญ
วรรคส่ง - เสียงสามัญ

กลอนเสภายืดหยุ่นได้ก็จริง แต่เฉลี่ยอยู่ที่ ๗ คำ ใครมาแต่งก็ต้องตามจังหวะนี้ให้เหมือนๆกัน ไม่งั้นก็โดดออกมาครับ

แต่เรื่องเสียงที่ว่าไว้ข้างต้นเป็นความนิยมส่วนบุคคล เหมือนนักดนตรีแจ๊ซมาแจมกัน ทีใครทีมัน เชิญโซโล่ตามสบายขอให้อยู่ในจังหวะเท่านั้นแหละ

ผมเห็นว่าเสียงกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนตอนกำเินิดพลายงามนี้ ไม่ใช่เสียงกลอนของสุนทรภู่ทั้งตอนครับ น่าจะมีคนอื่นแต่งร่วมด้วยปะปนกันไปทั้งตอน

หรือถ้าคิดว่าสุนทรภู่แต่งโดยยึดตามประวัติเดิม ก็อาจคิดได้ว่าตอนนั้นเสียงกลอนของท่านสุนทรยังไม่ตกผลึกเป็นแนวทางชัดเจน

แต่... จะอธิบายยังไงกับเสียงกลอนในนิราศเมืองแกลงที่ว่ากันว่าแต่งก่อนหน้านั้นล่ะครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 15:25
ลองขบคิดคำอธิบายให้คุณอาชา จนปวดหัว
ข้อใดข้อหนึ่งตามนี้  ไหวไหมคะ
๑) สุนทรภู่แต่งกำเนิดพลายงามเป็นเสภา ไม่ใช่กลอนนิราศหรือกลอนเพลงยาว  เลยต้องเอนเอียงไปทางกลอนเสภาให้เข้ากับกวีหน้าพระที่นั่งอื่นๆ
ไม่งั้นจะ "โดด" ออกมา
๒) สุนทรภู่เขียนแบบ"ทางตัวเอง" แต่พออ่านถวายหน้าพระที่นั่ง ถูกเพื่อนกวีด้วยกัน  เป็น"มนุษย์อุตริติต่างต่าง" ให้แก้ทางกลอนเป็นแบบคนอื่นๆเขา
ท่านก็กัดฟันกรอดๆหลายครั้ง แต่จำต้องแก้ไขตามนั้น     เลยออกมาเป็นทางที่เฉไฉจากทางของท่านอยู่บ้าง

ตำนานเรื่องสุนทรภู่ท้วงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   หน้าพระที่นั่ง  ในเรื่องแต่ง"สังข์ทอง"    เป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม
แต่มันสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งได้ว่า  การประชุมกวีแต่งเรื่องวรรณคดีกันในสมัยนั้น มีการแก้ไข  ตัดตอน  แต่งเติม กันเป็นปกติธรรมดา   อาจจะอุตลุดยิ่งกว่าการแปรญัตติในสภาเสียอีก

สุนทรภู่คงโดนแก้โดนติมาเยอะ    แล้วคนที่แก้นั่นแหละ  ตัวเองแต่งอะไรขึ้นมา ก็กลายเป็นแต่งตาม"ทาง" สุนทรภู่   คือมีสัมผัส มีเสียงรับส่ง แบบที่ท่านชอบ (อย่างที่คุณอาชาอธิบายข้างบนนี้)  เพราะมันเพราะพริ้งไงคะ 
ดิฉันเคยอ่านบทละครนอกเก่าๆ ฉบับที่ไม่ได้ตีพิมพ์  ในหอสมุดแห่งชาติ   แต่งโดยกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์
แต่งโดยวรรคส่ง คำท้ายเป็นเสียงจัตวา ทำแบบนี้กันหลายบท   เป็นของธรรมดา  โอ้โฮ อ่านแล้วฟังไม่ได้เลย ไม่รื่นหู 
มันเหมือนฟังเสียงแซกฯ ที่จู่ๆแทนที่จะลดต่ำลง   ก็แผดเสียงสูงปรี๊ดขึ้นมาเฉยๆ จนสะดุ้งกันไปทั้งโรง
เพื่อนกวีของท่านภู่นี่ละ หลายคนด้วย  ติท่านแล้วมาใช้ทางกลอนแบบท่าน  ไม่ให้เครดิตสักคำ  ท่านถึงฉุนจัด  สาปแช่งเอาไว้

อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง                 แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชาฯ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 16:30
๓) สุนทรภู่ไม่ได้แต่ง กำเนิดพลายงาม
๔) สุนทรภู่ แต่งกำเนิดพลายงาม บางส่วน ไม่ใช่ทั้งตอน

ข้อ ๓ เหมือนโยนระเบิดลงมากลางวง  ให้คุณอาชาและคุณ Bana หูอื้อเล่น    ส่วนหลวงตาอาจจะยิ้มกริ่มอยู่ในหน้า

มีอะไรอย่างหนึ่งใน กำเนิดพลายงาม ที่ดิฉันสงสัยอยู่นานแล้ว ไม่รู้จะถามใคร
คือตอนที่กล่าวถึงขุนแผนติดคุก  แต่เป็นนักโทษชั้นดี อยู่ที่หับเผย  วันๆก็สานกระบุงตะกร้าขายไปตามเรื่อง เป็นรายได้เล็กๆน้อยๆเลี้ยงตัว

อยู่เปล่าๆเล่าก็จนพ้นกำลัง       อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก        ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย     แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป

กระทาย คือกระบุงขนาดเล็ก    เล็กพอจะแขวนไว้ได้ในร้านขาย ไม่ใช่ภาชนะใหญ่ขนาดต้องตั้งกับพื้น
ราคาใบละหนึ่งบาท   เป็นราคาถูกในสมัยนั้น ขนาดขุนแผนบอกว่า "คาดได้ด้วยง่ายดาย" คือลูกค้าเห็นก็ซื้อ ไม่บอกว่าแพง
ถ้าแกขายได้    วันหนึ่งขายได้ ๑๐ ใบ ก็ได้เงินวันละ ๑๐ บาท
แขวนไว้ทั้งเรือนออกเกลื่อนไป เห็นจะมีมากกว่า ๑๐ ใบ ตีเสียว่า ๕๐ ใบ ขายหมดก็ได้ ๕๐ บาท ต่อครั้ง
ทีนี้   กระบุงใบเล็กที่ราคา ๑ บาท กวีถือว่าถูก  เป็นกระบุงสมัยรัชกาลไหน

ในรัชกาลที่ ๒    ค่าของเงิน ๑ บาท ซื้อกระบุงเล็กหรือกระทายได้ใบเดียวเท่านั้นหรือคะ

ยังเคยอ่านพบว่า สมัยรัชกาลที่ ๖  ครอบครัวพ่อแม่ลูกหลายคน ปู่ย่าตายายก็อยู่ในบ้าน จ่ายกับข้าววันละ ๑ บาทเท่านั้นก็พอกิน

ศาสตราจารย์นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี  ท่านเคยเขียนนิยายเรื่อง"เพื่อนนักเรียนเก่า" เล่าว่าประมาณรัชกาลที่ ๗ หรือต้นรัชกาลที่ ๘   เพื่อนคนหนึ่งอยากได้กระเป๋านักเรียน ราคา ๑ บาท พ่อแม่ซื้อให้ไม่ไหว  ต้องรับจ้างแจกใบปลิวหน้าโรงหนังเก็บเงินซื้อเอง

นั่นคือรัชกาลที่ ๗ ห่างจากรัชกาลที่ ๒  หนึ่งร้อยกว่าปี   หนึ่งบาทถือว่าเป็นมูลค่าแพงสำหรับครอบครัวจนๆ เกินกว่าจะซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยให้ลูก

ถอยหลังกลับไปอีกหน่อย  ในสี่แผ่นดิน   ตอนคุณนุ้ยอาของคุณเปรมมาดูตัวแม่พลอย  ควักเงินออกมาแจกช้อย ๕ ตำลึงให้ไปซื้อผ้านุ่ง
ช้อยดีใจ บอกว่าเงินขนาดนี้ซื้อได้ผ้านุ่งทั้งกุลี  ไม่ต้องเลือก
๕ ตำลึง เท่ากับ ๒๐ บาท    ได้ผ้านุ่งสวยๆชั้นดี ของชาววังถึง  ๒๐ ผืน
ผ้านุ่งอย่างดี ชาววังนุ่งในปลายรัชกาลที่ ๕  ราวๆพ.ศ. ๒๔๔๓  ราคา ๑ บาท ถือว่าสมเหตุผล
แต่ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ ๒  ระยะ ๒๓๕๒-๒๓๖๗  ก่อนหน้านี้ตั้งเกือบร้อยปี    กระบุงหวายสานใบเล็กๆใบเดียว ราคาเท่าผ้านุ่งชาววัง ถือว่าเป็นกระทายราคาถูก   
มันไม่สมเหตุผลเสียเลย
ท่านอื่นๆว่ายังไงกันคะ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 07, 21:11
กำเนิดพลายงาม บอกว่าสุนทรภู่ไม่เกี่ยวเลย ผมยังทำใจเชื่อง่ายกว่าบอกว่าสุนทรภู่แต่งคนเดียวทั้งตอนครับ

เสียงกลอนบางตอนเหมือนกลอนสุนทรภู่ แต่หลายๆตอนก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องเสียงกลอนตลาดกับกลอนเสภาต่างกันหรอกครับ

งานของนายมีก็เดินตามเสียงของสุนทรภู่ เขาถึงลือกันว่านายมีเป็นศิษย์สุนทรภู่ จริงเท็จอย่างไรไม่รู้

แต่นิราศที่ถูดจัดเข้าสารบบงานของสุนทรภู่ เดินตามรอยนี้ทั้งหมด ยกเว้น.. นิราศพระบาท... เรื่องเดียวโดดๆ ที่เพี้ยนทั้งแบบกลอน เพี้ยนทั้งเสียงกลอน เพี้ยนทั้งเรื่องราวแวดล้อม และเพี้ยนกระทั่งประวัติตัวกวีเอง ดูผิดที่ผิดทางไปหมด เอาไงเอากันครับ  8)

เรื่องค่าเงินสมัยนั้น ยังไม่ได้เป็นระบบ currency แบบปัจจุบันครับ เงินหนึ่งบาทคือเนื้อเงินแท้หนักหนึ่งบาทเอามาขึ้นรูปเป็นเงินพดด้วง ดังนั้นค่าเงินไม่เฟ้อตามเวลา ราคาสินค้าจะขึ้นกับอุปสงค์อุปทานเป็นสำคัญครับ

จำไม่ได้แล้วว่านิราศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บอกราคาค่าจ้างลากโยงเรือที่คลองโยง ราคาลำละหนึ่งสลึงครับ
อีกตอนหนึ่งบอกเรื่องซื้อกล้วย (พูดเป็นนัยว่าราคาถูก) ราคาเครือละเฟื้องเดียวเท่านั้นเอง

จดหมายเหตุโหรในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘ ตอนหนึ่งมีความว่า

ปีมเสง จ.ศ.๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) เข้าเกวียนละ ๗ ตำลึง เข้าสารถังละ ๓ สลึงเฟื้อง
ปีเถาะ จ.ศ.๑๑๙๓ (พ.ศ. ๒๓๗๔) เข้าแพงเกวียนละ  ๘  ตำลึง

ราคาปกติไม่ทราบ แต่อย่างแพง ก็ ๗-๘ ตำลึงต่อเกวียน ตกราว ๓๐ บาทเท่านั้นเองครับ

ในขณะที่จดหมายเหตุของหมอบรัดเลในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๒ บอกว่า
ปีชวดจุลศักราช ๑๒๒๖ พ.ศ.๒๔๐๗
พฤศจิกายน ที่ ๒๑ มีกำปั่นพ่อค้าทอดอยู่ในลำแม่น้ำพร้อมกันถึง ๑๐๐ ลำ ไม่เคยมีมากเหมือนอย่างนี้มาแต่ก่อน เรือเหล่านี้มาซื้อเข้าสารจะไปขายเมืองจีน เปนเหตุให้ราคาเข้าสารขึ้นทันที จนถึงเกวียนละ ๑๒๐ บาท แลเกวียนละ ๑๒๕ บาท ไม่เคยมีราคาเท่านี้มาแต่ก่อน

พอจะเห็นภาพครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 21:48
เอ ดิฉันไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ก็เลยยังไม่เข้าใจอยู่ดีละค่ะ คุณอาชา
ค่าเงินมันจะเกิดจากอุปสงค์อุปทานอะไรไม่รู้   ไม่ได้หมายความเรื่องนี้   หรือคุณอาชาตอบแล้วดิฉันไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ
ดิฉันทราบแต่ว่า  จำนวนเงิน 1 ชั่ง = 20 ตำลึง 
                                     1 ตำลึง = 4 บาท
                                     1 บาท  = 4 สลึง
                                     
คืออุปสงค์ อุปทานจะมากหรือน้อย  ชั่งก็ต้องมากกว่าตำลึง ตำลึงมากกว่าบาท   อยู่นั่นเอง

ยกเรื่องค่าจ้างควายลากเรือมาก็ดีแล้วค่ะ
ในรัชกาลที่ ๓ (อาจจะอนุโลมว่ารัชกาลที่ ๒ ด้วย) ค่าจ้างควายลากเรือที่คลองโยง  ลำละ ๑ สลึง    แต่ราคากระทายในยุคเดียวกัน ใบละ ๑ บาทได้เชียวหรือ
สานกระทาย ๑ ใบเท่ากับควายลากเรือ ๔ ลำ    ดิฉันสานกระทายขายวันละ ๑๐ ใบ มีเงินเข้ากระเป๋า เท่ากับคุณอาชาเจ้าของกิจการควายลากเรือ ต้องลากถึง ๔๐ ลำ
วันไหนขายดีได้ ๒๐ ใบ คุณอาชาต้องให้ควายลากถึง ๘๐ ลำ ถึงได้เงินเท่ากัน
งั้นเลิกกิจการมาสานกระทายขายไม่ดีกว่าหรือคะ

ที่ถามเพราะสงสัยว่า ราคากระทายที่ใบละ ๑ บาท นั้นจะไม่ใช่ราคาข้าวของสมัยรัชกาลที่ ๒ น่ะค่ะ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ส.ค. 07, 21:54
ในกลอนบอกว่าเป็นกระทายเคลือบรัก
ชวนให้คิดว่าไม่ใช่ของภาคกลาง เพราะเครื่องสานของภาคกลางทาน้ำมันยาชัน
อาจบางทีจะเป็นกระทายชั้นสูง

ก็จะขัดกับที่บอกว่าสานง่ายๆ สานง่ายนั่นมันกระทงใบตอง....5555
บางทีกวีของเราจะไฮโซเสียจนตีราคาของไม่เป็น และเห็นว่าเงินบาทหนึ่ง เป็นเงินเล็กน้อย

ผมเคยเอาราคาข้าวเป็นตัวเทียบ เกียนละ 30 บาทเมื่อแพง เมื่อไม่แพงก็คงตก 20 บาท
เดี๋ยวนี้ซื้อข้าวหนึ่งเกียน เห็นจะต้องใช้เงินกว่า 5000 บาท ตีเสียว่าเป็นข้าวเบา ไม่ได้ราคา
เพราะฉะนั้น หนึ่งบาทวันนั้น จะซื้อข้าวได้ 1 ใน 20 เกียน
เท่ากับ 20 หาร 5000 เท่ากับใบละ 250 บาท แพงโคตๆ ละครับ กะทายใบละยี่สิบบาทก็แพงมากแล้ว
ตอนที่ผมออกภาคสนามกับครูของผม


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 22:17
ไม่ไหวมั้งคะ     

ถ้าท่านกวีของเราท่านไม่รู้จักทั้งวิธีสานกระทาย ทั้งราคาขายกระทาย  แล้วมาแต่งตอนนี้ได้ยังไง ให้ขุนแผนนั่งเล่นนอนเล่นอยู่ในหับเผยเฉยๆก็ได้  ง่ายกว่า
วิธีเล่าว่า เมียช่วยทารัก  ผัวถักขอบรัดกระหวัดหวาย เป็นวิธีทำกระทายที่บรรยายไว้ทะมัดทะแมงราวกับกวีเคยเห็นมาเอง
ถ้าเดาสุ่มว่ากระทายมันคงทารักมั้ง  ไม่รู้แน่ว่าเอาอะไรทา  อ้ำๆอึ้งๆได้แต่เดา  คงไม่มั่นใจพอจะบรรยายแบบนี้

ดิฉันไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเอารักทาหวาย    รักทาแล้วเป็นสีดำ หมายถึงเคลือบให้คงทนหรือเปล่า   ไม่เกิดเชื้อราบนหวายหรือไงคะ?
หรือเป็นกระทายอีกแบบที่คุณพพ.ไม่เคยเห็น    เพราะเลิกทำกันมานานแล้ว
แต่มันจะต้องไม่ใช่กระทายไฮโซแน่ๆ  เพราะแขวนขายไว้ทั้งเรือนออกเกลื่อนไป  แสดงว่าเอาไว้ขายชาวบ้านร้านถิ่น 

เอางี้  ยุคคุณพพ.ออกภาคสนามกับครู  กระทายใบละ ๒๐ บาทถือว่าแพงแล้ว
สมัยอาจารย์ท่านเป็นเด็กหนุ่ม กระทายใบละเท่าไร  ๑๐ บาท?
ทีนี้ กระทายใบละ ๑ บาท เป็นราคาปกติในท้องตลาด   จะถอยหลังไปวางขายในตลาดสมัยไหน 
ตลาดเก่า ๑๐๐ ปีสามชุก ทันไหมคะ





กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ส.ค. 07, 22:34
ทารักเพื่อกันน้ำครับ น้ำรักจะทำให้เส้นหวายแข็งแรงขึ้น
แต่รักจะเป็นสีดำ ของก็ไม่งาม ทางเหนือผสมแดง กลายเป็นเครื่องเขิน
กวีบรรยายไม่ชัด บอกไม่ได้ว่ารู้จักกระทายมากขนาดใหน
แต่บอกได้ว่าไม่รู้เรื่องสานกระบุงกะต้าเลย

จริงๆมันไม่ง่ายนะครับ ต้องหาหวายมาทำเส้นตอก ต้องรูดให้เท่ากันทุกเส้น
จะเอามาจากใหนเล่า หวายไม่ใช่งอกในทุกที่
มีที่เก็บกอง มีแท่นวางเครื่องมือ ซึ่งประกอบด้วยมีดหลายขนาด เสารูด (เขามีชื่อเรียก ผมก็ลืมรเ
เส้นตอกที่กองไว้ พร้อมใช้งาน
นั่งสานไปก็ต้องเป็นที่สงบ ม่ายงั้นสอดตอกผิดอีก สอดไม่แน่นอีก สอดไม่หม่ำเหมออีก
โอ้ย...สารพัด

จะว่าไปก็คงเหมือนนักเขียนที่ไม่เป็นเรื่องกับข้าว แต่ดันเขียนให้ตัวเอกเป็นพ่อครัว
แล้วน้ำรักนั่นก็ต้องต้ม มีเตา มีหม้อ มีแปรงทา เมียต้องนั่งทำในที่อับลม
ตอนผึ่งก็ต้องหามุ้งครอบ หรือมีห้องเฉพาะ ไม่งั้นฝุ่นจับเสียของ

สรุปว่า กวีคนนี้ ว่าไปเรื่อย คิดว่าเครื่องสานเป็นของง่ายจนไม่เคยใส่ใจ
กระทายใบละบาทในรัชกาลที่ 2 ก็คงเทียบระดับน้องๆกระเป๋าลุ่ยติงต๊อง
ประมาณนั้นแหละครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 07, 22:50
ถามแบบเกมโชว์
ท่านคิดว่า
๑) กวีท่านนี้ไฮโซ อยู่สูงเหนือชีวิตชาวบ้านสานกระบุงมากมายนัก จะเป็นเพราะเป็นกวีราชสำนักมาแต่เกิด
หรือเกิดมาเป็นคุณชาย พ่อแม่ไม่เคยยอมให้เห็นบ่าวสานกระบุงใกล้ๆ เห็นอยู่ห่างๆ
๒) กระบุงกระทายสมัยนั้น  เขาสานกันง่ายและคล่องกว่าสมัยนี้  เหมือนปลูกข้าวสมัยนั้น ชาวบ้านเขาก็ทำกันง่าย  เด็กสิบขวบก็ช่วยพ่อแม่ปักดำได้   เด็กสมัยนี้ถ้าให้สอบวิชาปลูกข้าว ไอคิวสูงขนาดไหนก็สอบตก
เราเลยคิดว่าปลูกข้าวมันยาก   
๓) สุนทรภู่ไม่รู้จักวิชาสานกระบุง  เคยอยู่แต่ในวังหลัง 
๔) คนแต่งตอนนี้เป็นใครก็ตาม ไม่ใช่สุนทรภู่   เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สามัญชนอย่างสุนทรภู่จะไม่รู้เรื่องที่ชาวบ้านเขาทำกัน
๕) เรื่องนี้แต่งในยุคที่กระทายราคา ๑ บาท
๖) กวีผู้แต่งเรื่องนี้ไม่รู้แม้กระทั่งว่ากระทายใบละเท่าไร   บอกเกินจริงไป ๑๐๐ กว่าเท่า
ถ้าเป็นข้อ ๖ ขอแทรกว่ากวีอื่นที่ช่วยกันแต่งขุนช้างขุนแผนก็คงไม่รู้ราคากระทายเหมือนกันหมด  ไม่งั้นคงท้วงกันบ้างแล้ว ว่าคุณหลวง(หรือคุณพระ) ขอรับ กระทายคุณหลวงใบละเจ็ดหมื่นบาทเชียวนะขอรับ(คิดตามกระเป๋าแบรนด์เนมค่ะ)


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ส.ค. 07, 23:20
ไม่คิดว่าคณะกวีที่ประชุมกันแต่งเสภานั้น จะมีใครรู้จักสานกระบุงกระทาย หรือแม้แต่หุงข้าวเป็น
สมัยก่อนชนชั้นไม่ปนเปื้อนกัน ใครอยู่สูงก็ยากจะมารู้จักของต่ำ
ถึงได้มีเกร็ดเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวถูกท้าทายว่าแต่งกลอนชาวบ้านไม่เป็น
แต่ขอประกาศตรงนี้ก่อนว่า ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 กำเนิดเป็นสามัญชน
อายุสามสี่ขวบก็วิ่งเล่นลานวัดแถวอัมพวา เพราะพ่อเป็นยกกระบัตร
แม้จะเป็นลูกผู้ดี แต่ในปีนั้น สังคมปั่นป่วน จึงน่าจะทรงคุ้นเคยกับชีวิตติดดิน

แต่คนที่เข้ารับราชการนั้น เขาสืบตระกูล ยิ่งได้ไกล้ชิด ยิ่งต้องมีตระกูลสง่าผ่าเผย
ท่านเหล่านี้ ให้หุงข้าวก็คงไหม้ ให้ปิ้งปลาประชดแมว แมวก็คงเดินหนี เพราะไหม้
ทีนี้ ถ้าเราจะย้ายเรื่องจากนิราศภูเขาทองมาเป็นเสภาขุนช้างขุนแผน
ผมก็จะขอตั้งหลักถามท่านเสียก่อนว่า

ที่เรียกว่าประชุมกวีนั้น ท่านเคยเห็นหรือไม่ ถ้าไม่เคยเห็น ขอคำสันนิษฐานกระบวนการทำงานหน่อย
ผมจะได้คิดตามครับ
แล้วในงานที่ประชุมกันเขียน ท่านเห็นรอยต่อ หรือจุดเด่นที่จะแยกว่ากี่กวี ที่น่าจะมาร่วมมือ

ถ้าท่านตอบได้ ผมจะได้เชื่อท่าน ยอมรับนับถือและดำเนินความคิด ตามแต่การชี้นำของท่าน....55555


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 ส.ค. 07, 01:21
อิอิ.......เข้ามาวันนี้ไหงมาลง "กระทาย" ได้ล่ะครับอาจารย์เทาชมภู  small basket หรือกระทายนี่นะ  อืมมมมม
วันนี้ท่านอาจารย์เทาชมภูเล่นเอาดอกใหญ่เลย  แค่กระทายใบเล็กๆ  แต่เป็นเรื่องใหญ่ได้  เพราะจริงอย่างที่ท่านอาจารย์ว่าครับ  ไม่มีข้อโต้เถียง  ยุคไหนก็ตาม  ใบละบาท มากไปครับ  สมัยผมเด็กๆอ่ะใช่ครับ  ใบละบาทถือไปพายไปบางทีก็เอามาคล้องกับหัว  เวลาไปเก็บผลไม้หรือผักบางอย่าง  สำหรับเด็กๆก็ใช้ได้เพราะไม่ใหญ่นัก  แต่เอาหวายถักทำขอบนี่ผมทำเป็น  แต่ทารักนี่ไม่เคยเห็นครับ  จริงอย่างท่าน CH ว่า  พาลให้ไปนึกถึงเครื่องเขิน  ถอยหลังไปหน่อย  ที่ดินที่ยุคคุณปู่ผมซื้อจนเป็นมรดกมาถึงรุ่นผมเนี่ย  20 ไร่  15 บาทครับ  อาจแย้งว่าบ้านป่าเมืองเถื่อน  แต่ก็ราคานี้จริงๆครับ  ปัจจุบัน ไร่ละประมาณ 10000-15000 บาทครับ

ถ้าเราจะอ้างว่าแค่กลอนพาไป  ในที่ประชุมน่าจะมีใครหักคอบ้างอ่ะครับ

ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย

อาจเปลี่ยนเป็น

ใบสลึงพึงได้โดยง่ายได้

หรือ

ใบละไพขายได้ด้วยง่ายดาย           อิอิ (ขออภัยบังอาจเทียบครู)

ผมคิดว่าในยุคทองของกวีนั้น  ล้นเกล้าฯรัชกาลที่สอง  คงจะมุ่งไปทางละครมากที่สุดครับ  กวีที่ปรึกษาหรือการประชุมกวี  น่าจะเกี่ยวกับบทละครเป็นส่วนใหญ่  หรือเป็นวรรณคดีที่ยกมาชำระ  ก็เพื่อนำมาเล่นละคร  โดยเรื่องก็จะสืบสานมาจากกรุงศรี  แล้วรวบรวมมาปะติดปะต่อ  หรือแต่งใหม่บางตอน  อาจมีบางเรื่องที่แต่งใหม่เลย  บทกลอนกับละครเลยน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันในสมัยนั้น

ถ้าให้นึกภาพแบบท่านพิพัฒน์  ผมว่าน่าจะเป็นแบบ  กวีที่ปรึกษาคนไหนพระองค์เห็นสมควร  ก็จะตัดทอนแบ่งบทตอนสักตอนไปให้แต่งมาอ่านถวาย  ถ้าเป็นที่พอพระราชหฤทัยก็เป็นเครดิตไป  หรืออาจจะมีพระราชประสงค์ให้ได้ยินกันหลายๆคน  แล้วก็แก้ไขบ้างถ้ามีการท้วงติงกันขึ้น  เรียกว่านำไปแต่งที่บ้านแล้วนำมาอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง  ต่อหน้ากวีที่ปรึกษาอื่นๆอีกหลายท่าน ก็น่าจะกดดันพอสมควร เพราะพระองค์ท่านก็ยอดกวี  และกวีที่สามารถเข้าไปถวายงานในวังได้ก็ต้องระดับบรมครู  หรือก็ยอดกวีทั้งสิ้น  แต่ก็นั่นล่ะครับ  ความเป็นศิลปินมีผลงานย่อมจะต้องชอบแสดง  และผมเชื่อว่าต้องพระราชทานโอกาสให้ทุกคน  แบบว่าทุกคนเสมอกันในที่นั้น  จะเป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือขุนนางระดับไหนก็ตามทักท้วงถามกันได้  แต่ก็นั่นแหละ  ในความคิดของผม  ผมว่าก็ต้องมีเกรงๆใจกันอยู่บ้าง  และคิดว่าพระองค์ท่านนั่นล่ะครับที่จะทักท้วงถามเหตุมากว่าใครๆ  แต่ก็เป็นบันไดอันยิ่งใหญ่ของศิลปินทุกคน  ถ้าผ่านการยอมรับและทรงโปรดแล้วละก็   อนาคตรุ่งโรจน์ลูกศิษย์ลูกหาเพียบ  หาถวายพระอักษรเจ้านายหรือรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตทางนี้มีสำนักมีบารมีอนันต์เชียวล่ะครับ

แต่แบบถือกระดานชนวนคนละอัน  แล้วมาว่ากันด้นกลอนกันสดๆ  ไปทีละบทละบาทในที่ประชุม  ผมว่าคงจะไม่ถึงขนาดนั้นดอกขอรับ  ท่านพิพัฒน์เจ้าขา  หรือจะว่าไง.........อิอิ  ฝันซะนาน 8)


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 ส.ค. 07, 01:37
นั่งถักจักสานภาชนะ                        สานวาระหัตถกรรมตามสมัย
ภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทย          รักษาไว้ให้แผ่นดินท้องถิ่นตน

                                                                    (สุนทรกล้วย).....อิอิ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 01:41
กลับมาอ่านกลอนใหม่ "ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย" วรรคนี้อ่านไม่รู้เรื่องครับ

เอะใจขึ้นมาก็เลยไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ (royin)

บาท ๔    น. ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที.

เห็นแล้วก็เขกหัวตัวเองเสียหนึ่งโป๊ก เวลาครับ ไม่ใช่ราคา
ซตพ.



กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 ส.ค. 07, 01:54
เห็นด้วยครับท่าน CH  ขอชูจั๊กกะแร้สองข้างเลยครับ

1 บาท     =  100 สตางค์  พึ่งมาใช้กันแบบเป็นมาตรฐาน  เมื่อปี พ.ศ. 2440  สมัยรัชกาลที่ 5 ครับ (คือค่าของเงินเล็กลงมา)

สมัยก่อนซื้ออะไรค่าของเงินคงต้องเป็นแบบนี้
1 เบี้ย ,  1 โสฬส ,   1 อัฐ ,  1 ไพ  ,  1  เฟื้อง , 1 สลึง

ซึ่งลำดับกว่าจะถึงบาท ตำลึง ชั่ง  แปลว่าใหญ่มากๆ  ต้องซื้อของใหญ่ด้วย  แต่ถ้าเป็นเวลาหมดสงสัย  ยกเครดิตให้ท่าน CH ครับ  เห็นด้วยไม๊ครับท่านอาจารย์เทาชมภู ........... ;D


6  นาทีเสร็จไม๊ ขนาดนี้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 02:23
ไม่เห็นพ้องในเรื่องเวลา ยิ่งหกนาที ก็ทำได้แค่ขึ้นรูปจากก้น
งานฝีมือที่ทำขายได้ระดับนี้ ต้องการเวลาเป็นชั่วโมงครับ วัยหนึ่งเช้ายันเย็นได้สิบใบผมก็ว่ายอดคนแล้ว
นี่ท่านเครซี่จะให้สานได้ถึงสิบใบต่อชั่วโมง
อีนี่ ฉานม่ายรับน่ะนาย

อีกอย่าง ยังไม่เคยได้ยินการเรียกวัตถุโดยผูกพันกับหน่วยนับเวลาเลย ยกเว้นการเดินทาง
ส่วนเรื่องประชุมกวี ผมว่าจะเป็นว่า ต่างก็แต่งถวายเข้าไป คนละตอนตามที่ได้รับมอบหมาย
แล้วมีใครสักคนเรียบเรียงถวาย ทรงตัดสินขั้นสุดท้าย อาจจะทรงใหม่หมดก็ได้

พระเจ้าอยู่หัวมักจะประทับที่พระที่นั่งจันทร์ มีเจ้าฟ้ามงกุฏอยู่ข้าง คอยซึมซับปรีชาญาน
การประชุมกวีอะไรที่ว่าเวียนกันไป หรือเอ็งถามข้าตอบ .....ผมนึกสภาพไม่ออกครับ
นึกออกแต่ทรงอ่านสมุดไทยของแต่ละกวี หรืออ่านที่เจ้ากรมอาลักษณ์ประมวลแล้ว แล้วทรงบอกจดเป็นฉบับไฟนั่ล
จะมีคนอยู่เฝ้าก็น้อยตัวนัก

อย่างนี้กระมัง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 02:45
ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย

ไม่ใช่เรียกวัตถุผูกพันกับเวลาครับ แต่บอกว่าใช้เวลาแค่บาทเดียวในการ"คาด" ถักขอบด้วยหวาย ไม่ใช่เวลาที่ใช้ทำทั้งใบ แค่รอรักแห้งก็เกินไปหลายบาทแล้วครับ

แต่หกนาทีถักขอบเสร็จก็ฟังดูเร็วอยู่ดี ผมไม่รู้ว่าเขาทำกันจริงๆได้เร็วขนาดไหน เอาเป็นว่าเป็นโวหารกวีว่าทำได้คล่องแคล่วคงพอฟังได้นะครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 09:09
คราวนี้ขอหักคอ ๓ คนรวด
๑)คุณอาชา
๒)คุณ Bana
ไม่มีเหตุผลอะไรที่กวีจะมาเสียเวลาอธิบายว่า ขุนแผนแกนั่งสานกระทาย (ใช้เวลาเท่าไร   ไม่รู้  ข้าพเจ้าขอไม่บอก) แต่เฉพาะถักขอบปากกระทายน่ะ ๖ นาที
เหตุการณ์ในกลอน  เขาไม่ได้มาจับเวลาถักปากกระบุงแข่งกันนะคะ  จะได้ต้องเน้นตอนนี้
คำว่า "บาท" ในที่นี้เป็นมาตราเงินแน่นอนค่ะ  ลองอ่านตรงนี้ดูอีกทีนะคะ
อยู่เปล่าๆเล่าก็จนพ้นกำลัง       อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก        ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย    แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป

ก็ในเมื่อจน ไม่มีรายได้เพราะติดคุก  ก็มาสานกระทายขาย เพื่อหาเงิน  ขายใบละบาท
คำว่า ใบละบาท ก็บอกในตัวแล้วว่าเป็นราคาขายสินค้า ๑ หน่วย
ไม่ใช่ว่า
"จนเหลือเกิน  เลยต้องมาสานกระทาย   ขอบอกหน่อยนะว่าถักปากกระทายได้เสร็จใน ๖ นาที"
บอกทำไมกันล่ะคะ ? :-\

๓) คุณพิพัฒน์  ดิฉันก็ต้องหักคอซ้ำ 

ลูกผู้ดีสมัยรัชกาลที่ ๒ เกิดมาในคฤหาสน์เจ้าคุณพ่อ โตขึ้น เข้าทำงานในราชสำนัก   เท้าไม่แตะดิน
ไม่รู้ว่าหุงข้าวเขาทำกันยังไง  ในบ้านมีแต่บ่าวหุงให้
ถ้าโปรดเกล้าฯให้ท่านกวีขุนนางพวกนี้แต่งตอนขุนแผนหุงข้าว  อาจจะเขียนว่าเอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งไฟจนสุก  ลืมเขียนว่าต้องใส่น้ำด้วย
ยังงี้ดิฉันเชื่อว่าเป็นไปได้ค่ะ

แต่ว่าสิ่งที่ขุนนางทุกคนต้องรู้ คือค่าของเงิน

อย่างน้อยท่านต้องรู้ว่า เบี้ยหวัดขุนนางของตัวท่านได้ปีละเท่าไร   ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า  ในรัชกาลที่ ๒ ท้องพระคลังสตางค์หมด ปิดหีบงบประมาณไม่ลง
ต้องติดเบี้ยหวัดขุนนาง   จ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำบ้าง    ก็หมายความว่า ราคาทองและผ้านั้นเทียบเท่าราคาเบี้ยหวัด หรือไล่เลี่ย

ขุนนางย่อมบวกลบคูณหารออก ว่าเบี้ยหวัดข้าพเจ้าได้ปีละ ๕ ตำลึง  ได้ทองมาแท่งนึง   แทนเงิน
ทองแท่งนี้  จะซื้อกระบุงเล็กๆได้ ๒๐ ใบเท่านั้น    ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
หรือถ้าท่านขุนนางท่านนี้เบลอ   เวลาแต่งเสร็จ  มันมีขั้นตอน เอามาอ่านกันดังๆ เพื่อตรวจสอบว่าใช้ได้หรือยัง  ขุนนางอื่นจะเบลอตามกันไปหมดเชียวหรือคะ

เรื่องแต่งวรรณคดีพระราชนิพนธ์ แล้วจะมาโพสต่อ
ว่าแต่คุณพิพัฒน์ไม่รู้จริงๆ หรือถามเพื่อทดสอบว่าคนอื่นๆรู้หรือเปล่า  ถ้ารู้ผิดจะได้แก้ไขให้ถูก...คะ







กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 10:22
อยากทราบว่าขั้นตอนอ่านดังๆ นี่
มีจดไว้ตรงใหนครับ ผมจาได้ไปอ่านต่อ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 10:32
อ้าว  ก็ตำนานตอนที่สุนทรภู่ท้วงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไงคะ
ดิฉันแยกน้ำออกจากเนื้อ
สมมุติว่าเหตุการณ์ตอนนี้ ไม่จริง   แต่แบคกราวน์การแต่งวรรณคดี มันมีสิทธิ์จริง
ถ้าไม่มีอาลักษณ์หรือใครอ่านดังๆว่ากรมหมื่นเจษฤาบดินทร์ทรงนิพนธ์ ว่า

จำจะคิดปลูกฝังเสียยังแล้ว  ใ  ห้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา

แค่อ่านกันเงียบๆในใจ   กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นิพนธ์แล้ว ส่งข้อความที่ร่างมา ถวาย  สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ทรงรับไปตรวจเงียบๆ   เอาหรือไม่เอาก็ติ๊กบอกกันไป
ก็ต้องรู้กันสองคนพ่อลูกเท่านั้น  เหมือนนักเรียนส่งการบ้าน ครูเปิดสมุดตรวจ  เพื่อนนักเรียนในห้องย่อมไม่รู้ว่านายนี่หรือน.ส.นั่นส่งการบ้านว่าไง   ถูกหรือผิด
แต่นี่ต้องมีการอ่านดังๆ     ถึงมีตำนานเล่ามาว่า สุนทรภู่ท้วง  ท้วงได้เพราะหูได้ยินเสียงอ่านน่ะซีคะ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 10:37
อ้อ มีหลักฐานอีกตอนของการอ่านดังๆ

เคยทรงแต่งแปลงบทพจนาถ     เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
อ่านฉลอง คือการอ่านดังๆตามคำสั่ง  ไม่ใช่ว่าพระเจ้าอยู่หัวส่งให้อ่านก็ทำปากหมุบหมิบ อ่านอยู่ในใจ
ยังงั้นไม่ใช่หน้าที่อาลักษณ์  อาลักษณ์ต้องเขียนอ่านตามคำสั่ง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 10:42
ถ้าบาทเป็นราคา แล้ว "ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย" จะแปลว่าอะไรล่ะครับ ผมอ่านยังไงก็ไม่ได้ความนะครับว่า"คาด"ยากง่ายเกี่ยวกับราคาตรงไหน  ???

กลอนตอนนี้บอกว่า

อยู่เปล่าๆเล่าก็จนพ้นกำลัง
อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย
.
.
แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป

คิดว่าความจบในตัวดีอยู่แล้วครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 10:46
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย
ขายใบละบาท คิดว่าขายได้(ด้วยความ)ง่ายดาย ค่ะ
คาดในที่นี้    คือ คาดคิด  ไม่ใช่คาดเข็มขัด
กวีใช้คาด ให้สัมผัสกับ บาท 

ถ้าอัตราเงินต่ำลงกว่านี้ ก็อาจเป็น

ใบละอัฐจัดขายด้วยง่ายดาย              แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 11:32
เราไม่เคยเรียกวัตถุด้วยฐานความคิดเรื่องเวลาครับ
เช่นบอกว่าข้าวเปลือกหนึ่งทะนาน ไม่ใช้ว่าข้าวเปลือกหนึ่งบาท(เวลาในการโกยใส่ให้เต็ม)
แกงหนึ่งชาม ไม่ใช่แกงชั่วอึดใจ

ใบละบาทนี่ เป็นคำติดปากอยู่แล้ว แต่ใบละครึ่งชั่วบาม หรือใบละหกนาที อันนี้ไม่เคยเห็น
จึงยังปักใจเชื่อว่าเป็นหน่วยเงิน มากกว่าหน่วยเวลาครับ

ส่วนเรื่องท่านสุนทรหักหน้ากรมเจษฏ์อะไรนั่น
ผมเคยบ่นแล้วว่า มาจากคนที่อ่านหนังสือผิดยุค กลอนว่าจำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
คนครั้งรัชกาลที่ 1 2 3 ฟังเข้าใจเลย ไม่ต้องแปล
แต่คนครั้งรัชกาลที่ 6 เห็นว่า "จำจะปลูกฝัง" ยังไม่รู้เรื่อง ต้องขยายให้หมดว่าปลูกอะไร ฝังอะไร
เพราะท่านรุ่นใหม่ ท่านไม่รู้ว่า "ปลูกฝัง" แปลว่ามีครอบครัว แปลว่าหาคู่ครอง
พูดแล้วจบ ไม่ต้องต่อออกไปว่าปลูกฝัง.....ให้มีคู่
เหมือนเดี๋ยวนี้ เราบอกเพียงว่า หาเมียให้ ก็จบ ไม่ต้องบอกละเอียดว่า
หาเมียผู้หญิง...ให้ (เอ รึต้องกำกับชัดๆ แล้วหว่า)

คนที่ลือท่อนนี้ จึงบ้องตื้น ลือได้ลือดี แถมไอ้ที่บอกว่าแก้ให้ดีขึ้น สมองอึ่งของผมบอกว่า ไม่ดีขึ้นเลย
สุดท้าย เจ้าภู่ที่(คนรุ่นใหม่ตู่)บอกว่า"ปลูกฝัง" เป็นความขาด แกก็ใช้ปลูกฝังกับศรีสุวรรณนะฮ่า

ผมต้องเรียนอย่างโจ่งแจ้งเลยครับ ว่าตำนานสุนทรภู่ทั้งหมด ถ้าไม่มีหลักฐาน ขอไม่พิจารณา
คนสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่ห่างจากรัชกาลที่ 2 และ 3 นานจนไม่รู้เรื่องกันแล้วละครับ
ผมรู้แต่ยามที่รัชกาลที่ 2 ทรงงาน มีแต่เจ้าฟ้ามงกุฏอยู่ไกล้ๆ เท่านั้น ไม่เคยได้ยินว่ามีใครอื่นอยู่ด้วย
ใครจะเล่าว่ามีคนมานอนหมอบรอบพระแท่น กระทำการหักหน้ากันไปมา หรือไอ้ภู่มาล้อพ่อข้า
อะไรเทือกนั้น...ขอไม่ฟังครับ อ้างมาถือว่าว่างเปล่า

ดังนั้น การประชุมกลอน เท่าที่มีหลักฐาน ก็คงครั้งทำจารึกวัดโพธิ์ แล้วข้ามมาครั้งรัชกาลที่ 5 ที่ประชุมกันแต่งโคลงภาพบ้าง แต่งคำพากย์บ้าง
ล้วนแต่ไม่ตรงกับนิยายก่อนนอนเรื่องสุนทรภู่กับคณะ..... แม้แต่น้อย

เท่าที่ผมมีความรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาพระราชนิพนธ์ทั้งหลาย ทรงใช้วิธีบอกจด ที่เจ้าพระยาภาสท่านเรียก"ดิ๊คเตท"
อย่างรัชกาลที่ 5 นั้น ที่ยกมาอ้างกันว่าเป็นลายพระราชหัตถ์เลขากันบ่อยๆ ก็เป็นลายมือผู้อื่น
ลายเซนต์ดอก จึงเป็นพระองค์จริง ลายพระหัตถ์เท่าที่เคยมีวาสนาได้เห็นนั้น หวัดจนอ่านไม่ออกครับ
สมัยรัชกาลที่สอง ก็คิดว่าจะเป็นอย่างเดียวกัน
คือทรงดิ๊คเตทใครสักคน ก็ควรจะเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์พระราชวัง เหมือนที่ท่านฟักรับสนองครั้งรัชกาลที่ 4
เขียนตามมือเป็นระวิง แล้วค่อยไปคัดงดงามทีหลัง

ยังไงก็นึกให้เห็นคนมาล้อมพระเจ้าอยู่หัวช่วยกันแต่งกลอนไม่ออกครับ
แรมสมองมีไม่ถึง....ฮิฮิ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 11:33
จากเรื่อง บาท ต้องแวะข้างทางที่เรื่อง คาด ก่อนครับตอนนี้  ;D

ผมลองไปตรวจสอบดูนิราศเก้าเรื่อง(ที่เชื่อว่าเป็น)ของสุนทรภู่ที่มีออนไลน์อยู่ บวกกับนิราศร่วมสมัยอีก 4-5 เรื่อง เพื่อตรวจสอบสถิติการใช้คำว่า "คาด"

ได้ผลว่า...

ไม่มีคำว่า "คาด" ปรากฏอยู่ที่ใดเลย!!!


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 12:09
ขอลบค่ะคุณอาชา   ดิฉันสรุปเร็วไปหน่อย  ยังมีให้สงสัยอีกมาก


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 12:16
แล้วคำว่า "บาท" พบกี่หนครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 12:37
คุณพพ. คะ
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ และ อิเหนาในรัชกาลที่ ๒ อุณรุทและดาหลัง อีก 
ทั้งหมดนี้     คนเดียวแต่งไม่ไหวหรอกค่ะ 
ยังไม่รวมละครนอกอีกนะคะ
แค่อิเหนาเล่มเดียว  คุณคิดว่าท่านแต่งอยู่พระองค์เดียวตั้งแต่ต้นจนจบหรือ 
ราชการบ้านเมืองใน ๑๖ ปี  ยกให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ตัวท่านไม่ทำอะไรนอกจากทรงกลอน  งั้นหรือ
งั้นกวีมีเอาไว้ทำอะไร 

วิธีประชุมกวีหลวงแต่งวรรณคดีเรื่องใหญ่ๆ   แล้วมีพระวินิจฉัยชี้ขาด   มีร่องรอยให้แกะได้ในวิธีการแต่งสามก๊กและพงศาวดารจีนเรื่องอื่นๆค่ะ
ว่าทำตามแบบตั้งกรรมการมีประธานชี้ขาด  ไม่ใช่คนเดียวแต่ง
ส่วนหลักฐานการแต่งขุนช้างขุนแผน ก็มีให้เห็นนี่คะ  เช่นในฉบับครูแจ้ง และเสภาของหลายๆคนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงคัดออกไป ไม่รวมไว้ในฉบับหอพระสมุดที่เราอ่านกันอยู่ทุกวันนี้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 13:58
สุนทรภู่ แต่งคนเดียวยังได้พระอภัยมณีมา 94 เล่ม (มีเสียงเบาๆแย้งว่า เล่มหลังๆไม่ได้แต่งเอง...)
นั่นคนธรรมดาที่ต้องรับราชการด้วยนะครับ ไม่มีคณะบุคคลคอยช่วยเหลือ
แกยังแต่งอย่างอื่นอีกไม่รู้เท่าไหร่

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีพระราชนิพนธ์ เท่าที่เราได้รับรู้ ก็เป็นหนังสือหลายพันหน้า เรื่องหนักๆ ทั้งนั้น
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงผลงานไว้มากขนาดใหน ผมไม่ทราบ แต่อาจารย์คงทราบ
รัชกาลที่ 5 แค่ไกลบ้านเล่มเดียว เขียนต่อเนื่องระยะหนึ่งเท่านั้น ก็หนาสองนิ้ว
ไม่รวมเล่มอื่นๆอีกสามสี่สิบรายการ หนาวเป็นศอกๆ
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มี 600 รายการ (เท่านั้นเอง)
ฯลฯ

แม้...ผมต้องไปเชิญนักเขียนที่ผมเคารพนับถือมาโต้กับคุณครูให้สังเวียนล่มซะแล้ว


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 14:14
สมมุติว่าคุณอาชาผยองเข้าอินเตอร์เน็ตวันละ ๑๒ ชั่วโมง    ทำงานประจำวันละ ๘ ชั่วโมงไปพร้อมๆกัน   แล้วยังรับงานพิเศษหลังเลิกงานอีก ๑ หรือ ๒  จ๊อบ  นอกจากนี้ มาเป็นเวบมาสเตอร์เรือนไทยนั่งเฝ้าเว็บบอร์ด ไม่ให้เกิดเว็บล่มหรือภัยพาลมาราวี  ไปค้นหนังสือวรรณคดีภาษาจีน  และหนังสืออื่นจิปาถะมาตอบในกระทู้ แล้วแต่ใครจะถามอะไร
ดิฉันควรจะบอกไหมว่า  เรื่องนี้ย่อมแสดงว่า คุณพิพัฒน์ก็ทำได้  คุณ Bana ก็ทำได้  แม้แต่ดิฉันเองก็ทำได้   
ชาวเรือนไทยโดยเฉลี่ยก็ต้องทำได้
ไม่จริง
ศาสตร์แห่งการอนุมาน ข้อนี้ ใช่ไม่ได้ค่ะ 
คุณอาชาฯแกทำของแกได้  แต่คนอื่นร่วมสมัยและร่วมเรือนไทย ใช่ว่าจะทำได้
สุนทรภู่เขียนพระอภัย ๘๔ เล่มไม่ได้เป็นการยืนยันว่ากวีอื่นจะทำได้ด้วย  เป็นรายตัวไป ไม่ว่าคนไหน

นอกจากนี้ หักคอจนจะหมุนรอบได้อยู่แล้ว ไม่พอ  ต้องแบมือมา  อัญเชิญพระราชนิพนธ์ละครรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๒ วางลง ไปให้อ่าน
อ่านไม่จบ หรือเอาไปวางทิ้งไว้ จะโดนคาบไม้บรรทัด

อ่านแล้ว  จะเห็นว่ามีฉากซ้ำหน้าเว้นหน้า
คือ พระรามพระลักษณ์อาบน้ำแต่งตัวออกรบ    ฝ่ายยักษ์อาบน้ำแต่งตัวออกรบ   บรรยายรถทรงของทั้งสองฝ่าย
นี่ยังไม่รวมการซ้ำกันอื่นๆ เช่นฉากเชิญพระยายักษ์มาเข้ากรุงลงกา เลี้ยงดูปูเสื่อกัน    ฉากพระรามถามพิเภกว่าใครยกทัพมาวันนี้
โอย  ซ้ำกันจนบอกได้ว่า ถ้าใครสักคนแต่งซ้ำๆๆๆๆกันอย่างนี้   คงหน้ามืดตาลาย
ลักษณะแบบนี้ ไม่ต้องนั่งทางในก็มองเห็นได้ว่า มันเป็นการแต่งเป็นตอน   แบบมอบหมายกันให้ต่างคนต่างแต่ง ในกรอบแพทเทิร์นที่รู้กัน
พอต่างคนต่างแต่ง ก็แต่งกันได้ไม่เบื่อ    ไม่ซ้ำกันในรายละเอียด
แล้วมาเรียงต่อกัน

อ่านเองรู้เองค่ะ
นี่ยังไม่ได้เล่าถึงวิธีแต่งสามก๊กนะคะ   เอาไว้ก่อน


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 14:45
แบ่งเป็นสองกรณีครับ
1  งานมหากาพย์ คนๆ เดียวย่อมแต่งได้ ไม่ใช่บอกว่าระดับรามเกียรติ์นี่ ต้องหลายมือ จึงจะทำได้
เพียงแต่ว่า ทำแล้วดีหรือไม่ดี
2 งานที่มีรอยต่อมากมาย ก็แปลว่าบรรณาธิการไม่ดี ซ่อมรอยต่อไม่เป็น
ท่านทั้งหลายอ่านพระอภัยมณีได้ราบรื่น ไม่สะดุด นั่นเป็นเพราะบรรณาธิการดี
เป็นบรรณาธิการที่ไม่อ่านสุนทรภู่ด้วย

3 ฉบับต่างๆ ของคำประพันธ์นั้น มีมากมาย และสลับสับสน ไม่มีใครมีฉบับสมบูรณ์
ยิ่งเก่ายิ่งมีมากความ ที่อาจารย์ว่าบทซ้ำๆกัน อาจจะมาจากหลายเหตุผล
แต่ต้องเข้าใจว่า ในการเล่น เขาเล่นเป็นตอน ต้นฉบับจึงมีหลายมาตรฐาน
เราไม่เคยมีความรู้เลยว่า รามเกียรติฉบับที่เรารู้จักนี้ มาจากต้นฉบับกี่วัง กี่บ้าน
และคนยำรวมกัน เก่งแค่ใหน

แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเล่นกันในรัชกาลที่ 1 2 นั้น ต้นฉบับต้องเจ๋งครับ
แต่จะได้ฉบับนั้นมาพิมพ์หรือเปล่า สวรรค์ที่รู้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 15:07
ไม่รู้ค่ะ  คำตอบของคุณพพ. เปลืองเซลสมองของดิฉันมาก   เลยตอบได้สั้นๆแค่นี้
 :(
ไม่รู้ว่าใครในเมืองไทยจะรู้หรือเปล่านะคะ   ว่ารามเกียรติ์และเรื่องอื่นๆ ที่เราอ่านๆกันอยู่ ทั้งฉบับร.๑ และร. ๒ มีกี่เวอร์ชั่น และเราได้อ่านเวอร์ชั่นไหน
เวอร์ชั่นเกรด A หรือเปล่า
ถ้าจะรู้ต้องลุยสมุดไทยให้หมดทั้งในและนอกหอสมุดแห่งชาติ   มาจัดทำเองใหม่  แต่ก็อาจจะยังไม่รู้อยู่ดีเพราะไม่เจอ หรือเจอไม่ครบ

เอางี้ เพื่อรักษาเซลสมองส่วนที่เหลือไว้ตอบกระทู้อื่น  คุณพพ.มีอะไรจะบอกก็บอกมาเลยค่ะ   
ปูเสื่อนั่งรอ   กินเมี่ยงคำไปด้วยพลางๆ



กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 15:39
ผมอยากจะบอกเพียงว่า ฟังหูไว้หูเท่านั้นแหละครับ
ยกตัวอย่างก็นิราศเมืองเพชรนี้เอง ฉบับที่"อนุญาต"ให้เราศึกษา ถูกหั่น หรือหายไปตั้งมาก
ดังที่อาจารย์ล้วนท่านไปเจอมา  ที่เจอก็ไม่ใช่สมุดต่ำๆ นะครับ มาจากคลังของหอหลวงทีเดียว

สมัยก่อน เราต้องเชื่อผู้ใหญ่ แล้วก็สบายใจว่าได้รู้อะไรออกมามากมาย
แต่เมื่อเกิดฉุกคิด ก็พบว่า ท่านผู้ใหญ่ ท่านทำงานแปลกๆ ทำให้เราปัจจุบันนี้ถึงจนมุม
หมุนวนอยู่กลางกระดาน
ทางออกก็มีแต่แกะรอยวงกต ค่อยๆ คลานต้วมเตี้ยมออกมาสู่ความกระจ่างเท่านั้นเอง

ประวัติสุนทรภู่นั้น แม้ว่าหั่นจนเกลี้ยง ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับท่าน เหมือนเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนายนรินทร์
กลอนของท่านก็ยังเป็นยอดของภาษา แม้แต่แต่งเมื่อวาน ก็ยังยอดอยู่นั่นเอง
แต่การที่เห็นวินิจฉัยที่ไม่รอบคอบ ครั้งแล้วครั้งเล่า บางเรื่องไมใช่เรื่องเล็กๆ
บางเรื่องเราก็มาพบหลักฐานที่อื่นว่าน่าสงสัย ทำผมอยากจะอ่านแบบใหม่
คืออ่านเท่าที่มี จากฝีปากสุนทรภู่เอง เมื่อจำเป็นจึงพึ่งอรรถาธิบายภายนอก

อย่างเรื่องร.3 กริ้ว ถึงขั้นต้องลอยเรือหนี เล่าเป็นตุเป็นตะขนาดว่าแผ่นดินข้า เอ็งห้ามเหยียบ
เลยไปอยู่ใต่ร่มกาสาวพัสตร์ ลิเกเสียนี่กระไร..........
สมมติเชื่อว่าท่านภู่แกหนีตาย ออกบวชจริงๆ และแกแต่งนิราศภูเขาทองอาลัยรัชกาลที่ 2 หมาดๆ
ไม่เฉลียวใจหรือ ว่าพระบวชใหม่ พรรษาแค่สองสามปี กล้าด่าอธิบดีวัด เป็นสัดตวงข้าว
คนตั้งเจ้าอาวาสวัดเลียบ อยู่วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะหนกลางนะครับ
เป็นผู้ที่เจ้าแผ่นดินเคารพนับถือ และเล่ากันว่าเคยไปพึ่งด้วย
คนอย่างอ้ายภู่หรือ จะกล้ากล่าวคำอย่างนั้น ท่านอ่านแล้วไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่ผมเป็นอะครับ

ความรู้ที่บกพร่อง ถ้าบังอิญเห็นก็ควรจะเก็บกวาด
แต่การเก็บกวาดโดยอดอ้างของเดิมนี่ มีแต่ทำให้ความรู้ใหม่กะเก่าไม่แตกออกจากกัน
ผมจึงเชื่อของผมว่า
สุนทรภู่ไม่รู้จักไกล้ชิดกับรัชกาลที่ 2
ไม่เคยเป็นกวีที่ปรึกษา
การแต่งกลอนแบบประชุมกวีก็ไม่เคยเกิด
เรื่องที่ทะเลาะกับกรมเจษฏ์ก็ไม่จริง
บ้านพระราชทานก็ไม่มี
ต่อกลอนเลอะเทอะก็ไม่ใช่ของท่าน
ไม่เคยรู้จักกับพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระองค์เจ้าลักขณา และพระองค์เจ้าหญิงวิลาส
มีชื่อเสียงเป็นนักเพลงยาวมาแต่ปลายรัชกาลที่สองและได้เป็นครูสอนเจ้าฟ้าอยู่แป๊บเดียว
ถึงรัชกาลที่สามได้เป็นครูหลวง
บวชเมื่อปีวอกก็ไม่ใช่ถวายพระราชกุศล
เพราะบวชปีวอก แต่งานพระเมรุ(ที่ต้องมาบวชถวาย)นั่นปีระกา เดือนหกครับ
..............นิราศอีกสี่ห้าเรื่องก้อไม่ใช่ของท่าน

โอยเหนื่อย
นี่แค่ย่อๆ นะครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 22:01
ส่งการบ้านเรื่อง "บาท" ครับ

ถ้าใช้ google ค้นคำ "บาท" กับ "สุนทรภู่" เจอคำตอบเพียบครับ

ล้วนแล้วแต่ "นิราศพระบาท" ทั้งนั้น แหะๆ

มานั่งนับกันจริงๆ บาท นี่มีใช้เพียบครับ แต่ส่วนมากเกี่ยวข้องกับการกล่าวถึงเจ้านาย หรือไม่ก็ในความหมายว่าเท้า

มีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยเงินเพียงหนึ่งแห่ง ในนิราศวัดเจ้าฟ้า (เณรหนูพัด)

ทั้งหนูกลั่นนั้นคะนองจะลองทิ้ง     บอกให้หญิงรำรับขยับหัน
ถ้าทิ้งถูกลูกละบาทประกาศกัน     เขารับทันเราก็ให้ใบละเฟื้อง

เงินบาทหนึ่งนั้นใหญ่เกินไปครับ คงไม่ได้ใช้กันบ่อยนัก ถ้าเป็นสลึงเฟื้องนี่เจอหลายที่

ส่วนที่ใช้ในความหมายเวลา... ศูนย์ครับ ไม่มีเลย


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ส.ค. 07, 22:40
ลองดูคำที่มีความหมายว่า คาด อย่าง คะเน มุ่ง มาด หมาย ปรากฏว่าเจอเพียบเลยครับ

ชักจะสงสัยว่า คาด ในความหมายนี้ อาจจะมาใช้กันในชั้นหลังนี้เอง


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 ส.ค. 07, 23:06
นั่งจิบกาแฟอ่านพลาง  ขโมยเมี่ยงคำท่านอาจารย์เทาชมภูแกล้มไปด้วย...อิอิ

-และไม่ใช่ศิษย์วัดชีปะขาวด้วยใช่ไม๊ท่าน
-ไม่ใช่คนเมืองแกลง
-ไม่รู้จักพระองค์เจ้าปฐมฯ แปลว่าไม่เคยอยู่วังหลัง
-ไม่เคยมีภรรยาหรือคนรักชื่อ แม่จัน

แต่การประชุมกวีนี่ต้องขอพึ่งบารมีท่านอาจารย์เทาแล้วล่ะครับ  ว่ามีไม๊  แบบสามก๊ก  เป็นแบบไหนขอรับ

แต่การคิดแบบท่านพิพัฒน์  ก็ดีครับตรงตามแบบพุทธ  เรื่องกาลามสูตร  แต่อะไรบ้างครับที่ใช่และปะติดปะต่อกันแล้ว  ประวัติของท่านมหากวีจะออกมาในรูปใดขอรับ  อันนี้ No comment......... ???


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 20 ส.ค. 07, 01:14
คุณบานานี่เป็นกะหลังเที่ยง(คืน)

ประวัติสุนทรภู่ค่อนข้างเลอะ ผมเสนอให้เช็ดถูปัดกวาดเสียหน่อย
1 ดวงชะตาของท่าน มีใครเคยเห็นตัวจริงบ้าง ความใต้ดวงที่จดว่าอาลักษณ์ขี้เมา ทำไมกลายเป็นสุนทรภู่ได้
2 ดวงนั้นเกิดเมื่อ 2329 แปลว่าอายุ 65 จึงได้เป็นจาวางกรมพระอาลักษณ์ให้พระปิ่นเกล้า ไม่แก่ไปหน่อยหรือ
3 ถึงปีที่ผ่านวัดเขมาอาราม อร่ามทอง ก็จะอายุ 80 กว่า แก่เกินเที่ยวแล้วกระมัง

4 นิราศเมืองแกลง มีตรงใหนที่ชี้ว่าเป็นรัชกาลที่ 1 บ้าง อ่านแล้วเข้าใจชัดว่ากวีออกตรวจราชการ
เพราะเข้าพักบ้านผู้ใหญ่ในถิ่นเสมอ เจ้านายน่าจะเป็นระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป มีวัง และคงดูแลหัวเมืองฝั่งตะวันตก
ประเพณีเจ้านายดูราชการ เริ่มสมัยรัชกาลที่ 2
5 เสภาตอนขุนช้างเข้าหอ เป็นตอนดังที่แต่งเมื่อรัชกาลที่ 2 แต่อีกนาน... กว่าจะแพร่มาให้ขุนนางปลายแถวร้องเล่น
6 มีตรงใหน ชี้ว่าเป็นงานของสุนทรภู่บ้าง

7 นิราศพระบาท ถ้าเชื่อผม ก็ตัดทิ้งได้เลย
8 และต้องตัดแม่จันทร์ในเรื่องนี้ทิ้งจากชีวิตสุนทรภู่ด้วย
9 รวมทั้ง ปลดท่านๆ ที่อ่านว่านิราศนี้เป็นงานรัชกาลที่ 1 ออกจากงานทั้งหมด

10 สรุปว่า สองนิราศแล้ว ที่ถูกชำระออก
11 บทที่เก่าที่สุด ผมยกให้เพลงยาวถวายโอวาท
12 ใครจะบอกว่าเรื่องใหนเก่ากว่านี้ เอาหลักฐานมา
อย่าเอาความเห็นนะ เพราะข้อ 9 ตีท่านตกงานหมดทุกคนแล้ว
13 ตำนานอะไรเกี่ยวกับท่านภู่ ถ้าอ้างคำเล่าลือ ส่งไปใต้ลิ้นชักให้หมด
เช่น
-ต่อกลอนหน้าพระที่นั่ง จะเข้านิกายเดียวกะศรีปราชญ์ต่อกลอนพระนารายณ์ เหลวทั้งเพ
- ทะเลาะกับกรมเจษฎ์ ถ้าทะเลาะจริง จะรอดหรือ จะได้สอนเจ้าฟ้ากลางหรือ พระเจ้าแผ่นดินทรงเลี้ยงดูเจ้าฟ้านะครับ
- บ้านพระราชทาน
-เรือพระราชทาน
-เรื่องลอยเรือหนีพระเจ้าแผ่นดิน....ฯลฯ
รวมทั้งกลอนเศษไม่เป็นโล้เป็นพายที่ไปยัดใส่ปากท่าน ถอนออกให้หมด

ยังมีอีกเพียบนะครับที่ผมทำรายการรื้อถอนไว้ วันนี้เอาแค่นี้ก่อน

ปิดท้ายด้วยคำถามชวนคิด
กลอนที่ด่าเจ้าอาวาสวัดเลียบนั่นน่ะ แรงมากๆ
ตนที่บวชหนีราชภัย กล้าทำอย่างนั้นหรือ
วัดเลียบนั้นขึ้นหนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนกลางคือใครนึกออกใหมครับ
พระบวชใหม่สองสามพรรษา กล้าด่าเจ้าอาวาสวัดโพธิ์
คนที่วินิจฉัยเรื่องนี้ ผมว่าต้องไปตรวจสมอง

เอ้า ....แถมอีกข้อ
ปีวอกออกขาดราชกิจ....ใครๆ เจอคำนี้ก็บอกเลยว่า บวชหนีภัย บวชแทนคุณ
อยากให้นับเลขหน่อยนะครับ ปีวอกเป็นปีสวรรคตจริง
แต่ถ้าบวชถวาย ต้องรอเดือนหกปีระกาครับ จึงจะบวชหน้าไฟได้
แต่ กวีเขาเขียนไว้ชัดๆ ว่าเขาออกจากราชการมาบวช เพราะพิศวาสพระศาสนา
ไม่เห็นจะอ้างเรื่องเสด็จสวรรคต อะไรสักแอะ คำก็เรียบร้อยดี
เรียบร้อยจนใส่เกร็ดอะไรไม่ได้เลย

ขอความกรุณานะครับ จะอ้างเกร็ดอะไร ก็บอกที่มาด้วย ขอแค่นี้แหละ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ส.ค. 07, 10:54
เรื่องเล็กก่อน

พบคำว่า "คาด" ใช้ในพระอภัยมณี ในความหมาย คะเน และ มุ่งหมาย หลายครั้งครับ

เรื่องใหญ่

พระวินิจฉัยสมเด็จดำรง มีหลายเรื่องที่ไม่อยู่ในกลอน แต่เป็นเรื่องที่เล่า หรือลือกันมา เรื่องแบบนี้มันก็มีทั้งจริงและไม่จริง การอ่านอย่างละเอียด พิจารณาประกอบหลักฐานอื่นก็ช่วยให้สามารถตัดบางเรื่องออกไปได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่า สมเด็จฯท่านทรงอยู่ใกล้เหตุการณ์มากกว่าเราครับ บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่รับรู้กันมาจริง แต่โชคร้ายที่ไม่มีใครบันทึกที่มาที่ไปไว้อย่างน่าเชื่อถือมากพอ (เพราะอาจมองไม่เห็นความจำเป็น?)

สุดท้ายแล้ว พอมาอ่านนิราศ ผมคิดว่า เรื่องของสุนทรภู่ที่ไม่ได้ระบุไว้ในกลอน ก็คือยืนยันไม่ได้ ต้องฟังหูไว้หู แต่คงด่วนสรุปว่าไม่จริงไม่ได้ ยกเว้นมีเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันอย่างชัดแจ้ง

ส่วนตัวผมเองขอยกมือโหวตสนับสนุนให้ตัดนิราศพระบาทออกจากสารบบงานสุนทรภู่ครับ

ส่วนเรื่องอื่น ยังเห็นว่าไม่มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอที่จะตัดออก ขออนุญาตเก็บไว้ก่อนนะครับ


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 ส.ค. 07, 02:56
ขอคารวะท่านพิพัฒน์ด้วยความเลื่อมใส

เป็นคติที่ดีครับเวลาที่เราจะศึกษาและวินิจฉัยอะไร  เราต้องทำตัวเราให้ว่าง  ละจากความเชื่อเดิมหรือเชื่อเพราะต้องเชื่อ  แล้วมาใช้เหตุผลวิเคราะห์ด้วยอุเบกขาธรรม  ตามหลักกาลามสูตรเป๊ะ

เพลงยาวถวายโอวาท  ที่ท่านแต่งถวายเจ้านายน้อยทั้งสองพระองค์  มีอะไรดีดีและมีเงื่อนไขเวลาเป็นบทตั้งต้นอยู่หลายอย่าง  เช่น

ผลงานนี้ต้องเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3  แน่ๆ  เพราะพระชนมายุของเจ้าฟ้าสองพระองค์เป็นตัวบังคับ
เหตุผลของผมนะครับ
1.ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นระดับพระอาจารย์ถวายการสอนเจ้านายระดับเจ้าฟ้า  ต้องพร้อมแน่นอน ด้วยวัยวุฒิ  คุณวุฒิ  ชาติวุฒิ  คงไม่เอาพระอาจารย์หนุ่มรุ่นกระทง  หรือคนผ่านงานไม่มาก (ถ้าปัจจุบัน  ก็ต้องอาจารย์สอนหนังสือระดับ ซี 7  ซี 8 ขึ้นไป) ชาติวุฒิก็หมายถึง  เป็นคนมีสกุลรุนชาติ  พอควร  ผมจึงคิดว่าอย่างต่ำๆ  อายุต้อง 40 +

2.ถ้าข้อสันนิษฐานตามเหตุผลในข้อแรกถูกหรือใกล้เคียง  พระอาจารย์ท่านนี้ก็เกิดในสมัย  รัชกาลที่ 1  2330-2340 เป็นอย่างน้อย

3.เสริมเหตุผลตามข้อ 1  ในบาทหนึ่งของเพลงยาวฯที่ว่า

แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ    ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน

แปลความว่าในครั้งรัชกาลก่อน  คือรัชกาลที่ 2  ได้ฝากพระเชษฐาของเจ้าฟ้าน้อยทั้งสองพระองค์ให้พระอาจารย์ท่านนี้สอน  ซึ่งในแผ่นดินสมัยนั้น  มากไปด้วยปราชญ์แก้วจอมกวี  แต่บุคคลผู้นี้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยถึงขนาด  ให้ถวายการสอนเจ้านายระดับเจ้าฟ้า  ไม่รู้ว่า 40+  ที่ผมคาดไว้จะพอหรือเปล่า

4. แล้วตำแหน่งจางวางกรมพระอาลักษณ์วังหน้า  จะอายุเท่าไหร่ดีล่ะท่านถึงจะได้เป็น  หรือคำนวนพระราชโอรส ในสมเด็จกุณฑลฯ ผิด

และผมว่าการปะติดปะต่อประวัติของท่านมหากวี  รำพันพิลาป ครับ  เป็นกุญแจดอกใหญ่ของพระวินิจฉัย  หรืออาจารย์หลายท่านใช้เป็นข้อเปรียบเทียบประวัติ  เพราะในรำพันพิลาปมีเยอะมากที่กล่าวถึงผลงานต่างๆ  ในแง่ของการกล่าวถึงสถานที่ที่ได้เคยไปของผู้ประพันธ์  ไม่ว่าจะเป็นการไปพริบพรี  ราชพรี  เมืองกาญจน์ฯลฯ  ถ้าบทประพันธ์บทนี้เชื่อว่าเป็นของท่านสุนทรภู่  ด้วยบทที่ว่า

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย        อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน          เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

พระภู่ในที่นี้ที่เชื่อว่าเป็นสุนทรภู่  ไปมาเยอะปานนี้  ออกจากราชการแล้วมาบวชด้วยเหตุใดไม่ทราบ  ตามเนื้อความที่บรรยายในกลอน  แต่กลอนบทนี้แต่งปีขาล  แล้วในกลอนเรียกคนนั้นคนนี้ว่าหลาน  แปลว่าอายุมากพอควร

เงื่อนปมในใจตรงนี้ล่ะครับท่านทำให้มองยังไงกวีท่านนี้ต้องมีอายุพอสมควรจริงๆ  ถึงได้ทำงานสำคัญ  หรือมีผลงานถวายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้เพียงนี้

อย่าพึ่งรำคาญกระผมเลยนะท่านพิพัฒน์  ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลปนคำถามเพื่อความกระจ่างแจ้งขอรับ  ......... ::)

อิอิ.....จากนักศึกษาภาคเที่ยงคืน


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ส.ค. 07, 10:49
ถามเที่ยงคืน ตอบเที่ยงวัน
พระอาจารย์สอนเจ้าฟ้า จะเป็นตรงข้ามกะที่ท่านคิดครับ
การศึกษาของเจ้าฟ้าแบ่งเป็นสองสามหลักสูตร
เมื่อยังทรงพระเยาว์มากๆ อาจจะสักสี่-ห้าขวบ เรียนข้างในกับครูสตรี
อาจจะถึงขั้นที่เรียกว่าขึ้นสมุด คือพออ่านออกเขียนได้ ผันแม่อักษรได้ เขียนตัวได้
ก็จะเป็นขั้นสอง ซึ่งจะต้องหาครูจริงๆ มาสอน ครูชั้นนี้ เป็นครูสอนเด็กเล็ก วัยเพียง 6-7 ขวบ
เอานักปราชญ์มาสอนก็ได้คลั่งใจตายกันพอดี
โดยมากก็จะพระราชทานเข้าสำนักเช่นสำนักของพระศรีสุนทรโวหาร ท่านก็จะจ่ายให้อาลักษณ์ที่เหมาะสมรับไป
ตัวเจ้าคุณน่ะงานล้นมือครับ ยิ่งพระเจ้าแผ่นดินเป็นจอมปราชญ์อย่างรัชกาลที่ 2 หรือ 4
คงจะนึกออกว่า งานเอกสารหนักเพียงใด

ครูที่เหมากับเด็กวัยนี้ ถ้าเลือกได้ ก็ควรเป็นหนุ่มแคล่วคล่อง หนังสือดี ภาษาดี
ไปค้นพระราชประวัติรัชกาลที่ 6  หรือปะเหลาะคุณอั๊บให้เล่าหน่อย ก็จะเห็นความเป็นไปแจ่มชัด
สรุปว่า ผมเชื่อว่า ท่านสุนทรตอนหนุ่มฟ้อ คงจะได้เป็นครูเจ้าฟ้า โก้หรูทีเดียว
น่าเสียดาย ที่เจ้าฟ้าเรียนแป๊ปเดียวก็สิ้นรัชกาล
ตอนนั้นคงโกลาหลนัก วังหลวงเปลี่ยนผู้ดูแล พระนั่งเกล้าทรงขอพระราชมารดามาเป็นประธาน
ผู้คนก็ผลัดเปลี่ยน มีเข้ามีออก และเจ้าฟ้าก็ต้องเฝ้าพระศพ ต้องกระทำพระราชพิธีมากมาย ไม่มีเวลาเรียนแล้วละครับ
ครูภู่ก็คงหาทางเข้าวังไม่เจอ เพราะผู้คนเปลี่ยนหมด
ครูหนุ่มและศิษย์น้อย จึงต้องลาจากเพราะเหตุใหญ่ฉะนี้แล......

ห้าปีผ่านไปไวเหมือนดั่งที่ควรเป็น
เจ้าฟ้าอาภรณ์โสกันต์ คราวนี้ก็ยุ่งละ เพราะท่านต้องออกวัง

เดาว่า พระราชมารดาคงถวายบังคมขอออกมาอยู่ด้วย ได้รับพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน
ซึ่งเป็นวังสูงศักดิ์ แสดงให้เห็นว่า พระนั่งเกล้าท่านเคารพสถานะเจ้าฟ้าพระราชโอรสของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง
เจ้าฟ้ากุณฑลคงต้องย้ายออกทั้งหมด สี่แม่ลูกมาเริ่มชีวิตนอกวังหลวงในปีนั้น
ก็คือปีที่พระภู่บอกว่า วันนั้นวันอังคารพยานอยู่....2372

ที่ตาภู่ไปบวชเมื่อปีวอกออกขาดราชกิจ ผมเองเดาว่า ท่านตกงานไงครับ
เลยถือโอกาสบวชเสียเลย ตรงนี้เดาต่อว่า ความจริงท่านอาจจะต้องบวชแล้ว เพราะถึงวัย
อย่าลืมนะครับ เป็นอาลักษณ์ ไม่บวชเรียนได้อย่างไร และต้องบวชตามเกณฑ์ด้วย คือยี่สิบเศษ
ไม่ใช่มาบวชตอนอายุ 38 ใครเขาจะนับถือ (ถ้าเชื่อว่าแกเกิด 2329 อย่างตำนานเดิม)

เคาะตัวเลขแล้ว ผลออกมาว่า
ท่านภู่ของผม อายุสัก 25+ เมื่อบวช มีลูกเมียแล้วด้วย
อายุเข้า 30+ เมื่อถวายหนังสือฟ้ากลาง
หรือเอาให้แน่ชัดเลย ผมเห็นว่า ท่านควรเกิดราวๆ 2340 บวก-ลบหนึ่งปี
มาอยู่วัดเทพธิดาราม อาบุสี่สิบกว่าๆ อาจจะถึงกลางๆ
ที่ท่านเรียกคนอื่นว่าหลาน ก็เป็นคารมน่ะครับ คนเดี๋ยวนี้วัยเพิ่งสามสิบกว่าๆ เรียกพวกเอเอฟว่าลูกๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
น่าหมั่นไส้เหลือที่จะประมาณตน

อ้าว...ไหงมาจบที่นี่ได้


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ส.ค. 07, 12:09
พระรูปเจ้าเณรน้อยเสด็จมา ดูน่ารัก....


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 07, 13:40
คราวนี้ถึงคิวคุณพพ.โพสผิดกระทู้บ้างละค่ะ  ;D


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ส.ค. 07, 14:13
เจี๊ยกกก.....
พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าเบลอ.....


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 ส.ค. 07, 23:04
กร๊ากกกก  ผมดันไปตอบกระทู้โน้นโดยไม่ได้ดูท่านพิพัฒน์ตอบตรงนี้

ขอบพระคุณครับ  ถ้าตัดเรื่องอายุครูถวายการสอนเจ้านายออกไป  หนทางเริ่มมองเห็นขอรับ  เริ่มที่จะเดินตามทางของท่านพิพัฒน์ได้  ผมเห็นด้วยครับ
ปีวอกออกขาดราชกิจ    แปลง่ายๆคือออกจากราชการ  แล้วก็มาบวช  คงไม่ได้เกี่ยวกับหนีราชภัย  เพราะกลอนว่าโต้งๆ

ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์         ซึ่งรูปทรงสังวรณ์รัตน์ประภัสสร
ทั้งสี่องค์ทรงมหาสถาวร             ถวายพรพันวะสาขอลาเอย ฯ

ดังนั้นต้องขออนุญาตเริ่มเรื่องสุนทรภู่ผจญภัย  ตั้งแต่ลาออก(ถวายบังคมลา)จากการเป็นครู  และท่านต้องเป็นคนที่มีนิสัยชอบเดินทางผจญภัย  มีจินตนาการ  และ

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว                      ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว               เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

ดังซะด้วยซี  ดังไปถึงต่างประเทศ  เรียกว่าโกอินเตอร์

ในวันอังคารพะยานอยู่              ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ

ในปีนั้น ก็ต้องตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2372  วันอังคาร  แรม 6 ค่ำ  เดือน 8  หรือไม่ก็

วันที่ 10 สิงหาคม 2373  วันอังคาร  แรม 6 ค่ำ  เดือน 9


ดังนั้นขออนุญาตไปอ่านนิราศภูเขาทองก่อนขอรับ ......... :P


กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 09 ก.ย. 07, 08:59
มาอ่านด้วยความสนุก
คนอาร้าย ช่างจับจุดมาให้คิดได้มันส์ดีแท้

ตามอ่านจอมยุทธวรรณกรรมเขาว่ากัน
นาทีนี้ทำได้เพียง ...เอารูปมาแจม



กระทู้: สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ก.ย. 07, 12:17
ชอบรูปคุณวรณัย ขอบคุณครับ
ตัวผมเองเป็นนักวิชากรรมในวงวิชากวน พอจะไปด้วยกันได้ใหมนี่

คุณบานาหายไปนาน นึกว่าล้างมือในอ่างทองคำ แถมวันนี้ยังมารอบเช้าอีก นับว่าแปลก
วันนี้มีกิจธุระต้องเข้าเมือง หัวค่ำจะมาต่อนะครับ