เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17392 พระยาโบราณราชธานินทร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 09 เม.ย. 10, 12:03

มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา
ภาพนี้ ท่านแต่งเครื่องแบบเต็มยศนายพลเสือป่า   ผู้บัญชากองเสนาหลวงรักษาดินแดนมณฑลอยุธยา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 เม.ย. 10, 12:37

เด็กชายพร  เกิดในรัชกาลที่ ๕  เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๑๔   ที่บ้านเหนือวัดศรีสุดาราม คลองบางกอกน้อย   
ซึ่งเป็นบ้านของบิดา คือขุนฤทธิ์ดรุณเสรฐ (เดช เดชะคุปต์)  สารวัตรใหญ่มหาดเล็กเวรฤทธิ์   มารดาชื่อนางไผ่    ขณะนั้นบิดามารดามีบุตรแล้ว ๓ คน เด็กชายพรเป็นคนที่ ๔

โตขึ้นหน่อย ก็เริ่มเรียนหนังสือที่สำนักวัดยี่ส่าย     ต่อมาบิดาก็นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ    จึงได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสราญรมย์   เป็นลูกศิษย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 เม.ย. 10, 20:14

ในช่วงเวลานั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) จัดการเรื่องการศึกษา
ด้วยการตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สำหรับสอนวิชาชั้นสูงแก่กุลบุตร   ขุนฤทธิ์ดรุณเสรฐ ก็เลยพาบุตรชายไปฝากเรียน     แต่ขอเอาตัวออกไปโกนจุกและบวชเป็นสามเณรเสียพรรษาหนึ่ง
เด็กชายพร มีแววฉลาดปราดเปรื่องมาแต่เล็ก    เข้าเรียนอยู่ ๓ ปี ก็สอบไล่ได้ทั้งประโยค ๑ และ ๒  ได้รับรางวัลหลายครั้ง

ครั้งหนึ่ง เมื่อเข้าไปรับพระราชทานรางวัลต่อพระพักตร์     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามว่า "นายพรนี้เป็นลูกใคร"   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  กราบบังคมทูลให้ทรงทราบนามบิดา
เด็กชายพร ถือกรณีนั้นเป็นศุภนิมิตมาตลอดอายุ   ด้วยเป็นวันแรกที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรู้จัก
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 เม.ย. 10, 17:18

เมื่อนักเรียนหนุ่มที่ชื่อนายพรเรียนจบจากร.ร.สวนกุหลาบ     กิจการโรงเรียนรุ่งเรือง  มีขุนนางส่งลูกมาเรียนกันมากมาย จนครูที่มีอยู่ไม่พอสอน
อาจารย์ใหญ่คือพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) ก็เลยชวนนักเรียนที่เรียนจบด้วยคะแนนดี มาเป็นครูช่วยสอน  แก้ปัญหานักเรียนล้นมือครูไปได้ชั่วคราว
นายพรก็เลยได้เข้ารับราชการครั้งแรก เป็นครู  ร.ร.สวนกุหลาบ เมื่ออายุ ๑๘ ปี   ถ้าเทียบกับยุคนี้   เด็กหนุ่มวัยเดียวกันยังสอบโอเน็ทอยู่เลย

สอนอยู่ ๑ ปี  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงดึงตัวไปรับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการ    เพราะทางร.ร.รับครูมาพอกับความต้องการแล้ว

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่สยามปรับปรุงระบบการปกครองแบบเดิม ที่มีจตุสดมภ์เป็นหลัก  มาแยกเป็นกระทรวง   แต่ละกระทรวงก็วางระเบียบใหม่ในการบริหารให้ทันสมัย     จึงแสวงหาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนดีคนเก่งมาทำงานในกระทรวง
โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าผลิตปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็คือร.ร.สวนกุหลาบ   เพราะเป็นแห่งเดียวที่สอนวิชาภาษาไทยชั้นสูง  และสอบวิชาความรู้ต่างๆด้วย    ใครจบจากที่นี่ก็ถือว่าภูมิรู้แน่น     กระทรวงทั้งหลายก็ยินดีรับ
แต่นักเรียนชั้นหัวกะทิ สอบจบประโยค ๒ อย่างนายพร มีอยู่น้อยคน     พอเข้ากระทรวงก็ได้เป็นเสมียนโทเลยทันที    ทำงานไปสักพัก  ก็เลื่อนเป็นเสมียนเอกแทบทุกคน
จากนั้นตำแหน่งราชการก็จะเลื่อนปรูดปราด ก้าวหน้ากันเห็นชัด    ตัวอย่างก็เห็นจากตำแหน่งงานของนายพรนี่เอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 เม.ย. 10, 17:27

   เส้นทางราชการของนายพร  ก็คือ
- อายุ ๑๙  บรรจุเข้าเป็นเสมียนโทในกระทรวงศึกษาธิการ  (หรือเรียกว่ากระทรวงธรรมการ)
- อายุ ๒๐  ได้เลื่อนเป็นเสมียนเอก  และเป็นสารวัตรตรวจโรงเรียนหลวง
- อายุ ๒๑  ย้ายไปรับราชการในกระทรวงการคลัง
    สาเหตุก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงว่าการกระทรวงการคลัง  เกิดพอพระทัยฝีมือและความรู้ของนายพร  ก็ทรงขอตัวไปเป็นเลขานุการสำหรับพระองค์     ตำแหน่งนี้สมัยนั้นเรียกว่า "เสมียนเอกเวรพิเศษ"
   นายพรมีโอกาสเป็นครูถวายพระอักษร เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าหลายองค์ ด้วยในระยะนั้น  คือม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ    ม.จ.พรพิมลพรรณ รัชนี( ต่อมาเป็นพระชายาในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)  และม.จ.สุรางค์ศรีโสภางค์ ในพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
    ในหน้าที่นี้  นายพรก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนพิเศษอีกเดือนละ ๒๐ บาท จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
    คิดเป็นค่าของเงินสมัยนี้เท่าไร  บอกไม่ถูก  ต้องขอแรงสมาชิกเรือนไทยช่วยกันคำนวณค่ะ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 เม.ย. 10, 10:27

ยังไม่มีใครมาช่วยคำนวณเงิน ๒๐  บาทสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าพอจะเท่ากับกี่พันกี่หมื่นในสมัยนี้   ก็เลยขอเดาเอาเองว่า เป็นหมื่น   ประมาณสัก ๒๐,๐๐๐ บาท
(เพราะถ้าผิด   เดี๋ยวก็จะมีคนเข้ามาตอบที่ถูกให้เอง)
นับว่านายพร มีรายได้สูงมาก สำหรับหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ   

ในปีนั้น   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงย้ายจากกระทรวงธรรมการหรือศึกษาธิการ ไปว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อมากรมพระนราธิปฯ ทรงเวนคืนตำแหน่งในกระทรวงพระคลัง    นายพรก็เลยไม่ได้เป็นเลขาฯ ในพระองค์อีก
แต่คนดีมีฝีมือ ยังไงก็ไม่ตกงาน   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชวนนายพรไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย   ตำแหน่งเสมียนเอก   ทำหน้าที่ครูฝึกอบรมข้าราชการใหม่ๆ ในมหาดไทยที่จะถูกส่งตัวไปรับราชการในหัวเมือง   
นายพรก็เลยเป็นวิทยากร อบรมข้าราชการมหาดไทย   ในวัยแค่ ๒๒ ปี   เป็นสมัยนี้ ก็  เพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาดๆ เพิ่งเข้าทำงาน
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 เม.ย. 10, 14:01

รออาจารย์เทาชมพูเลคเชอร์ต่อครับ ไม่กล้าขัดจังหวะ
ขอเวลานอกไปรื้อลัง ค้นเรื่องมาเสริมให้ตอนท้ายครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 เม.ย. 10, 14:55

ถ้าคุณลุงไก่อยากจะร่วมแจมตอนไหนก็เชิญได้เลยค่ะ   ไม่จำเป็นต้องรอจนท้ายกระทู้

ปีต่อมา  อายุ ๒๓   นายพรได้เลื่อนเป็นรองนายเวรกรมพลำภัง ในกระทรวงมหาดไทย   แสดงว่าก้าวหน้าเร็ว เลื่อนตำแหน่งทุกปี
กรมพลำภัง ก็คือกรมการปกครอง ในปัจจุบัน  แต่สมัยโน้นเป็นกรมปกครองท้องถิ่นที่ในหัวเมือง
ความปราดเปรื่องของข้าราชการหนุ่มวัย ๒๓  ฉายแววออกมา  ด้วยการค้นคิดเรียบเรียงโทรเลขลับ ขึ้นมาใช้ในราชการ
เป็นตำราชื่อ แบบโทรเลขมหาดไทย ฉบับพันพุฒอนุราช(พร)     ยังใช้อยู่ในราชการลับของมหาดไทยจนทุกวันนี้

อายุ ๒๔  ได้รับประทวนเป็น ขุนวิเศษรักษา  นายเวรกรมพลำภัง
อายุ ๒๕  ก็เลื่อนขึ้นเป็นพันพุฒอนุราช   ผู้ช่วยเจ้ากรมพลำภัง
ดิฉันไม่แน่ใจว่าประวัติตอนนี้ถูกต้องหรือเปล่า   เพราะนายพรน่าจะได้เป็น พัน ก่อนเป็น ขุน     ก็หวังว่าคนที่รู้ประวัติพระยาโบราณฯจะมาชี้แจงได้
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 เม.ย. 10, 20:10

ผู้ใหญ่ท่านเล่ากันว่า พันพุฒอนุราชนี้ เดิมเป็นนายเวรประจำศาลาลูกขุน  มีหน้าที่เป็นเวรรับใบบอกหัวเมืองแล้วนำความเรียนท่านเสนาบดี  ศักดินาของผู้ดำรงตำแหน่งนี้จึงสูงถึง ๑,๐๐๐ หรือกว่านั้น  ซึ่งเป็นศักดินาที่สูงกว่า ขุน  และหลวง  ที่ปกติมีศักดินาเพียง ๖๐๐ และ ๘๐๐ เท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 08:46

นับว่าเป็นความรู้ใหม่  ว่า"พัน"บางตำแหน่งศักดินาสูงกว่า"หลวง"  เสียอีก  ขอบคุณคุณ V_Mee ค่ะ

ปีเดียวกันกับได้เป็นพันพุฒอนุราช     หนุ่มวัย ๒๕   ก็ได้เลื่อนตำแหน่งใหม่อีกครั้ง  คราวนี้ได้ออกหัวเมืองไปกินตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย  ณ มณฑลอยุธยา  ซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่ตามระเบียบการปกครองใหม่ ที่แบ่งหัวเมืองเป็นมณฑล  ไม่ใช่เมืองเอก โท ตรี อย่างเมื่อก่อน    มีสมุหเทศาภิบาลปกครอง

สมุหเทศาภิบาลคือกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์   ทรงเลือกพันพุฒอนุราชไปทำงานที่อยุธยา   โดยทรงขอมายังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   สมเด็จก็ทรงเห็นด้วย  นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ  ทรงพระกรุณาแต่งตั้งข้าหลวงใหม่
พันพุฒ(พร) ก็เลยได้เลื่อนขึ้นเป็น หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์   ข้าหลวงมหาดไทย
(ข้อนี้ชวนให้คิดว่า ตำแหน่ง พันพุฒอนุราช ในสมัยรัชกาลที่ ๕  น่าจะต่ำกว่าหลวง แต่สูงกว่าขุน)

เล่าประวัติท่านมาได้ถึงตรงนี้ ก็รู้สึกว่าพระยาโบราณฯ ดวงท่านน่าจะเก่งบวกเฮงอยู่มากๆ  เลื่อนตำแหน่งทุกปีเลย  คงเป็นคนหนุ่มที่ปราดเปรื่องอยู่ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน

ข้าหลวงมหาดไทยสมัยนั้นตรงกับตำแหน่งอะไรสมัยนี้ ไม่ทราบ  เดาว่าปลัดจังหวัด   แต่ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด   เพราะตำแหน่งผวจ. สมัยนั้น เรียกว่า "ผู้รักษากรุง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 13:12

จังหวะในการรับราชการของพระยาโบราณฯ ดีมาก   ถ้าพูดแบบโหรก็คือดวงราชการท่านดี   
คุณหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ไปเป็นข้าหลวงอยู่ปีเดียว    พระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา ก็เวนคืนตำแหน่ง
(สำนวนนี้แปลว่าอะไร  ขอผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ)
ทำให้ตำแหน่งท่านว่างอยู่   กรมขุนมรุพงศ์ฯก็เลยให้คุณหลวงอนุรักษ์รักษาราชการแทนชั่วคราว จนกว่าจะหาคนใหม่ได้
แต่คุณหลวงหนุ่มวัย ๒๖  ทำงานได้ดีมาก  จน ๑ ปีจากนั้นผู้ใหญ่เห็นว่าสามารถรับผิดชอบได้    ตำแหน่งใหม่ก็เลยมาถึงมือ
ในวัย ๒๗ ปี  จากหลวง กลายเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศร์  ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา
แปลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดศรีอยุธยา  กรุงเก่าของสยาม    เป็นชายหนุ่มอายุ ๒๗ เท่านั้นเอง

ทำงานอยู่ ๓ ปี   ด้วยความสามารถ    คุณพระก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโบราณบุรานุรักษ์  ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา
เป็นเจ้าคุณเมื่ออายุ ๓๐   หนุ่มกว่าพระยาพลวัต พระเอกเรื่องผู้ดี ของดอกไม้สด เสียอีก   พระยาพลวัตที่ถือกันว่าหนุ่มมาก  อายุ ๓๓
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 14:05

อ้างถึง
  พระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา ก็เวนคืนตำแหน่ง

คงหมายถึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งราชการ  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะชราภาพหรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติราชการได้เต็มที่   จึงได้กราบบังคมทูลลาออกราชการไป   ซึ่งการกราบบังคมทูลลาออกจากราชการนั้นก็ส่งใบบอกเข้ามาที่กระทรวงมหาดไทย ให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา  เมื่อได้รับพระราชทานพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  ทางกระทรวงก็ทำหนังสือตอบว่าได้กราบบังคมทูลแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกได้  ก็เป็นว่าท่านพ้นจากตำแหน่งราชการ  ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะต้องรีบหาคนมารั้งตำแหน่งดังกล่าวต่อไป


แม้เจ้าคุณโบราณราชธานินทร์จะได้ขึ้นเป็นพระยาเพียงอายุ ๓๐ ปี ซึ่งนับว่าเร็วมาก  แต่ท่านก็ไม่ได้เลื่อนที่ให้ยิ่งกว่านี้  ทั้งๆ ที่มีความชอบในราชการมากมาย   มีความรู้ความสามารถหลายด้าน  พระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายหลายพระองค์โปรดมาก  รับราชการมานาน   น่าเสียดายที่ไม่อาจจะได้เป็นเจ้าพระยา   ทั้งที่ควรจะได้เป็น  เรื่องนี้ไม่ธรรมดาครับ

พันพุฒอนุราช  เป็นหนึ่งในจำนวนข้าราชการยศพันที่เป็นายเวรหนังสือของมหาดไทยสมัยเก่า  อันประกอบด้วย  พันภาณุมาศ พันจันทนุมาศ  พันเภานุราช  พันพุฒอนุราช
ด้วยว่าเป็นนายเวรที่มีราชการมากจึงมีศักดินาสูงกว่าข้าราชการยศพันทั่วไป ที่เป็นข้าราชการชั้นประทวน อันได้แก่ข้าราชการท้องถิ่นของมหาดไทยพวกกำนัน    พวกพันชั้นประทวน  เสนาบดีจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง  เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งแล้ว   เสนาบดีก็จะออกตราประทวนพระราชสีห์ตั้งได้ทันที   แต่ขุนนางพันทั้ง ๔ นี้  เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 14:16

ขอบคุณสำหรับคำอธิบาย
ดิฉันเดาว่า เวนคืน แปลว่าคืนตำแหน่ง  คือให้คนอื่นมาทำแทน     แต่ยังไม่แน่ใจก็เลยรอคำอธิบายดีกว่า   เราเลิกใช้คำนี้ในด้านบุคคลมานานแล้ว   แต่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในการเวนคืนที่ดิน   คือรัฐเอาที่ดินคืนจากกรรมสิทธิ์ที่ประชาชนครอบครอง เพื่อเอาไปใช้สิทธิ์ตามที่รัฐเห็นสมควร

ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ว่าฯอยุธยาคนเดิม เป็นถึงพระยา  ดูจากนามสกุลก็เป็นสกุลเก่าแก่ของอยุธยา    น่าจะแวดล้อมด้วยเครือญาติในอยุธยาเป็นตระกูลใหญ่แน่นอน
แต่แทนที่กรมขุนมรุพงศ์ฯ จะเลื่อนขุนนางในสกุลเดียวกัน(ซึ่งน่าจะมี) มาทำงานแทน   หรือถ้าไม่ใช่เครือญาติ ก็ยังมีพระยาอีกหลายคนที่จะเข้ามาสวมตำแหน่งแทนได้   หรือไม่มีพระยาก็ยังมีคุณพระอาวุโสอยู่ในคิวแน่นอน
ท่านกลับเลือกคุณหลวงหนุ่มเพิ่งย้ายจากเมืองหลวงมารักษาราชการ   แล้วปีเดียวก็เลื่อนเป็นพระ และเป็นผู้รักษากรุง เต็มขั้น
แสดงว่าคุณหลวงหนุ่มคนนี้ ฝีมือไม่ธรรมดา
แต่ทำไมท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา  ค่อยๆติดตามประวัติไป อาจจะพอสันนิษฐานได้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 16:14

ข้อเท็จจริง

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
ด้วยทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีกระทรวงมหาดทยทำประทวนตราพระราชสีห์ตั้งให้  พันจันทนุมารค (หลำ) เปนที่พันพุฒอนุราช  หัวพัน  ...ฯลฯ...นายพร นักเรียนประโยค ๒ เปนที่ขุนวิเศษรักษา  ตำแหน่งขุนหมื่น ...ฯลฯ...ประทวนตั้งลงวันที่  ๑๘ มีนาคม  รัตนโกสินทร์ ศก ๒๓ ๑๑๓   ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย   แจ้งความแต่วันที่  ๓๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๒๗  ๑๑๓   (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๒ หน้า ๖)



แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
ด้วยพันพุฒอนุราช  หัวพันกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่ขุนเพชร์อินทรา  ปลัดกรมตำรวจภูธรขวาแล้ว   ตำแหน่งที่พันพุฒอนุราชยังว่างอยู่  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ออกประทวนตราพระราชสีห์  ตั้งขุนวิเศษรักษษ (พร) เปนที่พันพุฒอนุราช  ตำแหน่งหัวพัน ถือศักดิ์นา  ๔๐๐  รับราชการตามตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก ๒๙ ๑๑๕  ดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๓ หน้า ๒๗)

(หมายเหตุ ความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งพันพุฒอนุราชของผมก่อนหน้านี้  ขอยกเลิกครับ)




พระราชทานสัญญาบัตร
วันที่  ๑๘ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕  เวลา ๔ ทุ่มเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ คือ  ...ฯลฯ... ๒ ให้พันพุฒอนุราช  เปนหลวงอนุรักษภูเบศร์  มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย  ถือศักดินา  ๘๐๐ .... (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๓ หน้า ๕๑๙)
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 เม.ย. 10, 18:08

ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า  เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองแบบเก่าครับ
ตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย  เป็นตำแหน่งราชการที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล  เป็นตำแหน่งข้าราชการในระดับรองลงมาจากข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล) 
ตำแหน่งข้าหลวงนี้ในระยะต้นของการจัดระเบียบมณฑลเทศาภิบาลมีทั้งข้าหลวงธรรมการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นธรรมการมณฑล)   ข้าหลวงทหารบก (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสัสดีมณฑล)  ข้าหลวงสรรพากร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสรรพากรมณฑล)  สำหรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยนั้นต่อมาเปลี่ยนเป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัด  คือผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเองครับ

ในสมัยที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์(พร) ออกไปเป็นข้าหลวงมหาดไทยที่มณฑลกรุงเก่านั้น  คงจะไปปฏิบัติหน้าที่ราชการของกระทรวงมหาดไทยที่จัดใหม่  ส่วนการปกครองเมืองยังคงจัดแบบเก่า  จนพระยาชัยวิชิต เวนคืนตำแหน่ง  คือกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง  โดยถวายตราประจำตำแหน่งคืน  คำว่าเวนคืนจึงน่าจะมาจากเหตุนี้ครับ

เรื่องธรรมเนียมการปกครองแบบเก่านี้มีแบบอย่างที่หัวเมืองประเทศราชล้านนา  เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายจากระบบเจ้าผู้ครองนครมาเป็นมณฑลเทศาภิบาลในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ นั้น  เจ้าครองเมืองคงมีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองจังหวัด  แต่มีปลัดมณฑลประจำจังหวัดร่วมเป็นคณะกรรมการปกครองประจำจังหวัดในนามของ "เค้าสนามหลวง" ด้วย  การลงนามสั่งราชการต้องลงนามคู่กันทั้งเจ้าครองนครและปลัดมณฑลประจำจังหวัด
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง