เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: อธิพัฒน์ ที่ 15 ม.ค. 01, 20:56



กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: อธิพัฒน์ ที่ 15 ม.ค. 01, 20:56
อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 09 ม.ค. 01, 04:49
ทราบแต่ว่าตาน้ำของลำแม่ปิง อยู่บนดอยอินทนน์ครับ
เคยไปดูมา 2 ครั้งแล้ว อยู่ตามพื้นดินในป่าบนยอดดอย
จะว่าเป็นโคลนก็ไม่ใช่ เรียกว่าเป็นฟองน้ำที่ซึมซับน้ำไว้ดีกว่า
เอาน้ิวจุ่มลงไปแล้วเย็นมากครับ

อีกอย่างที่เคยได้ยินคือเพลงเกี่ยวกับมนต์รักริมฝั่งแม่ปิง
จำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไรครับ...


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลูกแม่ปิง ที่ 09 ม.ค. 01, 20:33
ต้นน้ำปิงอยู่แถวๆ อำเภอเชียงดาวไม่ใช่หรือคะ
ตาน้ำอาจอยู่บนดอยหลวงเชียวดาวหรือดอยอ่างขาง

ดอยอินทนนท์ (หรือชื่อเดิมดอยอ่างกา)
อยู่ทางใต้ของอำเภอเชียงดาวและอำเภอเมือง
ไม่น่าจะเป็นต้นน้ำนะคะ แต่อาจเป็นได้ว่า
น้ำจากตาน้ำบนดอยอินทนนท์ ไหลลงสู่น้ำปิงในที่สุด

ร้องเพลงกันดีกว่า

น้ำปิงล้นฝั่ง ดังรักพี่เปี่ยมฤดีแล้วเจ้าเอย ...


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 10 ม.ค. 01, 08:11
อืมหรือครับ ( เพล็ง!  หน้าแตก )
เจ้าหน้าที่ๆ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนท์
เขาบอกมาว่าอย่างนั้น
ตอนนู้นผมไปค่าย พสวท. ที่ มช. เขาพาไปดู
ก็เลยฝังใจว่าใช่นะครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 01, 09:17
คุณจ้อ
น่าจะเป็นเพลง สักขีแม่ปิง  นะคะ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: ยายน้ำ ที่ 10 ม.ค. 01, 22:04
ตาน้ำคืออะไร
น้ำมาจากไหน
ใต้ดินหรือไง
ถามผิดห้องหรือเปล่าเนี่ย
เนื้อหามันเกี่ยวกันนะ

เมื่อไหร่ดีเจจามาเปิดสักขีแม่ปิง


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 01, 22:41
มาแล้วค่ะคุณยายขา   อย่าเพิ่งใจร้อนนะคะ



สักขีแม่ปิง



 ช.  โอ้กุศลดลพี่มาพบเจ้า ใจพี่ยังร้อนผ่าว ความรักรุมเร้าคลั่งไคล้

 ญ.  น้ำคำรักของคนเมืองใต้ จะจริงแท้แค่ไหน สาวเชียงใหม่ครวญใคร่ถวิล

 ช.  ชีพสลายยังไม่คลายรักเจ้า

ญ. จริงดั่งใจหรือเปล่า หวั่นเกรงเคลือบเอาที่ลิ้น

 ช.  รักจริงเพียหัวใจแดดิ้น ไม่วายเว้นถวิล มิสิ้นความรักได้เลย

ญ.  น้ำปิงล้นฝั่ง  

ช.  ดังรักพี่ เปี่ยมฤดีแล้วเจ้าเอย

ญ.  แล้วคงละเลย  ไม่เหมือนเอ่ย  

ช.  โอ้ทรามเชยมิเคยแหนงหน่าย

ญ.  หน่อยเถิดนะ คงจะไม่เห็นหน้า

ช.  ถ้าพี่เป็นเหมือนว่า วานน้องฆ่าเสียให้ตาย  

ญ.  สาบาน

ช.  จ้ะสาบานก็ได้ หากความรักสลายขอตายในสายแม่ปิง

ญ.  รักกันหวานชื่น เกรงขมขื่น ขื่นกลับชังช้ำอกหญิง

ช.  น้องควรรู้ใจ พี่ทุกสิ่งเช่นแม่ปิงรู้จริงใจพี่

ญ.  หน่อยจะคร้าน นานกลับกลายหายชื่น

 ช. พี่ไม่ไปไหนอื่น จะขอชื่นรักอย่างนี้

ญ. อุ๊ยตาย อายเขาบ้างซิพี่  

ช.  จูบฝากรักสักที

ช.ญ. ไว้เป็นสักขีแม่ปิง



คาราโอเกะได้ที่นี่ค่ะ

http://www.geocities.com/sunsetstrip/club/6639/


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:01
เอ้า ล่องแม่ปิงกันเร้ว นั่งเรือไป พายไป ฟังเพลงไปสุขใจเอย

ถ้าว่ากันตามหลักวิชาการของกองอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ของไทยเรานั้น ก็ต้องบอกว่าต้นน้ำปิงมีหลายสาย ทั้งน้ำแม่กวง น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่แตง น้ำแม่ข่า  แม่น้ำเหล่านี้เป็นแหล่งรับน้ำจากผืนป่าโดยรอบ และไหลลงมารวมกับลำน้ำสายหลัก กลายเป็นน้ำแม่ปิง
ทั้งนี้ว่ากันตามหลักการของกองอนุรักษ์ต้นน้ำ  ที่จะไม่ระบุว่าจุดใดจุดหนึ่งเป็นต้นน้ำที่แท้จริง
แต่น้ำแม่ปิงนั้นมีจุดกำเนิดอยู่กลางป่าต้นน้ำ  ว่ากันตามแผนที่ และวิถีของชุมชนที่ผูกพันกับต้นน้ำ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:01
“อยู่หัวน้ำปิงคนเดียว
ฉันเปลี่ยวใจเพราะไร้คู่
ร้องเพลงปลอบใจตัว
หัวใจใฝ่ปองเธอที่รัก
จักได้ยินเพลงของฉันไหม
อยู่หัวน้ำปิงเดียวดาย
มีเพียงน้ำปิงเย็นใส
เป็นเพื่อนใจยามไร้เธอ…”

คงไม่เคยได้ยินเพลงบทนี้แน่ๆ  ลำนำบทนี้ขับกล่อมกันตามความหมายที่ปรากฏ เป็นลำนำที่ขับกล่อมกันจากขุนน้ำปิง  ต้นกำเนิดของสายน้ำปิง แม่น้ำสายหลักของล้านนา
บทเพลง “หนะปิง เตกาติแชแว” หรือ “เดียวดายบนขุนน้ำปิง”  ลำนำรักภาษามูเซอนี้ถอดความเป็นภาษาไทยกลางอย่างที่ได้เห็น  เป็นลำนำที่ขับขานผ่านเสียงลม สายน้ำ ลำไม้ ถ่ายทอดกันรุ่นต่อรุ่น แต่ส่งเสียงก้องอยู่ในหุบดอยของมูเซอเท่านั้น  เพื่อจะบอกว่าถิ่นที่พวกเค้าอยู่เป็นต้นกำเนิดของ “ขุนน้ำปิง”  ที่อยู่กันมาช้านาน


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:02
หนังสืออักขรานุกรมทางภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๗ ระบุว่าแม่น้ำปิงมียอดน้ำถือกำเนิดจากเขาไม่มีชื่อ ที่พิกัดความสูง ๑,๘๒๔ เมตร เหนือดอยถ้วย เขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ดอยถ้วยอยู่บนทิวเขาแดนลาว ที่กั้นแบ่งระหว่างไทยกับพม่า
พิจารณาในรายละเอียดลงไป ที่พิกัดความสูง ๑,๘๒๔ เมตรนั้น  แผนที่จากกรมแผนที่ทหารระบุว่าเป็นเป็นดอยถ้วย และเชิงดอยเป็นที่ตั้งของบ้านมูเซอห้วยน้ำปิง หรือบ้านหัวน้ำปิง เป็นหมู่บ้านสุดท้ายชายแดนไทย-พม่า ตรงบริเวณช่องเมืองนะ ที่เป็นช่องทางติดต่อโบราณเส้นทางหนึ่ง
แต่ปัจจุบันบ้านหัวน้ำปิงได้ถูกลบไปจากแผนที่แล้ว เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคงด้านชายแดนและเหตุผลการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิง  โดยมูเซอบ้านหัวน้ำปิงได้ถูกอพยพสู่พื้นที่ทำกินใหม่และชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า มูเซอบ้านเจียจันทร์
แต่มูเซอบ้านเจียจันทร์ยังคงขับลำนำบทเดิม ““หนะปิง เตกาติแชแว” หรือ “เดียวดายบนขุนน้ำปิง”กันเหมือนเดิม


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:03
จากเชิงดอยถ้วยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เดินทวนห้วยน้ำปิงก่อนเข้าสู่ฝั่งพม่า ตลอดสองข้างทางเป็นป่าทึบและชุ่มชื้นตลอดปี  ที่นี่เป็นขุนน้ำปิง หรือตาน้ำที่ไหลออกมาจากซอกหิน ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่รับน้ำ  น้ำฝนที่ตกบนสันเขาจะซึมตามภุเขาแล้วจะค่อยๆ ซึมออกตามช่องหินที่ขุนน้ำแห่งนี้และไหลลงสู่ห้วยน้ำปิง
ดังนั้นในด้านอักขรานุกรมทางภูมิศาสตร์จึงกำหนดให้เป็นต้นกำเนิดน้ำแม่ปิง เช่นเดียวกับมูเซอที่เชื่อกันมาหลายร้อยปี
สำหรับพื้นที่โดยรอบในปัจจุบันนี้ยังเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่างมาก แม้ว่าในด้านการทำลายป่าต้นน้ำบริเวณดอยถ้อยจะลดน้องลงไปแล้ว  แต่ว่าในด้านความปลอดภัยนั้นยังไม่มั่นคงนัก  ขุนส่าได้มอบตัวไปแล้ว แต่ว่าเลยทิวเขาแดนลาวด้านดอยถ้วยเข้าไปในเขตพม่านั้น เป็นที่ตั้งของกองกำลังว้าแดง และตลอดเส้นทางที่ขึ้นขุนน้ำปิงนั้น ยังมีกับระเบิดฝังอยู่มาก  เป็นกับระเบิดที่กองกำลังกองทัพเมิงไตของขุนส่าและว้าแดงลอบวางใส่กัน ในสมัยที่ขุนส่ายังไม่ได้มอบตัว  ทั้งนี้ได้วางล่วงล้ำเข้ามาทางฝั่งไทย เพื่อป้องกันการทำลายกองคาราวานขนฝิ่นและเฮโรอีนในสมัยก่อน


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:04
ส่วนตำบลเมืองนะ ซึ่งเป็นตำบลสุดท้ายในด้านนี้ เป็นตำบงที่ผูกพันแนบแน่นกับขุนปิงและประวัติศาสตร์ไทยค่อนข้างมาก
ตำนานมีอยู่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ขุนปิงในสมัยพุทธกาล จึงมีพุทธศาสนิกชนและสรรพสัตว์ทั้งหลายมาเข้าเฝ้า  รวมทั้งพญาช้างเผือกเชือกหนึ่ง ที่ได้นำลูกสมอป่าหรือลูกนะมาถวาย ครั้นพระพุทธเจ้ายื่นพระหัตถ์รับผลนะไว้ในพระหัตถ์ ก็กลับกลายเป็นผลนะทองคำ
จึงเป็นที่มาของบ้านเมืองนะ  และชาวบ้านก็เชื่อว่าน้ำจากขุนปิงตรงจุดที่พระพุทธองค์ประทับ
ที่เรียกว่า “ออบขุนปิง” ใกล้ลำห้วยแม่ปิงนั้น เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะยังมีรอยเท้าช้างปรากฏอยู่บนหินให้เห็นอยู่
ทั้งนี้ในด้านพิธีพราหมณ์และด้านการปกครองของอำเภอเชียงดาว ได้มีการตรวจสอบคู่กัน
และได้กำหนดให้ ออบแม่ปิง เป็นสถานที่หนึ่งในการจัดพิธี “พลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์” ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบของในหลวงเมื่อปี ๒๕๓๐ อีกด้วย


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:04
จากดอยเหนือ น้ำแม่ปิงไหลลงสู่ใต้เรื่อยๆ ผ่านที่ราบแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน ที่เป็นชัยภูมิที่ดี
ณ. ที่นี้แต่เดิมเคยเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวเม็ง หรือมอญชนชาติที่มีวัฒนธรรมแข็งแกร่งมากในบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งก่อนที่ประเทศไทยจะถือกำเนิดขึ้น  ชาวเม็งนั้อยู่กันบริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำนี้มาก่อน  ลำน้ำแห่งนี้จึงเรียกว่าระเม็ง แปลว่าถิ่นที่อยู่ของชาวเม็ง  และชาวยวนที่มาภายหลังได้กร่อนคำเป็น ระมิง  ดังนั้นน้ำแม่ปิงจึงเรียกอีกชื่อว่าแม่ระมิงค์ (ตรงนี้เดี๋ยวไว้ว่างๆ จะหาข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดให้  ว่าสาเหตุของการกร่อนคำนั้นมาจากเรื่องใด  ตอนนี้ลืมไปแล้วครับ)
ในชื่อนี้คุณนิตย์  วังวิวัฒน์จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อใบชาแม่ระมิงค์ไงครับ
ย้อนเวลากลับไปในอดีต


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:05
ณ.  ที่นี้พระยามังรายที่แผ่ขยายพระราชอำนาจในเขตล้านนาโบราณทั้งหมด  รวมทั้งได้ใช้อุบายในการเข้ายึดครองอาณาจักรลำพูน ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจดั้งเดิมได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ. ๑๘๓๗ พระยามังรายได้สร้างบ้านแปงเมืองที่บริเวณน้ำแม่ปิง  เพื่อเป็นศูนย็กลางการปกครองของล้านนา และพระราชทานชื่อว่า “เวียงกุ๋มก๋าม” หรือที่เราเรียกแบบไทยกลางว่าเวียงกุมกามนั้นเอง
แต่หลังจากนั้นไม่นาน น้ำแม่ปิงเกิดเปลี่ยนทางน้ำ ทางน้ำเดิมที่ไหลเลียบเวียงกุ๋มก๋ามได้ตื้นเขินลง  และส่วนที่ตั้งเมืองนั้นได้เกิดอุทกภัยอยู่เนืองๆ พระยามังรายจึงอันเชิญพระสหายคือพ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง มาร่วมปรึกษาหารือและหาชัยภูมิในการสร้างศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนาแห่งใหม่ และเรียกว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือเชียงใหม่อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
ส่วนเวียงกุ๋มก๋าม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านวังตาล อำเภอสารภี  ก็กลายเป็นโบราณสถานทีอยู่ระหว่างการขุดแต่งอยู่ในขณะนี้


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 13:06
ล่องตามลำน้ำปิงลงใต้ไปเรื่อยๆ  ดอยอินทนนท์ที่เป็นที่กำเนิดขุนน้ำแม่แจ่ม ได้ไหลเลาะ
หล่ายดอยมาเรื่อยๆ ผ่านโขดหินใหญ่น้อย กลายเป็นออบหลวงและเซาะแต่งหินเป็นรูปร่างต่างๆ จนเรียกน้ำแม่แจ่มช่วงนี้ว่า ลำน้ำสลักหินนั้น  ได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ไหลลงมาจากเชียงใหม่
บริเวณที่ลำน้ำสำคัญสองสายไหลมาบรรจบกันนี้ เรียกว่าปิงสบแจ่ม หรือสบแม่แจ่ม  ไหลรวมกันลงสู่เมืองใต้ รวมกับแม่น้ำวังเป็นต้นธารของแม่น้ำเจ้าพระยา
และความเป็นมาของน้ำแม่ปิงตั้งแต่ปิงสบแจ่มนั้น  ตอนนี้ได้จมหายไปกับกาลเวลา และจมหายไปใต้สายน้ำที่เราเรียกว่า ทะเลสาบแม่ปิง ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเขื่อนภูมิพล
เป็นสรุปความเป็นมาของลำน้ำสายยาวไว้สั้นๆเท่านี้แล้วกันครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลูกแม่ปิง ที่ 12 ม.ค. 01, 04:08
คุณสอบว่าเล่าเรื่องได้ไพเราะสละสลวย
ผู้อ่าน "คนเมือง" ยิ่งได้อรรถรสทางภาษา
เพิ่มขึ้นไปอีก

เคยไปเดินดอย แวะลงเล่นต้นน้ำแม่ปิงที่เชียงดาว
เป็นห้วยเล็กๆไหลรินเย็นใส
แทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองเมื่อได้เห็นทะเลสาบ
เหนือเขื่อนภูมิพล ประจักษ์ต่อตาต่อใจจริงๆว่า
ป่าดอยซึมซับกำเนิดสายน้ำหล่อเลี้ยงชุมชน
อย่างที่ตำราเรียนบอกไว้จริงๆ

ถามหน่อยค่ะว่าในความคิดเห็นที่สิบสี่ หมายความว่าหลังจากสร้างเขื่อนภูมิพลแล้ว น้ำแม่แจ่มไหลลงทะเลสาบแม่ปิง แทนที่จะไหลไปบรรจบกับน้ำปิงที่สบแม่แจ่ม (ซึ่งตอนนี้อยู่ใต้ทะเลสาบแม่ปิง) เข้าใจถูกมั้ยคะ

เคยไปเที่ยวออบหลวงมาแล้ว งามจับใจจริงๆค่ะ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 12 ม.ค. 01, 20:35
เข้าใจถูกต้องแล้วครับ ตั้งแต่สร้างเขื่อนภูมิพล สบแม่แจ่มหรือปิงสบแจ่มที่พระนางจามเทวีเคยขึ้นฝั่งที่นี่ หรือที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเคยมาประทับเปลี่ยนถ่ายเรือแพก็จมหายอยู่ใต้น้ำ จมหายไปพร้อมกับเวียงสร้อยศรีสุข และเมืองเก่าเรื่องเล่าต่างๆ อีกเยอะแยะ

ผมชอบน้ำแม่ปิงมาก  และก็ชอบคนละแบบกับน้ำแม่แจ่ม  จากสายน้ำที่สงบนิ่งบนแม่แจ่ม  สายน้ำเดียวกันนี้แสดงพลานุภาพอย่างเต็มที่ยามผ่านโขดหิน และไหลซอนเซาะหินผากลายเป็นออบหลวงอย่างที่เห็นนั้นแหละครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 12 ม.ค. 01, 20:36
มอบเพลงนี้ไว้ให้ร้องเล่นๆ แล้วกัน ผมว่าแทนความหมายของน้ำแม่แจ่มได้ดีทีเดียว
------------------แม่น้ำความรัก -----------------
จากดอยเหนืออันเหน็บหนาว
อุ่นแดดพราวจากราวป่า
ทั้งเธอและเขาเติบโตมา
เยียะไฮ่ไถนาประสาขาวไพร

เธอรอด้วยใจไหวหวั่น
ขอคำมั่นรักเดียวจริงใจ
ควายหงานตัวงามเขามอบไว้ให้
แล้วได้ฮ่วมเฮือนฝนเยือนฟ้าเย็น
เหมือนแม่น้ำที่ไหลล่องไป
เหมือนใบไม้ร่วงรายลงดิน
บ่มีวันจบ บ่มีวันสิ้น
อยู่เกิ๋นเวลา เกิ๋นจีวิตเฮา
ต้นฮักอันเฮาได้ปลูกฝังไว้
บ่มีวันตาย มีแต่เติบโตใหญ่

สองเฮาฮักกันพันผูก
แก้วตาลูกเงา เฮาฉายเด่น
ฤดูเดือนเลื่อนลาหลีกเร้น
น้ำยังไหลเย็นใบไม้หล่นลอย

สองเฮาฮักกันมั่นแก่น
ยิ่งนานยิ่งแน่น
บ่มีเสื่อมถอย
ฤดูเดือนเคลื่อนคลาคลาดคล้อย
แม่น้ำสายน้อยยังอยู่คู่ไพร

ในคืนอันเหน็บหนาว
ผัวเฒ่านอนยาวเฮือนเย็นเฮือกใหญ่
ลูกเมียพร้อมหน้า ผัวเฒ่าลาไกล
เมียกุมมือไว้มือใหญ่ มือแฮง

คืนหนาวคราวใกล้สาง
ผัวเฒ่าบอกนางอย่าได้กิ๋นแหนง
แม่น้ำความฮักความแพง
ยังคงไหลแรงกู่ฟ้ากู่ดิน
แม่น้ำความฮักความแพง
ยังคงไหลแรงกู่ฟ้ากู่ดิน
(คำร้อง-ทำนอง โดยทอดด์  เลาว์เวลล์
เขียนคำไทยโดยมาลา  คำจันทร์
ขับร้องโดย สุนทรีย์ เวชานนท์)

………………..


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: เบิ้ม ที่ 13 ม.ค. 01, 14:18
ผมชอบคำตอบคุณสอบวาจริงๆ
ไปตอบหรือ post อรไรไว้ที่ไหนบ้างอีกไหม
อยากตามไปอ่านครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 14 ม.ค. 01, 02:07
ขออนุญาตขอออกนอกเรื่องหน่อยได้มั้ยคะ  ไหนๆมีเพลงแม่นำ้กันแล้ว  ขอให้ครบชุดเลยได้มั้ยคะ  เคยได้ยินคนลาวอพยพร้องเพลง สองฝั่งโขง
ให้ฟังค่ะ  แต่ลืมไปแล้วว่าเนื้อเพลงเป็นอย่างไร  จำได้นิดหน่อยค่ะ  ขึ้ืนต้นว่า

"ของสองฝั่ง  กั้นกลางด้วยสายนที
แต่ประเพณีนั้นบ่ไกลกัน
ซาดลาวและไทย ก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์
ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เพียงนำ้เท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง"

จำได้แค่นี้ค่ะ  ไม่ทราบคุณสอบวาเคยได้ยินมั้ยคะ


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 15 ม.ค. 01, 18:24
คุณเบิ้มครับ ผมก็เพิ่งเข้ามาได้แค่หนึ่งอาทิตย์กับสามวันเองครับ

มาช่วยคุณพวงร้อยเธอตอบเรื่องเนียมในกระทู้จีบพลูข้างล่าง

แต่ถ้าจะลองไปเที่ยว “แม่น้ำความรัก” ตามความคิดของผม ก็ลองแวะไปอ่านเรื่อง “จุลกฐินแม่แจ่ม : รอยอดีตเหนือม่านหมอก “ อยู่ในคลังกระทู้เก่าของ BP  http://pantip.inet.co.th/cafe/blueplanet/topicstock/E719871.html



คุณพวงร้อย ผมส่งมาให้ตามคำขอครับ แล้วถ้าจะแวะไปเที่ยวหลวงพระบางก็แวะไป

เยี่ยมยามหลวงพระบางได้ที่คลังกระทู้เก่าเหมือนกันครับ

http://pantip.inet.co.th/cafe/blueplanet/topicstock/E705580.html


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 15 ม.ค. 01, 18:25
เพลง “สองฝั่งโขง”

สายนทีรินหลั่งจากฟ้า
แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง
หากน้ำกั้นขวางก็บ่สำคัญ
แต่ความสัมพันธ์ของเฮามั่นคงเรื่อยไป

เถิงไกลกันคนละฝั่งของ
ต่างหมายปองดองมุ่งหวังทั้งสองจนได้
หากความใฝ่ฝันหมั้นสุดหัวใจ
ปักฝังทรวงในเหมือนใจดวงเดียวกัน…..

โขงสองฝั่งกั้นกลางด้วยสายนที
แต่ประเพณีนั้นบ่ต่างกัน
ซาดลาวหรือไทย
ก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์
ร่วมสายโลหิตเดียวกัน
เพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง

*ขอฟ้าดินช่วยเป็นสักขี
โปรดคิดปราณีจึงอย่าได้เหินห่าง
อย่าให้สัมพันธ์นั้นต้องจืดจาง
ฝากฝังชีวี…เหมือนนทีสองฝั่งเอย

--------------------------------------------------------------

พิมพ์ตามสำนวนเก่าครับ
ปองดอง = ปรองดอง เถิง = ถึง  ซาด = ชาติ  หมั้น คำนี้มาจากคำเต็มว่า “หมั้นยืน”  ในคำไทยก็เขียน มั่นยืน แต่ว่าความหมายของลาวเค้าลึกซึ้งกว่า คล้ายๆ กับว่ากี่หมื่นแสนภพก็ยังคงอยู่ตลอดไป ไม่มีเปลี่ยนแปร (ใช้ในความหมายของผู้บ่าวรักผู้สาวและในความหมายความผูกพันกับแผ่นดินเกิด)


กระทู้: อยากทราบประวัติแม่น้ำปิงครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 16 ม.ค. 01, 08:56
ขอบคุณมากค่ะ คุณสอบวา  ดีใจจริงๆ เพราะอยากได้เพลงนี้มานานแล้วค่ะ