เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:22



กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:22
(ผมเคยตั้งกระทู้นี้ไว้ที่ http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8361445/K8361445.html)

ศรีสัชนาลัย (เชลียง เชียงชื่น สวรรคโลก) เป็นชุมชนยุคโลหะ (เหล็ก) ริมแม่น้ำยม มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีแหล่งแร่ (บริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน) ที่ดึงดูดผู้คนให้มาตั้งถิ่นฐาน
ทั้งยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม (และพัฒนาเป็นเส้นทางการค้า) ระหว่างดินแดนสองฝั่งโขง (แถวหลวงพระบาง-เวียงจัน) ไปจนถึงลุ่มสาละวินออกอ่าวเมาะตะมะ
และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยจนมีขนาดชุมชนใหญ่ขึ้นจนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๑๑๐๐ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมทวารวดีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงหลัง พ.ศ.๑๕๐๐ ละโว้ได้แผ่อำนาจเข้ามาพร้อมกับอารยธรรมขอม ดินแดนแถบนี้ได้กลายเป็นเครือข่ายอำนาจทางการเมืองและการค้าของละโว้ บรรดาชนชั้นนำอันได้แก่พวกพวกเจ้าตระกูลใหญ่ในแถบนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับสองฝั่งโขงบริเวณที่ปัจจุบันคือ เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจัน และยังคงความสัมพันธ์กับละโว้อีกด้วย
ปัจจุบันมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์ อักษรให้ทราบประวัติศาสตร์สุโขทัยย้อนไปได้ถึงประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐ รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ อีกมากมาย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปประวัติศาสตร์สุโขทัยให้แน่ชัดลงไปได้ ทำให้มีข้อถกเถียงในประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่มาก

เลยได้ลองรวบรวมบท วิเคราะห์จากนักวิชาการหลายๆ ท่านมาสรุปให้เห็นถึงลำดับของเจ้าผู้ครองนครดู เนื่องจากมีความสับสนอยู่มาก อาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นบ้าง

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ความรู้และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกเรือนไทยที่ทรงความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้รวมทั้งปรับปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:26
ลำดับกษัตริย์ที่เป็นที่นิยมกันครับ
อยู่บนแนวคิดประวัติศาสตร์กระแสหลักว่าอาณาจักสุโขทัยมีความเป็นปึกแผ่นพอสมควร และมีการสืบทอดอำนาจเป็นเส้นตรง

ลำดับกษัตริย์มักจะคล้ายคลึงกันโดยเรียงไปตามลำดับดังนี้

พระนาม                                         ครองราชย์             สิ้นสุดครองราชย์

***ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม***
๑.พ่อขุนศรีนาวนำถม                               -                               -       
๒.ขอมสบาดโขลญลำพง *ชิงเมือง*              -                               -        (บางตำราไม่นับ)
๓.กมรเต็งอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์               -                               -        (บางตำราไม่นับ)
  (พ่อขุนผาเมือง)

***วงศ์พระร่วง***
๔.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์                             -                               -
๕.พ่อขุนบานเมือง                                   -                        พ.ศ.๑๘๒๒
๖.พ่อขุนรามราช (รามคำแหง)                 พ.ศ.๑๘๒๒                  พ.ศ.๑๘๔๑
๗.พระยาไสสงคราม                                -                               -             (บางตำราไม่นับ)
๘.พระยาเลอไท                                     -                               -
๙.พระยางั่วนำถุม                                    -                        พ.ศ.๑๘๙๐
๑๐.พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)            พ.ศ.๑๘๙๐                พ.ศ.๑๙๑๑-๒๒     
๑๑.พระมหาธรรมราชาที่ ๒                   พ.ศ.๑๙๑๑-๒๒                    -
๑๒.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ไสลือไท              -                         พ.ศ.๑๙๖๒     
๑๓.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ บรมปาล         พ.ศ.๑๙๖๒                   พ.ศ.๑๙๘๑

ส่วนศักราชนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ที่พอจะยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายคือ
พ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๒๒ อันเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาล ตามธรรมเนียมไทโบราณ (เทียบกับไทอาหม)
ส่วนปีสวรรคตคือ พ.ศ.๑๘๔๑ ตามจดหมายเหตุจีน

ส่วนนอกนั้นที่พอระบุได้ก็มีตามตารางด้านบนที่เป็นศักราชที่ได้รับการยอมรับกว้างขวาง ส่วนที่เว้นไว้คือยังถกเถียงกันอยู่


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:31
การปกครองของสุโขทัยยังไม่ได้พัฒนาเป็นระบบรวมศูนย์ แบบอาณาจักร (เช่น อยุธยาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (ในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติคือสมัยพระนเรศวร))

ดังนั้นความสัมพันธ์จึงเป็นลักษณะ นครรัฐระบบเครือญาติ ถ้ากษัตริย์สุโขทัยมีบารมีและพระปรีชาสามารถก็จะมีเมืองยอมอ่อนน้อม สวามิภักดิ์หรือเป็นพันธมิตรอยู่มาก

ภายหลังพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต บ้านเมืองก็แตกแยกออกไป ไม่เข้มแข็งเท่าเดิม และคงเป็นลักษณะนี้ไปเรื่อยจนพระยาฦๅไทยทรงยกทัพจากนครศรีสัชนาลัยเข้ายึด เมืองสุโขทัย
และกรีฑาทัพเข้าตีนครต่างๆ ในบริเวณภาคกลางตอนบนกลับเข้ามาไว้ในอำนาจได้อีกครั้ง (ตก ถึง จ.ตาก เหนือ ถึง จ.แพร่ จ.น่าน ใต้ ถึง จ.นครสวรรค์)
แต่เมื่อบุกไปทางลุ่มน้ำป่าสักซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอยุธยา ทำให้อยุธยาตอบโต้จนเข้ามายึดสองแควไว้ได้
และทำให้อยุธยาเข้ามามีบทบาทในสุโขทัยตั้งแต่นั้น กอปรกับความมิได้เป็นอันอันเดียวกันของหัวเมืองเหนือ
ดัง นั้นภายหลังการสวรรคตของพระยาฦๅไทย เมืองเหนือจึงเป็นจลาจลและมีการตั้งตนเป็นใหญ่กันหลายนคร จนเกิดความสับสนในแง่ประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
เพราะขนาดเมื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ยังหาหลักฐานที่จะลำดับเหตุการณ์ได้ยากยิ่งเลย


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 09, 11:44
ดิฉันก็เรียนมาตำราเดียวกับคุณละค่ะ     ยังไม่รู้มากกว่านี้  ขอเป็นฝ่ายฟังไปก่อน 
เผื่อจะมีท่านที่ตอบได้   แวะเข้ามาให้ความรู้บ้าง
คุณ Crazy HOrse ก็สนใจเรื่องสุโขทัยอยู่มาก  อาจตอบได้ดีกว่าดิฉัน


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:49
*****ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม*****
{พ.ศ.๑???-๑๗??}           -พ่อขุนศรีนาวนำถุม
                                           มีโอรสคือ พ่อขุนผาเมือง ซึ่งกษัตริย์ขอมให้นามว่า (กมรแดงอัญ) ศรีอินทรบดินทราทิตย์
                                            พร้อมทั้งขรรค์ชัยศรีและนางสุขรมหาเทวีพระธิดา
                                            ต่อมายกนามนี้ให้ พ่อขุนบางกลางหาว พระสหาย

                                            มีเชื้อวงศ์คือ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เป็นโอรส พระยาคำแหงพระราม เจ้าเมืองสระหลวงสองแคว
                                            พระมหาเถรมีศักดิ์เป็นหลานพ่อขุนผาเมือง โดยก่อนผนวชท่านเคยร่วมรบในกองทัพของพระยาเลอไทย
                                        

{พ.ศ.๑๗??-๑๗??}           *ขอมสบาดโขลญลำพง (ชิงเอาเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย)
                                             สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระญาติจากละโว้ มาชิงเมืองเพราะสุโขทัยไปผูกมิตรกับมอญ (ทางออกทะเล)
                                             และรับเถรวาทแทนมหายาน-วัชรยาน



กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:52
*****ราชวงศ์พระร่วง*****
{พ.ศ.๑๗๙๒?-????}        -พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว)
                                             ร่วมกับพระสหายพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดชิงศรีสัชนาลัยสุโขทัยคืน พ่อขุนผาเมืองให้ครองเมืองพร้อมทั้งมอบนามให้
                                             สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นพี่เขยหรือน้องเขยของพ่อขุนผาเมืองด้วย (มเหสีคือนางเสือง)
{พ.ศ.????-๑๘๒๒}          -พ่อขุนบาลเมือง
                                              โอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
{พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๑}       -พ่อขุนรามราช (รามคำแหง)
                                              โอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อนุชาพ่อขุนบาลเมือง ได้รับการยกย่องมากที่สุดในราชวงศ์พระร่วง
          
            อาจมีผู้สำเร็จราชการคั่น ได้แก่ ไสส(รีณรงคส)งคราม ( (...)-สันนิษฐานเนื่องจากจารึกขาดหาย)                  
                     สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโอรสพ่อขุนบาลเมืองกับเจ้าหญิงราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (ไส แปลว่า ลูกชายคนที่สี่)

{พ.ศ.๑๘๔๑-๑๘๘๓?}      -พระยาเลอไทย
                                              โอรสพ่อขุนรามราช (อาจจะสละราชสมบัติไปผนวช)
{พ.ศ.๑๘๘๓?-๑๘๙๐}      -พระยางั่วนำถม
                                              สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโอรสพ่อขุนบาลเมืองกับเจ้าหญิงราชวงศ์ศรีนาวนำถุม
                                              (งั่ว แปลว่า ลูกชายคนที่ห้า นำถุม แปลว่าน้ำท่วม)
                                              พระองค์น่าจะเป็นอนุชาของ ท่านไสส(รีณรงคส)งคราม
                                              และอาจเป็นองค์เดียวกับ พระเจ้าอุทกโชตถตะ รวมทั้งเจ้าของตำนานพระร่วงจมน้ำ

(มีจารึกกล่าวถึง พ่อขุนรามพล มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นช่วงรัชกาลนี้ โดยเป็นพระอนุชาของพระยาฦๅไทย)

{พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๓?(-๑๗?)}  -พระยาศรีสูรยพงศราม มหาธรรมราชาธิราช (พระยาฦๅไทย (ลือไทย) หรือ ลิไทย (มาจากภาษาบาลี ลิเทยฺย))
                                           น่าจะเสวยราชย์ศรีสัชนาลัยตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๘๓
                                           ยกทัพเข้ายึดสุโขทัยและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ พ.ศ.๑๘๙๐
                                          ไปประทับที่สองแคว (ต่อมาคือพิษณุโลก) ระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๕-๑๙๑๒

********************************************



กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:55
*****ช่วงสับสนทางประวัติศาสตร์เนื่องจากการแทรกแซงของอยุธยา และความแตกแยกภายใน*****

*พระมหาเทวี พระขนิษฐาพระยาฦๅไทย
    ครองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๕-๑๙๑๒ ช่วงที่พระยาฦๅไทยไปครองสองแคว
    และอาจได้ครองสุโขทัยหลังพระยาฦๅไทยสวรรคตจนถึงก่อน พ.ศ.๑๙๒๒*

*พระยาศรีเทพาหูราช (...บุญพี่อ้ายท่านพระศรีราชเอารสเจ้าเมืองสุโขทัยนี้...)
    มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระขนิษฐาพระยาฦๅไทย โดยอาจจะมีขุนหลวงพ่องั่วเป็นพระราชบิดาก็เป็นได้
    อาจเป็นพระบิดาของเจ้านครอินทร์ (พระร่วงไปจีน) ซึ่งได้ครองราชย์อยุธยา พ.ศ.๑๙๕๒-๑๙๖๗ (บางท่านเสนอว่าเป็นเจ้านครอินทร์เองเลยทีเดียว)
    น่าจะได้ครองสุโขทัยต่อจากพระมารดา ระหว่าง ก่อน พ.ศ.๑๙๒๒-๑๙๓๑ โดยอาจจะได้ไปครองเมืองกำแพงเพชรแทน (เมืองใหม่ตรงข้ามนคร(พระ)ชุมของสุโขทัย)*

*มหาธรรมราชาผู้ลูก (ลูกของพระยาฦๅไทย) ครองสุโขทัย
    พระมารดาชื่อ ศรีธรรมราชมาดา พระมเหสีชื่อ ศรีจุฬาลักษณ (น่าจะเป็นวงศ์สุพรรณภูมิ)
   โอรสชื่อ รามราชา (อาจเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน อีกองค์หนึ่ง) และ อโศก (ศรีธรรมาโศกราช)*
     น่าจะประสูติ พ.ศ.๑๙๐๑?
     จารึกว่าได้เสวยราชย์เมื่ออายุ ๑๖
      ออกรบได้ดินแดนกว้างขวางเมื่ออายุ ๓๘
      สวรรคต พ.ศ.๑๙๕๒ (น่าจะผนวชในปลายพระชนม์ชีพ)

*น่าจะมีมหาธรรมราชผู้ลูกองค์อื่นอีก*

*มหาธรรมราชาผู้หลาน (หลานของพระยาฦๅไทย) คือ พระยาไสฦๅไทย (ไสลือไทย) 
    พระมารดาอาจชื่อ ศรีธรรมราชมาดา พระบิดาชื่อ พ่องำเมือง หรือ พ่อเลอไทย (คนหนึ่งเป็นพ่อ อีกคนเป็นอาหรือลุง แต่จารึกใช้พ่อหมด)
    พระมารดาและพระอัยยิกา (ยาย) น่าจะมีเชื้อวงศ์กาวน่าน (น่าน)
    ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ ทรงทำสนธิสัญญาพันธมิตรกับกษัตริย์น่าน
    ในปี พ.ศ.๑๙๔๕ ไปช่วยท้าวยี่กุมกามรบกับเชียงใหม่*
   

*อาจจะมีมหาธรรมราชผู้หลานองค์อื่นอีก*

*มหาธรรมราชาเมืองชากังราว (ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร แต่อยู่ลุ่มน้ำน่านแถวอุตรดิตถ์) น่าจะมีเชื้อวงศ์กาวน่าน
    อาจจะเป็นพระยาคำแหงที่รบกับขุนหลวงพ่องั่ว และเป็นมหาธรรมราชาที่ออกถวายบังคมขุนหลวงพ่องั่วเมื่อ พ.ศ.๑๙๒๑
    เชื้อสายของท่านอาจจะได้แก่ พระยาไสฦๅไทย*

********************************************


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 11:59
{พ.ศ.๑๙๖๒-๑๙๘๑?}        -พระยาศรีสุริยวงศบรมปาล มหาธรรมราชาธิราช (พระยาบาล) เสวยราชย์ ณ เมืองสองแคว
                                           พระยาบาลน่าจะเป็นโอรสของ มหาธรรมราชาผู้ลูกหรือผู้หลานองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผู้ครองสองแคว
                                           พระมารดาคือ พระศรีธรรมราชมาดา (แม่นางษาขา)
                                           มีพระพี่หรือน้องนางเป็นชายาของเจ้าสามพญา (พระมารดาพระบรมไตรโลกนาถ)
                                           พระยาบาลประสูติเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๔

                                        *ในรัชสมัยนี้มีหลักฐานอยุธยาว่าแบ่งเมืองออกเป็น ๔ ขึ้นต่ออยุธยา
                                              คือ สองแคว (พระยาบาล)
                                                   สุโขทัย (พระยาราม อาจเป็นอนุชา พระยาบาล หรือคือ รามราชา โอรส มหาธรรมราชาผู้ลูก ที่มีอนุชาคือ อโศก
                                                    ทั้งยังอาจเป็นทั้งสองประการเลยก็ได้)
                                                   เชลียง(ศรีสัชนาลัย) (พระยาเชลียง และ พระยาศรียศราช โอรสได้ครองสืบต่อ))
                                                   กำแพงเพชร (พระยาแสนสอยดาว ใกล้ชิดกับอยุธยามากที่สุด)

***รัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)***
พระองค์ คือพระร่วงไปจีน เพราะน่าจะมีพระราชมารดาเป็นวงศ์พระร่วง และอาจเป็นพระโอรสของ พระศรีเทพาหูราช หรือเป็นองค์เดียวกับพระศรีเทพาหูราชก็เป็นได้

{พ.ศ.๑๙๖๒?-๑๙๖๗}  -เจ้าสามพญาโอรสเจ้านครอินทร์ โดยพระมารดาน่าจะเป็นวงศ์พระร่วง ไปครองชัยนาถ (เมืองพิษณุโลกฝั่งวังจันทร์)
                                โดยมีพระยาบาล (พี่หรือน้องของพระชายาเจ้าสามพญา) เป็นมหาธรรมราชาครองสองแคว (พิษณุโลกฝั่งพระมหาธาตุ)

***รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพญา)***

{พ.ศ.๑๙๗๔}            -พระราชเทวีในเจ้าสามพญา(ผู้เป็นพระพี่หรือน้องนางของพระยาบาล)ประสูติพระ ราเมศวร(พระบรมไตรโลกนาถ)ที่ทุ่งพระอุทัย(หันตรา)
                                ขณะไปส่งเสด็จเจ้าสามพญายกทัพไปตีพระนคร (ขอม)
{พ.ศ.๑๙๘๑ ?-๑๙๙๑}  -พระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) และพระราชมารดาอาจจะได้ไปครองชัยนาถ (เมืองคู่แฝดของสองแควก่อนรวมเป็นพิษณุโลก)        
                                โดยอาจมีพระยายุธิษฐิระครองเมืองอยู่ฝั่งสองแคว
                                ตามเอกสารล้านนากล่าวว่าพระบรมไตรโลกนาถสัญญากับพระยายุธิษฐิระว่าเมื่อได้ครองอยุธยา จะตั้งพระยายุธิษฐิระเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนือ
                                 แต่ในความเป็นจริงมิได้ทรงทำตามสัญญา พระยายุธิษฐิระจึง "ย่างยาว" (แปรพักตร์ไปเข้ากับเชียงใหม่)


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 19 ต.ค. 09, 12:02
เป็นข้อมูลที่น่าสนใจครับ ขอรอฟังผลสรุปจากบรรดาท่านผู้ทำงานทางด้านนี้ก่อนนะครับ แล้วจะเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงครับ
มานิต


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:03
**************ถูกอยุธยาผนวก**************

{พ.ศ.๑๙๘๑?-๑๙๙๔}     -พระยายุธิษฐิระ (ถูกเรียกว่า "พระร่วง" เป็นองค์สุดท้าย) เป็นเจ้าเมืองสองแคว
                                    น่าจะเป็นพระโอรสของพระยาบาล ไม่ก็อาจเป็นพระโอรสของพระยารามก็ได้
{พ.ศ.๑๙๙๑-๑๙๙๔}      -พระราชมารดาในพระบรมไตรโลกนาถอาจจะครองฝั่งชัยนาถ ขณะที่พระยายุธิษฐิระครองฝั่งสองแคว
{พ.ศ.๑๙๙๔}                -พระยายุธิษฐิระ หนีไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ในฐานะ "ลูกพระเปนเจ้า" (โอรสบุญธรรม)
                                  ได้เป็น เจ้าสี่หมื่น ครองเมืองพะเยา (ต่อมาได้ครองเมือง แพร่ งาว กาวน่าน (น่าน) เพิ่มด้วย)
{พ.ศ.๒๐๐๔}                 -พระยาเชลียงเอาเมืองไปสวามิภักดิ์กับเชียงใหม่
{พ.ศ.๒๐๐๕}                 -เมืองนครไทยเอาครัวหนีไปน่าน (พระยายุธิษฐิระครองอยู่) แต่อยุธยาให้พระกลาโหมมาตามกลับไปได้
{พ.ศ.๒๐๑๙?(-๒๖?)}       -พระยายุธิษฐิระ รามราชิสสรบรมสูรวงศ คงได้สถาปนาตนเองเป็น สมเด็จพระราชาอโสกราช
                                   ซึ่งน่าจะทำให้พระติโลกราชไม่พอใจจึงถูกปลดและไปอยู่เชียงใหม่ในฐานะ ลูกพระเป็นเจ้า
                                       พระองค์มีเชื้อสายต่อมาได้แก่ หมื่นหน่อเทพครู

*****วงศ์สุพรรณภูมิเข้าปกครอง*****
{พ.ศ.๑๙๙๔?-๒๐๐๖}      -พระราชมารดาพระบรมไตรโลกนาถครองสองแควจนสวรรคต พระนางเป็นพระพี่หรือพระน้องนางของ พระยาบาล
{พ.ศ.๒๐๐๖-๒๐๓๑)}       พระบรมไตรโลกนาถขึ้นมาครองสองแคว
                                   ทรงรวมฝั่งสองแคว (มีพระมหาธาตุ) และฝั่งชัยนาถ (มีวังจันทร์) เข้าเป็นเมืองพิษณุโลก
{พ.ศ.๒๐๓๑-๒๐๓๔}       -สมเด็จพระมหาอุปราช พระเชษฐาธิราช ครองพิษณุโลกปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ
                                   ทรงเป็นพระโอรสพระบรมไตรโลกนาถ พระมารดาน่าจะเป็นวงศ์พระร่วง
                                   ได้ครองอยุธยาต่อจากพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ซึ่งเป็นพระเชษฐาในปี พ.ศ.๒๐๓๔ พระนามสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒)
{พ.ศ.๒๐๖๘-๒๐๗๒}       -หน่อพุทธางกูร พระอาทิตย ได้เป็นมหาอุปราชครองพิษณุโลก
                                    น่าจะทรงเป็นพระราชโอรสในพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ไม่ก็พระรามาธิบดี (ที่ ๒)
                                    เสวยราชย์อยุธยาต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนาม สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร
{พ.ศ.๒๐๗๒-๒๐๗๗}       -พระไชยราชาธิราช น่าจะได้เป็นพระมหาอุปราชครองพิษณุโลก และน่าจะเป็นพระราชโอรสในพระรามาธิบดี (ที่ ๒)
                                    ทรงยกทัพมาเอาราชสมบัติอยุธยาจากพระโอรสของหน่อพุทธางกูร พ.ศ.๒๐๗๗
{พ.ศ.๒๐๘๑}                -ประหารชีวิตพระยานารายณ์เจ้าเมืองกำแพงเพชร โทษฐานกบฏ
{พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๙๑}        -ขุนพิเรนทรเทพ บิดาเป็นเชื้อวงศ์พระร่วง มารดาเป็นเชื้อวงศ์พระไชยราชาธิราช (สุพรรณภูมิ)
                                     ท่านอาจได้เป็นพระยาพิษณุโลกในระหว่างนี้
{พ.ศ.๒๐๘๘-๘๙}           -พระยาพิษณุโลก (อาจจะเป็น ขุนพิเรนทรเทพ) เป็นแม่ทัพหน้าในการยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ทั้งสองครั้ง

*****ราชวงศ์พระร่วงเจ้ารุ่งโรจน์อีกครา*****
{พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๒}
{พ.ศ.๒๐๙๑}                  -ขุนชินราช (วรวงศาธิราช) จะให้เจ้าหัวเมืองเหนือทั้ง ๗ ลงมาผลัดเปลี่ยนกับขุนนางกรุงเพราะเห็นว่ากระด้างกระเดื่อง
                                    ขุนพิเรนทรเทพ กบฏฆ่าขุนชินราช
                                     อัญเชิญพระเทียรราชา (น่าจะเป็นโอรสพระรามาธิบดี (ที่ ๒)) ขึ้นครองอยุธยาพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
                                    โดยได้รับบำเหน็จสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ที่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก
                                    อีกทั้งได้รับพระราชทานพระราชธิดา พระสวัสดิราช เป็นอัครมเหสีเมืองพิษณุโลกทรงพระนาม พระวิสุทธิกษัตริย์
                                    พระมหาธรรมราชาไปเข้ากับพระเจ้าชนะสิบทิศกรุงหงสาวดี โดยยอมอ่อนน้อมในสงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖
                                    และได้ไปครองอยุธยาแทนวงศ์สุพรรณภูมิในคราวเสียกรุง พ.ศ.๒๑๑๒
{พ.ศ.๒๑๑๔-๒๑๒๗}         พระนเรศ (นเรศวร) ไปเสวยราชย์เมืองพิษณุโลก
{พ.ศ.๒๑๒๗}                   ให้เทครัวหัวเมืองเหนือทั้ง ๗ มายังแถบอยุธยาเพื่อเป็นกำลังรับศึก และไม่ให้พม่าได้ประโยชน์จากเมืองเหนือ
{พ.ศ.๒๑๓๕}                   ให้ฟื้นหัวเมืองเหนือขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ได้เป็นแคว้นกษัตริย์ หรือเมืองพระมหาอุปราชอีกต่อไป


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:05
*****ท่าน ไสส......งคราม จารึกขาดหาย จึงมักเติมกันไว้เพียง ไสส(ส)งคราม*****

แต่ ศ.ประเสริฐ ณ นคร เคยเสนอไว้ว่า ดูช่องว่างที่ขาดหายแล้วอาจเป็น ไสส(รีณรงคส)งคราม ก็ได้
โดยเทียบกับ พระยาศรีไสยณรงค์ เนื่องจากอยุธยาริบเอาราชทินนามสุโขทัยไปใช้อยู่หลายชื่อ (หรืออาจซ้ำกันโดยมิเจตนาก็ได้) เช่น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (ตำแหน่งนี้คงริบจากสุโขทัยแน่นอน) พระรามคำแหง พระ(ขุน)อินทราทิตย์
และราชทินนามของเจ้าเมืองในอยุธยามักลงท้ายด้วยสงคราม

เรื่องเมืองชากังราวนั้น คนทั่วไปเข้าใจกันว่าคือกำแพงเพชร
แต่อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์เสนอว่าอยู่แถวลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเหตุผลนั้นน่าเชื่อถือมากทีเดียว
สุดท้ายก็เป็นไปตามสไตล์ไทยๆ ไม่มีการสานต่องาน บทสรุปมันก็ค้างเติ่งกันต่อไป ๕๕๕


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:09
ถ้าศึกษาดูจากจารึกและพงศาวดาร รวมถึงคัมภีร์ทางศาสนาและตำนานต่างๆ จะสังเกตได้ว่าหลังการสวรรคตของ พระยาฦๅไทย ซึ่งต่อไปนี้ขอใช้ ลิไทย เพราะเป็นที่รู้จักมากกว่า
บรรดาหัวเมืองต่างๆ น่าจะมีการตั้งตนเป็นใหญ่ตามธรรมเนียมนครรัฐโบราณ อีกทั้งยังมีการแทรกแซงจากฝ่ายอยุธยาเมืองใต้อีกด้วย โดยตามหลักฐานจะมีการกล่าวถึงผู้อ้างความเป็นใหญ่หลายคน
กอปรกับหลักฐานไม่มีความชัดเจนทำให้การตีความและประมวลผลเป็นไปด้วนความยากลำบาก ซึ่งได้สรุปไว้ใน คคห.ในหัวข้อกระทู้ของผมแล้ว แต่จะลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย

พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
" ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง

ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง(ราวและพระยา)ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา)ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ(หลวง)เสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว(อพ)ยพมาครั้งนั้นมาก

ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมือง(ชากังราว)เล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ(หลวง และจะ)ทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี และจึงเสด็จทัพหลวงตาม และท้าวผ่าคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและกสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ศักราช ได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน... "

ในแนวรบด้านนี้ มีการออกนาม พระยาสามแก้ว พระยาไสแก้ว ซึ่งคงเป็นพี่น้องกัน (สาม ไส(แปลว่า สี่)) คนพี่ถูกจับ คนน้องตาย เหลือแต่พระยาคำแหงที่ไปตั้งมั่นอยู่ที่ชากังราว
และคงได้สถาปนาตัวเอง เป็น "มหาธรรมราชา" ที่เมืองชากังราวนี้ โดยน่าจะมีญาติฝ่ายหญิงเป็นราชวงศ์กาวน่าน (น่าน) เพราะได้พระยาผากอง (ครองราชย์ ๑๙๐๔-๑๙๒๙) เจ้าเมืองน่านยกทัพมาช่วยโดยตลอด

ดังนั้นมหาธรรมราชาเมืองชากังราวนี้น่าจะเป็นบรรพบุรุษหรือญาติสนิทของ พระยาไสลือไทย เพราะตามศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ พระยาไสลือไทยทำการสบถเป็นพันธมิตรกับเจ้าเมืองน่าน
โดยพระยาไสลือไทยเรียกพระยาคำตันเจ้าเมืองน่านว่าปู่ และพระยาไสยลือไทยเป็นหลาน พระยาคำตันนี้เป็นลูกพระยาผากอง ครองราชย์ ๑๙๒๙-๑๙๓๙

นอกจากสายน่านแล้ว ยังมีสัมพันธ์กับฝ่ายเชียงใหม่ด้วย โดยพระยากือนาเคยให้พระยาอ้ายออนเจ้าเมืองเชียงตุงมาช่วยรบประมาณ พ.ศ.๑๙๑๖

น่าจะประมาณปี ๑๙๓๑ ที่อยุธยาขึ้นไปตีชากังราวนั้น ฝ่ายล้านนากล่าวว่าเจ้าเมืองสุโขทัยมาขอขึ้นกับเชียงใหม่ ขอทัพพระยาแสนเมืองมาไปช่วย
แต่เนื่องจากพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว) สวรรคตเสียก่อน ทัพสุโขทัยจึงกลับใจเข้าตีทัพเชียงใหม่จนแตกพ่าย

ต่อมาพระยาแสนเมืองมาสิ้น พ.ศ.๑๙๔๔ เจ้าสามฝั่งแกนได้ครองเชียงใหม่ ท้ายยี่กุมกามพี่ต่างมารดาไม่พอใจยกจากเชียงรายมาตีแต่ไม่สำเร็จต้องหนีไป พึ่งพระยาไส้ลือ (ไสลือไทย) ที่เมืองสุโขทัย
ปี ๑๙๔๕ พระยาไสลือไทยยกทัพไปตีเชียงใหม่ให้ท้าวยี่กุมกามแต่ไม่สำเร็จ

ที่เสนอใน คคห.นี้คือวงศ์พระร่วงสายน่านอันได้แก่ พระยาสามแก้ว ไสแก้ว พระยาคำแหง (มหาธรรมราชาเมืองชากังราว?) และ มหาธรรมราชาผู้หลาน (ไสลือไทย)


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:10
ส่วนฝ่ายพระมหาเทวี พระขนิษฐาของพระยาลิไทยก็ได้หลักฐานมาจากฝ่ายล้านนา
ว่าได้ครองสุโขทัยแทนพระเชษฐา ระหว่าง ๑๙๐๕-๑๙๑๒
และมีการสันนิษฐานว่าพระมหาเทวีในจารึก (ซึ่งความไม่สมบูรณ์นัก) อาจแสดงว่าพระนางได้ครองสุโขทัยต่อหลังพระยาลิไทยสวรรคต

โดยนำไปเชื่อมกับเรื่องพระยาญาณดิศนำมารดาไปถวายแด่ขุนหลวงพะงั่ว โดยเสนอว่าพระมารดาคือพระขนิษฐาพระยาลิไทย และโยงว่าพระยาญาณดิศนั้นคือ
พระยาศรีเทพาหูราช ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นโอรสของขุนหลวงพะงั่วกับพระมหาเทวี??? โดยพยายามโยงจารึกและเอกสารฝ่ายล้านนามาอธิบาย
แต่ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

***ส่วนที่มีหลักฐานคือ พระยาศรีเทพาหูราชได้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัยประมาณ พ.ศ.๑๙๒๗ โดยขอให้ พ่อนมไสดำ สามี แม่นมเทด สึกออกมาช่วยราชการ แสดงว่าสถานการณ์บ้านเมืองคงวุ่นวายนัก***

มีการวิเคราะห์ว่าพระองค์ได้สละสุโขทัยแล้วไปครองกำแพงเพชรหลังขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต เพื่อเสริมสร้างพันธมิตรให้เข้มแข็ง
เนื่องจากเจ้าทองลันโอรสพ่องั่วได้ครองอยุธยาเพียง ๗ วัน ก็ถูกพระราเมศวรยกทัพจากลพบุรีมาชิงเมืองได้

แนวคิดนี้ยังขาดหลักฐานอยู่มาก ไม่ค่อยแพร่หลายนักครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:12
สุดท้ายมหาธรรมราชาผู้ลูก หรือที่ประวัตืศาสตร์กระแสหลักมักเรียกว่า มหาธรรมราชาที่ ๒

ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาลิไทย กับ สมเด็จพระศรีมหาธรรมราชมาดา (เป็นตำแหน่งพระชนนีของสมเด็จมหาธรรมราชาธิราช)

จารึกวัดบูรพารามและวัดอโสการามได้พรรณนาเรื่องราวของพระองค์ไว้

อายุได้ ๑๖ ปี "ทรงต่อรูปโฉมพรรณาภา จบสรรพกลาศาสตร์ ปราชญ์แกล้วหาญชาญในมูรฒรณรงค์"
แล้วได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระยาเมื่ออายุ ๑๖ นั้นเอง

ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ จารึกว่าประสูติ พ.ศ.๑๙๑๑
และเมื่อท่านอายุได้ ๓๘ ได้ยกทัพตีหัวเมืองทั้งหลายกลับมาได้หมด

อายุ ๓๘ ก็ต้อง พ.ศ.๑๙๔๙ แต่จารึกกลับเป็น พ.ศ.๑๙๓๙
โดยจารึกนั้นเป็นจุลศักราช นี่เทียบมาให้แล้ว ซึ่งอาจจารึกผิด
แต่ก็ไม่น่าใช่เพราะมีจารึกทั้งภาษาไทยและบาลี เนื้อความและปีตรงกันเด๊ะ

อันนี้ก็มึนกันต่อไป ว่าพระองค์จะประสูติ ๑๙๐๑ หรือ ๑๙๑๑     
ครองราชย์ ๑๙๑๗ หรือ ๑๙๒๗     
พิชิตดินแดน ๑๙๓๙ หรือ ๑๙๔๙

บางท่านก็บอกว่าจารึกไม่ผิด แต่คนตีความผิดเอง ซึ่งความคิดนี้มันดันเข้าเค้าที่สุดซะด้วย
โดยแหวกแนวตีความว่าครองราชย์ ๑๙๑๑ คือให้อายุ ๑๖ ปี ๑๙๑๑
อายุ ๓๘ ปี ๑๙๓๓ เริ่มออกตีบ้านเมือง
พอปี ๑๙๓๙ ตามจารึก ก็พิชิตได้ราบคาบ
ซึ่งจากบริบทของจารึกมันตีความอย่างนี้ได้ด้วยน่ะสิ

อย่างไรก็ตามพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๙๕๒ โดยน่าจะทรงผนวชในปลายพระชนม์ชีพ จารึกว่า "พ่ออยู่หัวเสด็จเสวยพระผนวชบวช"

สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช มีพระมเหสีคือ ราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ มีพระโอรส ๒ องค์ คือ พระยารามราชาธิราช (ราม) กับ ศรีธรรมาโศก (อโสก)
โดยจารึกว่า พระยาราม นี้ได้ครองกรุงสุโขทัยและมีจารึกบางหลักออกนามพระองค์ว่า มหาธรรมราชา
ดังนั้น พระยาราม นี้อาจเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน ท่านหนึ่ง รวมทั้งอาจเป็นพระยารามที่ได้ครองสุโขทัย ขณะที่ พระยาบาล (มหาธรรมราชาบรมปาล) ได้ครองสองแคว


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:19
"...ศักราช ๗๖๒ (พ.ศ.๑๙๔๓) นาคนักษัตรปีมะโรง
สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา
มหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงแม่
และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์(โอรส)ราช
อำนาจน้าวห้าวหาญนำพ(ล)รบรา
คลาธรณีดลสกลกษัตริย์
(หากขึ้นเสวยใน)มหามไหสวริยอัครราช
เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์(นครศรีสัชนาลัย) สุโขทัย
แกวกลอยผลาญปรปักษ์ศัตรูนูพระราชสีมา..."

นี่ก็เป็นปัญหาครับว่าจะหมายถึงมหาธรรมราชผู้ลูก (มหาธรรมราชาที่ ๒) เพราะพระองค์สวรรคต พ.ศ.๑๙๕๒ และเมื่อก่อนหน้าจารึกนี้ ๔ ปี พระองค์ก็พึ่งออกไปพิชิตดินแดนมา (ดู คคห.๑๓)

หรือจะเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน (มหาธรรมราชาที่ ๓) หรือพระยาไสลือไทย เพราะพระองค์พึ่งไปสบถสาบานเป็นพันธมิตรกับน่านเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๕ และอีกสองปีหลังจากจารึกนี้พระองค์ต้องไปตีเชียงใหม่ (ดู คคห.๑๑)

อีกทั้งในปี ๑๙๔๙ จะมี มหาธรรมราชาผู้หลาน กับ ศรีธรรมราชมาดา (ราชทินนามพระชนนี) มาระงับอธิกรณ์สงฆ์ที่ศรีสัชนาลัย
(ถ้าตีความจารึกวัดบูรพารามและวัดอโสการามว่า มหาธรรมราชาผู้ลูก ประสูติ ๑๙๑๑ พระองค์จะมีพระชนมายุ ๓๘ ในปี ๑๙๔๙ ซึ่งพระองค์น่าจะผนวชในปีนี้ เพราะโอรสคือพระยารามได้เป็น มหาธรรมราชาผู้หลานแล้ว จารึกว่าอายุ ๓๘ กระทำปรารถนาให้สมบูรณ์แล้ว จะแปลว่าตัดทางโลกเพื่อออกบวชได้หรือไม่?)

และปี ๑๙๕๕ จะมีชื่อขุนนางแบบอยุธยาคือ นายอินทสรศักดิ์ เรียกเจ้าเมืองสุโขทัยว่า
พ่ออยู่หัวเจ้า ธ ออกญาธรรมราชา ซึ่งเป็นการเรียกแบบขุนนางอยุธยา

เท่าที่รวบรวมแนวคิดของนักประวัติศาสตร์หลายท่าน ผมได้เกิดแนวคิดประหลาดๆ ของตัวเองขึ้นดังนี้


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:21
ผมเห็นด้วยกับ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่าชากังราวน่าจะอยู่ที่ลุ่มน้ำน่าน (อ.ท่านเจาะจงลงไปเลยว่า เมืองราด คือ ทุ่งยั้ง ชากังราว คือ พิชัย)

โดยผมมองว่าสุโขทัยหลังการสวรรคตของพระยาลิไทย ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาในปี ๑๙๑๔ (ฉบับหลวงประเสิรฐ)
และได้แตกออกเป็นสองก๊กใหญ่ คือ

ก๊กสุโขทัยทางตะวันตก มีเมืองหลักๆ คือ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย
ก๊กสองแควทางตะวันออก มีเมืองหลักๆ คือ สองแคว ชากังราว(ผมเชื่อว่าอยู่ลุ่มน้ำน่าน)

โดยก๊กสุโขทัยนั้นคงเป็นเครือญาติกับวงศ์สุพรรณภูมิ และไม่เคยแข็งเมืองเลย ทั้งฝ่ายสุพรรณภูมิก็น่าจะมาควบคุมอย่างใกล้ชิดที่ เมืองกำแพงเพชร (ฝั่งตรงข้ามของนคร(พระ)ชุม)
ส่วนก๊กสองแควเป็นกลุ่มเครือญาติใกล้ชิดกับกาวน่าน(น่าน) และมีสายสัมพันธ์กับล้านนา

อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มนี้ก็เป็นวงศ์พระร่วงสายพระยาลิไทยทั้งสิ้น และพยายามอ้างสิทธิ์สืบทอดความเป็น "มหาธรรมราชา"
แสดงให้เห็นว่าพระยาลิไทยนั้นสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นในสุโขทัยหลังจากแตกสลายไปหลังพ่อขุนรามสวรรคต
โดยได้กำจัดสายตระกูลอื่นออกไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสายศรีนาวนำถุมที่ครองสระหลวงสองแคว จนเจ้าศรีศรัทธาต้องออกผนวกด้วยวัยเพียง ๓๑
และอาจรวมถึงการมีชัยเหนือสายพ่อขุนบานเมือง ในการยึดสุโขทัยคืนมาหลังถูกปกครองโดยพระยางั่วนำถุม
นอกจากนั้นยังตีเมืองเล็กเมืองน้อยเข้ามาเป็นขอบขัณฑเสมาได้ดังเดิม มีการผูกสายสัมพันธ์กับกาวน่าน และน่านจะได้เจ้าหญิงกาวน่านเป็นชายา
อันเป็นต้นสายของ "ก๊กสองแคว" ได้แก่ พระยาสามแก้ว พระยาไสแก้ว พระยาคำแหง(มหาธรรมราชาชากังราว?) พ่องำเมือง พ่อเลอไทย และพระยาไสลือไทย

แต่ต่อมาเมื่อพระยาลิไทยขยายอำนาจลงไปทางลุ่มน้ำป่าสัก ทำให้อยุธยาถือโอกาสเข้ามาแทรกแซง ทำให้แผนการฟื้นฟูอำนาจพังครืน
เพราะอยุธยาเป็นแคว้นใหญ่สืบทอดมาจากละโว้และมีแม่ทัพที่สามารถอย่างขุนหลวงพะงั่ว
ตาม หลักฐานฝ่ายล้านนา พระเจ้าอู่ทองฉวยโอกาสที่สองแควเกิดข้าวยากหมากแพง ให้ทหารปลอมพ่อค้าข้าวเข้าไปและยึดเมืองได้โดยง่าย และตั้งให้ขุนหลวงพ่องั่วครองสองแคว
ฝ่ายล้านนาได้ให้ข้อมูลด้วยว่าพระยาลิไทยต้องเสียบรรณาการเพื่อไถ่เมืองคืนเป็นจำนวนมาก 
นักประวัติศาสตร์บางท่านคิดว่าพระยาลิไทยบวชการเมืองเพื่อขอบิณฑบาตเมืองคืนซึ่งประสบความสำเร็จ
ต่างจากเชื้อสายของพระองค์คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่บวชการเมืองขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืน
แต่พระเจ้าติโลกราชประชุมสงฆ์เชียงใหม่แล้วมีมติว่ามิใช่กิจของสงฆ์
หลังจากพระยาลิไทยได้เมืองคืนด้วยเหตุผลบางอย่างพระองค์ต้องฝากเมืองสุโขทัยไว้กับน้องสาวขณะที่พระองค์เสด็จไปครองเมืองสองแควถึง ๗ ปี
บ้างก็ว่าเพื่อดูแลหัวเมืองลุ่มน้ำป่าสักที่ยึดมาได้ บ้างก็ว่าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนให้อยุธยาคืนสองแคว
ช่วงนี้เองที่พระองค์ได้ใกล้ชิดกับพระญาติฝ่ายสุพรรณภูมิมากขึ้น (พ่อขุนรามเป็นญาติกับทั้งสุพรรณภูมิ นครศรีธรรมราช ละโว้ และน่าจะรวมถึงน่านด้วย)
พระยาลิไทยคงจะได้มเหสีจากสุพรรณภูมิ ส่วนขุนหลวงพ่องั่วก็ได้มเหสีวงศพระร่วง
ซึ่งนี่จะเป็นต้นสายของ "ก๊กสุโขทัย" นั่นเอง

เมื่อพระยาลิไทยสวรรคต หลักฐานฝ่ายล้านนาว่าขุนหลวงพ่องั่วซึ่งได้ครองอยุธยาทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (๑๙๑๓-๑๙๓๑)
ได้ให้แม่ทัพยึดสุโขทัย ฉบับหลวงประเสริฐว่าได้หัวเมืองเหนือทั้งปวง (๑๙๑๔)
ฝ่ายก๊กสุโขทัยยอมอยู่ในอำนาจโดยดี อาจด้วยน้องสาวพระยาลิไทยเป็นมเหสีขุนหลวงพะงั่วดังที่ อ.พิเศษ สันนิษฐานก็ได้
และเป็นเส้นทางไปตีเชียงใหม่ของอยุธยา มีเมืองกำแพงเพชรคอยกำกับอยู่

แต่ขณะที่ก๊กสองแควแข็งขืนโดยตลอด ขุนหลวงพ่องั่ว ต้องไปตีเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ซึ่งคงอยู่แถวลุ่มน้ำป่าสัก
ตีเมืองสองแคว และต้องตีเมืองชากังราวถึง ๔ ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ทั้งยังมีทัพเมืองน่านคอยช่วยเหลือ "มหาธรรมราชาชากังราว"
และอาจมีทัพล้านนายกมาช่วยด้วยครั้งนึง

ต่อมาเมื่อขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต วงศ์สุพรรณภูมิต้องเสียอยุธยาให้แก่พระราเมศวรจากละโว้
เจ้านายสุพรรณภูมิต้องการสัมพันธมิตร จึงน่าจะล่าถอยออกไปอยู่กำแพงเพชร ซึ่งน่าจะรวมถึงพระยาศรีเทพาหูราช
และปล่อยให้วงศ์พระร่วงปกครองสุโขทัยกันเอง มหาธรรมราชาผู้ลูกและศรีธรรมราชมาดาจึงเริ่มขยายอำนาจ
ฝ่ายก๊กสองแคว พระยาไสลือไทยได้ขึ้นไปผูกมิตรกับ "ปู่พระยา" ที่น่าน รวมถึงสานสัมพันธ์กับล้านนา
(ซึ่งพระยาลิไทยก็เคยพยายามจะผูกมิตรกับล้านนาแต่สวรรคตเสียก่อน)


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:22
เหตุการณ์ช่วงนี้ตีความกันไปหลายทางมาก แต่สำหรับผมคิดว่าขณะที่ต่างฝ่ายต่างแผ่แสนยานุภาพนั้น
เจ้านครอินทร์ซึ่งอาจเป็นองค์เดียวกับพระยาศรีเทพาหูราช หรืออาจเป็นโอรส ได้ครองราชย์กรุงศรีอยุธยา (๑๙๕๒-๑๙๖๗)
เป็นที่ สมเด็จพระอินทราชา หรือพระนครินทราธิราช ทรงเล็งเห็นว่ายังไม่พร้อมจะทำศึกกับล้านนา
จึงให้ฝ่ายก๊กสองแควคือ พระยาไสลือไทยได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ประทับ ณ สองแคว
มหาธรรมราชาผู้ลูกที่สุโขทัย ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์พระมเหสีนั้นเป็นวงศ์สุพรรณภูมิ
คงได้รับการบอกกล่าวมาก่อนหน้านั้นจึงออกผนวชและสวรรคตก่อนเจ้านครอินทร์ครองอยุธยา ๑ ปี
พระยารามราชโอรสได้ครองสุโขทัยสืบต่อตั้งแต่พระราชบิดาออกบวช
ทั้งก๊กสุโขทัย และก๊กสองแคว คงปกครองกันเป็นเอกเทศเพียงแต่พระยาไสลือไทยอยู่ในฐานะ "มหาธรรมราชา"
ส่วนพระยารามที่ในจารึกเรียกเป็น ออกญาธรรมราชา เจ้าเมืองขึ้นตรงต่ออยุธยา ก็ต้องสละพระนามทิ้ง กลับเป็นพระยาราม

จนกระทั่ง พระยาไสลือไทย มหาธรรมราชา สวรรคตที่เมืองพิษณุโลก พ.ศ.๑๙๖๒ เมืองเหนือเกิดจลาจล
ทั้งสอง "ก๊ก" คงทำสงครามแย่งอำนาจกัน เจ้านครอินทร์จึงขึ้นไปที่พระบาง(นครสวรรค์)
ทั้งพระยาราม "ก๊กสุโขทัย" และพระยาบาล "ก๊กสองแคว" (โอรสไสลือไทย) รีบลงมาเฝ้า
จึงโปรดให้แบ่งหัวเมืองเหนือเป็น ๔ เมือง
ให้พระยาแสนสอยดาว ซึ่งอาจมีเชื้อล้านนา (จากชื่อ) แต่เป็นผู้ที่ทรงไว้ใจมากครองเมืองกำแพงเพชร
กำกับดูแลศรีสัชนาลัย สุโขทัย (ปี ๑๙๖๓ มีจารึกถึงเสด็จพ่อพระยาสอย นอกจากนั้นพบร่องรอยศิลปะล้านนาในกำแพงเพชร)
ให้พระยารามครองสุโขทัยต่อไป
ให้พระยาเชลียงครองศรีสัชนาลัย (อาจเป็นศรีธรรมาโศก น้องของพระยาราม)
เมื่อพระยาเชลียงสิ้น โอรสคือพระยาศรียศราชได้ครองเมืองต่อ
สถาปนาพระยาบาลเป็น พระยาศรีสุริยวงศ์บรมปาล มหาธรรมราชาธิราช ครองเมืองสองแคว เป็นกษัตริย์แต่เพียงในนาม
แล้วให้พี่สาวหรือน้องสาวของพระยาบาลแต่งงานกับเจ้าสามพญาโอรสที่เกิดจากเจ้าหญิงพระร่วง
โดยให้เจ้าสามพญาครองเมืองชัยนาถ อยู่ฝั่งตรงข้างเมืองสองแคว คอยกำกับราชการ (สมัยพระบรมไตรโลกนาถรวมเมืองสองฝั่งเป็นพิษณุโลก)

เมื่อมาถึงขั้นนี้เจ้านายวงศ์พระร่วงก็รู้แล้วว่าเสียยศเสียศักดิ์ และเกือบเสียนคเรศ
จึงหันหน้ามาปรองดองกัน

ซึ่งถ้าการสันนิษฐานของผมผิดพลาด นี้อาจเป็นการคืนดีกันของพี่น้องแท้ๆ ก็ได้ เพราะชื่อพระยาบาล พระยารามน่าจะเป็นชื่อคู่พี่น้อง
เนื่องจากวงศ์ทางเหนือนิยมตั้งชื่อตามบรรพบุรุษ ไม่ก็เป็นลำดับที่

ต่อมาเจ้าสามพญาได้ครองอยุธยา (พี่คือเจ้าอ้ายเจ้ายี่อยู่สุพรรณกับแพรก(ชัยนาท) ไปถึงก่อนจึงชนช้างแย่งราชสมบัติสิ้นพระชนม์ทั้งคู่)

มีหลักฐานว่าเมื่อเจ้าสี่เมืองเหนือมาเฝ้า พระยาแสนสอยดาวกลับช้าสุดแสดงถึงความสนิทสนม
และหลักฐานฝ่ายล้านนาว่าเมื่อมีการเผยแพร่ศาสนา สุโขทัย กับ พิษณุโลก ยอมรับ
แต่กำแพงเพชร พระบาง(นครสวรรค์) ละโว้ ไม่รับ เพราะต้องทำตามอยุธยา
นี่แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวที่ยากสมานมากขึ้น
และแตกออกดังลั่นสนั่นหวั่นไหวเมื่อ พระยายุธิษฐิระ โอรสพระยาบาล ลูกพี่ลูกน้องพระบรมไตรโลกนาถ
เจ็บใจที่พระบรมไตรโลกนาถผิดสัญญาไม่ตั้งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนือ จึงส่งคนไปถามพระยาติโลกราชว่า
ถ้าจะเอาเมืองไปออกจะให้อะไร พระยาติโลกราชว่า กูจะเรียกว่า "ลูกกู"

พระยายุธิษฐิระ จึงถวายพระนาม พระเป็นเจ้า แก่พระยาติโลกราช เพราะกษัตริย์อยุธยาเป็นพระเจ้า
พระยาติโลกราชจึงไม่ควรเป็นเพียงพระยา ตั้งแต่วันนั้นจึงเกิดนาม พระเจ้าติโลกราช

พระยายุธิษฐิระ ได้จุดชนวนสงครามยวนพ่ายอันยาวนานถึง ๒๔ ปี


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:25
ขอเสริมข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์ของผมอีกนิดหน่อยนะครับ

ในพงศาวดารน่านว่าอยุธยายกทัพไปช่วยน่านรับศึกเชียงใหม่ (๑๙๗๕-๗๖)
ทั้งที่ไม่เคยปรากฏว่าอยุธยามีความสัมพันธ์กับน่าน
แต่ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระยาบาลแห่งสองแควเป็นโอรสพระยาไสลือไทยซึ่งมีเชื้อสายน่าน
คงขอร้องไปทางอยุธยา อยุธยายังต้องการรักษาสัมพันธภาพกับสองแควไว้จึงไปช่วย

แต่สุดท้ายน่านก็เสียให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ในปี ๑๙๙๑ หลังจากโดนล้อมอยู่ถึง ๖ ปี
เจ้านายเมืองน่านหนีไปเมืองเชลียง (คงเพราะเป็นเครือญาติกัน)
ต่อมาเมื่อพระยายุธิษฐิระไปเข้ากับเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชก็โปรดให้ครองเมืองพะเยา
และเมืองที่พึ่งตีได้คือ น่าน แพร่ งาว คงเพราะเห็นว่าพระยายุธิษฐิระเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองน่านด้วยนั่นเอง
แต่ต่อมาพระยายุธิษฐิระสร้างฐานอำนาจแข็งแกร่งมากเกินไปจึงถูกเรียกกลับเชียงใหม่

ส่วนอีกเรื่อง
จารึกวัดอโสการามและจารึกวัดบูรพารามซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของมหาธรรมราชาผู้ลูกซึ่งผมเรียกว่า "ก๊กสุโขทัยนั้น"
ไม่ปรากฏชื่อเมืองสองแควและชากังราวในดินแดนที่ทรงปกครองเลย
อาจเกิดจากชำรุดหรือจารึกตกหล่นก็ได้ แต่ผมมองว่าเป็นเพราะเมืองทั้งสองอยู่ในอิทธิพลของ "ก๊กสองแคว"
***แต่ข้อสันนิษฐานนี้มีช่องโหว่ เพราะจารึกว่าทางตะวันออกถึงนครไทย อาคเนย์ถึงเพชรบูรณ์ ซึ่งครอบคลุมสองแคว
และเหนือกับอีสานนั้นว่าน่านและหลวงพระบาง ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ พงศาวดารน่านก็ไม่ได้กล่าวถึง
-น่าจะเป็นการพรรณนาเกินจริง-
แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริง "ก๊กสองแคว" อาจหนีไปพึ่งเมืองน่านถึงได้มีการสบถสาบานกัน เพื่อสร้างพันธมิตร***

นอกจากนั้นจารึกวัดบูรพารามมีข้อความว่า (จารึกมีสองส่วน ส่วนภาษาไทยกับส่วนภาษาบาลี)
" ...ราชปุตฺเต รเณ ปราชิเต... "
ราชปุตฺเต รเณ ปราชิเต แปลว่า ราชบุตรพ่ายแพ้ในการสู้รบ
ราชบุตรคือ พระยาราม โอรส มหาธรรมราชาผู้ลูก แต่ไม่กล่าวรายละเอียด คงเป็นเพราะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงไม่อยากเอ่ยถึง
-ผมคิดว่าคงพ่ายแพ้แก่ "ก๊กสองแควนั่นเอง"-

ส่วนจารึกที่ผมยกมาส่วนหนึ่งใน คคห.๑๔ นั้น น่าจะหมายถึงมหาธรรมราชาผู้ลูก "ก๊กสุโขทัย"
เพราะกล่าวว่าปกครอง ศรีสัชนาลัยสุโขทัย และมีการขอพระสงฆ์จากกำแพงเพชร (ซึ่งผมสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในกำกับของวงศ์สุพรรณภูมิ)
ซึ่งแน่นอนว่าจารึกนี้ก็ไม่เอ่ยชื่อเมืองสองแควและชากังราว

ขอเสริมข้อมูลประกอบการ "เดา" เท่านี้นะครับ อิอิ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:30
แนะนำเวบเกี่ยวกับจารึกในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรครับ

อันใหม่ http://www.sac.or.th/jaruk/
อันเก่า http://www4.sac.or.th/jaruk/main.php

ส่วนข้อมูลที่ผมใช้มาจากจารึกที่สืบค้นจากเวบไซต์ข้างต้น
ประกอบกับหนังสือดังต่อไปนี้
๑. ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมบทนิพนธ์ "เสาหลักทางวิชาการ" ของ ศ. ดร.ประเสริฐ ณ นคร
๒. อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม รวมบทนิพนธ์ "เสาหลักทางวิชาการ" ของ ศ. ดร.ประเสริฐ ณ นคร

๓. กรุงสุโขทัยมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
๔. สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

๕. การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
๖. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา ของ พิเศษ เจียจันทรพงษ์

นอกจากนั้นได้แก่
พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิตื์ ลิลิตยวนพ่าย (ยวนพ่ายโคลงดั้น)
ตำนานสิบห้าราชวงศ์ รวมทั้งพงศาวดารเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก

สุดท้ายลิ้งค์บทความ
http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=1389
(สถานภาพการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย พ.ศ. 2518 - 2539 : มานพ ถาวรวัฒน์สกุล ( ผู้เขียน ) : วินัย พงศรีเพียร ( ตรวจแก้ไข ) : วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ปีที่ 19 – 20 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543)
ขอระลึกถึง อ.มานพ ถาวรวัฒน์สกุล ผู้ไปก่อนเวลาอันควร
 


ขอกราบคารวะท่านผู้รังสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าอันยังประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง
ด้วยจิตสำนึกพระคุณยิ่ง


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 19 ต.ค. 09, 12:34
            ขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นนะครับ

         ทั้งหมดเป็นการคิดวิเคราะห์เอาเองนะครับ อย่าไปคิดไปจริงเป็นจัง

แต่ถ้าจะชี้แนะหรือติชมอย่างไร น้อมรับครับ หรือจะเข้ามาถกกันก็ได้นะครับ ยินดีครับ

                          ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ป.ล. ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูและคุณมานิตที่มาอ่านเป็นคนแรกๆเลยครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 19 ต.ค. 09, 15:13
อ้าว จนถึงเมื่อกี้นี้ผมยังคิดว่า ชากังราว คือ กำแพงเพชร อยู่นะครับ ไปเป็น พิชัย ในจังหวัดอุตตรฯ เสียแล้วหรือนี่ อ่านข้อความของท่านแล้วกลับมาอ่านเรื่องสุโขทัยกับอยุธยา แล้วยังงงๆ ชื่อแปลกๆเยอะจังครับ ต้องขอเรียบเรียงสมองอีกนิดครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับผม
มานิต 


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ต.ค. 09, 23:40
คุณ Bhanumet รวบรวมไว้ได้ครบถ้วนดีมากเลยครับ น่าชื่นชมมาก

ช่วงนี้ยุ่งๆหน่อย แต่จะพยายามหาเวลามาร่วมสนุกด้วยครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 09, 07:39
อ่าน หลักฐานที่ใช้  ก่อน  แล้วต้องกลับมาอ่านอีกอีกค่ะ
ตอนนี้ไปงานหนังสือแทบทุกวัน
ไปขอความรู้ท่านผู้อาวุโส

ทราบมาว่าคุณ Bhanumet อ่านเขียนพูดพม่า ได้เป็นภาษาที่สามใช่ไหมคะ
ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ต.ค. 09, 09:32
ขอจับเรื่องเล็กๆก่อนก็แล้วกันนะครับ

{พ.ศ.๑๙๘๑ ?-๑๙๙๑}  -พระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) และพระราชมารดาอาจจะได้ไปครองชัยนาถ (เมืองคู่แฝดของสองแควก่อนรวมเป็นพิษณุโลก)        
                                โดยอาจมีพระยายุธิษฐิระครองเมืองอยู่ฝั่งสองแคว
                                ตามเอกสารล้านนากล่าวว่าพระบรมไตรโลกนาถสัญญากับพระยายุธิษฐิระว่าเมื่อได้ครองอยุธยา จะตั้งพระยายุธิษฐิระเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนือ
                                 แต่ในความเป็นจริงมิได้ทรงทำตามสัญญา พระยายุธิษฐิระจึง "ย่างยาว" (แปรพักตร์ไปเข้ากับเชียงใหม่)


เรื่อง "ย่างยาว" นี้ เข้าใจว่าจะมากจากโคลงในยวนพ่ายบทนี้

๏ แถลงปางปราโมทยเชื้อ   เชอญสงฆ
สํสโมสรสบ                  เทศไท้
แถลงปางเมื่อลาวลง         ชยนาท นั้นฤๅ
พระยุทธิษฐิรได้             ย่างยาว ฯ

โคลงบทนี้ผมเคยเห็นบางฉบับเขียนต่างไปเล็กน้อยในบาทสุดท้าย
- พระ บางแห่งเขียน เพราะ
- ย่างยาว บางแห่งว่า ย่านยาว

โคลงบาทนี้ ผมเคยอ่านที่ อ.ประเสริฐ ท่านแปลรวมๆไว้ว่าพระยุษธิษฐิระเป็นขบถ ชวนให้คิดว่า ย่างยาว แปลว่า แปรพักตร์ หรือ เป็นขบถ อยู่เหมือนกัน หากแต่ว่าผมไม่เคยเห็นการใช้คำนี้ในความหมายนี้ในที่อื่นมาก่อน ก็เลยยังชั่งใจอยู่

แต่หากลองคิดว่า ย่างยาว ตรงนี้ ที่ถูกแล้วเป็น ย่านยาว อย่างที่บางฉบับเขียนไว้ ตรงนี้ก็มีประเด็นให้คุยอยู่นิดหน่อยเหมือนกัน

แถลงปางเมื่อลาวลง         ชยนาท นั้นฤๅ
พระยุทธิษฐิรได้             ย่างยาว ฯ

ความตอนนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยุทธิษฐิระที่พระบรมไตรโลกนาถตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสองแคว หากแต่พระยุทธิษฐิระผิดหวัง หันไปสวามิภักดิ์พญาติโลกราช และชักชวนให้ยกลงมาเอาเมืองสองแคว (ในยวนพ่ายเรียกว่าชัยนาท) เรื่องนี้น่าคิดว่าเจตนามีเพียงการเอาเมืองสองแควเท่านั้นหรือ?

จากพิษณุโลกล่องลงมาตามลำแม่น้ำน่าน เข้าเขตจังหวัดพิจิตร อำเภอแรกที่เจอคืออำเภอย่านยาว ชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ อ.พิเศษอธิบายว่ามีผังเมืองแบบสุโขทัย เป็นไปได้ว่า ย่างยาว หรือ ย่านยาว ที่พระยุทธิษฐิระได้ ก็คือย่านยาวนี่แหละครับ คือให้พระเจ้าติโลกราชเอาเมืองพิษณุโลกไว้ ในขณะที่พระยุทธิษฐิระรุกลงใต้ต่อลงมาถึงย่านยาว ก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะยกทัพขึ้นไปขับไล่ขึ้นไปถึงสุโขทัย และต้องไปครองราชย์อยู่ที่พิษณุโลกเพื่อป้องกันการรุกของล้านนาครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 20 ต.ค. 09, 14:51
เรียนคุณ Wandee ครับ

มิได้ครับ ความรู้ภาษาพม่าผมแค่หางอึ่ง
เพียงแต่เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรี ผมเลือกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นวิชาโทซึ่งต้องเรียนเกี่ยวกับพม่า อีกทั้งได้ลงเรียนวิชาเกี่ยวกับพม่าโดยเฉพาะอีกด้วย
กอปรกับเคยไปเที่ยวพม่าและได้สอบถามวิธีออกเสียงของเขามา ซึ่งถ้าจับเคล็ดได้แล้วละก้อจะออกเสียงได้ไม่ยากนัก (ซึ่งผมก็ออกเสียงได้ตามตัวอักษรโรมันเท่านั้น)
นอกจากนั้นก็อาศัยอ่านหนังสือกับสอบถามผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่าในพันทิป (เช่น คุณ นายช่างปลูกเรือน) โดยผมมีศัพท์พม่าทางด้านประวัติศาสตร์อยู่มากเลยเหมือนรู้เยอะ (ชอบพม่าเลยหาข้อมูลเก็บไว้)
แต่ความจริงก็พูดได้แค่ มิงกลาบา เท่านั้นแหละครับ อิอิ



......................................................................
เรียนคุณ CrazyHOrse ครับ

มีเหตุผลอย่างยิ่งครับ เพราะจะสอดคล้องกับหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ว่า ทัพล้านนาตีได้เมืองปากยม (พิจิตร) จับเจ้าเมืองปากยมได้
พระเจ้าติโลกราชเห็นว่าเจ้าเมืองปากยมรูปงามเลยจะไว้ชีวิต แต่พญายุธิษฐิระไม่ยอม สุดท้ายเจ้าเมืองปากยมก็ถูกประหาร

ส่วนในฉบับหลวงประเสริฐว่าพระเจ้าติโลกราชมาเอาเมืองชากังราวได้ และยกไปเอาสุโขทัยแต่ไม่ได้

ผมเชื่อว่า ชากังราว อยู่ลุ่มน้ำน่าน (อ.พิเศษ ว่าคือเมืองพิชัย)

ดังนั้นจากหลักฐานเหล่านี้อาจจะพอสันนิษฐานได้ว่า เมื่อพระเจ้าติโลกราชตีได้แคว้นกาวน่าน (น่าน) แล้ว เชื้อวงศ์กาวน่านหนีไปหาญาติคือพญายุธิษฐิระ
พญายุธิษฐิระอยากจะตีตนออกห่างจากอยุธยาอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าพระเจ้าติโลกราชเข้มแข็งจึงเอาเมืองสองแควเข้าสวามิภักดิ์ แล้วฝ่ายล้านนาก็ยกทัพเข้ามาตามลำน้ำน่าน
ได้เมืองชากังราวก่อน (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ส่วนพญายุธิษฐิระก็ลงไปเอาย่านยาว (ตามยวนพ่าย) แล้วต่อไปถึงปากยม (ตามหลักฐานล้านนา)
--- เอ...หรือว่าย่านยาวกับปากยมจะเป็นเมืองเดียวกัน? เพียงแต่เรียกคนละชื่อ เหมือน ชัยนาท-สองแคว เชลียง-เชียงชื่น ---
จากนั้นก็ไปเอาเมืองสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ (ฉบับหลวงประเสริฐ) เมื่อเจอทัพหนุนก็ต้องถอยทัพกลับ

จะเห็นว่าสงครามครั้งนี้มาตามลำน้ำน่านซึ่งพระเจ้าติโลกราชกำลังขยายอิทธิพลลงมา และเป็นฐานอำนาจเดิมของวงศ์กาวน่านซึ่งเป็นเครือญาติกับพญายุธิษฐิระ
พระเจ้าติโลกราชถึงได้ให้พญายุธิษฐิระปกครองพะเยา แพร่ น่าน ซึ่งเป็นดินแดนของวงศ์กาวน่านเครือญาติของพญายุธิษฐิระเอง

จากข้อสันนิษฐานนี้สนับสนุนว่าชากังราวอยู่ลุ่มน้ำน่าน มากกว่าที่จะเป็นกำแพงเพชรซึ่งเป็นฐานอำนาจของฝ่ายอยุธยา อยู่นอกเส้นทางการเดินทัพลงมาตามลำน้ำน่าน
และฝ่ายอยุธยาเมื่อจะยกทัพขึ้นตีล้านนาใน พ.ศ.๑๙๙๙ ก็ยกไปทางลุ่มน้ำปิงโดยคงใช้เมืองกำแพงเพชรเป็นฐาน ยกขึ้นไปถึงแม่น้ำลี้เมืองเถินแถวลำปางลำพูน  



กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 20 ต.ค. 09, 14:58
ขอประทานโทษ ขอความรู้เพื่อการอ้างอิง นิดเถอะครับ เกี่ยวกับข้อมูลที่ว่า เมืองปากยมนี่ ปัจจุบันคือเมืองพิจิตร น่ะครับ
มานิต


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 20 ต.ค. 09, 16:06
ครับคุณมานิต

มีการสันนิษฐานว่าเมืองปากยมที่มีอยู่ในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัย คือ บริเวณที่แม่น้ำยมไหลมาบรรจบแม่น้ำน่าน ได้แก่เขต จ.พิจิตรในปัจจุบัน  แต่เนื่องจากแม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทางเดินไปทำให้กำหนดที่ตั้งเมืองปากยมที่แน่ชัดไม่ได้

ขอเสริมเรื่องเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ที่ผมว่าน่าจะอยู่แถวลุ่มน้ำป่าสักนั้น (เมืองทั้งสองคือเมืองที่ขุนหลวงพ่องั่วไปตีในปี พ.ศ.๑๙๑๕ ตามฉบับหลวงประเสริฐ)
ข้อสันนิษฐานอื่น คือ อยู่ในเขต จ.พิจิตร ได้แก่  เมืองบ่าง อยู่ในเขตตำบลทุ่งโพธิ อำเภอตะพานหิน และอีกเมืองหนึ่งไม่ปรากฎชื่อ อยู่ในเขตตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 20 ต.ค. 09, 21:12
เรื่องเมืองชากังราว ชื่อเมืองนี้ มีในจารึกวัดเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1912) ครับ ซึ่งถ้าพิจารณาตามลำดับเมืองไล่เรียกชื่อแล้ว ดูเหมือนว่า เมืองชากังราว น่าจะอยู่ทางใต้สุโขทัยมากกว่า
ข้อความมีดังนี้ครับ

... อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว จึงนำพลมา มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม
เบื้องใ .. เมืองพาน เมือง ..  เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย

สระหลวง-สองแคว (พิษณุโลก) => ปากยม (พิจิตร) => พระบาง (นครสวรรค์) => ชากังราว (กำแพงเพชร ฝั่งตะวันออก ?) => สุพรรณภาว (สุพรรณบุรี) => นครพระชุม (กำแพงเพชรฝั่งตะวันตก)

จะเห็นว่า ผู้จารึกไล่ชื่อเมืองตามเข็มนาฬิกาครับ แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมผู้แต่ง จึงลำดับเอาเมืองสุพรรณภาว มาอยู่ระหว่าง ชากังราว กับ นครพระชุม  ???

หรือไม่เช่นนั้น ชากังราว ต้องอยู่ระหว่าง นครสวรรค์ กับ สุพรรณบุรี

อีกประการหนึ่ง ถ้าพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว การที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงขึ้นไปตีเมืองชากังราวในลุ่มน้ำน่านนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าจะทำเช่นนั้น
ทรงต้องผ่านเขตอิทธพลของเมืองสุโขทัย และ พิษณุโลก โดยที่ขณะนั้น เมืองสุโขทัย ก็ยังไม่ได้อ่อนน้อมต่อพระองค์

และถ้าพระองค์ขึ้นไปได้ถึงลุ่มน้ำน่านแล้ว ทำไมพระองค์ไม่ทรงตีเอาเมืองสุโขทัยก่อน ?

เรื่องที่เล่าในพงศาวดาร ดูเหมือนว่า พระองค์ต้องผ่านชากังราวให้ได้ก่อน จึงจะเปิดทางไปตีสุโขทัย-พิษณุโลกได้ และเรื่องที่เล่าต่อหลังจากที่สุโขทัย ยอมแพ้
ก็เปิดทางต่อขึ้นไปตีเชียงใหม่ แต่ก็ยังตีไม่ได้


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 20 ต.ค. 09, 21:17
เรื่องเมืองนครพังค่า คิดว่ายังไม่มีคำอธิบายเป็นที่น่าพอใจว่า คือเมืองใด

ส่วนเมืองแสงเชรา ผมอ่านในอินเตอร์เน็ท มีผู้อธิบายว่า อาจบันทึกเพี้ยนมาจาก ฉะเชิงเทรา ไม่ทราบเหมือนกันว่า อ้างมาจากบทความของใคร

ส่วนตัวแล้ว อาจเป็นเมืองในเขมรมั้งครับ อิอิ  ;D

=================================
ส่วนความจากพงศาวดารที่ว่า

ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง

ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง(ราวและพระยา)ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา)ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ(หลวง)เสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว(อพ)ยพมาครั้งนั้นมาก


ปัญหาคือเราไม่ทราบว่า "เมืองเหนือ" ในที่นี่ ในสมัยนั้น หมายถึงบริเวณใด หมายถึง แคว้นสุโขทัยจริงหรือเปล่า ?

หรือ จะหมายถึงเมืองที่อยู่ใต้สุโขทัย ?


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 20 ต.ค. 09, 21:32
อีกประการหนึ่ง ถ้าพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว การที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงขึ้นไปตีเมืองชากังราวในลุ่มน้ำน่านนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าจะทำเช่นนั้น
ทรงต้องผ่านเขตอิทธพลของเมืองสุโขทัย และ พิษณุโลก โดยที่ขณะนั้น เมืองสุโขทัย ก็ยังไม่ได้อ่อนน้อมต่อพระองค์

และถ้าพระองค์ขึ้นไปได้ถึงลุ่มน้ำน่านแล้ว ทำไมพระองค์ไม่ทรงตีเอาเมืองสุโขทัยก่อน ?

เรื่องที่เล่าในพงศาวดาร ดูเหมือนว่า พระองค์ต้องผ่านชากังราวให้ได้ก่อน จึงจะเปิดทางไปตีสุโขทัย-พิษณุโลกได้ และเรื่องที่เล่าต่อหลังจากที่สุโขทัย ยอมแพ้
ก็เปิดทางต่อขึ้นไปตีเชียงใหม่ แต่ก็ยังตีไม่ได้

แต่ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ขุนหลวงพ่องั่วได้หัวเมืองเหนือทั้งปวงในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น มันสอดคล้องกับหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ว่า วัตติเดชอำมาตย์ (ขุนหลวงพ่องั่ว) ตีได้เมืองสุโขทัยหลังพญาลิไทสวรรคต

ดังนั้น เมืองเหนือทั้งปวง ก็ควรจะเป็น แคว้นสุโขทัย นะครับ

และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 20 ต.ค. 09, 22:45
เรื่องเมืองชากังราว ชื่อเมืองนี้ มีในจารึกวัดเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1912) ครับ ซึ่งถ้าพิจารณาตามลำดับเมืองไล่เรียกชื่อแล้ว ดูเหมือนว่า เมืองชากังราว น่าจะอยู่ทางใต้สุโขทัยมากกว่า
ข้อความมีดังนี้ครับ

... อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว จึงนำพลมา มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม
เบื้องใ .. เมืองพาน เมือง ..  เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย

สระหลวง-สองแคว (พิษณุโลก) => ปากยม (พิจิตร) => พระบาง (นครสวรรค์) => ชากังราว (กำแพงเพชร ฝั่งตะวันออก ?) => สุพรรณภาว (สุพรรณบุรี) => นครพระชุม (กำแพงเพชรฝั่งตะวันตก)

จะเห็นว่า ผู้จารึกไล่ชื่อเมืองตามเข็มนาฬิกาครับ แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมผู้แต่ง จึงลำดับเอาเมืองสุพรรณภาว มาอยู่ระหว่าง ชากังราว กับ นครพระชุม  ???

หรือไม่เช่นนั้น ชากังราว ต้องอยู่ระหว่าง นครสวรรค์ กับ สุพรรณบุรี

จากจารึกวัดเขาสุมนกูฏนะครับ

๔.  อ๐ อ่ยูในสองแฅ
๕.  วไดเจดเขาจิงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทังชาวส
๗.  รลวงสองแฅวปา
๘.  กยํพระบางชากน
๙.  ราวสูพรรณภาวน
๑๐. ครพระชุํเบีองใ ..
๑๑. เมีองพานเมีอง ..
๑๒. เมีองราดเมีอง (ส)
๑๓. ค๋าเมีองลุํบาจา (ย)
๑๔. เปนบริพารจิ (งฃิ)
๑๕. นมานบพระบา (ท)

แปลเป็นภาษาสมัยใหม่

๔.  อ ๐ อยู่ในสองแค -
๕.  ว ได้เจ็ดข้าว จึงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทั้งชาวส -
๗.  ระหลวงสองแคว ปา -
๘.  กยม พระบาง ชากัง
๙.  ราว สุพรรณภาว น -
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท

ถ้าอ่านดีๆจะเห็นว่ามีสองส่วนนะครับ

ส่วนแรก มีทั้งชาวสระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม

ส่วนที่สอง เบื้องใ .. เมืองพาน เมือง .. เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย

เห็นได้ว่าส่วนแรกนั้นคือไพร่พลที่นำมาว่ามีชาวอะไรบ้าง (ชาวสระหลวงสองแคว ชาวปากยม ชาวพระบาง ชาวชากังราว ชาวสุพรรณภาว ชาวนครพระชุม)
อีกทั้งข้อความว่า อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว(ปี) จึงนำพลมา
จะหมายความว่าชาวไพร่พลทั้งหลายที่พามานั้น เป็นคนที่ไปอาศัยอยู่ในเมืองสองแคว หรือเดินทางมาจากเมืองของตนเองโดยตรงกันแน่ (พาชาวนครพระชุมมาเมืองนครพระชุม???)
อีกทั้งยังขาดคนอีกหลายเมือง เช่น ชาวศรีสัชนาลัยสุโขทัย ชาวนครไท เป็นต้น
ก็ในเมื่อไม่ได้กล่าวถึงทุกเมืองสำคัญในแคว้นสุโขทัย ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นการไล่เมืองไปตามเข็มนาฬิกา (แม้จะเป็นข้อสันนิษฐานที่เข้าท่าแต่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องแน่นอน)

นอกจากนั้นในส่วนที่สอง เบื้องใ ..(น่าเสียดายจารึกขาดหาย) เป็นการกล่าวถึงเมือง ไม่ใช่คน(ชาว) ดังนั้นก็ไม่ควรนำลำดับเมืองมาต่อกัน


แหะๆ เป็นแค่การ "เดา" ของผมนะครับ ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยอย่างสูง


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ต.ค. 09, 23:01
ว่ากันตามทฤษฎีสร้างเมืองประกบตรงข้ามฟากแม่น้ำของอ.พิเศษ ปากยมคือเมืองที่ฝ่ายอยุธยาสร้างประกบย่านยาวของพวกสุโขทัยครับ

พิจารณาจากตำแหน่ง ดูแล้วไม่น่าจะเป็นอ.ย่านยาวในปัจจุบันเสียแล้ว

อันที่จริง ย่านยาว เป็นเพียงชื่อที่แสดงช่วงของแม่น้ำที่ไหลตรงยาว ซึ่งก็ปรากฏอยู่หลายแห่ง น่าสนใจว่า ที่เมืองเก่าพิจิตรเอง ก็มีลักษณะเป็นย่านยาวเช่นเดียวกันครับ



ส่วนเรื่องชากังราว ผมคิดว่าสมมติฐานของอ.พิเศษ ค้างเติ่มฃงอยู่ตรงนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นมั่นเหมาะครับ

หากพิจารณาเรื่องที่ตั้งของชากังราวทั้ง ๒ สมมติฐาน จะพบว่า
- สายหลัก ยืนพิงอยู่กับสมมติฐานที่ว่าจารึกเขาสุมนกูฎระบุชื่อเมืองเรียงตามเข็มนาฬิกา (ซึ่งก็ยังมีปัญหาอย่างที่คุณ Ho ว่าสุพรรณภาวมาอยู่ผิดที่ผิดทางเสียอย่างนั้น ไฉนชากังราวไม่อยู่ด้วยกันกับนครพระชุมหนอ?)
- สมมติฐานของ อ.พิเศษ นั้นอิงอยู่บนสมมติฐานว่า เหตุการณ์เอาเมืองเหนือทั้งปวงนั้นหมายถึงกลุ่มนครรัฐสุโขทัยทั้งหมด และเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์เรื่องพญาผากองมาช่วยป้องกันชากังราวนั้นไม่ผิดพลาด (โดยที่พญาผากองนี้ต้องเป็นคนเดียวกับเจ้าครองนครน่านด้วย)

ผมว่าคงจะมีใครผิดอย่างน้อยก็สักข้างหนึ่งแหละครับ

 ;D

ส่วนตัวผมเอนไปข้างอ.พิเศษครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 ต.ค. 09, 05:10
คือว่า รายชื่อมันไล่ตามเข็มนาฬิกาครับ ผมก็ว่าไปตามเนื้อผ้า เรื่องการไล่ชื่อเช่นนี้ ทาง ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ท่านก็เคยตั้งความเห็นไว้เช่นกัน

ผมกลับมองมุมกลับกับคุณ Bhanumet ว่า ถ้าเราไม่เอาภูมิศาสตร์เป็นที่ตั้งแล้ว การตีความเมืองบางเมืองก็จะไม่เป็นเหตุเป็นผลครับ

================

"จะหมายความว่าชาวไพร่พลทั้งหลายที่พามานั้น เป็นคนที่ไปอาศัยอยู่ในเมืองสองแคว หรือเดินทางมาจากเมืองของตนเองโดยตรงกันแน่"

ตรงนี้ ผมอ่านแล้วเข้าใจว่า หมายถึง ผู้คนมาจากหลายเมืองครับ เพราะมันไม่ค่อยมีน้ำหนักนัก ที่จะตีความว่า เป็นชาวเมืองเหล่านั้น ที่อาศัยอยู่ในสองแคว

การที่ผู้แต่งจารึกกล่าวถึงคนที่มาจากเมืองต่างๆ เป็นการแสดงถึงอานุภาพของราชา และของพระพุทธศาสนา ที่เป็นที่ยอมรับไปในหลายเมือง

"นำพลมา" น่าจะหมายถึง การส่งคนออกไปบอกบุญตามเมืองต่างๆ เพื่อร่วมเดินทางไปไหว้พระบาทครับ

=================

"นอกจากนั้นในส่วนที่สอง เบื้องใ ..(น่าเสียดายจารึกขาดหาย) เป็นการกล่าวถึงเมือง ไม่ใช่คน(ชาว) ดังนั้นก็ไม่ควรนำลำดับเมืองมาต่อกัน"

ส่วนที่สองดังกล่าว ที่ผมนำมาเพราะเป็นความต่อกันครับ ผมไม่ได้บอกว่าเมืองเหล่านี้ อยู่ใน "สูตรตามเข็มนาฬิกา"

ถ้า คุณ Bhanumet ได้อ่านตอนท้ายของด้านที่ 3 ของจารึกหลักนี้ ก็จะพบว่า ผู้แต่งไล่เมืองตามทิศทางเป็นกลุ่มๆ ไปครับ ไม่มีโดดไปมาระหว่างเหนือใต้

เมืองในส่วนที่สองดังกล่าว คือ
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท

เมืองพาน ผมไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ผมไม่เชื่อว่าหมายถึงเมืองพานในเชียงราย เพราะภูมิศาสตร์ไกลเกินไป และยังข้ามเชียงใหม่ไปอีก

ส่วนเมืองราด สะค้า ลุมบาจาย หลายท่านสันนิษฐานว่าอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ส่วนจะลำดับตำแหน่งเมืองอย่างไร ตามเข็มหรือไม่ อันนี้ ไม่ทราบครับ เพราะยังตีความกันไม่ได้ว่าหมายถึงเมืองใด (มีหลายท่านเสนอไว้บ้างแล้ว)

ถ้าพิจารณาเนื้อความของจารึก จะเห็นว่า ถึงแม้จะใช้ชื่อว่า "เมือง" แต่บริบทที่เล่าก็ยังคงหมายถึง "ชาวเมือง" ครับ โดยทราบได้จาก "จึงขึ้นมานบพระบาท"

แสดงว่า คนจากเมืองเหล่านั้น เดินทางมาไหว้พระบาทครับ และมีการใช้คำว่า "ขึ้นมา" ก็เป็นนัยว่า เมืองตั้งแต่บรรทัดที่ ๗ (ปากยม....) ควรจะอยู่ลงไปทางใต้ สุโขทัยครับ

อย่างไรก็ตาม จะตีความว่า "ขึ้นเขามานบพระบาท" ก็พอฟังได้เช่นกัน  :-\

พระบาทนี้ อยู่ที่สุโขทัย ดังนั้น ถึงพิจารณาคำว่า "ขึ้นมานบ" เป็นการเดินทางมาจากเมืองที่อยู่ใต้สุโขทัย หรือ อยู่ในระนาบเดียวกัน ดังนั้น ชาวกังราว จะไปอยู่ที่น้ำน่านไม่ได้เด็ดขาด

บริบททางการสงครามเช่นกัน ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว มันไม่เป็นเหตุผล ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จะขึ้นไปตีเมืองในลุ่มน้ำน่าน โดยที่ยังปล่อยให้พิษณุโลก และสุโขทัยไม่ขึ้นกับตน เพราะมิเช่น ถ้าสองเมืองนี้ รวบพลตีตลบหลัง หรือ ตีอยุธยา ก็แย่สิครับ

ตรงนี้ฝากไว้ให้พิจารณาครับ

=======================================

"อีกทั้งยังขาดคนอีกหลายเมือง เช่น ชาวศรีสัชนาลัยสุโขทัย ชาวนครไท เป็นต้น"

เรื่องนบพระบาทนี้ เป็นเรื่องของชาวเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย เป็นเจ้าภาพ ผมเข้าใจว่า ผู้แต่งจารึกละไว้ในฐานที่เข้าใจครับ

ส่วนทำไมไม่มีชาวนครไท หรือ เมืองที่อยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไปนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ประเด็นเป็นหลักฐานทางอ้อมที่สนับสนุนว่า

"ขึ้นมานบพระบาท" น่าจะหมายถึงเมืองที่อยู่ใต้สุโขทัยลงไปครับ

=======================================


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 ต.ค. 09, 07:06

แต่ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ขุนหลวงพ่องั่วได้หัวเมืองเหนือทั้งปวงในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น มันสอดคล้องกับหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ว่า วัตติเดชอำมาตย์ (ขุนหลวงพ่องั่ว) ตีได้เมืองสุโขทัยหลังพญาลิไทสวรรคต

ดังนั้น เมืองเหนือทั้งปวง ก็ควรจะเป็น แคว้นสุโขทัย นะครับ

และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)

สิ่งที่ผมคาใจเรื่อง "เมืองเหนือทั้งปวง" คือ ทำไมหลังได้แล้ว ยังจะต้องทำสงครามต่ออีก จนสุดท้าย มหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม จึงจะผ่านไปตีเชียงใหม่ได้

ส่วนหลักฐานฝ่ายล้านนาที่คุณ Bhanumet อ้างถึง คือ "ตำนานมูลศาสนา" หรือเปล่าครับ ?

ถ้าใช่ผมจำได้เลาๆ ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างเงื่อนไขพิพาทกับสุโขทัยเรื่องค้าข้าว โดยใช้เมืองชัยนาท (มั้ง) ครับ

เท่าที่ผมจำได้ เห็นจะไม่มียึดเมืองสุโขทัยนะครับ แต่ดูเหมือนจะยอมอะไรบางอย่างกับอยุธยา

ขออภัยด้วยครับ อ่านมา หก-เจ็ดปีแล้ว จำได้ลางๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

ถ้าคุณ Bhanumet มีตำนานมูลศาสนา (หรือ ท่านใดก็ได้) รบกวน นำเนื้อความตอนนี้มาลงไว้ก็ดีครับ เป็นประโยชน์มากที่เดียว

===============================

และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)


ความใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง

ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง (ราวและพระยา) ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา) ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ (หลวง) เสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๗๓๖ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชา(ธิราช) เจ้า และพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบูรพทิศหน้าพระบั้นชั้นสิงห์ สูงเส้น ๓ วา

ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว (อพ) ยพมาครั้งนั้นมาก

ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมือง (ชากังราว) เล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ (หลวง และจะ) ทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี และจึงเสด็จทัพหลวงตาม และท้าวผ่าคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและกสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพานและจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสีย

ถ้าพิจารณาว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง คือ แคว้นสุโขทัย (รวมทั้งกำแพงเพชร และ พิษณุโลก) ในปี พ.ศ. ๑๙๑๔

ตามแนวน้ำน่าน: แสดงว่า ทรงดำเนินนโยบายทำสงครามต่อไปทางเหนือของสุโขทัย โดยไปตี ชากังราว ที่น้ำน่านในปี พ.ศ. ๑๙๑๖
ตามกำแพงเพชร: แสดงว่า สองปีต่อมา สุโขทัยแข็งข้อ กับอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๑๖

ถ้าตามแนวกำแพงเพชร จะเห็นได้ว่า สุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๑๖ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจอยุธยาก็ได้ คำว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง ในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมืองบางอย่าง เพราะเป็นช่วงพลัดเปลี่ยนรัชกาลของกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมือง อยุธยาต้องการสุโขทัยมานานแล้ว จึงน่าจะใช้นโยบายอะไรบางอย่างที่ทำให้สุโขทัยยอมเป็นประเทศราชโดยไม่เสียเลือดเนื้อ น่าเสียดายที่พงศาวดารไม่ได้บันทึกอะไรไว้มากกว่านี้

แต่สองปีต่อมาพระมหาธรรมราชาที่ ๒ น่าจะได้ "back up" ชั้นดี มียุให้แข็งเมือง ซึ่ง back up นั้นก็เห็นอยู่เลาๆ ว่าคือ ท้าวผาคอง ในเนื้อความ

ผมเอนไปทางชากังราว คือ กำแพงเพชรครับ เนื่องจาก เนื้อความต่อมา เป็นเรื่องของการตีเมืองหน้าด่านของสุโขทัย คือ ชากังราว (กำแพงเพชร) กับ พิษณุโลก ก่อนที่พระมหาธรรมราชาจะยอมแพ้ (พ.ศ. ๑๙๒๑) ซึ่งนับได้ว่า ณ จุดนี้ สุโขทัย "กลับ" มาเป็นประเทศราชเหมือนเดิม

เพราะจะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่ผ่านสุโขทัย ก็รุกไปเชียงใหม่ไม่ได้


ถ้าตามแนวน้ำน่าน จะสัญนิษฐานโดยพื้นฐานที่ว่า สุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ดังนั้น ชากังราว จึงควรอยู่เหนือขึ้นไป
ตรงนี้จะอธิบาย ลำดับเวลานี้ยังไงครับ ?

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว (ไสแก้ว) (ในลุ่มน้ำน่าน) ไม่ได้เมือง => แสดงว่า ได้พิษณุโลกแล้ว จึงผ่านขึ้นมาได้ ?
ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก (สามแก้ว) ได้เมือง => แสดงว่า พิษณุโลกแข็งเมือง ? ถ้าพิษณุโลกแข็งเมือง แสดงว่า สุโขทัยแข็งเมืองด้วย แต่ทำไม ไม่ทรงไปปราบสุโขทัยก่อน จะเข้าไปตีอีกครั้ง ?

ปีต่อๆ มาก็เน้นตีชากังราว สุดท้าย มหาธรรมราชา ก็ออกมาถวายบังคม ตามเนื้อความ มหาธรรมราชาในที่นี่ ควรเป็นกษัตริย์สุโขทัยครับ ไม่ใช่กษัตริย์เมืองชากังราว เพราะพระนามนี้ เป็นนามตามประเพณีกษัตริย์เมืองสุโขทัย => ทำไมสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ไม่ทรงไปตีสุโขทัยเลย ? เพราะเป็นทางผ่านอยู่แล้ว และมหาธรรมราชาก็ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้ เพราะอยุธยาตีเืมืองในลุ่มน้ำน่าน ยังทรงมีโอกาสมาตั้งมั่นในเมืองสุโขทัยได้อีก ?

คำถามเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมยังไม่เชื่อว่า ชากังราว อยู่ในลุ่มน้ำน่าน

อีกประการหนึ่ง เรื่องลำดับชื่อคือ
มหาธรรมราชา - พี่คนโต
คำแหงพระราม - คนที่ ๒ (ชื่อราม เป็นธรรมเนียมตั้งชื่อลูกคนที่สอง)
สามแก้ว - คนที่ ๓
ไสแก้ว - คนที่ ๔

ดังนั้น จะเห็นเครือข่ายดังนี้
มหาธรรมราชา ครองสุโขทัย
คำแหงพระราม - "น่าจะ" ครองศรีสัชนาลัย (ความในเรื่องไม่ได้บอกไว้)
สามแก้ว - ครองพิษณุโลก เมืองสำคัญอันดับสามของแคว้นสุโขทัย
ไสแก้ว - ครองชากังราว ซึ่ง "น่าจะหมายถึง" กำแพงเพชร เมืองสำคัญอันดับสี่ของแคว้นสุโขทัย

อันนี้ก็ฝากไว้ให้พิจารณาเช่นกันครับ  ;D


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 ต.ค. 09, 07:22
ส่วน "เมืองพาน" นั้น คิดไปคิดมา อาจหมายถึง "เมืองพัน" ในพม่า ก็เป็นได้ครับ

คือคงส่งคนไปอันเชิญพระสงฆ์ และฆรวาสมาร่วมงานบุญ

สุโขทัยกับเมืองมอญ ติดต่อกันมานานแล้วครับ เส้นทางจากเมืองพันนี้ ก็สามารถใช้เดินทางต่อไปยังอินเดียได้ด้วยครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 ต.ค. 09, 07:43
ผมลองไปตรวจกับ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีข้อน่าสังเกตนิดหน่อยครับ

ก. = พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

ข. = พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ก. ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ข. ศักราช ๗๔๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) ไปเอาเมืองช้ากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม

=============================

ก. ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ข. ศักราช ๗๔๒ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๑๙๒๓) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำปางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนคร ให้เจ้าเมืองนครลำปางออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

=============================

ก. ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน

ข. ศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก (๒) ( พ.ศ. ๑๙๒๕ ) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี


ประเด็นแรก คือ เรื่องศักราชเริ่มเพี้ยน ท่านที่ตามอ่านพงศาวดารคงทราบกันดี โดยเริ่มเพี้ยนกันตั้งแต่หลังได้สุโขทัยแล้ว คือ มหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ประเด็นที่สอง ความในฉบับ ก. พิมพ์เกิน หรือ เขียนเกินมาหรือไม่ ? จากประโยคที่ว่า "เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า" ซึ่งเป็นข้อความที่ซ้ำกับ ปี พ.ศ.๑๙๒๑
เป็นไปได้ว่า ฉบับ ก. เขียนเกินมา เพราะฉบับ ข. ไม่กล่าวถึงการตีชากังราวอีกเลย หลังที่มหาธรรมราชาถวายบังคมแล้ว

ประเด็นที่สาม (ไม่ได้นำมาลง) ฉบับ ก. ไม่ได้เล่าเรื่องสมเด็จพระรามเมศวรตีเชียงใหม่เลย ในขณะที่ ฉบับ ข. เล่าไว้อย่างละเอียด


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 ต.ค. 09, 08:22
ในฉบับ ก. มีชื่อเมืองชากังราว ปรากฎขึ้นอีกครั้ง ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จากนั้นก็ไม่กล่าวถึงอีกเลย แต่มากล่าวถึงด้วยชื่อ "กำแพงเพชร" แทน

ส่วนฉบับ ข. นั้น เริ่มเรื่องมาก็กล่าวถึงเมืองประเทศราช ๑๖ เมือง เลย มีเมืองกำแพงเพชร อยู่ในนั้นด้วย คือ

ครั้งนั้น พระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกาเมืองชะวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจตร เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองนครสวรรค์  

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ความตรงนี้ อาจเติมขึ้นภายหลังครับ

การเปรียบเทียบเนื้อความระหว่างพงศาวดารทั้งสองเรื่องนี้ ก็ทำให้กระจ่างขึ้นครับว่า ชากังราวนั้น อยู่ในบริบทระหว่างสุโขทัย กับ พิษณุโลกโดยตลอด ดังนั้น จึงไม่น่าจะหลุดไปอยู่ในแถบลุ่มน้ำน่านครับ

เปรียบเทียบพงศาวดารทั้งสอง เหตุการณ์ตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชสมบัติ ถึงทรงออกผนวช ณ วัดจุฬามณี (และเป็นกล่าวถึงชื่อชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายใน ฉบับ ก. ส่วนฉบับ ข. นั้นไม่กล่าวถึงอีกเลยนับตั้งแต่ มหาธรรมราชาออกถวายบังคมสมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๑)

ก. ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า
ข. ศักราช ๗๙๖ ปีขาลฉอศก (พ.ศ. ๑๙๗๗ ) สมเด็จ พระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ในสมบัติ ๑๖ ปี สมเด็จพรราเมศวรเจ้า ผู้เป็นพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อพระบรมไตรโลกนาถ

ก. (ไม่มีกล่าวถึง)
ข. ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์เสด็จมาอยู่ริมน้ำ จึงให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาททององค์หนึ่งแล้วพระราชทานชื่อขุนนางตามตำแหน่งนา ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลเมือง เอาขุนวังเป็นพระธารมาธิกรณ์ เอาขุนนาเป็นเกษตร์ เอาขุนคลังเป็นโกษาธิบดี (เรื่องจัดระบบบริหารใหม่นี้ สอดคล้องกับ กฎหมายตราสามดวง)  ให้ถือศักดินาหมื่น และที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดี ที่พระองค์สร้างกรุงนั้น ให้สถาปนาพระมหาธาตุและพระวิหารเป็นพระราม

ก. ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ. ๑๙๙๗) ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก
ข. ศักราช ๘๐๒ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๑๙๘๓ ) ครั้งนั้นคนออกทรพิษตายมากนัก

ก. ศักราช ๘๑๓ มะแมศก (พ.ศ. ๑๙๙๔) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. ศักราช ๘๑๗ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๙๘) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะลากา
ข. ศักราช ๘๐๓ ปีระกาตรีศก (พ.ศ. ๑๙๘๔ ) แต่งทัพ ไปเอาเมืองมะละกา

ก. ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๙๙) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน (อยู่ในเขตเมืองกำแพงเพชร)
ข. ศักราช ๘๐๔ ปีจอจัตวาศก (พ.ศ. ๑๙๘๕ ) แต่งทัพไป เอาเมืองศรีสพ ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลบ้านโคน

ก. ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๐๐) ครั้งนั้นข้าวแพงเป็นทะนานแล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท
ข. ศักราช ๘๐๕ ปีกุรเบญจศก (พ.ศ. ๑๙๘๖ ) ข้าวเปลือกแพงเป็นทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย เบี้ย ๘๐๐ ต่อเอง เกวียนหนึ่ง เป็นเงิน ๓ ชั่งกับ ๑๐ บาท

ก. ศักราช ๘๒๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๐๑) ครั้งนั้นให้บุณพระศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ
ข. ศักราช ๘๐๖ ปีชวดฉอศก (พ.ศ. ๑๙๘๗ ) ให้บำรุง พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ

ก. ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๐๓) เล่นการมหรสพฉลองพระ และพระราชทานแก่สงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง ครั้งนั้น พระยาเชลียงคิดเป็นขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช
ข. ศักราช ๘๐๘ ปีขาลอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๘๙ ) เล่นการมหรศพฉลองพระ และพระราชทานสมณชีพราหมณ์และวัณริพกทั้งปวง ครั้งนั้น พระยาเชลียงคิดขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปมหาราช

ก. ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๐๔) พระยาเชลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ มิได้เมืองและจึ่งยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง และมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่
ข. ศักราช ๘๐๙ ปีเถาะนพศก (พ.ศ. ๑๙๙๐ ) พระยา เชลียงนำมหาราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเอาเมืองสามารถ มิได้จึงยกทัพแปรไปเอาเมืองกำแพงเพ็ชร เข้าปล้นเมือง ๗ วันมิได้

ก. ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทย พาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน และให้พระกลาโหม ไปตามได้คืนมาแล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. ศักราช ๘๒๕ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดิน เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง (= กำแพงเพชร ถ้าเทียบกับฉบับ ข.) และสมเด็จพระราชาเจ้าตีทัพพระยาเถียรแตก และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่ และข้าเศิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องเป็น ณ พระพักตร์ และทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป
ข. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า และสมเด็จพระอินทราชา เสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพ็ชรทัน และสมเด็จพระอินทราชาเจ้าตีทัพพระยาเกียรติ์แตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารมเอาช้างพระที่ นั่งช้างเดียว ครั้งนัน พระอินทราชาเจ้าต้องปืนพระพักต์ ทัพมหาราชนั้น เลิกกลับคืนไป

ก. ศักราช ๘๒๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๐๗) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า สร้างพระวิหารวัดจุฬามณี
ข. ศักราช ๘๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๑๙๙๑ ) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี

ก. ศักราช ๘๒๗ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๐๘) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ทรงพระผนวช ณ วัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาพระผนวช
ข. ศักราช ๘๑๑ ปีมะเส็งเอกศก (พ.ศ. ๑๙๙๒ ) สมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถเจ้า ทรงพระผนวชวัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาผนวช




กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 21 ต.ค. 09, 09:13
ชอบการ"ถก" ทางวิชาการ แบบนักวิขาการ ทำนองนี้มากครับ ได้ความรู้แตกฉานดี(กว่าไปห้องสมุดเยอะ)ครับ ขอบพระคุณสำหรับทุกข้อความครับ
มานิต


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 22 ต.ค. 09, 09:34
ครับ ขอบพระคุณมากครับ

ขออภัยเรื่องรอยพระบาทเขาสุมนกูฏ ผมจำพลาดไปว่าอยู่นครชุม ที่จริงต้องสุโขทัย ขออภัยอย่างยิ่งครับ

ส่วนเรื่องเมืองชากังราว ก็ต้องขอบคุณสำหรับการวิเคราะห์ หลักฐาน และข้อมูล มีเหตุผลอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรเสียต้องให้อภัยผู้น้อยอย่างผมด้วยนะครับ เพราะผมยังเอนเอียงไปทาง อ.พิเศษ ว่าเมืองชากังราวอยู่ลำน้ำน่านอยู่
ถือซะว่ามองต่างมุมแล้วกันนะครับ



เรื่องต่อไป
เนื่องจากตามทฤษฎีของผมที่ได้ยกมาในความคิดเห็นก่อนๆ
ผมเชื่อว่าสุโขทัยหลังสมัยพญาลิไทแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ สายพระร่วง-สุพรรณภูมิ ที่มีอิทธิพลอยู่ทางสุโขทัยศรีสัชนาลัย โดยมีเมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะอยู่ในอิทธิพลของอยุธยาเป็นฐานสนับสนุน
สายนี้ไม่กบฏต่ออยุธยา จึงเป็นฐานให้ขุนหลวงพ่องั่วในการไปตีล้านนา และเมืองอื่นๆได้

สายที่สองเปนสาย พระร่วง-กาวน่าน มีอิทธิพลอยู่แถวลุ่มน้ำน่าน (เช่น ชากังราว-ตามการ "เดา" ของผม) สายนี้เป็นสายที่ขุนหลวงพ่องั่วพยายามปราบปราม

ดังนั้นบนพื้นฐานการสันนิษฐานว่า ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร และสุโขทัยศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อยู่ฝ่ายอยุธยา (ไม่ว่าในฐานะเมืองออกหรือเมืองเครือญาติ) ผมจึงเห็นว่าขุนหลวงพ่องั่วมีฐานกำลังที่จะไปตีล้านนาครับ

อนึ่ง แนวคิดการเรียกชื่อราชวงศ์เป็นแนวคิดในสมัยหลัง ผมใช้เพื่อให้สะดวกในการทำความเข้าใจ ในสมัยโบราณอาจไม่ได้ยึดแนวคิด "รักษาหรือฟื้นฟูราชวงศ์" (อย่างในหนังสุริโยไท) น่าจะเป็นการแสวงอำนาจากกว่าเฉพาะตนมากกว่า
เพราะราชวงศ์โบราณก็เป็นเครือญาติกันหมด เป็นวงศ์เดียวกันคือสุริยวงศ์ (วงศ์กษัตริย์) เพียงแต่ต้องมีจิตสำนึกเรื่อง "ญาติใกล้ชิด" กับ "ญาติห่างๆ" แน่นอน (โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังเหลือหลักแม่เป็นใหญ่อยู่ ญาติข้างแม่ย่อมสำคัญมาก)



เรื่องหลักฐานฝ่ายล้านนา
ครับเอามาจากชินกาลมาลีปกรณ์ครับ
สรุปความว่าพระเจ้ารามาธิบดี (อู่ทอง) ใช้อุบายทำทีเอาข้าวมาขายให้ชัยนาท (สองแคว) ที่ประสบทุพพิกขภัย แล้วยึดสองแควได้ ให้วัตติเดชอำมาตย์ (พ่องั่ว) ครองสองแคว
-เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดก่อน พ.ศ.๑๙๐๕ ที่พญาลิไทไปครองสองแคว-

พระเจ้าธรรมราชา (พญาลิไท) ส่งบรรณาการถวายพระเจ้ารามาธิบดีเพื่อไถ่เมืองคืนสำเร็จ วัตติเดชอำมาตย์กลับไปเมืองสุวรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) พระเจ้าธรรมราชาไปเมืองชัยนาท ตั้งพระกนิษฐาครองสุโขทัย
-พ.ศ.๑๙๐๕-

ต่อมาเมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชฌปุระ (อโยธยา) สวรรคตแล้ว
-คือ พ.ศ.๑๙๑๒-

วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยึดแคว้นกัมโพชได้
-พ.ศ.๑๙๑๓ ขุนหลวงพ่องั่วยึดอโยธยาจากพระราเมศวร-

ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาท (พญาลิไท ณ เมืองสองแคว) สวรรคตแล้ว
วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองอโยชฌปุระยึดเมืองชัยนาท... และมหาอำมาตย์ชื่อพรหมไชยก็ยึดเมืองสุโขทัยได้ (น่าจะเป็นฝ่ายอยุธยา???)
-น่าจะเป็น พ.ศ.๑๙๑๔ ที่ขุนหลวงพ่องั่ว "ได้เมืองเหนือทั้งปวง"-




สุดท้ายขอเรื่องเมืองชากังราวอีกนิดครับ

ศักราช ๘๑๓ มะแมศก (พ.ศ. ๑๙๙๔) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน

.............................

ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๐๓) เล่นการมหรสพฉลองพระ และพระราชทานแก่สงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพระยาเชลียงคิดเป็นขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช

ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๐๔) พระยาเชลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ มิได้เมืองและจึ่งยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง และมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่

ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทย พาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน และให้พระกลาโหมไปตามได้คืนมาแล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า

..............................

ศักราช ๘๓๙ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๒๐) แรกตั้งเมืองนครไทย

...............................

ศักราช ๘๕๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๓๓) แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย


พ.ศ.๒๐๐๕ เมืองนครไทยหนีไปน่านแต่ตามกลับได้
พ.ศ.๒๐๒๐ แรกตั้งเมืองนครไทย
น่าจะเป็นเพราะสงคราม "ยวนพ่าย" นั้นใหญ่หลวงนัก เมืองใดรักษาไว้ไม่ได้ (หรือรักษายาก) ก็คงปล่อยเป็นเมืองร้างและกวาดต้อนผู้คนไปเมืองอื่น (ตามธรรมเนียมสงครามโบราณในอุษาคเนย์ สมัยพระนเรศวร พระเจ้าตากก็ใช้วิธีนี้)

พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชมาเอาชากังราวได้.... แล้วยกทัพกลับ
พ.ศ.๒๐๓๓ แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย
เมืองชากังราวคงยากที่จะรักษาเพราะอยู่ลุ่มน้ำน่านใกล้เขตอิทธิพลแคว้นน่านที่พญายุธิษฐิระปกครอง
จึงปล่อยเป็นเมืองร้างเสีย แล้วค่อยมาฟื้นเมืองใหม่สมัยพระบรมราชาธิราช ที่ ๓ (แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย)
-อันนี้ลองยึดตามข้อสันนิษฐานของ อ.พิเศษว่าชากังราวคือเมืองพิชัย-
ดังนั้นจึงไม่กล่าวถึงชากังราวอีกเลยเพราะกลายเป็นเมืองพิชัย

พ.ศ.๒๐๐๔ ทัพล้านนาสามารถมาตีกำแพงเพชรได้ทั้งๆที่อยู่ลุ่มน้ำปิง (นอกเส้นทางลุ่มน้ำน่านที่เป็นเส้นทางหลัก) ก็เพราะพญาเชลียงเป็นกบฏเอาเมืองไปออกแก่พระเจ้าติโลกราช ทัพล้านนาจึงใช้เชลียงเป็นฐานได้
-ดังนั้นชากังราวที่ล้านนามาตีเป็นเมืองแรกในปี ๑๙๙๔ จึงควรอยู่ลุ่มน้ำน่านที่เป็นเขตอิทธิพลของพญายุธิษฐิระ และเป็นเส้นทางที่ล้านนายกมาในตอนต้นของสงคราม ส่วนอยุธยาใช้กำแพงเพชรเป็นฐานไปทางแม่ปิงในปี ๑๙๙๙-



ขอเสนอแนวคิดด้วยความเคารพครับ และขอบพระคุณคุณ Hotacunus และท่านอื่นๆที่เข้ามาร่วมถกสร้างสีสันให้กระทู้และเพิ่มความรู้ครับ



ป.ล. เมืองพาน น่าจะเป็น เมืองบางพาน ที่อยู่ระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนะครับ


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 22 ต.ค. 09, 10:11
รออ่านต่ออยู่ ด้วยความสนใจยิ่ง นะครับ
มานิต


กระทู้: ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ต.ค. 09, 14:23
๔.  อ ๐ อยู่ในสองแค -
๕.  ว ได้เจ็ดข้าว จึงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทั้งชาวส -
๗.  ระหลวงสองแคว ปา -
๘.  กยม พระบาง ชากัง
๙.  ราว สุพรรณภาว น -
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท

บรรทัดที่ ๑๐ "เบื้องใ" อาจจะเป็น "เมืองใ" นะครับ ดังนั้นเป็นชื่อเมืองที่เรียงอยู่ต่อกันทั้งหมด (จารึกไม่กำกับวรรณยุกต์ตรงคำนี้ และ บ กับ ม ก็คล้ายกัน)
ดูจารึก http://www4.sac.or.th/jaruk2008/img_large.php?f=/144_4.jpg (http://www4.sac.or.th/jaruk2008/img_large.php?f=/144_4.jpg)

น่าคิดว่าชื่อเมืองแรกๆเป็นชื่อที่เรารู้ตำแหน่งอยู่สามสี่ชื่อ สรลวงสองแฅว ปากยํ พระบาง ... นครพระชุํ
น่าสนใจว่าชื่อเหล่านี้เรียงไล่ตามเข็มนาฬิกาพอดี โดยเริ่มจากทางทิศตะวันออก

ดูชื่อเมืองที่เหลือ
- ชากนราว (กำแพงเพชร?)
- สุพรรณภาว คือสุพรรณบุรีจริงหรือ? ทำไมถึงมาอยู่ระหว่างเมืองแฝด นครพระชุม กับ กำแพงเพชร
- เมืองพาน ถ้าเป็นบางพาน ก็น่าจะถูกลำดับอยู่ก่อน ชากังราว สุพรรณภาว และ นครพระชุม ถ้าเป็นเมืองพัน (มะตะบัน-เมาะตะมะ) ก็ดูจะไกลไปสักหน่อย
- เมืองราด สะค้า ลุมบาจาย ผมเข้าใจว่ามีสองทฤษฎี คือลุมน้ำน่าน กับลุ่มน้ำป่าสัก อ.ประเสริฐ โยงชื่อ บาจาย โอรสกษัตริย์เมืองน่านเข้ากับชื่อเมืองลุมบาจาย และยังตั้งข้อสังเกตเรื่องชื่อ ผาเมือง เข้ากับผากอง กษัตริย์น่าน เป็นการโยงเมืองราดเข้ากับลุ่มแม่น้ำน่านด้วย ดูจากระยะทางและทิศทางจากสุโขทัย ก็เข้ากันได้ดีครับ

ผมว่าชากนราวอาจเป็นกำแพงเพชรได้โดยดูจากบริบทอื่นๆ แต่ทฤษฎีตามเข็มนาฬิกาน่าจะใช้ไม่ได้ครับ