เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 38487 เรื่องจีนฮ่อ และสงครามปราบฮ่อ
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


 เมื่อ 07 ก.พ. 11, 15:56

สิบนิ้วลูกหนอเอย ลูกจะยอประนม
จะยกขึ้นตั้งบังคม เหนือเกศาเอย
จะขอนบไหว้ครูบา  ทหารกล้าทั่วทิศา
ต่อกรกับเหล่าอริราช  ร่วมปราบศึกฮ่อเทอญ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 16:10

กระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ท่านที่สนใจในประวัติศาสตร์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น เข้ามาพูดคุยเรื่อง “ฮ่อ” กันในหลายมุมมอง

เรื่องฮ่อนั้นโดยส่วนมากจะนึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกทัพขึ้นไปปราบฮ่อ ซึ่งกินเวลาการรบเป็นเวลายาวนานและเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นำพาไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒


กำเนิดฮ่อ

เดิมทีนั้นชาวสยาม รู้จักพวกฮ่อในลักษณะว่าเป็นชนชาติหนึ่ง จนเมื่อปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) จับตัวฮ่อลงมายังกรุงเทพฯ มีเสียงกระซิบนินทากันว่า พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร)จับเจ๊กส่งลงมาลวงว่าเป็นฮ่อ เพราะผู้นินทานั้นหารู้ความจริงไม่ ว่าฮ่อมันก็เจ๊กนั่นเอง เป็นแต่พวกไทยฝ่ายเหนือ ไม่เรียกว่า เจ๊ก แต่เรียกฮ่อกันมาแต่โบราณ ในหนังสือพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงเรื่องจีนตีเมืองพม่าเมื่อตอนก่อนศึกอะแซหวุ่นกี้ ก็เรียกว่า ฮ่อ ตามคำไทยข้างฝ่ายเหนือ

ซึ่งฝ่ายเหนือใช้คำนี้อาจหมายความว่าพวกมองโกลที่ได้เป็นใหญ่ในเมืองจีน ครั้งราชวงศ์หยวน หรือมิฉะนั้นจะหมายถึงพวกแมนจูที่ได้เป็นใหญ่เมื่อครั้งราชวงศ์ชิง เรียกให้ผิดกับจีน ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ในชั้นหลังมา พวกชาวล้านช้างและล้านนาในมณฑลพายัพ เรียกบรรดาเจ๊กที่ลงมาทางบกฝ่ายเหนือว่า “ฮ่อ” ตามอย่างโบราณ แต่เรียกพวกเจ๊กที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯว่า “จีน” หรือ “เจ๊ก” ตามคำชาวกรุงเทพ ซึ่งทำให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจว่าฮ่อเป็นชนชาติหนึ่ง


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 16:16


สำหรับฮ่อ ในความหมายของไตลื้อ หมายถึงชาวจีนที่อาศัยอยู่ในยูนนาน ซึ่งชาวจีนในยูนนานที่เรียกว่าฮ่อนั้นมีจำนวนเล็กน้อย ส่วนมากทำการค้ายและเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งรัฐบาลจีนจัดส่งมา ซึ่งจากจดหมายของ Garnier ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ถึง Due Decazes รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. 1875) ได้กล่าวถึงพวกฮ่อว่า “พวกฮ่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพวกฮ่อนี้ (Ho-nhi) ได้ยึดครองดินแดนแถภูเขาอันตั้งอยู่ระหว่างยูนนานและตั่งเกี๋ยพร้อมกับชนชาติป่าเถื่อนอื่นๆ”


คนยูนนานไม่ได้เรียกตนเองว่า “ฮ่อ”

“ฮ่อ” เป็นคำไทยที่ใช้เรียกชาวยูนนานซึ่งเป็นจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางภาคเหนือ ในทางเหนือเรียกจีนที่เดินบกเข้ามาในประเทศไทยว่า ฮ่อ ทั้งหมดมิได้กำหนดเฉพาะชาวยูนนาน

เจีย แยนจอง (ยรรยง จิระนคร, 2538) ได้เคยตั้งคำถามว่าเหตุใดเราจึงเรียกชาวยูนนานว่า “ฮ่อ” ทั้งๆ ที่ชาวจีนยูนนานไม่ได้เรียกตัวเองว่า “ฮ่อ” นิยามคำว่า “ฮ่อ” เป็นคำนิยามที่ไทยลื้อ ไทโยน และชาวหลวงพระบาง ชาวเชียงตุงใช้เรียกผู้ปกครองชาวจีนยูนนานในสมัยโบราณเป็น “เจ้าว่องฮ่อ” เรียกคนจีนในยูนนานเป็น “ฮ่อ”


ตำนานสิงหนวัติของเชียงใหม่กล่าวถึง “กษัตริย์ฮ่อเทวกาล” วรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งของหลวงพระบางกล่าวถึง “เจ้าว่องฮ่อ” ไว้หลายครั้ง

คำว่า “ฮ่อ” มาจากคำจีนยูนนานที่เรียกแม่น้ำว่า “ห้อ” เพราะจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย และรางวงศ์ถัง พ.ศ. ๑๑๒๔-๑๔๕๐ (ค.ศ.581-907) เรียกชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่กลุ่มแม่น้ำแส (ทะเลสาบเอ๋อไห่ปัจจุบัน) เป็น “ห้อ” ดังนั้นความเป็นมาของคำว่า “ฮ่อ” จึงมาต่อเนื่องแต่โบราณว่ากลุ่มชนที่อยู่ริมแม่น้ำแสในยูนนาน คือ พวกฮ่อ (กลุ่มชนริมแม่น้ำ) และต่อมากลายเป็นชาวจีนยูนนานไปตั้งถิ่นฐานที่ใดก็ได้เรียกขานว่าเป็น “ฮ่อ” เช่นเดียวกับกลุ่มที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือของไทย

ส่วนในนิยามของไทลื้อสิบสิงปันนาและไทเขินเชียงตุง หมายถึงจีนทั่วไป คือจะเรียกประเทศจีนว่า เมืองฮ่อ เรียกคนจีนว่า “ฮ่อ” อักขระวิธีการสะกดของอักษรลื้อหรืออักษรล้านนาจะเขียนว่า “ห้อ”สำหรับภาษาพูดและเขียนที่กลุ่มจีนฮ่อใช้อยู่เป็นภาษาจีนที่ใกล้เคียงกับภาษาจีนกลาง ดังนั้น ชาวจีนยูนนานจะเข้าใจภาษาจีนกลางได้ง่ายกว่าชาวจีนกลุ่มอื่นๆ

อีกส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจของชาวจีนฮ่อเองว่า “ฮ่อ” มาจากคำพูดติดปากของคนจีนยูนนานในช่วงแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ และเมื่อคนเมืองหรือคนไทยพูดด้วยหรือถามอะไรมักจะตอบว่า “ฮ่อๆ ฮ่อๆ” ดังนั้นจึงเรียกคนจีนยูนนานว่า “ฮ่อ”
อาจสรุปได้ว่า ในทัศนะของผู้ที่ไม่ใช่ชาวจีนฮ่อ “ฮ่อ” คือ ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยภาคเหนือโดยทางบก และเมื่อมณฑลที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดคือยูนนาน ดังนั้นชาวจีนส่วนใหญ่จึงมาจากยูนนาน และเนื่องจากในอดีตมณฑลนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จีนฮ่อที่เข้ามาในไทย ส่วนใหญ่จึงเป็นมุสลิม คนไทยจึงเรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า “ฮ่อ”

ภาพภูมิศาสตร์บริเวณมณฑลยูนนาน บริเวณทะเลสาบเอ๋อไห่ เมืองต้าลี่ บริเวณที่กลุ่มฮ่ออาศัย


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 16:22

ฮ่อที่เข้ารบกันสยาม

สำหรับฮ่อที่เข้ารบกันสยามนั้น มีประวัติว่าเป็นชาวจีนที่เข้าพวกร่วมอุดมการณ์เข้าต่อต้านอำนาจจากราชวงศ์ชิง ซึ่งกินเวลาทำสงครามกว่า ๒๐ ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลังสิ้นสุดสงครามฝิ่น ในรัชสมัยจักรพรรดิ์เสียนเฟิง ทำให้รัฐบาลต้องชำระค่าปฏิกรณ์สงคราม และภาวะเงินคงคลังขาดแคลน ทำให้ต้องรีดภาษีจากประชาชน สังคมวุ่นวายไร้ความสงบสุข จึงได้มีประชาชนเริ่มต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งได้กลายเป็น “กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว” เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔  (ค.ศ. 1851) นำโดย “หงซิ่วฉวน” ซึ่งเป็นคนจีนเชื้อสายจีนแคะ อาศัยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง และได้มีผู้คนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้บุกยึดเมืองนานกิงได้สำเร็จ


ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. 1853) และสถาปนาอาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋ว และยกตนขึ้นเป็นองค์จักรพรรดิ์ขึ้นเองด้วย ภายหลังรัฐบาลชิงได้ขอร้องให้อังกฤษเข้าปราบปราม จนสลายตัวเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. 1863)

ภาพหงซิ่วฉวน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 16:31

เมื่อฝ่ายกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วได้สลายลงแล้ว แต่บรรดาเหล่านักรบและผู้คนที่เข้าร่วมก็กระจัดกระจายหนีการไล่ล่าลงมายังแถวลุ่นแม่น้ำแดง ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของมณฑลยูนนานและกวางสี ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ “ง่ออาจง” นำพรรคพวกอพยพมาอยู่บริเวณเมืองฮานอย ซึ่งตั้งอยู่อ่าวตังเกี๋ย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. 1865) ซึ่งนำพาผู้คนประมาณ ๔,๐๐๐ คน จนพวกญวนเกรงว่าพวกฮ่อจะก่อการกำเริบ จึงได้ขอกำลังจากเมืองจีนเมือง ฮุนหนำ นำทหาร ๑๐,๐๐๐ คนมาเข้าตีพวกฮ่อจนง่ออาจงตายในสนามรบ พรรคพวกที่เหลือก็พากันหนีตายและหนีไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองซันเทียน อันเป็นเมืองของพวกแม้ว ตั้งอิสระอยู่บนภูเขาที่ชายแดนจีนต่อกับแดนสิบสองจุไทย เมื่อตั้งมั่นที่เมืองซันเทียนแล้วก็พากันยกย่องน้องชายง่ออาจง ที่ชื่อ “ปวงนันซี” และซ่องสุมรี้พลไว้

ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. 1866) ปวงนันซีก็นำทัพฮ่อเข้ายกตีเมืองเลากายในแดนญวน และต่อสู้กับทหารจีนและญวนจนชนะได้เมืองเลากายได้ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. 1867)

แผนที่ตั้งเมืองเลากาย (Lao-Cai) และระวางแผนที่ในสมัยใกล้เคียงกัน  จะเห็นพื้นที่พระราชอาณาจักรสยามและดินแดนประเทศราช และดินแดนโตคิน (เวียดนามเหนือ) และ ชนเผ่าอิสระ (พื้นที่สีเขียว ลุ่มแม่น้ำแดง) ซึ่งบริเวณสีเขียวนี้คลอบคลุมดินแดนสิบสองจุไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:03

สมัยผมอยู่มหาวิทยาลัย เพื่อนคนหนึ่งเป็นมุสลิม  ตอนนั้นเรากินก๋วยเตี๋ยวแขก(ก๋วยเตี๋ยวแกง)กัน ซึ่งเขาบอกว่าเป็นอาหารที่จีนทำขึ้นก่อนไม่ใช่แขก ทางเหนือมีข้าวซอยก็มาจากคนจีนพวกนี้ด้วย แต่เป็นจีนมุสลิมคนไทยเรียกว่าพวกจีนฮ่อ ผมก็เลยจำได้จนบัดนี้ เมื่อเห็นกระทู้ของคุณหนุ่มสยามเข้า จึงได้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้ครับ
ที่มาhttp://muslimthai.ning.com/profile/Chingching

อาจสรุปได้ว่า ในทัศนะของผู้ที่ไม่ใช่ชาวจีนฮ่อ “ฮ่อ” คือ ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยภาคเหนือโดยทางบก และเมื่อมณฑลที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดคือยูนนาน ดังนั้นชาวจีนส่วนใหญ่จึงมาจากยูนนาน และเนื่องจากในอดีตมณฑลนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จีนฮ่อที่เข้ามาในไทย ส่วนใหญ่จึงเป็นมุสลิม คนไทยจึงเรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า “ฮ่อ”

เมื่อกล่าวคำว่า “มุสลิม” เรามักจะคิดว่าเป็นแขก หรือคนที่มาจากเชื้อสายมาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย และเมื่อพบบุคคลที่เป็นจีนมุสลิมก็มักจะเกิดคำถามว่า เป็นคนจีนแล้วทำไมเป็นมุสลิม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วจีนมุสลิมในประเทศจีนมีมากกว่าคนไทยทั้งประเทศ “สถิติจีนมุสลิมแผ่นดินใหญ่ ปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) มีจำนวน 115,000,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 960,000,000 คน”

ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่มีคนมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งแรกของศาสนาอิสลามที่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปรากฏว่าจำนวนมุสลิมในจีนมากถึง 50 ล้านคน จึงทำให้ศาสนาอิสลามกลายเป็นศาสนาที่ใหญ่ศาสนาหนึ่งในประเทศจีน และทางรัฐบาลยอมรับว่า บรรดามุสลิมคือผู้นับถือศาสนาอันเป็นชนส่วนน้อยที่มากที่สุดของประเทศจีน ซึ่งมีทั้งหมด 56 ชนชาติ 55 ชนกลุ่มน้อย คือมุสลิมที่มีชื่อ “หุย” พวกมองโกลซึ่งมีชื่อว่า “เหมิง” (meng) พวกทิเบตที่มีชื่อว่า “จ้าง” (zhang) และพวกแมนจูเรียที่มีชื่อว่า “หมั่น” (manzu) ในปัจจุบันจีนมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นภายในมณฑลต่างๆ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ หูเป่ย ซีนเกียง ส่วนทางยูนนาน เราพบว่ามุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในมณฑลยูนนาน เสฉวน และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ชาวมุสลิมอาศัยอยู่แถบหนิงเช่ย ในอันเว่ย โดยเป็นแหล่งที่มีมุสลิมอยู่อย่างหนาแน่นมากที่สุด

เนื่องจากการขยายอาณาจักรของจีนจึงทำให้จีนประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติและเพื่อทราบถึงความแตกต่างในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดิม ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว สำหรับ “ฮ่อ” คือคำที่ใช้เรียกชาวจีนมุสลิมโดยทั่วไป เป็นไปไปได้ว่า “ฮ่อ” มาจากคำว่า “หุย” ซึ่งเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียกผู้ที่เป็นมุสลิมตั้งแต่แรกเริ่ม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:26

ขอบคุณครับ อ.NAVARAT.C ที่แนะเตือนเรื่องก๋วยเตี๋ยวแขก ที่แปลงลงมาเป็นข้าวซอย ซึ่งผมก็ชอบทานเช่นกัน

เรื่องมุสลิมก็มีพูดไว้เล็กน้อย ซึ่งอยู่ในตอนต่อไปแต่ไม่ได้ลงลึกมาก แต่ก็พอจะทราบว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการก่อกบฏของชาวมุสลิมในยูนนาน และพวกฮ่อมุสลิมก็ได้ลงมาร่วมรบด้วย แต่อยู่ในชั้นหลัง

ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า ควรจะแทรกภาพความเป็นอยู่ของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์บริเวณมณฑลยูนนาน ได้ดังนี้

พื้นที่สีส้ม คือ กลุ่มชน Tibeto-burman

พื้นที่เขี้ยวขี้ม้า คือ กลุ่มชนฮั่น ซึ่งทำสัญลักษณ์ไว้ ๒ แบบคือ วงกลม = Chinese , สามเหลี่ยม = Chinese Muslim

พื้นที่สีเขียวใบไม้  คือ Mon-Khmer

พื้นที่สีแดงคือ Miao-Yao

พื้นที่สีเหลือง คือ Tai


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 08:52

เมืองเลากายสำคัญอย่างไร

เมืองเลากายเป็นดินแดนทางเหนือของเวียดนาม เป็นดินแดนแห่งหุบเขาและมีแม่น้ำแดงไหลผ่าน เมืองเลากายเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า ขนเกลือจากแม่น้ำแดง, ขนฝิ่นจากยูนนาน, ข้าวสาร ขึ้นล่องระหว่างอ่าวตังเกี๋ยและยูนนาน เมืองนี้จึงเป็นจุดแวะพักสินค้าซึ่งมีการต่อสู้รบในแย่งชิงเมืองนี้มาโดยตลอด ปัจจุบันเป็นพรมแดนการค้าที่สำคัญระหว่างประเทศจีนและเวียดนาม

ดังนั้นกลุ่มของจีนฮ่อที่หนีทัพลงมา ต่างก็ต้องการเข้ายึดเมืองนี้เพื่อเป็นแหล่งควบคุมเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งหมายถึงเงินทองและความมั่งคั่งนั้นเอง

ภาพการทำเกลือ
เป็นสินค้าสำคัญมากในดินแดนแถบนี้ ในยูนนานมีบ่อเกลือถึง ๕๐ บ่อ ในภาพเป็นการทำเกลือสินเธาว์ในมณฑลยูนนาน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 08:57

กำเนิดฮ่อธงดำและฮ่อธงเหลือง

เมื่อเข้ายึดเมืองเลากายได้แล้วปวงนันซีก็เกิดขัดแย้งกับนายทัพสำคัญ “ลิวตายัน” จนเกิดการรบกันเอง เมื่อ ปวงนันซีก็แยกพารี้พลไปตั้งมั่นที่เมืองฮายางในดินแดนสิบสองจุไทย และใช้สัญลักษณ์ ธงเลือง

ส่วนลิวตายันก็ยังคงตั้งอยู่ในเมืองเลากาย โดยใช้สัญลักษณ์ ธงดำ และตั้งมั่นที่เมืองเลากายเหมือนเดิม อยู่มาพวกญวนได้เข้าเกลี้ยกล่อมยอมให้พวกฮ่อปกครองเมืองเลากายและขึ้นตรงต่อญวน

นี่คือกองทหารของฮ่อธงดำ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 09:04

พวกฮ่อเริ่มปล้นสะดมภ์

ปวงนันซี ได้อพยพและปล้นสะดมภ์บ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไทยและเมืองพวน หากใครขัดขืนก็จะฆ่าเสีย และริบทรัพย์สมบัติลูกหลานบ่าวไพร่เป็นเชลย หากใครมีทรัพย์ก็ยอมให้ไถ่ถอนตัวได้ ที่ไม่มีทรัพย์ก็แปลงเป็นเชลยเอาไว้ใช้งานจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๑๖ (ค.ศ. 1873) กองทัพฮ่อจะบุกเข้าตีเมืองพวน

ท้าวขันตีเจ้าเมืองเชียงขวางอันเป็นเมืองหลวงในดินแดนพวนได้ขอกำลังไปที่ญวนให้ส่งกองทัพมาช่วย แต่ท้ายสุดก็พ่ายแพ้แก่กองทัพฮ่อ จึงถูกยึดเมืองเชียงขวางไว้ได้และปราบปรามแดนพวนไว้ในอำนาจทั้งหมด และจึงลงมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทุ่งเชียงคำ อันเป็นต้นทางที่จะลงมาทางหัวเมืองริมน้ำโขง และจะไปดีเมืองหลวงพระบางต่อไป

จะขอหยิบยกแผนที่ประกอบ เพื่อจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เลยวาดแผนที่ขึ้นมาถึงเมืองและสถานที่ประกอบ จะได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าลักษณะการรุกคืบเข้ามาของกองทัพฮ่อ จากเมืองเลากาย เข้ามาสิบสองจุไทย และมาตั้งฐานทัพที่ทุ่งเชียงคำ ครับ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 09:13

ภาพเจ้าขันติ (เจ้าเมืองเชียงขวาง) พร้อมขุนนาง ยืนถ่ายภาพจากหนังสือ Exploring and Surveying of Siam


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 09:38

บนที่ราบสูงเชียงขวาง (จากหนังสือ "บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม" ของนายร้อยเอก พระวิภาคภูวดล)

เชียงขวาง เป็นจุดหมายหลักสำหรับการเดินทางบุกเบิกของเรา ตามข่าวที่ได้ยินนั้นว่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย การจัดเตรียมเพื่อป้องกันภัย
อันตรายจึงเรียกได้ว่าลำบากมา เราต้องเตรียมการสำหรับเดินทางถึง 25 พัก โดยไม่มีโอกาสที่จะพบผู้คนเลย นอกจากโจรฮ่อซึ่งแน่นอน
ว่าจะพยายามมารบกวนเราเท่านั้น

...........................

เลยนั้นไปอีกไกลแลเห็นบางสิ่งคล้ายเต๊นท์พอเข้าใกล้อีกหน่อย ก็ออกจะดูเหมือนฝูงปศุสัตว์ อาจเป็นด้วยเราอยากให้เป็นอย่างนั้นก็ได้
แต่พอใช้กล้องส่องทางไกลจึงได้เห็นว่า ที่แท้แล้วเป็นไหหินขนาดยักษ์ บางใบตั้งอยู่ บางใบก็ตะแคง บ้างก็แตกเป็นเศษเล็กเศษน้อย
รอบๆ นั้นมีร่องรอยว่าดินถูกขุด เราขุดดินได้ไหใบหนึ่งพบร่องรอยเผาผ่านกับลูกระพรวนทำด้วยเหล็กขึ้นสนิม ภาชนะเหล่านี้ คงมิได้
ถูกหาบหามมาจากที่อื่น แต่คงสร้างขึ้นที่ตรงนี้เองมาแต่แรก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดาสร้างไว้ใส่น้ำกิน

เมื่อเริ่มเดินต่อไป เราผ่านหุบเขาแคบๆ หลายแห่ง ซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกข้าวอันอุดมสมบูรณ์ ภูเขาสองฟากชันลิ่วขึ้นไปอีก 3,000 ฟุต
ทางด้านใต้มีป่าไม้ปกคลุมแน่นทึบ หุบเขาบางหุบสามารถปรับปรุงเป็นแหล่งปลูกข้าวได้อย่างดี และอาจทำนาได้ถึงปีละ 3 หน การชักน้ำเข้านา
ไม่ต้องออกแรงมากเท่าใดเลย

เราพบกับกลุ่มผู้นำแคว้นเชียงขวาง ทุกคนแต่งกายดี นำข้าวมาให้เป็นของขวัญ เขาพาเราเดินฝ่าทุ่งนาที่ไขน้ำเข้าเต็มเตรียมหว่าน ดูเหมือน
บุกน้ำไปมากว่าเดินถนน

ไหนเล่าคือเมืองใหญ่ ที่มีรายงานว่ามีกำลังป้องกันถึง 4,000 คน พอเลี้ยวรอบเชิงเนินเราก็แลโล่งไปเห็น สูงขึ้นไปอีก 2 ไมล์ ทื่ปลายเนิน
อันเป็นป่าทึบ เห็นยอดแหลมของพระเจดีย์โผล่ขึ้นมายอดหนึ่ง นั่นแหละที่เขาบอกเราว่า คือเมืองเชียงขวาง

เมืองนั้นตกอยู่ในอำนาจของพวกฮ่อ ชาวบ้านต่างพากันรู้สึกว่านายใหม่กลุ่มนี้รีดนาทาเร้นอย่างรุนแรงมาก ที่มั่นของพวกโจรซึ่งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ
ห่างออกไปชั่วเดิน 3 วัน เพิ่งจะถูกไฟไหม้ด้วยอุบัติเหตุ และพวกชาวบ้านก็ถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงานซ่อมแซม เชียงขวางอยู่สูงกว่าระดับ
น้ำทะเลปานกลาง 3,770 ฟุต ตั้งอยู่บนยอดเขาชื่อภูเขียว ชาวบ้านที่แก่ที่สุดเล่าว่า สมัยก่อนโน้นมีหมู่บ้านพักสร้างด้วยไม้อยู่หมู่หนึ่งในทุ่งข้าม
ลำนาเหนือไปอีกฟากหนึ่ง มีซากตึกดินมีสภาพเกือบสมบูรณ์อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งเจ้าอนุถูกจับและพาตัวกลับไปบางกอก

ธรรมเนียมชาวสยาม เมื่อสร้างวัดหรือเจดีย์ใดๆ จะมีผู้อุทิศเงินและเครื่องเพชรพลอยบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป หรือในพระอุระ หรือมิฉะนั้น
ก็ฝังไว้ในพื้นวัดตรงแนวสายตาของพระพุทธรูปนั้น เมื่อพวกฮ่อเข้ามารุกราน พวกชาวบ้านก็ถูกบังคับให้ขุดทรัพย์สินขึ้นจากที่เหล่านี้
โดยที่พวกโจรถือดาบคอยคุมอยู่ตลอดเวลา

แม้เจดีย์บนเนินเขาซึ่งนับว่างามที่สุดในถิ่นนี้ก็มิได้รอดพ้น เมื่อมองจากที่ไกลจะเห็นว่ายังสมบูรณ์แต่พอเข้าใกล้ก็เห็นรอยแตกทั้ง 3 ด้าน
ตั้งแต่เกือบยอดคอระฆังมาจนถึงฐาน โชคยังดีที่ยอดแหลมสูงถึง 60 ฟุต นั้นยังอยู่ดีไม่หักลงมา ว่ากันว่าพวกฮ่อได้ทองหนักถึง 700 รูปี
จากเจดีย์นี้ เศษโถที่บรรจุของพุทธบูชายังหล่นประจานกระจายอยู่ทั่วไป เห็นได้ว่ารูปทรงงดงามมาก

ชาวเมืองพวน นับว่ามีวัฒนธรรมสูง แต่ความประณีตเชิงรสนิยมย่อมไม่อาจต่อต้านกับคนป่าเถื่อนได้ ที่จริงชาวพื้นเมืองเดิมเป็นพวกขมุ
และดินแดนแถบนี้เคยมีชื่อว่า เมืองข่าปทุม ดูเหมือนว่าจะเคยถูกพม่าเข้ามารุกรานในสมัยรัชกาลพระเจ้าราช (หนู) ครองกรุงหงสาวดี (พะโค)

ประวัติเชียงขวางไม่มีผู้ใดรู้มากนัก ชนพื้นเมืองเดิมถึงจะไม่มีอำนาจมาก ก็ดูจะขยันขันแข็งพอดู แต่ปัจจุบันประชากรก็เป็นชาวลาวจาก
หลวงพระบางนั่นเอง ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนอย่างเดียวกัน

ชาวสยามและชาวลาวเป็นชนเผ่าเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน ลักษณะรูปร่างหน้าตาก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าเอามายืนรวมกลุ่มกันเข้าแล้ว ก็แยกไม่
ออกเลยว่าไหนเป็นชาวสยามและไหนเป็นชาวลาว



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 13:42

ขอบคุณครับคุณ Art47 ช่วยบรรยายที่ราบสูงเชียงขวางให้ได้อรรถรส

เมื่อมีการกล่าวถึงดินแดนสิบสองจุไทย จึงได้ขอขยายดินแดนนี้ให้ฟังอย่างคร่าวๆดังนี้

สิบสองจุไทย

เป็นดินแดนที่กลุ่มเชื้อสายไทย อพยพลงมาตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำแดง เป็นการรวมของชนเผ่าไทย ๑๒ เมืองเข้าไว้ด้วยกัน เรียก สิบสองผู้ไทย ก็เรียกกัน กลุ่มชนเผ่าไทยที่อาศัยคือ ผู้ไทยดำ และผู้ไทยขาว

ผู้ไทยดำ จะตั้งถิ่นฐานอยู่ ๘ เมือง คือ เมืองแถง (เดียนเบียนฟู), เมืองตุ่ง, เมืองม่วย, เมืองลา, เมืองโม่, เมืองหวัด, เมืองชาง และเมืองคาย กินข้าวเหนียวเป็นหลักและนุ่งสวมเสื้อด้วยพื้นสีดำ จึงเรียกตามสีเสื้อว่า “ผู้ไทยดำ”

ผู้ไทยขาว ต้นกำเนิดเป็นจีนแซ่ฟอ อพยพมาจากเมืองสินเจา ใกล้เมืองกวางตุ้งและได้อพยพลงมาอยู่กับพวกไทยดำ ที่เมืองไล, เมืองเจียน, เมืองมุน และเมืองบาง รวม ๔ เมือง และนุ่งผ้าพื้นสีขาวเป็นหลัก จึงเรียกตามสีเสื้อว่า “ผู้ไทยขาว”

เมื่อคนไทยได้อพยพมายังดินแดนประเทศไทยมากขึ้น ดินแดนเหล่านี้ก็ขาดความอุ่นหนาฝาคั่ง และได้แยกออกเป็น ๓ ภาคคือ
ภาค ๑ ติดต่อกับจีน เรียกว่า “สิบสองจุไทย”
ภาค ๒ ติดต่อกับญวน เรียกว่า “พวน”
ภาค ๓ ติดต่อกับพม่า เรียกว่า “สิบสองปันนา”


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 13:44

ในสมัยที่อาณาจักรล้านช้างมีอำนาจมาก ก็ได้บ้านเมืองพวกไทยทั้ง ๓ ภาคมาไว้ในอำนาจกรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้นพม่ามีอำนาจขึ้น ก็แย่งชิงดินแดนสิบสองปันนาเป็นของพม่า และเมื่อพวกแมนจูได้มีอำนาจขึ้นก็เข้ามาปกครองดินแดนสิบสองปันนาและสิบสองจุไทยให้ขึ้นกับจีน

ต่อมาเมื่อพวกญวนมีอำนาจขึ้น ก็มาเอาดินแดนพวนไปเป็นเมืองขึ้น เพราะเป็นเมืองน้อยๆอันห่างไกลกรุงศรีสัตนาคนหุต พวกท้าวขุนที่ครองเมืองเห็นว่าสู้ไม่ไหวก็ “ทู้” คือ ยอมอยู่ในอำนาจพอให้พ้นภัย ดังนั้นเมืองในดินแดนสิบสองจุไทยและเมืองพวน จึงมันถูกเรียกว่า “เมืองสองฝ่ายฟ้า” เว้นแต่เมืองที่อยู่ชิดเมืองหลวงพระบาง ซึ่งจะถูกตั้งท้าวพระยาไปเป็นตำแหน่งหัวพันปกครอง เดิมมี ๕ เมือง แล้วเพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง จึงเรียกว่า “เมืองหัวพันห้าทั้งหก” ซึ่งขึ้นตรงกับล้านช้างอย่างหนาแน่น

ต่อมากรุงศรีสัตนาคนหุตเกิดแยกเป็น ๒ อาณาเขต  เจ้านครหลวงพระบางเป็นใหญ่ทางเขตฝ่ายเหนือ เจ้านครเวียงจันทน์เป็นใหญ่ในเขตใต้ เมืองสิบสองจุไทยอยู่ใกล้หลวงพระบางก็ขึ้นต่อหลวงพระบาง ส่วนเมืองพวนอยู่ใกล้มาทางเวียงจันทน์ก็ขึ้นต่อเจ้าเวียงจันทน์สืบมา จนเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฝ่ายองเชียงสือได้ราชสมบัติญวนก็ขยายอำนาจเข้าปกครองเมืองพวนและสิบสองจุไทย และกำเริบต่อเข้ามายังเวียงจันทน์ จนถึงได้สนับสนุนเจ้าอนุในการกบฎในรัชกาลที่ ๓

จนเมื่ออานัมสยามยุทธ ไทยรบกับญวนขึ้น กองทัพพระราชวรินทรได้ตีค่ายญวนที่เชียงขวางแตกและได้แต่งนายทัพไปเกลี้ยกล่อมให้เมืองพวนยอมสวามิภักดิ์ตั้งแต่นี้เป็นต้นมา จนมีเหตุคราวฮ่อนี้เอง
ส่วนดินแดนเมืองหัวพันห้าทั้งหก เจ้าพระยาธรรมา ก็แต่งคนไปเกลี้ยกล่อม จึงได้เข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 14:00

อังกฤษ – ฝรั่งเศส และการยึดครองดินแดน

ผลกำไรจากการค้าในมณฑลยูนนาน เป็นตัวแปรที่ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศส สนในเข้าค้าขายในแถบนี้ ทั้งสองชาติพยายามสร้างผลกำไรจากการค้าใบชา, เกลือ, ฝิ่นและฝ้าย และพยายามที่จะติดต่อการค้าโดยตรงกับยูนนาน
อังกฤษเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินทางมาบริเวณนี้  และมีความพยายามสร้างให้ยูนนานเป็นศูนย์กลางค้าย่อย ซึ่งดูได้จากการเข้ามาสำรวจก่อสร้างเส้นทางและทางรถไฟเชื่อมพม่า-อินเดีย-ยูนนาน

พ.ศ. ๒๔๐๗ (ค.ศ. 1864) พ่อค้าอังกฤษประมาณ ๕๘ คนร่วมกันยื่นต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอทำการค้าในยูนนาน และในปีต่อมามีการขอสร้างทางรถไฟระหว่างเมืองเชียงรุ่ง-ย่างกุ้ง จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. 1867) รัฐบาลอังกฤษอนุมัติการสำรวจเส้นทางรถไฟซึ่งจะขึ้นไปยูนนาน

พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. 1874) อังกฤษได้ขอเสนอขอเข้าไปทำการค้าที่ยูนนานและข้าหลวงจีนได้อนุญาตตามคำขอ ดังนั้นชาวอังกฤษ ๑๕๓ คนเริ่มเข้ามายังยูนนาน และกงสุลอังกฤษได้ให้นาย Margary เป็นล่ามและทูตเข้ามาต้อนรับชาวอังกฤษคณะดังกล่าว การเข้ามาของชาวอังกฤษทำให้ชาวยูนนานหวาดกลัวและระแวงบ้าง ต่อมานาย Margary ถูกฆ่าตายในยูนนานทำให้อังกฤษนำจุดนี้เข้าทำการปรักปรำจีนว่าเป็นการกระทำของข้าราชการมณฑลยูนนาน ถือเป็นเหตุให้บีบคั้นจีนให้เปิดเมืองทำการค้า จนท้ายที่สุดมีการลงนามในสัญญาเปิดเมืองการค้า ๕ เมืองคือ ฉงชิ้ง, อี๋ชัง, อวุนโจว, อูอู๋และ เป๋ยไฮ่

ในทำนองเดียวกัน ฝรั่งเศส ได้เข้ามาขยายอาณานิคมทางเวียดนามและกัพพูชา และต้องการผูกการค้าในยูนนานเช่นเดียวกับอังกฤษ จึงได้มีการเริ่มสำรวจเส้นทางมุ่งสู่ยูนนานเช่นเดียวกันโดยการ์นิเอร์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. 1866) ได้เข้าทำการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งคิดว่าหากควบคุมแม่น้ำโขงได้ก็สามารถยึดเข้ายูนนานได้

พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. 1867) ฝรั่งเศสเช้ายืดปากแม่น้ำโขงโดยควบคุมเขมรได้สำเร็จ แต่การณ์นั้นพบว่าแม่น้ำโขงไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางการค้าได้ และหากเข้าไปยูนนาน ต้องเข้าไปทางแม่น้ำแดง บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ดังนั้นฝรั่งเศสจึงได้พยายามเข้ายึดครองตังเกี๋ย และขยายอำนาจออกไปถึงลาวและดินแดนลุ่มน้ำโขงตอนบนทั้งหมด โดยต้องการที่จะครอบครองเมืองต่างๆสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง และมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติและคุณค่าของผลิตผลไว้อย่างละเอียด โดยนักสำรวจที่ขึ้นชื่อ “มิสเตอร์ เอ. ปาวี”


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 18 คำสั่ง