เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: inteera ที่ 26 ต.ค. 12, 15:40



กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: inteera ที่ 26 ต.ค. 12, 15:40
ตำแหน่งนักการเมืองในสภา หากเทียบชั้นยศแล้ว จะเปรียบได้กับตำแหน่งใดในอดีตครับ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช)
ขุนนาง หรือชนชั้นปกครอง หรือมีคำเรียกเฉพาะหรือไม่

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 16:04
ยังไม่ค่อยเข้าใจคำถาม
หมายถึง  เสนาบดี = รัฐมนตรี   อย่างนี้น่ะหรือคะ
หรือจะหมายความว่า นักการเมืองที่ได้เป็นรัฐมนตรี ถ้าเป็นสมัยสมบูรณาฯ จะเท่ากับหลวง พระ พระยา หรือเจ้าพระยา  ?


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: inteera ที่ 26 ต.ค. 12, 18:38
กลับมาอ่านคำถามตัวเองยัง งง เองเลยครับ ฮา

หมายความตามที่อาจารย์กล่าวมาทั้งสองคำตอบเลยครับ


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 19:34
เห็นจะต้องถามผู้รู้อื่นๆค่ะ 
ดิฉันทราบแต่ว่าระดับเสนาบดี อย่างต่ำก็พระยา  และสูงกว่านั้นคือเจ้าพระยา


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ต.ค. 12, 19:38
ลองคิดเล่นๆ ฮาๆ อย่าเอาเป็นจริงเป็นจังนะครับ

นายกรัฐมนตรี คงเทียบได้ระดับเจ้าพระยา
รัฐบุรุษ  อาจเทียบได้ถึงระดับสมเด็จเจ้าพระยา
รัฐมนตรี ก็พระยา
อธิบดี ปลัดกระทรวง ก็ระดับพระยาเช่นกัน
รองอธิบดี ก็คงถึงระดับพระยาได้บ้าง หรือระดับคุณพระ
เพราะพระยาก็มีใหญ่เล็กไม่เท่ากันอีก
หัวหน้ากองระดับ ผอ. ก็คงเป็นคุณพระ

ส่วน ส.ส.   ส.ว. อันนี้นึกไม่ออก มันเป็นตำแหน่งเฉพาะกิจมีวาระ นึกไม่ออก


ถ้าให้เทียบจริงๆ คงต้องดูระดับเครื่องราชฯ ว่าใครได้ชั้นใน ในอดีตผู้ใด้เครื่องราชฯชั้นนี้ชั้นนั้น ได้บรรดาศักดิ์ใด
ส่วนผมนายประกอบ   ไม่มีเครื่องราชฯชั้นใด  คำนำหน้านามถ้าเป็นหนังสือราชการสมัย ร.4 ร.5 เรียกนายประกอบ แต่ถ้ากลายเป็นโจรถูกจับได้ คงถูกลดระดับเป็นไอ้ครับ  


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 ต.ค. 12, 07:30
คำถามข้างต้นพอจะตอบได้โดยเทียบเคียงดังนี้
ผู้สำเร็จราชการ = สมเด็จเจ้าพระยา  อ้างอิงจาก "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" ซึ่งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  คุณข้าหลวงกราบบังคมทูลว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาเฝ้าฯ สมเด็จฯ ไม่ทรงรู้จัก  เมื่อกราบทูลว่า สมเด็จเจ้าพระยมาเฝ้า  จึงทรงร้องอ๋อและมีพระราชปฏืสัณฐานเรียกหลวงประดิษฐ์ฯ
ว่าเจ้าคุณ

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  คงเทียบได้อัครรมหาเสนาบดี  มียศเป็นมหาอำมาตย์นายก ซึ่งเทียบเท่าจอมพลของทหาร
ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  น่าจะเทียบได้กับเสนาบดี  ที่มียศเป็นมหาอำมาตย์เอก เทียบเท่านายพลเอก
และมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา 

ส่วนท่านผู้ทรงเกียรติเป็นสมาชิกสภาทั้งสูงและต่ำนั้น  ก็น่าจะสงเคราะห์เทียบได้กับเสนาบดี  เพราะในสมัยก่อนปลัดทูลฉลอง
หรือปลัดกระทรวงยังได้รับพระราชทานสายสะพายสูงสุดเพียง ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ที่เรียกกันสาย ๒)  เมื่อเป็นเจ้าพระยา
เสนาบดีจึงจะข้ามไปรับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า  แล้วทำความชอบในราชการเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่จึงจะได้รับพระราชทาน
มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (สาย ๔) และมหาวชิรมงกุฎ (สาย ๓) ตามลำดับ  แต่ปัจจุบันเป็นท่านผู้ทรงเกียรติสัก ๒ หรือ ๓ สมัย 
ท่านก็รับพระราชทานมหาวชิรมงกุฎ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกกันแล้ว


กระทู้: ขอถามเรื่อง ยศ ของ นักการเมืองปัจจุบัน เทียบสมัยอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ต.ค. 12, 08:56
ลองเป็นตัวอย่าง

กระทรวงเกษตราธิการ

เสนาบดี                          มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)
ปลัดทูลฉลอง                    มหาอำมาตย์ตรี หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์
อธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน          มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุรเกษตรโสภณ (เจือ ชูโต)
ผู้ช่วยอธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน    อำมาตย์โท พระวิเศษสาลี (สุย ภัทรนาวิก)
เจ้ากรมรังวัดที่ดิน                อำมาตย์เอก พระยาวิภาคภูวดล (สาคร เศวตะนาค)


สมัยก่อน มีกรมเล็ก ขึ้นกรมใหญ่ เช่น กรมรังวัดที่ดิน ขึ้นกับกรมทะเบียนที่ดิน ในกระทรวงเกษตราธิการ
ซึ่งกรณีนี้ กรมใหญ่ ผู้บังคับบัญชาจะเรียกว่า "อธิบดี" ผู้ช่วย เรียกว่า "ผู้ช่วยอธิบดี"
แต่กรมเล็ก ผู้บังคับบัญชาจะเรียกว่า "เจ้ากรม" ผู้ช่วย เรียกว่า "ปลัดกรม"

อีกข้อ ปลัดทูลฉลองก็ไม่ได้ใหญ่ในกระทรวงรองจากเสนาบดีเช่นสมัยนี้ บางกระทรวง ปลัดเป็น "มหาอำมาตย์ตรี" แต่อธิบดีเป็น "มหาอำมาตย์โท"