เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: virain ที่ 09 มิ.ย. 12, 22:20



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 มิ.ย. 12, 22:20
ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสได้อ่านวรรณคดีหลายๆเรื่อง ก็เพราะได้อานิสงส์มาจากตู้หนังสือเรือนไทย ซึ่งต้องขอขอบพระคุณอย่างมากด้วย

ผมสนใจวรรณคดีอยุธยาอยู่หลายเรื่อง แต่เพราะมีสำนวนและคำหลายคำที่ผมไม่เข้าใจ ทำให้ค่อนข้างจะติดขัด
เพราะถึงจะเปิดหาในพจนานุกรมแล้วก็ไม่ได้ความหมายที่ลงกับเนื้อหาเท่าไหร่
จึงขอมารบกวนพื้นที่ตรงนี้ เรียนถามในข้อสงสัยเป็นกรณีไปครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 มิ.ย. 12, 22:30
คำแรกก็คือ คำว่าชำนันนนทรี

ผมเจอครั้งแรกในโคลงนิราศนครสวรรค์ ของพระศรีมโหสถ แต่ก็หาความหมายไม่ได้
จนไปเจออีกครั้งในลิลิตพระลอ และยังได้เจอในพระสุธนคำฉันท์ด้วย

๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ

กล่าวถึงฉานคลี พระลานในพระราชวังหลง

..


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก
หลายหลากภาคบุษบก กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร
อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง รำจำแทงองอาจ เผ่นผงากขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์ ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย

พบในตอนท้ายของลิลิตพระลอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานพระเมรุ

..

•   พระลานแลล้ำเภรี                                     ชำนันนนทรี
ถงัลคือตนตื่นตา

บรรยายถึงพระราชวังของพระราชาแห่งปัญจาลนคร



จึงขอเรียนถามเพื่อเป็นความรู้ครับ



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มิ.ย. 12, 23:26


ลองดูนะคะใน พจนานุกรมรัตนมาลา  หน้า ๒๘๐  ชำนัล(ว.)

ต่อด้วย หน้า ๔๔๗  นนทรี(น.)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มิ.ย. 12, 20:22
ชำนัน-ชำนรร มาจากภาษาเขมรว่า ชัน แปลว่า เหยียบ

นนทรี เป็นชื่อยักษ์เฝ้าสถานที่

แต่คุณเทาชมพูอธิบายว่าเป็นลิง  ???

ในรามเกียรติ์เรียกว่าท้าวอุณาราช  มีฤทธิ์มากฆ่าด้วยอาวุธธรรมดาไม่ได้ต้องเอากกแก้วมาเป็นศรแล้วยิงปักอกไว้...

ตกลงในถ้ำริมสวนขวัญ.....ตรึงมั่นไว้กับแผ่นผา
มิได้ไหวติงกายา...............พระจักราก็ซ้ำสาปไป
ให้เกิดไก่แก้วอลงกรณ์.......กับนนทรีถือค้อนเหล็กใหญ่
อยู่รักษาอสุรานี้ไว้.............ให้ได้ถึงแสนโกฎิปี
แม้นเห็นกกเลื่อนเคลื่อนคลาด.....จากอกอุณาราชยักษี
ไก่นั้นจึงขันขึ้นทันที.........นนทรีเร่งเอาพะเนินรัน

นนทรี  ในที่นี้เป็นลิงค่ะ ไม่ใช่ปลาหรือต้นไม้ตามศัพท์ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ


รูปนี้อยู่ที่ วัดถ้ำใหญ่ ทุ่งสง นครศรีธรรมราช  (http://nanan-archyshop.blogspot.com/2011/02/blog-post.html)

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มิ.ย. 12, 20:46
ยักษ์นนทรี (ในรูปอยู่ซ้ายสุด) ที่ วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (http://61.19.27.150/~library/libra/watchalong.htm)

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 10 มิ.ย. 12, 23:08
ขอบคุณคุณwandee และคุณเพ็ญชมพูมากครับ

เดี๋ยวผมจะลองหาพจนานุกรมมาเปิดตามที่คุณwandee แนะนำอีกทีหนึ่งครับ

ส่วนอุณาราชนี้อยู่ในตอนพระรามเดินป่าใช่ไหมครับ เดี๋ยวผมจะลองไปหาดูว่าจิตรกรรมที่วัดพระแก้วเขาเขียนไว้ยังไง
ขอบคุณสำหรับรูปด้วยครับ

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 12, 02:44
นนทรี ในค.ห.เก่าตั้งแต่ปี 01 ที่คุณเพ็ญชมพูไปขุดเอามานั้น  มาจากภาพประกอบในหนังสือรามเกียรติ์เล่มใหญ่   วาดเป็นรูปลิง เหาะถือพะเนินจะมาตอกอกท้าวอุณาราช   เป็นเหตุการณ์ตอนท้ายๆเรื่องรามเกียรติ์
คุณ virain ไปเช็คกับภาพผนังโบสถ์อีกทีก็ดีค่ะ ว่าศิลปินที่วาดภาพคิดว่าเป็นตัวอะไร


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 11 มิ.ย. 12, 19:52
ตอนนี้ผมหาภาพได้จากหนังสือจิตรกรรม ถ่ายจากที่ระเบียงวัดพระวัดพระแก้วครับ เป็นรูปตอนที่ท้าวอุณาราช ถูกศรกกตรึงไว้กับหินผา

ผมเคยได้อ่านตำนานเกี่ยวกับเขานางจันทร์ของเมืองลพบุรี http://www.oknation.net/blog/print.php?id=185233
เขาก็เล่าเหมือนกับในรามเกียรติ์ เพีงแต่เปลี่ยนจากนนทรีเป็นหนุมาน



หากแปลคำว่า ชำนันนนทรี ก็ควรจะหมายถึง อะไรสักอย่างที่เหยียบเจ้าตัวนนทรีนี้อยู่
และจากบทกวีที่ผมอ้างถึง เป็นการบรรยายงานประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม เดี๋ยวผมจะลองหาหลักฐานที่เข้าทางดูอีกทีครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 มิ.ย. 12, 20:24

๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ


น่าจะหมายความว่า

(ฐานปัทม์) ชั้นสิงห์อยู่ข้างบน (เหยียบ) ชั้นยักษ์ กระมั้ง  ???


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 11 มิ.ย. 12, 22:49
เท่าที่ผมหาได้ในตอนนี้มีเพียงรูปปั้นยักษ์แบกที่ฐานไพทีพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ
ที่น่าจะเป็นหลักฐานที่เข้าข่ายที่สุดและก็ชัดเจนที่สุด
สอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณart47 ด้วยครับ

ผมขอตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า นนทรี หมายถึง ยักษ์หรือลิงที่ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวัง
ชำนันนนทรี หมายถึง ยักษ์แบก  ในกรณีที่ชำนันแปลว่า "ทับ" เช่น วางทับ หรือกดทับ ได้ด้วย



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มิ.ย. 12, 02:02
ในศิลปะสมัยอยุธยา

นอกจากยักษ์แบก ลิงแบก พลแบก สิงห์แบก ฯลฯ

แล้วยังมีครุฑแบกอีก  ;D

ถ้าจำไม่ผิดจะอยู่หลังพระอุโบสถวัดกษัตราธิราช แต่ไม่ถนัดนักว่าเป็นปรางค์ หรือเจดีย์

(กลับบ้านแล้วจะฝากรูปมาให้ชมกัน)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มิ.ย. 12, 12:09
สหายท่านหนึ่งเอากระทู้นี้มาถามผม  ผมก็ว่าไม่รู้สิ  ยังไม่เคยค้นดู
แต่เห็นเกี่ยวกับศิลปะแน่ๆ  แต่สงสัยว่า  สิงห์เหยียบยักษ์ หรือยักษ์เหยียบสิงห์

ค้นดูมีอยู่ทางเหนือที่วัดมหาวัน  พอเป็นตัวอย่างได้หรือเปล่าไม่รู้
เพราะไม่ใช่ของเก่าถึงยุคเดียวกับวรรณคดีที่คุณvirain ยกมาเป็นแน่



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:09
แต่สงสัยว่า  สิงห์เหยียบยักษ์ หรือยักษ์เหยียบสิงห์

ดูแล้วมองได้เป็น ๒ แบบ สิงห์เหยียบยักษ์ หรือยักษ์แบกสิงห์

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:25

ปกติโดยทั่วไป สิงโตศิลปะพม่า หรือศิลปะล้านนา ช่างจะปั้นให้ยืนขาตรงๆ เชิดหน้าดูเกรงขามมากกว่า

ไม่บ่อยนักที่จะเห็นสิงโตเหยียบยักษ์ (หรือยักษ์แบกสิงโต) แบบนี้


กระผมว่าสิงโตที่วัดมหาวันของคุณหลวงนั้น น่าจะได้อิทธิพลมาจากสิงโตหินจีนก็เป็นได้

เพราะสิงโตจีน ชอบที่จะมีลูกสิงโตตัวน้อยๆ หรือลูกบอลเล็กๆ อยู่ใต้อุ้งเท้าเสมอ



ไม่เช่นนั้น ก็น่าจะนำมาจากเค้าโครงเรื่องชาดกหรือนิทานพื้นถิ่นตอนใดตอนหนึ่ง มาแปลงเป็นรุปสิงโตเหยียบยักษ์กระมั้ง  :o


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:29
แล้วยังมีครุฑแบกอีก  ;D

ชำนันครุฑ

โคลงทวาทศมาส ตู้หนังสือเรือนไทย (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA)

๑๖๗  ถนิมเมืองแมนเษกสร้อง      เกษมสุข  
ล้ำเลิศกรุงโกสีย์                     หยาดหล้า  
โขลนทวารตรวจตรีมุข              ไรเรข  
ธารชำนันครุฑหน้า                  เฉิดโฉม ฯ

ครุฑชำนัน  

พระสุธนคำฉันท์ ของ พระยาอิศรานุภาพ (อ้น) (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4634.msg90162#msg90162)

กาพย์ฉบัง ๑๖
๑๖
•   พรายพรายสิหาศน์มลังเมลือง                         แก้วเก้ากนกเนือง
พิสุทธแสงอาภา

•   อับแสงสุริยรังรจนา                                   ดุจมือแมนมา
พิจิตรด้วยแก้วแกมกล

•   เจ็ดชั้นบันเจิดหาวหน                                  เพรียมพรายอำพล
โพยมพยับยับแยง

•   บานปัทมกระหลับแคลงแคลง                         รายรัตนเรืองแสง
วิโรจโชติชัชวาลย์

•   พริ้งพรายเหมหงษพิศดาร                             คือเห็จเหิรทยาน
ยะยาบยย้ายยักยนต์

•   สูงส่งฟ้าหล้าสากล                                    ไตรโลกเล็งฉงน
ดั่งสับตแสงแสงพัน

•   กรงนาคมกรเกี้ยวกัน                                  คือเศียรอนัน-
ตนาคดูดาลแสดง

•     บันบดขบวนเขบจชรุแชรง                             แก้วเก้าฝังแฝง
ประกดประกิจยรรยง

•     ครีบครุธชำนันนิศกลง                                 ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล

•   ขนอบขนองรายรัตนาจิน                               ดาดาษมณิน
มณีดำกลคาคำ

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:30
แต่ในที่นี้  ต้องถือเอาคำว่า ชำนัน เป็นสำคัญด้วย  ชำนัน ไม่ได้แปลว่า แบก
ฉะนั้นรูปที่เอามาก็พอจะเทียบกับคำว่า สิงห์ชำนันนนทรี ได้

อย่างไรก็ตาม  ชำนันนนทรี และนนทรีชำนัน  ต้องพิจารณาความหมายและลักษณะกันต่อไป


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:31
สิงโตเมืองล้านนา


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มิ.ย. 12, 13:32
สิงโต (แม่) เมืองจีน (เหยียบลูกน้อย)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มิ.ย. 12, 17:40

กาพย์ฉบัง ๑๖
๑๖
•   พรายพรายสิหาศน์มลังเมลือง                         แก้วเก้ากนกเนือง
พิสุทธแสงอาภา

•   อับแสงสุริยรังรจนา                                   ดุจมือแมนมา
พิจิตรด้วยแก้วแกมกล

•   เจ็ดชั้นบันเจิดหาวหน                                  เพรียมพรายอำพล
โพยมพยับยับแยง

•   บานปัทมกระหลับแคลงแคลง                         รายรัตนเรืองแสง
วิโรจโชติชัชวาลย์

•   พริ้งพรายเหมหงษพิศดาร                             คือเห็จเหิรทยาน
ยะยาบยย้ายยักยนต์

•   สูงส่งฟ้าหล้าสากล                                    ไตรโลกเล็งฉงน
ดั่งสับตแสงแสงพัน

•   กรงนาคมกรเกี้ยวกัน                                  คือเศียรอนัน-
ตนาคดูดาลแสดง

•     บันบดขบวนเขบจชรุแชรง                             แก้วเก้าฝังแฝง
ประกดประกิจยรรยง

•     ครีบครุธชำนันนิศกลง                                 ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล

•   ขนอบขนองรายรัตนาจิน                               ดาดาษมณิน
มณีดำกลคาคำ
[/quote]

 ;D

คำประพันธ์ด้านบนนี้  มีคำศัพท์น่าสนใจหลายคำ  อย่าง ปัทมกระหลับ  ครีบครุธ นิศกลง
เอ  คำเหล่านี้ควรจะแปลว่าอะไร และน่าจะเป็นส่วนใดของอาคารสิ่งก่อสร้าง
อย่างนี้ต้องขอความช่วยเหลือจากนายช่างสถาปนิกแล้วกระมัง   ดูชะรอยว่าจะเป็นเครื่องบนนะเนี่ย


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 12 มิ.ย. 12, 20:59
แต่ในที่นี้  ต้องถือเอาคำว่า ชำนัน เป็นสำคัญด้วย  ชำนัน ไม่ได้แปลว่า แบก
ฉะนั้นรูปที่เอามาก็พอจะเทียบกับคำว่า สิงห์ชำนันนนทรี ได้

อย่างไรก็ตาม  ชำนันนนทรี และนนทรีชำนัน  ต้องพิจารณาความหมายและลักษณะกันต่อไป



ผมหาตัวอย่างสิงห์เหยียบยักษ์มาไม่ได้เลยครับ เพราะแบบแผนในงานสถาปัยกรรมที่ทำสืบต่อกันมา
โดยเฉพาะที่ฐานที่เป็นชั้นซ้อนจะเป็นท่าแบกเสียส่วนใหญ่ ผมเลยขอตั้งสมมุติฐานเอาไว้ก่อนว่า
ชำนันนนทรีนั้นใกล้เคียงกับท่ายักษ์แบบมากที่สุดเท่าที่ผมหาหลักฐานได้ครับ


ส่วนเรื่องสิงห์เหยีบที่คุณluanglek และคุณart47 กล่าวถึง เป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงตามความหมายดีครับ
ผมจะลองหาหลักฐานมาเทียบดูก่อน ว่ามีงานลักษณะอย่างที่กล่าวถึงในศิลปะอยุธยาหรือไม่
ขอบคุณมากครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 12 มิ.ย. 12, 21:12
ส่วนชำนันครุฑ ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาเพิ่มเติม ก็นับเป็นสัตว์ที่อยู่ในกระบวนท่าแบกเหมือนกันครับ
ส่วนใหญ่ที่พบในศิลปะอยุธยานั้นจะมี ครุฑ นรสิงห์ สิงห์ และก็ยักษ์ครับ

ผมเลยยังติดใจคำว่าชำนันนี้มากครับ
แต่ก็มีตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งจากวัดจุฬามณี เป็นส่วนเหงาของหน้าบัน
เขาทำเป็นรูปครุฑยุดนาคครับ อันนี้ชำนันจริงๆ
พระนารยณ์ชำนันครุฑ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มิ.ย. 12, 22:40
เรียนถาม คุณ virain หน่อยนะครับ

ภาพฐานเสมาวัดสระบัว ที่ คห. 19 นั้น ชั้นบนคือครุฑ แต่ชั้นล่างนั้นคือสัตว์ชนิดใดในหิมพานต์
หน้าตาคล้ายไก่ แต่ร่างกายบึกบึนนัก  ;)


ปล. ผมเพิ่งจะไปเมืองเพชรพลีมาเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผ่านวัดสระบัวแว้บๆ
เห็นถนัดๆ ว่า ทางวัดท่านทำศาลาครอบฐานใบเสมาสิ้นเสียแล้ว บดบังเกือบหมด
คงไม่มีทางถ่ายภาพได้งามๆ อย่างเช่นก่อนอีกเลย  :'(


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มิ.ย. 12, 09:38

๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


•   พระลานแลล้ำเภรี                                     ชำนันนนทรี
ถงัลคือตนตื่นตา


ตัวอย่างจากโคลงนิราสนครสวรรค์   ผมมาคิดใคร่ครวญดู ต้องพิจารณาการแบ่งคำเวลาอ่านด้วย
เพราะการแบ่งคำมีผลต่อการตีความและแปลความหมายด้วย

ถ้าในแบ่งอ่านว่า สิงหชำนัน/นนทรี       เถ่อหน้า 
ตีความได้ว่า ที่ชั้นฉานคลีนั้น (คงหมายถึงพื้นยกเป็นลานกว้าง)
ประดับด้วยรูปสิงห์ยืน (ไม่ใช่สิงห์นั่ง) และรูปยักษ์นนทรี ตั้งเถ่อหน้า
(เถ่อหน้าแปลว่าอะไร แหงนหน้า?  เชิดหน้า? ช่วยกันตีความต่อไป)

แต่ถ้าแบ่งอ่าน สิงหชำนันนนทรี/      เถ่อหน้า
ตีความได้ว่า  ที่ชั้นฉานคลีนั้น ประดับด้วยรูปสิงห์เหยียบยักษ์นนทรี ยืนเถ่อหน้า

หรือว่า  โคลงตรงนี้ ผู้แต่งต้องการใช้ในความหมายว่า ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์
เพียงแต่ลักษณะบังคับของโคลงทำให้ผู้แต่งต้องสลับที่คำเพื่อฉันทลักษณ์
ตรงนี้อาจจะมีผู้แย้งว่า ตำแหน่งคำที่ ๒ ในวรรคนี้ ไม่ใช่คำเอกหรือคำตาย
ถือว่าผิดฉันทลักษณ์โคลง   ก็ขอไขความว่า  โคลงโบราณนั้น  ท่านถือเอาสระอำ
ในคำสองพยางค์ซึ่งส่วนมากเป็นคำแผลงจากคำภาษาเขมร ลงในตำแหน่งคำเอกได้
มีบ้างเหมือนกันที่คนสมัยหลังไม่ทราบ เอาไม้เอกไปใส่ให้ก็มี  ด้วยหมายจะให้ถูกตำแหน่งเอก
การใช้คำสองพยางค์ที่มีสระอำที่พยางค์หน้าลงในตำแหน่งเอกในโคลง แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ก็ยังเห็นมีใช้อยู่บ้าง  เช่นในโคลงนิราศนรินทร์ บทที่ว่า

๑๒๙
๏ แว่วแว่วเสาวณิตน้อง      นางทรง เสียงฤๅ
สรวลกระซิกโสตพะวง      ว่าเจ้า
คล้ายคล้ายดำเนินหงส์      หาพี่ ฤๅแม่
อ้าใช่อรเรียมเศร้า      ซบหน้ากันแสง ฯ


๑๓๐
๏ พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว      จักรพรรดิ พี่เอย
สมเสมอสมรรัตน์      แท่งแท้
จำเริญจำเราสวัสดิ์      สังวาส
เล็งเลียบดินฟ้าแพ้      ภพนี้ฤๅหา ฯ




กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มิ.ย. 12, 09:52
ตัวอย่างในลิลิตพระลอ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


ตรงนี้  น่าพิจารณาว่า  คนแต่งสลับคำหรือเปล่า  แต่ถ้าพินิจว่า  ร่ายมีลักษณะบังคับเพียงจำนวนคำต่อวรรค ๕ คำ
ไม่มีบังคับเอกโทอย่างโคลง  ก็ไม่มีเหตุอันใดที่คนแต่งลิลิตพระลอจะต้องสลับคำอย่างที่ผู้แต่งโคลงนิราศนครสวรรค์ทำ
ดูความหมายแปลได้ว่า  รูปสารถีชักรถ(ประดับพระเมรุ) แขนอ่อนมือถืออาวุธ (แสง มาจาก เสง ในภาษามอญแปลว่ามีด หรือของมีคม)
ทำท่ารำเงื้อแทงดูองอาจ  ขับรถพาหนะเทียมสิงห์เผ่นผงาด  ดูดั่ง (เทียม แปลว่า เหมือน) ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์...


ส่วนจากพระสุธนคำฉันท์

•   พระลานแลล้ำเภรี                                     ชำนันนนทรี
ถงัลคือตนตื่นตา

จะแปลว่าอย่างไร  ท่านอื่นน่าจะแปลได้   ผมไม่ขอแปลละกัน



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 มิ.ย. 12, 14:51
(๑๙. กรมพระคชบาล)

..................................

พลาย   นายชำนันคชกาน    ๑
         นายชำนาญคชผจง  ๑
พัง      นายจำนงคชผจอง   ๑
         นายจำนองคชเลิศ   ๑

ชำนัน น่าจะแปลว่า ขี่ ได้ด้วย

 ;D      


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มิ.ย. 12, 16:22
(๑๙. กรมพระคชบาล)

..................................

พลาย   นายชำนันคชกาน    ๑
         นายชำนาญคชผจง  ๑
พัง      นายจำนงคชผจอง   ๑
         นายจำนองคชเลิศ   ๑

ชำนัน น่าจะแปลว่า ขี่ ได้ด้วย

 ;D      

อาจจะเป็นไปได้ครับ  ถ้าบรรดาศักดิ์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คล้องจองกับนายชำนาญคชผจง
แต่เพราะบรรดาศักดิ์นายชำนันคชกานเป็นบรรดาศักดิ์คู่กับนายชำนายคชผจง
คำว่าชำนันในราชทินนามดังกล่าว จะถือเอาตามตัวที่เขียนเสียทีเดียวไม่ได้
เพราะคนเขียนอาจจะเขียนหรือคัดลอกตามความเข้าใจหรือตามเสียงอ่าน  ทำให้รูปคำเกิดไปพ้องกันเข้า
ปกติราชทินนามที่เป็นคู่คล้องจองกัน  มักจะมีความหมายล้อกัน   
คำว่า ชำนัน ใน นายชำนันคชกาน  ถ้าพิจารณาเทียบกันราชทินนาม นายชำนายคชผจง
ก็สันนิษฐานได้ว่า  เดิมน่าจะเขียนว่า  นายชำนัญคชการ  ชำนัญ คำนี้ แปลว่า รู้  เข้าใจ
นัยว่าแผลงมาจาก ชัญ หรือ ชัญญ์  คำว่า ชำนัญ นี้พ้องเสียงกับคำว่า ชำนัน  แต่ความหมายต่างกัน

อนึ่ง  ราชทินนามข้าราชการย่อมไม่ตั้งมาด้วยความหมายดาดๆ 
มักตั้งให้ความหมายที่แสดงคุณวิเศาของผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นั้น
ว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในราชการด้านใด  ถ้าตั้งว่านายชำนันคชการ
จะแปลว่านายผู้ขี่ช้าง  ก็ดูจะไม่ได้แสดงคุณสมบัติอะไร และคำว่า การ ก็ดูจะเกินความจำเป็น
แต่ถ้าเป็นนายชำนัญคชการ  อาจแปลได้ว่านายผู้มีความรู้เกี่ยวกับการงานอันเกี่ยวกับช้าง ฟังดูดีกว่ามาก

ฉะนั้น  ลำพังค้นได้คำที่มีรูปเหมือนกับที่ต้องการ  แล้วจะทึกทักสันนิษฐานเอาว่า
เป็นคำคำเดียวกัน  โดยไม่พิจารณาบริบท ก็ย่อมตกม้าตายด้วยประการฉะนี้แล



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 13 มิ.ย. 12, 19:12
ขอบคุณคุณluanglek ครับ ผมพอจะเข้าใจแล้ว

๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ

ถ้าแปลตามที่คุณluanglek แนะนำมาผมก็พอจะมโนภาพออก เพียงพอที่จะนำหลักฐานมาประกอบต่อกันได้ครับ

แล้วถ้าเป็นโคลงบทนี้ล่ะครับ

  ครีบครุธชำนันนิศกลง                                 ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล

คำว่านิศกลงหมายถึงอะไรครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 13 มิ.ย. 12, 19:20
เรียนถาม คุณ virain หน่อยนะครับ

ภาพฐานเสมาวัดสระบัว ที่ คห. 19 นั้น ชั้นบนคือครุฑ แต่ชั้นล่างนั้นคือสัตว์ชนิดใดในหิมพานต์
หน้าตาคล้ายไก่ แต่ร่างกายบึกบึนนัก  ;)


ปล. ผมเพิ่งจะไปเมืองเพชรพลีมาเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผ่านวัดสระบัวแว้บๆ
เห็นถนัดๆ ว่า ทางวัดท่านทำศาลาครอบฐานใบเสมาสิ้นเสียแล้ว บดบังเกือบหมด
คงไม่มีทางถ่ายภาพได้งามๆ อย่างเช่นก่อนอีกเลย  :'(



ถ้าให้เดาเล่นๆผมก็มองว่าเป็นกากนาสูรมังครับ

แต่งานปูนปั้นเมืองเพชรบุรีแต่งซ่อมได้แนบเนียนดี วัดนี้ผ่านเวลามาเป็นร้อยปีอาจมีการซ่อมไปแบบไม่ตรงรูปรอยเดิม?
ตุ๊กตาพวกนี้มีโกลนเป็นดินเผาแล้วมาปั้นปูนพอกครับ เป็นกรรมวิธีที่มีมานมนาน และนิยมกันมากด้วยครับ
งานนี้ต้องลองไปพิจารณากันใกล้ๆอย่างจริงจังอีกทีครับ

ส่วนเรื่องหลังคาครอบซุ้มเสมา ผมเคยเห็นในภาพถ่ายเก่านะครับ มาบูรณะกันคราวนี้เขาคงตั้งใจจะทำตามภาพถ่ายเก่ามั้งครับ




กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 13 มิ.ย. 12, 22:18
ตัวอย่างในลิลิตพระลอ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


ตรงนี้  น่าพิจารณาว่า  คนแต่งสลับคำหรือเปล่า  แต่ถ้าพินิจว่า  ร่ายมีลักษณะบังคับเพียงจำนวนคำต่อวรรค ๕ คำ
ไม่มีบังคับเอกโทอย่างโคลง  ก็ไม่มีเหตุอันใดที่คนแต่งลิลิตพระลอจะต้องสลับคำอย่างที่ผู้แต่งโคลงนิราศนครสวรรค์ทำ
ดูความหมายแปลได้ว่า  รูปสารถีชักรถ(ประดับพระเมรุ) แขนอ่อนมือถืออาวุธ (แสง มาจาก เสง ในภาษามอญแปลว่ามีด หรือของมีคม)
ทำท่ารำเงื้อแทงดูองอาจ  ขับรถพาหนะเทียมสิงห์เผ่นผงาด  ดูดั่ง (เทียม แปลว่า เหมือน) ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์...




น่าจะเทียบได้กับภาพนี้   จิตรกรรมจากหอไตรวัดระฆังครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มิ.ย. 12, 08:38
คุณ virain มีความรู้ความชำนาญด้านศิลปะมากกว่าผม
ผมรู้แต่คำและวรรณคดี  จำเป็นต้องพึ่งคุณvirain ในการสันนิษฐานความหมายของคำ
วรณคดีไทยโบราณนั้น  ผู้แต่งจะบรรยายสิ่งก่อสร้างแต่ส่วนอย่างละเอียด
รายละเอียดแต่ละส่วนอาจจะไม่ปรากฏหรือกลายรูปร่างไปในศิลปะการก่อสร้างชั้นหลัง
ทำให้เทียบเคียงหาความหมายที่แท้จริงไม่ได้  ต้องไปดูสิ่งก่อสร้างหรืองานศิลปะที่ร่วมยุคสมัย
กับวรรณคดีเรื่องนั้นๆ  บางทีต้องข้ามไปดูศิลปะสิ่งก่อสร้างของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

รูปยักษ์เหยียบสิงห์นี้  ผมยังสงสัยต่อไปว่า  ถ้าว่าตามโคลงนิราศนครสวรรค์ในบทข้างต้น


๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ

ประติมากรรมลักษณะที่ว่าตั้งอยู่อย่างไร  อยู่รอบฐานปัทม์ของชั้นฉานคลี?
หรืออยู่ตรงสองข้างบันไดทางขึ้นไปบนชั้นฉานคลี เหมือนอย่างทวารบาล ?
ตรงนี้หน้าพิจารณา  และตกลงแล้ว สิงห์ หรือยักษ์ นั้น  ทำท่าแบกอยุ่ด้วยหรือเปล่า
อย่างนี้อาจจะต้องลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานที่เมืองนครสวรรค์กระมัง

ส่วนคำว่า นิศกลง ความหมายนั้นแปลว่า งาม  แต่ที่มาของคำยังไม่ได้ลองค้นดูครับ
เพราะยังไม่มีเวลา  ค้นได้เมื่อไรจะเอามาบอก


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 มิ.ย. 12, 08:42


จะว่าไป... ก็ยังไม่เคยเห็นประติมากรรมในสมัยอยุธยารูปสิงห์ยืนเหยียบยักษ์เลย  :-[



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 14 มิ.ย. 12, 21:18
จริงอย่างที่คุณluanglekว่าไว้ครับ ว่าเราคงต้องเทียบกับศิลปะอื่นด้วย
แต่ขอบเขตความรู้ผมยังคับแคบอยู่ในแถบภาคกลางเท่านั้นที่พอจะเอามาอ้างตอบกระทู้ได้ครับ
ยิ่งถ้าไกลออกไปเนื้อหาความรู้ของผมก็เบาบางลงตามไปเรื่อยๆ

แต่ทำไมคุณluanglek ถึงเจาะจงนครสวรรค์ล่ะครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 14 มิ.ย. 12, 21:20


จะว่าไป... ก็ยังไม่เคยเห็นประติมากรรมในสมัยอยุธยารูปสิงห์ยืนเหยียบยักษ์เลย  :-[



ผมก็กำลังตามอยู่เหมือนกันครับ ๕๕๕
ยังไม่เจอแบบที่สิงห์จะเหยีบยักษ์เป็นจริงเป็นจัง


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 มิ.ย. 12, 21:47
เมื่อตอนเย็นๆ ผมได้คุยกับสหายที่จบโบราณคดี ซึ่งหนีเข้าป่าไปประจำอยู่ศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์

เรื่องสิงห์เหยียบยักษ์นี้

สหายของผมคิดใคร่ครวญอยู่ประมาณนาที ก็บอกว่า "เคยเห็นแถววัดมหาวัน ที่อื่นไม่แน่ใจ"

ก็เป็นอันจนปัญญาไม่รู้จะหันไปเพิ่งใครได้

แต่ยังดีใจหายที่สหายคนเดิมรับปากว่าจะลองหาทางศิลปะเขมรดู เผื่อเจออะไรดีๆ

(หน่อนี้เค้ากำลังเรียนโทด้านศิลปะเขมร)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 12, 15:11
ชำนัน น่าจะแปลว่า ขี่ ได้ด้วย

อนิรุทธคำฉันท์ (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C) ของ ศรีปราชญ์

๏ บัดคชสารคือคชสีห์  เติบสูงคือคิรี 
ชำนันคิริเมขล
 
๏ ม้วนงวงแทงธรณีดล  งางอนเงยกล 
คือดั่งจะเสื้องสอยดาว
 
๏ ถีบฉัดผัดผาผาดสราว  ไม้ไล่เหิรหาว 
ก็ฟุ้งทั้งป่าเปนไฟ
 
๏ แรงยิ่งแรงแรงเริงไพร  ชมแกว่นแม่นไว 
แลชัยชำนะหลายปาง
 
๏ ยั่งยั่งมันอาบอ้อมคาง  บังหูโก่งหาง 
ก็ร้องตระแตร้นบมิกลัว
 
๏ เข้าแทงท้าวท้าวชมวัว  ท้าวยิ้มแย้มหัว 
ก็แสร้งสำแดงมหิมา
 
๏ ยืนยันต่ช้างง้างงา  ออกด้วยสหัสา 
ก็แกว่งกรลับคือกังหัน
 
๏ เท้งธรทีเดียวด้วยพลัน  ช้างเติบตกมัน 
ก็ท่าวในท้องธรณี      ฯ 

 ;D


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มิ.ย. 12, 18:46


จะว่าไป... ก็ยังไม่เคยเห็นประติมากรรมในสมัยอยุธยารูปสิงห์ยืนเหยียบยักษ์เลย  :-[



แล้วถ้าเป็นยักษ์เหยียบสิงห์ พนายพอจะผ่านตามาบ้างไหม
ยิ่งถ้าได้ที่เป็นทวารบาลด้วยจะเหมาะมาก

จริงอย่างที่คุณluanglekว่าไว้ครับ ว่าเราคงต้องเทียบกับศิลปะอื่นด้วย
แต่ขอบเขตความรู้ผมยังคับแคบอยู่ในแถบภาคกลางเท่านั้นที่พอจะเอามาอ้างตอบกระทู้ได้ครับ
ยิ่งถ้าไกลออกไปเนื้อหาความรู้ของผมก็เบาบางลงตามไปเรื่อยๆ

แต่ทำไมคุณluanglek ถึงเจาะจงนครสวรรค์ล่ะครับ


โทษที  ผมเขียนเพลินไป  ต้องพูดว่า ต้องไปดูที่กรุงเก่า  เพราะโคลงบทนี้
พรรณนาเขตพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา 

คนเราชอบไม่เหมือนกันครับ  ฉะนั้นต่างคนต่างก็มีความรู้และข้อมูลมากในบางเรื่อง
ผมอ่านวรรณคดีโบราณบางเรื่อง พอถึงตรงที่บรรยายเรื่องศิลปะบางอย่าง
ก็ต้องอาศัยความรู้เรื่องศิลปะสมัยที่เป็นนักเรียนมัธยมปลายสายศิลป์เข้ามาช่วย
แต่ไม่พอ  ก็ต้องไปหาหนังสือมาอ่านให้กระจ่าง

ครั้งหนึ่งผมอ่านโคลงกำสรวล  ผมสงสัยโคลงที่บรรยายความตอนต้นๆ ที่ว่า


พรายพรายพระธาตุเจ้า      จยรจนนทร แจ่มแฮ     
ไตรโลกยเลงคือโคม      ค่ำเช้า     
พิหารรเบียงบรร      รุจิเรข เรืองแฮ     
ทุกแห่งห้องพระเจ้า      น่งงเนือง
ฯ     

ศาลาอเนขสร้าง      แสนเสา โสดแฮ     
ธรรมาศจูงใจเมือง      สู่ฟ้า     
พิหารย่อมฉลักเฉลา      ฉลุแผ่น ไส่นา      ศป.ว่า ไส้นา     
พระมาศเลื่อมเลื่อมหล้า      หล่อแสง ฯ     

ตระการหน้าวัดแหว้น      วงงพระ     
บำบวงหญิงชายแชรง      ชื่นไหว้      ศป.ว่า แซรง     
บูรรพาท่านสรรคสระ      สรงโสรด     
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว      แบ่งบาล ฯ     

กุฎีดูโชติช้อย      อาศํร     
เต็มร่ำสวรรคฤาปาง      แผ่นเผ้า      ศป.ว่า ปาน     
เรือนรัตนพิรํยปราง      สูรยปราสาท     
แสนยอดแย้มแก้วเก้า      เฉกโฉม ฯ     

สนํสนวนสอาดต้งง      ตรีมุข     
อร่ามเรืองเสาโสรม      มาศไล้     
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก     
ยยวฟ้ากู้ไซ้      ช่วยดิน ฯ      ศป.ว่า เยียวว่าฟ้ากู้ไซร้     

ผมสงสัยว่า  เอ  คนแต่งแต่งบรรยายความขนาดนี้ 
ย่อมไม่ใช่สถานที่ทั่วไป แต่เป็นสถานที่สำคัยมาก ที่มีสิ่งก่อสร้างตามที่บรรยาย
ครั้นพิจารณาดูแล้ว  สิ่งก่อสร้างเหล่านี้  มีอยู่ที่อื่นไม่ได้ นอกจากในพระราชวังกรุงเก่า
คนแต่งเดินผ่านจากที่ไหนก็บรรยายไปตามลำดับ  แน่นอนว่า ศรีปราชญ์ตามความเชื่อ
ย่อมไม่มีเหตุอะไรที่เข้าไปเดินเล่นไหว้พระที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ 
แล้วเดินออกมาทางฉนวนเพื่อลงไปที่ท่าน้ำ  เพื่อลงเรือ  คนที่จะทำอย่างนี้ได้ ก็มีแต่พระมหากษัตริย์
และพระบรมวงศานุวงศ์ (เน้นฝ่ายใน)  ศรีปราชญ์คนธรรมดา ที่ว่าเป็นนักโทษเนรเทศ
ไปเดินตรงนั้นย่อมไม่เหมาะควร   


ส่วนคุณเพ็ญฯ  กาพย์ฉบัง หรือฉันทฉบัง ที่คุณเพ็ญฯ ยกมา เอาเฉพาะบทแรก
ถ้าจะแปลเป็นร้อยแก้วให้ได้ความ  ควรจะแปลว่าอย่างไร  อย่ายกมาเฉยๆ  โดยไม่แปล
เพราะถ้าแปลว่าขี่   จะแปลกาพย์บทแรกให้สละสลวยได้ว่าอย่างไร


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 15 มิ.ย. 12, 20:15

แต่ยังดีใจหายที่สหายคนเดิมรับปากว่าจะลองหาทางศิลปะเขมรดู เผื่อเจออะไรดีๆ


ใจผมก็คิดหาเขมรเหมือนกันครับ รบกวนเพื่อนคุณart47 ด้วยแล้วกันครับ


ส่วนเรื่องยักษ์เหยีบสิงห์ที่เป็นทวารบาล พบมากในงานตกแต่งบานประตูหน้าต่างนะครับ
ออกไปทางแนวยักษ์แบกฐานทวารบาลบ้าง ลิงแบกบ้าง สิงห์แบบกบ้าง หรือแม้แต่เหยียบกันจริงๆจังเลยก็มี
ตอนนี้ผมลองหาภาพดูแล้ว เลยเอามาเสนอสักสองสามภาพแล้วกันครับ


ภาพนี้พอดีเขาวางเครื่องไหว้บังเอาไว้น่ะครับ เลยถ่ายมาได้แค่นี้


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 มิ.ย. 12, 20:19


จะว่าไป... ก็ยังไม่เคยเห็นประติมากรรมในสมัยอยุธยารูปสิงห์ยืนเหยียบยักษ์เลย  :-[



แล้วถ้าเป็นยักษ์เหยียบสิงห์ พนายพอจะผ่านตามาบ้างไหม
ยิ่งถ้าได้ที่เป็นทวารบาลด้วยจะเหมาะมาก


ผ่านขอรับผ่าน ทั้งยักษ์ ทั้งเทพ ทั้งเซี่ยวกาง ยังนึกเล่นๆ อยู่ ว่าเคยเห็นนางฟ้านางสวรรค์เหยียบสิงห์บ้างไหมหนอ  ???

แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นทวารบาลแล้ว จะเป็นตามบานประตูมากกว่า ที่เห็นเป็นรูปปั้นลอยตัวไม่ค่อยมี

(ไม่รวมศิลปะเขมรนะจ๊ะ)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 มิ.ย. 12, 20:20
ทวารบาลที่วัดใหญ่ เมืองสองแควนี้ เป็นศิลปะยุคใดหรือครับ คุณ virain

ร่วมสมัยกับเรือนแก้วองค์พระพุทธชินราชหรือไม่  ???


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 มิ.ย. 12, 01:06
บานประตูน้อยที่รั้วล้อมพระพุทธชินราชนั้น ตามความเห็นผม น่าจะประมาณราชวงศ์บ้านพลูหลวงครับ
แต่ถ้าอ้างตามความคิดเห็นของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ท่าทรงสันนิษฐานว่าอาจจะใหม่กว่านั้นก็เป็นได้

ส่วนเรือนแก้วขององค์พระนั้น ผมคิดเห็นว่าน่าจะสร้างราวอยุธยาตอนกลางครับ

ภาพที่แนบมาด้วยนี้เป็นลายเขียนที่บานประตูพระอุโบสถของวัดสระบัว ซึ่งภาพยักษ์แบกฐานนี้จะงามเป็นพิเศษ
เลยอยากจะเอามาร่วมวงอวดฝีมือช่างไว้ด้วยครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 มิ.ย. 12, 01:10
ส่วนเรื่องโคลงกำสรวลสมุทร ผมเคยได้ยินคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า(ไปแอบฟัง) น่าจะแต่งในสมัยพระนครินทร์ เพราะเนื้อหาโคลงมีสำนวนเก่ามาก
แต่ผมไม่เก่งเรื่องภาษาเท่าไหร่ เคยอ่านแล้วแปลไม่ค่อยได้ มีคำศัพท์แปลกๆเยอะมาก ผมเลยพอเลียบๆไปได้เฉพาะเรื่องที่พอคุ้นศัพท์เท่านั้นครับ

ถ้าสมมุติว่าโคลงนี้แต่งในสมัยสมเด็จพระนครินทร์กษัตริย์ในสมัยอยุธยาตอนต้น ตอนนั้นก็ยังไม่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์
ผมจึงขออธิบายโคลงตามความเข้าใจของผมให้ลองพิจารณาดูครับ

พรายพรายพระธาตุเจ้า      จยรจนนทร แจ่มแฮ      
ไตรโลกยเลงคือโคม      ค่ำเช้า      
พิหารรเบียงบรร      รุจิเรข เรืองแฮ      
ทุกแห่งห้องพระเจ้า      น่งงเนือง ฯ

ผมคิดว่าบทนี้อาจจะหมายถึงพระมหาธาตุของเมือง ไม่ใช่ที่วัดมหาธาตุก็น่าจะเป็นวัดพระราม
อธิบายว่าพระมหาธาตุแวววาวเหมือนพระจันทร์ ดุจดังโคมที่ส่องทั้งสามโลก
มีพระระเบียงคด มีพระพุทธรูปนั่งเรียงรายอยู่ในระเบียงคด




ตระการหน้าวัดแหว้น      วงงพระ      
บำบวงหญิงชายแชรง      ชื่นไหว้        
บูรรพาท่านสรรคสระ      สรงโสรด      
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว      แบ่งบาล ฯ    

บทนี้ทำให้ผมคิดว่ากวีน่าจะหมายถึงวัดพระราม เพราะหน้าวัดมหาธาตุเป็นคลอง
แต่หน้าวัดพระรามมีบึงน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าคงมีการขุด
เอาดินในหนองโสนไปถมที่สร้างวังหรือวัด จนกลายเป็นบึงกว้างขวางเรียกว่าบึงหน้าวัดพระราม
หรือบึงพระรามนั่นเอง


กุฎีดูโชติช้อย      อาศํร      
เต็มร่ำสวรรคฤาปาง      แผ่นเผ้า      
เรือนรัตนพิรํยปราง      สูรยปราสาท     
แสนยอดแย้มแก้วเก้า      เฉกโฉม ฯ    

วรรคนี้ผมแปลได้หมด เพียงแต่ผมนึกถึงพระปรางค์ที่หุ้มแผ่นทองแดงหรือทองเหลืองแล้วปิดทองทับจนอร่ามสะท้อนแสงแดด
เทคนิคการสร้างเช่นนี้มีหลักฐานอยู่จริงในกรุงศรีอยุธยาครับ



กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 มิ.ย. 12, 01:13
ก่อนไปนอนผมขอฝากภาพนี้ไว้อีกสักภาพครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มิ.ย. 12, 04:02
คุณ virain แปลโคลงกำสรวลได้ดี  แต่ผมมีที่แปลต่างออกไปดังนี้


พรายพรายพระธาตุเจ้า      จยรจนนทร แจ่มแฮ     
ไตรโลกยเลงคือโคม      ค่ำเช้า     
พิหารรเบียงบรร      รุจิเรข เรืองแฮ     
ทุกแห่งห้องพระเจ้า      น่งงเนือง ฯ 

ผมแปลว่า  แสงพรายจากพระธาตุเจดีย์ของเจ้า (เจ้าในที่นี้ น่าจะเป็นเจ้านายหรือพระเจ้าแผ่นดิน) เสมอด้วยดวงจันทร์แจ่มกระจ่าง
ทั้งสามโลกเล็งแลพระธาตุเจดีย์นั้น เป็นดั่งโคม ทุกค่ำเช้า
มีพิหารและระเบียงที่เขียนลวดลายงดงามรุ่งเรือง หรือจะแปลสั้นๆ ว่างามเรืองรองก็ได้
ทุกแห่งห้องพิหารและระเบียงมีพระเจ้า คือ พระพุทธรูปประทับนั่งอยู่มากมาย หรือ เรียงราย

บทนี้  ขอให้สังเกตว่า  คนแต่งพรรณนาพระธาตุเจดีย์ก่อน  แสดงว่าพระอารามนั้น มีพระธาตุเจดีย์เป็นหลักประธานของแผนผังพระอาราม
ในอยุธยาอาจจะมีหลายวัดที่มีพระธาตุเจดีย์เป็นหลักประธานของวัด  แต่คำว่าพระธาตุเจ้า  อาจจะไม่ใช่พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอัฐิธาตุพระพุทธสาวก
แต่หมายถึงพระอัฐิธาตุของพระโพธิสัตว์เจ้าที่อยู่ในรูปของสมมติเทพอย่างพระมหากษัตริย์  คตินี้มีมานานนาน
พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมมติเทพในฝ่ายศาสนาพราหมณ์และเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายพุทธ 
จากนั้น  ผู้แต่งพรรณนาถึงพิหารและระเบียงที่มีพระพุทธรูปนั่งอยู่เรียงราย  ในอยุธยามีไม่กี่วัดหรอกครับที่มีลักษณะเช่นนี้


ศาลาอเนขสร้าง      แสนเสา โสดแฮ     
ธรรมาศจูงใจเมือง      สู่ฟ้า     
พิหารย่อมฉลักเฉลา      ฉลุแผ่น ไส่นา      ศป.ว่า ไส้นา     
พระมาศเลื่อมเลื่อมหล้า      หล่อแสง ฯ   

ผมแปล  มีศาลามากมายสร้างไว้นับได้แสนเสาทีเดียว  (หมายเอาว่ามีศาลาหลายหลังในบริเวณนั้น
ที่ศาลาเหล่านั้น มีธรรมาสน์ตั้งสำหรับพระสงฆ์ขึ้นเทศน์ธรรมเพื่อชักจูงใจชาวเมืองอยุธยาไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า (สุขคติภูมิ)
พิหารนั้นมีการสลักเสลาฉลุแผ่น (แผ่นไม้แผ่นเงินแผ่นทอง) ประดับประดา  มีพระพุทธรูปทองส่องแสงเลื่อมๆ
ดูประหนึ่งดังว่าเขาหล่อพระพุทธรูปนั้นด้วยแสง

สถานที่ที่มีศาลามากขนาดนั้น  ย่อมไม่ใช่วัดธรรมดาสามัญ หรือวัดขนาดเล็ก  ต้องเป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่
ที่สามารถปลูกสร้างศาลาไว้ให้คนมาประชุมฟังธรรมได้ทีละมากๆ 
ผู้แต่งย้อนไปพรรณนาพิหารและพระพุทธรูปอีก  แสดงว่า  ศาลาและพิหารแลฃะที่ประดิษฐานพระพุทธรูปน่าจะอยู่ใกล้ศาลา



ตระการหน้าวัดแหว้น      วงงพระ     
บำบวงหญิงชายแชรง      ชื่นไหว้      ศป.ว่า แซรง     
บูรรพาท่านสรรคสระ      สรงโสรด     
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว      แบ่งบาล ฯ

ผมแปล  ที่หน้าวัดแห่งนี้ เป็นบริเวณวังพระ (พระภิกษุ?)  มีหญิงชายเบียดเสียดกันเพื่อกราบไหว้สักการะด้วยความชื่ชมยินดี
ด้านทิศตะวันออกของวัดนี้ ท่าน (ผู้มีอำนาจราชศักดิ์ หรือบรรพบุรุษ ได้สร้างสระสำหรับให้พระภิกษุใช้สรง
มีดอกไม้ (ดอกบัว) เบ่งบาน

แสดงว่า วัดนี้ แยกเขตที่พระสงฆ์อยู่ต่างหากเขตพุทธาวาส  โดยให้เขตสังฆาวาสอยู่หน้าวัดด้านทิศตะวันออก
และมีสระน้ะที่ให้พระสรงน้ำอยู่ด้วย



กุฎีดูโชติช้อย      อาศํร     
เต็มร่ำสวรรคฤาปาง      แผ่นเผ้า      ศป.ว่า ปาน     
เรือนรัตนพิรํยปราง      สูรยปราสาท     
แสนยอดแย้มแก้วเก้า      เฉกโฉม ฯ   

ผมแปลให้รับกับโคลงบทก่อนหน้า ว่า  มีกุฏิที่งามชดช้อยดูประหนึ่งอาศรม (ที่สงบ) ของผู้บำเพ็ญพรต
เต็มร่ำรำพันสวรรค์ที่ว่างดงวามแล้ว ก้ไม่ปานเปรียบกับแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาบนพื้นโลกแห่งนี้
(ปาน ไม่ใช่ปาง  เพราะต้องรับสัมผัสกับ แบ่งบาน จากโคลงบทก่อน)  มีเรือนแก้วอันน่าอภิรมย์
ซึ่งมียอดเป็นปรางค์ปราสาท (สูรย อาจจะเป็นศูล (นภศูล) ทียอดปรางค์ก้ได้   
มียอดปรางค์มากมายส่่องแสงเป็นประกายดุจประดับด้วยแก้วเก้าประการที่แต่ละยอด

ตรงนี้  น่าสังเกตว่า  ปรางค์นี้พรรณนาเมื่อกล่าวถึงเรือน ซึ่งหมายถึงที่อยู่  ไม่ใช่พระเจดีย์ยอดปรางค์
ยอดปรางค์เมื่อประกอบกับเรือน  ก็เห็นจะเป็นที่อื่นไปไม่ได้  จากปราสาทราชมณเฑียรสถาน
ซึ่งอยู่ใกล้หรือติดกับพระอารามกล่าวมาข้างต้น  ถ้านิราศนี้เป็นนิราศจริง  กวีไปไหว้พระที่พระอาราม
เมื่อไหว้เสร็จก็เป็นเวลาเริ่มออกเดินทาง เมื่อออกจากสถานที่ที่ไปไหว้พระแล้วย่อมพรรณนาพระอาราม
อันเป็นจุดเริ่มของการเดินทาง แล้วจึงเดินไปทางหมู่พระราชมณเฑียรสถาน
เป็นพระราชประเพณีปกิบัติมาแต่ครั้งโบรารว่า  พระมหากษัตริย์ตลอดจนเจ้านายเชื้อพระวงศ์
เมื่อจะเสด็จฯ หรือเสด็จไปทรงรอนแรมสู่หัวเมืองไกลนอกเขตพระนคร  ต้องเสด็จมาทรงสักการะ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเขตพระราชฐานเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ผุ้เดินทาง  ธรรมเนียมนี้ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน
ก็ยังได้ทรงกระทำอยู่

   

สนํสนวนสอาดต้งง      ตรีมุข     
อร่ามเรืองเสาโสรม      มาศไล้     
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก     
ยยวฟ้ากู้ไซ้      ช่วยดิน ฯ      ศป.ว่า เยียวว่าฟ้ากู้ไซร้

เมื่อเดินเข้าจะเข้าเขตพระราชฐานซึ่งติดต่อกับพระอารามนี้  ผู้เดินทาง(คนแต่ง) เดินเข้าสู่สนมสนวน (สนม แปลว่ารักษาความปลอดภัย
 ไม่ใช่ทางเดินสำหรับฝ่าย  มีอุทาหรณ์ ในชื่อกรมของกระทรวงวังว่า กรมสนมพลเรือน กรมสนมทหาร เป็นต้น  คงไม่มีใครอุตริแปลว่า
กรมที่มีพลเรือนเป็นสนม และกรมที่ทหารเป็นสนม  )  สนวนสนมนี้นี้สะอาด ตั้งอยู่ตรงตรีมุข (พระที่นั่งตรีมุข?)
พระที่นั่งตรีมุขนี้  อร่ามเรืองรองที่เสาเพราะทองทาไว้  อันว่าเรือนทองหลังนี้  หากบอกว่าเทพมาแปลง (แปง - สร้าง) ปลูกไว้ ก็ได้ยินหรือเชื่อยาก
ชะรอยว่าเทพจากสวรรค์มาช่วยชาวโลกสร้างกระมัง

ผมแปลอย่างนี้


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 มิ.ย. 12, 21:30

กุฎีดูโชติช้อย      อาศํร     
เต็มร่ำสวรรคฤาปาง      แผ่นเผ้า      
เรือนรัตนพิรํยปราง      สูรยปราสาท      
แสนยอดแย้มแก้วเก้า      เฉกโฉม ฯ   

วรรคนี้ผมแปลได้หมด เพียงแต่ผมนึกถึงพระปรางค์ที่หุ้มแผ่นทองแดงหรือทองเหลืองแล้วปิดทองทับจนอร่ามสะท้อนแสงแดด
เทคนิคการสร้างเช่นนี้มีหลักฐานอยู่จริงในกรุงศรีอยุธยาครับ



ขออภัยด้วยครับ ที่จริงผมจะพิมพ์ว่าได้ไม่หมด แต่พลาดตกหล่นไป

ข้อคำแปลของคุณluanglek ผมต้องรับไว้เป็นความรู้ครับ เพระผมเองยังไม่ชำนาญพอเรื่องการแปลบทกวี
ขอเรียนถามนะครับ บทที่ว่า เรือนรัตนพิรํยปราง คำว่าพิรัยในที่นี้หมายถึงอะไรหรือครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มิ.ย. 12, 11:09

ขอเรียนถามนะครับ บทที่ว่า เรือนรัตนพิรํยปราง คำว่าพิรัยในที่นี้หมายถึงอะไรหรือครับ


พิรํย  เป็นการเขียนแบบโบราณ ที่ใช้ นิตหิต (-ํ) แทนตัว ม สะกด 
ในดคลงกำสรวลฉบับที่กรมศิลปากรชำระและเอามาพิมพ์  สังเกตว่าใช้นิคหิตแทน ม สะกด หลายคำ
สันนิษฐานว่า  โคลงกำสรวลฉบับดังกล่าวน่าจะเก่ามาก  หากเป็นฉบับคัดลอกจากฉบับเดิมมา
ก็น่าจะเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากฉบับที่เก่ามาก

พิรํย  คือ พิรมย เขียนอย่างปัจจุบัน คือ ภิรมย์  (คำเดิม  อภิรมย์)


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 18 มิ.ย. 12, 22:10
บังเอิญได้ไล่ดูบันทึกกับรูปภาพตอนไปเที่ยวทางภาคเหนือ เมื่อปลายปี53
เลยได้เจอภาพนี้ครับ สิงห์ชำนันช้าง..แนวมากครับ จากวัดเจดีย์สี่ห้องสุโขทัย

เข้าใจได้ว่าสิงห์ชำนันยักษ์ อสูรหรือลิง น่าจะมีอยู่จริงในอดีตครับ


กระทู้: เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 18 มิ.ย. 12, 22:13

พิรํย  เป็นการเขียนแบบโบราณ ที่ใช้ นิตหิต (-ํ) แทนตัว ม สะกด 
ในดคลงกำสรวลฉบับที่กรมศิลปากรชำระและเอามาพิมพ์  สังเกตว่าใช้นิคหิตแทน ม สะกด หลายคำ
สันนิษฐานว่า  โคลงกำสรวลฉบับดังกล่าวน่าจะเก่ามาก  หากเป็นฉบับคัดลอกจากฉบับเดิมมา
ก็น่าจะเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากฉบับที่เก่ามาก

พิรํย  คือ พิรมย เขียนอย่างปัจจุบัน คือ ภิรมย์  (คำเดิม  อภิรมย์)

ผมไม่ทราบมาก่อนเลยครับ ต้องขอขอบคุณจริงๆ
แบบนี้ผมก็คงอ่านโคลงพวกนี้ได้เข้าใจมากขึ้น แต่ก่อนอ่านแล้วก็ถอดใจไปเลย