เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 21:52



กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 21:52
 ขอตั้งกระทู้ใหม่นะครับ

เริ่มด้วยพระที่นั่งวิมานเมฆเลยละกันนะครับ เพราะเป็นหนึ่งพระที่นั่งที่ผมชอบมากอ่ะครับ

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกลที่ ๕) ทรง พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นภายในบริเวณสวนดุสิต เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ โดยมีพระบรมราชโองการให้รื้อย้ายพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ มีสมเด็จ พระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวังมาประทับเป็นการถาวร ณ พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นเวลาถึง ๕ ปี จนการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ จึงทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระที่นั่ง วิมานเมฆก็ปิดร้างลง เพราะเจ้านายฝ่ายในต้องเสด็จกลับมาประทับในพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี
ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาได้ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักในสวนหงส์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งวิมานเมฆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆ ก็มิได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายพระองค์ใดอีกได้แต่ปิดร้าง และทรุดโทรมตามกาลเวลา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ แม้ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งวิมานเมฆหลายครั้ง เช่น การซ่อมเปลี่ยนสายไฟฟ้าภายในองค์พระที่นั่ง การซ่อมเสามุขศาลาท่าน้ำเป็นต้น แต่ในที่สุดตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆก็ใช้ เป็นเพียงสถานที่เก็บราชพัสดุของสำนักพระราชวังตลอดมาถึง ๕๐ ปี
จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสำรวจและพบว่า พระที่นั่งวิมานเมฆยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประณีตงดงาม และยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ รวมถึงศิลปวัตถุส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบูรณะซ่อมแซม เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นมรดกของชาติสืบไป  


 พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก องค์พระที่นั่งเป็นรูปตัวแอล ในภาษาอังกฤษคือสร้างเป็นรูปสองแฉกตั้งฉากกัน แต่ละด้านยาว ๖๐ เมตร สูง ๒๐ เมตร เป็นอาคาร ๓ ชั้นเฉพาะส่วนที่ประทับซึ่งเรียกว่า "แปดเหลี่ยม" มี ๔ ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด มีห้องจัดแสดงรวมทั้งสิ้น ๓๑ ห้อง การจัดแสดงบางห้องยังคงลักษณะบรรยากาศในอดีตไว้ เช่น ห้องพระบรรทม ห้องท้องพระโรง และห้องสรง เป็นต้น บางห้องจัดแสดงศิลปวัตถุแยกตามประเภท เช่น ห้องจัดแสดงเครื่องเงิน ห้องจัดแสดงเครื่องกระเบื้องลายคราม ห้องจัดแสดงเครื่องแก้วเจียระไน และห้องจัดแสดงเครื่องงา เป็นต้นปัจจุบันโปรดเกล้า ฯ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมพระที่นั่งแห่งนี้ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐ น. - ๑๕.๑๕ น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนาฏศิลป์ไทย วันละ ๒ รอบ เวลา ๑๐.๓๐ น. - ๑๔.๐๐ น. อีกด้วย  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:18
 ต่อด้วยการไปเที่ยวอยุธยาเลยนะครับ ผมเคยเรียนหนังสือของสุนทรภู่ เกี่ยวกับนิราศของสุนทรภู่อ่ะครับ นิราศที่ว่านี้คือนิราศพระบาท อาจจะผ่านหูผ่านตาใครหลายๆคนมาแล้วก็ได้นะครับ มันมีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า


สักครู่หนึ่งมาถึงบางเกาะอิน
กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่
ได้ยินแต่ในยุบลแต่หนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง
กษัตริย์ครั้งครองศรีอยุธยา

จะเห็นได้ว่า บางเกาะอิน ที่ท่านสุนทรภู่ว่านั้นก็คือ บางปะอิน ซึ่งเป็นวังที่น่ายิ่งใหญ่วังหนึ่งในสมัยอยุธยา วังๆนี้ในตอนสมัยของสุนทรภู่อยู่ในสภาพที่รกร้างเอามากๆ ดังตอนที่ท่านสุนทรภู่ว่า

ทั้งวังหลวงวังหลังก็รั้งรก
เห็นนกหกซ้อแซ้บนพฤกษา
ดูปราสาทราชวังเป็นลังกา
ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน

แต่พอมาถึงสมัยปัจจุบัน บางปะอินกลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและสวยงามมาก

พระราชวังบางปะอิน มีประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า " พระเจ้าปราสาททองหรือพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ ๕ ( พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นบนเกาะบ้านเลนในลำแม่น้ำเจ้าพระยา"

๏ พระราชวังมีแต่ครั้ง                  
จอมกษัตริย์แห่งอยุธยา
เรืองนามทั่วทิศา
ริมฝั่งลำน้ำกว้าง         บุราณมา
ท่านสร้าง
บางปะ อินแล
แจ่มหล้าจรัสศรี ๚


........ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถประสูติแต่หญิงชาวบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงพบเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเกิดล่มลงตรงเกาะบางปะอิน เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๑๗๓ แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๗๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งบนเกาะบางปะอินตรงบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดา พระราชทานชื่อว่า " วัดชุมพลนิกายาราม " และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์สถานขึ้นกลางเกาะเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นริมสระน้ำนั้น พระราชทานนามว่า " พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ " พระราชวังแห่งนี้คงเป็นที่ประพาสสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมา และคงรกร้างทรุดโทรมไปแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นต้นมา

พระราชวังบางปะอิน ได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีพลับพลาริมน้ำ เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์โปรดที่จะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ ด้วยทรงปรารภว่าเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ เงียบสงบ ร่มรื่น และเคยเป็นที่ประทับประพาสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆ เป็นครั้งคราว  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:25
 สถานที่ในพระราชวังบางปะอินนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ เขตพระราชฐานชั้นนอก กับเขตพระราชฐานชั้นใน มาดูส่วนของเขตพระราชฐานชั้นนอกก่อนนะครับ

๏เขตพระราชฐานชั้นนอก ประกอบด้วย พระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สำหรับการออกมหาสมาคมและพระราชพิธีต่างๆ

... สิ่งสำคัญในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระราชวังบางปะอิน ได้แก่ หอเหมมณเฑียรเทวราช สภาคารราชประยูร พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:27

หอเหมมณเฑียรเทวราช มีลักษณะเป็นพระปรางค์ศิลายอดทรงปราสาทแบบขอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งทรงได้รับพระนามนี้เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีผู้ค้นพบปราสาทแบบขอมขนาดย่อส่วนทำด้วยทองคำ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:29

สภาคารราชประยูร เป็นตึกสองชั้นริมน้ำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422 สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้า และข้าราชบริพาร  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:30

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงกลางสระน้ำ สร้างในแบบปราสาทจตุรมุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์กิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2419 และพระราชทานนามว่า " พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ " ตามนามพระที่นั่งองค์แรก ซึ่งพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ พระราชวังบางปะอินแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:31

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นพระที่นั่งทรงตึกชั้นเดียว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2419 ตรงบริเวณที่ประทับเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารตึก 2 ชั้นและมีท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ภายในห้องโถงรับรองและห้องทรงพระสำราญ ประดับภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพพระราชพงศาวดารประกอบโคลงบรรยายภาพอันงดงามทรงคุณค่า เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และฉากต่างๆ จากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพเหล่านี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่ประทับเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอิน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:32

ซุ้มประตูด้านข้างพระที่นั่งวโรภาษพิมาน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:34

ภายในพระราชวังบางปะอินจะมีเขตเชื่อมต่อ เป็นทางเดินเข้าสู่พระราชฐานชั้นในของเจ้านายฝ่ายสูงนะครับ มีรูปมาให้ดูกัน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:36

ทัศนียภาพในเขตพระราชฐานชั้นนอก  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:38

มาดูกันต่อเรื่องเขตพระราชฐานชั้นในนะครับ ว่าจะมีสถานที่ใดอีกที่น่าสนใจ

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เป็นพระที่นั่งเรือนไม้สองชั้นแบบชาเลต์ของสวิส คือมีเฉลียงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ทาสีเขียวอ่อนและเขียวแก่สลับกันทั้งองค์พระที่นั่ง ภายในตกแต่งแบบยุโรป ด้วยเครื่องเรือนแบบฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นชุดเดียวเข้ากันหมดทั้งพระที่นั่งอย่างงดงาม เป็นที่ประทับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมากที่สุด ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับบางคราวถึง 3 ครั้งต่อปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในปี พ.ศ. 2481 ขณะที่มีการดำเนินการซ่อมทาสีพระที่นั่งได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้พระที่นั่งหมดสิ้นทั้งองค์ เหลือแต่หอน้ำลักษณะคล้ายหอรบของยุโรปเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:39

หอวิฑูรทัศนา เป็นหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะในพระราชอุทยาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2424 เพื่อใช้เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศและดูดาว  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:40

พระที่นั่งเวหาญจำรูญ เป็นพระที่นั่งสองชั้น สร้างในแบบศิลปะจีนอย่างงดงาม โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2432 พระที่นั่งองค์นี้ มีนามตามภาษาจีนด้วยว่า " เทียนเหมงเต้ย "
( เทียนเหมงเต้ย --> เทียน - เวหา, เหมง - จำรูญ, เต้ย - พระที่นั่ง )

ภายในห้องกลางชั้นบนของพระที่นั่ง เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งเก๋ง 3 องค์ติดต่อกัน ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ ลงรักปิดทองงามอร่าม ช่องตะวันตกประดิษฐานพระป้ายจารึก ( อักษรจีน ) พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธย กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 ช่องกลางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และช่องตะวันออกประดิษฐานพระป้ายจารึก ( อักษรจีน ) พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสังเวยพระป้าย ในวันตรุษจีนทุกปี  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:40

พระตำหนักฝ่ายใน หมู่พระตำหนักฝ่ายใน เป็นอาคารแบบตะวันตก มีทั้งชั้นเดียว และสองชั้น เรียงรายกันอยู่ แต่ในปัจจุบันพระตำหนักเหล่านี้เหลืออยู่เพียงไม่กี่องค์เท่านั้น  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:41

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในปี พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เสด็จทิวงคต เนื่องจากเรือพระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในขณะที่กำลังเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:42

อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงสูญเสียพระอัครชายาเธอฯ และพระราชโอรส และพระราชธิดาถึง 3 พระองค์ในปีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2430 และสมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2430 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2431 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:43

วัดนิเวศธรรมประวัติที่ติดกับพระราชวังบางปะอิน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:44

หันออกมาทาง พลับพลาท่าน้ำ(ท่าเสด็จ)  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:45

พระตำหนักเรือนแพ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 03 ต.ค. 05, 22:47
 จบเรื่องพระราชวังบางปะอินแต่เพียงเท่านี้นะครับ ใครที่มีรูปสวยๆหรืออยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระราชวังหรือพระที่นั่งต่าง ก็มาเล่าได้นะครับ เดี๋ยวคราวหน้าจะมาเล่าเรื่องพระราชวังแห่งใหม่ให้นะครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 07:23

เข้ามาอ่าน และขอบคุณค่ะ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 15:59
 ขอเพิ่มเติมความเห็นที่ ๔ นะครับ  สำหรับท่านที่มีโอกาสแวะไปที่สภาคารราชประยูร  ขอให้เดินขึ้นไปชั้นบนจะเห็นเรือกรรเชียงตั้งแสดงอยู่ ๓ ลำ  พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกรรเชียงเรือ "แหกตา" ที่ตั้งแสดงไว้ ณ ที่นั้น

"เรือแหกตา" นี้  เป็นเรือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะเสด็จลงทรงกรรเชียงเป็นการออกพระกำลังในยามที่เสด็จฯ แปพำระราชฐานประทับ ณ พระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ  เมื่อทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้นบางคราวก็จะโปรดให้มหาดเล็กรับใช้ชั้นเล็กๆ เช่น หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ตามเสด็จลงไปกรรเชียงแทนพระองค์ซึ่งประทับสำราญพระราชอิริยาบถ

ที่พระราชทานนามว่า "แหกตา" นั้น  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล เคยเล่าไว้ว่า  มีรับสั่งว่า เพราะเรือลำนี้สวยมากจนต้อง "แหกตา" ดู (รบกวนคุณสะใภ้จ้าวช่วยโพสรูปเรือ (ถ้ามี) ให้ดูด้วยนะครับ  ผมเคยถ่ายไว้เหมือนกันแต่หาไม่พบ)


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 05, 05:21
 ขอเล่าถึงพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ในความเห็นที่ ๑๒ สักนิดครับว่าพระที่นั่งองค์นี้ดูเป็นเครื่องไม้อย่างจีน ดูโบราณๆ นะครับ แต่แอบซ่อนอุปกรณ์ทันสมัยไว้ นั่นคือ "ลิฟต์" ครับ เป็นลิฟต์ขนาดเล็ก เข้าไปประมาณ ๒-๓ คนก็เต็มแล้ว หลบซ่อนไว้ในหลืบที่ค่อนข้างบังตา ลักษณะของลิฟต์ตกแต่งเป็นสีแดงและทองอย่างจีน โก้เชียวแหละครับ ส่วนขนาดและองค์ประกอบอื่นๆ ก็คล้ายๆ กับลิฟต์ในพระที่นั่งอนันตสมาคม

เมื่อหลายปีก่อน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปประพาสพระราชวังบางปะอิน และเสด็จขึ้นไปทรงสักการะพระป้าย ก็เสด็จขึ้นโดยทางลิฟต์นี้

ในห้องหนึ่งของพระที่นั่งองค์นี้ ประดิษฐานพระแท่นบรรทมแบบจีนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ด้วย เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะพระป้ายแล้วก็เสด็จไปทรงคมพระแท่นนั้น

มีห้องห้องหนึ่งที่ชั้นบนอยู่ติดกับห้องพระป้าย ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนมุกอย่างจีน และมีพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ภาพนั้นสีออกจะขมุกขมัวทึมๆ ทรงฉลองพระองค์และพระมาลาอย่างลำลอง (เหมือนอย่างพระบรมฉายาลักษณ์ที่กำลังทรงกล้องพระโอสถ และทรงพระแว่นทอดพระเนตรวัตถุโบราณ) ในกรอบรูปรี มีไม้สลักเป็นพระนพปฏลมหาเศวตฉัตรอยู่ด้านบน ไม่ทราบว่าคุณ V_Mee พอจะทราบประวัติความเป็นมาของพระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้มั้ยครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 05 ต.ค. 05, 18:14

พระที่นั่งวโรกาส


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 05 ต.ค. 05, 21:56
 ดีจังเลยค่ะ ยิ่งถ้าได้เห็นกระทู้นี้ก่อนวันหยุดที่ผ่านมา จะทำให้ดิฉันนึกภาพออกตอนอ่านสี่แผ่นดินดียิ่งขึ้น มีคำถามว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ทรงมีเหตุผลใดเป็นพิเศษหรือไม่ค่ะ ที่ต้องล่องศพมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาเผาที่วัดในรูป 16 เห็นว่าทุลักทุเลพอควร หรือว่าไหนๆจะเสด็จแปรพระราชฐานแล้ว ก็ปลงพระศพเสียเลยจะได้ไม่เสียเที่ยว หรือว่าเป็นวัดประจำตระกูลที่พระองค์ท่านอุปถัมภ์ค่ะ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 22:58

ตอบคุณ V_Mee นะครับ
รูปเรือแหกตาของพระบาทสมเด็จพระมงกถฏเกล้านั้นหาได้ยากมากครับ ต้องไปถ่ายเอาที่บางปะอิน วันที่ไปก็ไม่ได้ถ่ายมาด้วยครับ ต้องขอโทษด้วยที่หารูปไมได้ ผมก็ลองพยายามหารูปทางอินเตอร์เน็ทแล้วก็หาไม่ได้สักทีครับ ขอโทษอีกทีครับ

แต่เผอิญว่าไปเจอเรือแหกตามา 1 ลำ เอามาให้ดูแก้ขัดนะครับ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:21

มาเล่าต่อกันเลยดีกว่านะครับ

ผมขอเสริมเรื่องของวัดนิเวศธรรมประวัตินิดนึง มีรูปมาให้ดูเยอะเลยครับ


วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่บนเกาะลอย ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร นิกายธรรมยุต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง เมื่อ พ.ศ. 2421 อาคาร และการตกแต่งทำแบบศิลปะ โกธิค มีกระจกสีประดับ อย่างสวยงาม ภายในเป็นแบบฝรั่ง แม้แต่ฐานที่ประดิษฐาน พระประธาน คือ พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ และพระสาวกก็ไม่ได้ทำเป็นฐานชุกชีอย่างในโบสถ์ทั่วไป แต่ทำเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์คริสต์ ช่องหน้าต่างที่เจาะไว้ก็เป็นหน้าต่างโค้งที่ฝาผนังโบสถ์ด้านหน้าพระประธานจะเห็นภาพประดิษฐ์กระจกสีเป็น พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ด้านขวามือของ พระอุโบสถนั้นมีหอแห่งหนึ่ง คือ หอประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางขอฝนตรงข้ามกับหอพระคันธารราษฎร์เป็นหอประดิษฐานพระพุทธศิลาเก่าแก่ปางนาคปรก อันเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรีฝีมือช่างขอมอายุเก่าแก่นับพันปี พระนาคปรก นี้อยู่ติดกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งไปทั่วบริเวณหน้าพระอุโบสถ
     
      บรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่อายุนับ 100 ปี จะพบความแปลกตาของสถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถ ซึ่งก่อสร้างเป็นศิลปะแบบโกธิค

ถัดไปเป็นหมู่ศิลามีประวัติความสำคัญเกี่ยวข้องกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาของประวัติศาสตร์ไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลหลังแรกในประเทศไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงผนวชที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ตำหนักที่ประทับจำพรรษาของพระองค์ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เรียกกันว่าตำหนักสมเด็จ ในระหว่างทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ทรงนิพนธ์หนังสือแบบเรียนเล่มหนึ่งขึ้น แล้วทรงออกสอนนักเรียนที่เป็นลูกชาวบ้านละแวกนั้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันที่ข้างพระอุโบสถมีหมู่ก้อนศิลาใหญ่น้อยและพระธรรมเจดีย์เป็นที่บรรจุพระอัติเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอก ของรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:22

ภายในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:22

พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วพระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือกะไหล่ทองปางสมาธิ เรียกทั่วไปว่า สมาธิเพชร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:23

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำด้วยกระจกสีจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1877 หรือปี พ.ศ.2420 ประดิษฐานอยู่หน้าบันเหนือประตูทางเข้าภายในพระอุโบสถ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:24

พระขอฝน หรือพระคันธารราษฎร์ เนื่องจากบริเวณบางปะอินเป็นถิ่นที่ทำนากันเป็นส่วนมาก จึงต้องมีฝนตกตามฤดูกาล แต่บางฤดูกาลฝนไม่ตก ทำให้เกิดความทุกข์ยาก ดังนั้นเพื่อเป็นหลักมิ่งขวัญจึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างพระขอฝนขึ้น ปีไหนฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็โปรดเกล้าให้ทำพิธีขอฝน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:26

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเมล็ดพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้เมล็ดพันธุ์มาแล้วพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพรพินิต ทรงเพาะ ครั้นเมื่อเพาะขึ้นเป็นต้นแล้ว ก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานไว้ 3 ต้น ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2447  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:33
 ตอบคุณ Nuchan นะครับว่าวัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นวัดประจำราชสกุล   “ดิศกุล” สังเกตได้จาก
อนุสรณ์สถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งอยู่ชิดกำแพงด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถเป็นศิลาใหญ่  4  ก้อน  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกำหนดไว้เป็น         ดิศกุลอนุสรณ์ และศิลาก้อนเล็กประดับเป็น 2 ส่วน ใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลในสายราชสกุล         “ดิศกุล”  ครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:36

สวนหิน "ดิศกุลอนุสรณ์"  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:42

ดิศกุลอนุสรณ์อีกรูปหนึ่ง  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:44

ยังอยู่ที่อยุธยานะครับ มาเล่าต่อเลยดีกว่า คราวนี้ย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ว่าพระราชวังในสมัยนั้นเป็นแบบใด มาดูเลยดีกว่ารับ

พระราชวังหลวงที่ปรากฏในพระนครศรีอยุธยาปัจจุบันคงเหลือแต่ฐาน อาคารให้เห็น เท่านั้นสันนิษฐานว่า พระเจ้าอู่ทองสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อ พ.ศ.1890 และเมื่อสร้างกรุงเสร็จใน พ.ศ.1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริม หนองโสน พระที่นั่งต่างๆ ในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณซึ่งปัจจุบันเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงถวายที่บริเวณ พระราชวังเดิมสร้างเป็นวัด ในเขต พระราชวัง เรียกว่า "วัดพระศรีสรรเพชญ์" แล้วทรงสร้าง พระราชวังหลวงใหม่เลื่อนไปทางทิศเหนือ ชิดริมแม่น้ำลพบุรี พระที่นั่งต่างๆ ในเขตพระราชวังหลวงหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า พระราชวังโบราณ เดิมเป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์อยุธยาทุกรัชกาล ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาทางด้านเหนือ มีถนนสายรอบ กรุงผ่านจากวังจันทรเกษมไปเพียง 2 กิโลเมตร


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 05 ต.ค. 05, 23:53
มาดูว่าภายในพระราชวังหลวงจะมีพระที่นั่งที่ใด ที่น่าสนใจบ้าง

พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เดิมเรียกว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก   เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุกหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2186 เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียก "ปราสาททอง" เนื่องจาก เป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้น สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:03

พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้สร้างขึ้นทางด้านเหนือ ริมแม่น้ำลพบุรี เรียกว่า พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท
เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลง อยู่ติดกำแพงริมน้ำ ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้รื้อสร้างใหม่ให้ชื่อว่า พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์  ต่อมาเปลื่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อ "พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท"  ก่อสร้างเป็น ปราสาทจตุรมุขยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ พระที่นั่งพระองค์นี้สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นที่รับแขกเมือง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าเสือและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ นอกจากนั้นจะใช้เพื่อการประทับทอดพระเนตรขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:06

พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท
สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระที่นั่งที่มีมุขเด็จยื่นออกมาเพื่อเสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกกระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:11

ในพระราชวังหลวงนั้น มีวัดๆหนึ่งที่จะขาดไปเสียมิได้ วัดนี้ก็คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพฯ หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่แล้วโปรดยกให้เป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:12

จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่ก็คือ..พระเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่เรียงกัน 3 องค์ ซึ่งถูกคั่นด้วยพระมณฑป (ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงฐาน)

จากรูป...พระเจดีย์องค์ขวาและองค์กลาง...สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3...
ส่วนองค์ซ้าย..สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงสร้างบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:17

ซากโบราณสถานภายในวัด  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:18

จากรูปเป็นซากวิหารหลวงที่มองจากด้านข้าง...

ที่มา: หนังสือ วัดพระศรีสรรเพชญ์
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
สำนักงานศิลปากรที่3 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
รศ.เสนอ นิลเดช, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2546


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:19

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างซากที่เหลืออยู่ตอนนี้ กับสภาพสมบูรณ์ที่สันนิษฐาน....ก็จะเป็นอย่างที่เห็นครับ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:19

มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านในครับ...  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:20

วัดนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:23

มองจากมุมสูง  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:25

แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเท่านี้ครับ น่าเศร้า...  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:29

สภาพภายในพระวิหาร  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:31

ดูแล้วเกิดอาการเศร้าหมองนะครับ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:34

มาต่อที่พระที่นั่งนะครับ พระที่นั่งต่อไปก็คือ

พระที่นั่งตรีมุข

อยู่ข้างหลังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็น พระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยาน
พระยาโบราณราชธานินทร์ขุดพบรากฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเป็นพลับพลาตรีมุขขึ้นบนฐานเดิม เพื่อใช้ประทับคราวเสด็จประพาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ และใช้เป็นที่ประกอบพิธีบวงสรวงอดีตมหาราชตลอดมาจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:38
 พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2175 พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์" คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์" ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในหน้าพระราชวัง เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกซ้อมทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ (พระที่นั่งท้ายสระ)
สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ เป็นที่ประทับชั่วคราว โปรดให้ขุดสระน้ำรอบพระที่นั่งริมสระ มีแท่นยาวเรียกกันว่า พระที่นั่งโปรยข้าวตอกสำหรับเลี้ยงปลา

พระที่นั่งทรงปืน
เป็นที่ประทับฝึกอาวุธในสมัยพระเพทราชาใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางด้วย


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:45

ไปวังจันทรเกษมกันเลยนะครับ พระราชวังในที่นี้อยู่ในอยุธยานะครับ ไม่ได้กล่าวถึงที่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือพิษณุโลกนะครับ

พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก สร้างในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเป็น ที่ประทับ ของ สมเด็จพระยุพราช และ พระมหากษัตริย์ หลายพระองค์ ครั้งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ. 2310 ถูก ไฟไหม้หมด ไม่มีซาก โบราณสถาน หลงเหลือเลย สถานที่ ต่างๆ ใน พระราชวัง จันทรเกษม สร้างใหม่ ในรัชกาล พระบาท สมเด็จ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โดยโปรด ให้สร้างตาม แผนผัง เดิม เพื่อใช้เป็น ที่ประทับ ต่อมาได้ เปลี่ยนเป็น "อยุธยาพิพิธภัณฑ์" และปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ จันทรเกษม


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:56
 ภายในวังจันทรเกษม มีสถานที่น่าสนใจมากครับ คือ

พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง เคยเป็นศาลารัฐบาลและศาลารัฐบาลและศาลากลางอยู่เป็นเวลาหลายปี





พระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ (หอส่องกล้อง) เป็นหอสูง ๔ ชั้น อยู่ริมพระราชวังด้านทิศตะวันตกสร้างในสมับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ หอที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในรัชกาลที่ ๔ ตามรากฐานเดิม ทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว



กำแพงและประตูวัง เป็นสิ่งซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่ง นอกกำแพงวัดด้านใน และพบซากอิฐอยู่ในบริเวณเรือนจำอีกหลายแห่ง


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 06 ต.ค. 05, 00:59

วังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก (ในเขตโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต) เดิมเป็นอุทยานสำหรับเสด็จประพาสเป็นครั้งคราวเรียกว่า สวนหลวง และคงจะปลูกแต่เพียงตำหนักที่พักเท่านั้น ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดให้สร้างเพิ่มเติมเป็นพระราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาวังหลังได้กลายเป็นที่ประทับของเจ้านายในพระราชวงศ์เท่านั้น จึงไม่ปรากฏสิ่งสำคัญหลงเหลืออยู่นอกจากเจดีย์พระศรีสุริโยทัย เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพราะสถานที่นี้มิได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรกเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาลอีกด้วย เรื่องมีอยู่ว่า ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนอง ยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกโดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปร ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีจะเป็นอันตรายจนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่า "วัดสบสวรรค์" (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสอบสวนหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจึงเป็นเหตุให้ทราบตำแหน่งของวัดสบสวรรค์ ซึ่งยังคงพบเจดีย์แบบย่อไม้สิบสองสูงใหญ่ปรากฏตามที่ตั้งในปัจจุบันนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขนานนามเรียกชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์พระศรีสุริโยทัย" ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากร และกรป.กลาง ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมรูปทรงพระเจดีย์ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นที่น่ายินดีว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2533 กรมศิลปากรได้พบศิลปวัตถุโบราณ เช่น พระพุทธรูปผลึกแก้วสีขาวปางมารวิชัย พระเจดีย์จำลอง ผอบทองคำบรรจุพระธาตุ เป็นต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา สวนศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ประกอบด้วยศาลาอเนกประสงค์ พลับพลาสมเด็จพระสุริโยทัย เนินเสมาหินอ่อนโบราณอายุกว่า 400 ปี บรรจุชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่ชำรุดอัญเชิญมาจากวัดพุทไธสวรรค์ (พระตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง) ฯลฯ องค์การสุราเป็นผู้สร้างสวนนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในที่ดินซึ่งเคยเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อ "สวนศรีสุริโยทัย" เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 และองค์การฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสวนนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 10:22

ภาพนี้คือพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ของเดิม ที่ถูกเพลิงไหม้หมด
เป็นมุมที่มองจากหอวิฑูรทัศนา


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 10:23

ถนนและกำแพงแก้วด้านเหนือพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 10:25

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ทางด้านเหนือ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ต.ค. 05, 15:59
 จำได้รางๆว่า พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ใช้เป็นพระที่นั่งไว้พระศพด้วย หรือเปล่า (ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่) รบกวนถามผู้รู้ด้วยครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:14
 พระราชวังจันทรเกษม
พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ทางด้านทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้ๆ กับตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้า ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2120 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ

- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

- สมเด็จพระเอกาทศรถ

- เจ้าฟ้าสุทัศน์

- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

- ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)

- สมเด็จพระเจ้าท้ายสร

- สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

- กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2436 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษม ให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นหมู่ตึกกลางของพระราชวังเป็นที่ตั้ง จนกระทั่งเมื่อ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น

สถาปัตยกรรมพระราชวังจันทรเกษม สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นจึงมีการใช้งานกันเรื่อยมา ทั้งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการซ่อมแซมและบูรณะอาคารต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้ง 1 กำแพงพระราชวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐ มีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน แต่เดิมนั้นคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า วังจันทรเกษมมีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง 2 พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าชานของพลับพลา แต่เดิมเป็นซากแนวอาคารก่ออิฐถือปูน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างอาคารพลับพลาขึ้นในลักษณะอาคารจตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน 3 พระที่นั่งพิมานรัตยา มีลักษณะเป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง กลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ในปี พ.ศ. 2442 4 พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) มีลักษณะเป็นหอสูง 4 ชั้น บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งตามแนวรากฐานอาคารเดิม และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) สามารถขึ้นชมทิวทัศน์ของ จ. พระนครศรีอยุธยาได้ 5 ตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 6 อาคารสโมสรเสือป่า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก 7 ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ 8 ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสี ยาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์รวบรวมไว้

วังจันทรเกษม มิวเซียมที่กรุงเก่า

ในระหว่างที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รับราชการดำรงตำแห่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ท่านได้ทำการศึกษาและรวบรามเรื่องราว รวมทั้งวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยในระยะแรกนั้น ใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษา และตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข พร้อมทั้งจัดสร้างระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ จากนั้นจึงตั้งชื่อว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์ ในปีพุทธศักราช 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จถึงเมืองฮอมเบิค ประเทศเยอรมนี ก็ทรงมีโทรเลขมาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "มิวเซียมที่นี่เหมือนมิวเซียมที่กรุงเก่า" ด้วยเหตุนี้เอง อยุธยาพิพิธภัณฑ์ในขณะนั้น จึงเป็นที่รู้จักในบรรดาผู้สนใจและรักในงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติ ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม


เอื้อเฟื้อข้อมูล: http://202.129.0.133/createweb/00000//00000-3378.htmlwww.google.com  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:24

นี้เป็นรูปหนึ่งในตำหนักฝ่ายใน พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทรา เป็นตำหนักที่สวยที่สุดและดูทันสมัยที่สุด ในพระราชวังบางปะอิน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:28

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรองค์ใหม่ มองจากมุมสวยๆ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:31
พระระเบียงพระที่นั่งเวหาญจำรูญ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 07 ต.ค. 05, 17:32
 ตอบ ค.ห.ที่ 58 นะครับ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ไม่น่าจะใช่พระที่นั่งไว้พระศพนะครับ(จากการสันนิษฐานของผมเอง) เพราะมันติดอยู่กับพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทซึ่งใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง น่าจะอยู่ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์มากกว่านะครับ

ขอบคุณ คุณ van ด้วยครับที่ช่วยเพิ่มเติมความคิดเห็น


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:33

พระป้าย ที่พระที่นั่งเวหาญจำรูญ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:40

ตุ๊กตาแหม่ม เจอได้ทั่วไปและมีอยู่มากมายในพระราชวังบางปะอิน(ซื้อได้ที่ไหนครับตุ๊กตาที่ปั้นสวยๆและมีแบบให้เลือกเยะๆย่างนี้ครับ)


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:46

ภายในพระที่นั่งวโรภาสพิมาณดูเพดานสิครับ สูงมากๆ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:54

สวยอะไรปานนี้เกิดมาเพิ่งเห็นวังนี้เนี่ยแหละ พระราชวังปางปะอิน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:55

สวยอะไรปานนี้เกิดมาเพิ่งเห็นวังนี้เนี่ยแหละ สภาคราประยูรณ์ พระราชวังปางปะอิน  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 07 ต.ค. 05, 17:57
 ไม่ทราบช่วยวิเคราะห์หน่อยครับว่าตัดต่อภาพหรือเปล่า


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 07 ต.ค. 05, 18:07
 ไม่น่าจะตัดต่อนะครับ เพราะที่เห็นมาทั้งหมดเนี่ย งดงามเกินคำบรรยาย ขนาดตอนที่ผมไปครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนได้เข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งจริงๆ มีการบรรเลงดนตรีไทยให้ฟังผ่านทางลำโพงด้วยครับ งดงามมาก


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 07 ต.ค. 05, 22:17
 คุณ vun ครับ ภาพในความเห็นที่ ๖๔ ไม่ใช่พระป้ายครับ เป็นเพียงลับแลประดับธรรมดา

พระป้ายเป็นป้ายไม้แกะสลักพระปรมาภิไธยสูงราวๆ ศอกเดียวเท่านั้นเองครับ ประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งเวหาศจำรูญครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 15 ต.ค. 05, 01:43

มาเล่าต่อเลยดีกว่า เรื่องราวของพระราชวังต่างๆนะครับ

พอดี ไม่ว่างเข้าเว็บหลายวัน เลยมาต่อ

เห็นว่ากระทู้มันตกลงไป เลยมาขุดดีกว่านะครับ

คราวนี้ไปล่องกันที่ พระราชวัง ณ เกาะสีชัง หรือที่เรียกกันว่า พระจุฑาธุชราชฐาน เลยเอากลอนเพราะๆมาฝากกัน

"สีชัง ชื่อเกาะนั้น               เยียไฉน
ชังพี่ฤาชังใคร                   ใคร่รู้
ความรักหนักแหนงใน         ใจเจ็บ    จริงนา
เสียรักเสียแรงสู้                 คิดไว้  หวังชม "

(พระราชนิพนธ์ในพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ)


ที่หมู่เกาะสีชัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปากน้ำเจ้าพระยาทางชายฝั่งทะเลทิศตะวันออกนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะเสด็จประพาสอยู่เนืองๆ โดยได้มีพระราชดำรัส สรรเสริญเกาะสีชังนี้ ว่าเป็นที่อากาศดี ผู้ที่อยู่ในเกาะนี้ จึงได้มีอายุยืน เพราะมิใคร่มีโรคภัยเบียดเบียน การเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งนั้น เสด็จโดยเรือกลไฟ พระที่นั่งสยามอรสุมพล และเสด็จประทับแรมอยู่ในเรือนั้น โดยมิได้ปลูกสร้างพลับพลา เป็นที่ประทับแรมแต่อย่างใด เกาะสีชังเวลานั้น ก็เพิ่งมีคนมาอยู่ ที่แหลมซึ่งได้เป็นที่ตั้ง พระราชฐานในเวลาต่อมา ก็มีชาวบ้านอาศัยอยู่ไม่กี่ครอบครัวนัก มียายเสมซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานสัญญบัตรเป็น ท้าวคิรีรักษา เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของชาวเกาะทั้งปวง

" มีพระบรมราชโองการ นามพระบัณฑูรสีหนาท ให้ประกาศแก่มหาชนชาวสยามแลชาวต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงสยามให้ทราบทั่วกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาไศรยฐานขึ้นไว้ ณ ตำบลเกาะสีชัง เป็นตึกสามหลัง หลังหนึ่งเป็นตึกสี่เหลี่ยมสองชั้น มีสี่ห้องแลเฉลียงน่าทั้งสองชั้น หลังหนึ่งเป็นตึกกลมมีสามห้องเฉลียงรอบหลังหนึ่งเป็นตึกยาวมี ๕ ห้อง เฉลียงหน้าหลัง แลมีครัวไฟห้องน้ำพร้อม ตึกสามหลังนี้ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นส่วนพระคลังข้างที่พระราชทานให้สร้างขึ้นไว้ เพื่อเป็นที่อาไศรยแก่มหาชนทั้งปวงด้วยทรงพระราชดำริห์ว่าที่ตำบลเกาะสีชังนี้ ไม่ไกลจากกรุงเทพนักแลเป็นท่าเรือไปมาได้พักอาไศรยอยู่เนืองๆ บางทีผู้ป่วยไข้ที่จะหาประเทศที่รักษาโรคให้เป็นศุขสบายก็แปลงสฐานออกมาอยู่ที่เกาะสีชังเนืองๆ ฤาผู้ที่มีกำลังอันอ่อนอยู่ในบ้านเมืองไม่สบายจำเป็นต้องออกมาหาความศุขตามชายฝั่งทะเล ก็มาอาไศรยในที่นี้เนืองๆ...."

ครั้งล่วงมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสีชังก็ได้เป็นที่พักระยะ ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินหัวเมือง ฝั่งทะเลตะวันออก เหมือนอย่างเมื่อครั้ง สมเด็จพระบรมชนกนาถ และในเวลานั้น การค้าขายในกรุง กับนานาประเทศ เจริญขึ้น มีเรือไปมารับบรรทุกสินค้ามาก การจอดรับและลำเลียงสินค้า ที่นอกสันดอน ปากน้ำเจ้าพระยา ไม่สะดวก ชาวเรือทั้งหลาย จึงได้มาทอดเรือที่เกาะสีชังนี้ เพื่อขนถ่ายสินค้า และอาศัยกำลังคลื่นลม เกาะสีชังจึงเริ่มเป็นชุมชน ที่มีผู้คนไปมามาก และนิยมกันว่า อากาศดี ประจวบกับบางครั้ง เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ บางพระองค์ อาทิเช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งต่อมา เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๖ แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ทรงพระประชวร แพทย์ลงความเห็นว่า ควรจะให้เสด็จไป ประทับอยู่ในที่ซึ่งได้อากาศทะเล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับรักษาพระองค์ ที่เกาะสีชังนี้เป็นปฐม และต่อมาก็ได้มีเจ้านายอีกหลายพระองค์ เสด็จมารักษาพระองค์ที่เกาะสีชังนี้ อยู่เป็นประจำ เกาะสีชังจึงค่อยมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยลำดับ มีการปลูกสร้างอาคารสถานต่างๆ จนพอแก่การที่พระบาทสมสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน มาประทับแรมได้  

ในปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินออกมาประทับที่เกาะสีชัง พร้อมด้วย พระนางเจ้าพระวรราชเทวี (คือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) ซึ่งในเวลานั้น ทรงพระครรภ์ ใกล้จะถึงกำหนดประสูติ จึงทรงพระราชดำริว่า ที่เกาะสีชังนี้ เป็นที่อากาศดี มีภูมิสถานเป็นที่สบาย ควรจะตั้งพระราชฐานให้มั่นคง เป็นที่ประทับในฤดูร้อน และต่อไปภายหน้าการค้าขายเจริญยิ่งขึ้น ที่เกาะนี้จะต้องเป็น ที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงสยาม เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ได้อาศัย จอดรับสินค้า พระราชฐานที่เกาะนี้ ย่อมเป็นพระราชฐานสำคัญแห่งหนึ่ง เหมือนดั่งว่าเป็นพระนคร ที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ เจริญพระราชอิริยาบทในฤดูร้อน ไม่เป็นที่ควรรังเกียจอันใด ในการที่จะประสูติที่เกาะนี้เลย เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอประสูติแล้ว ก็จะได้พระราชทานนาม พระราชฐานนี้ ให้ต้องกับพระนามแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอนั้น ให้ปรากฏไว้สืบไปภายหน้าด้วย

ครั้น ณ วันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ เวลา ๘ ทุ่ม ๕๓ นาที ได้ศุภวารมหามงคลสมัย อันอุดม พระนางเจ้าพระวรราชเทวีประสูติ พระราชกุมาร ณ พระตำหนักมรกฏสุทธ์ ในพระราชฐานแห่งนี้

อีกประมาณหนึ่งเดือนต่อมา เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ได้มีการสมโภชเดือนพระราชกุมาร ก่อพระฤกษ์พระที่นั่งองค์ใหญ่ อันเป็นหลักแห่งพระราชฐาน และการพระราชทานนามแก่พระราชฐาน รวมกันเป็นสามพระฤกษ์ พระราชกุมารนั้น ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ ส่วนพระราชฐานนั้น ให้เรียกว่า พระจุฑาธุชราชฐาน โดยนิยมตามพระนามซึ่ง พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น และพระราชทานนาม พระที่นั่งซึ่งก่อพระฤกษ์ในคราวนั้นว่า พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงษ์วรเดช เป็นแม่กอง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การทั้งหลายมิได้ดำเนินไป โดยตลอดลุล่วงดังพระราชประสงค์ ด้วยหลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ระหว่างประเทศขึ้น ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต ถึงขนาดฝรั่งเศส ทำการปิดอ่าวไทย พระจุฑาธุชราชฐาน จึงไม่เป็นสถานที่ปลอดภัยอันควรแก่การ เสด็จพระราชดำเนินอีกต่อไป พระราชฐาน ณ เกาะสีชังแห่งนี้ จึงถูกทอดทิ้งรกร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 15 ต.ค. 05, 01:50
 ต่อมาในวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๓๕ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องสี พระวรราชเทวีประสูตรพระราชโอรส ณ พระตำหนักมรกฏสุทธิ์ในพระราชฐานนี้ มีการสมโภช ๓ วัน ตามขัตติราชประเพณี และในระหว่างนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เร่งดำเนินการสร้างสถานที่ต่าง ๆ ในพระราชฐานให้ทันการพระราชพิธีสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงษ์วรเดชทรงเป็นแม่กองพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพศาสตรศุภกิจเป็นนายช่างผู้แบบอย่าง พระยาชลยุทธ์โยธินทร์เป็นกงสีจ่ายสิ่งของ พระยาสมุทรบุรานุรักษ์เป็นกงสีจ่ายเงินและจ้างจีนเป็นลูกจ้าง และได้พระราชทานนามสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้โดยคล้องจองกัน ดังนี้

   ก. พระที่นั่ง ๔ องค์

      ๑. พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์     ๒. พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์
      ๓. พระที่นั่งโชติรสประภาต์     ๔. พระที่นั่งเมขลามณี

   ข. พระตำหนักต่าง ๆ ในพระราชฐาน ๑๔ ตำหนักคือ

๑. พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ
๒. พระตำหนักเพ็ชรระยับ

๓. พระตำหนักทับทิมสด
๔. พระตำหนักรกฎสุทธ์

๕. พระตำหนักบุษราคัม
๖. พระตำหนักก่ำโกมิน

๗. พระตำหนักนิลแสงสุก
๘. พระตำหนักมุกดาพราย

๙. พระตำหนักเพทายใส
๑๐. พระตำหนักไพฑูรย์กลอก

๑๑. พระตำหนักอกตะแบกลออ
๑๒. พระตำหนักโอปอล์จรูญ

๑๓. พระตำหนักมูลการะเวก
๑๔. พระตำหนักเอกฟองมุก


       

   ค. บ่อต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น ๑๔ บ่อ

๑. บ่ออัษฎางค์ ๒. บ่อเชิญสรวล
๓. บ่อชวนดู ๔. บ่อชูจิตร
๕. บ่อพิศเพลิน ๖.บ่อเจริญใจ
๗. บ่อหทัยเย็น ๘.บ่อเพ็ญสำราญ
๙. บ่อศิลารอบ ๑๐.บ่อขอบก่อ
๑๑. บ่อล้อหอย ๑๒.บ่อน้อยเขา
๑๓. บ่อเลาเหมือน ๑๔.บ่อดูเหมือนต่อ

นอกจากนี้ยังมีบ่อต่าง ๆ อีก ๙ บ่อ ในเขตพระราชฐานที่มิได้มีชื่อพระราชทานบันทึกไว้

   ง. สระ จำนวนทั้งสิ้น ๓ สระ

       ๑. สระเทพนันทา

       ๒. สระมหาอโนดาตต์

       ๓. สระประพาสชลธาร

   จ. ธาร จำนวนทั้งสิ้น ๒ ธาร

       ๑. ธารเครื่องหอมปน

       ๒. ธารสุคนธ์ปรุง

   ฉ. บันได จำนวนทั้งสิ้น ๒๑ บันได

๑. บันไดเนรคันถี ๒. บันไดรีฟันม้า
๓. บันไดผาเยปนูน ๔. บันไดมุนโสตหนา
๕. บันไดศิลาทอง ๖. บันไดผองผลึก
๗. บันไดบึกประพาฬ ๘. บันไดปกนาคสวาสดิ์
๙. บันไดปกนาคสวาสดิ์ ๑๐. บันไดลาดนากแท่งหยก
๑๑. บันไดศิลาแร่ ๑๒. บันไดแพร่เพ็ชร์น้ำค้าง
๑๓. บันไดพร่างนิลน้ำขาว ๑๔. บันไดพราวตากระต่าย
๑๕. บันไดพรายคัมเมียว ๑๖. บันไดเขี้ยวหนุมาน
๑๗. บันไดผสาณโมรา ๑๘. บันไดศิลาอ่อน
๑๙. บันไดท่อนมาเบอร์ ๒๐. บันไดเสมอกรุนผา
๒๑. บันไดศิลาอ่อนลาย  

   ช. ถ้ำ จำนวนทั้งสิ้น ๓ ถ้ำ

๑. ถ้ำจรูญนพรัตน์  

๒. ถ้ำจรัสนพเลาห์

๓. ถ้ำเสาวภา

   ฉ. ผา จำนวน ๓ ผา

๑. ผาเงินตระหง่าน

๒. ผาม่านนาก

๓. ผาฉากสัมฤทธิ์

   ช. น้ำตก น้ำตกในเขตพระราชฐานมีจำนวน ๕ น้ำตก

       ๑. น้ำตกไหลหลั่ง

       ๒. น้ำตกถั่งธาร

       ๓. น้ำตกปานร่ม

       ๔. น้ำตกสมพู่

       ๕. น้ำตกพรูสาย

ซ. ทางในพระราชฐาน มีชื่อพระราชทางคล้องจองกันจำนวนทั้งสิ้น ๒๖ ทาง และทางในมหาวัน จุลวัน ซึ่งไม่มีชื่ออีก  จำนวนหนึ่ง มีตำแหน่งที่ตั้งและความยาวตามชื่อที่ได้บันทึกไว้ดังนี้

    ๑. ทางโรยทองทราย ตั้งแต่ปตูดุสิตเทวะสภา ถึงทางอ้อมหล่อ ซึ่งเปนทางริมเขื่อนน้ำกว้าง ๒ วา ยาว ๑ เส้น ๑๒ วา ๑ ศอก

   ๒. ทางรายทองเหรียญ ทางริมกำแพงพระราชฐานด้านเหนือ ตั้งแต่ทางโรยทองทรายถึงทางกรวดทองก้อน

หมายเหตุ........คำศัพท์บางคำใช้ตามคำสะกดภาษาไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว......................

ใครอยากดูรูปก็ดูที่นี่เลยครับ >>http://www.arri.chula.ac.th/sichang_pic/map.gif


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: Olympus ที่ 18 ต.ค. 05, 20:39
 อยากจะรบกวนถามผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับวังหลังของกรุงรัตนโกสินทร์หน่อยครับ ว่าอยู่ตรงไหน เป็นมาอย่างไร และถ้ามีรูปด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ ขอบคุณครับ


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 19 ต.ค. 05, 08:39

ได้ครับ เดี๋ยวผมจะหาเรื่องราวของวังหลังมาให้อ่านกัน

เรื่อง ‘วังหลัง’ หรือ ‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘กรมพระราชวังหลัง’ มีผู้ถามกันมามากเช่นกัน

  ‘วังหน้า’ นั้นเรียกวังของพระมหาอุปราชกรมพระราชวัง รับพระบัณฑูร แรกเริ่มมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชกาลที่ ๘ พระบรมราชวงศ์เชียงราย แห่งกรุงศรีอยุธยา เหตุที่ทรงตั้งพระมหาอุปราชวังหน้า ก็เพื่อมิให้เกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน เหมือนเมื่อครั้งเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ยกทัพมาจากเมืองลูกหลวงแย่งชิงราชสมบัติกันจนถึงแก่สิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าสามพระยา พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

            ‘วังหน้า’ พระองค์แรกคือ พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระนามว่า พระอินทราชา ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สวรรคต ‘วังหน้า’ ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ รัชกาลที่ ๙ พระบรมราชวงศ์เชียงราย

            ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ตั้งทุกรัชกาล บางรัชกาลก็ไม่ได้ตั้ง หรือไม่ทันตั้ง เพราะมีเหตุให้เปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยๆ พระเจ้าแผ่นดิน ๓๓ พระองค์ ราชวงศ์ ๕ ราชวงศ์ มี ๑๒ แผ่นดินเท่านั้นที่ตั้ง พระมหาอุปราชวังหน้า ๑๒ พระองค์

           ส่วน ‘วังหลัง’ หรือกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เพิ่งจะมีขึ้นในรัชกาล

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (รัชกาลที่ ๑๗ ของกรุงศรีอยุธยา และที่ ๑ แห่งบรมราชวงศ์เชียงราย-สุโขทัย เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ

           ในรัชกาลนี้โปรดให้ สมเด็จพระนเรศวร ประทับวังด้านหน้าพระราชวัง และทรงสร้างวังทางด้านหลังพระราชวัง พระราชทานสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเรียกกันว่า ‘วังหลัง’ คู่กันกับ ‘วังหน้า’

           ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รัชกาลที่ ๒๗ กรุงศรีอยุธยา ที่ ๔ แห่งบรมราชวงศ์ปราสาททอง) ไม่ได้ทรงตั้งมหาอุปราชวังหน้า แต่โปรดให้พระราชอนุชาพระองค์หนึ่ง คือ พระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ ประทับอยู่วังหลัง

            ‘วังหลัง’ ในสองรัชกาลนี้ เป็นแต่ที่ประทับยังมิได้เป็น ‘กรมพระราชวังหลัง’

           ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (รัชกาลที่ ๒๘ กรุงศรีอยุธยา เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึงรัชกาลที่ ๒๙ พระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงเสือ ขุนหลวงสรศักดิ์ ย้อนกลับเข้าราชวงศ์ปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าขุนหลวงเสือเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นราชวงศ์ปราสาททองต่อกันมาอีก ๔ พระองค์จนเสียกรุง)

           ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานี้เอง ที่มีทั้ง ‘วังหน้า’ และ ‘วังหลัง’ ‘วังหน้า’ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ‘วังหลัง’ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’

           กรมพระราชวังหลัง หรือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีเพียงพระองค์เดียวเช่นกัน

           เรื่อง กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข นี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕ ไว้อย่างชัดเจน อย่างอ้างอิงได้ ดังนี้

            “คำว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ มีเรื่องตำนานมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

           เมื่อรวมคนหัวเมืองเหนือลงมาตั้งสู้ศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธยา ครั้งนั้น พระนเรศวรสร้างวังเป็นที่ประทับอยู่ทางด้านหน้าพระราชวังหลวง คนทั้งหลายคงเรียกวังนั้นตามนามวังที่เคยเสด็จประทับ ณ เมืองพิษณุโลกว่า ‘วังจันทร์’ บ้าง เรียกว่า ‘วังหน้า’ บ้าง (แต่สมเด็จพระนเรศวรมิได้ทรงรับ พระมหาอุปราชวังหน้า ณ กรุงศรีอยุธยา หากแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ราชบิดา โปรดให้เสด็จกลับขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือ มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าพระมหาอุปราชกรมพระราชวัง หรือ ‘วังหน้า’ ที่แล้วๆ มา-จุลลดาฯ)

           สันนิษฐานว่าครั้งนั้นคงสร้างวังขึ้นที่สวนหลวงด้านหลังพระราชทานพระเอกาทศรถอีกวัง ๑ คนทั้งหลายก็เรียกกันว่า ‘วังหลัง’ จึงเกิดมี วังหลวง วังหน้า และวังหลังขึ้นแต่ครั้งนั้นมา

           ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช (พ.ศ. ๒๑๙๙) สมเด็จพระนารายณ์ฯได้เป็นพระมหาอุปราช ประทับอยู่ที่วังหน้า แล้วเกิดรบกันขึ้นกับสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช (พระเจ้าอาของพระนารายณ์ฯ-จุลลดาฯ) สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ราชสมบัติ แต่ไม่เสด็จมาอยู่วังหลวง

ประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี สันนิษฐานว่า เห็นจะเปลี่ยนนามวังจันทร์เกษม (ซึ่งเรียกมาแต่ครั้งพระนเรศวรฯ-จุลลดาฯ) เป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ในตอนนี้ เพราะเป็นพระราชวังและเป็นมงคลสถานที่ได้เสวยราชย์

           ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯนั้นปรากฏว่า พระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ ราชอนุชาองค์ ๑ ได้ประทับอยู่ ณ วังหลัง แต่หาได้เพิ่มยศศักดิ์อย่างใดไม่

           ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราช ตั้งราชวงศ์ใหม่ จะตั้งให้หลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตร เป็นพระมหาอุปราช และจะตั้งนายจบคชประสิทธิ์ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าชั้นสูง รองแต่พระมหาอุปราชลงมา ให้อยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล คือ วังหน้า องค์หนึ่ง ให้อยู่วังหลังองค์หนึ่ง

           จึงเอาระเบียบการตั้งกรมเจ้านายบังคับบัญชา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงบัญญัติขึ้น มาใช้ให้ขนานนามข้าราชการบรรดาที่มีตำแหน่งขึ้นอยู่ในพระมหาอุปราช เรียกรวมกันตามชื่อวังว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’

           แล้วเอาแบบนั้นไปตั้งขึ้นสำหรับ วังหลังเรียกนามว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’

           จึงเกิดนามเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แต่นั้นสืบมา”

           กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเพียงพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ ๑ ได้เคยเล่าเรื่องของท่านตลอดจนพระโอรสชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ทรงกรม ที่เรียกกันว่า ‘เจ้าสามกรม’ มาแล้ว

           จึงขอเท้าความแต่เพียงสั้นๆ ว่า ‘กรมพระราชวังหลัง’ ท่านเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ พระอินทรักษา (หม่อมเสม) เป็นพระบิดา

           พระอินทรักษา (หม่อมเสม) เป็นบุตรชายใหญ่ของพระยากลาโหมราชเสนา อธิบดีกรมกลาโหมฝ่ายพระราชวังบวรสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

            “กรมพระราชวังหลัง” เดิมท่านมีพระนามว่าทองอิน ประสูติรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษ เมื่อ พ.ศ.๒๒๘๙ ท่านจึงมีพระชันษาสูงกว่า สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ถึง ๒๑ ปี

           ในรัชสมัยกรุงธนุบรี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง รับราชการจนกระทั่งเลื่อนเป็น พระยาสุริยอภัย ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศ เสมอเจ้าพระยา

           เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

           เมื่อชนะศึกพม่า มีความชอบ จึงโปรดเกล้าฯเพิ่มพระเกียรติยศ สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข รับพระบัญชาตามแบบอย่างกรมพระราชวังหลัง แต่ครั้งสมเด็จพระเพทราชา

           กรมพระราชวังหลัง มีพระอัครชายา พระนามว่าทองอยู่ เมื่อสถาปนาพระบรมราชวงศ์ โปรดฯ ให้ทรงศักดิ์เป็น เจ้าครอกทองอยู่ เรียกกันว่า ‘เจ้าข้างใน’ บ้าง ‘เจ้าครอกข้างใน’ บ้าง “เจ้าครอกใหญ่’ บ้าง

           ที่เรียกว่า ‘เจ้าครอกใหญ่’ สันนิษฐานกันว่า คงจะเรียก พระอัครชายา (เจ้าศิริรจจา หรือศรีอโนชา) ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่า ‘เจ้าครอก’ เช่นกัน จึงทำให้น่าจะมีทั้งเจ้าครอกใหญ่ และเจ้าครอกน้อย นี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังไม่มีเอกสารยืนยัน

           เจ้าครอกทองอยู่ เดิมท่านเป็นชาววังสมัยอยุธยา เป็นข้าหลวงสำนัก เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี

           ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ที่พม่าจดเอาไว้ ว่า เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี เป็นพระขนิษฐาของเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดา ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวสาน้อย) ส่วนพระพันวสาใหญ่ คือกรมหลวงอภัยนุชิต)

           เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี นั้น เมื่อกรุงแตก ไม่ปรากฏพระองค์ เช่นเดียวกับเจ้านายอีกหลายๆ พระองค์ มีแต่เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ที่ทรงรอดมาได้ เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงอุปถัมภ์ยกย่องให้เสด็จอยู่ในวัง เป็นหลักในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีฝ่ายใน จนถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มหาราช ก็ทรงยกย่อง เชิญเสด็จเข้าประทับในพระบรมมหาราชวัง เช่นกัน สมเด็จเจ้าฟ้าพินทวดี ทรงเจริญพระชันษาเสด็จอยู่มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๑


ในรูปนี่คือ สมเด็จกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ ๑ พระรูปวาดจากเค้าพระพักตร์พระปฐมวงศ์ผสมผสานจินตนาการ

ข้อมูลจาก :: http://www.sakulthai.com/  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 08:40
 อยู่ตรงโรงพยาบาลศิริราช ค่ะ
อ่านได้จากบทความของเรือนไทย
 http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=245  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 19 ต.ค. 05, 08:45
 และนี่คือ บทความอีกบทความหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องราวของวังหลังนะครับ

ขอขอบคุณ บทความจาก::  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมภ์ คัมภีร์จากแผ่นดิน

วังหลัง

สงครามสมัยโบราณ พระมหากษัตริย์เป็นทัพหลวง พระมหาอุปราชเป็นทัพหน้า ที่ประทับของแม่ทัพหน้าจึงถูกเรียกว่า วังหน้า

วังหน้า...ส่วนใหญ่จะรู้จักกันดี ขณะที่ วังหลัง...ยังรู้จักกันไม่มาก

วังหลัง พระองค์แรก อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินพระมหาธรรมราชา โปรดให้สมเด็จพระนเรศวร เป็นพระบัณฑูร หรือวังหน้า สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงได้เป็นวังหลัง ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้เป็นพระบัณฑูรน้อยหรือไม่ เพราะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ได้ขึ้นครองราชย์

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ เป็นวังหลัง ต่อมา วังหลังพระองค์นี้เป็นกบฏ ถูกจับสำเร็จโทษ

แผ่นดินพระเพทราชา โปรดให้พระเจ้าเสือ เป็นพระมหาอุปราช ประทับวังหน้า แล้วโปรดให้สถาปนา นายจบคชประสิทธิ์ เป็นเจ้า...ประทับอยู่วังหลัง มีชื่อเรียกเป็นทางการ พระราชวังบวรสถานพิมุข

วังหลังพระองค์นี้ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน เหตุการณ์ก็ซ้ำรอยเก่า ถูกจับสำเร็จโทษอีก

เป็นอันว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวังหลังอยู่สามพระองค์

สมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดาร กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบดาภิเษก และเสด็จประทับ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ในพุทธศักราช 2325 แล้ว โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสถาปนาพระยาสุริยอภัย พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

ตำแหน่งที่ตั้งของวังหลัง เป็นสวนลิ้นจี่ อยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะกับการป้องกันดูแลพระนครทางด้านนี้ ใกล้กับสวนมังคุด ที่ดินนิวาสสถานเดิม ที่ได้พระราชทานจากพระมารดา (บริเวณวัดอมรินทราราม)

สมัยรัชกาลที่ 5 มิชชันนารีอเมริกัน ได้มาขอซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลัง สร้างโรงเรียน คือโรงเรียนสตรีวังหลัง ที่ดินส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์

จน พ.ศ.2429 รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริสร้างโรงพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติเลือกที่ดินวังหลัง เพราะเห็นว่าที่ดินผืนนี้อุดมด้วยต้นไม้ เหมาะกับการเป็นที่พักคนไข้

พ.ศ.2430 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุฏภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ เสร็จงานพระราช-ทานเพลิง โปรดให้รื้อโรงเรือนต่างๆ ตลอดจนเครื่องใช้จากพระเมรุสร้างในโรงพยาบาล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ต่อมาพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า ศิริราชพยาบาล

แต่คนทั่วไปติดชื่อเดิม ยังเรียกว่าโรงพยาบาลวังหลัง

เมื่อมีการขยายพื้นที่โรงพยาบาล ก็มีการซื้อที่ดินเพิ่ม จนสรุปได้ว่า พื้นที่เคยเป็นวังหลังทั้งหมด อยู่ในกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาลศิริราช แม้บัดนี้ ไม่มีร่องรอยสิ่งก่อสร้างของพระราชวังบวรสถานพิมุขเหลืออยู่ แต่อาณาบริเวณดังกล่าวนี้ก็ยังเรียกขานกันว่า วังหลัง

นับจาก สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์แล้ว ในรัชกาลต่อมา ไม่ปรากฏว่ามีพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ใดได้ตำแหน่งวังหลังอีก.

"บาราย"

ในรูปคือตรงที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบันครับ  


กระทู้: เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
เริ่มกระทู้โดย: สะใภ้จ้าว ที่ 19 ต.ค. 05, 08:47

ขอบคุณมากครับคุณ เทาชมพู