เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 07, 12:13



กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 07, 12:13

      จากภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ รุ่นการเดินทางครั้งใหม่ของมณีจันทร์เมื่อประมาณ ๓ ปีก่อน
ที่ผู้สร้างได้ดัดแปลงบทประพันธ์ดั้งเดิมไปไม่น้อย (มีผลทำให้นักอ่านที่ประทับใจกับเรื่องราว
แบบเดิมรับไม่ได้)  มณีจันทร์ ผู้ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ในนิยายเป็นร. ๕) เล่า
เรื่องราวผู้คนร่วมสมัยในยุคปัจจุบันของตนให้คนในอดีตฟังว่า

          คนไทยอ่านหนังสือกันคนละ ๗ บรรทัด ต่อปี      

        ประโยคนี้สร้างความสงสัยไม่น้อยให้กับผู้ชมที่มีจำนวนไม่มากว่า จริงหรือ

         ความสงสัยนี้คลี่คลายลงบ้างหลังจากได้ฟังรายการข่าวทางวิทยุ เมื่อสัปดาห์ก่อน
         เรื่องการรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเป็น ๑๒ บรรทัดต่อปี จากตัวเลขเดิม ๗ บรรทัด
ที่สำรวจโดยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

         และวันนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้เสนอรายละเอียดที่น่าสนใจและมีประโยชน์ จึงนำ
มาแสดงไว้  ณ ที่นี้
 


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 07, 12:20

          เมื่อกันยายน 2546 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการอ่านหนังสือของคนไทย พบคนไทย
อ่านหนังสือ 35.5 ล้านคน ขณะที่มีผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคน หรือเกือบ 40%

         ผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคน เป็นเพศชาย 10.1 ล้านคน และเพศหญิง 12.3 ล้านคน
             เหตุที่ไม่อ่านเพราะชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า ขณะที่เด็กอายุ 10-14 ปี ระบุชัดว่าไม่ชอบอ่าน และ
ไม่สนใจถึงกว่า 60%

         ส่วนผู้อ่านหนังสือ 25.4 ล้านคน มีสัดส่วนของการอ่านหนังสือพิมพ์สูงที่สุด 66% รองลงมาคือ
อ่านนวนิยาย-การ์ตูน-หนังสืออ่านเล่น 44.6% และอ่านตำราเรียนตามหลักสูตร 40%

         หากเทียบคนไทยกับต่างประเทศแล้วมีเพียงแค่ 5 เล่มต่อคนต่อปี นี่ยังไม่คิดถึงมาตรฐานความหนาบาง
ขนาดรูปเล่ม
             สิงคโปร์ อ่าน 17 เล่มต่อคนต่อปี และสหรัฐอเมริกา 50 เล่มต่อคนต่อปี 

             จากการสำรวจของยูเนสโกพบว่า คนไทยบริโภคกระดาษเพียง 13.1 ตันต่อปี ต่อ 1,000 คน
หากเปรียบเทียบกับคนสิงคโปร์หรือฮ่องกงแล้ว บริโภคถึง 98 ตันต่อปีต่อ 1,000 คน

             ส่วนสถิติการใช้ห้องสมุดพบคนไทยต่ำกว่า 3% เข้าห้องสมุดประชาชน 1 ครั้ง 1 ปี และ
ต่ำกว่า 1% เป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชน ทั้งประเทศเป็นสมาชิกห้องสมุดเพียง 420,000 คนเท่านั้น

ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ Positioning Magazine เดือนตุลาคม 2548 สำรวจพบว่า

           คนไทยจำนวน 59.2 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือประมาณ 69.1% จำแนกเป็นชาย 51.1% และหญิง 48.5%
และจำนวน 59.2 ล้านคนนี้มีผู้ไม่อ่านหนังสือ 30.9% แยกเป็นชาย 28.4% และหญิง 33.3%

       เฉพาะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 สำรวจนักเรียนจำนวน 13,291 คน
อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่รักการอ่าน และคิดไม่เป็น ร้อยละ 12

         มหกรรมนักอ่าน ที่กระทรวงศึกษาธิการอุตส่าห์ลงทุนลงแรงจัดขึ้นในศูนย์แสดงสินค้าใหญ่ กทม.
เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการเพิ่งจบไปนั้น ต้องขอบคุณนักวิจัยและข้อมูลทั้งหลาย ที่ต่างชี้ตรงกันว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ
โดยจากสถิติคนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อคนต่อปีเท่านั้น

          จบมหกรรมนักอ่านนี้แล้ว หวังว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่า 12 บรรทัดต่อคนต่อปีตามที่ตั้งเป้าไว้



กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 07, 14:40
ขอบคุณที่เอามาให้อ่านครับ

จะว่าไปแล้วการนำเสนอแบบนี้น่าจะเพื่อดึงดูดความสนใจมากกว่า เพราะคำว่า "คนไทยอ่านหนังสือกันคนละ ๗ บรรทัด ต่อปี" ไม่ได้สะท้อนปัญหาทีมีอยู่จริง

ความจริง "อาจจะ" เป็น
"คนไทย 50% ไม่อ่านหนังสือเลย"
หรือ
"คนไทย 90% อ่านหนังสือน้อยกว่า 10 บรรทัดต่อปี"

สมจริง และยังน่ากลัวกว่า "คนไทยอ่านหนังสือกันคนละ ๑๐ บรรทัด ต่อปี" เสียอีก


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 07, 17:32
       หาข้อมูล ตัวเลข มาเพิ่มเติม ครับ.  หวังว่าคงไม่ทำให้ใครตาลาย.

>> จากสำนักข่าวไทย

           สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรปี 2546 พบว่า

ประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จำนวน 57.8 ล้านคน เป็นผู้อ่านหนังสือ     35.4 ล้านคน  หรือ ร้อยละ  61.2
และ                                                      ผู้ไม่อ่านหนังสือ  22.4 ล้านคน  หรือ ร้อยละ  38.8

เมื่อพิจารณา ผู้อ่านหนังสือ พบว่า เพศชายสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย และ เมื่อพิจารณาตามภาคและ
เขตการปกครอง พบว่า ประชากรในกรุงเทพฯ มีอัตราการอ่านหนังสือสูงที่สุดร้อยละ 81.6
                   รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ร้อยละ 63.5, 61.1 และ 59.2 ตามลำดับ
                             สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุดคือ ร้อยละ 52.8
ทั้งนี้ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตฯ ร้อยละ 74.4 และ 54.7

สำหรับ ผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคน  เป็น   เพศชาย 10.1 ล้านคน และเพศหญิง 12.3 ล้านคน
ประชากรที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีอัตราการไม่อ่านหนังสือสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเขตฯ ร้อยละ 45.3 และ 25.6
 
ส่วน ผู้อ่านหนังสือ 35.4 ล้านคน มีสัดส่วนของการอ่านหนังสือพิมพ์สูงที่สุด ร้อยละ 66
รองลงมาคือ อ่านนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น ร้อยละ 44.6 และอ่านตำราเรียนตามหลักสูตร ร้อยละ 40

       เมื่อพิจารณาประเภทหนังสือที่อ่านตามกลุ่มอายุ พบว่า

อายุ 6-14 ปี   เกินกว่าร้อยละ 95 อ่านตำราเรียนตามหลักสูตร รองลงมาคือ อ่านนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น
วัยทำงาน 25-59 ปี วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และเยาวชนอายุ 15–24 ปี ส่วนใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์
    ทั้งนี้ ผู้ที่อ่านตำราเรียนตามหลักสูตร ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.3 อ่านทุกวัน รองลงมาอ่านสัปดาห์ละ 4-6 วัน ร้อยละ 26.3

     กลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่อ่านทุกวัน ร้อยละ 30.6 รองลงมาอ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน ร้อยละ 28.5
     กลุ่มที่อ่านวารสาร/เอกสารอื่น ๆ นิตยสาร นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น ส่วนใหญ่อ่านนาน ๆ ครั้ง
     ผู้อ่านหนังสือส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 อ่านข่าว รองลงมาอ่านสาระบันเทิงร้อยละ 23.8 และ
อ่านสารคดี/ความรู้ทั่วไป ร้อยละ 21.9   

        นอกจากนี้ ผู้อ่านหนังสือส่วนใหญ่ร้อยละ 45.5 อ่านหนังสือที่บ้าน รองลงมาอ่านที่สถานศึกษา ร้อยละ 19.4
อ่านที่ทำงานร้อยละ 14.1 และอ่านตามสถานที่เอกชน ร้อยละ 12.8

     สถานที่อ่านหนังสือที่มีประชาชนไปใช้บริการน้อยกว่าร้อยละ 4 ได้แก่ ห้องสมุด ที่อ่านหนังสือในหมู่บ้าน/ชุมชน
และสถานที่ราชการ
     นอกจากนี้  มีเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น ที่อ่านระหว่างโดยสารรถหรือเรือ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 07, 17:51

ตัวเลขต่อครับ

           ในจำนวน   ผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคนนั้น
            ส่วนใหญ่ ชอบฟังวิทยุหรือดูทีวี  ร้อยละ  57.4
            รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน  ร้อยละ 48.1 และ ไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจร้อยละ  45.5
 
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ไม่อ่านหนังสือตามกลุ่มอายุ พบว่า ส่วนใหญ่แทบทุกกลุ่มให้เหตุผลว่า  ชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า
ยกเว้นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี ที่ให้เหตุผลว่า ไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจถึงร้อยละ 60.9 และ
กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะสายตาไม่ดีร้อยละ 58.5

       ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 40.3 คิดว่าหนังสือควรมีราคาถูกลง
           ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 35.9 และ
          ควรส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือร้อยละ 22.9

และสุดท้าย บางส่วนจากอีกรายงานข่าวจากงานมหกรรมนักอ่าน ทำให้สงสัยว่า 
                7 บรรทัดต่อปี หรือต่อวันกันแน่

       เมื่อปี 2546 คนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อคนต่อวัน แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็ก
เยาวชน รักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ พบว่า
           ปี 2550 คนไทยมีนิสัยรักการอ่านดีขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอ่านหนังสือมากขึ้น

           การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปีพุทธศักราช 2546 - 2548 ที่ผ่านมา พบว่า

          พฤติกรรมการอ่านของประชาชนชาวไทยในภาครวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9
           กลุ่มวัยเด็กอ่านหนังสือมากที่สุด ร้อยละ 87.7
           กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 83.1

          สะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆและเยาวชนมีพฤตติกรรมการอ่านหนังสือค่อนข้างสูงกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งบ่งบอกถึงผลสำเร็จ
เบื้องต้นที่ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านไว้เป็นอย่างดี

          ศธ.ยังไม่ได้ตีค่าออกมาว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละกี่บรรทัด แต่ ศธ.ตั้งเป้าไว้ที่12 บรรทัดต่อวัน
     
           
     


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 07, 18:59
คิดว่าตัวเลข 7 บรรทัดต่อวันคงเฉลี่ยรวมคนอ่านและไม่อ่านเข้าด้วยกันแล้ว

ดังนั้นถ้าคิดเฉพาะคนที่อ่านหนังสือ จะได้ว่าเฉลี่ยแล้วคนหนึ่งวันละ 11 บรรทัดกว่าๆ

ผมอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละหลายพันบรรทัด และคิดว่านักอ่านส่วนใหญ่ก็ต้องอ่านขนาดนี้เป็นอย่างน้อย

น่าคิดว่าคนที่อ่านเกินวันละ 10 บรรทัดมีกี่คน

ดูยอดพิมพ์หนังสือทั่วไป ไม่นับที่มีกระแส ต้องถือว่าน่าใจหายจริงๆ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 มิ.ย. 07, 11:42
ส่วนผู้อ่านหนังสือ 25.4 ล้านคน มีสัดส่วนของการอ่านหนังสือพิมพ์สูงที่สุด 66% รองลงมาคือ
อ่านนวนิยาย-การ์ตูน-หนังสืออ่านเล่น 44.6% และอ่านตำราเรียนตามหลักสูตร 40%

ยังงี้ก็รวมเป็น 144.6 % สิครับ   อิอิ  แต่ยังไงก็น่าตกใจครับสำหรับนิสัยรักการอ่านของคนไทยเรา  ผมเคยเห็นสถิติเรื่องการเขียนของคนไทยนะครับ  แต่จำไม่ได้ว่าเห็นที่ไหน  อันนี้น่าตกใจมากกว่าอีก  ถ้าคุณ ศิลา เห็นก็เอามาให้ชมบ้างนะครับ  เห็นคุณพ่อคุณแม่ผมเคยบอกว่า  สมัยท่านมีวิชาคัดไทย-เขียนไทยด้วย  น่าจะเอามารื้อฟื้นนะครับ  เพราะผมเองใครก็บอกว่าลายมือแย่มากๆ   ;)


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 มิ.ย. 07, 13:37

     วันนี้ค้นตัวเลขมาเสนอต่อ สำหรับคนที่ตายังไม่ลาย.  วานนี้เป็นปี 2546  วันนี้เป็นปี 2548 ครับ

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากร ครั้งที่ 2 โดยรวบรวมข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2548

     ผลสำรวจพบว่าในจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 59.2 ล้านคน
       มี ผู้อ่านหนังสือ ประมาณ 40.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 69.1 ของจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น

       สัดส่วนของชายที่อ่านหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 51.5 และหญิงร้อยละ 48.5 โดยอัตราการอ่านหนังสือของชายสูงกว่าหญิง
อย่างเห็นได้ชัด
       กล่าวคือในจำนวน ชายอายุ 6 ปี ขึ้นไป   29.4 ล้านคน  อ่านหนังสือ 21.1 ล้านคน  คิดเป็นอัตราร้อยละ 71.6  ในขณะที่
       หญิงมีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีจำนวน     29.7 ล้านคน  อ่านหนังสือ 19.8 ล้านคน  คิดเป็นอัตราร้อยละ 66.7

     เมื่อพิจารณาอัตราการอ่านหนังสือตามกลุ่มอายุพบว่า
        กลุ่มวัยเด็ก (อายุ 10-14 ปี) มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 95.2 เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเรียน
ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ รองลงมาคือ
        กลุ่มเยาวชน (อายุ 15-24 ปี)  ร้อยละ 83.1
     กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุดคือร้อยละ 37.4

     นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการอ่านหนังสือของประชากรมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับระดับการศึกษาที่เรียนจบ
        ผู้ที่จบระดับอุดมศึกษามีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับอื่น ๆ (อัตราร้อยละ 96.3)
     สำหรับผู้ที่จบระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุดคืออัตราร้อยละ 61.8



กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 มิ.ย. 07, 14:00
        ประเภทของหนังสือ ที่ประชาชนให้ความสนใจอ่านมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ หนังสือพิมพ์ คิดเป็นอัตราร้อยละ 72.9
        ประเภทรองลงมา ได้แก่ นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็นอัตราร้อยละ 45.4  และ
        นิตยสาร คิดเป็นร้อยละ 36.9
        ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่าน คิดเป็นอัตราร้อยละ 34.4
        การอ่านจากอินเทอร์เน็ตมีผู้ที่ให้ความสนใจอ่านคิดเป็นอัตราร้อยละ 10.2
        นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้อ่านหนังสือ/ซีดี เกี่ยวกับธรรมะ คิดเป็นอัตราร้อยละ 5.7

        สำหรับ เนื้อหาสาระที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ชอบอ่าน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ชอบอ่านข่าว ร้อยละ 45.6
        รองลงมาคือเนื้อหาสาระที่ให้ความบันเทิง ร้อยละ 25.6

        เมื่อพิจารณา เวลาที่ใช้อ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแต่ละวันของผู้ที่ตอบสัมภาษณ์ พบว่า
            คนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยในแต่ละวันประมาณ 1.59 ชั่วโมง
 
             ผลสำรวจพบว่าประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป 59.2 ล้านคน มี ผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ประมาณ 18.3 ล้านคน
คิดเป็นร้อยละ 30.9 ของประชากรทั้งประเทศ
             แยกเป็นเพศชายประมาณ  8.4 ล้านคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 28.4
                       เพศหญิงประมาณ 9.9 ล้านคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 33.3  [คิดว่าเป็นค่าร้อยละต่อประชากรเพศนั้น]
   ในจำนวนผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ 18.3 ล้านคนนี้    4.1 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ที่เหลืออีก 14.2 ล้านคน อาศัยอยู่นอกเขตฯ
   ในจำนวนผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ 18.3 ล้านคนนั้น เป็นผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก 3.3 ล้านคน

             สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่อ่านส่วนใหญ่ร้อยละ 48.4 ให้เหตุผลว่าไม่อ่านหนังสือเพราะชอบดูทีวี
             รองลงมาร้อยละ 36 ไม่มีเวลาอ่าน
             อีกร้อยละ 30.7 เป็นผู้ไม่ชอบหรือไม่สนใจที่จะอ่าน
             ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1.1 ไม่อ่านหนังสือเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

             หวังว่าข้อมูลคงมีประโยชน์บ้างไม่น้อยก็มาก 
             คุณ Bana จำนวนร้อยละที่รวมแล้วเกินร้อยนั้น น่าจะเป็นเพราะคนตอบ เลือกมากกว่า 1 หัวข้อ คืออ่านทั้งหนังสือพิมพ์
นิยาย ตำราฯ
             ลองดูในเว็บ สนง.สถิติ แล้วไม่พบข้อมูลเรื่องการเขียนครับ       


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 มิ.ย. 07, 19:32
ผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ประมาณ 18.3 ล้านคน
ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก 3.3 ล้านคน
ถ้าอย่างนี้ผมว่าน่าจะเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของเราแล้วล่ะครับ  ผู้ที่ไม่อ่านหนังสือคงต้องมีการส่งเสริมการอ่านมากกว่านี้นะครับ  แต่ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกนี่นะ  ทั้งๆที่เราก็มีการศึกษาภาคบังคับ  เวลาอย่างน้อย 6 ปี  ที่ครูสอนหนังสือให้เด็กในชั้นประถมนานพอที่จะทำให้อย่างน้อยต้องอ่านได้บ้าง  นี่ถ้าคิดเป็นอัตรา 60 ล้านคน ก็ประมาณ 5 % เชียวนะครับ  อันนี้น่าเป็นห่วงที่สุด


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: ทินกร ที่ 25 มิ.ย. 07, 14:37
ถ้าหนังสือไม่แพงมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ
และการเข้าถึงหนังสือมีมากขึ้นคนก็คงอ่านหนังสือมากขึ้น

หลายคนบ่นว่าหนังสือในเมืองไทยแพงมันก็อาจจะจริง
เวลานี้ค่าแรงขั้นต่ำใน กทม.-ปริมณฑล วันละ 191 บาท
ต่างจังหวัดลดหลั่นกันไป ต่ำที่สุด จ.น่าน 143 บาท

ถึงแม้เขาจะอยากอ่านหนังสือเขาก็คงไม่เอาค่าแรงทั้งวัน
หรือค่าแรงมากกว่าหนึ่งวันไปซื้อหรอก
ยังไม่รวมถึงเกษตรกรที่มีรายได้เข้ามาเฉพาะช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว

ตัวผมเองยังชอบซื้อหนังสือลดราคาในงานสัปหาด์หนังสือที่กรุงเทพ
แน่นอนว่างานอย่างนี้คนต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงน้อย

ผมว่าถ้าอยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นก็ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
(ย้ำว่าต่อต้องเนื่องจริงๆ เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องใช้เวลา)
บวกกับการยกระดับรายได้ของประชาชน
และสร้างการเข้าหนังสือให้มากขึ้น  อย่างห้องสมุดต้องลงไปถึงระดับ
ตำบลหรือหมู่บ้าน อาจจร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่น
จัดให้เป็นห้องสมุดที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา
ไม่ใช่ตอนนี้มีหนังสืออะไรอยู่ อีก 10 ปี ข้างหน้าก็มีหนังสืออยู่แค่นั้น
แล้วใครจะเข้ามาอ่าน


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มิ.ย. 07, 14:44
รายได้ก็เรื่องหนึ่งครับ

แต่ถ้าดูจากธุรกิจร้านเช่าหนังสือซึ่งเป็นทางเลือกราคาถูก ต้องบอกว่าสาเหตุหลักไม่ใช่เรื่องเงิน

แต่เป็นเรื่องการศึกษานะครับ

คนไม่อ่าน ลดกระหน่ำยังไงก็ไม่อ่านครับ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: ทินกร ที่ 25 มิ.ย. 07, 15:02
ใช่ครับ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง
ผมถึงได้แยกว่า 1.จะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผมหมายรวมถึงการศึกษาด้วย
2.การยกระดับรายได้ประชาชน
3.การเข้าถึงหนังสือ

ใครมีข้อเสนออะไรเชิญแลกเปลี่ยน


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 มิ.ย. 07, 16:39

      นึกถึง K A P จากวิชาเกี่ยวกับชุมชน ที่เคยเรียนเมื่อนานแล้ว

         สอนไว้ว่า เวลาจะออกไปชุมชน นำ Knowledge ความรู้ไปสู่เขาแล้ว ต้องปรับเปลี่ยน ชักนำ
Attitude ทัศนคติ ความเชื่อของเขาด้วย เขาจึงจะมีการปฏิบัติ Practice ตามเป้าที่เราคาดไว้

         ถ้าเขาเห็นคุณค่าของการอ่าน และ/หรือรักการอ่านเป็นนิสัย แม้หนังสือมีราคาแพงจนซื้อไม่ไหว
(แพงจริงๆ) แม้ไม่มีเวลา ต้องทำงานทั้งวัน เขาก็ยังขวนขวายเพื่อการอ่านจนได้
        อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับวันวาน หรือหนังสือเล่มเก่า (สมัยก่อนก็อาจจะเป็นกระดาษจากถุง
ห่อกล้วยแขก) หยิบ, ยืมมาอ่านขณะพักรับประทานอาหาร หรือระหว่างนั่งรถกลับบ้าน             
         


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 26 มิ.ย. 07, 00:18
ผมยังขอยืนยันว่าเป็นที่ระบบการสอนครับ  การจัดการเรียนการสอนของเรา  ต้องเอื้อต่อการอ่านการค้นคว้า  สอนทักษะการอ่าน  การจด  การจำ  การเขียน  การบูรณาการทักษะต่างๆเหล่านี้ต้องเริ่มจากชั้นประถม-มัธยม  ครับ  ไม่ใช่จะมาหาทักษะกันเอาเองในระดับอุดมศึกษา  แล้วคนไทยจะรักการอ่านมากกว่าเดิมครับ  เราจะได้มีคนเก่งๆอย่าง  อ.เทาชมภู  หรือท่าน CH  ไงล่ะครับ........ :D


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: ทินกร ที่ 05 ก.ค. 07, 13:12
คืนวันที่ 4 ก.ค.50 มีโอกาสดูรายการจุดเปลี่ยนของทีวีบูรพาทางช่อง 9
รายการกล่าวถึงเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย
ผมดูแล้วเห็นว่าจุดหลักน่าจะอยู่ที่โอกาสการเข้าถึงหนังสือ
ซึ่งสาเหตุสรุปได้ 2 ประเด็น คือ
1.สภาพแวดล้อมของการศึกษา
2.ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่าโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เช่น สื่อการสอน
ห้องสมุด มีความแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษาในส่วนกลางและภูมิภาค
เมื่อเป็นเช่นนี้แม้จะมีหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพิ่มเติมนอกห้องเรียน
การอ่าน การตีความ ก็ไม่เกิดการกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจศึกษาหรืออ่านหนังสือมากขึ้น

ในขณะที่ปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีโอกาส
เข้าถึงสื่อ เช่น หนังสือมากขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ  และแม้บางคนจะมีความต้องการ
อ่านหนังสือมากและพยายามหาหนังสือคุณภาพมาอ่านก็อยู่ในขีดจำกัดที่ตัวเองทำได้
ผมเห็นว่าผู้ที่ชอบอ่านหนังสือและอยู่ในสถานะที่เข้าหนังสือได้จำกัดแต่มีความ
พยายามที่จะเข้าถึงหนังสือมีพอสมควรในสังคมไทย  แต่ไม่มากพอที่จะขับเคลื่อน
พฤติกรรมนี้ให้ขยายวงกว้างได้

ผมเห็นว่าเราต้องสร้างโอกาสการเข้าถึงหนังสือ องค์ความรู้ ด้วยการกำหนดนโยบาย
เมกะโปรเจกต์ทางการศึกษา เหมือนที่รัฐบาลกำลังทำเมกะโปรเจกต์ขนส่งมวลชน
ใน กทม.และปริมณฑล  ส่วนรายละเอียดควรเป็นอย่างไรคงต้องให้ผู้มีความรู้ นักการศึกษา
นักวิชาการมาอธิบาย และ อบต.ด้วย

ส่วนเศรษฐกิจครัวเรือนต้องแก้ไขด้วยการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมซึ่งเป็นปัญหาที่พูดมานาน
ต้องสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร ความเป็นธรรมในการ
ถือครองที่ดิน มีระบบแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้
เกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นคนจน  เพราะพื้นฐานของประเทศไทยคือการ
เกษตร


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 07 ก.ค. 07, 20:29
ครับนอกจากการจัดการเรียนการสอน  ให้มีทัศนคติในการรักการอ่านแล้ว  สิ่งที่เรามองข้ามไปคือการเข้าถึงหนังสือ  ไม่ใช่หนังสือในห้องสมุด(ซึ่งไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่าน  เพราะบรรณารักษ์ปิดเป็นเวลา  และปัญหาการเร่งรีบประจำวัน)  และไม่ใช่หนังสือที่ร้านเช่าที่ยิ่งยากไปอีก  แต่ผมหมายถึงหนังสือในบ้าน  ครอบครัวชนบทเกษตรกร  หรือครอบครัวกรรมาชีพ  ยากเหลือเกินที่จะหาพ๊อคเก็ตบุ๊คสักเล่ม  หรือหนังสือประเทืองปัญญาที่ราคาแสนแพง  มาไว้ที่บ้านให้สามารถหยิบฉวยมาอ่านได้ง่ายๆ  อย่างมากก็คงจะพวกแม๊กกาซีนดาราหรือไม่ก็หนังสือฟุตบอล  การถ่ายทอดทางความคิดจากรุ่นสู่รุ่น  หนังสือเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญจริงๆครับ  เราได้อ่านหนังสือคุณพ่อคุณแม่  นั่นแปลว่าเราโชคดี  อันนี้กระมังครับที่เค๊ารวมเรียกกันว่า  ค่านิยม ........... :)


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 07, 10:17
        มีเวลากลับไปอ่านเรื่องเก่าๆ ที่เก็บไว้ พบข้อมูลคลาดเคลื่อนที่ขอบันทึกแก้ไขไว้ด้วย ครับ
       ในภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว นางเอกกล่าวว่า คนไทยยุคปัจจุบัน
อ่านหนังสือปีละ ๖ บรรทัด  (ในขณะที่ข่าวจากนสพ. เป็น ๗ บรรทัด)
     และมีเรื่องราวเกี่ยวกับการอ่านมาเพิ่มเติม ครับ

        วันนี้ได้อ่าน เรื่อง ต้องทำให้การอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติ จาก
จุดประกายวรรณกรรม ของ กรุงเทพธุรกิจ โดย Mr.QC 

กล่าวว่า  สมาคม องค์กร ผู้จัดมหกรรมหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ ๕ (วันนี้เป็นวันสุดท้าย) จะยื่นจดหมายเปิดผนึก
กับ ฯพณฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี
               เพื่อขอให้การส่งเสริมการอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติ

ผู้เขียนซึ่งเดินบนถนนสายหนังสือมานานนับ ๒๐ ปี เห็นด้วยและกล่าวว่าจำเป็นอย่างมาก ในสมรภูมิการแย่งชิง
มวลชนของสื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะ ความบันเทิงหลักในบ้านตอนนี้ คือ
            โทรทัศน์ ไม่ใช่หนังสือ และ

ข้อมูลเก่าโดย  เอแบคโพลล์ สำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเยาวชนในระหว่างเดือนก.พ.-มี.ค. 49 พบว่า
            เยาวชน 1 ใน 5 (ร้อยละ 18.5)ไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะเบื่อ/ไม่สนุก/ไม่ว่าง  และ

NOP World รายงานผลการสำรวจในเดือนมิ.ย. 48 เรื่องกิจกรรมที่ทำในยามว่างของคนทั่วโลก 30,000 คน
ใน 30 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าใน 7 วัน คนอ่านหนังสือ เฉลี่ย 6.5 ชั่วโมง ในขณะที่ดูโทรทัศน์ 16.6 ชั่วโมง
เท่านั้นยังไม่พอ

ผลการสำรวจของ www.firstglimpsemag.com ยังฟันธงว่า....ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องการดูโทรทัศน์

       22 - 24 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์     ในขณะที่อินเดียคือ ผู้นำอันดับหนึ่งในการอ่านหนังสือ  10-42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ประเทศไทยมีหนังสือใหม่ออกวางจำหน่ายวันละ 30 ปก มีร้านหนังสือขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี พื้นที่บูธในงานบุ๊คส์แฟร์
เล็กลงเรื่อยๆ เพราะมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีผลการสำรวจออกมาอย่างนี้

ย่อมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันผลักดันกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาส่งเสริม สนับสนุนเรื่องการอ่านหนังสืออย่างจริงจัง
มีระบบและมีการวางแผนระยะยาวเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับเยาวชนของชาติ ฯ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 02 ส.ค. 07, 01:15
แล้วมีสถิติไม๊ครับว่าหนังสือบ้านเรา  แพงติดอันดับไหนครับ  หนังสือออกมากเป็นพ็อกเก็ตบุค  และก็ราคาไม่เอื้อต่อชนชั้นล่างหรือรากหญ้า  ที่จะซื้อหาครับ  เด็กบ้านนอกยากเหลือเกินครับที่จะได้รับอรรถรสจากนักเขียนฝีมือดีๆ  เพราะเล่มละร้อยขึ้นไปทั้งนั้น  ทีวีเสพได้ง่ายกว่าครับ  เห็นด้วยครับที่ภาครัฐต้องแก้ไขด่วน


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ส.ค. 07, 11:23

           เรื่องสถิติเปรียเทียบราคาหนังสือระหว่างประเทศ ไม่ทราบครับ เคยลองคิดคร่าวๆ
จากค่าเงิน ค่าครองชีพ สิ่งพิมพ์ไทยมีราคาแพงครับ

                เป็นที่น่ายินดีที่มีการเคลื่อนไหว ผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ หวังว่าจะมี
ความก้าวหน้าและเห็นผลในไม่ช้า
          เคยดูข่าวเมื่อไม่นานมาก เด็กเวียตนามเลิกเรียนแล้วก็กลับหออ่านหนังสือ ทบทวนตำรา
(ไม่ทราบว่า ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง) ในขณะที่เด็กไทยไม่น้อย เดินห้าง ดูทีวี มีกิ๊ก

          แม้ว่าหนังสือจะมีราคาแพง แต่ถ้าคนมีทรัพย์ มีหนังสือที่ไม่ใช้แล้ว ช่วยกันบริจาคคงหา
หนังสือให้ห้องสมุดได้ไม่ยากเกินไป ทั้งหนังสือยังเป็นสมบัติที่อยู่นาน ใช้อ่านกันได้หลายๆ คน

          แต่ที่สำคัญ(ดังที่ได้กล่าว)ก็คือ การปลูกฝังให้รัก และเห็นคุณค่าของการอ่าน ถึงแม้ไม่มีเวลา
แต่ถ้าใจใฝ่หา ย่อมอ่านจนได้
          ล่าสุดได้อ่านข่าวจากแอฟริกา โครงการจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เด็กด้อยโอกาสที่นั่นประสบความล้มเหลว
เพราะเด็กนำคอมพิวเตอร์ที่บริจาคไปใช้ดูรูปโป๊


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 11:36
คิดราคาดิบๆหนังสือบ้านเราราคาถูก
แต่ถ้าคิดเทียบกับรายได้ ต้องถือว่าแพงมากอย่างที่คุณ SILA ว่าครับ

ฝรั่งค่าแรงแพง ค่าลิขสิทธิ์ก็สูงตาม ราคาหนังสือจึงมีต้นทุนสำคัญที่ค่าลิขสิทธิ์ บ่อยครั้งที่หนังสือแปลที่เราซื้อลิขสิทธิ์มาในราคาถูก บวกค่าแปลแล้วราคาขายยังถูกกว่าหนังสือต้นฉบับอยู่ไม่น้อย

ในขณะที่บ้านเรา การที่ค่าแรงถูก ราคาหนังสือก็เลยถูกกำหนดโดยค่ากระดาษ ราคาแปรผันตามความหนา

เวรกรรมแท้ๆ  :'(


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 14 ก.ย. 07, 19:13
เอ..............คนไทยอ่านหนังสือปีละ 12 บรรทัดหรือครับ
ผมว่าอย่างน้อยที่สุด 1 วัน คนขี้เกียจที่อ่านน้อยที่สุดของไทยก็น่าจะอ่านวันละ 1 คำ ที่เหลือเอาเวลาไปเล่น อ่านการ์ตูน ดูทีวี

1 ปีมี 365 วัน อ่านวันละ 1 คำก็คูณ 365 กลายเป็นปีละ 365 คำ แต่ว่าอ่านจะไม่ได้อ่านทุกวันก็ได้อาจจะเหลือประมาณ 200 คำ ซึ่งเกิน 12 บรรทัดแล้ว

ผมว่าไม่น่าจะเป็นจริงนะครับ ถ้าผิดผู้รู้ช่วยแก้ไขด้วยครับ  ::)


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: พลอยชมพู ที่ 14 ก.ย. 07, 19:52

      จากภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ รุ่นการเดินทางครั้งใหม่ของมณีจันทร์เมื่อประมาณ ๓ ปีก่อน
ที่ผู้สร้างได้ดัดแปลงบทประพันธ์ดั้งเดิมไปไม่น้อย (มีผลทำให้นักอ่านที่ประทับใจกับเรื่องราว
แบบเดิมรับไม่ได้)  มณีจันทร์ ผู้ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ในนิยายเป็นร. ๕) เล่า
เรื่องราวผู้คนร่วมสมัยในยุคปัจจุบันของตนให้คนในอดีตฟังว่า

          คนไทยอ่านหนังสือกันคนละ ๗ บรรทัด ต่อปี      

        ประโยคนี้สร้างความสงสัยไม่น้อยให้กับผู้ชมที่มีจำนวนไม่มากว่า จริงหรือ

         ความสงสัยนี้คลี่คลายลงบ้างหลังจากได้ฟังรายการข่าวทางวิทยุ เมื่อสัปดาห์ก่อน
         เรื่องการรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเป็น ๑๒ บรรทัดต่อปี จากตัวเลขเดิม ๗ บรรทัด
ที่สำรวจโดยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

         และวันนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้เสนอรายละเอียดที่น่าสนใจและมีประโยชน์ จึงนำ
มาแสดงไว้  ณ ที่นี้
 


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ก.ย. 07, 09:41

          กรณีคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดนั้น เรียบเรียงเรื่องเป็นอย่างนี้ครับ
       เริ่มจากหนังไทยเรื่อง ทวิภพ เวอร์ชั่นล่าสุด - การเดินทางครั้งใหม่ของมณัจันทร์ นางเอกย้อนกลับไป
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔
       นางเอกเล่าว่าในยุคปัจจุบันของตนนั้น คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๖ บรรทัด (แก้จาก ๗ เป็น ๖ จากการตรวจค้นข้อมูล
เกี่ยวกับหนังในเวลาต่อมา) สร้างความฮือฮาให้กับผู้ดูจำนวนไม่มากเป็นอย่างมาก
       ต่อมา จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาจากข่าวการรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ดังปรากฏในกระทู้ต้นๆ ครับ   


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 15 ก.ย. 07, 15:54

          กรณีคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดนั้น เรียบเรียงเรื่องเป็นอย่างนี้ครับ
       เริ่มจากหนังไทยเรื่อง ทวิภพ เวอร์ชั่นล่าสุด - การเดินทางครั้งใหม่ของมณัจันทร์ นางเอกย้อนกลับไป
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔
       นางเอกเล่าว่าในยุคปัจจุบันของตนนั้น คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๖ บรรทัด (แก้จาก ๗ เป็น ๖ จากการตรวจค้นข้อมูล
เกี่ยวกับหนังในเวลาต่อมา) สร้างความฮือฮาให้กับผู้ดูจำนวนไม่มากเป็นอย่างมาก
       ต่อมา จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาจากข่าวการรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ดังปรากฏในกระทู้ต้นๆ ครับ   

ผมว่าน่าจะเป็นการเปรียบเทียบมากกว่าครับ คนไทยอ่านหนังสือปีละ 6 บรรทัด (แก้ใหม่) เปรียบเทียบกับคนไทยไม่ค่อยขยันอ่านหนังสือ หรือขี้เกียจ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ก.ย. 07, 22:13
คงจะต้องมองที่ความหมายล่ะครับ  อ่านหนังสือคงหมายถึงการอ่านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  ไม่ใช่อ่านวันละคำสองคำ  หรือบรรทัดสองบรรทัด  เป็นแง่ของการเปรียบเทียบการนิยมอ่านหนังสือของเรา  และมูลเหตุผมว่าน่าจะมาจากการเรียนการสอน,โอกาสการเข้าถึงหนังสือ  สรุปว่าไม่เอื้อทั้งนั้น.....


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ก.ย. 07, 00:31
     ขอแจมด้วยคนในฐานะคนชอบอ่านหนังสือ  และสร้างเด็กให้อ่านหนังสือ  ก่อนที่เราจะสร้างเด็กให้อ่านหนังสือก็ถามตัวเองก่อนว่า  อะไรทำให้เราเป็นคนอ่านหนังสือ 

     รำลึกย้อนอดีตไป  คนรอบข้างเราทุกคนอ่านหนังสือ  ต่างคนต่างอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ สนใจ ใช้ทำงาน  เพราะฉะนั้นเราก็จะได้สัมผัสกับหนังสือที่่หลากหลาย  ที่สำคัญมากคือมีหนังสือการ์ตูนค่ะ  แล้วก็สุดแสนจะโชคดีเป็นการ์ตูนดี ๆ ด้วย  การ์ตูนวอลต์ดิสนีย์ฉบับแปลภาพสี  พิมพ์อย่างสวยงาม  หนังสือนิทาน หรือหนังสือฉบับเยาวชนแบบที่สำนักพิมพ์กะรัต และผีเสื้อพิมพ์จัดพิมพ์อยู่ตอนนี้  ภาพประกอบในหนังสือยังติดตาจนถึงทุกวันนี้เลยนะคะ 

     ที่จริงครอบครัวไม่ได้มีฐานะดีอะไรนะคะ  จำไม่ได้ว่าท่านไปเอาหนังสือมาจากไหน แล้วก็ไม่เคยต้องมีใครบอกให้อ่านค่ะ  เห็นมันน่าอ่านก็อ่านเอง  เพราะเมื่อก่อนไม่มีทีวีดูอย่างนี้  ไม่มีอะไรทำ  ไม่มีเพื่อนเล่น  มีหนังสืออยู่ใกล้ ๆ ก็หยิบมาอ่าน  โตขึ้นมาหน่อยก็อ่านพลนิกรกิมหงวน  ไปอ่านที่บ้านอากงค่ะ  เวลาตรุษจีน สารทจีน  จะไปบ้านอากงอยู่ที่บ้านบึง ชลบุรีค่ะ  อาก๋งอ่านภาษาไทยไม่ได้นะคะ  แต่ที่บ้านอากงมีหนังสือดี ๆ เยอะมาก  นิยายจีนแปลโดยน. นพรัตน์  การ์ตูนวอลต์ดิสนีย์เพียบ  ก็ไม่รู้อีกนั่นแหละค่ะว่ามาจากไหน  บ้านอากงไม่มีทีวีค่ะ  เราจะได้เห็นภาพอากู๋อาอี๋ต่างคนต่างอ่านหนังสือ พออากู๋อาอี๊มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ  ตอนนั้นอากู๋คนหนึ่งได้เป็นครูค่ะ  พอปิดเทอมปู๊ป  อากู๋ก็จะยืมนิยายในห้องสมุดมาเป็นสิบ ๆ เล่ม  เราก็จะนั่งอ่านนอนอ่านเรียงกันรอบ ๆ อ่างข้าวพอง เรียกถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้  แต่เป็นข้าวเย็นที่ตากแดดจนแห้ง  ทอดด้วยน้ำมัน  คลุกกับน้ำตาลปีบ  คล้าย ๆ ข้าวแต๋นค่ะ  ต่างที่มันไม่เป็นแผ่น  คุณแม่เป็นคนบริการทำให้ค่ะ 

     อ่านการ์ตูน  นิทาน มานิยาย จนติดนิสัยการอ่าน  อ่านจนไม่มีจะอ่าน  ในบ้านมีหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญคุณพ่อชอบซื้อหนังสือแนวนี้ค่ะ  ก็เลยหยับมาอ่าน  อ่านแล้วก็ชอบแฮะสนุกดี  หมดแล้วก็ไปอ่านสามก๊กไม่ได้ตั้งใจ  ไม่มีใครบอกค่ะ  แต่เพราะไม่มีอะไรให้อ่านแล้ว  นี่คือพัฒนาการของการอ่านค่ะ  แต่หนังสือที่ไม่เคยอ่านเลยคือ  หนังสือเรียน  อ่านตอนใกล้สอบอย่างเดียวเลย

     อีกนิดหนึ่งค่ะ  ที่โรงเรียนมีคุณครูภาษาไทย  ท่านชอบมาเล่าเรื่องจากหนังสือค่ะ  แล้วท่านก็จะทิ้งท้ายไว้  อยากรู้ตอนจบก็ไปอ่านเอาเองในห้องสมุด  เลยได้อ่านชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่  หนังสือที่ท่านหยิบมาเล่าไม่ใช่หนังสือประเภทหนังสืออ่านนอกเวลาที่กระทรวงกำหนด  แต่เป็นท่านอ่านแ้ล้วชอบเล่มไหนก็มาชี้ชวนกันอ่าน  เท่านั้นยังไม่พอนะคะ  เวลาคุณครูคุยกันก็คุยกันว่าใครไปอ่านอะไรมา  เรื่องนั่นสนุกอย่างไร  เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร  เพราะได้ยินครูคุยกันนี่แหละค่ะ  ดิฉันเลยไปตามอ่านเรื่องจันดารา

    เป็นอย่างไรบ้างล่ะคะที่มาของการอ่านของดิฉัน


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ก.ย. 07, 01:26
ทีนี้มาว่าด้วยประสบการณ์การสร้างเด็กให้อ่านหนังสือ

   เด็กเล็ก ๆ ก่อนนะคะ  ในที่นี้คือหลานค่ะ  พอหลานเริ่มพูดได้รู้เรื่องก็เริ่มอ่านหนังสือให้ฟังค่ะ  แต่เป็นหนังสือภาพนะคะ  ปกแข็ง  ภาพใหญ่สีชัดเจนสวยงาม   ก็ตอนเราเริ่มอ่านหนังสือเรายังชอบรูปสวย ๆ เลยใช่ไหมค่ะ  ดิฉันก็จะให้หลานนั่งตักแล้วก็อ่านให้ฟัง อ่านธรรมดานี่แหละค่ะ  ไม่ต้องทำเสียงเล็กเสียงน้อยนะคะเพราะทำไม่เป็นค่ะ  อ่านช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ  เสียงควบกล้ำชัดเจน  ก่อนนอนก็อ่านหนังสือให้ฟัง  ดิฉันจะไม่เปิดเทปนิทานเลย  เทปนิทานอย่างไรก็สู้เราอ่านให้ฟังไม่ได้หรอกค่ะ  บางทีเราเหนื่อยเราก็อ่านไปง่วงไป  เราจะหลับแล้วแต่เขายังไม่ง่วงเลย  ก็จะมีการต่อว่าต่อขานกัน  ขำ ขำ ดีค่ะ  สุดท้ายเราก็สารภาพว่า  เหนื่อย  อ่านไม่ไหวแล้ว  หลับตานอนกันเถอะ  ก็ยอมหลับแต่โดยดี 

      หนังสือปกแข็ง ภาพสวยราคาสูงค่ะ  แต่คิดดูนะคะ  ขนมซอง ๆ ซองละ 5 บาท กินทุกวันเดือนหนึ่ง 150 บาท ได้หนังสือ 1 เล่มแล้วค่ะ  แล้วถ้าคุณพ่อสูบบุหรี่ ไม่กี่ซองก็ได้ค่าหนังสือแล้วนะคะ   เมื่อก่อนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะมีหนังสือที่ค้างแผงนาน ๆ ฝุ่นจับมาลดครึ่งราคา บางเล่มฝุ่นจับหนามากก็ลดมากกว่าครึ่งอีก  แต่ตอนนี้รู้สึกจะไม่ค่อยมี  หรือมีก็ไม่ค่อยลดเยอะแล้วล่ะค่ะ  แต่ไม่ต้องซื้อเยอะหรอกค่ะ  ซื้อทีละเล่ม  นาน ๆ ซื้อทีก็ได้  ดูมีคุณค่าเสียอีก  ดิฉันเลี้ยงหลาน 3 คน  คนสุดท้ายมีเยอะเสียจนเป็นของไม่มีคุณค่า เก็บไม่หวาดไม่ไหว  แต่รับรองผลสำเร็จค่ะ ดิฉันทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนเขาอยากอ่านเองเพราะเร็วกว่ารอเราอ่าน  เขาก็เลิกให้เราอ่านไปโดยปริยาย  แต่นานมากนะคะ  เพราะถึงเขาอ่านเองได้  เวลาก่อนนอนเขาก็ยังชอบให้เราอ่านให้ฟัง  ชอบนั่งตักให้เราอ่านให้ฟังเวลาเราว่าง  ตอนนี้คนสุดท้ายอยู่ ป.4 เขาเอาหนังสือที่เขาชอบมาอ่านให้เราฟังแล้วค่ะ  หลาน 2 คนโตเขาไม่คลั่งไคล้การอ่านเท่าเรา  เพราะเขามีทั้งทีวี  และคอมพิวเตอร์มาแบ่งเวลาไป  แต่เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันก็ถือว่าเขาเป็นคนอ่านหนังสือ  บางทีเราถามเขาว่าไม่เอาหนังสือไปแบ่งเพื่อน ๆ อ่านบ้างล่ะ  เขาจะบอกว่า  เพื่อน ๆ เขาไม่ชอบอ่านหนังสือกันเท่าไหร่

     ที่บอกเล่าก็อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่คูณป้าคุณน้าคุณอาทั้งหลายที่อยากให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือก็มาอ่านหนังสือให้เด็กฟังกันเถอะค่ะ  แล้วถ้าอยากให้เขารักการอ่านจริงจัง  ก็ต้องยอมลงทุนเลือกของคุณภาพหน่อยนะคะ  เรื่องคุณภาพหนังสือกับวัยของเด็ก  วันหลังจะค้นมาฝากนะคะ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ก.ย. 07, 10:17
ที่นี้มาว่าด้วย  เด็กต่างจังหวัด

     ดิฉันเคยไปเป็นครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมเล็ก ๆ ประจำตำบล ในจังหวัดน่านค่ะ  ไปถึงโรงเรียนสิ่งที่เราสนใจก็คือ  ห้องสมุด  สภาพห้องมีแสงค่อนข้างน้อย  ในห้องสมุดมีหนังสือเรียนจำนวนมาก  ช่วงนั้นมีการแจกหนังสือเรียนให้เด็กค่ะ  หนังสือที่ใช้แก่าแล้วก็มาเก็บไว้ในห้องสมุด  แล้วก็มีหนังสือที่ได้รับบริจาค  สภาพช้ำ ๆ หนังสือวิชาการเด็มไปด้วยตัวหนังสือ หนังสืออ่านนอกเวลาของวิชาภาษาไทย  มีหนังสือที่เรารู้สึกว่า  ถ้าเราเป็นเด็กเราจะอยากอ่านอยู่น้อยมาก ๆ แทรก ๆ แอบ ๆ อยู่  ต้องใช้เวลาหา  คุณครูบรรณารักษ์ก็จะบอกว่าเด็กไม่ค่อยเข้าห้องสมุด  ไม่ค่อยอ่านหนังสือ

     ดิฉันมีห้องแนะแนวเป็นของตัวเองค่ะ  เราอยากให้เด็กรู้สึกว่า  ใครไม่มีอะไรทำก็มาห้องแนะแนว  ไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าเด็กที่มาห้องแนะแนวเป็นเด็กมีปัญหา  ดิฉันก็นำหนังสือที่ดิฉันมีอยู่ไปไว้ในห้องแนะแนว  อยู่ที่นั้นดิฉันก็รับหนังสือพิมพ์มติชน  มติชนรายสัปดาห์  นิตยสารสารคดี  นำของเล่นอย่างหมากรุก หมากฮอส  วางไว้ในห้องและให้เด็กทุกคนมาเล่นมาใช้ได้ตลอดเวลา  แม้แต่ดิฉันไม่อยู่ห้อง  ห้องก็จะเปิดไว้  ในการใช้ห้องก็ขอความร่วมมือเด็ก ๆ อ่านหรือเล่นแล้วเก็บที่  หนังสือและอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นเงินส่่วนตัวนะคะ  ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้ของอย่างที่เราต้องการ  ผลปรากฎว่า  ห้องแนะแนวมีเด็กมานั่งอ่านหนังสือ  และเล่นกันเต็มห้องทุกวัน  ขณะที่ห้องสมุดแทบไม่มีเด็กเลย  หนังสืออย่างมติชน มติชนสุดสัปดาห์  และสารคดีก็มีเด็กมารออ่านเล่มใหมอย่างใจจดใจจ่อ  เด็กที่รักการอ่านมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ อ่านหนังสือในห้องแนะแนวหมดแล้ว  ก็จะตามไปขอยืมหนังสือที่ดิฉันเก็บไว้อ่านที่่บ้านพัก  เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหายากเกินเด็กมัธยมต้น 

     ต่อมาโรงเรียนมีสตังค์มากขึ้น  มีห้องโสตฯ  คุณครูประจำห้องโสตก็เปิดทีวีให้เด็กดู  เด็ก ๆ ห้องแนะแนวก็ลดความแออัดลง  แต่ก็ยังคงมีเด็กอยู่ไม่น้อยค่ะ

     ที่เล่ามานี่คือความจริงที่จะบอกว่า ไม่ใช่ว่าเด็กไทยไม่อยากอ่านหนังสือ  แต่ไม่มีหนังสือที่เหมาะกับเด็ก  และไม่สร้างพัฒนาการทางการอ่าน  ปัจจุบันพอจะมีหนังสือดี ๆ เหมาะสมมากขึ้น  ก็มามีคู่แข่งเป็นทีวีและคอมพิวเตอร์เข้าไปอีก 

     จากข้อมูลสถิติ  รายละเอียดมากมายอะไรต่าง ๆ นานา สรุปว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อย  ซึ่งมีเหตุท้าวความได้ไปถีงยุคศักดินา มีเจ้าพระยามีไพร่่อะไรโน้นเลยค่ะ  แต่ดิฉันว่าสำหรับเราง่าย ๆ เลยก็มาเริ่มจากคนรอง ๆ ตัวเรานี้แหล่ะ  คนที่รักการอ่านทุกคนมาช่วยกันสร้างสังคมการอ่านกันเถอะ  คนที่อยากให้เด็กอ่านหนังสือด้วยใจจริง  ก็ยอมลงทุนกันที่คุณภาพหนังสือหน่อย  มีหนังสือดี ๆ 2 เล่มที่เด็กอ่าน  ดีกว่ามีหนังสือ 10 เล่มที่เด็กไม่อ่านนะคะ  ยิ่งปัจจุบันเราต้องต่อสู้กันรายการทีวี และคอมพิวเตอร์กันด้วยแล้ว  มาช่วยกันทำหนังสือคุณภาพ  ราคาสมเหตุสมผลนะคะ  ดิฉันไม่คาดหวังหนังสือถูกค่ะ ของดีราคาถูกหายากค่ะ  กว่าจะหาเจอก็สูญเสียเวลาไปเยอะแล้ว  แล้วก็เลิกยัดเยียดให้เด็กอ่านแต่หนังสือวิชาการเถอะค่ะ  การอ่านหนังสือก็มีพัฒนาการตามวัยเหมือนกันนะคะ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ก.ย. 07, 10:44
           วันนี้อาจารย์ยังไม่เสนอแม่มดเจ้าเสน่ห์ คุณ pakun2k1d แวะเข้ามาอ่านหนังสือที่นี่

          ตอนเด็กๆ โชคดีครับ ที่มีพี่และน้าอายุห่างหลายปี เขามีหนังสืออ่านกันก็ไปหยิบๆ มาเปิดดูบ้าง ได้รู้จัก แม่พลอย ดอกไม้สด สไตน์เบ็ค ฯ
ก็เพราะเขาๆ เหล่านี้ บางเย็นบิดาก็พาไปสำนักพิมพ์แถวผ่านฟ้า ซื้อหนังสือการ์ตูนเล่มเก่าลดราคา
          ตอนเป็นเด็ก(โต)ได้อ่านงานคุณประมูลเป็นเรื่องแปลครับ เรื่องแต่ง- จันดาราไม่ได้อ่าน แต่ได้อ่านเลดี้แช็ตเตอร์เลย์(ฉบับแปล) ครับ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: ตา ที่ 16 ก.ย. 07, 12:59
เรื่องการอ่านหนังสือนี่ ไม่รู้เหมือนกันว่า เป็นที่นิสัยหรือสภาพแวดล้อม  เคยแนะนำเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่มีลูกให้พยายามชักจูงลูกให้อ่านหนังสือ แต่เจ้าตัวบอกว่า ก็พยายามแล้วแต่เด็กไม่ชอบอ่าน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไง

มานึกถึงตัวเอง ก็ยังสงสัยว่าทำไมถึงชอบอ่านหนังสือ ทั้งๆที่แม่ก็ไม่ค่อยชอบอ่านเท่าไหร่ เป็นแม่บ้านธรรมดาต้องเลี้ยงลูกหลายคน พ่อก็อ่านหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ แต่มีน้าสาวคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ และรับหนังสือสกุลไทยและอ่านนิยายหลายเรื่อง ตัวเองก็เลย(น่าจะ)อ่านเพราะเห็นคุณน้าอ่าน (มั๊งคะ)  แต่ที่ตลก ก็คือลูกคุณน้ากลับไม่ค่อยชอบอ่านเท่าที่ควร จนบัดนี้ก็ยังสงสัยว่า นิสัยรักการอ่านนี่มันเกิดจากอะไร

อย่างครอบครัวดิฉันเอง  ลูกสาวและลูกชายชอบการอ่านทั้งคู่ แต่ลูกชายอายุ 14 เน้นอ่านการ์ตูน ส่วนลูกสาวอายุ 12 ชอบอ่านนิยายแจ่มใส หรือพวกแนวเกาหลี เข้าใจว่า ลูกๆน่าจะเห็นพ่อแม่ชอบอ่านหนังสือและเห็นกองหนังสือนิตยสาร(พ่ออ่านพวกหนังสือพิมพ์กับหนังสือรถ แม่ชอบอ่านสกุลไทย ขวัญเรือนและนิยายต่างๆ) อยู่รอบตัว มากกว่าจะเห็นพ่อกับแม่เปิดทีวีดูมั๊งนะคะ  ก่อนหน้านี้ สมัยลูกทั้งคู่อยู่โรงเรียนอนุบาลที่สอนในแนวมอนเตสเซอรี่ ก็มีการสนับสนุนให้ลูกยืมหนังสือจากโรงเรียนมาอ่านที่บ้าน  ถ้าจำไม่ผิด ลูกสาวเริ่มอ่านหนังสือแบบเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่อายุราว 6-7 ขวบ ตอนป.1 นั่นเลยทีเดียว  หนังสือเล่มแรกๆ ของลูกที่เป็น หนังสือเล่มค่อนข้างหนา (ในความคิดของดิฉันสำหรับเด็กวัยนั้น) เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กของอาจารย์ ว. วินิจฉัยกุล  คือ เรื่องแก้วตา ลินลาน่ารัก ความลับของดาวมรกต และคุณครูอวกาศ ที่แม่ซื้อให้ในฐานะที่เป็นแฟนคลับ  พอลูกอ่านจบแต่ละเล่ม ก็คุยกับลูกว่าเป็นยังไง ปรากฏว่าลูกชอบ แล้วเลยแนะนำเล่มอื่นๆที่แม่เคยชอบสมัยเด็กๆ เช่นบ้านน้อยในโพรงไม้ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เรื่องของม่าเหมี่ยว ฯ  ให้ลูกอ่าน  บางเล่ม ลูกอ่านไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ  และเวลาว่างๆ ก็ยังชอบไปอ่านหนังสือในห้องสมุด กลายเป็น1 ในยอดนักอ่านในระดับชั้น และส่งผลต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของลูกในระดับค่อนข้างดีเด่นทีเดียว

จนปัจจุบัน เวลาลูกเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ถ้าสามารถโยงอะไรให้เกี่ยวข้องกับการอ่านได้ ก็จะพยายามชมเชยและชักจูงรวมถึงพยายามแนะให้เค้าเริ่มอ่านหนังสือหลากแนวมากขึ้น  ที่ค่อนข้างเป็นห่วงตอนนี้ คือ หนังสือนิยายกุ๊กกิ๊กวัยรุ่นมีเยอะมากและเด็กๆชอบอ่านเรื่องพวกนี้ ซึ่งบางเรื่องนอกจากใช้ภาษาที่ผิดแล้ว ยังมีเนื้อหาเชิงอีโรติกโจ่งแจ้ง  มีความคิดว่า จากนี้ไป คงต้องเริ่มให้อ่านนิยายของนักเขียนดีๆที่ให้แง่คิดหลากหลายมากกว่านี้ และรวมถึงหนังสือชีวประวัติที่อ่านแล้วก็น่าสนุกด้วยค่ะ

นอกจากส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือแล้ว ยังต้องส่งเสริมหนังสือดีๆให้คนอ่านด้วย  บางทีมันยากเหมือนกันนะคะว่า จะหาหนังสือแนวไหน เล่มไหนให้ถูก"จริต"ของแต่ละคน  การปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการอ่านเป็นสิ่งสำคัญแต่บางทีทำได้ยากเหมือนกันนะคะ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 16 ก.ย. 07, 13:08
เรื่องการอ่านหนังสือนี่ ไม่รู้เหมือนกันว่า เป็นที่นิสัยหรือสภาพแวดล้อม  เคยแนะนำเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่มีลูกให้พยายามชักจูงลูกให้อ่านหนังสือ แต่เจ้าตัวบอกว่า ก็พยายามแล้วแต่เด็กไม่ชอบอ่าน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไง

มานึกถึงตัวเอง ก็ยังสงสัยว่าทำไมถึงชอบอ่านหนังสือ ทั้งๆที่แม่ก็ไม่ค่อยชอบอ่านเท่าไหร่ เป็นแม่บ้านธรรมดาต้องเลี้ยงลูกหลายคน พ่อก็อ่านหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ แต่มีน้าสาวคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ และรับหนังสือสกุลไทยและอ่านนิยายหลายเรื่อง ตัวเองก็เลย(น่าจะ)อ่านเพราะเห็นคุณน้าอ่าน (มั๊งคะ)  แต่ที่ตลก ก็คือลูกคุณน้ากลับไม่ค่อยชอบอ่านเท่าที่ควร จนบัดนี้ก็ยังสงสัยว่า นิสัยรักการอ่านนี่มันเกิดจากอะไร

อย่างครอบครัวดิฉันเอง  ลูกสาวและลูกชายชอบการอ่านทั้งคู่ แต่ลูกชายอายุ 14 เน้นอ่านการ์ตูน ส่วนลูกสาวอายุ 12 ชอบอ่านนิยายแจ่มใส หรือพวกแนวเกาหลี เข้าใจว่า ลูกๆน่าจะเห็นพ่อแม่ชอบอ่านหนังสือและเห็นกองหนังสือนิตยสาร(พ่ออ่านพวกหนังสือพิมพ์กับหนังสือรถ แม่ชอบอ่านสกุลไทย ขวัญเรือนและนิยายต่างๆ) อยู่รอบตัว มากกว่าจะเห็นพ่อกับแม่เปิดทีวีดูมั๊งนะคะ  ก่อนหน้านี้ สมัยลูกทั้งคู่อยู่โรงเรียนอนุบาลที่สอนในแนวมอนเตสเซอรี่ ก็มีการสนับสนุนให้ลูกยืมหนังสือจากโรงเรียนมาอ่านที่บ้าน  ถ้าจำไม่ผิด ลูกสาวเริ่มอ่านหนังสือแบบเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่อายุราว 6-7 ขวบ ตอนป.1 นั่นเลยทีเดียว  หนังสือเล่มแรกๆ ของลูกที่เป็น หนังสือเล่มค่อนข้างหนา (ในความคิดของดิฉันสำหรับเด็กวัยนั้น) เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กของอาจารย์ ว. วินิจฉัยกุล  คือ เรื่องแก้วตา ลินลาน่ารัก ความลับของดาวมรกต และคุณครูอวกาศ ที่แม่ซื้อให้ในฐานะที่เป็นแฟนคลับ  พอลูกอ่านจบแต่ละเล่ม ก็คุยกับลูกว่าเป็นยังไง ปรากฏว่าลูกชอบ แล้วเลยแนะนำเล่มอื่นๆที่แม่เคยชอบสมัยเด็กๆ เช่นบ้านน้อยในโพรงไม้ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เรื่องของม่าเหมี่ยว ฯ  ให้ลูกอ่าน  บางเล่ม ลูกอ่านไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ  และเวลาว่างๆ ก็ยังชอบไปอ่านหนังสือในห้องสมุด กลายเป็น1 ในยอดนักอ่านในระดับชั้น และส่งผลต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของลูกในระดับค่อนข้างดีเด่นทีเดียว

จนปัจจุบัน เวลาลูกเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ถ้าสามารถโยงอะไรให้เกี่ยวข้องกับการอ่านได้ ก็จะพยายามชมเชยและชักจูงรวมถึงพยายามแนะให้เค้าเริ่มอ่านหนังสือหลากแนวมากขึ้น  ที่ค่อนข้างเป็นห่วงตอนนี้ คือ หนังสือนิยายกุ๊กกิ๊กวัยรุ่นมีเยอะมากและเด็กๆชอบอ่านเรื่องพวกนี้ ซึ่งบางเรื่องนอกจากใช้ภาษาที่ผิดแล้ว ยังมีเนื้อหาเชิงอีโรติกโจ่งแจ้ง  มีความคิดว่า จากนี้ไป คงต้องเริ่มให้อ่านนิยายของนักเขียนดีๆที่ให้แง่คิดหลากหลายมากกว่านี้ และรวมถึงหนังสือชีวประวัติที่อ่านแล้วก็น่าสนุกด้วยค่ะ

นอกจากส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือแล้ว ยังต้องส่งเสริมหนังสือดีๆให้คนอ่านด้วย  บางทีมันยากเหมือนกันนะคะว่า จะหาหนังสือแนวไหน เล่มไหนให้ถูก"จริต"ของแต่ละคน  การปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการอ่านเป็นสิ่งสำคัญแต่บางทีทำได้ยากเหมือนกันนะคะ

ก็ถูกนะครับ การอ่านการ์ตูน ถึงแม้ว่าการ์ตูนบางเรื่องอาจจะไร้สาระไปบ้าง แต่ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะรู้ว่ามันยังมีส่วนดีที่เป็นการปลูกฝังให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้น
แต่ถ้าปลูกฝังให้อ่านในส่วนที่ผิดอย่างเดียวอาจไม่ได้เกิดผลดีกับเด็กนอกจากการเสริมทักษะการอ่าน เราก็ควรแบ่งเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ใน 1 วัน
เราออกกำลังกาย อ่านหนังสือ นอน การอ่านหนังสืออาจจะแยกย่อยเป็น 2 ประเภทคือ อ่านเพื่อความสนุกสนาน และ อ่านเพื่อให้ได้ความรู้


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ก.ย. 07, 18:54
ต้องบอกคุณศิลาว่า  ตอนนี้ตามอ่านหนังสือวิชาการ.คอมเ่ล่มนี้  หัวข้อที่น่าสนใจยังตามอ่านไม่ทันเลยนะคะนี่

มาว่าเรื่องการอ่่านอีกนิดนะคะ

     ไม่อยากให้ผู้ใหญ่รุ่น 40 ขึ้นไปคาดหวังกับเด็กปัจจุบันให้เขาเป็นนักอ่านอย่างที่เราอ่าน  เพราะปัจจุบันมีทั้งทีวี คอมพิวเตอร์  นิทรรศการ  ห้างสรรพสินค้า ฯ  และเราต้องยอมรับว่า  ปัจจุบันหนังสือไม่ใช่แหล่งความรู้ที่ดี่ที่สุดอีกต่อไป  แต่หนังสือมีคุณค่าบางอย่างที่สื่ออื่น ๆ ไม่มี  ขอแค่ให้เด็ก ๆ ไม่ทิ้งการอ่านไม่ว่าจากสื่อใด ๆ ก็ตาม ผู้ใหญ่ก็น่าจะพอใจ  จะได้ไม่เป็นกังวล ไม่กดดันเด็กจนเกินไป 

     แต่เรื่องการที่ครอบครัวไม่ดูทีวีนี่  ดิฉันว่ามีผลต่อการส่งเสริมการอ่านค่ะ  เพราะครอบครัวดิฉันก็ดูทีวีน้อยมากเช่นกัน

     เรื่องเด็กควรจะอ่านอะไรดี  สำหรับหลาน ๆ ดิฉัน  ดิฉันก็เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง  คิดว่าอะไรดีก็ซื้อหามาให้  เพราะเราเป็นคนอ่านให้เขาฟังอยู่แล้ว  และเมื่อเขารู้สึกว่าอยากเลืิอกเอง  ดิฉันก็ปล่อยให้เขาเลือกนะคะ  แต่ซื้อได้ทีละเล่ม  อ่านจบแล้วค่อยซื้อเล่มใหม่  อะไรที่อยากให้เขาอ่านก็ซื้อให้อีก  แต่ก็พบว่าเขาไม่อ่านสิ่งที่เราซื้อเท่าไหร่หรอกค่ะ  พอเขาอ่านสิ่งที่เขาชอบจบ  ก็จะรบเร้าให้เราพาไปหาซื้อเล่มใหม่อีก  ตอนหลังก็เลิกซื้อหนังสือให้ค่ะ  แต่ซื้อเฉพาะเล่มที่เขาอยากได้  ส่วนหลานคนโตอีก 2 คนปัจจุบันเขาจัดการซื้อหาของเขาเอง  2 คนอ่านกันคนละแบบเลยค่ะ  ส่วนเจ้าคนเล็กนี่ก็อีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกันเลย

     ใครที่อยากให้ลูกหลานอ่านหนังสือ  เริ่มจากการอ่านหนังสือให้เขาฟังซิคะ  เริ่มเร็วเท่าไหร่ดีเท่านั้นค่ะ  เท่าที่ดิฉันอยู่กับเด็ก ๆ มา  มีน้อยมากค่ะที่ี่่ไม่ชอบฟังเราอ่าน  ซึ่งจะเป็นเด็กสมาธิสั้นเป็นพื้นฐาน  หรือไม่เค้ารู้สึกโตเกินกว่าที่จะให้เราอ่านให้ฟัง  ดิฉันอ่านหนังสือให้เด็กฟังจนพบว่า  การอ่านออกเสียงมีมนต์ขลังบางอย่างอยู่  แล้วสังเกตสิค่ะ  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีการอ่านออกเสียงในโรงเรียนแล้ว  เมื่อเด็กไม่ค่อยได้อ่านออกเสียง  เราก็จะไม่รู้เลยว่าเค้าออกเสียงคำเหล่านั้นถูกต้องหรือเปล่า  คุณครูก็ไม่ได้อ่านออกเสียงให้เด็กฟัง  เด็กได้ยินแต่เสียงของนักร้อง  เราเลยได้ยินเด็กออกเสียง ช ช้าง เป็นเสียง sh เพิ่มขึ้นทุกวัน  เฮ้อ.......


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 18 ก.ย. 07, 19:04
สวัสดีทุกๆท่านครับ
ความเห็นของหลายๆท่านน่าสนใจมากครับ  ;)
ผมคิดว่า นอกเหนือจากการอ่านให้ฟังแล้ว ถ้าเราทำตัวอย่างให้เด็กเห็น ก็น่าจะช่วยได้นะครับ
แต่คงต้องใช้เวลานานหน่อย


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 18 ก.ย. 07, 20:21
ขอยกมือสนับสนุนคุณศิลาค่ะ  การเป็นแบบอย่างให้กับเด็กสำคัญมาก ๆ ค่ะ  ดิฉันสังเกตว่า  เด็กทำตามสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยินค่ะ  เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องการอ่านอย่างเดียวค่ะ  ทุก ๆ เรื่องเลยค่ะ  ไม่ว่าจะเรื่องดี หรือไม่ดี


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 ก.ย. 07, 10:08

        คุณ pakun2k1d น่าจะหมายถึงสนับสนุนความเห็นคุณ ศ - ศรีปิงเวียง แต่พิมพ์คลาดเคลื่อนไป

          เมื่อเช้าได้พบคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็ก ได้เกริ่นๆ ถามเรื่องการบ่มเพาะการอ่านในเด็กเล็ก
เนื่องจากยังไม่มีเวลาจะคุยในรายละเอียด  ไว้เมื่อสบโอกาสเหมาะ พร้อมเมื่อไรจะนำมาเล่าในที่นี้ ครับ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 19 ก.ย. 07, 10:56
ต้องขอโทษคุณศรีปิงเวียง และขอบคุณคุณศิลาค่ะ  ดิฉันผิดจริง ๆ

ดิฉันกำลังค้นหาข้อเขียนของอาจารย์พรอนงค์  นิยมค้าที่แนะนำเรื่องการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กไว้  ได้วิทยายุทธชิ้นนี้จากอาจารย์มานานมากแล้ว  ตอนนี้ยังหาไม่พบค่ะ  แต่จะพยายามหามาขยายสู่ผู้สนใจทุกท่านค่ะ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ต.ค. 07, 09:28
        ต่อเนื่องจาก
อ้างถึง
ได้พบคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็ก ได้เกริ่นๆ ถามเรื่องการบ่มเพาะการอ่านในเด็กเล็ก
เนื่องจากยังไม่มีเวลาจะคุยในรายละเอียด  ไว้เมื่อสบโอกาสเหมาะ พร้อมเมื่อไรจะนำมาเล่าในที่นี้ ครับ

        ได้คุยกับทั้งคุณหมอเด็กทางด้านพัฒนาการเด็ก และทางด้านสมอง โดยเฉพาะคุณหมอสมอง ได้ช่วยแต่งเติมให้ได้เป็น

        >> แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และบ่มเพาะนิสัยการอ่าน <<       สำหรับผู้รักเด็ก และผู้สนใจ ครับ


        เมื่อเด็กอายุ ๖ เดือน พอนั่งได้แล้ว ควรฝึกให้เขานั่ง ให้จับหรือกำหนังสือที่ไม่มีขอบแหลมคม ควรเป็นหนังสือที่มีลักษณะนุ่มและ
ปลอดภัยในกรณีที่เด็กอาจหยิบหนังสือเข้าปาก  และควรเป็นหนังสือที่มีรูปใหญ่ๆ ผู้ดูแลสามารถอ่านหนังสือเล่าให้เด็กฟังบ้าง เพราะเด็กจะเรียนรู้ด้วยการ
จดจำเสียงสูงๆ ต่ำๆ

        เมื่อเด็กโตขึ้นอายุประมาณ ๙ เดือน ควรพูดคุย และชี้ชวนให้เด็กดูสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ และการเข้าใจภาษาพูด
และภาษากาย

        เมื่ออายุ ๑ ขวบ เด็กบางคนจะสามารถพูดเดี่ยวที่มีความหมายได้อย่างน้อยหนึ่งคำ เช่นคำว่า “แม่”  “กิน”  “เอา” “ ไป” หรือคำอื่นที่เด็กคุ้นเคย
ผู้ดูแลควรเพิ่มทักษะเด็กโดยใช้ภาพสิ่งของ หรือภาพตัวอักษรใหญ่ๆ ให้เด็กเห็นและออกเสียงให้ฟังช้าๆ ซ้ำๆ นอกจากนี้การอ่านหนังสือให้เด็กเห็นบ่อยๆ
จะเป็นการช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเลียนแบบในการอ่านด้วย

        เมื่ออายุ ๒ ขวบ เด็กควรจะพูดคำเดี่ยวได้อย่างน้อยห้าถึงสิบคำ หรือ คำเดี่ยวติดกันที่มีความหมาย เช่น “ไม่เอา” “ไปเที่ยว” “กินนม”   
ผู้ดูแลควรสอนเด็กให้รู้จักสีอย่างน้อยสองหรือสามสีซ้ำๆ สอนให้รู้จักอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าโดยการเล่นเกม  นอกจากนี้ ควรอ่านหรือเล่านิทานพร้อมภาพ
ให้เด็กฟังก่อนนอน  เด็กวัยสองขวบสามารถฝึกวินัยในการเข้าห้องน้ำได้ เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าโรงเรียนต่อไป


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ต.ค. 07, 09:35

        ช่วงอายุ ๓ -๔ ขวบ ก่อนเข้าโรงเรียน  ผู้ดูแลควรสอนหรือเล่นฝึกทักษะที่เกี่ยวกับภาษาให้มากขึ้น อาจเริ่มสอนให้เลียนเสียง ก เอ๋ย ก ไก่
และให้ดูภาพประกอบ   เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มเลียนแบบเสียงได้เก่งขึ้น เด็กบางคนสามารถร้องเพลงเลียนแบบได้เกือบทั้งเพลงแต่อาจยังไม่รู้ความหมายทั้งหมด 
ดังนั้นการเลือกเพลงให้เด็กฟังจึงมีความสำคัญมาก 
       นอกจากนี้ควรสอนให้เด็กรู้จักสีต่างๆ มากขึ้น รู้จักชื่อของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รู้จักชนิดของสัตว์ต่างๆ ที่พบได้บ่อยๆ รวมถึงการฝึกวินัยง่ายๆ เช่น
การช่วยอาบน้ำ การช่วยแต่งตัว การถอดรองเท้า ซึ่งล้วนต้องใช้ทักษะในการฟังและการแปลความหมายทั้งสิ้น
       เด็กจะเริ่มฉายแววว่าเป็นคนสนใจเรียนรู้ หรือมีความถนัดทางภาษาแค่ไหน

       การบ่มเพาะด้วยการสอนและเล่นกับเด็กนั้น ต้องให้เด็กสนุกไปด้วย ไม่บังคับหรือยัดเยียดเพราะจะทำให้เด็กเครียด หมดความสนใจในสิ่งนั้นๆ
ทำให้ขาดโอกาสในการเพิ่มพูนทักษะต่างๆ
 
            เด็กแรกเกิด - ๑ ปี จะเล่นโดยการใช้ประสาทสัมผัส หยิบ ดม ดูด
 
            อายุตั้งแต่ ๑ - ๒ ปี เด็กจะเริ่มเล่นตามหน้าที่ของสิ่งของ เช่น ช้อนใช้ตักอาหาร แก้วน้ำเอาไว้ดื่ม

            อายุตั้งแต่ ๒ -๓ ปี เด็กจะเริ่มเล่นสมมติ เลียนแบบ เช่น เล่นทำอาหาร
 
            อายุตั้งแต่ ๓ - ๕ ปี เด็กจะเริ่มเล่นบทบาท เช่นเป็นอุลตร้าแมน เลียนแบบตัวละครในโทรทัศน์  เลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง

           เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้ได้รวดเร็วเมื่อเกิดความสนุก หรือมีแรงจูงใจต่อการเรียนรู้นั้นๆ  โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านวิธีเล่นและของเล่นที่เหมาะสม
จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมองช่วยเสริมทักษะทุกด้านของเด็กต่อไป

จบแล้วครับ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ต.ค. 07, 12:34

       วันนี้ได้อ่านข่าว ค่ายกล้าวรรณกรรม   http://www.komchadluek.net/2007/10/16/e001_162461.php?news_id=162461
ทำให้เกิดจินตนาการต่อว่า  เมื่อปลูกฝังแต่ครั้งยังเล็ก พอเติบโตเป็นเยาวชนแล้วเขาอาจได้ไปเข้าค่ายนี้ และอาจก้าวต่อไปสู่
การเป็นนักเขียนในวันข้างหน้า

ตัดทอน เรียบเรียง จาก   >>    เพาะกล้า...วรรณกรรม เติบโตรู้ค่าภาษาไทย      <<   พวงชมพู ประเสริฐ
 
            กล้าวรรณกรรมเปรียบเด็กและเยาวชนดั่งต้นกล้าที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นเมล็ดพืชให้คนอื่นได้อิ่ม อย่างไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ แต่
ต้องมีคนบ่มเพาะ ดูแล ทุบตี ไถคราด เพื่อให้ต้นกล้าเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและกล้าหาญที่จะสรรค์สร้างวรรณกรรมดีๆ ให้คนได้อ่านต่อๆ ไป

เจตนารมณ์ค่ายกล้าวรรณกรรมถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของ ผศ.อำนาจ เย็นสบาย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

         ค่ายกล้าวรรณกรรมจัดขึ้นเป็นรุ่นที่4 ระหว่างวันที่2-5 ตุลาคมที่โรงแรมริเวอร์แคววิลเลจ จ.กาญจนบุรีมีนักเรียนและครูจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 200 คน
ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่มีทักษะด้านการเขียนได้พัฒนาตนเองในเชิงคุณภาพ
ผ่านการเคี่ยวเข้มข้นจากนักเขียนชั้นแนวหน้า เช่น ชมัยภร แสงกระจ่าง, วัฒน์ วรรลยางกูร, กิ่งฉัตร, กนกวลี พจนปกรณ์ 

        อาจารย์เนาวรัตน์พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เปิดฉากสะกดคนฟังด้วยเสียงขลุ่ยคลอเบาๆ พอให้แว่วเสียง ตามด้วยการร่ายบทกลอนประกอบ
แล้วให้เคล็ดวิชามาฝึกปรืองานเขียน เพราะอาจารย์เนาวรัตน์ชี้ว่า

        ก่อนที่จะเริ่มจรดปากกาเขียน ต้องตระหนักว่าภาษาไทย ไม่ได้มีไว้พูดอ่านเขียนเท่านั้น แต่นำมาใช้ในการคิดด้วย
 
        ถ้ารู้ภาษามากก็คิดได้มาก ยิ่งถ้ามีความสามารถในการลำดับภาษา ยิ่งช่วยให้คิดได้มากขึ้น และ

        มนุษย์มีความรู้สึกทั้งรัก เหงา เศร้าที่ไปไกลมากกว่าภาษา ตรงนี้คือปัญหา จะทำอย่างไรที่จะใช้ภาษาถ่ายทอดความรู้สึก อารมณ์ที่มีอยู่มากมาย
ออกมาให้ได้ หากทำได้ถือว่าประสบความสำเร็จในงานเขียนนั้นๆ และ นี่คือความสำคัญของภาษา

         จุดเริ่มของการจะเป็นนักเขียนที่ดีขอให้รักการอ่านหนังสือ โลกของคนไม่เหงา คือ โลกของคนอ่านหนังสือ
โทรศัพท์มือถืออย่าให้ความสำคัญมาก หากใช้เป็นก็ดีไป ถ้าใช้ไม่เป็นจะตกเป็นทาสรัก โกรธกันง่าย สร้างอารมณ์ไว ร้อน

         แต่สิ่งที่ซื่อสัตย์เสมอคือ หนังสือ อ่านหนังสือวิเศษสุด ช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ทำให้มีสติ สมาธิ อ่านเรื่องดีๆ 1 เล่มช่วยเปลี่ยนคนได้
อาจารย์เนาวรัตน์ให้แง่คิด 

       4 วัน 3 คืน ในค่ายกล้าวรรณกรรมทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาตนเอง ปลูกฝังให้รัก รู้คุณค่า และใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

        ที่สำคัญยังช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเองอย่างเช่น นักเรียนที่เข้าร่วมค่ายเป็นปีที่ 2 ได้รับคัดเลือกจากสำนักพิมพ์สำนักหนึ่ง
ให้รวมเรื่องสั้นออกจำหน่าย รวมถึงนักเรียนกลับมาตั้งชมรมนัก (อยาก) เขียนในโรงเรียน อบรมต่อให้แก่รุ่นน้องหลังกลับจากเข้าค่าย
ถือว่าเป็นการช่วยครูในการปลูกฝังการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง 

          เด็กนักเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า พ่อแม่ควร ปลูกฝังให้เด็กรู้คุณค่าและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง สอนให้รักการอ่าน ทำตัวเป็นแบบอย่าง
จากนั้นนำความรู้ที่ได้มาจับกลุ่มพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกันในครอบครัว จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกค้นคว้าหาความรู้มาแลกเปลี่ยนกับคนอื่น
เมื่ออ่านหนังสือมาก เด็กก็จะซึมซับการใช้ภาษาที่ถูกต้องอย่างอัตโนมัติ

       จะว่าไปแล้วภาษาไทยจัดเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ชาติไทย หากคนในชาติยังไม่เห็นค่าและความสำคัญ และ
ใช้ภาษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ช้าไม่นานภาษาไทยอาจเป็นเช่นดั่งภาษาอาเรม, บูซินหัว และเรดเกเลา ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่เหลือคนพูดได้เพียงแค่ 40, 200 และ20 คน ตามลำดับและอีกหลายภาษาทั่วโลกที่กำลังรอวันสูญหายก็เป็นได้ 



กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 21 ต.ค. 07, 00:28
ร่วมผลัด เอ้ย ผลัก...ดัน ให้ "การอ่าน" เป็นวาระแห่งชาติกันเถอะ


กระทู้: คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๗ บรรทัด
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 21 ต.ค. 07, 15:03
การอ่านเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง จงอ่านทุกวัน