เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: นทีสีทันดร ที่ 15 ม.ค. 06, 18:42



กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 15 ม.ค. 06, 18:42

วันเด็กที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเที่ยวชม พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอนันตสมาคมมาครับ (เขาเปิดให้เด็กๆไปดู คนแก่ๆอย่างผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปชมเหมือนกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต) มีคนนำเที่ยวเป็นคนชื่อดังแห่งเวป pantip คุณณัฐเศรษฐ์ ได้ความรู้มากมาย (อันนี้แค่เกริ่นนำครับ)
ตอนขากลับที่แยกกันแล้ว ได้ไปเดินดูๆตามข้างทาง เห็นมีร้านขายขนมฝักบัวอยู่ รู้สึกอยากกินขึ้นมา นานๆจะเจอแล้วได้กินสักทีเลยซื้อมา  2 ชิ้น
ระหว่างที่กำลังกินอยู่ ก็คิดว่าทำไมคนโบราณถึงเรียกว่า "ขนมฝักบัว" นะ(ใจนึงคิดว่า อ้วนอีกแล้วเพราะเป็นขนมทอดมีน้ำมันเยอะพอสมควร) รูปร่างจะว่าเหมือนฝักบัวก็ไม่ใช่เหมือนไข่ดาวมากกว่าอีกทำไมไม่เรียก "ขนมไข่ดาว" นะ
กินไปๆดูเนื้อในเห็นเป็นโพรงๆเหมือนในฝักบัวเลย ก็เลยทึกทักเอาเองว่าน่าจะเป็นสาเหตุนี้แน่เลยที่ทำให้เรียกว่าขนมฝักบัว
วันนี้มาค้นในเนทเปิด google ดูมีเวบนึงเขียนบอกว่า "เมื่อฉีกขนมจะเป็นแป้งภายในเป็นโพรงจากก้นมาถึงด้านหน้า มีลักษณะเช่นเดียวกับฝักบัวจริง ๆ" อืมสงสัยว่าเราจะเดาถูกนะ

ยังมีชื่อสิ่งของอีกหลายๆอย่างที่มีที่มาที่น่าสนใจ ชาวเรือนไทยคนไหนมีความรู้ช่วยมาเล่าให้ฟังหน่อยนะคับ

ขนมฝักบัว เป็นขนมที่ใช้แป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียว ใส่ผงฟูและกะทิ ทอดในกระทะก้นลึก ขนมจะพองตรงกลางคล้ายทอดไข่ดาว ขนมฝักบัวมีลักษณะเป็นแผ่นกลม ขอบหยักเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอกันโดยรอบส่วนขอบกลาง ส่วนกลางขนมหนา ก้นขนมนูนอย่างสม่ำเสมอ ทางปักษ์ใต้เรียก “ขนมจู้จุน” เพราะมีลักษณะคล้ายสะดือจุ่น นิยมใช้เป็นขนมสำหรับติดกัณฑ์เทศน์  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 15 ม.ค. 06, 18:59
มีอีกชื่อที่ทึกทักเอาเองเหมือนกันคือ "ต้นหนวดปลาหมึก" เมื่อก่อนเคยเจอแต่ต้นกับใบก็สงสัยทำไมเรียกว่า ต้นหนวดปลาหมึกหว่า พอไปเห็นตอนออกดอกถึงร้องอ้อน่าจะเป็นจากสาเหตุนี้ละมั้ง แต่ก็ทึกทักเอาเองยังไม่ได้หาหลักฐานสนับสนุน พี่ๆน้องๆคนไหนมีความรู้ช่วยบอกหน่อยนะครับว่าผมเดาถูกอีกรึเปล่า


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 15 ม.ค. 06, 19:02

"ทาบฟ้าหนวดปลาหมึก
เพิ่งรู้สึกนึกเหมือนจริง
หลายเส้นเด่นดูยิ่ง
มากปุ่มป่ำล้ำเรียงราย..."
รูปและข้อความในกระทู้นี้เอามาจากเวบนี้คับhttp://www.tourthai.com/gallery/flower/pic08540.shtml  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 15 ม.ค. 06, 20:25
 หนวดปลาหมึกจริงๆด้วย


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 06, 20:37
 ต้นแปรงล้างขวดค่ะ
เห็นดอกของมันแล้วไม่ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมชื่อนี้


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 ม.ค. 06, 21:05
ที่จริง คนไทยเรียกชื่อของตามอะไรที่เห็นแล้วจำได้ง่ายซะจนชินแล้วล่ะครับ

ผมเคยงงว่า ผ้า 2 ชนิดที่กรรมวิธีการผลิตต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำไมถึงมีชื่อเรียกที่พ้องกัน

อย่างแรก คือแพรเกี้ยวหนาม-ขนุน ซึ่งมีวิธีทำคือการนำผ้าแพรหนังไก่ไปมัด แล้วย้อมสี ซึ่งการมัดและอุณหภูมิขณะย้อมจะทำให้ลักษณะของผ้าดูเป็นหนามๆคล้ายๆกับลูกขนุน

ส่วนอย่างที่สอง คือผ้านมสาว หรือผ้าตาดเงินหนามขนุนซึ่งใช้แล่งโลหะ (หรือกระดาษตะกั่ว) มาไขว้กันเหมือนเวลาจะเริ่มสานตะกร้อจากใบมะพร้าวเรียกว่าทำนมสาว แล้วเอานมสาวเป็นสายๆมาสอยติดลงไปบนผ้า ก็ถูกเรียกว่า "ผ้าตาดเงินหนามขนุน" เหมือนกัน

ผมเลยสงสัยว่าทำไมถึงเรียกว่า "หนามขนุน" เหมือนกัน ทั้งๆที่กรรมวิธีการผลิตไม่เห็นจะเหมือนกันเลย จนกระทั่งได้ความรู้มาว่า "คนสยามเป็นพวกซื้อของมาใช้ ถ้าไม่เรียกตามชื่อเดิม(ให้ภาษามันเพี้ยนๆไป)ก็เรียกใหม่ตามที่เห็นแหละ" ถึงได้ถึงบางอ้อครับ ว่าที่เรียกแบบนี้เพราะผ้าทั้ง2 ชนิดมีลักษณะเป็นหนามทู่ๆ ละเอียดๆ เหมือนหนามของลูกขนุนไงครับ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 06, 06:43
 แพรชีฟอง ที่ตัดชุดราตรี   เมื่อก่อนตอนเข้ามาในประเทศไทย เราเรียกว่าแพรเยื่อไม้
ตามลักษณะโปร่งบาง เหมือนเยื่อที่ลอกจากไม้ค่ะ  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 16 ม.ค. 06, 23:20

ต้นกระถินณรงค์ครับ นำเข้ามาในประเทศไทยโดยขุนณรงค์ชวนกิจ (ชวน ณรงค์ชวนะ)
ที่เรียกว่ากระถิน คงเป็นเพราะว่า(สันนิษฐานเองเหมือนเดิม)ตอนต้นเล็กๆมีใบจริงเป็นใบประกอบลักษณะคล้ายใบกระถิน ต่อมามีก้านใบซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและทำหน้าที่แทนใบประกอบที่หายไป  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 17 ม.ค. 06, 00:10
 ที่จริง ชื่อต้นไม้แนวนี้มีอีกหลายอย่างเลยนะครับ

เท่าที่นึกออกก็ ศรีตรัง ชมพูพันทิพย์ ล่ะ (แต่ที่เหลือลืมหมดแล้วล่ะครับ ต้องขอเวลานึกอีกชาติเศษๆได้ 555+)


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 06, 11:20
 อวัยวะส่วนที่เรียกว่า "กระเบนเหน็บ" ไงคะ  อยู่บริเวณบั้นเอวด้านหลัง
 
ถ้าปวดตรงนี้อาจเป็นโรคไซอาติคา (Sciatica) เกิดจากเส้นประสาทไขสันหลัง บริเวณกระดูกสันหลังบั้นเอวกระเบนเหน็บที่ไปเลี้ยงขา ถูกหมอนรอง กระดูกสันหลังหรือกระดูกเลื่อนไปกดทับ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น

ที่เรียกว่ากระเบนเหน็บ เพราะเมื่อก่อนคนไทยนุ่งโจงกระเบน  ชายกระเบนที่โจงแล้วเหน็บอยู่ตรงบั้นเอวด้านหลัง  ตรงนั้นพอดี


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 17 ม.ค. 06, 12:25

มาเพิ่มเติมจากอาจารย์เทาชมพูนะครับ
ส่วนที่เรียกว่า "ทัดดอกไม้" (pterion) ซึ่งเป็นบริเวณด้านข้างของกระโหลกศีรษะ ซึ่งตรงกับบริเวณที่ใช้ทัดดอกไม้เหนือหู บริเวณนี้จะมีเส้นเลือดอยู่ เมื่อบาดเจ็บบริเวณนี้อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้มีเลือดออกนอกเยื่อหุ้มสมอง(epidural hemorrhage)ได้  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 17 ม.ค. 06, 23:31
 ขอเสนอคำว่า "หมวกกันน็อค" ครับ

คือ ในความเป็นจริงแล้ว ถึงจะใส่หมวกก็มีโอกาสได้ "น๊อค" (สลบ) ครับ ถ้ากระแทกพื้นแรงๆ (น่าจะเรียกว่า "หมวกกันสลบ" อิอิ)

ถึงแม้จะมีคำว่า "หมวกนิรภัย" มาก็ไม่ช่วยทำให้ความหมายตรงกับความจริงนัก

นิรภัย แปลว่า ไม่มีภัย คือ สวมใส่แล้วไม่มีภัย ซึ่งก็ไม่จริง เพราะถ้าประมาทก็เกิดภัยได้

อันที่จริง หมวกดังกล่าว "ลดความรุนแรง ที่อาจเกิดกับศีรษะ" เท่านั้นครับ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 18 ม.ค. 06, 07:09

ถ้าเป็นขนม แนะนำ

"ขนมกง" ครับ

Thaitambon.com เค้าบอกว่า "ขนมกง ผลผลิตจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น ถั่ว งา ข้าวตอก แป้งข้าวเหนียว มะพร้าว มาแปรรูปเป็นขนมกง ใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง มีคุณค่าทางอาหารสูง"  (ตำบลนาโคก อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร)

รูปร่างของขนมเหมือน "กงล้อ" ก็เลยเรียก "ขนมกง"

จบข่าว    


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 18 ม.ค. 06, 22:27

มาเล่าเรื่องหลวงพ่อกลักฝิ่นดีกว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีที่มาน่าสนใจและชื่อขององค์พระก็แปลกดีด้วยครับ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศห้ามสูบฝิ่นและมีการปรามปรามฝิ่น ซึ่งในการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ.๒๓๘๒ เป็นการกวาดล้างฝิ่นในภาคใต้ตั้งแต่เมืองปราณบุรี ถึงนครศรีธรรมราช และจากตะกั่วป่าถึงถลาง สามารถจับฝิ่นดิบและฝิ่นสุกมาได้มากมาย ตัวฝิ่นนั้นโปรดฯ
ให้นำมาทำพิธีเผาที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เหลือกลักฝิ่นซึ่งทำด้วยทองเหลืองอยู่จำนวนมาก จึงโปรดฯ ให้นำมาหล่อพระพุทธรูปได้พระขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี” ส่วนคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”  
ผมว่าการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง recycle ครั้งแรกๆในเมืองไทยก็เป็นได้นะครับ  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 19 ม.ค. 06, 07:14
 มาอีกคำครับใกล้ตัวมากๆ

"หนังสือ"

หนัง คือ หนังของสัตว์
สือ คือ ตัวอักษร

หนังสือ คือ หนังสัตว์ที่มีตัวอักษร

ปัจจุบันหนังสือไม่ใช่หนัง แต่เป็น "กระดาษ" (จำได้ว่าเป็นคำเปอร์เซีย ?)

ุ-----------------

ตู้เย็น - ตัวตู้ไม่ได้เย็นเลยครับ ร้อน แต่ในตู้นั้น เย็น จริงๆคือ "เครื่องทำความเย็น" หรือ "ตู้ทำความเย็น"

----------------

รถไฟ - เมื่อก่อนวิ่งได้ด้วยไฟ แต่ปัจจุบันวิ่งด้วยน้ำมัน แต่ก็ยังเรียกรถไฟ

เรือบิน - เมื่อก่อน พาหนะไม่มีล้อคือ เรือ ดังนั้น เครื่องบิน บินไป ไม่ได้ใช้ล้อ มีลำยาวเหมือนเรืออีก เลยเรียกเรือบิน ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว แต่ยังคงเหลือคำนี้ในตำแหน่งทหาร

"นาวาอากาศ" = เรือที่เคลื่อนที่ไปในอากาศ

----------------

มือถือ - โทรศัพท์ไร้สาย ขนาดเล็ก พกพาสะดวก
ย่อมาจาก โทรศัพท์มือถือ เพราะเล็ก มือถือได้ ปัจจุบันเรียกกัน "มือถือ" ก็เป็นที่เข้าใจ ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบไทยๆ คือ "Hand Hold" อิอิ

ุ-----------------

อันนี้ไม่เกี่ยวครับ แต่แว๊บมาในหัว

"To son to man" มุขของเพื่อนผมสมัย ม.ปลาย เค้าบอกว่าแปลว่า "ถึงลูก(ชาย)ถึงคน" ... ทำไปได้


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 19 ม.ค. 06, 20:54
 คำต่อไปนี่น่าสนใจคือคำว่า "นาฬิกา" ครับ
มาจากภาษาบาลีว่า  นาฬิเก ซึ่งแปลว่า มะพร้าว สมัยก่อนที่ไม่มีเครื่องบอกเวลา คนไทยเราใช้กะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นลอยในอ่างน้ำให้น้ำเข้ากะลามะพร้าวประมาณเวลาได้  
ผมว่า น่าจะยังมีให้เห็นบ้างในการจับเวลาการตีไก่


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 27 ม.ค. 06, 02:07
 คือว่า...(แหะๆ ...หัวเราะกลบเกลื่อนเล็กน้อย)
ไม่ได้มีสาระอะไรมาแบ่งปันเล้ยยยย (เน้นเสียงหน่อยนะคะ)
มีแต่คำไร้สาระมาฝาก
เนื่องจากเห็น To son to man เลยแว้บขึ้นมาได้อีกคำหนึ่ง
PhD ที่เรารู้กันว่าย่อมาจาก Doctor of Philosophy
อิฉันกับเพื่อนๆก็เพี้ยนหนัก ให้คำจำกัดความซะใหม่ว่า
Permanent Head Damage
คาดว่าคนที่กำลังอยู่ในกระบวนการผลิต PhD
หรือผ่านกระบวนการ PhD  มาแล้ว คงจะเห็นด้วย

อย่างนี้มันน่า นักเชียว คิดพิเรนได้ขนาดนี้
เรื่องมีสาระล่ะไม่คิด  


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 06, 08:04
 คำที่ยังหาที่มาไม่ได้คือการถวายคำนับของสตรี ที่เรียกว่า " ถอนสายบัว"
ทำไมถึง "ถอนสายบัว"
เวลาคนถอนสายบัวขึ้นจากน้ำ  ทำท่าคล้ายๆยังงี้หรือไงคะ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 29 ม.ค. 06, 01:20
 ตามความคิดผม น่าจะเป็นกริยา หญิงที่ย่อ และ ก้มลงไปหยิบสายบัว ด้วยอากัปกริยาเรียบร้อย งดงาม


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 29 ม.ค. 06, 04:18
 ความหมายของคำว่า ถอนสายบัว (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
 http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html
หมายถึง ถวายคำนับแบบผู้หญิง โดยยืนตรงแล้วชักขาข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลัง
แล้ววาดปลายเท้าไขว้ไปทางด้านขาข้างที่ยืน พร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ
เมื่อจวนต่ำสุด ให้ยกมือทั้ง ๒ ข้างวางประสานกันบนหน้าขาข้างที่ย่อต่ำ
ก้มศีรษะเล็กน้อย แล้วเงยศีรษะขึ้น พร้อมกับชักขาข้างที่ไขว้กลับยืนที่เดิม
เป็นการแสดงความเคารพของสตรีต่อเจ้านายชั้นสูง

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
 http://www.kanchanapisek.or.th/kp8/mthai/res.html
อธิบายวิธีถวายความเคารพแบบสากล (ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์) ไว้ดังนี้
การถวายความเคารพแบบย่อเข่า (ถอนสายบัว) มีสองแบบ คือ
แบบสากลนิยม
ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด
พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง สายตาทอดลง ปล่อยแขนทั้งสองข้างแล้ว ยืนตรง
แบบพระราชนิยม
ยืนตรง หัน หน้าไปทางพระองค์ท่าน วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด
พร้อมกับย่อตัวลง ขณะที่วาดเท้าให้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางประสานกันบนขาหน้าเหนือเข่า
ค้อมตัวเล็กน้อยทอดสายตาลง เสร็จแล้วยืนขึ้นใน ลักษณะเดิม


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 29 ม.ค. 06, 04:19
 ตามไปหาที่มาของการบัญญัติศัพท์ ที่เว็บฯราชบัณฑิตยสถาน…ก็ไม่เจอเลยค่ะ
น่าเสียดาย...อยากทราบที่มาจริงๆ แต่ก็หาไม่พบ
กาลครั้งหนึ่ง...นานมาแล้ว อิฉันเคยได้ยินอาจารย์ผู้สอนวิชากายวิภาคศาสตร์และ
จลนวิทยาเล่าโยงไปถึงการวางเท้าของท่าถอนสายบัว
(คาดว่าอาจารย์ท่านคงต้องการยกตัวอย่างอากัปกิริยามาอธิบายให้นักศึกษาคล้อยตาม)
ดังนั้นสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ คงแก้ข้อสงสัยเรื่องที่มาของคำๆนี้ ให้กับอาจารย์เทาชมพู อิฉัน
และอีกหลายๆ ท่านไม่ได้ แต่คงพอช่วยให้กระจ่างได้ว่าทำไมต้องถอนสายบัวท่านี้

อาจารย์เล่าว่า (เมื่อครั้งกระโน้น) คนอยากได้สายบัวต้องพายเรือไปกลางน้ำ
สมมุติว่าพายเรือไปคนเดียว  ครั้นเจอบัว ดอกที่เหมาะเจาะถูกใจ
เลยตั้งท่าจะถอน วาดเรือเข้าใกล้กอบัวซะหน่อย วางพายลง ขยับนั่งคุกเข่า
หันหน้าเข้าหาบัว โยงโย่โยงหยกอยู่พักใหญ่ ทั้งก้ม ทั้งโน้มตัว
มือข้างหนึ่งก็ดิ่งลงไปในน้ำ มืออีกข้างก็เท้าไว้กับขอบเรือ ออกแรงเพลินไปนิด
น้ำหนักเอียงไปข้างเดียว เรือโคลง คนก็เลยหล่นตูมลงน้ำ
(ไม่ทราบว่าอาจารย์ผู้เล่า ใช้สมมติฐานไหนนะคะ แต่พอเล่ามาถึงตรงนี้จำได้ว่า ฮากันครืน)


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 29 ม.ค. 06, 04:19
 จำได้ว่า อาจารย์ท่านเล่าต่อแบบหน้าตายมากเลย ว่า
ถ้าคนถอนสายบัวคนนั้นรู้ว่า CG อยู่แถวๆก้น คงไม่ตกน้ำ
(อ่านเรื่อง Center of Mass ของร่างกายมนุษย์ได้ที่นี่ค่ะ
 http://moon.ouhsc.edu/dthompso/namics/mass.htm
http://www.absoluteastronomy.com/reference/center_of_mass
CG หรือ COG ตามที่เห็นในเว็บฯ เป็นคล้ายจุดรวมน้ำหนักของร่างกายทั้งร่างกาย
จุดที่ว่านี้ ในท่ายืนปกติอยู่สูงประมาณก้นกบค่อนมาด้านหน้าเล็กน้อย
แต่จุดนี้ขยับเปลี่ยนแปลงได้ตามท่าท่างที่เปลี่ยนไป และถ้าเกิดกรณีที่เจ้าจุดนี้
เคลื่อนที่อย่างเร็วออกนอกพื้นที่รับน้ำหนักของเท้า ก็แปลว่า “ล้ม” ค่ะ)
เล่าต่อค่ะ...
อาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าคนๆนั้น หันหน้าไปทางเดิม แต่ชันเข่าข้างหนึ่งขึ้น
ในขณะที่เข่าอีกข้างยังทำท่าคล้ายคุกเข่าเหมือนเดิม
เข่าข้างที่ชันขึ้นก็จะช่วยค้ำหน้าอกไว้ ไม่ให้ยื่นออกไปนอกเรือมากนัก ตอนที่ดึงสายบัว
จุดรวมน้ำหนักของร่างกายก็ยังอยู่ค่อนมาทางด้านหลังตลอดเวลาที่ออกแรงดึง
ถึงพลาดพลั้ง อย่างมากก็แค่ก้นจ้ำเบ้าอยู่ในเรือ ไม่ต้องลงไปดำน้ำถอนสายบัว


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 29 ม.ค. 06, 04:20
 จบจากท่าในเรือ อาจารย์ท่านก็โยงมาที่ท่าบนบก ท่านบอกว่า
ท่ายืนปกติ เท้าชิด หมายถึงพื้นที่รับน้ำหนักของเท้าจะแคบ แต่จุด CG อยู่สูง ล้มง่าย
ถ้าเทียบกับท่าถอนสายบัว ที่เท้าข้างหนึ่งอยู่ด้านหน้า อีกข้างหนึ่งไขว้ไปด้านหลัง
พื้นที่รับน้ำหนักของเท้าจะเพิ่มขึ้น และจุด CG อยู่ต่ำ ท่านี้มั่นคงกว่าเยอะ

จำได้ว่าเพื่อนๆหลายคนแย้งว่า หนูทำแล้วจะล้มนะคะอาจารย์
คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจารย์จะบอกว่ากล้ามเนื้อขาของพวกเรามันขี้เกียจ
หรือไม่ก็ไม่รู้จักธรรมชาติของตัวเอง ไม่รู้ว่าต้องวาดเท้าแค่ไหนถึงจะทรงกายอยู่ได้
อะไรทำนองนี้แหละค่ะ

เฮ้อ...เล่าจบซะทีค่ะ ขอออกตัวว่าเรื่องนี้หยิบความทรงจำมาปัดฝุ่นค่ะ
ไม่แม่นเป๊ะๆ อย่างที่อาจารย์ท่านเล่า แต่น่าจะพอได้ใจความ
สุดท้ายก็ยังสงสัยอยู่ดี
ทำไมการทำความเคารพท่านี้จึงไม่ใช้ชื่ออื่น ทำไมต้องชื่อว่า “ถอนสายบัว”
แล้วชื่อนี้มาจากไหน มาได้อย่างไร
เล่ายังไงเนี่ย...แม้แต่ตัวเองยังไม่หายงง


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: กานตภณ ที่ 04 ก.พ. 06, 00:11
 . แหม ชื่อ " ถอนสายบัว " นี่ คุยกันสนุกเชียวนะครับ
. ผมเองก็คิดอีกแบบนะครับ ผมว่ามันอาจะมาจากการเก็บสายบัว ตอนที่คนเก็บอยู่ในน้ำก็ได้นะครับ
. สมมุติว่า น้ำอยู่ระดับอกหรือระดับเอว เวลาดึงสายบัว ดึงจากทางที่ใกล้ดอก สายบัวก็มักจะขาด จะก้มลงไปเด็ดส่วนที่อยู่ลึก ๆ ก็ไม่ถนัด ด้วยต้องก้มหลังลงไป หรือ ถ้าระดับน้ำเสมออกหรือคอ ก้มนิดหน่อยหัวก็คงจมน้ำแล้ว
. เป็นไปได้ไหมครับ ที่คนเก็บฝักบัวจะหาทางออกด้วยการตวัดเท้าดึง ฝักบัวส่วนลึก ๆ ให้หลุดออกจากดินใต้น้ำ ก่อนจะ ใช้มือดึงตามออกมา ก็จะสามารถเก็บฝักบัวได้ ยาว ๆ ตามที่ต้องการ
. นี่จินตนาการเองนะครับ แหะ แหะ ว่าแล้ว ก็อยากกิน แกงสายบัวขึ้นมาทันที คุณยายที่นครปฐมเคยทำให้กิน น้ำข้น ๆ แล้วก็มีเนื้อปลาทูด้วย
..แต่ตอนนี้ อยู่เชียงใหม่ หาแกงสายบัวไม่ค่อยเจอเลยครับ
. ทุกวันนี้เลยได้แต่ กินผักกาดจอ และ แกงฮังเล


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ก.พ. 06, 00:19
 อยากทราบว่า กระดูกที่เรียกว่า "ไหปลาร้า" มีที่มาจากอะไรเหรอครับ

มันก็ไม่เห็นจะเป็นไหตรงไหนเลย รูปร่างยาวๆเหมือนซี่โครงอ่ะครับ



พี่หมอท่านไหนก็ได้รบกวนหน่อยนะครับ อิอิ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 04 ก.พ. 06, 11:43
 สงสัยมานานแล้วครับ

เอกมัยแปลว่าอะไรครับ อยู่แถวนั้นมายี่สิบกว่าปี จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าเอกมัยแปลว่าอะไรเลยครับ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.พ. 06, 00:57
 ถึงคุณน้องติบอ ครับ
"ไหปลาร้า" ผมก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกันครับว่าทำไมเรียกกันแบบนี้

ราชาศัพท์เรียกว่า "พระรากขวัญ"

ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานการสร้างพระธาตุพนม) แปลไว้ว่า "กระดูกด้ามมีด"

ก็เลยคิดเล่นๆ ว่า กระดูกไหปลาร้า อาจไม่ได้เกี่ยวกับ ไหปลาร้า แต่อาจเพี้ยนมาจาก ด้ามมีดพร้า (พร้า เพี้ยนเป็น ปลาร้า) ???

จะว่าไปแล้ว รูปร่างของกระดูกไหปลาร้า ก็คล้ายกันกับด้ามมีดพร้าเหมือนกันนะครับ

ไม่มีคำอธิบายครับ เพราะไม่รู้เหมือนกัน ทิ้งไว้ให้ช่วยกันคิดครับ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ก.พ. 06, 10:28
 พาสาลาว เพิ่นเอิ้นว่า หมวกกันกะทบ เจ้า ท่านโฮตาคูนุส


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ก.พ. 06, 11:23
 ป.ล. กระดาษ นั้นจะมาจากภาษาเปอร์เซียหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ ไม่มีความรู้พอที่จะยืนยันได้ แต่เคยทราบว่า ภาษามาเลย์เรียกกระดาษว่า kertas เท็จจริงยังไง เชิญผู้รู้บาฮาซามาเลเซียแก้ไขด้วยครับ

Kertas กับกระดาษ ฟังเสียงก็ใกล้กันมาก เป็นไปได้ว่าเรารับคำนี้มาจากมลายู แต่อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ มลายูก็รับคำนี้ต่อมาจากเปอร์เซียเหมือนกัน


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: น่าน ที่ 06 ก.พ. 06, 14:46
 เห็นทุกท่านมีความรู้ด้านภาษาเลยอยากรู้ว่า ทำไมถึงต้องเรียกหมากับสุนัข คำว่าหมาไม่สุภาพตรงไหนแล้วคำไหนถูกบัญญัติขึ้นก่อน ช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่ิอยจ๊ะ


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 06 ก.พ. 06, 19:05
 สำหรับผม ซึ่งรักหมา ไม่เห็นว่าคำว่า "หมา" ไม่สุภาพตรงไหนนะครับ นั่นน่ะสิ ทำไมต้องแบ่งด้วยหว่า?

เข้าใจว่าหมาเป็นคำไทยแท้ น่าจะใช้ในภาษาไทยมาก่อน ส่วน สุนัข ซึ่งเป็นภาษาทางการของหมานั้น เดาว่าน่าจะเข้าสู่ภาษาไทยทีหลัง จากบาลี สุ+ นขา "ผู้มีเล็บงาม"

ภาษาไทยเก่ารุ่นโบราณ เคยเห็นเขียนว่า สุนักข์ ด้วยแหละ

เช่นเดียวกับ สุกร/หมู โค/วัว และควาย/กระบือ ยังนึกไม่ออกว่าไม่สุภาพยังไงเหมือนกัน แต่เขาให้ใช้ในบริบททางการก็ใช้


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 ก.พ. 06, 00:46
 ภาษาลาว แปลกดีครับ อิอิ

ไปหาภาษาจ้วงใต้ มาให้ครับ

ภาษาจ้วงเป็นภาษากลุ่มเดียวกับภาษาไทย-ลาว แต่ได้รับอิทธิพลคำจีนมาปนอยู่มาก พวกจ้วงอาศัยอยู่ทางจีนตอนใต้ ในมณฑลกวางสี เชื่อว่า ภาษาจ้วง ไทย ลาว มีบรรพบุรุษร่วมกันครับ

กระดูกไหปลาร้า จ้วงใต้เรียกว่า  ndugsaj (เทียบ ดูกสาย ?)
nd = ด คือ กระดูกที่มีลักษณะเป็นสายยาว (แท่งยาว)
j = วรรณยุกต์

กระดาษ ภาษาจ้วงใต้เรียก sa (เทียบ สา เช่น กระดาษสา)

ส่วนคำว่า "หมา" กับ "สุนัข" ที่ใช้กันในภาษาไทยปัจจุบันนี้ คำไหนเก่ากว่ากัน ?

แน่นอนครับว่า "หมา" เก่ากว่า เพราะเป็นคำไทยแท้ ในภาษาจ้วงใต้เรียกว่า ma (เทียบ หมา)

สุนัข เรารับมาใช้พร้อมๆ กับที่เรารับพุทธศาสนาครับ (หรือ อาจก่อนหน้านั้น ที่เรายังได้รับอิทธิพลพราหมณ์จากเขมร? ที่ใช้ภาษาสันสกฤต)

สุภาพ ไม่สุภาพเป็นสมัยนิยมของแต่ละยุคครับ รักคำไทยแท้ก็ใช้หมาครับ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุประการหนึ่งที่คำว่า "หมา" กลายเป็นคำไม่สุภาพก็อาจเป็นเพราะว่า ในบรรดา "คำด่า" นั้น "หมา" ก็เป็นคำหนึ่งที่นิยมใช้กัน เช่น

ชาติหมา หมาไม่แ*ก นิสัยหมาๆ หมาหมู่ หมาลอบกัด ฯลฯ

คำจ้วงใต้ก็มีครับ เค้าด่ากันว่า "หน้าหมา" (najma) อิอิ  

ปล. ผมไม่ทราบว่าจริงๆ จ้วงใต้อ่านออกเสียงอย่างไร จึงขอเทียบกับคำไทยแล้วกันครับ เพื่อที่จะได้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 ก.พ. 06, 01:21
 ส่วนคำว่า "กระดาษ" เคยได้ยินมาเหมือนคุณนิลกังขาครับว่ามาจากภาษามลายูว่า KERTAS ซึ่งก็รับต่อมาจากเปอร์เซีย อีกต่อหนึ่ง

ถ้าพิจารณาจากตัวอักษรที่เหลืออยู่คือ "ษ" ก็น่าจะเชื่อได้ครับว่าเป็นคำต่างชาติจริง เพราะ ถ้าเป็นคำไทย คำลาว แท้ๆ แล้ว แม่กด จะไม่ใช้ ส ษ ศ ครับ ก็จะใช้ตัว "ด" นี่แหละครับ ตัวเดียว ดังนั้น กระดาษ เป็นคำต่างชาติแน่นอน

หามาได้ว่า ภาษาอาหรับเรียกกระดาษว่า "วารัค" ครับ

แล้วก็หาภาษาเปอร์เซียมาได้ครับ แต่ว่า อ่านไม่ออก อิอิ ถอดเป็นตัวโรมันได้ดังนี้ครับ (ขอมั่วใส่วงเล็บ ใครอ่านได้ช่วยแก้ด้วยนะครับ)

๑. KR DN (กะ - ร(ะ) - ดัน ?)

๒. KA GH DH (กา - ฆัธ ?)


กระทู้: ที่มาของชื่อแปลกๆ
เริ่มกระทู้โดย: นวลเจ้าพี่เอย ที่ 07 ก.พ. 06, 15:17
 ถ้าหมาไม่สุภาพ แล้วล่ะก็ เราก็ต้องเรียกแมว ว่าวิฬาร์ นกว่าวิหก  ปลาว่ามัจฉากันซิครับ