เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 10:59



กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 10:59
เช็คชื่อเข้าชั้นเรียนก่อนนะคะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ต.ค. 15, 11:07
มาครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Mr.Fame ที่ 28 ต.ค. 15, 11:27
 ;D ยกมือรออยู่หลังห้องนะครับ

แล้วจะปิดปากนั่งอ่านเงียบๆ :-X ไม่ให้รบกวนสมาธิคุณครู


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 ต.ค. 15, 11:42
มาคร้าบบบบบบบบบบบบ Z Z Z z z z....


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: rozicki ที่ 28 ต.ค. 15, 16:02
มารอรับความรู้ครับ อาจารย์


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 28 ต.ค. 15, 16:59
ลงชื่อครับ น่าสนใจครับ ชื่อท่านมีทั้งขุน กับ พระยา ในท่านเดียวกัน  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 28 ต.ค. 15, 17:21

ลงทะเบียนเรียนด้วยครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 ต.ค. 15, 19:08
จองโต๊ะพร้อม  :-X


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 19:28
     ขุนหลวงพระยาไกรสี ในอดีตย้อนไปถึงอยุธยา มีอยู่กี่สิบกี่ร้อยคนไม่อาจทราบได้   แต่ในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เป็นที่รู้จักอยู่ 2 ท่านคือขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) และขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

    ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม) มีบทบาทอยู่ในเหตุการณ์ต่อเนื่องจากคดีพญาระกา   ท่านเป็นตุลาการหนึ่งในศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  และเป็น 1 ใน 28ตุลาการที่ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการตามเสด็จในกรมราชบุรีฯ  เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกริ้วถึงขั้นทรงประณามรวมกันว่า 28 มงกุฎ    ท่านเทียมเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้าย ไม่ได้กลับเข้ารับราชการ หลังจากต้องพระราชอาญาถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์   ท่านไปประกอบอาชีพทนายความจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 6 ต้องทรงตราพระราชบัญญัติทนายความพร้อมกับโปรดให้จัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้นมา
    แต่นั่นเป็นเรื่องของขุนหลวงพระยาไกรสีอีกคนหนึ่ง  คนละคนกับชื่อในกระทู้นี้ค่ะ

   นำรูปขุนหลวงพระยาไกรสี เปล่ง มาให้ดูกันก่อน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 ต.ค. 15, 20:20
มาสาย แต่ตั้งใจเรียนนะคะ  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 22:40
     ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกับชื่อบรรดาศักดิ์อันฟังประหลาดไม่คุ้นหูของ "ขุนหลวงพระยาไกรสี" เสียก่อนนะคะ
     คำนี้ ไม่ได้แยกออกมาเป็น ขุน+หลวง+พระยา(หรือพระ)  ราวกับว่าตัวท่านรวบบรรดาศักดิ์เอาไว้หมด เหมารวมเป็นทั้งท่านขุน คุณหลวง และเจ้าคุณ ในเวลาเดียวกัน
     แต่คำว่า "ขุนหลวง" เป็นคำเดียว มี 2 พยางค์     หมายถึงตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง  มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในอาณาจักรอยุธยา     อยู่ในสังกัดพระมหาราชครู   ตำแหน่งนี้มีระบุไว้ในพระไอยการนาพลเรือน    คนที่จะเป็นลูกขุน ณ ศาลหลวงได้คือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  ซึ่งก็มีอยู่หลายคนด้วยกัน    แต่คนที่จะได้เป็นขุนหลวงพระไกรสีนั้นถือว่าเป็นผู้แม่นยำทางตัวบทกฎหมายเหนือกว่าลูกขุนอื่นๆ    มี 2 คนคู่กันในระดับ "พระ" คือขุนหลวงพระไกรสี และขุนหลวงพระเกษม
   


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: กิมซัว แซ่ตั้ง ที่ 29 ต.ค. 15, 10:55
มาเข้าเรียนสาย ขออนุญาตเข้าห้องครับอาจารย์


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 11:47
      ตำแหน่งขุนนางไทยที่มีเป็นคู่ๆ  เป็นเรื่องเห็นกันทั่วไปในทำเนียบขุนนางโบราณ     มีสมุหนายกก็มีสมุหพระกลาโหมด้วย   หัวหมื่นมหาดเล็กมีจมื่นศรีสรรักษ์ ก็มีจมื่นไวยวรนาถ เป็นขวาเป็นซ้าย     จึงไม่แปลกที่มีขุนหลวงพระไกรสีก็มีขุนหลวงพระเกษม ควบคู่กันไป  แต่พวกเราคนรุ่นหลังไม่ค่อยจะได้ยินชื่อขุนหลวงพระเกษม    จึงอัศจรรย์ใจกับชื่อขุนหลวงพระ(ยา)ไกรสี อยู่ฝ่ายเดียว
      ถ้าแยกออกมาก็จะได้ดังนี้
      ตำแหน่ง (ขุนหลวง) + บรรดาศักดิ์ (พระ )+ ราชทินนาม (ไกรสี)
      เมื่อแยกส่วนออกมาดังนี้  ก็คงจะดูกันออกว่า ส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ คือบรรดาศักดิ์ ที่อยู่ตรงกลาง    จากคุณพระขึ้นเป็นพระยา  
ท่านเปล่ง เวภาระ เมื่อรับราชการมีความดีความชอบ ท่านก็ได้เลื่อนจากขุนหลวงพระไกรสี เป็นขุนหลวงพระยาไกรสี

      ย้อนกลับมาถึงความเป็นมาของ "ขุนหลวงพระไกรสี" ในสมัยอยุธยา  
      หน้าที่ของท่านคือรักษาตัวบทกฎหมาย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าพระราชกำหนดบทพระอัยการ  ซึ่งเก็บไว้ ณ ศาลหลวง    เมื่อจะพิพากษาว่าจำเลยทำผิดต่อกฎหมายใดมาตราใด  ก็เป็นหน้าที่ของขุนหลวงพระไกรสีและขุนหลวงพระเกษม เปิดกฎหมายไล่เลียงไปตามมาตราต่างๆก่อนฟันธงว่าผิดตามมาตราบทนั้นบทนี้       เราคงเห็นว่า คนที่ทำหน้าที่นี้ได้ต้องแม่นยำในตัวกฎหมายกี่ร้อยกี่พันมาตราจริงๆ  จะมัวเปิดอ่านเดาสุ่มไปทีละมาตราไม่ได้


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 12:35
     เมื่ออาณาจักรใหม่เกิดขึ้นในพ.ศ. 2325    ก็คือการจำลอง "บ้านดีเมืองดี" สมัยอยุธยาให้เกิดขึ้นอีกครั้งนั่นเอง   มีการพลิกฟื้นวัฒนธรรมความเป็นอยู่   ตลอดจนจารีตประเพณีตัวบทกฎหมายสมัยอยุธยาให้กลับคืนมาอีกครั้ง       
      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมิได้ทรงตรากฎหมายขึ้นมาใหม่  แต่ทรงรวบรวมกฎหมายเก่าสมัยอยุธยาที่ใช้กันมา มาชำระสะสางให้ครบถ้วนถูกต้อง     มีกลุ่มคนที่สมัยนี้น่าเรียกว่ากรรมการดำเนินการ ประกอบด้วยอาลักษณ์ผู้มีหน้าที่เขียนจดจารลงในสมุด  ลูกขุน และราชบัณฑิตรวม 11 คน  ร่วมกันตรวจชำระของเก่า มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง"

    ถึงตรงนี้ ก็มีบอกไว้ในบานแผนกท้ายเรื่องถึงบทบาทหน้าที่ของขุนหลวงพระไกรสี ว่า
    " ครั้นชำระแล้ว    ให้อาลักษณ์ชุบลายเส้นหมึกสามฉบับ  ไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง   ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง   ไว้ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง    ปิดตราพระราชสีห์  พระคชสีห์ บัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ     ถ้า พระเกษมพระไกรสี เชิญพระสมุดพระราชกำหนดบทพระไอยการออกมาพิจารณาคดีใดๆ    ลูกขุนทั้งปวงไม่เห็นปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว สามดวงนี้ไซร้  อย่าให้เชื่อฟังเอาเป็นอันขาดทีเดียว"

    คำสั่งเด็ดขาดนี้ บ่งชี้ถึงอำนาจระดับบิ๊กของขุนหลวงพระเกษมพระไกรสี     เพราะคนที่รับตำแหน่งนี้ หากนำความเชี่ยวชาญทางกฎหมายไปใช้ในทางผิด    เช่นบิดเบือนดัดแปลงมาตราตามใจชอบ   ทำอุบายเพิ่มโทษมากขึ้นหรือลดโทษน้อยลง ตามแต่อยากจะแกล้งใครหรือช่วยใคร     ก็ยากจะมีผู้จับได้เพราะคนอื่นไม่แม่นยำเท่า     ผลเสียจะเกิดขึ้นเหลือคณานับแก่ประชาชนตาดำๆ    หลวงท่านจึงห้ามเอาไว้ก่อน ว่าต้องยึดตัวบทกฎหมายของแท้เป็นหลัก   ไม่ยึดคนซึ่งอาจโอนเอนไปมาตามสินบาทสินบน   ไม่ตายตัวอย่างตัวหนังสือ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 12:46
     ตำแหน่งขุนนางไทยที่มีเป็นคู่ๆ  เป็นเรื่องเห็นกันทั่วไปในทำเนียบขุนนางโบราณ     มีสมุหนายกก็มีสมุหพระกลาโหมด้วย   หัวหมื่นมหาดเล็กมีจมื่นศรีสรรักษ์ ก็มีจมื่นไวยวรนาถ เป็นขวาเป็นซ้าย     จึงไม่แปลกที่มีขุนหลวงพระไกรสีก็มีขุนหลวงพระเกษม ควบคู่กันไป  แต่พวกเราคนรุ่นหลังไม่ค่อยจะได้ยินชื่อขุนหลวงพระเกษม จึงอัศจรรย์ใจกับชื่อขุนหลวงพระ(ยา)ไกรสี อยู่ฝ่ายเดียว      

ถึงตรงนี้ขออนุญาตวิสัชนาตำแหน่ง "ขุนหลวงพระเกษม"

จาก เว็บพิพิธภัณฑ์ศาลไทย (http://www.museum.coj.go.th/Pratsanee/pratsanee7.html) อธิบายว่าตำแหน่งนี้ชื่อว่า "พระเกษมราชสุภาวดี" คู่กับ "ขุนหลวงพระไกรสีราชสุภาวดี" เรียกย่อ ๆ ว่า พระเกษมและพระไกรสี มีหน้าที่เป็นผู้ปรับ

ผู้ปรับ หมายถึง บุคคลผู้ทำหน้าที่ปรับบทหรือวางบทลงโทษเมื่อลูกขุนวินิจฉัยชี้ขาด ฟังข้อเท็จจริงแล้ว ก็ไม่มีอำนาจในการที่จะปรับบทลงโทษว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายเรื่องใด บทมาตราใดหรือควรจะต้องรับโทษสถานใด ลูกขุนต้องส่งคำชี้ขาดหรือใบสัตย์ไปให้ผู้ปรับ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้แม่นยำ ในบทพระอัยการ เป็นผู้ปรับบทในการลงโทษ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 13:27
ดิฉันอ้างจากข้อเขียนของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในข้อเขียนประวัติของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

(ขุนหลวงพระไกรสี) ถือกันว่าเป็นผู้รู้พระราชกำหนดกฎหมายชำนิชำนาญ   แม่นยำยิ่งกว่าลูกขุนอื่นทั้งปวง   คู่กับพระเกษมราชสุภาวดีศรีมนธาตุราช     และมักเรียกชื่อสั้นๆว่า "พระเกษม พระไกรสี"   ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้รักษาพระราชกำหนดบทพระอัยการซึ่งเก็บไว้ ณ ศาลหลวง     เมื่อจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายใด มาตราใด  ก็ตกเป็นหน้าที่ของพระเกษมพระไกรสี ที่จะพลิกกฎหมายและปรับบทว่าผิดบทนั้นบทนี้

นี่คือในสมัยอยุธยาค่ะ
ถ้าหากว่าทั้งสองท่านทำหน้าที่เหมือนพนักงานแจ้งค่าปรับเฉยๆ    ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางกฎหมายก็ได้  เพราะลูกขุนคงพิพากษามาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เหลือแต่ว่ามาตรานั้นๆจะโดนโทษปรับขนาดไหน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 15:32
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงลูกขุนและผู้ปรับไว้ในหนังสือเรื่อง พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน  (http://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/appendix_14.html)ใจความตอนหนึ่งว่า

ชื่อของลูกขุนปรากฏเป็นชื่อพราหมณ์อยู่โดยมาก และพราหมณ์ซึ่งยังมีตระกูลอยู่ในกรุงบัดนี้ก็ยังได้รับตำแหน่งในลูกขุน หรืออยู่ในตำแหน่งพราหมณ์แต่ไปเข้าที่ปรึกษาเป็นลูกขุนฯลฯ ตัวลูกขุนทั้งปวงเป็นแต่ผู้พิพากษาความชี้ผิดชี้ชอบอย่างเดียว หาได้เป็นผู้พิจารณาความอันใดไม่ ต้องมีตระลาการที่จะพิจารณาความนั้นตลอดแล้วไปขอคำตัดสินอีกชั้นหนึ่ง แต่ตระลาการทั้งปวงเหล่านั้นแต่เดิมจะอยู่ในบังคับลูกขุนทั้งสิ้นหรือจะจ่ายไปไว้ตามกรมต่าง ๆ ดั่งเช่นเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่มีอันใดจะยืนยันเป็นแน่ได้ ถ้าจะคิดประมาณดูว่า กรมแพ่งกลางกรมหนึ่ง แพ่งเกษมกรมหนึ่ง สองกรมนี้ยังคงอยู่ในกรมลูกขุน ถึงว่าในบัดนี้จะไม่ได้อยู่ในบังคับพระมหาราชครูผู้เป็นใหญ่ในกรมลูกขุนอย่างหนึ่งอย่างใด สังกัดหมายหมู่ตัวเลขอยู่ในกรมเหล่านั้น ก็ยังขึ้นอยู่ในกรมลูกขุนเจ้ากรมและขุนศาลตระลาการก็รับเบี้ยหวัดอยู่ในกรมลูกขุน หน้าที่ของแพ่งกลางและแพ่งเกษมทั้งสองกรมนี้ ก็มีศาลที่จะพิจารณาความเป็นกระทรวงอันหนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิม แต่ไปมีการอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้วางบทในคำลูกขุนปฤกษา หน้าที่ทั้ง ๒ คือเป็นผู้พิจารณาความอย่างหนึ่ง เป็นผู้วางบทอย่างหนึ่งนี้ ถ้าคิดตามความเห็นในเชิงกฎหมายอย่างไทยแล้วก็เป็นหน้าที่อันไม่ควรจะร่วมกัน แต่การที่เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม ๒ คนนี้ ไปมีหน้าที่วางบทลงโทษขึ้นด้วยนั้น ควรจะเห็นได้ว่าแต่เดิมมาลูกขุนคงจะปฤกษาชี้ขาดและวางบทลงโทษตลอดไปในชั้นเดียว แต่ล่วงมา จะเป็นด้วยผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตใหญ่ ซึ่งมีความรู้และสติปัญญาความทรงจำมากนั้นล้มตายไป ผู้ซึ่งรับแทนที่ใหม่ไม่แคล่วคล่องในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นไว้ หรือไม่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะทำการให้ตลอดไปได้แต่ในชั้นเดียวนั้นอย่างหนึ่ง และเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินตั้งพระราชบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นตามกาลสมัยมากขึ้นเหลือที่จะทรงจำไว้ได้ ลูกขุนซึ่งพิพากษานั้นวางโทษผิด ๆ ถูก ๆ หรือไม่ทันเวลา พระเจ้าแผ่นดินจึ่งได้โปรดให้เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม ๒ คนนี้เป็นพนักงานที่จะพลิกกฎหมาย เพราะฉะนั้นลูกขุนจึ่งเป็นแต่ผู้พิพากษาชี้ผิดชี้ชอบ แต่การที่จะตัดสินโทษอย่างไรนั้น ตกเป็นเจ้าพนักงานของกรมศาลแพ่งทั้ง ๒ จึ่งได้ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ปรับ เพราะเป็นผู้พลิกผู้เปิดสมุดกฎหมายดั่งนี้

ถ้าคิดจะเอาศาลแพ่งกลาง แพ่งเกษมทั้ง ๒ ศาลนี้เป็นตัวอย่างว่า หรือแต่ในชั้นต้นแรกตั้งพระนครที่กล่าวมานั้น ตระลาการซึ่งมีอยู่ในศาลอื่น ๆ ทุกวันนี้จะรวมอยู่ในลูกขุน กรมลูกขุนเป็นกรมยุติธรรมสำหรับพระนครก็ดูเหมือนจะพอว่าได้ แต่ภายหลังมา อำนาจลูกขุนไม่พอที่จะบังคับรักษาให้ศาลทั้งปวงอันอยู่ในใต้บังคับ พิจารณาความให้ตลอดทั่วถึงไปได้ ด้วยเหตุขัดข้องต่าง ๆ ครั้นเมื่อจัดการในตำแหน่งขุนนาง เอาฝ่ายพลเรือนเป็นสมุหนายก ฝ่ายทหารเป็นสมุพระกลาโหม และตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถจึ่งได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่าง ๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน ๒ ศาล เพราะ ๒ ศาลนี้ เป็นแต่ว่า ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ อันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้ ความอื่น ๆ ที่เป็นความสำคัญแข็งแรง และเป็นความที่ประสงค์จะอุดหนุนราษฎรให้ความแล้วโดยเร็วขึ้นกว่าความสามัญ จึ่งได้ยกไปแจกไว้ในกรมต่าง ๆ


เจ้ากรมศาลแพ่งกลางคงเป็นขุนหลวงพระไกรสีราชสุภาวดี ส่วนกรมศาลแพ่งเกษมคือพระเกษมราชสุภาวดี   ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 15, 06:21
ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถจึ่งได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่าง ๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน ๒ ศาล เพราะ ๒ ศาลนี้ เป็นแต่ว่า ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ อันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้

ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ นั้นเป็นฉันใด คุณม้าได้ค้นมาไว้ให้พิจารณาแล้ว  ;D

ศาลแพ่งกลาง พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานเบา เช่น ด่าสบประมาท แทะโลม ข่มขืนมิได้ถึงชำเรา ทุบถองตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานเบาและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมืองรองแพ่งเป็นผู้พิจารณา

ศาลแพ่งเกษม พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานหนัก เช่น บุกรุกที่ดินเรือกสวน ทำชู้หรือข่มขืนกอดจูบเมียหรือลูกหลานผู้อื่นถึงชำเรา เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานหนักและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมือง ขุนแพ่งเป็นผู้พิจารณา 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 15, 12:07
       ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  มีขุนนางบรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวงพระไกรสีมาแล้ว 2 ท่าน คือขุนหลวงพระไกรสี (หนู) กับขุนหลวงพระไกรสี (จันทร์) ซึ่งต่อมาได้เป็นขุนหลวงพระยาไกรสีทั้งสองท่าน
       น่าเสียดายไม่ทราบว่าทั้งสองท่านอยู่ในสกุลอะไร  มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6  จนมีนามสกุลตามกฎหมายหรือไม่
       รู้แต่ว่าขุนหลวงพระไกรสี(หนู) เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นราชสกุลทองใหญ่    ก็น่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  จึงได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์ของเจ้านายระดับพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 30 ต.ค. 15, 13:56
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเห็นว่า ระบบการพิจารณาคดีของไทยในสมัยอยุธยา ใกล้เคียงกับระบบการพิจารณาคดีของประเทศอังกฤษหรือของสหรัฐอเมริกาบางมลรัฐ กล่าวคือ มีการแยกผู้ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง และผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายแยกจากกัน

การวินิจฉัยข้อเท็จจริง ได้แก่การพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ได้กระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ และมีพฤติกรรมที่แท้จริงเป็นเช่นไร ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ก็เรียกกันว่า Jury ซึ่งไทยเราก็แปลว่า ลูกขุน เมื่อคณะลูกขุน พิจารณาข้อเท็จจริงว่า ผิดหรือไม่ผิด (Guilty or Not Guilty) แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของตุลาการ ที่จะพิพากษาว่า ความผิดเช่นนี้ เข้ากับบทกฎหมายมาตราใด และจะต้องรับโทษเท่าใด

การกระทำเช่นนี้ อาจารย์กฎหมายผมบางท่านเรียกว่า การปรับ คือ ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย นั่นเองครับ

ปัจจุบันระบบศาลของบ้านเรามิได้ทำเช่นนี้ ผู้พิพากษา ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคนๆ เดียวกัน แต่ในการพิจารณาคดี ก็ยังคงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ได้ความว่า ทำผิดจริงตามฟ้องเสียก่อน จึงค่อยปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอยู่เช่นเดิมครับ      


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 15, 14:07
ขอบคุณค่ะ  คุณนริศ   คำวิเคราะห์น่าสนใจมากค่ะ   เห็นภาพชัด
เคยเห็นในหนังประเภท courtroom drama ทั้งหลาย    ลูกขุนนั่งอยู่ในที่กั้น เรียงกันเป็นตับ  ฟังอัยการกับทนายจำเลยทำงานกันไปจนจบแล้ว ก็เข้าห้องไปประชุมชี้ขาดกันว่าผิดหรือไม่ผิด     ส่วนผู้พิพากษาในหนังนั่งเฉยๆไม่ได้ออกความเห็น  อย่างมากเวลาในศาลมีเรื่องเอะอะโวยวายกันก็หยิบค้อนทุบปังเข้าให้ 

รอจนลูกขุนชี้ขาดว่าผิดหรือไม่ผิด จากนั้นก็ค่อยเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา

แต่ก็มีบางคดีเหมือนกัน  ไม่เห็นมีลูกขุน  มีแต่ผู้พิพากษาคนเดียวนั่งบัลลังก์ ฟังโจทก์จำเลย แล้วชี้ขาด รวมทั้งชี้โทษด้วย


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 15, 15:59
ในฐานะผู้ศึกษาคดีพระปรีชากลการมา เข้าใจว่าในสมัย(ต้นรัชกาลที่ ๕)นั้น ท่านตั้งองค์คณะผู้พิพากษา กระทำการสอบสวนโจทย์และจำเลยในศาล รวมถึงการมอบหมายให้ผู้พิพากษา(เดี่ยวๆ)เรียกพยานมาสอบสวนให้การนอกศาลก่อน ทำหน้าที่คล้ายอัยการหรือตำรวจ เมื่อเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะนำไปสืบความต่อหน้าจำเลยในศาล เพื่อให้จำเลยซักค้านได้

พอหมดสิ้นกระบวนความแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจึงจะพิพากษาตัดสินโทษ หรือปล่อยจำเลย


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 31 ต.ค. 15, 21:51
ฟังอยู่หลังห้องตั้งแต่เริ่ม  เพิ่งยกมือแสดงตัวตนช่วงกระทู้นิ่งๆนี่แหละครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Methawaj ที่ 31 ต.ค. 15, 23:45
แอบย่องเข้ามุมหลังห้องมาเงียบ ๆ เกรงจะมาขัดจังหวะท่านอาจารย์ครับ...^^


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 15, 08:33
วันนี้ต้องลงจากเรือนไปเดินสายนอกเรือนค่ะ    นักเรียนนั่งหลับกันไปก่อนนะคะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 พ.ย. 15, 18:45
เข้ามาตามเรียนกับ อ.เทาชุมพูครับ  ขอเสริมในเรื่องของ 'ขุนหลวง' หน่อยนะครับ

    ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกับชื่อบรรดาศักดิ์อันฟังประหลาดไม่คุ้นหูของ "ขุนหลวงพระยาไกรสี" เสียก่อนนะคะ
     คำนี้ ไม่ได้แยกออกมาเป็น ขุน+หลวง+พระยา(หรือพระ)  ราวกับว่าตัวท่านรวบบรรดาศักดิ์เอาไว้หมด เหมารวมเป็นทั้งท่านขุน คุณหลวง และเจ้าคุณ ในเวลาเดียวกัน
     แต่คำว่า "ขุนหลวง" เป็นคำเดียว มี 2 พยางค์     หมายถึงตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง  มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในอาณาจักรอยุธยา     อยู่ในสังกัดพระมหาราชครู   ตำแหน่งนี้มีระบุไว้ในพระไอยการนาพลเรือน    คนที่จะเป็นลูกขุน ณ ศาลหลวงได้คือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  ซึ่งก็มีอยู่หลายคนด้วยกัน    แต่คนที่จะได้เป็นขุนหลวงพระไกรสีนั้นถือว่าเป็นผู้แม่นยำทางตัวบทกฎหมายเหนือกว่าลูกขุนอื่นๆ    มี 2 คนคู่กันในระดับ "พระ" คือขุนหลวงพระไกรสี และขุนหลวงพระเกษม
    

คำว่า 'ขุนหลวง' ในสมัยโบราณอาจจะไม่ได้เป็นเฉพาะตำแหน่งของลูกขุน ณ ศาลหลวงอย่างเดียวครับ เพราะมีปรากฏตำแหน่งอื่นๆที่ใช้คำว่า 'ขุนหลวง' ประกอบอยู่ด้วยครับ

สำหรับพระมหากษัตริย์ในยุคอยุทธยาตอนต้น มีปรากฏใช้คำว่าขุนหลวงพระองค์เดียวคือ ขุนหลวงพ่องั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช จากนั้นมาจึงไม่ปรากฏการเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ขุนหลวง อีกจนถึงสมัยอยุทธยาตอนปลาย

คำว่าขุนหลวงมีปรากฏใช้สำหรับขุนนางที่ไม่ใช่ลูกขุน ณ ศาลหลวง แต่น่าจะเป็นขุนนางระดับเสนาบดีทั่วไปหรือลูกขุน ณ ศาลา อย่างในประกาศพระราชบัญญัติของพระอัยการเบดเสรจเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๙๐๓ สมัยสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี(อู่ทอง) ระบุบรรดาศักดิ์เสนาบดีนครบาลในยุคนั้นใช้คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' ครับ
"ศุภมัศดุ ๑๙๐๓ ศุกรสังวัชฉะระ วิสาขมาศ กาลปักขตติยดิถีระวิวาระปริเฉทกำหนด พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบาทบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสดจ์ในพระธินั่งรัตนสิงหาศน จึ่งเจ้าขุนหลวงสพฤานครบาลบังคัมทูลพระกรรุณา ดว้ยผู้ชิงที่แดนรั่วเรือนไร่สวนพิภาษว่าที่เดิมแแก่กัน แลผู้หนึ่งว่าที่นั้นเปนมรฎกจะเอาที่นั้น"

เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งในรูปแบบเก่าก่อนที่จะมีการตราพระไอยการนาพลเรือนและนาทหารหัวเมืองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถครับ


คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' ยังพบในพระตำราบรมราชูทิศ เรื่องกัลปนาวัดในเมืองพัทลุง เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๑๕๓ รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมครับ
โดยมีการระบุชื่อขุนนางที่ได้ปรากฏตัวอยู่ตอนทำพระตำรา ซึ่งกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของสมุหพระกลาโหมว่า เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม
และบรรดาศักดิ์ของสมุหนายกคือ  เจ้าขุนหลวงมหาเสนาบธิดีศรีองครักษสมุหนายก (บางฉบับเขียนแค่ เจ้าขุน เข้าใจว่าน่าจะเขียนตกไป)

'สํมเด็จบรมบพิตร(มี)พระราชบันทูล ตรัสแก่ออกพระศรีภูริปรีชญาธิราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์ ให้ทำพระดำราแลตราพระราชโองการนี้ต่อหน้าออกพระเสดจสุรินทรราชาธิบดีศรีสุปราช  เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม  เจ้าขุนหลวงมหาเสนาธิบดีศรีองครักษสมุหนายก  ออกพระอินทราธิราชภักดีศรีธรรมราชพระนครบาล  ออกพระบุรินายกราชภักดีศรีรัตนมณเทียรบาล  ออกพระพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนเกษตราธิบดี  ออกพระศรี(อัค)ราชอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดี  ออกพระธรรมราชภักดีศรีสมุหสังการีย ออกพระศรีพิพัทราชโกษาธิบดี  พขุนสุเรนธรเทพเสนาบดีศรีกาลสมุดสมุหพระดำรวจ  พขุนสุรินทรราชเสนาบดีศรีเทพณรายสมุหพระดำรวจ  พขุนธรเนนทราเทพพระดำรวจ  พขุนเทเพนทรเทพพระดำรสจ  พขุน(พิศ)นูเทพพระดำรวจ  พขุนภาสุเทพพระดำรวจ  พขุนมหามนตรีศรีองครักสมุหพระดำรวจ  พขุนมหาเทพเสบกษัตรพระดำรวจ  พขุนมงคลรัตนราชมนตรีศรีสมุหพระสรรพากร  พขุนอินทรมนตรีศรี(จัน)ทรกุมารสมุหพระสรรพากร  พขุนอินทราทิตยพิพิทรักษาสมุหพระสนม  พขุนจันทราทิพพิพิทรักสาสมุหพระสนม  หัวหมีนหัวพันนายแวงกรมแดงนักมุขทังหลายนงงในวันเดียวนั้น'

พิจารณาจากบรรดาศักดิ์ของขุนนางคนอื่นที่สูงสุดแค่ 'ออกพระ' เข้าใจว่า 'เจ้าขุนหลวง' ในพระตำรานี้ซึ่งมีปรากฏใช้เฉพาะอัครมหาเสนาบดีสองตำแหน่งคือสมุหนายกกับสมุหพระกลาโหม คิดว่าน่าจะเป็นตำแหน่งเสมอกับ 'เจ้าพระยา' ครับ

แต่ก็ดูแปลกที่ไม่ใช้ 'เจ้าพระยา' ทั้งๆที่ก็มีปรากฏใช้อยู่ในพระราชกำหนดเก่าๆที่ออกก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม และในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแม้แต่ตำแหน่งสูงๆอย่าง เจ้าพระยามหาอุปราช สมัยนั้นก็มีบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นแค่ 'พญา' อย่างที่ปรากฏในพระไอยการลักษณมรดก พ.ศ.๒๑๕๕ ว่า 'พญามหาอุปะราชชาติวงวงษพงษภักดีบดินสุรินทเดโชไชยมไหยสุรศักดิแสนญาธิราช' ผมเลยลองคิดอีกแง่หนึ่งว่า บรรดาศักดิ์ 'เจ้าขุนหลวง' สำหรับเสนาบดีผู้ใหญ่อาจจะเป็นบรรดาศักดิ์ที่มอบให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการยกย่องก็เป็นได้ครับ


นอกจากนี้ในพระตำรายังเรียกเจ้าเมืองพัทลุงว่า  เจ้าพขุนหลวง(เจ้าพ่อขุนหลวง) ด้วยครับ

ต่อมาในสมัยหลังๆเท่าที่ทราบก็ไม่ปรากฏการใช้บรรดาศักดิ์แบบนี้กับขุนนางที่ไม่ใช่ลูกขุน ณ ศาลหลวงอีกครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 พ.ย. 15, 18:47
สำหรับท่านที่เคยอ่านหนังสือกฎหมายเก่าๆ คงจะคุ้นกับชื่อ หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง)  ราชทินนามนั้นเป็นราชทินนามที่ขุนหลวงพระยาไกรสีได้รับพระราชทาน  ก่อนจะเลื่อนเป็นพระรัตนายัปติ  และเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 พ.ย. 15, 19:24
เหตุที่สันนิษฐานว่าตำแหน่ง 'เจ้าขุนหลวง' อาจเป็นตำแหน่งที่ยกเป็นเกียรติมาจากสมุหพระกลาโหมในตันรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมที่ในพระตำราบรมราชูทิศออกชื่อว่า เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม

หลายๆท่านอาจจะสงสัยในเรื่องทินนามของพระตำรา เพราะ 'มหาอำมาตยาธิบดี' เป็นทินนามของเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ  ทินนามปกติของสมุหนายกคือ 'มหาเสนาบดี' หรือ 'มหาเสนาธิบดี' ในพระตำรานี้กลับถูกนำไปใช้เป็นทินนามของสมุหนายก แทนที่จะใช้ว่า 'จักรี'  ดูแล้วเหมือนเป็นการเอาทินนามมาใช้สลับกรมกัน

ทั้งนี้พิจารณาจากในพระราชพงศาวดารตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีการกล่าวถึงการก่อกบฏของทหารอาสาญี่ปุ่นบุกโจมตีพระราชวังหลวง แต่พระมหาอำมาตย์สามารถนำทัพไล่ญี่ปุ่นไปได้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดเลื่อนพระมหาอำมาตย์ขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหมครับ แต่คงจะให้ใช้ทินนามว่า 'มหาอำมาตยาธิบดี' ตามเดิมเป็นกรณีพิเศษ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบครับ

'ครั้งนั้นยี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ยี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เปนธรรมคบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากระษัตรเสีย ยี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณห้าร้อยยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยขะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัวอันเสดจ์ออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ  ณะ  พระธินั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นภอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามาแปดรูปภาเอาพระองค์เสดจ์ไปต่อหน้ายี่ปุ่น  ครั้นพระสงฆ์ภาเสดจ์ไปแล้ว  ยี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเปนไรจึ่งนิ่งเสียเล่า ยี่ปุ่นทุ่งเถียงกันเปนโกลาหล  ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ไล่รบยี่ปุ่นล้มตายเปนอันมาก  ยี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวัง ลงสำเภาหนีไป  ตั้งแต่นั้นมาสำเภาเมืองยี่ปุ่นก็หมีได้เข้ามาค้าขาย  ณะ  กรุงเลย  พระมหาอำมาตย์ให้ไปเชีญเสดจ์สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง  เพลาเช้าเสดจ์ออกท้องพระโรงพร้อมท้าวพญาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ทรงพระกรุณาตรัสว่า ราชการครั้งนี้ พระมหาอำมาตย์มีความชอบมาก ให้เป็นเจ้าพญากระลาโหมสุริวงษ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก  แล้วสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ให้วิเสศแต่งกับปีจังหันถวายพระสงฆ์วัดประดู่เปนนิจภัตอัตรา'

พงศาวดารคงจะชำระในสมัยหลัง เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่คลาดเคลื่อน เช่นเรื่องปีศักราชครองราชย์ของพระเจ้าทรงธรรมเร็วไป เรื่องญี่ปุ่นเลิกค้าขายก็ไม่เป็นความจริงเพราะยังปรากฏว่าค้าขายต่อเนื่องมาจนญี่ปุ่นปิดประเทศในสมัยพระเจ้าปราสาททอง  แล้วก็คงจะคลาดเคลื่อนในเรื่องบรรดาศักดิ์ด้วย ถึงจดผิดว่าพระมหาอำมาตย์ที่ไล่ญี่ปุ่นเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ซึ่งคือพระเจ้าปราสาททองในอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีตที่ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๒ ตอนพระชนม์ได้ ๓๐ พรรษา  ตอนที่กบฏญี่ปุ่นตามหลักฐานร่วมสมัยคือ พ.ศ.๒๑๕๓ พระเจ้าปราสาททองจะมีพระชนม์แค่ ๙-๑๐ พรรษาเท่านั้นครับ คงไม่สามารถมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ได้ (และบรรดาศักดิ์ก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานของฟาน ฟลีตด้วย)


เข้าใจว่าจริงๆแล้ว พระมหาอำมาตย์ที่ไล่ญี่ปุ่นไปได้จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหมมากกว่าครับ และอาจจะเป็นไปได้ว่าให้ใช้คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' จะเป็นคำยกย่องแบบพิเศษให้สมกับความดีความชอบของพระมหาอำมาตย์ครับ เรื่องนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้นครับ ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนอื่นๆ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 15, 20:04
ขอปล่อยให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานถึงบรรดาศักดิ์ และหน้าที่ของขุนหลวงสมัยอยุธยาต่อไป ตามอัธยาศัย     ส่วนดิฉันก็เริ่มที่ขุนหลวงพระยาไกรสี(เปล่ง เวภาระ) ก่อนที่จะมีงานเข้ามาอีก  ให้กระทู้ต้องหยุดนิ่งไปหลายวัน

ในวิกิ  ให้ประวัติท่านไว้ว่า
ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดี ศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ มีนามเดิมว่า เปล่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ จุลศักราช 1224 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม 2405 ที่บ้านของหม่อมเจ้าหญิงประดับ ตำบลบางลำพู ริมวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็คือในสมัยรัชกาลที่ 4 
บิดาเป็นมหาดเล็กหลวงชื่อนายหริ่ง เป็นบุตรคนที่ 9 ของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) มารดาชื่อ แก้ว
ท่านเปล่งเริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ 9 ขวบ กับสำนักพระครูปริตโกศล (แปร่ม)วัดบวรนิเวศวิหาร เรียนได้ปีเศษ ก็มาเรียนกับป้าชื่อแสง ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือขอมและภาษาบาลี
จนอายุได้ 13ปี ก็ไปเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอม ภาษาบาลีและวิชาเลข อยู่กับพระอริยมุนี (เอม) แต่เมื่อยังเป็นพระครูพุทธมนต์ปรีชา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
จนอายุได้ 15ปี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาการได้ทรงเอาไปบำรุงเลี้ยง และทรงสั่งสอนและฝึกหัดกฎหมายไทยและขนบธรรมเนียมราชการอยู่ 2ปีเศษ จึงโปรดส่งให้ไปเล่าเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนสอนภาษาอังกฤษ มีหมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mcfarland) เป็นอาจารย์ใหญ่ และ แหม่มโคล (Miss Edna S.Cole) เป็นครูสอน




กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 15, 20:07
       อ่านจากประวัติ   คิดว่าเด็กชายเปล่งน่าจะหัวดี เรียนหนังสือเก่งมาตั้งแต่เด็ก    อีกอย่างคือเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีวิชาความรู้     เจ้าคุณปู่น่าจะเป็นคนรักวิชาการอย่างน่าทึ่งทีเดียว  เห็นได้จากท่านเปิดโอกาสให้ลูกสาวได้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย  ขอมและบาลี  จนคล่องขนาดสอนหลานชายอายุสิบขวบเศษได้ยาวนานถึงสองปี   
      สมัยนั้นลูกสาวขุนนางใหญ่เรียนวิชาเหล่านี้ไปทำอะไร ดิฉันก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน   ท่านผู้ใดทราบกรุณาเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ

      ส่วนเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม เวภาระ) รู้ประวัติเพียงสั้นๆว่าเดิมเป็นพระยาศรีสรไกร     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา  ราชทินนามนี้บอกให้รู้ว่าเป็นเสนาบดีกรมนา หนึ่งในสี่จตุสดมภ์     ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2389


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 15, 10:54
     เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ผู้นี้ น่าจะเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยาพลเทพ(ฉิม) บิดาของเจ้าจอมน้อยในรัชกาลที่ 3   
     ถ้านับอายุตั้งแต่ขุนหลวงพระยาไกรสีเกิดในรัชกาลที่ 4   คุณปู่ของท่านก็น่าจะเกิดในรัชกาลที่ 1 มีอายุมาถึงรัชกาลที่ 3 จึงถึงแก่อนิจกรรม  ไม่น่าจะมีเจ้าพระยาพลเทพชื่อเดิมว่าฉิมซ้ำกันสองคนในรัชกาลเดียวกัน
     หากว่าเป็นคนเดียวกัน  ก็มีประวัติเพิ่มเติมว่า  ท่านเป็นผู้ที่ธิดาของท่านคือ เจ้าจอมน้อย สุหรานากง  ได้ปฏิสังขรณ์วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ  เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดา    วัดนี้มีมาแต่เดิมชื่อว่าวัดหมู      เล่ากันว่าจีนอู๋เป็นผู้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู   ชาวบ้านเรียกว่าวัดอู๋ ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดหมู  แต่อีกตำนานหนึ่งก็บอกว่าแถวนั้นเป็นทำเลที่คนจีนค้าหมูตั้งถิ่นฐานกันอยู่มาก  เอาหมูมาปล่อยวัดเพื่อแก้บนมากมายจึงเรียกชื่อว่าวัดหมู  แต่วัดนี้สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด
    เจ้าจอมน้อย มีสมญาต่อท้ายว่า สุหรานากง  แสดงว่าท่านเคยรำเป็นตัวสุหรานากงในเรื่องอิเหนามาก่อน  คงจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2   ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 3  และคงจะเป็นคนสวยมาก   เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดหมูเสียใหม่ว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย     พร้อมกับพระราชทาน "พระพุทธรูปปางฉันสมอ" มาประดิษฐานไว้ในวัด


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 09 พ.ย. 15, 07:27
ถ้าอย่างนั้น ท่านก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสามเณรกลั่น ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง

๐  เห็นวัดหมูรู้ว่าคุณป้าสร้าง            ครั้นจะอ้างว่าเป็นเชื้อก็เหลือขาม


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 15, 13:01
เณรกลั่นเป็นลูกบุญธรรมของสุนทรภู่     
จากกลอนบทนี้ เรียกเจ้าจอมน้อยว่า "คุณป้า" ก่อนหน้ากลอนบทนี้ เล่าถึงญาติวงศ์พงศาว่าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่  ก็อาจจะหมายถึงสกุลของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) 
ถ้าท่านเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยาพลเทพปู่ของขุนหลวงพระยาไกรสี   ลูกสาวท่าน เณรกลั่นเรียกว่า "คุณป้า"  เณรกลั่นก็อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกับขุนหลวงพระยาไกรสี(เปล่ง)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 พ.ย. 15, 21:05
เป็นตัวแทนเพื่อนร่วมชั้น มารับอาจารย์ไปเล็คเชอร์ต่อค่ะ
เอ..หรือว่าอาจารย์จะรอแท็กซี่ไฮโซที่มีคนขับเป็นเจ้าชาย มารับ ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 15, 10:04
แท็กซี่มัวไปรับนักศึกษาเข้าคลาส  หยุดวิ่งชั่วคราว    ต้องนั่งรถไฟฟ้ามาเองค่ะ

กำลังหานามสกุล เวภาระ  คุณ V_Mee เคยเล่าไว้ในกระทู้เก่าว่าเป็นนามสกุลพระราชทาน   แต่ดิฉันหาไม่พบ
ต้องพึ่งเพ็ญชมพูกูเกิ้ลอีกแล้วละมัง



กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ย. 15, 10:13
คุณวีมีท่านเล่าไว้อย่างนี้

หลวงรัตนาญัปติ (เทียม)ท่านนี้ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีศาลต่างงประเทศ  กระทรวงยุติธรรม  ท่านถึงแก่กรรมในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อายุราว ๓๐ ปลายๆ หรือ๔๐ ต้นๆนี่แหละครับ  ในรัชกาลที่ ๖ ทายาทของท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "เวภาระ"
ตอนนั้น คุณวีมีคงยังสับสนอยู่ระหว่างขุนหลวงพระยาไกรสีทั้ง ๒ ท่านคือ เทียม บุนนาค และ เปล่ง เวภาระ

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) ชื่อนี้หากไม่คุ้นอาจจะสับสนกับขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เอาง่าย ๆ

นายเทียม บุนนาค ก็มีอยู่อย่างน้อย ๒ ท่าน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อีกท่านหนึ่งคือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ  พระยาสุรินทรฤๅชัย ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี  ทั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) แต่ต่างมารดากัน
สำหรับเรื่องนามสกุล "เวภาระ" ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมไม่มีข้อมูลในเว็บ พระราชวังพญาไท (http://phyathaipalace.org.a33.readyplanet.net/นามสกุลพระราชทาน/namering.html)  ???



กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 15, 10:52
ตอบคุณเพ็ญชมพู
ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2444 ในรัชกาลที่ 5   เป็นเวลาสิบกว่าปีก่อนมีพระราชบัญญัตินามสกุล 
เป็นไปได้ว่าลูกหลานของท่านไม่ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล   แต่อาจจะทูลขอจากเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งแทน   จึงไม่มีนามสกุล เวภาระ อยู่ในทำเนียบนามสกุลพระราชทาน
ต้องรอคุณ V_Mee มาชี้แจงอีกทีหนึ่งค่ะ

กลับมาที่ประวัติ
เมื่อเรียนหนังสือกับคุณป้าจนอายุ 13   แล้ว   เด็กชายเปล่งซึ่งบัดนี้น่าจะโกนจุกแล้ว ก็เข้าวัดฝากตัวเป็นศิษย์พระครูพุทธมนต์ปรีชา (เอม) ซึ่งต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระอริยมุนี  วัดบวรนิเวศ  เรียนหนังสือไทย  ขอม บาลี และวิชาเลขจนอายุ 15  ก็ถือว่าเรียนจบ
สมัยนั้น เด็กหนุ่มอายุ 15 ถือว่าโตเป็นหนุ่มพอจะเตรียมเข้ารับราชการได้แล้ว      นายเปล่งก็ได้เจ้านายคือพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้ชุบเลี้ยง  ทรงสั่งสอนฝึกหัดวิชากฎหมายไทย และขนบธรรมเนียมประเพณีของข้าราชการให้ ประมาณ 2 ปี
เป็นอันแน่นอนว่าอนาคตของนายเปล่ง ก็คือข้าราชการ

นายเปล่งคงจะหัวดีเป็นที่พอพระทัยของเจ้านาย  มีวี่แววว่าฉลาดเฉลียวร่ำเรียนได้เก่งกว่าเพื่อน   จึงถูกส่งให้เรียนสูงมากขึ้น  เข้าไปเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน  ซึ่งเป็นโรงเรียนชาย สอนภาษาอังกฤษ  มีหมอแมคฟาแลนด์เป็นอาจารย์ใหญ่ และแหม่มโคลเป็นครูสอนอีกคนหนึ่ง


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 15, 11:38
   ในโรงเรียนนันทอุทยานนี้เอง แววปราดเปรื่องทางภาษาของนายเปล่งก็ฉายประกายเจิดจ้าขึ้น      ในสมัยที่คนไทยยังกินหมาก ลิ้นแข็ง  ยากที่จะออกเสียง th ch sh z ฯลฯ   เวลาเรียนก็ไม่มีอุปกรณ์ช่วยอะไรทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่ดิกชันนารีของสอ เสถบุตร(เพราะคนเขียนยังไม่เกิด)  นายเปล่งสามารถเรียนเขียนอ่านพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดี จนได้ที่ 1  แต่ผู้เดียวในหมู่นักเรียน    สอบไล่ทีไรได้รับพระราชทานรางวัลทีนั้น  เรียกได้ว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของโรงเรียน
  นายเปล่งเรียนอยู่ 3 ปี  อายุ 18 เป็นหนุ่มเต็มตัว   กรมหลวงพิชิตปรีชากรก็ถือว่ามีวิชาพอตัวแล้ว  โปรดให้ออกมาเป็นเสมียนฝึกหัดในทางพิจารณาความอยู่ในอัฎฐวิจารณ์ศาลา 
  ชื่อศาลาอ่านยากและพิมพ์ก็ยากนี้ คือศาลฎีกาในสมัยนั้น   สถานที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง    มีหน้าที่ตรวจฎีกาและทำความเห็นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงวินิจฉัย     ด้วยเหตุนี้  ศาลฎีกาจึงขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   สมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงยุติธรรม   จนพ.ศ. 2455   ในรัชกาลที่ 6  จึงมีพระบรมราชโองการให้ยกศาลฎีกามาสังกัดกระทรวงยุติธรรม

  การเป็นเสมียนในสมัยนั้นไม่ได้กระจอกอย่างที่เข้าใจกันในชั้นหลัง     แต่เป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ดวงดาว     ขุนนางสมัยนั้นต้องค่อยๆไต่บันไดขึ้นจากขั้นแรกก่อน    โดยเฉพาะในด้านกฏหมายที่ต้องรอบรู้ทั้งกว้างและลึก   ตำรับตำราในสมัยนั้นก็ไม่มีมากอย่างสมัยนี้  ต้องอาศัยฝึกหัดอบรมกับผู้ใหญ่ จนรอบรู้ในหน้าที่การงานไปทีละขั้น
  นายเปล่งได้หัวหน้าคือพระเทพราชธาดา(โต) ในตอนนั้นยังเป็นขุนสุภาเทพ   ได้รับมอบหมายจากกรมหลวงพิชิตปรีชากรให้ช่วยสั่งสอนหน้าที่การงาน และใช้สอยในการพิจารณาความในศาลาลูกขุน 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 17 พ.ย. 15, 13:22
มาลงชื่อติดตามอ่านเจ้าค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 พ.ย. 15, 17:29
ตอบคุณเพ็ญชมพู
ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2444 ในรัชกาลที่ 5   เป็นเวลาสิบกว่าปีก่อนมีพระราชบัญญัตินามสกุล  
เป็นไปได้ว่าลูกหลานของท่านไม่ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล   แต่อาจจะทูลขอจากเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งแทน   จึงไม่มีนามสกุล เวภาระ อยู่ในทำเนียบนามสกุลพระราชทาน
ต้องรอคุณ V_Mee มาชี้แจงอีกทีหนึ่งค่ะ

ไม่มีนามสกุลนี้ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานเลยครับ  แต่อาจเป็นได้ที่ทายาทของท่านจะขอประทานนามสกุลจากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ซึ่งเคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมาก่อน  แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 15, 20:34
ดิฉันก็คิดอย่างคุณ V_Mee ว่านามสกุล "เวภาระ" ถ้าไม่ได้ตั้งกันเอง  ก็น่าจะเป็นนามสกุลประทานจากเจ้านาย มากกว่านามสกุลพระราชทาน   
นามสกุลพระราชทานมีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง   อย่างหนึ่งที่พบบ่อยมาก คือเป็นคำสนธิ หรือคำสมาส   คือประกอบด้วยคำสองหรือสามคำเชื่อมต่อกัน    เช่น สุวรรณ+ประทีป    ตันตริยานนท์ ->ตันตริย+อานนท์   
ส่วนใหญ่ก็จะนำมาจากชื่อบรรพบุรุษ ทวด ปู่ หรือพ่อ บวกกัน   หรือชื่ออาชีพการงานของบรรพบุรุษ 

แต่ เวภาระ เป็นคำคำเดียว  เป็นชื่อของภูเขาเวภารบรรพต ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของภูเขา หรือเบญจคีนีที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์  พบได้ในพุทธประวัติ
ไม่เข้าข่ายชื่อบรรพบุรุษ หรือชื่ออาชีพ อย่างนามสกุลพระราชทานที่น่าจะพระราชทานให้ลูกหลานของขุนนางสำคัญอย่างขุนหลวงพระยาไกรสี


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 15, 19:25
  นายเปล่งเป็นเสมียนอยู่ 2 ปีก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถูกส่งตัวข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่อังกฤษ      แสดงว่าพื้นความรู้ทางภาษาที่เรียนมาจากหมอแม็คฟาแลนด์และแหม่มโคล แน่นเอาการ    จึงได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนแข่งกับฝรั่งได้      
  ในวัย 20 ปี นายเปล่งยังเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้  ต้องไปเรียนในโรงเรียนก่อน เรียนวิชาพื้นฐานคือภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาละติน  และวิชาเลข ตลอดจนวิชาสามัญอื่นๆ     ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนวิชาฝรั่งเศสกับละตินมาก่อนในสยามหรือเปล่า  แต่ที่แน่ๆคือต้องไปเรียนเหมือนนักเรียนฝรั่งที่เป็นเจ้าของประเทศ    ไม่มีการยกเว้นในฐานะคนต่างชาติ
   โรงเรียนที่นายเปล่งเข้าเรียนอยู่ 2 ปีเศษ  มีชื่อสะกดโดยตัวท่านว่า "เซาแฮมสะเตต  คอลลิจิเอตสกูล"    ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษคือ  South Hampstead Collegiate School   อยู่ที่ตำบล Hamstead  ในกรุงลอนดอน

   โรงเรียนนี้น่าจะเลิกกิจการไปแล้ว  หรือเปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่นเพราะอาจารย์กู๊กไม่รู้จัก   ดูจากลักษณะแล้วน่าจะเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนถึงมัธยมปลาย  ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย     อาจเป็นโรงเรียนเดียวกับ South Hampstead  High School  ตามรูปข้างล่างนี้ค่ะ



กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 15, 19:48
   นายเปล่งไม่ได้ทำให้เสียชื่อนักเรียนสยาม    ตรงกันข้าม  กลับทำชื่อเสียงให้พระราชอาณาจักรด้วยการเรียนเก่ง ไม่น้อยหน้าไปกว่าอยู่ในกรุงเทพ  เห็นได้จากได้รับรางวัลที่ 1 เมื่อมีการสอบภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนี้ด้วย
   เรียนอยู่ 2 ปี ก็ได้ไปเป็นศิษย์ของนักกฎหมายชื่อมิสเตอร์โอ.  เอ. ไฟร์  ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ    เห็นจะเป็นการเรียนแบบติว เพื่อมุ่งเฉพาะทาง     เพราะเป้าหมายคือเข้าเรียนนิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย    เรียนอยู่จนอายุ 22  ก็ไปสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย Middle Temple  มี 3 วิชาที่ต้องสอบให้ผ่านคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน  และประวัติศาสตร์อังกฤษ
   ท่านสอบผ่านหมด  จึงได้เข้าเป็นนักศึกษาของ Middle Temple   ไปเรียนวิชาที่หินหนักยิ่งกว่าเก่า คือกฎหมายโรมัน   กฎหมายอังกฤษ   กฏหมายนานาประเทศ  (International Law)  กฎหมายมะหะหมัด และกฎหมายฮินดู    อย่างท้ายสุดนี้มีคำขยายความว่าคือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย)  ส่วนกฎหมายมะหะหมัด อาจจะหมายถึงกฎหมายของมุสลิม(อาหรับ?)  ไม่แน่ใจ
คงต้องถามคุณ Naris อีกทีว่าหมายถึงกฎหมายอะไร
   
  Middle Temple เป็นหนึ่งในสี่สถาบันชั้นสูงทางกฎหมายของอังกฤษ   ผลิตบัณฑิตทางกฎหมายซึ่งสมัยนั้น ไทยเรียกว่าเนติบัณฑิตย์    อีก 3 แห่งคื Inner Temple, Gray's Inn และ Lincoln's Inn.  นักกฎหมายดังๆของไทยในยุคก่อนก็ไปเป็นบัณฑิตจากสถาบันเหล่านี้กันหลายท่านด้วยกัน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 15, 19:50
มิดเดิลเทมเปิลในสมัยท่านเปล่งไปเรียน หน้าตาเป็นแบบนี้


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 20 พ.ย. 15, 16:24
พระธรรมศาสตร์ ตามตำนาน เชื่อว่า ตำรานี้เป็นตำรากฎหมายฉบับแรกๆของโลก ผู้แต่งไม่ทราบแต่ในว่ากันว่า ผู้แต่งชื่อพระมนู บางตำราจึงเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระมนูธรรมศาสตร์ ครับ
 
สมัยผมเรียนกฎหมาย อ.ธงทอง จันทรางศุ เล่าเรื่องพระมนูให้ฟังว่า เดิมท่านเป็นอำมาตย์มีหน้าที่ตัดสินคดีความ มีคดีเรื่องเจ้าของไร่แตง สองไร่อยู่ในที่ดินติดกัน โดยธรรมชาติของเถาแตง ย่อมเลื้อยไปตามพื้น ที่กลายเป็นเรื่องเพราะเถาแตงจากไร่นาย A เลื้อยเข้าไปในเขตไร่ของนาย B แล้วไปออกผลแตงที่นั่น นาย B ก็ยึดถือเอาว่า แตงเกิดในที่ของตน ก็ย่อมเป็นแตงของตน นาย A ไม่ยอม ก็ไปขอให้พระมนูตัดสิน พระมนูก็ให้ไล่สายกลับไปจนพบว่า แตงผลนี้เกิดขึ้นจากต้นแตงในไร่ของนาย A แตงควรเป็นของนาย A แต่พอเปิดกฎหมายดู กฎหมายกลับบัญญัติว่าให้เป็นของนาย B พระมนูรู้สึกว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในสมัยนั้น วิปริตผิดเพิ้ยนไปหมด จึงรู้สึกท้อใจแล้วลาออกจากราชการ ท่านเดินทางไปจนสุดขอบจักรวาล แล้วได้ไปเป็นจารึกข้อกฎหมายอยู่ ณ กำแพงจักรวาลนั้น พระมนูเห็นว่า กฎหมายในจารึกนี้เป็นธรรมนัก จึงคัดลอกแล้วนำกลับมาใช้ในบ้านเมืองของท่าน ตำรากฎหมายนั้น จึงได้ชื่อว่า พระมนูธรรมศาสตร์ 
 
ในเมืองไทย เป็นชื่อคัมภีร์กฎหมายที่ว่ากันว่า ไทยเรารับเอามาจากชนชาติมอญ ซึ่งมอญก็รับเอามาจากอินเดียอีกทีหนึ่งครับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ ของพระองค์เกี่ยวกับพระธรรมศาสตร์ว่า

“ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิม มอญ ได้มาเป็นภาษาสันสกฤษมีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธ ที่เมืองรามัญ(แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญเพิ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียโดยมาก มีภาษามคธชื่อเก่า พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็น มอญ บ้านบางตลาด ปากเกร็ด นนทบุรี มาติกากฏหมายนอกนั้น เป็นภาษารามัญได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ ตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระมหาสมมติ ตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด”
(ที่มา : http://www.openbase.in.th/node/10080 (http://www.openbase.in.th/node/10080))

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้รับการนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีความต่างๆ ในฐานะความยุติธรรมดั้งเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ก็อาจจะมีบทบัญญัติบางอย่างที่พระธรรมศาสตร์ไม่ได้เขียนไว้ ถ้ามีคดีความเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่มีเขียนไว้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงวางหลักเกณฑ์ต่างๆขึ้นใช้บังคับแทน หรือบางทีก็ไม่ได้ทรวงวางหลักเกณฑ์เป็นการทั่วไป แต่ได้ทรงวินิจฉัยคดีความ เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะ แล้วคำวินิจฉัยนั้นมีเหตุผลที่ดี จนได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันสืบต่อมา ฉะนั้น บรรดากฎหมาย คำสั่ง ข้อบังคับ พระอัยการ ฯลฯ ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้นเช่นนี้ จะได้รับการรวบรวมไว้ในคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ครับ   


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 20 พ.ย. 15, 16:37
เนื่องจาก นายเปล่ง เรียนพระธรรมศาสตร์ที่อังกฤษ และบอกด้วยว่า เป็นกฎหมายฮินดู ดังนั้น คงไม่ใช่พระธรรมศาสตร์ฉบับเดียวกับที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทยแน่ๆครับ คงเป็นพระธรรมศาสตร์ดั้งเดิมของอินเดีย ที่พระมนูลอกมาจากกำแพงจักรวาลนั่นแหละครับ แต่นายเปล่งอาจจะมีพื้นอยู่แล้ว เพราะได้ร่ำเรียนกฎหมายไทยมาบ้าง แม้จะเป็นกฎหมายตราสามดวง ก็มีพื้นมาจากพระธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่ง (อีกส่วนก็คงมาจากพระราชศาสตร์สมัยอยุธยา)

ส่วนกฏหมายมะหะมัด ก็คงเป็นกฎหมายมุสลิม ที่เรียกว่า ชะรีอะฮ์ (อาหรับ: شريعة‎; อังกฤษ: Sharia/Shari'ah) คือ ประมวลข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของกฎหมายศาสนาของศาสนาอิสลาม คำว่า "ชะรีอะฮ์" แปลว่า "ทาง" หรือ "ทางไปสู่แหล่งน้ำ" กฎหมายชะรีอะฮ์คือโครงสร้างทางกฎหมายที่ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชนที่มีพื้นฐานมาจากหลักนิติศาสตร์ (jurisprudence) ของศาสนาอิสลามสำหรับใช้โดยมุสลิม
(ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%AE%E0%B9%8C)

หลักกฎหมายนี้ใช้กันอยู่ในประเทศที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติหลายๆประเทศ แม้แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยเองมุสลิมในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถใช้ ชารีอะฮ์ ในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก แทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ครับ โดยเวลามีคดีที่คู่ความทุกฝ่ายเป็นมุสลิมศาสนิก คู่ความสามารถร้องขอให้ศาลใช้ชารีอะฮ์แทนกฎหมายแพ่งได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น เวลาพิจารณาคดี จะต้องมี ดะโต๊ะยุติธรรม ขึ้นเป็นองค์คณะคู่กับผู้พิพากษาด้วยครับ

 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 15, 19:12
ขอบคุณค่ะคุณ Naris  ชัดเจนดีมาก

    ตำรับตำราพวกนี้เห็นทีจะแปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว   เพราะอังกฤษที่ตอนนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจคงไม่ให้นักศึกษาของตัวเองเรียนตำราภาษาของชาติอื่น    แต่ถึงกระนั้น ก็คงจะโหดมหาหิน   เพราะกฎหมายที่เรียนล้วนแล้วมาจากหลายมุมโลก  มีพื้นฐานอยู่บนวัฒนธรรมต่างกัน   
    เมื่อนึกว่านายเปล่งจะต้องทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน จดจำให้แม่นยำเพื่อจะตอบข้อสอบให้ถูกต้อง     เพราะวิชากฎหมายถ้าเริ่มต้นด้วยจำไม่แม่นเสียอย่าง  จะตอบข้อสอบไม่ได้       ท่านเรียนได้หมดจนสอบผ่าน ต้องถือว่าอัจฉริยะในยุคนั้น
    นายเปล่งไม่ได้เรียนในห้องเรียนอย่างเดียว  แต่ฝึกปฏิบัติด้วย คือไปฝึกหัดว่าความกับมิสเตอร์โอ.  เอ. ไฟร์  ติวเตอร์เก่า  ในศาลยุติธรรมของกรุงลอนดอน      ในประวัติท่านเรียกนายไฟร์ว่า เนติบัณฑิตย์  เรียกตามภาษาอังกฤษว่า barrister at law   
   มาถึงคำนี้ต้องถามคุณนริศอีกแล้วว่า  barrister at law ต่างจาก lawyer  ยังไงคะ

   การที่นายเปล่งไปฝึกว่าความในศาล  น่าจะไปแบบผู้ช่วยทนายความหรือทนายฝึกหัด    แต่คงไม่ได้มีหน้าที่แค่หิ้วกระเป๋าตามมิสเตอร์ไฟร์ไปอย่างเดียว    เพราะเตรียมตัวจะเป็นบัณฑิต ต้องลงมือว่าความด้วย     เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า นายเปล่งต้องเป็นคนพูดภาษาอังกฤษเก่งเอาการ  สำเนียงพูดคงใช้การได้ดีไม่แพ้ฝรั่ง  ผู้พิพากษา โจทก์และจำเลยถึงฟังรู้เรื่อง     ทำให้ท่านว่าความได้ตลอดรอดฝั่ง


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 15, 19:20
barrister ของอังกฤษ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ย. 15, 07:24
ตามความเข้าใจอันน้อยนิดจากที่เคยเดินผ่านศาลกับคุกในอังกฤษมาบ้าง  คำว่า lawyer เป็นคำเรียกรวมๆ ถึงนักกฏหมาย ทนายความทั่วไปครับ แต่ถ้าจะเฉพาะเจาะจงกว่านั้นจะมี Solicitor กับ Barrister ซึ่งทั้งคู่เรียกรวมๆ ว่า lawyer เหมือนกัน

Solicitor ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและให้บริการทางกฏหมายแบบในสำนักงาน เช่นการทำเรื่องหย่า  อะไรทำนองนี้  การทำสัญญาต่างๆ  ส่วน Barrister จะเป็นตัวแทนของคู่ความในการพิจารณาคดีในศาลครับ ถ้าแบบในหนังคือพวกที่สวมครุยสวมวิกขาวๆ แบบในรูปด้านบนนี่เลยครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 23 พ.ย. 15, 15:54
อ.ประกอบมาตอบแล้ว ผมก็ลอยตัว แฮ่ๆ
ผมแทบจะจำเรื่องนี้ไม่ได้แล้วครับ ความรู้ที่พอเหลือเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพกฎหมายในอังกฤษก็คือ เมื่อนักเรียน Law School เรียนจบออกมา จะยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นทนายความว่าความในศาลได้ หากจะประกอบวิชาชีพกฎหมายก็จะทำได้เพียงให้คำปรึกษา หรือรับทำงานต่างๆในแบบสำนักงานตามที่ อ. ประกอบว่า นักกฎหมายอย่างนี้ เรียกว่า Solicitor

ต้องไปทำอะไรบางอย่าง (ไม่ทราบว่าเรียนเนติบัณฑิตเหมือนของบ้างเราหรือไม่) จนมีฐานะเป็น Barrister ก่อนจึงจะสามารถทำงานเป็นทนายความในศาลได้ และเมื่อเป็น Barrister ที่มีอาวุโสพอสมควร จึงจะได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ Judge หรือ ตุลาการได้ครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 15, 14:18
นายเปล่งท่านเรียนไปเป็น Barrister  ไม่ใช่ Solicitor    ค่ะ
ดิฉันเข้าใจว่าการตามมิสเตอร์ไฟร์ไปเป็นทนายฝึกหัดว่าความในศาล  น่าจะเป็น requirement ของการเรียนเอาปริญญาจากมิดเดิลเทมเปิลด้วย 

ท่านเล่าว่าเรียนอยู่ที่มิดเดิลเทมเปิลครบ 1 ปี  ก็สอบกฎหมายโรมัน  ผ่านได้ด้วยดี   ครบ 2 ปี สอบกฎหมายอังกฤษผ่านตลอด   จึงได้ certificate ที่ท่านเรียกว่า "วิทยาบัตร"  คงจะเทียบได้กับปริญญาบัตรในสมัยนี้
ล่วงมาถึงเดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2430  ท่านก็ได้เป็นเนติบัณฑิตย์   ได้สวมหมวกและเสื้อครุยในวันรับปริญญา ท่ามกลางผู้พิพากษา ราชมนตรีและเนติบัณฑิตย์ทั้งปวง

ในช่วงอยู่ในอังกฤษ ท่านได้รับหน้าที่ล่ามภาษาอังกฤษในสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนอยู่นาน 8 เดือน

เมื่อรับปริญญาแล้ว   เนติบัณฑิตใหม่เอี่ยมจากอังกฤษ ก็เดินทางกลับสยาม    เมื่อมาถึงแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกระทรวงแรก


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 27 พ.ย. 15, 21:34
อาจารย์ขา ลูกศิษย์มานั่งพับเพียบเรียบร้อย รอฟังเล็คเชอร์ต่ออยู่ตั้งหลายวันแล้วนะคะ  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 15, 22:27
สัปดาห์นี้ไม่ว่างเลยค่ะ ขอโทษที


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 15, 08:52
   เนติบัณฑิตจากมิดเดิลเทมเปิล อังกฤษกลับสยาม เมื่อพ.ศ. 2430  มารับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเป็นเงิน 50 ปอนด์   พร้อมกับได้เข้ารับราชการที่กรมท่า ซึ่งเป็นกรมว่าการต่างประเทศในสมัยนั้น เทียบเท่ากระทรวงการต่างประเทศในสมัยนี้
   นายเปล่ง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัตนาญัป์ติ   ทำหน้าที่ร่างหนังสือโต้ตอบกับบรรดาราชทูตต่างๆ  ตัวท่านเองเรียกตำแหน่งนี้ว่า "ที่ปฤกษากฏหมายและทนายโกษา"  ท่านแจกแจงรายละเอียดไว้ว่า
    1   มีหน้าที่นำราชทูต กงสุล และชาวต่างชาติเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว อย่างเป็นทางการบ้าง อย่างเป็นไปรเวท(ส่วนพระองค์)บ้าง    ทำหน้าที่แปลพระราชปฏิสัณฐานให้คนเหล่านั้นได้ทราบ    คอยรับรองราชทูต กงสุลและชาวต่างชาติเวลามีพระราชพิธีต่างๆ  และเป็นล่ามราชการด้วย
    ถ้าใครสงสัยในตอนนี้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงต้องใช้ล่ามในการแปลพระราชดำรัสเพราะเหตุใด   ก็ขอตอบว่าพระเจ้าอยู่หัวของสยามนั้นทรงรู้ภาษาอังกฤษถึงขั้นทรงฟัง อ่านและตรัสได้   แต่ด้วยความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยาม   จะมีพระราชดำรัสแต่เป็นภาษาไทยเท่านั้น
    2    มีหน้าที่ร่างหนังสือราชการเป็นภาษาไทยและอังกฤษ   แปลหนังสือราชการจากอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ
    3    เรียงคำตัดสินชั้นความอุทธรณ์จากศาลต่างประเทศ    เป็นผู้แทนรัฐบาลไปนั่งชำระและตัดสินความในศาลกงสุลต่างประเทศ  ทำความเห็นชี้แจงในคดีความที่เกี่ยวกับคนในบังคับต่างประเทศ
    4   เป็นทนายของรัฐบาล(อัยการ?)ว่าความทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งคนในบังคับต่างประเทศเป็นจำเลยในศาลกงสุลต่างประเทศ
    5    เมื่อรัฐบาลสยามเป็นนายอากรทำสุราในกรุงเทพ   ก็ทำหน้าที่ทนายฝ่ายรัฐ(อัยการ?) ว่าความในคดีพิพาทเรื่องสุรากับคนในบังคับต่างประเทศ

    จะเห็นได้ว่างานท่านหนักมาก  ในสมัยนั้นเนติบัณฑิตจากอังกฤษก็น่าจะมีอยู่คนเดียว  ต้องรับงานหลายด้าน   แต่คุณหลวงก็ทำงานมาด้วยดีตลอด 4 ปี


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 01 ธ.ค. 15, 04:54
 ???ขอเรียนถามค่ะ....ทนายโกษา...โกษา..มีความหมายว่าอย่างไรคะ  ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 15, 08:21
โกษา หมายถึงกรมคลัง หนึ่งในสี่จตุสดมภ์  ซึ่งรวมฝายต่างประเทศไว้ด้วยค่ะ  
ในสมัยอยุธยา เสนาบดีคลังมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี  แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในกรมคลัง

ทนายโกษาโดนคือล่ามในกรมคลัง ค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 15, 21:36
  เมื่อมีการตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นในปี 2434   คุณหลวงรัตนาญัป์ติ ก็ได้ย้ายจากกระทรวงการต่างประเทศมารับตำแหน่งใหม่ในกระทรวงใหม่ เป็นเจ้ากรมสารบบ
   ในยุคที่กระทรวงตั้งขึ้นใหม่ๆ   ระบบคดีความต่างๆยังกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆไม่รวมอยู่ในที่เดียวกัน   หน้าที่ของกรมสารบบก็คือจัดสารบบให้เข้าระเบียบเป็นหมวดหมู่    คุณหลวงก็มีหน้าที่ไปเร่งรัดสารบบความจากกระทรวงและกรมอื่นๆให้นำมายื่นตามแบบ(ฟอร์ม)ที่ท่านคิดออกแบบให้     จากนั้นก็ตรวจสารบบแล้วแยกความออกเป็นแพ่ง เป็นอาญา  นครบาล อุทธรณ์และฎีกา ให้เรียบร้อย ไม่ปะปนกัน   แยกเป็นหมวดเพื่อแจกจ่ายไปตามศาลตามพระธรรมนูญ    แล้วรวบยอดความเหล่านี้ทำเป็นสารบบ  นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายให้ทอดพระเนตร
   งานยังไม่เสร็จแค่นั้น   คุณหลวงเจ้ากรมมีหน้าที่เรียกและรับรายงานการชำระความในศาลทั้งปวง ให้ส่งมาที่กรมสารบบ  ดูจำนวนว่าทำไปได้แล้วแค่ไหน และยังค้างอีกเท่าไหร่  แล้วสรุปผล เรียกว่าทำสารบบรวบยอดขึ้นทูลเกล้าฯถวายทุกเดือน
   


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 15, 21:38
     งานของคุณหลวงฟังแค่นี้ก็รู้แล้วว่า ทั้งเยอะทั้งยุ่ง   และต้องจัดระเบียบให้เรียบร้อย     ถ้าไม่ได้ผ่านระบบงานที่อังกฤษมาก่อน เคยเรียนรู้การจัดระเบียบตามหลักสากล น่ากลัวจะอลหม่านเอาการอยู่เหมือนกัน

    การเรียนที่อังกฤษช่วยได้อีกอย่างคือ คุณหลวงสามารถออกแบบสารบบรายวัน รายเดือน และแบบฟ้อง  คำให้การ คำร้อง หมายเรียก หมายเกาะ หมายจับ   หมายนัดชำระความ  หนังสือประกัน  หนังสือรับเรือน หนังสือยอม  ให้ตีพิมพ์ใช้ในศาลสถิตย์ยุติธรรม  เป็นแบบอย่างใช้กันต่อมา
   
     ถ้าใครอยากทราบว่าหมายชื่อแปลกๆข้างบนนี้คืออะไร   เห็นจะต้องรอคุณ Naris  อีกแล้วละค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 ธ.ค. 15, 07:19
แม้คุณหลวงท่านต้องแบกภารพงานในหน้าที่มากมายดังที่ท่านอาจารย์ใหญ่เล่ามา  แต่ท่านก็ยังสามารถปลีกเวลาไปรวบรวมกฎหมาย รัชกาลที่ ๕ แล้วจัดพิมพ์เป็นสมุดฝรั่ง (คืออย่างหนังสือปัจจุบัน) ออกเผยแพร่ได้ถึง ๕ เล่ม 
หนังสือดังกล่าวเป็นของหายกในปัจจุบัน  และเป็นประโยชน์แก่การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายในสมัยรัชกาลที่ ๕  เมื่อคราวพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ จิตติ  ติงศภัทร อดีตองคมยตรี  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือกฎหมายรัชกาลที่ ๕ โดยหลวงรัตนาญัปติเป็นของพระราชทานในงานนั้นด้วย


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ธ.ค. 15, 09:17
ของฝากจากกระทู้เก่า  ;D

เอาบทประพันธ์ของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มาฝาก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3266.0;attach=9463;image)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 02 ธ.ค. 15, 09:41
ของฝากจากกระทู้เก่า  ;D

อ้างจาก: เพ็ญชมพู link=topic=3266.msg63125#msg63125 [sup
date=1272507603[/sup]]
เอาบทประพันธ์ของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มาฝาก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3266.0;attach=9463;image)

ขออนุญาตนอกเรื่องหน่อยนะคะ คือสงสัยมานานแล้วค่ะ ว่าอาจารย์เพ็ญฯบริหารจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลยังไงคะ ถึงจำได้ว่าเรื่องอะไรอยู่ไหน กระทู้ไหนบ้าง ข้อความข้างบนนี้ผ่านไปตั้งห้าปีแล้ว อาจารย์ก็ยังสามารถรื้อค้นลิ้นชักความจำออกมาได้อีก
ทราบค่ะ ว่าเรื่องนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัว แต่อยากจะขอลอกเลียนแบบ  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ธ.ค. 15, 13:15
คุณแอนนาลองใช้บริการ หน้าค้นหา (http://www.reurnthai.com/index.php?action=search) ของเรือนไทยดู  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 15, 11:00
  ดวงราชการของคุณหลวงรัตนฯ นับว่ารุ่ง   เพราะฝีมือท่านไม่เบาอย่างที่เห็นได้จากประวัติ   ทำงานหนักแต่จัดระเบียบเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอัยการในปีต่อมา   สมัยนั้นกรมอัยการสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม

  หน้าที่อัยการในสมัยนั้น อย่างที่คุณหลวงรัตนาฯ(เปล่ง) สรุปความไว้ก็คือ
  "ได้เป็นทนายแทนกระทรวงทั้งปวง  ว่าความหลวงส่วนแพ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์พระราชทรัพย์    และความอาญาแผ่นดินในศาลต่างๆ....เป็นที่ปรึกษากฎหมายของเจ้าพนักงานในกระทรวงต่างๆ  ในเรื่องคดีถ้อยความเกี่ยวกับผลประโยชน์ของราชาธิปไตยทั่วไป     ได้บังคับราชการในกรมอัยการ ตามกฎหมายและอย่างธรรมเนียมที่ชอบด้วยราชการ   
   และได้คิดร่างแต่งกฎเสนาบดีสำหรับใช้ในกระทรวงยุติธรรม   และประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย"


    ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในปีเดียวกันนี้  คือเป็นยกกระบัตรของศาลรับสั่งพิเศษ  ชำรำคดีพระยอดเมืองขวาง  ท่านก็ได้ทำจนเสร็จสิ้นเรียบร้อย
    เรื่องพระยอดเมืองขวางเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถเล่าได้ยาวเหยียด  โยงไปถึงความเป็นเจ้าอาณานิคมของฝรั่งเศส และต่อเนื่องถึงเหตุการณ์ร.ศ. 112 ยาวเกินกว่าจะเล่าในกระทู้นี้ได้  ก็ขอเว้นไปก่อนนะคะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 15, 21:14
      เมื่อเข้ารับหน้าที่อัยการ    แม้คุณหลวงเป็นคนเก่งกาจปราดเปรื่องอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นจากความยากลำบากที่มิใช่ในตำรับตำราหรือระเบียบราชการ    หากแต่เป็น "ตอ" ขนาดใหญ่ เจอเข้าอย่างจัง ในคดีของขุนนางผู้ใหญ่ คือพระยาสีหราชเดโชไชย

      สาเหตุของเรื่องนี้ไม่ได้มาจากตัวคุณหลวงรัตนาเปล่ง แต่มาจากหญิงผู้มาฟ้องร้องในเรื่องของตน เธอชื่ออำแดงเป้า  มีสามีชื่อนายสิงโต   นายสิงโตนั้นเดิมเป็นทหารมหาดเล็ก ได้อำแดงเป้าเป็นภรรยามีบุตรด้วยกัน 2 คนและอยู่ในท้องอีกคน เป็น 3 คน วันร้ายคืนร้ายนายสิงโตเกิดตายลงไป    แต่ไม่ได้ตายด้วยเหตุธรรมชาติ  แต่ตายกะทันหันอยู่ในบ้านของขุนนางผู้ใหญ่คือพระยาสีหราชเดโชไชย
     ทางฝ่ายเจ้าคุณแจ้งกับภรรยาว่านายสิงโตผูกคอตาย   แต่อำแดงเป้าไม่เชื่อ เพราะรู้มาจากไหนไม่ได้ระบุไว้  ว่าเจ้าคุณกับบ่าวในบ้านช่วยกันจับนายสิงโตไปกักขังไว้ในบ้าน ทุบตี ล่ามโซ่กักขัง เฆี่ยนตี  กระทำทรมานต่างๆจนบาดเจ็บสาหัส ทนเจ็บปวดจากบาดแผลไม่ไหว ก็เลยขาดใจตาย
     


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 15, 21:27
       นายสิงโตนั้นมีอาชีพในขณะนั้นเป็นพ่อค้า   มีเรือฉลอมลำหนึ่งบรรทุกกะปิ น้ำปลา หอม กระเทียมและสินค้าอื่นๆ ขึ้นล่องลำน้ำขายของเรื่อยมา     ส่วนอำแดงเป้าไม่ได้ช่วยสามีขายของ แต่ทำงานเป็นพวกวิเศศห้องเครื่องในวังหลวง    (หมายถึงพนักงานในครัว) ในช่วงเกิดเหตุ  เธอไม่ได้อยู่กับสามี   เพราะพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปเกาะสีชัง   เธอต้องตามเสด็จไปด้วย   ทิ้งให้สามีจอดเรือขายของชำอยู่หน้าบ้านพี่ชายเธอ ในคลองตลาดสมเด็จ  หน้าบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
       นายสิงโตตามที่ภรรยาบรรยายไว้ บอกว่าเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย   แต่ไม่ได้เสียสติอยู่ตลอดเวลา   บางเวลาก็ดีเป็นปกติ บางเวลาก็คลุ้มคลั่งไม่ค่อยจะได้สติสตังเท่าไหร่    แต่ดูรูปการณ์แล้ว นายสิงโตน่าจะมีเวลาดีมากกว่าไม่ดี   ไม่งั้นคงขายของกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง
     ระหว่างที่อำแดงเป้าอยู่ที่สีชัง  ก็ได้ข่าวจากทางกรุงเทพฯว่าสามีเสียชีวิตไปแล้ว     ซ้ำไม่ได้ตายดี   หากแต่ถูกพระยาสีหราชฯกับบ่าวไพร่เฆี่ยนตีทำร้ายจนถึงแก่ความตาย      เธอก็รีบทูลลาเจ้านายคือพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์กลับมาบ้าน     ไปสอบถามว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
    ขุนนางที่อำแดงเป้าไปสอบถามคือพระเทพผลูเจ้ากรมกองตระเวนซ้าย (ถ้าเทียบสมัยนี้ก็คือตำรวจ  แต่เทียบตำแหน่งกับอะไรต้องถามท่านอื่นในเรือนไทย)   ได้ความกลับตาลปัตรเป็นคนละเรื่อง  พระเทพผลูบอกว่าพระยาสีหราชฯใจดีเอาตัวนายสิงโตมารักษา  แต่นายสิงโตเกิดอะไรไม่รู้ ผูกคอตายไปเสียแล้ว
     เท่านั้นยังไม่พอ เรือฉลอมที่ใช้ทำมาหากินก็ถูกพระเทพผลูยึดมา แล้วให้ผู้อื่นยืมไปใช้  โดยไม่รอลูกเมียของนายสิงโตมารับมรดก    เป็นอันว่าอำแดงเป้าเสียทั้งสามี เสียทั้งเครื่องมือทำมาหากิน 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 15, 19:56
     อำแดงเป้าคงสอบสาวราวเรื่องด้วยตัวเองมาแล้ว  จึงเล่าเหตุการณ์ได้เป็นฉากๆ ว่า ในวันที่เริ่มเกิดเหตุ  นายสิงโตจอดเรือฉลอมขายของอยู่ในคลองดีๆ หน้าบ้านสมเด็จเจ้าพระยา    บ่าวไพร่กลุ่มหนึ่งของพระยาสีหราชเดโชไชยก็กรูเข้าไปรุมนายสิงโต  เอาไม้ตีจนฟกช้ำดำเขียว  แล้วจับตัวมัดไว้    เท่านั้นยังไม่พอ  จับตัวได้แล้วก็ยังต่อยยังตีต่อไปอีก  จากนั้นก็เอาโซ่ล่ามนายสิงโตไว้  ด้วยข้อกล่าวหาว่านายสิงโตเป็นผู้ร้ายดอดเข้าไปลักขโมยของบนตึกบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
     อำแดงเป้าบรรยายต่อไปว่า  เมื่อจับตัวสามีของเธอในข้อหาผู้ร้ายลักขโมยของได้   แทนที่จะส่งตัวให้เจ้ากระทรวงโรงศาลพิจารณาโทษตามระเบียบกฎหมายบ้านเมือง   ก็กลับทะนงตัวว่าเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์    สั่งให้ขุนวิสูตอักษร(พุ่ม) กับบ่าวไพร่ของตนจับนายสิงโตนอนคว่ำ ยึดมือเท้าไว้ แล้วเฆี่ยนหลังด้วยหวายอย่างสาหัสประมาณ 30 ทีจนหลังแตกยับเยิน  เลือดไหล  เขียวบวมช้ำด้วยจากการเตะตี
    เท่านั้นยังไม่พอ    วันรุ่งขึ้น พระยาสีหราชเดโชไชยก็สั่งบ่าวไพร่ให้นำนายสิงโตซึ่งบอบช้ำไปทั้งตัวแล้ว  ไปขังทึ่ห้องใต้ถุนตึกของเจ้าคุณท่านเอง    ทิ้งให้ทรมานอยู่อย่างนั้น 5 วัน 6 คืน   นายสิงโตทนความเจ็บปวดจากบาดแผลไม่ไหวก็ขาดใจตาย
    อำแดงเป้าจึงนำเรื่องนี้มาฟ้องศาล  เขียนจาระไนเรื่องราวอยา่งละเอียดแถมบอกได้ด้วยว่าพระยาสีหราชผิดมาตราไหนบ้าง  ให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิด และปรับค่าเสียหายด้วย

    


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 15, 20:08
   คดีนี้  คุณหลวงรัตนาเปล่ง พระเอกของกระทู้นี้ ออกโรงเป็นอัยการ ทำหน้าที่แทนผู้เสียหายคืออำแดงเป้าเอง    สมัยนั้นเรียกว่า "พนักงานทำการในน่าที่กรมอัยการ"   เข้าใจว่าเป็นคดีแรกที่มีการทำงานในตำแหน่งนี้ และอัยการคนแรกของสยามก็คือคุณหลวงรัตนาฯ หรือขุนหลวงพระยาไกรสีนี่เอง
   ในเมื่อทางการบ้านเมืองเอาจริงเอาจัง    พระยาสีหราชฯซึ่งแม้ว่าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ก็ต้องเดินขึ้นศาลในฐานะจำเลย   แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะขุนนางผู้ใหญ่ ไม่ต้องถูกจำขัง   แต่ต้องมาศาลด้วยตัวเอง จะแต่งทนายมาแทนแล้วตัวเองอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้
   ศาลชำระความจากคำฟ้องและหลักฐานแล้ว  ก็ได้ความว่าพระยาสีหราชเดโชไชยทำอย่างที่อำแดงเป้าฟ้องมาจริงๆ   แต่ไม่ได้ทำลงไปเพราะอยากแกล้งนายสิงโตแต่อย่างใด      หากเป็นเพราะเชื่อคำบอกเล่าของบ่าวไพร่ว่า นายสิงโตเป็นผู้ร้ายขึ้นบ้านสมเด็จเจ้าพระยาไปฉกลักข้าวของ    ก็เลยลงโทษนายสิงโตดังที่กล่าวมา   แต่ไม่ได้มีเจตนาจะฆ่านายสิงโต


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 15, 19:51
     คดีนี้ดำเนินต่อมาโดยมีองค์คณะผู้พิพากษาคือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร  พระยาประชากิจกรจักร  พระธรรมสาตร  และพระพิจารณา   สอบสวนโจทก์จำเลยและพยานเสร็จสิ้นแล้วก็เรียบเรียงคำปรึกษาขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระเจ้าอยู่หัว    การดำเนินคดีนี้กินเวลายาวนานถึง 4 ปี
     ความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาคือ   พระยาสีหราชเดโชไชยสั่งให้บ่าวไพร่เฆี่ยนนายสิงโตเพราะเชื่อคำบอกเล่าของบ่าวไพร่ว่า นายคนนี้เป็นคนร้าย    แต่ตัวเจ้าคุณเองไม่ได้มีเจตนาจะฆ่านายสิงโต   จึงมีความผิดถูกโทษปรับไหมเป็นเงิน 66 ชั่งเศษ  ส่วนบ่าวไพร่ที่ลงไม้ลงมือเฆี่ยนตีทำร้ายนายสิงโตเกินกว่าเหตุ ซ้ำยังเอาตัวคุมขังไว้ 5 วันจนตาย  มีความผิด  ถูกจำคุกคนละ 3 ปี     แต่บางคนก็ตายไปเสียก่อนจะคดีจะสิ้นสุด   ส่วนอีก 2 คนที่ช่วยกันยึดมือนายสิงโตขณะถูกเฆี่ยน เป็นความผิดลหุโทษ แค่ถูกภาคทัณฑ์
   
    ถ้าใครในเรือนไทยสงสัยเหตุใดเจ้าคุณสีหราชฯจึงถูกโทษเพียงปรับ    ก็ต้องยึดคำตอบของศาลว่า พิจารณาแล้วเห็นว่าท่านไม่ได้มีเจตนาฆ่านายสิงโต    มีเจตนาเพียงลงโทษน่าจะให้แค่หลาบจำ   แต่บ่าวไพร่ท่านผู้ลงมือเฆียนตีนั่นตะหาก มือหนักเอาการ แถมยังซ้อมสะบักสะบอมอีกด้วย    สมัยนั้นคงไม่มีใครดูออกว่า นายสิงโตมีอาการช้ำในอย่างหนัก นอกเหนือจากแผลถูกเฆี่ยนเนื้อหนังแตก    เมื่อถูกขังหลายวันติดกัน ไม่ได้รับการรักษาเยียวยาทันเวลา ก็เลยสิ้นใจไป
    ส่วนคำถามที่ว่านายสิงโตเป็นขโมยไปฉกลักของบนตึกเป็นเรื่องจริงหรือไม่   หาคำตอบไม่เจอค่ะ     อาจเป็นได้หรือไม่ได้เป็น มีน้ำหนักพอๆกัน   แต่นายสิงโตเป็นขโมยหรือไม่เห็นจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่  ประเด็นใหญ่คือแกถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย    แม้คนที่เกี่ยวข้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ก็ต้องรับโทษอยู่ดี   
    อัยการผู้ทำคดีนี้ ถือว่าเก่งเอาการที่สามารถทำสำนวนและดำเนินเรื่องมาจนจำเลยทั้งหลายได้รับโทษกันหมด   ไม่มีใครรอดความผิดไปได้


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ธ.ค. 15, 08:55
พระยาสีหราชเดโชไชยท่านนี้ คงจะใช่ท่านโต บุนนาค


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 15, 12:18
พยายามไม่บอกอะไรเกี่ยวกับพระยาสีหราชฯ     เกรงว่าลูกหลานท่านจะมาประท้วงอยู่หน้าเรือนไทย
คุณ Jalito แหวกวงเข้ามา กระเจิงกันหมด
ส่งไปรับหน้าเห็นจะดีนะคะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ธ.ค. 15, 16:24
ขออภัยท่านอาจารย์เทาชมพู
จริงๆไม่มีเจตนาพาดพิง นามและสกุลของ เจ้าคุณท่านนั้น
ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้สิ้นสุดลงโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมสมัยนั้นไปแล้ว ท่านเจ้าคุณคงยอมรับ เพราะท่านก็เป็นชายชาติทหาร
อันที่จริงสกุลของท่าน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ตัวท่านเอง ตลอดลงมาชั้นลูกหลาน ก็เป็นขุนนางชั้นสูง ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดินมากมายหนักหนา
รอยด่างที่เกิดขึ้นจากบริวารทำเกิน(ยุคใดสมัยใดก็มีตลอด) ท่านซึ่งเป็นนายก็ต้องรับผิดชอบ ลูกหลานในสกุลชั้นต่อๆมาคงจะเข้าใจดี


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 15, 22:20
มีความจำเป็นต้องขอพักครึ่งเวลานะคะ  นักเรียนออกไปกินขนมนอกห้องกันได้ค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 15, 11:08
ขอโทษอีกทีที่ยังต่อกระทู้ไม่ได้    ตัวอยู่ที่หนึ่ง หนังสืออยู่อีกที่หนึ่ง คนละจังหวัดกันค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 ธ.ค. 15, 12:42
นักเรียนยังรออยู่ด้วยใจระทึก!! :-X


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 11:11
กระทู้ใกล้ตกหน้าแล้วจึงดึงขึ้นมา รอประกาศจากท่านเจ้าเรือนว่าจะเริ่มคลาสเมื่อไร  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 13:07
เสียใจจริงๆ  หนังสือกับเจ้าของกระทู้ยังอยู่คนละแห่งกันจนบัดนี้   จึงต้องไปถามอาจารย์กู๊กแก้ขัดไปก่อน

ด้วยผลงานที่ปฏิบัติมาอย่างมีประสิทธิภาพ  คุณหลวงรัตนาฯก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ใหม่เมื่ออายุ 32 ปี   คือเป็นขุนหลวงพระไกรสีสุ
ภาวภักดี ศรีมนธาตุ  ราชอํามาตยคณาการ   เป็นราชทินนามย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์     
ขุนหลวงพระไกรสี ก็อย่างที่บอกไว้ตอนต้นกระทู้ ว่าเป็นตําแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงซึ่งถือกันว่าเป็นผู้รู้พระราชกาหนดกฎหมายแม่นยำในพระราชกำหนดบทพระอัยการยิ่งกว่าลูกขุนอื่นทั้งปวง

ถ้าจะถามว่า ทำไมเลื่อนคุณหลวงรัตนาฯขึ้นเป็นคุณพระอะไรสักราชทินนามหนึ่ง เพื่อจะก้าวต่อไปเป็นพระยาอย่างคนอื่นๆ  ไม่ได้หรือ    ก็ขอตอบด้วยคำอธิบายข้างบนว่า  บรรดาศักดิ์ข้างบนนี้ไม่ได้เป็นการเลื่อนขั้นข้าราชการนักกฎหมายเก่งๆคนหนึ่งอย่างธรรมดา  เหมือนนักกฎหมายอื่นๆในยุคนั้น   แต่เป็นการยกย่องฝีมือและความรู้ของคุณหลวงรัตนาฯ ว่าเก่งระดับผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่ไม่ได้มีมาหลายสิบปีแล้วนับแต่ขุนหลวงพระไกรสีคนเดิมถึงแก่กรรมไป
บรรดาศักดิ์นี้ ต้องแยกเป็น 3 ส่วน คือขุนหลวง+พระ+ไกรสี       คุณหลวงรัตนาฯ ท่านเป็นหลวง แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็น พระ  มีคำว่าขุนหลวง นำหน้า ยกย่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย   
สมัยนี้จะเรียกอะไรก็ยังนึกไม่ออก  จะเรียกว่าผู้ชำนาญการพิเศษ ก็ไม่รู้จะใกล้เคียงรึเปล่า   ฝากคุณนเรศและคุณหมอเพ็ญซึ่งรู้หลายสาขานอกเหนือจากสัตว์ประหลาด  ช่วยบอกกันหน่อยค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ม.ค. 16, 19:56
กระทู้จะตกหน้าอีกแล้ว  ;D

คุณหลวงรัตนาฯ ท่านเป็นหลวง แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็น พระ  มีคำว่าขุนหลวง นำหน้า ยกย่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  
สมัยนี้จะเรียกอะไรก็ยังนึกไม่ออก  จะเรียกว่าผู้ชำนาญการพิเศษ ก็ไม่รู้จะใกล้เคียงรึเปล่า   ฝากคุณนเรศและคุณหมอเพ็ญซึ่งรู้หลายสาขานอกเหนือจากสัตว์ประหลาด  ช่วยบอกกันหน่อยค่ะ

บรรดาศักดิ์ "พระ" หากเทียบกับตำแหน่งทางวิชาการปัจจุบันคงจะประมาณ "ระดับชำนาญการพิเศษ" อย่างคุณเทาชมพูว่า


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 16, 20:42
   ก่อนหน้านี้ 1 ปี  คือเมื่อ พ.ศ.2436  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมอัยการขึ้นในกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน   คุณหลวงรัตนาฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอัยการคนแรก  ทำหน้าที่อบรมฝึกหัดผู้ที่จะเป็นพนักงานอัยการ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “เนติบัณฑิตย์”
    งานของคุณหลวงมีเต็มมือ  เพราะต้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายของเจ้าพนักงานในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ในคดีซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐบาล    แต่ท่านก็ยังต้องแบ่งเวลาไปคิดร่างแต่งกฎเสนาบดี และร่างประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย    ร่างเหล่านี้ในเวลาต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้เป็นกฎหมาย สำหรับแผ่นดินมากมายหลายฉบับด้วยกัน

   เมื่อเลื่อนขึ้นเป็น ขุนหลวงพระไกรสี   งานก็ยิ่งงอกงามขึ้นมาเรื่อยๆ  เห็นได้จากพระราชหัตถเลขา
                                                                             พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท

                                                                               วันที่ 1   พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 115

ถึงกรมหลวงพิชิตปรีชากร (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) ...

   ... อนึ่ง ฉันได้พูดกับขุนหลวงพระไกรษี เมื่องานราชสมบัติเสนอด้วยรัชกาลที่ 1 ในเรื่องซึ่งจะให้มีผู้ชำระความได้มากขึ้น เขาว่า จำเปนจะต้องตั้งโรงเรียนลอสกูล ฉันเห็นเปนถูกต้องแท้ เหมือนที่อิหยิปต์ตั้งศาลแขกได้ ก็อาไศรยโรงเรียนกฎหมายเหมือนกัน เห็นว่าเปนรากเง่าที่จะให้การชำระความเรียบร้อยมั่นคง ครั้นวันนี้ได้พบขุนหลวงพระไกรษี เตือนเขาว่าทำไมไม่ได้เห็นความคิดที่จะจัดการ เขาว่าได้ทำยื่นไว้ที่เธอสามเดือนแล้ว ฉันเห็นว่าเปนข้อสำคัญมาก ถ้าคิดการยังไม่ตลอด ขอให้เร่งคิดเสียให้ตลอดถ้าการคิดตลอดแล้ว ขอให้นำมาบอกให้ทราบ สำหรับขึ้นงบประมาณในศกนี้ ได้ดีกว่าที่จะรอต่อไป

                ในที่สุดนี้ ขอบอกว่ามีความเสียใจที่ไปไม่พบเธอ การที่ไม่ได้นัดนั้น ตั้งใจจะไม่ได้นัดด้วย
                


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 16, 09:59
   ในร.ศ. 116    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขุนหลวงพระไกรสีขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา    ในคำประกาศตราตั้ง  ระบุคุณสมบัติไว้ว่า
    ประกอบไปด้วยปรีชาสามารถ    รอบรู้พระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่   แลมีความซื่อสัตย์สุจริตตั้งอยู่ในความยุติธรรม  
    ตำแหน่งหน้าที่ใหม่แม้ว่าสูงมาก แต่ก็โหดหินไม่น้อยไปกว่าความสูงส่ง   เพราะเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมเก่ากับใหม่  ศาลอยู่ในขบวนการปรับปรุง   มีคดีเก่าๆคั่งค้างมากมายที่เป็นคดีระหว่างขุนนาง เจ้านายและไพร่ราษฎรชาวบ้านสามัญเป็นคู่ความ   แต่เดิม ในกฎหมายเดิมก็มีระเบียบปฏิบัติอย่างหนึ่ง  เมื่อสังคมเลี้ยวเข้าสู่ยุคใหม่ ก็ต้องแก้ไขระบบเดิมให้กลายเป็นปฏิบัติเท่าเทียมกันระหว่างโจทก์จำเลย    หรือที่ปวดหัวกว่านี้ก็คือคู่ความอ้างว่าตนเองอยู่ในบังคับของต่างชาติ ทำให้มีสิทธิพิเศษแตกต่างไปจากคนไทยอื่นๆ
    อุปสรรคทั้งหมดนี้  ขุนหลวงพระไกรสีต้องทำหน้าที่หัวหอก ฝ่าฟันไปให้จงได้      ดูๆสภาพโดยรอบแล้วก็น่าเห็นใจท่าน  เพราะคนรอบๆจำนวนมากเขาก็ชินกับระบอบเดิม  ที่เป็นประโยชน์ทางฝ่ายตัวเขา    เอาระบอบใหม่มาใช้ ทำท่าจะเสียประโยชน์ไปก็ไม่ยอม   ส่วนอีกฝ่ายที่ได้ผลดีจากระบอบใหม่ก็ต้องยืนกรานต่อต้านระบอบเก่า   ใครยืนอยู่ตรงกลางอย่างขุนหลวงพระไกรสีก็เหมือนถูกแรงกระแทกจากรอบด้าน      แต่ท่านก็ยึดโล่ป้องกันตัวอย่างเดียว คือ "สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง"


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 11:42
    พอได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา   ท่านก็เจอคดีแรก แม้ว่าไม่ซับซ้อนนัก แต่ก็สมควรจะกล่าวไว้เป็นเกียรติประวัติของท่าน
    เรื่องนี้ กรมอัยการเป็นโจทก์   นายแปลกหรือในคำพิพากษาเรียกว่าอ้ายแปลก เป็นจำเลย
    เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาถึงศาล  ก็เพราะมีการวิวาทกันด้วยไม้ตะพด  ระหว่างผู้เคราะห์ร้ายชื่อนายแทน กับนายแปลก  ต่างคนต่างมีตะพดเป็นอาวุธกันทั้งคู่      สาเหตุเกิดจากนายแทนเมาสุราอาละวาด  เอาไม้ตะพดตีนายแปลกเข้าก่อนถูกข้อศอกและนิ้วก้อยซ้ายหนังกำพร้าถลอก   นายแปลกก็เลยใช้ไม้ตะพดตอบแทนเข้าให้ 3 ทีบนหัวนายแทน จนหัวแตกเลือดไหล  นายแทนบาดเจ็บอยู่ 5 วันทนพิษบาดแผลไม่ได้ก็ขาดใจตาย  
   แต่ในคำให้การนั้น  ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งคือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้มีแค่นายแทนกับนายแปลก    แต่มีหมาอีกตัวเข้ามาเป็นตัวการร่วมด้วย    กล่าวคือระหว่างสองคนตีกันชุลมุนอยู่นั้น   หมาตัวนี้มาจากไหนไม่ทราบ วิ่งเข้ามากัดน่องนายแทนแล้ววิ่งหนีไป     เมื่อตีกันจบแล้ว  มีคนมาคัดเลือดจากแผลที่นายแทนถูกตีและใส่ยาให้   แต่ไม่มีหมอมารักษาแผลที่ถูกหมากัด   นายแทนตายใน 5 วันต่อมา   ฝ่ายทนายจำเลยจึงเห็นว่านายแทนตายด้วยแผลถูกหมากัด    ไม่ใช่แผลจากตะพดของนายแปลก


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 12:58
      ขุนหลวงพระไกรสีกับคณะผู้พิพากษา พิจารณาคำฟ้องและคำให้การของพยานแล้ว   เห็นว่านายแทนตายด้วยบาดแผลที่นายแปลกตี   ส่วนเรื่องหมาที่มากัดนายแทนนั้น  ไม่ได้ความสมจริง   จึงให้ยกคำต่อสู้นี้เสีย   แต่นายแปลกไม่ได้เป็นผู้ก่อการวิวาท นายแทนเป็นคนเริ่มขึ้นก่อน   คือทำร้ายนายแปลกก่อน  นายแปลกถูกตีเจ็บก็เลยบันดาลโทสะตีตอบไป   และนายแปลกก็มามอบตัวแก่เจ้าพนักงานโดยดี   จึงมีเหตุควรบรรเทาโทษ  ให้จำคุกนายแปลกไว้ 3 ปี
     ศาลพระราชอาญาตัดสินเมื่อเดือนเมษายน   ต่อมาเดือนพฤษภาคม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน    นับว่าเร็วมาก   นายแปลกก็เดินคอตกเข้าคุกไปใช้โทษอันเกิดจากบันดาลโทสะของตนจนครบ 3 ปี

     ส่วนคดีต่อไปนี้ซับซ้อนกว่าคดีแรกมาก     เป็นคดีที่เกิดก่อนหน้าขุนหลวงพระไกรสีจะมารับตำแหน่งอธิบดี   จำเลยถูกขังมาแล้ว 1 ปีเศษ  
    จำเลยในคดีนี้ชื่อนายรื่น   ถูกอัยการฟ้องว่าเป็นผู้ผลิตและใช้เงินแดง(คือเหรียญกระษาปน์ปลอม)   แต่นายรื่นปฏิเสธข้อหา  ให้การว่าถูกใส่ความ โดยขุนนางชื่อขุน ท.และ นายข.  มาหานายรื่นแล้วชวนไปธุระด้วยกัน ถึงหน้าวัดมหรรณพาราม  สองคนนั่นก็ทำอุบายฝากเงินที่ถือมาด้วยให้นายรื่นถือไว้  ตัวเองเข้าไปในวัด   ออกจากวัดแล้วก็ไม่รับห่อเงินคืน  แต่ให้เดินตามไปถึงบ้านขุน ก. ผู้มีหน้าที่ในที่ว่าการอำเภอ  และเป็นบิดาเลี้ยงของนาย ข.
     พอถึงบ้านขุน ก.ก็ให้คนกลุ้มรุมจับ  แก้ห่อเงินที่ถือออกมาพบว่ามีเงินปลอมอยู่ 99 เหรียญ
    นายรื่นก็เลยโดนข้อหาทำเงินปลอมและใช้เงินปลอม ซึ่งเป็นโทษหนัก


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ก.พ. 16, 13:35
ผมไม่ทราบกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในสมัยนั้นนะครับ (เดาว่า น่าจะเป็นประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฉบับแรก) แต่หลักกฎหมายอาญาเป็นหลักที่ค่อนข้างนิ่งแล้ว คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่

คดีนายแทน กับนายแปลก มีข้อสังเกตคือ สมัยนั้นคงจะไม่ได้มีการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวินิจฉัยคดี เนื่องจากจำเลยอ้างว่า นายแทนถูกหมากัด เจตนาของจำเลยคงจะต้องการทำให้ศาลเห็นว่า การที่นายแทนถึงแก่ความตายนั้น "อาจจะ" ไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายแปลกก็ได้ ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบัน การตายของนายแทน เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ต้องมีการชันสูตร ซึ่งผลการชันสูตรก็จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า นายแทนตายเพราะสาเหตุใด

เมื่อไม่มีการพิสูจน์ด้วยวิธีนี้ ก็ต้องอาศัยการสืบพยานมายันกัน ฝ่ายจำเลยอ้างว่า มีหมามากัด การนำหมามาเป็น(วัตถุ)พยาน คงทำไม่ได้ แต่จำเลยอ้างว่ามีบุคคลมาคัดเลือดและทำแผลให้นายแทนด้วย ผมเดาว่า ฝ่ายนายแปลก หาคนๆ นี้ไม่พบ หรือหาพบแต่ไม่สามารถนำเขามาเป็นพยานเบิกความในศาลได้ ขุนหลวงพระไกรสี ท่านจึงมองว่า ข้อต่อสู้นี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานโจทก์ ท่านจึงวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า นายแทนตายเพราะบาดแผลถูกนายแปลกตี

ทีนี้ กฎหมายอาญามีหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ การที่นายแปลกตีหัวนายแทนเลือดไหล จะเป็นผลให้นายแทนตาย (เพราะบาดแผลนั้นได้) หรือไม่ ศาลท่านมองว่า "ได้" เมื่อเป็นเช่นนี้ นายแปลกจึงถูกพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิด ต้องรับโทษตามกฎหมายไปครับ   


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 13:43
  ดิฉันคิดว่านิติวิทยาศาสตร์สมัยนั้นคงยังไม่มี  มั้งคะ
  คนตายในสมัยนั้นไม่มีฟอร์มาลีนช่วยให้ศพไม่เน่า   นายแทนคงจะเน่าเปื่อยไปแล้วก่อนคดีขึ้นสู่ศาลเสียด้วยซ้ำ  หรือไม่ก็เผาไปแล้วตามประเพณี    หลักฐานทั้งหลายจึงได้จากพยานล้วนๆ
  นายแปลกหาพยานมายืนยันเหมือนกันถึงการมีตัวตนของหมาตัวนั้น  เช่นอ้างพยานคนหนึ่งว่าเป็นเจ้าของหมา   แต่พยานคนนั้นก็ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของหมา    ส่วนหมากัดจริงหรือไม่ก็ไม่เห็น   พยานอีกคนเป็นภรรยาของนายแปลกเอง ก็เชื่อถือไม่ได้   ส่วนภรรยานายแทนที่มาให้การเข้าข้างนายแปลก ก็เป็นญาติสนิทของนายแปลกเสียอีก   
   สรุปว่าพยานทั้งหมด ไม่มีน้ำหนักพอจะให้ศาลเชื่อว่า มีหมามากัดจริง


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 13:58
      กลับมาถึงเรื่องของนายรื่น
      นายรื่นเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม     เมื่อถูกจับกุมกลายเป็นอาชญากรผลิตและใช้เงินปลอม  นายรื่นก็สู้แหลก  อย่างแรกคือยื่นเรื่องขออายัดเรื่องราว  ให้ขุนก.รับทราบไว้ก่อนว่าเขาถูกขุน ท. และนายข.ใส่ความ     แต่ขุนก.ไม่รับอายัด   เห็นได้ชัดว่าไม่เชื่อ   ในเมื่อจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางได้เห็นชัดๆยังงี้แล้ว   จะมาฟังอะไรกับคำแก้ตัว   ขุนก.ก็นำตัวนายรื่นส่งศาลกระทรวงเมืองให้ดำเนินคดีทันที
     นายรื่นก็เลยกลายเป็นผู้ต้องหา   ถูกขังอยู่ในกองลหุโทษ
    
     ตัวเองออกมาสู่ภายนอกไม่ได้  นายรื่นก็ไม่ท้อถอย   บอกญาติให้ยื่นฟ้องขุน ก.และนายข. ว่าใส่ความจับกุมนายรื่น    แต่นายรื่นก็เจอตอเข้าอย่างจัง  คือกองไต่สวนโทษหลวงมิได้ไต่สวนคำร้องของนายรื่นเอาเลย      ดูตามรูปการณ์ คิดว่ากองไต่สวนฯปักใจว่านายรื่นผิดชัวร์    จะมาโวยวายยังไงก็ไม่ฟังทั้งสิ้น    
     แต่ในเมื่อนายรื่นดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย  ศาลราชทัณฑ์พิเฉท (ศาลอะไรไม่ทราบ ต้องถามคุณนริศ) ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ  คือสั่งกองไต่สวนให้ส่งขุนก.และนายข. มาแก้คดี    แต่กองไต่สวนนั้นอาจจะเห็นเหมือนสมัยนี้ ว่า.."เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ"  ก็เลยพิจารณาโดยไม่แตะต้องขุนก.และนายข.  แปลง่ายๆว่า ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น  


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ก.พ. 16, 14:46
เรื่อง ว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท นี้ เวปไซต์ของศาลฎีกามีข้อมูลอยู่ ผมสรุปมาได้ดังนี้ครับ
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการการสถาปนากระทรวงยุติธรรม และจัดระเบียบการศาลยุติธรรมใหม่ โดยรวบรวมบรรดาศาล ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ให้สังกัดอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเพียงที่เดียว (ก่อนหน้านี้ กระทรวงแต่ละกระทรวง มักจะมีศาลอยู่ในสังกัดของตัวเอง เช่น ใครพิพาทกันเรื่องการเกษตร ก็ไปฟ้องศาลในกระทรวงเกษตรฯ  ใครพิพาทกันด้วยเรื่องการเดินขนส่ง ก็ไปฟ้องศาลในกระทรวงคมนาคมฯ อะไรทำนองนี้เป็นต้นครับ)

เมื่อมีการรวมศาลต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันไว้ในกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็ปรากฏว่า การพิจารณาคดีต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีในศาลอุทธรณ์คดีหลวงและศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ (ผมเข้าใจว่าหมายถึง คดีแพ่งที่ราษฎรเป็นความกับรัฐ หรือคดีแพ่งที่ราษฎรเป็นความกันเอง) แต่คดีในศาลพระราชอาญายังคั่งค้างอยู่มาก ส่วนหนึ่งเป็นคดีที่ค้างมาตั้งแต่ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรม อีกส่วนเป็นคดีที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งจากในกรุงเทพฯ และหัวเมือง  พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโศภน เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น จึงได้เสนอพระราชบัญญัติจัดการศาลในสนามสถิตย์ยุติธรรม ร.ศ. ๑๑๑ ขึ้นโดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความอาญานั้น มีบทบัญญัติให้มีศาลเพิ่มขึ้นอีกศาลหนึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของศาลพระราชอาญา ดังนี้ครับ

        “....ข้อ ๒ ศาลพระราชอาญามีอยู่ศาลเดียวยังไม่พอแก่การพิจารณาความอาญาที่ยังคงค้างอยู่ แลที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลเพิ่มขึ้นอีกศาลหนึ่งให้เรียกนามว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท แลให้ศาลพระราชอาญา และราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้ เปนกระทรวงพิจารณาพิพากษาตัดสินความอาญาทั้งปวง แลความอาญาที่คงค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั้น ก็ให้แบ่งแยกมาพิจารณาในศาลราชทัณฑ์พิเฉทด้วยตามสมควรบันดาความอาญาซึ่งจะร้องฟ้องกันขึ้นใหม่ ตั้งแต่ วันที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ เป็นต้นไปนั้น ให้แบ่งประทับไปยังศาลพระราชอาญา แลศาลราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้ตามพระธรรมนูญ”

สรุปว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท คือศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาความอาญาอีกศาลหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาคดีที่มีคั่งค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั่นเองครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ก.พ. 16, 14:58
ที่ว่า ศาลในสมัยนั้น กระจายกันอยู่ในหลายๆ ที่ ก็เป็นดังนี้ครับ

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99_(%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2)

“กฎหมายเก่าของหมอบลัดเล” และ “พระราชบัญญัติในปัตยุบัน” ได้กล่าวถึงศาลที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมต่าง ๆ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ในการชำระความประเภทใดไว้ ดังนี้

ศาลธรรมดาในกรุงเทพ ฯ  หมายถึงศาลที่ชำระความอาญาและความแพ่งที่ราษฎรเป็นความกันตามธรรมดา ได้แก่
ศาลนครบาลขึ้นอยู่กับกรมเมือง มีอำนาจเฉพาะแต่คดีอาญามหันตโทษ เช่น ฆ่าเจ้าของเรือนตาย เป็นชู้กับเมียผู้อื่น เป็นต้น
ศาลกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น ๓ ศาล คือ ศาลหลวง พิจารณาความอุทธรณ์ที่ตระลาการชำระความโดยมิชอบ ศาลราษฎร์ชำระความอาญาที่จำเลยเป็นตระลาการ และศาลตำรวจ ชำระคดีแปลงคารมลายมือ ขี้ฉ้อหมอความ อ้างว่าเป็นญาติทั้งที่ไม่ได้เป็นแล้วว่าความแทนกัน
ศาลกระทรวงกลาโหมหรือศาลอาญานอก ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ชำระความอาญานอก ซึ่งหมายถึงคดีที่ราษฎรซึ่งมิใช่ข้าราชการกระทำผิด
ศาลกรมท่า หรือ ศาลกรมพระคลังราชการขึ้นอยู่กับกรมท่า มีอำนาจชำระคดีพิพาทระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศ หรือชาวต่างประเทศด้วยกันเอง
ศาลแพ่งกลาง ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมใดที่ทำหน้าที่ชำระความต่างหาก แต่ขึ้นอยู่กับกรมลูกขุน มีอำนาจชำระคดีวิวาททำร้ายกัน ด่าสบประมาทกัน เป็นต้น ซึ่งจำเลยเป็นสมนอก
ศาลแพ่งเกษม ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมใดที่ทำหน้าที่ชำระความต่างหากแต่ขึ้นอยู่กับกรมลูกขุน มีอำนาจชำระความแพ่ง เช่น เอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยไม่บอกเจ้าของ บุกรุกที่ดินเรือกสวน เป็นต้น

ศาลชำระความเป็นพิเศษ ได้แก่
ศาลกรมนา มีอำนาจชำระคดีเกี่ยวกับนา ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
ศาลในกระทรวงมหาสมบัติ มีอำนาจชำระคดีภาษีและหนี้หลวง
ศาลกรมวัง แบ่งเป็น ๔ ศาล คือ ศาลอาญาวัง ศาลนครบาลวัง ศาลแพ่งวัง ศาลมรดก ชำระความที่จำเลยเป็นสมใน
ศาลกรมแพทยา ชำระคดีเกี่ยวกับการกระทำอาคมเวทวิทยาคมแก่กัน
ศาลกรมธรรมการ ชำระคดีพระสงฆ์สามเณรกระทำผิดวินัย
ศาลกรมสรรพากรใน ชำระคดีนายระวางกำนันผู้เก็บอากรขนอนตลาดวิวาทกัน
ศาลกรมสรรพากรนอก ชำระคดีเสนากำนันเบียดบังอากรขนอนตลาด
ศาลกรมสัสดี หรือศาลกรมพระสุรัสวดี ชำระคดีเกี่ยวกับการสังกัดหมวดหมู่ของไพร่หลวงและไพร่สม ตลอดจนการปันหมู่
ศาลราชตระกูล ชำระคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นโจทก์หรือจำเลยทุกชนิด ยกเว้นเรื่องที่ถึงแก่ชีวิตเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเมื่อใดก็ได้ตามความเหมาะสมเพื่อชำระความพิเศษบางคดีซึ่งทรงเห็นว่าศาลธรรมดาที่มีอยู่ชำระไม่ได้หรือชำระได้ยาก ศาลดังกล่าวเรียกว่า “ศาลรับสั่ง” เป็นศาลที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ก.พ. 16, 15:01
เมื่อมี ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ได้มีการยุบรวมศาลทั้งหมด 16 ศาล ให้รวมมาเป็นศาลสถิตย์ยุติธรรมให้เหลือเพียง 7 ศาล คือ

ศาลฎีกา เรียกเป็น ศาลอุทธรณ์คดีหลวง
ศาลอุทธรณ์มหาดไทย เรียกเป็น อุทธรณ์คดีราษฎร์
ศาลนครบาล กับศาลอาญานอก รวมเรียกว่า ศาลพระราชอาญา
ศาลแพ่งเกษม ศาลกรมวัง ศาลกรมนา รวมเรียกว่า ศาลแพ่งเกษม
ศาลแพ่งกลาง ศาลกรมท่ากลาง ศาลกรมท่าซ้าย ศาลกรมท่าขวา ศาลธรรมการ และ ศาลราชตระกูล รวมเรียกว่า ศาลแพ่งกลาง
ศาลสรรพากร ศาลมรฎก รวมเรียกว่า ศาลสรรพากร
ศาลต่างประเทศ คงไว้ตามเดิม

สรุปว่า ผมเข้าใจผิดครับ ศาลอุทธรณ์คดีหลวง และอุทธรณ์คดีราษฎร์ คือ ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ในปัจจุบัน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 15:24
ขอบคุณค่ะคุณนริศ   รายละเอียดเยอะจริงๆ

    ศาลราชทัณฑ์พิเฉทใส่เกียร์ว่าง ไม่แตะต้องขุน ก. และนาย ข.   แต่ศาลที่นายรื่นต้องขึ้นกลับเดินหน้าไปตามปกติ   ศาลรับสั่งพิเศษกองที่ 3  ตัดสินโทษนายรื่นว่า ทำผิดขั้นมัชฌิมโทษ  มีความผิดตามกฎหมายลักษณะโจร   หน้า 311 มาตรา 156   ถูกโทษขั้นเฆี่ยนด้วยลวดหนัง 50 ที   ตัดนิ้วมือ 10 นิ้ว( พระเจ้าจอร์จ!)  แล้วถูกส่งตัวเข้าคุกในกองมหันตโทษ ติดคุกมีกำหนด 10 ปี     แต่ว่าถูกจำขังมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน เลยหักลบกันไป เหลือติดคุกอีก 8 ปี 3 เดือน
    ศาลยังอนุญาตว่า ถ้ามีเงินมาจ่ายค่าปรับ เป็นค่าถ่ายโทษถูกโบยกับโทษตัดนิ้วได้ก็ไม่ต้องโดน   แต่ถ้าไม่มีเงิน  ก็ปรับเป็นอยู่คุกต่ออีก 1 เดือนฟรีๆ
    สรุปว่า ศาลตัดสินตามคำกล่าวหาของอัยการซึ่งเดินเรื่องตามคำกล่าวหาของขุนก. ขุนท.และนาย ข.  ว่านายรื่นผิดข้อหาดังกล่าวแน่นอน     ส่วนเรื่องนายรื่นดิ้นรนฟ้องกลับขุนก.และนายข.ว่าใส่ความเขา  จนบัดนี้  ทางการก็ยังอืดอาดอยู่ ไม่ได้ใส่เกียร์เดินหน้า        นายรื่นก็ต้องเดินเข้าคุกระยะยาวไป
    แต่นายรื่นแกก็ใจเด็ดเหมือนกัน    ติดคุกนานขนาดนี้แกก็ยังไม่ท้อถอย  ทำเรื่องถวายฎีกาอีกจนได้
    ก็เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นก่อนหน้านี้    กรรมการศาลฎีกาดูจากคดีแล้วเชื่อว่านายรื่นผิดจริง ก็ให้ยกฎีกานายรื่นเสีย   แต่เมตตาหน่อยว่าโทษโบยกับตัดนิ้วนั้นให้ยกโทษไป     ไม่ต้องเสียตังค์ค่าปรับด้วย    แต่ติดคุกต้องติดเหมือนเดิมคือ 10 ปี
    ดูแล้ว ถ้านายรื่นถูกใส่ความจริง   แกก็เป็นมนุษย์ที่ซวยอย่างหนักคนหนึ่ง  ต้องเสียอิสรภาพไปถึง 10 ปีเปล่าๆปลี้ๆ  โดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 15:40
    นายรื่นโดนคำสั่งศาลฎีกา ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาสูงสุดไปแล้ว    ทางคำร้องเรียนของนายรื่นว่าเขาถูกใส่ความ ไปติดอยู่ที่ศาลราชทัณฑ์พิเฉท  บัดนี้เพิ่งจะอืดอาดเดินออกจากจุดสตาร์ท     ก็เป็นช่วงเวลาที่พระเอกของเราในกระทู้นี้ คือขุนหลวงพระไกรสี ได้มารับตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา    ตอนนี้นายรื่นกินข้าวแดงอยู่ในคุกแล้ว 1 ปีเศษ   ท่านก็เริ่มพิจารณาคดีที่นายรื่นราษฎรสามัญฟ้องขุนนางขึ้นมาอีกครั้ง
     ถ้าจะถามว่า คดีที่นายรื่นเป็นจำเลย กับนายรื่นเป็นโจทก์ ก็เกี่ยวเนื่องอยู่ในเรื่องเดียวกัน   ทำไมศาลไม่พิจารณาพร้อมๆกัน  คำตอบคือเพราะฐานะในสังคมของนายรื่นกับขุน ก. แตกต่างกัน   นายรื่นเป็นราษฎรสามัญ เรียกง่ายๆว่าไพร่    ส่วนขุนก.เป็นขุนนาง  กระบวนการจึงออกมาเป็นแบบนี้
    ขุนหลวงพระไกรสรรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น  คือตั้งแต่นายข.มาชวนนายรื่นไปธุระด้วยกัน  ถือเงินไปด้วยอ้างว่าจะไปจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวทาส   แล้วฝากให้นายรื่นถือเงินไว้     จากนั้นก็ยัดข้อหาผลิตและใช้เงินปลอมให้นายรื่น กลายเป็นแพะ   เพื่อนายข.หวังจะได้สินบนนำจับ   คนจับก็ไม่ใช่ใครอื่นคือพ่อเลี้ยงของนายข.เอง     แต่ไต่สวนแล้วยังฟังไม่ได้ว่าขุน ก.รู้เห็นเป็นใจด้วย  ศาลก็เลยปล่อยตัวขุน ก.ไป   เล่นงานนาย ข.คนเดียว ส่งต่อให้กรมอัยการไต่สวนฟ้องต่อไป
    ในเมื่อศาลพิพากษาคดีนี้ ว่านายรื่นไม่ได้ทำผิดตามข้อหา   นายรื่นก็ควรจะชนะความไป  และไม่ได้รับโทษ   แต่ความซับซ้อนอยู่ที่ว่าศาลอีกเส้นทางหนึ่งได้เดินไปจนสุดทาง พิพากษานายรื่นถึงที่สุดไปแล้วว่าติดคุก 10 ปี    กลายเป็นว่าศาลทางโน้นตัดสินว่าผิด  ศาลทางนี้ตัดสินว่าไม่ผิด     นายรื่นอยู่ตรงกลางจะอยู่ในคุกหรือพ้นคุกกันแน่  
   ขุนหลวงพระไกรสีท่านก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  ให้ยกคำตัดสินของศาลฎีกา   ไม่งั้นนายรื่นออกจากคุกไม่ได้
   5 วันต่อมาหลังจากทำเรื่องกราบบังคมทูลฯ   ก็มีพระราชหัตถเลขาลงมาว่า
   "ให้พ้นโทษ"
   นายรื่นก็เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ด้วยประการฉะนี้


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 18:59
     ในยุคนั้น  การกระทำของขุนหลวงพระไกรสีถือว่าอาจหาญมาก    เพราะนายรื่นเป็นชาวบ้านธรรมดาซึ่งก็ถือกันว่ามีค่าน้อยอยู่มากแล้วในสังคม   ไปมีเรื่องกับขุนนาง    หน่วยงานทั้งหลายก็ติดความเคยชินที่จะต้องให้ความเชื่อถือเกรงอกเกรงใจคนมียศถาบรรดาศักดิ์ไว้ก่อน     แต่ท่านกลับเห็นว่าศาลควรวางตัวเป็นกลาง  ไม่ว่าเข้าข้างฝ่ายใด    ใครผิดใครถูกก็ว่ากันไปตามจริง   ข้อนี้เป็นความเที่ยงธรรมของท่านโดยแท้
     อีกข้อหนึ่งก็คือ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงไม่ค่อยเท่าไหร่      แต่สมัยโน้น นายรื่นถูกตัดสินโดยกรรมการองค์มนตรี(ศาลฎีกา)ไปแล้ว   ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นวีไอพีระดับชาติ   ถ้าไม่ใช่เจ้านายก็ต้องเป็นขุนนางระดับสูงกว่าขุนหลวงพระไกรสีทั้งนั้น     การนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้ยกเลิกคำตัดสินของศาลฎีกา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่ใครจะกล้าทำ  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านักโทษก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง     ไม่ใช่คนสำคัญใดๆที่จะก่อให้เกิดผลดีผลเสียกับประเทศชาติได้    แต่ขุนหลวงพระไกรสีก็กล้าทำเพื่อผดุงความถูกต้องเที่ยงธรรมไว้    ไม่ได้มองว่าจะมีผลกระทบถึงตัวท่านหรือไม่

    น่าเสียดายอย่างยิ่ง   คนที่ทั้งเก่งและทั้งเที่ยงธรรมอย่างนี้ ถ้าหากว่ามีอายุยืนยาว ก็คงจะได้มีตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่านี้    แต่ท่านก็เลื่อนขึ้นเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี เป็นเกียรติแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูลเพียง 3 ปี  ท่านก็ป่วยด้วยโรคมานกษัย   จนถึงแก่อนิจกรรม  ด้วยวัยเพียงแค่ 38 ปี  6 เดือน   


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 16, 21:03
โรคมานกษัยคือโรคอะไร  ไม่มีความรู้ ต้องถามอาจารย์หมอทั้งหลายที่แวะเข้ามาเยือนเรือนไทยค่ะ
ไปถามหมอกู๊กก็ได้คำตอบตามนี้
โรคกษัย หมายถึง ธาตุเสื่อม เป็นภาษาบาลี-ภาษามคธ แปลว่า ย้อม ติด กวาด รัดรึง ซึ่งถ้ากษัยไปติด กวาด รัดรึง ที่อวัยวะใดจะทำให้มีอาการซูบผอม บางครั้งผอมเหลือง อวัยวะทำงานผิดปกติ ธาตุพิการจึงเกิดโรค ซึ่งเรียก มานกษัย บ้าง ท้องมานบ้าง

ตามไปหาต่อว่าท้องมานคืออะไร ก็ได้คำตอบมาอีกว่า
ท้องมานหมายถึง ภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้อง โดยปกติช่องท้องจะอยู่ใต้ช่องอก แยกจากกันด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม น้ำในช่องท้องที่มีปริมาณตั้งแต่ 1500 มิลิลิตรจึงจะตรวจร่างกายพบ น้ำปริมาตรตั้งแต่ 500 มิลิลิตรจึงตรวจด้วย ultrasound หากปริมาณน้อยกว่านี้จะตรวจไม่พบ
น้ำในช่องท้องมีแหล่งที่มาได้ต่างๆ กัน โดยเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง โรคหัวใจล้มเหลว และโรคไต

ไม่ทราบว่าขุนหลวงพระยาไกรสีในวัยไม่ถึง 40 ปี  ท่านเป็นโรคท้องมาน เพราะสาเหตุจากอะไร


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.พ. 16, 14:14
เรื่องที่ท่านเสียชีวิตก็เป็นที่สงสัย เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน หลวงรัตนาญัป์ติ(ในเวลานั้น สะกดแบบนี้) เป็นอธิบดีกรมอัยการ
โดยชายสามคนรุมตีด้วยไม้เท้าจนบาดเจ็บสาหัส     ใกล้ถนนเจริญกรุง
สืบเนื่องมาจากหนังสือ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย  ราคา ๔๑ อัฐ   ได้ลงพิมพ์เรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เล่นการพนัน

(รายละเอียดของคดี  เก็บไว้ดีมากเกินไป  ไม่สามารถค้นพบในเวลานี้  เชิญสหายทั้งปวงค้นได้ตามความสามารถ)

สหายท่านใดพอจะเฉลยรายละเอียดของคดีนี้ได้บ้าง  ???


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 16, 15:23
ถ้าค้นไม่เจอก็ไม่ใช่คุณเพ็ญชมพู
อุตส่าห์เก็บงำเรื่องนี้ไว้   เพราะนีกว่าจะพ้นสายตาท่าน     เจอจนได้
ถ้าอยากได้คำตอบ   กรุณารอก่อน
งานนอกเรือน เยอะค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 09:51
ขอปูพื้นเรื่องก่อนว่า  นอกเหนือจากรับราชการแล้ว   ขุนหลวงพระยาไกรสีท่านยังจัดพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่ด้วย  โดยตั้งโรงพิมพ์ชื่อโรงพิมพ์วิชาการ
หนังสือที่จัดพิมพ์มี ๓ ชุด คือธรรมสาสตรวินิจฉัย    กฎหมายไทย หรือกฎหมายรัชกาลที่ ๕    เล่มสุดท้ายคือธรรมศาสตรสมัย

หนังสือธรรมศาสตรวินิจฉัย ไม่ใช่หนังสือตำราเล่มเดียวจบ  แต่เป็นแมกกาซีนรายปักษ์ หน้าตาเหมือนหนังสือพิมพ์   ข่าวสารที่ลงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของศาล  กฎหมายและเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง     คิดว่าท่านคงจะได้แนวมาจากหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ  เมื่อครั้งไปศึกษา
ราคาหนังสือคือ ๘ อัฐ  (หรือหนึ่งเฟื้อง = ครึ่งสลึง)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 10:02
ในเมื่อหนังสือ(พิมพ์)เล่มนี้รายงานเหตุการณ์บ้านเมือง และคดีอะไรต่อมิอะไรในศาลด้วย  เพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้หูกว้างตากว้าง   รู้เห็นเหตุการณ์ร่วมสมัย    ก็ไม่แปลกที่บรรณาธิการจะไปสะดุดตอเข้าในบางครั้ง
ครั้งที่ทำให้คุณหลวงรัตนาฯท่านเจ็บตัว มีสาเหตุมาจากครั้งหนึ่งเจ้าพนักงานพบว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ขุนโภชนวิสูตร  กับพวกรวม ๒๒ คน   รวมกลุ่มกันเล่นบ่อนเบี้ยคือกำถั่วกำโป  เจ้าพนักงานก็ตรงเข้าจับกุม     จับเสร็จแล้วก็ส่งฟ้องศาลตามระเบียบ
เมื่อถึงศาล อัยการก็เป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลราชทัณฑ์พิเฉท     เขียนคำฟ้องเสร็จเรียบร้อย  สำเนาคำฟ้องตกมาถึงมือคุณหลวงรัตนาฯ    ก่อนหน้านี้ คุณหลวงก็เคยส่งสำเนาคำฟ้องทำนองเดียวกันนี้ไปลงในหนังสือพิมพ์ธรรมสาสตรวินิจฉัยเป็นประจำอยู่แล้ว     ไม่เคยมีเรื่องมีราวอะไรตามมา  คนอ่านเขาก็อ่านกันไป  โจทย์จำเลยในคดีก็รับรู้กันไป    จากนั้นก็สู้คดีกันต่อไปตามระเบียบ
แต่คราวนี้     มันไม่ยักเป็นตามระเบียบ   เพราะจำเลยในคดีนี้เกิดโกรธขึ้นมา    เมื่อโกรธแล้วก็ไม่ได้ทำเพียงแค่เถียงว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ข้าพเจ้าแค่ไม่ทำตามกฎหมาย  หรืออะไรทำนองนั้น   แต่แสดงความเป็นนักเลงยิ่งกว่านั้น คือกล้าเล่นงานศาลเอาเลยทีเดียว


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 10:12
  วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๓   เวลาบ่ายโมง   คุณหลวงรัตนาฯนั่งรถม้าออกจากบ้านที่ถนนเฟื่องนครจะมาทำงานที่ศาลตามปกติ    มีเด็กติดตามถือแฟ้มหนังสือราชการนั่งมาด้วย    ทั้งคู่ก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะเจอแจ๊กพ็อทเข้าในวันนี้
  พอรถม้าวิ่งก๊อกๆ ผ่านบ้านพระยาเทเวศร์ฯ มาได้หน่อย    ก็มีคนร้าย ๓ คนซึ่งไม่ได้ปิดหน้าปิดตาอะไร  เห็นหน้าชัดเจนว่าเป็นขุนโภชนวิสูตร  มีตำแหน่งเป็นนายเวรในกรมพิพิธภัณฑ์   และเป็นจำเลยในคดีเล่นถั่วเล่นโปนี่แหละ กับสมุนอีก ๒ คนชื่อนายเด่น มหาดเล็ก   และอ้ายเล็ก ทาสเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์   ถือไม้พลองยาวประมาณ ๒ ศอก  วิ่งกรูกันออกมาจากที่ซ่อน  คนหนึ่งวิ่งไล่รถจนยึดท้ายรถม้าไว้ได้   อีกสองคนโดดขึ้นยืนบนบันไดรถข้างละคน   
  จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติการ ปิดประตูตีแมว   กลุ้มรุมกันกระหน่ำตีคุณหลวงรัตนาฯ  ผู้เคราะห์ร้ายถูกตีที่สีข้าง ไหล่ขวา  เหนือหน้าผากฟกช้ำ  นาฬิกาพกเรือนทองในกระเป๋าเสื้อแตกกระจายเสียหาย   ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเด็กติดตามของคุณหลวงโดนอะไรบ้าง แต่น่าจะถูกลูกหลงหัวหูน่วมไปไม่มากก็น้อย
  สามคนกระหน่ำตีแล้วตีอีกอยู่ยังงั้น  ในขณะที่คนขับรถม้าเห็นเข้าก็ขับรถไม่คิดชีวิต มาถึงสี่แยกเจริญกรุง    ผู้คนแถวนั้นมีอยู่พอสมควร  เห็นคนถูกทำร้ายในรถก็กรูกันเข้ามาช่วย    คนร้ายจึงหยุดตีคุณหลวงซึ่งก็คงจะบอบช้ำไปทั้งตัว


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 10:41
  ฉ็อทเด็ดของเหตุการณ์นี้ ยังมีอีกค่ะ
  เมื่อผู้คนกรูกันเข้ามาช่วยคุณหลวงรัตนาฯ  ผู้ร้ายสามคนก็หยุดตี   แต่แทนที่จะเผ่นลงจากรถม้า โกยอ้าวหนีเข้าตรอกเข้าซอยไป อย่างผู้ร้ายทั้งหลายพึงกระทำ    พวกนี้กลับยืนเฉย รอมอบตัวแต่โดยดี   ไม่หนี แถมไม่สะทกสะท้านใดๆ
  คุณหลวงรัตนาฯ ทั้งที่สะบักสะบอม ก็ยังมีแรงพอจะเรียกพลตระเวนหรือตำรวจสมัยนั้น มาจับสามคนนี่ส่งไปที่ศาลโปริสภา

  ยัง ฉ็อทเด็ดยังไม่จบ
  พอไปถึง    สามคนก็ควักไม้เด็ดสุดท้ายออกมาจากกระเป๋า คือหนังสือขอลุแก่โทษ ที่เขียนเตรียมไว้แล้ว ยื่นต่อพระยางำเมือง  อธิบดีศาลโปริสภา     ในหนังสือที่ร่างมาอย่างรัดกุมเรียบร้อยนั้น ฟ้องว่าคุณหลวงรัตนาฯต่างหากเป็นตัวการ  แกล้งเอาคำฟ้องในคดีเล่นการพนันไปลงหนังสือพิมพ์ เป็นการประจานจำเลย  ทั้งๆศาลก็ยังไม่ทันตัดสินว่าจำเลยมีความผิดจริงหรือไม่

   เรื่องนี้กลายเป็นคดีที่เอิกเกริกกันมากในบ้านเมืองยุคนั้น

   แต่หนังสือนั้นจะได้ผลต่อคดีหรือไม่ยังไงก็ตาม  ที่เห็นชัดๆคือ ๓ วันต่อมา  ปลัดกรมอัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องคนร้ายทั้งสามต่อศาลราชทัณฑ์พิเฉท     
   ศาลตัดสินลงโทษคนร้ายทั้งสามคน
   คนร้ายไม่ยอมแพ้ ขออุทธรณ์   ก็แพ้อีก
   จำเลยก็ทูลเกล้าถวายฎีกา

   น่าเสียดายอย่างยิ่ง   เล่ามาให้ลุ้นระทึกกันแบบนี้    ไ่ม่สามารถจะเล่าตอนจบได้  เพราะว่าไม่มีหลักฐานว่าคดีขึ้นถึงที่สุดแล้วเป็นยังไง     ก็จบไปแบบด้วนๆ ยังงี้ละค่ะ คุณเพ็ญชมพู


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 10:49
  อ่านจากเนื้อหาข้างบนนี้    อดนึกไม่ได้ว่า ผู้ร้ายสามคน เห็นทีจะมีลูกพี่ใหญ่คอยกำกับอยู่เบื้องหลัง    คงมีการวางแผนกันมาแล้วอย่างดี เป็นขั้นเป็นตอน  คือทำร้ายคุณหลวงฯให้สะใจหายแค้นซะก่อนในขั้นต้น    ขั้นต่อมาคือเตรียมหนังสือไว้ยื่นกับโปริสภา   เพื่อขอความเห็นใจและบรรเทาโทษ    โดยซัดไปที่คุณหลวงว่าเป็นต้นเหตุ     ไม่ยักใช่ว่าพวกตัวซึ่งไปเล่นบ่อนเถื่อนผิดกฎหมายเข้า
  คนที่คิดการได้ระดับนี้  ไม่กระจอกแน่นอน     สามารถสั่งสอนคนระดับอธิบดีกรมอัยการให้เข็ดขยาดไม่กล้ามาแตะได้  นี่ก็ต้องตำแหน่งใหญ่กว่าคุณหลวงรัตนาฯ   มีเส้นสายใหญ่โตกว่าด้วย     ปล่อยลูกน้องออกทำการแล้วจอมบงการลอยนวล
  ศาลก็คงจะเอื้อมถึงแค่จำเลย   เพราะในข่าวไม่ได้บอกว่าจำเลยซัดทอดถึงลูกพี่

   คิดขึ้นมาอีกอย่างว่า   คุณหลวงรัตนาฯ หรือขุนหลวงพระยาไกรสีท่านอายุสั้น  คดีที่เดินมาตั้ง ๓ ศาล ย่อมกินเวลาหลายปี  เป็นได้ว่าเจ้าคุณท่านถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนที่คดีจะสิ้นสุด     ถ้าถึงขั้นนั้น ก็อาจมีการวิ่งเต้นเส้นสายกันอย่างหนัก เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทายอภัยโทษหรือผ่อนหนักเป็นเบา  ให้นักเลง ๓ คนนี้ได้รับโทษสถานเบาที่สุดก็เป็นได้

    จบแล้วค่ะ  ใครมีความเห็น เชิญได้เลยนะคะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 13:47
ครั้งที่ทำให้คุณหลวงรัตนาฯท่านเจ็บตัว มีสาเหตุมาจากครั้งหนึ่งเจ้าพนักงานพบว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ขุนโภชนวิสูตร  กับพวกรวม ๒๒ คน   รวมกลุ่มกันเล่นบ่อนเบี้ยคือกำถั่วกำโป  เจ้าพนักงานก็ตรงเข้าจับกุม     จับเสร็จแล้วก็ส่งฟ้องศาลตามระเบียบ

จำเลยคดีเล่นการพนันที่มียศศักดิ์สำคัญที่ออกนามมีอยู่ ๒ ท่านคือ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ และ ขุนโภชนวิสูตร   ท่านหลังเป็นจำเลยในคดีทำร้ายร่างกายด้วย เป็นที่น่าสงสัยว่าคนที่บงการให้ทำร้ายร่างกายคนระดับอธิบดีกรมอัยการอาจจะเป็นท่านแรก ซึ่งมีเส้นสายใหญ่โตพอตัว

คดีทำร้ายร่างกายเกิดก่อนขุนหลวงพระยาไกรสีเสียชีวิต ๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๔ - พ.ศ. ๒๔๓๗) เป็นไปได้ว่ากว่าคดีจะสิ้นสุดท่านอาจจะเสียชีวิตแล้ว


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 14:45
หลังจากเกิดเรื่องใน ร.ศ. ๑๑๓ อีก ๔ ปีต่อมาเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ก็ลาออกจากราชการ และยังเกี่ยวข้องอีกหลายคดี  :o

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่  

เรื่องนายเพ่ง ศรีสรรักษ์นั้นมีรายละเอียดมาก  ถ้าจะให้เล่าต้องให้เวลานาน
ควรแต่สรุปสั้นๆ ว่า นายเพ่งนั้น  บิดาและมารดาเหลืออดเหลือนกับพฤติกรรมมาก
จนถึงแก่ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงถอดออกจากตำแหน่งและยศบรรดาศักดิ์
รวมทั้งถอดออกจากสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในฐานะเป็นบุตรคนโตที่สืบสกุลเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
และตัดสิทธิจากทายาทผู้ควรได้รับมรดกด้วย  

ส่วนเรื่องที่นายเพ่ง ติดคุกนั้น  กรณีที่นายเพ่งติดคุกเพราะถูกเร่งเงินหลวงค่านาก็เป็นกรณีหนึ่ง
แต่ก็ยังติดไม่นานเท่ากับคดีต่อมาภายหลังที่นายเพ่งออกจากราชการแล้ว คดีนั้นเป็นคดีใหญ่
ที่มีเจ้านายเข้าไปเกี่ยวข้อง  และเป็นคดีที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน  ผลนายเพ่งติดคุกอยู่หลายปี
กว่าจะพ้นมาได้โดยการดปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ   ส่วนเจ้านายพระองค์นั้น
ต้องทรงรับโทษข้ามรัชกาลเป็นเวลานานกว่านายเพ่งหลายปี


เรื่องนายเพ่งนี่ยาวมาก   ที่จริงท่านมีฝีมือในทางแปลเรื่องเซอร์ยอนโบว์ริงเข้ามาเมืองไทยไม่น้อย  ภาษาไทยนุ่มนวล

ได้อ่านฎีกาของท่านสองสามเรื่อง  แต่คดีใหญ่นั้น   ยังไม่เห็นเอกสาร

เจ้าคุณพ่อแก้ตัวให้ครั้งหนึ่งว่า  ทำการเกินตัวด้วยไปตั้งโรงสีข้าวและกู้เงินมาซื้อเครื่องจักร

พ่อกับแม่ต้องขอผ่อนหนี้แทน    ครอบครัวก็ขัดสนเพราะใช้หนี้ให้หลายครั้ง  และกำลังจะทำงานเผาหม่อมอินซอ

ไม่มีเอกสารที่กล่าวถึงความเสียใจของท่านผู้หญิงเปลี่ยน       การที่ท่านร่วมเซ็นชื่อกับเจ้าคุณภาสขอถอดลูกชายคนโตจาก

ผู้ถือตราตระกูลนั้นแสดงว่าท่านพยายามตัดใจเป็นที่สุด

คลับคล้ายว่านายเพ่ง ศรีสรรักษ์ หลังออกจากราชการแล้ว ก็คบคิดกับชาวญี่ปุ่นทำแบงก์โน๊ตปลอมเข้ามาจากกรุงญี่ปุ่นขนส่งมายังกรุงสยาม

ในฉากญี่ปุ่นบานหนึ่ง และด้วยอะไรก็สุดแล้วแต่ ฉากญี่ปุ่นบานนั้น ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเสด็จในกรมพระองค์หนึ่ง

ครั้นภายหลังเรื่องแบงก์ปลอมแดงขึ้น นายเพ่งถูกจับ เสด็จในกรมท่านก็ติดร่างแหไปด้วย ถูกถอดยศ ริบเหรียญตราเครื่องราชฯ

เป็นเรื่องใหญ่โตเจียว


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 16, 16:04
ในรัชกาลที่ ๔  เมื่อพระราชโอรสธิดาองค์ใดประสูติ   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกดวงพระชะตาไว้ทุกองค์
ด้วยพระปรีชารอบรู้ในโหราศาสตร์  จึงทรงเล่าคำทำนายให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า ในภายภาคหน้า จะมีเจ้านาย ๒ พระองค์ หญิง ๑ ชาย ๑ ทำความผิดอุกฉกรรจ์โทษถึงประหาร   จึงทรงขอไว้ให้ผ่อนเพลาโทษลง
เจ้านายชายพระองค์นั้นก็คือเจ้านายของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ผู้นี้   ทรงติดสนมอยู่หลายปี


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 02 มี.ค. 16, 10:14
คนวางแผนทำได้แยบยลและคลาสสิคมากครับ เพราะมีการมาซุ่มรอ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องตระเตรียมการมาก่อน แต่อาวุธที่ใช้กลับเป็นเพียงไม้พลอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีเจตนาฆ่า มีเพียงเจตนาทำร้าย เมื่อเป็นการลงมือในเวลาที่ผู้คนเห็นได้ ก็น่าจะต้องการให้ได้อาย มากกว่าประสงค์ต่อชีวิต

เมื่อทำการเสร็จก็ไม่ได้หลบหนีแต่รอมอบตัวต่อสู้คดี โดยมีการเตรียมคำแก้ต่างมาเป็นอย่างดี และเป็นการแก้ต่างที่โยนความผิดกลับไปให้ทางผู้เสียหายเสียด้วย

ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 มี.ค. 16, 09:09
มีอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวพันกับขุนหลวงพระยาไกรสี

ศพถูกย้ายจากวัดบวรนิเวศ ไปฝากไว้ที่วัดกัลยาณมิตร  ถึง ๘๑ ปี มิได้เผา
เนื่องด้วยคุณหญิงทองคำไม่ได้แจ้งผู้ใดไว้เลย
(มีคดีมรดกกับมารดาพระยาไกรศรี)

คุณเทาชมพูน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้  ;D


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 16, 09:38
ไม่จบจนได้
รอแป๊บค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 05 มี.ค. 16, 00:48
ก็เหมือนจะจบ แต่ยังไม่บริบูรณ์นี่ครับ ท่านอาจารย์เจ้าเรือน


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 16, 10:28
คุณเพ็ญชมพูไม่ยอมให้จบค่ะ


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 16, 09:38
กลับมาต่อเรื่องที่ค้างอยู่

ด้านครอบครัว  ขุนหลวงพระยาไกรสีมีภรรยาคนแรกชื่อจัน  ถึงแก่กรรมในปี ๒๔๓๖   ท่านสมรสใหม่กับคุณหญิงทองคำ  มีบุตรด้วยกัน ๔ คน  คือบุตรีชื่อชื่นจิต    บุตรชายชื่อสฤษดิลาภ  คนที่สามเป็นบุตรีชื่อผ่องศรี ชื่อนี้ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ   นำมาจากสร้อยพระนาม  และคนสุดท้องเป็นชายชื่อสฤษดิพร

อาการป่วยโรคท้องมานของขุนหลวงพระยาไกรสี น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่เดือน  ทำให้อาการท่านทรุดลงรวดเร็ว จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ ๓๘ ปี ๖ เดือนเท่านั้นเอง      ศพของท่านเก็บไว้  ยังไม่ได้จัดการตามประเพณี    ซึ่งในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก  เพราะนิยมเก็บศพไว้เผากันอย่างน้อยก็ ๑ ปี  ไม่ใช่ ๗ วันเผาเหมือนสมัยนี้      ศพบางศพก็เก็บไว้นานกว่านั้น  บางครั้งนานหลายปี  ด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นของแต่ละครอบครัว

ส่วนศพของขุนหลวงพระยาไกรสีเก็บไว้ด้วยเหตุใด ยังไม่พบคำตอบ    มีแต่เสียงทางอินทรเนตร ซึ่งหาไม่เจอว่าที่ไหน ว่าอาจเกิดจากการจัดการมรดกที่ยังไม่ลงตัว       คุณหญิงทองคำผู้ภรรยาซึ่งมีอายุยืนยาวมาจนประมาณพ.ศ. ๒๔๘๐  ก็มิได้บอกบุตรหลานว่าเก็บศพสามีไว้ ณ วัดใด      ในเมื่อเจ้าคุณท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุยังไม่ถึง ๔๐ ด้วยซ้ำ  ลูกๆแต่ละคนก็ยังอยู่ในวัยเยาว์  ทำให้การรับรู้ในเรื่องนี้ขาดช่วงไป    คุณผ่องศรีอายุเพียง ๔ ขวบ  วัยแค่นี้คงยากจะมีความทรงจำเกี่ยวกับบิดา      เรื่องอนิจกรรมของท่านที่ยังไม่ได้มีพระราชทานเพลิงจนแล้วจนรอดจึงกลายเป็นความลับดำมืดที่บุตรธิดาไม่มีโอกาสรู้   ล่วงเลยมาจนถึงยุคหลานของท่าน

หลานตาคนหนึ่งของขุนหลวงพระยาไกรสี ชื่อมารุต บุนนาค  เป็นบุตรเกิดจากคุณผ่องศรี กับพระสุทธิสารวินิจฉัย     คุณผ่องศรีถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี   ลูกๆยังอยู่ในวัยเยาว์ ก็เลยไม่มีโอกาสรู้เรื่องคุณตา


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 16, 17:20
   หลานปู่หลานตาของขุนหลวงพระยาไกรสี ได้รับทราบเพียงว่า ศพของท่านยังอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยนี่แหละ  แต่จะอยู่ที่ใดไม่มีใครทราบ   เพราะคนที่รู้ดีคือคุณหญิงทองคำก็ถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2     คนที่รู้เพียงเลาๆว่าศพเจ้าคุณตายังไม่ได้รับพระราชทานเพลิงศพตามประเพณี คือหลานตาชื่อคุณมารุต บุนนาค 
    คุณมารุตได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ซึ่งยังจำเหตุการณ์เก่าๆได้    คือท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล  ธิดาของเจ้าพระยามหิธร ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม     และเคยรับราชการร่วมกับขุนหลวงพระยาไกรสีที่ศาลพระราชอาญา      ว่าศพของขุนหลวงพระยาไกรสี ยังไม่มีการดำเนินการตามประเพณี    คำบอกเล่านี้ทำให้คุณมารุตไม่สบายใจมาก     แต่ท่านกับญาติก็ไม่มีช่องทางที่จะค้นหาได้ 
    จนกระทั่งปาฎิหาริย์มาเอง

     จากพ.ศ. 2444  อันเป็นปีที่ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่อนิจกรรม    จำเนียรกาลล่วงเลยมาถึงพ.ศ. 2525  เป็นเวลา 81 ปี    มีการฉลองครบสองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์     กระทรวงยุติธรรมจัดนิทรรศการทางกฎหมายแสดงแก่ประชาชน ในเดือนเมษายน   โดยทางกระทรวงมอบหมายคุณทวี กสิยพงศ์  ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นประธานอนุกรรมการดำเนินการ
      อนุกรรมการชุดนี้จัดแสดงภาพนักกฎหมายคนสำคัญในอดีต  เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการได้    ในบรรดาภาพถ่ายเก่าแก่เหล่านั้นมีภาพของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)รวมอยู่ด้วย


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 16, 17:33
       ในบรรดาประชาชนที่เข้าชม  มีพระครูประสาธน์ธรรมวิทย์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี    นายมงคล วงศ์สมศักดิ์ ข้าราชการบำนาญ   และนายสมพงศ์ เถาประถม  นายป่าช้าของวัด เห็นภาพถ่ายและนามของขุนหลวงพระยาไกรสี     ในตอนนั้นหลานตาของท่านคือคุณมารุต บุนนาคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมอยู่        ทั้งสามจึงแจ้งให้ทราบว่าที่วัดมีโลงศพเก่าแก่อยู่โลงหนึ่ง  ฝากไว้ที่วัดเป็นเวลา 80 ปีมาแล้ว  เป็นโลงไม้สักใหญ่ เข้าลิ้นไว้แข็งแรง  แม้สีทองที่ทาหลุดลอกไปแล้ว ก็ยังมีชื่อผู้วายชนม์เขียนไว้พออ่านออกว่า ชื่อขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
       โลงนี้ฝากไว้ที่วัดนมนานมาเกินกว่าใครจะจำได้    แม้ว่ามีการเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสมาหลายครั้ง   ล้างป่าช้ากันหลายหน และพระและกรรมการวัดก็ประชุมตกลงกันอย่างรอบคอบทุกหนว่า   โลงนี้เป็นโลงศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีต ซึ่งทางวัดไม่อาจสืบหาเครือญาติได้     ก็สมควรจะเก็บรักษาไว้ จนกว่าลูกหลานจะมาพบ และดำเนินการตามประเพณี     ทางวัดจะไม่ด่วนเผาเองโดยพลการ
      พอคุณมารุตทราบก็พาคุณทวีและญาติพี่น้องไปที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธน ทันที   ไปสำรวจแล้วพบว่าชื่อที่จารึกอยู่ที่โลง แม้เก่าคร่ำคร่าเต็มทีก็พออ่านออกว่าเป็นชื่อบรรพบุรุษของท่าน   เปิดโลงออกมายังมีโครงกระดูกรูปร่างสูงใหญ่   เนื้อหนังมังสาผุพังกลายเป็นดินหมดแล้ว   เหลือแต่กระดูกเท่านั้น
     คุณมารุตและญาติพี่น้องเห็นหลักฐานแล้วก็เชื่อโดยสนิทใจ ไม่มีข้อสงสัยว่านี่คือศพของคุณตาที่สาบสูญไปหลายสิบปีนั่นเอง    ข่าวนี้กลายเป็นข่าวครึกโครมลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอยู่หลายวัน      เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ขุนหลวงพระไกรสีได้ปรากฏตนขึ้นอีกครั้ง ร่วมฉลองสองร้อยปีกรุงเทพ ยังไม่พอ  ท่านยังปรากฏได้จังหวะเดียวกับที่หลานตาของท่านได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม  สามารถจัดงานพระราชทานเพลิงศพได้อย่างสมเกียรติของท่าน   
    ข่าวนี้ก็ทำให้ชื่อเสียงของขุนหลวงพระยาไกรสี ที่จางหายไปจากสังคมไทย 81 ปีแล้ว ได้กลับมาปรากฎต่อสาธารณะ เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
 


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 16, 17:40
    แม้ว่าขุนหลวงพระไกรสีได้ดำรงบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา   แต่ในสมัยของท่าน  ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 3  มัณฑนาภรณ์ และเหรียญดุษฎีมาลา     ตามฐานะในณะนั้น   บุคคลในระดับพระยายังไม่ได้มีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย     ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นว่าท่านเป็นนักกฎหมายสำคัญท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์  จึงได้ทำเรื่องเสนอเลขาธิการพระราชวัง    ขอพระราชทานเพลิงศพ  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   เลื่อนเกียรติยศประกอบหีบศพเป็นหีบทองลายสลัก  ฉัตรและกลอง  พร้อมกับพระราชทานผ้าไตร 5 ไตร เป็นกรณีพิเศษ ณ วัดเทพศิรินทราวาส


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มี.ค. 16, 09:46
สมัยของท่าน  ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 3  มัณฑนาภรณ์ และเหรียญดุษฎีมาลา 

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ระบุว่าท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ม. (มัณฑนาภรณ์มงกุฎสยาม ปัจจุบันคือ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย), ท.ช. (ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก คงได้รับพระราชทานในรัชกาลปัจจุบัน), และ ร.ด.ม. (เหรียญดุษฎีมาลา)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มี.ค. 16, 11:45
ขุนหลวงพระยาไกรสีได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาเป็นคนแรกในสยาม


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 16, 12:49
มีหนังสือ แล้วหลอกให้เราเล่าอยู่ได้ ชิส์


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 มี.ค. 16, 16:01
มีหนังสือ แล้วหลอกให้เราเล่าอยู่ได้ ชิส์

เป็นผม ผมไม่ยอมครับแบบนี้  ท่านอาจารย์ใหญ่อย่ายอมเด็ดขาด ต้องปรับเสียให้เข็ด
(ความร้าวฉาน คืองานของเรา)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 16, 18:11
บ่างเนี่ย ย่างได้เหมือนกระรอกไหมคะ   ถามคุณตั้ง?


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มี.ค. 16, 08:43
เป็นผม ผมไม่ยอมครับแบบนี้  ท่านอาจารย์ใหญ่อย่ายอมเด็ดขาด ต้องปรับเสียให้เข็ด
(ความร้าวฉาน คืองานของเรา)


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6419.0;attach=60649;image)

รูปที่ท่านชายวิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์ นำมาแสดงคือ "กระรอกบิน" แสดงว่าท่านชายยังคงต้องการปกปิดโฉมหน้าที่แท้จริงอยู่

เข้ามาเกาะขอบเวที มุมแดงท่านเฒาว์ฌร์มภูว์ลูกจามจุฬี กับมุมน้ำเงิน เภ็ณย์ฌร์มภูว์ษิศย์ศามญ่าน ฮิฮิ งานนี้เหตุผลใครจะมีน้ำหนักกว่ากัน ในฐานะบ่างช่างยุ ต้องติดตามชมอย่างใกล้ชิด   8)

นี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของท่านชาย  ;D

ตัวนี้   อีสปท่านเล่าว่าเป็นตัวช่างยุใช่ไหม  :)
ชาวเรือนไทยเคยอ่านนิทานอีสปหรือเปล่าคะ


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=20576;image)



กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 12 มี.ค. 16, 01:39
บ่างเนี่ย ย่างได้เหมือนกระรอกไหมคะ   ถามคุณตั้ง?
ภาพอาหารหวานคาวโดยท่านอาจารย์ใหญ่ห่างหายไปจากเรือนนานแล้วตั้งแต่ท่านอาจารย์ใหญ่กว่าแซวหนักเมื่อปีที่แล้ว
ทำให้เรือนไทยขาดสีสันบรรยากาศที่คุ้นเคย
(ขออนุญาตแว้บซอยแยกนิดนึงครับ)


กระทู้: ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 16, 08:01
แหม เข้ากับเรื่องที่กำลังพูดเรื่องบ่างดีแท้ๆเชียวขอรับ