เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 05 ธ.ค. 10, 21:51



กระทู้: Nangsu Phavana คุยกันเรื่องหนังสือเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ธ.ค. 10, 21:51

       ตามที่สหายผู้หนึ่งได้หนังสือ ภาวนามาเล่มหนึ่ง

ขนาดกว้าง ๔ นิ้ว  สูง ๖ นิ้ว ๑ กระเบียด  เล่มสีม่วง  พิมพ์เป็นตัวโรมัน

หนังสือหนาประมาณ  ๔๘๐ หน้า(ขาดหน้า และขาดหลัง  จึงไม่ปรากฏหลักฐาน)

มีคำประกาศภาษาไทยที่ด้านหลังปกว่าพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หรือ ค.ศ.  1906  นั้น

ดิฉันพยายามอ่านหนังสือทุกวัน  แต่ตีความไม่ออก

อาศัยอ่านดัง ๆ  จึงพอจะได้ความ



       วันนี้ได้รับเชิญจากนักสะสมอาวุโสให้ไปดูหนังสือที่โกดังริมคลองแสนแสบ   ท่านเจ้าของสถานที่

ถามว่าหมู่นี้เจออะไรมาบ้าง  ก็เรียนท่านไปพร้อมกับเรื่องหนังสือ ๕ ภาษา(ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ลาติน และ มคธ)นั้นด้วย

ถือเป็นวันดีศรีวันที่ท่านผู้อาวุโสได้หยิบ  Nangsu Phavana   เล่มจิ๋ว แต่สภาพสมบูรณ์ออกมาให้ดู

จดความมาได้ดั่งนี้

Rong phim Assamxan
Bangkok
Christasakkarat   1925

380  หน้า
โรงพิมพ์ อัสสัมชัญ  กรุงเทพ

เรอเน  แปร์โรส   บรรณาธิการ


ดูมาดูไป  ก็คงจะพิมพ์ที่โรงพิมพ์นี้กระมัง

เพราะความคล้ายกัน  และพิมพ์เป็น บท หรือ Bot 




กระทู้: Nangsu Phavana คุยกันเรื่องหนังสือเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ธ.ค. 10, 22:06

       สำหรับหนังสือ ๕ ภาษานั้น    บรรณาธิการสำนักพิมพ์เก่าแก่คนหนึ่ง ฝากถามมาว่า  ภาษาอังกฤษดีไหม

ตอบได้เพราะอ่านพอออกว่าดีมาก

เป็นอันว่าจบเรื่องหนังสือสองเล่มนี้ไว้ก่อน  จนกว่าจะมีข้อมูลขัดแย้ง



ได้เห็นและหยิบจับ ปทานุกรมฝรั่งเศสแปลเป็นไทย  พิมพ์ ๒๔๖๗  ของ ศาสตรจารย์ น.อ. พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ร.น.

หน้าปกเป็นลายไทยละเอียดยิบ  เล่มเล็กแต่หนา

ปกบอกว่าพิมพ์ ๕๐๐๐ เล่ม    ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากในเวลานั้น

เพิ่งอ่านประวัติคุณพระมาพอดี  จึงเรียนนักสะสมไปว่าคุณพระท่านเรียนอยู่อังกฤษกับฝรั่งเศส  ๑๕​ ปี




กระทู้: Nangsu Phavana คุยกันเรื่องหนังสือเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ธ.ค. 10, 05:46
ถือโอกาสคุยเรื่องหนังสือโบราณอื่นๆ  ที่ได้เห็นในวันนี้    


เป็นการเล่าประวัติการพิมพ์ไว้  เมื่อสหายท่านใดสามารถเพิ่มเติมข้อมูลได้ก็จะเป็นประโยชน์กับนักอ่านคนอื่น ๆ ต่อไป

หวังว่าคงไม่มีการประท้วงว่าหนังสือเหล่านี้ไม่มี  ไม่เคยได้ยิน  ปลอม

เคยมีสหายผู้ดุเดือดตามรอยไปถามเจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งว่า  ทำไมไปพูดในที่สาธารณะว่าหนังสือของเขาปลอม

คำตอบที่ให้ก็ว่า  เพราะเขาไม่เคยเห็น

นักอ่านและเพื่อนฝูงก็ร้อง "ฮ้า" ไปตาม ๆ กัน


ได้เห็นหนังสือ "สมบัติโบราณ"  ของ แสงทอง  พิมพ์โดยศรีกรุง ใน พ.ศ. ๒๔๖๐  ราคา ๓๐ สตางค์


ท่านเจ้าของสถานที่เปิดกรุ แกะหนังสือ  ชินกาลมาลีปกรณ์  ในสภาพ ร้อยเปอร์เซนต์  พิมพ์ที่โสภณ   ร.ศ. ๑๒๗

ออกมาให้ดู



สหายร้องกรี๊ด ๆ  ส่ง "ประวัติแกมการ" ของ ต,ว,ส, วัณณาโภ  เรียบเรียงเมื่ออายุ ๖๘

ทำบุญในการพ้นเรือนจำมาได้ ๑๒ ปี  พิมพ์ครั้งแรก  ๑๐๐๐ ฉบับ

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ  มาให้ดู

(ไม่ตื่นเต้น  เพราะเคยอ่านแล้ว  เป็นประวัติละเอียดของนายวรรณ  ที่ท่านเริ่มว่า  "เดิมตั้งแต่เรารู้ความ...")


 


กระทู้: Nangsu Phavana คุยกันเรื่องหนังสือเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ธ.ค. 10, 06:02

       สหายผู้คงแก่เรียนสั่งว่าให้หาข้อมูลเรื่อง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เพิ่มเติมไว้

ได้เห็นหนังสือ "ปลุกใจเด็ก"  ๑๕๖ หน้า  เขียนโดย จพภ

เป็นปาฐกแนะนำเด็ก

ปอล ม'กลึงเป็นเอดิเตอร์

เขียนไว้ว่า  "สมุดนี้  อลังการแก่โรงเรียนพรหมชานารี  ด้วยความยินดีแห่งเจ้าของ"



ได้เห็นหนังสือ  "เจริญนิทรา"  ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน  พิมพ์ใน ร.ศ. ๑๓๑  สองเล่ม

จะต้องกลับไปอ่านให้ได้  เพราะมีตำรากับข้าวอยู่ด้วย

ในหนังสือแต่ละเล่ม  มีเรื่องต่าง ๆ ประมาณ ๑๐ เรื่อง

นักอ่านหนังสือเก่า  ไม่มีโอกาสงีบหรือเจริญนิทราเลย   จิตใจตื่นเต้น    หนังสือโบราณผ่านมือไปแว่บ ๆ เหมือนในฝัน





กระทู้: Nangsu Phavana คุยกันเรื่องหนังสือเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ธ.ค. 10, 06:29

มีหนังสือสำคัญอีกมากมาย  บางเล่มท่านผู้รู้เขียนไว้ในตำราว่าเป็นหนังสือหายากมากในสมัยท่านผู้นำ

สมัยโน้นยังหายาก   แล้วสมัยนี้จะเหลืออะไร

นักอ่านหนังสือเก่าเจียมตัว  รับมาดูแล้วยิ้มแห้ง  เพราะได้รับทราบจากผู้ทรงปัญญาระดับเมธีและท่านผู้อาวุโส

ในวงการว่า  ท่านผู้นั้นเมื่อยืมหนังสือไปจากสถาบันใด    หลังจากนั้นมีการค้นพบว่า หน้าสำคัญ ๆโดนกรีดออกไป

แต่การเช็คหนังสือออกหลังจากนั้น  เวลาห่างจากการเช็คครั้งก่อนหลายปี  เลยไม่ทราบจะบ่นกับใครได้

"คุณลุง" (มีอยู่สามคนในวงการ) เปรยกับดิฉันว่า   คืนมาก็ยังดี       


       ที่เล่ามานี้เป็นการผจญภัย(นั่งอยู่ในโกดังสี่ชั่วโมง  ไม่มีอากาศหายใจเพราะปิดล็อคเป็นชั้น ๆ)ที่สนุกที่สุด

ในปีที่ผ่านมา

สหายไม่ได้รับอนุญาติให้ถ่ายรูป          แต่ดิฉันอ่านผ่านอย่างรวดเร็ว  เขียนโน้ตสั้น ๆ ไว้

ฮัมเพลง "สุขอย่างนี้นี่หรือจะลืม"   


อย่างน้อยที่สุดก็ได้เปรียบเทียบ  Nangsu  Phavana   แล้วนะคุณโทนี่ ฮุย ที่นับถือ