เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จิรัฏฐ์ ที่ 27 เม.ย. 11, 02:08



กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: จิรัฏฐ์ ที่ 27 เม.ย. 11, 02:08
ขอถามอาจารย์ และผู้รู้ทุกท่านครับ ผมสงสัยว่า
พระพุทธรูปที่ได้รับยกย่องว่างามที่สุดคือ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เพราะเหตุใด และใช้เกณฑ์ใดตัดสิน และพระปฏิมาชัยวัฒน์ พระพุทธรูปประจำตระกูล มีคติเริ่มมาอย่างไรครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 07:45
พระพุทธรูป เป็นสิ่งสักการะที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยจะขอกล่าวล่วงเลยไประหว่างที่พระพุทธเจ้าปรินิพานจนถึงสมัยสมัยทวารวดี คติการสร้างพระพุทธรูปนั้นจากเดิมที่สร้างเป็นสิ่งที่ระลึกถึง เช่น ธรรมจักร กวางหมอบ สู่การแกะสลักรูปเคารพตามวัฒนธรรมกรีก จึงเกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาและพัฒนารูปเคารพเรื่อยมา

ดังนั้นจึงเกิดศิลปกรรมที่เกิดจากการสร้างรูปเคารพขึ้นในหลายสาขา เช่น ภาพวาด, การแกะสลัก (หิน, งาช้าง), งานหลอมโลหะ เป็นต้น

ส่วนงานหลอมโลหะ เป็นงานประณีตชั้นสูง ถือเป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ตั้งแต่สมัยยุคเหล็ก ที่รู้จักนำโลหะมาหลอม เข้าแบบพิมพ์ จนกลายรูปด้วยเทคนิคปั้นหุ่นดิน ปะขี้ผึ้ง ตอกทอย เทน้ำโลหะ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้น

ต้องอธิบายก่อนว่า พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย นั้นได้รับอิทธิพลจากศิลปะหลายอย่าง เช่น ศิลปะเชียงแสน ศิลปะลังกา ผสมกันสร้างเป็นพระพุทธรูปในยุคสมัยสุโขทัย นักประวัติศาสตร์จึงกำหนดศิลปะในช่วงดังกล่าวให้จัดอยู่ในศิลปะแบบสุโขทัย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายแบบ ซึ่งถ้าสนใจผมจะทะยอยนำเสนอ อธิบายให้ทราบ

ทั้งนี้การที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ให้ข้อกำหนดว่า ศิลปะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยงามที่สุด นั้นมีเพียงรุ่นเดียวที่ถือว่างาม คือ "ศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์"

"ศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์"
ศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์  คือ “มีความประสานกันดียิ่งในรูปนอก”  ซึ่งช่างชาวสุโขทัยได้ทำการปั้นรูปรูปเคารพให้ดูมีความน่าศรัทธาเลื่อมใส มิติองค์ประกอบของแขน – โครงหน้า – ลีลา หลุดพ้นจากความเหมือนมนุษย์ กล่าวคือ ใบหน้ายาวรี ตา(พระเนตรเหลือบต่ำ) ท่อนแขนงอนงามอ่อนช้อย สะโพกกลม มีหน้าท้องเล็กน้อย พระหัตถ์อูม นิ้วโค้งเป็นคลื่นเป็นต้น
หลังจากนั้นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ก็หมดเสื่อมคลายลง แต่ยังถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวสืบไปยังช่างหัวเมืองต่างๆเช่น สกุลช่างกำแพงเพชร สกุลช่างพิษณุโลก เป็นต้น



กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 09:41
สมัยสุโขทัย

สมัยสุโขทัยอาจจะแยกได้เป็น ๓ ช่วง โดยใช้เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์
- ช่วงก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย พ.ศ. ๑๘๐๐ – ๑๘๔๒
- ช่วงอาณาจักรสุโขทัย พ.ศ. ๑๘๔๒ – ๑๙๒๑
- ช่วงเมืองประเทศราชของอยุธยา พ.ศ. ๑๙๒๑ – ๒๐๐๖

การกำหนดหมวดหมู่พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ได้แสดงจำแนกไว้หลายกรณีดังนี้
๑.   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
     ทรงนิพนธ์ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้จำแนกหมวดศิลปะขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจำแนกเป็น ๓ รุ่นดังนี้
ก.   รุ่นแรก พระพักตร์กลม ตามแบบพระพุทธรูปลังกา เช่น พระอัฏฐารศ วัดสระเกศ
ข.   รุ่นกลาง พระพักตร์ยาว พระหนุ(คาง) เสี้ยม เกิดจากฝีมือช่างที่เชี่ยวชาญคิดแบบขึ้นมาใหม่ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ และพระสุรภีพุทธพิมพ์
ค.   รุ่นหลัง พระพักตร์ทำนองผลมะตูม มีปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน

๒.   หลวงบริบารบุรีภัณฑ์ ร่วมกับ Alexander B. Griswold แต่งหนังสือ “ศิลปะวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ” พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้แบ่งศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยออกเป็น ๕ หมวดและเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดอายุเวลาของแต่ละหมวดศิลปะไว้
ก.   หมวดใหญ่ ตรงกับรุ่นกลางของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ พระพุทธรูปมีพระวรกายอ่อนช้อย เช่นพระลีลาวัดเบญจมพิตร อายุระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ครึ่งแรก ๑๙
ข.   หมวดกำแพงเพชร พุทธลักษณะเหมือนกับหมวดใหญ่ แต่พระพักรต์สอบลงที่ตอนล่าง
ค.   หมวดพระพุทธชินราช ตรงกับรุ่นหลังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ พระพุทธรูปมีพระวรกายแข็งมากกว่าอ่อนช้อย เพราะได้รับอิทธิพลจากอยุธยา อายุระหว่าง ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ง.   หมวดพระพุทธชินราชรุ่นหลัง ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืน มีพระวรกายยาวและแข็งกระด้าง ชายจีวรทำเป็นขมวดม้วนของชายผ้า อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
จ.   หมวดเบ็ดเตล็ด คล้ายพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก คือ ประทับสมาธิเพชรปางมารวิชัย ชายจีวรสั้นเหนือราวพระถัน พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม โดยรวมพระพุทธรูปในหมวดตะกวนเข้ามาด้วย

๓.   หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
ได้ทรงอาศัยการจำแนกหมวดหมู่ในรายที่ ๒ มาจำแนกย่อยลงไปอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในหนังสือ “ศิลปในประเทศไทย” โดยคงจำแนกตามศิลปะอย่างที่หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์และกริสโวลด์ แต่ได้ทรงตัดหมวดพิษณุโลกออกไป




กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 11:07
๔. ทั้งนี้ในหนังสือ “พุธานุสรณ์” ของเขียน ยิ้มศิริ ประติมากรคนสำคัญ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้กำหนดแบ่งพระพุทธรูปสุโขทัยออกเป็น ๔ หมวดเช่นกัน
ก.   หมวดสุโขทัยตอนต้น (คือ เชียงแสนแปลง) อยู่ในช่วงก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐
หมวดนี้เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสกุลช่างเชียงแสน + สกุลช่างสุโขทัย คือ เป็นแบบเชียงแสนแปลงเข้าสู่ความเป็นสุโขทัยบริสุทธิ์ ซึ่งพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ซึ่งเทียบได้กับหมวดเบ็ดเตล็ดหรือตะกวน
ข.   หมวดสุโขทัยบริสุทธิ์  อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๘๐๐ – ๑๙๐๐
หมวดนี้เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเบ่งบานในสุโขทัย รูปแบบองค์พระพุทธรูปจึงแปลงจากเชียงแสนเข้าไปสู่สุโขทัยบริสุทธิ์ ซึ่งมีความสมบูรณ์หาที่ติมิได้ ซึ่งตรงกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่
ค.   หมวดสุโขทัยตอนปลาย   อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๐ – ๒๐๐๐
หมวดนี้มีตัวอย่างของพระพุทธรูปเช่น พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราชและหมวดกำแพงเพชรเข้ามา
ง.   หมวดสุโขทัยยุคเสื่อม ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีอิทธิพลของอยุธยาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ “จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของศิลปสุโขทัยหมดสิ้นลง”


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 11:20
พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงสร้างขึ้น ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลเป็น พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ถือตาลปัตรในพระหัตถ์ซ้าย ประทานพรให้มีชัยชนะแก่ หมู่มารทั้งปวง และทรงคุ้มครองอันตรายได้ทุกประการ จึงเป็นพระพุทธรูปที่เชิญเสด็จไปพร้อมกับพระองค์เวลาออกศึกสงคราม เช่นพระชัยหลังช้าง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้าง และอัญเชิญมาประดิษฐานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ส. พลายน้อย และ ภาวาส ๒๕๒๒, ๓ – ๗)

ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างพระชัยประจำรัชกาลขึ้น จึงมีการเพิ่มคำว่า “วัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า ความเจริญขึ้น โดยมีนัยว่านอกจากจะนำมาซึ่งชัยชนะแด่ผู้ที่เป็นเจ้าของแล้วยังนำซึ่งความเจริญอีกด้วย จึงกลายเป็น “พระชัยวัฒน์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในหมายรับสั่ง ของรัชกาลนั้น  

เมื่อจะทำพระราชพิธีปราบดาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้หล่อ พระชัยวัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นพระพุทธรูปประทับบนฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ทอดทางด้านหน้า ประดิษฐานอยู่ภายใต้ฉัตร ๕ ชั้น ด้วยเหตุที่ว่า พระเบญจปฎลเศวตฉัตร หรือ ฉัตรสีขาว ๕ ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระอิสริยยศของเจ้าฟ้า และสกลมหาสังฆปรินายกที่ได้รับ สมณุตมาภิเษก เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาเปรียบกับ พระพุทธองค์ที่ทรงมีพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้า ก่อนที่จะเสด็จออกบรรพชา และเมื่อทรงเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า อันเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานใต้ ฉัตร ๕ ชั้น ส่วนตาลปัตรที่ทรงถือนั้นมีรูปทรงคล้ายพัดขนนกประดับด้วยอัญมณี



กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 11:35
พระพุทธรูปประจำตระกูล

ขอกล่าวว่าพระพุทธรูปประจำตระกูล ตามธรรมเนียมไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา ไม่มีการหล่อพระไว้ประจำตระกูล แต่มีการสร้างพระเพื่ออุทิศพระราชกุศลเพื่อพระพุทธศาสนา และเพื่อทำบุญถึง เช่น พระพุทธรูปพระเทพบิดร เป็นต้น

จนเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มมีสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ (แบบทรงเครื่อง) ทั้งของฝ่ายพระราชวังหลวงและฝั่งของกรมพระราชวังบวร สร้างถวายและขนานนามพระพุทธรูปในนามต่างๆกัน ก็ย่อมถือเป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลให้ลูกหลานสืบมาได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ยังมีพระพุทธรูปเพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในสมัยแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ อีกด้วย

ส่วนพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น  สร้าง ปีละองค์ตามจำนวนปีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ปีที่ยังมิได้เสด็จเสวยราชสมบัตินั้นไม่มีฉัตรกั้น แต่เมื่อได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้ว มีฉัตรสามชั้นกั้น ดังนั้นในสมัยพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆกันมาจึงถือคติสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาจนบัดนี้

ภาพประกอบพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สร้างระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 14:25
ตัวอย่างพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ช่วงบริสุทธิ์


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 14:31
พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมวดวัดตะกวน

หมวดวัดตะกวน มีลักษณะป้อมล่ำ พระพักตร์อูม ทรงกลมเหมือนผลมะตูม ประทับนั่งบนฐานเขียง เม็ดพระศกใหญ่ ครองจีวรแบบเขี้ยวตะขาบ คือได้รับอิทธิเบื้องต้นจากทางเชียงแสน ผนวกเข้ากับอิทธิพลพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์เข้ามาผสม


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 14:47
พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่วัดมหรรณพาราม เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในหมวดบริสุทธิ์ เช่นกัน


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 เม.ย. 11, 18:04
ท่าทางคุณไซมีสจะลืมพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่เลื่องลือว่าสวยงามที่สุดในประเทศแล้วกระมั้ง ;D

ขอภาพมายลเป็นบุญตาสักคราเถิด
(ขอภาพที่ถ่ายยุครัชกาลที่ 5 ก็ดีนะครับ ผมว่าดูงดงามกว่าสมัยนี้มาก)


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 27 เม.ย. 11, 18:20
เข้ามาชมพระพุทธรูป องค์งามๆ
ไว้โอกาสหน้าจะนำมาแบ่งปันบ้าง


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 19:30
ท่าทางคุณไซมีสจะลืมพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่เลื่องลือว่าสวยงามที่สุดในประเทศแล้วกระมั้ง ;D

ขอภาพมายลเป็นบุญตาสักคราเถิด
(ขอภาพที่ถ่ายยุครัชกาลที่ 5 ก็ดีนะครับ ผมว่าดูงดงามกว่าสมัยนี้มาก)

มิได้ลืมครับ เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาให้ชมกัน เนื่องด้วยพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยนั้นมีความงามอยู่มากมายครับ แต่เท่าที่ผมศึกษาศิลปะพระพุทธรูปมา ผมว่าศิลปะพระพุทธรูปทุกยุคสมัยนั้นงามเป็นหนึ่ง ไม่แพ้กันสักองค์ เพียงแต่งามในมุมมองที่ต่างกัน


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 19:35
พระพุทธไสยาสน์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลา หมวดบริสุทธิ์

“พระไสยา” เป็นพระศิลาลงรักปิดทอง ปางปรินิพพาน เดิมพระไสยา ประดิษฐานที่วัดพระพายหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรว่ามีลักษณะงามกว่าพระไสยาสน์องค์อื่น จึงโปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้ประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระวิหารเดียวกับพระศาสดา


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 19:39
พระสุโขทัยไตรมิตร พระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตร ศิลปะสุโขทัย หมวดบริสุทธิ์


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 19:44
พระพุทธรูปทองคำ วัดหงส์รัตนาราม อยู่ฝั่งธนบุรี เป็นศิลปะสุโขทัย หมวดบริสุทธิ์

สร้างเมื่อพุทธศักราช ๑๙๖๓ ตรงกับปีเถาะ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ สมเด็จท้าวพระยาศรียศราชสร้างถวายเป็นพุทธบูชา


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 27 เม.ย. 11, 19:56
เป็นกระทู้ที่ดูแล้วมีความสุขมากอีกกระทู้หนึ่งครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 20:10
พระพทุธรูปศิลปะสุโขทัย ที่กล่าวกันว่างดงามที่สุดในประเทศนั้น ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลายประการช่วยเสริมองค์พระให้เด่น สง่า น่าศรัทธา

"พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก"

ดังที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่าองค์ประกอบที่ทำให้พระพุทธชินราช งดงามคือ
๑. องค์พระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัย หมวดพระพระพุทธชินราช คือ พระเศรียรค่อนข้างโต รับกับพระศอ (คอ) ท่อนแขนใหญ่ล่ำ พระวรกายตั้งตรง (ถ้าเทียบกับกับหมวดบริสุทธิ์จะดูกระด้างกว่า) พระหัตถ์ยาวเสมอกัน
๒. ซุ้มเรือนแก้ว เป็นองค์ประกอบให้ความงามของพระพุทธชินราชเสริมชะลูดขึ้นไป ดูโปร่ง เบา ลอยตัว
๓. ลักษณะพื้นวิหาร บริเวณประตูทางเข้าจะสูงกว่าองค์พระราว ๑ ฟุต (คือองค์พระอยู่ต่ำกว่าประตูทางเข้า) ทำให้องค์พระลอยเด่นเมื่อกระทบกับแสงจากปากประตู
๔. ลักษณะวิหารองค์พระออกแบบหลังคาคลุมปรกพื้น แสงสว่างเน้นทางด้านหน้า และเปิดช่องแสงด้านบนหลังคา จึงเสริมบรรยากาศให้กับองค์พระมากขึ้น


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 20:16
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ได้เสด็จนมัสการและได้ตรัสชมถึงความงามแห่งองค์พระ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ชะลอองค์พระลงมายังกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องด้วยเป็นเหตุให้ชาวเมืองต่างทุกข์เศร้าที่ได้สูญเสียพระพุทธชินราช พระองค์จึงได้โปรดเกล้าให้พระประสิทธิปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร เมื่อครั้งเป็นหลวงประสิทธิปฏิมา) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (เริ่มทำหุ่นตลอดจนถ่ายแบบ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓) แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเททองหล่อเป็นส่วนๆ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

ภาพรายละเอียดการสร้างพระ การหล่อพระ การย้ายพระเข้าประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดเบญจมพิตร ผมเคยลงไว้
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/01/K7451551/K7451551.html


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 20:41
พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม

เป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นศิลปะสุโขทัย หมวดหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญลงมาเนื่องจากต้องตากแดดไว้กลางแดด กลางฝนเป็นเวลานาน โดยองค์พระที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้ถูกแปลง แต่งเสริมองค์พระให้ดูสมส่วนขึ้น ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ระบุว่า โปรดเกล้าให้หล่อแก้พระพักตร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรับกับองค์พระ และโปรดเกล้าให้หล่อเสริมพระหัตถ์ให้ยาวเสมอกัน

ดังนี้องค์พระดั้งเดิม เป็นแบบสุโขทัยที่พระพักตร์แบบสุโขทัย หัวไหล่ผายสง่างาม


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 11, 20:50
ศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร

ก็มีศิลปะสกุลช่างกำแพงเพชร ผสมกับ สกุลช่างสุโขทัย ลงไปผสม โดยพระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร จะมีจุดเด่นหลายประการ เช่น

๑. เม็ดพระศก หรือ เม็ดก้นหอยที่พระเศียร จะมีขนาดเล็ก เหมือนหนามขนุน
๒. พระพักตร์ได้ยืดออกยาวขึ้น ไม่กลมป้อมเหมือนผลมะตูม
๓. พระเกศหรือปลียอด แบบเปลวเพลิง และมักถอดได้
๔. ลักษณะที่บ่งชี้คือ ประทับนั่งบนขา ๓ - ๔ ขา เรียกว่า "ขาโต๊ะ" ซึ่งหมวดสุโขทัยบริสุทธิ์จะประทับนั่งบนฐานเขียง


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 28 เม.ย. 11, 08:25
พระพุทธชินราชงามจริงๆ ครับ

ขอบพระคุณคุณไซมีส เจ้าพ่อภาพถ่ายที่นำมาให้ชมจ้า ;D

พระพุทธรุปองค์อื่นๆ ในยุคสุโขทัยที่งดงามก็มีอีกมาก
เช่น พระพุทธรูปปางลีลาที่ประดิษฐานอยู่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตร


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 08:56
เมื่อคุณ Art47 ได้กล่าวถึงเรื่องพระลีลา จึงจะนำพระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะสุโขทัย มาให้ชมกัน

องค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๗๐ อยู่ในยุคสุโขทัยเรืองอำนาจ ดูลีลาความงามซิครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:00
พระพุทธปฏิมาลีลาแบบสุโขทัยที่สร้างขึ้นหลังจากอาณาจักรสุโขทัยตกเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยา คือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา เช่นองค์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย จะมีชายจีวรที่พับทบเป็นแผ่นยาวจรดพระนาภีพาดผ่านพระโสณีซ้าย ขอบบนของสบงเป็นเส้นเดียวเว้าตามพระนาภี ยกพระหัตถ์ซ้ายประทานอภัย ขอบจีวรทิ้งลงใต้ ข้อพระกรและเป็นเส้นเว้าโค้งขมวดเข้าที่มุม ชายจีวรด้านล่างเป็นเส้นโค้งรับกับชายสบง

แม้ว่าพระพุทธรูปในช่วงเวลานี้อิทธิพลของสุโขทัยค่อยๆลดอำนาจไป ซึ่งตรงกับหมวดยุคเสื่อม แต่ฝีมือช่างด้านปั้นพระพุทธรูปของสกุลช่างสุโขทัย มิได้ถดถอยลงเลย


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:05
แต่บางท่านกล่าว่า ถึงแม้จะมีลีลาเยื้องย่างลีลา จีวรพริ้วไหวสักปานใด เป็นเพราะสร้างในสมัยที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอยุธยาแล้วไซร้ พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย ก็ขาดจิตวิญญาณของสุโขทัยไปอย่างสิ้นเชิง ให้ดูพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัยที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.อยุธยา


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:09
มาดูในพระปางลีลาในหมวดกำแพงเพชร ซึ่งพระปางลีลาสกุลช่างกำแพงเพชรนั้นแตกต่างจากพระพุทธปฏิมาลีลาแบบสุโขทัย แบบกำแพงเพชรส่วนใหญ่ไม่มี ชายจีวรที่พาดผ่านพระโสณีซ้าย นอกจากนั้นแล้ว ขอบจีวรด้านล่างทั้งสองด้านยังทำเป็นมุมแหลมคล้าย พระพุทธปฏิมาอยุธยา


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:11
พระปางลีลา ศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร นั้นก็ถือว่างามไม่แพ้กัน


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:18
พระปางลีลา อีกประเภทหนึ่งที่แยกย่อยสาขาออกมา เป็นสกุลช่างสวรรคโลก แต่มิได้สร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 28 เม.ย. 11, 09:22
พระปางลีลา อีกประเภทหนึ่งที่แยกย่อยสาขาออกมา เป็นสกุลช่างสวรรคโลก แต่มิได้สร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา

ทำไมคุณไซมีสถึงคิดว่าสร้าง (หรือบูรณะ ???) ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศล่ะครับ สังเกตจากอะไร


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:26
สำหรับคุณ Art47 ที่ถามถึงพระพุทธรูปปางลีลา ที่ประดิษฐานที่วัดเบญจมพิตร นั้นซึ่งกล่าวกันว่า เป็นพระปางลีลาสุโขทัย ที่งามที่สุดในโลก แต่ว่า อันที่จริงแล้วพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว มิได้สร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กำหนดอายุเวลาได้จากการเปรียบเทียบกับเทวรูปพระนารายณ์ในส่วนรายละเอียดของพระพักตร์ เช่น พระขนงโค้งรับกับสันพระนาสิกทั้งสองด้าน ลักษณะของพระโอษฐ์ที่แย้มพระสรวลที่มุม และพระหนุซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับพระพักตร์เทวรูปพระนารายณ์ (ส.ข. ๑๕ และ ส.ข. ๒๖) (สุภัทรดิศ ๒๕๐๙) ซึ่งจากลักษณะของพระพักตร์ และลวดลายเครื่องประดับน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑)


กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:32
พระปางลีลา อีกประเภทหนึ่งที่แยกย่อยสาขาออกมา เป็นสกุลช่างสวรรคโลก แต่มิได้สร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา

ทำไมคุณไซมีสถึงคิดว่าสร้าง (หรือบูรณะ ???) ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศล่ะครับ สังเกตจากอะไร

พระพุทธปฏิมาลีลาแบบสวรรคโลกส่วนใหญ่ เป็นพระพุทธปฏิมาปูนปั้นที่ติดอยู่กับโบราณสถาน เช่นภายในซุ้มซีกของประตูทางเข้าวิหารสิบเอ็ดยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว สวรรคโลก (ปัจจุบันคืออุทยาน ประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) ซึ่งมีขอบจีวรด้านซ้ายที่ห้อยลงจากพระกัปประ เป็นลูกคลื่น และม้วนกลับตอนปลาย ทำให้มุมขอบจีวรเป็นเส้นโค้ง ส่วนชายจีวรและชายสบงด้านล่างก็โค้งรับกับ ข้อพระบาทขวาที่ยกขึ้น กำหนดอายุได้จากรูปแบบของวิหารสิบเอ็ดยอดที่มีรูปแบบเดียวกันกับภาพ จิตรกรรมฝาผนังวิหารหลายยอดในอุโมงค์พระมณฑปวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งก็มีพระพุทธปฏิมาลีลา ประดิษฐานอยู่ในซุ้มซีก จึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน

พระพุทธปฏิมาลีลาปูนปั้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สวรรคโลก (ปัจจุบันคือ เชลียง อำเภอ ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย) พระกรซ้ายและขอบจีวรที่ห้อยลงจากพระกัปประรวมทั้ง ชายจีวรด้านล่างหักหายไป ส่วนชายจีวรที่พับทบกันเป็นริ้วยาวจรดพระนาภี เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธปฏิมาแบบสวรรคโลก  นอกจากนั้นแล้ว หน้านางของสบงยังทำเป็นเส้นนูนเชื่อม กับขอบสบงด้านบน เช่นเดียวกับพระพุทธปฏิมาลีลา อยุธยา  และเนื่องด้วยว่าพระพุทธปฏิมาลีลาองค์นี้ สร้างบนฐานชุกชีขององค์พระประธานในพระวิหาร ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จึงน่าจะสร้างขึ้นในช่วง รัชกาลนั้น (พิริยะ ๒๕๔๕, ๗๒ – ๗๓)





กระทู้: ถามเรื่องพระพุทธรูป
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 28 เม.ย. 11, 10:06
อ๋อ เข้าใจแล้วครับคุณไซมีส มันเป็นเช่นนี้นี่เอง  อืมๆๆ.... :D