เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NT ที่ 26 ก.พ. 14, 13:44



กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 26 ก.พ. 14, 13:44
ผมเป็นสมาชิกใหม่ครับ กราบสวัสดีท่านอาจารย์และผู้รู้ทุกๆ ท่านในเรือนไทยครับ ผมเองยังเป็นผู้น้อย อายุ 30 กลางๆ สนใจประวัติศาสตร์ไทยมานานครับ ผมอ่าน website นี้มาเกือบ 1 ปี และก่อนหน้านั้นอ่านในห้องสมุดของพันทิบมาระยะหนึ่งครับ ขอฝากตัวด้วยครับ

กระทู้แรกที่ตั้ง ผมสงสัยเรื่องผลกระทบต่ออายุ และสุขภาพ ของการแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ไทยครับ ขออนุญาตอ้างถึงสมัย ร.5 ซึ่งผมพบว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ท่าน ซึ่งประสูติจากพระราชมารดาที่เป็นพระภรรยาเจ้า (เช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และสมเด็จพระนางสุขุมาลฯ) ล้วนแต่มีพระชนมายุไม่ยืนทั้งสิ้น กล่าวคือส่วนใหญ่สวรรคต ทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์ ก่อน 50 คำถามคือมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์และการแพทย์ในกรณีนี้หรือไม่ครับ ว่าการแต่งงานระหว่างเครือญาติ เป็นสาเหตุหรือไม่

อันที่จริงประเด็นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.4 แล้ว ผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ เนื่องจาก ร.4 ทรงเป็นพระราชโอรสของ ร.2 แต่สมเด็จพระเทพศิรินทร์ฯ ทรงเป็นหลานปู่ของ ร.3 และในขณะเดียวกัน ร.2 กับ ร.3 ทรงเป็นพี่น้องต่างพระราชชนนีกัน ซึ่งหมายความว่า ร.4 กับสมเด็จพระเทพศิรินทร์ฯ เป็นพระญาติห่างๆ กันในสายเลือด

หลังจากนั้น ร.5 ทรงเสกสมรสกับพระภรรยาเจ้าซึ่งเป็นพระราชธิดาของ ร.4 ทั้งสิ้น ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการแต่งงานระหว่างญาติ รุ่นที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่ครับ สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจมาก คือพระราชโอรสและพระราชธิดาส่วนใหญ่ของ ร.5 ที่สิ้นก่อนวัยอันควร เกิดจากโรคไต (พระวักกะ) เป็นส่วนมาก และ ร.5 เองก็สวรรคตด้วยอาการพระวักกะเช่นกัน

ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้ในที่นี้ มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวประการใดครับ เป็นไปได้หรือไม่ที่ ร.6 ท่านเล็งเห็นในประเด็นนี้ จึงได้มีพระราชปณิธานว่าจะไม่ทรงเสกสมรสกับน้องสาว แม้ว่าในที่สุดพระองค์จะเสกสมรสกับเจ้านายราชสกุลวรวรรณด้วยก็ตาม

ขอบคุณครับ


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 14:09
ดิฉันไม่ทราบเรื่องพันธุกรรมค่ะ  ต้องรอท่านผู้รู้อื่นๆมาตอบดีกว่า


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 14:16
คุณ NT อ่านกระทู้นี้หรือยัง

โรคทางพันธุกรรม...ของราชวงศ์ยุโรป  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1779.0)

มีผู้รู้หลายท่านมาอธิบาย "ทฤษฎีเลือดชิด"  และมีข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านายที่ประสูติจากพระบรมราชชนกและชนนีที่สืบสายเลือดพระโลหิตใกล้ชิดกันว่าทรงมีพระชนม์ยาวนานมากน้อยเพียงใดด้วย  ;D


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 14:28
ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้ในที่นี้ มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวประการใดครับ เป็นไปได้หรือไม่ที่ ร.6 ท่านเล็งเห็นในประเด็นนี้ จึงได้มีพระราชปณิธานว่าจะไม่ทรงเสกสมรสกับน้องสาว แม้ว่าในที่สุดพระองค์จะเสกสมรสกับเจ้านายราชสกุลวรวรรณด้วยก็ตาม

ขอยกจากหนังสือ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖"

"ส่วนพระองค์เสด็จแม่(หมายถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)เองนั้น   มีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อม( หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)องค์ ๑

และทรงแนะนำว่า หญิงน้อย(สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองฯ พระเจ้าลูกเธออันประสูติแด่พระวิมาดา กรมพระสุทธาสินีนาฏ ) เป็นผู้ที่ทรงเห็นเหมาะ

แต่ฉัน(หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)ก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้ว ตั้งแต่กลับจากยุโรป 

ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเป็นอันขาด"


ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็ไม่ทรงเห็นด้วย     และมีข่าวกระซิบเบาๆว่าพระวิมาดาก็ไม่ทรงเห็นด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้ก็เงียบหายไป

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 26 ก.พ. 14, 17:19
เคยอ่านใน "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" พระนิพนธ์ ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ก็ทรงพูดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 26 ก.พ. 14, 19:18
ขอบคุณ อ.เทาชมพู และผู้รู้ทุกท่านครับ อ่านลิ้งค์ที่คุณเพ็ญชมพูกรุณาลงให้ ก็คิดว่าทฤษฎีเลือดชิดอธิบายสิ่งที่ผมถามได้ระดับหนึ่ง ไม่ทั้งหมดครับ

และขออนุญาตแตกประเด็นครับ หนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น และประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ยังมีจำหน่ายหรือไม่ครับ บอกแค่มีหรือไม่ก็ได้ครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นประชาสัมพันธ์สำนักพิมพ์ใดๆ อันที่จริงเท่าที่ผมทราบ หนังสือ 2 เล่มนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล มิใช่ references ทางประวัติศาสตร์ อยากทราบว่าท่านผู้รู้ต่างๆ ให้น้ำหนักกับประเด็นต่างๆ ในหนังสือ 2 เล่มนี้ มากน้อยอย่างไร ขอบคุณครับ


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 21:00
ไม่เห็นหนังสือทั้งสองเล่มมานานแล้วค่ะ

อ้างถึง
อันที่จริงเท่าที่ผมทราบ หนังสือ 2 เล่มนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล มิใช่ references ทางประวัติศาสตร์
ทำไมคิดยังงั้นล่ะคะ?
ความเห็นส่วนบุคคล ต่างจาก  references ทางประวัติศาสตร์ ยังไง


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 26 ก.พ. 14, 21:45
ไม่เห็นหนังสือทั้งสองเล่มมานานแล้วค่ะ

อ้างถึง
อันที่จริงเท่าที่ผมทราบ หนังสือ 2 เล่มนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล มิใช่ references ทางประวัติศาสตร์
ทำไมคิดยังงั้นล่ะคะ?
ความเห็นส่วนบุคคล ต่างจาก  references ทางประวัติศาสตร์ ยังไง

เรียน อ.เทาชมพู ผมคิดอย่างนั้นเพราะ 1. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (ตามความเข้าใจของผม) มิได้เป็นเอกสารที่ ร.6 ทรงตั้งใจเผยแพร่ จึงอาจเป็นงานพระราชนิพนธ์ที่แฝงความรู้สึกเฉพาะพระองค์มาก จนอาจไม่เป็นเอกสารอ้างอิงที่เป็นกลาง 2. ส่วนหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นนั้น ผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งท่านผู้แต่ง จะมีมุมมองที่ไม่เป็นกลางต่อพระบรมวงศานุวงศ์บางท่าน เนื่องจากองค์ต้นราชสกุลของผู้แต่งนั้น มิได้มีความสัมพันธ์อันราบรื่นต่อพระราชวงศ์บางท่าน ขออนุญาตไม่เอ่ยพระนามในรายละเอียดครับ เนื่องจากไม่งาม และเชื่อว่าท่านผู้รู้ในนี้ ทราบอยู่แล้วครับ


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 21:51
ถ้ามองลึกลงไปในเอกสารแต่ละชิ้น   คงตัดสินยากว่าอะไรเป็นกลางไม่เป็นกลาง  ถ้าจะเอาเหตุการณ์ที่ฟันธงได้ว่าไม่มีอารมณ์ส่วนตัวเจือปน   อาจจะเหลือแต่ข้อเท็จจริงประเภทใครเกิดใครตายเมื่อไรเท่านั้นก็ได้ค่ะ

ดิฉันคิดว่าหนังสือทั้งสองเล่ม อ้างได้  ขึ้นกับว่า
๑ คุณจะอ้างในเรื่องใด
๒ คุณอ้างอย่างถูกต้องตรงกับข้อมูลในเรื่องหรือเปล่า   หรือตัดตอนเอามาส่วนเดียว ทำให้ความมุ่งหมายของผู้เขึยนผิดเพี้ยนไป   หรืออ้างไม่ตรงข้อมูลเพราะไปสรุปเอาเป็นอีกอย่าง


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ก.พ. 14, 22:51
เอกสารทั้งคู่เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับงานวิชาการอย่างตำราหรือไม่วิชาการทางประวัติศาสตร์ได้สบายมากนะครับ ไม่ต่างจากจดหมายเหตุ ปูมโหร จารึก ฯลฯ  ส่วนจะเอามาใช้อ้างอิงอย่างไร ก็คงขึ้นกับการตีความและการหาเอกสารหรือข้อมูลอื่นที่อาจจะขัดแย้งหรือส่งเสริมมาสนับสนุน เพราะประวัติศาสตร์ขึ้นกับการตีความด้วยว่าจะตีความอย่างไร ใช้มุมมองไหน

บอกให้อิจฉาเล่นๆ เพราะผมมีและอ่านแล้วทั้งสองเล่ม ว่าทั้งสองเล่มอ่านสนุกชวนติดตามครับ เพราะเป็นเรื่องแนวๆ gossip หน่อยๆ แถมเป็นเรื่องของชนชั้นสูงสุดเสียด้วย


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 28 ก.พ. 14, 20:02
ได้ความกระจ่างแล้วครับ ขอบคุณท่านผู้รู้ทุกท่านครับ


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 01 มี.ค. 14, 17:43
ได้ทราบมาว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น จะพิมพ์รวมเล่ม 1 - 2 เป็นปกแข็งเร็ว ๆ นี้ ครับ

ชอบที่ท่านหญิงพูนเขียนเล่าไว้

เมื่อครั้งที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทับที่เมืองปีนัง หลังจากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดปีนัง แล้วทางทหารญี่ปุ่นก็มาทำทะเบียนในปีนัง แล้วได้สอบถามจาก ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ดังข้อความดังนี้

“...บ้านนี้บ้านใคร?”
ตอบ - “บ้าน Prince Damrong เช่าเขาอยู่”

ถาม - “มาอยู่แต่เมื่อไหร่?”

ตอบ - “แต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เกือบ ๑๐ ปีแล้ว”

ถาม - “ทำไมจึงมาอยู่”

ตอบ - “เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๗๕ ท่านรู้หรือไม่” เขาก้มหัวรับว่ารู้แล้วจ้องฟังคำตอบต่อไป ข้าพเจ้าก็อธิบายว่า
“ธรรมดาของการเปลี่ยนใหม่อย่างไม่รู้ตัวก็ทำให้คนเข้าใจไม่ได้อย่างเดียวกัน เมื่อความเห็นมีขึ้นต่างๆ ก็กลายเป็นพวก พ่อฉันอายุ ๗๐ เศษแล้วในเวลานั้น เห็นว่าจะรักษาตัวให้พ้นการเป็นพวกมีอยู่แต่มาเสียให้พ้นอย่างเดียว จึงได้มา”

ถาม - “พ่อท่านทำอะไรเมื่อก่อนรับบำนาญ?”

ตอบ - “ทำงานหอสมุดและมิวเซียม”

ถาม - “ใครเป็นพ่อของพ่อท่าน?”

ข้าพเจ้าอึกอักแล้วตอบว่า “ชื่อมงกุฎ”

เขาจ้องเป๋งถามว่า “อาชีพอะไร?”
ข้าพเจ้านึกในใจว่าถ้าไม่บอกคงจะนึกว่าเป็นนักเลงโตจึงต้องปิด จึงตอบว่า “เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๔ ในราชวงศ์นี้”


กระทู้: การแต่งงานระหว่างเครือญาติ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 11 มี.ค. 14, 12:57
ท่านหญิงวุฒิเฉลิม พระธิดาในกรมหลวงสิงหวิกรมฯทรงเล่าไว้ในหนังสือลายน้ำทองประมาณว่า โรคไตเป็นโรคที่ลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกันหลายพระองค์ทั้งเสด็จพ่อของท่านเองและรวมถึงเสด็จป้าของท่านพระองค์เจ้าประเวศวรสมัยก็ิสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระวักกะนี้ ซึ่งโรคนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการสมรสในหมู่ญาติสนิทแบบทาลัสซีเมียในราชวงศ์ยุโรป อาจจะเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาทางรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็ทรงสวรรคตด้วยโรคพระวักกะพิการนี้ด้วยเช่นกัน อาจจะคล้ายๆกับโรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน ที่คนในครอบครัวเป็น รุ่นลูก รุ่นหลานก็มีสิทธิจะเป็นได้มากกว่า