เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 18:54



กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 18:54
 ที่จริงควรตั้งชื่อว่า “วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย” แต่ยาวเยิ่นเย้อและฟังเป็นตำราเกินไป  ดิฉันก็เลยตัดทอนให้สั้นลงว่า “วัฒนธรรมหมาก”

คนไทยกินหมากกันมาตั้งแต่ครั้งไหน และทำไมถึงกิน ไม่ทราบ
ที่มา       อาจจะได้อิทธิพลจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่บทของเอเชียอาคเนย์ก็เป็นได้  
หรือจะริเริ่มกินด้วยตัวเองจากการค้นพบของใครสักคน บนแหลมทอง  ที่รู้ว่าต้นหมากมีลูกที่ผ่าแล้วเอาข้างในมาเคี้ยวกินได้กับพลู
กินแล้วติดใจ   ก็เลยแพร่หลายออกไปในวงกว้าง ก็เป็นไปได้

รู้แต่ว่าสมัยสุโขทัย  ชาวสุโขทัยกินหมากกันเป็นล่ำเป็นสันแล้ว  
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  จึงกล่าวถึงการทำสวนหมากไว้  
แต่สมัยนั้น เขาไม่เรียกว่า สวนว่าสวน  เขาเรียกสวนว่า “ป่า”  

เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขทัยนี้  มีพีหาร  มีปู่ครู
มีทะเลหลวง  มีป่าหมาก ป่าพลู  


เดาว่าเมื่อปลูกกันมากๆ    ก็คงไม่ได้มีเอาไว้กินกันเองในเมืองสุโขทัยอย่างเดียว น่าจะเป็นธุรกิจการเกษตรส่งออกด้วย  
การทำมาค้าขายสมัยพ่อขุนรามนั้นออกจะเป็นการค้าเสรี    ใครใคร่ค้าม้าค้า  ค้าช้างค้า ค้าวัวค้าควายค้า
เพราะฉะนั้นก็อนุโลมว่าค้าหมากค้าพลู ค้าได้เช่นกัน


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 11 ส.ค. 06, 19:54
 เคยเห็นยายกินหมาก ดูน่าอร่อย อยากจะลองกินดู แต่ไม่กล้า เพราะมันมีปูนขาว(เรียกปูนขาวรึเปล่าครับ)อยู่ด้วย เลยไม่กล้าลอง
บางทีก็เห็นเป็นปูนสีแดงออกชมพูๆ


ด้วยความสนใจ จึงขอมาจองที่นั่งเป็นคนแรกครับ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ส.ค. 06, 21:19

ลากเก้าอี้..ลงนั่งข้างๆ คุณหมูน้อย

ตอนเป็นเด็ก ตูก้า โตมาข้างเชี่ยนหมาก เหมือนกันค่ะ ทั้งตา ยาย  เคี้ยวหมากทั้งคู่ เคยลองเคี้ยวดู ไม่ไหวค่ะ เผ็ดฉุนๆ เหมือนปากชาๆ ไม่เห็นอร่อยเลยพอโต ขึ้นมาหน่อยก็มีหน้าที่ ผ่าลูกหมากสด เตรียมไว้ให้ท่านผู้ใหญ่  หากมีแขกมาถึงเรือน คุณตา คุณยาย ก็จะเลื่อนเชี่ยนหมากให้แขก เพราะส่วนใหญ่ สมัยนั้นรุ่นท่านผู้ใหญ่จะเคี้ยวหมากทุกคนเลย  ปากแดง ฟันดำ กันหมด ...อิอิ

ปล. คุณหมูน้อย  ไม่เคยเห็นปูนที่กินหมากสีขาวเลยค่ะ เจอแต่สีแดง ..เอ
หรือว่ามีสีขาวด้วยคะ อาจารย์

.


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 12 ส.ค. 06, 00:10
 หมากเคยกินทีหนึ่ง...เมา
เข็ดแล้วเจ้าข้า...

ผมไปที่ไหนเห็นแต่คนกินหมาก จนเรียกได้ว่า ทั้งแหลมทอง หรือ เอเชียอาคเนย์กินหมาก หมด ไม่ว่าเขมร ไทย ลาว พม่า...

ผมจำได้ว่าในจารึก เขารัง มี หมาก เป็นหนึ่งในพืชที่ปลูกในศาสนสถานด้วยนะครับ...


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 06, 22:54
 เมาหมาก เรียกว่ายันหมาก ค่ะ  ส่วนปูนที่กินกับหมาก  เป็นปูนแดง  ไม่เคยเห็นปูนขาว

บทบาทของหมาก กระจายไปในหลายสาขาความรู้    ถ้าจะเล่าหมดก็คงเตลิดเปิดเปิงแยกไปหลายซอย   จึงขอเก็บความเท่าที่นึกออกจากด้านวรรณคดี
ขอเชิญสมาชิกช่วยแจม เช่นหมากในเมืองสุพรรณโดยคุณนิคกี้นิก หรือหมากในโบราณสถานโดยคุณกุรุกุลา หรือหมากในลายผ้า(ถ้ามี) ของคุณติบอ ฯลฯ

วัฒนธรรมการกินหมากของไทย มีบทบาทในวรรณคดีไทยหลายอย่างที่วรรณคดีฝรั่งไม่มี  หรือแขกเองดิฉันก็ไม่คิดว่ามี ถึงแม้ว่าเขากินหมากก็ตาม
เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมหมาก  ก็สูญไปเหมือนวัฒนธรรมหลายๆอย่างในอดีต

หมากเป็นของกินจนติดเข้าไปกระแสเลือดก็ว่าได้  คนไทยสมัยก่อนรักหมากยิ่งกว่าข้าวปลาอาหาร
อดข้าวครึ่งวันหนึ่งวันได้ แต่อดหมากไม่ได้ หิวหมากจะตายเอา

วัฒนธรรมของหมากจึงมีบทบาทในความหมายหลายอย่าง หมายถึง เกียรติยศ เล่ห์กล รัก  พ่อแง่แม่งอน ฯลฯ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 06, 22:58
หมากเป็นของสำคัญ  แม่ทัพจะไปศึก  พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานชานพระสลาให้   รับมาเคี้ยวใส่ปากเป็นสิริมงคล ถือว่ารับของพระราชทานชั้นยอด   ถ้าไม่ใช่แม่ทัพ เป็นแค่นายกอง ไม่มีสิทธิ์

พระเพื่อนพระแพงทำเสน่ห์พระลอให้มาหา  ปู่เจ้าสมิงพรายต้องเสกสลาเหิน(หรือหมากบิน) ข้ามเมืองไปตกในเชี่ยนหมากของพระลอ  
เพราะยังไงพระลอต้องกินหมาก  
ผลมันจะฉมังกว่าเสกฟักแฟงแตงกวา  เพราะอาจจะเลือกไม่เสวยก็ได้

หมากมีฤทธิ์เป็นยาเสพติดอ่อนๆ   เคี้ยวเข้าไปแล้วสบายใจ อารมณ์รื่น

ในขุนช้างขุนแผน  พลายแก้วกำลังเคี้ยวหมาก เรียกว่าอยู่ในภาวะเพลิดเพลิน แฮปปี้ยิ่งกว่ากินของคาวหวานเอมโอชใดๆ   แต่เมื่อนางพิม สาวคนรักมาอ้อนว่าอยากกินหมากบ้าง
ด้วยความรักนางยิ่งกว่าตัวเอง ก็คายหมากให้อีกฝ่ายกิน ยอมสละความสุขลงกลางคัน ให้อีกฝ่าย
ในเมื่อแค้นกัน  ก็ต้องลำเลิกความหลังขั้นคายหมากให้กันขึ้นมาตัดพ้อ    ว่ารักกันขนาดนี้  เธอยังลืมฉันได้ลงคอ
มีความหมายกว่าพวกไฮโซทวงแหวนเพชรหรือรถโรลสรอยซ์คืนเสียอีก

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ.........เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย.......แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 14 ส.ค. 06, 10:10
แม้แต่เรื่องหมาก ก็สามารถเป็นเรื่องราว และประเด็นการพูดคุยที่น่าสนใจได้ไม่น้อย
นี่เรือนไทยของเรายังมีดีซ่อนไว้อีกเยอะ   ใครชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย ความรู้รอบตัว  ภาษา วัฒนธรรมไทย มานั่งพักที่เรือนนี้

รับรองไม่ผิดหวังเลย



มานึกอีกที ก็จำไม่ผิดที่ว่าปูนที่กินกะหมากนั้นแถวบ้านผมมีสีขาว และแฉะๆ
จำได้เพราะเคยเกือบจะวางยายายตัวเอง โดยการนำปูนขาวที่ใช้โรยดิน โรยบ่อปลา ไปให้ยายกินกะหมาก

ปัด..โถ่ .. ยายแทบเอาตระกร้าหมากขว้างหัว หลบแทบไม่ทัน
นึกแล้วก็ขำดี เด็กๆอย่างตอนนั้นก็จะไปรู้อะไร

ผมเข้าใจว่า ที่เขาใส่สีแดงลงไปอาจเพราะ ป้องกันมิให้เด็กซื้อ(บื้อ)อย่างผม เข้าใจผิดว่าอันไหนกินได้กินไม่ได้ก็ได้

ปากและฟันของพ่ออุ้ย แม่อุ้ยในหมู้บ้านก็จะดำ....ขอบปากและน้ำหมากก็จะเป็นสีเลือดช้ำดำๆ ไม่มีแดงๆสดหมือคุณตาคุณยาย ในภาคกลางแฮะ
(ตอนนี้ไม่ได้กลับไปนาน ไม่รู้วัฒนธรรมการกินหมากของที่นั่นจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน )

แปลกอยู่อย่าง คือผมเคยเห็นลูกหมากของที่โน่น ไม่มีลูกหมากสดเลย มีลูกหมากแบบผ่าซีกตากแห้ง และถูกนำมาร้อยเป็นพวงยาวๆโดยใช้ตอก(ไม้ไผ่ผ่าซีกๆ จักบางๆที่เขามีไว้จักสาน)
เวลากินก็จะดึงออกมาจากตอก แล้วใส่ลงไปในใบพลู เวลายายเคี้ยว ก็จะเคี้ยวช้าๆ ย้ำๆ ผมสงสัยเหมือเกินว่าไหงเคี้ยวได้ ไม่เจ็บปาก (อาจเป็นไปได้ว่าที่นั้นไม่ปลูกหมากเลยหาหมากสดกินยาก..?)

อ๋อ..ทุกวันนี้ยายผมฟันแข็งแรงมากครับ ไม่มีร่วงสักซี่เหมือนคนเฒ่าคนแก่คนอื่นๆเลย ทั้งที่ยายอายุ80แล้ว


ที่เคยเห็น มีวิธีกินเฉพาะของยายของผม และยายข้างๆบ้านเป็นอย่างนี้ครับ
อย่างแรกนำ ก้อนอะไรสักอย่างสีดำแข็งๆ ลักษณะเหมือนครั่งที่นำมาลนไฟแล้วปล่อยให้แข็งตัว แต่กินได้ ที่รู้ว่ากินได้เพราะยายนำมาตำๆ แล้วก็ใส่ลงใปในม้วนใบพลูสดที่ป้ายปูนไว้แล้ว ยายผมชอบใบพลูแก่ๆ ก้อนที่ว่านี้แถวนั้นเรียก ก้อนสีเสียด (?) หรืออย่างไรนี่แหละครับ ถ้าคุณศรีฯ และคุณ ศศิศ เข้ามาอ่านก็อาจช่วยได้มาก

แล้วก็มีหมากซีกตากแห้งแข็งๆ ใส่ลงไป  ม้วนๆแล้วก็เข้าปาก เวลายายกินหมากผมมักย้ายไปนั้นด้านหลังแก เพราะหากยายแกหัวเราะขึ้นเมื่อไหร่ ใครที่อยู่ข้างหน้า ก็หลบน้ำหมาก กันให้ดี  เวลาวันไหนแกเผลอหัวเราะใส่หน้าผม แกก็จะบอกว่า

ไม่เป็นไรดอก ไม่เป็นไรดอก น้ำมนต์ทั้งนั้น!!


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 06, 11:17
 จำได้ว่าหลายปีที่แล้วผมเคยสนใจเรื่องวัฒนธรรมกินหมากถึงขนาดที่ว่ารวบรวมข้อมูลไว้มากมายก่ายกอง

ไปค้นกะทู้เก่าๆก็เจอเข้าให้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ แน่ะครับ

 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=5163

จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนอะไรออกมา

ข้อมูลก็หายไปหมดแล้ว

เฮ้อ...


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 14 ส.ค. 06, 11:34
 สวัสดีครับคุณCrazyHOrse

นึกได้อีกอย่าง ชาวไทยภูเขา ที่นั่น(แถวบ้านผม) กินหมากกันแทบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะ ชาวเผ่าอาข่า(อีก้อ) เดินมานี่ปากเป็นคราบกันทุกคนเลย

ไม่เพียงแต่ไทย(ทั้งพื้นราบและภูเขา)ที่กินหมาก ชาวหม่อง(พม่า) ที่อยู่ชายแดนติดกันยิ่งแล้วไปใหญ่เลยครับ กินหมากกันเป็นล่ำเป็นสัน

กินกันแทบทุกคน(ที่เคยเจอ)ยิ่งกว่าคนไทยอีก ตอนนี้คนไทยยังกินหมากน้อยลง แต่พม่ายังกินกันอยู่เป็นปกติ
เด็กอายุ17-18ก็กินกันแล้ว ทุกวันนี้ยังเห็นอยู่เลยครับ

สาวน้อยพม่าจะหน้าเหลือง(ทาขมิ้น) หนุ่มน้อยพม่าจะปากดำ (กินหมาก) เจ้าหมูน้อยฯจะปากแดง (โดนตบปากแตก..พูดมาก!!)


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 14 ส.ค. 06, 12:27

เรียน ทุก ๆ ท่าน ที่เคารพครับ
นี่เป็นรูปของ บุคคลท่านหนึ่ง  ที่ชอบเคี้ยวหมาก
ขณะนี้ท่านอยู่ที่เนปยีดอว์ครับ

ถึงคุณหมูน้อยครับ
เรื่องหมากนี้ ผมไม่สันทัดครับ เพราะไม่เคยเห็นเขาเคี้ยวเขาตำครับ
เห็นแต่เขาเอาใส่ ควัก คู่กับยาเส้น ใบชะพลูและไม้ขีดไฟครับ
แล้วเอาไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิ อะไรอย่างนั้นครับ

แต่ที่ผมจำได้แม่น คือ คุณครูท่านหนึ่งเคยบอกว่า ตัวการที่ทำให้ฟันดำ คือ สีเสียด ซึ่งช่วยให้แมงไม่กิน แต่ฟันดำขลับ ว่ากันว่าใครฟันดำถือว่าฟันสวยครับ (ดูจะกลับกับคนสมัยนี้แฮะ)


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 06, 15:56
 คุณอาชาผยอง ยังจำเรื่องหมากได้ไหมล่ะคะ  ข้อมูลไม่อยู่ แต่ความจำยังมีนี่นา
ลองเปิดลิ้นชักความจำ   มาขยายสู่กันฟังบ้าง

ต่อค่ะ
สมัยนี้ถ้าคุณชายกลางคายหมากฝรั่งให้พจมานกิน  พจมานคงวิ่งไปอาเจียน
แต่สมัยโน้น  ถ้าไม่รักกันจริง ไม่คายชานหมากให้กัน

พระเอกนางเอกเขางอนกัน เวลาง้อก็ใช้หมากเป็นสื่อ ให้อารมณ์ดี   อย่างนางรจนาง้อเจ้าเงาะหลังทะเลาะกัน ป้อนหมากให้เคี้ยวแล้วขอชานมากินบ้าง

แล้วหยิบหมากมาป้อนวอนขอชาน
ขอประทานสักคำทำปะเหลาะ
ยียวนชวนผัวให้หัวเราะ
แสร้งออเซาะสรวลสันต์จำนรรจา

เห็นเขาว่าผู้ใหญ่หัดให้เด็กกินหมากก็เริ่มด้วยวิธีนี้  คือเคี้ยวเสียก่อน แล้วค่อยคายชานให้เด็กหัดกิน
เขาว่าจะทำให้ไม่เผ็ด และไม่เกิดอาการยันหมาก


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 06, 10:42
 คราบหมากที่จับฟันและริมฝีปาก อย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะกินหมากกันทั้งวัน  กลายเป็นค่านิยมความงามของหนุ่มสาวรุ่นก่อน
นางงามสมัยอยุธยา ธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์จึงมีฟันดำมันขลับ  เพราะเอา "ชี่" ซึ่งเป็นยาสีฟันโบราณ สีฟันอีกทีให้ดำมัน
ถึงขั้นชมกันว่า

เจ้างามทนต์กลนิลเจียระไน

ส่วนฟันขาวสะอาด งามเหมือนไข่มุกนั้นเพิ่งจะมาชมกันเมื่อคนไทยเลิกกินหมากกันแล้วไม่กี่สิบปีมานี้เอง

นางงามในวรรณคดีไม่ว่าจะเป็นนางสีดาหรือว่านางบุษบาล้วนแล้วแต่ฟันดำกันทั้งนั้น  
อย่างบุษบา ขนาดได้ชื่อว่า นวลละอองผ่องพักตร์โสภา ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน   เธอก็ฟันดำเพราะกินหมาก
เมื่ออิเหนาเกิดปิ๊งบุษบาตั้งแต่แรกเห็น    จะแสดงความในใจให้สาวรู้   เป็นสมัยนี้  อิเหนาก็คงขอเบอร์มือถือ   แต่สมัยโน้น ที่เก๋ที่สุดคือขอหมากที่บุษบาเคี้ยวแล้ว มากิน
เข้าถึงตัวไปขอเอาดื้อๆไม่ได้ก็วานน้องชายบุษบาที่เป็นเด็กเล็กชื่อสียะตราไปขอมาให้


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 15 ส.ค. 06, 11:49
 จะมาแจมเรื่องหมากสุพรรณ  ก็เหมือนกันกับที่อื่นๆ  เกิดทันคุณย่า  แต่ไม่ทันโตจำความได้  เพราะท่านใจน้อยด่วนลาไปก่อนเราโต  หากอยู่ป่านนี้  ก็เกือบ ๑๑๐ ปีเข้าไปแล้ว  ท่านก็เคี้ยวหมาก  นุ่งโจงกระเบน

ทันแต่คุณยาย  ก็เป็นสาวชาวบ้านนุ่งโจงกระเบนเช่นกัน  ไม่รู้เป็นไง  ท่านกินหมากแล้วก็ต้องมียาเสพย์ตาม  ไม่งั้นไม่ครบสูตร  จะไม่มีกำลัง  สมัยก่อนก็ยาทัมใจ - เอเอ็นที - หรือไม่ก็ประสระนอแรด  ทีละอย่างนะครับ  ไม่ใช่พร้อมกันหมด  ยี่ห้อไหนถูกสั่งปิดโรงงาน  ท่านก็ต้องเสาะแสวงหายี่ห้อใหม่ๆ มาจนได้  แต่ก็ไม่เคยกระเพาะรั่วตกเลือดเลย  หรือว่าเพราะหมากช่วยเคลือบกระเพาะได้


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 15 ส.ค. 06, 12:09
 เห็นคุยกันเรื่องการกินหมากในพม่า  ขอแจมหน่อยครับ  เรื่องถนัด  ที่นั่นเขากินกันเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่พูดกันไว้  กินกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่  ผมเคยไปเที่ยวใจกลางประเทศนั้นมาปรุเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน  เรียกได้ว่าเคี้ยวกันทั้งบ้านทั้งเมือง  ก็แปลกใจครับ  ปกติบ้านเราเห็นแต่ผู้หญิงสูงอายุเคี้ยวกัน  แต่ที่นั่นผู้ชายด้วย  แล้วก็เด็ก ๑๓-๑๔ ก็เคี้ยวกันแล้ว  แต่สัดส่วนที่ต่างกันขึ้นกับท้องถิ่นและความเจริญด้วยครับ

พม่าเขาเรียกหมากว่า "กวานยา"  มีขายตามร้านค้าข้างทางทั่วไป  มวนกันเสร็จเรียบร้อย  จะซื้อแพ็คเล็กแพ็คใหญ่ก็ว่ากันไป  อ้อ เท่าที่เห็นเขาขายชุดหมากเคี้ยวมวนเสร็จแล้วก็มีที่ไต้หวันอีกที่หนึ่ง  ไม่แน่ใจว่ารสชาติจะเหมือนกันรึเปล่า

ซื้อแล้วก็นำมาเคี้ยวกินเคี้ยวอมตามเรื่องตามราว  พอเคี้ยวแล้วก็ต้องบ้วนด้วย  ไม่ใช่ว่าจะเก่งจนกลืนกันได้ทั้งหมด  การหาที่บ้วนนี่ซีลำบาก  เราว่าลำบากแต่เขาคงไม่ลำบากกับเรา  เพราะเห็นเขาบ้วนกันได้ทุกที่เลย  บางที่เขาก็เขียนป้ายห้ามไว้บ้างว่า  ห้ามบ้วนน้ำหมาก  ดูตลกดี  แต่ก็จำเป็น  เช่นที่สนามบินเมงกะลาโดน  เพราะผนังตึกสนามบินจะมีทั้งรอยบ้วนน้ำหมาก  รอยจิตรกรรมฝาผนังสีแดงๆ ด่างๆ เต็มไปหมด  คุณกุรุกุลาไปชมแล้วคงจะได้ไอเดียว่าเป็นจิตรกรรมแปลกๆ UNSEEN เลยก็ว่าได้  แต่เขาคงห้ามไม่ให้เคี้ยวตรงนั้นกันได้จริงจังดอก

เหมือนกับเป็นแฟชั่นของบ้านเขานะครับ  ผู้ชายทันสมัยต้องเคี้ยวหมาก  ผู้หญิงสวยต้องทาแป้งทานาคา  ไม่เฉพาะแต่บ้านนอกเท่านั้น  แต่เป็นทั่วทั้งประเทศที่เห็นแฟชั่นแบบนี้  ทั้งในตลาด  สนามบิน  สถานที่ราชการ  ซึ่งในเมืองไทยปัจจุบันต้องสืบค้นหาคนกินหมากในชนบทถึงจะพบ

เรื่องแฟชั่นทาแป้งทานาคาของสาวพม่า (รวมทั้งเด็กและผู้ชายบางคนด้วย)  เธอจะทาหน้าเป็นรูปแบบต่างๆ  บางคนประแป้งตามใบหน้าธรรมดาๆ   บางคนทาเป็นลวดลายก้นหอยเฉพาะบริเวณแก้ม  ดั้งจมูก  หน้าผาก  ส่วนที่อื่นก็เว้นไว้  บางคนทาเป็นรูปแมวข่วนที่สองพวงแก้มในแนวนอนหรือแนวตั้ง  บางคนทาเป็นแนวโค้งหรืออีกหลายรูปแบบที่พอจะสรรคิดขึ้นมาได้  บรรยายไม่หวาดไม่ไหว  อ้าววว  ลืมไปครับ  นี่เป็นกระทู้กินหมากนี่นา  ขอโทษครับ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 15 ส.ค. 06, 17:49
 เอชา เอชา ชา ๆ ๆๆ หน่อยแม่
สวัสดิ์เอ๋ยสวัสดีครับพี่น้อง หากจะขัดข้องต้องขออภัย
หนุ่มน้อยแวะมากระทู้นี้ ยังมิมีโอกาสจะปราศรัย
มาทักทายกันหน่อยเสียเป็นไร เรื่องหมากนั้นไซร้แปลกดี

แต่ฉันไม่เคยเคี้ยวแลเลี้ยวลิ้มลด เพราะไม่มีแท่งบดหมากนั่นไง
ที่ตำหมากเขาเรียกว่าตะบัน เอาสิ่งละอันใส่กันไป
แต่ตัวฉันไม่รู้ว่านอกจากใบพลูหมาก สีเสียดปูนกินกับหมากจะใส่หรือไม่
พอดูดี  ๆ ที่คุณหมูน้อยโพสต์ออกไป ฉันก็รู้แล้วไงว่ามันไม่เหมือนกัน
แม่อุ๊ยท่านเคี้ยวหมากแห้งกับใบพลู แต่หนูไม่รู้ว่ามันเคี้ยวยังไง
เห็นแต่เขาเคี้ยวเมี่ยงดูอร่อยนักหนา แต่ฉันไม่กินนะสิหวาเลยเสีย...ดาย

เกรงว่ากระทู้นี้จะออกไปไกลสุดกู่ ฉันเลยต้องหยุดอยู่ที่เมี่ยงหวานไว้
ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะขอแวะมาที่นี่ ชมผู้รู้มากมีตอบกระทู้กันไป
ดูเขาช่างเจรจาแลพาที (เรื่องทานาคานี้ก็น่าสนใจ
เพราะที่บ้านเราจับมันมาป่นในเครื่องสำอาง )
หมดมุกพอดี สวัสดีกันไป.    


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 16 ส.ค. 06, 02:49

ขอร่วมวงสนทนาด้วยคนนะครับ

พูดถึงหมาก แล้วทำให้ผมคิดถึง "หมากพนม" หรือ "พนมหมาก" ซึ่งเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเป็นอย่างยิ่ง

พนมหมากนี้ยังพอจะเห็นทำกันอยู่ในสมัยปัจจุบัน เคยเห็นเวลายกขันหมาก บางทีก็เห็นฝ่ายเจ้าบ่าวถือพนมหมากที่ประดิษฐ์มาอย่างประณีตก็มี

พนมหมากคือการนำพลูจีบยาวมารวบเข้าด้วยกันเป็นทรงกรวย รัดด้วยมาลัยซีกเป็นระยะๆ ให้สวยงาม บรรจุอยู่บนพาน รอบๆ พลูจีบ มีแผงใบตองเย็บแบบบนแผงนั้นไม่ได้ร้อยกรองด้วยดอกไม้ แต่ใช้ผลหมากฝานเป็นคำๆ ผนึกไว้แทนครับ

โอกาสที่เห็นพนมหมากบ่อยที่สุดคือเทศกาลลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัยครับ ที่นั่นเขามีการประกวดกระทงลอย พนมหมาก พนมดอกไม้ เพื่อนำไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีขบวนแห่แหนกันเอิกเกริก

ทั้งกระทงลอย ทั้งพนมหมาก และพนมดอกไม้ ล้วนแต่เป็นของที่นางนพมาศ อ้างว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ทั้งสิ้นครับ

ใครอยากเห็นพนมหมากว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ลองไปดูที่หน้า ปราสาทพระเทพบิดร นะครับ พุ่มปูนปั้นทรงกรวยแหลมทาสี เขียวๆ ที่มุมฐานไพทีนั่นแหละครับ คือ พนมหมาก หรือ หมากพนม เป็นของจำลองซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 06, 13:58
 เดินตามหมากไปเมืองสุพรรณ  เลยไปถึงพม่า แล้วกลับมาเชียงใหม่
ก่อนจะเดินเข้าวัดพระแก้ว ไปถึงหน้าปราสาทพระเทพบิดร
แทบจะกลับมาหาสียะตราไม่ถูก
ตอนนั้นสียะตราอายุไม่กี่ขวบ ยังเล็กขนาดอิเหนาอุ้มได้   แต่เด็กเล็กขนาดนี้ก็กินหมากแล้ว
เพราะมีบทว่าไปหนุนตักพี่สาว อ้อนขอชานหมาก

ครั้นถึงนอนลงเหนือเพลา..............คลึงเคล้าเย้าหยอกเกษมศานต์
แล้วบังคมทูลขอชาน...................จงประทานให้น้องบัดนี้

บุษบาไม่รู้อุบาย ก็คายให้   สียะตราก็ยังเล่นแง่ต่อไปว่า
....
ว่าชานเก่าจืดไม่ชอบใจ................พี่นาจงได้เมตตา
เคี้ยวประทานชานอื่นเหมือนน้องใหม่........เอาเครื่องหอมใส่ให้หนักหนา
ว่าพลางทางหยิบหมากมา............ป้อนระเด่นบุษบาฉับพลัน

พอป้อนเสร็จหลอกให้พี่สาวเคี้ยว คายออกใส่มือ ก็ฉวยวิ่งไปให้อิเหนา
อิเหนาก็ดีใจ  เคี้ยวหมากต่อจากบุษบา


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 06, 14:10
แฟชั่นเคี้ยวชานหมากระหว่างหนุ่มกับสาวคงจะหมดไปตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น
พอล่วงมาถีงรัชกาลที่ 5 กลายเป็นต่างคนต่างเคี้ยว  แต่หมากก็ยังนำใช้แสดงความในใจกันอยู่

ใน"สี่แผ่นดิน" หนุ่มสาวสมัยปลายรัชกาลที่ 5 จีบกันกระมิดกระเมี้ยนละเมียดละไม    พี่เนื่อง แฟนคนแรกของแม่พลอย   เมื่อเกิดต้องตาต้องใจแม่พลอย  ก็ฝากน้องสาว ส่งเพลงยาวพร้อมน้ำอบมาให้สาวเจ้า  ตัวเองเข้าไม่ถึง ได้แต่ชะเง้ออยู่หน้าประตูวัง
แม่พลอยไม่กล้าตอบเพลงยาว  แม้แต่เขียนตอบผู้ชายก็ถือว่าไม่สมควร  จะบอกด้วยปากยิ่งกระดากใหญ่ พูดไม่ได้เป็นอันขาด  
วิธีแสดงว่ารับไมตรี ก็ไม่พ้นหมากเข้ามาเป็นสื่อแสดงความในใจ

" พลอยเย็บซองใส่หมากพลูอย่างประณีตบรรจง   จะแทบจะสิ้นสุดฝีมือ    เจียนหมากชนิดเปลือกเป็นฝอย  จีบพลูยาว ใช้ปูนใส่ใบเนียม  อบหอมกรุ่น และยาฝอยอบแล้วเช่นเดียวกัน
รุ่งเช้าก็เอาหมากพลู และยาฝอยที่เตรียมไว้ใส่ซอง    เอาผ้าเช็ดปากใหม่ที่อบควันเทียนและดอกไม้ไว้ เหน็บซองพร้อมกับดอกจำปาอีกสามดอก  แล้วก็แอบเอาส่งให้ช้อยในตอนเช้า โดยไม่ยอมพูดจาว่ากระไร


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 06, 16:19
 ตำนานการกินหมากของชาวเวียดนามครับ

ในแผ่นดินพระเจ้า Hung-voung (ราว 2000 BC - CH) ครอบครัว Cao มีลูกชายฝาแฝดคู่หนึ่งซึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากจนไม่มีใครสามารถแยกออกได้

อาจารย์ Luu ผู้เฉียบแหลมเรียกคนรับใช้ให้นำข้าวสวยหนึ่งชามกับตะเกียบหนึ่งคู่มา และเชื้อเชิญให้ชายหนุ่มทั้งคู่มาที่โต๊ะ

Lang ยกอาหารมื้อนี้ให้ Tan ดังนั้นอาจารย์ Luu จึงรู้ว่า Tan เป็นพี่ชาย และยกลูกสาวให้แต่งงานกับ Tan ทั้งคู่ครองรักกันอย่างมีความสุข

หลังการแต่งงาน Tan ก็ไม่มีคลุกคลีสนิทสนมกับ Lang อย่างที่เคย  Lang รู้สึกเศร้าใจกับความเหินห่างที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันเช่นนี้ เขาจึงออกร่อนเร่เดินทางไปทั่ว

วันหนึ่งเมื่อเขาไปถึงแม่น้ำ เขาหยุดรอเรือข้ามฟากอยู่ที่นั่น เขารอแล้วรอเล่าเรือก็ไม่มาสักที ในที่สุดเขาก็ตาย และกลายเป็นต้นหมากอยู่ ณ ที่นั้น

วันหนึ่ง Tan เพิ่งจะรู้ว่าน้องชายของเขาได้จากบ้านไป เขาจึงออกตามหา Lang เขาตามไปถึงริมฝั่งแม่น้ำ เขารู้สึกเศร้าใจมากกับความตายของน้องชาย เขาจึงเอาหัวโขกต้นหมากจนตาย แล้วกลายเป็นก้อนหินปูนอยู่ ณ ที่นั้น

ภรรยาของ Tan รู้สึกเป็นห่วงมาก เธอจึงออกตามหาสามี และที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นเองเธอจึงรู้ว่าสามีและน้องสามีได้ตายลงแล้ว เธอกอดก้อนหินปูนร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้นจนตาย และกลายเป็นต้นพลูเกาะติดอยู่กับหินปูนก้อนนั้น

หลายปีต่อมา พระเจ้า Hung-voung เสด็จผ่านมาที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องราวของสองพี่น้องและภรรยาของเขา พระองค์จึงทรงเคี้ยวใบพลูพร้อมกับหมากและพบว่ารสชาติเข้ากันได้ดีทีเดียว เมื่อพระองค์ทรงถ่มพระเขฬะลงบนก้อนหินปูนและพบว่าหินปูนกลายเป็นสีแดงเข้ม พระองค์จึงดำริว่าความรักของพี่น้องคู่นี้และภรรยาของเขาทำให้เกิดสีแดงนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้ผู้คนสร้างศาลให้กับพวกเขา

ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนจึงรู้จักการกินหมากกับใบพลูเพื่อให้ปากแดง ในพิธีแต่งงาน มีธรรมเนียมว่าจะต้องให้หมากพลูเป็นของขวัญแก่ครอบครัวของคู่บ่าวสาว นอกจากนี้หมากพลูยังเป็นของรับแขกอีกด้วย ดังคำกล่าวของคนเวียดนามที่ว่า "ใบพลูเป็นสิ่งที่นำไปสู่การสนทนา"

แปลจาก http://kicon.com/stories/traucau/e_index.html  


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 ส.ค. 06, 16:59
 ตำนานการกินหมากของเวียดนามสนุกและน่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

การกินหมากของพม่า และ หมากพนม ก็ไม่แพ้กัน
คุยไปคุยมาเดี๋ยวจะแตกย่อยซอยแยกไปมาก
เดี๋ยวกว่าจะวกกลับมาหา “ วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย ” ตามหัวข้อกระทู้ก็เล่นเอาเหนื่อยแน่

ถ้างั้นหมากชายแดนพม่า กับ หมากล้านนา ขอถอนตัวก่อนชั่วคราวครับ แฮ่ะๆ
 

ตอนนี้ขอนั่งรออ่าน “ วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย ” ด้วยใจจดจ่อต่อไปครับ


" ใบพลู "


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 06, 17:05
 อ้าว อย่าเพิ่งหอบหมากหอบพลูหนีไปง่ายๆสิคะ
เข้ามาเล่าให้ฟังหน่อย คุณหมูน้อย
หมากในไทยชักไม่ค่อยเหลือแล้วค่ะ  ขอหมากอิมพอร์ตมาเสริมให้แน่นตะกร้าด้วย

ว่าแล้วก็ขอตัวไปเที่ยวสามชุกก่อนนะคะ  


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 ส.ค. 06, 17:18
 ขอแจมอีกนิดนะครับ

สงสัยว่าใบชะพลู เขากินกับหมากได้ด้วยรึครับ เห็นคุณศรีฯเล่าทิ้งไว้ใน คหพต.ที่ 9 ปกติเห็นเขากินกับใบพลูเท่านั้นไม่ใช่รึครับ ??  


ปล.อาจารย์ครับตรงนี้มุกหรือว่ามันมีจริงๆครับ
ผมอ่านแล้วก็ขำทุกครั้ง

" ..หมากในโบราณสถานโดยคุณกุรุกุลา หรือหมากในลายผ้า(ถ้ามี) ของคุณติบอ ฯลฯ.."

หมากในลายผ้า ? ? ! !    


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 16 ส.ค. 06, 18:08
 ต้องขอกราบขออภัยนะครับ
ที่ผมเข้าใจผิดคิดว่า ใบชะพลู
กับ ใบพลู เป็นชนิดเดียวกันครับ

ส่วนในรูป นั่นคือวง พรู
ผมจิ๊กมาจาก
 http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3170456/A3170456.html
ครับ ไม่เกี่ยวกับหมากพลูแต่อย่างใด

พอดีผมพบลิงค์นี้ ก็เลยนำมาฝากครับ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=26909  


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 06, 10:18
 เคยเขียนบทความเกี่ยวกับหมากเอาไว้ ชื่อ ชานพระศรี ดูเหมือนว่าเว็บวิชาการยังไม่ได้เอามาจัดใหม่  หรือจัดแล้วแต่หาไม่เจอ
ไปค้นมาได้จากกูเกิ้ล
เลยลอกมาให้อ่านกัน  ถ้ายังไม่ได้ทำ  ก็ขอฝากคุณบัวอื่นทำบทความใหม่ด้วยค่ะ

ชานพระศรี

เทาชมพู

    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่องคาวี มักประทับอยู่ที่ช่องตรงระเบียงอัฒจันทร์พระมหามนเทียร โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเข้าเฝ้าเป็นประจำ ทรงอ่านพระราชนิพนธ์ให้ฟังพร้อมทรงถามความคิดเห็น

    เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสวยพระศรี(หมาก) ก็มักจะหยิบพิมเสนในเครื่องพระศรีมาเติมให้ แล้วพระราชทานชานพระศรีนั้นให้พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นเคล็ดว่าจะได้ถ่ายทอด พระปรีชาชาญให้ติดไปด้วย

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎผนวชตลอดรัชกาล ก็ได้พระราชทานชานพระศรี ให้นายเพ็ง ข้าหลวงเดิมที่ทรงพระเมตตาดุจบุตรบุญธรรม ทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นความรู้แก่ข้าหลวงเดิมผู้นี้ ทั้งประวัติศาสตร์และคติสอนใจหลายต่อหลายเรื่อง

    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเพ็งก็ได้เลื่อนยศตำแหน่งในราชการเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุด บั้นปลายชีวิตได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

    เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเล่าพระราชทาน เจ้าพระยามหินทรฯ จดจำไว้นำมาแต่งเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ "ชานพระศรี" มีทั้งคติสอนใจเรื่อง "ความสามัคคี" ลิลิตคำโคลงเรื่องพงศาวดารฝรั่งเศส บทความเรื่อง "ติณชาติและรุกขชาติ" และนิทานเรื่อง "ขรัวเต๊ะ" ซึ่งสนุกมากค่ะ จึงขอเก็บความมาเล่าให้ฟัง สลับบทกลอนที่เป็นฝีปาก เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านเอง

จะกล่าวถึงขรัวเต๊ะคนเกะกะ
สาธุสะแสนอุบาทว์ใจอาจหาญ
อยู่วัดสองพี่น้องบ้านคลองตาล
เป็นสมภารนอกบรรทัดอาลัชชี
ต่อหน้าคนทนทำสมถะ
วางจังหวะว่าเป็นกูไม่สูสี
เรียนโกหกยกตนเป็นคนดี
ไม่รู้ทีก็นับถือว่าซื่อตรง

    อลัชชีขรัวเต๊ะพระมีลูกวัดอยู่อีก ๑๗คน เสเพลกินเหล้าเมายาพอกัน รวมหัวกันหลอกลวง ชาวบ้านมานาน ๑๕-๑๖ ปี ไม่มีใครจับได้ จนมาวันหนึ่งลูกน้องอยากตั้งวงโจ้เหล้าเต็มแก่ แต่ขาดของแกล้ม ก็มากราบกรานขอสมภารให้ช่วยไปหามาให้ สมภารก็บอกว่าได้ ว่าแล้วก็ออกจากวัดตรงไปหาชาวบ้าน ออกอุบายปั้นเรื่องขึ้นมาว่า เมื่อคืนเทวดามาเตือนว่า จะเกิดฟ้าผ่าเกิดไฟไหม้ชาวบ้านตายกันเรียบ แต่ตัวแกมีวิชาจะช่วยให้รอด ต้องล้มหมูหาไก่เป็ดพร้อมเหล้ามาเป็นเครื่องบัตรพลี ชาวบ้านฟังก็ขวัญบิน เชื่อถือสมภารรีบจัดหามาให้ ขรัวเต๊ะก็หลอกอีกว่า คืนนี้จะวงสายสิญจน์รอบวัด ๓ ชั้น เพื่อทำพิธี แต่สายสิญจน์นี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครเผลอล้ำเส้นเข้ามาจะกลายเป็นคนบ้าคลั่ง คุ้มดีคุ้มร้าย จึงขอให้ชาวบ้านทุกคนระวังตัวเก็บตัวอยู่ในบ้านอย่าเฉียดเข้ามาใกล้วัด เป็นอันขาด

    มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนายสอน มัวแต่ไปนอนเฝ้าห้างในไร่มาหลายวันไม่รู้เรื่องนี้ คืนนั้นกลับบ้านผ่านมาทางวัดได้ยินเสียงขี้เมาเอะอะเฮฮากันก็สงสัยว่าใครมาทำอะไรในวัด จึงย่องเข้าประตูวัดไปแอบดู ก็เห็นสมภารและลูกวัดทั้งหลายกินเหล้าเมาหยำเปกันครึกครื้น

หยิบกับแกล้มแถมเหล้าเมาออกเซอะ
พูดเลอะเทอะทั้งประทัดตุหรัดตุเหร่
บ้างรำฟ้อนอ่อนคอเสียงอ้อเอ
หัวเราะเฮฮาลั่นสนั่นไป

   นายสอนตาลีตาเหลือกกลับบ้านไปบอกเมียพ่อตาแม่ยาย พวกนั้นฟังแล้วก็นึกถึงคำสั่ง ของขรัวเต๊ะได้ ก็แน่ใจว่าลูกเขยล้ำเส้นสายสิญจน์เข้าไป ถึงเสียสติมองเห็นภาพหลอน จึงห้ามปรามไม่ให้คิดมาก เกิดทะเลาะกันใหญ่จนนายสอนเบรกแตก อาละวาดว่าไม่มีใครเชื่อ ชาวบ้านอื่นๆก็ยิ่งเห็นจริงว่าบ้าแน่ ก็เลยช่วยกันจับนายสอนมัดไว้ พาไปหาสมภาร ขอให้ช่วยรดน้ำมนตร์รักษาอาการ สมภารได้ท่าบอกชาวบ้านว่าให้ทิ้งคนไข้ไว้ที่วัดจะรักษาให้ พอชาวบ้านกลับไปหมดแล้วทั้งสมภารทั้งลูกน้องก็จับนายสอนเฆี่ยนตีจนสาแก่ใจ

    นายสอนตัวคนเดียวสู้ไม่ไหว ทั้งที่แค้นแสนแค้นก็จำต้องปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล ลงกราบสมภารบอกว่าหายบ้าแล้ว รู้แล้วว่าพระทั้งหลายไม่ได้เมา ขอให้ปล่อยตัวกลับบ้าน ไปตามเดิม แต่ใจก็ไม่วายสวดพระเรื่อยไปถึงชาวบ้านรอบตัวที่ไม่รู้เท่าทัน

เป็นเหตุเพราะสัปปุรุษนี้สุดเซอะ
อ้ายพระเคอะทำแค้นแสนสาหัส
ชั่งอัปรีย์ขี้ถังทั้งประทัด  
จับเรามัดไปให้พระนอกประเด็น
ไฉนหนอพ่อแม่แกชั่วโฉด
มาส่งโจทก์ให้จำเลยไม่เคยเห็น
ต้องบิดสรรพกลับร้อนผ่อนให้เย็น
การที่เห็นจะต้องหายคลายเป็นดี
สัจจังจริงกิงฤาอย่าถือเลย
ด้วยของเคยถือกันต้องหันหนี
เห็นสิ่งไรไปเมื่อหน้าอย่าพาที
เราทนดีเขาไม่ได้ไม่ชนะ
บูราณว่าฝนตกขี้หมูไหล
คนจัญไรร้อยบ้านมาพาลปะ
พระตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วไปตามพระ
ต้องจำจำทำแพ้แน่แล้วเรา

    ฝีปากของเจ้าพระยามหินทรฯนับว่าคมคายไม่น้อย เพราะทิ้งท้ายเรื่องนี้ไว้เป็นแบบ ประชดประชันตั้งชื่อว่า "สุภาษิตบิดบดคดในข้อ" แทนที่จะสอนอย่างตรงไปตรงมา อย่างสุภาษิตเรื่องอื่นๆทั่วไป

แม้นผู้ใดใจตรงประสงค์ซื่อ
จนกลับถือสุภาษิตที่บิดสรรพ
ผู้ใดถือซื่อใส่เสียให้ยับ
เอาแบบฉบับนี้แลแลดีนัก
คดีธรรม์นั้นไปขว้างเสียกลางน้ำ
ช่วยกันทำแต่ที่จะอัปลักษณ์
อย่าเป็นผู้รู้คุณการุญรัก
เป็นคนอกตัญญูจะดูดี
ใครโอนอ่อนผ่อนผันอย่าหันหา
ช่วยอิจฉาฉ้อฉลให้ป่นปี้
เขาเกลียดฤาถือว่ากลัวแลตัวดี
ความอัปรีย์เมื่อไรเอาไหนมา
แอบทำชั่วเล่นลับๆจับใครได้
ลูกเมียใครเร่งรักให้หนักหนา
น้ำท่วมเกลือเหลือล้ำอย่านำพา
ใครนินทาวุ่นวายอายไปเอง
.....................................................

อย่าหลงถือซื่อสัตย์มักขัดสน
จงคิดกลให้ได้ดังหนึ่งกังหัน
ลมพัดกล้ามาทางไหนไปทางนั้น
หมุนให้มันรอบตัวกลัวทำไม
แม้นมีมิตรแล้วจงคิดทำลายล้าง
ตัดหนทางโกงเจ้าเอาแต่ได้
สละซื่อถือดังนี้ดีสุดใจ
อย่าเลือกหน้าว่าผู้ใดใส่ให้พอ

.....................................................

คนโน้นจิตคิดเห็นเป็นเช่นนั้น
คนนี้ผันผิดอย่างต่างกระแส
ร้อยคนร้อยอย่างล้วนคิดปรวนแปร
ไม่เที่ยงแท้หูมนุษย์สุดแต่ใจ
ที่คนดีก็ไม่มีระวังหวาด
มีแผลบาดบ้างก็แคลงระแวงไหว
เหมือนไก่ปล่อยร้อยพันสนั่นไป
ตัวไหนไข่ก็กระต๊ากหากจะเป็น
ซึ่งวิสัยธรรมดาสุภาษิต  
ก็ต้องคิดแคะไค้ออกให้เห็น
สิ่งดีชั่วกลั้วกันไปมิได้เว้น
ต้องชี้เช่นสาธกยกออกมา

************************************


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 18 ส.ค. 06, 17:50
ขออนุญาตลงกาพย์เห่เรือว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ครับ
๏หวนเห็นหีบหมากเจ้า    จัดเจียน มาแม่
พลูจีบต่อยอดเนียน            น่าเคี้ยว
กลี่กล่องกระวานเขียน         มือญี่ ปุ่นเฮย
บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว                ลอบให้เหลือหาญ ๚
     ๏หมากเจียนเจ้างามปลอด   พลูต่อยอดน่าเอ็นดู
กระวานอีกกานพลู                  บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ
      ๏เช็ดหน้าชุบน้ำอบ           หอมตรลบดอกดวงมาลย์
บังอรซ่อนใส่พาน                    ส่งมาให้ไม่เว้นวัน
       ๏เดือนสามสำเภามา                 มีใบชาชาติจุหลัน
ถ้ำคู่อยู่เคียงกัน                       กับให้เห็นเป็นปริศนา
       ๏เดือนห้าหน้าร้อนจัด        เจ้าให้พัดด้ามจิ้วมา
เรื่องร้อนผ่อนเพทนา                เพื่อพนิดาไม่ละเลย
       ๏คำนึงถึงเดือนหก            ทั่วทายกตามโคมเคย
งามนุชสุดพี่เอย                      ได้เห็นกันวันบูชา
       ๏เดือนแปดวันเพ็ญเจ้า      ย่อมไปเข้าพระพรรษา
รับศีลอย่างสีกา                       ด้วยเจตนาจำนงใจ
        ๏เห็นนวลครวญครุ่นคิด    กำเริบจิตวาบหวั่นไหว
ไปได้ก็จะไป                           โอบเอวอุ้มพุ่มพวงพยุง
        ๏ยามฝนดลเดือนสิบ        เริ่มข้าวทิพย์เจ้าจะหุง
หาของต้องการปรุง                   มุ่งใจจิตประดิษฐ์ประดอย
        ๏เดือนสิบเอ็ดเด็ดแดดิ้น    ยามกฐินทุกวันคอย
เห็นเรือไล่ถี่ซอย                       กลอยกลับเห็นเช่นแรกสม
        ๏คิดรูปน่ารักเหลือ            คิดนุ่มเนื้อน่าชมเชย
คิดเนตรขำค้อนคม                     ผมหอมชื่นรื่นรสคนธ์
         ๏ฤดูเดือนสิบสอง             หญิงชายซ้องแซ่อึงอล
ขึ้นล่องท่องเที่ยวชล                   ยลผ้าป่าราตรีกาล
         ๏เซ็งแซ่เสียงเภรี             ปานเรียมตีทรวงประหาร
พาทย์ฆ้องก้องกังวาน                 สารดุจน้องร้องเรียกเรียม
          ๏ทุกลำลอบเล็งลักษณ์    ไม่พบพักตร์เจ้างามเสงี่ยม
ดูไหนไม่เทียบเทียม                   ร่วมรักเรียมรูปร่างรัด
           ๏เดือนยี่พิธีพญา            โยนชิงช้าชนแออัด
สาวหนุ่มกำหนดนัด                     ทัศนาแห่แลหากัน
           ๏เรียมเตร่ตรวจทุกช่อง    ไม่เห็นน้องเนื้อนวลจันทร์
ว้าวิ่นดิ้นแดดัน                            หันเห็นท่าชิงช้าโยน
           ๏เชี่ยวชาญกระดานต้น     โยกเยกยลคนหกโหน
ถือท้ายกายอ่อนโอน                    โดนคิดได้ดั่งใจถวิล
           ๏แรมค่ำร่ำไห้หวน            แห่อิศวรย่ำยามยิน
เคยเห็นเป็นอาจิณ                        ช้าหงส์เห่เล่ห์ลมพราหมณ์
           ๏โอมอวดสวดสำเนียง       ไม่เหมือนเสียงนางนงราม
ล้ำเลิศเฉิดโฉมงาม                        ยามเย็นเช้าเจ้าอ่านฉันท์
           ๏อ่อนหวานสารเสนาะ        เพราะอักษรกลอนพาดพัน
แจ้วเจื้อยใจจาบัลย์                        ทุกวันหวังฟังเสียงสมร
           ๏ห้าค่ำย่ำยามปลาย           แห่นารายณ์เร่งอาวรณ์
อยู่ใกล้จะใคร่จร                           ไปรับเจ้าเคล้าคลอมา
           ๏เดือนแรมเหมือนเรียมค้าง  เรื่องรักร้างแรมขนิษฐา
แรมรสแรมพจนา                           แรมเห็นหน้านิ่งนอนแรม ๚๛


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 06, 09:15
พระราชนิพนธ์ที่คุณศรีปิงเวียงยกมา   หวานมากค่ะ
*****************
มนต์ขลังของวัฒนธรรมหมาก เริ่มเสื่อมลงเพราะวัฒนธรรมไร้หมากของตะวันตก รุกคืบคลานเข้ามาแทน
ที่จริงก็เริ่มมาหลายอย่างแล้ว เมื่อสยามตัดสินใจว่าจะต้องไม่ทำให้ฝรั่งเห็นว่าป่าเถื่อน      
ขุนนางไทยในรัชกาลที่ ๓ นุ่งแต่ผ้า  ไม่สวมเสื้อเข้าเฝ้า  ยกเว้นหน้าหนาวที่หนาวจนขนลุก  ทนถอดเสื้อนั่งท่อนบนเปล่าๆไม่ไหว     แต่ในยุคต่อมาก็ต้องสวม
ที่เคยหมอบเฝ้า  ก็ต้องเปลี่ยนเป็นยืน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรป    นอกจากแต่งพระองค์อย่างฝรั่งแล้ว   อย่างหนึ่งคือต้องขัดพระทนต์ให้ขาว และงดเสวยหมาก
เพื่อจะกลมกลืนไปกับประมุขนานามหาอำนาจได้

เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ที่บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับมาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าไม่เสวยหมาก    คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็เริ่มไม่กินหมาก    ตั้งแต่เจ้านายลงไปถึงสามัญชน
เพราะหมากไม่เข้ากับความงามตามแบบตะวันตก   ฟันขาวถึงกลายมาเป็นค่านิยมใหม่แทนฟันดำอย่างเมื่อก่อน


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 06, 09:24
 สมัยที่กินหมาก   กวีชมริมฝีปากของนางงามว่า  โอษฐ์เอี่ยมเทียมสีลิ้นจี่จิ้ม
ก็คือสีแดงแก่
แต่มาถึงรัชกาลที่ ๖  ในพระราชนิพนธ์  ศกุนตลา ทรงชมว่า
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน

ใบไม้อ่อนในที่นี้ไม่ใช่สีเขียว  แต่ใบไม้บางชนิดอย่างใบมะม่วงอ่อน เป็นสีชมพูเรื่อๆ ก่อนจะกลายเป็นสีเขียว
แสดงว่าค่านิยมในตอนนั้น   สาวๆที่ไม่ได้ทาปากและไม่ได้กินหมาก  ปากเป็นสีชมพูธรรมชาติแล้ว

ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ โจงกระเบนเริ่มหายไปจากแฟชั่นหญิงสาวนำสมัย    กลายเป็นผ้าซิ่น ตามพระราชนิยม     ผมบ๊อบแบบฝรั่งเข้ามาแทนที่ผมเสยด้วยขี้ผึ้ง
ในตอนปลายรัชกาลที่ ๖ นี้เองที่แม่พลอย ผู้เป็นคุณหญิงบทมาลย์บำรุงไปแล้ว   ต้องปล่อยผมให้ยาวเพื่อเกล้ามวย   เปลี่ยนจากโจงกระเบนเป็นนุ่งผ้าซิ่น    และที่สำคัญคือขัดฟันให้ขาว
ถึงยังกินหมากอยู่ก็จะต้องไม่ปล่อยให้ฟันดำเหมือนเมื่อก่อน  ต้องหมั่นขัดหมั่นแปรง


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 ส.ค. 06, 20:54
วันก่อนไปวัด พอดีเห็นป้าเข็นรถหมากมาขายเลย นำมาฝากอาจารย์ค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 ส.ค. 06, 20:58
ป้าคนขายถามว่าจะเอารูปไปทำอะไร พอบอกว่าจะนำไปลงเวปให้เพื่อนๆดู   ป้าแกใจดี ผ่าลูกหมากให้แถมยังบอกอีกว่า งั้นต้องเอาแบบผ่าให้เห็นเนื้อด้วยเลยได้รูปนี้มาค่ะ((แถมป้าแกยังจัดแจงวางลูกหมากให้เสร็จบอกว่าต้องถ่ายเทียบกันอย่างนี้))....ขอบพระคุณค่ะ คุณป้า..

.


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 ส.ค. 06, 21:00
อันนี้ก็ไอเดีย สุดเจ๋ง ของคุณป้าผู้อารีอีกเช่นกัน

.


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 06, 09:08
 ขอบคุณคุณตูก้าและป้าผู้ใจดีค่ะ  รูปถ่ายออกมาสวยจริงๆ  เว็บต้นไม้หรือเว็บเกษตรน่าจะมาขอสองรูปนี้ไปประกอบเรื่องหมาก

ทบทวนจากวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ ว่าเรื่องไหนตัวละครกินหมากกันบ้าง
นึกถึงงานของ"ดอกไม้สด" ในเรื่องสั้นยุคแรกๆของเธอ   มีพระเอกคนหนึ่งกินหมากปากแดง
แต่พอล่วงมาถึงงานยุค ๒๔๗๐- ๗๕   พระเอกนางเอกที่เป็นหนุ่มสาวทันสมัยไฮโซ  ไม่มีใครกินหมากกันสักคน
เลยไม่มีบทอ้อนอย่างคุณเปรมอ้อนแม่พลอยให้เจียนหมากให้กิน
ตัวละครที่กินหมาก เหลือรุ่นพ่อแม่    อย่างใน "หนึ่งในร้อย" แม่พระเอกกินหมาก   แต่พระเอกนางเอกขับรถ  ไปกินเลี้ยงที่ราชวงศ์ จัดงานเต้นรำที่บ้าน ฯลฯ  กิจกรรมเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพคนกินหมาก


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 06, 09:28
 วัฒนธรรมหมากต้องถดถอยหลีกทางให้วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ จนรัชกาลที่ ๗  
แต่ก็เป็นผลที่เห็นในบรรดาคนชั้นสูง มากกว่าชั้นกลางหรือระดับล่าง
พูดอีกทีว่าชาวบ้านร้านถิ่นยังกินหมากกันอยู่ทั่วไป มาจนกระทั่งรัชกาลที่ ๘
ก็เกิดการ "ปฏิวัติล้มล้างหมาก" ขึ้นมาในพ.ศ. ๒๔๘๒

ขอเชิญอ่านบทความ "ยุคไม่ขำ" ด้วยค่ะ
 http://vcharkarn.com/reurnthai/no_joking.php

รัฐได้ประกาศตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับวัฒนธรรมการกินหมาก   เริ่มด้วยการชักชวนให้ทหารเลิกกินหมาก  เป็นกลุ่มแรก  ขอลอกมาให้อ่านกันนะคะ

เรื่อง  ชักชวนให้เลิกการรับประทานหมาก

ด้วยกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า การรับประทานหมากนั้น  นอกจากไม่มีประโยชน์ในทางอนามัยแล้วยังทำความเปื้อนเปรอะสกปรกตามสถานที่โดยไม่สมควร  
และยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้ว  ชนชาติไทยสมควรจะทำตนให้เป็นประชาชาติที่ถึงแล้วซึ่งวัฒนธรรมเท่าเทียมกับอริยชนชาติที่เจริญแล้ว  
จึงเป็นการสมควรที่จะเลิกรับประทานหมาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการกลาโหม   ควรจะเลิกอย่างเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป
เพราะฉะนั้น  จึงขอชักชวนให้บรรดาข้าราชการกลาโหมทั้งหลายงดเว้นการรับประทานหมากเสียตั้งแต่บัดนี้

(ลงนาม) พิบูลสงคราม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ศาลาว่าการกลาโหม พระนคร
๓๑ ส.ค. ๘๒

การที่รัฐบาลเลือกกลาโหมเป็นแกนนำในการเลิกกินหมาก ก็เห็นเหตุผลชัดๆ  คือทหารมีระเบียบวินัยมากกว่าพลเรือน  คำสั่งแบบนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการได้ทันที  
พอคำสั่งออกมา   หมากก็ย่อมหายวับไปจากปากทหารทุกระดับ

ถึงแม้ใช้คำว่า "ชักชวน" ก็เป็นเพียงเปล่งเสียงอย่างนิ่มนวลเท่านั้นเองละค่ะ    เพราะมีคำว่า "ควรจะเลิกอย่างเด็ดขาด" กำกับอยู่แล้ว ให้รู้ว่านี่คือคำสั่ง

หมากพ่ายแพ้ยับเยินในสมรภูมิแรก- กระทรวงกลาโหม ในปี ๒๔๘๒


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 24 ส.ค. 06, 12:51
 ตูก้า คิดว่า ในสมัยนั้นตอนแรกๆ หลังจากที่มีคำสั่ง พอบรรดานายทหารกลับไปถึงบ้าน  อย่างแรกที่ทำคือต้องร้องเรียกหา เชี่ยนหมากก่อน อย่างอื่นแน่ๆเลยค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 24 ส.ค. 06, 14:16
 ท่านสั่งแล้วไม่สั่งเปล่านะครับ

เจ้าหน้าที่ต้องไปตัดต้นหมากต้นพลูกันจนหมดเกลี้ยง  บ้านเรือนถึงแม้จะอยู่กลางทุ่งกลางป่าไกลๆ ก็ไม่รอดหูรอดตา  เพราะเป็นคำสั่งของท่านผู้นำดั่งท่านอาจารย์แนบไว้ครับ

เป็นตำนานที่คนกินหมากยุคนั้นจำได้ไม่ลืมเลือน




แล้วจะขอเล่าอะไรให้ฟังอีกสักเรื่องหนึ่ง
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจค้นต้นหมากต้นพลู  ท่านก็ได้เจออะไรอีกเป็นผลพลอยได้ด้วยหลายอย่าง  มีอย่างหนึ่งที่ได้เห็นแล้วสะกิดใจท่านก็คือ

มีชายสูงอายุท่านหนึ่งในหมู่บ้าน  ท่านเกิดปี ๒๔๓๒  ขณะนั้นที่ไปสำรวจท่านจะอายุเท่าไรไม่รู้  แต่รู้ว่าแก่แล้ว  ท่านมีความผิดปกติอย่างหนึ่งคือตัวเตี้ย  เรียกง่ายๆ ว่าคนแคระ  เหมือนกับตัวตลกชื่อดังผัวเมียที่เป็นข่าวนั่นแหละครับ  เจ้าหน้าที่ก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง  บอกว่าเอาไว้ไม่ได้แล้ว  จะเสียพันธุ์  ก็เอาท่านมาออกยืนกลางลานหน้าบ้านคนเดียว  และจะเป่าด้วยลูกปืน  ก็ต้องขอร้องกันยกใหญ่  ให้มีความเมตตา  ก็ถือว่าโชคดีที่การห้ามปรามเป็นผลสำเร็จ

ตอนนั้นท่านมีลูกแล้ว ๓ คน  ได้รับยีนเด่นจากท่านด้วยกันทุกคน  บรรดาลูกทั้งหมดได้วิ่งซอยเท้าหลบหนีหน้าท่านข้าราชการผู้รักชาติบ้านเมืองกลุ่มนั้นอย่างไม่คิดชีวิต


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 24 ส.ค. 06, 18:01
 เรียน ทุก ๆ ท่าน ที่เคารพครับ
ผมจำได้ว่า สมัยก่อนบ้านเราเคยเป็นเมืองที่ปลูกหมากพลูได้มาก ๆ แห่งหนึ่ง
แต่ด้วยเหตุการณ์ที่ อ.เทาชมพูและคุณนิคได้เล่ามา หมากพลูก็เลยเป็นอย่างที่เห็นครับ

ข้อที่น่าคิด (นอกจากเจ้าหน้าที่ท่านจะตัดหมากพลูจริง ๆ แล้ว) คือ
1. บรรดาผู้ติดหมากจะทำอย่างไร? เคี้ยวเมี่ยง? หมากฝรั่ง?
2. แม้เจ้าหน้าที่จะตัดจริง แต่ด้วยความที่หมากยังมีอยู่ น่าสงสัยเหมือนกันว่ารอดหูรอดตาไปได้อย่างไรครับ
3. เรื่องขัดฟัน น่าคิดครับว่าสมัยนั้นมีผงขัดฟันหรือไม่ หรือใช้ไม้ขัดฟัน? ใบข่อย? ครับ

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณในคำชมเชยของ อ.เทาชมพู,รูปหมากแห้ง-สด-ผ่าซีก ของคุณตูก้า และความรู้เสริมของสมาชิกท่านต่าง ๆ นะครับ
ป.ล. ลูกของชายแคระน่าจะได้ยีนเด่นจากแม่มากกว่าครับ ตัวจึงไม่ได้แคระตามชายแคระผู้นี้ครับ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 ส.ค. 06, 08:28
 ปล.ของคุณศรีปิงเวียง
ยีนเด่นที่ได้รับ  คือยีนที่ส่งเสริมความเตี้ยของเขาครับ
ความเตี้ยก็ถือว่าเป็นเรื่องเด่นได้เหมือนกัน  ทำให้เด่นดังไง
ผมจึงใช้ว่าวิ่งซอยเท้าหนีกันยิกๆ


เห็นรูปหมากที่คุณตูก้านำมาแสดง  ก็นึกขึ้นมาได้อีกอย่าง
คนเรานะ  ความหลังเยอะ  ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก  ประสบการณ์ยิ่งเยอะธรรมดา

ผู้สูงอายุบ้านใกล้เรือนเคียงที่ผมพอรู้จัก  มีสองคนครับที่ชื่อว่า "หมากดิบ"
ก็งงเหมือนกันว่าเก๋กันยังไงถึงได้ใช้ชื่อนี้
เพิ่งมารู้แจ้งเมื่อเห็นภาพของคุณตูก้า
เพราะ "หมากดิบ" มีความงามอย่างนี้นี่เอง
ยิ่งเมื่อนำมาถ่ายเปรียบเทียบกับ "หมากแห้ง" แล้ว  ความงามยิ่งเหินห่างกันอย่างชัดเจน


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 06, 09:50
 เมื่อชนะศึกครั้งแรกที่กระทรวงกลาโหมแล้ว  รัฐบาลก็รุกคืบต่อไปถึงกระทรวงอื่นๆ   "ชักชวนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เลิกรับประทานหมาก จง ทั่วกัน"

หลักฐานเห็นได้จากหนังสือราชการฉบับนี้ค่ะ

ที่ น. ๑๐๐๔๐/๒๔๘๒
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๒๕ มกราคม ๒๔๘๒

เรื่อง ชักชวนให้เลิกรับประทานหมาก
จาก  เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ถึง    นายกรัฐมนตรี

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๒๔ เดือนนี้ ว่า เนื่องจากมีผู้รับประทานหมาก และบ้วนน้ำหมากลงบนพื้นถนนคอนกรีต  และตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เปื้อนเปรอะสกปรก แลดูไม่งดงาม  
โดยเหตุที่สาธารณสถานต่างๆย่อมเป็นที่ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน
จึ่งควรที่ประชาชนทั้งหลาย จักต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่ดั่งกล่าวไว้เสมอ   ประดุจเป็นของตนเองโดยแท้จริง
และอีกประการหนึ่ง ในสมาคม จะเป็นส่วนตัว หรือราชการก็ตาม   เห็นว่าการรับประทานหมากย่อมเป็นที่น่ารังเกียจอีกด้วย
ฉะนั้นเพื่อความเรียบร้อยและประโยชน์โดยทั่วๆไป   จึงลงมติให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ แนะนำชักชวนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เลิกรับประทานหมากจงทั่วกัน
จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(ลงนาม) ทวี บุณยเกตุ
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ลงนามแทน


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 06, 10:03
 คำสั่งห้ามกินหมาก ทำกันแข็งขันมาก  จะเรียกว่ารณรงค์ก็ไม่เชิง เรียกกันตรงๆว่าห้ามนั่นละค่ะ
ทำกันถึงขั้นโค่นต้นหมาก ต้นพลูของราษฎร  หมดไปเยอะแยะ   ที่มีเกร็ดเล่าคือมารดาของจอมพลป. ก็เป็นเจ้าของสวนหมากสวนพลูเหมือนกัน   ลูกชายต้องไปขอให้แม่เลิกขาย
หมากพลูต้องหลบเข้าไปเป็นสินค้าในตลาดมืด    แอบขายกันราวกับขายยาบ้าสมัยนี้    เพราะราษฎรที่ถูกหักดิบกะทันหันไม่ให้กินหมาก ยังทำใจไม่ได้    
เมื่อถูกบังคับไม่ให้กิน   ก็ต้องแอบกิน  หมากพลูกลายเป็นของหายาก ราคาแพง  ต้องส่งซิกกันระหว่างคนขายกับคนซื้อที่รู้แหล่งโดยเฉพาะ
ใครยังกินอยู่ก็ต้องแอบกินอยู่ในบ้าน  ห้ามออกนอกบ้านให้ตำรวจเห็น  มิฉะนั้นอาจจะโดนจับ  ยิ่งบ้วนน้ำหมากยิ่งไม่ได้เลย

ตอบคุณศรีปิงเวียง  ดิฉันได้ยินมาเรื่องขัดฟันว่าเขาขูดคราบหมากที่จับฟันออกก่อนค่ะ
แล้วก็แปรงให้สะอาด เพื่อให้หมดคราบแดงๆตามซอกฟัน
แม่พลอยตอนขัดฟัน  ขัดทั้งวันให้คราบหมากที่จับฟันจนดำสนิทหลุดออกไป  ผลคือขัดได้เฉพาะซี่หน้าเท่านั้น    แสดงว่าจับแน่นจริงๆ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 25 ส.ค. 06, 21:25
 พูดถึงสีของฟันผู้ที่กินหมากเป็นประจำนั้น   ตูก้า จำได้ว่าทั้งคุณตา และ คุณยาย กินหมากทั้งคู่ ตอนเป็นเด็ก ก็จะชินกับสีฟันที่ดำสนิท ของท่าน และบรรดาเพื่อนๆของท่าน   ดูแล้วไม่รู้สึกแปลกเพราะเห็นมาตั้งแต่จำความได้แต่พอมาในบั้นปรายชีวิตของท่านทั้งสอง  ได้ป่วยเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  โดยเฉพาะคุณยายเข้า ออกโรงพยาบาลอยู่หลายปี ทำให้ต้องอดหมากไปโดยปริยาย  ตอนท่านเสียชีวิตฟันท่านเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวแล้ว มีความรู้สึกว่าท่านป่วยหนักเพราะดูสีหน้าท่านซีดเซียวลงไป  อาจเนื่องจากสีฟันที่เปลี่ยนไปก็ได้ ทำให้ ตูก้า รู้สึกเช่นนั้น


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 06, 21:35
 ชื่อตูก้า หรือทามะ กันแน่คะ?
เป็นหญิงหรือว่าชายกันแน่?
***********************
หนูคิดว่าหนูเด็กกว่าอาจารย์มากๆแค่เลข4ต้นๆหนูอ่านกระทู้ท่านอาจารย์มากพอสมควรแอบอ่านของแฟนและหนูก็ชอบมากๆเลยสมัครสมาชิกเองสะเลยแต่ใฝ่รู้อ่านและหน้าติดตามมากแต่ชอบเป็นพลังเงียบสะมากกว่าแต่ต่อไปคิดว่าต้องแสดงความคิดเห็นบ้างสะแล้ว แต่ก่อนอื่นขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยคนนะคับ

โดย: ทามะ  [IP: 124.120.204.44]


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 25 ส.ค. 06, 21:37

โอย............ กรรมจริงเลย ตูก้า ดันไปพิมความเห็นเพิ่มเติม ในช่องล๊อคอินของ คนที่บ้าน โดยลืมดูชื่อก่อน เพราะเปิดค้างไว้ตอนไปทำกับข้าว  กลับมาก็ก้มหน้าก้มตาพิมพ์ไป ......เฮ้อ....      


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 25 ส.ค. 06, 21:42
 ตูก้า ชื่อนี้จริงค่ะ รายละเอียดที่กรอกตอนสมัครก็เรื่องจริงค่ะ อาจารย์ ชื่อ ทามะ เป็นของคนที่บ้านค่ะ เพราะตูก้าบอกพี่เขาเองว่า ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นต้องสมัครแล้วเข้ามาโดยชื่อของตัวเองค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ส.ค. 06, 02:21
 สนุกจังค่ะ เรื่องหมากๆ อ่านแล้วคิดถึงบรรพบุรุษ
ตอนเล็กๆ ชอบตำหมากให้คุณยายค่ะ
ดิฉันชอบเลือกพลูใบสวยๆมาทาปูน
หยิบหมากสองสามชิ้นวางแล้วก็ม้วนส่งให้ท่าน
เห็นฟันดำๆ น่ารักดี
ตะบันหมากก็ชอบเอามาเล่น สวยดีค่ะ
ประโยชน์ของหมากนึกไม่ออก
แต่ปูน ไว้ป้ายเวลาถูกยุงกัด
คนชอบหมากสุดท้ายในครอบครัวที่เพิ่งจากไปคือคุณป้า
ที่ยังเคี้ยวหมากอยู่
ดูเหมือนจะเป็นความสุขของคนสูงอายุ
อีกแบบหนึ่งนะคะ..
รูปที่ลง เป็นหมากที่ยังมีขายอยู่ที่ตลาดบางน้ำผึ้งค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ส.ค. 06, 02:24
 ภาพนี้ค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ส.ค. 06, 02:25

ขออีกทีค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ส.ค. 06, 04:40
 หมดคนรุ่นเราๆ แล้ว ก็คงไม่มีใครรับประทานหมากพลูกันเป็นแล้วนะครับ คิดแล้วก็เศร้าใจ ดีที่คนรุ่นปัจจุบันยังได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่เคี้ยวหมากกันอยู่บ้าง แต่วันข้างหน้าก็คงต้องศึกษาเอาจากตำราหรือภาพถ่ายที่คนรุ่นนี้ทำไว้ เพราะคนขายหมากพลูก็คงหมดไป ในเมื่อไม่มีอุปสงค์

นำภาพ "พานพระขันหมาก" คือพานพระศรี (หมาก) สำรับที่เป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ และ "พระสุพรรณศรี" คือ กระโถนเล็ก สำหรับทรงบ้วนพระโอษฐ์ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มาให้ชมกันครับ

แม้พระมหากษัตริย์จะเลิกเสวยพระศรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา แต่ก็ยังเป็นราชประเพณีที่จะทอดพานพระขันหมาก หรือพานพระศรี ไว้ข้างพระราชอาสน์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ ตราบจนปัจจุบันครับ

ในซองพระศรียังมีพลูจีบ และในมังสี ก็ยังมีหมากสดฝานบรรจุอยู่ครบถ้วน หากโปรดจะเสวยขึ้นมาจริงๆ ก็มีเครื่องพระศรีพร้อมสรรพอยู่ในพานพระขันหมากนี้แหละครับ

หากจำไม่ผิด พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเคยลองเสวยพระศรีมาแล้ว และเมื่อทรงพระนิพนธ์เรื่องสั้น ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า "พานพระศรี"


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ส.ค. 06, 04:47
 ขอเล่าความเปิ่นของตัวผมเองให้ฟังสักนิด เรื่องมีอยู่ว่าสมัยเด็กๆ เวลาไปเยี่ยมคุณยายทีไรก็จะเห็นคนเฒ่าคนแก่แถวนั้นกินหมากกันปากแดง แต่หลังๆ มาเมื่อสักยี่สิบปีให้หลัง ตอนคุณยายอายุราวๆ ๗๐ ปี ก็เลิกกินหมาก ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ว่าแล้วก็ต้องไปถาม..

ที่เปิ่นตามประสาเด็กก็คือผมเห็นหมากฝาน สีส้มสวยงามอยู่ในเชี่ยนหมาก ก็ร้องอยากกิน เพราะผมเห็นว่าเป็น "ไข่เค็ม"

จนเดี๋ยวนี้ผมเห็นหมากฝานทีไร ก็ยังนึกถึงไข่เค็มทุกที


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 06, 09:00
 ครั้งแรกที่เคยเดินเข้าไปในตลาดขายส่งของตจว.   เจออะไรคล้ายๆไข่เค็มวางขายอยู่เยอะแยะท่ามกลางลูกไม้เป็นพวงสีเขียวแก่
ยังนึกว่าทำไมเขาเอาไข่เค็มมาขายปนกับลูกไม้  อ้าว มองไปไม่ยักใช่   หมากผ่าซีกน่ะเอง
พอคุณ UP มาเล่าเลยนึกถึงความหลังครั้งนี้ขึ้นมาอีกค่ะ

ที่บ้านมีกระโถนบ้วนน้ำหมากของคุณทวดเหลือไว้เป็นอนุสรณ์  ทำด้วยกระเบื้องขาวเขียนลายมังกร ใบเล็กน่ารัก  คุณทวดคงไม่นึกว่าร้อยปีต่อมา กระโถนบ้วนน้ำหมากจะได้ใส่ตู้โชว์
อีก 100 ปีข้างหน้า ขวดน้ำปลา หรือถ้วยพลาสติคที่เราใช้กันประจำทุกวันนี้ จะกลายเป็นของหายากต้องใส่ตู้โชว์บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้

ย้อนกลับมาถึงสมัยรัฐนิยม
รัฐบาลไทยทำศึกกับหมากแบบตีกระหน่ำไม่ให้ได้ผุดได้เกิด  สื่อของราชการโหมประโคมไม่หยุดยั้ง  เป็นศึกระดับชาติ โปรเจ็คใหญ่เอาการ
นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงนายไพโรจน์  ชัยนาม  เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๖ ว่า

"ทางราชการได้มีคำสั่งให้เลิกกินหมาก    ช่วยติดต่อกับนายแพทย์  ช่วยชี้แจงโทษของการกินหมากอย่างจริงจังบ่อยๆ
และให้ทางสภาวัฒนธรรมช่วยจัดการโฆษณาโทษการกินหมากนี้เป็นการครึกโครมด้วย"


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 06, 09:11
 กรมสาธารณสุขก็ให้ความร่วมมือครึกโครมสมนโยบายของท่านนายกฯ
ประสานงานกับกรมโฆษณาการ  มีคำแถลงออกมายาวเหยียดถึงโทษของการกินหมาก

มันยาวเหลือเกิน พิมพ์ไม่ไหว  ขอสรุปเป็นข้อๆนะคะ
- ฟันดำไม่สวย  กินหมากแล้วหน้าแก่
- อารยประเทศเขาไม่กินหมากกัน  
- สถานที่ต่างๆและเครื่องแต่งกาย จะสกปรกจากคราบน้ำหมาก
- ปากสกปรก เพาะเชื้อโรค
- ปูนกัดปากเป็นแผลได้ง่าย
- ทำให้ปลายประสาทที่ลิ้นชา   กินอาหารไม่เป็นรส  ต้องกินรสจัดให้เป็นโรคกระเพาะได้
- มัวกินหมาก ทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา   ต้องหาของกินจุบกินจิบแทน   เป็นผลให้ไฟธาตุหย่อน
- เป็นต้นเหตุของมะเร็งกรามช้าง

หมากถูกปราบราบคาบไปจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒    ญี่ปุ่นยอมแพ้ฝ่ายพันธมิตร   ต้องถอนกำลังออกจากประเทศไทย
จอมพลป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต่อจากนั้นประชาชนไทยก็ได้ถอดหมวก ถอดรองเท้า นุ่งโจงกระเบนได้ตามปกติ
ใครกินหมากก็ไม่มีใครห้าม    
แต่หมากพ่ายแพ้ในสงครามปราบปรามหมากที่เริ่มจาก ปี ๒๔๘๒ -มาจนถึง ปี ๒๔๘๘ เสียแล้ว   ถึงหมากกลับมาอีกครั้งก็มาอย่างคนชราหมดเรี่ยวหมดแรง  ไม่เป็นที่นิยมในสังคม
มีแต่คนแก่เท่านั้นที่กินหมาก  ส่วนคนไทยรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  โดยเฉพาะคนในเมืองหลวง ไม่นิยมกินหมากกันอีก  เหลือมีอยู่ในต่างจังหวัดไกลๆ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ส.ค. 06, 09:56
 กระโถนที่บ้านคุณเทาชมพูคงเป็นของควรเข้าตู้โชว์แน่นอนล่ะครับ ผมเข้าใจว่าเครื่องกระเบื้องจำนวนไม่น้อยของคนรุ่นคุณทวดในสกุลของใครต่อใครหลายคนในที่นี้ ล้วนเป็นของล้ำค่าควรเข้าพิพิธภัณฑ์

พูดถึงกระโถน..

ยิ่งบ้านไหนนิยมสะสมเครื่องลายคราม หรือเครื่องเบญจรงค์ มาแต่เก่าก่อน แล้วสมบัติเหล่านั้นสามารถตกทอดมายังลูกหลานได้ไม่กระจัดกระจายหายสูญ ยิ่งนับเป็นโชคเหลือเกินของทายาทนะครับ

เคยไปบ้านผู้ใหญ่เคารพนับถือท่านหนึ่ง แล้วผมก็ต้องตาโต เพราะท่านมี "กระโถนวังหน้า" มูลค่ามหาศาลตั้งอยู่ใบหนึ่ง เห็นแล้วอยากจะปิดทอง

ผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านว่าต้องไม่บอกคุณแม่ของท่านว่าของชิ้นนี้มีมูลค่าขนาดไหน ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณแม่ท่านจะนำไปซุกซ่อนในที่ลึกลับเพราะกลัวใครจะมายักย้ายขโมยไป น่าแปลกที่ผู้สูงอายุจะมีวิธีและมีสถานที่ซุกซ่อนข้าวของต่างๆ ได้อย่างลี้ลับมหัศจรรย์ ของนั้นๆ ในที่สุดก็จะไม่มีใครหาเจอ กลายเป็น Holy Grail

เรื่อง "ขวดน้ำปลา" ก็อย่าประมาทไปเชียวนะครับ ขวดน้ำปลารุ่นเราอาจเข้าตู้โชว์ได้ในวันหน้า ไม่น่าแปลกเลย เพราะบัดนี้ ขวดน้ำปลารุ่นคุณปู่คุณย่าได้เข้าตู้โชว์ไปแล้ว

นึกขวดน้ำปลาสมัยก่อนที่เป็นขวดแก้วเจียระไนหยาบๆ มีจุกเป็นแก้วหล่อเป็นรูปทรงกลมบ้าง แหลมๆ บ้าง ออกมั้ยครับ ผมเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีขายตามร้านขายของเก่า เป็นของควรสะสมแล้วครับ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 26 ส.ค. 06, 10:54
 ได้เข้ามาอ่านหมากทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆเวลาไปเที่ยวบ้านเกิดแม่ที่สุพรรณอ่านแล้วคิดถึงยายเพราะไปทีไรจะต้องไปตำหมากให้ท่านกินประจำสมัยนั้นจะแย่งกันตำหมากกะพวกพี่ๆน้องๆที่ใส่หมากตำของยายจะเหมือนกลวยปากใส่หมากกว้างกว่าปากขวดน้ำหน่อยหนึ่งและที่ตำจะยาวมีจุกจับกลมๆเวลาตำถ้าไม่ระวังที่ตำจะตำออกมาโดนมือประจำจะเจ็บตลอดแต่ก็ชอบรู้สึกมีความสึกดีแต่พอโตขึ้นมาก็เคยลองกินหมากเหมือนกันรู้สึกกวาดๆปากดีเพราะปัจจุบันเวลาไปทำบุญให้แม่ผู้ใหญ่เจอกันก็ยังมีกินหมากกันอยู่แต่ปัจจุบันไม่ตำแล้วเคี้ยวกันเลยมองดูรู้สึกว่าพวกท่านมีความสุขคุยไปเคี้ยวหมากไปค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ส.ค. 06, 11:32
 เขาเรียกกันว่า "ตะบัน" หมากครับ คุณทามะ
ก็มีอยู่อันหนึ่ง  แต่เป็นสมบัติของแม่นะครับ  เดิมเป็นของเมียคุณตาร่างแคระที่จะถูกยิงเป้าช่วงข้าราชการผู้รักชาติไปค้นหาต้นหมากพลูใน คหพต.๓๓  นั้นแหละครับ



เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ  นักร้องลูกทุ่งแห่งเมืองสุพรรณ  บ้านเดิมก็ไม่ห่างจากบ้านผมนัก  ร้องไว้ตอนหนึ่งยังติดหูเลยว่า

....... คนแก่ติดหมากลากตะบันออกมาโขลก
เขกหัวล้านดังโป๊ก  ว่าอย่าเอ็ดไปยายจะฟัง .....


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 06, 17:06
 อ้าว พูดเล่นแท้ๆเรื่องขวดน้ำปลา  กลายเป็นเรื่องจริงไปแล้วหรือคะ
ขวดน้ำปลาที่คุณ UP เอ่ยถึง ดิฉันคิดว่าเคยเห็น   เดี๋ยว..ต้องไปค้นในห้องเก็บของก่อน เผื่อหลงเหลือ  จะได้ซุกซ่อนเป็น Holy Grail ประจำบ้านต่อไป

ตะบันหมาก มีตำนานสัมพันธ์กับลิเกดังๆในอดีต    คนรุ่นปู่รุ่นทวดท่าน"อิน" กับลิเกเหมือนเราอินกับละครทีวี
ตัวโกงลิเกฝีมือเก่งๆ เล่นบทโกงได้ร้ายกาจ แกล้งพระเอก ข่มเหงนางเอก จนคนดูเกลียดชังกันทั้งโรง  
ว่ากันว่า อาวุธยอดนิยมที่มักพุ่งจากมือคุณย่าคุณยาย เปรี้ยงลงกลางเวที  ก็คือตะบันหมากนี่ละค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 06, 09:44
 มองในอีกแง่หนึ่ง  ถ้าหากว่าหมากไม่มีอะไรดีเสียเลย   คนไทยก็คงไม่เคี้ยวหมากยืนยาวมาตั้งเจ็ดแปดร้อยปีเป็นอย่างน้อย

ความดีข้อหนึ่งของหมาก เป็นยังไง   มีหลักฐานจากบันทึกของหลวงวิจิตรวาทการ ว่า

" เมื่อข้าพเจ้าได้ออกไปจากพระราชอาณาจักรสยามเป็นครั้งแรก   พอถึงสิงคโปร์ก็รู้สึกประหลาดใจ  ที่เห็นป้ายหมอฟันทันตแพทย์ดื่นดาษ
พอไปถึงเมืองฝรั่งก็แปลกใจเช่นเดียวกัน   เพราะในเวลานั้นเมืองเรายังไม่มีหมอฟันมากมาย
ภายหลังไปได้ความคิดว่าที่ต่างประเทศมีหมอฟันมาก  คงเป็นเพราะเหตุอย่างเดียว  คือเขาไม่รับประทานหมาก
ข้าพเจ้าอยู่ในยุโรปได้หน่อยหนึ่งเกิดปวดฟัน  ไปหาหมอฟัน เขาเอายาใส่   ยาอันนั้นไม่ใช่อื่นไกล  กลิ่นเป็นปูนแท้ๆ
เลยทำให้นึกแน่ว่า   ถ้าข้าพเจ้ายังรับประทานหมากอยู่จะไม่เจ็บฟัน  
คราวนี้พอข้าพเจ้ากลับเข้ามากรุงเทพฯ  ก็แปลกใจอีกครั้งหนึ่งคือ เห็นมีหมอฟันขึ้นมากมายในเมืองไทย
ภายหลังก็ทราบได้ว่าทำไมหมอฟันจึงมีมาก   คือคนไทยเราเลิกรับประทานหมากเสียโดยมากนั่นเอง"

ถ้ากระทู้นี้มีทันตแพทย์ หรือผู้รู้เรื่องฟันแวะเข้ามาตอบข้อนี้ได้จะขอบคุณมาก  ว่าการกินหมากรักษาฟันได้จริงหรือคะ


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 27 ส.ค. 06, 12:08
 ขอขอบพระคุณทุก ๆ ความเห็นครับ
ข้อที่ว่า กินหมากแล้วทำให้ปลายประสาทที่ลิ้นชา นี้ เท่าที่ผมทราบ น่าจะเป็นอาการของลิวโคพลาเคีย ที่พบในคนที่กินของร้อนบ่อย ๆ หรือกินหมากจัด ๆ ทำให้ลิ้นเป็นฝ้าขาวครับ

ที่เหลือ ขอเรียนเชิญสมาชิกมาแบ่งปันความรู้ตามอัธยาศัยครับ
ป.ล. ยีนเด่น = เสริมความเด่นดัง    


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 06, 10:04
 คงมีบางท่านที่อ่านกระทู้นี้แล้งเกิดคำถามกับตัวเองว่า ถ้ารัฐบาลไม่ปราบปรามหมากเสียราบคาบในยุครัฐนิยม    จนทุกวันนี้หนุ่มสาวชาวไทยจะยังกินหมากกันอยู่ เหมือนพม่าหรือไต้หวันไหม

ถ้าถามดิฉัน  ดิฉันเห็นว่าก็อาจมีบ้าง  แต่ถึงยังไง ส่วนใหญ่คงไม่กิน   เพราะอิทธิพลแฟชั่นที่หนุ่มสาวไทยรับมาจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น  ล้วนเป็นสังคมไร้หมาก
นิยมฟันขาว  ผิวขาว  ปากทาลิปสติค  หรือลิปกลอสสีธรรมชาติ
ซึ่งไปกันไม่ได้เลยกับฟันดำและคราบหมาก  ต่อให้มีขี้ผึ้งสีปากทำนองเดียวกับลิปกลอสก็เถอะ
ยิ่งหนุ่มสาวไทยนิยมหน้าตาแบบญี่ปุ่นทั้งชายและหญิง     หมากก็ย่อมไม่มีที่ยืนอีกแล้วในแฟชั่นความงาม
ส่วนเรื่องรักษาฟัน    เราก็มีทันตแพทย์ โภชนาการ และวิธีดูแลฟันอีกสารพัดวิธีโดยไม่ต้องพึ่งพาหมาก
นับเป็นจุดจบของหมากไทยอย่างแท้จริง
**********************
หนังสืออ้างอิง

-ศิลาจารึกหลักที่ ๑
-พระราชนิพนธ์ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด
-พระราชนิพนธ์ อิเหนา
-ชานพระศรี   ของ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
- หนึ่งในร้อย ของ ดอกไม้สด
-ประมวลหลักฐานการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สมัยประชาธิปไตย ของ ส. พลายน้อย


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 28 ส.ค. 06, 13:33
 เห็นด้วยกะท่านอาจารย์เทาชมพูคับผม


กระทู้: วัฒนธรรมหมาก
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 28 ส.ค. 06, 20:28
 ตัวอย่างหนุ่มสาวฟันสีนิล ผู้กินหมาก  

.