เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 17 ต.ค. 10, 14:52



กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ต.ค. 10, 14:52

พันแหลม   แปลจาก 

"His Last Bow: The War Service of Sherlock Holmes"

พิมพ์ครั้งแรก  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๖๑
สมุทรสาร  ปีที่ ๔  ฉบับ ๓๗


เชอร์ล็อค  โฮล์มส์  สำนวนเก่า
ของ
สโมสรหนังสือรหัสคดี
กรุงเทพ  ๒๕๕๓

บทกล่าวนำหน้า ๑๗๘ - ๑๙๒



เก็บความมาจากบทนำ
        ระหว่าง ๒๔๓๖ ถึง ๒๔๔๕  ที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงประทับอยู่ใน ประเทศอังกฤษ

เป็นเวลาเดียวกับที่เรื่อง เชอร์ล็อค โฮล์มส์  ลงประจำในนิตยสาร สแตรนด์ กำลังได้รับความนิยมสูง

จากเดือนละ สองแสนเล่มเป็นครึ่งล้านเล่ม

เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว  พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ นิทานทองอิน  ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร

ทวีปัญญา ระหว่าง ๒๔๔๗ - ๒๔๔๘ เป็นรหัสคดีสั้นจบเป็นตอน ๆ       นิทานทองอินมีอยู่ ๑๕

เรื่อง   พระนามแฝงคือ นายแก้วนายขวัญ

สองใน ๑๕ เรื่องนี้ คือ  ความลับแผ่นดิน มีเค้าโครงมาจาก A Scandal in Bohemia  และ

ระเด่นลันได  มีเงื่อนปมทำนองเดียวกับ  The Man with A Twist Lip



กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ต.ค. 10, 15:02


นอกจากโคนัน ดอยล์แล้ว   เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ยังทรงนำ

The Murders in the Rue Morgue   ของ เอ๊ดการ์ แอลแลน โป

มาดัดแปลงเป็น ผู้ร้ายฒ่าคนที่บางขุนพรหม


       ประพฤติการณ์ของนายทองอิน  รัตนะเนตร์  คัดจนเหลือเรื่องสำคัญ ๑๑ เรื่อง

นำลงใน ดุสิตสมิตในปี ๒๔๖๔  ทุกสัปดาห์เป็นเวลา ๘ เดือน


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ต.ค. 10, 15:15

ทรงตั้งชื่อ  The Last Bow: The War Service of Sherlock Holmes

ออกงานครั้งที่สุด:  ราชการสงครามของเชอร์ล็อก  โฮล์มส์ม

คำว่าออกงาน  แปลว่าออกทำการ

ครั้งที่สุด  เป็นคำเขียนอย่างสมัยโบราณ

bow   หมายถึงการโค้งคำนับ  จึงหมายความว่าการออกโรงทำการครั้งสุดท้าย


     


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ต.ค. 10, 15:23

ตีพิมพ์ในสมุทรสาร ฉบับที่ ๓๗  เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

เป็นหนังสือของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม

ใช้พระนามแฝงว่า พันแหลม



       นับถือ คุณ รัตนชัย  เหลืองวงศ์งาม เลยที่รวบรวมต่อเรื่องได้ถึงปานนี้

ขอแสดงความนับถือไปยังน้าเดช  เรืองเดช  จันทรคีรีด้วย

ท่านผู้อยากอ่านโปรดติดตามในงานหนังสือเทอญ

เล่ามาก  เรื่องจะเซ็งหมด


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 10, 10:08
เคยอ่านแต่ฉบับแปลของอ.สายสุวรรณ ค่ะ
เขาว่าเป็นเรื่องสั้นสุดท้ายที่เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์เขียนถึงยอดนักสืบเอก
เพราะท่านเขียนมานานแล้ว ข้ามศตวรรษมาด้วยซ้ำ จนโฮล์มส์ของคนอ่าน พ้นวัยชายหนุ่มอายุยี่สิบปลายๆ มาเป็นชายวัยหกสิบ เลยต้องลาโรงเสียที

อ่านแล้วเศร้ามากค่ะ ในตอนจบ เมื่อโฮล์มส์และหมอวัตสันคุยกันเงียบๆเป็นครั้งสุดท้าย

(http://imagecache6.allposters.com/LRG/17/1738/3UI3D00Z.jpg)


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 10, 10:21
ดิฉันตั้งใจจะหาตอนนี้มาให้คุณวันดีดูในยูทูป  แต่ไม่มี  มีแต่ The Last Bow ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน 
เลยเอาอีกตอนมาฝากแทน

http://www.youtube.com/watch?v=YqIOW91fCvE&feature=related


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ต.ค. 10, 13:24

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ

สมัยหนึ่งเคยสนใจศัพท์ของโฮล์มส์มาก  คือเข้าของเครื่องใช้
เพราะเป็นศัพท์เก่า  เท่าที่อ่านมาผู้แปลบางคนแปลได้แต่อธิบายไม่ได้  เลยทะแม่ง ๆ ไปบ้าง
และคำสรรพนาม กัน และ แก  ก็ไม่ชอบใช้

ไปเจอคำว่า "ไก"  ใช้แทนผู้หญิงด้วยค่ะ  ใช้สมัยปลายรัชกาลที่ ๓
นายโหมด อมาตยกุลเขียนถึงญาติผู้หญิงคนหนึ่ง

ชอบรหัสคดีอยู่มากเหมือนกัน   ตอนหลัง ๆมีบางเรื่องแปลพลาดอย่างแรงคือมาเฉลยเสียก่อนเรื่องจบ

ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของกลุ่มนักอ่านหนังสือเก่า นักสะสม และเจ้าสำนักพลังฝีมือ
เพราะเป็นคนทำงานจริง  ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา  และเข้าใจว่ามีปทานุกรมของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ใช้ด้วย
เพราะเห็นแสดงความเห็นได้คมแบบนักอ่านมีตำรา
จึงมีนักอ่านนักสะสมเอาหนังสือต้นฉบับไปทิ้งไว้ให้ด้วยความเต็มใจมิได้ขอร้องด้วยซ้ำ




กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 10, 03:29
อ้างถึง
สมัยหนึ่งเคยสนใจศัพท์ของโฮล์มส์มาก  คือเข้าของเครื่องใช้
เพราะเป็นศัพท์เก่า  เท่าที่อ่านมาผู้แปลบางคนแปลได้แต่อธิบายไม่ได้  เลยทะแม่ง ๆ ไปบ้าง
และคำสรรพนาม กัน และ แก  ก็ไม่ชอบใช้

ไปเจอคำว่า "ไก"  ใช้แทนผู้หญิงด้วยค่ะ  ใช้สมัยปลายรัชกาลที่ ๓
นายโหมด อมาตยกุลเขียนถึงญาติผู้หญิงคนหนึ่ง

ชอบรหัสคดีอยู่มากเหมือนกัน   ตอนหลัง ๆมีบางเรื่องแปลพลาดอย่างแรงคือมาเฉลยเสียก่อนเรื่องจบ

อยากฟังคำอธิบายต่อ ว่าข้าวของเครื่องใช้อะไร   และเฉลยก่อนเรื่องจบอย่างไร ค่ะ

ใครสนใจจะแกะรอยที่มาของนักสืบเอก ก็ขอให้ไปที่คลิปนี้

http://www.youtube.com/watch?v=fefxO6W06aU&feature=fvst


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 ต.ค. 10, 08:16
เอาลิงก์มาให้  เชิญท่านทั้งหลายที่สนใจไปโหลดดูได้ตามใจชอบ

http://www.archive.org/search.php?query=His%20Last%20Bow%3A


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 10, 14:12

ต้นฉบับเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ  ที่อัดแน่นในตู้หนังสือจนปกติดกัน

ซื้อมาขากดวงกมลและเอเชียบุ้คเล่มละไม่ถึง ๒๐ บาท   

ยกให้ชมรมไปหมดแล้วค่ะ  เพราะไม่มีที่เก็บ

ไม่อยากให้ตั้งหนังสือล้มทับเหมือนท่านผู้อาวุโสแถวนี้


     เมื่อคุยกันนั้น  เป็นนักแปลที่รู้ภาษาอังกฤษดี  แต่ไม่ใช่นักอ่าน    มีท่านผู้อาวุโสมาชวนคุย

จึงถามไถ่ไต่ถามเอาความจริงกันอย่างสนุก   เฉือดเฉือนกันบ้าง

นักแปลไม่ยอมจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง โฮล์มส์กับวัตสัน

การมาเช่าห้องอยู่คนละห้องและใช้ห้องกลางรวมกัน          การใช้ยาเสพติด

ยาแก้ปวดที่สุภาพสตรีใช้ประจำ    รถม้าคันเล็กคันใหญ่   หมอกที่ลงหนาจนมองอะไร

ข้างหน้าไม่เห็น    ห้องขังในบ้านเก่าๆที่มีแต่ฟางปู      กาน้ำชาเงินหรือชุบเงินก็เถียงกัน

ประวัติคนแต่ง  แรงบันดาลใจ     นักแปลสมัยก่อนอายุน้อย

       
       เพื่อน ๆ ไหว้ครูกันนานมาก


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ต.ค. 10, 20:17

คุณรัตนชัยฝากข้อความมาค่ะ  เพราะยังไม่ได้เป็นสมาชิกเรือนไทย


เชอร์ล็อค โฮล์มส์เรื่อง "His Last Bow" นี้ยังไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่โคนัน ดอยล์แต่งครับ เพราะแกยังหากินกับยอดนักสืบของแกไปอีกสิบกว่าเรื่อง ภายหลังรวมเป็นเล่ม ให้ชื่อตับว่า The Case-book of Sherlock Holmes

ในเรื่องสั้นสำรับนี้ ตามท้องเรื่องจะย้อนไปยังช่วงเวลาที่เชอร์ล็อค โฮล์มส์ยังออกทำการกับวัตสัน เรื่องสุดท้ายที่โคนัน ดอยล์เขียนคือ "The Adventure of Shoscombe Old Place" อ.สายสุวรรณพากย์ไทยว่า "สุสานร้าง" หลวงสาราฯให้ชื่ออร่อยกว่านั้นอีกว่า "อุโมงค์ผี"


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 23:18
ชวนคุณรัตนชัยมาสมัครซิคะ   ได้นั่งล้อมวงคุยกันเรื่องนี้

เพิ่งรู้นี่เองว่าท่านเซอร์ ย้อนกลับไปทำมาหารับประทานกับนักสืบเอก จากเหตุการณ์ในอดีตอีก  หลังจากพาโฮล์มส์มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน His Last Bow
ไหนตามประวัติบอกว่า แกเกลียดจนไม่ยอมให้ใครในครอบครัวเอ่ยคำว่า เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ให้ได้ยินอีกไงล่ะ

เท่าที่อ่านมา ในบรรดาผู้เอาเชอร์ล็อค โฮล์มส์ไปแต่งเอง ทั้งหมด รวมทั้งเอเดรียน โคแนน ดอยล์และจอห์น ดิกสัน คาร์    ไม่มีใครแต่งสู้เซอร์อาเธอร์ได้สักคน ในการผูกปมและสร้างบุคลิกของนักสืบเอก
แต่ท่านเซอร์ก็เผลอๆบ้างเหมือนกันละ  ให้หมอวัตสันแต่งงานไปแล้ว   แต่พอไม่กี่ปีต่อมาก็ยังอาศัยห้องในถนนเบเกอร์อยู่เหมือนเดิม ต่อมาก็เขียนว่าหมอวัตสันมีชีวิตสมรส เป็นปกติ  จนมีคำถามว่า มีมิสซิสวัตสัน ๒ คน(คนหนึ่งอาจจะตาย แล้วแต่งใหม่)  หรือ?


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 01:19
เอาหน้าปกมาฝากแฟนเชอร์ล็อคโฮล์มส์ ค่ะ
เรื่องที่ลูกชายท่านเซอร์ แต่งต่อจากพ่อ  ด้วยความร่วมมือจากศิษย์ของพ่อ


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Rattanachai ที่ 02 พ.ย. 10, 06:49
มาตามเทียบชวนครับ :)

ว่าด้วยผลงานชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ที่คนอื่นๆเขียน หรือที่เรียกกันว่า "จำลักษณ์เชอร์ล็อค โฮล์มส์" (pastiche) นั้น อันที่จริงแล้วก็มีผลงานที่สร้างความสับสนเกรียวกราวในวงการหนังสืออยู่บ้างเหมือนกัน  มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อว่า "The Man who was Wanted" ได้รับการค้นพบในเอกสารต้นฉบับของโคนัน ดอยล์ภายหลังจากเขาเสียชีวิต ในเวลานั้นทุกคนต่างลงความเห็นกันว่านี่แหละคือผลงานที่ตกค้างอยู่ของดอยล์ ลูกชายของดอยล์เองได้อ่านแล้วก็มั่นใจเหมือนกันว่าพ่อเขียนแน่นอน และสุดท้ายเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์พร้อมกับคำจั่วหัวว่า "ค้นพบใหม่"   ไปๆมาๆปรากฎว่าเรื่องโอละพ่อ คนเขียนตัวจริงนามว่าอาร์เธ่อร์ วิเทเค่อร์ออกมาบอกว่าไม่ใช่ นั่นคือผลงานของเขา  เรื่องนี้ถึงกับมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล สุดท้ายวิเทเค่อร์เป็นฝ่ายชนะ

ความจริงก็คือโคนัน ดอยล์เป็นคนซื้อต้นฉบับนี้ไว้จากวิเทเค่อร์ในราคาสิบกินี ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเอาไปตีพิมพ์ในชื่อของตัวเองในภายหลัง นอกจากนี้ดอยล์ยังเคยยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เขาก็เคยทำอย่างนี้มาแล้วในราคาที่เท่ากัน แต่ไม่เปิดเผยว่ามันคือเรื่องอะไร ที่แน่ๆคือ อย่างน้อยก็มีจำลักษณ์เชอร์ล็อค โฮล์มส์เรื่องหนึ่ง คือ "The Man who was Wanted" แล้ว ที่มีคุณภาพใกล้เคียงงานแม่แบบ หรือที่ในภาษาของชาวเชอร์ล็อคเรียกว่าบุพคัมภีร์ (canon) ของดอยล์ จนสร้างความสับสนในวงการหนังสือของฝรั่งได้

จะว่าไปจำลักษณ์เชอร์ล็อค โฮล์มส์ก็สนุกดีนะครับ เท่าที่เคยอ่านและเคยทำมาหลายเล่ม ก็มีหลายเรื่องที่จัดอยู่ในประเภท "ของดี" ที่ "ฅอ" ไม่ควรพลาด อย่างนวนิยายเรื่อง The Seven Percent Solution ของนิโคล้าส มายเอ้อร์ ก็ได้รับการยอมรับ ยกให้อยู่ในทำเนียบ 100 อันดับดีเด่นตลอดกาลของสมาคมนักเขียนรหัสคดีแห่งอเมริกา (MWA)

ส่วนเรื่องที่ดอยล์เขียนโฮล์มส์ไม่เลิกนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเหตุผลทั้งหมดคือเรื่องอัฐเรื่องสตางค์แ้ท้ๆ เพราะจุดเริ่มต้นของการเขียนโฮล์มส์นั้นก็มาจากเรื่องเงินก่อน ดอยล์ได้ดิบได้ดีในอาชีพนี้และมีคนจำชื่อเขาไ้ด้ก็มาจากนิยายชุดนี้ ในขณะที่นิยายแนวพงศาวดารที่ดอยล์รักกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  รู้สึกว่าแกก็บ่นกระปอดกระแปดของแกมาทั้งชีวิตว่าเบื่อแล้ว ไม่เอาแล้ว แต่ลองดูเส้นเวลาของแกจะเห็นว่าแกก็หากินกับยอดนักสืบของแกเรื่อยมา


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Rattanachai ที่ 02 พ.ย. 10, 06:54
เรื่องที่โคนัน ดอยล์เขียนผิดเขียนพลาด จำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเขียนอะไรนั้น มีอยู่เยอะมากครับ อย่างเรื่องภรรยาของวัตสันที่คุณเทาชมพูยกมานั่นก็เรื่องหนึ่งละ ไหนจะเรื่องแผลจากกระสุนจีเซลของวัตสันเอย ห้องของวัตสันเอย ชื่อของแม่บ้านเอย รูปหน้าของสารวัตรเล้สเตรดเอย ฯลฯ รายละเอียดปลีกย่อยพวกนี้โคนัน ดอยล์เขียนคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยนักเชียว

อย่างเรื่องภรรยาของวัตสัน กลายเป็นที่เชื่อกันว่าวัตสันแต่งงานสองหนเป็นอย่างน้อย (ความจริงอาจจะเป็นสามหนก็ได้ บางตำราว่าไว้) ทีนี้กลายเป็นว่ามีคนนึกสนุก หยิบเอาภรรยาคนที่สองของวัตสันมาเขียนแตกหน่อออกมาเป็นเรื่องชุดใหม่ ให้ภรรยาคนที่สองของวัตสันเป็นนักสืบจำเป็นเสียเอง ให้ชื่อว่าอะมิเลีย วัตสัน ถ้าจำไม่ผิดมีหลายเล่มทีเดียว ฉบับแปลผมเคยจัดพิมพ์เรื่องสั้นๆไปเรื่องหนึ่งแล้ว

ย้อนมาที่เรื่องความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เคยมีคนถามเรื่องนี้กับโคนัน ดอยล์ผู้เขียนเหมือนกันว่าทำไมเขียนแล้วเรื่องไม่ตรงกันบ่อยนัก ผมจำคำพูดที่ดอยล์ให้สัมภาษณ์เป๊ะๆไม่ได้ แต่ตอนนั้นดอยล์ตอบในทำนองติดตลกประมาณว่า ผมเขียนให้อ่านสนุกๆก็น่าจะพอแล้วนะ (ฮ่าๆ)


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 พ.ย. 10, 07:17
สวัสดีค่ะ คุณรัตนชัย

     หายเหนื่อยจากงานหนังสือเร็วจริง 

ขอบคุณที่แวะมาและคงมีสิ่งที่น่าสนใจคุยกันอีกเยอะ


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Rattanachai ที่ 03 พ.ย. 10, 12:01
สวัสดีครับ คุณวันดี, ;D

ช่วงนี้พักอ่านหนังสือและทำงานหน้าคอมพ์ตามเดิมครับ  8)


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 พ.ย. 10, 17:29

ในผดุงวิทยา ปีที่ ๒  เล่มที่ ๖  เดือนสิงหาคม  ๒๔๕๗  พิมพ์ที่ โรงพิมพ์จีนโนฯ

มีบทแปล  กิจจานุกิจของเชอร์ล๊อก โฮมส์  โดย  นโภมณี  ในหน้า ๙๓๖ - ๙๖๗

คุณรัตนชัย  พอจะรู้จัก  นโภมณี  บ้างหรือไม่คะ

หนังสือเล่มนี้ เริ่มที่หน้า ๘๘๔

นักเขียนก็มี ยูปีเตอร์ และ อโยมัยเสตว์


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 พ.ย. 10, 17:47

ตอนนี้ชื่อ  พยัฆร้ายของตำบลซานปีโดร

เนื่องจากดิฉันไม่มีต้นฉบับใดๆของรหัสคดีเหลืออยู่เลย  เลยตามรอย
ไม่ไหว     ภาษาที่แปลเก่า  เช่น  นายหมวดรักษา  นายหมวดพลตระเวณ

สำนวนเนียน  ไม่กระโดดเลย

หนังสือเล่มอื่นๆที่พิมพ์ในยุคนี้  เท่าที่เคยเก็บมามี หมอนิโกลา  ราคา ๒๕ สตางค์
และ ดอลล่าร์ ปรินเซส   เล่มละ ๖๐ สตางค์  ซึ่งแปลย่อราวกับหนังสือหนัง 

หนังสือรุ่น ๖๐  ดิฉันกระจายไปหมดแล้ว  เพราะคิดว่าอยู่กับตัวเองก็คงไปไม่ถึง

เพิ่งไปยืมสหายมาเมื่อเช้า ๑ กล่อง มีหนังสือประมาณ ๑๘ หรือ ๑๙ เล่ม

สภาพยังอ่านได้สบาย  ปกสีฟ้าอ่อน

เรื่องอื่นๆจอง จีนโนไว้คุยกันวันหน้านะคะ  เห็นชื่อนักแปลก็ตะครุบไว้ก่อน


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Rattanachai ที่ 05 พ.ย. 10, 08:59
เห็นต้นฉบับแปลเชอร์ล็อค โฮล์มส์สำนวนโบราณโผล่มาอีกก็รู้สึกตื่นเต้น
"นโภมณี" เป็นใครไม่ทราบเลย เดี๋ยวจะไปสืบเสาะดู

เข้าใจว่าเรื่องนี้แปลมาต้นฉบับที่รวมไว้แบบเก่า (ฝรั่งเดี๋ยวนี้ไม่พิมพ์แล้ว) และเรื่องไม่จบสนิทดี
แต่ก็ยังไม่อยากฟันธงฉับจนกว่าจะได้เห็นเองกับตา เดี๋ยวจะหน้าแตก (ก๊าก)

ขอบคุณมากครับที่ให้เงื่อนงำเป็นเลขฉบับ และเลขที่หน้า
เป็นบรรณานุกรมชั้นเยี่ยมที่จะสืบสาวต่อไปได้อย่างดีทีเดียว


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 พ.ย. 10, 10:44

สภาพเล่มปกหลังหลุดหายไป

ปกหน้า ล่างขวากรอบหลุดไปแล้ว

ตัวเล่มดีมากค่ะ  ไม่ชำรุดเลย  มีแตกร่วงเล็กน้อย

จะยึดทรัพย์จับเชลยไว้จนกว่าคุณรัตนชัยจะมีโอกาสมาตรวจสอบ

ชมรมมีท่านผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยียนเพิ่มขึ้นค่ะ


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:13

คุณรัตนชัย


          ตามที่ได้สนทนาปราศัยด้วยเสียงอันดังในระหว่างงานหนังสือที่ผ่านมา   วันนี้ได้ค้นสมุดโน้ต

ออกมาได้จากกองมหาสมบัติ  จึงขอเล่าเรื่องไว้ก่อนที่ปีศาจห้องสมุดจะอาละวาด


เรื่องนี้ไม่ได้ถาม  แต่จดไว้จึงต้องเล่าเพื่อจะมีมือดีนำไปใช้ประโยชน์


เสนาศึกษา(ยังได้แผ่วิทยาศาสตร์) เล่ม ๒  กันยายน ๒๔๖๐  ตอนที่ ๙

มีเรื่องสมบัติไอยคุปต์  แปลมาจาก  The  Lost Million  ของวิลเลียม เลอเคอ

หมวดอ่านเล่น

คนแปล คือ  นักเรียนนายร้อย มีเดช
โรงเรียนนายร้อย  ชั้น ปฐม
เป็นนักเรียนในชั้นอังกฤษพิเศษ

พลพรรครหัสคดีอ่าน วิลเลียม เลอเคอกันหลายคน

รู้สึกว่า ตอนหนึ่ง  คือ เดือนหนึ่ง

เรื่องแปลนี้จบลงในเล่ม ๓       ๒๔๖๑      ไม่ได้บันทึกเดือนไว้  แต่คงหลังเดือนตุลาคม ๒๔๖๑
เพราะดิฉันจดที่แปลผิดไว้


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:20


หม้อไข่ปลาเค็ม

ของ เซอร์อาเธอร์  โคแนน ดอยล์

ลง  เสนาศึกษาเล่ม ๔  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๖๒   ตอนที่ ๘

(อ่านลายมือของตนเองแทบไม่ออกค่ะ  ดีแล้วที่ไม่ต้องไปเป็นเสมียน
เพราะคงโดยเคี่ยวเข็ญกรำไป)

คนแปลคือ  นายร้อยตรีใหญ่   นัยยะแพทย์

เป็นเรื่องคราวพวกนักมวยก่อการจลาจลในประเทศจีน

จบในสองฉบับ



กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:25


ในเล่ม ๔  ตอนที่ ๙  และ ๑๐  (พยายามนับเดือนเอาเองเถิดค่ะ

เพราะกระดาษคงขาดไป  เลยไม่ได้จดไว้)

มีเรื่อง  จองเวร

ของ  นายนวล  ปาจิณพยัคฆ์


รายละเอียดไม่มี เพราะ ไม่มีรายละเอียดค่ะ

ทราบนะว่าเป็นหนังสือหายากจึงบรรจงจดข้อมูลเท่าที่อ่านพบไว้


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:30


กระโดดข้ามข้อมูลเรื่องพงศาวดารจีนเรื่อง หลีฮวยเง็กไป  เพราะเกรงว่าอ่านอยู่คนเดียว

ร.อ. หลวงสารานุประพันธ์  เกลาสำนวน

ศุกรี  วสุวัต  แต่ง

เป็นเกร็ดพงศาวดารจีนแผ่นดินถีง


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:35


อ้อ  แผ่วิทยาศาสตร์  เติมมาในเล่ม ๕

ย้ายไปพิมพ์ที่ บำรุงนุกูลกิจ


เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่อง เสนาศึกษา  จึงขอผ่านไปก่อนนะคะ


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 09:45

แพรดำ         แพรดำ           แพรดำ


เริ่มลงใน เล่ม ๖  ตอนที่ ๑๒

เป็นเรื่องลึกลับ  นักสืบ  ผจญภัย  และ ความรัก    พร้อมบริบูรณ์


เล่ม ๗  ตอนที่ ๔

บรรณาธิการแจ้งว่าผู้เรียบเรียงป่วย  จะหายไป ๑๕​วัน


เล่ม ๗  ตอนที่ ๗  กรกฎาคม  ๒๔๖๖        แพรดำ จบ

ตอนนั้นพิมพ์  ๓๐๐๐ เล่มต่อเดือน


ตอนนี้คุณรัตนชัยก็ออกไปหาหนังสือได้แล้ว  ไม่มากมายอะไร

ดิฉันว่าเบื้องหลังที่ผู้เรียบเรียงเจออะไรเข้าบ้าง  สนุกพอใช้


กระทู้: ออกงานครั้งที่สุด ราชการสงครามของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ พันแหลม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 10, 12:27


ขอแก้คำใน คคห ๒๔  เป็นแผ่นดินถัง      พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้

เรื่องนี้ใช้หนังสือพงศาวดารจีนแปล  เพราะเป็นตอนที่ทางราชการไทยข้ามไป

เป็นประวัติส่วนหนึ่งของ เทียกากิม

เวลานำไปเล่นลิเก   คนร้องว่า ...บัดนั้น  เทียกากิม  พ่อเนื้อนิ่ม......

คนดูโห่  เพราะเทียกากิมนั้นแทบจะเป็นตลกตามพระ 

ตายเมื่ออายุหวิดร้อย  หัวเราะว่าตนอายุยืนว่าใครๆเลยขาดใจตาย

เมียอายุ ๙๙ เสียใจมาก  เลยร้องไห้ขาดใจตายตามกันไป

     ผู้ปกครองถามว่าอ่านเรื่องจีนชอบตอนไหน   ตอบว่าเทียกากิมหัวเราะตาย

ท่านเลยปล่อยให้อ่านตามสบาย  เพราะเห็นว่าอ่านออก (ตอนนั้นอยู่ชั้น ป. สอง)