เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Nuchana ที่ 11 ม.ค. 06, 23:57



กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 11 ม.ค. 06, 23:57
 เมื่ออ่านวรรณคดีหรือบันเทิงคดีเรื่องใดๆก็ตาม ผู้อ่านหวังที่จะพบถ้อยคำที่เกิดความซาบซึ้ง
หรือภาษาที่งดงาม ชวนให้ติดตามอ่านต่อ  เมื่อใดผู้เขียนสามารถดึงดูดผู้อ่าน หรือโน้มน้าวให้ผู้อ่าน
คล้อยตามได้  เมื่อนั้นจะถือว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จในการใช้ภาษา แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้อ่าน
หมดอารมณ์ เลิกอ่านขึ้นมาดื้อๆ ให้ชวนสงสัยไว้ก่อนว่า ภาษาเป็นพิษ

ศิลปะแห่งการถามการบ้าน…พูดจาภาษาดอกไม้..ให้ได้คำตอบ
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คือสื่อไปแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ ถ้านักเรียนโพสต์ถามการบ้านแล้วได้รับคำตอบ แสดงว่าพูดเป็น
แต่เมื่อใดที่ถามแล้วพี่ๆไม่ตอบ  ส่วนหนึ่งอาจแปลว่าภาษาบกพร่อง  


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 00:08
 1)   ตัวอย่างภาษาในวรรณกรรม

ไม่กลมกลืน
คุณแจ้ง ศิษย์เก่าเรือนไทยเล่าว่า....นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์บางคนผูกโครงเรื่อง
ได้อย่างน่าติดตาม แต่ยังขาดความระมัดระวังเรื่องคำศัพท์...เช่น ผมเคยเจอคำว่า "ลงแขก"
(ที่แปลว่าข่มขืน) ในเรื่อง ท้าวศรีสุดาจันทร์ ผมวางหนังสือเล่มนั้นทันที ไม่อ่านต่อ
เพราะรู้สึกอ่านแล้วเสียอรรถรส

ไม่แนบเนียน  หลงยุค
...บางคนเขียนนิยายย้อนยุคก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่มีการอ้างถึงพระสยามเทวาธิราชแล้ว
ผมก็วางอีกเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านั้น เรายังไม่เคยมีพระสยามเทวาธิราช
นั่นแสดงถึงการขาดความเอาใจใส่ที่จะค้นคว้าข้อมูลของผู้เขียน ซึ่งผมถือว่า
เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ด้อยคุณภาพ...

อาจารย์เทาชมพูสอนให้ปลงว่า...ถ้าคุณแจ้งอ่านแล้วระคายกับคำว่า " ลงแขก"
ก็อ่านข้ามไปเถอะค่ะ เอารสชาติในเรื่องไว้บ้างคงไม่เสียเวลานัก ดิฉันเองก็เคยอ่าน
นิยายประวัติศาสตร์ เล่าถึงปลายอยุธยา สาวชาวบ้านนุ่งกระโจมอกห่มผ้าขนหนูคลุมไหล่
ลงอาบน้ำในคลองมาแล้ว ทั้งที่สมัยนั้น ผ้าขนหนูถือกำเนิดมาในโลกหรือเปล่าก็ยังสงสัย


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 00:33
 ภาษาสละสลวย ซ่อนเงื่อน

มีผู้สงสัยว่าเจ้าฟ้ากุ้งทรงลักลอบเป็นชู้กับเจ้าจอมของพระราชบิดา เจ้าฟ้าสังวาลย์ เจ้าฟ้านิ่ม
(ในพงศาวดารที่ไม้ เมืองเดิม คัดลอกมา กล่าวถึง 2 ชื่อ) ทำนอง1 ชาย 2 หญิง หรือ 1 ชาย 1 หญิง กันแน่ค่ะ

ลองอ่านบทอัศจรรย์ที่เล่นเสียง "ส" อย่างไพเราะ ที่นำไปสู่การลงอาญาจนเจ้าฟ้ากุ้ง
และเจ้าฟ้าสังวาลย์สิ้นพระชนม์ทั้งคู่

สองสุขสองสังวาส...... แสนสุดสวาทสองสู่สม
สองสนิทนิทรารมณ์.....กลมเกลียวชู้สู่สมสอง
แย้มยิ้มพริ้มพักตรา..... สาภิรมย์สมจิตปอง
แสนสนุกสุขสมพอง.... ในห้องแก้วแพรว พรรณราย

อาจารย์เทาชมพู อธิบายว่ากรมพระยาดำรงฯเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์คือคนคนเดียวกัน

ขอนั่งยันยืนยันค่ะ...กลมเกลียวชู้สู่สมสอง แปลว่า สองคนนั้นก็สมสู่กันอย่างสมัครสมาน
เป็นอันดี ถึงมีคำอธิบายต่อมาว่า แย้มยิ้มพริ้มพักตราไงคะ

สองในที่นี้คือชายหนึ่งหญิงหนึ่งค่ะ รวมเป็นสอง เหมือนเราใช้คำว่า "สองต่อสอง"
ก็ไม่ใช่สี่คนนะคะ คือหนึ่งต่อหนึ่ง


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 ม.ค. 06, 00:36
 ที่จริง การให้ความช่วยเหลือ คนที่มาขอความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งดี ซึ่งแสดงถึงความเอื้อเฟื้อของสังคมไทยนะครับ

ข้อมูลหลายอย่าง ในอินเตอร์เนตเองก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ บางครั้งอาจจะต้องใช้ทักษะทางภาษาขั้นสูงในการอ่าน เช่น คำศัพท์เฉพาะทาง หรือเวบที่เป็นภาษาต่างประเทศ (ซึ่งเด็กไทยจำนวนมากก็ไม่ได้สันทัดเท่าไหร่) และบางครั้งข้อมูลที่หาได้ก็เป็นข้อมูลโฆษณาในเชิงที่กล่าวถึงแต่แง่ดีอย่างไม่ลืมหูลืมตาอีกตะหาก

แต่การขอข้อมูล หรือ ตั้งกระทู้จะดีกว่าที่เป็นอยู่นี่มากเลย ถ้ารู้จักเปิดประเด็น รู้จักหาคำตอบมาล่วงหน้า รู้จักค้นคว้าและทำความเข้าใจกับของที่มีอยู่ใกล้ตัว และรู้จักเข้ามาตอบคำถามของคนอื่น คงจะดีกว่านี้มากเลย เพราะส่วนมากก็เข้ามาถาม ได้คำตอบมั่งถูกดุมั่ง แล้วก็ออกไป เหมือนเวลาไฟลนก้นร้อนอกร้อนใจขึ้นมาก็วิ่งเข้าวัด เข้าศาลเจ้าไปขอพรพระ ขอพรเทพ ทั้งๆที่เวลาสุขสบายก็ไม่เคยช่วยเหลือคนอื่นเอาไว้ก่อน (แล้วเวลาเดือดร้อนจะหาคนช่วยก็คงจะยากหน่อยแหละ)



ปล. เดี๋ยวนี้ Honoured member แต่ละคนดุกันจนจะกลายเป็น Horror member แล้วนะครับ หิหิ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 00:50
 2) ช่วยกันอนุรักษ์ภาษา

ประเทศไทยมีวรรณกรรมดีๆมากมาย ภาษาไทยของเราแสนงดงาม สามารถสร้างอรรถรส
ได้อย่างวิเศษ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปภาษาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งพัฒนาขึ้นและเสื่อมทรามลง
การใช้ภาษาผิดๆ บ่อยๆ โดยคนหมู่มาก นานเข้าจะทำให้ภาษาที่ผิดกลายเป็นถูก เป็นสาเหตุหนึ่ง
ที่ทำให้เกิด "ภาษาวิบัติ"

"ภาษาของเราถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาให้ถูกต้อง ใครจะทำให้เราล่ะคะ"


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 01:13
 3) มึนตึบ! กรุณาอย่าใช้ภาษาที่สะกดอุบาทว์...คัยรุเรื่อง

ดิฉันเคยเข้าไปช่วยตอบคำถามเด็กๆในห้องวิทย์ เคมี ตอนหลังไม่กล้าเข้าไปอีกเลยค่ะ เจอพิเรนๆ
แล้วหดหู่ คำว่า อุบาทว์ แปลว่า อัปรีย์, จัญไร, ไม่เป็นมงคล เชิญอ่าน..

****
คัยรุเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตโซเดียมคลอไรด์บ้างงับ HeLP !  
หวาดดีงับ !
วานนี้ได้การบ้านมาไง อุตสาหกรรมการผลิตโซเดียมคลอไรด์ ไง เราหาเท่าไหร่ก้อหาไม่เจออ่ะ
มีคัยพอรุแหล่งข้อมูลบ้างอ่ะ

อู๋งับ
*****
ตอบ
คุณอู๋งับ อย่าทำภาษาไทยวิบัติหมดซิคะ นานๆแฝงคำแปลกๆ ซักคำ สองคำ ยังพอทำเนา
แต่เล่นยกแผลงมาเลยปวดหัวน่ะ

การผลิตโซเดียมคลอไรด์ หลักการคือนำสารละลายหินเกลือมาทำให้เข้มข้นขึ้น
เพื่อดึงน้ำออก เรียกว่า dehydration (de=down, hydrate=hydro=water).....


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 02:00
 4) จะขอความช่วยเหลือ แต่พูดจามะนาวไม่มีน้ำ

ช่วยอธิบายโครงบทนี้ที
เว้นวิจารณ์ ว่างเว้น ประดับฟัง
เว้นที่ถาม อันยัง ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง เกตุว่างเว้นนา
เว้นดังกล่าว ผู้ปราชญ์ได้ฤๅมี
1141

****************
พี่ Hotacunus ติงว่า

"ช่วยอธิบายโครงบทนี้ที"
ยังใช้ภาษาไทยได้ไม่ดีเท่าไหร่นะครับ

"โคลง" ครับ ไม่ใช่ "โครง" อันนี้คงเป็นผลจากการพูดหรือเปล่าครับที่ไม่ออกเสียง "ร" กับ "ล"
ให้ชัดเจน พอเขียนหนังสือเลยงง เอ้า ไม่ "ร" ก็ "ล" เขียนไปก่อน อิอิ เอาหละ อันนี้ไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นคือ แต่ขอตินิดนะครับ การตั้งคำถามนั้น ดูไม่ค่อยมีสัมมาคารวะเท่าไหร่

การลงท้ายเพียง "ที" นั้น ดูทำตัวสนิทเกินควรครับ เพราะที่นี่ก็มีผู้ใหญ่หลายท่าน เราเป็นเด็ก
ก็ควรใช้ภาษาที่แสดงความเคารพด้วยนะครับ
เพราะถ้าน้องไม่มีสัมมาคารวะ ต่อไปเวลาทำงานจะลำบากนะครับ

น้องควรจะถามว่า "ช่วยอธิบายโครงบทนี้ให้หน่อยนะครับ/ค่ะ" ถ้าฉลาดที่จะถาม
ก็น่าจะมีเกริ่นอะไรอีกเล็กน้อย เช่น "
ผม/หนู ได้อ่านโคลงบทนี้แล้วไม่เข้าใจ ท่านได้รู้ช่วยอธิบายให้หน่อยนะครับ/ค่ะ ขอบคุณครับ / ค่ะ"

ถ้าถามมาแบบตัวอย่างนี้ ใครๆ ก็อยากช่วยครับ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 02:22
 5) ใช้ปิยวาจา คือวาจาสุภาพ อ่อนหวาน มีหางเสียง
ซึ่งน้องๆไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพียงแต่ต้องฝึกฝนให้ใช้ได้ถูกต้องค่ะ


กามนิต (ภาคพื้นดิน)- ช่วยหน่อยนะคะ อยากจะได้เรื่องย่อกามนิตภาคพื้นดิน ที่ย่อเป็นบทๆ น่ะค่ะ

บทที่ต้องการก็คือ
บทที่ 13 เพื่อนบุณย์
บทที่ 14 ผู้เป็นสามี
บทที่ 15 ภิกษุโล้น

ถ้าท่านใดมีก็ช่วยโพสต์ด้วยนะคะ หรือถ้ามีแหล่งข้อมูล ก็ได้ค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ

ดูนักการเมืองเป็นตัวอย่างสิคะ ตอนหาเสียง สองมือพนมยื่นไปตั้งห่างตัว สวัสดีคร้าบบ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 02:30
 6) หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "วาน" กับผู้อาวุโสกว่า หรือคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคย

...บทร่ายดังกล่าวมีบางวรรคที่แปลไม่ได้ด้วยครับ เช่นคำว่า ...สระทุกข์ราษฎ์รอนเสี้ยน
ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว
วานช่วยแปลให้ด้วยครับ

****
อาจารย์เทาชมพูตอบว่า
คุณ...คะ วานช่วยแปลให้หน่อย เขาใช้กับเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือไม่ก็รุ่นน้อง
ถ้าไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายอายุเท่าไร แต่มากกว่าคุณ ใช้คำว่า ขอความกรุณาช่วยแปลให้ผม
จะขอบคุณมากครับ ก็จะน่าฟังแบบไทยๆมากกว่าค่ะ
.
.
คำพูดแบบนี้เขาคงผ่านหูมาแล้ว ในชั้นเรียน เพียงแต่อาจจะลืมไปบ้างเท่านั้นเอง
ก็แค่บอกให้ทราบ ไม่ได้ตำหนิติเตียนอะไร


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ม.ค. 06, 02:39
 ค.ห. 2 พิมพ์ตกคำว่า "ทรงอธิบายว่า" ต้องเป็นกรมพระยาดำรงฯทรงอธิบายว่า
ค.ห. 5 สะกดผิดค่ะ  คำว่า "แผลง" แก้เป็น  "แผง"


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: เนยสด ที่ 12 ม.ค. 06, 21:18
 ผมคิดว่า คนที่มาถามการบ้านส่วนใหญ่ เวลาอ่านพวกวรรณกรรมต่างๆ คงไม่ซาบซึ้งครับ
เลยไม่รู้จักเกียบเกี่ยวถ้อยคำไพเราะมาใช้
ไม่รู้ว่ามารยาทผู้ดีเป็นอย่างไร
ไม่รู้จักการพูดให้เข้าหู
ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต...


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 13 ม.ค. 06, 16:42
 ว่าด้วยวลีของคุณเนยสด
อานแล้วมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ผมเลยโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะคุณพี่นุชนาให้เกียรติยกเรื่อง วาน มาลงในข้อ 6 (เท่ากับว่าผมไม่รู้ว่ามารยาทผู้ดีเป็นอย่างไรเสียแล้ว เฮ้อ     )
ผมจึงเห็นด้วย (บางส่วน)กับ ป.ล.ของพี่ติบอครับ  
ป.ล. อย่าถือโทษโกรธเคืองนะครับ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: ศนิ ที่ 14 ม.ค. 06, 18:43
 ดิฉันว่าน่าจะเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยนะคะ
เราพูดบ่อยกว่าเขียน
ความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาจึงต่างกัน
ถึงแม้จะเป็นภาษาเดียวกันก็ตาม

ตัวดิฉันเอง เวลาจะตอบกระทู้ ก็คิดแล้วคิดอีก
กลัวว่าจะใช้ภาษาไม่เหมาะสม
จนสุดท้ายไม่กล้าตอบก็มี
แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีความกล้ามากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ทำผิด ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย จริงมั้ยคะ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 14 ม.ค. 06, 20:57
 ขอบคุณค่ะ...การีนจะเอาข้อคิดดีๆเหล่านี้ไปใช้ในการถามการบ้านผู้รู้ทุกท่านๆนะค่ะ
(น่าน....ไม่สำนึกซะงั้น)

การีนคิดว่าการใช้อรรถรสถ้อยคำอย่างที่ทุกท่านว่า
บางครั้งบางคราว ...สำหรับเด็กรุ่นใหม่ๆในสมัยนี้แล้ว
อาจยากเสียหน่อยนะค่ะ เราแทบไม่เคยอ่านวรรณกรรมไทยทรงคุณค่าเลย นอกเหนือจากในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย
และในหนังสือเรียนนั้น ก็ไม่ได้มีเนื้อหามากจนกระทั่งจะรู้จักภาษาที่สวยงามเหล่านั้น และมาใช้ได้
ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ข้อมูลฉับไว วิชาความรู้หาได้อย่างรวดเร็วได้ในอินเทอร์เนต หนังสือแปลจากต่างประเทศ นิตยสารหัวฝรั่ง ฯลฯ แล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กไทยรุ่นใหม่จะสามารถเรียนรู้ภาษาที่สวยงามได้เลย ยิ่งกระแสภาษาผิดเพี้ยนในอินเตอร์เนตแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ จะภาษาไทยสำนวนฝรั่ง หรือสะกดผิดคิดวิบัติแล้ว ไม่สามารถที่ท่านผู้รู้ใด จะตามไปว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกคน ถึงกระทู้ที่ถามการบ้านในเรือนไทยแห่งนี้ก็เถอะค่ะ ถึงแม้จะมีเด็กๆเข้ามาถามการบ้านในเรือนไทยแห่งนี้
แล้วมีท่าน Horror member เอ้ย Honoured member ช่วยทั้งว่ากล่าวเรื่องให้หางานเองบ้าง ว่ากล่าวเรื่องภาษาบ้าง หรือช่วยตอบการบ้านเหล่านั้นก็ตาม แต่เชื่อว่าเด็กเหล่านั้นเองก็ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรมากนัก แล้วก็หายไป...(ไม่ว่าจะได้คำตอบหรือโดนว่าก็ตาม) พวกเขาเหล่านั้นก็อาจไม่ได้รับสอนที่ทุกท่านต้องการสั่งสอนหรอกค่ะ...

เรื่องภาษาวิบัติ และการใช้หลักภาษาบ้านเกิดที่ไม่ถูกต้องนี้อาจเป็นเพราะกระแสลากไปก็ได้นะค่ะ เมื่อเขาเหล่านั้นโตขึ้นไป เขาก็จะตระหนักรู้ว่าภาษาไทยที่เขาใช้นั้นผิดเพี้ยนก็อาจเป็นได้
การีนเชื่อว่าอย่างไรก็ตามภาษาไทย ก็เป็นภาษาบ้านเกิด ที่ใช้เป็นภาษณาราชการ ที่จำต้องใช้ในการทำงาน ฯลฯ ที่อย่างไรก็ตามเมื่อเราเรียนและทำงานในระดับที่สูงขึ้น เราก็ต้องใช้ และเมื่อถึงเวลานั้น...ก็ต้องใช้ให้ถูก

การีนก็ไม่รู้ว่าแสดงความเห็นในกระทู้นี้ในรูปแบบนี้ทำไม
ทั้งๆที่น่าจะเป็นความคิดเห็นที่สนับสนุนการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเสียมาก แต่...
นี่อาจเป็นการแก้ตัวในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่งด้วยมั้งค่ะ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ม.ค. 06, 22:19
 คงเป็นเพราะความคุ้นเคยอย่างที่คุณศนิพูดจริงๆด้วยมังคะ เพราะเราพูดบ่อยกว่าเขียน บางครั้ง
น้องๆก็คงไม่มีเจตนาจะเขียนออกมาให้แข็งกระด้าง แต่ว่าพอถ้อยคำปรากฎเป็นตัวอักษร
ผู้อ่านไม่สามารถแลเห็นสีหน้าและน้ำเสียง เห็นแต่ถ้อยคำ ก็เลยดูเป็นว่าภาษาแข็งกระด้างไป

คนเราต้องฝึกการใช้ภาษา จึงจะเกิดความคุ้นเคยค่ะ อย่างเรื่องราชาศัพท์ก็เหมือนกันค่ะ หากไม่เคยฝึกพูด
เวลาจะใช้ทีก็นึกไม่ออก มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันอายปนเขิน เมื่อพี่สุมาลี ผู้แปลเรื่องแฮรี่ ช่วยแก้คำ
พูดที่ดิฉันพูดผิด

"น้องนุชค่ะ พี่เป็นพระสหายสมเด็จพระเทพฯ แต่พระเทพฯไม่ได้เป็นพระสหายพี่"

ดิฉันหยุดคิด น้ำเสียงของพี่เขานิ่มเรียบ พูดยิ้มๆตามแบบฉบับพี่ใจดี ถึงกระนั้นก็อายแทบแทรก
แผ่นดินหนี เวลาพูดโทรศัพท์กับพี่ๆสีเทาชมพูทีไร ต้องพูดนิ่มๆ  ระมัดระวังอย่างมาก รูมเมทดิฉันล้อ
อยู่เสมอว่ารู้นะ กำลังพูดกับใคร

ตอนดิฉันฝึกภาษา จะพิมพ์ journal เล่าเรื่องในรอบสัปดาห์ให้เพื่อนอาวุโสฟัง พอส่งฉบับแรกไป
ได้รับตอบกลับทันที มีปากกาสีแดงแก้มาให้เสร็จสรรพ ดิฉันตอบท่านไปว่าดิฉันขอบคุณมาก
แต่ทีนี้อยากจะเล่าอะไรจากใจเป็น free writing นึกถึงปากกาแดงทีไร มันเล่าไม่ออกทุกที
เกิดความเกร็ง เนื่องจากระมัดระวังในการใช้ภาษามากเกินไป

ก็จริงค่ะที่น้องการีนบอกว่า เราเห็นภาษางามๆในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย แต่ก็ไม่ได้มีเนื้อหามาก
จนกระทั่งจะรู้จักภาษาที่สวยงามเหล่านั้นได้ เอ...แต่น้องก็เป็นคนบอกเองนี่คะว่านวนิยายบางเรื่อง
เช่นสองฝั่งคลอง (ในกระทู้ก่อน) ภาษางดงามมาก เราคงหาเสริมอ่านเอาเองได้นะคะ

ถึงตรงนี้อยากทราบจังค่ะว่า โดยทั่วไปผู้ชายเขาอ่านนิยายเหมือนผู้หญิงบ้างหรือเปล่า
ผู้ชายที่บ้านไม่เคยเห็นอ่านค่ะ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ม.ค. 06, 22:39
 คัดลอกมาฝากค่ะ คงกระเทือนหลายคน รวมถึงตัวเองด้วยค่ะ
*******
คุณดวงใจ ศิริบุญ
รักและห่วงใยภาษาไทย

           ขอบ่นยาวๆเรื่องการใช้ภาษาไทยหน่อยนะคะ นักเขียนหลายๆท่านคงไม่แม่นเรื่องการใช้อักษรต่ำ
กับสระและวรรณยุกต์ต่างๆ จึงมีการสะกดผิดๆออกมาให้เสียความรู้สึกเสมอๆ ในหน้านวนิยายบ้าง
หน้าบทความ บทสัมภาษณ์บ้าง ก็เพรารักสกุลไทยหรอกนะคะ ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับรางวัลด้าน
ส่งเสริมภาษาไทย ขอเรียนว่าอักษรต่ำนั้น ถ้าใช้ประสมสระเสียงนั้น คำที่ได้จะมีเสียงวรรณยุกต์ตรี
โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว  ไม่ต้องใส่ไม้โท ไม้ตรีเข้าไปให้รุงรังอีก และถ้าประสมกับสระเสียงยาว
เมื่อไหร่นั่นแหละค่ะ จึงต้องมีรูปวรรณยุกต์เอกและโทเข้ามาช่วย โดยจะให้เสียงวรรณยุกต์
ที่สูงกว่ารูปอยู่ขั้นหนึ่ง อย่างเมื่อใส่รูปวรรณยุกต์เอก จะได้เสียงวรรณยุกต์โท เช่น น่า ยิ่ง ท่าน
และใส่รูปวรรณยุกต์โท จะได้เสียงวรรณยุกต์ตรี เช่น ร้อน เลี้ยว ดังนั้น อักษรต่ำจึงไม่ใช้กับ
รูปวรรณยุกต์ตรีเลยค่ะ ที่ใช้กันผิดบ่อยๆมักจะเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น ซีฟู๊ด คุ้กกี้
คลิ้บ ซึ่งที่ถูกก็คือ ซีฟู้ด คุกกี้ คลิบ ที่เห็นบ่อยจนเบื่อมากจึงต้องลุกขึ้นมาเขียนถึงคุณพจนพร
ก็คือชื่อของดาราบางคน เขียนผิดกันเสมอตามหน้าหนังสือและนิตยสารต่างๆ จนดิฉันสงสัยว่า
เจ้าตัวเองเขาจะสะกดชื่อของตัวถูกหรือไม่

           การใช้ภาษาอังกฤษปนภาษาไทย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันขัดหูขัดตาพอสมควรค่ะ
ถ้าเป็นภาษาพูดที่ออกจากปากตัวละคร ไม่ชอบเลย อย่าง “อย่าว่าแต่ที่ข้อมือเลย ที่ข้อเท้า
ยังมีสร้อยเพชรประดับทั้งสองข้าง! ยูไม่ควรดูถูกชีนะ จะบอกให้!” ถ้าใช้คำว่าเธอไม่ควรดูถูก
ผู้หญิงคนนั้น คงจะไม่ทำให้อรรถรสเสียไปดอกนะคะ ยิ่งวันดิฉันก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า
คนที่จะใส่ใจภาษาไทยให้ถูกต้องยิ่งน้อยลงทุกที หันไปรับภาษาอังกฤษมาใช้เป็นการโก้เก๋ว่า
เป็นผู้มีความรู้หรืออย่างไรไม่ทราบ หนึ่ง เรื่องภาษาของพิธีกรก็เช่นกัน ดิฉันเคยดูรายการทาง
โทรทัศน์ครั้งเธอพูดว่า “ดิฉันเคยดูคอนเสิร์ตมาหลายอัน” ฟังแล้วกลุ้มใจจริงๆค่ะ อยากถาม
เหลือเกินว่าเธอนั้นเรียนภาษาไทยที่ไหน
 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3984&stissueid=2648&stcolcatid=12&stauthorid=54%20
*****
สรุปได้ว่า
คุณอ๊อฟ ช่วยแก้ไขภาษาสะกดผิดด้วยนะคะ อักษรต่ำไม่ใช้ไม้ตรีค่ะ
“หากจะโพสต์คำตอบสำหรับกระทู้ในห้องนี้ ล๊อกอินก่อนนะคะ”


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 15 ม.ค. 06, 02:19
 จริงค่ะ ที่เราสามารถหาอ่านเองได้
แต่น้อยคนนักที่จะหาอ่านเองนะค่ะ...เด็กสมัยนี้จะสนใจหนังสือดังๆ ซึ่งมักเป็นหนังสือที่แปลมาจากต่างประเทศนะค่ะ

การีนมักมีปัญหามากเลยล่ะค่ะ เรื่องการใช้วรรณยุกต์
อยากว่าแต่เวลาใช้เขียนเลยนะค่ะ ตอนจะอ่านออกเสียง ยังอ่านผิดอ่านถูกเลย ต้องมานั่ง กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า ไล่ไปแบบนี้อยู่บ่อยๆเลยล่ะค่ะ เศร้าใจจริงๆ โตจนป่านนี้แล้ว บางครั้งยังอ่านผิดๆให้ได้อายชาวบ้านเลยล่ะค่ะ


กระทู้: อรรถรส....รสแห่งถ้อยคำ (และศิลปะการใช้ภาษาเพื่อขอความช่วยเหลือ)
เริ่มกระทู้โดย: เนยสด ที่ 15 ม.ค. 06, 20:05
 อ่านความเห็นของคุณศนิแล้ว รู้สึกว่าผมพิมพ์กับพูดพอๆ กัน
อีกอย่างคือ พิมพ์ได้เร็วพอใช้ และไม่เมื่อยมือเวลาพิมพ์
คุณศรีปิงเวียงครับ ถ้าผมว่าแรงเกินต้องขอโทษด้วยนะครับ