เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 12, 20:18



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 12, 20:18
เมื่ออ่านเรื่องดีๆ ของมนุษย์จากอาจารย์เทาชมพู โดยเฉพาะเรื่องดีๆ ที่มักไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและจดจำเท่าเรื่องร้ายๆ แล้ว  ก็ต้องกลับมาที่ความโหดร้ายที่มนุษย์ถูกปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังจนลุกขึ้นมาฆ่าแกงคนที่ไม่รู้จักกันได้หน้าตาเฉยกันต่อ  :'(  เอาให้ปรับอารมณ์ตามกันไม่ทันเลยทีเดียว

ตามที่เกริ่นไว้ว่าจะเล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เพราะน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างของประเทศที่ถูกแบ่งให้ผู้คนแตกแยกกันเอง ก็ต้องมารู้จักประเทศรวันดากันนิดหน่อย มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านต้องไม่รู้จักประเทศนี้ ;D

รวันดาเป็นประเทศขนาดเล็กในแอฟริกากลาง  มีพื้นที่ประมาณ 26000 ตารางกิโลเมตร เทียบกับประเทศไทยที่มีพื้นที่ประมาณ 513000 ตารางกิโลเมตรก็เรียกได้ว่าเล็กกว่าประเทศไทยเราเกือบ 20 เท่า ด้านเหนือจรดอูกานดา ชื่ออูกันดานี้น่าจะคุ้นหูคนไทยกันดีเพราะพี่มืดประธานาธิบดีจอมซาดิสต์อีดี้อามิน  ด้านใต้เป็นประเทศบุรุนดี ซึ่งยิ่งไม่คุ้นหูยิ่งกว่ารวันดาอีก  ทางตะวันออกติดแทนซาเนียที่มีทัวร์ไปล่องซาฟารีกันเยอะๆ  ส่วนทางตะวันตกติดกับคองโกประเทศที่เชื่อกันว่าต้นกำเนิดการแพร่ระบาดเชื้อเอดส์จากลิงมาจากป่าในคองโกนี่แหละ

ล่าสุดปี 2012 รวันดามีประชากรประมาณ 11 ล้านคน เป็นคนเชื้อสายทุตซี่ 15% ฮูตู 84% และทวา 1%  เมืองหลวงชื่อคิกาลี  ภาษาที่ใช้กันคือภาษาคินยารวันดา(Kinyarwanda) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากภาษาบันตูซึ่งภาษาหลักในประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมากในแอฟริกา  และยังใช้ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นภาษาราชการอีกด้วย
ในอดีตรวันดาเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมันจนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตกเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยม จนประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1962 นี่เอง


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 12, 20:43
แล้วไอ้ชนเผ่าทุตซี่กับฮูตูนี่มันอะไรกัน ต่างกันตรงไหน เพราะเวลาเราเห็นพวกชาวแอฟริกาก็เห็นตัวดำๆ เหมือนกันไปหมด คนไทยมักจะนิยมเรียกคนผิวดำว่าพวกนิโกรไปซะหมด  เรียกแบบนี้ในหมู่คนไทยด้วยกันพอได้ แต่จริงๆ ไม่สุภาพ ถ้ามาใช้คำนี้แถวประเทศตะวันตกนี่อาจปากแตกได้


เรื่องความแตกต่างระหว่างทุตซี่กับฮูตูนี่ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก นักประวัติศาสตร์มีความเชื่อ 2 แบบ  แบบแรกคือชนพื้นเมืองเดิมในรวันดาคือพวกฮูตูก่อนที่พวกทุตซี่ซึ่งเป็นนักรบอพยพมาจากบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเอธิโอเปียเข้ามายึดพื้นที่และกุมอำนาจการปกครองจนพวกฮุตูเป็นชนชั้นสองไป ในขณะที่ทุตซี่เป็นชนชั้นปกครองกันไป


ความเชื่อแบบที่สองคือ พวกทุตซี่อาจจะไม่ได้มายึดประเทศแต่มีการอพยพมาเรื่อยๆ  ความแตกต่างระหว่างฮุตูกับทุตซี่เกิดขึ้นภายหลังจากนโยบายการแบ่งแยกชนชั้นเพื่อสะดวกในการปกครอง และเป็นการแบ่งตามระดับฐานะหรือชนชั้น มากกว่าจากความแตกต่างของสายเลือดหรือเผ่าพันธุ์ คล้ายๆ ทุตซี่คืออำมาตย์ ฮุตูคือไพร่อะไรทำนองนี้  นี่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเฉยๆ นะคร๊าบ

ลองหาภาพชนเผ่าจากอินทรเนตรมาฝาก ภาพแรกพอแยกความแตกต่างระหว่างเผ่าได้ แต่ภาพที่สองนี่ เจอแต่ภาพ ไม่มีคำอธิบายว่าใครเผ่าไหน เดาว่าพวกที่ดูดั้งสูงกว่า ผิวอ่อนกว่าอาจจะเป็นทุตซี่ เพราะถ้าอพยพมาจากเอธิโอเปียหน้าตาน่าจะแนวๆ นี้  ถ้าไปหาดูภาพชาวเอธิโอเปียจะเห็นว่าคนแถวนั้นหน้าตาจะออกแนวลูกผสมระหว่างอาหรับกับแอฟริกัน สีผิวจะจางกว่าพวกกลางทวีป ดัังจะสูงกว่า สาวๆ นี่ดูสูงใหญ่คมเข้มดำไม่มากแต่เนียนมันถูกใจกระผมเป็นยิ่งนัก  หลายคนมาเป็นนางแบบดังในโลกตะวันตกก็มี


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 12, 21:06
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งฮูตูหรือทุตซี่ต่างก็พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกันคือคริสต์คาธอลิก  รวมทั้งมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กันเป็นเรื่องปกติมานานแล้ว จริงๆ ทั้งสองเผ่าน่าจะหลอมรวมกันจนเป็นเชื้อสายเดียวกันมานานแล้ว มีหน้าตาเหมือนๆ กันจนแยกไม่ออก   แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ชนชั้นปกครองถือว่าเป็นพวกทุตซี่ ส่วนชนชั้นแรงงานก็เป็นฮูตูไป  และหลังตกเป็นอาณานิคมเยอรมันในปี 1884 ทางเยอรมันเจ้าอาณานิคมไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองในประเทศรวันดาซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ทุตซี่  จนเมื่อเบลเยี่ยมเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมแทนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลับสนับสนุนให้ระบบการแบ่งชนชั้นชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก  พลเมืองทุกคนจะต้องมีบัตรประจำตัวบอกว่าตนเป็นเผ่าอะไร  ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสในการเรียน ทำงาน และสิทธิต่างๆ ด้วย
ในอดีตก่อนหน้าที่จะมีบัตร พวกฮูตูที่ร่ำรวยสามารถเปลี่ยนไปเป็นทุตซี่ได้ พอต้องมีบัตร คราวนี้ใครเกิดเป็นฮูตูก็ต้องเป็นฮูตูไปจนตาย


นโยบายนี้ของเบลเยี่ยม ทำเพื่อให้พวกชนพื้นเมืองวุ่นวายกับการคอยเป็นอริกันเองทำให้ง่ายต่อเบลเยี่ยมที่จะปกครอง  พวกฮูตูก็เกลียดพวกทุตซี่ไปแทนที่จะเกลียดเบลเยี่ยมเจ้าอาณานิคม  ส่วนพวกทุตซี่ก็ให้หลงระเริงไปกับสิทธิพิเศษและความรู้สึกว่าเหนือกว่าที่นายฝรั่งเบลเยี่ยมมอบให้อีกที ก็มากดขี่ฮูตูรับใช้นายฝรั่งซะ  นายฝรั่งก็นั่งตีพุงดูชนพื้นเมืองทะเลาะกันไปในขณะที่ตัวก็ตักตวงทรัพยากรของประเทศไป สบายใจเฉิบ

บอร์ดนี้ห้ามการเมือง แต่ทำไมยิ่งเขียนไปเขียนมาดูเรื่องแบบนี้มันยิ่งคุ้นๆ มากขึ้นยังไงไม่รู้  :-X

ภาพนี้เศร้ามาก สมุดประจำตัวของผู้หญิงคนหนึ่งระบุว่าเธอเป็นทุตซี่  เพราะสมุดเล่มนี้ทำให้เจ้าของสมุดต้องชดใช้ความเป็นทุตซี่ของเธอด้วยชีวิต


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 12, 17:29
มาเพิ่มเรตติ้ง


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 พ.ค. 12, 18:31
วันนี้กะว่าจะอู้ซะหน่อย  เจอท่านอาจารย์เข้ามารู้สึกจะไม่ได้ซะแล้ว  งั้นก็ต่อหน่อยละกันครับ

เมื่อเบลเยี่ยมใช้นโยบายทำให้คนพื้นเมืองแตกแยกกัน สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 เผ่าพันธุ์จึงยิ่งเลวร้ายลง แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งสองเผ่าต่างก็อาศัยปะปนกันไป  บ้านของชาวทุตซี่มีเพื่อนบ้านเป็นฮูตูก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน  แต่ความแตกต่างในเรื่องความรู้สึกก็ยังคงอยู่

สถานการณ์ความเลวร้ายจากความแตกต่างเริ่มมากขึ้นและเริ่มประทุ   กลุ่มฮูตูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มีผู้นำชื่อนายคายิบานดา (Grégoire Kayibanda) นายคายิบานดาก่อตั้งพรรค Parmehutu แปลเป็นไทยได้ว่า พรรคเพื่อการปลดปล่อยฮูตู(Party of the Hutu Emancipation Movement) และสามารถขับไล่กษัตริย์ทุตซี่ได้ จนนายคายิบานดาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรก และประกาศเอกราชในปี 1962

นายคายิบานดาตั้งตนเป็นผู้เผด็จการตามธรรมเนียมเดียวกับผู้นำประเทศแอฟริกาอื่นๆ และได้ดำเนินนโยบายเอาคืนโดยการกดขี่พวกทุตซี่ คนทำให้ชาวทุตซี่ที่มีการศึกษาและฐานะดีจำนวนมากอพยพไปประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอูกันดา

นโยบายแบบนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นวิธีที่นักการเมืองสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยมและความเป็นหนึ่งได้เร็วและง่ายที่สุดตั้งแต่โบราณคือสร้างศัตรูขึ้นมาให้ประชาชนภายใต้ปกครองเกลียด บวกกับระบบที่ปกครองด้วยความกลัว มีการกำจัดพวกที่ค้านหรือไม่เห็นด้วย  ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเยอะๆ เพราะคนส่วนใหญ่พร้อมที่จะใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลอยู่แล้ว นักการเมืองก็สามารถคงอยู่กับอำนาจได้เป็นเวลานานๆ  น่าเศร้าที่ผ่านมากี่ร้อยกี่พันปี คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ทันไอ้เรื่องพวกนี้อยู่ดี  แต่ถ้ารู้ทันก็อาจจะโดนกำจัดได้อีก เฮ้ออ  อยู่ยากจริงๆ

ภาพอีตาคายิบานดา


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 12, 14:25
กระทู้นี้เหมาะสมที่จะไปประจำอยู่ที่ห้องเปิดใหม่ "ประวัติศาสตร์โลก"

เรื่อง "มิคสัญญีที่รวันดา" หากแยกกระทู้ออกมาและอยู่ในห้องเดียวกัน ก็จะทำให้ผู้อ่านติดตามได้ง่ายขึ้น

ควรมิควร แล้วแต่ท่านเจ้าเรือนจะพิจารณา

 ;D


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 12, 18:47
ฮี่ๆ  ไปอยู่ห้องใหม่ก็ดีเหมือนกันครับ  ตอนแรกจะตั้งกระทู้เรื่องของคนที่ไม่ยกมือแบบนาซีนี่ ผมก็ไม่รู้จะตั้งห้องไหนเหมือนกัน จะเข้ากับเรือนไทยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่แกล้งทำมึนลองตั้งไว้ก่อน มีห้องประวัติศาสตร์โลกนี่ค่อยตรงหน่อย

มาต่อเรื่องรวันดากันอีกนิด

ในปี 1973 นายฮับยาริบานา (Juvénal Habyarimana) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีของนายคายิบานดาและดูแลกองทัพอยู่ ก็ปฏิวัติ สังหารนายคายิบานาและตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี  ยกเลิกพรรคการเมืองอื่นๆ เหลือแต่เฉพาะพรรคของตัวเองที่ถูกกฏหมาย  จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่มีแต่ตัวเองที่มีสิทธิลงเลือกตั้ง ก็เลยได้เป็นประธานาธิบดียาวนานติดต่อกันมาราว 20 ปี ระหว่างนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างฮูตูและทุตซี่ก็ไม่ได้ดีขึ้น  แม้ในสมัยการปกครองของนายฮับยาริบานาจะเป็นสายกลางกว่ายุคก่อนหน้า  ความรุนแรงและการเข่นฆ่าแบบในสมัยนายคายิบานดาเกิดขึ้นน้อยลง แต่นายฮับยาริบานนาก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องที่ชาวฮูตูกดขี่พวกทุตซี่ และไม่เปิดโอกาสให้พวกทุตซี่ที่อพยพหนีไปอยู่อูกานดากลับเข้ามาในรวันดา


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 12, 18:50
ชาวทุตซี่จำนวนมากอพยพไปอยู่ที่อูกานดา จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า Rwandan Patriotic Front (Front Patriotique Rwandais หรือตัวย่อ FPR)  ในปี 1990 ใช้ประเทศอูกานดาเป็นฐานในการรุกคืบ และยึดพื้นที่ตอนเหนือของรวันดาได้ และยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองเผ่าหนักขึ้นไปอีก ในหลายพื้นที่ชาวฮูตูหัวรุนแรงภายใต้การนำของผู้นำท้องถิ่นทำการสังหารชาวทุตซี่    ส่วนนายฮับยาริบานาเห็นปัญหาแล้วว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศใหม่ จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองอื่นๆ ได้  ห้ามบุคคลในกองทัพเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ฯลฯ   นายฮับยาริบานาเปิดเจรจากับกลุ่ม FPR ในปี 1993 และตกลงจะมีการจัดสรรแบ่งอำนาจกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับพวกฮูตูหัวรุนแรงมาก

ในปี 1994 เครื่องบินโดยสารของนายฮับยาริบานนาถูกก่อวินาษกรรม  คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต ประธานาธิบดีบุรุนดีซึ่งอยู่บนเครื่องด้วยพลอยโดนหางเลขตายตามไปด้วย  ผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งนี้อาจเป็นได้ทั้งพวกฮูตูหัวรุนแรง หรือแม้แต่กลุ่ม FPR เองก็ได้  หลายฝ่ายเชื่อว่า นาย พอล คากาเม (Paul Kagame) ผู้นำกลุ่ม FPR อยู่เบื้องหลังการสังหาร

ภาพนายพอลครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 12, 20:41
จะแยกกระทู้รวันดาของคุณประกอบไปตั้งใหม่ค่ะ   แต่ขอถามคุณประกอบว่าจะตั้งชื่อกระทู้ว่าอะไรดี   ดิฉันจะได้จัดการให้


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 12, 21:31
แห่ะๆ ตั้งว่าอะไรดีหละครับ  โจทย์ยากจริงๆ ไอ้ตั้งชื่อนี่  นี่ผมนั่งคิดชื่อจนไม่เป็นอันทำอะไรเลยนะเนี่ย

จะตั้งว่า "เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  มันก็ดู ตรงๆ ธรรมดาๆ ไป
ถ้าใช้ "ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  แบบนี้เหมือนหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปอีก  
"รวันดาวันเลือดเดือด" ก็ดูจะออกแนวแฟนบอลไป เหมาะเป็นชื่อสำหรับสองทีมพบกันมากกว่า
"หลั่งเลือดรวันดา"  อันนี้ก็เหมือนลอกชื่อหนังสือหลั่งเลือดที่นานกิง
"รวันดาล้างโครต"   อันนี้ก็เหมือนชื่อหนังกำลังภายในยุค 70  
"รวันดาเธอกับฉัน เพราะเราไม่เข้ากัน"   อันดูก็ดูหวานแหววไป ไม่สื่อถึงเนื้อหา
"ฮูตูตัวร้ายกับนายทุตซี่"  แบบนี้ก็เกาหลีไปอีก

ง่า สูงสุดกลับสู่สามัญ  เอาชื่อตรงๆ เชยๆแหละครับท่านอาจารย์เทาชมพู  "เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  ก็ได้ หรือท่านอาจารย์มีชื่อเด็ดๆ หรือชอบชื่อไหนก็ได้เลยครับ
comment นี้ไม่อยากให้เครียดครับ เพราะกำลังเศร้าโศกเสียใจที่อดเป็นกระทู้แรกในห้องใหม่ โดนตัดหน้าไปซะแล้ว แห่ะ พูดเล่นะครับ
จริงๆ คือคนเล่าเล่าเรื่องรวันดา เลยไปหาหนัง Hotel Rwanda มาดูซ้ำ ดูแล้วก็หดหู่หมดอารมณ์
ไปหาอ่านตรงส่วนที่มีการบรรยายรายละเอียดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ดูถึงพริกถึงขิง อ่านแล้วเศร้าเห็นความบ้าคลั่งของคน ดีว่าภาษาอังกฤษอ่อนแอ ไม่งั้นคงอินมากกว่านี้
เลยต้องกลับอารมณ์ออกแนวตลกขบขันซะหน่อย ต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่จริงจังกับชีวิตไว้ด้วยครับ  :-*


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 พ.ค. 12, 23:44
ย้อนกลับไปก่อนการตายของนาย ฮับยาริบานา มีนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์หลายคนในรัวนดาใช้ปมความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์มาสร้างความนิยมให้กับตัวเอง เช่นมีการออกหนังสือพิมพ์ที่มีการยั่วยุให้พวกฮูตูเกลียดชังพวกทุตซี่มากยิ่งขึ้น  เป็นการส่งเสริมปลูกฝังลัทธิความคิดที่ว่าฮูตูต้องเหนือกว่าทุตซี่ ฮูตูต้องไปปราณีต่อทุตซี่ 

การวางแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกทุตซี่มีมาตั้งแต่ก่อนการตายของนายฮับยาริบานา  และจริงๆ แล้วถูกวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนโดยรัฐบาลและคนใกล้ชิดเองเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้า  มีการจัดตั้งกองกำลังทหารบ้านชาวฮูตูขึ้นมา ปลูกฝังแนวความคิดความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์   กองกำลังทหารบ้านฮูตูมีกำลังพลประมาณสามหมื่นคน มีจัดการกองกำลังอย่างดีกระจายตัวไปในทุกชุมชนทั่วประเทศ กำลังพลบางส่วนติดอาวุธทั้งปืนกล ระเบิดมือ  แต่ส่วนใหญ่ใช้มีดเพราะราคาถูกกว่าปืน  กองกำลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะมีดที่ใช้สั่งซื้อโดยรัฐบาลนั่นแหละ
นอกจากนี้สื่อต่างๆ ของรัฐบาล หนังสือพิมพ์ วิทยุ ต่างโหมกระพือเร่งสร้างความเกลียดชังระหว่างสองเผ่าพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย  คอลัมนิสต์ตะวันตกหลายคนบอกว่ารูปแบบในการสร้างความเกลียดชัง สร้างกองกำลัง ไม่แตกต่างจากวิธีการที่ฮิตเลอร์ใช้ในการปลูกฝังความเกลียดชังชาวยิวเลย


ในขณะที่กองกำลัง  FPR ของพวกทุตซี่ก็เริ่มยึดครองทางตอนเหนือของประเทศ  สถาณการณ์ในรวันดาก็คือมีสงครามกลางมืองจนที่สุดนายฮับยาริบานาต้องเปิดการเจรจากับกองกำลัง FPR เพื่อมีการจัดสรรอำนาจและปฏิรูปการเมือง  แต่ตัวนายฮับยาริบานาเองก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงเช่นกัน แต่ยังควบคุมสถานการณ์อยู่ได้

เมื่อมีการเจรจาและเริ่มต้นการแบ่งอำนาจระหว่างนายฮับยาริบานากับกองกำลังทุตซี่ที่ยึดครองทางเหนือ สงครามกลางเมืองในรวันดาก็เหมือนจะสงบลง  สหประชาชาติส่งกองกำลังเข้าไปทำหน้าที่สังเกตการณ์การการหยุดยิง ให้ความช่วยเหลือในการปลดอาวุทธกองกำลังต่างๆ แต่กำลังทหารของสหประชาชาติที่ส่งไปมีกำลังพลเพียงสองพันกว่านายเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรักษาสันติภาพได้จริงๆ

และเมื่อเครื่องบินที่นายฮับยาริบานาถูกยิงตกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 สถานการณ์ที่สุกงอมพร้อมจะระเบิดก็เริ่มต้นขึ้น


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 12, 08:50
นโยบายแบ่งแยกเพื่อปกครอง ใช้ในประเทศไหน  ประเทศนั้นอย่างเบาก็แตกแยกเป็น 2 ประเทศ   อย่างหนักก็ย่อยยับด้วยกันหมด  ไม่ช้าก็เร็ว
น่ากลัวมากค่ะ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ค. 12, 18:43
เมื่อประธานาธิบดีตาย คนที่ควรจะรักษาการก็คือนายกรัฐมาตรีหญิงของรวันดาขณะนั้น คือนาง Agathe Uwilingiyimana

ต้องเล่าถึงนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของรวันดาก่อน ผมจะเรียกว่า อกาเธ่ละกัน  อกาเธ่เป็นชาวเผ่าฮูตูที่ได้รับการศึกษาดี จบการศึกษาทางด้านเคมี เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติรวันดา  เธอเข้าสู่แวดวงการเมืองเนื่องจากมีผลงานทางด้านการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมสมัยที่เป็นอาจารย์ และได้ดำรงตำแหน่งที่อาจจะเรียกว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์ (director in the Ministry of Commerce) ในปี 1989 เมื่ออายุเพียง 36 ปี


เมื่อมีการปฏิรูปการเมือง อนุญาตให้ระบบการเมืองรวันดามีหลายพรรคได้ เธอเข้าร่วมพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านในปี 1992 ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของรวันดา เนื่องจากขณะนั้นมีการปฏิรูปการเมือง และมีการจัดสรรแบ่งอำนาจกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายประธานาธิบดี  เมื่อเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ เธอยกเลิกระบบโควต้าในการเข้าเรียนที่แบ่งตามเผ่าพันธุ์ ทำให้เธอกลายเป็นศัตรูของพวกฮูตูหัวรุนแรง


วันที่ 17 กรกฏาคม 1993 อกาเธ่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรวันดา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากอกาเธ่เองไม่มีฐานอำนาจที่แท้จริงทางการเมือง และประนาธิบดีอาจจะคิดว่าน่าจะง่ายกว่าในการควบคุมเธอ แทนที่จะตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีฐานอำนาจของตัวเอง


งานหลักของรัฐบาลอกาธ่าคือการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายต่อต้านชาวทุตซี่ทางตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแกนหลักสามฝ่าย คือประธานาธิบดีฮับยาริบานนา  อกาเธ่ และ พอล คากาเม ผู้นำกลุ่มกบฏทุตซี่ FPR  แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป เครื่องบินของประธานาธิบดีก็ถูกยิงตกเสียก่อน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเอง แม้เป็นชาวฮูตู แต่ก็เป็นที่จงเกลียดจงชังของพวกฮูตูหัวรุนแรง แถมไม่มีฐานอำนาจที่แท้จริงของตัวเองในมือ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ค. 12, 21:05
เมื่อประธานาธิบดีถูกสังหาร ในคืนนั้นเอง กองกำลังรักษาสันติภาพ UN ส่งทหารไปคุ้มกันอกาธ่าที่บ้านพักและวางแผนจะให้อกาธ่าพูดออกอากาศทางวิทยุเพื่อให้ทุกฝ่ายสงบลงก่อน  รอบบ้านของอกาธ่ามีทหารจากกาน่า 5 คน และทหารจากเบลเยี่ยมอีก 10 นายในฐานะกองกำลังของ UN คุ้มกัน  ส่วนภายในบ้านมีกองกำลังคุ้มกันของประธาธิบดีทำหน้าที่คุ้มกัน

แต่ในช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน ทหารรักษาการจาก UN ถูกกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดีล้อมและปลดอาวุธ   ภายหลังทหารเหล่านี้ถูกทรมานอย่างทารุณและถูกสังหาร     อกาธ่าซึ่งอยู่ในบ้านขณะนั้นเห็นเหตุการ จึงรีบอพยพไปยังสถานที่หลบภัยของ UN ในกรุงคิกาลิ แต่หลังจากนั้นทหารมีกองกำลังทหารรวันดาเข้าทำการตรวจค้นที่หลบภัยและสังหารอกาธ่ากับสามี ลูกๆ ของอกาธ่าโชคดีกว่าเพราะขณะนั้นสามารถหลบซ่อน  ถูกส่งไปหลบต่อที่โรงแรม Hôtel des Mille Collines  โรงแรมในหนังเรื่อง Hotel Rwanda และลี้ภัยไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ในภายหลัง

ใครอยากได้อารมณ์ความรู้สึก ความตึงเครียดของสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แนะนำให้ไปหาหนัง Hotel Rwanda มาดู เป็นหนังปี 2004 แม้จะเครียดแต่เป็นหนังดีมากเรื่องหนึ่งที่ฉายภาพความไร้น้ำยาของ UN ได้ดี  ถ่ายทอดความรู้สึกกดดัน  ความเมตตาและความละโมภของคนได้ดีทีเดียว กว่าผมจะดูจบต้องทำใจดูๆ หยุดๆ อยู่นานพอสมควรเพราะความสะเทือนใจ โดยเฉพาะฉากทหาร UN มาอพยพเอาแต่คนต่างชาติในโรงแรมออกไป แต่ทิ้งให้ผู้อพยพชาวทุตซี่และฮูตูสายกลางให้หาทางรับมือพวกทหารบ้านในโรงแรมกันเอง

ภาพโรงแรม Hôtel des Mille Collines ของจริงครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ค. 12, 21:26
นอกจากนายกรัฐมนตรีที่ถูกสังหารแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ของรวันดาที่มีแนวคิดสายกลางจำนวนไม่น้อย ต่างถูกสังหารพร้อมทั้งครอบครัวโดยทั้งกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดี  กองทหารของกองทัพรวันดา และกลุ่มทหารบ้านหัวรุนแรงชาวฮูตูเอง   การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายน 1994 นี่เอง โดยการสนับสนุนของพวกฮูตูหัวรุนแรงทั้งในรัฐบาลและในกองทัพ  

แม้แต่ชาวเผ่าทวาที่เป็นชนส่วนน้อย มีประมาณ 1% ของประเทศที่ไม่ได้เคยมีปัญหาอะไรกับชาวฮูตูก็พลอยถูกกวาดล้างไปด้ว พวกฮูตูหัวรุนแรงออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุกระตุ้นปลุกปั่นส่งเสริมให้มีการฆ่า ชักชวนให้ชาวฮูตูออกมาฆ่าเพื่อนบ้านชาวทุตซี่ให้หมด  รวมทั้งให้ฆ่าชาวฮูตูด้วยกันที่ให้ความช่วยเหลือพวกทุตซี่ด้วย  การฆ่าฟันกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้งประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีชาวทุตซี่อยู่เลยก็มีคนจำนวนไม่น้อยถูกสังหาร

การฆ่าฟันเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเพศหรืออายุของเหยื่อ  ขอเพียงบัตรประจำตัวระบุว่าเป็นทุตซี่  ถ้าไม่พกบัตร แค่มีสีผิวจางกว่าก็อาจถูกถือว่าเป็นทุตซี่และถูกสังหารด้วย ในช่วงจราจลมีทั้งการปล้นสะดม ข่มขืน ฆ่า ทุกอย่างครบหมดแบบที่ช่วงมิคสัญญีจะมี


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ค. 12, 22:00
เมื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มขึ้นอย่างขนานใหญ่  วันที่ 9 เมษายน  UN ส่งทหารประมาณพันนายพร้อมอาวุธครบมืออย่างดีเข้ามาในรวันดา แต่ภารกิจของทหารเหล่านี้คือมาเพื่ออพยพชาวต่างชาติรวมทั้งนักข่าวออกจากรวันดาเท่านั้น ไม่ได้มีภารกิจในการช่วยเหลือกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN ที่อยู่ในรวันดาก่อนหน้า ดังนั้นจึงไม่มีกองกำลังหรือการแทรกแทรงจาก UN เพื่อหยุดยั้งการฆ่าครั้งนี้

พวกทหารบ้านฮูตูจะใช้มีดเป็นอาวุธหลักในการฆ่า  ในขณะที่วิทยุก็ออกอากาสปลุกปั่นให้มีการฆ่า บังคับให้ชาวฮูตูออกมาฆ่าชาวทุตซี่มากๆ  ชาวฮูตูคนใดที่ลังเลหรือไม่ยอมปฏบัติตามก็จะถูกถือว่าเป็นผู้ทรยศและถูกฆ่าด้วย  กองกำลังชาวฮูตูทำการปิดถนนตามที่ต่างๆ ส่งผลให้การอพยพหลบหนีเป็นไปอย่างยากลำบาก  มีการติดตามตามค้นหาและฆ่าอย่างเป็นระบบทีละพื้นที่  ฝูงชนจำนวนมากพากันอพยพหลบซ่อน โดยเฉพาะตามโบสถ์  แต่ก็ไม่สามารถรอดพ้นการฆ่าไปได้  ในกรุงคิกาลีเอง ชาวทุตซี่หลายพันคนอพยพไปที่โรงเรียนเทคนิค École Technique Officielle ซึ่งทหารเบลเยี่ยมกองกำลังรักษาสันติภาพใช้เป็นฐานทัพ แต่เมื่อกองกำลังเบลเยี่ยมถอนตัวในวันที่ 11 เมษายน ผู้อพยพทั้งหมดถูกสังหาร


การฆ่าดำเนินไปเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ไม่มีใครรู้ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอน  มีการประมาณการผู้เสียชีวิตประมาณ 8 แสน ถึงหนึ่งล้านคน  นับว่าเร็วกว่าที่เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ในการกำจัดชาวยิวเสียอีก  เอกสารอย่างเป็นทางการของรัฐบาลรวันดาในภายหลัง ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,174,000 คน ในระยะเวลา 100 วัน จากประชากรทั้งประเทศ 7 ล้าน 3 แสนคน  เฉลี่ยแล้วตายวันละ 10,000 คน หรือ 400 คนทุกชั่วโมง หรือ 7 คนทุกหนึ่งนาที   ประมาณ 10% ของผู้เสียชีวิตเป็นชาวฮูตูเอง  มีผู้รอดชีวิตชาวทุตซี่หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประมาณสามแสนคน ผู้รอดชีวิตที่เป็นหญิงจำนวนมากถูกข่มขืน และติดเชื้อ HIV


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 12, 22:49
อยากจะหาภาพประกอบมาให้เหมือนกระทู้อื่นๆ   แต่พออ่านคำบรรยายแล้ว  หาไม่ลงจริงๆ   มันสยดสยองเกินกว่าจะอยากเห็นค่ะ
เรื่องนี้เข้าใจว่า UN ถูกตำหนิไปเสียพอแรง ที่เป็นเสือกระดาษไม่ทำอะไรเลย  หรือทำไม่ได้ก็ไม่ทราบ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ค. 12, 23:33
ภาพประกอบที่โหดๆ ผมก็ละไว้ไม่เอามาลงเหมือนกันครับ เลยลงแต่ภาพบุคคล ภาพโรงแรมแทน เพราะถ้าหาในอิทรเนตร ภาพประกอบจำนวนมากโดยเฉพาะพวกเว็บรวมภาพโหดๆ เป็นภาพศพที่ดูแล้วน่าเศร้า  ทั้งลูกเด็กเล็กแดง  มีคลิปภาพข่าวเปิดดูได้หน่อยนึงเป็นภาพคนเงื้อมีดฟันๆ ผมก็ต้องปิดแล้ว  สู้ดูภาพเลดี้กาก้าไม่ได้เลย อันนั้นดูแล้วครึ้มอกครึ้มใจกว่าเยอะ  ส่วนในกระทู้ตรงที่โหดๆ เรื่องการฆ่ากันเลยจงใจละภาพไว้ดีครับ  ใครอยากดูต้องไปหาเอง

หนังเรื่องโฮเตลรวันดานี่ก็เพิ่งกัดฟันดูจนจบวันนี้เอง  ดูค้างไว้ตอนทหาร UN ทิ้งพวกรวันดาไว้ที่โรงแรมแล้วฝืนดูต่อไม่ไหวมาหลายวันแล้ว

แต่ศึกษาเรื่องรวันดา หันมามองการเมืองบ้านเรา พบรูปแบบการดำเนินการที่คล้ายกันมากในหลายส่วนเลย โดยเฉพาะเรื่องวิธีการปลูกฝังความเกลียดชัง เพียงแต่ระดับความเกลียดชัง ความขัดแย้ง มันยังไม่ถึงขนาดเทียบเท่ารวันดาเท่านั้น แต่วิธีการหลายๆ แบบที่ใช้เดินซ้ำกงล้อประวัติศาสตร์กันเลย



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 12, 03:43
ต้องออกตัวขออภัยท่านผู้อ่านเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่อาจจะไม่ปะติดปะต่อนักเพราะคนเล่าหาข้อมูลแบบอ่านไปเขียนไปตามประสาคนขี้เกียจ ไม่ได้อ่านทั้งหมดแล้วเขียนทีเดียว ดังนั้นใจความสำคัญบางส่วนอาจขาดหายไป แต่ถ้าพบอะไรที่น่าสนใจจะทยอยเอามาเล่าต่อไปเรื่อยๆ และอาจมีการเล่าย้อนหลังบ้าง    ข้อมูลส่วนใหญ่อ่านจาก wikipedia และเว็บไซต์ www.rwandanstories.org บ้าง รวมทั้งจากข่าวในเว็บหนังสือพิมพ์ต่างประเทศบ้าง

ถึงจะเล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปแล้วแบบไม่อยากลงรายละเอียดวิธีการฆ่า เพราะหลายๆ วิธีเป็นแบบเดียวกับที่ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองใช้ เวลาจับเชลยทหารสหรัฐฯได้ในสมรภูมิตามเกาะต่างๆ ในแปซิฟิค    รวมถึงอาจจะข้ามเรื่องเศร้าต่างๆ ที่เล่าโดยพยานที่รอดชีวิตเพราะค่อนข้างน่าสะทือนใจ  แต่ยิ่งอ่านข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทของนานาชาติและสหประชาชาติก็รู้สึกว่าน่าสนใจและน่าโมโหยิ่งนัก รวมทั้งเรื่องของผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ทั้งที่วางเฉยและสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้  และคำถามว่าทำไมการฆ่าหยุดลงในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนได้ทั้งที่ชาวทุตซี่ยังตายไม่หมดประเทศ  รวมถึงผู้กล้าต่างๆ ที่เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือคนอื่น จะทยอยๆ เล่าไปเรื่อยๆ แบบไม่เร่งรีบนะครับ

เอาภาพมาฝากอาจารย์เทาชมพูแบบไม่โหดมาให้ดู เป็นภาพม๊อบของพวกฮูตูหัวรุนแรง ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามท้องถนน และภาพของพวกทหารบ้านที่ตั้งด่านตรวจหาพวกทุตซี่ตามท้องถนน


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 พ.ค. 12, 10:29
หามาแจม ครับ

             หนังเรื่อง Hotel Rwanda (ซึ่งมีหลายคนเรียกว่าเป็น African Schindler's List)
สร้างจากเรื่องจริงของ Paul Rusesabagina
           ตัวเอก(พระเอก) เป็นผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมใหญ่ในรวันดา พ่อของพอลเป็นฮูตู
ส่วนแม่และภรรยาของเขาเป็นทุตซี่


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 พ.ค. 12, 10:31
         ในช่วงเวลาแห่งการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ - "กำจัดแมลงสาบ" นั้น  
พอลได้เปิดโรงแรมให้เป็นที่หลบภัยแก่ "แมลงสาบ" 1,268 ชีวิต

พอลเล่าว่า

           We all knew we would die, no question.
           The only question was how. Would they chop us in pieces?
           With their machetes they would cut your left hand off.
Then they would disappear and reappear a few hours later to cut off
your right hand. A little later they would return for your left leg etc.
           They went on till you died. They wanted to make you suffer
as long as possible.
           There was one alternative: you could pay soldiers so they
would just shoot you. That’s what her [his wife] father did.

Real Paul & Reel Paul


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 12, 16:18
ขอบคุณท่าน SILA ที่มาร่วมแจมนะครับ กำลังเหงาเชียว

อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทและต้องกล่าวถึงคือผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ พลโทโรมิโอ (Lieutenant-General Roméo Antonius Dallaire) ผมออกเสียงนามสกุลแกไม่ถูก ขอละไว้ให้ท่านที่เชี่ยวชาญช่วยออกเสียงให้แทนนะครับ  
  
พลโทโรเมโอเกิดในปี  1946 เป็นลูกของนายทหารประทวนผ่านศึกของแคนาดา จบโรงเรียนนายร้อยแคนาดาและเป็นทหารอาชีพ   ได้รับมอบหมายภารกิจเป็นผู้บัญชาการกองกำลังของสหประชาชาติ (UNAMIR ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปภายหลัง) ในช่วงปลายปี 1993   ทำภารกิจสังเกตุการณ์ และให้ความช่วยเหลือในการเจรจากันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและ RPF ภายใต้ข้อจำกัดจำนวนมาก เช่น ทหารสหประชาติถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการขัดแย้งใดๆ  และไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กำลังหรืออาวุธไม่ว่าในกรณีใดๆ ยกเว้นแต่เพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น

พลโทโรเมโอสังเกตุเห็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและการเตรียมการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฝ่ายรัฐบาลนายฮับยาริบานา เช่นการขนส่งอาวุธจำนวนมากจากฝ่ายฝรั่งเศสให้กองทัพรวันดา โรเมโอขออนุมัติเข้ายึดอาวุธเหล่านี้แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะดูจะเป็นสิ่งที่นอกเหนือภารกิจที่ได้รับมอบหมาย  โรมิโอเห็นสัญญาณผิดปกติอื่นๆ  เช่นการตรวจเช็คบัตรประชาชน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแยกแยะว่าใครคือฮูตู ใครคือทุตซี่   และยังได้รับข้อมูลแผนการจากพวกฮูตูเองที่อยู่ในคณะรัฐบาล กองทัพ หรือแม้แต่กองทหารบ้านเอง    
โรเมโอรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเรียกร้องขอกำลังจากสหประชาชาติประมาณ 5000 นายซึ่งโรมิโอเชื่อว่าเพียงพอจะป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ แต่คำขอของโรมิโอไม่ได้รับอนุมัติ

ในช่วงต้นการล้างเผ่าพันธุ์ เบลเยี่ยมเป็นประเทศแรกที่ถอนทหารที่สังกัดสหประชาชาติออกไปหลังจากทหารเบลเยี่ยมที่ทำหน้าที่คุ้มกันนายกรัฐมนตรีหญิงจำนวน 10 คนถูกสังหาร  โรเมโอเหลือกำลังทหารแค่ประมาณ 200 กว่าคน เป็นกำลังจากปากีสถาน แคนาดา กาน่า ตูนิเซียและบังคลาเทศ  และได้จัดกำลังที่เหลือจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยขึ้นในกรุงคิกาลิ  เพื่อให้ความคุ้มครองพวกผู้อพยพหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โรมิโอจงใจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อทหารใต้บังคับบัญชาบางส่วนที่ทำหน้าที่สังเกตุการณ์เข้าไปช่วยเหลือพาชาวทุตซี่หลบหนีเข้ามาในพื้นที่ปลอดภัย  รวมถึงกำลังบางส่วนที่ยอมเสี่ยงตายไปยืนเฝ้าอยู่ตามหน้าประตูโบสถ์ที่มีพวกทุตซี่หลบอยู่ เพราะโดยมากแล้วทหารบ้านและทหารรวันดาจะไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทหารสหประชาชาตินัก  ความกล้าหาญของทหารจำนวนเพียงหยิบมือ และการจัดตั้งเขตปลอดภัยขึ้นได้ช่วยชีวิตผู้ที่น่าจะถูกสังหารได้อย่างน้อยประมาณ 32000 คน  

ภาพพลโทเรมิโอ  และกองทหารจากกาน่าที่โรมิโอยกย่องมากทั้งในเรื่องความกล้าหาญ และความสามารถในการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง กานาเสียทหารไป 3 นายในภารกิจในรวันดา


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 12, 16:33
พูดถึงกาน่าต้องขอนอกเรื่องหน่อย  ตอนนี้ผมอยู่ต่างประเทศ อยู่มาจะสามปีแล้ว เมื่อสองปีก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มกานาคนหนึ่ง ประเทศกาน่าตั้งอยู่ตรงไหนในแอฟริกาผมก็ไม่รู้  ประเทศนี้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เคยได้ยินแต่ชื่อ

พ่อหนุ่มกานาที่คุยด้วยแกมาเรียนปริญญาเอกด้านสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยเมืองที่ผมอยู่ แกจบปริญญาโทมาจากออกซ์ฟอร์ด  เรื่องที่สนทนากันคือสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย ! ! !

ครับ คนกาน่าเรียนสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  แต่แกรู้ชื่อนายกไทย  รู้จักนายทักษิณ รู้เรื่องคอรัปชั่น รู้เรื่องสีเสื้อ สามารถวิเคราะห์บรรยายเรื่องเมืองไทยได้เป็นฉากๆ คุยกันได้นาน   เวลาได้คุยกับคนที่เรารู้ได้ว่ารอบรู้กว่าเรา ฉลาดกว่าเรา มันน่าทึ่งเสียนี่กระไร โดยเฉพาะเป็นคนที่มาจากประเทศที่เราคนไทยมักจะมองว่าบ้านป่าเมืองเถื่อนและเรามักมีอคติหรือตัดสินไปล่วงหน้าแล้ว
นอกจากชาวกาน่าแล้ว ตอนหลังยังได้พบกับชาวไนจีเรียที่ฉลาดมากๆ อีก แม้ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองไทย แต่เห็นวิธีที่แกใช้วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เห็นระบบวิธีคิดแล้วต้องอึ้ง
ตอนนี้มีเพื่อนชาวอีรักอีกคน เรียนฟิสิกส์ ทำวิจัยด้าน nanotubes  แกบอกว่าแกหาวิธีประยุกต์นำ nanotubes มาใช้ประโยชน์ได้ ผลงานแกจะเป็นคั้งแรกในโลก และแกแค่กล้าหวังว่าผลงานแกอาจจะได้รับรางวัลโนเบลแค่นั้นเอง ถ้าไม่มั่นใจว่าผลงานแกพลิกโลกจริงแกคงไม่กล้าเล่าให้ผมฟัง ที่จริงแกเล่ามามากมาย แต่ผมไม่เข้าใจว่าไอ้นาโนทิวมันคืออะไรแค่นั้นเอง เคยได้ยินชื่อมาเฉยๆ
นี่ก็รออยู่ว่าถ้าแกดังเมื่อไร่ จะไปขอถ่ายรูปเอามาอวดชาวชานเรือนซะหน่อย


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 16:44
เป็นที่น่าเศร้ามาก ๆ ครับสำหรับการแบ่งแยกและรังเกียจกันระหว่างคนสองชนเผ่า ข้าพเจ้าเคยเห็นภาพการทำร้ายระหว่างกันรุนแรงถึงขั้น เผาทั้งเป็น เผาหมู่บ้านและตัดชิ้นส่วนอวัยวะออกเป็นชิ้น ๆ

สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเกลียดกันอย่างสุดขั้วเลยก็ว่าได้ น่ากลัวมาก ๆ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 12, 16:49
เมื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นแบบไม่สามารถควบคุมได้ สหประชาชาติจึงตัดสินใจจะส่งกำลังทหาร 5500 คนเข้าไปในรวันดา ซึ่งเป็นจำนวนที่โรมิโอเคยขอมาก่อนหน้า แต่ด้วยความล่าช้าตามสไตล์การบริหารแบบองค์กรใหญ่ๆ อุ้ยอ้ายทั่วไป การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็สิ้นสุดลงเสียก่อนเมื่อฝ่ายกบฏ RPF ยึดเมืองหลวงคิกาลิได้ และขับไล่ทหารรวันดาและทหารบ้านให้ต้องหนีไปซาอีร์  

หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  พลโทโรมิโอป่วยด้วยความเครียดสะสมจากความเครียดในรวันดา และได้เคยพยายามฆ่าตัวตายเมื่อปี 2000  ปัจจุบันแกเป็นนักสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลและปริญญากิตติมศักดิ์มาหมายจากมหาวิทยาลัยทั้งในแคนาดา สหรัฐฯ และที่อื่นๆ  เมื่อปี 2003 แกได้เขียนหนังสือเรื่อง Shake Hands with the Devil: The Journey of Roméo Dallaire เล่าเหตุการณ์และบทบาทของแกในรวันดา

ในหนังโฮเตลรวันดา นิค โนลเต้เล่นบทพันโทโอลิเว่อร์ ซึ่งสมมุติมาจากตัวพลโทโรมิโอนี่แหละ แต่ในหนังเล่นลดยศแกจากพลโทเหลือแค่พันโทเอง  แถมโรมิโอบอกว่าบทบาทของโนลเต้ในหนัง ไม่เหมือนกับตัวแกเอง แต่โดยรวมหนังเรื่องนี้ก็ "ใช้ได้"  

ภาพของพันโทโอลิเวอร์ในหนัง จำลองมาจากพลโทโรมิโอครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 19:56
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เดินทางไปรวันดาเพื่อค้นหาบทเรี­ยนจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี ๑๘ ปีก่อน

ฟังปากคำสด ๆ จากเหยื่อความรุนแรง­ที่สามีฆ่าภรรยา เพื่อนบ้านฆ่ากัน ครูฆ่านักเรียน หลังจากการบ่มเพาะความเกลียดชัง­ผ่านสื่อต่าง ๆ มาหลายสิบปี

หลังเหตุการณ์ยุติลง ฆาตกรและเหยื่อกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร

http://www.youtube.com/watch?v=RSEnQftv87w

 :(


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 12, 10:35
เป็นเรื่องน่าสลดใจที่สุดเรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ค่ะ
ปัจจุบัน รวันดาเป็นอย่างไรบ้างคะ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 พ.ค. 12, 14:27
รวันดาวันนี้ต้องกั๊กไว้ก่อนครับ  ;D เดี๋ยวจะไม่สนุก  เพราะพอติดตามเรื่องรวันดาแล้วพบว่ามีข้อมูลเยอะ แค่ใน wikipedia ก็ตามอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว มี link ข้อมูลไปตรงนั้นตรงนี้ที่น่าสนใจเยอะแยะมากครับ ทั้งบทบาทของชาติตะวันตก ใครเป็นตัวโกงบ้าง ใครเพิกเฉยบ้าง ทำไมเพิกเฉย  บทบาทที่ไม่เอาไหนของ UN หรือแม้แต่ตัวเบ้งๆ ใน UN ที่เพิกเฉยเพราะสนับสนุนรัฐบาลรวันดาอยู่กลายๆ บทบาทของพวกกบถ  เรื่องเล็กๆ ของคนหลายคนที่เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยคนอื่นๆ   ผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน การดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภายหลัง หรือแม้แต่ทำไมคนเราถึงกลายเป็นปิศาจได้ง่ายๆ นัก  วิเคราะห์การปลูกฝังความเกลียดชังที่ใช้ในรวันดา เปรียบเทียบกับบางเหตุการณ์ในไทยบางเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่พบว่ามันเหมือนกันเป๊ะๆ แต่ต่างกันที่การยกระดับความรุนแรงเท่านั้น  เยอะครับ ท่าทางกระทู้นี้จะอีกยาวกว่าที่คิด

เข้าที่ดูสารคดีที่อาจารย์เพ็ญชมพูเอามาให้แล้ว ได้เห็นภาพรวันดาวันนี้ดูแล้วเจริญว่าที่คิด ประเทศก็ดูอุดมสมบูรณ์ดี  สารคดีพูดถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ได้ดี แต่ผมคิดว่าด้วยข้อจำกัดทางเวลาบางรายละเอียดอาจจะยังไม่ละเอียดมากพอที่จะทำให้คนดูเข้าใจ และรู้ทันวิธีการเวลาที่ใครบางคนพยายามจะล้างสมองเรา เปลี่ยนเราจากคนธรรมดา ให้กลายเป็นปิศาจที่ไม่รู้สึกรู้สาได้

แต่เมื่อท่านอาจารย์อยากทราบว่ารวันดาวันนี้เป็นอย่างไร ดูภาพรวันดาเมื่อ 2 ปีที่แล้วไปพลางๆ ก่อนครับ เป็นภาพในกรุงคิกาลี เมื่อปี 2010


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ค. 12, 17:58
หรือแม้แต่ทำไมคนเราถึงกลายเป็นปิศาจได้ง่ายๆ นัก

คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรรายการในคลิปข้างบนสรุปวิธีทำให้คนดี ๆ กลายเป็นปีศาจได้ ๓ ขั้นตอน คือ

๑. แบ่งแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยใช้ถิ่นที่อยู่ ภาษา ความเชื่อ ความเห็นทางการเมือง แม้แต่การแต่งกาย สีเสื้อ เป็นตัวแบ่ง  

๒. ลดคุณค่าความเป็นคนของฝ่ายตรงข้าม   สร้างความเชื่อความรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์  แต่เป็นสัตว์ เป็นปีศาจ เป็นเชื้อโรค เป็นแมลงสาบ

๓. สร้างค่านิยมว่า การทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย จนถึงการฆ่าฝ่ายตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรได้รับการสรรเสริญ

ทั้ง ๓ ขั้นตอนเกิดขึ้นแล้วในรวันดา ผลคือความตายของเพื่อนมนุษย์นับล้านคน

และทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา (เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙)  และกำลังดำเนินอยู่ใน พ.ศ. ปัจจุบัน (กีฬาสี - แมลงสาบ - เผาเลย ผมรับผิดชอบ)

 :(


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ค. 12, 18:29
กองกำลังของสหประชาชาติที่เข้าไปในรวันดา (The United Nations Assistance Mission For Rwanda) หรือ UNAMIR เป็นกองกำลังที่มีหน้าที่หลักในการให้ความช่วยเหลือในการรักษาสันติภาพ กำหนดการภารกิจตั้งแต่เดือยตุลาคม 1993 ถึง มีนาคม 1996

อย่างที่บอกไว้ว่ารวันดามีสงคามการเมืองระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีฮับยาริบานา กับกองกำลัง RPF  ที่นำโดยพอล คากาเม (ตัวย่อในกระทู้นี้อาจจะ RPF บ้าง FPR บ้าง ขึ้นกับจะย่อแบบอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่คือพวกเดียวกันนะครับ)  กองกำลังกบฏสามารถยึดพื้นที่ทางตอนเหนือได้ แต่ก็ไม่สามารถรุกคืบมากกว่านั้น แต่ก็ทำให้ทางรัฐบาลต้องเปิดการเจรจาเพื่อการแบ่งอำนาจกันและยุติสงคามกลางเมือง  ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับกบฏเรียกว่าข้อตกลงอรูชา (Arusha Accord)  แต่แม้ว่าทางหนึ่งรัฐบาลจะเปิดเจรจากับฝ่ายกบฏ แต่ในอีกทางรัฐบาลก็เตรียมแนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทุตซี่ไว้ด้วย

และเนื่องจากรัฐบาลรวันดากล่าวหาว่าพวกกบฏได้รับการสนับสนุนจากอูกานดา ในขณะที่อูกานดาปฏิเสธ ทั้งสองประเทศจึงส่งข้อเรียกร้องไปยังสหประชาชาติเพื่อขอกองกำลังที่เป็นกลางเข้ามาดูแลไม่ให้มีการขนอาวุธสนับสนุนข้ามพรมแดน สหประชาชาติจึงตั้งกองกำลัง United Nations Observer Mission Uganda-Rwanda (UNOMUR) มีกำลังประมาณ 80 นายทำหน้าที่สังเกตุการณ์ และเมื่อข้อตกลงอรูชามีความก้าวหน้าขึ้น ทั้ง RPF และรัฐบาลรวันดาจึงขอความช่วยเหลือไปยัง UN  ซึ่งได้จัดกองกำลัง UNAMIR มีกำลังพลประมาณ 2000 นายที่นำโดยนายพลโรมิโอของเราเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลัง  แต่ตัวหัวหน้าหรือประธานตัวจริงคือนายบูบู(Jacques-Roger Booh-Booh) ชาวคามรูน 

หน้าที่หลักของกองกำลังนี้คือสังเกตุการณ์  ให้ความช่วยเหลือในการเจรจาและการแบ่งอำนาจกันเป็นไปด้วยดี แต่ภายใต้บทบาทของ UN มีข้อจำกัดในไม่ให้เข้าไปแทรกแซง ห้ามใช้กำลังใดๆ

ภาพนายบูบูครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ค. 12, 19:16
เนื่องจาก UNAMIR มีหัวหน้าสองคน คนแรกนายบูบูซึ่งตามทฤษฎีแล้วเป็นหัวหน้าใหญ่ โดยมีพลโทโรมิโอเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง  เสือสองตัวเลยยากจะอยู่ร่วมกันได้   การประสานงานกันระหว่างทั้งคู่มีปัญหาอย่างมาก   ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  นายบูบูซึ่งถูกประนามอย่างมากได้ออกหนังสือออกมา  ในหนังสือนายบูบูกล่าวโทษพ่อโรมิโอของเราชอบทำหน้าที่ล้ำเส้น ไม่ให้ความสำคัญกับหัวหน้าตัวจริง  และอาจจะเหยียดผิวด้วย คือไม่ชอบอยู่ภายใต้คำสั่งของนายบูบูที่เป็นชาวแอฟริกัน


ส่วนพ่อโรมิโอของเราซึ่งได้เขียนหนังสือเหมือนกันก็กล่าวโทษบูบูว่าค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางรัฐบาลรวันดามาก เพิกเฉยและไม่ส่งต่อรายงานต่างๆ ของพลโทโรมิโอเกี่ยวกับข้อสังเกตต่างๆ เรื่องการเตรียมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือความรุนแรง ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ได้รับทราบภาพของสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งส่งผลมากในการจำกัดบทบาทของกองกำลัง UN ที่น่าจะป้องกันการเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้  ทาง RPF เองก็ประนามเรื่องความเป็นกลางของนายบูบู เพราะช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ปี 1994 ก่อนที่ประธานาธิบดีจะถูกสังหาร นายบูบูใช้เวลาช่วงวันหยุดกับประธานาธิบดีฮับยาริมานา


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 พ.ค. 12, 19:49
เมื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มต้นขึ้น ทาง ทางกองกำลัง UNAMIR เองก็ไม่แน่ใจขอบเขตที่กองกำลังสหประชาชาติสามารถปฏิบัติได้ เช่นการใช้กำลังเพื่อปกป้องประชาชนทำได้หรือไม่ หรือทำได้เฉพาะการป้องกันตัวเองเท่านั้น  เพราะภารกิจหลักของกองกำลังคือการรักษาสันติภาพ และสนับสนุนการเจรจาตกลงกันระหว่างกบฏกับรัฐบาล   

อย่างที่เคยเล่าไว้ว่าเมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีถูกยิงตก ทาง UNAMIR ส่งทหารเบลเยี่ยม 10 นาย และกาน่าอีก 5 นายไปคุ้มกันนายกรัฐมนตรีหญิง แต่สุดท้ายทหารจาก UN ทั้งหมดถูกล้อมและโจมตีโดยทหารจากกองทัพรวันดาและกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดี  หัวหน้าหน่วยยศร้อยโทพยายามต้านทานไว้หลายชั่วโมงและขอกำลังสนับสนุนทางวิทยุ แต่ด้วยสถานการณ์ที่วุ่นวายไปทั่ว กำลังสนับสนุนไม่สามารถเดินทางเข้าไปช่วยได้  สุดท้ายผู้บังคับกองพันชาวเบลเยี่ยมจึงแนะนำให้ทหารทั้งหมดวางอาวุธ   ทหาร UN ทั้งหมดจึงยอมวางอาวุธ

เมื่อวางอาวุธแล้ว ทหารกาน่าถูกปล่อยตัวไป แต่ทหารเบลเยี่ยมทั้ง 10 ถูกทรมานก่อนที่จะถูกสังหารทั้งหมด  และเป็นที่มาของการถอนทหารเบลเยี่ยมออกจากกองกำลัง UNAMIR ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน จนเป็นที่มาของการสังหารชาวทุตซี่จำนวนมากที่อพยพไปหวังพึ่งกองกำลังเบลเยี่ยมที่โรงเรียนเทคนิค École Technique Officielle ซึ่งทหารเบลเยี่ยมถอนกำลังในวันที่ 11 เมษายน ในขณะที่ทหารบ้านและทหารรวันดารออยู่ด้านนอกขณะที่เบลเยี่ยมถอนกำลัง  และเข้าไปสังหารผู้อพยพหลายพันคนเมื่อทหารเบลเยี่ยมเคลื่อนย้ายกำลังออกไป

เมื่อเบลเยี่ยมและอีกหลายประเทศถอนกำลัง  UNAMIR ก็เหลือกำลังพลประมาณ 270 นายที่ยังไม่ยอมไป นำโดยพ่อโรมิโอของเรา ใช้กำลังเพียงเล็กน้อยซึ่งบางส่วนไม่ได้รับการฝึกฝนดีนักจัดตั้งเขตปลอดทหารขึ้น และเขตปลอดทหารนี้ก็ถูกโจมตีโดยทหารบ้านและทหารรวันดาหลายครั้ง แถมแออัดยัดเยียดและขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ช่วยชีวิตผู้อพยพได้หลายหมื่นคน ในขณะที่เวลานั้น UNAMIR เองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีหรือทันท่วงทีจาก UN เลย

ภาพทหารเบลเยี่ยมที่พลีชีพครับ



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 พ.ค. 12, 20:23
นอกจาก UN แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วพี่เบิ้มตำรวจโลกแบบ USA ที่ธรรมดาต้องคอยจุ้นจ้านไปทั่ว  แล้วงานนี้เงียบหายไปไหน?
พี่กันของเราที่จริงก็สนับสนุนกองกำลัง RPF อยู่  แต่ก็ต้องออกตัวว่าเป็นเรื่องโชคไม่ดีของชาวรวันดาเองที่ใต้ผืนแผ่นดินไม่มีน้ำมันปริมาณมหาศาลแบบคูเวต ไม่มีเหมืองทอง หรือเหมืองยูเรเนียม ทำให้ชาติพี่เบิ้มทั้งหลายไม่กระตือรือล้นนักที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวนัก 

พี่กันของเราเองก็เช่นกัน แผลที่ไปซ่าในโมกาดิชูเมื่อปี 1993 ยังไม่ตกสะเก็ด (ใครจำหนังเรื่อง Black Hawk Down ได้ก็เหตุการณ์นี้แหละ) ทำให้พี่กันไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ที่ไม่คุ้มค่าเสี่ยงอีก ตลอด 100 วันของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พี่กันจึงค่อนข้างวางเฉย แถมช่วงกลางๆ ของการฆ๋าล้างเผ่าพันธุ์ ทาง UN ตัดสินใจจะส่งทหาร 5000 คนเข้าไปช่วย และขอการสนับสนุนรถหุ้มเกราะลำเลียงพลจากพี่กันเรา  พี่กันขอคิดค่าใช้จ่าย 6.5 ล้าน USD เฉพาะค่าขนส่งอย่างเดียว  ซึ่งสุดท้ายกองกำลังนี้ก็ไม่ได้เดินทางเข้าไป เพราะทาง UN มัวแต่เจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายกับเพราะระบบระเบียบทางราชการภายใน UN เอง

เมื่อเหตุการณ์ฆ่าฟันสงบลงแล้ว พี่บิล คลินตันออกมาแก้เกี้ยวว่าเพราะแกไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ไม่รู้ว่าสถานการณ์มันร้ายแรงมากจนได้เห็นข่าวจากสื่อ แถมข่าวส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องของสงครามกลางเมือง มากกว่ารายงานว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  นี่ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั้นแกรู้จักแม่หนูลูวินสกี้รึยัง  มัวเคี้ยวซิการ์กันอยู่รึไง

National Security Archive ซึ่งเป็น NGO ได้รายงานว่า  การกระทำของพี่กัน 5 ประการ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแล้วหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ยังมีส่วนทำให้การตอบสนองจากสังคมโลกต่อเหตุการณ์นี้ช้าลงไปอีก ได้แก่

1. พี่กันเสนอให้ UN ถอนกอลกำลัง UNAMIR ทั้งหมด
2. พี่กันไม่ยอมรับว่าสถานการณ์ในรวันดาคือการ genocide หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคม และเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ในการแถลงข่าวต่อสาธารณชน
3. ระเบียบปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ ช้าเกินไป
4. พี่กันปฏิเสธที่จะส่งคลื่นวิทยุรบกวนการออกอากาศของพวกฮูตูหัวรุนแรง ที่กำลังออกอากาศปลุกปั่น ชักชวนผู้คนออกมาฆ่าชาวทุตซี่
5. พี่กันรู้จักแกนนำฮูตูหัวรุนแรงเป็นอย่างดี รวมถึงได้บอกให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  แต่ก็แค่บอก ไม่ได้มีปฏิกริยาใดๆ ที่จริงจังมากไปกว่านั้น  พูดง่ายๆ คือแค่ปรามๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำอะไรที่จริงจังเพื่อสั่งให้หยุด



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 พ.ค. 12, 21:28
อีกประเทศที่ต้องพูดถึงเพราะมีบทบาทมากในเหตุการณ์นี้คือฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสมีบทบาทมากในฐานะตัวร้ายของเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับกองทัพรวันดา นักหนังสือพิมพ์ลินดา เมลเวิร์น (Linda Melvern)วิเคราะห์ไว้ และถูกใช้อ้างอิงบทบาทของฝรั่งเศสในวิกิพีเดียที่ผมเอามาเล่าต่อ

ลินดาบอกว่าฝรั่งเศส นำโดยประธานาธิบดีมิเตอรองไม่ต้องการให้ฝ่ายกบฏ RPF มีชัย ทั้งนี้เนื่องจาก RPF เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษ ชัยชนะของ RPF อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศรอบข้างที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และกระทบต่ออิทธิพลของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ จึงให้การสนับสนุนต่อฝ่ายรัฐบาลรวันดาในขณะนั้น ทั้งด้านอาวุธและการฝึกอบรมทหาร รวมทั้งใช้อิทธิพลในการต่อต้านพวก RPF และหาเสียงสนับสนุนให้กับรัฐบาลนายฮับยาริมานา ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีชาวฝรั่งเศสเข้าไปในรวันดาในฐานะที่ปรึกษาทางทหารและผู้ช่วยด้านเทคนิคให้กับกองทัพรวันดา  มีครูฝึกฝรั่งเศสในกองทัพอากาศรวันดา  มีอดีตนายตำรวจฝรั่งเศสทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับประธานาธิบดีและยังทำหน้าที่ฝึกกองกำลังพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ก่อกวนในแนวหลัง พื้นที่ยึดครองของกองกำลัง RPF ด้วย

ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฝรั่งเศสส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรวันดาจากทางประเทศซาอีร์เพื่อปฏิบัติภารกิจทางมนุษยธรรมและหยุดยั้งการฆ่า แต่ทหารฝรั่งเศสมักจะเข้าไปในพื้นที่ที่มีการฆ่ากันหลังจากการฆ่าฟันขนานใหญ่จบลงแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น Human Rights Watch  ได้ประนามฝรั่งเศสว่าปฏิบัติการทางทหารของฝรั่งเศสนั้น เจตนาคือเพื่อขัดขวางกองกำลังฝ่ายกบฏ RPF มากกว่าที่จะเพื่อหยุดยั้งการฆ่าฟัน รวมทั้งมีส่วนช่วยพวกที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลบหนีเข้าไปในซาอีร์หลังจากที่ฝ่าย RPF มีชัยในรวันดาด้วย ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้ฝรั่งเศสปฏิเสธทั้งหมด


ภายหลังนายพอล คากาเม ผู้นำ RPF สามารถยึดอำนาจในราวันดาและจัดตั้งรัฐบาลปกครองรัวนดาจนถึงปัจจุบัน  รวันดาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส องค์กร สถาบัน หรือโรงเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสถูกสั่งปิด การเรียนการสอนภาษาในรวันดาใช้ภาษาฝรั่งเศส

ภาพทหารฝรั่งเศสในรวันดา ภาพจาก wikipedia


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 12, 03:32
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
๑  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
๒  บรรดามหาอำนาจทั้งหลาย เอาเข้าจริงก็รักษาผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น    เรื่องจะเข้าไปช่วยปลดแอกประเทศนั้น  สร้างประชาธิปไตยให้ประเทศนี้ มักเป็นคำพูดหรูๆ ฉาบเอาไว้เท่านั้น
๓  อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ฆ่าฟันล้างโคตรเกิดในหมู่คนไทยได้   ไม่ว่าจะถูกปลุกระดมแค่ไหนก็ตาม


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 12, 18:32
ยังเข้ามาอ่านอยู่นะคะ  คุณประกอบ
ปัจจุบันนี้รวันดาสงบเรียบร้อยดีแล้วใช่ไหมคะ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 พ.ค. 12, 18:51
แห่ะๆ  ท่านอาจารย์มาตามแล้ว  มัวอู้เหลวไหลมากไม่ได้แล้ว   กำลังอ่านข้อมูลฝ่ายพระเอก(มั๊ง???)พวก RPF อยู่ครับ เพราะการนองเลือดหยุดได้เพราะพวก RPF บุกเข้ามาและยึดรวันดาได้ แต่ข้อมูลเท่าที่มีมากที่สุดใน wikipedia มันออกจะไม่ค่อยเป็นกลางเท่าไหร่  แหล่งข้อมูลอื่นๆ ก็หาค่อนข้างยาก

รวันดาวันนี้จะเรียกว่าสงบก็สงบ จะว่าไม่สงบก็ไม่สงบ คือสถานการณ์มันอาจจะยังคุกรุ่นอยู่แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลให้การแบ่งแยกมีน้อยลง ข่าวจากหลายๆที่ที่อ่าน พวกที่เขียนในแง่ดีก็บอกว่าตอนนี้รวันดาดีมาก  รวันดาวางแผนไว้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเจริญให้เท่าไทย  แต่บางข้อมูลบอกว่าปัญหาก็ยังมี แม้จะสงบไปมาก แต่ความขัดแย้งยังคงมีและลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นคองโก ซาอีร์ อาจจะมีสงครามในอนาคตได้

นายพอล คากาเม อดีตผู้นำกลุ่ม RPF ที่ตอนนี้มาเป็นประธานาธิบดีรวันดา โดยความเห็นส่วนตัวผมคนคนนี้เป็นคนเก่งมากที่มีศักยภาพและภาวะผู้นำสูง ฉลาด มีวิสัยทัศน์ เพราะในช่วงเป็นกบฏ  RPF ก็จวนไปเจียนมาหลายหนแต่ด้วยฝีมือของคากาเมสามารถนำพาจนยึดประเทศได้  แต่อะไรอื่นๆ เบื้องหลังของนายคากาเม (ภาษาปะกิตใช้คำว่า hidden agenda)ที่หาอ่านโดยตรงยังไม่ได้ เพราะจากประวัติด้านดีก็ทำให้อดตะหงิดใจไม่ได้ว่าจะไม่มีด้านมืดเชียวหรือ  ทำให้ผมยังไม่อาจสรุปได้ว่าผมควรจะเรียกคากาเมว่าเป็นพระเอกได้หรือไม่

ภาพคากาเมสมัยนำกลุ่ม RPF


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 พ.ค. 12, 23:10
มารู้จักกลุ่ม RPF ผู้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันหน่อย  เพราะการยึดประเทศได้ของ RPF ทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลง การมาถึงของ RPF ได้ช่วยชีวิตผู้คนได้นับแสนคน แต่เหรียญก็มีสองด้านเช่นกัน

กลุ่ม RPF จัดตั้งขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1980 โดยพัฒนามาจากกลุ่ม National Resistance Army (NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวันดาที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นลูกหลายชาวทุตซี่ที่ถูกขับไล่ออกจากรวันดาไปอาศัยอยู่ที่อูกานดา  วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มคือการกลับไปตั้งรกรากในรวันดาอีกครั้ง เพราะแม้จะอยู่ในอูกานดา ผู้อพยพเหล่านี้ก็มีสถานะแค่ผู้ลี้ภัย และรัฐบาลอูการดาเองก็อยากให้พวกนี้กลับประเทศ กลุ่มต่อต้านนี้ได้รับการสนับสนุนจากอูกานดาและสหรัฐด้วย

ผมพยายามหาข้อมูลกำลังพลของ RPF ว่ามีจำนวนเท่าใด แต่หายอดที่แท้จริงไม่ได้ อาจจะประมาณ 4000 คนแต่น่าจะมากกว่านั้น  สมาชิกส่วนใหญ่เป็นลูกหลานทุตซี่อพยพแต่ก็มีชาวฮูตูสายกลางรวมทั้งพวกฮูตูที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลด้วย กองกำลัง RPF ยินดีรับใครก็ได้ที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกโดยไม่คำนึงถึงเผ่า

RPF พยายามขจัดความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์  นายพอล คากาเมเองไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นฮูตูหรือทุตซี่ บอกแต่ว่าเป็นชาวรวันดา    การฝึกสอนของ RPF เน้นย้ำให้ทหารเข้าใจไปถึงต้นตอของความเกลียดชังระหว่างเผ่าว่าเป็นฝีมือการยัดเยียดของชนผิวขาวที่เข้ามาปกครองรวันดา มากกว่าจากความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างเผ่าพันธุ์ ในแต่ละหน่วยย่อยของกำลังพลของ RPF จะต้องมีทั้งชาวทุตซี่และฮูตูผสมกัน ทหารของ RPF มีการฝึกฝน ระเบียบวินัย ดีมาก

RPF ใช้อูกานดาเป็นฐานและเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 1990 และประสบความสำเร็จสามารถยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ จนกดดันให้รัฐบาลนายฮับยาริมานาต้องเปิดการเจรจาเพื่อแบ่งปันอำนาจและปฏิรูปการเมืองตามข้อตกลงอรุชา  ทั้งสองฝ่ายเตรียมที่จะเซ็นสัญญาสงบศึก  ก่อนหน้าการตายของประธานาธิบดีเอง มีทหารของ RPF 1 กองพันอยู่ในกรุงคิกาลีด้วยเพื่อเตรียมรับการเซ็นสัญญา แต่เครื่องบินของประธานาธิบดีตกซะก่อน และการฆ่ากันก็เริ่มต้น

ธงของ RPF แต่จะใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มภาษาฝรั่งเศส


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 00:38
เมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีตก กองกำลัง RPF ที่อยู่ในกรุงคิกาลีก็เริ่มถูกโจมตีจากทหารรวันดาและทหารบ้าน แต่กระนั้นทหาร RPF ได้ช่วยอพยพนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวแกนนำฮูตูสายกลางจำนวนหนึ่งไปนังแนวหลังของ RPF   กองกำลัง RPF ในคิกาลีสามารถถอนตัวไปรวมกับกองกำลังใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศได และได้เริ่มรุกกลับฝ่ายรัฐบาลเพื่อหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธฺุ

ในระหว่างช่วงการล้างเผ่าพันธุ์  เมื่อกองกำลัง RPF เคลื่อนผลถึงชุมชนใดก็จะพยายามติดต่อกับผู้นำชุมชนนั้นเพื่อขอความร่วมมือ ยกเว้นแต่กับผู่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นพันธมิตรกับพวกที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ RPF แม้แต่ออกอากาศทางวิทยุยอมรับทหารกองทัพรวันดาและทหารบ้านที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกองทัพหรือกองทหารบ้าน ให้หันมาเข้าร่วมกับ RPF เอง แม้จะไม่ค่อยได้ผล แต่ทหารบ้านฮูตูและทหารรวันดาจำนวนหนึ่งก็หันมาเข้ากับฝ่าย RPF บางคนใช้เป็นโอกาสในการหลบหนีความผิดที่ตัวเองก่อไว้ช่วงที่ RPF ยังมาไม่ถึง

จริงแล้วแม้แต่ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ RPF เองก็เห็นการเตรียมการของฝ่ายรัฐบาล และได้พยายามเร่งให้มีการลงนามและแบ่งอำนาจกัน แต่เกิดการฆ่ากันเสียก่อนในช่วงวันแรกๆ RPF พยายามจะขอเข้าร่วมกับกองทัพรวันดาและ UNAMIR เพื่อหยุดยั้งการเข่นฆ่าแต่ไม่ได้รับการตอบรับ RPF จึงต้องออกปฏิบัติการด้วยตัวเอง  ซึ่งที่ใดที่ทหาร RPF ไปถึงมักจะไม่ค่อยพบการต้านทานมากนัก ทหารรวันดาและทหารบ้านมักจะผละนี้เมื่อรู้ว่าพวก RPF มาถึง  และ RPF ได้ช่วยหยุดการฆ่าหมู่ที่กำลังจะเกิดได้หลายครั้ง


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 04:15
พระเอก  แบบนี้มันพระเอกชัดๆ  นี่โม้รึเปล่าเนี่ย?  มันจะพระเอกมากไปแล้วมั๊ง  หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ต้องคิดแบบนี้

ที่เล่าไปนี่ย่อมาจากรายงานของ Human Right Watch เลยนะครับ องค์กรนี้หลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันดี ไม่เชื่อไปอ่านเองได้ที่ http://www.hrw.org/reports/1999/rwanda/Geno15-8-03.htm ได้เลย  ในรายงานที่เขียนไว้ อ่านแล้วจะรัก RPF มากกว่าที่เล่าไปซะอีก คนอะไรก็ไม่รุ ดูอุดมคติสูงส่ง ยังกะพระเอกหนังยอดมนุษย์  กำราบคนเลว อภิบาลคนดี
 ;D
 ;D
 ;D
 ;D
 ;D
 ;D
 :P

ครับ  แต่ในความเป็นจริง Human Right Watch นี่เล่นเขียนรายงานแบบลูบหลัง นวดเฟ้น เป่าหูฟู่ๆ ให้ผ่อนคลายก่อนแล้วค่อยตบหัว  แถมตบทีหงายหลังตกเก้าอี้เลย

ฝ่าย RPF พบว่าเมื่อเริ่มทำการรุกกลับ สามารถรุกไล่ฝ่ายทหารรวันดาและทหารบ้านได้อย่างง่ายดายเกินคาด ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักจากแค่ต้องการหยุดยั้งการฆ่า จึงมองไกลไปกว่านั้นเปลี่ยนเป็นการเข้ามายึดครองประเทศซะเลย พระเอกของเราเลยมองไปที่ยุทธวธีในการชนะศึก มากกว่าการเข้าไปช่วยชาวบ้านที่กำลังถูกฆ่าซะแล้ว  RPF เน้นการส่งกำลังเข้าไปยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มากกว่าจะเข้าไปยังจุดที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นไปอย่างรุนแรง   

นอกจากนี้ RPF ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ขัดขวางแผนการของ UN ที่จะส่งกองกำลัง 5000 นายเข้าไปในรวันดา เพราะ RPF มองว่ากองกำลังของ UN อาจจะเป็นอุปสรรคต่อชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แถมเป็นการมาในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นแล้วเพราะชาวทุตซี่ถูกฆ่าไปหมดแล้ว  ทั้งที่ในความเป็นจริง แม้จะมาช้า แต่กองกำลังใหม่ของ UN อาจช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้อีกมาก

Human Right Watch ยังได้พูดถึงอาชญากรรมที่ก่อโดยทหาร RPF เองต่อพลเรือนในพื้นที่ยึดครองของ RPF เอง ซึ่งมีตั้งแต่ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเริ่มในเดือนเมษายน ด้วย และเมื่อ RPF โต้กลับในช่วงหลังเดือนเมษายน 1994 เป็นต้นไป  RPF ได้ปฏบัติการล้างแค้นในพื้นที่ที่ยึดครองได้เช่นกัน แม้แกนนำของ RPF จะปฏิเสธและอ้างว่าต้องการแค่จับกุมผู้มีส่วนร่วมในการล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนำมาขึ้นศาล แต่ในความเป็นจริงทหาร RPF ได้สังหารชาวฮูตูนับหมื่นคนเช่นกัน ทั้งที่เป็นทหารรวันดา ทหารบ้าน และพลเรือน  ในบางพื้นที่ทหาร RPF ถือว่าชาวฮูตูที่ยังอยู่ในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้ได้เริ่มการฆ่าเพื่อล้างแค้นโดยไม่แยกเช่นกัน   ทหาร RPF ไม่มีนโยบายจับเชลย ดังนั้นทหารรวันดาหรือทหารบ้านที่ถูกจับได้จะถูกสังหาร ซึ่งรวมไปถึงชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เพราะการแยกแยะว่าใครใช่หรือไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามทำได้ลำบาก

ทหาร RPF ได้สังหารนายทหารในกองทัพรวันดา, นักการเมือง และผู้สนับสนุนพวกหัวรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้สังหารแต่แค่เจ้าตัวแต่รวมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย ใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายนิยมฮูตูล้วนถูกสังหาร แม้บางคนจะเคยช่วยและปกป้องพวกทุตซี่ก็ตาม

อย่างที่บอกว่าทหาร RPF มีวินัยและการจัดการภายในที่ดีมาก หลักฐานการฆ่าที่กระทำโดย RPF อย่างชัดเจนจึงมีไม่มากนัก แต่กระนั้น Human Right Watch ก็สามารถหาหลักฐานการฆ่าที่กระทำโดย RPF ได้ และได้กล่าวถึงไว้ในรายงานหลายกรณีมาก เรียกว่าอ่านกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว   แต่สิ่งหนึ่งที่ผมหาไม่เจอในรายงานของ Human Right Watch คือเรื่องของการข่มขืนที่กระทำโดย RPF ดังนั้นภาพลักษณ์พระเอกก็ยังพอมีอยู่
นอกจากนี้ สงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลงได้ในกลางเดือนกรกฏาคม 1994 ก็เพราะการมีชัยของ RPF เหนือรัฐบาลรวันดา หลังสงคราม กองทหารรวันดา ทหารบ้าน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งชาวฮูตูจำนวนมากที่กลัวการฆ่าล้างแค้น พากันหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นซาอีร์(หรือคองโก ประเทศเดียวกันแล้วแต่จะเรียก)



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 12, 12:11
อ่านแล้วนึกถึงประวัติศาสตร์จีนที่คุณ Sujitra เพิ่งเล่า     
ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย   ในปลายราชวงศ์ที่กำลังเสื่อมโทรม   ฮ่องเต้(รัฐบาลกลาง)มีอำนาจอ่อนแอลง  คุมสถานการณ์ไม่อยู่   เกิดเหตุจลาจลกลางเมือง   
จากนั้นก็มีผู้มีบุญ ที่มีฝีมือกล้าแข็ง ควบม้าขาวเข้ามาเป็นผู้นำ  ปราบจลาจลราบคาบแล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน

ยิ่งในเกร็ดพงศาวดาร อย่างเม่งเฉียว   ฮ่องเต้องค์ใหม่จะเป็นผู้มีบุญมาเกิด   ดีเลิศประเสริฐศรีเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป   


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 14:40
ถ้านี่เป็นประวัติศาสตร์จีน นายพอล คากาเมก็เปรียบได้ดั่งผู้สถาปนาราชวงศ์ใหม่เลย ไม่รู้จะเปรียบนายคากาเมกับฮั่นโกโจ  หลี่ซื่อหมิน  จูหยวนจางดี หรือเหมาดี และที่จริงนายคากาเมก็มีความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่านักปกครองอื่นๆ ที่โด่งดังเลย

คากาเมเกิดในปี 1953 และได้อพยพหนีพร้อมครอบครัวไปอูกานดาตั้งแต่ในวัยเด็ก เมื่อวัยหนุ่มได้เข้าร่วมกับกลุ่ม NRA และต่อมาได้ก่อตั้งกลุ่ม RPF และเป็นผู้นำในเวลาต่อมาหลังจากเพื่อนสนิทที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาด้วยกันและเป็นหัวหน้ากลุมก่อนเสียชีวิตในการรบ

เมื่อกลุ่ม RPF ได้รับชัยชนะในปี 1994 แล้ว คากาเมได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีรวันดา โดยมีประธานาธิบดีเป็นชาวฮูตู แต่ในความเป็นจริงคากาเมคือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในรวันดา การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ทุกอย่างล้วนต้องผ่านตาของคากาเมก่อน นายคากาเมขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน นายคากาเมตำหนิ UN และโลกตะวันตกอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการบทบาทในเหตุการณ์การล้างเผ่าพันธุ์


โดยบุคลิกคากาเมเป็นคนเงียบขรึม แข็งแกร่ง ตรงไปตรงมา มีวินัย ไม่ดื่มของมึนเมา ใช้ชีวิตไม่หรูหรา มีความเป็นผู้นำสูงมาก และสามารถพลิกเปลี่ยนรวันดาจากซากปรักหักพังจนกลายเป็นประเทศที่มีความหวังได้   ปี 2012 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 8 %  การแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ในรวันดาถูกห้าม  ไม่มีทุตซี่ ไม่มีฮูตูอีกต่อไป มีแต่ชาวรวันดา


แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิทางการเมืองของประชาชนในรวันดายังถูกจำกัด นายคากาเมมีภาพเป็นผู้นำเผด็จการไม่ต่างจากผู้นำอื่นๆ ในแอฟริกา นายคากาเมส่งออกความขัดแย้งและสงครามไปยังคองโกซึ่งมีผู้อพยพชาวฮูตูไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนแม้แต่ปัจจุบันความขัดแย้งนี้และปัญหาก็ยังมีอยู่  แม้แต่พอล รูเซซาบากินา (Paul Rusesabagina) พระเอกในเหตุการณ์โฮเตลรวันดายังออกมากล่าวหาว่านายคากาเมปกครองเพื่อผลประโยชน์ของพวกทุตซี่จำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นปกครอง โดยอาศัยมือของพวกฮูตูบางส่วนที่มีแต่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจจริงมารับใช้


ภาพรวันดาในวันนี้ดูมีความสงบ เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี  มีความเจริญ  มีแม้แต่ร้านกาแฟ Starbucks(แต่มีร้านเดียว) ถ้าเราดูสารคดีก็จะเห็นรถราวิ่งกันขวักไขว่ บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน
แต่ปัญหาภายในหรือความเป็นไปจริงๆ ยังยากสำหรับผมที่จะประเมินได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่ารวันดาในปัจจุบันปลอดภัยมากพอเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในทวีปเดียวกัน






กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 17:53
หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  พวกฮูตูหัวรุนแรงทั้งหลายถูกขับไล่ไปยังคองโก รวันดาได้รัฐบาลใหม่ที่เน้นความปรองดองของคนในชาติ แต่ความปรองดองไม่ได้หมายถึงการลืมอาชญากรรม ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการลงโทษผู้กระทำผิด

ทาง UN ได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาชื่อว่า International Criminal Tribunal for Rwanda เพื่อพิจารณาคดีพวกแกนนำระดับสูง บุคคลในรัฐบาลและกองทัพรวันดา  ตัวเบ้งๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การดำเนินคดีจะทำในแทนซาเนีย โทษสูงสุดของศาล UN คือจำคุกตลอดชีวิต   แกนนำหลายคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต บางคนเสียชีวิตในคุกไปแล้ว  ในขณะที่รัฐบาลใหม่ของรวันดาจะรับผิดชอบการดำเนินคดีกับแกนนำระดับรองๆ ลงมาและพวกระดับปฏิบติการทั้งหลาย ซึ่งกำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและมีผู้เกี่ยวข้องถูกประหารชีวิตในรวันดา 22 คน แต่ผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ยังหลบหนี และบางส่วนยังไม่ถูกดำเนินคดี

ภาพอาชญากรตัวเบ้งๆ ที่มีประกาศจับครับ ใครอยากได้รางวัลลองไปตามตัวมาก็ได้ครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 18:17
คำถามคือเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  มันจะเกิดขึ้นอีกไหมที่อื่นในโลก

เมื่อศึกษาเหตุการณ์ในรวันดา ผมลองมองเทียบกับวิธีการที่นาซีเยอรมันใช้  มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ทั้งช่วง 6 ตุลา 2519 จนกระทั่งกีฬาสีในบ้านเราเร็วๆ นี้ ได้เห็นความเหมือนกันมากมายที่ถูกนำมาใช้รวมทั้งผลประโยชน์ที่แกนนำได้รับ  จะขอลองวิเคราะห์ชี้ให้เห็นความเหมือนบางประการก่อน อาจจะออกแนวการเมืองบ้าง ขอเชิญร่วมแสดงความเห็นกันนะครับ

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ในปี 1994 รวันดามีพลเมืองประมาณ 7 ล้าน 7 แสนคน ในขณะที่ปี  1964 ช่วงที่รับเอกราชและฮูตูขึ้นมามีอำนาจ มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน นั่นแปลว่าในช่วงที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธฺุ์  ประชากรมากกว่าครึ่งเป็นคนที่เกิดยุคหลังจากที่ทุตซี่เคยมีอำนาจ  เกิดมาในช่วงเวลาที่ฮูตูเริ่มกดขี่ทุตซี่กลับแล้ว  ฮูตูรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่เคยประสบความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากทุตซี่จริงๆ  เพราะในความจริงแล้วในชั่วชีวิตตัวเอง ได้เห็นแต่การกดขี่พวกทุตซี่เท่านั้น ดังนั้นความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นมา จึงไม่จำเป็นต้องตรงกับความเป็นจริงในสังคมเลย

วิธีสร้างความเกลียดชังที่ได้ผลเร็วและง่าย คือการโยนว่าปัญหาทุกอย่างที่เราต้องประสบ เกิดจากคนอื่น เกิดจากคนเลว คนไม่ดี จากพวกที่แตกต่างจากเรา มันไม่ได้เกิดจากพวกเราเอง
ฮิตเลอร์บอกคนเยอรมันว่าปัญหาในเยอรมันเกิดจากคนยิว รัฐบาลฮูตูบอกว่าปัญหาทุกอย่างมาจากทุตซี่   หาจำเลยให้กับความผิดพลาด ความไม่เป็นธรรม  การโกงกินในการบริหารงานของตัวเองได้ และคนมากมายก็พร้อมจะเชื่อ เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเค้าอยากได้ยิน ความไม่ดีทั้งหลายเป็นเพราะคนอื่นเลว ไม่ใช่เรา  คนมากมายไม่ต้องการได้ยินความจริง แต่ต้องการแค่สิ่งที่ตัวอยากได้ยิน

ในบ้านเราเคยมีการปลุกความเกลียดชังโดยสร้างผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา  เร็วๆ นี้ใช้การแบ่งพวกเขาพวกเราด้วยการอ้างความแตกต่างทางชนชั้น  นี่อำมาตย์ นี่ไพร่  สร้างภาพว่าไพร่ถูกกดขี่จากอำมาตย์มาโดยตลอด ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยคล้อยตามไป   เพราะง่ายกว่ามากที่จะโทษความกดดันหรือล้มเหลวในชีวิตของตัวเองว่าเกิดจากอะไรก็ได้ ปัจจัยภายนอกอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ตัวเอง
เอาภาพความแตกต่างเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ตอนที่ความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างการเป็นอำมาตย์ไพร่ยังชัดเจนกลับมา ทั้งที่ความเป็นจริงปัจจุบันคุณภาพชีวิตต่างๆ ไม่ต่างกันมากขนาดนั้นอีกแล้ว
และที่น่าเศร้าคือ มันได้ผล


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 มิ.ย. 12, 18:43
คำถามต่อมา แล้วพวกที่สร้างความเกลียดชังขึ้นมา ได้ผลประโยชน์อะไร?


ทุกความเกลียดชังที่สร้างได้ มีผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับแกนนำเสมอครับ การมีมวลชนนิยมมาก เป็นทั้งเกราะกำบัง และสร้างอำนาจต่อรองให้กับตัวเอง ดังนั้นคนเลวๆ มากมายพร้อมที่จะเกาะกระแสครับ
ตัวตั้งตัวตีในการสร้างความเกลียดชังยิวในเยอรมัน ได้รางวัลใหญ่ ก้าวหน้ากันไปทุกคนครับ เช่นฮิมเลอร์ หัวหน้า SS  เกิบเบิ้ลรัฐมนตรีโฆษณาการ  ไฮดริช ผู้เริ่มต้นแผนการสังหารยิวในค่ายกักกัน
ในรวันดา โฆษกที่ออกอากาศปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง ได้ดิบได้ดีไปด้วย มีแม้แต่ชาวตะวันตกที่เข้าไปเป็นโฆษก พูดออกอากาศสร้างความเกลียดชังด้วย
6 ตุลา เรามีวิทยุยานเกราะ คงหาไม่ยากว่าโฆษกที่ออกอากาศได้รับรางวัลเป็นตำแหน่งอะไรหลังเหตุการ
ส่วนเร็วๆ นี้ในบ้านเรา  ก็ได้เห็นแกนนำผู้มีมวลชนเป็นฐานได้ชุบตัวกันเป็นอำมาตย์กันทั่วหน้าแล้ว  แกนนำระดับต้นๆ ก็เป็นอำมาตย์ใหญ่หน่อย ระดับรองๆ ก็เป็นอำมาตย์ภูธรหน่อยระดับตำบล อำเภอ จังหวัดไป ไม่แตกต่างเลยครับ  ยิ่งฝีปากดี ยิ่งเติบโตเร็ว
ส่วนคนที่ตาย สละเลือดสละชีวิต คือระดับเล็กๆ ที่ไม่มีใครจำได้แม้แต่ชื่อ ไม่ว่าฝ่ายไหนทั้งนั้น ที่ติดคุกก็ติดต่อไป แกนนำนั่งจิบไวน์ขับรถเบนซ์ไปหมดแล้ว
เอ นี่ผมการเมืองไปไหมนี่  ยังไงท่านอาจารย์ถ้าเห็นว่ามากไปช่วยปรามด้วยนะคร๊าบ

ภาพนาย Georges Ruggiu หมอนี่เป็นลูกครึ่งอิตาเลี่ยน-เบลเยี่ยม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรวันดาเลย แต่ฉวยโอกาสเข้าไปทำงานเป็นโฆษกออกอากาศสร้างความเกลียดชังกระตุ้นให้ชาวฮูตูออกมาฆ่าทุตซี่มากๆ หวังลาภยศตำแหน่ง  สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 12 ปี


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 12, 19:51
พยายามจะไม่เข้าใกล้การเมืองมากกว่านี้ค่ะ   อ่านพบจากเว็บหนังสือพิมพ์ว่า ไฟเริ่มกรุ่นๆขึ้นมาอีกแล้ว

วิธีการต่างๆที่คล้ายคลึงกันนั้น เห็นจะมาจากตำรับตำราแหล่งเดียวกัน   ทฤษฎีต่างๆในอดีตเคยได้ผลมาแล้วก็นำมาใช้ซ้ำซากอีก   โดยไม่คำนึงว่า ได้ผลเฉพาะระยะแรกแล้วล้มเหลวจนฉุดประเทศนั้นล่มลงไปในตอนจบก็มี    ปัญญาชนนักปลุกระดมพวกนี้มีอยู่ทั่วไปรวมทั้งในรวันดาด้วย   

ยิ่งในประเทศที่ไม่ได้ปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักไตร่ตรองด้วยวิจารณญาณ ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่  ขอให้จี้จุดอ่อนให้ถูก อย่างที่คุณประกอบยกตัวอย่างมา  ใช่เลย  คือปัญหาอะไรก็ตามในชีวิตของคุณ ไม่ได้เกิดจากความรับผิดชอบต่อชีวิตของคุณเอง    แต่มันเกิดจากคนอื่นมาทำคุณทั้งนั้น  เพราะฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาด้วยการกำจัดคนอื่นเหล่านั้นออกไป
เช่น  คุณไม่เคยยากจนเพราะขี้เกียจ   แต่เพราะคนอีกกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบคุณต่างหาก   คุณจะได้ดีกว่านี้  ถ้าโค่นคนที่เขาได้ดีกว่าคุณลงไปได้ ฯลฯ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนเสียดสีความคิดทำนองนี้ไว้ชัดเจนมาก ตอนเปิดตัวแกว่น แก่นกำจร ใน "ไผ่แดง"

ออกความเห็นแค่นี้เห็นจะพอ




กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 08 มิ.ย. 12, 15:01
เข้ามาเก็บข้อมูล
บ้านเราคงไม่ขนาดนั้น เพราะทั้งแดงทั้งเหลืองบางทีอยู่บ้านเดียวกัน


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 มิ.ย. 12, 15:38
ไปเข้ากรุงลันดั้นมาหลายวัน เพิ่งกลับมาครับ   กระทู้เรื่องรวันดายังไม่ถึงตอนจบ เพราะยังไม่ได้สรุปว่าอะไรทำให้คนธรรมดาบ้าคลั่งขึ้นมาฆ่าคนได้ ตอนนี้สั่งหนังสือไปเล่มหนึ่ง "Becoming Evil: How Ordinary People Commit Genocide and Mass Killing" จะเอามาอ่านซะหน่อยแบบละเอียด

กลับมา อ่านข่าวตลกที่มาเป็นเสนาฯเอารายละเอียดชื่อ ที่อยู่ ลูกเต้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาปลุกปั่น แถมเอามาพูดเป็นนัยๆ ต่างๆ นาๆ   นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นได้ว่าทำไมคนบางคนในรวันดา สามารถออกมาพูดปลุกปั่นฝูงชนให้บ้าคลั่ง ลากมีดออกมาฆ่าฟันคนที่ต่างได้ นี่เป็นกรณีที่ไม่ต่างกันเลยเพียงแต่ในไทยมันยังไม่สุกงอมถึงขนาดนั้น  แต่ทำให้เห็นว่าคนที่พร้อมจะเกาะกระแสความเกลียด ปลุกปั่นผู้คน สร้างราคาให้คนที่เหนือกว่าตัวเห็น  ถ้าสถานการณ์เมืองไทยจะก้าวไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนประเภทนี้ก็พร้อมจะรับใช้ผู้มีอำนาจปลุกปั่นผู้คนทันที



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 09 มิ.ย. 12, 19:29
เข้ามาอ่านเรื่องรวันดา และ "เฮ้อ" ให้กับเมืองไทย ... สถานการณ์มันแย่เหลือเกิน  :'( :'( :'( :'(


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 12, 03:48
หวังอยู่อย่างหนึ่งว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ถือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาปหนักข้อแรกของศีล 5 เลยทีเดียว   แม้จะถูกปลุกปั่นขนาดไหนก็คงไม่ถึงกับหันมาฆ่ากันดะไม่เลือกหน้า    จนล้มตายกันไปทั้งเมืองอย่างรวันดา  อย่างมากก็ขู่คุกคามกันให้ขวัญหนีดีฝ่อ

อีกอย่างคือคนไทยเป็นคนขี้สงสาร   เห็นใครถูกรังแกจะช่วยคนนั้น    คงจำเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา 2519  ว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์จำนวนมากหนีตายมาได้ เพราะชาวบ้านแถวนั้นช่วยชีวิตเอาไว้    ช่วยทั้งๆเป็นคนแปลกหน้า   เพียงแต่เห็นว่าฝ่ายนศ.มือเปล่าและอีกฝ่ายมีอาวุธครบมือ

ยังตั้งความหวังว่า เหตุการณ์ในปีนี้หรือปีไหนๆข้างหน้าจะไม่เป็นอย่างรวันดา    แม้ว่าแนวคิดการปลุกระดมจะมาในแบบคล้ายคลึงกัน


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 11 มิ.ย. 12, 21:13
หวังอยู่อย่างหนึ่งว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ถือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาปหนักข้อแรกของศีล 5 เลยทีเดียว   แม้จะถูกปลุกปั่นขนาดไหนก็คงไม่ถึงกับหันมาฆ่ากันดะไม่เลือกหน้า    จนล้มตายกันไปทั้งเมืองอย่างรวันดา  อย่างมากก็ขู่คุกคามกันให้ขวัญหนีดีฝ่อ

อีกอย่างคือคนไทยเป็นคนขี้สงสาร   เห็นใครถูกรังแกจะช่วยคนนั้น    คงจำเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา 2519  ว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์จำนวนมากหนีตายมาได้ เพราะชาวบ้านแถวนั้นช่วยชีวิตเอาไว้    ช่วยทั้งๆเป็นคนแปลกหน้า   เพียงแต่เห็นว่าฝ่ายนศ.มือเปล่าและอีกฝ่ายมีอาวุธครบมือ

ยังตั้งความหวังว่า เหตุการณ์ในปีนี้หรือปีไหนๆข้างหน้าจะไม่เป็นอย่างรวันดา    แม้ว่าแนวคิดการปลุกระดมจะมาในแบบคล้ายคลึงกัน

เชื่อว่าคงไม่หนักอย่างรวันดาเช่นเดียวกับอาจารย์เทาชมพูค่ะ แต่เกรงว่าหากเกิดสงครามประชาชชนขึ้นมาในห้วงนี้ อาจมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้วเพราะมีการปลุกมวลชนหลายฝ่ายเหลือเกิน


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 มิ.ย. 12, 21:53
ต้องขู่ฟ่อๆ ให้อาจารย์เทาชมพูและคุณกระต่ายฯ หนาวๆ ร้อนๆ เล่น
เรื่องที่คนไทยจะลุกขึ้นมาฆ่ากันแบบไม่เลือกหน้าเหมือนรวันดาอาจเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นครับ
เพราะในทุกสังคม ถ้าเงื่อนไขต่างๆ เอื้อและเป็นใจ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้   ไม่เกี่ยวว่าผู้คนจะยึดมั่นในศาสนามากแค่ไหน
เงื่อนไขหลักๆ ก็เช่น

1. ถ้าผู้มีอำนาจในสังคมนั้นๆ บอกว่าสิ่งที่ทำนั้นมันถูก และผู้มีอำนาจ มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
2. ถ้าผู้คนในสังคมนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้มีอำนาจได้ง่าย
3. กระแสความเกลียดชังถูกปลูกฝังอย่างเป็นระบบและยาวนานเพียงพอ จนผู้คนส่วนใหญ่มองฝ่ายตรงข้ามว่าไม่ใช่มนุษย์หรือไม่มีค่าเทียบเท่าตัวเอง
4. ผู้มีหตุผลหรือไม่เห็นด้วยเลือกที่จะนิ่งเฉยหรือเมินเฉยต่อความไม่ถูกต้อง  อาจจะด้วยความกลัวหรืออะไรก็ตาม

ตัวอย่างง่ายๆ คือ 6 ตุลา ขณะที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งช่วยนักศึกษาหลบหนี แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งสะใจและสนุกกับการฆ่า ยืนยิ้มดูร่างนักศึกษาที่ถูกเผาหรือแขวนคอ ในขณะที่คนจำนวนมากกว่ามากๆ เลือกที่จะไม่พอใจเงียบๆ  แต่วางเฉยไม่กล้าออกมาทำอะไร เพราะไม่ต้องการขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น

การฆ่ากันครั้งล่าสุดก็เช่นกัน  แต่อ่านตามเว็บบอร์ดสีต่างๆ เราจะหาอ่านอารมณ์ความยินดี ความสะใจของผู้คนมากมายในเวลาที่ได้เห็นฝ่ายตรงข้ามตายได้ไม่ยากเลย เพราะสำหรับคนเหล่านั้น พวกที่ตายคือพวกโง่ โดนหลอกไปตาย เป็นใครซักคนที่คนเหล่านั้นไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นความมีตัวตน  แม้จะมีกำเนิดเป็นคน แต่ก็ไม่ต่างจากมดปลวกทั่วไป ทำให้บางคนสะใจที่ได้เห็นการตาย บ้างแสดงความยินดีออกมานอกหน้า  บางคนวางเฉยไม่ยินดียินร้าย บางคนใช้ความตายเป็นบันไดของตัวเอง ฯลฯ

เรื่องการฆ่าขนาดการล้างเผ่าพันธุ์ในเมืองไทยอาจไม่เกิดขึ้น แต่สงครามกลางเมืองที่มีการฆ่าผู้คนที่มีความเห็นต่างกันยังสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากครับ และความขัดแย้งในสังคมไทยตอนนี้สามารถพัฒนาต่อไปจุดนั้นได้ไม่ยาก
และถ้ามีคนแบบฮิตเล่อร์ หรือสตาลินเข้ามาครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในไทย แล้วผมเลือกที่จะไม่เงียบงันต่อความถูกต้อง  ถ้าโชคดียังไม่โดนเอาไปทำปุ๋ยซะก่อน ท่านอาจารย์เทาชมพูอาจจะหาตัวผมเจอได้ที่ริมรั้วเกตโต้ หรือกูลัคที่ใช้เก็บพวกที่เห็นต่างทางการเมืองครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 03:24
เอามาให้อ่านเพลินๆ ว่าคนมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์เขาคิดกันยังไง

They wrote in the old days that it is sweet and fitting to die for one's country. But in modern war, there is nothing sweet nor fitting in your dying. You will die like a dog for no good reason.
- Ernest Hemingway

In the long run, we shape our lives, and we shape ourselves. The process never ends until we die. And the choices we make are ultimately our own responsibility.
-Eleanor Roosevelt

No bastard ever won a war by dying for his country. He won it by making the other poor dumb bastard die for his country.
-George S. Patton

It is easier to find men who will volunteer to die, than to find those who are willing to endure pain with patience.
- Julius Caesar

If a man hasn't discovered something that he will die for, he isn't fit to live.
-Martin Luther King, Jr.


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 07:02

ตัวอย่างง่ายๆ คือ 6 ตุลา ขณะที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งช่วยนักศึกษาหลบหนี แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งสะใจและสนุกกับการฆ่า ยืนยิ้มดูร่างนักศึกษาที่ถูกเผาหรือแขวนคอ ในขณะที่คนจำนวนมากกว่ามากๆ เลือกที่จะไม่พอใจเงียบๆ  แต่วางเฉยไม่กล้าออกมาทำอะไร เพราะไม่ต้องการขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น

และถ้ามีคนแบบฮิตเล่อร์ หรือสตาลินเข้ามาครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในไทย แล้วผมเลือกที่จะไม่เงียบงันต่อความถูกต้อง  ถ้าโชคดียังไม่โดนเอาไปทำปุ๋ยซะก่อน ท่านอาจารย์เทาชมพูอาจจะหาตัวผมเจอได้ที่ริมรั้วเกตโต้ หรือกูลัคที่ใช้เก็บพวกที่เห็นต่างทางการเมืองครับ

ในสงครามกลางเมืองไม่ว่ามุมไหนของโลก    คนเดินดินที่เกี่ยวข้องแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
1   กลุ่มจัดตั้ง   ซึ่งได้รับฝึกฝนมาให้เอาชนะ หรือทำลายฝ่ายปรปักษ์โดยเฉพาะ      มนุษยธรรมไม่ต้องพูดถึงกัน
2   กลุ่มเหยื่อผู้บริสุทธิ์    แบ่งเป็น ก)ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่  หลุดเข้าไปสู่วังวนตรงนั้น   กับ ข)พวกเต็มใจเข้าสู่สถานการณ์ด้วยความตั้งใจดี  หากแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  
     คนในข้อ 2  คือพวกที่ตายง่ายที่สุด   อย่างเบาก็ถูกจับกุมคุมขัง     ส่วนคนที่ข้อ 1 คือพวกหนีรอดได้ง่ายที่สุด เพราะฝึกฝนทางหนีทีไล่มาแล้ว    
     เคยสังเกตไหมว่า  ในเหตุการณ์นองเลือดทั้งหลายแหล่ทุกมุมโลก   พวกตัวบิ๊กๆหนีรอดได้ทั้งนั้น    ที่ตายส่วนใหญ่เป็นตัวเล็กๆ
3   ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ดูภายนอก   พวกนี้อาจโดนลูกหลงจากกลุ่ม 1 บ้าง  และแอบช่วยกลุ่มที่ 2 บ้าง  เป็นพวกที่มีความคิดของตัวเอง   จะดีหรือเลวก็แล้วแต่นิสัยของแต่ละคน  

คุณประกอบจะเลือกเป็นแบบไหนก็ได้แล้วแต่ใจสมัครค่ะ   ไม่มีใครว่าได้     แต่ก่อนจะเดินไปสู่อะไร  ขอให้เดินด้วยสติ และรอบคอบในสิ่งที่ทำลงไป  หากว่าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นจริงๆ จะได้บอกได้เต็มปากว่าทำดีที่สุดแล้ว


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 มิ.ย. 12, 10:06
ขอบคุณ คุณประกอบมากครับ เรื่อง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ผมสนใจมาตั้งแต่ดูหนังเรื่อง Hotel Rwanda แล้ว (หนังเรื่องนี้ ผมดูซ่ะหลายรอบ แม้จะหนัก แต่สนุกครับ) พยายามหาเรื่องประกอบการดู โชคดีคุณประกอบ มาประกอบข้อมูลให้แล้ว ดีใจจัง  :)

จากในภาพยนต์ ผมยังสะเทือนใจไม่หาย

1. เขาแยกคนสองเผ่ากันยังไง ?  ในหนังมีฉากที่แสดงให้เห็น เมื่อนักข่าวฝรั่งถามนักข่าวท้องถิ่น คำตอบก็คือ คนเบลเยี่ยมเป็นคนแบ่งแยกไว้ โดยดูจากความกว้างของรูจมูก !!!!!!!!!  ตอนปกครองอยู่ ก็ยกพวกผิวขาวกว่า ตัวสูงกว่า (ทุตซี่ เหมือนคนขาวมากกว่า) เป็นชนชั้นปกครอง และให้พวก ฮูตู เป็นคนใต้ปกครอง  และเมื่อหมดอำนาจ ก็กลับตาลปัด มอบอำนาจไว้ให้พวก ฮูตู  คนที่เคยโดนกดขี่มาจึงถึงเวลา "แก้แค้น"

2. เขารู้สึกกันอย่างไร ? มีอีกฉากหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่กาชาดหญิง ออกไปรับเด็กกำพร้าชาว ทุตซี่ แล้วถูกพวก อินเตอร์ฮัมวี่ (ฮูตู หัวรุนแรง) บังคับให้ดูการสังหาร เด็กผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหาเธอ ร้องบอกว่า "Please don't let them kill me, I promise I won't be Tutsi anymore" ........ ฟังแล้วสะเทือนใจเป็นที่สุด และเหตุที่เขาฆ่าเด็ก ก็เพื่อเพราะจะได้ไม่มีทุตซี่หลงเหลืออยู่ในยุคต่อไป !!!!!!

3. ผลประโยชน์ เป็นเรื่องความสำคัญ บางทีคำว่า มนุษยธรรม ก็เป็นแค่ข้ออ้าง(สำหรับใครบางคนที่มองเห็นแต่อำนาจ) เพราะ รวันดา ไม่มีผลประโยชน์ พี่เบิ้มทั้งหลาย จึงไม่เหลียวแล ลอง รวันดา มีน้ำมัน มีเหมืองทอง-เพชร ซักหน่อย คงแห่แหนกันเข้ามาช่วย + กอบโกย  สมแล้ว ที่ว่า ยูเอ็น บางครั้ง ก็กลางเป็นเสือกระดาษ ไ้ร้น้ำยา

แม้จะเป็นบทภาพยนต์ (ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดมากกว่า หรือแตกต่างจากความเป็นจริงบ้าง) ก็แสดงความคิดเห็นได้หลายแง่มุม

ปล. ชอบแฟน ของผู้จัดการโรงแรม ทาเทียน่า รูสเซซาบากีน่า (Tatiana Rusesabagina) Sophie Okonedo สวย และเล่นได้ดีมาก.....

ขอบคุณ คุณประกอบอีกหนครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 10:25
Sophie Okonedo


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มิ.ย. 12, 14:44
ในขณะที่เรากลัวว่าเหตุการณ์ในรวันดาจะเกิดขึ้นในประเทศเรา

จับตาให้ดี อะไรกำลังเกิดขึ้นที่รัฐยะไข่ (อาระกัน) ของพม่า

๑๑ มิถุนายน - ที่หน้าที่ทำการ สหประชาชาติ ประเทศไทย ถนนราชดำเนิน กลุ่มสมาคมพม่าโรฮิงยา ประเทศไทย ประมาณ ๑๐๐ คน นำโดยนายหม่อง จอ นู ประธานสมาคมพม่าโรฮิงยา ประเทศไทย เดินทางมารวมตัวเพื่อยื่นหนังสือถึง นายบัน คี มูน เลขาธิการ สหประชาชาติ เรียกร้อง ให้หยุดยั้งวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐอารกันโดยเร่งด่วน โดยนำป้ายผ้าพร้อมรูปภาพชาวโรฮิงยาที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมมาโชว์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโหดร้าย ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในรัฐอารกันในขณะนี้

(http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/119116.jpg)

โดยนายหม่อง จอ นู ได้อ่านแถลงการณ์เล่าถึงสถานการณ์ที่เริ่มเลวร้ายลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติ เหยื่อมีทั้งผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ มีผู้บาดเจ็บและสูญหายประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐คน การสังหาร เผาบ้านเรือนดำเนินไปทั้งกลางวันและกลางคืน ประชาชนต้องหลบหนีซ่อนตัวในป่า บ้างหนีข้ามพรมแดนไปประเทศที่สาม โดยหนังสือที่จะยื่นผ่านสหประชาชาติเรียกร้อง ให้หยุดยั้งการฆ่าล้างเผาพันธุ์ทันที โดยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ สหประชาชาติ เข้าพื้นที่เพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ คลี่คลายและแซกแซงสถานะการณ์พร้อมตรวจสอบการกระทำที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติและนำคนผิดเข้าสู่ขบวนการศาลโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ขอให้สื่อนานาชาติเข้าติดตามสถานการณ์เพื่อรายงานความเป็นจริง

ข่าวจาก เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/crime/119116#)

 :o


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 มิ.ย. 12, 15:18
เรืองในยะไข่นี่ผมเห็นข่าวตั้งแต่เมื่อวาน แต่ยังหารายละเอียดลึกๆ ไม่ได้เลยครับ รู้แต่ว่ามีการฆ่ากัน ขัดแย้งกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม
แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเหยื่อ ใครเป็นผู้กระทำ มุสลิมฆ่าพุทธ หรือพุทธไล่ฆ่ามุสลิม เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชนและในพื้นที่ที่ไม่มีความสลักสำคัญใดๆ สำหรับนานาชาติ แม้แต่ข่าวยังหาอ่านไม่ได้ง่ายๆ แต่มั่นใจได้อย่างหนึ่งว่าเรื่องนี้ต้องเกิดจากแกนนำคลั่งศาสนาใดศาสนาหนึ่งออกมาปลุกปั่นผู้คนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัว  การฆ่ากันเกิดขึ้นโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ไม่ต้องรู้จัก ขอเพียงต่างศาสนากันก็มีโทาถึงตายได้แล้ว ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อื่นๆ


สำหรับพวกโรฮิงยานี่เท่าที่ทราบมาอาจจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่น่าสงสารที่สุดในเอเชียก็ได้ ไม่มีชาติ ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีที่ไป ไม่มีใครต้องการ และไม่มีความสำคัญสำหรับชาติตะวันตกหรือชาติใดๆ  ที่จะไปให้ความสนใจ ทำให้เป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด น่าสงสารมากๆ มั่นใจอีกเช่นกันว่าคนไทยเกินล้านไม่รู้จักว่าโรฮิงยาคือใคร


ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา โดยส่วนตัวผมคิดว่าถึงศาสนาพุทธจะเปิดกว้าง  แต่ปัญหาหนึ่งของคนที่นับถือศาสนาพุทธและต้องการจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงคือต้องใช้ปัญญามาก ทำให้ชาวพุทธบางส่วนจึงเป็นประเภทพุทธตามทะเบียนบ้าน  ทำให้พวกนี้บ้างก็ใช้ศาสนาพุทธเพื่อแสดงความเหนือกว่าศาสนาอื่น เป็นพุทธหัวรุนแรงไม่ต่างจากมุสลิมหรือคริสต์หัวรุนแรง  บ้างก็ไม่เข้าใจว่าพุทธแท้เป็นอย่างไร ออกมาตำหนิก่นด่ากระพี้ หรือสิ่งที่แอบแฝงกับพุทธแบบไทยๆ เช่นเรื่องเครื่องลางของขลัง ฯลฯ   แต่ทั้งสองกลุ่มไม่เคยศึกษาหรือเข้าถึงพุทธแท้ๆ เลยทั้งคู่


ส่วนที่ท่านอาจารย์เทาแนะนำมาว่าผมจะใช้วิธีใดในการรับมือนั้น  เนื่องจากยังไม่ต้องการโดนจับไปไว้ในเกตโต้หรือกูลัค  แต่ผมจะเลือกใช้วิธีไม่นิ่งเฉยเช่นกันครับ เพียงแต่ด้วยกำลังตอนนี้ที่พอทำได้คือการเผยแพร่แนวคิดให้ผู้คนรู้ทันพวกนักการเมืองหรือแกนนำต่างๆ นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์และความล้มเหลวของคนในอดีตที่ัวนิ่งเฉยปล่อยให้คนเลวๆ ออกมาชักนำสังคมไปในทางที่ผิดครับ  กระทู้ผู้ชายที่ไม่ยืนเคารพแบบนาซีและรวันดานี้เป็นหนทางหนึ่งที่ผมใช้อยู่เช่นกัน  8)
และถ้าเมืองไทยจะมีการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ท่าทางคงจะไม่ใช่การจับใส่คุกหรือเกตโต้หรอก แต่สงสัยจะถูกทำให้สูญหายไปเฉยๆ มากกว่า  ชักกลัวซะแล้ว :-X


ตอนนี้หนังสือ Becoming Evil: How Ordinary People Commit Genocide and Mass Killing มาถึงแล้ว หนา 300 หน้า  :-\ ยังไม่ได้เริ่มอ่านเลย ติดอ่านเรื่อง King of the Mountain: The Nature of Political Leadership เล่มนี้ถ้าแปลเป็นไทยอาจจะพอแปลได้ว่ารู้ทันผู้นำ  เป็นการศึกษาธรรมชาติของผู้นำประเทศต่างๆ ในช่วงประมาณ 100 ปีที่แล้ว อ่านสนุกมากครับ แต่อ่านไปได้สามสิบกว่าหน้าเอง  :P


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 มิ.ย. 12, 15:30
สำหรับคุณ piyasann หรือผู้ที่สนใจหนังเกี่ยวกับการฆ่ากันในรวันดา  
เพิ่มเติมให้เรื่อง Hotel Rwanda นั้น จากการอ่านที่ พอล พระเอกของเราเล่า เหตุการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจริงครับ ไม่ใช่ฮอลลิวู้ดโม้เอาเอง แถมเหตุการณ์จริงกดดันและเครียดยิ่งกว่าในหนัง
ฉากอพยพและถูกรุมจนต้องหนีกลับโรงแรมก็เป็นเรื่องจริง  เพียงแต่พระเอกของเราไม่ได้ตัดสินใจที่จะไม่ไปกับรถในนาทีสุดท้าย และภรรยาไม่ได้โกรธแบบในหนังเท่านั้น เพราะอันนั้นผู้กำกับแกใส่มาให้หนังมีดราม่ามากขึ้นเฉยๆ


นอกจากหนัง Hotel Rwanda แล้ว ยังมีหนังอีกหลายเรื่อง  จะขอแนะนำซัก 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ Sometimes in April เป็นหนังปี 2005 เล่าเรื่องของพี่น้องฮูตู 2 คน  คนพี่เป็นทหารแต่มีภรรยาเป็นทุตซี่  เป็นฮุตูสายกลาง  ส่วนคนน้องเป็นโฆษกวิทยุที่คอยออกมาปลุกปั่นให้ผู้คนออกมาฆ่ากัน สุดท้ายคนพี่เสียครอบครัวทั้งหมด คือภรรยา ลูกชาย ลูกสาวไป ส่วนน้องถูกจับและถูกขึ้นศาล UN
เรื่องนี้มีฉากรุนแรงมากกว่า Hotel Rwanda แต่ก็ไม่ได้ถึงกับสยดสยองเหมือนพวกหนังฮอลลีวู้ดทั่วไป แต่อาจจะกดดันบ้าง

หนังเรื่องเต็มดูใน youtube ได้ตามนี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=oF3btMwks3c


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 มิ.ย. 12, 15:42
อีกเรื่องที่น่าดู คือ Shake hands with the devil  หนังปี  2007 ของแคนาดาจากหนังสือชื่อเดียวกันที่เขียนโดยพ่อโรมิโอ ผบ. กองกำลัง UN ของเรา เป็นหนังที่ถ่ายทำในคิกาลีเมืองหลวงของรวันดาจริงๆ ต่างกับ Hotel Rwanda ที่ส่วนใหญ่ถ่ายทำในแอฟริกาใต้

หนังเรื่องนี้หาดูหาโหลดยากหน่อยผมเองก็เพิ่งหาโหลดได้เมื่อวานนี้เอง  เพิ่งดูไปได้ครึ่งเรื่องเอง   ใครสนใจผมใส่ link ไว้ให้ไปโหลดเอาเองครับ  หนังใช้ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ  ตอนที่พูดภาษาฝรั่งเศสมี subtitle ภาษาอังกฤษแต่ต้องไปหาโหลดเพิ่มต่างหาก แต่ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษก็ฟังง่ายครับ ไม่ต้องมี subtitle ก็ดูรู้เรื่อง

อันนี้ link โหลดหนังนะครับ

http://d01.megashares.com/?d01=2321158
http://d01.megashares.com/?d01=df58777

สำหรับโปรแกรมที่โหลด แนะนำให้ใช้ JDownloader ครับเป็น freeware  โหลดทิ้งไว้ทั้งคืนมันจะโหลดจนครบให้เอง ไม่งั้นถ้าโหลดเองเราจะโหลดได้ไม่เต็มเรื่องครับ
ส่วน subtitle ให้ใช้อากู๋หาคำว่า Shake hands with the devil english subtitle ครับ

ภาพใบปะหนัง


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 มิ.ย. 12, 18:05
ขอบคุณคุณประกอบอีกรอบ (หลายรอบเลย  ;D ) มีการบ้านมาให้ดูอีกแล้ว ดีใจจังครับ........



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 มิ.ย. 12, 21:19
เมื่อวานนั่งดูหนัง Shake hands with the devil มา ถ้าไม่ได้เขียนกระทู้นี้ ความเข้าใจตัวละครต่างๆ ในหนังจะน้อยลง เช่นไม่รู้ว่าผู้หญิงในเรื่องคือนายก ไม่รู้ว่าเหล่าทหารในเรื่อง หรือผู้นำกบฏใครเป็นใคร

ในหนังจะมีตัวละครอีกคนที่รับบทเด่นพอสมควร คือนายทหารกาน่าที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของนายพลโรมิโอพระเอกของเรา   ในหนังสือที่พ่อโรมิโอเขียน ได้ยกย่องทหารกาน่าไว้มากทั้งในเรื่องความกล้าหาญ กล้าเสี่ยงชีวิต การปฏิบัติหน้าที่ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ทหารกาน่าทำได้อย่างดีมาก ทหารกาน่ามีบทบาทในการช่วยรักษาชีวิตผู้อพยพที่หนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาอาศัยการปกป้องจากทหาร UN จำนวนเพียงหยิบมือที่โรมิโอของเรามีเหลือ
 
ทหารกาน่าที่อยู่ในสังกัดของ UNAMIR นำโดยพลจัตวาเฮนรี่ อันยิโดโฮ (Henry Kwami Anyidoho)
พ่อเฮนรี่ของเราเป็นทหารกาน่าการศึกษาดี จบจากโรงเรียนนาวิกโยธินจากสหรัฐด้วย เป็นคนที่มีความสามารถสูงและมีประสบการณ์ทำงานกับกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเลบานอน กัมพูชา ไลบีเรีย จนกระทั่งถึงภารกิจในรวันดา ปัจจุบันพ่อเฮนรี่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ในรวันดาไว้เช่นกันชื่อว่า Guns Over Kigali

รูปพ่อเฮนรี่ของเรา แม้ไม่หล่อเหลาแต่เร้าใจไม่น้อย


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 มิ.ย. 12, 22:17
นอกจากพ่อเฮนรี่ของเราแล้ว ควรจะพูดถึงคนดีๆ คนอื่นอีกที่ไม่ควรจะถูกหลงลืมไปกับการเวลา คนที่ถูกเรียกว่า The Forgotten angel of Rwanda
วีรบุรุษตัวจริงไม่ใช่นักการสงครามผู้ยิ่งใหญ่   ไม่ทั้งจอมจักรพรรดิผู้พิชิตดินแดนกว้างไกล แต่คือคนธรรมดาที่ยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น

ร้อยเอกเอ็มไบ (Mbaye Diagne) นายทหารมุสลิมจากเซเนกัล มีตำแหน่งเป็นผู้สังเกตุการณ์ใน UNAMIA

แม้จะได้รับคำสั่งไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้แต่การเข้าไปช่วยชีวิต แต่เอ็มไบไม่สนใจและไม่มีใครห้าม เพราะแม้จะขัดคำสั่ง แต่เอ็มไบทำถูกเพราะทำในสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำ เอ็มไบเริ่มต้นปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตผู้คนตั้งแต่วันแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนแรกๆ ที่เอ็มไบช่วยคือลูกๆ ของนายกรัฐมนตรีหญิงอกาเธ่ที่ถูกสังหาร เอ็มไบซึ่งอยู่ที่ Hôtel des Mille Collines หรือ Hotel Rwanda ได้ยินเรื่องการสังหารนายกรัฐมนตรี เอ็มไบตัดสินใจออกไปดูด้วยตัวเองทั้งที่ไม่มีอาวุธ เอ็มไบได้พบลูกๆ ของอกาเธ่ซ่อนตัวอยู่ เอ็มไบพาลูกๆ ของเธอซ่อนไว้หลังรถ เอาผ้าคลุมไว้ก่อนพาไปหลบภัยที่โรงแรม  จนลูกๆ ทั้งหมดของเธอรอดชีวิตและลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในยุโรปในปัจจุบัน

วิธีที่เอ็มไบใช้ในการช่วยเหลือผู้คนคือจะขับรถไปพาผู้ที่ซ่อนตัวตามที่ต่างๆ ส่งไปจุดหลบภัยที่โรมิโอของเราตั้งขึ้นหรือไม่ก็ที่โรงแรม เอ็มไบจะซ่อนคนไว้ในรถขับรถผ่านด่านต่างๆ ที่พวกทหารบ้านหรือทหารรวันดาตั้งด่านคอยหาพวกทุตซี่ไว้  โดยเอ็มไบใช้สายสัมพันธ์ที่ดีคอยประสานงานกับทหารรวันดาและทหารบ้านเพื่อให้ผ่านด่านเหล่านี้ได้สะดวกรวมทั้งใช้ความเยือกเย็น มุกตลกบ้าง ให้บุหรี่บ้างสินบนบ้าง หรือแม้แต่การโน้มน้าวใจพวกหัวรุนแรงที่ตั้งด่านอยู่ ค่อยๆ ลำเลียงผู้ที่ซ่อนตัวอยู่ไปไว้ตามจุดปลอดภัย  

ในภารกิจหนึ่งที่เป็นเหมือนตำนาน เอ็มไบได้พบชาวทุตซี่ 25 คนซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังหนึ่งชานเมืองคิกาลี เอ็มไบขับรถลำเลียงชาวทุตซี่เหล่านี้ครั้งละ 5 คน ผ่านด่านตรวจ 23 จุดในแต่ละครั้งเพื่อลำเลียงคนเหล่านั้นไปยังจุดปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวตะวันตกและผู้ที่รู้เรื่องที่เอ็มไบทำไม่มีใครกล้ารายงานข่าวการกระทำของเอ็มไบ เพราะถ้าพวกฮูตูหัวรุนแรงรู้เอ็มไบจะไม่มีทางรอดแน่ๆ มีคนที่รอดชีวิตเพราะปฏิบัติการเดี่ยวช่วยชีวิตของเอ็มไบหลายร้อยคนหรืออาจจะถึงพันคน


ในวันที่ 31 พฤษภาคม ขณะขับรถเพื่อไปยังฐานบัญชาการของ UNAMIA ร้อยเอกเอ็มไบถูกสะเก็ดจากกระสุนปืนครกที่คาดว่ายิงโดยทหารฝ่าย RPF ซึ่งทำให้พ่อพระของเราเสียชีวิตทันที ทิ้งภรรยาให้เป็นม่ายและลูก 2 คนไว้เบื้อหลัง

สำหรับคนที่อยากฟังเรื่องราว หรือแม้แต่ดูภาพที่น่าสะเทือนใจทั้งตอนที่ยังมีชีวิต หรือแม้แต่ฉากการเสียชีวิตของเอ็มไบ สามารถดูได้จากสารคดีสั้นๆ ใน youtube นี้ครับ
http://www.youtube.com/watch?v=hgdU1B2bzxw
http://www.youtube.com/watch?v=5HNytCY_4Qw


ภาพของผู้กองเอ็มไบ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ส.ค. 12, 21:20
วันนี้เข้าไปอ่านกระทู้หนึ่งในห้องสมุด เว็บ Pantip เจอกระทู้หนึ่งยกถ้อยคำที่อ้างว่าเป็นคำด่าใหม่ที่คนฟิลิปปินส์ใช้ด่ากัน คือคำประมาณว่า เอ็งไทยมาก

ได้อ่านเรื่องนี้จากเว็บดราม่ามาพักหนึ่งแล้ว เห็นเว็บมติชนก็เอาข่าวมาลงต่อ วันนี้ได้เห็นจากกระทู้ในห้องสมุดอีกครั้ง
จกยกข้อความมาให้อ่านกันเล่นๆ 15 ข้อ

let me tell you 15 reasons why Thais sucks!!!!!

1. they′re bad at english. they′re terrible!!
2. they think their country is better than other countries (or best in the world)
3. they use Thai language on global websites because they′re too
dumb and they have no manners.
4. they′re Steve Jobs′ slaves.
5. they′re retarded. very close to the north korean level.
6. they use pirated softwares.
7. they hate democracy. they don′t even have it right now.
8. feudalism!!
9. they snub other countries in ASEAN. especially Laos and Cambodia. they think their country is better... no they′re not.
10. faith is bigger than reasons.
11. they destroyed Buddhist.
12. they′re hypocrites. their country is one of the biggest sex market in the world, they still refuse to admit it.
13. their football team sucks!!!
14. their gov killed their own citizens!!
15. ...........

อ่านแล้ว ดูจากระดับภาษาอังกฤษที่ใช้ ความลึกล้ำรู้จริงเรื่องไทยๆ  ผมเชื่อว่านี่เขียนโดยคนไทยกันเองนี่เองแหละ แต่เอาไปอ้างคนฟิลิปปินส์เพื่อเอามาด่ากัน
ที่น่าเศร้าก็คือ คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่พิจารณา ไม่คิดให้ลึกซึ้ง ไม่สนใจจะหาที่มาที่ไป พอได้ยินว่าฟิลิปปินส์ด่าเรา ก็พร้อมจะคลั่งชาติ ด่าฟิลิปปินส์กันต่างๆ นาๆ ขนานใหญ่
แม้แต่กระทู้ในห้องสมุดเว็บ pantip ห้องประวัติศาสตร์ ที่ผมว่าไม่ค่อยมีการด่ากันหรือทะเลาะเบาะแว้งกันมากกัน
ยังไม่รวมข่าวไร้สาระ ประเภทที่ตัดต่อภาพมือพ่อขุนเม็งราย  เพียงแค่นี้ก็มีคนมาบ้าคลั่งกันใหญ่แล้ว กระแสความเกลียดนี่มันปลุกได้ง่ายจริงๆ ง่ายมากๆ


นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน ว่าถ้านักการเมืองคิดจะใช้กระแสคลั่งชาติ ปลุกให้คนบ้าคลั่งลากดาบมีดปืนออกมาฆ่ากัน หรือก่อสงครามกัน มันทำได้ง่ายขนาดไหน ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 22:13
ไม่รู้ว่าไทยหรือชาติไหน แต่คนเขียนเรียนภาษาอเมริกัน  ไม่ใช่อังกฤษ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 16:55
นานาความคิด นานาจิตตัง (http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K12540929/K12540929.html)

เอาใจช่วยคุณประกอบ

 ;D


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 ส.ค. 12, 17:09
เรื่องการเมืองแผลยังไม่ทันสะเด็ด หนีกลับสุสานยังไปล้อเลียนเรื่องศาสนาในกระทู้ตายแล้วไปไหนอีก  ตาคนนี้ท่าทางจะไม่รู้จักเข็ดจริงๆ ครับ


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ส.ค. 12, 17:14
^
คุณเพ็ญคงหมายถึงสมรภูมินี้

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K12540929/K12540929.html

ผู้ใหญ่เขาห้ามเถียงเอาชนะกันในเรื่อง๓เรื่อง

๑ ศาสนา
๒ การเมือง
๓ ความสวยของสตรี

คุณประกอบยังขาดไปข้อนึง



กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 17:27
V
V


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ส.ค. 12, 13:33
สู้เข้าไปอย่าได้ถอย  (http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K12558529/K12558529.html)

มีคนคอยเอาใจช่วยอยู่

 ;D


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 ส.ค. 12, 15:56
ไปตั้งกระทู้ใหม่ก็ยังไม่วายปากเสียอีกแล้วครับท่าน อ.เพ็ญชมพู ตอนบอกแรงบันดาลใจว่าทำไมไปตั้งกระทู้ ดันไปยกตัวอย่างพวกที่ด่าฟิลิปปินส์ว่าเป็นขี้ข้าบ้างอะไรบ้างโดยไม่ดูที่มาที่ไป เป็นพวกคลั่งชาติ จนมีดราม่าเล็กๆ นิดหน่อย เพราะเจ้าตัวบอกว่าด่าแค่นี้ไม่เรียกว่าคลั่งชาติ แค่ดูถูก ต้องขนาดที่เห็นพวกอื่นไม่ใช่คน    ไม่ใช่มนุษย์เหมือนกัน แบบนั้นถึงคลั่งชาติ

 :(


กระทู้: เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 12, 16:09
เมื่อใดที่มีความคิดแบบฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็เลว   ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่ผิด หรือต่อให้ผิดก็น่าเห็นใจ     ความรู้สึกแบ่งแยกก็จะเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ    
จากนั้น ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันก็ไม่เกิดขึ้น   ลืมไปว่าต่างฝ่ายต่างก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งพอๆกัน  ในฐานะคนในประเทศชาติเดียวกัน
ถ้าความคิดแบบแกผิดฝ่ายเดียวได้รับการตอกลิ่มอยู่เสมอๆ   มันก็มีแต่รอยร้าวที่รอวันแตก  ไม่มีการเชื่อมประสานกันได้ค่ะ
คุณประกอบลองสังเกตดู  เมื่อไรความคิดแบบ "...ก็พวกคุณมันผิดนี่นา" โผล่เข้ามาละก็   วงกระทู้ไหนๆก็แตกกระจายทั้งนั้นละค่ะ