เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 02:04



กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 02:04
กระทู้นี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากคุณ V_MEE ได้ช่วยจุดประกาย อธิบาย “นามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6”
โดยใช้รถไฟสายเหนือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงวันเวลาการเสด็จมณฑลพายัพของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต

ไม่ว่าประเทศใดๆ เบื้องหลังของกิจการรถไฟมักผูกติดกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของประเทศนั้นๆเสมอ
ปัจจุบันรถไฟไทยมีอายุ 100 กว่าปีแล้ว รถรางไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ยุคเก่า ก็นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์รุ่นลายคราม
อายุอานามใกล้เคียงกันกับรถไฟ

กระทู้นี้จึงอยากเชิญชวนผู้อ่าน ย้อนดูเบื้องหลังที่น่าสนใจของกิจการขนส่งมวลชนเก่าแก่ของไทย
ที่ต้องใช้ความสามารถในการจัดการการเงินของคลังหลวง (เรียกว่าบ้านเมืองต้องรัดเข็มขัดจนเอวกิ่ว)
หยาดเหงื่อ และชีวิตกรรมกรแลกมา


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 11 ก.ค. 06, 02:15
 แวะมาอ่านด้วยคนครับคุณโพธิ์ฯ ผมนั่ง(และยืน)รถไฟไปต่างจังหวัดบ้าง ในกรุงเทพบ้างอยู่หลายครั้ง
บ้านหลังเดิมก็อยู่บนถนนสายที่มีรางรถไฟเก่าฝังอยู่ด้านล่าง (สุดที่สถานีวงเวียนใหญ่แหละครับ หุหุ)
แต่ตัวเองยังไม่ค่อยจะมีความรู้อะไรเกี่ยวกับรถไฟเลย ผมคงต้องขอความรู้สมาชิกในบอร์ดอีกนานล่ะครับ


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 02:32
 ย้อนหลังไปในสมัยรัชกาลที่ 4 รถไฟยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก มีสเตอร์แฮรี่ สมิท ปากส์ ได้อัญเชิญ
พระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ
เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม(พร้อมกับเซอร์ จอหน์ เบาริ่ง) เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 30 มีค 2398 ของที่มีมาเป็นโมเด็ลจำลอง
ประกอบด้วยหัวรถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบครัน วิ่งบนรางด้วยแรงขับเคลื่อนของพลังไอน้ำ

พระนางฯ ทรงประสงค์ให้รถไฟเป็นแรงดลพระราชหฤทัยของ ร. 4 ให้ทรงสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักร
สยามบ้าง ปรากฎว่ารถไฟจำลองเป็นที่ฮือฮาแก่เจ้านายและข้าราชบริพารที่ได้พบเห็นเป็นอันมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 คณะทูตของกรุงสยาม โดยพระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี
(เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นอุปทูต และจมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต โดยมีหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร
ณ กรุงเทพ) เป็นล่าม เดินทางออกจากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2400 เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนัก
อังกฤษ


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 03:02
 ระหว่างที่คณะราชทูตอยู่ที่อังกฤษนั้น เกิดความประทับใจเจ้าม้าเหล็กเป็นอันมาก สมัยนั้นระบบจักรกลยังคงใช้ฟืน
เป็นเชื้อเพลิงเพื่อต้มน้ำให้เกิดไอน้ำขับเคลื่อนหัวรถจักรที่ มิสเตอร์ยอร์ช สตีเฟนสัน เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น
(ยุคหลังเข้าใจว่าใช้ถ่านหิน)

จากกรุงลอนดอน คณะเดินทางไปเมืองเบอร์มิงแฮม ต่อไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ และเลยไปที่ลิเวอร์พูล
โดยทางรถไฟ ทั้งคณะประทับใจในความสะดวกสบายของรถไฟเป็นอันมาก

ในปี 2410 รัฐบาลฝรั่งเศส ได้บีบบังคับให้เขมร ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย ให้หันไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล
ฝรั่งเศสแทนทำให้ไทยเสียดินแดนเขมรส่วนนอก และเกาะอีก 6 เกาะ ให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการเสีย
ดินแดนครั้งที่ 3 เนื้อที่ 124,000 ตารางกิโลเมตร

ก่อนหน้านี้ มีการเสียดินแดนแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 ไทยเสียเกาะหมาก (ปีนัง) ให้แก่อังกฤษ เนื้อที่ 375 ตารางกิโลเมตร

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2336 ไทยเสียมะริด ทวาย และตะนาวศรี ให้แก่อังกฤษ เนื้อที่ 55,000
ตารางกิโลเมตร


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 03:15
 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสวยราชสมบัติ โดยมีเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เป็นผู้สำเร็จราชการแทนนั้น ในปี 2413 พระองค์ได้เสด็จไปสิงคโปร์และปัตตะเวีย (หรือชวา) เพื่อทอดพระเนตร
กิจการสาธารณูปโภคต่างๆ และการสร้างทางรถไฟในชวา

รูปซ้าย ช้างสัมริดที่ระลึกที่พระองค์ทรงมอบให้แก่สิงคโปร์
รูปขวา ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่สิงคโปร์ต้อนรับกษัตริย์สยามอย่างสมพระเกียรติ โดยจัดที่พักถวายให้
ที่ทำเนียบว่าการ (Residence, Government House)
.


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 11 ก.ค. 06, 03:32

.
ในภาพหาตัวหนังสือไทยตามป้ายโฆษณาไม่ได้เลย
มีเพียงสามล้อเป็นสัญญลักษณ์เท่านั้นว่าภาพรถรางไฟฟ้านี้ถ่ายในประเทศไทย  


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 12 ก.ค. 06, 00:06
 คุณติบอทักผิดคนแล้วครับ ผมคนละท่านกับคุณ Japonica
ผมอยากจะรู้ว่ารถรางสมัยโบราณวิ่งได้อย่างไร ถ้าสมาชิกท่านไหน
ทราบ เล่าให้ฟังจะขอบคุณหลายๆ เด้อ


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 12 ก.ค. 06, 07:07
 ตอบคุณโพธิ์

รถรางจะวิ่งได้ถ้าไม่ใช้ม้าลากรถโบราณที่เราเรียกว่า “แทรม” (tram/street car) ก็ต้องมีเฮอคิวลิส
ดึง หรือช้างถีบ ถ้าม้าต้องลากผู้โดยสารหนักๆ บนถนนสูงชัน ม้าอาจขาดใจตายเสียก่อน

ถ้าคุณโพธิ์จัดรถรางในความเห็นที่ 5 ว่าเป็นรถรางสมัยโบราณละก็   อยากทราบว่าวิ่งอย่างไร
ให้สังเกตเคเบิลสีดำบนหลังคารถที่ชี้ขึ้นท้องฟ้า สายเคเบิลเส้นนี้คือสะพานไฟที่รับไฟฟ้าจากเคเบิล
บนถนนมาสู่รถราง ถามว่าเอาไฟฟ้ามาทำไม ก็เอามาหมุนมอเตอร์ ให้เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็น
พลังงานกลนั่นเอง

หากคุณก้มลงไปมองใต้ท้องรถรางไฟฟ้ายุคแรกๆ (เช่น เคเบิลคาร์ สาย K, L, M ) ที่ซานฟรานซิสโก
จะมีหลักการคล้ายคลึงกับสิ่งต่อไปนี้ (ไม่เหมือน แค่คล้าย) จากมอเตอร์ จะมีเพลาที่ต่อกับมู่เล่ย์ตัวที่หนึ่ง
(ชื่อที่คนไทยเรียก มาจากภาษาอังกฤษว่า pulley) เพลามู่เล่ย์ตัวที่ 2 คือ เพลาล้อ มู่เล่ย์ตัวที่หนึ่งที่ต่อ
กับมอเตอร์จะหมุนได้ด้วยไฟฟ้า และมีสายพานเป็นตัวชักลากให้มู่เลย์ตัวที่ 2  หมุนตามมู่เลย์ตัวแรก
เมื่อมู่เล่ย์ทั้งสองตัวหมุนเพลาล้อ (ที่ต่อกับมู่เล่ย์ตัวที่ 2) ก็จะหมุนด้วย ทำให้รถวิ่งได้

-รูปที่เห็น ลูกศรล่างคือมู่เล่ย์ตัวที่หนึ่ง ที่ถูกขับด้วยมอเตอร์
มู่เลย์บนสีดำรับแรงขับมาจากมู่เล่ย์สีเงินด้านล่าง ผ่านสายพาน
.


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 12 ก.ค. 06, 07:09
 สายพานซึ่งทำด้วยยางและไนลอนอาจจะขาดหรือหย่อนง่าย อุปกรณ์ชิ้นนี้ค่อยๆพัฒนาเป็นโซ่
ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า ในมอเตอร์ไซค์ เมื่อเครื่องยนต์หมุน ล้อหลังก็หมุนด้วยเพราะเราต่อโซ่
ให้ล้อหลังหมุนตามเพลาเครื่องยนต์  เมื่อล้อหลังหมุน ถึงไม่ต้องต่อโซ่ไปล้อหน้า ล้อหน้าก็หมุนตามล้อหลัง
ไปเอง เสมือนมีช้างมาถีบ

ถามว่าทำไมถึงไม่ใช้แบตเตอรี่เป็นตัวเก็บไฟเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์กระแสตรงในรถรางไฟฟ้า?
ต้องตอบว่าเทคโนโลยีทางแบตเตอรี่ที่ให้กำเนิดไฟฟ้าได้มากแอมแปร์ยังไปไม่ไกลมาก คุณดู
รถไฟฟ้าที่ใช้ในสนามกอล์ฟ จะวิ่งไม่เร็ว และวิ่งได้ไม่นานนัก ในอนาคตอันใกล้  ฟิวเซลล์
(Fuel cell) น่าจะเป็นคำตอบ


กระทู้: กว่าจะมีรถไฟเมืองสยาม: มองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคู่ขนานไปกับกิจการรถไฟไทย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 15 ก.ค. 06, 16:57
 55+ ขอบคุณมากครับ ที่อุตส่าห์ไปหามา
เมื่อก่อนในกรุงเทพ รถรางมีวิ่งจากไหนไปไหนบ้างครับ ?
ตีตั๋วพาทัวร์รถรางเลย จำได้ว่าเคยเห็นรางรถอยู่ข้างๆ
ศาลหลักเมือง