เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: baron ที่ 30 ก.ย. 07, 16:15



กระทู้: ราชาศัพท์ของ "สนใจ"
เริ่มกระทู้โดย: baron ที่ 30 ก.ย. 07, 16:15
อยากทราบว่าราชาศัพท์ของ "สนใจ" ที่ใช้ในระดับต่างๆ ใช้คำว่าอะไรบ้างครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ของ "สนใจ"
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 30 ก.ย. 07, 18:42
พระมหากษัตริย์ใช้ สนพระทัย ครับ  :)


กระทู้: ราชาศัพท์ของ "สนใจ"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 ต.ค. 07, 02:10
"ใจ" ในราชาศัพท์คำว่า สนใจ พอใจ เอาใจใส่ น้ำใจ ฯลฯ ใช้ตามพระราชอิสริยยศ และพระอิสริยยศของเจ้านายครับ

พระมหากษัตริย์
สมเด็จพระบรมราชินี
สมเด็จพระยุพราช
สมเด็จพระบรมราชกุมารี

ใช้ว่า "พระราชหฤทัย" ฉะนั้นจึงเป็น สนพระราชหฤทัย พอพระราชหฤทัย เอาพระราชหฤทัยใส่ น้ำพระราชหฤทัย ฯลฯ

เจ้าฟ้าลงมาจนถึงหม่อมเจ้า

ใช้ว่า "พระทัย" หรือ "พระหฤทัย" ก็ได้ ฉะนั้น จึงเป็น สนพระทัย พอพระทัย เอาพระทัยใส่ น้ำพระทัย ฯลฯ

แต่ต้องเข้าใจนะครับว่า "ใจ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง หัวใจที่เป็นอวัยวะ หากว่าต้องการจะพูดถึงหัวใจที่เป็นอวัยวะ ให้ใช้เหมือนกันทุกลำดับเจ้านายว่า "พระหทัย" (ยกเว้นหม่อมเจ้า ใช้เพียง "หทัย")

มีคำหนึ่งซึ่ง "ใจ" ไม่เปลี่ยนตามพระอิสริยยศ แต่ก็เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหมู่เจ้านายรับสั่งกันเอง ไม่ใช่คำที่สามัญชนจะไปทูลเจ้านาย นั่นคือ "ขอบพระทัย" ไม่มีคำว่า "ขอบพระราชหฤทัย"

อนึ่ง หากเป็นการเขียนอย่างไม่เป็นทางการ เช่น เขียนนวนิยาย หรือการเขียนอย่างกึ่งทางการ จะใช้ "สนพระทัย" เหมือนๆ กันหมดก็พอได้ ไม่ถูกต้องตามแบบ แต่อาจเหมาะกับบริบทและความตั้งใจ อันนี้ก็แล้วแต่ผู้เขียน แต่หากว่าจะเขียนอย่างเป็นทางการ ใช้ให้ถูกแบบ ต้องใช้ต่างกันตามที่กล่าวข้างต้นครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ของ "สนใจ"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 01 ต.ค. 07, 09:49
ขอต่อจากที่คุณข้าหลวง UP เริ่มไว้ ตามภูมิรู้เท่าที่มีที่เคยเห็นมา หากผิดพลาดประการใดขอผู้รู้โปรดแก้ไขผมด้วยเทอญ

คุณ Up พูดถึงกริยาขอบใจ ของเจ้านาย ซึ่งทรงใช้ระหว่างเจ้านายด้วยกันเองว่า ขอบพระทัย

ผมขอเติมว่า เมื่อเราจะพูดว่า ในหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะทรง" ขอบใจ" ประชาชนคนธรรมดา คือผู้รับการขอบใจนั้นไม่ใช่เจ้านาย ใช้ตามนั้นเดลยครับ คือ "ทรงขอบใจ" นั่นเป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้องแล้วครับ เป็นต้นว่า นาย x หรือหน่วยงาน x ทำอะไรถวายฉลองพระเดชพระคุณสักอย่างหนึ่ง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท (เป็นราชาศัพท์แปลว่า ท่านทรงรู้เรื่องนี้) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่านราชเลขาธิการ เลขาธิการพระราชวัง หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนท่านทั้งสองนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้อื่นที่ได้รับมอบหมายสักคนหนึ่งในวัง อาจจะมีหนังสือถึงนายคนนั้นหรือหน่วยงานนั้น "อัญเชิญพระราชกระแสทรงขอบใจ" มา ไม่ต้องแปลเป็น ขอบพระราชหฤทัย หรืออะไรทำนองนั้นเลยครับ

ต่อไป ทีนี้เมื่อเรา ซึ่งเป็นคนธรรมดา จะ "ขอบคุณ" ในหลวง ราชาศัพท์ว่าไง?

ที่ใช้กันมาเป็นแบบธรรมเนียมในภาษาไทย คือ "สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ (ล้นเกล้าล้นกระหม่อม)" ครับ แปลว่าขอบคุณ รู้สึกถึงบุณคุณ รู้สึกถึงความกรุณาของท่าน


กระทู้: ราชาศัพท์ของ "สนใจ"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 ต.ค. 07, 12:26
ที่คุณนิลกังขาอธิบายมาข้างต้นนี้ ชอบแล้วทุกประการครับ

ถ้าเราจะขอบคุณเจ้านาย ให้ใช้ว่า รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ (หรือเป็นล้นพ้น จะแถมว่า "หาที่สุดมิได้" ด้วยก็ได้) หรือ เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ (หรือล้นพ้นฯ) สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จพระบรมราชกุมารี

เจ้านายชั้นเจ้าฟ้าถึงพระองค์เจ้า ใช้ว่า รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณ (เป็นล้นพ้น..จะ "หาที่สุดมิได้" ด้วยหรือไม่ก็ตามใจผู้กราบทูล) หรือ เป็นพระกรุณาธิคุณ (เป็นล้นพ้นฯ)

สำหรับพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า จะใช้ว่า สำนึกในพระกรุณา สำนึกในกรุณา หรือถ้าค่อนข้างสนิทสนมกับท่าน จะใช้ว่า ขอบพระทัย ก็ยังได้ครับ