เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 09 ส.ค. 17, 18:31



กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ส.ค. 17, 18:31
http://www.youtube.com/watch?v=dVITTpIiXyE&feature=youtu.be (http://www.youtube.com/watch?v=dVITTpIiXyE&feature=youtu.be)





กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 17, 18:50
มารอจดเลกเชอร์แถวหน้าค่ะ คุณ NAVARAT.C

ชื่ออาณาจักรต่างๆรอบสยาม ที่สะกดด้วยภาษาฝรั่ง อ่านยากพิลึก     
ดูคลิปไปถอดรหัสไป ว่าหมายถึงอาณาจักรไหนกันแน่
คำนี้หลายนาทีกว่าจะนึกออกว่า Toungoo = ตองอู
Peku = พะโค  ค่ะ


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 17, 18:51
http://www.youtube.com/watch?v=dVITTpIiXyE&feature=youtu.be (http://www.youtube.com/watch?v=dVITTpIiXyE&feature=youtu.be)

https://youtu.be/dVITTpIiXyE


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ส.ค. 17, 19:10
ไม่ทราบว่าคุณหมอเพ็ญมีเทคนิกอะไรจึงทำได้ แต่ผมทำไมทำไม่ได้
ปล. เห็นข้อความที่ฝากไว้ในช่องส่วนตัวไหมครับ


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ส.ค. 17, 19:13
มารอจดเลกเชอร์แถวหน้าค่ะ คุณ NAVARAT.C

ชื่ออาณาจักรต่างๆรอบสยาม ที่สะกดด้วยภาษาฝรั่ง อ่านยากพิลึก     
ดูคลิปไปถอดรหัสไป ว่าหมายถึงอาณาจักรไหนกันแน่
คำนี้หลายนาทีกว่าจะนึกออกว่า Toungoo = ตองอู
Peku = พะโค  ค่ะ
ไม่มีเลกเชอร์ครับ แต่ควรดูให้จบแล้วจะเข้าใจความหมายที่ผมพยายามสื่อ โดยเฉพาะผู้ที่คิดว่าประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในสุวรรณภูมิ เสียดินแดนให้ชาติโน้นเท่านั้นเท่านี้ เมื่อนั่นเมื่อนี่


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 17, 19:25
ทำอย่างคุณหมอเพ็ญง่ายมากค่ะ   คุณนวรัตนแค่ copy url จากยูทูป  เอามาแปะในโพส
ระบบมันจะจัดการให้เป็นคลิปเองค่ะ

การมองประวัติศาสตร์ทำได้หลายแง่มุม      การสร้างความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติก็เป็นหนึ่งในมุมนั้น     ถ้าสร้างหลักสูตรให้เด็กนักเรียนเข้าใจว่า
"  หนูๆทั้งหลาย  แถวเอเชียอาคเนย์เนี่ยนะ  มันมีหลายแคว้นหลายอาณาจักรมาแต่โบราณแล้วละลูกเอ๊ย   รบกันไปรบกันมา ใครชนะก็รวบมาเป็นของตัวเอง   ต่อมาก็ล่มสลายไป อาณาจักรใหม่ก็เกิดขึ้น ผลัดเปลี่ยนเวียนวนกันเป็นลูปงั้นแหละ    ไม่มีใครใหญ่หรือเล็กจริงหรอก รวมทั้งเราเองด้วย     ทุกแห่งก็มีโอกาสได้ดินแดนมา แล้วทุกแห่งก็มีโอกาสเสียดินแดนไป   เส้นแบ่งเขตแดนมันก็ยืดได้หดเหมือนๆกัน  "
" ครับครู   งั้นเราเรียนกันไปให้เสียเวลาทำไมล่ะครับ  ตัดออกไปจากหลักสูตรน่ะดีแล้ว"
 


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 17, 19:28
อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

มีคำอธิบายเพิ่มเติม ใน พันทิป (https://pantip.com/topic/35324564)

https://youtu.be/cTegAPwZ_2U

ป.ล. ตอบคุณนวรัตนหลังไมค์แล้ว


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 17, 21:24
ทุกแห่งก็มีโอกาสได้ดินแดนมา แล้วทุกแห่งก็มีโอกาสเสียดินแดนไป   เส้นแบ่งเขตแดนมันก็ยืดได้หดเหมือนๆกัน

ตรงนี้เห็นด้วยกับคุณ ๑๓๗๕๙๑๑ คนทำคลิปข้างบนซึ่งอธิบายไว้ว่า

"เรื่องเส้นเขตแดน สมัยก่อนเราไม่มีนะครับ เพิ่งจะมีในสมัยที่ฝรั่งเริ่มเข้ามาในแถบนี้ เพราะแถบอุษาคเนย์ของเราแตกต่างจากพวกยุโรป พวกนั้นเขาพื้นที่น้อย ประชากรเยอะ สงครามจึงเพื่อขยายดินแดน ส่วนของเรา พื้นที่เยอะ ประชากรน้อย สงครามของเราจึงมีเพื่อกวาดต้อนผู้คนเอาไปใช้แรงงานเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นเส้นเขตแดนจึงมาสำคัญเอาจริง ๆ จัง ๆ ตอนที่ฝรั่งจะมาเอาทรัพยากรจากภูมิภาคนี้ สมัยยุคล่าอาณานิคม"


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 09 ส.ค. 17, 21:29
ที่ผมอยากรู้มานานแล้ว และยังไม่ได้คำตอบแบบกระจ่างชัด คือ
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีการปักปันเขตแดน และทำแผนที่
มันเป็นการเดินสำรวจล้วนๆ ทำไมถึงออกมาเป็นแผนที่ได้
ทำไมจึงรู้ว่าประเทศไทยมีรูปร่างเป็นขวานทอง
ถ้าเป้นยุคนั่งเครื่องบินสำรวจจะไม่สงสัยเลยครับ


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ส.ค. 17, 06:19
ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา พูดถึงเรื่องการ "เสียดินแดน" ของสยามไว้ว่า
 
อำนาจดินแดนของรัฐสมัยเก่ามีทั้งซ้อนทับกันและโดยมากไม่กำหนดขอบเขตดินแดนชัดเจน ดินแดนของรัฐสยามสมัยใหม่ที่ชัดเจนมีเส้นเขตแบ่งปันเพิ่งเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อแย่งชิงกันจบด้วยกำลังทหาร (ซึ่งสยามสู้ฝรั่งไม่ไหว) สยามจึงไม่เคยเสียดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน

ในเมื่อไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราช ไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใหญ่แต่ผู้เดียวด้วยซ้ำไป แถมอำนาจเหนือดินแดนไม่มีขอบเขตชัดเจน การ “เสียดินแดน” แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการเสียอำนาจแบบเจ้าพ่อแบบโบราณ คือ ไม่สามารถอวดอ้างความเป็นอธิราชได้อีกต่อไป เรียกให้เขาอ่อนน้อมไม่ได้แล้ว เรียกเก็บผลประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ในจารีตแบบรัฐราชาธิราชหรือรัฐเจ้าพ่อแบบสมัยเก่านั้น นี่เป็นการเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่สุดประเภทหนึ่ง  ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” ในแบบที่เราวัดกันออกมาได้เป็นตารางกิโลเมตร

วาทกรรมการ “เสียดินแดน” โดยฝีมือของนักชาตินิยมอย่างหลวงวิจิตรวาทการและอีกหลายคนร่วมสมัยกับเขา โดยเริ่มผลิตมาตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ (ก่อนการเปลี่ยนแปลง ๒๔๗๕ เล็กน้อย) และกลายเป็นส่วนสำคัญของลัทธิชาตินิยมของรัฐไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันนำไปสู่การ “เรียกร้องดินแดนคืน” ในปี ๒๔๘๓ และกรณีดังกล่าวมีผลให้วาทกรรมและความเข้าใจประวัติศาสตร์ (ผิด ๆ) เรื่องการ “เสียดินแดน” ฝังแน่นในสังคมไทย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเอกสาร power point ชุดหนึ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวาง เสนอว่า “ไทยเสียดินแดน” มาทั้งหมด ๑๔ ครั้ง โฆษณาชวนเชื่อเหลวไหลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด อ้างไปได้เรื่อยว่าปีนัง ทวาย มะริด ตะนาวศรี ฯลฯ เป็นของไทยแต่เสียไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แม้แต่นักชาตินิยมรุ่นหลวงวิจิตรวาทการยังไม่เคยเพ้อเจ้อไปไกลขนาดนั้น คือในระยะแรกที่วาทกรรมการ “เสียดินแดน” เริ่มปรากฏตัวนั้น อย่างมากก็เสนอว่าเสีย ๓-๕ ครั้งและทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงกับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยิ่งนานวัน จำนวนครั้งและดินแดนที่อ้างว่าเสียไปกลับมากขึ้นทุกที เพราะตัวเลขเหล่านี้ไม่มีหลักฐานหลักเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

https://prachatai.com/journal/2011/02/33012


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 17, 10:07
ช่วยหาอะไรดีๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ที่ธงชัย วินิจจะกูลเขียนถึงได้บ้างไหมคะ  คุณเพ็ญชมพู


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ส.ค. 17, 15:37
เล่มนี้น่าจะพอใช้ได้  ;D

ธงชัย วินิจจะกุลกล่าวไว้ในคำนำฉบับแปลภาษาไทยเกี่ยวกับหนังสือกำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ

ความปรารถนามูลฐานของผู้เขียนมีอยู่เพียงว่าอยากเล่าเรื่องดี ๆ (to tell a good story) สักเรื่องหนึ่ง นี่เป็นความอยากของนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไป ความปรารถนาข้อนี้ฟังดูง่ายดีแต่ทำได้ยากชะมัด และไม่ใช่ว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนจะประสบความสำเร็จ เพราะ “การเล่าเรื่องดี ๆ” มีความหมายหลากหลายตามแต่คนอ่านคาดหวัง และตามแต่ความปรารถนา จินตนาการในการเข้าใจอดีต และประสบการณ์ชีวิตของคนเขียน


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ส.ค. 17, 15:45
สยามเพิ่งถือกำเนิดจากภูมิศาสตร์และแผนที่ เป็นผลลัพธ์ของการปะทะและถูกฝรั่งเศสกำหนด ชนชั้นนำสยามมิได้สร้างวีรกรรมให้กำเนิดเองหรือรักษาของที่มีอยู่เดิมไว้แต่อย่างใด แต่วิกฤตการณ์ที่ให้กำเนิดสยามคือวิกฤตการณ์ที่คนไทยรับรู้กลับตาลปัตรว่าเป็นการเสียดินแดนครั้งใหญ่หลวง (ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่ สำนักพิมพ์ อ่าน-คบไฟ พ.ศ. ๒๕๕๖)

ในหนังสือ กำเนิดสยามจากแผนที่ ของ ธงชัย วินิจจะกูล ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในอดีต - ก่อนจะมีแผนที่แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน – ชาวอุษาคเนย์มีแผนที่ชนิดที่ไม่ได้มุ่งนำเสนอภาพแทนของภูมิศาสตร์ แต่มุ่งเสนอความเชื่อหรือศรัทธาทางศาสนามากกว่า เช่น แผนที่ไตรภูมิ เป็นต้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนแต่ก่อน ไม่มีแผนที่ที่แสดงภูมิศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพียงแต่แผนที่เหล่านั้นอาจไม่เที่ยงตรงและชัดเจน และบ่อยครั้ง แผนที่โบราณจะระบุระยะห่างระหว่างสถานที่แต่ละแห่งด้วย “เวลา” ที่ใช้ในการเดินทาง (เช่นสองวันหรือสามวัน) ไม่ใช่ “ระยะทาง” เป็นหน่วยกิโลเมตรหรือไมล์แบบในปัจจุบัน

นอกจากนั้น แนวคิดเรื่อง “เส้นเขตแดน” ก็ไม่เคยมีอยู่ในมโนทัศน์ของผู้ปกครองในสมัยก่อน หรือถ้าจะมี ก็ไม่ใช่ในแบบที่ฝรั่งเข้าใจ ดังปรากฏว่า

“ในร่างข้อตกลงที่จัดทำโดยสยามนั้น แม้จะมีการระบุว่าดินแดนไหนเป็นของสยามและอังกฤษอยู่หลายแห่ง ทว่าไม่มีการตกลงเส้นเขตแดนแต่อย่างใด เป็นการบอกกลาย ๆ ว่า สำหรับสยามนั้น การแบ่งตรงไหนของใครชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัยเส้นเขตแดนแบบที่อังกฤษต้องการ”

และเมื่อทางอังกฤษเรียกร้องหนักเข้า ให้ทางราชสำนักสยามทำการปักปันเขตแดน คำตอบของทางราชสำนักก็มีใจความเพียงว่า

“หากฝ่ายใดข้องใจเกี่ยวกับเขตแดน ก็ให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายและคนจากชายแดน เพื่อสอบสวนและตกลงกันฉันมิตร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่อังกฤษพยายามจะให้ชาวบ้านในท้องที่ระบุเส้นเขตแดนชัด ๆ คำตอบของพนักงานท้องถิ่นกลับกำกวม

“เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนหนึ่งกลับตอบว่า ชาวบ้านในบริเวณนี้เป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกันและเข้าใจกันดี เขตแดนจึงไม่ห้ามผู้คนไปมาหาสู่หรือทำมาหากิน... ชายแดนเป็น ‘ทางเงินทางทอง’ เปิดอิสระสำหรับพ่อค้าวาณิชย์”

มโนทัศน์เรื่องเขตแดนของสยาม จึงเป็นมโนทัศน์คนละชุดกับฝรั่งนักล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง ธงชัย วินิจจะกูล ให้คำอธิบายไว้ว่า สำหรับสยาม (และประเทศอื่น ๆ ในอุษาคเนย์)

“เขตแดนของแต่ละเมืองขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเมืองสามารถดูแลพื้นที่โดยรอบของตนได้ไกลแค่ไหน เมืองหนึ่งจึงไม่จำเป็นต้องมีชายแดนบรรจบกับอีกเมืองหนึ่งพอดี จึงไม่ต้องพูดถึงเส้นแบ่งเขตอำนาจระหว่างเมืองหรือรัฐสองแห่ง อาณาจักรซึ่งรวมหลายเมืองเข้าด้วยกันจึงประกอบด้วยพื้นที่ของอำนาจต่างๆ เป็นหย่อม ๆ เป็นแห่ง ๆโดยมีที่ว่างระหว่างเมืองเหล่านั้นอยู่เต็มไปหมด”

และพื้นที่ที่เป็นเขตแดนสำหรับสยาม ก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็น “กันชน” ระหว่างอาณาจักรสองอาณาจักร

“มันจึงเป็นชายแดนที่ไม่มีเส้นเขตแดน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น ‘เส้นหนา’ ที่เป็นแนวราบขนาดใหญ่”

ดังนั้น การปักปันพรมแดนโดยฝรั่งเศสและอังกฤษ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในมโนทัศน์ของชนชั้นนำสยาม และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้สยามมีตัวตนขึ้นในภูมิศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก

“แผนที่” จึงกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึง “ความเป็นชาติ” โดยอัตโนมัติ

การ “เสียดินแดน” ที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน จึงไม่ใช่การ “เสียดินแดน”

แต่เป็นการที่สยาม “ได้ดินแดน” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ต่างหาก

http://www.siamrath.co.th/web/?q=สยามถือกำเนิดด้วย“แผนที่” (http://www.siamrath.co.th/web/?q=สยามถือกำเนิดด้วย“แผนที่”)


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 10 ส.ค. 17, 18:39
ผมค้าขายได้เงินมา 10000 บาทจากคนอื่น
ต่อมาผมทำเงินหาย 5000
ผมไม่เสียใจ ไม่ยี่หระ
เพราะมันไม่ได้เป็นเงินของผมแต่แรก

ผมรู้สึกคล้ายๆยังงี้นะครับ


ผมสังเกตว่าการตีความทางประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับยุคสมัย ขึ้นกับกระแสความคิดของโลกในแต่ละยุค
ดังนั้นผมจึงพยายามทำความเข้าใจว่าบรรพบุรุษที่เขียนประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา เขาเขียนมาจากพื้นฐานความเชื่อแบบไหน

นักประวัติศาสตร์คือคนที่รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร หลักฐานต่างๆ แล้ว ตีความ ย่อยให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ แต่ผู้เรียนมักจะไปทึกทักว่าการตีความนั้นๆคือข้อเท็จจริง

ชีวิตนั้นแสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยาวกว่า แต่ก็ไม่ได้ยาวสุดๆ เพราะเวลาผ่านไป คนรุ่นหลังก็จะมองประวัติศาสตร์ผันแปรไปตามกระแสความคิดของโลกในตอนนั้น


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 10 ส.ค. 17, 18:41
ที่ผมอยากรู้มานานแล้ว และยังไม่ได้คำตอบแบบกระจ่างชัด คือ
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีการปักปันเขตแดน และทำแผนที่
มันเป็นการเดินสำรวจล้วนๆ ทำไมถึงออกมาเป็นแผนที่ได้
ทำไมจึงรู้ว่าประเทศไทยมีรูปร่างเป็นขวานทอง
ถ้าเป้นยุคนั่งเครื่องบินสำรวจจะไม่สงสัยเลยครับ

ยุคเก่าคงใช้ กล้องส่องทางไกล เครื่องวัดมุม sextant และความรู้ทางตรีโกณมิติ ในการสร้างแผนที่ครับ.  ผมเดาเอานะครับ


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ส.ค. 17, 16:32

หนังสือ Siam Mapped ของธงชัย วินิจจะกูล ฉบับที่อาจารย์เพ็ญชมพูยกมา
เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ผมซื้อมาอ่านแล้วมีความรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับราคา
เนื้อความตามท้องเรื่องไม่ใช่เป็นการ tell a good story ตามที่โฆษณา
ทุกบทเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดและผิดความเป็นจริงที่ยอมรับกันในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าผู้เขียนอาจไม่ตั้งใจที่จะกล่าวเท็จก็ตาม

ลองดูเจตนาที่ชัดเจนของผู้เขียนในคำนำฉบับแปลภาษาไทย

"SM เขียนขึ้นหลัง 6 ตุลา 19 และหลังขนวนการสังคมนิยมไทยล่มสลาย
... นับแต่เช้าวันพุธเดือนตุลาปีนั้นผ่านการณ์ผันแปรทั้งหลายหลังจากนั้น
ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า "ประวัติศาสตร์โหดร้าย" SM จึงเป็นการโรมรันพันตู
กับประวัติศาสตร์ไทยเต็มตัว ตั้งแต่ชื่อ ประเด็นใจกลาง วิธีการศึกษา
แนวคิดวิเคราะห์หลักและรอง หลายเรื่องหลายประเด็น ตลอดจนถึงนัยและความหมายโดยอ้อม"

ด้วยเจตนาที่ชัดเจน ทั้งเขียนโจมตีประวัติศาสตร์จารีตไทยตรงๆและโดยอ้อม
รวมทั้งจงใจอ้างข้อเท็จจริงอย่างผิดพลาด ที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมของผู้สนใจอ่านบางพวก บางสำนักพิมพ์ในปัจจุบัน

พักหลัง ๆ นี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ผมมักมีความเห็นแย้งกับอาจารย์เพ็ญชมพูตลอด


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ส.ค. 17, 19:01
พักหลัง ๆ นี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ผมมักมีความเห็นแย้งกับอาจารย์เพ็ญชมพูตลอด

สองคนยลตามช่อง         คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม        เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย


ฟ. ฮีแลร์ 

จะเป็นโคลนตมหรือดวงดาว ลองฟัง "สนทนากับ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล ในวาระ ๒๐ ปี Siam Mapped"

https://youtu.be/I4gNhuNeqzc


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 17, 20:28
ติดตามอ่านเอาความอยู่ครับ  ก็เลยจะขอนำเรื่องที่เคยได้ยินมาเมื่อครั้งทำงานอยู่ในพื้นที่เลาะชายแดนระหว่างไทยกับพม่า ช่วงปี 2520+ (เคยได้ยินเรื่องนี้จากปากของบุคคลสองสามคน ต่างวาระกัน)

ในวงสนทนาสัพเพเหระยามแดดร่มลมตก ก็เข้ามาถึงเรี่องว่า ทำไมเส้นเขตแดนไทยกับพม่ามีความแปลกๆ มีทั้งใช้การใช้สันทิวเขา ใช้แม่น้ำ แล้วก็แบบลากเป็นเส้นตรงเอาดื้อๆ   การใช้สันเขาก็เช่นสันเขาตะนาวศรี  การใช้แม่น้ำก็เช่นแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำปากจั่น และการลากเส้นตรงเอาดื้อๆก็เช่นในพื้นที่ช่วง อ.อุ้มผาง จ.ตาก กับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และโดยเฉพาะบริเวณเจดีย์สามองค์  

ก็เลยได้รับฟังเรื่องราวความว่า อังกฤษให้คนไทยในท้องถิ่นช่วยชี้แนวเขต ซึ่งโดยพื้นๆก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการไปตามหลักการใช้เส้นแบ่งเขตตามธรรมชาติ (แต่หากว่าได้เริ่มต้นจากจุดหรือบริเวณใดที่ผิด มันก็จะผิดแบบต่อเนื่องไปตลอดแนว)  ก็ด้วยความไม่สันทัดในเชิงวิทยาการและด้วยการตอบแทนแบบมิตรไมตรีต่างๆ  ความไม่ค่อยจะถูกต้องจึงเกิดขึ้น  

จากเหนือลงใต้ ตามสันเขาลงมาเข้าไปตามแม่น้ำสาละวินที่บ้านเสาหินของ อ.แม่สะเรียง แล้วก็ขึ้นไปตามสันเขาอีก  แวะลงมาตามน้ำเมยแล้วก็กลับขึ้นสันเขา แหว่งเว้าไปเป็นลักษณะปากนกแก้วแถวบ้านวาเล่ย์ อ.พบพระ   เข้า อ.อุ้มผาง แล้วก็เข้าสู่พื้นที่ราบ เลยลากเป็นเส้นตรงไปเลย ผ่านแถว บ.เลตองคุ ยาวไปถึงเขาลูกโดดๆแถวเจดีย์สามองค์    อ้าว..เพี้ยนไป ก็เลยต้องลากเส้นแดนเพื่อให้เจดีย์สามองค์เป็นของไทย (พื้นที่ถนนจากเขา(นึกชื่อไม่ออกครับ)ไปถึงเจดีย์สามองค์จึงเป็นดินแดนของไทย แต่พื้นที่สองฝั่งถนนเป็นของพม่า)          


กระทู้: ชีวิตมนุษย์แสนสั้น ประวัติศาสตร์นั้นยืนยาว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 17, 20:51
จากใต้ขึ้นเหนือ  หากจะเริ่มต้นจากปากแม่น้ำโดยใช้แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งเขตแดน มันก็จะยาวขึ้นเหนือไปถึง บ.เสาหิิน ของ อ.แม่สะเรียง แต่อังกฤษก็จะได้ดินแดนน้อยไป จะขยับไปที่ปากแม่น้ำตะนาวศรีก็เช่นกัน    ไปเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำปากจั่นดีกว่า ลากขึ้นเหนือยาวไปได้ถึง อ.สังขละบุรี ของกาญจนบุรีโน่น แต่ก็ต้องหักไปหาเจดีย์สามองค์ เขตแดนแถวนี้ก็เลยไม่เด่นขัดนัก   

ก็จึงคงจะไม่น่าแปลกใจนักที่จะยังคงมีชุมชนที่พูดภาษาไทยอยู่ในเขตพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตะนาวศรีและสาละวิน   ก็เพราะมันเป็นพื้นที่ของไทย ?