เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 17:07



กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 17:07
เบื่อเรื่องหนักๆ ในเมืองไทย หันมาหาเรื่องประวัติศาสตร์เบาๆ แต่หนักกันบ้าง  เอ หรือประวัติศาสตร์หนักๆ แต่เบาก็ไม่รู้เหมือนกัน


เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมไปซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่งมาจากอเมซอน ชื่อว่า Execution: A History of Capital Punishment in Britain เขียนโดย Simon Webb เกี่ยวกับการประหารชีวิตนักโทษในอังกฤษสมัยก่อน เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกมาก เพราะแม้เรื่องจะหนัก แต่คนเขียนเขียนได้ชวนอ่าน ทำให้อ่านแล้วไม่เครียดและไม่รู้สึกสยดสยองมากนัก น่าเก็บความมาเล่าสู่กันฟังยิ่งนัก


ในสมัยที่โทษประหารยังได้รับความนิยม ประเทศอังกฤษมีการประหารชีวิตกันอย่างแพร่หลายมาก  ประหารกันเยอะประหารกันบ่อยกว่าแถวสยามมากๆ  ประหารกันทุกปี ปีละหลายๆ ครั้ง บางครั้งก็ทีละหลายๆ คน  ปีสุดท้ายที่มีการประหารชีวิตก็คือปี 1964 หรือ 50 ปีที่แล้ว แต่กฏหมายที่ยกเลิกโทษประหารจริงๆ อย่างเป็นทางการ ประกาศเมื่อปี 1998 นี่เอง ปัจจุบันกฏหมายของสหภาพยุโรปบังคับให้ประเทศสมาชิกยกเลิกโทษประหารชีวิต จนทำให้ประเทศในยุโรปไม่มีการใช้โทษประหารอีกแล้ว




กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 17:26
ก่อนจะพูดถึงโทษประหาร ก็มารู้กันนิดหนึ่งว่าทำผิดฐานใดถึงจะมีสิทธิตายได้บ้างในอังฤษสมัยก่อน


ถ้าเทียบกับไทยแล้ว  โทษประหารแต่อดีตโดยทั่วไป ยกเว้นต้องโทษฐานกบฏหรือผิดอาญาศึก จะสงวนไว้ใช้กับพวกฆาตกรเป็นหลัก
แต่ในอังกฤษ  ความผิดหลายๆ สถานที่ถ้าเป็นคนไทยมองดูแล้วมันเบาหวิวดั่งปุยนุ่น ก็มีสิทธิโดนประหารได้ง่ายๆ


ความผิดข้อหาแรกที่โดนประหารแน่ๆ ก็คือข้อหากบฏ ข้อหานี้มีโทษถึงตาย  คนที่โดนข้อหานี้มีตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาถึงสามัญชน มีผู้ถูกประหารนับไม่ถ้วน วิธีการประหารก็หลากหลาย ขึ้นกับสถานภาพของนักโทษเองด้วย


ความผิดฐานถัดมาก็คือฆาตกรรม อันนี้ไม่แปลก


แต่ความผิดฐานอื่นๆ ที่ดูไม่น่าจะหนักหนาสาหัส เช่น ปลอมเงิน ปลอมเอกสาร ปล้น เป็นแม่มด หรือแม้แต่ศรัทธาในศาสนาคริสต์คนละนิกายกับเจ้าแผ่นดินในขณะนั้น ก็มีสิทธิถูกประหารได้
ในตลอดประวัติศาสตร์หนึ่งพันปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกประหารชีวิตในอังกฤษด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งหญิงและชายหลายหมื่นคน


ส่วนวิธีประหารก็มีหลากหลาย เช่นตัดหัว แขวนคอ เผาทั้งเป็น ต้มในหม้อ  เอาทินทับ  ลาก แขวน ตอน ชำแหละ  ยิงเป้า  แต่ละแบบก็โหดแตกต่างกันไป จนหลังๆ มีการพัฒนาให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น โหดน้อยลง ทำให้ผู้ถูกประหารเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด


นักโทษประหารที่มีสถานะสูงสุด ได้แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ถูกประหารโดยการตัดศีรษะด้วยข้อหากบฏ ทุรยศต่อแผ่นดิน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 พ.ย. 14, 17:49
เข้ามาอ่านกระทู้ครั้งแรก ตาลายเห็นชื่อกระทู้เป็น "เขารัฐประหารกันอย่างไรในอังกฤษ" ได้อย่างไรหนอ  ;)


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 17:53
อังกฤษโบราณนั้น เอาเป็นว่าตั้งแต่สมัยสองสามพันปีก่อน ยุคที่พวก Celt หรือชนพื้นเมืองดั้งเดิมครอบครองเกาะ นิยมใช้การตัดหัวในการปลิดชีวิตฝ่ายตรงข้าม มีวัฒนธรรมในการเก็บหัวของศัตรูเป็นที่ละลึกคล้ายๆ อีกหลายเผ่าในที่อื่นๆ ทั่วโลก การตัดหัวใช้กันเรื่อยมาจนสมัยโรมันมายึดเกาะ จนโรมันเสื่อมสลายลงเป็นพวกไวกิ้งมีอำนาจ จนกระทั่งกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 1 มายึดเกาะอังกฤษในปี 1066  โทษประหารโดยการตัดหัวเริ่มกลายเป็นของสงวนสำหรับชนชั้นสูง เพราะถือว่าเป็นการประหารที่มีเกียรติ  ทรมานน้อย เหยื่อตายเร็ว ส่วนอาชญากรอื่นๆ จะใช้การแขวนคอหรือประการด้วยวิธีการอื่นๆ แทน


การประหารโดยการตัดหัวนั้น แรกเริ่มเดิมทีใช้การตัดหัวด้วยดาบ แต่การตัดหัวด้วยดาบเป็นวิธีที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมด้วย  อย่างแรกได้แก่ตัวนักโทษต้องให้ความร่วมมือ นั่งคุกเข่าไม่ขยับ  ดาบที่ใช้ต้องคมและหนัก นอกจากนั้นฝีมือของเพรชฆาตต้องดีด้วย ถ้านักโทษขยับในเสี้ยววินาทีที่ลงดาบ หรือเพชรฆาตไม่แม่น ดาบไม่คม โอกาสฟันฉับเดียวหัวหลุดเป็นไปได้ยากมาก  กลายเป็นว่าฟันโดนหัวบ้างโดนตัวบ้าง แทนที่จะตายง่ายๆ กลายเป็นตายแบบทรมานไป วิธีนี้เลยเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 17:55
เข้ามาอ่านกระทู้ครั้งแรก ตาลายเห็นชื่อกระทู้เป็น "เขารัฐประหารกันอย่างไรในอังกฤษ" ได้อย่างไรหนอ  ;)

ฮิฮิ


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 18:17
เมื่อการประหารด้วยดาบไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อที่โดนประหารเป็นคนชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ เสียงโวยวายเลยดังหน่อย  ถ้าเป็นชนชั้นอาชญากรก็คงไม่มีใครแคร์เท่าไหร่ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาหันไปใช้อุปกรณ์อื่นที่ทำให้การตัดหัวราบลื่นกว่าการใช้ดาบ


และแล้ว ขวานและบล็อกไม้ก็ถูกนำมาใช้แทน


ขวานมีข้อดีกว่าดาบคือ ตัวขวานมีน้ำหนักที่มากกว่าดาบ ทำให้มีโมเมนตั้มเยอะกว่า แรงตัดเยอะ ตัดคอได้ง่าย ไม่ต้องใช้เพรชฆาตที่มีทักษะสูงเท่าดาบ นอกจากนั้นยังมีการใช้ร่วมกับบล็อกไม้ ทำให้นักโทษไม่สามารถขยับได้มากเท่าไหร่ แค่ไปนั่งคุกเข่าเอาหัวพาดบล็อกรอ การลงขวานจึงแม่นยำกว่าดาบมาก  ทำให้วิธีนี้ได้รับความนิยม นำมาใช้ตัดหัวชนชั้นสูงโดยทั่วกัน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 18:58
การประหารด้วยขวานที่ออกจะวุ่นวายครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1330

Edmund, Duke of Kent เป็นโอรสของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 และเป็นน้องชายของเอ็ดเวิร์ดที่ 2

ใครที่ยังจำหนัง Brave heart ได้คงจำจำกษตริย์เอ็ดเวิร์ดเครายาวได่ นั่นก็คือเอ็ดเวิร์ดที่ 1 นี่แหละ ส่วนโอรสที่ไม่ได้เรื่องแถมเป็นเกย์ในหนัง ต่อมาคือเอ็ดเวิร์ดที่สอง เนื้อเรื่องต่อจากในหนังคือเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ถูกปลงประชนม์โดยมเหสี ราชินีอิสสาเบลล่าและชู้รัก โรเจอร์ มอติเมอร์ จากนั้นยกเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โอรสวัยเยาว์ของพระนางกัลเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

เอ็ดมุนด์ถูกจับข้อหากบฏและถูกตัดสินให้ประหารด้วยการตัดหัว  แต่ปัญหามีอยู่ว่า เอ็ดมุนด์มีเลือดของกษัตริย์ แถมเป็นอาของกษัตริย์ปัจจุบัน เพชรฆาตที่ทำการประหารชีวิตอาจถูกจับด้วยข้อหากบฏซะเองตามกฏหมายในสมัยนั้น เพรชฆาตจึงปฏิเสธที่จะลงมือ


เมื่อเพชรฆาตปฏิเสธ มอติเมอร์เลยสั่งทหารให้ลงมือแทน แต่ผลก็เป็นแบบเดิม เหล่าทหารปฏิเสธที่จะลงมือ  เอ็ดมุนด์ต้องรอการประหารอยู่นานหลายชั่วโมง จนสุดท้ายมอติเมอร์สัญญากับคนทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งเป็นนักโทษประหารอีกคนที่กำลังจะถูกแขวนคอ ให้ทำหน้าที่เป็นเพชรฆาต แลกกับการอภัยโทษ  นักโทษผู้นี้เลยอาสาเป็นเพชรฆาต และสามารถลงมือได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ตัดหัวท่านดุ๊คได้ด้วยขวานในฉับเดียว

ภาพเอ็ดมุนด์ไม่มี เอาภาพเอ็ดเวิร์ดที่ 1 พ่อของเอ็ดมุนด์ไปดูแทน

ปล กระทู้นี้ใช้ราชาศัพท์มั่งไม่ใช้มั่งเพื่อให้ง่ายต่อการเขียน กราบขออภัยทุกท่านด้วยครับ


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 19:49
บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ เค้าทำอย่างไรกันถ้านักโทษดิ้นรนหรือไม่ให้ความร่วมมือกับการประหารโดยการตัดคอแบบนี้

วิธีแก้ก็คือ  บล็อกหรือเขียงไม้โดยทั่วไปจะมีสองขนาด คือแบบสูงกับแบบต่ำ

แบบสูงจะสูงประมาณ 2 ฟุต นักโทษนั่งคุกเข่าเอาคอพาดเขียงรอ  ส่วนแบบต่ำจะสูงน้อยกว่า 1 ฟุต  ใช้กับนักโทษที่ดิ้น ต้องมีการมัด วิธีนี้นักโทษจะนอนเอาคอพาดเขียง


ภาพการประหาร  Anna Månsdotter นักโทษหญิงในสวีเดนในปี 1890  จากภาพจะเห็นการใช้บล็อกแบบต่ำ   สวีเดนใช้การประหารโดยการตัดคอแบบนี้จนถึงปี 1903 ซึ่งเปลี่ยนมาใช้กิโยตินแทน
ภาพนี้ดูแล้วมันหดหู่หน่อย  ถือซะว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ละกันนะครับ


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 20:40
แม้การตัดหัวด้วยขวานจะง่ายดายและไม่ต้องอาศัยทักษะของเพชรฆาตมากเท่าการตัดด้วยดาบ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา


เพชรฆาตที่ทำการประหาร จะเป็นเพชรฆาตทั่วไป ที่รับงานทั้งการประหารด้วยการแขวนคอ ต้ม เผา นักโทษด้วย ไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญการใช้ขวานแบบมืออาชีพ ดังนั้นแม้จะใช้ขวานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะมาก แต่การประหารก็ไม่ได้เป็นไปโดยราบลื่นทุกครั้ง


ครั้งหนึ่งที่ไม่ราบลื่น คือการประหารมากาเร็ต โพล เลดี้แห่งซาลิสเบอรี่ (Margaret Pole, Countess of Salisbury)  มากาเร็ตเป็นอดีตนางกำนัลของราชินีแคทเธอรีนแห่งอารากอน มเหสีคนแรกของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8


มากาเร็ตถูกประหารเนื่องจากนางเป็นคาโธลิก และบุตรชายของนางเป็นพระคาธอลิกมีตำแหน่งเป็นถึงคาดินาล  เมื่อเฮนรี่ที่ 8 แตกหักกับวาติกัน พระคาดินาลลูกชายนางหลบหนีออกจากอังกฤษ เคราะห์กรรมเลยตกสู่แม่ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 67 ปีแล้ว แถมเป็นอัลไซเมอร์ ถูกจับไปขังที่หอคอยลอนดอน และถูกประหารชีวิตเมื่อปี 1541


การประหารเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เพชรฆาตลงขวานฉับแรกพลาดจากคอไปโดนหัวไหล่แทน ลงขวานใหม่โดนหัวบ้าง ไม่โดนคอจังๆ บ้าง ต้องมีการลงขวานถึง 11 ครั้งกว่าจะสำเร็จโทษเลดี้มากาเร็ตได้  น่าสยดสยองมาก นับเป็นการประหารโดยขวานที่ต้องมีการลงขวานมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประหารโดนขวานในอังกฤษ


กรณีของเลดี้มาการเร็ตดูเลวร้ายแล้ว แต่ไม่ใช่กรณีเลวร้ายที่สุด ในฝรั่งเศส ปี 1626 Henri de Chalias ถูกตัดสินประหารเนื่องจากมีส่วนร่วมแผนปลงประชนม์พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 การประหารโดยการตัดหัวในฝรั่งเศสสมัยนั้นใช้ดาบไม่ใช่ขวาน ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกว่ากว่าท่านเคาท์จะเงียบเสียงก็หลังการลงดาบครั้งที่ 12 แล้ว สถิติบันทึกว่าเพชรฆาตต้องลงดาบถึง 29 ครั้งกว่าจะตัดหัวท่านเคาท์ได้

ภาพเลดี้มากาเร็ตกับท่านเคาท์ผู้เคราะห์ร้าย


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 พ.ย. 14, 21:04
อีกครั้งที่ไม่ราบลื่น คือการประหารดุ๊คแห่งมอนมัธเมื่อปี 1685

James Scott, 1st Duke of Monmouth เป็นบุตรนอกสมรสของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ครองราชย์ต่อ ท่านดุยุคก่อกบฏแต่พ่ายแพ้  จึงต้องโทษประหารชีวิต การประหารจัดขึ้นที่หอคอยลอนดอน เพชรฆาตที่ลงขวานคือแจ็ค แคทช์  เพชรฆาตมืออาชีพแต่ออกจะถนัดงานแขวนคอมากกว่าตัดหัว


ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า  วันที่ 15 กรกฎาคม 1685 ท่านดยุคเดินอย่างสง่าผ่าเผยขึ้นไปบนเวทีที่ใช้ประหารชีวิต ระหว่างนั้นเหลือบไปเห็นขวาน ท่านดยุคลองเอานิ้วมือลูบคมขวานดู แล้วก็พบว่ามันช่างทื่อเสียนี่กระไร เพชรฆาตไม่เคยลับขวานเลย  เพชรฆาตยืนยันว่าใช้การได้  แม้จะไม่แน่ใจ ท่านดยุคได้ทิปเพชรฆาตก่อนตามธรรมเนียมด้วยเงินจำนวนไม่น้อยเลย บอกกับเพชรฆาตให้ลงขวานให้แม่น เพราะถ้าต้องลงขวานครั้งที่สอง ท่านดยุคสัญญาไม่ได้ว่าจะไม่ขยับตัว   แจ็ค แคทช์ให้ความมั่นใจกับท่านดยุคอีกครั้ง รับรองว่าไม่มีปัญหา


เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่าตาแจ็คเฟอะฟะ ลงขวานครั้งแรกโดนหลังหัวท่านดยุค ท่านดยุคหันกลับมามองด้วยสายตาตำหนิ แจ็คลงขวานครั้งที่สอง ไม่ขาด จนต้องลงขวานครั้งที่สาม ก็ยังไม่ขาด แจ็คหมดความอดทน โยนขวานทิ้ง บอกว่าทำต่อไม่ไหวแล้ว  ส่วนท่านดยุคยังมีชีวิตรอคมขวานครั้งต่อไปอยู่อย่างสงบสมสายเลือดกษัตริย์  เจ้าหน้าที่บอกให้แจ็คทำการประหารต่อให้เสร็จ  แจ็คเลยต้องกลับมาลงขวานอีกสองฉับ แต่หัวของท่านดยุคก็ยังไม่หลุดออกจากบ่า สุดท้ายเจ็คต้องใช้มีดเฉือนจนขาดออกจากกัน

ภาพท่านดยุคและฉากการประหาร


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ย. 14, 17:01
เพราะการประหารโดยการตัดหัวอาจไม่ราบลื่นได้ การมีเพชรฆาตที่มีฝีมือดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การประหารชีวิตที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่ง คือการประหารชีวิตแอนน์ โบลีน มเหสีของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ด้วยข้อหาคบชู้  เพราะเฮนรี่ต้องการเปลี่ยนมเหสีใหม่
เฮนรี่และคณะที่ปรึกษาเกรงว่า การประหารชีวิตราชินีโดยให้คุกเข่าเอาหัวพาดเขียงอาจทำให้เกิดภาพลบที่ไม่น่าดูและสร้างความน่าสงสารต่อสาธารณชน
ดังนั้น  แทนที่จะใช้ขวาน  ที่ประชุมจึงตกลงว่าจะให้ประหารโดยการใช้ดาบแทน

ด้วยความเมตตาของเฮนรี่  ต้องการให้การประหารราบลื่นไร้ข้อผิดพลาด ให้แอนน์ตายอย่างรวดเร็วไร้ความเจ็บปวด  จึงมีการเลือกหานับดาบมืออาชีพมาทำหน้าที่
ขณะนั้นแคว้นคาเล่ย์ในฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ  นักดาบ Jean Rombaud ได้รับข้อเสนอให้ทำหน้าที่เพชรฆาตประหารชีวิตอดีตราชินีแห่งอังกฤษ
แต่เนื่องจากคณะกรรมการสรรหายังไม่แน่ใจฝีมือของชองนัก ดังนั้นพ่อนักดาบจึงต้องมีการสาธิตให้ดูก่อน
การสาธิตจัดขึ้น โดยการนำนักโทษประหารสองคนมาผูกตานั่งบนเก้าอี้เคียงข้างกัน   
ชองกวัดแกว่งดาบเหนือหัวเหยื่อทั้งสองสองสามรอบเป็นการอุ่นเครื่อง  ก่อนที่จะตวัดดาบตัดคอของทั้งคู่พร้อมกันได้ในดาบเดียว 


ในวันประหารแอนน์ อดีตราชินีต้องเดินมาขึ้นนั่งร้านที่ใช้ประหาร  ชองมืออาชีพมาก เอาดาบที่จะใช้ไปซ่อนไว้ไม่ให้อดีตราชินีเห็นเพราะนางอาจจะตกใจ
เมื่อแอนน์นั่งคุกเข่ารอการประหาร  ชองก็หยิบดาบที่ซ่อนไว้ขึ้นมาเงียบๆ แกล้งกระซิบถามผู้ช่วยให้หยิบดาบให้ 
แอนน์ซึ่งกำลังนั่งคุกเข่าก้มหน้าสวดมนอยู่ ได้ยินเสียงชองถามหาดาบ จึงผงกหัวขึ้นมานึดนึง  ในจังหวะนั้น ชองตวัดดาบผ่านลำคอของแอนน์อย่างรวดเร็วในดาบเดียว
ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนเล่าว่า เมื่อเพชรฆาตชูศีรษะของแอนน์ขึ้น  ปากของแอนน์ยังคงขยับสวดมนต์อยู่เลย


ภาพฉากการประหาร และจุดที่มีการประหารชีวิตแอนน์ โบลีน ในหอคอยแห่งลอนดอน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 พ.ย. 14, 17:55
คลิปฉาก The Execution of Anne Boleyn จากหนัง The Other Boleyn Girl(2008)
        
           https://www.youtube.com/watch?v=wF_UpYqYJuY (https://www.youtube.com/watch?v=wF_UpYqYJuY)

นอกจากนี้ก็ยังมีในซีรี่ส์เรื่อง The Tudors และที่ขึ้นขั้นคลาสสิค คือ
เรื่อง Anne of the Thousand Days(1969)

           https://www.youtube.com/watch?v=kM26X_o0t8U (https://www.youtube.com/watch?v=kM26X_o0t8U)


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ย. 14, 19:06
เท่าที่เคยดูหนังมา ก็มี

๑. ประหารด้วยการตัดคอ

๒. ประหารด้วยการเผาทั้งเป็น (พวกแม่มด)

๓. ประหารด้วยการผ่าท้อง ควักหัวใจออกมา ( Braveheart)

๔. ประหารด้วยการแขวนคอ

๕. ประหารด้วยการขังกรงเหล็กเต็มไปด้วยหนาม แล้วเผาไฟ

๖. ประหารด้วยการขังในคุกใต้น้ำ พอน้ำขึ้นก็ท่วมคุก (พบในเวนิซ และหนัง Dear Hunter)


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ย. 14, 20:21
เท่าที่เคยดูหนังมา ก็มี

๒. ประหารด้วยการเผาทั้งเป็น (พวกแม่มด)

๓. ประหารด้วยการผ่าท้อง ควักหัวใจออกมา ( Braveheart)


ฮิฮิ คุณหนุ่มสยามเข้าใจแบบผมตอนก่อนศึกษาศาสตร์ด้านนี้อย่างจริงจังเลย  ว่าแม่มดนี่โดนเผาทั้งป็น
จริงๆ แล้วในอังกฤษ เค้าประหารแม่มดด้วยการแขวนคอเท่านั้นครับ  แตกต่างจากที่อื่นๆ เช่นในอเมริกา
ส่วนการผ่าท้อง เป็นการประหารพวกที่รับโทษฐานกบฏ  จริงๆ ไม่ใช่แค่ผ่าท้อง แต่มีขั้นตอนมากกว่านั้นซึ่งโหดมั่กๆ  เดี๋ยวจะเล่าต่อไป


ต่อไปจะมีพาทัวร์ไปดูลานประหารในเมืองผมด้วย  เมืองตากอังกฤษไกลปืนเที่ยงที่ผมอยู่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเรื่องการประหารชีวิต  สมัย 300-400 ปีก่อน เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนมากๆ  เทียบจากสถิติแล้ว ที่นี่มีการประหารชีวิตมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากลอนดอนเท่านั้น เมื่อผมมาอยู่เมืองนี้ เลยต้องศึกษาศาสตร์ด้านนี้ให้เชี่ยวชาญ  ;D


ภาพนี้เอามาจากใน internet เป็นบริเวณที่มีคนบอกว่าเคยเป็นที่ตั้งของลานประหารในเมืองไกลปืนเที่ยง ผู้คนนับร้อยจบชีวิตที่นี่  ไว้ไปอีกทีจะถ่ายรูปมาให้ดู เพราะผมเคยไปเดินสำรวจแถวนี้มาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นจุดไหนแน่ๆ ที่เคยเป็นลานประหาร   ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่บนยอดเขาสวยเชียว  แต่แปลกมาก ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปที่นี่ สมัยที่ยังไม่รู้ประวัติศาสตร์ของเมือง ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่ประหารชีวิตเก่า ผมก็รู้สึกแปลกๆ หมองๆ  แล้ว คือบรรยากาศมันเหมือนหนังผีมากกว่าสวนสาธารณะ ดูหม่นหมองสลัวๆ มากๆ  ยังบอกกับคนที่ไปด้วยเลยว่าทำไมที่นี่มันดูน่ากลัวก็ไม่รู้  พอมารู้ตอนหลัง โป๊ะเลย


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 พ.ย. 14, 00:58
อย่างที่บอกไปว่าบุคคลที่ถูกประหารชีวิตที่มีสถานะสูงที่สุดคือกษัตริย์ชาลส์ที่ 1

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขัดแย้งกับรัฐสภาอังกฤษที่มีหัวหอกคือโอลิเวอร์ ครอมเวล จนในที่สุดเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายนิยมกษัตริย์  ในที่สุดฝ่ายรัฐสภาชนะ พระเจ้าชาลส์ถูกจับและถูกตัดสินว่าเป็นกบฏต่อประชาชนชาวอังกฤษ ให้ประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ กำหนดการคือเช้าวันที่ 30 มกราคม 1649  หลังจากการตัดสินเพียง 3 วัน

ริชาร์ด แบรนดอน เพชรฆาตประจำลอนดอนปฏิเสธที่จะเป็นผู้ลงมือประหาร ดังนั้นหน้าที่นี้จึงตกเป็นของชาย 2 คนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนแทนด้วยค่าจ้างคนละ 100 ปอนด์ และใส่หน้ากากปิดบังใบหน้า(ภายหลังแบรนดอนยอมรับบนเตียงก่อนที่จะเสียชีวิตว่า ที่จริงแล้วเค้าเป็นคนลงมือเอง)

เช้าวันประหาร พระเจ้าชาลส์เสด็จจากวังเซนต์เจมส์มายังตะแลงแกงที่ไวท์ฮอลล์ จากนั้นก็บอกเพชรฆาตว่าพระองค์จะเป็นส่งสัญญาณให่เพชรฆาตลงมือเองหลังจากสวดมนต์แล้ว  แล้วก็ถามว่าผมยาวของพระองค์จะทำให้เพชรฆาตทำงานไม่สะดวกหรือเปล่า แม้เพชรฆาตจะบอกว่าไม่มีปัญหา พระเจ้าชาลส์ก็รวบผมพระองค์ไว้ในหมวกแก็ปเล็กๆ  พระเจ้าชาลส์หันไปเห็นบล็อกไม้เป็นแบบต่ำ ก็บ่นว่าบล็อกไม้ออกจะต่ำไปหน่อย  ซึ่งที่จริงแล้วการเลือกใช้บล็อกต่ำเป็นความจงใจของฝ่ายรัฐสภา  พระองค์เป้นผู้ส่งสัญญาณโดยการขยับแขนบอกให้เพชรฆาตลงมือ

ภาพพระเจ้าชาลส์ภายหลังการประหาร และเสื้อที่เชื่อว่าพระองค์สวมในวันที่ถูกประหารชีวิต จากการตรวจสอบมีคราบเลือดอยู่ แต่ยังไม่มีการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์



กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 พ.ย. 14, 07:24
เข้ามาอ่านกระทู้ครั้งแรก ตาลายเห็นชื่อกระทู้เป็น "เขารัฐประหารกันอย่างไรในอังกฤษ" ได้อย่างไรหนอ  

นั่นยังไงเล่า คุณประกอบกำลังเล่าเรื่อง "รัฐประหารในอังกฤษ" อยู่เชียว  ;D

ภาพ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์  (http://th.wikipedia.org/wiki/โอลิเวอร์_ครอมเวลล์)ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรัฐประหารของอังกฤษเมื่อ ๔๐๐ ปีมาแล้ว ชะตากรรมของเขาก็จบลงด้วยการถูกตัดศีรษะเช่นกัน (แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว)  :o


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 23 พ.ย. 14, 09:50
เข้ามาลงชื่อไว้ก่อนครับ
ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าใหร่ ตอนสมัยเรียนหนังสือเรื่องนี้ก็เรียนมาแค่วิชาเดียว

รออ่านต่อนะครับ
 ;D ;D


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 พ.ย. 14, 19:58

นั่นยังไงเล่า คุณประกอบกำลังเล่าเรื่อง "รัฐประหารในอังกฤษ" อยู่เชียว  ;D


เพิ่งจะโดนไม้เรียวจากท่านอาจารย์ใหญ่ไปหยกๆ จะให้ผมโดนอีกยกแล้ว  >:(  >:(


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 พ.ย. 14, 20:47
เนื่องจากการตัดหัวเป็นวิธีการประหารชีวิตที่สงวนไว้ใช้กับชนชั้นสูงเท่านั้น  นอกจากปัญหาเพชรฆาตมือไม่ถึงตัดไม่แม่น ต้องลงขวานหลายฉับแล้ว ตัวนักโทษเองมักไม่ค่อยจะมีปัญหา และให้ความร้วมมือเป็นอย่างดี  ทั้งนี้เนื่องจากว่าชนชั้นสูงในสมัยนั้นจะต้องหยิ่งทะนงในเกียรติและศักดิ์ศรี การแสดงความขลาดกลัวแม้แต่ต่อความตายตรงหน้าถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และเสื่อมเสีย  นักโทษเองก็จะได้รับการปฏิบัติจากผู้คุมหรือเพชรฆาตอย่างดีและให้เกียรติ มีการเรียกตัวนักโทษตามสถานะและตำแหน่ง

นักโทษเองก่อนถูกประหารก็มักจะมีการกล่าวปราศรัยสั้นๆ ต่อหน้าพยาน ส่วนใหญ่จะยอมรับโทษแต่โดยดี บางครั้งมีการสรรเสริญกษัตริย์ผู้มอบโทษประหารให้แก่ตนเองด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพราะนักโทษเหล่านี้ยังมีครอบครัวและผู้สืบทอดตำแหน่งที่อาจจะได้รับภัยต่อได้ ถ้าตัวนักโทษยังแสดงความกระด้างกระเดื่อง

เซอร์โทมัส มอร์ นักรัฐศาสตร์และอดีตที่ปรึกษาของเฮนรี่ที่ 8 ถูกประหารชีวิตเนื่องจากยึดมั่นในความเป็นคาธอลิกและขัดแย้งกับเฮนรี่ จึงต้องรับโทษประหารข้อหากบฏ ก่อนการประหาร ท่านเซอร์ขยับเคราออกจากบล็อคไม้  กล่าวอย่างติดตลกว่าเท่าที่รู้เคราของท่านเซอร์ไม่ได้ร่วมก่อกบฏ จึงไม่สมควรจะรับโทษแบบเดียวกับท่านเซอร์

ภาพท่านเซอร์กับบุตรสาว เมื่อตอนที่ทราบว่าท่านเซอร์ถูกตัดสินประหาร


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 พ.ย. 14, 23:36
การประหารชีวิตโดยการตัดหัวนิยมใช้อย่างแพร่หลายสำหรับชนชั้นสูงเป็นเวลาหลายร้อยปี  ผู้ถูกประหารด้วยวิธ๊นี้มีทั้งชายและหญิง  แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ถูกประหารด้วยวิธีนี้มีจำนวนไม่มากนัก ที่เป็นที่จดจำกันได้มักจะเป็นบุคคลสำคัญเช่นแอนน์ โบลีน   แคทรีน โฮวาร์ด  เลดี้ เจน เกรย์  ราชินีแมรี่แห่งสก็อต  

ผู้หญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารโดยวิธ๊นี้ได้แก่ เลดี้ อลิซ  ลิสเซิล (Lady Alice Lisle) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า

อลิซ ลิสเซิล เป็นผู้หญิงมีชาติตระกูล สมรสกับจอห์น ลิสเซิล ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากโอลิเวอร์ ครอมเวลล์มาก จอห์นเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ด้วย เมื่อฌอลิเวอร์ ครอมเวล์เสียชีวิต มีการสถาปนาระบบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่  จอห์นลี้ภัยไปสวิสเซอแลนด์ ก่อนจะไปเสียชีวิตที่นั่น  ส่วนเลดี้อลิซใช้ชีวิตต่อมาในแคว้นแฮมเชียร์อย่างผาสุกตลอดช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 2

เมื่อสิ้นรัชสมัยชาลส์ที่ 2  พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ดยุคแแห่งมอนมัธพยายามก่อกบฏแต่ไม่สำเร็จดังที่เล่าไปก่อนหน้า เหล่าทหารและผู้ติดตามของมอนมัธต้องพากันหลบหนี   ในบรรดาผู้หลบหนีนี้ มีทหารของมอนมอธ 2 คน ไปขออาหารและขออาศัยที่บ้านของอลิซ  ในเช้าวันรุ่งขึ้น ทหารตามไปจับคนทั้งสองและเลดี้อลิซมาด้วย ในฐานให้ที่หลบภัยแก่กบฏ

พระเจ้าเจมส์ส่งจอร์จ เจฟฟรี่ (George Jeffreys, 1st Baron Jeffreys) มาเป็นผู้พิพากษาในการดำเนินคดีเลดี้อลิซ  ผู้พิพากษาเจฟฟรี่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องความอคติและการตัดสินโทษที่รุนแรง จนได้สมญาว่าเจฟฟรี่นักแขวนคอ เพราะตัดสินประหารชีวิตผู้คนมากมาย รวมทั้งการเนรเทศนักโทษจำนวนมากไปยังอเมริกา

การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างน่าเศร้า เลดี้เองอายุ 68 ปีแล้ว หูก็ตึง ทหาร 2 คนที่เลดี้อลิซให้ที่พักและอาหารเองยังไม่ได้รับพิจารณาคดี และยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ากบฏ ดังนั้นจะหาว่าเลดี้อลิซกบฏไม่ได้ เลดี้อลิซให้การว่านางเพียงให้ที่พักพิงและอาหารแก่คนอิดโรย 2 คนด้วยความเมตตาเท่านั้น แถมบุตรชายของนางเองก็เป็นทหารอยู่ในกองทัพของพระเจ้าเจมส์   เมื่อคณะลูกขุนได้ฟังดังนั้นก็เห็นพ้องกันว่าอลิซคงไม่รู้จริงๆ ว่าทหารทั้งสองเป็๋นพวกของกบฏ   ผู้พิพากษาทราบดังนั้นเลยไม่พอใจ สั่งให้คณะลูกขุนไปทบทวนอีกรอบ คณะลูกขุนกลับมาพร้อมคำตัดสินว่าเลดี้อลิซไม่ผิด  ผู้พิพากษาไม่พอใจอีกครั้ง  สั่งให้คณะลูกขุนกลับไปพิจารณาใหม่ คราวนี้คณะลูกขุนจึงตัดสินอย่างเสียมิได้ว่าเลดี้อลิซมีความผิด   ผู้พิพากษาเจฟฟรีตัดสินโทษให้ประหารชีวิต เป็นการตัดสินอย่างอยุติธรรมและถูกประนามมาจนถึงบัดนี้

โทษของผู้หญิงสามัญที่ถูกตัดสินข้อหากบฏในขณะนั้นคือการเผาทั้งเป็น ผู้พิพากษาเจฟฟรี่ต้องการจะใช้โทษนี้ แต่พระเจ้าเจมส์ที่ 2  เปลี่ยนให้เป็นการตัดศรีษะแทน   เลดี้อลิซถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่  2 กันยายน 1685 ที่วินเชสเตอร์ เป็นการประหารชีวิตผู้หญิงโดยการตัดศรีษะครั้งสุดท้ายในอังกฤษ

ผู้พิพากษาเจฟฟรีเองก็มีชะตากรรมที่ไม่ดีเท่าไหร่ เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ถูกขับไล่และต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส  เจฟฟรี่พยายามหลบหนีเช่นกันแต่ถูกจับได้และทำร้ายโดยฝูงชนที่เคืองแค้น จากนั้นถูกขังไว้ในคุกที่ลอนดอนเพื่อรอการรับโทษ และตายในคุกในปี 1689

ภาพ The Eclipse Inn สถานที่ที่เลดี้อลิซใช้ชีวิตในวันสุดท้าย และถูกประหารชีวิตบนตะแลงแกงหน้าโรงแรมห่งนี้ กับภาพผู้พิพากษาเจฟฟรี่


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ย. 14, 16:54
การประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะมีน้อยลงมากใรศตวรรษที่ 17 หรือช่วงหลังปี 1700 แต่ก็ยังคงมีผู้ดีถูกประหารชีวิตด้วยวิธีนี้กันบ้างประปราย จนกระทั่งถึงปี 1747 ลอร์ดโลแวต (Simon Fraser, 11th Lord Lovat) ขุนนางชาวสก็อต ซึ่งมีส่วนร่วมในการกบฏของบอนนี่ ปรินซ์ ชาร์ลี เพื่อล้มล้างราชวงศ์ฮันโนเวอร์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 และฟื้นฟูราชวงศ์สจ็วต ผู้สนใจติดตามอ่านต่อได้ที่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0)

ภายหลังฝ่ายสก็อตพ่ายแพ้ ลอร์ดโลแวตถูกจับและนำตัวมายังลอนดอนเพื่อพิจารณาคดีข้อหากบฏ ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะที่ทาวเวอร์ฮิลล์

เช้าวันที่ 9 เมษายน 1747 ท่านลอร์ดตื่นเมื่อเวลาประมาณ 5.00 น. หลังจากใช้เวลาสวดมนต์ชั่วครู่ ท่านลอร์ดก็มารับประทานอาหารเช้าชุดใหญ่ เป็นเนื้อลูกวัวกับไวน์  เมื่อได้เวลา ผู้คุมก็มาพาตัวท่านลอร์ดที่ต้องเดินไปหยุดพักไปเป็นช่วงๆ ไม่ใช่เพราะความขี้ขลาดแต่เพราะด้วยอายุที่มากถึง 80 ปี กับร่างกายที่อ้วนอุ้ยอ้ายทำให้ท่านลอร์ดเดินไม่ค่อยไหว ท่านลอร์ดขอบอกขอบใจเหล่าผู้คุมที่ช่วยประคองอย่างมีไมตรีจิต นอกจากผู้คุมแล้ว ยังมีบรรดาเพื่อนๆ ของท่านลอร์ดร่วมทางไปยังตะแลงแกงด้วย  ท่านลอร์ดยังหันไปปลอบใจเมื่อเห็นว่าเพื่อนคนหนึ่งสีหน้าไม่สู้จะดี

การประหารชีวิตท่านลอร์ดเป็นไปอย่างราบลื่น เพชรฆาตจอห์น ทริฟต์ (John Thrift) ตัดศีรษะท่านลอร์ดได้ในขวานเดียว  แต่นอกจากท่านลอร์ดยังมีผู้เคราะห์ร้ายอื่นๆ ด้วย  เนื่องจากการประหารชีวิตในที่สาธารณะสมัยนั้นเป็นเหมือนมหกรรมที่มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาชมอย่างล้นหลาม มีการก่ออัฒจันทร์เพื่อให้ผู้ชมที่ยอมจ่ายเงินค่าชมสามารชมได้อย่างสะดวก ในวันประหารลอร์ดโลแวต อัฒจันทร์อันหนึ่งพังลงมา เป็นผลให้มีฝรั่งมุงตายไปอีก 20 คน

ลอร์ดโลแวตเป็นนักโทษประหารรายสุดท้ายที่ถูกใช้โทษตัดศีรษะ  หลังจากนั้นโทษประหารสำหรับนักโทษที่มีสถานะสูงหรือเป็นขุนนาง จะใช้การแขวนคอเช่นเดียวกับอาชญากรทั่วไปแทน

ภาพลอร์ดโลแวตและบรรยากาศวันประหารชีวิตท่านลอร์ด


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 พ.ย. 14, 17:51
เนื่องจากทุกๆ คนที่สนใจคงไม่อาจมีโอกาสไปชมการประหารชีวิตโดยพร้อมเพรียงกัน และเพื่อต้องการเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่อาจจะก่อกบฏในอนาคต  หัวของนักโทษประหารจะถูกนำไปเสียบประจานไว้ที่เหนือประตูลอนดอนบริดจ์ ซึ่งเป็นทางเข้าเมืองลอนดอน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่เดินผ่านประตูเมืองได้เห็นโทษของคนที่คิดกบฏ จำนวนหัวมากทีสุดที่ถูกบันทึกไว้คือมีถึง 34 หัว  ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งผู้ดูแลหัว (keeper of the heads) ซึ่งมีหน้าที่คอยระวังรักษาหัวนักโทษที่ประจานไว้ เนื่องจากบางครั้งอีกาอาจจะมาโฉบหรือจิกกินหัวที่ประจานไว้ จึงต้องมีการทาน้ำมันชะโลมไว้ด้วย   นอกจากที่ลอนดอนบริดจ์แล้ว ยังมีประตูที่เท็มเปิลบาร์เป็นอีกที่ที่นิยมนำหัวนักโทษไปประจาน

หัวแต่ละหัวจะถูกประจานไว้นานเป็นปีๆ หัวที่ถูกประจานนานที่สุดเป็นของผู้พันฟราสซิส ทาวน์เลย์ (Colonel Francis Townlay)ถูกแขวนไว้นานถึง 25 ปี  การเดินทางมาชมหัวที่ถูกประจานไว้เหนือประตู เป็นเสมือนกิจกรรมยามว่างที่ชาวเมืองนิยมกันคล้ายๆ กับที่เราไปเยืนพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งทุกวันนี้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปมีโอกาสได้เห็นบุคคลที่ตัวเองอาจไม่มีโอกาสได้เจอในชีวิตจริง

ภาพลอนดอนบริดส์และเท็มเปิลบาร์ กับภาพหัวของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่ถูกขุดศพขึ้นมาตัดหัวเสียบประจานเมื่อมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์อีกครั้ง


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ย. 14, 17:30
ในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือหลังปี 1700 เป็นต้นมา เริ่มมีการพัฒนาหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเป็นช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้การประหารชีวิตแบบเดิมๆ เช่นการตัดศีรษะ การเผาทั้งเป็น ฯลฯ ถูกมองว่าเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อนเกินไป

ปี 1760 เอิร์ลแห่งเฟอเรอร์ (Laurence Shirley, 4th Earl Ferrers) ซึ่งมีอาการทางประสาท ชอบใช้ความรุนแรงซึ่งอาจเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ ได้ใช้ปืนยิงคนรับใช้ผู้หนึ่งตาย ท่านเอิร์ลถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมและถูกตัดสินให้ประหารชีวิต  แต่แทนที่จะเป็นการประหารโดยการตัดศีรษะ  คณะผู้ตัดสินให้ประหารชีวิตโดยการแขวนคอเช่นเดียวกับอาชญากรทั่วไปแทน ท่านเอิร์ลพยายามต่อรองให้เปลี่ยนจากการแขวนคอเป็นการตัดศีรษะเยี่ยงการประหารชีวิตขุนนางและชนชั้นสูงทั่วไป แต่ไม่เป็นผล สิ่งที่ดีที่สุดที่ทางการทำได้คือ ใช้เชือกผ้าไหมในการประหาร แทนที่จะเป็นเชือกปอแบบที่ใช้กับอาชญากรทั่วไป  ท่านเอิร์ลถูกแขวนคอเมื่อวันที่ 5 พฤศภาคม 1760

รูปเอิร์ลแห่งเฟอเรอร์และฉากการฆาตกรรมคนรับใช้


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ย. 14, 20:15
โทษประหารอีกชนิดที่ใช้กันในอังกฤษและมักถูกเข้าใจว่าใช้กับแม่มดได้แก่ การเผาทั้งเป็น (Burning at the stake)

บันทึกโทษประหารด้วยการเผาทั้งเป็นสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยที่จูเลียส ซีซาร์ยกทัพโรมันบุกเกาะอังกฤษเลย ยุคนั้นมีการบันทึกว่าพวกเซลต์มีการลงโทษอาชญากรด้วยการเผาแล้ว  การเผาทั้งเป็นในยุคหลัง คือตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมาจะใช้สำหรับลงโทษพวกที่มีความคิดนอกรีตเป็นหลัก  เพราะเป็นเสมือนการลงโทษให้ผู้ไม่มีความศรัทธาถูกไฟนรกแผดเผา ยุคที่มีการเผาทั้งเป็นเยอะที่สุดคือช่วงวุ่นวายในสมัยศตวรรษที่ 16  ช่วงสมัยราชินีแมรี่จนถึงสมัยราชินีอลิซาเบธที่ 1 ที่มีการลงโทษเผาทั้งเป็นนักบวชและผู้ที่ศรัทธาคริสตศาสนาต่างนิกายกับพระราชินีในช่วงนั้น

นอกจากใช้ลงโทษเผานักโทษข้อหานอกรีตแล้ว โทษเผาทั้งเป็นยังใช้กับนักโทษหญิงสามัญที่ถูกตัดสินด้วยข้อหากบฏด้วย  เนื่องจากโทษประหารสำหรับข้อหากบฏถ้าเป็นสามัญชนชายจะใช้การแขวน ลาก ผ่า ซึ่งจะอุจาดตาถ้าผู้หญิงเป็นผู้ถูกลงโทษ  ดังนั้นผู้หญิงที่โดนข้อหากบฏจะถูกลงโทษโดยการเผาทั้งเป็นแทน

แต่ด้วยธรรมเนียมอังกฤษโบราณ การคบชู้สู่ชายถูกถือว่าเป็นการกบฏอย่างหนึ่งด้วย ดังนั้นผู้หญิงที่คบชู้จึงอาจถูกตัดสินประหารด้วยการเผาทั้งเป็น ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล้มล้างกษัตริย์เลยก็ได้ ทำให้ในช่วงหลังของการใช้โทษนี้ จะเป็นการประหารนักโทษหญิงที่โดนข้อหาคบชู้เป็นส่วนใหญ่

สำหรับโทษของการเป็นแม่มดนั้น ในอังกฤษอิงแลนด์จะใช้การประหารโดยการแขวนคอเท่านั้น  แต่ในที่อื่นๆ เช่นสก็อตแลนด์มีการประหารชีวิตนักโทษฐานเป็นแม่มดด้วยการเผาบ้าง


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ย. 14, 20:54
นักโทษคนแรกๆ ในยุคกลางที่มีการบันทึกไว้ถึงการลงโทษด้วยการเผาได้แก่ผู้ช่วยนักบวชคนหนึ่งในออกซ์ฟอร์ดเมื่อปี 1222 ที่เกิดไปรักกับสาวชาวยิว จึงเปลี่ยนศาสนาไปเป็นยิวเพื่อจะได้แต่งงานกับคนรักได้

ในปี 1401 รัชสมัยกษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับการนอกรีต ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้โทษเผาทั้งเป็นอย่างเป็นทางการในอังกฤษ นักโทษคนแรกที่โดนตัดสินด้วยข้อหานอกรีตตามกฏหมายใหม่นี้คือนักบวชหัวก้าวหน้าชื่อวิลเลี่ยม ซอว์ทรีย์ ที่บังอาจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนของคาทอลิกในสมัยนั้น

แม้การเป็นแม่มดจะถูกประหารโดยการแขวนคอ แต่การใช้เวทมนต์อาจทำให้ถูกประหารด้วยการเผาได้  ปี 1441 มากาเร็ต จอร์ดเมนถูกตัดสินให้เผาทั้งเป็นจากการใช้เวทมนต์กับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6

สำหรับในลอนดอน สถานที่ที่ใช้เป็นที่ประหารชีวิตโดยการเปาทั้งเป็นคือที่ Smithfield  ปัจจุบันเป็นตลาดค้าเนื้อ

ภาพ Smithfield สมัยที่ไม่ได้แค่เป็นตลาดค้าเนื้อ




กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ย. 14, 18:00
นักโทษที่ถูกประหารด้วยการเผาทั้งเป็นจะเสียชีวิตได้จาก 3 สาเหตุหลัก ขึ้นอยู่กับความโชคดีของแต่ละคน

นักโทษที่โชคดีที่สุด จะหมดสติก่อนจากคาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันไฟ การเสียชีวิตในลักษณะนี้จะทรมานน้อยที่สุด  สาเหตุประการถัดมาเกิดการหายใจเอาอากาศที่ร้อนเข้าไป ทำให้ปอดพอง เกิดการสำลักและหายใจไม่ออกจนเสียชีวิต แต่สาเหตุที่สองจะทรมานกว่าแบบแรก

อย่างไรก็ตาม นักโทษที่ถูกประหารโดยการเผาทั้งเป็นไม่ได้โชคดีเสียชีวิตจากสองสาเหตุข้างต้นไปทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปี 1555 จอห์น ฮูปเปอร์ (John Hooper) นักบวชโปรแตสแตนท์ที่ดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งกลอสเตอร์ในรัชสมัยเอ็ดเวิร์ดที่ 6 เมื่อราชินีแมรี่ขึ้นครองราชย์และมีการฟื้นฟูนิกายคาธอลิก  คุณพ่อฮูเปอร์ถูกถอดออกจากตำแหน่งบิชอปและจับเข้าคุกฐานนอกรีต ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น  เป็นพระระดับบิชอปองค์แรกที่ถูกตัดสินประหารในสมัยราชินีแมรี่ ซึ่งต่อมามีนักบวชและผู้ศรัทธาโปรแตสเแตนท์ถูกประหารด้วยข้อหาเดียวกันนี้เกือบ 300 คนในรัชสมัยของราชินีแมรี่

บิชอปฮูเปอร์ถูกส่งตัวจากลอนดอนมาประหารชีวิตที่กลอสเตอร์ การประหารมีขึ้นในเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1555 ท่ามกลางผู้ชมกว่า 7000 คน ก่อนการประหารถ้าท่านบิชอปฮูเปอร์ยอมขออภัยโทษและเปลี่ยนมาเป็นคาธอลิกจะได้รับการอภัยโทษ แต่บิชอปฮูเปอร์ปฏิเสธอย่างไม่ใยดี

การประหารเป็นไปอย่างน่าสยดสยอง เนื่องจากกองไฟที่ก่อค่อยๆ ลุกขึ้นช้าๆ  ฟืนที่ใช้ไม่ก่อให้เกิดควันไฟมากพอที่จะทำให้ท่านบิชอปหมดสติ เปลวไฟค่อยๆ ลามเลียช้าๆ ไปทั่วร่างท่านบิชอปที่ระหว่างนั้นท่านยังคงสวดมนต์อยู่ แต่ไฟติดบ้างดับบ้างจนต้องเพิ่มฟืนเข้าไป ผิวหนังไหม้ละลายแต่ท่านบิชอปยังไม่เสียชีวิต  ต้องใช้เวลามากถึง 45 นาทีตั้งแต่จุดไฟกว่าท่านบิชอปจะเสียชีวิต

ภาพและฉากการประหารชีวิตบิชอปจอห์น ฮูเปอร์



กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ย. 14, 18:36
ในช่วงเวลาประมาณ 5 ปีในรัชสมัยของราชินีแมรี่ ผู้คนถูกประหารโดยการเผาทั้งเป็นด้วยข้อหานอกรีตเกือบ 300 คน โดยทั่วไปก่อนการประหาร นักโทษจะได้รับข้อเสนอให้ยอมรับว่าตนเข้าใจผิดและยอมเปลี่ยนเป็นคาธอลิก จะได้รับอภัยโทษจากพระราชินี  แต่นัดโทษส่วนใหญ่เลือกที่จะตายและกลายเป็น martyrs หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา

วันที่ 27 มิถุนายน 1556นักโทษชาย 11 คนและหญิงอีก 2 คนซึ่งหนึ่งในนั้นกำลังตั้งครรภ์ ถูกเผาทั้งเป็นที่สเตรทฟอร์ด กรีน ชานเมืองลอนดอน  นักโทษทั้ง 13 ปฏิเสธข้อเสนอขออภัยโทษ  เฉพาะนักโทษชายถูกผูกไว้กับหลักส่วนนักโทษหญิงสามารถเดินอย่างเป็นอิสระ  แต่ทั้งหมดเสียชีวิตในกองเพลิง เป็นการเผาทั้งเป็นที่มีจำนวนนักโทษถูกเผาในคราวเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ การประหารชีวิตขนานใหญ่ทำให้ราชินีแมรี่ได้รับสมญาว่า บลัดดี้ แมรี่

การลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการเผาทั้งเป็นยิ่งทำให้ชาวประชาต่อต้านฝ่ายคาธอลิกมากยิ่งขึ้นลแะทำให้ฝ่ายคาธอลิกไม่สามารถฟื้นฟูในอังกฤษได้จนถึงปัจจุบัน การเผาทั้งเป็นด้วยข้อหานอกรีตอย่างขนานใหญ่สิ้นสุดลงพร้อมกับรัชสมัยของราชินีแมรี่  ในรัชสมัยถัดมา ราชินีอลิซาเบธที่ 1 มีการเผาทั้งเป็นด้วยข้อหานอกรีตเพียงครั้งหรือ 2 ครั้ง  ครั้งสุดท้ายที่มีการใช้โทษนี้กับข้อหานอกรีตคือปี 1612


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ย. 14, 19:10
อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าถ้าสามัญชนชายมีความผิดฐานกบฏจะถูกแขวน ลาก ผ่า  แต่ถ้าเป็นหญิงจะใช้การเผาทั้งเป็น ตัวอย่างเช่นแอนน์ โบลีน หรือคัทธริน พาร์ เมหาสีของกษัตริย์เฮนที่ 8 ถูกตัดสินว่าคบชู้ มีความผิดฐานกบฏ ต้องถูกเผาทั้งเป็น แต่เฮนรี่เปลี่ยนจากการเผาให้เป็นการตัดศีรษะแทน เช่นเดียวกับราชีนี 17 วัน เลดี้เจน เกรย์ ที่ถูกตัดสิตให้เผาทั้งเป้นแต่ราชินีแมรี่เปลี่ยนโทษประหารเป็นการตัดศรีษะ

แม้การประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นจะถูกเลิกใช้กับข้อหานอกรีตตั้งแต่หลังปี 1612  แต่การเผาทั้งเป็นยังถูกใช้อยู่สำหรับการประหารชีวิตผู้หญิงที่มีความผิดฐานกบฏ ทำให้หลังจากปี 1612  นักโทษที่ถูกเผาทั้งเป็นทั้งหมดเป็นผู้หญิง

ตามกฏหมาย The Treason Act 1351 บัญญัติความผิดข้อหากบฏไว้หลายประการ ไม่ใช่เพียงเฉพาะการกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดินหรือราชวงศ์เท่านั้น ผู้หญิงที่ฆาตกรรมสามี บ่าวที่ฆาตกรรมนาย ถูกถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการกบฏด้วย นอกจากนั้นการปลอมเอกสาร ทำเงินปลอม ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก็ถูกถือว่าเป็นการกบฏเช่นกัน  นักโทษฐานกบฏชายจะถูกแขวน ลาก ผ่า ส่วนผู้หญิงจะถูกเผาทั้งเป็น

ในศตวรรษที่ 17  ด้วยความเมตตา นักโทษหญิงที่ถูกประหารด้วยการเผาทั้งเป็นส่วใหญ่จะถูกเพชรฆาตรัดคอให้หมดสติก่อน เมื่อศตวรรษที่ 18 มาถึง การเผาทั้งเป็นแทบจะไม่ถูกใช้ ในช่วงปี 1700 - 1730 มีนักโทษถูกเผาทั้งเป็นประมาณ 10 ราย  9 รายผูกรัดคอให้หมดสติก่อน ยกเว้นรายเดียวที่เพชรฆาตรัดคอแล้วแต่ยังไม่หมดสติ คือแคทเธอริน เฮย์ส ที่มีความผิดฐานคบชู้และฆาตกรรมสามีในปี 1726

โทษประหารด้วยการเผาทั้งเป็นถูกยุติอย่างเด็ดขาดในปี 1790 โดยให้ใช้การแขวนคอแทน







กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 14, 02:32
วิธีการประหารชีวิตที่รุนแรง ทรมาน เหี้ยมโหดที่สุดของอังกฤษก็คือการ แขวน ลาก และผ่า (Hanged, drawn and quartered)  โทษชนิดนี้ สงวนไว้ใช้กับนักโทษข้อหากบฏเท่านั้น เพราะในอังกฤษ การกบฏถูกถือว่าเลวร้ายยิ่งกว่าทำฆาตกรรมซะอีกดังนั้นจึงต้องลงโทษให้รุนแรงเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้คนหวาดกลัวและไม่กล้ากระทำ แต่โทษนี้จะใช้กับนักโทษชายเท่านั้น นักโทษหญิงจะถูกเผาทั้งเป็นแทน ตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้า


ขั้นตอนของการลงโทษชนิดนี้ เริ่มต้นด้วยนักโทษจะถูกผูกไว้กับหางม้า แล้วก็ให้ม้าลากจากที่คุมขังไปจนถึงตะแลงแกงหรือสถานที่ประหาร ซึ่งนักโทษจะถูกแขวนคอจนเกือบหมดสติ แต่ยังไม่ถึงกับเสียชีวิต ให้ลิ้มรสความทรมานไปก่อน ซึ่งนักโทษยังคงรู้สึกตัวอยู่  จากนั้นนักโทษจะถูกนำตัวมาขึ้นเขียง ซึ่งเพชรฆาตจะตอนนักโทษก่อน แล้วเพชรฆาตก็จะผ่าท้องนักโทษ  สาวไส้ออกมาโยนเข้ากองไฟ  จากนั้นตัดเอาหัวใจออกมา ซึ่งถึงขั้นตอนนี้นักโทษก็คงลาโลกไปเรียบร้อยแล้ว หัวก็จะตัดออกมา ร่างกายส่วนที่เหลือจะถูกผ่าออกเป็นสี่ส่วน หัวและชิ้นส่วนร่างกายจะถูกเอาไปประจาน

ปัญหาหนึ่งของโทษชนิดนี้คือ ในขั้นตอนการลาก เนื่องจากถนนที่ขรุขระและระยะทางที่ไกล หลายๆ ครั้งนักโทษที่ถูกลากจะหมดสติหรือแม้แต่เสียชีวิตไปก่อนหน้าที่จะถูกแขวนคอและผ่าแล้ว ทำให้ในเวลาต่อมาในขั้นตอนการลาก นักโทษจะถูกวางไว้บนแคร่ให้ม้าลากไป  เพื่อให้ครบวิธีการลงโทษตามชื่อว่าต้องมากการลาก และเพื่อให้นักโทษมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับรอรับการลงโทษขั้นต่อไป

ภาพการประหารกาย ฟอกซ์ คนที่พยายามวางระเบิดรัฐสภาและปลงพระชนม์กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ จะเป็นว่านักโทษถูกลากบนแคร่


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 14, 02:43
นักโทษคนแรกๆ ที่ได้รับโทษนี้ที่ถูกบันทึกไว้คือเซอร์วิลเลียม วอลเลซ ผู้นำฝ่ายกบฏสก็อตสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ  ถูกประหารที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1305 ใครที่เคยดูหนัง Brave Heart คงจำฉากท้ายๆ เรื่องตอนที่วอลเลซถูกประหารได้ดี การประหารจริงๆ โหดกว่าในหนัง เพราะด้วยคำสั่งพิเศษสั่งให้เพชรฆาตประหารให้ยืดเวลาให้วอลเลซได้รับความทรมานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แถมยุคนั้นนักโทษยังถูกลากจริงๆ ไม่ใช่ลากไปบนแคร่

ภาพฉากการประหารวอลเลซและโปสเตอร์หนัง


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 14, 18:57
ยุคทิวดอร์เป็นช่วงหนึ่งที่มีการใช้โทษประหารชนิดนี้เยอะ  เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ประกาศไม่ขึ้นกับคริสตจักรโรมันคาธอลิก นักบวชคาธอลิกที่ไม่ยอมเปลี่ยนไปสังกัด Church of England และไม่ยอมรับว่าพระเจ้าเฮนรี่ในฐานะประมุขคริสตจักรจะถูกตัดสินว่าเป็นกบฏและถูกประหารไปโดยวิธีลาก แขวน ผ่า   กิจกรรมการประหารชีวิตนักบวชกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นมหกรรมที่ดึงดูดผู้สนใจเข้ามาร่วมชม  นักบวชชั้นสูงจะถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ แต่นักบวชธรรมดาจะถูกประหารด้วยวิธีที่โหดร้ายกว่าวิธีนี้

เมื่อสิ้นรัชสมัยของเฮนรี่ที่ 8 และรัชสมัยสั้นๆ ของเอ็ดเวิร์ดที่ 6 จนถึงรัชสมัยของราชีนีแมรี่ มีการฟื้นฟูคริสตจักรโรมันคาธอลิกในอังกฤษ  คราวนี้นักบวชโปรแตสแตนท์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนไปเป็นคาธอลิกถูกประหารแทน  แต่ด้วยวิธีที่โหดน้อยกว่าหน่อย คือการเผาทั้งเป็น  เพราะถูกถือว่าเป็นพวกนอกรีต  เมื่อสิ้นรัชสมัยของราชินีแมรี่   ราชินีอลิซาเบธที่ 1 ขึ้นครองราชย์  สถานการพลิกกลับอีกครั้ง คราวนี้นักบวชคาธอลิกกลับมาเป็นฝ่ายถูกประหารแทนอีกแล้ว เพียงแต่ในรัชสมัยนี้ เห็นคล้ายๆ กับสมัยของเฮนรี่ที่ 8  คือการเป็นคาธอลิกและไม่ยอมรับสถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของคริสตจักร Church of England เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นโทษทางการเมืองมากกว่าแค่การนอกรีต  คราวนี้นักบวชคาธอลิกที่ไม่ยอมรับสถานะประมุขคริสตจักรของพระราชินีต้องถูกตัดสินว่าเป็นกบฏและต้องประหารด้วยวิธีการที่ใช้กับกบฏ

ภาพราชินีแม่รี่และราชินีอลิซาเบธ  สองพี่น้องต่างนิกายศาสนา ที่มีโอกาศครองบัลลังก์อังกฤษทั้งคู่


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 14, 19:26
ในปี 1586 กลุ่มนักบวชคาธอลิกชั้นสูง นำโดยนักบวชชื่อจอห์น บัลลาร์ดวางแผนจะโค่นล้มราชินีอลิซาเบธเพื่อจะให้ราชินีแมรี่แห่งสก็อต(คนละคนกับราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษที่ครองราชย์ก่อนหน้า) ซึ่งเป็นคาธอลิกและถูกคุมขังอยู่ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีแห่งอังกฤษแทน อย่างไรก็ตามแผนการล้มเหลวและคณะผู้ก่อการถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหากบฏ  ราชินีอลิซาเบธถึงกับปรึกษากับเซอร์วิลเลียม เซซิล ซึ่งอยู่ในคณะพิจารณาคดีว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่จะใช้การลงโทษที่รุนแรงและเจ็บปวดให้มากที่สุด เซอร์เซซิลยืนยันกับพระนางว่าโทษลาก แขวน และผ่า นี่เป็นโทษประหารที่รุนแรงทรมานที่สุดแล้ว


วันที่ 20 กันยายน 1586 นักโทษประหารกลุ่มแรก 7 คนถูกนำตัวไปประหาที่ เซนต์ ไกล์ เซอคัส ในลอนดอน บัลลาร์ดเป็นนักโทษคนแรกที่ถูกประหาร  ด้วยคำสั่งพิเศษแก่เพชรฆาต ให้ทำการประหารแบบให้ทรมานและยืดเวลามากที่สุด เพชรฆาตจึงดำเนินการต่างๆ อย่างเชื่องช้า บัลลาร์ดถูกขวนคอจนเกือบหมดสติก่อน  จากนั้นเพชรฆาตนำตัวลงมาขึ้นเขียง  รอให้บัลลาร์ดรู้สึกตัวก่อน จากนั้นจึงทำการตอนและผ่าท้องช้าๆ อวันยวะภายในค่อยๆ ถูกชำแหละออกมาโยนใส่กองไฟช้าๆ เพราะเพชรฆาตต้องการแน่ใจว่าบัลลาร์ดยังมีชีวิตและมีโอกาสได้เห็นทุกขั้นตอน ก่อนที่สุดท้ายหัวใจจะถูกควักออกมา หัวถูกตัด และร่างถูกแยกเป็นสี่ส่วน


นักโทษคนอื่นๆ ที่เหลือถูกกระทำเช่นเดียวกับบัลลาร์ด คือค่อยๆ ประหารให้ทรมานมากที่สุด ท่ามกลางความสยดสยองและสะอิดสะเอียนของฝูงชนที่มุงดู  เมื่อรายงานการประหารครั้งนี้ถูกรายงานไปยังพระราชินี และยังมีนักโทษที่เหลือรอการประหารอีก 7 คน คราวนี้แม้แต่พระนางเองที่ตอนแรกตั้งใจให้นักโทษทรมานที่สุด  คราวนี้พระนางสั่งให้เพชรฆาตแขวนคอนักโทษทั้งหมดจนแน่ใจว่านักโทษทั้ง 7 คนสิ้นใจหมดแล้ว ถึงค่อยดำเนินการในขั้นต่อไป


ภาพราชินีแมรี่แห่งสก็อต  ตามศักดิ์และสิทธิแล้ว พระนางอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทแห่งบัลลังก์อังกฤษถัดจากราชินีอลิซาเบธเอง  สุดท้ายพระนางถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฏในปี 1587 แต่พระโอรสของพระนาง ซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ ขึ้นครองบัลลังก์แห่งอังกฤษต่อจากพระราชินีอลิซาเบธ เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และที่ 6 แห่งสก็ตแลนด์


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 14, 20:59
ในรัชสมัย 5 ปีของพระราชินีแมรี่ที่ 1 มีนักบวชและผู้ศรัทธาโปรแตสแตนท์ถูกเผาทั้งเป็นประมาณ 300 คน  ส่วนในรัชสมัยของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 มีคนถูกประหารชีวิตด้วยการลาก แขวน ผ่ามากกว่า 180 คน แต่เป็นการประหารด้วยข้อหากบฏ ไม่ใช่การนอกรีต แต่ในจำนวนนี้มากกว่า 40 คนเป็นนักบวชและสามัญชนผู้ศรัทธาคาธอลิก

ในวัยหนุ่ม เอ็ดมัน แคมเปียนเป็นนักศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ดเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวช เป็นนักศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านสติปัญญาสูง ขณะที่กำลังเรียนอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ดแคมเปียนมีโอกาสพบพระราชินีอลิซาเบทครั้งหนึ่ง ผู้คนที่รู้จักต่างคาดหมายว่าในอนาคตแคมเปรียนต้องมีตำแหน่งสูงต่อไปแน่ อาจจะได้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา แคมเปี้ยนเดินทางท่องยุโรป ไปฝรั่งเศสและโรม และเป็นนักบวชคาธอลิกในเวลาต่อมา  แคมเปียนกลับมายังอังกฤษเพื่อด้วยความตั้งใจที่จะเผยแพร่ศรัทธาคาธอลิกแก่ผู้คน ทำให้ต้องขัดแย้งกับศาสนจักรของอังกฤษที่มีพระราชินีเป็นประมุขคริสตจักร แคมเปียนถูกจับแต่ได้รับข้อเสนอจากพระราชินีให้ยอมเปลี่ยนมาเป็นพระของคริสตจักแองกลิคันและจะให้ตำแหน่งนักบวจสถานะสูงของคริสตจักรนั้นด้วย แต่แคมเปียนปฏิเสธ แคมเปียนถูกทรมานเพื่อให้เปิดเผยชื่อผู้ศรัทธาคาธอลิกอื่นๆ  สุดท้ายแคมเปียนถูกประหารชีวิตด้วยการลาก แขวน และผ่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1581  แคมเปียนได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดนสันตปาปาลีโอที่ 13 เมื่อปี 1881

การประหารคริสตศาสนิกชนคาธอลิก ซึ่งบางคนมีความผิดฐานกบฏเพียงเพราะไม่ยอมับอำนาจของสถาบันกษัตริย์เหนือคริสตจักรบางครั้งส่งผลตรงกันข้ามกับผู้คนที่ได้ชมการประหารด้วย หลายคนถึงกับเปลี่ยนไปเป็นผู้ศรัทธาคาธอลิกเลย


ภาพเอ็ดมัน  แคมเปียน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 14, 21:31
ยุคทิวดอร์ในศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงเฟื่องฟูที่มีการประหารด้วยวิธีสุดโหดนี้มาก ในศตวรรษต่อมา ช่วงปี 1600-1699 โทษลาก แขวน ผ่ายังคงได้รับความนิยม แม้จำนวนการประหารจะลดลงบ้าง  คราวนี้ผู้ถูกประหารส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะเป็นคอธอลิกแบบศตรววษก่อนหน้าแล้ว

เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1660 หลังการฟื้นฟูระบบกษัตริย์  มีการอภัยโทษผู้ที่เคยมีส่วนร่วมกับฝ่ายรัฐสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ยกเว้นแต่เพียงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เท่านั้น จากจำนวน 59 คนที่ลงชื่อในเอกสารคำสั่งประหารชีวิตชีวิตพระเจ้าชาลส์ ใครที่ยังไม่ตายหรือไม่ทันหลบลี้หนีภัยไปต่างประเทศต่างถูกจับข้อหากบฏหมด ในจำนวน 59 คนนี้ 13 คนถูกประหารชีวิตโดยการลาก แขวน ผ่า อีก 1 คนโดยการแขวนคอ อีก 19 คนถูกคุมขังตลอดชีวิต

นักโทษคนแรกที่ถูกประหารคือพลตรีโทมัส แฮริสัน  ผู้ซึ่งไม่ได้ลี้ภัยไปก่อนหน้าเพราะคาดไม่ถึงว่าพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จะเอาผิดตัวด้วย ในวันประหาร แฮริสันมีอาการตัวสั่นตลอดเวลา ฝุงชนที่เฝ้าดูต่างโห่ฮาดูถูกเหยียดหยามที่แฮริสันแสดงว่าขลาดกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย(แบบสุดโหด) แฮริสันซึ่งรู้สึกอับอายกับการดูถูกเหยียดหยามของฝูงชน แสดงสุทรพจน์ก่อนตายบนลานประหาร แก้ตัวว่าที่ตัวสั่นเทาไม่ใช้เป็นเพราะความกลัว แต่เนื่องมาจากอาการบาดเจ็บที่เคยได้รับสมัยที่เคยไปทำสงครามต่างหาก  แฮริสันเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอจนแค่เกือบหมดสติ แต่ยังมีสติและยังไม่ตายก่อนที่การผ่าจะเริ่มขึ้น

เอกสารที่มีการลงชื่อ คำสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และโทมัส แฮริสัน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 14, 21:53
โทษประหารโดยการลาก แขวน ผ่า ยังคงมีใช้ในศตวรรษที่ 18 และ 19  แม้การประหารชีวิตด้วยวิธีนี้จะมีน้อยลงมาก  นักโทษที่ถูกตัดสินประหารด้วยวิธีนี้มักจะถูกลดโทษผ่า คงเหลือเพียงการแขวนและตัดศีรษะเท่านั้น ตัวอย่างเช่นเจเรไม แบรนเรดท ถูกตัดสินข้อหากบฏเนื่องจากพยายามก่อจราจลเมื่อปี 1817 แต่โทษผ่าถูกยกเว้น เหลือเพียงตัดศีรษะเท่านั้น


ในช่วงกลางทศวรรษที่ 19 ผู้มีความผิดฐานกบฏอาจจะไม่ถูกประหารชีวิต แต่ถูกเนรเทศไปออสเตรเลียแทน โทษประหารชีวิตด้วยการลาก แขวน ผ่า ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 1870 โดยให้ใช้การแขวนคอแทน

ภาพหัวของแบรนเดรท


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 14, 03:21
โทษประการอีกชนิดที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันว่าเคยมีการใช้ในอังกฤษคือการต้มทั้งเป็น

ในสมัยทิวดอร์ ปี 1531 ริชาร์ด รูส วางยาพิษในอาหารหวังจะสังหารบิชอปแห่งโรเชสเตอร์  แต่เนื่องจากท่านบิชอปมักจะมองอาหารของท่านให้แก่คนยากจนในเมือง เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจึงกลายเป็นหญิงชรายกจนที่ได้รับอาหารจากท่านบิชอป รวมถึงคนรับใช้ของบิชอปอีกคนด้วย  ริชาร์ด รูสถูกจับและถูกตัดสินให้ประหารชีวิต  เนื่องจากริชาร์ดทำผิดโดยวางยาพิษในอาหาร ตามกฏหมายของทิวดอร์ช่วงนั้นคนที่วางยาพิษต้องถูกประหารชีวิตโดยการต้มทั้งเป็น

วันที่ 5 เมษายน 1531 ริชาร์ด รูสถูกนำตัวมาต้มที่สมิธฟิลด์ ลอนดอน  ทางการเตรียมหม้อขนาดใหญ่ใส่น้ำไว้ ริชาร์ดถูกนำตัวไปใส่หม้อตั้งแต่น้ำยังเย็น ต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่าน้ำจะร้อนและเดือดจนริชาร์ดเสียชีวิต  ในปีเดียวกัน มีคนรับใช้หญิงอีกคนถูกต้มด้วยวิธีเดียวกันจากการวางยาพิษนายจ้าง  ในปี 1542 มีนักโทษหญิงอีกคนถูกประหารด้วยการต้มเนื่องจากวางยาพิษนายจ้าง

การประหารด้วยการต้มนั้น นักโทษจะถูกมัดให้ขยับตัวไม่ได้ นำไปใส่หม้อซึ่งใส่น้ำเย็นไว้ จากนั้นจึงจุดไฟต้มน้ำ ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่านักโทษจะเสียชีวิต แต่ในบางครั้งอาจมีการต้มน้ำจนเดือดก่อน นักโทษจะถูกผูกไว้เหนือหม้อ จากนั้นจะถูกหย่อนลงไปในน้ำและดึงขึ้นมาใหม่ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่านักโทษจะเสียชีวิต

การประหารชีวิตด้วยการต้ม ถูกใช้เพียงไม่กี่ครั้ง  และถูกยกเลิกไปในปี 1547 ในรัชสมัยของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 6

ภาพการประหารริชาร์ด รูส



กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ธ.ค. 14, 07:16

โทษประหารชีวิตด้วยการลาก แขวน ผ่า ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 1870 โดยให้ใช้การแขวนคอแทน

ค.ศ.1870 ตรงกับ พ.ศ.2413 ของไทย ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
สยามคงจะเลิกการประหารชีวิตอย่างทารุณตั้งแต่หลังทำสัญญาบาวริงในรัชกาลก่อน  เพราะฝรั่งหาว่าป่าเถื่อน

ตั้งแต่อ่านมาผมก็คิดว่ามนุษย์มีความป่าเถื่อนเหมือนๆกันในแต่ละยุค โดยไม่ต้องมีใครเอาอย่างใครเลย



กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ธ.ค. 14, 09:31
ร่วมด้วยช่วยเสริม (ความหวาดเสียว)

การประหารโดยการต้มมีมาตั้งแต่สมัยโรมัน ในภาพแกะสลักไม้ฝีมือ Albrecht Dürer  (http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_woodcuts_by_D%C3%BCrer) ช่างเขียนภาพและแกะสลักชาวเยอรมัน เป็นภาพนักบุญจอห์นถูกต้มในน้ำมันเดือด แต่รอดชีวิตมาได้   :o


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ธ.ค. 14, 10:29
การตกกระทะทองแดงในคติไทยนี่ ผมเชื่อว่าไม่ใช่จินตนาการล้วนๆ  มันต้องเกิดจากการเห็นภาพการกระทำจริงๆที่เกิดขึ้นในภพนี้นี่แหละ


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ธ.ค. 14, 13:36
คุณเพ็ญชมพูเอาการต้ม มาให้รับทราบ ผมจึงเอาการ "นึ่ง" มาให้รับรู้ครับ

ในภาพยนตร์จีนเรื่องดัง Bu Bu Jin Xing มีฉากหนึ่งเล่าถึงจักรพรรดิ์หย่งเล่อ มีการประหารบุคคลด้วยการจับใส่เข่งติ่มซำขนาดใหญ่แล้วนึ่ง ครับ  :-X


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 14, 19:11
ระหว่างหาข้อมูลและรูปภาพประกอบกระทู้  ไปเจอภาพถ่ายรูปคนโดนต้มเข้า ต้องร้องไอ้หยาด้วยความสยอง  :( พอดูโทษประหารอันต่อไป การบีบอัดจนตาย (crushing  or pressing to death) ยิ่งเจอภาพถ่ายยุคใหม่ๆ ขอคนที่โดนบีบอัดจากอุบัติเหตุบ้าง หรือรถถังทับบ้าง  ยิ่งสยดสยองจนต้องร้องไอ้หยา แม้จะอยู่สตวรรษที่ 21 แล้ว โทษประหารชีวิตถูกยกเลิกไปในหลายๆ ประเทศ  แต่ความโหดเหี้ยมอำมหิตของคนบางพวกบางกลุ่มไม่ได้ลดลงตามความเจริญของสังคมเลย :'(


การประหารโดยการบีบอัดจนตาย เป็นโทษอีกชนิดที่มีการใช้ในอังกฤษ บันทึกแรกๆ ที่กล่าวถึงการลงโทษแบบนี้มีตั้งแต่ปี 1275 และถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการยกเลิกโทษนี้ไปในปี 1772 แต่โทษนี้มีการใช้ครั้งสุดท้ายจริงๆ ในปี 1741


การบีบอัดจนตายเป็นการลงโทษที่ใช้กับนักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรม แต่ตัวนักโทษปฏิเสธที่จะให้มีการดำเนินคดีและให้การต่อศาล โดยทั้งไม่ยอมรับและไม่ยอมปฏิเสธในความผิดที่ถูกกล่าวหาฟ้องร้อง ทำให้การพิจารณาคดีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ แทนที่จะขังรอไว้เฉยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องขังนานเท่าใด ดังนั้นจึงต้องมีการทรมานเพื่อบังคับให้นักโทษตัดสินใจว่าจะยอมรับผิดหรือจะปฏิเสธอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป ซึ่งถ้านักโทษยอมรับหรือยอมปฏิเสธ ก็จะถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนปกติต่อไป


คำถามตามมาคือแล้วทำไมนักโทษถึงปฏเสธที่จะให้การทั้งยอมรับหรือไม่ยอมรับความผิด  คำตอบก็คือตามกฏหมายของอังกฤษนั้น นักโทษที่ถูกตัดสินว่าผิดในความผิดอุกฉกรรจ์จะถูกริบทรัพย์เป็นของแผ่นดินด้วย เช่นถ้าใครถูกตัดสินว่าเป็นกบฏ ทางการจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างไปด้วย  ดังนั้นครอบครัวที่อยู่ข้างหลังจะไม่เหลืออะไรเลย แต่ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลที่ถูกกล่าวหาเสียชีวิตโดยยังไม่มีการตัดสินความผิด ทางการก็ไม่อาจจะยึดทรัพย์ของคนผู้นั้นได้ เหมือนกับว่านักโทษผู้นั้นยังบริสุทธิ์ ดังนั้นนักโทษหลายคนจึงเลือกที่จะตายโดยวิธีนี้ แทนที่จะถูกประหารชีวิตและถูกยึดทรัพย์ด้วย


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 14, 19:16
การลงโทษโดยการบีบอีดมีขั้นตอนดังนี้คือ  นักโทษจะถูกมัดมือมัดเท้า นอนหงาย  บนหน้าอกจะมีแผ่นกระดานใหญ่ๆ วางทับไว้ จากนั้นเพชรฆาตจะค่อยๆ เอาหินหรือตุ้มน้ำหนักวางบนแผ่นกระดานไปเรื่อยๆ  จนกว่านักโทษจะทนไม่ไหว ยอมสารภาพหรือปฏิเสธความผิดที่ถูกกล่าวหา แต่ถ้านักโทษยังคงปฏิเสธจะให้การ ตุ้มน้ำหนักจะถูกเพิ่มไปเรื่อยๆ จนในที่สุดนักโทษก็สิ้นใจตายด้วยความทรมาน

บางครั้งเพชรฆาตจะเพิ่มน้ำหนักให้มากพอที่นักโทษจะทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ไม่หนักมากพอที่นักโทษจะตายได้ โทษนี้จึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงและทรมานมาก


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 14, 19:52
กรณีที่น่าเศร้าของการบีดอัดจนตายเกิดขึ้นในปี  1586 เมื่อมากาเร็ต คลิธอโร (Margaret Clitheroe) คุณแม่ลูกสามและเป็นศาสนิกชนผู้ศรัทธาคาธอลิก ได้ให้ที่หลบซ่อนแก่นักบวชคาธอลิกที่บ้านเธอในเมืองยอร์ค การให้ที่หลบซ่อนแก่นักบวชคอธอลิกในยุคนั้นเป็นอันตรายอย่างมากเพราะถูกถือว่าเป็นความผิดฐานกบฏเลยทีเดียว ซึ่งในที่สุด มากาเร็ตก็ถูกจับกุม

มากาเร็ตรู้ดีถึงโทษที่เธอจะได้รับดี และรู้ดีว่าถ้าเธอขึ้นให้การ ไม่ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ ลูกๆ ทั้งสามของเธอจะต้องถูกนำตัวมาให้การด้วยในฐานะพยาน และนั้นอาจทำให้ลูกๆ ของเธอต้องถูกกล่าวหาด้วยข้อหาเดียวกันต่อไปได้ และอาจถูกทรมานด้วย ยังไม่นับว่าถ้าถูกตัดสินว่าผิด เธอจะถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อไม่มีทางเลือก เพื่อปกป้องลูกๆ ของเธอ เธอจึงปฏิเสธที่จะให้การ

เมื่อทั้งไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมปฏิเสธ วันที่ 25 มีนาคม 1586 มากาเร็ตจึงถูกลงโทษด้วยการบีบอัด  ความปราณีอย่างเดียวที่เพชรฆาตมีให้เธอ คือการเอาหินแหลมๆ ก้อนขนาดกำปั้นวางไว้ที่หลังเธอตรงกับตำแหน่งหัวใจ  หวังให้หินก้อนนั้นกระแทกให้หัวใจเธอหยุดเต้นให้เร็วที่สุดเมื่อมีน้ำหนักกดทับด้านบน อย่างไรก็ตาม เธอถูกทับด้วยหินหนักมากกว่า 800 ปอนด์ และเสียชีวิตหลังจากถูกลงโทษ 15 นาที

หลังจากเสียชีวิต ร่างของมาการเร็จถูกนำไปทิ้งยังที่ทิ้งขยะ แต่มีผู้ศรัทธาคาธอลิกแอบตัดมือของเธอเก็บไว้เพื่อเป็นการละลึกถึงเธอ ปัจจุบันมือทั้งสองข้างของเธอถูกเก็บไว้ในโหลแก้ว

มากาเร็ตได้รับการประกาสเป็นนักบุญ ทุกวันนี้บ้านของเธอในยอร์คยังได้รับการอนุรักษ์ไว้

 ภาพการลงโทษ  บ้านของเธอในปัจจุบัน และมือทั้งสองที่ถูกรักษาไว้


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ธ.ค. 14, 09:50
            อ่านแล้ว นึกถึงเหตุการณ์ในสนามฟุตบอล Hillsborough Stadium ที่ Sheffield
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989
            แฟนฟุตบอลเสียชีวิตรวม 96 ราย


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ธ.ค. 14, 09:52
          จากการขาดอากาศหายใจเพราะถูกอัดจนขยับทรวงอกเพื่อหายใจไม่ได้


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ธ.ค. 14, 22:44
ในอังกฤษนั้น การประหารชีวิตโดยการตัดคอ ถือว่าเป็นโทษประหารที่สงวนไว้ใช้กับคนชั้นสูงเท่านั้น โทษประหารที่อาจจะถือว่ามีเกียรติรองลงมาจากการตัดคอคือการยิงเป้า

เช้าวันที่ 15 สิงหาคม 1941 โจเซฟ จาคอบ  อดีตนักอุตุนิยมวิทยายศจ่าในกองทัพเยอรมัน กำลังจะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ นั่นคือการประหารชีวิตโดยการยิงเป้า  และเป็นนักโทษประหารโดยการถูกยิงเป้าคนสุดท้ายในแผ่นดินอังกฤษ 


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1941 จาคอบกระโดดร่มลงไปใกล้เมืองแรมเซย์ในฮันทิงตั้นเชียร์ โดยสวมชุดพลเรือน พร้อมด้วยเงิน 500 ปอนด์ ปืนพก วิทยุสื่อสาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อคอยรายงานสภาพอากาศในอังกฤษกลับไปยังเยอรมัน


ด้วยความโชคร้าย เมื่อลงพื้นจาคอบขาหักและเดินไม่ได้  ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น จาคอบไม่มีทางเลือกนอกจากยิงฟืนขึ้นฟ้าเพื่อเรียกคนมาช่วย ชาวไร่ 2 คนปริเวณนั้นได้ยินเสียงปืนจึงออกมาดู ช่วยเหลือ และแจ้งเจ้าหน้าที่ สุดท้ายจาคอบจึงอยู่ในเงื้อมมือของทางการอังกฤษ


ในการสอบสวน จคอบเปิดเผยว่าเกิดในลักเซ็มเบิร์กเมื่อปี 1898 จาคอบอ้างว่าที่โดดร่มในอังกฤษก็เพื่อมาช่วยอังกฤษสู้กับนาซี แต่ทางการอังกฤษไม่เชื่อคำพูดของจาคอบ และเนื่องจากจาคอบกระโดดร่มลงมาโดยสวมชุดพลเรือน ตามกฏหมายอังกฤษขณะนั้นจึงถือว่าจาคอบเป็นจารชน ไม่ใช่ทหาร ซึ่งทำให้โทษที่ได้รับจะต่างกันมาก ในขณะที่ทหารที่กระโดดร่มลงมาจะได้รับการปฏิบัติฐานเชลย แต่จารชนจะต้องถูกประหารชีวิต แต่เนื่องจากจาคอบเป็นทหาร การพิจารณาคดีของจาคอบจึงกระทำโดยศาลทหาร และสุดท้ายมีคำตัดสินให้ประหารชีวิตโดยการยิงเป้า 


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ธ.ค. 14, 23:24
จาคอบส่งฎีกาถึงพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่อขอความเมตตา แต่ไม่เป็นผล ฎีกาถูกยก ดังนั้นในเช้าวันที่ 15 สิงหาคม 1941 จาคอบซึ่งขาหักและยังเดินไม่ได้ ถูกขังไว้ในหอคอยแห่งลอนดอน จึงถูกนำตัวไปนั่งบนเก้าอี้ ต่อหน้าหมู่ยิง 8 นายที่เตรียมพร้อมอยู่ เมื่อนายทหารสั่งยิง กระสุน 7 นัดเข้าเป้าที่หน้าอก อีกนัดถูกที่หัว กระสุนมีความแรงมากพอที่จะทะลุตัวจาคอบไปกระแทกจนทำให้พนักพิงเก้าอี้ของจาคอบหัก  ปัจจุบันร่างของจาคอบถูกฝังไว้ที่โบสถ์เซนต์แมรี่ในเคนสัน กรีน ส่วนเก้าอี้ที่จาคอบนั่งตอนถูกประหารยังได้รับการจัดแสดงอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน

จาคอบไม่ใช่จารชนเยอรมันคนเดียวที่ถูกประหารชีวิต ยังมีจารชนอื่นๆ อีกที่ถูกประหาร แต่เนื่องจากจารชนเหล่านั้นเป็นพลเรือน จึงใช้การประหารชีวิตโดยการแขวนคอ โทษประหารโดยการยิงเป้า เป็นโทษที่สงวนไว้สำหรับทหารเท่านั้น


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ธ.ค. 14, 00:03
การประหารโดยการยิงเป้าอาจจะได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ แม้แต่ไทยในอดีตก็ประหารนักโทษด้วยวิธีนี้  ต้นกำเนิดการประหารโดยการยิงเป้าในอังกฤษเป็นอย่างไรไม่มีการบันทึกไว้  มีการสันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจากการมัดเหยื่อมนุษย์แขวนไว้ใต้ต้นไม้แล้วให้พลธนูฝึงยิง   ตำนานเล่าว่ากษัตริย์เอ็ดมุนด์แห่งมาไทร์ถูกประหารโดยวิธีนี้ในราวๆ ปี 870 โดยพวกไวกิ้ง 

การประหารโดยการยิงเป้าจริงๆ เริ่มใช้กับการประหารนักโทษทหารตั้งแต่ประมาณต้นศตวรรษที่ 17 ครั้งหนึ่งที่มีการบันทึกไว้คือในปี 1648 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์นำโดยพระเช้าชาลส์ที่ 1 กับฝ่ายรัฐสภาของครอมเวลล์  เมืองโคลเชสเตอร์ถูกยึดโดยฝ่ายนิยมกษัตริย์ แต่ในที่สุดทางฝ่ายรัฐสภาโดยการนำของนายพลแฟแฟกซ์ก็ยึดเมืองได้ ฝ่ายนิยมกษัตริย์ยอมแพ้  นายพลแฟแฟกซ์ต้องการสร้างตัวอย่างให้ฝ่ายนิยมกษัตริย์เห็น จึงสั่งลงโทษประหารชีวิตนายทหารฝ่ายนิยมกษัตริย์ 4 นาย เซอร์จอร์จ ลิซเซิล เซอร์ชาลส์ ลูคัส พันเอกฟาร์ และเบอร์นาร์ด แกสคอย

แกสคอยได้รับการลดโทษ ส่วนพันเอกฟาร์หลบหนีไปได้ ดังนั้นจึงเหลือท่านเซอร์ทั้งสองเท่านั้นที่ถูกประหารโดยการยิงเป้าที่ปราสาทโคลเชสเตอร์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1648 ปัจจุบันแท่งหินที่ลำลึกถึงนักโทษทั้งสองในจุดที่ทั้งสองถูกประหารชีวิตยังคงอยู่


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 ธ.ค. 14, 06:13
จอห์น บิง (John Byng) เข้าร่วมราชนาวีอังกฤษเป็นนักเรียนนายเรือตั้งแต่อายุ 13 ปี หลังจากนั้นไต่เต้าเลื่อนระดับมาเรื่อยๆ จนเป็นนายพลเรือ (Admiral) ในปี 1756 ระหว่างสงครามที่เรียกว่าสงคราม 7 ปี  อังกฤษรบกับฝรั่งเศส  บิงได้รับคำสั่งให้นำกองเรือ 10 ลำ ไปช่วยป้องกันป้อมที่เกาะมินอร์กา กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการยึดครองของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1708


กองเรือของบิงขาดทั้งเงินและเวลาในการเตรียมการ  บิงคัดค้านคำสั่งเพราะเห็นว่ากองเรือยังไม่พร้อม แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายต้องเดินทางออกจากอังกฤษไปทั้งที่ยังไม่พร้อม เรือบางลำรั่ว  พลประจำเรือก็ได้รับการฝึกฝนไม่มากพอ  บิงมีกำลังพลประมาณ 700 คน ในขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสเพิ่งส่งทหาร 15000 นายยกพลขึ้นยึดเกาะมินอร์กา เมื่อบิงเดินทางไปถึงเกาะ ก่อนที่บิงจะติดต่อกับทหารอังกฤษที่รักษาการในป้อมบนเกาะ และส่งทหารขึ้นบกเพื่อช่วยป้องกันป้อม กองเรือของบิงพบกองเรือฝรั่งเศส มีการประทะกัน  กองเรือฝรั่งเศสถอยหนี ด้วยความไม่พร้อมและอุปสรรคหลายอย่าง กองเรือของบิงไม่ได้ติดตามเพื่อทำลายกองเรือฝรั่งเศส  แต่พยายามจะช่วยทหารอังกฤษที่รักษาป้อมบนเกาะ แต่สุดท้ายบิงพบว่ากองเรือของบิงไม่สามารถช่วยเหลือหรือยกพลขึ้นเกาะเพื่อช่วยทหารอังกฤษบนเกาะได้ จึงถอนกองเรือไปที่ยิบรอนต้าเพื่อซ่อมแซมเรือและรักษาทหารที่บาดเจ็บ


เมื่อไปถึงยิบรอนต้า บิงส่งจดหมายขอกำลังเพิ่มเพื่อกลับไปช่วยทหารที่ป้อม แต่ทางอังกฤษกลับปลดบิงออกจากตำแหน่งผู้บังคับการกองเรือ สั่งให้กลับอังกฤษ และสุดท้ายทหารในป้อมบนเกาะมินอร์กาต้องยอมแพ้ต่อฝรั่งเศสในปลายเดือนมิถุนายน 1756  


เมื่อกลับถึงอังกฤษ บิงถูกฟ้องต้องขึ้นศาลทหารในข้อหาขี้ขลาด ไม่ได้ทำการรบเต็มความสามารถ โดยเฉพาะที่ไม่ยอมติดตามกองเรือฝรั่งเศสไป  ทั้งที่ในทางยุทธิวิธี สิ่งที่บิงทำนับว่าถูกต้องสมควรแก่เหตุ  รายละเอียดความไม่พร้อมต่างๆ ของกองเรือกลายเป็นไม่ใช่สาระสำคัญ  ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต  โดยขณะนั้นมีการคาดการว่าสุดท้ายคงมีการลดหย่อนโทษ


แต่เนื่องจากการพ่ายแพ้ของอังกฤษต่อฝรั่งเศสสร้างความอับอายและโกรธแค้นแก่ปวงชนชาวอังกฤษ โดยเฉพาะพระเจ้าจอร์จที่ 2 ยิ่งนัก และใครซักคนต้องรับผิดชอบเรื่องนี้  ดังนั้นฏีกาขอลดหย่อนโทษของบิงจึงถูกพระเจ้าจอร์จปฏิเสธ แม้ว่าจะมีขุนนางและทหารเรือตำแหน่งสูงหลายคนช่วยกันเข้าชื่อยื่นฏีกาก็ยังไม่เป็นผล ดังนั้นในวันที่ 14 มีนาคม 1757 นายพลเรือจอห์น บิง ซึ่งถูกคุมขังอยู่บนเรือ HMS Monarch จึงถูกนำไปที่ท้ายเรือ และถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้า โดยบิงเป็นผู้ส่งสัญญาณให้กับหมู่ยิงเองโดยการโบกผ้าเช็ดหน้า  จอห์น บิง นับเป็นนายทหารยศสูงสุดของอังกฤษ ที่ถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้า


อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิตบิง เป็นตัวอย่างและสร้างค่านิยมให้นายทหารเรืออังกฤษรุ่นหลังเลือกที่จะใช้การรุกรบ มากกว่าการถอยหนี ที่สุดท้ายอาจต้องขึ้นศาลทหารและถูกประหารชีวิตได้ และมีส่วนที่ทำให้กองทัพเรืออังกฤษเกรียงไกร และเป็นจ้าวโลกในเวลาต่อมา


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 14, 09:42
            วันก่อนอ่านนสพ.เห็นหนังสือใหม่เล่มนี้ที่ได้รับ good reviews แล้ว
อดนึกถึงคุณชายประกอบไม่ได้

         “No need to explain why this nonfiction book made the top of my list…
Despite the ghoulish subject, this is a closely researched, indeed, scholarly study
of the bizarre customs of hunting, collecting, trading, displaying and otherwise
bonding with other people’s heads.”
(Marilyn Stasio - The New York Times Book Review)


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 ธ.ค. 14, 15:49
           วันก่อนอ่านนสพ.เห็นหนังสือใหม่เล่มนี้ที่ได้รับ good reviews แล้ว
อดนึกถึงคุณชายประกอบไม่ได้

 ขอบคุณมากครับที่แนะนำ สั่งไปแล้ว £13.59 แพงอยู่เหมือนกัน  :'(  :'(  :'(


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 14, 17:12
           แต่แรกว่าจะสั่งให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสสำหรับคุณชาย ;) แต่เปลี่ยนใจ
เพราะเห็นว่าเรื่องราวชวนสยองไม่เข้ากับเทศกาลเฉลิมฉลอง ;D


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ธ.ค. 14, 00:35
ช่วงเวลาที่อังกฤษมีการประหารนักโทษโดยการยิงเป้ามากที่สุดคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 


ในระหว่างปี 1914 - 1918  มีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับทหารที่หนีทหาร หลีกเลี่ยงการรบ หรือขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำนวนทหารทั้งหมดที่ถูกยิงเป้ายังไม่มีการเปิดเผยจนกว่าจะถึงปี 2018 ซึ่งครบรอบหนึ่งร้อยปีที่ทำให้เอกสารบางอย่างที่เป็นความลับเปิดเผยได้ ซึ่งรวมถึงจำนวนที่แน่นอนของทหารที่ถูกยิงเป้า   แต่คาดการว่าอยู่ที่ 306 คน ซึ่งนับว่าไม่มาก เมื่อคิดถึงว่ามีทหารอังกฤษมากกว่า 8 ล้านคนเข้าสู่สงคราม


ตั้งแต่ช่วยปลายศตวรรษที่ 19  มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือการประหารชีวิตทหารอังกฤษโดยการยิงเป้า ต้องไม่กระทำบนผืนแผ่นดินอังกฤษ ให้กระทำเฉพาะบนแผ่นดินของประเทศอื่นเท่านั้น ทำให้ในระหว่างสงครามโลกรั้งที่ 1 ทหารที่หนีทหารแล้วถูกจับได้แม้จะในแผ่นดินอังกฤษ จะถูกส่งตัวไปขึ้นศาลทหารที่ฝรั่งเศส และถ้าต้องประหาร ก็ประหารซะที่ฝรั่งเศสเลย


ทหารนายแรกที่ถูกประหาร ได้แก่ พลทหารโธมัส ไฮท์เกต วัย 19 ปี ซึ่งหนีทหารระหว่างการรบในสมรภูมิแห่งมังส์ ในช่วงต้นของสงคราม ไฮท์เกตถูกจับได้หลังแนวรบ เจ้าตัวอ้างว่าหลงกับหน่วยและกำลังหาทางกลับหน่วยอยู่ แต่ศาลทหารไม่เชื่อ ตัดสินให้ประหารชีวิต ไฮท์เกตถูกยิงเป้าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1914  ระหว่างการประหาร มีทหาร 2 กองพันจากกรมทหารดอร์เส็ตและเชสเชียร์เข้าร่วมเป็นพยาน เพราะทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องการให้ทหารได้เห็นโทษของผู้ที่ขี้ขลาดและหนีทหาร


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ธ.ค. 14, 02:41
เฮอร์เบิต เบอร์เดน อายุเพิ่ง 16 ตอนที่สมัครเข้าร่วมกับกองทัพในปี 1914 เฮอร์เบิตโกหกว่าอายุ 18 ปี 2 เดือนตอนสมัคร หน่วยของเฮอร์เบิตถูกส่งไปแนวหน้า วันที่ 2 กรกฏาคม 1915 เฮอร์เบิตถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่และหนีทหาร เมื่อหน่วยถูกส่งเข้าแนวรบ แต่ตัวเฮอร์เบิตกลับอยู่แนวหลัง  เฮอร์เบิตอ้างว่าต้องการเดินทางไปปลอบใจเพื่อนทหารในอีกหน่วยที่เพิ่งเสียพี่ชายไป  แต่เนื่องจากเฮอร์เบิตมีประวัติว่าเคยละทิ้งหน้าที่มาก่อน ศาลทหารจึงตัดสินให้ประหารชีวิต เฮอร์เบิตถูกยิงเป้าเช้าวันที่ 25 กรกฏาคม 1915 ขณะอายุได้ 17 ปี อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเป็นทหารได้จริงๆ ด้วยซ้ำ

ภาพเฮอร์เบิต เบอร์เดน และอนุสรณ์สถานละลึกถึงทหารที่ถูกยิงเป้า อนุสรณ์สถานนี้อยู่ที่เมืองสแตฟฟอร์ด รูปปั้นที่อนุสรณ์เชื่อว่าจำลองมาจากเฮอเบิต เบอร์เดน


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ธ.ค. 14, 03:01
แม้จะมีทหารถูกประหารชีวิตมากกว่า 300 คน แต่จริงๆ แล้วอังกฤษใช้โทษประหารสำหรับทหารที่มีความผิดน้อยมาก เมื่อเทียบกับกองทัพของประเทศอื่นๆ เช่นทหารฝรั่งเศสถูกยิงเป้าฐานหนีทหารมากกว่า 600 คน 

จากจำนวนทหารอังกฤษที่ทำความผิดฐานต่างๆ ที่มีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต  มีประมาณ 3000 คนที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต และในจำนวนนี้ มีเพียงประมาณ 10% หรือ 300 คนที่ถูกประหารชีวิตจริงๆ ดังนั้นโอกาสที่ทหารจะถูกยิงเป้าฐานหนีทหารนั้นนับว่าน้อยมากทำให้ทหารที่มีความผิดส่วนใหญ่มักจะมีความหวังถึงโอกาสรอดชีวิต นอกจากนั้นการประหารส่วนใหญ่นักโทษจะถูกประหารครั้งละคนเดียว น้อยครั้งมากที่มีการประหารชีวิตนักโทษพร้อมๆ กันทีละหลายๆ คน เช่นวันที่ 26 กรกฏาคม 1915 ทหาร 3 คนจากกรมทหารวูสเตอร์เชียร์ ถูกประหารชีวิตพร้อมๆ กัน

ทหารคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกประหารเพียง 4 วันก่อนสงครามยุติลง8nvพลทหารลูอิส แฮริส ถูกประหารเนื่องจากหนีทหาร


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 14, 10:21
ทหารคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกประหารเพียง 4 วันก่อนสงครามยุติลง8nvพลทหารลูอิส แฮริส ถูกประหารเนื่องจากหนีทหาร

"8nv" อาจเป็นรหัสลับที่ใช้ระหว่างสงคราม พยามยามถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า "คือ"  
.
.
.
ล้อเล่นหนา อย่าถือความ  ;D


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 ธ.ค. 14, 17:54
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มีจารชนเยอรมัน 8 นายถูกยิงเป้าที่หอคอยแห่งลอนดอน จารชนคนแรกที่ถูกยิงเป้าคือคาร์ล ฮันส์ โลดี้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้น โลดี้ซึ่งทำงานเป็นไกด์ทัวร์อยู่ในฮัมบูร์ก  เนื่องจากโลดี้เคยแต่งงานกับหญิงอเมริกันและเคยอาศัยอยู่ในอเมริกา โลดี้จึงพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันได้ดี เมื่อสงครามเริ่มขึ้น โลดี้อาสาเป็นจารชนให้เยอรมัน  โลดี้ไปอยู่ที่เอดินเบอร์ก คอยสังเกตเรือที่เข้าออกจากท่าเรือ จากนั้นส่งโทรเลขแจ้งหน่วยเหนือในเยอรมันให้ส่งเรือดำน้ำมารอจัดการเรือเหล่านั้น

โลดี้เริ่มประมาทและส่งโทรเลขโดยไม่เข้ารหัส  แต่ในฐานะคนอเมริกัน แต่ส่งโทรเลขเป็นภาษาเยอรมันย่อมสร้างความสงสัย ในที่สุดโลดี้ถูกจับในเดือนตุลาคม 1914 และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้า

เมื่อโลดี้เดินออกจากห้องขังไปสู่ลานประหารในวันที่ 6 พฤศจิกายน 1914 โลดี้หันไปถามนายทหารที่ควบคุมตัวว่า  เค้าคิดว่านายทหารคงไม่ต้องการจะสัมผัสมือกับสายลับเยอรมันที่กำลังจะถูกประหาร  นายทหารตอบว่าแน่นอน  แต่เค้าเค้าจะสัมผัสมือกับคนกล้า แล้วก็ยื่นมือมาสัมผัสมือกับโลดี้ 








กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 ธ.ค. 14, 18:14
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังมีทหารอังกฤษที่ถูกยิงเป้าอีก


ในระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพของไอร์แลนด์ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1919 - 1921 เกิดการจราจลขึ้นในหน่วยทหารไอริช แรงเจอร์ซึ่งประจำการอยู่ในอินเดีย มีทหารไอริชเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน หลังการกบฏสิ้นสุดลง ทหาร 88 นายถูกจับกุมและต้องขึ้นศาลทหาร ทหารส่วนใหญ่ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี  มี 14 คนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ 13 คนได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เฉพาะพลทหารเจมส์ ดาลีย์วัย 21 ปีคนเดียวที่ถูกยิงเป้า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1920


ในปี 1930 มีการเปลี่ยนกฏหมาย ทหารที่หนีทหาร ละทิ้งหน้าที่ ขี้ขลาด หรือหลับในเวลาเข้าเวรยามจะไม่ถูกประหารชีวิตแล้ว ยกเว้นทหารที่เป็นกบฏหรือก่อการจราจลในช่วงเวลาสงคราม  ทำให้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น ทหารอังกฤษไม่ต้องกลัวจะถูกยิงเป้าอีก ในสมรภูมิแอฟริกาเหนือช่วงปี 1942  รถถังของรอมเมลเปิดการรุกไล่ขนานใหญ่ ทหารอังกฤษถอยร่นอย่างรวดเร็ว เซอร์คล็อด ออชินเลก ผู้บัญญาการทหารอังกฤษในแอฟริกาเหนือ ส่งโทรเลขถึงกระทรวงสงครามในอังกฤษขอให้มีการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่กับทหารที่หนีทหารหรือละทิ้งหน้าที่ บางครั้งสารวัตรทหารอังกฤษเองถึงกับต้องยิงทหารฝ่ายเดียวกันที่กำลังละทิ้งหน้าที่    ขณะนั้น มีทหารมากกว่า 120 นายถูกฟ้องข้อหาละทิ้งหน้าที่รอการตัดสินอยู่ในอิยิปต์


กระทรวงสงครามปฏิเสธคำขอของออชินเลก ทำให้ไม่มีทหารอังกฤษนายใดถูกยิงเป้า แต่โทษประหารยังมีการใช้กับทหารจากอาณานิคม มีทหารศรีลังกาถูกประหารฐานละทิ้งหน้าที่ 1 คนในปี 1942 แต่ถูกแขวนคอแทนที่จะเป็นยิงเป้า


แม้หทารอังกฤษจะไม่ถูกประหารชีวิตอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีการประหารโดยการยิงเป้าเกิดขึ้นในอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เป็นการประหารทหารอเมริกันในเรือนจำเชปตัน มอลเลทในซอมเมอร์เซท ซึ่งระหว่างสงครามใช้เป็นที่คุมขังทหารอเมริกัน  มีทหารอเมริกันที่ทำความผิดฐานต่างๆ ถูกตัดสินโดยศาลทหารอเมริกันให้ประหารชีวิตโดยการยิงเป้าที่นี่ เบนจามิน ไพเกต ใช้มีดแทงเพื่อนทหารนายหนึ่งเสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาท เป็นนักโทษประการรายสุดท้ายที่ถูกยิงเป้าบนแผ่นดินอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 พศจิกายน 1944


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:04
โทษประหารแบบต่างๆ ที่เคยใช้กันในอังกฤษก้พูดถึงไปเกือบหมดแล้ว  คราวนี้ก็ถึงเวลาของโทษประหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ใช้กันแพร่หลายและยาวนานที่สุด มีนักโทษถูกประหารด้วยวิธีนี้นับหมื่นคน นั่นก็คือการแขวนคอ

การแขวนคอมีใช้มานานเท่าใดไม่มีใครทราบ  แต่คาดว่ามีหลังยุคที่โรมันเข้ามายึดครองอังกฤษ  ในยุคแองโกล-แซกซอนและพวกไวกิ้งครองเกาะอังกฤษ ราวๆ ช่วงยุคมืดถึงต้นยุคกลาง การประหารชีวิตมีไม่บ่อยนัก เพราะสมัยนั้นผู้กระทำผิดสามารถชดใช้เป็นเงินแทนได้ เช่นถ้าทะลเาะกันแล้วทำให้อีกฝ่ายตาบอดก็เสียเงินเท่านี้ ถ้าอีกฝ่ายตายก็เสียอีกเท่านี้ ดังนั้นอาชญากรที่กระทำผิดก็จ่ายค่าเสียหายให้เหยื่อหรือญาติของเหยื่อเป็นเงินหรือทองเท่าไหร่ก็ว่ากันไป  เช่นในสมัยกษัตริย์อังเฟรดได้กำหนดอัตราค่าชดเชยไว้ตั้งแต่การทำให้อีกฝ่ายฟันหัก ไปจนถึงค่าชดเชยจากการสังหารพระระดับบิชอป ทุกอย่างชดใช้ด้วยเงินได้ ถ้าใช้เงินไม่ได้ค่อยเอาไปประหารแทน

ภาพกษัตริย์อัลเฟรดและเหรียญที่ใช้กันสมัยนั้น


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:21
ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อพวกนอร์มันเข้ามายึดครองอังกฤษในสมัยวิลเลียมผู้พิชิตในปี 1066  ซึ่งกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 2 ซึ่งครองราชย์ต่อจากวิลเลียมผู้พิชิต  ทำให้การประหารชีวิตโดยการแขวนคอเป็นมาตรฐานการลงโทษในประเทศอังกฤษ โดยแรกเริ่มเดิมที่ไม่ใช่นำมาใช้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานฆาตกรรม  แต่ใช้ลงโทษผู้ที่บังอาจล่ากวางของพระราชา

เมื่อสิ้นสมัยของวิลเลียมที่ 2 กษัตริย์องค์ต่อมาพระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 โทษประหารโดยการแขวนคอเริ่มเป็นมาตรฐานการลงโทษในอังกฤษ  ถูกใช้ลงโทษอาชญากรตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปคนถึงการทำฆาตกรรม ซึ่งมีการใช้ร่วมกับการลงโทษที่ไม่ถึงกับประหารเช่นการควักลูกตาหรือตัดมือด้วย

แล้วทำไมต้องแขวนคอด้วยหละ คำตอบง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่ใช้การประหาร แต่ใช้การขังคุกแทน เหล่าขุนนางมองว่าจะเป็นภาระที่สิ้นเปลืองมากเกินไป เพราะต้องสร้างคุก จ้างผู้คุม จ่ายค่าอาหารนักโทษ ดังนั้นการแขวนคอนักโทษซะจึงประหยัดกว่ากันมาก ต้นทุนถูก เพชรฆาตไม่ต้องใช้ทักษะ แถมยังเป็นการขจัดปัญหา กำจัดอาชญากรประเภทต่างๆ ไปด้วยในตัว

ภาพวิลเลี่ยมที่ 2


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 ธ.ค. 14, 04:37
การแขวนคอเป็นการประหารที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ซับซ้อน  เพียงต้นไม้ใหญ่ๆ ซักต้น เชือกอีกเส้นก็ทำได้แล้ว ในบางเมืองใช้การแขวนคอนักโทษใต้ต้นไม้จนถึงศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว  แต่ส่วนใหญ่จะมีการตั้งตะแลงแกงสำหรับแขวนคอไว้เป็นกิจจลักษณะ

เนื่องจากถนนหนทางในเมืองต่างๆ ในอดีตค่อนข้างคับแคบ   การประหารนักโทษในยุคแรกๆ นั้นต้องการให้มีคนมาดูกันมากๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่อาจจะกระทำผิดเกรงกลัว ดังนั้นจึงนิยมทำกันย่านชานเมืองที่มีพื้นที่กว้างขวางมากพอให้ฝูงชนดูได้อย่างสะดวก แต่ไม่ไกลกว่าจะเดินทางจากเมืองมาดูได้โดยการเดินเท้ามา  เช่นในลอนดอน ลานประหารจะอยู่ที่ไทเบิร์น ซึ่งอยู่ชานกรุงลอนดอนในอดีต


ตะแลงแกงที่ไทร์เบิร์นถูกเรียกว่าไทเบิร์นทรี มีลักษณะเป็นเสาไม้ 3 ต้นและคานเชื่อมต่อกัน สามารถแขวนคอนักโทษได้คราวละหลายๆ คน  มากที่สุดที่มีการแขวนคอในคราวเดียวกันคือ 24 คนเมื่อปี 1649 ปัจจุบันไทเบิร์นกลายเป็นย่านกลางเมืองลอนดอนแถบที่เรียกว่ามาร์เบิล อาร์ช ซึ่งยังมีสัญลักษณ์บอกตำแหน่งที่เคยเป็นที่ตั้งของตะแลงแกงเป็นอนุสรณ์บอกไว้


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ม.ค. 15, 17:28
พ้นช่วงเวลาเทศกาลแห่งความสุขทั้งคริสต์มาสและปีใหม่แล้ว ก็กลับมาเรื่องเครียดๆ โหดๆ ต่อได้ แต่เนื้อหาต่อไปนี้ผู้ปกครองควรพิจารณา

การประหารชีวิตโดยการแขวนคอนั้น นักโทษจะเสียชีวิตด้วยเหตุหลักๆ หนึ่งในสองประการ

ประการแรกคือ เสียชีวิตจากการถูกเชือกรัดคอ ทำให้หลอดเลือดแดงหรือดำที่ส่งเลือดเข้าหรือออกจากสมองถูกปิดกั้นเพราะเชือกรัด หรือหลอดลมถูกรัดให้หายใจไม่ออก  ถ้าบ่วงไปกดทับสมองส่วนเซเลเบลัมนักโทษอาจมีอาการปัสสาวะอุจจาระราดด้วย  การเสียชีวิตจากการรัดคออาจใช้เวลาประมาณ 10 - 20 นาทีกว่าจะเสียชีวิต เป็นการตายที่ยืดยาวและทรมารมาก


ประการที่สองคือ เสียชีวิตจากการที่กระดูกคอหักเนื่องจากน้ำหนักตัวที่ถ่วง การเสียชีวิตในลักษณะนี้ นักโทษจะเสียชีวิตทันที ไม่ทรมารเหมือนการขาดอากาศ


การประหารด้วยการแขวนคอในรยะเริ่มแรกนั้นยงไม่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  นักโทษที่โชคดีอาจเสียชีวิตเพราะคอหัก แต่นักโทษส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการถูกรัดคอมากว่า ซึ่งนักโทษจะเสียชีวิตจากวิธีใดขึ้นกับเงื่อนไขหลายๆ อย่าง เช่นความยาวของเชือก น้ำหนกของตัวนักโทษ ระยะทางการทิ้งตัวลงมาเมื่อมีการประหาร(drop) หรือแม้แต่ตำแหน่งของปมเงื่อนว่าอยู่บริเวณไหนหรือด้านไหนของลำคอ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการประหารโดยการแขวนคอทั้งนั้น เพชรฒาตที่มากประสบการณ์สามารถกำหนดได้ว่าจะให้นักโทษเสียชีวิตแบบใด ทรมารมากแค่ไหน

จริงๆ แล้วนอกจากสองสาเหตุหลักๆ ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักโทษที่ถูกแขวนคอเสียชีวิตได้ คือการที่นักโทษคอขาด  เพราะการแขวนคอนั้น ถ้าเพชรฆาตคำนวนไม่ดี  ใช้เชือกยาวเกินไปหรือระยะการทิ้งตัวของนักโทษมากเกินไป หรือนักโทษน้ำหนักตัวมาก หรือแม้แต่นัดโทษอายุมาก กล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง เชือกอาจจะรัดจนคอนักโทษขาดได้

ภาพประกอบ นักโทษที่คอขาดจากการแขวนคอ   ภาพโหดมาก โปรดคิดให้ดีก่อนเลื่อนลงไปดู ไม่มีการเซ็นเซอร์














กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ม.ค. 15, 18:06
แม้การถูกแขวนคือจะโหดร้าย แต่ก็มีกรณีแปลกประหลาดที่ถูกบันทึกไว้

วิลเลี่ยม เครก หรือวิลเลี่ยมแห่งสแคบบี้ เป็นหนุ่มนักรบชาวเวลส์ที่ต่อต้านการยึดครองของอังกฤษในรัชสมัยกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 ช่วงคริสตศตวรรษที่ 13  ซึ่งถ้าใครยังจำได้ เอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้นี้ก็คือคนที่ยกทัพไปยึดครองสก็อตแลนด์ แล้วสั่งประหารพ่อเซอร์วิลเลียม วอลเลซของเรานี่แหละ เอ็ดเวิร์ดไม่ได้ยึดแค่สก็อต แต่ยังยึดครองเวลส์ด้วย ปัจจุบันในเวลส์มีปราสาทหลายแห่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ยังหลงเหลืออยู่รอผู้ไปเยี่ยมเยือน  ผมเองไปแวะชมมา 5-6 แห่งแล้วยังดูไม่ครบเลย

วิลเลี่ยม เครก ถูกจับด้วยข้อหาว่าสังหารทหารอังกฤษไป 13 คน ดังนั้นจึงถูกตัดสินให้ประหารโดยการแขวนคอ  โดยเครกและนักโทษอีกคนถูกแขวนคอในเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 1290  ร่างของทั้งสองถูกแขวนทิ้งไว้บนตะแลงแกงจนถึงสี่โมงเย็น

ญาติตั้งใจจะนำร่างของเครกกลับไปฝังที่เมืองสวอนซี   วิลเลี่ยม เดอบรอยส์บันทึกไว้ว่า

"หน้าของเครกดำเพราะเลือดคั่ง ตาทั้งคู่ถลนออกมานอกเบ้า ถูกยึดไว้ด้วยหนังตาบางๆ เบ้าตาเต็มไปด้วยเลือด ลิ้นปลิ้นออกมานอกปากและเต็มไปด้วยเลือด นิ้วมือนิ้วเท้าบวมและดำคล้ำ ปัสสาวะอุจจาระราด"

ดูแล้วเครกตายแล้วแน่ๆ  แต่อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา เครกกลับเริ่มมีสัญญาณชีพปรากฏ และในเวลาแค่สองสัปดาห์ต่อมา เครกก็หายเป็นปกติ ไม่มีอาการหรือสัญญาณหลงเหลือว่าเคยถูกแขวนคอมาแล้ว มีชีวิตต่อมาจนถึงอย่างน้อยก็ปี 1307 

ภาพการประหารวิลเลี่ยม เครก


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ม.ค. 15, 18:39
มาการ์เร็ต ดิ๊กสันแต่งงานและมีลูก 2 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ในปี 1723 ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ มาการ์เร็ตทิ้งสามีและตัดสินใจจะเดินทางไปอาศัยอยู่กับญาติที่นิวคาสเซิล ระหว่างทาง มาการ์เร็ตได้งานที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่งในอีกหมู่บ้านใกล้เมืองเอดินเบอร์กเช่นกับบ้านเก่า  ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ มาการ์เร็ตตั้งครรภ์  อย่างไรก็ตาม เธอตัดสินใจจะปิดเรื่องนี้เป็นความลับไม่ให้ใครรู้

ไม่นานหลังจากนั้น มีผู้พบศพเด็กทารกลอยอยู่ในแม่น้ำทวีด หลักฐานต่างๆ ชี้มาว่าเป็นทารกของมาการ์เร็ต ทำให้นางถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีว่าฆาตกรรมลูกของเธอเองโดยการทิ้งเด็กทารกที่เพิ่งเกิดลงไปในแม่น้ำ มาการ์เร็ตถูกตัดสินให้ประหาร

มาการ์เร็ตถูกประหารเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1724 ที่เอดินเบอร์ก ร่างของมาการ์เร็ตถูกแขวนห้อยไว้บนตะแลงแกงนานมากกว่าครึ่งชั่วโมง เพชรฆาตถึงกับห้อยตัวกับขาของเธอเพื่อให้แน่ใจว่ามากร์เร็ตเสียชีวิตแน่นอนแล้ว หลังจากนั้นร่างของเธอถูกนำลงมาใส่โลงไม้ ญาติๆ นำร่างไปประกอบพิธีศะที่หมู่บ้านห่างไป 6 ไมล์

ในระหว่างพิธีศพ มีเสียงออกมาจากโลงศพ เมื่อเปิดโลงออกมาปรากฏว่ามาการ์เร็ตยังมีชีวิต  และสุดท้ายมาการ์เร็ตยังมีชีวิตต่อมาได้อีกหลายปี นี่เป็นอีกกรณีที่นักโทษแขวนคอรอดชีวิตจากการประหารมาได้




กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ม.ค. 15, 18:41
ยุคทองของการแขวนคอนักโทษคือช่วงรัชสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8  ซึ่งมีการประมาณการว่ามีนักโทษถูกแขวนคอมากกว่า 72,000 คน หรือมากกว่า 2,000 คนต่อปี  ซึ่งในยุคนี้ โทษประหารไม่ได้ใช้เฉพาะกับผู้ที่ประกอบอาชญากรรมรุนแรงเช่นการฆาตกรรม แต่ใช้กับผู้ที่มีความผิดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเช่นการลักขโมยเช่นขโมยไข่หรือแม้แต่เพราะเป็นยิปซี  เรียกได้ว่าประหารกันเป็นว่าเล่น เพราะจำนวนนักโทษประหารเยอะ การประหารจึงไม่ได้ประหารนักโทษทีละคน แต่เป็นการแขวนคอหมู่ บ่อยครั้งที่มีการประหารนักโทาทีละโหลหรือมากกว่าในครั้งเดียว ยุคนี้แหละที่การประหารในลอนดอนย้ายไปประหารกันที่ไทเบิร์น และมีการสรา้งไทเบิร์น ทรี หรือต้นไม้ไทเบิร์นขึ้น

เมื่อกาลเวลาผ่าน การประหารโดยการแขวนคอเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น จากการให้นักโทษตายอย่างทรมารด้วยการถูกรัดคอ ก็พัฒนาให้นักโทษเสียชีวิตเร็วขึ้น นักโทษประหารเองส่วนใหญ่ก็เคยเห็นการประหารคนอื่นมาก่อน ทำให้บางคนตัดสินใจที่จะจบชีวิตตัวเองให้เร็วขึ้น ด้วยการกระโดดลงจากตะแลงแกงเพื่อให้น้ำหนักตัวถ่วงให้เสียชีวิตจากคอหัก แทนที่จะเพราะถูกรัดคอ


กระทู้: เขาประหารกันอย่างไร ในอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 ก.พ. 15, 01:37
ทดสอบใส่คลิปครับ ไม่มีอะไร :)