เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 45263 ลอดลายรั้ว...วินด์เซอร์
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 02:09


เมื่อทรงเข้าพิธีสวมมงกุฎแล้ว (2 มิ.ย. 1953)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:09

 จากวินาทีที่สมเด็จได้เสด็จกลับมาสู่ผืนแผ่นดินอังกฤษนั้น พระองค์ได้ถูกห้อมล้อมไปด้วยเหล่ากรมวังที่ต้องทำหน้าที่ถวายรายงานถึงเรื่องต่างๆอันที่จะเป็นพระราชกรณียกิจต่อไปในข้างหน้า..

อีกทั้งเรื่องการรับรองแขกบ้านแขกเมืองที่จะเข้าร่วมในงานพระราชพิธีที่มีมาในยศถาแตกต่างกัน ทั้งพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี จากหลายๆประเทศ

และ..รวมทั้งการรับรองพระปิตุลา ดยุค แห่ง วินด์เซอร์ ผู้ซึ่งเริ่มก่อการไม่สงบด้วยการทวงถามถึงเรื่องเบี้ยหวัดรายปี จำนวนกว่าห้าหมื่นปอนด์ที่ทรงเคยได้รับจากพระเจ้ายอร์จที่หก พระอนุชามาตั้งแต่ปี 1936

ซึ่งบัดนี้ เงินทั้งหมดนั่นได้ตกมาเป็นสมบัติของสมเด็จฯ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจจะประทานก็ได้ ไม่ประทานก็ได้

ท่านดยุค..ได้เตือนมาว่า เงินจำนวนนี้ต้องยังคงจ่ายต่อไป..และทนายความของท่านได้กำกับข้อความมาว่า เพราะเป็นเงินจากกองมรดกอันเป็นสิทธิชอบธรรมของท่านดยุคตั้งแต่ครั้งที่สละราชสมบัติและได้โอนไปให้ในความดุแลของพระอนุชา



ท่านดยุค..ได้ทราบดีว่า..สมเด็จฯจะต้องนำความนี้ไปปรึกษากับพระอัยยิกา พระนางแมรี่ ผู้ซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์แท้ๆ และ ควีนมัม ที่ต้องมีส่วนออกความเห็นด้วย ถึงกับคาดการณ์ล่วงหน้าได้

ดังที่ได้เขียนจดหมายไปหาหม่อมวอลลิสจากอังกฤษว่า..

"It's hell to be even that much dependent on these ice-veined bitches, I'm afraid they've got the fine excuse of national economy if they want to use it."



(หมายเหตุ..ตรงนี้ไม่อยากแปลเลย เพราะเป็นภาษาไทยไม่ว่าจะพลิกแพลงขนาดไหน ฟังแล้วก็ยังปวดใจ  ลุงจะเรียกหลาน..ว่า บิช เนี่ยนะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:10

 และที่แน่ๆคือ ทางฝ่ายสมเด็จฯไม่ต้องใช้ข้ออ้างถึงเรื่องเศรษฐกิจเลยสักนิด เพราะ ควีนมัมออกโรงเองเลยว่า..
สมบัติที่ท่านดยุคได้หอบไปก็มีล้นฟ้า แถมเอาไปให้เมียชั้นต่ำเอาไปผลาญเล่นอย่างไม่เสียดมเสียดาย
ผลการตกลงคือ ไม่จ่ายเบี้ยหวัดให้อีกต่อไป..

(ข่าวได้มีถึงพระกรรณบ่อยๆว่า หม่อมวอลลิสได้ใช้เงินซื้อรองเท้าครั้งเดียวถึงห้าสิบหกคู่ ในการช๊อปปิ้งบ้าเลือด ใช้น้ำหอมดิออริสสิโมฉีดใส่ดอกไม้ในกระถาง เพื่อจะได้หอมไปทั่วทั้งบ้าน และสุนัขของหล่อนต้องนอนในหมอนผ้าซาตินอย่างดี)

หลังจากที่พิธีศพพระเจ้ายอร์จที่หกได้ผ่านพ้นไป การรับมรดกได้เริ่มทำการกระทำกัน นั่นคือ พระราชสมบัติทั้งหมดของพระองค์ได้ตกมาเป็นของสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่ อันกอร์ปไปด้วย
เหล่าปราสาทพระราชวัง แม่ม้าพันธ์ดีหลายต่อหลายคอก เหล่าข้าราชบริพาร กรมวัง มหาดเล็ก จางวาง พนักงานรับใช้ และ พระราชเลขาธิการส่วนพระองค์ คือ เซอร์ อลัน (ทอมมี่) ลาส์เซลเลส

ซึ่งโดยความจริงแล้ว..นั่นหมายถึง ควีนมัมและพระขนิษฐา เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้ลดเหลือเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น และที่แย่ไปกว่านั้น นั่นคือ ทั้งสองต้องย้ายออกไปจากพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมซะด้วย
เนื่องจาก สมเด็จฯและพระสวามีต้องย้ายจากพระตำหนักคลาแร้นซ์เข้ามาประทับอยู่ในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม (หรือที่เรียกกันเล่นๆว่า บั๊คเอ้าส์) ที่ไม่มีใครอยากมา..
สมเด็จถึงกับทรงอุทานว่า
"ตายจริง เราต้องย้ายไปอยู่หลังสถานีรถไฟอีกแล้วหรือนี่"
เจ้าชายฟิลิป พระสวามีออกอาการเซ็งสุดขีด ถึงกับสบถว่า
"ให้ตายห่ะซิ..." ไม่มีใครอยากไปอยู่ที่นั่น เพราะมันช่างทึกทึม หนาวเย็น และ เชยสุดขีด
(พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด หรือ ดยุค ออฟ วินด์เซอร์ เคยว่า..ทั้งชื้น.. ทั้งเหม็น..)
พระเจ้ายอร์จที่หก เคยว่า หนาวยังกะอยู่ในตู้เย็น
เจ้าชายฟิลิป ทรงว่า เหมือนอยู่ในโรงเตี๊ยม
พระองค์ไม่อยากย้าย เพราะพระตำหนักคลาแร้นซ์เพิ่งตกแต่งสร้างไปอย่างทันสมัย โอ่อ่า หรูหรา (ที่หมดงบประมาณไปล้านกว่าๆนั่น)

สมเด็จได้นำความไปปรึกษากับท่านนายกฯเชอร์ชิลล์ ว่า ไม่ย้ายจะได้ไหม?
ท่านนายกฯ.ตอบกลับมาอย่างหนักแน่นว่า..
"เห็นจะไม่ได้พะยะค่ะ เพราะสมเด็จพระราชินีต้องประทับและทรงงานอยู่ในพระราชวังอันเป็นธรรมเนียมแต่โบราณของความเป็นกษัตริย์"

ในที่สุดก็ต้องทรงยอมแพ้แก่ท่านนายกไปแต่โดยดี ส่วนเจ้าชาย
ฟิลิปได้รื้อฉากไม้เมเปิ้ลสีขาวลงมาจากผนังเพื่อนำไปติดในห้องบรรทมในพระราชวัง
ท่านนายกเชอร์ชิลล์ได้เสนอความเห็นให้ทรงเปลี่ยนสลับที่ประทับกับพระมารดาและพระขนิษฐา โดยให้คนทั้งสองย้ายออกไปใช้พระตำหนักคลาแร้นซ์แทน เพราะในตอนนั้นควีนมัมทรงเริ่มมีพระอาการแปลก
กล่าวคือ เริ่มมาสนใจในเรื่องการเข้าทรง เรื่องจิตวิญญาณ และทรงเชื่อว่า วิธีนี้อาจติดต่อสื่อสารกับพระสวามีที่ล่วงลับได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:11

 สมเด็จฯทรงเห็นชอบด้วยในการนี้...ก็หมายถึงว่า ท่านนายกได้ทำหน้าที่เป็นทูตไปเจรจา เพราะอาจต้องใช้จิตวิทยาทางการทูตให้มากกว่าธรรมดาที่จะโน้มน้าวให้อดีตพระราชินีทรงยินยอมย้ายจากพระราชวัง
มาประทับอยู่พระตำหนัก..
โดยท่านเชอร์ชิลล์ได้อ้างว่า..เมื่อสิ้นสูญพระเจ้ายอร์จไปแล้วประเทศชาติได้กำลังต้องการพระปรีชาสามารถของพระองค์ให้มาช่วยค้ำจุนมากกว่าแต่ก่อน เห็นทีจะยังยอมให้ทรงเกษียณยังไม่ได้

ควีนมัม..ทรงเกี่ยงเล็กๆว่า..ไม่อยากจากห้องพระบรรทมในพระราชวังไป เพราะชอบเตาผิงไฟหินอ่อนที่มีติดตั้งอยู่ในห้อง
ท่านนายก ก็ว่า..กระหม่อมจะจัดการเคลื่อนย้ายไปให้..

ควีนมัม ทรงเกี่ยงต่อไปว่า..พระองค์ไม่อยากสิ้นเปลืองไปกับการย้ายไปอยู่ในสถานที่หรูหราอย่างนั้น...
ท่านนายกก็ว่า..กระหม่อมจะเพิ่มเงินงบประมาณการใช้จ่ายส่วนพระองค์จาก สองแสนสอง ต่อปี ไปเป็น สามแสนหก รวมทั้งค่าใช้จ่ายของคุณพนักงานอีกสิบห้า

ควีนมัมก็ทรงเกี่ยงต่อไปว่า..แล้วบ้านที่นอกเมืองล่ะ.. (ทั้งๆที่พระองค์เพิ่งทรงซื้อ Castle of Mey ที่ Scotland ไปหมาดๆไม่นานมานี้)
ท่านายกก็ว่า..กระหม่อมได้จัดมอบพระตำหนัก รอยัล ลอดจ์ ที่
วินด์เซอร์ ปาร์ค ใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ไว้ถวายแล้ว

ท่านนายกเชอร์ชิลล์ ร่ำๆจะหมดความอดทน เกือบหลุดปากไปว่า..ถ้าพระองค์อยากจะได้บิ๊ก เบน กระหม่อมก็จะรื้อมาถวาย...
แต่..เผอิญว่า..ควีนมัมได้ทรงหยุดการเกี่ยงงอนไปแต่แค่นั้น...ท่ามกลางความโล่งใจของทุกๆฝ่าย
ส่วนองค์สมเด็จฯ ทรงตามพระทัยพระมารดาในแทบทุกเรื่อง เนื่องจากทรงเห็นพระทัยในความสูญเสียความหลังแห่งสิบหกปีของความยิ่งใหญ่ ที่เคยทรงมีทุกอย่าง
เพชรนิลจินดา มหามงกุฏ ปราสาทราชวัง ข้าราชบริพาร เพียงแต่สมเด็จฯไม่เคยทรงทราบว่า สิ่งที่พระมารดารู้สึกว่าขาดหายไปนั้น ไม่ใช่สิ่งของ หรือ มหาสมบัติ
หากแต่เป็น..การมีส่วนในความคิดเห็นของการบริหารราชบัลลังค์ต่างหาก ดังพระราชหัตถเลขาที่ได้ส่งให้กับท่านผู้หญิงแอร์ลี่ย์ พระสหายสนิทว่า
"เมเบลที่รัก..ฉันรู้สึกขัดอกขัดใจจริงๆนะ..เพราะเมื่อก่อน..ไม่ว่าเรื่องอะไร พระเจ้าอยู่หัวเป็นต้องมาบอกให้ฉันรู้ก่อนใครๆ"

กระนั้น..ขนาดยังไม่ทันที่จะย้ายที่ประทับ..ควีนมัมก็ได้จัดการสั่งทำกล่องหนังสีแดง (สำหรับหนังสือราชการ) ที่มีตัวอักษรสีทองเขียนไว้เด่นชัดว่า
"HM Queen Elizabeth the Queen Mother"
ตั้งให้ใครต่อใครเห็นเป็นสง่า    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:12

 สมเด็จพระราชินี..ได้ทรงแสดงความเป็นผู้นำในพระองค์เอง โดยการที่มิได้ยกพระสวามีขึ้นเทียบเท่า
มิหนำซ้ำ ในกล่องหนังสือราชการส่วนพระองค์ก็มิได้ทรงอนุญาตให้พระสวามีร่วมเกี่ยวข้อง
และในข้อนี้ พระองค์ได้ผิดแผกไปจากพระบุรพกษัตริย์องค์ก่อนๆ
เช่น สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียได้ให้พระราชอำนาจแก่เจ้าชาย
อัลเบิร์ตพระสวามีในเรื่องการร่วมมีส่วนในกล่องหนังสือราชการ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด ได้ทรงอนุญาตให้แก่พระสุนิสา (พระนางแมรี่ พระมเหสีของพระเจ้ายอร์จที่ห้า)
พระเจ้ายอร์จที่หกและควีนมัมก็ต่างช่วยกันว่าราชการ...

ครั้งนี้คือครั้งแรก..ที่..เจ้าชายพระสวามีไม่มีสิทธิดังที่เคยปฏิบัติมาในครั้งอดีต..
คณะรัฐบาลและเหล่าเสนาบดีได้ทวนถามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อความแน่ใจ..คำตอบจากสมเด็จพระราชินีคือ..
"No to the boxes."
แต่กับพระสวามี..พระองค์ทรงโบ้ยไปว่า..เป็นความเห็นชอบของเสนาบดี..

พระสหายสนิทของสมเด็จ..ท่านลอร์ด คินรอสส์ บารอน แห่ง
กลาสคลุน ได้เขียนคอลัมน์ลงในหนังสือ นิวยอร์ค ไทม์ ถึงเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารพระสวามีของพระองค์ว่า
สมเด็จฯได้ทรงเคยปรึกษากับพระสหายว่า.."ถ้าสามีของเธออยากได้อะไร ที่เธอไม่อยากให้ เธอจะทำอย่างไร?"
พระสหายตอบว่า.."เราก็จะพูดคุยกัน และพยายามหาทางออกด้วยการอลุ้มอล่วยซึ่งกันและกันน่ะซิ"
แต่พระองค์ตอบว่า.."งั้นเหรอ นั่นไม่ใช่วิธีการของฉันเลย เพราะฉันจะบอกเขาไปว่า..ได้ซิ..ตามใจ..แต่..เบื้องหลังแล้วฉันจะพยายามทุกอย่างที่จะไม่ให้เขาได้ไปอย่างที่ต้องการ

เท่านั้นไม่พอ...สมเด็จทรงเคร่งครัดในเรื่องระเบียบแบบแผนมาก ถึงขนาดไม่ทรงอนุญาติให้พระสวามีเข้ามาในห้องสีฟ้า (Wedgwood blue room) ในขณะที่ใช้เป็นการประชุมราชการกับคณะรัฐมนตรี
(อาทิตย์ละครั้ง)
เจ้าชายฟิลิปได้ทรงบ่นน้อยพระทัยบ่อยๆว่า..เมื่อก่อน..เราเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน..แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว...
เอเวลีน เพรเบนเซน พระสหายและแขกที่ได้รับเชิญไปร่วมโต๊ะเสวยได้เขียนไว้ว่า..
"อนิจจา เจ้าชายฟิลิปที่เคยโอ่อ่า อลังการ์ ตอนนี้แทบไม่เหลือราศรีอะไร ในงานดินเนอร์ครั้งนั้น เจ้าชายไม่สามารถนั่งได้ถ้าสมเด็จยังไม่ประทับ..และถ้าโผล่เข้ามาล่าช้ากว่าสมเด็จ ต้องโค้งถวายบังคม
และต้องบอกว่า..ขอพระราชประทานอภัยในความล่าช้าของกระหม่อมพะยะค่ะ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:14

 พระเจ้าปีเตอร์..อดีตพระมหากษัตริย์แห่งยูโกสลาเวีย ได้ตรัสว่า..สงสารฟิลิปเสียจริง จะทนไปได้สักแค่ไหน

ไอลีน..ภริยาของพระสหายสนิท ไมเคิล ปาร์คเกอร์ เคยได้ยินเจ้าชายฟิลิปทรงปรารภว่า..
ไอ้นั่นก็ไม่ใช่ ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ เลยไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอะไร...

ไม่นานต่อมา..เจ้าชายได้ทรงแยกพระองค์อย่างโดดเดี่ยวแต่ในห้องที่ประทับ ติดต่อแต่กับพระภคินี เจ้าหญิงมาการิต้า สาเหตุที่มาของเรื่องก็มีอยู่ว่า..
เมื่อหลังจากการสิ้นสวรรคตของพระเจ้ายอร์ที่หก ..ฝ่ายตระกูลเมาท์แบตเทน ที่มีหัวหอกคือ ท่านลุง ลอร์ด หลุยส์ ได้ป่าวร้องเรียกประชุมญาติมิตรเชื้อสายเยอรมันแต่เก่าก่อน ให้มาร่วมดื่มแชมเปญ จัดปาร์ตี้ฉลองการกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ของ เชื้อสาย แบตเตนเบอร์ค หรือ
เมาท์แบตเทน...
เนื่องจาก สมเด็จพระราชินีของอังกฤษในปัจจุบันคือ ศรีสะใภ้ของตระกูลที่ต้องพ่วงท้ายนามสกุลของพระสวามี นั่นคือ วินด์เซอร์/เมาท์แบตเทน
อะหา..พวกเราจงดื่มให้แก่..สายเลือดแห่งเจ้านายลุ่มแม่น้ำไรน์ที่จะกลับมาผงาดอีกครั้ง..
ข้อความนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระนางแมรี่..ที่ทรงกริ้วจนแทบระงับไม่อยู่..
หนอย..ชิชะ..พระสวามีที่ล่วงลับ พระเจ้ายอร์จที่ห้าได้ทรงพยายามทุกอย่างที่จะตัดขาดจากสายเลือดเยอรมัน..ทรงยอมตัดพี่ตัดน้องเพื่อความมั่นคงของราชบัลลังค์
มาบัดนี้..
ราชบัลลังค์ที่ได้ทรงสร้างมากำลังจะตกเป็นเครื่องมือของเจ้าคนเหิมเกริมอย่างลอร์ดหลุยส์ เห็นทีจะยอมไม่ได้..
พระนางแมรี่รีบทรงแก้ใจความต่อใครๆทันที ว่าฟิลิปไม่ใช่เลือดเนื้อโดยตรงของเมาท์แบตเทน
เขาเป็น..ชเลวิค-ฮอลสไตน์-ซอนเดอร์เบอร์ค-กลัคเบอร์ค-เบค  และถ้าจะนับว่าอยู่ในสายสกุลกันจริงๆแล้ว เขาคือ กลัคเบอร์ค (Glucksburg) ต่างหาก

พระนางได้ทรงเรียกท่านนายกเชอร์ชิลล์ให้หาทันที..ได้ทรงเล่าข้อความทั้งหมดให้ฟัง พร้อมกับย้ำว่า พระองค์ไม่ต้องการเห็นความเห่อเหิมของอาการที่อยากจะกลับมาดังของท่านลอร์ดหลุยส์
และไม่ทรงต้องการเห็นลอร์ดหลุยส์ได้เข้ามามีบทบาทใดๆกับพระราชวงค์วินด์เซอร์ของพระองค์
ท่านนายกเชอร์ชิลล์เห็นพ้องในพระกระแสรับสั่งทุกประการ...และในใจยิ่งนึกชื่นชอบและศรัทธาในอดีตพระราชินีองค์นี้อีกอักโข เพราะ พระองค์นั้นคือเจ้าหญิงแห่งเยอรมันแท้ๆที่ได้กลายมาเป็นอังกฤษอย่างเต็มตัว..
และทรงรังเกียจฮิตเล่อร์อย่างจับใจ ทรงตรัสเสมอว่า..
"ฮิตเล่อร์ยังพูดภาษาเยอรมันเหน่อด้วยซ้ำ เพราะ มันไม่ใช่เยอรมันสักนิด..."

(หมายเหตุ ฮิตเล่อร์ คือ ออสเตรียนที่แปลงสัญชาติมาเป็นเยอรมัน รายละเอียด อยู่เรื่องฮิตเล่อร์ที่เคยเขียนไว้....วิวันดา)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:15

 ท่านนายกรีบขานรับนโยบายพระนางแมรี่ กลับมาตั้งโต๊ะกลมประชุมด่วน..
เหล่าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลล้วนแต่เป็นพวกกรำศึกมาแต่ครั้งสงครามโลกสองสมัยนั่น
ทุกคนเข้าใจในพระประสงค์ของพระนางเป็นอย่างดี เพราะความจงชังเยอรมันยังอยู่ครบ..ไม่ได้เหือดหายไปไหน
ดังนั้น ผลสรุปคือ สมเด็จพระราชินีต้องเป็นผู้ที่ต้องแจกแจงโดยละเอียดว่า..พระราชวงค์ของพระองค์คือ วินด์เซอร์ เท่านั้น (อย่างอื่นไม่เกี่ยว)
และเหล่าพระโอรสและพระธิดาก็ต้องเป็นวินเซอร์..
จึงได้ร่างรายงานทูลเกล้าถวาย..จากความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีใจความว่า
"คณะรัฐบาลได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์ควรที่จะยกเลิกการใช้พระนาม เมาท์แบตเทน ของพระสวามี และขอให้ทรงประกาศใช้
วินด์เซอร์เพียงอย่างเดียว
อันเป็นพระประสงค์ของพระเจ้ายอร์จที่ห้าและที่หกที่จะผดุงสายราชสกุลของพระองค์ให้รุ่งเรืองสืบไป.. "

สมเด็จฯ ทรงเห็นชอบด้วย..
แต่คนที่รุ่มร้อนคือเจ้าชายฟิลิป ที่พยายามขอต่อรองจาก House of Mountbatten and Windsor ให้มาใช้ House of Windsor and Edinburgh
ก็ไม่สำเร็จ..เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติตามความต้องการของคณะรัฐมนตรีโดยไม่สนพระทัยในความรู้สึกของพระสวามี...

เจ้าชายฟิลิป..ทรงน้อยพระทัยอย่างที่สุด ที่เพิ่งทรงรู้องค์ว่า..แทบไม่มีความสำคัญใดๆเลย..

หลังจากที่ได้ประกาศใช้ เฮ้าส์ ออฟ วินด์เซอร์ ในวันที่ 9 เมษายน 1952 ไปแล้ว..ประชาชนเริ่มมองเห็นเด่นชัดได้ว่า สมเด็จฯนั้นมิใช่นางกษัตริย์ธรรมดา พระองค์มีความเป็นผู้นำอย่างเต็มเปี่ยมที่ไม่ยอมใช้นามสกุลของพระสวามี (เป็นของแปลกในยุคนั้น)

และทุกคนก็ทราบอีกเช่นกันว่า..เมื่อเจ้าชายฟิลิปได้เข้ามาในฐานะพระสวามีนั้น พระองค์ไม่มีทรัพย์สมบัติสิ่งใดที่เป็นของตนเองเลยมีแค่ชาติตระกูลอย่างเดียวเท่านั้น
แต่บัดนี้..แม้แต่ชาติตระกูลของพระองค์ก็ไม่มีใครมองเห็นความสำคัญใดๆ
เจ้าชายเริ่มอึดอัดต่อสถานะการณ์ของตัวเองที่ช่างกลับตาลปัตรอย่างไม่น่าเชื่อ
ถ้าผู้หญิงได้อภิเษกกับกษัตริย์ หล่อนก็จะได้เป็นพระราชินีคู่พระบัลลังค์
แต่ถ้าเป็นชายที่ได้อภิเษกกับพระราชินี..เขาคนนั้นหาได้ถูกเทียบเท่าให้เป็นกษัตริย์ไม่..ยังคงเป็น เจ้าชายพระสวามีอยู่เช่นเดิม..

แต่สมเด็จฯได้เข้าพระทัยในข้อนี้..จึงได้แต่งตั้งให้พระสวามีขึ้นมาเป็น His Royal Highness, Philip Duke of Edinburgh เป็นผู้ที่จะได้รับพระเกียรติยศรองลงไปจากสมเด็จพระราชินี
และการประกาศยกระดับครั้งนี้ ทำให้ เจ้าชายพระสวามีได้ขึ้นมาอยู่เหนือกว่าใครๆในพื้นดินอังกฤษ เหนือกว่า อดีตกษัติย์ คือ ดยุค ออฟ วินด์เซอร์ และ เหนือกว่ากษัตริย์ในอนาคต เจ้าฟ้าชาย ชารลส์

นอกจากนั้นก็มีการแต่งตั้งยศทางทหารแบบกราวรูด
นั่นคือ จากเรือโททหารเรือ มาเป็น จอมพลทุกเหล่าทัพ
ที่มีเรื่องขำ..นั่นคือ ครั้งหนึ่งที่มีงานเลี้ยงดินเนอร์ ท่านลอร์ด หลุยส์ก็เพิ่งได้รับการเลื่อนยศให้เป็นจอมพลแม่ทัพเรือ ได้แต่งชุดเครื่องแบบเต็มยศมาในงาน..ก็จ๊ะกันกับเจ้าชายฟิลิปพระสวามีที่แต่งชุดด้วยเครื่องแบบเดียวกัน ยศเท่ากัน..
เลยเป็นปัญหาว่า..ใครจะตะเบ๊ะทำความเคารพใครก่อน..
คำตอบจากเจ้าชายฟิลิปคือ ..ทำความเคารพพร้อมกัน..แต่..ในใจนั้นรู้กันดีว่า..ใครควรทำความเคารพใครก่อน !!
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:17


ภาพจากคุณวิวันดาค่ะ

ลอร์ดหลุยส์ฯ เมื่อครั้งเยือนไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสงบลง
เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ทางซ้ายคือ สมเด็จพระศรีนครินทราฯ "สมเด็จย่า"ของปวงชนชาวไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 27 ก.พ. 06, 08:23

 สามเดือนผ่านไป การไว้ทุกข์ให้กับพระบรมศพของพระเจ้ายอร์จที่หกก็เป็นอันว่าจบสิ้น..
ประชาชนเตรียมรอรับงานอันเป็นมหามงคลที่กำลัง
จะมีขึ้นในปีต่อไป ตามหมายกำหนดการคือ วันที่ 2 มิถุนายน 1953 งานนั้นคือ พิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะจัดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่สำหรับพระราชินี
ประชาชนต่างลืมเรื่องทุกข์ยากที่ผ่านมาจนสิ้น ต่างหายใจเข้าออกถึงพิธีอันยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
หนังสือพิมพ์ก็พากันเขียนเรื่องราวย้อนหลังเปรียบเทียบไปว่า เหมือนกับเข้าสู่ความรุ่งเรืองในยุคแห่งแผ่นดินพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่ง {หรือที่เรียกกันว่า Elizabethan} ซึ่งพระราชินีได้ทรงแย้งว่า
"ไม่เห็นจะเหมือนกันสักนิด พระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งนั้น ทรงมิได้อภิเษกสมรส ไม่มีพระโอรสพระธิดา อีกทั้งไม่เคยเสด็จออกนอกประเทศเลย จะเทียบให้เหมือนกันได้อย่างไร"
(ที่พระองค์ได้ตรัสว่าไม่เหมือนนั้นก็ไม่เชิงนัก เพราะตลอดเวลาห้าสิบกว่าปีที่ทรงครองราชย์จนถึงทุกวันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถเฉกเดียวกัน)

งานพิธีบรมราชาภิเษกนี้ รัฐบาลได้จัดเตรียมการกันอย่างวุ่นวายในทุกหน่วยงาน การประดับประดาท้องถนน ริ้วขบวน ธงประดับพริ้วไสว
แม้กระทั่งพรมในพระวิหารหลวงเวสต์มินสเตอร์ที่มีขนาดกว้างใหญ่นั้นก็ได้มีการรื้อเปลี่ยนใหม่ เพื่อต้อนรับเหล่าบรรดาแขกผู้มีเกียรติถึง 7700 คน

คนทั้งโลกต่างพลอยพากันตื่นเต้นไปด้วย..บีบีซีได้เสนอให้มีการถ่ายทอดสดโทรทัศน์ แต่เหล่ากรมวังเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คัดค้านกันอย่างสุดฤทธิ์ เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้มีกล้องตั้งเกะตาลูกตาตามมุมต่างๆของพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์
และพิธีอันเป็นมหามงคลนี้ ควรจะอยู่แต่ในกลุ่มพยานอันเป็นเจ้านายและขุนนางเท่านั้น..
แม้แต่ท่านนายกฯ เชอร์ชิลล์เองก็ว่า..
"เรื่องอะไรจะให้บีบีซีจะได้มาดูชัดกว่าพวกเราล่ะ"

แต่พระราชินีกลับทรงเห็นด้วยในเรื่องของการถ่ายทอด พระองค์ได้ทรงไต่ถามและหาความรู้ในเรื่องของการบันทึกภาพอย่างจริงจัง ถึงว่าจะต้องใช้กล้องกี่ตัว  ไมโครโฟนกี่อัน..และ มุมที่ตั้งของกล้องจะอยู่ตรงไหนในพระวิหาร
เซอร์ อลัน ลาส์เซเลส ได้แย้งว่า
"จะต้องใช้ไฟส่องที่มีแสงจ้ามาก พะยะค่ะ กระหม่อมเกรงว่า...."
พระสังฆราชได้ทรงเข้ามาเสริมว่า..
"ขอเดชะ..เห็นทีจะไม่เหมาะกับพระองค์นัก เพราะเป็นการถ่ายทอดสดที่จะต้องปรากฏต่อสายตาของประชาชน ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดจะแก้ใขไม่ทันซึ่งพิธีนั้นใช้เวลายาวนานถึงสองชั่วโมง"
พระราชินี ทรงตรัสว่า.."ถ้าไม่ได้ลอง เราจะไปรู้ได้ยังไงล่ะ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:18


ไม่กี่วันต่อมา..พระองค์ได้ส่งข้อความผ่านเจ้าชายฟิลิปพระสวามีไปถึงท่านนายกฯ ใจความว่า..
"พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์บีบีซีให้เข้ามาทำการถ่ายทอดพิธีในพระวิหารหลวงเวสต์มินสเตอร์ได้ โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียว  นั่นคือ ห้ามการโคลส-อัฟ โดยเด็ดขาด
ท่านนายกฯจึงต้องทำการเรียกประชุมคณะรัฐบาลโดยด่วนถึงข้อความดังกล่าว...ว่า
"พระราชินีทรงมีพระประสงค์ให้เหล่าอาณาประชาราชได้มีโอกาสชื่นชมในพระบารมีโดยทั่วกัน.."
เหล่าเสนาบดีทั้งหลายต่างออกเสียงกันอึงคนึง ซึ่งโดยมาก..ไม่เห็นด้วยกับพระราชดำริในครั้งนี้
ท่านนายกเชอร์ชิลล์เลยต้องใช้ไม้เด็ดว่า..
"พระองค์ต่างหากที่ต้องเป็นผู้รับการบรมราชาภิเษก เป็นผู้ต้องได้ทรงมหามงกุฏ....ไม่ใช่พวกท่าน..อย่าลืมซิ"

ในพระราชประสงค์ครั้งนั้น ทำให้ประชาชนกว่าสามร้อยล้านคนในโลกได้มีโอกาสเป็นพยานในพระบรมพิธีอันยิ่งใหญ่
พระองค์ได้ทรงรับทราบในความสำเร็จของการถ่ายทอดครั้งนั้น ยามที่เสด็จไปชมการบันทึกภาพที่สถานีบีบีซีที่ ตึกบนถนน Limegrove
ทรงพอพระราชหฤทัยกับความเก่งกล้าสามารถของ
นาย ปีเตอร์ ดิมม็อค หัวหน้าทีมงาน
ถึงขนาดได้ทรงแตะบ่า..ประทานตำแหน่งอัศวินกันเดี๋ยวนั้น..คือตรงกลางสถานี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:20


ผลพลอยได้ของงานพิธีได้สร้างความศรัทธา เชื่อมั่น และ ความเทิดทูนบูชาในสถาบันแห่งอาณาจักรบริเตนอย่างล้นหลาม
แม้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอย่างมากมายถึง 6.5 ล้านปอนด์ แต่พระองค์ทรงยอมเสียเพื่อเป็นการผดุงสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่ในใจของประชาชนสืบต่อไปนานเท่านาน..
มหาอาณาจักรบริเตนได้ลดขนาดเล็กลงไปทุกวัน..เมื่อแผ่นดินได้ผลัดมาจนถึงพระองค์นั้น เหลือแค่สหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วย
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เมืองท่าอีกสองสามแห่งในคาริบเบียน อาฟริกา และ ฮ่องกง (ในตอนนั้น)

แต่เป็นเพราะความเป็นสถาบันบัลลังค์ที่มั่นคงมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้อังกฤษเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล
ประชาชนต่างเทิดทูนในองค์สมเด็จพระราชินีกันอย่างสุดหัวใจ เพราะพระองค์และพระสวามีที่สง่างาม อีกทั้งพระโอรส พระธิดา
ทั้งหมดคือภาพโดยรวมที่สมบูรณ์ประหนึ่งดังแม่แบบครอบครัวของประเทศชาติ
พวกเขา..ได้ยอมรับกันอย่างหมดใจว่า..พระองค์นั้นคือสมมติเทพจากสรวงสวรรค์อย่างแท้จริง

แม้แต่การสำรวจโพลล์จากสื่อที่ว่า..นายพลไอเซ่นฮาวร์ ที่ว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลามแล้วนั้น..
ยังถูกสมเด็จพระราชินีองค์น้อยองค์นี้รับคะแนนแซงหน้าลิ่ว..
หนังสือไทม์ได้เลือกให้พระองค์เป็น "Woman of the Year" ในปี 1952 นับว่าเป็นสุภาพสตรีคนที่สองรองลงมาจาก
นาง วอลลิส ซิมปสัน (หม่อมวอลลิส ของ
ดยุค ออฟ วินด์เซอร์) ที่ได้ครองตำแหน่งไปในปี 1936

นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว มหาเศรษฐี เจ้านาย..และเหล่าผู้ลากมากดีจากอเมริกาต่างแห่กันขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรกันมาร่วมในพระราชพิธีตามบัตรเชิญในครั้งนี้
และสองคนในนั้น คือ ดยุคและดัชเชส ออฟ วินด์เซอร์ ที่เป้าหมายไม่ได้มาร่วมในพิธี หากแต่กำลังจะเดินทางไปฝรั่งเศส
เมื่อมีคนถามดัชเชสว่า ดยุคและเธอจะไปร่วมในงานหรือไม่..เธอได้ตอบว่า..
"ไปทำไมล่ะ ก็บัลลังค์น่ะ เป็นของท่านดยุคแท้ๆ พระองค์ยังไม่สนเลย.."

ส่วนหนึ่งสาวน้อยนักข่าวในนั้นคือ จ๊าคเกอลีน บูวิเยร์ ที่ได้เขียนบันทึกไว้ว่า
"ถ้าท่านดยุคไม่ได้สละราชบัลลังค์ ก็คงไม่ต้องเดินทางระหกระเหินอย่างนี้ แต่ยามที่มีเด็กๆมารายล้อมของลายพระหัตถ์ ก็ทรงประทานให้ด้วยความมีพระทัย"

(จ๊าคเกอลีน บูวิเยร์ Jacqueline Bouvier สาวน้อยนักข่าวคนนั้น เมื่อกลับมาก็หมั้นกับนักการเมืองหนุ่ม ที่มีนามว่า จอห์น เอฟ เคนเนดี้
และแต่งงานในปี 1953 ต่อมา คือ สุภาพสตรีอันดับหนี่ง  ในฐานะภริยาของประธานาธิบดี)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:22

 ส่วนท่านดยุคและหม่อม ได้ไปขึ้นที่ท่า Le Havre และต่อด้วยรถไปกรุงปารีส การเดินทางครั้งนี้ไปกันเป็นคณะ
โดยที่มีหนุ่มว่ากันว่าเป็นชู้รักของหม่อมวอลลิสไปด้วย เขาคนนั้นคือ นาย จิมมี่ โดนาฮิว ทายาทวัยสามสิบเจ็ดของห้างสรรพสินค้าสะดวกซื้อ Woolworth

ทั้งคณะได้ไปเฝ้าดูพิธีบรมราชาภิเษกที่หน้าจอโทรทัศน์ ในบ้านของเพื่อนเศรษฐีอเมริกันนามว่า มาร์กาเร็ต ทอมปสัน บิดเดิล
ท่านดยุคได้เพิ่งขายลิขสิทธิ์ในการเขียนข้อความการบรรยายรายละเอียดของพิธีให้กับ ยู เอส แม๊กกาซีน ในราคา หนึ่งแสนเหรียญ
และขายลิขสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์ในการถ่ายภาพของตัวเองยามที่นั่งหน้าจอดูการถ่ายทอดเพื่อที่จะลงเป็นข่าวหน้าหนึ่ง

ในงานปาร์ตี้ของการเฝ้าดูการถ่ายทอดนั้น ท่านดยุคได้บรรยายสดประกอบหน้าจอให้เหล่าพระสหายฟังด้วย อธิบายว่า อะไรคืออะไร
บางทีก็ทรงฮัมเพลงสวดตามไปด้วย บางทีก็ชี้ชวนให้ดูพระสหายคนนั้น คู่อริคนนี้ที่ปรากฏในภาพเป็นที่เอิกเกริกไป..

ในตอนเย็นของวันก่อนวันมหามงคลนั้น..พระราชินีทรงได้รับทราบข่าวดีอีกข่าวหนึ่ง นั่นคือ การพิชิตยอดเขาเอฟเวอเรสต์เป็นที่สำเร็จเป็นคนแรกหลังจากที่ได้มีคนพยายามมานักต่อนัก ธงยูเนี่ยนแจ๊คได้ประดับอยู่บนยอดเขาด้วยฝีมือ (และเท้า) ของ
นาย เอดมันด์ ฮิลลารี่ ชาวนิวซีแลนด์ (Edmund Hillary) ที่ต่อมาได้รับพระราชทานให้เป็น เซอร์  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:23

 ฟังเรื่องมหามงคลมาเยอะแล้ว..ทีนี้มาฟังเรื่องเบื้องหลังมั่งดีกว่า..ว่าในยามนั้น อังกฤษยังอยู่ในภาวะขาดแคลน ประชาชนอีกมากที่ยังไร้ที่อยู่
และ กว่าสี่ล้านคน..ยังขาดสาธารณูปโภคที่จำเป็น ประเทศหลังสงครามได้เข้าสู่ยุคผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนนโดยแท้
ขุนนางเก่าๆที่ต้องเข้ามาร่วมในพิธีตามยศถาบรรดาศักดิ์นั้น
ต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
จนเกินกว่าที่จะไปจัดหาเครื่องแบบ เสื้อคลุมกำมะหยี่สีแดงขลิบด้วยขนเออร์มี่ใหม่มาพรางกายให้มีสง่าราศรี (เป็นเงินตกราวร้อยกว่าปอนด์)
บางคนต้องเอาของเก่าตั้งแต่ครั้งงานพระบรมราชาภิเษกของพระเจ้ายอร์จที่หกมาซ่อมแซมใช้
บางคนก็ไปหาผ้ากำมะหยี่เทียม และใช้ขนกระต่ายมาทำเป็นเฟอร์ขลิบแทน เรียกว่า พอขายผ้าเอาหน้ารอด

ส่วนหน่วยทหารม้า..ที่ต่างก็ขายม้าเอาเงินมายังชีพแล้วนั้น..ต้องไปขอยืมจำนวน 350 ตัวจากโรงงานทำเบียร์มาใช้
ที่เหลืออีก 100 ตัวนั้น ไปขอเช่ามาจากโรงถ่ายภาพยนตร์ Alexandra Korda Film Company
(ส่วนรายละเอียดในงานนั้น ขอข้ามค่ะ เพราะไปหาดูได้จากโทรทัศน์ที่นำกลับมาฉายบ่อยๆ)  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:25

 ย้ำให้ฟังบ่อยๆว่า อังกฤษอยู่ในภาวะที่เพิ่งเริ่มตั้งราชวงค์แบบสดๆร้อนๆ
และต้องมาเจอกับสงครามโลกทั้งสองครั้ง บ้านเมืองรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้...จะเป็นเพราะมีประมุขดี จะเป็นเพราะว่าดวงดี หรือ กรุงลอนดอนไม่สิ้นคนดีก็แล้วแต่..
ประชาชนทุกคนต่างมอบจิต วิญญาณ และต่างยอมตายเพื่อประเทศชาติและองค์พระมหากษัตริย์ได้ทุกเมื่อ
(ไปอ่านเรื่องฮิตเล่อร์ ตอนที่เสืออากาศของอังกฤษบินทะยานข้ามน่านฟ้าไปถล่มกรุงเบอร์ลิน แก้แค้นที่เยอรมันบังอาจมาบอมบ์พระราชวังบั๊คกิ้งแฮมให้เสียหายไปบางส่วน และการบินที่ต้องฝ่าฝูงลุฟวัฟฟ์จากอังกฤษไปถึงเยอรมันนั้นระยะการบินนับว่าไม่ใกล้ หนทางเต็มไปด้วยอุปสรรค  นักบินทั้งฝูงไม่ได้หวังว่าจะมีชีวิตรอดกลับมา..แต่..ทุกคนยอมตายถวายชีพให้เป็นราชพลี)

ดังนั้น..จึงเป็นหน้าที่และภาระอันหนักอึ้งของสมเด็จพระ
ราชินีอลิซาเบธที่ต้องรักษาความมั่นคง ความศักสิทธิ์ ของบัลลังค์ให้สมกับศรัทธาที่ได้รับจากสัปเยก
(เป็นคำไทยเคยเห็นใช้ในหนังสือเก่าๆ..ที่แผลงมาจากคำว่า subjects อันหมายถึง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน)
และพระองค์ได้มี"กลุ่มผู้ช่วย"ในการจรรโลงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแน่นหนา
เขาพวกนั้นคือ พวกเสนาบดี กรมวัง ที่พื้นฐานนั้นไม่ใช่ใครอื่น พวกเขาคือลูกหลานของข้าราชบริพารเก่าๆมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ อีกทั้งยังมีพระญาติจากสายสาแหรกอื่นๆที่ได้ปลดฐานันดรเจ้านายของตัวเองออก เปลี่ยนมาเป็นขุนนางของอังกฤษ

และยังมีเหล่าอดีตอัศวินวีรบุรุษที่ได้ผ่านสงครามต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เมื่อปลดประจำการก็เข้ามาเป็นองคมนตรี ช่วยทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ
คนกลุ่มนี้ คือ..พวกกรมวังเสนาบดีที่มีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจในการ
บริหาร ดูแล ปกป้องไม่ให้ความเสื่อมเสียมาสู่พระราชวงค์อย่างเต็มที่
พวกกรมวังพวกนี้..ต่างทำงานถวายให้กับสมเด็จฯอย่างที่เคยทำให้กับพระเจ้ายอร์จที่หก พระบิดา

พวกเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า..สมเด็จฯสมควรจะทรงตรัสอะไร กับ ใคร แค่ไหน..
และ ที่สำคัญคือ พวกเขาคอยปกป้องมิให้"ความใน" ล่วงรู้ไปถึงหูของประชาชนข้างนอก
ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแต่...นักข่าวจะได้ข่าวไปเขียน ก็ต้องมาจากการกลั่นกรองของกรมวัง..ที่มีหลักยึดถือว่า
สมเด็จพระราชินีจะต้องไม่หมองช้ำในเรื่องใดๆ และต้องเป็นที่เคารพบูชาประหนึ่งสมมติเทพตลอดกาล..

ถึงแม้เรื่องจริงๆ..จะเป็นว่าตอนที่เสด็จมาประทับให้จิตกรวาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์นั้น..พระองค์ได้ทรงใส่พระมหามงกุฏมาในกล่องใส่ใข่ หรืออ เรื่องที่พระองค์โปรดการเล่นไพ่คานัสต้า..
และที่จะพูดถึงไม่ได้อย่างเด็ดขาด..คือเรื่องทรงโปรดการแทงม้า..ซึ่งแม้ว่าประชาชนหรือใครต่อใครก็ทราบดีว่า พระองค์ไม่เคยพลาดนัดการแข่งครั้งสำคัญๆ
ข่าวที่ออกมาต้องเป็นว่า..
"สมเด็จฯไม่เคยทรงพนันขันต่อ หากแต่ทรงดีพระทัยทุกครั้งที่ม้าจากคอกหลวงได้รับชัยชนะ..."

ในปี 1954 -1957 ม้าจากคอกหลวงของพระองค์ได้ติดอันดับทำเงินรายได้สูงสุด เท่านั้นไม่พอ..พระองค์ยัง"บอกใบ้"ให้กับเหล่าคุณพนักงาน มหาดเล็กนักเลงม้าทั้งหลายว่า..สมควรจะแทงเมื่อไหร่..และ..ตัวไหน..  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 28 ก.พ. 06, 07:27

 คนที่ต้องสู้รับตบมือกับเหล่าเสนาบดีพวกนี้อย่างถึงพริกถึงขิงนั้น ไม่ใช่ใครอื่น..พระองค์คือ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี นั่นเอง
เพราะเมื่อแรกๆของการครองราชย์นั้น..ทุกอย่างยังไม่ราบรื่น..เจ้าชายฟิลิปได้ด่ากราดถึงกลุ่มพวกกรมวังชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 230 คนอย่างไม่ไว้หน้า..ว่า
"ไอ้พวกบ้านั่น..จ้างมันมาหาวิมานอะไร วันวันได้แต่วิ่งรับใช้กันเอง ไม่ได้มาดูแลเราสักนิด"
ในฐานะอดีตผู้การเรือ พระองค์ได้เริ่มปฏิวัติการทำงานของระบบใหม่หมด เริ่มจากพวกพนักงานรับใช้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ลงแป้งทรงผมจนไม่มีเวลาทำอะไรอย่างอื่น
(ลงแป้งผม..คือ ในสมัยนั้น คุณพนักงานแต่งกายด้วยเครื่องแบบ และ มีทรงผมที่ต้องใช้การลงแป้ง ที่ผสมด้วย แป้ง สบู่ น้ำ..ให้อยู่ทรง)
ที่ไม่ต้องทำอีกแล้ว..เพราะพระองค์ว่า..มันออกแต๋ว ออกตุ๊ด จนเกินไป..

ต่อมาก็คือการติดตั้งเครื่องสายใน ที่สามารถเรียกใครมารับใช้ได้ทันที ไม่ต้องวิ่งไปตามกันอย่างแต่ก่อน
ติดตั้งวิทยุรับ-ส่ง..ในรถพระที่นั่งทุกคัน..
และติดตั้งเครื่องอัดเทป รวมไปถึงเครื่องซักผ้าจำนวนหลายเครื่องในพระราชวัง ซึ่งเข้ามาแทนที่แผนกซักผ้าที่มีจำนวนคนงานมากมายราวกับกองทัพย่อยๆ
ต่อมาคือการหยุดระบบการกินตลอดวันของเหล่าคุณพนักงาน...ในครัวจะให้อาหารแบบเป็นเวลา

ส่วนฝ่ายในหรือที่ประทับของสมเด็จนั้น เจ้าชายฟิลิปได้ติดตั้งเตาไฟฟ้าไว้อุ่นพระกระยาหาร ตู้เย็นสำหรับเก็บของสด
และให้เลิกการนำกาแฟจากโรงครัวมาถวาย
เพราะกว่าคุณพนักงานจะประคองถาดมาถึง ในระยะตามทางระเบียงเดินที่ยาวนับไมล์นั้น..
กลายเป็นว่า...ทรงเสวยกาแฟเย็นแทบทุกครั้ง..

สุดท้าย..คือสั่งเลิกการวางขวดเหล้าสก๊อตที่ข้างพระที่บรรทมโดยเด็ดขาด เพราะนี่คือประเพณีเก่าแก่มาแต่ครั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด เมื่อครั้งปี 1910 ที่ทรงประชวรด้วยใข้หวัด จึงได้มีพระบัญชาให้มหาดเล็กนำเหล้าไปให้เสวย จากนั้นเป็นต้นมา เหล้าสก๊อตจึงต้องมีวางอยู่ข้างพระที่ง..กลายเป็นธรรมเนียมจากบัดนั้นจนมาถึงครั้งนี้..
เพราะไม่เคยมีใครกล้าสั่งยกเลิก...

เจ้าชายฟิลิปได้ให้นายมโหรี..ปี่สก๊อต (bagpiper) ทำงานตามหน้าที่ถวายสมเด็จฯอย่างเดิม
โดยเป็นการรักษาธรรมเนียมโบราณมาตั้งแต่ครั้ง
สมเด็จพระนางวิคตอเรียที่ทรงโปรดให้มีนายมโหรีปี่สก๊อตจะเดินมาร์ชพร้อมเป่าปี่ไปตามระเบียงทุกเช้า เวลาเก้านาฬิกาตรง..  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง