เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: lotus ที่ 10 ม.ค. 10, 02:26



กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: lotus ที่ 10 ม.ค. 10, 02:26
สวัสดีทุกคนที่เรือนไทยนะคะ

รบกวนถามคำถามที่ตัวเองรู้สึกสับสนมาก ๆ ซักคำถามนะคะ

โลตัสอยากทราบว่า "กำลัง"   "อยู่"   "กำลัง...อยู่" สามคำนี้ความหมายและลักษณะทางไวยากรณ์เหมือนหรือต่างกันอย่างไรคะ

มีข้อที่แตกต่างทางความหมายไหมคะ  หรือว่าเหมือนกันทุกประการ


เขากำลังทำการบ้าน

เขาทำการบ้านอยู่

เขากำลังทำการบ้านอยู่



รบกวนหน่อยนะคะ

ขอบคุณค่ะ


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 08:49
ครูหลักภาษาไทยอาจตอบได้ดีกว่า   ดิฉันไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้หลักสูตรการใช้ภาษาไทยในระดับมัธยม ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เขาสอนกันยังไง

สำหรับดิฉัน    คำว่า อยู่  ในประโยคที่ยกมา ตรงกับ continuous tense  ในภาษาอังกฤษ   จะเป็น present หรือ past ก็แล้วแต่บริบท  เพราะภาษาไทยไม่ได้ผันคำกริยาไปตาม "กาล" อย่างภาษาอังกฤษ หรือฝรั่งเศส 

เขากำลังทำการบ้าน  ก็มีความหมายเท่ากับ  เขาทำการบ้านอยู่
ส่วน เขากำลังทำการบ้านอยู่     เอาสองอย่างมารวมกัน    เยิ่นเย้อไป   ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้



กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 11 ม.ค. 10, 12:45
สีเลือดหมู ขอลองตอบเล่นบ้าง
ทั้ง สามประโยคทีท่านยกมา ผมมองว่าเป็นการใช้ภษาในต่างกาละกัน "ผมกำลังทำงาน" ดูจะเป็นภาษาที่เอาจริงเอาจัง "ผมทำงานอยู่" ดูจะลดการเอาจริงเอาจังลง "ผมกำลังทำงานอยู่" มองคล้ายว่าจะเน้นว่า"ยังไม่ว่าง"  นะ อย่ามาเรียกให้ไปล้างรถ เสียให้ยาก ขอรับ
มานิต


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 13:21
ถ้ายก "กาละ" มาตัดสิน  วัดด้วยความรู้สึก (sense) ของการใช้ถ้อยคำแต่ละประโยค    ก็ยอมแพ้ค่ะ
เป็นเรื่องอัตวิสัย  ชี้ขาดไม่ได้


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 10, 15:04
น่าสนใจดีครับ  ถ้าเช่นนั้นลองกับประโยคอื่นดู

ต้นไม้เติบโต เป็นประโยคตั้ง

ต้นไม้กำลังเติบโต      ใช้ได้
ต้นไม้เติบโตอยู่         ฟังแปลกๆ
ต้นไม้กำลังเติบโตอยู่  ฟังแปลกๆ และใช้คำฟุ่มเฟือย

เด็กยืน  เป็นประโยคตั้ง

เด็กกำลังยืน          เห็นภาพเด็กลุกขึ้นยืน     
เด็กยืนอยู่             เห็นภาพเด็กยืน
เด็กกำลังยืนอยู่      ประโยคนี้ใช้คำฟุ่มเฟือยและไม่รู้หมายความว่าอย่างไร

ลองยกตัวอย่างอย่างอื่นดูอีกครับ สนุกดี  ตัวอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ   8)


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 15:11
มาร่วมวง

ต้นไม้เติบโตอยู่    ไม่ได้  เพราะคำว่า "เติบโต"ที่ใช้กับต้นไม้ ไม่ใช่กริยาของมัน
ถ้าใช้ ต้นไม้กำลังเติบโต  ก็ต้องมีอีกประโยคมารองรับ    อย่าง   ต้นไม้กำลังเติบโต  จะตัดให้หมดก็น่าเสียดาย

เด็กกำลังยืน    นึกไม่ออกว่าเราใช้คำนี้ในโอกาสไหน    ต้องถามคุณมานิต
อาจจะเป็น   เด็กกำลังยืน  ไม่ได้กำลังนั่งนะคุณ

ถ้า เด็กยืนอยู่ ละก็ ได้ค่ะ


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 ม.ค. 10, 15:20
ตามหลักไวยกรณ์ว่าอย่างไรนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเราใช้ว่า "กำลังดู" "กำลังดูอยู่" หรือ "ดูอยู่" ให้ความหมายไม่ต่างกัน คือ สื่อว่า กริยานั้น กระทำ ณ เวลาที่พูด

ถ้าให้ผมเดานะครับ ภาษาเก่า อาจมีข้อแตกต่างกัน คงต้องไปดูการใช้ในภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ด้วยว่า เค้าใช้ต่างกันหรือเปล่า

แต่สำหรับภาษาไทยปัจจุบัน ไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ถ้าจะแตกต่างกัน คงเป็นเรื่อง "การเน้น" มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตว่า "อยู่" ในที่นี่ อาจให้ความหมายเหมือน perfect continuous tense ในภาษาอังกฤษ คือ เป็นการกระทำที่ดำเนินมาจาก จุดเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่สิ้นสุด ในขณะที่พูด (ถ้าเป็นปัจจุบันกาล) เช่น "เขาดูทีวีอยู่ตั้งแต่เช้า" (ให้สังเกตว่า มีการใช้คำว่า ตั้งแต่ (since) ต่อจากกริยา อยู่ ) หรือ "เขาดูทีวีอยู่ สองชั่วโมงแล้ว" หรือ "เขาดูทีวีมา สองชั่วโมงแล้ว" หรือ "เขาดูทีวีได้ สองชั่วโมงแล้ว" หรือ "เขาดูทีวีมาได้ สองชั่วโมงแล้ว" (ตอนนี้ก็กำลังดูอยู่)
(เพิ่ม ...มา, ...ได้, ...มาได้ มาให้อีกครับ ซึ่งน่าจะชัดเจนว่าตรงกับ perfect tense ของภาษาอังกฤษ มากกว่า ...อยู่ ที่เป็น perfect continuous tense อิอิ)

แต่ "เขากำลังดูทีวีอยู่ตั้งแต่เช้า" หรือ "เขากำลังดูทีวี ตั้งแต่เช้า" รูปแบบนี้ ผมไม่เคยได้ยินครับ

ส่วนจะเป็น อดีตกาล หรือ ปัจจุบันกาล ก็ขึ้นอยู่กับบริบท คือ ภาษาไทยเราบอกเวลาอยู่แล้ว ในบริบทที่สนทนากัน

ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษ อาจเทียบเคียงได้ดังนี้ครับ
กำลัง = continuous tense คือ กำลังทำกริยานั้นๆ อยู่ในเวลาที่พูด
กำลัง ... อยู่ = continuous tense / perfect continuous tense (ใช้ร่วมกับตั้งแต่) แต่เน้นว่า ทำกริยาดังกล่าวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และก็ยังกระทำต่อ ยังไม่หยุด
... อยู่ = continuous tense / perfect continuous tense (ใช้ร่วมกับ ตั้งแต่)

ผมคิดว่า ภาษาไทยโบราณอาจมีข้อแตกต่าง แต่ภาษาไทยปัจจุบัน ถ้า ".. อยู่" ไม่ใช้ร่วมกับ "ตั้งแต่" ก็มีความหมายเหมือนกับ "กำลัง"

คุ้นๆ ว่า "กำลัง" เป็นคำยืม จากเขมรครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่า ในภาษาเขมรเค้าพูดกาลนี้ กันอย่างไร

ภาษาไทโบราณก่อนรับวัฒนธรรมเขมร น่าจะใช้คำว่า "อยู่" เป็นหลัก เช่น
"เขาดูทีวีอยู่" หมายถึง เขากำลังดูทีวีในเวลานั้น ไม่ระบุว่าเริ่มดูเมื่อไหร่
"เขาดูทีวีอยู่ ตั้งแต่เช้า" หมายถึง เขาเริ่มดูทีวีตั้งแต่เช้า และขณะเวลานั้น ก็กำลังดูอยู่
หรือ "เขาดูทีวี ตั้งแต่เช้า" ก็ให้ความหมายเดียวกัน

การใช้คำว่า "กำลัง" กับ "อยู่" ปะปนกัน น่าจะเป็นการผสมผสานกันทางภาษา ระหว่างภาษาไทเดิม กับภาษาเขมรครับ (ถ้า ภาษาไทยเรารับคำว่า กำลัง มาจากเขมร ... ไม่ยืนยันนะครับ ...เดา)


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 ม.ค. 10, 15:38
ตัวอย่างของคุณ luanglek ให้ภาพที่แตกต่างกันชัดเจนครับ

เด็กกำลังยืน          เห็นภาพเด็กลุกขึ้นยืน => continuous tense คือ เกิดขึ้น ณ เวลานั้น (คือ จากที่นั่งอยู่ กำลังลุกขึ้นยืน แต่ว่า ถ้าไม่มีบริบท ก็ตีความได้สองแบบ คือ เด็กกำลังลุกขึ้นยืน หรือ เด็กยืนอยู่นานแล้ว)
     
เด็กยืนอยู่             เห็นภาพเด็กยืน => perfect continuous tense / perfect tense คือ เด็กยืนอยู่นานแล้ว (ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่)
                     เด็กยืนอยู่ ตั้งแต่เช้า
                     เด็กยืนมา สองชั่วโมงแล้ว
 
เด็กกำลังยืนอยู่      ประโยคนี้ใช้คำฟุ่มเฟือยและไม่รู้หมายความว่าอย่างไร => ใช้กริยาซ้อน ให้ความเหมือน เด็กยืนอยู่ แต่เอากริยา กำลัง มาเน้นอีก

=============================

อย่างไรก็ตาม การใช้กริยา -อยู่ อาจใช้ไม่ได้กับ กริยา บางตัว เช่น

ต้นไม้กำลังเติบโต      ใช้ได้
ต้นไม้เติบโตอยู่         ฟังแปลกๆ
ต้นไม้กำลังเติบโตอยู่  ฟังแปลกๆ และใช้คำฟุ่มเฟือย

รากฝอยกำลังงอก ต้องหมั่นรดน้ำ (ให้ภาพรากงอกไปถึงอนาคต)
รากฝอยงอกอยู่ ต้องหมั่นรดน้ำ (ให้ภาพรากงอกในปัจจุบัน)


ภาษาไทย ไม่ง่ายเลยนะครับ  ;D


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 10, 16:11
ทีนี้ลองประโยคที่มีกรรมบ้าง

ลุงยกลังกระดาษ  เป็นประโยคตั้ง

ลุงกำลังยกลังกระดาษ   
ลุงยกลังกระดาษอยู่
ลุงกำลังยกลังกระดาษอยู่ 

สุนัขกัดเด็กผู้หญิง  เป็นประโยคตั้ง

สุนัขกำลังกัดเด็กผู้หญิง
สุนัขกัดเด็กผู้หญิงอยู่
สุนัขกำลังกัดเด็กผู้หญิงอยู่

รถชนบ้าน   เป็นประโยคตั้ง

รถกำลังชนบ้าน
รถชนบ้านอยู่
รถกำลังชนบ้านอยู่

น้องดื่มนม   เป็นประโยคตั้ง

น้องกำลังดื่มนม
น้องดื่มนมอยู่
น้องกำลังดื่มนมอยู่

ชักสงสัยว่า  การจะใช้ กำลัง-อยู่  กำลัง  อยู่ น่าจะต้องขึ้นอยู่กับคำกริยาบางคำด้วย  คำกริยาที่ไม่สามารถทำซ้ำต่อเนื่องได้ในระยะเวลานานๆ  น่าจะไม่สามารใช้กริยาวิเศษนี้ได้ :-\


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 12 ม.ค. 10, 12:06
ท่านที่เคารพทุกท่าน
ภาษาทุกภาษามีความสละสลวย ไม่ง่ายในการใช้เลย ขอรับ  เมื่อวานงานยุ่งๆ ผมส่งเอกสารให้เจ้าหน้าที่เธอไปพิมพ์ เมื่อคืนนึกขึ้นมาได้ว่าใช้คำไม่สละสลวยเพียงพอที่จะออกขายไปทั่งโลกาใน 20 นี้ เช้ามาต้องมาขอโทษเธอเพื่อขอเปลี่ยนคำ
มีอะไรจะขอเล่าให้ฟัง กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว(หลานจะบอกว่า"ปู่ทำไมนิทานต้องขึ้นต้นอย่างนี้ทุกเรื่องเลย") ผมต้องประเมินข้อเสนอที่เขียนมาเป็นภาษาต่างด้าว ผมกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษาเถียงกันอยู่นานมาก เพราะเป็นเรื่องของความลึกซึ้งในการเข้าใจสิ่งที่เขาเขียนมาซึ่งสลับซับซ้อนยอกย้อน(หวังหลอกเอาคะแนน) ถ้าไม่เข้าใจซึ้งเพียงพอ เราจะพลาดไปให้คะแนนเขาโดยที่เขาไม่ควรได้ ได้ เอาละตกลงกันได้ พอเสนอผลขึ้นไป โอ้ โฮ ยกทีมกันมาเกือบ 10 คน บอกว่าเราให้คะแนนผิด  เพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษากับผมต้องอธิบายกันอยู่นาน เพราะต้องอธิบายทั้งหลักภาษา ทั้งความรู้สึกออกมาว่า ที่ท่านผู้เขียนท่านเขียนมาแบบ"ไม่ลับ แต่ลวงพราง" เรานั้น ท่านควรจะได้คะแนนเท่าไร ฮิ ฮิ
มานิต


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ม.ค. 10, 19:42
เข้ามาขอเล่นด้วยน่ะครับ

ไม่ทราบจะอธิบายเป็นไวยากรณ์อย่างไร
แต่ประโยคที่ใช้คำว่ากำลัง…..อยู่ น่าจะต้องต่อด้วยประโยคอื่นด้วยจึงจะสมบูรณ์นะครับผมว่า

เช่น เด็กกำลังยืน อันนี้สมบูรณ์ด้วยตัวเอง
      เด็กยืนอยู่  อันนี้ถ้าเป็นประโยคที่ตอบคำถามว่า “นั่นตัวอะไรตะคุ่มๆอยู่ตรงนั้น” ก็สมบูรณ์เช่นกัน

แต่ เด็กกำลังยืนอยู่ (ถ้าต่อด้วย) ตอนที่โดนฟ้าผ่าแต่ไม่ยักเป็นอะไร  อันนี้ถึงจะสละสลวย และไม่เย่นเย้อ


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 21:24
ตอนเด็กๆ  เคยเรียนหนังสือไวยากรณ์ไทย  ของพระยาอุปกิตฯหรือใครจำไม่ได้   ท่องคำนาม สรรพนาม  กริยา วิเศษณ์ บุพบท สันธาน เป็นนกแก้วนกขุนทอง 
สอบผ่านโดยไม่เข้าใจสักคำเดียว  รู้แต่ว่าต้องท่องขึ้นใจให้ได้ก็พอ
มารู้ทีหลังเมื่อเป็นครูแล้ว  ว่าโครงสร้างที่ท่านผู้เขียนตำราอธิบายไว้นั้น เป็นโครงสร้างภาษาอังกฤษที่บังเอิญมาตรงกับภาษาไทย
แต่จริงๆแล้วภาษาไทยน่าจะมีหลักของตัวเอง  ไม่ใช่หลักของฝรั่ง

ดิฉันเข้าใจว่า คำว่า กำลัง  มีความหมายตรงกับ continuous tense   คือ verb to be+ verb + ing     เพราะฉะนั้นจะดูว่าคำกริยาอะไรที่ใช้กับ "กำลัง" ได้  ก็ต้องดูว่าในภาษาอังกฤษ  กริยาคำนั้น กระทำต่อเนื่องได้หรือเปล่า

กำลังกิน    ได้
กำลังลุก    ไม่ได้   เรามีคำที่ใช้อธิบายอาการนี้  คือคำว่า ลุกขึ้น   แต่ในเมื่อเอาคำว่ากำลังมาต่อหน้าคำกริยากันจนชิน
ก็เลยเห็นว่า กำลังลุก ก็ใช้ได้




กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ม.ค. 10, 08:39
ยกภาษาอังกฤษมาเป็นตัวประกอบเหมือนกัน

อันที่จริงคำว่ากำลัง+คำกิริยา ผมก็คิดว่าไม่ใช่สำนวนภาษาไทยแท้ๆ ใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามจนรัตนโกสินทร์
แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาสมัยหลังเพื่อรองรับการแปลเป็นไทยจากภาษาอื่นให้ตรงกับความหมายเดิมแท้ๆ

I shall go to see you some day. = ฉันจะไปหาคุณซักวันนึง – อันนี้ยังฟังดูเลื่อนลอยอยู่ ไม่รู้ว่าจะมาจะไปเมื่อไหร่แน่
I am going  to see you someday. = ฉันกำลังจะต้องไปหาคุณซักวัน - อันนี้ฟังดูเหมือนขู่ว่าจะไปแน่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
I am going to go to see you now.= ฉันกำลังจะออกเดินทางไปหาคุณอยู่เดี๋ยวนี้ – แม้ยังไม่ได้เริ่มออกเดินทางจริงๆ แต่อันนี้ก็เตรียมตัวได้เลย จะรอรับหน้าหรือจะเผ่นหนีก็ว่ากันไปตามบท

ผมว่าภาษามีไว้เลือกใช้ให้คนฟัง(หรือคนอ่าน)ทราบชัดๆนะครับ ว่าเราพยายามจะให้เขาเข้าใจความประสงค์ของเราอย่างไร ไวยากรณ์มีความสำคัญมากเหมือนกัน แต่เป็นอันดับรองจากสิ่งที่ต้องการจะสื่อ


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 13 ม.ค. 10, 13:45
เชื่อไหมครับว่า ผมคิดว่าผมไม่รู้ไวยากรณ์อะไรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย เวลาสอบ/ทำงาน ก็พยายามนึกว่าที่เคยอ่านเจอ/ผ่านตามามันเป็นยังไง ครับผม แต่ชอบเรื่องภาษาและสนุก ครับผม
มานิต


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 16:17
 I shall go to see you some day. = ฉันจะไปหาคุณซักวันนึง – อันนี้ยังฟังดูเลื่อนลอยอยู่ ไม่รู้ว่าจะมาจะไปเมื่อไหร่แน่
I am going  to see you someday. = ฉันกำลังจะต้องไปหาคุณซักวัน - อันนี้ฟังดูเหมือนขู่ว่าจะไปแน่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
I am going to go to see you now.= ฉันกำลังจะออกเดินทางไปหาคุณอยู่เดี๋ยวนี้

ไวยากรณ์คงจะถูก  แต่ในภาษาพูด ที่เคยได้ยินมา  เขารวบรัดกันเพียงว่า  I shall see you some day.  เดี๋ยวนี้เห็นในเว็บต่างๆใช้ will กับ I กันหมดแล้ว  ไม่มี shall
ถ้าเป็นอเมริกันก็ย่อลงไปอีกเป็น I'll see you  some day   ย่อกว่านั้นอีกก็ตัด I ออกไป    some day ก็เอาออก เหลือ See you .  แปลว่า แล้วค่อยเจอกัน
ส่วน I am going to go to see you now. ไม่เคยเห็นค่ะ  เห็นแต่   I  am going to see you .
ที่ได้ยินบ่อยในหนัง thriller   คือ  I'm going to kill you.  คนพูดมักเป็นฆาตกรหน้าตาโรคจิต ถือมีดปลายแหลม  พูดเสร็จก็จ้วงฉับลงไป  แล้วหนังก็ตัดให้ดับวูบไปสู่ฉากอื่น

นึกถึงคำว่า "กำลัง" ในภาษาไทยอีกครั้ง   มีกริยา ที่ใช้กับ กำลัง ไม่ได้  คือ  ตาย
คำว่า กำลังตาย  ผิดในภาษาไทย   แต่ภาษาอังกฤษ ใช้ continuous tense ได้ คือ to be dying   อย่าง He is dying.  
แต่ภาษาไทยจะมาแปลตรงตัวว่า เขากำลังตาย ไม่ได้ค่ะ       ต้องแปลว่า เขาใกล้ตาย  หรือเขาร่อแร่เต็มที



กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 10, 16:27
เป็นไปได้หรือไม่ว่า  การใช้คำว่า กำลัง-อยู่  กำลัง และ อยู่ ในภาษาไทย เป็นอิทธิพลมาจากภาษาอื่นที่มีการแบ่งกาลของประโยคยิ่งกว่าภาษาไทย  เมื่อภาษาเหล่านั้นเข้ามาภาษาไทยจากเดิมที่มีเพียงกาลในประโยค เพียง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ต้องแบ่งซอยกาลในภาษาเท่าภาษาที่เข้ามาใหม่   พอใช้ไปใช้มา  ความเคยชินก็จึงติดเข้ามาใช้ในภาษาไทยไป   :-\


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ม.ค. 10, 18:16
ลอกเอามาน่ะครับ

englishforums.com
I am going to go to


Anonymous wrote:

Is the following correct?
E.g.: I'm going to go to the beach.

Possible to have two "go"s in this sentence The tense is correct: It's the so called "going-to-Future".
The 1st "to" (I'm going TO go to the beach) is part of the following infinitive "go";
the 2nd "to" (I'm going to go TO the beach) is a preposition, expressing movement towards the beach.
 
Cheers
-Pemmican


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 18:48
เป็นการถามว่า ประโยคนี้ถูกหรือไม่
คนตอบตอบว่าถูกตาม tense  น่ะค่ะ  เป็นไปได้ที่จะมีประโยคใช้ to สองครั้ง  เพราะคำแรกเป็น infinitive  ส่วนคำหลังเป็น preposotion


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 ม.ค. 10, 21:27
นอกจาก -อยู่ ยังมีอีกกริยาอีกสองสามคำที่มาช่วยในการบ่ง "กาล" (กริยาบ่งกาล ?)

-มา   เช่น
ก. ไปไหนมาเหรอ ?
ข. อ๋อไปกินข้าวมา   (แสดงว่า ได้กินข้าวเรียบร้อยแล้ว เป็นการกระทำในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต แต่ผลมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อาจเทียบได้กับ present perfect tense ของภาษาอังกฤษ)

-เคย (+ -มาแล้ว หรือ -มา) เช่น
ก. เคยไปเที่ยวกาฬสินธุ์หรือเปล่า ?
ข. เคยไปเมื่อสามปีที่แล้ว หรือ เคยไปมาแล้ว เมื่อสองสามปีก่อน หรือ เคยไปมาเมื่อสามปีก่อน
 


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 21:56
มาช่วยคุณ Ho หาอีก
- เพิ่ง   บ่งว่ากาลนั้นเพิ่งจะจบสิ้นลงใหม่ๆ  จะว่าเป็น perfect tense ก็คงได้   แต่เป็น perfect ที่เจาะจงว่า ถอยหลังไปในอดีตเพียงนิดเดียว
ก.มารอนานแล้วหรือ?
ข.เปล่า  เพิ่งมาถึง
- ก่อน  เป็น past tense เต็มตัว
ก. ได้รับพัสดุตั้งแต่เมื่อไร
ข. ก่อนหน้านี้สักชั่วโมงเดียว


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 15 ม.ค. 10, 13:53
เรื่องภาษานี่สนุกจริงๆ แต่ยอมรับว่าไม่ทราบแล้วว่า เปอร์ฝก เปยร์เฟ็ค มันเป็นยังไง จำได้แต่ว่า เคยโดนท่าน อ.เสนาะ ตันบุญยืน ต้อน ตอนบังอาจไปลองสอบเล่นมาแล้วครับ ภาษาไทยนี้ยากจริงๆ อ้อพรุ่งนี้วันครู คิดถึงบุญคุณ คุณครูทั้งหลายของผมครับ ไม่ได้ท่านป่านนี้ผมเป็นตาแก่ นั่งขอทานอยู่เชิงสะพานแข่งกับเขมร ไปแล้วละกระมัง อ้อ ใครทราบบ้างว่า ครูที่สวยที่สุดเท่าที่ผมจำได้คือ คุณครู มาลี สมาหาร ท่านสอนอยู่คณะอักษร แล้วมาสอนภาษา..ผม น่ะท่านยังอยู่ไหมครับผม 
มานิต


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 10, 14:54
ถ้าเป็นกรณีภาษาบาลีสันสกฤต  ไม่มี present continuous tense มีแต่  present tense เท่านั้น

รูปประโยคกริยาปัจจุบันกาลในภาษาบาลี  เมื่อแปลประโยคเป็นภาษาไทย จะแปลอย่างนี้

ตัวอย่างประโยค   กุมาโร  เคหํ  คจฺฉติ.  แปลว่า  อันว่าเด็ก ย่อมไป สู่บ้าน

ปุริสา  อาหารํ  ภุญฺชนฺติ. แปลว่า  อันว่าบุรุษทั้งหลาย รับประทานอยู่ ซึ่งอาหาร

อหมฺปิ  อารามํ  คจฺฉติ. แปลว่า แม้ อันว่าเรา จะไป สู่อาราม

ประโยคปัจจุบันกาล (วัตตมานา) แปลแล้ว ต้องมี คำว่า  ย่อม- หรือ -อยู่ หรือ -จะ ประกอบคำกริยาเพื่อบ่งบอกกาลของประโยค  ส่วนจะใช้คำไหนเมื่อไร  เป็นรายละเอียดสำหรับผู้เรียนภาษาบาลีจะต้องพิจารณาและจดจำ  เมื่อจะแปลบาลีเพื่อให้ความสละสลวยและสอดคล้องกับบริบท

แต่ปกติ  เมื่อแปลประโยคภาษาบาลีประโยคปัจจุบันกาล  จะแปลโดยใช้คำว่า ย่อม- และ -อยู่ เป็นหลัก

นอกจากนี้ก็มีกริยากิตต์ปัจจุบันกาล  เวลาแปลก็แปลว่า - อยู่   แต่วิธีการใช้จะต่างกันกับกริยาอาขยาตข้างต้น 

เท่าที่ไปค้นดู  หนังสือไทยเก่าๆ ก่อนรัชกาลที่ ๕-๖ ก็ปรากฏใช้คำว่า อยู่ ต่อท้ายคำกริยาเพื่อแสดงกริยาปัจจุบันกาล  แต่คำว่า กำลัง หรือ กำลัง-อยู่  ยังไม่พบที่ใช้ที่ชัดเจน    8)


กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: Thida ที่ 16 มี.ค. 10, 02:28
แน่ะ ดูสิ เด็กกำลังยืน

อ้าว มีเด็กยืนอยู่ตรงนั้น ยืนอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่น่ะ

อ๋อ ตอนที่เห็นเด็กก็กำลังยืนอยู่แล้ว

ใช้ได้ไหมคะ



กระทู้: "กำลัง" "อยู่" "กำลัง...อยู่"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 10, 10:09
ยังแปร่งๆค่ะ

คำว่า กำลัง ใช้ได้กับคำกริยาบางคำ ที่แสดงอิริยาบถที่ต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ทุกคำ
กำลังกิน  กำลังนอน  ใช้ได้   แต่กำลังยืน กำลังนั่ง ต้องมีบริบทมาขยายความถึงจะใช้ได้ค่ะ