เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จิตแผ้ว ที่ 10 ก.ย. 06, 17:31



กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 10 ก.ย. 06, 17:31
 ทุกคนที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยก็คงพอจะรู้ว่า แดนดินไทย เป็นแหล่งอาศัยทำมาหากินของชนหลายเผ่า ดนตรีใครๆก็มักจะพูดว่าเป็นภาษาสากลหากใช้ดนตรีเป็นการสร้าง สมานฉันท์ ของคนไทย ในแต่ละภาค มีการแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม ผ่านเยาวชน หรือ บุคลากรที่ผ่า่นการเลือกสรรแล้ว ไทย ในแต่ละภาคจะเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ระหว่างประเทศ มีนักเรียน AFS ระหว่างภาคในประเทศไทย น่าจะมี องค์กรอะไรสักอย่างปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียนเชิญทุกท่านแสดง้ความคิดเห็น


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 10 ก.ย. 06, 17:40
 หากชนทุกภาค ซาบซึ้งและเข้าถึงลำนำบทเพลงที่สะท้อนความรู้สึก วิถีชีวิตของคนอีสานจากเสียงแคน มีจิตมั่นร่ำเรียน การเป่าแคนจาก ตัวแทนทูตทางวัฒนธรรม แห่งอีสานจนบรรเลงเพลงแคนลายต่างๆก็จะเข้าใจชาวอีสานมากขึ้น ทำนองเดียวกันกับ สะล้อ ซอ ซึง จากภาคเหนือ โนราห์จากแดนใต้


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 10 ก.ย. 06, 18:25
 มีตำนานเล่าขานว่า เมื่ครั้งที่มีการต่อสู้กันของ ไทย ณ.เทือกภูสูงชายแดนภาคหนือ ทหารหาญเลือดที่ราบสูงนำแคนออกมาเป่าในคืนที่จันทร์ไร้แสง เพียงแสงดาวนับแสนมีหรือจะแจ่มกระจ่างบรรยากาศที่สลัวซึมเซาเคล้าเสียงแคนหวานปนเศร้าบรรยายควานยากจนข้น
แค้น ความห่วงอาลัยผืนดินถิ่นเกิด เสียงแคนลอยตามลมเอื่อยไหลไปในราวไพร
กระทบโสตพี่น้องต่างอุดมการณ์ที่หมายจ้องยิงมนต์แห่งเสียงแคนและสายเลือดอีสานอันเดียวกัน ทำเอามือไม้อ่อนทิ้งปืื้นซบหน้าร้องไห้น้ำตาไหลนองแผ่นดินแทนเลือดไทย ต่างฝ่ายก็ไม่ต้องเกิดการสูญเสียฆ่าแกงกัน น่าศึกษามนต์ขลังแห่งดนตรีการเป็นอย่างยิ่ง
นะครับท่าน


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 10 ก.ย. 06, 22:53
 ก่อนนั้นเคยเล่นเครื่องดนตรีไทยอยู่บ้างครับ เจ้าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เรียกว่า " ซึง" ครับ

ซึง จะคล้ายกับกระจับปี่ของภาคอีสาน มีสาย4สาย การเล่นก็จะดีดพร้อมกันทีละ2สาย
ไม่ดีดทุกสายพร้อมกันเหมือนกีตาร์ หรือดีดทีละสายเหมือนเครื่องดนตรีอีกหลายชนิด

พอเล่นได้ครับ แต่เล่นไม่เก่งนัก แถมร้างลามานับ10ปี แต่ก็จำมนต์ขลังของเสียงมันได้ดีครับ

.


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 10 ก.ย. 06, 23:51
 ดนตรีเป็นภาษา สากลก็จริง แต่ก็มีคามแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่พอสมควร ครั้งหนึ่งผมไปสีสะล้อสามสาย ที่บ้านพ่อครูวิเทพ ที่เชียงใหม่ โดยเทียบเสียงเป็นซอสามสายแบบภาคกลาง แล้วสีบุกลันลอยเลื่อน แบบซอสามสาย พอครูฟังแล้วท่านก็บอกว่า เพลงอะไร ทำไมฟังแล้วเศร้า ผมก็แปลกใจเพราะเพลงนี้ผมสีซอสามสายทีไร ก็มีแต่คนบอกว่าหวาน(บางคนยังติว่าสีออกสำเนียงดุไปเสียด้วยซ้ำ) ดังนั้นแม้ดนตรีจะเป็นภาษาสากล แต่เราก็ต้องยอมรับควาแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคพอสมควร
กลับมาเรื่องการสร้างองค์กรที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาเพราะแท้จริงแล้ว เรามีวิทยาลัยนาฏศิลป์ และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ที่มีการสอนดนตรีทั้งของพื้นเมือง และของภาคอื่นๆ ดูอย่างที่ ม.เชียงใหม่ ก็มีการสอนทั้ง ดนตรีพื้นเมืองภาคพายัพ และดนตรีไทยภาคกลาง(มีการเชิญครูผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯขึ้นไปสอนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน) ความจริงแล้วการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่ว่าทางดนตรี นาฏศิลป์ ฯลฯ ในสมัยนี้ออกจะแพร่หลายมากกว่าสมัยก่อนเสียด้วยซ้ำ จนถึงขนาดครูผู้ใหญ่ในกรมศิลป์หลายๆท่านก็กล่าวว่า สมัยนี้การดนตรีนาฏศิลป์นั้นเฟื่องฟูมาก เด็กใต้ก็สามารถฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ได้งาม เด็กเหนือก็รำโนราห์ชาตรี ได้ไม่แพ้ใคร  การใช้ดนตรีและศิลปสร้างความสามัคคีในชาติก็ดี แต่จะปัญหาหลักมันอยู่ที่ว่า มันเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย คนสมัยนี้พอเห็นอะไรเป็นของเก่าของโบราณ ก็ร้องยี้ ดูถูกดูแคลน แม้แต่ในงานเวทีใหญ่ๆ ขอแฉเลยว่าเป็นงานที่จัดโดย กทม. (งานระดับจังหวัด) จัดเวทีให้มีการแสดงทั้งดนตรีไทย และ ดนตรีสมัยใหม่ พอดนตรีไทยขึ้นเวที พรมปูนั่งซักผืนก็ไม่มี พอถามหาเจ้าหน้าที่ก็ตอบมาอย่างหน้าตาเฉย ว่า"ดนตรีไทยต้องนั่งกับพื้นด้วยหรอ" ผมก็อึ้ง ทึ้ง เสียว สุดแสนจะงุงงงสงกาว่า เดี๋ยวนี้คนไทยมันไม่รู้จักดนตรีไทยขนาดว่า ดนตรีไทยเค้านั่งเล่นบนพื้น หรือเวที ไม่ใช่ยืนสีซอ ดีดจะเข้ แบบ วง 12 สาวชาวจีน ทำให้นักดนตรีไทยต้องวิ่งหาเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ มาปูบนเวทีน่าสมเพชยิ่งว่า วนิพกข้างถนน แต่ด้วยจรรยาบรรณ เมื่อรับปากว่าจะเล่นให้แล้วก็ต้องเล่น ไอ้เรามันแค่เด็ก เกียรติยศอะไรก็ไม่มี ใครจะเหยียบจะย่ำก็ช่างมันเถิด สงสารก็แต่ครูผู้ใหญ่ ร้องเล่นถวายเจ้านายมาค่อนชีวิต เคยเล่นแต่บนพรม จะหมอบราบกราบกรานก็แต่พระและเจ้านาย ต้องมานั่งร้องเล่นบนกระดาษหนังสือพิมพ์ แถมเล่นไปซักพักโหมโรงจบไปไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็มาเชิญลงจากเวที เพราะดนตรีสากลมาพร้อมแล้ว  จะให้วงดนตรีไทยเล่นเพลงลาซักเพลงก็ไม่มี  
จากนั้นข้าพเจ้าก็ตัดสินใจ ไม่ขอคบค้าสมาคม งานที่จัดโดย กทม ขอไม่รับ ให้เอาวอทองมาเชิญก็ไม่ไป ไม่ใช่ว่าผมถือตัวนะ แต่สงสารครูชั้นผู้ใหญ่ที่ต้องมาอัปยศ กับความไม่ใส่ใจ+ความไม่เห็นคุณค่าของคนไทยสมัยนี้


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 11 ก.ย. 06, 00:07
 อ่านความเห็นของคุณลำดวนฯแล้วเข้าใจความรู้สึกและให้นึกแค้นเคืองตามไปด้วยเลยครับ

ครูจิตฯและท่านอื่นๆล่ะครับมีเรื่องราวดนตรีอะไรนำเสนออีกไหม ?


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 11 ก.ย. 06, 11:59
 อนิจจาครานี้นะตัวกู



มาอ้างว้างค้างอยู่ในป่าใหญ่



จะเป็นเหยื่อเสือสางที่กลางไพร



เอาป่าไม้เป็นเรือนเหมือนป่าช้า"...



"แต่ทุกข์ยากอย่างนี้ยังมิเคย



อกเอ๋ยเกิดมาพึ่งจะพบ



ไม่เคยเห็นก็มาเห็นอนาถนัก



ไม่รู้จักก็มารู้อยู่เจนจบ



ร่านริ้นบินต่ายระคายครบ



ไม่เคยพบก็มาพบทุกสิ่งอัน



ยังพรุ่งนี้จะเห็นกระไรเล่า



จะลำบากยิ่งกว่าเก่าอะไรนั่น"


ใครจำเนื้อเพลงนี้ได้ช่วยกันต่อหน่อยนะครับ หรือใครที่มีเนื้ออีกทางหนึ่งก็ช่วยกันลงหน่อยนะครับ ผมหาไม่ได้


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ก.ย. 06, 12:42
 เห็นด้วยกับคุณหมูน้อยค่ะ  

เมื่อลูกชายมาบอกว่า โรงเรียนให้เรียนวิชาดนตรีไทยควบคู่กับดนตรีสากล ด้วยจึงดีใจมาก  เคยเห็นพี่ๆในวงฟองน้ำและอ.บรูซ เล่นเพลงไทย แล้วชอบมาก ตอนที่หนังเรื่องโหมโรงเข้าฉาย  ก็เกี่ยวก้อยลูกชายดูกันหลายรอบเลย  


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 11 ก.ย. 06, 15:02
 ก็เพราะความแตกต่างนี่แหละถึงจะต้องมาเรียนรู้ซึงกันและกันในความต่างอาจจะมีอะไรที่มันมาเชื่อมต่อกันได้
อย่างเช่นการตั้งสายซึงสายสะล้อให้เข้าวงต้องอาศัยเทียบเสียงจากปี่๊่จุมเป็นหลัก ถ้าจะมีวงดนตรีพื้นเมืองสักวงหนึ่งตั้งสาย สะล้อ ซึงถาคเหนือ พิณอีสาน ซออู้ ซอด้วง
จะเข้ ซออีสาน โดยใช้แคนเป็นหลักแล้วบรรเลง สะป๊ะเพลงไปด้วยกันมันจะเป็นยังไง
ทีนี้ถ้าจะทำจริงๆต้องอาศัยนักดนตรีที่มีความสามารถ เอกอุในแต่ละชนิดของเครื่องดนตรี
วงที่ว่านี้ ขอให้เป็นวงที่ยั่งยืนไม่ใช่ทำโชว์ใน รายการ คุณพระช่วย เท่านั้น
เพราะฉะนั้น แต่ละท้องถิ่นก็จะต้องมีบุคลากรที่แตกฉานดนตรีของ4ภาคนี้ ทุกท้องถิ่น จากการแลกเปลียนบุคลากร เยาวชนก็ได้ คนเฒ่าก็ดีถ้าพร้อมที่จะอุทิศคน เหนือไปอยู่อีสาน กลาง ใต้ ไปเอา และ ไปรับวัฒนธรรมของกันและกันนำไปประยุกต์ นำไป ประสม คละเคล้า ให้เ้ข้า้กัน ไปพัก อยู่กิน แบบโฮมสเตย์ ระยะเวลา อาจจะซัก3เดือนก่อนแล้วค่อยๆขยับขยายไปเป็นปี ปลูกฝังลงในชุมชนระดับหมู่บ้าน


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 11 ก.ย. 06, 21:22

คุณกุรุกุลา คงกล่างถึงเนื้อเพลงแสนคำนึง ที่ครูหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านแต่ไว้ เพลงนี้โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นเพลงที่มีความโก้เก๋อยู่ไม่น้อย มีท่อนเกริ่นหรือลูกนำ (Intro) ที่รุกเร้า ได้ความรู้สึกอัดอั้นตันใจ พอเข้าทำนองเพลงก็ฟังแล้วหวานระคนเศร้า แถมตอนท้ายเพลงก็มีออกเดี่ยวรอบวง มีการใช้จังหวะเดินสวนสนามแบบฝรั่งฟังดูห้าวหาญดี
ส่วนเรื่องเนื้อร้องบทเดิมนั้น ครูหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านใช้คำเสียดสีการเมืองในขณะนั้นพอสมควร ซึ่งพอคุณหญิงชิ้น (บุตรีของครู) เห็นก็ขอเปลี่ยนมาใช้บทเสภาตอนนางวันทองต้องไปอยู่กับขุนแผนที่กลางป่านอนกลางดินกินกลางทรายมาแทนบทเดิม แล้วก็ทำลายบทร้องดังกล่าวทิ้งไป เคยได้ยินครูเล่าให้ฟัง ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสถามถึงเรื่องบทร้องนี้เหมือนกัน ซึ่งคุณหญิงชิ้น ก็ทูลว่า"จำไม่ได้" สมเด็จพระเทพรัตนฯ สยามบรมราชกุมารี ก็แย้มพระสรวล ผมคิดว่าคิดว่า เรื่องบางเรื่องเมื่อครูบาอาจารย์ ไม่อยากให้จดให้จำไม่ว่าด้วยสาเหตุอันใดก็อย่าไปรื้อฟื้นเลย ความจริงเรื่องเนื้อร้องเพลงแสนคำนึงบทเก่านี้มีคนพูดถึงมาก แต่ผมเองก็ไม่เห็นใครจะตอบได้เป็นหลักแน่นอน ขนาดลองไปถามครูเลื่อน  สุนทรวาทิน (บุตรีพระยาเสนาะดุริยางค์ เจ้ากรมมหรสพ) ท่านก็พูดเพียงแต่ว่า เนื้อร้องนั้นเสียดสีท่านผู้นำในสมัยนั้น จริงๆโดยส่วนตัวผมคิดว่า บทร้องที่ร้องในปัจจุบันก็ไพเราะดีไม่เสียหายหยาบคายอะไร ก็ร้องไปเถอะครับผม
ส่วนบทร้องที่คุณกุรุกุลา โพสไว้ ผมคุ้นๆว่ายังไม่จบนะครับ
ต้องต่อว่า " คิดขึ้นมาน้ำตาตกอกใจพลัน(ไม่แน่ใจ?)  หวั่นหวั่นหวนคะนึงถึงขุนช้าง"
โดยส่วนตัว ก็ชอบเล่นเพลงแสนคำนึงอยู่พอสมควร ยิ่งเวลาโดนหลอกไปช่วยเล่นดนตรีที่ไกลๆเนี่ย พอโหมโรงแล้ว ก็ขึ้น"อนิจจาครานี้นะอกกู" ทันที


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 11 ก.ย. 06, 21:59
 ขอบคุณคุณลำดวนเอ๋ยมากครับ

ส่วนตัวแล้วก็อยากฟังอยากได้ยินความอัดอั้นตันใจของนักดนตรีไทยสมัยก่อนเสียเหลือเกิน แม้ว่าจะเป็นเนื้อใหม่แล้ว ความรู้สึกคั่งแค้นระทดท้อก็ยังคงเต็มเปี่ยมอยู่ในเนื้อเพลง

ถ้าใครได้ฟังก็คงรับรู้ได้ถึงความหวาน และความเศร้า สุดท้ายอาจจะเป็นเรี่ยวแรงของการดิ้นรนให้อยู่รอดต่อไป

นับว่าเป็นก้าวสูงสุดของดนตรีไทยเพลงหนึ่งทีเดียว เสียดายที่เหลือเวลาให้น้อยเต็มที


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 12 ก.ย. 06, 09:45
 คุณกุรุฯนั้น เท่าที่เคยเจอตัว รู้สึกว่าเขาจะเป็นคนที่รัก ชื่นชมเพลงไทยเดิม เพลงเก่าและดนตรีไทยมาก
เขารู้จักเพลงไทยเดิมเก่าๆหลากหลาย บางเพลงเกิดมาผมยังไม่เคยได้ยินได้ฟังสักครั้ง แต่เขากลับร้องคลอตามเพลงได้หน้าตาเฉย


หากจะคุยเรื่องเพลงไทยเดิมให้สนุกล่ะก็ จะขาดคุณกุรุฯไปไม่ได้เชียว !!
   


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 12 ก.ย. 06, 10:59
 และเมื่อ คุณ กุรุกุลา ให้เกียรติมา ให้วิทยาทานเกี่ยวกับเรื่องที่ถนัด
จัดเจนนี้จึงทำให้คึกคักเป็นอย่างยิ่ง


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 12 ก.ย. 06, 21:37
 เห็นว่าคุณกุรุกุลา อยากได้เนื้อเพลงแสนคำนึงของเก่า เลยไปถามบรรดาครูที่เป็นศิษย์สายคุณหญิงชิ้น มาแล้วก็ไม่มีครูท่านใดกล้ายืนยันเนื้อเพลงตั้งแต่ตนจนจบได้ แต่เท่าที่ทราบคือเนื้อร้องในทำนองสองชั้น (ทำนองเดียวกับเพลงพ่อแง่แม่งอน) นั้นเป็นมีถ้อยความที่ก่นด่าเลยทีเดียว


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 13 ก.ย. 06, 09:53
 ขอบคุณมากครับ คุณลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่อุตส่าห์ลำบากไปถามครูผู้ใหญ่มาให้ ผมเองเคยได้ยินมานานแล้วเกี่ยวกับเนื้อเพลงนี้ แต่ก็คงไม่มีวาสนาได้ฟังจริงๆหรอกครับ

ผมเพียงแค่ชอบฟังเท่านั้นละครับ คุณจิตแผ้วกับพี่หมูน้อย พอจะล้วงลึกจริงๆก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 13 ก.ย. 06, 12:02
 จากความเห็นที่ 2 ที่คุณจิตแผ้วบรรยายไว้ ทำให้ผมนึกถึงการให้สัมภาษณ์ของคุณบานเย็น รากแก่น หมอลำสาวสองพันปี(คนอะไรสวยได้สวยดี) ในรายการทาง TV ว่าเวลาที่เธอไปทำการแสดงที่ต่างประเทศ พี่น้องชาวอีสานที่ไปขายแรงงานในต่างแดน พอรู้ว่าเธอมาทำการแสดง ต่างก็รีบหาทางมาร่วมงานแม้จะอยู่ต่างเมืองต่างรัฐก็มากัน พอเสียงหมอลำแว่วมาเท่านั้น เธอก็เห็นหยาดน้ำตาของพี่น้องร่วมภาคอีสานที่รื้นอยู่ในดวงตา แต่ใบหน้ากลับเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข ทำให้ผมเกิดความซาบซึ้งและเข้าใจว่า คงไม่มีใครที่อยากจะต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างภาษาวัฒนธรรม คนทุกคนก็ย่อมมีความพอใจที่จะได้อาศัยอยู่กับพวกพ้องญาติสนิทมิตรรักของตน แต่ว่าด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจอาจทำให้เขาและเธอต้างห่างไปไกลบ้าน พลัดพรากจากเรือนนอนหมอนฟูก แต่ความผูกพันกับถิ่นฐานบ้านช่องก็ยังคงอยู่ในใจมิรู้ร้าง


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 19 ก.ย. 06, 00:44
 อนิจจาครานี้นะตัวกู
มาอ้างว้างค้างอยู่ในป่าใหญ่
จะเป็นเหยื่อเสือสางที่กลางไพร
เอาป่าไม้เป็นเรือนเหมือนป่าช้า"...

นี่จะอยู่อย่างไรไม่เล็งเห็น
ตายเป็นก็คงป่นอยู่กลางป่า
มิได้คิดถึงตัวมัวจะมา
ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นนี้เลย

ขุนแผนพามาด้วยความรัก
ก็ประจักษ์ใจจริงไม่นิ่งเฉย
"แต่ทุกข์ยากอย่างนี้ยังมิเคย
อกเอ๋ยเกิดมาพึ่งจะพบ

ไม่เคยเห็นก็มาเห็นอนาถนัก
ไม่รู้จักก็มารู้อยู่เจนจบ
ร่านริ้นบินต่ายระคายครบ
ไม่เคยพบก็มาพบทุกสิ่งอัน

ยังพรุ่งนี้จะเห็นกระไรเล่า
จะลำบากยิ่งกว่าเก่าอะไรนั่น"
คิดขึ้นมาน้ำตาตกอกใจตัน
กลับหวั่นหวั่นแสนคำนึงถึงขุนช้าง

นิจจาเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านช่อง
ถนอมน้องมิให้หน่ายระคายหมาง
คลึงเคล้าเช้าเย็นไม่เว้นวาง
อยู่กินก็สำอางลออออง


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 22 ก.ย. 06, 10:46
 คราใดที่ใจครุ่นคิดถึง คนึงหา แดนดิน ถิ่นเกิด คนรักที่นิราศร้างห่างกัน
อารมณ์บ่มเศร้าทำให้เกิดจินตนาการ คร่ำครวญหวนไห้ ออกมาเป็น ลำนำกลอน สะท้อนออกเป็นเสียงขับร้อง ดนตรี ดนตรีแต่ละภาคมีเอกลักษณ์เป็นของตนแต่คงไม่ยากที่จะนำมาเรียงร้อย
เข้าด้วยกันหรือสลับสับเปลี่ยน การบรรเลง เช่น บรรเลง ซอล่องน่าน
ด้วยแคน สีเพลงเสียงซอสั่งสาว ของ ศรชัย เมฆวิเชียร ด้วย สะล้อ คงจะได้อะไรใหม่ๆมาประดับวงการ นักดนตรีในแต่ละภาคต้องรู้ทางเพลงของกันและกันในระดับชั้นครู
ถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 29 ก.ย. 06, 03:42
 “ แคน ” อัครมหาเครื่องดนตรีแห่งลุ่มน้ำโขง เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะมาก ลักษณะโครงสร้างการออกแบบ รวมถึงการเรียงลูกแคน เช่นแคนลูกนี้เสียงนี้ควรอยู่ลำดับที่เท่านี้ เป็นต้น ก็ลึกล้ำพิสดาร สำหรับคนที่เป่าแคนไม่เป็น หรือเป็นบ้าง แต่ได้ไม่หลายลาย(หรือหลายคีย์) อาจจะไม่เข้าใจถึงความลึกล้ำพิสดารอันนี้

    บทความเกี่ยวกับ “ แคน ” ที่ข้าพเจ้าได้นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงการรวบรวม เรียบเรียงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ช่างทำแคนที่บ้านสีแก้ว หมอแคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก รวมถึงหนังสือเรื่องแคนที่เขียนโดยอาจารย์สำเร็จ คำโมง โดยข้าพเจ้า ได้นำมาปะติดปะต่อเรียบเรียงใหม่ และอธิบายเสริมในบางประเด็น ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้า ไม่ใช่ช่างทำแคน ไม่ใช่หมอแคนที่ชำนาญ เป็นเพียงแค่เป่าแคนได้นิดหน่อย และมีความรู้ทางดนตรีเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

    รายละเอียดในบทความนี้ อาจจะมีไม่มากมาย เท่าที่ควรจะมี เพราะเรื่องแคน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ผ่านบุคคล เช่นช่างแคน หมอแคน เป็นต้นมาหลายชั่วอายุคน จนมิอาจนับได้ หากจะรวบรวมให้ละเอียด จบสิ้นกระบวนความจริงๆ คงต้องเป็นหนังสือเล่มใหญ่เอาการทีเดียว ซึ่งข้าพเจ้าเอง คงไม่สามารถกระทำได้ขนาดนั้น เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับแคน แค่น้อยนิด แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่า บทความนี้ คงจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้สนใจบ้าง ไม่มากก็น้อย

    อนึ่ง ข้าพเจ้า ขอขอบคุณ ระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ตั้งแต่ผู้ให้กำเนิดแคน ให้กำเนิดลายแคน ช่างแคน หมอแคน ตลอดถึงผู้ชื่นชอบเสียงแคนทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้สืบทอดแคน ลายแคน จากอดีตอันหาต้นกำเนิดไม่ได้ จวบจนถึงปัจจุบัน แม้ผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน แคนและเสียงแคน ก็ไม่เคยเลือนหายจากแดนลุ่มน้ำโขง จนแคน ได้สมญานามว่า “ อัครมหาเครื่องดนตรีอมตะแห่งลุ่มน้ำโขง ”


    

    
สมบัติ
   
ศรีสิงห์
    กุมภาพันธ์    
๒๕๔๙


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 29 ก.ย. 06, 03:43
 ความรู้ทั่วไปเรื่องแคน



นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ เสียงแคนเกิดจากการเป่า และการดูดกระแสลมผ่านลิ้นโลหะที่ฝังอยู่ในรูบากข้างลำท่อ ลิ้นแคนลิ้นเดิมให้เสียงระดับเดิมทั้งขาเป่า และขาดูดกระแสลมผ่าน จึงเรียกว่าเป็นลิ้นแบบอิสระ ดังกล่าวแล้ว

การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว .....เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ ออนซอน ” ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่น ๆ มาเทียบได้

นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า   “แคน 1 เต้า” ....ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า “แคน 1 ดวง” แคนเต้าหนึ่งประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า

แคนทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะมีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน... รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย

การจำแนกประเภทของแคน จำแนกตามจำนวนลูกแคนที่ประกอบรวมกันอยู่ในเต้า มี 5 ประเภท คือ

   แคนหก มีลูกแคน 6 ลูก (3 คู่)

   แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก )

   แคนแปด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก)

   แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก)

   แคนสิบ มีลูกแคน 10 ลูก (5 คู่)

แคนหกมีระดับเสียงอยู่ในมาตราเพนตะโทนิค (มี 5 โน้ต) นอกนั้น มีระบบเสียงเป็นมาตราไดอะโทนิค (มี 7 โน้ต)

การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง “ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง “ลาต่ำ” ของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น “แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 29 ก.ย. 06, 03:44
 ส่วนประกอบของแคน



แคน มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

1.ลูกแคน 2.เต้าแคน 3.หลาบโลหะ 4.ขี้สูดหรือชันโรง 5.ไม้กั้น 6.เชือกมัด



1.  ลูกแคน

ลูกแคน ทำจากไม้ตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานเรียกว่าไม้ไผ่เฮี้ย ชาวลาวเรียกว่า ไม้เฮี้ยน้อย ทางภาคกลางและทางเหนือเรียกไม้ซาง และเนื่องจากไม้ไผ่เฮี้ยนี้ โดยมากนำมาใช้ทำแคนเป็นหลัก ช่างแคน จึงนิยมเรียกว่า ไม้กู่แคน ...
        

ไม้กู่แคน เป็นพืชตระกูลไผ่ มีลำเล็กๆ ขนาดประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วนาง มีปล้องค่อนข้างยาว ภายในมีรู มีเปลือกบาง ก่อนนำมาใช้ จะลนไฟแล้วดัดให้ตรง แบ่งขนาดความยาวตามความเหมาะสมของเสียงแคนและรูปทรงแคน ไม้กู่แคนทุกลำทะลุข้อออกเพื่อให้ลมผ่าน ฝังหลาบโลหะเรียกว่าลิ้นแคน (ซึ่งเลียนแบบมาจากลิ้นนก) ตรงรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ซึ่งตรงลิ้นแคนนี้ เมื่อประกอบเป็นแคนแล้ว จะอยู่ภายในเต้าแคนอีกที มองไม่เห็น หากเป็นแคนลิ้นคู่ รูใส่ลิ้นแคนจะมีสองรูต่อหนึ่งลูกแคน

ถัดจากลิ้นแคนขึ้นไปประมาณ 15-20 ซ.ม. ในแนวเดียวกัน จะเจาะรูกลมเล็กๆ ลำละหนึ่งรู เพื่อใช้นิ้วปิดเปิดเวลาบรรเลงเพลง เรียกรูนี้ว่า รูนับ

ถัดจากลิ้นแคนลงมาด้านล่าง ระยะห่างขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ ด้านในจะบากรูไว้ลำละรู รูนี้คือรูแพวล่าง เป็นรูพื้นฐานในการกำหนดระดับเสียง และถัดจากรูนับขึ้นไปอีก ระยะห่างขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ หรือประมาณ 3 เท่าของระยะรูแพวล่างกับลิ้นแคน ด้านในจะบากรูไว้ลำละรู รูนี้ เป็นรูแพวบน เป็นรูสำหรับปรับแต่งระดับเสียง (การปรับเสียง มีสองวิธีคือ ปรับโดยระยะห่างของรูแพวบน กับปรับโดยขูดลิ้นแคน)....
แคนแต่ละดวงจะมีจำนวนลูกแคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของแคน เช่น แคนเจ็ดมี 14ลูก แคนแปด มี16 ลูก เป็นต้น



2. เต้าแคน

เต้าแคน ทำจากแก่นไม้ที่เนื้อไม่แข็งมากนัก เช่นไม้แคนหรือไม้ตะเคียน ไม้หนามแท่ง ไม้ประดู่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ รากไม้ประดู่ เพราะรากไม้ประดู่ ไม่แข็งมากนัก ตัด บาก เจาะทำรูปทรงของเต้าแคนได้ง่าย

เต้าแคน มีลักษณะกลมเป็นกระเปาะ หัวท้ายสอบ ตรงกลางเจาะบากเป็นรูทะลุรูปสี่เหลี่ยม สำหรับใส่ลูกแคน ด้านหน้าหรือหัวเต้า เจาะรูกลมทะลุถึงรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง สำหรับเป่าให้ลมเข้าไปสั่นสะเทือนลิ้นแคนภายในเต้าแคน ด้านท้ายเต้า เหลาตกแต่งเป็นรูปทรงคล้ายหัวนม ซึ่งเต้าแคนของช่างแคนแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน ช่างแคนตัวจริงทุกคนจะมีรูปร่างเต้าแคนอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เต้าแคน ก็คือโลโก้ของช่างแคนคนนั้นนั่นเอง

ช่องว่างระหว่างเต้าแคนและลูกแคน จะถูกปิดผนึกแน่นด้วยขี้สูด เพื่อปิดกั้นมิให้ลมที่เป่าเข้าไปนั้นรั่วออกมาข้างนอก ลมที่เป่าเข้าไป จะได้ผ่านออกทางลิ้นแคนอย่างเดียว



3. หลาบโลหะ

หลาบโลหะ คือแผ่นโลหะบางๆ ใช้สำหรับทำลิ้นแคน โดยช่างแคน จะค่อยๆ ทุบตีก้อนโลหะ จากที่เป็นก้อน ให้เป็นแผ่นเส้นยาวๆ จากที่เป็นแผ่น ให้กลายเป็นแผ่นบางๆ พอเหมาะกับการใช้งาน

หลาบโลหะที่ใช้ทำลิ้นแคน เป็นโลหะผสม โดยมากใช้โลหะผสมระหว่างทองแดงกับเงิน โลหะที่ช่างแคนนิยมใช้นั้น ไม่ใช่โลหะบริสุทธิ์ เพราะโลหะบริสุทธิ์หาได้ยาก ช่างแคนมักจะใช้เหรียญสตางค์แดง ซึ่งเป็นเหรียญหนึ่งสตางค์สมัยก่อน ผสมกับเงิน(เกือบ)บริสุทธิ์ที่หาซื้อจากร้านทอง บางทีเงินบริสุทธิ์ไม่มี ก็ใช้เหรียญ5บาทแบบโบราณแทน เพราะมีส่วนผสมของเงินอยู่มาก ช่างแคนแต่ละคน จะมีสูตรผสมโลหะอันเป็นสูตรของตนอยู่ ซึ่งการผสมโลหะนี้ โดยมากช่างแคนมิได้ผสมเอง จะจ้างช่างผสมโลหะอีกที เพียงแต่กำชับอัตราการผสมโลหะแก่ช่างผสมโลหะ เท่านั้น

นอกจากใช้ทองแดงกับเงินแล้ว บางแห่ง (แคนตลาด) ก็นิยมใช้หลาบโลหะที่เป็นทองเหลือง เพราะราคาถูก หาได้ง่าย

แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากทองแดงผสมกับเงิน เรียกว่า แคนลิ้นเงิน ให้โทนเสียงออกนุ่มๆ มีเสียงสดใสโทนแหลมของโลหะทองแดง และเสียงโทนทุ้มของโลหะเงิน ดังนั้น แคนลิ้นเงิน จึงให้เสียงที่ฟังไพเราะ สบายหู นุ่มหู... หากต้องการให้ออกโทนทุ้มมากๆ ก็ใส่เงินเข้าไปมากขึ้น... แต่ว่า การใส่เงินเข้าไปมาก จะทำให้หลาบโลหะนั้น อ่อนเกินไป การสปริงตัวหรือการคืนตัวไม่ดี ส่งผลให้ลิ้นนองง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดี ... สูตรผสมที่พอเหมาะ ช่างแคนแต่ละคนจะทราบดี ...เนื่องจากแคนลิ้นเงิน ให้เสียงที่สดใสปนนุ่มนวล จึงเป็นแคนที่หมอแคนทั้งหลาย นิยมเป็นที่สุด และเนื่องจากเงินและสตางค์แดง ปัจจุบันราคาแพงขึ้น แคนลิ้นเงิน (สูตรนี้) จึงราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากสตางค์แดงล้วนๆ ไม่ผสมเงิน เรียกว่า แคนลิ้นทองแดง หรือแคนลิ้นทอง แคนลิ้นทอง(แดง)นี้ เนื่องจากหลาบโลหะสตางค์แดง มีความแข็งมาก จึงให้เสียงโทนแหลมใส เป่าแล้วเสียงดังไกล แต่มีความนุ่มนวลน้อย คนที่ชอบเสียงโทนทุ้ม ฟังแล้วอาจจะบอกว่า แสบแก้วหู แต่คนที่ชอบเสียงโทนสดใส อาจจะบอกว่า เสียงใสไพเราะดี ซึ่งก็แล้วแต่คนชอบ ลิ้นแคนที่ทำจากหลาบโลหะสตางค์แดง เนื่องจากแข็ง เหนียว ทน มีการคืนตัวดี อายุการใช้งาน จึงนานกว่าลิ้นเงินเล็กน้อย (ตามความเข้าใจของช่างแคน)

แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากทองเหลือง เรียกว่า แคนลิ้นทองเหลือง หรือเพื่อให้ดูมีคุณภาพ บางทีก็บอกว่า แคนลิ้นทอง (เหลือง..อยู่ในวงเล็บ) ทองเหลือง หาค่อนข้างง่ายกว่าสตางค์แดง และราคาไม่แพงเท่าสตางค์แดง (สตางค์แดง ในอดีตมีราคาแค่หนึ่งสตางค์ แต่ปัจจุบัน ราคาแพงขึ้นหลายพันเท่าตัว) ช่างแคนที่ทำแคนตลาด (แคนคุณภาพต่ำ-ปานกลาง) จึงนิยมใช้... ทองเหลืองเป็นโลหะอ่อน ไม่เหนียว มีการคืนตัวปานกลาง ให้เสียงใสนุ่ม แต่ไม่แน่น เสียงจะออกแนวโปร่งๆ หลวมๆ เพราะลิ้นทองเหลืองค่อนข้างอ่อน โดนลมกระทบนิดเดียว ก็สั่นเกิดเสียง ดังนั้น แคนลิ้นทองเหลือง เมื่อเราลองเป่าดูตอนแรกซื้อ จะเป่าง่ายมาก เป่าเบาๆ ก็ดัง ไม่เปลืองลม แต่หลังจากเป่าไปเป่ามา ลิ้นทองเหลืองนั้น เนื่องจากอ่อน คืนตัวไม่ดี ก็ไม่คืนเข้าที่เดิม เป็นลิ้นนอง หรือลิ้นหมูบหลบเข้าข้างใน ทำให้ลมหนีออกตามช่องนั้นๆ ได้ แทนที่จะไปออกเฉพาะลิ้นที่เรานับหรือปิดรู ลักษณะนี้ จะทำให้ผู้เป่าเปลืองลมมากขึ้น เพราะลมรั่ว นั่นเอง … อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากลิ้นอ่อน และคืนตัวไม่ดี เมื่อเป่าแรงๆ หรือดูดแรงๆ ลิ้นอาจงอแล้วไม่คืนตัว หรือลิ้นอาจหักได้ง่าย.... แคนลิ้นทองเหลือง หมอแคนอาชีพไม่นิยมใช้ (แต่หมอแคนตามบ้าน อาจจะใช้ เพราะราคาถูก... ไม่มีเงินซื้อแคนแพงๆ)

แคน จะให้เสียงที่ไพเราะหรือไม่ นอกจากความกล่อมกัน ความเข้ากัน ความกินกันดี ของเสียงแต่ละเสียงแล้ว วัสดุของตัวหลาบโลหะที่ใช้ทำลิ้น ก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการกำหนดโทนของเสียงแคน

แผ่นโลหะที่ใช้ทำลิ้นแคน จะกว้างแคบ สั้นยาว ขึ้นอยู่กับระดับเสียงของลูกแคนนั้นๆ เช่น เสียงต่ำ จะยาวกว่าเสียงสูง โดยประมาณแล้ว แต่ละแผ่นจะยาวประมาณ3เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร และหนาประมาณ0.5 มิลลิเมตร ที่แผ่นแต่ละแผ่น จะตัดตรงกลางแนวยาวทำเป็นลิ้น ดังรูป และลิ้นนี้ จะหนาบางไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ ช่างแคน จะใช้มีดตอกและติวไม้รวกขูดแต่งลิ้น เพื่อปรับเสียง... หากขูดด้านปลายลิ้นให้บางลง เสียงจะสูงขึ้น หากขูดด้านโคนลิ้นให้บางลง เสียงจะต่ำลง... ซึ่งถ้าขูดจนบางเต็มที่แล้ว เสียงยังไม่ได้ ช่างแคนก็จะแก้ที่ รูแพวบนของแคนลูกนั้น ... บากรูให้ใกล้ลิ้นเข้ามาอีก จะทำให้เสียงสูงขึ้น... การแก้ที่รูแพวบนนั้น แก้ได้เพียงบากให้ใกล้ลิ้นแคนเข้าไปอีก เท่านั้น ดังนั้น ตอนแรกที่บากรูแพวบน ช่างแคนมักจะเผื่อเอาไว้ คือบากให้ไกลๆ เอาไว้ก่อน แล้วค่อย บากเข้ามาทีหลัง... แต่สำหรับช่างแคนที่ชำนาญ ก็บากได้ค่อนข้างแม่น




4. ขี้สูดหรือชันโรง

เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าผึ้งเรียกว่า แมลงขี้สูด หรือบางแห่งเรียก แมงน้อย คุณสมบัติของขี้สูดคือ อ่อน เหนียว ยืดหยุ่น ไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบ ขี้สูดใช้สำหรับติดยึดลูกแคนเข้ากับเต้าแคน ทั้งยังช่วยปิดอุดช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้า และระหว่างลูกแคนกับลูกแคน เพื่อไม่ให้ลมที่ผ่านเข้าสู่โพรงเต้าแคน รั่วไหลออกจากเต้า



5. ไม้กั้น

ไม้กั้น ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1 ซ.ม. หนาประมาณ 1 ซ.ม. และยาวประมาณ ไม่เกินความกว้างของแคนดวงนั้น

ไม้กั้นนี้ ใช้กั้นระหว่างลูกแคนแพซ้าย กับแพขวา ตรงจุดที่มีเชือกมัด ซึ่งจุดที่มีเชือกมัด โดยมากจะมีอยู่ 3 จุดคือ ด้านล่าง 1 จุด ตรงกลางแถวๆปลายลูกแคนที่สั้นที่สุด 1 จุด และด้านบนตรงปลายลูกแคนที่ยาวที่สุด อีก1 จุด... นอกจากนั้น ตรงรูสี่เหลี่ยมของเต้าแคน ก็ใช้ไม้กั้นอีก 2 จุด บน-ล่าง รวมแล้ว แคน 1 ดวง ใช้ไม้กั้นประมาณ 5 อัน



6. เชือก

เชือก ใช้สำหรับมัดยึดลูกแคนให้อยู่ในรูปทรงที่ต้องการ ให้แคนมีความแข็งแรงขึ้น เชือกมัดนี้ นิยมใช้ เครือหญ้านาง และหวาย แต่บางแห่งในปัจจุบัน ก็ใช้เชือกฟาง

แคนที่ผลิตที่แถวร้อยเอ็ด นิยมใช้เครือหญ้านาง เป็นเชือกรัดแคน

แคนที่ผลิตที่แถวนครพนม นิยมใช้หวาย เป็นเชือกรัดแคน


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 04 ต.ค. 06, 07:46
 ดนตรีในแต่ละภาคมักประกอบไปด้วย เครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการ ดีด สี ตี เป่า
หาก นำจุดเด่น ของแต่ละภาคมาประกอบกันให้ครบ คงจะน่าดูชม เครื่องเป่า ผมขอยกให้ แคนจากแดนอีสาน เครื่องอื่นๆ น่าจะเป็นอะไรลองจัดกระบวนทัพกันเข้ามา
ครับ


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 09 ต.ค. 06, 17:41
 นอกจากแคนที่เป็นเครื่องเป่าแล้ว ดนตรีอีสานยังมีเครื่องดีดที่เป็นเอกอุนั่นคือพิณ 3 สาย โดยตั้งสาย ล่างสุดเป็นเสียงมีมาตรฐาน สายกลางเป็น ลา สายบนสุดเป็น มี ต่ำ
สามรถบันเลงเพลงทุกเพลงบนโลก ใน คีย์ ซี เอ ไมเนอร์ โดนเฉพาะเพลงทางไมเนอร์ อันได้แก่ ลกูทุ่ง เพื่อชีวิต ซานตานาหลายเพลง ถ้าหาก
ต้องการ คีย์อื่นที่สูงขึ้นไปก็เพียงแต่ มูฟ สายอีให้ตรงคี์ย์นั้นๆซึ่งเชื่อว่านักดนตรีจะรู้วิธีการดี แต่เพื่อเปิดทางให้ภาคเหนือ เครื่องดีด
ในวง ขอใช้ ซึง หรือ ซุง หรือ ปิน ครับ


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 12 ต.ค. 06, 16:48
 แวะมาชม ขอปันประสบการณ์และความรู้ด้วยคน
ขอบคุณครับ


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 13 ต.ค. 06, 11:51
 พอมาถึงเครื่องสี น่าจะเป็นเครื่องดนตรีจากภาคกลางอันได้แก่ ซออู้กับซอด้วง


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 13 ต.ค. 06, 11:53
 และยินดีต้อนรับ คุณ โพธิ์ประทับช้าง ด้วยไออุ่นแห่ง น้ำมิตร ครับ มีสิ่งดีๆ เกี่ยวกับ
ดนตรีการ ขอเชิญชวนครับ


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 21 ต.ค. 06, 20:41
 ดนตรีถ้าหากขาดจังหวะคงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เครื่องให้จังหวะ หรือเครื่องตี นั้น ที่พบเห็นเจนตาได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง เพื่อให้ครบทั้งสี่ ภาคคงขาดกลองรำมะนาไม่ได้ เมื่อครบเครื่อง ทั้ง ดีด สี ตี เป่า แล้ว ก็เริ่มบรรเลงกันได้เลย รีบขยับเข้ามาฟังกันใกล้ๆหน่อยนึง เิิชิฺญครับ


กระทู้: ดนตรีสี่ภาค
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 29 ต.ค. 06, 06:01
 เริ่มจากทางภาคเหนือด้วยเพลง  แม่หม้าย ก้อม  หรือ แม่หม้ายเครือก็ได้ คือเพลงเดียวกัน แต่เล่นกันคนละบันไดเสียง โดยแม่หม้ายก้อมจะมีบันไดเสยงที่สูงกว่า คล้ายกับลายแคนของ อีสาน ที่หลายลาย ทำนองเหมือนกัน ถ้าลายใหญ่ จะเป็น บันไดเสียง เอไมเนอร์ ลายน้อย จะเป็น ดีไมมเนอร์ เพลงแม่หม้าย ทั้งสองของภาคเหนือ จะใช้บรรเลงประกอบลีลาฟ้อนแง้น คือฟ้อนไปทำตัวให้อ่อนโอนไปตามจังหวะทำนองของเพลงนักยิมนาสติก หรือ นักกายกรรมบางคนทำอะไรมิได้เลยนักฟ้อนหลายคนฝึกฝนจนสามารถ
อ่อนตัวคาบสตางค์ได้ในท่ายืน