เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: นกข. ที่ 22 เม.ย. 02, 07:20



กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 22 เม.ย. 02, 07:20
ผมเพิ่งแว่บไปเที่ยวปารีสเมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาครับ ทำงานเสร็จคำวันศุกร์ กระโดดขึ้นรถไฟ TGV ไปเลย 3 ชม. ครึ่งถึงปารีส นอนปารีส 2 คืน ค่ำวันอาทิตย์กระโดดขึ้นรถไฟอีก เช้าวันจันทร์มาทำงาน.. สนุกดีครับ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ผมได้ไปปารีส ผมไปโผล่ที่สถานทูตไทยวันเสาร์ ได้ทราบว่ามีการประชุมกรรมการสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกัน แต่ผมไม่ได้เข้าไปในห้องประชุมเพราะไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง แค่ตามพี่ที่เขาทำงานที่สถานทูตเข้าไปเฉยๆ

วันอาทิตย์ไปดูวังแวร์ซายล์ ตามรอยเท้าคุณ Jor ซึ่งไปเที่ยวที่นั่นก่อนผมตั้งแต่หน้าหนาวปีที่แล้ว มีกระทู้เรื่องคุณจ้อไปแวร์ซายล์อยู่ในเรือนไทยนี่ด้วยครับ เป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปที่นั่น และคงจะต้องตามไปเก็บตกอีก เพราะคราวนี้เวลาน้อย สวนของวังก็ยังไม่ได้ดู (มันหนาวด้วยครับดูไม่ไหว) ตำหนักตริอานองใหญ่และตริอานองน้อยก็ยังไม่ได้ดู แต่ที่ได้ไปดูแล้วอย่างพลาดไม่ได้ก็คือห้องกระจก (Hall of Mirrors) ของวัง ซึ่งสำหรับคนที่เรียนและทำงานมาอย่างผมค่อนข้างน่าสนใจมาก เป็นที่ที่ลงนามสัญญาระหว่างประเทศสำคัญๆ หลายฉบับในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด เป็นที่เสด็จออกรับคณะทูตต่างประเทศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14มหาราช สุริยกษัตริย์ คณะทูตคณะหนึ่งที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่คนฝรั่งเศสสมัยโน้นตื่นเต้นทึ่งกันมาก ก็คือคณะของท่านโกษาปาน ที่ไปจากราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ของเรา เป็นอันว่าผมได้ไปเห็นสถานที่ที่ท่านโกษาปาน บรรพบุรุษในอาชีพผมท่านเคยเดินผมไปมาแล้ว


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: วังวารี ที่ 11 ก.พ. 02, 22:38
น่าอิจฉาอะครับ คุณ  นกข. (ฮิๆๆๆ)  ที่ได้แว่บไปปารีส คงรวยน่าดู ไม่รวยมั้งก็แล้วไป (ล้อเล่นอะครับ)


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 11 ก.พ. 02, 22:57
ปารีสมันเผอิญอยู่ใกล้เมืองที่ผมทำงานเดี๋ยวนี้น่ะครับ เลยแว่บได้ โดยไม่แพงมาก และในเมื่อต้องอยู่ที่นี่แล้วผมก็นึกว่าควรจะหาเวลาเที่ยวเสียในขณะที่มีโอกาส

ถ้าผมกลับไปทำงานที่เมืองไทย คงจะแว่บไม่ออกเหมือนกัน ให้เวลา 3 ชม. ครึ่งคงจะนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวได้แค่ชุมพร หรือราวๆ นั้น

ขอให้รวยจริงเถอะน่า ... ถ้ารวยจริงผมก็บินกลับไปเมืองไทยได้บ่อยๆ แล้วซิ คิดถึงเมืองไทยออก แต่ค่าเครื่องบินมันแพงครับ เลยได้แต่เที่ยวแถวนี้

ใครทำลิงก์กับกระทู้เก่าให้ได้บ้างครับ ขอบคุณครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 12 ก.พ. 02, 00:52
ขอแก้ตัวผมเองในกระทู้โน้น ที่มีการเล่ากันถึงโกศาปานไปฝรั่งเศส และเหตุการณ์ตามบันทึกของฝ่ายไทยว่า ราชทูตไทยลองวิชาอยู่ยงคงกระพันถวายให้พระเจ้าหลุยส์มหาราชทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่ง โดยให้ทหารฝรั่งยิงปืนไฟใส่ทหารไทย แล้วทหารไทยใช้อาคมปัดเป่ากระสุนไปได้ ไม่เป็นอันตราย (อาจารย์คึกฤทธิ์เอาเค้าเรื่องไปเขียนเป็นเรื่องสั้นชื่อ "ลองของ")

เหตุการณ์นี้อาจไม่เคยเกิดจริงเลยก็ได้ เพราะในบันทึกฝ่ายฝรั่งก็ไม่ปรากฏเลย แต่สมมติว่าจริง ผมเองได้ลากโยงเรื่องเล่นๆ ว่า ทหารฝรั่งเศสหน่วยไหนจะเป็นทหารที่ยิงทหารไทยผู้ติดตามราชทูตได้? ก็น่าจะเป็นทหารแม่นปืนเหล่าที่ถือปืนยาวฝรั่งโบราณ เรียกว่าทหารเหล่ามัสเกเตียร์ ซึ่งเป็นทหารหลวงรักษาพระองค์ด้วย และทหารมัสเกเตียร์ที่เรารู้จักดีทั่วโลกนั้น มี 3 +1 คน จากงานของอาเล็กซองดร์ ดูมาส์ คือเรื่อง 3 (และ 4) ทหารเสือ อันโด่งดังนั่นเอง แต่ทหารแม่นปืนฝรั่งรุ่นนั้นคงไม่ใช่รุ่นเดียวกับมัสเกเตียร์รุ่น 3 ทหารเสือ ผมเข้าใจว่าอาจเป็นรุ่นพ่อหรือปู่ของดาตาญังที่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับทหารไทยของโกษาปาน โกษาปานจึงถูกลากมาเกี่ยวข้องกับดาตาญัง (และลีโอนาโด ดิคาปรีชิโอ) ได้ด้วยประการฉะนี้ฯ

ขอแก้ไขตัวเองตรงนี้ ว่า เวลาในเรื่องสามทหารเสือ มาก่อนเวลาที่โกษาปานไปฝรั่งเศสครับ (ไม่ใช่หลัง ดังที่ผมเข้าใจผิดไป) ตัวโกงผู้ร้ายในเรื่องคือคาร์ดินาลริเชอลิเออนั้น มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เป็นนายกรัฐมนตรีหรืออัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ผู้ทรงริเริ่มสร้างพระตำหนักหรือเรือนพักผ่อนเล็กๆ ทีแวร์ซายล์เอาไว้เวลาเสด็จมาล่าสัตว์เท่านั้น เป็นเรือนหลังเล็กมาก ต่อมาอีกรัชกาลหนึ่งคือหลุยส์ที่ 14 จึงได้ทรงขยายเพิ่มเติมปรับปรุงแวร์ซายล์อย่างมโหฬาร กลายเป็นพระราชวังอันอลังการใหญ่โตขึ้นมา และเสด็จย้ายราชสำนักมาประทับที่นี้เป็นการประจำ จนกระทั่งได้รับราชทูตไทย คือโกษาปานที่นี่ และมีเรื่องในบันทึกไทยว่าเกิดการสาธิตวิชาทหารแบบฝรั่งและแบบไทยกันต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้าหลุยส์ ดังนั้นจะต้องพูดกลับกันเป็นว่า ทหารเสือมัสเกเตียร์รุ่นลูกหรือรุ่นหลานของ 3 +1 ทหารเสือครับ ที่มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับท่านโกษาปาน


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ตา ที่ 12 ก.พ. 02, 01:33
จำห้องกระจกที่คุณ นกข.เล่าได้ เพราะเคยไปเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วค่ะ เสียดายที่สมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปได้มากพอ ก็เลยมองเห็นแต่ความสวยงามของพระราชวังมากกว่า  บังเอิญสมัยนั้นได้มีโอกาสไปพระราชวังเชินบรุนด้วย ดิฉันยังรู้สึกชอบในความสวยงามของที่นั่นมากกว่า  แวร์ซายล์สมัยนั้นที่นึกออก ก็คงจะมีแต่เรื่องกุหลาบแวร์ซายล์ที่เคยอ่านตอนเป็นการ์ตูน 13 เล่มจบเท่านั้น


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 12 ก.พ. 02, 05:04
มาทำลิงก์ไปยังกระทู้พระราชวังแวร์ซายล์(ภาคแรก)ครับ

http://www.vcharkarn.com/snippets/board/show_message.php?dtn=dtn5&ID=RW265



คุณนกข ไปชมพระราชวังช่วงฤดูหนาวเหมือนผมเลย

แต่ถ้าจะให้ดีไปช่วงฤดูใบไม้ผลิน่าจะดีที่สุดนะครับ เร็วไปสองสามเดือน ...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: สายลม ที่ 12 ก.พ. 02, 08:29
.   .   .   ปารีสเป็นเมืองที่คนไทยที่ไปยุโรปมักจะแวะไปเยือน ไม่ขาไปก็ขากลับ และเมื่อไปปารีสแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือต้องไปชมพระราชวังแวร์ซายล์ ผมก็เป็นเช่นว่าแวะไปชมหลายครั้งและไม่เคยเบื่อ  สมัยก่อนต้องอาศัยมัคคุเทศก์ มาสมัยหลังๆนี่ไม่ต้องใช้แล้วครับ เขามีบริการเชุดเทปมีหูฟัง เดินชมไปฟังไปสะดวกดี
.   .   .  ความจริงพระราชวังในยุโรปที่สวยงามมีอยู่มากแต่ละแห่งก็สวยงามแบบมีเอกลักษ์ของตนเอง ผมเห็นด้วยกับคุณตาที่ว่าพระราชวังเชินบรุนสวยงามมาก และในสายตาของผมเห็นว่าไม่แพ้พระราชวังแวร์ซายล์ สำหรับภายใน แต่บริเวณภายนอกผมคิดว่าพระราชวังพระราชวังแวร์ซายล์สวยกว่า พระราชวังเครมลินที่มอสโคว มีความสวยงามมากทั้งภายนอกและภายใน พระราชวัง
ฤดูหนาวที่เซนต์ ปีเตอร์สเบอร์ก พระราชวังปีเตอร์ ฮอฟ ที่เมืองเดียวกันก็สวยงามพิศดาร ชมกันไม่อิ่ม


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 12 ก.พ. 02, 22:11
ในหนังสือไกด์บุคที่ผมซื้อ เขาพูดถึงการเสด็จออกรับราชทูตสยามในห้องกระจกไว้เฉพาะเจาะจงเลย คือพูดถึงการออกรับแขกเมืองต่างประเทศจากประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น... แล้วก็ยกมาตัวอย่างเดียวคือราชทูตไทย ปี คศ. 16... กว่าๆ  แสดงว่าเป็นเรื่องที่ฝรั่งก็ทึ่งมาแต่สมัยโน้น

ผมจะโชคร้ายหรือไงไม่รู้ วันที่ไปดูนั้นห้องทุกห้องปิดหน้าต่างสนิท เพราะหนาว ทำให้มีกลิ่นไม่สุนทรีย์ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศแทบสำลัก เพื่อนที่ไปด้วยกันทุกคนได้กลิ่นและรู้สึกตรงกันว่าเป็นกลิ่นปัสสาวะ ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องเล่าโบราณว่าวังแห่งนี้ที่หรูหราอลังการเป็นนักหนานั้นไม่มีห้องน้ำ (ไม่นับห้องน้ำสร้างใหม่สมัยหลังสำหรับนักท่องเที่ยว) เจ้านายขุนนางอะไรต่ออะไรที่ประทับและพักอยู่ที่นั่นใช้กระโถนกันทั้งนั้น คงเป็นวังที่สวยแต่เหม็นพอดู พออุดจมูกชมเสร็จออกมา มาถกกันว่าจะเป็นกลิ่นอะไรได้ เป็นกลิ่นอับของห้องหรือ หรือเป็นกลิ่นปัสสาวะจริงๆ หรือกลิ่นอะไร มาได้ความจากพี่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยที่รออยู่ข้างนอก (พี่เขาขับรถมาส่งแล้ว ขอไม่เข้า เพราะเข้าวังแวร์ซายล์มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว) ว่า เป็นกลิ่นน้ำยาขัดพื้นไม้ยี่ห้อหนึ่งของฝรั่งเศส กลิ่นเป็นยังงั้นจริงๆ ผมสงสัยว่าจะผสมแอมโมเนีย เราคงไปตรงวันเขาขัดพื้นไม้พอดี เมื่อทางพิพธภัณฑ์แวร์ซายล์เอามาลงพื้นขัดไว้แล้วปิดหน้าต่างก็ตรลบอบอวลอยู่ในนั้นแหละ กลายเป็นการสร้างบรรยากาศวังที่ไม่มีห้องน้ำไปโดยไม่รู้ตัว ทำไมไม่เปลี่ยนยี่ห้อก็ไม่รู้...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 12 ก.พ. 02, 22:48
ขอเรียนถามว่า หนังสือบันทึกการเดินทางของโกษาปานฝีมือประพันธ์กวีไทยนิรนามในคณะทูต ที่มีข่าวว่าเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อปีที่แล้ว (เรื่อง "ต้นทางฝรั่งเศส") ไปถึงไหนแล้วครับ

ท่านโกษาปานไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เมืองฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2229 ตรงกับ ค.ศ. 1686 ครับ

ธรรมเนียมรับทูตของไทยกับฝรั่งโบราณจะเหมือนกันไหมก็ไม่รู้ แต่ของไทยเรานั้นมีธรรมเนียมว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงมีพระราชปฏิสันถาร (คือ ทักทาย)  3 นัด (คือ 3 ประโยค 3 เรื่อง) เท่านั้น ว่า พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศที่ส่งราชทูตมาทรงพระสำราญดีหรือ เมืองของราชทูตเป็นปกติสุขฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลดีไหม และตัวราชทูตเองกับคณะเดินทางมาไกลมาตามทางสบายดีนะ  แค่นั้นแล้วก็เสด็จขึ้น จบ การเจรจาความเมืองต่อรองอะไรต่างๆ นั้นธรรมเนียมไทยโบราณไม่อนุญาตให้ราชทูตกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง จะคุยธุระหรือเจรจาความเมืองอะไรก็ให้ไปเจรจากับเสนาบดี ซึ่งมักเป็นพระยาพระคลัง (ชื่อตำแหน่งท่านราชทูตโกษาปานเองก็บ่งว่าท่านว่าราชการพระคลังใน 4 ตำแหน่งจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา พระคลังนั้นดูแลการค้าต่างประเทศและการต่างประเทศด้วย)

ถ้าเป็นสมัยนี้ พวกผมเขียน talking points หรือประเด็นการสนทนาถวายได้ง่ายไปเลย เพราะมีแค่ 3 ข้อ 3 ประเด็นทุกที เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน (แต่การเจรจากับฝรั่งนั้นเสนาบดีก็ต้องกราบบังคมทูลทุกระยะเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะตัดสินใจไปได้เอง)


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 13 ก.พ. 02, 11:55
ผมว่านอกจากวังจะเหม็นเพราะขุนนางใช้กระโทนแล้ว
ชาววังฝรั่งเศสสมัยนั้นยังไม่ชอบอาบน้ำด้วยนะครับ โห่ๆๆๆ
ตามมุมต่างๆของพระราชวังจะมีโถใส่น้ำหอมชั้นดีไว้
สำหรับเวลาที่นางในทั้งหลายทนกลิ่นกายของเองไม่ใหว
จะได้สลัดน้ำหอมดับกลิ่นได้ทันครับ
เดือนหนึ่งอาบน้ำสักครั้งสองครั้งก็นับว่าสะอาดสุดยอดแล้ว
ผมลองนึกในใจเล่นๆว่ากลิ่นน้ำหอมฝรั่งเศสนี่ฉุนใช่เล่น
เกิดกระโทนปัสสาวะกับกระโทนน้ำหอมอยู่ใกล้กัน
นางในทั้งหลายเกิดสับสนขึ้นมาคงจะกลิ่นตาบูพลึกครับ เหอๆๆ

ที่ผมชอบอีกอย่างในพระราชวังคือประตูลับครับ
มองไปเหมือนเป็นข้างฝาธรรมดาแต่ทำเป็นประตูลับแบบหนังจีน
เอาไว้ให้พระราชาใช้เป็นทางหลบจากนางสนมคนนี้ ไปหาสนมคนนั้นได้สะดวก ฮ่าๆๆ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 02, 10:41
ได้ยินจากไกด์มาเหมือนกันว่าแวซายลส์ไม่มีห้องน้ำ   เคยถามว่าแล้วปวดท้องขึ้นมาทำกันยังไง ก็ได้คำตอบว่า..มี chamber pot หรือกระโถน ซึ่งใช้กันมาจนต้นศตวรรษที่ ๒๐
ส่วนผู้หญิงมี bidet (อ่านว่า บิเด)
ตอนที่พระราชินีมารี อังตัวแนตต์ ถูกจับตัวไปเข้าคุก   ท่านนำ bidet ส่วนตัวติดไปใช้ด้วย

เคยอ่านพบในเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่า  เคยมีหนังสือคู่มือมารยาทผู้ดีในสมัยก่อน   มีข้อห้ามข้อหนึ่งว่า
ห้ามบรรดาขุนนางผู้ดีทั้งหลายใช้เตาผิงเป็นที่ปัสสาวะ
แสดงว่าในสมัยโบราณคงจะนิยมทำแบบนี้กันมาก จนต้องออกข้อห้ามมาทีหลัง

เรื่องอาบน้ำก็อย่างที่คุณจ้อว่าละค่ะ ใช่เลย  อาจารย์เคยบอกไว้เหมือนกันว่า..น้ำหอมฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อนักมีเอาไว้ทำอะไรล่ะ  ไม่ได้ใส่ให้หอม แต่ให้ดับกลิ่นกาย
พวกผู้หญิงที่ทำผมสูงๆ หรูๆน่ะ ข้างในเหาทั้งนั้น เพราะไม่ค่อยได้สระผม

แย่จริง ทำกระทู้หัวข้องามๆ ส่งกลิ่นอบอวลไปหมดแล้ว   หยุดละค่ะ

เรื่องที่คุณนกข. ถาม พิมพ์แล้วเผยแพร่แล้วค่ะ   แต่ต้นฉบับที่พบสั้นมาก  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง ไม่ได้บรรยายปลายทางเมื่อมาถึงฝรั่งเศส
ก็เลยไม่มีบันทึกถึงภาพการเข้าเฝ้าของทูตไทยในสมัยนั้นไว้ น่าเสียดาย


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ตา ที่ 16 ก.พ. 02, 01:32
รู้จัก bidet ที่คุณเทาชมพูพูดถึงมาเกือบ 20 ปีแล้วค่ะ แต่ยังสงสัยจนถึงปัจจุบันว่าใช้ยังไง  ใครรู้ช่วยกรุณาบอกหน่อยว่าความเข้าใจของดิฉันถูกต้องหรือไม่  คือตอนที่เห็นจะเห็น bidet วางคู่อยู่กับโถชักโครก  แสดงว่าเมื่อนั่งชักโครกแล้ว ก็ต้องมานั่งที่ bidet เพื่อทำความสะอาดหรือเปล่า ต้องขอโทษนะคะที่ถามคำถามนี้ในกระทู้  จริงๆแล้วสงสัยมานานมากกกกกก ค่ะ แต่ยังหาผู้รู้มาตอบไม่ได้ซักที นี่ก็เดามาเป็นสิบกว่าปีแล้วนะคะ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 02, 09:39
ิbidet ออกแบบมาให้มีน้ำล้างทำความสะอาด  แต่ chamber pot เป็นกระโถน  ไม่มีน้ำล้าง
อ้อ   กระโถนค่ะคุณจ้อ ไม่ใช่กระโทน
bidet สมัยใหม่จะมีปุ่ม กดแล้วมีน้ำฉีดขึ้นมาเหมือนน้ำพุจากส่วนข้างใต้ที่นั่งค่ะ
สุขภัณฑ์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นจะรวม bidet และ ชักโครกเข้าด้วยกัน


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ก.พ. 02, 06:16
ห้องกระจกที่มีชื่อเสียงยิ่งของวังแวร์ซายล์นี้ เป็นท้องพระโรงยาว มีกระจกเงาประดับผนังด้านหนึ่งเต็มตลอดผนัง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Hall of Mirrors ผมก็จำแต่ชื่อภาษาอังกฤษ พอไปถึงเข้าจริงเลยมีเรื่องหน้าแตกเล็กๆ

เราออกจากกรุงปารีสกันเกือบบ่ายแล้ว และตั้งใจจะไปหาอะไรกินกลางวันกันที่แวร์ซายล์ เพราะพี่เขาว่ามีคาเฟทีเรียเล็กๆ อยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแวร์ซายล์ มีพวกแซนวิชขาย หรือจะไปกินในเมืองแวร์ซายล์ก็ได้ ก็เป็นอันตกลงตามนั้น ไม่อยากแวะกินกลางทางหรือกินที่ปารีสกลัวเสียเวลา (เที่ยว)
ดังนั้นเมื่อไปถึงวังเข้าจริงผมจึงค่อนข้างหิวหน่อยๆ แล้ว ปรากฏว่าคาเฟทีเรียที่ในวังปิดซ่อมแซมชั่วคราว เป็นอันอด ที่วังนั้นป้ายสำหรับนักท่องเที่ยวเขาทำเป็นสามภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ผมก็เห็นป้ายที่เขียนชี้ทางไป  Hall of Mirrors แล้ว พักหนึ่งเห็นป้ายเขียนว่า La Galerie des Glaces อีก ดีใจรีบบอกพี่เขาว่า พี่ไปนั่งรอที่ห้องไอศกรีมก็ได้ อย่างน้อยถึงยังไม่ได้ทานกลางวันเราก็เล่นไอติมรองท้องเสียคนละถ้วยก็ยังได้

พี่เขามองหน้าผม คงสงสารภูมิรู้ภาษาฝรั่งเศสขั้นอนุบาลของผมเต็มที หรือไม่ก็คงเห็นใจว่าไอ้นี่มันคงหิวจนตาลายไปแล้ว แล้วก็ค่อยๆ บอกว่า Glace ภาษาฝรั่งเศสในที่นี้ไม่ได้แปลว่าไอติมจ้ะน้อง แปลว่ากระจกเงา ....

เพล้ง- กระจกไม่แตกหรอกครับ แต่หน้าผมแตกละเอียดอยู่ตรงนั้นเอง...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 17 ก.พ. 02, 06:42
อ้า... ใช้แล้วครับ กระโถน ไม่ใช่กระโทน ผมสะกดผิดประจำครับขอพระคุณๆเทาชมพู แหะๆๆ

คุณนกข ได้เข้าชมรัฐสภาที่อยู่ในแวร์ซายด้วยหรือเปล่าครับ หรือว่าไม่มีเวลา


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ก.พ. 02, 08:58
ผมเข้าใจว่ารัฐสภาฝรั่งเศสเคยมาใช้สถานที่ที่วังนี่ประชุมกัน รู้สึกว่าเคยไปยึดเอาสนามเทนนิสหรือโรงเทนนิสหลวงของวังแวร์ซายล์เป็นที่ชุมนุมอยู่พักหนึ่ง ตอนปฏิวัติฝรั่งเศสกันใหม่ๆ แต่คราวนี้ผมไม่ได้ไปดูครับ เวลาน้อย

สภาสนามเทนนิสของฝรั่งเศสทำให้นึกถึงสภาสนามม้าของไทย ใครจำสภาสนามม้าได้มั่งครับ สมัชชาแห่งชาติที่ตั้งขึ้นหลังกรณี 14 ตุลา 16 ไงครับ สมัชชาชั่วคราวครั้งนั้นประกอบด้วยผู้แทนมหาชนชาวไทยทุกสาขาทุกหมู่เหล่าทุกอาชีพ รู้สึกว่าจะมีจำนวนถึงพันคน เลยไม่มีที่จะประชุมต้องไปประชุมกันที่สนามม้าราชตฤณมัย - ใช่มั้ยนะ? คิดว่าไม่ใช่ที่สนามม้าอีกที่ที่สนามฝรั่ง สภานั้นเลยได้ชื่อเรียกเล่นว่าสภาสนามม้า แต่จะเรียกว่าเป็นสภาพระราชทานก็คงได้เหมือนกัน เพราะในภาวะสูญญากาศทางอำนาจหลังจากระบอบทหารถูกพลังประชาชนล้มไปในวันที่ 14 ตุลาแล้ว ประชาชนก็อยากได้ประชาธิปไตย แต่สถาบันการเมืองทางรัฐสภาถูกบอนไซมาเสียนาน ยังเข้ามาทำหน้าที่แทนระบอบทหารไม่ได้ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองที่ไม่มีสถาบันไหนจะเป็นหลักได้นั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เสด็จลงมาพระราชทานนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และพระราชทานแนวพระราชดำริให้มีสมัชชาแห่งชาติ แล้วให้สมัชชาแห่งชาติคัดเลือกกันเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นิติบัญญัติไปพลาง เพราะจะรอจัดให้มีการเลือกตั้งเลยทันทียังไม่ได้และจะไม่ทันการ  เป็นการโปรดเกล้าฯ ลงมาในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะโดยปกติสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมทรงอยู่เหนือการเมือง และถ้าผมจำไม่ผิด ในหลวงเคยมีรับสั่งกับท่านอาจารย์สัญญาฯ นายกพระราชทานทำนองว่า พระองค์ท่านลงมาช่วยนำจัดให้มีระบบที่จะบริหารบ้านเมืองในสภาพวิกฤตไปได้แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จำเป็นจะต้องกลับไปสู่ฐานะเหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด จะบริหารกันอย่างไรต่อไปก็ว่ากันไปเอง

ดังนั้นสภาสนามเทนนิสของฝรั่งเศสและสภาสนามม้าของไทย แม้จะเทียบกันได้ในบางจุด เช่นว่าใช้ที่เล่นกีฬาเป็นที่ชุมนุมเหมือนกันและเกิดขึ้นไล่ๆ กับการที่ประชาชนลุกขึ้นแสดงพลังเหมือนกัน แต่มาถึงตรงนี้แล้วผิดกันไกล เพราะพระบารมีของพระเจ้าหลุยส์ต่อคนฝรั่งเศสตอนนี้ สู้พระบารมีของในหลวงของเราต่อคนไทยไม่ได้ เป็นคนละเรื่องตรงกันข้ามเลยครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ก.พ. 02, 09:21
อีกประการหนึ่งที่ต่างกันคือ สมัชชาแห่งชาติไทยตอนนั้นเป็นสภาที่ได้รับแต่งตั้งมา เรียกได้ว่า เป็นสภาจริงๆ ส่วนของฝรั่ง ที่จริงแล้วผมเรียก "สภาสนามเทนนิส"  เล่นๆ ให้เข้าชุดกับ "สภาสนามม้า" เท่านั้น จริงๆ แล้วการชุมนุมที่สนามเทนนิสหลวงนั่นไม่ใช่สภาอย่างเป็นทางการ เป็นแต่เพียงการชุมนุมของสมาชิกสภาฐานันดรแห่งชาติฝรั่งเศสบางกลุ่ม คือ พวกที่มาจากฐานันดรที่ 3 คือ นายทุนกฎุมพีพ่อค้าเสรีชนคนธรรมดา (ฐานันดรที่ 1 และ 2 นั้นคือพวกเจ้านายขุนนางและพวกพระ ถ้าอนุญาตให้ผมฟุ้งเล่นๆ เห็นจะเรียกเทียบได้ว่าพวกวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ ฐานันดรที่ 3 เป็นพวกไวศยะ) ตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพิ่งทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรของคนทุกชนชั้นในสังคมฝรั่งเศสตอนนั้น แต่พวกสามัญชนคือ ฐานันดรที่ 3 ไม่พอใจพระเจ้าหลุยส์และ 2 ชนชั้นแรก และยังถูกแกล้งอะไรก็ไม่แน่ใจ กีดกันไม่ให้เข้าประชุมด้วย เลยแยกไปชุมนุมพวกของตัวต่างหากที่โรงเทนนิส จะเรียกว่าเป็นการชุมนุมทำนองม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาลก็ได้

ตลกดีที่ถ้าจะเทียบกับเมืองไทยสมัยนี้ อาจจะมีบางจุดคล้ายกับ "สมัชชาคนจน" เพียงแต่ของฝรั่งเศศตอนโน้น เป็น "สมัชชานายทุน" หรือ "สมัชชากฎุมพี"  ...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดวง ที่ 17 ก.พ. 02, 15:44
เกิดไม่ค่อยทันกับเรื่องราวในครั้งกระนั้น อาศัยฟังจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่า สภาสนามม้าใช้สนามม้านางเลิ้ง แต่คนเล่าไม่เห็นบอกว่าความวุ่นวายในครั้งนั้นเกิดจากประชาชนไปล้มระบอบทหารบอกแต่ว่าไปล้มรัฐบาล ถนอม ประภาส ไม่รู้ว่าระบอบทหารนี่มีอยู่ในตำราเล่มไหนแล้วมันเหมือนกับระบอบตาลีบันหรือเปล่า

เคยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์องค์ไหนก็ไม่ได้ จำได้ว่ามีภาพวาดประกอบด้วยเป็นภาพคนเทกระโถนลงมาจากหน้าต่าง เป็นการเทของเสียทิ้งลงไปคงจะเหม็นกันน่าดู แต่เมืองหนาวกลิ่นเหม็นคงน้อยกว่าเมืองร้อน

bidet มีใช้ในเมืองไทยมานานแล้ว เคยเห็นติดตั้งอยู่ในห้องน้ำของบ้านที่สร้างก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ถามผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านบอกว่าเป็นที่ถ่ายปัสสาวะของผู้หญิง เพราะจะประหยัดน้ำกว่าการใช้ชักโครกมาก แต่ปัจจุบันเรามีชักโครกแบบประหยัดน้ำแล้ว คงจะใช้กันน้อยลง

พอดีคนที่ให้ความรู้เรื่อง bidet เคยอยู่ฝรั่งเศสมานาน และต้องไปพระราชวังแวร์ชายล์บ่อยมาก ไม่กล้าถามว่าทำไมถึงไปบ่อย เพราะค่าเข้าชมมันแพง ถามไปจะเป็นการหมิ่นน้ำใจกันเปล่าๆ ก็ได้ความรู้ว่าพระราชวังแห่งนี้เปิดให้ชมกันตลอดปี และก็ไม่เคยเคราะห์ร้าย ได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ใดๆเลย คิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าประจำอยู่เป็นจำนวนมากก็คงไม่เป็นหวัดกันหมดถึงทนกันอยู่ได้ คิดว่าจมูกคนฝรั่งเศสคงไม่ด้อยไปกว่าจมูกคนไทย


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 18 ก.พ. 02, 20:35
ขอบคุณครับคุณดวง

เมื่อเกิดกรณี 14 ตุลา 16 นั้นผมก็ยังเด็กอยู่ อายุแปดขวบ แต่เผอิญเมื่อโตขึ้นนั้นผมเรียนทางรัฐศาสตร์ ใช่ครับประชาชนลุกขึ้นมาจนคุณถนอม คุณประภาสอยู่ไม่ได้ต้องออกจากอำนาจไป เหตุการณ์เดียวกันแหละครับ แต่ว่าคุณถนอมและคุณประภาสนั้น ท่านมีตำแหน่งเป็นจอมพลด้วยกันทั้งคู่ครับ อำนาจการปกครองประเทศในขณะนั้นอยู่ในกำมือของกลุ่มทหารพวกของท่านจอมพลถนอมจอมพลประภาสนั่นแหละครับ ชั้นลูกท่านยังเป็นพันเอกเลย พันเอกณรงค์ กิตติขจร ทหารกลุ่มท่านเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง ทุกสาขา แม้กระทั่งมาเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  รัฐสภาไม่มี ท่านนายกถนอมท่านทำปฏิวัติตัวเองล้มสภามาตั้งแต่ก่อนนั้นแล้ว เมืองไทยตอนนั้น อย่าว่าแต่รัฐสภาจะไม่มีเลย รัฐธรรมนูญก็ไม่มีเอาด้วยซ้ำไป  

เรื่องวังแวร์ซายล์เหม็นเฉพาะวันที่ผมไปนั้น มีคำอธิบายเขียนอยู่ชัดเจนแล้วข้างบน ว่าไม่ใช่กลิ่นห้องน้ำ แต่เป็นกลิ่นน้ำยาขัดพื้นไม้ยี่ห้อหนึ่งที่เขาขัดพื้นวันนั้นพอดี แต่เผอิญมามีกลิ่นคล้ายกลิ่นห้องน้ำชายก็เท่านั้น บางทีเผลอๆ เพื่อนคุณที่อยู่ฝรั่งเศสก็อาจจะรู้จักน้ำยายี่ห้อที่ว่านี้ด้วยซ้ำไปครับ ลองถามดูสิครับ ถ้ามันเป็นการขัดพื้นเป็นการชั่วคราว แล้วโดยที่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเขาก็รู้ว่าเป็นกลิ่นชั่วคราวเหมือนอย่างกับกลิ่นสีทาใหม่ เขาก็คงทนอยู่ได้ละมังครับเพราะเขารู้ว่ามันชั่วคราว

มีข้อสงสัยอะไรจะแลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกไหมครับ หรือมีข้อมูลเสริมที่จะแบ่งปันอีกไหมครับ ยินดีแลกเปลี่ยนครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดวง ที่ 19 ก.พ. 02, 00:44
ตกลงระบอบการปกครองที่เรารู้ๆกันก็มี ระบอบราชาธิปไตย(สมบูรณาญาสิทธิราช) ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(ปริมิตาญาสิทธิราช) ระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ส่วนประเทศที่เป็นสังคมนิยม และที่เป็นคอมมิวนิสต์เขาก็อ้างว่าเป็นประธิปไตยกันทั้งนั้นและมีประมุขเป็นประธานาธิบดี ก็เห็นมีกันอยู่แค่นี้

กลับมาพูดเรื่อง Bidet อีกครั้ง เพื่อนที่เป็นนักเที่ยวอยู่ในฝรั่งเศสมานานให้ความรู้เพิ่มเติมว่า อาคารเก่าๆรวมไปถึงโรงแรมเก่าๆในฝรั่งเศสจะไม่มีห้องน้ำ และคนฝรั่งเศสเองก็ไม่ค่อยได้อาบน้ำ อย่างที่หลายคนได้เล่ากันไปแล้ว ก็ต้องอาศัย Bidet นี่แหละเป็นที่ชำระล้างร่างกายบางส่วน แม้กระทั่งใช้ล้างเท้า เพราะเราสามารถขังน้ำไวใน Bidet ได้เหมือนอ่างล้างหน้า ดังนั้นในโรงแรมดังกล่าวเขาจะเขียนป้ายห้ามใช้ Bidet เป็นที่ถ่ายปัสสาวะ เรื่องอย่างนี้คนที่ไปพักโรงแรมสมัยใหม่คงจะไม่พบ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 ก.พ. 02, 02:18
ตามตำราของคุณดวงนั้นคงเป็นได้ ผมก็จะไม่เถียงแหละครับ ตำราทำนองนั้นผมก็อ่านมา และได้อ่านตำราทำนองอื่นด้วย ก็เป็นอันรับรู้เข้าใจตรงกันว่าในความหมายของคุณ คุณหมายว่ายังงั้นโดยยึดตำราอันนั้น

คำว่าระบอบ ดั้งเดิมเป็นคำไทยที่ตั้งขึ้นให้ตรงกับคำว่า Regime ในภาษาอังกฤษ องค์ผู้ทรงบัญญัติศัพท์นี้ในภาษาไทยคือพระองค์วรรณฯ (ใช่ครับ  "ระบอบ"  เป็น "ศัพท์ท่านวรรณฯ" คำหนึ่งในบรรดา "ศัพท์ท่านวรรณฯ" อีกหลายๆๆๆ คำ) ทรงมีพระอธิบายว่าตั้งพระทัยที่จะให้ใทยบคำว่า ระบอบ กับ Regime ระบบ กับ System และระเบียบ กับ Order

Military regime ถ้าถือตามพระมติพระองค์วรรณฯ ก็จะถอดแปลได้ว่า  ระบอบทหาร ถ้าถือตามตำราของคุณ การเมืองไทยสมัยคุณถนอมนั้นก็เห็นจะไม่เข้ากับระบอบอะไรทั้งสิ้นที่คุณยกมาทั้งหมด ถึงแม้รัฐบาลทหารขณะนั้นอาจจะอ้างว่า เป็น "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข"  บ้างก็ตาม  แต่ก็เห็นๆ กันอยู่ในข้อเท็จจริงว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ยกเว้นแต่ใครจะตะแบงนิยามว่าประชาธิปไตยแปลแค่ว่าไม่ใช่คอมมิวนิสต์เท่านั้น ผมก็จนใจ ในขณะนั้นเมืองไทยเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจริง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยและไม่ใช่ราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย ถ้าเอารายชื่อระบอบตามตำราของคุณมากางเทียบกับข้อเท็จจริง จะให้หมายความว่ากระไรได้ครับ แปลว่าเมืองไทยตอนนั้นไม่มีการปกครองเลยซักระบอบหรือ ??? เป็นไปได้ยังไง ถ้าเป็นยังงั้นก็เละไม่เป็นบ้านเป็นเมืองแล้ว หรือมีการปกครอง แต่นอกตำรา??? ถ้ายังงั้นถามต่อว่า แปลว่าตำราไม่ครบถ้วนครอบคลุมล่ะสิ หรือเปล่า????

ถ้าจะถกกันทางทฤษฎี ไม่ใช่ด้านข้อเท็จจริง ก็ยังมีอีกหลายสำนักที่แบ่งการปกครองเป็นแบบต่างๆ หลายแบบ อย่างของเพลโต้ก็ง่ายดี อีตาเพลโต้บอกว่า พอจะแบ่งระบอบการปกครอง หรือถ้าคุณไม่ชอบคำว่าระบอบจะเปลี่ยนเป็นคำว่า ชนิดของการปกครองก็ได้ ได้คร่าวๆ เป็น 6 ชนิด การปกครองแบบคนเดียวเป็นใหญ่ อย่างที่ดีเรียกว่า กษัตริย์นักปกครอง ที่เลวเรียกว่า ทรราช การปกครองแบบคนหมู่หนึ่งเป็นใหญ่ อย่างที่ดีเรียกว่า อภิชนาธิปไตย อย่างที่เลวเรียกว่า คณาธิปไตย (เราอาจจะพอถือได้ว่าระบบเผด็จการทหารทั้งหลายเป็นอย่างนี้ - จะอภิชนาธิปไตยหรือคณาธิปไตยก็สุดแท้แต่) การปกครองแบบที่ "ประชาชน" คนหมู่มากเป็นใหญ่ อย่างที่ดี อาจจะพอเรียกได้ว่าประชาธิปไตย อย่างลวอาจพอเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบพวกมากลากไปหรือการปกครองโดยฝูงชน นี่ก็เห็นได้ว่าไม่ตรงกับระบอบตามตำราของคุณเสียทีเดียว แม้จะมีเอ่ยถึง "ประชาธิปไตย" อยู่ด้วยก็ตาม

หรือจะเอาแนวทางสำนักมาร์กซิสต์ ผมก็ไม่เชี่ยวชาญแนวคิดสำนักนั้นน่ะนะครับ แต่พอรู้เลาๆ ว่าเขาก็แบ่งการปกครองออกเป็นแบบต่างๆ อย่าง คำว่า ประชาธิปไตยนายทุนหรือประชาธิปไตยกฎุมพี อันนี้เขาหมายถึงสิ่งเดียวกับที่ทางเราเรียกว่าประชาธิปไตยเฉยๆ หรือประชาธิปไตยเสรีนิยม ส่วนการปกครองของเขาเองเขาอาจจะเรียกว่าประชาธิปไตยประชาชน หรือเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ ก็แล้วแต่ การปกครองอีกพวกที่ยังมีเจ้าอยู่เขาก็เรียกเป็นพวกระบบศักดินา มีรายละเอียดย่อยลงไปอีกแยะครับ ซึ่งบางทีชาวมาร์กซิสต์สำนักต่างๆ ก็พูดไม่เหมือนกันเอง เป็นที่ปวดหัวแก่ผมซึ่งไม่ใช่มาร์กซิสต์เป็นที่ยิ่ง

ในประวัติศาสตร์โลก มีระบอบระบบรูปแบบการปกครองอีกหลายแบบที่ประหลาดๆ หลุดออกไปนอกตำราที่คุณอ้างมา ถ้าคุณไม่ชอบให้ผมใช้คำว่าระบอบผมก็จะไม่ใช้ละ ยอม เอาเป็นเรียกง่ายๆ ว่า รูปแบบการปกครองก็แล้วกัน ว่ากันถึงสมัยใกล้ๆ กับที่เรากำลังพูดกันอยู่ คือหลังจากปฏิวัติฝรั่งเศสมาหน่อย ตอนนั้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้มไปแล้ว อาจจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยแบบมีกษัตริญอยู่แป๊บหนึ่ง แล้วพอต่อมาก็วุ่นวายกันขนานใหญ่ เรียกว่าระบอบอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ลัดเวลามาหน่อยตอนก่อนนโปเลียนจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลก่อน รูปแบบการปกครองแบบกงสุลนี้ฝรั่งเศสก็ไปเอามาจากโรมโบราณ มีผู้ปกครองสองคนเป็นกงสุล ซึ่งจะจัดเป็นระบอบอะไรผมก็ยังงงๆ
มาจนถึงรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการตั้งแต่รัฐอิตาลีของมุสโสลินีมาจนสเปนของฟรังโก จนถึงนาซีเยอรมันของฮิตเล่อร์ ผมก็ไม่รู้จะเรียกอะไรได้ ตามรายชื่อระบอบของคุณ (อ้อ และ Nazi Regime มีคนอื่นที่ไม่ใช่ผมแปลไว้ว่า "ระบอบนาซี"  นะครับ)
ถ้าสนใจเรื่องนี้จริงๆ ว่างๆ มาตั้งกระทู้คุยกันใหม่สิครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 ก.พ. 02, 05:52
เออ แล้วตำราของคุณเอง จัดให้ "ระบอบตาลีบัน"  (ศัพท์ของคุณเอง) เป็นระบอบการปกครองแบบไหนละครับ? ราชาธิปไตย? ไม่ใช่ ประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข? ไม่ใช่ ประชาธิปไตยแบบมีประธานาธิบดี? ไม่ใช่ สังคมนิยมที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยและมีประธานาธิบดี? ก็ไม่ใช่อีก แปลว่า "ระบอบตาลีบัน" สอบตกหมดตามตำราของคุณเล่มนี้ แต่คุณเองก็ยังเรียกการปกครองโดยคณะปกครองชุดนั้นว่า ระบอบตาลีบัน แปลว่าผมก็มีเพื่อนแล้วอย่างน้อยคนหนึ่งซินะ ที่เรียกคณะปกครองอย่างนี้ว่าระบอบ โดยมุ่งให้หมายถึงคณะปกครอง (Regime) ไม่ได้หมายถึงรูปแบบชนิดของการปกครอง เพื่อนคนนั้นก็คือตัวคุณเอง คุณดวงจะอธิบายยังไงให้ตัวคุณดวงเองฟังก็แล้วแต่คุณดวงครับ ผมไม่เกี่ยว อิอิอิ....


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดวง ที่ 19 ก.พ. 02, 11:53
ตำราที่เคยอ่านเป็นตำราของกระทรวงศึกษาธิการนานแล้ว  ในนั้นมันไม่มีอย่างที่คุณเขียนมาก็เลยถาม ระบอบตาลีบันก็อ่านพบในหนังสือพิมพ์ไทยนี่แหละ เห็นว่ามันแปลกทั้งสองคำเลยถามว่า ทั้งสองคำนี้มันมีความหมายเหมือนกันไหม  คุณบอกเองว่าตำราทำนองนั้นคุณก็เคยได้อ่านเหมือนกัน แล้วมาบอกว่าตำราของผมได้อย่างไร ลองตั้งสติดูให้ดี

คำว่า Regime นอกจากจะหมายถึงระบอบ ยังหมายถึงสมัยการปกครองได้อีก ดังนั้น เมื่อคุณบอกว่ามีระบอบ Nazi มันก็มีระบอบตาลีบันได้ ไม่ว่าจะในความหมายว่าระบอบหรือความหมายว่าสมัยการปกครอง

รัฐบาลจอมพล ถนอม - จอมพล ประภาส จะเรียกว่า ถนอม -  ประภาส Regime ก็เคยเห็นเรียกกัน อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้าบอกว่าเป็นระบอบทหาร(military Regime) อันนี้คุณพูดเอง วินิจฉัยเอง  เพราะเผอิญหัวหน้ารัฐบาลเป็นทหาร ทหารอื่นๆเขาไม่ได้เป็นด้วย การที่คุณไปกล่าวหาเขาเช่นนั้น คุณคิดว่ามันถูกแล้วหรือ

ที่พูดมาทั้งหมดนี่ก็ได้จากการอ่านและการถาม ไม่ใช่นั่งยกเมฆเอาเอง ทุกอย่างมีที่มา  เวทีนี้มีไว้เพื่อแสดงความเห็น  แสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้กันมิใช่หรือ จึงอยากเห็นบรรยากาศที่เป็นกันเองมีใจเป็นนักกิฬา ถ้อยคำบางคำอาจไม่สละสลวยเพราะไม่มีเวลาไปเรียบเรียงก็อย่ามองในแง่ร้าย


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. (ว่าทีร้อยตรี คับผม-) ที่ 19 ก.พ. 02, 20:11
ฮ่าๆๆ
น้อง ขอเรียกน้องนะน้องดวง เพราะคุณอ่อนกว่าผมแน่ๆ ผมเกิดทัน 14 ตุลา คุณบอกว่าเกิดไม่ทัน คุณก็เป็นน้องผมตามข้อเท็จจริง และผมยินดีถือว่าคุณเป็นน้องตามความรู้สึกด้วย แต่คุณจะถือผมเป็นพี่หรือไม่ผมบังคับคุณไม่ได้ และไม่ว่ากัน

น้องเขียนไปเขียนมาแล้ว พี่งงจ้ะ
น้องเป็นคนตั้งประเด็นเอง พี่เล่าของพี่อยู่ดีๆ ว่าแวร์ซายล์ พาดพิงมาเทียบกับสภาสนามม้า แล้วพี่ก้พูดถึงเมืองไทยตอนนั้นว่า ปกครองด้วยระบอบทหาร Military Regime น้องอาจจะเกิดไม่ทัน แต่พี่ทันจ้ะ ข้อเท็จจริงมันเป็นยังงั้นจริงจริ๊ง น้อง ทหารเขาครองเมืองอยู่จริงๆ ง่ะ น้องก็ไม่ชอบคำว่าระบอบทหารของพี่ ยกตำรามา น้องเป็นคนยกมาพี่ก็ให้เกียรติน้องว่า เฉพาะในกระทู้นั้นตำราที่น้องยกมาอ้าง เป็นตำรา "ของน้อง" ซิ แล้วพี่ก็บอกแล้ว ว่า น้องเอ๋ย ตำราน่ะมันมีแยะ มีหลายเล่ม แบ่งเป็นหลายอย่าง ตำราของกระทรวงศึกษา (เดาว่า อาจจะเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองระดับมัธยม เพราะคล้ายๆ กับที่พี่เคยอ่านมา
เล่มนั้น) ท่านอาจจะเขียนอย่างหนึ่ง พี่ก็ไม่ว่า เคารพ ที่มาที่ไปที่อ้างอิงของน้อง แต่ขอบอกว่าตำราอื่นที่พี่ก็อ่านแต่น้องอาจจะยังไม่ได้อ่านนั้นก็ยังมีอีก พี่ก็มีเหตุผลของพี่เป็นที่มาที่ไปเหมือนกันที่พี่จะอธิบายได้ ตอบข้อสงสัยของน้อง ว่าทำไมพี่เองใช้คำว่าระบอบทหารบรรยายสภาพการเมืองไทยตอนนั้น

เป็นอันว่าตามตำราเล่มของกระทรวงศึกษา ระบอบมีอยู่แค่นั้น แต่ทีนี้คำว่าระบอบมันมีที่ใช้ที่อื่นอีกแยะ ที่อยู่นอกตำราเล่มนั้นของน้อง - เอ้า เปลี่ยนก็ได้ ตำราที่น้องอ้าง ก็เล่าให้น้องฟังเท่านั้นเอง

น้องจ๋า น้องเองลองตั้งสติดูให้ดีเองเถอะจ้ะ ถ้า regime มันแปลว่าสมัยการปกครองก็ได้อย่างที่น้องว่า แล้วมันถอดเป็นไทยว่าระบอบได้อย่างที่พี่ว่า และโดยที่พี่เคารพพระมติพระองค์ผู้ทรงบัญญัติการใช้คำนี้เอง แล้วมันจะแปลกตรงไหนที่จะมี ระบอบนาซี ระบอบตาลีบัน และ - ระบอบทหาร ที่ไม่ใช่ รูปแบบการปกครอง แต่เป็นสมัยหรือชุดการปกครอง โดยนาซี โดยตาลีบัน และ -โดยทหาร

ข้อเท็จจริงมันเป็นอยู่ยังงั้นนี่

มันไม่ใช่เผอิญหัวหน้ารัฐบาลสองคนเป็นทหารหรอก น้องก็เกิดไม่ทัน แล้วพี่อ่านดูก็รู้ว่าก็ไม่ได้ศึกษาละเอียด แล้วมาหาว่าพี่ยกเมฆ ขณะนั้นกลุ่มทหารครองอำนาจในบ้านเมืองจริงๆ พูดอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องดีหรือเรื่องเลว ไม่ใช่เป็นการหาเรื่องด่าทหารเล่น มันเป็นความจริงอย่างนั้นก็เท่านั้นเอง ถ้าน้องเผอิ๊ญเผอิญเป็นทหาร เป็นลูกทหาร เป็นแฟนทหาร หรืออะไรก็ตามเถอะ แล้วรู้สึกว่าพี่กำลังจะด่าทหาร ก็ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ แต่พี่แค่บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้นเอง ตัวพี่เองก็เป็นว่าที่ร้อยตรีนะครับ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะเห็น ว่าทหารในฐานะกลุ่ม ได้ครองอำนาจ ผลัดเปลี่ยนกันบ้างแย่งกันบ้างสืบทอดกันขึ้นมาครองอำนาจ ตั้งแต่สมัยท่านจอมพล ป. ที่มีคนเรียกท่านล้อๆ ว่า ท่านจอมพล "คนหัวปี"  แล้วก็มีจอมพล "น้องๆ" คลานตามกันมายึดอำนาจครองเมือง ท่านสฤษฎิ์ ท่านถนอม ท่านผิน ท่านประภาส ... สืบมาเรื่อย เป็นสิบปี อยู่ในกลุ่มทหาร เป็นกลุ่ม ไม่ใช่แต่แค่ท่านถนอมกับประภาสแค่นั้น แถมหลังปี 2516 แล้วก็ยังมีต่อมาอีก เห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องของบุคคลแค่ 2 คน ที่ทหารอื่นเขาไม่รู้เรื่องด้วย ปล่อยท่านจอมพลไป 2 คน ไม่ใช่ แต่เป็นกลุ่มทหารที่มีฐานะเป็นกลุ่มในบ้านเมือง การเอารถถังออกมา การทำปฏิวัติ การจี้ตัวผู้นำการเมือง ต่างๆ เหล่านี้ กลุ่มทหารในฐานะที่เป็นกลุ่มในบ้านเมืองทำ ลองคิดดูว่าถ้าสมมติคุณถนอมคุณประภาส คุณณรงค์เป็น .... อะไรดี เป็นพระเอกลิเกแล้วกัน พ่อหนอม พ่อภาส พ่อรงค์ ไม่ได้เป็นทหาร จะครองอำนาจได้อย่างนั้นไหม จะเอาพระขรรค์ยี่เกไปจี้ใครได้ คุณถนอมประภาสอยู่ในอำนาจอย่างนั้นได้ ก็เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทหาร ข้อนี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหา เป็นแค่การบรรยายข้อเท็จจริง จะให้เรียกระบอบนี้ว่าอะไรจ๊ะ

ย้ำอีก ว่าไม่ได้เป็นการบอกว่าดีหรือไม่ดี บวกหรือลบ ทหารควรถูกด่าหรือไม่ถูกด่า เป็นแค่การบรรยายความเป็นจริงเท่านั้น แล้วถ้าจะว่าให้ละอียดไปก็ยังอธิบายได้อีก ว่า ทำไมทหารเขาจึงเห็นว่าจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทครอบงำการเมือง เพราะมีความจำเป็นอันเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติในบางสมัย อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นเหตุผลที่อธิบายกันไป บางครั้งฟังได้บ้าง บางครั้งฟังไม่ขึ้นบ้าง บางทีการที่ทหารต้องเข้ามาเขาก็มีเหตุผลของเขา ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้บอกว่าผิดรึถูก แต่ที่แปลกใจก็คือ ทหารเขาก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว (เข้ามาจนออกไปแล้วด้วยซ้ำตอนนี้) ผมแค่บอกข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งเท่านั้น มีคนเดือดร้อนใหญ่โต

เทียบกับวิธีใช้คำว่า ระบอบอย่างที่น้องเห็นว่าถูกตามตำรากระทรวงศึกษา คือ การปกครองแบบประธานาธิบดีเป็นประมุข ก็ประธานาธิบดีเป็นประมุขจริงๆ นี่ ถ้ามีใครที่เป็นประธานาธิบดีมาร้องไห้ชี้หน้าว่าผมว่า ทำไมเธอถึงต้องเรียกระบอบนี้ว่าระบอบที่มีประธานาธิบดี หา? ประธานาธิบดีไปทำอะไรให้ เธอเรียกอย่างนี้เป็นการด่าประธานาธิบดีนี่หว่า ... ผมก็คงจะอึ้ง แล้วก็คงปูผ้าลงกราบท่าน เชิญท่านประธานาธิบดีคนนั้นไปเช็คสุขภาพจิตได้  คงไม่กล้าเถียงอะไรท่านอีก เสียเวลาผม

น้องทำใจเย็นๆ แล้วอ่านย่อหน้าสุดท้ายของน้องเองช้าๆ นะจ๊ะ พี่น่ะ พร้อมเสมอที่จะเป็นกันเองมีน้ำใจนักกีฬาช่วยกันเสาะแสวงหาความรู้ อะไรนั่นน่ะ และพี่ว่าพี่ได้ทำยังงั้นมานานพอสมควรแล้วด้วยที่นี่ ถ้าถามมาดีๆ พี่ก็พร้อมที่จะตอบไปดีๆ แหละจ้ะ (ขนาดเมื่อถูกหนูรวน พี่คิดจะรวนตอบแล้วพี่ก็ยังว่าพี่รวนในเกมนะหนู กลับไปอ่านความเห็นพี่ใหม่ได้ ไม่เล่นแรงหรือใช้คำไม่สุภาพเลย) แต่ความเห็นแรกที่น้องเข้ามาในกระทู้ของพี่น่ะ น้องได้ถามพี่มาดีๆ รึเปล่าล่ะจ๊ะ หรือว่าตั้งใจจะยกตำราข่มพี่จ๊ะ แล้วพี่ผิดด้วยเหรอที่พี่บังเอิญอ่านตำรามาหลายเล่มกว่าหนู เลยไม่ยอมให้หนูเอาตำรามานั่งทับง่ายๆ ถ้าหนูอยากรู้จริงๆ โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่อยากข่มพี่ด้วยตำรา หนูน่าจะดีใจด้วยซ้ำไปน่ะนา ที่นาย นกข. มันบ้าพล่ามน้ำลายกว้างขวางยาวรีเพิ่มเติม ฟุ้งออกไปจากตำราเล่มนั้นตั้งแยะ ข้อที่น้องว่ามาในย่อหน้าสุดท้ายของน้องน่ะพี่เห็นด้วยหมด สำคัญอยู่ตรงที่ว่าตัวน้องเองทำรึยังจ๊ะ?


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดวง ที่ 20 ก.พ. 02, 12:01
คิดว่าเรื่องที่เรากำลังถกแถลงกันอยู่นี้  ยังอยู่ในกรอบของกระทู้และของเจ้าของกระทู้ เพราะว่าด้วยพระราชวังแวร์ซายล์ ที่ห้องกระจกอันโยงมาถึงความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจึงนำไปสู่ระบอบการปกครอง

เพื่อให้แจ้งชัด(Clear) สมบูรณ์(Complete) และสั้นกระทัดรัด(Concise) ในข้อถกแถลงของเรา จึงขอสรุปประเด็นที่เรากำลังถกแถลงกันอยู่ อาจจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่สนใจ

เริ่มเรื่องที่ความเห็นที่ ๑๗ ได้บอกไปว่า ได้ทราบจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เขาไม่ได้บอกว่าประชาชนไปล้มระบอบทหารทหาร  แต่บอกว่าไปล้มรัฐบาล ถนอม -  ประภาส  จึงไม่รู้ว่าระบอบทหารนี่มีอยู่ในตำราเล่มใด แล้วมันเหมือนระบอบตาลีบันหรือเปล่า

ความเห็นที่ ๑๘ ตอบมาว่า คุณถนอมและคุณประภาสมีตำแหน่งเป็นจอมพล อำนาจการปกครองอยู่ในกำมือของกลุ่มทหารของพวกสองคนนั่นแหละ

ความเห็นที่ ๑๙ บอกไปว่า ระบอบการปกครองที่เรารู้ๆกันอยู่นั้น มันไม่มีระบอบทหาร

ความเห็นที่ ๒๐ ตอบกลับมาว่า ตำราทำนองอย่างที่ว่านั้นก็เคยได้อ่านมา และบอกต่อไปว่า คำว่าระบอบ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Regime ดังนั้น Military Regime ก็แปลว่าระบอบทหาร

ความเห็นที่ ๒๑ ที่ติดตามมาโดยที่ยังไม่ทันได้ตอบกลับไปคือ ระบอบตาลีบันไม่เป็นระบอบการปกครองแบบไหนทั้งนั้น

ความเห็นที่ ๒๒ ได้ตอบกลับไปว่า ตำราที่อ่านพบเป็นตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ในตำรานั้นไม่มีระบอบการปกครองอย่างที่เจ้าของกระทู้เขียนไว้  เกิดความสงสัยจึงถาม ส่วนระบอบตาลีบันก็อ่านพบในหนังสือพิมพ์ไทยเรานี่เอง เห็นว่าสองคำนี้มันแปลก เลยถามว่าเหมือนกันไหม นอกจากนั้นคำว่า Regime ยังหมายถึงสมัยการปกครองได้อีก ดังนั้น เมื่อมีระบอบ Nazi ได้ก็น่าจะมีระบอบตาลีบันได้ ไม่ว่าจะในความหมายว่าระบอบ หรือความหมายว่าสมัยการปกครอง  ถนอม- ประภาส Regime ก็เคยเห็นเรียกกัน นี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ระบอบทหาร(Military Regime) นั้นเจ้าของกระทู้พูดเอง วินิจฉัยเอง ด้วยเหตุผลว่า หัวหน้ารัฐบาลเป็นทหาร  โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงว่าทหาร อื่นๆเขาไม่ได้เป็นด้วย ดังนั้น คำกล่าวเช่นนี้จะถูกหรือ

ความเห็นที่ ๒๓ ตอบกลับมาว่า ตอนนั้นเมืองไทยปกครองด้วยระบอบทหาร มันไม่ใช่เผอิญหัวหน้ารัฐบาลเป็นทหาร แต่ขณะนั้นกลุ่มทหารครองเมือง ซึ่งไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก มันเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง และเป็นความผิดของเจ้าของกระทู้หรือที่อ่านตำรามาหลายเล่มมากกว่าผู้ถาม

ทั้งหมดเป็นการเก็บความที่ผ่านมาแล้ว ๗ กระทู้ จากกระทู้ที่ ๑๗ - ๒๓  มาถึงวันนี้ ก็จะขออภิปรายต่อ ให้ตรงประเด็นที่ถกแถลงกัน สรุปว่า ผู้ถามเห็นว่า คำว่าระบอบทหารไม่มีในตำราของกระทรวงศึกษาธิการที่เคยได้อ่านมา เจ้าของกระทู้ตอบว่า มันเป็นแค่ตำราชั้นประถม ยังมีตำราอื่นๆอีกที่ผู้ถามไม่รู้ ไม่ได้อ่าน แต่เจ้าของกระทู้ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามแรกของผู้ถาม ว่าคำว่าระบอบทหารมาจากตำราเล่มใด ทั้งที่ยกแม่น้ำทั้งหก (ที่จริงมีแค่ห้า) มาชี้แจง ที่จริงเรื่องนี้สั้นนิดเดียว ง่ายนิดเดียว เพียงแต่บอกมาว่า เป็นตำราของชาติใด ภาษาใด มันก็จบง่ายๆ

ที่ถามถึงระบอบตาลีบันในอัฟกานิสถาน ก็เพราะเห็นว่า ระบอบนี้มันมีเอกลักษณ์ของเอกบุรุษที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน โดยมีการข่มเหงสตรีเพศเมือนไม่ใช่คน ไม่ให้ทำงาน ไม่ให้เรียนหนังสือ ให้เป็นเสมือนทาษอยู่กับบ้าน ออกไปไหนก็ต้องคลุมหน้ามิดชิด เปิดออกมาแม้เล็กน้อยก็มีโทษรุนแร งและยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนเสรีชนในยุคปัจจุบัน

ที่นี้มาพูดถึงระบอบทหารของไทยตามคำศัพท์ของเจ้าของกระทู้ ใครที่เกิดทันในครั้งกระนั้น ได้เห็นความแตกต่างอะไรกับวิถีชีวิตของเราบ้าง มีการเกณฑ์ผู้หญิงไปเป็นทหารหรือ มีการออกกฎระเบียบอะไรที่เข้มงวดกวดขันเอาสตรีเพศ เพื่อให้เข้มข้น ทรหดอดทน แข็งแกร่งทั้งกายและใจแบบทหารหรือ ฯลฯ  ไม่มีทั้งนั้น ทุกคนมีชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม แล้วเราจะไปเรียกว่าระบอบทหารทำไม เลยป่านนี้ยังไม่รู้ว่าปรมาจารย์จากสำนักทิศาปาโมกข์ใดตั้งระบอบนี้ขี้นมา และมันมีลักษณะเป็นอย่างไร


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 02, 13:10
ขอตอบโดยไม่อ้างชื่อตำราได้ไหมคะคุณดวง  เอาจากประสบการณ์
ก่อน ๑๔ ตุลา ๑๖ เป็นยุคที่ทหารมีอำนาจในการปกครองประเทศ    ถึงไม่มีคำจำกัดความอยู่ในตำราทั่วไป  แต่เมื่อเรียกว่าระบอบทหารก็เป็นที่เข้าใจโดยไม่งงงวยของคนมีการศึกษาในยุคนั้น ว่าหมายถึงการปกครองโดยทหารที่ยังมีอำนาจในกองทัพ แต่ทำหน้าที่นอกกองทัพ
ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีผู้แทน  ไม่มีการออกเสียงจากประชาชนว่าต้องการอะไร   หนังสือพิมพ์จะถูกเข้มงวดเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง และโดนปิดได้ทันที  เอาโซ่มาล่ามแท่นพิมพ์ก็ทำได้
การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นข้อหาที่ส่งให้ใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นปรปักษ์ต่อการทำงานของรัฐบาล
จอมพลประภาส เป็นรมต.ว่าการกลาโหมและมหาดไทย ควบไปกับรองนายก
และเป็นอธิการบดีของจุฬาด้วย   มีการห้ามนิสิตนักศึกษาไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง  โดยบอกว่าไม่ใช่หน้าที่
ห้ามการชุมนุมทางการเมืองจะโดยสงบหรือไม่ก็ตาม
มีเคอร์ฟิว
สมัยจอมพลสฤษดิ์ มีการใช้มาตรา ๑๗ ซึ่งเป็นอำนาจเด็ดขาดสามารถลงโทษได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางศาล  มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา ๑๗ หลายคน รวมทั้งการสั่งจำคุกด้วย

คุณดวงเอาคำว่าระบอบทหารไปโยงเข้ากับสตรีเพศเสียแล้ว   เลยทำให้คุณไม่เข้าใจ  ความจริงในเมืองไทยเราไม่มีการเจาะจงจำกัดลงไปถึงสตรีเพศ  แต่จำกัดบทบาททั้งบุรุษเพศและสตรีเพศไม่ให้เคลื่อนไหวออกความคิดเห็นทางการเมืองในทางไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
ถ้าไม่เห็นด้วยเพียงน้อยๆ  ก็อาจอนุโลมกันได้   ไม่ว่ากันหรืออย่างมากก็เตือนกัน
แต่ไม่เห็นด้วยมากๆ ก็อาจเจอมาตรา ๑๗
ถ้าถามว่าใครเป็นคนกำหนดว่ามากหรือน้อย คำตอบคือไม่ใช่ตัวบทกฎหมายหรือศาลยุติธรรม แต่เป็นทหารผู้ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น
ถ้าหากว่าทหารครองอำนาจโดยมีจุดประสงค์ให้เกิดความเรียบร้อย   ปราบอันธพาลไม่ให้ล้นเมือง  รัฐบาลคิดอย่างเดียวกับประชาชน   ประชาชนไม่ต้องออกปากรัฐบาลก็บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ตามที่คิดได้ทันที  ไม่ต้องมีผู้แทนมาร้องบอก   ระบอบทหารแบบนี้ก็คงจะไปได้อีกนาน เหมือนพี่ชายที่เข้มแข็งเลี้ยงน้องชายให้ได้ดี
แต่ในความเป็นจริง  ไม่เป็นเช่นนั้น  จึงมีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญซึ่งร่างกันมาอย่างอืดอาดยืดยาวไม่จบเสียทีหลายปีแล้ว  นำไปสู่การจับกุมผู้เรียกร้อง และการนองเลือดในวันที่ ๑๔ ตุลา ๑๖ ในที่สุด

ไม่ทราบว่าคุณดวงจะเอาคำจำกัดความ" ระบอบทหาร" จากตำรามาเพื่ออะไร   การเขียนตำราในสมัยนั้นก็ต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนอำนาจการปกครอง  จึงมีตำราที่เขียนอย่างทั่วไปตามทฤษฎี ไม่ใช่ปฏิบัติ
ถ้าเป็นตำราทางรัฐศาสตร์ละก็ ที่จุฬาสอนไว้ชัดเจนเลยว่าระบอบเผด็จการ คือการปกครองโดยผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเพียงลำพัง จะคนเดียวหรือกลุ่มเดียวของพวกเขาก็เถอะ   ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วย   มีทั้งเผด็จการพลเรือนและเผด็จการทหาร   ส่วนจะเรียกชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่สะดวก เป็นวิสามานยนามตามชื่ออาชีพหรือชื่อรัฐบาลแต่ละประเทศ ก็ไม่ได้ทำให้สาระเปลี่ยนไป


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ฝอยฝน ที่ 20 ก.พ. 02, 13:51
ขอร่วมแจมด้วยสักนิดนะคะ  แม้จะเกิดทันแต่ยังเด็ก..ในสมัย 14 ตุลา แต่ก็พอได้รับทราบผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตบ้างพอสมควรค่ะ  ในยุคนั้นเนื่องจาก การสื่อสารถูกจำกัด เสรีภาพทางความคิดจึงอยู่ในกรอบ ก่อในเกิดความเข้าใจผิดได้   ผู้คนในบ้านเมืองค่อนข้างกลัว และวิตกจริต กับ คำว่า "คอมมิวนิสต์ " โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุมีอยู่มาก  มีครอบครัวเพื่อนหลายครอบครัว อพยพไปอยู่ต่างประเทศ เพราะเหตุนี้  ในยุคสมัยนั้น เมื่อได้อ่าน เรื่อง ไผ่แดง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  รู้สึกว่า ความเข้าใจที่คล้อยตามเนื้อเรื่อง  ขณะที่ผู้คนทั้งเมืองกลัว คอมมิวนิสต์นั้น  ทำให้ อ่านเรื่องนี้แล้วออกจะเครียด  โดยเฉพาะเมื่อเรายังเด็ก ไม่เข้าใจอะไรนัก จึงรู้สึกว่าพ่อแกว่น เธอแปลกจริงๆ  หรือพ่อแกว่นนี่แหละ คอมมิวนิสต์ตัวจริงละ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป  กลับไปอ่านอีกที รู้สึกถึงอารมณ์ขัน ของผู้แต่ง ที่แฝงปรัชญา ข้อคิดหลายๆอย่าง ที่ทำให้เข้าใจมนุษย์ได้ดีขึ้น  ความไม่รู้  ความเข้าใจผิด การไม่รู้จริง  ก่อให้เกิดปัญหาได้ทั้งสิ้น หนังสือเรื่องนี้ ช่วยสะท้อนปัญหาสังคม .. ที่เกิดจากความไม่รู้ จะเนื่องจากการประชาชนไม่รู้หนังสือก็ดี  หรือ โดนกำจัดสิทธิการมีโอกาสรับรู้ก็ดี  (ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ระบอบการปกครองในยุคสมัยที่ว่านั่นด้วยนะคะ)


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ก.พ. 02, 18:22
เผลอแพล๊บเดียว กระทู้นี้เดือดไปซะแล้ว ใจเย็นๆนะครับ

ขอมองจากแง่มุมของนักกระยาสารทบ้างละกัน

ตำราอาจจะนิยามความหมายของระบอบการปกครองได้แตกต่างกันไปนะครับ หลายๆระบอบเขื่อว่าไม่เคยได้ถูกนิยามมาก่อน หรือบางนิยามคนไทยอาจจะมึนงงได้เพราะไม่ตรงกับที่เคยรู้จัก อย่างดูเอาง่ายๆ แบบเรียนเรื่องการปกครองของไทยชั้นประถม(ที่ผมมีความรู้แค่นี้แหละ)สอนว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาตั้งกะสมัยปลายสุโขทัยนู่นแน่ แต่ถ้าผมอยากจะบอกว่าเราเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้เมื่อสมัยร.5นี่เอง ก่อนหน้านั้นน่ะเป็นระบบอื่นซึ่งอาจจะเรียกว่าราชาธิปไตยก็ได้ (อำนาจอยู่ที่กษัตริย์แต่ไม่ได้เบ็ดเสร็จ) เอาละคราวนี้ใครพูดถึงระบอบสองระบอบนี้อ้างอิงว่านิยามแบบสำนักม้าบ้านะ เชื่อว่าเป็นอันเข้าใจกันทันทีว่าหมายถึงอะไร

ดังนั้นพูดถึงระบอบการปกครองในยุคนั้นที่อำนาจการปกครองอยู่ในมือของกลุ่มนายทหารโดยเรียกว่าระบอบทหารก็คงน่าจะไม่น่าเกลียดอะไร เพราะชื่อที่เราเรียกกันนี้ ก็เอาไว้"สื่อ"กันเท่านั้นมิใช่หรือ เหมือนอย่างระบอบตาลีบันที่คุณดวงพูดถึงนั่นแหละครับ พูดปุ๊บเข้าใจกันปั๊บเลยว่าเขาปกครองกันยังไง

definition มีไว้สื่อสารกันจะได้แลกเปลี่ยนความคิดได้ถนัดครับ ไม่ใช่มีไว้เป็นประเด็นในการถกเถียงครับ :)


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 ก.พ. 02, 20:06
คุณดวงไปตั้งกระทู้ถามเรื่อง "ระบอบทหารมีหรือไม่ ในตำราเล่มใด" หรือจะตั้งกระทู้ให้เข้ากับเรือนไทยก็ได้ว่า "การเมืองไทยสมัยก่อน 14 ตุลา 2516 ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเรียกว่าเป็นการปกครองโดยระบอบทหาร" ที่อื่น นอกกระทู้ของผมดีไหมครับ แล้วผมจะไปตามดูเผื่อว่าจะมีนักวิชาการท่านใดผ่านมาตอบบ้าง เชิญข้างนอกครับ

ขอบคุณมิตรทั้ง 3 ท่านครับ
ผมไม่ไปค้นให้คุณหรอก ถ้าคุณยังกอดตำราเล่มเดียวเล่มนั้นอยู่ของคุณแล้วหาว่าคนที่พูดไม่ตรงกับคุณจะต้องเป็นคน "ยกเมฆ"  ผมก็ขอสวัสดีลาก่อน ต่อให้ผมพูดไปค้นไปให้เหนื่อย คุณจะฟังผมหรือ แต่ถ้าคุณเองค้นนิดเดียวก็จะเห็นว่าคำว่า military regime ระบอบทหาร เป็นคำธรรมดาสามัญในหมู่คนที่เขาสนใจเรื่องรัฐศาสตร์มาก ธรรมดามากเลยครับ มีที่ใช้เยอะแยะ ไม่ใช่คำอลังการอย่างคำว่าปรมิตาญาสิทธิราชย์ด้วย ไม่ได้หมายความว่าคำนั้นจะผิด เพราะมีท่านที่ใช้คำนั้นอยู่ แต่ผมท้าให้คุณเดินไปหาอาจารย์รัฐศาสตร์คนไหนก็ได้ ถามว่า อาจารย์ครับรู้จักคำว่าระบอบทหารไหมครับ กับคำว่า ปรมิตาญาสิทธิราชย์ ล่ะครับ ลองดูซิครับคำไหนเป็นที่รู้จักมากกว่า

ข้อต่อไป คุณว่า คำว่าระบอบทหารไม่ควรใช้บรรยายการเมืองไทยตอนนู้น เพราะทหารไทยก็มีหลายคนที่เขาไม่เกี่ยว.... อืมม์???? คุณดวงรู้จักคำว่า รัฐบาลพลเรือน ไหม ผมไม่แน่ใจว่าคุณรู้จักหรือยอมรับคำนี้ว่าถูกต้อง เพราะดูเหมือนคุณจะยอมรับว่าอะไรถูกก็ต่อเมื่ออยู่ในตำราเท่านั้น แต่คำนี้ก็เป็นที่ใช้และรับรู้เข้าใจกันทั่วไปในหมู่คนมีการศึกษา ถามว่าในประเทศที่เรียกกันว่ามีรัฐบาลพลเรือนนั้น พลเรือน คือคนทุกคนที่ไม่ใช่ทหาร เป็นรัฐบาลหรือไม่ ? ถ้าไม่ คำนี้ผิดหรือ? หรือจะต้องเขียนว่า รัฐบาลพลเรือนยกเว้นนายสีนายสานางมานางมี.... ฯลฯ อีกล้านเจ็ดชื่อ จึงจะถูกใจคุณ

มันเป็นการบรรยายแนวโน้มหลักครับ คุณเคยได้ยินสิ่งที่นักเรียกร้องสิทธิสตรีเธอเรียกว่า ระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ไหมล่ะ ? และผมขอบอกว่าผมจะไม่ไปค้นตำราให้คุณละครับ ถ้าอยากรู้จริงๆ ไปค้นเอง ผมไม่ได้เป็นอะไรกับคุณที่จะต้องทำตามที่คุณสั่ง แต่คำนี้มีที่ใช้แน่นอน เป็นที่รับรู้เข้าใจของคนที่สนใจศึกษาทางสังคมวิทยาแน่นอน ถามว่า ในระบบสังคมที่ว่านั้น ที่เฟมินิสต์เธอเรียกอย่างนั้น มีผู้ชายบางคนที่ไม่ได้เป็นใหญ่อยู่ไหม? มี แต่แนวโน้มหลักเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็ในสายตาของนักเฟมินิสต์ คุณจะให้เรียกสังคมนั้นว่ายังไง  "ระบบสังคมที่ชายบางคนเป็นใหญ่ยกเว้น ทอม ดิก และแฮรี่ และ ฯลฯ อื่นๆ อีกล้านเจ็ดชื่อ"  ยังงั้นหรือครับ

จะให้เรียกการเมืองไทยสมัยโน้นว่า " ระบอบทหาร ที่ทหารครอบงำการเมือง ยกเว้นทหารบางคน ดังมีรายนามต่อไปนี้ 1. พลทหารน้อย 2. นายร้อยตรี นกข. 3. จ่าสิบเอกดวง 4. สิบโทแช่ม ฯลฯ .... อีกล้านเจ็ดชื่อ"  หรือครับ ให้เรียกยังงั้นหรือครับ ผมว่ามันยาวไปครับ เรียกอย่างนั้นสองทีพอดีเว็บคุณจ้อล่ม

ลองเล่นเกมไล่ความเห็นก็ได้
ผมกำลังเล่าของผมอยู่ คุณเข้ามาหนแรกพูดมีนัยฟังได้ว่า - 1. โม้รึเปล่าเรื่องวังเหม็น? คนที่ชั้นรู้จักไปออกบ่อยเขาไม่เห็นบ่น ฝรั่งเขาก็ไม่บ่น ลื้อโม้มั้ง? 2. คำว่าระบอบทหารนี่ แปลว่าอะไรฮึ? คนเขาไปไล่ถนอมประภาสต่างหาก 3. เล่าเรื่องบิเดต์ ผมตอบว่า 1. ขอบคุณเรื่องบิเดต์ 2. เริ่มรู้สึกแล้วว่าคุณหาเรื่อง แต่ก็ยังตอบดีๆ ว่า ที่ผมว่าวังเหม็นน่ะ คุณอ่านใหม่ของผมสิครับ ผมไม่ได้โม้ครับ 3. ระบอบมีกันหลายอย่างครับคุณ แต่สมัยนั้นเมืองไทยเป็นระบอบทหารแน่ครับ เหตุการณ์ที่คุณว่ากับที่ผมว่าเหตุการณ์เดียวกันแหละครับ 14 ตุลา นอกจากนั้น พระองค์วรรณที่ท่านทรงตั้งศัพท์ท่านให้ ระบอบ เป็นคำแปลของ regime คุณว่า  ตำราที่ชั้นมีบอกระบอบไว้แค่นี้แหละ ไม่มีระบอบทหาร (เธอนอกตำราล่ะสิ) มีอีกคำที่ได้ยินก็ระบอบตาลิบัน ผมว่า แต่ตำรามีหลายเล่มและข้อเท็จจริงนอกตำรานั้นไม่ fit ลงในตำราเล่มของที่คุณอ้างได้ครับ ยกตัวอย่าง ......ฯลฯ - อ้อ แล้วคำว่า ระบอบตาลีบันของคุณเองก็นอกตำราที่คุณยกมาเองล่ะสิ? ก็คุณยกรายชื่อตามตำรามานี่ คุณก็ตอบวกไปวนมา แต่ที่ผมเห็นมีจุดหนึ่ง คือ กล่าวหาว่าผมยกเมฆ และสั่งสอนผมให้มีน้ำใจนักกีฬาและอะไรต่างๆ

ถึงตรงนี้ผมไม่สามารถคุยกับคุณอย่างเป็นวิชาการได้แล้วครับ เพราะเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า คุณไม่ได้ต้องการคุยเรื่องวังแวร์ซายล์ ไม่ต้องการแม้แต่ว่า มาถกกันสนุกๆ เรื่องระบอบการเมือง คุณจะจับผิดนาย นกข. ให้ได้ แล้วพอผมไม่ยอมให้ถูกคุณจับผิด คุณก็ไม่ยอมแพ้ ผมให้เกียรติคนที่ให้เกียรติผมเสมอครับ แต่มาถึงตรงนี้ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรอีกที่จะให้เกียรติคนที่ไม่ให้เกียรติผมก่อน

เอาล่ะครับ นอกประเด็นไปมากแล้ว ต่อไปนี้ ใครมาพูดเรื่องนี้อีกในกระทู้นี้ ผมจะไม่เสียเวลาพูดด้วย คุณดวงถ้าทนไม่ไหวอยากจะต่อล้อต่อเถียงในเรื่องนี้อีก เชิญไปตั้งกระทู้เรื่องของคุณเองโดยตรงข้างนอก ถ้าคุณอยากรู้จริงโดยบริสุทธิ์ใจ ผมอาจจะไปตอบ แต่ถ้าคุณมีเจตนาแฝง ผมขอสงวนสิทธิไม่ยุ่งด้วย

ใครที่อยากฟังผม "ยกเมฆ" ต่อเรื่องแวร์ซายล์ก็บอกด้วย ครับ ถ้าไม่มีใครสนใจผมก็จะได้ขอปิดกระทู้นี้


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดร.แพรมน ที่ 20 ก.พ. 02, 20:33
d'accord..เจ้าคะ

je voudrais ecouter ..

racontrez-vous .s'il vous pait...monsieur nkk

merci mille fois pour versailles ...

maitenant . j'attends d' ecouter...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดร.ภัทริน ที่ 20 ก.พ. 02, 20:44
เสินเมอ  ตี้ฟัง  เขออี่ อิ่วหลั่นฉิง หนี่ เจี้ยเซ่า เจี้ยเซ่าปา


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 ก.พ. 02, 21:18
ขอบคุณครับ
ยังอดไม่ได้ ขออภัยครับ

คุณดวง ถ้าชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้ระบอบถนอมประภาสนั้นเป็นไปโดยปกติ แล้วเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเกิดขึ้นได้อย่างไรไม่ทราบ อารมณ์ร่วมของประชาชนมาจากไหนครับ คุณกำลังจะบอกงั้นหรือว่า วีรชนทุกคนที่สละชีวิตในวันนั้นมีชีวิตเรื่อยๆ มาเรียงๆ เป็นปกติ แล้วจู่ๆ อยู่มาวันหนึ่งก็เป็นบ้า ลุกขึ้นมาล้มรัฐบาลเล่นโดยไม่มีเหตุผล ?

ไม่เป็นการหมิ่นน้ำใจวีรชนสมัยนั้นไปหน่อยหรือครับ หมิ่นมากกว่าที่คุณเกรงใจเพื่อนคุณที่ฝรั่งเศสจนไม่กล้าถามว่าไปแวร์ซายล์บ่อยไหม "เพราะค่าเข้าชมวังก็แพง"  เอ๋อ???????? ทำไมไปเกรงใจตรงนั้น ยังไม่เห็นเหตุ แต่ทีกล่าวหาคนอื่นว่ายกเมฆ คุณพูดได้ กล่าวว่าเมืองไทยสมัยเผด็จการถนอมประภาสเป็นเรื่องปกติ คุณพูดได้ sense ในเรื่องความเกรงใจของคุณนี่ แปลกประหลาดมากครับ

ถ้าคุณไม่ให้ผมเรียกสมัยโน้นว่า ระบอบทหาร โดยอ้างเหตุผลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโน้นไม่ได้แตกต่างอะไรจากสิ่งที่เราได้มีได้รับอยู่ในสมัยนี้ภายใต้ประชาธิปไตยเลย มันก็เป็นปกติเหมือนๆ กันนั่นแหละ ก็น่าเศร้าว่าคุณไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่คุณเองได้รับอยู่เดี๋ยวนี้ โดยที่คนรุ่นก่อนคุณขึ้นไปเขาไม่มีโอกาสได้ และเขาปรารถนาที่จะได้จนได้ต่อสู้เพื่อให้คนรุ่นหลังอย่างคุณได้รับในสิ่งที่มีค่า แต่คุณไม่เห็นคุณค่าเลย

ผมเรียกสีสีหนึ่งว่า สีเขียวขี้ม้า เพราะมันเป็นสีเขียวขี้ม้าจริงๆ คุณอาจจะไม่ชอบคำว่าขี้ม้า ก็บอกกันดีๆ ได้ อาจพอจะเลี่ยงเรียกเสียเป็น สีกากีแกมเขียว ได้ เพราะจะเรียกชื่ออย่างไรในสารัตถะมันก็อันเดียวกัน แต่คุณจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่สีเขียวซักหน่อย เป็นสีชมพูต่างหาก นี่ ผมกล้ำกลืนไม่ลงครับ ผมตาไม่บอดสี


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 21 ก.พ. 02, 05:45
หลายปี เป็นสิบปีหลังปี 2516 คือปี 2535 เมื่อเกิดกรณีพฤษภาทมิฬ และเหตุการณ์สิ้นสุดลงได้ด้วยพระบารมีแต่เราก็เสียเลือดและน้ำตาไปแยะแล้ว (คุณดวงเกิดทันแน่ๆ) จำได้ไหมว่ามีพักหนึ่งหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ แม้แต่ทหารธรรมดาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มของคุณสุจินดาก็ยังผวา ไม่กล้าสวมเครื่องแบบ? ทำไมทหารถึงกลัว เพราะเขารู้ว่าในความรู้สึกของประชาชนตอนนั้นทหารทั้งหมดในฐานะกลุ่ม มีภาพลบรุนแรง ไม่ได้แยกเป็นนายพล ก. นายพล ข. ความทรงจำของประชาชนที่เขาเกิดทันหรือที่เขาศึกษาประวัติศาสตร์ของตัวเอง เขาจำย้อนกลับไปได้ถึงตอนที่กลุ่มทหารมีอำนาจทางการเมือง และประชาชนเขาไม่ได้แยกอย่างที่ใครในกระทู้นี้จะแยกว่า เฮ่ย - เรื่องของจอมพลแปลกเผ่าสฤษฎิ์ผินถนอมประภาสณรงค์สงัด... นายพลไม่กี่คน เท่านั้น ประชาชนเขามองว่านี่เป็นการกระทำของกลุ่มทหาร ถ้าทำสำเร็จได้ขึ้นครองบ้านเมือง ก็เป็นระบอบปกครองโดยทหาร ประชาชนเขารู้สึกอย่างนั้น แล้วเวลาเขารู้สึกอย่างนั้นเขาไม่ได้มาเปิดตำราหรอกครับว่าที่เขารู้สึกแบบนี้นี่ ตรงกับทฤษฎีเล่มไหน หน้าไหน ย่อหน้าไหน ตำราของใคร "ของชาติใด ภาษาใด" แล้วก็ความรู้สึกร่วมที่สั่งสมกันมาทำนองนี้นี่แหละ ที่นำไปสู่การรวมพลังกรณีวันมหาวิปโยค คุณคิดหรือว่าประชาชนเขาแค่ไม่ชอบหน้าคุณถนอม ซึ่งโดยส่วนตัวท่านเป็นคนยิ้มๆ น่ารักจะตายไป หรือไม่ชอบหนวดจิ๋มคุณประภาส แค่ 2 คน เขาสั่งสมความรู้สึกมาตั้งแต่ท่านแปลกท่านเผ่าท่านสฤษฎิ์ท่านผิน.... และกลุ่มทหารคนอื่นๆ เข้ามาบริหารประเทศเล่นกันอยู่ในกลุ่ม ต่างหากเล่า ท่านสองคนกับลูกชายคือคุณณรงค์น่ะเป็นสัญลักษณ์ของระบอบของกลุ่มทหารครับ กลายเป็นเป้าไป

หลังกรณีพฤษภาทมิฬ นายทหารระดับสูงที่ผมเคารพสองสามคน หนึ่งในนั้นคือท่าน ผบ.ทบ. เดี๋ยวนี้ ออกมาพูดถึงการที่ทหารจะกลับกรมกองที่ตั้งละ ไม่ออกมามีบทบาททางการเมืองอีก ทำไมท่านใช้คำว่า "ทหาร"  เพราะท่านเองก็รู้อยู่ชัดๆ ว่าทหารในฐานะกลุ่ม แต่ก่อนนี้มีบทบาทยังไงบ้างในการเมืองไทย ไม่เห็นมีใครไปท้วงท่านว่าท่านพูดไม่ถูก หรือว่าท่าน "ยกเมฆ"  ทหารอีกหลายคนอย่าง พลทหารน้อยนายร้อยตรีนกข. ฯลฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยทุกนายสักหน่อย ผบ.ทบ. ท่านพูดยังงั้นได้ไง ไหนกางตำราตอบครูมาซิ ตำราเล่มไหน ... ผมจำได้ว่าไม่มีใครตั้งคำถามอย่างนั้นกะท่านเลยครับ สักคนเดียวก็ไม่มี

เอาละเลิกกันจริงๆ ที ลากกลับมาฝรั่งเศสใหม่ก็แล้วกัน การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ได้ล้มล้างสิ่งที่เรียกว่า Ancient regime ลงไป ใครช่วยแปลทีว่าผมควรจะเรียกเป็นภาษาไทยยังไง  ระบอบเก่า -อุ๊บ....


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 02, 11:20
เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับแวซายลส์จบไปจากกระทู้นี้ได้แล้วนะคะ
ระหว่างรอคุณนกข.มาเล่าถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ขอคั่นด้วยเรื่องเบาๆ
คุณนกข.ไม่มีเวลาเดินไปทางด้านหลัง ถึงตำหนักที่เรียกว่า Le petit Trianon หรือตริอานงน้อย สถานที่นี้เป็นที่พักผ่อน มารีอังตัวแน็ตต์โปรดปรานมาก   เห็นว่าภายในสวยงามจุ๋มจิ๋ม เหมาะกับรสนิยมสตรี
ใกล้ๆกันคือบ้านนาที่สร้างไว้ ๑๒ หลังเป็นหมู่บ้านที่พระนางลงมาเล่นเป็นสาวชาวนา รีดนมวัวเล่น อะไรพวกนี้
เมื่อราวๆต้นศตวรรษที่ ๒๐ นักท่องเที่ยวมาเดินเที่ยวกันแถวนี้  บรรยากาศก็คงคล้ายๆกับคุณนกข.ไปเยือน
มีสตรี ๒ คน  คนหนึ่งเป็นครูใหญ่  เดินชมบริเวณไปด้วยกัน  ก็พลันแปลกใจที่เห็นทหารยามแต่งตัวแปลกๆเดินกันเป็นหมู่
นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวอื่นๆก็หายไปกันหมด  เธอสองคนผ่านไปตรงนี้ก็เห็นสตรีสาวสวยนั่งวาดรูปอยู่อย่างสบายใจ
แต่งกายเหมือนศตวรรษที่ ๑๘
เธอทั้งสองก็เก็บความสงสัยไว้ไม่ว่าอะไรจนพ้นบริเวณ  กลับไปบ้านก็บันทึกเอาไว้  
เมื่อมีโอกาสกลับไปอีกครั้ง จึงมาพบทีหลังว่าภาพที่เธอเห็นไม่มีในยุคนั้น
เขา(คือนักอะไรทั้งหลายที่ชอบเรื่องลึกลับ)สันนิษฐานว่าเป็นการซ้อนเหลื่อมของเวลา เธอกลับไปในยุคของมารีอังตัวแน็ตต์ในช่วง ๑๕ นาที
ระวังปาฏิหาริย์มีจริงนะคะ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 21 ก.พ. 02, 13:06
ฟังคุณเทาชมพูเล่าแล้วอยากให้ปาฏิหาริย์มีจริงบ้างจังเลยค่ะ เพราะเคยอ่านเรื่องคำสารภาพของ
มารี อังตัวแน็ตต์ของคุณนิดาแล้วชอบมาก สงสารเธอจังเลยค่ะ ไม่ค่อยอยากจะคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดของเธอที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้นในฝรั่งเศส ทองรักเคยไปแวร์ซายครั้งหนึ่งเมื่อ เกือบสิบปีที่แล้ว จำไม่ได้ว่าได้ไปเดินเล่นแถว le petit Trianon หรือเปล่า แต่จำห้องกระจก และสวนในพระราชวังได้ค่ะ พอดีไปช่วงเดือนพฤษภาคม เลยมีโอกาสได้ไปชมสวน


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 21 ก.พ. 02, 22:17
ไม่ได้ไปตริอานองใหญ่ ตริอานองน้อยทั้ง 2 แห่งครับคราวนี้ เวลาน้อย ติดเอาไว้ก่อน
เรื่องทำนองมิติที่สี่ที่ว่าเรื่องนี้นั้นผมก็เคยได้ยิน ว่ากันว่าผู้หญิงสาวโบราณที่นักท่องเที่ยวได้เห็นนั้น คือพระนางมารีอังตัวเนตต์เองด้วยซ้ำ
สวนและน้ำพุของแวร์ซายลส์ ดูในรูปสวยมาก ไม่ได้ไปเห็นของจริงครับเพราะอากาศหนาว ดอกไม้ต้นไม้ไม่งามเหมือนในรูป และดูเหมือนเขาจะไม่เปิดน้ำพุเอาด้วยซ้ำตอนผมไป

ผมคิดเล่นๆ อยากจะให้มีใครทำการศึกษาว่า พระราชวังของเราที่ลพบุรี ได้อิทธิพลอะไรจากแวร์ซายลส์มาบ้างไหม รู้ว่ามีนายช่างฝรั่งเศสมาช่วยสร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราช เท่าที่รู้เห็นว่ามีการตัดถนนโดยส่องกล้องสำรวจ มีการวางท่อประปา แต่ผมคิดว่าเป็นเทคโนโลยีฝรั่งธรรมดาๆ ทั่วไป อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องจำเพาะเจาะจงกับสถาปัตยกรรมจากแวร์ซายลส์


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ตา ที่ 22 ก.พ. 02, 02:39
เคยไปสมัยยังเรียนอยู่ 10กว่าปีมาแล้วทั้ง 2ที่ค่ะ เสียดายวันนั้นยังไม่รู้จักคุณ นกข. เลยยังไม่ทันนึกถึงสถาปัตยกรรมเปรียบเทียบอย่างที่ว่า ค่ะ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 22 ก.พ. 02, 04:54
ถ้ามีอิทธิพลบ้างก็อาจจะน้อยครับ เพราะอันหนึ่งเป็นตึกทรงฝรั่ง อันหนึ่งเป็นทรงไทย ผมก็คิดเล่นๆ ไปเท่านั้น
แต่ตึกพระเจ้าเหาที่เราเรียกกันที่ลพบุรีนั้น เดาไม่ออกว่ามาจากคำอะไร เหาในภาษาไทยเป็นสัตว์น่ารังเกียจไม่ควรจะเป็นชื่อวัง  หรือจะมาจาก - house? แต่นั่นก็เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสหรือโปรตุเกส สมัยโน้นอังกฤษมีอิทธิพลสูงถึงขนาดนั้นในราชสำนักไทยหรือ ยังสงสัย


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 22 ก.พ. 02, 09:50
จำได้ว่าเมื่อตอนไปพระราชวังแวร์ซายล์เมื่อปีที่แล้วผมได้ไปดูตำหนักตริอานงน้อย
ที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงด้วยครับ ถ่ายรูปไว้สองสามภาพ ขอเวลาไปค้นกรุภาพเก่าก่อนนะครับ
แล้วจะมาสแกนให้ชมกัน

เคยอ่านที่ไหนไม่ทราบรู้สึกว่าตำหนักตริอานงน้อยนี่สร้างตามแบบหมู่บ้านในออสเตีย
เพราะพระนางมารีอังตัวแน็ตต์คิดถึงบ้านทำนองนั้น เป็นของเล่นของราชินี
ูตำหนักที่ว่าก็น่ารักดีครับ แต่พอคุณเทาชมพูว่ามีอาถรรพ์ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า
บรรยากาศแถวนั้นวังเวงดีแท้ๆ บรื๋อๆๆๆๆๆๆ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 02, 10:01
คุณนกข.คงได้อ่านเรื่องอาถรรพณ์เรื่องเดียวกัน  ผู้หญิงสาวสวยนั่งวาดรูปที่หญิงชาวอังกฤษเห็น มีผู้วิเคราะห์ว่าคือควีนมารีนั่นละค่ะ

พระเจ้าเหา เคยได้ยินอาจารย์ที่สอนมาบอกว่า มาจาก หาว แปลว่า ฟ้า  พระเจ้าเหาหรือเจ้าฟ้าซึ่งเป็นคำเรียกกษัตริย์ทางเหนือยุคก่อนสุโขทัย  

ถ้าคุณจ้อมีโอกาสไปอีก เดินแถวนั้นเจอเข้าบ้างละก็ดังสนั่นแน่ๆค่ะ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 22 ก.พ. 02, 11:07
ปารีสคงอีกนานครับกว่าจะมีโอกาสได้ไปอีก .... ไม่มีใครออกค่าตั๋วครับ เหอๆๆ
แต่กลางเดือนหน้านี้จะไปโรงเรียนที่อิตาลี 2อาทิตย์ครับ แหะๆๆ ฝรั่งเขาออกสตางค์ให้
ถ้ามีเวลา(และสตางค์)พอ อาจมีโอกาสไปเดินลอยชายแถวๆ เวนิส กับ ฟอเรนส์ ครับ

คุณเทาชมพู พอจะช่วยแนะนำบ้างได้ไหมครับ ว่าที่ไหนน่าไปเยี่ยมชมบ้าง
ผมจะได้ไปถ่ายรูปเอามาประดับเรือนไทยเหมือนเดิมครับ แหะๆๆ
(ขออภัยเจ้าของกระทู้ครับ ออกนอกหัวข้อไปหน่อย)


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ฝอยฝน ที่ 22 ก.พ. 02, 13:25
คุณจ้อคะ ...นครวาติกัน ค่ะ ขอภาพสวยๆของ วิหาร เซนต์ปีเตอร์ด้วยนะคะ  ภาพวาดที่ฝ้าเพดานน่ะ เขาลือกันว่า ฝีมือ MICHELANGLO  เชียวนะคะ  แล้วยัง รูปปั้นแกะจากหินอ่อน งานชิ้นเอกฝีมือ ศิลปิน MICHELAGELO อีกแหละค่ะ
อย่าลืมเอามือไปแหย่ไปที่ THE MOUTH OF  TRUTH  นะคะ จำมาจากหนังฝรั่งค่ะ  น้ำพุ Trevi ด้วยค่ะ  มีน้ำพุ ที่ชื่อคล้ายๆ สองที่ อีกที่ คือ Tivoli  แต่อยู่นอกกรุงโรมไปหน่อยค่ะ จำไม่ได้ว่า น้ำพุไหนนะคะ  ที่เขาไปโยนเหร๊ยญทิ้งไว้ เผื่อจะได้กลับไปอีกที

เคยเรียนวิชาประวิต์ศาสตร์ศิลป ที่กรุงโรมมีที่เที่ยวเยอะมากค่ะ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: ดร.ภัทริน ที่ 22 ก.พ. 02, 23:25
ได้เคยฟังมาจากผู้มีความรู้ค่ะ เลยขอเข้ามาแจมเรื่องพระราชวังที่ลพบุรี สักนิดนะคะ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลทางด้านศิลป จากแขกเปอร์เชียส่วนหนึ่ง มีเอกลักษณ์คือเล่น ฟอร์ม โค้งแหลมที่อาคาร เช่น ประตูทางเข้า  ส่วนความงามทาง landscape   คือ การจัดสวนโดยรอบอาคาร  ซึ่งคงจะเป็นของใหม่ สำหรับสมัยนั้น มีสวนดอกไม้ประดับ ทั้งยังมีการขุด สระน้ำ ประดับด้วยน้ำพุ  ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความก้าวหน้าทางชลประทาน จากชาวฝรั่งเศส ทราบว่ามีการเดินท่อมาจากแหล่งน้ำนอกเมือง โดยใช้หลักความลาดชันของพื้นที่ในการส่งน้ำ

ส่วนความงามนั้น จะงามแค่ไหน ในปัจจุบันไม่เหลือความสมบูรณ์ ของสภาพอาคาร คงมีแต่บันทึกของชาวต่างชาติ ที่บรรยายชมความงาม เท่านั้น ความยิ่งใหญ่สวยงามทางอาคาร คงจะเทียบกันกับ พระราชวังแวซายส์ในปัจจุบันไม่ได้  นารายณ์ราชนิเวศน์แทบจะทรุดโทรมลงทันที ที่สิ้นแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฟังเขาเล่ากันมาว่า การเมืองในสมัยนั้นค่อนข้างไม่สงบ  ปลายรัชกาลยิ่งวุ่นวาย  พระนารายณ์ ทรงประชวรที่ลพบุรี ขุนนางดูจะทราบถึงปัญหาที่จะตามมา  พระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้ข้าราชบริพาร ที่จงรักภักดี บวช เพื่อหนีภัย และมีพระบรมราชโองการ ประกาศ ให้พระราชวังให้เป็นเขตขันธสีมา หรือพูดง่ายๆยกเป็นที่วัด และบวชกันในวัดเลยทันที  เมื่อเวลาผ่านไป พระราชวังแห่งนี้จึงร้าง ขาดการดูแลเอาใจใส่ มาได้รับการซ่อมแซมภายหลังอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์

แต่จากบันทึกของบาทหลวงบูเวต์  เล่าว่า  สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประทับที่เมืองลพบุรีนี้ ปีละเกือบเก้าเดือน     ในพระราชวัง..ซึ่งเป็นเหมือนแวซายส์ของพระองค์  เพราะพระองค์ไม่ต้องปิดขังพระองค์เอง ไว้เหมือนที่ทรงทำที่อยุธยา  ......คำว่า  แวซายส์ของชาวฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 ไม่ได้หมายถึงเพียงที่ซึ่งสวยงามเท่านั้น แต่หมายถึงที่ซึ่งพระราชาฝรั่งเศส หลบจากปารีส ให้พ้น จากการ ฉ้อฉล  ทางการเมืองด้วย  คำเปรียบเทียบนี้ จึงส่อนัยทางการเมืองอยู่ด้วย


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 08:46
มาแล้วครับรูปถ่ายของตำหนัก Le petit Trianon

เป็นบ้านเล็กๆครับ ไม่เล็กมากนักแต่ผมคิดว่าคงให้คนจริงๆเข้าไปอยู่ไม่ได้

ดูในรูปอาจจะใหญ่กว่าของจริงไปหน่อยหนึ่ง


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 08:47
ลองเข้าไปดูใกล้อีกหน่อย น่ารักดีเหมือนกัน


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 08:51
ตำหนักตริอานงน้อยอย่างมีบ้านอยู่ด้วยกัน 12 หลังอย่างที่คุณเทาชมพูอธิบายไว้แล้วครับ

แต่ผมถ่ายรูปไว้แค่สองหลัง หลังนี้ใหญ่หน่อยสงสัยเป็นบ้านผู้ใหญ่บ้าน เหอๆๆ

บรรยากาศค่อนข้างจะมืดหน่อยเพราะว่าฝนกำลังจะตกครับ เลยทำให้รู้สึกวังเวงอยู่เหมือนกัน บรือออ...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 08:57
ส่วนอันนี้เป็นตำหนัก Petit Trianon หรือ ตริอานองใหญ่ครับ

สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1762 เพื่อเป็นที่หลบราชการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

ในสมัยของพระนางมารีอังตัวแน็ตต์ชอบมาประทับที่ตำหนักนี้มากครับ

เป็นตึกหลังไม่ใหญ่โต ค่อนข้างจะเล็กเสียด้วยซ้ำ รูปถ่ายออกมาดูจะใหญ่กว่าตึกจริง


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 09:02
อันนี้เป็นหน้าทางเข้าพระราชวังครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 09:06
ส่วนภาพนี้เป็นห้องหนึ่งในพระราชวังซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายห้องครับ

ผมจำไม่ได้แล้วว่าอยู่ที่ตึกไหนกันแน่ บองเอิญผมสแกนไม่ดีเลยมองไม่เห็น"ประตูลับ"

ซึ่งจะอยู่ตรงมุมห้องพอดี ...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 02, 09:11
ตอนช่วงที่ผมไปเยี่ยมชมอากาศยังไม่หนาวมากครับ เลยมีโอกาสได้เดินชมสวน

อันนี้เป็นภาพน้ำพุ Fountsin of Lotara น่าเสียดายไม่ได้เปิดน้ำพุไว้...


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 23 ก.พ. 02, 21:52
แงๆ ไปทั้งทีเห็นแต่ลานหิมะค่ะ  สวนเสินอะไรไม่ได้ดูเลย  แถมไกด์ประจำวังก็ดุ๊...ดุ  เจ้าหล่อนแหวๆ ตลอดว่า "no flash pleaseๆๆๆ"  แล้วหันมาทำตาเขียวใส่ด้วย  ทั้งๆ ที่คณะของดิฉันไม่มีใครถ่ายภาพใช้แฟลชสักคน


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 07 มี.ค. 02, 21:49
ขออภัยคุณเทาชมพูผู้ดูแลเว็บที่จะต้องขัดคำสั่งคุณเทาฯ ในความเห็นที่ 33 โดยการเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องวังแวร์ซายล์มากล่าวซ้ำอีกในกระทู้นี้ โดยที่ผมรู้สึกว่าหลังๆ นี้มีใครบางคน บางกลุ่ม ที่ผมไม่ทราบความมุ่งหมายแน่ชัด เอาเรื่องนี้ไปขยายถามไถ่กันต่อ แม้กระทั่งเอาไปรบกวนท่านอดีตประธานวุฒิสภา ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ในเว็บท่านด้วย จะเป็นเพราะอยากรู้จริงๆ หรือเพราะเหตุอื่น ก็ไม่ทราบ จะเป็นตัวคุณดวงเป็นคนทำเอง หรือไม่ใช่คุณดวง ผมก็ไม่ทราบเช่นกัน (และที่จริงก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าใครถาม)

เรื่อง คำว่า  ระบอบทหาร military regime ครับ

สำหรับคนที่ชอบอ้างตำรา ไม่ทราบว่าจะได้สังเกตหรือไม่ว่าตัวผมเองได้อ้างแหล่งที่มาของผม คือ พระมติพระองค์วรรณฯ ไว้ตั้งแต่ความเห็นที่ 20 ว่าองค์ผู้ทรงบัญญัติศัพท์นี้ท่านทรงมุ่งหมายให้คำว่า ระบอบ เป็นคำแปลของคำว่า regime ก่อนความเห็นที่ 22 ซึ่งคุณดวงเพิ่งจะบอกว่าตำราที่เธอใช้ เป็นตำรากระทรวงศึกษาฯ ด้วยซ้ำ แปลว่าถ้าจะกอดตำรากันจริงๆ ผมก็มีที่อ้างเหมือนกัน ในเมื่อระบอบ ตำราศัพท์บัญญัติผมกำหนดให้ตรงกับคำว่า regime และคำว่า military นี่ พจนานุกรมไหนๆ เขาก็แปลว่า ทหาร คำว่า military regime ผมก็แปลว่า ระบอบทหาร น่ะซิ

การใช้คำว่า ระบอบ แปลคำว่า regime นี่ มีคนอื่นใช้นอกไปจากผม กล่าวคือ ต่างคนต่างก็ถือพระมติพระองค์วรรณฯ อันนั้นเป็นหลักเหมือนกันทั้งผมและท่านผู้อื่น ดังนั้นเมื่อเจอคำว่า ancient regime ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสก็มีผู้แปลว่า ระบอบเก่า Taliban regimeก็ จึงมีผู้แปลว่า ระบอบตาลีบัน และ Nazi regime จึงมีผู้แปลว่า ระบอบนาซี มีปรากฏอยู่ในภาษาไทย โดยแนวเทียบนี้ military regime ผมก็แปลว่า ระบอบทหาร

ถามว่า คำว่า military regime เป็นคำที่ผมคิดเองเรอะ? เปล่าครับ คำนี้เป็นคำสามัญธรรมดามากๆ ครับ ถ้าอยากรู้ว่าสามัญธรรมดาขนาดไหน ลองเข้าไปใน google.com ให้มันค้นหาคำว่า military regime สิครับ ผมเข้าไปดูแล้ว ฉพาะในเว็บที่ google ค้นได้ มีการใช้คำนี้หลายหมื่นหนครับ ถ้าอยากรู้จริงๆ ว่าใช้ในตำราอะไรในภาษาใดบ้าง ตามที่คุณดวงเคยถาม ก็คงจะตามลิ้งก์ไปดูเองได้ไม่ยาก

จะเห็นว่า คำว่า ระบอบ ใน "ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"  กับคำว่า ระบอบ ในคำว่า ระบอบนาซี อันถอดมาจากคำว่า regime นี่ ในภาษาไทยเป็นคำเดียวกันแต่ในภาษาอังกฤษอาจจะเป็นคนละคำ regime นั้นแปลว่าชุดหรือคณะผู้ปกครองหนึ่งๆ ก็ได้ (เช่น "รีจีม" ทาลีบัน "รีจีม" ทหาร "รีจีม" นาซี) ไม่จำต้องแปลว่า รูปแบบการปกครอง เสมอไปก็ได้ ผมก็พยายามจะอธิบายไว้ในความเห็นที่ 23 แล้ว จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน แต่พ่อเจ้าประคุณพ่อดวงก็ยังจงใจตั้งใจจะทะเลาะกับผมให้ได้ จะให้ผมไปค้นตำราว่า ระบอบหรือรูปแบบการปกครองในโลกนี้ ตามตำรามีกี่รูปแบบ และในรูปแบบระบอบทหาร มีไหม แล้วยังไปกวนอาจารย์มีชัยที่เว็บท่านอีก

ถามต่อว่า military regime ครองเมืองไทยตอนนั้นอยู่จริงไหม ผมยังเห็นว่าเป็นยังงั้นครับ สมัยคุณสฤษฎิ์น่ะท่านบอกว่าอะไร "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ใช้ไหม" คณะปฏิวัติเป็นรัฐบาลบริหารประเทศเอง เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเองออกกฏหมาย คือประกาศคณะปฏิวัติต่างๆ เพราะสภาไม่มี แล้วก็เป็นศาลเองได้ด้วยถ้าอยากจะทำ เพราะเขียนประกาศคณะปฏิวัติให้อำนาจไว้ จะตัดสินถึงขั้นประหารใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางศาล เป็นผู้ทรงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติตุลาการเสร็จในตัว  สมัยคุณถนอมน่ะ ก็บอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญยังไม่มีเลย จะเรียกว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ - constitutional monarchy - ยังเรียกไม่ได้เลยเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญจะให้ในหลวงท่านอยู่ใต้น่ะ ป่วยการที่จะพยายามเรียกว่าประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตยเห็นชัดๆ อยู่ (ผมไม่ได้เห็นคนเดียว ประชาชนที่เขาลุกขึ้นมาวันที่ 14 ตุลาเขาก็เห็น) ผมก็มีความเห็นโดยสุจริตใจว่าต้องเรียกว่าการปกครองโดยระบอบทหารแหละครับ จะตีความให้ "ระบอบ" คำนี้ แปลว่า regime คือคณะผู้ปกครองคณะนั้น หรือจะตีความให้หมายถึงรูปแบบการปกครอง ก็สุดแท้แต่ ผมไม่ขัดข้องทั้งสองประการ แม้ผมจะตั้งใจหมายความว่า regime มากกว่า แต่ว่าโดยรูปแบบมันก็เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยม ราชาธิปไตย ฯลฯ ไม่ได้อยู่ดี ต้องเรียกว่าระบอบทหารอยู่ดีแหละ

ไม่ว่าอาจารย์มีชัย (ที่คุณไปเอาท่านมา ไม่ทราบจะเพื่อให้ชนกับผมหรือเปล่า แต่ผมจะไม่ชนอาจารย์มีชัยตามที่คุณ -อาจจะ- ต้องการหรอก) ไม่ว่าท่านจะตอบว่าอะไรก็ตาม  ด้วยความเคารพความรู้ทางวิชาการด้านกฏหมายของท่านอาจารย์มีชัย และด้วยความเคารพความเห็นของท่าน ผมก็มีที่มาที่ไปที่อ้างอิงที่จะยืนยันความเห็นของผมดังว่ามานี้แหละครับ ถ้าท่านเห็นต่างไปจากผมก็ไม่เป็นไร ผมยังเคารพท่านอยู่ดี เอ - แต่เช็คครั้งสุดท้าย รู้สึกท่านอาจารย์มีชัยก็ไม่ได้ตอบคำถามนั้นของคุณนะ? ท่านอาจจะเห็นว่าเป็นการเล่นเกมเด็กๆ ของเด็กๆ บางคน มั้ง?

ถ้าคุณเป็นคนเดียวหรือกลุ่มเดียวกับที่พยายามป่วนเรือนไทยอยู่ ก็ขอบอกว่าเลิกเล่นเกมเสียทีเถอะ รำคาญครับ เล่นยังงี้มากๆ ไม่สร้างสรรค์นะ แล้วถ้าเล่นมากเกินไปในบางเรื่อง ไม่สำนึก จะถูกตำรวจจับเอาได้ด้วย ถ้าคุณเป็นคนละคนคนละกลุ่มก็แล้วไป


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: วิชชุ ที่ 18 มี.ค. 02, 13:10
ถึงนายนกข.
นายนี่ทำไมถึงเป็นควายเขาเกกได้ถึงเพียงนี้ ฉันท่องเว็บผ่านมาเห็นมีปัญหาถกแถลงกันเรื่องระบอบการปกครองไม่มีข้อยุติและเห็นเป็นเรื่องที่พอมีสาระ ฉันก็อยากได้คำตอบอยู่เหมือนกัน เพราะทรชนยุคปัจจุบันมักจะคิดอย่างที่นายคิดนั่นแหละ ประกอบกับเห็นนายต้อนเด็กคู่กรณีอย่างเมามันก็เลยนำปัญหาไปถามอาจารย์มีชัย แล้วมันผิดตรงไหน อาจารย์มีชัยก็ได้ให้คำตอบมาแล้วพร้อมทั้งเหตุผลที่ตอบช้าเพราะความผิดพลาดทางเทคนิค นายก็นำไปสร้างเรื่องราวฟุ้งซ่านเป็นตุเป็นตะ ทำไมถึงเลวอย่างไม่มีที่ติอย่างนี้ หรือว่าเป็นพวก Untoughable ใครเขาพูดอะไรทำอะไรที่ตนคิดว่าพาดพิงเป็นหวาดระแวงถือว่าเป็นศัตรูไปหมด
นายหัดออกไปดูโลกกว้างเสียบ้าง ไม่ต้องไปไกลที่ไหน เอาแค่ โบราณคดีที่อยู่ในเครือเดียวกันนี้ว่าเขาพูดกันในเชิงวิชาการอย่างไร หัดโผล่หัวออกจากกระดองเสียบ้าง ดีแต่เห่าเก่งอยู่ในบ้าน ปากเสียแบบนี้ลองออกไปนอกบ้าน มีหวังถูกไล่หางจุกตูดกลับมาไม่ทัน
นายคงนึกว่านายเก่งเสียเต็มทีและคงอยู่ตรงนี้มานาน เห็นน้ำบ่อน้อยนึกว่าทะเลใหญ่  ตั้งแต่ท่องเว็บมาก็เพิ่งเจอนายเป็นคนแรก แย่จริงๆ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: วิชชุ ที่ 19 มี.ค. 02, 12:14
ถึงนายนกข.และเว็บมาสเตอร์
นายนกข.ไปกล่าวพาดพิงถึงฉันในคห.ที่๕๑ข้างบน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง มีหลักฐานพิสูจน์กันได้แน่ชัด แสดงให้เห็นถึงความเป็นพาลชนของนายนกข. ฉันจึงต่อว่ามาเมื่อวานนี้ ในคห.ที่๕๒ แล้วทำไมเว็บมาสเตอร์ไปลบข้อความของฉันออกแล้วอย่างนี้นายนกข.จะจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอะไร
นายทำอย่างนี้มันแฟร์แล้วหรือออกไปตีหัวเขาแล้วหลบเข้ามาในบ้านมันไม่ใช่ผู้ชาย
ถ้านายนกข.ยังเป็นลูกผู้ชายอยู่ให้ออกมาพูดจากันหน่อย อย่าหลบซ่อนกันแบบนี้
จึงขอแจ้งให้รู้ทั่วกันว่ามีพฤติกรรมที่น่าละอายอย่างยิ่งเกิดขึ้นในเรือนไทยแห่งนี้


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: แฟนเรือนไทย ที่ 19 มี.ค. 02, 12:43
แต่เดิมเรือนไทยเคยคึกคักมีเรื่องดีๆให้เข้ามาอ่านได้สาระมากมายแต่ในระยะหลังนี่เป็นอะไรไปก็ไม่รู้มีกระทู้แปลกๆที่ไม่สมควร คนที่เคยเข้ามาเยี่ยมเยียนเลยหายไปกันหมดเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน คุณเทาชมพูก็ล้มหมอนนอนเสื่อไปอีกคนทำให้เรือนไทยหงอยเหงาไปถนัดใจ
ก็รู้สึกเป็นห่วงคุณเทาชมพูเห็นมีกระทู้ของหมอออกมาแจ้งอาการป่วยแล้วก็หายไปไม่มีข่าวคืบหน้าแต่อย่างใดแล้วก็ไม่เห็นมีใครถามอาการอะไรอีก ขอให้หายเร็วๆและกลับมาเรือนไทยอย่างเดิมนะครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: VMaster ที่ 19 มี.ค. 02, 17:14
หากต้องการสื่อสารให้ถีงมือผู้รับ และต้องการให้เรือนไทยคึกคักเหมือนเดิมด้วยความจริงใจแล้ว
1. ใช้ข้อความให้เหมาะสม
2. ใช้นามแฝงเพียง 1 ชื่อ
การตัดสินว่าข้อความเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นสิทธิ์ของทีมงาน ไม่จำเป็นต้องอธิบายใดๆ แต่สามารถอ่านจากหน้ากฏระเบียบของที่นี่ได้ หากไม่สามารถปฏิบัติตาม เราก็สงวนสิทธิ์ในการซ่อนทุกกระทู้ทุกความเห็นที่ไม่เหมาะสม


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: แฟนเรือนไทย ที่ 20 มี.ค. 02, 10:15
ที่เข้ามาเยี่ยมเรือนไทยก็คงอยู่ในฐานะแขก และในทำนองเดียวกันกับที่อี่นๆที่ได้แวะเวียนไปชม ส่วนมากก็เข้าไปอ่านอย่างเดียว ถ้าที่ใดดีมีสาระก็เข้าไปบ่อย ขณะนี้มีเว็บที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นมาก มีค่าควรแก่การเข้าไปเยี่ยมชม ครั้งหนึ่งเรือนไทยก็จัดว่าเป็นเว็บที่มีคุณภาพในความดูแลของคุณเทาชมพู แต่มาระยะหลังนี้ดูเรื่องราวในกระทู้ออกทะเลห่างไกลจากความเป็นเรือนไทยไปมาก หลายคนบ่นเสียดาย
 อีกประการหนึ่งเท่าที่สังเกตดูเห็นว่านอกจากคุณเทาชมพูแล้วผู้คนในเรือนไทยไม่ค่อยรับแขกทำให้บรรดาผู้ที่เข้ามาตั้งกระทู้และให้ความเห็นวนเวียนอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ทำให้เรื่องที่นำลงด้อยคุณภาพลงไปเพราะแต่ละคนก็ได้นำเรื่องที่เป็นสาระในส่วนที่ตนมีอยู่ลงไปหมดแล้ว อันนี้ทีมเคยสังเกตดูบ้างหรือไม่ ก็คงต้องรอคุณเทาชมพูหายป่วยซึ่งคิดว่าทีมงานน่าจะให้ข่าวคราวเรื่องสุขภาพคุณเทาชมพูให้ทราบกันบ้างในห้วงเวลาอันสมควร


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: VMaster ที่ 20 มี.ค. 02, 18:06
เราพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ไม่ได้ต้อนรับแขก เพราะแขกนั้นไม่ควรค่าแก่การต้อนรับ เป็นแขกไม่ประสงค์ดี และเป็นปกติธรรมดาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะลดลงเล็กน้อย เมื่อเกิดการก่อกวน เมื่อผู้ก่อกวนไปแล้วทุกอย่างก็คงปกติ

สำหรับสมาชิกประจำและประสงค์ดี เราจะเปิดให้ใช้ระบบสมาชิกเร็วๆนี้ครับ


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: จดิษฐ์ มหันปรเมตรพงษ์ ที่ 21 เม.ย. 02, 23:01
 ว่างๆก็เลยลองมาตอบดูเล่นๆนะครับ เพราะยังไงนี่ก็ผ่านมานานมากแล้วสำหรับข้อความในกระทู้นี้  (บังเอิญเพิ่งมาเป็นสมาชิก และพึ่งจะเข้ามาเห็น)

ก็ตามที่บอกไปแล้วว่านานมากมาแล้ว ท่านใดที่ลองแวบเข้ามาอ่านเหมือนผมก็ลองดูความคิดผมแล้วกันนะครับ (ด้วยใจเป็นกลาง เพราะก็ไม่รู้จะไปเถียงกับใครอีก)

ในความคิดของผม ผมว่า คุณนกข.เป็นคนผิดประเด็นตั้งแต่แรก คุณดวงเธอแค่กล่าวขึ้นมาเฉยๆ (แบบ มีนํ้าใจนักกีฬา ทีมิได้พาดพิง หรือกล่าวว่าผู้ใด) แต่คุณนกข.กลับแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากลับมา และมีข้อความที่ออกแนวดูถูกพอสมควร เช่นการเรียกคุณดวงว่า "น้อง"  ประมาณนี้ นอกจากนี้ คุณนกข.ยังแสดงศักดาอวดทับคุณดวงมากมาย จนไม่น่าให้อภัยและเป็นจุดก่อเหตุทั้งหมด

ที่คุณวิชชุกล่าวนั้นก็มีส่วนถูก แต่คุณน่าจะใช้คำที่สุภาพมากกว่านี้ แต่ที่ผมรู้สึกผิดหวังที่สุดคือ ทำไมคุณเทาชมพูกลับไม่ห้ามปราบ แต่กลับสนับสนุนคุณนกข.จนออกนอกหน้า ผมก็ไม่เข้าใจเลย

ขอยํ้านะครับ ว่ามิได้มีเจตนาจะเข้ามาว่ากล่าวผู้ใด เพราะนี่ก็ผ่านมานานมากแล้ว ที่เข้ามาตอบเพราะบังเอิญผ่านมาพอดี มิได้ต้องการจะทะเลาะกับท่านใด


กระทู้: พระราชวังแวร์ซายล์ (ภาคสอง)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 23 เม.ย. 02, 07:20
 ทีมงานครับ
ผมไม่ได้เข้ามากระทู้นี้นาน เพราะพอตอบหนสุดท้านเสร็จก็ติดงานพอดี ไม่นึกว่าจะยังมีคนเล่นไม่เลิก คิดดูก็น่าสงสารคนประเภทนั้น แล้วก็ขันด้วย ที่เห็นผมเป็นควายเขาเก ฮ่ะฮ่ะ ...
ผมว่า อะไรที่ไม่สร้างสรรค์ก็ลบออกไปได้เลยครับ ทั้งนี้ผมขอให้คำอนุญาตให้รวมไปถึงความคิดเห็นของตัวผมเองได้ด้วย ผมเชื่อดุลยพินิจของทีมงานครับ