เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:27



กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:27
หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค

อ้างถึง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสที่รีบไปเชิญมาตรวจอาการ เห็นแล้วใช้เข็มเจาะเส้นเลือดใหญ่แล้ว
ดูดเอาเลือดจากแขนท่านออกมาสองหลอดใหญ่ ท่านออกอาการเจ็บแสดงว่าสติกลับคืน พอหมอเรียกชื่อก็ขานรับ
15นาทีต่อมาท่านสามารถพูดกับหมอด้วยภาษาเยอรมันได้

             หมอบอกว่าท่านมีอาการของโลหิตเป็นพิษ มีความเข็มข้นสูงพร้อมจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ
เมล็ดโลหิตเต็มไปด้วยพิษร้าย จะต้องรีบนำไปส่งหอวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อทำการวิเคราะห์
หมอได้สั่งยาให้สามขนาน เป็นยาถ่ายหนึ่ง ยาบำรุงกำลังหนึ่ง ส่วนยาล้างพิษในกระแสโลหิต ในระหว่างสงคราม
ไปหาซื้อที่ไหนก็ไม่มี

           เพิ่งได้อ่านเรื่องราววาระสุดท้ายของพระยาทรงฯ จากกระทู้ของคุณ NAVARAT C.
นอกจากจะสะท้อนใจในชะตากรรมของมนุษย์แล้ว
              ยังติดค้างใจในเรื่องหนึ่งนั่นคือ การวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยของพระยาทรงฯ
ที่แตกต่างห่างไกลลิบจากวิชาการแพทย์ในยุคนี้   - สมัยนั้นดูช่างขาดแคลนไปทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น
ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ การตรวจวิเคราะห์ประกอบการวินิจฉัยรักษา และหยูกยาที่มีประสิทธิภาพ
        
              
อ้างถึง
นายแพทย์คนเดิมรีบมาในเวลาไม่ถึง45นาทีแล้วรีบลงมือจะดูดเลือดอย่างเคย ครั้งนี้เข็มไม่สามารถ
แทงเข้าในเส้นเลือดได้เพราะโลหิตแข็งตัวมาก แม้จะใช้ใบมีดโกนหนวดอันคมกริบกรีดนำ แล้วเอาเข็มแทงเส้น
เข้าไปก็ดูดโลหิตออกมาไม่ได้ ด้วยความชำนาญหมอเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยฉับพลัน จับคนไข้นอนคว่ำหน้า
เอาใบมีดกรีดเป็นริ้วๆ ตลอดแผ่นหลัง แล้วใช้แก้วลนไฟไล่อากาศออกคว่ำครอบแผลไว้ พอแก้วเย็น
ก็จะเกิดแรงดูดขึ้นมาเอง เพียงสิบห้านาทีโลหิตใหลออกมาแผลละครึ่งแก้ว ข้นคลั่ก แต่อาการของพระยาทรงมิได้ดีขึ้น


                วิธีการรักษาที่พระยาทรงฯ ได้รับในตอนนั้น คือ การนำ(หลั่ง)เลือดออกจากร่างผู้ป่วย  
                หลายคนน่าจะเคยได้ยินวิธีการนี้มาแล้วตั้งแต่เด็ก เวลามีคำอธิบายถึงสัญลักษณ์ทรงกระบอกใส
ที่มีแถบสีแดงสลับขาวหมุนอยู่ข้างใน (red and white barber's pole) แขวนไว้
หน้าร้านตัดผม
                เพื่อให้หายคาใจ จึงต้องไปค้นคุณวิกี้และคุ้ยคุณกูเกิ้ลหาเรื่องการรักษาด้วยวิธีนี้


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:31
หมายเหตุ  บทความข้อมูลหลักจากคุณวิกี้ซึ่งเป็นเรื่องวิชาการทางแพทย์ตะวันตก

                 และ ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกรณีหลั่งเลือดทางการเมือง ครับ


Bloodletting (or blood-letting) - phlebotomy

         ส่วนใหญ่จะใช้ในความเดียวกัน แต่หากดูตามตัวศัพท์แล้ว bloodletting เป็นคำที่กว้างกว่า
เรียกรวมวิธีต่างๆ ในการนำ(หลั่ง)เลือดออกจากร่างกายในขณะที่คำว่า

phlebotomy มาจาก   phleps (gen. phlebos) - "vein" +
                -tomia -"cutting of," from tome "a cutting"

จึงหมายถึงการ (หลั่งเลือดด้วยการ) เจาะแทงหลอดเลือดดำ

           ปัจจุบัน จัดเป็นศัพท์ทางการแพทย์ - phlebotomy ที่หมายถึงการดูดเลือดเพื่อนำไป
ส่งห้องแล็บวิเคราะห์ หรือการให้เลือด
           ส่วน  Therapeutic phlebotomy นั้นเป็นการดึงเลือดออกเพื่อลดปริมาณเม็ดเลือดแดง
ในร่างกาย ใช้สำหรับรักษาเฉพาะบางโรค


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:36
         Bloodletting - การหลั่งเลือดรักษาโรคนี้ เป็น วิธีการรักษา หรือ ป้องกันโรค โดยการนำเลือด
จำนวนมากพอสมควรออกจากร่างกาย นิยมใช้กันอย่างต่อเนื่องมานานนับสองพันปี (หรือ สามพันปี)
ยืนยงคงทนผ่านกาลเวลา มาหมดทั้งยุคมืด ยุคสว่าง ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

           (สมัยก่อนครั้งที่ "ความรู้" เรื่องโรคมีน้อยมาก และที่รู้ยังรู้ผิดอีกต่างหาก, ยา และ
วิธีการรักษาอย่างอื่นก็แทบจะไม่มี  แพทย์ยุคนั้นจึงต้องใช้วิธีการนี้รักษาสารพัดโรค)

          ทั้งที่ในความเป็นจริง ด้วยความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการนี้ที่มีผลเสียเป็นอันตรายนั้น
มีที่ใช้ในโรคเพียง 2 - 3 ชนิดเท่านั้น

โลกโบราณ

           วิธีการนำเลือดออกจากร่างกาย เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เก่าที่สุด ย้อนไปได้ตั้งแต่สมัย
ชาว Mesopotamians, Egyptians, Greeks, Mayans และ Aztecs

           มนุษย์ยุคหินเชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บเกิดจากปีศาจร้าย ในยุคหินมีวิธีการเจาะเปิด (Trepanning)
กระโหลกเพื่อให้ปีศาจร้ายที่สิงอยู่ภายในออกจากร่างผู้ป่วย  การเจาะเลือดออกก็เป็นวิธีการจากความเชื่อ
แบบนี้เช่นกัน
             
            อุปกรณ์ในการทำ bloodletting ในสมัยก่อนนั้น ใช้วัตถุแหลมคมต่างๆ เช่น หนาม กระดูก
มีดหิน เปลือกหอย ฟันฉลาม  ลูกศร รวมทั้ง ปลิง ซึ่งพบหลักฐานเป็นภาพฝาผนังที่เก่าแก่ถึง 1400 B.C. 


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:43
             Imhotep(2655-2600 BC) พระและแพทย์ชาวอียิปต์ เชื่อว่าชีวิตดำรงอยู่ด้วยเลือด

             ก่อนสมัย Hippocrates (460 to 377 B.C.) เชื่อกันว่าความเจ็บป่วยต่างๆ นั้น
เกิดจากโรคๆ เดียวแต่มีอาการแสดงออกต่างๆ กัน ต่อมา Hippocrates ได้ศึกษาสังเกตอาการแสดง
แล้วจำแนกอาการกับโรค

            ความเชื่อเรื่องโรคได้เปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องของสมดุลขององค์ประกอบทั้ง 4
ในร่างกาย (Four Humours) ประกอบด้วยของเหลวในร่างกาย 4 ชนิด ได้แก่
เลือด เสมหะ น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง (blood, phlegm, black bile และ yellow bile)
                   คล้ายกับธาตุทั้งสี่ของ Greek : air, water, earth and fire
           เมื่อเกิดการเสียสมดุลขององค์ประกอบนี้ในร่างกายของคนๆ นั้นก็จะเจ็บป่วย
           แนวคิดนี้เข้ามาแทนที่ความเชื่อเรื่องปีศาจ วิญญาณร้ายทำให้ป่วย และสนับสนุนวิธีการจัดการสมดุล
ด้วยการนำเลือดออกจากร่าง


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:51
          Erasistratus (304 BC- 250 BC) นักกายวิภาคศาสตร์และแพทย์กรีก
เป็นผู้ตั้งสมมติฐาน ว่าโรคหลายอย่างเกิดจากภาวะที่บุคคลนั้นมีเลือดในร่างกายมากเกินไป  
ต้องจัดการโดยเริ่มด้วยการออกกำลังกาย การเสียเหงื่อ ลดปริมาณอาหาร ตลอดจนการทำให้อาเจียน

            Herophilus (335-280 BC) แพทย์กรีก ผู้ผ่าศพมนุษย์เป็นคนแรก
สนับสนุนการทำ bloodletting

          Archagathus หนึ่งในแพทย์ Greek กลุ่มแรกผู้เข้ามาทำงานรักษาใน Rome
เมื่อ 219 B.C. เชื่อว่าวิธีการนี้มีประโยชน์ เขาได้รับสมญานามจากชาวเมืองว่า  "butcher"
              
                ความเชื่อเรื่องการเสียเลือดเพื่อสุขภาพที่ดีนี้ มีแนวคิดมาจากการมีประจำเดือนของผู้หญิง
Hippocrates เชื่อว่า ประจำเดือนจะช่วย "ขับของเสีย" (bad humour) ออกจากร่างกายสตรี

            ประมาณ 169 A.D. Galen of Rome เป็นผู้ส่งเสริมความนิยมการทำ bloodletting ของกรีก -

                จากความรู้ใหม่ในยุคนั้น เมื่อ Galen ได้ทำการศึกษาพบว่า ในหลอด(เลือด) vein และ
artery ที่เดิมเชื่อว่าเป็นหลอด(มี)อากาศ(ปน)นั้น แท้ที่จริงแล้วมีเลือดอยู่
           เลือดนี้ถูกสร้างขึ้นแล้วใช้หมดไปแล้วสร้างใหม่ บางครั้งเลือดอาจไปคั่งอยู่ตามแขนขาได้
                    นั่นคือ เขายังไม่รู้ว่า เลือดในหลอดนั้น ไหลเวียน - circulate

(เลือดดำที่ไหลกลับเข้าหัวใจซีกขวาทางหลอดเลือด vein ถูกฉีดไปฟอก - รับอ็อกซิเจนเป็นเลือดแดง
ที่ปอด แล้วกลับสู่หัวใจซีกซ้าย ที่จะบีบตัวฉีดเลือดแดงออกจากหัวใจเพื่อนำอ็อกซิเจนไปสู่อวัยวะทั่วร่างกาย
ทางหลอดเลือด artery และกลายเป็นเลือดดำกลับสู่หัวใจ)


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 09:55
Aelius Galenus or Claudius Galenus (A.D. 129 – 199)

             แพทย์และนักปรัชญาชื่อดังแห่งโรม(ที่มีรากมาจากกรีก - เกิดที่ Pergamon ปัจจุบันอยุ่ในตุรกี)
ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการค้นคว้าทางการแพทย์แห่งยุคโรมัน
             เป็นผู้ตั้งทฤษฎีทางการแพทย์ที่มีผลต่อวิชาการแพทย์ตะวันตกอย่างสูงเป็นเวลานานกว่าพันปี
ทั้งในแขนงพยาธิวิทยา กายวิภาคสาสตร์ เภสัชสาสตร์ และ ประสาทวิทยา
             โดยการศึกษากายวิภาคจากการผ่าสัตว์ทดลอง เนื่องจากในยุคนั้นการผ่าศพคนยังเป็นสิ่งต้องห้าม
              เป็นผู้ที่พบความแตกต่างระหว่างหลอดเลือดแดงและดำ artery - vein

              ต่อมาเมื่อการศึกษาวิชาการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น การผ่าศพทำในคนได้ ความรู้ใหม่จึงเข้าแทนที่ทฤษฎีเดิม
ของเขา แต่ก็ยังคงมีบางทฤษฎีของเขาเป็นที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบันนี้
               เขาทำรักษาทำการผ่าตัดบางอย่างในคน และเป็นแพทย์ที่ผ่าตัดต้อกระจกด้วยหลักการที่คล้ายกับการผ่าตัด
ในยุคปัจจุบัน

Galen ทำการผ่าตัดในหมูเพื่อแสดงว่า เมื่อเขาตัดเส้นประสาท recurrent laryngeal nerves แล้ว
               สัตว์ทดลองจะเสียงแหบหายไป


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 10:01
           จากความเชื่อแห่งยุคในเรื่องสมดุลของ องค์ประกอบทั้งสี่ (Four Humours)
ที่เป็นของเหลวในร่างกาย ได้แก่  เลือด เสมหะ น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง
              เมื่อเกิดการเสียสมดุลนี้ในร่างกาย คนนั้นก็จะเจ็บป่วย
              Galen เชื่อว่า ต้องจัดการกับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือ เลือด โดยการดึงเลือดเกินสมดุล
(plethora) ออกจากร่าง หรือ การให้ยาเพื่อกระตุ้นการอาเจียน รวมทั้งยาขับปัสสาวะ

              อาการของเลือดเกินนี้ประกอบไปด้วย ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ

(ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อ - มีไข้, การตรากตรำ ความเครียด - อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ,
โรคความดันโลหิตสูง - ปวดศีรษะ และ ฯลฯ)

           Galen จะโยงตำแหน่งของหลอดเลือดกับอวัยวะภายในเพื่อกำหนดจุดที่จะนำเลือดออก
เช่น หลอดเลือดที่มือขวาตรงกับตับ ส่วนมือซ้ายตรงกับม้าม
              (ตรงกับกายวิภาค ตับอยู่ชายโครงขวา และ ม้าม - ซ้าย)

            หากมีไข้ ปริมาณเลือดที่ดึงออกจะต้องมากกว่าไม่มีไข้

(คนมีไข้จะภาวะขาดน้ำอยู่แล้วจากการเสียเหงื่อระบายความร้อน + กินน้ำ กินอาหารได้น้อย
ถ้ากำลังจะช็อคเพราะการติดเชื้อรุนแรง ก็คงจะตายไปจากการดึงเลือดออกเป็นจำนวนมาก)

           ความรู้เรื่องการดึงเลือดออกนี้น่าจะได้รับการส่งต่อจากกรีกสู่อิสลาม แล้วข้ามไปประเทศที่พูดลาตินในยุโรป


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 10:04
สหัสวรรษที่สอง

           แม้ว่าในเวลาต่อมา ทฤษฎี องค์ประกอบทั้งสี่ จะได้ตกไป แต่การดึงเลือดออกจากร่างกาย
ยังคงอยู่ต่อในมือของศัลยแพทย์ และ กัลบก

             barber-surgeon ศัลยกัลบก เป็นบุคคลากรทางการแพทย์ที่พบมากที่สุดในยุคกลาง
หน้าที่หลักคือการดูแล ผ่าตัดทหารที่บาดเจ็บ ทั้งยังดูแลขุนนาง ผู้มั่งมีตามปราสาทด้วย งานของเขาเหล่านี้
นอกจากการตัดผมแล้ว ยังครอบคลุมถึง การถอนฟัน การผ่าตัดเล็ก การตัดแขนขา และแน่นอน
bloodletting
             ศัลยกรรมได้รับการยกระดับสู่ความนับถือโดยศัลยกัลบกระดับอาจารย์ชาวฝรั่งเศส
French master barber-surgeon Ambroise Pare (1510 - 1590)
ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศัลยกรรม
                ต่อมาศัลยแพทย์และกัลบกจึงแยกจากกันในราวช่วงก่อนกึ่งศตวรรษที่ 18


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 10:07
            ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันในรูปของสัญลักษณ์รูปทรงกระบอกใส
ภายในมีเกลียวสีแดงสลับขาวแขวนอยู่ตามหน้าร้านตัดผม mujมีความหมายดังนี้

             สีแดง คือ เลือดที่ถูกดูดออกมา ส่วนสีขาวคือ สายรัด - tourniquet เพื่อให้หลอดเลือดปูด
โปนชัดง่ายต่อการเจาะ  และ
            ทรงกระบอก นั้นคือ แท่งไม้ที่ผู้ป่วยใช้มือบีบเพื่อให้หลอดเลือดดำขยายตัว


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 10, 11:24
มาแจมด้วยรูปกระบอกหน้าร้านตัดผมค่ะ
ส่วนลิ้งค์นี้   เล่นไอเดียกับกระบอกร้านตัดผม  ด้วย photoshop


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 10, 11:27
ตัวอย่างภาพตัดแต่งด้วย photoshop จากลิ้งค์ข้างบนนี้



กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 13:48
^ กลายเป็นหอเอนปิซาบาร์เบอร์ ครับ

           การเจาะเลือดออกนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยาวนาน ใช้ในการรักษาแทบจะทุกโรค
จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ประโยชน์ของวิธีการนี้เริ่มเป็นที่กังขา

          ถึงปี 1885 แพทย์ในอังกฤษเริ่มเสื่อมศรัทธาประสิทธิภาพและไม่นิยมการรักษาด้วยวิธีนี้
แต่บางคนก็ยังคงใช้รักษาบางโรคด้วยความเชื่อว่า เป็นการถ่ายเลือดเสีย - ติดเชื้อ ออกไป หรือ
ใช้รักษาภาวะเลือดออก
          ช่วงเวลา 1800s ที่การหลั่งเลือดได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ที่อังกฤษบางคนจะไปตลาด
เพื่อนำเลือดออกเป็นประจำด้วยความเชื่อว่าจะทำให้มีสุขภาพดี ไม่มีโรค

         ส่วนที่อเมริกา bloodletting ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้น 19
ใช้เป็นการรักษา ไข้เหลือง ในช่วงที่มีการระบาดโดยนายแพทย์ Benjamin Rush ผู้ให้การรักษา
ประธานาธิบดีวอชิงตันด้วยวิธีนี้ในเวลาต่อมา   
     
          การทำให้เลือดออกด้วยวิธีต่างๆ ได้ถูกบันทึกเป็นตำราแพทย์ โดยมีการพัฒนาเป็นหลายรูปแบบวิธีการ
ที่นิยมมากที่สุดก็คือ วิธีที่หลายคนในยุคนี้คุ้นเคย นั่นคือ การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำที่แขน
          บางคนก็เจาะหลอดเลือดแดง (เลือดจะพุ่งแรงเพราะความดันในหลอดเลือดสูงกว่า)

         การทำ scarification (with cupping) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กับพระยาทรงฯ นั้น
หลอดเลือดชั้นตื้นๆ ถูกเจาะด้วยเข็มและกระบอก syringe หรือ ใช้ใบมีด พร้อมแก้วที่บรรจุอากาศร้อน
ซึ่งเมื่อเย็นลงจะเกิดสูญญากาศภายในดึงดูดเลือดออกมา

รูป scarificator - อุปกรณ์ใบมีดกรีดเนื้อหนังที่ใช้ในศตวรรษที่ 19


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 10, 13:53
อ่านกระทู้นี้แล้วนึกถึงการรักษาโรค ที่หมอฝรั่งในเขมรทำกับพระยาทรงสุรเดช
กรีดหลังท่านเสียยับเยินเอาเลือดออก    ถ้าพระยาทรงฯท่านไม่ตายด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย    แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี  การกรีดเลือดแบบนั้นส่งผลอะไรกับสุขภาพของท่านได้บ้าง  นอกเหนือจากแผลติดเชื้อ

คุณศิลาค้นพบในบทความนี้ไหมคะ  ว่าคนไข้ตายเพราะแผลติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนอื่นๆด้วยหรือไม่ จากการหลั่งเลือด


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 13:59
            นอกจากนี้ยังมีการใช้ปลิงเป็นตัวดูดเลือดออก มานานนับสองพันปี และได้รับความนิยมแพร่หลายเช่นกัน
เหมาะสำหรับคนที่อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง

            ในช่วงทศวรรษที่ 1830 ฝรั่งเศสต้องนำเข้าปลิงถึงปีละ 40 ล้านตัว จนปลิงเกือบจะถึงแก่กาลสูญพันธุ์
ในทศวรรษต่อมาอังกฤษก็นำเข้าปลิงจากฝรั่งเศสที่เดียวมากถึง 6 ล้านตัว
            นอกจากการใช้ปลิงดูดเลือดจากผิวหนังแล้ว ยังนำปลิงสอดทางทวารเพื่อรักษาการอักเสบในช่องท้อง
เช่น ตับ ลำไส้อักเสบ การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ไข้หลังคลอด, สอดจมูกรักษาเลือดออกทางจมูก และ
บางครั้งสอดช่องคลอดเพื่อกระตุ้นประจำเดือน  

            ถึงทศวรรษ 1960 จึงได้เลิกการใช้ปลิงดูดเลือด แต่

           ครั้นถึงทศวรรษ 1980 ปลิงดูดเลือดก็กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้เข้าสู่วงการแพทย์แผนปัจจุบัน
ในกรณีที่มีปัญหาหลังการผ่าตัด นั่นคือ การมีเลือดดำคั่ง และ เลือดแข็งตัวตามมา เป็นภาวะของ
venous congestion - insufficiency
         เจ้าปลิงที่มีกรรมจะได้ทำบุญจึงถูกเลือกให้มาทำหน้าที่ดูดเลือด(เก่า-เสีย)ที่คั่งค้างนี้ออก
ทำให้อาการบวมบริเวณผ่าตัดดีขึ้น
           นอกจากนี้ สารต้านการแข็งตัวของเลือด - anticoagulant (hirudin) ที่เจ้าปลิง
ปล่อยออกมายังช่วยทำให้เลือดในบริเวณนั้นไม่แข็งตัวด้วย

จะมี case ประวัติศาสตร์ ที่ผู้ป่วย VIP เกิดผลเสียร้ายแรงจากการทำ bloodletting ตามมา ครับ อาจารย์


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 14:04
ยังคงหลั่งเลือดต่อไป แม้ว่า

            ในปี 1628 William Harvey ได้ต่อต้านการทำ bloodletting

            ท่านเป็นแพทย์ชาวอังกฤษ (1 April 1578 – 3 June 1657) ผู้ศึกษาและอธิบายระบบการไหลเวียน
โลหิตของร่างกายอย่างถูกต้อง 
   
              ปี 1828  Pierre Charles Alexandre Louis เป็นหนึ่งในแพทย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน
การรักษาด้วยวิธีนี้ต่อสาธารณะ

              ท่านเป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส (1787-1872) ผู้นำวิธีเชิงตัวเลข "numerical method"
สู่วงการแพทย์
             (แนวคิดที่ว่าความรู้เรื่อง โรค ประวัติที่มาของโรค อาการแสดง และ การรักษา นั้นได้จาก
การรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย)     
   
           โดยทำการศึกษาย้อนหลังเก็บ case ผู้ป่วย pneumonia ที่ได้รับการทำ bloodletting
แล้วพบว่า
              ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ในวันแรก - เสียชีวิตถึง 44% ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการทำ bloodletting
หลังจากวันแรก - เสียชีวิต  25%
           ท่านสรุปว่า ผู้ป่วยกลุ่มหลังที่ตายน้อยกว่านั้นเป็นเพราะพวกเขาได้รอดผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด
ของโรคมาแล้ว และ
             วิธีการ bloodletting นี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ ในการรักษาโรคปอดติดเชื้อ และภาวะไข้อื่นๆ

            ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 เมื่อวงการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจุลชีพที่เป็นสาเหตุ
ของการติดเชื้อ แล้วมีไข้ มีการอักเสบเป็นอาการตามมา แนวทางการรักษาโรคจึงถูกเปลี่ยนไปสู่ต้นตอสาเหตุ
แทนที่การทำ  bloodletting เพื่อจัดการกับ "อาการ" ไข้ การอักเสบจากโรค แต่ไม่ใช่การรักษา

            แต่บางคนก็ยังคงศรัทธา(ผิดๆ) ในวิธีนี้ต่อไป


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 14:09
           ถึงต้นศตวรรษที่ 20  การรักษาด้วยวิธีนี้จึงเริ่มลดบทบาทลงไป เมื่อมีการค้นพบความรู้และการรักษา
ใหม่ๆ ทางการแพทย์ในโลกตะวันตก
          (แต่ไม่ถึงกับสูญหาย ยังคงถูกเขียนไว้ในตำราอายุรกรรม Principles and Practice of Medicine
ปีพิมพ์ 1923 โดย Sir William Osler หนึ่งในแพทย์ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นไอคอนของการแพทย์สมัยใหม่)

รักษาสารพัดโรค

            สารพัดโรคที่ตำราระบุว่าวิธีการนี้ใช้รักษาได้ ประกอบด้วย สิว หอบหืด มะเร็ง อหิวาต์ โคม่า ลมชัก
เบาหวาน เกาท์ เนื้อตาย อาหารไม่ย่อย โรคจิต โรคเรื้อน กาฬโรค ทรพิษ วัณโรค อัมพาต และ โรคอื่นๆ อีกมากมาย
นับร้อยโรค
    
            นอกจากนี้ยังใช้รักษาภาวะเลือดออก รวมถึงเลือดกำเดา ประจำเดือนมากผิดปกติ เลือดออกที่ริดสีดวงทวาร  

(อธิบายตามหลักวิชาการสำหรับ การหลั่งเลือดเพื่อรักษาภาวะเลือดออกในอวัยวะบางแห่งนั้น
              ผู้ป่วยที่รอดตาย คงจะยังไม่ถึงฆาต หรือร่างกายมีกลไกสำรอง ปรับตัวจนหายได้ เพราะเมื่อผู้ป่วย
เสียเลือดไป ปริมาณเลือดไหลเวียนในร่างจะลดลง ความดันโลหิตตก เมื่อถูกทำให้เสียเลือดมากขึ้นไปอีก
ก็จะยิ่งทำให้ความดันตกลงไปอีก บางรายอาจจะใกล้ช็อค ณ จุดนี้ ที่ความดันต่ำลงมาก หลอดเลือดหดตัว
เลือดที่ไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่มีเลือดออกก็จะลดลงไปด้วย ร่วมกับขบวนการแข็งตัวของเลือดทำให้การตกเลือดลดลง
             ผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง บุญยังมี (เกือบ)ช็อคไม่รุนแรงและไม่นาน ก็คงจะรอด แต่ ถ้าช็อครุนแรง
ร่างกายไม่แข็งแรง แน่นอนว่าไม่รอด)

                  ผู้ป่วยคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวอย่างให้ได้เรียนรู้ถึงผลเสียหายร้ายแรงถึงตาย
จากการเสียเลือดเพราะรักษา(ผิด)ด้วยวิธีนี้ก็คือ
        
               ประธานาธิบดี George Washington แห่งอเมริกา เมื่อปี 1799 ท่านได้รับการทำ bloodletting
เพื่อรักษาการติดเชื้อในลำคอที่เรียกว่า - quinsy (ฝีหนองบริเวณปริทอนซิล - Peritonsillar abscess)
แล้วเชื้อลุกลามถึงกล่องเสียง และปอด(ในยุคที่ไม่มียาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ)
             ท่านถูกเจาะเลือดออกไปมากถึง 5 pints (1.7 ลิตร) หรืออาจจะมากกว่า แล้วจึงเสียชีวิตลง
ไม่นานหลังจากนั้น
            
              กล่าวได้ว่าท่านตายจากภาวะช็อคเพราะ ถูกเจาะเลือดออกอย่างมากมาย ร่วมกับภาวะติดเชื้อ
ทางเดินหายใจที่รุนแรง ร่างกายขาดน้ำ และมีอาการหายใจลำบาก  


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 21 ก.ค. 10, 15:07
ขอบคุณ คุณ Sila มากครับ ที่มาช่วย
ผมนึกคำ phlebotomy  กับ Bloodletting ไม่ออกเลย น่าขายหน้าจริงๆ  ;)


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 10, 15:26
         ยินดี ครับ
           เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับบทความที่อาจารย์, คุณ NAVARAT C คุณวันดี คุณเพ็ญ
คุณหลวง และท่านอื่นๆ พากเพียรเขียนลงกระทู้


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ก.ค. 10, 10:55
           ความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรค ทั้งสาเหตุ พยาธิวิทยา กลไกการเกิด ยาและการรักษาที่ได้ผล
ทำให้การรักษาด้วยวิธีที่ผิดๆ เช่น การดึงเลือดออกนี้คงอยู่ต่อเนื่องได้ยาวนาน เพราะคนไข้ไม่มีทางเลือก อย่างน้อยก็ยัง
ได้ชื่อว่า ได้รับการรักษา และการทำอะไร "มากมาย ไม่น้อย" เช่นนี้ คงจะมีผลต่อผู้ป่วยทางจิตใจที่เรียกว่า
           placebo effect จากศรัทธา ความคาดหวังผลที่ดี ทำให้ผู้ป่วย(ปรุงแต่งความ)รู้สึกมีอาการดีขึ้น
หลังได้รับการรักษาแล้ว
           ทว่าในความเป็นจริงแล้ว คนที่รอดตาย ทั้งที่โดนซ้ำเติมด้วยการดึงเลือดออกไปมากมายนั้น น่าจะ
เป็นผู้ที่ยังไม่หมดบุญในโลกนี้ ร่างกายยังมีกลไกสำรองเข้มแข็งที่สามารถรักษาตัวเองให้หายไม่ตายได้
หรือ เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก และถูกดึงเลือดออกไปเล็กน้อย


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ก.ค. 10, 10:58
หลั่งเลือดรักษาโรคในโลกปัจจุบัน

         เป็นที่ชัดเจนและยอมรับไปทั่วแล้วว่า การดึงเลือดออกนั้นนอกจากจะไม่มีประโยชน์ทางการรักษาแล้ว
ยังเป็นอันตรายอย่างมาก ยกเว้น
           ในบางโรคที่วิธีการนี้มีประโยชน์และใช้เป็นวิธีรักษา ได้แก่ 
                 hemochromatosis (ภาวะเหล็กเกินในร่างกาย ประเภทที่เกิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์)
ภาวะหัวใจล้มเหลวจนน้ำท่วมปอด (- ไม่ทำแล้ว) และ polycythemia vera (ภาวะเลือดข้นเนื่องจาก
จำนวนเม็ดเลือดแดงสูงขึ้น จากโรคไขกระดูก ไม่ใช่เลือดข้น จากการเป็นไข้ ขาดน้ำ หรือในคนสูบบุหรี่จัด
คนอาศัยอยู่ในที่สูง อ็อกซิเจนจาง)
              ซึ่งจะเรียกกันว่า bloodletting

              ส่วน phlebotomy นั้นปัจจุบันใช้กับการดูดเลือดจำนวนไม่มากเพื่อนำส่งตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ 


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ก.ค. 10, 11:04
             เมื่อมองจากปัจจุบันย้อนไปในอดีต ได้พบกับความเชื่อ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องต่างๆ
แล้วสะท้อนถอนใจ บางคนอาจจะเห็นเป็นขบขันปนเย้ยหยัน เพราะเราใช้มาตรฐานปัจจุบัน
เป็นตัวตั้งตัดสิน
               แต่หากลองจินตนาการไปข้างหน้าสัก 50 - 100 ปี พวกเราก็อาจจะเป็นฝ่ายถูกมอง
โดยคนรุ่นนั้นอย่างน่าเห็นใจปนขันเช่นกัน - ถ้า ตอนนั้นโลกยังอยู่ และอยู่อย่างเจริญก้าวไกล
ไม่เกิดวิกฤตจนถดถอยไปล้าหลังตั้งต้นใหม่

ภาพ - July 26, 2009

         แพทย์ชาว Palestinian ให้การรักษาผู้ป่วยชายด้วยวิธีการ bloodletting และ cupping
ที่ค่ายผุ้อพยพ - Rafah refugee camp ในฉนวน - Gaza Strip
         คำบรรยายบอกสรรพคุณของการรักษาด้วยวิธีนี้ว่า ใช้ได้กับ โรคไขข้อ rheumatism, มะเร็ง,
เป็นหมัน, ความดันโลหิตสูง, ปวดหลัง, ผื่นผิวหนังอักเสบ,เบาหวาน และ ฯ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ก.ค. 10, 11:25
ภาพสำหรับคุณ CVT ครับ

              มีรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากการทำ bloodletting with cupping
ต่อเนื่องจนทำให้เกิดภาวะซีดรุนแรงเรื้อรังและหัวใจโต

Echocardiography (อัลตราซาวนด์หัวใจ) เปรียบเทียบ
         ซ้าย (A) - หัวใจโต และ
         ขวา (B) - สามเดือนต่อมาหัวใจมีขนาดลดลงเป็นปกติ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 10, 13:19
หมอฝรั่งที่รักษาพระยาทรงสุรเดช ให้ท่านเสียเลือดไปไม่มากก็น้อย อาจทำให้สุขภาพท่านทรุดฮวบ  ถึงขั้นนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตาย  เป็นไปได้ไหมคะ
เพราะท่านอายุห้าสิบกว่าแล้ว ลำบากตรากตรำมามาก  พอป่วยเข้า เลยไปง่ายๆ
ไปค้นรูป bloodletting มา  เห็นแต่ละรูปแล้วไม่อยากเอามาลง  ใครอยากเห็นลองไปเสิชดูเอง


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ก.ค. 10, 16:13
          พระยาทรงฯ น่าจะมีสุขภาพทรุดโทรมจากการตรากตรำและความเครียด
และโรคประจำตัวตามวัย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ครั้นเจ็บป่วยยารักษาก็ไม่มี
           ในวันแรกที่ทำ bloodletting แล้วได้ยาถ่ายในผู้ป่วยที่(น่าจะ)กินได้น้อย
ย่อมมีผลเสียทำให้ร่างกาย"ขาดน้ำ"ได้ (จากการเสียเลือดและขับถ่าย) แต่ไม่ชัดมากแบบ
กรณีท่านประธานาธิบดีวอชิงตัน
           เมื่อเจาะเลือดในครั้งที่สองแล้วไม่ได้เลือด แสดงว่า ความดัน หัวใจ การไหลเวียน
ทรุดลงแล้ว การกรีดและ cupping คงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่พอดีกับภาวะหัวใจอ่อนแรง
จนในที่สุดเต้นไม่ไหว ครับ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 10, 22:02
ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสเข้ามาอ่าน ขอบพระคุณที่ได้ค้นคว้าความรู้ดีๆเช่นนี้มาฝากครับ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 10, 08:08
สนใจปลิง (leech) ที่คุณศิลาเอ่ยถึง   อยากรู้ว่ามันเป็นปลิงชนิดไหนกันแน่    เหมือนกับปลิงที่อยู่ตามห้วยหนองคลองบึงสมัยดิฉันยังเด็กๆอยู่หรือเปล่าคะ

หนุ่มสาวชาวกรุงเทพคงไม่รู้จักปลิง   เหมือนไม่รู้จักหมามุ่ย  เลยเอารูปมาให้ดูค่ะ

คนไทยสมัยโบราณรู้จักปลิงเป็นอย่างดี  น่าจะเจอกันบ่อยๆเพราะทุ่งนาล้อมรอบเมืองอยู่  ใครอยู่หัวเมืองนาก็อยู่ติดบ้าน   จึงมีสำนวนว่า "กินน้ำเห็นปลิง" แปลความหมายคล้ายๆ หอกข้างแคร่  แต่ค่อนไปในทางตะขิดตะขวง รังเกียจ ไม่สนิทใจ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ก.ค. 10, 13:56
ย่นย่อจากคุณวิกี้ ครับ

                  ปลิงจัดเป็นสัตว์กลุ่ม (phylum) annelida ("ringed worms" จาก Latin
- anellus - "little ring") ที่ประกอบด้วยสัตว์จำพวกหนอนปล้อง - segmented worms
               อยู่ใน class Hirudinea มีทั้งพวกที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด น้ำทะเล (Aquatic Leech)
และบนดิน (Land Leech) เป็นสัตว์สองเพศในตัวเดียว
                 ปลิงส่วนใหญ่จะไม่ดูดเลือดคน เหยื่อของมันคือสัตว์ไร้กระดูกสันหลัง ที่มันจะกินทั้งตัว

                 พวกที่กินเลือด - haematophagous leeches ถูกนำใช้ในการรักษาเป็น
Medicinal leeches มีหลาย species ด้วยกัน แต่ที่แพร่หลายที่สุดคือ
                          Hirudo medicinalis - the European medicinal leech

               ส่วนชนิดอื่นร่วม genus ที่นำมาใช้ได้ ได้แก่ Hirudo orientalis, Hirudo troctina,
Hirudo verbana, ของ Mexican ก็มี Hirudinaria manillensis และ  ปลิงของ North American
คือ  Macrobdella decora


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ก.ค. 10, 13:58
             เจ้าปลิงนี้มี แว่นดูด - sucker อยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้าย  โดยแว่นท้ายใช้ยึดเกาะ
ส่วน แว่นหน้านั้นประกอบด้วยขากรรไกร และ ฟัน
                พัฒนาการของสัตว์ดูดเลือดชนิดนี้ทำให้มันมีถึง สามขากรรไกร ที่มีลักษณะเหมือนเลื่อย
แต่ละเลื่อยประกอบด้วยฟันคมนับร้อย
                เวลาที่มันดูดเลือด มันจะปล่อยสารที่ทำให้เหยื่อชาไม่รู้สึกเจ็บ และ เอ็นไซม์จากต่อมน้ำลาย
เพื่อให้เลือดไม่แข็งตัว เรียกว่า hirudin และ สารประเภท Histamine ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว
 
              บันทึกการใช้ปลิงทางการรักษาที่เก่าแก่ที่สุด โดย แพทย์ Greek - Nicander in Colophon
(197-130 BC)และปัจจุบัน ยังมีการใช้ปลิงในทางศัลยกรรมโดยเฉพาะการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์และ
ศัลยกรรมตกแต่ง
 


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 10, 14:18
อ้างถึง
และปัจจุบัน ยังมีการใช้ปลิงในทางศัลยกรรมโดยเฉพาะการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์และ
ศัลยกรรมตกแต่ง

เอาปลิงเข้าไปช่วยยังไงคะ   :o


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 23 ก.ค. 10, 14:23
อื๋ออออ น่ากลัวจังค่ะ ..
สมัยเด็กๆเคยเห็นพี่โดนปลิงเกาะบ่อยๆ เพราะชอบไปเล่นน้ำคลอง เลยกลัวปลิงไปเลยค่ะ...
แต่เอาปลิงมารักษาโรคนี่ คงต้องมองปลิงใหม่เสียแล้วนะคะ


กระทู้: หลั่งเลือดรักษาสารพัดโรค
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ก.ค. 10, 15:44
              ใช้ในกรณี หลังผ่าตัดแล้วบริเวณแผลมีเลือด(ดำ)คั่ง ไหลเวียนไม่ดี (venous insufficiency
- congestion ) และอาจมีการแข็งตัวของเลือด
(ถามศัลยแพทย์ที่เคยใช้บริการปลิงในอเมริกา)
             แพทย์จะสั่งปลิงสดๆ สะอาด ขึ้นเครื่องบินมาจัดการดูดเลือดเก่า คั่งค้างออก และ ในขณะเดียวกัน
เจ้าปลิงก็จะปล่อยสารออกมา ช่วยให้เลือดไม่แข็งตัว ครับ