เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 23, 09:33



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 23, 09:33
     ปีนี้ สุนทราภรณ์วงดนตรีเพลงไทยสากลแห่งแรกของไทย ฉลองวันครบรอบ 84 ปี
วงดนตรีสุนทราภรณ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482  นับเป็นวงดนตรีบิ๊กแบนด์ที่อายุยืนยาวที่สุดในสังคมไทย
   
     ความจริง  การรวมกลุ่มของนักดนตรีวงสุนทราภรณ์ เกิดขึ้นก่อนหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 หัวหน้าวง  ครูเอื้อ สุนทรสนาน กับเพื่อน ๆ ร่วมกันตั้งวงดนตรีไทยฟิล์ม ของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด ซึ่งมีเจ้าของคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
     ต่อมา  เมื่อบริษัทเลิกกิจการในปี พ.ศ. 2482     วิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการ(หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ประสงค์จะก่อตั้งวงดนตรีประจำกรมสำหรับบรรเลงในราชการงานเมืองต่างๆ    จึงขอให้ครูเอื้อและเพื่อนนักดนตรีวงไทยฟิล์มเข้ามารับราชการ ทำงานด้านดนตรีในชื่อ "วงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ"   ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์"
     นักร้องและนักดนตรีชุดเดียวกันนี้ เดิมเมื่อทำงานของทางราชการใช้ชื่อว่า วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อรับงานส่วนตัวนอกเวลาราชการ จะใช้ชื่อว่าวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยมีที่มาจากนามสกุลของเอื้อ (สุนทรสนาน) สนธิคำกับชื่อภรรยาของครูเอื้อ  คุณอาภรณ์ กรรณสูต  รับเล่นตามงานเอกชนต่างๆนอกเวลาราชการ 
    หลังจากครูเอื้อถึงแก่กรรมเมื่อ  1 เมษายน พ.ศ. 2524   วงสุนทราภรณ์ตกทอดเป็นสิทธิมรดกตามกฎหมายของอติพร เสนะวงศ์ บุตรสาวของครูเอื้อกับคุณอาภรณ์ กรรณสูต มีนักร้องและนักดนตรีของตนเอง    ส่วนวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นกับกรมประชาสัมพันธ์


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 23, 09:49
  ลักษณะวงดนตรีสุนทราภรณ์ คือวงดนตรีบิ๊กแบนด์ (Big band) หมายถึงวงดนตรีที่มีนักดนตรีตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  ส่วนมากประกอบด้วยเครื่องเป่าเช่นทรัมเป็ต   ทรอมโบน แซ็กโซโฟน  และยังมีเปียโน, กีตาร์ เบส และกลอง
  ส่วนเพลงของสุนทราภรณ์เรียกว่าเพลงไทยสากล  คือเพลงที่ขับร้องด้วยภาษาไทย แต่ใช้มาตรฐานของโน้ตเพลงแบบสากล จนเป็นเพลงไทยแนวใหม่  คนละอย่างกับเพลงไทยเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นผู้นำการแต่งทำนองเพลงตามมาตรฐานดนตรีสากลและในการประพันธ์เพลงสำหรับบรรเลงด้วยแตรวงโดยเฉพาะเพลงวอลซ์ปลื้มจิต ในปี พ.ศ. 2446 สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกในประวัติศาสตร์ดนตรีของเมืองไทย เพลงต่าง ๆ เหล่านี้ทรงนิพนธ์โดยใช้โน้ตและจังหวะแบบสากล    จากพระปรีชาสามารถในการทรงประพันธ์เพลง จึงทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล
   


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 23, 09:50
https://www.youtube.com/watch?v=yOEij8HpJRE


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 20 พ.ย. 23, 21:28
เนื่องจากปกวอลซ์ปลื้มจิต จึงขออนุญาตแว้บออกซอยข้างทางนิดนึงครับ
สุภาพสตรีที่เป็นปก  คลับคล้ายว่าน่าจะใช่ “คุณเรียม”ลูกสาวกำนันเรือง-แม่รวย แห่งทุ่งบางกะปิ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 07:55
อ้าว คุณ Jalito นี่เอง  เชิญนั่งแถวหน้าค่ะ
ความจำดีมาก  ใช่ค่ะ เธอคือแม่เรียมแห่งทุ่งบางกะปิ   หลังจากพี่ขวัญจากไปแล้วก็โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่สหรัฐอเมริกาจนปัจจุบัน
ภาพข้างล่างคือภาพล่าสุดที่หาได้  น่าจะประมาณ 10 ปีแล้ว


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 08:52
    ครูเอื้อเป็นชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของนายดี และนางแส สุนทรสนาน  มีพี่ชายและพี่สาว 2 คน คือ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ)  นางเอื้อน แสงอนันต์, นายเอื้อ สุนทรสนาน
    ครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ อายุ 7 ขวบ บิดาก็ส่งตัวเข้ามากรุงเทพให้อยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน พี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ   ครูเอื้อจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา
    ระยะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติในช่วงเช้า และวิชาดนตรีทุกประเภทในช่วงบ่าย   เด็กชายเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่ง ตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
    พรสวรรค์ด้านดนตรีของครูเอื้อฉายออกมาตั้งแต่ชั้นประถม  เข้าตาพระเจนดุริยางค์ ดังนั้นหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 ท่านจึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา
    สองปีต่อมา เมื่ออายุได้เพียง 12 ขวบ พรสวรรค์ด้านดนตรีเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์   ท่านจึงส่งเข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" ได้เงินเดือน 5 บาท เมื่อ พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ใน พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ สองปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

      จนถึงพ.ศ. 2475 ครูเอื้ออายุ 22 ปี  โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากรในสังกัดกองมหรสพ และใน พ.ศ. 2478 เมื่อหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาท
     เส้นทางของครูเอื้อสู่โลกดนตรีเริ่มขยายกว้างออกเป็นลำดับ    ได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ แม่เลื่อน ไวณุนาวิน และได้แต่งทำนองเพลง ยอดตองต้องลม ขึ้น นับเป็น เพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้นได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา ทองศรี นักร้องและดาราดังในสมัยนั้น) กับวงนารถ ถาวรบุตร ซึ่งถือว่าเป็น เพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง ภายหลังต่อมาได้มีการบันทึกเพลง บัวขาว เป็นเพลงที่สอง



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 08:53
https://www.youtube.com/watch?v=dg8I6qtkAbs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 08:59
https://www.youtube.com/watch?v=SHEq61s1YXo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 09:39
   ในระยะแรกของการเป็นหัวหน้าวง  ครูเอื้อทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนไปพร้อมๆกัน   ทางภาครัฐคือควบคุมวงดนตรีขึ้นอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์  แต่งเพลงตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา  และนำวงออกแสดงในงานต่างๆตามแต่ราชการกำหนด   ส่วนภาคเอกชน ก็นำวงออกบรรเลงตามงานต่างๆนอกเวลาราชการ
   เมื่อเริ่มมีวงดนตรี   ประเทศไทยอยู่ในยุค "รัฐนิยม" ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรี ที่จะสนับสนุนทุกทางให้ไทยก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจ    อย่างหนึ่งในนั้นคือการแต่งเพลงปลุกใจ และเพลงสนับสนุนนโยบายของรัฐ    หัวหน้าวงดนตรีของกรมโฆษณาการ(หรือกรมประชาสัมพันธ์)จึงได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่นี้ไป
   ครูเอื้อได้คัดเลือกและรวบรวมนักร้องเสียงดีจำนวนมากมาอยู่ในวง เช่น ล้วน ควันธรรม   มัณฑนา โมรากุล  รุจี อุทัยกร   เลิศ ประสมทรัพย์   สุปาณี พุกสมบุญ    สุภาพ รัศมิทัต   ชวลี ช่วงวิทย์   วินัย จุลละบุษปะ   เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จันทนา โอบายวาทย์  จุรี โอศิริ  และยังมีนักแต่งเพลงฝีมือเลิศอีกหลายคนที่มาแต่งเนื้อร้องให้กับทำนองของครูเอื้อ    บุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นขุนพลเพลงคู่ใจครูแก้วคือครูแก้ว อัจฉริยะกุล
   เพลงปลุกใจที่โดดเด่นที่สุดของสุนทราภรณ์คือ บ้านเกิดเมืองนอน  จากฝีมือแต่งทำนองของครูเอื้อ และแต่งเนื้อร้องของครูแก้ว  ชนะเลิศการประกวดในปี 2487  เพลงดั้งเดิมขับร้องในจังหวะฟร็อกทร็อต กับดนตรีที่ให้อารมณ์ปลุกใจฮึกเหิม

    https://www.youtube.com/watch?v=1K23d0gaRz0&list=PLf_frVsaYeVg4_jZ_-t8RRIMtM1hLtqJm&index=1

   นำมาร้องอีกครั้งโดยนักร้องคลื่นลูกใหม่ สุนทราภรณ์

   https://www.youtube.com/watch?v=BmkympAy4Rg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 09:44
    77 ปีต่อมา  เพลงนี้กลับคืนมาในจังหวะร็อค  ได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีอีกหลายชุดติดตามมา  พิสูจน์ว่าเพลงของสุนทราภรณ์ ยั่งยืนข้ามกาลเวลาอย่างแท้จริง
    https://www.youtube.com/watch?v=4ZMuuVbyYTI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 09:45
https://www.youtube.com/watch?v=7gOy-Bbq9EA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 10:39
อีกเพลงหนึ่ง
https://www.youtube.com/watch?v=U82nxkW8GpE


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 12:45
  รัฐนิยมอีกอย่างหนึ่งคือบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องสวมหมวกเมื่อออกนอกบ้าน  ตามแบบของชาวตะวันตก ตามที่จอมพล ป. ไปดูงานต่างประเทศมา     วงสุนทราภรณ์จึงมีเพลง "สวมหมวก" สำหรับเชิญชวนประชาชนให้เห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้

   https://www.youtube.com/watch?v=YDEXgOZf5ao
   


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 21 พ.ย. 23, 14:01
กะจะกล่าวถึงวงสุนทราภรณ์พอดีเลยครับ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 21 พ.ย. 23, 14:09
เมื่อกล่าวถึงเพลงปลุกใจของสุนทราภรณ์ ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าเพลงปลุกใจที่เก่าที่สุดของวงคือเพลงอะไร?

ส่วนตัวผมเชื่อว่า น่าจะเป็นเพลง "ปลุกไทย" ที่นำบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 มาใส่ทำนอง

เพลงนี้เข้าใจกันว่าแต่งในปี 2483 อันเป็นปีที่เกิดสงครามอินโดจีน

https://www.youtube.com/watch?v=8Q5nJgayHmI (https://www.youtube.com/watch?v=8Q5nJgayHmI)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 21 พ.ย. 23, 14:26
ที่คิดว่าเป็นปี 2483 เพราะเคยทราบจากข้อเขียนของครูเพลงว่า ในยุคแรก ๆ ที่ตั้งวงในปี 2482 ยังเล่นแต่เพลงแจ๊สสากล และเพลงที่เล่นยังไม่มีคำร้อง

ที่สำคัญ คือมีภาพยนตร์งานวันชาตะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2484 มีเพลงบรรเลง "ปลุกไทย" ประกอบด้วย (เชื่อว่าวงดนตรีกรมโฆษณาการบรรเลง)

แปลว่าเพลงนี้ต้องมีในปี 2484 หรือก่อนหน้านั้นแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=uMMPwezU7oU (https://www.youtube.com/watch?v=uMMPwezU7oU)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 16:40
รวมเพลงปลุกใจของสุนทราภรณ์
https://www.youtube.com/watch?v=idlQ79EklMA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 21 พ.ย. 23, 20:13
ไม่ใช่เป็นคอเพลงฝรั่งประเภทเดียว  เป็นคอเพลงสุนทราภรณ์ด้วยครับ...

ตอนเด็ก ๆ พอ 2 ทุ่มจะเป็นข่าว  เริ่มต้นก็ข่าวในพระราชสำนัก  พอถึงช่วงข่าวสมเด็จย่าที่ตอนนั้นเรียกกันว่า พระบรมราชชนนี  ก็จะเริ่มเพลงของพระองค์ท่าน  นำเสียงด้วยคุณบุษยา ... พระบารมีเหนือเกล้าชาวประเทศ  พระปกเกศชาวไทยในทุกหน...  พอจบก็ร้องกลุ่ม  เริ่มด้วยกลุ่มผู้หญิงก่อน ... ทรงตรากตรำบำเพ็ญกุศลกิจ .. จบแล้วต่อด้วยกลุ่มผู้ชาย  มีคำว่า ... ตำรวจชายแดน ชาวเขา พยาบาล ... เป็นเพลงที่เพราะมาก  แม้จะไม่เคยได้ฟังจบเพลงเลยสักครั้ง  ไม่รู้ว่าเพลงชื่ออะไร  ตามหามาตลอด  ตั้งแต่ยุคเทป cassette  ถึงยุค ซีดี  ก็กวาดซื้อแผ่นของค่ายเมโทร  รวมทั้งแผ่นบรรดาเพลงปลุกใจ  ก็ไม่มีเพลงนี้  แล้ววันหนึ่งก็ได้เจอ สิงห์สุนทราภรณ์  ชื่ออะไรก็จำไม่ได้แม่น คุณเทพากร รึเปล่า  เธอได้ไขข้อข้องใจว่าชื่อเพลง พระบรมราชชนนี  แถมยังมีเมตตากลับบ้านไปอัดเพลงลง mp3  ส่งมาให้ทางไปรษณีย์  สรุปแล้วได้ครอบครองเพลงนี้  ฟังทีไรก็เพราะแสนเพราะ  ไม่มีเบื่อ  แม้ต้นฉบับจะมาจากแผ่นเสียง  เสียงฝนตกปรอย ๆ  ก็ยังเพราะ  แต่จนบัดนี้ยังไม่มีใครเอามาเพลงมาลง youtube เลย  ไม่รู้จะแนบ file เพลงให้ฟังได้อย่างไร


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 23, 20:35
เพลง พระราชชนนี (http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/lyric/postlyricK.asp?GID=1499)

คำร้อง   พันตำรวจโทวิธาน วรินทราคม
ทำนอง   เอื้อ สุนทรสนาน    
ผู้ขับร้อง บุษยา รังสี นำหมู่

https://youtu.be/rdhrOH9RzYk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 21 พ.ย. 23, 21:21
เพลง พระราชชนนี (http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/lyric/postlyricK.asp?GID=1499)

คำร้อง   พันตำรวจโทวิธาน วรินทราคม
ทำนอง   เอื้อ สุนทรสนาน    
ผู้ขับร้อง บุษยา รังสี นำหมู่

นี่แหละ ๆ   เพราะจริง ๆ   เสียงคุณบุษยาหวานมาก

ชื่อเพลงไม่แม่นนี่เอง  เลยหาไม่เจอ  



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 23, 10:55
   ดิฉันจะเล่าเรื่องต่อไปเรื่อยๆ  ท่านใดสนใจเรื่องสุนทราภรณ์ก็เข้ามาโพสได้เลยนะคะ  ไม่ต้องเกรงว่าเป็นเพลงคนละช่วงเวลา หรือเป็นเรื่องของนักร้องไม่ใช่เพลง   ขอเพียงแต่อยู่ในขอบเขตของสุนทราภรณ์เท่านั้นพอ
   เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง   ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความสงบ  งานบันเทิงทั้งหลายก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง  อิทธิพลของตะวันตกผ่านทางภาพยนตร์ซึ่งเน้นด้านเพลง   ทำให้หนุ่มสาวชาวไทยรู้จักการลีลาศในจังหวะต่างๆ ที่เรียกกันว่าบอลรูม    เช่นแทงโก วอล์ทซ์ ควิกสเต็ปฟอกซทร็อต  บีกินและสโลว์ 
   จังหวะนอกเหนือจากนี้คือเพลงลาติน เช่นชะชะช่า รุมบ้า กัวราช่า
   สุนทราภรณ์ผลิตเพลงลีลาศเพื่อตอบสนองความนิยมของหนุ่มสาวยุคหลังสงคราม ออกมาเป็นจำนวนมาก   สถานที่เต้นรำที่โด่งดังมีหลายแห่ง เช่นเวทีลีลาศสวนอัมพร   สวนลุมพินี   ห่างกรุงเทพออกไปก็คือบางปู

   https://www.youtube.com/watch?v=09FHkK7Lev4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 23, 10:56
จังหวะลาติน
https://www.youtube.com/watch?v=uLnkHW8qD7c


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 23, 10:11
    เพลงวอลท์ซ เป็นวัฒนธรรมลีลาศของเยอรมนีและออสเตรีย   ถอยหลังไปได้ถึงศตวรรษที่ 13     ในแต่ละท้องถิ่นได้พัฒนารูปแบบของตนเอง แต่ลีลาศจังหวะวอล์ทซ์อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้มาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย  จะว่าไปก็ไม่ได้เกี่ยวกับประเทศไกลลิบลับอย่างสยาม  แต่ครูเอื้อก็สามารถแต่งเพลงไทยรุ่นใหม่ในจังหวะลีลาศของยุโรปในอดีต   พร้อมด้วยครูเพลงที่แต่งเนื้อได้สอดคล้องกับท่วงทำนองและจังหวะดนตรี ออกมาได้หลายเพลง  ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

https://www.youtube.com/watch?v=IhsmV6PHebs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 23, 14:18
   ครูเอื้อยืนหยัดในด้านสร้างทำนองเพลงให้วงสุนทราภรณ์เกือบจะ 100 % ของทั้งหมด รวมสองพันกว่าเพลง    มีจำนวนน้อยมากที่แต่งโดยนักแต่งเพลงคนอื่น    แต่ครูเอื้อไม่ได้แต่งคำร้อง   ขุนพลเพลงที่แต่งคำร้องนอกจากครูแก้วคู่ใจครูเอื้อแล้ว ก็มีอีกหลายท่านที่สร้างเนื้อร้องให้เป็นที่ติดหูติดใจประชาชนชาวไทยมานานกว่า 8 ทศวรรษ นอกจากจากครูแก้ว อัจฉริยกุล ก็มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  ครูเวส สุนทรจามร, ครูสุรัฐ พุกกะเวส, ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ, ครูธาตรี, ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์  และท่านอื่นๆอีกมาก
เพลง ชะตาฟ้า
ศิลปิน : เพ็ญศรี - สุนทราภรณ์
คำร้อง : ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์
ทำนอง : เอื้อ สุนทรสนาน  


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 23, 14:19
https://www.youtube.com/watch?v=oBnV59ysiY4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 23 พ.ย. 23, 20:22
ตอนเด็ก ๆ ที่บ้านจะมีงานปีใหม่ทุกปี  ถึงอากาศจะหนาวเหน็บ  แต่ไม่ได้ทำลายความสนุก  มาจืดตรงที่ต้องรอเวลาจับสลากซึ่งจะเริ่มก่อนขึ้นปีใหม่เล็กน้อย  สำหรับเด็กที่ต้องเข้านอนเวลา 2 ทุ่มอย่างผม  มันทรมานไม่น้อย  พอจบรายการจับสลาก  แป็บเดียวก็เริ่มนับถอยหลังสำหรับการขึ้นปีใหม่  พอขึ้นปีใหม่ปั๊บ  เพลงนี้ก็กระจายเสียงออกมาจากลำโพงวิทยุ  ทุกคลื่นสถานีพร้อมใจกันเปิดและเปิดแทบจะทั้งวัน

https://youtu.be/8W7Kdko5uCQ

มาบัดนี้  เมื่อไรที่ได้ยินเพลงนี้ (ต้องฉบับนี้)  ความสุขโถมกระหน่ำ



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 09:45
ในวัยเด็ก  ตื่นมาตอนเช้าวันที่ 1 มกราคม เปิดวิทยุไม่ว่าสถานีไหน  จะได้ยินเพลงที่คุณโหน่งนำมาลงข้างบนนี้...ทั้งวัน
เช่นเดียวกับวันสงกรานต์  ก็ได้ยินเพลงข้างล่างนี้ทั้งวันเหมือนกัน

https://www.youtube.com/watch?v=4LCqBL59stI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 09:48
https://www.youtube.com/watch?v=QrRU-apkj7Q


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 09:50
อีกไม่กี่วันก็จะได้ยินเพลงนี้ ที่โกอินเตอร์ไปแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=CacwKxTj5Tg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 09:52
https://www.youtube.com/watch?v=QWWD3JO8YqY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 10:35
เพลงลอยกระทง (Loy Krathong) โดย André Rieu (https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/914029/the-king-of-waltz-to-deliver-exclusive-performance) และวง Johann Strauss Orchestra ของเขา บรรเลงเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ Royal Paragon Hall ในงาน Enchanted evening with ANDRÉ RIEU by Thonburi Phanich Group

https://youtu.be/Eb-lzTh_klA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 พ.ย. 23, 21:01
ผมรู้จักเพลง เมื่อฝนโปรย มานานนม  จาก ซีดีตลับทองผลิตโดย บ.เมโทร  ผู้ร้องคือครูเอื้อกับคุณบุษยา

https://youtu.be/i6mkQQJ9QW4

เพลงมีความเพราะแต่ไม่ถึงขั้นรับเข้ามาเป็นเพลงโปรด  กาลเวลาผ่านไป  วันหนึ่งผมนั่งเล่น youtube  พบว่าเพลงเดียวกันนี้มีการร้องโดยสมาชิกของคณะฯ  หลากหลาย  มีฉบับหนึ่งที่ฟังแล้ว  ติดใจ  น่าเสียดายที่เป็นการแสดงสด  ไม่ได้ร้องในห้องอัดเสียง  เสียงป้านุชหวานมากกกก

https://youtu.be/w8s2OhgqHKM



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 พ.ย. 23, 21:11
เหตุการณ์นี้เกิดซ้ำอีกครั้งกับเพลง ไฟรักในทรวง  ฉบับที่ผมมีร้องโดยดาวรุ่งฯ (น่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย)  ฟังแล้วเฉย ๆ

https://youtu.be/2JhROYcPwW0


กาลเวลาผ่าน  เข้าอีหรอบเดิม  ผมเจอเพลงนี้ร้องโดยนักร้องรุ่นพี่  โอ้โฮ... จับใจ  ทำไมไม่ใครใครนำมาปัดฝุ่นให้เสียงคมชัดนะ

https://youtu.be/BKb0uKlXdOM


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 23, 09:58
ขอเชิญมาฟังคลื่นลูกใหม่บ้างค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=ZQ4x18aCnx0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 23, 10:00
นี่ก็คลื่นลูกใหม่อีกชุดหนึ่ง  มีการลดคีย์เสียลงแล้วให้เข้ากับยุคปัจจุบัน    นักร้องสุนทราภรณ์ยุคเก่าร้องเสียงสูงมาก  เพราะคีย์เสียงสูงกว่ายุคนี้หลายเท่า   อาจเป็นเพราะเพลงสุนทราภรณ์หลายเพลงดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิม ซึ่งเสียงสูงมากอยู่แล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=XRu_tmpTFgQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 25 พ.ย. 23, 20:37
เหตุผลหนึ่งที่ชอบเพลงสุนทราภรณ์ คือนอกจากเนื้อเพลงสวยงามและจังหวะหลากหลายแล้ว  บางเพลงก็แหวกแนว เช่น (เท่าที่นึกออกตอนนี้)

https://youtu.be/vWfyj8_Ej6c
(ต่างคนต่างร้องแล้วมาจบด้วยกัน)

https://youtu.be/9XtYAPbM0FU
(หนึ่งเนื้อเพลง 2 จังหวะ  รัวกลองได้มันมาก)

https://youtu.be/NY9QsJyUKH4
(นักร้อง 2 คนร้องออกคนละลำโพง  แล้วมาพร้อมใจกันร้องในตอนจบ... แปลกนิดหน่อย)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 พ.ย. 23, 18:29
เพลงสุนทราภรณ์แรกๆ ที่ได้ยินจากวิทยุเมื่อยังเป็นเด็ก 6-7ขวบ แล้วสะดุดหูก็คือเพลง”ชื่นชีวิต”นี่แหละ ฉงนว่าชายหญิงร้องเพลงต่างเนื้อในเวลาเดียวกัน โดยไม่เขว แต่ตอนลงท้ายกลับมาร้องพร้อมเนื้อเดียวกันซิงค์กันได้สนิท  อีกเพลงแรกๆได้ยินตั้งแต่เด็กคือ”ยังจำได้ไหม” (...ยังจำได้ไหมถึงใครคนหนึ่ง ซึ่งคุณเคยบอกว่ารัก..รัก..รักยิ่งนัก  ยังจำได้ไหมถึงใครคนหนึ่ง ซึ่งคุณสมัครเป็นทาสดวงใจ...)- รวงทอง ทองลั่นทม  ซึ่งหวานเว้าวอนเสียเหลือเกิน
ส่วนเพลงที่เคยได้ยินพ่อร้องตอนอารมณ์ดี ...โฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้แลตะลึง ได้เจอครั้งหนึ่งเสน่ห์ซึ้งตรึงใจ โสภาน่าชมสมัครภิรมย์รักใคร่ พันธ์ผูกใจไม่ร้างรา... “นางฟ้าจำแลง”  (ถ้าพ่ออยู่ถึงพ.ศ.นี้ อายุก็เหยียบ100 พอดี)
 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 พ.ย. 23, 18:55
มีการตู่เนื้อครับขออภัย :-
โสภาน่าชมสมัครภิรมย์รักใคร่
ที่ถูกคือ :-
ครั้งเดียวได้ชมสมัครภิรมย์รักใคร่


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 พ.ย. 23, 19:19
อีกเพลงแรกๆได้ยินตั้งแต่เด็กคือ”ยังจำได้ไหม”
 
ชื่อเพลงที่ถูกต้องคือ  “จำได้ไหม”


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ย. 23, 19:35
เพลงที่เคยได้ยินพ่อร้องตอนอารมณ์ดี ...โฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้แลตะลึง ได้เจอครั้งหนึ่งเสน่ห์ซึ้งตรึงใจ โสภาน่าชมสมัครภิรมย์รักใคร่ พันธ์ผูกใจไม่ร้างรา... “นางฟ้าจำแลง”  (ถ้าพ่ออยู่ถึงพ.ศ.นี้ อายุก็เหยียบ100 พอดี)

เพลงนางฟ้าจำแลง (https://www.gotoknow.org/posts/502502#google_vignette) เป็นเพลงประจำการประกวดนางงาม ตั้งแต่สมัยแรกที่เรียกว่า "นางสาวสยาม" มีการจัดประกวดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นการจัดควบคู่ไปกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งถึงปีที่ ๑๒ ของการประกวด หรือใน พ.ศ. ๒๔๙๖ รัฐบาลในยุคนั้นได้สั่งการให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) จัดสร้างเพลงเพื่อประกอบกิจกรรมนี้ขึ้น

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ จึงได้รับมอบหมายให้ประพันธ์ทำนองขึ้นในจังหวะ "ควิกวอลซ์" ซึ่งเหมาะแก่ท่วงท่าและลีลาการเดินเฉิดฉายของเหล่าสาวงามบนเวที และต่อมาได้ให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ร่วมประพันธ์คำร้อง โดยให้ชื่อเพลงนั้นว่า "นางฟ้าจำแลง"

https://youtu.be/t9d53WYSgFY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 26 พ.ย. 23, 20:53
นอกจากเพลงฝรั่งแล้ว  เพลงสุนทราภรณ์นี่อบอวลอยู่รอบ ๆ ตัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ

แล้วก็นึกถึงเพลงนี้  ได้ยินมา (ทางวิทยุ) ตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม  จำได้ว่าติดใจ  แต่จำชื่อเพลงหรือชือนักร้องไม่ได้  ต่อมาความรู้เรื่องเพลงเพิ่มพูนขึ้น  รู้ชื่อนักร้องที่ร้องเพลงนี้ได้ก่อนคือ คุณเพ็ญศรี ฯ  แต่ชื่อเพลงไม่รู้และไม่รู้มาตลอดเพราะเคยได้ยินเพลงนี้อยู่ครั้งเดียว  พอโตขึ้นจนสามารถบริหารการเงิน (ที่ผู้ปกครองให้) ได้เป็นก็ออกตามหาซื้อเทปของเธอ  ปรากฏว่าไม่มีเพลงที่ว่านี้  กาลเวลาผ่านไปอีกจนถึงยุคซีดี  ก็ยังคงตามหาเพลงนี้อยู่  มาถึงช่วงเวลาที่ บ.เมโทร ออกซีดีชุดตลับทอง  เป็นการทะยอยออกไม่ใช่ออกมาพรวดเดียว  มาถึงชุดที่ 33 ก็ประสบความสำเร็จ  เพลงที่ว่าอยู่ในชุดนี้  แต่พออ่านชื่อแล้วเกิดความประหลาดใจคือมันเป็นเพลงชุดชื่อ นิมิตสวรรค์  เพลงที่ผมติดใจเป็นภาคแรกจากทั้งหมด 7 ภาคชื่อ ทิพย์วิมาน  สำหรับภาคอื่น ๆ ผมจำไม่ได้ว่าเคยยิน  มาได้ยินทางแผ่นซีดี  แต่ละภาคจืด ๆ  มีภาคแรกภาคเดียวที่เด่น 

https://youtu.be/SkoI-gZSEcc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 23, 12:21
เพลงที่คุณโหน่งเอ่ยถึงแต่ละเพลง หาฟังยากมากค่ะ  ร้องยากอีกต่างหาก เพราะเสียงสูงมาก
มีอีกเพลงที่สูงพอกัน
https://www.youtube.com/watch?v=OS16BV7s1gU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 27 พ.ย. 23, 18:21
เพลงที่คุณโหน่งเอ่ยถึงแต่ละเพลง หาฟังยากมากค่ะ  ร้องยากอีกต่างหาก เพราะเสียงสูงมาก
มีอีกเพลงที่สูงพอกัน
https://www.youtube.com/watch?v=OS16BV7s1gU


กรีี๊ดดดดด... ตั้งใจจะลงเพลงนี้วันนี้พอดี  เอ... เดี๋ยวกลับไปนั่งนึกใหม่


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 23, 18:26
ขอปาดหน้าคุณโหน่งด้วยอีกเพลง  ที่ร้องยากระดับท็อป 5 ของสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=rQxIVNlFiLI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 27 พ.ย. 23, 20:00
ขอปาดหน้าคุณโหน่งด้วยอีกเพลง  ที่ร้องยากระดับท็อป 5 ของสุนทราภรณ์



เรื่องจะคุยลดลงไปอีกหนึ่ง...

นำเสนอเพลงโปรดของภรรยาคุณเอื้อ  คุณเอื้อแต่งให้  อีกไม่นานก็แต่งงานกัน

https://youtu.be/-I1SvhKMU4w


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 27 พ.ย. 23, 20:36
นี่เป็นเพลงโปรดของตัวคนร้อง  คนฟัง ๆ แล้วแทบสลบเพราะมันเพราะจริง ๆ  ทั้งเสียงและดนตรีกลมกลืนบาดใจ

https://youtu.be/AVcjdXBYKRs

หมายเหตุ - นี่เป็นฉบับร้องครั้งสอง


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 27 พ.ย. 23, 20:53
อีกเพลงก่อนเข้านอน

เพลงสั่งไทร นี่คุณบุษยาก็ร้อง 2 ครั้ง  ผมคุ้นเคยและชอบกับฉบับแรก  ต่อมาผมซื้อซีดีรวมเพลง  มีเพลงนี้ด้วย  ตอนฟังช่วงเริ่มต้นพบว่าดนตรีเปลี่ยนไป  ยิ่งพอถึงช่วงหลังทำนองเปลี่ยนไปเลยเป็นทำนองอะไรไม่รู้แปลกแหวกแนว  ผมหาฉบับนี้ทาง youtube ไม่ได้  ใครพบบ้างครับ

https://youtu.be/5yQqHfI1m-U


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 23, 09:07
อ้างจาก: nathanielnong link=topic=7391.msg185959#msg185959
นำเสนอเพลงโปรดของภรรยาคุณเอื้อ  คุณเอื้อแต่งให้  อีกไม่นานก็แต่งงานกัน

ชีวิตของครูเอื้อไม่ได้เต็มไปด้วยสีสันท่วงทำนองเฉพาะบทเพลงที่ท่านแต่งเท่านั้น   ชีวิตรักกับคุณอาภรณ์ กรรณสูต ก็เต็มไปด้วยท่วงทำนองรักโศก เหมือนนิยายรักแบบที่ "ยาขอบ" หรือ "อิงอร" นำมาเขียนให้คนอา่นยุคเกือบร้อยปีก่อนได้ร้องไห้ในตอนแรกแล้วหัวเราะทั้งน้ำตาในตอนหลัง

เมื่อครูเอื้อเป็นหนุ่ม มาเช่าบ้านอยู่ในกรุงเทพ กับเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน  เผอิญบ้านติดกันเป็นคฤหาสน์ของขุนนางใหญ่ชื่อพระยาสุนทรบุรี   (อี้ กรรณสูต)   ท่านผู้นี้ไม่ใช่คนเล็กน้อย  เป็นถึงอดีตองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตนายอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อดีตสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย

ส่วนครูเอื้อเป็นเหนุ่มชาวบ้านจากตำบลอัมพวา  ที่ร้ายกว่านี้คือมีสถานะเป็นพวก “เต้นกิน รำกิน” ซึ่งเป็นคำเรียกเชิงเหยียดหยามของผู้อยู่ในวงการบันเทิงสมัยโน้น   นักแสดง นักร้อง นักดนตรี ถูกมองว่าต่ำต้อย เพราะมีรายได้น้อย และไม่มั่นคง ตกงานเมื่อใดก็อดตาย     ตรงกันข้ามกับสมัยนี้ที่ใครๆก็อยากอยู่ในวงการบันเทิง เพราะมันหมายถึงเม็ดเงินมหาศาล
ลูกสาวของพระยาสุนทรบุรีเป็นเด็กสาวชื่ออาภรณ์ กรรณสูต  เป็นนักเรียนโรงเรียน ขัตติยานีผดุง และต่อมาเข้าเป็นนักศึกษาเตรียมธรรมศาสตร์   เธอเป็นที่ต้องตาของนักดนตรีหนุ่ม  จนเป็นที่มาของเพลง "บ้านเรือนเคียงกัน"
 
https://www.youtube.com/watch?v=UGc0mDTZ6zU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 23, 09:11
   ความรักของครูเอื้อและคุณอาภรณ์เต็มไปด้วยขวากหนาม    ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไม่ยอมยกคุณอาภรณ์ให้แต่งงานกับนักดนตรีท่าเดียว  ระหว่างนี้ ก็มีหนุ่มนักเรียนนอกที่เหมาะสมกันเข้ามาจีบคุณอาภรณ์    เป็นเหตุให้ครูเอื้อได้แต่งเพลงระบายความในใจ ที่กลายเป็นเพลงอมตะอีกเพลงของสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=VeTty7zgmqI




กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 23, 09:38
  เมื่อทางบ้านของคุณอาภรณ์ต้องอพยพหลบลูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2  เข้าไปอาศัยอยู่ในคลองทางฝั่งธน  ครูเอื้อจะนั่งเรือไปเยี่ยม   ชาวบ้านสองฟากคลองจะออกมานั่งรอ ฟังเสียงครูเอื้อร้องเพลงขณะนั่งเรือผ่านไป

    https://www.youtube.com/watch?v=5qD_9aSAraw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 28 พ.ย. 23, 20:51
เยี่ยมครับ...


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 23, 09:32
   “เพลงยอดดวงใจ” เป็นเพลงอนุสรณ์ความรักที่ครูเอื้อมีให้คุณอาภรณ์  กรรณสูต  เนื้อทั้งเพลงบอกความในใจว่าความรักทั้งหวานและขมขนาดไหน  แต่ก็ฝ่าฟันกันไปจนได้
    “ดวงใจคนดี ที่ฉันห่วง โศกรุมเร้าทรวงหน่วงเหนี่ยว ดวงใจที่ฉันชื่นชม กลมเกลียว ฉันฝากรักเธอคนเดียว คนอื่นไม่เหลียว ไม่แล ปองรักก็แต่ดวงใจ ...”
   เพลงนี้เป็นเพลงที่ประทับใจคุณอาภรณ์มากที่สุด  ดังที่เธอเคยกล่าวว่า
   “... เป็นเพลงที่ครูเอื้อแต่งให้กับดิฉัน สมัยที่เริ่มรักกัน ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. 2485 เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะจับใจ อาจเป็นเพราะเพลงนี้ ที่ทำให้ดิฉันมีความประทับใจในตัวครูเอื้อ และได้แต่งงานกับครูเอื้อในอีก 4 ปี ต่อมา”
    https://www.youtube.com/watch?v=-I1SvhKMU4w


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 23, 10:04
   คุณอาภรณ์อยู่ในหัวใจของครูเอื้อเสมอ แม้หนทางข้างหน้าจะมีแสงสว่างริบหรี่มาก  ครูเอื้อก็ไม่ท้อถอย  เมื่อตั้งวงดนตรีของตัวเอง สำหรับบรรเลงนอกเวลาราชการ เมื่อ พ.ศ. 2486   ครูเอื้อ ก็นำคำแรกของนามสกุลบวกกับชื่อคุณอาภรณ์ มาเป็นชื่อ “สุนทราภรณ์”  ใช้ตลอดมา
   การรอคอยที่ยาวนานสิ้นสุดลง เมื่อผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงล่วงลับไป   ทั้งคู่ได้เข้าพิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งขณะนั้นวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุได้ราว 6 ปีครึ่ง  มีธิดาด้วยกัน 1 คนชื่ออติพร ต่อมา สมรสกับพลตำรวจโทสันติ เสนะวงศ์



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 23, 10:08
ความรักที่สูงสุดของครูเอื้อ แสดงออกในเพลง "พระเจ้าทั้งห้า"

คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
-เนื้อเพลงพระเจ้าทั้งห้า...
ดวงใจดวงเดียวที่ฉันมีอยู่
ขออุทิศให้ผู้เอ็นดูเอื้อรักบูชา
มีพระคุณท่วมฟ้า
เป็นพระเจ้าทั้งห้า
ปั้นฉันมีค่าสุดคณารำพัน

หนึ่งนั้นหรือคือบิดาและมารดร
เลือดจากอุทรกลั่นป้อนลูกทุกวัน

สองชาติศาสนามหาทรงธรรม์
พระเจ้าอยู่หัวมิ่งขวัญ ราชันภูมิพล

สามความรู้จากครูอาจารย์
ขับขานชำนาญเพราะท่าน
ช่วยกันหว่านพืชผล

สี่ลูกรักเมียขวัญสำคัญกว่าตน
ทุกข์สุขยอมทน
เพื่อคนรักด้วยดวงใจ

พระที่ห้ามีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิน
ซอสุดรักไวโอลิน เหนือศิลป์ใดใด

ขอฝากเพลงร้องให้เสียงนั้นก้องตลอดไป
อนุสรณ์ฝากไว้จากหัวใจสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=KBs2l0Yq-7g


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 23, 15:07
    นอกเหนือจากความรักในเพลง สิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจให้ทำงานได้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
     วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 ที่ครูเอื้อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเหรียญรูปเสมาทองที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 วงดนตรีสุนทราภรณ์


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 23, 15:09
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ครูเอื้อ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เนื่องในโอกาสที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ก่อตั้งครบ 20 ปี
      ครูเอื้อ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า "พระมหามงคล" และได้อัญเชิญมาบรรเลงเป็นเพลงเปิดวงสุนทราภรณ์ก่อนเริ่มแสดงนับแต่นั้นมา สืบเนื่องถึงปัจจุบัน
      เพลงพระราชนิพนธ์พระมหามงคลนี้ไม่มีคำร้อง มีจังหวะดนตรี 3 จังหวะ คือ เริ่มด้วยจังหวะฟอกซ์ทร็อต แล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะแทงโกและแมมโบตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการนำจังหวะดนตรีทั้งสามจังหวะมาร้อยต่อกันไว้ในเพลงเดียวกัน

      https://www.youtube.com/watch?v=H3BXFQV881Q


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 01 ธ.ค. 23, 15:09
จำได้ว่า  รายการเพลงสุนทราภรณ์จะประเดิมด้วยเพลงนี้

https://youtu.be/SaxIa-i6Hu8


และจบด้วยเพลงร้องหมู่  มักจะเป็นเพลงตะลุง

https://youtu.be/ET0uK1hEpJU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 01 ธ.ค. 23, 15:16
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ครูเอื้อ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เนื่องในโอกาสที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ก่อตั้งครบ 20 ปี
      ครูเอื้อ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า "พระมหามงคล" และได้อัญเชิญมาบรรเลงเป็นเพลงเปิดวงสุนทราภรณ์ก่อนเริ่มแสดงนับแต่นั้นมา สืบเนื่องถึงปัจจุบัน
      เพลงพระราชนิพนธ์พระมหามงคลนี้ไม่มีคำร้อง มีจังหวะดนตรี 3 จังหวะ คือ เริ่มด้วยจังหวะฟอกซ์ทร็อต แล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะแทงโกและแมมโบตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการนำจังหวะดนตรีทั้งสามจังหวะมาร้อยต่อกันไว้ในเพลงเดียวกัน

      https://www.youtube.com/watch?v=H3BXFQV881Q

เรียน 'จาร เล่าเรื่องครูเอื้อได้รับการยกย่องจาก UNESCO ด้วยครับ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 23, 16:15
วัยรุ่นใจร้อน   เรื่องนี้เอาไว้ตอนท้ายค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 01 ธ.ค. 23, 18:30
วัยรุ่นใจร้อน   เรื่องนี้เอาไว้ตอนท้ายค่ะ

ฮับ...


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 23, 09:23
             พระราชทาน เสมาทองคำ แก่ครูเอื้อและเสมาเงินแก่นักดนตรี ครั้งเมื่อเข้าเฝ้าในวาระ
ครบรอบก่อตั้งวงครบ ๓๐ ปี
             เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป และอเมริกา ก็ได้พระราชทานกระเป๋าเอกสารซึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ให้เอื้อไปใส่โน้ต เป็นกระเป๋ามีตรา ภ.ป.ร.
          พระราชทาน "ธง ภปร" ในฐานะที่ถวายงานตลอดช่วงเวลา ๒๐ ปีนับแต่บทเพลงพระราชนิพนธ์
เผยแพร่สู่ประชาชน


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 09:42
^
สุดยอดค่ะคุณหมอ ขอบคุณค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 09:46
  ความจงรักภักดีที่ครูเอื้อมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีมายาวนานและต่อเนื่อง    
  ในกระทู้นี้ ขอเริ่มด้วยเพลง เพลง "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" แต่งทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน และคำร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล    เพื่อเป็นเพลงรับเสด็จในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จนิวัตประเทศไทยอย่างเป็นการถาวรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓    ในการนี้ วงดนตรีสุนทราภรณ์ไปบรรเลงถวาย ณ สนามบินดอนเมือง  เมื่อเสด็จลงจากเครื่องบินพระที่นั่ง  ดนตรีก็เริ่มบรรเลงถวายทันที

  https://www.youtube.com/watch?v=rk2BDOw4sFI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 09:46
https://www.youtube.com/watch?v=rk2BDOw4sFI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 10:08
ต่อมา ครูเอื้อได้ประพันธ์เพลงถวายพระบาทสมเด็จชนกาธิเบศร ฯ  อีก 3 เพลงคือ เพลง "ทีฆายุโกโหตุมหาราชา" แต่งขึ้นเนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล เพลงร่มเกล้า  และเพลงเหนือเกล้า

https://www.youtube.com/watch?v=SAzYbrG38oQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 10:10
https://www.youtube.com/watch?v=vBiai_jhtPQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 10:12
https://www.youtube.com/watch?v=_vdxHpcU8ts


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 23, 11:09
        เพลง ร่มเกล้า ในภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ที่มี ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นนักแสดงรับเชิญ
(นาทีที่ 4.42 ร่วมร้องในช่วงท้ายเพลง)

https://www.youtube.com/watch?v=pnJL7MVXyOA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 13:21
   วงสุนทราภรณ์ ประพันธ์เพลงถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 4 เพลงด้วยคือ สดุดีมหาราชินี ฉัตรแก้ว ศรีนภาฟ้าไทยและเฉลิมพระชนม์ 12 สิงหา

https://www.youtube.com/watch?v=WbW0K6xoWi4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 13:23
https://www.youtube.com/watch?v=VkggpGQLmIk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 13:25
https://www.youtube.com/watch?v=eDTx16F1JFc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 23, 13:26
https://www.youtube.com/watch?v=2mqV2fAT-yA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 23, 10:48
ครูเอื้อ ยังได้แต่งเพลงสุนทราภรณ์ เทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 9  ทั้ง 4 พระองค์  เรียงลำดับตามเวลา ดังนี้คือ
1.เพลงอุบลรัตน์ แต่งขึ้นเนื่องในวันพระราชสมภพของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ

https://www.youtube.com/watch?v=6SZO5NoaaJY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 23, 10:51
2  เพลงสดุดีวชิราลงกรณ์ แต่งขึ้นเนื่องในวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
  https://www.youtube.com/watch?v=3dSELcqw-RU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 06 ธ.ค. 23, 13:48
กระทู้นี้นิ่งมานาน  ระหว่างคอย 'จาร นำเสนอเรื่องต่อ  สลับบรรยากาศด้วยเพลง...

เนื่องจากไม่ใช่คอเพลงสุนทราภรณ์มากเท่าเพลงฝรั่ง  แต่ก็ผ่านหูมาเยอะ  เยอะพอที่จะบอกกับตัวเองได้ว่ามีเพลงไหนจากเสียงของนักร้องหลัก ๆ  ที่เป็นเพลงโปรด 

เคยฟังเสียงคุณเลิศ ฯ จากเพลงร้องเดี่ยวน้อยมาก  รู้สึกว่าเสียงหล่อชะมัด  โดยเฉพาะกับเพลงเหล่านี้

https://youtu.be/rGFk8g4qJc0

https://youtu.be/8kM1Il-Slfw

https://youtu.be/rW7c8xqwE6Y

https://youtu.be/mfMAszLY134

https://youtu.be/Gz95MMkKCyo

(ข้างขึ้นเดือนหงาย ก็เพราะ  แต่ฟังจนเลี่ยน)





กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 23, 19:04
มีธุุระนอกเรือนเสีย 2-3  วัน เจ้าหนี้ชื่อโหน่งมาทวงแล้ว
(ต่อค่ะ)

3.เพลงสิรินธร แต่งขึ้นเนื่องวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ

https://www.youtube.com/watch?v=vig9CL0QOek&list=RDvig9CL0QOek&start_radio=1



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 23, 19:06
     4.เพลงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ แต่งขึ้นเนื่องในวันพระราชสมภพสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

    https://www.youtube.com/watch?v=_HrBPzlFDSk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 08:43
  ครูเอื้อมีชีวิตยืนยาวมาจนอายุ 70 จึงป่วย พบว่ามีเนื้อร้ายในปอด   แต่ถึงกระนั้นก็ยังตั้งใจแต่งเพลงเพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้  คือเพลง "พระเจ้าทั้งห้า"  แม้ว่าตอนนั้นอ่อนแรงลงมาก จนมอบให้ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นผู้ร้อง แต่ยรรยงค์ปฏิเสธ ด้วยเห็นว่ามีผู้เดียวที่ร้องเพลงนี้คือเจ้าของเพลงเอง
  ครูเอื้อได้ร้องด้วยความยากลำบาก จากอาการป่วย  แต่ก็ฝ่าฟันไปได้จนจบเพลง  อัดเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้าย
  https://www.youtube.com/watch?v=jGf2Qhqt02o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 09:29
แต่เพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อขับร้องคือ "พรานทะเล"

ในปีก่อนครูเอื้อถึงแก่กรรม  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   ทรงโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อขึ้นไปร้องเพลงถวายที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
ครูเอื้อซึ่งขณะนั้นป่วยด้วยโรคมะเร็ง ได้ร้องเพลง"พรานทะเล"ถวาย แต่ร้องได้เพียงครึ่งเพลงก็ทรุดลง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประคองครูเอื้อเข้ามาใกล้ รับสั่งถามอาการ แล้วทรงถอดสร้อยซึ่งห้อยพระสมเด็จจิตรลดาออกจากพระศอ คล้องคอครูเอื้อ แล้วรับสั่งให้เร่งรักษาตัว

 กลับจากงานครั้งนั้น ครูเอื้อได้แต่งเพลงสุดท้ายชื่อ"พระเจ้าทั้งห้า"สั่งลาแฟนเพลง เนื้อหารำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ
 พร้อมฝากบทเพลงสุนทราภรณ์ไว้อยู่คู่ฟ้าเมืองไทย

https://www.youtube.com/watch?v=STjbQlKQ-fs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 09:36
    ขอย้อนกลับไปถึงผลงานของครูเอื้อ
    ความที่เชี่ยวชาญเรื่องทำนองเพลงทั้งไทยเดิมและสากล   ครูเอื้อดูออกในการคัดเลือกนักร้องว่า ใครมีน้ำเสียงอย่างไรแบบไหน   จึงสามารถแต่งเพลงให้เหมาะสมกับเสียงของนักร้องคนนั้น  คนรักเพลงสุนทราภรณ์จะสังเกตได้ข้อหนึ่งว่านักร้องสุนทราภรณ์ยุคเดียวกันจะไม่ร้องเพลงปะปนกัน    ต่างคนต่างมีสไตล์ของตัวเอง เช่น มัณฑนา โมรากุลจะไม่ร้องเพลงของศรีสุดา   เลิศ ประสมทรัพย์ไม่ร้องเพลงของครูเอื้อ   นักร้องสุนทราภรณ์ร้องเพลงเดียวกันต่อเมื่อเพลงนั้นเป็นเพลงหมู่
   ด้วยเหตุนี้ ครูเอื้อจึงสามารถสร้างนักร้องหน้าใหม่ทั้งชายและหญิงได้ขับร้องเป็นดาวเสียงประดับฟ้าไทยจำนวนมากมาย หลายรุ่นด้วยกัน   แต่ละคนได้ร้องเพลงตามแนวที่ตัวเองถนัดจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงและเพลงประจำตัวที่เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้   ไม่ว่าจะเป็นมัณฑนา โมรากุล วินัย จุลบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ ศรีสุดา รัชตวรรณ เลิศ ประสมทรัพย์ สมศักดิ์ เทพานนท์ รวงทอง ทองลั่นทม ศิลปินแห่งชาติ และบุษยา รังสี


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 09:37
https://www.youtube.com/watch?v=yUtpQoQXI4o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 09:39
https://www.youtube.com/watch?v=UGc0mDTZ6zU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 07 ธ.ค. 23, 14:48
'จารเอ่ยถึงคุณรวงทองฯ  ทำให้คิดถึงนักร้องเสียงทำนองเดียวกันนี้ที่ครูเอื้อปั้นขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทน (เรียกเอง) อีกหลายคน 

คุณอ้อย อัจฉรา...
https://youtu.be/nAKotlf6nSw

https://youtu.be/jDJdUtvgxA4

https://youtu.be/zy0XmkkkAq8

https://youtu.be/qYIyFEa6Bxc


คุณโสมอุษา  รู้สึกจะเป็นคนเดียวที่ (ตอนนั้น) ไม่มีนามสกุล
https://youtu.be/4UQg-XbmvsA

https://youtu.be/5dakbyeyUZA

คุณโสมอุษา เป็นหนึ่งในนักร้องคนโปรด  เธอร้องอัดแผ่นในฐานะสมาชิกวงสุนทราภรณ์น้อยมาก  ผมไปหาเพลงของเธอในย่านขายแผ่นเสียงเก่าหลายสิบปีมาแล้วเจอเพลงของเธออีกเพลง  ตอนนั้นออกจากวงฯ แล้ว  เพราะจริง ๆ
https://youtu.be/6gH30CX3J78


และตัวแทนเสียงคุณรวงทองอีกคนในยุคท้าย ๆ  คุณรัตนสุดา วสุวัต
https://youtu.be/jsxLACxxzdY

https://youtu.be/ktW0tmb1eXU

https://youtu.be/7PLS-gQDgDo





กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 15:11
นักร้องที่คุณโหน่งเอ่ยถึงไม่ใช่รุ่นแรกของสุนทราภรณ์  เป็นรุ่นต่อมาที่ครูเอื้อคัดเลือกจากผู้สมัครเข้ามาเป็นนักร้อง บรรจุที่กรมประชาสัมพันธ์  เรียกว่ากลุ่ม "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" เช่น รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส   อ้อย อัจฉรา บุษยา รังสี ศรวณีย์ โพธิเทศ  บรรยงค์ เสลานนท์  ฯลฯ
บางคนก็อยู่ในวงการเพลงยาวนาน  บางคนก็อยู่ช่วงสั้นๆก่อนอำลาไปมีชีวิตครอบครัวบ้าง   ไปประกอบอาชีพอื่นบ้างค่ะ



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 23, 16:37
  สำหรับนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้   ครูเอื้อก็ยังแต่งเพลงให้เข้ากับเสียงและสนักร้องแต่ละคนเช่นเดิม    อย่างเช่นรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ  ครูเอื้อแต่ง "พัทยาลาก่อน" ให้เธอร้อง ประสบความสำเร็จเป็นที่จดจำของคนฟัง

https://www.youtube.com/watch?v=tBfRB8qTdqs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 23, 16:41
ใครอยากฟังเสียงของดาวรุ่งพรุ่งนี้ ต่อเนื่องกันยาวๆ  ฟังได้จากคลิปนี้เลยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=Qtthq8ypMpk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 23, 18:32
       หนึ่งในเพลงดังมากๆของนักร้อง"ดาวรุ่งพรุ่งนี้" มาจากเสียงของยรรยงค์ เสลานนท์ คือเพลง "คู่ทาษ"  (สะกดแบบเดิมด้วย ษ แทน ส) เพลงนี้ครูเอื้อแต่งทำนอง  ส่วนผู้แต่งเนื้อร้องคือ ครูอรุณ หงสวีณะ   เป็นเพลงที่ครูอรุณ แต่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักที่มีต่อคุณปราณี หงสวีณะ ผู้เป็นภรรยา
         ยรรยงค์ เสลานนท์ เล่าถึงเบื้องหลังเพลงนี้ว่า เดิมครูเอื้อตั้งใจให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ชื่อวิชัย ซึ่งเรียนร้องเพลงอยู่กับโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีเป็นผู้ร้องเพลงนี้   โดยให้คุณวิชัยร้องเพลงนี้ตามงานต่างๆ   คาดหมายว่าจะได้เป็นผู้ร้องบันทึกเสียงในภายหลัง   ส่วนคุณยรรยงค์เป็นผู้ต่อเพลงนี้ให้คุณวิชัย
         ช่วงว่างของวันหนึ่ง คุณยรรยงค์นึกครึ้ม ดีดเปียโนและร้องเพลง"คู่ทาส"ด้วยคีย์ที่สูงกว่าคุณวิชัย ครูเอื้อ สุนทรสนานเข้ามาได้ยินพอดี จึงตัดสินใจให้คุณยรรยงค์ได้เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้แทน
         เพลง"คู่ทาษ" มีท่วงทำนองอ่อนหวาน  คำร้องเป็นภาษาสละสลวยมีสัมผัสคล้ายบทกวี   เนื้อหามีอุปมาอุปมัยลึกซึ้งกินใจ สมกับคำชื่่อเพลงว่า"คู่ทาษ"โดยแท้
        "เป็นกะลาให้ถือแม้เธอคือขอทาน        เป็นบัลลังก์ตระการแม้เธอเป็นนางพญา
         เป็นโลงทองรองรับแม้ดับชีวา           เป็นวิมานผ่านฟ้าแด่เทพธิดานงคราญ"
          เพลง"คู่ทาษ" ทำให้คุณยรรยงค์ เสลานนท์แจ้งเกิดเต็มตัว  เพลงนี้กลายเป็นเพลงลายเซ็นของนักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์ผู้นี้

        https://www.youtube.com/watch?v=WHA2wlX1ul0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 23, 09:41
   ในช่วงทศวรรษ2510  นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้อย่างบุษยา รังสี, มาริษา อมาตยกุล, ศรวณี โพธิเทศ, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, บรรยง เสลานนท์, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์, สมคิด เกษมศรี ธรรมรัตน์ นวะมะรัตน์ และนพดฬ ชาวไร่เงิน ล้วนแต่มีเพลงฮิทติดอันดับทางวิทยุ   ส่วนนักแต่งเพลง ที่เรียกกันว่า "ขุนพลเพลง" ก็ทยอยกันมามีผลงานคู่กับครูเอื้ออีกหลายคน เช่นศรีสวัสดิ์ พิจิตวรการ, พรพิรุณ, เล็ก โตปาน อาจินต์ ปัญจพรรค์, ทวีปวร และสวัสดิ์ ธงศรีเจริญ เป็นต้น
     ยุคนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของสุนทราภรณ์อีกวาระหนึ่ง ถึงกับมีคำกล่าวในวงการแผ่นเสียงไว้ว่า แผ่นเสียงดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์วางตลาด 10 ชุด แต่ฮิทติดอันดับล่วงหน้าไปแล้วถึง 12 ชุด
     ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ เป็นหนึ่งในขุนพลเพลงที่ฝากผลงานเพลงดังไว้เป็นจำนวนมาก  ในหลายลีลาตั้งแต่เพลงเศร้า เพลงรัก ไปจนเพลงลีลาศจังหวะเร็ว 

     https://www.youtube.com/watch?v=_0U2YqwIK50&list=PLHKykc4i8uc5uwZgCCqeT9IZqMaUmFUH6


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 23, 10:47
    ขอย้อนกลับไปถึงนักร้องสุนทราภรณ์คนสำคัญอีกคนหนึ่ง  แม้ว่าไม่ได้ร่วมร้องประจำในวง แต่ก็ฝากผลงานเพลงสุนทราภรณ์ไว้ เป็นที่โด่งดังไปทั่วเมือง  คือ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2551
   เพลงสุนทราภรณ์ที่ม.ร.ว.ถนัดศรีขับร้อง เป็นเพลงยอดนิยมจนอาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงลายเซ็นของท่าน คือ ยามรัก

    https://www.youtube.com/watch?v=kIsB9uwwu9w


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 23, 10:50
https://www.youtube.com/watch?v=YCr0QhZ0kuc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ธ.ค. 23, 15:31
           อีกเพลงเอกของคุณชายถนัดศรี คือ หวงรัก ต้องมวลเสียงมากพอเสียงจึงจะไม่หาย ไม่แกว่งตอนท่อนลงต่ำ

https://www.youtube.com/watch?v=RY1YK1LjS0s

และเพลง อย่าเกลียดบางกอก

https://www.youtube.com/watch?v=-wCDf3iswtY



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ธ.ค. 23, 15:35
          เป็นเพลงแก้เพลง สวัสดีบางกอก ที่เป็นเพลงเอกของคุณอ้อย อัจฉรา

https://www.youtube.com/watch?v=sTRVAYceVlE

อีกเพลงไพเราะ ร้องไม่ง่ายเลย ของคุณอ้อย - ที่รักขา

https://www.youtube.com/watch?v=yGnF8HHmzic

ภาพจากฟบ. ชาวคณะสุนทราภรณ์


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 23, 16:01
 อ้อย อัจฉรามีเสียงคล้ายรวงทอง มาก  เสียงสูง ใส เยือกเย็น  ร้องชัดถ้อยชัดคำทุกประโยค   เธอมีเพลงดังๆหลายเพลงก่อนจะอำลาวงการไปมีครอบครัว   จากนั้นก็ไม่เคยหวนกลับมาอีกเลย
  เจอคำบอกเล่าใน Facebook ว่าปัจจุบันอาศัยอยู่ในลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา กับลูกสาวค่ะ

  กุญแจใจ จากคำร้องของ ธาตรี  ทำนองของครูเอื้อ เป็นอีกเพลงที่ส่งชื่อเสียงให้อ้อย อัจฉรา มาก
  https://www.youtube.com/watch?v=_s3sKvQ7M2c


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ธ.ค. 23, 09:27
          สมัยนู้น เมื่อถึงวาระครบรอบปีของวง จะมีรายการพิเศษออกอากาศเป็นรายการสุดท้ายของคืนทางทีวี
มีการรวมนักร้องรุ่นเก่ากลับมาเยือนร่วมร้องเพลงกับวงอีกครั้ง นักร้องที่คุ้นจำ คือ คุณสุปาณี พุกสมบุญ
ผู้เป็นต้นทางคุณศรีสุดา เป็นต้นฉบับเพลงมองอะไร และ บ้านใกล้เรือนเคียง(บ้านเรือนเคียงกัน) ที่ยังคงได้ยิน
ได้ฟังกันถึงวันนี้
          อีกสองท่านคือ คุณจันทนา โอบายวาทย์ และคุณชวลี ช่วงวิทย์

เพลง โธ่ผู้ชาย จากรายการ ๔๕ ปี วงสุนทราภรณ์  

ป.ล. หากความทรงจำยังคง ผู้ควบคุมวงแทนครูเอื้อ คือ ครูสริ ยงยุทธ คู่ชีวิตคุณสุปาณี

https://www.youtube.com/watch?v=bqQdMGhbY7c


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ธ.ค. 23, 15:00
           คุณชวลี มีเพลงเอกประทับใจจำ เป็นเพลงคู่กับครูเอื้อ

กรุงเทพราตรี ซึ่งบันทึกเสียงได้ไม่หมดเนื้อร้องเต็มที่ยาวเป็นพิเศษ

https://www.youtube.com/watch?v=jgpsGbWPqb0

เพลงนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็น"เพลงหลัง" ประกอบเพลง "เพลงแห่งความหลัง" ซึ่งร้องนำโดยคุณวินัย จุลบุษปะ
ร่วมกับเพลงอื่นๆ คือ บึงน้ำรัก เมื่อฝนโปรย เจ้าพระยา ได้เป็นเพลงเพียบพร้อมไพเราะประทับใจไม่ลืม

https://www.youtube.com/watch?v=YWwQPL-cpcI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ธ.ค. 23, 11:00
             อีกเพลงที่คุณชวลี ร้องตอบกับครูเอื้อ คือ หนึ่งในดวงใจ ที่เป็นเรื่องเล่าขานว่า แต่งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อต้อนรับการกลับไทย
ของภรรยา"หลวง" ของจอมพลมาก"น้อย" เคยได้ฟังคำเล่าว่า ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ถูกตามให้ไปแต่งเนื้อร้องขณะกำลังเล่นไพ่(ตอง ?)

https://www.youtube.com/watch?v=ule-1yPHn2o

             เพลงเดี่ยวของคุณชวลี ก็มากมี เช่น นกสีชมพู (เพลงสี่จังหวะ) ขอให้ไดัดังใจนึก ดอกท้อริมธาร(จากทำนองเพลงจีน ร้องประสานเสียง
ออกแผ่นเสียงตราสุนทราภรณ์) ซึ่งต่างเคยกล่าวถึงในกระทู้เก่า
 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ธ.ค. 23, 11:06
              อีกหนึ่งนักร้องหญิงที่กลับมาร้องในวาระครบรอบปีของวง คือ คุณจุรี โอศิริ
              ป๊าจุ๊ เคยอยู่วง อยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะออกไปใช้เสียงในวงการพากย์ภาพยนตร์
 
เพลงประจำตัวของป้าจุ๊ คือเพลง ละครชีวิต ที่ยังคงได้ยินได้ฟังจากนักร้องรุ่นหลังๆ ในทุกวันนี้

https://www.youtube.com/watch?v=DAA_pCP-GHk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ธ.ค. 23, 11:19
             นักร้องหญิงอีกท่านหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในวงช่วงสั้นๆ แต่ก็ได้ฝากผลงานเพลงประทับใจจำไว้ คือ คุณพูลศรี เจริญพงษ์
เพลง ข้องจิต ร้องคู่กับครูเอื้อ
            
https://www.youtube.com/watch?v=Ga7-vMGASz8

             ท่านยังมีผลงานเพลงนอกวงสุนทราภรณ์อีกไม่น้อย และในช่วงหลังยังเคยได้ยินท่านจัดรายการธรรมะทางสถานีวิทยุ

ให้เสียงเพลงชั่วฟ้าดินสลาย จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

https://www.youtube.com/watch?v=bRCXkRvKMQA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 23, 13:34
นักร้องดังที่ไม่ได้เป็นลูกวงสุนทราภรณ์ อย่างสุเทพ วงศ์กำแหง ก็เคยขับร้องเพลงของสุนทราภรณ์เช่นกัน 

https://www.youtube.com/watch?v=k2kiZZULGq4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 23, 13:35
รวมทั้งเพลงจาก โอเปอเรตต้า  "จุฬาตรีคูณ"

https://www.youtube.com/watch?v=I40ydPIA2rk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 23, 13:38
อีกเพลงหนึ่งจากจุฬาตรีคูณ เช่นกัน

https://www.youtube.com/watch?v=nJ7YvrvIGLo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 23, 13:40
ชรินทร์ นันทนาครขับร้องเพลงสุนทราภรณ์ ไว้จำนวนมาก
คุณชรินทร์ ร้องเพลงคีย์สูง จึงร้องเพลงของครูเอื้อได้ไพเราะ

https://www.youtube.com/watch?v=SYFz353MVvU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 15 ธ.ค. 23, 11:59
มินิซีรี่ย์...

ผมรู้จักเพลงสุนทราภรณ์มาตั้งแต่จำความได้
 
ผมเป็นเด็กอยู่ในครอบครัวขนาดใหญ่ภายใต้หลังคาบ้านหลังโตอันเป็นของคุณตา  คุณตาตายตั้งแต่ผมยังไม่เกิด  พอจำความได้ก็เห็นแต่คุณยาย  ผมก็เลยเรียกบ้านหลังนี้ว่าบ้านคุณยาย  คุณตาเป็นหนุ่มสังคม  พอท่านตายบ้านหลังนี้ก็ไม่ได้รับแขกเหมือนแต่ก่อน  หลังจากผมเกิดคุณยายก็ย้ายลงมานอนชั้นล่าง  โดยแบ่งพื้นที่ห้องรับแขกที่กว้างขวางส่วนหนึ่งเป็นที่นอน  ผมนอนกับคุณยายและน้าคนกลาง  คุณยายนอนบนเตียงหวาย  ผมนอนบนฟูก  น้าสาวนอนบนเสื่อ  มีมุ้งหลังใหญ่ขาวสะอาดครอบพวกเราไว้

ผมยังมีน้าสาวอีกคนเป็นคนเล็กซึ่งนอนชั้นบน  น้าสาวคนเล็กทำงานบริษัทฝรั่งแห่งหนึ่ง  เธอจึงเป็นสาวทันสมัย  แต่งหน้าแต่งตาใส่ชุดสวย ๆ สวมรองเท้าส้นสูง 4 นิ้ว  เดินตัวปลิวเหมือนลอย

ทุกเช้าในวันทำงานเธอจะต้องทำพิธีกรรมเสริมความสวยด้วยการยืนแต่งหน้าอยู่หน้ากระจกขนาดยาวในห้องทานข้าวซึ่งอยู่ติดกับห้องรับแขกที่ส่วนหนึ่งเป็นที่นอนของผม ข้างตัวน้าผมจะมีวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อ Schaub Lorenz เปิดเพลงคลอขณะตัวเองบรรเลงศิลปะบนใบหน้า

คลื่นที่เธอเปิดเป็นประจำนำเสนอเพลงสุนทราภรณ์อุปถัมภ์รายการโดยน้ำยาซักแห้งครอสซุปเปอร์ (ยังจำทำนองเพลงโฆษณาได้ ... ครอสซุปเปอร์หนึ่งไม่มีสอง ...)  นี่เป็นสาเหตุที่ผมรู้จักเพลงสุนทราภรณ์มาตั้งแต่จำความได้

ผมจึงรู้จักเพลงของคณะนี้มากมายมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว  ทุกเพลงฟังได้สบายหู  ทำนองก็หลากหลายไม่เหมือนเพลงลูกกรุงค่ายอื่น ๆ (เคยอ่านมานานแล้วว่า  ไม่จัดเพลงของคณะสุนทราภรณ์เป็นเพลงลูกกรุง  แต่เป็นแนวเฉพาะ  ดังนั้นจึงมีเพลงลูกทุ่ง  เพลงกรุง  และเพลงสุนทราภรณ์)  มันชวนให้ติดตามว่าเพลงต่อไปจะมีทำนองอย่างไร  ผมจำได้แม่นว่าในตอนนั้นมีอยู่เพลงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเพราะมาก  ได้ฟังครั้งแรกก็ติดใจ
https://youtu.be/DsYXJ_9_TzE


เพลงเพราะทั้งทำนองและเสียงร้อง  ตอนนั้นผมอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ  ก็ไม่น่าประหลาดใจที่จะไม่รู้จักทั้งชื่อเพลงและชื่อนักร้อง  รู้แต่ว่าเพลงนี้เพราะ

ในช่วงเดียวกันนั้นหูก็ไปติดใจอีกเพลงหนึ่ง
https://youtu.be/CM683wCQklI


ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าเพลงมาจากเสียงนักร้องคนเดียวกัน  กาลเวลาผ่านไป  ผมโตขึ้น  สั่งสมประสบการณ์การฟังเพลงได้มากพอที่จะรู้จักชื่อคณะสุนทราภรณ์และเพลงจากคณะนี้  ได้รู้ว่าเพลงโปรดสมัยเด็กของผมเป็นของคุณวรนุช อารีย์ ทั้งคู่ ตั้งแต่นั้นผมก็ตามหาซื้อเพลงของเธอมาฟังโดยไม่ต้องรอฟังจากรายการวิทยุ
  
ยุคนั้นเป็นยุคของเทป cassette  มีเพลงสุนทราภรณ์มากมาย  ผมก็หาซื้อตลับที่มีเพลงจากเสียงร้องของคุณวรนุชเป็นหลัก  พบว่าจังหวะเพลงที่เธอร้องมีความหลากหลายล้วนเพราะถูกหู  เสียงเธอหวานมาก  การอ่านออกเสียงชัดมากทั้งคำควบกล้ำ  รอเรือ  ลอลิง  (เป็นแรงบันดาลใจให้ผมหัดใช้คำเหล่านี้จนคล่อง)  มีหลายเพลงที่เมื่อฟังแล้วคุ้นหูมากจำได้ว่าเคยได้ยินและชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ  เช่น
https://youtu.be/_XYjmfgIqxc

https://youtu.be/UTxpPDkJ6Ns

https://youtu.be/Ji7yIEBQbwg

https://youtu.be/o9km8K2GJ3E


มีต่อ...


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 23, 09:27
คุณวรนุชร้องเพลงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเพลงคู่เหมือนกัน   เสียงเธอใส สูง ร้องเพลงที่ดัดแปลงจากไทยเดิมได้ไพเราะมาก  คู่กับฝ่ายชายคือคุณวินัย จุลละบุษปะ ที่ร้องเสียงสูงได้เช่นกัน
เพลงสุนทราภรณ์จำนวนมากดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม   มาเป็นไทยสากล   "บ้านนา " ก็เป็นหนึ่งในนั้น  ดัดแปลงจาก "ลาวแพนน้อย"
จะรวบรวมเพลงสุนทราภรณ์ที่นำทำนองจากไทยเดิมมาลงในกระทู้นี้ด้วยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=8xQGGOMv_-o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 23, 09:36
ู^
ฟังเพลงนี้ตั้งแต่เด็ก ยังไม่รู้เรื่องกับข้าวกับปลา   พอโต สงสัยว่า "กลับมาพี่คงหิวข้าว  น้องแกงถั่วผักยาว"  คือแกงอะไร  เดาว่าเป็นแกงส้ม
ใครรู้จักอาหารไทยมากกว่าดิฉัน ช่วยเข้ามาบอกหน่อยนะคะ
นอกจากนี้ยังมีน้ำพริกมะขาม   และหลนปลา มีมะเขือ(เปราะ?) จิ้มด้วย  แสดงว่าเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน  เมืองไทยอุดมสมบูรณ์มาก  ชาวนาจนๆยังมีกับข้าวตั้ง 3 อย่าง   ส่วนปัจจุบัน มนุษย์เงินเดือนกินอาหารจานเดียว หรือข้าวกล่อง เป็นประจำ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 16 ธ.ค. 23, 12:02
สำหรับเพลงที่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกก็ติดใจเลยเช่น
https://youtu.be/Kbe8fh1MwqI

https://youtu.be/JqXdqznE8Dg

https://youtu.be/h2anXWUxNw4

https://youtu.be/ZH3zQXl-tiQ

https://youtu.be/69dDNOQBwUw


และเพลงนี้ที่กลายเป็นเพลงโปรดมาก ๆ อีกหนึ่งเพลง  ballad เรียบ ๆ แต่เพราะหูเหลือหลาย
https://youtu.be/Tfxebp0fOhY


ส่วนเพลงร้องคู่ที่ผมติดใจมาตลอด
https://youtu.be/s_TBtaYMhXE

https://youtu.be/zmI3qL_JhKs

https://youtu.be/wCn87FrzYRw


พอรู้ว่าชอบเพลงของคุณวรนุช อารีย์  เธอก็เข้ามาเป็นนักร้องคนโปรด  ตามอุปนิสัยส่วนตัวที่พอชอบใครก็อยากทำความรู้จักตัวเป็น ๆ  ผมจำที่มาที่ไปไม่ได้  จำได้ว่าวันหนึ่งผมก็ได้รับรู้เบอร์โทรศัพท์บ้านของคุณวรนุช  ต้องรวบรวมความกล้าอยู่หนึ่งเพลา  กลัวโพล่งโทรฯ เข้าไปแล้วโดนเธอด่าว่าล่วงล้ำเวลาส่วนตัว ในที่สุดก็ตัดสินใจได้  โดนก็โดน  ไม่ได้เห็นหน้ากัน  ช่างมัน

ทางปลายสายเป็นเสียงหญิงสาว  ผมรีบแจ้งความประสงค์ในการโทร.  ต้องรีบทำตัวให้สะอาด  ปลายสายบอกว่าเป็นลูกสาว และยินดีต้อนรับ  เธอบอกว่าคุณแม่ต้องดีใจมาก  แล้วเราก็นัดกัน  เธอก็บอกเส้นทางไปบ้านให้  ผมฟังแล้วใจชื้นขึ้นมาเป็นกอง

วันที่ไปเป็นวันทำงาน  แสดงว่าหนีงานไป  ผมลากเพื่อนรุ่นพี่ไปด้วยคนหนึ่ง  เธอรู้จักเส้นทาง  เราดั้นด้นไปหาจนเจอ  คุณวรนุชออกมาต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  บุคลิกแบบป้าใจดี  เธอพูดเพราะมากเสียงอ่อนหวาน  เธอเรียกตัวเองว่าป้า  เราคุยกันแต่เรื่องในแวดวงของคณะสุนทราภรณ์  ผมถามถึงนักร้องคนอื่น ๆ เช่น คุณบุษยาฯ คุณชวลีย์ฯ รวมถึงนักร้องคนโปรดอีกคนคือ คุณโสมอุษา  ซึ่งป้านุชบอกว่าจำได้น้อยมากเพราะเธออยู่ในวงฯ ได้ไม่นาน  อีกทั้งเวลาผ่านไปนานมากแล้ว

ท่าทางว่าบุคลิกของผมส่อถึงความบริสุทธิ์ใจ  ป้านุชเลยเล่าเบื้องหลังมากมายล้วนสนุก ๆ ทั้งนั้น  ถ้าเธอเขียนหนังสือคนคงซื้ออ่านกันเพียบเพราะตัวละครล้วนแต่ดัง ๆ ที่พวกเรารู้จักกันดีซึ่งต่างก็ตายกันไปเกือบจะหมดแล้ว  (เธอเล่าติดตลกว่า  ครูเอื้อคงรอป้าอยู่)  ในวันนั้น  ผมเพิ่งรู้ว่าป้านุชเป็นพี่สาวของคุณนริศ อารีย์  นี่ก็เป็นชื่อที่ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก  เคยดูเธอร้องเพลงในรายการทางทีวีบ่อย ๆ  แต่นึกไม่ถึงว่าเป็นพี่น้องกัน

พอใกล้เที่ยงเราก็ขยับตัวทำท่าจะกลับแต่ป้านุชรั้งไว้  เธอบอกว่าเตรียมอาหารกลางวันไว้ให้  ยังกลับไม่ได้  การเจอป้านุชในวันนั้นสร้างความประทับอย่างที่สุด  เสียดายที่ในเวลานั้นมือถือแบบอัจฉริยะยังไม่แพร่หลาย  เลยไม่มีโอกาสได้ชักรูปกับป้านุช

ตั้งแต่วันนั้น  เมื่อใดที่เอ่ยถึงสมาชิกของคณะสุนทราภรณ์ผมจะเรียกชื่อของคนคนนั้น  ยกเว้นคุณวรนุชฯ ที่ผมจะเรียกด้วยความสนิทสนม (เพราะไปหวัดดีกับตัวมาแล้ว) ว่าป้านุช

มีต่อ...


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 17 ธ.ค. 23, 12:23
สมัยยังทำงานอยู่  ผมมีเพื่อนสนิทมาก ๆ เป็นรุ่นพี่แก่กว่า 7 ปี  เธอเป็นสาวอักษรฯ  ทำหน้าที่เป็นเลขารองผู้ว่าการฯ  ตำแหน่งนี้ใหญ่โตระดับหนึ่งซึ่งปกติแล้วไม่มีโอกาสที่เธอกับผมเด็กกะโปโลจะมาสุงสิงกันได้  เผอิญตอนนั้นผมเกิดผีเข้าเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง  แล้วเธอก็ได้ซื้อมาอ่านและโปรดปราน  ต่อมาเธอรู้ว่าคนเขียน (คือผม) ทำงานอยู่ที่เดียวกัน  เธอก็เสาะหาจนเจอ  นี่คือต้นกำเนิดความสัมพันธ์ของเราทั้ง 2

พี่นิดเป็นสาวเฮ้ว เอะอะโวยวาย ส่วนผมก็ปากหมาพูดตรงด่าเป็นไฟ  เราก็เลยเข้ากันได้ดี  ยิ่งต่อมาเมื่อรู้ว่าผมเป็นผีเพลงสุนทราภรณ์แนวเพลงโปรดของเธอ  เรายิ่งสนิทกัน  หลังเลิกงานผมมักเดินไปหาเธอที่ตึกใหญ่ระดับผู้บริหาร  ไปนั่งเล่นนั่งคุย  หลังเลิกงานพี่นิดยังไม่กลับบ้านแต่จะอยู่สะสางงานเพราะแต่ละวันงานเยอะ  

วันหนึ่งผมเอาเทปใหม่ที่เพิ่งซื้อไปเปิดที่ห้องพี่นิด  มันเป็นเทปตลับทองของ บ. เมโทร (ตอนนั้น บ.ฯ ยังไม่ทำซีดีออกขาย) นำเสนอเพลงของป้านุชทั้งหมด  ผมพล่ามอยู่เสมอเรื่องป้านุชเป็นนักร้องคนโปรดจนพี่นิดพาลชอบไปด้วย  เราเปิดเพลงป้านุชฟังเป็น background ขณะคุยโน่นนี่  มาถึงช่วงเวลาหนึ่งที่พี่นิดกำลังสะสางงาน  ส่วนผมก็นั่งเล่นเกมส์ไป  สักพักผมได้ยินพี่นิดทำเสียงแปลก ๆ  พอเงยหน้าจากจอคอมพ์ฯ ขึ้นมองก็พบพี่นิดกำลังสะอึกสะอื้น  

ผมตกใจเลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น พี่นิดบอกว่าเพลงนี้เพราะมาก  เธอไม่เคยได้ยินมาก่อน  มันทั้งเพราะและซึ้งจนบอกไม่ถูก  มันทำให้เธอเหงาและคิดถึงพ่อที่ตายไปนานแล้ว  แล้วเธอก็ร้องไห้โฮ ๆ  เป็นภาพของพี่นิดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน  ผมเคยเห็นแต่  แกหัวเราะไรวะไอ้โหน่ง  ทำนองนี้
 
พอจบเพลงพี่นิดก็กรอกลับแล้วเริ่มตั้งต้นฟังใหม่  วันนั้นเรา (ผมจำใจ) นั่งฟังเพลงนี้ 4-5 รอบได้ละมัง  จากวันนั้นเธอก็ไปหาซื้อเทปตลับนี้มาเป็นของตัวเอง  เธอฟังเพลงนี้จนเทปยืดพันกันยุ่งขิงอยู่ในช่องเล่นเทปของวิทยุ  ผมต้องไปนั่งเขี่ย ๆ เส้นเทปออกมา พอสำเร็จ  เธอก็เปิดฟังใหม่

ผมเพิ่งเคยเห็นอิทธิพลของเพลงต่ออารมณ์มนุษย์ก็คราวนี้

https://youtu.be/58Jh6klTBZY


มีต่อ...


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 23, 10:00
  ทศวรรษล่วงผ่านไป นักร้องสุนทราภรณ์หน้าใหม่ๆเข้ามาร่วมวง เพิ่มเติมจากคนเก่า  เกิดคำเรียกกลุ่มนักร้องแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป   ภาพที่นำมาลงคือส่วนหนึ่งของ "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" กลุ่มนักร้องใหม่ในช่วงทศวรรษ 2510 -20 จากเพจ ชาวคณะสุนทราภรณ์
บรรยายภาพว่า     จากหนังสือเพลงกล่อมจิต ปีพ.ศ.2512
แถวยืน:อโศก สุขศิริพรฤทธิ์/พรเทพ สุขขะ/สมคิด เกษมศรี
แถวนั่ง:จินตนา สุวรรณศิลป์/จั่นทิพย์ สุถินบุตร/อภิชา พูนสวัสดิ์/
อรณี กานต์โกศล/รัตนสุดา วสุวัต


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 23, 10:03
  รัตนสุดา วสุวัต ร้องเพลงของรวงทอง ด้วยเสียงคล้ายกันมาก

  https://www.youtube.com/watch?v=kn8Me8BSAq8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 23, 10:05
https://www.youtube.com/watch?v=klo_600VuCA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 18 ธ.ค. 23, 12:24
ผมรู้จักเพลง กล้วยไม้ มานานนมจากเสียงของคุณอารีย์ นักดนตรี 

ในต้นยุค 2530s  ผมได้ชมรายการดนตรีทางทีวี  เห็นป้านุชออกมาร้องเพลงนี้  เพราะถูกใจ  คาดว่าเป็นการร้องในยุคนั้น  เพราะผมไม่เคยได้ยินป้านุชร้องเพลงฉบับนี้มาก่อน  อยากได้เพลงก็หาไม่ได้  ไม่มีเทปที่มีเพลงนี้  มาถึงยุคซีดี  ก็หาไม่มีอีก 

วันหนึ่งหลังจากนั้นนานน้านนาน  ขณะเดินย่อยอาหารกลางวันอยู่ในตลาดนัดหลังที่ทำงาน  ผมก็เจอแผ่นซีดีรวมเพลงป้านุชออกใหม่  เป็นแผ่นคู่  ผมหยิบขึ้นมาดูโดยไม่รอช้า  พอกวาดตาดูรายชื่อเพลงก็พบเพลงกล้วยไม้นี้  เนื่องจากผมมีเพลงของป้านุชเกือบทั้งหมดแล้ว  จึงไม่อยากเสียตังค์ซื้อ  ก็เลยยุเพื่อนให้ซื้อแทนแล้วผมก็ขอยืมเอามาแกะบางเพลงโดยเฉพาะเพลงนี้ออกมาเป็น file เสียง 

ผมว่าเพลงฉบับนี้มีช่วงท้ายที่เท่มาก  จากประสบการณ์อันน้อยนิดเกี่ยวเพลงไทย  ผมนึกไม่ออกว่า  ในยุคเก่าก่อน  อย่างน้อยก็ก่อนที่ป้านุชจะร้องเพลงนี้ในวันนั้น  มีเพลงไหนอื่น ที่จบแบบนี้  แต่เพลงฝรั่งมีเยอะมาก เช่น Goodbye to love (The Carpenters), Wuthering Heights (Kate Bush), We're all alone (Rita Coolidge) หรือ Superbird (Neil Sedaka)

https://youtu.be/BJ8EDH2DN7E


จบเรื่องป้านุชกับผม


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 18 ธ.ค. 23, 12:35
https://www.youtube.com/watch?v=klo_600VuCA

ขอนอกเรื่องนิดว่า คุณรวงทองฯ ร้องเพลง เก็บรัก ได้เด็ดขาดมากครับ  น่าจะอัดเสียงหลังจากออกจากวงสุนทราภรณ์แล้ว

https://youtu.be/7QwuwejanbA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 23, 16:11
ีรอคำรัก เป็นเพลงที่ึครูเอื้อแต่ง แต่มีนักร้องหญิงของสุนทราภรณ์ร้องถึง 3 คนด้วยกัน
คือคุณรวงทอง คุณอ้อย อัจฉรา และคุณมาริษา อมาตยกุล
มีคำบอกเล่า 2  ทางคือ
1 เพลงนี้คุณรวงทองอัดแผ่นเสียงเมื่อได้ลาออกจากวงฯไปแล้ว ผู้ที่ร้องออกงานคือคุณอ้อย อัจฉรา แต่ตอนลงแผ่น คุณครูเอื้อให้คุณพี่รวงทองร้องแทน
2  คุณมาริษา อมาตยกุล เล่าว่า เพลง "รอคำรัก" ครูเอื้อได้แต่งให้คุณมาริษาขับร้องไว้เป็นคนแรก ภายหลังคุณรวงทองกลับมาร้องให้กับสุนทราภรณ์อีก ครูเอื้อจึงมอบเพลงนี้ให้คุณรวงทองขับร้องบันทึกแผ่นเสียง เพลง "รอคำรัก" นี้ มีฉบับที่คุณมาริษาขับร้องไว้กับเปียโนด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=swwvFHtek7w


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 23, 10:55
นพดฬ ชาวไร่เงิน เป็นนักร้องสุนทราภรณ์ที่โด่งดังขึ้นมาจากเพลง ลาทีปากน้ำ และ สาวอัมพวา  ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ชัดถ้อยชัดคำ  ร้องคีย์สูงได้ชัดเจน

ณพดฬ ชาวไร่เงิน” มีชื่อเล่นว่า “หมู” เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2478 ด้วยความที่อยากจะเป็นนักร้องเป็นอย่างมาก หลังจบจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษดิ์ เจ้าตัวจึงได้สมัครเข้าร่วมวงดนตรี “ฉัตรฟ้า” ของพลร่มป่าหวาย ก่อนที่ พ.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะเห็นแวว และได้แนะนำให้ไปเป็นศิษย์ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน”

จากนั้นเจ้าตัวจึงได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงแรกคือ “ลาทีปากน้ำ” แต่งโดย ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ซึ่งเดิมทีเพลงนี้ครูเอื้อตั้งใจจะให้ “ยรรยงค์ เสลานนท์” นักร้องดาวรุ่งอีกคนของกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ขับร้อง แต่เนื่องจากครูเอื้อเห็นว่า ยรรยงค์ยังเข้าใจในความหมายของเนื้อเพลงได้ไม่ดีนัก จึงให้นพดฬมาเป็นผู้ขับร้องแทน

ผลปรากฏว่าเพลง “ลาทีปากน้ำ” ที่ขับร้องโดยนพดฬ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และทำให้เจ้าตัวแจ้งเกิดทันที ก่อนจะมีผลงานตามออกมาอีกมากมาย โดยผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดี อาทิ สาวอัมพวา, เข็ดแล้วลพบุรี, ปากลัด, คลองมอญ, นิทราสวาท, อกเอยมันแค้น, กังวลรัก, ช้ำรักจากลพบุรี ฯลฯ

นพดฬ ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2561 หลังจากป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์มาหลายปี  สิริอายุ 83 ปี
https://www.youtube.com/watch?v=tRbxUkfuFOw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 23, 11:06
https://www.youtube.com/watch?v=_0U2YqwIK50

เพลง ลาทีปากน้ำ เป็นเพลงที่โชว์ฝีมือครูศรีสวัสดิ์ว่า แต่งเนื้อระดับเซียนเหยียบเมฆ   นักร้องร้องตามได้ยากมาก   เพราะครูชอบเล่นคำ ร ล  และเสียงควบกล้ำ ร ล   
นี่ยังไม่รวมว่าเนื้อเพลงยาวมากๆๆ
ปัจจุบัน หนุ่มสาวชาวไทยจำนวนมากรวมทั้งนักร้องรุ่นใหม่ด้วย เวลาพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน  ออกเสียง ร เป็นล  และออกเสียงคำควบกล้ำไม่ได้   
เพลงนี้จึงเป็นเพลงปราบเซียนเพลงหนึ่ง  ที่นักร้องสมัครเล่นไม่ควรท้าประลอง

ตัวมาปากน้ำ
น้ำตาเจ้ากรรมพรำร่วง
มันรินล้นทรวง
รดแดร้อนดวง
ร่วงพรำจนช้ำเลือดตรม
อยากผลักชีวิตผลอยคล้อย
ลอยน้ำไปตามคลื่นลม
ระทวยระทมแล้วจมร่าง
ตามความรักร้างไป
เธอคนปากน้ำ
น้ำคงขึ้นลงตรงหน้า
จะลอยน้ำมา
หาเธอทุกคราคลื่นครวญ
รัญจวนป่วนใจ
จะพร่ำคำเพ้อ
ละเมอมนต์รักมาตามฝั่งไกล
ร้องเพลงผีพราย
พิไรขอรักเธอไว้โลมฝั่ง
ฝันฝัน เพ้อเพ้อ
เธอก็คงคร่ำครวญ
ปากน้ำคงซึ้งโศกชวน
ทบทวนหวนไปยังเบื้องหลัง
เราฝากสัมพันธ์
น้อยหรือนั่นมันรักหรือชัง
เพราะเธอว่าจะรักจริงจัง
ฉันจึงหวังคลั่งไคล้มิคลาย
ลาทีปากน้ำ
น้ำจงจบกรรม จำเศร้า
วิญญาณรักเราน้ำจงรับเอา
เฝ้าธารอันพล่านภูติพราย
อนาถใจหนา
ขอลาดินฟ้าอาวรณ์ก่อนตาย
โถยังเสียดาย
เสียดาย นิยายสวรรค์สวาท
ฝันฝัน เพ้อเพ้อ
เธอก็คง คร่ำครวญ
ปากน้ำคงซึ้งโศกชวน
ทบทวนหวนไปยังเบื้องหลัง
เราฝากสัมพันธ์
น้อยหรือนั่นมันรักหรือชัง
เพราะเธอว่าจะรักจริงจัง
ฉันจึงหวังคลั่งไคล้มิคลาย
.ลาทีปากน้ำ
น้ำจงจบกรรมจำเศร้า
วิญญาณรักเราน้ำจงรับเอา
เฝ้าธารอันพล่านภูติพราย
อนาถใจหนา
ขอลาดินฟ้าอาวรณ์ก่อนตาย
โถยังเสียดาย
เสียดาย นิยายสวรรค์สวาท


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 23, 11:07
https://www.youtube.com/watch?v=CZuilDK8RPU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 23, 11:53
    นักร้องชายในกลุ่ม "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" อีกคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง  มีเพลงประจำตัวที่ไพเราะออกมาให้แฟนเพลงได้ติดตาม  คือยรรยงค์ เสลานนท์
   ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นคนกรุงเทพมหานคร  มารดาคือ ศิริ คุ้มอยู่ นักร้องนักแสดงละครวิทยุชื่อดัง จึงมีโอกาสติดตามมารดาไปตามสถานีวิทยุ และชอบร้องเพลงคลอตามแผ่นเสียง              หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2501 ไปสมัครเข้าสอบรับราชการ แผนกบันเทิง กรมประชาสัมพันธ์   เงื่อนไขหนึ่งของผู้สมัครสอบจะต้องมีผู้รับรองการเข้าสอบ ยรรยงค์นึกไม่ออกว่าจะให้ใครรับรอง รู้จักเพียงชื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงตัดสินใจไปพบวินัย จุลละบุษปะ เพื่อให้พาไปพบครูเอื้อ  ครูเอื้อ สุนทรสนาน กำลังยืนคุยอยู่กับวินัย จุลละบุษปะ ณ ตรงนั้น  ยรรยงค์จึงได้เข้าแสดงตน และโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง เขาได้ยื่นกระดาษให้ครูเอื้อ เซ็นชื่อรับรอง  หลังไถ่ถามจนรู้ความ ครูเอื้อก็ยินดีเซ็นรับรองให้ แต่ผลการสอบคัดเลือก รับเพียง 3 คน  ยรรยงค์ไม่ผ่านการสอบบรรจุ
      ครูเอื้อเห็นว่า ยรรยงค์มีแวว จึงรับเข้าไว้ในโครงการดาวรุ่งพรุ่งนี้ รุ่นเดียวกับศรวณี โพธิเทศ และรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส       ยรรยงค์ ฝึกฝนร้องเพลง ก่อนจะได้มีโอกาสติดตามวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม  เพลงที่ร้องคือเพลงลาวดวงเดือน
       ต่อมา ในปี  2503 ยรรยงค์ เสลานนท์ สอบบรรจุรับราชการ ประจำแผนกดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ได้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงมอบเพลงฝากน้ำใจ ให้ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรก
      ต่อมา ก็มีผลงานเพลงทยอยออกมา อาทิ ทรัพย์ทรวง, กรรมรัก, เงา, ไม่รัก-ไม่รู้, คอยลม, ร้อนนี้พี่ยังหนาว, คมตา, ใบไม้ร่วง, พลิ้วลมวอน, ฉันรักเธอ, ราตรีประดับดาว, ยอดปรารถนา, เกาะลอย, คิดถึง, ยากยิ่งสิ่งเดียว, ชีวิตกับสังคม, ฉันไม่งาม และนิมิตสวรรค์
      และเพลงคู่ทาษ ที่เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นที่รู้จัก รวมถึงเพลงกลิ่นราตรี ของมัณฑนา โมรากุล ที่ยรรยงค์ เสลานนท์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่

      เมื่อบริษัท เมโทรแผ่นเสียง ได้รับพระบรมราชานุญาตบันทึกแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด โดยมีวงสุนทราภรณ์ บรรเลง   ครูเอื้อ สุนทรสนานก็ได้มอบหมายให้ยรรยงค์ เสลานนท์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง     แผ่นชุดนี้ มีเพลงความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพียงเพลงเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพลงปลุกใจของวงสุนทราภรณ์
       ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ครูเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จึงชวนยรรยงค์ เสลานนท์ ไปร่วมฝึกสอนขับร้องอยู่ที่โรงเรียน   ยรรยงค์ก็ยังได้รับความไว้ใจจากครูเอื้อ ให้อัดแผ่นร้องเพลงประจำของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ เพลง รามแห่งความหลัง และดาวราม รวมถึงเพลงประจำจังหวัดปราจีนบุรี เพลงรอเธอที่ปราจีน และ ถิ่นเราเขาใหญ่           รวมถึงอัดแผ่นเพลง คืนสู่เหย้า คู่กับ บรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นลูกศิษย์ ที่เรียนร้องเพลงกับยรรยงค์ เสลานนท์   ซึ่งต่อมาเพลงคืนสู่เหย้า กลายเป็นเพลงเอกประจำงานคืนสู่เหย้าของทุกสถาบัน
       ยรรยงค์ได้รับเกียรติอย่างสูงจากครูเอื้อ  ก่อนท่านสิ้นบุญ ได้สั่งเสียไว้ว่าเพลงที่ครูเอื้อเคยร้องอัดไว้ทั้งหมดต่อไปให้ยรรยงค์เป็นผู้ร้องต่อ
       นอกจากเป็นครูสอนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ยรรยงค์ยังมีผลงานเพลงออกมา คือ อัลบั้มกล่อมรัก ที่ร่วมงานกับบริษัท โรต้า   ด้านงาน รับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเกษียณอายุ เมื่อปีพ.ศ. 2544 รวมเวลา 40 ปี ....
          ยรรค์ยงค์ เสลานนท์ ถึงแก่กรรม เมื่ิอวันที่ 28 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 14.00 น. ในวัย 76 ปี


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 23, 10:41
   ดาวรุ่งพรุ่งนี้อีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพ คือคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
   เธอได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2563

    รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2489 เป็นชาวตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีใจรักเรื่องการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก   ทางครอบครัวสนับสนุนให้ร้องประกวดตามงานวัด และที่ สถานีวิทยุ ปณ.ใต้สะพานพุทธ และเป็นนักร้องประจำโรงเรียนอีกด้วย
    ต่อมาเธอเข้ากรุงเทพมาศึกษาที่โรงเรียนดุสิตพณิชยการ    เธอมีความฝันอยากจะเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ครูมนัส รามโยธิน ผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือจึงพาไปฝากครูเอื้อ สุนทรสนาน เพื่อสมัครเข้าเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2508 แม้ยังเรียนอยู่ก็ตาม

      ครูเอื้อ สุนทรสนาน ให้เธอเลือกเพลงที่คิดว่าร้องได้ดีที่สุดเพื่อทดสอบตัวเอง เธอเลือกร้องเพลง "ภูกระดึง" ของ มัณฑนา โมรากุล ให้ครูเอื้อฟัง ปรากฏว่าสอบผ่าน ครูเอื้อจึงได้ให้เธอเรียนวิชาการขับร้องกับครูสริ ยงยุทธ ซึ่งเป็นมือเปียโนประจำวงตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

     จากนั้นเธอได้มีโอกาสร้องเพลงภูกระดึงอีกครั้งโดยร้องสดบนเวทีเป็นครั้งแรกในรายการสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังสวนดุสิต ซึ่งเธอได้ยอมรับว่ามีความประหม่าและตื่นเต้นมาก ต่อมาได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง "พัทยาลาก่อน" ของครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ เป็นเพลงแรก ตามด้วยเพลง "ร้ายกว่าผี" ซึ่งได้รับความนิยมจากแฟนเพลงมากมายเกินความคาดหมาย

     รุ่งฤดีอยู่กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกไปใช้ชีวิตเป็นนักร้องตามไนท์คลับที่กำลังมีชื่อเสียงอยู่ในตอนนั้น เช่น สีดาไนท์คลับ ถนนราชดำเนิน ทำให้มีโอกาสได้ร้องเพลงของครูเพลงคนสำคัญอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น พยงค์ มุกดา, เปรื่อง ชื่นประโยชน์, ทวีพงษ์ มณีนิล, สง่า อารัมภีร และ ไพบูลย์ บุตรขัน

    เพลงที่สำคัญก็คือ "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง" ซึ่งเพลงนี้ครูพยงค์ มุกดา ตั้งใจประพันธ์ให้เธอร้องโดยเฉพาะ เมื่อได้ฟังเธอขับร้องเพลงที่ไนท์คลับ ตามความแนะนำของสุเทพ วงศ์กำแหง เลยเป็นที่มาของบทเพลงประจำตัวของเธอจนกระทั่งปัจจุบัน

     ในปี พ.ศ. 2519 เธอได้บอกกับบริษัทเมโทรต้องการร้องเพลงญี่ปุ่น ทางบริษัทเมโทรจึงได้ติดต่อครูพยงค์ให้มาใส่คำร้องให้ จึงออกมาเป็นเพลงดัง "โจโจ้ซัง" โดยมีเนื้อร้องภาษาไทยและเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเธอได้หัดเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่นานหลายเดือนก่อนจะได้บันทึกแผ่นเสียง

      ต่อมา ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เรียกให้เธอกลับมาบันทึกแผ่นเสียงเพลงคู่ชุด "ดำเนินทราย" ของห้างเมโทรเทปและแผ่นเสียง ของ วรชัย ธรรมสังคีติ ในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นเดิม

   รุ่งฤดีมีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากกว่า 2,000 เพลง และมีเพลงที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากอาทิ "หลานย่าโม", "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง", "กังหันสวาท", "แม่สอดสะอื้น", "แฟนซีชีวิต", "คนหน้าเดิม", "เธอคือดวงใจ", "ช่างเขาเถิดนะหัวใจ", "ชีวิตคนเศร้า", "สตรีที่โลกลืม", "วาสนาคนจน", "เฉือนหัวใจ", "โจโจ้ซัง", "นักรบชายแดน", "ใจหวนครวญรำพัน", "ยากจะหักใจลืม" เป็นต้น ปัจจุบันเธอยังคงร้องเพลงให้กับงานคอนเสิร์ตการกุศลต่าง ๆ และยังทำงานให้กับสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรสำคัญต่าง ๆ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 23, 10:43
https://www.youtube.com/watch?v=c-tQwxXvsq0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 23, 10:26
     ดาวรุ่งพรุ่งนี้คนต่อไปคือ ศรวณี โพธิเทศ (ชื่อจริงสารนิตย์ โพธิเทศ)  เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2486  จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ที่โรงเรียนสุรินทรศึกษา จากนั้นศึกษาที่ต่อที่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (ปัจจุบันคือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พระนครใต้)

      ศรวณีเป็นคนชอบและสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันจะฝึกร้องเพลง และประกวดร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ ซึ่งเธอเองก็ได้รับชัยชนะแทบทุกครั้ง
        ปีพ.ศ. 2504 ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ เธอสมัครเป็น “นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์   ศรวณี” ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าที่จะได้รับบรรจุตำแหน่งศิลปินจัตวาสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ กินเงินเดือน 450 บาทโดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ “เธอเท่านั้น” ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ  ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นคนตั้งชื่อให้ว่าศรวณี แปลว่า หญิงผู้มีน้ำเสียงคมดั่งคมศร
   เธออยู่สังกัดกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์หลังจากรับราชการเพียง 4 ปี    พอถึง พ.ศ. 2515 เธอก็ต้องลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์ เพราะภาระทางครอบครัว
  จากนั้น ศรวณีประสบความสำเร็จจากหลายเพลง  เช่น  “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” เมื่อปี พ.ศ.2519 ต่อมาปี พ.ศ.2520 ก็ได้บันทึกเสียงเพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”(ผลงานเพลงของวราห์ วรเวช)
   ศรวณีได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ในปี 2519 เพลง น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, ปี 2520 เพลง ตะแลงแกงแทงใจ และปี 2521 เพลง พะวงรัก
    ในปีพ.ศ. 2521 ทางประเทศเกาหลีได้เชิญประเทศไทยให้ส่งนักร้องไปประกวดร้องเพลง ณ ประเทศเกาหลี   ศรวณี ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมการแข่งขัน โดยใช้บทเพลงที่มีชื่อว่า “พะวงรัก” และได้รับ “รางวัลอารีรังอวอร์ด” (รางวัลนักร้องยอดเยี่ยม)นับเป็นนักร้องจากประเทศไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 23, 10:29
https://www.youtube.com/watch?v=IB10ODHwn4k


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 09:37
ในกลุ่มนักร้อง ดาวรุ่งพรุ่งนี้ มีอยู่คนหนึ่งที่แปลกไปจากคนอื่นๆทั้งหมด  คือร้องเพลงสุนทราภรณ์ในสไตล์ลูกทุ่ง   ไม่ใช่ไทยสากลอย่างคนอื่นๆ
เขาชื่อถวัลย์ พุกาธร
ครูเอื้อแต่งเพลงทำนองลูกทุ่งซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในยุคนั้น ให้นักร้องสุนทราภรณ์ที่มีลีลาทางด้านนี้ได้แจ้งเกิด   เพลงดังของถวัลย์มีหลายเพลง เช่น โศกา โศกี   เนื้อร้องของครูศรีสวัสดิ์

https://www.youtube.com/watch?v=1CM2kWa0SN8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 09:39
อีกเพลงคือ ลูกทุ่งลาติน

https://www.youtube.com/watch?v=Q9bu6FQEZ9I


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 09:44
เสียดายที่หาประวัติคุณถวัลย์ไม่พบ    ทราบแต่ว่าถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=kHjbSJWux1c&t=15s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ธ.ค. 23, 12:50
จากความทรงจำ ครับ,

            ได้ดูเทปการประกวดที่เกาหลี ปีนั้น ผู้ชนะคือ นักร้องหญิงของเกาหลี ไม่ใช่คุณศรวณี

            ในยุคนั้น นักร้องดาวรอรุ่งพรุ่งนี้ มีมากมาย หลายคนได้แค่ร้องหมู่ ก่อนจะได้ร้องเพลงเดี่ยวหรือคู่เป็นเพลงรุ่นก่อนเก่า
และรอลุ้นว่าครูเพลงจะเล็งเห็นแววแล้วแต่งเพลงให้เมื่อไร อย่างคุณศรวณีเคยเล่าว่าก็รอคอยเช่นกันกว่าจะได้ร้องเพลงของตัวเอง
บ้างที่ยังไม่ได้ขึ้นเวทีหรือได้แต่ร้องหมู่จนรอไม่ไหวก็ลาออกไปก่อน เช่น คุณดาวใจ ไพจิตร ซึ่งบอกว่าครูคงเห็นว่ายังไม่แข็งแรงพอ
จึงยังไม่ได้ให้ร้องเดี่ยว
            คุณอรัญญา นามวงศ์ ก็เคยอยู่วงสุนทราภรณ์ ข้อมูลต่อๆ กัน ในเว็บบอกว่าเพลง เธอเท่านั้น คุณอรัญญา ร้องเป็นคนแรก
แต่ไม่ทันได้บันทึกแผ่นเสียงเพราะลาออกจากวงก่อนไปประกวดนางสาวไทย และแสดงหนัง


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 13:14
  เคยอ่านพบว่าคุณอรัญญาเคยเป็นนักเรียนของสุนทราภรณ์มาก่อนจะไปประกวดนางสาวไทย   ไปค้นคลิปเพลงสุนทราภรณ์ที่เธอร้องก็เจอค่ะ
  https://www.youtube.com/watch?v=Ck-DVlzQ3PI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 13:15
https://www.youtube.com/watch?v=yzpcuPM52rc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 13:17
 เคยอ่านพบว่าคุณอรัญญาเคยเป็นนักเรียนของสุนทราภรณ์มาก่อนจะไปประกวดนางสาวไทย   ไปค้นคลิปเพลงสุนทราภรณ์ที่เธอร้องก็เจอค่ะ
  https://www.youtube.com/watch?v=Ck-DVlzQ3PI

คลิปไม่ขึ้นอีกแล้วค่ะ คุณเพ็ญชมพู


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 13:35
 เคยอ่านพบว่าคุณอรัญญาเคยเป็นนักเรียนของสุนทราภรณ์มาก่อนจะไปประกวดนางสาวไทย   ไปค้นคลิปเพลงสุนทราภรณ์ที่เธอร้องก็เจอค่ะ
  https://www.youtube.com/watch?v=Ck-DVlzQ3PI


คลิปไม่ขึ้นอีกแล้วค่ะ คุณเพ็ญชมพู

ลองเลื่อน url ของ youtube ให้ชิดไปทางซ้าย ;D

https://www.youtube.com/watch?v=Ck-DVlzQ3PI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 23, 13:44
 :)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 23, 10:40
  นักร้องสุนทราภรณ์รุ่นหลังจาก "ดาวรุ่งพรุ่งนี้"  เรียกว่า "ยุคปัจจุบัน" ซึ่งร้องอยู่ในช่วงประมาณทศวรรษ 2530-60 หลังจากนั้นก็ค่อยๆอำลาเวทีไป เหลืออยู่เพียง 2-3 คนที่ร้องมาจนถึงทุกวันนี้  หนึ่งในนั้นคือพรศุลี วิชเวช เป็นหลานสาวของครูศิริ วิชเวช ศิลปินแห่งชาติ

  พรศุลี วิชเวช ฉายา "การเวกเสียงใส" มีชื่อจริงว่า สุรีย์ สร้อยกิ่ง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2496 ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีชื่อเล่นว่า “แดง”  ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่วัยเด็ก   เคยเข้าประกวดขับร้องเพลงเมื่ออายุ 11 ปี  ด้วยเพลง “ทำนบหัวใจ”  ได้รับรับรางวัลชนะเลิศฝ่ายหญิง และน้องชายก็ได้รับรางวัลชนะเลิศฝ่ายชายในโอกาสเดียวกัน  เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวิริยะวิทยา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม   ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร้องนำ เพลงชาติ และบทสวดมนต์ทุกเช้า

พรศุลี วิชเวช ก่อนมาเป็นนักร้องนักเรียนดาวรุ่งสุนทราภรณ์  ได้เข้าร้องเพลงกับวง “เอื้อสัมพันธ์”  ซึ่งเป็นวงสองของสุนทราภรณ์อยู่ในขณะนั้น และคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ตั้งชื่อวงให้ มีครูปรีชาเกียรติประวัติ เป็นผู้ควบคุมวง  ครูปรีชารับดญ. พรศุลีไว้เป็นนักร้องประจำวงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อปี พ.ศ. 2516 ครูดำกับ บรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ชวนให้มาอยู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ด้วยกัน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมาเป็นนักเรียนโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีก่อน จนเรียนโน้ตดนตรีได้คล่องแคล่วจึงได้ออกงานต่างๆของสุนทราภรณ์

พรศุลี วิชเวช มีผลงานเพลงที่ได้ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก คือเพลง “ว่าจะไม่แล้วเชียว” และได้มีผลงานบันทึกเสียงร่วมกันสามคนคือ บรรจงจิตต์-จิตราภรณ์-พรศุลี รวม 4 เพลง คือ หนังสือจ๋า, สังคมราตรี, ไทยอย่าเผลอ และสาวริมธาร นอกจากนี้ก็มีเพลงสถาบันต่าง ๆ อีกหลายสถาบัน ซึ่งส่วนมากจะได้รับมอบหมายให้ขับร้องเพลง “ลา” ของสถาบันต่าง ๆ

นอกจากร้องเพลง พรศุลี วิชเวช มีผลงานประพันธ์เนื้อร้องเพลงต่างๆของสุนทราภรณ์ด้วย เช่น เพลงประจำโรงเรียนด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา  วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์  ฯลฯ
พรศุลี ใช้นามแฝงว่า “พศ.” ส่วนบางเพลงได้ร่วมประพันธ์คำร้องกับคุณรัตนพล จินตกานนท์ นักร้องดาวค้างฟ้าอีกคนหนึ่งของสุนทราภรณ์ ก็จะใช้นามแฝงว่า “พศร.”

ที่นับเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตของพรศุลี ก็คือการที่ได้รับมอบหมายจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ ให้ร่วมกับครูดำ-พูลสุข และคุณรัตนพล ประพันธ์เพลงถวายพระพร ๖๐ ปีครองราชย์ เพลงถวายพระพรพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โดยพรศุลี ได้เป็นผู้ขับร้องนำหมู่นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์ เผยแพร่เพลงนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548

ปัจจุบัน นอกจากเป็นนักร้องนำฝ่ายหญิงของวงดนตรีสุนทราภรณ์คู่กับคุณเจือนศักดิ์ น้อยสุวรรณแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงใหม่ๆออกสู่ตลาด และเป็นครูฝึกสอนนักร้องคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์มาทุกรุ่นอีกด้วย

อติพร -สุนทรสนาน เสนะวงศ์ กรรมการ-เลขานุการ มูลนิธิสุนทราภรณ์ ได้เขียนคำนิยามไว้ในสูจิบัตรงานคอนเสิร์ตครั้งแรกของพรศุลี มีใจความตอนหนึ่งว่า “พรศุลี วิชเวช เป็นหนึ่งในนักร้องนักเรียนจากโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีที่สถาบันสุนทราภรณ์ภาคภูมิใจ เธอเป็นเพชรแท้ มิใช่พลอยหุง เธอได้รับการเจียรนัยอย่างละเอียดละออจากครูเอื้อ สุนทรสนาน จนเปล่งประกายเพชรแท้ได้อย่างงดงาม ผลงานของเธอเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลงมาเป็นเวลายาวนานถึง 40 ปี และเพชรเม็ดนี้จะเปล่งประกายฉายแสงต่อไปได้อีกนาน เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิลปินรุ่นหลังของสุนทราภรณ์ต่อไป”


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 23, 10:40
https://www.youtube.com/watch?v=GPrYvCJNxjc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 23, 08:45
   นักร้องสุนทราภรณ์อีกคนหนึ่งที่ดังข้ามยุคข้ามสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังร้องอยู่ คือเจือนศักดิ์ น้อยสุวรรณ

   เจือนศักดิ์เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อโตขึ้นเข้ามาทำงานที่องค์การแบตเตอรี่ ในปี พ.ศ. 2511 เจือนศักดิ์ชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก   เคยเข้าประกวดร้องเพลงชนะระดับประเทศ โดยร้องเพลงยอยศพระลอ ของ ชินกร ไกรลาศ   จึงได้เข้ามาเรียนเป็นนักเปียโนที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2513

เจือนศักดิ์ได้เรียนเปียโนกับคุณครูหลายท่าน เช่น ครูสริ ยงยุทธ ครูเจษฎา เดชอุดม เป็นต้น แต่ก็แอบมาร้องเพลงกับนักเรียนรุ่นเดียวกันเสมอ   ครั้งหนึ่งเจือนศักดิ์กำลังร้องเพลงฟ้าแดง ของอโศก สุขศิริพรฤทธิ์อยู่ ครูเอื้อ สุนทรสนานได้ยิน   จึงถามว่าไปหัดมาจากไหน ตนบอกว่าหัดร้องตอนอยู่ท้องไร่ท้องนา ครูเอื้อชมว่าร้องดีมากน่าจะเอาดีทางร้องเพลง เจือนศักดิ์จึงเลิกเล่นเปียโนมาร้องเพลงแทน

เพ็ญศรี พุ่มชูศรี (ศิลปินแห่งชาติ) เคยชมเจือนศักดิ์ว่า เป็นผู้ร้องเพลงของครูเอื้อได้ดีที่สุด


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 23, 08:45
เพลงแรกของเจือนศักดิ์ คือ หลงปอง

https://www.youtube.com/watch?v=XCiyKaI4Lfs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 23, 08:47
https://www.youtube.com/watch?v=fDy433ac3Xg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 10:48
เจือนศักดิ์ ร้องเพลงของครูเอื้อได้ไพเราะมาก

https://www.youtube.com/watch?v=WwzklojDAWo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 10:49
https://www.youtube.com/watch?v=AEtQqfOculQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 27 ธ.ค. 23, 11:49
เมื่อวานมีข่าวเศร้า นั่นคือการจากไปของคุณย่าจันทนา โอบายวาทย์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
ผมเลยนึกถึงเพลงนี้ เข้ากับลมหนาวพอดี

คุณจันทนาถือว่ามีผลงานทั้งเพลงช้าและเพลงเร็ว
แต่ส่วนใหญ่จะนึกถึงเพลงเร็วเสียมาก

https://www.youtube.com/watch?v=kpRUAuoNP-o (https://www.youtube.com/watch?v=kpRUAuoNP-o)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 11:57
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของคุณจันทนาค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 11:59
ร่วมรำลึกถึงท่านค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=rspFTAQDIao


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 12:00
https://www.youtube.com/watch?v=ony_yZBsJjY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 23, 12:10
   จันทนา โอบายวาทย์ มีชื่อเล่นว่า จัน เกิดเมื่อ วันศุกร์ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2473 ที่บ้านสามเสน ข้างวังศุโขทัย เป็นบุตรของ นาวาอากาศตรีเทียม โอบายวาทย์ และ นางสายไหม สกุลเดิมสังเกตการณ์   บิดาเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีกองทัพเรือ  มีพี่น้อง 8 คน
    จบการศึกษาจากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง และโรงเรียนนาฏศิลป์ แผนกนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร

    ทั้งบิดาและลุงของจันทนาต่างเป็นนักดนตรี    บิดาเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีของกองทัพเรือ ส่วนลุงอยู่ประจำวงดนตรีของกรมตำรวจ ครั้งยังเด็กจึงทำให้ได้มีโอกาสติดตามไปดูการบรรเลงกับบิดา ทำได้รับการปลูกฝังและเกิดความรักในเสียงเพลง แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านนี้เต็มตัว  เพราะยังอยู่ระหว่างศึกษา   แต่ในช่วงที่เรียนอยู่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร จันทนามีโอกาสร้องเพลงออกอากาศทางวิทยุศาลาแดงอยู่บ่อยครั้ง
      เมื่อจบการศึกษา   ไปศึกษาต่อทางด้านภาษาที่ สถานสอนภาษาAUA เรียนอยู่ได้ปีกว่า ในตอนนั้นทางกรมโฆษณาการขาดนักร้องผู้หญิง เนื่องจากสุปาณี พุกสมบุญ ได้ลาออกจากกรมโฆษณาการ  ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงให้ พนิดา สุนทรสนาน (หลานครูเอื้อ) มาตามจันทนาไปร่วมวงด้วย เพราะครูเอื้อทราบดีว่าช่วงที่จันทนาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ มีการฝึกขับร้องเพลงอยู่ประจำ จึงสามารถขับร้องกับวงได้เลย ทางบิดาเองก็อนุญาต ตัวของจันทนาเองยังมีฐานะเป็นญาติคนหนึ่งของ ครูเอื้อ อีกด้วย

ปีพ.ศ. 2491 จันทนาได้เข้าเป็นนักร้องวงกรมโฆษณาการไล่เลี่ยกับ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ จุรี โอศิริ ระหว่างที่ร้องเพลงอยู่ในวงกรมโฆษณาการ ได้สนิทกับนักร้องรุ่นพี่อย่าง มัณฑนา โมรากุล ซึ่งคอนสอนให้คำชี้แนะต่าง ๆ จนนับถือเป็นเหมือนพี่สาวแท้ ๆ    มักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ส่วนอีกท่านที่จันทนารักและเคารพเปรียบเสมือนพ่ออีกคน ก็คือ ครูสริ ยงยุทธ เวลามีเพลงใหม่ ๆ มาให้ร้องก็จะต้องมาฝึกร้องต่อเพลงกับครูสริ

จันทนา สมรสกับพลตำรวจตรีทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2495 มีบุตรธิดา 2 คน คือ พรรณราย ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และ ดนัย ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา มีหลานย่า 3 คน คือ วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา พิชญา และ นัยน์ชนก ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา

เมื่อสมรสไปแล้ว จันทนาลาออกจากงานร้องเพลงโดยเด็ดขาด    แต่รับเชิญมาร้องเพลงเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ เช่น ในวาระครบรอบวันเกิดของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ตั้งแต่ 20, 25, 30, 45, 50 และ 60 ปี เป็นต้น

จันทนา (โอบายวาทย์) ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สิริอายุ 93 ปี


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 23, 09:43
     ขอย้อนกลับไปถึงนักร้องยุคต้นอีกคนหนึ่งของสุนทราภรณ์ ที่มีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับคุณจันทนา เธอคือคุณสุปาณี พุกสมบุญ   เจ้าของฉายา "เสียงมีดกรีดสังกะสี" ด้วยเสียงที่เล็กและแหลมมากจนเป็นเอกลักษณ์   
     สุปาณี พุกสมบุญ มีชื่อเดิมว่า "ปกิต พุกสมบุญ" เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 ที่บ้านหม้อ จังหวัดพระนคร มีชื่อเล่นว่าเจี๊ยบ  ครูเวส สุนทรจามร เป็นคนตั้งให้
     เริ่มต้นการศึกษาด้านนาฏศิลป์ด้วยการเข้าไปฝึกรำละครในวังหลวง ท่าเตียน จนได้แสดงที่โรงละครสวนมิสกวัน จนกระทั่งกรมมหรสพถูกยุบแล้วโอนย้ายไปอยู่กับกรมศิลปากร จึงได้ออกมาเรียนที่โรงเรียนบำรุงวิทยา หลังกรมโฆษณาการ ร่วมรุ่นกับเลิศ ประสมทรัพย์ และ สมพงษ์ ทิพยะกลิน จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2482 
    สุปาณีได้รับการชักชวนจากสรรพสิริ วิรยศิริ ซเจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศ ได้มาชักชวนสุปาณีให้เข้าไปทำงานที่กรมโฆษณาการ  ขณะนั้นมีนักร้องอยู่เพียง 2 คน คือ นางสาวจุรี โมรากุล (มัณฑนา โมรากุล) และนางสาวรุจี อุทัยกร เมื่อ พ.ศ. 2483   สุปาณีร้องเพลง"ขวัญของเรียม" ผลงานของพรานบูรพ์เป็นการทดสอบเสียง ปรากฏว่าผ่าน  สุปาณีได้บรรจุเป็นคีตศิลปิน แผนกบันเทิง กรมโฆษณาการ เมื่ออายุ 16 ปี ได้เงินเดือน 15 บาท
  เสวกเอกพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช)เห็นว่า ชื่อปกิตเหมือนผู้ชาย จึงเปลี่ยนให้เป็น "สุปาณี" ระยะที่ทำงานเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา เพลงที่ร้องจึงมักเป็นเพลงปลุกใจ   สุปาณีจะต้องนั่งรถรางจากบ้านที่บางลำภูไปร้องที่ศาลาแดงทุกวัน ส่วนเพลงแนวอื่นๆ ที่สุปาณีร้อง มักจะเป็นเพลงเร็ว และค่อนข้างสนุกสนาน  เช่น เพลงมองอะไร เพลงบ้านใกล้เรือนเคียง เพลงชีวิตกับความสุข เพลงรักแม่เอ๊ย

     สุปาณี พุกสมบุญ สมรสกับครูสริ ยงยุทธ นักเปียโนของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2487 จึงต้องลาออกจากราชการตามระเบียบในสมัยนั้น เมื่อปีพ.ศ. 2488 แต่ยังกลับมาช่วยร้องเพลงกับวงบ้างเป็นครั้งคราว
       ถึงแม้สุปาณีลาออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แต่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังเคยโทรศัพท์มาตามตัวอยู่ เช่น "เจี๊ยบเอ๊ย ! มางานหัวหน้าหน่อย แต่งตัวมาเดี๋ยวนี้" ทำให้เห็นความผูกกันกับในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ตลอดมา
   สุปาณี พุกสมบุญ มีบุตรกับครูสริ ยงยุทธ 4 คน คือ เสกสรร ยงยุทธ (เกิด 2488) วิทยา ยงยุทธ (เกิด 2490) ศุภสิทธิ์ ยงยุทธ (เกิด 2493) และนุสรา ยงยุทธ (เกิด 2494) ซึ่งทั้ง 4 คน ล้วนแล้วแต่เป็นนักดนตรีทั้งสิ้น โดยเสกสรรถนัดการเล่นเปียโนตามรอยบิดา ส่วนวิทยา และศุภสิทธิ์ถนัดการเล่นกีตาร์ และนุศราถนัดการเล่นออร์แกนไฟฟ้า
    สุปาณี พุกสมบุญ ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.00 นาฬิกา สิริอายุ 96 ปี 6 เดือน
 
     https://www.youtube.com/watch?v=nLamf6OHl78


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 23, 09:45
https://www.youtube.com/watch?v=GDnk60sSY8g


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:04
รวบรวมลงก่อนสิ้นปี

          ครูเอื้อ คือ ดุริยกวีในตำนานเล่าขาน ฝากผลงานเพลงไว้ให้ขับขานยาวนานจวบจน ๘๔ ปี และเชื่อว่า
จะยังคงได้ยินได้ฟังสืบต่อไปเป็นศตวรรษ
          ด้วยต้นทุนทางดนตรีที่สูงลิ่ว ทั้งดนตรีคลาสสิคเครื่องสายฝรั่งศิษย์พระเจนดุริยางค์ เชี่ยวชาญโน้ตเพลงสากล
จนได้รับมอบหมายให้ถ่ายทอดทำนองเพลงไทยเดิมสู่ตัวโน้ตสากลบันทึกไว้ ครั้นเมื่อเพลงแจ๊ซมาถึงครูก็ฝืนคำเตือน
อาจารย์ไปร่วมแจมวงดนตรีแจ๊ซซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น และต่อมาในวงของสถานีวิทยุกระจายเสียง
          ครูจึงมีท่วงทำนองเพลงเก็บไว้มากมายให้ถ่ายทอดออกมาได้เป็นพันเพลง ส่วนใหญ่จะออกแนวผสานเพลงไทย(เดิม)สากล

เว็บประวัติครูเอื้อที่แนะนำ https://www.thepeople.co/history/the-legend/52658

ครูเอื้อร้องเพลง ครวญรัก สำเนียงไทยเดิม แผ่นครั่ง บันทึกเสียงครั้งแรก
เจ้าของคลิปให้เปิดฟังเฉพาะในยูทูบ

https://www.youtube.com/watch?v=HP6GjlJ6ouA

ครวญรัก ร้องใหม่ ไทยสากลสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=tyYLoxYTe6E


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:09
              และ ในวาระ ๘๔ ปีของวงนี้ ตรงพอดีกับ ๑๐๐ ปีชาตกาลของนักร้องหญิงคนแรกของวงโฆษณาการ นั่นคือ
คุณมัณฑนา โมรากุล จึงนำมาสู่แนวคิด
              การนำเสนอผลงาน(บาง)หมวดหมู่เพลงของวงสุนทรภรณ์ผ่านเสียงเพลงร้องของคุณมัณฑนา


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:12
                เพลง (ผู้นำกำกับ) วัฒนธรรม (ช่วงพ.ศ. 2482) กำหนดให้คนไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและพฤติกรรมต่างๆ
ทั้งการพูดจา การแต่งกาย การกิน การทำสวนครัว ห้ามกินหมาก และ บังคับสวมหมวก ถ้าใครไม่สวมจะติดต่อทำธุรกรรมกับ
ราชการไม่ได้ ตำรวจเห็นจะตักเตือน ตัวคุณมัณฑนาเองที่เป็นคนร้องเพลงเชิญชวนให้สวมหมวกเผลอไม่สวมหมวกก็โดนเรียก
ไปสอบสวนลงโทษ

https://www.youtube.com/watch?v=YDEXgOZf5ao


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:16
               เพลงสถาบัน   จากจุฬา และ ธรรมศาสตร์ ที่มีทั้งขวัญใจจุฬา และ ขวัญโดม ฯ และเพลงอื่นๆ จากนั้นจึงตามมา
ด้วยสถาบันต่างๆ ทั่วไทยมากมายนับร้อยเพลง และ
               เพลงสถาบันจากเสียงของคุณมัณฑนาที่ร้องได้ประทับใจอาลัยยิ่ง -
           
ลาแล้วจามจุรี
               เล่ากันว่าเพลงนี้เป็นเพลงอาถรรพณ์ ห้ามนิสิตจุฬาที่ยังไม่จบร้อง หากใครท้าทายร้องต้องมีอันเป็นไปเรียนไม่จบต้องออกไป
           
จากเว็บจุฬา - ในช่วงปี พ.ศ. 2483 ครูเอื้อนำวงดนตรีมาบรรเลงเป็นประจำทุกปีในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และ
ในช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่นิสิตที่ครูเอื้อ และครูแก้วสนิทสนมด้วยถูกรีไทร์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จึงได้ร่วมกันแต่งเพลงนี้
ขึ้นแสดงในรายการ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวงสุนทราภรณ์ เพื่อเป็นการอำลาอาลัยจากสถาบันที่รักแห่งนี้

https://www.youtube.com/watch?v=C5FQNWUL-Ys


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:20
              เพลงชมสถานที่และจังหวัด เช่น หาดสงขลา เกาะสมุย ผาเงิบ รวมถึงเพลงกล่าวถึงสถานที่ที่มีความหมายต่อผู้แต่ง
เป็นที่แห่งความรักความหลัง เช่น ลาทีปากน้ำ คลองมอญ สาวอัมพวา
 
              ภูกระดึง เพลงนี้ครูแก้วประพันธ์ขึ้นโดยที่ไม่เคยขึ้นภู (น่าจะรวมทั้งครูเอื้อและคุณมัณฑนา ด้วย) ขนาดยุคนี้ยังหาคน
เคยขึ้นภูได้ไม่มากนัก ยุคนั้นยิ่งน้อยกว่าหลายเท่า

https://www.youtube.com/watch?v=VrC6kIAi5rM
     


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:22
            เพลงจังหวัด เช่น กรุงเทพราตรี กาญจนบุรี ประจวบมิ่งขวัญ อุบลเมืองงาม เลย ยะลา ทั้งนี้ หนึ่งในเพลงจังหวัด
ที่โด่งดังเป็นที่นิยมที่สุดก็คือเพลงจากเสียงร้องของคุณมัณฑนา
            เพชรบุรีแดนใจ ที่คุณมัณฑนา กลับมาร้องใหม่หลังออกจากวงไปแล้ว ว่ากันว่าตามคำเรียกร้องของชาวเพชรบุรี

https://www.youtube.com/watch?v=6WLVRU_HGoM



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:23
             เพลงจากทำนองเพลงไทยเดิม วงสุนทราภรณ์บรรเลงร่วมกับวงไทยเดิมเรียกว่า สังคีตสัมพันธ์

https://www.youtube.com/watch?v=jewjQEoSsZI
 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:26
             ธรณีกรรแสง จากทำนองเพลงไทยเดิม ที่พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) นำมาแต่งขยายเป็นอัตรา3ชั้น
เป็นเพลงเถา แล้วมีผู้นำไปปรับเป็นทางบรรเลงอีกหลายทาง เรียกกันหลายชื่อ เช่น ธรณีร้องไห้ ธรณีกรรแสง สุธากรรแสง
            คำร้อง ครูแก้วได้แรงบันดาลใจจาก มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ตอนนางมัทรีเข้าป่าเพื่อหาผลไม้ แต่เมื่อจะกลับอาศรม
เทวดาได้แปลงร่างเป็นราชสีห์และเสือมาขวางทางไว้ มิให้นางมัทรีกลับอาศรมก่อนที่ชูชกจะทูลขอสองกุมารไป เพลงนี้ใช้ประกอบ
ละครเวที เรื่อง"จอมมาร"

https://www.youtube.com/watch?v=Hc50oh_yRVM


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:27
              ดำเนินทราย จากทำนองเพลง ลาวดำเนินทราย ผลงานการประพันธ์ของจ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม) ประพันธ์ไว้แต่เพียง
ทางขับร้อง ต่อมาพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้คิดทางดนตรีขึ้นใช้สำหรับขับร้องและบรรเลงเป็นเพลงอัตรา
จังหวะ 2 ชั้น สำเนียงลาว หน้าทับสองไม้ (ลาว) แล้วมีการนำไปปรับปรุงเป็นรูปแบบต่างๆ

https://www.youtube.com/watch?v=zwqcVA0u62I


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 10:31
            เพลงประกอบละคร  มีทั้งแบบคั่นการแสดง เช่น กลิ่นปาริชาต ที่คุณมัณฑนาบอกว่า ไม่ได้เป็นเพลงประกอบละคร กามนิต
วาสิฏฐี และ เพลงประกอบละครเวทีที่โด่งดังข้ามศตวรรษ

            จุฬาตรีคูณ  จากจินตนิยายของ พนมเทียน วรุณ ฉัตรกุล(บ้างว่าเป็นพนมเทียนนำมาเสนอคุณมัณฑนาก่อน) ได้นำต้นฉบับ
จุฬาตรีคูณไปเสนอครูแก้ว หลังจากที่เมื่อได้อ่านแล้ว ครูขอพบตัวคนเขียนและคุยกันบอกจะนำไปเป็นละครวิทยุพร้อมแต่งเพลงประกอบ
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประสบความสำเร็จอย่างสูง และต่อมาได้นำไปขึ้นเวทีละครที่ศาลาเฉลิมไทย

https://www.youtube.com/watch?v=VyorqTPS3fU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 23, 11:01
และ
             เพลงจากวรรณคดี มีทั้งที่แต่งเนื้อร้องอิงจากร้อยกรอง เช่น พรานล่อเนื้อ ยากยิ่งสิ่งเดียว และ นำบทร้อยกรอง
มาใส่ทำนองเพลง เช่น นักเรียนพยาบาล(ท่อนต้น) จากพระราชนิพนธ์ เวนิสวานิช และ
             สาส์นรัก จากพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม ของรัชกาลที่ ๖

https://www.youtube.com/watch?v=9zhPcisP_rg      


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 23, 11:13
คุณหมอ SILA  ยิงกระสุน(ทราภรณ์) จนหมดแม็ก     ดิฉันไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากอ่านแล้วเปิดคลิปฟังเพลง


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 08:59
แม้ว่าครูเอื้อจากไปหลายปีแล้ว  วงสุนทราภรณ์ก็ยังมีกำลังที่จะผลิตนักร้องรุ่นใหม่ๆออกมาไม่ขาดสาย    ถัดจากรุ่น ดาวรุ่งพรุ่งนี้ ก็คือ คลื่นลูกใหม่   เป็นหนุ่มสาวที่ผ่านเวทีประกวดเพลงสุนทราภรณ์ที่ทางรร.สุนทราภรณ์าการดนตรีจัดบ้าง เป็นนักเรียนรร.นี้ที่มีแววดาวเสียงบ้าง
ยืนอยู่บนเวทีเรียกเสียงปรบมือได้ไม่น้อยกว่ารุ่นก่อนๆ

https://www.youtube.com/watch?v=BmkympAy4Rg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:01
https://www.youtube.com/watch?v=W8tQgVik4Q8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:02
https://www.youtube.com/watch?v=k_dAIWjvtG8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:05
https://www.youtube.com/watch?v=fDpWcC5O8K4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:07
https://www.youtube.com/watch?v=_jNm2r4Qcc0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:09
https://www.youtube.com/watch?v=YrEB_Q-JCEw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:11
https://www.youtube.com/watch?v=ygG1DNL83Ww


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 09:13
https://www.youtube.com/watch?v=-DZYD5sMLdw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 11:35
ขอต้อนรับกลับเรือนไทย  ด้วยเพลง "บ้านของเรา" ขับร้องโดย คลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์ ;D

https://youtu.be/FvbtXUy-bfw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 16:03
ู^ ;D


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 24, 16:04
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพู และท่านอื่นๆที่แวะเข้ามาแสดงความห่วงใยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=KVctQaulK5k


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:11
  ความพิเศษของบทเพลงสุนทราภรณ์ประการหนึ่งในหลายๆประการ  คือเป็นจุดบรรจบระหว่างเพลงไทยเดิมกับเพลงสากลของฝรั่ง   ครูเอื้อในฐานะศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ ได้รับมอบหมายให้จดโน้ตเพลงที่อาจารย์ท่านเทียบตัวเสียงเพลงไทยเดิมกับตัวโน้ตของฝรั่งลงบันทึกไว้   ทำให้ครูเอื้อรู้ได้ว่า ทำนองเพลงไทยเดิมถ้าเอามาเล่นเป็นสากล จะต้องดัดแปลงอย่างไรตรงไหนบ้าง
  เพลงไทยเดิมจำนวนมาก จึงยังมีให้คนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งถึงทำนองไพเราะ ผ่านทางบทเพลงสุนทราภรณ์ที่ดัดแปลงมาให้เข้าหูของคนหนุ่มสาวยุคหลังสงครามโลกครั้งที่  2  ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  เช่น รวงทิพย์ ดัดแปลงจาก แขกสาหร่าย
https://www.youtube.com/watch?v=eAg6K_WvwOs
 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:13
หรือจะฟังเสียงดั้งเดิมของครูเอื้อก็ได้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=zgua_x0sWWs


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:29
ดำเนินทราย  ดัดแปลงจาก ลาวดำเนินทราย
https://www.youtube.com/watch?v=P5lBVArqpd4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:30
ดำเนินทราย จากคลื่นลูกใหม่
https://www.youtube.com/watch?v=z6NKvqknWcE


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:35
ทะเลบ้า  ดัดแปลงจาก ทะเลบ้า สองชั้น
https://www.youtube.com/watch?v=OBkwHxyvINI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:41
นานๆจะเจอคลิปคุณสุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ ร้องเพลงสุนทราภรณ์สักที    เธอร้องในสไตล์ของเธอ ควรฟังอย่างยิ่ง
https://www.youtube.com/watch?v=m7EpYn_mdAQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:46
บ้านนา  ดัดแปลงจาก ลาวแพนน้อย
https://www.youtube.com/watch?v=etkQNU-Q0o4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 24, 11:47
ฟังคลื่นลูกใหม่ร้อง บ้านนา บ้างค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=kZQIfXrA5T0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 24, 09:46
  นอกจากดัดแปลงเพลงไทยเดิมเป็นเพลงไทยสากล    ครูเอื้อยังดัดแปลงเพลงไทยเดิมเป็นเพลงรำวงอีกด้วย
หนึ่งในนั้นคือ รำวงลออองค์ จาก เขมรลออองค์ ชั้นเดียว

https://www.youtube.com/watch?v=IjTL8SM6AZI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:43
น่าสังเกตอีกอย่างว่า เมื่อนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงเป็นเพลงสุนทราภรณ์  ครูเอื้อและครูแก้วไม่ได้เอามาเฉยๆ แต่ตั้งใจอนุรักษ์ที่มาของเพลงเอาไว้ให้คนฟังรู้กัน  ด้วยการรักษาชื่อเพลงของเดิมไว้   คือเพลงไหนพอจะเอาชื่อเพลงเดิมมาแต่งเป็นเนื้อร้องให้เข้ากันได้   ท่านทั้งสองก็รักษาเอาไว้
เช่น เพลง กระแต  ดัดแปลงจาก ลาวกระแตเล็ก

https://www.youtube.com/watch?v=Jl_ktdAb7Ak


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:45
ของเดิมใช้เครื่องดนตรีไทยเดิม เพื่อให้เห็นที่มาของเพลง  ของใหม่ใช้ดนตรีสากลเป็นหลัก

https://www.youtube.com/watch?v=k4PgDhF7zX8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:47
คลื่นกระทบฝั่ง จากเพลงไทยเดิม คลื่นกระทบฝั่ง

https://www.youtube.com/watch?v=Z6xhB4LyDqc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:49
คลื่นกระทบฝั่ง จากคลื่นลูกใหม่
https://www.youtube.com/watch?v=7LUjS38d0yM&list=RD7LUjS38d0yM&start_radio=1


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:54
จำปาทอง  จาก เพลงไทยเดิม  จำปาทองเทศ
เพลงนี้คนแต่งเนื้อร้องไม่ใช่ครูแก้ว   แต่สุนทราภรณ์ยังรักษาที่มาของชื่อ และเนื้อร้องให้สอดคล้องกัน

https://www.youtube.com/watch?v=ippSF_xDM9o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 24, 08:57
นานๆจะเจอคุณทนงศักดิ์ร้องเพลงสุนทราภรณ์สักที  ก็เลยขอนำมาให้ฟังกันค่ะ
นักร้องเสียงระทม  ร้องเพลงระทมท่วงทำนองไทยเดิม ฟังออกมาระทมไม่มีใครเทียบ

https://www.youtube.com/watch?v=tvdhizOX1q4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 11:07
ดวงเดือน  ดัดแปลงจาก ลาวดวงเดือน
https://www.youtube.com/watch?v=Db1jzH6vAZw


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 11:08
เมื่อคนรุ่นใหม่นำมาร้อง

https://www.youtube.com/watch?v=0xljW6ZQL9s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 12:40
     ความยั่งยืนของสุนทราภรณ์อีกประการหนึ่ง คือ ครูเอื้อ ครูแก้ว และครูเพลงของท่านแต่งเพลงในเทศกาลต่างๆไว้มาก
    เป็นสิ่งที่ค่ายเพลงอื่นๆไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันไม่ค่อยจะสร้างกัน  หรือมีก็น้อยมาก
    พอวันเวลาหมุนเวียนมาถึงเทศกาลของไทยเมื่อไหร่   เสียงเพลงสุนทราภรณ์ก็กังวานออกจากลำโพงตามวิทยุ ตามหมู่บ้าน ตามหน่วยงานราชการต่างๆที่จัดงาน  ได้ยินมาหลายสิบปีแล้ว 
    และก็น่าจะได้ยินต่อไปอีกนาน

https://www.youtube.com/watch?v=YbFsME82Yjo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 12:41
https://www.youtube.com/watch?v=No9aC24b3Jc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 12:44
ต่อมาก็ถึงเทศกาลสงกรานต์
https://www.youtube.com/watch?v=jtenlzz0xUI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 24, 12:46
https://www.youtube.com/watch?v=B5VCoVIQGa4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 24, 11:34
    รำวง เป็นความบันเทิงของไทยที่ทุกสังคม ตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงระดับพื้นบ้านขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลต่างๆ    รำวงที่สุนทราภรณ์ผลิตขึ้นมาจำนวนมาก จึงได้รับความนิยมกันจนทุกวันนี้

https://www.youtube.com/watch?v=3bCnTTG7NW4&list=PLwZeDoBB88CHb42RissjLPrbrSm5wZz9L&index=5
   


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 24, 11:37
https://www.youtube.com/watch?v=mkCrS55hqWY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 24, 16:19
https://www.youtube.com/watch?v=4efuRQ8JyQQ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 24, 08:58
เพลงรำวงที่ขึ้นชื่อที่สุดของสุนทราภรณ์ คือ "รำวงลอยกระทง"  เป็นเพลงที่โกอินเตอร์ไปหลายประเทศ  และเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของครูเอื้อที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นระดับโลกของยูเนสโก
เป็นเพลงที่ครูเอื้อและครูแก้วแต่งให้งานลอยกระทง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ครูเอื้อใช้เวลาแต่งเพลงนี้เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น  นำไปบรรเลงสดในงาน  ต่อมาจึงมีการบันทึกเสียงในปี 2493โดยมีวินัยจุลละบุษปะร้องนำหมู่

https://www.youtube.com/watch?v=CacwKxTj5Tg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 24, 14:17
https://www.youtube.com/watch?v=NSkriTLhM7A


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 24, 14:21
https://www.youtube.com/watch?v=7ycqiU3sEXE


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 24, 14:21
https://www.youtube.com/watch?v=folF4uq--5E


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 24, 17:10
 ความพิเศษอีกอย่างของสุนทราภรณ์ ที่ไม่ซ้ำแบบเพลงร่วมสมัย   คือเพลงที่แต่งให้สถาบันการศึกษาต่างๆ  ผู้ที่ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยน่าจะเคยได้ยินกันมาทุกคน
  เพลง "ดาวจุฬา" แต่งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นเพลงจังหวะบีกิน  ใช้สำหรับเต้นรำ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงในสังคมไทยยุคนั้น    เพลงนี้บันทึกเสียงสองครั้ง ครั้งแรกบันทึกกับแผ่นครั่งตราสุนัขหน้าสีเขียวเมื่อปี 2492 บันทึกครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2512 คุณวินัย จุลละบุษปะขับร้องทั้งสองครั้ง
  ตำนานเพลงนี้มี 2  อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือครูเอื้อแต่งให้นิสิตคณะบัญชีจุฬา ชื่อโสภาพรรณ สุมาวงศ์บุตรสาวของพระมนูเวทย์วิมลนาท(มนูเวทย์ สุมาวงศ์) อดีตประธานศาลฎีกา กับคุณหญิงแฉล้ม  ต่อมาเธอสมรสกับ พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค   มีบุตร 5 คน หนึ่งในนั้นคือพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
  ตำนานที่ 2 คือเพลงนี้ครูเอื้อแต่งให้คุณ พงศ์พริ้ง ศิริออร์  คนเล่าอ้างอิงว่า ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นคนเล่า
https://www.youtube.com/watch?v=_iREiMztSe0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:41
https://www.youtube.com/watch?v=BSiTUOXeWJU

ลูกสาวเคยมาถามแม่ว่า เพลงจามจุรี ศรีจุฬา เขาว่าเป็นเพลงอาถรรพณ์ใช่ไหม  ใครร้องแล้วจะเรียนไมจบต้องรีไทร์    แม่ตอบว่าสมัยแม่ไม่เคยมีความเชื่อนี้  ร้องกันมาไม่รู้กี่หนแล้วก็ยังเรียนจนจบ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:45
https://www.youtube.com/watch?v=C5FQNWUL-Ys

เพลงนี้ต่างหากที่ไม่อยากร้อง ตอนเรียนปี 1-3 กลัวจะต้องลาจากก่อนถึงเวลา   ถ้าปี 4  แล้วก็พอร้องได้เพราะยังไงก็ไม่รีไทร์แน่
เสียงของคุณมัณฑนาเยือกเย็นโหยหวน ฟังเศร้าสลดน่าใจหาย     จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครร้องได้เหมือนค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:47
https://www.youtube.com/watch?v=_67JpF4WWk4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:49
https://www.youtube.com/watch?v=LkbwP226kLc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:53
https://www.youtube.com/watch?v=TaesFlV1XH4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:54
https://www.youtube.com/watch?v=MFRUugFcdH8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:56
https://www.youtube.com/watch?v=oYHKdcFobZ4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 08:57
https://www.youtube.com/watch?v=3C_hYuz_cSc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 24, 09:00
เพลงสถาบันทหาร

https://www.youtube.com/watch?v=32kO3Be5tbY&list=PL8kFhKQ0brCTD1fUBhJ327TDfxaAfMZH9&index=1


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 24, 10:21
https://www.youtube.com/watch?v=fA5PQBSDC4U


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 24, 10:23
https://www.youtube.com/watch?v=LHRuYa-Xrl8


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 24, 10:27
https://www.youtube.com/watch?v=1mJqqRXYfzI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 21 ม.ค. 24, 17:53
ในขณะที่ผมกำลังหาข้อมูลเพื่อที่จะเขียนนิยาย "สุนทราพาฝัน" ข้อมูลที่ผมประทับใจที่สุด เห็นจะเป็นข้อความที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน กล่าวกับครูใหญ่ นภายน ถึงหลักการบรรเลงดนตรีเพื่อการลีลาศว่า

...ใหญ่ ถ้าได้เป็นหัวหน้าวงดนตรี จงจำไว้อย่างหนึ่ง คือเวลาบรรเลงเพลงลีลาศ ไม่จำเป็นต้องให้นักดนตรีอวดฝีมือกันมาก โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประเภทรักษาจังหวะ เช่น เปียนโน เบส กลอง กีต้าร์ ขอให้เล่นลงจังหวะให้แน่น เมื่อจังหวะแน่นแล้วพวกนักลีลาศเขาก็จะได้สนุกสนาน กับการเต้นรำที่ลงจังหวะได้พร้อมกับดนตรี

ไม่ใช่กีต้าร์ ก็เล่นโซโล่ โชว์ว่าฉันเก่งมีฝีมือ เล่นลอยไปก็ลอยมาหาจังหวะไม่ได้

ต่อไปก็กลอง คือหัวใจของวงดนตรี มีหน้าที่รักษาจังหวะ แต่กลับไปเล่นพลิกแพลงโซโล่โชว์ฝีมือ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่รักษาหน้าที่ของตัวเอง

ทีนี้ก็เบสซึ่งก็มีหน้าที่รักษาจังหวะเหมือนกัน สมควรจะดีดให้มันลงจังหวะเพื่อให้มันแน่น กลับไปเล่นแบบว่า พี่เก่งโว้ย เดิน ๔ เดิน ๘ ให้มันแสบไปทั้งวง

เหลือเปียนโนอีกตัวหนึ่งก็พึ่งจังหวะไม่ได้ ดีดเป็นน้ำไหลไฟลามทุ่ง ไม่มีแม้แต่ทำนองเพลง

แล้วจะเอาจังหวะที่ไหนไปให้เข้าลีลาศกันล่ะ!

ข้อสำคัญควรจำไว้ให้แม่น เราเล่นดนตรีเพื่อให้นักลีลาศเขาได้เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่เล่นดนตรีให้เราสนุก แต่ถ้าอยากสนุก อยากโชว์ฝีมือให้คนเขาชม ก็ต้องถึงคราวที่เราไปเล่นโชว์บนเวทีอย่างเดียว ไม่มีใครเขาห้าม เล่นตามสบายเถิดพ่อคุณพ่อทูนหัว...

นี่คือความตั้งใจใหญ่หลวงของครูเอื้อ ที่กำหนดแนวทางดนตรีการไว้ชัดเจน จนทำให้แนวดนตรี #สุนทราภรณ์ มีความแม่นยำ หนักแน่น สมกับราชาแห่งเพลงลีลาศ และอาจจะถือได้ว่าเป็นวงดนตรีลีลาศที่ดีที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

ขอคารวะ และรำลึกถึงคุณูปการทางดนตรี
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด
ครูเอื้อ สุนทรสนาน


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 24, 10:55
น่าประทับใจจริงๆค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 24, 10:57
ขอส่งท้ายเพลงสถาบันการศึกษาด้วยเพลงของมหาวิทยาลัยศิลปากร
https://www.youtube.com/watch?v=oYHKdcFobZ4&t=40s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 09:47
   ลืมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปได้อย่างไร
https://www.youtube.com/watch?v=KcBegh_riI0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 09:51
    ความหลากหลายของเพลงสุนทราภรณ์ มีมากเกินว่าจะนำมาเล่าได้หมด    ไม่ว่าจะเป็นหลากหลายด้านทำนองเพลง และหลากหลายด้านเนื้อเพลง
   อย่างหลังนี้ ความหลากหลายอีกอย่างคือการพรรณนาถึงสถานที่ต่างๆในประเทศไทย   ในยุคที่การเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างปัจจุบัน   คนฟังเพลงสุนทราภรณ์ก็ได้เนื้อเพลงสถานที่ต่างๆเหล่านี้ช่วยจุดประกายจินตนาการถึงความสวยงามของสถานที่นั้น

https://www.youtube.com/watch?v=aCEZvvaSGd4



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:10
https://www.youtube.com/watch?v=NkCGKNQ_nbg


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:10
https://www.youtube.com/watch?v=73RUVAj9Aag


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:11
https://www.youtube.com/watch?v=UZwc878IgkU


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:13
https://www.youtube.com/watch?v=_zc9XTmbIlA


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:15
https://www.youtube.com/watch?v=07cQI3SiGSo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:16
https://www.youtube.com/watch?v=VAnK1lKoIik


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 24, 10:55
ถ้าสนใจกลวิธีสร้าภาพมในบทเพลงจังหวัดและสถานที่ของวงดนตรีสุนทราภรณ์  เข้าไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ

https://utcc2.utcc.ac.th/utccjournal/283/%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%93%E0%B8%B1%E0%B8%8F%E0%B8%90%E0%B8%B2%20%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1.PDF


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 24, 11:36
https://www.youtube.com/watch?v=UTxpPDkJ6Ns


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 24, 11:43
https://www.youtube.com/watch?v=YclD9wxlS74


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 24, 18:12
https://www.youtube.com/watch?v=PGk_t5Gy2Mo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 24, 18:13
https://www.youtube.com/watch?v=0it89PVRcIE


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 ม.ค. 24, 18:15
เพลงโปรดตลอดกาล  เพราะไปหมดและเข้ากันได้ดีทั้งดนตรีและเสียงร้อง

https://youtu.be/z1FBMQXxC1E


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 ม.ค. 24, 18:18
ตามด้วยเพลงฝาแฝด (ในความคิดของผม)

https://youtu.be/D1MxjvJ76Jk




กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 ม.ค. 24, 18:19
และ

https://youtu.be/ule-1yPHn2o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 24 ม.ค. 24, 18:27
ตามด้วย

https://youtu.be/Upinw2ELIdU

https://youtu.be/6R_dokwmjek


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 24, 09:59
     เพลง "หนึ่งในดวงใจ" ของสุนทราภรณ์ เป็นเพลงที่มีเบื้องหลังดราม่าราวกับนิยาย    เรื่องมีอยู่ว่าท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ มีเรื่องขุ่นเคืองใจกับจอมพลสฤษดิ์ผู้สามี   (เรื่องอะไรคงไม่ต้องบอกในที่นี้)  ท่านก็เลยเดินทางไปอังกฤษ บอกว่าไปรักษาสุขภาพ   แต่ไปแล้วก็ไม่ยอมกลับไทยสักที  จอมพลสฤษดิ์ก็เดือดร้อน  ต้องหาวิธีง้องอนศรีภริยา 
    ท่านก็สั่งคนสนิทให้มาขอครูเอื้อแต่งเพลงรับขวัญท่านผู้หญิงวิจิตรา   พอลงจากเครื่องบินมาถึงดอนเมือง
 สุนทราภรณ์ก็จะบรรเลงเพลงใหม่ให้ฟัง  เป็นเรื่องรับขวัญ   เรื่องนี้เป็นเรื่องฉุกละหุกกะทันหัน ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า   ครูเอื้อก็นีบตามตัวชอุ่ม ปัญจพรรค์ให้มาแต่งเนื้อเพลงโดยด่วน
    ขณะนั้นคุณปรีดา กรรณสูต พี่ชายของคุณอาภรณ์ภรรยาครูเอื้อ  พาพวกญาติๆรวมทั้งคุณชอุ่มไปเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   พักแรมที่บ้านพักรับรองของกรมประมง   บรรดาญาติรวมทั้งคุณชอุ่มกำลังเล่นไพ่ตองกันสนึกสนาน    คุณชอุ่มกำลังมัน ก็ถูกครูเอื้อเรียกให้ลุกขึ้นจากวงไพ่ตอง  ด้วยคำสั่งว่า
      "อุ่ม แต่งเพลงรับขวัญ"
      คุณชอุ่มลุกจากวงอย่างเสียดาย    จำใจแต่งตามเสียงผิวปากบอกทำนองของครูเอื้อ   แต่งเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาชั่วโมงเศษ   ครูเอื้อไปแต่งตัวเข้ากรุงเทพฯ เพื่อจัดการบรรเลงเพลง "หนึ่งในดวงใจ" ต้อนรับท่านผู้หญิงทันเวลา
      บันทึกเสียงครั้งแรกโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ เป็นเพลงแก้กัน
      บันทึกครั้งที่ 2 โดยครู เอื้อ สุนทรสนาน และ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส

https://www.youtube.com/watch?v=Emfq7baDzEI&t=5s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 24, 10:03
ส่วนเพลงที่คุณชวลี ร้อง  เป็นเพลงแก้  ตอบฝ่ายชายค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=ule-1yPHn2o


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 24, 10:00
  แม้ครูเอื้อล่วงลับไปแล้ว  สุนทราภรณ์ก็ยังมีลมหายใจอยู่จนทุกวันนี้   คนรุ่นก่อนที่ติดตามเป็นแฟนคลับก็ยังมีประจำสม่ำเสมอ   คนรุ่นใหม่ที่นำสุนทราภรณ์ไปสานต่อให้มีชีวิตชีวาทันสมัยก็ยังมีไม่ขาดสาย  ไม่ว่าจะเป็นรายการโกลเดนซอง  เพลงเอก ทางโทรทัศน์   ก็ยังมีละครเวทีออกมาหลายครั้ง  ล่าสุดคือ เพลงรักเพลงแผ่นดิน
https://www.youtube.com/watch?v=weKQJDvW5Pk&t=3898s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 24, 10:02
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ เขียนถึงครูเอื้อไว้จับใจมากค่ะ 
ใครรำลึกถึงครูเอื้อ อ่านกลอนบทนี้ก็เหมือนครูเอื้อยังมีลมหายใจ  พร้อมจะสีไวโอลินกล่อมคนทุกรุ่นด้วยเพลงสุนทราภรณ์


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 24, 10:35
‘หัวหน้า'

ร่างสูงโปร่งโค้งและยิ้มยังจำได้
เขายึดไหล่ขยับคอแนบซอสี
ปลายคันชักกวักไกวชั่วชีวี
ดุจเมธีพร่ำเพียรซึ่งเธียรธรรม

        เขานำมิตรศิษย์ดนตรีมากี่รุ่น
        เขาตากฝนทนฝุ่นที่คืนค่ำ
        เขาแรมรอนงานจรงานประจำ
        เขาร้องคำเล่นดนตรีกี่ทำนอง

เขาลงนอนลุกนั่งกี่ครั้งนะ
ก่อนที่จะแต่งจบเพลงครบห้อง
เขาเรียกซ้อมกี่ซ้ำจึงช่ำชอง
เขาสอนร้องสอนดนตรีไว้ที่คน

         เขาปล่อยดาวขึ้นฟ้ามากี่ดวง
         เขาอดข้าวหาวง่วงมากี่หน
         เขากล่อมโลกรมย์รื่นยืนร่ายมนต์
         เขากรำงานทานทนมากี่ปี

ร่างสูงโปร่งโค้งและยิ้มยังจำได้
เขายืดไหล่ขยับคอแนบซอสี
ปลายคันชักกวักไกวชั่วชีวี
ดุจเมธีพร่ำเพียรซึ่งเธียรธรรม

            อาจินต์ ปัญจพรรค์
           ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖


        (http://dl9.glitter-graphics.net/pub/1228/1228839b2qo8ysjdw.gif)


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 24, 08:56
ขอบคุณค่ะคุณหมอเพ็ญ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 03 ก.พ. 24, 12:07
เพลงโปรด...

https://youtu.be/_RJbLcQsupQ

https://youtu.be/ya5_parAL-U

https://youtu.be/8GnxPgYpDqo

https://youtu.be/Qu-TDSIulLQ

และชอบที่สุด
https://youtu.be/kunekzlAr_4





กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 24, 18:27
เพลงสุนทราภรณ์ นำมาร้องและบรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออเคสตราก็ยังได้นะคะ

https://www.youtube.com/watch?v=FD4wXDxU-WY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 24, 10:25
รำลึกถึง "เยื่อไม้" ที่ช่วยให้หนุ่มสาวไทยช่วงทศวรรษ 2530 ได้รู้จักและนิยมสุนทราภรณ์อีกครั้ง

https://www.youtube.com/watch?v=VzcGNK6dAQM


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 05 ก.พ. 24, 10:39
   ยังมีละครเวทีออกมาหลายครั้ง  ล่าสุดคือ เพลงรักเพลงแผ่นดิน


          ละครเวทีเรื่องนี้ บทละครเวที มีความต่างจาก บทละครดั้งเดิม อย่างไรบ้างครับ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 24, 11:38
เข้าใจว่าทาง workpoint ยังรักษาโครงเรื่องไว้ค่ะ  แต่เปลี่ยนรายละเอียด
ขอเวลาไปถามคนเขียนบทดั้งเดิมก่อนนะคะ   ได้คำตอบอย่างไรจะกลับมาตอบคุณหมอค่ะ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ก.พ. 24, 12:33
         ครับ, คือสงสัยว่า บทดั้งเดิม คือเล่าเรื่องชีวิตของครู แบบละครพูด ไม่มีบทร้องเพลง (หรือได้เลือกเพลงประกอบไว้ด้วย)
ส่วนบทละครเพลง มาจัดเลือกเพลงร้องประกอบ(ลีลาโลดเต้น), ลำดับเรียบเรียงฉาก, เพิ่มตัวละครบางตัว เช่น คนเล่าเรื่อง ฯลฯ 


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 24, 10:02
คนเขียนบทดั้งเดิมตอบมาแล้วค่ะ

"บทดั้งเดิมเป็นละครเพลงแบบเดียวกันค่ะ ใข้ชีวประวัติครูเอื้อเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยจบที่เพลงพระเจ้าทั้ง 5 ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อได้บันทึกเสียงไว้

เมื่อทางโรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศขอลิขสิทธิ์ไปจัดแสดง มีการปรับเพิ่มให้มีตัวละครเล่าเรื่อง (อาร์มกรกันต์) และมีการเปลี่ยนใช้เพลงสุนทราภรณ์ที่คุ้นหูมากขึ้น (บทดั้งเดิมมีเพลงหาฟังยากเยอะค่ะ) มีการเพิ่มมุกตลก เพิ่มบทสนทนาที่กินใจ  

ทั้งนี้เพราะผู้จัดทำมองว่าอยากให้ละครออกมาดูสนุกสนาน และเข้าถึงกลุ่มคนดูที่กว้างขึ้นไม่จำกัดแค่กลุ่มแฟนเพลงสุนทราภรณ์
แต่เนื้อเรื่อง ลำดับการเล่าและยังตามบทดั้งเดิมอยู่พอสมควรค่ะโดยเฉพาะในองก์แรก

ของเดิมได้รับการสนับสนุนจาก สกว เป็นงานวิจัยค่ะ เลยค่อนข้างอิงความถูกต้องของชีวประวัติ และการเลือกใช้เพลงที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวงสุนทราภรณ์ "


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 24, 10:09
 เช่น บทเดิมใช้เพลง บ้านเรือนเคียงกัน ซึ่งมาจากชีวิตจริงของครูเอื้อ  ในเพลงรักเพลงแผ่นดิน ใช้เพลง รักฉันสักนิดหนึ่ง

หรือเพลงตอนที่พี่สาวคุณอาภรณ์มาดูครูเอื้ออยู่กับเพื่อน บทเดิมใช้ ปรัชญาขี้เมา บทละครใช้ ใครจะเมตตา

ฉากที่ครูเอื้อคุมวงดนตรี ก็ถูกตัดออกไป

ช่วงที่ครูเอื้อเกษียณ และตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี มีการใช้เพลงจังหวะชีวิต (บทละครตัดเนื้อหาตรงนี้ออก) เรื่อง ครูดำ หลานครูเอื้อที่ต่อมามาเป็นหัวหน้าวงดนตรี (บทละครตัดตรงนี้ออก)

เป็นต้น

เท่าที่รู้อีกอย่าง คือฉากครูเอื้อนั่งเรือไปในคลอง   ครูเอื้อร้องเพลง "กลิ่นราตรี" ตามที่มาจากชีวิตจริง   ผู้กำกับละครตัดเพลงนี้ออก  เอาเพลงอื่นใส่แทน แต่พูดสั้นๆ ถึงกลิ่นดอกราตรีหอมในเวลากลางคืนแทน


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ก.พ. 24, 11:33
          ขอบคุณมากครับ

          เชื่อว่าหลายคนก็ผิดคาดเพราะนึกว่าจะมีเพลง บ้านเรือนเคียงกัน
          เสียดายเพลง จังหวะชีวิต เพลงนี้ที่เคยคุ้นจากรายการ ชีวิตกับเพลง ซึ่งนำเสนอการแสดงจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ทางช่องเจ็ด สี
(จัดโดยคุณอัจฉรา กรรณสูต) ออกอากาศทุกคืนวันอาทิตย์
          ฉากครูดำ สั้นๆ ตอนท้ายเรื่องประทับใจ ครับ นักแสดงเลือกมาหน้าละม้ายอยู่

นิตยสาร สารคดี ออนไลน์ เสนอบทความน่าสนใจเมื่อไม่นานมานี้ 1 ตุลาคม 2023

                หลงใหล หลงเหลือ หลงลืม สุนทราภรณ์

https://www.sarakadee.com/2023/10/01/สุนทราภรณ์/

“เคยได้ยินผ่านหู ไม่ค่อยได้เปิดฟังเลย”
"จะอยู่รอดมั้ยก็คงไม่ได้นานขนาดนั้น เหมือนรุ่นเราก็ไม่ค่อยได้สนใจ แต่ถ้าเป็นป้า ๆ น้า ๆ เขาก็สนใจกันอยู่เป็นวัยของเขา อาจจะไม่ได้สืบต่อไป”
“เราว่าเพลงสุนทราภรณ์ไม่ตายหรอก ตราบใดที่ยังมีวันสงกรานต์ วันปีใหม่ และวันลอยกระทง”.....

และ ประเด็น ลิขสิทธิ์

“ประกาศ ทราบมาว่ามีแฟนเพลง นักเรียน ฯลฯ ติดต่อขอโน้ตเพลงบ้าง ขอให้ทำซาวนด์เพลงบ้าง ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่อนุญาตให้นักดนตรีทำให้
ทั้งการก๊อปปี้โน้ตเพลง และทำซาวนด์ดนตรีนะคะ ถ้ามีใครติดต่อมา ขอความกรุณาให้มาติดต่อขอที่ป้าอี๊ดเองนะคะ จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป”

ป้ายกระดาษเคลือบพลาสติกแผ่นนี้ปักด้วยหมุดพลาสติกที่บอร์ดโอ๊กหน้าทางเข้าโรงเรียน

ปัจจุบันผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงของ เอื้อ สุนทรสนาน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ ผู้เป็นลูกสาว แต่เพลงสุนทราภรณ์ไม่ได้มีครูเอื้อเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
ทำนองมีผู้ประพันธ์อีกหลายท่าน ลิขสิทธิ์ก็จะไปอยู่ที่เหล่าทายาท หรือหากขายไว้กับบริษัทใด บริษัทนั้นก็จะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ อย่างบริษัท เมโทรแผ่นเสียง-เทป
(1981) จำกัด ถือลิขสิทธิ์ครูเพลงจำนวนมาก รวมทั้งลิขสิทธิ์สตรีมมิง ซึ่งเป็นสุนทราภรณ์สิ่งบันทึกเสียงดั้งเดิม แต่ถ้าเป็นการคัฟเวอร์ใหม่ ลิขสิทธิ์จะอยู่ที่
คนให้สิทธิ์ เช่น แกรมมี่โกลด์ หรือ Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO)

“ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เนื่องจากคนแต่งเยอะ และไม่รู้ว่าคนแต่งยกให้ใครต่อหรือเปล่า เพราะเสียชีวิตกันหมดแล้ว บางคนก็มอบให้คนที่ไม่ใช่ญาติ
เทคโนโลยีไปเร็วเกินกว่าเราจะทำงานทันหรือกฎหมายจะครอบคลุมทัน”

ไข่หวานกล่าวเสริมว่า หากขอใช้ลิขสิทธิ์เพลงสุนทราภรณ์เชิงพาณิชย์ เช่น รายการประกวดร้องเพลงที่มีรายได้ ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่หากขออนุญาตเชิงการศึกษา
การเผยแพร่ที่ไม่มีรายได้ หรือการกุศล จะอนุญาตให้ใช้ฟรี โดยมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเก็บเป็นข้อมูลว่าให้ใครนำเพลงไปใช้บ้าง

ส่วนกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ให้สิทธิ์เพียง 50-100 ปีหลังเจ้าของผลงานเสียชีวิต จากนั้นจะตกเป็นของสาธารณะ หลานสาวครูเอื้อกล่าวว่าเมืองนอกได้ปรับขยายเวลาแล้ว
แต่ของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นยังมีงานดนตรี โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีก็ยังทำได้ เพียงแค่ไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์อีกต่อไป


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 24, 13:01
  สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   ปัจจุบันคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเคยฟังเพลงสุนทราภรณ์ผ่านหูมาทั้งนั้น จากปู่ย่าตายาย  จากพ่อแม่ลุงป้าน้าอา    บางทีก็ฟังเพลงสุนทราภรณ์ที่ค่ายอื่นนำไปบรรเลง  และการประกวดเพลงทางโทรทัศน์
   คนอายุ 60 ปีขึ้นไปรู้จักเพลงรำวง  เพลงเต้นรำทั้งบอลรูมและลาติน  ชมรมลีลาศเพื่อสุขภาพก็มีให้เห็นหลายแห่ง   สุนทราภรณ์มีเพลงตอบสนองความต้องการของกลุ่มนี้มากกว่าใคร
   ตราบใดยังมีคนขอบ    ลมหายใจของสุนทราภรณ์ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

https://www.youtube.com/watch?v=ycNX3Sr0xh0


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 24, 13:03
https://www.youtube.com/watch?v=OuMmZE-L33Y&t=5029s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 24, 16:33
วิรัช  ศรีพงษ์ คลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ เข้าประกวดรายการ "เพลงเอก"

https://www.youtube.com/watch?v=h8ITarTb2xc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 24, 16:34
https://www.youtube.com/watch?v=e9yF4J4q8wo


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 24, 20:26
    ล่าสุด  สวธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) เปิดตัวเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศ จากเพลง รำวงเริงสงกรานต์ ของสุนทราภรณ์    หลังองค์การยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
    สวธ.ได้กำหนดให้นักร้องคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์เป็นผู้ขับร้องหมู่ เพลงรำวงเริงสงกรานต์  เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูเอื้อ ผู้แต่งทำนองและเป็นผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=Nb2JGb4k68w&t=14s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 24, 07:51
เนื้อร้องภาษาอังกฤษ

ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน              เนื้อร้อง  ดร.สรจักร  เกษมสุวรรณ

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
The hips, the feet, dancing Songkran

(ชาย)Enjoy the holiday, the game we play, let us enjoy
Let Songkran come, have lots of fun
Let everyone, come splash all day
Oh what I say, my honey lady,
Let’s come ‘n play Songkran
(สร้อย)Let’s sing this pretty song, let’s come Ramwong ‘n enjoy Songkran

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
he hips, the feet, dancing Songkran

(หญิง)Hear you, my dearest love, my heart’s pounding and fluttering
My little soul will keep dancing
The drum’s beating, we dance, we sing
Oh my baby, let’s splash away
We dance all day, Songkran

(สร้อย)Let’s sing the pretty song, let’s come Ramwong ‘n enjoy Songkran

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
The hips, the feet, dancing Songkran

(ชาย)Enjoy the holiday, the game we play, let us enjoy
Let Songkran come, have lots of fun
Let everyone, come splash all day
Oh what I say, my honey lady,
Let’s come ‘n play Songkran
(สร้อย)Let’s sing the pretty song, let’s come Ramwong ‘n enjoy Songkran

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
The hips, the feet, dancing Songkran

(หญิง)Hear you, my dearest love, my heart’s pounding and fluttering

My little soul will keep dancing
The drum’s beating, we dance, we sing
Oh my baby, let’s splash away
We dance all day, Songkran

(สร้อย)Let’s sing the pretty song, let’s come Ramwong ‘n enjoy Songkran

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
The hips, the feet, dancing Songkran

(สร้อย)Here comes the Thai New Year
Songkran is here, we sing Thai tune
Hear the beat, ‘tone-pa-tone-tone’
The hips, the feet, dancing Songkran


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 24, 07:52
รำวงเริงสงกรานต์ ฉบับภาษาจีน

https://www.youtube.com/watch?v=7qQYNjCDxy8&t=1s


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 24, 10:05
https://www.youtube.com/watch?v=rRIUCjEACZM


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 24, 10:51
เพลงพรพรหม คำร้อง : แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง : เอื้อ สุนทรสนาน จากเพลงไทยเดิม : แขกมอญบางขุนพรหม   เพลงนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ (ทูลกระหม่อมบริพัตร) ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2453
เป็นเพลงคู่ที่ร้องยากที่สุดเพลงหนึ่ง 

https://www.youtube.com/watch?v=nS3dlic6jXM


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 24, 12:54
https://www.youtube.com/watch?v=YUYnTPdi9Xk


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 24, 13:43
https://www.youtube.com/watch?v=sU3CKJ2uVPc


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 24, 10:32

ในวันนี้ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นวันครบรอบมตะกาล ๔๓ ปี ของครูเอื้อ สุนทรสนาน บุคคลสำคัญของโลก ด้านวัฒนธรรมดนตรีสากล ตามที่องค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องในโอกาสครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี ของท่านเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


ครูเอื้อมีสิ่งสูงสุดที่เทิดทูนอยู่เหนือจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตศิลปินนักดนตรีคือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ ๓๐ ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ และต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อีกด้วย
 
ขอนำผลงานเพลงชิ้นสำคัญ ที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ "สุนทราภรณ์" ได้บรรจงสร้างสรรค์ไว้เป็นปัจฉิมอนุสรณ์ ก่อนที่ท่านจะลาจากวงการดนตรี ลาจากแผ่นดินเกิด ลาจากโลก ไปสู่สัมปรายภพ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ นั่นคือ เพลง "พระเจ้าทั้งห้า" ซึ่งเปรียบเสมือนคำอำลาจากใจของท่าน ด้วยเสียงขับร้องของท่านเอง...

"พระเจ้าทั้งห้า"
ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
คำร้อง : ครูสุรัฐ พุกกะเวส
ขับร้อง : สุนทราภรณ์


ดวงใจดวงเดียว ที่ฉันมีอยู่
ขออุทิศให้ผู้ เอ็นดูเอื้อรักบูชา
มีพระคุณท่วมฟ้า เป็นพระเจ้าทั้งห้า
ปั้นฉันมีค่า สุดคณารำพัน

หนึ่งนั้นหรือ คือบิดาและมารดร
เลือดจากอุทรกลั่นป้อนลูกทุกวัน
สอง ชาติศาสนา มหาทรงธรรม์
พระเจ้าอยู่หัวมิ่งขวัญ ราชันภูมิพล
   
สามความรู้ จากครูอาจารย์
ขับขานชำนาญเพราะท่าน ช่วยกันหว่านพืชผล
สี่ลูกรักเมียขวัญ สำคัญกว่าตน
ทุกข์สุขยอมทน เพื่อคนรักด้วยดวงใจ
   
พระที่ห้า มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิน
ซอสุดรักไวโอลิน เหนือศิลป์ใดใด
ขอฝากเพลงร้อง ให้เสียงนั้นก้องตลอดไป
อนุสรณ์ฝากไว้ จากหัวใจสุนทราภรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=P4Sa0zbwSzI



กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 24, 19:22
ช่วงสงกรานต์ จะได้ยินเสียงเพลงรำวงของสุนทราภรณ์เป็นประจำ
https://www.youtube.com/watch?v=TxRi5s-vbrY


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 24, 16:53
บรรยากาศของการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์เมื่อพ.ศ. 2499  หาดูได้ยาก
ผู้ที่อยู่ในคลิปไปสวรรค์กันหมดแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=jewjQEoSsZI


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 27 เม.ย. 24, 16:04
บรรยากาศของการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์เมื่อพ.ศ. 2499  หาดูได้ยาก
ผู้ที่อยู่ในคลิปไปสวรรค์กันหมดแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=jewjQEoSsZI

เหตุการณ์นี้คือตอนที่ Benny Goodman เดินทางมาเปิดการแสดงในเมืองไทยครับ
ครั้งนั้น นอกจากบรรเลงเพลง อารมณ์หวัง ให้คุณศรีสุดา รัชตะวรรณ ร้องแล้ว
ยังบรรเลงดนตรีเพลง คิดไม่ถึง ประชันระหว่างไวโอลินของครูเอื้อ กับคลาริเน็ตของเบนนี่อีกด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=OosthQ7_K68

ป.ล. คนที่เป่าขลุ่ยในเพลง อารมณ์หวัง น่าจะเป็นครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ถ้าจำไม่ผิด


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 27 เม.ย. 24, 16:10
เพลง "อารมณ์หวัง"
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน (นำมาจากเพลงไทย แขกอาหวัง)
คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์
ศรีสุดา รัชตะวรรณ ขับร้อง
บรรเลงดนตรีในแบบ "สังคีตสัมพันธ์"

https://www.youtube.com/watch?v=6MbM_zATRs4


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 27 เม.ย. 24, 16:16
เพลง "คิดไม่ถึง"
ทำนอง ม.ล.ขาบ กุญชร (ใช้นามแฝงว่า อปส. หมายถึง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์)
คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์
วินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง

https://www.youtube.com/watch?v=w7b3XxcEeMc

เคยเจอลิงก์เพลงเวอร์ชั่นที่เบนนี่บรรเลงกับวงครูเอื้อ แต่ตอนนี้หาไม่เจอแล้ว เข้าใจว่าอัดจากภาพยนตร์ข้างต้นนี่แหละครับ


กระทู้: สุนทราภรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 24, 19:50
ขอบคุณมากที่มาเฉลยให้ฟังค่ะ  น่าตื่นเต้นมาก  เขาเป็นนักดนตรีีระดับโลก

ในยูทูปอธิบายเพิ่มเติมว่า  เบนนี่ กู๊ดแมน ราชาเพลงสวิง ประชันกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือ วงสุนทราภรณ์ ควบคุมวงโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน  และเป่าคาริเน็ตประชันกับเสียงขลุ่ยของครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์  นอกจากนี้ยังได้ร่วมรำวงในเพลงเต้นรำวงเกี่ยวข้าว

ระหว่างการพำนักในกรุงเทพกู๊ดแมนและคณะได้เล่นดนตรีการกุศลเพื่อหาเงินสมทบทุนการก่อสร้างโรงพยาบาล  และยังบรรเลงเพลงไทยสากลหลายเพลงในงานลีลาศการกุศลที่เวทีลีลาศ สวนลุมพินี เอกอัครราชทูตอเมริกัน  นำกู๊ดแมนร่วมชมงานการแสดงสินค้าของสหรัฐอเมริกา  และทำการแสดงการเล่นคลาริเน็ตพร้อมวงดนตรี  ซึ่งมีผู้เข้าชมงานจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  กู๊ดแมนและคณะได้ท่องเที่ยวตามลำน้ำเจ้าพระยา  เที่ยวชมชุนชนริมคลองและวัดสองฝั่งน้ำเจ้าพระยา  เรือล่องผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คณะได้แวะเยี่ยมชมพระปรางค์วัดอรุณ  หลังจากนั้นในเวลาค่ำก็ทำการจัดการแสดงดนตรีอย่างสนุกสนามต่อผู้ชมเพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้สร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน