เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3961 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 02 มี.ค. 24, 21:53

   ดิฉันไม่เคยเห็นหลุมหลบภัยสำเร็จรูปเลยค่ะ   ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีกัน   ผู้ใหญ่เล่าแต่ว่าหลุมหลบภัยตามบ้านทั้งหลาย  เจ้าของบ้านจ้างคนมาขุดกันตามมีตามเกิด   ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามจำนวนสมาชิกภายในบ้าน 
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 09:06

คนที่ไม่ยอมออกจากบ้านมีเยอะเหมือนกันนะครับอาจารย์ บางคนแค่สวมเสื้อผ้าให้ดีหน่อยแล้วนอนต่อ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 09:27

อเมริกากลับมาแล้ว

     วันที่ 5 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 Mitchell จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 341 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินข้ามชายแดนเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สนามบินเชียงใหม่ ทำลายเครื่องบินชนิดต่างๆ บนลานจอดจำนวน 9 ลำ ต่อด้วยทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่อีกครั้ง รวมทั้งสถานีลำพูนซึ่งอยู่ติดวัดป่ายางหลวง ระเบิดหลายลูกพลัดหล่นใส่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ สร้างความเสียหายให้กับตัวอาคารบางส่วน

     เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางรุ่น B-25 บรรทุกระเบิดได้มากสุด 3,000 ปอนด์หรือลูกระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวน 15 นัด เป็นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์บินได้ไกลสุดประมาณ 2,000 กิโลเมตร ระยะทำการสั้นเกินไปที่จะใช้งานกับภารกิจในกรุงเทพ ทว่าภาคเหนือกับภาคตะวันตก B-25 จากประเทศอินเดียบินไปกลับได้อย่างสบาย

     คนไทยอาจไม่คุ้นเคยเครื่องบิน B-25 มากนัก เท่ากับคนพม่า ซึ่งรู้จักอย่างแพร่หลายเพราะบินจากอินเดียมาทิ้งระเบิดใส่ทหารญี่ปุ่นเกือบทุกวัน นอกจากนี้ยังช่วยงานด้านธุรการรวมทั้งส่งจดหมายไปยังแนวหน้า B-25 มีบทบาทในยุโรปมากเทียบเท่าเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นอื่น สามารถทำภารกิจบินลาดตระเวนทางทะเล โจมตีเรือผิวน้ำกับเรือดำน้ำได้เป็นอย่างดี จัดว่าเป็นเครื่องบินรบที่มีความอเนกประสงค์มากที่สุดรุ่นหนึ่ง

     วันที่ 5 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 490 บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดในทะเลบริเวณเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี ต่อด้วยทิ้งระเบิดใส่เกาะปรงซึ่งอยู่ใกล้กัน

     วันที่ 6 มีนาคม 2487 มีรายงานการทิ้งระเบิดในกรุงเทพตอนกลางคืน แต่ไม่มีรายละเอียดชนิดเครื่องบิน จำนวนเครื่องบิน และความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     ในภาพคือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 ฝูงบิน 490 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย ลำบนใช้ในภารกิจยุทธการและส่งจดหมาย ส่วนลำล่างใช้ในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิด มองเห็นสัญลักษณ์ลูกระเบิดใต้กระจกห้องนักบิน แสดงเที่ยวบินทั้งหมดที่เครื่องบินลำนี้เข้าร่วมภารกิจ (เยอะมาก)

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 09:56

     วันที่ 15 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาถล่มเป้าหมายในกรุงเทพตามปรกติ เครื่องบินลำแรกเริ่มทำภารกิจเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง โรงไฟฟ้าสามเสนคือสิ่งที่ต้องกำจัดตามแผนการ Thailand Bombing Campaign ทว่าการระเบิดยังคงพลาดเป้าหมายตามปรกติ วัดโบสถ์สามเสนกับโรงหนังตำบลศรีย่านเป็นฝ่ายรับเคราะห์เกิดความเสียหายเล็กน้อย

     วันเดียวกันเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด P-51 Mustang จำนวน 2 ฝูง บินจากฐานทัพอากาศเมือง Cox's Bazaar ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันคือประเทศบังกลาเทศ) จุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองหลวงประเทศไทย นี่คือครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่ชื่อเสียงโด่งดังโจมตีกรุงเทพ ระยะทางไปกลับรวมกันประมาณ 2,900 กิโลเมตร เป็นภารกิจระยะทางไกลที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งเป็นภารกิจระยะทางไกลสุดตลอดกาลของเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้

     P-51 เป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงกองบินทหารบกสหรัฐอเมริกา หน้าที่หลักคือคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลให้อยู่รอดปลอดภัยกลับคืนสู่สนามบิน ทว่าตัวเองสามารถบรรทุกระเบิดได้มากสุด 2,000 ปอนด์ หรือจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน 10 นัด จึงทำภารกิจสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีไม่แพ้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดเล็ก เหตุผลที่ P-51 บินถึงกรุงเทพเพราะติดถังน้ำมันสำรองใต้ปีกจำนวน 2 ถัง โดยมีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกเป็นอาวุธป้องกันตัว

     การส่งเครื่องบิน P-51 จำนวน 2 ฝูงบินมาเยี่ยมเยียนกรุงเทพ คาดเดาว่าเป็นเพียงการทดสอบการบินระยะไกลครั้งแรก อเมริกากำลังพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่า การทิ้งระเบิดใส่ประเทศไทยต้องมีเครื่องบินขับไล่ตามมาคุ้มกันหรือไม่

     นายพล Levi Chase ผู้บังคับการฝูงบินทิ้งระเบิดสหรัฐอเมริกาในเขตเอเชียตะวันออก  คือผู้วางแผนและกำหนดเส้นทางบินการจาก Cox's Bazaar ถึงกรุงเทพ ได้รับความชื่นชมผลงานจากรัฐบาลและได้รับรางวัล Silver Star จากกองทัพบกอเมริกา

     การส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายที่อยู่ห่างไกลเป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายมาก เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงผมจะถือโอกาสขยายความอีกครั้ง

     ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ P-51 Mustang ประจำการอยู่ที่ฐานทัพประเทศอินเดีย หน้าตาแบบนี้ทาสีพรางแบบนี้แหละที่บินเข้ามาโจมตีประเทศไทย

     


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 10:12

     วันที่ 15 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาถล่มเป้าหมายในกรุงเทพตามปรกติ เครื่องบินลำแรกเริ่มทำภารกิจเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง โรงไฟฟ้าสามเสนคือสิ่งที่ต้องกำจัดตามแผนการ Thailand Bombing Campaign ทว่าการระเบิดยังคงพลาดเป้าหมายตามปรกติ วัดโบสถ์สามเสนกับโรงหนังตำบลศรีย่านเป็นฝ่ายรับเคราะห์เกิดความเสียหายเล็กน้อย     
      บ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ศรีย่าน  เป็นจุดอันตรายจุดหนึ่ง เพราะมีโรงไฟฟ้าสามเสนอยู่ไม่ห่างนัก ญาติๆเตือนให้ไปอยู่ที่อื่น  แต่ท่านก็ไม่สะดวกที่จะอพยพ   เคราะห์ยังดีไม่ร้ายถึงที่สุด  โรงหนังและวัดรับเคราะห์แทน  บ้านชาวบ้านแถวนั้นรอดมาได่
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 12:01

ภาคเหนือและภาคตะวันตกเริ่มร้อนระอุ

     วันที่ 23 มีนาคม 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 12 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายไทย-พม่า โดยเริ่มโจมตีตั้งแต่พม่าไล่มาเรื่อยๆ จนข้ามพรมแดน ทำลายสิ่งก่อสร้าง 2 แห่ง รถไฟญี่ปุ่นจำนวน 2 ขบวนเกิดความเสียหายหนัก นี่คือคำประกาศอย่างชัดเจนสัมพันธมิตรเริ่มเอาจริงเรื่องทิ้งระเบิดในไทย และทางรถไฟสายนี้คือเป้าหมายสำคัญที่พวกเขาต้องการทำลาย

     วันที่ 5 เมษายน 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 13 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายไทย-พม่า ระหว่างเมืองเมาะลำลิง (หรือมะละแหม่ง อดีตเมืองหลวงรัฐมอญ) ไล่มาจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี

      วันที่ 12 เมษายน 2487 เครื่องบิน  B-24 จำนวน 5 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ การโจมตีครั้งนี้ไม่มีบันทึกในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันควรที่ผมจะขอขยายความ

     สงครามโลกครั้งที่สองช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นบุกพม่าฝั่งซ้ายเพื่อเข้าปะทะกองทัพอังกฤษ ส่วนไทยบุกฝั่งขวาเพื่อเข้าปะทะกองทัพจีน (หรือที่รู้จักกันในชื่อสงครามเชียงตุง) จังหวัดนครสวรรค์มีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร เพราะเป็นที่ตั้งกองพลที่ 4 ประกอบไปด้วย กองพลทหารม้าจำนวน 1 กองพล กรมทหารม้าอิสระ (กรมทหารม้าที่ 12) จำนวน 1 กรม กองพันทหารราบจำนวน 1 กองพัน กองพันทหารปืนใหญ่จำนวน 2 กองพัน และกองพันทหารช่างอีก 4 กองพัน ญี่ปุ่นจึงส่งทหารจำนวนพอสมควรมาตั้งค่ายประกบค่ายทหารไทย กำลังพลซึ่งถอนตัวจากการรบในพม่าจะถูกส่งกลับค่ายทหารจังหวัดนครสวรรค์

     การปรากฏตัวของทหารญี่ปุ่นนำมาซึ่งการโจมตีทางอากาศ และการปรากฏตัวของทหารญี่ปุ่นนำมาซึ่งความเจริญ ประเทศไทยใช้เรือและรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม โดยมีถนนเส้นเล็ก ๆ สำหรับเกวียนของชาวบ้าน ญี่ปุ่นต้องการเส้นทางลำเลียงรถถังและยานหุ้มเกราะเพิ่มเติม โดยปรกติการขนส่งขนาดใหญ่ในประเทศไทยทำได้เพียงรถไฟ จึงมีการสร้างถนนกับสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับรถยนต์เพิ่มเติมเข้ามา

     สะพานเดชาติวงศ์เริ่มต้นตอกเสาเข็มในปี 2485 พาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง เป็นจุดยุทธศาสตร์อีกหนึ่งจุดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย หรืออย่างน้อยที่สุดต้องขัดขวางให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า การทิ้งระเบิดใส่นครสวรรค์จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลจากการโจมตีส่งผลให้สะพานเดชาติวงศ์ต้องเปิดใช้งานปี 2493 หรือหลังสงครามสิ้นสุดถึง 5 ปี


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 03 มี.ค. 24, 12:05

โกโบริแห่งขุนยวม

นครสวรรค์ยังเป็นสถานที่ถือกำเนิดตำนานรักข้ามชาติ ระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวเย็บผ้าชาวไทย ร้อยเอกโทโมโยชิ อิโนอุเอะ (ภายหลังได้เป็นดอกเตอร์) ปรกติประจำการที่ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงปลายสงครามเขาถูกส่งตัวมาอยู่จังหวัดนครสวรรค์ และบังเอิญตกหลุมรักคุณสำเนียงซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จึงได้แวะมาเยี่ยมฝ่ายสาวกับครอบครัวไม่ขาดสาย เพื่อนบ้านมักเห็นทหารญี่ปุ่นนายนี้ขี่ม้าผ่านบ้านคุณสำเนียงเป็นเรื่องปรกติ

เมื่อสงครามเอเชียมหาบูรพาสิ้นสุดญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ทหารทั้งหมดถูกส่งตัวกลับประเทศในฐานะเชลยสงคราม คุณสำเนียงนำผ้าเช็ดหน้าทำมือส่งมอบให้ฝ่ายชาย ผ้าเช็ดหน้าผืนนี้เธอปักลายหัวม้ามีช่อซากุระประดับสองฝั่ง ด้านล่างปักชื่อย่อร้อยเอกหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย
ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันหลายสิบปี ก่อนได้พบกันอีกหลายครั้งในวัยชรา และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตราบจนสิ้นลม ร้อยเอกโทโมโยชิมักพกกล้องถ่ายรูปเยอรมันขนาด 35 ม.ม.ติดตัว เขามีภาพถ่ายสงครามโลกที่หายากมากกว่า 500 ภาพ ปัจจุบันคุณยายสำเนียงจากไปแล้วตามอายุขัย ส่วน ‘โกโบริแห่งขุนยวม’ อายุ 90 กว่ายังมีชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ข้อมูลหลายปีแล้วครับปัจจุบันไม่ทราบเป็นอย่างไรบ้าง

ร้อยเอกโทโมโยชิประจำการที่แม่ฮ่องสอนหลายปี เขาเคยบาดเจ็บอย่างหนักได้รับการดูแลจากคนไทยจนหายสนิท จึงมีความผูกพันกับแม่ฮ่องสอนค่อนข้างมาก อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบทกลอนที่ร้อยเอกโทโมโยชิแต่งขึ้นมอบให้กับอนุสรณ์สถาน ผมหาเวอร์ชันมาใส่เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา (เข้าใจว่าแต่งเป็นภาษาญี่ปุ่นและมีคนช่วยแปลเป็นภาษาไทย)

แด่เพื่อนต่างแดน

เพื่อผืนปฐพี ชีวิตยอมพลี ไปสู่สงคราม
หวงห่วง มาตุคาม แม้ถูกจองจำ ไร้เสรี
ถูกคน ดูแคลนยากไร้ หากอบอุ่นด้วยใจ เมตตาจิต
40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่าง ในความทรงจำ
ความกรุณาที่มี ให้นั้น เกินขอบเขตกั้น ของภาษา
ใครเล่าจะลืม ความเมตตา จวบจนสื่น ชีวาวาย
ยามเหงา เศร้าโศกทุกข์ทน อดทนเงยหน้ามอง ผืนฟ้า
ด้วยความทรงจำ ที่ยังตรึงตรา เห็นผืนฟ้า ดวงจันทร์ ส่องงาม
ไม่ว่าจะอยู่ ที่ไหน ญี่ปุ่นหรือไทย กันเล่า
ต่างผิวพรรณ ต่างเผ่า เราอยู่ใต้จันทร์เจ้า ดวงเดียวกัน

แต่งโดย โทโมโยชิ อิโนอุเอะ 3 ธันวาคม 2529

ภาพใหญ่ : ร้อยเอกโทโมโยชิ อิโนอุเอะ  ภาพเล็ก : การพบกันอีกครั้งระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่น (ขวาสุด) กับสาวเย็บผ้าชาวไทย (ที่สองจากซ้าย)





บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 04 มี.ค. 24, 09:58

     วันที่ 23 เมษายน 2487 เครื่องบินขับไล่ P-38 Lightning ของสหรัฐจำนวน 2 ลำ บินเข้ามาโจมตีรถทหารซึ่งจอดอยู่หน้าโรงพยาบาลค่ายกาวิละ ถือเป็นการเปิดตัวเครื่องบินขับไล่รูปร่างแปลกประหลาดครั้งแรกในเมืองไทย P-38 ถูกออกแบบให้มีสองเครื่องยนต์ สองแพนหาง ลำตัวเครื่องบินมีเพียงครึ่งเดียว ชาวบ้านที่เห็นพากันแปลกใจทว่าภายหลังชักเริ่มคุ้นเคย เพราะ P-38 มักบินข้ามชายแดนเข้ามาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในพื้นที่ภาคเหนือเป็นว่าเล่น

     สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินขับไล่ P-38 มาใช้งานในประเทศจีน พม่า และอินเดีย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2486 สังกัดฝูงบิน 459 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย (มาก่อนเครื่องบินขับไล่ P-51 Mustang ประมาณ 5 เดือน) ติดตั้งปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกบริเวณจมูกเครื่องบิน บรรทุกระเบิดรวมกันได้มากถึง 5,000 ปอนด์ หรือถังน้ำมันสำรองจำนวน 2 ถังกับจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน 10 นัด ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล สามารถทำภารกิจทิ้งระเบิดสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีเช่นเดียว

     สหรัฐอเมริกาทยอยส่งเครื่องบินรุ่นใหม่มาประจำการในอินเดียกับจีน ทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดสองเครื่องยนต์ B-25 Mitchell เครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดี่ยว P-51 Mustang และเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์ P-38 Lightning B-25 มีบทบาทต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อย ส่วน P-51 กับ P-38 มีบทบาทมากกว่าพอสมควร โดยเฉพาะการทำยุทธเวหาครั้งสำคัญกับกองทัพอากาศไทยในช่วงปลายปี 2487

    ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ P-38 Lightning จากฝูงบิน 459 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย ลายเขียวเข้มท้องขาวคือสิ่งคุ้นตาคนไทยภาคเหนือในช่วงนั้น สังเกตนะครับเครื่องบินค่อนข้างใหญ่จึงบินได้ค่อนข้างไกลและบรรทุกอาวุธได้ค่อนข้างมาก

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 04 มี.ค. 24, 10:04

การโจมตีเมืองลับแล

     วันที่ 24 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 2 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 บินเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ ห่างจากสถานีรถไฟบ้านดาราเพียงหนึ่งกิโลเมตรเศษ ผลการโจมตีรางรถไฟบนสะพานข้ามแม่น้ำน่านเกิดความเสียหายอย่างหนัก ต้องขนคนลงจากรถไฟแล้วเสี่ยงตายเดินข้ามสะพานมาขึ้นรถไฟอีกขบวนที่อยู่คนละฝั่ง

     วันเดียวกันมีการโจมตีสถานีรถไฟวังกะพี้และโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ มีพลเรือนถูกลูกหลงจากกระสุนปืนกลขนาด 12.7 มม.เสียชีวิตจำนวน 3 ราย

     โรงงานน้ำตาลคือหนึ่งในความเจริญรุ่งเรืองประเทศไทยยุคสมัยนั้น ระหว่างปี 2482 มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดย พลเอก พระยาพหลพยุหเสนา เป็นประธานในพิธี โรงงานเริ่มเดินเครื่องทำงานปี 2484 รับมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดิบพอดี มีการสร้างทางรถไฟจากสถานีวังกะพี้มายังโรงงานน้ำตาล เพื่อขนส่งสินค้าไปยังทั่วประเทศอย่างรวดเร็วถือว่าทันสมัยมาก เมื่อโรงงานถูกขายกิจการเส้นทางรถไฟจึงถูกรื้อออกตามกัน ปัจจุบันเหลือเพียงแนวคันทางให้คนรุ่นหลังที่มีความสนใจได้ศึกษาเพิ่มเติม

    

     วันที่ 25 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ครั้งที่สองในรอบสองวัน ท่ามกลางไทยมุงจำนวนมากที่จูงลูกจูงหลานแห่มาดูระเบิดลง ส่งผลให้ช่างซ่อมสะพานรวมทั้งบรรดาไทยมุงบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง ขบวนรถไฟสายพิษณุโลกไปอุตรดิตถ์ถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก ระเบิดหลายลูกสร้างความเสียหายต่อสะพานทว่าสะพานยังไม่พัง นั่นหมายความว่าอนาคตสถานที่แห่งนี้ต้องถูกโจมตีอีกครั้งและอีกครั้ง
 
     วันเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำฝูงนี้แหละครับ บินมาถล่มสะพานห้วยแม่ต้า ใกล้สถานีแก่งหลวง-บ้านปินในพื้นที่จังหวัดแพร่ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดตำนวนตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิดโด่งดังจนถึงปัจจุบัน

     ผมนำข้อมูลจากคนในพื้นที่มาให้อ่านน่าจะเหมาะสมกว่าเขียนเอง
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 04 มี.ค. 24, 10:09



http://www.longnfe.go.th/?p=305

   “แพร่แห่ระเบิด” เป็นเรื่องจริงหรืออิงตลก หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว คำว่า “แพร่แห่ระเบิด” ห้ามพูดเด็ดขาดในเมืองแพร่ เป็นวลีล้อเลียนชวนให้ทะเลาะวิวาท “แพร่แห่ระเบิด” เป็นคำที่คนแพร่ถูกล้อเลียนกันมาหลายทศวรรษ คนต่างจังหวัดนิยมยกขึ้นมาล้อกันอย่างสนุกปาก คนเมืองแพร่ที่ถูกทักทายด้วยสำนวนนี้ บางคนก็รู้สึกงง บางคนก็รู้สึกเฉยๆ บางคนก็รู้สึกตลกขบขัน บางคนก็รู้สึกอาย หรือบางคนก็รู้สึกโกรธ แล้วแต่บุคคลและสถานการณ์ คนแพร่เมื่อออกนอกพื้นที่มักจะถูกถามเรื่องแพร่แห่ระเบิด ผู้คนต่างพากันเล่าเรื่องราวผิดเพี้ยนไปต่างๆนาๆ ดังเช่น “ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินทิ้งระเบิดตกลงมาที่แพร่ แล้วคนแพร่ก็ไม่รู้ว่าเป็นระเบิดเลยเอามาแห่นึกวาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตกจากสวรรค์ พากันนำมาแห่รอบเมืองแห่ไปแห่มาก็ดันระเบิดทำให้คนตายทั้งเมือง”

   “มีลูกระเบิดตกมาจากฟ้า ชาวแพร่คิดว่าเป็นระเบิดจากเทวดา นำไปแห่จนระเบิดตายทั้งเมือง เลยกลายเป็นที่มาของเมืองแพร่แห่ระเบิด”

   “มีชาวบ้านเมืองแพร่เข้าป่าไปหาหน่อไม้ไปเจอลูกไข่เหล็กเกิดแตกตื่น จึงนำลูกไข่เหล็กไปแห่รอบบ้านบอกเป็นไข่เทวดาเพราะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ปรากฏว่าระเบิดแตกตายไปครึ่งเมือง”

   “มีระเบิดตกลงมาจากท้องฟ้า ชาวบ้านนึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาจากสวรรค์ก็เลยเอามาแห่ แล้วระเบิดตายทั้งหมู่บ้าน ตายทั้งบ้านทั้งเมือง รวมทั้งเจ้าเมืองด้วย ก็เลยไม่มีนามสกุล ณ แพร่”

   เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาอย่างตลกเรื่อยมา

   ทำไมต้องแห่ แห่ระเบิดที่แท้จริงคืออะไร ข้อเท็จจริงจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องมีใจความว่ามีการพบซากระเบิด ซากระเบิดที่พบมีทั้งหมด 3 ลูก ได้นำไปถวายทำเป็นระฆังให้วัดทั้ง 3 ลูก ถูกนำไปถวายให้แก่วัดเพื่อนำไปเป็นระฆัง ลูกที่ 1 อยู่ที่วัดแม่ลานเหนือ ลูกที่ 2 อยู่ที่วัดศรีดอนคำ และลูกที่ 3 อยู่ที่วัดนาตุ้ม จากการสอบถามข้อมูลจากผู้รู้จึงได้ข้อมูลมาว่าที่จริงแล้วแพร่แห่ระเบิดกันทำไม

   ระเบิดลูกที่ 1 ในปี พ.ศ.2516 นายหลง มะโนมูล และคนงานสถานีรถไฟที่ดูแลเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟบ้านปินถึงสถานีแก่งหลวง ได้พบซากลูกระเบิดโผล่พ้นดินขึ้นมาในสวนของนายถา ถนอม ใกล้แม่น้ำยม บ้านแม่ลู้ จึงได้มาบอกให้นายสมาน หมื่นขัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่ลานเหนือ

   ระเบิดลูกที่ 2 และลูกที่ 3 พบพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน ได้นำไปถวายเป็นระฆังลูกระเบิดให้แก่วัดศรีดอนคำและวัดนาตุ้ม ในปี พ.ศ. 2499 นายมา สุภาแก้ว และนายชาญณรงค์ อินปันดี ทั้งสองคนได้นำช้างไปรับจ้างลากไม้ซุงที่ถูกลักลอบตัดทิ้งไว้บนเขาให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้พบเศษเหล็กกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่บริเวณเชิงเขาใกล้ลำน้ำยมและใกล้กับสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า ด้วยความสงสัยจึงได้ขุดดูและพบกับท่อนเหล็กขนาดใหญ่ซึ่งเป็นซากระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระเบิดที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งทำลายสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นที่จะเข้าสู่ภาคเหนือและข้ามแดนไปประเทศพม่า ซากระเบิดที่พบเป็นระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินแล้วไม่ระเบิด ทหารสัมพันธมิตรจึงได้ทำลายด้วยการตัดส่วนหางของระเบิดเพื่อเอาดินปืนข้างในทิ้ง และทิ้งซากลูกระเบิดไว้เพราะไม่สามารถนำระเบิดกลับไปได้เนื่องจากน้ำหนักมาก และห่างจากบริเวณที่ขุดพบระเบิดลูกที่หนึ่งประมาณ 10 เมตร ก็ได้เจอกับระเบิดอีกลูกหนึ่ง ทั้งสองจึงได้ใช้ช้างลากลูกระเบิดขึ้นมาจากหลุมและลากมาไว้บริเวณปางไม้ริมน้ำยม จากนั้นได้นำซากระเบิดขึ้นแพไม้สักขององค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อนำมาขึ้นฝั่งบริเวณปากลำห้วยแม่ลานในเขตตำบลปากกาง แล้วใช้ช้างลากซากระเบิดมาไว้ที่บ้าน โดยแบ่งซากระเบิดกันคนละลูก และนำซากระเบิดไปตั้งไว้ใกล้บันไดบ้านเพื่อใส่น้ำไว้ล้างเท้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 นายมา สุภาแก้ว ได้นำซากระเบิดไปถวายวัดศรีดอนคำ

   เพื่อทำเป็นระฆัง เนื่องจากเคาะดูแล้วมีเสียงดังกังวาน โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 ได้นำใส่เกวียนแห่ร่วมกับขบวนแห่ครัวทาน(เครื่องไทยทาน) งานประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง)ของหมู่บ้านดอนทราย ในขบวนแห่มีการนำฆ้อง กลอง มาตีกันอย่างสนุกสนาน จึงเกิดคำว่า “แพร่แห่ระเบิด” ขึ้น

   และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2516 นายชาญณรงค์ อินปันดี ได้นำซากระเบิดอีกลูกไปถวายให้วัดนาตุ้ม อ.ลอง จ.แพร่ นี้คือข้อเท็จจริงจากบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์

   คุณเชษฐา สุวรรณสา เจ้าของร้านกาแฟแห่ระเบิดได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร ทันทีที่เพื่อนๆรู้ว่าตนมาจากจังหวัดแพร่ คำทักทายแกมเย้ยหยัน แพร่แห่ระเบิดเป็นวลีที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เมื่อถูกถามครั้งแรกก็งงๆ เมื่อกลับมาอยู่บ้านจึงได้สอบถามคนแพร่ว่า

   เคยถูกล้อเรื่อง แพร่แห่ระเบิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็จะตอบตรงกันว่า โดน เรียกได้ว่าโดนกันทั้งนั้น

   ดังนั้นจึงสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า “ระเบิดที่แห่มีจริง ไม่ได้แห่เพราะการไม่รู้จักระเบิดจนแตกตายไปครึ่งเมือง แต่ระเบิดที่กล่าวถึงคือระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำแห่ไปถวายวัดเพื่อทำระฆังที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่”

   ปล.อ่านแล้วงงกับช่วงเวลาเหมือนกันนะครับ เหมือนสองลูกแรกจะเจอปี 2499 แต่เก็บไว้กับตัวเองจนถึงปี 2516 ถึงมอบให้วัด

     


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 04 มี.ค. 24, 10:43

  เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสงครามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง    นอกจากเรื่องข้าวยากหมากแพง เสื้อผ้า สบู่ น้ำตาลทราย ยารักษาโรคขาดแคลนมากแล้ว ยังมีเรื่องปาฏิหาริย์อีกด้วย
   ปาฏิหาริย์ที่ได้ฟังมาตอนเล็กๆ  กับที่ไปหาอ่านเองเมื่อตอนโต มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่เหมือนกันอยู่อย่างคือพระพุทธรูปแสดงปาฎิหารย์มิให้ระเบิดตกลงมาที่วัดของท่าน    ส่วนเป็นของวัดไหน หลวงพ่อองค์ไหน  คำบอกเล่าก็ไม่ซ้ำองค์เช่นกัน   แต่ที่แน่ๆ  ไม่มีแม่ชี

  คลิปนี้เล่าถึงปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโบสถ์น้อย  วัดอมรินทรารามวรวิหาร  เชิญชมคำบอกเล่าได้ตั้งแต่นาทีที่ 12.23 ค่ะ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 05 มี.ค. 24, 10:33

ผลลัพธ์จากการโจมตีอย่างหนัก

     การทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์สองครั้งภายในสองวัน สร้างความโกลาหลให้กับทุกฝ่ายในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะได้เห็นเต็มสองตาแล้วว่าหายนะมาเยือนถึงประตูบ้าน ศาลากลางจังหวัดกับหลายหน่วยงานถูกย้ายมาอยู่อำเภอลับแล โรงเรียนชายประจำจังหวัดย้ายมาที่ศาลาวัดบรมธาตุทุ่งยั้ง  ส่วนโรงเรียนสตรีจังหวัดย้ายมาที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อมหาดท่าอิฐ

     การต่อต้านจากทหารญี่ปุ่นและทหารไทยมีจำนวนค่อนข้างน้อย การทิ้งระเบิดใส่อุตรดิตถ์จึงทำในช่วงกลางวันมองเป้าหมายชัดเจน ทหารญี่ปุ่นต้องนำปืนต่อสู้อากาศยานมาติดตั้งเพิ่มเติม หวังป้องกันสะพานข้ามแม่น้ำน่านที่กำลังเร่งมือซ่อมแซม มีการแจ้งเตือนภัยระเบิดลงด้วยเสียงหวอเหมือนคนในกรุงเทพ แต่ดูเหมือนจะน่ากลัวกว่าเพราะการโจมตีเกิดขึ้นตอนกลางวัน

     สถานีรถไฟอุตรดิตถ์เป็นสถานีขนาดค่อนข้างใหญ่ สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงแผ่นดินยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่สับเปลี่ยนขบวนรถไฟที่จะเดินทางขึ้นเหนือ ขบวนรถต้องวิ่งขึ้นเนินเขาที่ทั้งสูงชันและคดโค้ง อ้อมมาตามด้านข้างภูเขาสลับวิ่งเลียบลำห้วยน้อยใหญ่ รถไฟจากกรุงเทพจะถูกตัดออกเป็นสองหรือสามขบวน เพื่อให้หัวรถจักรมีแรงมากพอลากขึ้นเขาสำเร็จ การเติมน้ำเติมฟืนใช้เวลายาวนานกว่าทุกสถานี จึงมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของจำนวนมาก ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็นชุมชนด้านหลังสถานี มีของกินของใช้ให้บริการผู้โดยสารขึ้นเหนือหรือลงกรุงเทพ

     ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถูกส่งมาคุ้มกันสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ พร้อมอาวุธหนักเบาแปรผันไปตามสถานการณ์ มีการจัดตั้งหน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหาร และหน่วยซ่อมเครื่องจักรกลในบริเวณใกล้เคียงสถานี ส่งผลให้มีทหารญี่ปุ่นในอุตรดิตถ์จำนวนพอสมควร ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งจุด

     ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เคยโจมตีสะพานปรมินทร์ไปแล้วหนึ่งครั้ง โชคดีที่ตัวสะพานแทบไม่เป็นอะไร เมื่อถูกระเบิดอีก 2 ครั้งจนเกิดความเสียหายอย่างหนัก การรถไฟสร้างสะพานชั่วคราวขึ้นมาและซ่อมสะพานจริงไปพร้อมกัน โดยการสร้างตับธรณีไม้ทับด้านบนโครงเหล็กซึ่งยุบตัวหักลงมา แล้ววางรางรถไฟขนาด 1.435 เมตรให้ขบวนรถไฟวิ่งผ่าน เท่ากับว่าจนถึงตอนนี้สะพานปรมินทร์ยังใช้งานได้ตามปรกติ

     ในภาพคือสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา สมัยที่ทางรถไฟยังเป็นแบบ dual-gauge  (วิ่งได้ทั้งขบวนรถไฟที่มีความกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร)

   


     การโจมตีทางอากาศยังมีตามปรกติ วันที่ 3 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำจากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่บ้านโป่ง ราชบุรี แล้วเลยไปทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่หนองปลาดุก ก่อนเบนหัวกลับมาลงจอดฐานทัพอากาศในประเทศอินเดีย

     วันที่ 7 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 4 ลำจากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่พระโขนงและสถานีรถไฟปากน้ำ ขากลับยังแวะทิ้งทุ่นระเบิดในอ่าวไทยบริเวณชายฝั่งสัตหีบ

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ยังเป็นภัยร้ายจากฟากฟ้าที่คนไทยพากันหวาดกลัว ทว่าอีกไม่นานภัยร้ายจากฟากฟ้าจะถูกปรับเปลี่ยนให้มีความน่ากลัวมากกว่าเดิม


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 05 มี.ค. 24, 15:10

วัสสานฤดูที่กรุงเทพ

     เมื่อประเทศไทยย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่ลูกเด็กเล็กแดงจะได้กลับมาทำหน้าที่สำคัญ วันที่ 17 พฤษภาคม 2487 คือวันแรกของการเปิดเทอมระดับประถมและมัธยม ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายให้ความชุ่มชื้นและเฉอะแฉะ นักเรียนทุกระดับชั้นต้องมาเรียนหนังสือตามปรกติ ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกแห่งจะเปิดเทอมห่างจากกันเล็กน้อย

     การทิ้งระเบิดในภาคเหนือและภาคตะวันตกทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะพื้นที่อันตรายมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ส่วนกรุงเทพยังน้อยทั้งปริมาณเครื่องบินและเที่ยวบิน หลุมหลบภัยจำนวนมากขาดการดูแลรักษาใช้งานแทบไม่ได้ ประกอบกับฝนตกทุกวันน้ำท่วมขังมากกว่าครึ่งหลุม จึงมีคำแนะนำให้ชาวบ้านหนีมาหลบภัยร้ายริมคลอง ถ้าบังเอิญริมคลองใกล้เป้าหมายมักถูกทหารไล่กลับมาหลบในหลุมน้ำท่วมขัง

     ช่วงเวลานี้เองได้กำเนิดคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” เนื่องจากข้าวสารหาซื้อค่อนข้างยาก ส่วนหมากก็มีราคาแพงขึ้นหลายเท่า ชาวบ้านจำนวนมากตัดสินใจเลิกหมากแบบหักดิบ เมื่อนึกอยากหมากต้องหาอะไรกินให้พอทุเลา กลับกลายเป็นว่าช่วงสงครามโลกที่อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ คนไทยส่วนหนึ่งอ้วนขึ้นเพราะไม่มีหมากกินต้องกินอาหารอย่างอื่นทดแทน

     ชีวิตคนกรุงเทพต้องเดินหน้าต่อตามปรกติ รถรางยังเปิดให้บริการแต่ถึง 6 โมงเย็นเท่านั้น ใครกลับบ้านไม่ทันต้องออกกำลังกายเผาผลาญไขมัน มีการแข่งม้าย่านสามเสนพร้อมการแสดงรำวงมาตรฐานชุดใหญ่ ทว่าผู้ชมค่อนข้างบางตาเพราะไม่ค่อยมีงานไม่ค่อยมีเงิน นอกจากเปิดเทอมและฤดูฝนมาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ยังมีเครื่องบินลำโตปรากฏตัวในช่วงกลางวันบ่อยครั้ง บางวันมาเป็นฝูงจำนวน 3 ถึง 4 ลำ ทั้งที่กรุงเทพอยู่ห่างจากอินเดียการส่งเครื่องมาบินสำรวจทำได้ค่อนข้างยาก

     ทำไมต้องบินเข้ามาสำรวจ ? ทำแล้วได้อะไรกลับไป ? มีเหตุผลประการใดถึงบินมากกว่าเดิม ?

     เหตุผลอาจเป็นเพราะอเมริกาเปลี่ยนแผนใหม่ การโจมตีกรุงเทพที่ผ่านมาประสบความสำเร็จน้อยมาก แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจากพม่า อินเดีย และจีน อเมริกาปรับปรุงวิธีการทิ้งระเบิดใหม่หมด โดยได้รับความช่วยเหลือจากเสรีไทยในกรุงเทพ พวกเขาเหล่านั้นช่วยในการจัดทำแผนที่ ค้นหาและกำหนดเป้าหมายในแต่ละเที่ยวบิน ค้นหาที่ตั้งทางทหารและที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน

     การทดสอบเส้นทางบินและถ่ายภาพทางอากาศไปพร้อมกัน เมื่อคนกรุงเทพเห็นบ่อยครั้งจึงเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งแปลก แม้จะตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ไม่ได้หวาดกลัวอะไร เนื่องจากการบินสำรวจทำค่อนข้างบ่อย และทุกครั้งไม่มีการทิ้งระเบิดหรือยิงปืนกล ความชะล่าใจจึงได้บังเกิดโดยไม่รู้ตัว


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 05 มี.ค. 24, 15:13

เมกกะโพรเจกต์มาแล้ว

     วันที่ 5 มิถุนายน 2487 ตรงกับวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันหยุด คนเมืองหลวงต่างประดับธงชาติที่หน้าบ้าน แล้วพากันเข้าวัดทำบุญฟังคำเทศนา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ล่าสุด จากฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 58 กองบิน 20 ประเทศอินเดียจำนวน 98 ลำ ทยอยบินขึ้นจากฐานทัพอากาศในหมู่เกาะมาเรียน่า เพื่อทำภารกิจซึ่งมีระยะทางไปกลับมากถึง 2,261 ไมล์ เครื่องบินลำนี้คือเครื่องบินขับไล่ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุด ‘B-29 Superfortress’

     ภารกิจสำคัญของ B-29 คือการ ‘ทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพตอนกลางวัน’

เหตุการณ์ในวันนั้นคุณเจียวต้ายเล่าไว้ว่า

     ๕ มิ.ย.๘๗ วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ราษฎรชักธงชาติขึ้นสู่ที่สูงทุกบ้านทุกเรือน เหล่าพุทธมามกะทั้งหญิงชาย ต่างก็ชักชวนกันไปวัดเพื่อฟังเทศน์ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.มีเครื่องบินข้าศึกบินเข้ามาประมาณ ๔๐ เครื่อง ประชาชนตื่นเต้นประหลาดใจมองดูการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน แต่ไม่สู้จะหวาดกลัวเพราะเขามาเวลากลางวันหลายครั้งแต่ไม่เคยทิ้งระเบิด เคยเข้ามา ๓ เครื่องบ้าง ๕ เครื่องบ้างเสียงแต่ปืนฝ่ายเรายิง ครั้งนี้แม้จะมามากมายก็คงจะเลือกทิ้งแต่จุดสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ใคร่จะพากันหลบภัยดังเช่นกลางคืน

     พอเขาเข้ามาครู่เดียวก็ทิ้งระเบิดปังๆ ทีเดียว ทิ้งไม่เลือกที่เสียด้วย กระจายกันออกไปหมู่ละ ๕ ลำมีเรือนำอีก ๑ ลำ  เจ้าเรือนำขีดวงตรงไหนเจ้าบริวารก็ทิ้งบอมบ์ที่นั่น ตำบลหนึ่งๆ ทิ้งระเบิดลงมาไม่ต่ำกว่า ๒๕ ลูก  หลุมระเบิดต่อหลุมระเบิดจรดกันก็มี การเขียนวงเครื่องหมายกะที่ให้ทิ้ง คือพ่นควันออกทางหางและทางปีกทั้ง ๒ ข้าง แล้วบินวงโค้ง ฝ่ายเจ้าบริวารก็กระจายแถวเรียงหนึ่ง ดากันเข้าประเคนลูกระเบิดมหาวินาศลงมา เสียงดังแทบหูดับ บ้านเรือนสะเทือนไหวโยกเยก ล้มระเนระนาด ที่ยังทรงอยู่ได้ก็หลังคาทะลุปรุโปร่ง

      นับว่าเป็นการโจมตีครั้งใหญ่และหนักที่สุดกว่าทุกๆ ครั้ง ลูกระเบิดที่ทิ้งมีทั้งระเบิดเพลิง ระเบิดทำลาย และระเบิดสังหาร ๕ วันผ่านไปก็ยังเก็บศพไม่หมด  การทิ้งระเบิดคราวนี้มีเอกสารระบุว่า มีเครื่องบิน บี.๒๙ ทั้งหมด ๑๐๐ เครื่อง เพิ่งทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกกับกรุงเทพประเทศไทย เพราะมีการต้านทานน้อยกว่าที่อื่น เขาบินเดินทางมาจากอินเดีย แต่ก็กลับสนามบินไม่ครบทั้ง ๑๐๐ เครื่อง ประสบอุบัติเหตุบ้าง เครื่องขัดข้องบ้าง และถูกยิงเสียหายบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย

     สำหรับบ้านของเรา ลูกระเบิดที่ตกใกล้ที่สุดห่างจากบ้านไปเพียงสองหลัง แต่เป็นที่ว่างไม่มีใครปลูกบ้าน มันขุดเอาดินดานมาทุ่มใส่หลังคาบ้านเรา ประกอบกับการกระเทือนจากแผ่นดิน กระเบื้องหลังคาแตกเห็นท้องฟ้าแพรวพราย และเพื่อนเด็กชายคนหนึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อยู่บ้านถัดไปสองซอยได้เสียชีวิตในหลุมหลบภัย เพราะลูกระเบิดตกใกล้ถูกดินบีบอัดคาหลุม


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 05 มี.ค. 24, 15:15

     ส่วนพลตรี ประยูร ภมรมนตรี เล่าเรื่องราวตามนี้

     ครั้นล่วงมาในวันวิสาขบูชา ได้มีการทราบข่าวล่วงหน้าจากกรมประสานงานว่าจะมีการทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน ข้าพเจ้าในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งให้โรงเรียนกินนอนทั้งหลายขยับขยายไปอยู่ต่างจังหวัดโดยรีบด่วน ครั้นในเช้าวันวิสาขบูชาดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าได้แล่นรถผ่านโรงเรียนมาแตร์เดอี เห็นมีเด็กเล็กวิ่งเล่นอยู่หลายสิบคน ข้าพเจ้ารีบขับรถตรงไปเอ็ดตะโรต่อว่าแม่ชี และสั่งให้เตรียมขนย้ายทันที โดยได้สั่งเรียกรถยนต์ของกรมยุวชนที่กรมพาหนะทหารบกมาขนเด็กนักเรียน 100 คนเศษไปจังหวัดฉะเชิงเทราในตอน 9.00 น.

     ครั้นพอเวลาเพลก็มีการทิ้งระเบิดของเครื่องบินอเมริกันอย่างรุนแรง โดนหอพักโรงเรียนมาแตร์เดอีพังเรียบ รุ่งขึ้นพวกแม่ชีมีชื่อหัวหน้าแม่ชีเทเรซ่าซึ่งบัดนี้ยังมีชีวิตอยู่ได้พากันขอบคุณข้าพเจ้า ว่าพระเจ้าได้บันดาลให้ข้าพเจ้ามาช่วยพาเด็กลี้ภัยให้พ้นอันตราย และทำพิธีสวดมนต์อำนวยพรให้ข้าพเจ้า ส่วนบ้านข้าพเจ้าเองซึ่งกำลังปลูกสร้างใหม่ใกล้โรงกระษาปณ์ ก็ถูกระเบิดเสียหายบางส่วนนับเป็นหลังที่สาม เคราะห์ดีคนงานที่ทำการก่อสร้างได้หลบภัยอยู่ในหลุมใต้ดิน ส่วนในบริเวณหลังบ้านมีบ้านเล็กเรือนน้อยหลังทหะราโอสถพังวินาศผู้คนล้มตาย ข้าพเจ้าต้องหาเงินมาลงทุนซ่อมแซมดัดแปลงพอให้บ้านอยู่กันไปได้

     โรงเรียนมาแตร์เดอีในตอนนั้นน่าจะตามภาพนี้นะครับ

   


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง