เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3962 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 09:13

      รู้สึกว่าเรื่องราวตอนนี้ค่อนข้างดุเดือดมากไปสักนิด ตอนต่อไปผมจะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองบังเอิญค้นพบ (ใช้คำว่าบังเอิญจำได้น่าจะเหมาะสมกว่า)

      ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ใครหลายคนอาจมีรอยยิ้มเช่นผมก็เป็นได้  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 11:58

ยุทธวิธีใหม่

     วันที่ 23 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 19 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้าสู่กรุงเทพยามค่ำคืนเพื่อทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพงและท่าเรือคลองเตย การโจมตีครั้งใหม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้เหมาะสมมากกว่าเดิม เครื่องบินจ่าฝูงลำแรกจะยิงพลุส่องสว่างสีแดงช่วยนำทางชี้เป้าหมาย จากนั้นเครื่องบินลูกฝูงทุกลำจะหย่อนระเบิดใส่เป้าหมายตามที่เครื่องบินจ่าฝูงกำหนด

      พลุส่องสว่างสีแดงขนาด 5,000 แรงเทียนผูกติดร่มชูชีพ สามารถลอยตัวในอากาศให้แสงสว่างยาวนานมากถึง 15 นาที นอกจากใช้ชี้เป้าหมายยังใช้บอกให้ทิศทางให้เครื่องบินลำอื่นเลี้ยวตาม ฝรั่งเรียกพลุหรือดอกไม้เพลิงชนิดนี้ว่า Christmas Tree หรือ ต้นไม้วันตรุษฝรั่ง เป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่พ่อแม่พี่น้องชาวไทยมักได้รับชมในคืนเดือนมืดท้องฟ้าไม่มีดาวสักดวง

      แม้เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกามีการเตรียมพร้อมมากกว่าเดิม โชคร้ายลูกระเบิดทั้งหมดลอยละล่องข้ามเป้าหมายสำคัญ ตกใส่พื้นที่บริเวณถนนสีลม สุรวงศ์ สาทร และสุรศักดิ์ (สมัยนั้นเรียกว่าย่าน 4 ส. เอกสารอเมริกาเขียนว่า 4 Sor area) ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย โรงพิมพ์ประมวญมารคของ น.ม.ส.หรือพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เกิดไฟไหม้วอดวายทั้งหลัง

     การทิ้งระเบิดในค่ำคืนนี้ทำลายขวัญกำลังใจประชาชนจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากระเบิดตกห่างเป้าหมายไกลลิบลับ บ้านเรือนและตึกแถวในบางรัก วัดตรี ตรอกวัดสามพระยา สะพานเหลือง เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงโดยถ้วนหน้า ผลลัพธ์ตามมามีการอพยพครั้งใหญ่ทั่วเขตพระนคร คนกรุงเทพเข้าใจอันตรายอย่างถ่องแท้และชัดเจน นอกจากนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้ข่มขู่ผ่านวิทยุเดลฮีว่า พวกเขาเตรียมระเบิดสำหรับจัดการเป้าหมายในประเทศไทยมากถึง 1,500 ตัน
 
     วันที่ 31 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 25 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปาง การโจมตีครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อสถานีรถไฟเพียงเล็กน้อย ตัวอาคารสถานียังคงปลอดภัยทุกประการ เหตุผลก็คือนักบินอเมริกาบังเอิญเจอของแข็งโดยไม่ได้ตั้งใจ

     ระหว่างการทิ้งระเบิดฝูงบินขับไล่ที่ 16 กองบินน้อยผสมที่ 85 กองบินใหญ่ภาคพายัพ สนามบินพระบาท นครลำปาง บินขึ้นจากสนามบินจำนวนหนึ่งเพื่อสกัดกั้นผู้รุกราน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เห็นฝ่ายตรงข้ามหลบหนีจากไปเพราะไม่มีเครื่องบินขับไล่ทำหน้าที่คุ้มกัน

     ปี 2485 กองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ Ki-27 จำนวน 12 ลำจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งชื่อเครื่องบินเป็นภาษาไทยว่าเครื่องบินขับไล่ บ.ข.12 (Ki-27) เครื่องบินรุ่นนี้สร้างโดยโรงงานแมนส์ยู เมืองฮาร์บิน ประเทศแมนจูเรีย เข้าประจำการฝูงบินขับไล่ที่ 15 ฝูงบินรักษาพระนคร กับฝูงบินขับไล่ที่ 16 จังหวัดลำปาง

     Ki-27 คือเครื่องบินขับไล่รุ่นมาตรฐานกองบินทหารบกญี่ปุ่น มีบทบาทสำคัญในช่วงต้นของการทำสงคราม ถือเป็นม้างานสำคัญในการพิชิตชัยทั้งมลายู พม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ฝูงบินขับไล่ที่ 16 ที่นครลำปาง มีเครื่องบิน Ki-27 กับเครื่องบินขับไล่ บ.ข.11 (ฮอว์ค 75N) จำนวนใกล้เคียงกัน เครื่องบินขับไล่นกกระจอก หรือเครื่องบินขับไล่แบบโอตะ หรือ Ki-27 หรือ บ.ข.11 มีบทบาทสำคัญต่อกองทัพอากาศไทย โดยเฉพาะยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าลำปางในอีก 2 ปีต่อมา

     ในภาพคือวังประมวญของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ตั้งอยู่บนถนนสาทรคู่ขนานกับถนนสีลม อันเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ประมวญมารคซึ่งผมไม่กล้ายืนยันว่าอยู่ตรงไหนในภาพถ่าย เมื่อไฟไหม้โรงพิมพ์พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลิกกิจการหนังสือ


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 11:59

     เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการทิ้งระเบิดค่ำคืนวันที่ 23 ธันวาคม 2486 คุณ ‘ว. ณ ประมวญมารค’ หรือ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’ เขียนไว้ในคำนำผู้เขียน (เมื่อพิมพ์ครั้งที่ห้า) นิยายเรื่อง 'ปริศนา' ใจความดังนี้

     เรื่องปริศนานี้ข้าพเจ้าเขียนเมื่ออายุไม่ถึง 20 ปี คือเมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านใหม่ๆ เวลานั้นเป็นเวลาสงคราม ประกอบกับข้าพเจ้าไม่ชอบอยู่บ้านเฉยๆ จึงสมัครเป็นเลขานุการของท่าน น.ม.ส. เขียนตามคำบอกของท่านลงในหน้า 5 หนังสือพิมพ์ ‘ประมวญวัน’ ทุกวัน ‘ประมวญสาร’ สัปดาห์ละครั้ง และคอยตรวจปรู๊ฟแทนท่านเท่านั้น ดังนี้เราจึงมีเวลาว่างมาก ท่านเริ่มเรื่อง ‘สามกรุง’ ของท่านขึ้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเรื่อง ‘ปริศนา’ เรื่องยาวเรื่องแรกของข้าพเจ้าในห้องเดียวกัน

      ข้าพเจ้าพอจะอวดได้ว่า ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสามกรุงบ้าง เพราะไม่เว้นแต่ละวันท่าน น.ม.ส.ทรงบอกกลอนบ้าง ร่ายบ้าง โคลงบ้าง ฉันท์บ้าง สดๆ ออกมาให้ข้าพเจ้าจด ส่วนท่านก็มีส่วนในเรื่องปริศนาของข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน เช่นวันหนึ่งข้าพเจ้าคิดชื่อโรงเรียนที่จะให้ปริศนาไปสอนไม่ออก จึงขอประทานให้ท่านช่วยตั้ง ท่านก็ว่า “ชื่อโรงเรียนหรือ? สิกขาลัยซิ แปลว่าโรงเรียนนี่แหละ ภาษาบาลี” ดังนั้นโรงเรียนในเรื่องนี้จึงมีชื่อว่าโรงเรียนสิกขาลัย อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทูลถามท่านว่า ถ้าจะพูดเพราะใจความว่าผู้ชายรักผู้หญิงเห็นผู้หญิงสวยไปหมดจะว่าอย่างไรดี ท่านก็ท่องออกมาทันทีว่า “พิศรูปก็เลิศลักษณ์ พิศพักตร์ก็เพ็ญผ่อง พิศองค์ลออองค์ พิศมาสสวาดิ์หมาย ไงล่ะ” ข้าพเจ้ารีบจดทันที

     ผู้ที่ช่วยข้าพเจ้าในการเขียนเรื่องปริศนานี้ อีกคนคือเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน อายุถ้าจะอ่อนแก่กว่ากันก็ไม่มาก บ้านของเขาอยู่หลังบ้านข้าพเจ้ารั้วเดียวกัน เราติดต่อกันได้โดยไม่ต้องออกถนน เวลา ‘หวอ’ ขึ้นข้าพเจ้าก็วิ่งกลับมาบ้านได้โดยเร็ว เกือบทุกวันข้าพเจ้ามักนำเรื่องปริศนาตอนใหม่ที่อยู่ในหัวแต่ยังไม่ได้เขียนไปเล่าให้ฟัง ถ้าเขาร้อง ‘อี๋’ ก็เป็นอันว่าตอนนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าเขาหัวเราะชอบใจข้าพเจ้ารีบกลับบ้านมาเขียนต่อ เวลาข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนเองเลยบอกให้เขาเขียนให้ก็บ่อยๆ

     ข้าพเจ้าใช้เวลาถึง 3 ปีจึงเขียนเรื่องปริศนาจบ ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ประมวญมารครับไว้เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ประมวญสาร อีก 2 อาทิตย์เรื่องปริศนาจะลงพิมพ์ โรงพิมพ์ประมวญมารครับก็ถูกระเบิดเพลิงไหม้หมด ข้าพเจ้าได้เสี่ยงชีวิตวิ่งฝ่าไฟเข้าไปในสำนักงานของโรงพิมพ์ซึ่งกำลังไฟลุก เพื่อไปเอาต้นฉบับเรื่องปริศนาอยู่ในนั้น มิฉะนั้นปริศนาก็คงจะตายเสียในไฟ ไม่มีโอกาสให้ใครได้รู้จักเกิน 4 คน

     ข้าพเจ้าได้เก็บเรื่องปริศนาเข้าตู้เงียบเสียหลายปี จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2494 จึงได้ให้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์เป็นครั้งแรก และได้จัดพิมพ์เป็นเล่มอีก 3 ครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่ 4

     เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกาเกือบทำให้ผมและทุกคนไม่ได้อ่านนิยายสนุกขึ้นหิ้งเรื่องปริศนา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 17:21

  แม่เล่าว่าคนกรุงเทพเร่ิมอพยพหนีลูกระเบิดกันตั้งแต่ระเบิดเริ่มลงมากขึ้น    แต่การอพยพก็ไม่ได้ไปไกลกันนัก คนอยู่ในเมืองหนีไปชานเมืองบ้าง   ไปจังหวัดใกล้ๆแล้วแต่จะมีญาติอยู่ที่ไหนพอไปอาศัยได้บ้าง    คนที่อยู่กรุงเทพคือคนมีหน้าที่การงานไปไหนไม่ได้ เช่นพวกข้าราชการ  ก็ต้องทนอยู่กันไปแบบเสี่ยงดวง 
  ส่วนปลายทางที่อพยพไป  ไปเมืองใกล้ๆเช่นสระบุรี   พระนครศรีอยุธยาตรงอำเภอหรือตำบลรอบนอก ไม่ใช่ในเมือง  จำได้ว่าคุณป้าที่อยู่สิงห์บุรีบอกว่าอยู่นั่นไม่รู้เรื่องอะไรเลย   เหมือนไม่มีสงคราม อาจเป็นได้ว่าไม่ใช่เส้นทางของเครื่องบิน
  แต่บางครอบครัวก็อพยพแค่ไปอยู่ในสวนแถวเมืองนนท์   หรือฝั่งธนรอบนอกออกไปหน่อย
  อาหารการกินยังพอมีผักผลไม้ให้ประทังชีวิตได้   แต่ก็แพงมาก เพราะน้ำท่วมทำสวนล่มไปมาก     สิ่งที่ขาดแคลนคือยารักษาโรค  เสื้อผ้า  น้ำตาลทราย 
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ก.พ. 24, 08:37

มหันตภัยที่แท้จริงมาเยือน

     ยอดรวมการทิ้งระเบิดในปีพ.ศ.2486 น้อยกว่าปีพ.ศ.2485 เพียง 1 ครั้ง สหรัฐอเมริกาใช้จำนวนเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบินมากกว่าเดิม โดยเลือกใช้งานเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ล่าสุด บังเอิญต้องบินมาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายสำคัญๆ ในกรุงเทพและธนบุรี ซึ่งมีระยะทางห่างไกลจากฐานทัพอากาศในอินเดียมากกว่า 1,100 ไมล์ การบรรทุกระเบิดย่อมน้อยลงตามระยะทางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำลายเป้าหมายได้ผลลัพธ์ไม่สมดั่งความตั้งใจ

     การทิ้งระเบิดในประเทศไทยช่วง 2 ปีแรกเป็นเพียงน้ำจิ้ม เพิ่งมาเริ่มหนักหน่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2486 การโจมตีมีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนเที่ยวบินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

     ก้าวเข้าสู่ปี พ.ศ.2487 การโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐอเมริกาอุ่นหนาฝาคั่งตั้งแต่ต้นปี

     วันที่ 3 มกราคม 2487 เครื่องบินจำนวนหนึ่งบินเข้ามาถ่ายภาพทางรถไฟสายไทย-พม่าที่กำลังก่อสร้าง ทหารญี่ปุ่นพยายามยิงสกัดจึงเกิดการต่อสู้เล็กน้อย ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันเดียวกันนั้นเอง…เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 28 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปางอีกครั้ง เหตุการณ์นี้ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง

     วันที่ 9 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 10 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 7 ลำจากกองบิน 10 บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดบริเวณปากน้ำอ่าวไทยช่วงกลางดึก เป้าหมายก็คือต้องการสกัดกั้นเส้นทางเดินเรือออกสู่ทะเล กองทัพเรือไทยพยายามกู้ทุ่นระเบิดสุดความสามารถ แต่ทำได้เพียงบางส่วนเพราะมีเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนจำกัด

     ช่วงเวลาเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนหนึ่ง บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟบางซื่อ โรงรถจักรบางซื่อ และสนามบินดอนเมือง ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 10 มกราคม 2487 รัฐบาลไทยเสนอแผนการย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.จากกรุงเทพ มาอยู่ที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ (เป็นที่รู้จักในชื่อร.ร.นายร้อยป่าแดง) ระหว่างการประชุมมีการพูดถึงขบวนรถไฟพิเศษ ใช้ในการลำเลียงนักเรียนนายร้อย จ.ป.ร.มายังสถานที่เรียนแห่งใหม่ ขบวนรถออกจากสามเสนมุ่งไปยังอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ส่งนักเรียนนายร้อยเสร็จก็ลำเลียงรถบรรทุกทหารกลับคืนสู่กรุงเทพ

     นี่คือส่วนหนึ่งตามแผนย้ายเมืองหลวงมายัง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’

     ตามแผนการหน่วยงานราชการสำคัญบางส่วนจะถูกโยกย้ายมาอยู่เพชรบูรณ์ อาทิเช่น กระทรวงการคลังย้ายมาที่ถ้ำฤาษี ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก กระทรวงยุติธรรมย้ายมาที่บ้านห้วยลาน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก กระทรวงมหาดไทยย้ายมาที่บ้านบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก กระทรวงอุตสาหกรรมย้ายมาที่บ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก

     ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป โชคร้ายสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 แผนการย้ายเมืองหลวงมายัง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’ เป็นอันสิ้นสุดเพียงเท่านี้ ส่งผลให้จอมพล ป.พิบูลสงครามหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

     ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ทิ้งระเบิดตามเดิม วันที่ 11 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 12 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 14 ประเทศจีน บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพงและโรงรถจักรบางซื่อ เกิดความเสียหายในวงกว้างทั่วพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพง โรงแรมราชธานีกับโรงแรมตุ้นกี่ถูกลูกหลงได้รับความเสียหายอย่างหนัก นายสถานีหัวลำโพงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการโจมตีใส่กรุงเทพอย่างต่อเนื่องระยะเวลาห่างกันเพียงหนึ่งวัน

     ในภาพอธิบายว่าหลุมหลบภัยหน้าโรงเรียนศึกษานารี ย่านวงเวียนเล็ก น่าจะเป็นอาคารชั้นเดียวติดกำแพงฝั่งซ้ายมือของภาพใกล้ประตูทางเข้า ปัจจุบันตัวอาคารจมลงค่อนข้างมากกลายเป็นที่ปลูกดอกไม้


          
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 ก.พ. 24, 08:39

     เหตุการณ์นี้บทความ ‘ชีวิตระหว่างสงคราม’ เขียนโดยคุณเจียวต้ายหรือ พ.สมานคุรุกรรม บันทึกเรื่องราวคนกรุงเทพในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจมาก

     วันจันทร์ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๗ หวอมาเวลา ๔ ทุ่ม ๑๐ นาที เรามาถึงบ้าน ๔ วันก็ได้ยินเสียงหวอ เมื่อเราอยู่ลาดกระบัง ๑๒ วันมันไม่มาเสียให้พอ  คราวนี้มันไม่ต้องทิ้งไฟแดงเพราะเดือนหงาย  แต่วนเวียนหาจุดอยู่บนหัวเราจึงทิ้งระเบิดเพลิงลงที่ ร.พัน.๙ ประมาณตั้ง ๑๐๐ ลูก เขารีบดับเหลือลูกเดียวติดไฟไหม้ขึ้นที่คลังสัมภาระ ขณะนั้นพอดีเครื่องบินข้าศึกกลับมา มันเห็นแสงสว่างจึงทิ้งระเบิดทำลายลงตั้งแต่ชิงสะพานวชิราวุธ เรื่อยมาถึงโรงรถ ร.พัน.๙ นับไม่ถ้วนว่ากี่ลูก ถูกสถานที่พัง ๓ แห่ง ถนนพัง ๑ แห่ง ก๊อกประปาพัง ๑ แห่ง ระเบิดในที่ว่างอีก ๒ แห่ง

     ชาวราชวิถีหรือชาวสวนอ้อยหอบของวิ่งกันใหญ่ เพราะใกล้เหลือเกิน (สวนอ้อยกับ ร.พัน.๙ มีถนนนครราชสีมาแคบๆ คั่น) เดชะบุญมันไม่ย้อนกลับมา (วิ่งไปหลบอยู่ที่วัดส้มเกลี้ยง วัดราชผาติการาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) เวลา ๒ น.หวูดขึ้นบอกหมดอันตราย ต่างหิ้วของกลับบ้านเดินคออ่อนเหนื่อยเหลือเกิน เวลาไปไม่ยักเหนื่อยความรีบหนีภัยเรี่ยวแรงมาจากไหนไม่รู้

     วันพุธ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๗ หวอมาเวลา ๒๑ น. เครื่องบินข้าศึกมา ๔ ลำ ของเราขึ้น ๓ ลำ คืนนี้มันไปทิ้งสถานีหัวลำโพง ตลอดจนบางรักไปจรดที่ถูกระเบิดเก่า มันทิ้งระเบิดเพลิงก่อนวกกลับมาอีกเที่ยวจึงทิ้งระเบิดทำลาย เกิดมาพึ่งเคยเห็นรบกันบนอากาศและบนหัวเราด้วย ปืนกลปืนใหญ่ดังสนั่นหวั่นไหวสนุกและน่าขวัญหาย ฉันใจสั่นเสียงสั่นเหมือนเป็นไข้ เวลา ๒๔ น.หมดอันตราย เครื่องบินของเราตก ๑ เครื่อง เขาว่าเครื่องบินข้าศึกไม่กลับฐานทัพ ๒ เครื่อง แถวหัวลำโพงคนตายมาก เขาว่าเหม็นเขียวศพที่ถูกไฟไหม้คลุ้งไปหมด

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 ก.พ. 24, 08:48

      ผมมีประเด็นอยากขยายความสักเล็กน้อย มีข้อมูลน่าสนใจจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดในกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน (ในกระทู้นะครับ) นั่นคือเครื่องบินขับไล่ฝูงบินรักษาพระนครซึ่งอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ไม่ได้บินขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดสัมพันธมิตรแม้แต่ครั้งเดียว ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายเป็นเพียงคำกล่าวอ้างประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่อาจยืนยันชัดเจนเพราะเป็นกลางดึกแยกแยะเครื่องบินไม่ชัดเจน

     ทำไมฝูงบินรักษาพระนครไม่บินขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตร ?

     ถามผมสิบครั้งผมตอบไม่ได้ทั้งสิบครั้ง แต่ผมมีข้อมูลจากหนังสือ ‘คนไทยในกองทัพนาซี’ เขียนโดย พ.อ.วิชา ฐิตวัฒน์ พูดถึงการบินสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรโดยนักบินชาวเยอรมันได้น่าสนใจมาก

     เครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาถล่มเยอรมันทั้งกลางวันและกลางคืน เยอรมันใช้เรดาร์ประจำสถานีภาคพื้นดินทั้งเล็กและใหญ่ในการตรวจจับเป้าหมาย แล้วแจ้งพิกัดให้ฝูงบินขับไล่พุ่งทะยานขึ้นไปสกัดกั้นข้าศึก ระหว่างเดินทางมีการสื่อสารบอกเส้นทางผ่านวิทยุตลอดเวลา ช่วยให้นักบินสามารถเข้าใกล้เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และบุกเข้าโจมตีฝูงบินทิ้งระเบิดจากจุดอ่อนตามแผนการ อาทิเช่นใช้วิธีบินต่ำแล้วพุ่งขึ้นโจมตีบริเวณใต้ท้องเครื่องบินซึ่งนักบินมักมองไม่เห็น

     ภาพประกอบคือสถานีเรดาร์ขนาดใหญ่ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

    
   
     กลับมาที่ฝูงบินรักษาพระนครแห่งกรุงเทพกันอีกครั้ง ทันทีที่ได้ยินเสียงหวอบรรดานักบิน ช่างเครื่อง และช่างอาวุธต้องวิ่งฝ่าความมืดมาที่เครื่องบิน นักบินต้องพาเจ้านกกระจอกหรือ Ki-27 ขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางความมืดโดยอาศัยความชำนาญ ถ้าทำสำเร็จไม่มีปัญหาให้หาเครื่องบินข้าศึกด้วยตัวเอง อาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ได้ทุกช่องทาง เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีหอบังคับการบิน ไม่มีสถานีเรดาร์ ไม่มีวิทยุติดต่อกับเครื่องบินในฝูงเสียด้วยซ้ำ จำนวนเครื่องบินในช่วงแรกมีเพียง 6 ลำทำการขึ้นบินได้มากสุด 3 ลำ จำนวนน้ำมันมีเพียงน้อยนิดต้องแบ่งใส่ปี๊บนำมาเติมเครื่องบินตามมีตามเกิด

     ถ้าบินมาถึงเป้าหมายแล้วบังเอิญไฟฉายจากพื้นดินจับเครื่องบินทิ้งระเบิดได้ ก็อาจมีโอกาสบินฝ่าดงกระสุนเข้าไปสกัดกั้นตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ถ้าบังเอิญเครื่องบินทิ้งระเบิดบินกลับหมดแล้ว เปิดหวอปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านออกจากหลุมหลบภัยแล้ว นักบินทุกคนไม่รู้เรื่องอยู่ดีเพราะไม่ได้ยินเสียงหวอ ต้องอาศัยเพ่งมองพื้นดินถ้าเห็นแสงไฟมากกว่าเดิมถึงพากันบินกลับดอนเมือง

     เรื่องของเรื่องเป็นเช่นนี้แหละครับ ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายผมเข้าใจว่าชาวบ้านเห็นเครื่องบินทั้งสองฝ่ายจริง แต่ไม่เห็นการไล่ยิงกันกลางอากาศได้แต่คาดเดาไปเอง ทุกครั้งที่มีเสียงหวอฝูงบินรักษาพระนครจะบินขึ้นสกัดกั้นทุกครั้ง (จำนวนไม่เกิน 3 ลำ) โชคร้ายยังค้นหาเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่พบก็เลยยังไม่ได้สำแดงฤทธิ์เดช

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 ก.พ. 24, 09:07

     สถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงเป็นแหล่งชุมชนที่มีประวัติยาวนาน ประเทศไทยในยุคนั้นใช้รถไฟเป็นการเดินทางหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 เส้นทางรถไฟสายแรกได้เปิดให้บริการ สถานีหัวลำโพงขยายตัวมากกว่าเดิมจนกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่

     รอบสถานีหัวลำโพงมีโรงแรมขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ประกอบไปด้วย ‘โรงแรมราชธานี’ อยู่ในสถานีรถไฟหัวลำโพงฝั่งขวามือ ตัวอาคารยาวเลียบไปกับถนนรองเมือง โรงแรมแห่งที่สองคือ ‘โรงแรมทอคาเดโร’ บริเวณถนนสุรวงศ์ใกล้แยกสุรวงศ์กับถนนเจริญกรุง และโรงแรมแห่งสุดท้ายคือ ‘โรงแรมตุ้นกี่’  เป็นตึกสามชั้นอยู่ฝั่งซ้ายมือของสถานีหัวลำโพง ผู้โดยสารที่ต้องการห้องพักหรือญาติพี่น้องที่มารอรับ ได้ใช้บริการโรงแรมทั้ง 3 แห่งตามรสนิยม ความต้องการส่วนตัว และเงินในกระเป๋าสตางค์

     ในภาพคือโรงแรมราชธานีซึ่งอยู่ด้านขวาของสถานีหัวลำโพง
   
   

     วันที่ 19 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงรถจักรบางซื่อและสถานีรถไฟดอนเมือง สร้างความเสียหายต่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงแรมแกรนด์พาเลซ และโรงไฟฟ้าสามเสนบางส่วน แต่ไม่ส่งผลกับการจ่ายกระแสไฟให้ประชาชน ทุกคนในกรุงเทพยังมีไฟฟ้าใช้งานตามปรกติ

     วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2487 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2487) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศ อินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพในช่วงกลางดึก ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     แค่มกราคม 2487 เดือนเดียวกรุงเทพถูกทิ้งระเบิดถึง 3 ครั้ง ต้นเดือนกุมภาพันธ์โดนอีก 1 ครั้ง ตอนต่อไปประเทศไทยจะเดือดระอุมากขึ้นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 ก.พ. 24, 20:52

    อ่านกระทู้ของคุณ superboy แล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า  ระหว่างยอมเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น แล้วถูกฝ่ายพันธมิตรคืออังกฤษกับอเมริกาถล่มไทยด้วยระเบิดขนาดนี้   กับไม่ยอมแพ้ญี่ปุ่น รบกันให้ถึงที่สุดตั้งแต่แรก  แม้ว่าจะต้องเป็นฝ่ายแพ้ก็ตาม    อย่างไหนประเทศชาติเสียหายน้อยกว่ากัน
   มีใครอยากออกความเห็นไหมคะ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 01 มี.ค. 24, 10:08

คำตอบอาจารย์ผมจะมีเฉลยบางสิ่งบางอย่างในภายหลังเมื่อเรื่องราวดำเนินถึง

แต่ข้อมูลจากหนังสือ 'ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า' เขียนโดย พลโท ประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ตอนเดินทางไปญี่ปุ่นกับอินโดจีน บรรดานักการทูตทหารและท่านนายพลเยอรมันก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ฝรังเศสก็ดี ล้วนพูดตรงกันว่า

ถ้าญี่ปุ่นบุกไทยต้องปล่อยให้ผ่านทางอย่าคิดขัดขืน เก็บกำลังทหารไว้ดูแลประเทศหลังสงครามเหมาะสมมากที่สุด

นายพลญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามแค่ 2 ปีแล้วแพ้ นายพลอีกคนบอกว่าญี่ปุ่นเหมือนพายุกามิกาเซ่ พัดไปที่ไหนก็ทำที่นั่นพังวอดวาย แต่ไม่ช้าไม่นานพายุจะสูญสลายหายไป

นายพลยามาโมโต้พูดเองญี่ปุ่นไม่มีทางชนะเพราะขอบเขตสงครามกว้างเกินไป ทหารเรือกับทหารอากาศทำหน้าที่สนับสนุนทหารบกไม่ไหว

ทุกคนพูดตรงกันห้ามไทยสู้ญี่ปุ่นเด็ดขาด
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 01 มี.ค. 24, 10:21

ถึงคิวสนามบินดอนเมือง

     วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบ้านม้า และสนามบินดอนเมืองอีกครั้ง สร้างความเสียหายต่อเครื่องบินทิ้งระเบิด บ.ท.4 (Ki-21-I Nagoya) และเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ที่จอดอยู่ในสนามบิน เครื่องบินลำหลังไม่แน่ใจว่าเป็นเครื่องบินประเทศไทยหรือญี่ปุ่น รวมทั้งไม่ทราบจำนวนที่เกิดความเสียหายอย่างชัดเจน การทิ้งระเบิดเที่ยวบินนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร

     เหตุผลที่อเมริกาโจมตีสนามบินดอนเมืองเพราะต้องการทำลายเครื่องบินรบกองทัพอากาศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้นแบ่งกันจอดคนละฝั่งของสนามบินจำนวนไม่มากเท่าไร

     เครื่องบินทิ้งระเบิดบ.ท.4 (Ki-21-I Nagoya) กองทัพอากาศไทยมีประจำการจำนวน 9 ลำ เคยฝากผลงานอันยอดเยี่ยมในกรณีพิพาทระหว่างไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ย้อนกลับไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2486 นายพล ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ซึ่งได้รับความเสียหายเพราะถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด จึงตัดสินใจมอบเครื่องบินขับไล่ Ki–43 Hayabusa ให้กับประเทศไทยจำนวน 24 ลำ เครื่องบินรุ่นใหม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13 

     นักบินชาวไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปที่สิงคโปร์เพื่อฝึกใช้งานเครื่องบิน ก่อนทยอยบินกลับมาประจำการสนามบินดอนเมืองตั้งแต่ปลายปี 2486 ไปเรื่อยๆ จนครบทุกลำ เพียงแต่ไม่มีข้อมูลว่าเดือนมกราคม 2487 สนามบินดอนเมืองมีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13 (Ki–43 Hayabusa) จำนวนกี่ลำกันแน่ เครื่องบินและนักบินอยู่ในสถานะพร้อมออกทำศึกหรือยัง และถูกลูกหลงจากลูกระเบิดเครื่องบิน B-24 ฝ่ายสัมพันธมิตรมากน้อยแค่ไหน

     การมาของ Ki–43 ส่งผลให้ฝูงบินรักษาพระนครมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ลำ การทำภารกิจสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรย่อมดีขึ้นไม่มากก็น้อย และ Ki–43 นี่แหละครับมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันพระนครในเวลาต่อมา

     วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ที่บ้านดารา สะพานแม่ต้าที่แก่งหลวง และทางรถไฟสายมรณะช่วงหนองปลาดุกถึงกาญจนบุรี การโจมตีสร้างความเสียหายได้เพียงบางส่วน สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำยังคงปรกติสุขทั้งหมด โชคร้ายรางรถไฟบางส่วนเสียหายใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้ขบวนรถไฟสายพิษณุโลก-เด่นชัย และขบวนรถไฟสายบ้านดารา-สวรรคโลก ต้องหยุดใช้งานจนกว่าจะเส้นทางซ่อมเสร็จ มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่เรื่องการหยุดเดินรถทั้งสองขบวน ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักของการเดินทางด้วยรถไฟสายเหนือ

     สะพานปรมินทร์หรือสะพานบ้านดารา อยู่ห่างตัวเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 32 กิโลเมตร  เป็นสะพานรถไฟขนาดใหญ่ที่สุดของทางรถไฟสายเหนือ ทางการไทยเริ่มก่อสร้างสะพานระหว่างปี พ.ศ.2449 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2452

     สะพานมีลักษณะเป็นแบบคานยื่น (Cantilever) ประกอบไปด้วยสะพานเหล็กจำนวน 3 ส่วน ส่วนกลางสะพานความยาว 121.20 เมตร ส่วนริมน้ำทั้งสองฝั่งยาว 80.60 เมตรเท่ากัน รวมความยาวทั้งสะพานเท่ากับ 262.40 เมตร บนสะพานวางทางรถไฟกว้าง 1.435 เมตรตลอดเส้นทาง โดยมีทางเท้าให้ชาวบ้านเดินข้ามฝั่งกว้าง 1.5 เมตร เพราะเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านที่มีความสำคัญมาก ทำลายสะพานได้เท่ากับทำลายระบบคมนาคมระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพ สถานที่แห่งนี้จึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญมากของฝ่ายสัมพันธมิตร

     สะพานปรมินทร์ยังมีเรื่องราวให้ได้ติดตามกันต่อไป

     ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13  (Ki–43 Hayabusa) ที่นายพลโตโจมอบให้ไทย 24 ลำ ติดธงช้างเผือกบนพื้นแดงที่แพนหาง มีทหารญี่ปุ่นสวมกางเกงขาสั้นทำหน้าที่ครูฝึกให้ความช่วยเหลือ


     


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 01 มี.ค. 24, 10:25

   ผมมีคำถามอยากถามอาจารย์ทุกคนบ้างครับ ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายเขียนไว้ว่า

     'ที่บ้านผมไม่มีที่ดินว่างพอจะขุดเป็นหลุมหลบภัยได้ และมีผู้ชายอกสามคืบอย่างผมคนเดียว จึงอาศัยปูเสื่อนอนนอกชายคาเวลาหลบภัยเท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านรั้วติดกันมีเงินมาก ได้ซื้อหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่เขาทำขาย เป็นรูปทรงเหมือนถังส้วมใต้ดินของอาคารขนาดใหญ่ทำด้วยคอนกรีตหนาเตอะ หลุมชนิดนี้ใช้พื้นที่ไม่กว้างแต่ต้องขุดหลุมลึกเพื่อวางถังเอาดินกลบ เหลือแต่ปากปล่องกว้างพอที่จะหย่อนตัวลงไปได้ทีละคน ภายในตรงกลางป่องออกไปมีที่นั่งรอบถังพอสำหรับคนประมาณ ๖ -๗ คน บ้านเขามีคนเหลือจากอพยพอยู่น้อย ก็เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านข้างเคียง แล้วก็อัดกันเข้าไปขนาดให้เด็กนั่งซ้อนตักผู้ใหญ่ด้วย อากาศจึงไม่ค่อยพอหายใจผมจึงขออนุญาตไม่ลง ขอนอนหงายข้างปากหลุมมองดูเหตุการณ์บนท้องฟ้าได้สบาย'

     คำถามก็คือ...อาจารย์เคยเห็นหลุมหลบภัยสำเร็จรูปบ้างไหมครับ

    ผมอยากรู้อยากเห็นมากๆ เลย  ขยิบตา
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 02 มี.ค. 24, 09:55

ทางรถไฟสายมรณะ

     วันเวลาเดินทางเข้าสู่ปีพ.ศ.2487 เพียง 2 เดือน มีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรไปแล้วถึง 6 ครั้ง บวกอีก 1 ครั้งเป็นการบินเข้ามาถ่ายภาพการก่อสร้างทางรถไฟในจังหวัดกาญจนบุรี การโจมตีในช่วงแรกเน้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพและธนบุรี เครื่องบินหย่อนลูกระเบิดใส่เป้าหมายสำคัญเพียงไม่กี่แห่ง ต่อมาไม่นานจึงเบนเข็มมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างจังหวัด เปลี่ยนเป้าหมายจากสถานีรถไฟหรือค่ายทหารญี่ปุ่น เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำซึ่งมีความสำคัญมากต่อเส้นทางคมนาคม

     เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาใช้พื้นที่ประเทศไทยในการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีการทำถนนใหม่ใช้เส้นทางบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม บ้านห้วยต้นนุ่น ออกชายแดนพม่ามาถึงเมืองตองอูของพม่า เป็นถนนที่มีความยาวมากที่สุด สร้างยากที่สุด และใช้เวลาสร้างนานที่สุด แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจากจำนวน 8 เส้นทางที่ทำการสำรวจ ญี่ปุ่นยังได้วางแผนสร้างทางรถไฟไปยังพม่า เชื่อมโยงชายแดนอินเดียจรดสิงคโปร์ที่ตั้งกองทัพใหญ่ มีการสำรวจเส้นทางหลายสายเช่นเดียวกับถนน ก่อนตัดสินใจเลือก 2 เส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

     เส้นทางแรกเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จุดปลายทางอยู่ที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า รู้จักกันในชื่อ 'ทางรถไฟสายไทย-พม่า' แต่มักถูกขนานนามว่า 'ทางรถไฟสายมรณะ'

     เส้นทางที่สองรู้จักกันในชื่อ 'ทางรถไฟสายคอคอดกระ' เชื่อมต่อเส้นทางสายใต้ที่สถานีชุมพร วิ่งมาสิ้นสุดที่สถานีกระบุรี จังหวัดระนอง ทางรถไฟขนานแนวถนนสายชุมพร-กระบุรี และถนนสายกระบุรี-ระนอง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร กำลังทหาร เสบียงอาหาร หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งมาจากต้นทาง จะถูกลำเลียงมายังสถานีเขาฝาชีเพื่อลงเรือที่ท่าเรือละอุ่น ก่อนล่องไปตามแม่น้ำกระบุรี ออกสู่ปากน้ำจังหวัดระนอง มุ่งตรงเข้าสู่วิคตอเรีย พอยต์ประเทศพม่า

     ญี่ปุ่นสร้างเส้นทางสายนี้เพราะสถานการณ์บังคับ เครื่องบินอเมริกากับอังกฤษระดมทิ้งระเบิดในพม่ามากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นต้องการทางเลือกเผื่อเหลือเผื่อขาด โครงการทางรถไฟสายคอคอดกระเริ่มเดินหน้านับหนึ่งทันที ทว่าเส้นทางนี้ไม่เหมาะสมกับการลำเลียงอาวุธหนักอาทิเช่น รถถัง ปืนใหญ่ เนื่องจากท่าเรือขนาดค่อนข้างเล็กการขนส่งอาวุธจึงพลอยลำบากตามกัน

     โครงการทั้งสองเริ่มต้นเดินหน้าในปี 2486 ทางรถไฟสายไทย-พม่าสร้างเสร็จวันที่ 17 ตุลาคม 2486 ใช้เวลาสร้างประมาณ 10 เดือนโดยแรงงานนักโทษสงคราม ทางรถไฟสายคอคอดกระสร้างเสร็จวันที่ 25 ธันวาคม 2486 ใช้เวลาสร้างประมาณ 7 เดือนโดยกรรมกรชาวมลายูและชาวจีน

     ด้วยการออกแบบและควบคุมจากทหารช่างญี่ปุ่น ด้วยแรงงานนักโทษสงครามจำนวนหลายหมื่นคน และด้วยเงินกู้จำนวน 4 ล้านบาทจากรัฐบาลไทย ทางรถไฟสายไทย-พม่าสามารถเปิดใช้งานได้ตามแผน การขนส่งอาวุธและยุทธปัจจัยทำได้สะดวกมากกว่าเดิม หมายความว่าญี่ปุ่นจะทำการรบได้ยิ่งขึ้น หมายความว่าสัมพันธมิตรจะตั้งรับได้ลำบากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมายความว่าประเทศไทยจะถูกโจมตีทิ้งระเบิดมากขึ้น การทิ้งระเบิดอย่างหนักที่กำลังจะเกิดขึ้นมีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน

     ในภาพคือสะพานรถไฟที่ทำด้วยไม้ ข้ามแม่นำแม่กลอง ที่ ต. ท่ามะขาม อ. เมือง จ. กาญจนบุรี เริ่มสร้างเดือนตุลาคม 2485 เสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2486 ข้างๆสะพานไม้ ก็เป็นสะพานเหล็กที่สร้างในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

         

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 02 มี.ค. 24, 10:31

เมืองไทยในปี 2487

     กรุงเทพชั้นในประชาชนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงค่ายทหารหรือไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพหนีตายไปยังกรุงเทพชั้นนอก คนที่อยู่เฝ้าบ้านต้องฟังเสียงหวอเตรียมพร้อมหนีมาหลบในคูน้ำ การทิ้งระเบิดถูกพัฒนามากกว่าช่วงแรกของสงคราม จากที่เคยได้ยินเสียงหวอเตือนภัยเฉพาะคืนเดือนหงาย กลับกลายเป็นว่าคืนเดือนมืดเสียงหวอก็ดังกระหึ่มไม่ต่างกัน เพราะเครื่องบินใช้พลุส่องสว่างหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไฟแดงขนาด 5,000 แรงเทียนช่วยชี้เป้าหมาย

     ข้าวของเครื่องใช้และยารักษาโรคซึ่งต้องนำเข้าราคาแพงขึ้น อาหารที่ผลิตได้เองก็แพงขึ้นแต่ยังพอประทังชีพ สิ่งที่หายากยิ่งกว่าเสื้อผ้าและสบู่คืองาน ร้านรวงน้อยใหญ่ในกรุงเทพปิดกิจการเกือบทั้งหมด คดีลักทรัพย์ย่องเบามากขึ้นตามเป็นเงา เพียงแต่ทุกบ้านแทบไม่มีทรัพย์สินให้ขโมย นักเรียนประถมและมัธยมปิดเทอมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2486 ข้ามมาอีกปี ยกเว้นนักเรียนมัธยม 6 ยังมาเรียนหนังสือตามปรกติ สถานที่ราชการเสียหาย ถนนหนทางเสียหาย สะพานข้ามคลองเสียหาย วัดวาอารามเสียหาย แม้กระทั่งก๊อกน้ำประปาสาธารณะก็ยังเสียหาย

     ดูภาพรวมต่างจังหวัดกันบ้างครับ จังหวัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามยังคงใช้ชีวิตปรกติ เพียงแต่ข้าวปลาอาหารแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ และยารักษาโรคเป็นของหายาก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มค่อนข้างขาดแคลน เมื่อมีของเข้ามายังต้องปันส่วนให้กับเพื่อนบ้าน น้ำมันมะพร้าวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากทำอาหารยังใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับตะเกียง

     จังหวัดไหนมีค่ายทหารญี่ปุ่นจังหวัดนั้นมีความคึกคักด้านการเงิน ญี่ปุ่นซื้ออาหารและของใช้ให้ราคาค่อนข้างดี มีการจ้างวานคนไทยเข้ามาทำงานในค่าย ทั้งส่วนใช้แรงงานกลางแจ้งหรือเป็นแม่ครัวทำอาหาร แม้แต่เด็กและผู้หญิงก็สามารถหาเงินได้ ส่วนใหญ่เป็นคนจัดเก็บอุปกรณ์ก่อสร้างค่าจ้างหนึ่งในสามของแรงงานผู้ชาย ซึ่งก็ยังถือว่ามากกว่าค่าแรงคนไทยตามปรกติ

     สถานการณ์ภาคเหนือเต็มไปด้วยวุ่นวาย มีการรบพุ่งระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษและไทยกับจีนในพม่า ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ในไทยส่งเครื่องบินเข้าไปทำภารกิจในพม่า มีการสร้างสนามบินลับจำนวนหนึ่งโดยไม่บอกทางการไทย ยกตัวอย่างเช่นสนามบินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งตระหง่านกลางป่าดงดิบห่างไกลชุมชน ในสนามบินมีทางวิ่งขนาด 1,800 หลาพร้อมสิ่งปลูกสร้างช่วยอำนวยความสะดวก

     ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่นอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่พักอยู่ในค่ายทหารห่างไกลชุมชน มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบ้างอาทิเช่นกรณีคนไทยให้อาหารหรือน้ำดื่มกับนักโทษสงคราม แล้วถูกนายทหารญี่ปุ่นลงโทษด้วยวิธีของเขา แต่ได้รับการแก้ไขทันเวลาไม่ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศ สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศกำลังจะบินข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาจากอีกฟากหนึ่งของขอบฟ้า

     ปี 2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีการจัดเตรียมแผนการขนาดใหญ่ คือการทิ้งระเบิดใส่ประเทศไทยอย่างเป็นจริงเป็นจังภายใต้รหัส ‘Thailand Bombing Campaign’ โครงการขั้นที่หนึ่งใช้เวลารวมกัน 12 เดือน เป้าหมายหลักคือระบบขนส่งทางรางหรือรถไฟ เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงไปยังแนวหน้าในพม่า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือเป้าหมายรอง ส่วนค่ายทหารญี่ปุ่นหล่นมาอยู่ท้ายขบวน

   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 02 มี.ค. 24, 21:50

   พยายามทบทวนความทรงจำเรื่องหลุมหลบภัยที่บ้านเดิม    คุณพ่อคุณแม่อยู่ในกรุงเทพมหานครตลอดเวลาสงคราม  ไม่ได้อพยพไปต่างจังหวัด     จำได้อย่างหนึ่งคือเรื่องผ้าหนาๆสีน้ำเงินแก่ที่ขึงปิดช่องลมเหนือหน้าต่าง   ส่วนหลุมหลบภัยดูเหมือนจะจ้างคนมาขุดที่สนาม   จำได้รางๆจากคำบอกเล่าว่าขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวๆ  พื้นล่างปูไม้กระดานมีเสื่อทับเพื่อจะลงนั่งได้สบายหน่อย      แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมพื้นล่างไม่มีน้ำขัง  น่าจะมีวิธีป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงไป
   จำได้อีกอย่างคือคุณแม่เล่าว่าคุณพ่อเป็นคนประสาทแข็งมาก    ได้ยินเสียงหวอกี่ครั้งก็นั่งอยู่ในบ้าน ไม่ยอมลงไปทรมานทรกรรมอยู่ในหลุม  ถือคติว่าอยู่ไหนก็มีสิทธิ์ตายเท่ากัน   คุณแม่อ้อนวอนเท่าไรก็ไม่ยอมลงหลุมหลบภัย  ในที่สุดคุณแม่ก็ต้องหลบลงหลุมเพียงคนเดียว   โชคดีบ้านเราคลาดแคล้วมาตลอดจนสงครามสงบ 
   ด้วยความกลัวระเบิด  และห่วงคุณพ่อที่ไม่ยอมลงจากบ้าน  คุณแม่ก็เลยเอากระดาษฟุลสแก็ปแผ่นใหญ่เขียนคาถาแคล้วคลาดต่างๆ ไปปิดเอาไว้ตามช่องลมพร้อมกับผ้าพรางไฟ  ติดเต็มไปหมดทุกห้อง  จนลูกจ้างที่อยู่ในบ้านสงสัย ถามคุณแม่ว่า
   "คุณคะ  ข้าศึกมันอ่านคาถาออกด้วยหรือคะ"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 18 คำสั่ง