เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 12:16



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 12:16

เกริ่นนำ
   
   เนื่องจากหลายปีที่แล้วผมเคยเขียนบทความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 5 ตอน แบ่งเป็นเรื่องราวฝ่ายญี่ปุ่นบุกไทยจำนวน 3 ตอน กับฝ่ายฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยจำนวน 2 ตอน ญี่ปุ่นบุกไทยผมเขียนจบแล้วจึงมาต่อเรื่องราวญี่ปุ่นในไทย เลยมาถึงเรื่องราวท่านนายพลนากามูระกับเสรีไทย ส่วนเรื่องราวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยเรื่องราวเดินทางมาถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2487

   ฉะนั้นในกระทู้นี้ผมจะนำเสนอเรื่องราวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทย จะพยายามดันให้จบอาจล่าช้าไปบ้างอย่าว่ากันเลย ส่วนเรื่องราวญี่ปุ่นบุกไทยไว้ค่อยว่ากันหลังปิดกระทู้นี้สำเร็จ ในการเล่าเรื่องราวผมอ้างอิงข้อมูลจากฝูงบินทิ้งระเบิดกองบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (หรือกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน) และนำข้อมูลจากประเทศไทย (ถ้าเหตุการณ์นั้นมีการบันทึก) มาขยายความและเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน เพื่อนๆ สมาชิกและอาจารย์ทุกท่านเพิ่มเติมข้อมูลได้นะครับ  :D



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 12:19
ญี่ปุ่นขึ้นบก

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกประเทศไทยพร้อมกับมลายูหรือมาเลเซีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกันคนกรุงเทพส่วนใหญ่กำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็ยาวนานถึงรุ่งเช้า

กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่บริเวณกลางอ่าวไทย  ทำการแยกตัวเดินทางมายังเป้าหมายสำคัญๆ จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (สมุทรปราการ) กองทัพญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ

ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

   วันที่ 9 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยเปิดประชุมสภาผู้แทนวิสามัญวาระด่วนพิเศษ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แจ้งเรื่องรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนต่อที่ประชุม วันถัดมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในประเด็นซึ่งยังมีความแตกแยกทางด้านความคิด รวมทั้งประเด็นการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารร่วมกับประเทศญี่ปุ่น

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันเรือประจัญบานของอังกฤษจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือเรือประจัญบาน HMS Prince of Wales ระวางขับน้ำ 43,786 ตัน และเรือเรือประจัญบาน HMS Repulse ระวางขับน้ำ 32,740 ตัน ถูกเครื่องบินรบญี่ปุ่นฝูงใหญ่บุกโจมตีแบบไม่ให้ตั้งหลัก ส่งผลให้เรือทั้งสองลำอับปางในทะเลบริเวณนอกชายฝั่งรัฐกลันตัน แหลมมลายู ผลจากความแพ้พ่ายกำลังทางเรือกองทัพเรืออังกฤษในมลายูแทบไม่เหลืออีกต่อไป

   หมายเหตุ : ก่อนหน้านี้สงครามทางทะเลมักเป็นการดวลปืนใหญ่ระหว่างเรือรบสองฝ่าย ทว่าในสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นใช้วิธีโจมตีทางอากาศต่อเรือรบข้าศึกเป็นชาติแรก ผลลัพธ์ก็คืออังกฤษซึ่งใช้ยุทธวิธีค่อนข้างโบราณพ่ายแพ้แบบหมดสภาพในระยะเวลาอันสั้น

   ในภาพประกอบทหารญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลา วันที่ 8 ธันวาคม 2484

(https://www.khaosodenglish.com/wp-content/uploads/2018/09/L1020393.jpg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 12:25
        วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ญี่ปุ่นแจ้งความประสงค์ว่าไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการใช้เป็นทางผ่านไปยังพม่าและแหลมมลายู รวมทั้งต้องการขอใช้พื้นที่ในประเทศไทยส่วนหนึ่ง สำหรับจัดตั้งสถานที่พักให้กับกำลังทหาร รวมทั้งสถานที่รักษาพยาบาลหรือคุมตัวนักโทษสงคราม

   ส่งผลให้ประเทศไทยหลังวันญี่ปุ่นขึ้นบก ถูกผลักให้อยู่ตรงข้ามฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการกดดันทุกหนทางจากญี่ปุ่น ฉะนั้นการโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เล็งเป้าหมายมาที่เส้นทางการคมนาคม โดยเฉพาะที่เส้นทางรถไฟซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการคมนาคมตลอดจนการทำสงคราม เนื่องจากเส้นทางรถไฟมีความสะดวกสบายที่สุด ขนส่งสินค้าและกำลังพลได้ในปริมาณมาก ที่สำคัญประเทศไทยมีรางรถไฟตั้งแต่เหนือจรดใต้

ญี่ปุ่นยังวางแผนเชื่อมต่อทางรถไฟสายใต้เข้ากับทางรถไฟในมลายูและสิงคโปร์ เชื่อมต่อทางรถไฟสายเหนือมายังพื้นที่ตอนใต้ของพม่า เล็งเป้าหมายมายังประเทศอินเดียซึ่งเป็นสมรภูมิขนาดใหญ่ที่สุด เท่ากับว่าทางรถไฟในประเทศไทยมีความสำคัญต่อกองทัพญี่ปุ่นมาก และเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหาวิธีจัดการให้ย่อยยับอับปาง

   ทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50,000 นาย มีการตั้งค่ายทหารกระจัดกระจายตั้งแต่เหนือจรดใต้ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับรองลงมาของฝ่ายสัมพันธมิตร

เป้าหมายที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ประกอบไปด้วย โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม สถานีรถไฟและโรงรถจักร สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ ทางหลวงสายหลัก คลังน้ำมัน คลังสรรพาวุธ รวมทั้งสถานที่ราชการบางส่วน

      ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในเขตกรุงเทพและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่เพราะบินระยะทางค่อนข้างไกลได้ ส่วนเป้าหมายบริเวณชายแดนและต่างจังหวัด ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางหรือเครื่องบินโจมตีทำภารกิจได้

     ภาพประกอบคือสะพานปรมินทร์ จังหวัดอุตรดิตถ์สมัยสร้างเสร็จได้ไม่นาน เป็นเส้นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายเหนือมุ่งสู่เชียงใหม่ และเป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เด็ดขาด สังเกตนะครับสะพานมีแค่ทางรถไฟกับทางคนเดินเท่านั้น

(https://biochem.flas.kps.ku.ac.th/rft/phayungsak/paraminbridgetn.jpg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 17:06
อังกฤษเปิดฉากโจมตี

   วันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาสำเร็จ อังกฤษมีแผนการโต้ตอบทางทหารต่อฝ่ายตรงข้าม โดยการส่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นการถ่วงเวลาให้กำลังทหารญี่ปุ่นเดินทางล่าช้ากว่าเดิม

   ขบวนรถยนต์นำทหารราบหน่วยกล้าตายจำนวน 2 กองร้อย เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเวลาประมาณ 17.30 น.จากนั้นไม่นานขบวนรถไฟหุ้มเกราะติดอาวุธแล่นข้ามฝั่งตามมา ระหว่างทำภารกิจทหารญี่ปุ่นบังเอิญตรวจพบข้าศึกจึงได้มีการยิงต่อสู้ เป็นการปะทะกันครั้งแรกระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษในดินแดนสยามประเทศ

        หลังทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะสำเร็จตามแผนการ  ขบวนรถไฟหุ้มเกราะทหารอังกฤษรีบถอนตัวกลับปาดังเบซาร์ ญี่ปุ่นใช้เครื่องบินจำนวนหนึ่งบินไล่ตามโจมตีเป็นการส่งท้าย ทว่าไม่ได้ผลเนื่องจากกลางคืนมองเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน

       ตลอดสงครามโลกครั้งที่สองในไทยอังกฤษบุกญี่ปุ่นทางบกสำเร็จครั้งนี้เพียงครั้งเดียว


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 ก.พ. 24, 17:12
        วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ถัดมาในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 21.55 น. เครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอากาศอังกฤษในมลายูซึ่งยังไม่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง บินข้ามชายแดนเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชุมพร สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษธานี

   วันที่ 23 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 20.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษบินมาทิ้งระเบิดใส่ตัวเมืองชุมพรบริเวณที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น เป็นการทิ้งระเบิดครั้งที่สองในรอบ 24 ชั่วโมง

   วันที่ 24 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษจากเมาะตะมะ บินข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าโจมตีขบวนรถไฟเดินทางมาจากบางซื่อ รถไฟขบวนนี้ลำเลียงกองทหารญี่ปุ่นมายังประจวบคีรีขันธ์ การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นจากกองทัพอากาศอังกฤษในประเทศพม่า ซึ่งมีเครื่องบินรบประจำการในประเทศพม่ากับอินเดียโดยใช้ชื่อว่า Far East Air Force

    การทิ้งระเบิดช่วงแรกของสงครามกองทัพอากาศอังกฤษเหมาเรียบ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim ในการทำภารกิจ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศเล็งเป้าหมายมาที่ทหารญี่ปุ่น เพื่อยับยั้งหรือถ่วงเวลาการโหมบุกกระหน่ำสักเล็กน้อยก็ยังดี เป็นเพียงการโจมตีเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้งจึงถูกละเลยไม่มีการจดบันทึกทั้งฝั่งไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ

       เครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim ยาว 12.98 เมตร กว้าง 17.17 เมตร ใช้ 2 เครื่องยนต์มีนักบินจำนวน 3 นาย บรรทุกระเบิดได้มากสุดจำนวน 540 กิโลกรัม เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่บรรทุกระเบิดจำนวนไม่มาก อานุภาพการทำลายล้างจึงลดน้อยตามขนาดเครื่องบิน ความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนค่อนข้างน้อยนิด ยกเว้นสถานที่ที่ญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองใช้เป็นค่ายทหารหรือเก็บอาวุธ ส่งผลให้ข่าวการทิ้งระเบิดของอังกฤษในช่วงแรกของสงครามมหาเอเชียบูรพา แทบไม่มีการบันทึกในประเทศไทยการค้นหาข้อมูลทำได้ค่อนข้างยากพอสมควร

       ภาพประกอบคือเครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim กองทัพอากาศอังกฤษในพม่า รุ่นนี้แหละครับที่บินเข้ามาทิ้งระเบิดในไทยช่วงแรกของสงคราม

(https://cdn2.picryl.com/photo/1945/12/31/bristol-blenheim-burma-royal-air-force-operations-in-the-far-east-1941-1945-7383f0-640.jpg)

      ตอนต่อไปจะเข้ากรุงเทพแล้วครับ ทีนี้แหละมีรายละเอียดเยอะหน่อย  ;D




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 09:11
ระเบิดลงที่กรุงเทพ

   วันที่ 8 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 02.00 น.ขณะที่คนกรุงเทพกำลังนอนหลับฝันดีกันอยู่นั้น ฉับพลันเกิดเสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัยดังกระหึ่ม เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีกรุงเทพเป็นครั้งแรก เล็งเป้าหมายมาที่สถานีรถไฟหัวลำโพงและสะพานพุทธ

       บังเอิญการโจมตีขาดความแม่นยำรวมทั้งเป็นช่วงเวลากลางคืนมองเป้าหมายไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ที่เยาวราช โรงไม้กระดาน และตรอกบีแอลฮั้วฝั่งธนบุรี เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้แก่ สะพานเจริญสวัสดิ์ กระทรวงมหาดไทย วัดตะเคียน โรงพยาบาลบางรัก รวมทั้งตึกสุงเจ็ดชั้นที่ถนนเยาวราช เป็นสัญญานบ่งบอกกับคนกรุงเทพว่า มหันตภัยจากฟากฟ้าได้มาเยี่ยมเยือนแล้ว

   ก่อนอื่นผู้เขียนขอย้อนเวลาเพียงนิดเดียว กลับไปยังจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่อีกครั้ง หลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในช่วงกลางดึก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศตั้งแต่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เพื่อให้คนกรุงเทพทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การควบคุมแสงไฟ การใช้เสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัย งดงานฉลองรัฐธรรมนูญทันที งดการหยุดงานของข้าราชการ รวมทั้งจัดเตรียมน้ำไฟและอาหารไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

   เมื่อไทยลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงมีประกาศจากรัฐบาลต่อเนื่องตามมาภายหลังหลายเรื่อง ทั้งสั่งให้ใช้ผ้าสีน้ำเงินคลุมโป๊ะไฟโดยรอบ เพื่อเป็นการพรางไฟให้มีแสงแค่ในบ้าน ไฟนอกบ้านทุกดวงต้องปิดอย่างเด็ดขาด มีสายตรวจเดินเท้าดูแลการพรางไฟทั้งคืนใครไม่ทำตามจะถูกตักเตือน มีการซ้อมป้องกันภัยหรือ ซ.ป.อ.จำนวนบ่อยครั้ง คนกรุงเทพเริ่มคุ้นเคยกับเสียงไซเรนจากหอสัญญานที่อยู่ตามวัด ถ้าเสียงไซเรนดังเป็นห้วง ๆ ตลอดนั่นคือมีการทิ้งระเบิด ถ้าเสียงไซเรนดังยาวครั้งเดียวแล้วหยุดนั่นคือปลอดภัยแล้ว ทว่าทุกคนก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองเผชิญหน้าอยู่กับอะไร

   การโจมตีครั้งแรกสุดสร้างความเสียหายพอสมควร มีผู้โชดร้ายเสียชีวิต 31 คน (บางข้อมูลบอกว่า 11 คน) บาดเจ็บ 112 คน เช้าตรู่วันนี้คนกรุงเทพจึงเริ่มเข้าใจ ว่าชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง บนท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก รถรางและรถเมล์ล้วนมีผู้โดยสารแน่นขนัด ส่วนหนึ่งต้องการอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนหนึ่งต้องการเยี่ยมญาติพี่น้องที่บาดเจ็บ บ้างส่วนต้องการไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน และบางส่วนทำหน้าที่ไทยมุงผู้แข็งขัน รถสามล้อถีบขึ้นราคาสองเท่าโดยพลัน เมื่อไม่มียานพาหนะให้ได้โดยสาร หลายคนจำเป็นต้องเดินทางด้วยสองเท้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

   นี่คือครั้งแรกที่กรุงเทพเผชิญความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่สอง

   ภาพประกอบคือหลุมหลบภัยใกล้สถานีหัวลำโพง ปัจจุบันไม่น่าหลงเหลือแล้วนะครับ

      (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000000210904.JPEG)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 09:12
การโจมตีครั้งแรกผมมีข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ “ชีวิตระหว่างสงคราม” เขียนโดยเจียวต้าย  หรือ พ.สมานคุรุกรรม เผยแพร่ในนิตยสารยารักษาใจฉบับที่ 120-125 รวมทั้งในพันทิปโดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทานชาวสวน ชุด ‘ชีวิตระหว่างสงครามเอเชีย’ คุณแม่ของคุณเจียวต้ายเป็นคุณครูได้จดบันทึกเหตุการณ์รายวันไว้ค่อนข้างละเอียด คุณเจียวต้ายนำข้อมูลมาปรุงแต่งและเผยแพร่ต่อประมาณปี 2456 ตามนี้ครับ

https://pantip.com/topic/37423185


ถึงวันขึ้นปีใหม่มกราคม ๒๔๘๕ งดการจัดงานปีใหม่นอกจากการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง แต่มีการปราศรัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีไทย กับพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทางวิทยุกระจายเสียง จากโตเกียวและพระนคร เพิ่มรายการภาษามาลายู ภาษาพม่า และภาษอินเดีย ขึ้นจากรายการปกติ จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๕ ชาวพระนครจึงประสบภาวะสงครามเป็นครั้งแรก บันทึกของแม่เขียนไว้ว่า

เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา เสียงระเบิดลูกแรกทำให้สะดุ้งตื่น พอลุกขึ้นนั่งก็ได้ยินเสียงหวูดอันตราย พร้อมกับเสียงระเบิดอีก ๖ ครั้ง เปิดประตูออกมาดูนอกชานเห็นเรือบินข้าศึกเปิดไฟแดง ทุกคนเข้าใจว่าเรือบินของไทยขึ้นต่อสู้เพราะเห็นยิงปืนกลด้วย เงียบไปสักครู่ก็บินกลับมาอีก เสียง ป.ต.อ. ยิงขับไล่กับเสียงระเบิดปนคละกันไป ไฟฉายส่องจับเห็นเรือบินแต่ไม่ได้ถูกยิงแล้วเงียบไป เวลา ๕ นาฬิกาครึ่งหวูดหมดอันตรายจึงดังขึ้น ต่างเข้าครัวหุงข้าวกินโดยไม่ได้นอนอีก นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร

ขณะนั้นทั้งบ้านมีผู้อาศัยห้าคน คือ น้าและพี่สาว ลูกของน้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน แม่และผมกับน้องสาว เป็นผู้อาศัย มีผู้ชายแต่ผมคนเดียวอายุ ๑๑ ขวบ แม่ได้บันทึกเหตุการณ์ผลเสียหายฝ่ายเรามีดังนี้

๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย

๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้

๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย

๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน

๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตรายเพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล บ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ

๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง

รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 11:25
การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2485

   นอกจากการทิ้งระเบิดครั้งแรกกลางดึกวันที่ 8 มกราคม 2485  ตลอดทั้งปีมีการโจมตีทางอากาศจำนวน 6 ครั้ง แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพกับธนบุรีจำนวน 4 ครั้ง และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศอีก 2 ครั้ง

   วันที่ 24 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี เครื่องบินทิ้งระเบิดบางส่วนมุ่งตรงมาที่ค่ายทหาร ร.พัน.5 ซึ่งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคม ทหารไทยโต้ตอบด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 โดยใช้ไฟฉายขนาดใหญ่ช่วยส่องเป้าหมายกลางอากาศ ลำแสงจากกระสุนปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานสาดส่องทั่วท้องฟากฟ้า แสงเพลิงจากการระเบิดตามสถานที่ต่างๆ สว่างเจิดจ้ากลบความมืดมิด การต่อสู้ระหว่างเครื่องบินกับปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานดำเนินไปอย่างรุนแรงและดุเดือด กระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.เครื่องบินทุกลำบินกลับที่ตั้งสถานการณ์กลับคืนสู่ปรกติดังเดิม

   ความเสียหายจากการทิ้งระเบิดประกอบไปด้วย ทหารรักษาการณ์กองทัพบกไทยเสียชีวิตจำนวน 3 นาย ระเบิดประมาณ 10 ลูกตกบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ระเบิดจำนวน 4 ลูกบังเอิญด้านไม่ทำงาน ทว่าระเบิด 2 ลูกตกใส่มุขด้านเหนือของพระที่นั่งสร้างความเสียหายต่อตัวอาคาร

   วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษรุกรานประเทศไทยทางอากาศจำนวน 30 ครั้ง กับทางพื้นดินจำนวน 36 ครั้ง

   วันที่ 28 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี เกิดความเสียหายที่ตลาดชูชีพ เชิงสะพานกษัตริย์ศึก รวมทั้งตึกแถวขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียง โชคดีโรงไฟฟ้าวัดเลียบซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญไม่เกิดความเสียหาย สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกทหารเรือยิงตก 1 ลำ นักบินบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด คาดว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ของอเมริกา

   นี่ภาพถ่ายพระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้งเป็นที่ประชุมสภา ถูกระเบิดเสียหาย

(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/01/My-Country-Thailand-7-3.jpg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 11:30
      การทิ้งระเบิดสองครั้งถัดมามีข้อมูลไม่ตรงกัน ฝูงบินทิ้งระเบิดกองบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาบันทึกว่า

      24 January 1942: Bombing of BKK and Thonburi at Night - the bomb has damaged Anantasamakhom Throne hall

      28 January 1942: SHotting down Havilon plane by the Navy at Thonburi

      เนื้อหาตรงกับข้อมูลจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ยกเว้นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ถูกยิงตกไม่ใช่ B-24 ของอเมริกา แต่เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นฮาวิลอน หรือ de Havilland Mosquito ของอังกฤษ ทว่าหนังสือ ‘ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า’ เขียนโดยพลตรี ประยูร ภมรมนตรี เล่าเรื่องราวแตกต่างกันออกไปตามนี้

   ก่อนที่รัฐบาลไทยจะประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร เครื่องบินอังกฤษได้มาทิ้งระเบิดวันที่ 25 มกราคม 2484 (เหตุการณ์จริงปี 2485 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ปีแรกของสงครามผิดทุกจุด) ได้ทิ้งแฟลร์พลุส่องแสงแดงฉาน ไซเรนสัญญาณภัยโหยหวนเหมือนผีตายโหง เป็นการทิ้งระเบิดวาระแรก เครื่องบินได้บินวนเวียนอยู่นาน และชะล่าใจบินต่ำก็ถูก ปตอ.ยิงตกที่บริเวณบางขุนเทียน ประชาชนแตกตื่นไปดูกันล้นหลามช่วยกันดึงช่วยกันทึ้งข้าวของสมบัติในเครื่องบิน ปรากฏตามบัตรประจำตัวเป็นอาสาสมัครที่เคยขับเครื่องบินโดยสารของสายการบิน เค.แอล.เอ็ม.มาก่อน ต่อมาก็ได้มีการทิ้งระเบิดประปรายกันเรื่อยๆ มา โดยเฉพาะในค่ำคืนเดือนหงาย ฉะนั้นวันเพ็ญที่เคยชมเดือนกลับกลายเป็นราตรีมหาภัย เครื่องบินอังกฤษนั้นเวลามาทิ้งระเบิดก็บินวนเวียนก่อกวนประสาทเหมือนแมลงหวี่แมลงวัน ส่วนเครื่องบินอเมริกันนั้นใจสปอร์ต พอเทกระจาดลูกระเบิดแล้วก็บินผ่านไปเลย

     บ้านคุณอรุณวดีพี่สาวของข้าพเจ้าใกล้สถานีรถไฟสามเสน ซอยเศรษศิริ รถสินค้ามาจอดรอหลีกก็โดนระเบิด ทำให้บ้านพี่สาวที่อยู่ใกล้ก็พลอยพังทลายเป็นรายแรก ส่วนที่บ้านข้าพเจ้าเรียกกันว่าบ้านมะลิวัลย์อยู่ริมแม่น้ำถนนพระอาทิตย์ ถูกเครื่องบินที่มุ่งทิ้งระเบิดสถานีบางกอกน้อยผิดที่หมาย  ข้ามมาลงในย่านท่าช้าง วังหน้า มีบ้านพังทลาย และผู้คนล้มตายกันหลายราย ส่วนแรงระเบิดทำให้หลุมหลบภัยในบ้านข้าพเจ้าพังทลายเกิดไฟไหม้ ทำให้ลูกน้อยเกิดใหม่ชื่อตุ๋งติ๋งถูกไฟคลอกตาย ในวันโดนระเบิดนั้นข้าพเจ้าไปราชการส่วนแม่ตุ๋งติ๋งไม่อยู่บ้านกลับมาลูกก็ตายในกองเพลิง

     ในภาพคือความเสียหายของอาคารย่านเยาวราชใกล้ตึก 7 ชั้น

(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/01/My-Country-Thailand-6-3.jpg)





กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 11:33
เหตุการณ์เดียวกันคุณเจียวต้ายเขียนไว้ในบทความ ‘ชีวิตระหว่างสงคราม’ ตามนี้

วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๕ เวลา ๒๐.๓๐ น.ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นแต่ไกลก่อนหวูดอันตรายดังขึ้น เงียบอยู่ประมาณ ๒๐ นาทีเครื่องบินก็มาปรากฏในพระนคร เสียงระเบิดอีก ๒ ครั้งและเสียงปืนยิงหลายนัด แล้วมีเสียงไชโยทั่วไปเพราะเห็นเครื่องข้าศึกถูกปืน เงียบไปสักสิบนาทีเครื่องบินก็ผ่านมาอีก เสียงปืนยิงอีกแล้วก็เงียบไปอีก ๒๐ นาที เครื่องบินผ่านมาอีกเป็นครั้งที่สามแล้วเงียบเลย เวลา ๒๒ น.จึงเปิดหวูดหมดอันตราย

วันอาทิตย์ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ได้ความว่า เมื่อคืนมีเครื่องบินข้าศึกมารบกวนพระนคร ๒ เครื่อง ถูกยิงตก ๑ เครื่องที่ตำบลตลาดพลูฝั่งธน อีก ๑ เครื่องก็เสียหายอาจไม่ได้กลับถึงฐานทัพ ฝ่ายเราเสียหายคือ

๑.ตลาดชูชีพที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถูกระเบิดทำลาย ตลาดนี้เป็นของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ พอเสาร์ก็ถูกระเบิดตลาดพัง

๒.ตึกแถวของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งอยู่หน้าบ้านของท่าน ริมสะพานกษัตริย์ศึก

๓.วัดเลียบ ไม่เป็นอันตราย

ส่วนเครื่องบินข้าศึกที่ตกนั้นนักบินตายหมดเพราะเครื่องบินระเบิด

แล้วก็มาถึงวันอังคาร ๒๗ มกราคม ๒๔๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหตุการณ์เป็นปกติ เวลา ๒๐.๑๕ น.มีเครื่องบินผ่านเข้ามาแต่ไม่มีเสียงหวอ เวลา ๒๐.๓๐ น.มีเสียงระเบิดขึ้นแต่ไกลหวูดอันตรายก็ดังขึ้น ขณะนี้เครื่องบินแล่นอย่างเร็วผ่าน ร.พัน.๙ ไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วเกิดเสียงดัง บ้านเราอยู่ใกล้ ร.พัน.๙ จึงเห็นลูกระเบิดเพลิงสว่างจ้าขึ้น ๒ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่รอดูต่อไปเพราะขวัญเสียแล้ว จูงลูกไปลงหลุมหลบภัยหลังบ้านนายอ๋อย ขณะนั้นเสียงระเบิดเสียงปืนประสานกันอยู่พักๆ แล้วก็เงียบไป เวลา ๒๓ นาฬิกาจึงเปิดหวูดหมดอันตราย รวมเวลาระหว่างอันตราย ๒ ชั่วโมงครึ่ง น่าสงสารเด็กที่อยู่ในหลุมหลบภัย ถูกปลุกลงมานั่งให้ยุงกินกันใหญ่ มีเด็กจากบ้านอื่น ๕ คน บ้านเรา ๒ คน คอยหวูดจนง่วงนอนรวมกันเป็นกลุ่ม

วันพุธ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๕ รุ่งเช้าขึ้นจึงได้ความว่า เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเมื่อคืนนี้ ๒ เครื่อง ได้ทิ้งระเบิดหลายแห่งมากว่า ๑๐ ลูก ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมด้าน ๔ ลูก ระเบิด ๒ ลูก โดนหลังคาตรงมุมด้านหลังพระที่นั่งพังและโหว่ไปหน่อย ทหารรักษาการตาย ๓ คน

ต่อมามีบันทึกว่า หลุมหลบภัยทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำฝน แต่เคราะห์ดีที่ตอนกลางคืนอากาศมืดมัวไม่แจ่มใส เครื่องบินข้าศึกจึงไม่มา มิฉะนั้นก็จะต้องไปนั่งแช่น้ำอยู่ในหลุม และสรุปว่าในเดือนมกราคมนี้ เครื่องบินข้าศึกได้มารบกวนในพระนครรวม ๖ ครั้ง คือมาทิ้งระเบิด ๓ ครั้งในวันที่ ๘- ๒๔- ๒๗ มกราคม
   
ในภาพคือสภาพสวนฝั่งธนฯ ในอดีต และชาวสวนช่วงปลายทศวรรษ 2470 เครดิตภาพ : โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

   (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/01/My-Country-Thailand-2-4.jpg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 11:43
ข้อมูลไม่ตรงกัน…การพนันจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่แล้ว  :o
   
   เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงผมนำข้อมูลจากบทความ ‘ตามชาวพระนครสมัยสงคราม ไปดูเครื่องบินอังกฤษตกที่ตลาดพลู’ เขียนโดยคุณ ณัฐพล ใจจริง จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามลิงก์ด้านล่าง

   https://www.matichonweekly.com/column/article_744324?fbclid=IwAR1mKDe-bMkdXSXE0553qLBw_Bru8tLvyitzgBZrj8cP5YMYGCtVJ4aoqW8

   พลันเมื่อไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย (8 ธันวาคม 2484) ต่อมา รัฐบาลประกาศการพรางไฟทั่วประเทศ ด้วยคาดว่าอังกฤษคงจะส่งเครื่องบินมาโจมตีไทย และเพียงราว 1 เดือนหลังจากนั้น อังกฤษตอบโต้กลับไทยด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่พระนคร ด้วยเหตุที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยเข้าโจมตีมลายูและพม่าของอังกฤษ

เมื่อ de Havilland โจมตีพระนคร

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485 ราวเที่ยงวัน เครื่องบินทิ้งระเบิดสัญชาติอังกฤษ รุ่นเดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอช.98 มัสคีโต บินจากฐานบินในพม่ามาโจมตีทางอากาศในไทย มีผู้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า เสียงหวอดังลั่นดังทั่วพระนคร ติดตามด้วยเสียงเครื่องบินและมีเสียงระเบิด มีรายงานว่าระเบิดลงแถวพระราม 6 สะพานกษัตริย์ศึก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ อาคารห้างร้านแถวพาหุรัด ย่านกรุงเกษม ย่านวัดดวงแขแถวถนนรองเมืองใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเวลานั้น ชาวพระนครต่างสร้างหลุมหลบภัยตามบ้านแต่ไม่แข็งแรงนัก ครั้งนั้น ชาวบ้านกลับไม่หลบภัยในหลุม แต่ไปยืนตามถนนใหญ่เพื่อเฝ้าดูเครื่องบิน บางคนใช้กล้องส่องทางไกลดูเครื่องบินกันด้วยความตื่นเต้น (สรศัลย์, 2558, 60-61)

ทั้งนี้ เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์เป็นเครื่องบินรบ มีเครื่องยนต์ใบพัดบนปีกไหล่ทั้งสองข้าง สามารถทำปฏิบัติหน้าที่ได้หลายภารกิจ และเป็นหนึ่งในเครื่องบินที่สามารถบินปฏิบัติการที่เร็วที่สุดในโลก เดอ ฮาวิลแลนด์ประจำการในกองทัพอากาศอังกฤษในเขตสงครามยุโรปและในเขตสงครามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจินต์ ปัญจพรรค์ บันทึกว่า ในวันนั้น เครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระบิดที่ยศเส สะพานกษัตริย์ศึก เพื่อหวังทำลายหัวลำโพงแต่พลาดเป้า ด้วยสัมพันธมิตรต้องการสกัดการขนส่งทหารญี่ปุ่นขึ้นเหนือ โดยนักบินมุ่งทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่ไม่ถูกเป้าหมายพลาดไปโดนบ้านเรือนแถวพาหุรัดแทน (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 196)

ข้ามสะพานพุทธไปเป็นไทยมุงที่ตลาดพลู

หลังจากเครื่องบินอังกฤษฝ่าดงกระสุนทิ้งระเบิดวนเวียนเหนือท้องฟ้าพระนครอยู่ราวชั่วโมง ปรากฏว่าเครื่องบิน 1 ลำใน 3 ลำที่เข้ามาทิ้งระเบิดเกิดความผิดปกติเซแฉลบออกจากฝูง ร่อนถลาต่ำๆ ตกลงในสวนแถวตลาดพลู พลประจำเครื่อง 5 นายเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้งเรือกสวนผลไม้และต้นหมากเป็นพื้นที่กว้างขวาง มีผู้คนแห่ไปเป็นไทยมุงกันมากมาย ทหาร ตำรวจไปถึงช้ากว่าชาวบ้าน ทหารอากาศและทหารเรือเข้าไปกู้ศพ พบเป็นเครื่องบินชนิดเดอ ฮาวิลแลนด์ ปีกชั้นเดียวแบบสองเครื่องยนต์ (สรศัลย์, 2558, 60-61)

อาจินต์ ชาวปากคลองตลาดในครั้งนั้น บันทึกว่า เมื่อเครื่องบินข้าศึกลำหนึ่งมาตกที่บางสะแก ตลาดพลูแล้ว “ทีนี้ คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าข้าราชการ หรือครู หรือนักเรียนต่างออกเดินกันแต่มืดข้ามสะพานพุทธไปตลาดพลูเพื่อดูเครื่องบินตก” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 114)

ควรบันทึกด้วยว่า ครั้งนั้น ไม่แต่เพียงย่านตลาดพลูเป็นที่ชุมนุมการค้าพลูและพืชผักแห่งสำคัญทางน้ำเท่านั้น แต่ยังมีสถานีรถไฟตลาดพลูอันเป็นเส้นทางรถไฟสายมหาชัยอีกด้วย ทำให้ตลาดพลูเป็นแหล่งซื้อขายอาหารทะเลจากมหาชัย แล้วยังมีร้านค้า โรงงิ้วให้กุลีชาวจีนตามโรงสี โรงเลื่อย โรงต่อเรือแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านดังกล่าวจับจ่ายใช้สอย ย่านดังกล่าวจึงมีความคึกคักตลอดทั้งวัน

เมื่อมีการตัดถนนเทอดไทเข้ามาในย่านตลาดพลู ราวปี 2480 ก่อนสงครามระเบิดขึ้น ทำให้ย่านดังกล่าวมีการคมนาคมและการค้ายิ่งเจริญขึ้น ชาวตลาดพลูบางส่วนเริ่มปรับเปลี่ยนการทำสวนพลูมาทำการค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดสงคราม เกิดการโจมตีทางอากาศในพระนคร ทำให้ชาวพระนครต่างอพยพข้ามมาพักอาศัยตามเรือกสวนในแถบนี้มากขึ้น (lek-prapai.org/663)

สภาพเครื่องบินอังกฤษตกที่ตลาดพลู

ขุนวิจิตรมาตรา บันทึกการโจมตีทางอากาศในวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ปั๊มน้ำมันวัดสระเกศ ตอนบ่ายได้ยินเสียงเครื่องบินมาทางหลังร้านหรือทางวัดสระเกศผ่านเหนือร้านขึ้นไป บินไม่สูงนักแต่ก็ไม่ต่ำนัก ข้าพเจ้าและคนที่อยู่ในตึกแถวออกไปดูกลางถนนกันมาก ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดัง เครื่องบินบินเฉียงไปทางวัดสุทัศน์ค่อนข้างช้า…ถึงเย็นวันนั้นได้ยินว่ามีเครื่องบินลำหนึ่งตกที่บางสะแก บางสะแกอยู่ระหว่างตลาดพลูกับปากคลองด่าน…

เครื่องบินตกในสวนผลไม้ คนที่ไปดูมาบอกว่า เครื่องบินแหลกป่นปี้นักบินก็แหลก หน้าตาร่างกายไส้พุงฉีกขาดกระจายไปค้างอยู่บนกิ่งไม้และพื้นดิน ว่าเป็นฝรั่ง เข้าใจว่าเป็นลำเดียวกับที่บินผ่านร้านข้าพเจ้าไป…เป็นเครื่องบินอังกฤษ บินมาจากทางเหนือ และทิ้งระเบิดมุมหนึ่งของพระที่นั่งอนันตสมาคมเสียหายเล็กน้อยแล้วบินต่อลงมา จะเป็นด้วยถูกยิงหรือเครื่องเสียไม่ทราบจึงไปตกที่บางสะแก…” (ขุนวิจิตรมาตรา, 463-464)

สภาพเครื่องบินที่ตกในสวนย่านบางสะแกนอก ตลาดพลูนั้น เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นปีกเครื่องบินคาที่ยอดหมาก ลำตัวแหลกที่ร่องสวน ที่ปีกมีรูปธงอังกฤษ เศษชิ้นส่วนนักบินกระจายไปทั่ว (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 115) ชาวบางไส้ไก่ ย่านฝั่งธนฯ คนหนึ่งบันทึกถึงเหตุเครื่องบินตกที่ตลาดพลูว่า คนแถวบ้านที่อยากรู้อยากเห็นจึงดั้นด้นไปดูเล่าให้เขาฟังว่า พวกเขาเห็นชิ้นส่วนของนักบินแขวนตามยอดมะพร้าว (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

สรศัลย์ แพ่งสภา บันทึกว่า การเข้าโจมตีทางอากาศของเครื่องบินสัญชาติอังกฤษในพระนครนั้น นักบินคงยังไม่ทราบตำแหน่งยุทธศาสตร์หรือที่ตั้งของหน่วยงานญี่ปุ่นดีเพียงพอจึงไปทิ้งบ้านเรือนที่เยาวราช ทั้งที่ชาวจีนมิได้นิยมในญี่ปุ่นสักเท่าใด (สรศัลย์, 2558, 54)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังอังกฤษโจมตีทางอากาศพระนคร เมื่อ 24 มกราคม 2485 แล้ว รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐเมื่อ 25 มกราคม 2485

หนึ่งในเหตุผลคือ ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2484-20 มกราคม 2485 อังกฤษได้โจมตีทางอากาศไทย 30 ครั้ง และโจมตีทางบกไทย 36 ครั้ง โดยจังหวัดที่ถูกโจมตีคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยะลา พระนคร และธนบุรี อันเป็นการโจมตีบ้านเรือนราษฎรและใช้ปืนกลยิงผู้คนปราศจากศีลธรรม

“ครั้นมาวันที่ 24 เดือนนี้เอง เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีก ทั้งๆ ที่ไทยมิได้ประทุษร้ายอังกฤษและอเมริกาแต่อย่างใด” (ราชกิจจานุเบกษา 25 มกราคม 2485)

ในช่วงแรกบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศรัฐบาลให้เก็บศพและปล่อยซากปรักหักพังให้ทิ้งคาอย่างนั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ คาดว่ารัฐบาลคงต้องการเก็บเป็นหลักฐานประจานความมีอารยธรรมของชาติตะวันตก ว่าได้ทำลายบ้านเรือนของพลเรือนมิใช่หน่วยราชการหรือหน่วยทหาร แต่ต่อมารัฐบาลให้ขนอิฐปูนไปทิ้งเพื่อมิให้เกะกะการสัญจร (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 178-179)

ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศของอังกฤษเมื่อ 27 มกราคม 2485 ภายหลังไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐแล้ว สร้างความเสียหายให้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย

เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์ของอังกฤษที่บินข้ามฟากมาจากพม่าทาสีตามนี้เลยครับ 

(https://fullfatthings-keyaero.b-cdn.net/sites/keyaero/files/styles/article_body/public/imported/2021-01-13/img_81-3.jpg?itok=C_RBKcOd)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 24, 11:45
     ดูเหมือนข้อมูลจะตรงกันก็คือเครื่องบินตกวันที่ 24 มกราคม 2485 ส่วนข้อมูลทิ้งระเบิดใส่พระที่นั่งอนันตสมาคมยังมีเสียงแตก ขุนวิจิตรมาตราบอกว่าวันเดียวกับเครื่องบินตก ส่วนสรุปปิดท้ายบทความลงว่าเป็นวันที่ 27 มกราคม 2485

     ผมไปค้นหาในหนังสือนาวิกศาสตร์เดือน มิถุนายน 2557 หน้า 39 ระบุว่า

     การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 24 มกราคม 2485 ซึ่งทำให้พระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งยังผลอันสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา

    สรุปความได้ว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหายวันที่ 24 มกราคม 2485 และทหารกองทัพเรือยิงเครื่องบินฮาวิลอนตกวันที่ 24 มกราคม 2485 หรือวันเดียวกัน


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 24, 20:01
เข้ามาบอกว่าติดตามด้วยความสนใจอย่างยิ่งค่ะ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 ก.พ. 24, 08:52
ขอบคุณครับอาจารย์

กระทู้นี้ผมจะใส่ข้อมูลที่เก็บไว้ตัวเองทั้งหมดเท่าที่สามารถทำได้ ไปเรื่อยๆ ครับเร็วบ้างช้าบ้าง



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 ก.พ. 24, 09:11
        เดือนมกราคมวิปโยคผ่านพ้นไปแล้ว กรุงเทพถูกรุกรานทางอากาศจำนวน 6 ครั้ง แบ่งเป็นการโจมตีด้วยระเบิดจำนวน 3 ครั้ง การถ่ายภาพทางอากาศอีก 3 ครั้ง หลังจากนั้นเป็นช่วงปลอดภัยทุกคนในกรุงเทพใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ทว่าต่างจังหวัดยังมีการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายสำคัญ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการยับยั้งทหารญี่ปุ่นซึ่งกำลังรุกรานพม่าอย่างหนัก

   วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 อังกฤษประกาศสงครามกับประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485 ซึ่งก็คือวันแรกที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485 ข้อมูลจากอเมริการายงานว่า เครื่องบินรบอังกฤษทิ้งระเบิดบริเวณตัวเมืองเชียงราย ทหารไทยเสียชีวิตจำนวน 14 นายบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ส่วนข้อมูลจากทางการไทยรายงานว่า ฝ่ายตรงข้ามส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น Bristol Blenheim จำนวน 7 ลำโจมตีสนามบินเชียงราย กองบินผสมที่ 80 ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) ทำการสกัดกั้น ผลการรบและความเสียหายไม่ปรากฏในรายงาน

   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 สิงคโปร์ยอมจำนนต่อญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข

   วันที่ 6 มีนาคม 2485 มีการทิ้งระเบิดในจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำการในพื้นที่คือกองพันทหารม้าที่ 4 กรมทหารม้าที่ 46 (ม.พัน.4 ม.46) ซึ่งเป็นทหารม้าส่วนหน้าของกองทัพพายัพ มีภารกิจสำคัญที่แนวรบเหนือสุดของประเทศก็คือเชียงตุง

   วันที่ 9 มีนาคม 2485 กองทัพญี่ปุ่นยึดเมืองร่างกุ้งได้อย่างเด็ดขาด พม่าตกอยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ กำลังทหารอังกฤษทั้งหมดรวมทั้งกองทัพอากาศต้องถอยร่นเข้าสู่อินเดีย ส่งผลให้การรุกรานประเทศไทยด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดพลอยเงียบหายตามกัน

   แนวรบภาคเหนือของพม่ากลับเข้าสู่ความปรกติ ญี่ปุ่นระดมสรรพกำลังจากจับกังและเชลยศึกอังกฤษ สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากภาคใต้มายังภาคเหนือเพื่อใช้ในกิจการทางทหาร

       ต่อมาไม่นานแนวรบภาคใต้ของพม่าลุกเป็นไฟขึ้นมาแทน เมื่อกองทัพพายัพแห่งประเทศไทยบุกเข้าตีเมืองเชียงตุงหรือสหรัฐไทยเดิม อังกฤษซึ่งถอยทัพทั้งหมดเข้าอินเดียไปแล้วส่งกองพลที่ 93 กองกำลังทหารฝ่ายจีนก๊กมินตั๋ง มาตั้งมั่นรอต้อนรับการรุกรานจากทหารไทยในพื้นที่เมืองเชียงตุง

       เมื่อพม่าถูกญี่ปุ่นยึดครองการโจมตีจากอังกฤษพอลยเงียบหายตามกัน เป็นช่วงเวลา 9 เดือนเต็มๆ ที่ประเทศไทยไม่ถูกรุกราน อาจถือได้ว่านี่คือความเงียบสงบก่อนพายุลูกใหญ่มหึมาจะพัดผ่าน



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 ก.พ. 24, 09:12
จะเห็นนะครับว่าช่วงแรกของสงครามการทิ้งระเบิดทำโดยกองทัพอากาศอังกฤษ ประสิทธิภาพในการโจมตีใช้คำว่าไม่ตรงตามความต้องการ (ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะประมาณไม่ตรงปก) เนื่องจากเครื่องบินขนาดเล็กเกินไป บรรทุกระเบิดน้อยเกินไป ไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการเล็งเป้าหมาย ไม่มีแนวที่ห้าช่วยกำหนดเป้าหมายหรือให้ข้อมูลที่ตั้งทางทหาร (สายลับนั่นแหละ)  ต้องพึ่งพาการถ่ายภาพทางอากาศซึ่งบอกข้อมูลได้เพียงคร่าวๆ รวมทั้งต้องทิ้งระเบิดตอนกลางคืนหลีกเลี่ยงความเสียหาย จุดยุทธศาสตร์สำคัญของกรุงเทพก็เลยแคล้วคลาดภยันตราย และส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งไม่เคยเผชิญการโจมตีทางอากาศมาก่อน ถูกลูกหลงจากการทิ้งระเบิดเกิดความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 ก.พ. 24, 09:16
     เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผมมีข้อมูลจากบทความ ‘สะป๊ะตะวา เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่’ มาเล่าสู่กันฟัง ต้นทางมีหลายตอนผมขอลงแค่ตอนเดียวก่อนให้พอเห็นเป็นน้ำจิ้ม ลิงก์ต้นทางสูญหายไปแล้วพอดีข้อมูลพวกนี้ผมเซฟไว้ถือว่าโชคดีมาก

     เดิมเชื่อว่าสมัยก่อนด้านหน้า ร.ร.มงฟอร์ตประถมมีโรงพักเล็กๆอยู่ก่อนที่จะยุบมาตั้งเป็นโรงพักแม่ปิง ใกล้ตลาดวโรรส แต่เมื่อได้พูดคุยกับมาสเซอร์สมาน   ผอนตระกูล อายุ ๖๗ ปี เป็นครูรุ่นแรกๆของ ร.ร.มงฟอร์ต เริ่มสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ บ้านอยู่ละแวกหน้ามงฟอร์ต ยืนยันว่ามีโรงพักด้านหน้า ร.ร.มงฟอร์ตจริงๆ เป็นอาคารไม้ใต้ถุนเตี้ย บันไดขึ้นด้านหน้า ด้านบนมีสัก ๓ ห้อง มีเวรยาม ราวปืนเหมือนโรงพักทั่วไป น่าเชื่อว่าเป็นโรงพักย่อยของสภ.อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปราบปรามการลักลอบฆ่าสัตว์โดยเฉพาะ เนื่องจากย่านช้างตลานมีการลอบฆ่าสัตว์กันทั้งนั้น ไม่แน่ใจ ว่ารื้อเลิกไปปีใด แต่ราวปี พ.ศ.๒๔๙๕ ยังมีอยู่เพราะว่ามาสเซอร์สมาน ยังได้ไปเล่นตะกร้อกับตำรวจด้านหน้าโรงพักอยู่ ส่วนโรงพักแม่ปิงมีมานานแล้ว ย่านช้างคลาน ในอดีตมีอาชีพฆ่าวัวกันแทบทุกบ้าน บ้านละ ๓ – ๔ ตัว แม่น้ำปิงในละแวกนี้ จึงลงเล่นไม่ค่อยได้ และไม่สะอาดเหมือนที่อื่น เนื่องจากเป็นที่ทิ้งกระดูกวัว จะเห็นกระดูกวัวกองริมแม่น้ำขาวโพลนทั่วไป ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงงานทำปุ๋ย จึงมีการเก็บกระดูกสัตว์ขายเข้าโรงงานทำปุ๋ย

     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.2484-2488) ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นและยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเข้าประเทศพม่า บรรยากาศในเมืองเชียงใหม่ช่วงนั้น จะมีทหารพม่ามาตั้งกองทหารตามวัดโดยทั่วไป แทบจะทุกวัด เช่น วัดศรีดอนไชย, วัดหมื่นเงินกอง, วัดช่างเคี่ยน, ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ ส่วนคลังน้ำมันขนาดใหญ่ของทหารญี่ปุ่นอยู่บริเวณด้านหน้าวัดสวนดอก บริเวณรพ.ประสาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่สนามบินมีกองกำลังทหารญี่ปุ่นและมีเครื่องบินของญี่ปุ่นมาจอดเพื่อบินไปโจมตีพม่า มองจากย่านช้างคลานเห็นได้ชัด เนื่องจากสมัยก่อนเป็นทุ่งโล่ง เครื่องบินญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ลำ จุดสนามบินจึงเป็นจุดที่เครื่องบินสัมพันธมิตร (ฝ่ายอเมริกา) ที่ใช้ฐานทัพที่เมืองคุนหมิงประเทศจีนบินมาโจมตีอยู่เสมอ อีกจุดหนึ่งที่ถูกโจมตีคือ สถานีรถไฟ

     ผู้คนจะต้องขุดหลุมหลบภัยในบ้านของตนเอง แม้แต่ในโรงเรียนมงฟอร์ตก็ต้องขุดไว้ด้วย เป็นหลุมขนาดให้คนเข้าไปอยู่ได้พอสบาย สูงประมาณแค่อกยาวเป็นรูปฟันปลา เมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาโจมตี ทางการจะให้สัญญาณเสียงหวอดังไปทั่วเมืองเชียงใหม่ ทุกคนจะวิ่งหลบลงหลุม สัญญาณเสียงหวอดังกล่าวติดอยู่บริเวณตึกร้านรัตนผล ถนนท่าแพตรงข้ามห้างตันตราภัณฑ์เก่า ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกสูงของเมืองเชียงใหม่ ส่วนหอสังเกตการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยส่องกล้องดูเครื่องบินข้าศึกที่จะมาทิ้งระเบิด คือ ที่ต้นยางสูงบริเวณประตูเชียงใหม่ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ลำหรือสองลำ มากันเป็นร้อยลำกระหึ่มเต็มท้องฟ้า โผล่พ้นมาทางดอยสุเทพมาทิ้งระเบิดและยิงกระสุนเน้นที่บริเวณสถานีรถไฟและสนามบินเท่านั้น ไม่ทำลายบริเวณบ้านคน ตลาด โรงเรียน หรือสะพาน ในเวลากลางคืนก็ต้องมีการพรางไฟกัน ต้องใช้ผ้าดำ หรือน้ำเงินคลุมหลอดไฟไม่ให้มีแสง ต่อมาไม่นานน้ำมันที่ใช้สำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้า ของเมืองเชียงใหม่ขาดตลาด ไฟฟ้าดับต้องหันกลับมาใช้ตะเกียงกันอีกครั้งหนึ่ง น้ำมันก๊าดก็ขาดตลาด ต้องใช้ไขวัวไขควายแทน (มาสเซอร์สมาน   ผอนตระกูล, สัมภาษณ์)

     คุณปิยะนารถ ภูวกุล (อายุ ๗๐ ปี) เจ้าของร้านรัตนผล ถนนท่าแพ เล่าว่า “ช่วงสงครามอายุแค่ ๑๕ ปี เรียนอยู่โรงเรียน เรยินาเชลี มีทหารมาขอติดตั้งสัญญาณหวอที่ดาดฟ้า สมัยนั้นที่บ้านถือว่าสูงที่สุดก็ว่าได้ เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น พ่อแม่มีอาชีพค้าขายด้ายสำหรับทอผ้า บ้านตึกหลังนี้สร้างปี พ.ศ.๒๔๗๕ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๑๓ เดือน หัวหน้าช่างเป็นชาวจีนจากกวางตุ้ง พ่อแม่เล่าว่าวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ มีเจ้าแก้วนวรัฐมาเป็นประธาน และที่สำคัญที่ต่างจากบ้านอื่น คือ มีดาดฟ้า สมัยก่อนไม่ค่อยมีบ้านไหนทำดาดฟ้ากันมักจะเป็นหลังคาธรรมดา แม้จะเป็นบ้านตึก สัญญาณหวอเป็นโลหะ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ฟุตครึ่ง ทำขาตั้งด้วยไม้ประมาณ ๒ เมตร มีสวิตช์ปิดเปิดสัญญาณเสียง เสียงดังมาก แต่ละครั้งมีทหารมาประจำ ๒ คน และมีวิทยุรับส่ง เมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาก็จะเปิดสัญญาณหวอ”

     คนเก่าๆหลายคนบอกว่า ทหารญี่ปุ่นยุคนั้นตัวเล็ก เตี้ยกว่าคนไทยเรานิสัยสุภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มักแสดงความยิ่งใหญ่ให้เห็น เช่น มีนายทหารระดับ นายพล แต่งเต็มยศ ขี่ม้าเทศตัวใหญ่มีทหารเดินตามเป็นขบวน  เดินวางมาดที่ถนนท่าแพและสายอื่น ดูเป็นที่เกรงขามของคนไทย

     ด้านบริเวณโรงแรมลานนาพาเลสใกล้แยกประชาสัมพันธ์ เป็นที่ตั้งของรถถังปืนใหญ่ต่อสู้ทางอากาศหรือ ปตอ. มีด้วยกัน ๔ คัน อยู่ละแวกเดียวกันคอยหมุนยิงเครื่องบินสัมพันธมิตร มีทหารมาตั้งเต็นท์อยู่ แต่เครื่องบินสัมพันธมิตรมักบินต่ำเพื่อหลบกระสุนทำให้ยิงไม่ค่อยถูก มีคราวหนึ่งที่เครื่องบินถูกยิง ไปร่อนตกเกือบถึงลำพูน ทราบว่านักบินเป็นคนเชื่อสายจีน ไม่เสียชีวิตและรับความช่วยเหลือหลบซ่อนจากคนเชื้อสายจีนที่ลำพูน

     ช่วงสงครามศพผู้เสียชีวิตที่ถูกระเบิดและกระสุนจากเครื่องบินจะถูกนำบรรทุกเกวียนมาวางสุมรวมกันไว้ที่สุสานช้างคลานเป็นกองพะเนิน มีทั้งชาวบ้านและทหารญี่ปุ่น เพื่อคอยให้ญาติมารับศพไปจัดการ เช่นเดียวกับที่สุสานสันกู่เหล็กและสุสานบ้านเด่น ศพเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากบริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งบริเวณนั้นสมัยก่อนมีโรงงานฟอกหนังหลายโรง ชาวช้างคลานคนหนึ่งเป็นหญิงที่ทำงานที่นั่นก็ถูกกระสุนปืนจากเครื่องบินขณะลุกจากหลุมหลบภัยจึงโดนสะเก็ดระเบิด เสียชีวิต

     ทหารญี่ปุ่นที่พลุกพล่านอยู่ทั่วไป ปกติมักไม่รังแกชาวบ้านยกเว้นต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองเชียงใหม่จะถูกขับไล่ บ้านหนึ่ง คือ บ้านของมิสเตอร์แบร์ ชาวเดนมาร์ก อยู่ด้านตะวันตกของวัดศรีเกิด ทหารญี่ปุ่นเข้าครอบครองอาศัย แต่ถ้าหากมีชาวบ้านบางคนลักขโมยของก็จะถูกจับขึงให้ตากแดดที่สนามบินให้เป็นการทำโทษ สินค้าชาวบ้านที่ขายดีมาก คือ กล้วยหอม เป็นที่นิยมของทหารญี่ปุ่น เรื่องการที่ทหารญี่ปุ่นสามารถพิมพ์ธนบัตรได้เองส่งผลให้สินค้ามีราคาแพง ทหารญี่ปุ่นจะนำธนบัตรของไทยมาใช้จับจ่ายซื้อของในตลาด มักเป็นธนบัตร ฉบับละ ๑๐ บาท นำมาเป็นปึกเมื่อถึงตลาดก็ใช้กรรไกรตัดแบ่งเป็นฉบับซื้อสินค้า ตัดขอบตรงบ้านไม่ตรงบ้างชาวบ้านก็รับไว้หมด เพราะไม่มีทางเลือกและถือเป็นธนบัตรที่ถูกต้องเนื่องจากเหมือนธนบัตรไทยทุกประการเชื่อกันว่ารัฐบาลไทยจำต้องยอมให้ญี่ปุ่นพิมพ์มาใช้

     มีผู้บอกว่าด้านหลังวะดพระสิงห์ มีโสเภณีอาศัยอยู่ประมาณ ๒๐ คน เป็นหญิงสาวชาวไต้หวันและจีน เข้าใจว่าทหารญี่ปุ่นบังคับมาเพื่อบำรุงขวัญนายทหารญี่ปุ่น ไม่แน่ใจว่าบังคับหรือไม่ เนื่องจากแต่ละคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี

     หมายเหตุ : ข้อมูลจากลุงบุญแถม ไชยทอง, มาสเซอร์สมาน ผอนตระกูล, มาสเซอร์เฮง เงาโสภา และคุณปิยะนารถ ภูวกุล

     ในภาพคือบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ พ.ศ. 2480 มีบรรยากาศผู้คนบนถนนเจริญเมือง ถ่ายจากฝั่งโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ฝั่งตรงข้ามสถานี ก่อนที่สถานีเชียงใหม่เดิมจะถูกทิ้งระเบิดจนเกิดเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งจุดในเชียงใหม่

(https://scontent.fbkk3-4.fna.fbcdn.net/v/t1.18169-9/13557658_767602873380724_5995410903479088724_n.jpg?_nc_cat=108&ccb=1-7&_nc_sid=c2f564&_nc_eui2=AeEcpDIX9eIeh0L5YvQLOVtpFc-TRGBkmusVz5NEYGSa63FPJDkdTzmJZ-eozdsCsQ8&_nc_ohc=L-ET-y3cbKcAX8TI9ug&_nc_ht=scontent.fbkk3-4.fna&oh=00_AfCoIzkex9MJudZjvBH-BYDo_9a4mvRzAmuwMiS1_Xg0jg&oe=66034832)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.พ. 24, 13:58
Siam Historical Cafe @ Youtube

การทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรในประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2487 - สิงหาคม พ.ศ. 2488
ไทยถูกโจมตีทางอากาศรวม 245 ครั้ง 2,943 เที่ยวบิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,871 คน  อาคารพัง 9,616 หลัง เสียหาย 1,195 หลัง

วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

"เครื่องบิน B-29 จำนวน 60 เครื่องจากสนามบินในอินเดียเข้าถล่มกรุงเทพ ประเทศไทยเป็นครั้งที่สองในปีนี้ (พ.ศ. 2487)
กรุงเทพถือเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะเป็นจุดส่งกำลังบำรุงของทหารญี่ปุ่น เป้าหมายหลักคือสถานีบางซื่อ 4.5 ไมล์
จากใจกลางกรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนขบวนของรถไฟจากทางทิศใต้และทิศตะวันตกสู่มาลายาและพม่า เพื่อไปยังแนวรบด้านเหนือ
ของประเทศไทย ทางรถไฟ 22 สายรวมกันเหลือ 5 บริเวณคอขวดของสถานีทางทิศเหนือ

เป้าหมายการทิ้งระเบิดคือสถานีซ่อมบำรุง ซึ่งทั้ง 4 สถานีถูกทำลายลง เป้าหมายระดับกลางก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน คือรถไฟ 15 ขบวน
เป้าหมายรองคือ โกดัง 39 หลังซึ่งอยู่ติดกับทางรถไฟในทิศใต้
สภาพอากาศปรอดโปร่ง ทำให้สามารถการทิ้งระเบิดในระดับสายตา จากระยะ 18,000-21,000 ฟุตได้ผลเป็นอย่างดี

ฝ่ายเราเสียหายเพียงเล็กน้อย ทหารบาดเจ็บ 4 นาย พบการยิงต่อต้านจากภาคพื้นเพียงเล็กน้อยและขาดความแม่นยำ
การต่อต้านอย่างแข็งขันจากอากาศยานข้าศึกทำให้ฝ่ายญี่ปุ่น (ที่จริงแล้วคือเครื่องบินไทย) สูญเสียเครื่องบิน 7 เครื่อง ร่วมกับอาจถูกทำลาย
อีก 3 เครื่อง และ 6 เครื่องได้รับความเสียหาย เครื่อง B-29 ทุกเครื่องกลับฐานอย่างปลอดภัย"

ความเสียหายจากข้อมูลฝ่ายไทย : ข้าศึกทิ้งระเบิดจำนวน 280 ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 114 คน บาดเจ็บ 150 คน อาคาร 149 หลัง
รถจักร 15 คัน รถพ่วง 120 คัน สถานีรถไฟบางซื่อเสียหายอย่างหนัก
 
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488
.
"ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เครื่องบิน B-29 จากฐานบินในประเทศอินเดีย เข้าโจมตีสะพานพระราม 6 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
กรุงเทพคือสถานที่ส่งกำลังบำรุงหลักของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งปฏิบัติการในพม่า และเป็นทางเชื่อมหนึ่งเดียวระหว่างแนวรบพม่ากับทะเลจีนใต้
ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ตกลงที่กลางสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งยาว 1,400 ฟุตและในเวลาเดียวกันเครื่องบิน B-29 อีกส่วนหนึ่ง
ได้เข้าโจมตีไซง่อน อินโดจีนฝรั่งเศส"

วิดิโอจัดทำขึ้นโดย Department of Defense. Department of the Army. Office of the Chief Signal Officer. (9/18/1947 - 3/1/1964) 
จาก NATIONAL ARCHIVES CATALOG NATIONAL ARCHIVES CATALOG

https://www.youtube.com/watch?v=Kaq-QkuUIyE


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 ก.พ. 24, 09:09
ผีซ้ำด้ำพลอย

   สิ้นสุดเดือนมกราคม 2485 กรุงเทพปลอดภัยจากการทิ้งระเบิด มีการสร้างหลุมหลบภัยจำนวนมากอย่างเร่งด่วน ทั้งจุดที่เป็นอาคารมั่นคงแข็งแรงสร้างโดยรัฐบาล และจุดที่ประชาชนสร้างเองตามมีตามเกิด โดยการขุดหลุมขนาดใหญ่ ทำคานค้ำยันมุงหลังคาแล้วใช้ดินถม ให้ดีอีกสักหน่อยก็กั้นปากหลุมไม่ให้น้ำไหลเข้า ช่วงไหนฝนตกหนักหลุมหลบภัยมักกลายเป็นหลุมปลักควาย ผู้คนซึ่งกำลังขวัญหนีดีฝ่อต้องมานั่งแช่น้ำในหลุม พร่ำบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ใช้มือตบยุงที่ตามมาหลบระเบิดด้วยกัน กระทั่งได้ยินเสียงหวูดยาว ๆ ครั้งเดียวจึงออกจากหลุมกลับบ้านตัวเอง

    เมื่อวันเวลาเดินทางเข้าสู่เดือนมีนาคม พม่า สิงคโปร์ และชวาหรืออินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมทหารญี่ปุ่น ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอยร่นมาตั้งหลักในออสเตรเลีย การทิ้งระเบิดในกรุงเทพและต่างจังหวัดพลอยเลือนหายตามกัน แต่ถึงกระนั้นยังมีคำยังพรางไฟตามปรกติ โรงเรียนทุกระดับชั้นเปิดเรียนตามปรกติ ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร และยา มีวางขายในตลาดตามปรกติ แต่ราคากลับแพงขึ้น…แพงขึ้น…แล้วก็แพงขึ้น พ่อค้าหลายคนกักตุนสินค้าเพื่อแอบขายให้กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลพยายามแก้ไขความเดือดร้อนแต่แทบไม่ได้ผล โดยเฉพาะสินค้าผลิตเองไม่ได้ต้องนำเข้าราคาพุ่งพรวดจนน่าตกใจ ประชาชนทุกคนต้องหาทางดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเท่าที่สามารถทำได้

      วันเวลาผันผ่านเข้าสู่ปลายเดือนกันยายน 2485 กรุงเทพมหานครเกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี สถานที่สำคัญทั้งหมดล้วนจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม

     นอกจากกรุงเทพน้ำยังท่วมอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง รวมทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้บางส่วน ถือเป็นน้ำท่วมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบกับประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว

      ระดับน้ำเริ่มเอ่อล้นเทียบเท่าทางเท้าปูอิฐแดงซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนน ก่อนสูงมากขึ้นจนท่วมพื้นถนนและรางรถราง และเพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนถึงระดับหน้าอก ส่งผลให้รถยนต์ทุกชนิดและรถรางพากันจอดตายใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งพาเรือพายในการเดินทางระยะใกล้ และใช้บริการเรือแจวข้ามฟากทดแทนรถรางกับรถโดยสาร ตลาดสดทุกแห่งในกรุงเทพถูกย้ายขึ้นมาอยู่บนสะพาน เพราะเป็นพื้นที่สูงแห่งเดียวในชุมชนที่ยังหลงเหลือไม่ถูกน้ำท่วม

     บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ระดับน้ำท่วมไม่ถึงพื้นบ้านพักอาศัยได้ตามปรกติ การเดินทางค่อนข้างลำบากแต่ยังสามารถเดินทางได้ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีเรือพายติดบ้าน ทั้งเรือสร้างจากไม้หรือเรือสร้างจากสังกะสีราคาไม่แพง ถ้าต้องการเดินทางไกลหน่อยมีเรือสำปั้นรับจ้างให้บริการ น้ำประปาค่อนข้างขาดแคลนก๊อกน้ำเกือบทั้งหมดจมอยู่ใต้บาดาล อาหารทั้งแห้งและสดยังมีขายไม่ถึงกลับขาดแคลน โชคร้ายราคาขยับสูงขึ้นจากที่เคยแพงมากอยู่แล้ว ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจกันตกปลาซึ่งมาพร้อมน้ำใช้เป็นอาหารประทังชีวิต บรรเทาความลำบากยากแค้นเรื่องปากท้องได้ไม่มากไม่น้อย

     น้ำเริ่มท่วมปลายเดือนกันยายน 2485 ระดับน้ำสูงสุดความลึก 2.27 เมตรในวันที่ 12 ตุลาคม ระดับน้ำเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม กว่ากรุงเทพจะกลับสู่ปกติก็ปาเข้าไปปลายเดือนพฤศจิกายน กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน ทุกวันอาทิตย์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อแข่งขันเรือพาย มีพ่อค้าแม่ค้าแจวเรือมาขายอาหารคาวหวานเหมือนงานเฉลิมฉลองโดยทั่วไป

      เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงชาวบ้านพากันซ่อมแซมบ้านเรือนตัวเอง

      เมื่อถนนใช้งานได้ตามปรกติ เครื่องบินทิ้งระเบิดก็กลับมาทำงานตามปรกติ

     ภาพประกอบคือเหตุการณ์น้ำท่วมพระนคร 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ

(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/09/My-Country-Thailand-1-1.jpg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 ก.พ. 24, 09:17
     วันที่ 28 พฤศจิกายน  2485 บนรถรางทุกสายมีผู้โดยสารแน่นขนัด ส่วนรถยนต์ยังวิ่งไม่ได้เนื่องจากถนนค่อนข้างลื่น วันนั้นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 กองบินทหารบกอเมริกา ทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพอีกครั้ง การโจมตีครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่แล้วมาอย่างชัดเจน

     เครื่องบินทุกลำเดินทางออกจากฐานทัพอากาศในประเทศอินเดีย บรรทุกลูกระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวนมากใต้ท้องเครื่อง ภารกิจนี้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก นักบินและเจ้าหน้าที่บนเครื่องเป็นทหารสัญชาติอเมริกัน (ส่วนมาก) กับแคนาดา (ส่วนน้อย) ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดจากอังกฤษและออสเตรเลียยังไม่มีบทบาทต่อการทิ้งระเบิดในประเทศไทย

     ช่วงเวลา 9 เดือนแห่งความสงบเงียบแต่เฉอะแฉะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันนี้

     วันที่ 26 ธันวาคม 2485 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 เจ้าเดิมจากประเทศอินเดีย บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือคลองเคยซึ่งมีทางรถไฟเชื่อมโยงกับหัวเมือง โรงไฟฟ้าสามเสน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ รวมทั้งโรงงานสรรพาวุธบางซื่อ ทั้งหมดนี้คิดเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย

     ผลการทิ้งระเบิดแม้เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากสหรัฐอเมริกา ทว่าผลลัพธ์ยังคงขาดความแม่นยำค่อนข้างสูงเช่นเคย เป้าหมายสำคัญๆ ทั้งหมดเสียหายเพียงเล็กน้อย บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงถูกลูกหลงเหมือนเดิม

      เรามาทำความรู้จักมหันตภัยจากฟากฟ้าลำใหม่ให้เห็นภาพกันสักนิด

      B-24 Liberator คือเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ ยาว 20.47 เมตร ปีกกว้าง 34 ใช้ลูกเรือ 11 นาย น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 24.9 ตัน ความเร็วสูงสุด 497 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ไกลสุด 2,480 กิโลเมตรเมื่อบรรทุกเต็มอัตรา บรรทุกระเบิดได้มากสุด 8,000 ปอนด์หรือ 3,600 กิโลกรัม ในภาพกำลังทิ้งระเบิดขนาด 200 ปอนด์ออกจากใต้ท้องเครื่อง โดยมีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 10 กระบอกสำหรับป้องกันตัว

     แม้ B-24 ขนาดใหญ่กว่า Bristol Blenheim และ De Haviland DH 98 Mosquito หรือเจ้ายุงที่ทหารเรือไทยเคยสอยร่วงมาแล้ว 1 ลำ ทว่าเครื่องบินซึ่งพัฒนาก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย และเข้าประจำการก่อนสหรัฐอเมริกาถูกญี่ปุ่นบุกโจมตียามพลั้งเผลอ ยังไม่มีอุปกรณ์ทันสมัย ขนาดเล็กเกินไป บินช้าเกินไป บินได้ไม่ไกลเท่าที่ควร รวมทั้งบรรทุกระเบิดได้ไม่มากพอ การโจมตีเป้าหมายโดยไม่มีแนวที่ห้าให้ความช่วยเหลือก็เลยสะเปะสะปะเหมือนเดิม

     นอกจาก B-24 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุด อเมริกายังมีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ B-17 Flying Fortress ใช้งานช่วงเวลานั้นประมาณ 8,000 ลำ (จากยอดรวมการผลิต 13,000 ลำ) บรรทุกระเบิดเทียบเท่า B-24 แต่บินไกลกว่านิดหน่อย เครื่องบิน B-17 ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้งานในยุโรป เครื่องบินส่วนน้อยใช้งานในเอเชียแปซิฟิก อเมริกาใช้โจมตีญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เท่ากับว่า B-17 ไม่ได้เข้าร่วมภารกิจทิ้งระเบิดโจมตีสถานที่สำคัญในประเทศไทย

      สถานการณ์หลังจากอเมริกาประกาศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร กองบิน 10 กองบินทหารบกอเมริกาถูกส่งมาร่วมรบกับอังกฤษในอินเดีย ภารกิจหลักคือยับยั้งกำลังทหารญี่ปุ่นจากพม่าบวกกลุ่มกบฏในอินเดีย ซึ่งพยายามปลดแอกอินเดียจากอังกฤษและเกือบทำสำเร็จเหลืออีกเพียงนิดหน่อย ภารกิจรองคือโจมตีค่ายทหารกับจุดยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศไทย ฉะนั้นความรุนแรงดุเดือดของการทิ้งระเบิดในพม่าและอินเดียหนักกว่าเราหลายเท่าตัว

     จากภาพถ่ายจำนวนลูกระเบิดที่ถูกปลดจากใต้ท้องเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator ยังมีไม่มากเท่าไร

(http://pwencycl.kgbudge.com/images/B/-/B-24_Liberator__salvo_full.jpg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 ก.พ. 24, 09:23
ขออธิบายเล็กน้อย

จนถึงระยะเวลาที่ผมเล่าเรื่องราวค้างไว้ สหรัฐอเมริกายังพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ไม่เสร็จ ฉะนั้นเราจะเห็น B-24 ไปเรื่อยๆ จนถึงกลางปี 2487





กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 24, 11:24
ภาพน้ำท่วม


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 24, 11:52
จากหอภาพยนตร์

        เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร
เมื่อถึงระยะที่น้ำท่วมสูงสุด
        แท้ ประกาศวุฒิสาร วัย 24 ปี ผู้กำลังว่างงาน ได้ลงทุนเสาะหาซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งหาได้ยากยิ่งในช่วงสงคราม เพื่อมาบันทึก
ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไว้ ที่สุดแล้วเขาสามารถหาฟิล์ม 16 มม. ขาวดำมาได้ 3 ม้วน จากห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน และเช่าเรือจ้าง
ลำหนึ่ง ออกตระเวนถ่ายหนังไปทั่วกรุงเทพพร้อมกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน ทั้งยังได้ถ่ายเหตุการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่งเรือมาประชุมสภาฯ
ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปรากฏให้เห็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา, ควง อภัยวงศ์, ประยูร ภมรมนตรี ฯลฯ

        จากหนังที่ตั้งใจถ่ายไว้แค่ “ดูเล่นเป็นที่ระลึก” ปัจจุบัน น้ำท่วมกรุงเทพ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้กลายเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์
ถึงสภาพบ้านเมืองและผู้คนในมหาอทุกภัยครั้งนั้นที่มีชีวิตชีวาอย่างไม่อาจหาได้จากสื่อบันทึกอื่นใด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2554

        This film recorded the great flood that submerged most parts of Bangkok in 1942, during World War Two.
        Thae Prakasvudhisarn shot the film and also narrated it himself. It shows several city landmarks such as Hua Lamphong Station, Victory Monument, and in the last section the Anantasmakhom Throne Hall, which was used as the parliament, and thus a number of
key political figures in Thailand were captured in the film as well.

https://www.youtube.com/watch?v=awo88OupL98


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 24, 14:39
     
อ้างถึง
ในเวลากลางคืนก็ต้องมีการพรางไฟกัน ต้องใช้ผ้าดำ หรือน้ำเงินคลุมหลอดไฟไม่ให้มีแสง
      ดิฉันเกิดหลังสงครามสงบแล้วหลายปี  แต่ยังจำได้ว่าในบ้านยังมีผ้าสีน้ำเงินแก่ผืนยาวๆ เหมือนผ้าคลุมไหล่  แม่เล่าว่าเอาไว้ใช้กรุช่องลมเหนือหน้าต่างไม่ให้แสงไฟลอดออกไปภายนอก  หน้าต่างไม้ทุกบานปิดสนิท   ด้วยวิิํิธีนี้จึงเปิดไฟในห้องตอนกลางคืนได้   แต่หลอดไฟก็น้อยแรงเทียนมาก  สว่างพอลุกเดินได้ไม่ชนกัน  แต่ไม่มากพอจะอ่านหนังสือได้
     
อ้างถึง
คนเก่าๆหลายคนบอกว่า ทหารญี่ปุ่นยุคนั้นตัวเล็ก เตี้ยกว่าคนไทยเรานิสัยสุภาพเป็นส่วนใหญ่
      แม่เล่าเหมือนกันว่าญี่ปุ่นตัวเตี้ย  และสายตาสั้นด้วย สวมแว่นหนา    สูงขาวหล่ออย่างโกโบริไม่มีให้เห็นสักคน

      ก่อนหน้าญี่ปุุ่นบุกไทย    ญี่ปุ่นได้ส่งสายลับเข้ามาแฝงอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก   หนึ่งในนั้นคือพวกหมอฟัน   สมัยนั้นหมอฟันเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่  คนไทยต่างก็คุ้นเคยกับหมอฟันที่ใจดี สุภาพเรียบร้อย
      จนเมื่อคืนก่อนญี่ปุ่นบุก  หมอฟันทั้งหลายก็สลัดเสื้อกาวน์ ลุกขึ้นแต่งเครื่องแบบนายทหารกันพร้อมเพรียง ชาวบ้านยังงงกันอยู่เลย


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.พ. 24, 15:35
วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษรุกรานประเทศไทยทางอากาศจำนวน 30 ครั้ง กับทางพื้นดินจำนวน 36 ครั้ง

จากกระทู้ เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.msg101545#msg101545)

ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1115436.pdf)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5000.0;attach=30012;image)

คำแถลงการณ์ เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1115437.pdf)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5000.0;attach=30006;image)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5000.0;attach=30009;image)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 24, 15:50
      ก่อนหน้าญี่ปุุ่นบุกไทย    ญี่ปุ่นได้ส่งสายลับเข้ามาแฝงอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก   หนึ่งในนั้นคือพวกหมอฟัน   
สมัยนั้นหมอฟันเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่  คนไทยต่างก็คุ้นเคยกับหมอฟันที่ใจดี สุภาพเรียบร้อย
      จนเมื่อคืนก่อนญี่ปุ่นบุก  หมอฟันทั้งหลายก็สลัดเสื้อกาวน์ ลุกขึ้นแต่งเครื่องแบบนายทหารกันพร้อมเพรียง ชาวบ้านยังงงกันอยู่เลย

อีกอาชีพหนึ่งคือ ช่างถ่ายรูป
ฟบ. สมาคมคนเหนือ

        ร้านถ่ายรูปของนายเอ็ม ทานาคา ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ และได้เปิดร้านถ่ายภาพในเชียงใหม่
อยู่บริเวณข้างโบสถ์คริสต์จักรที่ ๑ ริมน้ำปิง ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายเอ็ม ทานาคาก็เปลี่ยนมาเป็นทหารญี่ปุ่น
ภาพ : Sudhisak Palpho

        นาย เอ็ม ทานาคา ( Mr. MORINOSUKE TANAKA ) เป็นช่างถ่ายรูปชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เปิดกิจการร้านถ่ายรูปในภาคเหนือ
และเป็นร้านถ่ายรูปร้านที่ 2 ของเชียงใหม่ นายทานากา เกิดที่เมืองคาโกชิมาซึ่งเป็นเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของญี่ปุ่น บิดาประกอบ
อาชีพถ่ายรูป นายทานากาได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2443 ทำงานที่ร้านถ่ายรูป “เคอิโซนางา ไคชู” ซึ่งเป็น
ร้านถ่ายรูปญี่ป่นร้านแรก เปิดกิจการในปี พ.ศ 2438 ตั้งอยู่ใกล้ไปรณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ทำงานได้ 3 ปีจึงได้เดินทางขึ้นมาเปิด
ร้านถ่ายรูปของตัวเอง ที่ลำปาง
        ต่อมา  นาย ทานากาได้รับการชักชวน จากนายแพทย์ชาวอเมริกัน ชือ ดร.คอร์ต ให้มาเปิดร้านถ่ายรูปที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่า
นายทานากาจึงย้ายมาเปิดร้านถ่ายรูปที่เชียงใหม่ พ.ศ 2446 ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เรียบแม่นำปิง กิจการร้านถ่ายรูป ของนายทานากา
ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่นิยมของข้าราชการ เจ้านาย พ่อค้า อย่างรวดเร็ว
COVERAGE:หอภาพถ่ายล้านนา


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 24, 15:54
ญี่ปุ่บยกพลขึ้นสงขลา เชิญคุณเพ็ญฯ ถ่ายทอด

Hatyai Focus Variety

นาทีที่ 0.16 เป็นเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น นอกชายฝัง สงขลา เมืองที่บุกคือ สงขลา ปัตานี และโกตาบารู
นาทีที่ 0.43 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ ชายหาดสมิหลา ด้านหลังคือ เกาะหนูซ้อนกับเกาะแมว

https://www.youtube.com/watch?v=4enwSY86l9k&t=2s


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.พ. 24, 18:35
คงต้องให้คุณนวรัตนและคุณประกอบมาถ่ายทอดต่ออีกทีหนึ่ง ;D

ญี่ปุ่นใช้กองทัพที่ ๒๕ ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และโกตาบารูในมลายู

สมัยเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร. มหาวชิราวุธที่สงขลา มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ อ. สนิท ชูวงศ์  แม้จะเกษียณแล้ว แต่ท่านยังมาสอนวิชาลูกเสือเมื่อครั้งกระโน้น

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนญี่ปุ่นบุกสงขลา ท่านเป็นยุวชนทหาร  พอมีข่าวว่าญี่ปุ่นบุก ท่านกับเพื่อนยุวชนทหารอีก 3 คน พร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง  รู้สึกจะแค่ 2 คน ก็ไปซุ่มกำลังกันตรงชายหาดที่ญี่ปุ่นกำลังขึ้นบกกัน

ถ้าจำไม่ผิดท่านว่าเป็นแหลมสมิหลาด้านเกาะหนูเกาะแมว บอกว่าเห็นมีเรือลำสูงเท่าเกาะหนู  ส่วนกำลังฝั่งท่านมีไม่กี่คน  รับปืนและได้รับแจกกระสุนไม่กี่นัดด้วยซ้ำ 10 หรือ 25 นัดผมจำไม่ได้  ก็เลยไปซุ่มเฉยๆ ไม่ได้มีการปะทะกัน  ไม่งั้นผมอาจจะได้เรียนลูกเสือกับอาจารย์ท่านอื่น
รู้สึกว่าทางสงขลานี่ไม่มีการยิงกัน   ไปยิงกันแถวนครศรีธรรมราช  ปัตตานี ประจวบฯตรงอ่าวมะนาว แต่เหมือนฝ่ายไทยจะรู้ข่าวว่าญี่ปุ่นขึ้นบกตรงสงขลาก่อน ทางนครฯ กับปัตตานีเตรียมกำลังไปช่วยทางสงขลา  ขึ้นรถขึ้นรากันแล้ว ถึงได้ข่าวญี่ปุ่นขึ้นบกเช่นกัน เลยไม่ต้องไปรบถึงสงขลา

https://youtu.be/rCCfZSPDFic


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ก.พ. 24, 09:01
     ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลเสริม ผมมาต่อแล้วครับ


     การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2486

     พ.ศ.2485 มีการทิ้งระเบิดในประเทศไทยจำนวน 7 ครั้ง ถัดมาในปี พ.ศ.2486 มีการทิ้งระเบิดในประเทศไทยจำนวน 6 ครั้ง น้อยกว่าเดิมหนึ่งครั้งทว่าจำนวนเครื่องบินมากกว่าเดิมขนาดใหญ่โตกว่าเดิม เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษหายไปเปลี่ยนเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่จากอเมริกา

     วันที่ 19 มกราคม 2486 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 รุกล้ำเข้าสู่น่านฟ้าจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อถ่ายภาพเส้นทางรถไฟที่กำลังก่อสร้าง เส้นทางสายใหม่เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี แม่น้ำแควใหญ่ ด่านเจดีย์สามองค์ จุดหมายปลายทางคือเมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า ทางรถไฟสายใหม่ความยาวรวม 415 กิโลเมตร อยู่ในประเทศไทย 303.95 กิโลเมตร อยู่ในประเทศพม่า 111.05 กิโลเมตร รู้จักกันในชื่อทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือทางรถไฟสายกาญจนบุรี

     วันที่ 4 เมษายน 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 24 ลำ บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นจังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 21 เมษายน 2486 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 14 เมษายน 2486) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบางซื่ออีกครั้ง ภารกิจนี้มีเครื่องบินเพียง 4 ลำทิ้งระเบิดในพื้นที่เป้าหมาย เครื่องบินอีก 6 ลำบินบังเอิญหลงทิศทางหาโรงงานสรรพาวุธบางซื่อไม่เจอ จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนทิ้งระเบิดใส่พื้นที่อื่นในกรุงเทพและธนบุรี

     ระหว่างเดือนตุลาคม 2486 คือช่วงเวลาห่างหายจากการทิ้งระเบิด กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้โรงเรียนระดับประถมทุกชั้นเรียนทำการสอบไล่ แล้วปิดการเรียนไม่มีสอนเทอมสองตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม นักเรียนมัธยม 1 ถึง 5 สอบไล่เดือนพฤศจิกายนแล้วปิดการเรียนตามกัน ส่วนนักเรียนมัธยม 6 โตเป็นผู้ใหญ่มากที่สุดดูแลตัวเองให้เรียนหนังสือเทอมสองต่อไป

     ต้นเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลมีคำแนะนำต่อประชาชนในกรุงเทพ ให้เร่งอพยพไปยังหัวเมืองเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เด็กกับคนแก่สมควรอพยพให้เร็วที่สุด ทิ้งผู้ชายซึ่งมีความแข็งแรงมากที่สุดอยู่เฝ้าบ้าน ประชาชนจำนวนมากทำตามคำแนะนำแค่เพียงชั่วคราว เข้าสู่เดือนธันวาคมยังไม่มีการทิ้งระเบิดจึงพากันอพยพกลับบ้านตัวเอง บางคนเพิ่งกลับบ้านเพียงวันเดียวเสียงหวอดังทันที

     วันที่ 19 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน หลังหยุดพักการทิ้งระเบิดไปนานประมาณ 9 เดือน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำ จากกองบิน 10 เจ้าประจำจากอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ท่าเรือคลองเตยอย่างหนัก พื้นที่เป้าหมายเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากเครื่องบินใช้ระเบิดขนาด 500 ปอนด์จำนวน 110 ลูกทิ้งใส่เป้าหมาย (ตอนนั้นลูกระเบิดมาตรฐานขนาด 200 ปอนด์) เท่ากับว่าอเมริกาหวังผลทำลายล้างเป้าหมายมากกว่าเดิม การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องหลังจากห่างเหินไปนานพอสมควร

     ท่าเรือคลองเตยเป็นจุดสำคัญในขนส่งอาวุธและยุทธปัจจัย ซึ่งลำเลียงทางน้ำโดยเรือสินค้าจากเกาะญี่ปุ่นหรืออาณานิคมน้อยใหญ่ ใช้เส้นทางรถไฟขนส่งไปยังฐานทัพต่างๆ ทั่วประเทศ ขบวนรถไฟต้องแล่นผ่านบางซื่อซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่ แถวนั้นยังมีโรงรถจักร ชุมชนรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้คลองเตยกับบางซื่อตกเป็นเป้าหมายสำคัญ เครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรมักแวะมาเยี่ยมเยียนตลอดเวลา

     วันที่ 21 ธันวาคม 2486 เวลาประมาณ 20.30 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 29 ลำจากฝูงบิน 308 กองบิน 14 ประเทศจีน เดินทางไกลมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ตัวอาคารสถานีและคลังสินค้าถูกแรงระเบิดเสียหายอย่างหนัก คลังแสงเก็บอาวุธและยุทธปัจจัยของทหารญี่ปุ่น ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ถูกอำนาจทำลายล้างจากแรงระเบิดเล่นงานเกิดความเสียหายอย่างหนักไปพร้อมกัน

     ผลการโจมตีสถานีรถไฟเชียงใหม่ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง อเมริกายื่นซองขาวให้กับเจ้าหน้าที่รถไฟประจำสถานีทุกราย ปลายทางรถไฟสายเหนือต้องเปลี่ยนมาเป็นสถานีป่ายางเนิ้ง (หรือสถานีสารภีในปัจจุบัน) ในเชียงใหม่นั่นแหละครับ บางข้อมูลบอกว่าเป็นสถานีป่าเส้า จังหวัดลำพูน ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสถานีป่ายางเนิ้งมากกว่าเพราะยังไม่เสียหาย

     มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวมกันมากถึง 300 คน (ตัวเลขจากรายงานฝั่งอเมริกา)

     สรุปความได้ว่าบางซื่อกับคลองเตยยังอยู่รอดปลอดภัย ส่วนสถานีรถไฟเชียงใหม่ที่ผมเคยนำภาพมาอวดเสียหายอย่างหนัก นี่คือความสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
     
     ในภาพคือสถานีรถไฟบางซื่อปี 2471


      (https://i.imgur.com/6M9qHke.jpeg)





กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ก.พ. 24, 09:08
      ผมมีข้อมูลจากบทความ ‘สะป๊ะตะวา เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่’ มาเล่าสู่กันฟังเป็นครั้งที่สอง ถือเป็นการพักเบรกเข้าสู่โฆษณาก่อนติดตามเนื้อหาหลักกันต่อไป

     ปีพ.ศ.๒๔๘๗ ระยะปลายสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ที่พระนครธนบุรีและตามจังหวัดใหญ่ๆ อันเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ได้ถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างนี้สถิติคดีอาญาทุกประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมหนัก ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ประเทศตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัวจากการกระทำของนักเลงอันธพาลประจำท้องถิ่น เวลานั้น พลต.อ.หลวงอดุลยเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจและเป็นฝ่ายเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น (ประวัติและวิวัฒนาการของตำรวจไทย พลต.ต.ตสุวรรณ   สุวรรณเวโช) ในเชียงใหม่ขณะนั้น พ.ต.ต.บุญชัย   ไชยคุณา เป็นผกก.เชียงใหม่ (ต่อจาก พ.ต.ท.หลวงศิลป์ประสิทธิ์) กองกำกับการและ สภ.อ.เมืองเชียงใหม่ย้ายไปอยู่วัดข่วงสิงห์เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับสถานที่ราชการอื่น เนื่องจากหวั่นเกรงระเบิด ด้านงานสอบสวนมีการตั้งจุดรับแจ้งชั่วคราวที่วัดศรีเกิด ข้างสภ.อ.เมืองเชียงใหม่นั่นเอง (พ.ต.ท.ศิริ   ไชยศิริ, สัมภาษณ์)

     ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔ สิ้นสุดเอาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำที่วัดต่างๆเกือบทุกวัน ย่านกลางเมืองเชียงใหม่ เช่น วัดเจดีย์หลวง, ร.ร.พุทธโสภณ, วัดหมื่นเงินกอง, วัดเมืองมาง, วัดหมื่นสาร ส่วนที่วัดชัยพระเกียรติ มีทหารไทยมาอาศัยอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นที่กักขังเชลยที่เป็นชาวต่างประเทศเพื่อใช้แรงงาน

     คุณป้าเรณู ณ น่าน อายุ ๗๒ ปี บอกว่า “ช่วงเกิดสงคราม อายุราว ๑๕ ปี บ้านอยู่ใกล้แยกพุทธิโสภณ ช่วงเกิดสงคราม คนในเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่หนีออกจากในเมืองไปอยู่ตามต่างอำเภอ เช่น เพื่อนบ้านหนีไปอยู่บ้านสันป่าสัก อ.หางดง เนื่องจากกลัวถูกระเบิด ทำให้ในละแวกที่พักมีเหลือเพียง ๓ บ้านที่ตกที่นั่งลำบาก ก็คือ สุนัขที่เลี้ยงกันไว้ เจ้าของหนีสงครามแต่ไม่ยอมนำสุนัขไปด้วย ยามค่ำคืนเสียงสุนัขคงคิดถึงเจ้าของส่งเสียงเห่า  หอนกันน่าหดหู่ใจ และยิ่งฟังน่ากลัวยามสงครามที่มีคนตายกันทุกวันเช่นนี้ วันหนึ่งจำได้แม่น คือ เห็นเครื่องบินประมาณ ๖ – ๗ ลำ บินมาทิ้งระเบิดที่สนามบินเชียงใหม่ ครั้งแรกบินเลยไปทาง อ.แม่แตง ไม่นานเหลียวกลับมา ดิ่งหัวลงทิ้งระเบิดที่สนามบินทีละลำๆ เสร็จก็บินจากไป ทราบว่าคราวนั้น มีคนตายกันมาก แต่ไม่ได้ไปดู

      คุณป้าเรณูสมัยเด็ก มีความสนใจในภาษาญี่ปุ่นและหาซื้อหนังสือมาเรียนด้วยตัวเอง สมัยสงครามโลกครั้งนี้ จึงได้อาชีพเป็นล่ามกับทหารญี่ปุ่น โดยติดตามผู้รับเหมาจัดซื้ออาหารสำหรับทหารญี่ปุ่น ผู้รับเหมาคือ พ่อเลี้ยงแกง อยู่หลังวัดพระสิงห์ ศูนย์ประสานงานของญี่ปุ่น คือ ที่โรงเรียนจีนเก่า ถ.ช้างคลาน สินค้าที่ติดต่อซื้อขายกับทหารญี่ปุ่น คือ ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นหลัก ครั้งหนึ่ง เคยติดรถบรรทุกแบบคอกหมู ซึ่งสมัยนั้นมักเป็นของบริษัทสหายรถยนต์ จำกัด ที่คนเมืองเชียงใหม่ เรียกกันว่า รถ สรย. บริษัทตั้งอยู่บริเวณตลาดบุญอยู่เก่า ใกล้สี่แยกโรงเรียนยุพราช มีพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน เป็นหุ้นส่วนใหญ่ไปกันประมาณ ๔-๕ คัน ไปส่งข้าวเปลือกให้ทหารญี่ปุ่น บ.แม อ.สันป่าตอง คนขับคือฝรั่งที่ถูกบังคับมาทำงาน สองข้างทางเห็นศพคนตายอยู่ทั่วไป บางคนก็แขนขาขาด ที่บ.แม อ.สันปาตองนี้ คาดว่าเป็นที่ตั้งขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น

    คุณลุงสิงห์คำ ณ เชียงใหม่ บ้านอยู่หลังวัดเมืองมาง เล่าเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ว่า “ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะนั้นอายุประมาณ ๑๕ ปี ละแวกวัดเมืองมางนี้ คนเฒ่าคนแก่ก็อพยพไปบ้านนอกเช่นกัน ทิ้งสุนัขไว้เห่าหอนคล้ายวอนให้เจ้าของกลับมาหา สิ่งที่ขาดแคลน คือ ยารักษาโรค เป็นความเดือดร้อนของชาวเมืองเชียงใหม่ทั่วไป ยารักษาโรคส่วนหนึ่งได้มาจากทหารญี่ปุ่นที่มาตั้งอยู่ที่วัดต่างๆทั่วไป โรคที่เป็นกันมากคือ โรคบิด, ไข้รากสาด, ตุ่มตาควาย ยารักษาโรคส่วนหนึ่งขอจากทหารญี่ปุ่น ซึ่งรู้สึกว่าเต็มอกเต็มใจที่ จะช่วยเหลือคราวที่หลวงพ่อวัดเมืองมา เมื่อเจ็บป่วย ทหารญี่ปุ่นฝ่ายเสนารักษ์ก็มารักษาให้ วันหนึ่งทางการนำรถมาประกาศว่า จะมีเครื่องบินของมิตรประเทศมาประจำที่สนามบินเชียงใหม่ ขออย่าได้ตกใจ และไม่นานประมาณ ๑๐ โมง มีเครื่องบินญี่ปุ่นบินหึ่มมาลงที่สนามบินประมาณ ๑๐๐ ลำ เป็นเครื่องบินปีกชั้นเดียวที่เรียกว่า ซีโร่

     ตอนนั้นเป็นวัยรุ่นวิ่งไปดูกัน สนามบินตอนนั้น ยังเป็นเพียงดินอัดเป็นสนามหญ้า นอกจากนี้ทางการนำรถมาประกาศให้พรางไฟ อย่าให้แสงออกนอกอาคารและต้องขุดหลุมหลบภัยทุกบ้านด้วย การทิ้งระเบิดของเมืองเชียงใหม่ที่จำได้ คือ ๓ ครั้ง ครั้งแรกถือว่าหนักที่สุด ทิ้งระเบิดสถานีรถไฟเชียงใหม่ ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนมากกำลังเตรียมตัว ขนย้ายอุปกรณ์และเดินทางขึ้นรถไฟ ฝ่ายอเมริกาคงทราบข้อมูล จึงมาทิ้งระเบิด ใช้เครื่องบินบินสูงและทิ้งแบบปูพรม ทำให้ชาวบ้านละแวกสถานีรถไฟอีกทั้งโรงงานในย่านนั้นเสียหาย มีคนตายหลายร้อยคน ไฟไหม้อยู่เป็นเดือนกว่าจะดับหมด มีการขนศพคนตายไปไว้ที่สุสานต่างๆ ขุดหลุมใหญ่นำศพฝังรวมกัน ภายหลังจึงไปขุดมาฌาปนกิจ การโจมตีครั้งที่ ๒ คือ เครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สนามบินเชียงใหม่ มีเครื่องบินญี่ปุ่นถูกทำลาย และมีคนตายหลายคนอยู่เหมือนกัน ครั้งที่ ๓ มีประมาณ ๓-๔ ลำ เวลาราว ๔ โมงเย็น ใช้วิธีการยิงกราดตามท้องถนนที่เห็นว่ามีรถยนต์วิ่ง ซึ่งขณะนั้นรถส่วนใหญ่คือรถทหารญี่ปุ่น เครื่องบินของสัมพันธมิตรลำหนึ่งถูกปืน ปตอ.ที่ตั้งอยู่บริเวณโรงแรมลานนาพาเลสในปัจจุบันยิงถูกไปตกที่ลำพูน ต่อมาได้นำปีกเครื่องบินที่ถูกยิง มาไว้ที่กลางทุ่งใกล้โรงแรมลานนาพาเลส เป็นเครื่องบินของจีนคณะชาติ”

     “ตลกดีเหมือนกันที่สะพานนวรัฐในช่วงสงครามมีการพรางเพื่อไม่ให้เครื่องบินฝ่ายอเมริกามาทิ้งระเบิด โดยการใช้ทางมะพร้าวทำเป็นหลังคาปิดไว้ คาดว่าจัดทำโดยทางอำเภอมองดูก็ช่างน่าขบขันเพราะเมื่อมองจากเครื่องบินคงไม่สามารถพรางสายตานักบินที่มองมาจากด้านบนได้ หากจะทิ้งระเบิดสะพานคงทำได้ไม่ยาก “คุณแม่กรรณิการ์   กัณฑรัตน์ อายุ ๗๓ ปี เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ ๒ “ขณะนั้นเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่  ถ.  แก้วนวรัฐ ช่วงสงครามโรงเรียนหยุด มีทหารมาอยู่ที่โรงเรียน จำได้ว่าพร้อมกับเพื่อนนักเรียนไปส่งแหม่มที่มาสอนที่โรงเรียนขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ มีแหม่มแมคครัว แหม่มนิบรอค ส่วนอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ก็ไปส่งแบบเปิดเผย คาดว่าทหารญี่ปุ่น คงกดดันให้ต่างชาติออกจากเชียงใหม่ ไม่ได้บังคับหรือติดตามจับกุมตัว ต่อมามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟ ระเบิดลูกหนึ่งลงใกล้โรงสีแสงไทย ถนนทุ่งโฮเต็ล ตอนนี้ยังเป็นแอ่งใหญ่อยู่เลย
           
     ช่วงสงครามมีฝรั่งต่างชาติ ถูกนำมาบังคับให้ใช้งาน โดยเฉพาะการขับรถบรรทุกและใช้แรงงานแบกหาม คุณลุงเอื้อม   ตนานนท์ อายุ ๘๘ ปี (เกิด พ.ศ.๒๔๕๖) แม่ทำกิจการโรงสีข้าวหนองประทีป อยู่บริเวณโรงเรียนเชียงใหม่เทคโนโลยีในปัจจุบัน ช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นมาซื้อข้าวสาร ขนส่งไปที่เลี้ยงทหารที่ อ.เชียงดาว อ.ปาย และที่อื่นๆโดยจะติดต่อคนกลางมาก่อน และนำรถบรรทุกมาบรรทุกคราวละไม่ต่ำกว่า ๑๐ คัน  ข้าวสารบรรจุในถุงเสื่อ ถุงละ ๕๐ กิโล รถบรรทุกแต่ละคนมีฝรั่งเป็นคนขับและเป็นคนขนข้าวขึ้นรถ แต่ละคนไม่สวมเสื้อ สวมเพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว แม้แต่ในช่วงหน้าหนาวที่อากาศหนาวก็ไม่อนุญาตให้สวมเสื้อ และห้ามสูบบุหรี่ มีทหารญี่ปุ่นควบคุมมา หากทำผิดจะถูกตบหน้า มักเป็นฝรั่งชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คาดว่าพามาจากสิงคโปร์มาทำงาน และที่เห็นที่อื่นๆ เช่น ในตลาดวโรรส ทหารญี่ปุ่นมาซื้อผัก เนื้อ ก็ใช้ฝรั่งเป็นคนขับ และเป็นคนใช้แรงงานทั้งนั้น เงินที่ได้รับค่าข้าวสารเป็นเงินฉบับละ ๑๐ และ ๒๐ บาท ธนบัตรสวยเป็นปึก สมัยนั้นพิมในประเทศญี่ปุ่น

     ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ สภาพสังคมและการค้าขายในเมืองเชียงใหม่ จึงกลับสู่ภาวะปกติ แม้ในภาคกลางจะเกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แต่ที่เชียงใหม่ สังคมยังอุดมสมบูรณ์ ไม่อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับต้องปล้นจี้กันดังเช่นภาคกลาง




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ก.พ. 24, 09:13
      รู้สึกว่าเรื่องราวตอนนี้ค่อนข้างดุเดือดมากไปสักนิด ตอนต่อไปผมจะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองบังเอิญค้นพบ (ใช้คำว่าบังเอิญจำได้น่าจะเหมาะสมกว่า)

      ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ใครหลายคนอาจมีรอยยิ้มเช่นผมก็เป็นได้  :)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ก.พ. 24, 11:58
ยุทธวิธีใหม่

     วันที่ 23 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 19 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้าสู่กรุงเทพยามค่ำคืนเพื่อทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพงและท่าเรือคลองเตย การโจมตีครั้งใหม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้เหมาะสมมากกว่าเดิม เครื่องบินจ่าฝูงลำแรกจะยิงพลุส่องสว่างสีแดงช่วยนำทางชี้เป้าหมาย จากนั้นเครื่องบินลูกฝูงทุกลำจะหย่อนระเบิดใส่เป้าหมายตามที่เครื่องบินจ่าฝูงกำหนด

      พลุส่องสว่างสีแดงขนาด 5,000 แรงเทียนผูกติดร่มชูชีพ สามารถลอยตัวในอากาศให้แสงสว่างยาวนานมากถึง 15 นาที นอกจากใช้ชี้เป้าหมายยังใช้บอกให้ทิศทางให้เครื่องบินลำอื่นเลี้ยวตาม ฝรั่งเรียกพลุหรือดอกไม้เพลิงชนิดนี้ว่า Christmas Tree หรือ ต้นไม้วันตรุษฝรั่ง เป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่พ่อแม่พี่น้องชาวไทยมักได้รับชมในคืนเดือนมืดท้องฟ้าไม่มีดาวสักดวง

      แม้เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกามีการเตรียมพร้อมมากกว่าเดิม โชคร้ายลูกระเบิดทั้งหมดลอยละล่องข้ามเป้าหมายสำคัญ ตกใส่พื้นที่บริเวณถนนสีลม สุรวงศ์ สาทร และสุรศักดิ์ (สมัยนั้นเรียกว่าย่าน 4 ส. เอกสารอเมริกาเขียนว่า 4 Sor area) ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย โรงพิมพ์ประมวญมารคของ น.ม.ส.หรือพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เกิดไฟไหม้วอดวายทั้งหลัง

     การทิ้งระเบิดในค่ำคืนนี้ทำลายขวัญกำลังใจประชาชนจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากระเบิดตกห่างเป้าหมายไกลลิบลับ บ้านเรือนและตึกแถวในบางรัก วัดตรี ตรอกวัดสามพระยา สะพานเหลือง เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงโดยถ้วนหน้า ผลลัพธ์ตามมามีการอพยพครั้งใหญ่ทั่วเขตพระนคร คนกรุงเทพเข้าใจอันตรายอย่างถ่องแท้และชัดเจน นอกจากนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้ข่มขู่ผ่านวิทยุเดลฮีว่า พวกเขาเตรียมระเบิดสำหรับจัดการเป้าหมายในประเทศไทยมากถึง 1,500 ตัน
 
     วันที่ 31 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 25 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปาง การโจมตีครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อสถานีรถไฟเพียงเล็กน้อย ตัวอาคารสถานียังคงปลอดภัยทุกประการ เหตุผลก็คือนักบินอเมริกาบังเอิญเจอของแข็งโดยไม่ได้ตั้งใจ

     ระหว่างการทิ้งระเบิดฝูงบินขับไล่ที่ 16 กองบินน้อยผสมที่ 85 กองบินใหญ่ภาคพายัพ สนามบินพระบาท นครลำปาง บินขึ้นจากสนามบินจำนวนหนึ่งเพื่อสกัดกั้นผู้รุกราน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เห็นฝ่ายตรงข้ามหลบหนีจากไปเพราะไม่มีเครื่องบินขับไล่ทำหน้าที่คุ้มกัน

     ปี 2485 กองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ Ki-27 จำนวน 12 ลำจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งชื่อเครื่องบินเป็นภาษาไทยว่าเครื่องบินขับไล่ บ.ข.12 (Ki-27) เครื่องบินรุ่นนี้สร้างโดยโรงงานแมนส์ยู เมืองฮาร์บิน ประเทศแมนจูเรีย เข้าประจำการฝูงบินขับไล่ที่ 15 ฝูงบินรักษาพระนคร กับฝูงบินขับไล่ที่ 16 จังหวัดลำปาง

     Ki-27 คือเครื่องบินขับไล่รุ่นมาตรฐานกองบินทหารบกญี่ปุ่น มีบทบาทสำคัญในช่วงต้นของการทำสงคราม ถือเป็นม้างานสำคัญในการพิชิตชัยทั้งมลายู พม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ฝูงบินขับไล่ที่ 16 ที่นครลำปาง มีเครื่องบิน Ki-27 กับเครื่องบินขับไล่ บ.ข.11 (ฮอว์ค 75N) จำนวนใกล้เคียงกัน เครื่องบินขับไล่นกกระจอก หรือเครื่องบินขับไล่แบบโอตะ หรือ Ki-27 หรือ บ.ข.11 มีบทบาทสำคัญต่อกองทัพอากาศไทย โดยเฉพาะยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าลำปางในอีก 2 ปีต่อมา

     ในภาพคือวังประมวญของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ตั้งอยู่บนถนนสาทรคู่ขนานกับถนนสีลม อันเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ประมวญมารคซึ่งผมไม่กล้ายืนยันว่าอยู่ตรงไหนในภาพถ่าย เมื่อไฟไหม้โรงพิมพ์พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลิกกิจการหนังสือ

(https://prop2morrow.com/wp-content/uploads/2017/07/o2s1y9o1bBIp88H0b9G-o.jpg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ก.พ. 24, 11:59
     เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการทิ้งระเบิดค่ำคืนวันที่ 23 ธันวาคม 2486 คุณ ‘ว. ณ ประมวญมารค’ หรือ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’ เขียนไว้ในคำนำผู้เขียน (เมื่อพิมพ์ครั้งที่ห้า) นิยายเรื่อง 'ปริศนา' ใจความดังนี้

     เรื่องปริศนานี้ข้าพเจ้าเขียนเมื่ออายุไม่ถึง 20 ปี คือเมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านใหม่ๆ เวลานั้นเป็นเวลาสงคราม ประกอบกับข้าพเจ้าไม่ชอบอยู่บ้านเฉยๆ จึงสมัครเป็นเลขานุการของท่าน น.ม.ส. เขียนตามคำบอกของท่านลงในหน้า 5 หนังสือพิมพ์ ‘ประมวญวัน’ ทุกวัน ‘ประมวญสาร’ สัปดาห์ละครั้ง และคอยตรวจปรู๊ฟแทนท่านเท่านั้น ดังนี้เราจึงมีเวลาว่างมาก ท่านเริ่มเรื่อง ‘สามกรุง’ ของท่านขึ้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเรื่อง ‘ปริศนา’ เรื่องยาวเรื่องแรกของข้าพเจ้าในห้องเดียวกัน

      ข้าพเจ้าพอจะอวดได้ว่า ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสามกรุงบ้าง เพราะไม่เว้นแต่ละวันท่าน น.ม.ส.ทรงบอกกลอนบ้าง ร่ายบ้าง โคลงบ้าง ฉันท์บ้าง สดๆ ออกมาให้ข้าพเจ้าจด ส่วนท่านก็มีส่วนในเรื่องปริศนาของข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน เช่นวันหนึ่งข้าพเจ้าคิดชื่อโรงเรียนที่จะให้ปริศนาไปสอนไม่ออก จึงขอประทานให้ท่านช่วยตั้ง ท่านก็ว่า “ชื่อโรงเรียนหรือ? สิกขาลัยซิ แปลว่าโรงเรียนนี่แหละ ภาษาบาลี” ดังนั้นโรงเรียนในเรื่องนี้จึงมีชื่อว่าโรงเรียนสิกขาลัย อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทูลถามท่านว่า ถ้าจะพูดเพราะใจความว่าผู้ชายรักผู้หญิงเห็นผู้หญิงสวยไปหมดจะว่าอย่างไรดี ท่านก็ท่องออกมาทันทีว่า “พิศรูปก็เลิศลักษณ์ พิศพักตร์ก็เพ็ญผ่อง พิศองค์ลออองค์ พิศมาสสวาดิ์หมาย ไงล่ะ” ข้าพเจ้ารีบจดทันที

     ผู้ที่ช่วยข้าพเจ้าในการเขียนเรื่องปริศนานี้ อีกคนคือเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน อายุถ้าจะอ่อนแก่กว่ากันก็ไม่มาก บ้านของเขาอยู่หลังบ้านข้าพเจ้ารั้วเดียวกัน เราติดต่อกันได้โดยไม่ต้องออกถนน เวลา ‘หวอ’ ขึ้นข้าพเจ้าก็วิ่งกลับมาบ้านได้โดยเร็ว เกือบทุกวันข้าพเจ้ามักนำเรื่องปริศนาตอนใหม่ที่อยู่ในหัวแต่ยังไม่ได้เขียนไปเล่าให้ฟัง ถ้าเขาร้อง ‘อี๋’ ก็เป็นอันว่าตอนนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าเขาหัวเราะชอบใจข้าพเจ้ารีบกลับบ้านมาเขียนต่อ เวลาข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนเองเลยบอกให้เขาเขียนให้ก็บ่อยๆ

     ข้าพเจ้าใช้เวลาถึง 3 ปีจึงเขียนเรื่องปริศนาจบ ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ประมวญมารครับไว้เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ประมวญสาร อีก 2 อาทิตย์เรื่องปริศนาจะลงพิมพ์ โรงพิมพ์ประมวญมารครับก็ถูกระเบิดเพลิงไหม้หมด ข้าพเจ้าได้เสี่ยงชีวิตวิ่งฝ่าไฟเข้าไปในสำนักงานของโรงพิมพ์ซึ่งกำลังไฟลุก เพื่อไปเอาต้นฉบับเรื่องปริศนาอยู่ในนั้น มิฉะนั้นปริศนาก็คงจะตายเสียในไฟ ไม่มีโอกาสให้ใครได้รู้จักเกิน 4 คน

     ข้าพเจ้าได้เก็บเรื่องปริศนาเข้าตู้เงียบเสียหลายปี จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2494 จึงได้ให้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์เป็นครั้งแรก และได้จัดพิมพ์เป็นเล่มอีก 3 ครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่ 4

     เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกาเกือบทำให้ผมและทุกคนไม่ได้อ่านนิยายสนุกขึ้นหิ้งเรื่องปริศนา


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 24, 17:21
  แม่เล่าว่าคนกรุงเทพเร่ิมอพยพหนีลูกระเบิดกันตั้งแต่ระเบิดเริ่มลงมากขึ้น    แต่การอพยพก็ไม่ได้ไปไกลกันนัก คนอยู่ในเมืองหนีไปชานเมืองบ้าง   ไปจังหวัดใกล้ๆแล้วแต่จะมีญาติอยู่ที่ไหนพอไปอาศัยได้บ้าง    คนที่อยู่กรุงเทพคือคนมีหน้าที่การงานไปไหนไม่ได้ เช่นพวกข้าราชการ  ก็ต้องทนอยู่กันไปแบบเสี่ยงดวง 
  ส่วนปลายทางที่อพยพไป  ไปเมืองใกล้ๆเช่นสระบุรี   พระนครศรีอยุธยาตรงอำเภอหรือตำบลรอบนอก ไม่ใช่ในเมือง  จำได้ว่าคุณป้าที่อยู่สิงห์บุรีบอกว่าอยู่นั่นไม่รู้เรื่องอะไรเลย   เหมือนไม่มีสงคราม อาจเป็นได้ว่าไม่ใช่เส้นทางของเครื่องบิน
  แต่บางครอบครัวก็อพยพแค่ไปอยู่ในสวนแถวเมืองนนท์   หรือฝั่งธนรอบนอกออกไปหน่อย
  อาหารการกินยังพอมีผักผลไม้ให้ประทังชีวิตได้   แต่ก็แพงมาก เพราะน้ำท่วมทำสวนล่มไปมาก     สิ่งที่ขาดแคลนคือยารักษาโรค  เสื้อผ้า  น้ำตาลทราย 


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 ก.พ. 24, 08:37
มหันตภัยที่แท้จริงมาเยือน

     ยอดรวมการทิ้งระเบิดในปีพ.ศ.2486 น้อยกว่าปีพ.ศ.2485 เพียง 1 ครั้ง สหรัฐอเมริกาใช้จำนวนเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบินมากกว่าเดิม โดยเลือกใช้งานเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ล่าสุด บังเอิญต้องบินมาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายสำคัญๆ ในกรุงเทพและธนบุรี ซึ่งมีระยะทางห่างไกลจากฐานทัพอากาศในอินเดียมากกว่า 1,100 ไมล์ การบรรทุกระเบิดย่อมน้อยลงตามระยะทางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำลายเป้าหมายได้ผลลัพธ์ไม่สมดั่งความตั้งใจ

     การทิ้งระเบิดในประเทศไทยช่วง 2 ปีแรกเป็นเพียงน้ำจิ้ม เพิ่งมาเริ่มหนักหน่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2486 การโจมตีมีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนเที่ยวบินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

     ก้าวเข้าสู่ปี พ.ศ.2487 การโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐอเมริกาอุ่นหนาฝาคั่งตั้งแต่ต้นปี

     วันที่ 3 มกราคม 2487 เครื่องบินจำนวนหนึ่งบินเข้ามาถ่ายภาพทางรถไฟสายไทย-พม่าที่กำลังก่อสร้าง ทหารญี่ปุ่นพยายามยิงสกัดจึงเกิดการต่อสู้เล็กน้อย ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันเดียวกันนั้นเอง…เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 28 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปางอีกครั้ง เหตุการณ์นี้ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง

     วันที่ 9 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 10 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 7 ลำจากกองบิน 10 บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดบริเวณปากน้ำอ่าวไทยช่วงกลางดึก เป้าหมายก็คือต้องการสกัดกั้นเส้นทางเดินเรือออกสู่ทะเล กองทัพเรือไทยพยายามกู้ทุ่นระเบิดสุดความสามารถ แต่ทำได้เพียงบางส่วนเพราะมีเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนจำกัด

     ช่วงเวลาเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนหนึ่ง บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟบางซื่อ โรงรถจักรบางซื่อ และสนามบินดอนเมือง ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 10 มกราคม 2487 รัฐบาลไทยเสนอแผนการย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.จากกรุงเทพ มาอยู่ที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ (เป็นที่รู้จักในชื่อร.ร.นายร้อยป่าแดง) ระหว่างการประชุมมีการพูดถึงขบวนรถไฟพิเศษ ใช้ในการลำเลียงนักเรียนนายร้อย จ.ป.ร.มายังสถานที่เรียนแห่งใหม่ ขบวนรถออกจากสามเสนมุ่งไปยังอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ส่งนักเรียนนายร้อยเสร็จก็ลำเลียงรถบรรทุกทหารกลับคืนสู่กรุงเทพ

     นี่คือส่วนหนึ่งตามแผนย้ายเมืองหลวงมายัง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’

     ตามแผนการหน่วยงานราชการสำคัญบางส่วนจะถูกโยกย้ายมาอยู่เพชรบูรณ์ อาทิเช่น กระทรวงการคลังย้ายมาที่ถ้ำฤาษี ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก กระทรวงยุติธรรมย้ายมาที่บ้านห้วยลาน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก กระทรวงมหาดไทยย้ายมาที่บ้านบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก กระทรวงอุตสาหกรรมย้ายมาที่บ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก

     ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป โชคร้ายสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 แผนการย้ายเมืองหลวงมายัง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’ เป็นอันสิ้นสุดเพียงเท่านี้ ส่งผลให้จอมพล ป.พิบูลสงครามหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

     ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ทิ้งระเบิดตามเดิม วันที่ 11 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 12 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 14 ประเทศจีน บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพงและโรงรถจักรบางซื่อ เกิดความเสียหายในวงกว้างทั่วพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพง โรงแรมราชธานีกับโรงแรมตุ้นกี่ถูกลูกหลงได้รับความเสียหายอย่างหนัก นายสถานีหัวลำโพงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการโจมตีใส่กรุงเทพอย่างต่อเนื่องระยะเวลาห่างกันเพียงหนึ่งวัน

     ในภาพอธิบายว่าหลุมหลบภัยหน้าโรงเรียนศึกษานารี ย่านวงเวียนเล็ก น่าจะเป็นอาคารชั้นเดียวติดกำแพงฝั่งซ้ายมือของภาพใกล้ประตูทางเข้า ปัจจุบันตัวอาคารจมลงค่อนข้างมากกลายเป็นที่ปลูกดอกไม้


           (https://scontent.fbkk4-1.fna.fbcdn.net/v/t1.18169-9/12218_351630604996892_939271507034023796_n.jpg?_nc_cat=107&ccb=1-7&_nc_sid=c2f564&_nc_eui2=AeGoaHxdrSv0lFYJvrs6ICEnbIXzv7V1U0RshfO_tXVTRLYq1Tq4MuLQ7tnJjLglsB76CnouG4noVgxgZGPW9OIF&_nc_ohc=ovpmA19Br-wAX_TNzPl&_nc_ht=scontent.fbkk4-1.fna&oh=00_AfCU_FnnFLOxppHpqbtBjeIzRvJae7xK9ReELEiQQW6hFQ&oe=66076A74)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 ก.พ. 24, 08:39
     เหตุการณ์นี้บทความ ‘ชีวิตระหว่างสงคราม’ เขียนโดยคุณเจียวต้ายหรือ พ.สมานคุรุกรรม บันทึกเรื่องราวคนกรุงเทพในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจมาก

     วันจันทร์ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๗ หวอมาเวลา ๔ ทุ่ม ๑๐ นาที เรามาถึงบ้าน ๔ วันก็ได้ยินเสียงหวอ เมื่อเราอยู่ลาดกระบัง ๑๒ วันมันไม่มาเสียให้พอ  คราวนี้มันไม่ต้องทิ้งไฟแดงเพราะเดือนหงาย  แต่วนเวียนหาจุดอยู่บนหัวเราจึงทิ้งระเบิดเพลิงลงที่ ร.พัน.๙ ประมาณตั้ง ๑๐๐ ลูก เขารีบดับเหลือลูกเดียวติดไฟไหม้ขึ้นที่คลังสัมภาระ ขณะนั้นพอดีเครื่องบินข้าศึกกลับมา มันเห็นแสงสว่างจึงทิ้งระเบิดทำลายลงตั้งแต่ชิงสะพานวชิราวุธ เรื่อยมาถึงโรงรถ ร.พัน.๙ นับไม่ถ้วนว่ากี่ลูก ถูกสถานที่พัง ๓ แห่ง ถนนพัง ๑ แห่ง ก๊อกประปาพัง ๑ แห่ง ระเบิดในที่ว่างอีก ๒ แห่ง

     ชาวราชวิถีหรือชาวสวนอ้อยหอบของวิ่งกันใหญ่ เพราะใกล้เหลือเกิน (สวนอ้อยกับ ร.พัน.๙ มีถนนนครราชสีมาแคบๆ คั่น) เดชะบุญมันไม่ย้อนกลับมา (วิ่งไปหลบอยู่ที่วัดส้มเกลี้ยง วัดราชผาติการาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) เวลา ๒ น.หวูดขึ้นบอกหมดอันตราย ต่างหิ้วของกลับบ้านเดินคออ่อนเหนื่อยเหลือเกิน เวลาไปไม่ยักเหนื่อยความรีบหนีภัยเรี่ยวแรงมาจากไหนไม่รู้

     วันพุธ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๗ หวอมาเวลา ๒๑ น. เครื่องบินข้าศึกมา ๔ ลำ ของเราขึ้น ๓ ลำ คืนนี้มันไปทิ้งสถานีหัวลำโพง ตลอดจนบางรักไปจรดที่ถูกระเบิดเก่า มันทิ้งระเบิดเพลิงก่อนวกกลับมาอีกเที่ยวจึงทิ้งระเบิดทำลาย เกิดมาพึ่งเคยเห็นรบกันบนอากาศและบนหัวเราด้วย ปืนกลปืนใหญ่ดังสนั่นหวั่นไหวสนุกและน่าขวัญหาย ฉันใจสั่นเสียงสั่นเหมือนเป็นไข้ เวลา ๒๔ น.หมดอันตราย เครื่องบินของเราตก ๑ เครื่อง เขาว่าเครื่องบินข้าศึกไม่กลับฐานทัพ ๒ เครื่อง แถวหัวลำโพงคนตายมาก เขาว่าเหม็นเขียวศพที่ถูกไฟไหม้คลุ้งไปหมด



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 ก.พ. 24, 08:48
      ผมมีประเด็นอยากขยายความสักเล็กน้อย มีข้อมูลน่าสนใจจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดในกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน (ในกระทู้นะครับ) นั่นคือเครื่องบินขับไล่ฝูงบินรักษาพระนครซึ่งอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ไม่ได้บินขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดสัมพันธมิตรแม้แต่ครั้งเดียว ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายเป็นเพียงคำกล่าวอ้างประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่อาจยืนยันชัดเจนเพราะเป็นกลางดึกแยกแยะเครื่องบินไม่ชัดเจน

     ทำไมฝูงบินรักษาพระนครไม่บินขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตร ?

     ถามผมสิบครั้งผมตอบไม่ได้ทั้งสิบครั้ง แต่ผมมีข้อมูลจากหนังสือ ‘คนไทยในกองทัพนาซี’ เขียนโดย พ.อ.วิชา ฐิตวัฒน์ พูดถึงการบินสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรโดยนักบินชาวเยอรมันได้น่าสนใจมาก

     เครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาถล่มเยอรมันทั้งกลางวันและกลางคืน เยอรมันใช้เรดาร์ประจำสถานีภาคพื้นดินทั้งเล็กและใหญ่ในการตรวจจับเป้าหมาย แล้วแจ้งพิกัดให้ฝูงบินขับไล่พุ่งทะยานขึ้นไปสกัดกั้นข้าศึก ระหว่างเดินทางมีการสื่อสารบอกเส้นทางผ่านวิทยุตลอดเวลา ช่วยให้นักบินสามารถเข้าใกล้เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และบุกเข้าโจมตีฝูงบินทิ้งระเบิดจากจุดอ่อนตามแผนการ อาทิเช่นใช้วิธีบินต่ำแล้วพุ่งขึ้นโจมตีบริเวณใต้ท้องเครื่องบินซึ่งนักบินมักมองไม่เห็น

     ภาพประกอบคือสถานีเรดาร์ขนาดใหญ่ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

     (http://www.century-of-flight.freeola.com/Aviation%20history/WW2/81.jpg)
   
     กลับมาที่ฝูงบินรักษาพระนครแห่งกรุงเทพกันอีกครั้ง ทันทีที่ได้ยินเสียงหวอบรรดานักบิน ช่างเครื่อง และช่างอาวุธต้องวิ่งฝ่าความมืดมาที่เครื่องบิน นักบินต้องพาเจ้านกกระจอกหรือ Ki-27 ขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางความมืดโดยอาศัยความชำนาญ ถ้าทำสำเร็จไม่มีปัญหาให้หาเครื่องบินข้าศึกด้วยตัวเอง อาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ได้ทุกช่องทาง เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีหอบังคับการบิน ไม่มีสถานีเรดาร์ ไม่มีวิทยุติดต่อกับเครื่องบินในฝูงเสียด้วยซ้ำ จำนวนเครื่องบินในช่วงแรกมีเพียง 6 ลำทำการขึ้นบินได้มากสุด 3 ลำ จำนวนน้ำมันมีเพียงน้อยนิดต้องแบ่งใส่ปี๊บนำมาเติมเครื่องบินตามมีตามเกิด

     ถ้าบินมาถึงเป้าหมายแล้วบังเอิญไฟฉายจากพื้นดินจับเครื่องบินทิ้งระเบิดได้ ก็อาจมีโอกาสบินฝ่าดงกระสุนเข้าไปสกัดกั้นตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ถ้าบังเอิญเครื่องบินทิ้งระเบิดบินกลับหมดแล้ว เปิดหวอปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านออกจากหลุมหลบภัยแล้ว นักบินทุกคนไม่รู้เรื่องอยู่ดีเพราะไม่ได้ยินเสียงหวอ ต้องอาศัยเพ่งมองพื้นดินถ้าเห็นแสงไฟมากกว่าเดิมถึงพากันบินกลับดอนเมือง

     เรื่องของเรื่องเป็นเช่นนี้แหละครับ ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายผมเข้าใจว่าชาวบ้านเห็นเครื่องบินทั้งสองฝ่ายจริง แต่ไม่เห็นการไล่ยิงกันกลางอากาศได้แต่คาดเดาไปเอง ทุกครั้งที่มีเสียงหวอฝูงบินรักษาพระนครจะบินขึ้นสกัดกั้นทุกครั้ง (จำนวนไม่เกิน 3 ลำ) โชคร้ายยังค้นหาเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่พบก็เลยยังไม่ได้สำแดงฤทธิ์เดช



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 ก.พ. 24, 09:07
     สถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงเป็นแหล่งชุมชนที่มีประวัติยาวนาน ประเทศไทยในยุคนั้นใช้รถไฟเป็นการเดินทางหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 เส้นทางรถไฟสายแรกได้เปิดให้บริการ สถานีหัวลำโพงขยายตัวมากกว่าเดิมจนกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่

     รอบสถานีหัวลำโพงมีโรงแรมขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ประกอบไปด้วย ‘โรงแรมราชธานี’ อยู่ในสถานีรถไฟหัวลำโพงฝั่งขวามือ ตัวอาคารยาวเลียบไปกับถนนรองเมือง โรงแรมแห่งที่สองคือ ‘โรงแรมทอคาเดโร’ บริเวณถนนสุรวงศ์ใกล้แยกสุรวงศ์กับถนนเจริญกรุง และโรงแรมแห่งสุดท้ายคือ ‘โรงแรมตุ้นกี่’  เป็นตึกสามชั้นอยู่ฝั่งซ้ายมือของสถานีหัวลำโพง ผู้โดยสารที่ต้องการห้องพักหรือญาติพี่น้องที่มารอรับ ได้ใช้บริการโรงแรมทั้ง 3 แห่งตามรสนิยม ความต้องการส่วนตัว และเงินในกระเป๋าสตางค์

     ในภาพคือโรงแรมราชธานีซึ่งอยู่ด้านขวาของสถานีหัวลำโพง
   
   (https://2.bp.blogspot.com/-IMUFbb-gHaI/WHYkMn9X_gI/AAAAAAAAB8E/xJ0AuX2J0Hcyx5kgMRIDBmV760Z_33PKgCLcB/s1600/Ja46.jpg)

     วันที่ 19 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงรถจักรบางซื่อและสถานีรถไฟดอนเมือง สร้างความเสียหายต่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงแรมแกรนด์พาเลซ และโรงไฟฟ้าสามเสนบางส่วน แต่ไม่ส่งผลกับการจ่ายกระแสไฟให้ประชาชน ทุกคนในกรุงเทพยังมีไฟฟ้าใช้งานตามปรกติ

     วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2487 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2487) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศ อินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพในช่วงกลางดึก ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     แค่มกราคม 2487 เดือนเดียวกรุงเทพถูกทิ้งระเบิดถึง 3 ครั้ง ต้นเดือนกุมภาพันธ์โดนอีก 1 ครั้ง ตอนต่อไปประเทศไทยจะเดือดระอุมากขึ้นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 24, 20:52
    อ่านกระทู้ของคุณ superboy แล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า  ระหว่างยอมเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น แล้วถูกฝ่ายพันธมิตรคืออังกฤษกับอเมริกาถล่มไทยด้วยระเบิดขนาดนี้   กับไม่ยอมแพ้ญี่ปุ่น รบกันให้ถึงที่สุดตั้งแต่แรก  แม้ว่าจะต้องเป็นฝ่ายแพ้ก็ตาม    อย่างไหนประเทศชาติเสียหายน้อยกว่ากัน
   มีใครอยากออกความเห็นไหมคะ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 01 มี.ค. 24, 10:08
คำตอบอาจารย์ผมจะมีเฉลยบางสิ่งบางอย่างในภายหลังเมื่อเรื่องราวดำเนินถึง

แต่ข้อมูลจากหนังสือ 'ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า' เขียนโดย พลโท ประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ตอนเดินทางไปญี่ปุ่นกับอินโดจีน บรรดานักการทูตทหารและท่านนายพลเยอรมันก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ฝรังเศสก็ดี ล้วนพูดตรงกันว่า

ถ้าญี่ปุ่นบุกไทยต้องปล่อยให้ผ่านทางอย่าคิดขัดขืน เก็บกำลังทหารไว้ดูแลประเทศหลังสงครามเหมาะสมมากที่สุด

นายพลญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามแค่ 2 ปีแล้วแพ้ นายพลอีกคนบอกว่าญี่ปุ่นเหมือนพายุกามิกาเซ่ พัดไปที่ไหนก็ทำที่นั่นพังวอดวาย แต่ไม่ช้าไม่นานพายุจะสูญสลายหายไป

นายพลยามาโมโต้พูดเองญี่ปุ่นไม่มีทางชนะเพราะขอบเขตสงครามกว้างเกินไป ทหารเรือกับทหารอากาศทำหน้าที่สนับสนุนทหารบกไม่ไหว

ทุกคนพูดตรงกันห้ามไทยสู้ญี่ปุ่นเด็ดขาด


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 01 มี.ค. 24, 10:21
ถึงคิวสนามบินดอนเมือง

     วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบ้านม้า และสนามบินดอนเมืองอีกครั้ง สร้างความเสียหายต่อเครื่องบินทิ้งระเบิด บ.ท.4 (Ki-21-I Nagoya) และเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ที่จอดอยู่ในสนามบิน เครื่องบินลำหลังไม่แน่ใจว่าเป็นเครื่องบินประเทศไทยหรือญี่ปุ่น รวมทั้งไม่ทราบจำนวนที่เกิดความเสียหายอย่างชัดเจน การทิ้งระเบิดเที่ยวบินนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร

     เหตุผลที่อเมริกาโจมตีสนามบินดอนเมืองเพราะต้องการทำลายเครื่องบินรบกองทัพอากาศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้นแบ่งกันจอดคนละฝั่งของสนามบินจำนวนไม่มากเท่าไร

     เครื่องบินทิ้งระเบิดบ.ท.4 (Ki-21-I Nagoya) กองทัพอากาศไทยมีประจำการจำนวน 9 ลำ เคยฝากผลงานอันยอดเยี่ยมในกรณีพิพาทระหว่างไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ย้อนกลับไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2486 นายพล ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ซึ่งได้รับความเสียหายเพราะถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด จึงตัดสินใจมอบเครื่องบินขับไล่ Ki–43 Hayabusa ให้กับประเทศไทยจำนวน 24 ลำ เครื่องบินรุ่นใหม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13 

     นักบินชาวไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปที่สิงคโปร์เพื่อฝึกใช้งานเครื่องบิน ก่อนทยอยบินกลับมาประจำการสนามบินดอนเมืองตั้งแต่ปลายปี 2486 ไปเรื่อยๆ จนครบทุกลำ เพียงแต่ไม่มีข้อมูลว่าเดือนมกราคม 2487 สนามบินดอนเมืองมีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13 (Ki–43 Hayabusa) จำนวนกี่ลำกันแน่ เครื่องบินและนักบินอยู่ในสถานะพร้อมออกทำศึกหรือยัง และถูกลูกหลงจากลูกระเบิดเครื่องบิน B-24 ฝ่ายสัมพันธมิตรมากน้อยแค่ไหน

     การมาของ Ki–43 ส่งผลให้ฝูงบินรักษาพระนครมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ลำ การทำภารกิจสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรย่อมดีขึ้นไม่มากก็น้อย และ Ki–43 นี่แหละครับมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันพระนครในเวลาต่อมา

     วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ที่บ้านดารา สะพานแม่ต้าที่แก่งหลวง และทางรถไฟสายมรณะช่วงหนองปลาดุกถึงกาญจนบุรี การโจมตีสร้างความเสียหายได้เพียงบางส่วน สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำยังคงปรกติสุขทั้งหมด โชคร้ายรางรถไฟบางส่วนเสียหายใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้ขบวนรถไฟสายพิษณุโลก-เด่นชัย และขบวนรถไฟสายบ้านดารา-สวรรคโลก ต้องหยุดใช้งานจนกว่าจะเส้นทางซ่อมเสร็จ มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่เรื่องการหยุดเดินรถทั้งสองขบวน ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักของการเดินทางด้วยรถไฟสายเหนือ

     สะพานปรมินทร์หรือสะพานบ้านดารา อยู่ห่างตัวเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 32 กิโลเมตร  เป็นสะพานรถไฟขนาดใหญ่ที่สุดของทางรถไฟสายเหนือ ทางการไทยเริ่มก่อสร้างสะพานระหว่างปี พ.ศ.2449 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2452

     สะพานมีลักษณะเป็นแบบคานยื่น (Cantilever) ประกอบไปด้วยสะพานเหล็กจำนวน 3 ส่วน ส่วนกลางสะพานความยาว 121.20 เมตร ส่วนริมน้ำทั้งสองฝั่งยาว 80.60 เมตรเท่ากัน รวมความยาวทั้งสะพานเท่ากับ 262.40 เมตร บนสะพานวางทางรถไฟกว้าง 1.435 เมตรตลอดเส้นทาง โดยมีทางเท้าให้ชาวบ้านเดินข้ามฝั่งกว้าง 1.5 เมตร เพราะเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านที่มีความสำคัญมาก ทำลายสะพานได้เท่ากับทำลายระบบคมนาคมระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพ สถานที่แห่งนี้จึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญมากของฝ่ายสัมพันธมิตร

     สะพานปรมินทร์ยังมีเรื่องราวให้ได้ติดตามกันต่อไป

     ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13  (Ki–43 Hayabusa) ที่นายพลโตโจมอบให้ไทย 24 ลำ ติดธงช้างเผือกบนพื้นแดงที่แพนหาง มีทหารญี่ปุ่นสวมกางเกงขาสั้นทำหน้าที่ครูฝึกให้ความช่วยเหลือ


     (https://i.imgur.com/jtR5n6o.jpeg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 01 มี.ค. 24, 10:25
   ผมมีคำถามอยากถามอาจารย์ทุกคนบ้างครับ ข้อมูลจากคุณเจียวต้ายเขียนไว้ว่า

     'ที่บ้านผมไม่มีที่ดินว่างพอจะขุดเป็นหลุมหลบภัยได้ และมีผู้ชายอกสามคืบอย่างผมคนเดียว จึงอาศัยปูเสื่อนอนนอกชายคาเวลาหลบภัยเท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านรั้วติดกันมีเงินมาก ได้ซื้อหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่เขาทำขาย เป็นรูปทรงเหมือนถังส้วมใต้ดินของอาคารขนาดใหญ่ทำด้วยคอนกรีตหนาเตอะ หลุมชนิดนี้ใช้พื้นที่ไม่กว้างแต่ต้องขุดหลุมลึกเพื่อวางถังเอาดินกลบ เหลือแต่ปากปล่องกว้างพอที่จะหย่อนตัวลงไปได้ทีละคน ภายในตรงกลางป่องออกไปมีที่นั่งรอบถังพอสำหรับคนประมาณ ๖ -๗ คน บ้านเขามีคนเหลือจากอพยพอยู่น้อย ก็เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านข้างเคียง แล้วก็อัดกันเข้าไปขนาดให้เด็กนั่งซ้อนตักผู้ใหญ่ด้วย อากาศจึงไม่ค่อยพอหายใจผมจึงขออนุญาตไม่ลง ขอนอนหงายข้างปากหลุมมองดูเหตุการณ์บนท้องฟ้าได้สบาย'

     คำถามก็คือ...อาจารย์เคยเห็นหลุมหลบภัยสำเร็จรูปบ้างไหมครับ

    ผมอยากรู้อยากเห็นมากๆ เลย  ::)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 02 มี.ค. 24, 09:55
ทางรถไฟสายมรณะ

     วันเวลาเดินทางเข้าสู่ปีพ.ศ.2487 เพียง 2 เดือน มีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรไปแล้วถึง 6 ครั้ง บวกอีก 1 ครั้งเป็นการบินเข้ามาถ่ายภาพการก่อสร้างทางรถไฟในจังหวัดกาญจนบุรี การโจมตีในช่วงแรกเน้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพและธนบุรี เครื่องบินหย่อนลูกระเบิดใส่เป้าหมายสำคัญเพียงไม่กี่แห่ง ต่อมาไม่นานจึงเบนเข็มมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างจังหวัด เปลี่ยนเป้าหมายจากสถานีรถไฟหรือค่ายทหารญี่ปุ่น เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำซึ่งมีความสำคัญมากต่อเส้นทางคมนาคม

     เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาใช้พื้นที่ประเทศไทยในการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีการทำถนนใหม่ใช้เส้นทางบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม บ้านห้วยต้นนุ่น ออกชายแดนพม่ามาถึงเมืองตองอูของพม่า เป็นถนนที่มีความยาวมากที่สุด สร้างยากที่สุด และใช้เวลาสร้างนานที่สุด แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจากจำนวน 8 เส้นทางที่ทำการสำรวจ ญี่ปุ่นยังได้วางแผนสร้างทางรถไฟไปยังพม่า เชื่อมโยงชายแดนอินเดียจรดสิงคโปร์ที่ตั้งกองทัพใหญ่ มีการสำรวจเส้นทางหลายสายเช่นเดียวกับถนน ก่อนตัดสินใจเลือก 2 เส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

     เส้นทางแรกเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จุดปลายทางอยู่ที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า รู้จักกันในชื่อ 'ทางรถไฟสายไทย-พม่า' แต่มักถูกขนานนามว่า 'ทางรถไฟสายมรณะ'

     เส้นทางที่สองรู้จักกันในชื่อ 'ทางรถไฟสายคอคอดกระ' เชื่อมต่อเส้นทางสายใต้ที่สถานีชุมพร วิ่งมาสิ้นสุดที่สถานีกระบุรี จังหวัดระนอง ทางรถไฟขนานแนวถนนสายชุมพร-กระบุรี และถนนสายกระบุรี-ระนอง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร กำลังทหาร เสบียงอาหาร หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งมาจากต้นทาง จะถูกลำเลียงมายังสถานีเขาฝาชีเพื่อลงเรือที่ท่าเรือละอุ่น ก่อนล่องไปตามแม่น้ำกระบุรี ออกสู่ปากน้ำจังหวัดระนอง มุ่งตรงเข้าสู่วิคตอเรีย พอยต์ประเทศพม่า

     ญี่ปุ่นสร้างเส้นทางสายนี้เพราะสถานการณ์บังคับ เครื่องบินอเมริกากับอังกฤษระดมทิ้งระเบิดในพม่ามากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นต้องการทางเลือกเผื่อเหลือเผื่อขาด โครงการทางรถไฟสายคอคอดกระเริ่มเดินหน้านับหนึ่งทันที ทว่าเส้นทางนี้ไม่เหมาะสมกับการลำเลียงอาวุธหนักอาทิเช่น รถถัง ปืนใหญ่ เนื่องจากท่าเรือขนาดค่อนข้างเล็กการขนส่งอาวุธจึงพลอยลำบากตามกัน

     โครงการทั้งสองเริ่มต้นเดินหน้าในปี 2486 ทางรถไฟสายไทย-พม่าสร้างเสร็จวันที่ 17 ตุลาคม 2486 ใช้เวลาสร้างประมาณ 10 เดือนโดยแรงงานนักโทษสงคราม ทางรถไฟสายคอคอดกระสร้างเสร็จวันที่ 25 ธันวาคม 2486 ใช้เวลาสร้างประมาณ 7 เดือนโดยกรรมกรชาวมลายูและชาวจีน

     ด้วยการออกแบบและควบคุมจากทหารช่างญี่ปุ่น ด้วยแรงงานนักโทษสงครามจำนวนหลายหมื่นคน และด้วยเงินกู้จำนวน 4 ล้านบาทจากรัฐบาลไทย ทางรถไฟสายไทย-พม่าสามารถเปิดใช้งานได้ตามแผน การขนส่งอาวุธและยุทธปัจจัยทำได้สะดวกมากกว่าเดิม หมายความว่าญี่ปุ่นจะทำการรบได้ยิ่งขึ้น หมายความว่าสัมพันธมิตรจะตั้งรับได้ลำบากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมายความว่าประเทศไทยจะถูกโจมตีทิ้งระเบิดมากขึ้น การทิ้งระเบิดอย่างหนักที่กำลังจะเกิดขึ้นมีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน

     ในภาพคือสะพานรถไฟที่ทำด้วยไม้ ข้ามแม่นำแม่กลอง ที่ ต. ท่ามะขาม อ. เมือง จ. กาญจนบุรี เริ่มสร้างเดือนตุลาคม 2485 เสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2486 ข้างๆสะพานไม้ ก็เป็นสะพานเหล็กที่สร้างในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

         (http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2101x2.jpg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 02 มี.ค. 24, 10:31
เมืองไทยในปี 2487

     กรุงเทพชั้นในประชาชนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงค่ายทหารหรือไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพหนีตายไปยังกรุงเทพชั้นนอก คนที่อยู่เฝ้าบ้านต้องฟังเสียงหวอเตรียมพร้อมหนีมาหลบในคูน้ำ การทิ้งระเบิดถูกพัฒนามากกว่าช่วงแรกของสงคราม จากที่เคยได้ยินเสียงหวอเตือนภัยเฉพาะคืนเดือนหงาย กลับกลายเป็นว่าคืนเดือนมืดเสียงหวอก็ดังกระหึ่มไม่ต่างกัน เพราะเครื่องบินใช้พลุส่องสว่างหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไฟแดงขนาด 5,000 แรงเทียนช่วยชี้เป้าหมาย

     ข้าวของเครื่องใช้และยารักษาโรคซึ่งต้องนำเข้าราคาแพงขึ้น อาหารที่ผลิตได้เองก็แพงขึ้นแต่ยังพอประทังชีพ สิ่งที่หายากยิ่งกว่าเสื้อผ้าและสบู่คืองาน ร้านรวงน้อยใหญ่ในกรุงเทพปิดกิจการเกือบทั้งหมด คดีลักทรัพย์ย่องเบามากขึ้นตามเป็นเงา เพียงแต่ทุกบ้านแทบไม่มีทรัพย์สินให้ขโมย นักเรียนประถมและมัธยมปิดเทอมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2486 ข้ามมาอีกปี ยกเว้นนักเรียนมัธยม 6 ยังมาเรียนหนังสือตามปรกติ สถานที่ราชการเสียหาย ถนนหนทางเสียหาย สะพานข้ามคลองเสียหาย วัดวาอารามเสียหาย แม้กระทั่งก๊อกน้ำประปาสาธารณะก็ยังเสียหาย

     ดูภาพรวมต่างจังหวัดกันบ้างครับ จังหวัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามยังคงใช้ชีวิตปรกติ เพียงแต่ข้าวปลาอาหารแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ และยารักษาโรคเป็นของหายาก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มค่อนข้างขาดแคลน เมื่อมีของเข้ามายังต้องปันส่วนให้กับเพื่อนบ้าน น้ำมันมะพร้าวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากทำอาหารยังใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับตะเกียง

     จังหวัดไหนมีค่ายทหารญี่ปุ่นจังหวัดนั้นมีความคึกคักด้านการเงิน ญี่ปุ่นซื้ออาหารและของใช้ให้ราคาค่อนข้างดี มีการจ้างวานคนไทยเข้ามาทำงานในค่าย ทั้งส่วนใช้แรงงานกลางแจ้งหรือเป็นแม่ครัวทำอาหาร แม้แต่เด็กและผู้หญิงก็สามารถหาเงินได้ ส่วนใหญ่เป็นคนจัดเก็บอุปกรณ์ก่อสร้างค่าจ้างหนึ่งในสามของแรงงานผู้ชาย ซึ่งก็ยังถือว่ามากกว่าค่าแรงคนไทยตามปรกติ

     สถานการณ์ภาคเหนือเต็มไปด้วยวุ่นวาย มีการรบพุ่งระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษและไทยกับจีนในพม่า ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ในไทยส่งเครื่องบินเข้าไปทำภารกิจในพม่า มีการสร้างสนามบินลับจำนวนหนึ่งโดยไม่บอกทางการไทย ยกตัวอย่างเช่นสนามบินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งตระหง่านกลางป่าดงดิบห่างไกลชุมชน ในสนามบินมีทางวิ่งขนาด 1,800 หลาพร้อมสิ่งปลูกสร้างช่วยอำนวยความสะดวก

     ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่นอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่พักอยู่ในค่ายทหารห่างไกลชุมชน มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบ้างอาทิเช่นกรณีคนไทยให้อาหารหรือน้ำดื่มกับนักโทษสงคราม แล้วถูกนายทหารญี่ปุ่นลงโทษด้วยวิธีของเขา แต่ได้รับการแก้ไขทันเวลาไม่ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศ สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศกำลังจะบินข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาจากอีกฟากหนึ่งของขอบฟ้า

     ปี 2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีการจัดเตรียมแผนการขนาดใหญ่ คือการทิ้งระเบิดใส่ประเทศไทยอย่างเป็นจริงเป็นจังภายใต้รหัส ‘Thailand Bombing Campaign’ โครงการขั้นที่หนึ่งใช้เวลารวมกัน 12 เดือน เป้าหมายหลักคือระบบขนส่งทางรางหรือรถไฟ เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงไปยังแนวหน้าในพม่า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือเป้าหมายรอง ส่วนค่ายทหารญี่ปุ่นหล่นมาอยู่ท้ายขบวน

   (https://f.ptcdn.info/033/067/000/q1ijtqd27y0L9TYIqJ4-o.jpg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 24, 21:50
   พยายามทบทวนความทรงจำเรื่องหลุมหลบภัยที่บ้านเดิม    คุณพ่อคุณแม่อยู่ในกรุงเทพมหานครตลอดเวลาสงคราม  ไม่ได้อพยพไปต่างจังหวัด     จำได้อย่างหนึ่งคือเรื่องผ้าหนาๆสีน้ำเงินแก่ที่ขึงปิดช่องลมเหนือหน้าต่าง   ส่วนหลุมหลบภัยดูเหมือนจะจ้างคนมาขุดที่สนาม   จำได้รางๆจากคำบอกเล่าว่าขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวๆ  พื้นล่างปูไม้กระดานมีเสื่อทับเพื่อจะลงนั่งได้สบายหน่อย      แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมพื้นล่างไม่มีน้ำขัง  น่าจะมีวิธีป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงไป
   จำได้อีกอย่างคือคุณแม่เล่าว่าคุณพ่อเป็นคนประสาทแข็งมาก    ได้ยินเสียงหวอกี่ครั้งก็นั่งอยู่ในบ้าน ไม่ยอมลงไปทรมานทรกรรมอยู่ในหลุม  ถือคติว่าอยู่ไหนก็มีสิทธิ์ตายเท่ากัน   คุณแม่อ้อนวอนเท่าไรก็ไม่ยอมลงหลุมหลบภัย  ในที่สุดคุณแม่ก็ต้องหลบลงหลุมเพียงคนเดียว   โชคดีบ้านเราคลาดแคล้วมาตลอดจนสงครามสงบ 
   ด้วยความกลัวระเบิด  และห่วงคุณพ่อที่ไม่ยอมลงจากบ้าน  คุณแม่ก็เลยเอากระดาษฟุลสแก็ปแผ่นใหญ่เขียนคาถาแคล้วคลาดต่างๆ ไปปิดเอาไว้ตามช่องลมพร้อมกับผ้าพรางไฟ  ติดเต็มไปหมดทุกห้อง  จนลูกจ้างที่อยู่ในบ้านสงสัย ถามคุณแม่ว่า
   "คุณคะ  ข้าศึกมันอ่านคาถาออกด้วยหรือคะ"


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 24, 21:53
   ดิฉันไม่เคยเห็นหลุมหลบภัยสำเร็จรูปเลยค่ะ   ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีกัน   ผู้ใหญ่เล่าแต่ว่าหลุมหลบภัยตามบ้านทั้งหลาย  เจ้าของบ้านจ้างคนมาขุดกันตามมีตามเกิด   ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามจำนวนสมาชิกภายในบ้าน 


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มี.ค. 24, 09:06
คนที่ไม่ยอมออกจากบ้านมีเยอะเหมือนกันนะครับอาจารย์ บางคนแค่สวมเสื้อผ้าให้ดีหน่อยแล้วนอนต่อ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มี.ค. 24, 09:27
อเมริกากลับมาแล้ว

     วันที่ 5 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 Mitchell จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 341 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินข้ามชายแดนเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สนามบินเชียงใหม่ ทำลายเครื่องบินชนิดต่างๆ บนลานจอดจำนวน 9 ลำ ต่อด้วยทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่อีกครั้ง รวมทั้งสถานีลำพูนซึ่งอยู่ติดวัดป่ายางหลวง ระเบิดหลายลูกพลัดหล่นใส่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ สร้างความเสียหายให้กับตัวอาคารบางส่วน

     เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางรุ่น B-25 บรรทุกระเบิดได้มากสุด 3,000 ปอนด์หรือลูกระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวน 15 นัด เป็นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์บินได้ไกลสุดประมาณ 2,000 กิโลเมตร ระยะทำการสั้นเกินไปที่จะใช้งานกับภารกิจในกรุงเทพ ทว่าภาคเหนือกับภาคตะวันตก B-25 จากประเทศอินเดียบินไปกลับได้อย่างสบาย

     คนไทยอาจไม่คุ้นเคยเครื่องบิน B-25 มากนัก เท่ากับคนพม่า ซึ่งรู้จักอย่างแพร่หลายเพราะบินจากอินเดียมาทิ้งระเบิดใส่ทหารญี่ปุ่นเกือบทุกวัน นอกจากนี้ยังช่วยงานด้านธุรการรวมทั้งส่งจดหมายไปยังแนวหน้า B-25 มีบทบาทในยุโรปมากเทียบเท่าเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นอื่น สามารถทำภารกิจบินลาดตระเวนทางทะเล โจมตีเรือผิวน้ำกับเรือดำน้ำได้เป็นอย่างดี จัดว่าเป็นเครื่องบินรบที่มีความอเนกประสงค์มากที่สุดรุ่นหนึ่ง

     วันที่ 5 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 490 บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดในทะเลบริเวณเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี ต่อด้วยทิ้งระเบิดใส่เกาะปรงซึ่งอยู่ใกล้กัน

     วันที่ 6 มีนาคม 2487 มีรายงานการทิ้งระเบิดในกรุงเทพตอนกลางคืน แต่ไม่มีรายละเอียดชนิดเครื่องบิน จำนวนเครื่องบิน และความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     ในภาพคือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 ฝูงบิน 490 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย ลำบนใช้ในภารกิจยุทธการและส่งจดหมาย ส่วนลำล่างใช้ในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิด มองเห็นสัญลักษณ์ลูกระเบิดใต้กระจกห้องนักบิน แสดงเที่ยวบินทั้งหมดที่เครื่องบินลำนี้เข้าร่วมภารกิจ (เยอะมาก)

     (https://i.imgur.com/3RpDbIS.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มี.ค. 24, 09:56
     วันที่ 15 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาถล่มเป้าหมายในกรุงเทพตามปรกติ เครื่องบินลำแรกเริ่มทำภารกิจเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง โรงไฟฟ้าสามเสนคือสิ่งที่ต้องกำจัดตามแผนการ Thailand Bombing Campaign ทว่าการระเบิดยังคงพลาดเป้าหมายตามปรกติ วัดโบสถ์สามเสนกับโรงหนังตำบลศรีย่านเป็นฝ่ายรับเคราะห์เกิดความเสียหายเล็กน้อย

     วันเดียวกันเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด P-51 Mustang จำนวน 2 ฝูง บินจากฐานทัพอากาศเมือง Cox's Bazaar ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันคือประเทศบังกลาเทศ) จุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองหลวงประเทศไทย นี่คือครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่ชื่อเสียงโด่งดังโจมตีกรุงเทพ ระยะทางไปกลับรวมกันประมาณ 2,900 กิโลเมตร เป็นภารกิจระยะทางไกลที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งเป็นภารกิจระยะทางไกลสุดตลอดกาลของเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้

     P-51 เป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงกองบินทหารบกสหรัฐอเมริกา หน้าที่หลักคือคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลให้อยู่รอดปลอดภัยกลับคืนสู่สนามบิน ทว่าตัวเองสามารถบรรทุกระเบิดได้มากสุด 2,000 ปอนด์ หรือจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน 10 นัด จึงทำภารกิจสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีไม่แพ้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดเล็ก เหตุผลที่ P-51 บินถึงกรุงเทพเพราะติดถังน้ำมันสำรองใต้ปีกจำนวน 2 ถัง โดยมีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกเป็นอาวุธป้องกันตัว

     การส่งเครื่องบิน P-51 จำนวน 2 ฝูงบินมาเยี่ยมเยียนกรุงเทพ คาดเดาว่าเป็นเพียงการทดสอบการบินระยะไกลครั้งแรก อเมริกากำลังพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่า การทิ้งระเบิดใส่ประเทศไทยต้องมีเครื่องบินขับไล่ตามมาคุ้มกันหรือไม่

     นายพล Levi Chase ผู้บังคับการฝูงบินทิ้งระเบิดสหรัฐอเมริกาในเขตเอเชียตะวันออก  คือผู้วางแผนและกำหนดเส้นทางบินการจาก Cox's Bazaar ถึงกรุงเทพ ได้รับความชื่นชมผลงานจากรัฐบาลและได้รับรางวัล Silver Star จากกองทัพบกอเมริกา

     การส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายที่อยู่ห่างไกลเป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายมาก เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงผมจะถือโอกาสขยายความอีกครั้ง

     ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ P-51 Mustang ประจำการอยู่ที่ฐานทัพประเทศอินเดีย หน้าตาแบบนี้ทาสีพรางแบบนี้แหละที่บินเข้ามาโจมตีประเทศไทย

     (https://i.imgur.com/eJcMHP8.jpeg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 24, 10:12
     วันที่ 15 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาถล่มเป้าหมายในกรุงเทพตามปรกติ เครื่องบินลำแรกเริ่มทำภารกิจเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง โรงไฟฟ้าสามเสนคือสิ่งที่ต้องกำจัดตามแผนการ Thailand Bombing Campaign ทว่าการระเบิดยังคงพลาดเป้าหมายตามปรกติ วัดโบสถ์สามเสนกับโรงหนังตำบลศรีย่านเป็นฝ่ายรับเคราะห์เกิดความเสียหายเล็กน้อย     
      บ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ศรีย่าน  เป็นจุดอันตรายจุดหนึ่ง เพราะมีโรงไฟฟ้าสามเสนอยู่ไม่ห่างนัก ญาติๆเตือนให้ไปอยู่ที่อื่น  แต่ท่านก็ไม่สะดวกที่จะอพยพ   เคราะห์ยังดีไม่ร้ายถึงที่สุด  โรงหนังและวัดรับเคราะห์แทน  บ้านชาวบ้านแถวนั้นรอดมาได่


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มี.ค. 24, 12:01
ภาคเหนือและภาคตะวันตกเริ่มร้อนระอุ

     วันที่ 23 มีนาคม 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 12 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายไทย-พม่า โดยเริ่มโจมตีตั้งแต่พม่าไล่มาเรื่อยๆ จนข้ามพรมแดน ทำลายสิ่งก่อสร้าง 2 แห่ง รถไฟญี่ปุ่นจำนวน 2 ขบวนเกิดความเสียหายหนัก นี่คือคำประกาศอย่างชัดเจนสัมพันธมิตรเริ่มเอาจริงเรื่องทิ้งระเบิดในไทย และทางรถไฟสายนี้คือเป้าหมายสำคัญที่พวกเขาต้องการทำลาย

     วันที่ 5 เมษายน 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 13 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายไทย-พม่า ระหว่างเมืองเมาะลำลิง (หรือมะละแหม่ง อดีตเมืองหลวงรัฐมอญ) ไล่มาจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี

      วันที่ 12 เมษายน 2487 เครื่องบิน  B-24 จำนวน 5 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ การโจมตีครั้งนี้ไม่มีบันทึกในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันควรที่ผมจะขอขยายความ

     สงครามโลกครั้งที่สองช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นบุกพม่าฝั่งซ้ายเพื่อเข้าปะทะกองทัพอังกฤษ ส่วนไทยบุกฝั่งขวาเพื่อเข้าปะทะกองทัพจีน (หรือที่รู้จักกันในชื่อสงครามเชียงตุง) จังหวัดนครสวรรค์มีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร เพราะเป็นที่ตั้งกองพลที่ 4 ประกอบไปด้วย กองพลทหารม้าจำนวน 1 กองพล กรมทหารม้าอิสระ (กรมทหารม้าที่ 12) จำนวน 1 กรม กองพันทหารราบจำนวน 1 กองพัน กองพันทหารปืนใหญ่จำนวน 2 กองพัน และกองพันทหารช่างอีก 4 กองพัน ญี่ปุ่นจึงส่งทหารจำนวนพอสมควรมาตั้งค่ายประกบค่ายทหารไทย กำลังพลซึ่งถอนตัวจากการรบในพม่าจะถูกส่งกลับค่ายทหารจังหวัดนครสวรรค์

     การปรากฏตัวของทหารญี่ปุ่นนำมาซึ่งการโจมตีทางอากาศ และการปรากฏตัวของทหารญี่ปุ่นนำมาซึ่งความเจริญ ประเทศไทยใช้เรือและรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม โดยมีถนนเส้นเล็ก ๆ สำหรับเกวียนของชาวบ้าน ญี่ปุ่นต้องการเส้นทางลำเลียงรถถังและยานหุ้มเกราะเพิ่มเติม โดยปรกติการขนส่งขนาดใหญ่ในประเทศไทยทำได้เพียงรถไฟ จึงมีการสร้างถนนกับสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับรถยนต์เพิ่มเติมเข้ามา

     สะพานเดชาติวงศ์เริ่มต้นตอกเสาเข็มในปี 2485 พาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง เป็นจุดยุทธศาสตร์อีกหนึ่งจุดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย หรืออย่างน้อยที่สุดต้องขัดขวางให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า การทิ้งระเบิดใส่นครสวรรค์จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลจากการโจมตีส่งผลให้สะพานเดชาติวงศ์ต้องเปิดใช้งานปี 2493 หรือหลังสงครามสิ้นสุดถึง 5 ปี




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มี.ค. 24, 12:05
โกโบริแห่งขุนยวม

นครสวรรค์ยังเป็นสถานที่ถือกำเนิดตำนานรักข้ามชาติ ระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวเย็บผ้าชาวไทย ร้อยเอกโทโมโยชิ อิโนอุเอะ (ภายหลังได้เป็นดอกเตอร์) ปรกติประจำการที่ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงปลายสงครามเขาถูกส่งตัวมาอยู่จังหวัดนครสวรรค์ และบังเอิญตกหลุมรักคุณสำเนียงซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จึงได้แวะมาเยี่ยมฝ่ายสาวกับครอบครัวไม่ขาดสาย เพื่อนบ้านมักเห็นทหารญี่ปุ่นนายนี้ขี่ม้าผ่านบ้านคุณสำเนียงเป็นเรื่องปรกติ

เมื่อสงครามเอเชียมหาบูรพาสิ้นสุดญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ทหารทั้งหมดถูกส่งตัวกลับประเทศในฐานะเชลยสงคราม คุณสำเนียงนำผ้าเช็ดหน้าทำมือส่งมอบให้ฝ่ายชาย ผ้าเช็ดหน้าผืนนี้เธอปักลายหัวม้ามีช่อซากุระประดับสองฝั่ง ด้านล่างปักชื่อย่อร้อยเอกหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย
ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันหลายสิบปี ก่อนได้พบกันอีกหลายครั้งในวัยชรา และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตราบจนสิ้นลม ร้อยเอกโทโมโยชิมักพกกล้องถ่ายรูปเยอรมันขนาด 35 ม.ม.ติดตัว เขามีภาพถ่ายสงครามโลกที่หายากมากกว่า 500 ภาพ ปัจจุบันคุณยายสำเนียงจากไปแล้วตามอายุขัย ส่วน ‘โกโบริแห่งขุนยวม’ อายุ 90 กว่ายังมีชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ข้อมูลหลายปีแล้วครับปัจจุบันไม่ทราบเป็นอย่างไรบ้าง

ร้อยเอกโทโมโยชิประจำการที่แม่ฮ่องสอนหลายปี เขาเคยบาดเจ็บอย่างหนักได้รับการดูแลจากคนไทยจนหายสนิท จึงมีความผูกพันกับแม่ฮ่องสอนค่อนข้างมาก อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบทกลอนที่ร้อยเอกโทโมโยชิแต่งขึ้นมอบให้กับอนุสรณ์สถาน ผมหาเวอร์ชันมาใส่เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา (เข้าใจว่าแต่งเป็นภาษาญี่ปุ่นและมีคนช่วยแปลเป็นภาษาไทย)

แด่เพื่อนต่างแดน

เพื่อผืนปฐพี ชีวิตยอมพลี ไปสู่สงคราม
หวงห่วง มาตุคาม แม้ถูกจองจำ ไร้เสรี
ถูกคน ดูแคลนยากไร้ หากอบอุ่นด้วยใจ เมตตาจิต
40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่าง ในความทรงจำ
ความกรุณาที่มี ให้นั้น เกินขอบเขตกั้น ของภาษา
ใครเล่าจะลืม ความเมตตา จวบจนสื่น ชีวาวาย
ยามเหงา เศร้าโศกทุกข์ทน อดทนเงยหน้ามอง ผืนฟ้า
ด้วยความทรงจำ ที่ยังตรึงตรา เห็นผืนฟ้า ดวงจันทร์ ส่องงาม
ไม่ว่าจะอยู่ ที่ไหน ญี่ปุ่นหรือไทย กันเล่า
ต่างผิวพรรณ ต่างเผ่า เราอยู่ใต้จันทร์เจ้า ดวงเดียวกัน

แต่งโดย โทโมโยชิ อิโนอุเอะ 3 ธันวาคม 2529

ภาพใหญ่ : ร้อยเอกโทโมโยชิ อิโนอุเอะ  ภาพเล็ก : การพบกันอีกครั้งระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่น (ขวาสุด) กับสาวเย็บผ้าชาวไทย (ที่สองจากซ้าย)

(https://i.imgur.com/K1kMwmx.jpeg)





กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 04 มี.ค. 24, 09:58
     วันที่ 23 เมษายน 2487 เครื่องบินขับไล่ P-38 Lightning ของสหรัฐจำนวน 2 ลำ บินเข้ามาโจมตีรถทหารซึ่งจอดอยู่หน้าโรงพยาบาลค่ายกาวิละ ถือเป็นการเปิดตัวเครื่องบินขับไล่รูปร่างแปลกประหลาดครั้งแรกในเมืองไทย P-38 ถูกออกแบบให้มีสองเครื่องยนต์ สองแพนหาง ลำตัวเครื่องบินมีเพียงครึ่งเดียว ชาวบ้านที่เห็นพากันแปลกใจทว่าภายหลังชักเริ่มคุ้นเคย เพราะ P-38 มักบินข้ามชายแดนเข้ามาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในพื้นที่ภาคเหนือเป็นว่าเล่น

     สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินขับไล่ P-38 มาใช้งานในประเทศจีน พม่า และอินเดีย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2486 สังกัดฝูงบิน 459 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย (มาก่อนเครื่องบินขับไล่ P-51 Mustang ประมาณ 5 เดือน) ติดตั้งปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกบริเวณจมูกเครื่องบิน บรรทุกระเบิดรวมกันได้มากถึง 5,000 ปอนด์ หรือถังน้ำมันสำรองจำนวน 2 ถังกับจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน 10 นัด ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล สามารถทำภารกิจทิ้งระเบิดสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีเช่นเดียว

     สหรัฐอเมริกาทยอยส่งเครื่องบินรุ่นใหม่มาประจำการในอินเดียกับจีน ทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดสองเครื่องยนต์ B-25 Mitchell เครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดี่ยว P-51 Mustang และเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์ P-38 Lightning B-25 มีบทบาทต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อย ส่วน P-51 กับ P-38 มีบทบาทมากกว่าพอสมควร โดยเฉพาะการทำยุทธเวหาครั้งสำคัญกับกองทัพอากาศไทยในช่วงปลายปี 2487

    ในภาพคือเครื่องบินขับไล่ P-38 Lightning จากฝูงบิน 459 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย ลายเขียวเข้มท้องขาวคือสิ่งคุ้นตาคนไทยภาคเหนือในช่วงนั้น สังเกตนะครับเครื่องบินค่อนข้างใหญ่จึงบินได้ค่อนข้างไกลและบรรทุกอาวุธได้ค่อนข้างมาก

     (https://i.imgur.com/IKdenop.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 04 มี.ค. 24, 10:04
การโจมตีเมืองลับแล

     วันที่ 24 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 2 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 บินเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ ห่างจากสถานีรถไฟบ้านดาราเพียงหนึ่งกิโลเมตรเศษ ผลการโจมตีรางรถไฟบนสะพานข้ามแม่น้ำน่านเกิดความเสียหายอย่างหนัก ต้องขนคนลงจากรถไฟแล้วเสี่ยงตายเดินข้ามสะพานมาขึ้นรถไฟอีกขบวนที่อยู่คนละฝั่ง

     วันเดียวกันมีการโจมตีสถานีรถไฟวังกะพี้และโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ มีพลเรือนถูกลูกหลงจากกระสุนปืนกลขนาด 12.7 มม.เสียชีวิตจำนวน 3 ราย

     โรงงานน้ำตาลคือหนึ่งในความเจริญรุ่งเรืองประเทศไทยยุคสมัยนั้น ระหว่างปี 2482 มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดย พลเอก พระยาพหลพยุหเสนา เป็นประธานในพิธี โรงงานเริ่มเดินเครื่องทำงานปี 2484 รับมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดิบพอดี มีการสร้างทางรถไฟจากสถานีวังกะพี้มายังโรงงานน้ำตาล เพื่อขนส่งสินค้าไปยังทั่วประเทศอย่างรวดเร็วถือว่าทันสมัยมาก เมื่อโรงงานถูกขายกิจการเส้นทางรถไฟจึงถูกรื้อออกตามกัน ปัจจุบันเหลือเพียงแนวคันทางให้คนรุ่นหลังที่มีความสนใจได้ศึกษาเพิ่มเติม

    (https://i.imgur.com/FWg5aEL.jpeg)

     วันที่ 25 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ครั้งที่สองในรอบสองวัน ท่ามกลางไทยมุงจำนวนมากที่จูงลูกจูงหลานแห่มาดูระเบิดลง ส่งผลให้ช่างซ่อมสะพานรวมทั้งบรรดาไทยมุงบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง ขบวนรถไฟสายพิษณุโลกไปอุตรดิตถ์ถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก ระเบิดหลายลูกสร้างความเสียหายต่อสะพานทว่าสะพานยังไม่พัง นั่นหมายความว่าอนาคตสถานที่แห่งนี้ต้องถูกโจมตีอีกครั้งและอีกครั้ง
 
     วันเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำฝูงนี้แหละครับ บินมาถล่มสะพานห้วยแม่ต้า ใกล้สถานีแก่งหลวง-บ้านปินในพื้นที่จังหวัดแพร่ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดตำนวนตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิดโด่งดังจนถึงปัจจุบัน

     ผมนำข้อมูลจากคนในพื้นที่มาให้อ่านน่าจะเหมาะสมกว่าเขียนเอง


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 04 มี.ค. 24, 10:09


http://www.longnfe.go.th/?p=305 (http://www.longnfe.go.th/?p=305)

   “แพร่แห่ระเบิด” เป็นเรื่องจริงหรืออิงตลก หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว คำว่า “แพร่แห่ระเบิด” ห้ามพูดเด็ดขาดในเมืองแพร่ เป็นวลีล้อเลียนชวนให้ทะเลาะวิวาท “แพร่แห่ระเบิด” เป็นคำที่คนแพร่ถูกล้อเลียนกันมาหลายทศวรรษ คนต่างจังหวัดนิยมยกขึ้นมาล้อกันอย่างสนุกปาก คนเมืองแพร่ที่ถูกทักทายด้วยสำนวนนี้ บางคนก็รู้สึกงง บางคนก็รู้สึกเฉยๆ บางคนก็รู้สึกตลกขบขัน บางคนก็รู้สึกอาย หรือบางคนก็รู้สึกโกรธ แล้วแต่บุคคลและสถานการณ์ คนแพร่เมื่อออกนอกพื้นที่มักจะถูกถามเรื่องแพร่แห่ระเบิด ผู้คนต่างพากันเล่าเรื่องราวผิดเพี้ยนไปต่างๆนาๆ ดังเช่น “ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินทิ้งระเบิดตกลงมาที่แพร่ แล้วคนแพร่ก็ไม่รู้ว่าเป็นระเบิดเลยเอามาแห่นึกวาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตกจากสวรรค์ พากันนำมาแห่รอบเมืองแห่ไปแห่มาก็ดันระเบิดทำให้คนตายทั้งเมือง”

   “มีลูกระเบิดตกมาจากฟ้า ชาวแพร่คิดว่าเป็นระเบิดจากเทวดา นำไปแห่จนระเบิดตายทั้งเมือง เลยกลายเป็นที่มาของเมืองแพร่แห่ระเบิด”

   “มีชาวบ้านเมืองแพร่เข้าป่าไปหาหน่อไม้ไปเจอลูกไข่เหล็กเกิดแตกตื่น จึงนำลูกไข่เหล็กไปแห่รอบบ้านบอกเป็นไข่เทวดาเพราะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ปรากฏว่าระเบิดแตกตายไปครึ่งเมือง”

   “มีระเบิดตกลงมาจากท้องฟ้า ชาวบ้านนึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาจากสวรรค์ก็เลยเอามาแห่ แล้วระเบิดตายทั้งหมู่บ้าน ตายทั้งบ้านทั้งเมือง รวมทั้งเจ้าเมืองด้วย ก็เลยไม่มีนามสกุล ณ แพร่”

   เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาอย่างตลกเรื่อยมา

   ทำไมต้องแห่ แห่ระเบิดที่แท้จริงคืออะไร ข้อเท็จจริงจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องมีใจความว่ามีการพบซากระเบิด ซากระเบิดที่พบมีทั้งหมด 3 ลูก ได้นำไปถวายทำเป็นระฆังให้วัดทั้ง 3 ลูก ถูกนำไปถวายให้แก่วัดเพื่อนำไปเป็นระฆัง ลูกที่ 1 อยู่ที่วัดแม่ลานเหนือ ลูกที่ 2 อยู่ที่วัดศรีดอนคำ และลูกที่ 3 อยู่ที่วัดนาตุ้ม จากการสอบถามข้อมูลจากผู้รู้จึงได้ข้อมูลมาว่าที่จริงแล้วแพร่แห่ระเบิดกันทำไม

   ระเบิดลูกที่ 1 ในปี พ.ศ.2516 นายหลง มะโนมูล และคนงานสถานีรถไฟที่ดูแลเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟบ้านปินถึงสถานีแก่งหลวง ได้พบซากลูกระเบิดโผล่พ้นดินขึ้นมาในสวนของนายถา ถนอม ใกล้แม่น้ำยม บ้านแม่ลู้ จึงได้มาบอกให้นายสมาน หมื่นขัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่ลานเหนือ

   ระเบิดลูกที่ 2 และลูกที่ 3 พบพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน ได้นำไปถวายเป็นระฆังลูกระเบิดให้แก่วัดศรีดอนคำและวัดนาตุ้ม ในปี พ.ศ. 2499 นายมา สุภาแก้ว และนายชาญณรงค์ อินปันดี ทั้งสองคนได้นำช้างไปรับจ้างลากไม้ซุงที่ถูกลักลอบตัดทิ้งไว้บนเขาให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้พบเศษเหล็กกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่บริเวณเชิงเขาใกล้ลำน้ำยมและใกล้กับสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า ด้วยความสงสัยจึงได้ขุดดูและพบกับท่อนเหล็กขนาดใหญ่ซึ่งเป็นซากระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระเบิดที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งทำลายสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นที่จะเข้าสู่ภาคเหนือและข้ามแดนไปประเทศพม่า ซากระเบิดที่พบเป็นระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินแล้วไม่ระเบิด ทหารสัมพันธมิตรจึงได้ทำลายด้วยการตัดส่วนหางของระเบิดเพื่อเอาดินปืนข้างในทิ้ง และทิ้งซากลูกระเบิดไว้เพราะไม่สามารถนำระเบิดกลับไปได้เนื่องจากน้ำหนักมาก และห่างจากบริเวณที่ขุดพบระเบิดลูกที่หนึ่งประมาณ 10 เมตร ก็ได้เจอกับระเบิดอีกลูกหนึ่ง ทั้งสองจึงได้ใช้ช้างลากลูกระเบิดขึ้นมาจากหลุมและลากมาไว้บริเวณปางไม้ริมน้ำยม จากนั้นได้นำซากระเบิดขึ้นแพไม้สักขององค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อนำมาขึ้นฝั่งบริเวณปากลำห้วยแม่ลานในเขตตำบลปากกาง แล้วใช้ช้างลากซากระเบิดมาไว้ที่บ้าน โดยแบ่งซากระเบิดกันคนละลูก และนำซากระเบิดไปตั้งไว้ใกล้บันไดบ้านเพื่อใส่น้ำไว้ล้างเท้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 นายมา สุภาแก้ว ได้นำซากระเบิดไปถวายวัดศรีดอนคำ

   เพื่อทำเป็นระฆัง เนื่องจากเคาะดูแล้วมีเสียงดังกังวาน โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 ได้นำใส่เกวียนแห่ร่วมกับขบวนแห่ครัวทาน(เครื่องไทยทาน) งานประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง)ของหมู่บ้านดอนทราย ในขบวนแห่มีการนำฆ้อง กลอง มาตีกันอย่างสนุกสนาน จึงเกิดคำว่า “แพร่แห่ระเบิด” ขึ้น

   และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2516 นายชาญณรงค์ อินปันดี ได้นำซากระเบิดอีกลูกไปถวายให้วัดนาตุ้ม อ.ลอง จ.แพร่ นี้คือข้อเท็จจริงจากบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์

   คุณเชษฐา สุวรรณสา เจ้าของร้านกาแฟแห่ระเบิดได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร ทันทีที่เพื่อนๆรู้ว่าตนมาจากจังหวัดแพร่ คำทักทายแกมเย้ยหยัน แพร่แห่ระเบิดเป็นวลีที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เมื่อถูกถามครั้งแรกก็งงๆ เมื่อกลับมาอยู่บ้านจึงได้สอบถามคนแพร่ว่า

   เคยถูกล้อเรื่อง แพร่แห่ระเบิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็จะตอบตรงกันว่า โดน เรียกได้ว่าโดนกันทั้งนั้น

   ดังนั้นจึงสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า “ระเบิดที่แห่มีจริง ไม่ได้แห่เพราะการไม่รู้จักระเบิดจนแตกตายไปครึ่งเมือง แต่ระเบิดที่กล่าวถึงคือระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำแห่ไปถวายวัดเพื่อทำระฆังที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่”

   ปล.อ่านแล้วงงกับช่วงเวลาเหมือนกันนะครับ เหมือนสองลูกแรกจะเจอปี 2499 แต่เก็บไว้กับตัวเองจนถึงปี 2516 ถึงมอบให้วัด

     (https://i.imgur.com/bFC0BzP.jpeg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 24, 10:43
  เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสงครามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง    นอกจากเรื่องข้าวยากหมากแพง เสื้อผ้า สบู่ น้ำตาลทราย ยารักษาโรคขาดแคลนมากแล้ว ยังมีเรื่องปาฏิหาริย์อีกด้วย
   ปาฏิหาริย์ที่ได้ฟังมาตอนเล็กๆ  กับที่ไปหาอ่านเองเมื่อตอนโต มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่เหมือนกันอยู่อย่างคือพระพุทธรูปแสดงปาฎิหารย์มิให้ระเบิดตกลงมาที่วัดของท่าน    ส่วนเป็นของวัดไหน หลวงพ่อองค์ไหน  คำบอกเล่าก็ไม่ซ้ำองค์เช่นกัน   แต่ที่แน่ๆ  ไม่มีแม่ชี

  คลิปนี้เล่าถึงปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโบสถ์น้อย  วัดอมรินทรารามวรวิหาร  เชิญชมคำบอกเล่าได้ตั้งแต่นาทีที่ 12.23 ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=ypJm9sNyuqQ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 05 มี.ค. 24, 10:33
ผลลัพธ์จากการโจมตีอย่างหนัก

     การทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์สองครั้งภายในสองวัน สร้างความโกลาหลให้กับทุกฝ่ายในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะได้เห็นเต็มสองตาแล้วว่าหายนะมาเยือนถึงประตูบ้าน ศาลากลางจังหวัดกับหลายหน่วยงานถูกย้ายมาอยู่อำเภอลับแล โรงเรียนชายประจำจังหวัดย้ายมาที่ศาลาวัดบรมธาตุทุ่งยั้ง  ส่วนโรงเรียนสตรีจังหวัดย้ายมาที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อมหาดท่าอิฐ

     การต่อต้านจากทหารญี่ปุ่นและทหารไทยมีจำนวนค่อนข้างน้อย การทิ้งระเบิดใส่อุตรดิตถ์จึงทำในช่วงกลางวันมองเป้าหมายชัดเจน ทหารญี่ปุ่นต้องนำปืนต่อสู้อากาศยานมาติดตั้งเพิ่มเติม หวังป้องกันสะพานข้ามแม่น้ำน่านที่กำลังเร่งมือซ่อมแซม มีการแจ้งเตือนภัยระเบิดลงด้วยเสียงหวอเหมือนคนในกรุงเทพ แต่ดูเหมือนจะน่ากลัวกว่าเพราะการโจมตีเกิดขึ้นตอนกลางวัน

     สถานีรถไฟอุตรดิตถ์เป็นสถานีขนาดค่อนข้างใหญ่ สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงแผ่นดินยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่สับเปลี่ยนขบวนรถไฟที่จะเดินทางขึ้นเหนือ ขบวนรถต้องวิ่งขึ้นเนินเขาที่ทั้งสูงชันและคดโค้ง อ้อมมาตามด้านข้างภูเขาสลับวิ่งเลียบลำห้วยน้อยใหญ่ รถไฟจากกรุงเทพจะถูกตัดออกเป็นสองหรือสามขบวน เพื่อให้หัวรถจักรมีแรงมากพอลากขึ้นเขาสำเร็จ การเติมน้ำเติมฟืนใช้เวลายาวนานกว่าทุกสถานี จึงมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของจำนวนมาก ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็นชุมชนด้านหลังสถานี มีของกินของใช้ให้บริการผู้โดยสารขึ้นเหนือหรือลงกรุงเทพ

     ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถูกส่งมาคุ้มกันสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ พร้อมอาวุธหนักเบาแปรผันไปตามสถานการณ์ มีการจัดตั้งหน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหาร และหน่วยซ่อมเครื่องจักรกลในบริเวณใกล้เคียงสถานี ส่งผลให้มีทหารญี่ปุ่นในอุตรดิตถ์จำนวนพอสมควร ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งจุด

     ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เคยโจมตีสะพานปรมินทร์ไปแล้วหนึ่งครั้ง โชคดีที่ตัวสะพานแทบไม่เป็นอะไร เมื่อถูกระเบิดอีก 2 ครั้งจนเกิดความเสียหายอย่างหนัก การรถไฟสร้างสะพานชั่วคราวขึ้นมาและซ่อมสะพานจริงไปพร้อมกัน โดยการสร้างตับธรณีไม้ทับด้านบนโครงเหล็กซึ่งยุบตัวหักลงมา แล้ววางรางรถไฟขนาด 1.435 เมตรให้ขบวนรถไฟวิ่งผ่าน เท่ากับว่าจนถึงตอนนี้สะพานปรมินทร์ยังใช้งานได้ตามปรกติ

     ในภาพคือสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา สมัยที่ทางรถไฟยังเป็นแบบ dual-gauge  (วิ่งได้ทั้งขบวนรถไฟที่มีความกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร)

    (https://i.imgur.com/GB7EmjS.jpeg)


     การโจมตีทางอากาศยังมีตามปรกติ วันที่ 3 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำจากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่บ้านโป่ง ราชบุรี แล้วเลยไปทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่หนองปลาดุก ก่อนเบนหัวกลับมาลงจอดฐานทัพอากาศในประเทศอินเดีย

     วันที่ 7 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 4 ลำจากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่พระโขนงและสถานีรถไฟปากน้ำ ขากลับยังแวะทิ้งทุ่นระเบิดในอ่าวไทยบริเวณชายฝั่งสัตหีบ

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ยังเป็นภัยร้ายจากฟากฟ้าที่คนไทยพากันหวาดกลัว ทว่าอีกไม่นานภัยร้ายจากฟากฟ้าจะถูกปรับเปลี่ยนให้มีความน่ากลัวมากกว่าเดิม




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 05 มี.ค. 24, 15:10
วัสสานฤดูที่กรุงเทพ

     เมื่อประเทศไทยย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่ลูกเด็กเล็กแดงจะได้กลับมาทำหน้าที่สำคัญ วันที่ 17 พฤษภาคม 2487 คือวันแรกของการเปิดเทอมระดับประถมและมัธยม ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายให้ความชุ่มชื้นและเฉอะแฉะ นักเรียนทุกระดับชั้นต้องมาเรียนหนังสือตามปรกติ ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกแห่งจะเปิดเทอมห่างจากกันเล็กน้อย

     การทิ้งระเบิดในภาคเหนือและภาคตะวันตกทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะพื้นที่อันตรายมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ส่วนกรุงเทพยังน้อยทั้งปริมาณเครื่องบินและเที่ยวบิน หลุมหลบภัยจำนวนมากขาดการดูแลรักษาใช้งานแทบไม่ได้ ประกอบกับฝนตกทุกวันน้ำท่วมขังมากกว่าครึ่งหลุม จึงมีคำแนะนำให้ชาวบ้านหนีมาหลบภัยร้ายริมคลอง ถ้าบังเอิญริมคลองใกล้เป้าหมายมักถูกทหารไล่กลับมาหลบในหลุมน้ำท่วมขัง

     ช่วงเวลานี้เองได้กำเนิดคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” เนื่องจากข้าวสารหาซื้อค่อนข้างยาก ส่วนหมากก็มีราคาแพงขึ้นหลายเท่า ชาวบ้านจำนวนมากตัดสินใจเลิกหมากแบบหักดิบ เมื่อนึกอยากหมากต้องหาอะไรกินให้พอทุเลา กลับกลายเป็นว่าช่วงสงครามโลกที่อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ คนไทยส่วนหนึ่งอ้วนขึ้นเพราะไม่มีหมากกินต้องกินอาหารอย่างอื่นทดแทน

     ชีวิตคนกรุงเทพต้องเดินหน้าต่อตามปรกติ รถรางยังเปิดให้บริการแต่ถึง 6 โมงเย็นเท่านั้น ใครกลับบ้านไม่ทันต้องออกกำลังกายเผาผลาญไขมัน มีการแข่งม้าย่านสามเสนพร้อมการแสดงรำวงมาตรฐานชุดใหญ่ ทว่าผู้ชมค่อนข้างบางตาเพราะไม่ค่อยมีงานไม่ค่อยมีเงิน นอกจากเปิดเทอมและฤดูฝนมาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ยังมีเครื่องบินลำโตปรากฏตัวในช่วงกลางวันบ่อยครั้ง บางวันมาเป็นฝูงจำนวน 3 ถึง 4 ลำ ทั้งที่กรุงเทพอยู่ห่างจากอินเดียการส่งเครื่องมาบินสำรวจทำได้ค่อนข้างยาก

     ทำไมต้องบินเข้ามาสำรวจ ? ทำแล้วได้อะไรกลับไป ? มีเหตุผลประการใดถึงบินมากกว่าเดิม ?

     เหตุผลอาจเป็นเพราะอเมริกาเปลี่ยนแผนใหม่ การโจมตีกรุงเทพที่ผ่านมาประสบความสำเร็จน้อยมาก แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจากพม่า อินเดีย และจีน อเมริกาปรับปรุงวิธีการทิ้งระเบิดใหม่หมด โดยได้รับความช่วยเหลือจากเสรีไทยในกรุงเทพ พวกเขาเหล่านั้นช่วยในการจัดทำแผนที่ ค้นหาและกำหนดเป้าหมายในแต่ละเที่ยวบิน ค้นหาที่ตั้งทางทหารและที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน

     การทดสอบเส้นทางบินและถ่ายภาพทางอากาศไปพร้อมกัน เมื่อคนกรุงเทพเห็นบ่อยครั้งจึงเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งแปลก แม้จะตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ไม่ได้หวาดกลัวอะไร เนื่องจากการบินสำรวจทำค่อนข้างบ่อย และทุกครั้งไม่มีการทิ้งระเบิดหรือยิงปืนกล ความชะล่าใจจึงได้บังเกิดโดยไม่รู้ตัว




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 05 มี.ค. 24, 15:13
เมกกะโพรเจกต์มาแล้ว

     วันที่ 5 มิถุนายน 2487 ตรงกับวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันหยุด คนเมืองหลวงต่างประดับธงชาติที่หน้าบ้าน แล้วพากันเข้าวัดทำบุญฟังคำเทศนา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ล่าสุด จากฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 58 กองบิน 20 ประเทศอินเดียจำนวน 98 ลำ ทยอยบินขึ้นจากฐานทัพอากาศในหมู่เกาะมาเรียน่า เพื่อทำภารกิจซึ่งมีระยะทางไปกลับมากถึง 2,261 ไมล์ เครื่องบินลำนี้คือเครื่องบินขับไล่ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุด ‘B-29 Superfortress’

     ภารกิจสำคัญของ B-29 คือการ ‘ทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพตอนกลางวัน’

เหตุการณ์ในวันนั้นคุณเจียวต้ายเล่าไว้ว่า

     ๕ มิ.ย.๘๗ วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ราษฎรชักธงชาติขึ้นสู่ที่สูงทุกบ้านทุกเรือน เหล่าพุทธมามกะทั้งหญิงชาย ต่างก็ชักชวนกันไปวัดเพื่อฟังเทศน์ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.มีเครื่องบินข้าศึกบินเข้ามาประมาณ ๔๐ เครื่อง ประชาชนตื่นเต้นประหลาดใจมองดูการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน แต่ไม่สู้จะหวาดกลัวเพราะเขามาเวลากลางวันหลายครั้งแต่ไม่เคยทิ้งระเบิด เคยเข้ามา ๓ เครื่องบ้าง ๕ เครื่องบ้างเสียงแต่ปืนฝ่ายเรายิง ครั้งนี้แม้จะมามากมายก็คงจะเลือกทิ้งแต่จุดสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ใคร่จะพากันหลบภัยดังเช่นกลางคืน

     พอเขาเข้ามาครู่เดียวก็ทิ้งระเบิดปังๆ ทีเดียว ทิ้งไม่เลือกที่เสียด้วย กระจายกันออกไปหมู่ละ ๕ ลำมีเรือนำอีก ๑ ลำ  เจ้าเรือนำขีดวงตรงไหนเจ้าบริวารก็ทิ้งบอมบ์ที่นั่น ตำบลหนึ่งๆ ทิ้งระเบิดลงมาไม่ต่ำกว่า ๒๕ ลูก  หลุมระเบิดต่อหลุมระเบิดจรดกันก็มี การเขียนวงเครื่องหมายกะที่ให้ทิ้ง คือพ่นควันออกทางหางและทางปีกทั้ง ๒ ข้าง แล้วบินวงโค้ง ฝ่ายเจ้าบริวารก็กระจายแถวเรียงหนึ่ง ดากันเข้าประเคนลูกระเบิดมหาวินาศลงมา เสียงดังแทบหูดับ บ้านเรือนสะเทือนไหวโยกเยก ล้มระเนระนาด ที่ยังทรงอยู่ได้ก็หลังคาทะลุปรุโปร่ง

      นับว่าเป็นการโจมตีครั้งใหญ่และหนักที่สุดกว่าทุกๆ ครั้ง ลูกระเบิดที่ทิ้งมีทั้งระเบิดเพลิง ระเบิดทำลาย และระเบิดสังหาร ๕ วันผ่านไปก็ยังเก็บศพไม่หมด  การทิ้งระเบิดคราวนี้มีเอกสารระบุว่า มีเครื่องบิน บี.๒๙ ทั้งหมด ๑๐๐ เครื่อง เพิ่งทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกกับกรุงเทพประเทศไทย เพราะมีการต้านทานน้อยกว่าที่อื่น เขาบินเดินทางมาจากอินเดีย แต่ก็กลับสนามบินไม่ครบทั้ง ๑๐๐ เครื่อง ประสบอุบัติเหตุบ้าง เครื่องขัดข้องบ้าง และถูกยิงเสียหายบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย

     สำหรับบ้านของเรา ลูกระเบิดที่ตกใกล้ที่สุดห่างจากบ้านไปเพียงสองหลัง แต่เป็นที่ว่างไม่มีใครปลูกบ้าน มันขุดเอาดินดานมาทุ่มใส่หลังคาบ้านเรา ประกอบกับการกระเทือนจากแผ่นดิน กระเบื้องหลังคาแตกเห็นท้องฟ้าแพรวพราย และเพื่อนเด็กชายคนหนึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อยู่บ้านถัดไปสองซอยได้เสียชีวิตในหลุมหลบภัย เพราะลูกระเบิดตกใกล้ถูกดินบีบอัดคาหลุม




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 05 มี.ค. 24, 15:15
     ส่วนพลตรี ประยูร ภมรมนตรี เล่าเรื่องราวตามนี้

     ครั้นล่วงมาในวันวิสาขบูชา ได้มีการทราบข่าวล่วงหน้าจากกรมประสานงานว่าจะมีการทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน ข้าพเจ้าในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งให้โรงเรียนกินนอนทั้งหลายขยับขยายไปอยู่ต่างจังหวัดโดยรีบด่วน ครั้นในเช้าวันวิสาขบูชาดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าได้แล่นรถผ่านโรงเรียนมาแตร์เดอี เห็นมีเด็กเล็กวิ่งเล่นอยู่หลายสิบคน ข้าพเจ้ารีบขับรถตรงไปเอ็ดตะโรต่อว่าแม่ชี และสั่งให้เตรียมขนย้ายทันที โดยได้สั่งเรียกรถยนต์ของกรมยุวชนที่กรมพาหนะทหารบกมาขนเด็กนักเรียน 100 คนเศษไปจังหวัดฉะเชิงเทราในตอน 9.00 น.

     ครั้นพอเวลาเพลก็มีการทิ้งระเบิดของเครื่องบินอเมริกันอย่างรุนแรง โดนหอพักโรงเรียนมาแตร์เดอีพังเรียบ รุ่งขึ้นพวกแม่ชีมีชื่อหัวหน้าแม่ชีเทเรซ่าซึ่งบัดนี้ยังมีชีวิตอยู่ได้พากันขอบคุณข้าพเจ้า ว่าพระเจ้าได้บันดาลให้ข้าพเจ้ามาช่วยพาเด็กลี้ภัยให้พ้นอันตราย และทำพิธีสวดมนต์อำนวยพรให้ข้าพเจ้า ส่วนบ้านข้าพเจ้าเองซึ่งกำลังปลูกสร้างใหม่ใกล้โรงกระษาปณ์ ก็ถูกระเบิดเสียหายบางส่วนนับเป็นหลังที่สาม เคราะห์ดีคนงานที่ทำการก่อสร้างได้หลบภัยอยู่ในหลุมใต้ดิน ส่วนในบริเวณหลังบ้านมีบ้านเล็กเรือนน้อยหลังทหะราโอสถพังวินาศผู้คนล้มตาย ข้าพเจ้าต้องหาเงินมาลงทุนซ่อมแซมดัดแปลงพอให้บ้านอยู่กันไปได้

     โรงเรียนมาแตร์เดอีในตอนนั้นน่าจะตามภาพนี้นะครับ

    (https://cdn.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/03/29122926/mater-dei-school-chapel-93.jpg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 24, 17:18
   ภาพนี้น่าจะถ่ายหลังสงครามโลกจบลงแล้ว ไม่นานนัก  เพราะผู้หญิงในภาพนุ่งกระโปรงจีบบาน เรียกว่ากระโปรงนิวลุค  เป็นแฟชั่นเขา้มาหลังสงคราม    ส่วนครูอยู่ทางซ้าย สวมเสื้อขาวนุ่งกระโปรงแคบสีน้ำเงินกรมท่า
   อาคารที่เห็นเป็นอาคารไม้หลังเก่าของโรงเรียน ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แต่ล้อมด้วยอาคารเรียนที่เป็นตึกใหญ่ๆ หมดแล้วค่ะ   อาคารขวาสุดเป็นโบสถ์  เป็นที่ทำพิธีมิซซ่า  เคยขึ้นไปสวดมนตร์(ของคริสต์) บนนั้นเหมือนกัน
      เครื่องแบบของนิกายอุร์สุลินในภาพ  ตอนนี้ยกเลิกไปนานแล้ว   สมัยดิฉันยังแต่งตัวแบบนี้อยู่   เพราะกรุงเทพยังไม่ร้อนเท่าไหร่   แต่ถ้าอยู่ในยุโรปหรืออเมริกา เครื่องแบบนี้จะเป็นสีดำ (ป้จจุบันไม่สวมกันอีกแล้ว) มาอยู่เมืองไทยอากาศร้อนจึงเปลี่ยนเป็นสีขาว


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 09:48
ภัยร้ายตัวใหม่จากเมืองลุงแซม

     B-29 คือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ถูกพัฒนาออกแบบใหม่หมดทั้งลำแตกต่างจากเครื่องบินรุ่นเก่า ใช้เทคโนโลยีใหม่เอี่ยมมีความล้ำสมัยกว่าเดิม 20 ปีอาทิเช่น นำระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนบังคับเครื่องบินและใช้งานระบบอาวุธ หรือห้องนักบินติดตั้งระบบปรับแรงดันอัตโนมัติสามารถบินสูงมากกว่าเดิม นี่คือโครงขนาดใหญ่ที่สุดและผลาญงบประมาณสหรัฐอเมริกามากที่สุด โครงการแมนฮัตตันเพื่อพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ใช้เงินประมาณมากถึง 1.7 พันล้านเหรียญ ยังถูกโครงการ B-29 สอยกลางอากาศร่วงมาอยู่อันดับสอง เครื่องบิน B-29 ถูกผลิตออกมาใช้งานจำนวน 3,970 ลำ ราคาเฉลี่ยต่อหนึ่งลำอยู่ที่ 639,188 เหรียญ

     อาวุธป้องกันตัวเองของ B-29 ประกอบไปด้วย ปืนกลขนาด 12.7 มม.ลำกล้องแฝดควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลจำนวน 4 ป้อมยิง ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบซูเปอร์ชาร์ทจำนวน 4 ตัว ให้กำลังสูงสุด 2,200 แรงม้า ลากเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากสุด 54 ตัน ให้บินได้เร็วสุด 574 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ไกลสุด 5,230 กิโลเมตร บรรทุกระเบิดได้มากสุด 20,000 ปอนด์หรือ 9 ตัน ถ้าบินระยะไกลจะลดลงมาเหลือเพียง 12,000 ปอนด์หรือ 5.44 ตัน ทีเด็ดทีขาดเครื่องบินทิ้งระเบิดยักษ์ใหญ่ราคาแพงลิบลำนี้ก็คือ ระบบช่วยเหลือในการทิ้งระเบิดจากความสูงมากกว่า 20,000 ฟุต

   B-29 ทุกลำติดตั้งเรดาร์ตรวจจับภาคพื้นดิน AN/APQ-13 Airborne Radar ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Mickey ตัวโดมเรดาร์ถูกติดตั้งใต้ท้องเครื่องก่อนช่องบรรจุอาวุธ ระยะตรวจจับประมาณ 80 กิโลเมตร บริษัทผู้ผลิตอ้างว่าสามารถปล่อยระเบิดจากความสูง 7,500 เมตร ที่ความเร็ว 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมงลงสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ระเบิดซึ่งปรกติจะตกพื้นห่างจุดปล่อยประมาณ 3.9 กิโลเมตร แต่นักบินซึ่งมีความชำนาญการใช้งานเรดาร์สามารถทิ้งระเบิดห่างเป้าหมายไม่เกิน 200 เมตร 

     บริเวณจมูกเครื่องบินอันเป็นที่นั่งของพลทิ้งระเบิด มีการติดตั้งระบบ Norden Bombsight ช่วยในการเล็งยิงได้อย่างแม่นยำ ไอเทมลับฝ่ายสัมพันธมิตรถูกนำมาใช้งานจริงบนเครื่องบิน B-29

     ในสงครามภาคพื้นยุโรปมีรายงานจากฝูงบินทิ้งระเบิดหลายฝูง จากระดับความสูง 6,000 เมตรจากพื้นดิน Norden Bombsight สามารถคำนวณจุดตกได้อย่างแม่นยำ โดยมีค่าความผิดพลาดเพียง 50 เมตร ทำงานร่วมกับเรดาร์ AN/APQ-13 จะทำให้เครื่องบิน B-29 คือปีศาจร้ายในตำนานตัวจริง

     Norden Bombsight เทียบได้กับระบบคอมพิวเตอร์แอนะล็อก ใช้ค่าความเร็วลม มุมปะทะ ความสูงจากพื้นดิน และความเร็วเครื่องบินในการคำนวณ พลทิ้งระเบิดแค่ปรับมุมเล็ง Norden Bombsight ให้ตรงเป้าหมาย ซึ่งโดยปรกติจะมีข้อมูลเป็นตารางตัวเลขให้ปฏิบัติตามแบบง่ายๆ กลไกการทำงาน Norden Bombsight ถือเป็นความลับสุดยอด มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า B-29 ลำไหนบังเอิญถูกยิงตกในเขตศัตรูนั้น หน้าที่แรกและหน้าที่เดียวของพลทิ้งระเบิดคือทำลาย Norden bombsight เพื่อไม่ให้ฝ่ายเยอรมันล่วงรู้ความลับสำคัญและหาทางแก้ไขสำเร็จ

     ระบบช่วยเล็งรุ่นใหม่ใช้งบประมาณสูงพอสมควร ว่ากันว่าประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน (อีกแล้ว) งบประมาณคนละส่วนกับการพัฒนาเครื่องบิน B-29 Superfortress นะครับ

    ในภาพคือเครื่องบิน B-29 Superfortress กำลังทิ้งระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวนมากใส่เป้าหมายในสงครามเกาหลี

     (https://i.imgur.com/FbqEnxt.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 09:50
     ข้อมูลจากหนังสือ ‘คนไทยในกองทัพนาซี’ เขียนโดย พ.อ.วิชา ฐิตวัฒน์ เล่าเรื่องราวตามนี้

     อุปกรณ์สำคัญที่สุดและปกปิดเป็นความลับอย่างยิ่งของเมริกาชื่อ นอร์เดน (Norden Bombsight) ผู้ทิ้งระเบิดเพียงแต่ตั้งระยะสูง จัดแกนไจโรสโคปได้ตั้งได้ฉากกับพื้นดิน ตั้งทิศของเครื่องบินให้ตรงกับที่หมายให้ไจโรสโคปบังคับเครื่องบินแล้ว นักบินก็เพียงแต่ใช้กล้องเล็งที่หมายแล้วก็กดปุ่มทิ้งระเบิดได้ และถ้าหากมีกล้องพิเศษคือ Genbox หรือ H2S ประกอบแล้ว ก็สามารถทิ้งระเบิดโดยไม่จำเป็นต้องเห็นที่หมาย
 
    Norden Bombsight คืออีกหนึ่งไอเทมลับช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง

     ในภาพคือจมูกเครื่องบินทิ้งระเบิดมองเห็น Norden Bombsight ติดตั้งอยู่ตรงกลาง

     (https://www.houstonwing.org/wp-content/uploads/2019/03/norden-2.jpg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 09:52
     ย้อนกลับมาวันที่ 5 มิถุนายน 2487 อีกครั้ง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 98 ลำ จากฝูงบิน 58 กองบิน 20 ออกเดินทางจากสนามบินในหมู่เกาะ Mariana กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งเข็มทิศมุ่งตรงมายังเมืองหลวงประเทศไทย เป้าหมายก็คือชุมทางรถไฟมักกะสัน โรงรถจักรที่บางซื่อ ที่ตั้งทหารญี่ปุ่นบริเวณบ้านหม้อ ปิดท้ายด้วยสะพานพระพุทธยอดฟ้า นี่คือการโจมตีครั้งแรกสุด ของเครื่องบินทิ้งระเบิดราคาแพงที่สุด จากฐานทัพซึ่งอยู่ห่างไกลมากที่สุด

     กองบิน 20 หรือ The Twentieth Air Force เป็นกองบินแรกที่ได้ใช้งาน B-29

     ระหว่างเดินทางข้ามหาสมุทรอันแสนกว้างใหญ่ เครื่องบิน B-29 จำนวน 21 ลำจำเป็นต้องหันหัวกลับสนามบิน สาเหตุเกิดจากเครื่องยนต์บนเครื่องบินมีอาการขัดข้อง แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจแรกให้สำเร็จลุล่วง เครื่องบิน B-29 ที่เหลือจำนวน 77 ลำจำเป็นต้องเดินทางต่อตามแผนการ

     เวลาประมาณ 11 นาฬิกาของประเทศไทย ฝูงบินขนาดใหญ่เดินทางมาถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ การปรากฏตัวของเครื่องบินขนาดใหญ่จำนวนมากช่วงเวลากลางวัน ทั้งทหารไทยและทหารญี่ปุ่นสามารถมองเห็นชัดเจน เครื่องบินขับไล่ บ.ข.13  (Ki–43 IIb Hayabusa) จำนวน 3 ลำจากฝูงบินรักษาพระนคร ได้รับคำสั่งให้ขึ้นบินสกัดกั้น บังเอิญฝูงบิน B-29 อยู่สูงเกินไปทำอะไรไม่ได้จริงๆ

     ปรกติการทิ้งระเบิดเครื่องบินต้องลดระดับลงประมาณ 6,000 ถึง 8,000 ฟุต แต่เนื่องมาจากนี่คือเที่ยวบินทดสอบทิ้งระเบิดจริงเที่ยวบินแรก สหรัฐอเมริกายังไม่มั่นใจประสิทธิภาพเครื่องบินซึ่งยังไม่เคยรบจริง ต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากเหตุปะทะ รวมทั้งไม่มีเครื่องบินขับไล่ตามคุ้มกัน จึงตัดสินใจให้เครื่องบิน B-29 ทุกลำทิ้งระเบิดจากระดับความสูง 23,000 ฟุต แบ่งออกเป็นฝูงละ 6 ลำมีเครื่องบินจ่าฝูงนำทางและกำหนดเป้าหมาย เครื่องบินลูกฝูงบินเรียงหน้ากระดานเพื่อหย่อนระเบิดเพลิง ระเบิดทำลาย หรือระเบิดสังหาร ลงสู่พื้นที่ที่หัวหน้าฝูงทำเครื่องหมายด้วยพลุแดง


     23,000 ฟุตสูงเกินกว่าระยะทำการของเรดาร์ เรดาร์ AN/APQ-13 กับ Norden bombsight ผลงานการทิ้งระเบิดครั้งแรกของ B-29 ก็เลยเป็นไปตามยถากรรม ระหว่างเดินทางกลับ B-29 จำนวน 42 ลำเหลือน้ำมันไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาลงสนามบินซึ่งอยู่ใกล้กว่า โดยมีเครื่องบินจำนวน 5 ลำเสียหายอย่างหนักจากอุบัติเหตุ ไม่สามารถซ่อมแซมนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ บางลำบินตกทะเลมาไม่ถึงสนามบิน ลูกเรือจำนวน 15 นายสูญหายคาดว่าเสียชีวิตทั้งหมด

     ระเบิดหนัก 430,500 ปอนด์หรือประมาณ 196 ตัน ที่อเมริกานำมาถล่มเป้าหมายในภารกิจแรก ถูกทิ้งสะเปะสะปะลอยคว้างอย่างไร้จุดหมาย มีรายงานว่าเครื่องบิน 18 ลำทิ้งระเบิดตรงพื้นที่เป้าหมาย รายงานอีกฉบับระบุว่ามีเพียง 9 ลำที่ทิ้งระเบิดอย่างแม่นยำ

     ผลความเสียหายจากระเบิดจำนวน 196 ตัน ทำลายโรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นบางส่วน รวมทั้งสำนักงานตำรวจลับของญี่ปุ่น ระเบิดที่เหลือตกใส่บ้านเรือนประชาชนตามปรกติ มีผู้เสียชีวิต 140 คน บาดเจ็บ 842 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนซึ่งไม่คาดฝันว่าเครื่องบินจะทิ้งระเบิดกลางวันแสกๆ

     นี่คือการโจมตีกรุงเทพตอนกลางวันครั้งแรกของสงคราม เป็นการโจมตีรุนแรงมากที่สุดใช้เครื่องบินมากที่สุด การโจมตีอาจไม่ประสบผลสำเร็จตามความตั้งใจ แต่เป็นสิ่งบ่งชี้ให้คนกรุงเทพรับรู้อย่างชัดเจนกับตาตัวเอง ต่อไปนี้การทิ้งระเบิดจากฝ่ายพันธมิตรจะมีทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยปริมาณเที่ยวบินมากกว่าเดิม ด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่กว่าเดิม และด้วยปริมาณระเบิดมากกว่าเดิม

     ข้อมูลในส่วนนี้ผมอ้างอิงจากสหรัฐอเมริกานะครับ ข้อมูลจากประเทศไทยจะมีความแตกต่างออกไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ใครเขียน เท่าที่จับความได้อเมริกามีการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่า ตัวเองจะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีตอนกลางวันในวันวิสาขบูชา พลตรี ประยูร ภมรมนตรีก็เขียนถึงไว้อย่างชัดเจน ส่วนคนกรุงเทพได้รับแจ้งข่าวจากทางการมากน้อยแค่ไหนเรื่องนี้ยังเป็นปริศนา



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 14:24
แผนใหม่

    วันที่ 8 มิถุนายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี 24 จากกองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินเข้ามาวางทุ่นระเบิดบริเวณปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ขากลับยังได้แวะวางทุ่นระเบิดบริเวณท่าเรือเมืองมะริดในเขตพม่า

     วันที่ 7 กันยายน 2487 เวลาตีสองกว่าถึงตีสี่ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนหนึ่งบินมาถล่มทางรถไฟสายมรณะ โชคร้ายระเบิดพลาดเป้าหมายตกใส่ค่ายเชลยศึกซึ่งมาช่วยก่อสร้างทางรถไฟ เกิดไฟไหม้อย่างหนักเชลยศึกเสียชีวิต 90 นาย บาดเจ็บ 300 นาย ต่อมาในภายหลังจึงพบว่าเชลยศึกเสียชีวิตจริง 300 นาย ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 200 นาย คนไทยเสียชีวิต 200 คนโดยประมาณ

    ก่อนที่เรื่องราวการทิ้งระเบิดจะหนักหน่วงสาหัสมากกว่าเดิม ผมขอพาทุกคนกลับมายังการปรับปรุงแผนการโจมตีเมืองหลวงประเทศไทยอีกครั้ง นอกจากสหรัฐอเมริกาจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุด ราคาแพงที่สุด ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยที่สุด บรรทุกระเบิดได้มากสุด พวกเขายังมีการถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ทางอากาศ และจัดทำแผนที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยได้รับความช่วยเหลือจากเสรีไทย

     (https://i.imgur.com/IC4KkH1.jpeg)

     ภาพประกอบคือแผนที่บริเวณชุมทางรถไฟมักกะสัน ซึ่งมีโรงซ่อมบำรุงรถจักรเป็นเป้าหมายสำคัญมากที่สุดเป้าหมายหนึ่ง ในแผนที่ระบุที่ตั้งกองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานจำนวน 3 กองร้อย เพื่อปกป้องน่านฟ้าจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบไปด้วย

    -กองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 75 มม.ที่สี่ใช้สัญลักษณ์สี่เหลี่ยม (หนึ่งกองร้อยมีปืนหลายกระบอกช่วยกันยิง)

    -กองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 75 มม.ที่สามใช้สัญลักษณ์สี่เหลี่ยมกับ 1U

     -กองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 75 มม.ที่สองใช้สัญลักษณ์สี่เหลี่ยมกับ 2U

     แผนที่ได้รับการปรับปรุงวันที่ 27 ตุลาคม 1944 หรือ 2487 เท่ากับว่าการทิ้งระเบิดครั้งถัดไปอเมริกามีข้อมูลฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน มีการกำหนดเส้นทางบินหลบหลีกปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ทำการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายก่อนบินหลบฉากมาตามเส้นทางในแผนที่ ถึงเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ราคาแพงระยับติดอุปกรณ์ทันสมัย ก็ยังต้องบินซิกแซกตามแผนการเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอยู่ดี

     ข้อมูลจากการทิ้งระเบิดครั้งก่อนพวกเขานำมาประมวลผลก่อนทำเป็นรายงาน ถ้านักบินทิ้งระเบิดที่ความสูง 10,000 ฟุตต้องบินความเร็วเท่านี้ทิ้งใส่เป้าหมายชนิดนี้ ถ้านักบินทิ้งระเบิดที่ความสูง 20,000 ฟุตต้องบินความเร็วเท่านี้ทิ้งใส่เป้าหมายชนิดนี้ ส่งผลให้การโจมตีมีความแม่นยำมากขึ้น นักบินและพลทิ้งระเบิดทำงานง่ายขึ้น โอกาสเอาตัวรอดกลับคืนสนามบินมีมากขึ้นตามกัน

    อาวุธทันสมัยมาแล้ว แผนที่มาแล้ว เสรีไทยมาแล้ว เหลือเพียงการทิ้งระเบิดอย่างจริงๆ จังๆ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 14:28
บทเสริม

     ในสงครามโลกครั้งที่สองประเทศไทยมีใช้งานทั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและปืนกลต่อสู้อากาศยาน ยกตัวอย่างเช่น

    -ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน แบบ 77 ใช้ปืนขนาด 75 มม.จากประเทศสวีเดน ส่วนใหญ่ประจำการในกรุงเทพทำหน้าที่ต่อต้านเครื่องบินทิ้งระเบิด

     -ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ตามภาพประกอบ ใช้ปืนขนาด 40 มม.จากประเทศอังกฤษ ระบายความร้อนด้วยน้ำติดตั้งบนรถหุ้มเกราะสายพาน จัดเป็นปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานอัตตาจรหรือเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง เคยมีผลงานไล่ยิงทหารฝ่ายตรงข้ามในกบฏบวรเดชปี 2476 แต่ในสงครามโลกครั้งที่สองแทบหาบทให้ลงไม่ได้เลย

     (https://scontent.fbkk3-2.fna.fbcdn.net/v/t1.6435-9/37192284_517532212013691_1813532322780151808_n.jpg?_nc_cat=107&ccb=1-7&_nc_sid=5f2048&_nc_eui2=AeH3B0RZOZaW_Z8942cjPclFCX9jcONX__0Jf2Nw41f__eWUJcdTtEKotiIn4AUyvAZKMDugTh1hK-7j7SeQOsrE&_nc_ohc=Gvk5S7V4QQsAX8YdI6k&_nc_ht=scontent.fbkk3-2.fna&oh=00_AfAENjVyseNJlX52nkeUht8qGzYr8S1-BYDnNlxyM-T4rw&oe=660F76B6)

     -ปืนกลต่อสู้อากาศยานเมดเสนแบบ 89 DANISH ใช้ปืนขนาด 20 มม.จากประเทศเดนมาร์ก เป็นอาวุธปืนที่มีใช้งานบนเรือรบสำคัญๆ ราชนาวีไทยทุกคำ เคยสร้างผลงานสอยเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ร่วงมาแล้ว 1 ลำที่สัตหีบ

     ปัจจุบันการแบ่งแยกปืนใหญ่กับปืนกลกองทัพไทยกำหนดไว้ตามนี้

    -ปืนที่มีขนาดลำกล้องมากกว่า 75 มิลลิเมตรถือเป็นปืนใหญ่

     -ปืนที่มีขนาดลำกล้องเล็กกว่า 75 มิลลิเมตรถือเป็นปืนกล ฉะนั้นปืนในภาพประกอบปัจจุบันต้องเรียกปืนกลต่อสู้อากาศยาน

     ถ้าอาจารย์เจอบทความหรือนิยายสงครามโลกเขียนว่าปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.คนเขียนไม่ผิดนะครับเพียงแต่คนอ่านอาจคุ้นเคยกับการเรียกชื่อในปัจจุบัน แม้กระทั่งผมเองยังไม่นึกไม่ฝันปืนขนาดลำกล้อง 57 มม.กองทัพเรือเรียกปืนกล



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 มี.ค. 24, 14:31

พรุ่งนี้ผมขอหยุดหนึ่งวันนะครับ ไม่ใช่อะไรทำงานไม่ทัน  :D


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 24, 18:30
ระหว่างรอคุณ Superboy  มีรูปที่ไปเจอในเพจของคุณ  2483 Reenactment Group มาให้ดูกันพลางๆไปก่อน
คุณเจ้าของเพจบอกว่า

ร่วมด้วยช่วยกัน วิเคราะห์ ภาพชุด เครื่องบินทิ้งระเบิดตกไทยประเทศไทย ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
.
แอดมินเพิ่งได้ภาพชุดนี้มา โดยไม่มีรายละเอียดคำบรรยาย หรือระบุ วันเวลา สถานที่
.
เบื้องต้นคาดการณ์ว่า
- เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ฝ่ายสัมพันธมิตร ถูกยิงตกในประเทศไทย
- น่าจะถ่ายในประเทศไทย เพราะมีร่องสวน และ มีทหารไทย (ทหารบก ทหารเรือ) อยู่ในภาพ ร่วมกับทหารญี่ปุ่น แต่งกายด้วยชุดเขตร้อน (อีกความเป็นไปได้คือถ่ายในสี่รัฐมาลัย)
- มีภาพ (ไม่ได้แสดง เดี๋ยวโดนแบน) ร่างของนักบิน 2 ร่าง ผิวขาว เป็นฝรั่ง ? เครื่องแบบไม่ชัดเจน อีกภาพ ศีรษะแตก
- เครื่องบิน อาจจะเป็น Bristol Blenheim ?
.
ลองมาช่วยกันวิเคราะห์ครับ
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=791148406381488&id=100064590079842&mibextid=xfxF2i


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 24, 18:31
 ???


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 24, 18:31
 ???


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 มี.ค. 24, 13:20
อุตรดิตถ์เดือดระอุ

     วันที่ 28 กันยายน 2487 เครื่องบินขับไล่ลำตัวแฝด P-38 จากกองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 2 ลำ บินเข้ามาโจมตีหัวรถจักรจอดอยู่ในโรงจอดสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ทหารญี่ปุ่นในสถานียิงสกัดด้วยปืนกลต่อสู้อากาศยาน แต่พลาดเป้าหมาย P-38 จึงบินไปถล่มตลาดบางโพกับตลาดท่าเสาแล้วย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟอีกครั้ง ถล่มเป้าหมายภาคพื้นดินสักพักหนึ่งถึงบินกลับฐานทัพในอินเดีย

     นี่คือครั้งแรกที่พ่อแม่พี่น้องชาวอุตรดิตถ์เห็นการต่อสู้ระหว่างเครื่องบินขับไล่กับปืนกลต่อสู้อากาศยาน ครั้นตัวเองได้สติจึงพากันหาที่หลบเอาชีวิตรอดแบบมั่วไปหมด การโจมตีครั้งนี้เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนสัญญาณตาย เครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรจะกลับมาเยือนเร็วๆ นี้

     วันที่ 5 ตุลาคม 2487 เวลา 6.00 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 2 ลำ บินผ่านตลาดบางโพกับตลาดท่าเสาเข้ามาโจมตีสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ โดยมี 1 ลำแยกตัวออกมาโจมตีสถานีบ้านดาราซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไร บังเอิญถูกปืนกลต่อสู้อากาศยานทหารญี่ปุ่นบริเวณหางเสือจนเสียการทรงตัว ก่อนบินมาตกในป่าอ้อยหมู่บ้านหม้อ อำเภอพิชัย นักบินเสียชีวิต 4 นายอีก 4 นายถูกตำรวจไทยจับกุม ปรากฏว่าเป็นนักบินชาติอังกฤษ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์

     ทหารญี่ปุ่นต้องการตัวนักบินไปสอบสวนในค่ายทหาร ทว่าทางการไทยบอกปัดและนำตัวไปคุมขังในสถานที่ลับตา นักบินทุกคนจึงได้รับการดูแลอย่างดีจวบจนสิ้นสุดสงคราม

     วันเดียวกันเวลา 16.00 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 8 ลำ บินข้ามชายแดนมาตามถล่มสถานีรถไฟอุตรดิตถ์อีกครั้ง ที่ตั้งกองเสบียงทหารญี่ปุ่นพังพินาศยับเยิน ระเบิดตกใส่ห้องแถวถนนราษฎร์สนานหลังสถานีรถไฟพังไป 2 ห้อง แลกกับ B-24 ลำหนึ่งถูกกระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยานจนระเบิดกลางอากาศ นักบิน 9 นายเสียชีวิตบนเครื่อง นักบิน 3 นายกระโดดร่มออกมาแต่ร่มกางเพียง 2 นาย นักบินรอดชีวิตทั้ง 2 นายตำรวจไทยรวบตัวได้โดยละม่อม

     B24 อีกหนึ่งลำถูกกระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยานที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ นักบินประคองเครื่องมาทางฝั่งตะวันตกหวังข้ามกลับไปยังประเทศอินเดีย ทว่าเครื่องบินเสียหายหนักเกินไปสุดท้ายร่วงพื้นในเขตตำบลสบปราบ จังหวัดลำปาง นักบินทั้ง 12 นายเสียชีวิตบนเครื่องไม่มีใครกระโดดร่มออกมา

     วันที่ 5 ตุลาคม 2487 เพียงวันเดียวอเมริกาเสียเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ถึง 3 ลำที่อุตรดิตถ์และลำปาง ทว่าการถล่มสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ยังไม่ประสบความสำเร็จตามตั้งใจ ความเสียหายมักเกิดขึ้นกับบ้านเรือนประชาชนที่อยู่รายรอบ ทั้งนี้เนื่องมาจากมีการต่อต้านโดยปืนต่อสู้อากาศยานทหารญี่ปุ่น ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งแรกของฝูงบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรในพื้นที่ประเทศไทย

    (https://i.imgur.com/qyfBwVY.jpeg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 มี.ค. 24, 14:25
ครั้งแรกของโลก

     วันที่ 6 ตุลาคม 2487 สถานีลพบุรีกับสะพานจักรีในจังหวัดลพบุรีถูกโจมตีทิ้งระเบิด ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย และไม่มีรายงานชนิดเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา

     วันที่ 28 ตุลาคม 2487 (บางแหล่งข่าวบอกว่า 15 ตุลาคม 2487)  เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย ไม่ทราบจำนวน บินมาทิ้งระเบิดใสสถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี เวลา 00.20 น. ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 2 พฤศจิกายน 2487 เวลา 9.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 55 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่บางซื่อต่อด้วยสนามบินดอนเมือง ทำลายเครื่องบินขับไล่ Ki-43 HAYABUSA ของญี่ปุ่นจำนวน 7 ลำ กับเครื่องบินขับไล่ Ki-27 OTA ญี่ปุ่นจำนวน 13 ลำ บนสนามบิน

     เพราะเป็นเวลากลางวันมองเห็นเป้าหมายชัดเจน ฝูงบินรักษาพระนครส่งเครื่องบินขับไล่ Ki-43 HAYABUSA จำนวน 8 ลำขึ้นไปสกัดกั้น บังเอิญบินขึ้นเพียง 7 ลำเพราะถูก B-29 ยิงทำลายบนพื้นดินจำนวน 1 ลำ เรืออากาศเอกเทอดศักดิ์ (สังวาลย์) วรทรัพย์ ผู้บังคับหมู่บินที่ 1 สามารถยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุดของโลกเกิดความเสียหายอย่างหนัก ก่อนบินตกทะเลในอ่าวเบงกอล ทิศใต้เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จำนวน 1 ลำ ทว่าเครื่องบินตัวเองถูกยิงสกัดจากป้อมปืนบนเครื่องบิน B-29 จนต้องกระโดดร่มในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีอาการบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวค่อนข้างนาน

     ผลจากยุทธเวหาเหนือน่านฟ้ากรุงเทพ เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ (สังวาล) วรทรัพย์ นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับช่อชัยพฤกษ์เป็นเหรียญที่ 2 หลังจากที่เคยได้รับเหรียญแรกไปแล้วในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีน

        (https://www.bloggang.com/data/skyman/picture/1181922578.jpg)

     นี่คือภาพวาดจำลองเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ Ki-43 HAYABUSA เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ (สังวาล) วรทรัพย์ ขณะไล่ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 Superfortress กลายเป็นข่าวที่โด่งเลยไปถึงญี่ปุ่นและเยอรมัน มีคำชมมากมายจากหลายชาติส่งให้กับทางการไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีนักบินเครื่องบินขับไล่สามารถสอยป้อมบินยักษ์ B-29 ร่วงหล่นจากฟากฟ้า

    เรื่องราวเรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ (สังวาล) วรทรัพย์ในอินเทอร์เน็ตมีค่อนข้างเยอะ แต่เท่านี้ผมไล่อ่านข้อมูลจากการรบจริงไม่มีรายละเอียดชัดเจน ก็เลยไม่รู้จะเขียนอะไรลงแค่ผลการรบก็พอ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 มี.ค. 24, 14:29
     ยังจำแผนที่ชุมทางรถไฟมักกะสันซึ่งมีที่ตั้งกองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้ไหมครับ

     วันเดียวกัน (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2487) เวลา 21.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B24 จำนวน 18 ลำจากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย บินมาทิ้งระเบิดใส่ชุมทางรถไฟมักกะสัน ส่งผลให้ทหารประจำกองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้รับบาดเจ็บจำนวน 6 นาย

     ผลการโจมตีมักกะสันโดยมีแผนที่ชัดเจนได้รับความสนับสนุนจากเสรีไทย โรงงานซ่อมรถจักรและล้อเลื่อนเสียหายยับเยิน สัญญาณหวอปลอดภัยดังขึ้นในเวลา 01.00 น. ตอนนั้นทั้งโรงงานแทบไม่หลงเหลือสิ่งใดนอกจากกองไฟ โชคดีกรมรถไฟสั่งย้ายวัสดุ เครื่องมือ และเครื่องใช้ออกไปจากโรงงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีแค่เพียงตัวอาคารกับอุปกรณ์หนักซึ่งไม่สามารถขนย้ายได้

     คุณมีแผนที่ของคุณ…ผมมีแผนถอยของผม

     วันที่ 3 พฤศจิกายน 2487 เวลา 02.30 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด B24  จำนวนหนึ่ง บินมาถ่ายภาพโรงงานมักกะสันกลับไปจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล เหตุผลก็คือสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างใหญ่โตยังทำลายไม่หมด เท่ากับว่ามักกะสันยังไม่พ้นอันตรายอาจถูกทิ้งระเบิดซ้ำตอนไหนก็ได้

     (https://i.imgur.com/A2je582.jpeg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 09 มี.ค. 24, 13:08
ยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าลำปาง

     วันที่ 11 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินขับไล่ P-51 จากฝูงบิน 25 กองบิน 14 ประเทศจีน จำนวน 9 ลำ และเครื่องบินขับไล่ P-38 จากฝูงบิน 449 กองบิน 14 ประเทศจีน จำนวน 8 ลำ บินมาลาดตระเวนและถล่มฐานทัพอากาศลำปาง ทางรถไฟสายเหนือช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ปิดท้ายด้วยสะพานปรมินทร์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสะพานบ้านดารา ทำให้เครื่องบินกองทัพอากาศไทยเสียหายจำนวน 1 ลำ และหัวรถจักรเสียหายอีก 1 หัว

     วันนั้นฝูงบินขับไล่ที่ 16 กองบินน้อยผสมที่ 85 กองบินใหญ่ภาคพายัพ สนามบินพระบาท นครลำปาง ส่งเครื่องบินขับไล่โอตะหรือ Ki-27 จำนวน 5 ลำนำโดยเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนากูร เข้าต่อสู้ยุทธเวหาปกป้องน่านฟ้านครลำปางสุดความสามารถ

     ผลการทำยุทธเวหามีความแตกต่างพอสมควร ข้อมูลแรกจากสหรัฐอเมริการะบุว่า P-38 ถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ P-51 ได้รับความเสียหายจำนวน 3 ลำ ส่วน Ki-27 กองทัพอากาศไทยซึ่งเสียเปรียบเรื่องประสิทธิภาพและจำนวนถูกยิงตกทั้ง 5 ลำ ข้อมูลที่สองระบุว่าสหรัฐยิง Ki-27 กองทัพอากาศไทยร่วงจำนวน 3 ลำ (เพราะมี 2 ลำลงจอดสำเร็จก่อนระเบิด) โดยเสีย P-51 ไป 1 ลำนักบินชื่อ Henry Minco เป็นหนึ่งในสองครั้งที่นักบินกองทัพอากาศไทยสอยเครื่องบินสหรัฐอเมริกา (อีกครั้งคือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29)

     ข้อมูลจากประเทศไทยระบุว่าเครื่องบินอเมริกาถูกยิงตกจำนวน 4 ลำ คือตกในการทำยุทธเวหาจำนวน 1 ลำ กับบินไปตกที่อื่นอีก 3 ลำ ส่วน Ki-27 กองทัพอากาศไทยตกครบทั้ง 5 ลำ

     เหตุการณ์นี้มีคนนำมาเขียนเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคน บ้างก็เขียนว่า ‘ยุทธเวหา 5 ต่อ 21’ แม้ในภายหลังนับเครื่องบินอเมริกาได้ 17 ลำก็ยังไม่เปลี่ยนชื่อ บ้างก็เขียนว่า ‘ยุทธเวหา 5 ต่อ 16’ ทั้งที่อเมริกาส่งเครื่องบินมา 17 ลำ สิ่งที่ลงเหมือนกันคือเครื่องบินอเมริกาตก 4 ลำโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน ที่สำคัญไม่มีซากเครื่องบินเหมือนกรณี B-24 ตกที่อุตรดิตถ์

     รายงานเหตุการณ์สอบสวนร่วมในกิจกรรมนักประวัติศาสตร์ระบุว่า วันนั้นสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินโจมตีตั้งแต่เชียงตุงไล่มาจนถึงประเทศไทยรวมกันมากถึง 70 ลำ ทว่าข้อเท็จจริงคือเครื่องบินขับไล่จำนวน 17 ลำ เครื่องบินค่อนข้างเล็กไม่มีอาวุธมากเพียงพอจะโจมตีหลายจุดพร้อมกัน

    มาถึงบทสรุปอย่างเป็นทางการกันบ้าง กองทัพอากาศไทยให้การยอมรับว่าเรืออากาศตรี คำรบ เปล่งขำ ขับเครื่องบินขับไล่แบบ 15 โอตะ (Ki-27) ยิงเครื่องบินขับไล่ P-51 C หมายเลข 44-10812 บินโดย ร้อยตรี Henry F. Minco ตกเหนือนครลำปาง
.
     เรืออากาศตรี คำรบ เปล่งขำ ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานช่อชัยพฤกษ์ประดับแพรแถบบนเหรียญกล้าหาญอีกครั้งใน พ.ศ. 2488 จากวีรกรรมในศึกยุทธเวหาเหนือนครลำปาง โดยมีผลงานยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตก 2 ลำ ยศสุดท้าย นาวาอากาศโท

    เอกสารเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าส่งมัสแตงลงนรกที่ลำปาง” โดย น.ท.คำรบ (ทองคำ) เปล่งขำ ผบ.หมู่บินขับไล่ที่ 15 ได้เล่าในช่วงวินาทียิงว่า

     “ข้าพเจ้ากดเจ้าไกปืนขนาด 7.7 มม.บีบสุดแรง..เจ้ามัสแตงรูปงามที่ทะลึ่งขึ้นสุดตัว แล้วก็ฟาดหางลงทางด้านขวามองเห็นไฟลุกเป็นทาง และเครื่องบินข้าศึกอยู่สูงจากพื้นไม่ถึง 500 เมตร (ก็) ถลาลง”.....“เหลียวไปด้านซ้าย เจ้าพี5 สองตัวกับพี58 อีก 1 ตัวกำลังมุ่งหน้ากลับเชียงราย”.... “พอถึงขอบสนาม (บิน) เท่านั้น มองเห็นพี.38 สี่ตัวกำลังบินคุมเชิงอยู่ จึงตัดสินใจเลี้ยวบังหลืบเขาเพื่อไปลงยังสนามโรงน้ำตาลเกาะคา ขณะผ่านสถานีแม่ทะ (ผาลาด) พบรถไฟ 1 ขบวน ต่อมาจึงได้ทราบว่า พี.38 สี่ตัวที่ข้าพเจ้าพบได้ผลัดกันลงซ้อมยิงกินโต๊ะรถไฟขบวนนั้นจนฉ่ำมือแล้วก็บ่ายหน้ากลับ”

     ยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าลำปางคือการรบทางอากาศครั้งสำคัญที่สุดของกองทัพอากาศไทย


      (https://www.bloggang.com/data/skyman/picture/1175952989.jpg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 10 มี.ค. 24, 12:58
พฤศจิกายนสีเลือด

     วันที่ 13 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินขับไล่ P-38, P-40 และ P-51 จากกองบิน 14 ประเทศจีนประมาณ 60 ลำ บินมาโจมตีทางรถไฟและค่ายทหารญี่ปุ่นตั้งแต่พม่าไล่มาจนถึงประเทศไทย เครื่องบินจากประเทศจีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีขนาดเล็ก

     วันที่ 13 พฤศจิกายน 2487 ถือเป็นวันมหาวิปโยควันหนึ่งของชาวบ้านในอุตรดิตถ์ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ระบุจำนวน บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีรายงานความเสียหายหรือเครื่องบินตกจากทั้งสองฝ่าย

    วันเดียวกันเวลา 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 6 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์กับโรงงานซ่อมรถจักร ครั้งนี้ถูกเป้าหมายอย่างแม่นยำทั้งสถานีและโรงงานพังยับเยิน ชาวบ้านถูกลูกหลงเสียชีวิตประมาณ 100 คน

    วันนั้นเป็นเทศกาลงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ มีประชาชนจากหลายจังหวัดเดินทางมาร่วมงาน แล้วกันเดินเที่ยวสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการรับประทานอาหารและดื่มสุรากันในร้านค้าใกล้สถานีรถไฟ บรรดาคนงานโรงงานซ่อมรถจักรพากันนั่งจับกลุ่มพูดคุย อยู่ดีๆ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำบินมาทิ้งระเบิดโดยไม่มีเสียงหวอเตือนภัย เริ่มต้นจากทำลายโรงไฟฟ้า โรงซ่อมเครื่องจักรกล โรงกลึงของการรถไฟ ก่อนวกกลับมาโจมตีสถานีรถไฟอย่างรุนแรง

     วันรุ่งขึ้นพ่อค้าแม่จำนวนมากพากันหลบหนีไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ตลาดบางโพแทบจะร้างผู้คนมองไปทางไหนมีแต่ห้องว่างคล้องกุญแจ มีการจัดตั้งตลาดสดชั่วคราวที่ที่สี่แยกวัดธรรมาธิปไตยให้ผู้คนได้จับจ่ายใช้สอย การรถไฟเร่งจัดตั้งโรงงานซ่อมรถจักรแห่งใหม่ใกล้ถังน้ำที่เป็นหอสูง การโจมตีแบบสายฟ้าแลบของอเมริกาด้วย B-24 จำนวน 6 ลำสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเป้าหมายสำคัญ

     ในภาพคือสถานีรถไฟอุตรดิตถ์หลังสงครามโลก ส่วนที่เป็นหอคอยโดนระเบิดจนถล่มพังยับเยิน ส่วนที่เป็นอาคารได้รับการซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้ตามเดิม

    (https://i.imgur.com/Tjnyxyh.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 10 มี.ค. 24, 13:01
     วันที่ 18 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 10 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่สนามบินดอนเมือง เหตุการณ์นี้ไม่มีบันทึกความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 27 พฤศจิกายน 2487 เวลา 10.00 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 จำนวน 55 ลำ บินระยะทาง 2,261 ไมล์เพื่อโจมตีจากระดับความสูง 22,500 ฟุตใส่หัวรถจักรและสถานีรถไฟบางซื่อกับมักกะสัน ครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้ระเบิดขนาดใหญ่ 500 ปอนด์ซึ่งมีประสิทธิภาพทำลายล้างมากกว่าเดิม ผลลัพธ์จากการโจมตีโรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่บางซื่อถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก

     โรงงานปูนซีเมนต์มีเรื่องราวระหว่างสงครามโลกเช่นกัน ญี่ปุ่นต้องการปูนซีเมนต์จำนวนมากนำไปใช้ก่อสร้างเส้นทางหรือซ่อมแซมเส้นทาง บริษัทปูนซิเมนต์ไทยส่งให้เพียงหนึ่งในเจ็ดอ้างว่ากำลังผลิตมีเพียงเท่านี้ แล้วแอบผลิตกันเองในตอนกลางคืนโดยมีการพรางไฟหลอกญี่ปุ่น เมื่อโรงงานถูกถล่มจนปล่องหม้อเผาปูนจำนวน 6 ปล่องเหลือเพียง 5 ปล่อง โรงงานยังแอบผลิตต่อและซ่อมแซมปล่องหม้อเผาปูนที่เสียหายไปพร้อมกัน กระทั่งปี 2522 ถึงย้ายฐานการผลิตไปอยู่โรงงานแก่งคอย

     จากภาพจะเห็นนะครับว่าโรงงานปูนซิเมนต์ไทยอยู่ใกล้จุดจอดตู้รถไฟจำนวนมาก ถ้านักบินจะทิ้งระเบิดพลาดไปลงโรงงานก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ B-29 ทิ้งระเบิดจากระดับความสูง 22,500 ฟุต ไม่อยู่ในระยะทำการเรดาร์ AN/APQ-13 กับ Norden bombsight

     (https://i.imgur.com/b4iKHMo.jpeg)

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 3 ลำได้แยกตัวไปทิ้งระเบิดใส่เมืองมะริดประเทศพม่า มีผู้เสียชีวิต 114 คน บาดเจ็บ 150 คน อาคารเสียหายจำนวนมาก เครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa -ของญี่ปุ่นที่บินขึ้นไปสกัดกั้นถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ

     วันเดียวกันเครื่องบินขับไล่ P-38, P-40 และ P-51 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวน 56 ลำ บินมาถล่มสถานีรถไฟนครลำปางและรางรถไฟบริเวณใกล้เคียง โดยไม่มีเครื่องบินขับไล่จากสนามบินพระบาท นครลำปาง บินขึ้นมาสกัดกั้น เนื่องจากวันที่ 11 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินทุกลำถูกยิงตก ไม่เหลือเครื่องบินในการสกัดกั้นจึงเป็นการเลือกโจมตีอย่างเมามันฝ่ายเดียว

     เดือนพฤศจิกายน 2487 มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด บรรดานักบินเริ่มจับเป้าหมายได้แม่นยำมากกว่าเดิม รวมทั้งใช้แผนลักลอบโจมตีไม่ให้ทหารไทยและญี่ปุ่นไหวตัวทัน ส่วนในกรุงเทพการทิ้งระเบิดตอนกลางวันเกิดขึ้นอีกครั้ง มีการบุกถล่มเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นและไทยที่สนามบินดอนเมืองก่อน เห็นว่าปลอดภัยจึงส่งป้อมบินมหากาฬบินข้ามทะเลมาหย่อนระเบิดขนาดใหญ่ใส่เป้าหมาย


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 12 มี.ค. 24, 13:28
ขบวนการเสรีไทย หรือ Free Thai Movement
   
     วันที่ 15 มีนาคม 2487 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายประทาน เปรมกมล และนายเปรม บุรี ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ ลักลอบกระโดดร่มเข้าสู่ประเทศไทยที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ผู้กล้าทั้งสามถูกตำรวจไทยจับกุมตัวโดยไม่มีการขัดขืน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากตำรวจที่เป็นเสรีไทยในประเทศ จึงสามารถติดต่อกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสำเร็จตามแผนการ วิทยุติดต่อทหารอังกฤษที่นำมาด้วยถูกจัดเก็บอยู่ในกรมตำรวจโดยไม่ได้ใช้งาน นี่คือรายงานอย่างเป็นทางการส่งมอบให้กับทหารญี่ปุ่น ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไรน่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว

     วันที่ 10 มิถุนายน 2487 ร้อยเอกนายการะเวก ศรีวิจารณ์ ร้อยโท สมพงศ์ ศัลยพงศ์ เสรีไทยสายอเมริกาพร้อมผู้นำทาง ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยในพื้นที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง โชคร้ายถูกตำรวจท้องที่ยิงเสียชีวิตทั้งหมด เพราะต้องการทรัพย์สินที่มีติดตัวโดยเฉพาะทองคำ อุปกรณ์ที่มากับตัวรวมทั้งวิทยุกำลังส่ง 500 ไมล์ ถูกส่งต่อจนถึงมือพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ

     สองอาทิตย์ถัดมาร้อยโทโผน อินทรทัต เดินทางข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวเข้าสู่พื้นที่จังหวัดน่าน และชิงมอบตัวกับตำรวจไทยตามแผนการ เป็นเสรีไทยสายอเมริการุ่นแรกที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสำเร็จ เขาถูกส่งตัวให้กับพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หนึ่งในสามบุคคลระดับสูงของไทย และมีโอกาสได้พบนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ ก่อนเดินทางย้อนกลับเส้นทางเดิมเพื่อนำข่าสารจากไทยไปแจ้งต่อเสรีไทยสายอเมริกาซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ

     เท่ากับว่ากลางปี 2487 เสรีไทยในประเทศกับเสรีไทยในอเมริกาสำเร็จ การทำงานทั้งในและนอกประเทศจึงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม งานใต้ดินพวกนี้แหละที่ช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงสิ้นสุดสงคราม



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 12 มี.ค. 24, 14:21
ธันวาคมถล่มหนัก

     คืนวันที่ 2 ธันวาคม ถึงเช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2487 มีการทิ้งระเบิดใส่พื้นที่กรุงเทพและสถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันเดียวกันมีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่ทราบจำนวน 7 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่บางโพ   วัดสร้อยทอง สะพานพระราม 6 สะพานพระพุทธยอดฟ้า ท่าเตียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลา 24.00 น.ถึง 03.00 น.ของอีกวัน ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     หนองปลาดุกเปรียบได้กับชุมทางรถไฟสายใต้ ถ้าโจมตีหนองปลาดุกสำเร็จจะสามารถตัดเส้นหลักของทหารญี่ปุ่น ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของสงครามค่อนข้างสูง สะพานจุฬาลงกรณ์สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองในจังหวัดราชบุรี ล้วนตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องกำจัดโดยเร็วที่สุด เพราะรถไฟสายใต้ทุกขบวนต้องแล่นผ่านสะพานนี้ก่อนจะชุมทางหนองปลาดุก ฉะนั้นสมรภูมิบ้านโป่งราชบุรียังมีตอนต่อไปและตอนต่อไปให้ได้ติดตาม

     ในภาพคือสะพานจุฬาลงกรณ์ก่อนสงครามโลก แบ่งเป็นทางรถไฟครึ่งหนึ่งกับทางรถยนต์ (หรือทางเกวียน) ครึ่งหนึ่ง

     (https://i.imgur.com/ByZ7vlt.jpeg)     

     วันที่ 12 ธันวาคม 2487 เครื่องบินขับไล่สองหาง P-38 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวนหนึ่ง บินมาทิ้งระเบิดใส่ทหารญี่ปุ่นในพม่าและเชียงใหม่ก่อนวกกลับฐานทัพ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 13 ธันวาคม 2487 เครื่องบินขับไล่ P-38 และ P-51 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวนหนึ่ง บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานรอบเมืองเชียงใหม่ก่อนวกกลับฐานทัพ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย แต่คาดว่าเชียงใหม่ซึ่งถูกโจมตีบ่อยครั้งน่าจะบอบช้ำพอสมควร

     เชียงใหม่ถูกเตือนด้วยเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กสองครั้งแล้วนะครับ

     วันที่ 14 ธันวาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 48 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 วงเวียนเล็ก และวัดประยูรวงศาวาส ในเวลา 09.35 น. ชาวบ้านถูกลูกหลงผู้เสียชีวิต 71 คน บาดเจ็บ 75 คน

     การทิ้งระเบิดในช่วงกลางวัน B-29 จำนวน 33 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมาย อีก 14 ลำทิ้งระเบิดลงพื้นที่ใกล้เคียง สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นตกจำนวน 1 ลำ ส่วน B-29 จำนวน 4 ลำได้รับความเสียหายโดยมี 1 ลำเสียหายอย่างหนัก เครื่องบินทุกลำต้องปลดประจำการกลายเป็นอะไหล่

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 บินไปกลับมากถึง 2,261 ไมล์ การทิ้งระเบิดเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 20,000 ฟุต ต่ำกว่าเดิมเล็กน้อยและถูกเป้าหมายแม่นยำมากขึ้น โดยใช้ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ทำงานคู่กับเรดาร์เรดาร์ AN/APQ-13 กับ Norden bombsight

     ผลงานการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าสะพานพระราม 6 ยังปรกติสุขไม่เป็นอะไร ปี 2487 เด็กกรุงเทพได้เรียนหนังสือเพียงไม่กี่เดือนแล้วปิดยาวไม่มีกำหนดเปิด ตลอดทั้งปีมีเสียงหวอเตือนถึง 27 ครั้งมากกว่าปี 2485 กับ 2486 รวมกัน



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 24, 15:11
    
อ้างถึง
ผลงานการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าสะพานพระราม 6 ยังปรกติสุขไม่เป็นอะไร ปี 2487 เด็กกรุงเทพได้เรียนหนังสือเพียงไม่กี่เดือนแล้วปิดยาวไม่มีกำหนดเปิด ตลอดทั้งปีมีเสียงหวอเตือนถึง 27 ครั้งมากกว่าปี 2485 กับ 2486 รวมกัน
    ทำให้นึกได้ว่าควรบันทึกถึงนักเรียนและบัณฑิตรุ่น "โตโจ" ไว้ในกระทู้นี้ด้วย
     เพราะระเบิดลงถี่ยิบมาก จนประชาชนในกรุงเทพและอีกหลายจังหวัดตกเป็นเป้าถูกโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรแทบไม่เว้นแต่ละวัน   นักเรียนนักศึกษากำลังเรียนหนังสืออยู่ดีๆ ก็มีเสียง “หวอ” หรือสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้น ทั้งครูและนักเรียนต้องวิ่งไปลงหลุมหลบภัย หรือไม่ทางโรงเรียนก็รีบปล่อยนักเรียนกลับบ้านก่อนเลิกเรียน      ภาวะเช่นนี้รบกวนไม่มีหยุดมีหย่อนจนไม่เป็นอันการเรียนกัน   กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศปิดการเรียนเป็นเดือนๆ
      หลายโรงเรียนใช้วิธีย้ายโรงเรียนออกไปให้ห่างไกลจากจุดยุทธศาสตร์ หรือออกไปต่างจังหวัดที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ย้ายไปเรียนที่ผักไห่ อยุธยา   โรงเรียนเพาะช่างที่อยู่ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าและโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ได้ย้ายไปเรียนที่วัดนางนอง เขตจอมเทียน ธนบุรี ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖  โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายถูกทหารญี่ปุ่นยึดเอาเป็นที่พักทหาร รวมทั้งร.ร.หอวังที่ต่อมาคือรร.เตรียมอุดมศึกษา ก็กลายเป็นที่พักทหารญี่ปุ่นด้วย    เช่นเดียวกับโรงเรียนของชาวคริสต์อีก 2 แห่งคือโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์กับโรงเรียนมาแตร์เดอี      
     เมื่อสถานที่ถูกยึดเป็นค่ายที่พักของทหารญี่ปุ่นไปเสียแล้ว  โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องอพยพครูและนักเรียน ไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   อยู่บริเวณพระราชวังไกลกังวล  จนสงครามสงบจึงได้ย้ายกลับมาอยู่สถานที่เดิม


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 24, 15:18
      โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายอยู่ระหว่างปิดภาคเรียนพอดี พอถึงเวลาเปิดเรียนจึงต้องไปขออาศัยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ อีกส่วนหนึ่งยังเรียนอยู่ที่เก่าในโรงฝึกงานที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้    ส่วนโรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนเพาะช่างอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ เลยต้องย้ายอีกทีไปเรียนที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง ถนนสี่พระยา ต่อมาระเบิดได้ลงที่อาคารโรงเรียนซึ่งเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น ส่วนที่เรียนที่โรงฝึกจึงต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนช่างไม้สามโคก ปทุมธานี
     หลายโรงเรียนได้ย้ายออกไปต่างจังหวัด อย่างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้หอบหิ้วนักเรียนไปเรียนกันที่พระราชวังบางปะอิน ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า   ต้องใช้ตะเกียงทั้งที่น้ำมันก๊าดก็หายาก แต่ทนลำบากเรียนกันได้เพียง ๔-๕ เดือน แต่วันหนึ่งเจอแจ๊กพ็อต  เครื่องบินฝ่ายข้าศึกยิงปืนกลกราดไปทั่วบางปะอิน   ทางโรงเรียนจึงตัดสินใจปิดโรงเรียนส่งนักเรียนกลับบ้าน
   เมื่อภัยทางอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่มีการเรียนการสอนและการสอบ แต่ให้นักเรียนทุกคนได้เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ นักเรียนรุ่นนั้นจึงได้ฉายากันว่า “รุ่นโตโจ” มาจากชื่อนายพลโตโจ  นายกรัฐมนตรีที่ญี่ปุ่นที่ร่วมรบกับไทย
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำต้องปิดให้นิสิตได้เรียนจบโดยไม่ต้องสอบปลายภาค   แต่อาศัยคะแนนเฉลี่ยทั้งปีแทน ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับโรงเรียนข้างบนนี้  และอีกอย่าง ครูบาอาจารย์ฝรั่งที่มีสัญชาติเดียวกับพวกพันธมิตร ถูกส่งตัวเข้าค่ายหมด  มหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจประกาศให้นิสิตปี 4 ทั้งหลายได้เรียนจบเป็นบัณฑิต   มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับบัณฑิตรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทุกประการ
    นักเรียนและนิสิตที่เรียนจบรุ่นนี้ จึงเป็น"รุ่นโตโจ" กันเพียงรุ่นเดียวในประวัติการศึกษาของไทย


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 24, 15:24

"...การเรียนในช่วงนั้นไม่ค่อยสม่ําเสมอ เรียนบ้าน หยุดบ้าง บางครั้งหยุดเป็นอาทิตย์ก็มี ขณะเรียนหากมีเสียงหวอก็ต้องหยุดและ วิ่งลงหลุมหลบภัยกันจ้าละหวั่น หลุมหลบภัยมี 2 แห่งในบริเวณวัดศรีบุญเรือง แห่งหนึ่งกลบแล้วและใช้เป็นพื้นที่สร้างโบสถ์ อีกแห่งหนึ่งยังเป็นหลุมใช้เป็น สระน้ําจนทุกวันนี้ การที่เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ประกอบกับครูไม่พอสอน ทําให้ ความรู้ของนักเรียนด้อยมาก ผลการสอบมักไม่ผ่านเกณฑ์ คือ 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ในระดับชั้น ม.6 ใครที่ได้คะแนนเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ทั่ว ประเทศ ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด เนื่องจากเล่ากันทั่วไปว่า บุตรนายกรัฐมนตรี ของไทยในยุคนั้นสอบได้แค่ 45 เปอร์เซ็นต์หากใช้เกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์เหมือน เช่นเคยปฏิบัติจะต้องตกซ้ําชั้น นักเรียนชั้นม.6 ในรุ่นเดียวกันทั่วประเทศจึงได้รับ อานิสงฆ์นี้ทั่วหน้า ผ่านกันหมด เรียกรุ่นนี้ว่า “รุ่นม.6 โตโจ” คําว่า โตโจ เป็นชื่อนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงคราม(คุณอินสม ไชยชาววงศ์ สัมภาษณ์)..."

เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่
ตอนที่ 5 “รุ่นเสาหิน”  โดย konlanna โพสต์เมื่อ ธันวาคม 4, 2019

https://pantip.com/topic/31840676



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 13 มี.ค. 24, 12:59
ราชบุรีวิปโยค

     วันที่ 1 มกราคม 2488 สถานีรถไฟนครชัยศรีและสะพานเสาวภาข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ถูกโจมตี ทว่าระเบิดทั้งหมดหลุดเป้าหมายหล่นใส่บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ข้างเคียง

     วันที่ 2 มกราคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 49 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 ช่วงเวลา 10.00-10.30 น.โดยไม่เกรงกลัวฝูงบินป้องกันพระนครกองทัพอากาศไทยจะเข้ามารบกวน

     ผลการโจมตี B-29 จำนวน 44 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมาย อีก 2 ลำทิ้งระเบิดใส่พื้นที่ใกล้เคียง เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ ส่วน B-29 จำนวน 1 ลำได้รับความเสียหาย การโจมตีจากระยะ 20,000 ฟุตด้วยระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 96 นัดได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม สะพานพระราม 6 เป้าหมายสำคัญถูกระเบิดขาดกลางเสียหายอย่างหนัก กว่าจะซ่อมแซมใช้งานได้อีกครั้งก็ปาเข้าไปหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด โดยบริษัทอังกฤษจนกระทั่งพร้อมใช้งานอีกครั้งในปี 2496


     (https://i.imgur.com/Zxu3Oha.jpeg)
   

    การโจมตีครั้งนี้คือที่มาของข่าวลือ ‘การร้อยระเบิดเป็นพวงด้วยโซ่’ ปรกติลูกระเบิดมักลอยตกน้ำไม่ตรงเป้าหมาย พอเปลี่ยนมาร้อยด้วยโซ่ลูกระเบิดจึงค้างอยู่บนโครงเหล็ก เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงส่งผลให้หักกลางทิ่มลงไปในแม่น้ำ เป็นอีกหนึ่งตำนานสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทย

     ข่าวลือเรื่องระเบิดร้อยโซ่เป็นไปไม่ได้เลยครับ ผมติดตามข่าวสารทางทหารตั้งแต่สมัยเด็กน้อย ไม่เคยเห็นการร้อยระเบิดเป็นพวงด้วยโซ่แม้แต่ครั้งเดียว ความแม่นยำการทิ้งระเบิดมาจากอุปกรณ์ช่วยเล็งบนเครื่องบิน B-29 

     เรื่องราวการทิ้งระเบิดสะพานพระราม 6 มีให้เลือกอ่านเยอะแยะหลายเวอร์ชัน ทว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจริงๆ คิดว่ามีเท่าที่ผมนำมาลง อเมริกาใช้แผนเดิม ใช้เส้นทางเดิม ใช้จำนวนเครื่องบินเท่าเดิม เพียงแต่ครั้งนี้แม่นยำกว่าเดิมภารกิจจึงสำเร็จลุล่วง เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนเพราะเครื่องบินขับไล่ฝ่ายตรงข้ามแทบไม่มีแล้ว ฉะนั้นถ้าครั้งนี้ไม่สำเร็จครั้งต่อไปก็น่าจะสำเร็จ

     วันที่ 14 มกราคม 2488 เวลาเที่ยงคืน เลยมาถึงวันที่ 15 มกราคม 2488 เวลาเที่ยงวัน ราชบุรีถูกถล่มอย่างหนักเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนมากบุกเข้ามาโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า เป้าหมายอยู่ที่สะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ชาวราชบุรีเรียกว่าสะพานดำ

     เมื่อการโจมตีระลอกแรกผ่านพ้นไปอย่างใจหายใจคว่ำ หลวงนิคมคณารักษ์ข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี มาตรวจราชการเพื่อดูความเสียหายบริเวณสะพานดำ ถูกระเบิดจากการโจมตีระลอกใหม่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

     วันที่ 21 มกราคม 2488 เวลา 23.00 น.มีการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 2 ในรอบ 1 สัปดาห์ แต่เนื่องมาจากความมืดเป็นเหตุจึงไม่สามารถจบภารกิจสำคัญ

     คืนวันที่ 27 มกราคม 2488 มีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 1 ลำลักลอบเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพุทธ ข้อมูลระบุว่าแท้จริงแล้วเครื่องบินลำนี้โจมตีสะพานพระราม 6 ซึ่งหักกลางไปแล้ว ทว่าผลการโจมตีถือว่าล้มเหลวเพราะมาตอนกลางคืนแค่เพียงลำเดียว เป็นรายงานที่แปลกจำนวนเครื่องบินก็ค่อนข้างแปลก จนน่าสงสัยว่าเครื่องบินแค่บินมาถ่ายภาพสะพานหรือเปล่า

     วันที่ 30 มกราคม 2488 เวลา 23.00 น.มีการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน และเหมือนกับทุกครั้งเป้าหมายสำคัญยังคงแคล้วคลาดจากลูกระเบิด

    ขึ้นปี 2488 เพียงเดือนเดียวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดหนักมาก สะพานพระราม 6 เรียบร้อยไปแล้วส่วนสะพานจุฬาลงกรณ์ยังคงเจียนอยู่เจียนไป ฉะนั้นต้องถือว่าการทิ้งระเบิดสำเร็จเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 24, 15:06
https://www.youtube.com/watch?v=niPnA5XymGs


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 14 มี.ค. 24, 12:44
     ก่อนเข้าสู่เรื่องราวเรามาสรุปเหตุการณ์กันสักเล็กน้อย

     ต้นเดือนพฤษภาคม 2486 ทหารญี่ปุ่นอยู่ในสถานะได้เปรียบมากที่สุด สงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นตามแผนทุกประการ ปัญหาเล็กน้อยเข้ามารบกวนจิตใจก็คือ กองทัพอากาศมีเครื่องบินและนักบินไม่เพียงเพียงพอ ในเดือนนี้มีการประชุมผู้บัญชาการทหารที่สิงคโปร์ เพื่อปรึกษาการยุทธและสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น

     ก่อนเข้าสู่สงครามญี่ปุ่นมีเครื่องบินรบรวมกันประมาณ 5,000-6,000 ลำ มีกำลังผลิตประมาณเดือนละ 400-500 ลำ ดูแค่ตัวเลขน่าจะเพียงพอในการทำสงครามระยะยาวหลายปี โชคร้ายสหรัฐอเมริกามีกำลังผลิตเครื่องบินรบมากกว่าเกินสิบเท่า รวมทั้งส่งเรือดำน้ำมาตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยจากญี่ปุ่นไปยัง ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์กับมลายู รวมทั้งไทยกับพม่า เท่ากับว่ายิ่งรบกันนานวันเครื่องบินญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง ส่วนเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรกับเพิ่มขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ผลการรบตั้งแต่ปลายปี 2486 จึงได้พลิกผันกลายเป็นญี่ปุ่นต้องเริ่มล่าถอย

    ภาพประกอบคือข้อมูลเครื่องบินรบญี่ปุ่นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 เหลือเพียง 465 ลำ แบ่งเป็นพม่าตอนบน 22 ลำ พม่าตอนล่าง 84 ลำ ประเทศไทยและอินโดจีน 53 ลำ มลายู 52 ลำ และอินโดนีเซีย 254 ลำ เครื่องบินญี่ปุ่นในพม่าเหลือน้อยมากเพราะถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายโดยการทิ้งระเบิด ในประเทศไทยก็เหลือเพียงน้อยนิดจึงแทบไม่มีเครื่องบินบินขึ้นสกัดกั้น B-29

     (https://i.imgur.com/p0aRgdZ.jpeg)


     ทดตัวเลข 465 ไว้ในใจก่อนนะครับ อีกสักพักผมจะกลับมาพูดถึงอีกครั้ง   

     ปี 2487 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้น เป้าหมายสำคัญในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และอุตรดิตถ์โดนระเบิดทิ้งเกือบทั้งหมด เหลือเพียงส่วนเล็กส่วนน้อยค่อยจัดการในภายหลังตอนไหนก็ได้ ฝูงบินทิ้งระเบิดเบนเป้าหมายมาที่ทางรถไฟสายไทย-พม่า การโจมตีราชบุรีถึง 3 ครั้งภายใน 1 เดือนเปรียบได้กับคำเตือนครั้งสุดท้าย



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 14 มี.ค. 24, 12:47
กุมภาพันธ์หฤโหด

     วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 64 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 ช่วงเวลา 08.00-10.00 น.เครื่องบิน 88 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมายอย่างแม่นยำ ส่งผลให้ช่วงกลางสะพานขาดสะบั้นเสียหายอย่างหนัก เป็นการโจมตีซ้ำเพื่อทำลายสะพานไม่ให้กลับมาใช้งานได้ในระยะเวลาสั้นๆ

    เท่ากับว่าภาพที่ผมลงในวันที่ 2 มกราคม 2488 เป็นจากการโจมตีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2488 ส่วนการโจมตีวันที่ 2 มกราคม 2488 สะพานน่าจะขาดจริงแต่ยังมีระยะห่างจากกันไม่มาก

     วันเดียวกันสหรัฐอเมริการายงานว่า เครื่องบิน B-29 จำนวน 3 ลำแยกตัวออกจากฝูงเพื่อทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเมืองมะตะบันในประเทศพม่า

     วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟชุมพรเพื่อทำลายทางรถไฟขนานแนวถนนสายชุมพร-กระบุรี หรือที่รู้จักในวงกว้างว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ ความเสียหายยังไม่มีมากเท่าไรเพราะเป็นการโจมตีครั้งแรก แต่ดูจากรูปการณ์ชุมพรจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     วันเดียวกันเวลา 23.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาถล่มสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 4 แต่ยังไม่สำเร็จสะพานดำผู้แสนทรหดยังเป็นปรกติสุข

     วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2488 15.00-15.45 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย จำนวน 6 ลำ ทิ้งระเบิดโจมตีสะพานท่ามะขามหรือสะพานข้ามแม่น้ำแคว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เวลา ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 9 นัดถูกเป้าหมายบริเวณตอม่อ ส่งผลให้สะพานสร้างจากแรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรหักครึ่งหมดสภาพโดยสมบูรณ์แบบ

     (https://i.imgur.com/xTB7NrV.jpeg)

     ก่อนหน้านี้มีการโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควถึง 4 ครั้ง โชคร้ายพลาดเป้าหมายหมดเพราะทิ้งระเบิดจากความสูงค่อนข้างมาก การโจมตีครั้งที่ 5 มีการกำหนดให้ B-24 บินต่ำระดับ 100 เมตรเพื่อโจมตีขั้นเด็ดขาด  และ B-24 หมายเลข 190-CO44-40989 ทิ้งระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 4 นัดใส่เป้าหมายอย่างแม่นยำ โดยมีระเบิด 1 นัดตกกลางสะพานจนเสาสะพานหักร่วงน้ำ 1 ต้น

    วันเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย จำนวน 6 ลำ ทิ้งระเบิดโจมตีสถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หัวรถจักรไอน้ำ 2 หัวถูกทำลายยับเยิน รางรถไฟเกิดความเสียหายในวงกว้าง

    วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2488 มีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาถล่มสะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานท่ามะขาม และสถานีรถไฟหนองปลาดุกอีกครั้ง ทว่าไม่มีการยืนยันทั้งจากสหรัฐอเมริกาและทางการไทย

     วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 231 กองทัพอากาศอังกฤษใน ประเทศอินเดีย โจมตีสถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นรายการส่งท้ายปิดเดือนกุมภาพันธ์หฤโหด นี่คือการโจมตีโคราชครั้งแรกแต่หนักหน่วงไม่แพ้สมรภูมิอื่น เหตุผลก็คือที่โคราชเลยมาถึงแก่งคอยมีทหารญี่ปุ่นจำนวนพอสมควร ที่ไหนมีญี่ปุ่น เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จะตามมาถล่มให้ราบคาบ

    สังเกตนะครับว่า…กองทัพอากาศอังกฤษกลับมาแล้วจ้ะ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 15 มี.ค. 24, 12:54
โคราชระเบิดลง

     วันที่ 1 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด De Haviland Mosquito กองทัพอากาศอังกฤษจำนวน 1 ลำ ลักลอบเข้ามาตรวจผลการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร ซึ่งทิ้งระเบิดถล่มสถานีรถไฟนครราชสีมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และได้พบว่ายังมีการระเบิดของระเบิดถ่วงเวลาอยู่อย่างต่อเนื่อง

     ระเบิดถ่วงเวลาเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีในการทำลายเป้าหมาย เมื่อตกถึงพื้นจะยังไม่ทำงานจนกว่าอุปกรณ์ตั้งเวลาเดินมาถึงกำหนด จึงสั่งจุดชนวนระเบิดทำลายเป้าหมายช่วงเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามพลั้งเผลอ

     วันที่ 2 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 231 กองทัพอากาศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 23 เครื่อง ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครราชสีมาครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน สามารถทำลายสถานีรถไฟและโรงซ่อมรถจักรสำเร็จ โรงแรมรถไฟที่นครราชสีมาก็พลอยโดนถล่มไปพร้อมกัน

     ภาพประกอบคือหลุมหลบภัยสร้างจากปูนคอนกรีต นครราชสีมา หลังคาสามเหลี่ยมทรงจั่ว คลุมห้องโถงกลางซึ่งอยู่ใต้ดินลึกเกือบ 2 เมตร ในหลุมกว้างประมาณ 2×3 เมตร จุคนได้ประมาณ 10-15 คน มีปล่องระบายอากาศ 2 อัน มีช่องประตูและบันไดขึ้นลงหลุม 2 ทาง น่าจะใกล้เคียงหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่คุณเจียวต้ายพูดถึง แต่มีพัฒนาการสองทางเข้าออกและขนาดใหญ่กว่าเดิม

     (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002512804.JPEG)

     (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002512803.JPEG)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 15 มี.ค. 24, 12:59
บางกอกน้อยถูกโจมตี

     วันที่ 3 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 50 ลำ บินมาถล่มที่ตั้งทหารญี่ปุ่นในเขตมักกะสันอย่างรุนแรงหนักหน่วง โรงงานมักกะสันกรมรถไฟเกิดไฟไหม้ตามอาคารที่ยังหลงเหลือ เป็นการโจมตีครั้งที่ 5 และครั้งสุดท้ายต่อสถานที่สำคัญในการซ่อมบำรุงหัวรถจักรไอน้ำ

     วันที่ 5 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 กลับมาเยือนกรุงเทพอีกครั้ง ครั้งนี้โจมตีสถานีรถไฟธนบุรีหรือบางกอกน้อยจนเสียหายอย่างหนักใช้งานไม่ได้ พื้นที่ใกล้เคียงเต็มไปด้วยร่องรอยความเสียหายจากระเบิด สำหรับการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยผมมีประเด็นนิดหน่อย

     ข้อมูลประเทศไทยระบุว่า วันที่ 28 กรกฎาคม 2488 มีการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยอย่างรุนแรง เป็นการโจมตีทางอากาศครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ส่งผลให้โกโบริต้องอำลาจากอังศุมาลินในวันนั้น ทว่าข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาการทิ้งระเบิดในประเทศไทยสิ้นสุดลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2488

      (https://scontent.fbkk4-1.fna.fbcdn.net/v/t1.18169-9/13120_470504279681370_1051645279_n.png?_nc_cat=109&ccb=1-7&_nc_sid=5f2048&_nc_eui2=AeEEXz9g6-VM63IL45bgPxL-JfGF0JZFq8sl8YXQlkWry9FRhb47JZtfzKz2lyvghTNgApDNKSaizHsFBCYNMLZj&_nc_ohc=CFgphqKT0Q4AX-xeisN&_nc_ht=scontent.fbkk4-1.fna&oh=00_AfC2gkiIx7lpwaqHK-3b-5ncrx33PgXtaDIJJPZXhqhHxw&oe=661B4182)

     ภาพประกอบระบุว่าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกโจมตีวันที่ 5 มีนาคม 2488 สภาพคือพังยับเยินตรงตามข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา อยู่ในเวลาช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโหมทิ้งระเบิดในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2487 ถึงเดือนเมษายน 2488 หลังเดือนนี้ไปแล้วไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดมาเยือนกรุงเทพแล้ว แล้ววันที่ 28 กรกฎาคม 2488 มีเครื่องบินจากที่ไหนมาโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อย

    เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากประเด็นหนึ่ง



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 24, 17:55
ไปเจอรูปหลุมหลบภัยหน้าสถานีรไฟหัวลำโพง ในกระทู้เก่า   ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 16 มี.ค. 24, 13:03
เป้าหมายใหม่

     วันที่ 19 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟชุมพร สะพานข้ามแม่น้ำท่าตะเภา และทางรถไฟสายคอคอดกระ เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสถานีรถไฟชุมพร หัวรถจักรและตู้รถไฟถูกทำลายทิ้งจำนวนมาก เนื่องจากชุมพรไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานญี่ปุ่นหรือไทยช่วยปกป้องสถานีรถไฟ

     วันที่ 2 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 458 ประเทศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาทิ้งระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ใส่สะพานข้ามแม่น้ำแควซึ่งกำลังซ่อมแซมโดยเชลยศึก ผลการโจมตีสะพานท่ามะขามเสียหายยับเยินไม่อาจใช้งานได้อีกต่อไป

     จุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างชุมพรกับสะพานท่ามะขามฝ่ายสัมพันธมิตรจัดการได้แล้ว ลองทายกันดูสักนิดเครื่องบินทิ้งระเบิดจะแวะไปเยี่ยมเยียนสถานที่ไหน คำตอบก็คือปากทางเข้าอีสาน

     วันที่ 3 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 356 ประเทศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟแก่งคอยในเวลา 16.00 น. ส่งผลให้สถานที่ราชการ สถานีรถไฟ สถานีจ่ายไฟ ตลาด วัด และบ้านเรือนประชาชนเสียหายอย่างหนัก คนแก่งคอยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 100 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 200 คน

     ระหว่างสงครามโลกมีทหารญี่ปุ่นในสระบุรีจำนวนพอสมควร มีค่ายเชลยศึกหน้าสถานีรถไฟพระฉาย มีเชลยศึกชาวออสเตรเลียอยู่ในค่ายหนึ่งพันกว่าราย พันตรีกฤช ปุณณกันต์ ผู้บังคับ ม.พัน 1 รอ. ทหารม้ากองทัพที่ 2 ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ซึ่งถูกส่งมาดูแลแก่งคอยพร้อมลูกน้องทั้งกองพันจำนวน 1,400 นาย พันตรีกฤชพยายามติดต่อเชลยศึกด้วยจดหมายน้อยหลายครั้ง เพื่อนัดหมายว่าเมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งอาวุธทันสมัยให้ตัวเองกับลูกน้องจะปล้นค่ายเชลย ขอให้เชลยทุกคนเตรียมจับอาวุธต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น

     บังเอิญสิ่งที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมากลับกลายเป็นลูกระเบิด

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินผ่านแก่งคอยจำนวน 42 เที่ยวบิน แต่ละเที่ยวบินจะปลดระเบิด 12 นัด โดยมีเพียงเที่ยวบินเดียวปลดระเบิด 8 นัด รวมเบ็ดเสร็จวันนั้นแก่งคอยโดนเข้าไป 500 นัดมีระเบิดด้าน 3 นัด ตั้งแต่ 16.00 น. ถึง 18.00 น.ถือเป็นการทิ้งระเบิดที่หนักหน่วงยิ่งกว่ากรุงเทพ

     ก่อนมีการทิ้งระเบิดคนแก่งคอยเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ทุกครัวเรือนจะกินข้าวให้อิ่มหนำก่อนเก้าโมงเช้าแล้วอพยพมาหลบภัยร้ายตามป่าเขา บ่ายสี่โมงถึงเดินทางกลับบ้านเพราะคิดว่าปลอดภัยแน่นอน บังเอิญเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ดันเริ่มโจมตีตอนบ่ายสี่โมง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงมีมากเกินคำบรรยาย ตลาดแก่งคอยมองไปทางไหนเห็นแต่ไฟไหม้กลุ่มควันสีดำลอยสูงลิบ

     พันตรีกฤช ปุณณกันต์ กับทหาร ม.พัน 1 รอ.ต้องทำงานหนักมาก ทั้งปิดเส้นทางไม่ให้ชาวบ้านที่อื่นเข้ามาขโมยข้าวของซ้ำเติม จัดทหารเสนารักษ์ดูแลคนเจ็บตามมีตามเกิด วันรุ่งขึ้นให้พลาธิการขนข้าวสารแจกจ่ายชาวบ้าน เร่งติดต่อกองทัพหรือจังหวัดส่งยานพาหนะรับคนเจ็บไปโรงพยาบาล (สมัยนั้นเส้นทางแก่งคอย-สระบุรีเถื่อนมาก ทหารและชาวบ้านต้องใช้ม้าเดินทาง) ขอยา ข้าวสาร อาหารแห้งเพิ่มเติมเพื่อแจกจ่ายคนในพื้นที่ ปิดท้ายด้วยจัดการเรื่องศพอย่างรวดเร็วก่อนเกิดโรคระบาด

    จากบันทึกพันตรีกฤช ปุณณกันต์ ทหารเสียชีวิต 1 นาย ประชาชนประมาณ 80 คนไม่รวมที่ส่งไปโรงพยาบาลและหาศพไม่เจอ ตลาดแก่งคอยเสียหายอย่างหนักผู้คนไร้บ้านเรือนจำนวนมาก ทหารต้องสร้างห้องแถวทำจากไม้ไผ่จำนวน 20 ห้องให้พักอาศัยเป็นการชั่วคราว

     เหตุผลที่มีการทิ้งระเบิดใส่แก่งคอย พันตรีกฤช ปุณณกันต์ (ยศสุดท้ายพลเอก) ระบุไว้ว่า ก่อนเกิดเหตุเพียงหนึ่งวันมีขบวนรถไฟทหารญี่ปุ่นจำนวน 2 ขบวน เดินทางมาหยุดที่สถานีแก่งคอยประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนไปโคราช แนวที่ห้าหรือสายลับหรือเสรีไทยซึ่งแฝงตัวอยู่ในแก่งคอย อาจคิดว่าทหารญี่ปุ่นเดินทางมาที่แก่งคอยรีบส่งข้อมูลให้กับต้นสังกัด เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จึงเล็งเป้าหมายมาที่สถานีรถไฟซึ่งอยู่ติดตลาด ไม่สนใจค่ายทหารไทยขนาดใหญ่ห่างออกไปเพียงสองกิโลเมตรกว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตุเฉยๆ เพราะที่ผ่านมาแก่งคอยไม่มีอะไรให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหนักใจ

     แก่งคอยถือเป็นสิ่งบ่งบอกความเลวร้ายของสงครามได้เป็นอย่างดี

     (https://i.imgur.com/hC64oKG.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 16 มี.ค. 24, 13:08
เหตุผลที่ชาวบ้านแก่งคอยหนีไปอยู่ในป่าช่วงกลางวัน เนื่องจากโคราชเพิ่งถูกโจมตีสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ก็แค่เผื่อเหลือเผื่อขาดไม่คิดว่าจะโดนถล่มยับเยินขนาดนี้



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 24, 17:39
     คุ้นๆชื่อกฤช ปุณณกันต์ สมัยเมื่อท่านมียศเป็นพลเอก มีชื่อลงหนังสือพิมพ์และออกข่าวทีวีบ่อย    ถ้าเป็นปัจจุบันก็ต้องเรียกท่านว่าเป็น"บิ๊ก" คนหนึ่ง 
      แต่ตำแหน่งใหญ่ๆของท่านอยู่นอกกองทัพ  เช่นตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์   ต่อมาามีก้าวเข้าสู่วงการเมือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสหประชาไทย  ได้เป็นวุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาลนายพจน์ สารสิน ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 มี.ค. 24, 12:37
สถานการณ์เดือนเมษายน 2488

     เรามาพักเบรกจากการทิ้งระเบิดแบบไม่บันยะบันยังจากฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อตรวจสอบสถานการณ์โดยรวมสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาเอเชียบูรพา

     -เยอรมันถูกบุกขนาบสองฝั่งใกล้เข้าตาจนเต็มที่ แนวรบด้านตะวันตกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรมาพร้อมอาวุธทันสมัย แนวรบด้านตะวันออกทหารรัสเซียจำนวนมหาศาลมาพร้อมความแค้น

     -ที่ฟิลิปปินส์ทหารญี่ปุ่นต้องร่นถอยเข้าสู่ใจกลางป่าใหญ่ นายพลดักลาส แมกอาเธอร์พาทหารทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนมาก ยกพลขึ้นบกเพื่อแย่งชิงพื้นที่กลับคืนตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 1987

     -สหรัฐอเมริกาส่งนาวิกโยธินยกพลขึ้นบกที่เกาะอิโวะจิมะต่อด้วยเกาะโอกินาวะ

     -อินโดนีเซียซึ่งปกครองด้วยผู้นำเข้าข้างญี่ปุ่นถือว่าสงบสุขมากที่สุด

    -ทหารญี่ปุ่นในอินเดียถูกขับไล่กลับคืนสู่พม่าทั้งหมด โดยเฉพาะหลังยุทธการที่อิมผาล เดือนกรกฎาคม 1987 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยุทธการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

    -ออสเตรเลียรอดพ้นจากการรุกรานของญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ หนำซ้ำเป็นฝ่ายรุกรานญี่ปุ่นกลับคืนด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอากาศ โดยความสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

     เรามาชมภาพภาพประกอบจำนวนเครื่องบินรบทหารญี่ปุ่นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันต่อ

    ภาพแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 ญี่ปุ่นมีเครื่องบิน 465 ลำ ภาพที่สองวันที่ 30 มีนาคม 2488 หรือถัดมาอีก 5 เดือน ผลจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักญี่ปุ่นเหลือเครื่องบินเพียง 268 ลำ

        (https://i.imgur.com/p0aRgdZ.jpeg)

        (https://i.imgur.com/JrfGWy7.jpeg)

   เครื่องบิน 268 ลำไม่อยู่ในพม่าตอนเหนือแม้แต่ลำเดียว อยู่ในพม่าตอนใต้เพียง 13 ลำ อยู่ในประเทศไทยจำนวน 3 ลำ อยู่ในอินโดจีนตอนเหนือ 33 ลำ อยู่ในอินโดจีนตอนใต้ 78 ลำ อยู่ในแหลมมลายู 31 ลำ และอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุดอินโดนีเซีย 83 ลำ ลดลงจาก 5 เดือนที่แล้วเท่ากับ 465-268=197 ลำ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 มี.ค. 24, 12:39
     ตัวเลขบอกอะไรเราบ้างมาวิเคราะห์กันสักนิด

     1.ญี่ปุ่นสูญเสียเครื่องบินรบจำนวนมากจนต้องดึงเครื่องบินจากอินโดนีเซียมาช่วยเสริมทัพ
   
     2.สถานการณ์การรบในพม่าตอนเหนือเข้าขั้นเจียนอยู่เจียนไป เพื่อความปลอดภัยญี่ปุ่นถอนเครื่องบินทั้งหมดกลับสู่ประเทศไทย ส่วนการรบในพม่าตอนใต้ดีกว่าเล็กน้อยทว่าสูญเสียหนักมาก

     3.ทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวนเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนครสวรรค์ซึ่งอยู่ห่างสมรภูมิและเคลื่อนย้ายกำลังพลค่อนข้างง่าย

     4.ญี่ปุ่นเสริมเครื่องบินรบในอินโดจีนมากกว่าเดิม ตอนเหนือเพื่อสกัดกั้นทหารจีนที่อาจรุกล้ำเข้ามา ส่วนตอนใต้เล็งเป้าหมายมาที่ทหารไทยเรานี่แหละครับ ถ้าเสรีไทยเปิดหน้าแลกเครื่องบินรบ 78 ลำจะบินข้ามชายแดนเข้ามาโจมตีทันที

     5.การเสริมทัพด้วยเครื่องบินรบรุ่นใหม่จากแผ่นดินแม่ ญี่ปุ่นทำไม่ได้เลยเพราะถูกสกัดกั้นเส้นทางขนส่งโดยเรือดำน้ำกับเครื่องบินทิ้งระเบิด

     อินโดจีนซึ่งถูกปกครองโดยฝรั่งเศส (และฝรั่งเศสถูกปกครองโดยเยอรมัน) มีชะตากรรมไม่แตกต่างจากประเทศไทย ญี่ปุ่นขอใช้พื้นที่ทำการรบกับจีนและเตรียมบุกเข้าประเทศไทย มีการปะทะกันเล็กน้อยแล้วข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนก็ขอยอมแพ้ ทั้งที่ตัวเองมีกำลังทหารฝรั่งเศส 50,000 นาย (สี่ในห้าเป็นทหารรับจ้าง) กับกำลังทหารเวียดนามอีก 40,000 นายเยอะกว่าไทยด้วยซ้ำ ข้อตกลงที่ทำร่วมกันญี่ปุ่นจะส่งทหารประจำการในอินโดจีนไม่เกิน 50,000 นาย

     สู้ไม่ได้ก็ยอมหมอบไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นแค่ประเมินกำลังก็รู้แล้วใครแพ้ใครชนะ

     การทิ้งระเบิดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องโดยเฉพาะในพม่าซึ่งเป็นสนามรบใหญ่ ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีจนกลายจุดพลิกผันสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าการทิ้งระเบิดอย่างหนักโดยสหรัฐอเมริกายังเหลือเวลาอีก 1 เดือน ฉะนั้นหวอเตือนภัยในประเทศไทยยังคงดังกระหึ่มต่อไป


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 มี.ค. 24, 12:42
พลเอกกฤชถือเป็นบิ๊กได้จริงๆ ครับอาจารย์ สมัยรบก็มีผลงานโดดเด่น เป็นนักการเมืองก็ขึ้นถึงผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและรัฐมนตรี


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 18 มี.ค. 24, 12:24
ความมืดมาเยือน

     วันที่ 7 เมษายน 2488 เครื่องบินขับไล่ P-51 จำนวนหนึ่งบุกมาโจมตีสนามบินดอนเมือง เครื่องบินขับไล่ไล่ Ki-43 Hayabusa ที่จอดอยู่ในสนามบินถูกทำลาย 7 ลำ
 
     วันที่ 9 เมษายน 2488 เครื่องบินขับไล่ P-51 จำนวน 40 ลำบุกมาโจมตีสนามบินดอนเมืองครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน เครื่องบินขับไล่ไล่ Ki-43 Hayabusa กองทัพอากาศไทยจำนวน 2 ลำบินขึ้นสกัดกั้น ผลการโจมตีเครื่องบินทิ้งระเบิด Ki-21-I Nagoya จำนวน 1 ลำกับเครื่องบินชนิดอื่นๆ อีก 3 ลำถูกทำลาย

     เป็นการไล่เก็บแต้มทีละนิดทีละหน่อยตามปรกติแหละครับ เครื่องบินรบทั้งไทยและญี่ปุ่นทยอยหายไปครั้งละเจ็ดลำบ้างสี่ลำบ้าง เป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงแต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ และบ่งบอกอย่างชัดเจนสงครามคือการเอาเงินจำนวนมหาศาลสาดใส่กัน 

     วันที่ 14 เมษายน 2488 เวลา 15.00 น.ถึง 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบใกล้สะพานพุทธ กับโรงไฟฟ้าสามเสนถนนศรีย่านเกิดความเสียหายอย่างหนัก กรุงเทพเข้าสู่ความมืดมิดมองไม่เห็นอนาคต ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งาน รถรางหยุดเดินรถเป็นการชั่วคราว เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่สองโรงกลายเป็นเศษซากไม่อาจทำงานได้

     เป้าหมายสำคัญถูกจัดการในช่วงสงครามใกล้ถึงเวลาสิ้นสุด ต้องถือว่าอเมริกาใจดีกับเราหรือกรุงเทพดวงดีผมไม่แน่ใจ สำหรับเหตุการณ์นี้คุณเจียวต้ายจดบันทึกไว้ตามนี้

    สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสนนี้ ผมยืนมองจากระเบียงบ้าน เห็นเครื่องบินเลาะลำแม่น้ำมาจากทางใต้ จึงไม่กลัว เขาปลดลูกระเบิด ตั้งแต่วัดส้มเกลี้ยง เห็นลอยลงมาเรียงยังกับนิ้วมือ พอลับตาไปก็มีเสียงระเบิดดังเป็นกลุ่มก้อน คือไม่ใช่ดังทีละบึ้ม เหลียวมองไปอีกที ปล่องสูงของโรงไฟฟ้าที่เคยเห็นอยู่ทุกวัน ได้หายไปจากสายตาแล้ว

    แม่บันทึกว่า ต่อไปนี้ จังหวัดพระนครจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ถ้าเดือนมืดถนนจะมืดตื๋อ รถรางไม่มีเดิน น้ำประปาไม่มีกิน หนังละครไม่ได้เล่น โรงงานต้องหยุดทำ  จักรยานสามล้อ เที่ยวละ ๕-๑๐ บาท น้ำคลองหาบละ ๕๐ ส.ต.ถึง ๑ บาทไม้ขีดกลักละ ๑ บาท น้ำมันก๊าดขวดละ ๘ บาท ปี๊บละ ๔๐๐ บาท แล้วยังหาซื้อยาก ต้องใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมูแทน และไม่มีหวอบอกสัญญาณภัยด้วย ต้องใช้รถดับเพลิงเปิดไซเรนแล่นผ่านถนนต่าง ๆ ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง

  (https://scontent.fbkk4-3.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/299648600_1559334257833476_9191751966673368352_n.jpg?_nc_cat=100&ccb=1-7&_nc_sid=5f2048&_nc_eui2=AeHmZK-xie40R9gpTcCsd0GblFFmU32YY5aUUWZTfZhjllwRxsHbrv-nDxD6ZfbjLjdMlW541xsuRL9u-kwOA8A6&_nc_ohc=1A1aZ2HSRf8AX_PlvIZ&_nc_zt=23&_nc_ht=scontent.fbkk4-3.fna&oh=00_AfCCE14R86-lq_C9xJCnjUmoNSPayTJxdXbh57fpAp6a0w&oe=65FD296F)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 18 มี.ค. 24, 13:06
การทิ้งระเบิดปิดท้าย

     วันที่ 18 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาถล่มระเบิดประตูน้ำดำเนินสะดวก ประตูน้ำภาษีเจริญ ประตูน้ำบางนกแขวก และประตูน้ำบางยาง เพื่อตัดเส้นทางถอนกำลังของกองทัพญี่ปุ่นจากคลองดำเนินสะดวกมายังแม่น้ำท่าจีน แนวคลองเป็นเส้นตรงช่วยในการนำทางเครื่องบิน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การโจมตีประตูน้ำทั้ง 4 แห่งประสบความสำเร็จ

    วันที่ 29 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวนหนึ่งโจมตีกรุงเทพเป็นการสั่งลา ทว่าไม่มีรายละเอียดทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและทางการไทย

     เทศกาลระเบิดจากสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงแล้ว การโจมตีทางอากาศห่างไปเกือบ 1 เดือนเต็ม ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควครั้งที่ 5 ในเวลา 17.00 น. เหตุผลก็คือญี่ปุ่นพยายามซ่อมสะพานฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องลงมือ ต่อมาในเวลา 18.00 น.เครื่องบิน B-24 ลำหนึ่งบินมาทิ้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 30 ชุด

     วันที่ 1 มิถุนายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 8 ลำบินมาทิ้งทุ่นระเบิดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ต่อด้วยโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควครั้งที่ 6 ให้เสียหายอย่างเด็ดขาด

    วันที่ 10 กรกฎาคม 2488 มีการทิ้งระเบิดสะพานรถไฟสายไทย-พม่าครั้งสุดท้าย ต่อด้วยโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ที่ราชบุรีครั้งที่ 5 ในเวลา 14.30 น. ครั้งนี้สามารถทำลายสะพานดำข้ามแม่น้ำแม่กลองในตำนานสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจ

     วันที่ 18 กรกฎาคม 2488 เวลา 13.00 น.ถึง 15.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 3 ลำบินผ่านสนามหลวงค่อนข้างต่ำเป็นพิเศษ เพื่อโปรยยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 18 ชุดพร้อมใบปลิวจำนวนมหาศาล โดยมีเครื่องบินขับไล่ P-51 สองลำตัวจำนวน 8 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน หน่วยงานที่จัดเก็บยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปคือหน่วยกองพลรักษาพระนครซึ่งเป็นเสรีไทยของกองทัพบก  กับกำลังพลเสรีไทยสายพลเรือนซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

     นี่คือครั้งแรกและครั้งเดียวที่เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 บินต่ำกว่า 20,000 ฟุต

     บังเอิญแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลจากสนามหลวงจุดที่ B-29 บินผ่าน มีเรือดำน้ำกองทัพเรือไทยลำหนึ่งชื่อเรือหลวงวิรุณจอดจอดเทียบท่าราชวรดิษฐ์ (ตามข่าวแจ้งว่าเพื่อจ่ายกระแสไฟให้กับคนกรุงเทพพร้อมเรืออีกลำชื่อเรือหลวงมัจฉานุ แต่ผมค่อนไปในทางไม่เชื่อเพราะเรือดำน้ำมีขนาดเล็กมาก) P-51 ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันเห็นเรือดำน้ำจึงปักหัวลงเพื่อยิงขู่หนึ่งชุด กระสุนนัดหนึ่งเฉียดกระบอกปืนใหญ่ขนาดสามนิ้วบนเรือหลวงวิรุณจนแหว่งไปเล็กน้อย

     (https://i.imgur.com/ou7Jf3w.jpeg)

     จบแล้วครับ…การทิ้งระเบิดโจมตีใส่ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

    ส่วนการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยวันที่ 28 กรกฎาคม 2488 ไม่มีบันทึกในรายงานกรมการบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและกองทัพอากาศอังกฤษ

    บังเอิญการทิ้งระเบิดโจมตีใส่ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้มีแค่เพียงจากกรมการบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและกองทัพอากาศอังกฤษ วันพรุ่งนี้ผมจะตอนพิเศษยาวๆ เกี่ยวข้องกับภาคใต้ฝั่งอันดามัน เลยมาถึงวันสิ้นสุดมหาสงครามระดับโลกอย่างเป็นทางการ บอกใบ้เล็กน้อยสงครามนี้คือ the empire strikes back




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: visit.pra ที่ 18 มี.ค. 24, 17:11
คุณ superboy หรือท่านอี่นมีเรื่องที่ฝ่ายสัมพ้นธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีเมืองสงขลาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ครับ เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเคยมาโจมตีสงขลาหลายคร้ังเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่การยกพลขึ้นบกผ่านไทยไปมลายาและเป็นที่ต้ังของกองทหารญื่ปุ่น ปัจจุบันยังคงมีต้วตึกที่ถูกระเบิดจากการโจมตีเป็นหลักฐานเหลืออยู่ที่แยกถนนยะลาตัดกับถนนนครนอกในย่านเมืองเก่าของสงขลาครับ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 18 มี.ค. 24, 19:11
สงขลาเป็นสมรภูมิที่ไทยรบกับญี่ปุ่นหนักหน่วงมากที่สุด ทั้งเรือพิฆาตและเครื่องบินญี่ปุ่นบุกโจมตีอย่างหนักข้ามมาถึงอีกวัน ต่อมายังถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่กลางเมือง เป็นการโมตีช่วงต้นสงครามเดือนธันวาคม 2485 พอมลายูถูกญี่ปุ่นยึดครองการทิ้งระเบิดก็หายไป

ผมเคยเขียนบทความถึงสงขลาเหมือนกัน แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เดี๋ยวมีเวลาว่างผมหาข้อมูลการทิ้งระเบิดให้ครับ



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 มี.ค. 24, 12:51

ตอนพิเศษ : สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

     แรงบันดาลใจที่ผมเขียนบทความนี้นั่นคือ ‘กามิกาเซ่ครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทย’

     เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองล่วงเลยมาถึงกลางปี 2487 ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่ออเมริกาและอังกฤษ ทหารจำนวนมากต้องเสียชีวิตรวมทั้งนักบินฝีมือฉกาจ ดินแดนในครอบครองถูกแย่งชิงกลับคืนทีละแห่งๆ ญี่ปุ่นได้พัฒนาอาวุธร้ายแรงชนิดใหม่ขึ้นมาต่อกร ใช้ชื่อเรียกว่ากามิกาเซ่หรือ Kamikaze แปลว่าพายุเทพเจ้า

     กามิกาเซ่คือกองกำลังจู่โจมพิเศษรูปแบบใหม่ ใช้การโจมตีแบบพลีชีพโดยขับเครื่องบินพุ่งชนฝ่ายตรงข้าม เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเดือนตุลาคม 2487 แม่นยำกว่าระเบิดหรือตอร์ปิโดทุกชนิด สร้างความเสียหายได้มากกว่า ทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่า ผลสำเร็จจากการโจมตีอยู่ที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์

     ขอยกตัวอย่างให้อ่านสักหนึ่งเรื่อง วันที่ 11พฤษภาคม 2488 เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Bunker Hill ขนาด 36,000 ตันของอเมริกา ถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงบนดาดฟ้า ลูกเรือเสียชีวิต 389 รายสูญหาย 264 ราย เรืออาจยังไม่จมก็จริงแต่เสียหายอย่างหนัก ต้องถอนตัวจากภารกิจเดินทางกลับฐานทัพโดยเร่งด่วน

     ปรกติเรือลำไหนถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่ ถ้าไม่จมก็ต้องเสียหายหนักกลายเป็นภาระเพื่อนๆ ให้บังเอิญมีเรือรบลำหนึ่งแห่งราชนาวีอังกฤษ ถูกกามิกาเซ่ลำหนึ่งพุ่งชนกราบเรือฝั่งซ้ายแบบเต็มเหนี่ยว ทว่าเรือกลับมีแค่เพียงรอยประทับตรายางรูปเครื่องบิน ปรากฏอยู่บนภาพประกอบที่หนึ่งของบทความ

     เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากเกาะภูเก็ต

    อยากอ่านกันแล้วใช่ไหม…ถ้าเช่นนั้นทุกคนตามข้าพเจ้ามา

     (https://i.imgur.com/28rtwZV.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 มี.ค. 24, 12:59
ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

     สงครามโลกครั้งที่สองในไทยเริ่มปะทุวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารยกพลขึ้นบกพร้อมกันหลายจุด มีการปะทะกันก่อนทหารทั้งสองฝ่ายได้รับคำสั่งหยุดยิง รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางไปยังพม่าและมลายู รวมทั้งเข้าร่วมสงครามในภายหลังจะด้วยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

     ช่วงเวลาดังกล่าวภูเก็ตมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ญี่ปุ่นส่งทหารกับพลเรือนมาตั้งค่ายกองสำรวจแผ่นที่บนเกาะ มีเรือสลุปขนาด 1,500 ตันพร้อมเครื่องหยั่งน้ำบนเรือ เพื่อสำรวจร่องน้ำต่างๆ ในอ่าวพังงาและภูเก็ต อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งปีนัง-ร่างกุ้ง เชื่อมโยงดินแดนมลายูกับพม่าของตัวเองไว้ด้วยกัน

     สองปีแรกเส้นทางเดินเรือไม่มีปัญหากวนใจ ญี่ปุ่นใช้เรือกับเครื่องบินจำนวนมากดูแลคุ้มกัน ต่อมาไม่นานเมื่อสายลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เรือลำเลียงจำนวนมากถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจม กำลังทางเรือของญี่ปุ่นมีขนาดลดลง เรือปราบเรือดำน้ำ เรือพิฆาต หรือเครื่องบินทะเลย้ายมาอยู่ฐานทัพเรือปีนังแห่งเดียว

     การลำเลียงยุทธปัจจัยระหว่าง ‘ปีนัง-วิคตอเรียพอยต์-มะริด-ร่างกุ้ง’ เปลี่ยนมาใช้เรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบลำเลียงติดเครื่องยนต์สร้างด้วยไม้ ญี่ปุ่นใช้เรือยามฝั่งขนาดเล็กทำหน้าที่คุ้มกันเส้นทาง มีปืนกลหนักที่หัวเรือกับตอร์ปิโดที่ท้ายเรือเป็นเขี้ยวเล็บ เห็นเล็กๆ แบบนี้เรือดำน้ำลำหนึ่งเคยถูกเผด็จศึกมาแล้ว

     เส้นทางลำเลียงใช้วิธีเดินเรือเลียบชายฝั่ง ป้องกันตัวเองจากเรือดำน้ำอังกฤษหอกข้างแคร่ และหลบคลื่นลมแรงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ถึงกระนั้นเรือลำเลียงญี่ปุ่นยังถูกยิงจมอยู่เป็นประจำ โดยลำใหญ่ที่สุดชื่อไทงะมารูระวางขับน้ำ 700 ตัน ถูกยิงจมด้วยตอร์ปิโดมากกว่าหนึ่งนัดมีหลักฐานชัดเจน

     รับชมเรื่องราวจากฝั่งประเทศไทยกันบ้าง การเดินทางจากกรุงเทพมาที่ภูเก็ตยังสามารถทำได้ตามปรกติ เริ่มต้นจากโดยสารรถไฟจากหัวลำโพงมาลงสถานีกันตังจังหวัดตรัง สองทุ่มตรงให้ขึ้นเรือโดยสารสาย ‘กันตัง-กระบี่-พังงา-ภูเก็ต’ ซึ่งใช้เรือหลวงถลางลำที่หนึ่งเป็นพาหนะ ถึงจุดหมายปลายบนเกาะใหญ่ช่วงเวลาประมาณเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น

     เรือหลวงถลางมีระวางขับน้ำ 920 ตัน ยาว 53.3 เมตร กว้าง 10.7 เมตร กินน้ำลึก 2.8 เมตร เป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยในเขตภาคใต้ ช่วยให้เส้นทางเดินเรือในประเทศยังคงใช้งานได้ ส่วนเส้นทางเดินเรือนอกประเทศ ‘ภูเก็ต-ปีนัง’ ถูกยกเลิกอย่างไม่เป็นทางการ เจ้าของเรือเอกชนรายไหนอยากเสี่ยงภัยก็แล้วแต่ดวง

     กองทัพเรือมีเรือประจำการที่ภูเก็ตเพียงลำเดียว ชื่อเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ประมง ระวางขับน้ำเพียง 50 ตัน ยาว 22 เมตร กว้าง 4 เมตร กินน้ำลึก 1 เมตร ติดปืนขนาด 37/20 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ทำหน้าที่ตรวจจับเรือประมงต่างชาติลักลอบเข้ามาหาปลา

     ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 กองทัพเรือจัดตั้ง ‘หน่วยทหารเรือภูเก็ต’ ขึ้นมา มีการก่อสร้างสนามบินน้ำในอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และบินคุ้มกันเส้นทางเดินเรือกันตัง-ภูเก็ตจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร โดยใช้เครื่องบินทะเล บรน.2 และหรือบรน.3 ในการทำภารกิจ



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 มี.ค. 24, 13:00
     ทุกคนอาจมีข้อสงสัยในใจว่า เครื่องบินทะเลป้องกันภัยจากเรือดำน้ำได้เช่นไร?

     คืออย่างนี้ครับ…กองทัพเรืออังกฤษใช้เรือดำน้ำ 2 แบบในการโจมตี แบบที่หนึ่งเรือดำน้ำชั้น S ระวางขับน้ำ 930 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 61.72 เมตร กว้าง 7.3 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก แบบที่สองเรือดำน้ำชั้น T ระวางขับน้ำ 1,575 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 84.28 เมตร กว้าง 7.7 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก สามารถติดตอร์ปิโดมนุษย์นอกตัวเรือได้อีก 2 ลำ

     ในการโจมตีถ้าเป็นเรือใหญ่จะใช้ตอร์ปิโด ปัญหาก็คือญี่ปุ่นมีเพียงเรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบสร้างจากไม้ ตอร์ปิโดขนาด 533 มม.มักวิ่งลอดใต้ท้องเรือญี่ปุ่นรวมทั้งไทย เรือดำน้ำอังกฤษจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำลายเรือเป้าหมายด้วยปืนใหญ่พร้อมกับช่วยเหลือลูกเรือขึ้นฝั่ง

     เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมา หรือ Nakajima E8N Dave เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นเดี่ยวติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 30 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ส่วนเครื่องบินทะเล บรน.3 หรือซีโร่ หรือ Aichi E13A Jake เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นคู่ติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 60 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ป้องกันตนเองได้ดีในระดับหนึ่ง และทำลายเรือข้าศึกได้ด้วยลูกระเบิด

     บรน.2 กับ บรน.3 สามารถโจมตีเรือดำน้ำอังกฤษได้ ในการคุ้มกันจะทำงานร่วมกับเรือยามฝั่ง ทั้งเรือไทยและเรือญี่ปุ่นซึ่งมีตอร์ปิโดเป็นไม้เด็ด ผู้บังคับฝูงบินประจำฐานอ่าวมะนาวเขียนถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อกองบินทหารเรือประจำการเครื่องบินทะเลติดอาวุธ เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถโจมตีเรือพาณิชย์ไทยได้อีกเลย

     (https://i.imgur.com/d7ymr4l.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 มี.ค. 24, 13:08
The Empire Strikes Back

     อังกฤษสูญเสียพม่ากับมลายูให้กับญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี 2484 นับจากวันนั้นพวกเขาต้องวุ่นวายอยู่กับการรบในยุโรป จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้แบบไร้เงื่อนไขในวันที่ 8 พฤษภาคม 2488 อังกฤษได้ริเริ่มแผนการโต้กลับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งหมู่เกาะใกล้เคียง

     สถานการณ์ฝั่งนี้อังกฤษเข้าพม่าได้แล้ว ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากถอยร่นกลับมาตั้งหลักในไทย แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่มลายูอดีตดินแดนในอาณานิคม โดยมีทหารญี่ปุ่นฝีมือดีทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นก้างขวางคอ

     อังกฤษใช้เวลา 4 เดือนฝึกฝนกำลังทหารอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนพร้อมทำภารกิจใหญ่ในอนาคต ต่อมาในเดือนมิถุนายนจึงได้จัดกองเรือเฉพาะกิจขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำ เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนมาก เดินทางสู่พื้นที่เป้าหมายเพื่อกวาดล้างทหารญี่ปุ่น โดยการทำภารกิจเล็กภารกิจน้อยไปตลอดเส้นทาง เริ่มต้นจากเกาะสุมาตรามาสิ้นสุดที่แหลมมลายู

     หนึ่งในภารกิจเล็กภารกิจน้อยของอังกฤษก็คือ…จังซีลอนเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของไทย

     วันที่ 19 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 อันประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือประจัญบาน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ กับกวาดทุ่นระเบิด 5 ลำ ทำการแยกตัวออกมาจากกองเรือหลัก มุ่งตรงมายังน่านน้ำภูเก็ตเพื่อทำภารกิจสำคัญใช้ชื่อว่า ‘Operation LIVERY’ เป็นการรบเพื่อกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนแทบไม่ส่งผลต่อภาพรวมสงครามแม้แต่นิดเดียว

    (https://i.imgur.com/inBDqx8.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 มี.ค. 24, 11:49
Operation DRACULA

     ก่อนเข้าสู่ปฏิบัติการผู้เขียนปูเรื่องเล็กน้อย ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองคล้ายดั่งแหล่งรวมจอมยุทธ เรือรบหลายชาติแวะมาเยี่ยมเยียนต่างกรรมต่างวาระ เรือบางลำพลาดท่าเสียทีให้ข้าศึกต้องจมดิ่งสู่ก้นทะเล

     อังกฤษเองให้ความสนใจเกาะภูเก็ตไม่แพ้ชาติอื่น วันที่ 3 มกราคม 2488 พวกเขาส่งเรือดำน้ำมาวางทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำใกล้อ่าวภูเก็ตจำนวน 50 ลูก โดยวางสองแนวแนวละ 25 ลูกระยะระหว่างลูก 250 ฟุต ตั้งความลึกไว้ที่ 6-8 ฟุต ต่างจากเกาะตะรุเตาซึ่งวางทุ่นระเบิดแบบอิทธิพลจำนวน 8 ลูก ที่เป็นเช่นนั้นผู้เขียนเดาว่าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเรือตัวเอง รู้ตำแหน่งทุ่นระเบิดชัดเจนจะได้ไม่เกิดเหตุถล่มพวกเดียวกัน

     การวางทุ่นระเบิดยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกพลขึ้นบกภูเก็ต กวาดล้างทหารญี่ปุ่นยึดครองพื้นที่และตัดเส้นทางลำเลียงระหว่างปีนังกับร่างกุ้ง ใช้เป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงทหารญี่ปุ่นทั้งในมลายู ประเทศไทย และพม่า อังกฤษจริงจังเรื่องนี้มากมีการตั้งชื่อปฏิบัติการว่า ‘Operation ROGER’ โผล่ขึ้นมาพร้อมแผนยกพลขึ้นบกกรุงร่างกุ้งประเทศพม่า ซึ่งถูกตั้งชื่อปฏิบัติการว่า ‘Operation DRACULA’

     ปัญหาของอังกฤษมีด้วยกันสองประการใหญ่ๆ หนึ่งเรือยกพลขึ้นบกน้อยไปบุกสองจุดพร้อมกันไม่ได้ และสองควรทำภารกิจให้เรียบร้อยก่อนเดือนมิถุนายน มิฉะนั้นจะต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อังกฤษต้องเลือกว่าจะยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ต Operation ROGER หรือยกพลขึ้นบกที่ร่างกุ้ง Operation DRACULA

     บทสรุปสุดท้ายอังกฤษเลือกบุกร่างกุ้งทางบกโดยใช้ทหารจากอินเดีย และลักลอบส่งคนมาสำรวจพื้นที่เตรียมบุกยึดภูเก็ต บังเอิญการสู้รบในพม่ากลับไม่เป็นดั่งใจหวัง กำลังทหารจากอินเดียทำภารกิจล้มเหลวตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ทหารราบ 2 กองพล นาวิกโยธิน 1 กองพลน้อยซึ่งเตรียมขึ้นฝั่งเกาะใหญ่ในประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งสู่แม่น้ำร่างกุ้งเพื่อช่วยเหลือเพื่อน

     วันที่ 2 พฤษภาคม 2488 ร่างกุ้งเต็มไปด้วยทหารอังกฤษจำนวนมาก ถัดมาไม่กี่วันฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาเยือนทะเลอันดามัน การยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ตถูกยกเลิกเป็นการถาวร แต่ถึงกระนั้นอังกฤษยังไม่สิ้นสุดความพยายาม โดยใส่ภารกิจ Operation LIVERY เพิ่มเติมเข้ามาในแผนบุกแหลมมลายู เพื่อโจมตีสนามบินกับค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ต และกวาดทุ่นระเบิดญี่ปุ่นในน่านน้ำให้มากที่สุด เป็นการกรุยทางให้กับการยกพลขึ้นบกหลังฤดูมรสุมประจำปีผ่านพ้นไป

     ในภาพคือยกพลขึ้นบกที่ร่างกุ้งหรือ Operation DRACULA มองเห็นร่องรอยความเสียหายจากสงครามอย่างชัดเจน และมองเห็นตึกรามบ้านช่องสถาปัตยกรรมยุโรปสวยงามน่าประทับใจ พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมอยากไปเที่ยวสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ดูจากสถานการณ์คงอีกนานเลยล่ะ

     (https://i.imgur.com/lVBZh66.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 มี.ค. 24, 12:06
     เรือรบสำคัญในกองเรือเฉพาะกิจที่ 63

     เรามาทำความรู้จักตัวละครหลักในปฏิบัติการกันสักนิด เริ่มตันจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer (D01) กับ HMS Empress (D42) ทั้งสองลำเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเพียง 7,800 ตัน ยาว 151.05 เมตร กว้าง 21.18 เมตร กินน้ำลึก 7.9 เมตร ติดตั้งปืนกล 40 มม.กับ 20 มม.เป็นอาวุธป้องกันตัว บรรทุกเครื่องบินได้ 24 ลำหรือ 1 ฝูงบินพอดิบพอดี ขนาดไม่ใหญ่เท่าไรการสร้างเรือไม่ยุ่งยากกินเวลาไม่นาน นี่คือของขวัญจากลุงแซมสมาชิกฝ่ายสัมพันธมิตรชาติสุดท้าย

(https://i.imgur.com/IaXAByp.jpeg)

     อเมริกาสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กมอบให้อังกฤษจำนวน 24 ลำ ใช้งานทดแทนเรือเดิมซึ่งถูกยิงจมหรือเสียหายอย่างหนัก HMS Ameer คือเรือลำแรกรับมอบในปี 2486 จึงถูกนำชื่อมาตั้งชื่อเป็นชั้นเรือตามธรรมเนียมแต่โบราณ มาพร้อมเครื่องบินรบประจำเรือจากอเมริกาเช่นเดียวกัน ก่อนออกเดินทางฝูงบิน 804 ถูกคัดเลือกให้มาประจำการบน HMS Ameer ใช้เครื่องบินขับไล่ Grumman F6F Hellcat II ของอเมริกาซึ่งค่อนข้างใหม่และทันสมัยกว่าเครื่องบินอังกฤษ

     ก่อนมาประเทศไทย HMS Ameer กับ HMS Empress เข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจที่ 62 ในการส่งเครื่องบินโจมตีค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสุมาตราอย่างสนุกมือ รวมทั้งช่วยคุ้มกันกองเรือกวาดทุ่นระเบิดของตัวเองไปพร้อมกัน เสร็จเรียบร้อยถึงแยกตัวออกมารวมกลุ่มกับเรือจากกองเรือเฉพาะกิจที่ 61 ซึ่งประสบปัญหาเดินทางล่าช้าเล็กน้อย กลายเป็นกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เพื่อทำภารกิจโจมตีทางอากาศต่อเกาะภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 มี.ค. 24, 12:10
    ตัวละครสำคัญลำที่สองแต่สำคัญมากที่สุดคือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป็นเรือชั้น County กลุ่มสองเข้าประจำการปี 2472 ระวางขับน้ำเต็มที่ 13,315 ตัน ยาว 193 เมตร กว้าง 20 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 203 มม.จำนวน 8 กระบอกกับตอร์ปิโด 533 มม.8 ท่อยิงเป็นอาวุธปราบเรือผิวน้ำ ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.จำนวน 4 กระบอก ปืนกลขนาด 40 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และปืนกลขนาด 40 มม.ลำกล้องเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกสำหรับต่อสู้อากาศยาน

    HMS Sussex ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือร่วมกับเรือประจัญบาน HMS Nelson (28) เรือที่สวยที่สุดในโลก ทั้งคู่เดินทางจากอังกฤษไปทำภารกิจที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เสร็จเรียบร้อยจึงตียาวมาร่วมทีมในภายหลัง การบุกเกาะภูเก็ตถือเป็นการประเดิมสนามแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


    (https://i.imgur.com/b4btc8D.jpeg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 มี.ค. 24, 12:15
     กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 ออกเดินทางวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 นี่คือภาพถ่ายจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer มองเห็นเครื่องบิน F6F Hellcat II ฝูงบิน 804 จำนวนหนึ่งจอดอยู่บนลานบิน อาวุธประจำเครื่องบินคือปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอก บรรทุกระเบิดหรือจรวดไม่นำวิถีได้มากสุด 1,800 กิโลกรัม เทียบกันตัวต่อตัวกับเครื่องบินทะเล บรน.2 หรือ บรน.3 แห่งราชนาวีไทย ฝ่ายเราซึ่งต้องป้องกันน่านฟ้าภูเก็ตตกเป็นรองอย่างชัดเจน ทว่ายังโชคดีมีเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ตจำนวนพอสมควร ฉะนั้นสงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ตจึงไม่ใช่การไล่ถล่มอยู่ฝ่ายเดียว

     (https://i.imgur.com/Sg4rYWE.jpeg)

     โปรดสังเกตเรือเล็กแล่นประกบ HMS Ameer กลางภาพ นี่คือเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ชั้น Algerine แต่ไม่แน่ใจว่าชื่ออะไร เรือชั้นนี้ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,125 ตัน ยาว 78 เมตร กว้าง 10.8 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร นอกจากอุปกรณ์สำหรับจัดการทุ่นระเบิดท้ายเรือ ยังมีปืนใหญ่ 102 มม. 1 กระบอก กับปืนกล 20 มม.4 กระบอกไว้ป้องกันตัว ประเทศไทยซื้อมาใช้งานหลังสงครามจำนวน 1 ลำคือเรือหลวงโพธิ์สามต้น ภาพนี้กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เดินทางมาถึงทะเลอันดามันแล้ว

     กองทัพเรืออังกฤษมีวันนี้เพราะพี่ให้อย่างแท้จริง ลำพังตัวเองมีเพียงเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดปีกสองชั้นโบราณมาก เทียบกับเครื่องบินทะเลของเราแล้วถือว่าสูสีกันมาก บังเอิญอังกฤษมีเพื่อนที่ดีแสนยานาภาพทางทะเลจึงกลับมายิ่งใหญ่และยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 มี.ค. 24, 12:10
สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

     วันที่ 24 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 บุกเข้าสู่อ่าวภูเก็ต แบ่งกำลังเป็น 2 ส่วนเพื่อจัดการเป้าหมายให้ราบคาบตามแผนการ กำลังส่วนแรกจะบุกถล่มข้าศึกให้แหลกเป็นจุณ เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่งฝูงบิน 804 มาทิ้งระเบิดใส่สนามบิน ค่ายทหาร เส้นทางสัญจรบนเกาะ รวมทั้งเรือน้อยใหญ่ โดยมีเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับเรือประจัญบาน HMS Nelson และเรือพิฆาต 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน นี่คือการโจมตีแบบวันเวย์ฝ่ายตรงข้ามแทบไม่มีโอกาสป้องกันตัว

     กำลังส่วนที่สองลักลอบเข้ามาจัดการทุ่นระเบิดตามเส้นทางเดินเรือ ใช้เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Algerine จำนวน 5 ลำทำงานพร้อมกัน ได้เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress กับเรือพิฆาตจำนวน 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน

     ผลการโจมตีปรากฏตามภาพถ่ายจากนักบิน F6F Hellcat II ฝูงบิน 804 เรือสินค้าถูกโจมตีเกิดไฟไหม้กลางลำ สถานที่สำคัญบนชายฝั่งได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยคละเคล้ากันไป

     (https://i.imgur.com/FtQEyML.jpeg)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 มี.ค. 24, 12:11
     การโจมตีวันแรกไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายญี่ปุ่น โชคร้ายอังกฤษต้องสังเวยเรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Squirrel ให้กับทะเลภูเก็ต ลูกเรือ HMS Empress ซึ่งอยู่ใกล้กันบันทึกในรายงานว่า ทำภารกิจอยู่ดีๆ HMS Squirrel ก็หายตัวไป เข้าใจว่าแล่นชนทุ่นระเบิดเพียงแต่ไม่ทราบของชาติไหน เนื่องจากทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นเคยนำทุ่นระเบิดมาวางสกัดกั้นเส้นทางเดินเรือ ทุ่นระเบิดอังกฤษชนิดทอดประจำผูกโซ่โยงไว้กับก้นทะเลก็จริง ทว่ามีโอกาสหลุดออกมาสร้างอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากทุ่นระเบิดต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งแรงเสียจนตัวเองยังไม่กล้ายกพลขึ้นบก

     วันที่ 25 กรกฎาคม 2488 การโจมตีแบบวันเวย์เกิดขึ้นอีกครั้ง อังกฤษไม่มีความสูญเสียทั้งเรือและเครื่องบิน วันที่ 26 กรกฎาคม 2488 วันสุดท้ายของ Operation LIVERY มีการเปลี่ยนแปลงแผนให้เรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับ เรือประจัญบาน HMS Nelson ย้ายมาคุ้มกันกองเรือกวาดทุ่นระเบิด เนื่องจากวันนี้ต้องทำหน้าที่เก็บกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งให้เสร็จเรียบร้อย อาจถูกทหารญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ตยิงถล่มตอนไหนก็ได้ ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำส่งเครื่องบินไปถล่ม Kra Isthmus หรือคอคอดกระ

     เวลา 18.25 น.ทหารอังกฤษทุกนายกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ ทันใดนั้นมีเครื่องบินรบญี่ปุ่น 3 ลำปรากฏตัวเหนือน่านน้ำภูเก็ต มุ่งตรงมายังเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป้าหมายขนาดใหญ่


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 มี.ค. 24, 12:16
แผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

     เมื่อเครื่องบินรบญี่ปุ่นบุกโจมตีพร้อมกัน กัปตันเรือ HMS Sussex  สั่งการให้ปืนทุกกระบอกระดมยิงใส่เป้าหมาย เครื่องบินรบจำนวน 2 ลำพลาดท่าเสียทีถูกยิงร่วงน้ำ บังเอิญเครื่องบินลำที่สามซึ่งใช้วิธีบินต่ำมาทางกราบซ้าย เล็ดลอดลูกกระสุนจำนวนมากมายพุ่งชนกลางเรือค่อนมาทางท้าย ใกล้เสากระโดงรองใต้ป้อมปืนกล 40 มม.แฝดสี่พอดิบพอดั

     ผลการโจมตีกราบซ้ายเรือมีรอยประทับตรายางรูปร่างเหมือนเครื่องบิน ทว่าเรือแค่เสียหายเล็กน้อยไม่มีลูกเรือบาดเจ็บ เนื่องจากตัวเรือจุดที่เครื่องบินเข้าปะทะมีเกราะเหล็กห่อหุ้มอย่างแน่นหนา จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่ารอยประทับตรายางข้างตัวเรือ เหมือนเครื่องบินโจมตีรุ่น Mitsubishi Ki-51 ของกองทัพบกญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์

     ภาพประกอบฝั่งซ้ายมือคือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับภาพกราฟิกเครื่องบินโจมตี Ki-51 ขณะพุ่งชน ภาพขวามือคือ USS Sterett (DD-407) เรือพิฆาตชั้น Benham กองทัพเรืออเมริกา ระวางขับน้ำเพียง 1,500 ตันเล็กกว่ากันพอสมควร ถูกกามิกาเซ่โจมตีเกิดเป็นรูใหญ่กราบขวาหัวเรือ อันเป็นผลสืบเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกัน รวมทั้งตัวเรือไม่มีเกราะเหล็กป้องกันเหมือนดั่งเรือลาดตระเวนหนัก

     (https://i.imgur.com/7hoVQtb.jpeg)     

     หมายเหตุ : เรือรบในปัจจุบันทุกชนิดไม่มีการหุ้มเกราะเพราะสิ้นเปลืองเกินไป รวมทั้งเกราะไม่สามารถป้องกันอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ทันสมัย ต้องวิธีอื่นในการป้องกันภัยทั้งเรื่องระบบเป้าลวง ระบบก่อกวนการเผยแพร่คลื่นเรดาร์ หรือใช้ระบบอาวุธทันสมัยบนเรือยิงสกัดให้ร่วงน้ำ

     สรุปความได้ว่า…การโจมตีแบบกามิกาเซ่ครั้งแรกในเมืองไทยประสบความล้มเหลว



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 มี.ค. 24, 12:23
ทำไมการโจมตีแบบกามิกาเซ่ที่ภูเก็ตถึงไม่ได้ผล?

     เรื่องราวในอ่าวภูเก็ตแตกเป็นแม่น้ำหลายสาย หลายคนบอกว่าเครื่องบินโจมตี Ki-51 พุ่งชนเกราะข้างเรือหรือ Belt Armor ค่อนข้างหนา จึงมีแค่เพียงรอยแมวข่วนให้คนทั่วโลกฮือฮา หลายคนค้านว่า HMS Sussex มี Belt Armor ก็จริงแต่บางมาก จุดที่เครื่องบินพุ่งชนเป็นเพียงแผ่นเหล็กหนา 1 นิ้วเท่านั้น บังเอิญเป็นจุดที่แผ่นเหล็กสองแผ่นวางประกบกัน แรงปะทะจึงถูกหารสองความเสียหายย่อมน้อยกว่าเหล็กแผ่นเดียว

     กองทัพเรืออเมริกาให้ความสนใจเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex มากเป็นพิเศษ มีการเปรียบเทียบกับเรือตัวเองซึ่งถูกกามิกาเซ่โจมตี มีการวิเคราะห์ตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์ ได้ผลสรุปโน้มเอียงมาทางขนาดกับความเร็วเครื่องบิน ลำไหนใหญ่กว่าความเร็วสูงกว่าย่อมสร้างความเสียหายได้มากกว่า ลำไหนเล็กกว่าความเร็วต่ำกว่าย่อมสร้างความเสียหายได้น้อยกว่า

     Mitsubishi Ki-51 คือเครื่องบินโจมตีขนาดเล็ก จำนวนสองที่นั่งบรรทุกระเบิดได้เพียง 200 กิโลกรัม ถูกออกแบบให้บุกโจมตีข้าศึกแบบดำดิ่ง ฉะนั้นต้องบินช้าหน่อยเพื่อเล็งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ความเร็วสูงสุดทำได้เพียง 424 กิโลเมตร ช้ากว่าเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทยเสียด้วยซ้ำ
สรุปความได้ว่าการโจมตีแบบกามิกาเซ่ครั้งแรกในประเทศไทย Ki-51 พุ่งชน HMS Sussex ด้วยความเร็วค่อนข้างต่ำ (จริงๆ เกือบบินตกทะเล) ความเสียหายจึงมีเพียงน้อยนิดตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์

     แนวคิดสุดท้ายได้รับความเห็นชอบอย่างแพร่หลาย เนื่องจากในที่เกิดมีหลักฐานสำคัญช่วยยืนยันชัดเจน นักบินญี่ปุ่นบนเครื่องบาดเจ็บนิดหน่อยไม่ถึงกับสาหัส ลูกเรือ HMS Sussex ช่วยกันนำตัวขึ้นมาจากทะเลอันดามัน จึงไม่เสียชีวิตมีโอกาสกลับมาหาครอบครัวหลังสงครามสิ้นสุด




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 มี.ค. 24, 12:28
เหยื่อกามิกาเซ่ตัวจริง

     กลับมาที่การรบเหนือน่านน้ำภูเก็ตอีกครั้ง เมื่อการโจมตีระลอกแรกผ่านพ้นไปชนิดใจหายใจคว่ำ ต่อมาไม่นานมีเครื่องบินโจมตี Ki-51 จำนวนหลายลำ บินเข้ามาโจมตีเรือลาดตระเวนหนัก  HMS Sussex ระลอกสอง บังเอิญถูกห่ากระสุนจากเรือรบหลายลำเป็นแนวกั้นขวาง จำเป็นต้องหักหัวเครื่องหนีความตายจ้าละหวั่น นักบินรายหนึ่งบังเอิญเห็นเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจน นักบินนายนั้นบังคับเครื่องพุ่งใส่เรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Vestal (J215)

     ปืนใหญ่ 102 มม.กับปืนกล 20 มม.บนเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ มิอาจหยุดยั้งความตั้งใจนักบินจากแดนอาทิตย์อุทัย HMS Vestal ถูกเครื่องบินโจมตี Ki-51 พุ่งชนแบบพลีชีพโดนเข้าที่กลางลำ เกิดการระเบิดไฟลุกท่วมแล้วค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเล ลูกเรือ 12 รายต้องสังเวยชีพให้กับแผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

     HMS Vestal คือเรือลำแรกที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียเพราะถูกกามิกาเซ่โจมตี

     HMS Vestal คือเรือลำสุดท้ายที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

     ปัจจุบันเรือจมอยู่ก้นอ่าวระดับความลึก 70 เมตร ส่วน HMS Squirrel ซึ่งหายตัวไปในวันแรกของภารกิจ จมอยู่ที่ระดับความลึก 95 เมตรพื้นที่ใกล้เคียงกัน ‘The last British Royal Naval vessel sunk during WWII’ อยู่ลึกเกินไปสำหรับนักดำน้ำโดยทั่วไป จึงไม่ได้รับความนิยมเหมือนเรือรบไทยที่ปลดประจำการแล้ว

     ภาพประกอบภาพบนคือเครื่องบิน Mitsubishi Ki-51 ตัวแสบ ใช้ลายพรางเสือดาวมาตรฐานกองทัพบกญี่ปุ่น ส่วนภาพล่างคือเรือกวาดทุ่นระเบิด HMS Vestal แฟนเก่าพระเอกผู้แสนโชคร้าย นี่คือผู้ล่ากับเหยื่อลำแรกและลำสุดท้ายแห่งน่านน้ำทะเลไทย สังเวยการโจมตีแบบพลีชีพไพ่เด็ดญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามมหาเอเชียบูรพา

    (https://i.imgur.com/8jwGiFx.jpeg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 24, 12:43
      กามิกาเซ่ (Kamikaze) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังจู่โจมพิเศษ     ภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่าลมแห่งสวรรค์ หรือลมแห่งเทวะ   นำมาใช้เป็นชื่อฝูงบินและนักบินเท่านั้น    เวลาออกรบจะบรรทุกระเบิดและพุ่งเข้าชน ยอมตายพร้อมเครื่องบิน
       เคยได้ยินคำว่า กามิกาเซ่ จากหนังสงครามที่ดูตอนเด็กๆ   ผู้ใหญ่ที่ทันผจญสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าให้ฟังว่าเป็นชื่อฝูงบินและนักบิน ที่ทำลายข้าศึกฝ่ายตรงข้ามด้วยการพุ่งชน ยอมตายไปพร้อมกับข้าศึกด้วย    นักบินกามิกาเซ่เป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักรบพลีชีพ ที่น่ากลัวมาก    ถ้าเจอฝูงบินมรณะนี้เมื่อไหร่  ฝ่ายถูกโจมตีไม่มีทางรอด
  
    อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ

    https://www.silpa-mag.com/history/article_58805#google_vignette


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: Neo ที่ 22 มี.ค. 24, 10:49
เข้ามาศึกษาหาความรู้ที่นี่ ไม่ผิดหวังเลยครับ ขอบคุณอาจารย์ทุกๆท่านด้วยครับ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 24, 11:35
จาก # ๑๑๑ ขออนุญาตขยายความ และแก้ลิงก์

神風 คามิกาเซะ (https://th.m.wikipedia.org/wiki/คามิกาเซะ) แปลตามตัวอักษร คือ ลมพระเจ้า

ว่าด้วยเรื่อง คามิกาเซะ

https://www.silpa-mag.com/history/article_58805#google_vignette


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 มี.ค. 24, 13:34
เรือบรรทุกเครื่องบินถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่

     การโต้กลับจากกองทัพบกญี่ปุ่นหาได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เครื่องบินโจมตี Ki-51 หลายลำเปลี่ยนใจหันมาบุกเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งลอยลำห่างออกไปพอสมควรมีเรือพิฆาตจำนวน 2 ทำหน้าที่คุ้มกัน เมื่อแน่ใจว่าภัยคุกคามเบนเข็มมาที่ตัวเอง กระสุนปืนทุกชนิดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ถูกสาดขึ้นสู่ฟากฟ้าเพื่อสกัดกั้น เครื่องบินโจมตี Ki-51 ทุกลำไม่สามารถฝ่ายแนวป้องกันจากเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือพิฆาต ทำได้เพียงสาดกระสุนปืนอย่างสะเปะสะปะก่อนหักเลี้ยวจากไป บังเอิญนักบินญี่ปุ่นรายหนึ่งไม่รู้แอบกินดีหมีมาจากไหน บังคับเครื่องบินตัวเองฝ่าดงกระสุนพุ่งเข้าหาเรือบรรทุกเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าดีเดือด

     ปืนทุกกระบอกเปลี่ยนเป้าหมายมาที่เครื่องบินลำเดียว เมื่อนักบินใจสิงห์บังคับเครื่องเข้าใกล้ระยะ 500 หลา พลันถูกกระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.ของเรือบรรทุกเครื่องบินจนตกทะเล รายงานจากกัปตันแจ้งว่าเรือไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะ แต่รายงานจากเรือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex แจ้งว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ได้รับความเสียหายเพียงไม่ทราบว่ามากหรือน้อย

     การบุกโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ระบุได้อย่างชัดเจนว่า วิธีโจมตีแบบพลีชีพโดยใช้เครื่องบินพุ่งชนหรือที่เรารู้จักในชื่อกามิกาเซ่ คือสิ่งที่นักบินเครื่องบินรบญี่ปุ่นทุกคนต้องตัดสินใจเอง บางคนตัดสินใจทำส่วนบางคนไม่ทำไม่ถือว่าเป็นความผิด

    Operation LIVERY มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายอย่าง นอกจากภูเก็ตอันเป็นเป้าหมายหลักตามแผนการ อังกฤษยังตัดสินใจส่งเครื่องบินมาถล่มคอคอดกระซึ่งอยู่นอกแผนการ เนื่องจากได้รับรายงานจากแนวที่ห้าฝังตัวอยู่ในเกาะภูเก็ตว่า การโจมตี 2 วันแรกสร้างความเสียหายต่อทหารญี่ปุ่นบนเกาะค่อนข้างน้อย ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจเบนเป้าหมายโจมตีคอคอดกระในการรบวันสุดท้าย

     ภาพประกอบคือเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ซ้อมยิงปืนต่อสู้อากาศยานระหว่างเดือนมีนาคม 2488 ก่อนที่ตัวเองจะประสบการณ์โจมตีที่แท้จริงในอีกสี่เดือนถัดมา เรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินขับไล่ล้วนได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาเพื่อนผู้แสนดีและเจ้าหนี้รายใหญ่

    (https://i.imgur.com/ozEzfQ2.jpeg)




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 มี.ค. 24, 13:46
     
     ปฏิบัติการ Operation LIVERY จบสิ้นลงเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2488  เวลา 3 วัน HMS Ameer ส่งเครื่องบินโจมตีเป้าหมายมากกว่า 150 ครั้ง ทำลายค่ายทหาร สนามบิน ทางรถไฟ รวมทั้งเส้นทางหลักในการขนส่ง เรือลำเลียงจำนวน 3 ลำถูกโจมตีจมลงก้นอ่าว เรืออีก 11 ลำถูกยิงกราดด้วยปืนกล หัวรถจักรจำนวน 11 คันถูกทำลาย (ที่คอคอดกระ) เครื่องบินญี่ปุ่นจำนวน 30 กว่าลำถูกโจมตีบนพื้นดิน ตัวเลขทั้งหมดมาจากรายงานซึ่งมีการเผยแพร่ในภายหลัง

     เรามาชมภาพประกอบหลักฐานสำคัญกันสักนิด นี่คือบอร์ดแสดงผลงานฝูงบิน 804 พร้อมมอดโต้เสือคาบดาบ ระบุชัดเจนทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนพื้นดินจำนวน 16 ลำ ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนท้องฟ้าจำนวน 3 ลำ ส่วนภาพเล็กซ้ายมือคือผลงานเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกจำนวน 2 ลำรวมทั้งกามิกาเซ่ลุยเดี่ยวลำนั้น

    (https://i.imgur.com/FIxTzEc.jpeg)

     หมายความว่าฝูงบิน 804 จัดการเครื่องบินญี่ปุ่นได้เพียง 19 ลำ รวมผลงานเรือเข้าไปด้วยเท่ากับ 21 ลำ ไม่ถึง 30 กว่าลำตามรายงานที่ได้ปรากฏภายหลัง แต่ถ้านับผลงานเรือลำอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างน้อย ตัวเลขผลงานน่าจะใกล้เคียงตัวเลขบนรายงาน

     วันที่ 28 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 กลับมายังฐานทัพเรือในศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมเรือและเครื่องบินทุกลำให้อยู่ในสภาพพร้อมรบ ลูกเรือกับนักบินได้รับคำสั่งให้พักผ่อนตามอัธยาศัย ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจจากอังกฤษได้ออกเดินทางอีกครั้ง

     เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ย้ายมาอยู่กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 พร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 4 ลำกับเรือคุ้มกันชนิดต่างๆ จำนวน 14 ลำ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการ Operation CARSON บุกโจมตีฐานทัพเรือปีนังของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 สิงหาคม นี่คือศึกแห่งศักดิ์ศรีครั้งสำคัญระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น เปรียบได้กับนัดล้างตาหลังจากตัวเองเคยพลาดท่าเสียทีแบบหมดสภาพ ตั้งแต่ปลายปี 2484 ช่วงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นกำลังฉายแสงเจิดจ้าทั่วโลก

    เวลาเดียวกันเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex ยังจอดอยู่ที่ท่าเรือ Trincomalee ประเทศศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมทุกส่วนบนเรือให้มีสภาพสมบูรณ์เต็มที่ รอเวลาทำภารกิจบุกโจมตีแหลมมลายูหรือ Operation ZIPPER ที่กำลังจะเกิดขึ้น อังกฤษตั้งใจใช้ความคล่องตัวกับปืนใหญ่ขนาด 203 มม.ยิงถล่มชายฝั่ง ซึ่งเหมาะสมกับประสิทธิภาพเรือมากกว่าบุกโจมตีฐานทัพเรือญี่ปุ่นที่ปีนัง

    กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 เดินทางได้เพียง 1 วัน มีคำสั่งด่วนจากเกาะอังกฤษให้หันหัวเรือกลับ Operation CARSON กับ Operation ZIPPER ถูกสั่งเลื่อนไม่มีกำหนด ไม่มีใครรู้เหตุผลรวมทั้งไม่มีการแจ้งเหตุผลจากผู้บังคับการ ทว่าทหารอังกฤษทุกคนยังมีกำลังเต็มร้อยพร้อมลบรอยแค้นในอดีต

    ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่สองอันแสนยาวนานสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันนี้ ไม่มีปฏิบัติการ Operation CARSON กับ Operation ZIPPER ส่งผลให้ Operation LIVERY กลายเป็นปฏิบัติการสุดท้ายของทหารอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 23 มี.ค. 24, 12:21

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

     ภูเก็ตหรือเมืองถลางปรากฏในบันทึกนักเดินทางตั้งแต่ 700 ปีที่แล้ว บรรดากัปตันเรือพร้อมใจกันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าแหลมจังซีลอน ที่นี่อากาศดี ดินดี ท่าเรือกว้างขวาง โอบล้อมด้วยป่าไม้แน่นหนา แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ จุดแวะจอดเรือสินค้า ต่อมาเมื่อพบว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก จึงได้มีการริเริ่มทำเหมืองแร่กันอย่างแพร่หลาย ต่อมาไม่นานมีการสร้างตึกรามบ้านช่องในเขตตัวเมือง มีคนจีน อังกฤษ และฮอลันดาเดินทางข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน

     ภูเก็ตถูกยกฐานะเป็นมณฑลประจำภาคใต้ มีการสั่งซื้อเรือเหล็กจากฮ่องกงมาใช้งานตั้งชื่อว่า ‘ถลาง’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างปี 2475 เรือถูกส่งมอบให้กองทัพเรือ ถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเรือหลวงถลางใช้เป็นเรือลำเลียงระหว่างกรุงเทพ-ศรีราชา ต่อมาเทศบาลเมืองภูเก็ตขอรับเรือกลับมาใช้งานตามเดิม เรือจึงเดินทางมาอยู่ภูเก็ตพร้อมเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่งซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ประมงขนาด 22 เมตร

     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองภูเก็ตประสบภัยคุกคามจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร เรือจำนวนมากถูกยิงจมรวมทั้งเรือกลไฟชื่อถ่องโหในภาพประกอบ ก่อนเกิดสงครามถ่องโหเป็นเรือสินค้าวิ่งขนส่งระหว่างภูเก็ต-กระบี่-ตรัง-ปีนัง ต่อมาถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปใช้ขนส่งทหารและสัมภาระ ระหว่างปี 2487 เรือไม้ลำนี้ถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจมบริเวณเกาะหัวขวาน ทะเลกระบี่ ไม่ทราบชะตากรรมลูกเรือหรือสินค้ากับผู้โดยสารที่มาพร้อมเรือ

     (https://i.imgur.com/w7MqMjh.jpeg)

     เรือหลวงถลางซึ่งเป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยเคยถูกโจมตีเช่นกัน เรือดำน้ำอังกฤษลอยลำขึ้นมายิงถล่มด้วยปืนใหญ่ โชคดีกระสุนพลาดเป้าหมายกัปตันเรือรีบหักหลบเข้าหลังเกาะลันตา เรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำซึ่งคอยคุ้มกันขบวนเรือแล่นเข้ามากดดันจนเรือดำน้ำล่าถอยไป เรือดำน้ำสมัยก่อนมักลอยลำขึ้นมาโจมตีเรือสินค้าขนาดเล็กด้วยปืนใหญ่ เก็บตอร์ปิโดไว้จัดการเรือสินค้าขนาดใหญ่หรือเรือรบฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีคุณค่าทางการทหารอาทิเช่น เรือลาดตระเวน เรือประจัญบาน หรือเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ถ้าเจอเรือพิฆาต เรือฟริเกต หรือเรือฝามฝั่งติดอาวุธปราบเรือดำน้ำต้องหนีให้เร็วที่สุด

     เรือหลวงถลางยังเป็นเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของทุ่นระเบิดอังกฤษ เนื่องจากเรือลำอื่นขนาดเล็กกว่าและเป็นเรือไม้ทั้งลำ ขณะแล่นผ่านทุ่นระเบิดตรวจไม่พบเหล็กจึงไม่ทำงาน

     ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงหาได้สร้างความเสียหายต่อเรือลำนี้ จวบจนอังกฤษส่งกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เข้ามาถล่มแบบปูพรม วาระสุดท้ายของเรือหลวงไทยบนเกาะภูเก็ตจึงได้มาเยือน

     วันที่ 25 กรกฎาคม 2488 เรือหลวงถลางถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมบริเวณท่านเรศวรตำบลทุ่งคา วันเดียวกับเรือหลวงสารสินธุถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมในอ่าวฉลอง หลายปีถัดมากองทัพเรือกู้เรือหลวงถลางขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็นเรือหลวงสุริยะประจำการกรมอุทกศาสตร์ถึง 12 ปีเต็ม เรือหนังเหนียวจากมณฑลภูเก็ตมีอายุใช้งานรวม 33 ปี แบ่งเป็นลอยลำเหนือผิวน้ำ 25 ปีกับจมอยู่ใต้ท้องทะเลอีก 8 ปี




กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 23 มี.ค. 24, 12:31
เบื้องหลังการโจมตีทางอากาศ

     ความเสียหายของกองทัพเรือมีมากกว่านี้ สนามบินน้ำในอ่าวฉลองทหารไทยถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว ความสูญเสียทั้งหมดผมค้นพบในอินเทอร์เน็ตสั้นๆ ใจความว่า เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมาเสียหาย 2 ลำ ทว่าตัวเองบังเอิญเจอบทความเขียนโดยพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับฝูงบินประจำอ่าวฉลองในช่วงเวลาดังกล่าว จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) จึงขอคัดลอกมานำเสนอเพื่อความสมบูรณ์ของบทความ

     สมัยหนึ่งกองทัพเรือไม่ค่อยสนใจต่อการข่าวนัก กับยังได้ยินนายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายการข่าวพูดทีเล่นทีจริงว่า เจ้ากรมข่าวนั้นทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการโรงแรมหรือหัวหน้าฝ่ายรับรองทำนองนั้น เพราะงานออกหน้าออกตาของกรมข่าวสมัยนั้นก็คือการรับรองชาวต่างประเทศ และข้าพเจ้าก็มีเรื่องติดใจเกี่ยวกับการข่าวควรแก่การศึกษาคือ

     ตอนท้ายของสงครามโลกข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้บังคับฝูงบินประจำฐานบินที่อ่าวมะนาวจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งทะเลมหาสมุทรอินเดีย และทำการบินคุ้มกันเรือพาณิชย์ที่เดินระหว่างภูเก็ตกับกันตัง จังหวัดตรัง ข้าพเจ้าประจำทำงานอยู่ในตำแหน่งนั้นจนกระทั่งถูกกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษอันประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ กับเรือคุ้มกันอีก 10 กว่าลำ เข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงฐานบินและเครื่องบินที่มีอยู่ทำให้เกิดไฟไหม้เสียหายหมดสิ้น

    ทั้งนี้ตลอดเวลาข้าพเจ้าไม่เคยได้รับข่าวสารจากกองทัพเรือเลย จริงอยู่หน่วยทหารที่อยู่ในแนวรบมีหน้าที่ต้องหาข่าวทางยุทธการและเราก็กระทำอยู่ แต่ข่าวการเคลื่อนกำลังกองทัพเรือของอังกฤษน่าจะได้รับทราบจากหน่วยเหนือมิทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้าพเจ้าถอนตัวกลับมาถึงกันตังแล้วและคุยกับนายทหารญี่ปุ่นซึ่งเคยประจำอยู่ ณ สนามบินที่จังหวัดภูเก็ต ทราบว่าทหารญี่ปุ่นถอนตัวออกจากเกาะภูเก็ตหมดสิ้นแล้วก่อนกองเรืออังกฤษจะเข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงชายฝั่ง ซึ่งแสดงว่าเขารู้ข่าวจึงทำให้เขาไม่ได้รับความเสียหาย

    ผู้ที่ไม่อยู่ในสนามรบขณะนั้นอาจตั้งคำถามว่า ทำไมข้าพเจ้าไม่ประสานงานกับญี่ปุ่นเรื่องขาวสารการเคลื่อนไหวของข้าศึก ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะแถลงว่าการทำงานของฝ่ายเราในขณะนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับญี่ปุ่นจนถึงขั้นที่จะให้ความร่วมมือกันได้สนิทนัก สรุปก็เก็บเอาไว้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อไปในอนาคต

     ข้อมูลจากบทความพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ สามารถอธิบายได้ดังนี้

     1.เครื่องบินทะเลทุกลำถูกยิงถล่มเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่ทราบจำนวนไม่ทราบว่าซ่อมแซมได้หรือไม่

     2.วันที่ 24 ถึง 25 กรกฎาคม 2488 ฝูงบิน 804 ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ไม่ได้ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นแต่เป็นเครื่องบินกองทัพเรือไทย ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2488 จึงได้บินไปทิ้งระเบิดสนามบินญี่ปุ่นที่คอคอดกระ ก่อนถูกญี่ปุ่นย้อนรอยกลับมาทวงแค้นด้วยฝูงบินกามิกาเซ่

     3.แต้มสะสมบนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทย

    4.บนเกาะภูเก็ตไม่มีทหารญี่ปุ่นแม้แต่รายเดียว เครื่องบินญี่ปุ่นที่ย้ายออกไปก่อนไม่ทราบชะตากรรม อาจอยู่สนามบินคอคอดกระแล้วถูกถล่มยับเยินก็เป็นได้

     การเขียนบทความสมควรมีข้อมูลครบทุกฝ่าย โชคร้ายเหลือเกินผมไม่มีข้อมูลจากญี่ปุ่นแม้แต่นิดเดียว จึงขาดมุมมองที่สนใจมากที่สุดมุมมองนี้ไป ปฏิบัติการโจมตีภูเก็ตจัดอยู่ในลำดับความลับสุดยอดมากที่สุด ทว่าญี่ปุ่นกลับรับรู้เรื่องราวคล้ายตัวเองเข้าไปนั่งกลางที่ประชุมฝ่ายสัมพันธมิตร

     คำถาม : พวกเขารู้ความเคลื่อนไหวอังกฤษได้อย่างไร?

     คำตอบ : น่าจะได้รับแจ้งข่าวจากค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสุมาตรา
 
     คำถาม : พวกเขาเคลื่อนกำลังพลออกจากเกาะอย่างเงียบกริบได้เช่นไร?

    คำตอบ : การข่าวทหารไทยในพื้นที่ไม่ดีเท่าไร การข่าวจากกองบัญชาการที่กรุงเทพก็ไม่ดีเช่นกัน เครื่องบินและทหารญี่ปุ่นจำนวนมากเวลาเคลื่อนพลปิดบังไม่ได้แน่นอน ถ้ามีแนวที่ห้าประกบติดฐานทัพญี่ปุ่นถึงเคลื่อนทัพตอนกลางคืนก็ต้องรู้


 ภาพประกอบคือเครื่องบินทะเล บรน.๓ หรือ AICHI E13A Type Zero Model 11  ซึ่งกองทัพเรือมีใช้งานจำนวน 3 ลำ ไม่ทราบจริงๆ ว่าอยู่ที่ภูเก็ตในวันถูกโจมที่ทางอากาศด้วยหรือไม่

   (https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiGLEUlffqfUGBd5-L__D0UDd-c5yEapqClD131IbOxd_WtYFCyyvYSK0uA561NCPVvNNh2t4UNCaDnVqh7oUZF8z6tOThy45D6Odde9jEfpLWYduEOQgkQBXOGdSS9zlIyD8O1KXZP5RE/s1600/AICHI+E13A+Type+0+JACK_03.jpg)


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 23 มี.ค. 24, 12:33
สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ตตัดจบตรงนี้นะครับ พรุ่งนี้ผมจะลงเรื่องการทิ้งระเบิดที่สงขลาคงไม่ยาวเท่าไร  :o



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 มี.ค. 24, 13:36
เรื่องราวที่สงขลา

    ผมมีบทความ ‘เมื่อญี่ปุ่นบุกสงขลา’ เขียนโดย ขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก ศิลปกรรมพิเศษ) มาฝาก ตัดมาเฉพาะเรื่องราวการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มากเท่าไรครับ

    วันที่ 9 ธันวาคม 2484 ทางราชการเปิดสำนักงานชั่วคราวขึ้นที่บ้านพักโลหกิจจังหวัด ข้าราชการทุกแผนกมาช่วยปฏิบัติการที่นี่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์พิเศษ ส่วนงานปรกติที่เคยปฏิบัติตามหน้าที่เป็นอันระงับไป และในบ่ายวันเดียวกันนั้นเครื่องบินอังกฤษ 2 หรือ 3 ลำบินมาตรวจการณ์และทิ้งระเบิดลงที่เรือนจำ วัดดอนรัก และที่อื่นๆ อีกบ้าง เป็นเหตุให้ต้องปล่อยนักโทษจนหมด เมื่อเหตุการณ์เป็นปรกติลงบ้างแล้ว นักโทษบางคนก็มารายงานตัวเข้าที่คุมขังต่อไป ส่วนที่วัดดอนรักระเบิดทำให้สามเณรเสียชีวิต 1 รูป

     ต่อมาเมื่อสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายรุก ก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สงขลาอีกหลายครั้ง ลงตรงวัดดอนรักอีกครั้งหนึ่ง ทำลายความเสียหายมากมายจนแทบจะกลายเป็นวัดร้าง ในการโจมตีครั้งแรกเครื่องบินอังกฤษถูกเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นขับไล่และยิงตกที่อำเภอสะบ้าย้อย 1 เครื่อง แต่ครั้งต่อมาไม่มีเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นขัดขวางและปืนต่อสู้อากาศยานก็ไม่มี

    ถัดมาประมาณหนึ่งหน้ามีการพูดถึงการโจมตีทางอากาศอีกครั้ง

    เครื่องบินอังกฤษซึ่งบินมาโจมตีแรกเริ่มสงครามได้หายเงียบไปจนพากันตายใจไปตามๆ กัน แต่คืนวันหนึ่งดึกสงัด ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาโดยได้ยินเสียงเครื่องบินเป็นการผิดปรกติ เพราะเครื่องบินญี่ปุ่นไม่มีอยู่ในสงขลาแล้ว พอได้ยินเสียงระเบิดลูกแรกก็รีบลงจากเตียงนอนหมอบราบใต้เตียง ส่วนในห้องติดกันมีครูโรงเรียนมหาวชิราวุธผู้หนึ่งกับคนรู้จักกันมานอนเป็นเพื่อน เพราะครอบครัวของข้าพเจ้าไปอยู่รวมกับครอบครัวน้องที่บ้านบน ทั้งสองคนนี้นอนกับพื้น ได้ยินเสียงระเบิดติดกัน 3-4 ลูก ทราบภายหลังว่าลูกแรกตกริมทางรถไฟ หน้าฌาปนสถานวัดหัวป้อมนอก ลูกที่สองลงตรงอาคารเรียนของโรงเรียนช่างเย็บผ้า ทำให้อาคารนั้นเสียหายและทหารญี่ปุ่นซึ่งอาศัยอยู่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

    ระเบิดลูกที่สามตกลงตรงกองถังน้ำมันของญี่ปุ่นซึ่งกองไว้ในบริเวณที่ทำการเทศบาลเดิม ไฟลุกไหม้โชติช่วง ลูกที่สี่ลงตรงหน้าบ้านพักของข้าพเจ้าสะเก็ดระเบิดเจาะฝาเข้ามาในบ้านพักหลายรู ถ้าข้าพเจ้าไม่นอนนิ่งก็คงโดนสะเก็ดระเบิดเป็นแน่ แม้แต่ขวดน้ำซึ่งวางไว้บนหลังตู้ข้างเตียงก็แตกกระจายและมุ้งขาดหลายรู ส่วนครูโรงเรียนมหาวชิราวุธโดนสะเก็ดระเบิดเข้าที่หน้าผากทะลุท้ายทอยถึงแก่กรรม เวลานั้นทหารญี่ปุ่นซึ่งนายแพทย์กับคนรับใช้อาศัยอยู่ด้วย ก็ช่วยเอาผ้าพันแผลให้หายความน่าสังเวช

    เริ่มอพยพครอบครัวกันอีกครั้ง ครอบครัวข้าพเจ้าและอีกหลายครอบครัวไปอาศัยบ้านเพื่อนที่น้ำน้อย กงสุลใหญ่ญี่ปุ่นก็อพยพไปอยู่ที่นั่นด้วย เขาปรารภว่าตามปรกติคนญี่ปุ่นสุภาพเรียบร้อย แต่ทหารบางคนประพฤติเสื่อมเสียอยู่บ้าง คงจะเพราะกระทำการรบมานาน เขาแสดงความเสียใจให้พวกเราทราบด้วย และต่อมาไม่กี่วันก็มีเครื่องบินมาโจมตีอีก ลูกหนึ่งตกลงใกล้บ้านพักของข้าพเจ้าทำให้ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บ สืบถามได้ความว่าไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม โรงเรียนมหาวชิราวุธ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเห็นถูกตัดแขนขวา ที่นั่นมีทหารมารักษาตัวอยู่มากมาย

    ที่ริมถนนหน้าบ้านพระเพชรคีรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เห็นเอาหินก่อเป็นรูปคล้ายๆ เจดีย์ เขาว่าญี่ปุ่นถูกระเบิดตายที่นี่หลายคน อนุสาวรีย์นี้ต่อมาก็ถูกรื้อทิ้ง

   ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดของบทความสิ้นสุดเพียงเท่านี้

   
(https://i.imgur.com/gvrv3yU.jpeg)


    ภาพประกอบคืออาคารที่มีชื่อเรียกกันว่า ‘บ้านสงครามโลก’ เป็นอาคารเก่าที่ตั้งอยู่ตรงแยกถนนนครนอกตัดกับถนนยะลา อาคารหลังนี้มีความสำคัญคือน่าจะเป็นอาคารเก่าเพียงหลังเดียว ที่รอดพ้นจากการถูกทิ้งระเบิดโดยกองทัพอากาศอังกฤษ เป็นอาคารคอนกรีต สไตล์เดคโค่สูงสามชั้น

    บ้านสงครามโลกเริ่มสร้างปี 2481แล้วเสร็จปี 2483  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อผนังอาคารด้วยอิฐเผาโบราณ เหล็กโครงสร้างอาคารใช้เหล็กชนิดเดียวกับเหล็กสร้างสะพานรถไฟ คอนกรีตเป็นเนื้อแบบปูนนำ้อ้อย มีความแข็งแกร่งทนทานต่อแรงระเบิดมาจนถึงปัจจุบัน

   วันที่ 17 กรกฎาคม 2488 หลังเที่ยงวัน บ้านสงครามโลกถูกโจมตีทางอากาศพร้อมบ้านหลังอื่น ทว่าอาคารยังคงยืนตระหง่านดังเดิมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 มี.ค. 24, 13:44
กระทู้ 'สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง' ที่ผมตั้งใจเขียนถึงจบลงตรงนี้ ขอบคุณเพื่อนๆ สมาชิกทุกคนที่ติดตาม  :D


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 24, 13:42
ขอบคุณสำหรับกระทู้นี้ค่ะ คุณ Superboy
เป็นกระทู้ที่ให้รายละเอียดถี่ถ้วนมาก  นับว่าหาได้ยากยิ่ง   เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจค้นคว้าและจะนำไปอ้างอิงได้ด้วย

ดิฉันไปเจอ เอกสารเรื่อง "เมื่อกรุงเทพเผชิญภัยทางอากาศ" จึงขอนำมาลงประกอบในกระทู้นี้ด้วยค่ะ

https://culture.bsru.ac.th/wp-content/uploads/2017/05/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AF%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8.pdf


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 24, 09:25
สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 เมื่อ มาโมรุ ชิเงมิตซึ (Mamoru Shigemitsu) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้น ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตร เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ


กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 เม.ย. 24, 08:40
ใครอยากเห็นหลุมหลบภัยผมชวนมาเที่ยวเขาดินวนาหรือสวนสัตว์ดุสิต มีรีวิวในปี 2560 ตามลิงก์ด้านล่างจุดได้ถึง 60 คน แต่มีปัญหาเล็กน้อยตอนนี้สวนสัตว์ปิดแล้ว แล้วจะเข้าไปเที่ยวยังไงเนี่ย  :(

(https://f.ptcdn.info/787/049/000/omnnf3gw91nfj51gaDj-o.jpg)

https://pantip.com/topic/36205519 (https://pantip.com/topic/36205519)



กระทู้: สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 24, 14:48
ย้อนนึกถึงสมัยนั้น  บ้านเมืองมืดมิดทุกหนทุกแห่ง  เสียงสัญญาณภัยดังไม่เว้นแต่ละคืน   พ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายายต้องจูงกันหลบภัยในหลุมมืดสนิท   เป็นสภาพน่ากลัวที่คนอายุต่ำกว่า 80 นึกไม่ออก
ก็ขออย่าให้บ้านเมืองเราต้องเจอสถานการณ์เลวร้ายอย่างนี้อีกเลย

https://dusit.zoothailand.org/ewt_news.php?n_id=184