เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 16:26



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 16:26
กำลังเล่าเรื่องพราหมณ์กันอยู่ใน กระทู้ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี   
คุณหลวงมาขอให้ตั้งกระทู้ เล่าถึงฝรั่ง
ก็ได้ค่ะ
เปิดเวทีให้แล้ว   ใครจะเริ่มรำเบิกโรง  ก็เชิญตามสบาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 23:12
ความคิดแรกที่เข้ามาก็คือ  อุศเรน   ฝรั่งผู้คนไทยยืมชื่อมาใช้เรียกชื่อหมวกทหารเรือฝรั่งโบราณ

เครื่องแบบทหารเรือฝรั่งใครใส่แล้วก็หล่อไปหมด

พระบิดาของอุศเรนได้ขอหมั้น นางสุวรรณมาลีไว้ให้ลูกชาย  ในการนี้ก็หวังได้เมืองผลึกมากองทุนเพราะท้าวสิลราชกลัวนางมณฑามากจึงมีลูกคนเดียว

เมื่อท้าวสิลราชกับธิดาหายไป  นางมณฑาก็ทำสิ่งที่แปลกประหลาดมาก  คือไปขอคู่หมั้นของลูกสาวมาครองเมือง

อุศเรนรำพันว่า

เสียสวาทมาดหมายเหมือนวายวาง                             จะตามนางกว่าจะพบประสบกัน


แสดงว่าอุศเรนเป็นสุภาพบุรุษ   ไม่ได้หวังสมบัติคู่หมั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 23:46
อุศเรนได้รับพระอภัยติดเรือมาด้วยจากเกาะแห่งหนึ่ง
เมื่อเจอกับสินสมุทรก็พยายามขอนางสุวรรณมาลีคืน
สินสมุทรไม่ยอม  เพราะรักนางสุวรรณมาลีจริง อยากได้เป็นแม่
สินสมุทรจับอุศเรนได้  พระอภัยมณีขอโทษแทน

อุศเรนตามตีสินสมุทรอีก  ถูกปืนเข้าที่ขา ขาหัก

อุศเรนเสียดายนางสุวรรณมาลีมาก  รู้ว่าถ้าปล่อยมือก็เสร็จพระอภัยแน่นอน

ทหารฝรั่งอยากกลับบ้านเต็มทนแล้ว  อาหารการกินก็คงไม่สมบูรณ์ คงเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันไปโดยถ้วนหน้า
จึงพูดจาให้อางขนาง

อันรูปทรงองค์พระอภัยมณี                             ดูท่วงทีเธอทายาดชาติเจ้าชู้
อนึ่งนางอ้างเอาเขาเป็นผัว                             เหมือนหญิงชั่วช่างกระไรไม่อดสู
ทั้งลูกเขาเข้าสนิทข้าคิดดู                              คงเป็นชู้กันเสียแล้วไม่แคล้วเลย
พระเป็นคู่สู่ขอนางก็รับ                                 มากลายกลับแกล้งอยู่กับชู้เฉย
พระอภัยใช่เช่นเป็นกระเทย                            จะละเลยไว้หรือนานจนป่านนี้



     เสนาฝรั่งคนนี้ใช้มาตราฐานหญิงในลังกาเข้าวัดความประพฤติราชธิดาเมืองผลึกได้ง่ายไปหน่อย
อุศเรนเลยยอมกลับบ้าน

เสนาร่ายต่อว่า

แม้นนงลักษณ์รักพระองค์เหมือนทรงรัก                ควรสมัครแลกชีวิตรไม่คิดหนี
จะมาม้วยด้วยนางเหมือนอย่างนี้                       จะเป็นที่ครหาในสามัญ ฯ


คุณเพ็ญคะ   สามัญ ในที่นี้ แปลว่าอะไรคะ  ไม่แน่ใจว่า สามนต์ ที่แปลว่า รอบ ๆ หรือรอบข้างหรือไม่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 07:28
เมื่ออุศเรนกลับไปบ้านเมือง  รักษาตัว  แล้วกลับป่วยเป็นไข้ 
เวลาผ่านไป ๕ ปี  จึงรวบรวมทัพมหึมา  เรียกว่าศึกกษัตริย์
ทหารเกณฑ์ ๕ แสน
กองหลังรั้งท้าย  หลายแสน
โอ้โฮ...ใครรับหน้าที่ส่งเสบียงคงแบกภาระหนัก

ในการรบฝ่ายฝรั่งและแขกพ่ายแพ้    นางวาลียิงเกาทัณฑ์(ไม่ทราบไปหัดมาจากไหน)ถูกพระเจ้าลังกา สามดอก
ที่สำคัญคือแขนขวา

อุศเรนนั้นเรือโดนปืนใหญ่  ล่ม  อุศเรนก็ลงไปว่ายน้ำ
กองเรือพระอภัยที่เป็นทัพหนุนช่วยไว้ได้ เพราะพระอภัยจำเสียงอุศเรนได้
แสดงว่าอุศเรนคงร้องเสียงดังอยู่ในทะเล  ต้องร้องดังมากทีเดียว

เมื่อหนังสือ พระอภัยมณี พิมพ์แพร่หลายโดยครูสมิท
ภาพมหาอำนาจทางทะเลของฝรั่งอังกฤษที่แผ่อิทธิพลก็โดนลบไปไม่น้อยด้วยฝีมืออาลักษณ์ผู้ก้าวหน้า





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 08:00
พยายามคิดว่าทำไมอุศเรนถึงตายได้

อุศเรนเป็นเจ้าชายรัชทายาท  องอาจ มาด้วยความแค้น
หมายเอาเลือดเนื้อ
อยากตัดหัวพระอภัยและนางสุวรรณมาลีเปลี่ยนหัวกัน
อาการไข้คงยังมีอยู่เรื่อย ๆ  เมื่อลงไปแช่น้ำ อาการคงแย่
อายด้วย  อัปยศเพราะโดนจับมา
เสียยศเสียศักดิ์เป็นหนักหนา

คนโบราณนั้นความละอายเป็นเรื่องใหญ่

เมื่อโดนเยาะเย้ยจากนางวาลี จึงรากเลือดตาย
สงสัยว่าเส้นโลหิตในสมองแตก


กลอนพระอภัยมณีนั้นเป็นกลอนง่าย  สอนใจ
เรื่องยาวขนาดนั้นก็สอนไว้หลายสิบหลายร้อยแห่ง
คนอ่านก็ถูกอกถูกใจกันคนละหลาย ๆ บท

กลอนตอนนี้ืี่ชอบคือ  "แสนระกำช้ำอกเหมือนตกเหว"
ได้ข่าวว่ามีหนังสือหายากหลุดออกมา  แล้วพลาดโอกาสได้อ่าน
ช้ำค่ะ
คุณหลวงเล็กคงเข้าใจ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 10, 09:10
กลอนตอนนี้ืี่ชอบคือ  "แสนระกำช้ำอกเหมือนตกเหว"
ได้ข่าวว่ามีหนังสือหายากหลุดออกมา  แล้วพลาดโอกาสได้อ่านช้ำค่ะ คุณหลวงเล็กคงเข้าใจ

เข้าใจครับ   เข้าใจดีทีเดียว  เพราะแต่ก่อนเป็นบ่อย  แต่กลอนของสุนทรภู่ยังไม่ซึมทราบเท่ากลอนในบทละครอิเหนา  ร. ๒ ที่ว่า  " ฉุกใจได้คิดสิการแล้ว    ดังดวงแก้วตกต้องแผ่นผา   ร้าวระยำช้ำจิตเจ็บอุรา   ประหนึ่งว่าจะวายชีวี "  เด๊ยวไม่ใคร่เป็นอย่างนี้แล้วครับ   เพราะถือว่า หนังสือเล่มนั้นวาสนาไม่ต้องกันกับเรา  คิดอย่างนี้แล้วสบายใจขึ้นครับ

เอ...ในพงศาวดารจีน  เคยมีเรื่องเยาะเย้ยจนรากเลือดตายบ้างไหมนี่   นึกออกแต่สามก๊กตอนจิวยี่เสียกลขงเบ้ง จนรากเลือดตาย :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 09:14
คุณเพ็ญคะ   สามัญ ในที่นี้ แปลว่าอะไรคะ  ไม่แน่ใจว่า สามนต์ ที่แปลว่า รอบ ๆ หรือรอบข้างหรือไม่

คำว่า สามัญ ในความหมายปัจจุบันแปลว่า ปรกติ, ธรรมดา คำ ๆ นี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า สามานฺย คำว่าสามานย์นี้มีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือเลวทรามต่ำช้า บางทีสุนทรภู่อาจนึกถึงความหมายที่สองนี้

ศัตรูตัวจริงของอุศเรนไม่ใช่พระอภัยมณีแต่นางวาลี เพราะท่านเป็นสุภาพบุรุษจับได้แต่ไม่ฆ่าเพราะนึกถึงคติที่ว่า บุญคุณต้องทดแทน

นางวาลีเตือนสติพระอภัยมณี เริ่มต้นด้วยสุภาษิตที่เรารู้จักกันดี 

ประเวณีตีงูให้หลังหัก            มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง      เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า      ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย   จะทำภายหลังยากลำบากครัน
จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ      ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ        นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการ

ขอเชิญคุณวันดีไปแนะนำตัวคุณวาลีต่อที่กระทู้พระอภัยหมายเลข ๑

 ;D
 
 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 13:46
เห็นใจอุศเรน  ไม่ได้ทำผิดตั้งแต่ต้นจนจบ  เป็นผู้ชายดี ซื่อสัตย์ต่อคู่หมั้น   เป็นชายชาติทหารด้วย
ถูกจับเป็นฝ่ายศัตรู  และพ่ายแพ้ไปง่ายๆ
ทั้งๆพระอภัยมณี นั่นแหละ ฝ่ายผู้ร้ายตัวจริง   แย่งทั้งคู่หมั้น แย่งทั้งเมือง
 
สงสัยขึ้นมาว่าอุศเรนแต่งตัวแบบไหน เลยไปค้นยูนิฟอร์มนายพลสมัยศตวรรษที่ ๑๘ มาได้สองรูป
ขอส่งให้ดูกันว่าใช่หรือไม่  ขอผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 14:34
บันทึกหัวใจ...เจ้าชายอุศเรน
http://arshura09.exteen.com/20060430/entry

....โดยไม่คาดคิดว่าความวิปโยคครั้งที่ ๒ ...จะเกิดขึ้นกับผมในเวลาต่อมา เมื่อ สุวรรณมาลี ปฏิเสธการแต่งงานกับผมอย่างไม่มีเยื่อใยด้วยเหตุผลที่ผมแทบหัวใจสลายว่าเธอไปรักผู้ชายอื่นแล้ว และชายคนนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือคนที่เธอคนนั้นจงรักที่สุด พระอภัยมณี

ชายคนนั้น...หักหลังเพื่อนอย่างผมได้ลง ผมทั้งเจ็บทั้งแค้นจนต้องยกทัพมาเพื่อแย่งชิงของผมคืน เหนือสิ่งอื่นใดผมอยากถามเขาว่าทำไมถึงทำกับผม...แบบนั้นได้ แต่แล้วแทนที่ผมจะได้คำตอบผมกลับสูญเสียกองทัพทั้งหมดไปพร้อมกับบิดาที่เคารพรักยิ่งและอิสรภาพของตัวเอง ระหว่างถูกคุมขังผมเฝ้าคิดถึงวันคืนเก่า ๆ อยู่เสมอ วันคืนที่เคยมีความสุขจนถึงวันนี้ที่ความคั่งแค้นสุมหัวใจผมจนทำลายร่างกายผมทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ผมรู้ชีวิตผมใกล้ถึงจุดจบแล้ว ก่อนที่สติผมจะขาดลง ในใจผมแค้นผู้หญิงคนหนึ่งที่ทิ้งผมไปอย่างที่สุด....

อ่านแล้วสงสารเจ้าชายอุศเรนจับจิตจับใจ

 :(








กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 14:49
 :'(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ม.ค. 10, 16:53
ขอคั่นความเศร้าด้วยเรื่อง   ฝรั่งอังกฤษคุกคามเอเชีย ครับ

         คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เสนอความคิดว่า พระอภัยมณีเป็นนิทานคำกลอนต่อต้านการล่าอาณานิคมของอังกฤษ
ในรัชสมัยควีนวิคตอเรีย (ที่คุณสุจิตต์ว่าคือ นางละเวง) ด้วยการเสนอแนวคิด make love, not war
ความโดยตัดต่อมีว่า
          
         เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีตอนบวชเป็นพระอยู่วัดเทพธิดาราม ราว พ.ศ.2376
(ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3) ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุราว 47 ปี (บวชเมื่ออายุ 38 ปี)

         ส่วนอังกฤษนั้นยึดครองอินเดียตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาแล้วยึดครองลังกาเป็นอาณานิคม ตั้งแต่ พ.ศ.2338
ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ขณะที่สุนทรภู่อายุ 9 ขวบ (เกิด พ.ศ.2329)
        อังกฤษยังได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมลายูสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มด้วยการเช่าเกาะหมาก (ปีนัง)
แล้วพยายามขยายไปที่อื่นๆ อีกล้วนเป็นอันตรายต่อกรุงสยามทั้งนั้น
          อังกฤษสั่งกองทัพยึดเมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ.2368
      
        พฤติกรรมล่าเมืองขึ้นของอังกฤษด้วยการสงครามเป็นที่รับรู้ในหมู่คนชั้นนำของกรุงสยามตั้งแต่แรก
สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
        จนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ซึ่งเป็นปราชญ์ราชสำนักในรัชกาลที่ 2 มาก่อนก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจ เลยจินตนาการสร้าง
เป็นนิทานกลอนขึ้นมาชื่อพระอภัยมณี ใช้ปี่เป็นสัญลักษณ์ของวิชาความรู้ให้แก้ปัญหาด้วยปัญญา ด้วยสันติภาพ
ในลักษณะเดียวกับคำขวัญของคนรุ่นต่อต้านสงครามเวียดนามว่า make love, not war

          ผู้ร้ายในพระอภัยมณีคือโจรสุหรั่ง สุนทรภู่ระบุให้เป็นอังกฤษ
เมืองลังกาในเรื่องพระอภัยมณีคือเกาะลังกาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้สุนทรภู่วางตัวละครในลังกาเป็น "ฝรั่ง" ชาวยุโรป
มีกษัตริย์เป็นผู้หญิงเหมือนพระราชินีวิคตอเรียของอังกฤษ

           พอมีเวลา ได้ค้นวิกิ ดูการขยายอำนาจล่าอาณานิคมของอังกฤษในยุคนั้นมาแสดง ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ม.ค. 10, 16:55
        เริ่มจากควีนวิคตอเรีย (1819 – 1901 ตรงกับ พ.ศ. 2362 - 2444) ขึ้นครองราชย์ในปี 1837 -พ.ศ. 2380
        ทรงเป็นมหาราชินีแห่งยุคที่อังกฤษ British Empire ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปกว้างไกลสุดไพศาล
กลายเป็นจักรวรรดิที่ตะวันไม่ตกดิน
          รัชสมัยของพระนางตรงกับช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า Britain's imperial century
(1815–1914 คือ พ.ศ. 2358 -2457)
        ช่วงศตวรรษนี้ จักรวรรดิอังกฤษได้ครอบครองพื้นที่เพิ่มเติมอีก 10,000,000 ตร.ไมล์ (25,899,881 ตร.กม.)
และประชากรในดินแดนนั้นซึ่งมีจำนวนประมาณ 400 ล้านคน

        ก่อนหน้านั้น เมื่อปลายศตวรรษที่ 16 อังกฤษร่วมกับเนเธอร์แลนด์ก่อการท้าทายการผูกขาดการค้าของโปร์ตุเกสในเอเชีย
โดยการก่อตั้งบริษัท  English, ต่อมาเป็น British, และ Dutch East India Companies
ในปี 1600 - พ.ศ.2143 และ 1602 - พ.ศ. 2145 ตามลำดับ

         ( Indies - ดินแดนแถบ South and Southeast Asia
          คำ "Indies" มาจากชื่อแม่น้ำ  Indus ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน Pakistan.)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ม.ค. 10, 16:57
          บริษัทจัดดำเนินการค้าเครื่องเทศแถบ Indonesia โดยมี hub ของเครือข่ายการค้าอยู่ที่ India  
ต่อมาเกิดการขัดผลประโยชน์ระหว่างงสองชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
           เนเธอร์แลนด์คุมการค้าเครื่องเทศที่ Indonesia เป็นหลัก ส่วนอังกฤษเพลิดเพลินกับการกอบโกย
 ในอินเดียหลังการสร้างโรงงานขึ้นที่ Surat ในปี 1613 - พ.ศ. 2156  
           อินเดีย ที่ซึ่งราชวงศ์ Mughal ได้ทรงมอบสิทธิการค้าให้อังกฤษในปี 1617 - พ.ศ. 2160
จึงเป็นฐานที่มั่นในการแผ่ขยายอิทธิพลของอังกฤษ
        ความขัดแย้งของสองชาติยุติลงเมื่ออังกฤษตกลงแบ่งผลประโยชน์กับเนเธอร์แลนด์ ฝ่ายหลังได้แหล่งเครื่องเทศ
ที่ Indonesia ไป ส่วนอังกฤษครอบครองอุตสาหกรรมสิ่งทอในอินเดียที่ทำกำไรให้อย่างมากมายเหนือการค้าเครื่องเทศ

         เมื่อราชวงศ์เสื่อมอำนาจลง อังกฤษได้ทำสงครามกับคู่แข่ง-ฝรั่งเศส โดยฝ่ายอังกฤษมีชัยเหนือฝรั่งเศสและ
พันธมิตรอินเดียในปี 1757 - พ.ศ. 2300 ส่งผลให้อังกฤษได้ครอง Bengal และมีอำนาจทั้งทางการทหารและการเมือง
ในอินเดีย
           ช่วงเวลาทศวรรษต่อมา อังกฤษค่อยๆ ขยายอาณาเขตปกครองโดยการสนับสนุนกำลังจากกองทหาร British Indian Army
ที่มีไพร่พลส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมือง Indian sepoys

       ถึงปี 1856 - พ.ศ. 2399 ชมพูทวีปเกือบทั้งหมดก็อยู่ภายใต้การควบคุมของ British East India Company
       บริษัทพิชิตอินเดียสำเร็จสมบูรณ์ในปี 1857 - พ.ศ. 2400 แต่ต่อมาในปีเดียวกันเกิด Indian Rebellion
ที่นำไปสู่การสิ้นสุด East India Company และ  India ถูกปกครองโดย British Raj (ปกครองอินเดียต่ออีกร่วมร้อยปี
ระหว่าง ค.ศ. 1858 - 1947 - พ.ศ. 2401 - 2490)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ม.ค. 10, 17:01
          นอกจากนี้ East India Company ซึ่งเป็นตัวการแผ่ขยายอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย
โดยการร่วมมือระหว่างกองทัพของบริษัทกับกองเรืออันเกรียงไกร ยังได้เผด็จศึกและขับ Napoleon
ออกจาก Egypt (1799 พ.ศ. 2342)  ยึดชวามาจาก Netherlands (1811 - พ.ศ. 2354)
ครอบครอง  Singapore (1819 - พ.ศ. 2362) และ  Malacca (1824 - พ.ศ.2367) แล้ว
พิชิต Burma (1826 - พ.ศ. 2369)
          จากฐานที่มั่นอินเดีย บริษัททำการค้าฝิ่นในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ทศวรรษ 1730 - พ.ศ. 2273
ซึ่งนำไปสู่สงครามฝิ่นในปี 1839 - พ.ศ. 2382 และจบลงที่อังกฤษได้เกาะฮ่องกง

          ส่วนลังกานั้นเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญมาแต่โบราณ เรือสินค้าล่องมาสู่ทั้งจากตะวันออกกลาง เปอร์เซีย
และจากแถบอุษาคเนย์ มีพ่อค้าจากอาหรับและมาเลย์เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่วนชาติตะวันตกนั้นมีโปร์ตุเกสเข้ามาก่อน
ในปี 1505 - พ.ศ. 2048 แล้วตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ในศตวรราที่ 17
           British East India Company เข้ายึดครองลังกาในปี 1796 - พ.ศ. 2339 และประกาศเป็น
Crown Colony (อาณานิคมซึ่งปกครองโดย governor แต่งตั้งโดย  Crown) ในปี 1802 - พ.ศ. 2345


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 22:18
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ
สยาม ตระหนักถึงภัยจากมหาอำนาจล่าอาณานิคมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓    เห็นได้จากพระปัจฉิมดำรัส ก่อนเสด็จสวรรคต

 "การศึกสงคราม ข้างญวณกับพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด  ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว "

ฝรั่งร้ายสุดในเรื่อง เห็นจะเป็นสังฆราชบาทหลวง    ส่วนนางละเวง  น่าจะเป็นนางเอกตัวจริงของพระอภัยมณี  บทเธอมากกว่าเพื่อน และมีรสชาติที่สุดด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 10, 00:08
ที่บ้าน สิกคารนำ(แปลว่าเขาเขียว)  มีบาดหลวงปีโป เป็นหลักบ้าน

มีสำนักอยู่ข้างทางเดิน   รับสอนหนังสือให้กับลูกชาวบ้าน
  
     เรียนวิชาไตรดาโหราดี                ตามบาลีเพศฝรั่งชาวลังกา


เมื่อวันอาทิตย์ก็มาประชุมกัน

ท่านปีโปดูดาว  แล้วหัวร่อ       ศิษย์ถามว่าเรื่องอะไร

      เราดูดาวเจ้าประเทศเขตลังกา         ไม่มีข้าคนเที่ยวอยู่เดียวดาย
อันดวงดาวเจ้าผลึกเป็นศึกสู้                 กลับร่วมรู้รักกันขันใจหาย

พอพูดขาดคำก็มีเสียงกาบอกข่าว  อูฐลาม้าร้องตาม ๆ กัน      บาดหลวงปีโปรู้ตำราภาษาสัตว์  ทราบว่า
สัตว์ทั้งปวงคอยจะต้อนรับเจ้าแผ่นดิน

ตำราสัตว์บอกข่าวไทยเราดูจะมีเรื่องสุนัขและแมว



     ในตำราว่าโจรตามมาด้วย               ท่านจงช่วยป้องกันให้ผันผาย
ได้อาศัยในแผ่นดินทำกินสบาย               ทั้งหญิงชายฉลองคุณอย่าสูญใจ


มีกองโจรอยู่ในป่า  นายโจร ๓๕ คน  กะลาสี สามพันสอง      เจอนางละเวงก็ไล่กวดมา
อาวุธในมือนางคือ พระแสง และเกาทัณฑ์           ตราพระราหูนั้นป้องกันคมหอกคมดาบไว้ได้

ชาวบ้านสิกคารนำได้ออกมาต่อสู้กับโจรและไล่โจรไปได้

คิด ๆ ดู  ชาวบ้านต้องพากันมาจำนวน สามเท่าของโจร  ไม่งั้นโจรไม่ถอย


นางละเวงได้ไปค้างที่วัด    แต่บาดหลวงหลบ
วันรุ่งขึ้นจึงได้พบ   นางละเวงได้ขอเด็กกำพร้า ยุพาผกา และ สุลาลีวันมาด้วย
บาดหลวงก็เขียนหนังสือให้สองสาวเก็บไว้เป็นอุบายศึก

คงสองฉบับ
นางทั้งสองก็ใส่มือเสื้อไว้   ขอบอกว่ามาจากพงศาวดารจีนอีกนั่นแหละค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 10, 00:23
บาดหลวงปีโป ไม่อยากไปกับนางละเวง


     บาดหลวงว่าอย่าประมาทชาติกษัตริย์                   เหลือจำกัดกลความตามวิสัย
เมื่อดีเย็นเช่นมหาชลาลัย                                      โกรธเหมือนไฟฟุนฟอนให้ร้อนทรวง
แล้วเรารู้อยู่ว่านางแต่ปางหลัง                                 ถือพระสังฆราชผู้บาดหลวง
ได้ฝึกสอนรอนราญการทั้งปวง                                 จะไปช่วงชิงรู้เหมือนดูเบา

เมื่อยามดีมิได้พึ่งครั้นถึงยาก                                   จะพลอยรากเลือดตายต้องอายเขา
ถึงแม้องค์นงลักษณ์จะรักเรา                                    พวกคนเก่าเขาคงกันด้วยฉันทา

หนึ่งอำมาตย์ชาติสอพลอทรลักษณ์                             เห็นเจ้ารักชวนกันคิดริษยา
คอยยุยงลงโทษโจทนา                                           ไม่รู้ว่าใจนางจะอย่างไร


สุนทรภู่มีประสบการณ์ตรงมาแล้ว  ไม่อยากให้บาดหลวงปีโปฝ่าพงหนาม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 10, 00:34
ชาวบ้านได้เตรียมรถม้าแก้วไว้เชิญเสด็จ

รถม้าเทศลังกาฝากระจก                             เทียมม้าหกคู่ชักเหมือนจักรหัน


การหาม้าเข้าเทียมคู่หกไม่ใช่เรื่องง่าย
คงต้องฝึกหัดอยู่ร่วมปี


บาดหลวงปีโปได้วานสตรีชาวบ้านให้นำจดหมายไปให้ยุพาผกาและสุลาลีวรรณครั้งหนึ่งในการรบครั้งสุดท้าย


บทบาทของนักปราชญ์ก็ไม่ปรากฏอีก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 15 ม.ค. 10, 06:44
เห็นคุยกันถึง "อุศเรน"

ผมสงสัยมานานแล้วครับว่า ชื่อนี้ น่าจะมาจากชื่อฝรั่งว่าอะไร หรือ จะแปลงมาจากชื่อแขกว่า Hussein ?  ;D

หรือชื่อฝรั่งเศสว่า Arsène ? ???





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ม.ค. 10, 09:40
สุนทรภู่อาจไม่ได้เอาชื่อ อุศเรน มาจากชื่อฝรั่งก็ได้

สุนทรภู่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์ท่านก็ทรงเป็นทหารเรือ

อิศเรศ   ---->  อุศเรน ก็พอมีเค้าอยู่

ฤๅนี้คือสุภาพบุรุษอุศเรนตัวจริง

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ม.ค. 10, 09:48
สุนทรภู่อาจไม่ได้เอาชื่อ อุศเรน มาจากชื่อฝรั่งก็ได้

สุนทรภู่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์ท่านก็ทรงเป็นทหารเรือ

อิศเรศ   ---->  อุศเรน ก็พอมีเค้าอยู่

ฤๅนี้คือสุภาพบุรุษอุศเรนตัวจริง


อ้าว   จริงหรือนี่   นึกว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นศรีสุวรรณเสียอีก  (รัชกาลที่ ๔ เป็น พระอภัยมณี)  แต่อุศเรนก็มีบทบาทเพียงช่วงสั้นๆในเรื่อง   ถ้าเช่นนั้นเป็นไปได้ไหมว่าสุนทรภู่ ท่านได้แยกบุคคลิกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสร้างเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งในเรื่องเดียวกัน  :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ม.ค. 10, 10:45
เป็นไปได้ไหมว่าสุนทรภู่ ท่านได้แยกบุคคลิกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสร้างเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งในเรื่องเดียวกัน  :-\

I think so.

คิดเล่น ๆ ว่าถ้าอุศเรนอยู่จนถึงมีบุตร สุนทรภู่อาจให้ชื่อบุตรอุศเรนว่า ยอชวอชิงตัน

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 10, 13:15
เยี่ยมยอด      คุณเพ็ญ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 10, 06:33
อิเรน  นายด่านดงตาล และคณะ

มาลี กปิตัน  คุมกองกำลังอยู่หลังเขา
มูรหุ่ม  คุมกองทหารชานเขา
บังอลู  ระวังอยู่ที่ลำนำ้คด

มีศิษย์ ชื่อ ยันตัง  ผิวดำ

ทั้งหมดนี้ สุนทรภู่ย้ำว่า ฝรั่ง

อิเรนอายุ ๖๔  ขี่สิงห์  ใช้ขวานเป็นอาวุธ   มีลูกสาวชื่อรำภาสะหรี  ผิวขาวราวสำลี


   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 10, 07:06
อิเรน กล้าหาญและเข้มแข็ง
หลังที่ได้รับบาดเจ็บที่ตา   พราหมณ์วิเชียร ยิง   นายหทารคิดว่าควรจะบอกไปทางเมืองหลวง ขอทหารมาช่วยรบ
อิเรนโกรธมาก

     ฝ่ายผู้เฒ่าเจ้าเมืองเคืองตะคอก                      อย่าเพ่อบอกเฟื่องฟุ้งถึงกรุงศรี
เราเป็นชายฝ่ายเจ้าเป็นสตรี                               ชีวิตมีมิให้องค์ออกสงคราม


เมื่อแรกอ่านพระอภัยมณี  อ่านอย่างเพลิดเพลินเจริญใจเป็นนิทาน     คำกลอนช่วยให้จำชื่อคน

สงสัยเพียงว่า ทำไมใช้เกาทัณฑ์ในการรบระดับประชิด
เรื่องจะขี่สิงห์นั้น ไม่เคยติดใจ  เชื่อสนิท


สงสัยว่า ใช้ขวาน ในการรบบนหลังสิงห์ได้อย่างไร

อาวุธสั้นถึงปานนั้น


เรื่องที่สงสัยจริง ๆ คือเรื่อง บอก  หรือ ใบบอก  ซึ่งจะต้อง รายงาน(หรือบอก)เข้ามายังเมืองหลวง
เมื่อมีเรื่องสำคัญเกืดขึ้น


ได้อ่าน จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ไม่กี่ปีมานี่เอง
ทราบซึ้งในราชกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขนาดอ่านยังเหนื่อย)
ท่านรับสั่งถามถึงความคืบหน้าของกองทัพและการเดินทางอยู่ตลอดเวลา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 10, 07:21
รำภาสะหรี  ได้ กับ ศรีสุวรรณ  ด้วยความเต็มใจของศรีสุวรรณ แทบไม่ต้องใช้เวทมนต์
มีโอรสชื่อ วลายุดา  ผิวเหลืองเรืองรอง

ต่อมารำภาสะหรีใช้ขวานเป็นอาวุธ

เป็นคนกล้าหาญ  คิดเร็ว  กตัญญูต่อนางละเวง




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 10, 07:38
รำภาสะหรี นั้น  ดูท่านสุนทรภู่ จะหมั่นไส้ อยู่หน่อย ๆ
เมื่อเปิดตัว

มีลูกสาวขาวล้ำดังสำลี                           อายุยี่สิบสลวยสวยโสภา
ไม่มีผัวกลัวที่จะมีลูก                              ต้องกินหยูกยาฝาดไม่ปรารถนา


คุณเพ็ญชมพูคะ   คุณหลวงคะ    ยาฝาดนี่ กินเพื่ออะไรคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ม.ค. 10, 08:51
รำภาสะหรี นั้น  ดูท่านสุนทรภู่ จะหมั่นไส้ อยู่หน่อย ๆ
เมื่อเปิดตัว

มีลูกสาวขาวล้ำดังสำลี                           อายุยี่สิบสลวยสวยโสภา
ไม่มีผัวกลัวที่จะมีลูก                              ต้องกินหยูกยาฝาดไม่ปรารถนา


คุณเพ็ญชมพูคะ   คุณหลวงคะ    ยาฝาดนี่ กินเพื่ออะไรคะ

ยาฝาด ในที่นี้อาจจะตีความได้ ๒ ทาง คือ หนึ่ง  หมายถึงยาชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า ยาฝาด   ซึ่งคงมีรสฝาด   จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อ   หรือ สอง  หมายถึง ยาอะไรก็ไม่ทราบ อาจหมายถึงยาทั่วไป ที่มีรสฝาด  (โปรดสังเกตว่า ใช้คำว่า หยูกยาฝาด  ไม่ใช่ ยาฝาด)  แต่โดยรวมน่าจะหมายเอายาที่มีรสฝาด   รสฝาดของยาไทย  ตามตำราดบราณท่านว่า  มีฤทธิ์ช่วยสมานแผลให้หายหรือสนิทเร็วขึ้น  และรสฝาดยังช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย   การที่ให้สตรีรับประทานยาฝาดก็คงมุ่งหมายที่จะช่วยรักษาแผลช่องคลอดอันเกิดจากการคลอดบุตรและช่วยฆ่าเชื้อโรคอันจะเกิดหรือติดมาในระหว่างการทำคลอด   เป็นภูมิปัญญาคนไทยสมัยก่อน   (ทั้งหมดเป็นการสันนิษฐานนะครับ  เพราะเป็นผู้ชายเลยไม่ใคร่รู้เรื่องผู้หญิงสักเท่าไร) ;D

เรื่องที่สงสัยจริง ๆ คือเรื่อง บอก  หรือ ใบบอก  ซึ่งจะต้อง รายงาน(หรือบอก)เข้ามายังเมืองหลวงเมื่อมีเรื่องสำคัญเกืดขึ้นได้อ่าน จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ไม่กี่ปีมานี่เอง ทราบซึ้งในราชกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขนาดอ่านยังเหนื่อย) ท่านรับสั่งถามถึงความคืบหน้าของกองทัพและการเดินทางอยู่ตลอดเวลา

เรื่องใบบอก  สมัยก่อน  เมื่อขุนนางหัวเมืองจะทำเรื่องเข้ามาแจ้งให้ทางเมืองหลวงทราบ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนิดใด  ท่านจะให้เสมียนเขียนข้อราชการที่จะแจ้งนั้นลงกระดาษเพลา เขียนยาวเท่าไรไม่ว่า  แผ่นเดียวไม่จบ ก็เอาอีกแผ่นมาต่อเข้า เขียนจบข้อความแล้วให้เจ้าเมืองลงชื่อประทับตราหัวแหวน  จากนั้นม้วนใบบอกนำบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดกระบอกไม้ไผ่(ตรงนี้ไม่ทราบว่าปิดด้วยอะไร)แล้วหยดครั่งประทับตราที่กระบอก  จากนั้นก็ส่งให้คนเดินสารนำเข้ามาที่เมืองหลวง  ทั้งนี้สุดแต่ว่าหัวเมืองที่ส่งใบบอกนั้นขึ้นอยู่กับกรมมหาดไทย หรือกรมพระกระลาโหม หรือกรมท่า  ก็ให้นำใบบอกนั้นไปส่งที่ขุนนางที่มีหน้าที่รับหนังสือบอกกรมนั้นๆ  เมื่อกรมเหล่านั้นรับหนังสือแล้ว  ก็จะพิจารณาดูที่กระบอกว่ามีรอยแกะออกก่อนมาถึงที่กรมหรือไม่   ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จัดแจงแกะตราผ่ากระบอกนั้น   เอาใบบอกไปเรียนเสนาบดีที่กำกับดูแลกรมนั้นๆ ให้ทราบ  ถ้าเป็นราชการทั่วไป  เสนาบดีก็ให้เสมียนคัดเอาแต่ใจความใบบอกนั้นลงสมุดไทยสำหรับเสนาบดีนำติดตัวไปเข้าเฝ้าฯ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง   ถ้าเป็นใบบอกราชการสำคัญ เช่น ราชการทัพ  ข่าวกบฏ  นอกจากจะคัดใจความใบบอกลงสมุดเสนาบดีแล้ว  บางทีเสนาบดีอาจจะต้องนำใบบอกนั้นติดตัวไปในเวลาเข้าเฝ้าฯ ด้วย   เผื่อว่าจะมีรับสั่งเรียกทอดพระเนตร 

อนึ่งใบบอกหัวเมืองที่อยู่ไกลจากพระนครมากๆ อย่างทางหัวเมืองปักษ์ใต้  ต้องอาศัยเรือที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงช่วยนำใบบอกมาส่งให้   บางทีการเดินทางข่าวสารอาจจะล่าช้าไป ไม่ทันการ  และเจ้าเมืองอาจจะไม่ได้ส่งข่าวมาต่อเนื่อง  กรมท่าจึงต้องสอบถามข่าวคราวหัวเมืองปักษ์ใต้จากเรือสินค้าที่มาจากปักษ์ใต้เพื่อนำความกราบบังคมทูลได้เมื่อมีรับสั่งถาม   อย่างกรณีจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี  ที่แสดงให้เห็นการติดต่อสื่อสารและการหาข่าวสมัยก่อน  ก็คิดดูว่า ราชการต่างๆ เดินทางกลางวัน  พอตกค่ำ  พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จออกว่าราชการไปจนดึกดื่นค่อนคืน   ถ้ามีราชการทัพหรือสงครามบางทีก็ล่วงถึงเช้ามืดวันใหม่ทีเดียว  พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงราชการเวลาดึก  ผิดกับขุนนางที่ทำราชการที่ราชการกลางวัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 10, 11:03
สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอังกฤษยังอยู่ในขั้นร้อนระอุ สิงโตอังกฤษจะตะปบช้างน้อยสยามเสียเมื่อไรก็ไม่รู้

เรื่องพระอภัยมณีนี้อาจเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งได้ว่า ศึกเมืองผลึก-ลังกา โดยเมืองผลึกเป็นตัวแทนสยาม ส่วนลังกานั้นคืออังกฤษ พระอภัยมณีเป็นตัวแทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นางละเวงวัณฬาคือควีนวิคตอเรีย

ในความเป็นจริงนั้นสยามมิอาจหาญต่อกรอังกฤษแม้แต่น้อย   เรื่องพระอภัยมณีประดุจดั่งความฝันของสุนทรภู่ที่หมายพลิกสถานการณ์ในชีวิตจริงให้กลับสู่อีกด้านหนึ่ง พระอภัยมณี (รัชกาลที่ ๔) ยกทัพเมืองผลึก (สยาม) ไปโจมตีลังกา (อังกฤษ) จนถึงถิ่น ได้รับชัยชนะ ทั้งยังได้นางละเวง (ควีนวิคตอเรีย) มาเป็นพระมเหสีเสียอีก

เป็นการ แปลงสนามรบให้เป็นสนามรัก

 ;D




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 10, 11:39
เหตุการณ์จริงไม่อิงนิยาย

พระยามนตรีสุริวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูตสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าเฝ้าฯถวายราชสาสน์สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ณ พระราชวังวินเซอร์ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๐

ภาพวาดสีน้ำมันไม่ปรากฏนามศิลปิน จากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก ๑ หน้า ๓๗ 
 
 

 
 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 10, 15:55
ละเวงวัณฬาขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชันษา ๑๖ ปี

นางถือตราราหูคู่พระ                เพช็รรัตนรุ้งพร่างสว่างไสว
ทรงกระบี่มีโกร่งโปร่งเปลวไฟ       จึงปราไสเสนาบรรดามี
เราขอบคุณขุนนางต่างตำแหน่ง     ช่วยตบแต่งให้บำรุงซึ่งกรุงศรี
อายุเราเล่าพึ่งได้สิบหกปี            เป็นสตรีไม่ชำนาญการสงคราม

ใกล้เคียงกับควีนวิคตอเรีย (พระชันษา ๑๘ ปี)

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 10, 09:20
เอ...แต่ในเรื่องพระอภัยมณี  ตอนที่นางละเวงขึ้นปกครองบ้านเมืองต่อจากพระราชบิดาอยู่ตอนต้นๆ เรื่อง   ซึ่งสุนทรภู่น่าจะแต่งขึ้นก่อนที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี ๒๓๘๐   ปัญหาคือ  ตกลงสุนทรภู่เริ่มแต่งพระอภัยมณีตั้งแต่ปีใด  แต่งต่อเนื่องหรือไม่  และปีที่ท่านน่าจะแต่งเรื่องนี้จบตกประมาณปีใด ??? :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 09:57
พิมพ์เสร็จ ส่ง ข้อความหายหมด ไม่เข้ากระทู้
ต้องมาพิมพ์ใหม่    บอกไว้เพื่อเตือนสมาชิกว่าควร copy ไว้ก่อนส่ง นะคะ

อ้างถึง
ปัญหาคือ  ตกลงสุนทรภู่เริ่มแต่งพระอภัยมณีตั้งแต่ปีใด  แต่งต่อเนื่องหรือไม่  และปีที่ท่านน่าจะแต่งเรื่องนี้จบตกประมาณปีใด  

สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ในรัชกาลที่ ๓  (๒๓๖๗-๒๓๙๔)  เมื่ออยู่นอกราชการ   มีเวลาว่างพอจะแต่งกลอนนิทานขนาดยักษ์ได้  และคงเพื่อหาเลี้ยงชีพอีกต่างหาก
ส่วนเริ่มเมื่อไร  ก็เดาแบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้าท่านได้แบบนางละเวงมาจากควีนวิคตอเรีย  ท่านก็ต้องแต่งหลังพ.ศ. ๒๓๘๐  ซึ่งเป็นปีควีนขึ้นครองราชย์    ข่าวว่านางกษัตริย์ครองแผ่นดินคงแพร่มาถึงสยาม หลังปีนั้น
อันที่จริงพระราชินีครองบัลลังก์อังกฤษ มีหลายองค์มาก่อนหน้าควีนวิคตอเรียน     สุนทรภู่อาจได้ยินเรื่องควีนเอลิซาเบธ ควีนแอนน์  มาก่อนก็เป็นได้ (บอกให้เขวไปได้อีก)  ;)

อยากจะแกะรอยคำบรรยายภาพนางละเวง เมื่อเปิดตัว   ว่า "ทรงกระบี่มีโกร่งโปร่งเปลวไฟ" เป็นภาพมาจากควีนฝรั่งองค์ใด    
กระบี่มีโกร่งนั้นพอนึกออกว่าเหมือนกระบี่นายทหาร  โปร่งเปลวไฟ คือลายบนด้ามกระบี่    
ตอนนี้ยังนึกไม่ออกค่ะ

ชื่อ พระอภัยมณี ปรากฎอ้างอิงใน รำพันพิลาป ที่สุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งบวชพระ  

จะสึกหาลาพระอธิษฐาน
โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ
เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น

ถ้าเชื่อว่า นางฟ้าชื่อ"โฉมเทพธิดามิ่งมารศรี" ที่เอ่ยถึงใน รำพันพิลาป    หมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ    ก็แปลว่ารำพันพิลาปแต่งก่อนพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๓๘๘  
เพราะมีการอ้างถึงพระอภัยมณีศรีสุวรรณ  แล้ว
สรุป ก็คือเริ่มแต่งเรื่องพระอภัยมณี ก่อนปี ๒๓๘๘ 

และน่าจะแต่งจบตอนปลายรัชกาลที่ ๓   หรือต้นรัชกาลที่ ๔  เมื่อท่านกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถามว่าแต่งต่อเนื่องไหม    ดูจากเนื้อเรื่อง น่าจะต่อเนื่อง   เพราะสุนทรภู่ผูกปมไว้เป็นช่วงๆ  ให้คลี่คลาย   
ดูจากโครงสร้างของเรื่อง   ในตอนต้น น่าจะจบได้ตอนพระอภัยครองเมืองผลึก   ศรีสุวรรณก็กลับไปเมืองรมจักร 
เป็นการจบการผจญภัยของเจ้าชายทั้งสอง
แต่พอเริ่มศึกลังกา-ผลึก  ทีนี้จบไม่ได้แล้ว  จนกว่าจะเสร็จศึก  สุนทรภู่สร้างตัวละครเพิ่มเยอะมาก  ทุกคนมีที่มาที่ไป
จึงจบไม่ได้จนกว่าจะหาทางจบให้ตัวละครทุกตัวเสียก่อน

พระอภัยมณี คงเป็นเรื่องฮิทติดอันดับมายาวนาน   ขนาดสุนทรภู่เลิกแต่งแล้ว ก็ยังมีภาคพิเศษที่ลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันแต่งต่อให้อีก  
แสดงว่าเรตติ้งดี ไม่ถอย  คนอ่านยังเรียกร้องอยู่เสมอ
เชิญค้านค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 10, 10:23
ขอบคุณคุณเทาชมพู ;D

เอ...(สงสัยอีกแล้ว)   ก็ถ้าต้นแบบการสร้างตัวละคร นางละเวง เป็นสมเด็จพระราชินีของอังกฤษจริง (ไม่ว่าจะเป็นพระองค์ใดก็ตาม)  มีคำถามต่อไปว่า  ถ้าเช่นนั้นเคยมีประวัติศาสตร์อังกฤษตอนใดก่อนหรือในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินสตรีของอังกฤษได้เสด็จออกรบด้วยพระองค์เองบ้างหรือไม่  ?  เท่าที่เคยทราบมา  ไม่น่าจะมี  (บังเอิญไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรตอนเรียนป.ตรีไว้ด้วย) 

ถ้าเช่นสามารถจะอนุมานหรือสันนิษฐานต่อไปได้หรือไม่ว่า   สุนทรภู่อาจจะเอาส่วนบุคลิกนักปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียหรือพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษที่เป็นสตรีพระองค์อื่น มาสร้างเป็นตัวละครนางละเวง  ส่วนบทบาทด้านการรบการสงครามของนางละเวง (อาจจะรวมไปถึงบทบาทด้านเดียวกันนี้ของตัวละครสตรีคนอื่นๆในเรื่องพระอภัยมณีด้วย)  สุนทรภู่อาจจะได้บุคลิกดังกล่าวมาจากแหล่งอื่น  เช่น จากพงศาวดารจีนลางเรื่อง  หรือ จากกรณีท้าวสุรนารี  เป็นต้น  เป็นไปได้ไหม   :-\ ??? 

ช่วงนี้  ไม่มีข้อมูลนำเสนอ   ตั้งใจจะมาตั้งคำถามอย่างเดียว :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 10:54
ราชินีอังกฤษที่ออกรบด้วยพระองค์เอง  คือควีน Boudicca (Boadicea)    แต่ว่าถอยหลังไปเป็นพันปี   ตั้งแต่ดินแดนอังกฤษยังไม่เป็น England  แต่เป็น Celtic  ถูกโรมันปกครองอยู่   
เผ่าของเธอชื่อ Iceni   ทำศึกต่อต้านโรมัน
ใครไปลอนดอน ก็อาจผ่านอนุสาวรีย์ของเธอ  ดังรูปที่นำมาลงให้ดู

อย่างไรก็ตาม   เรื่องมันนมนานมาก   ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เล่าแพร่หลายมาจนถึงสยามในรัชกาลที่ ๓   

ผู้หญิงที่รบทัพจับศึกเก่ง  ออกรบได้  มีทหารหญิงในสังกัด    ในพงศาวดารจีนต้นรัตนโกสินทร์มีค่ะ     
อย่างในสามก๊ก ก็คือซุนฮูหยิน น้องสาวของซุนกวน  นางได้เป็นภรรยาของเล่าปี่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 10:57
รูปวาดของควีนโบดิเซีย ตามจินตนาการยุคนี้  เหน็บกระบี่สั้นเสียด้วย แต่ไม่มีโกร่ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 11:08

สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ในรัชกาลที่ ๓  (๒๓๖๗-๒๓๙๔)  เมื่ออยู่นอกราชการ   มีเวลาว่างพอจะแต่งกลอนนิทานขนาดยักษ์ได้  และคงเพื่อหาเลี้ยงชีพอีกต่างหาก

เชิญค้านค่ะ

ขอยกมือค้าน

แนวคิดว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีเมื่อใดมีอยู่ ๒ ทางคือ รัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓

แต่นักวรรณคดีส่วนใหญ่ อาทิ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล พ.ณ.ประมวลมารค ลงความเห็นว่าเริ่มแต่งในรัชกาลที่ ๒ และแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓

พ.ณ.ประมวลมารคทรงชี้ชัดลงไปเลยว่าตอนที่แต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ คือตอนพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร เริ่มเรื่องเกาะแก้วพิสดาร

จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง  ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา
องค์อภัยมณีศรีโสภา               ตกยากอยู่คูหามาช้านาน
กับด้วยนางอสุรีนฤมิต             เป็นคู่ชิดเชยชมสมสมาน
ต้องรักใคร่ไปตามยามกันดาร     จนนางมารมีบุตรบุรุษชาย

ทรงวิจารณ์กลอนตอนนี้ว่า

มีลีลาแข็งกระด้างกว่าแต่ก่อนอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงเข้าลีลาเดิม ทั้งนี้ชวนให้เชื่อว่ามิได้แต่งในคราวเดียวกัน นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังเชื่อว่าสุนทรภู่คงได้แต่งตอนกำเนิดสินสมุทรไว้แต่ในรัชกาลที่ ๒ แล้ว แต่เป็นเรื่องค้างไม่เต็มเล่มสมุดไทย ครั้นเมื่อมาจับแต่งใหม่ของเก่าที่แต่งค้างหายไป จึงแต่งตอนนี้ใหม่อย่างย่อ ๆ ทีสันนิษฐานเช่นนี้เพราะตามเนื้อเรื่องตอนกำเนิดสินสมุทรน่าจะเขียนให้สนุกได้ไม่แพ้ตอนกำเนิดสุดสาคร มีผีเสื้อสมุทรครวญครางเจ็บท้อง พระอภัยมณีเป็นหมอตำแย ฯลฯ เทียบกับเมื่อนางเงือกคลอดสุดสาครมีพระฤๅษีเป็นกรรมการที่ปรึกษา มีแต่ปากพูดได้ก็พูดเอา ก็ควรจะขำพอ ๆ กัน แต่สุนทรภู่ตัดทิ้งหมด เข้าใจว่าเพราะเมื่อคิดเรื่องที่เกาะแก้วพิสดารได้แล้วก็อยากพาตัวละครไปสู่ฉากใหม่โดยเร็ว



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 11:14
อ้างถึง
ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าสุนทรภู่คงได้แต่งตอนกำเนิดสินสมุทรไว้แต่ในรัชกาลที่ ๒ แล้ว แต่เป็นเรื่องค้างไม่เต็มเล่มสมุดไทย
ทำไมท่านถึงเชื่อยังงั้นล่ะคะ   มีบริบทอะไรทำให้คิดว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 10, 12:04
ราชินีอังกฤษที่ออกรบด้วยพระองค์เอง  คือควีน Boudicca (Boadicea)    แต่ว่าถอยหลังไปเป็นพันปี   ตั้งแต่ดินแดนอังกฤษยังไม่เป็น England  แต่เป็น Celtic  ถูกโรมันปกครองอยู่   เผ่าของเธอชื่อ Iceni   ทำศึกต่อต้านโรมัน อย่างไรก็ตาม   เรื่องมันนมนานมาก   ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เล่าแพร่หลายมาจนถึงสยามในรัชกาลที่ ๓   
ผู้หญิงที่รบทัพจับศึกเก่ง  ออกรบได้  มีทหารหญิงในสังกัด    ในพงศาวดารจีนต้นรัตนโกสินทร์มีค่ะ     อย่างในสามก๊ก ก็คือซุนฮูหยิน น้องสาวของซุนกวน  นางได้เป็นภรรยาของเล่าปี่

เอ...ถ้าอย่างนั้น   สุนทรภู่น่าจะเอาวัตถุดิบจากแหล่งข้อมูลที่อยู่ใกล้ตัวท่านและท่านมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลนั้นได้สะดวก (เพราะเคยทำงานเป็นอาลักษณ์) ส่วนเรื่องจากเกาะอังกฤษ  ลำพังแต่ได้ยินได้ฟังมาเลาๆ คงจะไม่เพียงพอที่เอามาเป็นวัตถุดิบได้   อีกประการหนึ่งข่าวสารจากเกาะอังกฤษกว่าจะเดินทางมาถึงสยามสมัยรัชกาลที่ ๓ ต้องใช้เวลาเดินทางมาก อาจจะเป็นเวลาหลายเดือน  กว่าสุนทรภู่จะทราบข่าวจากเกาะอังกฤษ  บางทีท่านคงจะแต่งล่วงหน้าไปเยอะแล้วก็ได้ 


อ้างถึง
พ.ณ ประมวลมารคทรงชี้ชัดลงไปเลยว่าตอนที่แต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ คือตอนพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร เริ่มเรื่องเกาะแก้วพิสดาร

จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง  ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา
องค์อภัยมณีศรีโสภา               ตกยากอยู่คูหามาช้านาน
กับด้วยนางอสุรีนฤมิต             เป็นคู่ชิดเชยชมสมสมาน
ต้องรักใคร่ไปตามยามกันดาร     จนนางมารมีบุตรบุรุษชาย

ทรงวิจารณ์กลอนตอนนี้ว่า

มีลีลาแข็งกระด้างกว่าแต่ก่อนอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงเข้าลีลาเดิม ทั้งนี้ชวนให้เชื่อว่ามิได้แต่งในคราวเดียวกัน นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังเชื่อว่าสุนทรภู่คงได้แต่งตอนกำเนิดสินสมุทรไว้แต่ในรัชกาลที่ ๒ แล้ว แต่เป็นเรื่องค้างไม่เต็มเล่มสมุดไทย ครั้นเมื่อมาจับแต่งใหม่ของเก่าที่แต่งค้างหายไป จึงแต่งตอนนี้ใหม่อย่างย่อ ๆ ทีสันนิษฐานเช่นนี้เพราะตามเนื้อเรื่องตอนกำเนิดสินสมุทรน่าจะเขียนให้สนุกได้ไม่แพ้ตอนกำเนิดสุดสาคร มีผีเสื้อสมุทรครวญครางเจ็บท้อง พระอภัยมณีเป็นหมอตำแย ฯลฯ เทียบกับเมื่อนางเงือกคลอดสุดสาครมีพระฤๅษีเป็นกรรมการที่ปรึกษา มีแต่ปากพูดได้ก็พูดเอา ก็ควรจะขำพอ ๆ กัน แต่สุนทรภู่ตัดทิ้งหมด เข้าใจว่าเพราะเมื่อคิดเรื่องที่เกาะแก้วพิสดารได้แล้วก็อยากพาตัวละครไปสู่ฉากใหม่โดยเร็ว
[/quote]


ข้อวิจารณ์ของพ. ณ ประมารค  เป็นการวิจารณ์อย่างอัตนัย  และเป็นข้อสันนิษฐานมาก (พูดง่ายๆ คือ คาดคะเนหรือเดานั่นแหละ) เรื่องตอนนางผีเสื้อสมุทรคลอดสินสมุท  ถึงอย่างไรสุนทรภู่ไม่น่าจะแต่งใส่รายละเอียดมากเท่ากับนางเงือกคลอดสุดสาคร  เพราะอะไร   พิจารณาจากสรีระของนางผีเสือสมุทรกับนางเงือกก็จะทราบ   นางผีเสือสมุทรมีรูปร่างทั่วไปเหมือนคน  การคลอดยิ่งเป็นไปตามปกติวิสัยของสตรีมีครรภ์ทั่วไป   อีกทั้งนางก็แข็งแรง  หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้เองมาก่อนจะพบพระอภัยมณีเป็นสามี  แถมเมื่อได้พระอภัยมณีมา นางได้หาเลี้ยงพระอภัยมณีด้วย  ไม่มีเหตุอะไรที่นางผีเสื้อสมุทรจะต้องกังวลเรื่องคลอดบุตร

ส่วนนางเงือก   สรีระของนาง ครึ่งบนเป็นมนุษย์ แต่ครึ่งล่างเป็นปลา  เมื่อจะต้องคลอดลูกเป็นมนุษย์  จะคลอดอย่างไร  ออกเป็นไข่อย่างปลาหรือ? หรือจะสำรอกออกทางปาก? หรือจะผ่าออก? ตรงนี้เป็นสิ่งที่สุนทรภู่อาจจะคาดเดาว่าคนอ่านคงสงสัยว่าจะแก้ให้นางเงือกคลอดลูกอย่างไร  อีกทั้งคนที่อยู่ใกล้ชิดพอช่วยนางได้ก็ดันเป็นพระโยคีถือศีลที่ไม่รู้เรื่องสรีระสตรีด้วย  โดยรวมๆ แล้วอย่างไรนางเงือกคลอดสุดสาครก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านางผีเสื้อสมุทรคลอดสินสมุท    จำได้ว่า ตอนนางสุพรรณมัจฉาคลอดมัจฉานุในเรื่องรามเกียรติ์  นางสุพรรณมัจฉาใช้วิธีสำรอกออกมา

และก็ไม่มีเหตุอะไรที่สุนทรภู่จะไปแต่งบรรยายความเหตุการณ์ที่มีรายละเอียดคล้ายๆ กันให้มากอยู่ใกล้ๆ กัน  ของอย่างนี้อยู่ที่กวีจะเลือกมานำเสนอให้ประทับใจคนอ่านมากกว่า  ถ้าเสนออะไรซ้ำซาก  ก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อไป   ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 12:18
ไม่รอคุณเพ็ญยกกลอนมาเทียบ   ยกมาเสียเองเลยดีกว่า
ตอนกำเนิดสินสมุทร
บอกสั้นๆว่า
จนนางมารมีบุตรบุรุษชาย
ส่วนกำเนิดสุดสาคร  สุนทรภู่ก็สรุปว่า
คลอดกุมารเป็นมนุษย์บุรุษชาย
แต่มีความโกลาหลอยู่หนึ่งหน้ากว่า ก่อนจะคลอด     ไหนนางเงือกจะเจ็บท้อง  ไหนร้อนพระฤๅษีงกเงิ่นมาดู จะเป็นหมอตำแย ก็สัมผัสกายสีกาไม่ได้  ต้องขอให้เทวดามาเป็นสูติแพทย์แทน

แต่อ่านแล้วก็ยังไม่รู้อยู่ดี ว่านางเงือกคลอดลูกชายทางไหน   น่าจะคลอดทางหาง   ไม่ได้สำรอกออกมาอย่างนางสุพรรณมัจฉา    เพราะมีการบรรยายว่าปวดท้องด้วย

เห็นคล้ายๆคุณหลวง ว่า ดูทางบทบาทและรูปลักษณ์แล้ว   นางผีเสื้อไม่ดึงดูดใจคนอ่านเท่านางเงือกน้อยแสนสวย    เพราะงั้น  บรรยายตอนคลอดว่าน่าสงสารยังไง  ก็ป่วยการ
ส่วนท่าน พ. รอเหตุผลของท่านจาก คุณเพ็ญชมพูอยู่ค่ะ    ถ้าไม่มีเหตุผลจากหน้าอื่น มีแค่นี้ ก็แสดงว่า ทรงสันนิษฐานจากความรู้สึก   เรียกง่ายๆว่า เดา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 15:05
ส่วนท่าน พ. รอเหตุผลของท่านจาก คุณเพ็ญชมพูอยู่ค่ะ    ถ้าไม่มีเหตุผลจากหน้าอื่น มีแค่นี้ ก็แสดงว่า ทรงสันนิษฐานจากความรู้สึก   เรียกง่ายๆว่า เดา

ท่าน พ. ไม่ได้เดาดอก แต่ท่านว่าเป็นเรื่องเขาเล่ากันมา(ใครเล่า-ไม่ทราบ)

เขาเล่าว่า

ในระหว่างที่สุนทรภู่ติดคุกในรัชกาลที่ ๒ ได้เริ่มแต่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีจับตั้งแต่ต้นเรื่องตลอดตับศรีสุวรรณ ส่วนเรื่องตั้งแต่เกาะแก้วพิสดารเป็นเรื่องแต่งในรัชกาลที่ ๓ ในระหว่างบวช

เหตุผลของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เป็นเรื่องเล่ากันมาอีกเช่นกัน

มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งหนังสือพระอภัยมณี เมื่ออยู่ในคุกคราวนั้น ข้อนี้เห็นจะจริง มีเค้าเงื่อนอยู่ในเสภา ตอนที่สุนทรภู่แต่งว่าถึงขุนแผนติดคุกนั้นว่า

อยู่เปล่าเปล่าเล่าก็จนพ้นกำลัง         อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก             ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย         แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป

สุนทรภู่คงคิดแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น ขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่ อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี(ภู่) ยังแต่งเพลงยาวขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ บอกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติที่คุณพุ่มแต่ง

เทียนวรรณก็ยังเล่าว่า

ท่านผู้ใหญ่ที่รุ่นแล้วในรัชกาลที่ ๑ ท่านได้เล่าให้เราฟังว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ พระราชทานธำมรงค์ทองคำประดับเพชรแก่ท่านสุนทรภู่หนึ่งวงแล้วทรงกำชับว่า "ให้มันมีเรื่องนะ" พระราชดำรัสนี้แลเป็นมุลให้เกิดเรื่องพระอภัยมณี คือหมายความว่ามณีนั้นคือเพชร สุวรรณนั้นทองคำ

เหตุผลคือเรื่องเล่า ท่านมิได้เดาดอก

 ;D






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 10, 15:21
เงือกใน พระอภัยมณี  มีขา ค่ะ


เมื่อสินสมุทรลากขึ้นไปให้พระบิดาดู

.............................                              เข่นนี้ปลาหรืออะไรใคร่จะรู้
ฉุดกระชากลากหางขึ้นกลางหาด                       แลประหลาดลักษณามีตาหู




เมื่อเงือกพ่อกับเงือกแม่หลอกนางผีเสื้อให้ไปทางอื่น  เสียเวลาไปครึ่งวัน

นางยักษ์หักขาฉีกสองแขน                               ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่




หน้า ๑๑๐๗  พระอภัยมณี เล่ม ๔

มัฆวานทรงขยับจับพระขรรค์                            เข้าฟาดฟันบั่นหางนางมัจฉา
ขาดเป็นสินดิ้นสลบซบพักตรา                           อยู่บนแท่นแผ่นผาคูหาบรรพ์

...............................

นางมัจฉาหางปลาก็หายสูญ                             บริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม
ทั้วงพักตร์ลักขณาก็น่าชม                                ดูขำคมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์


พระฤาษีเลยไปตามสุดสาครให้มารับ  เพราะเป็นคนแล้วมาอยู่ใกล้ ๆ  จะมีการนินทาสงสัยดูไม่ดี

รอบคอบจัง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 10, 15:30
นายวรรณ หรือ เทียนวรรณ  ชอบพระอภัยมณี     ชมเชยไว้มากมายว่าเป็นเรื่องก้าวหน้า
ไม่ใช่จักร ๆ วงศ์ ๆ

นายวรรณท่านอ่านพงศาวดารจีนจนปรุ   เรียบเรียงไว้หลายเล่ม

บุคคลสำคัญในชีวิตท่าน  ท่านก็เปรียบว่า ชื่อนั้น ๆ  ไม่ค่อยจะได้บอกรายละเอียดว่าอยู่ในเล่มไหน
อ่านเสียอ่วมกว่าจะเจอ

(อ่วมในที่นี้หมายความว่า ฟก หรือ เพลีย  หรือ อ่อนแรง)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 10, 15:38
 :o ??? :-\อ้าว...ถ้าเช่นนั้นที่ใครต่อใครทั้งวาดทั้งปั้นนางเงือกในเรื่องพระอภัยมณี เป็นคนท่อนบนและมีท่อนล่างเป็นปลาก็ผิดหมด (ผิดจากที่สุนทรภู่บรรยายไว้) แท้จริงเงือกของสุนทรภู่มีขาด้วย  นับว่าเป็นเงือกที่ออกจะผิดแผกกว่าเงือกตามจินตนาการสากลมากอยู่  

หรือว่าสุนทรภู่จะใช้ลักษณะของมัจฉานุ(วานรที่มีหางเป็นปลา  ภายหลังพระรามใช้พระขรรค์ตัดหางปลาออก) มาสร้างเงือกแบบมีขา

คุณวันดีอ่านละเอียดดีทีเดียว  เสียดาย มีพระอภัยตอนปลายที่กรมศิลปากรชำระ และสำนักพิมพ์ก้าวหน้าพิมพ์เฉพาะเล่ม ๔  ไม่มีเล่ม ๓  จะซื้อที่เขาพิมพืใหม่ก็ยังไม่มีงบประมาณ รอตอนงานสัปดาห์หนังสือฯ หน้าร้อนดีกว่า (คงจะได้ซื้อ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 16:01
ติดใจเรื่องหางเงือก
เมื่อสินสมุท ฉุดลากตาเงือกขึ้นไปบนหาดให้พ่อดู   ดิฉันก็ยังนึกภาพเป็นลากท่อนล่างที่เป็นปลา อยู่ตลอด
เมื่อนางผีเสื้อฉีกขาแขนกิน  ก็ยังนึกว่าเป็นกลอนพาไป  ที่จริงคือฉีกหางและแขน
มานึกอีกทีจากค.ห.ข้างบน   หรือว่าเงือกพวกนี้ เป็นคน มีขา แต่มีหางงอกอยู่ข้างหลังเหมือนหางลิง  แบบเดียวกับมัจฉานุ
พอนางเงือกถูกพระอินทร์ฟันหางที่งอกอยู่ข้างหลัง  อวัยวะที่เหลือก็เลยอยู่ครบแบบคน   
ถ้าหากว่าฟันหาง แบบหางปลาท่อนล่าง ของ mermaid  นางคงจะขาดไปครึ่งตัว  ต้องมีขางอกออกมาแทน

หมดกัน   นางเงือกน้อยในจินตนาการ   นึกภาพตัวเป็นคนท่อนล่างเป็นปลา ตลอด   ไม่นึกว่าเป็นคนมีหางดุ๊กดิ๊กข้างหลังเป็นหางปลา

ส่วนเรื่องแต่งเมื่อไรนั้น เมื่อท่านอ้างคำบอกเล่าก็จนใจ  ไม่รู้จะค้านยังไง   
แต่เรื่องพระราชทานแหวนทองฝังเพชร ให้อาลักษณ์ระดับขุน แถมยังติดคุกเพราะทุบตีญาติผู้ใหญ่เสียอีก   ออกจะเกินไป
คุณหลวงคุณพระและพระยาอีกมาก ราว ๙๙%  ยังไม่เคยได้เลย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 16:12
นางเงือกน้อยคงมีหางแบบนี้มั้งคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ม.ค. 10, 16:15
แต่เรื่องพระราชทานแหวนทองฝังเพชร ให้อาลักษณ์ระดับขุน แถมยังติดคุกเพราะทุบตีญาติผู้ใหญ่เสียอีก   ออกจะเกินไป
คุณหลวงคุณพระและพระยาอีกมาก ราว ๙๙%  ยังไม่เคยได้เลย

เรื่องเงือกของสุนทรภู่มีขา  เป็นได้ความรู้ใหม่  สงสัยเราจะตามสุนทรภู่ไม่ทันจริงๆ และอาจจะมีเรื่องอื่นในพระอภัยที่เราอาจจะตามสุนทรภู่ไม่ทัน  ส่วนเรื่องแหวนพระราชทานจากรัชกาลที่ ๒  เท็จหรือจริง คงอยู่กับผู้เล่า  ในฐานะคนรุ่นหลังๆ ได้ฟังคงต้องฟังหูไว้หู  เพราะเรื่องประเภทนี้มีมากเหลือเกิน แถมบางทีท่านก็เอามาใส่ไว้ในตำราประวัติวรรณคดีไทยด้วย  เลยเป็นว่าประวัติวรรณคดีไทยเขียนโดยมีพื้นฐานจากเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา  ของอย่างนี้ติดลึกมานาน  จะแก้ก็เหลือแก้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 10, 16:33
ถ้าหาเรื่องแหวน นิลกะสาปน์  ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำแจกขุนนาง
จะเขียนส่วนผสมมาให้ค่ะ

สำนักอรุณอัมรินทร์ตื่นเต้นกันมากเมื่อได้มาฉบับหนึ่ง   ได้แจ้งไปว่า สยามประเภท เขียนไว้นานมาแล้ว




สงครามที่เจ้าละมานหลงรูปนั้น แต่งหลัง วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๓๗๑  แน่นอนค่ะ
เพราะเจ้าอนุวงศ์ถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ  ในวันนั้น(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓
ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี  กรมศิลปากร  ๒๕๔๗  หน้า ๓๖)

อ่านแล้วก็สะท้อนใจในความรักและหวังของผู้ชายคนหนึ่ง

โอ้เสียดายสายสวาทประหลาดโฉม                       ชวดประโลมลับเนตรของเชษฐา
แต่รูปทรงองค์ละเวงแม่วัณฬา                             ยังติดมาในเสื้อเป็นเยื่อใจ

ย้อนกลับไปเล็กน้อยนะคะ

สงสารแต่แม่ละเวงวัณฬาน้อย                             จะหลงคอยเชษฐานิจจาเอ๋ย
หมายว่าทัพกลับไปจะได้เชย                               บุญไม่เคยคลาดแคล้วเสียแล้วน้อง
ถึงตัวพี่นี้ตายไม่วายรัก                                     จะไปฟักฟูมเฝ้าเป็นเจ้าของ
แม้นชายอื่นชื่นชอบมาครอบครอง                         จะทุบถองถีบผลักแล้วหักคอ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 10, 16:56
ชาวเมืองได้ไปดูเจ้าละมานในกรงที่ประจานไว้


     ฝ่ายข้าเฝ้าชาวบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย                         ทั้งหญิงชายชื่นใจทั้งไอศวรรย์
เที่ยวดูเหล่าชาวละมานสำราญครัน                             แต่ล้วนฟันเสี้ยมแซมแหลมแหลมเล็ก
บางดูท้าวเจ้าละมานชาญฉลาด                                 เขาจำกราดตรึงองค์ไว้ในกรงเหล็ก
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์จีนจามเจ๊ก                                 ผู้ใหญ่เดินดูเป็นหมู่มุง
บ้างหัวเราะเยาะหยันพวกฟันเสี้ยม                              มันอายเหนียมนั่งนิ่งเหมือนลิงถุง


     นายโหมดเล่าว่า ได้ไปดูอนุ ถึง ๓ ครั้ง



พระอภัยมณีเมื่อเห็นรูปนางละเวงที่เสนาแย่งมาจากเจ้าละมาน

พระอภัยได้ยลวิมลโฉม                                            งามประโลมหลงหลงแลดังแขไข
ต้องเสน่ห์เลขาคิดอาลัย                                           ด้วยแจ้งใจว่าลูกสาวเจ้าลังกา
นี่หรือท้าวเจ้าละมานมิซานซบ                                     มารับรบเมืองผลึกศึกอาสา


ตอนนั้นพระอภัย ๓๕+  แล้ว     นางละเวงยังไม่ ๒๐ (นั่งนับจากกำเนิดสุดสาคร พลาดคงไม่มาก)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 10, 20:52
พระอภัยมณีน่าจะอายุน้อยกว่านั้น  ตอนสุดสาครอายุออกตามหาพ่อ    พระฤๅษีบอกว่า
อันพ่อเจ้าไม่แก่ไม่หนุ่มนัก                   อายุสักยี่สิบเก้าเข้าสามสิบ
แต่ไม่มีปัญญาจะบวกลบมากกว่านี้  คุณเพ็ญชมพูอาจจะช่วยได้ค่ะ

แถมด้วยภาพวาดของอ.จักรพันธุ์    ไว้ปลอบใจตัวเองว่าเงือกน้อยมีหางแบบนี้ สวยกว่าหางอย่างมัจฉานุเป็นไหนๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 05:42
ตอนนั้น สุดสาคร อายุ ๓ ขวบค่ะ 
ไปอยู่เมืองการะเวก    มีแต่พระธิดานางเสาวคนธ์
ต่อมานางจันทวดีมีโอรส  คือหัสไชย  เลี้ยงมา ๑๐ ปี

สุดสาคร
มาวันหนึ่งรำพึงถึงบิตุเรศ                              ไม่แจ้งเหตุว่าอยู่หนตำบลไหน
แต่วันลาดาบสกำหนดไว้                               น้อยหรือได้สิบปีเข้านี่แล้ว

พระอภัยมณีก็อายุ ๓๘ - ๓๙


เมื่อสุดสาคร เล่นกับนางเสาวคนธ์นั้น  นางเสาวคนธ์อ้อนว่า

พี่จ๊ะ  ตุ๊กแกมันร้อง

เลยกลายเป็นเพลงไทยชื่ออะไรก็หาไม่ทันตอนนี้

สมัยก่อนผู้ปกครองเปิดวิทยุตอนเย็น   เมื่อเดินผ่านแล้วยื่นหน้าไปฟัง จะโดนสอบถามว่าเพลงอะไร
ตอบไม่ได้เรื่องชื่อเพลง  แต่จำได้ว่าตอนไหน ๆ ในเรื่องอะไรค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 06:11
พระโยคีเลี้ยงสุดสาครมา กล่อมด้วย เพลงกล่อมเด็ก
ที่ว่า  โอ้ระเห่  โอ้ระหึก  ตื่นแต่ดึกทำขนมแชงม้า


คนที่อธิบายเรื่องขนมแชงม้าได้ดีที่สุดคือท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรสงศ์

ท่านเล่าว่า  เป็นขนมโบราณ  เรียกว่า แชงมา
คือขนมไข่เต่า  และขนมปรากิม
เวลาจะรับประทานก็ตักขนมปรากิมลงถ้วยก่อน  แล้วตักขนมไข่เต่าทับหน้า  คนเข้าด้วยกัน
(แม่ครัวหัวป่าก์   เล่ม ๒      หน้า ๑๕๖)



คนที่อธิบายได้ แต่อิฉันยังพิสูจน์ไม่ได้ คือ ก.ส.ร. กุหลาบ  ท่านว่าแต่เดิมเป็นแป้งต้มไม่ใส่กะทิ
ต้มให้ม้ากินเพื่อเอาแรง(ลงทุนถึงขนาดนั้นเชียวหรือ)

ตำราม้าเมืองไทยก็แทบจะไม่เหลือแล้ว    ตำราขี่ม้ารำทวนก็ไม่มีคนเห็นมานานมากแล้ว
ยังไม่ทราบจะไปถามใครดี



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 08:35
นางยักษ์หักขาฉีกสองแขน                               ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่

ฤๅสุนทรภู่ตั้งใจให้ ขา หมายถึง หาง    ???

เคยพบบางแห่งเขียนไว้อย่างนี้

ยักษิณีผีเสื้อก็เหลืออด                     ช่างตอหลดตอแหลพวกแกนี่
เดี๋ยวทางโน้นวนเวียนเปลี่ยนทางนี้          มาแกล้งชี้ไปทั่วไม่กลัวกู
แล้วนางยักษ์หักคอและฉีกแขน            ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่
แล้วกลับตามข้ามทางท้องสินธู             ออกว่ายวู่แหวกน้ำด้วยกำลัง

ถ้าหักคอและฉีกแขน รูปนี้คงพอใช้ได้

 :D




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 08:43
เงือกน้อยในจินตนาการของคุณเทาชมพูก็ยังคงเหมือนเดิม

 ;D

ป.ล. หนังสือเล่มที่โชว์นี้ คุณวันดีคงให้รายละเอียดได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 10:06
พระอภัยมณีของครูสมิทชุดนี้เหลืออยู่ ๖ เล่มค่ะ  เรียงฉบับกัน

อีกเล่มหนึ่งนางเงือกมีผมสีทอง  และผ้านุ่งมีสี  มีอยู่เล่มเดียวที่เด่นมาก  ขณะนี้เปลี่ยนมือไปแล้วค่ะ

เจ้าของห้องสมุดที่สะสมหนังสือปกสวยเหล่านี้  เข้าใจ(หลังจากการสนทนาและสืบสวนกันหลายปี) ว่าเป็นเจ้าของโรงพิมพ์จีน
มีประวัติและรูปถ่ายของ ท่าน ภรรยา ครบถ้วน  แต่ไม่มีใครซื้อไปได้เนื่องด้วยไร้ทรัพย์
คนที่ออกแบบ ทางนักอ่านนักสะสม ทราบชื่อและประวัติการศึกษา

หนังสือปกสวยหรือ craft binding  มีประมาณ  ตามความเช้าใจของดิฉัน น่าจะไม่เกิน ๓๐๐ เล่ม
หลุดไปต่างประเทศไม่มาก

นักวิชาการเรื่องสิ่งพิมพ์มาดูแล้วเป็นไข้กลับไป
ฝรั่งนักเขียนมาดูแล้วยกหนังสือขึ้นทูลหัว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 10:18
ร.ศ. ๑๒๔  คือปีที่รวบรวมหนังสือหลายเล่มมาทำปกค่ะ  ไม่ใช่ปีพิมพ์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 10:52
อีกเล่มหนึ่งนางเงือกมีผมสีทอง  และผ้านุ่งมีสี  มีอยู่เล่มเดียวที่เด่นมาก  ขณะนี้เปลี่ยนมือไปแล้วค่ะ

แต่สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา                เขาแล่นมามีข้างอยู่ลางปี
ถ้าเสียเรือเหลือคนแล้วนางเงือก            ขึ้นมาเลือกเอาไปชมประสมศรี
เหมือนพวกพ้องของเขารู้พาที               ด้วยเดิมทีปู่ย่าเป็นมนุษย์

ฤๅเงือกน้อยนางนี้มีเชื้อฝรั่งลังกา (อังกฤษ)

 ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 11:22
ก็มีเค้า ว่าแม่เงือกน้อยมีปู่หรือทวดเป็นฝรั่งกลาสีเรือแตกชาวลังกา 
จัดเข้าเชื้อชาติพันธุ์วรรณาฝรั่งได้   เสียดายว่าสุนทรภู่ไปกำหนดให้ถือสัญชาติสัตว์น้ำเสียแล้ว  ไม่ใช่คน
  

จอมกษัตริย์ทัศนาดูเงือกน้อย                     ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม                ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด                        ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
..........................

หารูปนางเงือกผมทองมาได้อีกรูป  เผื่อจะคล้ายแม่เงือกมากกว่ารูปก่อนๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 14:23
อิทธิพลของพงศาวดารจีนเท่าที่นึกทัน

ก่อนที่จะตะครุบฝรั่งอีกหนึ่งคนมาคุยกัน  ขออนุญาตพูดถึง สุดสาคร และ ที่มาของนิสัยใจคออย่างหนึ่งของเจ้าชาย


เมื่อ พระสุริโยไทย กษัตริย์เมือง การะเวก  และนางจันทวดี พระมเหสี  ชวนสุดสาครมาอยู่ด้วย  ได้ชวนสึก
พระราชทานเครื่องทรง และเครื่องประดับหลายสำรับ

สุดสาครทูลว่า

ว่าหม่อมฉันจะจากพระอาจารย์                        ได้ตั้งสัตย์อธิษฐานต่อเทวา
มิได้กลับอภิวาทบาทดาบส                             ไม่ปลดปลิดเปลื้องเครื่องสิกขา
ซึ่งสองพระองค์ทรงพระกรุณา                          จะเมตตาแต่งหม่อมฉันประการใด
ขอประดับทับนอกหนังเสือเหลือง                      ให้ประเทืองมิได้ขัดอัชฌาสัย
จะทรงเครื่องเปลื้องหนังเสียทั้งไตร                    เหมือนได้ใหม่ลืมเก่าดังเผ่าพาล



สามก๊ก ตอน โจโฉ รับ กวนอู ไปอยู่ด้วย
อ้่างอิง ฉบับแปลใหม่  ของ วรรณไว  พัธโนทัย   พิมพ์ครั้งที่ ๓  ๒๕๔๑    หน้า ๓๙๕


"วันหนึ่งโจโฉเห็นกวนอูสวมเสื้อแพรเขียวเก่า ๆ  จึงเอาเสื้อใหม่ให้กวนอูตัวหนึ่ง
กวนอูรับไว้แล้วสวมไว้ชั้นใน   แล้วสวมเสื้อเก่าไว้ชั้นนอก

โจโฉเห็นเช่นนั้นก็หัวเราะแล้วพูดว่า "กวนอูเอ๋ย  ทำไมประหยัดถึงปานฉะนี้"

กวนอูตอบว่า "อย่างนี้ไม่ใช่ประหยัดดอก  เสื้อตัวเก่านั้น  พระปิตุลาเล่าปี่ให้ข้าพเจ้าไว้
ข้าพเจ้าจึงสวมชั้นนอกไว้ดูต่างหน้า
ส่วนเสื้อที่ท่านสมุหนายกให้ข้าพเจ้านั้น   ข้าพเจ้าต้องสวมไว้ชั้นใน  หาไม่แล้วจะกลายเป็นได้ใหม่ลืมเก่า"


สุนทรภู่ เป็นบรมนักอ่าน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 15:55
ผีเสื้อสมุทรดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากอินเดียและจีน

ส่วนเงือกน้อยของสุนทรภู่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากฝรั่งแน่นอน

ในวรรณคดีไทยโบราณ เงือกไม่ได้มีความหมายอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

ลิลิตโองการแช่งน้ำ  ตอนบรรยายลักษณะของพระอิศวร เงือก = งู

ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเป็นปิ่น
ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆนจัญไร    

ลิลิตพระลอ  เงือก = ผีชนิดหนึ่งอยู่ในน้ำ ผมยาว (อันนี้ใกล้เคียงกับเงือกของสุนทรภู่เข้ามาหน่อย)

เอ็นดูสองนางตกใจกลัว รรัวหัวอกสั่น ลั่นททึกททาว
สราวตามหมอผะผ้ำ เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธารห้วยหนอง
จระเข้มองแฝงฝั่ง สรพรั่งหัวขึ้นขวักไขว่ ช้างน้ำไล่แทงเงา
เงือกเอาคนใต้น้ำ กล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตาย

ก่อนหน้าเงือกน้อยของสุนทรภู่จะปรากฏโฉม  เงือกน้อยนางหนึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นแล้วในนามว่าสุพรรณมัจฉาแห่งรามเกียรติ์ เธอเป็นธิดาของทศกัณฐ์ (เจ้าของฉายาเจ้าชู้ยักษ์) กับนางปลา และเป็นมารดาของมัจฉานุ ทั้งแม่และลูกคู่นี้ว่าไปแล้วต้องถือสัญชาติไทยเพราะไม่ปรากฏในรามายณะของอินเดีย

แต่จินตภาพของเงือกน้อยในความคิดของคนไทยแล้วเงือกน้อยของสุนทรภู่ดูจะเจิดจ้าอยู่มากกว่า

และสุนทรภู่ก็นับเป็นคนแรกที่บัญญัติคำว่า เงือก = merman-mermaid (ครึ่งคนครึ่งปลา) ของฝรั่ง

 :D

ฟังคุณเทาชมพูคุยต่อเรื่องเงือก
http://vcharkarn.com/reurnthai/mermaid.php




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 10, 17:00
ดิฉันลองแกะรอยการสร้างชาติพันธุ์วรรณาเงือก ของสุนทรภู่    มองเห็นชิ้นส่วนบางอย่างตามนี้  แต่จะต้องขอคนอื่นๆให้ปะติดปะต่อดู
- ท่านเอาคำว่า "เงือก" ที่เป็นคำไทยโบราณ แปลว่า งู  มาใช้ตั้งชื่อชาติพันธุ์คนมีหางเป็นปลา อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ขึ้นบกได้
- ในลิลิตพระลอ  เงือกเป็นผีน้ำชนิดหนึ่ง ผมยาว ตากลมโตกลอกไปมา   ผมยาว   เวลาคนลงเล่นน้ำเงือกก็เข้ามาเอาผมรัดคอ ฉุดลงไปจนจมน้ำตาย
สุนทรภู่ไม่ได้เอาเงือกพันธุ์นี้มาเป็นต้นตระกูลเงือกในพระอภัยมณี
- ตำนานเงือกในพระอภัยมณี  ว่ากลาสีเรือแตกจมน้ำ  นางเงือกก็มาเลือกไปเป็นคู่  เป็นตำนานของฝรั่งยุโรปทางเหนือ
กลาสีฝรั่งเห็นนางเงือกกันทั้งนั้น  พบได้ในตำนาน นิทาน แม้แต่ปูมเดินเรือ    สร้างตำนานเนื้อคู่กันมามากมาย
แม้แต่เงือกน้อยของแอนเดอร์เสน ซึ่งเป็นเงือกดังที่สุดในโลก   ก็เป็นความรักของนางเงือกกับมนุษย์หนุ่ม    
แต่ตำนานหญิงสาวผู้โดยสารจะเจอเงือกหนุ่ม ถูกพาลงไปครองคู่กันในทะเล แทบไม่มีเลย
- สังเกตว่าสุนทรภู่ไม่ยักตั้งชื่อชาติพันธุ์นี้แบบรามเกียรติ์  คือเรียกว่านางมัจฉา หรือนายมัจฉา   คงจะเป็นการประดิษฐ์คิดค้นใหม่    ไม่อิงวรรณคดีในรัชกาลที่ ๑
- นางเงือก แปลตามตัวคือนางงู     แต่ไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งงู  เป็นครึ่งคนครึ่งปลา   
เป็นไปได้ไหมว่าเมื่อสร้างจินตนาการขึ้นมา   ท่อนล่างของเงือกเป็นปลา ยาวลงไป  ลักษณะคล้ายลำตัวงู    ไม่ใช่เป็นหางเหมือนหางลิงอยู่ด้านหลัง
แต่ท่านเผลอไปตอนเดียว ใส่ไปว่ามีขา ให้นางผีเสื้อหักและฉีกกิน    ภาพนางเงือกก็เลยสับสนไปเล็กน้อย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 21:30
เรื่องราวของพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่สมุดไทยเล่มที่ ๕๐ ต่อ ไปถึง ๙๙
ที่แต่งตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

สุนทรภู่แต่งไว้เดิมเพียง ๔๙ เล่มสมุดไทย
ถึงจะวานผู้อื่นให้ช่วยแต่ง     สุนทรภู่ก็ต้องเป็นผู้วางแนวทางของเรื่อง
และกำหนดตัวละคร   

ถึงกลอนจะไม่ไพเราะประณีต  ก็ยังมีตอนที่ไพเราะเพราะพริ้งอยู่เป็นอันมาก
โดยเฉพาะกลอนชมสัตว์ต่าง ๆ  ต้นไม้   ชมทะเลและสัตว์น้ำ  ตลอดตอนบทอัศจรรย์
(คัดมาจากคำอธิบายของ ธนิต  อยู่โพธิ)


เมื่อพระฤาษีเชิญท้าวมัฆวานมาตัดหางนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
หางหายไปแล้วนางเดินได้เอง   สุนทรภู่คงทราบและตรวจคุมงานอยู่แถวนั้น
เพราะนางเงือกที่เล่ากันมาถึงตอนนี้ชื่อ สุพรรณมัจฉา  ต่อมาสุดสาครยกเป็น พระจันทวดีพันปีหลวง(เล่ม ๔  หน้า ๑๑๒๕)


ตอนนี้คือตอนที่ ๑๑๒  ตัดหางนางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง   (เริ่งแต่หน้า ๑๑๑๔ - ๑๑๒๗)
พระโยคีไปบอก สุดสาคร ที่ตอนนั้นอยู่ลังกา  ให้มารับแม่     

ออเงือกน้ำนงคราญผู้มารดา                            กลับเพศมาเป็นมนุษย์ผุดผ่องพรรณ
กูทำที่ให้อยู่พ้นอู่อ่าว                                     จึงมาเล่าบอกให้เอ็งเร่งผายผัน
ไปรับแม่ให้ประเวศขอบเขตคัน                          ได้เห็นกันทุกเวลาบูชาคุณ
แต่ก่อนมันอยู่ได้วิสัยสัตว์                                ไม่ข้องขัดขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน
สอนให้ถือกรรมฐานเป็นการบุญ                         กุศลหนุนสิ้นกรรมที่ทำมา


พระฤาษีสอนว่า

ใช่วิสัยของสีกาอยู่ป่าดอน                               จงรีบจรไปกับลูกอย่าผูกพัน
ซึ่งตัวกูผู้คนชราร่าง                                      มันก็ย่างถึงกัปจะดับขันธ์
อายุกูนี่หนาก็กว่าพัน                                     จะดับขันธ์ลงเมื่อไรไม่จีรัง(เล่ม ๔  ตอนที่ ๑๓๒   หน้า ๑๑๑๒


จงหักห้ามความโทมนัสสา                               เอาปัญญาหยั่งลงในสงสาร
ให้เห็นไตรลักษณ์มรรคญาณ                            ตัดรำคาญผ่อนผันด้วยปัญญา
ยึดเอาธรรมกรรมฐานการกุศล                          คงให้ผลดับทุกข์เป็นสุขา
แล้วแก้ไขในทางอนัตตา                                 ออกพรรณนาให้สว่างกระจ่างใจ (หน้า ๑๑๑๓)

เดินทางจากลังกาไปเกาะแก้วพิสดารขาไปใช้เวลา วันครึ่ง ด้วยพระสิทธาย่นหนทาง  ขากลับ ออกตอนเช้าถึงตอนสาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 10, 21:41
นางเงือกได้ไปเฝ้าฤาษีอภัยมณีและแม่ชีทั้งสอง ขอบวช


พระอภัยมณีห้าม

ว่าแรกเริ่มกำเนิดเกิดเป็นปลา                          ที่จะมาบวชอนงค์เป็นหลงชี
ขัดเสียแล้วจริงนะพระก็ห้าม                            อันเรื่องความนี้หนามารศรี
พระภควันต์บรรพชาให้นาคึ                            สิกขามีห้ามไว้ไม่ได้การ
ถึงกลับเพศเป็นมนุษย์ต้องหยุดยั้ง                     กำเนิดยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าดับชาติจากขันธสันดาน                             สมาทานจึ่งจะได้ในศีลา ฯ

(หน้า ๑๑๒๐)

นางชีทั้งสองเรียกนางเงือกว่าพี่ตามระเบียบ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 10, 08:25
ขนมแชงม้า (หรือที่เขียนเป็น แฉ่งม้า แชงมา ) ตามที่คุณวันดีได้กล่าวถึงนั้น  ปรากฏเป็นเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง ๓ สำนวน  คือ

สำนวนที่ ๑
โอละเห่โอละฮึก      ลุกขึ้นแต่ดึก
ทำขนมแฉ่งม้า        ผัวตีเมียก็ด่า
ขนมแฉ่งม้า            ก็คาหม้อแกงเอย ฯ

สำนวนที่ ๒  ยาวหน่อย
โอ้ละเห่โอละฮึก      ลุกขึ้นแต่ดึก     ทำขนมแฉ่งม้า
ผัวตีเมียก็ด่า           ขนมแฉ่งม้า      ก็คาหม้อแกง
หายขึ้งหายโกรธ      ขนมแฉ่งม้า      ก็หมดหม้อแกง
ทำตาแดงแดง         ฝนก็เทลงมา  เอย  ฯ

สำนวนที่ ๓
โอระเห่โอระฮึกเอ๋ย   ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแชงมา   
ฝ่ายเจ้าผัวก็ตี          ฝ่ายนางเมียก็ด่า
เลยขนมแชงมาคาหม้อแกง  ฯ

นอกจากนี้ก็มีเพลงกล่อมเด็กที่กลายไปจาก เพลงกล่อมเด็ก ๓ สำนวนข้างต้น  โดยเปลี่ยนชื่อขนมเป็นขนมบัวลอยกับหม้อแกง ดังนี้

สำนวนที่ ๑
โอระเห่โอระหึก   ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมบัวลอย
ผัวก็ตีเมียก็ต่อย   ขนมบัวลอยก็คาหม้อแกง ฯ

สำนวนที่ ๒
โอระเห่โอระฮึก  ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมหม้อแกง
เลยหกล้มดังแฉ่ง   ขนมหม้อแกงหกหมด  เลยอดกินเอย ฯ

สำนวนที่ ๓ ยาวมากหน่อย
โอระเห่โอระฮึกตื่นขึ้นแต่ดึกทำขนมหม้อแกง   เกิดทะเลาะยื้อแย่งเอยขนมหม้อแกงคาหม้อเอย   รักเอ๋ยแม่รักเจ้าเอยรักยิ่งเท่าภูเขาหลวง   ยามเจ้าร้องไห้ใจของแม่นี้เจียนจะล่วงเป็นห่วงแต่เจ้าคนเดียวทรามเปรียวของแม่นี้นา   แม่รักเจ้าแสนเท่านักหนาเอย   ยามโสกาอุ้มให้เจ้ากินนม  ตัวแม่เป็นทุกข์ถึงเจ้าเฝ้าระทมเอย  รักแต่เจ้าผู้เดียวทรามเปรียมของแม่นี้อา ฯ  (บทนี้คงใช้สำหรับเด็กที่นอนหลับยาก)

ถ้าถามว่า ขนมแชงม้า คือขนมอะไร  เคยมีคนพยายามค้นหาคำตอบ ก็ได้คำตอบมา ๒- ๓ ทาง  คือ บ้างก็ว่าเป็นขนมหม้อแกงที่โรยหน้าหอมเจียวนี่แหละ  ขนมอย่างนี้ขั้นตอนการทำมากยุ่งยาก  ต้องเตรียมการทำแต่เช้ามืดกว่าจะเสร็จก็ครึ่งค่อนวัน เป็นคำตอบหนึ่ง 

บ้างก็ว่าเป็นข้าวเหนียวต้มใส่น้ำตาล ลักษณะเหมือนขนมข้าวเหนียวเปียก เวลากินก็ราดกะทิที่ปรุงรสออกเค็ม  สมัยก่อนว่ากันว่าเจ้าภาพงานศพที่เป็นชาวมอญมักทำขนมนี้เลี้ยงแขกที่มานั่งฟังสวดพระอภิธรรมศพ ๔ กะ  เป็นคำตอบหนึ่ง

และบ้างก็ว่า เป็นขนมปลากริมไข่เต่า  ซึ่งเข้าใจว่าคงจะพัฒนามาจากขนมข้าวเปียกข้างต้น  หรือไม่ข้าวเหนียวเปียกข้างต้นเป็นขนมที่ย่อลงมาจากขนมปลากริมไข่เต่า  เป็นคำตอบหนึ่ง 

ตกลง ถึงตอนนี้ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่ามันเป็นขนมอะไรแน่   ???





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 10, 09:07
ต่อมา  เรื่อง "เงือก"  (จริงๆ น่าจะยกไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่ เรื่องชาติพันธุ์ "อมนุษย์" ;D)


เงือกในโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆนจัญไร "  ซึ่งนักอ่านวรรณคดี ให้ความหมาย "เงือก" ในบริบทนี้ว่า หมายถึง งู  เพราะตามเทวปกรณ์ฮินดู  พระศิวะมีงูหรือนาคพันรอบพระศอ  บางทีก็เอามาทำเป็นสังวาล  อย่างไรก็ดี  การให้ความหมายคำเงือกในดองการแช่งน้ำนี้ เป็นการให้ความหมายโดยอาศัยการเปรียบเทียบการบรรยายกับลักษณะเทวปฏิมา  จริงๆ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้  เพราะบริบทในโองการแช่งน้ำก็ไม่มีคำใดชี้ว่า เงือก หมายถึง งู   แล้วทำไมเราไม่ให้ความหมายคำว่า เงือก ในบริบทนี้ หมายถึง นางเงือก บ้างไม่ได้

มาดูที่ เงือก ที่ปรากฏในลิลิตพระลอ  "เงือกเอาคนใต้น้ำ กล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตาย" อันนี้ให้ภาพชัดขึ้นมาอีกว่า  เงือก ในที่นี้ เป็นสัตว์น้ำ มีผมยาว ตากลมแดงเหลือก ดุร้าย สามารถใช้ผมกระหวัดคนบนบกลงไปในน้ำ  ความหมายของเงือกในบริบทนี้  เป็นแนวทางเดียวกับคำอธิบายคำว่า เงือก ในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเล  นอกจากนี้ ในอักขราภิธานศรับท์ ยังเก็บคำว่า เงือกน้ำ ไว้ด้วย  โดยอธิบายว่า  มีลักษณะรูปร่างเหมือนงูบ้าง เหมือนปลาบ้าง อาศัยอยู่ในน้ำ มีผมยาว  มักเอาคนลงไปดูดเลือดในน้ำ  แสดงว่า เงือก ไม่ได้หมายถึงงู เพียงแต่มีรูปร่างคล้ายหรือเหมือนงูเท่านั้น  และคงเป็นสัตว์ในจินตนาการของคนสมัยก่อน  ไปดูทางภาษาลาว  เขาก็มีคำว่า เงือก เหมือนกัน โดยอธิบายว่า เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ  รูปร่างอย่างงู  มีหงอน   แต่ไม่ใช่นาค  และว่ามีนิสัยดุร้ายเหมือนกัน  บางทีก็ว่าเป็นปิศาจประเภทหนึ่ง 

ต่อไป ไปดู เงือก ในภาษาตระกูลไทกลุ่มอื่นดูบ้าง  ในภาษไทยใหญ่  มีคำว่า เงือก เหมือนกัน  แต่แปลว่า จระเข้ !!!!  :o และแปลเหมือนกันกับ คำว่าเงือก ในภาษาไทยล้านนา  ดังปรากฏในหนังสือพจนานุกรมคำภาษาล้านนาที่พบเฉพาะในใบลาน  ก็แปลว่า เงือก ว่า จระเข้  โดยยกตัวอย่างจาก หนังสือใบลานเรื่องพระยาเจืองมาประกอบ  น่าจะแสดงให้เห็นว่า  เงือกที่มีขาคือจระเข้ มาแต่เดิม ?   ต่อมา คนไทยฝ่ายใต้ มีคำเรียก จระเข้  ใช้แทนเงือกที่เคยใช้กันมา  จึงเอาคำว่าเงือกไปเป็นสัตว์ในจินตนาการประเภทอื่น  ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน  ส่วนที่ว่าเงือกมีผมยาว ลากเอาคนลงไปในน้ำ  ถ้าเป็นจระเข้ก็เทียบแล้วใกล้เคียงกับเงือกในลิลิตพระลอเหมือนกัน กรณีผมยาว อาจจะหมายถึงจระเข้ที่มีตะไคร่น้ำเกาะมา หรืออาศัยอยู่ในน้ำที่มีสาหร่ายหรือตะใคร่มากก็เป็นได้   คนสมัยก่อนคงมักถูกจระเข้คาบไปกินบ่อยๆ ในเวลากลางคืน  เพราะสมัยก่อนจระเข้ในแหล่งน้ำชุกชุมมาก (ดูในนิราศของสุนทรภู่ก็พูดถึง) เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวทะเล่อทะล่าไปเหยียบเอาจระเข้ในความมืดก็เลยถูกจระเข้คาบลงน้ำไป   คนเลยกลัวและคิดว่าเป็นเงือก   

ยังไม่ฟันธง  เชิญแย้งได้ครับ  ;) เพราะเงือกมีขาก็มีหลักฐานในภาษาไทเหมือนกัน  จะแปลกอะไรถ้าสุนทรภู่ท่านจะให้เงือกมีขา  (เอ  ในตำราภาพสัตว์หิมพานต์มีชื่อเรียกสัตว์ผสมอย่างนี้หรือเปล่าหนอ?) :-\ :(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ม.ค. 10, 09:34
ขอบคุณ คุณหลวงเล็กค่ะ 
คุยกันแบบแลกเปลี่ยนความคิดและแสดงหลักฐานเผื่อจะไปหาอ่านเพิ่มเติม
ไม่ต้องฟันธง

เรื่องทำกับข้าวดิฉันออกจะเชื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนภาสกรวงศ์นะคะ
ท่านมีเกร็ดความรู้มหาศาล  ตัวท่านเองก็เป็นแม่ครัวลือชื่อ  ทำอาหารเลี้ยงดูฝรั่งมังค่า
ผู้คนของท่านก็เป็นหลานเหลนของแม่ครัวระดับเจ้านาย

ในเรื่องของหนังสือ  ได้ข่าวมาว่าจะมีการเขียนเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)ใหม่
ดิฉันก็ดีใจ 
สงสัยอยู่นิดหนึ่งว่าจะมีข้อมูลใหม่ปานใด

พายเรือออกอ่าวไปแป๊บหนึ่งเองค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ม.ค. 10, 10:21
ท่องเน็ทดูเรื่อง เงือก ในอดีตแถบบ้านเราครับ

       มีนิทานพื้นบ้านเขมรเล่าเรื่องนางเงือกว่า เกิดจากหญิงสาวภรรยางูถูกงูกลืนเข้าไปทั้งตัว แล้วนางออกมาได้
ด้วยการผ่าท้องงู จากนั้นนางได้ออกเดินทางเพื่อหาแหล่งน้ำชำระล้างคราบงูจนมาถึงมหาสมุทร แล้วนางก็เดิน
มุดน้ำแล้วหายไป กลายเป็นนางเงือกอยู่ในมหาสมุทรนั้น

นิทานเรื่อง กะเดิบโดง กะเดิบซลา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=268118

       ส่วนทางล้านนามีปัญญาสชาดก ที่ได้นำมาแต่งเป็นคร่าวซอ เรื่อง เจ้าสุวัตรกับนางบัวคำ
ตอนหนึ่ง กล่าวถึงนางเงือกซึ่งมีบทบาทสั้นๆ ชื่อ นางสมุทชา ได้แปลงตัวเป็นจระเข้แล้วถูกชาวประมงฆ่าตาย 

ส่วนบ้านเขา มีหนูน้อยเงือกที่เพิ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว  Shiloh Pepin


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ม.ค. 10, 10:23
         เงือกน้อย ด.ญ. Shiloh Pepin เสียชีวิตขณะอายุได้ 10 ขวบ เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2009 
ที่ Maine Medical Center ด้วยโรคติดเชื้อในปอด
   
        เด็กน้อยเกิดมาด้วยภาวะผิดปกติมีขาทั้งสองข้างติดกันมาแต่กำเนิด เรียกว่า sirenomelia
          (siren - mermaid + melos -limb)
เธอมีไตข้างเดียวที่มีขนาดเพียง 1 ส่วน 4 ของปกติ มีลำไส้ใหญ่สั้นๆ ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ ไม่มีอวัยวะเพศ
        ภาวะเช่นนี้พบได้ 1 ใน 100,000
       ส่วนใหญ่สามารถผ่าตัดแยกขาออกจากกันได้ แต่ในหนูน้อยคนนี้มีปัญหาที่เส้นเลือดทำให้ไม่สามารถ
ผ่าตัดแยกขาได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 10, 10:48
ในเรื่องของหนังสือ  ได้ข่าวมาว่าจะมีการเขียนเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)ใหม่
ดิฉันก็ดีใจ  
สงสัยอยู่นิดหนึ่งว่าจะมีข้อมูลใหม่ปานใด

พายเรือออกอ่าวไปแป๊บหนึ่งเองค่ะ

ขออนุญาตพายเรือออกอ่าวตามคุณวันดีสักครู่  เรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ถ้าเขียนใหม่ ก็อยากอ่านไวๆ เหมือนกัน  แต่อยากให้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและหลักฐานเอกสารยืนยันประกอบด้วย  จะพอใจมาก   ไม่นานมานี้   ได้อ่านเอกสารสำคัญทางราชการชิ้นหนึ่ง  มีเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถูกสอบกลางที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒  เรื่องโดยสังเขปมีว่า  

ในการประชุมเสนาบดีสภาครั้งหนึ่งในร.ศ.๑๑๒  สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ  ทรงเสนอวาระด่วนขึ้นในการประชุม  เรื่องที่ทรงเสนอนั้นว่า  ได้มีคนเอาเรื่องที่ประชุมกันในเสนาบดีสภาไปเล่าลือโจษจันกันกว้างขวางเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทไทยกับฝรั่งเศสคดีพระยอดเมืองขวาง  และมีคนเอาเรื่องดังกล่าวมาถามกับกรมพระนเรศฯ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง  และได้เข้าร่วมประชุมเสนาบดีสภาด้วย  กรมพระนเรศฯ ทรงซักคนที่นำความที่โจษกันนั้นว่า ไปรู้มาจากไหน คนนั้นฏ้ทูลอิดเอื้อนไม่ยอมตอบ  จนกระทั่งยอมเผยความจริงว่า ได้ยินเจ้าพระยาภาสฯ พูดเรื่องดังกล่าวกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่หน้าห้องเวรมหาดเล็ก และว่ามีมหาดเล็กคนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนั้นได้ยินด้วย  

เมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น  กรมพระนเรศฯ จึงทรงนำมาปรึกษากับสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ทันที  ด้วยเกรงว่าหากเรื่องในที่ประชุมรั่วออกมาถึงคนนอกได้ในภาวะบ้านเมืองคับขันอย่างนี้  ถ้าฝ่ายฝรั่งเศสทราบเรื่องนี้เข้าจะทำให้สยามดำเนินการต่างๆ ลำบากยิ่งขึ้น  จึงทรงขอให้ที่ประชุมเปิดไต่สวนความจริงจากเจ้าพระยาภาสฯ  ซึ่งเจ้าพระภาสฯ แต่แรกก็ไม่ยอมให้การตรงๆ ตามจริง ตอบเลี่ยงไปมา  จนที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้จึงพูดความจริง  ที่ประชุมจึงตำหนิเจ้าพระยาภาสฯว่า ไม่ควรเอาเรื่องในที่ประชุมนี้ไปพูดแพร่งพราย  ครั้งนี้จะให้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ เพื่อทรงพิจารณาโทษเจ้าพระยาภาสฯ ทั้งนี้สุดแต่จะทรงพระกรุณาฯ  มิฉะนั้นบ้านเมืองจะเสียหาย   การประชุมครั้งนั้นเจ้าพระยาภาสฯ โดนที่ประชุมเสนาบดีตำหนิเละ เพราะปากของท่านแท้ๆ   เสียดายว่า เอกสารดังกล่าว ไม่ได้กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้น รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแสเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง  แต่ที่แน่ๆ เจ้าพระยาภาสฯ คงสงบปากสงบคำมากขึ้น  และได้เป็นสมาชิกที่ประชุมเสนาบดีสภาต่อมา

เรื่องปากของเจ้าพระยาภาสฯ เคยก่อเรื่องแบบนี้หลายครั้ง  โดยเฉพาะกรร๊วังหน้าขัดแย้งกับวังหลวง  ก็ว่าเป็นเพราะเจ้าพระยาภาสฯ  พูดขึ้นในที่ประชุมปรีวีเคาซิลว่า  ยังนี้ ต้อง Coup d ' Etat  เท่านั้นแหละ วังหน้าทราบเรื่องขึ้นก็เกณฑ์ทหารขึ้นรักษาวังทันที  ทางวังหลวงก็ตื่นเกณฑ์ทหารรักษาวังบ้าง  กลายเป็นเรื่องขัดแย้งหนักบานปลาย จน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต้องมาไกล่เกลี่ย  วุ่นวายเสียไม่ล่ะ :(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 11:06
อ้างถึง
ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆนจัญไร "  ซึ่งนักอ่านวรรณคดี ให้ความหมาย "เงือก" ในบริบทนี้ว่า หมายถึง งู  เพราะตามเทวปกรณ์ฮินดู  พระศิวะมีงูหรือนาคพันรอบพระศอ  บางทีก็เอามาทำเป็นสังวาล  อย่างไรก็ดี  การให้ความหมายคำเงือกในดองการแช่งน้ำนี้ เป็นการให้ความหมายโดยอาศัยการเปรียบเทียบการบรรยายกับลักษณะเทวปฏิมา  จริงๆ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้  เพราะบริบทในโองการแช่งน้ำก็ไม่มีคำใดชี้ว่า เงือก หมายถึง งู   แล้วทำไมเราไม่ให้ความหมายคำว่า เงือก ในบริบทนี้ หมายถึง นางเงือก บ้างไม่ได้

ไปดูเฟอร์นิเจอร์ประดับตัวพระศิวะทั้งหมดแล้ว     เงือกเกี้ยวข้าง แปลว่า สังวาลงู    แปลอย่างอื่นไม่ได้
เพราะไม่เคยเจอว่าท่านเอาอะไรอย่างอื่นมาคล้องคอและตัว นอกจากงู

คำว่า เงือก มาจากภาษาอะไรคะ    หรือว่าจะเป็นคำไทยดั้งเดิม



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 10, 11:36
อ้างถึง
ไปดูเฟอร์นิเจอร์ประดับตัวพระศิวะทั้งหมดแล้ว     เงือกเกี้ยวข้าง แปลว่า สังวาลงู    แปลอย่างอื่นไม่ได้
เพราะไม่เคยเจอว่าท่านเอาอะไรอย่างอื่นมาคล้องคอและตัว นอกจากงู

คำว่า เงือก มาจากภาษาอะไรคะ    หรือว่าจะเป็นคำไทยดั้งเดิม

ใช่ครับ  พระศิวะที่เราเห็นจากภาพวาดก็ดี รูปแกะสลักก็ดี หรือจากในหนังละครก็ดี  ล้วนแต่มีงูพันพระศอ   แต่...ในสังคมอยุธยาตอนต้น  คนสมัยนั้นเขาใช้คติพระศิวะอย่างที่คนสมัยหลังๆ ใช้กันหรือเปล่า  อันนี้  ต้องไปหาตัวอย่างเปรียบเทียบจากเอกสารที่มีอายุใกล้เคียงโองการแช่งน้ำ มาเทียบดูว่า  ในสมัยนั้น เงือก  เคยใช้ในบริบทความหมายใดบ้าง 
น่าแปลกเหมือนกันที่  เงือกในวรรณคดีเก่ามากๆ  มีน้อยแห่งนักที่หมายความว่า งู

บางทีสิ่งที่เรารู้เราเห็นเราเข้าใจในปัจจุบัน  อาจจะไม่สื่งเดียวกันกับที่คนสมัยก่อนท่านเห็นท่านรู้ท่านเข้าใจก็ได้

คำว่า เงือก  เป็นคำภาษาตระกูลไทแน่นอน  คงไม่ใช่คำภาษาตระกูลมอญ-เขมร หรือ ชวา-มลายู  เพราะภาษาตระกูลเหล่านี้ มักไม่ใคร่ใช้ ง เป็นเสียงพยัญชนะต้นของคำ มีบ้างก็น้อย  เหมือน คำที่ขึ้นต้นด้วย ง ในภาษาไทยเองก็มีน้อยนัก :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 11:53
ทำไมคุณหลวงเล็กถึงสงสัยว่า เงือก สมัยต้นอยุธยา มีความหมายอื่นคะ

ดิฉันสันนิษฐาน ว่ามี ๒ ความหมาย
๑   งู
๒   อมนุษย์น้ำชนิดหนึ่ง    รูปร่างแตกต่างกันไปตามจินตนาการของแต่ละท้องถิ่น
ลาว มีรูปร่างเป็น งูมีหงอน ดุร้าย  แต่ไม่ใช่นาค
ทางเหนือของไทย  เป็นปีศาจผมยาว  ตาโตแดง  ดุร้าย ฆ่าคนได้

สุนทรภู่อาจนำชื่อ เงือก จากความหมายที่สอง ที่เป็นอมนุษย์น้ำแต่ดั้งเดิมของไทย  มาผสมเข้ากับ mermaid และ merman ของฝรั่ง 
กลายเป็นฝ่ายดี   เลิกดุร้าย  ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระอภัยมณีให้พ้นนางผีเสื้อ
เพราะถ้าไม่ให้เงือกช่วย ก็คงจะหาอมนุษย์อื่นช่วยได้ยากหน่อย   เนื่องจากปีศาจทั้งหลายในท้องทะเลล้วนตกอยู่ในอำนาจนางผีเสื้อทั้งสิ้น
ตัวอะไรก็ตามที่จะเข้าไปพบพระอภัยมณีได้ ก็ต้องอยู่ในทะเล    ถ้าเป็นสัตว์น้ำล้วนๆ เช่นเป็นปลา ก็คงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
เอาครึ่งคนครึ่งปลานี่แหละ เหมาะแล้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ม.ค. 10, 12:09
ทำไมคุณหลวงเล็กถึงสงสัยว่า เงือก สมัยต้นอยุธยา มีความหมายอื่นคะ

เพราะตัวอย่างในสมัยเดียวกันที่จะเปรียบเทียบความหมายยังไม่มีหรือมีน้อย   ความสงสัยย่อมบังเกิดมีเป็นธรรมดาครับ   ก็เพราะความสงสัยนี่แหละที่ทำให้วิชาการงอกงาม

ส่วนสุนทรภู่ไปเอาเงือกฝรั่งมาเป็นเงือกไทยในนิยายของท่าน  ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น   ใครจะไปรู้ว่า บางทีท่านสุนทรภู่อาจจะเอาปลาโลมาหรือปลาพะยูนเป็นต้นแบบนางเงือกบวกกับบุคลิกนางสุพรรณมัจฉาในรามเกียรติ์เข้าไป  กลายเป็นนางเงือกก็ได้   ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 15:59
เอาเรื่องผีเงือกน้ำล้านนาของคุณนิคมช่วยเป็นข้อมูลเพิ่มเติม

http://gotoknow.org/blog/nhanphromma/150606

ทางล้านนาเชื่อว่าผีเงือกเป็นผีรักษาแม่น้ำใหญ่คอยเอาชีวิตผู้คนที่กระทำขึ้ดทำลายแม่น้ำหรือเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรม

ลักษณะเงือกผู้คนล้านนาก็มีเล่าหลายสาย แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นสายหนึ่งว่ากันดังนี้

...อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน (ปลาไหล) ผิวหนังมีเมือกมื่น (ลื่น) หลืด ๆ หลาด ๆ จับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด...ยับก็หลูด...ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก (ลึก) มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่น้ำ  เยี๊ยะขึ้ดจา (อาถรรพ์) กับแม่น้ำกว๊านใหญ่  ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง (เรียก) มันว่า เงือก บ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังน้ำ

วันเดือนดับเดือนเป็ง (วันแรม/วันเพ็ญ ๑๔หรือ  ๑๕  ค่ำ) ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง  บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทรายบ้างตรวจตราท้องน้ำ  หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นน้ำมันจะเล่นน้ำดีดน้ำเสียงดัง..โต้มต้าม....โต้มต้าม..สายน้ำฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลง   หากผู้คนได้ยินเสียงน้ำจะรีบขึ้นจากแม่น้ำทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ..เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้หากกลับลงน้ำเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป

ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายน้ำพ่อปู่อาจารย์(พิธีกร)  จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย  เช่นว่า "   โอก๋าสะ......นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกน้ำวังใหญ่ จุ่งมา...."  เป็นต้น

ผีเงือกน้ำเถื่อนถ้ำถืบผา  อยู่เงิบฝั่งนา   จักจ๋าไขแจ้ง
ผิวหนังมัน    มีเมือกบ่แห้ง ลื่นไหลหลูดหลุดลุ่ยหลุ้ย
ตั๋วเหมือนเหยี่ยน ยาวไหว-วก-วุ้ย  ฮักษากว๊านอั้นคงคา
เวลาลงน้ำ   อย่าเข้าไปหา    มันจักบีฑา  จีวาต๋ายอ้อง...ฮื้ย...กั๋วแต๊..แต๊


ได้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งว่า เงือกมาจาก เงิบ + เมือก

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 16:17
สงสัยว่าเงือกของล้านนา จะตัวนี้ละค่ะ
ปลาไหลไฟฟ้าขนาดใหญ่  Electrophorus electricus


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 10, 16:20
ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 22 ม.ค. 10, 20:59
ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า

เงือก ๑ (โบ) น. งู เช่น ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง. (แช่งนํ้า).

จากรูปประโยค ผมคิดว่าผู้แต่ง คงหมายจะเล่นคำ "เผือก" กับ "เงือก" ซึ่งสิ่งที่ต้องการสื่อนั้นคือ "งู"

เท่าที่อ่านความเห็นต่างๆ มา เห็นที เงือก นี้ จะต้องเกี่ยวกับ "น้ำ"

เงือก ทางล้านนา (ตามความหมายเดิม) คงหมายถึง ปลาไหลยักษ์ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลัทธิบูชาผีท้องถิ่น จึงนับเอาเงือกเป็น ผีพรายชนิดหนึ่ง ที่รักษาแม่น้ำ

ตำนานเก่าๆ ที่พูดถึงภัยพิบัติที่เกิดจาก "เงือก" (ปลาไหล) มีปรากฎอยู่ในตำนานเมืองโยนก (เวียงหนองล่ม) ที่ในเรื่องเล่าว่า ชาวเมืองที่กินปลาไหลเผือก จะถูกน้ำท่วมตาย

ต่อมา เมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามา เงือก จึงถูกเทียบเป็น "นาค" ดังปรากฎในตำนานพระร่วงลูกนาค

ตำนานเก่าๆ เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ก็เล่าตอนกำเนิดแม่น้ำโขง ว่าเกิดจากการขุดของ "นาค" แต่ไปๆ มาๆ แล้ว อาจดัดแปลงมาจากตำนานเผ่าไต ที่บูชาเงือก (ปลาไหลยักษ์) ก็เป็นได้

เดาครับ  ;D 



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ม.ค. 10, 22:04
ตำนานเก่าๆ ที่พูดถึงภัยพิบัติที่เกิดจาก "เงือก" (ปลาไหล) มีปรากฎอยู่ในตำนานเมืองโยนก (เวียงหนองล่ม) ที่ในเรื่องเล่าว่า ชาวเมืองที่กินปลาไหลเผือก จะถูกน้ำท่วมตาย

เรื่องอย่างนี้ นึกถึงนิทานเรื่องผาแดงนางไอ่  แต่ในเรื่องว่าลูกชายพญานาคแปลงกายมาเป็นกระรอกถูกชาวเมืองยิงแล้วนำเนื้อมาแบ่งกันเกือบทั้งเมืองของนางไอ่ (จำชื่อเมืองไม่ได้ ขออภัย)    ฝ่ายพญานาคทราบเรื่องว่าลูกชายถูกฆ่าตายโดยชาวเมืองนั้น  (ในเรื่องว่าลูกชายพญานาคมาแอบชอบนางไอ่ด้วย  แต่นางไม่รับรัก) ก็โกรธพาบรรดานาคทั้งหลายมาถล่มเมืองจนกลายเป็นหนองหารในปัจจุบัน  จริงๆ เรื่องอย่างนี้มีทั้งที่อีสานและภาคเหนือ  น่าจะเกิดจากการที่กระแสในแม่น้ำสายหนึ่งเปลี่ยนทิศทางการไหล  ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะฝั่งพังไปในระยะเวลารวดเร็ว  เมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศทางไหลก็เลยถูกกระแสน้ำพัดพาพังลงน้ำไป  หรือไม่ก็ถูกน้ำท่วมทั้งเมือง เช่น กรณีเวียงกาหลง  เป็นต้น  คนสมัยก่อนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางไหล จึงพยายามหาเหตุผลโดยเชื่อมโยงกับสัตว์ในจินตนาการบ้าง ภูตผีบ้าง หรือไม่ก็ว่าเป็นเพราะผู้ปกครองหรือชาวเมืองปฏิบัติตนไม่ตามศีลธรรม เทพเจ้า เจ้าที่ จึงลงโทษ โดยการสาปให้เมืองนั้นหายไป 

ดีครับมาช่วยกันเดา  สนุกดี ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 10, 09:47
ดิฉันจะไปตั้งกระทู้ใหม่   เป็นชาติพันธุ์วรรณา ในพระอภัยมณี  ๓   เป็นชาติพันธุ์อมนุษย์  โดยเฉพาะ   กระทู้นี้ได้เล่นเรื่องฝรั่งต่อไปตามจุดมุ่งหมายเดิม
อมนุษย์(หมายถึงอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์)ในพระอภัยมณี มีเยอะมาก     ตั้งแต่นางผีเสื้อ เงือก  พระโยคีเกาะแก้วพิสดาร   เจ้าเขาที่มาบอกพระอภัยตอนนางผีเสื้อตาย    อ้ายย่องตอด  ม้านิลมังกร   ผีดิบในเมืองที่สุดสาครหลงเข้าไปฯลฯ
สะท้อนจินตนาการของสุนทรภู่ว่ากว้างไกลขนาดไหน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 10, 10:13
แยกไปตั้งกระทู้ใหม่  คุยกันเรื่องอมนุษย์แล้วค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3115.0


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 09:31
 พูดถึงฝรั่งในเรื่องพระอภัยมณี      ทำให้นึกว่า กระแสสนใจฝรั่งในความรู้สึกของชาวสยาม เกิดขึ้นในรัชกาลไหน คำตอบของดิฉันคือรัชกาลที่ ๓
เรื่อง"กระแส" ที่ประปรายอยู่ในบรรยากาศของวรรณคดี  มีให้จับได้บ้าง  อย่างในขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒  เราจะเห็นบรรยากาศแบบไทยๆ ต้นรัตนโกสินทร์   
มีกระถางไม้ดัด   ดอกไม้ไทย  แสงจันทร์บนนอกชานเรือน    บรรยากาศเป็นไทยเอามากๆ
แต่ถ้ามาเทียบกับละครขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   พระนิพนธ์วังหน้ารัชกาลที่ ๓  (หาอ่านได้ในตู้หนังสือเรือนไทย) บรรยากาศจีน มีเขามอ  เข้ามาแทนที่
เพราะในรัชกาลที่ ๓  คนจีนหลั่งไหลเข้ามามาก  เป็นแรงงานครั้งใหญ่ของรัตนโกสินทร์  พาเอาช่างฝีมือจีนมาสร้างวัดและเครื่องประดับวัด
กระแสวรรณคดีก็เห็นร่องรอยอยู่ในนั้น

กลับมาถึงพระอภัยมณี     ตอนต้นที่ไปพระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเรียนวิชา ถูกขับไล่   พี่ชายถูกนางยักษ์ลักไป  น้องชายเข้าเมืองรมจักรไปได้พระธิดา   
ทั้งหมดนี้ยังมีกลิ่นอายจักรๆวงศ์ๆ แบบละครนอกให้เห็น
ถ้าจะแต่งสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นไปได้

แต่พอจบตอนนางผีเสื้อตาย    เริ่มด้วยเจ้ากรุงผลึกมีพระธิดาหมั้นหมายกับเจ้าชายฝรั่ง     ลูกสาวอยากเที่ยวทะเล พ่อก็พาเที่ยว  ลงเรือออกทะเล   บรรยากาศจักรๆวงศ์ๆจบไปเลย
ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ และ ๒  ถ้าพญายักษ์หรือพระราชา อยากเที่ยวนอกเมืองขึ้นมาเมื่อไร      ร้อยทั้งร้อย ออกจากเมืองไปเที่ยวป่า    เหมือนชาวกรุงเทพไปเที่ยวรีสอร์ทในยุคนี้
ไม่มีใครนั่งเรือออกปากอ่าวไปเที่ยวทะเล   จะเป็นเพราะยานพาหนะยังไม่สะดวก หรือไม่นิยมกันก็ตามแต่

แต่ตัวละครของสุนทรภู่  ออกจากเมือง ลงเรือใหญ่ไปทะเล  ออกปากอ่าวไปไกลมาก จนถึงเกาะ   ไม่ใช่แค่เลาะๆชายฝั่ง
สุนทรภู่เขียนกลอนขาย    จึงต้องคำนึงถึงรสนิยมคนอ่านด้วย  มิฉะนั้นก็ขายไม่ออก
เมื่อเขียนถึงท่องทะเล  ก็ต้องแน่ใจว่าชาวบ้าน(หรือชาววัง)ที่อ่าน  สนใจเรื่องนี้อยู่    เขียนถึงฝรั่งก็ต้องรู้ว่าคนอ่านสนใจฝรั่ง
เพราะกระแสฝรั่งกำลังมาถึงสยาม
พระธิดาเจ้ากรุงผลึก จึงไปหมั้นกับเจ้าชายฝรั่ง แทนที่จะหมั้นหมายกับเจ้าชายไทยอีกเมืองหนึ่ง    นับว่าพ่อแม่นางสุวรรณมาลี  หัวล้ำยุคมากทีเดียว ที่นิยมฝรั่งขนาดนั้น
เพราะถ้าหากว่าลูกสาวแต่งงานไปจริงๆ     วันข้างหน้า  กรุงผลึกก็ต้องตกเป็นของลังกาตามสิทธิ์ของลูกเขย
อุศเรนก็จะมาครองเมืองผลึก    เหมือนสิงคโปร์มีฝรั่งเป็นเจ้าเมือง  ฮ่องกงก็มีเซอร์จอห์น เบาริงเป็นเจ้าเมือง

จึงคิดว่าช่วงนี้ สุนทรภู่แต่งตอนปลายรัชกาลที่ ๓  ในช่วงที่โรเบิร์ต ฮันเตอร์มาตั้งห้างอยู่ในพระนครแล้ว   มิชชันนารีก็มาถึงแล้วด้วยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ม.ค. 10, 11:31
คิดว่าช่วงรัชกาลที่ ๑ - ๒ บรรดาฝรั่งก็เข้ามาดินแดนแถบนี้มากอยู่พอสมควร  แต่จะมีฝรั่งหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งในดินแดนแถบนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้างนั้น  ต้องไปค้นดูรายละเอียดก่อน

สุนทรภู่อาจจะไม่ต้องรอกระทั่งมิชชันนารีหรือฝรั่งคนอื่นเข้ามาในกลางหรือปลายสมัยรัชกาลที่ ๓   เพราะนั่นเป็นเวลาที่สุนทรภู่คงได้แต่งพระอภัยมณีไปยาวมากแล้ว 

เชิญนักประวัติศาสตร์ช่วยมาร่วมวงอภิปรายหน่อย เร้ว :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 19:27
ไม่รู้ว่าคุณหลวงหมายตานักประวัติศาสตร์นอกเรือน คนไหนไว้หรือยัง    แต่ในเมื่อยังไม่มีใครเข้ามา  ก็จะขอคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อน
สาวฝรั่ง หรือเมื่อก่อนเรียกว่า แหม่ม   ในเรื่องพระอภัยมณี   ล้วนเป็นสาวมั่น   ไม่เรียบร้อยนุ่มนิ่มอย่างสาวไทย ที่สะท้อนผ่านทางนางแก้วเกษรา  นางเอกตัวจริงของศรีสุวรรณ
นับเป็นพัฒนาการทางการสร้างตัวละครได้อีกทาง

เมื่อเริ่มเรื่องพระอภัยมณี มาจนถึงตอนนางผีเสื้อตาย    เรื่องสามารถจบได้บริบูรณ์  แบบเรื่องจักรๆวงศ์ๆ
ตัวนางทั้งหลาย  เว้นแต่นางผีเสื้อ   ก็ดูเป็นสาวไทยๆต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง   
ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร    พระธิดาก็งามเสงี่ยมแบบสาวในวรรณคดีไทย   จะรักผู้ชายก็ต้องเก็บซ่อนไว้ในใจ  มีพี่เลี้ยงเป็นสื่อให้สมหวัง
ส่วนนางตัวประกอบทั้งหลายเช่นนางกำนัลพี่เลี้ยง ก็มีจริตจะก้านแบบสาวไทย กระชดกระช้อย เจ้าคารมสมเป็นสาวชาววัง เป็นผงชูรสของเรื่องเท่านั้น
ไม่มีบุคลิกนิสัยแหวกไปจากขนบเดิมที่เคยแต่งๆกันมา

แต่นางฝรั่งที่ดาหน้ากันออกมา นำขบวนด้วยนางละเวง   เป็นนางพญาครองเมือง  เป็นขุนทัพหญิง  เป็นนักรบหญิง  เป็นนางมายา (enchantress)  ไม่ว่าจะเป็นรัมภาสะหรี  ยุพาผกา  สุลาลีวัณ
สีสันจัดจ้านตรงกันข้าม
สุนทรภู่เอามาจากไหน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 07:22
คุยต่อค่ะ  เห็นคุณเทาชมพูเลี้ยวมาเมืองรมจักรนัครา

เพลงยาวที่ศรีสุวรรณเขียนถึงนางเกษรา

พระว่าพลางทางตัดใบตองอ่อน                            มาเขียนกลอนกล่าวประโลมนางโฉมฉาย
จนลงเอยอ่านต้นไปจนปลาย                               ไม่คลาดคลายถูกถ้วนม้วนใบตอง
เอาโศกแซมแกมรักสลักหนาม                             เหมือนบอกความรักนางว่าหมางหมอง

เรื่องใบตองอ่อน  ยกให้ก็แล้วกัน  เพราะอ่านตามจินตนาการ  สงสัยอะไรมาก



มาสะดุดก็วลีที่ว่า   เอาโศกแซมแกมรักสลักหนาม  ห่อดอกรัก

เคยอ่านใน สยามประเภท เล่ม ๓  เรื่องขุนนางบางคนเดินเหินส่งจดหมายให้เจ้าจอม  จดหมายนั้นห่อด้วยใบรัก ใบสวาท ใบระกำ  ใบโศก
เมื่ออ่านให้ชมรมนักอ่านหนังสือเก่าฟัง  ฮือฮากันโดยพร้อมเพรียง


สุนทรภู่ก็รับเขียนเพลงยาวอยู่ระยะหนึ่ง( ๒๐๐ ปี สุนทรภู่และตำนานเมืองเพชรบุรี  ค้นคว้าและรวบรวมโดย อำมาตย์เอกและเสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา
( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ ) หนังสืออนุสรณ์  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์  ๒๕๓๓




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ม.ค. 10, 09:44

สุนทรภู่ก็รับเขียนเพลงยาวอยู่ระยะหนึ่ง( ๒๐๐ ปี สุนทรภู่และตำนานเมืองเพชรบุรี  ค้นคว้าและรวบรวมโดย อำมาตย์เอกและเสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา
( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ ) หนังสืออนุสรณ์  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์  ๒๕๓๓


หนังสือเล่มนี้ได้อ่านเหมือนกัน  แต่เป็นฉบับพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๒  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  นำมาพิมพ์ใหม่  มีเรื่องเล่าเล็กน้อยหลายเรื่องเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่ท่านผู้รวบรวมได้พยายามเสาะหาถามจากขุนนางที่คุ้นเคยกับสุนทรภู่และยังมีชีวิตมาจนถึงสมัยพระยาปริยัติธรรมธาดา ( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ )

เจ้าคุณแพ ตาละลักษมณ์ ท่านเป็นคนมีความสามารถมากคนหนึ่ง  ท่านทำพจนานุกรมภาษาบาลีเล่มโตชื่อ พระบาฬีลิปิกรม  (หรือบาฬีลิปิมายน) เห็นวิธีการทำพจนานุกรมของท่านแล้วทึ่งมาก เพราะท่านไปเก็บคำบาลีจากหนังสือเล่ม หนังสือใบลานต่างๆ หลายเล่มทีเดียว  นับว่าท่านเป็นราชบัณฑิตโดยแท้ (ผู้ใดสนใจ ไปหาซื้อพระบาฬีลิปิกรม ๓ เล่ม/ชุด ที่มหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ได้ ราคาเล่มละ ๒๕๐ บาท ปกแข็งอย่างดี)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 10:38
มีประเพณีฝรั่งในลังกา มาฝาก  คือประเพณีทำศพ

พนักงานการสำหรับประดับศพ                        ก็แต่งครบเครื่องอร่ามตามภาษา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเกาะลังกา                      ท้าวพระยาอยู่ปราสาทราชวัง
ก็ต้องมีที่ตายไว้ท้ายปราสาท                          สำหรับบาดหลวงจะได้เอาไปฝัง
เป็นห้องหับลับลี้ที่กำบัง                                 ถึงฝรั่งพลเรือนก็เหมือนกัน
ใครบรรไลยไปบอกพระบาดหลวง                    มาควักดวงเนตรให้ไปสวรรค์
มีไม้ขวางกางเขนเป็นสำคัญ                           ขึ้นแปลธรรม์เทศนาตามบาลี
ว่าเกิดมาสามัญคนทั้งหลาย                            มีร่างกายก็ลำบากคือทรากผี
ครั้นตัวตายภายหลังฝังอินทรีย์                        เอาเท้าชี้ขึ้นนั้นด้วยอันใด
วิสัชนาว่าจะให้ไปสวรรค์                                ว่าเท้านั้นนำเดินดำเนินได้
อันอินทรีย์ชีวิตพลอยติดไป                            ครั้นเท้าย่างไปทางไหนไปทางนั้น
จึงฝรั่งฝังผีตีนชีฟ้า                                       ให้บาทาเยื้องย่างไปทางสวรรค์
ว่ารูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครัน                    ให้สูญลับกัปกัลป์พุทธันดร
เทศนาหน้าศพจบแล้วสวด                             พวกนักบวชบาดหลวงทั้งปวงสอน
ให้เผ่าพงศ์วงศานรากร                                  นั้นมานอนคว่ำเรียงเคียงเคียงกัน
ครั้นสวดจบศพใส่เข้าในถุง                             บาดหลวงนุ่งห่มดำนำไปสวรรค์
อ่านหนังสือถือเทียบเวียนระวัน                       ลูกศิษย์นั้นแบกผีทั้งสี่คน
ค่อยเดินตามข้ามหลังคนทั้งหลาย                   ที่นอนรายเรียงขวางกลางถนน
บาดหลวงพระประพรำด้วยน้ำมนต์                   ตลอดจนห้องฝังกำบังลับ
หกศีร์ษะเอาศพใส่หลุมตรุ                              แต่พอจุศพถุงเหมือนปรุงปรับ
พระบาทบงสุ์ตรงฟ้าศิลาทัพ                           เครื่องคำนับนั้นก็ตั้งหลังศิลา
ให้ลูกหลานว่านเครือแลเชื้อสาย                     ได้ถวายข้าวตอกดอกบุบผา
ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา                         เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน
แล้วกรวดน้ำทำบุญกับบาดหลวง                     ตามกระทรวงส่งให้ไปสวรรค์
ครั้นสำเร็จเสร็จศพทำครบครัน                        มาพร้อมกันบรรดาเสนาใน
คล้ายประเพณีของพวกคาทอลิค    เรื่องใส่ถุงนี่ไม่เคยเห็น   แต่ว่าการเก็บศพในสุสานที่ทำเป็นห้อง มีจริง      การหามศพด้วยคนแบกสี่คนก็จริง
อาจจะมีไทยปนๆบ้างเช่นกรวดน้ำ   
สุนทรภู่น่าจะเคยเห็นประเพณีทำศพของฝรั่งในกรุงเทพนะคะ   คิดว่าเป็นประเพณีคาทอลิคมากกว่าโปรแตสเตนท์
ถ้าใครเป็นคริสตศาสนิกชน มาช่วยอธิบายจะขอบคุณมาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ม.ค. 10, 11:56
เลือกเอาบางส่วนจากจดหมายเหตุของหมอบรัดเล ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๒ มานำเสนอ เพื่อว่าจะเป็นประโยชนืในการอภิปรายในกระทู้นี้บ้าง

๒๓ ส.ค. ๒๓๗๑  มิชชันนารี ชื่อ ชาลส์  คุตสลัฟ (หมอกิศลับ) กับเยมส์ ตอมลิน  แรกเข้ามาสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในกรุงเทพฯ

๒๔ มี.ค. ๒๓๗๖  มิชชันนารี ชื่อ ยอน เตเลอ โยนส์ (หมอยอน) เข้ามากรุงเทพฯ

๑๘ ก.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารี ชื่อ วิลเลียมดีน กับหมอบรัดเล เข้ามาถึงกรุงเทพฯ  ปีนี้แรกมิชชันนารีเอาเครื่องพิมพ์เข้ามากรุงเทพฯ

๕ ส.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารีแรกเช่าที่นายกลิ่น น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ตั้งโอสถศาลาที่ข้างใต้วัดเกาะ

๘ ก.ย. ๒๓๗๗ กัปตันเวลเลอ นายเรืออังกฤษ เกิดวิวาทกับพระวัดเกาะ  เหตุด้วยเข้าไปยิงนกในวัด  พระตีเอาบาดเจ็บสาหัส

๕ ต.ค. ๒๓๗๗ โอสถศาลาของพวกมิชชันนารีถูกไล่จากวัดเกาะเนื่องในเหตที่ฝรั่งตีพระ  ต้องย้ายมาอยู่ที่กุฎีจีน

ต.ค. ๒๓๗๘ ไทยแรกมีเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่ง เรือลำนี้ชื่อ เอริล  หลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์)ต่อถวาย

๑๒ พ.ย. ๒๓๗๘ หลวงนายสิทธิ์ ชวนหมอบรัดเลกับมิชชันนารีชื่อ สตีฟิน  ยอนสัน ลงเรือเอริลไปจันทบุรี เรือไปถึงจันบุรีเมื่อ  ๒๑ พ.ย.

๒๖ มี.ค. ๒๓๗๙  เอดมอนด์รอเบิต ทูตอเมริกัน นำหนังสือสัญญามาแลกเปลี่ยน

มิ.ย. ๒๓๗๙  มิชชันนารี ชื่อ รอบินสัน  แรกตั้งเครื่องพิมพ์พิมพ์อักษรไทย ในกรุงเป็นครั้งแรก

๑๓ ม.ค. ๒๓๘๐ ฉลองวัดเจ้าพระยาพระคลัง (วัดประยุรวงษ์)  ปืนใหญ่ที่ทำไฟพะเนียงแตก  ถูกคนตายหลายคน  หมอบรัดเลตัดแขนพระรูป ๑ ที่ถุกปืนแตก  ว่าได้ผ่าตัดอย่างฝรั่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

๒๐ ธ.ค. ๒๓๘๐ รัชกาลที่ ๓ มีรับสั่งให้หมอหลวงไปฝึกหัดปลูกฝีไข้ทรพิษจากมิชชันนารี

๒๘ ก.พ. ๒๓๘๑  มิชชันนารี รอบินสัน กับเตรซี พาครอบครัวไปอยู่ที่อ่างหิน (นัยว่าเป็นครั้งที่ฝรั่งไปตากอากาสรักษาตัวที่อ่างศิลา)

๒๗ มี.ค. ๒๓๘๒ รัชกาลที่ ๓ พระราชทานบำเหน็จแก่หมอหลวงและหมอบรัดเลที่ปลูกฝีไข้ทรพิษ

๒๗ เม.ย. ๒๓๘๒  รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น  หมายประกาศนี้ได้ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์มิชชันนารี ๙๐๐๐ ฉบับ  เป็นหมายประกาศฉบับแรกที่รัฐบาลไทยให้พิมพ์

๑ ม.ค. ๒๓๘๔  นายเชสสี  คัสเวล  (หมอกัศแวน) มิชชันนารี เข้ามาถึงเมืองไทย  (คนนี้ได้ถวายพระอักษณภาษษอังกฤษแด่รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงพระผนวชได้ ๙ ปี)

๑๗ ต.ค. ๒๓๘๔  พวกมิชชันารีอเมริกันเข้ามาเพิ่มในรวมอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน ๒๔ คน (นับทั้งบุตรและภรรยา)

ต.ค. ๒๓๘๕ โรงพิมพ์มิชชันนารีหล่อตัวพิมพ์อักษณไทยได้เองเป็นครั้งแรก

ธ.ค. ๒๓๘๕ เกิดข่าวลือวในคนไทยว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงกริ้วคนที่รับแจกหนังสือสอนศาสนาของพวกมิชชันารี  พากันทำลายหนังสือที่ได้รับแจกเสียมาก ภายหลังได้ทราบว่าไม่ได้ทรงกริ้ว

๑๒ ม.ค. ๒๓๘๖  มิชชันนารีพิมพ์ปดิทินภาษษไทยครั้งแรก............. :)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 14:37
๕ ส.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารีแรกเช่าที่นายกลิ่น น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ตั้งโอสถศาลาที่ข้างใต้วัดเกาะ
๕ ต.ค. ๒๓๗๗ โอสถศาลาของพวกมิชชันนารีถูกไล่จากวัดเกาะเนื่องในเหตที่ฝรั่งตีพระ  ต้องย้ายมาอยู่ที่กุฎีจีน

ตรงนี้หมอบรัดเลอธิบายไว้ในที่อื่นว่า

เมื่อแรกมิชชันนารีเข้ามาตั้งในเมืองไทย ตั้งใจจะมาสอนสาสนาคฤศตังแก่พวกจีน ซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ด้วยเห็นว่า สอนที่เมืองจีนได้ผลดี จึงเตรียมหนังสือสอนสาสนาที่พิมพ์ในภาษาจีนเข้ามา แลมาขออนุญาตต่อรัฐบาล เพื่อจะสอนสาสนาแก่พวกจีน เมื่อไปตั้งโอสถศาลาที่วัดเกาะ มิชชันนารีแจกหนังสือสอนสาสนาแก่พวกจีน แลรับรักษาไข้เจ็บให้ทั้งจีนแลไทยๆ ไปรู้จักพวกมิชชันนารีด้วยการที่ไปให้รักษาไข้ จึงเรียกบรรดามิชชันนารีว่า “หมอ” ทั้งที่เปนแพทย์แลมิใช่แพทย์ จึงเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อแรกมิชชันนารีเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ มีบ้านฝรั่งแต่ ๒ แห่ง คือ บ้านซินยอคาลส ซิลไวโร กงสุลโปจุเกต ไทยเรียกว่า “คาลศ” ได้เปนขุนนางไทยตำแหน่งที่หลวงอภัยวานิช อยู่ตรงสถานทูตโปจุเกตทุกวันนี้แห่ง ๑ กับรอเบิต ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษ ไทยเรียกว่า “หันแตร” พึ่งบุญค้าขายอยู่ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ แต่ยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง ได้เปนขุนนางไทย ที่หลวงวิเศษพานิช อยู่ที่กุฎีจีนคน ๑ พวกมิชชันนารีได้อาไศรยฝรั่ง ๒ คนนี้ เมื่อโอสถศาลาถูกไล่จากวัดเกาะ จึงมาอาไศรยอยู่ที่ริมบ้านหันแตร

http://www.reurnthai.com/wiki/จดหมายเหตุของหมอบรัดเล (http://www.reurnthai.com/wiki/จดหมายเหตุของหมอบรัดเล)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 15:14
โต๊ะอาหารให้วังของนางละเวงวัณฬา เป็นแบบเดียวกับในตำหนักพระนางแมรี่อังตัวเนตที่ชื่อว่า เปตีอองนอง ที่พระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศส

นางวัณฬาพาองค์พระทรงศักดิ์          มาหยุดพักพุ่มพฤกษ์เป็นตึกโถง
นั่งเก้าอี้ที่ห้องท้องพระโรง              ข้างนอกโล่งเลี่ยนรื่นพื้นสุธา
ต้นไม้ร่มลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยพัด        โต๊ะเขาจัดแต่งไว้ทั้งซ้ายขวา
พอพร้อมกันลั่นระฆังสั่งสัญญา         โต๊ะก็มาเกลื่อนกล่นด้วยกลไก
ลูกล้อกลิ้งวิ่งเวียนเหมือนเกวียนขับ     พร้อมสำรับหวานคาวขวดเหล้าใส่
เสียงกริ่งกร่างต่างเขม้นไม่เห็นใคร      แต่โต๊ะใหญ่ไปถึงทั่วทุกตัวคน

ตอนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลอจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านเมื่อเสด็จถึงตำหนักพระนางแมรี่อังตัวเนตว่า

ห้องที่แปลกมากนั้นก็คือห้องเสวย ถ้าถึงเวลาเสวยโต๊ะจัดอยู่ในชั้นต่ำสำเร็จแล้วทะลึ่งขึ้นมาบนพื้นเอง ตาภู่แกคงระแคะระคายใครเล่าให้ฟัง หรือจะมีในหนังสือเก่า ๆ ครั้งโกษาปานที่คนหารเสียแล้วว่าไม่จริง จึงไม่ได้เก็บลงในพงศาวดาร

สุนทรภู่ท่านรู้เรื่องฝรั่งถึงในพระราชวังแวร์ซายเชียว

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 16:00

๒๓ ส.ค. ๒๓๗๑  มิชชันนารี ชื่อ ชาลส์  คุตสลัฟ (หมอกิศลับ) กับเยมส์ ตอมลิน  แรกเข้ามาสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในกรุงเทพฯ

หมอกิศลับ (Karl Friedrich August Gützlaff) เป็นชาวเยอรมัน ภรรยาเป็นชาวอังกฤษชื่อ Maria Newell สร้อยชื่อ วัณฬา ของนางละเวง อาจจะมาจากท้ายชื่อของแหม่ม Newell นี้ก็เป็นได้

http://en.wikipedia.org/wiki/Maria_Newell

Newell  ---> วัณฬา

ไม่ทราบว่าเดาไกลเกินไปหรือเปล่า

 :-[


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ม.ค. 10, 16:25
จดหมายเหตุหมอบรัดเลต่อครับ  เอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าน่าจะเกี่ยวกับพระอภัยมณี

๑๘  พ.ย. ๒๓๘๖ นายยอน ฮัสเสต ชันดเลอ  (หมอจันดเล)  มิชชันนารีเข้ามาถึงเมืองไทย

๑๑ มี.ค. ๒๓๘๗ เรือกำปั่นไฟ ชื่อ เอ็กสเปรส ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เป็นเรือกำปั่นไฟลำแรกที่ได้เห็นในแม่น้ำเจ้าพระยา

๒๘ มี.ค. ๒๓๘๗ ขุนนางผู้ใหย่ในกรมนาคน ๑ อายุ ๗๓ เป็นตาต้อมืดมาช้านาน  หมอบรัดเลตัดต้อกลับเห็นได้

๔ ก.ค. ๒๓๘๗ พวกมิชชันนารีทำหนังสือพิมพ์ข่าวออกเป็นภาษาไทยครั้งแรก เรียกชื่อบางกอกริคอเดอ

๒๒ มี.ค. ๒๓๘๙ นายสตีเฟน  มัตตูน (หมอมะตูน) มิชชันนารีกับหมอแซมยวล เฮาส์ (หมอเฮ้า)หมอในพวกมิชชันนารี เข้ามาถึง

๑๗ ม.ค. ๒๓๙๑ นายแซมยวล สมิท (หมอสมิท บางคอแหลม) มิชชันนารีเข้ามาถึง

๒๔ มี.ค. ๒๓๙๓ บาเลสเตีย ทูตอเมริกัน มาขอทำสัญญาใหม่ ไม่สำเร็จ

๒๒ ส.ค. ๒๓๙๓ เซอร์ เยมส์ บรุ๊ก  (เย สัปรุษ) ทูตอังกฤษมาขอทำสัญญาใหม่ ไม่สำเร็จ

ก.ย. ๒๓๙๓ พวกไทยที่เป็นลูกจ้างฝรั่ง พากันตื่นว่าทรงกริ้ว

ต.ค. ๒๓๙๓ พวกเสมียนแลครูไทยที่ไปทำงานกับมิชชันนารี ถูกจับหลายคน  (น่าจะเป็นเหตุจากเซอร์เจมส์ บรุก เข้ามาเจรจาทำสัญญา และเกิดความเรื่องนายโหมดพิมพ์หนังสือกฎหมายตราสามดวง)

๓ เม.ย. ๒๓๙๔  รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต

.................................... 8)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 มี.ค. 10, 11:09
        วันนี้คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเรื่อง เงือก  ลงนสพ. มติชนรายวัน จากจดหมายของคุณครูที่ส่งมา

ตัดตอนเรียบเรียงดังนี้ ครับ

        เงือก ในพระอภัยมณีของสุนทรภู่

             คือ คนมีแขน มีขา แต่มีหางเหมือนปลา


                 เงือก แปลว่า งู เป็นคำโบราณมีความหมายเดียวกับ เงี้ยว (ในพม่า), งึม (ชื่อแม่น้ำในลาว)

       แต่เงือกในจินตนาการของสุนทรภู่เรื่องพระอภัยมณี ควรมีรูปร่างหน้าตาเหมือน "เงือกเดนมาร์ก"
หรือไม่? บรรดาคนวาดรูป, คนปั้นอนุสาวรีย์, และครูบาอาจารย์ในสถาบันต่างๆ ต้องสุขุมรอบคอบ
ยึดถือ "ตัวบท" ในเรื่องเป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาตามความเข้าใจของตัวเอง ดังจดหมายต่อไปนี้

         ไม่รู้ว่าเพื่อนสมาชิกพูดถึงนางเงือกในพระอภัยมณีบ้างหรือเปล่า ผมเห็นว่าเงือกก็คือคนมีหางเหมือนหางปลา
อย่างที่สินสมุทรเห็น คือ

                เห็นฝูงเงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล          คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา

จากหนังสือแบบเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ชั้น ม. ๓ และบรรยายตอนนางผีเสื้อฆ่าเงือกว่า

               แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน             ไม่หายแค้นฉีกกินสิ้นทั้งคู่

       แสดงว่า เงือกมีรูปร่างเหมือนคน มีขา มีแขน จะต่างจากคนก็ที่เงือกมีหาง เมื่อตัดหาง
เงือกก็คือคนธรรมดานี่เอง ตัวอย่างชัดที่สุดก็คือ พระนางเจ้าจันทวดี พระราชชนนีของกษัตริย์สุดสาคร
เพราะตอนท้ายของเรื่อง พระอินทร์มาตัดหางให้นาง

       เงือกที่ตัวเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลานั้น น่าจะเป็นเงือกชาติอื่น ไม่ใช่เงือกของสุนทรภู่ ....

/ ยงยุทธ์ สีหะนันท์ ร.ร. วิสุทธกษัตร พระประแดง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 มี.ค. 10, 11:12
          คำอธิบายของครูยงยุทธพร้อม "ตัวบท" ของสุนทรภู่ชวนให้เชื่อถือว่า เงือกมีรูปร่าง มีขา มีแขนเหมือนคน
แต่มีหางเพิ่มเข้ามาต่างจากคน

       เคยมีผู้สงสัยเงือกในพระอภัยมณีมานานมาก ถ้าหากนางเงือกมีรูปร่างเหมือนอย่างที่ช่างเขียนกับช่างปั้น
ทำเลียนแบบเงือกเดนมาร์กแล้วพระอภัยมณีจะ make love ตรงส่วนไหนถึงจะได้ลูกเป็นสุดสาคร

       แต่ถ้าเงือกมีรูปร่างตามครูยงยุทธอธิบาย ก็ make love ได้ตามปกติของคนกับเงือก

       หรือท่านผู้ใดจะคิดเป็นอย่างอื่น  กรุณาเขียนมาสู่กันด้วยจะได้ช่วยกันอ่านวรรณคดีให้ "สนุกนึก"
อย่างคำขวัญ "อุษาคเนย์ศึกษา" ของธรรมศาสตร์ ที่ว่า Make Love, Friends, not War
with ASEAN Neighbor = สร้างรัก ปลูกมิตร คิดหลีกเลี่ยงสงครามกับเพื่อนบ้านอาเซียน

      พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีอุษาคเนย์แท้ๆ  ที่สุนทรภู่แต่งเพื่อต่อต้านสงครามล่าอาณานิคมของอังกฤษ
ด้วยวิธีเกี้ยวนางละเวงเพื่อ "แปลงสนามรบ เป็นสนามรัก" หรือ Make LOve, not War
ขอให้ช่วยกันพิจารณา.(จบ)

           เงือกในพระอภัยมณีจึงเป็นคนเช่นคนบนดิน ต่างแต่มีหางงอกออกมา คล้ายกับนางสุพรรณมัจฉา
ในโขนรามเกียรติ์ (หรือละครไกรทอง -ชาละวัน วิมาลา เลื่อมลายวรรณ ) ที่มีหางปลา (หางจระเข้)
อยู่ที่บั้นท้าย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 10, 10:26
ถ้าเงือกน้อยของพระอภัยมีร่างกายแขนขาอย่างมนุษย์ แต่มีหางปลางอกออกมาข้างหลัง  ก็สิ้นสงสัยไปได้เรื่องการสมสู่กับมนุษย์  ตลอดจนการคลอดลูกก็คงเหมือนผู้หญิงทั่วไป 
การตัดหางนางในพระอภัยมณี ภาค 2   ก็คงทำนองเดียวกันกับพระรามตัดหางมัจฉานุ  ทำให้เป็นลิงโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ลูกครึ่งลิงกับปลา
แต่...เสียดายเหลือเกิน      ยังติดใจภาพนางเงือกที่ท่อนล่างเป็นปลา    ดูกลมกลืนกันมากกว่าผู้หญิงทั้งตัวแต่มีหางปลางอกออกมาทางด้านหลังเป็นไหนๆ