เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ชลติณ ที่ 01 ม.ค. 13, 15:25



กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ชลติณ ที่ 01 ม.ค. 13, 15:25
พอดีว่ามีโอกาสได้ดูหนังเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่มาครับ แล้วมีช่วงนึงเป็นตอนที่พระเอก พูดคุยกับลุงสีเทา แล้วลุงได้ถามว่าเคยได้ยินกฎหมายโปราณไม๊ที่ว่า

"หากแม้นชายใดไปเมืองจีน  ไปทะเล   ไปชวา   ไปพังงาฟ้าแดง    ท่านให้หญิงคอยท่า 3ปี   แต่ถ้าพ้น 3ปีไปแล้ว  ท่านให้หญิงมีชู้ได้ไม่มีความผิด"

แต่เมื่อค้นหาดูพบว่าในเว็บ phangngacity.com กลับมีการอ้างประโยคที่คล้ายกันนี้ แต่แตกต่างไปเป็น  

"แม้ว่าชายไปเมืองจีน ไปทะเล เชียงใหม่ ไปพังงา ไปชวาฟ้าแดง  ถ้าพ้นสามปีเจ็ดปี หญิง(เมีย)มีชู้ มิให้โทษแก่หญิงนั้น"

มีการเพิ่มเมืองเชียงใหม่เข้ามา และ กลายเป็นชวาฟ้าแดง

จากข้อความตรงนี้มีคำถามดังนี้ครับ
1. กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีการตราขึ้นมาจริงๆไหมครับ (ในกฎหมายตราสามดวงมีไหมครับ) ถ้ามีจริงมีขึ้นในสมัยใด
2. ทำไมถึงระบุถึงเมืองพังงา เพียงเมืองเดียวครับ ทั้งๆที่มีเมืองอื่นที่มีระยะทางไกลกว่า พังงาก็มี (ในกรณีที่พบในหนัง)
3. ทำไมต้องพังงาฟ้าแดง ครับ เป็นไปได้ไหมที่ฟ้าแดงจะบ่งบอกว่าเป็นเมืองที่มีพายุ มรสุมรุนแรง ? (ในกรณีจากในหนัง)
4. สรุปว่าข้อความเดิมจริงๆ ในกฎหมายเป็นอย่างไรครับ (ในกรณีที่มีการตรากฎหมายนี้ขึ้นมาจริงๆ)


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 01 ม.ค. 13, 21:28
อ้างถึง - กฎหมายตราสามดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๕๔๘ สถาบันปรีดี พนมยงค์

พระไอยการลักษณผัวเมีย หมวด ๗ มาตรา ๖๒ วรรค ๒

แม้นว่าชายไปเมืองจีนไปชะแลไปเชียงใหม่ไปพังค่าไปชะวาผาแดงดั่งนั้นไซ้ ท่านให้หญิงอยู่ถ้าสามปี ถ้าได้ข่าวว่าสลัดจับชายผัวไปได้ แลสำเภาสัดไปตกข้าศึก ให้หญิงอยู่ถ้าเจ็ดปี
ถ้าพ้นสาม/เจ็ดปีแล้วหญิงมีชู้ผัว มิให้มีโทษแก่หญิงชายนั้นเลย ถ้าชายผัวเก่ามาทำร้ายแก่เฃาทังสองไซ้ ท่านให้ไหมดุจเดียวแล



กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ม.ค. 13, 07:24
การเดินทางไปเมืองจีนสมัยล่องเรือสำเภานั้น หากไปขึ้นท่าเรือแถวบกวางตุ้ง ใช้เวลาเดินทางจากสยามไปจีน ใช้เวลา ๑๔๕ วัน ส่วนขากลับใช้เวลา ๑๗๓ วัน รวมการเดินทางกว่า ๑๐ เดือนเศษ เหลือเวลาค้าขายอีกปีกว่า ๆ ก็ไม่ถึงสามปีก็คงเป็นระยะเวลาที่น่าเหมาะสม


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ชลติณ ที่ 02 ม.ค. 13, 11:34
ขอบคุณมากครับสำหรับทุกคำตอบ แสดงว่ากฎหมายนี้มีบัญญัติขึ้นมาจริงในกฎหมายตราสามดวง
ข้อความนี้จากที่คุณลุงไก่ยกมา ผมสงสัยในตัวเนื้อความเล็กน้อยครับเนื่อว่าเป็นคำศัพท์โบราณผมไม่ค่อยสันทัดนัด

ชะแล ที่ว่านี้ หมายถึง ทะเล หรือครับ? ผมหาเจอคำที่ใกล้เคียงกันคือ ชเล ที่แปลว่าทะเล  หากชะแล มิได้แปลว่าทะเล จะเป็นไปได้ไหมครับที่จะเป็นชื่อเมือง เพราะชื่ออื่นๆในกฎหมายข้อนี้เป็นชื่อเมืองทั้งสิ้น เช่น เมืองจีน เชียงใหม่ ชวา  ผมลองค้นดูชื่อเมืองหรือตำบลที่ใกล้เคียงกับคำว่าชะแลมีสองเมืองคือ
1 ต.ชะแล อ. ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
2.ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา

ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วในกรณีที่เป็นชื่อเมืองและความยากง่ายในการเดินทาง ผมคิดว่า เมืองชะแลที่ กาญจนบุรี น่าจะเดินทางไปลำบากกว่า เมืองชะแล้ที่สงขลา เนื่องจาก สงขลาสามารถเดินทางมากับเรือได้ ไม่ลำบากนักในสมัยนั้น แต่ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า "ชะแล" เป็นชื่อของเมืองครับ

ประเด็นต่อมาที่สงสัยคือ พังค่า นี่คือชื่อเมือง พังงาไหม? ถ้าออกเสียงอย่างคนใต้ เมืองพังงา จะออกว่า "พังฮา" อย่างไรก็ดีมีเอกสารอื่นใดไหมครับที่เรียกเมืองพังงาว่า พังค่า ที่เราพอจะเทียบเคียงได้มั่ง

เมื่อค้นจาก หนังสือชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ ท่านอ. ประพนธ์ เรืองณรงค์ ได้อรรถาธิบายที่มาของชื่อเมืองพังงาไว้ว่า  “พังงา” มาจากคำมลายูว่า “กัวลาภูงา” หรือ “กราภูงา” (Kuala Punggah) คำว่า “กัวลา” หรือ “กรา” แปลว่า ปากน้ำ ส่วน “ภูงา” แปลว่า ที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ รวมความแล้วพังงา หมายถึง ปากน้ำเป็นที่เทียบเรือขนถ่ายสินค้า แต่อย่างไรก็ดีไม่มีการกล่าวถึงคำว่า "พังค่า" เอาไว้เลย

คำว่าพังค่า นี้ พาลให้ผมนึงถึงคำว่า พังลา ในภาษาถิ่นใต้ พังลานี้เป็นชื่อกล้วย เรียกว่ากล้วยพังลา ซึ่งในภาษากลาง ก็คือ กล้วยตานีนั่นเองครับ ทำไมคนใต้เรียกว่า "กลัวยพังลา" พังลานี้ สันนิษฐานกันว่ามาจากคำว่า บังคลา ซึ่งก็หมายถึงเมือง บังกลาเทศ นั่นเองครับ อาจจะเพราะว่าชาวบัังคลาเทศนำเข้ามาก็เป็นได้


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ม.ค. 13, 21:36
อ้างถึง - กฎหมายตราสามดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๕๔๘ สถาบันปรีดี พนมยงค์

พระไอยการลักษณผัวเมีย หมวด ๗ มาตรา ๖๒ วรรค ๒

แม้นว่าชายไปเมืองจีนไปชะแลไปเชียงใหม่ไปพังค่าไปชะวาผาแดงดั่งนั้นไซ้ ท่านให้หญิงอยู่ถ้าสามปี ถ้าได้ข่าวว่าสลัดจับชายผัวไปได้ แลสำเภาสัดไปตกข้าศึก ให้หญิงอยู่ถ้าเจ็ดปี
ถ้าพ้นสาม/เจ็ดปีแล้วหญิงมีชู้ผัว มิให้มีโทษแก่หญิงชายนั้นเลย ถ้าชายผัวเก่ามาทำร้ายแก่เฃาทังสองไซ้ ท่านให้ไหมดุจเดียวแล



คำว่า ชะแล อาจจะหมายถึง ทะเล อย่างที่คุณอ้างถึงก็ได้ เพราะอิงกับคำว่าไปเมืองจีน ซึ่งต้องเดินทางไปทางทะเล

จากหนังสือที่อ้างถึง มีหมายเหตุกำกับไว้ว่า ฉบับรองทรง - พังคา คือไม่มีไม้เอกกำกับ

คำว่า พังค่า หรือ พังคา อิงกับเชียงใหม่ ผมก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งทางเหนือ ก็เลยไปค้นในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ก็พบมีเมืองหนึ่งชื่อ เวียงพางคำ โดยในหนังสืออ้างถึงตำนานเชียงแสน ดังนี้

"... กลุ่มคนไทยได้มาสร้างเวียงโยนกหรือต่อมาเรียกเวียงหนอง และต่อมาได้แตกตัวสร้างเวียงขึ้นอีก เช่น เวียงพางคำ เวียงไชยนารายณ์ ..."
ก็เลยค้นหาต่อในกูเกิ้ล ปรากฎข้อความดังนี้ "อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่โบราณเมืองหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ตามประวัติ อำเภอแม่สายมีชื่อเรียกแต่เดิมว่า "เวียงสี่ดวง หรือเวียงพางคำ มีการปกครองโดยมีเจ้าผู้ครองนคร ..." ดังนั้น พังค่า หรือ พังคา น่าจะหมายถึง เวียงพางคำ หรืออำเภอแม่สายนี้ก็ได้

ชะวาผาแดง ผมสันนิษฐานว่าจะเป็น "ชะวา" กับ "ผาแดง" คำว่า "ชะวา" คงจะตรงไปตรงมาว่าหมายถึงเืมืองชะวาหรือเกาะชะวา คำว่า "ผาแดง" ผมสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ปาดัง ในภาษามลายู คือเมืองปาดังเบซาร์นี้เอง






กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ม.ค. 13, 06:55
แผนที่สมัยรัชกาลที่ ๑ เขียนไว้บนผืนผ้าไหม ระวางฉบับเมืองถลาง เขียนเมืองพังงาไว้เป็น "พุงา"


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 13, 09:39
๑. "พังคา" ไม่ใช่เมืองพังงาดอก แต่จะเป็นเมืองอะไร ลองพิจารณาดู

๔ ศักราช ๗๓๓ ปีกุรตรีศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองฝ่ายเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง ศักราช ๗๓๔ ปีชวดจัตวาศก (พ.ศ ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังคา และเมืองแซรงเซรา ศักราช ๗๓๕ ปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเอาเมืองช้ากังราว และพระยาไซ้แก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออก ต่อรบท่าน ๆ ได้ตัวพระยาไซ้แก้สตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พล ทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็เสด็จกลับคืนมาพระนคร ศักราช ๗๓๖ ปีขาลฉอศก (พ.ศ. ๑๙๑๗)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าและพระเถรธรรมากัลยาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตน มหาธาตุ ฝ่ายบุรทิศหน้าพระบันชั้นสิงห์สูง ๑๙ วา ยอดนพศูล สูง ๓ วา ศักราช ๗๓๗ ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมือง กวาดครัวอพยพ มาครั้งนั้นมาก ศักราช ๗๓๘ ปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองช้ากังราว ได้พระยากำแหง และท้าวผากองคิดกันว่าจะยอทัพหลวง ทำมิได้ ท้าวผากองเลิกทัพหนี เสด็จยกทัพหลวงตามตีทีพ ท้าวผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้ว ทัพหลวงเสด็จกลับคืน

จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%96%E0%B9%94)

อ่านความตามพงศาวดารนี้ พอจะระบุได้ว่าเมืองพังคาน่าจะอยู่ทางเหนือ เชื่อว่าปัจจุบันคือ "เมืองนครสวรรค์" นั่นเอง

นครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งปรากฏชื่อในศิลาจารึกเรียกว่า "เมืองพระบาง" หรือ "ปากพระบาง" เป็นเมืองหน้าด่านใต้ของอาณาจักรสุโขทัย เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลงได้ถูกอาณาจักรกรุงศรีอยุธยารวมเข้าไว้ และมีชื่อเรียกเพิ่มอีกชื่อว่า "เมืองพังคา" หรือ "นครพังคา" ซึ่งแปลว่าช้างศึกพวกหนึ่ง ที่ตั้งของตัวเมืองอยู่บนฝั่งขวาของต้นน้ำเจ้าพระยาจนถึงเขาขาด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เผชิญกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นในตอนเช้า จึงมีสมญานามเมืองอีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองชอนตะวัน" ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงจัดระเบียบการปกครองใหม่ เมืองพระบางหรือนครพังคา จึงเปลี่ยนเป็น "เมืองนครสวรรค์" ตั้งแต่นั้นมา

จาก เว็บของเทศบาลนครนครสวรรค์ (http://nsm.go.th/history.asp)

  ;D


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 13, 10:01
๒. "ชะวา" ก็ไม่ใช่เมืองชวาหรือเกาะชวาดอก ลองพิจารณาพงศาวดารข้างล่างดูอีกที

บริเฉทที่ ๑

........๏ ยังมีผู้หนึ่งชื่อว่าขุนชวาจึงมาสร้างบ้านแปงเมืองในเชียงคงเชียงทอง ลวดว่าเมืองชวาตามวงษา ขุนชวาจึงไว้ลูกผู้หนึ่งชื่อยีบา ขุนชวาตายไว้เมืองแก่ยีบา ๆ ไว้ลูกผู้หนึ่งชื่อว่าวิริยา ขุนวิริยาตาย ไว้ลูกผู้หนึ่งชื่อกันฮาง ขุนกันฮางไว้ลูกผู้หนึ่งชื่อลกลิง ขุนลกลิง ไว้ลูกผู้หนึ่งระวัง ขุนระวังไว้ลูกผู้หนึ่งชื่อยีผง เมื่อขุนกันฮางอยู่ สร้างบ้านแปงเมืองชวา ลูกมันผู้ชื่อลูกลิงก็ยัง หลานมันผู้ชื่อระวังก็ยัง เหลนมันผู้ชื่อยี่ผลก็ยัง เขา ๘ คนพ่อลูกหลานเหลน ยังเปนขุนใหญ่อยู่กินบ้านล้านช้างที่นี้มาก่อนแล ปฐมนิทานํ นิฎฺฐิตํ

บริเฉทที่ ๒

........๏ ขุนบูลมเล่าจักปันแก้วแหวนแก่ลูกทั้งหลาย จึ่งกล่าวว่า อันแหวนธำมรงค์เลื่อมแสงใสมณีโชติแก้ว ปู่เจ้าแถนกันแต่งมานั้น ให้ไว้แก่เจ้าขุนลอ หน่วยปัทมราช โชติแสงสิงตาวัน แถมคำกีใส่ถุงมาพร้อมนั้น ให้ไว้แก่ยี่ผาลาน หน่วยมุกตั้งเลื่อมผิวเงินเลียงล่องนาคราชน้อมนำมาส่งส่วยแถน ให้ไว้แก่จูสง หน่วยเพ็ชรเชิดตั้งแผ้วแผ่นบาดาลใคร ๆ แหงะหน้าคอยมิได้นั้น ไว้แก่เจ้าไสผง หมากนิลเลื่อมผ่านส่องแสงสองแถนลูบไลลมนิ้วส่งมานั้น ไว้แก่เจ้างัวอินอัมพาผ่องผายงามปัตลอดลิงลำไว้ห้า พากแพบนนั้น ให้ไว้แก่เจ้า ลกกลม มีหน่วยปัดคำแสงเลื่อมหลาย หลากแก้วแต่ฟ้าตนเจ้าปู่แถนนั้น ให้ไว้แก่เจ็ดเจิงทอญ ครั้นว่าขุนบูลมราชาแบ่งปันของแก่ลูกชายทั้งหลาย ๗ คนนี้แล้ว จึงบอกชี้ที่บ้านเมืองให้แก่เขาพี่น้องว่าขุนลอให้ไปสร้างเมืองชวา เปนท้าวเปนพระยาแก่คนทั้งหลายทอญยี่ผาลานให้ไปสร้างเมืองหัวแต สามจูสงให้ไปสร้างเมืองแกวช่องบัวไสผงให้ไปสร้างเมืองยวนโยนก งัวอินไปสร้างเมืองชาวใต้อโยทธยาลกลมให้ไปสร้างเมืองเชียงคม ยอสามเจ็ดเจิงให้ไปสร้างเมืองพวนครั้นชี้บ่อนให้แก่เขาแล้ว จึงให้คำสอนอธิษฐานไว้ดังนี้.........

จาก พงศาวดารล้านช้าง (http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87)

เมืองชวาอยู่ในลาวเป็นแน่แท้ ปัจจุบันคือ "หลวงพระบาง"

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87) ยืนยันไว้ดังนี้

หลวงพระบาง เป็นเป็นเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่สมัยสถาปนาอาณาจักรซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า เมืองชวา และเมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐ ขุนลอซึ่งถือเป็นปฐมกษัตริย์ลาว ได้ทรงตั้งเมืองชวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างและได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เชียงทอง

 ;D


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 13, 10:19
๓. "ผาแดง" ไม่ใช่ปาดังเบซาร์แน่นอน

ผาแดงเป็นหน้าผาอยู่ติดกับแก่งหลวงในลำแม่น้ำโขง ห่างจากหลวงพระบางลงไปทางใต้โดยทางเรือประมาณ ๖ ชั่วโมง เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผาแดง ผู้มีหน้าที่ปกป้กรักษาลูกหลานชาวลาวผู้ที่เดินทางไปมาในลำน้ำโขง

ข้อมูลจาก “ยา (เจ้า) พ่อผาแดง” กับเขื่อนไซยะบุรี (http://www.livingriversiam.org/mk/mek_a46.html)

 ;D


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 13, 11:05
ทำไมจึงเรียกเมืองที่ขุนลอสร้างว่า "เมืองชวา"

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศได้ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง "เจ้าฟ้า และฟ้ากับดิน ใน วรรณกรรมลาว-ไทย" ลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (วันนี้เอง-คุณสุจิตต์ตั้งใจตอบคำถามนี้หรือเปล่า  ;) )  ว่าน่าจะมาคำว่า "เมืองเจ้าฟ้า" มีรายละเอียดดังนี้


เมืองเจ้าฟ้า, ชวา, หลวงพระบาง (http://www.sujitwongthes.com/2013/01/weekly04012556/)

ศูนย์กลางของแถน แต่เดิมอยู่เมืองแถน (หรือเดียนเบียนฟู ทางภาคเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาว)

เมื่อขุนลอ ลูกชายคนแรกขุนบรม พาผู้คนมาอยู่เมืองเชียงดงเชียงทอง ทางลุ่มน้ำโขง ได้เชิญความเชื่อแถนมาด้วย แล้วเรียกชื่อว่า เมืองเจ้าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้าก็คือ แถน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเชียงดงเชียงทองเป็นเมืองหลวงพระบาง

คนดั้งเดิมออกเสียงเจ้าฟ้าต่างจากปัจจุบัน ว่า เจ้า ออกเสียงคล้าย ๆ เซ่า ส่วนฟ้า ออกเสียงคล้าย ๆ ฟวา, วา

รวมกันเป็น เซ่าฟวา หรือเซ่าวา แล้วเพี้ยนเป็น ชวา ดังมีในกฎหมายตราสามดวงว่า “ชวาฟ้าแดง สุโขทัยฟ้าเขียว” ชวาในที่นี้หมายถึงเมืองหลวงพระบาง

เจ้าฟ้าจึงไม่ใช่คำจากพม่าหรือไทยใหญ่ แต่มีอยู่ก่อนแล้วในวัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขง


แต่ทว่า ฟ้าแดง ฟ้าเขียว มาจากไหนหนอ

 ???



กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ม.ค. 13, 11:09
คำถามคือ กฎหมายในตราสามดวงนั้น ใช้ภาษาการเรียกชื่อเมืองลึกเก่าขนาดนั้นเลยหรือ ควรจะเรียกชื่อเมืองในยุครัชกาลที่ ๑ ไม่ดีกว่าหรือครับคุณเพ็ญ  ???


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ม.ค. 13, 11:25
คำตอบ

ในบรรดาเอกสารประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นมรดกตกทอดมา เห็นจะไม่มีเอกสารใดสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าประมวลกฎหมายจุลศักราช ๑๑๖๖ หรือที่รู้จักกันในนาม “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้ชำระและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๔๘ ประมวลกฎหมายนี้เป็นที่รวมของนิติบัญญัติเก่าที่แม้จะผ่านการชำระแก้ไขบ้าง แต่หลายส่วนก็มีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างน้อย คนโบราณท่านถือว่ากฎหมายที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศใช้เป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นเคยเป็นมาอย่างไรก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น กฎหมายไทยหายไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ครั้นเมื่อรวบรวมชำระกันใหม่ ต้นฉบับคงวิปลาสคลาดเคลื่อนไปบ้างและไม่มีให้ตรวจสอบอย่างละเอียดในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้กฎหมายตราสามดวงเป็นผลมาจากการคัดลอกผิดพลาดบ้าง แต่คุณค่าในด้านภาษาของกฎหมายตราสามดวงมีอยู่อย่างมหาศาล

กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารที่อ่านยาก เพราะเต็มไปด้วยโบราณศัพท์ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว แต่คำเก่าเหล่านี้ล้วนทำให้สืบประวัติภาษาไทยได้เท่า ๆ กับการเรียนรู้อัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยอย่างไรก็ตาม ในการศึกษาภาษาไทยในกฎหมายตราสามดวง เราจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในสมัยก่อนการใช้ภาษาไทยได้พัฒนาไปโดยกระบวนการธรรมชาติ และมิได้ถูกมาตรฐานกลางกำหนดไว้ว่า คำหนึ่งควรเขียนอย่างไร และอ่านออกเสียงอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียน สำหรับคนเขียนแล้ว ได้ยินอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น ถ้าอาลักษณ์มีหลายท่านก็อาจเขียนไปอย่างที่แต่ละท่านถนัด เช่นคำเดิมว่า ผู้ญาณ (ผู้ได้รู้ได้เห็น) ผู้เขียนจดลงไว้ต่างกันในกฎหมายตราสามดวงและเคลื่อนไปเป็นภญาณ พญาน พยาน และพยาน ในที่สุด เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องสองประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นแรก เราต้องศึกษาภาษาไทยและภาษาอื่น ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงโดยไม่พยายามใช้เกณฑ์มาตรฐานของภาษาไทยและอื่น ๆ ในปัจจุบันได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด และประการที่สองข้อเท็จจริงว่า ในสมัยโบราณไทยไม่มีเกณฑ์อักขรวิธีที่เคร่งครัดและเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้อาลักษณ์แต่ละท่านเขียนในรูปแบบแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ยุกระบัตร ยกกระบัตร หรือยุรบัตร และพิไย พิไนย หรือพินัย เป็นต้น แม้แต่ราชทินนามซึ่งในพระราชกำหนดบอกว่า ใครก็ตามจะเขียนผิดไม่ได้ ก็ปรากฏว่าเขียนไม่ค่อยตรงกัน ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วการเขียนของคนไทยสมัยก่อนมักอิงเสียงมากว่าอิงอักขรวิธี ดังนั้นเวลาศึกษาคำเก่าในกฎหมายตราสามดวง อาจจะเข้าใจได้ดีกว่าด้วยซ้ำจากการฟังคนอ่านมากกว่าพยายามที่จะแปลศัพท์ตามรูปเขียน

จาก  ภาษาไทยในกฎหมายตราสามดวง (http://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8aae0b899e0b8b8e0b881e0b881e0b8b1e0b89ae0b8a0e0b8b2e0b8a9e0b8b2e0b984e0b897e0b8a2e0b983e0b899e0b881e0b88ee0b8abe0b8a1e0b8b2e0b8a2.pdf)

 ;D


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ม.ค. 13, 11:44
เป็นอย่างนี้นี่เอง  ;)


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ม.ค. 13, 21:10
เรือนไทยน่าจะมีปุ่มกด Like ได้มั่งนะ



กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: ชลติณ ที่ 15 ม.ค. 13, 14:12
ขอบพระคุณทุกท่านครับ ที่เข้ามาให้ความกระจ่าง  ;D


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 13, 17:06
รออ่านอยู่ว่า จะมีคำอื่นใดที่น่าสนใจ ที่ได้กล่าวถึงในหนังเรื่องดังกล่าวนี้ (อาทิ อาชญาบัตร.... ประทานบัตร.... สัมปทาน กะสะ บังกา หางแร่ ขี้แร่ ฯลฯ) ที่ยังเป็นข้อสงสัยหรือไม่  หากไม่มี ก็แสดงว่ามีการดำเนินเนื้อเรื่องที่อธิบายความหมายของคำดังตัวอย่างนี้ได้อย่างเข้าใจ


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 13, 17:36
รออ่านอยู่ว่า จะมีคำอื่นใดที่น่าสนใจ ที่ได้กล่าวถึงในหนังเรื่องดังกล่าวนี้ (อาทิ อาชญาบัตร.... ประทานบัตร.... สัมปทาน กะสะ บังกา หางแร่ ขี้แร่ ฯลฯ) ที่ยังเป็นข้อสงสัยหรือไม่  หากไม่มี ก็แสดงว่ามีการดำเนินเนื้อเรื่องที่อธิบายความหมายของคำดังตัวอย่างนี้ได้อย่างเข้าใจ
สงสัยหมดทุกคำละค่ะ   สัมปทาน พอเข้าใจว่าแปลว่าอะไร แต่คำอื่นๆไม่รู้จัก
ถ้าได้นักธรณีวิทยามาอธิบาย พร้อมเล่าประสบการณ์ประกอบ ก็จะขอบคุณอย่างยิ่งค่ะ


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 13, 20:42
ในเมืองไทยมีการทำแร่มานานโขอยู่มากแล้ว   ในความหมายว่ามีการขุดนำแร่ขึ้นมาส่งเป็นส่วย มาขาย มาถลุง มาใช้ นะครับ

แร่ตามความหมายในสมัยโบราณแต่เก่าก่อนนั้น ผมเห็นว่าหมายถึงเฉพาะทรัพยากรแร่โลหะ คือที่นำมาถลุงแล้วได้โลหะธาตุ ซึ่งจะนำไปใช้ในการทำศาสตราวุธเป็นหลัก จึงจัดว่า แร่นั้นเป็นของมีค่า เป็นทรัพย์สินในแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ควรแก่การต้องมีการควบคุมด้วยระเบียบหรือกฎหมาย ซึ่งหมายความต่อไปถึงว่าจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการกระทำใดๆ

คำว่าสัมปทาน นั้นตรงกับคำว่า concession หรือ concessionaire        การใช้คำนี้จะเกิดขึ้นมาแต่เมื่อใดไม่ทราบ แต่ที่เป็นระบบที่เรียกว่าระบบสัมปทานนี้ เคยอ่านพบว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ.1900 ครั้งแรกในอิหร่าน ซึ่งตรงกับในสมัยรัชสมัยของ ร.5     โดยหลักการของระบบพื้นๆก็คือ เป็นการให้สิทธิแก่บุคคลใดหรือนิติบุคคลใดให้มีสิทธิ (right) ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (ในเนื้อที่ค่อนข้างมาก ในระดับนับเป็นร้อยตารางกิโลเมตรขึ้นไป) เพื่อไปทำการสำรวจ หรือทำการผลิต หรือทำการตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่กำหนด (ที่ได้รับอนุญาตในสัญญา) ในพื้นที่ๆกำหนดนั้นๆไปขาย โดยเสียค่าต๋งให้กับรัฐผู้อนุญาตตามอัตราที่กำหนดในสัญญา ซึ่งก็คือที่เราเรียกกันว่า ค่าภาคหลวง (Royalty)     

 


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 13, 21:27
สัมปทาน โดยนัย คือการให้สิทธิไปดำเนินการในเรื่อง ในพื้นที่ๆเราเข้าไม่ถึง หรือเราก็ไม่มีรายละเอียดหรือองค์ความรู้ใดๆในพื้นที่นั้นๆมากนัก
   
สัมปทานโดยทั่วๆไป (ในโลก) จะมีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี  ผมก็ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าทำไมจึงต้องเป็นช่วงระยะเวลาเท่านี้ครับ

การให้สัมปทานของเราอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น คิดว่าเริ่มในสมัย ร.5    เป็นการให้สัมปทานในเรื่องของการทำไม้ในพื้นที่ห่างไกลเป็นหลัก เช่น ที่ ต.วะเล่ย์ (มาจากชื่อผู้รับสัมปทานชื่อ Sir Lawrence Valley) อ.พบพระ จ.ตาก  พื้นที่ประเทศไทยที่เว้าเป็นปากนกแก้วบริเวณนี้ (ซึ่งเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้) ก็เว้าแหว่งหายไปเนื่องมาจากการยึดและอ้างสิทธิของอังกฤษ   ฟังประวัติว่ามาอย่างนั้นครับ

ส่วนคำว่าประทานบัตรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างจากสัมปทาน   


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 13, 22:06
concession หรือ concessionaire ตรงกับความหมายของระบบเจ้าภาษี ที่มีในรัชกาลที่ ๓  ค่ะ

สมัยนั้น ราชการจัดระบบเจ้าภาษีนายอากรขึ้น  คือหลวงเป็นผู้เปิดประมูลการเก็บภาษี  ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอเงินตอบแทนสูงสุดให้แก่รัฐบาล  เจ้าภาษีมีหน้าที่เก็บภาษีแทนราชการอีกต่อหนึ่ง  ได้เงินตามที่ราชการกำหนดก็ส่งเข้าภาคหลวงไป   ส่วนที่เหลือก็เป็นกำไรของตัวเอง  แต่ถ้าได้น้อยกว่าก็ขาดทุนเข้าเนื้อไป
ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร"  ส่วนมากเป็นชาวจีนฐานะดี  มีเงินรองรังมากพอ และเพิ่มพูนกำไรได้เก่ง  ผลดีของระบบคือรัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีอากรได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าเก่า  แต่ข้อเสีย คือ เป็นระบบผูกขาด และอาจจะมีการขูดรีดภาษีจากราษฎรได้


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 13, 20:17
ครับ
 
ด้วยระบบของเราแบบที่คุณเทาชมพูกล่าวมานั้น  อาจะเป็นต้นเรื่องของคำว่าประทานบัตรก็ได้

ผมไม่มีทราบว่าคำว่า ประทานบัตร นี้มีการใช้ย้อนไปไกลกว่าสมัย ร.5 หรือไม่  แล้วก็ไม่ทราบว่ามีการใช้กับเรื่องอื่นๆหรือไม่ นอกเสียจากการใช้ในเรื่องของการทำเหมืองแร่ เพราะว่าคำเต็มก็คือ ประทานบัตรเหมืองแร่  แต่หากใช้เพียงคำว่า ประทานบัตร ทุกคนก็ดูจะรู้เลยว่าเป็นประทานบัตรเหมืองแร่และเรื่องของเหมืองแร่

ลักษณะของประทานบัตรเหมืองแร่ คือ มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน มีอายุกำหนดว่ากี่ปีหรือจะหมดอายุในกี่ปี   ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบัน โดยหลักใหญ่ ก็คือ กำหนดว่าเพื่อการทำเหมืองแร่ในลักษณะใด (เหมืองอุโมงค์ เหมืองเปิด ฯลฯ) ทำการผลิตแร่ชนิดใด (แร่ดีบุก แร่เหล็ก ฯลฯ) แต่ละใบมีเนื้อที่แต่ละแปลงประทานบัตรไม่เกิน 300 ไร่ (ประมาณครึ่ง ตร.กม.) โดยมีการรังวัดปักเขต มีขอบเขตชัดเจน  มีอายุไม่เกิน 25 ปีและสามารถต่ออายุได้
 
ผมเข้าใจว่า เหตุที่ใช้คำว่า ประทานบัตร นี้ ก็เพราะอยู่บนพื้นฐานของหลักการว่าทรัพย์สมบัติในธรรมชาติต่างๆเป็นของแผ่นดิน เป็นสมบัติที่พระมหากษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน ทรงเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการประทานอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปทำการขุดออกมาขาย  คือการให้สิทธิเฉพาะกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในการขุดเอาทรัพยากรนั้นไปค้าขายหากำไร โดยจะต้องเสียภาษีอากรให้กับรัฐเป็นการตอบแทนตามปริมาณที่ขุดได้ในอัตราที่กำหนด

ด้วยความที่เรื่องของสัมปทานกับประทานบัตรมีความคล้ายคลึงกันพอควร   จึงมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมักจะเอาคำสองคำนี้มารวมกัน เรียกว่า สัมปทานบัตร   เอาเรื่องของการสัมปทานมาผนวกกับเรื่องประทานบัตร  คนละเรื่องกันเลยครับ ประทานบัตร เป็นเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ  ในขณะที่การสัมปทานเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรองกันได้ระหว่างรัฐกับผู้ขอสัมปทาน         



กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ม.ค. 13, 08:37
อ้างถึง ประวัติพระยาสยามนุกูลกิจ กล่าวไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แร่ดีบุกมีความต้องการจากทางยุโรปมาก ทำให้มีการเปิดเหมืองแร่ในแหลมมลายูและดินแดนประเทศราชของสยาม ทำให้มีกำไรกันทั่วหน้า ดังนี้แล้วพระยาสยามนุกูลกิจเห็นว่าอยากจะลงไปขุดเหมืองแร่ดีบุกบ้างในเขตสยาม จึงขอพระราชทานรัชกาลที่ ๔ เปิดเหมืองแร่ดีบุก และทรงพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองกระบุรี เพื่อขุดเหมืองแร่ แต่ก็ไม่ได้ทำเงินได้มากเหมือนอย่างที่เมืองระนอง


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 13, 09:15
ผมไม่มีทราบว่าคำว่า ประทานบัตร นี้มีการใช้ย้อนไปไกลกว่าสมัย ร.5 หรือไม่  แล้วก็ไม่ทราบว่ามีการใช้กับเรื่องอื่นๆหรือไม่ นอกเสียจากการใช้ในเรื่องของการทำเหมืองแร่ เพราะว่าคำเต็มก็คือ ประทานบัตรเหมืองแร่  แต่หากใช้เพียงคำว่า ประทานบัตร ทุกคนก็ดูจะรู้เลยว่าเป็นประทานบัตรเหมืองแร่และเรื่องของเหมืองแร่

ในรัชกาลที่ ๕ มีการตั้งกรมโลหกิจและภูมิ์วิทยา  (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/051/461.PDF) มีหน้าที่ตรวจตราบรรดาการที่เกี่ยวข้องด้วยแร่ โลหะธาตุ ทั้งประทานบัตร แลสัญญาอาทานในการแร่ โลหะธาตุ แลภูมิ์วิทยาทั้งปวงในพระราชอาณาจักรสยาม

มีศัพท์ว่า "สัญญาอาทาน" ขึ้นมาอีกแล้ว

หมายถึงอะไรหนอ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม19.png)


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 13, 09:59
ไม่เคยได้ยินคำว่า สัญญาอาทาน  ลองแยกคำดู  รอยอินให้ความหมายว่า
สัญญา   น. (กฎ) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น   เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ก. ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลง, กัน เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).

อาทาน   น. การถือเอา, การรับ, การยึดถือ, มักใช้เป็นส่วนท้ายศัพท์ เช่น   อุปาทาน สมาทาน. (ป., ส.).

รวมแล้วน่าจะแปลว่า ข้อตกลงที่กระทำร่วมกัน อาจจะรวมถึงเงื่อนไขด้วย

รอคุณตั้งมาตอบให้กระจ่างอีกทีค่ะ


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ม.ค. 13, 10:32
คัดจากหนังสือจัดตั้งกระทรวงเกษตราธิการ กล่าวไว้ว่า เดิมทีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่นั้น เจ้ากระทรวงหัวเมืองเป็นผู้จัดการ มีทั้งทำเองและทำโดยพลการก็มี จึงได้จัดตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา ขึ้น เมื่อ ร.ศ. ๑๑๐ โดยมีผู้ดูแลคือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์  และได้รับมิสเตอร์ อิ เต มูเลอร์ ชาวเยรมัน และมิศเตอร์ เอช วาริงตันสไมท์ ชาวอังกฤษ มารับราชการในกรมในตำแหน่งเจ้ากรม และผู้ช่วยเจ้ากรมตามลำดับ

ซึ่งก่อนหน้าที่จะตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยานี้ได้มีการออกประทานบัตรไปล่วงหน้าแล้ว ๑๑ ราย (เช่น เหมืองทองคำที่บางสะพาน, ที่เหมืองโต๊ะโม๊ะ เป็นต้น)

หลังจากมีการเลิกกระทรวงเกษตราธิการ ระหว่างศก ๑๑๔ ได้ย้ายกรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยาไปขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

ต่อมาที่ศก ๑๑๘ ได้มีการจัดตั้งกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมาใหม่ ทำให้กรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยา โอนกลับอยู่ยังกระทรวงเดิม

ประธานบัตร์ทั้งหมดที่ออกรวม ๑๗๕ ฉบับ

ต่อมาศก ๑๒๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ ร.ศ. ๑๒๐


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 13, 17:42
เพิ่งเคยได้ยินคำว่า สัญญาอาทาน ครับ

ความหมายที่คุณเทาชมพูวิเคราะห์ไว้นั้น น่าจะถูกต้องทีุ่สุดแล้ว
   
จากนี้เป็นการวิเคราะห์และการคาดเดาของผมที่พอจะมีเหตุผลสนับสนุนบ้างพอควร  คือ เนื่องจากกิจการเหมืองแร่ในยุคสมัยครั้งนั้น ยังไม่มีตัวบทกฏหมายชัดเจนดังในปัจจุบัน  ประทานบัตรเป็นเพียงใบอนุญาตให้ผู้ถือเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการทำเหมืองแร่ในขอบเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประทานบัตรนั้นๆ  ประทานบัตรเป็นเอกสารที่ออกให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีชื่อเป็นผู้รับเท่านั้น เป็นการมอบสิทธิแบบเฉพาะเจาะจงตัว ไม่สามารถนำไปซื้อขาย โอน หรือมอบให้แก่บุคคลอื่นๆได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทางราชการและมีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือโดยทางราชการเป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน     

คราวนี้ ด้วยที่แร่ดีบุกเป็นทรัพยกรของรัฐที่เป็นทรัพยากรที่ต้องการของตลาดโลกมาก เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐจากการเก็บค่าภาคหลวง    แหล่งแร่ที่พบมีกระจายอยู่ทั่วไปในป่าเขา ในห้วยหนองคลองบึงต่างๆ    ดังนั้น เพื่อให้รัฐมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ มิให้มีการรั่วไหลเกินเหตุ จึงต้องมีการควบคุม โดยเฉพาะในเรื่องของการขาย ซึ่งรัฐจะเก็บค่าภาคหลาง (เป็นอัตราชัก เช่น 100 หาบชัก 10 เป็นต้น) หรือต่อมาเป็นร้อยละของราคาดีบุกในตลาด โดยคำนวนจากปริมาณที่แต่ละเหมืองขอนำไปขาย    เอาละครับ ทีนี้ก็พอจะเดาได้ว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องมีที่ปิดบัง ทีโกง ที่ซ่อนเร้น ที่ไม่ใช่ของตน ที่ทำเถื่อน ฯลฯ ผสมผสานเข้ามาด้วย   ก็จึงต้องมีเงื่อนไขต่างๆผนวกเป็นข้อกลงแนบท้ายประทานบัตร  เช่น ให้อยู่ในการดูแลของเขตพื้นที่ใด จะต้องรายงานแจ้งเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ  รวมทั้งหากจะทำการอื่นไดที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม เ่ช่น เปิดหน้าเหมืองใหม่ เปลี่ยนจาการใช้แรงคนไปเป็นการใช้เครื่องจักร ฯลฯ ก็จะต้องรายงานหรือจะต้องได้รับอนุญาต เป็นต้น

สัญญาอาทาน จึงน่าจะหมายถึง เงื่อนไขแนบท้ายใบประทานบัตรในกลุ่มของเรื่องราวที่ได้กล่าวมา


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 13, 17:44
มีอีกคำหนึ่ง คือ อาชญาบัตร   

คำนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันครับ


กระทู้: กฎหมายโบราณ จากเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 13, 20:08
คำว่าอาชญาบัตรนี้ พอรู้อยู่บ้างว่า นอกจากมีการใช้ในเรื่องของการสำรวจแร่ตาม พรบ.แร่ แล้ว ก็มีการใช้ในเรื่องของโรงฆ่าสัตว์และเขียงขายเนื้อหมูสดในตลาดสด  (ไม่ทราบว่าผู้ขายเนื้อวัวและไก่จะต้องมีด้วยหรือไม่)  และก็ไม่ทราบด้วยว่ามีการใช้ในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้อีกหรือไม่ 

ความหมายตรงๆของอาญาบัตร ก็คงคือ ใบอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การฆ่าหมู การสำรวจแร่ เป็นต้น

ประทานบัตร ดูจะมีความหมายตรงกับคำว่า Exclusive Right ที่ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดดำเนินการบางเรื่อง (แบบเฉพาะเจาะจง) เช่น ประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุก คือให้ทำเหมืองแร่ดีบุกในขอบเขตพื้นที่ๆกำหนด จะทำแร่อื่นในพื้นที่ๆกำหนดนั้นๆก็ไม่ได้ (แต่ละแปลงประทานบัตร ไม่เกิน 300 ไร่)   

ในขณะที่ อาชญาบัตร ดูจะมีความหมายไปในเชิงของ Operating Licence ซึ่งคือการอนุญาตให้บุคคลหรือนิติบุคคลสามารถดำเนินกิจกรรมในบางเรื่องได้ เช่น ดำเนินการโรงฆ่าสัตว์  หรือการเดินสำรวจแร่ในพื้นที่ต่างๆ     อาชญาบัตร ก็มีแบบผูกขาดเหมือนกัน น่าจะตรงกับคำว่า Exclusive licence เช่น อาชญบัตรผูกขาดสำรวจแร่สำหรับแร่ใดแร่หนึ่งในเขตพื้นทีใดพื้นที่หนึ่งที่กำหนด (ไม่เกิน 3,000 ไร่)  ความต่างกับอาชญาบัตรธรรมดา คือ ผู้อื่นสามารถเข้ามาสำรวจในพื้นที่นั้นๆได้ แต่หากเป็นการผูกขาด ผู้อื่นจะเข้ามาทำการสำรวจแร่ชนิดเดียวกันในพื้นที่นั้นๆไม่ได้      กรณีอาชญาบัตรสำหรับโรงฆ่าสัตว์นั้น สังเกตได้เหมือนกันว่า ออกให้สำหรับเขตหรือเป็นพื้นที่ๆไป

ในระบบของกฏหมายแร่นั้น อาชญบัตรกระทำได้เพียงการสำรวจหาแร่ในพื้นที่ที่กำหนด จะกี่แปลงก็ได้ แต่ๆละแปลงจะไม่เกิน 3,000 ไร่  หากพบแร่แล้วจะทำเหมืองก็จะต้องขอประทานบัตร   เช่นกัน จะกี่แปลงก็ได้ แต่ๆละแปลงจะต้องไม่เกิน 300 ไร่


จะให้ไปไกลถึงเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียมไหมครับ  แต่คงจะต้องแยกออกไปเป็นกระทู้ใหม่