เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 28 มี.ค. 23, 14:22



กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 28 มี.ค. 23, 14:22
เวลานี้มีละครเรื่อง หมอหลวง ทางช่อง 3 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และมีกล่าวถึงการแพทย์แผนไทย เลยอยากจะมาแลกเปลี่ยนทรรศนะ มุมมอง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น และเรื่องของมุมมองการแพทย์ ในยุคที่เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา

ถือว่าเป็นกระทู้ประจำละครเรื่อง หมอหลวง ดังที่เคยทำกระทู้ละครหลาย ๆ เรื่องในเรือนไทยแห่งนี้ครับ

https://youtu.be/m7sQbaRicdE


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 23, 20:51
ขอโทษที   ไม่ได้ดูละครเลยค่ะตั้งแต่ต้นปี   ใครดูเรื่องนี้เชิญสนทนาได้เลยนะคะ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 23, 09:35
ขณะที่ละครหลงมิติเวลา หมอหลวง ทางช่อง ๓ กำลังออกอากาศ  ทางช่อง ๗ ก็มีละครหลงมิติเวลาอีกเรื่องคือ เภตรานฤมิต ทั้ง  ๒ เรื่องเดินทางไปในช่วงเวลารัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน แม้จะต่างวิธี (หมอหลวง - พายุ  เภตรานฤมิต - เวทมนตร์) มีตัวละครชื่อ บัว เหมือนกัน เรื่องแรกเป็นนางเอก เรื่องหลังเป็นนางร้าย

มีบางคนบอกว่าอยากดูเรื่องที่ ๒ เพราะชื่อคนเขียนบทโทรทัศน์ ;D


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 23, 14:56
ใครน้อ?


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 23, 10:35
เมื่อคืน (๔ มีนาคม ๒๕๖๖) มีฉากสำคัญ "หมอบรัดเลย์ กับ การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย"

วันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๐ (ตามปีปฏิทินสากล ตรงกับ ค.ศ. ๑๘๓๗) เจ้าพระยาพระคลังจัดงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส ปืนใหญ่ที่ใช้ยิงไฟพะเนียงเกิดระเบิดขึ้น ทําให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เรียกหมอบรัดเลย์ที่อยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุมาทําการรักษาคนบาดเจ็บ แต่มีผู้สมัครใจยอมให้หมอบรัดเลย์รักษาเพียง ๒ คนเท่านั้น ส่วนมากไปรักษากับหมอไทย มีภิกษุรูปหนึ่งที่บาดเจ็บถึงขั้นกระดูกแขนแตกยอมรับการรักษา หมอบรัดเลย์จึงทําการตัดแขนผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ

https://youtu.be/cKRYXK62Kq8

https://youtu.be/2JdVHEDFMZQ

หมอบรัดเลย์ได้สรุปไว้ในบันทึกของตนเองว่า คนไทยไม่มีความรู้เรื่องการผ่าตัด และพระสงฆ์ที่ผ่านการรักษาโดยการผ่าตัดไม่นานก็หายดี แม้ว่าตอนนั้นจะไม่มียาสลบหรือยาชาสําหรับการผ่าตัด และยังอ้างด้วยว่าคนที่ได้รับการรักษาจากมิชชันนารีหายดีหมด แต่คนที่ไม่ยอมรักษาตายเพราะบาดแผลเป็นจํานวนมาก

จาก หอจดหมายสาธารณสุขแห่งชาติ (https://www.facebook.com/1964799477117598/posts/pfbid02C3s3XtuHPfcv6UEt8QkHucTR9RxfDSaXpUSuB3Vz4zgeRrB69w2nmyj1FxrAUdLMl/?mibextid=cr9u03)

https://youtu.be/HYA2HFrHiKc


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 23, 11:35
น้องบัวย้อนเวลามาในรัชกาลที่ ๓ หลังหมอบรัดเลย์พิมพ์ ประกาศห้ามสูบฝิ่น (https://th.m.wikisource.org/wiki/ประกาศห้ามสูบฝิ่น_ลงวันพฤหัสบดี_ขึ้น_5_ค่ำ_เดือน_6_จ.ศ._1201) ๑ ปี

https://youtu.be/8qTPrSDm3-0

ประกาศห้ามสูบฝิ่น ลงวันที่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ (วันพฤหัส เดือนหก ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๑ ปีกุน เอกศก) เวลาของละครหมอหลวงภาคอดีตจึงอยู่ใน พ.ศ. ๒๓๘๓ ดังนั้นการที่ ทองอ้น ไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของไทย (พ.ศ. ๒๓๘๐) อาจต้องย้อนเวลาไปอีก ๓ ปี ;D

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/34/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%9D%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99_%28%E0%B8%88.%E0%B8%A8._%E0%B9%91%E0%B9%92%E0%B9%90%E0%B9%91%29.jpg)


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 23, 20:35
เวลาของละครหมอหลวงภาคอดีตจึงอยู่ใน พ.ศ. ๒๓๘๓ ดังนั้นการที่ ทองอ้น ไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของไทย (พ.ศ. ๒๓๘๐) อาจต้องย้อนเวลาไปอีก ๓ ปี

แม่บัวน่าจะทราบประวัติศาสตร์ตอนนี้ แต่คงคิดว่าเหตุการณ์ก็ผ่านมาแล้ว ๓ ปี ไยจึงจะเกิดซ้ำขึ้นอีก ;D


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 19 เม.ย. 23, 12:48
ในวิกิพิเดีย ระบุถึงตัวละครตัวหนึ่งใน หมอหลวง ว่า เจ้าคุณทหาร แถมไประบุว่าเป็น เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเทียบเวลาสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าคุณสุรวงษ์ฯ ยังเด็กเกินกว่าจะขึ้นเป็นเจ้าคุณทหารได้ (เป็นเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 5)

เจ้าคุณฯ ในที่นี้ จึงน่าจะหมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มากกว่า


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 19 เม.ย. 23, 12:57
ซึ่งต่อให้เรียกเจ้าพระยาบดินทรฯ ว่าเจ้าคุณทหาร ก็ไม่น่าใช่อีก เพราะตามตำแหน่งแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งเจ้ากรมพระสุรัศวดี และขึ้นเป็นสมุหนายก แต่มีบทบาทในทางราชการทหารด้วย โดยเฉพาะในสงครามอานามสยามยุทธ

ในสมัยนั้น จึงเรียกเจ้าคุณบดินทรฯ ว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 19 เม.ย. 23, 13:00
เทียบกับละคร เภตรานฤมิต ที่ออกอากาศในช่วงไล่เลี่ย ก็กล่าวถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา ว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ เช่นกัน


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 23, 13:19
ถ้าเขียนละครหรือนิยายย้อนยุค    แล้วสงสัยว่าเจ้านายท่านใช้ราชาศัพท์กับองค์เองหรือเปล่า   ก็ตอบว่าเปล่า  ท่านก็รับสั่งด้วยศัพท์ธรรมดาๆนี่เอง
เจ้าที่ใช้ราชาศัพท์กับตัวเอง จำได้แต่ลิเกที่เคยดูตอนเด็กๆ
" อันตัวข้าพเจ้ามีพระนามว่าเจ้าชายโกมินทร์   วันนี้ให้ร้อนรุ่มกลุ้มพระทัย  อยากเสด็จไปป่า..."


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 23, 09:35
เมื่อคืน (๒๔ เมษายน ๒๕๖๖) มีฉาก ว่าที่หมอหลวงทองอ้น ทำ "ยาลูกครึ่ง (ไทย-ฝรั่ง)" ปลอมเป็นยาไทย

https://youtu.be/bmnDvfpTtIU

https://youtu.be/GepERU5aeTg

เหตุการณ์ให้คนไข้กินยาขาว (ควินิน) ที่ห่อด้วยยาแผนโบราณมีจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ใช้วิธีนี้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านวม) ผู้กำกับกรมหมอหลวงในรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากคนไทยในยุคนั้น ไม่เชื่อการรักษาโดยยาฝรั่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเล่าไว้ในหนังสือ "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย (https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี/นิทานที่-๑๓-เรื่องอนามัย) ตอนหนึ่งว่า

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี "ยาขาวฝรั่ง" (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด

ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า "ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ" ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 23, 09:35
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงคิดค้นทดลองสรรพคุณ "ยาควินิน" หรือ "ยาขาวฝรั่ง" จากหลักฐานตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้ยาควินินของหมอบรัดเลย์ว่า  

 "...ปลัดเลนำวิชาการแพทย์และยาสมัยใหม่เข้ามาครั้งนั้น เมื่อหัวทีคนทั้งปวงก็พากันทึ่ง ลางคนถึงกับไม่กล้าจะกินเข้าไป เกรงจะไปเกิดโทษร้ายในกายตัว  ครั้นมาเห็นผู้ป่วยที่กินเข้าไปกลับหายสบายตัวจากโรคร้ายมากขึ้น จึงได้พากันทดลองก็ได้เห็นผลชงัดนัก เลยเล่าลือกันมากขึ้น... เสียแต่รสขมจับจิตเสียจริง ด้วยมันคือ ควินินน้ำ... นับว่าเป็นคราวแรกที่ยาฝรั่งเข้ามาในเมืองเรา เวลานั้นผู้ที่มีความรู้ในทางยาไทยอย่างสำคัญของบางกอก ก็มีกรมขุนวงษาธิราชสนิท (ต้นตระกูลสนิทวงศ์พระองค์หนึ่ง) เมื่อท่านได้เห็นยาปลัดเล สรรพคุณชงัดก็เลยเข้าตีสนิทศึกษาเล่าเรียนเอาความรู้ พระองค์ท่านเป็นผู้แสวงวิชาโดยแท้ ผิดกับหมอไทยอื่น ๆ .. "

เมื่อได้ทรงเล็งเห็นสรรพคุณยาควินินว่ามีประโยชน์เพียงใดแล้ว  ได้ทรงนำมาประยุกต์ทดลองเป็นตำรายาแก้โรคไข้จับสั่น  ดังปรากฎในตำรายาของพระองค์ที่กล่าวถึงประโยชน์ของยาควินินตอนหนึ่งว่า  

"… เอายาที่ให้อาเจียนตามที่ชอบใจ กินใส่ปนดีเกลือสักหน่อยหนึ่ง ก็ให้อาเจียนออกมาสามหนสี่หน ถ่ายให้ลงห้าหกหน ให้อดของแสลง มีเนื้อสัตว์ น้ำมัน ข้าวเหนียว กะปิ สุรา เป็นต้น ให้รักษาดังนี้  สักสองสามวันก่อน ภายหลังให้กินยาเทศชื่อควินิน เอาควินินหนักหุนหนึ่ง แบ่งเป็นหกส่วน เมื่อไข้ส่างออกแล้วให้กินส่วนหนึ่งและในสองชั่วโมงกินทีหนึ่งจนถึงเวลากลางคืน เมื่อตื่นขึ้นแต่เช้ากินเหมือนเก่าอีก ควินินนี้เดี๋ยวนี้มีขายที่ตึกหันแตรประมาณห้าสิบขวด เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเป็นขวดละสิบเหรียญ ควินินในขวดเดียว หนัก ๒ บาท แบ่งรับประทานได้ ๔๘๐ ครั้ง พอรักษาคนไข้ให้หายขาดได้ประมาณ ๔๐ คน ดังนี้ราคาไม่ถูกมากแล้วหรือ"

จากกระทู้ ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2540.msg47961#msg47961)


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 09:35
เอกสารหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่นที่ปรากฎในประเทศไทยนั้น มีบันทึกเอาไว้อย่างละเอียดในเอกสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยที่นายแพทย์บรัดเลย์เองได้จัดทำขึ้น นั่นก็คือหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีกอเดอร์ (Bangkok  Recorder) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่ หมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีริเริ่มจัดทำขึ้นพิมพ์เผยแพร่เป็นสองคราวด้วยกัน คราวแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ถึงเดือนตุลาคม ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) รวม ๑๖ ฉบับก็เลิกกิจการ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พิมพ์ออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ออกเป็นรายปักษ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๑๘๖๕ ถึงประมาณปี ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๐๙) ก็เลิกล้มกิจการ

เอกสารฉบับนี้นับว่าเป็นช่องทางสำคัญอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวสาร วิทยาการความรู้ทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ให้กับชาวสยาม ซึ่งความรู้เกี่ยวกับโรคมาลาเรีย หรือในสมัยนั้นเรียกว่า ไข้จับสั่น ไข้จับ ไข้สั่น ไข้พิศม์ ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในหนังสือจดหมายเหตุนี้ด้วย ดังปรากฎตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รายละเอียดที่ถูกกล่าวถึงไว้ได้แก่ ตำรารักษาไข้จับสั่น ลักษณะไข้จับมี ๔ ประเภท แหล่งขายยาควินินอยู่ที่ตึกหันแตรและบ้านพักของหมอบรัดเลย์ ประวัติและความเป็นมาของยาควินิน วิธีการใช้ยาควินินในการักษาโรคไข้จับสั่น เป็นต้น

เทคนิคและวิธีการรักษาโรคไข้จับสั่นที่เน้นไปที่การใช้ยาสมัยใหม่คือควินินที่นำเข้ามาขายและแจกจ่ายโดยมิชชันนารีเป็นสำคัญ ดังปรากฏอยู่ใน เล่ม ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) หน้า ๓๒ บันทึกไว้ว่า

Treatment of Intermittent Fevers

"ตำรารักษาไข้จับให้ตัวสั่น เมื่อแรกจับ, เทพจรยังกำเริบอยู่, กำลังตัวยังไม่อ่อนลง, ถ้าเป็นดังนี้, ก็อย่าเภ่อกินยาให้ตัดไข้ขาดทีเดียวก่อนเลย, ด้วยว่าขี้มักเปนอีก, ถึงยาจะมีฤทธิ์มาก จะตัดขาดเรวได้, ในเจดวัน, เก้าวัน, สิบสี่วัน, ยี่สิบเอ็ดวัน, ไข้นั้นมักมาจับอีก. เปนไปดังนี้เพราะไม่ได้ถ่ายให้เทพจรอ่อนลงก่อนกินยาตัดให้ขาดนั้น. ผู้ใดเปนโรคไข้สั่น, ก็ให้ถ่ายด้วยดีเกลือไทก็ได้, ดีเกลือเทษก็ได้, เอายาที่ให้รากตามที่ชอบใจ กินใส่ปนกับดีเกลือสักน่อยหนึ่ง, ภอให้รากออกสามหนสี่หน, ถ่ายให้ลงห้าหนหกหน, ให้อดของแสลง, มีเนื้อสัตว์, น้ำมัน, เข้าเหนียว, กะปิ, สุรา เปนต้น. ให้รักษาดั่งนี้สักสามสี่วันก่อน. ภายหลังจึงให้กินยาเทษชื่อคินีน, ที่ไทเรียกว่า ยาขาว, เอาคินีนนั้นหนัก หุน หนึ่ง, แบ่งเปนหกส่วน. เมื่อไข้ส่างออกแล้ว,ให้กินส่วนหนึ่ง, แลในสองชั่วโมงกินทีหนึ่ง ๆ, กินทุกที, จนถึงเวลานอนหลับกลางคืน. แลเมื่อตื่นขึ้นแต่เข้า, เกินเหมือนดั่งว่ามาแล้ว, จนถึงเพลาที่เคยจับ. ถ้าไข้มาจับอีก, ก็ให้หยุดยาคินีนนั้นกว่าไข้จะส่างออกอีก, แล้วก็รับคินีนกินอีกเหมือนหนหลัง, รักษาดั่งนี้ไข้คงหายขาดทีเดียวไม่ใคร่จะกลับมาจับอีก, คินีนนั้น, บัดนี้มีขายที่ตึกหันแตรสักห้าสิบขวด. เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเปนขวดละ ๑๐ เหรียน. ถ้าซื้อแต่ขวดเดียวจะขายเป็น ๑๕ เหรียน. คินีนในขวดเดียวน้ำหนัก ๒ บาท, แบ่งเป็น ๔๘๐ มื้อ. ภอรักษาคนไข้สั่นให้หายขาดประมาณได้ ๔๐ คน ดั่งนี้มิถูกนักแล้วหฤา"


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 09:35
มีข้อสังกตว่าแม้จะเน้นการใช้ยาควินินรักษาและบอกวิธีกินอย่างแจ้งชัด แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งวิธีรักษาไข้แบบเก่าที่เคยทำมานั่นคือการระบายความร้อนด้วยยาถ่ายให้อาเจียน การงดของแสลง แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีใหม่ของการใช้ยาที่ยังไม่มั่นใจในคุณวิเศษของยาสมัยใหม่เท่าสมัยหลัง นอกจากนั้นแล้วหมอบรัดเลย์ยังได้นำเอายาควินินมาขายเองด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่จะรักษาด้วยยาฝรั่งสมัยใหม่ที่มีมากขึ้นในหมู่ชาวสยาม ดังปรากฏอยู่ในเล่มที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) หน้า ๔o บันทึกไว้ว่า

Quinine for Sale

"ยาคินีนนั้น, แต่ก่อนเขาขายอยู่ที่ตึกหันแตร, แต่บัดนี้เขาได้เอามาฝากไว้ให้ขายที่บ้านข้าพเจ้าหมอบรัดเล, ด้วยข้าพเจ้าเหนว่าในพระนครนี้, คนเปนไข้จับมากนัก, ข้าพเจ้ามีใจเมตตาจะสงเคราะห์คนทั้งปวง จึงรับเอายานั้นมา, เจ้าของสั่งให้ขายอย่างไร, ข้าพเจ้าขายอย่างนั้น. เหตุดังนี้จึงช่วยรับไว้ขาย มิได้เอากำไรเลย. แต่บัดนี้ยานั้นยังมีอยู่ที่บ้านข้าพเจ้าหมอบลัดเล ศัก ๔๐ ขวด. ถ้าผู้ใดจะซื้อเอาหมดทั้ง ๔๐ ขวด จะเอาราคาขวดละสามตำลึงสองบาด. ถ้าจะต้องประสาษ, แต่ขวดหนึ่งสองขวดแล้ว, จะเอาราคาขวดละสี่ตำลึงสามสลึง. หฤาจะเอาสลึงหฤาสองสลึงก็ได้. แลยาขวดหนึ่งนั้นหนักสองบาด, แต่ทว่าลางขวดก็ดูเหมือนมาก, ลางขวดก็ดูเหมือนน้อย, เหตุว่า ยาที่เปนก้อนเม็ดเลก ๆ แน่นอยู่ก็เหนเปนน้อย, ที่เปนก้อนโต ๆ ฟูอยู่ก็เหนว่ามาก, แต่ที่จริงน้ำหนักสองบาดเท่ากันทั้งสิ้น. ไม่มากไม่น้อยกว่ากัน, ยาดีเหมือนกัน อย่าได้สงไสไปเลย."

จากหนังสือ รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคมาลาเรียในประเทศไทย (http://irem.ddc.moph.go.th/uploads/book/5bbebc3939d73.pdf) หน้า ๕๔ - ๕๕


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่ ที่ 26 เม.ย. 23, 17:46
"สุนทรภู่" ในละครหมอหลวงท่าจะเป็นพระมอญ เพราะห่มแหวกบิดลูกบวบซ้าย 555

แต่จริง ๆ ถ้าท่านอยู่วัดไทย น่าจะห่มเฉียงบิดลูกบวบขวา หรือห่มดองคาดรัดอก ซึ่งตามประวัติควรเป็นแบบนั้น เพราะสุนทรภู่ไม่เคยสังกัดพระมอญ หรือสำนักธรรมยุต

พระสงฆ์ไทยโบราณจะนิยมห่มดองคาดรัดอก อย่างพระมหานิกายส่วนใหญ่ทุกวันนี้ หรือถ้าห่มเฉียงก็บิดลูกบวบทางขวา

ในกรณีออกนอกวัด ต้องห่มคลุม พระไทยโบราณจะห่มมังกร ทำลูกบวบบิดทางขวา แล้วใช้รักแร้หนีบลูกบวบไว้โดยตลอด แล้วตวัดส่วนบนขึ้นไหล่ ก็จะได้ลูกบวบพันรอบแขน ดุจมังกรพันแขน

ส่วนพระมอญ และพระในคณะธรรมยุตของพระวชิรญาณ จะห่มแหวก คือ บิดลูกบวบทางซ้าย พาดไหล่ซ้าย แขนขวาสอดแหวกออกมาจากผ้า

การห่มแหวกเช่นนี้ รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดเลย เพราะดูเป็นมอญพม่ามิใช่ไทย ก่อนสวรรคตถึงกับทรงขอร้องพระวชิรญาณให้แก้เรื่องนี้ แต่ภายหลังพระธรรมยุตก็นิยมห่มแหวกสืบมา

ฉะนั้น สุนทรภู่ในละครหมอหลวง หากจะทำให้ถูกต้องตามจริง ควรจะห่มเฉียงบิดลูกบวบขวา หรือห่มดองคาดรัดอก

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid04hX8iVE7yaGv9gaTCsnyz3bADAXirbh8fnZz4b7cvBCwHwif19EdxRV33hVvk14il&id=1528675000&mibextid=Nif5oz


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 18:35
"สุนทรภู่" ในละครหมอหลวงท่าจะเป็นพระมอญ เพราะห่มแหวกบิดลูกบวบซ้าย 555

https://youtu.be/NqPg2PVYhM4

ฉากนี้น่าจะโชว์บทกลอนท่านสุนทรภู่เป็นหลัก

นาทีที่ ๑.๓๐

สีกาละเวงวัณฬาแปลง

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

ในวรรคที่ ๓ ยังถกกันไม่สิ้นสุดว่าเป็น ใต้ฟ้า หรือ ใต้หล้า กันแน่ ๕๕๕ ;D


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 18:45
 :)


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 19:48
ในวรรคที่ ๓ ยังถกกันไม่สิ้นสุดว่าเป็น ใต้ฟ้า หรือ ใต้หล้า กันแน่ ๕๕๕ ;D[/size]

ที่ถูกต้องคือ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 23, 19:50
"ใต้หล้า" มาจากเนื้อเพลง "คำมั่นสัญญา" ที่ดัดแปลงไปจากวรรณคดีอีกทีหนึ่ง

https://www.youtube.com/watch?v=8vnPJjSJ0ds


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 เม.ย. 23, 11:55
          ลองรับฟัง,รับชม "คำมั่นสัญญา" แบบล่าสุด จากคลิป Reflection: ดุษฎีนิพนธ์: พี่โจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
(เพลงเริ่มประมาณนาทีที่ ๒๘.๐๐)

https://www.youtube.com/watch?v=Z3ZXGODCub8


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 23, 11:35
เมื่อคืน (๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖) มีฉากการระบาดของไข้ทรพิษ และการปลูกฝี

https://youtu.be/GDPdChSWOLA

https://youtu.be/B2e8d72D9EQ

https://youtu.be/p-wlbnWF6FQ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 23, 13:34
คำถามแรกที่เจ้าพระยาพระคลังถามหมอบรัดเลย์เมื่อพบกันก็คือ รักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะสมัยนั้นคนไทยเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษกันมาก  ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่โบราณ  ทางภาคใต้เรียกว่า ไข้น้ำ ภาคเหนือเรียกว่า เป็นตุ่มหรือตุ่มสุก เพราะเมื่อเป็นจะมีเม็ดเล็ก ๆ หรือตุ่มเกิดขึ้นดาษตามตัวเต็มไปหมด จึงได้เรียกว่าตุ่มและฝีดาษ  ในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์

ก่อนที่หมอบรัดเลย์จะมาถึงเมืองไทย ท่านและภรรยาได้เสียบุตรชายอายุเพียง ๘ ชั่วโมงไป ๑ คน  และเมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้วต้องเสียบุตรสาวแฮเรียต (Harriet) อายุเพียง ๘ เดือนด้วยไข้ทรพิษไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งหมอก็หมดปัญญาที่จะรักษา  ฉะนั้นการถามของเจ้าพระยาพระคลังและประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงทำให้หมอต้องศึกษาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นวันแรกที่ได้เริ่มปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โดยวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ ๑๕ คน  ถ้าหากว่าการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จดีแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการออกฝีดาษกันทุก ๆ ปีนั้นมาก  หมอบรัดเลย์ได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง หารือเรื่องปลูกฝีกันไข้ทรพิษ  เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย และกล่าวว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง จะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก  ถ้าหมอคิดการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จ ท่านยินดีจะอนุญาตให้หมอบรัดเลย์เรียกเอาขวัญข้าวจากคนที่ได้ปลูกฝีขึ้นแล้วคนละ ๑ บาท


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 23, 13:35
การปลูกฝีในระยะแรกใช้สะเก็ดจากคนเป็นฝีดาษมาปลูกในคนปกติ ส่วนที่ประเทศจีนนำเอาสะเก็ดของผู้ป่วยไข้ทรพิษมาบดเป็นผงแล้วฉีดพ่นเข้าจมูก แต่ก็เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าป้องกัน จนกระทั่ง เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ พบว่าหญิงรีดนมวัวที่ติดเชื้อฝีดาษกลับไม่ติดโรคฝีดาษจากวัว จึงสกัดหนองฝีจากวัวมาปลูกฝีกันไข้ทรพิษในคน และเมื่อวิธีการของนายแพทย์เจนเนอร์ได้รับการรับรองแล้ว วิธีการปลูกฝีแบบเดิมที่ใช้สะเก็ดหรือหนองของผู้ป่วยไข้ทรพิษมาปลูกฝีก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามรวมทั้งในประเทศไทย

จากบันทึกหมอบรัดเลย์ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ขณะที่ไข้ทรพิษชุกชุมอย่างมากในสยาม เหล่ามิชชันนารีก็ได้หาวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในตัววัวเพื่อรีดเอาหนองเชื้อนั้นมาปลูกฝีกันไข้ทรพิษ แต่กว่าจะสำเร็จก็ต้องใช้เวลาทดลองถึง ๕ ปี และเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบถึงความสำเร็จของการปลูกฝีป้องกันโรค จึงโปรดให้แพทย์ประจำราชสำนัก หรือ หมอหลวงทุกคนมาฝึกการปลูกฝี และออกไปปฏิบัติการทั้งในและนอกวัง เริ่มตั้งแต่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ โดยหมอหลวงที่ผ่านการฝึกหัดและปฏิบัติการปลูกผี ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระเจ้าแผ่นดินคนละ ๒๐๐-๔๐๐ บาท

ในช่วงแรกของการปลูกฝีนั้นใช้หนองฝีที่มาจากเมืองไทย มีบันทึกว่าวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๓ หมอบรัดเลย์ใช้หนองฝีที่ส่งมาจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มาปลูกฝีในสยามเป็นครั้งแรก และก็มีการบันทึกด้วยว่าเคยมีเหตุการณ์ที่พันธุ์หนองฝีจากสหรัฐอเมริกาหมดจนทำให้ต้องหยุดปลูกฝีกันไข้ทรพิษไปนานถึง ๔ ปี


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 23, 14:35
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๕ หมอบรัดเลย์ได้เขียน  "ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้" ถวายรัชกาลที่ ๓  และตีพิมพ์เผยแพร่ใน หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ (หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสยาม) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ตำราปลูกฝี โดย หมอบรัดเลย์ ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มครั้งแรก จำนวน ๕๐๐ เล่ม และพิมพ์ซ้ำครั้งที่ ๒ อีก ๑,๐๐๐ เล่ม ในปีเดียวกันโดยมี โรงพิมพ์อเมริกันบอร์ด เป็นผู้จัดพิมพ์

จาก  sarakadeelite.com (https://www.sarakadeelite.com/faces/dr-dan-beach-bradley/)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3127.0;attach=7714;image)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3127.0;attach=7715;image)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3127.0;attach=7716;image)


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 09 ก.ค. 23, 17:21
เพิ่งเริ่มสนใจประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้หลังจากเหตุการณ์โควิททำให้ตกงานเลยมีเวลาเดินเล่นแถวบางกอกน้อยครับ​ อาทิตย์ที่แล้วพาคุณแม่ไปโรงบาล​ คุณแม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนพ่อของคุณตา​ ทำงานเป็นหมออยู่ที่วัดอรุณอัมรินทร์​ ส่วนแม่ของคุณตาเป็นแม่ครัวของวัดระฆังสมัยสมเด็จโต​เป็นเจ้าอาวาส​ คาดว่าสมัยนั้นบริเวณศิริราชน่าจะยังไม่มีตึกที่ใช้รักษาผู้ป่วยสูงๆ​ ส่วนคำที่เรียก​ หมอหลวง​ ความคิดเห็นส่วนตัวของผมอาจไม่ได้มีความหมาย​ ว่าเป็นหมอของโรงบาลรัฐบาลเหมือนในปัจจุบันนี้​ แต่อาจหมายถึงการเรียกชื่ออาชีพแล้วตามด้วยยศในขณะนั้น​ ซึ่งอาจมาจาก​ หม่อมหลวง​ เลยเป็นคำเรียกว่าหมอหลวง​ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นวังหลัง​ อาจมีผู้ที่เหมาะสมให้ศึกษาและรักษาผู้อื่น​ ต้องน่าจะเป็นบุคคลที่คนไข้ต้องเชื่อถือพอสมควร​ ในสมัยที่การแพทย์ยังไม่มีตำราแพร่หลายเหมือนดังปัจจุบันนี้​ ส่วนรุ่นคุณตาผมแม้จะไม่ได้ใช้คำว่าหม่อมหลวงนำหน้าชื่อแล้ว​ แต่ก็ยังคงเรียกนำหน้าว่า​ หลวง​ ก่อนตามด้วยชื่อ​ ดังจะปรากฎให้เห็นในเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองยุคหลังนั้น​ ผู้ที่ร่วมในฝ่ายหนึ่ง​ จะถูกเรียกว่า​ ขุน...  บ้าง​ หลวง...  บ้าง​ ผิดพลาดประการใดขออภัย​ครับ ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เรียนก็ไม่จบ​ แต่ชอบเรื่องราวเก่าๆสมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายาย​ ครับ​ เวลาแม่เล่าให้ฟังเรื่องเก่าเหมือนผมได้ย้อนเวลาไปในช่วงเวลานั้นทุกที​ ขอบคุณครับ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 23, 18:35
คำที่เรียก​ หมอหลวง​ ความคิดเห็นส่วนตัวของผมอาจไม่ได้มีความหมาย​ ว่าเป็นหมอของโรงบาลรัฐบาลเหมือนในปัจจุบันนี้​ แต่อาจหมายถึงการเรียกชื่ออาชีพแล้วตามด้วยยศในขณะนั้น​ ซึ่งอาจมาจาก​ หม่อมหลวง​ เลยเป็นคำเรียกว่าหมอหลวง​

คุณทิพยุทธเข้าใจผิด

"หมอหลวง" คือหมอที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ รับราชการสังกัดอยู่ในกรม ราชแพทย์  จึงเป็นข้าราชการที่มีศักดินาได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เงินปี ทำหน้าที่รักษา พระมหากษัตริย์ บุคคลต่าง ๆ ในราชสำนัก  และรักษาตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์  การศึกษาของหมอหลวง  จะเป็นระบบและน่าเชื่อถือ ให้คุ้นเคยกับการรักษาพยาบาล แล้วจะได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยแพทย์ ติดตามหมอหลวง ไปทำการรักษา จนมีความชำนาญในการตรวจ  ผสมยา เมื่อโตขึ้น ก็มีความรู้พร้อมที่เข้ารับราชการได้ เมื่อมีตำแหน่งว่างในกรมหมอหลวง  ก็จะได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันที  หมอหลวง จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าหมอเชลยศักดิ์ หลายอย่าง เช่น สามารถเก็บสมุนไพรตามบ้านราษฎร หรือในที่ใด ๆ ก็ได้ โดยมีกระบองแดง  เป็นสัญลักษณ์แสดง  ถ้าสมุนไพรชนิดใดขาดแคลน และหมอหลวงไม่สามารถหาได้ในบริเวณเมืองหลวง ก็จะมีสารตราในนามเจ้าพระยาจักรี ออกไปยังหัวเมืองให้เก็บสมุนไพรต่าง ๆ มายังโรงพระโอสถ  ในด้านรายได้ของหมอหลวง  มักจะได้รับเงินเป็นจำนวนมากจากการรักษา เจ้านาย หรือข้าราชการตาม พระบรมราชโองการ  ถึงแม้ว่าโดยธรรมเนียม ประเพณีแล้ว หมอ หลวงที่พระมหากษัตริย์ พระราชทานไปรักษานั้น  จะไม่คิดค่ารักษาพยาบาล แต่คนไข้ ก็มักจะ จ่ายให้หมอเป็นการแสดงความขอบคุณเสมอ

มีหมออีกประภทหนึ่งเรียกว่า "หมอเชลยศักดิ์" คือหมอที่ไม่ได้รับราชการ ประกอบอาชีพอิสระ ฝึกฝนเล่าเรียนจากบรรพบุรุษที่เป็นหมออยู่ก่อน หรือศึกษาจากตำราแล้วทดลองฝึกหัดจนมีความชำนาญ เช่น หมอพื้นเมืองทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหมอที่มีชื่อเสียง และมีลูกศิษย์มาก ทั้งฆราวาส และพระสงฆ์  โดยทั่วไปหมอเชลยศักดิ์มักจะเป็นผู้ชาย (ยกเว้นหมอตำแย ซึ่งมัก  จะเป็นหญิงสูงอายุ) ทำหน้าที่ทั้งหมอและ เภสัชกร กล่าวคือ เมื่อตรวจไข้และวินิจฉัยโรคแล้ว หมอคนเดียวกันนี้จะทำการปรุงงยารักษาด้วย โดยหมอจะมีล่วมยา ๑ ใบ  ภายในบรรจุซองยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ  เมื่อตกลงจะรักษาคนไข้รายใด ก็ให้เจ้าของไข้ตั้งขวัญข้าว ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสาร กล้วย หมากพลู และเงินติดเทียนหกสลึง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ค่าขวัญข้าว ใช้สำหรับเป็นค่าบูชาครูแพทย์ (ชีวกกุมารภัจจ์) หมออาจจะให้เจ้าของไข้ เก็บเครื่องยาสมุนไพร ส่วนเครื่องเทศ หมอเรียกร้องเงินซื้อบ้าง  ถ้าไข้ไม่สำคัญ คนไข้หายเร็ว เจ้าของไข้ก็ส่งขวัญข้าวทั้งหมดให้หมอ และให้ค่ายาอีก ๓ บาท แต่ถ้าหมอรักษาไม่หาย หมอจะไม่ได้อะไรเลย ไม่ว่าจะลงทุนไปแล้วเท่าไรก็ตาม ในรายที่คนไข้มีฐานะดี ผู้เป็นเจ้าของไข้เกรงว่า หมอจะทำการตรวจและรักษาไม่เต็มที่ ก็จะตั้งรางวัลไว้สูง หากหมอคนใดรักษาหายได้ ก็จะได้รับรางวัลที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ในกรณีที่หมอมีชื่อเสียง  บางครั้งอาจมีการเรียกเก็บเงินก่อน  ทำการรักษาพยาบาล  เรียกว่า ค่าเปิดล่วมยา  หมอเชลยศักดิ์มีรายได้จากค่าตอบแทนในการรักษาพยาบาลเท่านั้น  ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ละท้องถิ่น และไม่แน่เสมอไปว่าจะได้เงิน  ในกฎหมายสมัยก่อน บัญญัติให้หมอสามารถเรียกสิ่งอื่นเป็นค่ารักษาได้นอกจากเงิน ในกรณ๊ที่ คนไข้ไม่มีเงิน ดังนั้นรายได้ของหมอเชลย  ศักดิ์ จึงไม่แน่นอน มักจะประกอบอาชีพอื่นไปด้วย

หมอเชลยศักดิ์นี้มีโอกาสเลื่อนเป็นหมอหลวง ได้ ในกรณีที่แสดงความสามารถเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระมหากษัตริย์ ก็จะโปรดฯ ให้เข้ารับราชการในกรมหมอหลวง หรือมีโอกาสเข้ารับราชการเป็นหมอประจำเมือง ในกรมหมอหลวงของเมืองใหญ่ ๆ เช่นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ข้อมูลจากกระทู้ หนังสือพิมพ์เก่า (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4733.msg93110#msg93110)


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 23, 19:22
ส่วนรุ่นคุณตาผมแม้จะไม่ได้ใช้คำว่าหม่อมหลวงนำหน้าชื่อแล้ว​ แต่ก็ยังคงเรียกนำหน้าว่า​ หลวง​ ก่อนตามด้วยชื่อ​ ดังจะปรากฎให้เห็นในเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองยุคหลังนั้น​ ผู้ที่ร่วมในฝ่ายหนึ่ง​ จะถูกเรียกว่า​ ขุน...  บ้าง​ หลวง...  บ้าง​
อ่านแล้วไม่เข้าใจ   
ขุน หลวง พระ พระยา เป็นบรรดาศักดิ์ของข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้ง  ใครที่ไม่ได้รับราชการจะเอาไปใช้ไม่ได้ 
ส่วนหม่อมหลวงคือคำเรียกบุตรของหม่อมราชวงศ์
หม่อมหลวงบางท่านอาจรับราชการได้เป็นคุณหลวง  คนทั่วไปจะเรียกท่านว่าคุณหลวง   ไม่ต้องเรียกว่าหม่อมหลวงคุณหลวงค่ะ   


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 09 ก.ค. 23, 19:30
ขอบพระคุณครับคุณเพ็ญชมพู

ผมไม่ได้มีความรู้ทางวิชาการเลยครับ​ แต่ชอบเรื่องที่เป็นตำนานคำบอกเล่ามากกว่าครับ​ เลยลองเสนอข้อมูลแบบคนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรอะครับ​ มิได้มีเจตนาบิดเบือนเนื้อหาที่เคยบันทึกไว้เลย​ครับ
  ผมชอบคำทำนาย​ครับและก็สิ่งศักสิทธิ์​ เลยได้ลองอ่านประวัติสมเด็จโต​ มีเรื่องเล่าว่าสมัยนั้นเกิดโรคห่าระบาด​ ท่านสมเด็จโตท่านได้สวดน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปพรม​ เพื่อขับไล่โรคระบาดครั้งนั้น​ เปรียบดังเช่นยุคนี้​ ที่มีโควิท​ แต่ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุและวิธีรักษาได้​ ถ้าในยุคนั้นยังใช้สมุนไพรรักษา​ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรักษาน่าจะเป็นฝ่ายสงฆ์มากกว่า​ จากตำนานพระไภษัชยคุรุ​ ก็มีเรื่องราวของพระที่เป็นความศักสิทธิ์ของเรื่องการรักษาการ​ ส่วนการแพทย์​ การเมือง​ การศึกษา​ เป็นอารยธรรมทางตะวันตกที่น่าจะนำเข้ามาเพื่อเผยแพร่อิทธิพล​ การบันทึกลงในหนังสือพิมพ์ก็เป็นไปได้ว่าในยุคต่อมาอิทธิพลต่างชาติเข้ามามีอิทธิพล​ คุณงามความดีต่างๆก็ยกให้เขาไป​ ถ้าจะมาป่วยแล้วให้พระรักษาก็คงไม่ควรเท่าไรเพราะมิใช่กิจสงฆ์​ น่าจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสมัยญี่ปุ่นมีโกโบริมาสานสัมพันธ์ไมตรีกับบ้านเราแล้วมีหมอติดตามมาด้วย​ ผมว่าหมอของญี่ปุ่นก็ไม่น่าจะใช้ยาของพวกตะวันออก​ ประวัติศาสตร์หลายอย่างจากที่ผมเคยได้ยินมาผู้ที่แพ้สงครามมักจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นชาติที่โหดร้าย​ แต่สมัยนั้นโกโบริก็เข้ามาผูกมิตรกับอังศุมาลิน​ กับทางเกาหลีก็เช่นกันทางญี่ปุ่นก็น่าจะผูกมิตรเช่นทำกับบ้านเรา​ แต่พอญี่ปุ่นถูกระเบิดลงและกำลังจะแพ้สงคราม​ เขาเลยต้องทำลายชาวเกาหลีเพื่อหนีความผิดการเป็นอาชญากรสงคราม​ จวบจนทุกวันนี้สองประเทศนี้ก็ยังไม่เผาผีกัน​ กลับมาที่บ้านเรา​ ผมแค่ชอบให้พ่อแม่เล่าให้ฟังเรื่องเก่า​ๆ​ พอดีแม่เขาเล่าว่า​ พ่อคุณตาก็เป็นหม่อนหลวง​ แล้วที่ทำงานก็อยู่ที่วัดอรุณอัมรินทร์​ ถ้าผมจำไม่ผิดตอนเด็กๆผมเคยเห็นรูปกับชื่อ​ น่าจะเป็นขุนพลาธิพิบัตร​ แต่คนละสกุลกับสนิทวงศ์​ เลยสงสัยขึ้นมาเฉยๆครับเพราะเห็นข้อมูลด้านบนๆ​กล่าวถึง​ต้นสกุลวังหลังไว้​ ส่วนหนังสือพิมพ์เก่าๆไม่มีอีกสกุลกล่าวถึงเพราะเหตุการณ์ต่อจากนั้นทำให้อาจบันทึกไว้ได้ไม่หมด​ แต่ผมก็ไม่ได้มีไรชัดเจนกับข้อมูลแค่ผมสนุกไปกับจินตนาการ​ ที่พยายามหาความเชื่อมโยงกันให้ได้มากที่สุด​  ถ้าผมเชื่อตามตำราหมอนอก​ วิทยาศาสตร์จะเป็นหนึ่ง​ แต่ถ้าผมไปแบบคนไม่รู้อะไรเลย​ ผมจะไปตำรายาสมุนไพรแพทย์แผนไทย​ หมอที่ไม่ได้รักษาแค่การเจ็บป่วยทางกาย​ แต่เป็นหมอที่รักษาได้แม้กระทั่งการเจ็บป่วยทางใจ​ ที่ทำให้โลกเราทุกวันนี้จิตใจคนเหมือนไร้เมตตา​ รบราฆ่าฟันกัน​ไม่จบสิ้น​ การรักษาที่ประเสริฐสุดน่าจะ​ รักษากายใจให้พ้นทุกข์พ้นภัยทั้งหมดทั้งสิ้น​ ความเจ็บไข้ความตายไม่ได้น่ากลัว​ เพราะเป็นเรื่องปกติ​ แต่ที่ไม่ปกติคือทำไมเราถึงอ่อนแอและเจ็บป่วยกับโรคใหม่ๆ​ หรือเรารักษากันมาผิดวิธี​
ขอบพระคุณที่ให้ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ
ปล.ผมยังเชื่อมั่นในวรรณะ​ ว่าคนนี้วรรณะอะไร​ และมีหน้าที่อะไรอยู่มั้งครับเลยออกนอกความจริงไปหน่อย


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 23, 08:53
อ้างถึง
พอดีแม่เขาเล่าว่า​ พ่อคุณตาก็เป็นหม่อนหลวง​ แล้วที่ทำงานก็อยู่ที่วัดอรุณอัมรินทร์​ ถ้าผมจำไม่ผิดตอนเด็กๆผมเคยเห็นรูปกับชื่อ​ น่าจะเป็นขุนพลาธิพิบัตร​ แต่คนละสกุลกับสนิทวงศ์​
ถ้าคุณพ่อคุณตาเป็นหม่อมหลวง   คุณตาก็มีคำนำหน้าว่า "นาย" ใช้ราชสกุลเดียวกับคุณตา  แต่มีคำว่า ณ อยุธยาต่อท้ายนามสกุล   คุณแม่เกิดมาก็จะใช้นามสกุลเดียวกับคุณตา  มี ณ อยุธยาต่อท้ายเช่นกัน   จนกระทั่งแต่งงานจดทะเบียนสมรสจึงจะใช้นามสกุลคุณพ่อ
ถ้าคุณทราบนามสกุลเดิมของคุณแม่   ตอนท่านเกิด ก็จะรู้ว่าคุณตามาจากราชสกุลไหน
ราชทินนามของคุณตา ถ้าท่านเป็นหมอ  เดาว่าน่าจะเป็นขุนพยาธิพิบัติ ค่ะ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 10 ก.ค. 23, 09:28
ถูกทุกประการครับท่านเทาชมพู​ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 12 ก.ค. 23, 07:29
ขอเข้ามาขอบพระคุณ​ ทุกท่านที่สร้างพื้นที่มาให้คนที่ไม่เคยมีความสนใจหาความรู้ได้เจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผม​ โดยเฉพาะท่านเทา​ชมพู​ ที่ผมกล้าเอยชื่อผู้ใหญ่ที่บ้านเพราะผมเองพอคุณตาเสีย​ แล้วคุณแม่ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับทางสกุลนี้เลย​ แต่ผมชอบเพราะผมรู้สึกว่าแม่ผมนี่เท่ห์นะ​ มีนามสกุลลงท้าย​ ณ​ อยุธยาใช้ด้วย​ ส่วนผมนี่นามสกุลชาวไร่ชาวสวน​  ยังเรียนไม่จบเหมือนความรู้มันไม่เข้าหัว  แต่พอตอนนี้​ ผมลาออกจากงานประจำเพื่อมานั่งดูพระคุณตาที่ผมได้มาเกือบสี่สิบปี​ ศึกษาเท่าไรก็ไม่เข้าใจ​ องค์ไหนที่คล้ายในหนังสือพอเอาไปให้พวกคนเล่นพระดูทีไร​ บอกไม่ใช่แต่ไม่เคยได้กลับมาสักที​ ห้าเดือนที่ผ่านมาผมก็อ่านเพิ่มขึ้น​ จนเมื่อวานนี้ที่ท่านเทาชมพู​ ทักผมว่าผมน่าจะรู้นาม​ ผมก็ลองหากูเกิ้ลดู​ คือขุนพลาธิพิบัตร​ หม่อมหลวงโต๊ะครับ​ แต่คุณแม่เรียก​ พี่คุณตาว่าลุงหลวง​ คือหลวงโหม​ ผมก็เลยเหมือนสับสนเองเหมือนกันในตัวผม​ แต่ที่น่าสับสนกว่าคือพ่อแม่ผมเจอกันตอนเรียนธรรมศาสตร์​ ฝั่งพ่อผมนี่ก็มาจากชาวสวน​ แต่กลับมีตำแหน่งในบ้านเมือง​ ส่วนฝั่งแม่มีประวัติ​ แต่เพราะการเมืองทำให้มีผู้ที่ได้และเสีย​ ออกนอกเรื่องยาวไปหน่อย​ ขออภัยครับ​
ตลอดห้าเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสพาแม่ไปหาหมอที่ศิริราชประจำ​ เวลารอหมอตรวจผมชอบไปเดินเล่น​ ที่พิพิธภัณฑ์ภิมุข​ ก็เพิ่งทราบเหมือนกันว่าท่านสุนทรภู่ก็เกิดวังหลัง​ ตาผมก็เกิดแถวนี้​ (แต่ผมสอบตกวิชาสุนทรภู่)​ พอผมศึกษาพระของสมเด็จโตที่เขาว่าแพงๆ​ ตอนนี้กลับโผล่ขึ้นมามากมายจากพื้นดิน​ เหมือนดังที่ท่านสมเด็จทำนายว่าจะภายในปี๒๕๖๕นี้​ และพระสมเด็จก็จะกลับไปสู่เจ้าของที่แท้จริงที่สะสมบุญคู่กันมา​ ตอนนี้พระสมเด็จหลังตาแผ่นดินที่เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักก็ได้รับการยอมรับ​ ส่วนพระผมที่ได่จากคุณตามาผมก็คิดลึกๆในใจจะปลอมได้ไง​ ในเมื่อยายทวดผมก็เป็นแม่ครัวของสมเด็จท่าน

เมื่อคืนนี้ผมได้ดูศึกษา​ ตำนานพระสมเด็จโดยอาจารย์วัลลภ​ เขาเล่าว่านอกจากสมเด็จโตมีอีกพระอีกสี่ห้ารูปที่ช่วยกดพิมพ์พระ​ และคนสุดท้ายที่เขาเอ่ยถึง​ เขาเอ่ยถึง​ หลวงบริรักษ์โรคาพาธ  ซึ่งก็เป็นหมอหลวง​ มีบ้านอยู่บริเวณนั้น​ยามว่างก็มาช่วยกดพระ​  หลังจากได้ยินประโยคนี้​ ความสับสนไม่กระจ่างกับพระเครื่องที่คุณตาที่มีเยอะแยะ​ และที่น่าจะเป็นสายวัดระฆังก็น่าจะพอมีบ้างแต่ทำไมไม่มีใครพูดถึง​ ที่พอคล้ายๆเขาก็ว่าไม่ใช่​ ผมเองก็ไม่เคยส่องพระ​ ขนาดจับผมยังไม่กล้าเลย  เพราะเรากราบไหว้มาตลอดตั้งแต่เราเกิดมาเราก็เห็นคุณตากราบและพาเราไหว้พระสวดมนต์​  ผมไม่สงสัยเลยและภูมิใจด้วยที่ได้พระที่ผมคิดว่าคนอื่นรุ่นพ่อคงไม่มีเวลาสนใจ​ แต่ผมสนใจมาตั้งแต่ป.หก​ วันนี้ชีวิตเหมือนมีเส้นทางเดินใหม่เหมือนมีเส้นขีดให้ผมมาตามหาบางอย่างเพื่อเรียนรู้อีกอย่าง​ ขอบคุณท่านเทาชมพู​ ท่านเพ็ญชมพู​ และท่านเนาวรัตน์ที่เคยสอนผมดูทับทิมเมื่อสิบปีที่แล้ว​ และท่านอื่นๆที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม​ ขอบคุณจริงๆครับ​ ผมเองก็คงจะไม่ค่อยได้เข้ามาเท่าไร​ คุณพ่อคุณแม่ผมเขาไล่ให้ผมไปหางานทำมาสักพักแล้ว​ รุ่นปู่ย่าไปรบมา​ บ้านเมืองสงบรุ่นพ่อแม่เรียนมา​ตามตำรา​ จบมาไม่รับราชการก็เข้าบริษัท​  ถ้าไม่มีรายได้ทางอื่น​ หลังเกษียณก็ชักหน้าไม่ถึงหลังเหมือนกัน​ โชคดีที่ผมไม่ชอบอยู่ในกรอบตั้งแต่เด็กๆ​ แต่กรอบนี่แหละที่ชอบวิ่งมาครอบผม​ 
ขอบพระคุณครับ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 23, 08:52
ขอเข้ามาขอบพระคุณ​ ทุกท่านที่สร้างพื้นที่มาให้คนที่ไม่เคยมีความสนใจหาความรู้ได้เจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผม​  องค์ไหนที่คล้ายในหนังสือพอเอาไปให้พวกคนเล่นพระดูทีไร​ บอกไม่ใช่แต่ไม่เคยได้กลับมาสักที​
สงสัยพระของแท้ของญาติผู้ใหญ่ของคุณตกไปอยู่ในมือคนเล่นพระมากี่องค์แล้วไม่ทราบนะคะ    ถ้าของทำเทียมเขาน่าจะคืนมาแล้ว
เก็บที่เหลือไว้ให้ดีๆแล้วกัน


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ทิพยุทธ ที่ 14 ก.ค. 23, 16:37
ขอบพระคุณครับท่านเทาชมพู​ ตอนเด็กๆผมเอาออกจากบ้านไปแห่เพราะอยากรู้ว่าพระจองเราดีไหม​ แต่ไม่เคยได้เอากลับมาบ้า​นเลย​ โชคยังดีครับเราจะเห็นคุณค่าของสิ่งๆใดเมื่อเราเสียมันไป​ ทำให้ผมยิ่งสนใจศึกษาจนเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆจนเรียกว่าถ่องแท้​ ยิ่งทำให้ผมรักและหลวงใหลในความเป็นไทย​ วัฒนธรรมไทย​ สิ่งดีๆที่เหลืออยู่น้อยในโลกใบนี้​ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
เริ่มกระทู้โดย: ciri ที่ 15 ก.ค. 23, 10:38
เรื่องนี้ดูแล้วขัดใจบทพูดมหาดเล็กพระองค์ชายมากที่สุดแล้วครับ

มันผิดไปหมด จนงง