เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เอื้องหลวง ที่ 28 เม.ย. 14, 20:41



กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 28 เม.ย. 14, 20:41
พอดีกำลังเรียนเรื่องนี้ที่โรงเรียนกวดวิชาค่ะ แล้วก็เคยอ่านหนังสือแล้วก็กระทู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และผู้เกี่ยวข้องมาบ้าง ส่วนใหญ่มักจะพูดถึงเจ้านายหรือข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในตอนนั้นสักเท่าไหร่
เลยอยากทราบว่าตอนนั้นผู้คนรู้สึกกันอย่างไร มีความรู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้ มองว่าเป็นประโยชน์หรือโทษมากกว่า แล้วผลกระทบของการปฏิรูปช่วยกระตุ้นให้คนไทยพัฒนาตัวเองขึ้นไหม เช่น ผู้หญิงเรียนหนังสือสูงขึ้น ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมากขึ้น เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำนองนั้น

แล้วอีกหนึ่งอย่างที่อยากรู้ก็คือหลังการปฏิรูปประชาชนเห็นความสำคัญของสถาบัน และเชื้อพระวงศ์ลดลงหรือเปล่าคะ เพราะที่เรียนและอ่านตามอินเตอร์เน็ตบ้างหนังสือบ้าง เจ้านายหลายพระองค์ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ บางคนก็ถูกรัฐบาลจับตัวไป ถูกลดบทบาทอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นคือตั้งข้อสงสัยไว้ว่าสมัยนั้นการสื่อสารคงยังไม่รวดเร็วฉับไวเหมือนตอนนี้ ผู้คนตื่นตัวกับเหตุการณ์นี้แค่ไหน มีปฏิกิริยายังไงบ้้าง

อาจจะถามวกไปวนมาหน่อยนะคะ เรียบเรียงภาษาไม่ค่อยดี T____T
ตั้งกระทู้เป็นครั้งแรกในเรือนไทยเลย ขอบคุณทุกๆ ความเห็นนะคะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 14, 20:54
โรงเรียนกวดวิชาสอนประวัติศาสตร์ด้วยหรือคะ?  นึกว่าสอนเฉพาะวิชาที่จะเอาไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ภาษาของหนูดีมาก น่าจะเป็นครูมากกว่านักเรียน

ส่วนคำตอบ  ยกให้คุณ NAVARAT.C  ดีกว่า ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้มากในเรือนไทย



กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 28 เม.ย. 14, 21:15
เรียน คุณเทาชมพู

วิชาสังคมน่ะค่ะ แล้วต้องเรียนเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง เคยไล่อ่านกระทู้ในเรือนไทย ห้องประวัติศาสตร์ พอไปฟังในห้องเรียนก็รู้สึกสนุก เพราะมีความรู้เล็กๆ น้อยๆ ติดมาบ้างเลยเข้าใจแล้วก็จำเนื้อหาได้ง่าย
ขอขอบคุณคุณเทาชมพูที่ชมเรื่องภาษานะคะ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นนักเรียนสายศิลป์ภาษา อ่านบทความหรือนิยายผู้ใหญ่บ่อยๆ คงติดภาษามาบ้าง  ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 14, 11:16
อ้างถึง
ส่วนใหญ่มักจะพูดถึงเจ้านายหรือข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในตอนนั้นสักเท่าไหร่ เลยอยากทราบว่าตอนนั้นผู้คนรู้สึกกันอย่างไร มีความรู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้ มองว่าเป็นประโยชน์หรือโทษมากกว่า
ในช่วงต้นของการพยายามจะเป็นประชาธิปไตยแต่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่(๒๔๗๕-๒๔๘๑) ผมประเมินภาพรวมว่า ประชาชนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มครับคือกลุ่มที่ไร้การศึกษา กับกลุ่มที่มีการศึกษา

กลุ่มที่ไร้การศึกษานั้นไม่ต้องพูดถึง ประชาชนพวกนี้สนใจแต่เรื่องทำมาหากินไปวันหนึ่งๆ เรื่องอื่นๆที่ไกลตัวออกไป ส่งผลกระทบไม่ถึงก็ไม่สนใจ และรัฐบาลก็ยังไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปดำเนินนโยบายประชานิยมได้ ความรู้สึกของคนจึงเป็นแบบเดิมๆ
กลุ่มที่มีการศึกษา แต่ไม่มีผลกระทบกับเรื่องผลประโยชน์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ก็คงไม่มีความรู้สึกในเชิงบวกหรือลบรุนแรง ส่วนใหญ่จะเข้าใจดีว่าระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบที่ล้าสมัยแล้ว วันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็ว หากจะเป็นไปแบบใดเท่านั้น โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมิได้ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด คนส่วนใหญ่จึงพยายามมองโลกว่าสวยต่อไป

ครั้นเมื่อประชาธิปไตยกลายพันธุ์เป็นคณาธิปไตย ตั้งแต่ ๒๔๘๑ไปจนยุคญี่ปุ่นบุก นายกรัฐมนตรีตั้งตนเองเป็นผู้นำ ทำตนเป็นราชาที่ไม่สวมมงกุฎขึ้นมา คนจึงเริ่มจะคิดถึงพระราชาที่แท้จริงมากขึ้น
ก็อีกนั่นแหละครับ ไม่ใช่ทั้งหมด นักการเมืองและสมุนบริวารที่มีผลประโยชน์จากการเมืองในยุคนั้นก็ย่อมจะคิดต่าง



กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 14, 11:21
อ้างถึง
แล้วผลกระทบของการปฏิรูปช่วยกระตุ้นให้คนไทยพัฒนาตัวเองขึ้นไหม เช่น ผู้หญิงเรียนหนังสือสูงขึ้น ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมากขึ้น เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำนองนั้น
รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระบอบใด ในประเทศไหน ก็พยายามทำเรื่องพื้นฐานต่างๆเหล่านั้นอยู่แล้ว คงจะอ้างไม่ได้เรื่องยุคนี้ยุคนั้นไหนดีกว่ากัน เพราะเวลา เงื่อนไข และสิ่งแวดล้อมตามวิถีโลก แตกต่างกัน

ส่วนสโลแกนที่ว่า ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน จะมาพูดครอบจักรวาลก็ไม่ใช่ ควรจะระบุลงไปว่าเรื่องอะไร เรื่องไปกาบัตรเลือกตั้งหรือการดำเนินชีวิตหลังกาบัตรเลือกตั้ง หรือสิทธิ์อะไร
บางทีพอยกตัวอย่างขึ้นแล้ว คุณก็สามารถตอบตัวเองได้ว่า คนอย่างเราๆท่านๆ มีสิทธิ์ที่ว่าเท่าๆกับพวกเขาหรือเปล่า


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 14, 11:38
หลังจาก ๒๔๗๕ ดูเหมือนว่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในส่วนของกรุงเทพ ความเจริญด้านการค้าขายก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อนและรัดตัว ในด้านต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยยังคงใช้ชีวิตตามเฉกเช่นทุกวันที่ผ่านมา ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่กรุงเทพระหว่าง ๒๔๗๕ - ๒๔๘๙ สภาพบ้านเรือนกรุงเทพยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก

การก้าวกระโดดของสังคมไทยนั้นผมว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วน่าจะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก้าวกระโดดแบบรวดเร็วมากๆ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: ืnoon ที่ 29 เม.ย. 14, 13:11
ถ้าไม่ได้หาข้อมูลเพื่ออ้างอิงวิชาการ ลองอ่านสี่แผ่นดิน กับร่มฉัตรสิคะ
ตอนตาแต่งงานกับยาย ผู้ใหญ่ฝ่ายยายพอใจด้วยเหตุผลว่า ตาไม่ใช่นักการเมือง ค่ะ
จากที่ฟังเล่ามาก็เหมือนประชาชนไม่ค่อยอยากเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองสักเท่าไหร่
ก็ขอแค่ใช้ชีวิตสงบสุขเท่านั้นค่ะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 14, 17:33
อีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงกฎมนเฑียรบาล ว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์ 

   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า กฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการ สมรสพระราชวงศ์นั้น ได้ทรงพระราชดำริมาก่อนที่ได้ตราพระราชบัญญัติธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 แล้วว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงให้ เหมาะแก่สมัย สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยพระราชดำริ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎมนเฑียรบาลขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1* ให้ใช้กฎมนเฑียรบาลนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2475/-/256/11 สิงหาคม 2475]

มาตรา 2 ตั้งแต่วันที่ใช้กฎมนเฑียรบาลนี้สืบไป ให้ยกเลิกบรรดา กฎหมาย กฎมนเฑียรบาล กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วใน กฎมนเฑียรบาลนี้ หรือซึ่งแย้งกับกฎมนเฑียรบาลนี้

มาตรา 3 พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะทำการสมรส กับผู้ใด ท่านว่าต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เสียก่อน

มาตรา 4 เจ้าหญิงองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ท่านว่าต้องกราบ ถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน

มาตรา 5 ถ้าพระราชวงศ์องค์ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ท่านว่าให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ประกาศมา ณ วันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับพระบรมราชโองการ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ประธานคณะกรรมการราษฎร


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 14, 17:37
แปลง่ายๆคือหม่อมเจ้าหญิงสามารถสมรสกับสามัญชน หรือผู้มีฐานันดรต่ำกว่าหม่อมเจ้า แต่ต้องถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน
ในพ.ศ. 2475  มีหม่อมเจ้าหญิง 3 องค์ทรงลาออก
    23 สิงหาคม - หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์  (11 กันยายน พ.ศ. 2448 - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร
    23 สิงหาคม - หม่อมเจ้าหญิงฉวีวงศ์ รุจจวิชัย (พ.ศ. 2448 - ไม่มีข้อมูล) พระธิดาในพระองค์เจ้าชายรุจาวรฉวี (ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส
    20 กันยายน - หม่อมเจ้าหญิงเกษรสุคนธ์ โตษะณีย์ พระธิดาในพระองค์เจ้าโตสินี (ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C



กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 29 เม.ย. 14, 20:34
ส่วนใหญ่จะเข้าใจดีว่าระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบที่ล้าสมัยแล้ว วันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็ว หากจะเป็นไปแบบใดเท่านั้น โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมิได้ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด คนส่วนใหญ่จึงพยายามมองโลกว่าสวยต่อไป


ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่คุณ NAVARAT.C เข้ามาให้ความรู้ในกระทู้นี้นะคะ คลายข้อสงสัยไปได้เยอะเลย
ส่วนข้อความที่อ้างอิงด้านบน แสดงว่าการปฏิวัติครั้งนั้นดำเนินไปอย่างเงียบเชียบมากเสียจนประชาชนไม่เอะใจอะไรเลย
ครูที่สอนในห้องอธิบายคล้ายๆ ว่า รอให้ในหลวงเสด็จออกนอกพระนคร แล้วลงมือลักไก่ปฏิวัติ ก็คงจะไม่ผิดซะทีเดียว


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 29 เม.ย. 14, 20:44
เรียน คุณ siamese

เมื่อกี้ลองไปค้นดูว่าทำไมช่วงหลังสงครามโลกสังคมไทยถึงพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็เห็นว่าจอมพลป. ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถึงเก้าปี
แต่ก็ไม่ใช่ช่วงที่ได้ประกาศรัฐนิยม เพราะจอมพลป. ได้ประกาศใช้ตอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก (จขกท.เข้าใจว่ารัฐนิยมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไป)

ช่วยอธิบายได้ไหมคะว่าอะไรที่ทำให้สังคมพัฒนาไปอย่างมาก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ฟังดูเหมือนให้สอนเด็กประถมบวกลบเลขยังไงก็ไม่รู้ เคยค้นกระทู้เก่าๆ ในห้องประวัติศาสตร์ ก็ยังไม่เคยเห็นพูดถึงเรื่องนี้ ถ้าเคยมีคำถามแล้วก็ขออภัยนะคะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 29 เม.ย. 14, 20:56
เรียน คุณ ืnoon
 
ก่อนอื่นเลยขอขอบคุณนะคะที่เข้ามาตอบคำถามในกระทู้
เคยอ่านสี่แผ่นดินเหมือนกันค่ะ แต่ก็หลายปีแล้ว ตอนนั้นก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง โดยเฉพาะเวลาพูดถึงเจ้านาย แล้วก็เหตุการณ์ทางการเมือง
แต่ถ้ามีโอกาสจะลองหยิบมาอ่านอีกครั้งค่ะ ตอนนั้นคงเป็นเพราะยังไม่มีพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์เท่าไหร่ โดยเฉพาะฉากอธิบายห้องต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง จำได้ว่างงมากๆ นึกภาพไม่ออก

ส่วนร่มฉัตรเคยอ่านรีวิวตามบล็อกนักอ่าน ก็น่าสนใจเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสจะลองอ่านนะคะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ  :D


เรียน คุณเทาชมพู
ได้เข้าไปอ่านตามลิงค์วิกิพีเดียแล้ว น่าสนใจมากค่ะ เพิ่งรู้ว่าเจ้านายฝ่ายในสมัยก่อนหลายพระองค์ไม่ได้อภิเษกสมรสตลอดพระชนม์ชีพ
เข้าใจว่าเจ้านายฝ่ายในสามารถกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่ออภิเษกสมรสกับผู้มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่า มาตั้งแต่โบราณแล้ว
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงนะคะที่อ.เทาชมพูเข้ามาให้ความรู้ในกระทู้นี้  :D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 14, 21:20
อ้างถึง
แสดงว่าการปฏิวัติครั้งนั้นดำเนินไปอย่างเงียบเชียบมากเสียจนประชาชนไม่เอะใจอะไรเลย
ครูที่สอนในห้องอธิบายคล้ายๆ ว่า รอให้ในหลวงเสด็จออกนอกพระนคร แล้วลงมือลักไก่ปฏิวัติ ก็คงจะไม่ผิดซะทีเดียว

ถ้ายังไม่เคยอ่านมหากาพย์การเมืองสมัย๒๔๗๕ ก็ลองเข้าไปดูนะครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0

เรื่องที่คุณเคยได้ยินจากครูนั้น รายละเอียดเริ่มตั้งแต่คคห.ที่๗ แต่อ่านไปเสียตั้งแต่ต้นก็ไม่ได้เสียเวลาอะไร


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 29 เม.ย. 14, 21:57
เรียน คุณ NAVARAT.C
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ  ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 10:59
อ้างถึง
อ้างถึง
siamese
การก้าวกระโดดของสังคมไทยนั้นผมว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วน่าจะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก้าวกระโดดแบบรวดเร็วมากๆ
ช่วยอธิบายได้ไหมคะว่าอะไรที่ทำให้สังคมพัฒนาไปอย่างมาก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ผมเป็นเด็กที่เกิดหลังสงครามเลิกหมาดๆ ตั้งแต่จำความได้และทบทวนดู เห็นว่าในช่วงเติบโตตั้งแต่ปฐมวัยจนจบชั้นประถมนั้น บ้านเมืองยังเป็นแบบเดิมๆไม่ค่อยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ ออกจากกรุงเทพไปนิดเดียวก็เป็นบ้านนอกแล้ว ถนนสุขุมวิทตั้งแต่ทางรถไฟแถวเพลินจิต บ้านเรือนมีแค่สองฝากถนน เลยทองหล่อไปก็บางตาแล้ว หลังแนวบ้านยังมีสภาพเป็นท้องทุ่งท้องนาอยู่ อยู่บนสุขุมวิทยังแลเห็นรถไฟสายปากน้ำวิ่งอยู่ปลายคันนาโน่น

ขนาดกรุงเทพยังอย่างนี้ ต่างจังหวัดไม่ต้องพูดถึง เวลานั่งรถยนต์ไปเที่ยวหัวหิน บางแสนหรืออยุธยา(บ้านเมืองมีถนนลาดยางไม่กี่สายหรอก) จะเห็นกระต๊อบชาวนาเก่าๆหลังคามุงแฝกเป็นพื้น ในหมู่บ้านนั้น หลังไหนหลังคามุงสังกะสี ถือเป็นคหบดี หรือบ้านคนใหญ่คนโตเช่นกำนัน ซึ่งทั้งหมดสร้างฐานะมาจากให้ชาวนากู้ยืมเงิน แล้วลูกหนี้ไม่มีปัญญาใช้ ยอมให้ยึดนาแล้วอพยพครอบครัวไปทำไร่ถางป่าเปิดผิวดินเป็นที่ทำกินผืนใหม่


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 11:03
เมื่อขึ้นชั้นมัธยม จึงเห็นความค่อยๆเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ในกรุงเทพเริ่มมีรถยนต์มาวิ่งเบียดที่รถราง จนในที่สุดรถรางชราก็ถูกเลิกใช้ด้วยข้อหาว่าเกะกะถนน แต่ถนนก็หาได้มีพอสนองความต้องการผิวจราจรของรถยนต์ไม่ รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการถมคูคลองข้างถนนไปเสียเกือบหมด ตึกรามบ้านเรือนใหม่ๆก็ถูกสร้างขึ้นแทนอาคารไม้เดิมๆริมถนนหลักๆทั้งหลาย
ครั้นเมื่ออยู่มหาวิทยาลัย กรุงเทพเริ่มขยายตัวออกไปทั่วปริมณฑล ระยะนี้เองที่สังคมและเศรษฐกิจของชาติเริ่มเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลง อุปมาเหมือนคนขี่จักรยาน เริ่มจากต้องประคองตัวเองและรถให้นิ่งก่อนในความเร็วต่ำ เมื่อตั้งหลักได้แล้วจึงเพิ่มกำลังเร่งความเร็ว จากเร็วน้อยไปเร็วมาก จากเร็วมากไปถึงเร็วที่สุด ถึงตรงนี้แล้วหากไม่ชลอกำลังเร่งเสียบ้างคนขี่คงขาดใจตายคาอาน คล้ายเศรษฐกิจไทยที่ครั้งหนึ่งละลายเป็นฟองสบู่แตกมาแล้ว


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 11:22
จากคำถามของคุณเอื้องหลวง ผมเชื่อว่า ตัวแรกที่เข้ามากระตุ้นสังคมเศรษฐกิจไทย คืออิทธิพลของฝรั่งที่เข้ามาในช่วงสงครามเลิก ตัวหลักคืออเมริกันที่พยายามจะ Americanize ให้เมืองไทยให้กลมกลืนกับเขา

เมื่อสงครามโลกจะยุติลง แต่พันธมิตรสงครามก็ยังแปลกแยกกันมากระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศเสรีทุนนิยม เมื่อชำระความกับญี่ปุ่นและเยอรมันแล้ว สงครามเย็นระหว่างรัสเซียและจีนแผ่นดินใหญ่ค่ายหนึ่ง กับอเมริกันและยุโรปอีกค่ายหนึ่งก็เริ่มเล่นกันแรงขึ้นทุกที ในอุษาคเนย์ก็เป็นอีกสังเวียนหนึ่งที่มหาอำนาจแยกเขี้ยวหวงก้างกันอยู่


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 11:37
การเข้ามาเมืองไทยเพื่อประโยชน์ของอเมริกันนั้น ไม่ได้ใช้วิธีล่าเมืองขึ้นอย่างสมัยโบราณ แต่เขามองข้ามไปอีกทฤษฏีหนึ่งเลย คือขุนให้อ้วนก่อนแลัวค่อยๆรีดเนื้อนมไข่กินทีหลัง พูดให้เป็นรูปธรรม อเมริกาได้เข้ามาสอนให้เรารู้จักการพัฒนาประเทศ โดยให้ทุนสารพัด ตั้งแต่ส่งคนไปเรียน ไปดูงาน ตลอดจนให้กู้เงินทั้งปลอดดอกเบี้ยหรือคิดถูกๆ ให้เอามาสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพิ่มคุณภาพให้การสาธารณสุข หรือการศึกษาให้พลเมือง หวังว่าวันหนึ่งสังคมและเศรษฐกิจไทยจะเจริญขึ้นถึงขีดที่จะรองรับการเข้ามาลงทุนของเขา ที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรใต้ดินและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ แต่ราคาถูกของเรา เพื่อทำกำไรส่งกลับไปบ้านเขาได้เป็นกอบเป็นกำต่อไป

ในละแวกอาเชี่ยน อเมริกันได้ไทยไปเดินตามหลังต้อยๆ ในขณะที่อังกฤษได้มาเลเซียและสิงคโปรตามบารมีดั้งเดิม นอกนั้นบอกว่าขอเป็นกลาง คือไม่ยอมให้มหาอำนาจใดเข้าไปผูกขาดเพราะเข็ดเขี้ยวเจ้าอาณานิคมเก่า แต่ถ้าใครจะให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขก็เอา ซึ่งจีนแดงได้รับบทผู้บริจาคนี้ไป อเมริกันจึงบอกเราว่าพวกพม่า ญวน เขมร ลาว นี้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ ก็คงจริงส่วนหนึ่ง และเราก็ดูแคลนว่าประเทศเหล่านั้นล้าหลังเรา ที่เจริญขึ้นกว่าเขาอย่างพรวดพราดมาก

เหมือนอีหนูจากพัฒน์พงศ์กลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วดูถูกอีสาวบ้านนาว่า ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องสำอางค์จะแต่ง ผมจะยังไม่พูดว่าถึงวันสุดท้ายแล้วใครที่คิดผิดคิดถูก นั่นเป็นเรื่องอนาคตต้องดูไปยาวๆ แต่จะย้อนกลับไปอดีตอีกครั้งหนึ่ง


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 11:46
ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการใหม่ขึ้นในปี ๒๔๙๓ เรียกว่า "สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ" ตามที่ยูซ่อม (USOM-United States Operations Mission)แนะนำ มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ  แต่รัฐบาลตั้งมาแล้วก็คงฟังมั่งไม่ฟังมั่ง ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องไหนจะมีเงินช่วยเหลือติดปลายนวมมาด้วยหรือเปล่า
เมื่อเปลี่ยนมาถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนาคารโลก(ซึ่งอเมริกันมีอิทธิพลมาก)ได้เสนอแนะรัฐบาลไทยให้เพิ่มบทบาทหน้าที่ของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานกลางที่ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นมาโดยใช้หลักวิชาการล้วนๆ ไม่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อหาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด  จึงเรียกชื่อหน่วยงานนี้เสียใหม่ในปี ๒๕๐๒ ว่า "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ" เรียกสั้นๆว่า “สภาพัฒน์”

ผมฟังธงเลยว่า “สภาพัฒน์” นี้แหละที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า“ความเจริญ”ทั้งสังคมและเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน
 
หน่วยงานในสภาพัฒน์นั้นอุดมไปด้วยบุคคลระดับมันสมองของประเทศ สมัยก่อนใครจบเศรษฐศาสตร์มาต้องมุ่งเข้าทำงานที่สภาพัฒน์ก่อน เมื่อมีประสบการณ์แล้ว ธนาคารต่างๆจะประมูลตัวไปอีกที จึงไม่ต้องสงสัยว่าผลงานของท่านเหล่านั้นจะสร้างคุณานุคุณให้แก่ชาติไว้อย่างไร


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 11:53
ผลงานของสภาพัฒน์จะเสนอเป็นแผน คล้ายการทำงานของสถาปนิกเวลาจะสร้างอาคาร จะต้องมีแผนแบบเสียก่อน ไม่ใช่คิดไปสร้างไป สำหรับงานพัฒนาประเทศนั้น เรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ซึ่งประกาศใช้ฉบับที่๑ในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ สำหรับโครงการต่างๆที่จะกระทำก่อนและหลังในเวลา๕ปี คือตั้งแต่ ๒๕๐๔ถึง๒๕๐๗

สาระสำคัญของแผนแรกนี้ตามที่ผมลอกมาจากเวปนึงก็คือ

เน้นการลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infra-structure) ของประเทศ ได้แก่ การสร้างทางหลวงสายประธาน การพัฒนาเส้นทางรถไฟ การปรับปรุงการประปา และการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น

ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในด้านอุตสาหกรรม และเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าสำเร็จรูป

ส่งเสริมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน ประสบความสำเร็จในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 ต่อปี มูลค่าสินค้าออกเพิ่มมากขึ้น มีสินค้าออกที่เป็นรายได้ หลักของประเทศเพิ่มชนิดขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง นอกเหนือจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุกที่มีอยู่แต่เดิม

ปัญหาและอุปสรรค ขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคนิค วิชาการ และการบริหาร และต้องพึ่งเงินทุนเงินกู้จากต่างประเทศทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานตามโครงการ ผลกระทบประการสำคัญคือการกระจายรายได้ยังไม่ยุติธรรม เพราะผลจากการพัฒนาตกอยู่กับผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 12:14
จนถึงปัจจุบัน สภาพัฒน์ได้เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาแล้วถึง๑๑ฉบับ เมืองไทยจึงเป็นอย่างที่คุณเห็น ซึ่ง หลังเกิดปฏิวัตินักศึกษาในปี๒๕๑๔ สมัยนั้นประชาธิปไตยเบิกบาน ผู้มีความคิดทางด้านสังคมนิยมได้ประนามสภาพัฒน์ว่า ดีแต่รับใช้นายทุน โดยมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจจนลืมความสำคัญในด้านสังคมไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย บางเรื่องก็กลายเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวไร่ชาวนา หรือนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน จนถึงใช้กำลังปะทะก็เห็นๆ คนฉลาดในสภาพัฒน์ก็รับฟังและรีบนำไปปรับปรุงแนวคิด  

ในปี๒๕๑๕ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อของหน่วยงานใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็น "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" โดยนำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังด้วย แต่จะจริงจังได้แค่ไหนนั่นเป็นคนละประเด็น

เอาเท่านี้ก่อน หวังว่าคุณเอื้องหลวงคงได้การบ้านไปอ่านโดยไม่ตาแฉะไปเหมือนคนจิ้มแป้นพิมพ์หน้าคอม
ขออภัยคุณหนุ่มสยามด้วย ความจริงคำถามนี้ผู้ถามเจาะจงถามคุณหนุ่มสยาม แต่ผมเสนอตนเข้ามาตอบซะยืดยาว ไม่ทราบจะเห็นตรงกันหรือเปล่า


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 12:35
เข้ามาแอบอยู่หลังห้อง    นึกไม่ออกว่าจะเพิ่มตรงไหนดี   


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 12:40
จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน

ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ "จอมพลคนดี"  คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านได้ในกระทู้  โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา กวีนิพนธ์ ของ จิตร ภูมิศักดิ์  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5587.0)   ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 12:51
อ่านที่คุณเพ็ญระโยงไว้แล้ว ผมก็ยังยืนยันความเห็นของผมตามที่พยายามเขียนอย่างระมัดระวังแล้วในล้อมกรอบ

อ้างถึง
จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน


ผมเขียนผิดตรงไหนก็ว่ามาเลยครับ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 14:24
จิตร ภูมิศักดิ์ถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501    ถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับอิสรภาพ

เมื่อออกจากคุก  ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิสนิสต์ต่อสู้กับรัฐบาล  ในนาม "สหายปรีชา"   ในการต่อสู้กับฝ่ายบ้านเมือง   จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหารล้อมยิงจนเสียชีวิต  กลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

ก็เป็นที่เข้าใจว่าทำไมจิตรจึงไม่เห็นความดีในตัวจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีนโยบายปราบปรามกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างหนัก


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 15:16
นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ แม้แต่รุ้ง จิตเกษมซึ่งประกาศว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ยังไม่พ้นอำนาจของท่านจอมพล

"รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศ   ได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที    รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ   ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา"
รุ้งเขียนข้อความนี้ลงในผดุงวิทยา   เมื่อกลับมาจากไปเยี่ยมเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่ลาดยาว

วันรุ่งขึ้นเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์   บ่ายวันนั้นเอง รุ้งก็ได้รับเกียรติไปพบรองอธิบดีตำรวจ ด้วยการมาเชิญถึงบ้าน จากนายตำรวจระดับพันตำรวจเอก
เพื่อจะถูกแจ้งข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


" ผมขี้เกียจเถียงกับคุณอีกแล้ว    ถามคำเดียว คุณจะเขียนอย่างที่ผมต้องการให้เขียนหรือเปล่า"
" ถ้าผมไม่เขียนยกย่องสรรเสริญรัฐบาลตามที่คุณต้องการ    คุณจะทำอะไร" เขาถาม
" คุณก็เดาคำตอบได้แล้วไม่ใช่หรือ"

จากวันนั้น   รุ้งถูกส่งตัวไปเรือนจำลาดยาว ไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษเมื่อใด


คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านเรื่องของรุ้งกับท่านจอมพลได้ที่กระทู้ รุ้ง จิตเกษม  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3029.120) หน้า ๙-๑๐  ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 15:33
รุ้งเผชิญกับจอมพลป.พิบูลสงคราม   ไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์ ค่ะ
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจ ในพ.ศ. 2500    ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ผู้ให้ชีวิตแก่รุ้ง จิตเกษม ถึงแก่กรรมไปเกือบ 10 ปีแล้ว



กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 15:50
หมายถึงรุ้งในภาคต่อของคุณเทาชมพู  ;D

อย่างไรก็ตาม  รุ้งไม่ต้องทนทรมานอยู่ในลาดยาวนานนัก   เพราะจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  2506  หลังจากรุ้งอยู่ในลาดยาวเพียงสองสามเดือน
อำนวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่  ให้ทนายความยื่นคำร้องต่ออธิบดีตำรวจคนใหม่ ขอให้ปล่อยตัวรุ้งเป็นอิสระ   แค่หนึ่งเดือนต่อมา   รุ้งก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านได้อีกครั้ง


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 14, 15:56
ก่อนที่คุณเอื้องหลวงจะมึนงงจนรับไม่ไหวจากโรงเรียนกวดวิชาทางอินเทอเน็ท ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้

การที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงจอมพลสฤษดิ์ในบทบาทของนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการที่ใช้อำนาจรุนแรงในการปกครอง เพราะผมต้องการตอบกระทู้นี้ในขอบเขตของ คำถาม แต่เมื่อเอ่ยถึงสภาพัฒน์ก็จำเป็นต้องเอ่ยถึงจอมพลสฤษดิ์ เพราะสภาพัฒน์ผ่านยุคที่เสมือนคนขี่จักรยานช่วงจะล้มหรือจะรอด จนกระทั่งตั้งหลักเร่งความเร็วได้ก็เพราะนายกรัฐมนตรีเผด็จการคนนี้มิได้เข้าไปล้วงลูกกระทำ"คอรัปชั่นเชิงนโยบาย" แต่ปล่อยให้มืออาชีพเขาร่างแผนของเขาไป แผนพัฒนาฉบับที่ ๑ จึงแล้วเสร็จออกมาอย่างมีคุณภาพ เป็นต้นแบบให้แก่แผนพัฒนาฉบับต่อๆไปที่ออกทุกๆ ๕ ปี โดยที่นายกรัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นเผด็จการทหารคนต่อๆมาก็มิได้เข้าไปแทรกแซง  ผมต้องการเสนอเพียงจุดนี้
ส่วนเมื่อกระทรวงกรมกองต่างๆนำแผนไปปฏิบัติ โดยการตั้งงบประมาณประจำปีขึ้นตามแผน อะไรที่เป็นงานก่อสร้างจะต้องประมูล ก็ประมูลกันไปตามระเบียบราชการ ในชั้นนี้ผมไม่ปฏิเสธว่ามีการฮั้วกันโดยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ส่วนใหญ่แล้วเส้นใหญ่เพราะมีผู้ถือหุ้นลมระดับเบิ้มๆทั้งนั้น เชื่อได้ว่าจอมพลสฤษดิ์ก็มีบริษัทบริวารกับเขาด้วย แต่มิได้ผูกขาด ก็แบ่งๆกันไปกับบริษัทของคนอื่นๆเขาด้วยบ้าง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกด่า หลายสำนวนที่ด่าจอมพลสฤษดิ์อ่านแล้วน่าเชื่อถือกว่ากวีนิพนธ์ของจิตรด้วยซ้ำ

คนเรานั้น ถ้ามองด้วยความเป็นกลาง ไม่ว่าใครจะดีแสนดีอย่างไร ก็ย่อมมีข้อเสียให้ถูกตำหนิได้ เช่นเดียวกับคนที่เลวแสนเลว ที่อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน

การโกงกินแบบจอมพลสฤษดิ์ นักการเมืองยุคหลังบอกว่านั่นมันเด็กๆ เดี๋ยวนี้ต้องเล่นระดับนโนบาย เพราะกินแบบเดิมๆมันคำเล็กไป สู้ปั้นอภิมหาโคตระโปรเจกต์ขนาดหมื่นล้านแสนล้านผ่านสภาโดยไม่ผ่านสภาพัฒน์มากินกันเนียนกว่า ดีกว่ากันแยะเลย

ผมไม่อยากจะกล่าวมาถึงตรงนี้เล้ย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นห้องราชดำเนินไป ไม่สนุกและไม่ได้ความรู้


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 14, 15:59
หมายถึงรุ้งในภาคต่อของคุณเทาชมพู  ;D

อย่างไรก็ตาม  รุ้งไม่ต้องทนทรมานอยู่ในลาดยาวนานนัก   เพราะจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  2506  หลังจากรุ้งอยู่ในลาดยาวเพียงสองสามเดือน
อำนวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่  ให้ทนายความยื่นคำร้องต่ออธิบดีตำรวจคนใหม่ ขอให้ปล่อยตัวรุ้งเป็นอิสระ   แค่หนึ่งเดือนต่อมา   รุ้งก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านได้อีกครั้ง

ไม่อนุญาตให้นำมาอ้าง   เดี๋ยวคนอื่นจะสับสนกับรุ้งตัวจริงในหนังสือ เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 30 เม.ย. 14, 20:42
เรียน คุณ NAVARAT.C

ขอขอบพระคุณมากค่ะ ตอนที่อ่านถึงเรื่องสภาพัฒน์ ถึงกับร้องอ๋อเลยล่ะค่ะ 55555
ในหนังสือเรียน(ของโรงเรียนกวดวิชา) เค้าก็ให้ท่องจำว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเกิดขึ้นตอนไหน แล้วเติมคำว่า และสังคม เข้ามาในฉบับที่เท่าไหร่ แต่ละฉบับเกี่ยวกับอะไร
ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ก็ไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตอนนี้กระจ่างขึ้นเยอะเลยค่ะ
ขอขอบคุณที่ช่วยลงเนื้อหาทั้งหมด รวมทั้งรูปภาพนะคะ ได้ข้อมูลมากกว่าที่หวังไว้ตั้งแต่ตอนแรกเสียอีก  

การศึกษาประวัติศาสตร์ เหมือนทำให้ได้เห็นอีกด้านของคน คนที่เคยคิดว่าดี ก็อาจจะมีเบื้องหลังแย่ๆที่เราไม่เคยรู้ คนที่เคยมองว่าเลว แท้จริงอาจจะเป็นคนที่ปิดทองหลังพระ
ทำใจให้เป็นกลาง คงจะเป็นคำแนะนำที่คุณ NAVARAT.C พูดถูกจริงๆค่ะ  :D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 30 เม.ย. 14, 20:55
จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน

ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ "จอมพลคนดี"  คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านได้ในกระทู้  โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา กวีนิพนธ์ ของ จิตร ภูมิศักดิ์  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5587.0)   ;D

ขอบพระคุณสำหรับกระทู้ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์นะคะ
อ่านแล้วทั้ง อึ้ง ทึ่ง เสียว จริงๆ 55555
ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ มีทั้งข้อดี ข้อเสีย (เท่าที่เด็กมัธยมปลายพอจะรู้) กระทู้นี้เหมือนพลิกอีกด้านของท่านจอมพลให้ดูเลยค่ะ
อีกอย่างคือการประพันธ์ของกวีนิพนธ์คนนี้ ในมุมมองของคนอ่อนประสบการณ์ด้านวรรณกรรม อ่านแล้วคิดว่า บรรยาย เสียดสี ใช้คำได้ถึงใจมากๆ อารมณ์อัดแน่นอยู่ในตัวอักษรเลยค่ะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 30 เม.ย. 14, 20:59

คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านเรื่องของรุ้งกับท่านจอมพลได้ที่กระทู้ รุ้ง จิตเกษม  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3029.120) หน้า ๙-๑๐  ;D

ขอบคุณมากเลยค่ะ เข้าไปดูแล้วเป็นกระทู้ที่น่าสนใจมาก จะลองอ่านทั้งหมดเลยค่ะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 30 เม.ย. 14, 23:52
ส่วนตัวผมเห็นว่า ไม่แตกต่างจากก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เท่าไรนักครับ หมายถึงโครงสร้างของระบบการแก่งแย่งอำนาจนะ ตั้งแต่อยุธยาตอนต้นลงมาเป็นอย่างไร หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น อยากจะบอกว่า มันคงฝังเป็น DNA ของคนที่อยู่ในแผ่นดินบริเวณนี้ไปแล้ว คนกุมอำนาจตัวจริงก็คือ "สภาขุนนาง" (House of Lords)  

ถ้าจะเปรียบไป ก็คงน่าจะเหมือนกับยุคชุนชิวและจั๋นกว๋อ ซึ่งบรรดาขุนนางในแต่ละแคว้นมีอำนาจทำตามอะไรได้ตามอำเภอใจ และก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแย่งชิงอำนาจกันเอง โดยมีข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองก็เท่านั้น น่าแปลกว่าเรื่องอย่างนี้ ผ่านมากี่พันปี ก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเท่านั้นเอง

ถ้าลองหาหนังสือวรรณกรรมชุด "เลียดก๊ก" มาอ่าน ก็จะสะท้อนให้เห็นภาพประเทศไทยตอนนี้ได้ชัดเจนครับ ตอนนี้น่าจะอยู่ในช่วง จั๋นกวอ แล้วล่ะครับ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 14, 08:23
ขอบพระคุณสำหรับกระทู้ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์นะคะ
อ่านแล้วทั้ง อึ้ง ทึ่ง เสียว จริงๆ 55555

นี่ก็ย่างเข้าเดือนพฤษภาคมแล้ว หากคุณเอื้องหลวงอยากทำความรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ให้มากขึ้น สามารถเข้าไปอ่านได้ในกระทู้ จิตร ภูมิศักดิ์ : พฤษภาห้าร้อยเก้า แดดลบเงาจางหาย  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5604.0)  ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 01 พ.ค. 14, 09:18
จอมพลสฤษฎิ์ก็เหมือนผู้รับเหมาสร้างอาคาร 20 ชั้น งานต้องการความแข็งแรงมั่นคงและเป็นอาคารได้สำเร็จ ให้ผู้คนอยู่อาศัยหรือใช้งาน ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์เหมือนมัณฑนากร ห้อง/บริเวณของอาคารจะต้องสวยเนี้ยบ เสกลของ 2 ท่านนี้แตกต่างกันกระมังครับ
เคยอ่านหนังสือของจิตรโดยบังเอิญเพราะตอนนั้นมีเวลาว่าง อ่านไปไม่กี่หน้า วางไม่ลง เป็นคนที่มีศิลปะในการประพันธ์ งานวิจัยอ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านนิยาย มีข้อมูลสนับสนุน (แต่จริงหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะโลกข้อมูลในยุคของจิตรไม่เหมือนยุคปัจจุบัน อาจช้าและไม่ทั่วถึง ฉับไวเหมือนยุคนี้) เข้าใจว่าโลกของจิตร ภูมิศักดิ์เป็นโลกอุดมคติ อายุและประสบการณ์ยังน้อย ไม่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริง

การเป็นคนดี มีคุณธรรมของจิตร ภูมิศักดิ์คงแตกต่างจากจอมพลสฤษฎิ์ คนหนึ่งมองที่ความงาม ความละเอียดประณีต คนหนึ่งมองที่ความสำเร็จ  ชีวิตและเวลาของคนเราก็สั้นนัก ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตนในโลกนี้ แต่งานของจอมพลสฤษฎิ์หนักหนา กว้างขวาง ถ้าละเอียดถูกต้อง ยึดคุณงามความดีทุกอย่าง ทุกประเด็นคงไม่สามารถเป็นไปได้


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 14, 09:41
ดิฉันส่งหลังไมค์ถึงคุณเอื้องหลวง  ถามถึงวิชาในชั้นเรียนม.ปลาย   ไม่ทราบว่าเห็นหรือยังคะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 14, 10:23
ข้อความโดย: scarlet
อ้างถึง
จอมพลสฤษฎิ์ก็เหมือนผู้รับเหมาสร้างอาคาร 20 ชั้น งานต้องการความแข็งแรงมั่นคงและเป็นอาคารได้สำเร็จ ให้ผู้คนอยู่อาศัยหรือใช้งาน ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์เหมือนมัณฑนากร ห้อง/บริเวณของอาคารจะต้องสวยเนี้ยบ เสกลของ 2 ท่านนี้แตกต่างกันกระมังครับ
เคยอ่านหนังสือของจิตรโดยบังเอิญเพราะตอนนั้นมีเวลาว่าง อ่านไปไม่กี่หน้า วางไม่ลง เป็นคนที่มีศิลปะในการประพันธ์ งานวิจัยอ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านนิยาย มีข้อมูลสนับสนุน (แต่จริงหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะโลกข้อมูลในยุคของจิตรไม่เหมือนยุคปัจจุบัน อาจช้าและไม่ทั่วถึง ฉับไวเหมือนยุคนี้) เข้าใจว่าโลกของจิตร ภูมิศักดิ์เป็นโลกอุดมคติ อายุและประสบการณ์ยังน้อย ไม่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริง

การเป็นคนดี มีคุณธรรมของจิตร ภูมิศักดิ์คงแตกต่างจากจอมพลสฤษฎิ์ คนหนึ่งมองที่ความงาม ความละเอียดประณีต คนหนึ่งมองที่ความสำเร็จ  ชีวิตและเวลาของคนเราก็สั้นนัก ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตนในโลกนี้ แต่งานของจอมพลสฤษฎิ์หนักหนา กว้างขวาง ถ้าละเอียดถูกต้อง ยึดคุณงามความดีทุกอย่าง ทุกประเด็นคงไม่สามารถเป็นไปได้


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 01 พ.ค. 14, 22:25
ดิฉันส่งหลังไมค์ถึงคุณเอื้องหลวง  ถามถึงวิชาในชั้นเรียนม.ปลาย   ไม่ทราบว่าเห็นหรือยังคะ

ขอโทษจริงๆค่ะ อ่านเว็บนี้มานานแต่ก็เพิ่งสมัครสมาชิก เลยไม่รู้ว่ามีการฝากข้อความหลังไมค์ ตอนนี้ตอบเรียบร้อยแล้วนะคะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 02 พ.ค. 14, 09:59
ฝากไว้อีกหนึ่งบทความน่าสนใจครับ


สุดท้าย..เจ็บแต่ไม่จบ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/pracha/20140502/579403/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2..%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%9A.html


สะท้อนภาพการเมืองตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี ที่ผ่านมาครับ น้องอ่านตรงนี้ เหมือนได้หัวกะทิที่คั้นแล้วไปปรุงได้เลยครับ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 02 พ.ค. 14, 20:21
ฝากไว้อีกหนึ่งบทความน่าสนใจครับ


สุดท้าย..เจ็บแต่ไม่จบ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/pracha/20140502/579403/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2..%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%9A.html


สะท้อนภาพการเมืองตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี ที่ผ่านมาครับ น้องอ่านตรงนี้ เหมือนได้หัวกะทิที่คั้นแล้วไปปรุงได้เลยครับ


ขอบคุณมากๆเลยนะคะ  ;D


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 01 ส.ค. 14, 09:07
แปลง่ายๆคือหม่อมเจ้าหญิงสามารถสมรสกับสามัญชน หรือผู้มีฐานันดรต่ำกว่าหม่อมเจ้า แต่ต้องถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน
ในพ.ศ. 2475  มีหม่อมเจ้าหญิง 3 องค์ทรงลาออก
    23 สิงหาคม - หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์  (11 กันยายน พ.ศ. 2448 - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร
    23 สิงหาคม - หม่อมเจ้าหญิงฉวีวงศ์ รุจจวิชัย (พ.ศ. 2448 - ไม่มีข้อมูล) พระธิดาในพระองค์เจ้าชายรุจาวรฉวี (ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส
    20 กันยายน - หม่อมเจ้าหญิงเกษรสุคนธ์ โตษะณีย์ พระธิดาในพระองค์เจ้าโตสินี (ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C)

ขอโทษค่ะที่ยกกระทู้เก่านี้กลับขึ้นมาใหม่  เพราะเพิ่งมีเวลาเข้ามาอ่านย้อนหลัง ขอเรียนถามอาจารย์ค่ะ  ก่อนหน้านี้มีเจ้านายผู้หญิงที่ฝ่าฝืนกฎข้อนี้ไหมคะ หมายถึงฝ่าฝืนชนิดแต่งงานแบบเปิดเผยน่ะค่ะ  ไม่ใช่ลักลอบแบบพระองค์เจ้ายิ่งเยาว์ลักษณ์




กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 14, 10:16
นึกไม่ออกค่ะ  ไม่น่าจะมี
ใครทราบช่วยตอบคุณ Anna ด้วยนะคะ


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ส.ค. 14, 18:39
ตอบคำถามตุณ Anna ครับ

เรื่องหม่อมเจ้าหญิงเสกสมรสกับสามัญชนนั้น  เคยพบหลักฐานแต่เรื่องที่อุปราชมณฑลภาคพายัพหารือมายังเสนาบดีกระทรวงวังว่า จะควรขัดขวางมิให้เสด็จขึ้นไปเพื่อมิให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแห่งพระราชวงฆรืออย่างไร  แล้วเสนาบดีกระทรวงวังนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๖ ว่า จะมีเจ้าหญิงจากกรุงเทพฯ เสด็จขึ้นไปเชียงใหม่  นัยว่าจะไปพบครอบครัวฝ่ายผู้ชายซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ (ซึ่งแม้จะเป็น "เจ้า" แต่ในทางพระราชวงศ์ไม่ถือว่าเป็นเจ้า  คงถือว่าเป็นสามัญชน)  เพื่อทำความคุ้นเคยก่อนที่จะเสกสมรส 

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  มีพระราชกระแสให้เสนาบดีกระทรวงวังเชิญหม่อมเจ้าชายผู้เป็นเชษฐาของหม่อมเจ้าหญิงองค์นั้นซึ่งในเวลานั้นเป็นหัวหน้าของราชสกุลมาสอบถาม  ถ้าเป็นเรื่องจริงก็จะทรงส่งเสริมให้ได้เสกสมรสกันโดยไม่ให้เสียพระเกียรติยศพระราชวงศ์  แต่เมื่อหม่อมเจ้าชายที่เป็นเชษฐาทรงชี้แจงให้เสนาบดีกระทรวงวังทราบว่า หม่อมเจ้าหญิงองค์นั้นเป็นน้องสาวจนิง  แต่เนื่องจากเป็นธิดานอกสมรสของพระบรมวงศ์ซึ่งทรงเป็นพระบิดา  จึงมิได้มีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้า  แต่ในหมู่พี่น้องนั้นยอมรับว่าเป็นพี่น้อง  เมื่อเสนาบดีกระทรวงวังนำความกราบบังคมทูลอีกครั้ง  รัชกาลที่ ๖ มีพระราชกระแสว่า ทรงนึกสงสัยอยู่เหมือนกันเพราะไม่ทรงเห็นนามหม่อมเจ้าองค์นี้ในบัญชีเบี้ยหวัดเจ้านายมาก่อน  และได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ในเมื่อฝ่ายหญิงมิได้เป็นสมาชิกแห่งพระราชวงศ์แล้วก็จะทรงนิ่งเสียไม่ทรงรับรู้อะไร  เรื่องนี้จึงเงียบไป  และไม่ปรากฏว่าได้มีการเสกสมรสเกิดขึ้นแต่อย่างใด


กระทู้: อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 01 ส.ค. 14, 18:53
- ขอบคุณคุณV_Mee ค่ะ 

- คุณแอดมินคะ  ไม่ทราบว่ากระทู้ที่ลงในเวบนี้มีการหมดอายุ หมายถึงมีกำหนดว่าจะลบภายในระยะเวลาเท่าไรไหมคะ  ที่อยากทราบเพราะบางครั้งเปิดมาแล้วแต่ไม่มีเวลาอ่านโดยละเอียด  ได้แต่หมายตาว่าว่างเมื่อไหร่จะเข้ามาอ่านเเรื่องที่สนใจย้อนหลัง  บางเรื่องที่ชอบมากจะเข้ามาละเอียดอ่านอีกครั้ง