เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 10:36



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 10:36
เมื่อช่วงต้นเดือนกุมพภาพันธ์ ๒๕๕๖ มีข่าวพัดเข้ามายังฝ่ายสยามประเทศว่า ทางการพม่านั้นจะทำการพัฒนาที่ดินบริเวณใต้เมืองมัณฑเลย์ โดยที่ดินที่พัฒนานี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มสุสานโบราณ ที่เรียกว่า "สุสานล้านช้าง"

โดยก่อนหน้านี้ในหน้าประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าลือกัน ก็กล่าวไปในทิศทางที่ว่าเป็นพระสถูปที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งมีอีกชื่อที่เรียกกันว่า "ขุนหลวงหาวัด" หรือ "เจ้าฟ้าดอกเดื่อ" ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ดังนี้แล้วทางรัฐบาลพม่า จึงได้ร่วมมือกับทีมงานโบราณคดีของไทย เชิญให้ไปทำการสำรวจและขุดค้นบริเวณสุสานล้านช้าง


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 10:50
มาทำความรู้จักกันคร่าว ๆ ก่อนว่าสถานที่ตั้งชุมชมที่เขตกรุงมัณฑเลย์ มีอะไรบ้าง

นี่เป็นแผนที่ดาวเทียมจาก Google มองลงมายังเมืองมัณฑเลย์ ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ๓ เมืองคือ อังวะ - อมรปุระ - มัณฑเลย์ อยู่ใกล้ ๆ กัน ส่วนเมืองมัณฑเลย์นั้นอยู่ทางทิศเหนือ ตัวเมืองเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูน้ำล้อมรอบ มีการวางแผนผังเมืองเป็นระเบียบ ถนนตัดเป็นตารางหมากรุก ศูนย์กลางเมืองเป็นที่ตั้งของพระราชวังมัณฑเลย์

ทิศใต้ของเมืองมัณฑเลย์ ระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของอ่าวต่าวตะหมั่น (สี่เหลี่ยมบานเย็น) และเมืองสะกาย (สี่เหลี่ยมเหลือง) อันเป็นที่ตั้งของชุมชมชาวสยาม (โยเดีย) ชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ (สภาพหมู่บ้านชุมชนต่างชาติ ก็เหมือนกับในประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ก็มีหมู่บ้านลาว หมู่บ้านเขมร หมู่บ้านเวียดนาม ที่กวาดต้อนเทครัวจากสงคราม)



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 11:09
บริเวณอ่าวต่าวตะหมั่น (สี่เหลี่ยมบานเย็น) เป็นที่ตั้งของสะพานอูเป่ง ซึ่งเป็นสะพานที่ก่อสร้างทอดข้ามทะเลสาบนี้ เป็นสะพานไม้สัก ใช้เสาสะพานจากพระราชวังกรุงอังวะมาสร้างไว้ โดยพระเจ้าปดุง ทรงสั่งให้ขุนนางชื่อ "อูเป่ง" มาดำเนินการก่อสร้างและกลายเป็นชื่อสะพานในที่สุด ความยาวของสะพานไม้นี้ยาวถึง ๒ กิโลเมตร มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยี่ยมเยือนกันมากมาย


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 11:15
แผนที่แสดงเมืองเก่าของพม่า คือ เมืองสะกาย - อังวะ - อมรปุระ - มัณฑเลย์


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 13:38
รายงานข่าวเกี่ยวกับสุสานล้างช้าง ที่จะทำการสำรวจขุดค้น


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 13:59
และเมื่อทางการพม่าเริ่มให้คณะสำรวจเข้าพื้นที่สำรวจทางโบราณคดี สิ่งที่เราพยายามค้นหาก็คือ เป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิจริงหรือไม่ และอยู่ในสภาพอย่างไร
(เครดิตภาพนี้ขอขอบคุณทีมงานขุดค้นทุกท่าน )


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 14:13
การสำรวจขุดค้น อันดับแรกต้องกรุยทางตัดต้นไม้ออกไปให้หมด เปิดเผยพื้นที่รอบ ๆ มีหลุมศพของสมัยปัจจุบันปะปนอยู่ด้วย เจดีย์องค์ประธานส่วนบนได้พังหมดแล้ว ส่วนเจดีย์ทรงกระบอกที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุอัฐิยังคงอยู่


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 14:49
และแล้วผลจากการขุดค้นบริเวณรอบ ๆ ก็พบของเข้าจริง ๆ เป็นบาตรโลหะ วางไว้บนพานแว่นฟ้า มีฝาปิดปิดทองคำเปลว และประดับด้วยลวดลายวัสดุแวววาวคล้ายกระจก และมีลายสัตว์หิมพานต์อยู่ที่ฐานแว่นฟ้า

ไม่ธรรมดาซะแล้ว สำหรับการค้นพบครั้งนี้


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 13, 16:18
การสำรวจขุดค้น อันดับแรกต้องกรุยทางตัดต้นไม้ออกไปให้หมด เปิดเผยพื้นที่รอบ ๆ มีหลุมศพของสมัยปัจจุบันปะปนอยู่ด้วย เจดีย์องค์ประธานส่วนบนได้พังหมดแล้ว ส่วนเจดีย์ทรงกระบอกที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุอัฐิยังคงอยู่

สถูปทรงกระบอกนี้นักโบราณดคีท่านให้ความเห็นว่า เป็นจุดถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งการขุดพบบาตรพระอัฐิไม่พบที่สถูปแห่งนี้


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 13, 08:18
รายการสยามสาระพา วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

http://www.youtube.com/watch?v=_89AxTuok_w

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 09:06
ชิ้นส่วนที่ทำออกมาหลังการสำรวจขุดค้น


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 09:12
ชิ้นส่วนอัฐิที่ถูกนำออกมจากสถูปองค์หนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร นำออกมากระทำพิธีขอขมา หลังจากการสำรวจขุดค้น


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 09:23
สงสัยบ้างไหมว่า สถูปที่พบบาตรบรรจุพระอัฐิบนพานแว่นฟ้า พบกันที่ไหน....นี่เป็นภาพของสถูปเล็ก ๆ ที่ขุดลงไปและพบของดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่สถูปทรงกระบอกอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งสถูปทรงกระบอกนั้นนักโบราณคดีท่านให้ความเห็นไว้ว่าเป็นสถานที่เผา


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 09:28
แผนผังประกอบเพื่อให้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า สิ่งก่อสร้างของสถูปพระเจ้าอุทุมพร ตั้งอยู่บริเวณใด (วงกลมน้ำเงิน) ซึ่งอยู่ริมกำแพงแก้วของสถูปประธาน

ส่วนสถูปทรงกระบอกนั้นตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วของสถูปประธาน (ล่างซ้าย)

สถูปต่าง ๆ ที่อยู่ในสุสานนี้ต่างก็ไม่รอดพ้นจากการขุดเจาะหาสมบัติเช่นเดียวกับโบราณสถานอื่น ๆ แต่โชคดีที่การขโมยนั้นยังไม่ลึกพอ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 09:53
เห็นคลิปรายการที่คุณเพ็ญฯ นำมาลงไว้แขกผู้รับเชิญได้กล่าวถึงพระพุทธรูปไม้แกะสลักโดยฝีมือของพระเจ้าอุทุมพร ที่วัดมะเดื่อ ประเทศพม่า เลยหามาให้ชมครับ

เครดิตภาพ Aliz in Wonderland และกล่าวเพิ่มเติมว่า วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะมาหลายครั้งและองค์พระพุทธรูปไม้ ได้ถูกครอบทับไปเรียบร้อยแล้ว

ที่มา http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/10/K8409694/K8409694.html


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 13, 14:10
ชิ้นส่วนอัฐิที่ถูกนำออกมาจากสถูปองค์หนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร  นำออกมากระทำพิธีขอขมา หลังจากการสำรวจขุดค้น

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=39677;image)

นึกถึงวิธีการพิสูจน์ตัวบุคคลใน กรณีพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ แห่งอังกฤษ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5564.0)

ว่าแต่ว่าเราจะพอหาเชื้อสายของพระเจ้าอุทุมพรในปัจจุบันได้บ้างไหมหนอ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 13, 14:22
ชิ้นส่วนอัฐิที่ถูกนำออกมาจากสถูปองค์หนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร  นำออกมากระทำพิธีขอขมา หลังจากการสำรวจขุดค้น


นึกถึงวิธีการพิสูจน์ตัวบุคคลใน กรณีพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ แห่งอังกฤษ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5564.0)

ว่าแต่ว่าเราจะพอหาเชื้อสายของพระเจ้าอุทุมพรในปัจจุบันได้บ้างไหมหนอ



ผมว่ายากนะคุณเพ็ญฯ เพราะว่ากระดูกถูกเผาไฟแล้ว รหัสพันธุกรรมหรือ DNA คงสลายไปหมดแล้ว อีกประการหนึ่งเราไม่มีเชื้อสายราชวงศ์บ้านพลูหลวงไว้เจาะเลือด อีกทั้งขุนหลวงหาวัดท่านถือเพศบรรพชิตเป็นพระจนวันมรณภาพ ดังนั้นยากที่จะเจอ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 13, 09:38
ผมว่ายากนะคุณเพ็ญฯ เพราะว่ากระดูกถูกเผาไฟแล้ว รหัสพันธุกรรมหรือ DNA คงสลายไปหมดแล้ว  อีกประการหนึ่งเราไม่มีเชื้อสายราชวงศ์บ้านพลูหลวงไว้เจาะเลือด อีกทั้งขุนหลวงหาวัดท่านถือเพศบรรพชิตเป็นพระจนวันมรณภาพ ดังนั้นยากที่จะเจอ

หากใช้ดีเอ็นจากไมโตคอนเดรียอาจจะพอมีหวัง

ไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอยังมีคุณสมบัติที่ถือวำเป็นข้อเดํนหลายประการ เชํน สามารถใช้แสดงความสัมพันธ์ในเครือญาติฝ่ายมารดา ใช๎ในกรณีที่สิ่งสํงตรวจไมํสามารถตรวจด๎วยนิวเคลียร์ดีเอ็นเอได้อยำงสมบูรณ์ในหลายกรณี เชํน กรณีสิ่งสํงตรวจเป็นเส้นผม โครงกระดูกที่มีอายุเกำหรือมีการเผาไหม้  หรือในสิ่งสํงตรวจที่มีการเนำสลาย

จากบทความเรื่อง ไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอและการประยุกต์ใช้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ (http://www.forensicchula.net/FMJ/journal/topic/10-5.pdf)

เรื่องขุนหลวงหาวัดท่านไม่มีทายาทสายตรง เป็นกรณีเดียวกับพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓

ดังนั้นในกรณีของริชาร์ด ตัวริชาร์ดเอง  กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 4 และเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์คซึ่งทั้งสามเป็นพี่น้องกันจะมีไมโตคอนเดียเหมือนกันผ่านทางมากดาของทั้งสาม  ดังนั้นแม้ริชาร์ดไม่มีรัชทายาทสายตรง ถ้าสามารถสืบสายตระกูลฝ่ายหญิงทางสายของเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์ค ก็จะสามารถระบุความเกี่ยวกันธุ์ทางสายเลือดกับริชาร์ดที่ 3 ได้

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 13, 09:47
สงสัยบ้างไหมว่า สถูปที่พบบาตรบรรจุพระอัฐิบนพานแว่นฟ้า พบกันที่ไหน....นี่เป็นภาพของสถูปเล็ก ๆ ที่ขุดลงไปและพบของดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่สถูปทรงกระบอกอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งสถูปทรงกระบอกนั้นนักโบราณคดีท่านให้ความเห็นไว้ว่าเป็นสถานที่เผา

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=39678;image)

ข่าวจากคณะสำรวจ (http://www.facebook.com/photo.php?fbid=520945514623880&set=p.520945514623880&type=1&ref=nf)

สวัสดีครับ มีข่าวดีกรณีที่บรรจุอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้พบอัฐิบรรจุในบาตรประดับกระจกปิดทอง วางบนพานแว่นฟ้าในเจดีย์ในกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของเจดีย์ประธาน ตามผังที่ทีมสถาปนิกจัดทำขึ้น ๑๔ มีนา ๒๐๑๓ เวลา ๑๔.๒๒ น. ตามเวลาประเทศเมียนม่าร์

รศ.ธีรศักดิ์ วงศ์คําแน่น สถาปนิกหัวหน้าคณะสำรวจภาคสนาม

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 13, 17:25
ภาพพระเจ้าอุทุมพร จากเอกสาร ชเวนันเลทง (Shwe nan let thon) ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดอาณานิคมในลอนดอน ภาพนี้จากฉบับที่คัดลอกมาเพื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่า  นายแพทย์ทิน มอง จี” (Tin Maung Kyi) นักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลังเกษียณ ผู้มีเชื้อสาย "โยดะยา" (ไทย) แปลจากภาษาพม่าเก่าแบบบรรทัดต่อบรรทัด ความว่า

"ผู้ก่อตั้งที่สามแห่งรัตนปุระ (อังวะ) และพระเจ้าช้างเผือก
ต่อสู้และชนะอโยธยา,
กับกษัตริย์
กษัตริย์ถูกนำตัวมาที่นี่ ในช่วงการครองราชย์ของพระเชษฐาของพระองค์ (กษัตริย์บาดุง)
กษัตริย์ (ไทย) ขณะอยู่ในสมณเพศ, มรณภาพที่อมรปุระ ที่ลินซิน-กอง
สุสาน, พระองค์ถูกบรรจุ/เผาพระศพด้วยสมพระเกียรติในความเป็นเชื้อพระวงศ์  
นี่คือภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์"

บรรทัดสุดท้าย คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดเรื่องชื่อ เพราะควรเป็นชื่อของเจ้าฟ้าอุทุมพร เนื่องจากในประวัติศาสตร์พม่าและประวัติศาสตร์ไทย กษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาองค์สุดท้ายสวรรคตจากเหตุสงครามที่กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ข้อมูลจากบทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ (http://lek-prapai.org/watch.php?id=967) จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

สุสานลินซิน-กอง ก็คือ สุสานล้านช้าง นั่นแล

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: TriMok ที่ 20 มี.ค. 13, 21:57
ถ้าเป็นกระดูก เจ้าฟ้าอุทุมพร สมัยตอนเสียกรุงศรีฯ จริง แล้วพระองค์จะได้กลับมาบรรทมตลอดกาล ยังแผ่นดินอยุธยา อันเป็นแผ่นดินเกิดหรือไม่หนอ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 08:19
ภาพเพิ่มเติมและคำบรรยาย จากอาจารย์ธีรศักดิ์ วงศ์คําแน่น สถาปนิกหัวหน้าคณะสำรวจภาคสนาม

๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ - พานบรรจุพระอัฐิส่วนหนึ่ง ทำพิธีทางศาสนา  ;D


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 08:26
๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ - เจดีย์องค์ที่ขุดพบอัฐิบรรจุในบาตรบุกระจกตั้งบนพานแว่นฟ้า สังเกตลักษณะองค์ระฆังไม่รัดเข็มขัดกับฐานบัวถลาที่ปรากฏแต่แรกก็ลักษณะนี้ ขนาดและเนื้ออิฐเหมือนองค์ประธาน องค์นี้ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนองค์ที่เปิดประเด็นกันแต่แรกเป็นรูปโกฐ ขนาดและเนื้ออิฐเป็นรุ่นหลัง ตั้งนอกกำแพงแก้ว และไม่พบอะไรในนั้น   ;D


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 08:40
สภาพการขุดสำรวจวันที่ ๙ มีนาคม พบฐานเจดีย์ ฐานอาคารมากมายเป็นบริเวณกว้างเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้   ;D


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 21 มี.ค. 13, 16:01
เข้ามาติดตาม


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 13, 16:24
เข้ามาติดตาม

คือ ณ ตอนนี้ได้มีการค้นพบอัฐิบรรจุในบาตรดินเผา วางอยู่พานแว่นฟ้า ซึ่งมีลวดลายประดับอยู่ ทำให้เชื่อว่าต้องเป็นบุคคลสำคัญอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร เนื่องจากยังไม่มีจารึกหรือตัวอักษรบ่งบอกว่าเป็นอัฐิใคร ส่วนการที่เชื่อว่าสุสานตรงนี้นั้นเป็นสถานที่ฝังพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ยังคงเชื่อถือกันอยู่ จะต้องตรวจอิฐว่าอยู่ในยุคใด จึงจะกำหนดได้อย่างคร่าว ๆ

ทั้งนี้พระเจ้าอุทุมพร ในช่วงเวลาที่เหลือหลังจากไปพม่าแล้วก็อยู่ในเพศบรรพชิต อยู่ที่วัดมะเดื่อที่กษัตริย์พม่าสร้างให้ ก็ย่อมเสมือนว่าถูกราชสำนักพม่าเฝ้ามองอยู่เช่นกัน และการอยู่ในเพศบรรพชิตจนมรณะภาพก็ถือเป็นพระสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสเช่นกัน


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 21:08
บน  - Before (พ.ศ. ๒๕๕๕)  

ล่าง - After   (พ.ศ. ๒๕๕๖ ระหว่างการขุดสำรวจ)  

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 21:19
ถ้าเป็นกระดูก เจ้าฟ้าอุทุมพร สมัยตอนเสียกรุงศรีฯ จริง แล้วพระองค์จะได้กลับมาบรรทมตลอดกาล ยังแผ่นดินอยุธยา อันเป็นแผ่นดินเกิดหรือไม่หนอ

เกิดคำถามในใจเช่นเดียวกับคุณ TriMok    ที่จริงทางฝ่ายไทยไปช่วยกันขุดค้นหาถึงขนาดนี้ก็น่าจะมีโอกาสอัญเชิญพระอัฐิกลับมา ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระเจ้าอุทุมพร       อย่างน้อยพระองค์ท่านไม่ทรงมีโอกาสจะได้กลับมาตุภูมิเมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่   ก็น่าจะได้กลับมาในปัจจุบัน     ไหนๆไทยก็เป็นแผ่นดินเกิดของท่าน    ทางพม่าก็ไม่น่าจะขัดข้องอะไร

ปัญหาก็คือขอหลักฐานว่าเป็นเจ้านายของเรา ให้แน่ๆละกัน   เผื่อไปเจอทีหลังว่าเป็นสถูปและอัฐิของเจ้าเมืองพม่าท่านใดท่านหนึ่งในอดีต   เดี๋ยวจะต้องมอบคืนพม่าให้เป็นเรื่องยุ่งยากกันอีก


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 21:34
อาจารย์ธีรศักดิ์ วงศ์คําแน่น สถาปนิกหัวหน้าคณะสำรวจภาคสนาม เล่าเรื่องถึงการขุดค้นและข้อสังเกตทางสถาปัตยกรรมไว้ดังนี้

สวัสดีครับ ระหว่างวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๘ มีนา ๒๐๑๓ คือวันที่ผมเพิ่งลงเครื่องมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปร่วมศึกษาสำรวจชุมชนโยเดีย โดยเฉพาะการตามรอยพระบาทยาตราสมเด็จพระอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัด กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ แห่งศรีอยุธยา ซึ่งเมือกรุงแตก พระองค์ในสมณะเพศจำต้องเสด็จไปประทับที่เมืองพม่าจนสวรรคต ภาพนี้คือแผนผังของกลุ่มเจดีย์บริเวณสุสานชื่อล้านช้าง เมืองอมรปุระ ซึ่งชาวโยเดียหรือพี่น้องอยุธยาที่อพยพไปตั้งถิ่นฐาน ประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรือนแสนคนคราวนั้นเชื่อว่าเป็นที่บรรจุรพระอัฐิของพระองค์ท่าน เรื่องของเรื่องก็คือทางการพม่าเขาจะรื้อสุสานพัฒนาที่ดิน ทางไทยจึงเดินทางไปขอสำรวจสถานที่ตรงนี้เสียก่อน ครั้นเมื่อถากถางสุสานที่รกร้างเป็นป่า กองขยะ และขุดแต่งบริเวณก็พบว่ามีแผนผังสวยงาม ประกอบด้วยองค์เจดีย์หลัก เจดีย์บริวาร กำแพงแก้ว ฐานวิหารและอื่น ๆ อีก ดังในภาพครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 21:41
เมื่อขุดพบอัฐิบรรจุในบาตรวางบนพานแว่นฟ้า ฝ่ายนักประวัติศาสตร์ โบราณคดีคงต่างให้ข้อมูลร่วมกับนักวิชาการพม่า ในส่วนของทีมงานสถาปัตยกรรมมีข้อสังเกตดังนี้

๑. ตำแหน่งอยู่ภายในกำแพงแก้ว อยู่ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศมงคล

๒. รูปแบบองค์เจดีย์ที่เหลือปรากฏเพียงครึ่งหนึ่งยังดูคุ้นตากับทางบ้านเรา คือเป็นทรงระฆังหรือไม่ก็ทรงโอคว่ำ ต่างจากทรงของพม่า ฐานบัวถลา ๓ ชั้น องค์เจดีย์ไม่คาดเข็มขัดแบบพม่าหรือพุกาม
 
๓. เจดีย์รูปแบบที่ว่านี้เท่าที่ตามหาที่อมรปุระ สกาย มัณฑะเลย์ พุกาม อังวะ พบน้อยมาก ที่อมรปุระพบ ๓ องค์ รวมทั้งองค์ที่ขุดพบ

๔. เจดีย์ที่ลบมุมของฐานแบบบ้านเราพบหลักฐานทั้วเก่าและใหม่ ๓ แห่ง คือ เจดีย์ ๔ องค์ล้อมต้นโพธิ์วัดดอกเดือที่สมเด็จพระอุทุมพรทรงประทับ กับเจดีย์ร้างมุมกำแพงวัดอ่านชื่อไม่ออก เมืองสกายตรงข้ามกับโบสถ์ที่มีภาพฝาผนังฝีมือโยเดีย และสันษฐานว่าพระองค์ทรงประทับครั้งแรก และอยู่ฝั่งแม่น้ำอีรวดีตรงข้ามกับเมืองอังวะ และที่วัดจำชือไม่ได้ที่ประวัติศาสตร์พม่าว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จประทับ  นอกจากเจดีย์ ยังมีเจดีย์และฐานเจดีย์ใหญ่น้อยมากมาย เท่าที่พบขณะนี้มาก นับเอาเองครับ เฉพาะที่อยู่ภายในกำแพงแก้ว หรือกำแพงเตี้ย ๆ รอบเจดีย์หลัก พบหลักฐานว่าโผล่จากดินอยู่ก่อนแล้ว ๑ องค์ (อยู่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) กับที่พบฐานอย่างน้อยอีก ๔ ตำแหน่ง พอทีมโบราณคดีขุดสำรวจตรงองค์ที่โผล่พ้นตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้พบหลักฐานสำคัญดังข่าวที่คงแพร่มาแล้วบ้าง ขณะที่ทางทีมงานจะแถลงอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

๕. นอกจากนี้ จากการหาวิญญาณอยุธยาหรือไทยจากองค์เจดีย์ ได้พบเจดีย์มีบัลลังก์รับปล้องไฉน ๑ องค์ เท่านั้น ที่เมืองสกาย คือทางหาข้อมูลเสริมทางฝ่ายประว้ติศาสตร์โบราณคดี

อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการหาหลักฐานต่อไปอีก ยังไม่เป็นที่ยุติครับ ที่น่ายินดีเบื้องต้น คือทางรัฐบาลพม่า ไม่ไถทิ้งแล้วตรงนี้ จะเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ต่อไป

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 13, 10:10
ยืมภาพจาก อ. ปฏิพัฒน์ มาให้ชมกัน เป็นภาพลายเส้นสัตว์หิมพานต์ ที่เขียนไว้บนพานแว่นฟ้า ที่รองรับบาตรดินเผาครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 13, 11:57
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ตีพิมพ์บทความเรื่องสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพรและลูกหลานชาวโยดะยา ในพม่า โดย "คุณหมอ ทิน มอง จี"


www.lek-prapai.org/download.php?file=newsletter96

เนื้อหาบทความสัมภาษณ์คุณหมอ และเรื่องราวชาวอยุธยาและประเพณีวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่พม่า


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 12:09
เรื่องสถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนี้เป็นเรื่องที่มีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน     ขอนำความเห็นด้านค้านมาลงให้อ่านกันบ้างค่ะ

คอลัมน์การเมือง
เส้นใต้บรรทัด
จิตกร บุษบา

พม่าจะทุบสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า  สังคมออนไลน์ เฟซบุ๊คได้เผยแพร่ข่าวจากสื่อ THE IRRAWADDY (http://www.irrawaddy.org/archives/9398#.UAZXkxuSKwk.facebook)ว่า รัฐบาลพม่ากำลังจะทุบพระสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พระมหากษัตริย์ยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่ถูกควบคุมพระองค์ ไปยังพม่าและสิ้นพระชนม์ที่เมืองมัณฑะเลย์ใน พ.ศ.2339

โดยรัฐบาลพม่าจะล้างป่าช้าอันเป็นที่ตั้งของสถูปเพื่อพัฒนาพื้นที่  โดยสำนักข่าวอิศราอ้างสังคมโซเชี่ยลมีเดียว่า มีความเห็นว่า นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ไทยควรให้ความสนใจเรื่องนี้  และยับยั้งการทุบทำลายพระบรมสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีคุณทางทางประวัติศาสตร์ไทย

ต่อมา 27 ก.ค. 2555 นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เพิ่งทราบเรื่องนี้จากสื่อ ขอรวบรวมข้อเท็จจริง ก่อนหารือผู้เกี่ยวข้อง หากพบเป็นความจริง จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังทางการพม่า ขอพูดคุยว่า จะทำอย่างไรกับพระสถูปดังกล่าวแทนทุบทิ้งได้บ้าง

“คงต้องขอเวลาให้ข้าราชการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมายังดิฉันก่อน หากเป็นความจริงก็ต้องหาทางพูดคุยกับทางการพม่าเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”

ผมติดตามข่าวนี้ตั้งแต่สังคมออนไลน์เริ่มแตกฮือและวิพากษ์โจษจันด้วยความเป็นห่วง ทั้งได้เขียนท้วงติงในเฟซบุ๊ค“ปู จิตกร บุษบา” ตลอดจนโพสความคิดเห็นในหน้าเพจ “สายตรงภาคสนาม” ซึ่งมีความแตกตื่นเรื่องนี้มากที่สุดว่า เท่าที่ผมเคยไปดูมา พร้อมบรรดานักวิชาการจากกรมศิลปากรเมื่อสัก 2 ปีมาแล้ว ข้อสรุปของพวกเราตรงกันว่า ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่า จะเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพร ทั้งรูปแบบสถูป ก็ไม่มีอะไรที่ดูเป็นสยาม บันทึกก็ไม่มี มีแต่คำบอกเล่าเคล้าธุรกิจการท่องเที่ยว

ก่อนอื่น มาเรียนรู้กันสักนิดดีไหมครับ ว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นใคร?

ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระเชษฐาธิราชคือ พระเจ้าเอกทัศน์  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ มิใช่เพียง 2 พระองค์นี้เท่านั้น ทรงมีความระแวงระวังเรื่องถูกแย่งชิงราชสมบัติอยู่ไม่น้อย  ความที่ไม่โปรดพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงบังคับให้ไปผนวชเสีย แล้วทรงกำหนดเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ ภายหลังพระองค์สวรรคต  เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงครองสิริราชสมบัติได้สัก 2เดือนกระมัง  พระเจ้าเอกทัศน์ก็เสด็จมาประทับบนบัลลังก์ พาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา พระเจ้าอุทุมพรในเพลานั้นจึงยกราชสมบัติให้ แล้วท่านก็ต้องไปผนวชเพื่อตัดกรรมทางการเมือง   

พระเจ้าเอกทัศน์ครองราชย์ได้สักพัก ก็เกิดศึกสารพัด  บางตำราจึ่งว่า พระองค์ต้องไปนิมนต์พระภิกษุผู้เป็นอนุชามาช่วยรบ ครั้นเสร็จศึก ก็ทรงประพฤติดังเดิม จนพระอนุชาต้องไปผนวชใหม่ เลยได้นาม“ขุนหลวงหาวัด” มาเป็นชื่อที่เรียกขานกันมากกว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรเสียอีก

ครั้นปลายรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พม่ายกทัพใหญ่ประชิดเมือง หมายเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ยันศึกไว้ได้นานทีเดียว แต่ในที่สุดถูกทัพพม่าตีแตก กรุงศรีอยุธยาถูกเผาผลาญจนไม่อาจฟื้นกลับได้อีกเลย พระเจ้าเอกทัศน์ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ หลงในนารี ไม่มีความสามารถบริหารบ้านเมือง ซึ่งถึงวันนี้ สมควรจะต้องศึกษา รื้อฟื้น ถกเถียงกันให้นานทีเดียว เพราะกลยุทธ์การศึกของพระองค์ เช่น การส่งคนไปยันพม่าถึงเมืองกุยบุรี จนเกิดวีรกรรมของ“ขุนรองปลัดชู”แห่งบ้านสี่ร้อย เมืองวิเศษชัยชาญ การตั้งค่ายบางกุ้ง รับมือกับพม่าที่อัมพวา และการยันข้าศึกได้เป็นปีๆ ย่อมมิใช่ภาพสะท้อนของพระเจ้าแผ่นดินที่อ่อนแอ  แต่เอาเถอะ เรื่องนี้ค่อยว่ากันในโอกาสต่อไป

เมื่อกรุงแตก พระเจ้าเอกทัศน์ถูกสังหารที่ค่ายโพธิ์สามต้น บ้างว่าถูกสังหารที่ประตูเมืองขณะจะทรงหลบหนี แต่เอกสารพม่าบางฉบับกลับบอกว่า ทรงสู้รบอย่างกล้าหาญจนสวรรคตในสนามรบ (เห็นไหมล่ะ) ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร) ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย และทรงถูกสอบสวนจนกลายเป็น “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

เมืองที่ท่านและคน “โยเดีย” หรืออยุธยาถูกกวาดต้อนไปในเวลานั้น คือ เมืองสะกาย (หรือจักกาย) อยู่นอกพระนครอังวะ

ทุกวันนี้ เวลาที่ผมชักชวนคนไปเที่ยวมัณฑะเลย์ มักพาไปวัดมหาเตงดอว์จี เพื่อไปดูจิตรกรรมอยุธยาในโบสถ์โบราณ และนักวิจัยก็พบหลักฐานชุมชนชาวโยเดีย ภาพเขียนแบบอยุธยาหรือโยเดีย งานช่าง งานปูนปั้น งานไม้แกะสลักตามวัดต่างๆหลายวัดในสะกายและเมืองใกล้เคียง เจือเคล้าไปด้วยการค้นพบร่องรอยศิลปวัฒนธรรมล้านนา(เชียงใหม่) ซึ่งมีชุมชนอยู่ใกล้หรือปะปนอยู่ด้วยกันกับชาวโยเดีย

เป็นอันว่า ชาวอยุธยาอยู่เมืองสะกายนั้นแน่  แต่ขุนหลวงหาวัดหรือเจ้าฟ้าอุทุมพรจะอยู่ด้วยหรือไม่ ไม่มีใครทราบ

แต่หากเทียบเคียงกับสมัยพระนเรศไปอยู่เมืองหงสาวดี หรือสมัยเจ้าอนุวงศ์มาอยู่สยาม หลังจากสยามไปตีเมืองเขา และภายหลังไปตีเวียงจันทน์อีกครั้งสมัยรัชกาลที่ 3  เราก็เผาเมืองเขาแทบจะเหลือแต่ขี้เถ้า ไม่ต่างจากพม่าเผาอยุธยา แต่เราก็หาพูดความจริงเรื่องนี้ให้เข้มข้นและเท่าเทียมกับที่พม่าเผาเมืองเราไม่ ทำให้คนเรียนประวัติศาสตร์สำเร็จรูป เห็นโลกอย่างคับแคบ เห็นแต่ความเลวคนอื่นเขา ไม่เห็นของเรา      ในเวลานั้นเชื้อวงศ์พงศ์กษัตริย์ ก็จะได้รับการรับรองแกมควบคุมความเคลื่อนไหว อยู่ในภูมิลำเนาย่านเจ้าฟ้าเจ้านาย มิใช่ไปเกลือกอยู่กับชาวบ้านร้านตลาด

พ้นไปจากเฝ้าประณามพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว ประวัติศาสตร์ไทยแบบสำเร็จรูปที่สอนกันอย่างง่ายๆทั่วไป ก็มิได้พูดถึง ให้ความสำคัญหรือสนใจในเจ้าฟ้าอุทุมพรอีกเลย กลับมาสนใจกันอีกครั้ง ก็เพราะเรื่อง “สถูป” นี่เอง

 สถูปนี้อยู่ในป่าช้าไพร่ ในเขตเมืองเก่าอมระปุระติดกับเมืองสะกาย  ตอนที่ผมไป สภาพป่าช้าแห่งนี้สกปรกเน่าหนอนมาก ป่าช้าดังกล่าวชื่อ“ซินลินกอง” บ้างก็เล่ากันต่อๆ มาว่า เป็นป่าช้าล้านนามาก่อน แต่เวลามันผ่านมาเป็นร้อยๆปีแล้วนี่ครับ อะไรๆ มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ศพใหม่ๆของใครต่อใคร เผาบ้าง ฝังบ้าง จนกลายเป็นชุมชนแออัดหลังความตาย

เรื่องมันโยงถึงเจ้าฟ้าอุทุมพรได้ ก็เพราะสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านเสด็จเมืองพม่าและทรงเขียนเรื่อง“เที่ยวเมืองพม่า” ท่านทรงปรารภเรื่องข่าวการพบสถานที่เก็บอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยามที่แพร่เข้ามาในสยามราวรัชกาลที่ 5 ซึ่งนึกมานึกไป ก็ไม่มีใครตกค้างในพม่า นอกจากเจ้าฟ้าอุทุมพรนี้เท่านั้น แต่ท่านก็มิได้ไปเห็น แม้จะทรงสอบถามตลอดการเดินทางจากย่างกุ้งไปอมระปุระและมัณฑะเลย์ แต่ก็ไม่มีใครทราบเรื่องดังกล่าวเลย

 จนสิบกว่าปีมานี้ มีหมอพม่าคนหนึ่งชื่อ “ทิน เมือง คยี” แกสนใจทางโบราณคดี หลังเกษียณแล้วก็ลองศึกษาค้นคว้าแบบ“มือสมัครเล่น” และเขียนเป็นบทความเกี่ยวกับสถูปที่อ้างว่า เก็บอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพรของสยามไว้ ลงในนิตยสารทูเดย์ ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจท่องเที่ยวในพม่า ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 ก่อนนำไปพิมพ์ซ้ำในหนังสือของแกเองชื่อ The Various Facets of Myanmar  เรื่องก็แพร่เข้าสู่ปากมัคคุเทศก์พม่า ก่อนเข้าสู่ปากของมัคคุเทศก์ไทย และนำไปสู่กระแสการ“ตื่นเที่ยว” เหมือนตอนที่ตื่น “พระสุพรรณกัลยา” ที่พระราชวังกัมโพชธานี เมืองหงสาวดีไม่มีผิดเพี้ยน แต่ด้านที่ดีก็คือ เรื่องนี้ได้ชักนำนักวิชาการหลายท่าน เดินทางไปดูและกลับมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างคึกคัก

นักวิชาการที่นำเสนอเป็นหลักเป็นฐานที่สุดท่านหนึ่งคือ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นำเสนอบทความผ่านนิตยสารศิบปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2545 มีใจความสำคัญโดยสรุปได้ว่า

     1.ที่ตั้งสถูปในสุสานซินลินกองนี้ ขัดแย้งกับหลักฐานของฝั่งไทยที่ระบุว่าเชลยอยุธยาอยู่ที่เมืองสะกาย ไม่ใช่อมระปุระ เพราะตอนนั้น เมืองหลวงพม่าอยู่ที่อังวะ ต่อมาพระเจ้าปดุงย้ายมาสร้างเมืองอมระปุระขึ้นทีหลัง ในปี 2325 (กรุงศรีอยุธยาแตก ปี 2310) ซึ่งไม่มีหลักฐานระบุเลยว่า มีการย้ายเชลยอยุธยามาอยู่ที่อมระปุระ

     2.ข้อมูลที่ทำให้เขื่อกันว่า สถูปดังกล่าวเป็นสถูปบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นเพียงข้อมูล “คำบอกเล่า”ของชาวบ้านในท้องถิ่น ที่พูดกันปากต่อปากว่า เป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์นอกราชบัลลังก์พระองค์หนึ่ง โดยไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าเป็นกษัตริย์ของชาติไหน

     3. สภาพของสถูปทั้งรูปทรงและลวดลาย ไม่มีความเกี่ยวโยงกับศิลปะอยุธยาเลย

     4. ในข้อเขียนของทิน เมือง คยี อ้างรูปจากการคัดลอกที่หอสมุดบริติชมิวเซียมรูปหนึ่ง ว่าเป็นรูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น ขัดแย้งกับหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและพม่า ที่ระบุตรงกันว่า พระเจ้าอุทุมพรทรงถูกกวาดต้อนไปในขณะที่บวชเป็นพระ  แต่รูปที่ว่ากลับแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นกษัตริย์

      5.ข้อเขียนจากการสืบค้นของทิน เมือง คยี นั้น ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด พงศาวดารของฝ่ายพม่าและไทยอีกหลายฉบับ อยู่หลายประการ จนมิอาจรู้สึกถึงความหนักแน่น น่าเชื่อได้

      อาจารย์พิเศษท่านจึงได้สรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชือ่ได้ว่า สถูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพร

      ดังนั้น เมื่อเห็นภาพสถูปที่ป่าช้าซินลินองปลิวว่อนในเฟซบุ๊ค และเห็นหลายคน“ตกหลุม”ไปกับข่าวนี้อย่างมาก บ้างด่ารัฐบาล บ้างด่ากรมศิลปากร บ้างด่ากระทรวงวัฒนธรรม แต่ส่วนมากด่าพม่า (ฮา...) ก็อยากจะชวนมาตั้งหลักทาง“ความรู้” กันเสียก่อนว่า เรื่องนี้ไปยังไงมายังไง

      ดีใจนะครับ ที่รัฐมนตรีท่านใจเย็น ไม่ตื่นเต้นไปกับสังคมโซเชียลมีเดียว่า  “คงต้องขอเวลาให้ข้าราชการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมาก่อน หากเป็นความจริงก็ต้องหาทางพูดคุยกับทางการพม่าเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”
      ดีครับ รีบๆประสานและรีบๆศึกษาเข้า และควรถือโอกาสให้นักวิชาการลงมือทำงานวิจัยทางวิชาการ“ตามหาเจ้าฟ้าอุทุมพรและเชลยอยุธยาหลังเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2” ไปเลยสิครับ บ้านเมืองจะได้ประโยชน์ สังคมจะได้ปัญญา
     และไหนๆก็ไหนๆแล้ว ให้ทุนศึกษาวิจัยเรื่องพระเจ้าเอกทัศน์กับเจ้าฟ้าอุทุมพรด้วยเสียเลย  คนไทยจะได้ไม่ถูกประวัติศาสตร์สำเร็จรูปครอบงำ ทำให้ตำหนิติฉินพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งอย่างน่าเวทนา
     ตอนแตกตื่นเรื่อง“พระสุพรรณกัลยา” กิฟฟารีนยังออกทุนให้ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ไปศึกษาจนได้คำตอบว่าพระสุพรรณกัลยานั้นไม่มี แต่เจ้าหญิงอยุธยาที่ไปอยู่หงสาวดีนั้นมีแน่ เห็นไหมครับ สังคมก็ได้ปัญญาขึ้นมาในทันที
     ผมคิดว่า หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมนี่ นอกจากต้องหารัฐมนตรีที่มีปัญญามานั่งบริหารแล้ว ก็ต้องเพิ่มบทบาทในการสร้างปัญญาให้แก่สังคมเข้าไปด้วย            


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 13, 12:10
หยิบวารสารข่าวกรมศิลปากร จากสื่อมวลชน ฉบับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่องใช่หรือมิใช่ สถูปพระเจ้าอุทุมพรที่อมรปุระ ?

ในบทความเจาะประเด็นไปที่สถูปทรงโกศ และตีความออกมา จึงนำมาให้อ่านกันที่ลิงค์นี้ครับ

http://www.finearts.go.th/system/files/news22feb56.pdf

หยิบยกประเด็นฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมาคุยกัน ผู้อ่านกระทู้จะได้ข้อมูลที่หลากหลายเพิ่มขึ้นนะครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 12:57
ในห้องสมุดของ pantip ก็เคยพูดถึงสถูปและอัฐิพระเจ้าอุทุมพรเช่นกัน

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/07/K12394952/K12394952.html


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 16:52
บทความนี้ฟันธงลงไปเลยว่าไม่ใช่


อัฐิพระเจ้าอุทุมพร ในสถูปที่พม่า สร้างกระแสท่องเที่ยว
วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2013 เวลา 03:20 น. | แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 02:26 น. |
เขียนโดย สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
     สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) เคยเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี กรมศิลปากร เคยตรวจสอบแล้วสรุปผลว่าเลื่อนลอย
     แต่เมื่อเร็วๆ นี้กลับมาเป็นข่าวอีกอย่างน่าสงสัย

     เมื่อปี 2538 อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งไปทัศนาจรพม่า เมื่อกลับมาแล้วได้นำความตื่นเต้นออกเผยแพร่ให้คนไทยรู้ด้วยว่ามัคคุเทศก์พม่าได้พาไปชมสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ได้ถูกจับไปเป็นเชลยและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

     เรื่องสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร มีที่มาจากบทความในนิตยสารทูเดย์ อันเป็นนิตยสารเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวพม่า (Dr.Tin Maung Kyi.A Thai King’s Thomb?, TODAY The Magazine Tourism Business In Myanmar, March, 1995) อาจารย์มาเผยแพร่ได้มอบสำเนาให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
      ครั้งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ขณะรับราชการกรมศิลปากร) ได้แปลทั้งหมด รวมทั้งรายชื่อเอกสารอ้างอิงในบทความ และภาพประกอบเป็นรูปวาดบุคคลในฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ กับภาพสถูปทรงแปลกองค์หนึ่งในสุสานลินซินกอง เมืองอมรปุระ แล้วนำเสนอตามลำดับราชการ ต่ออธิบดีกรมศิลปากร จนถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สมัยนั้นกรมศิลปากรขึ้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ)
     มีบทรายงานลงพิมพ์เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2545 หน้า 100-107 จะสรุปย่อๆที่สุด ดังนี้

     ความคิดเกี่ยวกับสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรในเมืองพม่า มิใช่ความคิดใหม่ เคยมีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2479 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงประทับอยู่ที่ปีนัง ในปีนั้นได้เสด็จไปประเทศพม่า
     ตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ทรงเล่าว่า

     ...ด้วยได้เคยทราบแต่รัชกาลที่ 5 ว่า เขาพบที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม (คือพระเจ้าอุทุมพร หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ขุนหลวงหาวัด”) ซึ่งไปสวรรคตในเมืองพม่า ฉันเชื่อใจว่าที่บรรจุพระบรมอัฐินั้นคงเป็นพระเจดีย์มีจารึกและสร้างไว้ที่เมืองอังวะ เพราะเมืองอังวะเป็นราชธานีอยู่ในเวลาที่พม่ากวาดไทยไปครั้งเสียพระนครศรีอยุธยา ฉันไปครั้งนี้หมายจะพยายามไปบูชาพระเจดีย์องค์นั้นด้วย
     ได้สืบถามตั้งแต่ที่เมืองร่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑเลก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์เช่นนั้น ทั้งพวกกรมตรวจโบราณคดี ก็ยืนยันว่าที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเป็นแน่ ฉันก็เลยทอดธุระ
     ครั้นกลับมาถึงเมืองปีนังมีกิจไปเปิดหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จึงได้ความว่าพม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งนั้น ไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่เมืองจักกาย (คือเมืองสะแคง) ขุนหลวงหาวัดคงไปสวรรคตและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ที่เมืองสะแคง
     ในเมืองนั้นพระเจดีย์ยังมีมาก ถ้าฉันรู้เสียก่อนเมื่อไปถึงเมืองสะแคงถามหาเจดีย์ “โยเดีย” ก็น่าจะพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิขุนหลวงหาวัดสมประสงค์ แต่มารู้เมื่อสิ้นโอกาสเสียแล้วก็จนใจ

     ปีการท่องเที่ยวพม่า

     ไม่ทราบว่าข่าวการพบสถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรในสมัย ร.5 นั้นมีที่มาจากอะไร     แต่ที่พระองค์ทรงสืบถามตั้งแต่เมืองย่างกุ้งไปจนถึงมัณฑะเลย์นั้นเป็นเส้นทางที่ผ่านเมืองอังวะ ถัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็ผ่านเมืองอมรปุระ ถัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ ก็ถึงเมืองมัณฑะเลย์ แล้วทำไมถึงทรงไม่ได้ข่าวคราวอะไร
     เรื่องสุสานลินซินกองที่อมรปุระ ที่บทความในนิตยสารทูเดย์ กล่าวว่า มีสถูปบรรจุอัฐิกษัตริย์นอกราชบัลลังก์พระองค์หนึ่ง และมัคคุเทศก์พม่าระบุว่าเป็นพระเจ้าอุทุมพรนั้น เหตุใด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงไม่ทรงทราบเลย
     จึงน่าเป็นไปได้ว่าเรื่องสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่สุสานลินซินกองในนิตยสารทูเดย์นี้ เพิ่งเป็นตำนานที่เริ่มขึ้นเมื่อบทความในนิตยสารทูเดย์พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.  2538 นี้เอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนปีการท่องเที่ยวของพม่าซึ่งได้เริ่มขึ้นในปีถัดมา (พ.ศ. 2539)
   
     สร้างกระแสท่องเที่ยว

     ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัฒนธรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเพื่อการขายแต่เพียงอย่างเดียว มักจะก่อปัญหาแก่ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นอย่างมาก
     เรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่เมืองอมรปุระพม่า เมื่อวิเคราะห์หลักฐานที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจทางท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเรื่องขึ้นมาใหม่โดยมิได้เจาะลึกเข้าสู่ส่วนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริงๆ เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน

     การอ้างอิงเรื่องที่มาจึงมีลักษณะคลุมเครือ ซ่อนเร้น ปิดบังเป็นบางครั้ง มีการอ้างเอกสารหลายเรื่องทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นและบางเรื่องก็น่าจะรู้จักแต่ชื่อเอกสาร โดยมิได้ทราบเนื้อหาภายในเอกสารนั้นอย่างแท้จริง
     ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปในประเด็นการตรวจสอบหลักฐานเรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรที่สหภาพพม่าได้ว่า ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอ
     ส่วนหลักฐานทางโบราณคดี นั้น เมื่อได้พิจารณาภาพของสถูปทั้งที่เป็นภาพถ่ายและภาพวาด สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย
     ส่วนข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านนั้นก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะมิใช่มาด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์อย่างแท้จริง

     ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 หน้า 20
   http://haab.catholic.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=927:2013-01-26-03-22-43&catid=128:2012-07-27-08-28-55&Itemid=54


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 19:10
เวลาเปลี่ยนไป ข้อมูลปรับปรุง ข้อสรุปอาจเปลี่ยนแปลง

ความเห็นของคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์  (http://www.facebook.com/photo.php?fbid=145421435626376&set=a.145103325658187.1073741844.100004755601459&type=1&relevant_count=1) นักโบราณคดี หนึ่งในคณะสำรวจขุดค้น

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 20:22
คุณวิกี้บอกว่าพระเจ้าอุทุมพรเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2339  ในรัชกาลที่ 1 ของเรานี่เอง ตามที่พงศาวดารพม่าบันทึกไว้      ถ้ามีการบันทึกก็น่าจะบันทึกหลักฐานอื่นๆที่ชัดเจนพอสมควร   เพราะเวลาก็ไม่ห่างจากปัจจุบันนัก แค่สองร้อยกว่าปี   
แต่ดูเหมือนว่านักโบราณคดีเดินหน้าขุดค้นไปมากแล้ว  นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันยังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโชว์กันเลยว่า  มีอะไรตรงกับนักโบราณคดีเจอบ้าง    นักโบราณคดีจึงได้แต่เพียงคำบอกเล่าต่อๆกันมาจากชาวบ้านว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าชายโยเดีย    เจ้าชายองค์ไหนก็ไม่มีการระบุพระนามไว้ชัดเจน     
ตอนกรุงแตก   ถ้าชาวอยุธยาถูกกวาดต้อนไปพม่านับแสน   เจ้านายอยุธยาเห็นจะต้องไปอยู่พม่ากันนับร้อย หลายร้อยด้วยไม่ใช่ร้อยเดียว     เจ้าชายก็ต้องมีเป็นสิบๆองค์  จะเป็นองค์หนึ่งในจำนวนนี้ที่มีพระอัฐิในเจดีย์ดังกล่าวได้ไหม



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 21:14
   
     สร้างกระแสท่องเที่ยว

     ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัฒนธรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเพื่อการขายแต่เพียงอย่างเดียว มักจะก่อปัญหาแก่ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นอย่างมาก
     เรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่เมืองอมรปุระพม่า เมื่อวิเคราะห์หลักฐานที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจทางท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเรื่องขึ้นมาใหม่โดยมิได้เจาะลึกเข้าสู่ส่วนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริงๆ เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน

บริเวณใกล้ ๆ กับสุสานล้านช้างนี้มีสถานที่ที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งชาวพม่าและต่างประเทศอยู่แล้วคือ สะพานอูเบ็ง ซึ่งเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก โดยยาวถึง ๒ กิโลเมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน  ;D

การมองว่าที่คุณหมอทินหม่องจีจุดกระแสเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว ดูจะเป็นการมองในด้านลบมากเกินไป

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 13, 21:25
ต้นไม้ใหญ่ริมทะเลสาบก็ดูร่มรื่นเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ภาพสะพานอูเบ็งและต้นไม้ใหญ่ ถ่ายโดย คุณป้าฟูแห่งพันทิป  (http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11787906/E11787906.html)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 13, 21:30
ต้นไม้ใหญ่ริมทะเลสาบก็ดูร่มรื่นเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ภาพสะพานอูเบ็งและต้นไม้ใหญ่ ถ่ายโดย คุณป้าฟูแห่งพันทิป  (http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11787906/E11787906.html)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)

ต้นไม่ใหญ่สวยมาก ๆ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 23 มี.ค. 13, 02:51
หากเป็นของพระเจ้าอุทุมพรจริง ทำไมไม่บรรจุพระอัฐิในปรางค์/ปราสาท/เจดีย์ประทาน องค์กลางครับ ทำไมมาบรรจุในเจดีย์ราย มันดูขัดๆ กันอย่างไรก็ไม่รู้


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 13, 20:26
ดนตรีไทย ในราชสำนักพม่า


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มี.ค. 13, 13:27
ยืมภาพจาก อ. ปฏิพัฒน์ มาให้ชมกัน เป็นภาพลายเส้นสัตว์หิมพานต์ ที่เขียนไว้บนพานแว่นฟ้า ที่รองรับบาตรดินเผาครับ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=39743;image)

กินนร

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley19.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มี.ค. 13, 20:05
กินนร หุ่นชักพม่า

ช่างคล้ายนัก ๆ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 มี.ค. 13, 09:37
บางกอกโพสท์ ฉบับวันนี้มีบทความ  In search of a king ครับ

http://www.bangkokpost.com/lifestyle/interview/342224/in-search-of-a-king

         Every day, some 30 people would be seen working at the site.
Some were seen digging into the ground, while others were digging into the centre
of the stupas. Myanmar historian Mickey Heart was there to help with historical details.
Retired architect Chantharid Virochsiri analysed the stupas, while two engineers
ensured safety on the site. These veterans were supported by young professionals.


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 มี.ค. 13, 09:54
เข้าไปอ่านในบางกอกโพสท์ ข้อความที่อาจารย์ปฏิพัฒน์กล่าวไว้ทิ้งท้ายดีครับ

"''Although the tomb couldn't be verified, we will bring back the missing parts of King Uthumporn's life that have never been recorded in Thai history,'' said Patipat"


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 13, 09:56
^


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มี.ค. 13, 17:50
ตามรอยกินนรพม่า

กินนรที่ชเวซิกอง พุกาม ภาพโดยคุณปฏิพัฒน์  พุ่มพงศ์แพทย์

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 13, 05:44
ภาพเพิ่มเติมจากอาจารย์ธีรศักดิ์  วงศ์คำแน่น (http://www.facebook.com/photo.php?fbid=526875174030914&set=a.283126958405738.82112.100001253096318&type=1&relevant_count=1)

แผนผังและภาพเจดีย์ในตำแหน่งต่าง ๆ เปรียบเทียบลักษณะของเจดีย์ที่พบพระอัฐิกับลักษณะของเจดีย์อยุธยาและเจดีย์พม่าทั่ว ๆ ไป

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ก.ค. 13, 11:48
         วันนี้นสพ. คมชัดลึกมีบทความเรื่องสถูป ดังนี้ ครับ

พบสถูป‘พระเจ้าอุทุมพร’ในพม่าพัฒนาเป็นมรดกประวัติศาสตร์ : เต๋อ สมิหลา

              เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปทำบุญไหว้พระที่ประเทศพม่า
จุดหนึ่งที่หัวหน้าคณะทัวร์ได้พาไปชม คือ “สุสานลินซินกอง” (สุสานล้านช้าง) เมืองมัณฑะเลย์ และ
ไม่ไกลจากสะพานไม้ “อูเบ็ง” ซึ่งเป็นสะพานไม้สักยาวที่สุดในโลก  ด้านหนึ่งของสะพานนี้ คือ
ที่ตั้งของหมู่บ้านคนไทย ที่ถูกกวาดต้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ทุกวันนี้
คนไทยเหล่านั้นก็คือคนพม่าเชื้อสายสยาม ที่เรียกว่า “โยเดีย”

              ที่สุสานแห่งนี้กำลังมีการขุดแต่งสถูป ที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะเป็นบรรพชิต เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๙

              ตามประวัติศาสตร์ไทย สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นกษัตริย์ช่วงสั้นๆ เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๑ ต่อมา
ได้ทรงพระผนวชในปีเดียวกัน เพื่อให้พระเชษฐา คือ สมเด็จพระเอกทัศ ขึ้นครองราชย์แทน

              เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ สวรรคตในครั้งนั้น
พม่าได้กวาดชาวกรุงศรีอยุธยาไปยังพม่าจำนวนมาก รวมทั้งได้นิมนต์พระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทรงพระผนวช
ให้เสด็จไปยังพม่าด้วย

              ชาวพม่ามีความศรัทธาเลื่อมใสในพระเจ้าอุทุมพรมาก ถึงกับถวายพระนามในพุทธศาสนา
ทางการพม่าว่า “มหาเถระอุทุมพร” (Maha Thera Udumbara) ทรงเป็นมหาเถระชั้นสูงที่ชาวพม่า
ให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ   


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ก.ค. 13, 11:55
              เมื่อ พระมหาเถระอุทุมพร สวรรคตใน พ.ศ.๒๓๓๙ ครั้งนั้นตามหลักฐานบันทึกของพม่า
กษัตริย์พม่าคือ “พระเจ้าปดุง” หรือพระนามอย่างเป็นทางการ คือ “พระเจ้าโบดอพญา” ได้พระราชทาน
เพลิงพระศพ “พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร” เป็นพิธีหลวงอย่างสมพระเกียรติ ณ บริเวณสุสานล้านช้าง

              ต่อมาสุสานแห่งนี้กลายเป็นสุสานร้างมานานปี จนถึงทุกวันนี้ ทางการพม่าต้องการจะพัฒนา
พื้นที่รกร้างให้คืนสู่สภาพที่ดีขึ้น จึงได้มีการขุดแต่งสถูปต่างๆ พบว่ามีหมู่สถูปหนึ่งพิเศษกว่าสถูปองค์อื่นๆ
ซึ่งประกอบด้วยหมู่สถูป ๔ องค์ คือ สถูปที่บรรจุบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังกล่าว จึงได้แจ้ง
มาให้ทางเมืองไทยทราบ พร้อมกับให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปทำงานร่วมกับทางคณะทำงานของพม่า

              คณะทำงานฝ่ายไทยที่เดินทางไปทำงานร่วมกับคณะของพม่า เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ คือ
๑.คุณวิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการ / นักอนุรักษ์ ๒.ดร.สุเมธ  ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ /
สถาปนิกอาวุโส / นักอนุรักษ์ / นักเขียน / นักประวัติศาสตร์ ๓.คุณปองขวัญ ลาซูส สถาปนิก / นักอนุรักษ์
๔.ออท.ประดาป พิบูลสงคราม ที่ปรึกษา ๕.คุณชาตรี รัตนสังข์ วิศวกรอาวุโส และ ๖.คุณพัทธมน นิยมค้า
สถาปนิกประสานงาน

              ในการทำงาน คณะผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายพม่าและไทยได้ค้นพบบาตร ซึ่งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้า
ในสถูปองค์หนึ่ง จึงร่วมกันทำพิธีกราบบังคมทูลขอขมา ขอพระบรมราชานุญาตทำการเปิดฝาบาตร เพื่อ
สำรวจดูสิ่งของข้างใน จึงได้พบพระอัฐิเป็นจำนวนมาก ห่ออยู่ในผ้าจีวร


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ก.ค. 13, 11:58
              “บาตร” ที่อยู่บนพานแก้วแว่นฟ้านี้ ถือเป็นบาตรพระราชทานของกษัตริย์พม่า ที่เรียกว่า
“บาตรแก้วมรกต” ประดับประดาด้วยกระจกสีฉาบปรอท มีเส้นทองสีลายต่างๆ สวยงามมาก...จากหลักฐาน
“บาตรพระราชทาน” นี่เองที่เชื่อได้ว่า พระอัฐิในบาตรนี้เป็นของพระเจ้าอุทุมพร อย่างแน่นอน

               การขุดแต่งสุสานแห่งนี้ พม่าถือว่าเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ จึงต้องการอนุรักษ์ไว้
โดยทางฝ่ายไทยยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์
ระหว่างพม่ากับไทย และเป็นสัญลักษณ์ของชาวพม่าเชื้อสายไทยที่พำนักอยู่ในพม่า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๐
จนถึงทุกวันนี้

              เมื่อโครงการนี้ได้ดำเนินการจนสำเร็จสมบูรณ์ในวันข้างหน้า ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนไทย
เมื่อเดินทางไปทำบุญไหว้พระยังเมืองพม่า จะได้ไปเยี่ยมชม และสักการะพระบรมอัฐิของ พระเจ้าอุทุมพร
อีกด้วย


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 12:20
ช่วยทำลิ้งก์ให้คุณศิลา  ;D

พบสถูป‘พระเจ้าอุทุมพร’ในพม่าพัฒนาเป็นมรดกประวัติศาสตร์ : เต๋อ สมิหลา  (http://www.komchadluek.net/detail/20130718/163682/%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E2%80%98%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E2%80%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html#.Ued1CEg5OM8)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 12:36
รายละเอียดเพิ่มเติมจาก เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/article/224/217331)

กระทรวงการต่างประเทศของไทยขอให้มีโครงการสำรวจภายในองค์เจดีย์ร่วมกันระหว่างไทยกับพม่า เพื่อหาหลักฐานภายในองค์เจดีย์ที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทางพม่าจึงอนุมัติเป็นชื่อโครงการว่า ’Joint development of Thai government and Myanmar government for fact finding Archaeological of the stupa believed to be that of King Udumbara (Dok Dua)” ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน ๑ เดือน โดยมีมาตรฐานในการปฏิบัติทุกขั้นตอน

ถึงแม้พื้นที่สุสานจะกว้างใหญ่มาก แต่เราก็ไม่ได้ขุดแบบไร้ทิศทาง เพราะตัวสถูปไม่ได้ฝังอยู่ในดินด้วยความสูงโผล่พ้นป่าหญ้ารกร้างทำให้เรารู้จุดที่จะสำรวจ รวมทั้งมีฐานเจดีย์ให้เห็น จึงเริ่มสำรวจบริเวณนั้นก่อน ชิ้นแรกที่ขุดพบคือ ชิ้นส่วนของบาตร ซึ่งเป็นบาตรพระราชทานที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิและบรรจุไว้ในเจดีย์ พม่าเรียกว่า “บาตรแก้วมรกต” ประดับประดาด้วยกระจกสีฉาบปรอท มีเส้นทอง นอกเหนือจากนี้บาตรดังกล่าวยังตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้า ซึ่งเป็นกระจกเขียนสีลายเทวดาและลายต่าง ๆ สวยงามมาก

จากข้อสังเกตที่เชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คือ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของพม่าที่มาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย กล่าวถึง ๓ ประเด็นสำคัญ คือ

๑. พระเถระธรรมดาไม่สามารถใช้บาตรลักษณะนี้ตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้าได้ ต้องเป็นของที่พระราชทานเท่านั้น

๒. เจ้าประเทศราชที่บรรจุพระศพหรือบรรจุอัฐิอยู่บริเวณสุสานล้านช้างทั้งหมดมีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีหัวหน้าวงศ์ตระกูลหรือเจ้าประเทศราชที่เป็นลำดับพระมหากษัตริย์ที่เป็นระดับมหาเถระ ดังนั้นบาตรนี้จึงเป็นสมณศักดิ์ของพระเถระเท่านั้น

๓.  สายวงศ์สกุลของชาวต่างชาติประเทศราชทั้งหลายไม่มีสายสกุลไหนที่เดินทางไปพม่าทั้งพระบรมวงศานุวงศ์มากเท่ากับสายสกุลอยุธยา

อย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขุดลงไปแค่เจดีย์ ๒ องค์ที่เห็นเท่านั้น ก่อนจะขุดเราต้องทราบโครงสร้างก่อนโดยเริ่มดายหญ้านำแปรงค่อย ๆ ปัด บันทึกวาดภาพ วัดขนาดและวิเคราะห์ร่วมกันกับนักวิชาการพม่า เราพบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุประมาณหลายร้อยปีที่โอบอุ้มเจดีย์ทรงโกศไว้ด้วย จากนั้นค่อย ๆ เปิดหน้าดินก็เจอโครงสร้างค่อนข้างใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิหาร แต่ด้านบนพังไปหมดแล้ว เพราะในสมัยนั้นน่าจะใช้เครื่องไม้ เสาไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมของพม่า ทำให้ไม้ผุพังไปตามกาลเวลา แต่พื้นเป็นอิฐยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังเจอกำแพงแก้วและฐานเจดีย์มากมาย

เจดีย์องค์หนึ่งอยู่ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อขุดลงไปไม่ลึกมากก็เจอบาตร ตัวพานซึ่งเป็นไม้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม้อยู่ในดินโดนความชื้นปลวกก็กิน แต่กระจกอยู่ได้ตลอดและมีดินโอบอุ้มไว้ ส่วนตัวบาตรฝังไว้ในดิน ทำจากดินเผาประดับกระจก จากการศึกษาของที่นิยมทำในสมัยราชวงศ์พระเจ้าปดุงก็เป็นบาตรดินเผาเคลือบแต่ลายซึ่งประดับกระจกไม่เหมือนกับของคนอื่น เพราะเป็นบาตรที่ทำมาเพื่อพระองค์เท่าที่ทางนักวิชาการพม่าไปดูมาบอกว่าไม่เคยเจอลายที่สวยขนาดนี้ แต่รูปแบบการติดกระจก และบาตรดินเผาเคลือบเป็นสมัยนิยมก็จริง แต่ฝีมือขนาดนี้ชาวบ้านทำหรือใช้เองไม่ได้ต้องเป็นการสั่งทำเฉพาะกษัตริย์ และจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเปิดบาตรพบพระบรมอัฐิ ประกอบด้วย พระเศียร กราม และชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะในสมัยก่อนจะใช้ไฟต่ำตอนถวายพระเพลิง จึงเหลือเศษพระอัฐิหลายชิ้น ที่สำคัญพระอัฐิทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าเหลืองซึ่งเป็นผ้าจีวร จึงเน้นย้ำได้ว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

ต่อมาทางการพม่าประกาศว่าไม่สามารถรื้อถอนสุสานได้แล้ว เพราะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองอมรปุระ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงจากหลายฝ่ายจนเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ เราจึงไปขออนุญาตที่จะปฏิสังขรณ์หรืออนุรักษ์ไว้จากซากโบราณสถานที่มีอยู่เดิม และนำสิ่งของที่ค้นพบไปบรรจุและตั้งชื่อโครงการว่า “โครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สุสานล้านช้าง อมรปุระ” (Mahatera King Udumbara Memorial Ground) โดยการรวบรวมกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่าซึ่งเป็นคนเชื้อสายอยุธยามาร่วมโครงการด้วย

ทันทีที่ได้รับคำตอบอนุญาตจากพม่า ขั้นตอนต่อไปเราจะทำการอนุรักษ์บริเวณสุสานหลวงแห่งนี้ไว้ โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่า เพื่อให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของพม่าที่แสดงถึงความสำคัญระหว่างพระมหากษัตริย์พม่ากับพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวพม่าเชื้อสายไทยที่อยู่ที่พม่า เพราะว่าอีก ๒ ปีข้างหน้าเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการดี ๆ ที่พม่าเห็นชอบด้วย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.ค. 13, 15:36
^
โห ต่อยอดเจดีย์องค์กลางเป็นทรงไทย เลยหรอนี่  :o

เจดีย์ที่ค้นพบบาตร คือ เจดีย์ No. 2


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 20:52
น่าจะเป็นเจดีย์เบอร์ ๓ มากกว่า  ;)

สงสัยบ้างไหมว่า สถูปที่พบบาตรบรรจุพระอัฐิบนพานแว่นฟ้า พบกันที่ไหน....นี่เป็นภาพของสถูปเล็ก ๆ ที่ขุดลงไปและพบของดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่สถูปทรงกระบอกอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งสถูปทรงกระบอกนั้นนักโบราณคดีท่านให้ความเห็นไว้ว่าเป็นสถานที่เผา


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: พีรศรี ที่ 19 ก.ค. 13, 03:21
การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การตระหนักรู้ในมิติทางประวัติศาสตร์ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี
แต่ถ้าเกิดขึ้นบนความบิดเบือนข้อมูลประวัติศาสตร์และโบราณคดี  โดยงบประมาณอันมาจากภาษีของคนทั้งประเทศ คงไม่ดีแน่ๆ
เท่าที่ดูงานนี้ เหมือนตั้งธงไว้แล้วว่า “ต้องใช่” มันก็ใช่แหละครับ ดูไปเรื่อยๆ มันก็ใช่ไปเอง
บังเอิญผมไม่มีความรู้เลย เรื่องบาตรพม่า ว่าบาตรที่พบมีดีวิเศษ ผิดกับบาตรอัฐิธรรมดาอย่างไร
รูปแบบและยุคสมัยของสถูปทรงต่างๆ ในบริเวณ ผมก็ไม่มีความรู้อีก
ไม่ใช่ตั้งใจจะไม่เชื่อนะครับ แต่อยากเห็นหลักฐาน ข้อวิเคราะห์ ที่ละเอียด และมีหลักการกว่านี้
ไม่ใช่  “เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของพม่า” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใคร บอกอะไรมาก็เชื่อ บอกให้ไหว้อะไรก็ไหว้

งานขุดค้นโบราณคดี เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ “เจ้าหน้าที่ไทย” มีแต่สถาปนิกและนักการทูตเป็นหลัก แปลกไหมครับ
ทางกรมศิลปากร มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แล้วด้านสื่อเขาก็ไว ทำไมงานนี้ยังเงียบ
ไม่ออกมาส่งเสียง หรือแสดงความจำนงร่วมงาน อันนี้ก็แปลกอีก

ท้ายที่สุด การต่อเติมโบราณสถานดังในภาพ perspective ไม่ทราบว่าเอาหลักฐานที่ไหนมา
ถ้านึกเอาเอง ผิดหลักการของกฎบัตรเวนิซ (Venice Charter) อย่างร้ายแรงนะครับ   


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 13, 15:01
งานขุดค้นโบราณคดี เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ “เจ้าหน้าที่ไทย” มีแต่สถาปนิกและนักการทูตเป็นหลัก แปลกไหมครับ
ทางกรมศิลปากร มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แล้วด้านสื่อเขาก็ไว ทำไมงานนี้ยังเงียบ
ไม่ออกมาส่งเสียง หรือแสดงความจำนงร่วมงาน อันนี้ก็แปลกอีก

ที่มีสถาปนิกเป็นหลักเนื่องจากโครงการนี้ ฝ่ายไทยเราเรียกว่า โครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อหาร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถูปที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร  (http://www.asa.or.th/?q=node/115015) อยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์   ;)

รายละเอียดของการทำงานในโครงการนี้ มีอยู่ในรายการสยามสาระพา

ภาคแรก

รายการสยามสาระพา วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

http://www.youtube.com/watch?v=_89AxTuok_w

ภาคที่สอง

http://www.youtube.com/watch?v=1DgbwjLpUz4

ที่น่าแปลกใจคือค่าใช้จ่ายในโครงการนี้มาจากการขอบริจาค ไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล  ???

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม16.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 16:19
คุณวิจิตร ชินาลัย กับ ดร.สุเมธ ชุมสายนั่น ไม่ใช่สถาปนิกธรรมดาๆนะครับ ท่านมีผลงานในด้านอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมมากมายเหลือคณานับ เป็นที่ยอมรับแม้ในหมู่นักวิชาการด้านเดียวกันของกรมศิลปากร

สำหรับผม แค่เห็นหน้าท่านทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็เชื่อถือผลลัพท์ไปครึ่งหนึ่งแล้ว


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 13, 10:06
             รูปเรื่องราวเพิ่มเติม จากเดอะ เนชั่น วันนี้ ครับ

      http://www.nationmultimedia.com/life/Salvaging-a-lost-king-30211274.html

           Salvaging a lost king

Phatarawadee Phataranawik
The Nation July 29, 2013

        Udumbara had relinquished the throne of Ayutthaya, only to be captured
by the Burmese

           The resting-place in Myanmar of Siam's King Udumbara is to be restored
as a memorial ground and an "Ayutthaya cultural heritage centre" built nearby,
at a cost of at least Bt39 million.

         Myanmar's government had planned to raze the historic tomb in Mandalay
to make way for urban development. Architect Vichit Chinalai led a Thai team
to the site at the edge of Taungthaman Lake last August, excavated a stupa
and verified that this was indeed the tomb of the Siamese monarch.

         Vichit and Myanmarese archaeologist Win Muang and Myint Hsan Heart sought
authority to restore the site and set up the Udumbara Memorial Foundation to
look after it. It has endorsed the project and plans to raise the needed funds.


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 13, 10:08
            Last month the team unearthed further evidence at the site, including
an alms bowl containing human remains, fragments of a monk's robe and a third
artefact that remains unidentified but was once the property of another royal
personage.

            Vichit says the tomb resembles a small cetiya that's larger and older
than any other grave marker in the cemetery on Linzin Hill.

            "Based on chronical records and our new discoveries, we can now say
the tomb belongs to Udumbara," Vichit tells The Nation.

            "The alms bowl is made of terracotta and decorated with colourful glass
mosaics, signifying it was used by a Mahatheara (high-ranking) monk," Vichit says.
     
            "The glass mosaics are in the dok dua formation, just like the Yethaphan
Pwint - the goolar flower in the king's crest."

             Win Muang Kyi acknowledges that the bowl's design is not Burmese


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 13, 10:12
          Myanmar history records Udumbara being among 100,000 Siamese captured
by King Hsinbyushin (1736-76) of Burma's Konbaung Dynasty during the invasion
of Ayutthaya in 1767. They were taken to Hsinbyushin's capital, Ava.

            Udumbara was a monk when he was taken to Burma.
            He is often referred to as King Dok Dua, referring to the flower of the
madua tree. Udumbara is "madua flower" in Pali. He was the youngest son of King
Borommakot (1733-58) and a minor queen called Phiphit Montri, and yet came to
be designated uparat (crown prince).
            Such was the insecurity of his position upon assuming the throne when
his father died, though, that Udumbara decided to abdicate in favour of his meddlesome
elder brother Suriyamarin (1758-67).

            He built a monastery called Wat Pradu Songtham and retired there, only to
be seized by the Burmese when Ayutthaya fell in 1767 and led away to captivity,
dying after 29 years in a foreign land in 1796.


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 13, 10:15
          The joint Myanmar and Thai working team has laid out plans for
a 10-rai Mahathera King Udumbara Memorial Ground near the burial site and
is seeking the permission of local authorities to establish a cultural centre.
          Surrounded by 200-year-old trees, it would show how the Siamese captives
lived in and around Mandalay in the 18th century. The project includes restoration
of the royal graveyard complex.

          The first phase would focus on developing the grounds. Then the cultural
centre would be erected utilising Ayutthaya-style architecture, while inside it would
be decked with hi-tech displays.

           "When we are granted permission and secure ownership of the site, the project
will take at least two years," says Vichit, who's already devoted nearly a decade to
the possibilities. Only since Myanmar began opening up to the world last year has he
been able to imagine possibility becoming probability.

           Scholars in Mandalay and Thailand are now hoping this project will not only
prevent a great loss in terms of our history but also boost Thai-Myanmar people to
people relationship and yet potentially huge tourism industry.


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 13, 10:31
ท่าทางโปรเจคนี้จะดำเนินไปด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นสถูปและอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรจริงๆ      ผลที่ตามมา อย่างหนึ่งคือเป็นแหล่งท่องเที่ยว    ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากไทยได้ไม่น้อยเลย


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ย. 13, 11:12
สภาพล่าสุดของแหล่งขุดค้น "สถูปพระเจ้าอุทุมพร"

http://www.youtube.com/watch?v=N8_EQLO1jOk&list=UUcLhrY_Q2DYoPjWgEtnZNmA&index=12

(http://ptcdn.info/emoticons/toy_h/17.png)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: sigree ที่ 07 ธ.ค. 13, 07:20
ให้ประวัติศาสตร์นอกคอกนิด

คำว่านอกคอกเพราะแม้แต่มาเลย์ก็มองว่านอกคอก  เป็นนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน เคด้า มาเลเซีย พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาไม่ใช่มลายู แต่เป็น Siam Muslim

และเชื่อว่าช่วงปลายของอยุทธยา  ชาวอยุทธยาเข้ารับอิสลามเสียมากแล้วแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็รับอิสลามหลายพระองค์และมีหลุมบางพระองค์ที่เคด้าห์


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 มี.ค. 14, 10:14
วันนี้(11 มีนาคม 2557) คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนบทความลงนสพ. มติชนรายวันว่า

              สถูปอัฐิไทย ในพม่า?

       สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) คงเป็นข่าวอีกเรื่อยๆ ตราบที่ความเป็นไทย
ยังมีอิทธิพลเหนือความเป็นจริง

        กรมศิลปากรเคยตรวจสอบและมีคำแถลงเป็นทางการนานแล้วว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอย แสดง
หลักฐานครบครันว่าไม่มีจริง แต่ที่เป็นข่าวขึ้นมาก็เพื่อสร้างกระแสท่องเที่ยวพม่า ผมเคยทำรายงาน
เรื่องนี้ลงในศิลปวัฒนธรรม (ฉบับสิงหาคม 2545)

       เมื่อต้นปี 2556 เป็นข่าวอีกครั้ง มีรายงานอยู่ในมติชน คอลัมน์สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม
(วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556) ว่าไม่มีจริงเหมือนที่เคยบอกไว้ก่อนแล้ว

        คราวนี้มีอีก ถือเป็นข่าวประจำปี แต่ทางการไทยกับพม่าไม่รับรองว่ามีจริง จะขอยกข้อความ
จากข่าวมาแบ่งปันไว้ (มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557 หน้า 1)

          ดังนี้

          “กรมศิลปากรนำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เดินทางไปยัง
เมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทาง
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่องชาวอยุธยาในเมียนมาร์ : ศึกษาในเขตปกครองมัณฑะเลย์
และเขตปกครองสะกาย

          หลังคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ
ซึ่งเชื่อว่ามีสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) หรือ
ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง       


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 มี.ค. 14, 10:16
      นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้
กรมศิลปากรได้หารือกับกรมโบราณคดีของพม่าแล้ว รับทราบข้อมูลว่าการขุดค้นดังกล่าว
ยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของพม่า เพียงแต่ขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนา
เมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น ถือว่ายังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ

      ขณะเดียวกัน รายงานการค้นพบของสมาคมจิตพรรณที่เสนอมายังกรมศิลปากร มีข้อ
ขัดแย้งหลายประการที่ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีของไทย
และพม่าร่วมคณะทำงาน จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่าสถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุ
พระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว
ซึ่งควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านกว่านี้”


          แถลงอย่างที่คัดมานี้นับว่าดีแล้ว สมควรแล้ว

          แต่ถึงทางการไทยและพม่าจะไม่รับรองว่ามีสถูปจริงบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพร ก็ต้องไม่ขัด
ขวางเอกชนที่เชื่อว่ามี แล้วลงทุนลงแรงไปศึกษาค้นคว้าด้วยความเชื่อเป็นส่วนตัว

          และไม่ควรดูแคลนลดทอนคุณค่ารายงานการศึกษาค้นคว้าของเอกชนที่คิดต่างจากราชการ
กับนักวิชาการกระแสหลัก


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 17, 14:25
เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้พบกับคุณวิจิตร ชินาลัย อดีตกรรมธิการอนุรักษศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ จนถึง ๒๕๔๘  ผมเองได้เข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่หลังท่านก็ตาม แต่ก็เป็นที่ชอบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน  เรา(หมายถึงคณะกรรมธิการ) ล้วนเข้ามาทำงานให้สมาคมแบบจิตอาษา ไม่มีรายได้ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง แต่ก็สร้างผลงานไว้แยะพอสมควร แม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศของการเร่งรัดพัฒนาบ้านเมืองอย่างเมามันของสังคม  ซึ่งบางครั้งก็มองข้ามศิลปวัฒนธรรมเก่าๆของชาติ ที่มักจะถูกกล่าวหาว่าล้าสมัย

ผมทราบว่าคุณวิจิตรได้อุทิศตนเป็นผู้แทนของสมาคมสถาปนิกสยาม ไปเป็นผู้อำนวยโครงการอนุรักษ์สถูปของสมเด้จเจ้าฟ้าอุทุมพรที่พม่าแบบทุ่มเทหัวจิตหัวใจ  ตื้นลึกหนาบางในเรื่องที่ถกกันมาในกระทู้นี้ท่านคงต้องทราบดีอยู่  เมื่อเจอกันครั้งล่าสุดจึงถามท่าน  ปรากฏว่าเลยต้องนั่งคุยกันยาว และท่านก็ส่งเอกสารมาให้ชุดใหญ่ เป็นงานวิชาการแบบเนื้อๆทั้งนั้น

ผมจะค่อยๆอ่านทำความเข้าใจในเนื้อหาที่ไม่ยาก แต่สลับซับซ้อนนี้ แล้วย่อยมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านแล้วเข้าใจมันได้ง่ายๆตามสไตล์ของผม แล้วท่านจะได้พบคำตอบบรรดามีที่ยกขึ้นมาถามก่อนหน้าในกระทู้นี้  แม้ใครก็ตามจะตอบคำถามที่สำคัญที่สุดไม่ได้ว่า แล้วปัญหามันจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร

ณ บัดนี้ ผมจะหยุดให้ท่านอ่านทบทวนความในกระทู้ย้อนหลังไปพลางๆก่อน  เมื่อผมเริ่มกระทู้ใหม่ของผมแล้ว ท่านจะได้ตามเรื่องต่อได้ทันทีนะครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ต.ค. 17, 18:33
ต่อเลยครับ  ;D ;D ;D


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 17, 20:10
ตั้งกระทู้ใหม่เลยค่ะ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 17, 20:37
รอพร้อมๆกันก่อนนะคร้าบ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 17, 16:48
มาจองที่ไว้ก่อนครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 17, 17:23
เชิญมาลงทะเบียนเร้ว


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 09 ต.ค. 17, 08:01
จองที่นั่งหลังห้องติดหน้าต่างครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ต.ค. 17, 09:47
เรื่องราวเจ้ากรุงศรี
ยามธานีถูกบีฑา
กระซานซ่านเซ็นมา
ถูกค้นหาในเมืองมัณฑ์

อัฐิในสถูป
ปรากฏรูปชวนคิดครัน
ของไทยหรือไม่นั้น
จองแถวหน้ามาเฝ้าฟัง


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 09 ต.ค. 17, 10:55
เข้ารายงานตัวติดตามครับ 8)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 09 ต.ค. 17, 14:59
รีบวิ่งมาลงทะเบียนเรียนเลยค่ะ ;D


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ต.ค. 17, 18:58
ผมไม่ได้เล่นตัวอะไรนะครับ แต่ยังไม่พร้อมเพราะใช้เวลาไปทำธุระงานศพให้แม่ภรรยาหลายวัน วันนี้เพิ่งเสร็จจากการไปลอยอัฐิอังคารที่สัตหีบ
หลังจากนี้ว่าจะพาภรรยาไปเปลี่ยนอารมณ์สักสี่ห้าวัน ผมพร้อมเมื่อไหร่จึงจะตั้งกระทู้ใหม่ให้อ่านอย่างจุใจ

อนึ่ง ขอความกรุณาไม่ต้องเขียนแสดงความเสียใจกับผมในนี้นะครับ รกกระทู้เขาเปล่าๆ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ต.ค. 17, 11:45
 ::)


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ต.ค. 17, 19:23
ไม่ให้แสดงความเสียใจ :-X งั้นขอลงชื่อรอเฉยๆ ครับ


กระทู้: สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 14:32
ไปต่อที่กระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6834.msg158938;topicseen#msg158938